Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 พระอานนท์เถระ (เอตทัคคะ) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่หัวข้อนี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไข หรือตอบได้
ผู้ตั้ง ข้อความ
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 09 ส.ค. 2006, 8:59 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

พระอานนท์เถระ
เอตทัคคะในทางผู้เป็นพหูสูตร


๐ ประวัติในสมัยพระมหาสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระเถระผู้เป็นพุทธปัฏฐากของพระมหาสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเป็นพระโอรสของพระเจ้า อมิโตทนศากยราช พระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนมหาราช พระพุทธบิดา

ในเรื่องพระบิดาของท่าน มีหลักฐานหลายแห่งคัดค้านกันอยู่ เช่น อรรถกถาอังคุตตรนิกาย อรรถกถาธรรมบท และอรรถกถาพุทธวงศ์ กล่าวว่า พระเจ้าอมิโตทนะ เป็นพระบิดาของพระเจ้ามหานามะ และพระอนุรุทธะ

ในมหาวัสตุ และพุทธประวัติของพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส กล่าวว่าท่านเป็นพระโอรสของพระเจ้าสุกโกทนะ ส่วนพระเจ้าอมิโตทนะเป็นพระบิดาของพระเจ้ามหานามะ และพระอนุรุทธะ

แต่ในอรรถกถามัชฌิมนิกาย กล่าวว่า พระเจ้าสุกโกทนะเป็นพระบิดาของพระเจ้ามหามามะ และพระอนุรุทธะ

จากหลักฐานต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ไม่ได้กล่าวว่า พระมารดาของท่านเป็นใคร มหาวัสตุแห่งเดียวเท่านั้นที่กล่าวถึงพระมารดาของท่านว่าทรงพระนามว่า มฤคี

ท่านอรรถกถาจารย์ให้เหตุผลว่า ที่ท่านมีชื่อว่าอานนท์ก็เพราะว่าเมื่อท่านประสูติพระญาติทั้งหลายพากันสดชื่นรื่นเริงบันเทิงใจยิ่ง

พระอานนท์เป็นพระภาดาของพระพุทธเจ้า และเป็นสหชาติกับพระพุทธองค์ด้วย ผู้เป็นสหชาติกับพระพุทธเจ้า คือ ๑. พระนางพิมพาราหุลมาตา ๒. ฉันนอมาตย์ ๓. กาฬุทายิอมาตย์ ๔. พระอานนท์ ๕. กันถกอัสสราช ๖. ต้นมหาโพธิ์ ๗. ขุมทรัพย์ ๔ ทิศ


๐ เหล่าศากยกุมารทั้งหลายออกบวชตามเสด็จ

เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงสละราชสมบัติเสด็จออกทรงผนวชและได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว เสด็จไปโปรดพระพุทธบิดาและพระประยูรญาติ ณ นครกบิลพัสดุ์ ในพรรษาที่ ๒ ขณะที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่พระนครกบิลพัสดุ์นั้น ได้มีพระญาติหลายองค์ออกทรงผนวชตามเสด็จยังเหลือแต่ศากยกุมารเหล่านี้คือ พระมหามานะ พระอนุรุทธะ พระภัททิยะ พระภัคคุ (ยุ. ภคุ) พระกิมิละ (ยุ. กิมพิละ) พระอานนท์และพระเทวทัตต์ ครั้นพระพุทธองค์ประทับอยู่พอสมควรแก่กาลแล้วก็เสด็จจาริกต่อไปยังที่อื่น

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จจากพระนครกบิลพัสดุ์ไปแล้ว พวกศากยะทั้งหลายได้วิพากษ์วิจารณ์กันว่า พวกท่านได้ให้โอรสของตนๆ ซึ่งมอบถวายให้เป็นเพื่อนเล่นของเจ้าชายสิทธัตถะ ในคราวทำพิธีขนานพระนามนั้น ออกผนวชตามเสด็จได้ แต่ศากยกุมารเหล่านี้ชะรอยจะไม่ใช่เป็นพระญาติกับพระพุทธเจ้ากระมัง ? จึงไม่ออกผนวชตามเสด็จ พระมหานามะ ได้สดับคำวิพากษ์วิจารณ์นี้แล้ว ทรงรู้สึกละอาย จึงได้ปรึกษาพระอนุรุทธะ ว่า ในท่านทั้งสองนั้น ต้องออกผนวชองค์หนึ่ง ในที่สุดแห่งการสนทนา พระอนุรุทธะ ยอมออกผนวชตามเสด็จ จึงไปทูลลาพระมารดา แต่พระมารดาไม่ทรงอนุญาต ท่านได้ทูลอ้อนวอนจนพระมารดาทรงอนุญาต แต่ทรงวางเงื่อนไขไว้ว่า หากพระเจ้าภัททิยศากยราชพระสหายของท่านออกผนวชด้วย พระนางึงจะทรงอนุญาต พระอนุรุทธะได้พยายามชักชวนพระเจ้าภัททิยะ จนตกลงพระทัยออกผนวชด้วยกันต่อจากนั้น ท่านได้ชักชวนศากยกุมารอีก ๕ องค์ มีพระอานนท์ เป็นต้นรวมทั้งอุบาลี กัปปกอมาตย์ด้วยเป็น ๗ คน ได้ตามเสด็จพระพุทธองค์ไปเพื่อขอบรรพชาอุปสมบท และได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าที่อนุปิยอัมพวัน เขตอนุปิยนิคม แคว้นมัลละ พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้บรรพชาอุปสมบทตามประสงค์ พระอุปัชฌายะของท่าน พระอานนท์ ชื่อพระเวลัฏฐสีสเถระ

ครั้นอุปสมบทแล้ว ท่านพระอานนท์ได้ศึกษาธรรมจากสำนักของท่านพระปุณณมันตานีบุตร ไม่นานก็ได้สำเร็จชั้นโสดาบัน ในกาลต่อมาท่านได้เล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า ท่านพระปุณณมันตานีบุตร มีอุปการคุณต่อท่านและพวกภิกษุผู้นวกะมาก ท่านพระปุณณมันตานีบุตรได้กล่าวสอนท่านว่า “ดูกรอานนท์ เพราะถือมั่นจึงมีตัณหา มานะ ทิฐิว่าเป็นเรา เพราะไม่ถือมั่น จึงไม่มีตัณหามานะ ทิฐิ ว่าเป็นเรา เพราะถือมั่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงมีตัณหา มานะ ทิฐิ ว่าเป็นเรา เพราะไม่ถือมั่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงไม่มีตัณหา มานะ ทิฐิว่า เป็นเรา เปรียบเหมือนสตรีหรือบุรุษรุ่นหนุ่มสาวมีนิสัยชอบแต่งตัวส่องดูเงาของตนที่กระจกหรือที่ภาชนะน้ำอันใสบริสุทธิ์ผุดผ่อง เพราะยึดถือจึงเห็น เพราะไม่ยึดจึงไม่เห็น ฉันใด เพราะถือมั่นรูปเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงมีตัณหา มานะ ทิฐิ ว่า เป็นเราเพราะไม่ถือมั่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงไม่มีตัณหามานะ ทิฐิว่า เป็นเรา ฉันนั้นเหมือนกัน”

จากนั้น ท่านพระอานนท์เล่าต่อไปว่า ท่านพระปุณณมันตานีบุตรได้ถามท่านว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยงท่านตอบว่าไม่เที่ยง และในตอนสุดท้ายของการสอนธรรมครั้งนี้ ท่านบอกแก่พระภิกษุทั้งหลายว่าท่านได้ตรัสรู้ธรรมซึ่งหมายถึงได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน

เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จประทับอยู่ที่อนุปิยอัมพวัน แห่งมัลลรัฐพอสมควรแก่พระอัธยาศัยแล้วก็ได้เสด็จจาริกต่อไปยังกรุงโกสัมพี ท่านพระอานนท์ และพระภิกษุศากยะรูปอื่นๆ ที่ผนวชพร้อมกับท่านก็ตามเสด็จไปด้วย ปรากฏว่าประชาชนชาวเมืองโกสัมพี นิยมนับถือท่านมากเช่นเดียวกับพระมหาเถระรูปอื่น ๆ ซึ่งเป็นเหตุให้พระเทวทัตถ์ เกิดริษยาเพราะตนเองไม่มีใครถามถึงเลย


๐ พระอานนท์ถวายตัวเป็นพุทธอุปัฏฐาก

พระอรรถกถาจารย์ได้เล่าไว้ว่า ในสมัยปฐมโพธิกาลนั้น พระพุทธเจ้าหาได้มีพระภิกษุผู้อุปัฏฐากเป็นประจำไม่ บางคราวพระนาคสมาละ (นาคสุมนะ) เป็นผู้ถือบาตรและจีวรของพระพุทธองค์ในคราวเสด็จจาริกไปโปรดสัตว์ บางคราวพระนาคิตะ บางคราวพระอุปวาณะ บางคราวพระสุนักขัตตะ บางคราวสามเณรจุนทะ บางคราวพระสาคตะ บางคราวพระราธะ บางคราวพระเมฆิยะ เป็นอยู่อย่างนี้เป็นเวลา ๒๐ พรรษา


๐ ภิกษุผู้อุปัฏฐากละทิ้งพระพุทธองค์

การที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงมีพุทธุปัฏฐากเป็นประจำนี้ ได้ก่อให้เกิดความลำบากแก่พระองค์มาหลายครั้ง ดังเช่น ครั้งหนึ่งพระนาคสมาละเป็นผู้อุปัฏฐากพระองค์ ครั้งนั้นพระองค์ได้เสด็จทางไกลไปถึงทาง ๒ แพร่ง ท่านพระนาคสมาละ หลีกลงจากทางทูลว่า ท่านจะไปทางนี้ พระองค์ตรัสว่า พระองค์จะเสด็จไปอีกทางหนึ่ง ขอให้พระนาคสมาละไปทางเดียวกับพระองค์ แต่ท่านไม่ยอมกราบทูลว่า ท่านจะไปตามทางของท่าน ขอให้พระองค์ทรงรับเอาบาตรจีวรของพระองค์ไป แล้วท่านได้วางบาตรและจีวรของพระพุทธเจ้าไว้บนพื้นดิน เดินจากไปแต่ลำพัง พระพุทธเจ้าจึงจำต้องถือบาตรและจีวรเสด็จไปแต่ลำพังพระองค์เดียว

อีกครั้งหนึ่ง พรเมฆิยะเป็นอุปัฏฐาก ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคได้เสด็จจาริกไปยังชันตุคาม เขตปาจีนวังสะกับพระเมฆิยะ ครั้นพระองค์เสด็จไปถึงที่นั้นแล้ว ท่านพระเมฆิยะ ได้เข้าไปบิณฑบาตในชันตุคาม ได้เห็นสวนมะม่วงอันร่มรื่นน่ารื่นรมย์แห่งหนึ่งริมฝั่งแม่น้ำ ท่านต้องการจะไปพักผ่อนในสวนนั้น จึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงรับบาตรและจีวรของพระองค์ไปและทูลว่าท่านจะไปทำสมณธรรมที่สวนมะม่วงนั้น พระพุทธองค์ตรัสห้ามไว้ถึง ๓ ครั้ง เพราะมีมีพระภิกษุอื่นเลยในที่นั้น ทรงขอให้ท่านรอไปก่อนจนกว่าจะมีพระภิกษุรูปอื่นมาแทน แต่ท่านก็ไม่ยอม ได้ละทิ้งพระองค์ไว้แต่ลำพังพระองค์เดียว


๐ ทรงขอให้พระสงฆ์เลือกพระภิกษุ
รูปใดรูปหนึ่งขึ้นเป็นพุทธุปัฏฐากประจำ


ด้วยเหตุนี้ในพรรษาที่ ๒๐ แต่ตรัสรู้ สมัยที่พระทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับพระภิกษุทั้งปวงในที่นั้นว่า พระองค์ทรงพระชราแล้ว ภิกษุบางรูปทอดทิ้งพระองค์ไปตามทางที่ตนปรารถนา บางรูปวางบาตรจีวรของพระองค์ไว้บนพื้นดินแล้วเดินจากไปเสีย จึงขอให้พระสงฆ์เลือกพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งขึ้นเป็นพุทธุปัฏฐากประจำ


๐ เหล่าพระอสีติมหาสาวกเสนอตนเป็นพุทธอุปัฏฐาก

พระภิกษุทั้งหลายได้ฟังพระดำรัสนั้นแล้ว ต่างรู้สึกสังเวชสลดใจไปตาม ๆ กัน ทันใดนั้นเอง ท่านพระสารีบุตร ได้ลุกขึ้นอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วทูลขอรับอาสาเป็นพุทธุปัฏฐากประจำแต่พระองค์ทรงห้ามไว้ว่า “อย่าเลยสารีบุตร เธออยู่ ณ ทิศใด ทิศนั้นไม่สูญเปล่า โอวาทของเธอเหมือนกับโอวาทของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เธออย่าทำกิจอุปัฏฐากแก่เราเลย”

ต่อจากนั้น อสีติมหาสาวกทั้งหลาย มีท่านพระมหาโมคคัลลานะเป็นต้น ได้ลุกขึ้นอภิวาทแล้วทูลขอรับอาสาเป็นพุทธุปัฏฐากเช่นเดียวกับท่านพระสารีบุตร แต่พระองค์ทรงห้ามไว้ทั้งหมด ส่วนท่านพระอานนท์ยังตงนั่งนิ่งเฉย มิได้ทูลขอรับอาสาอย่างพระมหาสาวกทั้งหลาย พวกภิกษุจึงได้ตักเตือนให้ท่านทูลขอตำแหน่งพุทธุปัฏฐากนั้นบ้าง ท่านจึงกล่าวกับพระภิกษุทั้งหลายว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย อันตำแหน่งที่ขอได้มานั้นจะมีความหมายอะไรเล่า พระบรมศาสดาไม่ทรงเห็นกระผมกระนั้นหรือ ? ก็หากพระองค์ทรงพอพระทัยในตัวกระผมแล้วไซร้ พระองค์ก็คงตรัสเองว่า อานนท์เธอจงอุปัฏฐากเราเถิด”

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับพระภิกษุทั้งหลายว่า ไม่มีผู้ใดจะสามารถให้ท่านพระอานนท์เกิดความอุตสาหะขึ้นมาได้เลย แต่เมื่อท่านพระอานนท์รู้แล้ว ท่านจักอุปัฏฐากพระองค์เอง เมื่อพระภิกษุทั้งหลายได้ยินพระดำรัสนั้น ก็ทราบทันทีว่า พระองค์ทรงประสงค์ให้ท่านพระอานนท์เป็นพุทธุปัฏฐาก จึงได้พูดตักเตือนให้ท่านทูลขอตำแหน่งพุทธุปัฏฐากจากพระองค์


๐ พระอานนท์ทูลขอพร ๘ ประการ

ดังนั้น ท่านพระอานนท์จึงได้ทูลขอพร ๘ ประการ หากพระองค์ทรงประทานพร ๘ ประการนี้ ท่านจึงจะรับตำแหน่งพุทธุปัฏฐากท่านทูลขอพร ว่า

๑. ถ้าจักไม่ประทานจีวรอันประณีตที่พระองค์ได้แล้วแก่ข้าพระองค์

๒. ถ้าจักไม่ประทานบิณฑบาตอันประณีตที่พระองค์ได้แล้วแก่ข้าพระองค์

๓. ถ้าจักไม่โปรดให้ข้าพระองค์อยู่ในที่ประทับของพระองค์

๔. ถ้าจักไม่ทรงพาข้าพระองค์ไปในที่ที่ทรงรับนิมนต์ไว้

๕. ถ้าพระองค์จักไปสู่ที่นิมนต์ที่ข้าพระองค์รับไว้

๖. ถ้าข้าพระองค์จะพาบริษัทซึ่งมาแต่ที่ไกลเพื่อเฝ้าพระองค์ได้ในขณะที่มาแล้ว

๗. ถ้าความสงสัยของข้าพระองค์เกิดขึ้นเมื่อใด ขอให้ได้เข้าเฝ้าทูลถามเมื่อนั้น

๘. ถ้าพระองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาอันใดในที่ลับหลังข้าพระองค์จักเสด็จมาตรัสบอกพระธรรมเทศนานั้นแก่ข้าพระองค์อีก

เมื่อข้าพระองค์ได้รับพร ๘ ประการนี้ แหละจึงจักเป็นพุทธุปัฏฐากของพระองค์


๐ โทษและอานิสงส์ของพร ๘ ประการ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามถึงโทษและอานิสงส์ที่ทูลขอพร ๘ ประการนี้ ท่านได้กราบทูลว่า ถ้าท่านไม่ทูลขอพรข้อ ๑ - ๔ ก็จักมีคนพูดได้ว่า ท่านรับตำแหน่งพุทธุปัฏฐาก เพื่อหวังลาภสักการะอย่างนั้นๆ เพื่อป้องกันปรวาทะอย่างนั้น ท่านจึงได้ทูลขอพร ๔ ข้อนี้ ถ้าท่านไม่ทูลขอพรข้อ ๕ - ๗ ก็จักมีคนพูดได้ว่า พระอานนท์บำรุงพระศาสดาไปทำไม เพราะกิจเท่านี้พระองค์ก็ยังไม่ทรงสงเคราะห์เสียแล้ว และหากท่านไม่ทูลขอพรข้อ ๘ เมื่อมีคนมาถามท่านลับหลัง พระพุทธองค์ว่า คาถานี้ สูตรนี้ ชาดกนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสที่ไหน ? ถ้าท่านตอบเขาไม่ได้ เขาก็จะพูดได้ว่า พระอานนท์เฝ้าติดตามพระผู้มีพระภาคเหมือนเงาตามตัวอยู่เป็นเวลานาน ทำไมเรื่องเท่านี้ยังไม่รู้ ?

ครั้นท่านได้ทูลชี้แจงแสดงโทษในข้อที่ไม่ควรได้ และอานิสงส์ในข้อที่ควรได้อย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงทรงประทานพรตามที่ทูลขอทุกประการ ท่านพระอานนท์จึงได้รับตำแหน่งพุทธุปัฏฐาก และได้อุปัฏฐากพระพุทธองค์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนถึงวันเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค เป็นเวลา ๒๕ พรรษา


๐ ตั้งความปรารถนาไว้ตั้งแต่
สมัยพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า


ความจริง ท่านพระอานนท์ได้บำเพ็ญบารมีเพื่อให้ได้ตำแหน่งนี้มาเป็นเวลาตั้งแสนกัป คือ เริ่มตั้งแต่ศาสนาของพระปทุมุตตร สัมมาสัมพุทธเจ้า ในชาตินั้น ท่านได้เกิดในพระนครหงสวดี เป็นโอรสของพระเจ้านันทราช (อานันทราช) และพระนางสุเมธาเทวี (สุชาดา) ผู้ครองนครหงสวดี สมัยนั้นท่านมีนามว่า สุมนกุมารเป็นพระกนิษฐภาดาของพระปทุมุตตรพุทธเจ้า ครั้นเจริญวัยขึ้น พระบิดาทรงมอบหมายให้ปกครองโภคคาม ซึ่งตั้งอยู่ห่างไกลออกไปจากนครหงสวดี ๑๒๐ โยชน์พระกุมารได้เสด็จกลับไปยังนครหงสวดี เพื่อเฝ้าพระบิดาและพระพุทธเจ้าบ้างเป็นบางคราว

ครั้งหนึ่งมีกบฏเกิดขึ้นที่ปัจจันตชนบท พระกุมารทรงปราบปรามได้โดยราบคาบ เมื่อความทราบไปถึงพระบิดา ก็ทำให้พระองค์ทรงพอพระทัยมาก รับสั่งให้เรียกพระกุมารไปยังนครหวสวดี ทันทีเมื่อพระกุมารเสด็จไปเฝ้าพระบิดาทรงประคองกอดแล้วรับสั่งให้ขอพรตามที่ต้องการแทนที่พระกุมารจะทูลขอช้าง ม้า ชนบท หรือรัตนะ ๗ ประการ ตามที่พวกอำมาตย์ทูลแนะ พระกุมารกลับทูลขอโอกาสอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าเป็นเวลา ๓ เดือน พระบิดารับสั่งให้ขออย่างอื่น เพราะการอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าเป็นหน้าที่ของพระองค์แต่ผู้เดียว ไม่เคยทรงอนุญาตให้ใคร แต่พระกุมารทูลยืนยันจะได้รับพรอย่างเดิม หากไม่พระราชทานพรอันนั้น ก็ไม่ทูลขออย่างอื่น และทูลว่าธรรมดาพระดำรัสของพระมหากษัตริย์ ย่อมไม่เป็น ๒ เมื่อพระบิดาได้สดับดังนั้น ก็ทรงจำนนด้วยเหตุผล แต่ตรัสบ่ายเบี่ยงว่า “ธรรมดาน้ำพระทัยของพระพุทธเจ้ารู้ได้ยาก แม้พ่อจะอนุญาตแล้วก็ตาม หากพระพุทธองค์ไม่ทรงปรารถนา ก็ไม่รู้จักทำอย่างไรได้” พระกุมารทูลรับว่าพระองค์จักรู้น้ำพระทัยของพระผู้มีพระภาคเองทูลแล้วได้เสด็จไปสู่พระวิหาร

แต่ขณะนั้นพระผู้มีพระภาคกำลังประทับอยู่ในพระคันธกุฏี ดังนั้นพระกุมารจึงเสด็จไปหาพระภิกษุสงฆ์ที่กำลังนั่งประชุมกันอยู่ที่โรงกลม ทรงแจ้งพระประสงค์จะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าพระภิกษุสงฆ์ทูลแนะนำให้เสด็จไปหาพระสุมนเถระ ผู้เป็นพุทธุปัฏฐาก เมื่อพระกุมารเสด็จเข้าไปหาพระเถระและทรงแจ้งพระประสงค์ของพระองค์ถวายพระสุมนเถระแล้ว พระเถระเข้าฌานมีอาโปกสิณเป็นอารมณ์แล้วแทรกแผ่นดินเข้าไปสู่พระคันธกุฏีกราบทูลพระพุทธองค์ว่า พระราชกุมารมาเฝ้า พระพุทธองค์ตรัสใช้ให้พระสุมนเถระออกไปปูอาสนะภายนอกพระคันธกุฏี พระเถระจึงแทรกแผ่นดินนำพุทธอาสน์ออกไปปูลาดภายนอกพระคันธกุฏี พระกุมารได้ทอดพระเนตรเห็นพระเถระดำดินเข้าออกเช่นนั้น ก็ทรงเห็นเป็นอัศจรรย์ ทรงคิดว่าพระรูปนี้ใหญ่ยิ่งจริงหนอเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จออกจากพระคันธกุฏีประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์แล้วพระกุมารถวายนมัสการกราบทูลถามว่า พระภิกษุรูปนี้เห็นจะเป็นภิกษุที่พระองค์ทรงโปรดปรานมากกระมัง ? พระพุทธองค์ตรัสตอบรับว่าเป็นอย่างนั้น พระกุมารทูลถามต่อไปว่า พระภิกษุรูปนี้ได้ทำกรรมอะไรไว้จึงได้มาเป็นภิกษุที่โปรดปรานอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่าภิกษุรูปนี้ได้ทำบุญให้ทานไว้มาก พระกุมารจึงกราบทูลว่าท่านเองก็ปรารถนาจะได้รับตำแหน่งภิกษุที่พระพุทธเจ้าทรงโปรดปรานอย่างนั้นบ้างในอนาคตกาล แล้วได้ถวายขันธวารภัตสิ้น ๗ วัน ในวันที่ ๗ ได้กราบทูลเล่าเรื่องที่พระเจ้านันทราช พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ท่านปฏิบัติรับใช้พระพุทธองค์ได้ ๓ เดือน และกราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าให้เสด็จไปประทับจำพรรษา ณ โภคคาม กับท่านเป็นเวลา ๓ เดือน เมื่อทรงทราบว่าพระพุทธองค์ทรงรับแล้ว จึงกราบทูลว่าท่านเองจะเสด็จไปก่อนเพื่อสร้างพระวิหารเตรียมรับเสด็จ เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ท่านจะส่งสาส์นมาถวาย แล้วให้พระพุทธองค์เสด็จไปพร้อมกับพระภิกษุหนึ่งแสนรูปเมื่อได้กราบทูลนัดแนะเสร็จแล้วก็ทูลลากลับเข้าสู่พระราชวัง กราบทูลพระบิดาว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์แล้ว เมื่อท่านส่งสาส์นมาก็ขอให้พระบิดาช่วยกราบทูลเชิญเสด็จด้วย พระเจ้านันทราชทรงรับรองอย่างดี

ครั้นแล้วพระกุมารก็กราบลาพระบิดาเสร็จไปยังโภคคาม ให้สร้างวิหารไว้ในระหว่างทางห่างกัน ๑ โยชน์ ต่อหลัง สิ้นระยะทาง ๑๒๐ โยชน์เป็นวิหาร ๑๒๐ หลังเพื่อให้พระผู้มีพระภาคทรงพักอาศัยในคราวเสด็จไปสู่โภคคาม และเมื่อพระกุมารเสด็จไปถึงโภคคามแล้ว ก็ได้ทรงแสวงหาสถานที่ที่จะสร้างวิหาร ทรงเห็นอุทยานของโสภนกุฏุมพีจึงทรงขอซื้อด้วยเงินหนึ่งแสน ต่อจากนั้นทรงสร้างพระคันธกุฏีสำหรับพระพุทธเจ้า สร้างที่พักกลางวันที่พักกลางคืน สำหรับพระภิกษุสงฆ์ สร้างลานกุฏิ กำแพงประตู และซุ้มประตู เมื่อทรงสร้างทุกสิ่งทุกอย่างสำเร็จแล้ว จึงได้ส่งสาส์นไปทูลพระบิดาให้อาราธนา พระพุทธเจ้าเสด็จไปยังโภคคามได้

พระเจ้านันทราชได้ทรงอังคาสพระพุทธเจ้าแล้วกราบทูลให้เสด็จไปยังโภคคาม ตามที่พระกุมารทูลนิมนต์ไว้ พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์หนึ่งแสนรูปเสด็จไปยังโภคคาม และทรงพักตามวิหารรายทางต่างๆ จนถึงโภคคาม พระกุมารได้เสด็จออกไปถวายการต้อนรับเป็นระยะทาง ๑ โยชน์ ทรงบูชาด้วยดอกไม้ของหอมหลายอย่างและนำเสด็จเข้าสู่โสภนวิหาร กราบทูลถวายพระวิหารนั้นเป็นพุทธบูชา

ครั้นต่อมาเวลาใกล้วันเข้าพรรษา พระกุมารได้ถวายมหาทานและได้ทรงชักชวนพระโอรสพระชายา และพวกอมาตย์ให้ถวายทานอย่างพระองค์บ้าง ตลอดเวลา ๓ เดือน พระกุมารได้ทรงอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าอยู่เป็นประจำ และได้เสด็จไปหาท่านพระสุมนเถระเสมอๆ ครั้นออกพรรษาปวารณาแล้ว จึงเสด็จกลับสู่พระราชนิเวศน์และได้ถวายมหาทานอีก ๗ วัน ในวันที่ ๗ ได้ถวายจีวรแก่พระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์แล้วทรงตั้งมโนปณิธานว่า ด้วยเดชะกุศลกรรมที่ได้ทรงสร้างมาทั้งหมดนี้ ขอให้พระองค์ได้เป็นพุทธุปัฏฐากของพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งในอนาคตกาลอย่างเช่นพระสุมนเถระนั้นเถิด พระปทุมุตตร พุทธเจ้าทรงพยากรณ์แล้วเสด็จออกเดินทางไปโปรดสัตว์ ณ ที่อื่นต่อไป


๐ บุรพกรรมของท่านสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า

ในศาสนาของพระปทุมุตตร พุทธเจ้านี้ ท่านพระอานนท์ได้เคยถวายทาน เป็นเวลาหนึ่งแสนปี ครั้นจุติจากชาตินั้นได้ไปเกิดในสวรรค์ จุติจากสวรรค์ลงมาเกิดในมนุษยโลก ในศาสนาของพระกัสสปพุทธเจ้า ก็ได้ถวายจีวรทำการบูชาพระเถระผู้เที่ยวบิณฑบาตรูปหนึ่ง ครั้นจุติจากชาตินั้นก็ได้ไปเกิดในสวรรค์อีก และเมื่อจุติจากสวรรค์ได้ลงมาเกิดเป็นพระเจ้าพาราณสีได้ถวายมหาทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๘ องค์ พระทรงสร้างบรรณศาลา ๘ หลังในมงคลอุทยานของพระองค์ ถวายให้เป็นที่ประทับของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้ง ๘ องค์ นอกจากนั้นยังได้สร้างตั่ง ๘ ตัวทำด้วยรัตนะล้วนทุกชนิด สร้างเตียง ๔ ตัวทำด้วยแก้วมณี และที่รองรับเท้า ๘ ที่ ทำด้วยพระปัจเจก พุทธเจ้าประทับนั่งในคราวเสด็จมา พระองค์ได้ทรงอุปัฏฐากพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นเวลาหมื่นปี


๐ เกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตร่วมกับพระพุทธเจ้า

ท่านพระอานนท์ได้เคยทำบุญให้ทาน อยู่เป็นเวลา ๑ แสนกัป ในชาติก่อนที่จะลงมาเกิดในชาตินี้ ได้เคยไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตร่วมกับพระพุทธเจ้าของเราครั้งเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ ครั้นจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตก็ได้มาเกิดในศากยตระกูล ดังกล่าวแล้ว


๐ กิจในหน้าที่ของพุทธอุปัฏฐาก

นี่แสดงให้เห็นว่า ท่านพระอานนท์ได้รับตำแหน่งที่ตนปรารถนาสำเร็จแล้ว และเมื่อได้รับตำแหน่งแล้ว ท่านก็ได้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยดี กิจที่ท่านทำเป็นประจำแก่พระพุทธเจ้าคือ

๑. ถวายน้ำ ๒ อย่าง คือน้ำเย็นและน้ำร้อน
๒. ถวานไม้สีฟัน ๓ ขนาด
๓. นวดพระหัตถ์และพระบาท
๔. นวดพระปฤษฏางค์
๕. ปัดกวาดพระคันธกุฏี และบริเวณพระคันธกุฏี


๐ พระมหาสาวกผู้เป็นเอตทัคคผู้เป็นเลิศในในพุทธอุปัฏฐาก

ในตอนกลางคืนท่านกำหนดเวลาได้ว่า เวลานี้พระพุทธองค์ทรงต้องการอย่างนั้นอย่างนี้แล้วเข้าเฝ้า เมื่อเฝ้าเสร็จก็ออกมาอยู่ยาม ณ ภายนอกพระคันธกุฏีในคืนหนึ่งๆ ท่านถือประทีปด้ามใหญ่เวียนรอบบริเวณพระคันธกุฏีถึง ๘ ครั้ง ท่านคิดว่าหากท่านง่วงนอน เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเรียกท่านจะไม่สามารถขานรับได้ ฉะนั้น จึงไม่ยอมวางประทีปตลอดทั้งคืน

ท่านพระพุทธโฆษจารย์ได้กล่าวยกย่องท่านพระอานนท์ไว้ว่าท่านขยันในการอุปัฏฐากมาก ในบรรดาพระภิกษุผู้เคยอุปัฏฐากพระพุทธเจ้ามาแล้ว ไม่มีใครทำได้เหมือนท่าน เพราะพระภิกษุเหล่านั้นไม่รู้พระทัยของพระพุทธองค์ดี จึงอุปัฏฐากได้นาน ด้วยเหตุนี้ในคราวที่พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานพระองค์ได้ตรัสกับท่านว่า “อานนท์ เธอได้อุปัฏฐากตถาคตด้วยกายธรรม วจีกรรมมโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตา ซึ่งเป็นประโยชน์เกื้อกูล เป็นความสุข ไม่มีสอง หากประมาณมิได้มาช้านานแล้ว เธอได้ทำบุญไว้มากแล้วอานนท์ เธอจงประกอบความเพียรเถิด จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะโดยฉับพลัน”

แล้วตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่าใด ที่มีมาแล้วในอดีตกาลภิกษุผู้เป็นอุปัฏฐากของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นอย่างยิ่งก็เหมือนกับอานนท์ของเราเท่านั้น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่าใดที่จักมีอนาคตกาล ภิกษุผู้เป็นอุปัฏฐากของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นอย่างยิ่งก็เพียงอานนท์ของเราเท่านั้น อานนท์เป็นบัณฑิตย่อมรู้ว่า นี่เป็นกาลเพื่อจะเข้าเฝ้าพระตถาคตนี่เป็นกาลของพวกภิกษุ นี่เป็นกาลของพวกภิกษุณี นี่เป็นกาลของพวกอุบาสก นี่เป็นกาลของพวกอุบาสิกา นี่เป็นกาลของพระราชา นี่เป็นกาลของพวกอำมาตย์ราชเสวก นี่เป็นกาลของพวกเดียรถีย์ นี่เป็นกาลของพวกสาวกของพวกเดียรถีย์”


(มีต่อ 1)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 20 ก.ย. 2006, 7:28 am, ทั้งหมด 6 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 09 ส.ค. 2006, 9:36 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

๐ พระมหาสาวกผู้เป็นเอตทัคคะ
ในการเป็นพหูสูต มีสติ มีคติ มีธิติ


นอกจากท่านพระอานนท์จะขยันในการอุปัฏฐากแล้ว ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ยังกล่าวไว้ว่า ท่านพระอานนท์เป็นผู้ขยันในการศึกษาเล่าเรียนขยันในการท่อง ขยันในการจำ ขยันในการทรงไว้อีกด้วย

ในเรื่องการทรงจำนั้น ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ได้เล่าไว้ว่า ท่านพระอานนท์มีปัญญา มีความจำดี ท่านได้ฟังครั้นเดียว ไม่ต้องถามอีกก็สามารถจำได้เป็นจำนวนตั้ง ๖๐,๐๐๐ บาท ๑๕,๐๐๐ คาถา โดยไม่เลอะเลือน ไม่คลาดเคลื่อน เหมือนบุคคลเอาเถาวัลย์มัดดอกไม้ถือไป เหมือนจารึกอักษรลงบนแผ่นศิลา เหมือนน้ำมันใสของราชสีห์ที่บุคคลใส่ไว้ในหม้อทองคำ ฉะนั้น

ด้วยเหตุที่ท่านขยันเรียน และมีความจำดีนี่เอง ท่านจึงได้รับยกย่องว่าเป็นพหูสูต เป็นธรรมภัณฑาคาริก ทรงจำพระพุทธพจน์ได้ถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ คือท่านเรียกจากพระพุทธองค์ ๘๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์และเรียนจากเพื่อนสหธรรมมิกอีก ๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แม้ท่านจะเป็นเพียงพระโสดาบันก็ตาม แต่ท่านก็มีปัญญาแตกฉานในปฏิสัมภิทา มีความรู้เชี่ยวชาญในเรื่องปฏิจจสมุปบาท จึงสามารถสั่งสอนศิษย์ได้มากมาย ศิษย์ของท่านส่วนมากก็เป็นพหูสูตเช่นเดียวกับท่าน ว่ากันว่า ท่านพูดได้เร็วกว่าคนธรรมดา ๘ เท่า คือคนเราพูด ๑ คำ ท่านพูดได้ ๘ คำ

ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ได้พรรณนาคุณของท่านพระอานนท์ไว้อีกอย่างหนึ่งว่า ท่านมีรูปงาม น่าเลื่อมใส น่าทัศนายิ่งนัก ยิ่งเป็นพหูสูตด้วย ก็ยิ่งทำให้สังฆมณฑลนี้งดงามยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงมีบริษัททั้ง ๔ นิยมไปหาท่านกันมาก ข้อนี้สมจริงดังพระดำรัสที่ตรัสยกย่องท่านว่า ท่านมีอัพภูตธรรม คือคุณอันน่าอัศจรรย์ ๔ ประการ คือ ถ้าภิกษุบริษัทภิกษุณีบริษัท อุบาสกบริษัท และอุบาสิกาบริษัทเข้าไปหาท่าน พอได้เห็นรูปเท่านั้นก็มีความยินดี พอได้ฟังธรรมเทศนาของท่านก็ยิ่งมีความยินดี แม้เมื่อท่านแสดงธรรมจบลงแล้ว ก็ยังฟังไม่อิ่ม แล้วทรงเปรียบเทียบท่านซึ่งมีคุณอันน่าอัศจรรย์นี้กับพระเจ้าจักรพรรดิ คือว่า พระเจ้าจักรพรรดินั้นเมื่อขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คฤหบดีบริษัท และสมณบริษัทเข้าเฝ้า พอได้เห็นก็มีความยินดี ครั้นได้ฟังพระดำรัส ก็ยิ่งมีความยินดี แม้ตรัสจบแล้วก็ยังไม่อิ่ม

ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงได้รับเอตทัคคะว่า เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายถึง ๕ อย่าง คือ ๑. เป็นผู้มีพหูสูต ๒. เป็นผู้มีสติ ๓. เป็นผู้มีคติ ๔. เป็นผู้มีความเพียร ๕. เป็นอัคคุปัฏฐาก

เกียรติคุณอีกอย่างหนึ่งที่ท่านได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ คือ มีฝีมือทางช่าง สาเหตุที่ทรงชมเชย มีว่าครั้งหนึ่ง พระพุทธองค์เสด็จจากนครราชคฤห์ไปสู่ทักษิณาคิรีชนบท ได้ทอดพระเนตรเห็นคันนาของชาวมคธเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีคันนาสั้นๆ คั่นในระหว่าง แล้วตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า จะเย็บจีวรอย่างนั้นได้ไหม ? ท่านทูลรับว่า เย็บได้ และต่อมาท่านเย็บจีวรให้พระหลายรูปแล้วนำไปถวายให้ทอดพระเนตร พระพุทธองค์ทอดพระเนตรแล้วตรัสชมเชยในท่ามกลางสงฆ์ว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นคนฉลาด เป็นเจ้าปัญญา ซาบซึ้งถึงเนื้อความแห่งถ้อยคำ ที่เรากล่าวโดยย่อให้พิสดารได้ ทำผ้ากุสิก็ได้ ทำผ้าอัฑฒกุสิ ผ้ามณฑล ผ้าอัฑฒมณฑล ผ้าวิวัฏฏะ ผ้าอนุวิวัฏฏะ ผ้าคีเวยยกะ ผ้าชังเฆยยกะ และผ้าพาหันตะก็ได้”

นอกจากหน้าที่อุปัฏฐากประจำองค์อย่างใกล้ชิดแล้ว ท่านพระอานนท์ ยังปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ อีกหลายอย่าง เป็นต้นว่า

งานรับสั่ง เช่นพระพุทธองค์รับสั่งให้ท่านไปประกาศคว่ำบาตรแก่วัฑฒลิจฉวี เพราะเหตุที่วัฑฒลิจฉวีได้สมรู้ร่วมคิดกับพระเมตติยะ และพระภุมมชกะ กล่าวใส่ร้ายท่านพระทัพพมัลลบุตร ว่า เสพเมถุนธรรมกับชายาของท่าน รับสั่งให้ท่านนำนางยักษิณีเข้าเฝ้า เพื่อระงับการจองเวรจองผลาญกันและกัน รับสั่งให้ท่านเรียกพระภิกษุสงฆ์ที่นครเวสาลีเข้าประชุมเพื่อฟังอานาปานสติ รับสั่งให้ท่านแจ้งข่าวแก่พวกมัลลกษัตริย์ กรุงกุสินาราว่า พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานที่ป่าไม้สาละ ณ ราตรีนั้น เป็นต้น

งานมอบหมาย เช่น ครั้งหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงเลื่อมใสศรัทธา ทรงพระประสงค์จะถวายนิตยภัตรแก่พระพุทธองค์และพระภิกษุสงฆ์เป็นประจำทุกวัน พระพุทธองค์ตรัสว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่รับนิตยภัตรประจำในที่แห่งเดียว เพราะมีคนจำนวนมากต้องการจะทำบุญกับพระพุทธเจ้า จึงหวังจะให้เสด็จไปหาตนกันทั้งนั้น เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบดังนั้น จึงทูลขอพระภิกษุ ๑ รูปให้ไปรับนิตยภัตรของพระองค์ พระผู้มีพระภาค จึงทรงมอบภาระนี้ให้แก่ท่านพระอานนท์ เมื่อได้รับมอบหมายแล้ว ท่านก็ไปรับเป็นประจำ แม้ว่าในตอนหลังๆ พระเจ้าปเสนทิโกศล จะทรงลืมสั่งให้คนจัดนิตยภัตรถวายไปบ้าง แต่ท่านก็ยังไปอยู่เป็นประจำ

อีกครั้งหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงพระประสงค์จะให้พระนางมัลลิกาเทวี และพระนางวาสภขัตติยา พระมเหสีของพระองค์ได้ศึกษาธรรม จึงทูลนิมนต์ให้พระพุทธองค์กับภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป ไปสอนธรรมแก่พระมเหสีทั้งสองพระพุทธองค์ตรัสบอกข้อขัดข้องดังกล่าวแล้วข้างต้น พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงมอบหมายให้ภิกษุรูปอื่นไปแทน พระพุทธองค์ก็มอบหมายให้ท่านพระอานนท์รับภาระหนี้ และท่านก็ทำได้ดีเช่นเดียวกัน และในตอนที่จะเสด็จปรินิพพาน ได้ทรงมอบหมายให้ท่านลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ เมื่อพระองค์นิพพานไปแล้วในฐานหัวดื้อไม่ยอมเชื่อฟังคำตักเตือนของพระอัครสาวก และเมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้วท่านก็ได้ไปลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ สำเร็จตามที่ทรงมอบหมายไว้

โดยส่วนตัวแล้ว ท่านพระอานนท์ รักพระพุทธองค์มาก แม้ชีวิตของท่านก็ยอมสละเพื่อพระพุทธองค์ได้ ดังมีเรื่องเล่าว่า

ครั้งหนึ่ง พระเทวทัตต์ ปล่อยช้างนาราคิรี เพื่อให้ปลงพระชนม์พระพุทธองค์ พอช้างวิ่งมาใกล้พระพุทธองค์ ท่านได้เดินออกหน้าเพื่อให้ช้างแทงท่านแทน แต่พระองค์ทรงห้ามไว้

ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ประชวรด้วยโรคลมในพระอุทร ท่านคิดว่าหากพระพุทธองค์ได้เสวยยาคู ก็คงจะหายดังเช่นครั้งก่อนๆ ท่านจึงขอเครื่องปรุงยาคู มาปรุงเอง แล้วนำไปถวายให้เสวย พระพุทธองค์ทรงทราบว่าท่านปรุงเอง จึงติเตียนว่า ท่านทำการไม่ควรไม่เหมาะสม มิใช่กิจสมณะ ใช้ไม่ได้ ทำไมจึงพอใจมักมากเช่นนั้น อามิส ที่เก็บไว้ภายในที่อยู่เป็นอกัปปิยะ แม้หุงต้มในที่อยู่ก็เป็นอกัปปิยะ

ครั้งหนึ่ง พระกายของพระผู้มีพระภาค หมักหมนด้วยสิ่งที่เป็นโทษพระผู้มีพระภาคจึงตรัสบอกเรื่องนี้แก่ท่าน แล้วตรัสว่าทรงประสงค์จะเสวยยาระบาย ท่านจึงเข้าไปหาหมอ ชีวกโกมารภัจ บอกพระอาการดังกล่าวให้ฟัง แล้วขอให้ปรุงยาระบายถวาย หมอชีวกแนะนำให้ทำพระกายของพระพุทธองค์ให้ชุ่มชื่นสัก ๒๓ วัน ท่านก็ได้ปฏิบัติตามนั้นแล้วไปแจ้งให้หมอชีวกทราบอีก หมอชีวกจึงได้ปรุงยาระบายพิเศษ อบด้วยก้านอุบล ๓ ก้าน ใช้ดมไม่ใช่ใช้กินอย่างยาระบายอื่นๆ เมื่อพระพุทธองค์ทรงสูดดมทั้ง ๓ ก้าน ก็ทรงระบายถึง ๓๐ ครั้ง

ในคราวที่พระผู้มีพระภาคประชวรหนักที่นครเวสาลี และทรงใช้ความเพียรขับไล่อาพาธนั้นไปได้ ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้ทูลเล่าความในใจของท่านถวายพระพุทธองค์ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญข้าพระองค์เห็นความสำราญของพระผู้มีพระภาคแล้ว ข้าพระองค์เห็นความอดทนของพระผู้มีพระภาคแล้ว ก็แต่ว่า เพราะการประชวรของพระผู้มีพระภาค กายของข้าพระองค์ประหนึ่งจะงอมระงมไป แม้ทิศทั้งหลายก็ไม่ปรากฏแก่ข้าพระองค์ แม้ธรรมทั้งหลายก็ไม่แจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็แต่ว่า ข้าพระองค์ยังเบาใจอยู่หน่อยหนึ่งว่า พระผู้มีพระภาคจักยังไม่เสด็จปรินิพพานก่อน จนกว่าจะได้ทรงปรารภสงฆ์ แล้วตรัสพระพุทธพจน์อย่างใดอย่างหนึ่ง”

ครั้งหนึ่ง ขณะที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่นิโครธารามใกล้นครกบิลพัสดุ์ พระองค์เพิ่งทรงฟื้นจากไข้หนักได้ไม่นาน พระเจ้ามหานามะได้เสด็จเข้าไปทูลถามปัญหาว่า ญาณเกิดก่อนสมาธิ หรือว่าสมาธิเกิดก่อนญาณ ? ท่านพระอานนท์เห็นว่าปัญหานี้หนักมากจะเป็นการลำบากมากแก่พระพุทธองค์ เพราะเพิ่งฟื้นจากประชวรไข้ จึงได้จับพระหัตถ์พระเจ้ามหานามะนำเสด็จออกไปข้างนอก แล้วท่านอธิบายปัญหาธรรมข้อนั้นเสียเอง

เมื่อทราบว่า พระพุทธองค์จะเสด็จปรินิพพานแน่แล้ว ท่านก็ได้ทูลขอให้ทรงอยู่ต่อไปถึง ๓ ครั้ง แต่พระพุทธองค์ตรัสบอกว่าได้ทรงรับนิมนต์ของมารไว้เสียแล้ว พร้อมกันนี้ ได้ทรงเล่าถึงนิมิตโอภาส ๑๖ ตำบล ที่พระองค์ทรงแสดง เพื่อให้ท่านนิมนต์ (ให้ทรงอยู่ต่อไป) แต่ท่านพระอานนท์ไม่นิมนต์ แล้วตรัสว่า นี้เป็นความผิดของท่านพระอานนท์เอง

เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จไปสู่ป่าไม้สาละ ใกล้นคร กุสินารา พอเสด็จไปถึง ก็ตรัสใช้ให้ท่านช่วยตั้งเตียงให้หันพระเศียรไปทางทิศอุดร ระหว่างไม้สาละทั้งคู่ เมื่อท่านจัดการตั้งเตียงตามรับสั่งแล้วพระพุทธองค์ทรงประทับสีหไสยาโดยพระปรัศ์วเบื้องขวา ท่านทราบแน่ว่าพระผู้มีพระภาคจะปรินิพพานที่นี่แล้ว จึงหลีกออกจากที่เฝ้าเข้าไปสู่วิหาร ยืนเหนี่ยวไม้คันทวยร้องไห้อยู่ ครั้นพระพุทธองค์ทรงทราบก็ตรัสให้เรียกท่านไปเฝ้าแล้วตรัสปลอบโยนให้หายเศร้าโศก ท่านทูลให้เสด็จไปปรินิพพานที่เมืองใหญ่ๆ เช่น เมืองจัมปา เมือราชคฤห์ เมืองพาราณสี เมืองสาวัตถี เมืองสาเกต เมืองโกสัมพี ไม่ควรมาปรินิพพานที่เมืองเล็ก เมืองดอน กิ่งเมืองอย่างนั้นเลย พระพุทธองค์จึงตรัสเล่าเรื่องความเป็นมาแห่งเมืองกุสินาราให้ฟังโดยละเอียด (ความปรากฏในมหาสุทัสสนสูตร)

ตามปรกติ ท่านให้ความสะดวกแก่ผู้ที่จะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเสมอ แต่ถ้าหากเห็นว่า จะเป็นการลำบากพระพุทธองค์แล้ว ท่านจะห้ามไว้ เช่นในคราวสุภัททะ ขอเข้าเฝ้าเพื่อทูลถามปัญหา ท่านเห็นว่าเวลานั้นพระพุทธองค์ กำลังจะเสด็จปรินิพพานอยู่แล้ว สุภัททะนี้จะเข้าไปรบกวนพระพุทธองค์ จึงได้ห้ามไว้ไม่ยอมให้เข้าเฝ้า แต่พระพุทธองค์รับสั่งให้เข้าไปได้

และในตอนที่พระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานแล้ว ท่านได้เล่าไว้ว่าเมื่อพระพุทธเจ้าผู้ประกอบด้วยอาการอันประเสริฐทั้งปวงเสด็จปรินิพพานแล้ว ครั้งนั้นได้เกิดความอัศจรรย์น่าสะพึงกลัว และเกิดอาการขนพองสยองเกล้า


๐ สนทนาธรรมกับพระสาวกอื่นและ
เทศน์โปรดพุทธบริษัทพราหมณ์และปริพาชก


เนื่องจากท่านเป็นพหูสูต เป็นธรรมภัณฑาคารก ท่านจึงได้เป็นที่ปรึกษาของเพื่อนภิกษุ อุบาสกและอุบาสิกา ตลอดจนพวกพราหมณ์ ปริพาชกนักบวชนอกพระศาสนา ดังจะได้ยกมาเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้


๐ เทศนาดับราคะที่เกิดกับพระวังคีสะ

ครั้งหนึ่ง ขณะที่ท่านพักอยู่ที่เชตวันมหาวิหาร ในตอนเช้าท่านเข้าไปบิณฑบาตในนครสาวัตถี อันมีท่านพระวังคีสะเป็นปัจฉาสมณะท่านพระวังคีสะเห็นสตรีรูปงาม แต่งตัวสวย เกิดความกระสันรัญจวนจิตขึ้น จึงกล่าวกับท่านพระอานนท์ว่า ท่านมีความเร่าร้อนเพราะกามราคะขอให้ท่านพระอานนท์ช่วยระงับราคะให้ท่านพระอานนท์จึงแนะนำว่า จิตของพระวังคีสะรุ่มร้อนเพราะสัญญาวิปลาส ให้พระวังคีสะละเว้นนิมิตอันงามเสีย จงเห็นสิ่งทั้งหลายโดยความเป็นของแปรปรวน โดยความเป็นทุกข์ และอย่าเห็นโดยความเป็นตน จงดับราคะอันแรงกล้า จงอย่าให้ราคะเผาผลาญบ่อย ๆ จงเจริญสุภกัมมัฏฐาน ให้จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียวจงเจริญกายคตาสติ จงเป็นผู้มากด้วยความหน่าย จงเจริญความไม่มีนิมิต จงถอนมานานุสัยเสีย เพราะการรู้เท่าถึงมานะ ก็จะเป็นผู้สงบระงับได้


๐ เทศน์โปรดพระกามภู

ครั้งหนึ่ง ท่านพระอานนท์ ได้พักอาศัยอยู่ที่โฆสิตารามใกล้นครโกสัมพี กับท่านพระกามภู ในตอนเย็นวันหนึ่ง ท่านพระกามภูออกจากที่พักผ่อนไปหาท่านพระอานนท์ เรียนถามท่านว่าจักษุเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรูป รูปเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุหรือ ? ฯลฯ ใจเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของใจหรือ ? ท่านพระอานนท์ตอบว่า จักษุเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรูป แต่รูปหาใช่เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุไม่ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักษุและรูปทั้งสองนั้นสัมผัสกัน ฯลฯ ใจเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของธรรมารมณ์แต่ธรรมารมณ์หาใช่เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของใจไม่ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยใจและธรรมารมณ์ทั้งสองนั้นสัมผัสกัน เปรียบเหมือนโคดำและโคขาวที่เขาผูกติดกันด้วยเชือกเส้นเดียวกัน หากบุคคลใดจะกล่าวว่าโคดำเกี่ยวเนื่องกับโคขาว โคขาวเกี่ยวเนื่องกับโคดำ บุคคลนั้นกล่าวชอบไหม ? ท่านพระกามภูตอบว่า บุคคลนั้นกล่าวไม่ชอบ เพราะโคดำไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับโคขาว เป็นแต่เกี่ยวเนื่องกันด้วยเชือกที่เขาผูกติดกันเท่านั้นท่านพระอานนท์จึงกล่าวสรุปความว่า ข้อนี้ฉันใด จักษุเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรูป แต่รูปไม่ได้เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุฉันนั้น


๐ เทศน์โปรดพระอุทายี

ครั้งหนึ่ง ท่านพระอานนท์พักอาศัยที่โฆสิตารามใกล้นครโกสัมพี กับท่านพระอุทายี วันหนึ่งท่านพระอุทายีได้เข้าไปหาท่านพระอานนท์ เรียนถามถึงคำกล่าวของ ปัญจาลจัณฑเทพบุตรที่ว่า พระพุทธองค์ทรงรู้แล้วซึ่งโอกาสอันไปแล้วในที่แคบนั้น คำว่าที่แคบนี้หมายความว่ากระไร ? ท่านตอบว่าที่แคบได้แก่ กามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

อีกครั้งหนึ่ง ท่านพระอุทายีได้เรียนถามท่านพระอานนท์ถึงเรื่องอนัตตาว่า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกอย่างแจ่มแจ้งแล้วว่ากายนี้เป็นอนัตตา แต่ว่าวิญญาณนั้นจะเป็นอนัตตาด้วยหรือ ? ท่านพระอานนท์ตอบเป็นอนัตตาด้วย ท่านอธิบายว่า เพราะวิญญาณเกิดขึ้นด้วยอาศัยอายตนะภายในกระทบกับอายตนะภายนอก เมื่ออายตนะภายใน หรืออายตนะภายนอกดับไป วิญญาณก็ย่อมดับไปด้วย ท่านยกอุปมาว่า เหมือนบุรุษผู้ต้องการแก่นไม้เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้ ถือขวานอันคมเข้าไปในป่าพบต้นกล้วยใหญ่ลำต้นตรงใหม่ ไม่รุงรัง ในป่านั้น พึงตัดที่โคนต้นแล้วตัดที่ปลาย แล้วลอกกาบออก เขาจะไม่พบแม้แต่กระพี้ของมัน แล้วเขาจะพบแก่นของมันได้อย่างไรเล่า ข้อนี้ฉันใด ภิกษุจะพิจารณาหาตัวตนสิ่งที่เป็นตัวตนในผัสสายตนะ ๖ ไม่ได้ฉันนั้น เหมือนกัน


๐ เทศน์โปรดพระฉันนะ

ครั้งหนึ่ง ท่านพระฉันนะ ได้เข้าไปหาท่านพระอานนท์ ขณะพักอยู่ที่โฆสิตาราม ใกล้นครโกสัมพี กล่าวใจความถวายว่าสมัยหนึ่ง ท่านอาศัยอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้นครพาราณสี ท่านได้เข้าหาพระเถระหลายรูป ขอร้องให้พระเถระเหล่านั้นช่วยกล่าวสอน พร่ำสอนท่าน พระเถระทั้งหลายได้สอนท่านว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ท่านบอกว่า ท่านไม่เลื่อมใส ใจไม่หลุดพ้นจากกิเลส จึงมาคิดคำนึงว่า ใครหนอจะแสดงธรรมแก่ท่าน ทำให้ท่านได้เห็นธรรม ก็คิดได้ว่า ท่านพระอานนท์นี่แหละจะแสดงธรรมแก่ท่านได้เพราะท่านพระอานนท์เป็นผู้ที่พระบรมศาสดาทรงยกย่องสรรเสริญว่าสามารถแสดงธรรมแก่เพื่อนพรหมจารย์ได้ ทั้งท่านพระอานนท์ก็มีความคุ้นเคยกับท่านด้วยดี ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงมาหาท่านพระอานนท์ขอให้ท่านพระอานนท์ช่วยแสดงธรรมแก่ท่าน ตามที่ท่านพระอานนท์ได้กล่าวสอนเรื่องที่ท่านได้สดับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่าพระพุทธองคต์ได้ตรัสกับภิกษุ กัจจายนโคตรว่าโลกนี้โดยมากอาศัยส่วน ๒ อย่างคือ ความมี และความไม่มี เมื่อบุคคลเห็นเหตุเกิดแหงโลกด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอยู่ ความไม่มีในโลกย่อมไม่มี เมื่อบุคคลเห็นความดับแห่งโลกด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอยู่ ความไม่มีในโลกย่อมไม่มีเมื่อบุคคลเห็นความดับแห่งโลกด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอยู่ ความมีในโลกย่อมไม่มี โลกนี้โดยมากพัวพันด้วยอุบายเป็นเหตุถือมั่นและความยึดมั่น แต่พระอริยสาวกย่อมไม่เข้าถึง ไม่ถือมั่น ไม่ตั้งไว้ซึ่งอุบายเป็นเหตุถือมั่น มีควาวมยึดมั่นด้วยความตั้งใจไว้เป็นอนุสัยว่า อัตตาของเราย่อมไม่เคลือบแคลงสงสัยว่า ทุกข์นี่แหละเมื่อบังเกิดขึ้น ย่อมบังเกิดขึ้น ทุกข์เมื่อดับย่อมดับ อริยสาวกนั้นมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นเลยด้วยเหตุเพียงเท่านี้จึงชื่อว่าสัมมาทิฐิ ส่วนสุดที่ ๑ ว่า สิ่งที่ปวงมีอยู่ ส่วนสุดที่ ๒ ว่า สิ่งทั้งปวงไม่มี พระตถาคตแสดงธรรมโดยสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้สายสุดทั้งสองนั้นว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ ฯลฯ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลเหล่านี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ และเพราะอวิชชานั้นแหละดับ สังขารจึงดับ ฯลฯความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้

เมื่อท่านพระอานนท์กล่าวจบ ท่านพระฉันนะได้กล่าวชมเชยท่านพระอานนท์ว่า ท่านเหล่าใดกล่าวสอนธรรมอย่างนี้ ท่านเหล่านั้นเป็นผู้อนุเคราะห์มุ่งประโยชน์ กล่าวสอน และพร่ำสอนเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย และท่านรับท่านได้เข้าใจธรรมเทศนาอย่างแจ่มแจ้ง


๐ เทศน์โปรดพระภัททะ

สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์กับท่านพระภัททะ อาศัยอยู่ที่กุกกุฏารามใกล้เมืองปาฏลีบุตร เย็นวันหนึ่ง ท่านพระภัททะออกจากที่พักผ่อน เข้าไปหาท่านพระอานนท์ เรียนถามท่านว่าพระพุทธเจ้าตรัสศีลที่เป็นกุศลไว้เพื่อประสงค์อะไร ? ท่านพระอานนท์กล่าวชมเชยท่านพระภัททะว่าเป็นคนช่างคิด ช่างถาม และได้ตอบว่า พระพุทธองค์ตรัสไว้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการเจริญสติปัฏฐาน ๔


๐ พระภัททชิเทศน์โปรดพระอานนท์

สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์พักอาศัยอยู่ที่โฆสิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพีท่านพระภัททชิได้เข้าไปหาท่านถึงที่พัก ท่านได้ถามท่านพระภัททชิว่า บรรดาการเห็นทั้งหลาย การเห็นชนิดไหนเป็นยอด บรรดาการได้ยินทังหลาย การได้ยินชนิดไหนเป็นยอด บรรดาสัญญาทั้งหลาย สัญญาชนิดไหนเป็นยอด บรรดาภพทั้งหลายภพชนิดไหนเป็นยอด ท่านพระภัททชิตอบว่า เห็นพระพรหมชื่อว่าเป็นยอดของการเห็น ได้ยินเสียงของเหล่าเทพอาภัสสระ ชื่อว่าเป็นยอดของการได้ยิน ความสุขของเหล่าเทพสุภกิณหะ เป็นยอดของความสุข การเข้าถึงอากิญจัญญายตนภพ เป็นยอดของสัญญาการเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภพ เป็นยอดของภพ

ท่านพระอานนท์กล่าวว่า คำตอบของท่านพระภัททชินี้ สมกับคำของชนส่วนมากเขากล่าวกัน ท่านพระภัททชิจึงขอให้ท่านพระอานนท์อธิบายให้ฟัง ท่านจึงกล่าวว่า การเห็นตามเป็นจริง เป็นยอดของการเห็นได้ยินตามเป็นจริง เป็นยอดของการได้ยิน ได้สุขตามเป็นจริง เป็นยอดของสุข สัญญาตามเป็นจริง เป็นยอดของสัญญา เป็นอยู่ตามเป็นจริงเป็นยอดของภพ

ได้รับการสรรเสริญพระพุทธองค์ว่าสามารถแสดงธรรมที่ทรงแสดงไว้โดยย่อให้พิสดารได้
ครั้งหนึ่ง พระภิกษุทั้งหลายได้ฟังธรรมกถาย่อๆ จากสำนักพระผู้มีพระภาค ไม่เข้าใจเกิดความลังเลสงสัย จึงพร้อมใจกันไปหาท่านพระอานนท์ เล่าความถวายท่านว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศโดยย่อว่าบุคคลควรทราบสิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์สิ่งที่เป็นประโยชน์ ครั้นทราบแล้วจึงปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรม ตามสิ่งที่เป็นประโยชน์ ดังนี้ ไม่ทรงจำแนกอรรถโดยพิสดารเสด็จลุกจากอาสนะเข้าสู่พระวิหารเสีย พวกท่านจึงได้พร้อมใจกันมาขอให้ท่านพระอานนท์ช่วยจำแนกให้ฟังว่า อะไรคือสิ่งที่ไม่เป็นธรรม และอะไรคือสิ่งที่เป็นธรรม

ท่านพระอานนท์กล่าวกับภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลายเหมือนผู้ต้องการไม้แก่น เที่ยวหาไม้แก่นอยู่ แต่เมื่อพบแล้วก็ไม่ตัดเอารากและลำต้นมัน ไปสำคัญใบและกิ่งว่าเป็นแก่นไม้ที่ตนต้องประสงค์ แล้วจะพบแก่นไม้ได้อย่างไร ? ข้อนี้เหมือนกับภิกษุทั้งหลายเมื่อพบพระพุทธเจ้า ซึ่งเปรียบเทียบเหมือนไม้ใหญ่มีแก่นแล้ว แต่ไม่ทูลถาม มาถามท่านซึ่งเป็นเสมือนใบและกิ่งของไม้

พระภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า ถึงอย่างนั้นก็จริง แต่ว่า ท่านพระอานนท์ได้รับคำสรรเสริญยกย่องจากพระพุทธองค์ และเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายว่าเป็นผู้สามารถจำแนกแจกอรรถแห่งธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยย่อไว้ให้พิสดารได้

ท่านพระอานนท์จึงได้จำแนกอรรถแห่งธรรมนั้นโดยพิสดารถวายพระภิกษุทั้งหลาย คือท่านกล่าวว่า อริยมรรค ๘ ประการ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น คือสิ่งที่เป็นธรรม ที่ตรงกันข้ามกับอริยมรรค ๘ คือสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ในตอนท้าย ท่านสั่งให้ภิกษุเหล่านั้นเข้าพบพระพุทธเจ้า และทูลถามอรรถธรรมนั้นอีก พระภิกษุทั้งหลายชื่นชมธรรมภาษิตของท่านมากลุกจากอาสนะแล้วไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลเล่าความที่พระอานนท์ขยายพุทธพจน์โดยย่อถวายให้ทรงทราบ พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญพระอานนท์ ณที่นั้นว่า เป็นบัณฑิตมีปัญญามาก ตรัสว่า ถ้าภิกษุทั้งหลายมาทูลถามพระองค์ถึงอรรถนั้น พระองค์ก็จะทรงอธิบายอย่างที่พระอานนท์อธิบายนั่นแหละ


๐ เทศน์โปรดคฤหบดีพราหมณ์และปริพาชก

นอกจากเป็นที่ปรึกษาของพุทธบริษัทแล้ว ท่านยังเป็นที่ปรึกษาของพวกพราหมณ์ปริพาชกด้วย เช่น


๐ เทศน์โปรดคฤหบดี

สมัยหนึ่ง ขณะที่ท่านพักอาศัยอยู่ที่โฆสิตาราม ใกล้นครโกสัมพีโฆสิต คฤหบดีได้เข้าไปหาท่าน แล้วเรียนถามท่านเกี่ยวกับความแตกต่างแห่งธาตุที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง ? ท่านพระอานนท์ตอบว่าจักขุธาตุ โสตธาตุ ฆานธาตุ ชิวหาธาตุ กายธาตุ มโนธาตุ เป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา ทุกขเวทนา และอุเบกขาเวทนา


๐ เทศน์โปรดอุณณาภพราหมณ์

อีกสมัยหนึ่ง ขณะที่ท่านพระอานนท์พักอาศัยอยู่ที่โฆสิตารามใกล้นคร โกสัมพี พราหมณ์คนหนึ่งชื่ออุณณาภะ ได้เข้าไปหาท่านถึงที่พัก แล้วเรียนถามท่านว่า ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดม เพื่อประโยชน์อะไร ? ท่านตอบว่า เพื่อละฉันทะ อุณณาภ พราหมณ์ถามต่อไปว่า ข้อปฏิบัติให้ละฉันทะมีด้วยหรือ ? ท่านตอบว่า “มี” และอธิบายว่าวิธีละฉันทะนั้นต้องเจริญอิทธิบาท ๔ คือ ฉันทสมาธิและปธานสังวร วิริยสมาธิและปธานสังวร จิตตสมาธิและปธานสังวร วิมังสาสมาธิและปธานสังวร

อุณณาภ พราหมณ์แย้งว่า จะเอาฉันทะไปละฉันทะได้อย่างไร ? ท่านอธิบายว่า เหมือนกับอุณณาภะนี่แหละ เมื่อก่อนจะมาสู่อารามก็มีความพอใจ มีความเพียร มีความคิด มีความตรึกตรอง ว่าเราจะไปอาราม ครั้นไปถึงอารามแล้วความพอใจก็ระงับไปความเพียรก็ระงับไปความคิดก็ระงับไป ความตรึกตรองก็ระงับไป ข้อนี้เปรียบเหมือนกับภิกษุผู้เป็นพระขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ในเบื้องต้นก็มีความพอใจ ความเพียร ความคิด ความตรึกตรองเพื่อให้บรรลุอรหันต์ ครั้นบรรลุอรหันต์แล้ว ความพอใจ ความเพียร ความคิด ความตรึกตรองก็ระงับไป

พอท่านกล่าวจบ ท่านอุณณาภ พราหมณ์มีความพอใจมากกล่าวคำชมเชย และขอแสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต


๐ เทศน์โปรดฉันนปริพาชก

ครั้งหนึ่ง ขณะที่ท่านพระอานนท์พักอาศัยอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหารใกล้นครสาวัตถี ฉันนปริพาชก ได้เข้าไปหาท่านถึงที่พัก และได้เรียนถามท่านว่า พวกพระภิกษุพุทธสาวกนี้ ได้บัญญัติการละราคะ โทสะ โมหะหรือ ? ท่านตอบว่าได้บัญญัติฉันนปริพาชก เรียนถามต่อไปว่า เห็นโทษในราคะ โทสะ โมหะ อย่างไร จึงได้บัญญัติการละไว้ ? ท่านตอบว่าเพราะบุคคลผู้กำหนัด ถูกความกำหนัดครอบงำรัดรึงจิตไว้ บุคคลผู้ดุร้ายถูกความดุร้ายครอบงำรัดรึงจิตไว้ บุคคลผู้หวงถูกความหวงครอบงำรัดรึงจิตไว้ ย่อมคิดแต่จะเบียดเบียนตนและผู้อื่น เสวยทุกข์โทมนัสทางจิตย่อมประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ย่อมไม่รู้แม้ประโยชน์ตนประโยชน์ผู้อื่น ตามความเป็นจริง ราคะ โทสะ โมหะ ทำให้มืด ทำให้บอด ทำให้ไม่รู้อะไร ทำให้ปัญญาดับ เป็นไปในฝ่ายคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน แต่เมื่อละ ราคะ โทสะ โมหะ ได้แล้ว ย่อมไม่คิดเบียดเบียนตนและผู้อื่น เสวยแต่สุขโสมนสประพฤติแต่กายสุจริต วจีสุจริตมโนสุจริต ย่อมรู้จักประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นตามเป็นจริง

เมื่อฉันนปริพาชกเรียนถามว่า วิธีปฏิบัติเพื่อละ ราคะ โทสะโมหะ มีหรือ เป็นอย่างไร ? ท่านตอบว่ามี คือ อริยมรรค ๘ แล้วอธิบายโดยพิสดาร


๐ เทศน์โปรดสาวกของอาชีวก

ครั้งหนึ่ง ขณะที่ท่านพักอาศัยอยู่ที่โฆสิตาราม ใกล้นครโกสัมพีสาวกของอาชีวกคนหนึ่งเข้าไปหาท่าน ไหว้แล้วถามท่านว่า คนพวกไหนได้กล่าวธรรมไว้ดีแล้ว คนพวกไหนได้ปฏิบัติธรรมดีแล้ว คนพวกไหนดำเนินไปดีแล้วในโลก ท่านตอบว่า คนพวกใดก็ตามแสดงธรรมเพื่อละราคะ โทสะ โมหะ คนพวกนั้น ชื่อว่า กล่าวธรรมไว้ดีแล้ว คนพวกใดปฏิบัติธรรมเพื่อละ ราคา โทสะ โมหะ คนพวกนั้นชื่อว่าปฏิบัติธรรมดีแล้ว คนพวกใดละ ราคะ โทสะ โมหะ ได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้ไม่มีที่ตั้งดุจตาลยอดด้วน คนพวกนั้นชื่อว่าดำเนินไปดีแล้วในโลก

ท่านสาวกอาชีวกคนนั้นพอใจธรรมนี้มาก ได้กล่าวว่าท่านพระอานนท์ กล่าวธรรมไม่ยกธรรมของตน ไม่รุกรานธรรมของผู้อื่นเป็นการเทศนาเฉพาะเหตุผล ไม่ได้นำตนเข้าไป กล่าวแต่เนื้อ


๐ เทศน์โปรดเจ้าอภัยลิจฉวี กับเจ้าบัณฑิตกุมารลิจฉวี

ครั้งหนึ่ง ขณะที่ท่านพักอาศัยอยู่ที่กุฏาคารศาลา ป่ามหาวันใกล้นครเวสาลี เจ้าอภัยลิจฉวี กับเจ้าบัณฑิตกุมารลิจฉวี ได้พากันไปท่าน กราบเรียนว่า ท่านนิครนถนาฏบุตรได้บัญญัติว่า กรรมเก่าหมดไปเพราะความเพียรเผากิเลส ฆ่าเหตุได้เพราะทำกรรมใหม่ ด้วยประการฉะนี้จึงเป็นอันว่า เพราะกรรมสิ้นไป ทุกข์จึงหมดไป เพราะทุกข์หมดไป เวทนาจึงสิ้นไป เพราะเวทนาสิ้นไป ทุกข์ทั้งสิ้นจึงจักเสื่อมไปโดยไม่เหลือการล่วงทุกข์ย่อมมีได้โดยความหมดจด แล้วท่านถามว่าในข้อนี้พระผู้มีพระภาคตรัสไว้อย่างไร ? ท่านพระอานนท์ตอบว่า พระพุทธองค์ได้ตรัสความหมดจดไว้ ๓ ขั้น คือหมดจดด้วย ศีล สมาธิ และปัญญา

ตอนจบธรรมกถา เจ้าบัณฑิตกุมาร ถามเจ้าอภัยว่า อภัยเพื่อนรักทำไมท่านไม่ชื่นชมอนุโมทนาคำสุภาษิตของท่านพระอานนท์โดยความจริงด้วยคำสุภาษิต เจ้าอภัยตอบว่า ไฉนไม่ชื่นชมอนุโมทนาเล่า ใครไม่ชื่นชมอนุโมทนาคำของท่านพระอานนท์ความคิดของผู้นั้นเสื่อมทรามทีเดียว


(มีต่อ 2)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 20 ก.ย. 2006, 7:27 am, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 09 ส.ค. 2006, 10:33 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

๐ เทศน์โปรดโกกนุทปริพาชก

สมัยหนึ่งท่านอาศัยอยู่ที่ตโปทาราม ใกล้นครราชคฤห์ เช้าวันหนึ่งท่านตื่นแต่เวลาใกล้รุ่ง แล้วไปสรงน้ำที่ท่าตโปทา ครั้นสรงน้ำเสร็จแล้วก็กลับขึ้นจากท่ามีจีวรผืนเดียวยืนผึ่งตัวอยู่ โกกนุทปริพาชกผู้ซึ่งตื่นแต่เช้าตรู่ และเดินทางเพื่อจะสรงน้ำที่ท่าตโปทาเช่นเดียวกัน ได้เห็นพระเถระยืนอยู่จึงร้องถามไปว่าเป็นใคร ท่านตอบว่าเป็นพระพวกสมณศากยบุตรโกกนุทะ เรียนถามว่าจะถามปัญหาข้อข้องใจได้ไหม ? ท่านตอบว่า ถามมาเถิดท่านจะแก้ แล้วโกกนุทะก็ถามว่า ท่านเห็นว่าโลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิงอื่นเปล่าหรือหนอ ? ท่านตอบว่า ท่านไม่ได้เห็นอย่างนั้นแล้วโกกนุทะ ก็เรียนถามไปทีละข้อในทิฐิ ๑๐ ประการ คือท่านเห็น่วาโลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น ชีพอย่างหนึ่งสรีระอย่างหนึ่ง สัตว์ตายแล้วย่อมเป็นอีก สัตว์ตายแล้วย่อมไม่เป็นอีก สัตว์ตายแล้วย่อมเป็นอีกก็มี ไม่เป็นอีกก็มี สัตว์ตายแล้วย่อมเป็นอีกก็ไม่ใช่ ไม่เป็นอีกก็ไม่ใช่ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่าหรือ ? ท่านตอบว่าท่านไม่ได้เห็นอย่างนั้น โกกนุทะ ถามว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านก็ไม่รู้ ไม่เห็นอะไรซิ ? ท่านตอบว่าท่านรู้ท่านเห็นโกกนุทะ ถามต่อไปอีกว่า ท่านรู้เห็นอย่างไร ? ท่านตอบว่า ท่านรู้แล้วว่า เรื่องที่โกกนุทะ ถามทั้งหมดเป็นทิฐิท่านรู้เห็นทิฐิ และความเพิกถอนทิฐิว่ามีประมาณเท่าใด ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า ท่านรู้อยู่เห็นอยู่

เมื่อท่านกล่าวจบ โกกนุท ปริพาชกแปลกใจ เรียนถามชื่อท่านพอท่านบอกว่าชื่ออานนท์ โกกนุทะ ถึงกับอุทานออกมาว่า "โอ ไม่รู้เลยว่าเราสนทนาอยู่กับอาจารย์ผู้ใหญ่ ก็ถ้าข้าพเจ้ารู้เสียแต่แรกว่าพระคุณท่านคือพระอานนท์ไซร้ ข้าพเจ้าก็จะไม่พึงกล่าวโต้ตอบถึงเพียงนี้ ขอท่านพระอานนท์จงยกโทษให้แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด"


๐ เทศน์โปรดนางมิคสาลา อุบาสิกา

ครั้งหนึ่ง ท่านพักอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร ในตอนเช้าได้เข้าไปบ้านของนางมิคสาลา อุบาสิกา นางได้เรียนถามว่า ธรรมของพระพุทธเจ้าเอาประมาณไม่ได้ คือคนที่ประพฤติพรหมจรรย์และคนที่ไม่ได้ประพฤติพรหมจรรย์ มีคติเสมอในสัมปรายภพ แล้วนางเล่าความว่าบิดาของนางชื่อปุราณะเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ งดเว้นจากเมถุนธรรม เมื่อทำกาละไปแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า เป็นสกทาคามีบุคคลไปเกิดในชั้นดุสิต อีกคนหนึ่งชื่ออิสิทัตตะผู้เป็นที่รักของบิดาของนาง ผู้นี้ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ แต่สันโดษยินดีในภริยาของตนเท่านั้น เมื่อเขาตายไปแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ทรงพยากรณ์ว่าเป็นสกทาคามีบุคคล ไปเกิดในชั้นดุสิตเหมือนกัน ท่านพระอานนท์ก็รับรองว่า พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์อย่างนั้น และเมื่อรับบิณฑบาตเสร็จแล้ว ท่านได้กลับไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคถึงเรื่องนี้ พระพุทธองค์จึงตรัสเรื่องบุคคล ๑๐ จำพวก


๐ เทศน์โปรดพระเจ้าปเสนทิโกศล

ครั้งหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศล กษัตริย์แห่งแคว้นโกศลได้เสด็จด้วยช้างชื่อบุณฑริก ออกจากนครสาวัตถีในเวลากลางวันทอดพระเนตรเห็นพระอานนท์แต่ที่ไกล จึงให้อำมาตย์ไปอาราธนาให้ท่านหยุดรออยู่ก่อนท่านพระอานนท์ก็หยุดรออยู่ ครั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปถึง ได้อาราณธนาท่านไปที่ริมฝั่งแม่น้ำอจิรวดีกับพระองค์ ครั้นเสด็จไปถึงที่นั้นแล้วทรงถามท่านพระอานนท์ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประพฤติกายสมาจาร วจีสมาจาร มโนสมาจาร ที่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้รู้แจ้งพึงติเตียนได้มีบ้างไหม? ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่าไม่มีเลย

พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงสรรเสริญว่า "น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยมีมาก่อน" ตรัสต่อไปว่า "พวกชนผู้เป็นพาลไม่ฉลาดไม่ใคร่ครวญไม่พิจารณา กล่าวคุณหรือโทษของคนอื่น เราทั้งหลายยังยึดถือคำนั้นว่าเป็นแก่นสารนักไม่ได้ แต่ถ้าชนชั้นบัณฑิตผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาดใคร่ครวญพิจารณาแล้ว กล่าวคุณหรือโทษของผู้อื่นเราทั้งหลายควรยึดถือว่าเป็นสาระแก่นสารได้"

ต่อจากนั้น พระเจ้าปเสนโกศล ได้ตรัสถามว่า กายสมาจารวจีสมาจาร และมโนสมาจาร ที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้รู้พึงติเตียนเป็นเช่นไร ? ท่านพระอานนท์ทูลว่า ได้แก่กายสมาจาร วจีสมาจาร มโนสมาจารที่เป็นอกุศล ที่มีโทษ ที่มีความเบียดเบียนตนและผู้อื่น ที่มีทุกข์เป็นผล

พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามถึงกายสมาจาร วจีสมาจาร มโนสมาจารที่สมณพราหมณ์ไม่พึงติเตียนว่าเป้นเช่นไร ? ท่านพระอานนท์ถวายว่าได้แก่ กายสมาจาร วจีสมาจาร มโนสมาจารที่เป็นกุศลไม่มีโทษ ไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น มีสุขเป็นผล

ในตอนจบการสนทนาธรรม พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงสรรเสริญท่านพระอานนท์ว่า กล่าวธรรมได้ดีมาก และตรัสว่าหากว่าช้างแก้วม้าแก้ว บ้านส่วย ควรแก่ท่านพระอานนท์แล้ว พระองค์ทรงยินดีจะยกถวาย แต่นี้ไม่สะดวกแก่สมณะ ผ้าพาหิติกายาว ๑๖ ศอก กว้าง ๘ ศอกที่พระเจ้าอชาตศัตรู ถวายพระองค์นี้สมควรแก่ท่านพระอานนท์ พระองค์จะทรงถวาย แต่ท่านพระอานนท์ทูลปฏิเสธว่า ไตรจีวรของท่านมีครบบริบูรณ์แล้ว พระองค์ตรัสอ้อนวอนให้ท่านอนุเคราะห์รับไว้ และทรงแนะนำให้เอาผ้าเก่าถวายแก่เพื่อนสหธัมมิกรูปอื่นไปเสีย ท่านจึงรับไว้

เมื่อได้เวลาอันสมควร พระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จกลับท่านพระอานนท์ก็กลับไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ซึ่งทรงพักพระอิริยาบถกลางวันอยู่ที่ปราสาทของมิคารมารดา ทูลถวายผ้าพาหิติกาผืนนั้นแล้วทูลเล่าเรื่องการสนทนาธรรมกับพระเจ้าปเสนทิโกศล ทุกประการ พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญท่านท่ามกลางภิกษุสงฆ์จำนวนมาก


๐ พระอานนท์จัดการให้พราหมณ์ได้ถวาย
ยาคูกับขนมปรุงด้วยน้ำหวานแด่พระพุทธองค์


ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป เสด็จจาริกจากนครพาราณสีมุ่งตรงไปยังอันธกวินทชนบท คราวนั้นประชาชนชนบทได้นำอาหารจำนวนมากบรรทุกเกวียนติดตามไปเพื่อจัดถวายพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ พราหมณ์คนหนึ่งในจำนวนนั้นตั้งใจจะถวายอาหารบ้าง แต่ไม่ได้โอกาสสักที ติดตามขบวนเสด็จมาก็ตั้ง ๒ เดือนกว่าแล้ว จึงเข้าไปตรวจดูในโรงครัวว่าขาดอะไรบ้างก็เห็นว่ายังขาดยาคูกับขนมปรุงด้วยน้ำหวาน จึงเข้าไปหาท่านพระอานนท์เรียนถามว่าตนจะถวายยาคูและขนมปรุงด้วยน้ำหวานแก่พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ได้หรือไม่ ท่านพระอานนท์จึงเข้าไปทูลถาม พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตให้พราหมณ์ปรุงถวายได้ และเมื่อฉันเสร็จทรงแสดงอานิสงส์ของยาคูไว้ ๑๐ ประการ คือ ๑. ให้อายุ ๒. ให้วรรณะ ๓. ให้สุข ๔. ให้พละ ๕. ให้ปฏิภาณ ๖. กำจัดความหิว ๗. กำจัดความระหาย ๘. ทำให้ลมเดินคล่อง ๙. ล้างลำไส้ได้ดี ๑๐. ย่อยอาหารใหม่ที่เหลืออยู่ได้


๐ พระอานนท์ทูลขอปลูก
พระศรีมหาโพธิ์ไว้ที่พระเชตวันมหาวิหาร


ครั้งหนึ่ง ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีคิดว่า พระเชตวันมหาวิหารของท่าน เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จจาริกไปโปรดสัตว์ที่อื่นเสียก็ว่างเปล่าไม่มีร่องรอยอะไรเลย อุบาสกอุบาสิกาถือดอกไม้ของหอมไปจะบูชาไม่มีปูชนียสถานจะบูชา จึงทิ้งไว้ที่ประตูพระคันธกุฏี ท่านจึงเข้าไปปรึกษากับท่านพระอานนท์ ท่านพระอานนท์จึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลถามเรื่องพระเจดีย์ ว่ามีกี่อย่าง พระพุทธเจ้าตรัสว่ามี ๓ อย่าง คือสารีริกธาตุเจดีย์ ปาริโภคิกเจดีย์ และอุเทกสิกเจดีย์ แล้วท่านทูลเล่าเรื่องที่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีปรารภกับท่าน ในที่สุดท่านทูลถามว่าจะนำพืชโพธิ์จากต้นมหาโพธิ์มาปลูกไว้ที่ประตู พระเชตวันมหาวิหาร จะได้หรือไม่ พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต ท่านจึงกลับไปแจ้งแก่ท่านเศรษฐี พระเจ้าปเสนทิโกศล และนางวิสาขา ให้ขุดหลุมปลูกต้นโพธิ์ที่หน้าประตูพระเชตวัน แล้วนิมนต์ให้ท่านพระมหาโมคคัลลานะก็ไปนำมาถวายตามประสงค์ ครั้นได้พืชโพธิ์แล้วท่านได้แจ้งข่าวแต่พระเจ้าปเสนทิโกศล และคนทั้งหลายว่า เราจะปลูกโพธิ์กันในวันนี้ ในตอนเย็นของวันนั้น พระราชารับสั่งให้คนถืออุปกรณ์หลายอย่างเสด็จไปที่นั้นพร้อมด้วยราชบริพารจำนวนมาก ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขา และผู้มีศรัทธาอื่นๆ ก็พากันไปที่นั่นอย่างพร้อมเพรียง จากนั้นพระเถระจึงวางกระเช้าทองคำไว้ที่ที่จะปลูกต้นโพธิ์ ให้เจาะรูตรงก้นแล้วทูลเกล้าถวายพระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นผู้ปลูก แต่พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงมอบหมายให้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นผู้ปลูก อนาถบิณฑิกเศรษฐีจึงเอาน้ำหอมพรมพืชโพธิ์ แล้ววางพืชโพธิ์ลงไปในหลุมโพธิ์นี้มีนามว่า "อานันทโพธิ" เพราะท่านพระอานนท์เป็นผู้ให้ปลูก


๐ พระอานนท์ทูลขอให้พระพุทธองค์
เทศน์โปรดเจ้าโรชะมัลลกษัตริย์


ครั้งหนึ่ง พระพุทธองค์เสด็จจาริกจากอาปาณนิคม ตรงไปยังนครกุสินารา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป พวกมัลลกษัตริย์พอได้สดับข่าวการเสด็จมาของพระผู้มีพระภาค ก็ได้ตระเตรียมต้อนรับเป็นการใหญ่ ออกประกาศว่า หากใครไม่จัดการต้อนรับเสด็จจะต้องถูกปรับสินไหมเป็นเงิน ๕๐๐ กษาปณ์ และเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึง ก็ทรงได้รับการต้อนรับอย่างมโหฬารยิ่ง มัลลกษัตริย์องค์หนึ่งชื่อโรชะ เป็นสหายของท่านพระอานนท์ก็เสด็จไปถวายการร้อนรับด้วย ครั้นถวายการต้อนรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ก็เสด็จเข้าไปหาท่านพระอานนท์ อภิวาทแล้วประทับนั่งที่สมควร ท่านพระอานนท์ได้ปราศรัยเป็นเชิงชมเชยว่า "แหม ! ท่านโรชะ ท่านจัดการต้อนรับพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างมโหฬารเชียว"

เจ้าโรชะตรัสว่า "ที่ไหนได้ท่านอานนท์ พระพุทธ พระธรรมพระสงฆ์ ไม่ทำให้ผมจัดการต้อนรับใหญ่อย่างนี้เลย พระญาติของผมต่างหาก ได้ตั้งกติกาไว้ว่า หากผู้ใดไม่จัดการต้อนรับเสด็จ ผู้นั้นจะถูกปรับสินไหม เป็นเงิน ๕๐๐ กษาปณ์ ผมกลัวถูกปรับสินไหมดอก จึงได้จัดการต้อนรับเสด็จครั้งนี้"

ท่านพระอานนท์ได้ฟังพระดำรัสของเจ้าโรชะ แล้วไม่พอใจ รีบเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ทูลเล่าเรื่องให้ทรงทราบ และทูลแนะขึ้นว่า เจ้าโรชะเป็นคนมีชื่อเสียงมีคนรู้จักมาก การชักจูงให้คนมีชื่อเสียงอย่างนี้มาเลื่อมใสในพระศาสนา จะทำให้มีอิทธิพลมากขึ้น และทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงบันดาลให้เจ้าโรชะมีความเลื่อมใสในพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ทรงรับว่าการบันดาลให้เจ้าโรชะเลื่อมใสนั้นไม่ยากเลยแล้วทรงแผ่เมตตาจิตไปยังเจ้าโรชะ ครั้นแล้วเสด็จลุกจากอาสนะเสด็จเข้าสู่พระวิหาร ฝ่ายเจ้าโรชะพอถูกเมตตาจิตของพระพุทธองค์ก็บังเกิดความเลื่อมใส เสด็จลุกจากอาสนะเที่ยวค้นหาพระพุทธองค์ตามพระวิหาร ตามบริเวณทั่วทุกแห่งก็ไม่พบ ตรัสถามพระภิกษุทั้งหลายว่า พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่ไหน พระภิกษุทูลแนะนำว่า พระพุทธองค์ประทับอยู่ในพระวิหาร เวลานี้ประตูปิดสนิทแล้วขอให้สงบเสียงเสด็จตรงไปที่ประตู และทรงเคาะประตูนั้น พระพุทธองค์จักทรงเปิดรับท่าน เจ้าโรชะได้ทรงปฏิบัติดังนั้น จึงได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์จึงทรงแสดง อนุปุพพิกถาโปรด ครั้นเจ้าโรชะมีจิตสะอาดดีแล้ว จึงทรงแสดงอริยสัจจ์ ๔ ครั้นจบพระธรรมเทศนาเจ้าโรชะได้ดวงตาเห็นธรรม

วันต่อมาเจ้าโรชะจะถวานทานแด่พระพุทธองค์ และพระภิกษุสงฆ์แต่ไม่ได้โอกาสตามลำดับ เพราะมีคนมากมายจัดตั้งลำดับภัตตาหารไว้แล้ว ท่านเห็นว่ายังขาดผักสด และขนมทำด้วยแป้งจึงเข้าไปหาท่านพระอานนท์ขอคำแนะนำว่า จะถวายผักสด และขนมทำด้วยแป้งจะได้ไหม ?ท่านพระอานนท์จึงไปทูลถามพระพุทธเจ้าแล้วกลับมาแจ้งให้เจ้าโรชะทราบว่า ทรงอนุญาตให้จัดถวายได้ เจ้าโรชะได้ถวายสมประสงค์ ก็พอพระทัยยิ่ง

ก่อนหน้านี้ เจ้าโรชะเคยส่งศาส์นไปอาราธนาท่านพระอานนท์ให้ไปหาท่าน และเมื่อท่านพระอานนท์ไปถึงแล้ว ท่านนิมนต์ให้ท่านพระอานนท์สึกออกไปครอบครองเมืองด้วยกัน


๐ พระอานนท์นำภิกษุไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่ป่าปาริไลยกะ

ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ได้เสด็จเข้าไปจำพรรษา ณ ป่าปาริไลยกะเพราะพวกภิกษุชาวเมืองโกสัมพี แตกสามัคคีกัน ขณะที่เสด็จจำพรรษา ณที่นั่น ท่านพระอานนท์ไม่ได้ตามเสด็จด้วย ทรงได้รับการอุปัฏฐากจากช้างปาริไลยกะ เป็นอย่างดี จนข่าวนี้ได้เลื่องลือกันไปทั่วชมพูทวีป บรรดาผู้เลื่อมใสศรัทธาในพระองค์ท่านมีท่านอนาถบิณฑิกะ และนางวิสาขามหาอุบาสิกาเป็นต้น ต่างก็กระหายใคร่จะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ากันจึงได้ส่งสาส์นไปยังท่านพระอานนท์ ขอให้ท่านนำเสด็จพระพุทธเจ้ามาให้พวกตนได้เข้าเฝ้า และพวกพระภิกษุที่อยู่อาศัยในทิศต่างๆ ประมาณ ๕๐๐ รูป ครั้นออกพรรษาแล้ว ก็ได้ไปหาท่านพระอานนท์กล่าวว่า พวกท่านไม่ได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์มาเป็นเวลานานแล้ว ขอให้ท่านพระอานนท์ช่วยให้ได้ฟังธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์ด้วย ท่านพระอานนท์จึงนำภิกษุเหล่านั้นไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่ป่าปาริไลยกะ ครั้นเดินทางไปใกล้จะถึงที่ประทับ ท่านให้ภิกษุทั้งหลายหยุดรออยู่ภายนอกก่อน ท่านเดินไปแต่ผู้เดียวเพราะคิดว่า พระพุทธองค์ประทับแต่ลำพังพระองค์เดียวมาตั้ง ๓ เดือนแล้ว การนำภิกษุจำนวนมากเข้าไปขณะนี้คงไม่เหมาะ เมื่อท่านเดินไปเฝ้านั้น ช้างปาริไลยกะไม่พอใจ จับท่อนไม้จะปาท่าน แต่พระพุทธองค์ทรงเห็นเสียก่อน จึงตรัสบอกแก่ช้างปาริไลยกะว่า ภิกษุที่เดินมานั้นเป็นพุทธุปัฏฐากของพระพุทธองค์ ช้างปาริไลยกะ จึงทิ้งท่อนไม้ และแสดงอาการจะรับบาตรและจีวร แต่ท่านไม่ให้ ช้างจึงตั้งข้อสังเกตว่าหากท่านได้ศึกษาวัตรดีแล้ว ก็คงจักไม่วางบริขารของตนบนแผ่นศิลาที่ประทับของพระศาสดา และก็เป็นจริงตามนั้น คือท่านได้วางบาตร จีวรของตนลงบนพื้นดินและอภิวาทพระพุทธองค์ ทูลขออนุญาตนำภิกษุเข้าเฝ้า แล้วทูลเล่าเรื่องที่ชาวนครต่างพากันคิดถึงพระองค์ ใคร่จะได้สดับตรับฟังธรรมจากพระองค์ แล้วในที่สุดท่านได้ทูลนิมนต์พระพุทธองค์ให้เสด็จกลับได้สำเร็จ

ในปาสราสิสูตรเล่าไว้ว่า พระภิกษุหลายรูปขอร้องให้ท่านพระอานนท์ช่วยสงเคราะห์ให้พวกตนได้ฟังธรรมีกถาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ท่านก็ช่วยเหลือจนพวกภิกษุเหล่านั้นได้ฟังธรรมีกถาจากพระพุทธองค์สมปรารถนา

Image

๐ พระอานนท์ผู้เป็นเหตุให้เกิดภิกษุณีบริษัทขึ้น

งานที่ลือชื่ออีกอันหนึ่งของท่านซึ่งอดกล่าวเสียมิได้คือ ท่านเป็นต้นเหตุ ให้มีภิกษุณีบริษัทขึ้นในสังฆมณฑล ดังมีเรื่องย่อว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์เสด็จไปนครกบิลพัสดุ์ (ครั้งที่พระบิดาปรินิพพาน) พักอยู่ที่นิโครธาราม พระนางปชาบดีโคตมีพระน้านางได้เข้าเฝ้าทูลขออุปสมบทถึง ๓ ครั้ง แต่พระพุทธองค์ทรงห้ามไว้ พระนางเศร้าเสียพระทัยมากครั้งพระพุทธองค์เสด็จออกจากนคร กบิลพัสดุ์ ไปพักอยู่ที่กูฏาคารศาลาป่ามหาวันนครเวสาลี พระนางพร้อมด้วยศากยกุมารีหลายองค์ทรงปลงพระเกษา นุ่งผ้ากาสาวพัสตร์เสด็จด้วยพระบาทเปล่าไปจนถึงที่กูฏาคารศาลาประทับยืนร้องไห้อยู่ที่ซุ้มประตูด้านนอกพระวิหาร พระอานนท์มาพบพระนางมีพระวรกายเปรอะเปื้อนไปด้วยฝุ่ง พระพักตร์นองด้วยพระอัสสุชล หม่นหมอง ยืนร้องไห้อยู่เช่นนั้นก็รู้สึกสงสาร จึงนำความไปกราบทูลให้ทรงทราบ แล้วทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงอนุเคราะห์ แก่พระน้านาง และพระญาติทั้งหลาย ในตอนแรกพระองค์ทรงปฏิเสธไม่ทรงอนุญาตแต่ด้วยปรีชาฉลาดในเหตุผลของท่านที่ยกเอาสิทธิของสตรีในการบำเพ็ญธรรมในพระศาสนาขึ้นมาทูลถามว่า หากมีสตรีประพฤติธรรมจะมีผลให้ได้บรรลุคุณธรรมขั้นสูงได้หรือไม่ เมื่อพระพุทธองค์ตรัสตอบว่าสตรีกับบุรุษมีสิทธิเท่าเทียมกันในการปฏิบัติธรรม ท่านจึงทูลว่าเพื่อมิให้ตัดสิทธิของสตรี ก็ควรให้สตรีบวชได้ และทูลถึงเรื่องพระคุณของพระน้านางที่มีต่อพระพุทธองค์ ในที่สุดก็ทรงอนุญาต แต่ทรงวางเงื่อนไขว่าหากพระน้านางทรงยอมรับ ครุธรรม ๘ ประการ พระองค์จึงจะทรงอนุญาตให้ผนวชได้ ท่านจึงนำความไปแจ้งแก่พระน้านาง พระนางปชาบดีเมื่อได้สดับก็ทรงปลื้มพระทัย น้อมรับเงื่อนไขทันที และที่สุด พระนางปชาบดีก็ได้ผนวชเป็นภิษุณีรูปแรก


๐ พระอานนท์เทศน์โปรดหมู่ภิกษุณี

ครั้งหนึ่ง ท่านพระอานนท์เข้าไปสู่สำนักของนางภิกษุณีแห่งหนึ่งแต่เช้า นางภิกษุณีหลายรูปมาหาท่าน พูดกับท่านว่า ภิกษุณีมากรูปในธรรมวินัยนี้ มีจิตตั้งมั่นดีแล้วในสติปัฏฐาน ๔ ย่อมรู้คุณวิเศษอย่างยิ่ง นอกจากคุณวิเศษในกาลก่อน ท่านยอมรับว่าข้อนั้นเป็นความจริง แล้วท่านแสดงธรรมให้นางภิกษุณีทั้งหลายฟังจนเห็นได้ชัด ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริง แล้วจากไป และเมื่อกลับไปสู่พระเชตวันที่ประทับของพระพุทธองค์ ทูลเล่าเรื่องนี้ให้ทรงทราบพระพุทธองค์ทรงรับรองว่า เป็นอย่างที่ท่านแสดงแล้ว และได้ทรงแสดงธรรมเทศนานั้นให้ท่านฟังโดยพิสดารอีก


๐ ท่านพระอานนท์เป็นธุระเกี่ยวกับภิกษุผู้อาพาธ

สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปตามเสนาสนะต่างๆ กับท่านได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุอาพาธรูปหนึ่ง นอนจมกองมูตรกองคูถของตนอยู่จึงเสด็จเข้าไปใกล้ตรัสถามว่า เป็นโรคอะไร ? ทำไม ไม่มีใครพยาบาล ? ภิกษุนั้นทูลว่าเป็นโรคท้องร่วง ที่ไม่มีผู้พยาบาลก็เพราะท่านไม่ได้ทำอุปการะแก่ภิกษุทั้งหลายไว้ เมื่อทรงทราบดังนั้นจึงรับสั่งให้ท่านพระอานนท์ไปตักน้ำมาถวาย แล้วพระองค์ทรงรดน้ำอาบให้ ท่านพระอานนท์ขัดสี พระพุทธองค์ทรงยกศีรษะ ท่านพระอานนท์ยกเท้า แล้ววางให้นอนบนเตียง

และในวันนั้นเองพระพุทธองค์จึงรับสั่งท่านพระอานนท์ให้เรียกประชุมสงฆ์ ตรัสปรารภข้อที่ไม่มีใครพยาบาลภิกษุผู้อาพาธรูปนั้นเป็นต้นเหตุ แล้วทรงเทศนาว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่มีมารดา ไม่มีบิดา ผู้ใดเล่าจะพึงพยาบาลพวกเธอ ถ้าพวกเธอจะไม่พยาบาลกันเอง ใครเล่าจักพยาบาล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดจะพึงอุปัฏฐากเรา ผู้นั้นพึงพยาบาลภิกษุอาพาธ"

ครั้งหนึ่ง ท่านพระผัคคุณะอาพาธเป็นไข้หนัก ท่านพระอานนท์ได้ทราบจึงกราบทูลเชิญให้พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปเยี่ยมท่านผัคคุณะ พระพุทธองค์ก็เสด็จไปเยี่ยม ตรัสถามถึงอาการป่วยไข้ของท่านผัคคุณะท่านพระผัคคุณะจึงทูลว่า ท่านมีอาพาธแรงกล้ามาก ไม่อาจอดทนได้มีทุกขเวทนาจัด ลมเสียดแทงศีรษะเจ็บปวดเหมือนคนมีกำลังเอามีดโกนอันคมมาเฉือนศีรษะ ปวดท้องเหมือนบุรุษฆ่าโคเอามีดชำแหละโคที่คมมาชำแหละท้องโค เจ็บปวดเร่าร้อนทั่วกาย เหมือนคนมีกำลัง ๒ คน จับแขนคนละข้างดึงไปลนย่างบนหลุมถ่านไฟ ฉะนั้น


๐ พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรม
ทำให้ท่านพระผัคคุณะสำเร็จเป็นพระโสดาบัน


ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารใกล้นครสาวัตถี ท่านพระอานนท์ได้ทราบว่า ท่านพระคิริมานันทะอาพาธหนัก จึงเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ทูลอาราธนาให้พระองค์เสด็จไปเยี่ยม พระพุทธองค์ตรัสใช้ให้ท่านไปเยี่ยมแทน และรับสั่งให้ท่านเรียนสัญญา ๑๐ ประการ เพื่อนำไปสวดให้ท่านพระคิริมานันทะฟัง เมื่อท่านเรียนจนจำคล่องแคล่วขึ้นใจแล้ว จึงทูลลาไปหาท่านพระคิริมานันทะ สวดสัญญา ๑๐ ประการให้ฟัง ครั้นท่านคิริมานันทะได้ฟังสัญญา ๑๐ ประการ อาพาธของท่านก็สงบระงับลงทันที


๐ ท่านพระอานนท์โปรดอุบาสกผู้เจ็บไข้

ครั้งหนึ่ง ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นไข้หนักลุกจากที่นอนไม่ได้ได้สั่งให้คนใช้ของท่านนำอาการไข้ไปกราบทูลพระพุทธเจ้าที่พระเชตวันและให้นิมนต์ท่านพระสารีบุตรไปเทศนาให้ท่านฟังด้วย เมื่อคนใช้ไปกราบทูลพระพุทธเจ้า และนิมนต์ท่านพระสารีบุตร ตามคำสั่งของท่านเศรษฐีแล้ว ท่านพระสารีบุตร กับท่านพระอานนท์ได้เข้าไปเยี่ยมท่านเศรษฐีกล่าวสอนธรรมจนท่านเศรษฐีมีความพอใจในธรรมแล้วจึงลากลับ เมื่อพระเถระทั้งสองกลับไปไม่นาน ท่านเศรษฐีก็ได้ทำกาลกิริยาตายไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต

ครั้งหนึ่ง ท่านสิริวัฑฒ คฤหบดี ชาวเมืองราชคฤห์ อาพาธเป็นไข้หนัก สั่งให้คนใช้ไปนิมนต์ท่านพระอานนท์ให้ไปเยี่ยม ท่านก็ไปเยี่ยมถึงบ้านของท่านสิริวัฑฒะ และได้ถามถึงอาการไข้ ท่านคฤหบดีได้เล่าถวายแล้วท่านสอนให้ท่านคฤหบดีพิจารณาเห็นกายในกาย ให้มีความเพียรให้มีสติสัมปชัญญะ กำจัด อภิชฌา และโทมนัสเสีย

ท่านสิริวัฑฒะ รับว่า ท่านมีคุณธรรมนี้ทุกประการแล้ว และท่านพระอานนท์ก็รับรองว่าท่านสิริวัฑฒะ ได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีบุคคล

และในคราวที่มานทินนคฤหบดี ชาวเมืองราชคฤห์ อาพาธหนักท่านพระอานนท์ก็ได้ไปเยี่ยม และแสดงธรรมเรื่องเดียวกันนี้ให้ฟังในที่สุดมานทินนคฤหบดี ก็ได้สำเร็จอนาคามีผล เช่นเดียวกัน


๐ ความช่างคิดช่างสังเกตชอบศึกษา
และชอบไต่ถามของพระอานนท์


โดยปรกติ ท่านพระอานนท์เป็นคนช่างคิด และช่างสังเกตเช่นครั้งหนึ่ง ท่านสังเกตเห็นพระอาทิตย์ พระจันทร์ และพระราชาแล้วนึกเปรียบเทียบว่ามีรัศมีเทียบกับพระพุทธเจ้าไม่ได้เลย นอกจากนั้นท่านยังเป็นคนชอบศึกษา และชอบไต่ถามอีกด้วย เรื่องที่ทูลถามพระพุทธองค์นั้นมีมากมาย ล้วนแต่เป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติทั้งสิ้น เช่นเรื่อง นิโรธ โลก สุญญะ เวทนา อิทธิ อานาปานสติ ภวะ อานิสงส์ของศีล อานิสงส์ของสมาธิ สังฆเภท คุณธรรมของภิกษุผู้สอนธรรมแก่ภิกษุณี คันธชาติ ผาสุกวิหารธรรม ลักษณะภิกษุผู้เป็นบัณฑิต ที่เกิดของอาชาไนย อุโบสถของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย และเหตุที่เสด็จออกผนวช อันเป็นเหตุให้ทรงแสดงปัพพชาสูตร เป็นต้น

นอกจากทูลถามปัญหาธรรมต่างๆ แล้ว ท่านยังทูลถามเหตุการณ์ที่ทำให้พระพุทธองค์ทรงแย้ม และทรงนิ่งเฉย หรือเมื่อท่านได้พบเหตุการณ์ สถานที่ และบุคคลที่น่าสนใจอะไรๆ ก็ทูลถามให้ทรงเล่าให้ฟังเสมอๆ เช่น ในคราวตามเสด็จไปถึงบ้านญาติกา ท่านได้ทูลถามถึงบุคคลต่างๆ ในบ้านนั้น ซึ่งได้ตายไปแล้ว พระพุทธองค์ก็ทรงเล่าประวัติแต่ละคนให้ท่านฟัง ว่าคนมีคุณธรรมนั้นๆ ตายแล้วไปเกิดที่นั้นๆ ดังนี้เป็นต้น ครั้งหนึ่ง ท่านเดินไปโคจรบิณฑบาตในนครสาวัตถี ได้เห็นรถของชาณุสโสณีพราหมณ์ สวยงามมาก ตัวรถสีขาวและเครื่องประดับรถทั้งหมดก็สีขาว เมื่อท่านกลับจากบิณฑบาติก็ได้ทูลเรื่องนี้ให้ทรงทราบ แล้วขอให้ทรงบัญญัติยานอันประเสริฐเช่นนั้นบ้างพระพุทธองค์จึงตรัสว่า อริยมรรคนั่นแหละ เรียกว่า พรหมยาน ก็ได้ ธรรมยาน ก็ได้ และรถพิชัยสงคราม ก็ได้


๐ พระสูตรที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่ท่านโดยตรง

เนื่องด้วยพรข้อ ๘ และการอยู่อุปัฏฐากอย่างใกล้ชิดกับพระพุทธองค์ท่านจึงได้เรียนธรรมจากพระพุทธองค์ถึง ๘๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ธรรมเหล่านี้ พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่คนอื่น แล้วทรงเล่าให้ท่านฟังอีกครั้งหนึ่งก็มี และที่ทรงแสดงธรรมแก่ท่านโดยตรงก็มี ธรรมที่ทรงแสดงแก่ท่านมีปรากฏอยู่ในพระสูตรต่างๆ เช่น อานันทสูตร คิลานสุตร อธิมุตติสูตร อันธกวินทสูตร สมาทปกสูตร มหาปรินิพพานสูตร มหานิทานสูตร มหาสุทัสสนสูตร อุทานยิสูตร เป็นต้น


๐ พระพุทธเจ้าทรงโปรดให้
พระอานนท์แสดงธรรมแทนพระองค์


แต่บางคราว พระพุทธองค์ทรงใช้ให้ท่านแสดงธรรมแทนพระองค์ก็มี เช่นในคราวที่เสด็จประทับอยู่ ณ สัณฐาคารศาลา กรุงกบิลพัสดุ์ตรัสใช้ให้ท่านแสดงเสขปฏิปทาแก่ภิกษุสงฆ์ และพวกศากยะทั้งหลาย อีกครั้งหนึ่ง ขณะประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหารนครสาวัตถี ตรัสใช้ให้ท่านแสดง อัพภูตธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย

ธรรมเทศนาที่ท่านสนทนากับภิกษุอื่นๆ แล้วนำไปกราบทูลให้ทรงทราบ พระพุทธองค์ทรงรับรองว่า กล่าวถูกต้องดี แล้วทรงอธิบายซ้ำแก่ท่านอีก ก็มีมากมาย เช่น อานันทภัทเทกรัตตสูตร เป็นต้น

บางทีท่านทูลให้พระองค์ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุสงฆ์ หรือสมณพรหมณ์อื่นๆ ที่ท่านเห็นว่าจะได้ประโยชน์ เช่น ทูลขอให้ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่ภิกษุทั้งหลาย ซึ่งนั่งรอเพื่อฟังปาฏิโมกข์อยู่จนเหน็ดเหนื่อย ทูลขอให้ทรงสนทนาธรรมกับสัจจกนิครนถ์ ผู้เป็นนักโต้วาที สำคัญตนว่าเป็นปราชญ์ ปรารถนาจะติเตียนพระรัตนตรัยและทูลขอให้พระพุทธองค์เสด็จไปเทศนาโปรดสังครวพราหมณ์ชาวเมืองสาวัตถี ผู้ถือผิดว่าคนเราบริสุทธิ์ได้ด้วยน้ำ จึงถือการอาบน้ำชำระกายทั้งเช้าและเย็น


(มีต่อ 3)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 08 ก.ย. 2006, 8:30 am, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 09 ส.ค. 2006, 10:43 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

๐ พระอานนท์กับพระเถระชั้นผู้ใหญ่

คุณธรรมอีกอย่างหนึ่งของท่านพระอานนท์ คือ เป็นผู้สุภาพอ่อนโยน มีนิสัยละมุนละไมน่ารัก ทั้งมีความเคารพยำเกรงในพระเถระผู้ใหญ่ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงเป็นที่รักของพระมหาเถระทั้งหลาย มีท่านพระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะและท่านพระมหากัสสปเป็นต้น และท่านได้พบปะสนทนากับพระมหาเถระเหล่านี้บ่อยๆ

ในคัมภีร์อังคุตตรนิกาย ได้กล่าวถึงการสนทนาธรรมระหว่างท่านกับพระสารีบุตร ไว้หลายเรื่อง เช่น เรื่องเกี่ยวกับนิพพาน สมาธิ ภิกษุผู้ฉลาด และภิกษุผู้ไม่ได้สดับ

จากการสนทนาธรรมเหล่านี้ ท่านพระสารีบุตรผู้ซึ่งได้รับเอตทัคคะจากพระพุทธองค์ว่า เป็นยอดแห่งภิกษุณีผู้มีปัญญา ได้ยกย่องท่านพระอานนท์ว่า มีคุณธรรม ๖ อย่าง คือ

(๑) เป็นผู้ได้เรียนได้ฟังธรรมมาก
(๒) เป็นผู้แสดงธรรมตามที่ได้เรียนได้ฟังโดยพิสดาร
(๓) เป็นผู้สายธยายธรรมโดยพิสดาร
(๔) เป็นผู้ตรึกตรองเพ่งพิจารณาธรรม
(๕) เป็นผู้อยู่ใกล้กับพระเถระผู้พหุสูต ผู้ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา
(๖) ท่านได้เข้าหาท่านเหล่านั้น เพื่อเรียนถามข้อที่ควรถามนการอันสมควร

ท่านพระอานนท์มีความเคารพรักในท่านพระสารีบุตรมาก ท่านได้เคยเก็บอดิเรกจีวรซึ่งเกิดแก่ท่านไว้ถวายแก่ท่านพระสารีบุตร อันเป็นต้นเหตุให้ทรงอนุญาตให้เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้ ๑๐ วัน

เมื่อท่านได้ทราบข่าวการปรินิพพานของท่านพระสารีบุตรจากสามเณรจุนทะ อุปัฏฐากของท่านพระสารีบุตร ท่านเสียใจมาก ได้นำความกราบทูลพระผู้มีพระภาค บรรยายความเสียใจถวายว่า กายของท่านประหนึ่งจะงอมระงมไป แม้ทิศทั้งหลายก็ไม่ปรากฏแก่ท่าน ธรรมก็ไม่แจ่มแจ้งแก่ท่าน เพราะการปรินิพพานของท่านพระสารีบุตร พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมแก่ท่านเพื่อปลดเปลื้องความเศร้าเสียใจในโอกาสนี้โดยพิสดาร

ในเถรคาถา กล่าวถึงถ้อยคำของท่านพระอานนท์ไว้ตอนหนึ่งว่าเมื่อท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ผู้เป็นกัลยาณมิตรนิพพานไปแล้วโลกทั้งหมดนี้ปรากฏแก่ท่านเหมือนมืดมน

ท่านพระอานนท์มีความเคารพรักในท่านพระมหากัสสปเถระมากแม้แต่ชื่อของท่านพระมหากัสสป ท่านก็ไม่ยอมระบุ ดังมีเรื่องเล่าไว้ว่าครั้งหนึ่งท่านพระมหากัสสปจะอุปสมบทกุลบุตร จึงส่งทูตให้ไปนิมนต์ท่านพระอานนท์มาสวดอนุสาวนา ท่านไม่รับโดยให้เหตุผลว่า ท่านไม่อาจระบุชื่อของท่านพระมหากัสสปได้ เพราะท่านพระมหากัสสปเป็นที่เคารพของท่าน เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องนี้เข้า ก็ทรงบัญญัติให้สวดอนุสาวนาระบุชื่อโคตรกันได้ และในการสนทนากับท่านพระมหากัสสปเถระท่านใช้คำว่า ภนฺเต เสมอ

Image

๐ พระอานนท์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับปฐมสังคายนา

เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานแล้ว ท่านพระมหากัสสปเถระได้รับอนุมัติจากสงฆ์ให้เลือกพระภิกษุผู้เชี่ยวชาญในพระธรรมวินัย จำนวน ๕๐๐ รูป เพื่อทำปฐมสังคายนา ท่านพระมหากัสสปเถระเลือกได้ ๔๙๙ รูปอีกรูปหนึ่งท่านไม่ยอมเลือก ความจริงท่านต้องการจะเลือกเอาท่านพระอานนท์ แต่ขณะนั้นท่านพระอานนท์ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ครั้นจะเลือกท่านพระอานนท์ก็เกรงจะถูกคหาว่า "เห็นแก่หน้า" เพราะท่านรักพระอานนท์มาก แต่ครั้นจะเลือกภิกษุอื่น ไม่เลือกท่านพระอานนท์ ก็เกรงว่าการทำสังคายนาครั้งนี้จักไม่สำเร็จผลด้วยดี เพราะท่านพระอานนท์ได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นพหุสูตเป็นธรรมภัณฑาคาริก จึงได้ระบุชื่อพระเถระอื่นๆ ๔๙๙ รูป แล้วนิ่งเสีย ต่อพระสงฆ์ลงมติว่าท่านพระอานนท์ควรจะเข้าร่วมทำสังคายนาครั้งนี้ด้วย ท่านจึงได้รับเข้าเป็นคณะสงฆ์ผู้จะทำสังคายนา ครบจำนวน ๕๐๐ รูป

เมื่อได้รับคัดเลือกแล้ว ท่านได้เดินทางจากนครกุสินารากลับไปยังนครสาวัตถีอีก ในระหว่างทางท่านได้แสดงพระธรรมเทศนาแก่ประชาชนจำนวนมากที่เศร้าโศกเสียใจ เพราะการปรินิพพานของพระพุทธองค์ เมื่อถึงพระเชตวันมหาวิหาร ท่านก็ได้ปฏิบัติปัดกวาดพระคันธกุฏีเสมือนเมื่อพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ นอกจากปฏิบัติพระคันธกุฏีแล้ว ท่านได้ใช้เวลาส่วนมากให้หมดไปด้วยการยืนและนั่ง ไม่ค่อยจะได้จำวัด ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ท่านไม่สบาย ต้องฉันยาระบายเพื่อให้กายเบา ครั้นให้ปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ชำรุดในพระเชตวันสำเร็จแล้ว พอใกล้วันเข้าพรรษาจึงได้ออกเดินทางไปสู่กรุงราชคฤห์ เพื่อร่วมทำสังคายนา เมื่อถึงแล้ว ท่านได้ทำความเพียรอย่างหนักเพื่อให้สำเร็จอรหัตต์ก่อนการทำสังคายนาแต่ก็ยังไม่สำเร็จ เพื่อนๆ ได้ตักเตือนท่านว่า ในวันรุ่งขึ้นท่านจะต้องเข้าไปนั่งในสังฆสันนิบาตแล้ว ท่านเองเป็นพระเสขบุคคลอยู่ ขอให้ทำความเพียร อย่าประมาท

ในคืนนั้น ท่านได้เดินจงกรม กำหนดกายคตาสติ จนจวบปัจจุสมัยใกล้รุ่ง จึงลงจากที่จงกรม หมายใจจะหยุดนอนพักผ่อนในวิหารสักครู่ก่อน แต่พอเอนกายลงนอน ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอนและเท้าทั้งสองยังไม่พ้นจากพื้น ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

ครั้นถึงเวลาประชุมทำสังคายนา พระเถระอื่นๆ ก็พากันไปยังธรรมสภา ณ ถ้ำสัตตบรรณคูหากันอย่างพร้อมเพรียง และต่างรูปต่างก็นั่งอยู่ ณอาสนะแห่งตน ๆ แต่อาสนะของท่านพระอานนท์ยังว่างอยู่ เพราะท่านพระอานนท์คิดใครจะประกาศให้พระเถระทั้งหลายได้ทราบว่า ท่านได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว จึงไม่ได้ไปพร้อมกับพระเถระอื่นๆ เมื่อกำหนดกาลเวลาพอเหมาะแล้ว ท่านจึงแทรกดินลงไป และผุดขึ้น ณอาสนะแห่งตน แต่บางท่านกล่าวว่า ท่านเหาะไปทางอากาศตกลงบนอาสนะของท่าน

ในอรรถกถาคาถากล่าวไว้อีกนัยหนึ่งว่า พรหมสุทธาวาส องค์หนึ่งได้ไปประกาศในที่ประชุมสงฆ์สังคีติกาจารย์ว่า ท่านพระอานนท์ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว

ได้ยินว่า พระอานนท์เถระไม่เคยเหยียดหลังบนเตียงตลอด ๑๕ ปีจนปรินิพพาน.

เมื่อท่านไปปรากฏตัวในสังฆสันนิบาตนั้นแล้ว ท่านพระมหากัสสปก็ปรึกษากับสงฆ์ทั้งปวงว่าจะสังคายนาอะไรก่อน ? และจะให้ใครวิสัชชนาอะไร ? ที่ประชุมตกลงให้สังคายนาวินัยก่อนและเสนอให้ท่านพระอุบาลีวิสัชนาพระวินัยปิฏก และให้ท่านพระอานนท์ วิสัชชนาพระธรรม


๐ ท่านพระอานนท์ถูกพระเถระปรับอาบัติ

ในการประชุมสังฆสันนิบาตครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ถูกพระเถระทั้งหลายปรับอาบัติทุกกฏ ๕ กระทง ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าท่านไม่ผิด แต่ท่านก็ยอมรับ และยอมแสดงอาบัติทุกกฎนั้นๆ ทุกกระทง คือ

(๑) พระเถระทั้งหลายโจทท่านว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสให้ถอดถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้บ้าง แต่ท่านไม่ทูลถามว่า ได้แก่อะไรบ้าง นี่แหละเป็นอาบัติทุกกฎ ขอให้ท่านแสดงอาบัติเสียท่านตอบว่า "กระผมระลึกไม่ได้" และไม่เห็นว่าการไม่ทูลถามนี้จะเป็นอาบัติทุกกฎ แต่กระผมเชื่อท่านทั้งหลาย จึงยอมแสดงอาบัติ"

(๒) พระเถระทั้งหลายโจทว่า เวลาท่านเย็บผ้าวัสสิกสาฏกยองพระผู้มีพระภาค ท่านเอาเท้าเหยียบผ้าวัสสิกสาฏกนั้น ข้อนี้เป็นอาบัติทุกกฎ ขอให้แสดงอาบัตินั้นเสีย ท่านตอบว่า "กระผมเหยียบโดยความไม่เคารพก็หามิได้ จึงเห็นว่าไม่เป็นอาบัติ แต่เพราะเชื่อท่านทั้งหลาย กระผมยอมแสดงอาบัตินั้น"

(๓) พระเถระทั้งหลายโจทว่า ข้อที่ท่านให้มาตุคามเข้าถวายบังคมพระสรีระของพระผู้มีพระภาคก่อน พระสรีระย่อมเปื้อนด้วยน้ำตาของพวกนางที่ร้องไห้นั้น เป็นอาบัติทุกกฎด้วย ขอให้แสดงเสีย ท่านตอบว่า "กระผมคิดว่า มาตุคามนี้จะได้ไม่ต้องกลับบ้านค่ำเกินไป จึงให้เข้าก่อนและเห็นว่าไม่เป็นอาบัติ แต่เพราะเชื่อท่านทั้งหลาย กระผมจึงยอมแสดงอาบัตินั้น"

(๔) พระเถระทั้งหลายโจทว่า ข้อที่ท่านไม่ทูลนิมนต์ให้พระผู้มีพระภาคทรงอยู่ต่อไปจนตลอดกัป เมื่อพระองค์ทรงทำนิมิตโอภาสนั้น เป็นอาบัติทุกกฎ ขอให้แสดงเสีย ท่านตอบว่า "กระมถูกมารดลใจจึงไม่ได้ทูลอ้อนวอน... และเห็นว่าไม่เป็นอาบัติ แต่เพราะเชื่อท่านทั้งหลายกระผมจึงยอมแสดงอาบัตินั้น"

(๕) พระเถระทั้งหลายโจทว่า ข้อที่ท่านขวนขวายให้มาตุคามบวชในธรรมวินัยนั้นเป็นอาบัติทุกกฎ ขอให้แสดงเสีย ท่านตอบว่า "ที่ท่านขวนขวายให้มาตุคามบวชในธรรมวินัยนี้ ก็เพราะเห็นว่า พระนางปชาบดีโคตมีนี้เป็นพระเจ้าแม่น้าของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ประคับประคองเลี้ยงดูทรงประทานขีรธาราแก่พระผู้มีพระภาค เมื่อพระพุทธมารดาทิวงคต กระผมเห็นว่าไม่เป็นอาบัติ แต่เพราะเชื่อท่านทั้งหลายจึงยอมแสดงอาบัตินั้น"


๐ ลงพรหมณทัณฑ์แก่พระฉันนะ

หลังจากทำปฐมสังคายนาแล้ว ท่านพระอานนท์ได้แจ้งให้พระเถระทั้งหลายทราบว่า พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งกับท่านว่า ให้สงฆ์ลงพรหมณทัณฑ์แก่พระฉันนะ พระเถระทั้งหลายจึงมอบให้ท่านไปลงพรหมทัณฑ์ตามรับสั่งพร้อมกับภิกษุ ๕๐๐ รูป ท่านได้โดยสารเรือไปจนถึงนครโกสัมพี ที่ที่พระฉันนะอาศัยอยู่ เมื่อลงจากเรือแล้ว ได้เข้าพักอาศัยอยู่ใต้โคนไม้ ใกล้พระราชอุทยานของพระเจ้าอุเทน ราชาแห่งนครโกสัมพี ขณะนั้น พระเจ้าอุเทนกับพระมเหสีประทับอยู่ในพระราชอุทยาน พระมเหสีของพระเจ้าอุเทนพอทรงทราบว่า ท่านพระอานนท์มา ก็ทรงโสมนัสทูลลาพระสามีไปเยี่ยมท่าน และเมื่อได้ฟังธรรมจากท่านแล้ว มีจิตเลื่อมใสได้ถวายจีวร ๕๐๐ ผืน ครั้นพระเจ้าอุเทนทราบเรื่องนี้ก็ไม่ทรงพอพระทัยทรงติเตียนว่า ท่านพระอานนท์จะไปตั้งร้านค้าจีวรหรืออย่างไร ? แล้วเสด็จไปหาท่าน ตรัสถามว่า จะเอาผ้าเหล่านี้ไปทำอะไร ?

ท่านพระอานนท์ทูลถวายว่า

"จะถวายแก่ภิกษุทั้งหลาย ผู้มีจีวรเก่าคร่ำคร่า"

"จะเอาจีวรเก่าคร่ำคร่านี้ไปทำอะไร ?"

"จะเอาไปทำเพดาน"

"จะเอาเพดานเก่าไปทำอะไร ?"

"จะเอาไปทำผ้าปูฟูก"

"จะเอาผ้าปูฟูกเก่าไปทำอะไร ?"

"จะทำเป็นผ้าปูพื้น"

"จะเอาผ้าปูพื้นเก่าไปทำอะไร ?"

"เอาไปทำผ้าเช็ดเท้า"

"เอาผ้าเช็ดเท้าเก่าไปทำอะไร ?"

"เอาไปทำผ้าเช็ดธุลี"

"จะเอาผ้าเช็ดธุลีเก่าไปทำอะไร ?"

"เอาไปโขลกขยำกับโคลน แล้วฉาบทาฝา"

พระเจ้าอุเทนทรงเลื่อมใสว่า พระศากยบุตรทั้งหลายรู้จักประหยัดในการใช้ผ้าดีมาก จึงได้ถวายจีวรอีก ๕๐๐ ผืน แล้วทรงลาท่านพระอานนท์เสด็จกลับ

จากนั้น ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปหาพระฉันนะ ที่โฆสิตาราม พูดกับท่านว่า สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์แก่ท่านแล้ว พระฉันนะ พอได้ยินก็เสียใจเป็นลมล้มลงกับพื้น แต่ต่อมาไม่นาน พระฉันนะก็ได้สำเร็จอรหัตต์และพ้นจากพรหมทัณฑ์

ความจริง เมื่อเอกลาภเกิดขึ้น ท่านพระอานนท์ก็มักจะแจกแบ่งถวายแก่พระเถระอื่นๆ เช่น ถวายแก่ท่านพระสารีบุตร เป็นต้น หรือไม่ก็ถวายแก่สัทธิวิหาริกของท่านเอง ผู้ซึ่งได้มีอุปการะต่อท่านดังเช่นมีเรื่องเล่าไว้ว่า ท่านมีสัทธิวิหาริกประมาณ ๕๐๐ รูป ในจำนวนนี้ มีภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งได้อุปัฏฐากท่านด้วยดี เช่น กวาดบริเวณ ถวายปานียะ โภชนียะ ถวายไม้สีฟัน และน้ำล้างหน้า ปัดกวาดเวจกุฏี เรือนไฟ และเสนาสนะทั้งหลาย นวดมือเท้าและหลัง เป็นต้น ท่านเห็นว่า ภิกษุรูปนี้มีอุปการะต่อท่านมาก ท่านจึงถวายจีวร ๕๐๐ ผืน ซึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงถวายท่าน ให้แก่ภิกษุหนุ่มรูปนี้ แล้วภิกษุหนุ่มรูปนี้ก็นำจีวรเหล่านี้ไปแจกแบ่งแก่ภิกษุทั้งหลายผู้บวชร่วมอุปัชฌาย์เดียวกัน ภิกษุทั้งหลายจึงกล่าวหาว่า ท่านให้ของด้วยเห็นแก่หน้า จึงนำความขึ้นกราบทูลพระผู้มีพระภาค พระองค์ตรัสเล่าเรื่องที่เป็นจริงให้แก่ภิกษุเหล่านั้นฟัง พวกเขาจึงหมดสงสัย

ในบั้นปลายแห่งชีวิต ท่านพระอานนท์ดูเหมือนจะใช้เวลาส่วนมากให้หมดไปด้วยการอบรมสั่งสอนประชาชน และฝึกฝนชายหนุ่มทั้งหลายในจำนวนนี้ก็มี ทสมะ แห่งอัฏฐกนคร โคปกโมคคัลลนานะ และสุภโตเทยยบุตร เป็นต้น


๐ พระอานนท์ปรินิพพาน

เมื่อท่านพระอานนท์มีอายุได้ ๑๒๐ พรรษา ก็ทราบว่า ท่านหมดอายุขัยลงแค่นี้แล้ว จึงแจ้งแก่คนทั้งหลายว่า นับจากวันนั้นไปอีก ๗ วันท่านจะปรินิพพาน เมื่อประชาชนทั้งหลายที่อยู่ทางฝั่งแม่น้ำโรหิณีทั้งสองฝั่งได้ทราบเข้า จึงพากันไปยังฝั่งแม่น้ำโรหิณี ต่างฝ่ายต่างก็แสดงความจำนงให้ท่านพระอานนท์ไปปรินิพพานที่ฝั่งของพวกตนแต่ฝ่ายเดียวโดยอ้างเหตุว่า พระเถระมีอุปการะมากแก่พวกตน แต่อีกฝ่ายไม่ยอมโดยอ้างเหตุผลเช่นเดียวกัน ท่านเห็นว่าจะเกิดโกลาหลกันขึ้นแน่ หากจะไปปรินิพพานฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จึงได้เข้าเตโชกสิณเหาะขึ้นบนอากาศเหนือแม่น้ำโรหิณี แสดงธรรมแก่ประชาชนทั้งสองฝั่งน้ำ แล้วอธิษฐานให้สารีริกธาตุของท่านแตกออกเป็น ๒ ส่วน ตกลงบนฝั่งแม่น้ำฝั่งละหนึ่งส่วน พอขาดคำอธิษฐานเปลวไฟได้ลุกขึ้น สรีระของท่านก็แตกออกเป็น ๒ ส่วนตกลงบนฝั่งทั้งสอง มหาชนได้พากันเศร้าโศกปริเทวนาการดุจแผ่นดินจะถล่มทลาย คล้ายเมื่อกาลที่พระผู้มีพระภาคปรินิพพาน ฉะนั้น

แต่หลักฐานบางแห่งเล่าความตอนนี้ต่างออกไปว่า เมื่อท่านทราบวันที่จะปรินิพพานแน่แล้ว จึงได้ออกเดินทางจากแคว้นมคธผ่านไปทางนครเวสาลีเพื่อไปนิพพานที่ฝั่งแม่น้ำโรหิณี พอพระเจ้าอชาตศัตรูทรงทราบข่าวนี้ก็เสด็จติดตามท่านไปจนถึงฝั่งแม่น้ำโรหิณีพร้อมด้วยราชบริพารจำนวนมาก ข้างฝ่ายพวกเจ้าลิจฉวีแห่งแคว้นวัชชีเมื่อทรงทราบข่าวนี้ ก็เสด็จติดตามไปจนถึงฝั่งแม่น้ำโรหิณีพร้อมด้วยราชบริพารจำนวนมากเช่นเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายได้ทรงพักอยู่คนละฝั่งแม่น้ำ ต่างมุ่งมาดปรารถนาจะได้พระสารีริกธาตุของพระเถระไปบูชาสักการะเฉพาะพวกของตนท่านพระอานนท์มองเห็นว่าเหตุการณ์วุ่นวายโกลาหลจะเกิดขึ้น จึงได้เข้าเตโชกสิณลอยขึ้นบนอากาศเหนือแม่น้ำโรหิณี แล้วเปลวไฟก็ลุกขึ้นสารีริกธาตุได้แตกออกเป็นสองส่วนตกลงสู่ฝั่งแม่น้ำทั้งสองฝั่งๆ ละ๑ ส่วน กษัตริย์และประชาชนทั้งสองฝั่งจึงได้สร้างพระเจดีย์ขึ้นไว้เพื่อสักการบูชา ณ ฝั่งของตนๆ


๐ อดีตชาติของพระอานนท์

ในคัมภีร์อปทานบอกไว้ว่า ท่านเคยเกิดเป็นท้าวสักกเทวราชมาแล้ว ๓๔ ชาติ เคยเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิมาแล้ว ๕๘ ชาติ เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ๘๐๐ ชาติ

ในชาดกได้กล่าวถึงชาติกำเนิดในอดีตชาติของท่านไว้มากมายทั้งที่เป็นมนุษย์ เทวดาและสัตว์เดรัจฉาน คือ

ก. เคยเกิดเป็นเทวดาและมนุษย์ เช่น (๑) เป็นสุริยกุมาร (ในเทวธัมมชาดก) (๒) เป็นจุฬโลหิตะ (ในมุฌิกชาดก) (๓) เป็นปัชชุนะ(ในมัจฉชาดก) (๔) เป็นกาฬกัณณิ (ในกาฬกัณณิชาดก) (๕) เป็นราธะ (ในราธชาดก) (๖) เป็นโปฏฐปาทะ (ในราธชาดก ๒) (๗) เป็นคามณิจัณฑะ (ในคามณิจัณฑชาดก) (๘) เป็นจุลลโลหิตะ (ในสาลูกชาดก) (๙) เป็นทุพภิเสนะ (ทัพพเสนะ) (ในเอกราชชาดก) (๑๐) เป็นโปฏฐปาทะ (ในกลาพุชาดก) (๑๑) เป็นพาราณสีเศรษฐี(ในปีฐชาดก) (๑๒) เป็นวิเทหดาบส (ในคันธารชาดก) (๑๓) เป็นสุมังคละ (ในสุมังคชาดก) (๑๔) เป็นอนุสิสสะ (ในอินทรียชาดก) (๑๕) เป็นมัณทัพยะ (ในกัณหทีปายนชาดก) (๑๖) เป็นโปติกะ (ในนิดครธชาดก) (๑๗) เป็นปัญจสิขะ (ในพิฬารโกสิยชาดก) (๑๘)เป็นโรหิเนยยะ (ในฆตชาดก) (๑๙) เป็นยุธิฏฐิละ (ในยุวัญชนชาดก) (๒๐) เป็นภรตกุมาร (ในทสรถชาดก) (๒๑) เป็นมาตลิ (ในมหากัณหาชดก, สุธาโภชนชาดก, เนมีราชชาดก, กุลาวกชาดก, สาธินราชชาดกา) (๒๒) เป็นกาลิงคะ (ในกาลิคโพธิชาดก, สาธินราชชกดก) (๒๓) เป็นวิสสุกัมมะ (ในสุรุจิชาดก) (๒๔) เป็นสัมภูตดาบส (ในจิตตสัมภูตชาดก) (๒๕) เป็นจิตตมิคะ (ในโรหนมิคชาดก) (๒๖) เป็นสุมุขะ (ในหังสชาดก) (๒๗) เป็นอนุสิสสดาบส (ในสรภังคชาดก) (๒๘) เป็นโสมทัตตกุมาร (ในจุลลสุตโสมชาดก) (๒๙) เป็นสุนันทสารภี (ในอุมมทัสตีชาดก) (๓๐) เป็นชยัมบดีราชกุมาร (ในกุสชาดก) (๓๑) เป็นนันทะ (ในโสณนันทชาดก) (๓๒) เป็นสุมุขะ (ในจุลหังสชาดก มหาหังสชาดก) (๓๓) เป็นนันทพราหมณ์ (ในมหาสุตโสมชาดก) (๓๔) เป็นโสมทัตตะ (ในภูมิทัตตชาดก) (๓๕) เป็นช่างตัดผม (ในมฆเทวชาดก) (๓๗) เป็นศิษย์ของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ (ในอสาตมันตชาดก) (๓๗) เป็นหัวหน้าโจร(ในตัตถชาดก) (๓๘) เป็นพราหมณ์ (ในสารัมภชาดก, นานาฉันทชาดก,ปลาสชาดก, ชุณหชาดก สาลิเกทารชาดก, เสนกชาดก, นันทิวิสาลชาดก,ปีฐชาดก, คามมณีจันทชาดก) (๓๙) เป็นรุจาเทวดา (ในกุสนาฬิชาดก) (๔๐) เป็นนายหัตถาจารย์ (ในสุเมธชาดก) (๔๑) เป็นน้องชายของพระโพธิสัตว์ (ในมณิคัณฐชาดก) (๔๒) เป็นคนชาวปัจจันตชนบท (ในมหาอัสสาโรหชาดก) (๔๓) เป็นอุปัฏฐาก (ในสังขชาดก) (๔๔) เป็นชายคนหนึ่งในจำนวนพี่น้อง ๗ คน (ในภสกชาดก) (๔๕) เป็นนายแพทย์สีวกะ(ในสีวิราชชาดก) (๔๖) เป็นช่างศร (ในมหาชาดก) (๔๗) เป็นปุโรหิต(ในปรันตปชาดก)

ข. เคยเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานหลายชาติ เช่น (๑) เป็นนกแขกเต้า(ในสังจังกีรชาดก, มโหสถชาดก, ราธชาดก) (๒) เป็นสุนัขจิ้งจอก(ในคุณชาดก) (๓) เป็นหงษ์บิดา (ในวีนีลกชาดก) (๔) เป็นเต่า (ในกัจฉปชาดก) (๕) เป็นพญาเหี้ย (ในจุลลปทุมชาดก) (๖) เป็นนาก(ในสสบัณฑิตชาดก) (๗) เป็นหงษ์หนุ่ม (ในเนรุชาดก) (๘) เป็นปู(ในสุวรรณกักกฏกชาดก) (๙) เป็นพญานาค (ในมหาปทุมชาดก) (๑๐) เป็นสุนัขสีเหลือง (ในมหาโพธิชาดก) (๑๑) เป็นพญาแร้ง (ในกุณาลชาดก) (๑๒) เป็นวานรจุลลนันทิยะ (ในจุลลนันทิยชาดก) (๑๓) เป็นโปฏฐปาทวานร (ในกาฬพาหุชาดก) (๑๔) เป็นช้างโอฏฐิพยาธิ (ในทัฬหธรรมชาดก)

ค. เคยเกิดเป็นพระราชาหลายชาติ ซึ่งมีปรากฏอยู่ในชาดกต่างๆ เหล่านี้ คือ (๑) ในนิโครธมิคชาดก (๒) ในกุกกุรชาดก (๓) ในโภชาชานียชาดก (๔) ในอาชัญญชาดก (๕) ในติฏฐชาดก (๖) ในมหิฬามุขชาดก (๗) ในอภิณหชาดก (๘) ในมหาสุปินชาดก (๙) ในกุททาลชาดก (๑๐) ในอีลลีสชาดก (๑๑) ในมหาสารชาดก (๑๒) ในสาลิตตกชาดก (๑๓) ในพันธนโมกขชาดก (๑๔) ในภัคคชาดก (คัคค) (๑๕)ในชุหนุชาดก (๑๖) ในโมรชาดก (๑๗) ในสุสิมชาดก (๑๘) ในธังกชาดก (๑๙) ในเอกปัณณชาดก (๒๐) ในกัลยาณธัมมชาดก (๒๑) ในติริติวัจฉชาดก (๒๒) ในสังคามาวจรชาดก (๒๓) ในวาโลกทกชาดก (๒๔) ในคิริทันตชาดก (๒๕) ในปัพพตูปัตถรชาดก (๒๖) ในปุณณนทีชาดก (๒๗) ในกัจฉปชาดก (๒๘) ในโกสิยชาดก (๒๙) ในคุตติลชาดก (๓๐) ในสังกัปปราคชาดก (๓๑) ในกุณฑกกุจฉิสินธชาดก (๓๒) ในสิริชาดก (๓๓) ในเอกราชชาดก (๓๔) ในสุปัตตชาดก (๓๕) ในฉวกชาดก (๓๖) ในสัยหชาดก (๓๗) ในพรหมทัตตชาดก (๓๘) ในราโชวาทชาดก (๓๙) ในเกสวชาดก (๔๐) ในสุสันธีชาดก (๔๑) ในตุณฑิลชาดก (๔๒) ในนันทิยมิคชาดก (๔๓) ในอหริตจชาดก (๔๔) ในอัฏฐสัททชาดก (๔๕) ในอัฏฐานชาดก (๔๖) ในจุลลโพธิชาดก (๔๗) ในมาตุโปสกชาดก (มาติโปสกชาดก) (๔๘) ในภัททสาลชาดก (๔๙) ในมิตตามิตตชาดก (๕๐) ในอัมพชาดก (๕๑) ในชวนหังสชาดก (๕๒) ในทูตชาดก (๕๓) ในรุรุชาดก (๕๔) ในสรภชาดก (๕๕) ในอุททาลกชาดก (๕๖) ในอุททาลกชาดก (๕๖) ในทสพราหมณชาดก (๕๗) ในภิกขาปรัมปรชาดก (๕๘) ในสัตติคุมพชาดก (๕๙) ในกุมภชาดก (๖๐) ในเตสกุณชาดก (๖๑) ในสามชาดก (๖๒) ในเสยยชาดก (๖๓) ในอัพภันตรชาดก (๖๔) เคยเกิดเป็นพระเจ้ากรุงพาราณสี มีปรากฏในชาดกต่าง ๆ เช่น ในกากชาดก ในตจสารชาดก ในสังเขปชาดก ในอาวาริยชาดก ในกุกกุชาดก ในสุตนชาดก ในอัฏฐิเสนชาดก ในมหากปิชาดก (๖๕) เป็นพระเจ้ามัลลิกะ (๖๘) เป็นพระเจ้าวังกะ ในฆตชาดก (๖๙) เป็นพระเจ้าโกรัพยะ ในธูมการีชาดก (๗๐) เป็นพระเจ้าอัฑฒมาสกะในคังคมาลชาดก (๗๑) เป็นพระเจ้าชนัญชนะ ในสัมมภวชาดกและวิธูรปัณฑิตชาดก

ง. เคยเป็นหญิงก็มี เช่น ในมหานารทกัสสปชาดก

ในธรรมปทัฏฐกถา เล่าไว้ว่า ท่านพระอานนท์เคยเกิดเป็นหญิงบาทบริจาริกาของชายอื่นอยู่ถึง ๑๔ ชาติ ทั้งนี้ เพราะชาติก่อนหน้านั้น ท่านได้เกิดในตระกูลช่างทอง แล้วทำชู้กับภริยาของชายอื่น ครั้นตายจากนั้นไปเกิดในนรก จากนั้นจึงไปเกิดเป็นหญิง ถึง ๑๔ ชาติ และในชาติที่ ๑๗ ท่านถูกเขาตอน



.............................................................

คัดลอกมาจาก ::
http://www.dharma-gateway.com/
http://www.manager.co.th/Dhamma/
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 15 พ.ย.2006, 3:42 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

พระอานนท์พุทธอนุชา
http://www.dhammajak.net/book/anon/index.php
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่หัวข้อนี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไข หรือตอบได้
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง