Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 วิปัสสนาภูมิ ตอนที่ 3 ขันธ์ 5 อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
kit_allwhat
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 02 ส.ค. 2006
ตอบ: 25

ตอบตอบเมื่อ: 21 ส.ค. 2006, 12:15 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

วิปัสสนาภูมิ ตอนที่ 3 “ขันธ์ 5”
โดย พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํสี)


คำว่า ขันธ์ แปลว่า เป็นกลุ่ม เป็นกอง คำว่าเป็นกลุ่ม เป็นกอง ในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงว่ามันมีจำนวนมากๆ มารวมกัน แต่หมายถึงว่า มันมีประเภทต่างๆ กัน รวมกัน ก็เรียกว่าเป็นขันธ์ ประเภทต่าง ก็มีอยู่ 5 ประเภท

ประเภทที่ 1 คือ ธรรมที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน คือ หมายถึงว่าขันธ์ 5 ที่เป็นอดีต คือดับไปแล้วก็มี กำลังปรากฏก็มี ที่เกิดขึ้นในข้างหน้าก็มี ความที่มีประเภทต่างกันอย่างนี้ก็เลยรวมหมดเรียกว่าเป็นกอง ถ้าเป็นปัจจุบัน อดีต อนาคต ของรูป ก็เป็นกองรูป ถ้าเป็นเวทนาก็เป็นกองของเวทนา

ประเภทที่ 2 ก็คือ เป็นธรรมที่เป็นภายในก็มี เป็นภายนอกก็มี ภายในก็เรียกว่า อัชฌัตติกะ ภายนอกก็เรียกว่า พาหิระ ขันธ์ที่เป็นภายในก็หมายถึง เกิดที่ตัวเรา เกิดที่กาย ที่เราสมมุติว่าตัวเรา ที่ตนก็มี คนอื่นก็ถือว่าเป็นภายนอก นี่ก็เรียกว่ามีประเภทต่างๆ

ประเภทที่ 3 ก็คือ เป็นอย่างหยาบก็มี เป็นอย่างละเอียดก็มี อย่างหยาบ เรียกว่า โอฬาริกะ อย่างละเอียดเรียกว่า สุขุมะ อย่างเช่นรูป รูปบางชนิดจะเป็นรูปที่ละเอียด อย่างเช่นรูปน้ำ อาโป เป็นสุขุมรูป เป็นรูปละเอียด พวกภาวรูปคือ ความเป็นหญิง ความเป็นชาย หทยวัตถุรูป รูปหัวใจก็ถือว่าเป็นรูปละเอียด ส่วนรูปหยาบก็มีพวกสี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ประสาทตา ประสาทหู ประสาทจมูก ประสาทลิ้น ประสาทกาย เป็นรูปหยาบ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันก็มีที่หยาบก็มีละเอียดก็มี ก็ถือว่าเป็นกลุ่ม เป็นกองหนึ่ง

ประเภทที่ 4 ก็คือ เป็น หีนะ และเป็น ปณีตะ คือเป็นอย่างเลวก็มีอย่างประณีตก็มี

ประเภทที่ 5 ก็คือ เป็น ทูระ และเป็น สันติกะ คือไกลกับใกล้ ไกลก็มี ใกล้ก็มี ไกลในที่นี้คือรู้ได้ยาก ปัญญารู้ได้ยาก ใกล้ก็มี รู้ได้ง่ายก็มี

มีประเภทต่างกัน 5 ประเภท นี้ก็เป็นความหมายของคำว่า เป็นกลุ่มเป็นกอง ขันธ์นี้แปลว่าเป็นกลุ่มเป็นกอง ซึ่งในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ก็ต้องมีอารมณ์ อารมณ์ของวิปัสสนาเรียกว่า วิปัสสนาภูมิ คำว่าวิปัสสนาภูมิก็เป็นที่ตั้งของวิปัสสนา เหมือนกับว่า พื้นนาเป็นที่เพาะปลูกของข้าวกล้า เราจะปลูกข้าวก็ต้องมีพื้นนา พื้นนามันก็เป็นภูมิ พื้นที่นาก็เหมือนกับเป็นวิปัสสนาภูมิ คือ ภูมิ พื้นที่ของการปลูกข้าว การเจริญวิปัสสนาก็ต้องมีพื้นที่ที่จะเจริญ วิปัสสนาภูมิก็มีอยู่ 6 ภูมิ มี ขันธ์ 5 อายตนะ12 ธาตุ18 อริยสัจจ์ 4 อินทรีย์ 22 ปฏิจจสมุปบาท 12 ซึ่งการที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไปเป็นภูมิต่างๆ ก็เพื่อเอื้ออำนวยต่อความเข้าใจของมนุษย์ทั้งหลาย ของสัตว์ทั้งหลาย เพราะว่าการสะสมปัญญาของทุกคนไม่เหมือนกัน สร้างเหตุปัจจัย มาไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะฟังเรื่องขันธ์ 5 เข้าใจดี นำไป ประพฤติปฏิบัติได้

แต่บางคนฟังเรื่อง ขันธ์ 5 แล้วก็ไม่เข้าใจ ฟังแล้วก็ไม้ลึกซึ้งที่จะนำมาประพฤติปฏิบัติ ถ้าไปฟังเรื่องอายตนะ บางคนเข้าใจดีนำไปปฏิบัติ แต่บางคนก็อาจจะไม่ลึกซึ้ง ก็มีการแสดงไปเป็นธาตุ เป็นอริยสัจจ์ เป็นอินทรีย์ เป็นปฏิจจสมุปบาทต่างๆ แต่ว่าโดยเนื้อแท้แล้วองค์ธรรมก็คือปรมัตถธรรมนี่เอง คือ จิต เจตสิก รูป หรือว่าย่อๆ คือรูปนามนั่นเอง อย่างเช่น ประสาทตา จัดเป็นขันธ์ก็เรียกว่ารูปขันธ์ ประสาทตา ถ้าจัดเป็นอายตนะก็เรียกว่าจักขายตนะ ถ้าจัดเป็นธาตุก็เรียกว่าจักขุธาตุ ก็แสดงออกไปอย่างนั้น จริงๆ แล้วก็คือ ธรรมชาติอันเดียวกัน ทีนี้ว่าขันธ์มีทั้งหมด 5 ขันธ์ด้วยกัน ซึ่งเป็นวิปัสสนาภูมิภูมิหนึ่ง คือ 1. รูปขันธ์ 2. เวทนาขันธ์ 3. สัญญาขันธ์ 4. สังขารขันธ์ 5.วิญญาณขันธ์ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือขันธ์ 5 ถ้าย่อลงมาก็คือ รูปนาม รูปธรรม นามธรรม รูปขันธ์ก็คือรูปธรรม เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ก็เป็นนาม จัดเป็นนาม เรื่องรูป เรื่องนามก็คือขันธ์ 5 นั่นเอง

ขันธ์ที่ 1 รูปขันธ์ รูปขันธ์มีลักษณะอย่างไร รูปขันธ์ก็มีลักษณะเสื่อมสิ้น สลายไป องค์ธรรมก็คือรูป 28 มีอะไรบ้าง เช่น มีมหาภูตรูป 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ มีประสาทตา ประสาทหู ประสาทจมูก ประสาทลิ้น ประสาทกาย มีสี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ ความเป็นหญิง ความเป็นชาย รูปหัวใจ รูปชีวิต เป็นต้น ซึ่งก็เป็นรูปขันธ์ มีลักษณะเสื่อมสิ้นสลายไป

ขันธ์ที่ 2 เวทนาขันธ์ เวทนาขันธ์มีลักษณ์เสวยอารมณ์ องค์ธรรมก็คือเวทนาเจตสิก เวทนาเจตสิกที่เกิดร่วมในจิตทั้งหมด แบ่งออกมาแล้วก็เป็นสุขเวทนา ทุกขเวทนา โสมนัสเวทนา โทมนัสเวทนา อุเบกขาเวทนา สุขเวทนาก็เป็นความสุข ทางกาย ความสบายกาย เช่น รู้สึกลมพัดมากระทบกายรู้สึกสบาย หรือว่าหน้าหนาวเรามีผ้าห่มอบอุ่นสบายกาย รู้สึกสบายกายก็เป็นสุขเวทนา หรือเกิดทุกขเวทนา ไม่สบายกายมันปวดเมื่อย มันเจ็บ มันชา มันคัน มันอึดอัด นี่ก็เป็นทุกขเวทนา โสมนัสเวทนาก็คือความดีใจ โทมนัสเวทนาก็คือเสียใจ แล้วก็ยังมี อุเบกขาเวทนา หรือเรียกว่าอทุกขมสุขเวทนา คือไม่สุขไม่ทุกข์ มันเฉยๆ ลักษณะเฉยๆ ก็เป็นเวทนาอย่างหนึ่ง นี่ก็เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา

วิปัสสนาให้ดูรูป ดูเวทนา เวลาสบายกายก็รู้ ไม่สบายกายก็รู้ ดีใจก็รู้ เสียใจก็รู้ แม้เฉยๆ ก็รู้ เช่นเราปฏิบัติไปพอมีสมาธิพอดีจิตมันเฉย ถ้าหากว่าไม่กำหนดรู้ความเฉย มันก็จะขาดตอน มันขาดตอนของสติ ไม่รู้จะกำหนดอะไร มันเฉยๆ หาที่กำหนดไม่ถูก เพราะว่ามันราบเรียบไปหมด ฉะนั้นเมื่อมันเฉยๆ ก็ดูความเฉยๆ กำหนดรู้ความเฉยๆ มันจะทำให้สติไม่ขาดตอน แล้วก็จะเห็นความไม่เฉยมาซ้อนขึ้น มันมีข้อเปรียบเทียบกัน แล้วก็สติก็จะต่อเนื่องขึ้น

ขันธ์ที่ 3 ก็คือ สัญญาขันธ์ ลักษณะความจำได้หมายรู้ องค์ธรรมก็คือ สัญญาเจตสิก ก็เป็นเจตสิก เวทนานี่ก็เป็นเจตสิก สัญญาก็เป็นเจตสิก เจตสิกก็คือ ธรรมชาติที่อาศัยจิตเกิด เกิดร่วมกับจิต สัญญานี่เป็นลักษณะเป็นความจำ จำรูปได้ จำเสียงได้ จำกลิ่นได้ จำรสได้ จำโผฏฐัพพะได้ จำเรื่องราวต่างๆ พอได้ยินเสียงก็รู้ว่าอ้อ นี่เสียงใคร เสียงอะไร เสียงรถ เสียงเรือ มันจำได้ พอดื่มน้ำลงไป เอ๊ะ อ้อ นี่น้ำอะไร น้ำหวานชนิดไหน อะไรนึก จำ จำสมมุติบัญญัติ ขณะนั้นเกิดความจำขณะนั้นสติก็ กำหนดรู้ สังเกตลักษณะของความจำที่เกิดขึ้น

ขันธ์ที่ 4 ก็คือ สังขารขันธ์ ลักษณะปรุงแต่งจิต องค์ธรรมก็คือเจตสิก 50 ชนิดด้วยกัน เช่น ฝ่ายอกุศล เจตสิกที่เป็นฝ่ายบาปก็ไปปรุงแต่งจิต ก็มีความหลง มีความไม่ละอายต่อบาป ความไม่เกรงกลัวต่อบาป ความฟุ้งซ่าน คือรับอารมณ์ไม่มั่นก็ให้กำหนดรู้เวลาสังขารขันธ์เหล่านี้เกิดขึ้น เวลาฟุ้งซ่าน คือจิตมันรับอารมณ์ไม่มั่น เดี๋ยวไปเรื่องนั้นไปเรื่องนี้ จิตใจมันฟุ้ง อย่าไปปฏิเสธ ความฟุ้งก็เป็นของจริงชนิดหนึ่ง เป็นสังขารขันธ์ เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา อย่าไปปฏิเสธ อย่าไปหลบหนี อย่าไป เกลียดชัง เกิดขึ้นมาก็ดีแล้วจะได้รู้จัก จะได้พิจารณา ฟุ้งก็ดูความฟุ้ง ผู้เข้าปฏิบัติหนี ไม่พ้นเรื่องความฟุ้งซ่าน ทุกคนหนีไม่พ้นเรื่องความฟุ้งซ่าน ระยะ 3 วันแรกเกิด ความฟุ้งขึ้นมา บางครั้งฟุ้งมากๆ ถ้าฟุ้งมากๆ แล้วก็จะเขยิบไปหาคนที่จะคุยด้วย เพราะว่าไม่เคยอยู่กับความนิ่งๆ ไม่เคยอยู่คนเดียว จิตนี้มันไม่เคย มันเคย แต่ไปตามใจชอบ พอไปถูกกำหนดกฏเกณฑ์เข้ามันชักฟุ้ง

เหมือนกับจับเอาสัตว์ป่ามาขัง จิตของเรามันเหมือนกับสัตว์ป่าที่จับมาขัง มันก็จะดิ้นรนกระวนกระวาย หรือเหมือนปลาที่จับมาบนบก มันจะดิ้นลงสู่น้ำ เหมือนกับวัวที่มันไม่ได้รับการฝึก เราจับเอามาผูกไว้กับหลัก มันก็พยายามจะดึงให้หลุดไปให้ได้ เราก็ต้องเอาเชือกผูกเข้าไว้ ผูกกับหลัก หลักก็คือกรรมฐาน กรรมฐานก็คือรูปนาม เชือกก็คือสติ ต้องผูกโคคือจิตไว้ ผูกไว้นานๆ เข้ามันก็เชื่อง ใหม่ๆ มันดิ้นรน ฉะนั้นจิตของเรามันกระสับกระส่ายได้ มันฟุ้งได้ เราก็กำหนดรู้ความฟุ้ง บางทีมันฟุ้งถ้าเราไปปฏิเสธ ไปรำคาญ ไม่เอา ไม่ต้องการ ความไม่ต้องการมันเป็นปฏิฆะ คือความไม่พอใจ มันก็เกิดความวุ่นวายใจมากขึ้น เพราะไม่สมกับความปรารถนา เราไม่พอใจเสียแล้ว แล้วมันยังฟุ้งอยู่ ก็เกิดความไม่พอใจมากขึ้น เลยขัดเคืองใจ พอขัดเคืองใจมันก็เลยนั่งไม่ติด ไม่อยากปฏิบัติ อยากเลิก นั่งไม่อยู่

แต่ถ้าหากว่าทำจิตใจเฉยๆ ฟุ้งก็ฟุ้ง ดี ฟุ้งก็รู้ไป กำหนดความฟุ้ง มันกลับจะหายตัวไม่ยอมให้ดูเสียอีก ถ้ารู้ทันมันไม่อยู่ มันหายไปเอง ฉะนั้น ความฟุ้งนี้ก็เป็นสังขารขันธ์ นอกจากนี้ก็มีโทสะ ความโกรธ ความโกรธนี้ไม่ใช่หมายถึงว่าจะต้องมีความอาฆาตมาดร้ายเท่านั้น แม้รู้สึกในจิตใจว่ามันไม่แช่มชื่น จิตใจมันขุ่นมัวๆ เล็กน้อย นั่นแหละความโกรธเริ่มเกิด ถ้าเราไม่สังเกตจะไม่รู้นั่งไปบางทีใจมันขุ่นๆ เอาแล้ว ความโกรธมันมีแล้ว บางทีหาสาเหตุไม่ได้ ไม่รู้มัน โกรธอะไร ก็กำหนดรู้จิตที่มันขุ่นมัวๆ สังเกตลักษณะของความโกรธที่เกิดขึ้น นอกจากนี้บางครั้งในปุถุชน มีความอิจฉาริษยา ความตระหนี่ ความรำคาญใจ ภาษาธรรมะเรียกว่า อิสสา ไม่พอใจ เห็นคนอื่นได้ดีทนอยู่ไม่ได้ เรียกว่า อิสสา เห็นเขาได้ดี เขาเด่น เขาสวย เขารวย เขาเก่ง เขาดีกว่า รู้สึกไม่พอใจ อิสสาเกิดขึ้นแล้ว ก็ให้กำหนดรู้ นี่เป็นสังขารขันธ์

หรือเกิดมัจฉริยะ ความตระหนี่ หวงแหน หวงทรัพย์ หวงที่อยู่อาศัย หวงตระกูล หวงความรู้ เป็นมัจฉริยะ เป็นสังขารขันธ์ รำคาญใจ ลักษณะรำคาญใจ บางทีรำคาญในอกุศล คือบาปที่ทำ ไปแล้ว ทำอะไรที่มันผิด มันเป็นบาป ก็รำคาญใจว่าทำบาป หรือรำคาญใจในกุศลที่ยังไม่ได้ทำ เช่นตั้งใจจะทำความดี ตั้งใจจะนั่งกรรมฐาน ไม่ได้ก็รำคาญใจ ตั้งใจจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่ได้ทำก็รำคาญใจ รำคาญใจในกุศลที่ไม่ได้ทำก็เกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ยังมี ถีนมิทธะ ความหดหู่ท้อถอยในอารมณ์ ก็เป็นสังขารขันธ์ อันนี้ก็จะเกิดขึ้น นักปฏิบัติหนีไม่พ้น นั่งไปแล้วมันง่วง มันซึม มันท้อถอย มันอยากจะหลับ ก็ให้กำหนดรู้ รู้ลักษณะความท้อถอย ความเซื่องซึมในจิตใจมันมีอยู่ แต่ถ้าสติกำลัง อ่อน มันก็สู้ไม่ไหว ดูไม่ออก ดูไม่ทัน ถีนมิทธะมันครอบงำจิต ก็จะหลับไป ลงสู่ภวังค์ สัปหงกไป แต่ถ้าสติมันคมกล้าขึ้นมา มันรู้ถีนมิทธะแล้ว มันจะสว่าง มันจะโปร่ง จิตจะโปร่ง ก็หายง่วง

มีสติสมาธิเกิดขึ้น มันจะหายง่วง มันจะแจ้งในใจ สว่าง ตื่นตัวขึ้น เวลาเพ่งพิจารณาดูถีนมิทธะ ให้ดูลักษณะของถีนมิทธะว่ามันเป็นอย่างไร ซึ่งก็เป็นธรรมชาติ เป็นของจริง เป็นสังขารขันธ์ นอกจากนี้ก็ยังมี วิจิกิจฉา ความสงสัย ปฏิบัติไปก็เกิดความสงสัย ทำอย่างนี้มันจะถูกหรือเปล่า จะทำอย่างนั้นดีมั้ย สงสัยในธรรมในข้อปฏิบัติ เมื่อเกิดสงสัยก็ให้กำหนดรู้ความสงสัย ไม่ต้องไปมัวเสียเวลาอะไร เกิดความสงสัย รู้ลักษณะความสงสัย มันก็จะกลับมาเป็นปัจจุบัน มีสติทันสภาวะขึ้น บางทีไปเกิดสภาวะอะไรแปลกๆ ขึ้นมา มัวสงสัยเสียแล้ว ขาดปัจจุบัน ขาดการระลึกรู้ ขาดตอนไปหมด เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดสงสัย ก็กำหนดรู้ความสงสัย แล้วก็รู้สภาวะอื่นต่อไป มันก็จะมีอะไรต่อๆ ไป นี่เป็นสังขารขันธ์ ฝ่ายอกุศล ฝ่ายบาป ซึ่งมีอยู่ในจิตใจของเรา เกิดขึ้นเสมอๆ เป็นนามธรรมแต่ละชนิด ถ้าหากว่าสังเกตมันออกก็จะเห็นความต่างกันในกระแสจิต

บางทีเห็นเดี๋ยวเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวเป็นอย่างนี้ ความรู้สึกอย่างนั้น รู้สึกอย่างนี้ อันนี้เองจะนำให้เห็น ความเกิดดับ ถ้าหากว่าเราไม่เห็นความต่างกันของธรรมชาติ เห็นมันเหมือนกันหมด มันก็ไม่เห็น ความเกิดดับ จริงๆ มันเกิดดับอยู่แล้ว แต่เราไปเห็นรวมกัน เห็นเหมือนกัน แต่ถ้าเราแยกออกว่าสภาวะนี้ก็อย่างหนึ่ง อันนี้ก็อย่างหนึ่ง ตัวสงบก็อย่างหนึ่ง ตัว รำคาญใจก็อย่างหนึ่ง ตัวโกรธก็อย่างหนึ่ง เราก็จะเห็นว่าอันนั้นเกิด อันนี้หมดไป อันนั้นเกิดอันนี้หมดไป เห็นมากๆ เข้ามันก็จะรู้สึกว่า อ้อ นี่มันไม่เที่ยงบังคับไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตน การที่จะให้เกิดปัญญาที่เห็นไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันจะต้องมาจากเห็นความเกิดดับ ต้องเห็นรูปนามเกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับมากมาย รวดเร็ว ถี่ มันจึงจะกระชากความรู้สึกคือให้เกิดปัญญาที่เรียกว่า ภาวนามยปัญญา ขึ้นมา ว่าไม่เที่ยง อ๋อไม่เที่ยง อ๋อบังคับบัญชาไม่ได้ อ๋อไม่ใช่ตัวตน เกิดความรูสึกแจ้งขึ้นมาอย่างนั้น อันนี้ก็มาจากการเห็นความเกิดดับ การจะเห็นความเกิดดับได้ มันก็ต้องเห็นลักษณะความต่างกันระหว่างรูปต่างๆ นามต่างๆ ฉะนั้นจึงต้องฟังแล้วก็จำว่ามันมีอะไรบ้าง จะได้ไปสังเกตออกเวลาปฏิบัติ

สังขารขันธ์ฝ่ายกุศล ฝ่ายบุญ ก็มี เช่นเกิดศรัทธา จิตใจมีความศรัทธา มีความเชื่อ มีความเลื่อมใส หรือเกิดจิตใจมันเอิบอิ่ม ปิติในธรรม หรือเกิดความสงบใจ หรือมันเกิดความสงสาร เกิดความพลอยยินดี นี่เป็นสังขารขันธ์ฝ่ายกุศล หรือเกิดความละอายต่อบาป ความเกรงกลัวต่อบาป แม้แต่ตัวสติเองก็เป็นสังขารขันธ์ เพราะฉะนั้นสติจึงต้องเป็นอารมณ์ของสติได้ ปัญญาก็เป็นอารมณ์ของปัญญา หรือปัญญาเป็นอารมณ์ของสติได้ หมายความว่า สติต้องระลึกรู้สติด้วย ระลึกรู้ปัญญาด้วย นอกจากจะไปรู้สังขารขันธ์อื่นๆ แล้ว ก็ต้องรู้ตัวเองด้วย สำคัญนะการรู้ตัวเองนี่ ที่จะทำให้ละความรู้สึกเป็นตัวตนได้ มิฉะนั้นแล้วมันก็จะมีความรู้สึกว่า เรากำลังทำกรรมฐาน อยู่ เรากำลังคิด เรากำลังนึก เรากำลังกำหนดรูป เรากำลังกำหนดนาม ตัวสตินี้ถ้า ไม่รู้ตัวมันเอง มันจะสำคัญว่า เป็นตัว
เรากำลังเจริญสติ แต่ถ้ามันรู้สภาวรูปต่างๆ นามต่างๆ มันก็รู้ย้อนถึงตัวมันเอง

ก็จะเห็นว่าสติก็คือธรรมชาติอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เรา เพราะมันก็สักแต่ว่าระลึกรู้แล้วมันก็ หมดสภาพลง ปัญญาคือความรู้ก็หมดสภาพลง มีลักษณะไม่เที่ยงเหมือนกัน คงอยู่สภาพเดิมไม่ได้เหมือนกัน บังคับบัญชาไม่ได้เหมือน กัน จึงหาตัวเราไม่ได้ ไม่มีตัวตน ฉะนั้นต้องย้อนดูรู้เข้ามาถึงตัวเอง คือถ้าพูดถึงจิต ก็ต้องรู้จิตเอง สติก็ต้องรู้สติเอง ฉะนั้นสติปัฏฐานจึงมีคำพูดไว้ว่า สติก็สักแต่ว่าสติ ปัญญาก็สักแต่ว่าปัญญา ไม่ให้มีอภิชฌา-โทมนัส คือ ไม่มีความยินดียินร้าย ให้เห็นว่าสติก็เป็นสักแต่ว่าสติ สักแต่ว่าเป็นธรรมชาติที่ระลึกรู้ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ปัญญาก็สักแต่ว่าเป็นปัญญา คือเป็นความรู้ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ มันจะรู้อย่างนี้ได้ก็ต้องระลึกรู้เท่าทันสภาวธรรมนี้ นี่เป็นสังขารขันธ์ เป็นสภาพปรุงแต่ง ในจิต เป็นนามธรรม

ขันธ์ที่ 5 ก็คือ วิญญาณขันธ์ วิญญาณหรือเรียกอีกอย่างก็คือจิต จิตกับวิญญาณก็คืออันเดียวกัน เรียกต่างพจน์กันไป วิญญาณก็คือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ตัว ที่รู้อารมณ์เป็นวิญญาณ รู้อารมณ์ทางตาคือสภาพเห็น รู้อารมณ์ทางหูคือสภาพได้ยิน รู้อารมณ์ทางลิ้นก็คือรู้รส รู้อารมณ์ทางกายก็คือสภาพรู้สึกเย็น รู้สึกร้อน รู้สึกอ่อน รู้สึกแข็ง รู้สึกหย่อน รู้สึกตึง เป็นวิญญาณทางกาย วิญญาณทางใจคือตัวที่คิดนึกไปถึง เรื่องราวต่างๆ ตัวที่สั่งให้ยืนให้เดินให้นั่งให้นอน ที่ยืนเดินนั่งนอนได้เพราะว่าตัวบงการก็คือจิต จิตนี้มันคิด ปรารถนาจะเดินมันก็ไปทำให้ลมไปผลักดันร่างกาย ให้เคลื่อนไหวไป ฉะนั้นจิตก็เป็นตัวที่รับรู้อารมณ์ รับรู้เรื่องราวต่างๆ แล้วก็ทำให้สำเร็จ การงานต่างๆ การพูด การเคลื่อนไหว เคลื่อนไหวทางวาจา เคลื่อนไหวทางกาย เป็นธรรมที่เกิดขึ้นจากอำนาจของจิต เรียกว่า จิตตชรูป คือ รูปที่เกิดจากจิต

การเคลื่อนไหวทางวาจาที่เราเปล่งวาจา มีการไหวริมฝีปาก ไหววาจา เป็นรูปธรรม สามารถเจริญสติได้ ระลึกรู้ เช่นขณะพูด มักมีการไหววาจาอยู่ ฉะนั้นทำสติรู้ว่าการไหว ที่ปากเป็นรูป เป็นจิตตชรูป เป็นรูปที่เกิดจากจิต มันมีจิตในขณะนั้นมีจิตคิดนึก สั่งการ วาจาไหวไปไหวมา สติก็รู้ รู้รูปคือการไหวที่วาจา รู้นามก็คือจิตที่คิดนึกสั่งการ พิจารณาละเอียดๆ ก็จะเห็นธรรมชาติเป็นเหตุเป็นปัจจัยกันอยู่ ถ้าไม่มีจิตคิดนึกสั่งการ แล้ววาจามันจะไหวไม่ได้ หรือการเคลื่อนไหวทางกาย ก็เป็นจิตตชรูป เป็นรูปที่เกิดจากจิต จะยกมือขึ้นมาไม่ได้ถ้าไม่มีจิตสั่งการ มันขึ้นมาไม่ได้เลย ฉะนั้นพอกายยกขึ้นมามัน จะมีการไหว ร่างกายเคลื่อนไหว นี่เป็นรูป การไหวนี่เป็นรูป แต่ตัวจิตที่สั่งการเป็นนาม เราพิจารณารูปนาม ก็จะพิจารณาเห็นว่าไหวก็อย่างหนึ่ง ตัวที่เข้าไปรับรู้ตัวสั่งการก็ อย่างหนึ่ง ดูๆ ไปจะเห็นเป็นปัจจัยกันอยู่

ฉะนั้นจิตตัวที่คิดนึกรับรู้เรื่องราวต่างๆ ทางใจ เวลาจิตคิดไปเรื่องนั้นเรื่องนี้ เรื่องอะไรต่างๆ ให้ระลึกรู้ที่จิต หรือว่าจิตเห็นเป็นมโนภาพ เป็นภาพนิมิต เป็นหมอก เป็นสีแสง เป็นภาพ เป็นภาพพระพุทธรูป เป็นภาพสถานที่ อะไรก็ตาม เป็นภาพนิมิตเกิดขึ้นมา ให้ปล่อยวางภาพนิมิต ย้อนมาดูที่จิต จิตก็คือตัว ไปรับรู้ภาพต่างๆ ตัวที่ไปรับรู้ภาพ ให้รู้มาที่จิตคือวิญญาณ อารมณ์คือภาพต่างๆ มันก็จะขาดตอนไป เพราะว่าสติมันมาเปลี่ยนเป็นการรู้จิตเป็นอารมณ์ แต่การรู้ของสติมันก็ดับลง อารมณ์คือจิตมันก็ดับลง และจากนั้นมันจะไปรับอีกก็ได้ ไปสู่เรื่องราวต่างๆ ก็ได้ ถ้ามันยังมีกำลังอยู่ สติก็รู้ใหม่ รู้จิตใหม่แล้วก็รู้รูปอื่นๆ นามอื่นๆ ต่อไป ไม่ได้บังคับว่า จะต้องอยู่ที่ใดที่หนึ่ง นี้ก็คือขันธ์ 5 รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา เป็นวิปัสสนาภูมิ ให้กำหนดรู้ เมื่อรู้แล้วก็จะเห็นตามความเป็นจริงว่ามันเป็นแค่ขันธ์ 5 หรือว่าเป็นธรรมชาติ

การปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่ว่าเราไปนึกถึงชื่อมันนะ ว่านี่มันชื่อว่ารูปขันธ์ นี่มันชื่อว่าเวทนาขันธ์ นี่มันชื่อว่าสัญญาขันธ์ นี่มันชื่อว่าสังขารขันธ์ นี่มันชื่อว่าวิญญาณขันธ์ ไม่ใช่อย่างนั้น นั่นมันก็เป็น การไปรู้สมมุติอีก เพราะว่าชื่อว่ารูปขันธ์นี้ มันก็เป็นสมมุติแล้ว ให้รู้ตัวสภาวะจริงๆ คือลักษณะของรูป ลักษณะของเวทนา ลักษณะของสังขาร ลักษณะของวิญญาณ ให้รู้ตัว สภาวะจริงๆ มันจะเรียกชื่อไม่ถูกไม่เป็นไร ให้ไปรู้ลักษณะอย่างนั้น ให้เห็นความต่างกัน รูปก็อย่างหนึ่ง เวทนาสัญญา สังขาร วิญญาณ มันมีความต่างกัน เห็นลักษณะต่างๆ กัน

เห็นธรรมชาตินี้ก็อย่าง ธรรมชาตินี้ก็อีกอย่าง ธรรมชาติเหล่านั้นนะมีอยู่จริง แต่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวเรา ตัวเป็นตนได้ ในการประพฤติปฏิบัติ ท่านให้กำหนดอุปาทานขั้นธ์ ฉะนั้นในเรื่องการแสดงขันธ์ 5 จึงมีคำว่าอุปาทานขันธ์ เข้ามาด้วย มาเกี่ยวข้อง ก็เนื่องจากว่าเพื่อประโยชน์ของการเจริญวิปัสสนา เพราะว่า การเจริญวิปัสสนานั้นต้องกำหนดอุปาทานขันธ์ จะไปกำหนดขันธ์ทั้งหมดไม่ได้ ต้องกำหนดที่อุปาทานขันธ์ คำว่า อุปาทานขันธ์ ก็คือ ขันธ์ที่เป็นอารมณ์ของอุปาทาน เราเรียกว่า อุปาทานขันธ์ คือ อุปาทานเข้าไปยึดเข้าไปเกาะขันธ์เหล่านั้นได้ ขันธ์เหล่านั้นก็เรียกว่า อุปาทานขันธ์

อุปาทานก็คือ โลภะ ทิฏฐิ ความยึดมั่นถือมั่นไปยึดขันธ์มาเป็นอารมณ์ คือเอามาเป็นอารมณ์ได้ ขันธ์เหล่านั้นก็เรียกว่าอุปาทานขันธ์ อุปาทานขันธ์นี้ ในส่วนของรูปขันธ์เป็นอุปาทานขันธ์ทั้งหมด คือเป็นอารมณ์ของอุปาทานได้ทั้งหมด เวทนาไม่ได้ทั้งหมด ได้แค่ส่วนโลกิยะ คือเวทนาที่ประกอบในโลกิยจิต สัญญา สังขาร ก็ไม่ได้ทั้งหมด ได้เฉพาะที่ประกอบในโลกิยจิต วิญญาณ ก็แค่โลกิยจิต นั่นก็หมายถึง ว่า ในส่วนของโลกิยะ กำหนดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เป็นโลกิยะ

อุปาทานมันเข้าไปยึดในรูปมาเป็นอารมณ์ นั่นก็เรียกว่า รูปูปาทานขันโธ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือรูป

อุปาทานมันเข้าไปยึดมั่นในเวทนามาเป็น อารมณ์นั่นก็เรียกว่า เวทนูปาทานขันโท ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือเวทนา

อุปาทานมันเข้าไปยึดในสัญญามาเป็นอารมณ์ นั่นก็เรียกว่า สัญญูปาทานขันโธ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือสัญญา

อุปาทานมันเข้าไปยึดในสังขารมาเป็นอารมณ์ นั่นก็เรียกว่า สังขารูปาทานขันโธ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือสังขาร

อุปาทานมันเข้าไปยึดในวิญญาณเป็นอารมณ์ นั่นก็เรียกว่า วิญญาณูปาทานขันโธ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือวิญญาณ

สิ่งเหล่านี้เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา อุปาทานเข้าไปยึดไว้ ยึดไว้อย่างไร ก็ยึดไว้ว่าเป็นเรา อย่างเช่นว่า รูป คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย อุปาทานไปยึดว่า มันเป็นเรา ตา หู จมูก ลิ้น น่ะ เป็นเรา หรือไม่ก็ยึดว่า เรานี้ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย คือ เรานี่คือรูป หรือยึดว่าเราน่ะมีรูป คือ มีตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือยึดว่า เรานี้อยู่ในรูป คือมันมีเราอยู่ในตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือยึดว่า รูปอยู่ในเรา คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันอยู่ในเรา มันเป็นอุปาทานทั้งนั้น เป็นความยึดมั่น ถือมั่น ยึดในทางที่ผิด เรียกว่า สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นความเห็นผิด อันนี้จะเป็นไปโดยทั่วไปในปุถุชน ถ้าใครที่ยังเป็นปุถุชนก็จะหนีไม่พ้นในความรู้สึก ในความยึดถือผิดอันนี้

จนกว่าจะก้าวขึ้นสู่ความเป็นอริยบุคคล จึงจะละความรู้สึกอันนี้ได้ ฉะนั้นขอให้ทราบว่า การที่มีความรู้สึกว่าเป็นเราอยู่นี้ ตา หู จมูก ลิ้น เป็นเรา เราเป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย เรามีรูป รูปอยู่ในเรา เราอยู่ในรูป เป็นความยึดผิดอยู่ ถ้าเราไม่หาทางแก้ไขมันก็ติดอย่างนี้เรื่อยไป กี่ภพกี่ชาติ สร้างเหตุปัจจัย ก่อทุกข์ ก่อโทษ เรื่อยไปไม่จบสิ้นเพราะอุปาทานเป็นเหตุให้ทำกรรม ทำกรรมก็มีวิบาก มีขันธ์ 5 ปรากฎขึ้นใหม่ แล้วก็เสวยความทุกข์ แล้วก็มีอุปาทาน มีกิเลสอีก แล้วก็ทำกรรมอีก แล้วก็มีวิบากคือผลของกรรมเกิดขึ้นอีก วนเวียนกันอยู่อย่างนี้เรื่อยไปไม่จบสิ้น

หรือยึดว่า เวทนาคือความสุขทุกข์ดีใจเสียใจเฉยๆ เป็นเรา หรือยึดว่าเราคือเวทนา เรานี่คือความสุขทุกข์ดีใจเสียใจเฉยๆ หรือยึดว่าเราอยู่ในเวทนา หรือเวทนาอยู่ในเรานี้ เป็นอุปาทานเช่นกัน

สัญญาก็เหมือนกัน คิดว่าเราคือสัญญา สัญญาคือเรา เรามีสัญญา สัญญาอยู่ ในเรา เราอยู่ในสัญญา

สังขารก็เหมือนกัน ไปยึดในสังขาร คือความชอบใจ ไม่ชอบใจ ความโลภ โกรธ หลง อย่างนี้เป็นต้น ว่าคือเรา หรือยึดว่า เราคือตัวสังขารเหล่านั้น เรามีสังขาร สังขารอยู่ในเรา เราอยู่ในสังขาร เป็นอุปาทานเป็นความยึดผิดทั้งนั้น

ยึดว่า วิญญาณเป็นเรา เราเป็นวิญญาณ วิญญาณอยู่ในเรา เราอยู่ในวิญญาณ โดยเฉพาะยึดวิญญาณมันหนีไม่พ้น เป็นความรู้สึกว่าตัวคิดนึกนี้คือเรา บางคนอาจจะมีความรู้สึกว่ากายนี้ไม่ใช่เรา กายนี้เวลาตายแล้วเน่าเปื่อยไม่ใช่เรา แต่ว่ามันมี วิญญาณอยู่ พอตายแล้ววิญญาณคือตัวเราก็จะออกจากร่างนี้ไปหาที่เกิดใหม่ นี้คืออุปาทานแล้ว ยึดไว้เป็นเรา เป็นความยึดผิดอยู่ แต่ว่ามันเป็นความผิดโดยสามัญ ยังไม่กั้นในการทำกุศลต่างๆ ยังประกอบการกุศลต่างๆ ได้ เพราะอาศัยความยึดผิด นี้แหละ คืออยากจะให้ตัวเราสบาย ไปอยู่บนสวรรค์ ก็เลยทำบุญทำกุศลใหญ่ อย่างนี้ก็สามารถจะทำบุญด้วยอำนาจของความยึดผิดว่าเป็นตัวเป็นตนได้ อกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลก็ได้ บาปเป็นปัจจัยให้เกิดบุญก็ได้ บุญเป็นปัจจัยให้เกิด บาปก็ได้ ความหลงก็เป็นปัจจัยให้ทำบุญก็ได้ ความโลภเป็นปัจจัยให้เกิดทำบุญ ก็ได้

โลภอยากจะรวย อยากจะสวย อยากจะเด่น อยากจะได้ดีอย่างนั้นก็เลยทำบุญ ทำกุศลใหญ่ ทำไปด้วยอำนาจของความโลภ กุศลไม่เต็มที่ ฉะนั้นในการประพฤติปฏิบัตินี้ ก็ให้กำหนดอุปาทานขันธ์ เพื่อให้เห็นจริง ในการเจริญสติระลึกรู้ ดูรูปนาม ที่กำลังปรากฏ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำให้เป็นปกติ ปฏิบัติให้เป็นปกติ เฝ้าดู เฝ้ารู้ เฝ้าสังเกต อย่าให้มีอภิชฌาและโทมนัส คือความยินดียินร้ายในอารมณ์ ปฏิบัติอย่ารีบร้อน อย่าเกร็ง อย่าบังคับ อย่าเคร่งเครียด ทำกายสบาย ยืนสบาย เดินสบาย นั่งสบาย นอนสบาย แต่ว่าให้มีสติรู้ ไม่ใช่สบายแบบไม่รับรู้อะไร สบายแต่ต้องมีสติรู้ พยายามรู้สภาวธรรมที่กำลังปรากฏทีละขณะๆ ไป เผลอไปตั้ง สติรู้ใหม่ เผลอไปก็ตั้งสติรู้ใหม่ เผลอก็รู้ว่าเผลอ มีสติก็รู้ว่ามีสติ ต้องอาศัยความเพียร เพียรไปประพฤติปฏิบัติไป ก็จะค่อยๆ เห็นสภาวะชัดเจนขึ้น เจริญขึ้น ละเอียดขึ้น วิปัสสนาญาณต่างๆ จึงจะปรากฏขึ้น

วันนี้ก็คิดว่าบรรยายมาพอสมควร จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ที่สุดนี้ขอ ความสุข ความเจริญในธรรมจงมีแก่ญาติสัมมาปฏิบัติธรรม ทุกท่านทุกคน เทอญ


สาธุ
 

_________________
ดีชั่วรู้หมด......แต่ใจคนเรามันอดไม่ได้
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง