Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 วิปัสสนาภูมิ ตอนที่ 8 ปฏิจจสมุปบาท 12 อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
kit_allwhat
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 02 ส.ค. 2006
ตอบ: 25

ตอบตอบเมื่อ: 21 ส.ค. 2006, 12:23 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

วิปัสสนาภูมิ ตอนที่ 8 “ปฏิจจสมุปบาท 12”
โดย พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํสี)


นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

ขอถวายความนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง ขอความผาสุกความเจริญในธรรมจงมีแก่ญาติสัมมาปฏิบัติธรรมทั้งหลาย

ต่อไปนี้จะได้บรรยายธรรมะตามหลักคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะที่จะพูดในวันนี้คือเรื่องของปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาทหมายถึงธรรมที่เป็นเหตุเป็นผลเกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งไม่ใช่ธรรมที่ไหน ก็คือธรรมในอัตภาพในสังขารที่มีอยู่ในตนเองนี่แหละ ที่เรายึดถือว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นตัวตนเป็นเราเป็นของเรา แต่ถ้าว่าโดยสภาวะแล้วก็คือธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นเหตุเป็นผลเกี่ยวเนื่องกัน พระพุทธเจ้าได้แสดงในเรื่องของปฏิจจสมุปบาทไว้ โดยยกอวิชชา ขึ้นมาเป็นอันดับแรก เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายที่เวียนว่ายตายเกิดนี้สาวหาต้นไม่พบ สาวไปแล้วไม่รู้ว่าต้นชาติเป็นยังไง

อวิชชาก็คือความไม่รู้นั่นเอง หรือว่าธรรมชาติที่รู้ในสิ่งที่ไม่ควรรู้ สิ่งที่ควรรู้กลับไม่รู้ คือลักษณะของอวิชชา สิ่งที่ไม่ควรรู้ก็คือ สมมุติบัญญัติ รู้สมมุติบัญญัตินั้นไม่ได้ทำให้พ้นทุกข์ ได้แต่อวิชชานี้ก็รู้ได้เช่น การรู้ในการสร้างอาวุธ ทำอย่างไรถึงจะสร้างอาวุธที่สามารถทำลายศัตรูได้อย่างมากมาย ที่เขาทำระเบิดทำอาวุธประหัตประหารกันอยู่ สามารถคิดค้นอาวุธร้ายแรงได้ ใช้ระเบิดนิวเคลียร์ ใช้อาวุธเคมีอะไรต่างๆ แต่ในทางธรรมะแล้วถือว่ายังเป็นอวิชชา คือไปรู้สิ่งที่ไม่ควรรู้ ไปรู้ในสิ่งที่จะสร้างความทุกข์

เราจะเห็นว่าถ้าเรามองโดยส่วนรวมแล้ว มนุษย์ที่ประหัตประหารกันต่างคนต่างก็ได้รับความทุกข์ ไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับชีวิตมนุษย์ที่จะฆ่ากันทำลายกัน อย่างใช้อาวุธร้ายแรงก็ทำให้เสีย บรรยากาศของโลกของจักรวาล และสิ่งเหล่านั้นมาทำลายมนุษย์ภายหลัง ฉะนั้นเท่ากับว่าความโง่ ความไม่รู้ของมนุษย์มันทำให้เกิดการฆ่ากันทำร้ายกันเบียดเบียนกัน นี่เรียกว่า อวิชชา ความไม่รู้ สิ่งที่ควรรู้ไม่รู้ สิ่งอะไรควรรู้คือทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ นี่ไม่รู้ ฉะนั้นเท่ากับว่าอวิชชาไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้ถึงอะไรเป็นทุกข์ ไม่รู้เหตุที่จะทำให้เกิดความทุกข์ ไม่รู้ถึงความดับทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติให้เข้าถึงความดับทุกข์

ไม่รู้ในสังขารที่เป็นมาแล้วในอดีต สังขารที่จะเป็นไปในอนาคต ไม่รู้ทั้งอดีตและอนาคต ไม่รู้ถึงธรรมที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยเป็นผล เกี่ยวเนื่องกัน เรื่องของอวิชชาบางทีก็เห็นความทุกข์โดยความเป็นสุข ไม่เห็นทุกข์โดยความเป็นทุกข์ แต่เห็นทุกข์โดยความเป็นสุข เช่นว่า การได้รูป ได้กลิ่น ได้รส ที่ดี มีความเข้าใจว่านี่คือความสุข ก็เลยมีข้อปฏิบัติว่าจะต้องแสวงหาสิ่งเหล่านี้มาปรนเปรอให้ได้ อยากได้อะไรก็แสวงหาสิ่งเหล่านั้น คิดว่าเราต้องหาให้ได้มากๆ เราจะได้มีความสุขนี่เรียกว่า อวิชชา มันบังไว้ให้สำคัญมั่นหมายในข้อปฏิบัติที่ผิด

แต่ผู้ที่มีปัญญาก็จะเห็นว่าความสุขที่ได้มาจาก รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส นั้น ยังเป็นความทุกข์อยู่เพราะมันปรวนแปร มันเปลี่ยนแปลง มันไม่คงที่ ยังเพิ่มความทุกข์มากยิ่งขึ้น เพราะอะไร เพราะว่าเกิดความหนาแน่นของความต้องการความติดใจ ความอยากได้มากขึ้นอีกเราก็ต้องแสวงหาสิ่งตอบสนองความต้องการนี้มากขึ้นอีก แสวงหาสิ่งตอบสนองความต้องการเหล่านั้น เราว่ามันมีความสุข แต่ที่จริงมันไปเพิ่มเหตุที่จะให้เกิดความทุกข์ คืออาการดิ้นรนของจิตก็จะมีมากขึ้นอีก เหมือนบุคคลที่ติดยาเสพติด เวลาติดยาเสพติดใหม่ๆ ก็ติดน้อยอาการดิ้นรนก็มีน้อย

แต่เมื่อได้แสวงหาสิ่งเสพติดนั้นมาเสพ เสพบ่อยๆ เข้าก็เพิ่มความต้องการมากขึ้นอีก เมื่อมีความอยาก ความต้องการมากขึ้น อาการที่ดิ้นรนคือเป็นความทุกข์ความเดือดร้อนก็ยิ่งทวีคูณมากขึ้นอีก บุคคลนั้น ก็แสวงหายาเสพติดเพิ่มขึ้นๆ ขณะที่เสพนั้นก็เพิ่มความอยาก เมื่อมีความอยากอาการดิ้นรนก็มากขึ้น ฉะนั้น จนกระทั่งตายไม่สามารถพ้นทุกข์ได้ ฉันใดก็ดีแม้แต่บุคคลทั่วไปที่ยังเป็นปุถุชนที่ไม่มีปัญญา แสวงหารูปสวยๆ เสียงไพเราะ กลิ่นหอมๆ รสอร่อย ก็เหมือนกับผู้ที่ติดยาเสพติดเหมือนกัน ถ้าเราไม่รู้ทันเราคิดว่าเราต้องแสวงหาสิ่งเหล่านั้นมาตอบสนองความต้องการต่างๆ ให้ได้เราจะได้มีความสุขเราจะได้พ้นทุกข์ แต่ที่จริงแล้วมันไม่ได้พ้นเลย

ความต้องการไม่ใช่หมดไปเลย จะหารูปสวยๆ แค่ไหน เสียงไพเราะแค่ไหน กลิ่น รส สัมผัสแค่ไหน ความต้องการไม่ได้หมดไป เลยจากจิตใจ เอามาปรนเปรอความอยากสักเท่าไรความอยากก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อมีความอยากมากขึ้น ความทุกข์ก็ตามมาความดิ้นรนความต้องการมากขึ้นเรียกว่าความอยาก จึงเป็นเหตุแห่งความทุกข์ ฉะนั้นข้อปฏิบัติที่แสวงหาเหล่านั้น จึงไม่ใช่เป็นข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง ไม่ใช่ดับทุกข์ได้ ข้อปฏิบัติที่จะดับทุกข์ได้ก็จะต้องละเหตุแห่งทุกข์ คือ ละตัณหาความอยากนั้นให้ได้ ข้อปฏิบัติก็คือ ต้องพยายามลดละความอยาก

ไม่ใช่ไปเพิ่มสิ่งตอบสนองความอยาก ถ้าบุคคลใดปฏิบัติ มีข้อปฏิบัติที่จะละ สามารถจะละความอยากได้แล้ว ความทุกข์ก็ดับลง แต่ถ้าอวิชชาไม่รู้บังปัญญาอยู่ เมื่อมีอวิชชามันก็เกิดสังขารคือการปรุงแต่ง ธรรมชาติที่ปรุงแต่ง จิตคือตัวเจตนา ปรุงแต่งให้ทำบุญบ้าง ปรุงแต่งให้ทำบาปบ้าง ปรุงแต่งให้ทำฌาณถึงอรูปฌาณ บ้าง ปุญญาภิสังขาร ปรุงแต่งให้ทำบุญ อปุญญาภิสังขาร ปรุงแต่งให้ทำบาป อเนญชาภิสังขาร ปรุงแต่งให้ทำอรูปฌาณ เราจะเห็นว่า อวิชชามันก็เป็นปัจจัยให้ทำบุญก็ได้ แต่เรื่องทำบาปไม่มีปัญหาอะไร ความไม่รู้ต้องหลงในการทำบาปนั้นแน่

แต่การทำบุญ อวิชชาก็ยังเป็นปัจจัยได้ นั่นก็คือบุคคลที่มีความปรารถนาความสุขแบบโลกิยะ เช่นความสุขบนสวรรค์ ได้ยินได้ฟังว่า บนสวรรค์นี่มีวิมานทิพย์ อาหารเป็นทิพย์ จะนึกอะไรก็ได้ตามความปรารถนา ก็อยากจะได้สวรรค์สมบัติ ก็เลยทำบุญ ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เพื่อจะให้ได้สวรรค์สมบัติเหล่านั้น การให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เหล่านั้น เป็นปุญญาภิสังขาร โดยอาศัยอวิชชาความไม่รู้ เป็นเหตุ ไม่รู้ว่านั้นไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง สวรรค์สมบัติไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ยังเป็นความทุกข์อยู่นั่นแหละ

เพราะว่าความสุขชนิดนี้มันเปลี่ยนแปลงยิ่งเพิ่มความดิ้นรนอาการต้องการของจิต คือตัณหา มากขึ้น แล้วภพชาติของสวรรค์ก็ไม่ได้อยู่ได้ตลอดไป พ้นลงมาเป็นมนุษย์มีกิเลสก็ทำบาปลงนรก ได้อีก ฉะนั้นบุคคลที่มีอวิชชาความหลง ทำบุญเพื่อหวังจะให้ได้สวรรค์สมบัติ มนุษย์สมบัติ หรือให้เกิดเป็นคนรวย คนสวยอะไรต่างๆ คืออยากจะได้สรุปแล้วก็คือต้องการที่จะได้รูปสวยๆ เสียงไพเราะ กลิ่นหอมๆ รสสัมผัสที่ดี อยากจะได้อารมณ์ดีๆ อยากเสวยอารมณ์ดีๆ นั่นน่ะ ปรารถนาอย่างนั้นเรียกว่า ยังมีอวิชชาอยู่ เป็นการปรารถนาสิ่งที่ยังเป็นความทุกข์อยู่

ความสุขที่เขากล่าวนั้นยังเป็นความทุกข์อยู่ ยังไม่ใช่สุขที่แท้จริง สุขที่แท้จริงนั้นจะต้องการหลุดพ้น จากความทุกข์โดยสิ้นเชิง หรือหลุดพ้นจากความสุขนั่นแหละ คือไม่มีการเสวยอารมณ์เหล่านั้น ไม่มีการเสวยอารมณ์ในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่ดี ที่น่ารักใคร่ น่าปรารถนา คือความสุขที่หลุดพ้นจากความทุกข์และความสุขนั้นแหละ ใช้คำว่าความสุข ที่จริงแล้วก็คือธรรมชาติที่มันหลุดพ้นออกไปแล้วจากการเสวยความสุขความทุกข์ ที่พระพุทธเจ้า เรียกว่าบรมสุข คำกล่าวเช่นนั้นก็เพียงว่ากล่าวตามความเข้าใจ ของชาวโลก คือคนเรานี้ชอบในความสุขกัน

พระพุทธเจ้าจะแสดงนิพพานให้ชาวโลก ได้เห็นว่าเป็นสิ่งที่ประเสริฐนั้น ก็เลยใช้คำว่า บรมสุข คือความสุขอย่างยิ่ง แต่ชาวโลกเข้าใจว่า ความสุขแบบการเสวยอารมณ์ แต่ความจริงมันไม่ใช่อย่างนั้น มันเป็นความสุขที่หลุดพ้นไปแล้ว หลุดพ้นจากการเสวยอารมณ์จึงเรียกว่า บรมสุข ฉะนั้น อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดปุญญาภิสังขารได้ ส่วนเป็นปัจจัยให้ทำบาปก็แน่นอน ทำได้อยู่แล้ว สำหรับ อาเนญชาภิสังขาร คือทำอรูปฌาณ ก็ยังเกิดจากอวิชชาได้ เช่น บางคนปรารถนาที่จะไปเสวยพรหมโลก เป็นอรูปพรหม แล้วก็คิดว่านั่นคือความหลุดพ้น พ้นทุกข์แล้ว

ไม่เข้าใจว่าความดับทุกข์ที่แท้จริงเป็นอย่างไร คิดว่านั่นคือความดับทุกข์แล้ว เหมือนกับ อาฬารดาบส กับ อุทกดาบส ที่เป็นอาจารย์ของเจ้าชายสิทธัตถะ ในสมัยนั้นก็เข้าใจว่านั่นคือความพ้นทุกข์แล้ว นี่ก็อวิชชามันบังไว้ ทำให้ไม่รู้ว่านั่นก็ยังไม่พ้นทุกข์ ก็เลยมีความปรารถนาให้ได้อรูปฌาณเหล่านั้น อวิชชาเป็นปัจจัย ให้เกิดสังขาร เรียกว่า อวิชชาปจจยา สงขารา สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ เรียกว่า สงขารปจจยา วิญญาณํ วิญญาณคือปฏิสนธิวิญญาณ และ ปวัตติวิญญาณ ปฏิสนธิวิญญาณ คือวิญญาณที่อุบัติบังเกิดขึ้นครั้งแรกในภพใหม่ ส่วนปวัตติวิญญาณก็เป็นวิญญาณที่เกิดในปวัตติกาล

เมื่อเกิดวิญญาณแล้วก็ทำให้เกิดนามรูป เรียกว่า วิญญาณปจจยา นามรูป วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป คือ รูปที่เกิดจากกรรม นามก็เป็นผลที่เกิดขึ้นจากกรรมได้ อย่างมนุษย์เกิดขึ้นครั้งแรก พอปฏิสนธิวิญญาณเกิดขึ้นก็จะมีรูปที่เกิดจากกรรมเกิดขึ้นพร้อมกัน เช่น มีหทยรูปคือรูปหัวใจ ภาวรูป รูปแห่งความเป็นหญิงเป็นชายเกิดขึ้น ยังไม่มีตา หู จมูก ลิ้น ก็มีรูปมีนามเกิดขึ้นก่อน เมื่อจิตเกิดขึ้นก็มีเจตสิกเกิดร่วมขึ้นซึ่งเป็นนามธรรม

ฉะนั้น เมื่อมีรูปมีนามอุบัติบังเกิดขึ้นแล้ว นามรูปปจจยา สฬายตนํ นามรูป ก็เป็นปัจจัยทำให้เกิดสฬายนตนะ คือ อายตนะภายใน ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดขึ้น

เมื่อมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือมี สฬายตนะแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ เรียกว่า สฬายตนปจจยา ผสโส ผัสสะคือธรรมชาติที่กระทบอารมณ์ ทำให้เกิดการสัมผัส นั่นคือ มีตาก็ต้องมีสีที่กระทบทางตา มีสภาพเห็นเกิดขึ้นให้เกิดการสัมผัสอารมณ์เกิดขึ้น มีหูคือประสาทหูก็ทำให้มีเสียงกระทบ มีการสัมผัส เกิดการได้ยินเสียงขึ้น

เมื่อมีการประชุมกันระหว่างประสาท สภาพได้ยิน เสียงมากระทบ ก็เกิดการสัมผัสขึ้น มีประสาทจมูกก็ทำให้กระทบกับกลิ่น เกิดการรู้กลิ่น สัมผัสอารมณ์ขึ้นทางจมูก มีประสาทลิ้น มีรสกระทบ มีการรู้รสเกิดขึ้น สัมผัสการรู้รสเกิดขึ้น มีประสาทกายก็มีโผฏฐัพพารมณ์ คือ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึงกระทบ เกิดกายวิญญาณ คือ ความรู้สึกขึ้นทางกาย เกิดการสัมผัสขึ้นทางกาย มีใจก็ทำให้มีธรรมารมณ์ คือ อารมณ์มากระทบทางใจ แล้วก็เกิดวิญญาณรู้เรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้น เกิดการสัมผัสขึ้น สัมผัสทางตา สัมผัสทางหู สัมผัสทางจมูก สัมผัสทางลิ้น สัมผัสทางกาย สัมผัสทางใจ

การที่มีการสัมผัสทางอารมณ์ได้ก็ต้องมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ คนไหนประสาทตาไม่มี อย่างตาบอด ก็ไม่มีการสัมผัสสีรูปภาพ บางคนหูหนวกก็จะไม่มีการสัมผัสเสียงไม่ได้ยินเสียง ฉะนั้นเมื่อมีตา มีหู มันก็ต้องมีการสัมผัสอารมณ์ เมื่อเกิดมีการสัมผัสขึ้นก็ทำให้เกิดเวทนา เรียกว่า ผสสปจจยา เวทนา เวทนาคือการเสวยอารมณ์ เป็นความสุข เป็นความทุกข์ เป็นความเฉยๆ ทางกายก็มีสุขเวทนา สบายกาย มีทุกขเวทนา ไม่สบายกาย ทางใจก็มี 3 อย่างคือ โสมนัสเวทนา ดีใจ โทมนัสเวทนา เสียใจ อุเบกขาเวทนา เฉยๆ เวทนาเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากมีการสัมผัสขึ้นมา มีการสัมผัสอารมณ์เวทนาจึงเกิดขึ้น

เมื่อมีเวทนา เวทนาปจจยา ตณหา เวทนาก็เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ตัณหา คือ ความอยากความต้องการติดใจในอารมณ์ สัมผัสอารมณ์ที่ดีความต้องการติดใจในอารมณ์ก็เกิดขึ้น เป็นกามตัณหาเกิดขึ้น แม้ขณะที่เกิดทุกขเวทนาอยู่ ตัณหาก็แทรกเข้ามาได้ ความต้องการดิ้นรนไปถึงความสุข ความไม่ต้องการในความทุกข์ในขณะนี้ อยากได้ต้องการที่จะหาความสุขที่มันพ้นไปจากความทุกข์เหล่านี้ หรือแม้แต่เกิดอุเบกขาเวทนาคือความเฉยๆ เกิดขึ้น ตัณหาก็เข้ามาแทรกได้ คือพอใจในความเฉยนั้น ก็ได้ เวลาเฉยๆ ตัณหาก็พอใจในความเฉยๆ ได้

เมื่อมีตัณหา ตณหาปจจยา อุปาทาน ตัณหาก็เป้นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน อุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ผิด

อุปาทานมี 4 อย่าง

1) กามุปาทาน 2) ทิฏฐุปาทาน 3) สีลัพพตุปาทาน 4) อัตตวาทุปาทาน


กามุปาทาน ก็ยึดมั่นในวัตถุกามทั้ง 6 มีรูป เสียง เป็นต้น คือ ความต้องการติดใจ ในอารมณ์ที่มีความรุนแรงขึ้นก็กลายเป็น อุปาทาน ซึ่งองค์ธรรมมันเหมือนกันระหว่างตัณหากับ กามุปาทาน คือ โลภเจตสิกเหมือนกัน แต่ว่าตัณหากับอุปาทานมันแตกต่างกันโดยลักษณะความเข้มข้นของความต้องการติดใจ ถ้าความโดยธรรมดา เห็นแล้วก็ชอบใจ ได้ยินแล้วก็ชอบใจ ได้กลิ่นแล้วก็ชอบใจ ลิ้มรสแล้วก็ชอบใจ สัมผัสแล้วก็ชอบใจ ติดใจ อย่างนั้นเป็นตัณหา แต่ถ้าเกิด ต้องการ ติดใจ แล้วก็ยึดถือไว้ โดยไม่ปล่อยในอารมณ์เหล่านั้นก็กลายเป็นกามุปาทาน ยึดถือว่าสิ่งนั้นเป็นของเรา ของตนเอง แล้วก็เกิดความหวงแหน

เมื่อมีความหวงแหน ความทุกข์ต่างๆ ก็ตามมา นั่นก็มาจากตัณหา ตัณหาทำให้เกิดกามุปาทาน กามุปาทาน คือ การยึดมั่นถือมั่นในกาม ทิฏฐุปาทาน ความยึดมั่นในการเห็นผิด เช่น ยึดในความเห็นว่า บุญบาปไม่มี ผลบุญผลบาปไม่มี เป็นต้น สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นในการปฏิบัติผิด มีการปฏิบัติเยี่ยงโค และสุนัข เป็นต้น อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่นในขันธ์ 5 ของตนและของคนอื่น ได้แก่ สักกายทิฏฐิ ยึดถือในสักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวเป็นตน ซึ่งเป็นความเห็นผิดโดยสามัญ ในปุถุชนทั้งหลาย คือในสันดานของปุถุชนก็จะมีความเห็นผิดในอาการเหล่านี้ทั้งนั้น

คือ ความยึดถือในขันธ์ 5 ว่าเป็นตัว เป็นต้น ยึดว่ารูปเป็นเรา เราเป็นรูป เห็นรูปกับเราเป็นอันเดียวกัน ยึดถือว่าเรามีรูป รูปกับเราคนละอันกัน ยึดถือว่ารูปอยู่ในเรา คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี่อยู่ในเรา หรือยึดถือว่า เราอยู่ในรูป คือมีเราอยู่ในตา หู จมูก ลิ้น กาย อย่างนี้เรียกว่ายึดถือในรูปขันธ์ เอารูปขันธ์เป็นอารมณ์ ยึดถือในเวทนา คือความสุข ความทุกข์ ดีใจ เสียใจ เฉยๆ นั้นว่าเป็นเรา เราเป็นเวทนา เรามีเวทนา เวทนาอยู่ในเรา เราอยู่ในเวทนา ยึดถือสัญญา ความจำได้หมายรู้ เราเป็นสัญญา สัญญาเป็นเรา เรามีสัญญา สัญญาอยู่ในเรา เราอยู่ในสัญญา ยึดถือในสังขาร

ธรรมชาติที่ปรุงแต่งจิต พอใจ ไม่พอใจ เป็นต้น นั่นว่าเป็นเรา เรามีสังขาร สังขารอยู่ในเรา เราอยู่ในสังขาร ยึดถือในวิญญาณ ธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ความนึกคิด ว่าเป็นเรา เรามีวิญญาณ วิญญาณอยู่ในเรา เราอยู่ในวิญญาณ นี่เป็นสักกายทิฏฐิ ความยึดมั่นถือมั่นในความเห็นผิดอยู่ ซึ่งเป็นความเห็นผิดโดยสามัญ คือมีทั่วไปในปุถุชน ถ้ายังเป็นปุถุชน เราจะยังมีความรู้สึกอย่างนี้อยู่ จะหลุดพ้นจากความเห็นผิดขึ้นมาก็ต่อเมื่อถึงอริยมรรค ต้องเป็นอริยบุคคลตั้งแต่โสดาบันขึ้นไปถึงจะละความเห็นผิดเหล่านี้ได้ ความเห็นผิดประเภทนี้ยังไม่ขัดขวางต่อการทำกุศล ยังทำบุญทำกุศลได้

อย่างคนปรารถนาจะให้ตัวเองมีความสุขความเจริญอยากจะให้ตัวเองไปเกิดบนสวรรค์ ก็ยังทำบุญ ทำกุศล แม้จะเห็นเป็นตัวเป็นตนก็ตามยังไม่ขัดขวางต่อบุญกุศล แต่ถ้าหากว่าเป็นสีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นในข้อปฏิบัติที่ผิด อันนี้ไปอบายได้ คนยึดมั่นในข้อปฏิบัติที่ผิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็น สิ่งที่ถูกต้อง เช่น บางพวกเข้าใจว่าเรานี้จะพ้นทุกข์ได้ จะต้องใช้หนี้กรรม เราเกิดมาเพราะมีบาปกรรมมีอกุศลกรรมอยู่ เราเป็นหนี้ของอกุศลกรรมไว้ เข้าใจว่าการจะพ้นทุกข์เราจะต้องใช้หนี้กรรมให้หมด ทำยังไงจะใช้หนี้กรรมให้มันหมด ก็ต้องทรมานตัวเองให้ลำบาก

มีการปฏิบัติแบบโค แบบสุนัข กินอย่างโค นอนอย่างโค ถ่ายอย่างโค อย่างสุนัข เพื่อจะใช้หนี้กรรม บางคนก็ไปนั่งตากแดดตากฝนให้มันลำบาก คิดว่ามันจะได้หมดกิเลสบางคนก็อดอาหาร ทรมานร่างกาย คิดว่ามันจะได้หมดกิเลส ก็เข้าใจว่าการอดอาหาร จะทำให้หมดกิเลส นอนตากแดด นั่งตากแดด ตากฝน อะไรต่างๆ เป็นข้อปฏิบัติที่จะทำให้หมดกิเลส เป็นสีลัพพตุปาทาน เป็นการยึดถือในข้อปฏิบัติที่ผิด ซึ่งไม่ใช่ทางหลุดพ้น เพราะว่าอะไร เพราะว่าการทรมานร่างกายนั้น ถ้าหากว่าปฏิบัติผิดแล้ว ยึดถือในข้อปฏิบัติที่ผิด ก็ไปสู่อบายได้

ในสมัยพุทธกาลนั้นก็มีการยึด ในข้อปฏิบัติที่ผิด ยิ่งเป็นทิฏฐุปาทาน ความเห็นผิดที่เป็น นิยตมิจฉาทิฏฐิ ยิ่งหนักใหญ่ ที่บางท่านเข้าใจว่าบุญบาปไม่มี การที่เราได้รับความสุขความทุกข์ในปัจจุบันนี้ไม่ได้มีเหตุคือ ไม่ได้เกิดจากกรรมแต่อย่างใด ไม่ได้เกิดจากบุญจากบาป หรือว่าเราสัตว์ทั้งหลายจะได้รับความสุข ความทุกข์ในกาลข้างหน้า ก็ไม่ได้เกิดจากบุญบาปแต่ประการใด หรือว่าการกระทำอะไรลงไป ก็ตามก็ไม่ได้เป็นบุญเป็นบาป ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกามไม่ได้เป็นบาป ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาไม่ได้เป็นบุญ เข้าใจว่าทำลงไปก็เป็นเพียงกิริยาที่ทำลงไป ถ้าบุคคลใดมีความเห็นอย่างนี้แล้วก็ยึดถือ ปักใจดิ่งลงไปอย่างนั้น เรียกว่านิยตมิจฉาทิฏฐิ เป็นความเห็นผิดที่ร้ายแรงที่จะต้องไปตกอบายอย่างแน่นอน ไม่มีระหว่างคั่น เรียกว่า เป็นกรรมอันหนัก

เมื่อบุคคลมีอุปาทาน อุปาทานก็เป็นปัจจัยให้เกิดภพ อุปาทานปจจยา ภโว อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ หรือว่าภวะ มี 2 อย่าง คือ 1) กัมมภวะ 2) อุปปัตติภวะ กัมมภวะ หมายถึง การกระทำที่เกี่ยวด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ในสิ่งที่ดีและไม่ดี คือเจตนาที่อยู่ในอกุศล และโลกิยกุศล อุปัตติภวะ คือความอุบัติบังเกิดขึ้นเป็นสัตว์ทั้งหลายใน 31 ภูมิ นี้ว่าโดยบุคคลาธิษฐาน

ภวปจจยา ชาติ ภพก็เป็นปัจจัยให้เกิดชาติ โดยมุ่งหมายเอาเฉพาะ กัมมภาวะ กัมมภาวะเป็นปัจจัยให้เกิดชาติ ชาติคือความเกิดขึ้นเป็นสัตว์ทั้งหลาย ในกำเนิด 4 อย่าง

กำเนิด 4 อย่าง คือ

1) ชลาพุชชาติ การเกิดขึ้นในมดลูก
2) อัณฑชชาติ การเกิดขึ้นในฟอง
3) สังเสทชชาติ การเกิดขึ้นในที่ที่มียาง
4) โอปปาติกชาติ การเกิดผุดโตขึ้นทันที

สัตว์บางชนิดก็เกิดขึ้นโตทีเดียว บางชนิดก็เกิดในยางเหนียว บางชนิดก็เกิดในไข่ บางชนิดก็เกิดในมดลูก แล้วแต่กรรมที่จะนำพาไป

ชาติปจจยา ชรามรณํ โสกปริเทว ทุกขโทมนสสปายาส ชาติเป็นปัจจัยให้เกิด ชรา มรณะ และ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส มีเกิดก็ต้องมีแก่ มีตาย แก่ชรา ที่มองเห็นเช่นผมหงอกฟันหัก หนังเหี่ยวอะไรอย่างนี้ ความชราที่ซ่อนเร้นคือแม้แต่เป็นเด็ก เป็นหนุ่มเป็นสาวนั้น ก็ยังมีความชราในตัว เกิดขึ้นแล้วมันก็เสื่อมไป ความเสื่อมไปนั่นแหละมัน เป็นความชรา โดยเฉพาะโดยละเอียดแล้ว รูปหรือนามอันใดที่ปรากฎขึ้นแล้วก็จะตั้งอยู่นิดเดียว แล้วก็จะดับไป ในฐีติขณะที่ตั้งอยู่นั้น ถือว่าเป็นความชรา อุปปาทักขณะ ขณะเกิดขึ้น ฐีติขณะตั้ง อยู่นิดหนึ่ง แล้วก็ภังคักขณะดับ (ตาย) ไป

ในขณะตั้งอยู่ชั่วขณะนิดหนึ่งถือว่าเป็นความชรา ฉะนั้น เมื่อมีความเกิดก็นำมาซึ่งความแก่ และความตาย และความเสร้าโศกเสียใจ โสกะคือความเศร้าโศก ปริเทวะได้แก่การร้องไห้รำพัน ทุกข์ได้แก่ความไม่สบายกาย โทมนัสได้แก่ความเสียใจ อุปายาสคือ ความคับแค้นใจ อุปายาสถือว่าเป็นความทุกข์ที่สุด ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความคับแค้นใจ 3 อย่างนี้ท่านอุปมาเหมือนกับน้ำมันที่เคี่ยวอยู่ในกะทะ น้ำมันที่ถูกความร้อนครั้งแรกก็เหมือนกับโสกะความโศก

น้ำมันที่เดือดก็เหมือนกับปริเทวะพิไรรำพัน น้ำมันที่มันงวดลงแห้งลงอันนั้น เหมือนกับเป็น อุปายาสความคับแค้นใจ อย่างบางคนทุกข์มากๆ ก็เป็นอุปายาส อุปายาสนี้ เป็นยอดแห่ง ความเศร้าโศก ทำให้ผู้ที่ได้รับความทุกข์นั้น มีจิตใจแห้งผากลงทันที ไม่สามารถจะต่อต้านกับ ความรู้สึกชนิดนี้ได้ มีอาการนิ่งขึง พูดไม่ได้ ร้องไห้ไม่ออก บางทีถึงกับสลบลงหรือกลายเป็น คนเสียสติไป หรืออาจจะทำลายชีวิตตนเองชีวิตผู้อื่น โดยมากก็เกิดจากได้ประสบกับพยสนะทั้ง 5 อย่างใดอย่างหนึ่งโดยมิได้นึกฝัน

พยสนะ 5 อย่างคือ

1) ญาติพยสนะ ความพินาศไปแห่งญาติ
2) โภคพยสนะ ความพินาศแห่งทรัพย์สมบัติ ตำแหน่ง ยศ
3) โรคพยสนะ ความพินาศด้วยโรค
4) สีลพยสนะ ความพินาศแห่งศีล
5) ทิฏฐิพยสนะ ความพินาศแห่งความเห็น

ความทุกข์ทั้งหลายเหล่านี้ก็เกิดจากมีชาติ คือ ความเกิด ในขณะที่มีชรา มรณะ เป็นต้นอยู่นั้น ในขันธสันดานก็มีอาสวะ คือ เครื่องหมักดองของกิเลสมีอวิชชาเป็นต้น เกิดขึ้นอยู่ เป็นปัจจัย วนเวียนกันอยู่อย่างนี้ไม่จบสิ้น

ฉะนั้น พระพุทธเจ้าได้นำมาแสดงโดยกล่าวถึงเหตุปัจจัยเหล่านี้ โดยแสดงถึงเหตุในอดีต เหตุในปัจจุบัน ผลในปัจจุบัน ผลในอนาคต อวิชชา สังขาร ถือว่าเป็นเหตุในอดีต วิญญาณ นาม รูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ถือว่าเป็นผล เป็นปัจจุบัน ผลที่เกิดขึ้น ตัณหา อุปาทาน กัมมภวะ ถือว่าเป็นปัจจุบันเหตุ ชาติ ชรา มรณะ ถือว่าเป็น อนาคตผล แล้วที่จริงขณะที่อวิชชาสังขารเป็นอดีตเหตุเกิดขึ้น มันก็มีตัณหา มีกัมมภวะ เข้าไปร่วมด้วย สังขารหรือว่ากัมมภวะโดยองค์ธรรมแล้วก็คืออันเดียวกัน แต่ว่าท่านแยกโดย ความเจตนาที่ทำให้เป็นบุญเป็นบาปในอดีตก็ถือว่าเป็นสังขาร

เจตนาที่ให้เป็นบุญเป็นบาปในปัจจุบัน นี้ถือว่าเป็นกัมมภวะ ฉะนั้น ในขณะที่เกิดอวิชชา สังขารในอดีต ตัณหาอุปาทานก็ไปอยู่ร่วมด้วย และในขณะที่เกิดตัณหาอุปาทานในปัจจุบันนี้ อวิชชา สังขาร ก็ร่วมอยู่ด้วย ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยกัน อยู่อย่างนี้ ฉะนั้นถ้าหากว่าจะให้พ้นจากความทุกข์ ก็จะต้องเจริญสติกำหนดรู้ ปฏิจจสมุปบาท ที่กำลังปรากฏเป็นปัจจุบัน กำหนดตรงไหนกำหนดตรงมีการสัมผัสอารมณ์ เกิดเวทนา เกิดตัณหาขึ้น ให้กำหนดตรงนั้น ระหว่างอารมณ์ สี เสียง กลิ่น รส สัมผัส มากระทบกับ อายตนะ ภายในเกิดเวทนาขึ้น ให้ทำสติกำหนดรู้

ให้ทำสติกำหนดรู้ ถ้าหากว่าสติรู้ทันมันก็ตัดตัณหาไป ถ้ารู้ไม่ทันตัณหาก็เกิดขึ้น ได้ยินเสียงขณะหนึ่ง ถ้ามีสติรู้ทัน ตัณหาก็ไม่เกิดขึ้น ได้กลิ่นมีสติรู้ทัน ตัณหาไม่เกิดขึ้น ลิ้มรส ได้สัมผัสทางกายมีสติรู้ทัน ตัณหา ก็ไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าเราไม่มีสติ ตัณหาก็เกิดขึ้น มีตัณหามากขึ้นก็มีอุปาทาน มีกรรม ก็ทำให้มีภพชาติต่อไปไม่จบสิ้น ฉะนั้นถ้าหาก ว่าละตัณหาได้ ละกรรม กรรมหมดไปเพราะอุปาทานหมดไป อุปาทานหมดไปเพราะตัณหาหมดไป ตัณหาหมดไป เราเจริญสติกำหนดรู้สภาวธรรม จนกระทั่งมีปัญญาเกิดขึ้น เมื่อปัญญาเกิดขึ้นก็ละอวิชชา คือความไม่รู้หมดสิ้นไปจากขันธสันดาน

เมื่ออวิชชาดับ สังขารก็ดับ สังขารดับวิญญาณก็ดับ วิญญาณดับนามรูปก็ดับ นามรูปดับสฬายตนะก็ดับ สฬายตนะดับผัสสะก็ดับ เมื่อผัสสะดับเวทนาก็ดับ ตัณหาดับอุปาทานดับภพชาติก็ดับ เมื่อไม่มีภพชาติการแก่การตายก็ไม่มี ความเศร้าโศกเสียใจบ่อเพ้อรำพันก็ไม่มี คือเป็นอันหลุดพ้นจาก วัฎฎสงสารด้วยการเจริญสติกำหนดรู้สภาวธรรมที่เป็นเหตุ เป็นปัจจัยกันอยู่ที่เกิดขึ้น สัมผัสอารมณ์ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จนกระทั่งประจักษ์ชัดตามความเป็นจริงก็จะสามารถหลุดพ้นจากอวิชชา พ้นจากวัฏฏสงสารได้

ตามที่ได้แสดงมาก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ที่สุดนี้ ก็ขอตั้งกัลยาณจิตอธิษฐานใจ บุญบารมีที่อาตมาได้บำเพ็ญอบรมมา บุญกุศลที่ญาติโยมทั้งหลายได้กระทำมา จงรวมเป็นตบะ เดชะ เป็นพลวปัจจัย ส่งเสริมให้ญาติโยมทั้งหลายได้เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ มีความประสงค์จำนงหมายสิ่งใดที่เป็นไปในทางที่ชอบที่ควรแล้วขอ ความปรารถนานั้นๆ จงทำสำเร็จ และขอจงเป็นปัจจัยต่อการบรรลุมรรคผลนิพพานทุกท่านเทอญ เอวัง ก็มีความประการฉะนี้


สาธุ
 

_________________
ดีชั่วรู้หมด......แต่ใจคนเรามันอดไม่ได้
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ต่าย ณ พิษณุโลก
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 26 มี.ค.2007, 9:16 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ เจ้าค่ะ
 
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง