Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 เหตุใดผมจึงศึกษาธรรมะ...แนะแนวทางเจริญวิปัสสนา อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 03 เม.ย.2006, 11:47 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

เหตุใดผมจึงศึกษาธรรมะ
แนะแนวทางเจริญวิปัสสนา
โดย โกวิท อมาตยกุล



ไม่รู้เวลาตาย

เมื่อนึกถึงไพบูลย์ ทำให้คิดนำคำบรรยายของอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มาเขียนเตือนใจไว้ ดังนี้ การตายพรากจากทุกสิ่งจากชาตินี้ไปหมดสิ้น ไม่มีอะไรเหลือเป็นบุคคลนี้อีกต่อไป แม้แต่ความทรงจำ ชาตินี้เกิดมาแล้ว จำได้ไหมว่าชาติก่อนเป็นใคร อยู่ที่ไหน ทำอะไร หมดความเป็นบุคคลในชาติก่อนสิ้นเชิง ฉันใด แม้ชาตินี้จะได้สร้างบุญ ทำกรรมใดมาแล้ว จะมีมานะในชาติ ตระกูล ยศศักดิ์ใดๆ ก็ตาม ก็จะต้องหมดสิ้น ไม่มีเยื่อใยในชาตินี้ ภพนี้เหลืออยู่อีกเลย ฉันนั้น

การตายพรากจากทุกสิ่งโดยสิ้นเชิง ทั้งความคิด ความจำ ความยึดถือใดๆ ทั้งสิ้นที่เคยเกาะเกี่ยวผูกไว้ตั้งแต่เกิดจนเดี๋ยวนี้นั้น ก็จะผูกพันยึดถือว่าเป็นตัวเราอีกต่อไปไม่ได้

การพบกันครั้งสุดท้ายก่อนตายจากไปนั้น ไม่มีเครื่องหมาย ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลยที่จะแสดงให้รู้ว่า เมื่อเห็นกันแล้วจะไม่ได้เห็นกันอีก เมื่อเห็นตอนเช้าก็อาจไม่ได้เห็นตอนเย็น เห็นตอนเย็นก็อาจจะไม่ได้เห็นตอนเช้า ทุกคนเห็นความจริงว่า ไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงหรือต่อรองความตายได้ จะขอเวลาต่อแม้เล็กน้อยก็ไม่ได้ ฉะนั้น การกล่าวถึงชีวิตของแต่ละคน ก็ไม่พ้นจากการพิจารณาสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นแต่ละบุคคล ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเลย

เมื่อพูดกันถึงผู้ตาย ก็ควรจะได้ระลึกถึงสภาพจิตในขณะนั้นว่าแยบคายหรือยัง แทนที่จะโศกเศร้าเสียใจอาลัยอาวรณ์ ก็ควรจะเป็นความเบิกบานในพระธรรม ที่ได้เข้าใจความจริงอันเป็นสัจจธรรม ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงถึงธรรมดาของการเกิดซึ่งต้องมีการตาย เมื่อเกิดแล้วที่จะไม่ตายนั้นไม่มี และการตายนั้นก็ไม่สามารถจะรู้ล่วงหน้าได้เลย เมื่อเข้าใจความจริง ก็รู้ว่าความจริงเป็นสัจจธรรม

ชีวิตเราเป็นกระแสจิตที่เกิดดับสืบต่อกันทีละดวงเรื่อยไป ตั้งแต่เกิดจนตาย จากชาติหนึ่งไปสู่อีกชาติหนึ่ง กิเลสทุกชนิดเกิดขึ้นเพราะได้สะสมมาแล้วในอดีต เมื่อปัญญายังไม่เจริญถึงขั้นดับกิเลส กิเลสก็เกิดอีกๆ ต่อไปในอนาคต ศึกษาธรรมเพื่อละกิเลส

ผู้ทำอกุศลก็ต้องรับผลของอกุศลอยู่แล้ว
ไม่ก้าวก่ายในอกุศลของผู้อื่น
กิเลสของตัวเองทำให้คิดหมุนวนอยู่
อย่าชอบไปเดาความคิดของผู้อื่น
กิเลสของเราทำให้เราไม่มีความสุข
จงคิดเป็นกุศล
การฟังพระธรรมเสมอๆ
ความเข้าใจพระธรรม ย่อมสะสมไปในภพหน้า

หากข้อความที่เก็บมาบางตอน พอเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดกุศล ขออุทิศส่วนกุศลให้ไพบูลย์ ภคนันท์ มีจิตโสมนัสยินดี อนุโมทนาในส่วนกุศลนี้ด้วย เทอญ


ณพรัตน์
(คุณหญิงณพรัตน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา)


"หยาดน้ำค้างบนยอดหญ้า เหมือนอาทิตย์ขึ้นมา ย่อมแห้งหายไปได้เร็ว ไม่ตั้งอยู่นาน แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหมาย เปรียบเหมือนหยาดน้ำค้าง ฉันนั้น เหมือนกัน นิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตายไม่มี ฯ"


พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตนิบาต (๗๑)

"แม่น้ำไหลลงจากภูเขา ไหลไปไกล กระแสเชี่ยว พัดไปซึ่งสิ่งที่พอจะพัดไปได้ ไม่มีระยะเวลาหรือชั่วครู่ที่มันจะหยุด แต่ที่แท้ แม่น้ำนั้นมีแต่ไหลเรื่อยไปถ่ายเดียว แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย เปรียบเหมือนแม่น้ำที่ไหลลงจากภูเขาฉันนั้นเหมือนกัน ฯ"


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต (๗๑)

เป็นสุขในการนอบน้อมสักการะสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการปฏิบัติธรรม เว้นการทำชั่ว

เราอาจคิดว่า เราเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ เพราะจิตกระวนกระวายไม่สงบ บุคคลในครั้งพุทธกาลก็เป็นทุกข์เพราะกิเลสครอบงำ แต่ก็สามารถรู?แจ้งอริยสัจจธรรมได้ จึงทำให้เราไม่ท้อถอย

เราอาจคิดว่าการเจริญสติปัฏฐาน มิใช่สำหรับเราและคิดว่าเราห่างไกลจากการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่อย่างไรก็ตาม เราควรระลึกว่า พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงอริยสัจจธรรม เพื่อประโยชน์สุขของเรา พระธรรมนั่นเองที่เปลี่ยนชีวิตของเรา....


ย่อจากพระพุทธศาสนาในชีวิตประจำวัน
โดย นีนา วันกอร์คอม
แปลโดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์


ชื่อเรื่องฟังดูแปลกดี คงไม่มีใครเขียนแบบผม แต่ขอเรียนให้ทราบก่อนว่าทำไมผมจึงเขียนเรื่องนี้ขึ้น คิดดูแล้วมี ๒ ประการ

ประการแรกเพราะย้ายบ้านใหม่ พบสมุดบันทึกประจำวันของเก่าเมื่อ ๒ ปีมาแล้ว เปิดดูพบเรื่องการบรรยายการเจริญสติปัฏฐานของอาจารย์ที่ผมฟังแล้วจดไว้ พลิกๆ ดูเห็นว่ามีสาระ และรู้สึกดีใจที่จดไว้มากมาย ที่บันทึกไว้ก็พออ่านรู้เรื่อง

อีกประการหนึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องประหลาด เพราะไม่เคยนึกว่าจะศึกษาธรรมะก็ต้องมาศึกษา ฉะนั้น ถ้าเขียนขึ้นไว้ให้ลูกหลานอ่านเล่นคงจะดี แต่กว่าจะเขียนได้ก็ยากเย็น ไม่ทราบจะเริ่มอย่างไรดี ขึ้นหัวข้อแล้วก็ทิ้งไว้หลายวัน ใจหนึ่งบอกว่าอย่าเขียนเลยอายเขา อีกใจหนึ่งบอกว่าอายทำไม เขียนเข้าเถอะ เราเขียนตามที่เราเข้าใจ คงจะไม่มีใครว่าอะไร เหตุผลข้อหลังจึงเป็นแรงใจให้เขียนขึ้น กว่าจะลงโรงได้ก็เสียเวลาไปนาน โปรดติดตามต่อไปเถอะครับ มีอะไรๆ ตลกหลายเรื่อง

ท่านผู้อ่านคงอยากทราบ เพราะเหตุใดผมจึงศึกษาธรรมะ คำตอบก็คือ "ผมถูกบังคับ" แต่ใครบังคับ บังคับอย่างไร เมื่อไรนั้น ผมจะเล่าต่อไปข้างหน้า ผมขอเรียนให้ทราบเบื้องหลังของผมสักเล็กน้อยก่อน

ตั้งแต่เด็กมาแล้ว ผมไม่เคยสนใจเรื่องธรรมะธรรมโมกับเขาเลย ตอนเป็นนักเรียนอยู่เทพศิรินทร์ ต้องสวดมนต์ทุกเช้า แต่ก็ไม่ค่อยทราบความหมายเท่าใดนัก สวดไปยังงั้นเอง ตอนเข้าโบสถ์ฟังเทศน์อาทิตย์ละครั้ง ก็ไม่สนใจ นั่งขัดสมาธิคุยกัน กินขนมกัน เป็นที่สำราญใจ เกือบจะถูกสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ท่านหวดก็หลายครั้ง แต่ก็รอดมาได้

อายุประมาณ ๑๔ - ๑๕ ติดตามญาติผู้ใหญ่ไปอยุธยา พบพระเจ้าอาวาสมาคุยกับเจ้าของบ้านจน ๔ ทุ่ม แล้วนอนค้างที่บ้านนั้นเลย ตั้งแต่นั้นมาเลยเกลียดพระเพราะปฏิบัติตนไม่เหมาะสม เลยพาลเกลียดไปหมด ซึ่งไม่ถูกต้อง

จบ ม. ๘ ก็พยายามเข้า รร. นายร้อย แต่ก็เข้าไม่ได้เพราะตาบอดสี พยายามอยู่ ๒ ปี ไม่สำเร็จ อายุครบ ๒๐ ปี ถูกเกณฑ์ทหาร แม่กลัวจะลำบาก มีคนบอกให้ไปรดน้ำมนต์จะได้ไม่เป็นก็ไม่เชื่อ เพราะไม่น่าเชื่อ แต่ขัดแม่ไม่ได้เลยต้องไป หลายคนรอดมาเพราะหลวงพ่อองค์นี้

แต่แล้วผมก็ไม่โดนทหารจริงๆ เพราะจับใบดำได้ จำได้ว่าวันนั้นมีคนมาดูกันมาก เขาทำกันที่ รร. เทศบาลตรงข้ามอำเภอดุสิต ปีนั้นเขาต้องการทหารมากแต่ยังขาดอยู่อีก ๑ คน คนแข็งแรงมีมากมาย เลยทำใบดำ ๑๑ ใบ แดง ๑ ใบ ผมถูกคัดเลือกไปยืนเข้าแถว รอจับใบดำใบแดง ผมยืนเป็นคนที่ ๑๑ เป็นที่น่าประหลาดว่า ลำดับ ๑ - ๑๐ จับได้ใบดำทั้งหมด คนเฮฮากันยกใหญ่ เหลืออีก ๒ คน ไม่ทราบใครจะโดน แล้วเขาก็เรียกชื่อผมให้ไปจับใบดำใบแดง ใจผมเต้นแรง นึกถึงหลวงพ่อที่รดน้ำมนต์ให้ นึกถึงสาริกาที่อมอยู่ในปาก นึกถึงขี้ผึ้งที่สีปาก นึกถึงด้าย ๗ สีที่อยู่ในกระเป๋า นึกถึงสิ่งศักดิสิทธิ์ทั้งหลายให้มาช่วยลูกด้วย ลูกยังไม่อยากเป็นพลทหารเลย ผมก้าวหน้าขาสั่นๆ ไปที่โต๊ะไหกระเทียมซึ่งในนั้นมีใบดำใบแดงอยู่ ๒ ใบ นึกว่าล้วงลงไปพบอันไหนก็จับอันนั้น แต่เผอิญสลาก ๒ ใบนอนเคียงคู่กันอยู่ เหงื่อผมแตกพลั่ก มือสั่นไม่แน่ใจจะหยิบอันไหนดี

ขณะนั้น รู้สึกว่าที่หูได้ยินเสียงเหมือนมีคนมากระซิบขวาสิ ขวาสิ ผมก็หยิบอันขวาขึ้นมา พอมือพ้นไห ผมดีใจมากเพราะได้ใบดำ คนดูเฮกันใหญ่ จนบันไดที่ขึ้นชั้นสองพังลงมา มีคนบาดเจ็บ แต่ผมไม่สนใจ ผมหันดูคนที่ ๑๒ ที่ยืนข้างผม เขาไม่ต้องจับ หน้าเขาซีดเพราะโดนใบแดง นี่เป็นเรื่องประหลาดหาคำตอบไม่ได้ ผมเริ่มนับถือหลวงพ่อมากขึ้น นึกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์คงมีอยู่ในโลกนี้ ที่แปลกยิ่งกว่านั้นคือเพื่อนผม เขานึกว่าผมโดนแน่ เลยสมัครเป็นทหารก่อนหน้านั้น แต่พอรู้ว่าผมไม่โดน เขายืนนิ่งอยู่นาน ผมต้องปลอบใจและขอบใจเขา นี่คือเพื่อนตาย ตกลงผมต้องไปเยี่ยมเขาที่กรมทหารบ่อยๆ ตลอดเวลา ๒ ปี หลังจากที่ผมแต่งงานแล้ว ผมชอบดูรูปพระพุทธรูปต่างๆ โดยเฉพาะรูปที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์ซึ่งล้นเกล้า ร. ๖ พระราชทานให้พ่อในวันวิสาขบูชา ปี ๒๔๖๐ เป็นรูปเงาดำมีแสงจันทร์สอดลอดใบโพธิ์ ทำให้เห็นพระพักตร์ด้านข้างล่างๆ ด้านหลังไกลออกไปเข้าใจว่าจะเป็นแม่น้ำเนรัญชลา

พระพุทธองค์ทรงนั่งสงบนิ่ง เป็นรูปที่งามมาก เวลาจิตใจวุ่นวาย ผมต้องมาดูรูปนี้ ดูแล้วรู้สึกใจสบายดี ต่อมาเมื่อผมมีลูกชาย ๓ คน อายุราว ๙ - ๗ - ๕ ขวบ ผมให้ลูกๆ ลองวาดภาพนี้ดู ทุกคนวาดได้ แต่ความงามของรูปลดหลั่นไป ผมใส่กรอบไว้ทุกรูป ในใจนึกว่าเมื่อไรจะได้มีโอกาสไปกราบนมัสการสักที หลังจากนั้นไม่กี่ปี ผมมีโอกาสได้ไปจริงๆ โดยทุนรัฐบาลอินเดียไปสัมมนาและดูงาน ๔ เดือน ทุนนี้ไม่มีใครอยากไป เพราะเห็นว่าอินเดียอดอยากแห้งแล้ง เขาก็โละมาให้ผม ผมคิดว่าเคยไปที่ดีๆ มาแล้ว ลองไปดูก็ไม่เห็นลำบากอะไร ขากลับเขาจัดให้แวะนมัสการที่พระพุทธคยา ซึ่งผมปิติอย่างยิ่ง นี่ก็เป็นเรื่องประหลาดอีก


(มีต่อ 1)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 01 ส.ค. 2006, 3:35 pm, ทั้งหมด 3 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 03 เม.ย.2006, 11:53 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

การทำบุญตักบาตร ผมทำเป็นครั้งคราว กุศลกรรมที่ผมทำมีอะไรแปลกๆ บังเกิดแก่ผมในทางที่ดีๆ หลายประการ การทำบุญซื้อโลงศพผมไม่ค่อยชอบ เพราะไม่รื่นหู ผมเกลียดการทำบุญแบบนี้ แต่มีคนชวนไปทำ ผมขัดไม่ได้ ทำแล้วไม่ทันข้ามวันผมมีลาภมาก เป็นเรื่องไม่น่าเชื่อแต่ก็ต้องเชื่อ เพราะเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นแก่ผมแล้ว ท่านผู้ใดสนใจผมยินดีเล่าให้ฟังเป็นส่วนตัว ผมขออภัยที่คุยนอกเรื่องเสียนาน แต่อยากให้เห็นว่า สิ่งใดที่เป็นกุศล เมื่อทำแล้วเกิดผลตอบแทนอย่างประหลาด ทั้งๆ ที่ไม่เคยหวังผลตอบแทนเลย

ต่อไปนี้ขอเข้าเรื่องที่ว่า ผมถูกบังคับให้ศึกษาธรรมนั้นเป็นอย่างไร ผมจำได้ว่าประมาณ ๒ ปีที่แล้ว พี่หญิงจะไปศรีลังกาได้ขอให้ผมอัดเทปคำบรรยายของอาจารย์ในตอนเช้าให้ด้วย จะไปประมาณ ๑๐ กว่าวัน ผมไม่ทราบว่าอาจารย์เป็นใคร บรรยายเรื่องอะไร ถามดูทราบว่าเป็นเรื่องธรรมะ ซึ่งผมไม่ค่อยจะสนใจนัก ถามตัวเองว่า "ทำไมต้องเป็นเรา" คนอื่นมีตั้งแยะทำไมไม่ใช้ ในใจนั้นไม่ค่อยพอใจเท่าใด แต่ไม่กล้าปฏิเสธต้องจำใจทำ การตื่นนอนแต่เช้าแล้วอัดเทปตลอดเวลาสิบกว่าวันดูจะไม่ค่อยสนุกนัก ผมปลุกนาฬิกาไว้ก่อน ๖ โมงทุกวัน แล้วเปิดวิทยุเตรียมอัดเทปแล้วนอนต่อ พอได้เวลาก็กดเครื่องให้เทปเดิน แล้วก็หันหลังให้วิทยุหลับต่อ

แต่ก็ได้ยินเสียงคำบรรยายเป็นเสียงผู้หญิง สำเนียงนั้นฟังดูไพเราะ ทำให้หลับไม่ลง พลิกหันกลับมาฟัง ฟังไปก็เกิดความรู้ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อน ได้ยินคำว่าเจริญสติปัฏฐานหลายครั้งแต่ไม่ทราบความหมาย ฟังอย่างนั้นทุกวันเพราะเสียงไพเราะน่าฟังจริงๆ การพูดมีลีลาดี มีจังหวะจะโคน เหตุผลดี มีมรรยาทในการพูด ในการตอบคำถาม มีศิลปพูดจูงใจให้คนฟัง หนักแน่น อดทนไม่มีโทสะง่ายๆ ลำพังเสียงของอาจารย์ก็จูงใจผมมากอยู่แล้ว ทำให้อยากเห็นหน้าอาจารย์ คงจะสวยเหมือนคำพูด ทำให้อยากรู้จักอาจารย์เหลือเกิน เมื่อพี่หญิงกลับมาผมก็นำเทปไปให้ ถามผมว่า เป็นไง ฟังรู้เรื่องไหม ผมก็ตอบว่าเสียงเพราะน่าฟังมาก ทำอย่างไรผมจะได้มีโอกาสรู้จักอาจารย์บ้าง พี่หญิงหัวเราะ แล้วบอกว่า ฉันอยากให้เธอฟัง ไม่ใช่ต้องการใช้หรอก เธอชอบฟังฉันก็พอใจแล้ว ผมจึงทราบว่า ผมหลงกลพี่หญิงเสียแล้ว ถูกบังคับแบบนิ่มนวล โดยที่ตัวเองไม่รู้ตัว ต่อมาผมก็เปิดวิทยุฟังเองเรื่อยๆ โดยไม่มีใครบังคับ การศึกษาธรรมะของผมก็เกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้

ผมฟังๆ ไป จึงรู้สึกตัวว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นธรรมะที่สูงมากสำหรับผม เสมือนว่าจบประถม แล้วเรียนต่อปริญญาเลย แต่เมื่อก้าวเข้ามาแล้วจะถอยหลังกลับก็ดูกระไรอยู่ ประกอบกับมีความเข้าใจเกิดขึ้นลางๆ และคิดว่า การเจริญสติปัฏฐานนี้เป็นสิ่งท้าทายให้ชวนศึกษาเพราะเป็นเรื่องของชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ไม่เคยทราบมาก่อนเลย จึงทำให้มีกำลังใจศึกษาเรื่อยๆ มา เป็นเวลาประมาณ ๒ ปีกว่า

ก่อนเขียนต่อไป ผมขอเรียนให้ทราบกิจวัตรประจำวันของผมสักหน่อย หลังจากที่ได้ศึกษาการเจริญสติปัฏฐาน ผมมักตื่นประมาณ ๕.๓๐ น. เกือบทุกวัน เพราะอาจารย์จะมาเยี่ยมที่บ้านทุกวันตอน ๖.๐๐ น. ต้องเตรียมตัวต้อนรับอาจารย์โดยเปิดเครื่องทิ้งไว้ รอฟังตอนเขาโฆษณา เป็นลมหน้ามืดตาลายยังไงล่ะ ต้องใช้ยาหอม... นี่แสดงว่าใกล้เข้ามาแล้ว ไม่ช้าอาจารย์ก็บรรยาย การฟังบรรยายตอนเช้าๆ ๖ โมง บางครั้งก็เผลอไผลหลับไปบ้าง พอรู้สึกตัวฟังอะไรพอเข้าใจได้ก็จดไว้ เพราะเตรียมกระดาษดินสอไว้บนหัวนอน บางทีก็จดไม่ทัน บางทีก็ไม่รู้จะจดอย่างไร อยากจะจดอย่างที่อาจารย์พูดแต่ก็ทำไม่ได้ เลยต้องจดย่อๆ หรือหัวข้อเอาไว้ แล้วมาขยายความตอนหลัง

ฟังจบแล้วก็ออกกำลังบนเตียงที่เขาเรียกว่าบิดขี้เกียจ ทำให้เส้นหายตึง หายใจได้ดีขึ้น ก่อนลุกจากเตียงก็นึกปลอบใจว่าโลกนี้น่าอยู่ อะไรมันจะเกิด ก็ต้องเกิด แล้วก็ค่อยคิดแก้อุปสรรคเอา ทำให้มีชีวิตชีวาขึ้น นึกว่าอย่าไปมองหาความลำบากยุ่งยาก ถ้ามองหาต้องพบแน่ ตามปกติผมเป็นคนร่าเริง ชอบยั่วแหย่คนอื่นเป็นประจำ บางทีไปเล่นกับคนที่เขายังไม่พร้อมที่จะเล่นกับเรา เขาก็เล่นงานให้ก็มี เพราะฉะนั้นต้องพยายามสำรวมอินทรีย์

ผมล้างหน้าทำความสะอาดฟันแล้ว ต้องทาหน้าด้วยโอดิโคโลญ ทำให้สดชื่นขึ้นอย่างประหลาด (ตอนนี้พี่หงวนคงว่าโลภะ) ดื่มกาแฟแล้วจึงลงมือจดคำบรรยาย หรือขยายความตามที่จดไว้ลงในสมุดไดอารี่ ซึ่งผมจดรายการประจำวันไว้ทุกวันว่า เมื่อวานี้ไปทำอะไรมาบ้าง ตลอดจนทานอะไร มีการซื้ออะไรบ้าง เป็นการช่วยความจำได้ดีอย่างหนึ่ง

เคยปรารภกับตัวเองหลายครั้งว่า อยากพบอาจารย์สักครั้ง ในที่สุดผมก็ได้พบจริงๆ ที่บ้านสาธร พี่หญิงทำบุญสงกรานต์ นั่นเป็นเวลาเกือบ ๒ ปีมาแล้ว ผมดีใจตื่นเต้นที่จะได้พบอาจารย์ หลังจากที่พี่หญิงและพี่หงวนได้แนะนำแล้ว ก็ได้คุยกันกับอาจารย์สองสามคำ อาจารย์เป็นคนงามไม่มีที่ติ จะมีที่ตินิดเดียว ตรงที่ถามพี่หงวนว่า ผมเป็นลูกพี่หญิงหรือ เห็นหน้าเหมือนกัน หลังจากที่รับประทานกลางวันแล้ว อาจารย์ได้อบรมพวกเราเกี่ยวกับเรื่องการเจริญสติปัฏฐานเล็กน้อย ทำให้รู้อะไรเพิ่มขึ้น เช่น สภาพร้อนซึ่งเป็นรูปนั้น ไม่ใช่สภาพที่รู้ว่าร้อนซึ่งเป็นนาม ตอนนั้นยังไม่ทราบว่า รูป - นามเป็นอย่างไร ก็ท่องจำไว้ พี่หญิงได้ส่งหนังสือของอาจารย์เกี่ยวกับการเจริญสติ ฯ มาให้อ่าน เล่มหนาพอดู เป็นคำถาม คำตอบ ก็มีประโยชน์ดี สำหรับปูพื้นในการฟังคำบรรยายต่อไป

มาถึงตอนนี้ ก็เป็นแก่นหรือสาระสำคัญของเรื่องเจริญสติปัฏฐาน ตามที่ผมได้ฟังและจดไว้จากคำบรรยายของอาจารย์ แต่ขอเรียนให้ทราบก่อนว่า ที่ผมจดไว้นั้นอาจจะฟังมาผิดแล้วก็จดไว้ หรือฟังมาถูก แต่มาจดผิดหรือเข้าใจผิดก็ได้ ฉะนั้นที่ผมจะเขียนต่อไปเป็นข้อเขียนของผมจริง ๆ หากมีอะไรผิดพลาด ผมขอรับผิดแต่ผู้เดียว และหวังในความกรุณาของท่านผู้รู้ได้แนะนำด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง

จะเริ่มเรื่องอย่างไรดี คิดไม่ออกทิ้งไว้ ๒ - ๓ วัน จึงนึกได้ว่าควรเริ่มด้วยคำนิยาม หรือคำจำกัดความของคำว่า "เจริญสติปัฏฐาน" หมายความว่าอย่างไร

ตั้งแต่เริ่มฟังมา ได้ยินอาจารย์พูดบ่อยๆ ว่า การเจริญสติปัฏฐาน คือ การมีสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงในปัจจุบัน ฉะนั้นต้องพยายามเข้าใจแต่ละอรรถหรือถ้อยคำที่อาจารย์พูดให้ดี ถ้าแยกแยะถ้อยคำออกมาก็อาจทำให้เข้าใจชัดขึ้น ซึ่งมีหลายข้อหลายตอน เช่น การเจริญสติ ฯ คือมีสติระลึกรู้ ระลึกรู้อะไร ? ระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรม ระลึกรู้อย่างไร ฯ ระลึกรู้ตามที่ปรากฏ ปรากฏอย่างไร ? ปรากฏตามความเป็นจริง ปรากฏเมื่อไร ? ปรากฏในปัจจุบัน ไม่ใช่ในอดีตหรืออนาคต มุ่งเฉพาะที่ปรากฏในปัจจุบันเท่านั้น แค่นี้ก็หนักเอาการอยู่ ผมฟังแรกๆ ก็ท่องเป็นนกแก้วนกขุนทองไม่ทราบความหมาย แต่ฟังๆ ไปแล้ว แยกออกมาเป็นตอน ๆ ก็คงจะเป็นการเริ่มต้นที่ดี

อาจารย์เคยเน้นบ่อยครั้งว่า ก่อนที่จะเจริญสตินั้น ต้องเข้าใจให้ทราบแน่เสียก่อนว่าเป็นอย่างไร ถ้าเข้าใจไม่ถูกแล้วจะไปกันใหญ่ คือ ถ้าเจริญเหตุไม่ถูกผลก็ไม่เกิด ผมขอเปรียบว่า เราจะไปเชียงใหม่ ถ้าไปขึ้นรถที่ขนส่งสายใต้ ก็ไปได้ แต่เมื่อไปถึงใต้แล้ว ต้องย้อนกลับขึ้นมาทางเหนืออีก เสียเวลามาก ถ้าไปขึ้นที่ตลาดหมอชิต ก็คงจะถึงเร็วกว่าเพราะเป็นทางตรงและเป็นทางที่ถูกต้อง

ก็ขอพูดเรื่องนี้เสียก่อน อาจารย์ว่า สติปัฏฐาน นั้น เป็นวิปัสสนาภาวนา (คืออบรมปัญญาให้รู้ชัดในสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง) ไม่ใช่ สมาธิ ซึ่งเป็นการทำให้จิตตั้งมั่นในอารมณ์เดียว ให้พ้นจากการเห็น การได้ยิน ฯลฯ ชั่วคราวและก็ไม่ใช่ สมถภาวนา ซึ่งเป็นการเจริญความสงบให้จิตสงบระงับจากโลภะ โทสะ โมหะชั่วคราว นี่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องเสียก่อน

เหตุใดที่ทำให้ผู้ปฏิบัติไม่ได้เจริญสติ ฯ นั้นก็เพราะเข้าใจผิดในเรื่องการเจริญสติ คิดว่าการเจริญสติฯ เป็นเรื่องของการปฏิบัติทำนองเดียวกับ สมาธิ หรือ สมถภาวนา ฉะนั้นต้องถามตัวเองว่า ความเข้าใจในเรื่องการเจริญสติฯ ถูกต้องหรือยังถ้ายังก็เจริญสติในชีวิตประจำวันไม่ได้ เมื่อเข้าใจถูกต้องแล้ว ก็เตรียมตัวเริ่มเข้าใจในคำจำกัดความ หรือนิยามคำศัพท์ที่กล่าวมาแล้วต่อไป

ผมขอย้อนกลับไปอีกนิด ผู้ที่ยังไม่เคยทำสมาธิหรือสมถภาวนามาก่อน ถ้าจะเจริญสติก็เหมือนผ้าขาว นำไปย้อมสีอะไรก็จะได้สีที่ประสงค์ แต่ถ้าเคยทำสมาธิ หรือเคยปฏิบัติโดยไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน ก็คงจะลำบากหน่อย เพราะต้องล้างของเก่าออก

การเจริญฯ ต้องไม่มีอะไรผิดปกติ ไม่ต้องทำตามกฏเกณฑ์ ไม่ต้องเข้าไปในที่สงบหรือทำกิริยาอะไรให้ผิดแผกออกไป ทำทุกอย่างเป็นปกติในชีวิตประจำวัน สีฟันก็เจริญสติ ฯ ได้ ซักผ้าก็เจริญสติได้ ทำอะไรอยู่ก็เจริญสติ ฯ ได้ทั้งนั้น พยามเข้าใจให้ถูกต้องแล้วการเจริญสติ ฯ ก็คงจะง่ายเข้า

ต่อไปนี้ผมจะพยายามทำเป็นข้อๆ เพื่อสะดวกแก่การอ่าน


ทำไมต้องเจริญสติปัฏฐาน

การเจริญสติ ฯ คือ มีสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงในปัจจุบัน การเจริญสติ ฯ เป็นหนทางเดียวที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทไม่เกิดขึ้นอีก แม้ว่าจะให้ทานสักเท่าใด และทำให้จิตสงบสักเท่าใด แต่กิเลสทั้งหลายก็ไม่หมดสิ้นไปได้เลย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงหนทางปฏิบัติในอันที่จะดับกิเลสนั้นว่า ได้แก่การเจริญสติ ฯ ซึ่งเป็นวิปัสสนาภาวนา เป็นการอบรมเจริญสติ ฯ ให้ ปัญญา รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ เพื่อให้เกิดการละคลายที่เคยยึดถือสิ่งทั้งหลายว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมมีเหตุปัจจัย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ถ้าอยากจะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ก็ต้องเจริญสติ ฯ และมีทางเป็นพระอริยบุคคลได้

การเจริญสติฯ มี ๔ อย่าง เรียกว่า มหาสติปัฏฐาน คือ
กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน



(มีต่อ 2)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 01 ส.ค. 2006, 3:32 pm, ทั้งหมด 2 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 03 เม.ย.2006, 11:57 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ มีสติระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ มีสติระลึกรู้สภาพความรู้สึกดีใจ เสียใจ สุข ทุกข์

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ มีสติระลึกรู้ สภาพลักษณะของจิต จิตดี จิตไม่ดี จิตมีมากมายหลายประเภท

ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ มีสติระลึกรู้สภาพธรรมทั้งหลายที่เป็นของจริง

(ทั้ง 4 อย่างนี้ อย่าเลือกรู้ทีละอย่าง ต้องแล้วแต่สภาพธรรมใดจะเกิด)

เขียนมาถึงตอนนี้ รู้สึกว่าชักจะเขียนลำบากเข้าไปทุกที เสมือนกำลังเดินเข้าป่าลึกต้องระวังทุกฝีก้าว


สติจะเกิดเมื่อใด จะบังคับให้สติเกิดได้หรือไม่

สติจะเกิดเมื่อใด ไม่มีใครรู้ นอกจากผู้เจริญสติเอง สติเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ อย่างไรก็ดี การที่จะให้สติเกิดนั้น อาจมีหนทางอยู่บ้าง แต่เป็นไปโดยทางอ้อม ไม่ใช่บังคับให้สติเกิด ถ้าอยากให้สติเกิด ต้องพยายามหัดพิจารณาสังเกตุ น้อมไปที่จะให้สติเกิด พยายามเจริญกุศลทุกประเภท ฟังธรรมะ ใส่บาตร ศึกษาธรรม แล้วจะเริ่มรู้สึกตัววันละเล็กละน้อย นอกจากนี้ต้องพยายามระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏบ่อยๆเนืองๆ ไม่ว่าจะปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ น้อมไปที่จะระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏเหล่านี้ ซึ่งมื่อย่อลงแล้วก็มี 2 อย่าง คือ รูป และ นาม

ความจริงแรกๆ นั้น สติเกิดขึ้นนิดเดียว คือระลึกจริงแต่ยังไม่รู้ ปัญญายังไม่สามารถรู้แจ้งได้ ต้องปล่อยเป็นอย่างนี้ไปก่อน แล้วจะค่อยๆรู้เอง การพิจารณาสังเกต คือ กิจของปัญญาในขั้นต้น ที่เกิดขึ้นพร้อมกับมีสติระลึกรู้ เมื่อสติเกิดแล้ว ปัญญาก็เริ่มศึกษา สังเกตพิจารณาสภาพลักษณะของสิ่งปรากฏทีละเล็กละน้อย และค่อยๆ เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามที่สติเกิดนั้นเป็นจุดเริ่มของปัญญา


จะรู้ได้อย่างไรว่าสติเกิด

เมื่อสติเกิดหรือรู้สึกตัว จะต้องมีสภาพธรรมปรากฏ คือ รูป - นาม ถ้าไม่มี รูป - นามปรากฏ ก็ไม่ใช่การเจริญสติ ฯ การเจริญสติ ฯ นั้น เป็นการเจริญปัญญา ผิดกับสมาธิหรือ สมถภาวนา ซึ่งเป็นการเจริญความสงบชั่วคราว ไม่ใช่ปัญญาที่สามารถดับกิเลสได้ มีสติอย่างเดียวไม่พอต้องอาศัยปัญญา ซึ่งมีหลายขั้น กิเลสก็จะหมดสิ้นไปได้เพราะเจริญปัญญาให้คมกล้าขึ้น จนสามารถละคลายการยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นตัวตนได้


ขณะที่หลงลืมสติ กับมีสติต่างกันอย่างไร

ขณะที่หลงลืมสติ คือ ขณะที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติในชีวิตประจำวันนั่นเอง คือขณะที่ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เห็น ที่ได้ยิน เป็นต้น ส่วนขณะที่มีสตินั้น เป็นขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด คือ ทางตา ทางจมูก หรือทางหู ทางลิ้น ทางกาย ใจ โดยไม่บังคับเจาะจง เช่น ขณะที่กลิ่นปรากฏ ก็ระลึกรู้สภาพของกลิ่นที่ปรากฏทางจมูก รู้ว่ากลิ่นเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่มีตัวตน สัตว์ บุคคล ในขณะที่รู้กลิ่นเลย


(มีต่อ 3)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 01 ส.ค. 2006, 3:31 pm, ทั้งหมด 2 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 03 เม.ย.2006, 12:00 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เมื่อเจริญสติ ฯ แล้วจะละคลายเองหรือต้องทำอย่างไร

เมื่อเจริญสติ ฯ รู้แล้วก็จะละ เมื่อรู้ก็ละความไม่รู้ ถ้ายังไม่รู้ก็ละไม่ได้ เมื่อปัญญาเกิดปัญญาก็ละคลายเอง ไม่ต้องทำอะไร และไม่มีใครรู้นอกจากตัวเองว่ารู้ลักษณะของนามและรูปเพิ่มขึ้นอย่างไร และเมื่อรู้แล้วก็จะละคลายความเห็นผิด ที่ยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล


วิธีตรวจสอบว่ามีปัญญาที่จะละคลายมากน้อยแค่ไหน

ประการแรก ต้องรู้ว่ามีสติกับหลงลืมสติต่างกันอย่างไร ประการที่สอง กำลังเห็นที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเช้า สาย บ่าย เย็น สิ่งที่เห็นนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพรู้เท่านั้น ถ้ารู้ชัดได้อย่างนี้ก็เป็นปัญญาที่ละคลายตัวตนได้

ข้อบันทึกที่จดไว้จากคำบรรยายของอาจารย์ยังมีอีกมาก แต่ผมพลิกๆดูที่เขียนมาแล้วรู้สึกว่าไม่น้อย นํ้าคงจะท่วมทุ่งไปมากแล้ว ขืนเขียนอีกก็จะผิดมากไปอีก ผมจึงขอยุติเพียงนี้ และขออภัยหากการเขียนสับสนวกวนทำให้อ่านไม่เข้าใจ ผมเริ่มเขียนก่อนปีใหม่ 2529 ประมาณ 1 เดือน และมาเสร็จเอาหลังปีใหม่แล้ว ประมาณ 1 เดือนครึ่ง นับว่าใช้เวลามากทีเดียว เพราะการเขียนเรื่องธรรมะผมไม่เคยเขียนมาก่อน เป็นเรื่องยุ่งยากใจพอดู ธรรมดาผมมักจะเขียนตอนเช้า ระหว่าง 7.00 - 9.00 น. เกือบทุกวัน วันละเล็กละน้อย วันไหนไม่มีอารมณ์ก็ไม่เขียน เพราะเขียนไม่ออก เมื่อเขียนมาได้ครึ่งหนึ่งเกิดท้อแท้ใจอยากเลิกเขียน แต่ใจหนึ่งบอกให้เขียนให้จบ เลยต้องทำตาม

ผมต้องขอขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง ที่ได้อาศัยคำบรรยายของอาจารย์ทำให้เกิดความเข้าใจขึ้นมาบ้าง อาจารย์เป็นอัจฉริยะบุคคล นอกจากนำคำสั่งสอนของพระพุทธองค์มาแสดงอย่างน่าสนใจแล้ว อาจารย์ยังมีเทคนิค มีศิลป ที่ทำให้ผู้ฟังเข้าใจ มีลีลาการพูดที่ดีมาก พูดไม่ติดขัด พูดไม่ซํ้า ตอบปัญหาของท่านผู้ฟังได้อย่างแจ่มกระจ่างชัดเจนทุกขั้นตอน ผู้ใดมาทดลองภูมิก็พ่ายไปทุกครั้ง

แต่ก่อนนี้ ผมตื่นนอนขึ้นมาก็ปลอบใจตนเองว่า โลกนี้น่าอยู่ มีปัญหายุ่งยากอะไรก็คิดแก้ไขไป แต่เมื่อมาศึกษาเรื่องการเจริญสติฯแล้ว ก็นำการเจริญสติ ฯ มาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน นับว่าได้ประโยชน์มาก แต่ติดขัดอยู่ที่สติไม่ค่อยเกิดบ่อยนัก ก็จะต้องพิจารณา ศึกษา สังเกต น้อมไปที่จะให้สติเกิดระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏบ่อยขึ้นอีก ที่พอเข้าใจบ้างก็เป็นมหากุศลแก่ผมยิ่งแล้ว

การเจริญสติ ฯ เป็นเรื่องยากมาก แต่ถ้าผู้ใดวิริยะความเพียร อดทน พยายามศึกษา ฟังคำบรรยายของอาจารย์ พิจารณาสังเกตสำเหนียกไปเรื่อยๆ ก็อาจเข้าใจและปฏิบัติได้ การเจริญสติ ฯ ทำที่ไหน เมื่อใดก็ได้ ไม่ต้องทำอะไรให้ผิดปกติ

ในชีวิตประจำวันที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังกระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็ง อยู่เป็นปกตินั้น จงพิจารณาเสียเนืองๆ ว่าขณะนี้เป็นลักษณะของนาม - รูปเท่านั้น ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล

ถ้าเกิดโกรธไม่พอใจหรือเพลิดเพลินยินดีขึ้นมา ก็ช่วยไม่ได้เพราะเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย มีเหมือนกันทุกผู้ทุกคน ฉะนั้นจงพิจารณาเสียเนืองๆ เพื่อที่จะละคลายการยึดถือสภาพความโกรธ หรือความเพลิดเพลินนั้นว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ถ้ายังละไม่ได้ ก็เพราะยังมีความยินดี พอใจแฝงอยู่ในลักษณะของนาม - รูปที่ปรากฏขณะนั้น

หากข้อเขียนนี้มีประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านแม้แต่น้อยนิดแล้ว ผมขอมอบความดีนั้นให้กับพี่หญิงที่เคารพรัก ผู้ซึ่งให้ธรรมะแก่ผมเป็นคนแรก และอาจารย์ผู้บรรยายธรรมะอันประเสริฐ และอีกท่านหนึ่งที่จะเว้นเสียมิได้ คือ พี่หงวน ผู้ให้อรรถาธิบายเรื่องธรรมะทุกครั้งที่พบกัน ผมขอขอบพระคุณไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย


หมายเหตุ อาจารย์ หมายถึง อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
พี่หญิง หมายถึง คุณหญิงณพรัตน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
พี่หงวน หมายถึง คุณสงวน สุจริตกุล



.................. เอวัง ..................
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 01 ส.ค. 2006, 3:29 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
ทะเล
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 03 เม.ย.2006, 12:08 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ยิ้ม ยิ้ม ยิ้ม
 
rteyrt
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 03 เม.ย.2006, 12:09 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ สาธุ สาธุ
 
_jiab
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 03 เม.ย.2006, 12:09 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ
 
pongsakorn
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 03 เม.ย.2006, 12:10 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ผมเป็นคนที่เริ่มศึกษาธรรมอย่างแปลกประหลาด

ตั้งแต่จำความได้จนถึงอายุ 18 ปีไม่เคยอ่านหนังสือธรรมเลย

แต่มีเหตุการณ์ช่วงหนึ่งที่ทำให้ผมเกิดความรู้สึกเบื่อขึ้นมาอย่างรุนแรงมาก และใจก็แว๊บมากว่า การบวชนั้นจะทำให้ผมหายเบื่อและเซ็งได้

หลังจากที่บวชเณรมาแล้วผมก็กลายเป็นคนที่ชอมศึกษาธรรมเป็นอย่างมาก เวลาที่ได้อ่านหนังสือธรรมแล้ว รู้สึกว่าสนุกเหมือนอ่านหนังสือนวนิยายเลย นั่นเลยเป็นเหตุผลที่ผมเริ่มศึกษาธรรม เพราะมันสนุก สาธุ
 
_ธนศิริ
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 03 เม.ย.2006, 12:10 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เพราะคิดว่าธรรมะเป็นสิ่งที่ดีมีคุณค่าต่อคนในสังคมและตัวดิฉันเอง ธรรมะสอนให้ฉันทำดีละเว้นชั่ว ฉันอยากทำบุญมาก ๆ เพื่อที่จะทำให้ฉันได้ในสิ่งที่ดีกลับมา และเพื่อช่วยหนุนนำชีวิตฉันให้ดีขึ้นกว่าตอนนี้ ฉันคิดว่าฉันจะทำแต่สิ่งที่ดีตลอดไป ช่วยเหลือคนอื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ ยิ้ม ยิ้ม ยิ้ม
 
จันทร์งาม
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 03 เม.ย.2006, 2:22 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

... ปกติแล้วก็จะไปทำบุญที่วัดสม่ำเสมอค่ะ สำหรับสิ่งที่ทำให้สนใจศึกษาธรรมะนั้นเป็นเพราะว่าตอนนั้นพบกับวิกฤติในชีวิต จำได้ว่าชีวิตตอนนั้นสับสนวุ่นวายมาก พยายามหาทางออกจนพบว่าธรรมะช่วยให้สภาพจิตใจดีขึ้น เห็นหนังสือธรรมะแล้วมีความกระตือรือร้นที่จะอยากอ่าน อ่านแล้วสุขใจ ทำให้เราทราบ รับรู้อะไรหลายๆอย่างเกี่ยวกับชีวิต เราสามารถนำหลักธรรมไปใช้ในการดำรงชีวิตค่ะ...
 
อี๊ด
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 18 พ.ค.2006, 5:51 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ สาธุ
โมทนาคราบบบ สาธุ สาธุ
 
kanyarat
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 12 ม.ค. 2007, 8:49 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อ่านแล้วปิติกำลังศึกษาธรรมมะอยู่ค่ะช่วยแนะนำคลื่นและเวลาออกอากาศจักขอบพระคุณอย่างสูง สาธุ สาธุ สาธุ
 
In__See
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 04 มี.ค. 2007
ตอบ: 11

ตอบตอบเมื่อ: 13 พ.ค.2007, 12:06 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ขอบคุณค่ะ... สาธุ ขออนุญาตนำไปฝากเพื่อนน่ะค่ะ ขำ
 

_________________
ที่สุดของ ทาน คือ ศรัทธา
ที่สุดของ ศีล คือ เจตนา
ที่สุดของ ฌาน คือ อัปนา
ที่สุดของ สมาธิ คือ อัปนา
ที่สุดของ ปัญญา คือ พระไตรลักษณ์
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
Jirattikan
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2007
ตอบ: 13

ตอบตอบเมื่อ: 22 มี.ค.2008, 6:33 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง