Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 พระมหาโมคคัลลานเถระ (เอตทัคคะ) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่หัวข้อนี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไข หรือตอบได้
ผู้ตั้ง ข้อความ
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 05 ก.ย. 2006, 7:52 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

พระมหาโมคคัลลานเถระ
เอตทัคคะในทางผู้มีฤทธิ์มาก


พระมหาโมคคัลลานเถระ มีชื่อเดิมว่า โกลิตะ เป็นบุตรพราหมณ์ท้ายบ้านผู้หนึ่ง ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากกรุงราชคฤห์ โกลิตมาณพเป็นเพื่อนสนิทกับอุปติสสมาณพหรือพระสารีบุตร ทั้งสองคนอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เป็นบุตรแห่งสกุลผู้มั่งคั่งเหมือนกัน เบื่อชีวิตการครองเรือนที่วุ่นวาย จึงพาบริวารไปขอบวชอยู่ในสำนักสัญชัยปริพพาชก เรียนลัทธิของสัญชัยได้หมด จนได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยสอนหมู่ศิษย์ต่อไป ทั้งสองมาณพยังไม่พอใจในคำสอนของสัญชัยปริพาชก เพราะไม่ใช่แนวทางที่ตนต้องการ จึงตกลงกันที่จะแสวงหาอาจารย์ที่สามารถชี้แนะแนวทางที่ดีกว่านี้ หากใครได้โมกขธรรม ก็ขอให้บอกแก่อีกฝ่ายหนึ่ง


๐ ได้ดวงตาเห็นธรรมและอุปสมบทเป็นภิกษุ

เมื่ออุปติสสมาณพได้ไปพบพระอัสสชิในกรุงราชคฤห์ ได้ฟัง "พระคาถาเย ธัมมา" จากพระอัสสชิ ทำให้ได้ดวงตาเห็นธรรม คือ บรรลุโสดาบัน อุปติสสมาณพได้นำคำสอนของพระอัสสชิไปแจ้งให้โกลิตมาณพทราบ โกลิตมาณพก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเช่นดียวกัน ทั้งสองมาณพได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่วัดเวฬุวนาราม และได้ทูลขออุปสมบทต่อพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ได้ทรงอนุญาตให้อุปสมบทเป็นภิกษุ โกลิตมาณพซึ่งอุปสมบทเป็นพระมหาโมคคัลลานะ บำเพ็ญความเพียงได้ 7 วัน ก็สำเร็จพระอรหันต์ ส่วนอุปติสสมาณพซึ่งอุปสมบทเป็นพระสารีบุตรอุปสมบทได้กึ่งเดือน จึงสำเร็จพระอรหันต์


๐ ทรงแสดงอุบายแก้ง่วงแก่พระโมคคัลลานะ

จำเดิมแต่ท่านได้อุปสมบทแล้วในพระธรรมวินัยนี้ได้เจ็ดวัน ไปทำความเพียรอยู่ที่บ้านกัลลวาลมุตคาม แขวงมคธ ขณะบำเพ็ญสมณธรรมอยู่นั้น ท่านเกิดง่วงเหงาหาวนอนอย่างหนัก จนไม่สามารถบำเพ็ญเพียรได้ พระพุทธเจ้าทรงทราบอยู่ตลอดเวลา วันที่ ๘ จึงเสด็จมาสอนท่านให้หาทางแก้ง่วงด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้

โมคคัลลานะ เมื่อท่านมีสัญญาอย่างไร ความง่วงนั้นย่อมครอบงำได้ ท่านควรทำในใจถึงสัญญานั้นให้มาก ข้อนี้จักเป็นเหตุให้ท่านละความง่วงนั้นได้

ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นควรตรึกตรองพิจารณาถึงธรรม อันตนได้ฟังแล้วและได้เรียนแล้วอย่างไร ด้วยน้ำใจของตน ข้อนี้จักเป็นเหตุให้ท่านละความง่วงนั้นได้

ถ้ายังละไม่ได้ ท่านควรสาธยายธรรมอันตนได้ฟังและได้เรียนแล้วอย่างไร โดยพิสดาร ข้อนี้จักเป็นเหตุให้ท่านละความง่วงนั้นได้

ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นท่านควรยอนช่องหูทั้งสองข้าง และลูบตัวด้วยฝ่ามือ ข้อนี้จักเป็นเหตุให้ท่านละความง่วงนั้นได้

ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นท่านควรลุกขึ้นยืน แล้วลูบนัยน์ตาด้วยน้ำ เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหวนดูดาวนักษัตรฤกษ์ ข้อนี้จักเป็นเหตุให้ท่านละความง่วงนั้นได้

ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นท่านควรทำในใจถึงอาโลกสัญญา คือความสำคัญในแสงสว่าง ตั้งความสำคัญว่ากลางวันไว้ในจิต ให้เหมือนกันทั้งกลางวันกลางคืน มีใจเปิดเผยฉะนี้ ไม่มีอะไรหุ้มห่อ ทำจิตอันมีแสงสว่างให้เกิด ข้อนี้จักเป็นเหตุให้ท่านลำความง่วงนั้นได้

ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นท่านควรอธิษฐานจงกรม กำหนดหมายเดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ มีจิตไม่คิดไปภายนอก ข้อนี้จักเป็นเหตุให้ท่านละความง่วงนั้นได้

ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นท่านควรสำเร็จสีหไสยา คือ นอนตะแคงข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ทำความหมายในอันจะลุกขึ้นไว้ในใจ พอท่านตื่นแล้วรีบลุกขึ้น ด้วยความตั้งใจว่า เราจักไม่ประกอบสุขในการนอน เราจักไม่ประกอบสุขในการเอนข้าง (เอนหลัง) เราจักไม่ประกอบสุขในการเคลิ้มหลับ อนึ่ง ท่านควรสำเหนียกใจอย่างนี้ว่า เราจักไม่ชูงวง (คือถือตัว) เข้าไปสู่สกุล ดังนี้ เพราะว่า ถ้าภิกษุชูงวงเข้าไปสุ่สกุล ถ้ากิจการในสกุลนั้นมีอยู่ อันเป็นเหตุที่มนุษย์เขาจักไม่นึกถึงภิกษุผู้มาแล้ว ภิกษุก็คงคิดว่า เดี๋ยวนี้ใครหนอยุยงให้เราแตกร้าวจากสกุลนี้ เดี๋ยวนี้ดูมนุษย์พวกนี้มีอาการอิดหนาระอาใจในเรา เพราะไม่ได้อะไร เธอก็จักมีความเก้อ ครั้นเก้อ ก็จักเกิดความคิดฟุ้งซ่าน ครั้นคิดฟุ้งซ่านแล้ว ก็จักเกิดความไม่สำรวม ครั้นไม่สำรวมแล้ว จิตก็จักห่างจากสมาธิ

อนึ่ง ท่านสำเหนียกใจอย่างนี้ว่า เราจักไม่พูดคำอันเป็นเหตุเถียงกัน ถือผิดต่อกันดังนี้ เพราะว่า เมื่อคำอันเป็นเหตุเถียงกัน ถือผิดต่อกันมีขึ้น ก็จำจักต้องหวังความพูดมาก เมื่อความพูดมากมีขึ้น ก็จักเกิดความคิดฟุ้งซ่าน ครั้นคิดฟุ้งซ่านแล้ว ก็จักเกิดความไม่สำรวม ครั้นไม่สำรวมแล้ว จิตก็จักห่างจากสมาธิ อนึ่ง โมคคัลลานะ เราสรรเสริญความคลุกคลีด้วยประการทั้งปวงหามิได้ แต่มิใช่สรรเสริญความคลุกคลีด้วยประการทั้งปวงเลย คือ เราไม่สรรเสริญความคลุกคลีด้วยหมู่ชน ทั้งคฤหัสถ์ ทั้งบรรพชิต ก็แต่ว่า เสนาสนะที่นอนที่นั่งอันใดเงียบเสียงอื้ออึง ปราศจากลมแต่คนเดินเข้าออก ควรเป็นที่ประกอบกิจของผู้ต้องการที่สงัด ควรเป็นที่หลีกออกเร้นอยู่ตามสมณวิสัย เราสรรเสริญความคลุกคลีเสนาสนะเห็นปานนั้น

เมื่อพระศาสดาตรัสสอนอย่างนี้แล้ว พระโมคคัลลานะกราบทูลถามว่า โดยย่อด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ภิกษุชื่อว่าน้อมไปแล้วในธรรมที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จล่วงส่วน เกษมจากโยคธรรมล่วงส่วน เป็นพรหมจารีบุคคลล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วนประเสริฐสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

พระศาสดาตรัสตอบว่า โมคคัลลานะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า บรรดาธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น ครั้นได้สดับดังนี้แล้ว เธอทราบธรรมทั้งปวงชัดด้วยปัญญาอันยิ่ง ครั้นทราบธรรมทั้งปวงชัดด้วยปัญญาอันยิ่งดังนั้นแล้ว ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงดังนั้นแล้ว เธอได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี เธอพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง พิจารณาเห็นด้วยปัญญาเป็นเครื่องหน่าย พิจารณาเห็นด้วยปัญญาเป็นเครื่องประดับ พิจารณาเห็นด้วยปัญญาเป็นเครื่องสละคืน ในเวทนาทั้งหลายนั้น เมื่อพิจารณาเห็นดังนั้น ย่อมไม่ยึดมั่นสิ่งอะไรๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น เมื่อไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมกับกิเลสให้สงบจำเพาะตน และทราบชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่จำต้องทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่ต้องทำอย่างนี้อีกมิได้มี

โดยย่อด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่า น้อมไปแล้วในธรรมที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จล่วงส่วน เกษมจากโยคธรรมล่วงส่วน เป็นพรหมจารีบุคคลล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วนประเสริฐสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พระโมคคัลลานะปฏิบัติตามพระพุทธโอวาทที่พระศาสดาทรงสั่งสอน ก็ได้สำเร็จพระอรหัตในวันนั้น

Image

๐ ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย
เลิศกว่าผู้อื่นในทางฤทธิ์


ในวันที่พระสารีบุตรบรรลุพระอรหันต์ ตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนมาฆะ ในคืนวันนั้น พระพุทธเจ้าทรงประทานพระโอวาทปาติโมกข์แก่จาตุรงคสันนิบาต ให้กับพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป (รวมพระสารีบุตร ผู้เพิ่งบรรลุเป็นพระอรหันต์ ในวันนั้นด้วย) จากนั้น พระพุทธเจ้าทรงประกาศแต่งตั้งพระสารีบุตรเป็นอัครสาวกเบื้องขวาเลิศกว่าผู้อื่นในทางปัญญา และพระมหาโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายเลิศกว่าผู้อื่นในทางฤทธิ์

พระศาสดาทรงยกย่องพระโมคคัลลานะเป็นคู่กับพระสารีบุตร ในอันอุปการะผู้เข้ามาอุปสมบทใหม่ในพระธรรมวินัย ดังกล่าวแล้วในหนหลัง อีกประการหนึ่ง ทรงยกย่องพระโมคคัลลานะว่าเป็นเยี่ยมแห่งภิกษุสาวกผู้มีฤทธิ์นี้ ฤทธิ์นี้หมายเอาคุณสมบัติเป็นเครื่องสำเร็จแห่งความปรารถนา สำเร็จด้วยความอธิษฐาน คือตั้งมั่นแห่งจิต ผลที่สำเร็จด้วยอำนาจฤทธิ์นั้น ท่านแสดงล้วนแต่พ้นวิสัยของมนุษย์ ดังมีแจ้งอยู่ในอิทธิวิธี อันนับเป็นอภิญญาอย่างหนึ่ง จัดว่าเป็นอสาธารณคุณ ไม่มีแก่พระสาวกทั่วไปก็ได้

การที่พระศาสดาทรงยกย่องพระโมคคัลลานะว่า เป็นเอตทัคคะในฝ่ายสาวกผู้มีฤทธิ์นั้น ประมวลเข้ากับการที่ทรงยกย่องพระสารีบุตรว่า เป็นเอตทัคคะในฝ่ายภิกษุผู้มีปัญญาจะพึงให้ได้สันนิษฐานว่า พระโมคคัลลานะ เป็นกำลังใหญ่ของพระศาสดาในอันยังการที่ทรงพระพุทธดำริไว้ให้สำเร็จ พระศาสดาได้สาวกผู้มีปัญญา เป็นผู้ช่วยดำริการ และได้สาวกผู้สามารถยังภารธุระที่ดำริแล้วนั้นให้สำเร็จ จักสมพระมนัสสักปานไร แม้โดยนัยนี้ พระโมคคัลลานะ จึงได้รับยกย่องว่าเป็นพระอัครสาวกคู่กับพระสารีบุตรเป็นฝ่ายซ้าย โดยหมายความว่า เป็นคณาจารย์สอนพระศาสนาในฝ่ายอุดรทิศดังกล่าวแล้ว หรือโดยหมายความว่าเป็นที่ ๒ รองแต่พระสารีบุตรลงมา

พระธรรมเทศนาของพระโมคคัลลานะอยู่ข้างหายาก ที่เป็นโอวาทให้แก่ภิกษุสงฆ์ มีแต่อนุมานสูตร ว่าด้วยธรรมอันทำตนให้เป็นผู้ว่ายากหรือว่าง่าย พระธรรมสังคาหกาจารย์ สังคีติไว้ในมัชฌิมนิกาย

พระโมคคัลลานะนั้น เห็นจะเข้าใจในการนวกรรมด้วย พระศาสดาจึงได้โปรดให้เป็นนวกัมมาธิฏฐายี คือ ผู้ดูนวกรรมแห่งบุรพาราม ที่กรุงสาวัตถี อันนางวิสาขาสร้าง


๐ เป็นผู้มีอภิญญา

พระมหาโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกผู้มีอภิญญา ซึ่งแปลว่าความรู้ยิ่งยวด อภิญญามี ๖ ประการ ดังนี้

๑. อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้ เช่น คนเดียวนิรมิตเป็นหลายคนได้ ล่องหนผ่านไปในวัตถุกั้นขวางอยู่ เช่น ฝา กำแพงได้ ดำดินคือไปใต้ดินได้ เดินบนน้ำ ดุจเดินบนพื้นดินได้ เหาะไปในอากาศได้

๒. ทิพพโสต มีหูทิพย์ ล่วงหูของสามัญมนุษย์ ฟังเสียง ๒ อย่างได้ คือทั้งเสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ได้ ทั้งเสียงไกล ทั้งเสียงใกล้

๓. เจโตปริยญาณ กำหนดใจคนอื่นได้ รู้ได้ซึ่งใจของบุคคลอื่นอันบริสุทธิ์หรือเศร้าหมองอย่างไร

๔. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้ตั้งแต่ชาติหนึ่งสองชาติ จนตั้งหลายๆ กัป ว่าในชาติที่เท่านั้น ได้มีชื่อโคตร ผิวพรรณ มีอาหารอย่างนั้นๆ ได้เสวยสุข ได้เสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีอายุเท่านั้นๆ จุติจากชาตินั้นแล้ว เกิดในชาติที่เท่านั้น ได้เป็นอย่างนั้นๆ แล้วมาเกิดในชาตินี้

๕. ทิพพจักขุ มีตาทิพย์ มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า จุตูปปาตญาณ มีจักษุทิพย์ บริสุทธิ์ล่วงจักษุสามัญมนุษย์ เห็นเหล่าสัตว์กำลังจุติก็มี กำลังเกิดก็มี เลวก็มี ดีก็มี ผิวพรรณงามก็มี ผิวพรรณไม่งามก็มี ได้ดีก็มี ตกยากก็มี รู้ชัดว่าสัตว์เป็นไปตามกรรม

๖. อาสวักขยญาณ ทำให้อาสวะสิ้นไป รู้ชัดตามความจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกข์สมุทัย นี้ทุกข์นิโรธ คามินีปฏิปทาเหล่านี้ อาสวะนี้เหตุเกิดอาสวะนี้ ความดับอาสวะนี้ ทางไปถึงความดับอาสวะ เมื่อรู้เห็นอย่างนี้จิตพ้นแล้วจากกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ รู้ชัดว่าชาตินี้พ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กรณียะทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอันจะต้องทำเช่นนี้ไม่มีอีก

อภิญญา ๕ ข้อแรก เป็นโลกิยอภิญญา ข้อ ๖ สุดท้ายเป็นโลกุตตรอภิญญา ผู้ที่จะบรรลุอรหันต์ จะต้องได้โลกุตตรอภิญญา คือ อาสวักขยญาณ ได้อภิญญา ๕ ข้อแรก ยังไม่บรรลุพระอรหันต์


๐ ทิพพจักขุของพระมหาโมคคัลลานะ

เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดเวฬุวันในกรุงราชคฤห์ พระมหาโมคคัลลานะกับพระลักขณะ ได้ขึ้นไปจำพรรษาอยู่บนเขาคิชกูฎ เวลาเช้าพระเถระทั้งสองได้ถือบาตรเดินลงมาจากยอดเขาเพื่อไปบิณฑบาตในเมือง ในระหว่างที่กำลังเดินลงมานั้น พระลักขณะได้เห็นพระมหาโมคคัลลานะยิ้ม จึงได้ถามถึงสาเหตุ พระมหาโมคคัลลานะตอบว่า ให้ถามเรื่องนี้ในที่เฉพาะพระพักตร์พระพุทธเจ้า กลับจากบิณฑบาตแล้ว พระเถระทั้งสองได้พร้อมกันเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระลักขณะได้ถามถึงสาเหตุที่พระมหาโมคคัลลานะยิ้ม พระมหาโมคคัลลานะได้ตอบว่าสาเหตุที่ยิ้ม เพราะได้เห็นโครงร่างกระดูกร่างหนึ่งลอยไปมาอยู่ในอากาศ ถูกแร้งกาบินตามจิกกิน เนื้อที่ยึดซี่โครงเอาไว้ ยังผลให้ร่างกระดูกนั้นส่งเสียงร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวด

พระพุทธเจ้าตรัสรับรองว่า โครงกระดูกที่พระมหาโมคคัลลานะเห็นนั้นมีอยู่จริง และพระองค์เองก็ได้เห็นมาแล้วในวันตรัสรู้ แต่ที่ยังไม่ตรัสบอกใครก็เพราะยังไม่มีพยาน แต่บัดนี้พระองค์ได้พระมหาโมคคัลลานะเป็นพยานแล้วจึงตรัส เนื่องจากทรงเห็นว่า หากไม่มีพยานรับรอง เมื่อตรัสไปแล้ว สำหรับผู้ที่เชื่อไม่มีปัญหา แต่สำหรับผุ้ที่ไม่เชื่อจะเป็นผลร้ายอย่างใหญ่หลวงแก่เขา

จากนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสบุพกรรมของโครงร่างกระดูกนั้นว่า เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ได้มีอาชีพเป็นนายโคฆาตก์ฆ่าวัวชำแหละเนื้อขายเลี้ยงชีวิตอยู่ในกรุงราชคฤห์นี้เอง ด้วยวิบาก (ผล) ของกรรมนั้น ตายแล้วได้ไปเกิดอยู่ในนรกหลายแสนปี พ้นจากนรกแล้วด้วยวิบากกรรมที่ยังเหลืออยู่จึงได้มาเกิดเป็นเปรตมีแต่โครงร่างกระดูก

พระพุทธเจ้าสนทนาธรรมกับพระมหาโมคคัลลานะทางทิพพจักขุ และทิพพโสต

ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ส่วนพระมหาโมคคัลลานะกับพระสารีบุตรได้พักอยู่ที่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์

วันหนึ่ง พระสารีบุตรได้ออกจากที่เร้นในตอนเย็นและเข้าไปหาพระมหาโมคคัลลานะ พระสาระบุตรเห็นพระมหาโมคคัลลานะผ่องใสจึงพูดว่า โมคคัลลานะผู้อาวุโส อินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนัก สีหน้าของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง วันนี้ท่านโมคคัลลานะอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่อันละเอียดหรือ พระมหาโมคคัลลานะตอบว่า ท่านผู้อาวุโส วันนี้ผมอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างหยาบ แต่ว่าผมได้สนทนาธรรม

พระสารีบุตรถามว่า ท่านโมคคัลลานะได้สนทนาธรรมกับใคร พระมหาโมคคัลลานะตอบว่า กับพระผู้มีพระภาคเจ้า พระสารีบุตรถามว่า ผู้มีอายุ ขณะนี้พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในวัดเชตวันในเมืองสาวัตถีซึ่งอยู่ไกลจากที่นี่ ท่านโมคคัลลานะเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยฤทธิ์หรือ หรือว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาหาท่านโมคคัลลานะด้วยฤทธิ์ พระมหาโมคคัลลานะตอบว่า ท่านผู้อาวุโส ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง คือ ผมมิได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยฤทธิ์ ทั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าก็มิได้เสด็จมาหาผมด้วยฤทธิ์ แต่ว่า ผมกับพระพุทธเจ้าสนทนาธรรมกันทางทิพพจักขุและทิพพโสต เพราะว่า ผมมีทิพพจักขุ และทิพโสตบริสุทธิ์เท่ากับพระพุทธเจ้าและพระพุทธเจ้าก็มีทิพพจักขุและทิพโสตบริสุทธิ์เท่ากับผม

Image

๐ ปราบนันโทปนันทะนาคราช

ในคาถาพาหุง บทที่ ๗ มีข้อความเป็นภาษาบาลี และคำแปลเป็นไทยมีใจความว่า "พระจอมมุนี ทรงโปรดให้พระมหาโมคคัลลานะเถระพุทธชิโนรส (นิรมิตกายเป็นนาคราช) ไปทรมานพระยานาคราชชื่อนันโทปนันทะ ผู้มีความรู้ผิด มีฤทธิ์มาก ด้วยวิธีอันให้อุปเท่ห์แห่งฤทธิ์แก่พระเถระ ขอชัยมงคลทั้งหลาย จงเกิดมีแก่ท่านด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น"

พระพุทธชัยมงคลในบทนี้ กล่าวถึงพระผู้มีพระภาคทรงมีชัยแก่นันโทปนันทะนาคราช ซึ่งมีเรื่องดังนี้

ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี เช้าวันหนึ่งก่อนที่พระผู้มีพระภาคจะเสด็จไปรับภัตตาหารที่บ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เวลาใกล้รุ่ง พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูสัตว์โลก ก็ทรงเห็นนันโทปนันทะนาคราชปรากฏอยู่ในข่ายพระญาณ ในตอนเช้าพระผู้มีพระภาคตรัสสั่งพระอานนท์ให้บอกสงฆ์ทราบว่า พระองค์จะเสด็จไปเทวโลก และได้ทรงพาพระสาวกผู้มีอภิญญาเหาะไปยังเทวโลก

นันโทปนันทะนาคราชเห็นพระผู้มีพระภาคและพระสาวกเหาะมาก็โกรธ โดยถือว่าตนเป็นผู้มีอานุภาพมาก ถ้าสมณะเหล่านั้นเหาะข้ามไป ฝุ่นละอองที่ติดเท้าก็จะล่วงหล่นมาบนหัว จะต้องหาทางไม่ให้เหาะข้ามไป จึงเอาหางรัดเขาพระสุเมรุไว้ ๗ รอบ และบันดาลให้เป็นหมอกควันมืดมัวไปหมด

มีสาวกหลายองค์ทูลอาสาที่จะปราบพระยานาค แต่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาต ครั้นเมื่อพระมหาโมคคัลลานะทูลอาสา พระผู้มีพระภาคจึงทรงอนุญาต พร้อมทั้งทรงให้พรให้มีชัยชนะแก่พระยานาค พระมหาโมคคัลลานะได้เนรมิตกายเป็นพระยานาคที่มีร่างกายยาวใหญ่กว่าพระยานันโทปนันทะถึง ๒ เท่า แล้วรัดกายพระยานาคให้แน่นเข้ากับเขาพระสุเมรุมิให้เคลื่อนไหว

ฝ่ายพระยานาคถูกนาคพระมหาโมคคัลลานะรัดจนแทบกระดูกแตก ก็โกรธเกรี้ยวยิ่งนัก จึงพ่นพิษให้เป็นควันแผ่ไปโดยรอบ พระมหาโมคคัลลานะก็บันดาลให้ควันเกิดขึ้นมากยิ่งกว่า ปราบฤทธิ์ของพระยานาคนั้นเสีย พระยานาคจึงพ่นควันพิษเป็นเปลวไฟอันร้ายแรง พระมหาโมคคัลลานะก็เนรมิตไฟที่ร้อนแรงกว่าให้เกิดขึ้น ไฟของพระยานาคไม่อาจทำอันตรายแก่พระมหาโมคคัลลานะได้ แต่ไฟที่พระมหาโมคคัลลานะเนรมิตขึ้นกลับรุมล้อมพระยานาคทั้งภายนอกภายในให้รุ่มร้อนกระสับกระส่ายเป็นกำลัง

พระยานาคคิดว่าสมณะนี้ชื่อใด จึงมีฤทธิ์มากอย่างนี้ คิดแล้วก็ถามชื่อ พระมหาโมคคัลลานะก็บอกให้ทราบว่า เป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระผู้มีพระภาค พระยานาคได้กล่าวว่า ท่านเป็นสมณะเหตุใดจึงมาทำร้ายข้าพเจ้า การกระทำของท่านไม่สมควรแก่สมณะ พระมหาโมคคัลลานะได้ตอบว่าเราไม่ได้โกรธและลงโทษท่าน แต่ที่ทรมานท่านก็เพื่อจะช่วยท่านให้พ้นจากความเห็นผิดและพยศร้าย ให้ท่านอยู่ในทางตรงคืออริยมรรค

ในที่สุดพระมหาโมคคัลลานะก็ได้ปราบนันโทปนันทะนาคราชจนยอมจำนน พ้นจากการเป็นมิจฉาทิฏฐิ รู้จักบาปบุญคุณโทษ เกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนา พระยานาคได้กราบนมัสการพระผู้มีพระภาคและขอบูชาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดไป พระผู้มีพระภาคได้ทรงประทานศีล ๕ ให้รักษา จากนันพระผู้มีพระภาคก็ได้พาพระสาวกไปเรือนของอนาถบิณฑิกเศรษฐีเพื่อรับภัตตาหาร


๐ ถูกโจรทุบตีก่อนนิพพาน

แม้พระโมคคัลลานะก็ปรินิพพานก่อนพระศาสดา มีเรื่องเล่าว่าถูกผู้ร้ายฆ่า ดังต่อไปนี้ ในคราวที่พระเถรเจ้าอยู่ ณ ตำบลกาฬสิลาแขวงมคธ พวกเดียรถีย์ปรึกษากันว่า พระโมคคัลลานะเป็นกำลังใหญ่ของพระศาสดา สามารถนำข่าวในสวรรค์และนรกมาแจ้งแก่มนุษย์ชักนำให้เลื่อมใส ถ้ากำจัดพระโมคคัลลานะเสียได้แล้ว ลัทธิฝ่ายตนจักรุ่งเรื่องขึ้น จึงจ้างผู้ร้ายให้ลอบฆ่าพระโมคคัลลานะเสีย ท่านยังไม่ถึงมรณะ เยียวยาอัตภาพด้วยกำลังฌานไปเฝ้าพระศาสดาทูลลาแล้ว จึงกลับมาปรินิพพาน ณ ที่เดิม พระโมคคัลลานะอยู่มาจนถึงพรรษาที่ ๔๕ แต่ตรัสรู้ล่วงแล้ว ปรินิพพานในวันดับแห่งกัตติกมาส ภายหลังพระสารีบุตรปักษ์หนึ่ง พระศาสดาได้เสด็จไปทำฌาปนกิจแล้ว รับสั่งให้เก็บอัฐิธาตุมาก่อพระเจดีย์บรรจุไว้ ณ ที่ใกล้ซุ้มประตูแห่งเวฬุวนาราม ระยะทางเสด็จพุทธจาริกแต่บ้านเวฬุวคาม

ครั้งหนึ่งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่เวฬุวันวิหาร อาศัยเมืองราชคฤห์เป็นที่ภิกขาจาร พระองค์ได้ปรารภพระมหาโมคคัลลานเถระให้เป็นเหตุ จึงได้ตรัสเรื่องราวนี้มีความว่า พระมหาโมคคัลลานเถระเป็นทุติยสาวกปรากฏด้วยอิทธิศักดายิ่งกว่าผู้ใดในไตรภพเว้นไว้แต่พระตถาคตองค์เดียว พระตถาคตให้เป็นเอตทัคคะว่า ประเสริฐเลิศด้วยอิทธิฤทธิ์ยิ่งกว่าสาวกในพระศาสนา ท่านได้เที่ยวไปสู่เทวจาริกในสวรรค์ นำเอาการกุศลที่เทพบุตรเทพธิดา กระทำอย่างนั้นๆ เอามาบอกแก่มหาชนชาวมนุษย์ แล้วท่านลงไปสู่นรก นำเอาข่าวมาบอกแก่คนทั้งหลายว่า บุคคลกระทำบาปมีชื่อนี้ๆ ไปทนทุกขเวทนาในนรกขุมนั้นๆ ท่านได้โปรดสัตว์ที่ไปทนทุกข์ให้เป็นสุขสบาย ท่านขวนขวายในกิจของท่านมาช้านาน

ครั้นอยู่มาสมัยหนึ่ง พระมหาเถระจำพระวัสสาอยู่ ณ กาฬศิลาประเทศ พวกเดียรถีย์นิครนถ์ทั้งหลายก็ปราศจากลาภสักการบูชา มหาชนเลื่อมใสในพระศาสนาเป็นอันมาก เดียรถีย์นิครนถ์ผู้ใหญ่จึงปรึกษาว่า ลาภสักการะจะเกิดแก่พระสมณโคดม ก็อาศัยพระโมคคัลลานเถระผู้เดียว เพราะพระโมคคัลลานะมีฤทธิ์ เที่ยวขึ้นไปบนสวรรค์ และลงนรก ได้เห็นความเป็นไปในที่นั้นๆ แล้ว นำมาบอกแก่มหาชนชาวมนุษย์ ถึงผลของกุศลกรรมของผู้ที่อยู่บนสวรรค์ และอกุศลกรรมของผู้ที่อยู่ในนรก

ดังนั้นถ้าคิดพิฆาตฆ่าพระโมคคัลลานะให้ตายแล้ว พระสมณโคดมก็จะเสื่อมจากลาภสักการบูชา พวกเดียรถีย์ทั้งหลายก็เห็นจริงพร้อมกัน เดียรถีย์ผู้ใหญ่จึงคิดเรี่ยไรทรัพย์จากพวกอุปัฏฐากของตน ได้ทรัพย์พันตำลึง แล้วไปจ้างโจรให้ไปฆ่าพระโมคคัลลานะ พวกโจรได้ไปล้อมกุฎีของท่าน คอยฆ่าท่านเมื่อเพลาปัจจุสมัยใกล้รุ่ง ฝ่ายพระโมคคัลลานเถระ เมื่อรู้เหตุว่าโจรมาล้อมกุฎี ก็หนีออกมาโดยช่องดาล โจรหาตัวท่านไม่พบก็กลับไป อยู่มาวันหนึ่งจึงพากันไปล้อมอีก ท่านก็หนีออกไปทางช่องช่อฟ้า พวกโจรพากันมาล้อมจะจับตัวท่านฆ่าให้ตาย แต่หาท่านไม่พบต้องพากันกลับไปโดยนัยดังนี้ถึง 2 เดือน

ครั้นถึงเดือนเป็นที่สุดจะออกพระวัสสา โจรทั้งหลายก็มาล้อมกุฎีอีก พระมหาเถระพิจารณาดู ก็รู้ประจักษ์ใจว่า กรรมของท่านได้กระทำไว้แต่ปางหลังตามมาทันแล้วในครั้งนี้ แม้ท่านจะหนีไปอยู่ในที่ใดๆ ที่จะพ้นภัยนั้น อย่าสงกา เมื่อท่านพิจาณาเห็นดังนั้นแล้ว ก็นั่งอยู่ในกุฎี ไม่ได้หนีไปดังหนหลัง โจรทั้งหลายเห็นท่าน จึงเข้าไปทุบตีด้วยศาสตราวุธต่างๆ จนกระดูกท่านแหลก ปานประหนึ่งว่าเม็ดข้าวสาร แหลกละเอียดไปทั้งกาย แล้วพวกโจรก็นำร่างของท่านไปทิ้ง

ฝ่ายพระมหาเถระได้เสวยทุกขเวทนา พ้นที่จะอุปมา แต่ยังทรงชีวิตอยู่ จึงคิดอยู่ในใจว่า ตัวท่านนี้จะดับสูญเข้าสู่นิพพานแล้ว จำจะไปถวายนมัสการลาพระผู้มีพระภาค แล้วจึงกลับมาเข้าสู่พระนิพพานในที่นี้ คิดดังนั้นแล้วจึงเข้าฌานสมาบัติ อธิษฐานผูกรัดร่าง กระดูกที่แหลกละเอียดก็คุมกันเข้าเป็นแท่งเดียวดังเก่าด้วยกำลังฌาน แล้วจึงเหาะไปสู่เวฬุวันมหาวิหาร เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลลาเข้าสู่พระนิพพาน พระผู้มีพระภาคจึงมีพุทธฎีกาตรัสถามว่า จะนิพพานที่ใด ท่านกราบทูลว่า จะนิพพานที่กาฬศิลาประเทศ อันเป็นที่อยู่ของท่าน พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ตถาคตได้เห็นท่านก็เป็นที่สุดแล้ว ท่านจงเทศนาให้ตถาคตฟังก่อน พระสงฆ์ทั้งหลายจะได้เห็นท่านได้ฟังเทศนาของท่านก็เป็นที่สุดในครั้งนี้

ฝ่ายพระมหาเถระได้ฟังพุทธฎีกาดังนั้น จึงได้สำแดงปาฏิหาริย์เป็นเอนกอนันต์ ครั้นสำแดงแล้ว ก็สำแดงธรรมเทศนาแก่บริษัทเป็นปัจฉิมที่สุด เหมือนธรรมเสนาบดีสารีบุตร กระทำปาฏิหาริย์ถวายพระผู้มีพระภาค เมื่อท่านไปกราบทูลลาจะเข้าสู่พระนิพพาน เมื่อพระมหาเถระกระทำปาฏิหาริย์ เห็นปานดังพระสารีบุตร เสร็จแล้วจึงทูลลาว่า กระหม่อมฉันอุตส่าห์สร้างบารมีมาก็ช้านาน ประมาณได้อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัปป์โดยคณนา หวังจะพบพระพุทธองค์ และพระศาสนาของพระพุทธองค์ บัดนี้ก็สำเร็จสมปรารถนาแล้ว จะได้ถวายนมัสการบรมบาทพระชินสีห์ก็เป็นที่สุดแล้ว จึงถวายบังคมลาพระสัพพัญญูบรมครูแล้วกลับไปกาฬศิลาประเทศ เข้าไปสู่กุฎีที่อยู่จำพระวัสสา จึงเข้าสมาบัติตั้งแต่ปฐมญานขึ้นไป แล้วกลับถอยหลังลงมาเป็นอนุโลมปฏิโลมหลายครั้ง ครั้นออกจากสมาบัติแล้ว พระมหาเถระก็เข้าสู่พระนิพพาน

กิตติศัพท์ที่พวกโจรเข้าทุบตีพระโมคคัลลานะนั้น ได้เลื่องลือไปในนิคมชนบทนานาประเทศ บรรดาอำมาตย์ได้นำความเข้ากราบทูลพระเจ้าอชาตศัตรู เมื่อพระองค์ทรงทราบก็เกิดสังเวชสลดพระทัย ทรงเห็นว่าการกระทำของพวกโจรไม่บังควร จำจะเสาะเอาตัวมาลงโทษให้จงได้ แล้วได้ทรงสั่งให้พวกอำมาตย์ ไปดำเนินการจนได้ตัวพวกโจร แล้วนำเข้าไปถวายพระเจ้าอชาตศัตรู เมื่อซักไซ้ไต่สวนได้ความว่า พวกสมณชีเปลือยใช้โจรให้ไปกระทำการดังกล่าว พระองค์จึงสั่งให้ไปจับพวกเดียรถีย์ชีเปลือยมาได้เป็นจำนวนมาก เมื่อซักไซ้ไต่ถามได้ความจริงแล้ว จึงสั่งให้ราชบุรุษ เอาพวกเดียรถีย์ชีเปลือย และพวกโจรที่จับมาได้ ฝังดินลึกเพียงสะดือ แล้วให้เอาใบไม้แห้งและฟางเกลี่ยไป จากนั้นจึงจุดไฟคลอก ครั้นเพลิงไหม้ทั่วกันแล้ว จึงให้เอาไถเหล็กมาไถ ให้ร่างกายขาดเป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่ตายด้วยกันทั้งหมด

อยู่มาวันหนึ่ง บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลาย สันนิบาตประชุมกันในโรงธรรมสภาศาลา สนทนากันว่าน่าอัศจรรย์ใจ ด้วยพระโมคคัลลานะประกอบด้วยฤทธานุภาพเป็นอันมาก ควรหรือมาตายด้วยมือโจร ฝ่ายองค์พระบรมโลกนาถได้ทรงได้ยินการสนทนาดังกล่าว จึงเสด็จออกจากพระคันธกุฎีมาสู่โรงธรรมศาลา แล้วตรัสถามว่า ได้สนทนาเรื่องอันใดอยู่ เมื่อบรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้มีพุทธฎีกาว่า สำแดงโมคคัลลานโอรสพระตถาคต ถูกโจรทุบตีให้ตาย จะได้มีแต่ปัจจุบันชาตินี้หามิได้ แต่ชาติก่อนๆ ก็ตายด้วยโจรตีเช่นกัน ก็อาศัยอกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้แต่ชาติหลังยังติดตามมา จึงถึงแก่ความมรณาไม่สมควรแก่ตน

พระทศพลตรัสดังนี้แล้วก็ดุษณีนิ่งไป พระสงฆ์ทั้งหลายจึงทูลถาม ถึงกรรมที่พระโมคคัลลานะกระทำไว้ พระพุทธองค์จึงนำอดีตมาประทานเทศนาว่า ในอดีตกาลแต่ปางหลัง มีกุลบุตรผู้หนึ่งปฏิบัติรักษามารดาบิดาตามืด ทั้ง 2 คน โดยไม่เกียจคร้าน ต่อมา มารดาบิดาจึงคิดอ่านจะหาภรรยาให้ลูกชาย เมื่อปรึกษาเรื่องนี้กับลูกชาย ก็ได้รับคำปฏิเสธว่าตนไม่ปรารถนา จะขอเลี้ยงมารดาบิดาไปจนตลอดชีวิต มารดาบิดาก็เฝ้าวอนว่าอยู่แล้วๆ เล่าๆ ฝ่ายลูกชายขัดไม่ได้จึงยินยอมตามใจของมารดาบิดา มารดาบิดาจึงได้ไปขอกุมารี มาให้แก่ลูกชายของตน หญิงนั้นครั้นมาอยู่กับสามีแล้วปฏิบัติแม่ผัวพ่อผัวอยู่ไม่นาน ก็มีความเกียจคร้านเบื่อหน่าย คิดจะไปเสียให้พ้น จึงว่าแก่สามีของตนว่าตนไม่สบายใจ มารดาบิดาขี้บ่น ตนจะอยู่ต่อไปไม่ได้แล้ว สามีจึงตอบว่าก็ตามอัธยาศัยของท่านเถิด ที่เราจะทิ้งมารดาบิดาของเราเสียนั้นมิได้

นางได้ฟังดังนั้นก็จนใจ จึงคิดกลอุบายจะให้ลูกชายทิ้งมารดาบิดาเสีย จะได้พากันไปอยู่ที่อื่นตามสบายใจ ครั้นสามีออกไปนอกบ้าน หญิงนั้นก็เที่ยวทิ้งของไว้เกลื่อนกลาด ครั้นสามีกลับมาพบเห็นก็บอกว่า มารดาบิดาของท่านทำเอาไว้ หญิงนั้นทำเช่นนี้อยู่เนืองๆ ฝ่ายบุรุษผู้นั้นเป็นสัตว์มีวาสนา ได้บำเพ็ญบารมีมาช้านาน ได้ฟังคำหญิงพาลมาวอนเจรจาใส่โทษมารดาบิดา ก็ให้เร่าร้อนในหัวใจ ความรักใคร่ในมารดาแต่หนหลังนั้น ก็แตกออกเป็นสองภาค ด้วยความรักใคร่ในหญิงพาลส่งจิตไปตามภรรยา จึงตอบวาจาว่า มารดาบิดาของเรากระทำชั่วฉะนี้ ตกพนักงานพี่จะกระทำเอง ชายนั้นจึงให้มารดาบิดาบริโภคอาหารแล้วจึงมีวาจาว่า บัดนี้ญาติวงศาของท่านอยู่ในบ้านโน้น สั่งมาให้ตนพามารดาบิดาไป แล้วจึงให้มารดาบิดาขึ้นนั่งบนเกวียน แล้วจึงรีบไปตามมรรคา

ครั้นถึงราวป่าแห่งหนึ่ง บุรุษนั้นคิดจะฆ่ามารดาบิดาให้ตาย จึงคิดอุบายบอกแก่มารดาบิดาว่า ราวป่านี้โจรส้องสุมอยู่เป็นอันมาก ถ้ารู้ว่าตนมามันก็จะฆ่าเสียให้ตาย บิดาจงเอาเชือกสายชักโคนี้เถิด แล้วเขาก็ลงจากเกวียนไป ชายนั้นเดินไปให้ไกลสักหน่อยหนึ่ง แล้วก็แกล้งแปลงเป็นเสียงโจรว่าคนสองคนนั้นจะไปไหน แล้วฉวยได้ไม้เข้าทุบตีมารดาบิดาแห่งตน ฝ่ายมารดาบิดาทั้งสองคนคิดว่าเป็นโจรจริง จึงร้องบอกลูกชายให้หนีไปให้พ้นมือโจร ส่วนตนทั้งสองแก่ชราแล้ว จะตายด้วยโจรก็ตามทีเถิด ฝ่ายลูกชายเมื่อทุบตีมารดาบิดาตายเสียแล้ว จึงเอาซากศพนั้นทิ้งเสียในราวป่า แล้วกลับมาสู่บ้านตนพร้อมภรรยา ตราบจนสิ้นชมม์วัสสาอายุแล้ว จุติไปเกิดโดยควรแก่อกุศลกรรม ที่ตนได้ทำไว้ในปัจจุบันชาติ

เมื่อพระบรมศาสดา สำแดงบุพพกรรมแห่งพระโมคคัลลานะด้วยประการฉะนี้แล้ว จึงมีพุทธฎีกาตรัสว่า สำแดงโมคคัลลานะกระทำกรรมอันหยาบช้า ฆ่ามารดาบิดา ครั้นตนทำกาลกิริยาตาย ได้ไปทนทุกขเวทนาในนรกช้านาน มากกว่าหมื่นปีแสนปี ด้วยกรรมที่ตีมารดาบิดา ครั้นพ้นจากนรกแล้ว เศษบาปนั้นยังติดตามมา แต่โจรทั้งหลายฆ่าให้ตายดังนั้นถึง 500 ชาติ เป็นกำหนด สำแดงโมคคัลลานะได้ทำอกุศลกรรมไว้ จึงได้เสวยวิบากผลสมควรแก่กรรมที่ตนได้กระทำมาแต่หนหลัง ยังพวกโจรและเดียรถีย์ที่ทุบตี สำแดงโมคคัลลานะเล่า ก็ถึงซึ่งความวินาศฉิบหายน่าอเน็จอนาถ ฉะนี้

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเทศนาด้วยพระคาถาต่อไปว่า บุคคลใดเป็นคนเมามาก ประกอบด้วยโทโส มาประทุษร้ายแก่พระขีณาสพเจ้าอันหาโทษทัณฑ์มิได้ บุคคลนั้นจะต้องทุกข์ทั้ง 10 ประการ ทุกข์ใดจะถึงแก่ตน เห็นประจักษ์ตาในอัตภาพชั่วนี้ คือต้องทุกขเวทนาอันทารุณโทษ โรคนั้นแต่ล้วนสาหัส จะบังเกิดมีแก่อัตภาพในชาตินี้ ประการหนึ่ง ทรัพย์สินเงินทองที่ตนหามาได้ด้วยกสิกรรม วาณิชกรรม ก็จะเสี่อมสูญไปไม่เหลือ ถ้ามิดังนั้นก็จะทนทุกขเวทนา มีเขาตัดตีนตัดมีอ ตัดหู ตัดจมูกของตน เป็นจมูกของตน เป็นต้น จะบังเกิดโรคาพยาธิอันหนัก จะเป็นเปลี้ยง่อยตัวตายไปตำหระหนึ่งโรคที่หนักๆ จักบังเกิดมี คือเป็นโรคเรื้อนกุฏฐัง ที่เหลือกำลังจะรักษาเยียวยาได้ ถ้ามิดังนั้นจะเป็นบ้าใบ้พิกลจริต เสียจิตเสียใจไม่เป็นสมประดีดังคนทั้งหลาย จะบังเกิดความฉิบหายแก่ราชทัณฑ์อาชญา ท้าวพระยามหากษัตริย์จะริบเอาโภคทรัพย์สมบัติพัสถานของตน ถ้ามิดังนั้นตัวอยู่ดีๆ มีคนมาโพนทนาว่า เป็นโจรกระทำผิดในราชศาสตร์ มีแต่เขาใส่โทษให้ต้องราชทัณฑ์อาญา มีแต่คนอิจฉาคือฉ้อส่อเสียด ให้เสียสมบัติพัสดุต่างๆ

อนึ่ง จะมีทรัพย์พัสดุสิ่งใดอยู่ในเรือนตนจะมีโจรเข้าวิ่งชิงเอาไป อนึ่งญาติวงศา บุตร ภรรยา อันที่รักใคร่ จะบังเกิดมรณภัยล้มตายหายจาก พลัดพรากฉิบหายประลัยไป สุดแท้แต่จะวิบัติไปด้วย เหตุสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อนึ่ง ทรัพย์วัสดุเงินทองของรัก จะกลับกลายเป็นกระดูก เป็นกระเบี้อง เป็นถ่านเพลิงไป โดยต่ำตั้งแต่ข้าวเปลือกอยู่ในยุ้งฉาง ก็วิบัตเปื่อยเน่าผุไปเอง อนึ่ง จะเกิดไฟไหม้ไต้ลน ปีละสองสามหนให้จงได้ มิไหม้ด้วยไฟบ้านก็ไหม้ด้วยไฟป่า ไหม้ด้วยไฟฟ้า ถ้ามิฉะนั้น อยู่ดีๆ จะมีไฟเกิดขึ้นด้วยธรรมดาเอง สุดแท้แต่จะเกิดไฟไหม้ให้ได้ อันบุคคลประทุษร้ายต่อผู้หาโทษมิได้ จะต้องทุกขฐานทั้ง 10 ประการ มิทุกข์สิ่งใดก็สิ่งหนึ่ง คงจะมาถึงตนในอัตภาพชั่วนี้ ครั้นสูญสิ้นชีวิตจากเมืองคน จะไปทนทุกขเวทนาในนรกสิ้นกาลช้านาน เพราะตนกระทำการทุจริตมิดี เห็นปานดังโจร และเดียรถีย์ทั้งหลายทำร้ายพระโมคคัลลานฉะนี้

ครั้นพระพุทธองค์ตรัสเทศนาจบลง บริษัททั้งหลายก็สำเร็จมรรคผลธรรมวิเศษ ตามวาสนาบารมีที่ตนได้ก่อสร้างมา แต่ชาติหลังโน้น จึงเป็นอุปนิสัยให้สำเร็จความปรารถนา



.............................................................

คัดลอกมาจาก ::
http://www1.mod.go.th/heritage/religion/priest/priest.html
http://www.dharma-gateway.com/
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 11 พ.ค.2007, 11:11 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

• การศึกษาบทบาทของพระมหาโมคคัลลานเถระในการเผยแผ่
โดย พระมหาสุชญา โรจนญาโณ (ยาสุกแสง)

http://www.mcu.ac.th/site/thesiscontent_desc.php?ct=1&t_id=38

http://www.mcu.ac.th/thesis_file/254005.pdf

• สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำวิธีแก้ง่วง
ให้พระมหาโมคคัลลานะ เมื่อครั้งท่านบวชใหม่ๆ ได้ประมาณ ๗ วัน

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=20355
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่หัวข้อนี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไข หรือตอบได้
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง