Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ธรรมบรรยาย ตอนที่ 8 ปฏิบัติตามลำดับ อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
kit_allwhat
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 02 ส.ค. 2006
ตอบ: 25

ตอบตอบเมื่อ: 21 ส.ค. 2006, 12:10 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ธรรมบรรยาย ตอนที่ 8 ปฏิบัติตามลำดับ
โดย พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํสี)

สำนักปฏิบัติกรรมฐาน วัดมเหยงคณ์
ต.หันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา



นนมัตถุ รตนัตตยัสสะ ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ขอความผาสุกความเจริญในธรรม จงมีแก่ญาติสัมมาปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ต่อไปนี้จะได้ปรารภธรรมตามหลักคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอให้ท่านทั้งหลายได้พึงตั้งใจฟังด้วยดี จะได้แสดงถึงวิธีการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งจะได้กล่าวถึงขั้นตอนการปฏิบัติ

ในขั้นตอนเบื้องแรกในการเจริญสติ เราก็อาจจะใช้การระลึกรู้หรือเพ่งดูบัญญัติอารมณ์ไปก่อน เพื่อให้เกิดความสงบหรือเกิดสมาธิใช้การเพ่งบัญญัติอารมณ์ ซึ่งในสติปัฏฐานท่านก็ได้แสดงมีข้อให้เลือกไว้หลายข้อด้วยกัน

อันดับแรกเป็นการเพ่งดูลมหายใจเข้าออกในสติปัฏฐาน เรียกว่า อานาปานัสสติปัพพะ ในข้อกำหนดลมหายใจเข้าออก คือตั้งสติไใที่โพรงจมูกหรือปลายจมูก คอยระลึกรู้ถึงลมหายใจเข้าหายใจออก ลมหายใจเข้าออกก็จะแสดงลักษณะ บางครั้งหายใจเข้ายาวออกยาว บางขณะก็หายใจเข้าสั้นออกสั้นก็ตาม ระลึกถึงลมหายใจ คือ สังเกตุลมหายใจไปว่ามันยาวมันสั้นให้รู้ไปทุกขณะ เพื่อจะให้เป็นการผูกจิตไว้อยู่กับลมหายใจ

ถ้าไม่สังเกตอะไรเลยมันก็จะทำให้ให้จิตไม่สนใจ จิตก็จะล่องลอยไปได้ง่าย การที่จะระลึกรู้ลมหายใจเข้าออก ครูบาอาจารย์รุ่นหลังนี้ ที่ท่านมีประสบการณ์ในการปฏิบัติเห็นว่าการใช้คำบริกรรมไปด้วย จะช่วยให้ผูกจิตให้อยู่กับลมหายใจได้ดีขึ้น ท่านก็ได้สอนลูกศิษย์ให้บริกรรม คือ พูดในใจ เช่น คำว่า พุทโธ หายใจเข้าบริกรรม พุท หายใจออกบริกรรม โธ หรือ ธัมโม หรือ สังโฆ ก็แล้วแต่

อันนี้เป็นการเพิ่มอุปกรณ์ของการที่จะผูกจิตให้อยู่กับลมหายใจได้มากขึ้น ก็ธรรมดาจิตใจของบุคคลคนทั่วไปก็จะหลงลืมไป หลงลืมระลึกลมหายใจก็จะคิดล่องลอยไปที่อื่น ฉะนั้น บริกรรมก็จะกระตุ้นให้จิตระลึกถึงลมหายใจได้อีก

คำบริกรรมว่า พุทโธ นี้ เกิดขึ้นภายหลัง ตามหลักฐานที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ ไม่ได้แสดงไว้ไว้ว่าให้บริกรรม พุทโธ หรืออย่างอื่น แต่ก็ไม่ผิดอะไร แต่เป็นการได้ใช้สมมุติทั้งสองอย่าง ใช้บัญญัติอารมณ์ทั้งสองอย่าง คือ อัตถบัญญัติ และ สัททบัญญัติ คำบริกรรมที่ใช้เรียกชื่อ พุทโธ นี้ ถือเป็น สัททบัญญัติ เป็นชื่อ เป็นสมมุติอย่างหนึ่ง แต่ว่า สมมุติโดยการเรียกชื่อ การรู้ลมเข้าลมออก หรือ เข้ายาวออกยาว อันนี้เป็นความหมาย จัดเป็นอัตถบัญญัติ

ฉะนั้นการที่บริกรรมกำหนดดูลมหายใจเข้าออกไปเรื่อยๆ ย่อมทำให้เกิดสมาธิ หรือว่าบางท่านอาจจะกำหนดลมหายใจในส่วนเบื้องปลาย เช่น มาดูที่หน้าท้อง ฉะนั้น ในบางสำนักบางแห่งให้มาดูที่หน้าท้องก็ใช้สัททบัญญัติ ใช้คำบริกรรมว่า พองหนอ ยุบหนอ คำว่าพองหนอ ยุบหนอ เป็นสัททบัญญัติ เป็นการสมมุติแห่งความเป็นชื่อ ส่วนอาการที่ พองยุบ ยังเป็นความหมาย จัดเป็น อัตถบัญญัติยังไม่ใช่สภาวะจริง

การที่จิตเข้าไปรู้ถึงว่ามันพองขึ้นหรือยุบลง เป็นการเข้าไปรู้ในความหมายหรืออาจจะเห็นเป็นรูปร่าง บางคนอาจจะเห็นเป็นสัณฐานรูปร่างของหน้าท้อง มันเป็นมโนภาพท้องนูนขึ้นหรือแฟบลง อย่างนี้เป็นส่วนของอัตถบัญญัติเหมือนกันในส่วนของรูปร่างสัณฐาน

ฉะนั้น ความหมายของคำว่าพองหรือยุบ ท้องโป่งท้องแฟบเป็นอัตถบัญญัติ คำบริกรรมว่า พองหนอยุบหนอก็เป็นสัททบัญญัติ

บัญญัติอย่างนี้ก็จัดเป็นกรรมฐานได้ เป็นที่ตั้งของจิต เป็นที่ตั้งของสติ เพื่อให้เกิดความสงบ บริกรรมพองหนอ ยุบหนอ เพ่งดูที่หนังท้องไปเรื่อยก็จะเกิดความสงบ มันก็ได้เหมือนกัน

คนถนัดดูลมหายใจที่ปลายโพรงจมูก บริกรรมพุทโธ หรือคนถนัดมาดูที่ท้องยุบหนอ พองหนอทำให้เกิดสมาธิได้ หรือบางคนก็อาจจะมาดูที่อิริยาบถ ในสติปัฏฐานอันแสดง อิริยาบทปัพพะ ที่ว่าด้วยอิริยาบถ คนที่ไม่ถนัดดูลมหายใจก็มาดูอิริยาบถได้ ดูอิริยาบถใหญ่ ๔ เช่น นั่งก็ให้รู้ตัวในท่านั่ง อาการของกายที่อยู่ในท่านั่ง ดูท่าทางของกาย แล้วก็มีสัณฐาน มีรูปร่าง มีสัดส่วนของอวัยวะ แขนขาร่างกายเป็นมโนภาพ ก็จัดว่าเป็น อัตถบัญญัติในส่วนของสัณฐาน หรือบางคนอาจรู้ในส่วนของความหมายนั่งอยู่นี้คือเป็นความหมายว่า นั่งอยู่ นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งห้อยเท้า ก็เป็นความหมายที่ขยายออกไป

ฉะนั้นการที่ดูท่าทางของกาย จิตก็ต้องไปสัมผัสในความเป็นรูปร่างสัณฐานบ้าง ก็ถือว่ายังเป็นการเพ่งดูสมมุติบัญญัติ บางคนก็อาจใช้คำบริกรรมไปช่วย เป็นสัททบัญญัติเข้ามาช่วย เช่น บริกรรมว่า นั่งหนอ นั่งหนอ เป็นชื่อ เป็นสมมุติแห่งความเป็นชื่อเข้ามา หรือว่าเวลายืน บริกรรมว่า ยืนหนอ ยืนหนอ เห็นเป็นท่าทางของกายที่ยืนอยู่ ทรวดทรงของกายหรือรู้ความหมายว่า ยืนอยู่แล้วก็บริกรรม ถือว่าใช้ทั้งสัททบัญญัติและอัตถบัญญัติ หรือแม้แต่เวลาเดินเข้าไปรู้การก้าวไปเรียกว่า เดินจงกรม รู้การก้าวไป การก้าวนี้ถือเป็นความหมายว่าก้าวไป หรือรู้เห็นเป็นรูปร่างของขาของเท้า เวลาจิตไปรับรู้ที่เท้าก็เห็นเป็นรูปร่างของขาเท้า อย่างนี้เรียกว่าเป็นอัตถบัญญัติเหมือนกัน

ก้าวไปก็เป็นความหมาย บางคนก็อาจใช้สัททบัญญัติเข้าช่วย คือว่า บริกรรม เช่น บริกรรมว่า ก้าวเป็นรูป รู้เป็นนาม ก็เป็นการเรียกชื่อ เป็นสัททบัญญัติเข้าไปกำกับ หรืออาจบริกรรมว่า ซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนอ ก็เป็นการใช้สัททบัญญัติเข้าไปกำกับให้จิตอยู่กับเท้า ให้มีทั้งสัททบัญญัติและอัตถบัญญัติอย่างนี้จัดเป็นกรรมฐานได้ เอามาใช้ดำเนินการปฏิบัติไปได้ เพื่อให้เกิดสมาธิ เกิดความสงบ หรือจะใช้บริกรรมอื่น แล้วแต่จะคิดค้นขึ้นมาให้เหมาะสมก็ได้ เราก็พึงทราบว่า คำบริกรรมต่างๆ เป็นเพียงอุปกรณ์ของการผูกจิตให้อยู่กับกรรมฐานนั้นๆ

ฉะนั้น ในอันดับแรก หากเราจะปฏิบัติไปตามลำดับขั้น ขั้นแรกก็เพ่งดู บัญญัติ ไปก่อน เดินก็รู้การก้าวไปหรือจะบริกรรมด้วยก็แล้วแต่ เวลานั่งก็ดูกาย ดูท่าทางของกายที่นั่งอยู่หรือจะบริกรรมไปด้วย หรือจะดูลมหายใจเข้าออกหรือจะบริกรรมไปด้วย หรือจะดูหน้าท้องแล้วบริกรรมไปด้วยก็ได้ให้เกิดสมาธิ ในช่วงนี้ยังไม่เป็นวิปัสสนา

ทำไมไม่จัดเป็นวิปัสสนา ก็เพราะว่า วิปัสสนานั้นเป็นเรื่องของปัญญา วิปัสสนาเป็นตัวปัญญาว่า เห็นแจ้ง เห็นวิเศษ การที่จะเป็นปัญญา ต้องรู้ความจริง ตัองเข้าไปรู้ปรมัตถ์ ฉะนั้น สติต้องระลึกตรงต่อปรมัตถ์ ถ้าสติรู้ตรงต่อปรมัตถ์ อารมณ์เป็นปรมัตถ์ไม่ใช่บัญญัติ จึงเข้ามาเป็นวิปัสสนา

ถ้าอารมณ์ยังเป็นบัญญัติอยู่ จะเป็นวิปัสสนาไม่ได้ คือเป็นปัญญาไม่ได้ วิปัสสนาเป็นชื่อปัญญา ปัญญาที่รู้จริงเห็นจริงก็ต้องระลึกปรมัตถ์ ปรมัตถ์ คือ สิ่งที่เป็นจริง แต่ว่าบุคคลยังไม่คุ้นเคยกับปรมัตถ์ มักคุ้นเคยต่อสมมุติบัญญัติกว่า การจะสื่อกันสอนกันให้เพ่งบัญญัติมันสื่อกันง่าย สอนกันง่าย บอกให้บริกรรม พุทโธ หรือบอกให้บริกรรมพองหนอ ยุบหนอ จะสื่อกันง่ายปฏิบัติกันเข้าใจ ก็ให้ทำอย่างนั้น เพื่อให้เกิดสมาธิ ให้เกิดความสงบขึ้น เมื่อเกิดความสงบก็อาจจะเป็นเพียงเครื่องรองรับ มีจิตใจรองรับที่จะศึกษาปฏิบัติในขั้นวิปัสสนาต่อไป

บางคนไม่สามารถทำความเข้าใจเรื่องปรมัตถ์ได้ทันที ก็ต้องให้จิตใจมีความสงบไปบ้างตามสมควร ตอนนี้เมื่อฝึกการดูลมหายใจ ดูอิริยาบท หรือเวลาเดินดูการก้าวไปและบริกรรมไปด้วยก็ตาม หรือจะดูนั่งดูหน้าท้องก็ตาม

ในขั้นที่สองที่จะเข้าสู่วิปัสสนาก็ต้องระลึกให้ตรงต่อปรมัตถ์ขึ้น หรือเปลี่ยนอารมณ์ที่เป็นบัญญัติมาเป็นสู่อารมณ์ที่เป็นปรมัตถ์ ในขณะที่กำหนดลมหายใจหรือดูหน้าท้อง หรือดูอิริยาบทก็ตาม พอมาถึงขั้นสองให้สังเกตเข้ามาสู่ความรู้สึก ใช้ภาษาของการที่ทำความเข้าใจง่ายๆในการปฏิบัติโดยใช้คำว่าความรู้สึก แต่ที่จริงคำว่าความรู้สึกกินความไม่หมดในเรื่องปรมัตถธรรม แต่ว่าการจะพูดให้มากเกินไปก็จะเฝือไม่รู้เรื่อง อย่างเช่นว่า ถ้าจะพูดให้กินความหมด ก็จะต้องกล่าวว่าสิ่งที่ปรากฎที่กาย มันจะมีทั้งส่วนที่เป็นโผฏฐัพพารมณ์ที่จะมากระทบ ได้แก่ ร้อน เย็น อ่อนแข็ง หย่อนตึง แล้วทั้งส่วนที่เป็นกายวิญญาณ คือตัวที่เข้าไปรู้สึกโผฎฐัพพารมณ์ แล้วก็มีเวทนาที่จะรวมกับกายวิญญาณ เป็นสุขเวทนาสบายกายบ้าง เป็นทุกขเวทนาไม่สบายกายบ้าง แล้วก็ยังมีกายประสาท

ฉะนั้นบางทีพูดไปมากๆเลยทำให้ฟังกำหนดจดจำไม่ถูก กำหนดที่จะเอาไปปฏิบัติไม่ถูก เพื่อที่จะย่อความพูดให้ง่าย ก็บอกให้ไปกำหนดความรู้สึก สังเกตความรู้สึก ความเคลื่อนไหว ความรู้สึกที่มันหย่อนตึง เย็นร้อน อ่อนแข็ง ขณะที่มีโผฎฐัพพารมณ์มากระทบกายประสาทตรงไหน มันก็จะเกิดความรู้สึกเกิดกายวิญญาณรับรู้ เกิดความรู้สึกเวทนาตรงนั้นด้วย ขณะที่รู้สึกจะมีโผฎฐัพพารมณ์ ถ้าจะพูดให้ง่าย ความรู้สึกที่มันตึงหย่อน เย็นร้อนอ่อนแข็ง มันมีเย็นรู้สึกเย็น ร้อนรู้สึกร้อน แข็งรู้สึกแข็ง อ่อนรู้สึกอ่อน หย่อนรู้สึกหย่อน ตึงรู้สึกตึง มันอยู่ตรงกระทบ เกิดผัสสะทางกาย ถ้าหากว่ามันมีการกระทบแรงกระทบมากมันทำให้เกิดทุกขเวทนา เช่น ตึงเกินไปก็ทำให้รู้สึกไม่สบายกาย เย็นเกินไป ร้อนเกินไปก็ไม่สบายกาย ให้มันพอดีๆ ก็รู้สึกสบายกาย

ถ้าเป็นเวทนาเกิดขึ้น ความรู้สึกเหล่านี้กับรูปร่างสัณฐานท่าทางของกาย เป็นคนละเรื่องคนละอย่างกัน ความรู้สึกนี้ไม่เป็นท่าทาง ไม่เป็นรูปร่าง ไม่เป็นเข้าออก ไม่เป็นยาวสั้น ไม่เป็นพองยุบอย่างที่หน้าท้อง ความรู้สึกมันก็จะมีความตึง ความหย่อน ที่ว่าพองยุบ ความรู้สึกตึง แต่มันเป็นรูปร่างมันไม่มีความหมาย ความตึง ความหย่อน สรุปย่อลงก็คือ ความไหวหรือเคลื่อนไหว การเข้าไปสังเกตความเคลื่อนไหวก็คือ ความตึงๆ หย่อนๆ นั่นแหละ

ถ้าให้สังเกตให้ดี มันตึงมันหย่อนทำให้รู้สึกเคลื่อนไหว หรือจะที่ทรวงอกมันเคลื่อนไหวมีความตึงความไหว ในขั้นนี้ให้สังเกตความรู้สึกนี้ไป โดนไม่ต้องนึกถึงรูปร่างสัณฐานของกาย โดยไม่นึกถึงความหมายว่าลมเข้าลมออกหรือพองยุบ แต่สังเกตความรู้สึกนะ มันเป็นความรู้สึกบอกไม่ได้ว่ามันเป็นอะไร อย่างไร แต่มันเป็นสภาวะมีอยู่ เป็นความตึงความไหวอยู่ หรือความเย็น ความร้อน ความอ่อน ความแข็งเป็นปรมัตถ์ อันนี้เป็นสัจธรรม เป็นสภาวธรรม

ฉะนั้น การปฏิบัติเราก็ต้องเข้าใจว่า เมื่อธรรมเข้ามาสู่สภาวะปรมัตถ์นี้ ก็ต้องไม่คำนึงถึงรูปร่างสัณฐาน ท่าทาง ความหมาย ค่อยทิ้ง ค่อยละ ค่อยคลายออกไป กำหนดอยู่หรือรู้อยู่กับสภาวะ ถ้าหากสติสัมปชัญญะมันอยู่กับสภาวะอยู่กับปรมัตถ์ได้ดี ความรู้สึกของผู้ปฏิบัตินั้นก็จะมีรู้สึกเหมือนว่า นั่งไปเหมือนไม่มีร่างกาย เหมือนไม่มีร่างกายนั่งอยู่ คือ ไม่รู้ว่า แขนขา หน้าตาเป็นอย่างไร ไม่มีร่างกาย ร่างกายหายไป รูปร่างแขนขาหายไป นั่นคือปฏิบัติได้ตรง

แต่คนที่ปฏิบัติใหม่ๆ มักจะเกิดความตกใจ นั่งไปแล้วร่างกายหายไปก็ชักกลัวแล้วก็อาจจะถอยหลังทำให้มันหยาบ โดยการเลิกปฏิบัติหรือลืมตาดูอะไรก็แล้วแต่ หรือการดูลมหายใจไป ดูไปเรื่อยๆ มันไม่นึกถึงความหมาย มันไม่รู้ว่าเข้าหรือออก แต่มันมีความรู้สึกอยู่ มีความรู้สึกของลมที่กระทบอยู่ และอีกส่วนหนึ่ง บางครั้งที่มันมีสมาธิขึ้นมา ร่างกายนี้มันจะปรับทำให้ลมละเอียด คือการหายใจเข้าออกมันนุ่มนวล สละสลวยขึ้นจนละเอียดๆ น้อยลงไป น้อยลงไปจนแผ่วเบา จนไม่รู้สึก ทำให้ผู้ปฏิบัติใหม่เกิดความกลัวว่า ลมหายใจไม่มี กลัวตายขึ้นมาอีก ลมหายใจไม่มีจะตายหรือเปล่า แต่ความเป็นจริงมันมีอยู่แต่มันละเอียด มันกระทบบางเบามาก ทำให้ไม่รู้สึก อย่าไปกลัว ให้รู้ว่าลมละเอียดขึ้น ลมก็เลือนหายไปได้

แต่ถ้าเราใช้ความแยบคายสังเกตก็ปรากฏรู้สึก ก็เพราะว่าเข้ามาสู่วิปัสสนา เราก็ทิ้งความหมายไม่ต้องไป นึกรู้ความหมายเข้าออก แต่สังเกตความรู้สึกเวลาหายใจเข้ามีความรู้สึกภายใน หายใจออกมีความรู้สึก แต่ไม่มีรูปร่าง ไม่เป็นความหมาย อันนี้คือเป็นปรมัตถธรรม หรือปรมัตถอารมณ์

ในเบื้องต้น เราใช้สมมุติไปดูความหมาย รู้สัณฐานของของขาของเท้าที่เคลื่อนไป ก้าวไป หรือใช้คำบริกรรมไปด้วย แต่เมื่อเราปฏิบัติเข้ามาสู่ขั้นนี้ที่เป็นวิปัสสนา ให้สังเกตความรู้สึกเอา ความรู้สึกของการเคลื่อนไหว ขาเท้าที่มันเคลื่อนไหวหรือเวลาเหยียบลงไปมันรู้สึกตึง หรือฝ่าเท้ามันกระทบรู้สึกแข็ง รู้สึกเย็น รู้สึกร้อน หรือเวลายกมันไหว เหยียบมันตึง มันแข็ง ความรู้สึกนั้นเป็นปรมัตถ์ และถ้าหากปฏิบัติยิ่งขึ้นไป การรู้ปรมัตถ์นี้ก็จะจัดเป็นขั้นที่สาม ก็เรียกว่ารู้ให้ทั่วไป รู้ปรมัตถ์ให้กว้างขวาง ไม่เจาะจงเฉพาะที่ รู้ให้กว้างขวางทั่วไป เช่นเวลาเดินกระทบผ้าก็สัมผัสรู้สึกอ่อน หรือลำตัวมันก็มี ความรู้สึกทุกส่วนของกาย ก็สามารถรับรู้ได้ทุกส่วนของกาย

เวลาเดินไม่จำเป็นต้องรู้เฉพาะที่เท้าเท่านั้น รู้ได้ทั่วไป เวลานั่งก็เหมือนกัน ไม่ใช่รู้เฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง จะรู้ได้ทุกส่วนของร่างกาย มือเท้า แขนขา ที่ใบหน้าในสมองของทุกส่วนของกาย สังเกตไปในความรู้สึกที่มันเคลื่อนไหวที่มันตึงมันหย่อน หรือจะใช้คำว่า กระเพื่อมๆ รู้สึกกระเพื่อมๆไหวๆ หรือจะใช้คำว่ามันสั่นสะเทือน ก็เข้าไปรู้ถึงจิตใจ ไม่ใช่รู้แค่เฉพาะกายเท่านั้น แต่มีทั้งทางมโนทวาร ทวารทางใจก็คือ เข้าไปรู้ถึงจิตใจ จิตในจิตก็จะมีทั้งสิ่งที่ประกอบกับจิตที่เรียกว่า เจตสิกต่างๆ และจิตผสมกันอยู่ ประกอบกัน อยู่เกิดร่วมกัน จะดูแง่ไหน ดูในแง่ของลักษณะจิตหรือจะดูอาการในจิต หรืออาการของจิตสลับกัน แต่ต้องศึกษาทั้งสองแง่ แง่อาการในจิตก็จะดูได้ง่ายกว่า ดูอาการว่ารู้สึกอย่างไร มีความขุ่นมัว มีความผ่องใส มีความสงบ มีความฟุ้ง มีความเย็นใจ มีความร้อนใจ สบายไม่สบายใจ เป็นต้น

อันนี้ดูในแง่ของอาการในจิต ปฏิกิริยาหรือความรู้สึกในจิต อีกแง่หนึ่งดู หรือระลึกรู้ลักษณะของจิตโดยตรง คือ ลักษณะของการรู้อารมณ์ จิตมีลักษณะเดียว คือ การรู้อารมณ์ คำว่ารู้อารมณ์ก็หมายถึง การรับรู้ รับรู้ไม่ใช่รู้แบบเข้าใจ รู้แบบรู้อารมณ์ รับรู้อารมณ์อยู่เรื่อยๆ หรือจะพูดเพื่อสื่อง่ายๆ ก็ดูความนึกคิดก็ได้ ดูความตรึกนึกคิด เวลาคิดเวลานึกให้สังเกตพิจารณาอยู่นะ จะเห็นว่านอกจากจะรู้ความรู้สึกเคลื่อนไหวในกายเป็นต้นแล้ว มันก็ยังมีรู้ร้อนเย็น อ่อนแข็ง ตึงหย่อน แล้วก็ต้องพยายามรู้ถึงมโนทวาร จิตใจทั้งความรู้สึกในจิต รู้ความตรึกนึก อย่างนี้เรียกว่ารู้กว้างขวาง รู้ได้ทั่วทั้งหมดมาถึงลักษณะนี้ ไม่มีคำบริกรรมอะไรแล้ว แต่อาจจะเอามาใช้ได้เป็นบางครั้ง

คำบริกรรมบางอย่างแม้จะเป็นสมมุติ แต่ก็เป็นคำสอนที่ช่วยในการปฏิบัติให้เข้าที่เข้าทางเข้าร่องเข้ารอยดีขึ้นได้บ้าง เช่น คำว่า "ปล่อยวาง" คำว่า "ไม่เอาอะไร" สำหรับเอามาใช้ในขณะที่การปฏิบัตินั้นมีล้ำหน้าเกินไป มันจ้องเกินไป มันเพ่งเกินไปจนเป็นความยึดอารมณ์ เพราะการปฏิบัตินั้นจะต้องเข้าสู่ความเป็นปกติ ความพอหรือเข้าสู่ความเป็นกลาง เป็นมัชฌิมาไม่ตกไปข้างตึง ไม่ตกไปข้างหย่อน

ถ้าเพ่งเกินไปมันจะกลายเป็นการยึดอารมณ์ การเพ่งมาจากการเกิดความอยาก อยากจะให้มันทัน อยากจะให้มันได้อย่างนั้น ก็พยายามจ้องจับติดตามอารมณ์จนกลายเป็นความยึดเหมือนกัน เข้าไปรับรู้อารมณ์ยึดอารมณ์นั้น จัดว่าเป็นอุปาทาน มีอุปาทานเข้ามาครอบงำไว้

เมื่อมีความอยากเรียกว่า ตัณหา เข้ามาครอบงำ แม้ในขณะเจริญสัมปชัญญะนี้ ตัณหาอุปาทานมันคอยจะเข้ามาแทรกเข้ามาหนุนให้สติสัมปชัญญะนั้นไม่บริสุทธิ์ล้วน ไม่เกิดขึ้นเป็นสติสัมปชัญญะ เป็นกุศลธรรมส่วนต่อกันไป มันคอยจะมีอกุศลเข้ามาแทรกแซง มีตัณหาอุปาทานเข้ามาแทรกแซง หรือมีอภิชฌา มีโทมนัสเข้ามาแทรกแซง ฉะนั้น ในสติปัฏฐานนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ตรัสไว้ในตอนท้ายของทุกข้อว่า พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกให้พินาศ

อภิชฌา ก็คือ ความเพ่งเล็งอยากได้ องค์ธรรมก็คือ ตัวโลภะหรือจะเรียกว่า ตัณหา ก็ได้ โทมนัส องค์ธรรมก็คือ โทสะ โทมนัสก็คือ ความยินร้าย การปฏิเสธความไม่ต้องการก็เป็นตัวโทสะ จะเห็นว่ามันจะเข้ามาคอย จะเข้ามาทำให้สตินึกรู้อะไร อภิชฌาและโทมนัสคอยจะเข้ามา ฉะนั้น จะต้องอาศัยความเข้าใจ คอยสังเกต คอยปรับผ่อน เพื่อให้ความเป็นกลาง ให้สติสัมปชัญญะ มันบริสุทธิ์ ไม่ตกไปสู่ความอยากความยึด ไม่ตกไปข้างยินร้าย ไม่ปฏิเสธผลักดัน

ฉะนั้น เมื่อทำสติสัมปชัญญะรู้จักสภาวะทั่วไปได้ทั้งหมด ทั้งความรู้สึกที่กายได้รับรู้ทั่วไป แต่ว่ายังเป็นลักษณะเข้าไปเพ่ง ไปจ้อง ไปจับ ไปติดตามอารมณ์ ไปฝักใฝ่ในอารมณ์ ก็ต้องปรับ คอยปรับ คอยผ่อนเข้าไปสู่ความปล่อยวาง ให้มันมีความปล่อยวางไปในตัวด้วยกัน คนใหม่ๆ อาจจะปล่อยไม่เป็น ปล่อยไม่ออก ก็อาจใช้คำบริกรรมเป็นคำว่า "ปล่อยวาง" เป็นช่วงๆ จริงอยู่ คำบริกรรม "ปล่อยวาง" เป็นสมมุติ เป็นสัททบัญญัติ มันจะช่วยสกัดความอยาก ความยึด ช่วยให้การเข้าไปรู้นี้มีความบริสุทธิ์ขึ้น ไม่ตกเป็นเครื่องมือของความอยากความยึดนั้น มันจะกลายเป็นรู้แค่รู้ ดูแค่ดู ไม่ใช่รู้แบบอยาก รู้แบบยึดนะ ต้องรู้แบบแค่รู้ ดูแค่ดู รู้แค่รู้ นั่นก็คือ ว่ารู้แค่รู้ ก็หมายถึงมันปลอดจากความอยากความยึดนั้น จะเป็นความปล่อยวางไปในตัวของมัน คำว่า "ปล่อยวาง" ไม่ใช่ปล่อยทิ้งไปเลย ไม่ใช่ไม่สนใจ ไม่รับรู้ ไม่ใช่อย่างนั้น บางคนอาจจะเข้าใจว่า การปล่อยวาง คือการปล่อยทิ้ง ปล่อยวาง ไม่สนใจ ไม่ใช่อย่างนั้น

การปล่อยวางในการวิปัสสนา หมายถึง ยังรู้อยู่ ยังรับรู้ เพียงแต่รู้แค่รู้ หมายถึงว่า ไม่เข้าไปอยาก ไม่เข้าไปยึด เรียกว่า มีความปล่อยวางไปในตัว แล้วยังรับรู้สภาวะธรรมต่างๆ รับรู้อารมณ์ในสภาวะอันใดก็ปล่อย รับรู้แล้วปล่อยวางๆไป เรียกว่าเป็นสติสัมปชัญญะที่ประกอบด้วย อโลภะ อโทสะ คือ ความไม่โลภ ไม่โกรธ คือความหลุดจากอภิชฌาและโทมนัส มันหลุดจากความโลภก็กลายเป็นไม่โลภ เป็นคุณชาติ คุณธรรมของฝ่ายกุศล ไม่มีโทมนัส มันก็กลายเป็นอโทสะ ความไม่โกรธก็เป็นเจตสิกธรรมฝ่ายกุศล

ฉะนั้น สรุปว่าแล้วว่าการปฏิบัติจะต้องมีการปรับผ่อน ปล่อยวางเข้าไปสู่สภาพการไม่บังคับ ถ้าเรายังสังเกตว่ายังมีการบังคับอยู่ไม่ถูกส่วน ก็ต้องมีการปรับผ่อน เมื่ออยู่ในสภาพของการไม่บังคับก็จะกลายเป็นไม่เลือก อารมณ์มันจะรับรู้อารมณ์ได้ทั่วไป แต่อารมณ์นั้นเป็นปรมัตถ์มันก็จะวนเวียนอยู่เป็นกาย เป็นเวทนา เป็นจิต เป็นธรรมครอบคลุมในสติปัฏฐานทั้งสี่ เมื่อทำได้ส่วน มันก็จะเกิดความเบากาย เบาใจ เกิดความรู้เห็นธรรมชาติ ความเป็นจริงก็คือ การเห็นสภาวะ สภาวะที่เรียกว่า รูปธรรม นามธรรม ความเย็นร้อน อ่อนแข็ง หย่อนตึง เป็นรูปธรรม เป็นความรู้สึก ก็เป็นนามธรรม สภาพที่เข้าไปรู้ก็เป็นนามธรรม เมื่อเห็นธรรมชาติเหล่านี้ ทั้งสิ่งที่ปรากฎที่กาย ปรากฏที่จิต มันมีการเปลี่ยนแปลง มีการเกิดดับ ก็เรียกว่า เห็นความเป็นจริงขึ้น เห็นรูปนามมีความเกิดดับแสดงลักษณะความไม่เที่ยง เรียกว่า ทุกขนิจจลักษณะ ปราฏความเกิดดับ ทุกขลักษณะปรากฏ เห็นสภาพบังคับบัญชาไม่ได้ อนัตตลักษณะ ปรากฏก็จะเป็นวิปัสสนาขึ้นมา

วิปัสสนาก็คือการเข้าไปเห็นรูป เห็นนามเกิดดับ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไไม่ใช่เห็นอย่างอื่น ต้องเห็นรูปนาม เห็นเป็นเพียงสภาวะเป็นรูปเป็นนาม เห็นรูปนามเกิดดับเป็นอนิจจัง ทุกขัง หรืออนัตตา จึงจะเป็นวิปัสสนาเกิดขึ้น จึงจะเรียกว่า ปัญญาที่รู้จริง รู้แจ้งขึ้น เมื่อรู้อย่างนี้ รู้จักรูป รู้จักนาม วางท่าทีกำหนดท่าทีได้ถูกต้อง ทำอย่างนี้เรื่อยไป เอารูปนามเป็นกรรมฐานเป็นที่เกาะเป็นที่ตั้งของสติเรื่อยไป เป็นทางเดินเรื่อยไป สติปัญญาจะต้องเดินไปตามรูปนาม จะต้องดูรูปนามเรื่อยไปแล้วดูปรมัตถ์ กำหนดดูรู้สึกในกายในจิตใจเรื่อยไป คือ มีปรมัตถ์เป็นอารมณ์เรื่อยไป

ระหว่างที่ปฏิบัติไปเดี๋ยวเราก็ทำได้บ้าง ทำไม่ได้บ้าง เดี๋ยวกำหนดได้ เดี๋ยวกำหนดไม่ได้ เดี๋ยวรู้ เดี๋ยวเผลอ เดี๋ยวตึงเกินไป เดี๋ยวหย่อนเกินไป ก็ต้องพยายามระลึกรู้ให้ตรง รู้ให้ตรง ปล่อยจากบัญญัติเข้ามาปรมัตถ์ เดี๋ยวก็ออกจากปรมัตถ์ไปบัญญัติ คอยจะเพลินนึกถึงความหมายเป็นชื่อ เป็นภาษาก็คอยกลับมาอีก เดี๋ยวก็ไปอีกแล้ว คิดเพลินไปอีก ก็รู้อีก มันคิดก็รู้ความคิด คอยกลับเข้าสู่ปรมัตถ์อยู่เรื่อยๆไป พอบัญญัติก็กลับเข้ามาปรมัตถ์ แล้วก้คอยปรับผ่อนให้เป็นกลาง คอยปรับผ่อนให้เป็นปกติ ไม่ฝืนไม่บังคับ ก็จะมีความรู้ละเอียดลุ่มลึกไปตามลำดับเรื่อยๆไป เรียกว่า วิปัสสนาก็จะเจริญขึ้นไปตามขั้นตอน

ตั้งแต่การเพ่งสมมุติบัญญัติแล้วก็เข้าสู่สภาวะปรมัตถ์ แล้วก็ดูปรมัตถ์ให้เป็นทั่วไป ปรับผ่อนปรมัตถ์ให้เป็นกลางเป็นปกติ ก็จะเป็นแนวทางไปสู่วิมุตติ อันเป็นเป้าหมายของการปฏิบัติ คือ ความหลุดพ้น วิมุตติ แปลว่า หลุดพ้น หลุดพ้นจากอาสวะกิเลส เข้าไปบรรลุมรรคผลนิพพาน อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของการปฏิบัติ ซึ่งก็ต้องอาศัยมีปัญญาญาณที่เป็นวิปัสสนา วิปัสสนาญาณที่จะนำไปสู่วิมุตติ ไปสู่มรรคผลนิพพาน ก็ต้องเห็นรูปเห็นนาม เห็นการเกิดดับเรื่อยไป เพราะฉะนั้น ก็ต้องอาศัย ความพากเพียรปฏิบัติเรื่อยไป แม้จะทำเป็น แม้จะเข้าใจ ก็ไม่ใช่มันจะจบลงได้ทันที รู้เข้าใจปฏิบัติถูกแต่มันก็ต้องทำให้เกิดบ่อยๆเนืองๆ ระลึกรู้ให้ตรงให้เป็น ต้องทำให้เกิดขึ้นต่อเนื่องไป จนกว่ามันจะแจ่มแจ้ง แจ้งชัดขึ้นไปตามลำดับนะ วันนี้ก็พอสมควรกับเวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอความสุขความเจริญในธรรมจงมีแก่ทุกท่านเทอญ

เจริญในธรรม



ตัดตอนและเรียบเรียงจากหนังสือ
“รวมบทธรรมบรรยายเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติกรรมฐาน” (หน้า ๖๐-๗๐)
โดย พระครูเกษมธรรมทัต (หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี)
สำนักปฏิบัติกรรมฐาน วัดมเหยงคณ์ จ.พระนครศรีอยุธยา
ถอดเทปและพิมพ์เผยแผ่เป็นธรรมทานโดย คุณหนูนา มกราคม ๒๕๔๕

คัดลอกข้อมูลจาก...
http://us.geocities.com/easydharma/dm007022.html
 

_________________
ดีชั่วรู้หมด......แต่ใจคนเรามันอดไม่ได้
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง