Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ธรรมบรรยาย ตอนที่ 5 ธรรมกับชีวิต อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
kit_allwhat
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 02 ส.ค. 2006
ตอบ: 25

ตอบตอบเมื่อ: 21 ส.ค. 2006, 12:03 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ธรรมบรรยาย ตอนที่ 5 ธรรมกับชีวิต
โดย พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํสี)


ขอให้ทุกท่านได้ตั้งใจฟังให้ดี เราต้องอาศัยการได้ยินได้ฟังธรรมบ่อยๆ เพื่อปลูกสร้างศรัทธาก็ดี ปลูกสร้างความเพียรก็ดี ปัญญาก็ดี โดยเฉพาะว่า บางครั้งจิตใจเราตกต่ำ ท้อถอย ท้อแท้ ในการที่จะทำความเพียร ในการที่จะประพฤติปฏิบัติ ถ้าหากว่าเราได้ฟังธรรม หรือว่าเราได้ศึกษาธรรมจะด้วยการอ่านหนังสือธรรม หรือด้วยการฟังธรรม ฟังบรรยายก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ดึงศรัทธาให้เกิดขึ้น เมื่อศรัทธาเกิดขึ้น ความเพียรก็จะตามมา บุคคลที่ท้อถอยจากความเพียร เพราะว่าศรัทธามันเสื่อมลง ฉะนั้น คนที่ประพฤติปฏิบัติธรรมใหม่ๆ จะดีในด้านความเพียร

คนบางคนเวลาบวชใหม่ๆ นี้ขยันอยากปฏิบัติ อยากสวดมนต์ อยากเจริญภาวนา อยากปฏิบัตินั่นเพราะกำลังมีศรัทธาดี แต่บางคนที่ไปนานๆ แล้วขี้เกียจ ไม่อยากสวดมนต์ ไม่อยากเจริญภาวนา นั่นเพราะว่าศรัทธาไม่มั่นคง ศรัทธาตก เราก็ต้องปลูกฝังศรัทธาขึ้น เราฟังธรรม ร่าเริงในธรรม เกิดความซาบซึ้งในธรรม หรืออีกประการหนึ่งที่จะทำให้ศรัทธาเราเพิ่ม หรือว่าดึงศรัทธาที่มันตกลงไปให้กลับคืนมา ก็ด้วยการคบหาสมาคมกับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ และเราต้องเข้าใกล้กับผู้ที่ปฏิบัติจริง มีความเพียรจริง มีการสนใจในธรรมจริง มีข้อวัตร มีข้อปฏิบัติที่ดี เมื่อเราได้อยู่ใกล้ ได้พบได้เห็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ มีศีล มีข้อวัตร มีความเพียรประพฤติปฏิบัติดี จิตใจของเราก็จะเกิดความอาจหาญร่าเริง เกิดเป็นกำลังได้เป็นอย่างมาก

ฉะนั้นบุคคลจำเป็นต้องไปแสวงหาผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ไปหาพระหลวงปู่ หลวงพ่อต่างๆ นั้น เพื่อเป็นกำลังใจให้เรา ซึ่งคนที่มีศีลมีคุณธรรมจึงมีอำนาจแผ่มาถึงเราได้ เราได้พบได้เห็น ก็จะทำให้จิตใจเรามีความชื่นอกชื่นใจ นี่มันก็จะเป็นสิ่งช่วยพยุงจิตใจของเรา ฉะนั้นสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญ ตรงกับมงคลที่พระพุทธเจ้าแสดงว่า "อะเสวะนา จะ พาลานัง บัณฑิตานัญ จะ เสวะนา" พระพุทธองค์สอนให้เว้น ไกลจากคนพาล แล้วตรงกันข้ามต้องพยายามคบบัณฑิต การได้คบบัณฑิตนั่นแหละจะนำมาซึ่งความเจริญ คนพาลต้องหลีกเลี่ยง ถ้าเราอยู่กับคนพาล จิตใจของเราก็จะตกต่ำไปด้วย คนพาลไม่เฉพาะแต่ว่าเป็นคนเกเร เป็นคนทุจริต เป็นคนผิดศีล ผิดธรรมเท่านั้นถึงจะเรียกว่าคนพาล แม้คนที่มีความเกียจคร้าน ท้อถอยต่อการปฏิบัติธรรมก็ถือว่าเป็นพาลได้อย่างหนึ่ง พาลนี่ก็เป็นคนอ่อน อ่อนแอต่อความดี ถ้าเราไปเข้าใกล้คนที่ท้อถอย คนที่เกียจคร้าน คนที่เอาแต่คุย คนที่เอาแต่สนุกสนาน คนที่พูดจาเหลวไหล เราจะตกต่ำไปด้วย

ถ้าเราไม่คอยระวังตัว ก็จะคล้อยตามเขา สนุกไปกับเขา เล่นไปกับเขา ฟุ้งเฟ้อไปกับเขา ถ้าเราพิจารณาแบบนี้ เราก็ต้องหลีกเลี่ยง เข้าใกล้คนที่เขาปฏิบัติดี เขาหมั่นทำความเพียร วันหนึ่งเขาก็เดินจงกรม นั่งสมาธิ เจริญภาวนาใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ อ่านหนังสือธรรม ฟังธรรม ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ด้วยคณะ เราได้พบ ได้เห็น เราก็จะเกิดกำลังใจว่า อ๋อ เขาปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เราเองก็คนเหมือนกัน แต่เราทำไมไม่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ทำไมเราไม่เพียรพยายาม มันจะดึงดูดกันไป ดึงกันไป ดึงจิตใจของเราให้สูงส่ง เรียกว่าได้สิ่งแวดล้อมที่ดีเราก็พลอยดีไปด้วย ฉะนั้นเราต้องใช้วิธีหลายๆ อย่าง ให้ศรัทธาของเรานั้น มันเจริญขึ้น ฟังธรรม คบหาบัณฑิต อยู่ในที่สงบวิเวก อยู่ในสังคมที่ดี สังคมที่มีธรรม มีศีล มีวินัย มีข้อวัตรที่ดี มันก็ทำให้ศรัทธาเกิดขึ้น ถ้าเราไปอยู่กับคนพาล คนคนทุจริต มันก็ทำให้จิตใจเราท้อถอย เอือมระอา จิตใจไม่เบิกบานแจ่มใส

แต่ในชีวิตคนเรานั้น บางครั้งก็เป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งเราอยู่ในฐานะเป็นคฤหัสถ์ ฆราวาส ชีวิตมันจึงเหมือนชีวิตที่คับแคบ คือทางที่มันจะปลอดโปร่ง มันไม่ค่อยจะมีเดิน มันมักจะเต็มไปด้วยขวากหนาม เต็มไปด้วยสิ่งที่มันจะยั่วยวนให้เราลุ่มหลง ให้เราทุจริต ทำอะไรก็อดจะเป็นบาปเป็นกรรม ผิดศีล ผิดธรรมไม่ได้ ทำอาชีพอะไรก็อดโกหก หลอกลวงเขาไม่ได้ เบียดเบียนชีวิต ทรัพย์สินเขา มันบริสุทธิ์ยาก ถ้าคนเป็นชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ก็ต้องผลาญชีวิตสัตว์ไปเยอะแยะ หรือสมัยนี้ยิ่งไม่ใช้ยาฆ่าแมลงเครื่องปราบศัตรูพืชของต้นข้าว พืชพันธุ์ ธัญญาหารก็รู้สึกว่าจะไม่ได้ผล ก็จำเป็นอันนี้ก็ต้องเป็นบาปเป็นกรรมเหมือนกัน แม้ว่าจะเป็นกรรมที่เล็ก คือกรรมที่ไม่อยากจะทำ แต่ก็ถือว่าเป็นบาปเป็นกรรมเหมือนกัน เป็นพ่อค้าแม่ขายก็อดที่จะต้องโกหกไม่ได้ ทุนมาเท่านี้ก็บอกไปเท่านั้น กลัวว่าจะขายไม่ได้ ทำงานราชการ ทำงานบริษัท บางทีเราก็ต้องคล้อยตามเจ้านาย เขาใช้ให้เราโกหก ทุจริต เราไม่ทำก็ไม่ได้ ถ้าขัดแย้งก็เป็นเรื่องลำบาก เป็นเรื่องคับแคบ

ไม่เหมือนกับชีวิตของนักบวช ชีวิตนักบวชมันกว้าง มันโปร่ง มันสบาย เพราะว่าไม่ต้องไปทำมาหาเลี้ยงชีพ มันสบายไปเยอะ อาหารเช้าขึ้นมาก็มีฉันท์ บิณฑบาตได้อาหาร เครื่องใช้ไม้สอย เสื้อผ้า หยูกยา อะไรก็มีผู้อุปถัมภ์ การที่ไม่ต้องไปแสวงหาดิ้นรนนี่ ทำให้เราไม่จำเป็นต้องไปโกหก หลอกลวงใคร ไม่ต้องไปทุจริตกับใคร พอมีอาหารฉันท์ไปมื้อหนึ่ง มีเสื้อผ้าชุดหนึ่ง มีที่อยู่อาศัยพอประมาณ ไม่ต้องมีข้าวของอะไรมาก ชีวิตก็อยู่ได้สบาย เป็นชีวิตที่เบาสบาย ไม่ต้องมีภาระ คนมีสมบัติมากมีภาระมากนะ มีบ้านใหญ่ก็ต้องถูต้องกวาดกัน มาก หยากไย่ แมงมุม มันจะผุจะพังซ่อมแซมมันมาก มีเครื่องเฟอร์นิเจอร์มากก็ต้องคอยดูแลรักษา ถ้าทรัพย์สมบัติมากก็ต้องคอยระมัดระวังมาก คอยจะสูญหาย ไม่เหมือนกับนักบวชๆ ไม่ต้องมีอะไร ไม่ต้องกลัวว่ามันจะหาย เพราะของมันไม่มีค่าอะไรมาก มันก็เลยไม่ต้องห่วงไม่ต้องกังวลอะไรมาก นี่มันก็เลยเป็นเรื่องสบาย แต่ชีวิตคนเราก็เป็นเรื่องที่เลือกไม่ได้

เมื่อเราเลือกไม่ได้ เราจำเป็นที่จะต้องอยู่กับสังคม อยู่กับชีวิต สิ่งแวดล้อมอย่างนั้น ตามหน้าที่ ที่เราจะต้องรับผิดชอบ เช่น เรามีครอบครัว เรามีลูก มีหลาน มีสามีภรรยา มันจำเป็นต้องรับผิดชอบ มีพ่อมีแม่ต้องเลี้ยงดู ก็จำเป็นที่จะต้องทำหน้าที่รับผิดชอบไป ก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง ความกตัญญู กตเวที การทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ของการเป็นสามีภรรยา ของความเป็นลูก ของความเป็นพ่อเป็นแม่ก็ถือเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง แต่นี้เราจะให้มีความดียิ่งขึ้น เราก็เอาธรรมจากการที่ได้ศึกษาเรียนรู้วิธีฝึกจิต ฝึกใจของเรา การทำสมาธิ การเจริญภาวนา เราเอาไปใช้กับชีวิตประจำวันของเราให้ได้

ในชีวิตที่เราต้องเป็นอยู่กับสังคมกับการงานกับการเกี่ยวข้องกับบุคคลต่างๆ เราจะปล่อยเวลาให้ผ่านไปให้มันจบหน้าที่เหล่านั้นแล้วก็ค่อยมาปฏิบัติ มาบวช มันอาจจะไม่ทันกาล ชีวิตของเราไม่แน่นอนอะไร ฉะนั้นเราก็ต้องเอาธรรมจากการประพฤติปฏิบัติเข้าไปสอดแทรกในชีวิตประจำวันให้ได้ แต่ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยากขึ้นอีก เพราะว่าอารมณ์มันกระทบแรง เราจะทำจิตใจของเราให้มั่นคงนี่ มันก็ทำได้ยาก ฉะนั้นเมื่อเป็นเช่นนี้เราก็หลบหาเวลา ปลีกเวลามาฝึกซ้อมตัวเองให้มันเก่งซะก่อน แล้วถึงจะไปเผชิญกับสังคมเหล่านั้นได้ ต้องแบ่งเวลา ปลีกเวลามาฝึกซ้อมตัวเอง

เหมือนกับเป็นนักมวย เราต้องเก็บตัวฝึกซ้อมให้ดีก่อน ถึงค่อยขึ้นเวทีชก แต่ถ้าเราขึ้นเวทีเลย รู้สึกว่ามันแพ้ มันจะพ่ายแพ้อยู่เรื่อย ก็หมายถึงว่าในชีวิตประจำวันของเรา เราก็พ่ายแพ้ต่ออารมณ์ๆ ที่มากระทบ เราก็โกรธ เราก็โลภ เราก็หลง ทำจิตใจให้ปกติให้สงบเย็นไม่ได้ พ่ายแพ้ต่อข้าศึก ต่อกิเลส แต่หากว่าเรามาเก็บตัวสักระยะหนึ่ง แล้วก็ฝึกฝนอบรมจิตใจของเรา อาศัยธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมที่สัปปายะ ต้องมีที่สัปปายะที่เหมาะสม บุคคลสัปปายะ บุคคลที่เราเกี่ยวข้องก็มีศีลมีธรรม สถานที่สงบร่มรื่น เป็นปัจจัยให้เราสงบได้ง่าย เราฝึกปฏิบัติจนจิตใจเราสงบ มีความเป็นปกติขึ้น เราก็เผชิญกับชีวิตประจำวันของเราต่อไป

แต่ถ้าหากว่าเราไม่มีโอกาสจะใช้เวลามาเก็บตัวได้นานๆ เราก็อาจใช้เวลามาเป็นช่วงๆ หรือมาบ่อยๆ มาฟังธรรม มาปฏิบัติบ่อยๆ เข้า มันก็ยังดี ค่อยๆ สะสมไปทีละเล็กทีละน้อย จากวันนี้ฟังไม่รู้เรื่อง แต่วันต่อๆ ไป ก็ค่อยรู้ขึ้น จากวันนี้นั่งแล้วไม่สงบ แต่ว่าทำบ่อยๆ เข้า มันก็สงบได้ ไม่มีสิ่งใดที่จะทำไม่ได้ ถ้าหากว่าเรามีความเพียร เราอ่านหนังสือ เราท่องจำหนังสือ ท่องเที่ยวเดียวมันจำไม่ได้ มันก็ท่องไปสิบเที่ยว ร้อยเที่ยว พันเที่ยว ดูซิว่ามันจะจำได้ไหม มันก็ต้องจำจนได้ละ การปฏิบัติก็เหมือนกัน มันไม่สงบในครั้งแรกๆ แต่เราทำเป็นร้อย เป็นพันเข้ามันก็ต้องสงบ มันก็ต้องเห็นธรรม

การที่จะให้รู้ให้เห็นธรรม มันไม่ใช่จะมาใจร้อนทำกันครั้งเดียว สองครั้ง มันต้องทำบ่อยๆ เราจะมองเห็นได้ว่ามันมีช่องทางจะสำเร็จได้ ผลจะต้องเกิดขึ้นมาได้ จากประสบการณ์ที่เราเห็นในการทำการงานอะไรก็ตาม แม้ว่าสิ่งนั้นจะยาก แต่อาศัยทำบ่อยเข้าๆ มันก็ทำจนได้ เป็นจนได้ สำเร็จจนได้ พื้นที่มันขรุขระ แต่เราอาศัยขัดไป ขัดมา เป็นร้อยเป็นพันครั้งมันก็เรียบจนได้ ขึ้นเงาทุกอย่างละ มันทำแล้วมันสามารถสำเร็จได้ ฉะนั้นการปฏิบัตินี้มันก็มีโอกาสให้ได้รับผล เกิดความสงบ เกิดปัญญาได้ ถ้าเราใช้ความเพียรให้มาก ทำบ่อย ทำแล้ว ทำอีก ทำอยู่อย่างนั้น อย่าไปคิดว่าเรานี้ คงไม่มีวาสนา บารมีที่จะทำได้ วาสนาบารมีมันอยู่ที่ความเพียร ถ้าเราไม่ถอยไม่ท้อ มันก็ย่อมจะได้รับความสำเร็จอันนี้ส่วนหนึ่ง

การปฏิบัติ การทำความเพียรนั้น มันก็ต้องเพียรอย่างถูกต้องด้วย ถ้าไปเพียรไม่ถูกต้องมันก็ไม่ได้ผลเหมือนกัน การทำความเพียรก็ต้องมีปัญญา มีความรู้ความเข้าใจปฏิบัติให้ตรงให้ถูกต้อง ทีนี้เราปฏิบัติเจริญวิปัสสนา คือการปฏิบัติเพื่อให้รู้แจ้งเห็นจริง เพื่อจะชำระจิตใจให้สะอาด ให้บริสุทธิ์นั้น วิธีการปฏิบัติจะต้อง มีรูปมีนามเป็นอารมณ์เป็นทางเดินหรือเป็นกรรมฐาน หรือเป็นที่ตั้งของสติ ปัญญา เจริญวิปัสสนานี่ ต้องเอารูปนามเป็นกรรมฐาน กรรมฐานก็คือที่ตั้งของการกระทำ ที่ตั้งของสติ สติคือตัวระลึก สัมปชัญญะ รู้สึกตัว ระลึกรู้สึกตัวต่อรูปนาม คือเอาสติไประลึกที่รูปนามไว้ มันจึงจะเกิดวิปัสสนา เพราะวิปัสสนาก็คือ ปัญญาหรือความรู้ที่รู้แจ้งเห็นจริง การที่จะรู้แจ้งเห็นจริงได้ มันก็จะต้องหมั่นดูที่ของจริง หมั่นศึกษาพิจารณาที่ของจริงๆ

ของจริงนี้ภาษาธรรมเรียกว่า ปรมัตถธรรม ซึ่งแยกออกมาเป็น รูปธรรมและนามธรรม ฉะนั้นการกำหนดของจริงก็คือ ต้องไปกำหนดรู้ที่รูปและนาม ถ้าเราพิจารณาดูรูป ดูนาม ดูรูป ดูนามบ่อยๆ เนืองๆ เข้า ก็จะเกิดรู้แจ้งขึ้น รู้จักว่า รูปเป็นอย่างไร นามเป็นอย่างไร รูปนามมีลักษณะอย่างไร แต่ละอย่างแต่ละชนิด ตามความเป็นจริง ความเป็นจริงของรูปของนามก็คือว่ามันเสื่อมสลายแตกสลายเกิดดับเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่ อนิจจังก็คือ ความไม่เที่ยง ปรวนแปร เปลี่ยนแปลงไป ทุกขัง ก็คือ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ อนัตตาก็คือบังคับบัญชาไม่ได้ การปฏิบัตินี่ก็ต้องการที่ให้ไปเห็นรูปนามเกิดดับเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปฏิบัติไปนี่ต้องให้เกิดเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันก็มาจากความเกิดดับ ถ้าเราเห็นสภาพที่มันไม่เกิด ไม่ดับ มันอยู่เฉยอย่างนั้น อนิจจังมันก็ไม่มี ไม่ปรากฏ ทุกข์มันก็ไม่ปรากฏ อนัตตาก็ไม่ปรากฏ มันนิ่งเฉยอยู่ ไม่เปลี่ยนแปลงอะไร

ลักษณะการเปลี่ยนแปลงก็คือสภาพมันต้องเกิดดับ เกิดขึ้นแล้วมันแปรไป มันดับไป นั่นละมันมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลง มีลักษณะที่เป็นทุกข์ๆ ก็คือ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เกิดแล้วก็ไม่สามารถจะตั้งอยู่ในสภาพเดิมได้ อนัตตามันก็คือความทุกข์นั่นแหละ คือทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ หมายถึงว่า ถ้ามันทนอยู่ได้มันก็ต้องบังคับได้ ทีนี้ถ้าจะบังคับมันก็บังคับไม่ได้ มันจะเกิดบังคับไม่ให้มันเกิดก็ไม่ได้ มันจึงเรียกว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนเราเขา สิ่งเหล่านั้นมันเกิดขึ้นมันดับไป มันเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัยของมัน ไม่ใช่อยู่ในอำนาจของใคร การปฏิบัติต้องการให้ไปเห็นอย่างนี้ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือเห็นรูป เห็นนาม เกิดดับ เพราะฉะนั้นจะเห็นรูปนามเกิดดับก็ต้องกำหนดที่รูปที่นามไว้ ต้องพยายามเจริญสติ เข้าไปดูรูป ดูนาม ถ้าเราไปดูอย่างอื่นมันก็ไม่เห็นความจริงไปดูของปลอมนี่ จะรู้ไปตามความจริงไม่ได้ จะรู้ไปตามของปลอม ฉะนั้นต้องพยายามเว้นของปลอม ละของปลอม มาดูของจริง

ของปลอมก็คือบัญญัติหรือสมมุติ ของปลอมนี่ มันจะว่าจริงมันก็จริงโดยสมมุติเท่านั้น ที่เราตกลง ที่เราแต่งตั้งขึ้น เรียกชื่อว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นผู้หญิง เป็นผู้ชาย เป็นแขน เป็นขา เป็นศรีษะ เป็นตา เป็นหู เป็นชื่อนั้น ชื่อนี้ อันนี้มันเป็นเรื่องสมมุติขึ้น ความเป็นจริงมันไม่มี มันก็จริงเหมือนกัน จริงโดยการที่เราสมมุติกันไว้ อย่างแขนนี่ ถ้าใครจะไปเรียกว่าขาก็เรียกว่าไม่ตรงความจริง แต่ความเป็นจริงแล้วมันเป็นเรื่องสมมุติ รูปร่างสัณฐานก็เป็นสมมุติ อาศัยจิตที่มันประมวลในจุดต่างๆ ของกายออกมาเป็นรูปร่างสัณฐาน ความหมายก็เป็นสมมุติ ความหมายว่ามันยาว มันสั้น มันหยาบ มันละเอียด มันเข้า มันออก มันสูง มันต่ำ มันพอง มันยุบ มันไป มันมา นี้มันเป็นสมมุติ

มันเป็นเรื่องความหมายซึ่งเรายึดติดมานาน เราไม่รู้ละอวิชชามันบัง ถ้าไม่อาศัยสัพพัญญูของพระพุทธเจ้า ไม่อาศัยคำสอนของพระพุทธองค์ เราก็จะไม่รู้เลย ไม่รู้ว่าที่เราว่ามันยาว มันสั้น นั่นเป็นเรื่องสมมุติ จิตเราไปรับความสมมุติขึ้น สัณฐานรูปร่าง กลม แบน เหลี่ยม เป็นเรื่องสมมุติ ถ้าเราไม่ได้ฟังธรรม เราก็คิดว่ามันเป็นของจริง เราก็รู้นี่มันยาว นี่มันสูง นี่มันต่ำ นี่มันเข้า นี่มันออก นั่นคือการที่เราติดในสมมุติอยู่ เราก็นึกว่ามันเป็นของจริงอย่างนั้น แต่พระพุทธเจ้าแสดงว่านั่นเป็นของไม่จริง เป็นเรื่องหลอก มันเป็นความหลอก มันเป็นเรื่องสมมุติ มันเป็นเรื่องจิตซึ่งจำเอาไว้ ตรึกนึกเอาไว้ปรุงแต่งเอาไว้ จึงเห็นไปเป็นอย่างนั้น

ฉะนั้น การปฏิบัติที่จะให้รู้ตามความเป็นจริงนั้น มันจึงต้องละไปจากการไปเพ่งดูสมมุติทั้งหมด ต้องไปกำหนดรู้ต่อปรมัตถธรรมคือ รูปนาม ฉะนั้นรูปนามนี้ ไม่ใช่ชื่อ ไม่ใช่ภาษา ไม่ใช่ความหมายว่ายาว ว่าสั้น เป็นต้น ไม่ใช่รูปร่างสัณฐาน แล้วมันเป็นอะไร มันมีลักษณะอย่างไร รูปนามนี้เราไม่ต้องคิดไม่ต้องนึก ไม่ต้องสร้างอะไรขึ้นมา มันมีอยู่แล้ว มันเป็นสภาพธรรมที่มีอยู่ มีจริงอยู่แล้ว จึงเป็นสภาพที่เรียกว่าคงทนต่อการพิสูจน์ เพราะมันเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงๆ เป็นความจริง เป็นของจริง เป็นสิ่งที่จริง และเป็นสิ่งที่น่าศึกษา น่าค้นคว้ามาก การไปศึกษาค้นคว้าของปลอมนั้นมันจึงไร้สาระ มันไม่น่าศึกษาอะไรเท่าไรนัก เพราะอะไรมันเป็นของปลอม มันก็รู้มันก็เห็นไปตามของปลอม แต่การศึกษาของจริง ให้มันรู้จริง ให้มันเห็นจริง เป็นสิ่งจริงนี่มันเป็นสิ่งที่น่าศึกษามาก เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ทีนี้ก็มาถึงว่ารูปนามมันมีลักษณะอย่างไร

รูป โดยคำจำกัดความแล้วหรือว่าโดยลักษณะส่วนรวมแล้วก็คือธรรมชาติที่เสื่อมสิ้นสลายไป ลักษณะของรูป หมายถึง ปฏิเสธการที่จะรับรู้อารมณ์ รูปไม่สามารถที่จะรับรู้อารมณ์ได้ จึงบอกว่าเป็นสภาพธรรมที่มีแต่แตกสลายไป เกิดมาแล้วก็เสื่อมสลายไป ไม่มีการไปรับรู้อะไรได้ สิ่งเหล่านั้นคือรูป แล้วก็เป็นการบ่งบอกให้รู้ว่า รูปจะต้องมีการเสื่อมสลาย เกิดขึ้นแล้วต้องเสื่อมสลาย เปลี่ยนแปลงดับไป ถ้าสิ่งใดที่มันไม่มีการเปลี่ยนแปลงดับไป สิ่งนั้นไม่ใช่รูป ไม่ใช่ของจริง ไม่ใช่รูปนาม

ยกเว้น สภาพของนิพพาน ซึ่งเป็นเรื่องสูงแล้ว เรื่องสูงเกินไปที่เราจะเข้าถึง เราจะเข้าถึงต่อเมื่อเราปฏิบัติถึง แต่เราให้รู้ตามหลักว่า นิพพานไม่มีการเกิด ท่านแสดงว่า นิพพานนี้เป็นอสังคตธรรมเป็นธรรมที่ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัยทั้ง ๔ คือ กรรม จิต อุตุ และอาหาร สิ่งใดที่ไม่ถูกปรุงแต่ง สิ่งนั้นจะไม่มีการแตกสลายเปลี่ยนแปลง เกิดดับ นิพพานนี้เป็นของจริง นิพพานนี้เป็นปรมัตถธรรม เป็นของจริง แต่เป็นของจริงที่พ้นจากความปรุงแต่ง พ้นจากโลกียะ พ้นจากโลก เรียกว่า โลกุตรธรรม เป็นธรรมที่พ้นโลก ส่วนรูปนามนั้น จะต้องเสื่อมสลายเปลี่ยนแปลง รูปเกิดขึ้นแล้วก็ต้องเสื่อมสลายไม่สามารถรับรู้อารมณ์ได้ ส่วนนามธรรมนั้นเสื่อมสลายเหมือนกัน แต่ว่ามันสามารถที่จะรับรู้อารมณ์ได้ เข้าไปรู้อารมณ์ได้ เข้าไปรับรู้อารมณ์ได้ นี่นามธรรม

ฉะนั้นรูปกับนาม มันแตกต่างกันในลักษณะที่ว่า รูปนั้นมีแต่เสื่อมสลายเปลี่ยนแปลงดับไป ไม่สามารถจะรับรู้อารมณ์ได้ นามก็เสื่อมสลายแต่ว่ารับรู้ได้ รับรู้อารมณ์ได้ ฉะนั้นการปฏิบัติเราจะต้องเข้าไปกำหนดรู้ธรรมชาติที่มันเกิด มันดับ มันเปลี่ยนแปลงเสื่อมสลาย จึงจะตรงต่อ ปรมัตถธรรม ตรงต่อรูป ตรงต่อนาม กำหนดพิจารณานี่ก็กำหนดทั้งรูป ทั้งนาม ดูรูปดูนามไป

แล้วทำอย่างไรจึงจะเห็นรูปเห็นนามจริง ก็ต้องหยุดการปรุงแต่ง เวลานั่งไปก็นั่งเฉยๆ นิ่งๆ ทำจิตไม่ต้องนึกคิดไป สร้างอะไรขึ้นมาทั้งหมด แล้วก็เฝ้าดูในสิ่งที่มันมีมันเป็นอยู่ มันมีมันเป็นอะไร ที่เราไม่ต้องไปคิดไปนึก นั่นแหละมันคือของจริง มันไม่ต้องไปคิดไปนึกไปสร้าง มันก็มีอยู่แล้ว เพียงแต่เอาจิตไปรับรู้ เอาสติไประลึกรู้ดู มันก็จะพบว่ามันมีอยู่จริง อย่างเช่นว่า นั่งอยู่ขณะนี้ เรานั่งอยู่ นั่งอยู่อย่างไร เราน้อมจิตมาดูกายที่นั่งอยู่ แล้วเราก็ไม่ต้องคิดอะไร ไม่ต้องไปสร้างอะไร นึกอะไร เพียงแต่ว่าใช้ความพิจารณาสังเกตความรู้สึก ดูซิว่ามันมีความรู้สึกอะไรบ้าง หรือว่ามันแข็งทื่อ หรือว่ามันไม่รู้สึกอะไร มันเย็นชา มันชาไปทั้งตัวหรือไร มันต้องมีความรู้สึก นั่นนะคือของจริง

สิ่งที่ปรากฏที่ยังไม่ต้องนึกคิดนั่นแหละคือของจริง มันมีไหม ความเย็น รู้สึกเย็นมีไหม รู้สึกร้อนไหม แข็งมีไหม ตึงมีไหม หย่อนมีไหม ที่ไม่ต้องนึกคิดอะไร เพียงเข้าไปสังเกต ใช้ความนิ่งๆ ในจิต สังเกตดูก็จะพบว่า เออมีจริง เย็นบ้าง ร้อนบ้าง ตึงบ้าง หย่อนบ้าง ไหวบ้าง รู้สึกสบายบ้าง ไม่สบายบ้าง บางทีก็รู้สึกว่าปวด ว่าเจ็บ เมื่อย ชา คัน มีอยู่ ตึงที่ขา ตึงที่ลำตัว ที่ศรีษะ มีเย็นกระทบที่แขน ที่ขา ที่ลำตัว ใบหน้า มีร้อนที่ผิวกายบ้าง ในท้องบ้าง ลมหายใจเข้าก็รู้สึกเย็นที่โพรงจมูก หายใจออกก็รู้สึกร้อนที่โพรงจมูก หายใจเข้ารู้สึกตึงที่หน้าท้อง หายใจออกรู้สึกมันหย่อนมันคลาย นั่งนานรู้สึกมันปวดมันเมื่อย เปลี่ยนอิริยาบถก็รู้สึกมันเบาลงไป นี่คือของจริง คือ ปรมัตถธรรมไม่ต้องนึกต้องคิดมัน มันมีอยู่อย่างนี้ การปฏิบัติธรรมก็เข้าไปสังเกตสภาวธรรมเหล่านี้

ทีนี้ว่าจิตของผู้ปฏิบัติใหม่ๆ นั้น มันสับสนมันจะพาไหลไปในเรื่องภายนอก ก็อาจจะต้องจำเป็นที่จะอาศัยสมมุติไปก่อน มีสมมุติบัญญัติ แต่สมมุติบัญญัตินั้น จะต้องเป็นบัญญัติที่เป็นกรรมฐาน คือเป็นที่ตั้งของสติได้ ที่ให้เกิดสมาธิได้ เช่นว่า การดูลมหายใจเข้าออก ให้นึกรู้ว่านี่ลมมันเข้า นี้ลมมันออกมา นี่มันลมเข้ายาว นี่มันออกยาว นี่มันเข้าสั้น นี่มันออกสั้น นี่มันต้นลม กลางลม ที่สุดของลม อย่างนี้เป็นสมมุติ คือความหมาย ความหมายว่ามันเข้าไป ความหมายว่ามันออก เป็นเรื่องความหมาย ปรมัตถ์จริงๆ มันไม่มีความหมายว่าเข้า ว่าออก เรื่องว่าเข้าว่าออกนี่เป็นเรื่องที่จิตเราจะต้องตรึกนึกขึ้นมา อาศัยสัญญาความจำ ความยาว ความสั้น ก็เป็นเรื่องความหมาย แต่ว่ามันเป็นความหมายที่เป็นกรรมฐาน เป็นบัญญัติอารมณ์ที่เป็นกรรมฐาน คือเป็นที่ตั้งของสติให้มันเกิดสมาธิได้

ถ้าเราไม่นึกไม่พิจารณาว่ามันยาว มันสั้น มันหยาบ มันละเอียด มันเข้า มันออก จิตเราไม่ค่อยอยู่ มันไปเรื่องอื่นหมด ก็จำเป็นต้องมาดูลมยาวลมสั้น เพื่อให้เกิดการงานของจิต ดูไปเฉยๆ จิตมันไม่มีการงาน มันก็ท่องเที่ยวไปที่อื่นหมด เหมือนคนเรานี่ ถ้าไม่มีการงานแล้ว เดี๋ยวมันก็เที่ยวไป และถ้ามีการงานแล้วมันก็ไปไหนไม่ได้ ต้องอยู่กับการงาน จิตนี่ก็เหมือนกันถ้าจะไม่ให้มันวิ่งไปที่อื่น ต้องให้การงานมัน เราดูลมเข้าลมออกไปเฉยๆ งานมันง่าย มันก็แวบไปได้เหมือนกัน เหมือนคนนะ งานน้อยมันแวบ แต่ถ้างานมันเต็มมือมันก็ไปไหนไม่ได้ จิตก็เหมือนกันการใส่การงานของมันให้มาก ไม่ดูลมเข้าลมออกอย่างเดียวนะ ต้องสังเกตว่าลมมันยาวไหม ลมมันสั้นไหม ลมมันหยาบ มันละเอียด เอ้า ต้นลมขณะไหน สุดลมหายใจขณะไหน เริ่มเมื่อไหร่ สุดลมเมื่อไหร่

เมื่อเพิ่มการงานของจิต จิตมันก็คอยระวังอยู่ เมื่อจิตมันระวังอยู่มันก็อยู่ที่ลมหายใจ ทีนี้บางคนอ้าวดูอย่างนี้ ดูเฉยๆ ไม่ได้บริกรรมภาวนาอะไร มันก็ยังไม่ค่อยจะอยู่ ก็ต้องเอาบัญญัติที่เป็นนามบัญญัติมากำกับอีกชั้นหนึ่งคือใส่ชื่อเรียกลงไปอีกว่านี่พุทนะ นี่โธ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ หรือว่า ธัมโม สังโฆ พุทโธ ธัมโม สังโฆ อะไรก็แล้วแต่ พอใส่คำบริกรรมไปช่วย บางทีจิตมันลอยๆ พอนึกพุท มันก็นึกเข้ามาที่ลมหายใจ ใช่อ้าวมันนึกเข้ามาที่ลมหายใจแล้วนะ มันช่วยเตือนสติ เหมือนอย่างคนเราที่หลงๆ ลืมๆ พอได้ยินเสียงอะไรขึ้นมาก็นึกขึ้นได้ว่า อะไรเป็นอะไรขึ้นมา อันนี้ก็เหมือนกัน มันเป็นอุบายวิธี แต่ความเป็นจริงแล้ว จุดประสงค์ต้องการให้เกิดสมาธิคือ ให้จิตมันจดจ่ออยู่กับลมหายใจ เมื่อจิตมันจดจ่ออยู่กับลมหายใจไม่เคลื่อนไปที่อื่น ติดต่อกันอยู่ มันก็เป็นสมาธิ

เมื่อเป็นสมาธิ มันก็เกิดความสงบ ใจของเราก็มีความสุข มีปิติ มีความเบิกบาน มีความเอิบอิ่ม แล้วความสุขที่เกิดจากสมาธินี้ มันเป็นสุขที่แตกต่างจากความสุขภายนอก ความสุขที่เราได้กินได้ใช้ ได้สนุกสนานในโลกียอารมณ์ มันเทียบกันไม่ได้กับความสุขที่เกิดจากสมาธิ ความสุขที่เกิดจากสมาธินี่มันอิ่มเอิบในจิตใจ มันเป็นความสุขที่สงบเย็นที่ละเอียด ความสุขที่เบาสบาย ความสุขภายนอกนั้น มันเป็นความสุขที่เร้าร้อน เป็นความสุขที่มีความทุกข์ตามมาอย่างมากนะ สุขแล้วก็ทุกข์ตามทันที แต่ความสุขจากภายใน จากในจิตนี่มันเยือกเย็น ฉะนั้นคนปฏิบัติพอมีสมาธิดี ได้รับความสุขทางจิตใจก็มีกำลังใจ เกิดความศรัทธา เกิดความสนใจในการประพฤติปฏิบัติธรรม มีกำลังใจว่า คำสอนในพระพุทธศาสนานี่มีประโยชน์จริงๆ จิตใจของเรามีความสุขสงบจริง

อันนี้เป็นเพียงขั้นของสมาธิ ยังไม่ถึงเป้าหมายที่เราต้อง ดำเนินให้ถึง (เป้าหมายที่ต้องดำเนินให้ถึงนั้นต้องมีปัญญารู้แจ้ง เห็นจริง แล้วจึงเข้าสู่ความหลุดพ้น สู่วิมุตติความหลุดพ้น) อันนี้เป็นขั้นของสมาธิ คือความสงบ เราก็ได้รับสุขอย่างมากมายแล้ว ถ้าเราทำจิตให้มั่น นิ่งอยู่กับลมหายใจได้ ความสุขก็เกิดขึ้น นี่เป็นเรื่องอุบายนะ ลมเข้า ลมออก ลมยาว ลมสั้น พุทโธ ธัมโม สังโฆ เป็นบัญญัติเป็นของปลอม แต่ว่าของปลอมในที่นี้มันเป็นกรรมฐาน เป็นอารมณ์ที่ล่อให้เกิดความสงบ เพื่อจะเชื่อมโยงให้เข้าสู่วิปัสสนา พอจะเชื่อมโยงเข้าสู่วิปัสสนา มันก็ต้องทิ้งของปลอม อารมณ์ที่เป็นของปลอมออกไป หรือว่าเข้าไปจดสภาวะปรมัตถ์ กำหนดให้จดสภาวะปรมัตถ์

ในกรณีที่กำหนดลมหายใจมา พอจิตมันนิ่งเป็นสมาธิ จิตมันเกิดความเอิบอิ่ม เกิดความสุขความสบาย ก็ให้เจริญสติมารับรู้ที่จิตมารับรู้ที่เวทนาในจิต ดูลักษณะความเอิบอิ่ม ดูลักษณะความสบายในจิต ความผ่องใสในจิต ดูลักษณะความมั่นคงในจิต อย่างนี้เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นของจริง เป็นปรมัตถ์ ลักษณะที่เอิบอิ่ม ลักษณะที่เป็นความสบาย ลักษณะที่เป็นความตั้งมั่นเป็นปรมัตถธรรมแล้ว ไม่ต้องนึก ไม่ต้องคิด ไม่ต้องสร้างอะไร มันมีอยู่แล้ว ปรากฏอยู่ ให้จดสภาวธรรมเหล่านี้ จะพบสภาวธรรมเหล่านี้ตามความเป็นจริงว่า เกิดดับอยู่ เปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ แตกสลายเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ยื่นให้รู้คือ เวทนาในจิตหรือตัวลักษณะของจิต หรือตัวที่ปรุงในจิตนั้นก็เสื่อมสลายเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เข้าไปรู้คือ ตัวสติตัวปัญญาก็เกิดดับเปลี่ยนแปลงได้ เกิดสติปัญญาพิจารณาทั้งสิ่งที่ปรากฏให้รู้ และทั้งสิ่งที่เข้าไปรู้ ทั้งสองอย่างเปลี่ยนแปลงเกิดดับ เป็นไปด้วยกัน ผู้รู้ก็ดับไป สิ่งที่เป็นตัวยื่นให้รู้ก็ดับไป เห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดดับอย่างนี้ มันก็เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

สิ่งที่ว่าเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นเขา หาไม่มีแล้ว ในขณะนั้นหาความเป็นตัวตนไม่มีแล้ว มันมีแต่ธรรมชาติที่หมดไป สิ้นไป บังคับไม่ได้ นี่คือลักษณะของปัญญาที่เกิดขึ้น ที่ว่ารู้แจ้ง รู้ตามความเป็นจริง เรียกว่า วิปัสสนาญาณ แล้วก็ต้องรู้อย่างนี้อยู่บ่อยๆ เนืองๆ เห็นความเกิดดับเปลี่ยนอยู่บ่อยๆ เนืองๆ ให้ละเอียดให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น จึงจะสามารถทำลายความยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้อย่างเด็ดขาด จึงจะเข้าสู่วิมุตติ ใหม่ๆ มันยังไม่เด็ดขาด มันก็ละเป็นชั่วขณะ ละเป็นขณะๆ ไปเรื่อยๆ อันนี้สำหรับการเข้ามาสู่วิปัสสนาโดยอาศัยอานาปานสติ โดยอาศัยลมหายใจเข้าออก แต่บางคนนั้นไม่ถนัดในการดูลมหายใจก็ไม่จำเป็นต้องไปบังคับที่จะต้องมาดูลมหายใจก็ไปกำหนดอย่างอื่นได้ กำหนดอิริยาบถใหญ่ทั้งสี่ก็ได้ กำหนดยืน กำหนดเดิน กำหนดนั่ง กำหนดนอน แต่ให้รู้ว่ากายยืน กายเดิน กายนั่ง กายนอน มันก็เป็นสมมุติ คำว่ายืน เดิน นั่ง นอน รู้ตัวว่านี่ยืน นี่เดิน นี่นั่ง นี่นอน มันเป็นความหมายนะ มีความหมายอยู่

ปรมัตถ์จริงๆ ไม่มี ยืน เดิน นั่ง นอน ไม่มี ไม่รู้ว่ามันยืน มันเดิน มันนั่ง มันนอน แต่มีสภาวะอยู่ สภาวะปรมัตถ์อันนั้น เลือกไม่ได้ว่ามันยืน หรือเดิน หรือนั่ง หรือนอนนั่นคือ ปรมัตถธรรมแต่ว่าผู้ปฏิบัติจะให้เข้าไปถึงจุดสภาวธรรมเหล่านั้นจริงๆ มันทำไม่ได้ เข้าไม่ถึงก็อาศัยสมมุติไปก่อน อาศัยสมมุติ ว่ายืน ว่าเดิน ว่านั่ง ว่านอน พยายามดู กายยืน กายเดิน กายนั่ง กายนอน สัมผัสปรมัตถ์บ้าง สัมผัสสมมุติบ้าง จิตมันก็เป็นสมาธิ เพราะว่า กายยืน เดิน นั่ง นอน นี่มันก็เป็นกรรมฐานให้จิตมาจดจ่ออยู่ที่กาย ไม่คิดเรื่องอื่น นั่งอยู่ก็นึกมารู้ที่กายนั่ง ท่าทางของกายที่นั่ง จิตไม่ไปเรื่องอื่น ยืนก็มีสติรู้อยู่ที่กายยืน เดินก็มีสติรู้อยู่กับกายที่มันก้าวไป ก้าวเท้าขวา ก้าวเท้าซ้าย จิตไม่ไปเรื่องอื่นเป็นสมาธิ นอนก็เอาจิตมารู้ที่กายที่นอนอยู่

ทีนี้บางคนดูอย่างนี้ก็ยังไม่อยู่ก็ต้องเอาบัญญัติที่เป็นชื่อเข้ามาใส่อีก อ้าวกำหนดไปนะว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ พอเอ่ยชื่อขวามันก็นึกถึงขาขวา พอว่าซ้ายก็นึกถึงขาซ้ายทีนี้คำบัญญัติเหล่านี้ช่วยให้จิตอยู่กับกายขึ้น หรือว่ากำหนดพุทโธ เหยียบเท้าขวาว่า พุท ก้าวเท้าซ้ายว่าโธ พอนึกพุทโธก็นึกถึงขาได้อีก หรือนั่งก็กำหนดภาวนาว่า นั่งเป็นรูปรู้เป็นนาม ยืนเป็นรูปรู้เป็นนาม เป็นคำบริกรรมกำกับก็ได้ แต่มันยังไม่ถึงวิปัสสนา เป็นเรื่องทำให้เกิดสมาธิ ถึงแม้ว่าเราจะบริกรรมว่า ยืนเป็นรูปรู้เป็นนาม ก้าวเป็นรูป นอนเป็นรูป รู้เป็นนาม เราได้บริกรรมชื่อของรูปนาม แต่มันไม่เห็นรูปนามจริง ได้แต่เรียกชื่อเอา แต่ก็ยังเป็นกรรมฐานอยู่ เป็นการปฏิบัติกรรมฐานให้เกิดสมาธิได้ ในเมื่อเราทำจิตให้อยู่กับกายยืน เดิน นั่ง นอน ดีขึ้นๆ จึงกำหนดให้ลึกซึ้งลงไปอีกถึง ความรู้สึกว่าขณะที่มันยืน เดิน นั่ง นอน มันก็มีเย็น มีร้อน มีตึง มีไหว มีแข็ง มีอ่อน เป็นความรู้สึกอยู่ นั้นละเป็นปรมัตถธรรม

มันก็ทิ้งความยืน เดิน นั่ง นอน มีแค่ความรู้สึกที่ มันตึง มันหย่อน มันไหว มันเย็น มันร้อน นั่งอยู่ก็เข้าไปสัมผัสความตึง ความหย่อน ความเย็น ความร้อน อ่อนแข็ง รูปร่างสัณฐานแห่งการนั่งมันก็หายไป เพราะนั่นมันเป็นสมมุตินะ สมมุติแห่งความเป็นรูปร่างสัณฐานว่านั่งอยู่มันหายไปแล้ว ไปสัมผัสความรู้สึก ความรู้สึกมันส่วนย่อยต่างๆ ว่ามันตึง มันหย่อน มันไหว เข้าไปสัมผัสปรมัตถธรรม มันก็เห็นปรมัตถธรรมนั้นเสื่อมสลาย เปลี่ยนแปลงเกิดดับ มันก็เป็นวิปัสสนาขึ้น เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้มันก็เป็นวิปัสสนาได้ โดยอาศัยอิริยาบถใหญ่ทั้งสี่เป็นพื้นฐานเข้ามาสู่วิปัสสนานะ ทีนี้การปฏิบัตินั้น ถ้าให้มันละเอียดขึ้น ในขณะที่เรายืนเดินนั่งนอน เวลาดูยืน เดิน นั่ง นอน นั่นมันหยาบ มันมีช่วงจังหวะห่าง เพราะว่าขณะที่เราจะยืนขึ้น จากนั่งเป็นยืน จากยืนเป็นเดิน หรือจากเดินมาเป็นนั่ง มันจะต้องมีอิริยาบถย่อยเข้ามาแทรก มีการงอแขนเหยียดแขน งอขา เหยียดขา มีการก้ม มีการเงย มีการเอี้ยวตัว เราก็ทำสติให้รู้ตัว

ทำความรู้สึกตัวในขณะที่คู้เหยียด เคลื่อนไหว คือกายมันจะเคลื่อนไหวไปอย่างไรก็ทำความรู้สึกตัว รู้ตัวไปเรื่อยๆ อย่างนี้มันก็ละเอียดขึ้น ไม่ว่าเราจะเคลื่อนไหวไปทำอะไร จะกิน จะพูด จะเคี้ยว จะอาบน้ำ ทานข้าว จะนุ่งห่มผ้า จะเข้าห้องน้ำ ห้องส้วม กายมันจะไปอย่างไร เราจับความรู้สึกภายในอยู่ เราสังเกตความรู้สึกภายใน ความรู้สึกมันเคลื่อนไหว มันตึง มันหย่อน มันเย็น มันร้อน อันนั้นคือ ปรมัตถ์แต่บางคนจับปรมัตถ์ทันทีไม่ได้ ก็ต้องจับบัญญัติไปก่อนเช่นว่านี้ รู้ว่านี่ มือเรายื่นออกไป นี้ว่ามือเรางอเข้ามา นี่เราก้าว นี่เราหดขา นี่กำลังล้างหน้า นี่กำลังแปรงฟัง นี่กำลังซักผ้า นี่กำลังหุงข้าวต้มแกง สิ่งเหล่านี้มันก็เป็นบัญญัติจะรู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่นะเป็นบัญญัติยังเป็นเรื่องสัตว์สิ่งของอยู่ แต่ถึงปรมัตถ์จริงๆ นั้นคือความรู้สึกที่มันตึง มันหย่อน มันไหว มันเย็น มันร้อน มันอ่อน มันแข็ง คือ ปรมัตถ์

นอกจากความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึงแล้ว ก็มีตัวความรู้คือจิต คือความนึกคิด ความรู้สึกในจิต เป็นลักษณะของความพอใจไม่พอใจ สงบไม่สงบในชีวิตประจำวันของเรานี่มันจะมีจิตคิดนึกอยู่ตลอดเวลา แล้วก็มีความรู้สึกในจิตอยู่เสมอ เดี๋ยวรัก เดี๋ยวชัง เดี๋ยวดีใจ เดี๋ยวเสียใจ เดี๋ยวสงบ เดี๋ยวไม่สงบ นี่คือปรมัตถธรรมของจริง ฉะนั้นการเจริญสติที่จะดูของจริงก็ดูไปซิ ดูใจที่กำลังคิด ใจที่กำลังชอบใจ ดูใจที่เสียใจ ดูใจที่สงบ ดูใจที่เฉยๆ ดูใจที่มันรัก มันชัง มันแปรสภาพไปอย่างไร นี่คือของจริงปรมัตถธรรม เมื่อพิจารณาอย่างนี้ก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดดับจิตคิดแล้วก็ดับไป รักชอบ ไม่ชอบ สงบไม่สงบ มันแปรเปลี่ยนเกิดดับบังคับไม่ได้ มันก็เป็นวิปัสสนาขึ้นมาได้ เป็นปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงขึ้นมาได้

ฉะนั้นการปฏิบัติธรรมนี้ จึงเป็นเรื่องที่ไม่จำกัดเฉพาะว่าต้องทำเหมือนกัน จะต้องมานั่งดูลมหายใจอย่างเดียวเหมือนกันหรือจะต้องมาดูอิริยาบถใหญ่ทั้งสี่เหมือนกันคงไม่ได้ คนแต่ละคนนั้น มีพื้นฐานอัธยาศัยที่ประพฤติปฏิบัติสะสมบารมีมาไม่เหมือนกัน บางคนต้องทำสมาธิก่อนจึงจะมาเป็นวิปัสสนา บางคนทำวิปัสสนาได้เลย บางคนต้องดูลมหายใจ บางคนดูลมหายใจไม่ได้อึดอัด บางคนสามารถจะดูจิตได้ทันที ดูเวทนาในจิต ดูความรู้สึกในกายไปได้ทันที กำหนดปรมัตถ์ได้ทันที แต่บางคนก็ไม่ได้ ฟังไม่รู้เรื่อง ต้องเอาสมมุติไปก่อน เออถ้าให้บริกรรมพุทโธ พุทโธ ทำได้ มันก็เป็นเรื่อง ที่จำเป็นแต่ละคนนะที่จะต้องเป็นขั้นเป็นตอนไป

คนที่เป็นแล้วก็ไม่ไปว่าคนที่เพิ่งฝึกหัดว่าทำไมยังต้องทำอย่างนั้นอยู่ ทำไมไม่อย่างนี้ เหมือนกับคนที่ว่ายน้ำเป็น ไปว่าคนที่กำลังไปเอามะพร้าวเป็นเครื่องช่วยว่ายอยู่หรือว่าเอาเครื่องชูชีพมาสวม แล้วเราก็ไปว่าเขาว่า ทำไมไปสวมทำไม ทำให้ว่ายไปช้า ทำให้ไม่เป็น คนที่ว่ายเป็นก็รู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องไปใช้เครื่องชูชีพ แต่ความเป็นจริงแล้วคนฝึกหัดมันก็จำเป็นต้องใช้ บางคนมันต้องใช้ แต่บางคนฝึกหัดโดยไม่ต้องใช้ ว่ายไปเลย มันก็ไม่เหมือนกัน การปฏิบัติธรรมนี้ก็เหมือนกัน บางคนต้องอาศัยบัญญัติ บัญญัติว่าหยาบ บัญญัติที่ละเอียดแล้วแต่ บางคนก็สามารถที่จะให้ตรงปรมัตถ์ได้เลยมันก็ดี กำหนดแล้วไปจดสภาวะรูปนามได้ทันทีก็ดี

ยิ่งละเอียดไปกว่านั้นก็คือ แม้ว่าเราจะกำหนดตรงรูปตรงนามแล้วก็ตาม การที่จะสามารถรู้รูปรู้นามได้ละเอียดลึกซึ้ง มันก็จะต้องมีภาวะการปฏิบัตินั้น ให้เหมาะเจาะให้ถูกต้องด้วย ก็หมายถึงว่าการจะวางจิต วางใจ วางสตินั้น มันจะต้องให้พอดี จะต้องให้มันเป็นปกติแทนที่เราจะไปนั่งเพ่ง หรือว่าจะพยายามจ้องจับเอาให้ได้ มันก็ถือว่าไม่ปกติไม่ผ่อน ไม่เป็นการปฏิบัติอย่างปกติ การปฏิบัติอย่างปกตินั้น จะต้องไม่เพ่งเล็งไม่บังคับ ไม่คิดอยากได้อะไร ไม่เอาอะไร มันมีความรู้ความละอยู่ในตัว อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะต้องตรวจสอบการปฏิบัติของตัวเองว่า ปฏิบัติอยู่ในภาวะที่ปกติไหม ยังปฏิบัติเพื่ออยากจะได้อะไรหรือเปล่า ยังเพ่งเล็งที่จะเอาให้ได้จะบังคับจะจับจะจ้องหรือเปล่าในความรู้สึกแห่งการปฏิบัติ เราต้องตรวจสอบในขณะนั้นเมื่อรู้เท่านั้นก็วางจิตให้มันว่าง ปล่อยให้มันเป็นปกติ แล้วมันจะทำให้สามารถรู้ลึกซึ้งละเอียดขึ้น

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการปฏิบัติธรรมก็เป็นเรื่องแล้วแต่บุคคล บุคคลนั้น คนบางคนนั้นจะให้มาปล่อยจะให้มาวางอย่างนี้เลยมันไม่ได้ ก็ต้องไล่มาตั้งแต่เป็นขั้นเป็นตอนมาก่อน จากการไปเพ่งเล็งจากการบังคับจิตให้อยู่กับลมหายใจ จากการใช้คำบริกรรม จากที่ดูความหมายค่อยๆ ปรับมาเป็นปกติขึ้นเรื่อยๆ ละเอียดจนกระทั่งไม่บังคับอะไรเลย บางคนก็ต้องมีขั้นตอนมาอย่างนั้นๆ แต่ถ้าหากว่าใครทำได้เลย ทำไปสู่ภาวะแห่งการละการวางการปล่อย มีแต่รู้ละอยู่ในตัว ในขณะทุกขณะได้มันก็ดี ทำได้อย่างนี้ได้เลยมันก็ดี แต่บางคนนั้นทำไม่ได้ กำหนดปรมัตถธรรมให้ตรงก็ทำไม่ได้ ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องไปเอาสมมุติบัญญัติมาเป็นอารมณ์ไว้ก่อนจะว่ากันไม่ได้

เพราะยังเป็นเรื่องที่ต้องเป็นขั้นตอนบางคน แต่บางคนมันข้ามขั้นได้ เหมือนเรียนหนังสือ บางคนเรียนได้เก่งไม่ต้องมาเรียนทีละชั้นๆ มันเรียนข้ามชั้นได้บางคน แต่บางคนต้องเรียนไปทีละชั้นๆๆ ฉะนั้นการประพฤติปฏิบัตินั้น เราก็ต้องมีจิตใจมองให้กว้างขวางถ้าเราเป็นคนมีจิตใจมองกว้างขวางเข้าใจอย่างนี้แล้ว มันก็จะไม่ติเตียนใคร การปฏิบัติธรรมขอให้เขาปฏิบัติไปเถอะ มันก็ถูกในระดับนั้น ถูกในระดับของการทำสมาธิ ถูกในระดับของการฝึกหัดในระดับนั้นๆ แล้วก็ปรับมาให้ถูกต้อง ก็ขอให้ทุกท่านได้พยายามฟังแล้วก็พิจารณา ฝึกฝนอบรมตามที่เห็นสมควร

"ไม่มีไฟใด เสมอ ด้วยราคะ
ไม่มีโทษใด เสมอ ด้วยโทสะ
ไม่มีทุกข์ใด เสมอ ด้วยเบญจขันธ์
ไม่มีสุขใด เสมอ ด้วยความสงบ
ไม่มีไฟใด เสมอ ราคะ
ไม่มีเคราะห์ใด เสมอ โทสะ
ไม่มีข่ายดักสัตว์ใด เสมอ โมหะ
ไม่มีแม่น้ำใด เสมอ ตัณหา"


สาธุ
 

_________________
ดีชั่วรู้หมด......แต่ใจคนเรามันอดไม่ได้
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ทศพล
บัวเริ่มพ้นน้ำ
บัวเริ่มพ้นน้ำ


เข้าร่วม: 10 ก.พ. 2008
ตอบ: 153
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 05 ส.ค. 2008, 5:47 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ
 

_________________
"ธรรมทาน คือ ทานอันสูงสุด"
"ผู้ที่ฝึกจิต ย่อมนำความสุขมาให้"

http://www.wimutti.net
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
ฌาณ
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 23 ก.ค. 2008
ตอบ: 1145
ที่อยู่ (จังหวัด): หิมพานต์

ตอบตอบเมื่อ: 20 ก.ย. 2008, 3:25 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ สาธุ
 

_________________
ผมจะพยายามให้ได้ดาวครบ 10 ดวงครับ
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง