Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 สิ้นสุดที่ความตาย (พุทธวิธีคลายโศก) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 25 ต.ค.2004, 7:20 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สิ้นสุดที่ความตาย



*************************

ในอดีตกาล ณ กรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในตระxxxลพราหมณ์ เจริญวัยแล้วเล่าเรียนศิลปะในเมืองตักกสิลา แล้วกลับไปยังสำนักของบิดามารดา ทั้งที่พระโพธิสัตว์ไม่ต้องการครองเรือน บิดามารดาก็ได้ทำการสมรสให้กับ กุมาริกาผู้มีรูปร่างงดงาม ชื่อ สัมมิลลหาสินี (ต่อไปจะเรียกย่อๆ ว่า สินี)



เมื่อบิดามารดาของพระโพธิสัตว์สิ้นชีวิตแล้ว พระโพธิสัตว์และนางสินี ก็สละทรัพย์ทั้งหมดให้เป็นทาน แล้วทั้งสองก็ออกบวชไปอยู่ป่าหิมพานต์



วันหนึ่ง นักบวชทั้งสองออกจากป่าหิมพานต์ เที่ยวไปถึงพระราชอุทยาน เมืองพาราณสี นางสินีเกิดอาพาธและมีอาการทรุดลงเพราะไม่ได้ยาที่สมควร พระโพธิสัตว์จึงพยุงนางไปที่ประตูพระนคร ให้นอนในศาลาแห่งหนึ่ง ส่วนตนเข้าไปภิกขาจาร เมื่อพระโพธิสัตว์ยังไม่ทันกลับมา นางได้ถึงแก่กรรมลง มหาชน เห็นรูปสมบัติของนางก็พากันห้อมล้อมร้องไห้



พระโพธิสัตว์กลับมาพบเข้าก็ดำริว่า สิ่งที่มีอันจะแตกไปเป็นธรรมดาย่อมแตกไป สังขารทั้งปวงไม่เที่ยงหนอ แล้วนั่งบริโภคอาหารบนแผ่นกระดานที่นางนอนอยู่



มหาชนถามว่า นักบวชหญิงนี้เป็นอะไรกับท่าน



พระโพธิสัตว์กล่าวว่า เมื่อเวลาเป็นคฤหัสถ์ นางเป็นภรรยาของเรา



มหาชนถามว่า แม้พวกเรายังทนไม่ได้พากันร้องไห้ เพราะเหตุไรท่านจึงไม่ร้องไห้



พระโพธิสัตว์ตอบว่า เมื่อยังมีชีวิตอยู่ นางย่อมเป็นอะไรๆ กับเรา บัดนี้ไม่เป็นอะไรๆ กัน เพราะนางไปสู่โลกอื่น ไปสู่อำนาจของคนอื่นแล้ว



จากนั้นก็แสดงธรรมแก่มหาชนว่า นางสินีได้ไปอยู่กับผู้ที่ตายไปแล้วเป็นจำนวนมาก เมื่อนางไปอยู่กับพวกนั้นแล้ว ก็ไม่ได้เป็นอะไรกับเรา เพราะฉะนั้น เราจึงไม่เศร้าโศกถึงนางสินีผู้เป็นที่รักนี้



ถ้าบุคคลเศร้าโศกถึงผู้ใด แล้วทำให้ผู้นั้นฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้ บุคคลก็พึงเศร้าโศกถึงตน ซึ่งตกอยู่ในอำนาจของมัจจุราชทุกเมื่อ



อายุสังขารใช่จะเสื่อมไปเฉพาะเมื่อยืน นั่ง นอน หรือเดินอยู่เท่านั้นก็หาไม่ แม้ในเวลาอันน้อยนิดชั่วหลับตาลืมตา วัยก็เสื่อมไปแล้ว



เมื่อชีวิตและร่างกายดำเนินไปสู่ความเสื่อมเช่นนี้ ความพลัดพรากจากกันก็ต้องมีโดยไม่ต้องสงสัย ผู้ที่ยังอยู่ควรเมตตาต่อกัน ส่วนผู้ที่ตายไปแล้วไม่ควร เศร้าโศกถึง



เมื่อพระโพธิสัตว์แสดงธรรมแล้ว มหาชนพากันกระทำฌาปนกิจศพนางสินี จากนั้นพระโพธิสัตว์ก็ไปป่าหิมพานต์ ทำฌานและอภิญญาให้บังเกิด มีพรหมโลก เป็นที่ไปในเบื้องหน้า

(อนนุโสจิยชาดก ๒๗/๖๑๐-๖๑๓)



คติที่ได้จากเรื่องนี้คือ คนเราจะมีความสัมพันธ์กันในฐานะต่างๆ เช่น พ่อแม่ พี่น้อง บุตรหลาน ญาติมิตร คู่ครองหรือคนรัก ต่อเมื่อต่างก็ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อฝ่ายหนึ่งตายจากไป ความสัมพันธ์ก็สิ้นสุดลง เหลือไว้เพียงแค่ความทรงจำ ของผู้ที่ยังอยู่ ความทรงจำนี้เปรียบเหมือนความฝัน ซึ่งว่างเปล่าไม่จริงจังอะไร จึงไม่ควรเก็บเอามาคิดปรุงแต่งให้อาลัยอาวรณ์ เศร้าใจ เสียใจไปเปล่าๆ



ละครโลก รับบท กำหนดเล่น ต่างรำเต้น ตามไป ในคอกขัง

พอจบฉาก จากไป ไม่จีรัง มิอาจหวัง วิงวอน ย้อนกลับคืน



ทีใครทีมัน

ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เป็นอำมาตย์ผู้สอนธรรมของพระเจ้าพาราณสี พระเจ้าพาราณสีได้ยกกองทัพใหญ่เสด็จไปนครสาวัตถี จับพระเจ้าโกศลได้แล้วยึดนครสาวัตถีไว้ ทรงตั้งข้าหลวงคอยดูแล แล้วขนทรัพย์สมบัติกลับกรุงพาราณสี บรรจุไว้ในตุ่มโลหะแล้วฝังไว้ในพระราชอุทยาน



ฉัตตกุมารซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าโกศล เสด็จหนีไปเมืองตักกสิลา เรียนศิลปวิทยา แล้วเสด็จจาริกไปถึงชนบทแห่งหนึ่ง พบดาบส ๕๐๐ รูป จึงบวชเป็นดาบส แล้วเรียนความรู้ของดาบสเหล่านั้นได้หมด ต่อมา ก็ได้เป็นศาสดาในคณะ จึงชวนพวกดาบสออกจากชนบท จาริกไปจนถึงเมืองพาราณสี พักที่พระราชอุทยาน รุ่งขึ้นได้เข้าไปภิกขาจารในเมือง



พระเจ้าพาราณสีทอดพระเนตรเห็นดาบสเหล่านั้น ทรงเลื่อมใส จึงให้นิมนต์ มาที่ท้องพระโรง ถวายภัตตาหาร แล้วตรัสถามปัญหาต่างๆ ฉัตตดาบสก็แก้ได้หมด หลังภัตกิจก็กระทำอนุโมทนาอันวิจิตรงดงาม พระราชทรงเลื่อมใสยิ่งขึ้น และโปรดให้พวกดาบสอยู่ในพระราชอุทยานได้



ฉัตตดาบสสืบรู้ว่าทรัพย์ฝังอยู่ในพระราชอุทยาน จึงบอกความจริงให้พวกดาบสทราบ และขอให้พวกดาบสสึกออกมาช่วยxxx้ราชสมบัติของตน พวกดาบสก็ยินดี จากนั้นก็ช่วยกันขุดตุ่มทรัพย์ขึ้นมา เอาทรัพย์ใส่กระสอบหนัง เอาหญ้าใส่ในตุ่มแทน แล้วรีบหนีไปนครสาวัตถีพร้อมด้วยทรัพย์ จับพวกข้าหลวงแล้วยึดราชสมบัติคืน



เมื่อพระเจ้าพาราณสีทรงทราบข่าวก็เสด็จไปที่พระราชอุทยาน รับสั่งให้เปิดตุ่มทรัพย์ ทรงเห็นแต่หญ้าเท่านั้น ท้าวเธอทรงเศร้าโศกอย่างใหญ่หลวงเพราะทรัพย์เป็นเหตุ เสด็จกลับพระนครแล้ว ทรงบ่นเพ้ออยู่ว่า หญ้า หญ้า



วันหนึ่ง เมื่อพระราชาทรงบ่นเพ้อ พระโพธิสัตว์จึงกล่าวว่า พระองค์ตรัสเพ้ออยู่ว่า หญ้า หญ้า ใครหนอนำเอาหญ้ามาถวายพระองค์ พระองค์มีกิจด้วยหญ้าหรือ จึงตรัสถึงแต่หญ้าเท่านั้น



พระราชาตรัสว่า ฉัตตฤษีผู้มีร่างกายสูงใหญ่ เป็นพรหมจารี เป็นพหูสูต มาอยู่ ณ ที่นี้ เขาลักทรัพย์ของเราจนหมด ใส่หญ้าไว้ในตุ่มแทนทรัพย์ แล้วหนีไป



พระโพธิสัตว์กล่าวว่า การถือเอาทรัพย์ของตนไปจนหมด และการไม่ถือ เอาหญ้า เป็นกิจที่ผู้ปรารถนาเอาของน้อยมาแลกของมาก พึงกระทำอย่างนั้น ฉัตตฤษีใส่หญ้าในตุ่มแล้วหนีไป การร่ำไรรำพันในเรื่องนั้นจะมีประโยชน์อะไร



พระราชาตรัสว่า ผู้มีศีลทั้งหลายย่อมไม่ทำอย่างนั้น คนพาลย่อมทำอนาจารอย่างนี้เป็นปกติ ความเป็นบัณฑิตจักทำคนผู้ทุศีล มีศีลไม่ยั่งยืน ให้เป็นคนอย่างไร (ความรู้ไม่อาจช่วยคนทุศีลให้พ้นจากความวิบัติ)



เมื่อพระราชาติเตียนฉัตตฤษีอย่างนี้แล้ว ก็คลายความโศกลงได้เพราะคำพูดของพระโพธิสัตว์

(พรหาฉัตตชาดก ๒๗/๖๔๒-๖๔๕)



ถ้าทุกอย่าง ต้องได้ ดังใจคิด ชั่วชีวิต จะเอาของ กองที่ไหน

จะได้บ้าง เสียบ้าง ช่างปะไร นี่แหละไซร้ ชีวิตมนุษย์ ปุถุชน



การครอบครองมากเกินไปทำให้เกิดปัญหา ความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดปัญหา ยิ่งท่านครอบครองมากขึ้น ท่านยิ่งมีความต้องการ มากขึ้น และมันทำให้ท่านต้องดูแลรักษามันมากยิ่งขึ้นเช่นกัน มันทำให้ท่านสูญเสียมากยิ่งขึ้น ท่านกำลังครอบครองสิ่งเหล่านั้น หรือถูกสิ่งเหล่านั้นครอบครองกันแน่?

(The Tao of Leadership by John Heider มีผู้แปลไว้ในแมคคอร์มิคสาร)



โชคในเคราะห์

เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน พราหมณ์ชาวเมืองสาวัตถี ผู้หนึ่งหักร้างถางป่าเพื่อทำไร่ พระศาสดาทรงเห็นอุปนิสัยของเขา จึงเสด็จไปกระทำปฏิสันถารกับเขาบ่อยๆ



วันหนึ่งพราหมณ์กราบทูลว่า วันนี้เป็นมงคลในการหว่านข้าวของ ข้าพระองค์ เมื่อข้าวกล้าสำเร็จแล้ว ข้าพระองค์จักถวายมหาทานแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข พระศาสดาทรงรับด้วยดุษณีภาพ



รุ่งขึ้นพราหมณ์ยืนดูข้าวกล้าอยู่ พระศาสดาก็เสด็จมาทักทายพราหมณ์ แล้วเสด็จหลีกไป พราหมณ์คิดว่า พระสมณโคดมมาเนืองๆ คงมีความต้องการ ภัตร (ข้าว) อย่างไม่ต้องสงสัย



ต่อมาเมื่อข้าวแก่แล้ว พราหมณ์ตกลงใจจะเกี่ยวในวันรุ่งขึ้น ในคืนนั้นเอง ฝนตกตลอดคืน ห้วงน้ำใหญ่ไหลมาพัดพาข้าวลงทะเลหมด พราหมณ์มองดูความย่อยยับแห่งข้าวแล้วเกิดความเสียใจอย่างแรง ยกมือตีอกคร่ำครวญ ไปถึง เรือน แล้วลงนอนบ่นพร่ำ



ในเวลาใกล้รุ่ง พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์ถูกความเสียใจครอบงำ ทรงดำริว่าเราต้องเป็นที่พึ่งของพราหมณ์ รุ่งขึ้น เสด็จไปบิณฑบาตในนครสาวัตถี เสวยเสร็จแล้วเสด็จไปโปรดพราหมณ์พร้อมด้วยสมณะติดตาม พราหมณ์เห็นพระศาสดาเสด็จมาเยี่ยม ก็ค่อยได้ความโปร่งใจ



พระศาสดาประทับนั่งบนอาสนะที่จัดไว้ ตรัสถามว่า ดูก่อนพราหมณ์ เหตุไรจึงเศร้าหมองไปเล่า



พราหมณ์ตอบว่า พระองค์ย่อมทราบการงานที่ข้าพระองค์กระทำ ข้าพระองค์เคยกราบทูลไว้ว่า เมื่อข้าวกล้านี้สำเร็จ ข้าพระองค์จักถวายทานแด่พระองค์ บัดนี้ห้วงน้ำใหญ่พัดพาข้าวของข้าพระองค์ลงทะเลหมด ข้าวเปลือก ประมาณ ๑๐๐ เกวียนเสียหายหมด เหตุนั้น ความโศกอย่างใหญ่หลวงจึงเกิดแก่ข้าพระองค์



พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ ก็เมื่อท่านเศร้าโศกอยู่ สิ่งที่เสียหายไปแล้วจะกลับคืนมาได้หรือ



พราหมณ์กราบทูลว่า ข้อนั้นเป็นไปไม่ได้แน่นอนพระเจ้าข้า



พระศาสดาตรัสว่า เมื่อเป็นอย่างนี้ท่านเศร้าโศกเพราะเหตุไร ขึ้นชื่อว่าทรัพย์และข้าวเปลือก ถึงคราวเกิดก็เกิด ถึงคราวเสียหายก็เสียหาย สิ่งที่มีการปรุงแต่ง จะไม่มีความเสียหายนั้นไม่มีดอก ท่านอย่าคิดไปเลย



หลังจากปลอบเขาแล้ว พระศาสดาก็ทรงแสดงธรรมอันเป็นที่สบายแก่เขา เมื่อจบพระธรรมเทศนา พราหมณ์ได้เป็นโสดาบัน และคลายความโศกลง

(อรรถกถากามชาดก ทวาทสกนิบาต)



ในเรื่องทั้งสองนี้ พระราชาและพราหมณ์เศร้าโศกเสียใจ เพราะความเสื่อมแห่งทรัพย์เป็นเหตุ ธรรมดาของทรัพย์สมบัติทั้งหลายนั้น ย่อมละทิ้งเจ้าของ ไปเสียก่อนก็มี บางทีเจ้าของย่อมละทิ้งทรัพย์สมบัติเหล่านั้นไปก่อนก็มี ทรัพย์สมบัติที่บริโภคใช้สอยกันอยู่เป็นของไม่แน่นอน ดังนั้น จึงไม่ควรเศร้าโศกเมื่อเสื่อมจากทรัพย์สมบัติ ถึงจะเศร้าโศกก็ไม่อาจทำให้ทรัพย์สมบัติที่วิบัติไปกลับคืนมาได้



ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่เป็นของเรา แม้แต่ตัวเราเอง ดังนั้น จะห่วงไปไยกับทรัพย์สมบัติที่เป็นของนอกกาย ตายแล้วก็เอาติดตัวไปไม่ได้ ต้องทิ้งไว้ในโลกให้คนอื่นใช้สอยต่อไป



ยศและลาภ หาบไป ไม่ได้แน่ มีเพียงแต่ ต้นทุน บุญกุศล

ทรัพย์สมบัติ ทิ้งไว้ ให้ปวงชน แม้ร่างตน เขาก็เอา ไปเผาไฟ

เมื่อเจ้ามา มีอะไร มาด้วยเจ้า เจ้าจะเอา แต่สุข สนุกไฉน

เจ้ามามือเปล่า เจ้าจะ เอาอะไร เจ้าก็ไป มือเปล่า เหมือนเจ้ามา

(จุฬาลงกรณ์ ปร.)



สิ่งที่ตามทรัพย์สมบัติมานั้นไม่ใช่อื่นไกลเลย มันคือความวิบัตินั่นเอง



ความมั่งมีไม่ใช่สิ่งเที่ยงแท้แน่นอน จึงไม่ต่างอะไรกับดวงเทียนที่ถูกจุดไว้ ในที่แจ้ง ถึงแม้มีมากเล่มก็อาจพลันดับไปในไม่ช้า



คนเราเมื่อเกิดมาก็แต่ตัวเปล่า มิได้มีผู้ใดนำเอาทรัพย์สินหรือเครื่องประดับ สักชิ้นติดตัวมาเลย เมื่อยามจะตาย ทุกคนก็ต้องทิ้งสมบัติที่หามาด้วยความเหนื่อยยากไว้เบื้องหลัง จะมีผู้ใดนำสมบัติแม้แต่ชิ้นเดียวติดตัวไปก็ไม่มี เมื่อทรัพย์สมบัติทั้งหลายมีภาวะความจริงเป็นอย่างนี้ บุคคลก็ไม่ควรยึดมั่นว่าเป็นของตนแต่ผู้เดียว เขาควรคิดอยู่เสมอว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของโลก ส่วนที่อยู่ในความครอบครองของเขา เป็นเพียงการยืมมาใช้ชั่วคราวเท่านั้น



ฐานะที่ไม่มีใครพึงได้

สมัยหนึ่ง พระนางภัททาราชเทวี ผู้เป็นที่รักแห่งพระราชาพระนามว่า มุณฑะ ได้ทิวงคต พระราชาไม่ทรงสนาน ไม่ทรงแต่งพระองค์ ไม่เสวย ไม่ทรง ประกอบพระราชกรณียกิจ ทรงซบเซาอยู่ที่พระศพพระราชเทวีตลอดคืนตลอดวัน



ครั้งนั้น พระราชาได้ตรัสสั่งมหาอำมาตย์ให้ยกพระศพลงในรางเหล็ก ที่เต็มไปด้วยน้ำมัน แล้วปิดด้วยรางเหล็กอื่น เพื่อให้ได้เห็นพระศพนานๆ มหาอำมาตย์ก็ทำตามรับสั่ง แล้วคิดว่า ท่านพระนารทะอยู่ที่กุกกุฏาราม ใกล้นครปาตลีบุตร ท่านเป็นบัณฑิต มีถ้อยคำวิจิตร มีปฏิภาณดีงาม และเป็น พระอรหันต์ ควรที่พระราชาจะเสด็จไปหา หลังจากได้ทรงสดับธรรมแล้ว อาจจะทรงละความโศกได้ ดำริแล้วก็ไปเฝ้าและกราบทูลให้พระราชาทรงทราบ



พระราชาทรงเห็นด้วย เมื่อได้เวลาอันควรก็เสด็จไปพร้อมด้วยมหาอำมาตย์ และข้าราชบริพาร เข้าไปหาท่านพระนารทะถึงพระอาราม ทรงอภิวาท แล้วประทับ ณ ที่อันสมควร



ท่านพระนารทะได้ทูลพระเจ้ามุณฑะว่า ขอถวายพระพร ปุถุชนผู้ไม่ได้ฟังธรรม เมื่อประสบกับความแก่ ความเจ็บไข้ ต้องพลัดพรากจากคนรักหรือของรัก ย่อมไม่พิจารณาดังนี้ว่า ไม่ใช่เราผู้เดียวที่ประสบกับสิ่งเหล่านี้ แต่เป็นธรรมดาที่ทุกคนต้องประสบกับสิ่งเหล่านี้ เมื่อไม่พิจารณาโดยแยบคาย เขาย่อมเศร้าโศก ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ หลงงมงาย แม้อาหารก็ไม่อยากรับประทาน แม้กายก็เศร้าหมอง ซูบผอม แม้การงานก็พึงหยุดชะงัก แม้พวกศัตรูก็พึงดีใจ แม้พวกมิตรก็พึงเสียใจ นี้เรียกว่าปุถุชนผู้ไม่ได้ฟังธรรม ถูกลูกศรคือความโศกที่มีพิษเสียบแทงแล้ว ย่อมทำตนให้เดือดร้อน



ส่วนอริยสาวกผู้ได้ฟังธรรม เมื่อประสบกับความแก่ ความเจ็บไข้ ต้องพลัดพรากจากคนรักหรือของรัก ย่อมพิจารณาดังนี้ว่า ไม่ใช่เราผู้เดียวเท่านั้นที่ประสบกับสิ่งเหล่านี้ แต่เป็นธรรมดาที่ทุกคนต้องประสบกับสิ่งเหล่านี้ เมื่อพิจารณาโดยแยบคาย เขาย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอก ไม่คร่ำครวญ ไม่หลงงมงาย นี้เรียกว่าอริยสาวกผู้ได้ฟังธรรม ถอนลูกศรคือความโศกที่มีพิษเสียบแทง ปุถุชนผู้ไม่ได้ฟังธรรม ย่อมทำตนให้เดือดร้อน อริยสาวกผู้ไม่มีความโศก ปราศจากลูกศร ย่อมดับทุกข์ร้อนได้ด้วยตนเอง



ท่านพระนารทะได้กล่าวต่ออีกว่า ประโยชน์แม้เล็กน้อยอันใครๆ ย่อมไม่ได้เพราะการเศร้าโศก การคร่ำครวญ พวกศัตรูทราบว่าเขาเศร้าโศกเป็นทุกข์ ย่อมดีใจ



ก็คราวใดบัณฑิตพิจารณารู้เนื้อความ ไม่หวั่นไหวในอันตรายทั้งหลาย คราวนั้นพวกศัตรูย่อมเป็นทุกข์เมื่อเห็นหน้าอันยิ้มแย้มของบัณฑิตนั้น



บัณฑิตพึงได้ประโยชน์เพราะการสรรเสริญ เพราะความรู้ เพราะกล่าวคำสุภาษิต เพราะการบำเพ็ญทาน หรือเพราะประเพณีของตน ก็พึงบากบั่นในที่นั้นๆ ด้วยประการนั้นๆ



ถ้าพึงทราบว่า ความต้องการอย่างนี้ อันเราหรือผู้อื่นไม่พึงได้ไซร้ ก็ไม่ควร เศร้าโศก ควรตั้งใจทำงานโดยเด็ดขาดว่า บัดนี้เราทำอะไรอยู่



ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนา พระเจ้ามุณฑะทรงละความโศกได้ แล้วตรัสสั่งมหาอำมาตย์ว่า ท่านถวายพระเพลิงพระศพพระนางภัททาราชเทวี แล้วจงทำเป็นสถูปไว้ ตั้งแต่นี้ไป เราจักอาบน้ำแต่งตัว บริโภคอาหาร และประกอบการงาน

(นารทสูตร ๒๒/๕๐)



คติที่ได้จากเรื่องนี้คือ คนเราต้องรู้จักทำใจเมื่อไม่สมปรารถนา เพราะว่า สิ่งทั้งหลายที่เกิดมีขึ้นเป็นขึ้นในโลกนี้ มิได้ขึ้นอยู่กับว่า ต้องเฉพาะที่เราชอบเราเห็นด้วยเท่านั้น จึงจะเกิดมีขึ้นเป็นขึ้นได้ แม้สิ่งที่เราไม่ชอบไม่เห็นด้วยเลย มันก็เกิดมีขึ้นเป็นขึ้นได้ เช่น การพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งของที่เรารัก การตั้งความปรารถนาว่า บุคคลที่เรารักจงอยู่กับเรานานๆ อย่าแปรเป็นอื่น อย่าด่วนจากเราไปเลย นี้ย่อมเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องรู้จักทำใจ คืออย่าได้เศร้าโศกเสียใจเมื่อคนที่เรารักแปรเป็นอื่น หรือตายจากไป



เรากำเนิด เกิดมา ในหล้าโลก สุขกับโศก คงอยู่ เป็นคู่สอง

เดี๋ยวทุกข์มา สุขมา พากันครอง เหมือนเขาร้อง รำเต้น เล่นลิเก



มากรักมักโศก

เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ ณ พระเชตวัน สุทัตตี หลานสาวอันเป็นที่รักของนางวิสาขาได้เสียชีวิตลง เมื่อได้สั่งให้ฝังศพหลานสาวแล้ว นางวิสาขาก็ยัง เศร้าโศกเสียใจอยู่ จึงไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่อันสมควร



พระศาสดาตรัสว่า วิสาขา ทำไมเธอจึงมีความทุกข์ใจเสียใจ มีหน้าชุ่มด้วยน้ำตา นั่งร้องไห้อยู่ นางจึงทูลเรื่องหลานสาวให้ทรงทราบ แล้วกราบทูลว่า นางกุมารีนั้นเป็นที่รักของหม่อมฉัน เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวัตร บัดนี้หม่อมฉัน ไม่เห็นใครเช่นนั้น



พระศาสดา : วิสาขา ก็ในกรุงสาวัตถีมีมนุษย์ประมาณเท่าไร



วิสาขา : มีประมาณ ๗ โกฏิ พระเจ้าข้า



พระศาสดา : ก็ถ้าชนทั้งหมดนี้ พึงเป็นเช่นกับหลานสาวของเธอไซร้ เธอพึงปรารถนาเขาหรือ



วิสาขา : อย่างนั้น พระเจ้าข้า



พระศาสดา : ก็ชนในกรุงสาวัตถีตายวันละเท่าไร



วิสาขา : มาก พระเจ้าข้า



พระศาสดา : เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอคงจะเศร้าโศกเสียใจจนต้องเที่ยวร้องไห้ อยู่ทั้งกลางวันและกลางคืนทีเดียว



วิสาขา : หม่อมฉันทราบแล้ว พระเจ้าข้า



พระศาสดา : ถ้ากระนั้น เธออย่าเศร้าโศกเลย ความโศกย่อมเกิดแต่ความรัก ภัยย่อมเกิดแต่ความรัก ความโศกย่อมไม่มีแก่ผู้พ้นแล้วจากความรัก ภัยจักมีมาแต่ไหน

(อรรถกถาธรรมบทภาค ๖ เรื่องนางวิสาขาอุบาสิกา)



ความโศกย่อมเกิดจากความรัก ถ้ามีความรักมาก ก็มีความโศกมากเป็นเงาตามตัว นางวิสาขาต้องรับภาระความแก่ ความเจ็บ ความตายของตนเอง เป็นภาระที่หนักมากอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่รู้สึกตัว ยังไปรักใคร่ห่วงใยบุตรหลานจำนวนมากของตน ต้องรับภาระความแก่ ความเจ็บ ความตายของคนอื่นๆ อีก ลองคิดดูเถิดว่าเป็นภาระหนักปานใด ถ้าไม่มีความรักเลยก็ไม่มีความโศก เพราะฉะนั้น ต้องประหยัดความรักให้มาก ก่อนจะรักใครชอบใคร ก็ขอให้เตือนตนว่า



ถ้ารักมาก ทุกข์มาก ลำบากนัก ถ้ารักบ่อย ทุกข์บ่อยแน่ แก้ไม่ไหว

ถ้ารักน้อย ทุกข์น้อย ค่อยคลายใจ ถ้าไม่รัก หมดทุกข์ สุขยั่งยืน

(ธมฺมวฑฺโฒ ภิกฺขุ)



พรหมทัตองค์ไหน

ในอดีตกาล ณ กปิลนคร แคว้นปัญจาละ พระเจ้าพรหมทัตทรงปกครองแผ่นดินโดยธรรม คราวหนึ่ง ทรงปลอมเป็นช่างหูก เสด็จไปพระองค์เดียว เที่ยวตรวจดูแว่นแคว้น พบว่าประชาชนอยู่อย่างเป็นสุขโดยไม่ต้องปิดประตูเรือน เลย ระหว่างเสด็จกลับพระนคร ทรงได้ธิดาของหญิงหม้ายยากจนคนหนึ่ง เป็นชายา ทรงตั้งชื่อว่า อุพพรี ภายหลังทรงสถาปนาให้เป็นอัครมเหสี ทรงเสวยสุขร่วมกับนางตลอดพระชนมชีพ ในที่สุดแห่งอายุก็เสด็จสวรรคต



หลังการถวายพระเพลิงพระศพ พระนางอุพพรีผู้มีพระหทัยเพียบพร้อมไปด้วยความโศก เสด็จไปยังป่าช้า บูชาด้วยของหอมและดอกไม้อยู่หลายวัน ระบุถึงพระคุณของพระราชา คร่ำครวญรำพันราวกับคนเสียสติ



สมัยนั้น ฤษีตนหนึ่งมีฌานและอภิญญา ทอดพระเนตรเห็นพระนาง อุพพรีด้วยทิพยจักษุ หวังจะบรรเทาความโศกของพระนาง จึงเหาะไปป่าช้านั้น ถามพระนางว่า พระราชาทรงพระนามว่า พรหมทัต ถูกเผาในป่าช้านี้ ๘๖,๐๐๐ พระองค์แล้ว พระนางทรงกันแสงถึงพระเจ้าพรหมทัตพระองค์ไหน



พระนางอุพพรีตรัสว่า พระราชาพระองค์ใดเป็นพระราชโอรสของพระเจ้า จุฬนี ทรงเป็นใหญ่ในแคว้นปัญจาละ ดิฉันเศร้าโศกถึงพระราชาพระองค์นั้น ผู้เป็นพระราชสวามี ทรงประทานสิ่งของที่น่าปรารถนาทุกอย่าง



พระดาบสกล่าวว่า พระราชาทุกพระองค์ทรงพระนามว่า พรหมทัต ล้วนเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าจุฬนี เป็นใหญ่ในแคว้นปัญจาละ พระนางเป็นพระมเหสีของพระราชาเหล่านั้นทั้งหมด โดยลำดับกันมา เพราะเหตุไร พระนางจึงเว้นพระราชาพระองค์ก่อนๆ ทรงกันแสงถึงแต่พระราชาพระองค์หลัง



พระนางอุพพรีได้ฟังแล้วเกิดสลดพระทัย จึงตรัสถามว่า ดิฉันเกิดเป็นแต่หญิงตลอดกาล หรือว่าเกิดเป็นชายบ้าง ท่านพูดถึงแต่กาลที่ดิฉันเป็นหญิงในสังสารวัฏอันยาวนาน



พระดาบสตอบว่า พระนางเกิดเป็นหญิงบ้าง เป็นชายบ้าง บางคราวก็เกิด เป็นสัตว์ ที่สุดแห่งอัตภาพทั้งหลายอันเป็นอดีตย่อมไม่ปรากฏ



พระนางอุพพรีได้ฟังคำสอนว่าด้วยสังสารวัฏไม่มีที่สิ้นสุด และความที่สัตว์ทั้งหลายต่างมีกรรมเป็นของตนเอง ก็สลดพระทัย คลายความโศกลงได้ แล้วพระนางก็ออกบวชเป็นบรรพชิต เจริญเมตตาจิต เมื่อสวรรคตก็เข้าถึงพรหมโลก

(อุพพรีเปติวัตถุ ๒๖/๑๑๐)



เรื่องนี้แสดงให้เห็นความทุกข์โศกของอีกชีวิตหนึ่ง ที่ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏอันหาที่สิ้นสุดมิได้ ขณะท่องเที่ยวอยู่ก็ได้พบบุคคลที่น่ารักน่าพอใจ แล้วก็ต้องพรากจากกัน เหลือไว้แต่ความเศร้าโศก เป็นเช่นนี้เหมือนกันหมดทุกภพทุกชาติ ควรที่จะเบื่อหน่าย ควรที่จะหาทางเพื่อความหลุดพ้น



เราเกิดมา เวียนวน ในสงสาร แสนช้านาน ยิ่งนัก ทุกข์หนักหนา

จนกับมี ดีกับชั่ว พันพัวมา เหลือระอา ถ้าจะนับ อัประมาณ



บทสรุป

เรื่องราวต่างๆ ที่นำมาเสนอนี้ ล้วนแต่เป็นพุทธวิธีซึ่งมีประสิทธิภาพในการระงับหรือคลายความโศก จัดเป็นธรรมโอสถขนานเอกสำหรับถอนพิษของความโศก แม้พุทธวิธีคลายโศกเหล่านี้จะมีรายละเอียดต่างกัน แต่ก็ทำให้คลายความโศกโดยนัยเดียวกัน คือมุ่งเตือนสติให้ยอมรับความจริง ความจริงที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ทุกคนพิจารณาเนืองๆ มี ๕ ประการ คือ



๑. เราจะต้องแก่เป็นธรรมดา จะไม่แก่ไม่ได้

๒. เราจะต้องเจ็บไข้เป็นธรรมดา จะไม่เจ็บไข้ไม่ได้

๓. เราจะต้องตายเป็นธรรมดา จะไม่ตายไม่ได้

๔. เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น

๕. เรามีกรรมเป็นของเฉพาะตน เมื่อทำกรรมใดไว้ ดีหรือชั่วก็ตาม เราจะต้องได้รับผลแห่งกรรมนั้น



ความจริงเหล่านี้เกิดขึ้นกับทุกคน ไม่ใช่เกิดขึ้นกับเราเพียงคนเดียว ทุกคนต้องแก่เจ็บตาย ทุกคนต้องพลัดพรากจากคนรักและของรัก ทุกคนต่างมีกรรมเป็นของเฉพาะตนทั้งนั้น (ฐานสูตร ๒๒/๕๗)



สิ่งเหล่านี้ย่อมจริงแท้ แน่นอน ไม่มีวันกลับกลายเป็นอื่นไป ไม่ว่าเราจะยอมรับหรือไม่ยอมรับ คนเราจะไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ไม่พลัดพราก เพราะไม่ยอมรับรู้ ไม่ยอมพูดถึง หรือเพราะกลัวความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพราก ก็หาไม่



เทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ วัตถุมงคล เวทมนตร์ คาถาอาคม พิธีต่ออายุ การสะเดาะเคราะห์ ทรัพย์ ยศ อำนาจ อาหาร เสื้อผ้าอาภรณ์ เครื่องสำอาง ยารักษาโรค ไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ... ฯลฯ จะช่วยเหลือหรือป้องกันคนเราให้พ้นไปจาก ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพราก ก็หาไม่ ดังนั้น จึงไม่ควรกลบเกลื่อน หรือหลีกหนีความจริงเหล่านี้ เพราะมีแต่ทำให้ทุกข์โศกมากยิ่งขึ้น ควรหันมาเผชิญหน้ากับความจริง เหล่านี้ และทำใจให้ยอมรับว่า สิ่งที่จะต้องเป็นไป ย่อมเป็นไป ใครเล่าจะห้ามได้



เรื่องราวที่นำมาเสนอนี้จะช่วยให้ท่านผู้อ่านรับรู้และยอมรับความจริงเหล่านี้ ได้ดีขึ้น ความโศกจะลดลงมากน้อยเพียงใด ขึ้นกับว่าเรายอมรับความจริงเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน ยิ่งพิจารณาความจริงเหล่านี้บ่อยเพียงไร จิตก็จะมีภูมิคุ้มกันต่อความโศกมากขึ้นเพียงนั้น ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้ทุกคน ไม่ว่า บุรุษ สตรี ชาวบ้านหรือนักบวช ให้พิจารณาบ่อยๆ ผู้ที่ยอมรับความจริง เหล่านี้ จึงจะทุกข์โศกน้อยลงหรือไม่ทุกข์โศกเลย เมื่อเผชิญกับเรื่องที่น่าทุกข์โศก



อันคืนวัน พลันดับ ลงลับล่วง ท่านทั้งปวง อุตส่าห์สร้าง ทางกุศล

แก่ลงแล้ว รำพึง ถึงตัวตน อายุคน นั้นไม่ยืน ถึงหมื่นปี



ภาษิตและคติเตือนใจ

หาสุขในกองทุกข์ ไม่ได้สุขก็บ่นไป

หาเย็นในกองไฟ เมื่อไม่ได้ก็คร่ำครวญ

หาสิ่งที่ไม่มี ก็แปลกดีมันน่าสรวล

ร่ำไห้พิไรหวล น่าหัวร่อจริงหนอเรา



เกิด มาแล้วบ่ายหน้า ไปไหน

แก่ บอกว่าบ่ายไป สู่ม้วย

เจ็บ ว่าไม่เป็นไร เราช่วย ซ้ำนา

ตาย ว่าข้าเอาด้วย ห่อนให้ ใครเหลือ

(พระสิริปัญญามุนี ช่วง โชตสิริ)



สุขทุกข์อยู่ ที่ใจ มิใช่หรือ ถ้าใจถือ ก็เป็นทุกข์ ไม่สุกใส

ถ้าไม่ถือ ก็เป็นสุข ไม่ทุกข์ใจ เราอยากได้ ความสุข หรือทุกข์นา

(พระศาสนโศภน แจ่ม จตฺตสลฺโล)



อดีตกาล ผ่านไป ไม่กลับหลัง อนาคต ก็ยัง มาไม่ถึง

ปัจจุบัน สำคัญ ควรคำนึง ตรองให้ซึ้ง คุณความดี มีหรือยัง

(ปริปุณโณ)



อย่าปล่อยให้ วันวาน ที่ผ่านพ้น ทำให้เรา ทุกข์ทน จนหม่นไหม้

มัวครุ่นคิด อาจทำผิด ซ้ำลงไป ก็เพิ่มวัน เสียใจ ไปอีกวัน

(พลอยฟ้า)



คนประมาท เสียใจ เมื่อใกล้ม้วย เนื่องด้วย ไม่ทันสร้าง ทางสวรรค์

สร้างเมื่อเจ็บ ใกล้ตาย มักไม่ทัน พึงรีบสร้าง ทางไว้พลัน นั่นแหละดี

(ลออง มีเศรษฐี)



ถ้าหมาหมี มีเขา เต่ามีหนวด xxxตะกวด มีงา ผิดราศี

ถ้าควัน ไม่ปรากฏ แห่งอัคคี มนุษย์นี้ คงจะพ้น คนนินทา



เขาว่าเรา เราอย่าโกรธ ลงโทษเขา ในเมื่อเรา ไม่เป็น เช่นเขาว่า

หากเราเป็น จริงจัง ดังวาจา เหมือนเขาว่า อย่าโกรธเขา เราเป็นจริง



ถ้าพูดไป เขาไม่รู้ อย่าขู่เขา ว่าโง่เง่า งมเงอะ เซอะหนักหนา

ตัวของตัว ทำไม ไม่โกรธา ว่าพูดจา ให้เขา ไม่เข้าใจ



เมื่อมั่งมี มากมาย มิตรหมายมอง เมื่อมัวหมอง มิตรมอง เหมือนหมูหมา

เมื่อไม่มี มวลมิตร ไม่มองมา เมื่อม้วยมอด แม้หมูหมา ไม่มามอง



อยากได้ดี ไม่ทำดี นั้นมีมาก ดีแต่อยาก แต่ไม่ทำ น่าขำหนอ

อยากได้ดี ต้องทำดี อย่ารีรอ ดีแต่ขอ รอแต่ดี ไม่ดีเลย



ก่อนจะทำ สิ่งใด ใจต้องคิด ถูกหรือผิด อย่างนี้ ดีหรือไม่

ถ้าเห็นว่า ไม่ดี มีโทษภัย ต้องหาทาง ทำใหม่ ทำให้ดี



ตนเตือนตน ของตน ให้พ้นผิด ตนเตือนจิต ตนได้ ใครจะเหมือน

ตนเตือนตน ไม่ได้ ใครจะเตือน ตนแชเชือน ใครจะเตือน ให้พ้นภัย



คนจะงาม งามน้ำใจ ใช่ใบหน้า คนจะสวย สวยจรรยา ใช่ตาหวาน

คนจะแก่ แก่ความรู้ ใช่อยู่นาน คนจะรวย รวยศีลทาน ใช่บ้านโต



คนเราดี มิใช่ดี ตรงมีทรัพย์ มิใช่นับ พงศ์พันธุ์ ชันษา

คนจะดี ดีด้วยการ งานนานา อีกวิชา ศีลธรรม นำให้ดี

(สุทธิวงศ์ ตันตยาพิศาลสุทธิ์ รวบรวม)



อย่าดูถูก บุญกรรม ว่าทำน้อย จะไม่ต้อย ตามต้อง สนองผล

เหมือนตุ่มน้ำ วางหงาย รับสายชล ย่อมเต็มล้น ด้วยอุทก ที่ตกลง



อันความดี ทำไว้ กับใครนั้น ไม่มีวัน ลับหาย ในภายหน้า

กายอาจเลือน ลับหาย จากสายตา ดีไม่ลา ลับหาย จากสายใจ



อันยศศักดิ์ ชื่อเสียง เพียงความฝัน ฝ่ายรูปโฉม โนมพรรณ ฉันบุปผา

อันชีวิต เปรียบหมาย เหมือนสายฟ้า อนิจจา ไม่ได้มี จีรังกาล

(ไม่ทราบนามผู้แต่ง)



i เมื่อคุณยังเยาว์และมีกำลังแข็งขัน คุณไม่คิดถึงความชราที่กำลังมาเยือน แต่ชรานั้นมันเคลื่อนเข้ามาอย่างช้าๆ และแน่นอน เหมือนดังเมล็ดพืชที่กำลังงอกอยู่ใต้ดิน



เมื่อคุณยังแข็งแรงและมีอนามัยดี คุณไม่คิดถึงโรคาพยาธิที่กำลังมาเยี่ยม แต่โรคานั้นมันมาอย่างฉับพลันทันใด เหมือนหนึ่งฟ้าแลบก็ปานกัน



เมื่อหมกมุ่นอยู่ในโลกียสมบัติ คุณไม่เคยคิดเลยว่า ความตายกำลังคืบคลานเข้ามา แต่แล้วมันถลามารวดเร็วดังฟ้าร้อง ที่แตกลั่นระรัวรอบศีรษะของคุณ



ชรา พยาธิ มรณะ แขกผู้มาเยือนสามท่านนี้ ไม่เคยเหห่างจากคุณเลย เมื่อนึกถึงสิ่งเหล่านี้แล้ว ไฉนจึงไม่ปฏิบัติธรรม



i ปราสาทแลนครที่มีคนอยู่หนาแน่นแออัด ที่ท่านรักและพอใจพักอยู่ ณ บัดนี้ ท่านพึงจำไว้เถิดว่า สิ่งเหล่านี้จะปรักหักพัง เหลือเป็นกองอิฐกองปูน หลังจากที่ท่านได้ลาโลกนี้ไป



ความหยิ่งผยองและเกียรติศักดิ์ ซึ่งที่แท้แล้วก็ไร้ประโยชน์ มันเป็นเพียง เหยื่อล่อ ซึ่งท่านก็พอใจคบหาและติดตามอยู่ ณ บัดนี้ แต่พึงจำไว้ว่า เมื่อท่านจวนจะตาย มันจะไม่เป็นที่พึ่งพิงหรือที่หลบลี้แก่ท่านได้เลย



ณ บัดนี้ ท่านรักที่จะอยู่รวมกับครอบครัวและญาติพี่น้อง แต่พึงจำไว้ว่า ท่านจะต้องทิ้งเขาเหล่านั้นไว้เบื้องหลัง ในคราวที่ท่านละโลกนี้ไป



คนรับใช้ ทรัพย์สิน และเด็กๆ เป็นสิ่งที่ท่านรักที่จะยึดครองไว้ แต่พึงจำไว้ว่า ณ กาลแห่งมรณะของท่าน มืออันว่างเปล่าของท่านไม่สามารถเอาสิ่งใดไปกับท่าน ได้เลย



กำลังวังชาและสุขภาพเป็นสิ่งท่านรักยิ่ง ณ กาลบัดนี้ แต่พึงจำไว้ว่า ณ ชั่วขณะแห่งมรณะของท่าน ร่างอันหมดลมหายใจของท่านจะถูกมัดและแบกไปทิ้ง



ณ บัดนี้ อวัยวะต่างๆ ของท่านยังแจ่มใสดี เนื้อหนังและโลหิตยังแรงแข็งขัน แต่พึงจำไว้ว่า ณ ชั่วขณะแห่งมรณะของท่าน มันจะไม่อยู่รับใช้ท่านอีกต่อไป



อาหารอร่อย หอมหวาน เป็นสิ่งที่ท่านรักปรารถนาจะกิน ณ บัดนี้ แต่พึงจำไว้ว่า ณ ชั่วขณะแห่งมรณะของท่าน ปากของท่านจะปล่อยให้น้ำลายไหล ออกมาให้น่าเกลียด



เมื่อคิดถึงสิ่งทั้งหมดนี้ ข้าไม่มีทางอื่น นอกจากแสวงหาพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

(ธรรมคีตาของมิลาเรปะ มหาโยคีแห่งธิเบต ร.บุญโญรส แปล)



i โลกมีเหตุกับผล ผู้ที่รู้เท่า ไม่เข้าไปหาบหาม เพียงแต่หิ้ว ก็ เบาŽ ผู้ที่ ไม่รู้เท่า เข้าไปหาบหามหรือแบก ก็ หนักŽ



i บรรดาเรื่องมีในโลก เป็น เรื่องดี เรื่องชั่ว เรื่องสุข เรื่องทุกข์Ž เท่านั้น ท่านที่พ้นโลกไปได้แล้ว ก็สิ้นเรื่องเทียว



i ทุกสิ่งที่ปรากฏให้เรารู้ น้อมเข้ามาสอนเราได้ทั้งสิ้น คือว่า ส่วนดีเรา ทำตาม ส่วนชั่วเรางดเว้นเสีย



i คนที่อยากดีหาง่าย แต่คนที่ทำดีหายาก

(สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ อ้วน ติสฺโส)



i เมื่อวิเคราะห์ด้วยปัญญา เราจะมองเห็นว่า แท้จริงแล้ว เราเองนั่นแหละเป็นผู้สร้างทุกข์ ด้วยความโง่เขลา ไม่เข้าใจโลกอย่างแท้จริง เราจึงไปติดอยู่กับสิ่งที่ไม่เที่ยง ไม่น่าเอา ไม่น่าเป็น สิ่งที่นำไปสู่ความสิ้นหวังและความตาย เมื่อใดเราปล่อยวาง ความเห็นแจ้งก็จะปรากฏ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่หลงไปกับโลก เข้าใจโลก และรู้ว่าจะอยู่กับมันอย่างไร ไม่เรียกร้องอะไร เพราะถ้าเรียกร้องให้มันปรนปรือตัณหาของเราเมื่อใด เมื่อนั้นแหละจะนำไปสู่ความคับแค้นใจ



i เวลาคือจุดระหว่างความอยากกับการได้สมอยาก ระหว่างที่ยังไม่ได้ ตามที่ต้องการนั่นแหละคือเวลา ถ้าไม่มีความอยากก็จะไม่มีเวลา

(พระธรรมโกศาจารย์-พุทธทาสภิกขุ)



i คนที่ท้อแท้เบื่อหน่าย เป็นคนตายก่อนหมดอายุ

i ถ้าไม่อยากจะเศร้าโศก ให้มองโลกเป็นอนิจจัง

i การรู้จักปล่อยวาง เป็นวิถีทางสงบสุข

i ความสุขไม่ได้อยู่ที่ความสมปรารถนา การรู้จักทำใจเมื่อไม่สมปรารถนาต่างหากเป็นความสุข

(พระธรรมดิลก จันทร์ กุสโล-จันทภิกขุ)



i น่าเสียใจน้อยไปหรือที่เรารู้ว่าสิ่งใดเป็นของควรทำ แต่เราก็ทำสิ่งนั้น ไม่ได้ ทุกคนควรตอบปัญหานี้ให้แก่ตนเอง



i ไม่มีการพ่ายแพ้ในการสารภาพผิด เพราะการสารภาพนั้น เป็นชัยชนะ อยู่ในตัวเองแล้ว



i ทำไมต้องกังวลกับสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ มีใครบ้างที่ตายก่อนความตาย จะมาถึง

(มหาตมาคานธี)



i ปาสคัล นักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศส กล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าผู้ใดให้ข้าพเจ้ามาเกิด ไม่ทราบว่าโลกนี้คืออะไร หรือตัวข้าพเจ้าเป็นใคร ... ไม่ทราบ ว่าร่างกายของข้าพเจ้า ความรู้สึก จิตใจ คืออะไร ... ทั้งหมดที่ข้าพเจ้ารู้ก็คือว่า ข้าพเจ้าต้องตาย แต่สิ่งที่ข้าพเจ้าไม่รู้จักมากที่สุดคือความตายนี้เอง



i วอลแตร์ นักเขียนชาวฝรั่งเศส กล่าวว่า การไม่มีอะไรทำ และการ ไม่มีชีวิตนั้นเหมือนกัน ทุกคนดียกเว้นคนเกียจคร้าน หากท่านไม่ปรารถนาจะทำลายชีวิตตนเอง ก็จงหาอะไรทำ

(สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา / ดร.สุพัชริน ธีรธำรง แปล)



i เมื่อทุกอย่างสูญสิ้นหมดแล้ว แต่อนาคตยังอยู่ อนาคตยังเป็นของเรา จงทำใหม่ สร้างใหม่

(หลวงวิจิตรวาทการ)

i เอาอะไรแน่กับการตาย การอยู่ เพราะบางคนตายแล้วเหมือนยังอยู่ในเมื่อบางคนยังอยู่แต่เหมือนตายแล้ว

(พล.ต.กนก ชุณหะวัต รวบรวม)



i การพูดเพียงครึ่งหนึ่งของความคิด ดีกว่าคิดเพียงครึ่งหนึ่งของคำพูด



i วันคืนเคลื่อนคล้อย อายุก็เหลือน้อยเข้าทุกที



i ทุกข์เป็นของควรกำหนด มิใช่ของควรทิ้ง ถึงจะทิ้ง ก็จะเอาไปทิ้งให้ใคร ไม่ได้



i ความทุกข์ยากทั้งหลาย ยอมให้มันชนะได้แค่กาย จิตใจอย่ายอมแพ้



i ไม่จำเป็นต้องทุกข์ถึงวันพรุ่งนี้ เพราะเรื่องที่จะต้องทุกข์ในวันนี้ก็มากพอ อยู่แล้ว



i ปัญหาชีวิตของแต่ละคนนั้น มันช่างมีมากมายเสียเหลือเกิน แต่ตัว ชีวิตมันกลับมีน้อย ไม่พอแก่ปัญหาหรือการงานเสียเลย



i สิ่งใดมีการเกิดขึ้น สิ่งนั้นย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา การร้องไห้คร่ำxxx่อมไม่อาจหน่วงเหนี่ยวสิ่งซึ่งจะต้องแตกดับมิให้แตกดับ



i เมื่อรู้ว่าจะต้องแก่แน่ ตายแน่ จึงไม่ควรที่จะให้แก่ไปเปล่า ตายไปเปล่า ความดีอะไรทั้งทางโลกทางธรรม ต้องรีบทำให้มากเข้าไว้



i สุขทุกข์ที่ผ่านมาแล้วในอดีต ที่กำลังพบอยู่ และที่จะได้พบในอนาคต เป็นของไม่ต่างอะไรกับอารมณ์ที่ปรากฏในความฝัน



i คนที่ถูกนินทาอย่างเดียว หรือได้รับการสรรเสริญอย่างเดียว ไม่เคยมีมาแล้ว จักไม่มีต่อไป ถึงในขณะนี้ก็ไม่มี



i เราไม่รู้ใจเราเองเลย แต่กลับอยากให้คนอื่นเข้าใจเรา เห็นใจเรา เรา จึงทำร้ายใจเราและทำร้ายใจคนอื่นอยู่เสมอ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องรู้ใจ เข้าใจตัวเองเสียก่อน แล้วจึงไปเข้าใจคนอื่น



i บุคคลต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พึงใจเป็นธรรมดา หลีกเลี่ยงไม่ได้ ชีวิตนี้มีความพลัดพรากเป็นที่สุด สิ่งทั้งหลายมีความแตกไป ดับไป สลายไป เป็นธรรมดา จะปรารถนามิให้เป็นอย่างที่มันควรจะเป็นนั้น เป็นฐานะที่ไม่พึงหวังได้



i ทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่เป็นไปตามที่เราคิด แต่เป็นไปตามที่มันจะเป็น แม้สิ่งที่เราไม่ชอบและไม่เห็นด้วยเลย มันก็เกิดขึ้นได้ ถ้าไปยึดเอาของที่ไม่จริงไม่จัง ว่ามันจริงมันจัง มันก็ทุกข์เท่านั้นแหละ



i ปาก จมูก เป็นประตู หู ตา เป็นหน้าต่าง เราต้องคอยปิดเปิดให้ถูกกาลเวลา จึงจะได้รับประโยชน์และปลอดภัย



i ในชีวิตของแต่ละคน แต่ละวันมันอยู่กับเรื่องดึงเข้ามา เรื่องผลักออกไป ๒ เรื่องนี้แหละ สิ่งใดเราพอใจก็ดึงเข้ามา เพลิดเพลินสนุกสนานไป สิ่งใด ไม่พอใจก็ผลักดันให้ออกไป ถ้าผลักไม่ไปดันไม่ออก ก็กลุ้มใจอีก



i ขณะที่เรากำลังคิด...คิด...คิด...อยู่นี้ เราคิดเรื่องที่เป็นบุญ มีประโยชน์ มีสาระ มีคุณค่าหรือเปล่า หรือว่าเราใช้ความคิดอย่างเรื่อยเปื่อยไร้จุดหมาย คิดแล้วไม่ทำให้ตนเองสดชื่นเบิกบาน คิดแต่เรื่องที่ทำให้กลุ้มใจ เสียใจ น้อยใจ คิดแล้วไม่ทำให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข ... ความคิดนั้นๆ เป็นความคิดที่สูญเปล่า ไร้ค่า เป็นการทำลายเวลา ซึ่งเท่ากับทำลายชีวิตของเราเองอย่างโหดร้ายที่สุด



i เราอยู่กับคนที่เราไม่ชอบก็ทุกข์ อยู่กับคนที่รักก็ต้องทุกข์ เพราะต้อง คอยหวง ห่วงอยู่ร่ำไป ต้องคอยชะเง้อคอคอยเมื่อถึงเวลาแล้ว คนที่เรารักยังกลับมาไม่ถึงบ้าน ป่านนี้เขาจะอยู่ที่ไหน ความวิตกกังวลหม่นหมองเร่าร้อนแห่งจิตก็เกิดขึ้น เป็นเช่นนี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน บางคืนก็หลับไม่ลง ตัดใจเสียเถิด ตื่นเสียเถิดจากความทุกข์ทั้งหลาย ล้างหน้า เช็ดน้ำตาออกเสียให้หมด ทำใจให้สดใส แล้วอธิษฐานใจเสียใหม่ว่า ฉันจะไม่ร้องไห้ ไม่อาลัยอาวรณ์อีกต่อไป และจะให้อภัยแก่ทุกคน



i บุคคลที่ชอบบ่นว่า ทำดีไม่ได้ดี นั้น เคยสำรวจบ้างหรือไม่ว่า ทำดีถึงขนาดที่จะรับผลดีหรือยัง หรือว่าทำดีเพียงเล็กน้อยแต่ต้องการผลดีมากๆ หรือทำผิดพลาด ทำไม่ถูกดี ผลดีจึงไม่ปรากฏ หรือบางที อาจใจร้อนเกินไป จนไม่อาจรอคอยผลได้ จึงโวยวายร่ำร้องนานาประการ



การทำดีเป็นหน้าที่ของคนดี แต่การให้ผลดีเป็นหน้าที่ของกรรม บุคคลไม่อาจเร่งรัดได้ เหมือนการไถและหว่านเป็นหน้าที่ของชาวนา การออกรวงเป็นหน้าที่ของต้นข้าว ชาวนาจะไปเร่งรัดไม่ได้

(เรียบเรียงจากบันทึกของ ธมฺมวฑฺโฒ ภิกฺขุ ซึ่งไม่ได้ระบุที่มา)



*************************

จากหนังสือพุทธวิธีคลายโศก

เรียบเรียงโดย ธมฺมวทฺโฒ ภิกฺขุ
 

_________________
"อย่าลืมตัว อย่าลืมปัจจุบัน อย่าลืมปฏิบัติ"
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
ชำ
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 18 ก.ย. 2004
ตอบ: 10

ตอบตอบเมื่อ: 02 พ.ย.2004, 1:32 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ สาธุ สาธุ คิดถึงครับแต่ตอนนี้ยังไม่ว่างครับ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
บัวหิมะ
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 26 มิ.ย. 2008
ตอบ: 1273

ตอบตอบเมื่อ: 26 ส.ค. 2008, 10:31 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

การทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทน จึงจะทำให้ผู้กระทำมีความสุขที่แท้จริง ใช่ไหม สาธุ
 

_________________
ชีวิตที่เหลือเพื่อธรรมะ
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง