Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 วิปัสสนาภูมิ ตอนที่ 2 บัญญัติ ปรมัตถ์ รูปนาม และวิธีการกำหนด อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
kit_allwhat
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 02 ส.ค. 2006
ตอบ: 25

ตอบตอบเมื่อ: 21 ส.ค. 2006, 12:14 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

วิปัสสนาภูมิ ตอนที่ 2
“บัญญัติ ปรมัตถ์ รูปนาม และวิธีการกำหนด”

โดย พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํสี)


บัญญัติคืออะไร บัญญัติก็คือสิ่งที่เราสมมุติขึ้น แล้วสมมุติล่ะคืออะไร สมมุติ คือสิ่งที่เราตกลงยินยอมกัน...บัญญัติ แยกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

1) นามบัญญัติ (สัททบัญญัติ)
2) อัตถบัญญัติ

นามบัญญัติ คือ การตั้งชื่อเรียกเป็นภาษาต่างๆ เช่น ตัวเราตั้งชื่อไว้ว่า อย่างไร ก็มีชื่อต่างๆ กันไป สำหรับเรียก คำว่า โต๊ะ เก้าอี้ เป็นเรื่องที่สมมุติชื่อกันไว้ ไม่มีความแน่นอนอะไร ภาษาไทยก็เรียกไปอย่าง ภาษาอังกฤษก็เรียกไปอย่าง ภาษาจีนก็เรียกไปอย่าง ไม่มีความแน่นอนอะไร เพราะมันเป็นเรื่องสมสุติ การสมมุติอย่างนี้ก็เอาไว้สำหรับกล่าวขานพูดจากันให้รู้เรื่อง สื่อความหมายกันเข้าใจ ถ้าหากว่าใครไปเรียกอย่างอื่น ก็ถือว่าพูดไม่ตรงไม่ถูก พูดไม่ตรงความจริง อย่างที่นั่ง อยู่นี้ถ้าใครไปเรียกว่าโต๊ะก็ว่าพูดไม่จริง พูดไม่ตรงเขาเรียกว่าเก้าอี้

เขาจึงบอกว่า สมมุตินี้เป็นเรื่องการป้องกันการก้าวล่วงมุสาวาท แต่ว่าแม้จะเรียกว่าอะไรก็ตาม มันก็เป็นเรื่องสมมุติกันทั้งนั้น ถ้าหากว่าเรายังไม่ได้รับรู้การสมมุติ ของคนสมัยก่อนเขา ตกลงกันไว้อย่างไร ก็จะไม่รู้เรื่อง อย่างภาษาต่างประเทศบางภาษา ที่เราไม่เคยรู้ การสมมุติของเขา เราก็จะฟังไม่รู้เรื่อง หรืออย่างภาษาไทยเราไปพูด ให้เด็กเกิดมาใหม่ๆ เด็กทารก เด็กที่ยังไม่ได้รับกาอบรมการเรียนรู้สมมุติบัญญัติก็จะไม่รู้เรื่อง ฉะนั้น สิ่งเหล่านี้คือสิ่งสมมุติ ไม่มีความจริงอะไร นี้เรียกว่า นามบัญญัติ คือชื่อต่างๆ ภาษาต่างๆ เป็นบัญญัติ เป็นสมมุติบัญญัติ

อัตถบัญญัติ คำว่า อัตถบัญญัติ นั้นหมายถึง ความหมาย รูปร่างสัณฐาน ความหมายก็อย่าง รูปร่างสัณฐานก็อย่าง อย่างเช่นว่า สัญลักษณ์ต่างๆ ที่เขาทำไว้ เขาก็มีความหมายบ่งบอกให้เข้าใจ อย่างเช่นกฎจราจรที่มีเครื่องหมายมีป้ายบอกชี้ว่า ห้ามเลี้ยวบ้าง หรือว่าห้ามจอดบ้าง เป็นสัญลักษณ์ นั้นคืออัตถบัญญัติ เป็นความหมาย ถ้าหากว่าคนไม่ได้เรียนรู้กฎจราจรก็ไม่รู้เรื่อง ว่าเขามีความหมายว่าอย่างไร นี่คือบัญญัติความหมาย อีกอย่างก็คือรูปร่างสัณฐาน บัญญัติในความเป็นรูปร่าง สัณฐานของสิ่ง อันนี้จะเข้าใจยากนิดหนึ่ง ที่เราว่าเราเห็นรูปกลม รูปแบน รูปเหลี่ยม รูปร่างสัณฐานของสิ่งของหรือของวัตถุต่างๆ ที่จริงเราไม่ได้เห็นตามสภาวะจริง สภาวะจริงนั้นไม่ได้เห็น สิ่งที่จะเห็นได้ก็คือสีต่างๆ เท่านั้น เราจะเห็นเพียงสีต่างๆ แต่การที่รู้ว่ามันเป็น รูปแบน รูปเหลี่ยม รูปกลม อะไรต่างๆ เกิดจากจิตของเรามันสมมุติขึ้น มันประมวลสี ต่างๆ ขึ้นมา

แล้วมันก็ให้รู้ว่าเป็นรูปร่าง นี่อย่างโต๊ะนี้มัน สีขาว พอมันมาสุดริมก็เป็น อีกสีหนึ่ง เห็นมั้ย มันก็กลายเป็นขาดตอน เป็นรูปร่างขึ้นมา มันต้องมีส่วนเป็นสีต่างๆ ไม่งั้นเราจะไม่เห็นเป็นรูปร่างอะไรขึ้นมาได้ ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้เองเขาจึงวาดขึ้นมาได้ ช่างสี ช่างวาดภาพเขาจึงเอาสีมาระบายสีต่างๆ สามารถออกมาเป็นรูปร่างอะไรต่างๆ ได้ นั่นก็คือสี เรามองเห็นสีต่างๆ เท่านั้น แต่จิตเราประมวลออกมาเป็นรูปร่าง นี่คืออัตถบัญญัติ อันนี้มันขัดกับความรู้สึกของเรา เราจะมีความรู้สึกว่า เอ๊ะ มองแล้วก็เห็นรูปร่างเลยนี่ นี้คือความไวของจิตที่มันประมวล สีต่างๆ แล้ว ตัวที่ไปรู้ว่าเป็นรูปร่างไม่ใช่การเห็น มัน เป็นการคิดนึก ซึ่งเป็นสภาพจิตเกิดขึ้นทางใจ สภาพเห็นนั้นเป็นจิตที่เกิดขึ้นทางตา เห็นนี่เกิดขึ้นที่ตา เห็นเพียงสีเท่านั้น แต่ว่าจิตทางใจมันจะรับมาคิดนึกประมวลแล้ว ก็เป็นรูปร่างสัณฐาน ขึ้น เดี๋ยวตอนท้ายอาจจะเขียนภาพให้ดู เพื่อความเข้าใจง่ายขึ้น

อันนี้ก็ได้ความแล้วว่า บัญญัติมี 2 อย่างคือ นามบัญญัติ กับอัตถบัญญัติ บัญญัติก็ตรงกันข้ามกับปรมัตถ์ คำว่าบัญญัติ เรารู้ไปแล้วว่าความหมายว่าอย่างไร ทีนี้คำว่าปรมัตถ์ ปรมัตถ์นี่ตามความหมายคือว่า ธรรมชาติที่เป็นธรรมอันประเสริฐ ไม่มีการผิดแปลกผันแปรแต่อย่างใด และเป็นธรรมที่เป็นประธานของอัตถบัญญัติและนามบัญญัติทั้งปวง ปรมัตถ์นี่นะ คำว่าปรมัตถ์เป็นธรรมอันประเสริฐ คือไม่มีผิดแปลก ผันแปรแต่อย่างใด และเป็นธรรมที่เป็นประธานของอัตถบัญญัติและนามบัญญัติทั้งปวง คำว่า เป็นธรรมอันประเสริฐนั้นประเสริฐอย่างไร ประเสริฐ คือ ไม่มีการผิดแปลก ผันแปรแต่อย่างใด อันนี้คำว่าไม่มีการผิดแปลกผันแปรแต่อย่างใด ก็ไม่ได้หมายความว่า เป็นสิ่งที่เที่ยงตรง เที่ยงแท้ ไม่มีความสลายตัว ไม่มีความเกิด ดับ อะไรอย่างนั้นหรือ ก็ไม่ใช่ มันก็มีความเกิด ดับ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนันตา

แต่ว่ามันคนละแง่มุมกัน คือมีลักษณะอย่างไร มันจะคงลักษณะของมันอย่างนั้นไว้ นี้เรียกว่า ไม่มีการผิดแปลกผันแปรแต่อย่างใด ไม่เหมือนกับบัญญัติที่ได้กล่าวไปแล้ว เช่นชื่อ เห็นมั้ย คนไทยเรียกอย่างนี้ คนฝรั่งเรียกอีกอย่าง มันไม่แน่นอนอะไร แต่ปรมัตถ์มันแน่นอน คือมันมีลักษณะอย่างไรมันจะต้องคงลักษณะของมันอย่างนั้นไว้ ยกตัวอย่าง เช่น ประสาทตา เป็นปรมัตถธรรม ประสาทตาเป็นธรรมชาติในการรับสี คือรับภาพ มันก็จะคงลักษณะของมันอย่างนั้นไว้ จะเป็นตาของเรา ของใคร ของคนจีน คนไทย หรือของคน ของสุนัข ของแมว เป็ด ไก่ อะไรก็ตาม ตาจะต้องมีลักษณะคือเป็นการรับภาพเท่านั้น รับสีเท่านั้น ไม่มีใครเลยที่หูเราไม่ดีเอาตาฟังเสียงบ้างก็ได้ ไม่ได้เลย เราไม่สามารถเอาตาไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปสัมผัสอะไรได้ ตาจะต้องรับเพียงสี คือรับเพียงภาพเท่านั้น นี่คือเรียกว่าคงลักษณะของมัน

คือว่าเป็นธรรมชาติที่ไม่มีการผิดแปลกผันแปรแต่อย่างใด จึงเรียกว่าเป็นธรรมอันประเสริฐ หรือว่าอย่างไฟ ธาตุไฟ มีลักษณะร้อนหรือเย็น ไฟ ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน เมื่อใครไปสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นคนไทย คนจีน จะเป็นสุนัข แมว ลองไปสัมผัสเข้ากับไฟแล้วจะต้องมีความรู้สึกเหมือนกันหมด คือมีความรู้สึกร้อน มีความรู้สึกร้อนหรือเย็นเหมือนกัน คือไม่ต้องพูดอะไร เด็กเอามือไปแตะไฟ คนไทยหรือลาวไปแตะไฟ จะมีความรู้สึกเหมือนกันโดยที่ไม่ต้องพูดอะไร นั่นคือ ตัวปรมัตถธรรม นี่เรียกว่าไม่มีการผิดแปลกผันแปรแต่อย่างใด ที่พูดเมื่อกี้ว่าไฟมีลักษณะร้อนและเย็น เราจะชักงง เอ๊ะ จะเอาอย่างไรกันแน่ ทั้งร้อนทั้งเย็น ที่ว่าเย็นก็เป็นลักษณ์ไฟก็คือ ธรรมดาไฟก็มีลักษณ์เป็นอุณหภูมิ คืออุณหภูมิที่มันต่ำ ต่ำกว่าอุณหภูมิในร่างกายของเรา

ความร้อนที่มันต่ำนั้นน่ะ เมื่อกายไปสัมผัสเราก็ว่าเย็น แต่ที่จริงก็เป็นลักษณ์ของความร้อน ความร้อนที่ลดระดับเราก็ว่าเย็น ฉะนั้นในลักษณะของการสัมผัสรับรู้ของเราต้องพูดไว้ 2 อย่างว่า เย็นและร้อน เป็นลักษณะของธาตุไฟ นี้คือ ปรมัตถธรรม มันไม่มีการผิดแปลกผันแปรแต่อย่างใด เราก็รู้ความหมายของคำว่าปรมัตถ์ มีตอนท้ายอีกตอนหนึ่งว่า นอกจากว่าไม่มีการผิดแปลกผันแปรแต่อย่างใดแล้ว ก็ยังเป็นธรรมที่เป็นประธาน เป็นประธานในอัตถบัญญัติและนามบัญญัติ คำว่าเป็นประธานเป็นยังไง คือ มันเป็นตัวตั้ง เป็นตัวพื้น เป็นแกนอยู่ และบัญญัติเข้ามาสวมอีกที ชื่อต่างๆมันมาสวม ชื่อภาษาหรือว่าความหมายหรือว่ารูปร่างมันมาสวมปรมัตถ์อีกทีหนึ่ง หมายถึงว่ามัน มีอยู่แล้ว อย่างร่างกายมันมีเป็นปรมัตถ์เป็นประธานของอัตถบัญญัติและนามบัญญัติทั้งปวง นี้คือ ปรมัตถธรรม

ปรมัตถธรรม จะมีอยู่ 4 อย่างคือ

1) จิตปรมัตถ์
2) เจตสิกปรมัตถ์
3) รูปปรมัตถ์
4) นิพพานปรมัตถ์

จิต เจตสิก รูป นิพพาน

จิต คือ ธรรมชาติที่มีลักษณะรู้อารมณ์ คือมีการไปรับรู้อารมณ์อยู่เสมอส่วน เจตสิก เป็นธรรมชาติที่อาศัยจิตเกิด คือ ประกอบกับจิต จิตกับเจตสิกจะเกิดร่วมกัน อุปมาจิตเหมือนน้ำใสๆ เจตสิกเหมือนสีต่างๆ เมื่อเราเอาสีเขียวไปใส่ในแก้วน้ำ แล้วก็คนๆ แล้วน้ำก็กลายเป็นน้ำเขียว หรือเอาสีเหลืองไปใส่ น้ำก็เป็นสีเหลือง มันจะรวมตัวกันอยู่อย่างนั้น แต่มันก็คนละอย่าง น้ำกับสีมันคนละอย่างกัน หรือจะเปรียบเจตสิกเหมือนเครื่องแกง คนที่ทำครัวก็เอาน้ำใส่หม้อลงไป แล้วเอาเครื่องแกง ที่ผสมไว้ด้วยพริก หอม กระเทียม กะปิ อะไรต่างๆ ที่ตำไว้ เอาไปคนลงในน้ำแกง น้ำนั้นก็กลายเป็นน้ำแกงปนกันไป เครื่องปรุงในจิตเจตสิกอุปมาได้อย่างนั้น

แต่นี่มันเป็นนามธรรม จิตกับเจตสิกเป็นนามธรรมเกิดร่วมกันอยู่ เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน มีอารมณ์อันเดียวกัน มีที่อาศัยอย่างเดียวกัน จิตจะเป็นไปต่างๆ ขึ้นกับอำนาจของเจตสิก เจตสิกมันเป็นเครื่องปรุงเหมือนอย่างน้ำจะให้เป็นน้ำแกง แกงอะไร มันก็ต้องใส่เครื่องปรุงแต่ละอย่างลงไป จิตก็เหมือนกัน ถ้าเจตสิกชนิดไหนลงไปรวมกับจิต จิตก็จะมีสภาพไปตามเจตสิกอย่างนั้น เจตสิกมันมีจำนวนมาก ไปปรุงแต่งในจิตจำนวนมากด้วยกัน จิตเกิดขึ้นครั้งหนึ่งๆ ก็จะมีเจตสิกหลาย ๆ ชนิดเข้าไปรวมตัวอยู่ด้วย คงจะไม่ได้พูดรายละเอียดลงไปว่า จิตนั้นมีกี่ประเภทอะไรบ้างในจำนวนจิต 89 หรือ 121 ดวง คือเราไม่มีเวลาไปศึกษาพออย่างนั้น แต่เราจะพูดเอาเฉพาะที่มาทำความเข้าใจที่จะนำมาปฏิบัติ เจตสิกมี 52 ชนิด เราก็จะไม่พูดรายละเอียดลงไป จะพูดเฉพาะเรื่องที่จะมาปฏิบัติ

รูป คือ ธรรมชาติที่มีลักษณะเสื่อมสิ้นสลายไป เสื่อมสิ้นสลายไป คือมันเกิดขึ้นแล้วมันก็แตกสลายไป ก็คือเป็นการปฏิเสธของการรับรู้อารมณ์ คือรูปมันไม่สามารถจะรับรู้ได้ ไม่เหมือนจิตเจตสิก จิตเจตสิกนี้นี่มันรู้อารมณ์ได้ มันไปจับไปรับรู้อารมณ์ได้ แต่รูปมันรับรู้อารมณ์ไม่ได้ มันก็มีหน้าที่ เกิดมาแล้วก็สลายตัวเท่านั้น แต่ไม่ใช่ว่าจิตเจตสิก จะไม่สลายตัว มันก็เกิดขึ้น ดับไปเหมือนกัน แต่ว่ามันรับรู้ อารมณ์ได้ แต่รูปมันรับรู้อารมณ์ไม่ได้ ก็เลยใช้เฉพาะคำว่าเสื่อมสิ้นสลายไป ซึ่งมี 28 รูปด้วยกัน ในคนหนึ่งก็จะมี 27 รูป แต่ว่ามันต่างกันอยู่ระหว่างผู้หญิง ผู้ชาย คือ ภาวรูป ในระหว่างอิตถีภาวรูป รูปของความเป็นผู้หญิง กับปุริสภาวรูป รูปของความเป็นชาย ซึ่งมีอยู่ในเซลทั่วร่างกาย ผู้ชายก็มีเฉพาะปุริสภาวรูป ผู้หญิงก็มีเฉพาะอิตถีภาวรูป แต่รวมผู้หญิงผู้ชายแล้วก็เป็น 28 รูป อันนี้ก็พอ เราก็จะไม่ศึกษาให้ละเอียด

นิพพาน คือ ธรรมชาติที่มีลักษณะสงบจากรูป นาม ขันธ์ 5 พ้นจากกิเลส คือ นิพพานมันเป็นธรรมชาติที่พ้นจากการปรุงแต่งจากเหตุปัจจัยทั้ง 4 คือ เหตุปัจจัยที่จะไปปรุงแต่ง ปัจจัยมี 4 คือ กรรม จิต อุตุ อาหาร ที่จะไปปรุงแต่งให้มันเกิดขึ้นให้มันดับไปไม่มี เพราะฉะนั้น นิพพานเป็นธรรมที่ไม่มีความเกิดดับ ไม่เหมือน จิต เจตสิก รูป ซึ่งมันถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัย 4 เพราะฉะนั้น เมื่อเหตุปัจจัยมันดับ จิต เจตสิก รูป เหล่านั้นก็ดับ เมื่อเหตุปัจจัยส่งผล มันก็เกิดขึ้น แต่นิพพานนี้เป็นอสังขตธรรม คือเป็นธรรมที่ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัยทั้ง 4 จึงไม่มีความเกิดดับ

นิพพานก็เป็นธรรมชาติที่ไม่ใช่รูป ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก แต่ว่านิพพานก็มีอยู่ โดยความเป็นธรรมารมณ์ คือเป็นอารมณ์ที่มาปรากฎทางใจ ในร่างกายในชีวิตของเราก็มีจิต เจตสิก รูป ขาดนิพพานไป นอกจากเราปฏิบัติวิปัสสนา ให้ถึงจุดหนึ่งก็จะถึง จะไปรับสัมผัสนิพพานได้ ในปรมัตถธรรม 3 ประการ คือ จิต เจตสิก รูป (นิพพานก็ยกไว้ก่อน) ในจิต เจตสิก รูป นี้ เมื่อย่อลงแล้วก็คือรูปและนาม หรือถ้าย่อกว้างนิดก็คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เราได้ฟังศึกษาอบรมมา ขันธ์ 5 ถ้าย่อลงมานั้น ก็คือรูปกับนาม รูปให้คำจำกัดความไว้ว่า คือธรรมชาติที่เสื่อมสลาย ไม่สามารถจะรับรู้อารมณ์ได้ ส่วนนามให้คำจำกัดความไว้ว่า สามารถรับรู้อารมณ์ได้

ธรรมชาติใดที่มันสามารถรับรู้อารมณ์ได้เราจัดว่าเป็นนาม ส่วนธรรมชาติใดที่มันเกิดขึ้นมารับอารมณ์ไม่ได้ มีแต่สลายตัวเราจัดเป็นรูป การเจริญวิปัสสนา ต้องกำหนด ดูรูปนาม ต้องทิ้งต้องปล่อยจากบัญญัติ เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องศึกษาให้เข้าใจระหว่างบัญญัติกับปรมัตถ์ ถ้าเราไม่รู้จักบัญญัติ ไม่รู้จักปรมัตถ์ เราก็เลือกการกำหนดไม่ถูก จิตของเราก็จะไปอยู่กับบัญญัติตามความเคยชิน ความเคยชินของจิตก็จะไปอยู่กับสมมุติบัญญัติ อยู่อย่างนั้นมันก็ไม่มีทางที่จะรู้ตามความเป็นจริงได้ คือไม่เกิดวิปัสสนาขึ้น วิปัสสนานั้นเป็นชื่อของปัญญา ปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริง ขอใช้คำจำกัดความ ของคำว่า วิปัสสนาไว้ว่า รู้ของจริงตามความเป็นจริง เรียกว่าวิปัสสนา

รู้ของจริงตามความเป็นจริงนั้นเป็นอย่างไร ของจริงก็คือ ปรมัตถ์ ซึ่งแบ่งออกมาเป็น รูปกับนาม ตามความเป็นจริงคืออะไร ก็คือ รูปนามมันมีลักษณะอย่างไร ความเป็นจริงของมันมีลักษณะอย่างไร ลักษณะความเป็นจริงของมันก็คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อนิจจังก็คือความเปลี่ยนแปลงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ในที่นี้ ไม่ใช่หมายถึง ความเจ็บป่วยร่างกายไม่สบายกายเท่านั้น ทุกขังในที่นี้หมายถึง สภาพที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ สิ่งใดที่ปรากฏมาแล้ว ทนอยู่ในคุณสมบัติเดิมไม่ได้ อย่างนั้นเราเรียกว่าเป็นทุกข์

อาการของความเป็นทุกข์ คือทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ส่วนอนัตตา ก็คือ ลักษณะที่บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่สามารถจะบังคับบัญชาได้ สิ่งที่บังคับบัญชาไม่ได้คือไม่มีตัวตน คำว่าไม่มีตัวตน ไม่ได้หมายความว่ามันไม่มีอะไร ที่เราฟังกันว่าชีวิตนี้ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่ใช่ว่ามันว่างเปล่าไม่มีอะไรเลย ไม่ใช่ มันมีอยู่ แต่มีอยู่ในลักษณ์ที่บังคับไม่ได้ มีอยู่ในลักษณะที่มันเกิดตามเหตุตามปัจจัย เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัย เราจะไปบังคับอะไรมันไม่ได้ แต่มันมีอยู่จริง สิ่งที่เราจะต้องเข้าไปรู้เป็นปรมัตถธรรม ฉะนั้น เมื่อเราปฏิบัติไปเห็นรูป เห็นนาม ก็เท่ากับเห็นของจริง และถ้าเราเห็นลักษณะของรูปของนาม ว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็เรียกว่ารู้ตามความเป็นจริง นั่นคือ เรียกว่า วิปัสสนาญาณ เกิดขึ้น

เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นมันก็จะเป็นไปตามลำดับขั้น ตั้งแต่ญาณที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 เรื่อยไป จนกว่าจะขึ้นโคตรภูญาณ ซึ่งเป็นญาณที่ 13 มัคคญาณ ญาณที่ 14 ผลญาณ ญาณที่ 15 ปัจจเวกขณญาณ ญาณที่ 16 คือ เป็นโลกิยญาณ 13 ญาณ แล้วก็เป็นโลกุตตระ 2 ญาณ คือ มรรคญาณ แล้วก็กลับ ไปเป็นโลกิยญาณที่ 16 ถ้าคนผ่านญาณที่ 16 นี้ได้ก็เปลี่ยนโคตรจากปุถุชนเป็นอริยบุคคลชั้นที่ 1 ก็คือ โสดาบันบุคคล ถ้าผ่านญาณ 16 รอบที่ 2 ก็เป็นสกทาคามีบุคคล ผ่านญาณ 16 รอบที่ 3 ก็เป็นอนาคามีบุคคล ผ่านญาณ 16 รอบที่ 4 ก็เป็นอรหันตบุคคล หมดกิเลส โดยสิ้นเชิง เรื่องญาณที่เป็นไปในบั้นปลายเราไม่ต้องคำนึงถึง มันจะสอดคล้องกันไปเอง แต่ว่าเราปฏิบัติเริ่มต้นให้ถูกต้องด้วยการว่าทำอย่างไรให้ไปเห็นรูปนามตามความเป็นจริง ตัวที่จะเข้าไปรู้เห็นก็คือตัวปัญญาที่เรียกว่าตัววิปัสสนา ปัญญาที่จะเกิดขึ้นมามันก็ต้อง มีสติ สติเป็นตัวระลึกรู้

การระลึกรู้ถ้าหากระลึกรู้บัญญัติก็ได้ ระลึกชื่อ รู้เรื่องราวต่างๆ ภาษา ความหมาย ก็ระลึกได้ แต่มันจะไม่สามารถรู้ตามความจริง เพราะไปรู้ของปลอม บัญญัตินี้เป็นของปลอม บัญญัติเป็นของจริงเหมือนกันแต่เป็น ของจริงโดยสมมุติที่ชาวโลกกำหนดกันไว้ โดยเนื้อแท้แล้วไม่ใช่ของจริง ไปรู้ของปลอม มันก็รู้ตามความของปลอม กลายไปรู้เป็นคน เป็นสัตว์ เพราะฉะนั้นสติจะต้องระลึกรู้ ที่ของจริง จึงจะรู้ตามความเป็นจริงของกฎธรรมชาติ ฉะนั้นการปฏิบัตินั้นจะต้องพยายามเจริญสติระลึกรู้ให้ตรงปรมัตถ์ คือตรงรูปตรงนาม ละคลายสมมุติบัญญัติ ออกไป คือกำหนดให้ตรงปรมัตถ์ และการจะรู้แจ้งตามความเป็นจริงนั้นเราไม่ต้องไปบังคับ หรือไม่ต้องไปหาเหตุผล เอาอดีต อนาคต อุปมากับแจกันนี่ ตัวแจกันอุปมา เป็นรูปนาม แต่ลวดลายของมันเหมือนกับเป็นไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ถ้าเราอยากจะเห็นรู้ว่าแจกันนี้ลวดลายมันเป็นอย่างไร เราก็ต้องดูที่แจกัน ถ้าเราไปดูที่อย่างอื่น มันก็ไม่เห็นลวดลายบนแจกัน เมื่อเราเพ่งดู เราก็เห็นลวดลายของมัน อันนี้ลวดลายของมันก็คือลักษณะ ดังนั้นเมื่อเรากำหนด ให้ตรงรูปนามแล้ว ไม่ต้องกลัวว่ามันจะไม่รู้ ไม่เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันจะเห็นเอง เมื่อเพ่งดูที่แจกัน มันต้องเห็นลักษณะ เห็นลวดลายของมัน ฉะนั้นในการปฏิบัติวิปัสสนา ปัญญาวิปัสสนาไม่ใช่ปัญญาแบบที่เราเรียนทางโลก เราเรียนทางโลกเราจะต้องคิดมาก เอาเหตุผลในอดีต ในอนาคตอะไรต่างๆ เอามารวม มาประมวล มาคิด เราก็จะเกิดความเข้าใจ แต่ในการปฏิบัติวิปัสสนากลับตรงกันข้าม มันกลายเป็นว่าเราจะต้องปล่อยวางอดีต เรื่องทั้งหมดที่ผ่านมาแล้วเราต้องวางมันได้ เรื่องอนาคตทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นเราจะต้องปล่อยมันได้ คือไม่คำนึงถึง จะต้องรู้อยู่ที่ปัจจุบัน

ดังนั้น เราได้หลักการแล้วว่า วิปัสสนานั้นจะต้องกำหนดให้ได้ปัจจุบัน กำหนดให้ตรงปรมัตถ์ คือรูปนาม และ กำหนดรูปนามให้เป็นปัจจุบัน อดีตไม่เอา อนาคตไม่เอาเอาแต่ปัจจุบัน ปัจจุบันนี้เอาแค่ไหน รูปนามมีความเกิดดับ รวดเร็วมาก มีความเกิดดับถี่มาก มันมีความเกิดขึ้นแล้วก็ดับทันทีเพียงแวบเดียวเท่านั้น ไวมากไวกว่าวินาที ต้องเอาวินาทีมาซอยมากๆ มันมีความเกิดดับไว แต่อาศัยที่มันดับแล้วก็เกิดอันใหม่ขึ้นมา มันดับแล้วอันใหม่เกิดขึ้นมา มันมีความเกิด ต่อๆ กัน แต่อันใหม่ อันที่เกิดมาอันที่สอง ก็ไม่ใช่อันที่ 1 อันที่ 3 ก็ไม่ใช่อันที่ 2 อันที่ 4 ก็ไม่ใช่อันที่ 3 เกิดแล้วมันดับไปเลย อันที่ 1 ก็ดับไป อันที่ 2 ก็ดับไป อันที่ 3 ก็ดับ ไป อันนี้สมมุติพูดให้ฟังเป็น 1,2,3 แต่มันไหลไปอย่างนี้ มัน เกิดดับตลอด ชีวิตที่เราเวียนว่ายตายเกิดมันไปอย่างนี้ มันเกิดขึ้นมาแล้วดับไป ดับไป แต่ว่ามันมีพลังมีอานุภาพที่ส่งต่อ อันที่ 1 ดับไปมันก็มีกำลัง ส่งต่อให้อันที่ 2 มีพลัง ขึ้นมา

แต่มันก็ คนละดวงกัน คนละประเภท คนละชนิดกัน ฉะนั้นเราได้ข้อมูลว่า รูปนามมันเกิดดับไว เกิดดับ เกิดดับ ถี่มาก เรียกว่า สันตติ คือ ความสืบต่ออัน รวดเร็ว ทำให้สัตว์ทั้ง หลาย มีความเห็นผิดขึ้นว่า สิ่งเหล่านี้มันเป็นของเที่ยง ไม่เห็นมันขาดตอน เมื่อเราไม่เห็นขาดตอนก็เห็นเป็นพืดไปหมด เหมือนเรามองรถไฟที่วิ่งไวไว เรามองเป็นขบวนเดียวรวด แต่อันที่จริง แล้วถ้ามันจอดเราจะเห็นเป็นตู้ๆ ๆ อันนี้ก เหมือนกัน รูปนามมันมีความเกิดดับไว ความไวของมันทำให้เห็นเป็นของเที่ยง เป็นอัน เดียวกัน ไม่เห็นเกิดดับ แต่เมื่อเราเจริญสติ ฝึก สติจนมีความช่ำชอง มีความคมกล้า สตินี้มันก็จะสามารถไปจับความไวของรูปนามนั้นได้ พอไปจับได้มันก็จะเห็นขาดตอน พอเห็นขาดตอนคือเห็นความเกิดดับ มันก็จะเกิดความรู้สึกไม่เที่ยงขึ้นมาใช่มั้ย มันเป็น หลักธรรมชาติ ถ้าเห็นความเกิดดับเมื่อไหร่มันก็จะเกิดความรู้สึกไม่เที่ยง

ต้องเห็นความดับไป เกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นดับไปไวที่สุด ก็จะมีการกระชากความรู้สึกในใจเป็นปัญญาที่ว่า ภาวนาปัญญา เกิดขึ้นในใจว่า อ๋อไม่เที่ยง ซึ่งปัญญาชนิดนี้ไม่ได้เกิดจากความคิด เอาอดีตมาคิด เอาอนาคตมาคิด แต่มันเกิดความแจ้งขึ้นมา มันรู้แจ้งไม่ต้องคิดอะไรเลย เป็นหลักการอย่างหนึ่งว่า การปฏิบัติอย่าหลงไปคิด ที่เราเรียนศึกษาวิชาการต่างๆ แม้แต่ปริยัติที่เราเรียนมา เวลานำมาปฏิบัติจริงๆ มันก็เป็นแต่เอามาสรุป แล้วก็ทำเฉพาะเรื่องที่เป็นปัจจุบันเท่านั้น จะมัวไปคิดหลักการ เช่น กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีอะไรบ้าง เวทนามีอะไรบ้าง มันไม่ใช่นึกอย่างนั้น สิ่งที่เป็นปัจจุบันกำลังเกิดขึ้นจะไม่รู้เลย ฉะนั้นเราเรียนเพื่อประกอบความเข้าใจ เวลามาปฏิบัติก็เจริญสติกำหนดรูปนามที่กำลังปรากฏจริงๆ เราก็ได้ความแล้วว่า ต้องเจริญสติ สติคือระลึกได้ ระลึกที่ไหน ระลึกที่รูปนาม รูปนามที่ไหน รูปนามที่เป็นปัจจุบัน บัญญัติไม่เอา เอาแต่ปรมัตถ์ คือ รูปนาม

ทีนี้เราต้องมาศึกษาให้ชัดอีกว่า รูปนามมันเป็นอย่างไรกันแน่ บอกว่าคือ จิต เจตสิก รูป มันก็ไม่รู้อยู่ตรงไหนอีก เราก็ต้องมาบอกเป็นภาษาของการปฏิบัติใหม่ว่า รูปนามมันก็เกิดขึ้นที่ทวารทั้ง 6 หรืออายตนะทั้ง 6 คือ ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ แค่นี้ เราปฏิบัติอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ที่ตา มีอะไรที่เป็นปรมัตถ์บ้าง ที่ตาสิ่งที่เป็นปรมัตถ์ได้แก่ ตัวรับสี ก็คือ ประสาทตา ทำหน้าที่รับสี แล้วก็มีตัวที่เป็นสีสะท้อนมาจากวัตถุ อาศัยแสงสว่างสะท้อนมากระทบ อันนั้นก็เป็นรูป ภาษาธรรมะเรียกว่า รูปารมณ์ ประสาทตา ท่านเรียกว่า จักขุปสาท ก็เป็นรูป รูปต่อรูปมันจะสัมผัสกระทบกัน ตากระทบกับรูป กระทบแล้วมันจะทำให้เกิดวิญญาณขึ้น ที่มันเกิดขึ้นมันก็เกิดขึ้นในขณะที่พอกระทบ ก็เกิดขึ้นทันที ประชุมกันพร้อม ตัวที่เกิดขึ้นเป็นวิญญาณ คือจิต จิตทางตา ภาษาธรรมะเรียกว่า จักขุวิญญาณจิต คือ ธรรมชาติที่ทำหน้าที่เห็น เกิดขึ้นที่ปสาทตาเป็นจิตชนิดหนึ่ง จิตท่านจึงจัดเป็นนาม ฉะนั้น ประสาทตาจัดเป็นรูป สี ก็เป็นรูป ส่วนสภาพ เห็นเป็นนาม แต่ประสาทตาเรากำหนดได้ยาก รูปที่มากระทบ ตากำหนดง่ายกว่า แต่สิ่งที่ควรกำหนดทางตาก็คือ กำหนดทางนามธรรม คือ สภาพเห็น

เพราะว่าธรรมดาจิตมันคอยนึกไปสู่สมมุติ บัญญัติ ถ้าเราไปกำหนดที่สี พอเพ่งไปที่สีปุ๊บมันเห็นเป็นวัตถุ นี่ชื่อว่าแจกัน นี่ชื่อว่าดอกไม้ มีความหมาย มันไหลไปสู่สมมุติบัญญัติหมดเลย สิ่งที่เป็นปรมัตถ์ทางตา ก็คือ แค่สี สีต่างๆ ที่มากระทบตาเป็นรูป และสภาพเห็นคือตัวฉายออกมาทางตาเป็นตัวไปรับรู้สี เป็นนาม คนละอย่างกันแล้ว สีคือภาพ รูป ภาพอย่างหนึ่ง การเห็นก็อย่างหนึ่งคนละอย่าง สีเป็นรูป การเห็นเป็นนาม ฉะนั้นในการทำความรู้สึกทางตาก็เสนอแนะว่า ให้ทำความรู้สึกน้อมมาทางสภาพเห็น การน้อมมาทางสภาพเห็น ก็น้อมมาที่ธรรมชาติที่ฉายทางตา มันจะไม่มุ่งไปสู่รูปร่างสัณฐานความหมาย มาอยู่กับปรมัตถ์ได้ดีขึ้น ฉะนั้นสิ่งที่เป็นปรมัตถ์ทางตา ก็คือ สี รูปตา เป็นรูป การเห็นเป็นนาม ส่วนเข้าไปรู้ว่านี่เป็นแจกัน เป็นดอกไม้ นั่นเป็นการไปรู้สมมุติบัญญัติ ไม่ใช่ปรมัตถ์แล้ว

พอรู้ว่าเป็นแจกันเป็นดอกไม้ไม่ใช่การเห็นแล้ว ไม่ใช่การเห็นแจกัน ไม่ใช่การเห็นดอกไม้ เห็นแจกันไม่ได้ เห็นดอกไม้ไม่ได้ สิ่งที่เห็นทางตา จะเห็นเพียงสีต่างๆ สลับกันอยู่แต่ที่มันรู้ว่าเป็นแจกันเป็นดอกไม้คือ จิตทางจิต จิตทางตามันอันหนึ่ง จิตทางมโนทวารมันอันหนึ่ง เป็นจิตเหมือนกัน แต่เป็นจิตที่เกิดขึ้นที่ หทยวัตถุ มันจะไปนึก ประมวลอาศัยความจำ คือถ้าเราไม่รู้มาก่อนว่านี่เขาเรียกว่าแจกัน เขาเรียกว่าดอกไม้ เราก็นึกถึงชื่อมันไม่ได้ เราก็แค่เห็นรูปร่าง ไม่รู้ว่ามันชื่ออะไร แต่เราเคยฟังมาแล้วว่า เขาเรียกว่าแจกัน เขาเรียกว่าดอกไม้ ดอกอะไร ชื่ออะไร มันจำไว้ได้ พอเห็นสีเหล่านี้มันจำ สัญญามันจำ ก็ประมวลรู้ว่านี่ชื่อแจกัน นี่ดอกไม้ ฉะนั้นในขณะที่รู้ว่าเป็นแจกัน เป็นดอกไม้ ขณะนั้นจิตมีอารมณ์เป็นบัญญัติ แต่ในขณะที่จิตมีอารมณ์เป็นบัญญัตินั้น ในขณะนั้น ก็มีปรมัตถ์เกิดขึ้น ปรมัตถ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นก็คือสภาพจิตทางใจ ตัวที่เข้าไปรู้ว่า นี่คือแจกัน นี่คือดอกไม้

ตัวที่ไปรู้ว่าแจกัน ดอกไม้ คือจิต เป็นนามธรรม เป็นปรมัตถ์ ฉะนั้นในขณะที่รู้ว่าเป็นแจกัน สิ่งที่เป็นปรมัตถ์ก็คือตัวจิต ทางใจคือตัวนึก ตัวประมวล ถ้าสติเกิดขึ้นมาที่จะรู้ปรมัตถ์มันจะรู้ขึ้นมาที่ใจ สติมันรู้ที่ใจ ในขณะที่เห็น สัมผัสสี ถ้าสติเกิดขึ้นก็กำหนดสี กำหนดสภาพเห็น พอมันเกิดรู้ไปว่าเป็นแจกัน เป็นดอกไม้ เป็นคน สัตว์ สิ่งของอะไร ขณะนั้นปรมัตถธรรมคือ จิตกำลังคิดนึก สติก็ต้องรู้มาที่จิต พอรู้มาที่จิต สภาพการรู้เป็นดอกไม้บัญญัติเปลี่ยนไป อารมณ์มันเปลี่ยนไป อารมณ์มันเปลี่ยนมารู้ที่จิต ไม่ใช่รู้ดอกไม้ แจกัน มารู้ที่จิต มันก็เข้าทางสติมารู้ที่ปรมัตถ์ ไม่ใช่รู้บัญญัติ อันนี้เป็นทางหนึ่ง วิธีการหนึ่ง ทางอื่นๆ ก็เหมือนกัน

ทางหู สิ่งที่เป็นปรมัตถ์ก็คือเสียงกับสภาพได้ยิน เสียงก็เป็นคลื่นปรมาณู ผ่านมากระทบกับประสาทหู ประสาทหูเป็นรูป เป็นฝ่ายรับ เสียงเป็นรูปเป็นฝ่ายกระทบ พอกระทบกันแล้วมันก็เกิดวิญญาณ เกิดความรับรู้ขึ้น วิญญาณหรือจิตที่เกิดทางหู เรียกว่า โสตวิญญาณจิต คือสภาพได้ยิน ฉะนั้นเสียงเป็นรูป ได้ยินเป็นนาม เสียงกับได้ยินมันคนละอย่าง เสียงเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ได้ยินเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ฉะนั้นขณะได้ยินเสียงถ้าสติระลึกรู้ก็จะกำหนดสภาพได้ยินได้ถูก แต่ก็ขอเสนอไว้ว่า กำหนดมาที่สภาพการได้ยิน เพราะถ้ากำหนดไปที่เสียงมันมักจะไปสู่สมมุติบัญญัติง่าย จะไปนึกว่าเสียงนั้นเสียงใคร เสียงคน เสียงสุนัข เสียงแมว เสียงนก เสียงเรือ นั่นเป็นสมมุติบัญญัติอารมณ์ แต่ถ้าเรากำหนดสภาพได้ยิน ได้ยินมันก็ตัดสมมุติบัญญัติออกไปก็คือ เป็นปรมัตถ์

ทีนี้ถ้ามันเลยไปแล้วล่ะ เราบังคับไม่ได้ บังคับจะไม่ให้มันเลยไปเป็นเสียง รู้ว่าเป็นเสียงคนเสียงสัตว์ เราบังคับไม่ได้เลยเพราะความไวของจิต พอมันไปรู้ว่าเป็นเสียงคนเสียงสัตว์ มีความหมายอย่างนั้นๆ แสดงว่าขณะนั้นอะไรกำลังปรากฏ ปรมัตถ์อะไรกำลังปรากฏ ก็คือจิตทางใจกำลังปรากฏ ไม่ใช่จิตทางหูแล้ว จิตทางใจมันรับช่วงมาทางใจ ไปรับรู้เป็นเรื่องราวต่างๆ ความหมายของเสียงนั้น ถ้าสติเกิดขึ้น สติจะต้องกำหนดปรมัตถ์ตามหลักการของพุทธศาสนา ก็ต้องกำหนดที่ใจ ในขณะแรกได้ยินเสียงกำหนดที่หู ได้ยินๆ แต่มันเลยไปรู้ว่าเสียงคน เสียงสัตว์ กำหนดมาที่ใจ ใจคิดนึกไปถึงบัญญัติก็ให้กำหนดมาที่ใจ ก็จะตัดอารมณ์บัญญัติออกไป

ทางจมูก ก็มีกลิ่น มีการรู้กลิ่น มีประสาทจมูก กลิ่นก็เป็นน้ำมันระเหย เป็นรูปชนิดหนึ่งมากระทบกับประสาทจมูก แล้วก็เกิดการรู้กลิ่น ตัวกลิ่น ตัวประสาทจมูกเป็นรูป ตัวรู้กลิ่นเป็นนาม แต่เมื่อเรารู้ไปว่า กลิ่นนั้นเป็นกลิ่นอะไร กลิ่นน้ำหอม น้ำหอมยี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้ กลิ่นผลไม้ นี่เป็นบัญญัติ เป็นสมมุติ ตัวที่เป็นปรมัตถ์คือกลิ่น ลักษณะของการรู้กลิ่นน้ำหอม กลิ่นซากศพ แสดงว่าไม่ใช่รู้กลิ่นเกิดขึ้น ไม่ใช่จิตทางจมูกเกิดขึ้น แต่เป็นจิตทางใจ จิตทางใจที่ไปคิดสู่สมมุติบัญญัติ สติก็ต้องรู้มาที่ใจ ก็เป็นอันว่าขณะใดที่จิตไปรู้สมมุติบัญญัติ ให้กำหนดมาที่ใจ อันนี้มีความสำคัญในขณะที่ปฏิบัติไปถึงระดับหนื่ง ที่เข้าไปสู่ความว่าง ผู้ปฏิบัติถ้าไม่เข้าใจเรื่องปรมัตถธรรม เรื่อง จิตแล้ว ก็จะไม่ก้าวหน้าทางการปฏิบัติ คือจะไปอยู่กับความว่าง เพราะความว่างก็เป็นสมมุติบัญญัติ เช่นการกำหนดลมหายใจ กำหนดลมหายใจเข้า กำหนดลมหายใจออก

กำหนดมากเข้าลมนั้นจะละเอียดๆๆ พอละเอียดมากเข้ามันไม่รู้สึกแล้ว และความรู้สึกทางกายก็ไม่มี ความรู้สึกทางจมูกก็ไม่มี มันละเอียดมาก จิตมีสมาธิแล้ว รูปมันจะละเอียด พอรูปละเอียดเข้าไปมันรับรู้ไม่ได้แล้ว ลมหายใจไม่รู้สึก ความว่างจะเข้ามาแทนที่ จิตก็เข้าไปรู้สึกกับความว่าง แต่ใจสงบ เย็น แต่มีความว่างเป็นอารมณ์ มันก็ไม่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพราะความว่างนั้นก็คือสมมุติบัญญัติ ทีนี้เราก็จำไว้ว่า ความว่างเปล่าเป็นสมมุติบัญญัติอย่างหนึ่ง มันจะไม่มีลักษณะของความเกิดดับอะไรเลย เมื่อภาวะอย่างนั้นเกิดขึ้นก็จะต้องย้อนมาดูที่ตัวที่ไปรู้ ความว่าง คือ ตัวจิต ผู้ปฏิบัติมักจะมีปัญหาว่าทำไม่ได้ ได้แค่ไปอยู่กับความว่าง จะบอกให้กำหนดจิตก็กำหนดไม่ถูก ย้อนดูจิตไม่ถูก แม้จะอธิบายว่าจิตคือตัวรู้อารมณ์ บางคนก็ไม่สามารถจะเข้าใจได้ ฉะนั้นการฝึกฝนทีแรกก็ต้องพยายามเรียนรู้เรื่องจิต ไว้ด้วย จิตที่ไปรู้สมมุติบัญญัติ ก็กำหนดไว้ที่จิต นอกจากทางจมูกแล้วก็ทางลิ้น

ทางลิ้น ก็มีประสาทลิ้น แล้วก็มีรสมากระทบลิ้น แล้วก็มีตัวรู้รสเกิดขึ้น คือ ปรมัตถธรรม รสต่างๆ เป็นปรมัตถ์ แต่พอรู้ว่าเป็นรสแกงไก่ แกงหมู รสผลไม้ รสแป๊ปซี่ เป็นบัญญัติทั้งหมด ตัวที่เป็นปรมัตถ์คือรสต่างๆ รู้ว่าเป็นรสอะไร ตัวที่ ไปรู้รสเป็นนามหรือเป็นจิต รสต่างๆ เป็นรูป รู้รสเป็นนาม รสกับการรู้รสคนละอย่างกัน

ทางกาย ในร่างกายจะมีกายปสาท การรับรู้โผฏฐัพพารมณ์ สิ่งที่จะมากระทบกายเรียกว่า โผฏฐัพพารมณ์

โผฏฐัพพารมณ์ แบ่งออกเป็น 3 อย่าง

1) ปฐวีโผฏฐัพพารมณ์
2) เตโชโผฏฐัพพารมณ์
3) วาโยโผฏฐัพพารมณ์

ปฐวีโผฏฐัพพารมณ์ คือ ลักษณ์ของดิน ปฐวีก็คือดิน ลักษณะของดินจะมี ลักษณะแค่นแข็ง ฉะนั้นขณะสิ่งใดที่มากระทบกายเป็นความแค่นแข็ง เช่น เรานั่งสัมผัส โต๊ะเก้าอี้ รู้สึกแข็ง ความแค่นแข็งนั้นเป็นลักษณะของธาตุดิน เป็นรูป ตัวที่รู้สึกแข็ง เป็นจิต จัดเป็นนามธรรม กายปสาทที่รับความแข็งคือรูป ตัวความแข็งเป็นรูป ตัว รู้สึกแข็งเป็นนาม แข็งก็อย่าง รู้สึกแข็งก็อย่าง แข็งเป็นรูป รู้สึกเป็นนาม

เตโชโผฏฐัพพารมณ์ ก็คือไฟ ไฟที่มีลักษณะร้อนและเย็นดังที่กล่าว ส่วนที่เป็นความร้อนก็ดีเย็นก็ดี เป็นลักษณะของไฟ มีอยู่ในร่างกาย เช่นในท้องก็รู้สึกร้อน บางทีลมพัดมากระทบผิวกายรู้สึกเย็น นั่นคือลักษณะของไฟ หรือว่าแดดกระทบรู้สึกร้อนวูบมา ให้เจริญสติกำหนดตรงที่มันรู้สึกเย็นและร้อน มันเย็นตรงไหนร้อนตรงไหนกำหนดตรงนั้น ถ้าเลยไปว่าร้อนนี้เป็นไฟ เย็นนี้เป็นพัดลม เห็นหน้าตาของลม ลมมาจากพัดลมเป็นสมมุติบัญญัติ ถ้ามันเกิดขึ้นอย่างนั้น เราบังคับไม่ได้ก็กำหนดมาที่ใจ

วาโยโผฏฐัพพารมณ์ ก็คือลักษณะของลม ลมจะมีลักษณะเคร่งตึง มันตึงแล้วก็หย่อน คือ ตึงน้อยก็เป็นความหย่อน ฉะนั้น ในร่างกายส่วนไหนที่มีตึงก็คือ ธาตุลม แต่ถ้ามันหย่อน ธาตุลมมันลดระดับลงมาเรียกว่าหย่อน เช่น เราเกร็งมือรู้สึก ตึงพอเราแบมือเราเรียกว่าหย่อน ไอ้ที่หย่อนก็คือยังตึงแต่ตึงมันคลาย เพราะฉะนั้นเรา จึงบอกว่า ตึงและหย่อนเป็นลักษณะของธาตุลม

สิ่งที่มากระทบกายก็จะมีเพียงธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม ฉะนั้น สรุปแล้วก็คือ สิ่งที่มากระทบกายมีลักษณะเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง อ่อนก็คือแข็งน้อย ความแข็งมันลดระดับลง เราก็รู้สึกว่ามันอ่อน แต่ที่จริงอ่อนก็คือแข็ง อย่างสำลี เราเอามือไปแตะสำลีเราก็ว่ามันอ่อน แต่ที่จริงสำลีก็มีความแค่นแข็ง แต่มันแข็งน้อยกว่าเนื้อของเรา เราก็ว่ามันอ่อน แต่ที่จริงก็คือความแข็ง ฉะนั้น ในทางการกำหนดรู้จะเป็นลักษณะเย็นก็ตาม ร้อนก็ตาม อ่อนก็ตาม แข็งก็ตาม หย่อนก็ตาม ตึงก็ตาม เป็นสิ่งที่มากระทบทางกายที่เรากำหนดรู้นั้น เรียกว่าเป็นรูป ความรู้สึก รู้สึกเย็น รู้สึกร้อน รู้สึกอ่อน รู้สึกแข็ง รู้สึกหย่อน รู้สึกตึง นั้นเป็นนาม แต่ถ้ามันไปรู้ว่าเป็นสิ่งของ ชื่อนั้น ชื่อนี้ เป็นความหมาย เป็นสมมุติบัญญัติ เป็นเรื่องของจิตใจที่เข้าไปรับรู้

การปฏิบัติมันดูที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทางใจ คิดไปเรื่องนั้น คิดไปเรื่องนี้ คิดไปเรื่องโน้น ขณะที่จิตคิดไปถึงเรื่องราวต่างๆ คิดไปถึงคน สัตว์ เหตุการณ์ สถานที่ อะไรก็แล้วแต่ ตัวเรื่องราวต่างๆ ขอให้ทราบว่านั้นคือ สมมุติคือบัญญัติ ไม่ใช่อารมณ์ที่เราจะต้องกำหนดรู้ เราจะต้องปล่อย ปล่อยวางเรื่องราวต่างๆ ให้ได้ ในขณะที่จิตกำลังไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ในขณะนั้นก็มี ปรมัตถธรรมอยู่ ปรมัตถธรรมในขณะนั้นคืออะไร ก็คือตัวที่ไปรู้เรื่องราวต่างๆ คือจิต จิตที่ไปรู้เรื่องราวต่างๆ ตัวเรื่องราวต่างๆ เป็นอารมณ์ ตัวที่ไปรู้เรื่องราวต่างๆ คือนาม คือจิต ฉะนั้นการกำหนดปรมัตถ์ จะต้องกำหนดที่ไหน ก็กำหนดมาที่จิต มันก็จะปล่อยวางเรื่องราวต่างๆ มารับรู้ที่จิต มันก็ได้ปัจจุบันขึ้น ได้กำหนดที่รูปนามขึ้น ฉะนั้นขณะที่เรานั่งไปมันเพลินคิดไปถึงคนนั้นคนนี้ ถ้าสติเกิดระลึกรู้ มันก็กำหนดระลึกรู้มาที่จิต กำหนดที่ตัวที่รู้เรื่องราวต่างๆ มันก็จะรู้สึกว่าเรื่องราวต่างๆ ขาดตอน ขณะที่เคลิ้มไปคิดไป ต้องกำหนดมาที่จิต ในจิตนอกจากว่าจะมีจิตแล้วยังมีเจตสิก

ที่กล่าวข้างต้นแล้ว คือตัวที่ไปปรุงแต่งจิตพูดง่ายๆ คือเป็นความรู้สึกในจิต ก็ต้องกำหนดรู้ด้วย มันจะมีความรู้สึกอย่างไร มันก็มีมากมาย ความรู้สึกพอใจก็อย่างหนึ่ง ไม่พอใจก็อย่าง สงบก็อย่าง ไม่สงบก็อย่าง ฟุ้งซ่าน รำคาญใจ ท้อถอย เกิดความมานะ เกิดความเห็นผิด เกิดความโลภ ลักษณะของจิตที่เป็นฝ่ายอกุศลก็มีต่างๆ เราก็พิจารณาดูลงไปในกระแสจิตว่ามันมีอาการอย่างไร มีความรู้สึกอย่างไรที่มันกำลังปรากฏ คือในขณะที่เรากำหนดรู้ ไม่ใช่ไปรู้ถึงชื่อมัน ว่ามันชื่อว่าอย่างไร มีความหมายอย่างไร ไม่ต้อง นั่นมันเป็นสมมุติ เราดูลักษณะของมันที่กำลังแสดง เช่นเราดูละครที่กำลังเล่น เขาแสดงกิริยาอาการอย่างไรก็ดู แต่เราไม่ต้องรู้ว่าตัวละครเป็นใคร มาจากไหน ไม่ต้อง เราดูมันกำลังแสดงกิริยา อาการท่าทาง เล่นบทบาทอย่างไร ในจิตใจก็เหมือนกันมันแสดงความรู้สึกอย่างไร เราก็ดูไปๆ ดูโดยเราไม่ต้องไปทำอะไร

ฉะนั้น การปฏิบัติวิปัสสนาเป็นการศึกษาเรียนรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ที่มีอยู่จริงๆ โดยที่เราไม่ต้องไปสร้างขึ้นมา เราไม่ต้องไปสร้างอะไรขึ้นมาเลย เพียงแต่เราทำใจ ทำสติ เจริญสติ ระลึกรู้ สังเกต สติเป็นตัวระลึก ตัวสังเกตหรือพิจารณาเป็นตัวปัญญา เกิดไปด้วยกัน ที่เราเรียกว่า สติสัมปชัญญะ เป็นองค์สำคัญของการปฏิบัติ สัมปชัญญะ องค์ธรรมก็คือตัวปัญญา สัมปชัญญะตัวพิจารณา คำว่า พิจารณา ในที่นี้จะใช้ต้องเข้าใจว่า มันไม่ได้หมายถึงว่า เราต้องเอาข้อมูลอดีต อนาคต มาคิด มาอะไรอย่างนั้นมันคนละความหมายของคำว่าพิจารณาในที่นี้ ฉะนั้นคำว่า พิจารณาในที่นี้จะใช้อีกคำหนึ่งก็คือคำว่า สังเกต หรือพิจารณาสั้นๆ พิจารณาเฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏ ที่ผ่านไปแล้วก็แล้วกันไป อย่าเอาอดีตมาคิด มานึก อนาคต มาคิดนึก ฉะนั้นจึง ใช้คำว่าสังเกต สติเป็นตัวระลึกรู้ สัมปชัญญะเป็นตัวพิจารณาสังเกตเฉพาะรูปนามที่กำลังปรากฏ เมื่อผ่านไปแล้วก็ผ่านไปดูรู้อันใหม่ รูปใหม่ นามใหม่ที่กำลังปรากฏ

ในความเป็นจริงของผู้ปฏิบัติ ผู้ฝึกใหม่ๆ จะเป็นไปในลักษณะที่ว่า สติมันไม่อยู่กับปรมัตถ์ที่เป็นปัจจุบัน มันคอยจะไปอยู่กับสมมุติบัญญัติ เป็นเรื่องราว หลง เผลอ ลืมไปเรื่อยๆ ก็ต้องอาศัยความเพียรพยายามระลึกรู้ ระลึกรู้ให้ตรงปัจจุบันอยู่เรื่อยไป อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ

ไม่ทราบว่า พูดมาแค่นี้ ใครจะมีปัญหาสงสัยอะไรบ้างมั้ย ถ้าไม่มีสงสัยอะไร ก็พูดถึงวิธีปฏิบัติ พูดในรูปแบบของการปฏิบัติเลย ก่อนอื่นก็อยากจะแสดงบนกระดาน ให้เห็นสิ่งที่กล่าวไปเมื่อกี้ เพื่อความชัดเจนขึ้นว่าธรรมชาติของชีวิตในเรื่องของกาย ใจมันเป็นอย่างไร ถ้าไม่เห็นภาพอาจจะนึกไม่ออกก็ได้ จะลองเขียนดู

สมมุติว่าเป็นภาพคน นี่เป็นตา เป็นหู ในปากก็มีลิ้นอยู่ อันนี้ก็เป็นร่างกายทั่วไป สิ่งที่มี ตัวเราก็มี ตา หู จมูก ลิ้น และร่างกายก็ทั่วไปทุกสัดส่วนและก็มีธรรมชาติหนึ่งก็คือหัวใจอยู่ข้างซ้าย ที่อาศัยเกิดของจิตก็จะมีอยู่ที่ตาบ้าง ที่หูบ้าง ที่จมูกบ้าง ที่ลิ้นบ้าง ที่ร่างกายทุกสัดส่วน และที่ใจ ในขณะที่มีภาพปรากฏทางตา เช่น ภาพต้นไม้ มันก็จะมีสีจากภาพนี้ไป สิ่งที่เป็นสีนี้เขาเรียกว่า รูปารมณ์ รูปารมณ์ ก็คือ สีต่างๆ ที่ตานี้ก็จะมีอะไร ก็มีตัวจักขุปสาท จักขุปสาทนี้เป็นความใส คือประสาทตา เป็นความใส เป็นเครื่องรับ แต่ว่าไม่รู้อารมณ์ รับเฉยๆ เป็นเหมือนกับแผ่นฟิมล์ของรูป หรือเหมือนกับทัพพีที่ตักแกง มันไม่สามารถรู้รสแกงได้ เมื่อสีกระทบกับประสาทตา ก็ทำให้เกิดธรรมชาติชนิดหนึ่ง ก็คือ จิตที่นี่ เรียกว่า จักขุวิญญาณ จักขุวิญญาณนี้ก็คือตัวเห็นนั่นเอง ฉะนั้น อันนี้เป็นสีต่างๆ จัดเป็นรูปธรรม จักขุปสาทก็เป็นรูป แต่ตัวเห็นนี้เป็นนาม

ดังนั้นจึงบอกว่า สีเป็นรูป เห็นเป็นนาม แต่ตัวจักขุปสาทมันกำหนดยาก เอาแค่ 2 อย่าง คือสีเป็นรูป เห็นเป็นนาม ทำไมจึงเป็นนาม เพราะมันเป็นตัวไปรับรู้อารมณ์ได้ อันนี้เป็นตัวอารมณ์ อารมณ์ก็คือรูป รูปบวกอารมณ์ ก็กลายเป็นรูปารมณ์ คือสีต่างๆ เขาให้คำจำกัด ความของคำว่าอารมณ์ไว้ว่าสิ่งที่ถูกรู้ สิ่งที่ถูกรู้เราเรียกว่าอารมณ์ ตัวเข้าไปรู้ก็คือจิต ตัวที่จะไปรู้รูปารมณ์ก็คือสภาพเห็น ดังนั้นสภาพเห็นนี้เป็นตัวรับรู้อารมณ์ได้ รูปารมณ์เป็นตัวถูกรู้ สภาพเห็นเป็นตัวเข้าไปรับรู้ การรู้เฉพาะตัวนี้จักขุวิญญาณมันจะรู้เพียงสีต่างๆ แต่พอรู้ว่าเป็นต้นมะพร้าว มันไม่ใช่การเห็นแล้ว มันกลายเป็นจิตที่หัวใจนี่ เขาเรียกว่าเป็น มโนวิญญาณ มโนวิญญาณตรงนี้เป็นตัวคิดนึกแล้ว มันประมวล มันผ่านช่องตา คิดนึกถึงสีต่างๆ แล้วประมวลเป็นรูปร่าง เป็นความหมาย เป็นชื่อซึ่งต้องมีสัญญาเกิดร่วมด้วย จำได้ว่าลักษณะอย่างนี้มันคือต้นมะพร้าว คำว่าต้นมะพร้าวนี้

พอรู้ว่าต้นมะพร้าวนี้เป็นอะไร ปรมัตถ์หรือบัญญัติ กลายเป็นบัญญัติแล้ว พอรู้ว่าต้นมะพร้าว ต้นมะพร้าวนี่มีลูกด้วย ก็บัญญัติต่อไป ลูกนี้ข้างในเป็นน้ำ น้ำนี่มันดื่มมีรสอย่างนั้น มันจะนึกเป็นสมมุติบัญญัติไปหมด ที่จริงปรมัตถ์คือสีต่างๆ และสภาพเห็น ฉะนั้นขณะไปรู้ว่าเป็นมะพร้าว มะพร้าวนี้เป็นบัญญัติอารมณ์ แต่ตัวที่ไปรู้บัญญัติอารมณ์นี้คือตัวมโนวิญญาณ ฉะนั้นสติที่เกิดขึ้นจะกำหนดที่ไหน ก็ต้องกำหนดมาที่มโนวิญญาณนี่ ก็จะกำหนดกลับมาที่ปรมัตถ์ ถ้าเรามัวไปหลงคิดถึงมะพร้าวก็เป็นสมมุติบัญญัติอยู่ ต้องกำหนดมาที่นี่ คือกำหนดมาที่ความคิดนึก มันก็จะเป็นปรมัตถ์ กำหนดปรมัตถ์ เวลาสติเกิดขึ้นมา มันก็เกิดที่หัวใจ สติระลึกรู้อะไร ระลึกรู้มโนวิญญาณ แต่ไม่ใช่ว่ามันจะเกิดทีเดียว 2 ดวง จิตจะเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กันไม่ได้ จำไว้ว่าจิตจะเกิดมาที่เดียว 2 ดวงไม่ได้ แต่จะต้องเกิดมาที่ละดวง ทีละดวง นึกคิดนี้ก็เป็นจิตดวงหนึ่ง สติก็เกิดกับจิตดวงหนื่ง

แล้วมันเกิดยังไง มันก็ต้องอันนี้ ดับไปแล้ว มโนวิญญาณดับไปแล้ว สติเกิดมาแล้วก็ไปรู้มโนวิญญาณที่มันดับไปแล้ว แต่ในความรู้สึกจริงๆ มันเหมือนกับรู้ปัจจุบัน เรายังเรียกว่าปัจจุบันได้ คือมันใกล้เคียงกัน ทีนี้ในภาวะความเป็นจริงที่ปฏิบัติก็คือ กำหนดความคิดนึกนั่นเอง ที่กำลังคิดนึกถึงมะพร้าวเรื่องราวต่างๆ ก็กำหนดที่ความคิดนึก ในใจพอนึกถึงมะพร้าวเกิดความรู้สึกยังไง พอใจหรือไม่พอใจ มันก็ยังเป็นมโนวิญญาณ เป็นจิตทางใจดวงหนึ่ง พอใจหรือไม่พอใจ ต่างก็เป็นมโนวิญญาณที่เกิดขึ้นมาที่จิตแต่ละชนิดๆ คิดกันมา สติก็รู้ไปสิ รู้ความพอใจ สังเกตลักษณะความพอใจ ลักษณะความไม่พอใจก็ระลึกรู้ความไม่พอใจ สติและปัญญาก็เกิดร่วมกัน สัมปชัญญะนี่เป็นตัวปัญญา คือสติเป็นตัวระลึกรู้ สัมปชัญญะก็สังเกต สังเกตลักษณะความพอใจเป็นอย่างนี้ ไม่พอใจอย่างนี้ มันปรากฏขึ้น

อันนี้ก็ทางหนึ่งแล้ว พอจะมองภาพพจน์มองออกไหมว่า การทำงานในชีวิตจริงๆ มันเป็นยังไง แล้วการปฏิบัติยังไง ถ้าหากว่า ขณะเห็นทีแรกถ้าสติเกิดขึ้นทัน ก็กำหนดสภาพเห็น สภาพสี ถ้าไม่ทันมันเกิดไปรู้เป็นต้นมะพร้าวแล้วก็รู้มาที่ใจ หรือมันเลยไปถึงความพอใจไม่พอใจแล้ว ก็รู้มาที่ความพอใจไม่พอใจ แต่มันก็ไม่ได้ตั้งอยู่ มันก็จะไป มันก็ไปเป็นรับรู้ทางอื่น ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็กำหนดเรื่อยไปตามสภาวะที่มันเกิดขึ้น อันนี้ก็อย่าง ถ้าเป็นทางหู ทางหูก็มีประสาทหู หรือเรียกว่า โสตปสาท ซึ่งเป็นความใสที่จะรับเสียง แล้วก็มีเสียงเป็นคลื่น เป็นคลื่นปรมาณูผ่านบรรยากาศมากระทบหู เสียงตัวนี้ก็เป็น สัททารมณ์ ก็คือตัวเสียง เสียงต่างๆ ก็จะดังมากระทบประสาทหู พอกระทบแล้วมันก็จะเกิดอะไรขึ้น เกิดสภาพได้ยินขึ้น เขาเรียกว่า โสตวิญญาณ

ก็คือตัวได้ยิน ได้ยินเป็นอะไร เป็นรูปหรือเป็นนาม เป็นนาม หูเป็นรูป เสียงเป็นรูป ฉะนั้นขณะที่ได้ยิน จะได้ยินเป็นเพียงเสียง คือเสียงสูงๆ ต่ำๆ ไม่รู้ว่าอะไร แต่ถ้าไปรู้ว่าเสียงนั้นเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นอะไร ไม่ใช่ได้ยินแล้วมันกลายเป็นจิตที่ใจ เป็นมโนวิญญาณ คิดนึกถึงว่าอ้อนั่นเป็นเสียงคน มีความหมายอย่างนั้น สติก็กำหนดมาที่ความคิดนึก ตอนแรกกำหนดที่หูได้ยินเสียง ได้ยินเสียงกำหนดไม่ทัน รู้ไปเป็นคน สัตว์ สิ่งของ ก็กำหนดไปที่จิตใจ แล้วก็พอมันคิดนึกแล้วมันก็จะเกิดความรู้สึกพอใจบ้างไม่พอใจบ้าง เราก็กำหนดมาที่ใจ ที่พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง สำหรับทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็เหมือนกัน จะเป็นไปในลักษณะอย่างนี้ ทีนี้เรามีเวลาจำกัด ก็พอเป็นตัวอย่าง


แนวทางเจริญวิปัสสนา

จะพูดเข้ามาถึงเวลาเราจะปฏิบัติกันจริงๆ คือที่เราฟังนี่ดูๆ แล้ว เหมือนง่ายในการปฏิบัติ กำหนดอันนั้นอันนี้ แต่เวลาเอาจริงๆ แล้วมันยาก กำหนดไปแล้วมันเผลอไปหมด แต่ว่าบอกหลักการไว้ว่ามันปฏิบัติอย่างนี้ การปฏิบัติเราก็เจริญไปตามแนวของสติปัฏฐาน คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งตามปกติจริงๆ แล้ว การปฏิบัติถ้าแยกออกไปแล้วก็มี 3 รูปแบบ หรือ 3

ระบบการปฏิบัติ

การปฏิบัติที่ 1 ก็คือ เรียกว่า เจริญสมถะก่อน ทำให้ได้สมาธิ ให้ได้ฌาณ ระดับของสมาธิที่เข้าถึงอัปปนาสมาธิ แล้วจึงยกฌาณขึ้นสู่วิปัสสนาทีหลัง คือขณะที่ถอยจากฌาณแล้วก็กำหนดองค์ฌาณ นี่ก็อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งก็คือ เจริญวิปัสสนาโดยตรงไปเลย คือเจริญกำหนดดังที่อธิบายให้ฟัง ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตามปกติ ไม่บังคับว่าจะต้องอยู่จุดนั้นจุดนี้ กำหนดให้ได้ปัจจุบันที่รูปนาม นี่ก็อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งก็คือลักษณะที่เจริญสมถะบ้าง วิปัสสนาบ้าง ปนๆ กันไป ก็จะพูด 2 ลักษณะนี้ คือลักษณะของการเจริญสมถะให้ได้ฌาณเราคงทำไม่ได้ คือเราไม่มีเวลาพอ เพราะว่า การจะทำสมาธิให้ได้ระดับฌาณมันไม่ใช่ทำได้ง่าย ต้องอยู่ในที่วิเวกสงบจริงๆ ต้องใช้เวลา ฉะนั้นคิดว่าเราไม่สามารถจะทำอย่างนั้นได้ ก็มี 2 หลักการ คือ เจริญวิปัสสนาโดยตรงอย่างหนึ่ง กับเจริญสมถะและวิปัสสนาปนๆ กัน แต่ว่าสมถะนี่เราก็เจริญพอควร ไม่ถึงกับว่าจะแนบแน่นอารมณ์ดิ่งไปสู่อปปนาสมาธิ ไปเลยทีเดียว

เจริญวิปัสสนาโดยตรงล้วนๆ ก็ทำความเป็นปกติ อย่างในขณะที่นั่งอยู่ขณะนี้ เราจะนั่ง จะยืน จะเดิน จะนอนอย่างไร ก็กำหนดตามความรู้สึกรู้อย่างขณะนั่งอยู่ขณะนี้ เราก็ให้สังเกตเข้ามาที่ความรู้สึกที่กาย

อันดับแรกก็นึกมาถึงท่าทางของกายที่นั่งอยู่ เรานั่งอยู่ในลักษณะไหน ขาอยู่ยังไง แขนยังไง ลำตัวยังไง ศีรษะยังไง ท่าทางของกายที่เรียกว่านั่ง มันมีลักษณะท่าทางยังไง เรานั่งแบบพับเพียบ หรือนั่งขัดสมาธิ หรือนั่งห้อยเท้า ให้เอาจิตนี่มารับรู้ คือเจริญสติ ให้จิตนี้รับรู้ในกายของตนเอง แทนที่จะให้จิตคิดไปในเรื่องอื่นต่างๆ ไม่เอา เอามาดูที่จิตของตัวเอง และดูที่กาย ท่าทางของกาย

ระยะที่ 2 ก็ดูให้ลึกลงไปกว่านั้น ก็คือดูไปถึงความรู้สึก ถ้าเราดูรูปร่างเฉยๆ มันไม่เห็นความเกิดดับ เราก็ดูไปถึงส่วนย่อยของมัน มันก็จะมีความรู้สึก รู้สึกที่กายจะรู้สึกอะไรบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง หย่อนบ้าง ตึงบ้าง ใช่มั้ย เราสังเกตดู มีมั้ย ในขณะนี้ เรานั่งอยู่มีมั้ยความเย็น เราอยู่ใกล้พัดลมก็รู้สึกเย็น ถ้าเย็นที่แขนก็กำหนดรู้ที่แขน เย็นที่ใบหน้าก็กำหนดรู้ที่ใบหน้า แขนซ้าย แขนขวา ที่ใบหน้า มันก็ไม่พร้อมกัน แล้วมันก็จะดับ เย็นแล้วดับไป เย็นแล้วดับไป หรือรู้สึกร้อน เรานั่งอยู่นี่ มันรู้สึกร้อน ร้อนผิวกาย ร้อนในท้อง เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ความแค่นแข็งมีมั้ย เราสังเกตดู กระทบกัน กระทบพื้น หรือมือกระทบรู้สึกแข็ง แล้วไปกระทบผ้ารู้สึกอ่อน แข็ง อ่อน ความเคร่งตึง มีมั้ยความตึง ระบบหายใจเข้า หายใจออก มีมั้ยความตึง อย่างเราหายใจเข้าไป เรารู้สึกว่าหน้าอก หน้าท้องนี่มันตึง สังเกตดู คือต้องดูจริงๆ

รู้สึกมั้ยหายใจเข้าไป ตึงหน้าอก ตึงหน้าท้อง คือลักษณะของลม หายใจออก ความตึงลดระดับมั้ย เราเรียกว่าความหย่อน นี่คือ ปรมัตถธรรม สังเกตความตึง ความหย่อน เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง มีในร่างกาย ตึงที่แขน ที่ขา ที่ลำตัว ที่ใบหน้า คาง มีอยู่ทั่วไป เรากำหนด กำหนดเป็นจุดๆ ไป มันจะรู้สึกไม่พร้อมกัน ในการกำหนดให้ทำสติเป็นปกติ คือทำจิตให้เหมือนเราอยู่เฉยๆ ทำจิตไว้นิ่งๆ เฉยๆ เหมือนกับปล่อยวาง ทำจิตปล่อยวางเรื่องราวต่างๆ แล้วให้จิตมันทรงตัวอยู่กับความนิ่งๆ เฉยๆ เสร็จแล้วจะทำให้เราสังเกตอะไรได้ออก สังเกต ความรู้สึกเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง ได้ออกโดยที่เราไม่ต้องบังคับว่า จะต้องตั้งสติไว้ที่จุดนั้นจุดนี้ เราดูรู้ต่ออารมณ์ใดมันเกิดขึ้น เราก็รู้อารมณ์นั้น อะไรมันเกิดขึ้น หมดไปแล้วก็หมดไป เราก็ดูอารมณ์ใหม่ มันก็มีอยู่ทั่วไป ทางกายนี้กำหนดง่ายจึงขอ เสนอไว้ว่า ให้เริ่มต้นจากการพิจารณาสังเกตทางกายไว้

ความรู้สึก ความตึง ความหย่อน ความเคลื่อนไหว นอกจากอิริยาบถนั่ง ก็มีอิริยาบถยืน เวลายืนเราก็กำหนดรู้ทั่วทั้งตัวในลักษณะท่าทางของกายที่ยืนอยู่ ยืน การที่ยืนก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง แล้วตัวที่ไปรู้ท่ายืน ที่ไปรู้อาการยืนก็อย่างหนึ่ง ยืนจึงเป็นอาการของรูป ตัวที่ไปรู้อาการยืนเป็นนาม กำหนดพิจารณาเห็นกายอย่างหนึ่ง จิตที่รู้ว่ากายยืนอย่างหนึ่ง เวลาเดินก็กำหนดรู้อาการเคลื่อนไหวของขาที่ก้าวไป ยก ย่าง เหยียบ เคลื่อนไหว มีความสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง ก็มีอยู่ แม้เวลานอนเราก็ให้สังเกตความรู้สึก เรานอนในท่าทางแบบไหน แขนขาอยู่อย่างไร แล้วก็ให้รับรู้ทั่วร่างกาย รู้ให้ลึกลงไปถึงความรู้สึก เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง นี่ส่วนของร่างกาย ทีนี้ส่วนของจิตใจ เราก็ต้องกำหนดถึงจิตใจ คือความรู้สึกนึกคิด คำว่า ดู ในที่นี้ก็คือ สติระลึกรู้ ปัญญาก็คือสัมปชัญญะ คือพิจารณาสังเกต สังเกตความคิดนึก

โดยที่ไม่ต้องบังคับมันจะคิดนึกถึงเรื่องอะไรก็รู้มาที่ความคิดนึก เราปล่อยวางจากเรื่องราวต่างๆ ดูที่ความคิดนึก แล้วก็ดูไปอีกชั้นหนึ่งคือ ความรู้สึกในอาการในจิตใจ ขณะนี้ใจมันสงบ ไม่สงบ มันฟุ้งซ่าน รำคาญใจ หงุดหงิด ใจเรารู้สึกขุ่นมัวหรือใจเราผ่องใส ก็ดูอาการในจิตใจของเราไป มันเกิดเวทนา สบายกาย ไม่สบายกาย ดีใจ เสียใจ กำหนดรู้คือไม่เจาะจงว่าจะต้องบังคับที่ใดที่หนึ่ง ถ้าใครทำได้ อย่างนี้ก็เป็นการเจริญวิปัสสนาไปโดยตรงเลย ใช้สมาธิแค่ขณิกสมาธิ ถ้าเราเข้าใจก็ทำไปได้เลย ถ้าหากว่าใครที่ฟังอย่างนี้แล้วก็ทำไม่ได้ ฟังแล้วมันก็ยาก เรื่องปรมัตถธรรมกำหนดได้ยาก อะไรต่างๆกำหนดไม่ถูก ก็จะต้องเป็นลักษณะที่ทำ โดยเฉพาะลงมาอีก ก็คือเน้นไปที่จุดใดจุดหนึ่งในสติปัฏฐานทั้ง 4 อาจจะเน้นไปที่กาย หรือเวทนา หรือจิต บางคนถนัดกำหนดกาย ก็ดูที่กายเป็นหลัก บางคนถนัดดูจิต ก็ดูจิตเป็นหลัก

อย่างเช่นกายก็แยกออกเป็นหลายอย่าง ลมหายใจ หรืออิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน เราถนัดกับลมหายใจ เราก็ดูลมหายใจเป็นหลัก รู้หายใจเข้า รู้หายใจออก รู้ยาว สั้น หยาบ ละเอียด ปล่อยลมหายใจตามปกติ สบาย ถ้าเราปฏิบัติแบบเจริญทั่วไป กำหนดให้เป็นปกติไม่ได้ ก็ต้องทำสมาธิบ้างพอสมควร คือเน้นไปที่ลมหายใจ ดุลมหายใจเข้า หายใจออก พอจิตสงบพอควร ก็ไม่ต้องบังคับ อยู่แค่ลมหายใจ ก็ดูอย่างอื่นต่อไป คือเราจะทำไปถึงขั้นลึกลงไปจริงๆ ให้ได้ฌาณก็ทำได้ยาก ฉะนั้นก็เสนอแนะว่าทำมาในรูปของวิปัสสนาเลย หรือจะทำสมาธิบ้างสลับกับวิปัสสนา เช่น ดูลมหายใจ เน้นที่ลมหายใจเข้า หายใจออกเป็นหลัก แล้วค่อยๆสังเกตความรู้สึกต่างๆ ทางกายและทางจิตไปก็ได้ หรือเราจะดูไปที่ท่าทางของร่างกาย ยืน เดิน นั่ง นอน เช่นนั่ง เราก็ดูท่าทางของกายที่นั่ง เรานั่งในท่าทางอย่างไรก็เพ่งดูในท่าทางของกายที่นั่งเป็นหลักอย่างนี้ไปก็ได้ แล้วค่อยไปสู่ความรู้สึก เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง ความรู้สึกนึกคิด ก็ไม่ทราบว่าจะมีคำถามอะไรบ้างมั้ย

คำถาม การพิจารณาสัมผัสทางกายทำไมมีแต่ลักษณะของธาตุดิน ลม และไฟ แล้วธาตุน้ำจะพิจารณาอย่างไร

คำตอบ น้ำเป็นสุขุมรูป เป็นรูปที่ละเอียด ลักษณะของน้ำคืออะไร ลักษณะที่ไหลหรือเกาะกุม เราเอามือไปจุ่มในภาชนะที่มีน้ำ ภาชนะที่มีน้ำเอามือไปจุ่ม เราจะรู้สึกอย่างไร ถ้ารู้สึกเย็น ร้อน นั่นก็ไม่ใช่ลักษณะของน้ำ เย็นร้อนเป็นลักษณะของไฟ เราเอามือไปกระแทกๆ รู้สึกมันอ่อน มันแข็ง มันก็เป็นธาตุดินในน้ำ ในนั้นก็มีดินอยู่ แต่ดินก็มีน้อยกว่าน้ำ คือกายไม่สามารถไปสัมผัสความไหลและเกาะกุมได้ ถึงแม้เราจะอาบน้ำ รู้สึกว่าน้ำมันไหลไป ก็ไม่ใช่ว่าไปสัมผัสความไหล มันลักษณะความเย็น เย็นๆ ๆ จากแขนลงไปขา มันรู้สึกเย็น แล้วจิตเราคิด อ้อนี่มันไหลไป

ตัวที่รู้ว่าไหลนี่เป็น จิตทางใจ ไม่ใช่สัมผัส สัมผัสเย็นๆ ๆ ๆ แต่ใจมันคิดว่า อ้อ มันไหลไป ฉะนั้นการที่รู้ลักษณะของน้ำที่ไหลและเกาะกุม รู้ด้วยทางใจ เป็นรูปละเอียด เป็นสุขุมรูป ไหล ก็รู้ได้ทางใจ อย่างวัตถุที่มีอยู่ ในนี้ก็มีน้ำอยู่ มันทำให้วัตถุในนี้เกาะกุมอยู่ได้ เทียนที่มันแข็ง มันก็มีน้ำอยู่ มันทำให้วัตถุในนี้เกาะกุมอยู่ได้ เทียนที่มันแข็ง มันก็มีน้ำอยู่ พอเราจุดมันก็เหลวไหลไป ในทางที่เราเห็น เราเห็นสีต่างๆ จิตเรานึกว่าเทียนนี่มันไหลลงไป เวลาเทียนมันแห้ง มันเย็น มันก็เกาะกุม เราก็รู้ความเกาะกุมของมัน แต่มันไม่ใช่เห็น มันเห็นสีต่างๆ แต่จิตเรารู้ว่า มันเกาะกุมขึ้นมา ฉะนั้นลักษณะของน้ำรู้ได้เฉพาะทางใจเท่านั้น


คำถาม เวลามีลมมากระทบรู้สึกเย็น ความรู้สึกเย็นเป็นรูปหรือเป็นนาม

คำตอบ ความรู้สึกเย็นนั้นเป็นนาม ส่วนเย็นนั้นเป็นรูป เข้าใจมั้ย คือรู้สึกสบายกายเช่นเย็น พัดมาเย็นสบายมันเป็นความรู้สึกที่กาย แต่ไม่ใช่ตัวกายและไม่ใช่ตัวเย็น แต่เป็นตัวจิตซึ่งจัดเป็นนาม แต่เป็นจิตที่เกิดที่กาย ไม่ใช่จิตที่หัวใจ จิตที่หัวใจมันจะไปรู้ความหมายของความสบายว่านี่เป็นลม เป็นพัดลม เป็นอะไร นั่นเป็นจิตทางใจ แต่รู้สึกเพียงแต่สบายเฉยๆ อย่างนี้จะเป็นจิตที่เกิดที่กาย เกิดที่กายก็จริงแต่เป็นจิต ไม่ใช่รูป รูปก็เป็นเพียงแต่ลักษณะเย็น ร้อน เย็นที่มากระทบเป็นรูป แต่รู้สึกสบายเป็นเวทนา นี่ก็เป็นนามธรรมซึ่งเกิดร่วมกับจิต ถ้าไม่มีคำถามอะไร คิดว่า การพูดตรงนี้มันก็ไม่ละเอียดนัก ซึ่งการฟังคิดว่าเรายังมีเวลาฟังวันอื่นต่อๆ ไปอีก ก็จะพูดซ้ำๆ บ้าง เกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติโดยตรง


วิธีการเดินจงกรม

ทีนี้ก็อยากจะสาธิตการเดินจงกรมให้ดู การเดินจงกรม ถ้าไม่เห็นอะไรเลย เดี๋ยวก็ไปเดิน ไม่รู้จะเดินอย่างไรถูก ขอนิมนต์พระอาจารย์ลา มาสาธิต ขึ้นบนอาสน์สงฆ์ก็ได้ ลองมองไปที่บนอาสน์สงฆ์ คือเดินก็ใช้สถานที่ตรงไหนก็ได้ที่มันเรียบเตียน ใต้ต้นไม้ อะไรก็ได้ หาที่เหมาะๆ ขั้นแรกเราก็ยืนก่อน ยืนกำหนดรู้สึกตัวทำความรู้สึกทั่วร่างกาย กายที่ยืนนี่เรากำหนดรู้ จะเห็นว่ากายก็เป็นอย่างหนึ่ง จิตก็อย่างหนึ่ง ลองยืนด้วย ทุกท่านลองยืนด้วย กำหนดรู้ความยืนที่กายทำสติตั้งแต่ศีรษะตลอดถึงปลายเท้า เวลาเดิน ก็เดินไปตามปกติ นิมนต์เดิน แต่ว่าอาจจะช้าเล็กน้อย เพื่อสติจะได้ทันขึ้น เดินไปตามปกตินั่นแหละ ก้าวไปตามปกติไม่ต้องต่อส้น เวลาเดินเราก็จับความรู้สึก อาการเคลื่อนไหวตั้งแต่ยกเท้า ก้าวเท้า เหยียบเท้าลง มันจะมีความตึง ความไหว พอฝ่าเท้ากระทบพื้นมันก็มีความสัมผัสความแข็ง มันจะมีความตึงที่กาย มีความตึง ความหย่อน ความเคลื่อนไหว

เราสังเกตที่ความรู้สึกที่การเคลื่อนไหวของขา ใหม่ๆ ก็ขอเสนอว่าให้รู้ที่ขาหรือที่เท้าก่อน แต่ถ้าเราปฏิบัติจนชำนาญแล้วก็รู้ทั่วไปทางอายตนะอื่น คือ ทางจิต ทางตา หู จมูก ลิ้น ได้ แต่ใหม่ๆ ก็ขอเสนอว่าให้รู้เฉพาะที่กายก่อน ดูที่ขา ที่เท้า คือไม่ใช่ดูรูปร่าง รูปร่างของท่อนขานี่ก็เป็นบัญญัติ แต่ตัวลักษณะตึง หย่อน เย็น ร้อน อ่อน แข็ง นี่เป็นปรมัตถ์ ในกระแสจิตเราจะมีมโนภาพเป็นรูปร่าง แต่ว่าใหม่ๆ ก็อาจจะสัมผัสกับ รูปร่างไปก่อน อย่างรูปร่างท่อนขาก้าวไปๆ แต่ต้องพยายามกำหนดให้ลึกกว่านั้น ก็ต้องไปสังเกตความรู้สึกที่มันตึง มันหย่อน มันไหว มันแข็ง สังเกตดู เดินไปตามปกติ เมื่อไปสุดที่แล้วก็กำหนดยืนให้รู้อิริยาบถ ฝึกการยืน กำหนดไว้ เวลากลับก็หมุนเท้ากลั บทางขวา โดยเผยอปลายเท้าขึ้น แล้วก็หมุนส้น แล้วก็ยกเท้าซ้ายตาม พอยกเท้าซ้ายแล้วก็กำหนดที่เท้าซ้าย สัก 3 ครั้งมันก็จะหันมา พอดีข้างหน้า แล้วเราก็กำหนดยืนรู้ตัวอีก

ทำความรู้สึกตั้งแต่ศีรษะตลอดถึงปลายเท้า ยืน ยืนก็อย่างหนึ่ง รู้ว่ายืนก็อย่างหนึ่ง แล้วเราก็เดินกลับมา เดิน ทำความรู้สึกตัว ทำร่างกายให้สบายๆ เพื่อความสำรวมนิดหนึ่งไม่ให้มีหลายอารมณ์เราก็เก็บมือไว้ข้างหน้า มือซ้ายเกาะไว้ที่หน้าท้อง มือขวาเกาะไว้ที่แขนที่มือซ้าย แล้วก็วางมือสบายๆ ร่างกายไม่ต้องเกร็งตัว เดินแบบสบายๆ แต่ว่าไม่ปล่อยจิตให้ล่องลอยไปเรื่องอื่น ให้จิตมารับรู้ที่ตัวเอง ที่ร่างกาย ระยะแรกก็ทำความรู้สึกไว้ที่ขา ที่เท้าก้าวไปก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกัน การที่เคลื่อนไหวไปเป็นรูป ตัวที่ไปรู้เคลื่อนไหวเป็นนาม เราก็อาจจะปูอาสนะไว้ที่ใดที่หนึ่ง โคนต้นไม้ หรือบนแคร่ เราเดินจงกรมสักพัก พอมันเมื่อย เราก็เดินไปหาที่นั่ง มันจะได้สมาธิดีขึ้น เมื่อไปถึงที่นั่งเราก็ยืนกำหนด รู้สึกตัว แล้วก็ย่อตัวลง ในขณะที่เราย่อตัวลงนั่งเราก็เจริญสติไปด้วย รู้กายที่มันเปลี่ยนแปลง

จากลักษณะที่ยืนตรง เป็นลักษณะที่ย่อตัวมันก็มีความเคลื่อนไหว ความตึง ความหย่อน ความเคลื่อนไหวที่ร่างกาย เราก็ทำสติรู้ไปเรื่อยๆ รู้ไปรู้ความรู้สึกที่กายตัวเองไป ขณะที่ย่อตัวแล้วเราขยับ เราก็มีขยับขา ขยับมือ เข้าที่แล้วนั่ง นั่งขัดสมาธิ คือเท้าขวาซ้อนเท้าซ้าย มือขวาซ้อนมือซ้าย หงายมือไว้ ที่หน้าตัก ตั้งกายตรงๆ แต่ไม่ต้องเกร็งตัว เมื่อเรานั่งลงไปแล้วเราก็ผ่อนคลาย กล้ามเนื้อให้มันสบายๆ ไม่ต้องเกร็งตัวอะไร แต่ถ้าหากเรานั่งขัดสมาธิ ไม่ถนัดก็นั่งพับ เพียบก็ได้ หรือว่าบางครั้งที่เราปฏิบัติทั้งวัน เราอาจจะนั่งห้อยเท้าบ้างก็ได้ นั่งห้อยเท้า เราก็ทำสติรู้ในท่าทางนั้น คือได้ทุกอิริยาบถ แต่ว่าการนั่งขัดสมาธิเราควรฝึกไว้บ้าง เพื่อทำให้มีความมั่นคงขึ้น และทำให้มันไม่ปวดเมื่อยง่าย ถ้าเราฝึกจนชำนาญแล้ว ร่างกายเลือดลมมันก็เดินได้ดีขึ้น ขณะที่นั่งไปเราก็ทำความรู้สึกรู้ตัว ดูท่าทางของกาย ที่นั่งอยู่ กายที่นั่งเป็นรูป จิตที่รู้เป็นนาม สังเกตสภาวกายก็อย่างหนึ่ง ตัวรู้ก็อย่างหนึ่ง

ลองทุกท่านลองเดินดู ลองไปหลังเก้าอี้ ลองเดินดู เราก็หาที่ของเรา คือเดินนี่เวลาไปปฏิบัติจริงๆ เราก็แยกๆ กันเดิน เราไม่ใช่ไปเดินตามกัน แต่ว่าในที่ นี้เราก็หาที่กำหนดยืนก่อน เดิน ยืน เราจะเก็บมือไว้ด้านหน้า แต่ว่าบางครั้งเมื่อย อาจจะไขว้หลังบ้างก็ได้ จะไขว้หลังอาจจะกอดอกอะไรก็ได้ หรืออาจจะปล่อยมือสบายๆ บ้างก็ได้ ไม่จำเป็นว่าเราจะต้องมีรูปแบบอย่างนี้เสมอไป เรากำหนดยืนทำความรู้สึกตัว ตั้งแต่ศีรษะตลอดถึงปลายเท้า ลักษณะการที่ยืนนี้เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง เป็นรูป ตัวจิตที่เข้าไปรู้เป็นนาม แล้วก็เดิน เริ่มยกเท้าก้าวไป ทำความรู้สึกสังเกต ความตึง ความหย่อน ความเคลื่อนไหว เดิน สังเกตดู มันจะมีความไหว มีความตึง ฝ่าเท้ากระทบพื้น มันก็รู้สึกแข็ง ดังที่กล่าวแล้ว มันจะมีการสัมผัสความแค่นแข็ง ความตึง ความหย่อน ความเคลื่อนไหว ความเย็น ความร้อน ฝ่าเท้าไปกระทบพื้น บางที่รู้สึกเย็น อย่างหินอ่อนรู้สึกเย็น ถ้าเราไปเดินในพื้นดินอาจจะรู้สึกว่า มันแข็ง มันเจ็บ ก็กำหนดรู้

การทอดสายตา ทอดสายตาไปสักประมาณวาหนึ่ง อย่าก้มมาก ถ้าเราก้มมากมันจะปวดคอ สักวาหนึ่ง แล้วก็ไม่ต้องหลับตา เดินอย่าหลับตา แต่ว่าเราทอดสายตา ลงต่ำ ก็ใช้ระยะทางที่เราเดินสักประมาณ 25 ก้าว จะมากหรือน้อยกว่านั้นก็ไม่เป็นไร เราดูหาสถานที่เรียบๆ แล้วก็สำรวม ไม่มองเหลียวว่อกแว่ก สำรวม ถ้ารู้สึกว่าจิตใจมัน คอยจะคิดแต่เรื่องอื่น เราก็เพียรพยายามให้มันกลับมารับรู้ให้กายที่เคลื่อนไหวขาที่ก้าว ไปกับจิตที่รับรู้มันไปด้วยกัน คือขาที่ก้าวไปต้องมีความรู้สึกตัวไปด้วย ก้าวไปให้รู้สึกตัว ดูความตึง ความหย่อน ความเคลื่อนไหว เมื่อไปสุดที่ เราก็กำหนดยืน สมมุติว่าสุดที่แล้ว เราก็กำหนดยืน ยืนตรง กำหนดรู้ความรู้สึกที่ร่างกาย ยืนกำหนด รู้ทั่วทั้งตัว กายที่ยืนก็อย่างหนึ่ง จิตที่รู้ก็อย่างหนึ่ง แล้วก็กลับ โดยเผยอเท้าขวา ปลายเท้าขวา หมุนส้น กำหนดรู้ที่เท้าขวา แล้วก็ยกเท้าซ้ายตาม ก็ทำความรู้สึกที่เท้าซ้าย หมุนเท้าขวาก็รู้สึกที่เท้าขวา ยกเท้าซ้ายตามก็รู้สึกที่เท้าซ้าย สัก 3 ครั้ง มันก็จะกลับมาหันหน้าตรง พอหันหน้าตรง เราก็กำหนดยืน กำหนดรู้สึกตัวในท่าที่ยืน กายที่รู้สึกที่ยืนก็อย่างหนึ่ง จิตที่รู้ก็อย่างหนึ่ง เสร็จแล้วเราก็เดินต่อ

เอาล่ะก็พอสมควร สาธิตไว้แค่นี้ก่อน เพราะว่าเวลาปฏิบัติจริงๆ เราก็จะไปแยกย้ายกันปฏิบัติ ก็ขอเชิญกลับมานั่งที่อาสนะที่แจกไปก็ใช้ปูนั่งได้ เราจะไปนั่งในที่ต่างๆ ก็ได้ โดยใช้ผ้าตรงผ้าร่มไว้ข้างล่าง ผ้าร่มกันชื้นได้เอาไว้ข้างล่าง เวลาเรามีจำกัด ต่อไปจะได้ทำพิธีเลย ช่วงนี้ก็ขอจบไว้แค่นี้ ขอความสุข ความเจริญในธรรม จงมีแก่ทุกท่านเทอญ


สาธุ
 

_________________
ดีชั่วรู้หมด......แต่ใจคนเรามันอดไม่ได้
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง