Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 08 ส.ค. 2006, 2:45 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร


วัดถ้ำผาบิ้ง
บ้านนาแก ต.ผาบิ้ง อ.วังสะพุง จ.เลย



๏ ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย

หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร เป็นบุตรของ คุณพ่อคำฝอย วรบุตร ลูกชายเจ้าเมืองแก่นท้าว แขวงไชยบุรี ประเทศลาว และ เจ้าแม่นางกวย (สุวรรณภา) วรบุตร ธิดาของผู้มีอันจะกินเขตเมืองเลย

ท่านถือกำเนิดเมื่อ วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ 2444 เวลารุ่งอรุณจวนสว่าง ได้ชื่อว่า วอ มีพี่สางต่างบิดา 1 คน และ น้องชายร่วมบิดามารดาอีก 1 คน

เมื่อเข้าโรงเรียน ท่านมีนิสัยช่างซักช่างเจรจา ออกความเห็นเหมือน ครูบา จึงถูกเรียกว่า บา ท่านมีโอกาสศึกษาเล่าเรียนที่โรงเรียนวัดศรีสะอาดจนจบชั้นประถมปีที 3 ซึ่งขณะนั้นถือเป็นการศึกษาชั้นสูงสำหรับเมืองชายแดน

ต่อมาท่านได้ทำงานเป็นเสมียนกับพี่เขยที่เป็นสมุห์บัญชีสรรพากร อำเภอเชียงคาน และเมื่อปี 2464 ได้ย้ายไปทำงานที่อำเภอแซงบาดาล (ธวัชบุรี) และที่ห้องอัยการภาค จังหวัดร้อยเอ็ด ด้วยการอุปถัมภ์ของอัยการภาคร้อยเอ็ด

ขณะที่อยู่ที่เชียงคาน ด้วยวัยหนุ่มคะนอง มีการติดต่อกับฝรั่งฝั่งลาว ท่านจึงรู้จักวิธีผสมสุราอย่างฝรั่งเศส และศึกษาศาสนาคริสต์อยู่ 5 ปี จนคุณพระเชียงคาน ลุงของท่าน เรียกท่านว่า เซนต์หลุย หรือ หลุย ท่านจึงถูกเรียกชื่อว่า หลุย ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา


๏ ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา

ชีวิตราชการของท่านไม่ค่อยราบรื่นนัก ท่านจึงรู้สึกอึดอัดใจในชีวิตฆราวาสอย่างยิ่ง ประกอบกับรู้สึกเบื่อหน่ายกับการต้องคลุกคลีอยู่กับการจัดอาหารในงานเลี้ยงที่ต้องมีการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต คิดอยากบวชเพื่อแผ่บุญกุศลไปให้สรรพสัตว์ที่ตายไปแล้ว ท่านจึงตัดสิ้นใจลาออกจากชีวิตราชการเข้าสู่พิธีอุปสมบท เป็นพระมหานิกาย ณ อำเภอแซงบาดาล จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อปีพุทธศักราช 2466 โดยมีอัยการภาคเป็นเจ้าภาพบวชให้

ระหว่างพรรษาแรกที่ธวัชบุรี ท่านได้พยายามศึกษาพระธรรมวินัย ทั้งปริยัติธรรมและปฏิบัติ ครั้นถึงคราวออกพรรษา ท่านได้ลาพระอุปัชฌาย์ไปเข้าร่วมการคัดเลือกเกณฑ์ทหารที่จังหวัดเลย และได้เดินทางไปนมัสการพระธาตุพนม ที่จังหวัดนครพนม ระหว่างทางได้พบพระธุดงค์กัมมัฏฐานรูปหนึ่งมาจากอำเภอโพนทอง รู้สึกถูกอัธยาศัยซึ่งกันและกัน ท่านได้ร่วมถวายภาวนาเป็นพุทธบูชา ณ ลานพระธาตุพนมตลอดคืน บังเกิดความอัศจรรย์ กายลหุตา จิตลหุตา คือ กายเบา จิตเบา จึงตั้งสัจจาอธิษฐานว่าจะบวชกัมมัฏฐานตลอดชีวิต

ระหว่างทางสู่จังหวัดเลย เมื่อมาถึงบ้านหนองวัวซอ ท่านได้มีโอกาสฟังธรรมเทศนาจาก ท่านพระอาจารย์บุญ ปญฺญาวโร รู้สึกเลื่อมใสมาก จึงขอถวายตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์ได้แนะนำให้ขอญัตติเป็นธรรมยุตที่จังหวัดเลย หลังจากเกณฑ์ทหารแล้วท่านจึงได้ขอญัตติจตุตถกรรมใหม่ เป็นพระธรรมยุตที่วัดศรีสะอาด อำเภอเมือง จังหวัดเลย

ต่อมาท่านได้กลับมาอยู่กับ พระอาจารย์บุญ ที่วัดหนองวัวซอ และติดตามไปวัดพระพุทธบาทบัวบก ซึ่ง ณ ที่นี้เอง ท่านได้พบกับ พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล และอยู่ปฏิบัติรับฟังโอวาทจาก พระอาจารย์เสาร์ โดยมี พระอาจารย์บุญ เป็นพระพี่เลี้ยง

จากนั้น ก็ได้ไปกราบนมัสการ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต มหาเถระที่ท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ได้อยู่อบรมรับฟังโอวาทและฝึกปฏิบัติกับพระอาจารย์มั่น จวบจนเข้าพรรษา จึงกลับมาจำพรรษาต่อกับ พระอาจารย์เสาร์ ที่วัดพระพุทธบาทบัวบก

ในพรรษานี้ ท่านได้ภาวนาจนจิตรวมแล้วเกิดอาการสะดุ้ง พระอาจารย์บุญ จึงให้ญุตติจตุถกรรมใหม่ที่ วัดโพธิสมพรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2468 โดยมี ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เมื่อครั้งเป็นพระครูสังฆวุฒิกรป็นพระอุปัจฌาย์ และ ท่านพระอาจารย์บุญ ปญญาวโร เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ท่านจึงได้บวชถึง 3 ครั้ง คือ ปี 2466, 2467 และ 2468

พรรษาที่ 1 - 6 ( พ.ศ. 2468 - 2473) ท่านจำพรรษาอยู่กับ ท่านพระอาจารย์บุญ ปญฺญาวุโธ พ.ศ. 2468 จำพรรษา ณ วัดพระบาทบัวบก อำเภอผือ จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2469 - 2473 จำพรรษา ณ วัดป่าหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี (ปัจจุบันมีชื่อว่า วัดบัญญานุสรณ์) และในปี พ.ศ. 2473 พระอาจารย์บุญ ปญฺญวุโธ มรณภาพ ซึ่งในปีนี้ ท่านได้จำพรรษาอยู่ร่วมกับ หลวงปู่ขาว อนาลโย และ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม

พรรษาที่ 7 - 8 พ.ศ. 2474 ท่านจำพรรษาที่วัดป่าบ้างเหล่างา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น (ปัจจุบัน คือ วัดป่าวิเวกธรรม) ร่วมกับ พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญพโล พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ พระอาจารย์ชอบ ฐานสโมและหลวงปู่ฝั้น อาจาโร

ปี พ.ศ. 2475 ได้ร่วมกับคณะไปส่งสตรีกัมมัฏฐานที่ นครราชสีมา และ ร่วมสร้างวัดป่าสาลวัน และได้จำพรรษาที่ วัดป่าศรัทธา ร่วมกับ พระอาจารย์มหาปิ่น พระอาจารย์ภูมี จิตฺตธมฺโม พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ พระอาจารย์คำดี ปภาโส

พรรษาที่ 9 - 10 (พ.ศ. 2476 - 2477) ท่านได้ร่วมเดินธุดงค์กับ พระอาจารย์เสาร์ และได้วิชาม้างกายจากท่านอาจารย์ ในปีนี้ท่านได้จำพรรษา ณ ถ้ำบ้านโพนงาม-หนองสะไน ตำบลผักคำภู อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร

พรรษาที่ 11 (พ.ศ. 2478) เป็นปีที่สร้างวัดป่าหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร หรือ วัดภูริทัตตถิราวาส และท่านได้ออกอุบายให้ชาวบ้าน อาราธนานิมนต์ ท่านพระอาจารย์ฝั้น มาจำพรรษาที่นี่นานถึง 5 ปี

พรรษาที่ 12 (พ.ศ. 2479) อยู่จำพรรษากับ พระอาจารย์เสาร์ ณ วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

พรรษาที่ 13 - 14 (พ.ศ. 2480 - 2481) กลับมาสู่แผ่นดินถิ่นกำเนิด จำพรรษา ณ ป่าช้าหนองหลางฝาง ถ้ำผาปู่ และ ถ้ำผาบิ้ง จังหวัดเลย

พรรษาที่ 15 (พ.ศ. 2482) ธุดงค์แสวงหาที่ว่างปฏิบัติธรรมในเขตป่าดงเถื่อนถ้ำ จังหวัดเลย จำพรรษา ณ ถ้ำผาปู่ และ พักเจริญธรรมบ้านหนองบง

พรรษาที่ 16 (พ.ศ. 2483) เกิดอัศจรรย์ในดวงจิต จำพรรษา ณ โพนสว่าง อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร (โพนงาม หนองสะไน) ได้โสรจสรงอมฤตธรรม ครั้นออกพรรษา ได้ไปนมัสการ หลวงปู่มั่น ที่วัดป่าโนนนิเวศน์ จังหวัดอุดรธานี

พรรษาที่ 17 - 19 ใน พ.ศ. 2484 ได้ร่วมอยู่ในรัศมีบารมีบูรพาจารย์ ขณะที่ หลวงปู่มั่น จำพรรษา ที่โนนนิเวศน์

พ.ศ.2485 - 2486 จำพรรษาที่ บ้านอุ่นโคก และ ป่าใกล้วัด ป่าบ้านนามน จังหวัดสกลนคร

พรรษา ที่ 20 - 25 ใน พ.ศ. 2487 - 2488 ทำหน้าที่เปรียบได้ดังนายทวารบาล แห่งบ้านหนองผือ จำพรรษา ณ บ้านหนองผือ จังหวัดสกลนคร

พ.ศ. 2489 - 2490 จำพรรษา ณ บ้านอุ่นดง จังหวัดสกลนคร

พ.ศ. 2491 จำพรรษา ณ บ้านโคกมะนาว จังหวัดสกลนคร

พ.ศ. 2492 จำพรรษา ณ บ้านห้วยป่น ตำบลนาใน อำเภอพรรณนิคม สกลนคร ขณะที่หลวงปู่มั่น จำพรรษาช่วงปลายชีวิต ณ วัดป่าหนองผือ ท่านจึงอยู่พรรษากับบูรพาจารย์ใหญ่ ในช่วงนี้ โดย เฉพาะในปีนี้ มี พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน พระอาจารย์มนู พระอาจารย์อ่อนสา พระอาจารย์เนตร ตนฺติสีโล พระอาจารย์วัน อุตฺตโมร่วมจำพรรษาด้วย

พรรษาที่ 26 - 31 พ.ศ. 2493 หลังจากประทีปแก้วของพระกัมมัฏฐานได้ดับลง ณ วัดป่าสุทธาวาส เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2492 และได้ถวายเพลิงในต้นปี 2493 หลังจากนั้น ท่านได้ออกธุดงค์เรื่อยไป จำพรรษาที่วัดศรีพนมมาศ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย

พ.ศ. 2494 จำพรรษา ณ ถ้ำพระนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

พ.ศ. 2495 จำพรรษา ณ วัดป่าเขาสวนกวาง อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น กับเจ้าคุณอริยคณาธาร

พ.ศ. 2496 จำพรรษา ณ วัดดอนเลยหลง อำเภอเมือง จังหวัดเลย และถ้ำผาปู่

พ.ศ. 2497 จำพรรษา ณ บ้านไร่ม่วง (วัดป่าอัมพวัน) กับ หลวงปู่ชา อจฺตฺโต ผู้เคยร่วมธุดงค์กันหลายครั้ง และในปีนี้ ด้มาที่ท่าแพ อำเภอเมือง จังหวัดเลย

พ.ศ. 2498 จำพรรษา ณ สวนพ่อหนูจันทร์ บ้านฝากเลย จังหวัดเลย

พรรษาที่ 32 พ.ศ. 2499 อยู่บ้านกกกอก ตำบลหนองงิ้ว อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย (ปัจจุบัน คือ วัดปริตตบรรพต) และ ผจญพญานาคที่ภูบักบิด

พรรษาที่ 33 - 35 พ.ศ. 2500 จำพรรษาร่วมกับ หลวงปู่ขาว อนาลโย ณ วัดป่าแก้วชุมพล สว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร

พ.ศ. 2501 - 2502 ร่วมจำพรรษา และ ร่วมสร้าง วัดถ้ำกลองเพล กับ หลวงปู่ขาว

พรรษาที่ 36 พ.ศ. 2503 จำพรรษา ณ ถ้ำมโหฬาร ตำบลหนองหิน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย และ ในเขตป่าเขาถ้ำเถื่อน ในเขตจังหวัดเลย

พรรษาที่ 37 พ.ศ. 2504 จำพรรษา ณ ถ้ำแก้งยาว บ้านโคกแฝก ตำบลผาน้อย อำเภอสะพุง จังหวัดเลย ในปีนี้ ได้พบงูใหญ่มาอยู่ใต้แคร่

พรรษาที่ 38 พ.ศ. 2505 จำพรรษาที่ เขาสวนกวาง อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น

พรรษาที่ 39 พ.ศ. 2506 ได้อุบายธรรม เนื่องจากการจำพรรษากับ หลวงปู่ขาว อนาลโย ณ ถ้ำกลองเพล อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู

พรรษาที่ 40 พ.ศ. 2507 จำพรรษาที่ บ้านกกกอก ตำบลหนองงิ้ว อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

พรรษาที่ 41 - 42 พ.ศ. 2508 - 2509 เสวยสุขจำพรรษา ณ ถ้ำผาบิ้ง บ้านนาแก ตำบลผาบิ้ง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

พรรษาที่ 43 - 48 พ.ศ. 2510 - 2515 จำพรรษา ณ ถ้ำผาบิ้ง สร้างวัดผาบิ้งและเริ่มรับนิมนต์โปรดพุทธชนภาคอื่นๆ ขณะมีอายุกว่า 70 ปีแล้ว

พรรษาที่ 49 - 50 พ.ศ. 2516 - 2517 กลัปไปบูรณะ บ้านหนองผือ และถ้ำเจ้าผู้ข้า อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

พรรษาที่ 51 พ.ศ. 2518 จำพรรษา ร สวนบ้านอ่าง อำเภอบะขาม จังหวัดจันทบุรี เพื่อโปรดชาวภาคตะวันออก

พรรษาที่ 52 พ.ศ. 2519 เดินทางไปโปรดชาวภาคใต้ และ จำพรรษา ณ วัดกุมภีร์บรรพต นิคมควนกาหลง จังหวัดสตูล วัดควนเจดีย์ จังหวัดสงขลา

พรรษาที่ 53 - 57 โปรยปรายสายธรรม

พ.ศ. 2520 จำพรรษาที่ สวนปทุมธานี อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี
พ.ศ. 2521 จำพรรษาที่ วัดป่าหนองแซง อำเภอหนองวัวซอ อุดรธานี
พ.ศ. 2522 จำพรรษาที่ โรงนายาแดง คลอง 16 อำเภอองครักษ์ นครนายก
พ.ศ. 2523 จำพรรษาที่ วัดอโศการาม อำเภอเมือง สมุทรปราการ
พ.ศ. 2524 จำพรรษา ณ ที่พักสงฆ์ บ้านคุณประเสริฐ โพธิ์วิเชียร อำเภอศรีราชา ชลบุรี

พรรษาที่ 58 พ.ศ. 2525 พิจารณาธาตุขันธ์จะแตกดับ จำพรรษา ณ ถ้ำเจ้าผู้ข้า อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

พรรษาที่ 59 - 65 (พ.ศ. 2526 - 2532) เป็นช่วงแสงตะวันลำสุดท้ายของชีวิต ในช่วงปี พ.ศ. 2526 - 2528 ท่านจำพรรษาที่ วัดเจติยาคีรีวิหาร (ภูทอก) กิ่งอำเภอศรีวิไล จังหวัดหนองคาย

พ.ศ. 2529 - 2532 จำพรรษาที่พักสงฆ์ ก.ม. 27 ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร กับที่พักสงฆ์เย็นสุดใจ อำเภอท่าหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ในบรรดาศิษย์ของหลวงปู่มั่นนั้น หลวงปู่หลุยเป็นผู้ที่สันโดษ มักน้อย ประหยัดมัธยัสถ์ที่สุด ท่านเป็นผู้ละเอียดละออมาก เป็นนักจดบันทึก มีบันทึกหลายสิบเล่มเกี่ยวกับหลวงปู่มั่น ซึ่งเป็นประโยชน์มากต่อการค้นคว้าศึกษาสำหรับสาธุชนคนรุ่นหลัง รวมทั้ง ธรรมโอวาทของท่านเองด้วย


(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 11 ส.ค. 2006, 1:06 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ ธรรมโอวาท

ธรรมเทศนาของหลวงปู่มีมากมายหลายร้อยหลายพันกัณฑ์ เพราะท่านได้เทศน์โปรดญาติโยมลูกศิษย์มากกว่าครึ่งศตวรรษ และกระทำเรื่อยมาจนกระทั่งคืนสุดท้าย ก่อนจะมรณภาพเพียงหนึ่งชั่วโมง ท่านก็ยังอบรมสั่งสอนศิษย์อยู่

ท่านได้กล่าวถึงความสำคัญของ การรักษาศีล โดยเฉพาะในวันอาทิตย์ ท่านจะเน้นให้บรรดาศิษย์รักษาเพิ่มจาก ศีล 5 เป็น ศีล 8

ท่านได้อธิบายอานิสงส์ของศีลให้ฟังว่า

ศีล 5 นี้ พระพุทธเจ้า ท่านมีเมตตาต่อผู้ครองเรือน ผู้รักษาศีล 5 ย่อมสำเร็จโสดาบันได้ สำหรับศีล 8 ย่อมช่วยให้สามารถสำเร็จถึงอนาคามีได้

พระธรรมเทศนาของท่าน จะย้ำเสมอเรื่องการบริจาคทาน การรักษาศีล และการเจริญภาวนา

ท่านมักจะเน้นเรื่องศีลอยู่เสมอ เพราะ ศีล แปลว่า ความปกติ เป็นการรักษาใจให้ปกติ อันเป็นบาทเบื้องต้นของการภาวนา หากรักษาศีลได้บริสุทธิ์ การภาวนาก็จะก้าวหน้ารวดเร็ว ผู้มีศีลย่อมต้องมีจิตใจผ่องใส เป็นที่รักของบุคคลทั้งหลาย ในสังคมที่อยู่ร่วมกันนี้ ถ้าทุกคนรักษาศีล 5 บ้านเมืองก็จะสงบราบรื่น ปราศจากขโมย ไม่มีการฆ่าฟันกัน

อานุภาพแห่งศีล ย่อมรักษาตัวผู้รักษาศีล และ สังคมโดยรอบได้

หลังจากได้ฟอกจิตด้วยการรักษาศีลแล้ว การบำเพ็ญทาน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้จิตใจโน้มน้าวตัดความตระหนี่ให้มีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ถึงกัน

ส่วนเรื่อง จิตภาวนา นั้น ท่านจะเน้นว่ามีอานิสงส์มาก ท่านกล่าวเสมอว่า กิเลสมีร้อยแปดประตู แต่พุทโธมีประตูเดียว เพราะฉะนั้น ให้ฝึกหัดปฏิบัติให้คุ้นเคย วาระที่เราจะเปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด ดังนั้นจงเพียรฝึกจิตให้คุ้นไว้กับพุทโธ

ท่านละเอียดพิถีพิถันมากในทุกเรื่อง เป็นต้นแบบให้สาธุชนรู้จักฝึกตนให้รู้จักการกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ อย่างถูกต้อง คือ นอกจากเข่าทั้งสอง มือทั้งสอง ศอกจรดพื้น หน้าผากต้องแตะถีงพื้นด้วย จึงจะเป็นท่ากราบที่งดงาม

ในการกราบครั้งที่หนึ่งให้มีน้อมจิตรำลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า กราบครั้งที่สองให้นึกถึงพระธรรมคำสั่งสอนของท่านที่สืบต่อพระศาสนามาจนทุกวันนี้ กราบครั้งที่สามให้ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์สาวกของพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นสมมติสงฆ์แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในการกราบทุกครั้ง ต้องน้อมจิตให้รำลึกด้วยเสมอ จิตจะเอิบอาบในการบุญ จะเป็นจิตที่อ่อนน้อมควรแก่การงาน หากฝึกเช่นนี้เสมอ จะเป็นผู้นอบน้อมถ่อมตน

ให้ดูจิตของตัวเอง ภาวนาให้จิตใจสงบ มัธยัสถ์ปัจจุบัน ม้างกายให้มาก จะช่วยให้หมดความกำหนดหลงติดในสีสันของกามวัตถุ

ให้หมั่นมีเมตตากรุณาต่อสัตว์ทั้งหลาย อานิสงส์ของการช่วยชีวิตสัตว์ที่เขาจะนำไปฆ่า มีผลทำให้อายุยืน แม้ยามตกทุกข์ได้ยาก ก็จะมีคนมาช่วยเหลือ ไม่ติดคุกติดตาราง

หลักการม้างกาย ของท่าน คือ การพิจารณาปล่อยวางธาตุขันธ์ ส่วนการภาวนาหรือทำจิตทำใจ ให้ดูอาการของจิต ก่อนตาย อย่าไปดูอาการของเวทนา ให้ดูจิตอย่างเดียว เวลาธาตุจะตีลังกาเปลี่ยนภพ จิตจะออกจากร่าง ให้พิจารณาตามจิต จะเห็นว่า จิตจะออกจากร่างอย่างไร ไปอย่างไร จิตจะเข้าๆ ออกๆ อย่างไร จะมืดๆ สว่างๆ อย่างไร จะมีอาการเหนื่อยหอบมาก ให้กำหนดตามจิต จะเห็นอาการจิตชัด แต่หากตามไม่ทัน ก็ให้ปล่อยไปให้ได้ปัจจุบันขณะ

ท่านจะย้ำเสมอว่า อย่าไปตามดูอาการของเวทนา ให้ดูจิตอย่างเดียวและ ขอให้เร่งทำความเพียร มีความสามัคคี กลมเกลียวกัน


๏ ปัจฉิมบท

ในวันที่ 7 ตุลาคม 2532 ท่านรำพึงระหว่างที่พักอยู่ ณ ที่พักสงฆ์ กม. 27 ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร ความว่า

"แก่ ชรา มานานเท่าไร พึงภาวนาให้คุ้นเคยกับความตาย เพราะจะต้องตายอยู่แล้ว เตรียมตัวไว้ก่อนตาย รอรถ รอเรือ ที่จะต้องขึ้นไหสวรรค์พระนิพพาน หูยิ่งหนวกหนักเข้าทุกวัน ตายิ่งไม่เห็นหน ตีนเท้าอ่อนเพลีย หันไปหาความตายเสมอไป ถือภาวนาใน ไตรลักษณ์ ทุกขอนิจจัง อนัตตา มีเกิดแล้วย่อมมีตาย เพราะโลกไม่เที่ยงอยู่แล้ว แปรปรวนไปต่างๆ สังขารเราบอกเช่นนั้น เที่ยงแต่พระนิพพานอย่างเดียว"

เช้าวันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม 2532 หลวงปู่ยังคงเดินจงกรมตามปกติ หลังจากนั้นได้เรียกพระเณรมาขอนิสัยใหม่ แล้วท่านก็ได้อบรมธรรมะ โดยให้พระเณร ภาวนาดูจิตนเอง ภาวนาให้จิตสงบ ม้างกายให้มาก ท่านปรารภถึงความตาย จนเวลา 13.00 น. ท่านเรียกพระอุปัฏฐากขึ้นไปพบและปรารภให้ฟังว่า รู้สึกแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ลมตีขึ้นเบื้องบน แล้วบอกให้ช่วยนวดขา ครั้นเวลาผ่านไปถึง 16.00 น. อาการกำเริบหนักท่านหายใจไม่ออก พระอาจารย์อุทัย สิริธโร และ บรรดาลูกศิษย์จึงขอนิมนต์ท่านไปโรงพยาบาล แต่ท่านบอกว่า "หมอก็ช่วยไม่ได้ ขอตายที่หัวหิน ไม่ยอมเข้ากรุงเทพฯ เพราะสถานที่ไม่สงบ จะทำให้เข้าจิตไม่ทัน" ลูกศิษย์จึงไปตามแพทย์มาดูอาการและวินิจฉัยว่า เป็นอาการของโรคหัวใจ และ อาหารไม่ย่อย ตรงตามที่ท่านได้บอกกับลูกศิษย์ไว้ก่อนที่หมอจะมา

ท่านขอแสดงอาบัติ และ บอกบริสุทธิ์ต่อท่ามกลางสงฆ์ ด้วยน้ำเสียงที่แจ่มใสยิ่งพร้อมแสดงธรรม ปฏิญานปลงอายุสังขารแล้วปรารภปัจฉิมเทศนาในเรื่องการทำกิจ การภาวนา การดูอาการของจิตก่อนตาย ย้ำว่า อย่าไปตามดูอาการของเวทนา ให้ดูจิตอย่างเดียว

ท่านเปี่ยมล้นด้วยเมตตาธิคุณ กรุณาธิคุณ โดยไม่อ้างกาลเวลา แม้อาพาธอย่างหนักก็ยังปรารภปัจฉิมเทศนาเป็นครั้งสุดท้าย จวบจนเวลา 23.30 น. ท่านได้กล่าวว่าท่านประคองธาตุขันธ์ต่อไปไม่ไหว คงจะปล่อยวางแล้ว ขอเอาจิตอย่างเดียว และขอขอบใจที่พระเณรได้ช่วยกันอุปัฏฐากท่าน หากได้ล่วงเกินซึ่งกันและกัน ก็ขอให้อโหสิกรรมให้แก่กันและกันด้วย กระทั่งถึงเวลา 00.43 น. ของ คืนวันที่ 24 ล่วงเข้าสู่ วันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม 2532 หลวงปู่ได้กล่าวเป็นคำสุดท้ายว่า "เอาขันธ์ไว้ไม่ไหวแล้ว"

หลวงปู่ได้จากไปพร้อมอาการสงบด้วยสติ รวมสิริอายุได้ 88 ปี 65-67 พรรษา



สาธุ หนังสือแก้วมณีอีสาน : รอยชีพรอยธรรมพระวิปัสนาจารย์อีสาน
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 17 ม.ค. 2007, 9:51 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ประวัติและปฏิปทา (โดยละเอียด)
หลวงปู่หลุย จันทสาโร


วัดถ้ำผาบิ้ง ต.ผาบิ้ง อ.วังสะพุง จ.เลย

จาก...หนังสือจันทสาโรบูชา
ชีวประวัติ ปฏิปทา และธรรมเทศนา
พระคุณเจ้า หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร
คุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต ผู้เขียนและเรียบเรียง


พระคุณเจ้าหลวงปู่หลุย จันทสาโร เป็นศิษย์สำคัญองค์หนึ่งของพระคุณเจ้าท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ ผู้สมควรจะได้รับการถวายสมัญญาเป็นบูรพาจารย์ เป็นบิดาแห่งวงศ์พระกัมมัฏฐานในสมัยปัจจุบัน ศิษย์สำคัญที่เป็นพระเถระผู้ใหญ่ มีชื่อเสียงขจรขจายเป็นที่เคารพนับถือของมหาชนทั่วประเทศตามรอยบาทแห่งบูรพาจารย์ของท่าน ถือเป็นรุ่นใกล้เคียงกันกับหลวงปู่หลุย จันทสาโร ก็มีเช่น พระคุณเจ้าหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี (พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์) หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม หลวงปู่ขาว อนาลโย และหลวงปู่ฝั้น อาจาโร เป็นอาทิ

หลวงปู่เทสก์ หลวงปู่อ่อน หลวงปู่ชอบ ต่างมีอายุอ่อนกว่าหลวงปู่หลุย โดยหลวงปู่เทสก์และหลวงปู่อ่อน เกิดในปีขาล พ.ศ. ๒๔๔๕ ในวันที่ ๒๖ เมษายน และวันที่ ๓ มิถุนายน ตามลำดับ ส่วนหลวงปู่ชอบ เกิดปีฉลู พ.ศ. ๒๔๔๔ เช่นเดียวกับหลวงปู่หลุย แต่เกิดภายหลังท่าน ๑ วัน กล่าวคือ หลวงปู่หลุยเกิดวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ และหลวงปู่ชอบเกิดวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์

สำหรับวันอุปสมบทหรือญัตติเป็นธรรมยุตนั้น พอเรียงลำดับได้ดังนี้

หลวงปู่เทสก์ วันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖

หลวงปู่อ่อน วันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๗

หลวงปู่ชอบ วันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๗

หลวงปู่หลุย วันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๘

นอกจากหลวงปู่เทสก์ ซึ่งเห็นได้ชัดว่า อุปสมบทก่อนท่าน ๒ พรรษา แล้วหลวงปู่อ่อนและหลวงปู่ชอบจะอุปสมบทก่อนท่านเพียง ๒-๓ เดือนเท่านั้น และมีพรรษาเท่ากัน เพราะท่านทั้งสามจะต้องเริ่มพรรษาหนึ่งในปี ๒๔๖๘ ด้วยกันทั้งนั้นด้วยแม้จะเป็นการอุปสมบทในปี ๒๔๖๗ สำหรับหลวงปู่อ่อนและหลวงปู่ชอบ แต่โดยที่ระยะนั้นวันขึ้นปีใหม่ คือ วันที่ ๑ เมษายน พรรษาของปี ๒๔๖๗ ได้ผ่านพ้นมาแล้วเมื่อท่านทั้งสองอุปสมบท เช่นในกรณีของหลวงปู่ชอบ ท่านอุปสมบทเมื่อ ๒๑ มีนาคม เท่ากับเหลือเวลาอีกเพียง ๑๐ วันก็จะสิ้นปี ๒๔๖๗ พรรษาของท่านจึงต้องไปตั้งต้นที่ปี ๒๔๖๘ เช่นหลวงปู่หลุย ในกรณีของหลวงปู่อ่อนก็เช่นเดียวกัน

หลวงปู่ขาว ญัตติเป็นธรรมยุตวันเดียวกับท่าน คือวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ บวชหลังท่าน ๑๕ นาที โดยต่างเป็นคู่นาคซ้ายขวาซึ่งกันและกัน ท่านอธิบายว่า แม้ท่านจะมีอายุน้อยกว่าหลวงปู่ขาวนับ ๑๐ ปี แต่โดยที่ท่านได้ญัตติมาเป็นพระธรรมยุตแล้วครั้งหนึ่งที่จังหวัดเลย แต่ในปี ๒๔๖๗ ก่อนหน้านั้น หากมีความสงสัยในการญัตติครั้งนั้นว่าจะไม่ถูกต้องสมบูรณ์ เพราะชื่ออุปัชฌาย์เขียนไม่ถูกอักขระ ซ้ำการภาวนาก็ขัดข้องไม่เป็นไป จึงมาขอญัตติใหม่อีกครั้งหนึ่ง ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ ซึ่งในขณะนั้นยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูสังฆวุฒิกร จึงให้ท่านเป็นนาคขวา ให้หลวงปู่ขาวเป็นนาคซ้าย

สำหรับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร นั้น มีอายุแก่กว่าท่าน ๒ ปี โดยหลวงปู่ฝั้นเกิดปีกุน พ.ศ. ๒๔๔๒ แต่มาญัตติบวชเป็นธรรมยุตหลังท่านและหลวงปู่ขาว ๗ วัน

ปกติพระกัมมัฏฐานสายท่านพระอาจารย์มั่น จะเคร่งครัดพระธรรมวินัยโดยเฉพาะเรื่องการบวชก่อนหลัง ถือเป็นประเพณีว่า แม้บวชหลังเพียงนาทีเดียวก็ต้องเคารพผู้บวชก่อน ดังนั้นจึงเป็นภาพธรรมดาที่จะเห็นหลวงปู่ผู้มีความมักน้อยถ่อมองค์เป็นนิสัย เมื่อพบเพื่อนสหธรรมิกของท่านผู้บวชก่อน แม้จะมีอายุน้อยกว่าแต่หลวงปู่ก็จะคุกเข่าก้มลงกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ อย่างนอบน้อม อ่อนโยนถึงเวลาจะพูดจาด้วย ก็จะใช้คำแทนชื่อองค์ท่านเองว่า “กระผม” หรือ “เกล้ากระผม” เสมอ เช่น เมื่อท่านพบหลวงปู่เทสก์ ซึ่งเป็นที่ทราบและเป็นที่ยกย่องกันในหมู่วงศ์ศิษย์ของท่านพระอาจารย์มั่นว่า ท่านพระอาจารย์มั่นท่านถือหลวงปู่เทสก์เป็นธรรมทายาทของท่าน เป็นคล้าย “พี่ชายใหญ่ของวงศ์ตระกูล” ที่จะต้องดูแลพวกน้องๆ

หลวงปู่หลุยท่านก็จะปฏิบัติต่อหลวงปู่เทสก์ด้วยความนอบน้อมถ่อมองค์เช่นดังที่กล่าวมา

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อพบเพื่อนผู้บวชทีหลัง อย่างหลวงปู่ขาวและหลวงปู่ฝั้นท่านจะรีบยกมือขึ้นเตรียมไหว้ก่อนเป็นประจำ และในเวลาที่ได้รับนิมนต์ไปฉันจังหันท่านจะถอยไปนั่งในที่ลำดับถัดไปจากหมู่พวกเสมอ ดังนี้ ความเรื่องที่ท่านมีอาวุโสทางบวชก่อนนี้ หากมิได้แพร่งพรายมาจากทางหลวงปู่ขาว ซึ่งกล่าวยกย่องท่านแล้วก็คงจะแทบไม่มีศิษย์รุ่นหลังผู้ใดทราบเลย

๏ ชาติตระกูล

ในเขตตัวเมืองจังหวัดเลย สมัยเมื่อประมาณร้อยกว่าปีก่อนโน้น ดรุณีน้อยนางหนึ่ง ชื่อ “กวย” เป็นธิดาของผู้มีอันจะกินในละแวกบ้าน เป็นที่ขึ้นชื่อลือชากันว่ารูปสวย แต่งตัวงาม เป็นผู้หญิงคนเดียวในหมู่บ้าน ซึ่งขณะนั้นเรียกกันว่า บ้านเมืองใหม่ที่อ่านหนังสือออก เขียนหนังสือได้ ทั้งรูปสมบัติ คุณสมบัติ ทรัพย์สมบัติมีวิชาความรู้ทุกอย่างเพียบพร้อม ดรุณีน้อยผู้นั้นจึงเป็นที่หมายปอง มีผู้มาติดพันมากมาย สุดท้ายมีข้าราชการหนุ่มผู้หนึ่งในจังหวัดเป็นผู้ที่โชคดี สู่ขอตกลงแต่งงานกันอย่างมีหน้ามีตา

ข้าราชการหนุ่มผู้นั้นได้รับราชการต่อมาด้วยความก้าวหน้า ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่ ขุนวาณิชนิกร เป็นเจ้าเมืองเลย ส่วนภรรยาของท่านชาวเมืองยกย่องเรียกกันว่า เจ้าแม่นางกวย

ในสมัยนั้น กฎหมายและประเพณีไทยยังเอื้ออำนวยอยู่มากที่จะให้ชายหนึ่งมีภรรยาเกินกว่าหนึ่ง โดยมีเอกภรรยาเพียงคนเดียว และสามารถมีอนุภรรยาได้อย่างไม่จำกัดจำนวน ตามแต่ผู้สามีจะสามารถเลี้ยงดูได้ ความจริงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ว่าด้วยครอบครัว เพิ่งจะประกาศใช้กำหนดให้สามีมีภรรยาได้ถูกต้องตามกฎหมายเพียงคนเดียว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ นี่เอง ฉะนั้น ในระยะนั้นท่านขุนวาณิชนิกร ซึ่งบริบูรณ์ด้วยยศศักดิ์ ศฤงคาร จึงมีผู้ชิงกันเสนอหญิงให้เป็นภรรยารองอย่างไม่คำนึงถึงจิตใจของผู้เป็นเอกภรรยา พูดไปแล้วควรจะถือได้ว่าเจ้าแม่นางกวยเป็นหญิงที่มีความทันสมัยก้าวหน้าอย่างยิ่ง ถือเป็นสตรีที่ต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีหรือ Women's Lib คนแรกของจังหวัดเลยก็ว่าได้ ท่านถือว่า การมีอนุภรรยาซึ่งสมัยนั้นกฎหมายก็ยอมรับ ไม่ใช่กฎกรรมที่ควรยอมรับได้ ชายและหญิงควรมีสิทธิทัดเทียมกัน เมื่อแต่งงานกันแล้วก็ควรจะครองรักด้วยกันอย่างซื่อสัตย์ ถ้าไม่ต้องการให้ภรรยานอกใจ สามีก็ไม่ควรนอกใจภรรยาด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้น เมื่อไม่สามารถตกลงปรองดองกันได้ในปัญหานี้ ท่านจึงแยกทางกับสามีอย่างไม่อาลัยไยดีกับตำแหน่งภรรยาเจ้าเมืองอันมีหน้ามีตานั้นเลย

ท่านแยกตัวมาจากจวนเจ้าเมืองอย่างใจเด็ดผิดหญิงทั่วไป มีเพียงธิดาน้อยชื่อ “บวย” อยู่เป็นเพื่อนด้วย กลับมาปกครองข้าทาสหญิงชายและทรัพย์สมบัติเดิมอยู่ตามลำพัง

หลานเหลนในระยะหลัง เล่าให้ฟังว่า ทรัพย์สมบัติของเจ้าแม่นางกวยนั้น เรียกว่า เป็นเอกอยู่ในบ้าน สมัยนั้นจังหวัดเลยยังมิได้มีการแบ่งเป็นถนน เป็นซอยเช่นในทุกวันนั้นคงเป็นหมู่บ้าน เรียกกันว่า บ้านเมืองใหม่ บ้านแฮ่ บ้านติ้ว เป็นต้นตำบลที่เรียกว่า “บ้านติ้ว” คือบริเวณแถบที่ตั้งศาลากลางในปัจจุบัน บ้านเมืองใหม่ซึ่งเป็นชื่อหมู่บ้านที่เจ้าแม่นางกวยครอบครองนั้น ในเวลานี้ก็อยู่กลางใจเมืองเลยพอดี

บริเวณเขตบ้านกว้างขวาง ด้านหนึ่งติดแม่น้ำเลย ซึ่งขณะนั้นยังกว้างใหญ่น้ำลึกใสสะอาด ไม่ตื้นเขิน สกปรกรุงรัง ชายฝั่งถูกรุกล้ำเข้ามาจนแคบเล็กเช่นในเวลานี้ระยะนั้น เด็กๆ จะสามารถกระโจนลงไปดำผุดดำว่าย พุ่งหลาวเล่นได้อย่างสำราญเมื่อกล่าวว่า บริเวณเขตบ้านกว้างขวาง ก็หมายความตามนั้น ว่ากว้างขวางจริงๆ

กล่าวคือ ด้านที่ติดแม่น้ำนั้นยาวเหยียดเลียบไปตามชายฝั่ง ด้านหนึ่งปลูกต้นไม้ผล ทั้งใหญ่และเล็ก หมากม่วง หมากพร้าว หมากหุ่ง (มะละกอ) หมากวี่ง (ขนุน) กล้วย อ้อย มะนาว พริก หอมกระเทียมไม่เคยต้องซื้อ เก็บจากสวนภายในเขตบ้าน โดยเฉพาะหอม กระเทียม นั้น ทำเป็นมัดกระจุก แขวนไว้เป็นราวๆ เลย ต่อไปเป็นบริเวณทุ่งนา ซึ่งหลานของท่านกล่าวว่า ไม่ทราบว่า กี่ร้อยกี่พันไร่ ด้วยไม่ทราบจะนับอย่างไร เพราะมองไปสุดลูกหูลูกตา จากหมู่บ้านนี้ไปจรดอีกหมู่บ้านหนึ่งก็แล้วกัน ถึงหน้านา จะมีลูกนา ออกดำนา ปลูกข้าว ถึงเวลาเก็บเกี่ยว ก็จะมีการลงแขก เกี่ยวข้าว นวดข้าว ฝัดข้าว เอาข้าวขึ้นยุ้งขึ้นฉาง

ทุกบ้านจะทอผ้าใช้เอง ไม่มีการซื้อหา ในขณะที่บ้านอื่นโดยทั่วไปจะทอผ้าฝ้าย เป็นผ้าถุง ผ้าขาวม้า เพื่อให้ในชีวิตประจำวัน แต่บ้านเจ้าแม่นางกวยจะทอผ้ายก ผ้าไหม มีการเลี้ยงไหม ปลูกหม่อนภายในบ้าน ลูกหลานยังจำวันเวลาได้ที่จะเอาตัวไหมมาใส่กระด้ง ให้ใบหม่อนเป็นอาหาร หลานน้อยจะใช้นิ้วจี้เล่นกับตัวหนอนพวกข้าทาสหญิงชายจะเอาไหมมาสายเป็นไจ บางทีจะใช้เชือกผูกมัดเป็นปม ก่อนจะย้อมสี เสร็จแล้วก็จะทอออกมาเป็นผ้ามัดหมี่ลวดลายต่างๆ กัน วิธีการผูกปมมัดแตกต่างกันจะได้ลายผ้าที่สวยงามผิดแผกกัน สำหรับผ้ายก ผ้าลายดอก ลายขิด ก็ต้องมีวิธีการไปอีกแบบหนึ่ง เมื่อถึงเทศกาลตรุษสงกรานต์หรืองานบุญ ก็จะแต่งตัวประกวดประชันกันภายในละแวกบ้านว่า ลายผ้าของบ้านใดจะงดงามแปลกตากว่ากัน และก็เป็นที่ทราบกันว่า ผ้าทอบ้านเจ้าแม่นางนั้นแหละจะต้องเป็นผ้าทอที่มีสีสันสวยลายงดงามกว่าของบ้านอื่นๆ เสมอ

เจ้าแม่นางปกครองทรัพย์สมบัติและหมู่บริวารมาได้โดยราบรื่น ความใจเด็ดที่กล้าแยกทางกับเจ้าเมืองประการหนึ่ง ทรัพย์ศฤงคารมากมายที่มีอีกประการหนึ่งทำให้ไม่มีชายใดกล้ามาวอแว กระทั่งลุเวลาวันหนึ่งได้มีชายหนุ่มหน้าตาคมคายผู้หนึ่งเข้ามาเป็นแขกในละแวกบ้าน เป็นผู้ที่เจ้าแม่นางไม่อาจจะปฏิเสธการต้อนรับได้ ด้วยมีศักดิ์ตระกูลใกล้เดียงกัน ชายหนุ่มผู้นั้นมีนิสัยร่าเริง ช่างเล่น ช่างเจรจา ข้ามฟากมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง เป็นบุตรชายของเจ้าเมืองแก่นท้าว ซึ่งสมัยก่อนหน้านั้นไม่นาน เมืองแก่นท้าวนี้ยังรวมอยู่ในเขตประเทศไทย เพิ่งถูกแยกไปถือเป็นเขตดินแดนประเทศลาวเมื่อเกิดกรณี ร.ศ. ๑๑๒ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๓๖) นี่เอง การสูญเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส ทำให้แก่นท้าวต้องหลุดไปจากแผนที่ประเทศไทย

เมืองแก่นท้าว อยู่ตรงข้ามแม่น้ำเหือง อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย ในปัจจุบันคำว่า “แก่น” ออกเสียงยาวหน่อย เป็นภาษาลาว แปลว่า ชอบอาศัยอยู่ ท้าวหมายถึง เพศชาย ดังนั้นรวมคำว่า “แก่นท้าว” หมายความว่า เมืองที่ผู้ชายชอบอยู่แม้ขณะนี้ แก่นท้าวก็ยังมีชื่อเสียงอยู่มากว่า เป็นเมืองผู้หญิงสวย เหล้าสาโทเด็ด คือจุดไฟติดทีเดียว

เมืองแก่นท้าว จะเลื่องชื่อลือนามว่า ผู้หญิงสวยอย่างไร เป็นเมืองที่ชายชอบอยู่อย่างไร แต่ในที่สุด ชายหนุ่มผู้มีนามว่า “คำฝอย วรบุตร” บุตรชายของเจ้าเมืองแก่นท้าว ก็มิได้สนใจ หากกลับมีใจยินดีสวามิภักดิ์ต่อเจ้าแม่นางกวย หญิงสาวชาวบ้านเมืองใหม่ จังหวัดเลย แต่โดยดี

เมื่อถึงวันอังคาร ขึ้น ๙ ค่ำ เดือนสาม ปีฉลู ตรีศก อันตรงกับวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๔ ในสถานภาพเช่นนั้น ในชาติตระกูลดังนั้น ทารกชายผู้หนึ่งก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมาในสกุล “วรบุตร” ในเวลาเช้าตรู่ เวลาพระออกบิณฑบาต เป็นผู้ซึ่งต่อมาในภายหลังได้เป็นที่รู้จัก เป็นที่เคารพรัก เลื่อมใสศรัทธาของปวงพุทธศาสนิกชนไทยทั่วประเทศ ในนามว่า พระคุณเจ้าหลวงปู่หลุย จันทสาโร

เกี่ยวกับการเกิดของท่านนี้ ต่อมาในภายหลัง ใน พ.ศ. ๒๔๘๐ เมื่อหลวงปู่ธุดงค์ออกจากบ้านไปกว่าสิบปี ก็กลับมาเยี่ยมจังหวัดเลย มาพักที่ ป่าช้าวัดหนองหมากผางตำบลนาอ้อ อำเภอเมืองก็ได้มาโปรดโยมมารดา ได้ถามเจ้าแม่นางกวย หรือ “แม่กวย” ของท่าน ถึงเรื่องนี้ ทราบความแล้วท่านได้บันทึกไว้ดังนี้

“พ.ศ. ๒๔๘๐ ได้ถามแม่กวย กำเนิดในท้อง ๑๐ เดือนอยู่กรรมสบาย ไม่ป่วย เราอยู่ในท้องแม่ แม่สมาทานอุโบสถหลวง แรกเกิดคนชอบมาก บิดาฝันได้แก้ว เกิดทีแรกรกพันคอ คนอื่นทายว่าจะได้บวช เจ็บท้อง ๑ คืน รุ่งจวนสว่างคลอด อยู่กรรม ๒๑ วัน แม่โช้นเลี้ยง นอนไว้ที่ไหนก็นอนง่าย ร้องไห้แต่อยู่กรรม นอกนั้นไม่ร้องไห้ ตกต้นไม้ ไม่ใช่ตายคืน ครู่เดียวก็รักตัว อยู่กรรมหนาวจัดเกิดทีแรกรูปงาม ใครๆ ก็ชอบอุ้ม อยู่ในท้องนั้นใหญ่จนแม่ตำแย แม่โช้นพันทักท้องว่า ใหญ่นักจะออกไม่ได้ แม่เลยตกใจ นี้แหละพระคุณของแม่เช่นนี้ เราไม่กล้าสึก เพราะฉลองคุณบิดามารดาให้เต็มเปี่ยมในชาตินี้...”

หมายความว่า การเกิดของท่านมีลักษณะพิเศษ คือ โยมมารดามีครรภ์ถึง ๑๐ เดือนจึงคลอดบุตรชายผู้นี้ ระหว่างอยู่ไฟ สุขภาพของมารดาและบุตรดีมากไม่ป่วยเลย ระหว่างที่บุตรอยู่ในครรภ์ มารดาสมาทานรับศีลอุโบสถใหญ่ตลอดแรกเกิดเป็นที่รักใคร่เอ็นดูของผู้ที่พบเห็นมาก โยมบิดาฝันเป็นมงคลว่า “ได้แก้ว” เป็นนิมิตหมายที่ดีมาก เมื่อเกิดรกพันคอ จึงมีคนทำนายว่า ต่อไปทารกนี้จะได้บวชมารดาท่านเจ็บท้องตลอดคืน จนจะรุ่งสว่างจึงได้คลอด อยู่ไฟนานถึง ๒๑ วัน เป็นเด็กเลี้ยงง่าย ยายเลี้ยง ให้นอนที่ไหนก็นอนง่ายมาก ไม่ขี้อ้อนโยเย มีการร้องไห้บ้างแต่ตอนแม่อยู่ไฟเท่านั้น หลังจากนั้นก็แทบไม่ร้องไห้เลย (ท่านคงซนพอดู) ตกต้นไม้ก็ไม่เจ็บหรือสลบ เพียงครู่เดียวก็รู้สึกตัว ระหว่างอยู่ไฟอากาศหนาวจัด เป็นเด็กสวย รูปงาม ใครๆ ก็ชอบอุ้ม เวลาท่านอยู่ในท้องมารดานั้น ครรภ์ใหญ่มาก...ใหญ่จนทุกคนขู่แม่...ไม่ว่าจะเป็นหมอตำแย หรือคุณยาย ต่างพากันว่า ถ้าท้องใหญ่นักเช่นนี้จะออกไม่ได้ ทำให้โยมมารดาของท่านตกใจมาก เพราะในชนบทไกลๆ นั้น ถ้าท้องใหญ่มากจนทารกออกไม่ได้ ก็มักจะเป็นอันตรายถึงชีวิตทั้งแม่และเด็ก...! เมื่อหลวงปู่รำพึงถึงพระคุณของแม่ ที่ยอมเสี่ยงภัยอันตรายอย่างใหญ่หลวงเพื่อลูกดังนั้น ความตั้งใจที่จะคงอยู่ในเพศพรหมจรรย์ต่อไปจึงยิ่งแน่นแฟ้นขึ้น ไม่กล้าสึก เพื่อให้บุญกุศลจากการบวชอุทิศตนให้แก่พระบวรพุทธศาสนานั้นมีผลเต็มเปี่ยม บูชาฉลองพระคุณบิดามารดา

๏ วัยดรุณ

ชีวิตในวัยเด็กของหลวงปู่ คงจะเป็นชีวิตที่สมบูรณ์พูนสุขมากอยู่ นอกจากการมีกำเนิดในครอบครัวที่มีอันจะกิน หรือความจริงควรจะเรียกได้ว่า...ร่ำรวยที่ดียศ...โดยเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านละแวกนั้น บิดามารดาก็คงประคบประหงมอย่างดี ดังที่มารดาเจ้าแม่นางกวยเล่าให้หลวงปู่ฟังว่า “เกิดทีแรกรูปงาม ใครๆ ก็ชอบอุ้ม” แถมเป็นเด็กเลี้ยงง่าย ไม่ใคร่ร้องไห้ ญาติทุกคนจึงเอ็นดูแย่งกันอุ้มท่าน บันทึกไว้ต่อมาอีกหลายปีว่า “หนาวจัด ในสมัยนั้นเราเป็นเด็ก บิดาอุ้มเราไปเยี่ยมบ้านแก่นท้าว แม่กับพ่ออุ้มเราไปแต่เราไม่รู้เดียงสานั้นครั้งหนึ่ง”

น้องชายของท่าน “สุข วรบุตร” เกิดในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ หลังท่าน ๔ ปี ท่านจึงดำรงความเป็นลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของตระกูลอยู่หลายปี กว่าน้องชายผู้เกิดใหม่จะมาแทนที่จุดรวมแห่งความสนใจของบิดามารดาและญาติพี่น้อง ท่านว่าแต่ท่านก็มิได้นึกอิจฉาริษยาอะไรน้อง คงเห็นน้องเหมือนของเล่นมีชีวิตที่จะเล่นด้วยพี่สาวของท่าน แม้จะต่างบิดากัน แต่ก็รักใคร่กันสนิท ช่วยมารดาดูแลท่านด้วยความรักมาอย่างไร ท่านก็ช่วยมารดาอุ้มชูน้องด้วยความรักเช่นกันอย่างนั้น แต่นั่นแหละเด็กผู้ชายไหนเลยจะเหมือนเด็กผู้หญิง ท่านกล่าวว่า ท่านดูน้องอยู่ประเดี๋ยวประด๋าวก็ลงจากเรือน เป็นหัวหน้าพากลุ่มเด็กลูกคนใช้ออกลงน้ำบ้าง ออกไปเที่ยวในทุ่งนาบ้าง สนุกสนานไปวันๆ ตามประสาเด็ก

ชีวิตที่พร้อมหน้าพร้อมตาด้วยพ่อ แม่ พี่สาว และน้องชาย ต้องสะดุดหยุดลง เมื่อบิดามาถึงแก่กรรมลงขณะที่ท่านอายุได้เพียง ๗ ขวบ และน้องอายุ ๓ ขวบเท่านั้น ความสุขแจ่มใสที่เคยมีในบ้าน ก็คล้ายกับมีหมอกควันบางๆ มาปกคลุมอยู่ไม่ต้องสงสัย เจ้าแม่นางกวยจะต้องรู้สึกถึงการ “จาก” เป็นอย่างมาก ชีวิตการแต่งงานของท่าน มีแต่การพลัดพรากจากกัน จากเป็น แล้วก็จากตาย ความเป็นหญิงคนเก่งขี่ม้าไปตรวจสวน ตรวจที่นา อย่างที่เคยปฏิบัติ ก็เนือยๆ ไป มีแต่ความเหงา เฉื่อยชามากขึ้น ท่านไม่กลัวการจากเป็น ซึ่งอาจอยู่ในลิขิตของมนุษย์ การจากฝ่ายนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีใครจะยื้อยุดฉุดกระชากชีวิตที่จะจากไปไว้ได้

มารดาท่านเริ่มเห็นทุกข์...ประจักษ์ถึงการพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบใจไปเป็นความทุกข์ การงานบ้าน การดูแลทรัพย์สมบัติก็เริ่มปล่อยให้อยู่ในภาระของบุตรสาว ตัวท่านสนใจเข้าวัด ฟังธรรมมากกว่า ระหว่างนั้นพี่สาวของท่านเพิ่งจะรุ่นสาวแต่พวกคนในบ้านและเพื่อนบ้านก็ยกย่องเกรงใจ เรียกกันเป็น “เจ้าแม่นาง” เช่นมารดาในบ้านจึงมีทั้งเจ้าแม่นางกวย และเจ้าแม่นางบวย

ท่านเล่าว่า การนา การสวน การทอผ้า มารดามิค่อยสนใจนัก แต่ที่ท่านยังจำได้ว่า มารดายังทำเป็นประจำ คือ การทำบุญ ตักบาตร ทำด้วยตนเองตลอด รวมทั้งการโอบเอื้ออารีกับหมู่เพื่อนบ้าน เวลาตรุษสงกรานต์ ซึ่งมารดาเคยให้นำเครื่องโถเคลือบน้อยใหญ่ออกมาขัดล้าง โถใบใหญ่เป็นที่จัดทำน้ำปรุง ประกอบด้วยเครื่องหอม เครื่องเทศ อบร่ำ เป็น “หัวน้ำอบไทย” ขันถมทองใบใหญ่ ใช้เป็นที่ผสมหัวน้ำอบเจือจางกับน้ำอบร่ำของหอม ให้เป็นน้ำอบไทย แจกจ่ายให้ข้าทาสบริวารในบ้าน รวมทั้งให้นำไปมอบเป็นของขวัญสงกรานต์ปีใหม่ ระยะนั้นวันปีใหม่ของไทยเรายังตั้งต้นวันที่ ๑ เมษายน วันสงกรานต์ ๑๓ เมษายน จึงมีความสำคัญต่อความรู้สึกของคนไทยมาก เพราะเป็นวันเถลิงศกปีใหม่ตามโบราณประเพณี และใกล้กับวันขึ้นปีใหม่ของทางการ ทุกบ้านเรือนจะรู้สึกถึงความพิเศษอันนั้น จัดนำของขวัญให้กันผู้น้อยก็นำผ้านุ่ง ผ้าห่ม น้ำอบไทยไปกราบคารวะผู้ใหญ่ด้วยความเคารพและขอพรผู้เกิดก่อน ผู้ใหญ่ก็ให้พรประพรมน้ำหอมให้ ถ้าเป็นผู้มีฐานะตีก็จะมีของขวัญตอบแทน ในกรณีมารดาท่านนั้น ไม่แต่ประพรมน้ำหอมให้ ยังแจกน้ำอบไทยให้ด้วยซ้ำ งานนี้เจ้าแม่นางกวยไม่ได้มอบให้ใครทำแทน ท่านทำเป็นประจำตลอดมา จนสมัยเหลนเกิดแล้ว ก็ยังจำภาพคุณทวด เจ้าแม่นางทำน้ำอบไทย เก็บหัวน้ำอบไทยไว้ในโถใหญ่ แล้วแบ่งออกมาปรุงในขันถมทองใบใหญ่ มีจอกถมทองอันน้อยลอยอยู่ในขัน สำหรับเป็นที่ตักแจกน้ำอบไทย เจ้าแม่นางกวยว่าเป็นการทำบุญ และรักษาประเพณีอันดีงามของไทยไว้


(มีต่อ ๑)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 17 ม.ค. 2007, 9:57 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ นิมิตที่บอกอนาคต

เมื่อบรรยากาศแห่งความร่าเริงภายในบ้านแปรเปลี่ยนไป หลวงปู่ซึ่งเคยถอดแบบความรื่นเริง สนุกสนานของบิดาไว้ ก็พลอยรู้สึกไปด้วย ท่านว่า ที่เคยเป็น “หัวโจก” พาเด็กในบ้านสนุกสนาน กระโดดน้ำ ปีนป่ายต้นไม้ ซนไปต่างๆ นานาก็แทบหมดสนุก พี่สาวก็คร่ำเคร่งกับการดูแลว่ากล่าวคนในบ้าน น้องชายก็เล็กนักไม่เข้าใจอะไรเลย

ท่านจึงมักปลีกตัวไปนั่งคนเดียวริมแม่น้ำ มองดูน้ำที่ไหลระเรื่อยผ่านไปเศษใบไม้ที่ปลิวตกลงมา ไม่ช้าก็ถูกกระแสน้ำนั้นพัดพาลอยไป

น้ำมาจากไหน...จะไหลไปไหน มีแต่ไหลไปทางเดียว ไม่มีไหลกลับ ดูแต่เศษใบไม้ที่ปลิวตกลงในน้ำ ไม่ช้าก็ถูกกระแสน้ำม้วนตัวพัดพาลอยละลิ่วไปจนสุดสายตา ครูที่โรงเรียนสอนว่า เวลาและกระแสน้ำไม่รอใคร แต่ท่านไม่คิดถึงในเรื่อง “เวลา” กลับคิดไปในแง่เปรียบเทียบกับ “ชีวิต” มากกว่า

ชีวิตมนุษย์ก็เหมือนกระแสน้ำ เกิดมาแล้วก็ล่วงวันไป...ผ่านไป ชีวิตมีแต่ล่วงไปทุกวัน ทุกคืน ไม่เคยหยุดอยู่กับที่ เกิดแล้วทำไมไม่หยุดอยู่ ที่เคยพบเห็นกันก็จากกันเหมือนใบไม้ที่ลอยลิ่วไปกับน้ำ ดูแต่บิดา ท่านเมตตา อุ้มเรา จูงเรา หัวเราะกับเรา รักเรา อาทรเรา อยู่ไม่นาน ก็ไม่มีบิดาอีกแล้ว

ชีวิตนี้ช่างน้อยนิดนี่กระไร

ชีวิตนี้ช่างไม่เที่ยงแท้จริงๆ...!

ท่านครุ่นคิด...คิดๆ อยู่ ไม่ทราบว่าเป็นการคิดเพ้อเจ้อหรือไร้สาระหรือไม่ เคยปรารภกับพี่ พี่ก็ทำท่าเหมือนน้องชายจะกลายเป็นคนสติเสียหรือเปล่า

ท่านก็เลยไม่กล้าพูด เล่าความคิดเหล่านี้ให้ใครฟัง

ได้แต่ คิด...คิด ดูกระแสน้ำในแม่น้ำเฉยอยู่ ราวกับจะเป็นเพื่อนรับฟังความคิดของท่าน เพ่งน้ำ ดูน้ำ มันสงบ มันเย็นดี มันปลอดโปร่งใจดี ท่านไม่ทราบว่า นั่นเป็นการหันเหจิตเข้าสู่ความสงัดวิเวก นั่นเป็นการเริ่มของความคิดทางธรรม การเพ่งน้ำ ดูน้ำ ที่สงบ ที่เย็น นั้นที่จริงก็เป็นการภาวนาโดยอาศัยน้ำเป็นอารมณ์อันอาจจะเป็นอาโปกสิณ กสิณน้ำของผู้รู้ต่อไปได้

ท่านว่า ท่านไม่ทราบอะไรทั้งสิ้น วันหนึ่งขณะที่นั่งอยู่ที่ริมสะพานน้ำนั่งมองน้ำเพลิน คิดเรื่องชีวิตต่างๆ อย่างหมกมุ่นเกินวัย จิตตกภวังค์วูบลง เกิดนิมิตเห็นเป็นแสงสว่างสีสวยคล้ายสีรุ้ง แต่ต่างกับรุ้งที่ไม่เป็นวงโค้งครอบลงกับขอบฟ้าเป็นวงกลม ลำแสงนี้เป็นลำพุ่งขึ้นไปกลางฟ้า แล้วก็สว่างอยู่บนนั้น ไม่ทอดลำแสงลงแต่อย่างใด ลำแสงระยะต้นดูเป็นสีเทาดำ ไม่สว่าง ส่วนที่สว่างจ้านั้นเริ่มแต่ตอนกลางเป็นต้นไป ยิ่งถึงปลายลำแสงก็ยิ่งสว่างจ้ายิ่งขึ้น

จิตถามว่า แสงอะไร

ในใจตอบว่า แสงนี้แสดงนิมิตของชีวิตเรา ตอนต้นไม่สว่าง เพราะเราอาภัพบิดาตายแต่เล็ก ชีวิตจะลำบาก ช่วงเที่ยงวัน...ท่านว่า ทำไมเรียกเช่นนั้นก็ไม่ทราบ คงเป็นเพราะเห็นว่า ระยะนั้นแสงพุ่งขึ้นสูง...สูงสุดยอด เป็นช่วงตอนกลางของลำแสงถือเป็นเที่ยงวันหรือช่วงวัยกลางของชีวิต จะเริ่มเป็นคนมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป แสงนั้นไม่ตกลงเลย ความที่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ก็จะไม่ลดละลงเลยเช่นกัน

แล้วในใจก็รู้ขึ้นมาอีกว่า

“ต่อไปจะต้องบวช และบวชแบบกัมมัฎฐาน” ขณะนี้ยังเป็นเด็กไม่รู้จักคำว่า “กัมมัฎฐาน” มาก่อนเลย แต่ในใจก็คิดขึ้นมาเช่นนั้นเองได้อย่างไรก็ไม่ทราบ ท่านเล่าให้ศิษย์ฟังว่า “คงเป็นนิสัยวาสนาที่เคยสั่งสมอบรมมาแต่ชาติก่อนๆ มาบอกมาเตือน” นั่นเอง

เป็นนิมิตที่ประหลาดมาก ท่านเองลืมไปนาน จนกระทั่งภายหลังเวลามาอนุสรณ์ถึงความหลัง ระหว่างเจริญภาวนาสงบวิเวกอยู่ นิมิตนี้ก็ผุดขึ้นมาอีก เป็นการบอกอนาคตในภายภาคหน้า มีตัว “ผู้รู้” อยู่กับตัวนานแล้ว แต่ไม่รู้จัก ท่านว่า จำได้ว่าระยะที่มีนิมิตนี้ ท่านมีอายุประมาณ ๙ ขวบเท่านั้น

๏ วอ-บา-หลุย

ในสมัยเมื่อเจ็ดสิบแปดสิบกว่าปีก่อนโน้น ระบบการศึกษาของจังหวัดเลยมีเพียงแค่ระดับประถมศึกษาเท่านั้น หากต้องการจะเรียนสูงกว่านั้นจะต้องมาต่อที่กรุงเทพฯ อันเป็นเมืองหลวงของประเทศ การคมนาคมเดินทางจากจังหวัดหัวเมืองจะมานครหลวงนั้นแสนลำบาก ไม่มีทางที่คนธรรมดาสามัญ ไม่ใช่ข้าราชการจะเดินทางกันไปเองได้ เพราะต้องเดินทางรอนแรมกันไปกลางป่ากลางดง มีเกวียน มีช้าง มีม้าต่างไปเป็นขบวน โดยที่ถ้าใครจะให้บุตรหลานไปเรียนสูงกว่าชั้นประถม จะต้องฝากฝังไปกับขบวนข้าราชการที่จะต้องเดินทาง ถ้าไม่สบจังหวะเวลา ไม่มีการไปราชการกรุงเทพฯ ไม่มีการโยกย้ายตำแหน่ง ก็ไม่มีโอกาสเดินทางเข้าเมืองหลวง นอกจากนั้นเข้าเมืองหลวงได้แล้ว ก็จะต้องหาบ้านผู้หลักผู้ใหญ่ หรือญาติมิตรให้บุตรหลานได้พักพิง

ระหว่างการศึกษา ด้วยหลวงปู่ต้องการจะไปเรียนต่อกรุงเทพฯ แต่มารดาก็ไม่ยอมส่งไป อ้างว่าไม่มีญาติมิตรที่จะคอยดูแลได้ ความจริงคงเป็นความรู้สึกลึกๆ เรื่องกลัว “การจาก” ยังฝังอยู่มากกว่า สามีก็ไม่อยู่แล้ว หากลูกชายคนโตพลอยเป็นอะไรไปจะทำอย่างไร เพราะมีบ่อยครั้งที่ได้ข่าวว่า เด็กชายที่เดินทางไปเพื่อการศึกษา ต้องเป็นไข้ป่าล้มหายตายจากไปเสียก่อนก็มี มารดาจึงไม่ยอมให้บุตรจากมา หลวงปู่จึงมีโอกาสศึกษาเล่าเรียนแค่จบประถมปีที่ ๓ เท่านั้น ซึ่งขณะนั้นนับเป็นการศึกษาที่สูงมากสำหรับบ้านเมืองที่ห่างไกลนครหลวงไปจนสุดกู่อย่างจังหวัดเลย

โรงเรียนที่ท่านเรียนนั้น ชื่อโรงเรียนวัดศรีสะอาด ฉะนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจที่สภาพอันสงบร่มเย็นของ “วัด” จะมีส่วนกล่อมเกลาให้จิตใจเด็กชายน้อยแห่งสกุล “วรบุตร” หันไปสู่ทางธรรม ด้วยโรงเรียนก็อยู่ในเขตวัด การเรียนการเล่นก็ไม่ห่างเสียงสวดมนต์ไหว้พระ มิหนำซ้ำโรงเรียนขาดแคลนครู บางเวลาต้องอาศัยพระช่วยมาสอนหนังสือด้วย ชีวิตของท่านจึงโน้มน้าวไปหาความสงบของวัด แนบแน่นกับวัด...โดยไม่รู้ตัว

แต่เดิมบิดามารดา ตั้งชื่อบุตรชายคนนี้ว่า “วอ” แต่เมื่อมาเข้าโรงเรียนความที่มีนิสัยช่างซัก ช่างเจรจา ช่างออกความเห็น เหมือน “ครูบา” ทางครูและเพื่อนๆ ก็เลยเรียกชื่อท่านว่า “บา” ท่านได้ไช้ชื่อใหม่ว่า “บา” นี้จนกระทั่งได้เปลี่ยนเป็น “หลุย” ในภายหลัง ดังจะกล่าวต่อไป

๏ ทางที่หลงไป

ท่านเคยเล่าว่า การที่มารดาไม่ยอมส่งเสียให้ท่านมาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ หลังจากจบชั้นประถมปีที่ ๓ แล้วนั้นทำให้ท่านเสียใจมาก ว่ามารดาไม่รัก ทรัพย์สมบัติก็มีมากมาย เพียงแค่นี้ก็ไม่ยอมเสียเงิน ท่านว่า ระยะนั้นไม่เข้าใจถึงความรู้สึกของมารดาที่จะต้องห่วงหาอาทรต่อบุตร ท่านได้แสดงกิริยาที่คล้ายกับ “ทำฤทธิ์” กับมารดาหลายประการ มาคิดได้ในภายหลังก็ออกอายใจเหลือประมาณ มีการใดที่จะทำเพื่อทดแทนพระคุณมารดา ท่านจะรีบทำ เช่น เรื่องการบวชไม่ยอมสึก การทำกลดแจกกลดในระยะหลังที่ทำบูชาคุณมารดา

ท่านกล่าวว่า ที่ท่านคิดอยากไปศึกษาต่อนั้น เป็นเพราะเมื่อบิดาข้ามมาจากเมืองแก่นท้าว ก็มากับเพื่อนคนหนึ่ง ต่อมาเพื่อนของบิดาคนนี้ได้เข้ารับราชการมีความเจริญก้าวหน้าได้รับบรรดาศักดิ์เป็นถึง “หลวง.....” บิดาของท่านบุญน้อยเสียชีวิตก่อน จึงไม่มีบรรดาศักดิ์ และมีพวกข้าราชการหลายคนล้วนมีบรรดาศักดิ์เป็นขุน หลวง พระ พระยากัน ซึ่งจะต้องมีพื้นความรู้ดีจึงจะก้าวหน้าทางราชการได้ ท่านก็เลยคิดอยากจะเรียนหาความรู้ใส่ตัวเพื่อเป็นฐานทางราชการบ้าง

มารดาเห็นท่านเป็นคนมีวาทะโวหารดี และสนใจจะเอาดีทางราชการ เผอิญทางบุตรเขยของท่านย้ายจากจังหวัดเลย ไปเป็นสมุห์บัญชี แผนกสรรพากร ที่อำเภอเชียงคาน มารดาจึงฝากฝังให้ท่านไปอยู่กับพี่เขยหรือสามีเจ้าแม่นางบวยที่อำเภอเชียงคาน ตั้งแต่ปี ๒๔๖๐ ท่านได้ไปเริ่มทำงานเป็นเสมียนฝึกหัดก่อนเพราะอายุยังไม่ครบ ๑๘ ปี ที่จะรับราชการได้ รอจนอายุครบ ๑๘ พี่เขยจึงให้เป็นเสมียนจริงๆ ทำอยู่จนถึงปี ๒๔๖๔ ท่านอัยการภาคผู้มีความคุ้นเคยกับครอบครัวหลวงปู่ ก็ฝากให้ไปทำงานที่ห้องอัยการจังหวัดร้อยเอ็ด ท่านจึงย้ายจากเชียงคานไปอยู่ร้อยเอ็ดโดยไปทำงานอำเภอแซงบาดาลบ้าง ห้องอัยการบ้าง

เมื่อเป็นเด็กหนุ่มคะนองอยู่ที่เชียงคาน ได้เข้าโบสถ์นับถือศาสนาคริสต์เพราะชอบสวดมนต์ และลึกๆ ลงไปในใจ อยากจะแกล้งทำให้มารดาซึ่งมีศรัทธาทางพระพุทธศาสนามากผิดหวังที่ลูกชายเปลี่ยนไปศาสนาอื่น แกล้งมารดาด้วย ท่านว่า

อำเภอเชียงคานอยู่ติดแม่น้ำโขง มีการติดต่อกับฝรั่งทางฝั่งลาวมาก ท่านจึงได้รับการฝึกหัดให้รู้จักการเสิร์ฟอาหารแบบตั้งโต๊ะดินเนอร์ รู้จักการตั้งแก้วเหล้าขาว เหล้าแดง รู้จักอาหารที่ควรรับประทานกับเหล้าขาว เหล้าแดง เสิร์ฟแบบฝรั่งเศสอย่างถูกต้องคล่องแคล่ว ท่านนับถือศาสนาคริสต์อยู่ ๕ ปี จนคุณพระเชียงคาน ลุงของท่านให้ชื่อท่านว่า “เซนต์หลุย” หรือ “นักบุญหลุย” ท่านมีชื่อ “หลุย” มาด้วยประการฉะนี้

การคลุกคลีอยู่กับการจัดอาหารเลี้ยงบ่อยๆ นั้นทำให้ท่านได้เห็นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมากมาย บังเกิดความสังเวชสลดใจจึงออกจากศาสนาคริสต์

ท่านอธิบายถึงบาปจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตว่า สมัยนั้นทางจังหวัดเลยไม่มีการขายเนื้อสัตว์ที่ฆ่าแล้ว เช่น เมื่อบ้านใดต้องการปรุงอาหารไก่ ก็จะซื้อไก่เป็นๆ ไปจากตลาด แล้วจัดการฆ่ากันเอง ส่วนเนื้อหมู เนื้อวัว ก็จะขายกันต่อเมื่อหลายๆ บ้านรวมกันจะซื้อ บอกกล่าวกันครบ ๑ ตัว ก็จะฆ่าสักครั้งหนึ่ง การซื้อสัตว์เป็นๆ มาฆ่าเป็นอาหารนี้ ความจริงก็มิได้ทำกันบ่อยนัก ด้วยพอหาปลา กบ เขียด ในแม่น้ำได้โดยง่าย บ้านเมืองสมัยนั้นยังอุดมสมบูรณ์ สมกับคำที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” จริงๆ ตั้งแกงในหม้อบนเตาไฟ ไปเก็บผักในไร่ บ้านท่านอยู่ริมแม่น้ำ ก็ให้คนลงทอดแหทอดอวน ประเดี๋ยวก็ได้ปลาได้กุ้งทันลงหม้อแกงที่กำลังเดือดอยู่

จริงอยู่ ไม่ว่าปลา ไม่ว่ากุ้ง ไม่ว่าไก่ ต่างก็เป็นสัตว์มีชีวิตตัวหนึ่งก็ชีวิตหนึ่ง แต่ชีวิตของสัตว์โตกว่าเมื่อจะฆ่า นัยน์ตาของมันวิงวอนอย่างน่าสงสารยิ่ง แถมยังดิ้นสุดชีวิต พลางส่งเสียงร้องอุทธรณ์ขอชีวิต จะดังลั่นกระเทือนโสตประสาทอย่างใด คงจะพออนุมานได้ ถ้าไก่มันไม่พยายามทั้งดิ้นทั้งร้องอย่างมาก ภาษาไทยเราคงไม่มีวลีเปรียบเทียบเสียงร้องที่แสดงถึงความเจ็บปวดดิ้นรนเพื่อชีวิตว่า “ร้องราวกับไก่ถูกเชือด” ดอก

ท่านว่า เวลาอยู่กับบ้านไทยที่เป็นพุทธ ก็มิได้รู้สึกความน่าสงสารของไก่ที่ถูกฆ่านี้มากนัก ด้วยการฆ่านั้นพวกคนใช้ก็ทำกันทางในครัว ไม่เห็นตำตาก็ไม่เป็นไร นอกจากนั้นทางบ้านเมืองคนไทย ไม่ได้ต้องปรุงอาหารที่เป็นไก่มากนัก นอกจากในโอกาสพิเศษหรือเทศกาลตรุษสงกรานต์ อีกประการหนึ่ง การประกอบอาหารไทยไม่ต้องใช้เนื้อสัตว์มากสำหรับอาหารมื้อหนึ่งๆ อาหารของไทยจะมีอาหารหลักเป็นข้าว ส่วนกับข้าวก็จะเป็นเนื้อสัตว์แต่เพียงน้อย พร้อมทั้งผักมากๆ แต่อาหารแบบของคริสต์ที่จัดให้ฝรั่งนั้น อาหารดินเนอร์มื้อหนึ่งๆ นอกจากซุปที่เป็นอาหารจานแรกแล้วจะกอปรด้วยอาหารอีก ๒ จาน จานแรกเป็นเนื้อปลาหรือสัตว์ป่าที่มี ๒ เท้า จานที่สองเป็นอาหารเนื้อสัตว์พวกสัตว์ ๔ เท้า ถ้าจานแรกเป็นไก่ ก็ต้องใช้ไก่ครึ่งตัวสำหรับแขก ๑ คน ถ้าเลี้ยงดินเนอร์ ๔๐ คน จะต้องฆ่าไก่อย่างน้อย ๒๐ ตัว...แล้วยังพวกอาหารจานเนื้อหมูอบ สเต็คเนื้ออีกเล่า ก็ต้องฆ่าหมู ฆ่าวัวเช่นกัน บางวันเห็นการฆ่าไก่เกินกว่าร้อยตัว เสียงมันร้องลั่น ดิ้นทุรนทุรายน่าสงสารเป็นที่สุด

๏ ออกบวช

ท่านออกจากศาสนาคริสต์แล้ว แต่ภาพไก่ที่เห็นถูกเชือดทุกๆ วัน ยังตามมารบกวนความรู้สึกอยู่ในมโนภาพ ท่านเคยได้ยินว่า การบวชอาจจะแผ่บุญกุศลไปให้ผู้ที่ตายไปแล้วได้ ไก่ตายไปแล้ว บางทีการบวชอาจจะอุทิศส่วนกุศลไปให้ได้กระมัง ?

ประจวบกับระยะนั้น การทำราชการไม่สู้จะปลอดโปร่งใจ ด้วยผู้บังคับบัญชาเกิดกินแหนงแคลงใจในตัวท่าน ทำให้ท่านรู้สึกอึดอัดใจในชีวิตฆราวาสอย่างยิ่ง ผู้บังคับบัญชาเคยรักใคร่ เอ็นดู กลับเปลี่ยนแปลง (ซึ่งท่านบันทึกวิจารณ์ไว้ในภายหลังว่าเป็นอนิจจัง เป็นเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ท่านตัดสินใจละโลกฆราวาสได้ง่ายดายขึ้น) ท่านจึงขอลาออกจากราชการ แล้วเข้าสู่พิธีอุปสมบทเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ โดยมีท่านอัยการภาคเป็นเจ้าภาพบวชให้ บวชเป็นพระมหานิกาย จำพรรษาอยู่ ณ อำเภอแซงบาดาล ปัจจุบันคือ อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด

Image
พระธาตุพนม (ในปัจจุบัน) ประดิษฐาน ณ วัดพระธาตุพนม วรมหาวิหาร
พระธาตุอันศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่เคารพสูงสุดของชาวอีสานและชาวไทยทั้งประเทศ



๏ ได้กลดแรกในชีวิต

ระหว่างพรรษาแรกที่อำเภอธวัชบุรีนี้ หลวงปู่ได้พยายามศึกษาพระธรรมวินัยตามขนบธรรมเนียมของสมณะ ซึ่งมีทั้งปริยัติและปฏิบัติ สำหรับเรื่องปฏิบัตินั้นท่านว่ารู้สึกดื่มด่ำมาก ราวกับได้ไปพบเพื่อนเก่าที่จากกันมาช้านานแล้ว เมื่อออกพรรษาแล้วท่านก็ลาอาจารย์กลับ เพื่อกลับไปเตรียมคัดเลือกเกณฑ์ทหารที่จังหวัดเลยอันเป็นภูมิลำเนาเดิม ท่านออกเดินทางไปจังหวัดนครพนม เพราะคิดว่าก่อนจะกลับบ้านก็ควรหาโอกาสไปนมัสการ พระธาตุพนม อันเป็นพระธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพอันสูงสุดของชาวอีสานและชาวไทยทั้งประเทศ เพื่อความสิริมงคลก่อน ระหว่างทางได้พบพระธุดงคกัมมัฏฐานรูปหนึ่งมาจากอำเภอโพนทอง สนทนาปราศรัยกันด้วยความชอบอัธยาศัยซึ่งกันและกัน

หลวงปู่เป็นพระหนุ่ม เพิ่งบวชพรรษาแรก ยังไม่มีประสบการณ์ใดในการธุดงค์ ส่วนพระกัมมัฏฐานรูปนั้นแก่พรรษากว่า ผ่านการธุดงค์มาอย่างโชกโชนแล้ว ท่านได้ทราบความมุ่งมั่นปรารถนาของหลวงปู่ที่จะเป็นพระธุดงค์ที่ดี ประพฤติปฏิบัติเพื่อความหมดไป สิ้นไป แล้วท่านก็อนุโมทนาด้วย ก่อนจะแยกจากกัน ทราบว่าหลวงปู่ยังไม่มีอัฐบริขารกลดและมุ้งกลด พระกัมมัฏฐานรูปนั้นก็มอบกลดและมุ้งกลดของท่านให้หลวงปู่ไว้ใช้ ครั้งแรกหลวงปู่ปฏิเสธด้วยความเกรงใจ แต่ท่านก็คะยั้นคะยอให้รับไว้ บอกว่า หากต่อไปท่านได้ภาวนาดี เป็นผลดี ผมก็จะได้มีส่วนแห่งผลดีนั้นด้วย และผมขออนุโมทนาล่วงหน้าไว้ เชื่อว่าท่านคงจะได้เป็นพระปฏิบัติดี เป็นที่เชิดชูของพระพุทธศาสนาสืบต่อไป

หลวงปู่กล่าวว่า เป็นกลดคันแรกในชีวิตที่ท่านได้รับ ทำให้ท่านรู้สึกในพระคุณของพระธุดงคกัมมัฏฐานรูปนั้นอย่างที่สุด ได้ใช้ในการภาวนาตลอดมาจนกลดและมุ้งขาด ซ่อมแซมปะชุนไม่ได้อีกต่อไป ท่านไม่เคยลืมพระคุณนี้ และนี่เป็นเหตุปัจจัยประการหนึ่งที่ทำให้ท่านได้ทำกลดแจกจ่ายไปให้พระ เณร แม่ชีมาตลอดเวลา อุทิศกุศลทั้งมวลให้พระธุดงค์จากอำเภอโพนทองรูปนั้นด้วยความสำนึกในพระคุณเป็นที่สุด

ไปถึงพระธาตุพนม ท่านได้มีโอกาสใช้ประโยชน์จากกลดคันแรกนั้นอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งได้ทดลองความรู้เรื่องการปฏิบัติภาวนาที่พระธุดงค์แนะนำท่านด้วย อาจจะเป็นเพราะสถานที่เป็นมงคลอย่างเยี่ยมยอด ได้ประเดิมกลดที่ลานพระธาตุเจดีย์ที่บรรจุพระอุรังคธาตุของสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง ได้ถวายการภาวนาเป็นพุทธบูชา ไม่นอนตลอดคืน บังเกิดความอัศจรรย์ในจิต คือเกิดกายลหุตา จิตลหุตา กายเบา จิตเบา ทำให้ท่านรู้สึกดื่มด่ำในการภาวนามากแล้วตั้งสัจจาธิษฐานว่า

“กลับไปจังหวัดเลยครั้งนี้ หากไม่ได้รับเกณฑ์เป็นทหาร จะบวชกัมมัฎฐานตลอดชีวิต”

ท่านเล่าว่า ไม่ทราบว่าเหตุใด คำว่า “กัมมัฏฐาน” ในนิมิตครั้งเป็นเด็กชายวัย ๙ ขวบนั้นได้กลับคืนมาสู่อนุสติอีก

๏ พบท่านพระอาจารย์บุญ

พักภาวนาอยู่ ณ พระธาตุพนม พอสมควร ท่านก็ออกเดินทางเตรียมกลับจังหวัดเลย ผ่านอำเภอนาแก จังหวัดสกลนคร อำเภอพรรณานิคม วาริชภูมิ สว่างแดนดิน หนองหาน จังหวัดอุดรธานี ปากดงมาถึงอำเภอหนองวัวซอ ได้ยินกิตติศัพท์ว่ามีพระอาจารย์ที่มีชื่อทางธุดงคกัมมัฏฐานองค์หนึ่ง ได้พาชาวบ้านอพยพมาจากจังหวัดอุบลราชธานี มาตั้งบ้านเรือนและสร้างวัดอยู่ที่หนองวัวซอ มีผู้คนพากันไปฟังธรรมจากท่านกันอย่างล้นหลาม ท่านได้ยินคำว่า “กัมมัฏฐาน” ก็สนใจ เลยแวะเข้าไปดูลาดเลากับเขาบ้าง

ปรากฏว่า การแวะเข้าไปดูลาดเลากับเขาบ้างในครั้งนั้น ทำให้ท่านอยู่ต่อมากับพระธุดงคกัมมัฏฐานรูปนั้นไปอีกหลายเดือน จนถึงเวลาเดือนเมษายนใกล้จะเกณฑ์ทหาร จึงลาจากท่านไป

เป็นวาระแรกที่ท่านได้พบ ท่านพระอาจารย์บุญ ปัญญาวุโธ

ท่านเล่าว่า ได้เห็นศีลาจารานุวัตรและข้อปฏิบัติ ได้ฟังธรรมเทศนาของท่านพระอาจารย์บุญแล้วก็เลื่อมใสมาก ขอถวายตัวเป็นศิษย์ตามแต่ท่านจะเมตตาสั่งสอน แต่ก็มีปัญหาด้วยการบวชของท่านนั้นยังเป็นมหานิกายอยู่ ท่านพระอาจารย์บุญจึงแนะนำว่า หากไม่ได้รับการเกณฑ์ทหารแล้วก็ให้ขอญัตติเป็นธรรมยุตเสียที่จังหวัดเลย หลวงปู่จึงได้ไปขอญัตติจตุตถกรรมใหม่เป็นพระธรรมยุต ที่วัดศรีสะอาด อำเภอเมือง จังหวัดเลย โดยมี ท่านพระคูรอดิสัยคุณาธาร (อ่ำ อรโก) เป็นพระอุปัชฌาย์

Image
ท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล

Image
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

Image
ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล)


๏ พบท่านพระอาจารย์เสาร์ และท่านพระอาจารย์มั่น

ท่านได้อยู่กับพระอุปัชฌาย์พอสมควร แล้วก็ได้เดินทางจากจังหวัดเลยกลับไปอยู่กับท่านพระอาจารย์บุญ ที่อำเภอหนองวัวซออีก และได้ติดตามท่านพระอาจารย์บุญไปยังวัดพระบาทบัวบก ณ ที่นี้เองที่หลวงปู่ได้พบกับ ท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และได้อยู่ปฏิบัติรับฟังโอวาทจากท่านพระอาจารย์เสาร์ โดยมีท่านพระอาจารย์บุญเป็นพระพี่เลี้ยงผู้ชี้แนะในข้อที่ท่านไม่เข้าใจอีกชั้นหนึ่งด้วย จากนั้นท่านพระอาจารย์บุญก็ได้พาหมู่คณะศิษย์พร้อมด้วยหลวงปู่ไปกราบนมัสการ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ ที่ท่าบ่อ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย คณะท่านพระอาจารย์บุญได้อยู่อบรมรับฟังโอวาทและฝึกปฏิบัติจากท่านพระอาจารย์มั่น จนกระทั่งจวนจะเข้าพรรษา จึงได้พากันย้อนกลับมาจำพรรษาที่วัดพระบาทบัวบก

๏ หลวงปู่นับหนึ่ง ๓ ครั้ง

ในพรรษานี้ การภาวนาของหลวงปู่ก็ยังมีอุปสรรคเกิดขึ้น คือเมื่อภาวนาจิตรวมลงแล้ว เกิดอาการสะดุ้ง จิตถอนขึ้นมาเองโดยไม่ได้กำหนด บางครั้งก็ไม่มีการเป็นไป เกิดการขัดข้องอยู่ในจิตเสมอ จึงได้นำความไปกราบเรียนถามท่านพระอาจารย์บุญ ก็ได้รับคำแนะนำให้ทำญัตติจตุตถกรรมใหม่ เพราะสงสัยว่าการญัตติครั้งที่แล้วคงจะไม่ถูกต้องนัก หลวงปู่ก็ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำ โดยไปทำพิธีญัตติจตุตถกรรมใหม่ ที่วัดโพธิสมภรณ์ ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ เวลา ๑๓.๐๘ น. โดยมี ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) แต่เมื่อครั้งเป็นที่ พระครูสังฆวุฒิกร เป็นพระอุปัชฌาย์ และ ท่านพระอาจารย์บุญ ปัญญาวุโธ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

หลวงปู่เล่าขันๆ ว่าท่านนับพรรษาหนึ่งอยู่ถึง ๓ ครั้ง “หนึ่ง” ครั้งแรกเป็นพระมหานิกาย “หนึ่ง” ครั้งที่สอง เมื่อญัตติเป็นธรรมยุตครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๖๗ “หนึ่ง” ครั้งที่สาม เมื่อญัตติเป็นธรรมยุตครั้งที่สอง พ.ศ. ๒๔๖๘

หลวงปู่นับ “หนึ่ง” ๓ ครั้ง ด้วยประการฉะนี้


(มีต่อ ๒)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 17 ม.ค. 2007, 10:05 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ พรรษาที่ ๑-๖ พ.ศ. ๒๔๖๘-๒๔๗๓
จำพรรษาอยู่กับท่านพระอาจารย์บุญ ปัญญาวุโธ
พ.ศ. ๒๔๖๘ จำพรรษา ณ วัดพระบาทบัวบก อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
พ.ศ. ๒๔๖๙-๒๔๗๓ จำพรรษา ณ
วัดป่าหนองวัวซอ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี


เสร็จจากการทำพิธีญัตติจตุตถกรรมใหม่แล้ว ท่านก็กลับมาจำพรรษาร่วมกับท่านพระอาจารย์บุญ ที่วัดพระบาทบัวบก อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ในพรรษาแรกปี พ.ศ. ๒๔๖๘ และต่อมาพรรษาหลังๆ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๙ ก็ได้มาอยู่ที่วัดป่าหนองวัวซอตลอดเวลา ๕ พรรษา

สำหรับวัดป่าหนองวัวซอนั้น หลวงปู่เล่าว่า เป็นวัดที่ท่านพระอาจารย์บุญได้พาชาวบ้านมาจากจังหวัดอุบลราชธานี อพยพโยกย้ายมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนที่อำเภอหนองวัวซอ แล้วก็จัดตั้งวัดขึ้นที่บ้านนาเหล่า ปัจจุบันมีชื่อว่า “วัดบุญญานุสรณ์” เป็นชื่อที่ตั้งเป็นอนุสรณ์สำหรับท่านพระอาจารย์บุญ ในสมัยนั้น บริเวณวัดป่าหนองวัวซออุดมด้วยสัตว์ป่านานาชนิดทั้งสัตว์เล็กอย่างกระต่าย ไก่ป่า นก ลิง ค่าง บ่าง ชะนี และทั้งสัตว์ใหญ่อย่างเสือ กระทิง เม่น หมี และหมูป่า โดยเฉพาะจ้าวป่าใหญ่อย่างช้างป่าจะผ่านมาในเขตวัดเป็นประจำ สำหรับเสือนั้นมีมากมาย ได้ยินเสียงมันร้อง “อ่าว...อือ อ่า...ววว อือ” แต่ไกลแทบทุกคืน สงัดวิเวกมาก บริเวณวัดก็มีสภาพเป็นป่าจริงๆ บริบูรณ์ด้วยต้นไม้ใหญ่สูงเสียดฟ้ามืดครึ้ม มีเถาวัลย์รกเลี้ยวคลุมหนาแน่น หนามไผ่หนามหวายปกคลุมแน่นไปหมด เป็นที่เหมาะแก่การเจริญสมณธรรมบำเพ็ญเพียรภาวนาอย่างยิ่ง

ท่านเล่าว่า หนองวัวซอสมัยนั้นบริบูรณ์ด้วยช้างป่ามากมายเหลือเกิน ใกล้วัดมีต้นมะขามป้อมป่ามาก พระเณรได้ฉันเป็นยาปนมัตถ์ แต่ขณะเดียวกัน พวกสัตว์ป่าก็เยี่ยมกรายเข้ามาเพื่อจะอาศัยลูกมะขามป้อมเป็นอาหารมากเหมือนกัน จึงมีหลายครั้งที่ขณะซึ่งบรรดาเณรกำลังเก็บมะขามป้อมร่วงตามโคนต้น มักจะมีพวกเก้ง กวาง โผล่หน้าเยี่ยมเข้ามาหาอาหารบ้าง ต่างฝ่ายต่างก็จะผงะถอยหลัง ฝ่ายเณรก็ตกใจ ฝ่ายกวางก็ตกใจ กระโดดหนีไป มีแม้กระทั่งกระทิง หมูป่า เม่น ทั้งมนุษย์และสัตว์ต่างก็อาศัยผืนแผ่นดินในโลกเป็นที่อยู่อาศัยเช่นเดียวกัน ไม่มีการปักป้ายกั้นเขตแดนไปเลยว่า นั่นเป็นเขตของมนุษย์ นี่คือเขตของสัตว์ บริเวณแถบนั้นยังเป็นป่า ไม่มีที่จะสำแดงว่าเป็นเมือง มีแต่พระธุดงคกัมมัฏฐานที่ไปพำนักอยู่ตามแคร่ตามกุฏิเล็กๆ หรือใต้รุกขมูลร่มไม้เท่านั้น กลางคืนจะได้ยินเสียงนกหรือลิงร้องกรีดในเวลากลางคืน พระป่าก็อยู่ในป่า สัตว์ป่าก็เป็นของป่า กลมกลืนกันไป

ท่านพระอาจารย์บุญอาจารย์ของท่านนั้น เป็นสัทธิวิหาริกของ ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ สิริจันโท (จันทร์) ท่านพระอาจารย์บุญเป็นพระเถราจารย์ฝ่ายวิปัสสนาธุระที่มีชื่อมากองค์หนึ่ง ท่านเล่าว่าสมัยนั้นครูบาอาจารย์ฝ่ายกัมมัฏฐานซึ่งเป็นที่เคารพยกย่องมีอยู่ไม่กี่องค์ อาทิเช่น ท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ท่านพระอาจารย์สุวรรณ สุจิณโณ ท่านพระอาจารย์พา และท่านพระอาจารย์บุญ พระอาจารย์องค์แรกของท่าน

Image
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี


ความจริงระหว่างที่ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ได้เรียบเรียงประวัติวัดพระบาทคอแก้ง ที่อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย หลวงปู่เทสก์ท่านได้เล่าในตอนหนึ่งว่า สมัยที่ท่านอายุ ๑๒ ปี ยังเป็นเด็ก พระอาจารย์ของท่านเคยพาท่านไปเที่ยวที่พระบาทคอแก้ง ก็ได้พบท่านพระอาจารย์บุญพาลูกศิษย์คณะใหญ่ ๘-๙ องค์ มาบำเพ็ญเพียรที่พระบาทคอแก้ง แสดงว่า ท่านพระอาจารย์บุญเป็นคณาจารย์ที่มีชื่อทางด้านวิปัสสนาธุระ มีลูกศิษย์ลูกหามากมายมาแต่ครั้งหลวงปู่เทสก์ยังเป็นเด็กอายุ ๑๒ ปีแล้ว

หลวงปู่เป็นผู้ที่ละเอียดลออมาก ท่านพบใคร ท่านก็จะจดบันทึกถึงประวัติและโวหารธรรมที่ได้ฟังมาอย่างมาก สำหรับท่านพระอาจารย์บุญนี้ หลวงปู่ได้บันทึกประวัติไว้ว่า

“ท่านอาจารย์บุญเกิดเมื่อปี ๒๔๒๙ ที่บ้านกอก ตำบลหนองไข่นก อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี มารดาของท่านซื่อแม่อุ่น ท่านบวชปี พ.ศ. ๒๔๔๙ โดยมีท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ สิริจันโท (จันทร์) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรมอยู่กับท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เป็นเวลา ๕ พรรษา จึงได้ออกปฏิบัติธรรมตามอัธยาศัย ท่านชอบศึกษาเล่าเรียนและชอบปฏิบัติ แต่ไม่ค่อยชอบสอนเท่าไรนัก”

หลวงปู่ได้บันทึกไว้อีกว่า

“เมื่อสมัยท่านอาจารย์บุญอยู่ถ้ำบัวบก ท่านนั่งอยู่ภายในถ้ำมืดๆ ก็มีแสงสว่างเกิดขึ้น แลเห็นสว่างไปทั้งถ้ำ ความมืดนั่นหายไปหมด ท่านเคยมีประสบการณ์งูอยู่ในถ้ำข้างบน ก็ต่างออกเข้าหากินตามภาษาของมัน มิได้สนใจพระ บางครั้งท่านกางกลดอยู่ก็มีตัวเหม็นเข้าไปอยู่ในมุ้งคอยหยอกท่านเรื่อยๆ”

หลวงปู่ได้บันทึกต่อไปอีกว่า

“ท่านกล้าหาญ พูดเรื่องเสือที่ไปภาวนาอยู่บนเขากับท่านอาจารย์สีทา ท่านอาจารย์มั่นได้พิจารณาแล้วว่านิสัยพระอนุรุทธ ท่านอาจารย์บุญก็ว่าท่านอาจารย์มั่นเป็นนิสัยพระกัสสปะ นิสัยท่านอาจารย์บุญชอบสงบเสงี่ยมไม่โลดโผน พูดช้าๆ ลึกๆ เสียงน้อย รักษาสันโดษยิ่ง รักษากิริยามารยาทรูปสวยมาก มหาชนติดท่าน เป็นผู้แตกฉานในทางปริยัติพอสมควร เป็นนายช่างแก้นาฬิกาเครื่องกลทกอย่าง เคยเป็นนักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กหลวง จบเพียงแค่ชั้นปีที่ ๒ ก็ออกไป แล้วไปบวช ท่านสั่งสอนศิษย์ตามวาสนา ท่านอาจารย์มั่นว่า ท่านบุญเอาตัวรอดไปได้แต่ลูกศิษย์ไม่ได้นิสัย ท่านหลุยอย่าเอาอย่าง ท่านบุญเป็นวัณโรคต้องเดินจงกรมให้เก่ง ไม่งั้นชีวิตจะสั้น เราชอบมารยาทท่าน แต่จิตนั้นเราชอบท่านอาจารย์มั่น ท่านอาจารย์บุญบอกว่า ที่ถ้ำบัวบกนั้นรุกขเทพมาก ใครทำผิดแล้วมักเกิดวิบัติ”

หลวงปู่เล่าเพิ่มเติมอีกว่า

ท่านอาจารย์บุญนั้นหมดสิ้นอาสวกิเลส ณ ถ้ำแห่งหนึ่งในจังหวัดอุดรธานี ท่านรูปร่างงาม ขาว สูงใหญ่ และกิริยานิ่มนวล “เดินตามฟากไม่ดังเลย” เหมือนกิริยาของแมว ได้พาหลวงปู่เที่ยววิเวกไปตามภูเขาต่างๆ ในเขตภูพาน ซึ่งอุดมด้วยถ้ำ เงื้อมหินมากมาย รวมทั้งที่พระบาทคอแก้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคายด้วย ระหว่างที่อยู่ที่วัดป่าหนองวัวซอ ก็พากลับไปวิเวกที่วัดพระบาทบัวบก อำเภอบ้านผือ ซึ่งท่านได้พบท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล เป็นคำรบแรก ณ ที่นั้นการอยู่กับท่านพระอาจารย์บุญนี้ ทำให้หลวงปู่สามารถเรียนรู้วิธีการปฏิบัติอุปัฎฐากครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่อย่างคล่องแคล่วว่องไว

๏ กิจวัตรต่อครูบาอาจารย์

สิ่งทีท่านจำได้ไม่ลืม คือ หลักการที่ท่านพระอาจารย์บุญได้สอนไว้ว่า เป็นพระเล็กเณรน้อยได้โอกาสมาอยู่ด้วยเพื่อจะเรียนรู้จากพระผู้ใหญ่ ก็ต้องหัดจำข้อวัตรปฏิบัติให้ได้ หลักง่ายๆ ๔ อย่าง ควรจำให้ขึ้นใจ คือ

๑. ต้องฉันหลังอาจารย์
๒. ต้องฉันให้เสร็จก่อนอาจารย์
๓. ต้องนอนหลังอาจารย์
๔. ต้องตื่นก่อนอาจารย์

หลัก ๔ อย่างนั้นฟังดูสั้นและง่าย แต่การปฏิบัติจริงๆ จะต้องมีข้อวัตรที่จะต้องปฏิบัติมากมาย ผู้ที่จะเรียกได้ว่าเป็น พระปฏิบัติอุปัฏฐากครูบาอาจารย์ นั้น จะต้องเป็นผู้ที่คล่องแคล่ว ว่องไว กล่าวคือ...พอสว่างได้อรุณแล้ว ต้องรีบนำบาตรและบริขารของตนไปโรงฉัน จัดแจงโรงฉันให้เรียบร้อย ต้องหัดนอนดึก ลุกเช้า เมื่อจัดโรงฉันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องรีบไปเพื่อทำกิจวัตรต่อท่านอาจารย์ใหญ่ในที่พักของท่าน รอเวลาท่านจะออกห้อง โดยคอยอยู่ตามบริเวณใกล้เคียงนั้น ระหว่างที่รอคอยต้องทำความเพียรรอเวลาท่านออกมา ไม่ควรจะนั่งจับกลุ่มคุยกันกับหมู่พวก พอได้ยินเสียงท่านกระแอม หรือไอหรือเกิดเสียงกระเทือนจากการไหวตัวของท่าน เนื่องจากท่านมักจะพักอยู่ตามแคร่ซึ่งทำด้วยฟากไม้ไผ่ เพียงท่านขยับตัวนิดเดียวเสียงสะเทือนก็จะดัง ต้องรีบเอาบริขารท่านลงไปโรงฉัน โดยก่อนหน้านั้นจะต้องจัดกระโถนและหม้อมูตรไปชำระเสียก่อน เมื่อนำบริขารของท่านไปถึงโรงฉันแล้ว ก็รอเวลาไปบิณฑบาตหากท่านยังลงมาไม่ทัน โอกาสมีก็ไปเดินจงกรมเสียก่อน หรือนั่งกำหนดจิตไปพลางๆ

พอได้เวลาไปบิณฑบาต ท่านก็ให้เดินไปที่โรงฉัน หรือแห่งใดแห่งหนึ่ง แล้วแต่ความสะดวกของท่าน คอยรับเก็บรองเท้าท่าน (ถ้ามี) หรือผลัดเปลี่ยนผ้า ห่มผ้า ติดลูกดุมถวายท่านก่อน ครองผ้าถวายท่านเสร็จแล้ว ต้องครองผ้าของตนให้เสร็จก่อนท่านอีก แล้วเอาบาตรของตนและของท่านเดินล่วงหน้าไปก่อน รอคอยท่านอยู่ที่ใกล้ทางเข้าหมู่บ้านที่จะบิณฑบาต เมื่อท่านไปถึงให้เอาบาตรถวายท่าน แล้วเข้าแถวเดินไปตามลำดับพรรษา เดินไปตามหลังท่าน เสร็จการรับบิณฑบาตแล้ว ต้องรีบเดินออกล่วงหน้าท่านกลับก่อน เพื่อจะได้รีบไปจัดทำกิจทุกอย่างให้เสร็จก่อน จะได้เพียงแต่คอยนั่งฉันอยู่เท่านั้นก็หาไม่

ก่อนท่านฉันอาหารจะต้องคอยดูแลปฏิบัติถวายท่าน เช่น รับประเคนบาตรและอาหาร จัดอาหารในบาตรถวายอาจารย์ให้เรียบร้อย แล้วจึงกลับมานั่ง ณ ที่อาสนะของตน

ความจริงระหว่างการจัดอาหารถวายท่านนั้น ต้องคอยดูด้วยความฉลาดว่าควรจะเป็นอาหารที่เหมาะกับธาตุขันธ์ของท่าน เป็นที่สบายต่อสุขภาพของท่าน หากเป็นอาหารที่ไม่สมควร ท่านอาจจะไม่รับเลยก็ได้

ในด้านการฉัน ผู้ปฏิบัติต้องรีบฉันให้อิ่มก่อนท่านเสมอ สังเกตว่าท่านฉันอาหารคาวเสร็จแล้ว ลงมือฉันอาหารหวาน ต้องให้อิ่มทันตอนนั้นพอดี ถ้าเลยไปกว่านี้แล้วจะไม่ทันต่อการทำกิจวัตรอย่างอื่น คือการเตรียมถวายน้ำล้างมือ ถวายไม้สีฟันซึ่งมี ๓ ขนาด คือทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ น้ำสำหรับบ้วนปาก เสร็จก็นำบาตรอาจารย์ไปล้าง เช็ดให้แห้ง นำไปเก็บไว้ให้เรียบร้อย กลับมาดูแลเก็บบริขาร นำบริขารไปส่งยังที่พักของอาจารย์ ต่อนั้นจึงจะกลับไปปฏิบัติภาวนาได้ จนได้เวลาที่ต้องทำกิจวัตรร่วมกับหมู่คณะ ต้องมาร่วมทำกิจวัตรนั้นจนเสร็จเรียบร้อย แล้วจึงถวายน้ำปานะตลอดจนการเตรียมน้ำร้อนสำหรับให้อาจารย์สรงให้เรียบร้อย แล้วจึงกลับไปทำธุรกิจส่วนตน การปฏิบัติภาวนาก็จะต้องทำไปด้วยควบคู่กัน จนได้เวลาก่อนทำวัตรเย็น และต้องรีบกลับมาตระเตรียมดูแลสถานที่สำหรับอาจารย์ให้เรียบร้อยก่อนที่ท่านจะลงมาทำวัตรเย็นในเวลาประมาณทุ่มครึ่ง

ในการทำวัตรเย็น ท่านพระอาจารย์บุญจะกล่าวนำบูชาพระรัตนตรัย แล้วพาสวดตามตำรับ “ยมหํ ” ที่หลวงปู่ได้ยึดถือนำมาปฏิบัติจนตลอดชีวิตของท่าน ต่อจากนั้นก็รับฟังเทศน์ ถามตอบปัญหาในภาคปฏิบัติ แล้วนั่งสมาธิภาวนาจนท่านอาจารย์เห็นสมควรแก่เวลาจึงได้สั่งเลิกไป เมื่อการประชุมเสร็จสิ้นลง ก็ต้องดูแลเก็บบริขารและไปส่งท่านอาจารย์ถึงที่พัก ตลอดทั้งต้องถวายการนวดเฟ้นซึ่งหลวงปู่ใช้คำว่า “คั้นเอ็น” แก่ครูบาอาจารย์ จนกระทั่งสั่งหยุดแล้วกลับมาดูแลความเรียบร้อยที่ศาลาต่อ จึงจะกลับไปที่พัก ปฏิบัติภาวนาพิจารณาคำสั่งสอนที่ได้รับมาจากท่านอาจารย์ได้ นำเอาอุบายและวิธีต่างๆ มาเป็นแนวชี้แนะในทางปฏิบัติอันเป็นงานสำคัญยิ่งสำหรับพระ

การปฏิบัติภาวนานี้จะใช้เวลามากน้อย ขึ้นอยู่กับความสงบของจิต ที่จะตามเข้าไปรู้เห็นธรรมนั้นตามสภาพความเป็นจริง จนเป็นที่เข้าใจอย่างหมดสงสัย แล้วจึงพักผ่อนได้ แต่ถ้ายังไม่เป็นที่เข้าใจ ยังมีความสงสัยอยู่ บางครั้งอาจจะไม่ได้พักผ่อนกันเลย ซึ่งข้อนี้อยู่ในเรื่องที่ว่า ต้องนอนหลังอาจารย์ ก่อนที่จะเข้าที่พักผ่อนก็ต้องกำหนดจิตก่อน คือตั้งเจตนาให้จิตรู้สึกและตื่นก่อนท่านอาจารย์ เพื่อจะได้ไปเตรียมน้ำล้างหน้า น้ำสีฟัน น้ำบ้วนปากถวายท่าน ถ้าอยู่กันหลายองค์ก็จะได้แข่งกันขึ้นปฏิบัติอาจารย์ เพื่อเป็นการฝึกหัดและตั้งสติรอบรู้ของตนให้พร้อมอยู่เสมอ เมื่อถวายการปฏิบัติต่อท่านอาจารย์เรียบร้อยแล้ว ก็กลับมาทำภัตวัตร ปัดกวาดปูลาดเสนาสนะ จัดเตรียมที่ฉัน แล้วดูแลอุปกรณ์ของใช้ในการฉันให้เรียบร้อย จึงลงไปเดินจงกรมภาวนา จนถึงเวลาออกบิณฑบาต วนเวียนกันไปเช่นนั้น

หลวงปู่มีความเลื่อมใสศรัทธาในปฏิปทาของท่านพระอาจารย์บุญมาก ท่านอุปัฏฐากรับใช้จนท่านพระอาจารย์บุญมรณภาพ ในกลางปี ๒๔๗๓ ระหว่างพรรษานั้น ซึ่งท่านพระอาจารย์บุญจำพรรษาอยู่ที่วัดป่ามหาชัย เสร็จงานถวายเพลิงแล้ว ท่านได้นำอัฐิธาตุพระอาจารย์ของท่านไปไว้ที่ วัดพระบาทบัวบก อันเป็นสถานที่ที่ท่านพระอาจารย์บุญอยู่จำพรรษานานที่สุด พระเณรและญาติโยม โดยมี ท่านพระอาจารย์ขัน อาภัสสโร เป็นประธาน ได้ช่วยกันสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของท่านให้ เมื่อหมดสิ้นภาระหน้าที่อันควรถวายครูบาอาจารย์แล้ว หลวงปู่ก็ออกวิเวกต่อไป โดยไปทางหล่มสัก เพชรบูรณ์บ้าง จังหวัดเลยบ้าง

Image
หลวงปู่ขาว อนาลโย

Image
หลวงปู่ชอบ ฐานสโม


๏ ได้พบและจำพรรษากับกัลยาณมิตร

ณ ที่วัดป่าหนองวัวซอนี้ หลวงปู่เล่าว่า เป็นที่ซึ่งท่านได้พบและจำพรรษากับกัลยาณมิตร ๒ องค์ กล่าวคือ หลวงปู่ขาว อนาลโย และหลวงปู่ชอบ ฐานสโม สำหรับหลวงปู่ขาวนับแต่ที่ได้บวชเป็นคู่นาคกันแล้ว เป็นการพบกันครั้งแรก แต่สำหรับหลวงปู่ชอบนั้น ท่านเล่าว่า เคยพบกันมาก่อนแล้วระหว่างธุดงค์อยู่ตามป่าเขาแถบจังหวัดเลย อันเป็นภูมิลำเนาบ้านเกิดของท่านทั้งสอง แต่ครั้งยังเป็นพระน้อยเพิ่งเริ่มบวช

การมาอยู่จำพรรษาด้วยกันทั้ง ๓ องค์ ในพรรษาที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๗๓ ทำให้ชอบอัธยาศัยและใกล้ชิดถูกนิสัย แลกเปลี่ยนธรรมสากัจฉาเป็นกัลยาณมิตรเอื้อเฟื้อต่อกันตลอดมา จนหลวงปู่ขาวมรณภาพจากไปก่อนในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ และองค์หลวงปู่เองในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ ซึ่งยังคงเหลือหลวงปู่ชอบ ฐานสโมเท่านั้นสำหรับเป็นหลักชัย เป็นเพชรบนยอดมงกุฎแห่งจังหวัดเลยเพียงองค์เดียว

ณ ที่วัดป่าหนองวัวซอนั้น เป็นที่หลวงปู่เล่าเสมอว่าท่านได้ประจักษ์ในบุญญาบารมีในกัลยาณมิตรของท่าน กล่าวคือ ระหว่างจำพรรษาด้วยกัน คืนหนึ่งเกิดฝนตกหนัก ลมพายุพัดรุนแรง ฝนตกหนักตลอดทั้งวันทั้งคืน ครั้นถึงเวลากลางวันขณะที่หลวงปู่ชอบกำลังจำวัด ก็ต้องสะดุ้งตื่น ด้วยได้ยินเสียงโยมมารดามาร้องเรียกให้ออกไปรับเสด็จพระนางมัทรี พอท่านออกมานอกกุฏิตามเสียงเรียกของโยมมารดา ต้นไม้ใหญ่ก็หักโค่นลงทับกุฏิของหลวงปู่ชอบพังเป็นจุณไป ทำให้หลวงปู่ชอบพ้นอันตรายไปอย่างน่าอัศจรรย์

ความจริงเรื่องที่ว่า โยมมารดาเห็นพระนางมัทรีนั้น เมื่อหลังจากที่เกิดเหตุแล้ว ก็พาหลวงปู่ไปที่ศาลาที่ว่านางมัทรีมารออยู่ โยมมารดาเล่าว่า ได้เห็นพระนางมัทรีลงมาหา เป็นหญิงที่สวยงามที่สุด ครั้งแรกไม่รู้จักชื่อ พอถาม นางก็บอกว่า นางเองคือพระนางมัทรี โยมมารดาเห็นผู้หญิงนั้นงามเหลือที่จะประมาณ งามยิ่งกว่านางฟ้าที่เคยเห็นในรูป รู้สึกตื่นเต้นจึงวิ่งไปตามพระลูกชายดังกล่าว แต่เมื่อมาถึงศาลา ไม่มีใครเห็นผู้หญิงที่โยมมารดากล่าวอ้างเลย คงเห็นแต่รูปพระนางมัทรีติดอยู่บนศาลาเท่านั้น น่าคิดว่านางฟ้าหรือเทพยดาอารักษ์ เทพธิดาองค์ใดไปช่วยปรากฏกายให้โยมมารดาไปเรียกหลวงปู่ชอบออกมาได้ เพราะถ้าท่านยังคงจำวัดอยู่ ท่านต้องมรณภาพแน่

สำหรับกรณีหลวงปู่ขาวนั้น ท่านเล่าว่า ต้นไม้หักโค่นลงมาเหมือนกัน แต่ต้นที่ล้มลงระเนระนาดนั้นมีจำนวนมาก แต่ละต้นต่างล้อมกุฏิหลวงปู่ขาวไว้โดยรอบเป็นวงกลม ไม่มีแม้แต่ต้นเดียว กิ่งเดียว ที่จะหักมาทับหรือก่ายกุฏิหลวงปู่ขาวเลย เป็นประหนึ่งเทวดาช่วยจับเวียนต้นไม้ล้อมรอบกุฏิหลวงปู่ขาวเอาไว้ฉะนั้น

เป็นเรื่องที่หลวงปู่หลุยจะเล่าให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังเสมอว่า บุญบารมีที่แต่ละคนสร้างสมอบรมมานั้น โดยเฉพาะท่านผู้จะเดินไปสู่มรรคผลนิพพานนั้น จะต้องมีเทพยดาอนุรักษ์มาบำรุงรักษาปกป้องคุ้มครองให้พ้นจากภัยอันตรายเสมอ


(มีต่อ ๓)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 17 ม.ค. 2007, 10:12 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
ท่านพระอาจารย์สีทัตถ์ ญาณสัมปันโน (สุวรรณมาโจ)


๏ พระบาทบัวบก

พระบาทบัวบก ตั้งอยู่ในเขตตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เป็นสถานที่ที่สวยสดงดงาม สงบเยือกเย็น อยู่ในระหว่างไหล่เขาภูพาน เป็นเนื้อที่อันกว้างใหญ่ สถานที่เป็นพระพุทธบาทนั้นตั้งอยู่บนเขา ประกอบด้วยศิลปวัฒนธรรมวรรณคดีต่างๆ ตลอดทั้งภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ติดอยู่ที่เพิงหินเป็นจำนวนมาก นับว่าเป็นปูชนียวัตถุที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งของชาวจังหวัดอุดรธานี เชื่อกันว่าเป็นที่ประดิษฐานรอยพระบาทของพระพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ ได้เสด็จมาด้วยบุญฤทธิ์ มาประสานรอยพระบาทไว้ ณ ที่นี้ เพื่อให้สาธุชนผู้มีความเลื่อมใสในพระองค์ได้กราบไหว้บูชา บริเวณวัดเป็นที่ที่งดงามมาก มีพลาญหินกว้างใหญ่และมีถ้ำมากมายหลายถ้ำ ชะง่อนหินหลายแห่งเป็นเงื้อมหินยื่นแผ่ออกมา ประดุจพญานาคแผ่เศียรพังพานให้ร่มเงา เหมาะแก่การเป็นที่พักบำเพ็ญเพียรทั้งนั้น ท่านพระอาจารย์บุญชอบใจที่นี่มาก ท่านได้มาจำพรรษาอยู่ ณ ที่นี้หลายครั้งหลายหนแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อมีศิษย์หน้าใหม่มารับการอบรม ท่านก็จะพามาให้พักจำพรรษาบ้างหรือกลับมาแสวงหาความวิเวกบ้าง

ระยะนั้นบ้านเมืองยังอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้ น้ำประปาธรรมชาติก็มีสะดวกทั้งปี มีน้ำไหลมาตามร่องของหินของภูเขา แล้วก็กระโจนลงมาเหมือนน้ำตก ผู้ที่มาพักก็สามารถดัดแปลงน้ำตกนั้นให้กลายเป็นน้ำประปาได้ โดยหาไม้ไผ่มาผ่าครึ่งตลอดลำ แล้วเซาะเอาปล้องกลางออก เพื่อให้น้ำไหลไปตามรางได้โดยสะดวกแล้วเอาลำไม้ไผ่ที่แต่งดีแล้วนั้น ไปรองรับน้ำที่พุ่งออกมาตามร่องหินนั้น ให้มันไหลไปเป็นประปาธรรมชาติตามรางไม้ไผ่ แล้วแต่จะต้องการจะให้หันเหไปทางใด น้ำใสมากเย็นเฉียบ มีน้ำไหลได้ตลอดปี ซึ่งเดี๋ยวนี้น่าเสียดายที่ไม่มีน้ำไหลอีกแล้ว เพราะแม้แต่บนเขาภูพานเองก็หาต้นไม้ใหญ่แทบไม่พบ แทบจะไม่มีป่าอยู่บนภูเขา กลายเป็นภูเขาหัวโล้นไปเกือบหมด ทำให้น้ำแห้งไปตลอดด้วย

รอยพระบาทนั้นอยู่ท่ามกลางพลาญหินยาวประมาณ ๒ เมตร กว้าง ๗๐ เซนติเมตร ลึกประมาณ ๖๐ เซนติเมตร ได้เป็นที่ที่พวกพรานป่าได้มาพบ เนื่องจากเขาเหล่านั้นได้พยายามจะยิงสัตว์ แต่เมื่อสัตว์วิ่งมาที่ตรงกลางพุ่มไม้นี้ พรานตามมายิงเท่าไรก็ไม่สามารถทำอันตรายแก่พวกกวางเก้งนั้นได้ เมื่อตามกวางเก้งที่ถูกยิงมาถึงที่นี้ ก็เห็นว่า เมื่อมันมากินน้ำนี้แล้ว แผลทั้งหมดก็หายไปด้วย

พวกพรานป่าเห็นเป็นอัศจรรย์จึงแหวกพงหญ้าเข้ามาจนพบรอยพระบาทนี้ ได้มีการสร้างเจดีย์ครอบพระพุทธบาทหลายครั้ง ครั้งสุดท้าย ท่านพระอาจารย์สีทัตถ์ ญาณสัมปันโน (สุวรรณมาโจ) ชาวนครพนมได้เดินธุดงค์มาเห็น ท่านได้เคยบูรณะสร้างเจดีย์ที่นครพนมมาแล้ว มาเห็นพระบาทบัวบกรู้สึกเลื่อมใสมาก ท่านเลยพาญาติโยมมาสร้างเจดีย์ครอบพระบาทบัวบก ลักษณะรูปทรงเหมือนเจดีย์พระธาตุพนม สูงประมาณ ๑ เส้น ยอดเจดีย์เป็นฉัตรทองเหลือง จึงแลดูงดงามยิ่งนัก เจดีย์ธาตุท่านพระอาจารย์บุญก็ได้สร้างห่างออกมาจากเจดีย์พระบาทบัวบกเพียงเล็กน้อย อยู่ในลักษณะรูปพรรณสัณฐานคล้ายกัน

Image
พระบาทบัวบก ประดิษฐาน ณ วัดพระพุทธบาทบัวบก ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

Image
รอยพระพุทธบาทบัวบก จ.อุดรธานี

Image
“หอนางอุษา” บริเวณพระบาทบัวบก จ.อุดรธานี


บริเวณพระบาทบัวบกยังมีรูปหินธรรมชาติอันงดงาม มีเรื่องราวเล่ากันถึงเรื่องนางอุษา เป็นตำนานที่เล่าสู่กันมา

แต่ทางพระธุดงคกัมมัฏฐานได้พอใจพากันมาแสวงหาความวิเวก ณ ที่นี้ตลอดมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ถึงจะมีความแห้งแล้งอย่างไร แต่พลาญหิน เงื้อมถ้ำยังคงอยู่ พอจะแสวงหาความสงัดวิเวกได้

สำหรับคำว่า บัวบก นั้นเป็นคำบอกชื่อพันธุ์ไม้ดอกชนิดหนึ่ง ซึ่งแต่ก่อนนั้นเคยเกิดอยู่ตามพื้นดิน แต่ไม่ชอบน้ำ กล่าวกันว่ามีดอกสีขาวและลักษณะของกลีบคล้ายกลีบบัว แต่พันธุ์ไม้ชนิดนี้ถูกคนทำลายได้สูญพันธุ์ไปเกือบหมดแล้ว ปัจจุบันนี้จึงหาดูได้ยาก เป็นพันธุ์ไม้ที่คนอีสานเรียกว่า ต้นบัวบกหรือหัวบัวบกนั่นเอง

สมัยก่อนที่หลวงปู่ได้ธุดงค์ไป ยังพบพันธุ์ไม้บัวบกนี้มากอยู่ โดยเฉพาะรอบองค์เจดีย์ องค์ซึ่งหักโค่นลงแล้วเหลือให้เห็นซากอิฐเป็นกอง ประมาณได้เมื่อตอนนั้นสูงประมาณ ๘ เมตร มียอดทิ้งไว้มีสามยอดติดกัน ต้นบัวบกเต็มไปหมด ขึ้นอยู่ตามซากเจดีย์ พอถึงฤดูแล้งใบและดอกก็จะตาย พอถึงฤดูฝนต้นบัวบกก็จะผลิดอกขาวเต็มไปหมด ตามลักษณะของดอกไม้ป่า ที่มักจะมีอุดมสมบูรณ์อยู่ตามพลาญหินในเขตหุบเขาและป่าทางอีสาน สำหรับบัวบกนี้ เมื่อมีคนไปบูรณะเจดีย์ ส่วนมากก็จะถางทิ้งเพื่อความสะดวกในการก่อสร้างบ้าง ในการไปมาบ้าง ภายหลังจึงแทบจะสูญพันธุ์ไป

ณ ที่ฐานเจดีย์ท่านพระอาจารย์บุญได้มีคำจารึกโดยละเอียด เห็นควรเชิญมาลงพิมพ์ด้วย ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือ ราคาค่าก่อสร้างเจดีย์สูง ๖ วา ๓ ศอก ใน พ.ศ. ๒๔๗๓ นั้น เป็นเงินเพียง ๓๒๕ บาท ๒๑ สตางค์ น่าคิดว่า ค่าของเงินปัจจุบันนี้แตกต่างกว่าสมัยก่อนนั้นเพียงไร

ธาตุสาวก
สร้าง พ.ศ. ๒๔๗๓

คำไหว้

มยาหํ อาจาริยํ ปุญญนามกํ อฎฺฐิธาตํ สิรสา นะมามิ ฯ

พระปัญญาวุโธ (บุญ) อายุ ๔๔ ปี พรรษา ๒๔ ถึงแก่มรณภาพ

พระอาภัสสโร (ขัน) พร้อมภิกษุ สามเณร และอุบาสก อุบาสิกา

ทั้งหลายได้พากันสร้างธาตุบรรจุอัฐิของท่านไว้ ณ ที่นี้

ฝ่ายอุบาสก อุบาสิกา ได้ออกทรัพย์รวมเป็นเงิน ๓๒๕ บาท ๒๑ สตางค์

ขอวุฒิธรรมทั้ง ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ

จงมีแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญ ฯ

สูง ๖ วา ๓ ศอก


Image
ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม


๏ อดีตที่ฝังรอยมาจากบุพชาติ

หลังจากที่เสร็จงานพิธีบรรจุอัฐิธาตุท่านพระอาจารย์บุญ ปัญญาวุโธ ในเจดีย์ที่ก่อขึ้นมา ณ บริเวณวัดพระบาทบัวบกแล้ว หลวงปู่ก็ออกธุดงค์วิเวกมาทางจังหวัดเลยและจังหวัดเพชรบูรณ์ ทางสายนั้น ขณะนั้นยังเป็นป่าเขาที่อุดมสมบูรณ์มากที่สุด มีภูเขาใหญ่น้อยเรียงรายกันเป็นดุจทะเลภูเขา เวลาเย็นเห็นแสงพระอาทิตย์ส่องผ่านไปให้สีสันต่างๆ กัน เหมือนคลื่นภูเขาเหล่านั้นกำลังตีฟองคะนองอยู่ในอากาศ อากาศวิเวก ชวนให้ภาวนา ท่านเล่าว่า การเดินแบบนั้นได้ประสบรสแห่งความวิเวกอย่างดีที่สุด ซึ่งในปัจจุบันนี้แทบจะหาความสงบสงัดวิเวกทำนองนั้นไม่ได้อีกแล้ว เพราะได้มีรถยนต์เป็นยานพาหนะ จะไปไหนมาไหนก็รวดเร็ว การสงบจิตติดตามไปมิได้วังเวงวิเวกเช่นการเดินด้วยเท้าดังครั้งก่อน

ท่านแวะมาที่หล่มสักด้วยโยมมารดาของท่านมีพื้นเพภูมิลำเนาอยู่ที่นั้น จึงยังมีบ้านญาติบ้านพี่บ้านน้อง คนคุ้นเคยอยู่มาก ท่านมาถึงได้ทราบว่า บ้านญาติคนหนึ่งมีงานศพ นิมนต์พระไปสวดมนต์ ท่านก็ได้รับนิมนต์ไปในงานสวดมนต์นั้นด้วย

หลวงปู่เล่าให้ฟังว่า ท่านไม่เคยคิดเลยว่าการแวะไปเยี่ยมญาติและสวดมนต์ในครั้งนั้น จะทำให้ท่านถึงกับซวดเซลงแทบจะล้มลงทั้งยืน

ล้ม...ล้มอย่างไม่มีสติสตังเลยทีเดียว ท่านเล่าให้เฉพาะผู้ใกล้ชิดฟังว่า วันนั้นท่านกำลังสวดมนต์เพลินอยู่ ระหว่างหยุดพักการสวด เจ้าบ้านก็นำน้ำปานะมาถวายพระแก้คอแห้ง บังเอิญตาท่านชำเลืองมองไปในหมู่แขกที่กำลังนั่งฟังสวดมนต์อยู่ เพียงตาสบตา ท่านก็รู้สึกแปล๊บเข้าไปในหัวใจ

เหมือนสายฟ้าฟาด แทบจะไม่เป็นสติสมประดี ท่านกล่าวว่า เพียงตาพบแว้บเดียว ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ท่านก็เซแทบจะล้ม เผอิญขณะนั้น ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ได้รับนิมนต์ไปด้วย ท่านคงสังเกตถึงอาการ หรือว่าท่านอาจจะกำหนดจิตทราบเหตุการณ์ก็ได้ ท่านจึงเข้ามาประคองไว้ เพราะมิฉะนั้นหลวงปู่คงจะล้มลงจริงๆ

ฝ่ายหญิงที่นั่งอยู่ทางด้านโน้นก็เป็นลมไปเช่นกัน คงจะเป็นอำนาจความเกี่ยวข้องแต่บุพชาติมา ที่มาบังคับให้เกิดความรู้สึกเช่นนั้น

ท่านบอกว่าในหัวอกเหมือนจะมีอะไร แต่ภายหลังได้พิจารณากลับมา และเมื่อท่านพระอาจารย์สิงห์ได้อธิบายให้ท่านทราบในภายหลังว่า การครั้งนี้เป็นนิมิตเนื่องจากบุพเพสันนิวาสท่านและสุภาพสตรีผู้นั้น เคยเป็นเนื้อคู่เกี่ยวข้องกันต่อมาช้านาน เคยบำเพ็ญบารมีคู่กันมา โดยเฉพาะเมื่อภายหลังหลวงปู่ได้สารภาพถึงความในใจที่ตั้งปรารถนาพุทธภูมิ ท่านพระอาจารย์สิงห์ก็อธิบายว่า เธอผู้นั้นก็คงได้ปรารถนาบำเพ็ญบารมีคู่กันมาเช่นกัน

ท่านก็เลยเล่าว่า ครั้งหนึ่งหลวงปู่อีกองค์หนึ่งก็เช่นกัน ระหว่างที่มากรุงเทพฯ เดินบิณฑบาตอยู่แถววัดสระปทุม ได้พบสตรีคนหนึ่งนั่งรถสามล้อผ่านไป (สมัยนั้นในกรุงเทพฯ มีรถสามล้อเป็นยานพาหนะด้วย - ผู้เขียน) ท่านบอก เพียงตาสบตาเท่านั้น ความรู้สึกมันปล๊าบไปทั้งตัว แทบจะวิ่งตามเขาไป คราวนั้นพระเถระผู้ใหญ่ต้องให้สติและขังท่านไว้ในโบสถ์ พิจารณาดับความรู้สึกกันอยู่นาน ด้วยการเจริญอสุภะจึงสำเร็จ คราวนั้นหลวงปู่องค์นั้นท่านก็เล่าว่า ไม่รู้จักผู้หญิงคนนั้นมาก่อน แล้วก็ไม่รู้ว่าเขาอยู่ที่ไหนด้วยซ้ำ เขาจะไปที่ไหน อย่างไร ก็ไม่ทราบ แต่ใจมันวิ่งเตลิดตามเขาไป พิจารณาแล้วก็ได้ความเช่นกันว่าเป็นคู่ที่เคยมีบุพเพสันนิวาสกันมาแต่ชาติก่อน อำนาจกรรมนั้นจึงมาประจักษ์ แต่หากว่าบุญบารมียังมีในเพศพรหมจรรย์ ท่านจึงปลอดภัยไปจากกรรมนี้ได้

สำหรับกรณีของหลวงปู่ก็เช่นกัน แต่ของท่านนั้นเนื่องจากเป็นการปรารถนาพุทธภูมิเคียงคู่กันมา จึงมีอำนาจรุนแรงมาก และเนื่องจากว่าฝ่ายหญิงมิได้พบกันแล้วก็ห่างกันไปแบบในกรณีของหลวงปู่องค์นั้น ต้องพบประจันหน้ากันอีกหลายครั้ง เนื่องด้วยผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายเป็นผู้คุ้นเคยกันประหนึ่งญาติ และมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันมาหลายชั้น ตั้งแต่ครั้งบิดามารดา ต้องพบเห็นกัน ไม่ใช่ว่าเป็นการพบกันแล้วก็ผ่านจากไป เช่นนั้นอาจจะเป็นกรณีที่ง่ายหน่อย แต่การนี้หลังจากพบครั้งแรกแล้วนั้น ก็ยังต้องเห็นกันอีก กรณีจึงแตกต่างจากพระเถระครูบาอาจารย์ฝ่ายกัมมัฏฐานองค์อื่น ในชาตินี้ นอกจากที่ว่าชั้นบิดามารดารู้จักคุ้นเคยกันประหนึ่งญาติพี่น้อง อาจจะเคยเห็นกันในสมัยวัยเด็ก แต่อย่างไรก็ตาม ฝ่ายหญิงได้ถูกส่งตัวเข้ามารับการศึกษาในพระนครเสียตั้งแต่ยังเด็ก ได้รับการศึกษาชั้นสูง จึงแทบมิได้พบหน้ากันอีก เมื่อมาพบฝ่ายหญิงนั้น ท่านอยู่ในเพศบรรพชิตแล้ว อีกฝ่ายหนึ่งเป็นกุลสตรีแสนสวย เป็นรอยแห่งอดีตที่มาพบพานกัน

ความจริงท่านไม่เคยเล่าถึงรูปลักษณ์ของ “รอยอดีต” ของท่าน แต่บังเอิญผู้เขียนเกิดทราบขึ้นมาเอง วันนั้นเป็นเวลาที่มีการสนทนาธรรมกัน และหลวงปู่กำลังเทศนาอธิบายถึงแรงกรรม โดยเฉพาะกรรมเกี่ยวกับบุพเพสันนิวาส ที่พระเณรจะต้องประสบและจะต้องมีกำลังใจอย่างมากที่จะเอาชนะให้ได้ในที่สุด สุดท้ายวันนั้นท่านได้ยกกรณีของท่านขึ้นมาว่า องค์ท่านเองยังแทบเป็นลม ฝ่ายท่านนั้นพระเถระต้องเข้าประคอง ฝ่ายหญิงเป็นลมญาติผู้ใหญ่และมารดาต้องเข้าประคอง ขณะฟังไม่ทราบว่าเพราะอะไรผู้เขียนรู้สึกสว่างวาบขึ้นในใจ เข้าใจนึกถึงชื่อเธอขึ้นมา กราบเรียนท่านโดยเอ่ยชื่อเธอ...ว่าใช่ไหมสุภาพสตรีท่านนั้น หลวงปู่ค่อนข้างจะตกใจที่ทำไมศิษย์เกิดรู้จักขึ้นมาได้แต่ท่านก็อึ้งและยอมรับว่าเข้าใจถูกแล้ว ฉะนั้น การพรรณนารูปร่างลักษณะของเธอ ซึ่งผู้เขียนเผอิญรู้จัก และมีความเคารพนับถือ...นับถือในอัจฉริยะของเธอ จึงเป็นการบรรยายจากผู้เขียนฝ่ายเดียว หลวงปู่ท่านมิได้เล่ารายละเอียดเหล่านั้น ผู้เขียนเพียงแต่ช่วยวาดภาพให้ท่านผู้อ่านได้นึกถึงเรื่องและเข้าใจตามไปด้วยเท่านั้น ว่าเป็นการยากลำบากและต้องการพลังใจอันเด็ดเดี่ยวเพียงใด ที่หลวงปู่ท่านจะสามารถตัดกระแสความผูกพันจากรอยอดีต โดยเฉพาะผู้ที่เป็นคู่บารมีมาสำหรับการปรารถนาพุทธภูมิ

“รอยอดีต” ของท่านเป็นกุลสตรีที่ได้รับการศึกษามาอย่างดี จบการศึกษาชั้นมัธยมบริบูรณ์จากโรงเรียนสตรีที่มีชื่อทางภาษาต่างประเทศ นานๆ เมื่อกลับไปเยี่ยมบ้าน ก็กลับไปแบบหญิงสาวสมัยใหม่ รูปสวย นัยน์ตาโตงาม มีคนหลายคนที่เล่าว่า เวลาที่เห็นเธอกลับไปเยี่ยมบ้านนั้นเสมือนหนึ่งเห็นเทพธิดาล่องลอยอยู่ในฟ้า ขี่ม้าเก่ง แต่งตัวสวยแบบสาวชาวกรุงแท้ ผมสวย หน้าสวย

ความจริงแล้ว เจ้าแม่นางกวย โยมมารดาของท่านนั้น ก็เป็นผู้ที่มีชื่ออยู่มากในเรื่องแต่งตัวงาม ผมของท่านจะจับหย่ง ใช้ขี้ผึ้งจับจอนให้งดงาม เป็นที่เลื่องลือกันทั้งหมู่บ้าน และมีชาวบ้าน มีเพื่อนบ้านใกล้เคียง ผู้ที่เป็นหญิงสาวมักจะมาขอเรียนการทำผมที่ทำไมจึงจะสวยได้อย่างเจ้าแม่นางกวย กลายเป็นที่พูดกันว่า ท่านเป็นประหนึ่งผู้ทำผมให้กับหญิงสาวทั้งหมู่บ้าน แต่นั้นก็เป็นแบบผมในสมัยของท่าน

กุลสตรีท่านนี้เป็นแบบสาวสมัยใหม่ ผมงามแบบผมท่าน ขี่ม้าเก่ง และไม่ได้แต่งตัวแบบหญิงสาวชนบท สวมกางเกงขี่ม้าใส่รองเท้าท็อปบู๊ต ต่อมาภายหลัง หลังจากที่ต้องจากกันแล้ว เมื่อเธอกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพมหานคร เธอก็ได้มามีชื่อเสียงอย่างมาก และเป็นที่รู้จักกันดีสำหรับผู้ที่รักหนังสือทั้งหลาย เข้าใจว่า ผู้ที่มีอายุประมาณ ๕๐ ปีขึ้นไปนั้นจะต้องเคยได้ยินชื่อของเธอมามาก

หลวงปู่จึงเล่าภายหลังว่า ท่านรู้สึกเหมือนกับว่าหัวอกแทบจะระเบิด อกกลัดเป็นหนอง แต่ใจหนึ่งก็คิดมุ่งมั่นว่า จะต้องบำเพ็ญเพศพรหมจรรย์ต่อไป

ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เข้าใจในความรู้สึกของหลวงปู่ผู้เป็นศิษย์ใหม่ได้ดี ท่านจึงจัดการพาตัวหลวงปู่รีบจากหล่มสักมาโดยเร็วที่สุด หลวงปู่กล่าวว่า ไม่ใช่เป็นการพาตัวมาอย่างธรรมดา แต่เป็นการควบคุมนักโทษ ผู้นี้ให้หนีออกมาจากมารที่รบกวนหัวใจแต่โดยเร็ว


(มีต่อ ๔)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 17 ม.ค. 2007, 10:25 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
ท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล ป.ธ. ๕


๏ พรรษาที่ ๗-๘ พ.ศ. ๒๔๗๔-๒๔๗๕ ในกองทัพธรรม
พ.ศ.๒๔๗๔ จำพรรษา ณ วัดป่าบ้านเหล่างา ต.บ้านเหล่างา จ.ขอนแก่น
พ.ศ.๒๔๗๕ จำพรรษา ณ วัดป่าศรัทธารวม ต.หัวทะเล อ.เมือง จ.นครราชสีมา


หลวงปู่กล่าวว่า เป็นการเคราะห์ดีอย่างยิ่งที่บังเอิญเจ้าภาพที่หล่มสักนั้น ได้นิมนต์ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ไปร่วมในงานศพในครั้งนั้นด้วย หากไม่มีพระเถระช่วยให้สติปรับปรุงแถมยังคอยควบคุมตัว ท่านว่า ไม่ทราบว่าจะรอดพ้นปากเหยี่ยวปากกามาได้หรือไม่ ท่านได้เห็นจริงในตอนนั้นว่า มาตุคามเป็นภัยแก่ตนอย่างยิ่ง เมื่อพระอานนท์กราบทูลถามสมเด็จพระพุทธองค์ว่า ควรปฏิบัติต่อมาตุคามเช่นใด พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “ไม่ควรมอง ถ้าจำเป็นจะต้องมอง ก็ไม่ควรพูดด้วย ถ้าจำเป็นจะต้องพูดด้วย ก็ให้ตั้งสติ” ท่านตรัสบอกขั้นตอนปฏิบัติต่อมาตุคามเป็นลำดับๆ ไป แต่นี่หลวงปู่เพียงโดนขั้นแรก มองก็ถูกเปรี้ยงเสียแล้ว ถ้าเป็นนักมวยก็ขึ้นเวทียังไม่ทันจะเริ่มต่อย ก็ถูกน็อค

ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม นี้เป็นศิษย์รุ่นใหญ่ของท่านพระอาจารย์มั่น ต่อมาได้รับสมณศักดิ์เป็นที่ พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ ท่านได้เห็นพระรุ่นน้องแสดงกิริยาดูน่ากลัวว่าจะพ่ายแพ้อำนาจของกิเลส ถ้าเป็นนักสู้ ก็เป็นนักสู้ที่ยินยอมจะให้เขายกกรีธาพาเข้าสู่ที่ประหารชีวิตแต่โดยดี ไม่พยายามฝืนต่อสู้แต่อย่างใด

ท่านจึงควบคุมนักโทษ “ซึ่งเป็นนักโทษหัวใจ” ผู้นั้น รีบหนีออกจากหล่มสักโดยเร็ว ออกมาจากสถานที่เกิดเหตุคือเมืองหล่มสักโดยเร็วที่สุด เที่ยววิเวกลงมาตามป่าตามเขา และเร่งทำตบะความเพียรอย่างหนัก ท่านพระอาจารย์สิงห์สนับสนุนให้หลวงปู่อดนอน อดอาหาร เพื่อผ่อนคลายความนึกคิดถึงมาตุคาม ให้เร่งภาวนาพุทโธ...พุทโธถี่ยิบ และนั่งข่มขันธ์ แต่ความกลับกลายเป็นโทษ เคราะห์ดีท่านไม่ตามนิมิต ซึ่งแทนที่จะยอมสิโรราบตามเคราะห์กรรมที่มีอยู่เช่นนั้น เพราะเคยมีกรรมต่อกันมาเช่นนั้น ทำให้พอเห็นก็มืออ่อนเท้าอ่อน ยอมตายง่ายๆ ท่านกลับเข้าหาครู เชื่อครู เล่านิมิตถวาย ท่านพระอาจารย์สิงห์ท่านได้โอกาสจึงได้อบรมกระหน่ำเฆี่ยนตีทันควัน

ท่านกล่าวว่า ตัวท่านผ่านเหตุการณ์อันน่าสยดสยองมาได้แล้ว ท่านหลวงปู่มองย้อนกลับไปจึงได้คิดว่า ผู้ที่มีญาณซึ่งสามารถหยั่งรู้เหตุการณ์ในอดีตก็ดี หรือภาพอนาคตก็ดี หากผู้ล่วงรู้อดีต อนาคตนั้น ไม่มีคุณธรรมมั่นคงแข็งแรงก็อาจจะเป็นผลเสียได้ อยู่ดีๆ เกิดไปรู้ว่าเคยชอบเคยรักกับใครก็จะลำเอียงไปตามนั้น ถ้าไปพบว่ามีเรื่องผูกพันกัน โกรธกัน ไปรู้เข้า ก็จะยุ่งแน่ ดังเช่นเกิดญาณรู้อยู่คนนั้นเคยมาข่มเหงเรา ฆ่าเรา พอรู้เข้าในชาตินี้ กลับอยากจะอาฆาตเตรียมตัวที่จะไปข่มเหงเขา ฆ่าเขาตอบแทนเรื่อยๆ นี่แหละท่านถึงไม่ให้ปุถุชนคนกิเลสหนาปัญญาหยาบได้ล่วงรู้ถึงอดีต รู้ถึงอนาคต ด้วยจิตยังมีริษยาอาฆาตโกรธแค้นต่อกันอยู่

ช่วงระยะเวลาเหล่านั้น ระหว่างท่านพระอาจารย์มั่นกำลังหลบจากเขตอีสานขึ้นไปวิเวกอยู่ทางภาคเหนือในเขตจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงราย ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ได้จัดตั้งกองทัพธรรมสั่งสอนประชาชนทางภาคอีสานให้รู้จักหลักพระพุทธศาสนาที่แท้จริง เพื่อให้เลิกถือผีไท้ ผีฟ้า ผีปู่ตา กลับมารับพระไตรสรณาคมน์ให้มากขึ้น พระกัมมัฏฐานท่านมาชุมนุมกันที่วัดป่าบ้านเหล่างานั้นมาก

ในปี ๒๔๗๔ มีพระเถระมาจำพรรษาอยู่ด้วยกันหลายท่านหลายองค์ นอกจากองค์ท่านแล้ว ยังมี หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม และหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ด้วย

Image
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน ป.ธ. ๕)


ครั้นต่อมาในปี ๒๔๗๕ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน ป.ธ. ๕) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง พระเทพเมธี เจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา ได้มีบัญชาเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ให้พระกัมมัฏฐานที่มีอยู่ที่จังหวัดขอนแก่นเดินทางไปที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อสั่งสอนประชาชนร่วมกับข้าราชการ ดังนั้น ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม และ ท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล ป.ธ. ๕ ซึ่งเป็นน้องชายท่านพระอาจารย์สิงห์ จึงได้นำพระจรไปด้วยหลายรูป มีหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เดินทางร่วมไปด้วย

ในปี ๒๔๗๕ นั้นเอง พันตำรวจตรีหลวงชาญนิยมเขต กองเมือง ๒ ได้ถวายที่ดินยกกรรมสิทธิ์ให้พระกัมมัฏฐานสร้างวัดมีเนื้อที่ ๘๐ ไร่ จึงได้ลงมือสร้างวัดขึ้นในที่แปลงนี้ ตั้งชื่อว่า “วัดป่าสาลวัน” จนถึงทุกวันนี้

ได้มีการอบรมศีลธรรมให้แก่ประชาชน จนประชาชนเกิดความเลื่อมใสและตั้งตนอยู่ในพระไตรสรณาคมน์ ถือวัดป่าสาลวันเป็นจุดศูนย์กลางปฏิบัติกัมมัฏฐานและเป็นสถานที่ชุมนุมประจำ ครั้นเมื่อจะเข้าพรรษาก็ให้แยกย้ายพระไปวิเวกจำพรรษาในวัดต่างๆ ที่ไปตั้งขึ้น ตัวท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ไปจำอยู่ที่ศูนย์กลางคือ วัดป่าสาลวันนี้ แต่ท่านได้มอบหมายให้ท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโลไปตั้งวัดกัมมัฏฐานอีกวัดหนึ่งที่ข้างกรมทหาร ตำบลหัวทะเล อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ให้ชื่อว่า “วัดป่าศรัทธารวม”

ณ ที่นี้ หลวงปู่ก็ได้ไปจำพรรษาร่วมอยู่ที่วัดป่าศรัทธารวมด้วย พรรษานี้พระกัมมัฏฐานในสายของท่านพระอาจารย์มั่นก็มาอยู่ด้วยกันมากเป็นพิเศษ เช่น หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ท่านพระอาจารย์ภูมี ฐิตธัมโม ท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ เป็นอาทิ มีท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล เป็นหัวหน้าที่จะเทศน์อบรม โดยมีท่านองค์อื่นๆ เป็นผู้ช่วยเหลือในการเทศน์อบรมประชาชนด้วย

แม้กับหมู่พวกพระเณร หลวงปู่หลุยท่านจะไม่ค่อยพูด ชอบอยู่องค์เดียว โดยหากระต๊อบเล็กๆ ทำแคร่พักอยู่ที่ชายป่าห่างจากหมู่เพื่อน แต่เวลาท่านพูดคุยกับญาติโยม ญาติโยมมักจะชอบใจสำนวนโวหารของท่านมาก ด้วยท่านเป็นกันเอง

ท่านได้เขียนบันทึกไว้หลายแห่งที่แสดงกุศโลบายของท่านในการเอาใจประชาชนว่า เพื่อจะให้ญาติโยมเข้าใจ หรือมีน้ำใจที่จะชอบฟังธรรมโดยง่าย จะทำพูดคุยธรรมดาให้เขารู้จักคุ้นเคยเป็นกันเองก่อนแล้วจึงจะเทศน์ เมื่อคุ้นเคยเป็นกันเองแล้ว เขาก็จะตั้งอกตั้งใจฟังเทศน์การอบรมเป็นอย่างดี

วิธีการของท่านนี้ ทำให้ท่านเป็นกำลังสำคัญองค์หนึ่ง ที่ช่วยในการเทศนาอบรมประชาชน ท่านได้อยู่จำพรรษาอยู่กับท่านพระอาจารย์สิงห์ และท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ในปี ๒๔๗๔-๒๔๗๕ นี้

ต่อมาท่านเห็นว่า กองทัพธรรมมีกำลังแน่นหนาเพียงพอแล้ว โดยได้มีครูบาอาจารย์แต่ละองค์ได้ไปสร้างวัดอยู่โดยรอบในจังหวัดนครราชสีมานี้ เช่น พระอาจารย์คำดี ปภาโส หรือพระครูญาณทัสสี ไปสร้างวัดป่าสะแกราช ที่อำเภอปักธงชัย หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ ไปสร้างวัดป่าบ้านใหม่สำโรง ที่อำเภอสีคิ้ว ตั้งชื่อว่า วัดป่าสว่างอารมณ์ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ไปสร้างวัดป่าบ้านมะรุม อำเภอโนนสูง เป็นการตั้งวัดเรียงรายกันอยู่โดยรอบ

ออกพรรษาปี ๒๔๗๕ ท่านหลวงปู่ก็ออกธุดงค์ต่อไป แยกจากหมู่เตรียมจะไปทางท่าอุเทน จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดนครพนม ด้วยเห็นว่ากองทัพธรรมมีกำลังเป็นปึกแผ่นแน่นหนาเพียงพอแล้ว หลวงปู่เป็นคนละเอียดลออ เวลาอยู่กับครูบาอาจารย์องค์ใด ท่านจะมีบันทึกกล่าวถึงครูบาอาจารย์องค์นั้นๆ อยู่เสมอ ในบันทึกปี ๒๔๗๕ ท่านได้บันทึกเกี่ยวกับท่านพระอาจารย์สิงห์ไว้ว่า

“ท่านอาจารย์สิงห์ เกิดปีฉลู วันจันทร์ เดือน ๓ อายุ ๔๔ พรรษา ๒๓ ออกบวชอายุ ๒๑ นับในครรภ์ ๑๐ เดือน”

“ท่านอาจารย์มหาปิ่น เกิดปีมะโรง เดือน ๔ วันพฤหัสบดี อายุ ๔๑ พรรษา ๑๘ ป.ธ. ๕”


สำหรับนิสัย ท่านก็บันทึกไว้เช่นกัน คงจะได้เห็นต่อไปในภายหลังท่านจะบันทึกนิสัยครูบาอาจารย์แต่ละองค์ไว้ด้วย ท่านกล่าวไว้ว่า

“ท่านสิงห์ นิสัยเทศน์อธิบายธรรมดี ใจคอกว้างขวางดี เป็นคนสุขุม รักษาความสงบ เยือกเย็นดี เป็นคนหวังดีในศาสนาดี ชอบสันโดษ จิตอุทิศดีในศาสนา จิตอุทิศเฉพาะข้อปฏิบัติ น้ำใจเด็ดเดี่ยว ยกธรรมาธิษฐานล้วน”

อีกแห่งหนึ่ง ท่านได้บันทึกไว้เป็นเชิงวิจารณ์ว่า

“ท่านอาจารย์สิงห์ กาย วาจา ใจ เป็นอาชาไนย ลักษณะเป็นคนที่ว่องไว ไหวพริบดี น้ำใจเด็ดเดี่ยว ทรมานคนได้ทุกๆ ชั้น ทั้งอุบายละเอียด เป็นคนราคจริต เป็นนักพูด ชอบคิดอุบายธรรมต่างๆ ชอบมีหมู่เพื่อนมาก นิสัยพระโมคคัลลาน์ มีความรู้ทั้งสมถะและวิปัสสนา ข้อวัตรดีทั้งภายในและภายนอก ชอบโอ่โถง อดิเรกลาภมาก ไม่เอาแง่เอางอนแก่พุทธบริษัท ปัญญาเป็นคนทรมานคน เพ่งประโยชน์ใหญ่ในศาสนา กาย วาจา ใจ ปลาบปลื้มมาก มักพูดตามความรู้ความเห็นของตน มักทรมานคนหนุ่มๆ น้อยๆ บริษัทของท่านเป็นคนแก่นสารในท่ามกลางบริษัท รู้สึกชาติของคนที่จะดีหรือชั่ว ไม่กลัวต่อความตาย รู้จักเหตุผล อดีตอนาคต ปัจจุบัน เป็นคนมั่นในสัมมาปฏิบัติ ฉลาดพูด ฉลาดพลิกจิตสมถวิปัสนา”

๏ พรรษาที่ ๙-๑๐ พ.ศ. ๒๔๗๖-๒๔๗๗
เดินธุดงค์กับท่านพระอาจารย์เสาร์ และได้วิชาม้างกาย
จำพรรษา ณ ถ้ำบ้านโพนงาม ต.ผักคำภู อ.กุดบาก จ.สกลนคร


เมื่อออกพรรษาปี ๒๔๗๕ แล้ว หลวงปู่เห็นว่า กองทัพธรรมมีกำลังแน่นหนาเพียงพอแล้ว หมู่เพื่อนสหธรรมิกที่อยู่ช่วยท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม และท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล ก็มีอยู่อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง แต่ละท่านแต่ละองค์ต่างมีอุบายธรรมช่วยตนเอง และอบรมญาติโยมได้อย่างมั่นคง ส่วนองค์ท่านเองนั้น แม้พวกญาติโยมจะพอใจในการมาฟังธรรม หรือปรับทุกข์ปรับร้อนในปัญหาการครองตนกับท่าน แต่ก็เป็นไปแบบทางโลกอยู่มาก ท่านเล่าว่า เมื่อหวนระลึกถึงตนแล้วก็คิดว่า ยังไม่มีภูมิธรรมที่จะทันหน้าทันตาหมู่เพื่อนได้ ด้วยความเพียรและอุบายยังอ่อนอยู่มาก ท่านจึงคิดจะไปปรารภความเพียรให้ยิ่งขึ้นต่อไป

ท่านออกธุดงค์ต่อไปทางท่าอุเทน จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดนครพนม ไปพบท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ที่จังหวัดอุบลราชธานี เห็นเป็นโอกาสที่จะได้อยู่ศึกษาอุบายธรรมจากท่าน จึงอยู่ปรนนิบัติรับใช้ ขณะนั้นท่านรู้สึกว่าตนยังขาดที่พึ่งอยู่มาก ตั้งแต่ท่านพระอาจารย์บุญ อาจารย์องค์แรกของท่านมรณภาพไป ก็คิดจะหาครูบาอาจารย์องค์ใหม่อย่างท่านพระอาจารย์มั่น ให้ท่านเมตตาสั่งสอนอบรม กระหน่ำฟาดฟันกิเลสให้ แต่ท่านก็เดินธุดงค์หลบหลีกเร้นหมู่ศิษย์ไปทางภาคเหนือโน้นแล้ว ได้อยู่ใกล้ชิดรับการอบรมจากท่านพระอาจารย์สิงห์ แต่ก็ยังไม่จุใจ มาได้โอกาสพบอาจารย์วิเศษอีกองค์หนึ่ง ท่านจึงยินดียิ่ง

ท่านพระอาจารย์เสาร์ พาท่านเดินธุดงค์รอนแรมมาจากอุบลฯ และมาพักอยู่ที่แบบเขตจังหวัดสกลนคร แล้วจัดให้ท่านแยกไปทำความเพียรที่ถ้ำแห่งหนึ่งในเขตอำเภอกุดบาก

ท่านเล่าถึงถ้ำนั้นว่า ชาวบ้านเรียกว่า ถ้ำโพนงาม อยู่บนภูเขาตั้งอยู่ระหว่างหมู่บ้าน ๓-๔ หมู่บ้าน คือ บ้านโพนงาม บ้านหนองสะไน และบ้านโพนสวาง อยู่ในเขตตำบลผักคำภู ห่างจากหมู่บ้านไม่กี่กิโลเมตร แต่ในสมัยนั้นยังเป็นป่าเป็นดงพงทึบอยู่ ทางไม่กี่กิโลเมตรก็ดูแสนไกล ท่านพระอาจารย์เสาร์บอกท่านว่า ให้ไปภาวนาที่ในถ้ำบนเขาโน้น ท่านก็แบกกลดขึ้นภูเขาไป

ท่านเล่าว่า ขณะนั้นท่านผ่านพรรษา ๘ มาแล้ว และถ้าหากจะนับทั้งพรรษาที่บวชมหานิกาย ๑ พรรษา และที่บวชธรรมยุตคราวแรก ๑ พรรษา โดยไม่มีความเชื่อมั่นว่าเป็นการบวชที่ถูกต้อง จึงขอบวชธรรมยุตซ้ำอีก ก็จะกลายเป็นบวชถึง ๑๐ พรรษาแล้ว ได้ออกธุดงค์ทุกปี แต่ก็เป็นการไปอย่างที่เรียกว่า อยู่ในรัศมีใบบุญของครูอาจารย์ เช่น ๖ พรรษาแรกนั้น ท่านอาจารย์บุญจะนำไปเกือบตลอด มาธุดงค์กับท่านพระอาจารย์เสาร์ ท่านก็ดูแลเช่นกัน ที่ได้ธุดงค์องค์เดียวก็เป็นป่าเขาใกล้ๆ กับรัศมีครูบาอาจารย์ หรือเป็นป่าโปร่ง ไม่ลึกลับซับซ้อนน่ากลัวเท่าใดนัก

การถูกส่งมาถ้ำโพนงามครั้งนั้นจึงเท่ากับเป็นการสอบไล่ใหญ่ทีเดียว

ท่านมองเห็นยอดเขา แล้วก็หมายตาไว้...ว่าจะต้องขึ้นไปบนโน้น เขาชี้ให้ดูว่า ถ้ำอยู่ตรงนั้น หมู่ไม้นั้น ลิบๆ โน้น...ยอดยาวนั้น...เห็นแต่ยอดไม้สูงแผ่กิ่งก้านต่อเนื่องกันราวกับทะเลสีเขียว ดูไม่ไกลเท่าไร แต่เดินไป...เดินไป พบภูเขาเป็นแท่งหินใหญ่ข้างหน้าอยู่ ไม่มีทางไป ก็ต้องย้อนกลับมาตั้งหลักใหม่ สมัยนั้นป่ายังเป็น “ป่า” รกชัฏ ต้นไม้สูงใหญ่ มืดครึ้ม ทางเดินในป่าก็แทบไม่มี ฝนเพิ่งตกใหม่ๆ ไม้อ่อนระบัดกลบทางเดินของพรานป่าหมด เคราะห์ดีที่ยังพอมีชาวบ้านช่วยถือมีดพร้าไปด้วย จึงพอตัดฟันกิ่งไม้ แหวกเป็นช่องทางให้เดินขึ้นไปได้

ท่านเล่าว่า ออกเดินทางแต่ฉันจึงหันเสร็จในตอนเช้า กว่าจะขึ้นไปได้ถึงบนถ้ำก็ตกบ่าย สภาพภูเขาส่วนใหญ่เป็นหินผาแท่งทึบ บางแห่งก็ดูราวกับเป็นหินเนื้อเดียวกัน แต่เมื่อสังเกตให้ดี จะเห็นว่าเบื้องหลังต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นเบียดเสียดกันนั้นมีชะเงื้อมหินเป็นแผ่นผาวางซ้อนกันอยู่ ระหว่างรอยต่อพลาญหินด้านล่างและเงื้อมผาที่เป็นแผ่นเรียบแผ่ชะโงกอยู่ด้านบนนั้น มีจอมปลวกและเถาวัลย์ต้นไม้เล็กๆ ขึ้นอยู่เต็ม แต่ถ้าหากรื้อเถาวัลย์และต้นไม้เล็กพร้อมจอมปลวกออก ตกแต่งพื้นหินให้สะอาดแล้วก็คงพออาศัยเป็นที่ภาวนาทรมานกายได้เป็นอย่างดี

ที่เรียกว่า ที่ภาวนาทรมานกาย ก็ด้วยเล็งเห็นว่า ความสูงของเพดาน (ซึ่งถ้าจะรื้อต้นไม้เปิดออกเป็นถ้ำ) นั้น คงเพียงแค่สามารถนอนและนั่งเท่านั้น เวลานั่งศีรษะคงจะพอครือๆ กับเพดานถ้ำพอดี เป็นการบังคับให้สติอยู่กับจิต ขืนเผลอขยับตัวแรงไป ศีรษะจะต้องกระแทกกับเพดานหินแน่นอน

เฉพาะส่วนที่ชาวบ้านผู้นำทางบอกว่า เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า ชื่อ “ถ้ำโพนงาม” และเป็นถ้ำที่หลวงปู่เสาร์สั่งให้ท่านมาอยู่ภาวนานั้น เป็นถ้ำใหญ่ยาวต่อเนื่องกันไปไกล แต่พื้นถ้ำซึ่งคงเคยราบเรียบเมื่อมีผู้ธุดงค์ผ่านมาทำความเพียรนั้น บัดนี้เมื่อกาลเวลาล่วงไป และผ่านพ้นมาเพียงฤดูหนึ่งหรือสองฤดู ใบไม้แห้งที่ร่วงทับถมลงมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็กลายเป็นปุ๋ยให้เกิดไม้ใบสีเขียวขจีเกาะกอดอยู่บนพลาญหิน

ท่านจึงให้ชาวบ้านช่วยรื้อพืชสีเขียวออก ส่วนใบไม้แห้งเหล่านั้น ก็ได้อาศัยกิ่งไผ่แขนงไม้บริเวณนั้นที่ชาวบ้านช่วยหักมาให้ รวบเป็นกำใช้แทนไม้กวาด ปัดกวาดออก ไม่นานก็พอเห็นเป็นรูปเป็นร่างว่าพอจะใช้อาศัยเป็นที่สำหรับอยู่ทำความเพียรได้ เขาช่วยตัดไม้ไผ่มาทุบแผ่ออกเป็นฟาก และหาเถาวัลย์บริเวณนั้นมาผูกมัดไม้ฟากให้ติดกัน แล้วจัดทำเป็นแคร่เล็กๆ ขนาดพอเป็นที่พักของร่างกายที่กว้างศอกยาววาหนาคืบได้ ยกสูงขึ้นจากพื้นเล็กน้อย ให้ได้พ้นจากมดตัวแดงแมงตัวน้อยที่มักจะอาศัยพลาญหินเป็นทางสัญจร

ชาวบ้านช่วยจัดทำเสร็จแล้ว ก็รีบลากลับไป บอกว่าเกรงจะไปมืดกลางทางเดี๋ยวจะลำบาก

ท่านถามว่า ลำบากเรื่องอะไร

เขาตอบว่า ลำบากเพราะแถวนี้เจ้าป่าชุมมาก การเดินทางในเวลากลางคืนอันตรายมาก “เจ้าป่า...เขาพยายามเลี่ยงไม่อยากใช้คาว่า “เสือ” ตรงๆ...เคยคาบชาวบ้านป่าที่ออกมาหาหน่อไม้ หน่อหวายบนเขา เอาไปกินสองสามรายแล้ว “เจ้าป่า” พวกนี้ชะล่าใจมาก บางทีถึงกับไปล่าเหยื่อถึงที่ชายป่าทีเดียว เคยมาเอาวัวเอาควายจากในบ้านไปกินก็หลายครั้ง

ท่านว่า ฟังแล้วก็ออกเสียวๆ อยู่มาก แต่ก็ยังทำใจดีสู้...ชาวบ้านลากลับไปแล้ว ท่านก็รีบจัดบริขารเข้าที่เพื่อเตรียมภาวนา ความจริงบริขารก็มิได้มีมากมายอะไร ผ้าอาบนั้นใช้ได้สารพัดประโยชน์ นอกจากเพื่อการอาบน้ำตามชื่อแล้ว ยังเผื่อเหตุอื่นด้วย ทั้งเช็ดตัว เช็ดบาตร เช็ดฝาบาตร ปัดกวาดแคร่ ปูแคร่ หรือห่อผ้าสังฆาฏิแทนปลอกหมอน

ชาวบ้านสัญญาว่า รุ่งขึ้นจะช่วยกันหาบน้ำขึ้นมาให้สัก ๒-๓ ครุ แต่ก็ยังไม่แน่นอนอะไร ฉะนั้น ท่านจึงต้องระวังกาน้ำเป็นพิเศษ เพราะเป็นภาชนะอันเดียวที่ใส่น้ำขึ้นเขามา จะต้องใช้ทั้งฉันและล้างหน้า ล้างตัวและล้างเท้า ถ้าปล่อยให้น้ำหกจากกาไปได้จะลำบาก ท่านยังไม่ได้ออกเดินสำรวจหาแหล่งน้ำบนเขา อาจจะมีน้ำฝนหลงเหลืออยู่บนแอ่งหินใดแอ่งหินหนึ่งก็ได้

สมัยนั้น พระธุดงคกัมมัฏฐานแทบจะไม่รู้จักไฟฉาย แม้แต่ไม้ขีด เทียนไข ก็หายาก ท่านว่า พระธุดงคกัมมัฏฐานพึ่งพาแต่แสงไฟธรรมชาติ กลางวันก็อาศัยแสงอาทิตย์ กลางคืนก็แล้วแต่เดือนดาวจะให้ความเมตตาให้แสงสว่างเพียงไร เดือนหงายก็ยังพอเห็นอะไรบ้าง แต่ถ้าเป็นเดือนแรมก็เรียกว่า มืดสนิท

คืนแรกนั้น ท่านว่า แต่แรกก็ยังดีอยู่ มองธรรมชาติรอบตัวดูมีความสงบสงัด งามอยู่ ต้นไม้ก็สวย ฟ้าก็งาม แต่ไปๆ ชักสลัวลง...มืดลง คำชาวบ้านที่ว่า เสือชุม ก็ดูจะมากระซิบซ้ำซากอยู่ที่ข้างหู...ต้นไม้ดูทมึนตะคุ่มๆ ฟ้าก็มืด ดูสงัดวังเวงอย่างบอกไม่ถูก ได้ยินเสียงเสือคำรามอยู่แต่ไกล ท่านเคยได้ยินครั้งอยู่วัดป่าหนองวัวซอ แต่เสียงนั้นก็ห่างอยู่ และกุฏิก็อยู่ในเขตวัด ไม่ฟังวังเวงเหมือนครั้งนี้ เผอิญคืนนั้นเป็นคืนข้างแรมแก่ ตะวันลับขอบฟ้าเพียงไม่นาน ก็มืดจนมองไม่เห็นอะไร เพียงยื่นมือออกไปข้างหน้า ก็มองไม่เห็นแม้แต่แขนหรือปลายมือของเราเอง ท่านว่า...เข้าใจในครั้งนั้นเลย...คำวลีที่ว่า “มืดเหมือนเข้าถ้ำ”

ท่านบันทึกไว้ว่า “ภาวนาที่ถ้ำโพนงามนั้นดีเหลือที่สุด”...ภาวนา...กายเปลี่ยว จิตเปลี่ยว กายวิเวก จิตวิเวก เป็นอย่างไร แทบจะไม่ต้องมีใครมาอธิบายให้ฟัง

กายเปลี่ยว จิตเปลี่ยว...จริงๆ

กายวิเวก จิตวิเวก...จริงๆ

เสียงสัตว์ป่าร้องในเวลาค่ำคืน ดังแหวกความสงัดขึ้นมาเป็นระยะๆ ยิ่งนึกถึงคำของชาวบ้านที่ว่า เสือชุม งูชุม ทำให้ยิ่งรู้สึกถึงความสงัดวังเวงมากยิ่งขึ้น

ท่านเล่าว่า เวลาอยู่ในถ้ำ บนเขา ในป่า อย่าว่าแต่เสียงเสือ เสียงช้าง...เลย แม้แต่เสียงเก้งที่ร้อง เป๊บ เป๊บ ลั่นขึ้นในความสงัดของราวป่า ก็ทำให้สะดุ้งตกใจได้โดยง่าย จิตสะดุ้ง จิตหดเข้า...หดเข้า...แนบแน่นอยู่กับพุทโธที่อาศัยเป็นสรณะที่พึ่ง...รวมลงสู่สมาธิ

ท่านว่า เคราะห์ดีที่อยู่ถ้ำโพนงามรอบแรก ในปี ๒๔๗๖ และ ๒๔๗๗ นั้นไม่เคยพบเสืออย่างจังๆ สักที ทั้งๆ ที่ท่านพระอาจารย์เสาร์ส่งท่านมาอยู่ที่นี่ก็เพื่อให้พบเสือ อาจจะเป็นเพราะระยะนั้นยังนึก “กลัวๆ” อยู่ ภาวนาไม่อยากให้พบเสือ ถึงจะมาอยู่แดนเสือ จึงไม่ได้พบเสือเลย กระทั่งต่อมาอีกหลายปีภายหลัง จึงได้พบเสืออย่างจังหน้า ซึ่งก็แถวถ้ำบริเวณใกล้ๆ กับถ้ำโพนงามนี้เอง หลังจากที่ได้ธุดงค์วิเวกไปไหนต่อไหนเสีย ๕-๖ ปี ทำให้ได้ธรรมอันน่าอัศจรรย์ใจ

ท่านกล่าวภายหลังว่า ความจริงที่กล่าวว่า เคราะห์ดีที่ไม่ได้เจอเสือในครั้งแรกที่ถ้ำโพนงามนั้น ควรจะเรียกว่า เคราะห์ร้ายมากกว่า เพราะถ้าหากทราบว่าเจอเสือแล้วจะเป็นเช่นไร ความกลัวจนถึงที่สุด ทำให้จิตกลับแกล้วกล้าขึ้นจนถึงที่สุดเช่นกัน ใครๆ ก็ต้องอยากพบเสือกันทั้งนั้น การไม่ได้พบเสือจึงกลายเป็นเคราะห์ร้ายของพระกัมมัฏฐานด้วยเหตุนี้

ท่านว่า ออกไปเดินเล่น เห็นรอยเท้าเสือหมาดๆ เต็มไปหมด จะว่ากลัวหรือจะว่าไม่กลัว ก็บอกไม่ถูก แต่ก็ต้องเอาเท้าไปเกลี่ยรอยเท้าเสือทิ้งเสีย...ไม่อยากเห็นแม้แต่รอยเท้าของมัน...!

มีงูตัวโตๆ แต่ก็ต่างคนต่างอยู่ แผ่เมตตาไปโดยรอบ แผ่เมตตาไปโดยไม่มีประมาณ ให้ทั้งเทพยดา อารักษ์ อมนุษย์ ส่ำสัตว์ทั้งหลายโดยรอบ ความสงัดวิเวกบริบูรณ์ จิตรวมง่าย บางวันถึง ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง

เมื่อท่านลงจากเขามา ได้ข่าวว่า ท่านพระอาจารย์เสาร์กลับไปทางนครพนมแล้ว ท่านพอใจความวิเวกที่นั้น จึงกลับขึ้นไปจำพรรษาอยู่ ณ ถ้ำโพนงามนั้นเอง เป็นพรรษาแรก ณ ที่นั้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๖

วันหนึ่งไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ได้ยินข่าวว่า มีแม่ชีอภิญญาณสูงอยู่ที่วัดป่าบ้านสองคร ภาวนาเก่งมาก รู้วาระจิตคนอื่น มีหูทิพย์ ตาทิพย์ อย่างเช่นไปฟังพระเทศน์ องค์ไหนไปติดที่ธรรมขั้นไหนๆ แม่ชีจะรู้หมด บอกได้ถูกหมด ได้ยินว่าชื่อ แม่ชีจันทร์ และแม่ชียอ เฉพาะแม่ชียอนั้นตาบอด แต่ทางธรรมะนั้นเลิศมาก และไม่ต้องอาศัยสายตาก็รู้เห็นทุกอย่างหมด ตาเนื้อเสีย ก็ไม่ต้องใช้...ใช้แต่ตาใน แม่ชีทั้งสองเป็นคนบ้านโพนสวาง ใกล้บ้านหนองบัว ในเขตอำเภอสว่างแดนดิน หลวงปู่ได้ยินเรื่องราวแม่ชีทั้งสองก็สนใจ

Image
หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ

Image
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร


พอดีออกพรรษา มีงานฉลองศพที่วัดนั้น หลวงปู่ได้รับนิมนต์ไปด้วย งานนั้น หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ และหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ก็ไปด้วย เมื่อทั้งสององค์ผลัดกันขึ้นเทศน์ แม่ชีไปฟังด้วย หลวงปู่จึงไปลองซักถามดู ถามว่า ท่านที่ขึ้นเทศน์นี้เป็นอย่างไร

แม่ชีก็บอกให้ฟัง

ท่านแปลกใจว่า แม่ชีทำอย่างไร รู้ได้อย่างไร

แม่ชีก็กราบเรียนวิธีการภาวนาของตนให้ท่านทราบโดยละเอียด ทำให้หลวงปู่ได้อุบายวิธีในทางปฏิบัติจากแม่ชีทั้งสองเป็นหนทางดำเนินในการปฏิบัติธรรมของท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณากายานุปัสสนาสติปัฏฐานแบบที่หลวงปู่เทศนาสอนในภายหลัง เรียกวิธีการ “ม้างกาย” นี่เอง

“ม้าง” เป็นภาษาอีสาน แปลว่า แยกออกเป็นส่วนๆ หรือรื้อออก...แยกออก เช่น ม้างบ้าน ก็คือ รื้อบ้าน แยกบ้าน ม้างกาย ก็คือ รื้อกาย แยกกายออกเป็นส่วน ทำให้มาก...ทำให้ยิ่ง...จนเป็นอุคคหนิมิต เป็นปฏิภาคนิมิต แล้วดำเนินวิปัสสนา ใช้ปัญญาพิจารณากายต่อไป ให้เห็นเป็นไตรลักษณ์ ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา

หลวงปู่เล่าว่า พอท่านได้ฟังอุบายวิธี ท่านก็แบกกลดกลับขึ้นเขาไปทันที ไม่ได้รอแม้แต่จะอยู่ต่อไปจนกระทั่งให้งานที่เขานิมนต์มานั้นเสร็จเรียบร้อยเสียก่อน

ท่านบันทึกเล่าไว้ ขณะเมื่ออยู่จำพรรษาที่ถ้ำเจ้าผู้ข้า ในปี ๒๕๒๕ เป็นเวลาเกือบ ๕๐ ปีต่อมาในภายหลังเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า

“เอาเข้าป่า หัดม้างกายอย่างเต็มที่ จนร่างกายเกิดวิบัติ จนกระดูกคล้ายๆ ออกจากกัน แม้เราเดินเสียงกรอบแกรบ แต่นานไปหาย มีกำลังทางจิต”

ท่านเล่าว่า การทำความเพียรช่วงนั้น ท่านปฏิบัติไปอย่างลืมมืดลืมแจ้ง ลืมวันลืมคืน เลยทีเดียว คิดว่า ผู้หญิงเขาทำได้ ทำไมเราจึงจะทำไม่ได้ จะแพ้ผู้หญิงเขาหรือไร ยิ่งคิดก็ยิ่งเกิดมุมานะ เจริญอิทธิบาท ๔ หัดม้างกายอย่างเต็มสติปัญญาความสามารถ

คล้ายกับกระดูกจะแยกออกจากกัน จะหลุดออกจากกันจริงๆ เวลาเดินได้ยินเสียงกระดูกภายในกายลั่นดังกรอบแกรบตลอดเวลา บางโอกาสก็นึกสนุก ม้างต้นไม้...แยกออกเป็นส่วนๆ จนต้นไม้แตก ลั่นดังเปรี๊ยะ...เปรี๊ยะทีเดียว ม้างก้อนหิน ภูเขา

ดูจะสนุกที่สุด “ม้าง” สิ่งใด สิ่งนั้นก็แทบจะแตกแยกละเอียดลงเป็นภัสม์ธุลี กำหนดใหม่ให้กายนั้น สิ่งนั้น กลับรวมรูปขึ้นมาใหม่...กำหนดให้ทำลายลงเป็นผุยผง รวมพึ่บลง ขยายให้ใหญ่ปานภูเขา ย่อให้เล็กลงเหลือแทบเท่าหัวไม้ขีด

สิ่งของ...! บุคคล...! ทำได้คล่องแคล่ว ว่องไว

มันช่างน่าสนุกจริงๆ ท่านเล่าให้ศิษย์ใกล้ชิดผู้มาฝึกเรียน “ม้างกาย” ว่า เมื่อ “ม้างกาย” ได้ใหม่ๆ ก็เกิดอาการ “ร้อนวิชา” ลองม้างกายคนที่พบเห็น พบใครก็ลอง “ม้างกาย” ดู...ผลพลอยได้ที่ทราบในภายหลังและท่านบันทึกไว้ คือหลังจากม้างกายบุคคลใดแล้ว ท่านจะรู้วาระจิตบุคคลนั้นด้วย...! คิดในใจอย่างไร เคยทำอะไรมา และจะทำอะไรต่อไป

จะมีของแถมเป็น ปรจิตวิชชา...อตีตังสญาณ อนาคตังสญาณ...เหล่านี้ตามมาด้วย

ระหว่างที่ท่านมาอยู่ถ้ำโพนงามระยะแรก ได้ยินเสียงเทวดาพระอรหันต์สวดมนต์ เผอิญตอนนั้นมีพระและเณรตามมาอยู่ด้วยอีก ๒ องค์ ท่านว่า ได้ยินเสียงสวดมนต์กันทั้ง ๓ องค์ ต่อมาท่านได้กราบเรียนถามท่านพระอาจารย์มั่น เล่าถวายให้ท่านฟัง ท่านก็รับรองตามที่หลวงปู่ประสบ

การมาอยู่ที่ถ้ำโพนงามนี้ ทำให้ท่านได้เห็นพญานาคเป็นครั้งแรกในชีวิตด้วย ท่านเล่าว่า เป็นเวลาระหว่างที่ท่านกำลังพักผ่อนหลังจากทำความเพียรมาอย่างหนัก จึงออกมาเดินเล่นตามป่าเขา และเล่นพิจารณาการม้างกายไปด้วย ขณะที่ท่านเล่น “ม้าง” ต้นไม้ให้แตกเปรี๊ยะปร๊ะ ก็เห็นพญานาคมาเล่นกัน เอาดินตม ดินโคลนมาปาใส่กัน ดินบางก้อนขึ้นไปติดบนยอดยางทีเดียว

รูปร่างพญานาคก็คล้ายกับที่เห็นที่หน้ากลักไม้ขีดไฟ หรือที่เขาปั้นไว้ตามหน้าโบสถ์ บันไดนาค...อะไรเหล่านั้น ท่านว่า ในเวลาที่เขาไม่ได้เนรมิตกายให้เป็นอย่างอื่น เสียดายไม่ได้เรียนถามรายละเอียดอื่นอีก มัวแต่ตื่นเต้นเรียนซักถามเรื่องอื่น จึงไม่ได้เรียนถามให้แน่ใจว่า ระหว่างนั้นที่ท่านมองเห็นพญานาคนั้น จิตท่านคงจะละเอียดมาก ควรแก่การเห็นผู้ที่อยู่ในภพภูมิอันละเอียดระดับเดียวกับจิตในขณะนั้นของท่าน

Image
คณะศิษย์พระป่ากรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต (จากซ้ายไปขวา)
๑. หลวงปู่ศรีจันทร์ วัณณาโภ วัดศรีสุทธาวาส จ.เลย (อายุ ๖๘ ปี)
๒. หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโครธาราม จ.อุดรธานี (อายุ ๗๑ ปี)
๓. หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าสัมมานุสรณ์ จ.เลย (อายุ ๗๒ ปี)
๔. หลวงปู่หลุย จันทสาโร วัดถ้ำผาบิ้ง จ.เลย (อายุ ๗๒ ปี)
๕. หลวงปู่ซามา อาจุตฺโต วัดป่าอัมพวัน จ.เลย (อายุ ๖๘ ปี)



(มีต่อ ๕)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 17 ม.ค. 2007, 10:31 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ พรรษาที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๔๗๘ สร้างวัดป่าบ้านหนองผือ
จำพรรษา ณ วัดป่าบ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร


ในปี ๒๔๗๘ หลวงปู่ได้มาพบสถานที่อันเป็นมงคลแห่งหนึ่ง ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น วัดภูริทัตตถิราวาส หรือวัดป่าบ้านหนองผือ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังสำหรับผู้ปฏิบัติกัมมัฏฐานไปทั่วประเทศ ในฐานะที่ พระคุณเจ้าท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ บิดาแห่งพระกัมมัฏฐาน ได้จำพรรษาอยู่ ณ ที่แห่งนั้นเป็นเวลาถึง ๕ พรรษาติดต่อกันโดยท่านไม่เคยจำพรรษาอยู่ ณ ที่ใดนานเช่นนั้นมาก่อน

หลวงปู่หลุยท่านเป็นผู้ที่พบสถานที่แห่งนั้น และก็เป็นที่น่าประหลาดว่า การที่ท่านจะไปอยู่ที่นั่นนั้น มีเหตุมาจากเรื่องเล็กๆ เรื่องหนึ่ง กล่าวคือ ในระยะนั้นหลวงปู่กำลังวิเวกอยู่ในแถวอำเภอกุดบาก และพรรณานิคม ปรากฏว่าชาวบ้านเกิดเป็นโรคเหน็บชา เป็นโรคอัมพฤกษ์กันมาก คือ ไม่เชิงถึงกับเป็นไข้ แต่ต่างคนต่างไม่มีแรง จะทำอะไรก็อ่อนเปลี้ยกันไปทั้งหมู่บ้าน พวกผู้หญิงก็ปานนั้น พวกผู้ชายก็ปานนั้น ไม่สามารถจะทำไร่ทำนากันได้

ด้วยความเมตตาที่เห็นชาวบ้านป่วยไข้ ทั้งขาดแคลนไม่มีเงินจะซื้อจะหายามารักษาพยาบาล หรือบำรุงตนให้หายจากโรคได้ เผอิญท่านระลึกได้ถึงยาตำรับที่เคยมีกล่าวอยู่ในบุพพสิกขา เป็นยาที่พระพุทธองค์ทรงกำหนดไว้ให้ภิกษุอาพาธใช้ ท่านก็เลยทดลองจัดทำขึ้นตามตำรับที่ท่านเห็นกล่าวไว้ในหนังสือบุพพสิกขาฯ นั้น เรียกกันว่า ยาน้ำมูตรเน่า

หลังจากทำแล้ว ก็ปรากฏว่าโด่งดังไปทั่วทั้งอำเภอกุดบาก อำเภอพรรณานิคม อำเภอเมือง เล่าลือกันต่อๆ ไปว่า มีพระกัมมัฏฐานมาปักกลดโปรดสัตว์อยู่ ท่านมียารักษาโรคเหน็บชา โรคอัมพฤกษ์ได้ ในระหว่างนั้นใครมาขอท่านก็แจกกันให้ไปครอบครัวละ ๑ ขวดใหญ่ ใครกินแล้วก็หายจากโรคร้ายกันทั้งนั้น ต่างมีแรงได้ทำไร่ทำนากันเป็นปกติแถมยังขยันขันแข็ง มีเรี่ยวแรงดีกว่าเดิมด้วยซ้ำ เลื่องลือกันไปจนถึงบ้านหนองผือนาใน เพราะที่นั่นมีคนเป็นโรคอัมพาต เป็นโรคเหน็บชากันหลายคนอยู่ จึงพากันชวนกันไปอาราธนานิมนต์ให้ท่านมาโปรดพวกชาวบ้านหนองผือบ้าง

เล่ากันว่า เมื่อตอนที่ยกขบวนกันไปรับท่านมานั้น ปีนเขากันมาจนถึงหมู่บ้านหนองผือ รับมาพร้อมกับหาบหม้อยามาด้วยกับท่านเลย เพราะบ้านหนองผือเป็นหมู่บ้านใหญ่ มีผู้คนหนาแน่น ได้ยินข่าวเรื่องพระธุดงค์มียาวิเศษ ก็ดั้นด้นไปถึงแล้วก็ไปขอยามา ได้มาทีละน้อย มาถึงมากินแล้วก็หาย จะไปเอามาแจกกันก็ไม่ทันอกทันใจ เลยคิดว่าไปนิมนต์ท่านมาจะดีกว่า สถานที่ซึ่งท่านพักอยู่ก่อนทางเขาด้านโน้นทางกุดบากนั้นอยู่ไกล มีอันตรายมาก สมัยนั้นเสือสางค่างแดงมันก็มีมาก ทั้งมีข่าวเรื่องเสือมากินวัวกินควายอยู่ตลอดเวลา ก็เลยไปรับหลวงปู่มา ให้ท่านมาพักอยู่ตรงข้างๆ ที่สร้างวัดทุกวันนี้ ฝั่งทุ่งนาที่เรียกว่า วัดภูริทัตตถิราวาส คิดกันว่าแทนที่จะไปเอายามา ก็ไปรับองค์ท่านมาเลย แล้วก็มาทำยาที่บ้านหนองผือนี้เลย การณ์ปรากฏว่าพวกที่เป็นโรคเหน็บชาทั้งหลายพากันหายจากโรคกันหมด การที่ท่านช่วยให้เขาหายจากโรคภัยไข้เจ็บนี้ ทำให้พวกชาวบ้านเริ่มมีศรัทธานับถือท่าน เคารพท่านมากขึ้น ถือว่าท่านมาโปรดพวกเขาโดยแท้

ยาหม้อใหญ่นี้เป็นต้นเหตุให้ท่านได้อุบายฝึกทรมานคน กล่าวคือ เมื่อศรัทธาความเชื่อของคนได้บังเกิดขึ้นแล้ว ท่านก็เริ่มอบรมสั่งสอนชาวบ้าน ในเบื้องต้นเริ่มจากการให้ทาน การรักษาศีล การภาวนา ตามลำดับไป ท่านทุ่มเทช่วยในการรักษาพยาบาลชาวบ้านจนหายจากโรคภัยไข้เจ็บ แล้วก็ยังมาทุ่มเทรักษาชาวบ้านด้วยวิธีการทางด้านจิตใจอีก ชาวบานหนองผือจึงเกิดความเชื่อมั่นในองค์ท่านอย่างมาก

เมื่อถึงเวลาที่เรากำลังจะจัดทำชีวประวัติของท่านในครั้งนี้ ได้กลับไปสัมภาษณ์พูดคุยกับพวกชาวบ้านหนองผือ ซึ่งเคยเป็นคนหนุ่มคนสาวสมัยที่หลวงปู่ยังไปบ้านหนองผือใหม่ๆ เคยช่วยท่าน “เฮ็ด” แคร่ “เฮ็ด” กุฏิ และหัดทอผ้าจากท่าน เคยฝึกหัดสวดมนต์ไหว้พระ หัดภาวนาจากท่าน เคยกราบเคยไหว้หลวงปู่ใหญ่มั่น มาแต่ครั้งกระโน้น ปัจจุบันนี้ล้วนเป็นพ่อเฒ่าแม่แก่ ต่างมีอายุมากไปตามๆ กัน

พวกเขาคุยให้ฟังว่า

ชาวบ้านหนองผือนี่ ตั้งแต่ตัวเล็กเด็กแดง ผู้เฒ่าผู้ใหญ่ คนทุกรุ่นทุกวัย ท่านได้สอนหมด ต่างก็เชื่อฟังท่าน โดยครั้งแรกท่านสอนการให้ทานก่อน ให้รู้จักการทำบุญสุนทานตามโอกาส ตามเวลาที่มี โอกาสที่มีนั่นคือว่า ถ้านึ่งข้าวสุกทัน...ก็ใส่บาตร ตำพริกทันก็ให้ใส่พริก ถ้าไม่มีก็ตำกับเกลือ ถ้าตำบ่ทันก็ให้เอาลูกมันใส่ เพิ่นสอนไปหมด...คำให้สัมภาษณ์นี้ก็มาจาก หลวงตาบู่ ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นคนหนุ่ม ยังไม่ได้บวชเรียนแต่อย่างใด แต่จากการที่ได้ใกล้ชิดรับใช้ท่านก็เกิดเลื่อมใสศรัทธา บัดนี้ได้บวชแล้วอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือนี่เอง หลวงตาบู่ท่านเล่าว่า หลวงปู่หลุยท่านสอนตั้งแต่พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย จนถึงหลาน ถึงเหลน ถึงโหลน

ข้อนี้คงจะจริง เพราะท่านจะนึกถึงประชาชนทุกเพศทุกวัย ในคำที่ท่านเทศนาสำหรับวัดต่างๆ ในโอกาสงานบุญต่างๆ ท่านจะพูดถึงบุตรหลาน บุตรเหลน บุตรโหลน อยู่ตลอด

หลวงตาบู่บอกว่า เพิ่นมีวิธีการสอน เมื่อเพิ่นทุ่มเทให้ชาวบ้านหนองผือนี่อย่างมาก ชาวบ้านก็มีความเคารพท่าน เชื่อฟังท่านด้วย แทบทุกคนก็ได้หายมาจากโรคแล้ว ท่านจะให้ทำอะไร ปฏิบัติตัวเช่นไร ก็เชื่อฟังเป็นอันดี ถือเสมือนว่าท่านเป็นพระมาลัยมาโปรดให้หายเจ็บหายไข้ การงานใดในวัดที่อยากทำ จะสร้างกุฏิศาลา ชาวบ้านก็มาช่วย

เมื่อเราพูดถึงคำว่า กุฏิ กับ ศาลา นั้น ไม่ได้หมายถึงถาวรวัตถุมากมายอะไร ก็เพียงแต่การที่เอาไม้ไผ่มาตัด ทุบทำเป็นฟากแล้วก็ยกแคร่ขึ้น เอาใบไม้ใหญ่ๆ มาใส่ ประกับเข้า โดยใช้ไม้ไผ่มาผ่าเป็นซีกเล็กๆ ยาวๆ แล้วก็เอาใบไม้ไว้ตรงกลาง ประกับหน้า ประกับหลัง ก็สามารถใช้เป็นฝาได้ ส่วนหลังคาก็เกี่ยวหญ้ามามุง อยู่กันเพียงแบบนั้น แต่ก็สามารถเป็นที่เจริญภาวนาได้เป็นอย่างดี

พูดถึงตำรายาหม้อใหญ่ของหลวงปู่นั้น คงจะมีผู้ที่สงสัยว่าจะประกอบด้วยอะไรบ้าง ความจริงในภายหลังในปีหลังๆ ท่านก็ได้บันทึกไว้เหมือนกัน จึงจะขอนำมาลงพิมพ์เป็นประวัติไว้โดยรักษาถ้อยคำสำนวนของท่านโดยตลอด ดังนี้

ท่านบันทึกไว้เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ ที่หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

“ยาดองอย่างดี เยี่ยววัวดำ น้ำมูตรเน่าของพระพุทธเจ้ามีอยู่ในบุพพสิกขาเป็นอนุศาสน์ พระอุปัชฌาย์ให้แก่กุลบุตรที่บวชใหม่ เป็นยาที่สำคัญมีชื่อเสียงอย่างดี โดยไม่แพ้กับยารัฐบาลตามร้านต่างๆ

หมากขามป้อม ๑
สมอ ๑
กระชาย ๑
กระเทียม ๑
เขาฮอ (บอระเพ็ด) ๑
พริกไทย ๑
ตะไคร้ ๑
เกลือ ๑
น้ำผึ้ง ๑
ว่านไพร ๑
ใบมะกรูด ๑
ใบมะนาว ๑
ผักหนอก ๑
ผักอีเลิศ ๑
ดีปลี ๑
ใบมะขาม ๑
เยี่ยววัวดำต้มเสียก่อน
ใบสะเดา ใส่บ้างนิดหน่อย
ใบส่องฟ้า ทั้งราก ใบ
ใบแมงลัก
ใบกะเพรา
พริกใหญ่ธรรมดา เอาพริกไทยล้วนยิ่งดี

“เยี่ยววัวดำเป็นอันขาดไม่ได้ เป็นโอสถสำคัญมากทีเดียว แก้โรคเบาหวาน ทำที่จังหวัดจันทบุรี ผ่านมาครั้งหนึ่ง บ้านผือ ตำบลนาใน ถ้ำโพนงาม ทำคราวนั้นมีชื่อเสียงดังมาก วัดป่าจังหวัดปทุมธานีก็ทำเหมือนกัน กินข้าวเอร็ดอร่อยมาก เมื่อกินแล้วใครๆ ก็ติดใจ อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายได้ดำเนินมาแล้ว ได้ผ่านมาแล้วตั้งหลายปี ดังนี้ เห็นอานิสงส์ทุกครั้ง เป็นยาปรมัตถ์ของพระพุทธเจ้าโดยแท้ เป็นยาในพระพุทธศาสนาโดยตรง จนได้สั่งสอนสืบๆ มาจนทุกวันนี้”

นี่คือ ตำรับยาหม้อใหญ่ หรือที่ถูกคือ ยาปรมัตถ์ ของพระพุทธเจ้าตอนหลังมาอยู่ที่หัวหิน ท่านก็ได้จัดทำขึ้นเหมือนกัน แจกจ่ายกันไป


ท่านพักอยู่ที่บ้านหนองผือนาใน นี้ในปี ๒๔๗๘ และปี ๒๔๗๙ แต่เฉพาะที่จำพรรษานั้นอยู่เพียงปีเดียว คือปี ๒๔๗๘ ออกจากถ้ำโพนงาม ท่านก็วิเวกไปแถวอำเภอกุดบาก อำเภอพรรณานิคม เรื่อยมาจนได้กลับมาอยู่ที่บ้านหนองผือดังกล่าว

กล่าวได้ว่าการจัดทำยาหม้อใหญ่นั้นเป็นอุบายนำครั้งแรก ที่ทำให้ท่านสามารถอบรมสั่งสอนชาวบ้านหนองผือได้ ท่านใช้คำว่า สามารถทรมานเขาได้ ชาวบ้านรักท่านมาก เมื่อท่านพูดบอกว่า ท่านจะออกจากที่นี่ไป เพื่อจะธุดงค์วิเวกไปตามวิสัยพระธุดงค์กัมมัฏฐาน ต่างก็ไม่ยอมร้องห่มร้องไห้อ้อนวอน ท่านไม่ทราบจะทำประการใด สงสารชาวบ้านก็สงสาร สุดท้ายจึงต้องใช้วิธีหนีออกไป

จนกระทั่งได้กลับมาอีกทีหนึ่งในปี ๒๔๘๗ เป็นการมาจำพรรษาและเตรียมจัดเสนาสนะรับท่านพระอาจารย์มั่น โดยหลวงปู่ได้ออกอุบายแนะให้ชาวบ้านหนองผือ อาราธนานิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่นมาจำพรรษา ณ ที่นี้ จนเป็นผลสำเร็จ

Image
ป้ายชื่อวัดป่าสุทธาวาส ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร


๏ พรรษา ๑๒ พ.ศ. ๒๔๗๙ อยู่ด้วยท่านพระอาจารย์เสาร์
จำพรรษา ณ วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร


เสร็จธุระจากการอบรมชาวบ้านทางบ้านหนองผือแล้ว หลวงปู่ก็ลาจากญาติโยมที่นั่นมา ท่านรับว่า การลาจากพวกชาวบ้านบ้านหนองผือ ทำให้ท่านบังเกิดความอาลัยอาวรณ์ คล้ายกับจะต้องจากญาติมิตรสนิทไปแสนไกลเช่นนั้น เป็นความรู้สึกที่ท่านไม่เคยเกิดกับศรัทธาในหมู่ใด ถิ่นใดมาก่อน ทั้งๆ ที่ครูบาอาจารย์เคยสั่งสอนอบรมมาว่า พระธุดงคกัมมัฏฐานไม่ควรจะติดตระกูล ติดที่อยู่ ควรทำตนให้เหมือนนกที่เมื่อเกาะกิ่งไม้ใด ถึงคราจะต้องบินจากไป ก็จะโผไปจากกิ่งไม้นั้นได้โดยพลัน ไม่มีห่วงหาอาลัย หรือร่องรอยที่จะแสดงให้เห็นได้ว่า เท้าของเจ้านกน้อยนั้นเคยเกาะพำนักอยู่กับไม้ต้นนั้น กิ่งนั้น

แต่สำหรับชาวบ้านหนองผือนั้น ท่านมีความสนิทใจด้วยอย่างมาก ด้วยเป็นคนว่านอนสอนง่าย อบรมเช่นไรก็เชื่อฟัง พยายามปฏิบัติตาม ส่วนฝ่ายชาวบ้านก็เคารพท่าน รักบูชาท่านอย่างเทิดทูน เห็นท่านดุจเทวดามาโปรด ตั้งแต่การที่ได้ยา “วิเศษ” ของท่านมารักษาโรคกันทั้งหมู่บ้านดังกล่าวมาแล้ว และยังช่วยเมตตาสั่งสอนให้รู้จักทางสวรรค์ทางนิพพานอีก ดังนั้น พอทราบข่าวว่า ท่านจะลาจากไปจึงพากันร้องไห้อาลัย อันทำให้ท่านสารภาพในภายหลังว่า ทำให้ท่านใจคอไม่ค่อยปกติไปเหมือนกัน ท่านกล่าวว่า คงจะเป็นกุศลวาสนาที่เคยเกี่ยวข้อง อบรมทรมานกันมาในชาติก่อนๆ ก็เป็นได้ ที่ทำให้เกิดความคุ้นเคยกันเช่นนี้

ในอนาคตอีกเกือบ ๑๐ ปีต่อมา ท่านก็ได้กลับมา ณ ที่ละแวกบ้านหนองผือนี้อีก ได้มาจำพรรษาอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ และแนะนำสั่งสอนให้อุบายชาวบ้านคณะนี้ให้ได้มีโอกาสอันยิ่งใหญ่ สามารถอาราธนานิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่น พระบิดาของพระธุดงคกัมมัฏฐานภาคอีสาน ได้มาอยู่จำพรรษาเป็นประทีปส่องทางธรรมอยู่ติดต่อกันถึง ๕ พรรษา นับเป็นสถานที่ซึ่งท่านพระอาจารย์มั่นจำพรรษาอยู่นานที่สุด และเป็นเวลาช่วงสุดท้ายแห่งปัจฉิมสมัยของท่านด้วย ทำให้ “บ้านหนองผือ” เป็นนามที่โลกทางธรรมต้องรู้จักและจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ตลอดไป

ครั้งแรกท่านคิดจะเดินทางกลับไปทางจังหวัดบ้านเกิด เพราะมีนิมิตถึงโยมมารดา และตัวท่านก็ธุดงค์จากบ้านเกิดมาช้านาน อย่างไรก็ดี พอดีได้ทราบว่าท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล อยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส ท่านจึงรีบไปกราบด้วยความเคารพ ทั้งนี้เพื่อจะรายงานเรื่องการที่ท่านสั่งให้ไปอยู่ถ้ำโพนงาม แต่เมื่อปีก่อนโน้นให้ทราบด้วย

การได้มาอยู่ปรนนิบัติรับใช้ครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่อีกวาระหนึ่ง ทำให้ท่านคิดว่าเป็นโอกาสอันประเสริฐ เหมือนจู่ๆ ได้เห็นแก้ววิเศษลอยมาใกล้ตัว จะไม่เชิญแก้วดวงวิเศษไว้บูชาหรือ จะปล่อยให้ลอยผ่านพ้นไปได้อย่างไร โอกาสเช่นนี้มีไม่ได้ง่ายๆ สำหรับการกลับไปเยี่ยมบ้านนั้นน่าจะรอต่อไปได้ บ้านโยมมารดาก็คงอยู่ ณ ที่เก่า ไม่ได้ถอนเสาเรือนหายไปไหน อีกทั้งเราได้แผ่เมตตาให้โยมมารดา ทำร่มมุ้งกลดแจกจ่ายพระเณร แม่ชี อุทิศกุศลให้โยมมารดาตลอดมาอยู่แล้ว

ปี ๒๔๗๙ ท่านจึงได้อธิษฐานพรรษาอยู่ด้วยท่านพระอาจารย์เสาร์ ณ วัดป่าสุทธาวาส เนื่องจากท่านไม่มีนิสัยชอบเทศนาอบรมเอง หลวงปู่หลุยจึงรับหน้าที่เป็นผู้คอยดูแลอบรมพระเณรที่มาอยู่กับท่านพระอาจารย์เสาร์ ให้อยู่ในธรรมวินัยและอาจาริยวัตรข้อปฏิบัติอันดีงาม

อาจาริยวัตรที่ท่านฝึกปรือมาแต่สมัยอยู่กับท่านพระอาจารย์บุญ ปฏิบัติรับใช้อาจารย์องค์แรกของท่านมาด้วยความเลื่อมใสศรัทธาเป็นเวลา ๖-๗ ปี มาครั้งนี้ท่านก็ใช้อย่างเต็มที่ แม้ท่านจะมีพรรษากว่าสิบแล้ว แต่ท่านก็คงนอบน้อมถ่อมองค์ให้พระเณรรุ่นหลังได้เห็นเป็นตัวอย่าง ให้ตระหนักในวัตรเหล่านั้น

- ต้องฉันทีหลังอาจารย์
- ฉันให้เสร็จก่อนอาจารย์
- นอนทีหลังอาจารย์ และ
- ตื่นก่อนอาจารย์ เป็นอาทิ

การอุปัฏฐากพิเศษที่พระเณรพยายามปฏิบัติเป็นกิจวัตร แต่ทำไม่ค่อยคล่องก็คือ การกดเอ็นท้องให้ท่านในเวลานวดเส้นตอนกลางคืน ท่านเป็นคนรูปร่างใหญ่ หนังท้องค่อนข้างหนา ด้วยท่านมีอายุมากแล้ว อีกประการหนึ่ง ท่านก็เคยชินต่อการนวดแรงๆ มาแล้ว การกดคั้นเอ็นท้องของท่านจึงต้องใช้กำลังแข็งแกร่งมากเป็นพิเศษ พระเณรผู้ปฏิบัติไม่ค่อยมีกำลังนิ้วมือแข็งแรงพอ จึงมาปรารภกัน หลวงปู่ได้เข้าไปขออนุญาตนวดเอ็นท่าน และสุดท้ายก็ได้อธิบายมาสอนกัน ค่อยให้พยายามกำหนดภาวนาไปด้วย เมื่อจิตเป็นสมาธิ กำลังมือก็จะหนักหน่วง แข็งแรง ใจสู่ใจ ผู้รับนวดก็จะสบายกาย ผู้นวดก็จะไม่เปลืองแรง ดีด้วยกันทั้งสองฝ่าย

หลวงปู่บันทึกเรื่องเกี่ยวกับหลวงปู่เสาร์ไว้หลายแห่งหลายวาระ คงจะเป็นความประทับใจของท่านอย่างมาก ที่ได้เคยเดินธุดงค์และจำพรรษากับหลวงปู่เสาร์

“ท่านเกิดที่บ้านข่าโคม อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๒ ท่านเป็นคณาจารย์ใหญ่ของพระกัมมัฎฐานทั้งหมด

ได้มรณภาพในท่านั่งสมาธิ ในอุโบสถวัดอำมาตย์ จำปาศักดิ์ ลาว เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ตรงกับ ๒ ฯ ๓ (วันจันทร์ ขึ้นเจ็ดค่ำ เดือน ๓ - ผู้เขียน) ปีมะโรง เชิญศพมาจุดศพ ณ วัดบูรพา อำเภอเมืองอุบล จังหวัดอุบลราชธานี ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๖”


สำหรับเรื่องนิสัย หลวงปู่หลุยบันทึกไว้ว่า

“นิสัยท่านอาจารย์เสาร์ นิสัยชอบก่อสร้าง ชอบปลูกพริกหมากไม้ ลักษณะจิตเยือกเย็น มีพรหมวิหาร ทำจิตดุจแผ่นดิน มีเมตตาเป็นสาธารณะ เป็นคนพูดน้อย ยกจิตขึ้นสู่องค์เมตตาสุกใสรุ่งเรือง เป็นคนเอื้อเฟื้อในพระวินัย ทำความเพียรเป็นกลางไม่ยิ่งไม่หย่อน พิจารณาถึงขั้นภูมิธรรมละเอียดมาก ท่านบอกให้เราภาวนาเปลี่ยนอารมณ์แก้อาพาธได้

อยู่ข้างนอกวุ่นวาย เข้าไปหาท่านจิตสงบดี เป็นอัศจรรย์ปาฏิหาริย์หลายอย่าง จิตของท่านชอบสันโดษ ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง หมากไม่กินบุหรี่ไม่สูบ ท่านแดดังเป็นอุปัชฌายะ เดินจงกรมภาวนาเสมอไม่ละกาล น้ำใจดี ไม่เคยโกรธเคยขึ้งให้พระเณรอุบาสกอุบาสิกา มักจะวางสังฆทานอุทิศในสงฆ์สันนิบาต แก้วิปัสนูแก่สานุศิษย์ได้ อำนาจวางจริตเฉยๆ เรื่อยๆ ชอบดูตำราเรื่องพุทธเจ้า รูปร่างใหญ่ สันทัด เป็นมหานิกาย ๑๐ พรรษา จึงมาญัตติเป็นธรรมยุต ชอบรักเด็ก เป็นคนภูมิใหญ่กว้างขวาง ยินดีทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ลักษณะเป็นคนโบราณ พร้อมทั้งกาย วาจา ใจ เป็นโบราณทั้งสิ้น ไม่เห่อตามลาภยศสรรเสริญ อาหารชอบเห็ด ผลไม้ต่างๆ ชอบน้ำผึ้ง”


เป็นที่น่าสังเกตว่า ท่านบันทึกไว้แม้แต่ว่าอาหารนั้นอาจารย์ของท่านจะชอบอะไร ทั้งนี้แสดงว่า สัทธิวิหาริก หรืออันเตวาสิก ต้องพยายามอุปัฏฐากปฏิบัติครูบาอาจารย์ โดยหาอาหารที่ถูกรสถวายให้ฉันได้ เพราะครูบาอาจารย์ผู้มีอายุนั้นธาตุขันธ์กำลังทรุดโทรม ควรจะต้องพยายามถวายอาหารที่จะช่วยบำรุงธาตุขันธ์ให้ยืนยาว

ต่อมาอีก ๑๙ ปี ระหว่างจำพรรษาที่สวนพ่อหนูจันทร์ ท่านบันทึกว่า

“พ.ศ. ๒๔๙๘ จำพรรษาสวนพ่อหนูจันทร์ ฝันได้นวดขาท่านอาจารย์เสาร์ คล้ายอยู่กุฎี ขอโอกาสท่านนวดขาเข้า จะได้ขึ้นรถและเกวียนไปที่อื่น”

และแม้ไนปี ๒๕๒๙ ท่านยังได้บันทึกไว้อีกว่า

“ลัทธิท่านอาจารย์เสาร์ พระครูวิเวกพุทธกิจ มีเมตตาแก่สัตว์เป็นมหากรุณาอย่างยิ่ง วางเป็นกลาง เยือกเย็นที่สุด เมตตาของท่านสดใสเห็นปาฏิหาริย์ของท่าน สมัยขุนบำรุงบริจาคที่ดินและไม้ทำสำนักแม่ขาวสาริกา วัดสุทธาวาส จ.สกลนคร แก้สัญญาวิปลาสท่านอาจารย์มั่นกับท่านเจ้าคุณหนูวัดสระปทุมในสมัยนั้น จนสำเร็จเป็นอัศจรรย์ เรียกว่าเป็นพ่อพระกรรมฐานภาคอีสานนี้ท่านอาจารย์เสาร์เล่าให้ฟัง สมัยที่เราอยู่กับท่าน เดินธุดงค์ไปด้วย ท่านปรารถนาเป็นพระปัจเจก กับปรารถนาเป็นสาวกสำเร็จอรหันต์ในศาสนาสมณโคคมพุทธเจ้าของเรา แก้บ้าท่านอาจารย์หนูไม่สำเร็จเพราะเธอเชื้อบ้าติดแต่กำเนิด ท่านอาจารย์มั่นเคารพท่านอาจารย์เสาร์มากที่สุด เพราะเป็นเณรของท่านมา แต่ก่อนท่านเรียกท่านอาจารย์ว่า เจ้าๆ ข้อยๆ”

(เจ้าๆ แทนตัวหลวงปู่มั่น, ข้อยๆ แทนตัวหลวงปู่เสาร์ - ผู้เขียน)

ในเรื่องการปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าของหลวงปู่เสาร์นั้น ในภายหลังเมื่อหลวงปู่หลุยเล่าเรื่องนี้ให้ศิษย์ฟัง ท่านก็ได้สารภาพให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังเหมือนกันว่า

ตัวหลวงปู่หลุยเองก็เคยปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เช่นเดียวกันกับหลวงปู่เสาร์เหมือนกัน ท่านเองก็มีนิสัยไม่อยากอยู่นำหมู่นำพวก ชอบอยู่คนเดียวไปคนเดียวเหมือนกัน พระปัจเจกพุทธเจ้าที่อยู่เขาคันธมาทน์นั้น แม้จะอยู่กันถึงห้าร้อยองค์ แต่ก็ไปบิณฑบาตองค์เดียวมาเลี้ยงกัน ท่านเห็นความสบาย และก็ไม่ค่อยห่วงพวกห่วงหมู่ด้วย จึงปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ต่อเมื่อพบพ่อแม่ครูบาอาจารย์เทศนาสั่งสอนอบรม เห็นโทษของการเวียนเกิดเวียนตาย หลวงปู่มั่นประเสริฐเลิศลอยกว่าท่านเป็นหมื่นเท่าแสนเท่า ท่านยังต้องไปเวียนวนเกิดเป็นสุนัขถึงอสงไขยชาติ หลวงปู่เสาร์ก็ยังยอมเลิกปรารถนาพุทธภูมิ ท่านอาจารย์บุญอาจารย์องค์แรกของท่านก็นิพพานไปแล้ว ท่านเองเป็นศิษย์ จะอวดเก่งกล้ากว่าพ่อแม่ครูบาอาจารย์ได้อย่างไร

ท่านชี้ให้ฟังว่า ผู้เคยปรารถนาพุทธภูมินั้น แม้จะละเลิกความปรารถนาแล้วก็ตาม แต่สายใยแห่งความปรารถนาเดิมจะยังคงแน่นเหนียวอยู่มาก การพิจารณาตัดขาดจึงทำไม่ค่อยได้ง่ายๆ ปากว่า ล้มเลิกความปรารถนาแล้ว แต่ในก้นบึ้งของจิตมันยังซุกซ่อนตัวเกาะรากฝังแน่นอยู่ ต้องตัดให้ขาด การทำความเพียรเพื่อให้แจ้งซึ่งพระนิพพานจึงจะรุดหน้า ตัวท่านเองกว่าจะฟันฝ่ามาได้ก็ลำบากพอดู

อนึ่ง โดยที่หลวงปู่ท่านมักจะบันทึกเหตุการณ์ไว้มีข้อความสั้นๆ ส่วนใหญ่คงเป็นเพียงบันทึกย่อเพื่อช่วยความจำ ในเรื่องราวเกี่ยวกับหลวงปู่เสาร์ก็เช่นเดียวกัน

ดังเช่นบางตอนท่านบันทึกว่า

“ท่านอาจารย์เสาร์หนักอยู่ในสมาธิและพรหมวิหาร ท่านชอบอนุโลมตามนิสัยของสัตว์” และ “ท่านอาจารย์เสาร์ทำจิตยกก้นพ้นฟากแล้ว ๑ ศอก พลิกจิตอย่างไรไม่รู้ ตกต่าง ไม่อย่างนั้นเหาะไปที่ไหนไม่รู้”

ดังนั้น เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้อรรถรสในเรื่องนี้อย่างเต็มเปี่ยม จึงขอกราบเท้านมัสการพระคุณเจ้าท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ขออนุญาตนำข้อความตอนที่ท่านได้เขียนไว้เกี่ยวกับพระคุณเจ้าหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ในหนังสือ “ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ” มาลงพิมพ์ด้วยความเคารพรักและเทิดทูนอย่างสูงสุด ดังนี้

ความต่อไปนี้ ขอเชิญมาจากหนังสือ “ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ” โดยพระคุณเจ้าท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน เป็นตอนที่ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าถึงท่านพระอาจารย์เสาร์

“ท่าน (พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ) เล่าว่า นิสัยของท่านอาจารย์เสาร์เป็นไปอย่างเรียบๆ และเยือกเย็นน่าเลื่อมใสมาก ที่มีแปลกอยู่บ้างก็เวลาท่านเข้าที่นั่งสมาธิ ตัวของท่านชอบลอยขึ้นเสมอ บางครั้งตัวท่านลอยขึ้นไปจนผิดสังเกตเวลาท่านนั่งสมาธิอยู่

ท่านเองเกิดความแปลกใจในขณะนั้นว่า ‘ตัวเราถ้าจะลอยขึ้นจากพื้นแน่ๆ’ เลยลืมตาขึ้นดูตัวเอง ขณะนั้นจิตท่านถอนออกจากสมาธิพอดี เพราะพะวักพะวงกับเรื่องตัวลอย ท่านเลยตกลงมาก้นกระแทกกับพื้นอย่างแรง ต้องเจ็บเอวอยู่หลายวัน

ความจริงตัวท่านลอยขึ้นจากพื้นจริงๆ สูงประมาณ ๑ เมตร ขณะที่ท่านลืมตาดูตัวเองนั้นจิตได้ถอนออกจากสมาธิ จึงไม่มีสติพอยับยั้งไว้บ้าง จึงทำให้ท่านตกลงสู่พื้นอย่างแรง เช่นเดียวกับสิ่งต่างๆ ตกลงจากที่สูง ในคราวต่อไปเวลาท่านนั่งสมาธิ พอรู้สึกว่าตัวท่านลอยขึ้นจากพื้น ท่านพยายามทำสติให้อยู่ในองค์ของสมาธิแล้วค่อยๆ ลืมตาขึ้นดูตัวเอง ก็ประจักษ์ว่า ตัวท่านลอยขึ้นจริงๆ แต่มิได้ตกลงสู่พื้นเหมือนคราวแรก เพราะท่านมิได้ปราศจากสติและคอยประคองใจให้อยู่ในองค์สมาธิ ท่านจึงรู้เรื่องของท่านได้ดี ท่านเป็นคนละเอียดถี่ถ้วนอยู่มาก แม้จะเห็นด้วยตาแล้ว ท่านยังไม่แน่ใจ ต้องเอาวัตถุชิ้นเล็กๆ ขึ้นไปเหน็บไว้บนหญ้าหลังกุฏิ แล้วกลับมาทำสมาธิอีก

พอจิตสงบและตัวเริ่มลอยขึ้นไปอีก ท่านพยายามประคองจิตให้มั่นอยู่ในสมาธิ เพื่อตัวจะได้ลอยขึ้นไปจนถึงวัตถุเครื่องหมายที่ท่านนำขึ้นไปเหน็บไว้แล้วค่อยๆ เอื้อมมือจับด้วยความมีสติ แล้วนำวัตถุนั้นลงมาโดยทางสมาธิภาวนา คือพอหยิบได้วัตถุนั้นแล้วก็ค่อยๆ ถอนจิตออกจากสมาธิ เพื่อกายจะได้ค่อยๆ ลงมาจนถึงพื้นอย่างปลอดภัย แต่ไม่ถึงกับให้จิตถอนออกจากสมาธิจริงๆ

เมื่อได้ทดลองจนเป็นที่แน่ใจแล้ว ท่านจึงเชื่อตัวเองว่าตัวท่านลอยขึ้นได้จริงในเวลาเข้าสมาธิในบางครั้ง แต่มิได้ลอยขึ้นเสมอไป นี้เป็นจริง นิสัยแห่งจิตของท่านอาจารย์เสาร์ รู้สึกผิดกับนิสัยของท่านอาจารย์มั่นอยู่มากในปฏิปทาทางใจ”

“จิตของท่านอาจารย์เสาร์เป็นไปอย่างเรียบๆ สงบเย็นโดยสม่ำเสมอ นับแต่ขั้นเริ่มแรกจนถึงสุดท้ายปลายแดนแห่งปฏิปทาของท่าน ไม่ค่อยล่อแหลมต่ออันตราย และไม่ค่อยมีอุบายต่างๆ และความรู้แปลกๆ เหมือนจิตท่านอาจารย์มั่น”

“ท่านเล่าว่า ท่านอาจารย์เสาร์เดิมท่านปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เวลาออกบำเพ็ญพอเริ่มความเพียรเข้ามากๆ ใจรู้สึกประหวัดๆ ถึงความปรารถนาเดิม เพื่อความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า แสดงออกเป็นเชิงอาลัยเสียดายยังไม่อยากไปนิพพาน

ท่านเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อความเพียรเพื่อความรู้แจ้งซึ่งพระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้ ท่านเลยอธิษฐานของดจากความปรารถนานั้น และขอประมวลมาเพื่อความรู้แจ้งซึ่งพระนิพพานในชาตินี้ ไม่ขอเกิดมารับความทุกข์ทรมานในภพชาติต่างๆ อีกต่อไป

พอท่านปล่อยวางความปรารถนาเดิมแล้ว การบำเพ็ญเพียรรู้สึกสะดวก แลเห็นผลไปโดยลำดับ ไม่มีอารมณ์เครื่องเกาะเกี่ยวเหมือนแต่ก่อน สุดท้ายท่านก็บรรลุถึงแดนแห่งความเกษมดังใจหมาย แต่การแนะนำสั่งสอนผู้อื่น ท่านไม่ค่อยมีความรู้แตกฉานกว้างขวางนัก ทั้งนี้อาจจะเป็นไปตามภูมินิสัยเดิมของท่านที่มุ่งเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ซึ่งตรัสรู้เองชอบ แต่ไม่สนใจสั่งสอนใครก็ได้ อีกประการหนึ่ง ที่ท่านกลับความปรารถนาได้สำเร็จตามใจนั้น คงอยู่ในขั้นพอแก้ไขได้ ซึ่งยังไม่สมบูรณ์เต็มภูมิแท้”

“แม้ท่านอาจารย์มั่นเอง ตามท่านเล่า ว่าท่านก็เคยปรารถนาพุทธภูมิมาแล้วเช่นเดียวกัน ท่านเพิ่งมากลับความปรารถนาเมื่อออกบำเพ็ญธุดงคกรรมฐานนี่เอง โดยเห็นว่าเนิ่นนานเกินไปกว่าจะได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาตามความปรารถนา จำต้องท่องเที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตายอยู่ในวัฏสงสารหลายกัปหลายกัลป์ ไม่ชนะ จะแบกขนทนความทุกข์ทรมานไม่มีวันจบสิ้นนี้ได้

เวลาเริ่มความเพียรมากๆ จิตท่านมีประหวัด ประหวัดในความหลัง แสดงเป็นความอาลัยเสียดายความเป็นพระพุทธเจ้า ยังไม่อยากนิพพานในชาตินี้เหมือนท่านอาจารย์เสาร์ พออธิษฐานของดจากความปรารถนาเดิมเท่านั้น รู้สึกเบาใจหายห่วง และบำเพ็ญธรรมได้รับความสะดวกไปโดยลำดับ ไม่ขัดข้องเหมือนแต่ก่อน และปรากฏว่าท่านผ่านความปรารถนาเดิมไปได้อย่างราบรื่นชื่นใจ เข้าใจว่าภูมิแห่งความปรารถนาเดิมคงยังไม่แก่กล้าพอ จึงมีทางแยกตัวผ่านไปได้”

“เวลาท่านออกเที่ยวธุดงคกรรมฐานทางภาคอีสาน ตามจังหวัดต่างๆ ในระยะต้นวัย ท่านมักจะไปกับท่านอาจารย์เสาร์เสมอ แม้ความรู้ทางภายในจะมีแตกต่างกันบ้างตามนิสัย แต่ก็ชอบไปด้วยกัน

สำหรับท่านอาจารย์เสาร์ท่านเป็นคนไม่ชอบพูด ไม่ชอบเทศน์ ไม่ชอบมีความรู้แปลกๆ ต่างๆ กวนใจเหมือนท่านพระอาจารย์มั่น เวลาจำเป็นต้องเทศน์ท่านก็เทศน์เพียงประโยคหนึ่งหรือสองเท่านั้น แล้วก็ลงธรรมาสน์ไปเสีย ประโยคธรรมที่ท่านเทศน์ซึ่งพอจับใจความได้ว่า ‘ให้พากันละบาปและบำเพ็ญบุญ อย่าให้เสียชีวิตลมหายใจไปเปล่าที่ได้มีวาสนามาเกิดเป็นมนุษย์’ และ ‘เราเกิดเป็นมนุษย์ มีความสูงศักดิ์มาก แต่อย่านำเรื่องของสัตว์มาประพฤติ มนุษย์ของเราจะต่ำลงกว่าสัตว์ และจะเลวกว่าสัตว์อีกมาก เวลาตกนรกจะตกหลุมที่ร้อนกว่าสัตว์มากมาย อย่าพากันทำ’

แล้วก็ลงธรรมาสน์ไปกุฏิโดยไม่สนใจกับใครต่อไปอีก

ปกตินิสัยของท่านเป็นคนไม่ชอบพูด พูดน้อยที่สุด ทั้งวันไม่พูดอะไรกับใครเกิน ๒-๓ ประโยค เวลานั่งก็ทนทานนั่งอยู่ได้เป็นเวลาหลายๆ ชั่วโมง เดินก็ทำนองเดียวกัน แต่ลักษณะท่าทางของท่านมีความสง่าผ่าเผย น่าเคารพเลื่อมใสมาก มองเห็นท่านแล้วเย็นตาเห็นใจไปหลายวัน ประชาชนและพระเณรเคารพเลื่อมใสท่านมาก ท่านมีลูกศิษย์มากมายเหมือนท่านอาจารย์มั่น”

“ทราบว่า ท่านอาจารย์ทั้งสององค์นี้รักและเคารพกันมาก

ในระยะวัยต้นไปที่ไหนท่านชอบไปด้วยกัน อยู่ด้วยกันทั้งในและนอกพรรษา

พอมาถึงวัยกลางผ่านไป เวลาพักจำพรรษามักแยกกันอยู่แต่ไม่ห่างไกลกันนัก พอไปมาหาสู่กันได้สะดวก มีน้อยครั้งที่จำพรรษาร่วมกัน ทั้งนี้อาจเกี่ยวกับบรรดาศิษย์ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็มีมากด้วยกัน และต่างก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกที ถ้าจำพรรษาร่วมกันจะเป็นความลำบากในการจัดที่พักอาศัย จำต้องแยกกันอยู่เพื่อเบาภาระในการจัดที่พักอาศัยไปบ้าง

ทั้งสองอาจารย์ขณะที่แยกกันอยู่จำพรรษาหรือนอกพรรษารู้สึกคิดถึงกันมากและเป็นห่วงกันมาก เวลามีพระที่เป็นลูกศิษย์ของแต่ละฝ่ายมากราบนมัสการ จะมากราบนมัสการท่านอาจารย์เสาร์หรือมากราบนมัสการท่านอาจารย์มั่น ต่างจะต้องถามถึงความสุขทุกข์ของกันและกันก่อนเรื่องอื่นๆ จากนั้นก็บอกกับพระที่มากราบว่า “คิดถึงท่านอาจารย์” และฝากความเคารพคิดถึงไปกับพระลูกศิษย์ที่มากราบเยี่ยมตามสมควรแก่ “อาวุโส ภันเต” ทุกๆ ครั้งที่พระมากราบอาจารย์ทั้งสองแต่ละองค์”

Image

Image
อาคารพิพิธภัณฑ์อัฐบริขารพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
ประดิษฐาน ณ วัดป่าสุทธาวาส ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร



(มีต่อ ๖)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 17 ม.ค. 2007, 12:40 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
หลวงปู่หลุย จันทสาโร


๏ พรรษาที่ ๑๓-๑๔ พ.ศ. ๒๔๘๐-๒๔๘๑
กลับมาสู่แผ่นดินถิ่นกำเนิด จำพรรษา ณ
ป่าช้าหนองหมากผาง ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย


เมื่อออกพรรษาปี ๒๔๗๙ แล้ว ท่านก็คงปรนนิบัติรับใช้หลวงปู่เสาร์อยู่ ณ วัดป่าสุทธาวาส ต่อไปอีกระยะหนึ่ง อากาศแห้ง หมดฝน หลวงปู่เสาร์ก็เตรียมตัวจะออกวิเวกต่อไปตามวิสัยพระธุดงคกัมมัฏฐาน ท่านได้ออกธุดงค์ติดตามหลวงปู่เสาร์ไปทางท่าอุเทน มุกดาหาร และนครพนมด้วย ต่อมาได้มีพระเณรมาพึ่งบารมีหลวงปู่เสาร์มากขึ้น กลายเป็นกลุ่มคณะใหญ่ ท่านซึ่งปกติไม่ค่อยชอบหมู่พวก ชอบอยู่คนเดียวไปคนเดียวอย่างสะดวกใจ คิดจะอยู่ก็อยู่ คิดจะไปก็ไป จึงคิดหนี เพราะการอยู่จำพรรษาด้วยหลวงปู่เสาร์นั้นเป็นด้วยความเคารพเทิดทูนอย่างสูงสุดต่อครูบาอาจารย์ คิดช่วยผ่อนคลายรับภาระอบรมพระเณรแทนท่านเท่านั้น

บัดนี้ระหว่างเวลาธุดงค์ แต่ละองค์ต่างก็ทำจิตของท่านไป ภาระในการอบรมก็แทบไม่ต้องมี ท่านจึงกราบลาหลวงปู่เสาร์แยกจากหมู่พวกมา ระยะนั้นมีนิมิตถึงโยมมารดาและทางบ้านมารบกวนในสมาธิบ่อยครั้ง ท่านจึงคิดจะมุ่งหน้ากลับไปแผ่นดินถิ่นกำเนิด ด้วยได้จากมาช้านานแล้ว แทบจะกล่าวได้ว่า พอบวชแล้ว ท่านก็ไม่ได้กลับไปให้มารดาและญาติพี่น้องได้เห็นหน้าเลย

ท่านได้ออกธุดงค์เที่ยวไปโดยตลอด อุดรฯ ขอนแก่น นครราชสีมา สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม สำหรับแถบบ้านเกิดเมืองนอนนั้นแทบจะไม่ยอมมาใกล้บ้าน

ดูเหมือนจะมีเพียงครั้งเดียวที่ท่านกราบไปใกล้ญาติพี่น้อง คือการไปร่วมงานศพญาติทางโยมมารดาที่หล่มสัก ใน พ.ศ. ๒๔๗๔ แต่ก็ได้รับแผลชีวิตกระหน่ำเอาอย่างหนัก แทบจะต้องฝึกหาลาเพศเตลิดเปิดเปิงไปทีเดียว เคราะห์ยังดีที่ได้อุบายวิเศษจากพระเถระผู้ใหญ่ช่วยสงเคราะห์ จึงสามารถครองเพศพรหมจรรย์ต่อไปได้อย่างเต็มภาคภูมิ

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ท่านไม่ต้องการจะกลับมาจำพรรษาประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ ณ ที่ใกล้บ้านเกิด เพราะตระกูลของท่านเป็นตระกูลใหญ่ มีคนรู้จักมากหน้าหลายตาการบวชนั้น ถ้าเป็นการบวชตามประเพณีนิยม เพียงชั่วระยะ ๑ เดือน ๓ เดือน ทุกคนก็พอจะเข้าใจ ด้วยเชื่อถือกันว่า จะเป็นบุญเป็นกุศลแก่บิดามารดาปู่ย่าตายาย แต่นี้เป็นการบวชที่ว่า จะบวชตลอดชีวิต มิหนำซ้ำยังแบกกลด แบกบาตร เตรียมออกป่าออกดงตลอดไป จะอยู่อย่างไร...? จะกินอย่างไร...? เจ็บไข้จะได้ใครพยาบาลให้หยูกให้ยา...?

ญาติพี่น้องก็จะพร่ำรำพันขอให้สึกเถิด ทรัพย์สมบัติก็มีมากมาย โยมมารดา...ก็เป็นเจ้าแม่นาง...คนรู้จักนับหน้าถือตาทั้งตำบล “พระ” ท่านเป็นลูกชายคนเดียวจะไม่อยู่สืบต่อหน่อแนวแถวตระกูลเลยหรือ...?

ตระกูลนี้จะจบสิ้นลงแล้วหรือ

ล้วนแต่มีผู้ห่วงหาอาทร อ้อนวอนให้สึกทั้งนั้น บ้างก็ยิ่งสงสาร ด้วยเห็น “พระ” ครองจีวรอันเก่าคร่ำคร่า ผอม...จนเหลือแต่กระดูก...ตามสำนวนของญาติ...อดอยากปากแห้ง

ไม่เข้าใจเรื่องการถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ไม่เข้าใจเรื่องการทรมานกายเผาผลาญกิเลส ไม่เข้าใจเรื่องการฉันมื้อเดียว อันเป็นศัตรูของพระธุดงค์

รุมล้อมกัน ชักจูงให้ท่านสึก ท่านจึงคิดว่าควรจะไปอยู่ห่างไกลพวกญาติพี่น้องให้ไกลที่สุดเท่าใด จะยิ่งดีที่สุดได้เท่านั้น

แต่ทว่าบัดนี้ท่านคิดว่า ได้ครองเพศบรรพชิตมาได้นาน “พอตัว” แล้วทางฝ่ายญาติโยมทางบ้านคงจะทำใจได้แล้ว และคงเข้าใจได้แล้วว่า ท่านจะต้องมีความสุขสันโดษในชีวิตสมณเพศของท่านอย่างมากพอ ท่านจึงอยู่มาได้ถึงป่านนี้ คงจะไม่มีใครมารบเร้าอ้อนวอนให้ท่านสึกให้รำคาญอีก หลวงปู่จึงคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่ท่านควรจะไปหาที่จำพรรษาอยู่ในเขตจังหวัดเลย เพื่อโปรดสงเคราะห์โยมมารดาโดยเฉพาะ

ท่านเกิดในสกุล “วรบุตร” อันแปลว่า สกุลแห่ง บุตรอันประเสริฐ ท่านก็คิดว่า ท่านได้ทำหน้าที่บุตรอันประเสริฐให้แก่บิดามารดาแล้ว คือ บวชในเพศอันอุตตมะเป็น “พระ” ซึ่งคำว่า “พระ” ก็มาจากคำ “วร” คำเดียวกัน อันแปลว่า ประเสริฐ เหมือนกัน บวชเรียนอุทิศส่วนกุศลให้บุพการี อบรมสั่งสอนให้ใหม่ได้มีความรู้ความเข้าใจในการทาน การศีล การภาวนา ให้มีอริยทรัพย์ติดตัวต่อไปทุกภพทุกชาติ

สถานที่ซึ่งหลวงปู่ได้ไปอยู่จำพรรษา โปรดสงเคราะห์โยมมารดาและญาตินั้นคือที่ป่าช้าวัดหนองหมากผาง และที่ถ้ำผาปู่ ตำบลนาอ้อ อำเภอเมือง จังหวัดเลย ท่านจำพรรษาอยู่ในระหว่างสถานที่ ๒ แห่งนี้ รวม ๓ พรรษา คือพรรษาในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ถึง ๒๔๘๒

เล่ากันว่า ครั้งแรกเมื่อท่านโผล่เข้าไปในบ้าน แทบจะไม่มีใครจำท่านได้เพราะท่านทั้งผอม ทั้งดำ ภาพชายหนุ่มร่างโปร่ง ผิวขาว หน้าตาสะสวย ยิ้มง่าย ที่เจ้าแม่นางกวยจำได้ ไม่มีเค้าเหลืออยู่เลย แถมจีวรที่ครองก็ดูขะมุกขะมอมเก่าคลาคล่ำ มีรอยปะชุน โยมมารดาซึ่งมีชื่อในทางแต่งกายงาม สะอาดเอี่ยมอยู่เสมอ จึงตกใจเมื่อเห็นพระลูกชายอยู่ในสภาพนั้น

และสำคัญที่สุด ทุกคนเข้าใจว่า ท่านตายไปแล้วด้วย เห็นท่านหายสาบสูญไปนานแล้ว ไม่เห็นท่านเยี่ยมกรายกลับมาบ้าน แถมสภาพบ้านเมืองในสมัยนั้นก็ยังเป็นป่าดงพงทึบ ทางจากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่งมีแต่ต้องใช้ช้าง ใช้เกวียน เป็นพาหนะเดินทางตัดผ่านเข้าไปในดงเปลี่ยว นี่ “พระ” เดินเท้าเปล่า แบกกลด บาตร จะผ่านดงได้หรือ แถมในป่ายังมีทั้งสิงห์สาราสัตว์ ทั้งไข้ป่า “พระ” จะผ่านไปได้อย่างไร

เห็นหน้าท่าน ทุกคนในบ้านก็ร้องไห้ด้วยความปีติ ไม่แต่เจ้าแม่นางกวยหรือเจ้าแม่นางบวย ผู้เป็นโยมมารดาและโยมพี่สาว แม้แต่คนใช้บริวารในบ้านที่เป็นคนเก่าคนแก่ต่างก็พลอยเสียน้ำตากันไปด้วย

ในการบันทึกทำประวัติครั้งนี้ได้พบลูกของคนใช้เก่าของท่าน เกิดทันและอยู่ในเวลาที่หลวงปู่กลับเข้าบ้านเป็นวาระแรกด้วย ได้เล่าสภาพการร้องห่มร้องไห้ให้ฟัง และเสริมว่า

“เขาคิดกันว่า ท่านตายแล้ว...เจ้าแม่นางร้องไห้ใหญ่ ก็นี่แหละ...ไปเรียกชื่อท่านว่า หลุย ท่านก็เลยหลุยไปหลุยมา”

ได้ความว่าชื่อของท่าน ซึ่งคุณพระเชียงคาน ให้ชื่อว่า หลุย อันมีที่มาจากการที่ท่านไปถือศาสนาคริสต์ ก็เลยให้ชื่อตาม นักบุญหลุย นั้น ในภาษาอีสานก็มีคำว่า “หลุย” เหมือนกัน แปลว่า หลุดไปหลุดมา นึกจะมาก็มา นึกจะไปก็ไป ซึ่งกลายเป็นการตรงต่อบุคลิกลักษณะของท่านในภายหลังอย่างถูกต้องที่สุด...!

ในปี ๒๔๘๐ นี้ ท่านก็ได้ถามเจ้าแม่นางกวยถึงกำเนิดของท่าน การอยู่ในท้อง อยู่ไฟ ฯลฯ ดังที่ท่านบันทึกไว้ และได้นำมากล่าวไว้แต่ต้นแล้วครั้งหนึ่ง

“พ.ศ. ๒๔๘๐ ได้ถามแม่กวย-กำเนิดในท้อง ๑๐ เดือน อยู่กรรมสบายไม่ป่วย เราอยู่ในท้องแม่ แม่สมาทานอุโบสถหลวง แรกเกิดคนชอบมาก บิดาฝันได้แก้ว เกิดทีแรกรกพันคอ คนอื่นทายว่าจะได้บวช เจ็บท้อง ๑ คืน รุ่งจวนสว่างคลอด อยู่กรรม ๒๑ วัน แม่โซ้นเลี้ยงนอนไว้ที่ไหนก็นอนง่าย ร้องไห้แต่อยู่กรรม นอกนั้นไม่ร้องไห้ ตกต้นไม้ไม่ใช่ตายคืน ครู่เดียวก็รู้สึกตัว อยู่กรรมหนาวจัด เกิดทีแรกรูปงาม ใครๆ ก็ชอบอุ้ม อยู่ในท้องนั้นใหญ่จนแม่ตำแย แม่โซ้นพันทักท้วงว่าใหญ่นักจะออกไม่ได้ แม่เลยตกใจ นี่แหละคุณของแม่เช่นนี้ เราไม่กล้าสึกเพราะฉลองคุณบิดามารดาให้เต็มเปี่ยมในชาตินี้”

การอบรมโยมมารดา ระหว่างการอยู่ ณ วัดป่าช้าหนองหมากผางนี้จะมีผลประการใด ท่านมิได้บันทึกไว้ แต่จากที่ผู้เป็นหลานทวดของเจ้าแม่นางกวย และเป็นหลานยายคนเดียวของเจ้าแม่นางบวย (ตระกูลของท่าน ฝ่ายโยมพี่สาวเสียชีวิตหมด เหลือหลานสาวผู้นี้คนเดียว - ผู้เขียน) เล่าให้ฟังถึงภาพคุณทวด เจ้าแม่นางกวย ที่เธอเมื่ออายุ ๖-๗ ขวบยังจำได้

“...คุณทวดขณะนั้นอายุคงราว ๘๐ ปี อ้วนขาว นุ่งผ้าซิ่นไหมมัดหมี่ซึ่งให้คนใช้ในบ้านทอให้ ใส่เสื้อขาว ซักรีดเรียบ นั่งอยู่ที่ใดก็จะมีหนังสือธรรมะติดตัวอยู่ตลอดเวลา คุณทวดจะอ่านหนังสือธรรมะออกเสียงดัง บางทีก็เรียกคนในบ้านหรือหลานมาฟังด้วย”

“...จำได้ว่า คุณทวดจะออกนอกบ้าน ท่านจะห่มผ้า สะพายแพรแบบคนถือศีลเสมอ สายตาของท่านดีมาก อ่านหนังสือเอง ไม่ต้องใช้ให้ใครอ่านให้ฟัง”

ดูเหมือนหลวงปู่จะถ่ายทอดนิสัยจากโยมมารดาไม่น้อยเลย เช่น เวลาท่านไปไหน หลวงปู่จะต้องมีหนังสือติดองค์ไปตลอดเวลา และสายตาของท่านดีมากอ่านหนังสือไม่เคยต้องใช้แว่นสายตาช่วยเลยจนตลอดชีวิต และการที่ผู้มีอายุ ๘๘ ปีจะสามารถอ่านหนังสืออย่างแคล่วคล่องว่องไวไม่ใช้แว่นสายตาเลยนั้น ผู้เขียนเห็นจะต้องขอยืมสำนวนของท่านเองมากล่าวในที่นี้ว่า “น่าอัศจรรย์นัก”

ระหว่างเวลาที่มาจำพรรษาอยู่สงเคราะห์โยมมารดาและพี่สาว ที่วัดป่าหนองหมากผางนี้ เมื่อถึงเวลาออกพรรษา หมดฝน ท่านก็จะออกเดินธุดงค์ไปแสวงหาความวิเวกเรื่อยไป ที่ซึ่งท่านสะพายบาตร แบกกลดไปทำความเพียรในระยะนี้นั้นส่วนใหญ่เป็นป่าเขาในเขตจังหวัดเลย อันเป็นดินแดนของแผ่นดินถิ่นกำเนิดของท่าน บางแห่งท่านจะหยุดพักเจริญสมณธรรมเพียงไม่กี่วันก็ผ่านเลยไป เช่นที่ท่าลี่ แก่งคุดคู้ เชียงคาน บางแห่งจะพักอยู่นาน ด้วยภาวนาได้ผลดี ถูกจริตนิสัย และต่อไปในปีหลังๆ ท่านก็จะเวียนกลับไปบ่อยๆ

ในระยะนี้เองที่ท่านฯได้พบสถานที่เป็นมงคล มีนามว่า ถ้ำผาบิ้ง เป็นสถานที่ซึ่งต่อมาท่านได้บูรณะจัดตั้งขึ้นเป็นวัด และได้จำพรรษาอยู่ ณ ถ้ำผาบิ้ง เป็นเวลาติดต่อกันถึง ๖ ปี แต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ถึง พ.ศ. ๒๕๑๕ จนปัจจุบันถ้ำผาบิ้งมีชื่อเสียงขจรขจายเป็นที่รู้จักของนักปฏิบัติธรรมทั่วประเทศเป็นอย่างดี

“อยู่ถ้ำผาบิ้ง ๑๔/๘/๘๑ (วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๔๘๑ - ผู้เขียน) ทำจิตสงัดเงียบมาก วิถีจิตสุขุม กลัวแต่ทีแรกต่อไปไม่กลัว ปฏิภาคเกิดมาก จิตเกิดความรู้แปลกๆ ถ้ำโพนงามที่ ๑ ถ้ำผาบิ้งที่ ๒ ถ้ำผาปู่ที่ ๓ ไม่ชอบบังคับจิต ไม่ชอบปลอบจิต ให้จิตรู้เห็นไปตามสายกลาง รู้กว้างขวางเยือกเย็น วิถีจิตชนิดนี้คนปรารถนามานาน ความกลัวมีเท่าไร ความกล้ามีเท่านั้น ถ้าจิตไปกลางเป็นจิตเสมอ”

ท่านบันทึกเพิ่มเติมว่า

“๑๔/๘/๘๑ (วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๔๘๑ - ผู้เขียน) ณ ถ้ำผาบิ้ง วังสะพุง ทำจิตสงัดเงียบมาก วิถีจิตวิปัสสนาสุขุม กลัวแต่ทีแรกต่อไปไม่กลัว ปฏิภาคเกิดมาก จิตเกิดความรู้แปลกๆ สถานที่ไม่เป็นมงคลเท่าไร สู้ถ้ำโพนงามมิได้ วิถีจิตเดินไปตามลำดับ ไม่ชอบบังคับจิต ไปตามสายกลาง รู้ตามความเป็นจริง รู้กว้างขวางเยือกเย็น จิตไม่ด่วนไม่ช้ารู้ตามสภาพธรรม จิตไปสายกลาง ไม่ดลอัตตะไปหรือติดกามสุข วิถีจิตชนิดนี้ปรารถนามานาน เชื่อความกล้าเท่าไร ความกลัวมีเท่านั้น เชื่อความรักเท่าไรความชังมีเท่านั้น เชื่อปัญญาเท่าไรความเขลามีเท่านั้น เพราะจิตเดินผิดไม่เดินตามสายกลางนี้เป็นสำคัญ”

“ให้ละอุปาทานอานิสงส์ ให้จิตเบาเพราะจิตไม่หาบปัญจขันธ์ให้รู้จักความเป็นเอกของสังขาร อย่าเปลี่ยนแปลงจิต จิตจะเป็นสังขารรู้ความเป็นกันเองจึงรู้ธรรมเห็นธรรม วางตามกรรม วางไม่เดือดร้อน อย่าให้จิตเสวยปีติเพราะจิตจะคลอนแคลน ให้เสวยความรู้ความเห็นตามสภาพธรรมจิตจึงแน่นอนมีหลักฐาน ความอยากความหิวเป็นลักษณะเปรต”

“ถ้ำผาบิ้ง ต้นเดือนอ้าย พ.ศ. ๘๑ (วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ - ผู้เขียน) จิตยังบริโภคกามมากและยินดีในอามิสสุข ยินดีในการบำเพ็ญทาน จิตละเอียดบ้างเป็นบางอารมณ์”

“๔ ค่ำ ข้างขึ้น เดือนอ้าย พ.ศ. ๘๑ (ตรงกับวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ - ผู้เขียน) นิสัยถูกกับถ้ำผาบิ้ง เจริญธรรมะเป็นอัศจรรย์ละเอียดสุขุมเป็นชั้นๆ น้ำใจหนักแน่น น้ำใจมีอำนาจวาสนา โรคค่อยๆ หายเป็นชั้นๆ น้ำใจเบา แลเห็นความบริสุทธิ์ ความกลัวมีก่อน ความกล้ามีทีหลัง แลเห็นนิสัยของตนชัดเจน จิตมีกำลังขยับขึ้นเป็นชั้นๆ ความบางละเอียดมีกำลังเท่ากัน กลางวันไม่สู้ดี กลางคืนดีมาก วางจิตเป็นกลาง สติพิจารณาสังขารธรรมแปลเล่าเรียนรู้ในนั้น พิจารณาธรรมะถึงที่แล้วไม่ต้องแสดงอาบัติก็ได้ แต่ก่อนนั้นไม่แสดงอาบัติก่อนนั้นไม่ได้”

“อยู่ถ้ำผาบิ้งจิตกล้าแข็งเป็นคนใจเดียว เวลาเช้าดี เวลาบ่ายไม่สู้ดี โรคกำเริบ กลางคืนดี ดีทุกขณะจิต ประกอบด้วยเหตุผลดี จิตยินดีในมัชฌิมะ”

“๑๓ ค่ำ เดือนอ้าย พ.ศ. ๘๑ (วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ - ผู้เขียน) ถ้ำผาบิ้ง เจริญสมณธรรมดี มักปล่อยจิตไปตามอารมณ์ให้ก็ตามเห็นตาม แล้วทำจิตให้เป็นกลางๆ จิตรู้เท่าส่วนทั้งสองแลเห็นธรรมะแจ่มแจ้งดีมาก”

Image
“หลวงพ่อพระเศียร” บนแท่นหินใหญ่หน้าปากถ้ำผาปู่
ณ วัดถ้ำผาปู่ บ้านนาอ้อ ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย



๏ พรรษาที่ ๑๕ พ.ศ. ๒๔๘๒ คงอยู่ในเขตเถื่อนถ้ำจังหวัดเลย
จำพรรษา ณ ถ้ำผาปู่ ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย


ในเขตจังหวัดเลยนั้น เดือนธันวาคม มกราคม เป็นเดือนที่อากาศหนาวที่สุด บางปีถึงกับมี “แม่คะนิ้ง” หรือน้ำค้างแข็งจับตามใบไม้ ปี ๒๔๘๑ นั้นวันขึ้นปีใหม่ยังเป็นวันที่ ๑ เดือนเมษายน และวันสิ้นปีคือ วันที่ ๓๑ มีนาคม ฤดูหนาวปลายปี ๒๔๘๑ ซึ่งคือปลายธันวาคม มกราคม ท่านก็หลบอากาศชื้นของถ้ำผาบิ้งออกวิเวกต่อไปทางพื้นที่ราบ ท่านแวะพักบ้านม่วง แล้วเลยไปทางท่าลี่ ข้ามแม่น้ำโขงไปเมืองแก่นท้าว ฝั่งลาว เพื่อโปรดญาติฝ่ายโยมบิดา พักอยู่เดือนเศษ แล้วกลับมาทางเพชรบูรณ์ ไปหล่มสัก โปรดญาติฝ่ายโยมมารดาด้วย วิเวกไปด้วย

อันที่จริงการวกมาทางเพชรบูรณ์นั้น ก็มิได้เป็นการหลบความหนาวของอากาศภูเขาเท่าใดนัก เพราะเขาทางเพชรบูรณ์ก็สูงลิ่วและหนาวเช่นกัน หากเป็นตอนปลายฤดูหนาวแล้ว จึงค่อยยังชั่วมาก ท่านบอกว่า การเที่ยวธุดงค์สมัยนั้นธรรมชาติจะมีความสงัดวังเวงมาก ต้นไม้สูงใหญ่แหงนคอตั้งบ่า พวกไม้มีค่า เนื้อแข็งเช่น ตะเคียนทอง มะค่า ไม้แดง ไม้ประดู่ ยังเกลื่อนป่า เวลาอยู่บนยอดภู ไม่ว่าจะเป็นที่จังหวัดเลย หรือเพชรบูรณ์ เช่น ภูเรือ ภูหลวง หรือภูหอ มองเห็นภูเขาลูกแล้วลูกเล่าสลับซับซ้อนกันดุจละลอกคลื่นในทะเลลึก ภูเขาเหล่านั้นยังปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่ขึ้นเบียดเสียดกัน ไม่กลายเป็นภูเขาหัวโล้นไปมากมายแล้วเช่นในทุกวันนี้

ท่านจะสรรเสริญการธุดงค์และเสนาสนะป่าอยู่เสมอ ท่านบันทึกไว้ว่า “เห็นไม้ ภูเขา ป่าใหญ่ จิตใจตื่นเต้นด้วยสติทุกอิริยาบถ ทั้งวิเวกสงัดด้วยไตรทวารประกอบด้วยภัยอันตรายต่างๆ สะดวกแก่การภาวนา จิตใจถึงมรรคผลได้เร็วไม่มีนิวรณ์ตามรบกวน”

จากหล่มสัก ท่านกลับมาถ้ำผาบิ้งก่อนวันวิสาขบูชาเพียงวันเดียว (เหมือนแก่นท้าว) จากหล่มสักมาถึงถ้ำผาบิ้ง วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือนหก พ.ศ. ๘๒ (ตรงกับวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ - ผู้เขียน) เจริญสมณธรรม จิตเสมอดีกว่าแต่ก่อนนั้นมาก ถึงอาพาธทำจิตให้เป็นส่วนๆ แสดงธรรมพอเป็นไปได้ ดีกว่าอยู่หล่มสักหลายเท่าพันทวี

ท่านพักบำเพ็ญเพียรที่ถ้ำผาบิ้งจนถึงเดือนเจ็ด

“๑๙-๒-๘๒ (วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๔๘๒...เดือนที่ ๒ ของปี ๒๔๘๒ คือ พฤษภาคม - ผู้เขียน) พิจารณาจิตเป็นอัพยากฤต รู้เองเห็นเอง พึงเห็นอานิสงส์ใหญ่ คือจิตหยั่งลงไปรากแก้ว รู้กรรมของนามธรรมและรูปธรรมอาศัยกันเป็นอยู่ แต่ชอบเข้าทางนิมิตของหญิง ธรรมะแสดงเอง ปล่อยรู้ตามเห็น ตามความเป็นเองของธรรมชาติ หายสงสัยจิตฟูสงสัย (จิตรู้มากกว่าเก่า กว้างขวางกว่าเก่ามาก มีมโนภาพอันแปลกๆ เป็นอัศจรรย์ของธรรมะชั้นละเอียด) จิตยังข้องอยู่ในโลก ไม่มีวินัยคุม อาศัยมีแต่ธรรมะคุม อาศัยพิจารณาความตายเห็นประจักษ์”

ปี ๒๔๘๒ ท่านจำพรรษา ณ ถ้ำผาปู่ ระยะนั้นเข้าใจว่า ยังมิได้มีการจัดตั้งเป็นวัดดังในสมัยปัจจุบัน ขณะอยู่ที่ถ้ำผาปู่ ท่านก็อนุสรณ์ถึงการภาวนาตามสถานที่ได้วิเวกมาว่า

“การอยู่แก่นท้าว ทำความเพียรไม่สู้ดี ท่าลี่ ไม่สู้ดี บ้านม่วง ก็ไม่สู้ดี ในถ้ำผาปู่ ดีมาก หมู่เพื่อนไม่สู้เพราะเป็นคนใหม่แต่เขาตั้งใจดี เณรพระกังวลในกาลหน้ามาก อยู่แก่นท้าวและบ้านเมืองเดือนกว่า หมู่เพื่อนเป็นคนบ้านป่าบ้านคอน เป็นคนไร้การศึกษา สอนยาก หยาบทั้งกายและวาจาทั้งใจ”

ทางถ้ำผาปู่ ดีแต่อาพาธมักป่วย แต่ภาวนาดีทั้งกลางวันกลางคืน ภายในจิตละเอียดมาก แต่กังวลด้วยอาหารไม่ช่วยข่มจิต ไม่ชอบปล่อยจิตนี้เป็นจิตกำเริบ แต่เมื่อเวลาผ่อนอารมณ์ปันส่วนวางอุปาทานค่อยปลอบจิต จึงวางอารมณ์ได้ จึงรู้อารมณ์ที่เป็นปกติ นี้เป็นกระทู้สำคัญ แล้วมีนิมิตปฏิภาคแสดงแล้ววางจิตนอน ทำวิธีนี้รู้สึกว่าโรคหายมาก จึงรู้ว่าโรคเกิดขึ้นเพราะกดจิตและข่มจิต ตรึงจิต เส้นประสาทตรึง เลือดลมเดินไม่สะดวก ให้ธาตุพิการ จิตก็พิการ (ทำให้จิตฟู วางตามสภาพนั้นดีมาก) พิจารณาให้รู้จักนิสัยของจิตและอารมณ์ กลั่นเอาที่นั้นมาเป็นตัวธรรมบำรุงความรู้ความฉลาด อยู่ในถ้ำภูมิสถานอุ้มจิต จิตอ้มภูมิสถานจิต แจบจม ดี รู้สึกและตื้นจิตรู้สึกว่ามีกำลังมากๆ ฝันก็เป็นมงคลดี ไม่เป็นลามก แต่มักป่วย จิตชอบแสวงหาสัญญาในทางราคะ ชอบเพ่งนิมิตหญิงเพื่อรู้เท่าอสุภะ เป็นตัวภาวนาหลักของจิต จะแก้ไขให้ภาวนาทางอื่นนั้นไม่ได้”

การจะกล่าวถึงลักษณะสถานที่จำพรรษาของหลวงปู่ ณ ถ้ำผาปู่นี้ สมควรจะเชิญโวหารสำนวนที่ท่านเขียนไว้เองในเวลาอีก ๒๔ ปีต่อมา กล่าวพรรณนาถึงถ้ำผาปู่ในโอกาสถวายกฐินทาน ปี ๒๕๐๖ ความว่า

“ถ้ำผาปู่ เป็นภูเขาเอกเทศลูกหนึ่งต่างหาก มีถ้ำเล็กถ้ำใหญ่โดยรอบภูเขา มีหินผาขึ้นสูงๆ ต่ำๆ มีหินผาเป็นที่เจริญตาเจริญใจ ประกอบต้นไม้แนวป่าน่าทัศนาการนั้นหนักหนา เป็นถิ่นที่ห่างไกลจากบ้าน เป็นที่น่าเจริญสมณธรรมแก่พระโยคาวจรเจ้าทั้งหลายที่เดินจรมาจากจตุรทิศทั้ง ๔

ถ้ำผาปู่เป็นสถานที่เป็นมงคล เป็นสถานที่วิเวก เงียบสงัดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นสถานที่เอกชนนิยมมาก เป็นสถานที่นับถือกันสืบมาแต่โบราณกาล เป็นมงคลดุจเทพมีมาก เป็นสถานที่ดึงดูดน้ำใจของเอกชนให้มาดู

สภาพถ้ำผาปู่นั้นเรื่อยๆ ถ้ำผาปู่เป็นสถานที่มีชื่อเด่นไปต่างจังหวัดอื่น ในระยะทางใกล้และทางไกลของประเทศไทย สถานที่ถ้ำผาปู่เป็นสถานที่หย่อนใจของชาวเมือง มีข้าราชการ พ่อค้าพาณิชย์ตลอดชาวไร่ ชาวนา พากันมานมัสการพระพุทธรูปปฏิมากร เจดียสถานในฤดูเทศกาลปีใหม่เรื่อยๆ หากว่าเป็นเช่นนี้ ก็ควรหนักควรหนาที่ชาวจังหวัดเลยของพวกเราจะได้ช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นเป็นอย่างดี เพื่อบุตรลูก บุตรหลาน บุตรเหลน สืบมรดกไปอนาคตข้างหน้า”

“การนำกฐินทานมาถวายสงฆ์ ณ ถ้ำผาปู่ โดยเห็นประโยชน์ไพศาลว่า พระภิกษุสงฆ์ซึ่งได้พร้อมฉันทะ ต่างถิ่น ต่างจังหวัด ต่างอำเภอพากันมาจำพรรษา ณ ถ้ำผาปู่ ตลอดไตรมาส ๓ เดือน เฉพาะเป็นพระวิปัสสนาธุระ รักษาธุดงค์ ความสันโดษ มีรับภัตตาหารวันละครั้งเป็นอาทิ ซึ่งพากันประพฤติพรตพรหมจรรย์ตามศาสโนวาทขององค์สมเด็จพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น แม้ภิกษุสามเณรมีจำพรรษา ณ อาวาสนี้ บางองค์มีสมณบริขาร ไตรจีวรชำรุด เพื่อจะได้ผลัดเปลี่ยนให้ถูกต้องตามพระวินัยนิยม”

“อนึ่ง ผู้ถวายกฐินทานนั้น จำเป็นแท้ที่จะต้องสิ้นเปลืองเงินทองไปมาก ไหนจะต้องจ่ายซื้อเครื่องสมณบริขารอุปกรณ์ทุกอย่าง ไหนจะต้องงบงันเลี้ยงแขกเลี้ยงคนทุกอย่าง มีทั้งครุภัณฑ์ลหุภัณฑ์หลายอย่างหลายประการ ซึ่งเห็นแก่พระพุทธศาสนา มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นอย่างยิ่ง เพราะผู้ถวายมุ่งต่ออานิสงส์ใหญ่ไพศาลที่จะนำไปสู่สุคติโลกสวรรค์”

“สงฆ์ตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไป เป็นสงฆ์ปวารณา เป็นสงฆ์ควรรับกรานกฐิน ท่านเป็นสงฆ์บวชในปัจจันตประเทศได้ ที่พระองค์ตรัสไว้ในพระวินัยนิยม สงฆ์เหล่านี้ล้วนแต่บวชญัตติจตุตถกรรม สืบเนื่องมาจากองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าทั้งนั้น ไม่ใช่สงฆ์ลักเพศบวชด้วยตนเอง สงฆ์เหล่านี้มีสิทธิที่จะทำสังฆกรรมน้อยใหญ่ให้สำเร็จได้ เพราะฉะนั้น การถวายสังฆทานต่อสงฆ์ดังที่กล่าวแล้ว จึงมีอานิสงส์มาก”

“ผลท่านที่พวกท่านทั้งหลายถวายแล้วในวันนี้ ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย แก้วทั้ง ๓ ประการ จงดลบันดาลให้...”

ความจริงแต่แรกคิดจะนำความเฉพาะที่ท่านพรรณนาถึงลักษณะถ้ำผาปู่มาลงพิมพ์เท่านั้น แต่เมื่ออ่านไป เห็นความงามในกวีรสที่ท่านรจนาเขียนถึงการกฐินทานอย่างไพเราะ จึงอดมิได้ที่จะนำมาลงจนจบกระแสความ ให้เราชื่นชมกับอัจฉริยภาพในการเขียนของท่านอีกประการหนึ่ง

ออกพรรษาปวารณาแล้ว แม้จะป่วยบ่อยๆ แต่การภาวนายังดีมากอยู่ท่านจึงยังคงพักทำความเพียรอยู่ ณ ถ้ำผาปู่ ต่อไปอีกระยะหนึ่ง แล้วออกเที่ยวธุดงค์ต่อไปตามวิสัยพระกัมมัฏฐาน

“มาพักเจริญสมณธรรมที่วัดโพนนาอ้อ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๘๒ ภาวนาดีกว่าอยู่ทุกแห่ง มิได้กังวลอะไรทั้งหมด ได้คติที่สำคัญอีกหลายนัยอาหารเป็นสัปปายะ อากาศเป็นสัปปายะ บุคคลเป็นสัปปายะ เสนาสนะเป็นสัปปายะ ธาตุขันธ์ก็หายให้โอกาส”

ระหว่างการเดินธุดงค์ไปเรื่อยๆ ในปลายปี ๒๔๘๒ นั้นท่านได้พบสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งมีชัยภูมิดี เป็นมงคลแก่การบำเพ็ญความเพียร ชื่อ “บ้านหนองบง” อยู่ในเขตตำบลหนองงิ้ว อำเภอเดียวกับถ้ำผาบิ้ง คืออำเภอวังสะพุง ความจริงท่านตั้งใจจะกลับไปถ้ำผาบิ้ง ด้วยรู้สึกถึงรสชาติอันน่าพอใจในการภาวนา ณ ที่ถ้ำผาบิ้งอยู่มากและมีญาติโยมรออยู่ ณ ที่นั้นด้วย แต่บังเอิญมาพบสถานที่ถูกใจแห่งใหม่ คือบ้านหนองบงแห่งนี้เข้า จึงเลื่อนการเดินทางไปถ้ำผาบิ้งออกไปก่อน

บ้านหนองบงมีลักษณะเป็นเนินสูงขึ้นมา มีลำคลองเล็กๆ ผ่านกลาง ต้นไม้ในบริเวณบนเนินนั้น แต่ละต้นสูงใหญ่ เขียวขจีตลอดปี บนไหล่เนินตอนหนึ่งมีน้ำซับกล่าวคือ เป็นบ่อน้ำเล็กๆ จะตักน้ำไปเท่าไหร่ก็ไม่มีหมดไม่มีแห้ง คงมีน้ำผุดไหลรินซับขึ้นมาจากพื้นดิน ชาวบ้านเรียกกันว่า น้ำซำ แต่น้ำซำที่หนองบงนี้ มีลักษณะพิเศษเป็นสีเหลืองอ่อนๆ ซึ่งถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ เป็นน้ำคำหรือน้ำทองคำ

ทางอีสานถือกันว่า น้ำซำ ที่ใด เป็นน้ำคำ เป็นน้ำของพวกบังบดหรือภุมมเทวดา ซึ่งถือศีล ๕ มีชาติภูมิอยู่ใกล้กับมนุษย์ที่สุด เมื่อจะไปขอมากินมาใช้ก็ต้องทำด้วยความเคารพต่อเจ้าของ น้ำคำจะไม่แห้งเลยตลอดปี ไม่ว่าดินฟ้าอากาศจะแห้งแล้ง ทำให้บ่อน้ำต่างๆ ในภาคอีสานแห้งจนเหลือแต่ทรายเพียงใด แต่น้ำซำที่เป็นน้ำคำ นี้จะยังคงมีน้ำอยู่ให้เห็นเต็มแอ่งเต็มบ่อตลอด บริเวณรอบน้ำซำ ถือเป็นที่หวงแหนของเทพยดาอารักษ์โดยรอบ ไม่มีใครกล้าไปตัดฟันต้นไม้ใหญ่ เพราะจะเกิดป่วยเจ็บล้มตายหรือสติเสีย บางครั้งมีคนไม่เชื่อ ไปตัดทำลายต้นไม้ ก็อาจมีม้าหรือสุนัขรูปร่างประหลาดวิ่งเข้าไปในหมู่บ้านในเวลาค่ำคืน เห็นประจักษ์กันหลายคนแล้วก็จะเกิดเหตุให้ผู้ทำผิดอาเพศหรือครอบครัวของผู้นั้นป่วยไข้ขึ้นมา ต้องให้ไปสมาลาโทษกัน

ผู้เขียนเองระหว่างติดตามครูบาอาจารย์ไปธุดงค์ พบน้ำซำ หรือน้ำซับแบบนี้สี่ห้าครั้ง คราวหนึ่งเป็นแอ่งหินเล็กๆ กว้างยาวไม่ถึงเมตร ลึกเพียงครึ่งเมตรมีน้ำไหลรินตลอดเวลา แต่ก็ไม่ล้นเกินขอบอ่าง หากตักมาใช้ อาบ กิน ทำอาหารก็จะผุดขึ้นมาทดแทนให้ตักไปได้ไม่มีขาด แอ่งหินแห่งนี้เราไปธุดงค์กันยี่สิบกว่าคนก็คงมีน้ำให้พอใช้ตลอด อย่างไรก็ดี วันหนึ่งพวกเราคนหนึ่งไปอาบน้ำตรงแอ่งนั้น ทั้งๆ ที่ห้ามกันแล้ว ว่าน้ำนั้นทั้งใช้เป็นน้ำดื่ม เป็นน้ำทำอาหาร และน้ำใช้ น้ำอาบซึ่งรวมทั้งของพระและเณรด้วย น้ำจากที่อาบคงจะกระเซ็นลงไปในแอ่งหิน ผลก็คือน้ำที่เคยเปี่ยมขอบแอ่งหินกลับแห้งสนิททันที ท่านอาจารย์ว่า “ไปทำผิด เขาไม่ให้น้ำใช้แล้ว” เราต้องย้ายที่วิเวกทันที

อีกแห่งหนึ่ง เป็นแอ่งดินบนยอดเขา ขนาดบ่อใหญ่กว่ารายที่กล่าวมาแล้วหนึ่งเท่าเมื่อการ “ผิด” ขึ้นก็แห้งลงทันทีเช่นกัน แต่จำนวนคนไปน้อยกว่า ท่านอาจารย์ท่านจึงมีเวลาเจรจา “ขอ” กัน ขออยู่ ๒ วัน ท่านว่า ถ้า เขา ไม่ยอมก็ต้อง “หนี” อยู่บนยอดเขาไม่มีน้ำจะทำอย่างไร ผลสุดท้าย “เขา” ก็ยอมให้ รุ่งเช้าบ่อที่แห้งสนิทก็มีน้ำเต็มทันที ยังกับเปิดก๊อกน้ำใส่ตุ่ม...!

รายหลังนี้ ท่านว่าเป็นพญานาค ไม่ใช่พวกบังบดอย่างรายแรก

ณ ที่บริเวณน้ำซำ บ้านหนองบงนี้เองที่หลวงปู่แวะมาพักเจริญสมณธรรมในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปี ๒๔๘๒

“๑๐/๑๑/๘๒ (ตรงกับวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๒ - ผู้เขียน) พักเจริญสมณธรรมที่หนองบง สถานที่วิเวกทั้งกลางวันกลางคืนดีนัก จิตเจตสิกนิ่มนวล สุขุมมาก ปฏิภาคนิมิตแสดงส่อขึ้นในดวงจิตเสมอ ดีกว่าทุกๆ แห่ง อยู่ได้แต่ฤดูแล้ง ฤดูหนาว ฤดูฝนอยู่ไม่ได้ ภาวนาดีทั้งกลางวันและกลางคืน ราคะกำเริบเป็นคราวๆ สืบเป็นคราวๆ โรคภัยให้โอกาสดี อาหารเป็นสัปปายะ อากาศเป็นสัปปายะ บุคคลเป็นสัปปายะ ฝันก็เป็นมงคล สถานที่เที่ยววิเวกมีจำนวนมาก อารมณ์ไม่มาก รักษาความสันโดษดี เป็นสถานที่พระโยคาวจรเจ้าแสวงหา โคจรคามไม่ใกล้ไม่ไกล พอดีรักษามั่นคงอยู่ในการภาวนา จิตไม่กำเริบฟุ้งซ่าน”

โดยที่ท่านตั้งใจจะไปนำชาวบ้านสวดมนต์ไหว้พระในวันมาฆบูชา ท่านจึงกลับถ้ำผาบิ้งอีก

“วันเพ็ญ เดือน ๓ พ.ศ. ๘๒ (ตรงกับวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๒ - ผู้เขียน) ผาบิ้ง ค้นดูอนุสัย สิ่งที่ไม่รู้ก็รู้ สิ่งที่ไม่เห็นก็เห็น ธาตุพิการเหมือนแต่ก่อน อนุสัยฟุ้งขึ้นมาให้เห็นแจ่มแจ้งดี จิตยั่งยืนในการทรมานจิต ไม่ย่อท้อพิจารณาถึงขนอนอนุสัย การเทศนาดีนั้นจิตเสีย การพูดดีนั้นจิตเสีย อารมณ์นอกดูดเอาไปกินหมด กรรมอาพาธมักติดนิสัยเป็นนิจ ต่างแต่ราคะมักเกิดใกล้อันตรายเสียจริง ผิดแต่ก่อนนั้นมาก

“ข้อสำคัญเลือกเฟ้นเอาธรรมะที่เกิดเฉพาะในดวงจิต พิจารณาตามนิสัยของตนไปตามลำดับ ๑ เพ่งไม่ให้จิตเป็นตัณหา ๑ ให้จิตไปอย่างกลางๆ อย่าให้ดลความรักความชั่ว เห็นความรู้เขยิบขึ้นทุกทีๆ ราคะเบาบางรับรู้อารมณ์ทุกๆ อย่าง จิตชอบสงัด เพ่งเหตุผลปัจจุบันถูกไม่ผิด เห็นเหตุผลยืดยาว อาพาธก็ถอยไม่ค่อยกำเริบ ต่างแต่น้ำใจไม่สู้เด็ดเดี่ยว เห็นความมั่นคงของศาสนา”

“เจริญภาวนาดีกว่าเมื่อคราวก่อนนั้นมาก ตรวจดูจิตละเอียดดี รู้ความเสื่อมความเจริญของจิต น้ำใจกล้าหาญต่อความเพียร เพ่งอยู่เป็นนิจ พิจารณาความเป็นเองจิต นิมิตความฝันก็เป็นมงคล โรคก็ให้โอกาส

เมื่อได้นำชาวบ้านถือศีลภาวนาระยะหนึ่ง หลวงปู่รำลึกถึงความเย็นอกเย็นใจจากการบำเพ็ญเพียรที่บ้านนาหนองบง สถานที่สงัดเงียบ ท่านเล่าให้ฟังภายหลังว่ามีรุกขเทพมาก ท่านก็ย้อนกลับไปที่บ้านหนองบง

“มาพักเจริญสมณธรรมที่หนองบง วันขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ พ.ศ. ๘๒ (วันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๔๘๒ - ผู้เขียน) ได้รับความเย็นใจมาก ดีกว่าอยู่ทุกๆ แห่ง ได้ทำความเพียรทั้งกลางวันกลางคืน ความรู้เกิดสุขุมมากปฏิภาคนิมิตแสดงมาก ฝันก็เป็นมงคลดี โรคไม่ค่อยกำเริบดีกว่าถ้ำผาปู่

“หนองบง วันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๔ พ.ศ. ๘๒ (วันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๔๘๒ - ผู้เขียน) ภาวนานั้นจิตสงัดเงียบพิจารณาความตายแนบเนียนสนิทดี พ้นจากวิจิกิจฉา ความสงสัย ดีตลอดวันตลอดคืน มิได้กังวลในสิ่งทั้งปวง จิตไม่ฟุ้งซ่าน เห็นอานิสงส์ว่าอยู่คนเดียวจะมีกำลังมาก สัญญาไม่มาก ไม่ระคนด้วยหมู่ เห็นความรู้ที่เกิดในปัจจุบันจิต แม้จะดูหนังสือมากก็ไม่ติดสัญญา ชอบพิจารณาความเกิดในสติปัฏฐาน จิตปีนี้มีกำลังกว่าเมื่อปีกลายนี้ จิตไม่ติดทางอาหาร”

ระยะนั้นกำลังเป็นเวลาสงครามอินโดจีน กล่าวคือ ไทยได้เรียกร้องดินแดนทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงคืนจากฝรั่งเศส มีการสงครามกันบ้าง เรียกสั้นๆ ว่า สงครามอินโดจีน เป็นผลให้ประเทศไทยได้ดินแดนบางส่วนคืนมา เช่น พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ รวมทั้งนครจำปาศักดิ์ แต่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็ต้องคืนไป อย่างไรก็ดี ข่าวการสู้รบของสงครามก็ยังมี ในฐานะอยู่ในเพศบรรพชิต นอกจากการแผ่เมตตาแล้ว ท่านได้ใช้ภาวะการสงครามเป็นบาทของการภาวนา

“ดูหนังสือพิมพ์เรื่องสงครามเท่าไร จิตยิ่งมีกำลังเพราะเป็นเทวทูตส่งข่าวบอกความตาย และปลงกระแสของจิตให้ว่องไวตามนั้น ยิ่งทำจิตเร่งให้ภาวนาเข้าเนืองๆ ความกลัวและความประมาทก็น้อยลง นอกจากธรรมะเป็นที่พึ่งแล้วไม่มีอะไรเป็นที่พึ่ง”

“ภายในจิตชอบอุ้มบริษัทคือพรหมวิหาร นิสัยชอบเป็นสาธารณะไม่เพ่งให้ความสุขเฉพาะตัวและตระกูล ชอบเพ่งทั่วไป เข้าใจแต่ว่าชีวิตจะไม่คงทนอยู่เสมอ”

“มาระลึกถึงโทษได้ว่าอาพาธเพราะทำจิต ๑ เกิดความสงสัยวินัย ๑ จิตวิบัติ ๑ รวม ๓ อย่างนี้โทษถึงตาย”


(มีต่อ ๗)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 17 ม.ค. 2007, 12:44 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
องค์ถือไม้เท้าอยู่หน้าสุดคือ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม (ไม่ใช่หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต),
หลวงปู่หลุย จันทสาโร, หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
ณ บริเวณด้านหน้าศาลาหลังเก่า วัดถ้ำกลองเพล ต.โนนทัน อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู



๏ พรรษาที่ ๑๖ พ.ศ. ๒๔๘๓ เกิดอัศจรรย์ในดวงจิต
จำพรรษา ณ บ้านโพนสว่าง ต.นาอ้อ อ.กุดบาก จ.สกลนคร


หลวงปู่พักปฏิบัติธรรม ทำความเพียรอยู่ ณ บ้านหนองบง ต่อไปจนถึงวันขึ้นปีใหม่ เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๓

จากหนองบง ท่านต่อไปไร่ม่วง ไปหนองผักก้าม แล้วกลับมาถ้ำผาปู่ แต่ต้นเดือนกรกฎาคม อยู่จนถึงวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๘ ก็ออกจากถ้ำผาปู่ไปถึงบ้านโพนสว่าง นาอ้อ ในวันรุ่งขึ้น วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ เตรียมปวารณาเข้าพรรษาปี ๒๔๘๓ ที่บ้านโพนสว่าง สกลนคร ทันที

แสดงว่าท่านเดินทางเปลี่ยนสถานที่รวดเร็วมาก

“วันแรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๕ พ.ศ. ๘๓ (วันที่ ๑๔ เมษายน ๒๔๘๓ - ผู้เขียน) นาพ่อสว่างไร่ม่วง สถานที่อากาศดี อาหารดี แต่ไม่สงบด้วยคนและสัตว์ ลักษณะจิตกลางคืนดี เพ่งดูนิสัยและนิมิตดีตั้งแต่หัวค่ำไป กลางวันจิตไม่อยู่ ทำให้หงุดหงิด ไม่สบาย ใคร่อยากหนีไปอยู่แห่งอื่น แต่กลางคืนจิตอยู่และธรรมที่เกิดในจิตสุขุมมาก คณะอุบาสกอุบาสิกาดี เด็กก็ดี บางกลางวันทำจิตก็ดี”

“พักหนองผักก้าม ๑๙/๒/๘๓ (๑๙ พฤษภาคม ๒๔๘๓ - ผู้เขียน) เจริญภาวนาดีทั้งกลางคืนกลางวันดีกว่าบ้านม่วงมาก เงียบสงัดดี อากาศดี เสนาสนะดี อาหารพอ ภาวนาได้ดีเหมือนกะอยู่หนองบง เกิดความรู้อย่างสุขุม เสนาสนะห่างกันดีกว่าทุกแห่ง กุฏิกว้างขวางปรุโปร่งดี น้ำดี มิได้ฝันร้าย ผู้อื่นไม่พลุกพล่าน สัตว์ก็ไม่พลุกพล่าน สัญญาไม่มาก ไม่อยากหนีไปที่ไหน แม้แต่จะออกเดินไปเปลี่ยนอิริยาบถ”

ความจริงระหว่างอยู่หนองผักก้ามนี้ ท่านเคยคิดจะจำพรรษาที่นี้ เพราะเห็นว่าเงียบสงัดดี อากาศดี เสนาสนะดี การภาวนาก็ดีเช่นที่หนองบงซึ่งท่านพอใจมาก หากเห็นว่าที่นั่นอากาศชื้นมาก อยู่ได้แต่ฤดูแล้ง เมื่อมาพบที่สัปปายะ อากาศดีที่หนองผักก้าม ท่านจึงตั้งใจจะจำพรรษา แต่สุดท้ายท่านก็คงต้องเปลี่ยนความคิดอ่านที่ท่านบันทึกไว้ในตอนต่อไปแล้ว อดน้ำตาคลอไม่ได้ ด้วยรู้สึกสงสารท่านสุดหัวใจ โดยเฉพาะตอนสุดท้ายที่ท่านว่า “พอจำพรรษาได้ก็จำ ถ้าไม่พอก็ต้องออกเดิน”

“๒๖/๒/๘๓ (๒๖ พฤษภาคม ๒๔๘๓ - ผู้เขียน) ภาวนาดีทั้งกลางวันกลางคืน โรคร้ายก็ให้โอกาสดี จิตไม่ง้อคน จะมีอุปัฎฐากหรือไม่นั้นไม่น้อยใจ ตั้งใจอยู่แต่ภาวนาอย่างเดียว ไม่หวังทรมานคน พอจำพรรษาก็จำ ถ้าไม่พอต้องออกเดิน”

...แล้วท่านก็ “ต้องออกเดิน” จริงๆ ท่านย้อนกลับไปถ้ำผาปู่อีก

“มาถึงเดือน ๘ ขึ้น ๑ ค่ำ พ.ศ. ๘๓ (ตรงกับวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๓) ณ ถ้ำผาปู่ กิเลสเกิดอย่างเต็มที่ การก่อสร้างเกิดเต็มที่ แต่คติตามทันรู้ว่านักบวชสมัยนี้มารมาก โดยอยู่ได้จะมีปัญญาใหญ่ ถ้าอยู่ไม่ได้เสียหายใหญ่ เพราะโลกอยู่กับธรรมชนกัน (สมัยราคะ โทสะ โมหะ จัด) ใครอยู่ได้เป็นปราชญ์เยี่ยมฯ”

“นักปราชญ์จะอยู่ได้ต้องรักษาความสงบ รีบเร่งทำความดี เพียรให้ยิ่ง พอประทังตัวอยู่ได้ หากไม่ทำความเพียรเสียหายใหญ่โต เพราะนักบวชก็เสื่อม อุบาสิกาอุบาสกก็เสื่อม ต้องปฏิบัติตามมักน้อยจริงๆ จึงปฏิบัติศาสนาได้ จนอภิชน ลาภก็เสื่อม คนนับถือก็เสื่อม จึงเห็นได้ว่าเสื่อมพร้อมกัน เจริญพร้อมกัน ดุจสัตว์ตายในสงครามหมด สัตว์อ้อนวอนขอเกิด ต่อไปศาสนาจะเป็นอย่างไรทราบไม่ได้ฯ ราคะแรงกว่าทุกอย่างฯ”

“ผู้ปฏิบัติเห็นประโยชน์ในศาสนาน้อย”

“จิตภาวนาอยู่ แม้คิดถึงคนใดคนนั้นย่อมป่วย แม้จะเป็นพระภิกษุหรือคฤหัสถ์ก็เหมือนกัน ถ้าไม่ป่วยก็ส่งเมตตาจิตถึงกัน เช่น ท่านอาจารย์มั่นมาอุดรฯ จิตเราอยากไปอุดรฯ ก่อนที่ไม่ได้ยินข่าวมา ส่วนป่วยนั้นเมื่อเราจำพรรษาอยู่อำเภอพล คิดถึงท่านอาจารย์สิงห์ มาหาท่านก็ป่วยจริงๆ”

“๗/๔/๘๓ (๗ กรกฎาคม ๒๔๘๓ - ผู้เขียน) อยู่ถ้ำผาปู่ ในคราวนี้กิเลสเกิดมาก โทสะไม่คอยเกิด แต่การก่อสร้างนั้นเกิดมาก จิตไม่มีหิริโอตตัปปะ เหตุมากอยู่ที่อื่น ไม่ค่อยเกิดร้ายแรงเหมือนอย่างนี้ ถึงเกิดก็ไม่นานกู่เดียวเห็น แต่จิตแนบเนียนดี สุขุมดี เห็นเหตุเห็นผล จิตติดอันใดย่อมอยู่ ณ ที่นั้นนาน”

“๑๐/๔/๘๓ (๑๐ กรกฎาคม ๒๔๘๓ - ผู้เขียน) ผาปู่ นาอ้อ กิเลสรบกวนทุกคืน ใคร่จะออกเดินเมืองอื่นทุกคืน วางอารมณ์ยังไม่ได้ เหตุอดีตอนาคตนั้นมาก พิจารณาธรรมในปัจจุบันยังไม่ได้ จิตลงไปไม่ได้ทำให้อาพาธ ถอนจิตพิจารณาตามอารมณ์พอประทังตัวได้ จิตพุ่งตัดสินธรรมวินัยไม่ได้ พิจารณากรรมนั้นมาก โรคภัยเกิดขึ้นตามจิตวิบัติ แต่จิตยังมั่นอยู่ในที่วิเวก ไม่ชอบระคนด้วยหมู่ สำคัญว่าชีวิตจะไม่ยืน นอนยาก เข้าอนาปานุสติจึงนอนหลับ วิสัยจิตไม่วิ่งไปตามสัญญา จิตสันโดษในสมณบริขาร ชอบเป็นพ่อค้า เพ่งสมบัติบ้าง น้ำจิตยังกลัวตาย ปาฏิหาริย์ของท่านอาจารย์มั่นสำคัญมากยิ่งกว่าท่านอาจารย์สิงห์ ท่านอาจารย์เสาร์ชอบศึกษาจิตยิ่งกว่าเทศน์หรือทรมานคน พิจารณาศาสนาตกต่ำมาก ดีแต่พิจารณาอวัยวะร่างกายทะลปรุโปร่ง มิได้เป็นก้อนเหมือนเดิม จิตเชื่อมั่นในตอนนี้มากเพราะทำให้ละอุปาทาน จิตคฤหัสถ์เกิดขึ้นมากนั้นเป็นคราวๆ สงบเป็นคราวๆ สงสัยในพระวินัยเป็นบางประการ แต่ทำจิตแก้ได้ ”

“พิจารณาดุจเราถอดชากผี ลอยใกล้ฝั่งแล้วกระโดดขึ้นฝั่ง อานิสงส์อัพยากฤตนี้ดีมาก พิจารณาธรรมให้เกิดจากนิสัย ละเจตนา ละตั้งใจ พิจารณาความเป็นเอง เพราะกรรมเป็นอัพยากฤต ให้รู้เอง เห็นเองตามจริตและนิสัย”

“มาอยู่ถ้ำเหตุผลยิ่งเกิดกว่าที่อื่น ใกล้ต่ออันตรายมาก ไม่ค้นอนุสัยแล้ว แต่อนุสัยจะฟุ้งขึ้นมาให้ปรากฏแล้วก็อ่านดูตามเรื่องนั้น อย่าเชื่อจิต ให้เชื่อธรรมะคือความเป็นเอง คือความเกิด ความดับของสังขาร จิตจึงไม่ร้อน กระสับกระส่าย จึงแลเห็นปกติของจิต ก็ได้ชื่อว่าเห็นธรรม”

“ถ้ำผาปู่ ขึ้น ๑๐-๑๑ เดือน ๘ พ.ศ. ๘๓ (ตรงกับวันที่ ๑๔-๑๕ กรกฎาคม ๒๔๘๓ - ผู้เขียน) จิตยินดีรับพิจารณาอารมณ์ต่างๆ ไม่อยากทวนกระแสเข้าจิตเดิม เพราะมันร้อน พิจารณาไตรลักษณ์ไม่ใคร่ได้ กิเลสกำเริบ ต่างแต่พิจารณาธรรมะสุขุม ละลงเป็นชั้นๆ เยือกเย็นและพิจารณานิสัยของตนหวังเพื่อความสัปปายะของจริตจิตใจ ไม่ข่มจิตและไม่กด ให้พิจารณาความเป็นเองของนิสัยของจิต และพิจารณาบุญวาสนาของตน (ให้จิตเข้าเอง ให้เห็นเอง ให้ออกเอง หนักหรือเบา แข็งหรืออ่อน เมื่อจิตเบื่อในการออกแล้วเข้าเอง) รู้สึกว่าใจคอก็กว้างขวาง รู้นอกมากกว่าใน ใกล้ต่ออันตรายมาก รู้สึกว่าโรคไม่ค่อยกำเริบ รู้ช้า ไปช้าพิสดาร ต่างแต่ความรู้สึกน้อย สติน้อย ปัญญาน้อย แต่มีความสบายกาย สบายใจมาก เพราะไม่ขัดกับนิสัย กิเลสแรงมากกว่าอยู่ที่อื่น จิตไม่รู้เท่าทันเหตุ จิตรู้เท่าทันนิมิตที่แสดงออกมา ไม่เผลอเหมือนเมื่อก่อน ไม่เชื่อนิมิต มีสติระวังเสมอ อานิสงส์ที่ทรมานตัวอยู่ในถ้ำจะขยายไปได้นาน เพราะตั้งใจภาวนาอย่างเต็มที่ ไม่อ้างกาลอ้างเวลา จิตมัธยัสถ์แต่การภาวนา”

“ถ้ำผาปู่ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๘ พ.ศ. ๘๓ (๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๓ - ผู้เขียน) การภาวนา ถ้ำผาปู่ จิตดูดดื่มมากถึงจะวิบัติเท่าไรไม่เสีย เพราะไม่ได้คลุกด้วยอารมณ์ต่างๆ เมื่อวิบัติแล้วก็เห็นความเจริญ เมื่อเห็นความเจริญแล้วก็เห็นความวิบัติ อยู่ในถ้ำเดือนหนึ่งนิสัยเปลี่ยนแปลงมาก จิตไม่เบื่อในถ้ำ จึงเรียกว่าจิตดื่มธรรมะเสมอ มีอานิสงส์หลายอย่างหลายประการ สถานที่เที่ยววิเวกมาก จิตเปลี่ยนอารมณ์เสมอ จิตไม่เศร้าหมอง เกิดความรู้ต่างๆ นิมิตฝันเป็นมงคลดีกว่าทุกแห่งเท่ากับหนองบง”

ณ ที่ถ้ำผาปู่ ระยะนี้เองที่ท่านถึงกับอุทานว่า

“เราคิดถึงคนใด คนนั้นคิดถึงเรา คนนั้นป่วย หรือคนนั้นมาหาเรา หรือคนนั้นมาใกล้ที่เราอยู่ อย่างคิดถึงท่านอาจารย์ เป็นต้น ท่านก็ป่วยจริง”

ท่านเริ่มได้ข่าว ท่านพระอาจารย์มั่นกลับมาจากเชียงใหม่แล้ว และบัดนี้กำลังจะมาที่อุดรฯ ทำให้ท่านรำพึงไว้ในสมุดบันทึกต่อไปในวันนั้นว่า

“อยากไปอุดรฯ แต่ก่อนท่านอาจารย์มั่นมา”

แต่เดิมท่านคิดจะอยู่จำพรรษาที่ถ้ำผาปู่ซ้ำอีกปีหนึ่ง อย่างไรก็ดีท่านกลับคิดได้ว่า หากท่านพระอาจารย์มั่นมา การอยู่จำพรรษาที่ถ้ำผาปู่จะทำให้ท่านไม่มีโอกาสไปฟังธรรมได้ เพราะสมัยนั้นการคมนาคมระหว่างเลยและอุดรฯ ยังลำบากอยู่มาก เป็นการยากยิ่งที่จะไปฟังธรรมแล้วกลับวัดในวันเดียว หากท่านหาที่จำพรรษาอยู่ทางอุดรฯ หรือสกลนคร ยังจะมีโอกาสมากกว่า

ข่าวยังไม่แน่นอนว่า ท่านพระอาจารย์มั่นจะจำพรรษาอยู่ที่อุดรฯ หรือสกลนคร หลวงปู่จึงคิดจะไปดักรอที่สกลนคร เพราะขณะนั้นในใจท่านเริ่มคิดถึงถ้ำโพนงาม ที่ท่านได้วิชาม้างกาย ทำปฏิภาคนิมิตได้คล่องแคล่ว ณ ที่นั้น รวมทั้งได้มีประสบการณ์ด้านผ่านการพบสัตว์เสือ งู มาแล้วที่ถ้ำโพนงามด้วย ท่านระลึกถึงรสชาติดวามซาบซึ้งดูดดื่มในธรรมที่ได้รับระหว่างทำความเพียรอยู่ที่นั่น จึงใคร่จะกลับไปอีกครั้งหนึ่ง หากโชคดีท่านพระอาจารย์มั่นไปจำพรรษาอยู่ที่สกลนคร ซึ่งก็คงใกล้ถ้ำโพนงามมากเข้าไปอีก ก็จะเป็นโชค ๒ ชั้น สำหรับหลวงปู่เลยทีเดียว

คิดสระตะได้ลงตัวเช่นนั้น จากที่ยังคงอยู่ที่ถ้ำผาปู่ในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๘ รุ่งขึ้น วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ พ.ศ. ๒๔๘๓ อันตรงกับวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ หลวงปู่ก็เดินทางไปสกลนคร และจดลงในสมุดบันทึกของท่านว่า “วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ พ.ศ. ๘๓ จำพรรษาโพนสว่าง นาอ้อ ภาวนากลางคืนดี กลางวันไม่สู้ดี เพราะกลางคืนสงัด กลางวันไม่สงัด”

ความจริง โพนสว่าง นาอ้อ ที่ท่านจำพรรษาครั้งนี้นั้น เป็นสถานที่บริเวณเดียวกับถ้ำโพนงาม ซึ่งบางครั้งท่านก็เรียกโพนเชียงหวาง บางทีก็เรียกหนองสะไน ทั้งนี้เพราะ ถ้ำโพนงามนี้อยู่ในระหว่างบ้านโพนงาม บ้านโพนสว่าง หรือบางทีก็เรียก โพนเชียงหวาง บ้านนาอ้อ และบ้านหนองสะไน การโคจรบิณฑบาต ท่านอาจไปทางหมู่บ้านใดก็ได้ ผู้ฟังจึงต้องระวังไม่ให้เข้าใจผิดสับสนกัน คิดว่าเป็นสถานที่ใหม่อีกแห่งหนึ่ง

สำหรับถ้ำโพนงาม หรือโพนสว่างนี้ หลวงปู่ได้บันทึกไว้ในปลายปี ๒๔๘๑ ณ ถ้ำผาบิ้ง ถึงการภาวนาในถ้ำต่างๆ ที่ท่านเคยพักปฏิบัติธรรมมาแล้วว่า

“จิตเกิดความรู้แปลกๆ ถ้ำโพนงามที่ ๑ ถ้ำผาบิ้งที่ ๒ ถ้ำผาปู่ที่ ๓”

และความจริง เมื่อกล่าวถึงจำพรรษาที่ “ถ้ำโพนงาม” ก็มิได้หมายความว่าจะอยู่แต่ถ้ำยาวถ้ำนั้นถ้ำเดียว ท่านอาจจะไปภาวนาในถ้ำเล็กถ้ำน้อยในเขตบริเวณเทือกเขาภูพานที่ใกล้เคียงกับถ้ำใหญ่นั้นก็ได้ เหตุการณ์ใดที่ประสบระหว่างระยะเวลานั้นก็ถือว่าเกิด ณ ถ้ำโพนงาม ทั้งสิ้น

กลับจากเลยครั้งนั้นท่านรู้สึกว่า ใจเบา กายเบากว่าที่เคยเป็นมา อาจเป็นได้ว่าท่านได้กลับไปอบรมสั่งสอน “แม่กวย” โยมมารดาของท่านให้มีสรณะที่พึ่งทางใจอย่างมั่นคง ไม่คลอนแคลนแล้ว แม้แต่เดิมเมื่อธุดงค์จากมาครั้งแรกว่า ตัดขาดจากชีวิตทางโลกสิ้นเชิงแล้ว แต่ลึกๆ ลงไปในใจ บางครั้งความระลึกถึงโยมมารดายังมีอยู่ ไม่ทราบว่า จะอยู่ดีมีไข้หรือไม่ “แม่กวย” เข้าวัดถือศีล ๕ โดยเฉพาะวันอุโบสถถือศีลหลวง-ศีลใหญ่ คือศีล ๘ แต่การปกครองบ้านเรือนที่มีทรัพย์ศฤงคาร บริวารหญิงชายอาจจะดุว่า ศีลด่างพร้อย ศีลขาด ศีลทะลุ ใครจะช่วยตักเตือนสั่งสอนอบรมให้มีหลักฐานทางใจอย่างมั่นคง โดยเฉพาะการภาวนา ซึ่งคงยังล้มลุกคลุกคลานอยู่ หน้าที่ของเราผู้เป็นบุตรยังมิได้ตอบแทนบุพการีให้ถึงใจเลย

เหตุนี้ การกลับไปจำพรรษาใกล้บ้านครั้งนี้ จึงทำให้ท่านหายห่วงได้อย่างปลอดโปร่งใจ นอกจากการอบรมทางจิตใจ ซึ่งท่านอบรมตลอดไปถึงญาติพี่น้องคนในบ้านแล้ว ทางด้านทรัพย์สมบัติของนอกกาย ท่านก็ได้บอกสลัดตัดเปลื้องอย่างเด็ดขาดซ้ำอีกครั้ง จริงอยู่ เมื่อออกบวชท่านก็ได้และสิทธิในทรัพย์มรดกแล้ว แต่เจ้าแม่นางกวยก็ยังมีความหวังอยู่ว่า พระลูกชายอาจจะสึกมาครองชีวิตฆราวาสอีกก็ได้ท่านจึงพยายามจะรักษาสมบัติส่วนที่คิดว่าควรเป็นของบุตรชายคนโตไว้อีก โดยเฉพาะพวกเครื่องประดับที่เป็นทอง อันเป็นสมบัติของโยมบิดาของท่าน เป็นของตระกูลเจ้าเมืองแก่นท้าวตกทอดมา ก็ควรจะเป็นของหลวงปู่และน้องชายซึ่งเป็นเชื้อสายโดยตรง

ท่านได้กล่าวปฏิญาณให้โยมมารดาเข้าใจซ้ำว่า ทรัพย์ศฤงคารประเภทเรื่องสวนไร่นา ตลาด โรงหนัง ที่ดิน บรรดามีของโยมมารดานั้น ท่านขอสละสิทธิ์ทุกประการ เฉพาะเครื่องประดับที่เป็นทอง อย่างสร้อยตัว สร้อยสังวาลใดๆ นั้น แม้โยมพี่...เจ้าแม่นางบวย จะมิใช่บุตรสาวของโยมพ่อ แต่โยมพี่ก็ได้ดูแลเลี้ยงดูน้องมาเสมือนดั่งเป็นพี่น้องบิดามารดาเดียวกัน และโยมพี่มีลูกสาวคนเดียว สมบัติส่วนนี้หากโยมมารดายังยืนยันถือว่าควรเป็นของท่าน ท่านก็ขอสละยกให้โยมพี่ เพื่อเป็นมรดกให้ทายาทของสกุลผู้เป็นหญิง

ท่านเล่าว่า การเป็นผู้ปราศจากบ้าน ปราศจากสมบัติ ทำให้ใจเป็นสุข ไม่ห่วงหาอาลัย หรือกังวลสิ่งใด แม้จะบอกแล้วว่าสละบ้าน และสมบัติ แต่มารดาพี่น้องยังไม่แน่ใจ ห่วงหากังวลถึง จิตของบุคคลเหล่านั้นก็คงมาเกาะเกี่ยวกับท่าน ทำให้ท่านรู้สึกอยู่บ้าง เมื่อทำความเข้าใจให้ชัดเจนได้ สิ่งที่ทำให้ค้างคาจิตก็หลุดผลัวะไป กายเบา ใจเบา อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ระหว่างพรรษานี้ ท่านได้เกิดอัศจรรย์ในดวงจิต ทำให้เชื่อในบุญในบาป เชื่อในธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เชื่อในอำนาจของพุทโธอย่างสุดจิตสุดใจเลย

ท่านเล่าว่า วันนั้นท่านย้ายที่ภาวนาไปอยู่ที่ถ้ำเล็กๆ แห่งหนึ่ง ที่อยู่ต่อไปจากถ้ำยาวที่เคยเป็นที่พัก ใกล้กันนั้นเป็นซอกเล็กๆ ซึ่งอาจจะเดินขึ้นหลังเขาขึ้นไปหาถ้ำใหญ่ข้างบนได้ ความจริงบริเวณนี้เป็นเขตใหม่ซึ่งท่านไม่ได้เดินเล่นมาสำรวจเท่าใดนัก เมื่อมาอยู่จำพรรษาครั้งปี ๒๔๗๖ และ ๒๔๗๗ ก็มิได้เดินเลยมาทางถ้ำซีกด้านบ้านนาอ้อเท่าใดนัก อยู่แต่ซีกด้านบ้านโพนงามมากกว่า ถ้ำทางด้านบ้านโพนสว่างนี้จึงออกจะเป็นที่ “ใหม่” ของท่านอยู่มาก ท่านหารอยแตกบนเพดานถ้ำ ตอกไม้ลิ่มเพื่อแขวนกลดได้ แต่ก็คิดว่าจะไม่ปลดมุ้งลง คงรวบชายมุ้งแขวนห้อยอยู่

เพียงเริ่มลดตัวลงนั่ง ยังไม่ทันวางเท้า วางมือ ก็ได้ยินเสียง อ่าว...อือ...อ่าว...อือ แว่วมา แรกๆ ก็ยังเฉยอยู่ ชั่วอึดใจหนึ่งจิตก็เริ่มรับรู้เสียงนั้นว่าเป็นเสียงของอะไร เมื่อมันเริ่มดังใกล้เข้ามา ท่านเคยได้ยินเสียงครางอย่างนี้มามากที่บ้านหนองวัวซอและที่ถ้ำโพนงามนี้ แต่ก็เป็นเสียงร้องแต่ไกลๆ นี่ฟังดูราวกับว่า มันจะตรงเข้ามาหาฉะนั้น

ใช่ไหม...เสียงเสือ ?

ขณะที่จิตเริ่มรับว่าใช่ เสียงที่ใกล้เข้ามาก็กลับเพิ่มเป็น ๒ เสียง...ไอ้ตัวเล็กก็ร้อง ไอ้ตัวใหญ่ก็ร้อง...! ใกล้เข้ามาทุกที แล้วก็เห็นมันมายืนเยื้องย่างอยู่ปากถ้ำ ทั้งตัวใหญ่และตัวเล็ก ! คงจะเป็นแม่ลูกกัน... ตัวแม่หรอกที่มองมายังท่านอย่างสนใจ แต่เจ้าตัวเล็กดูจะไม่รู้เดียงสาอะไร คลอเคลียอยู่ข้างแม่ของมัน เหมือนทารกน้อยที่คอยแต่จะเกาะแขนขามารดาอยู่ท่าเดียว

กลิ่นสาบของมันโชยมาอ่อนๆ นัยน์ตาของตัวแม่มองดูท่านอย่างระแวงปนหยั่งเชิง ท่านรับว่าขวัญเสียมาก...จิตมันแว่บรู้ขึ้นทันทีว่า ท่านผิดเองที่มาเลือกถ้ำเล็กที่เป็นทางเสือผ่านขึ้นถ้ำของมัน ตรงซอกหินนั้นคงเป็นบันไคอย่างดีที่จะขึ้นไปบนถ้ำชั้นบน

มันจะตรงมาหาเรา หรือมันจะเดินไปที่โขดหินซอกนั้น ? ซึ่งเราก็แย่จริงๆ มาแขวนกลคอยู่ข้างทางซอกหินอันเป็นทางเสือผ่านได้

มันจะมาคาบเราไปกินไหม ? เนื้อเราคงจะมีรสโอชะ เป็นอาหารให้มันและลูกเป็นอย่างดี

ท่านเล่าว่า ท่านนึกถึงคุณพระพุทธเจ้าทันที เหงื่อออกราวกับน้ำ รู้ชัดคราวนี้เลยว่า ความกลัวตายเป็นอย่างไร มันขยับตัวเดิน

คิดที่พระพุทธเจ้าท่านเคยเทศน์สอนไว้ว่า ความกลัวมาถึงแล้ว ขนพองสยองเกล้ามาถึงแล้ว พึงระลึกถึงตถาคต ความกลัวจะปราศจากการไป

มันตรงมา ตัวแม่นำหน้า ลูกตามมา

นัยน์ตาตัวแม่ใสแจ๋ว มองตรงมาราวกับพญางูสะกดเหยื่อ มันเริ่มเดินใกล้เข้ามา

ท่านเล่าว่าเหงื่อออก ไคค้าวก็ออก เหงื่อกาฬออกด้วยความกลัวอย่างบอกไม่ถูก

ท่านเร่งภาวนาอย่างถี่ยิบ ภาวนาหนัก และรู้สึกว่าพร้อมกับที่เสือ ๒ ตัวแม่ลูก ย่างเท้าใกล้เข้ามานั้น จิตก็รวมลงสู่สมาธิอย่างรวดเร็ว และถึงฐานของอัปปนาสมาธิ หายเงียบไปทั้งคนและเสือ ๒ ตัวนั้น ราวกับมีทหารมาอารักขาตัวท่าน เป็นชั้นๆ ชั้นๆ ชั้นๆ ทีเดียว ท่านว่าเห็นปาฏิหาริย์ เห็นอัศจรรย์ในดวงจิต เกิดความมั่นคงทางศาสนาตลอดมา เห็นคุณของพุทโธ เห็นอัศจรรย์ของพุทโธอย่างซาบซึ้งถึงใจเป็นที่สุด

ท่านว่า ถ้าไม่เห็นอานิสงส์ในคราวนั้นจะบวชตลอดชีวิต อยู่ตลอดมาถึงขณะนี้ได้อย่างไร ต้องเห็นปาฏิหาริย์ ต้องเห็นอัศจรรย์เสียก่อน จึงจะตั้งตัวได้

คืนวันนั้นจิตรวมแนบสนิท แต่เวลาหัวค่ำจนกระทั่งสายวันรุ่งขึ้น เห็นตะวันขึ้นสูงในท้องฟ้าแล้ว ไม่ทราบว่าเสือแม่ลูกจากไปแต่เมื่อไร ท่านมีความอิ่มเอิบใจ เวลาคงผ่านพ้นเวลาบิณฑบาตมานานแล้ว แต่ก็ไม่ได้รู้สึกหิวโหยแต่อย่างใด ท่านจึงเดินขึ้นซอกเขาขึ้นไปสำรวจเขาด้านบน ปรากฏว่าก่อนจะถึงถ้ำใหญ่ชั้นบน มีซอกถ้ำเป็นเพิงผา คงเป็นทำเลที่นางเสือแม่ลูกใช้เป็นที่พำนัก...! ด้วยเห็นรอยหญ้าที่มันคาบมาเป็นที่รองนอนให้ลูกของมันคงหลงเหลืออยู่

ที่ถ้ำโพนงามด้านบ้านโพนสว่างนี้ มีพวกรุกขเทพมากเหมือนกัน

๏ ได้โสรจสรงอมฤตธรรม

วันปวารณาออกพรรษาอันเป็นวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ นั้น ในปี ๒๔๘๓ นี้ ตรงกับวันที่ ๑๗ ตุลาคม ถึงแม้ท่านจะยังอาลัยถ้ำโพนงามอยู่มาก ด้วยสถานที่ทุกแห่งในบริเวณถิ่นนั้น ดูจะเป็นที่เอื้ออำนวยต่อการบำเพ็ญเพียรภาวนาของท่านอย่างเหลือล้น จะเป็นเงื้อมหินตรงไหน ก้อนใด ใต้ร่มรุกขมูลต้นไม้ต้นไหน ถิ่นถ้ำน้อยใหญ่แห่งใด นั่งลงภาวนา จิตจะรวม “แจบจม” ดีอยู่ทุกแห่ง

ปกตินักปฏิบัติจะสังเกตกันว่า ที่ใดภาวนาแล้ว จิตรวมง่าย ไม่มีถีนมิทธะ ไม่ซบเซาง่วงเหงา มีสติตื่นอยู่ พิจารณาธรรมเพลิดเพลินอยู่ ที่นั้นจะเป็นแท่นหินแท่นนั้น...เงื้อมหินเพิงผาจุดนั้น...ใต้โคนไม้ต้นนั้น นักปฏิบัติผู้นั้นจะสังเกตได้ และพยายามไปนั่งภาวนาอยู่ ณ สถานที่นั้นเป็นอาจิณ ถือเป็นที่สัปปายะแก่การภาวนา สำหรับที่ถ้ำโพนงามนี้ ท่านว่า ทุกแห่ง ทุกจุด เป็นที่สัปปายะ เข้าจิตง่ายทัดเทียมกันเกือบจะทุกแห่ง ฉะนั้น จึงออกพรรษาแล้ว ท่านก็ควรจะรั้งรออยู่ต่อไป มิหนำซ้ำ ชาวบ้านโดยรอบ เช่นที่บ้านโพนงาม บ้านโพนเชียงหวาง บ้านหนองสะไน บ้านนาอ้อ...ต่างล้วนมีศรัทธาต่อท่าน พากันอุปัฏฐากด้วยความเคารพนอบน้อม ควรแก่การอยู่เมตตาโปรดพวกเขาต่อไปอีกนานเท่านาน

แต่เหตุผลสำคัญที่ทำให้ท่านรีบแบกกลดลงเขามาทันที ละอาวาสอันสัปปายะ อากาศอันสัปปายะ บุคคลอันสัปปายะ มาโดยพลันอย่างไม่อาลัยไยดี ท่านเล่าว่า เปรียบเสมือนบุคคลซึ่งถูกจำกัดออยู่ในท้องที่กันดารน้ำ เพียงได้แต่อาศัยน้ำโคลน น้ำตม น้ำตามแอ่งรอยเท้าเสือ ช้าง กรองดื่มพอแก้กระหายไปเพียงวันๆ หลุดจากข้อจำกัด (ออกพรรษา) ได้ยินข่าวว่า ณ บ้านนั้น ป่านั้น มีบ่อน้ำทิพย์ น้ำอมฤตอันใสสะอาดรออยู่ จะไม่โลดแล่นไปสู่ที่นั้นอย่างไรได้ เพื่อดื่มกิน โสรจสรง น้ำทิพย์น้ำอมฤตนั้นให้สมกับที่กระหายรอคอยมาช้านาน

บุคคลผู้นั้นฉันใด ท่านก็ฉันนั้น

ท่านได้ข่าวว่า ท่านพระอาจารย์มั่นจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าโนนนิเวศน์ อุดรธานี...!

ก่อนหน้านั้นท่านพระอาจารย์มั่นได้ออกธุดงค์ไปทางจังหวัดภาคเหนือ มีเชียงใหม่ เชียงราย เป็นอาทิ ท่านจากหมู่ศิษย์ไปแต่ปี ๒๔๗๕ ไปตามลำพังองค์เดียวไม่ให้มีผู้ติดตามเลย บรรดาศิษย์พยายามตามหาท่าน จนได้พบและได้ปฏิบัติธรรมกับท่านบ้าง เช่น ท่านพระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี ท่านพระอาจารย์ขาว อนาลโย ท่านพระอาจารย์แหวน สุจิณโณ ท่านพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ท่านพระอาจารย์ชอบ ฐานสโม แต่ละท่านต่างซอกซอนตามไปด้วยความลำบาก และเมื่อได้พบ ได้อยู่ปฏิบัติด้วย ต่างก็ได้รับอุบายธรรมจากท่านพระอาจารย์มั่นอย่างคุ้มค่า ท่านเที่ยววิเวกอยู่ทางภาคเหนือเกือบสิบปี นอกจากบรรดาท่านที่ธุดงค์ติดตามไปแล้ว หมู่ศิษย์ที่เหลือทางภาคอีสานต่างรู้สึกอ้างว้าง ว้าเหว่ยิ่งนัก ด้วยขาดครูบาอาจารย์จะสั่งสอนอบรม ต่างรอคอยท่านพระอาจารย์มั่นจะกลับมาโปรด เหมือนข้าวในฤดูแล้งน้ำ รอคอยน้ำฝนจากฟากฟ้าจะโปรยปรายลงมา

หลวงปู่นั้นพยายามมาจำพรรษารออยู่ที่ถ้ำโพนงาม ด้วยคิดว่า ท่านพระอาจารย์มั่นจะมาจำพรรษาแถบสกลนคร แต่เมื่อคาดผิด ท่านก็ต้องอยู่ต่อไปซึ่งแม้จะผิดหวังเรื่องนี้บ้าง แต่ท่านก็กลับได้ธรรมะดี “อยู่ตัวเลย” อย่างที่ท่านว่า อย่างไรก็ดี เมื่อออกพรรษา ไม่มีจำกัดเรื่องอาวาสที่พักแล้ว ท่านก็รีบผุดไปกราบท่านพระอาจารย์มั่นที่โนนนิเวศน์ทันที “ยั้งไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ ทีเดียวละ” ท่านเล่า

ที่วัดป่าโนนนิเวศน์ มีพระเณรเข้ามาฟังธรรมของท่านพระอาจารย์มั่นอย่างเนืองแน่น ท่านทราบว่า ท่านพระอาจารย์มั่นจะแสดงธรรมทุก ๕-๖ วันโดยเฉพาะวันธรรมสวนะ ธรรมที่ท่านแสดงจะละเอียดลออวิจิตรบรรจงมาก หลวงปู่ได้บันทึกธรรมของท่านที่ได้สดับรับฟังไว้มากมาย ตามความนึกคิดที่ระลึกได้หลังจากจบโอวาทคำสั่งสอนแล้ว ธรรมที่บันทึกไว้ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นห้วงสั้นๆ คล้ายเป็นหัวข้อธรรมที่บันทึกไว้ด้วยความประทับใจ ทั้งเพื่อกันลืม และเพื่อเป็นข้ออรรถธรรมที่จะนึกขยายสอนตนในภายหลัง ที่จะมียืดยาวต่อเนื่องกัน เป็นประหนึ่งเทศนาบ้างก็จดไว้เฉพาะเรื่องๆ เช่น เรื่องศีล เรื่องการภาวนาทำจิตเหล่านี้เป็นต้น

ท่านบันทึกไว้ หลายแห่ง หลายตอน บางแห่งได้มีวันที่หรือสถานที่กำกับ จากสมุดบันทึกหลายเล่มที่ลอกคัด จึงพออนุมานวันเดือนปี และสถานที่ซึ่งท่านเข้าไปฟังเทศน์ได้

เนื่องจากท่านมิได้บันทึกต่อเนื่องกันในเล่มเดียวกัน ท่านบันทึกลงไปในสมุดตามแต่จะหยิบฉวยได้ เพราะธรรมะที่เกิดขึ้น ระลึกขึ้นได้ นั้นไม่รอเวลา ถ้ามัวเสียเวลาหาสมุดเล่มที่ต้องการ ธรรมะนั้นก็อาจจะลืมเลือนไปแล้ว หรือกระแสธารแห่งธรรมสะดุดหยุดลงได้ เป็นเหตุให้พลาดโอกาสที่จะบันทึกธรรมนั้นๆ ไปอย่างน่าเสียดายที่สุด

จากสมุดบันทึกหลายเล่มเหล่านั้น แสดงถึงวันที่ฟังธรรมโอวาทในช่วงนี้ไว้ดังนี้

๑๙-๗-๘๓ (ตรงกับ ๑๙ ตุลาคม - ผู้เขียน) คงเป็นวันแรกที่ฟังโอวาทที่โนนนิเวศน์ อุดรธานี หลังจากวันออกพรรษาที่ถ้ำโพนงาม สกลนคร วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๔๘๓ เพียง ๒ วัน การเดินทางลงจากเขาข้ามจังหวัด และทางคมนาคมสมัยนั้นยากลำบาก ไม่มีถนนลาดยางเช่นสมัยนี้ ต้องนับว่า ท่านใจร้อน กระหายต่อการฟังธรรมจากพ่อแม่ครูจารย์เพียงไร

๒๘-๗-๘๓ (๒๘ ตุลาคม ๒๔๘๓)

๒๙-๗-๘๓ (๒๙ ตุลาคม ๒๔๘๓)

วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ พ.ศ. ๘๓ (ตรงกับ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๘๓ - ผู้เขียน)

วันแรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๒ พ.ศ. ๘๓ (ตรงกับ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๔๘๓ - ผู้เขียน)

๑๕ ค่ำดับ เดือน ๑๒ พ.ศ. ๘๓ (ตรงกับ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๔๘๓ - ผู้เขียน)

วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๘๓

ธรรมะที่แสดงตามวันเดือนข้างต้น นั้น หลวงปู่บันทึกไว้ชัดเจนว่าเป็นธรรมะที่แสดงที่โนนนิเวศน์ ต่อมาเพียง ๒ วัน ท่านก็บันทึกเป็นสถานที่ใหม่ ณ หนองน้ำเค็ม อุดรฯ ซึ่งแสดงว่า ท่านพระอาจารย์มั่นได้ไปพักวิเวกที่หนองน้ำเค็ม อันเป็นหมู่บ้านที่อยู่ไม่ไกลจากวัดป่าโนนนิเวศน์นัก และหลวงปู่ก็ติดตามไปฟังธรรม

หนองน้ำเค็ม อุดรฯ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือนอ้าย พ.ศ. ๘๓ (ตรงกับ ๒ ธันวาคม ๒๔๘๓ - ผู้เขียน)

หนองน้ำเค็ม ๑๐-๙-๘๓ (ตรงกับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๓ - ผู้เขียน)

วันอุโบสถ ต้นเดือนอ้าย พ.ศ. ๘๓ (ตรงกับ ๑๔ ธันวาคม ๒๔๘๓ ปี ๒๔๘๓ มีเพียง ๙ เดือน นับจาก ๑ เมษายน ถึง ๓๑ ธันวาคม ขึ้นปีใหม่ ๑ มกราคม เริ่มจากปี ๒๔๘๔ เป็นปีแรก - ผู้เขียน)

๕-๑-๘๔ (ตรงกับวันที่ ๕ มกราคม ๒๔๘๔)

๑๐-๑- ๘๔ (ตรงกับวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๔๘๔)

โรงเรียนบ้านเชียงยืน ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๓ พ.ศ. ๘๔ (ตรงกับวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ - ผู้เขียน) ฯลฯ

สำหรับธรรมะและโอวาทของท่านพระอาจารย์มั่นที่ท่านบันทึกไว้นั้นมีมากมาย ซึ่งได้แยกรวบรวมไว้ในภาคอาจาริยธรรม โดยต่างหากแล้ว ในที่นี้จึงจะไม่ขอนำมากล่าวซ้ำ นอกจากจะขอนำมาสาธกแสดงตัวอย่างการบันทึกธรรมในวันหนึ่งของหลวงปู่เท่านั้น

อนึ่ง เนื่องจากระหว่างบันทึกธรรม ซึ่งท่านคงจะฟังด้วยความซาบซึ้งและอัศจรรย์ใจในรสพระธรรมที่หลั่งไหลออกมา ความซาบซึ้งอัศจรรย์ใจของท่านคงจะรู้สึกต่อเนื่องไปถึงองค์ท่านผู้แสดงธรรมะนั้นด้วย วิสัยของปราชญ์ หลวงปู่ก็อดมิได้จะตรึกนึกวิจารณ์วิจัยท่านอาจารย์ของท่านไปด้วย

แต่แน่ละ ต้องด้วยความซาบซึ้งอัศจรรย์ใจเป็นที่ยิ่ง และต้องด้วยความเคารพรักเทิดทูนอย่างสูงสุด

เป็นสำนวนอันบริสุทธิ์ใจ...ตรงไปตรงมา

๏ โวหารของท่านอาจารยมั่น
พ.ศ. ๘๓ หลุย โนนนิเวศน์


๒๘-๗-๘๓ (ตรงกับวันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ - ผู้เขียน)

- ปัญญากับสติให้รู้เท่าทันกัน

- พิจารณากายจิต ความไม่เที่ยงของสังขารเป็นธรรมะส่อให้เห็นเรื่อยๆ ทำความรู้ในนั้น เห็นในนั้น

- ในโลกนี้เป็นธาตุทั้งนั้นให้รู้เท่าทันกับธาตุ อย่าหลงตามธาตุ

- มหาสติเรียนกายจิตให้มากๆ

- ให้เห็นจริง ธรรมะจริง สมมติ อย่าหลงรูป เสียง กลิ่น รส ของอันนี้เต็มโลกอยู่เช่นนั้น

- ให้เห็นปัจจุบันธรรม อย่าส่งจิตอนาคตและอดีต

- ธาตุ ๘๔,๐๐๐ ธาตุออกมาจากจิตหมด

- นิโรธเป็นของดับเพราะรู้เท่าแล้ว จิตไม่เกิดยินดียินร้าย ดับไปเช่นนี้ ชื่อว่านิโรธ

- แสดงฌานเป็นที่พักชั่วคราวแล้วเจริญจิตต่อๆ ไป

- ให้เอากายวาจาใจนี้ยกขึ้นพิจารณา อย่าเพิ่ม อย่าเอาออก ให้เห็นเป็นปรกติ

- มรรค ๘ นั้น สมาธิมรรคเป็นองค์ ๑ นอกนั้นเป็นปริยาย

- ให้รู้ธรรมะและอาการของธรรมถึงชั้นละเอียดแล้วก็จะรู้เองเห็นเอง

- แสดงตนดูถูกท่านว่าท่านเป็นคนโกรธ เพราะผู้ฟังไม่เห็นตามความเป็นจริง เพราะยุ่งแต่จิตของตัวเท่านั้น

- เกิดตายเกิดแล้วตาย ชมแต่หนังของเก่า ไม่หันไปหาที่จะพ้นทุกข์

- ทำจิตให้เสมอ อย่าขึ้นอย่าลง อย่าไปอย่ามา ให้รู้เฉพาะปรกติของจิต

- แสดงฐานของธรรมะเป็นบ่อเกิดอริยสัจของจริง

- เกิดความรู้อย่างวิเศษแล้วย่อมหาอานิสงส์ประมาณไม่ได้

- อัตตาหิ ฯลฯ เป็นของลึกลับเหลือที่สุด

- ถ้าส่งจิตรู้เห็นนอกกายเป็นมิจฉาทิฐิ ให้รู้เห็นอยู่ในกายกับจิตนั้นเป็นสัมมาทิฐิ

- นักปฏิบัติใจต้องเด็ดเดี่ยวกล้าหาญที่สุดจึงจะรู้ธรรมเห็นธรรม

- ให้รู้ธาตุเห็นธาตุ จิตจึงไม่ติดทางราคะ

- คนเราจะดีจะชั่วต้องเกิดวิบิตเสียก่อน

- ท่านบอกว่าท่านเป็นคนราคะโทสะจริต แรงทางราคะ ทางโทสะ กัดติดดังควาย นิสัยใจคอเด็ดเดี่ยวมาก

- แสดงแก้ตำราพราหมณ์ดีนัก หนังสือล้วนๆ ไม่มีบาลีอ้าง

- นิสัยของท่านอาจารย์มั่นเป็นคนใจคอเด็ดเดี่ยวดี มุ่งต่อมรรคผลจริง โวหารโปราณ ข้อวัตรหมดจดดี เป็นคนไม่มีอคติ พูดธรรมะถึงอริยสัจถึงพริกถึงขิงดี ไม่อนุโลมตามบุคคล เป็นคนที่ใคร่ต่อความสันโดษดี ข้อวัตรเรียบร้อยหมดจดดี เป็นอาชาไนยดี รู้จริตของคนอื่นดี ท่านไม่พูดไปแล้ว ท่านไม่ถือ ธรรมของท่าน ท่านสงเคราะห์เข้าปัจจุบันดี เป็นคนไม่เห็นแก่หน้าบุคคล โลกไม่เอียงไปทางกาม และทางโทสะ โมหะ ไปตามความรู้ความเห็นที่เกิดจากปฏิปทาของท่าน อ้างอิงของจริงเสมอ เป็นคนที่วางเฉยได้ ไม่ส่งจิตออกนอกกาย ท่านบริบูรณ์ทั้งมหาสติ มหาปัญญา ไม่เพ่งลาภยศ สรรเสริญ อาชีพ บริสุทธิ์ด้วยสมาธิ ปัญญา ข้ามศีลไปเสียแล้ว จิตของท่านปรกติดี ไม่ลำเอียงไปด้วยคติ กาย วาจา ใจ เป็นอาชาไนย พระอริยเจ้าเป็นผู้เลิศเป็นผู้วิเศษหาประมาณมิได้ ท่านอาจารย์มั่นเป็นผู้ขวนขวายน้อย เป็นผู้ที่เลี้ยงง่าย สันโดษ ชอบสงัด เป็นผู้ทรมานตนเสมอ เป็นผู้ที่ไม่ละกาล จิตของท่านใหม่อยู่ในธรรมเสมอไม่เบื่อ ไม่ติดตระกูล ไม่ติดที่อยู่ ไม่ติดลาภและยศ อ้างธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าว่าเป็นของจริงและของเที่ยง นิสัยท่านอาจารย์มั่น ถูกกับนิสัยเราเสียโดยมาก

- ท่านแสดงไม่อ้างสวรรค์ นิพพาน ไม่อ้างทุคติ อ้างความเป็นไปทางปัจจุบันอย่างเดียว เพราะชั่วดีก็ปัจจุบันที่ยังเป็นชาติมนุษย์

- ความรู้ของพระพุทธเจ้าเป็นอนันตนัย มากมายยิ่งกว่า ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เป็นอุบายที่จะทรมานสัตว์ พ้นวิสัยของสาวกที่จะรู้ตามเห็นตามได้ สาวกกำหนดรู้แต่เพียง ๘๔,๐๐๐ เท่านี้ก็เป็นอัศจรรย์

- ท่านกำชับว่าอย่าให้จิตเพ่งนอก ให้รู้ในตัวเห็นในตัว เมื่อรู้ในตัวแล้วรู้ทั่วไป เพราะตัวเป็นต้นเหตุ

- ปฏิภาคนั้นอาศัยผู้ที่มีวาสนาจึงจะบังเกิดขึ้นได้ อุคหนิมิตนั้นเป็นของที่ไม่ถาวร พิจารณาให้ชำนาญแล้ว เป็นปฏิภาคนิมิต ชำนาญทางปฏิภาคแล้วทวนเข้ามาเป็นตน ปฏิภาคนั้นเป็นส่วนวิปัสสนา

- ให้แก้ปัจจุบัน เมื่อแก้ปัจจุบันได้แล้ว ภพ ๓ นั้นหลุดหมดไม่ต้องส่งอดีต อนาคต ให้ลบอารมณ์ภายนอกให้หมด จึงจะเข้าอารมณ์ภายในได้ เพ่งนอกเป็นตัวสมุทัย เป็นทุกข์ และเป็นตัวมิจฉาทิฏฐิ เพ่งในเป็นตัวสัมมาทิฐิ เพ่งในตัวเป็นสัมมาทิฐิ

- เล่นนิมิตก็ดี ยินดียินร้ายก็ดี เรียกว่าคุ้มเงาตน เชื่อนิมิตเป็นบ้า

นั่นเป็นตัวอย่างที่หลวงปู่บันทึกข้อธรรมไว้ไนวันหนึ่ง ที่โนนนิเวศน์ โดยรวมทั้งการวิจารณ์ลักษณะนิสัยของครูบาอาจารย์ของท่านด้วย ซึ่งเป็นการ “ม้างกาย” ของท่านอย่างหนึ่ง

สำหรับลักษณะอุปนิสัยของท่านพระอาจารย์มั่นนั้น หลวงปู่ได้บันทึกต่อมาอีกหลายครั้งด้วยความชื่นชมและศรัทธายิ่ง

“ท่านภาวนาสถานที่เป็นมงคล มีเทวดามานมัสการ ตั้งหมื่น ท่านรู้ได้ด้วยภาวนาขั้นละเอียดฯ อมนุษย์ท่านก็รู้ได้”

“ท่านอาจารย์มั่น ท่านเป็นคนเด็ดเดี่ยวสละชีวิตถึงตาย สลบไป ๓ คราว และท่านต้องการคนใจเด็ดเป็นสานุศิษย์ฯ”

“ท่านทำตัวของท่านใหม่อยู่ในตระกลทั้งหลาย ไม่ทำตัวของท่านให้คุ้นเคยในตระกูลเลย การไปมาของท่าน ไปโดยสะดวก มาโดยสะดวกไม่ขัดข้องในตระกูล”

“เป็นคนมักน้อยชอบใช้บริขารของเก่าๆ ถึงได้ใหม่บริจาคทานให้คนอื่น ข้อวัตรหมดจดดี สติตั้งอยู่ในสติปัฏฐานเสมอ เป็นผู้ไม่ละกาล วาจาพูดก็ดี เทศน์ก็ดีไม่อิงอามิสลาภ สรรเสริญวาจาตรงตามอริยสัจ ตามความรู้ความเห็น อ้างอริยสัจเป็นหลักฐานเสมอ กาย วาจา ใจเป็นอาชาไนยล้วน”

“ท่านประพฤติตนเป็นคนขวนขวายน้อยอามิส หมดจดในข้อวัตรและหมดจดในธรรมะ พ้นวิสัยเทวดาและมนุษย์ที่จะติเตียนได้ ไม่เป็นข้อล่อแหลมในศาสนา ท่านได้วัตถุสิ่งใดมา ท่านสละทันที สงเคราะห์หมู่พรหมจรรย์ฯ”

“สิ่งของอันใดท่านอยู่ที่ไหน เขาถวาย ท่านก็เอาไว้ให้พระเณรใช้ ณ ที่นั้น ท่านไม่ได้เอาไปด้วยฯ”

“มีคนไปหาท่านอาจารย์มั่น ท่านไม่ดูคน ท่านดูจิตของท่านเสียก่อนจึงแสดงออกไปต้อนรับแขกผู้มาถึงถิ่น อนึ่ง ท่านหันข้างและหันหลังใส่แขก ท่านพิจารณาจิตของท่านก่อน แล้วพิจารณานิสัยของผู้อื่น นี้เป็นข้อลี้ลับมาก ต่อนั้นถ้าจะเอาจริงจังต้องประชันต่อหน้ากันจึงเห็นความจริงฯ”

“จิตของท่านผ่าอันตรายลงไปถึงฐานของธรรมะนี้มีราคามาก บ่งความเห็นว่าเป็นอาชาไนยโดยแท้”

“ปฏิบัติธรรมท่านพูดทรมานใครแล้วย่อมได้ดีทุกๆ คน ถ้าหมิ่นประมาทแล้วย่อมเกิดวิบัติใหญ่โต”

“ท่านมีนิสัยปลอบโยนเพื่อคัดเลือกคนดีหรือไม่ดี ในขณะท่านพูดเช่นนั้น ท่านหันกลับเอาความจริง เพราะกลัวศิษย์จะเพลิน”

“นิสัยท่านเป็นคนใจเดียว ไม่เห็นแก่หน้าบุคคล ในเวลาถึงคราวเด็ดเดี่ยวต่อธรรมะวินัยจริงๆ ฯ”

“บุคคลใจเด็ดจึงอยู่กับท่านได้ เพราะนิสัยของท่านเป็นเช่นนั้น เป็นคนทำจริงเอาจริงฯ”

“ท่านเป็นคนไม่อวดรู้ แต่ธรรมะของท่านบอกเหตุผลไปต่างหาก นี้เป็นข้อพึงวินิจฉัย”

“หาบุคคลที่จะดูจริตของท่านรู้ได้ยาก เพราะท่านเป็นคนนิสัยลึกลับ จะรู้นิสัยได้ต่อเมื่อบุคคลที่มีภูมิจิตส่วนเดียวฯ”

“ท่านผู้มีอำนาจในทางธรรมะ ทำอะไรได้ไม่ครั่นคร้าม ชี้เด็ดขาดลงไป ไม่มีใครคัดค้าน นี่เป็นอัศจรรย์มากฯ”

“ท่านถือข้างใน ปฏิปทาความรู้ความเห็นของท่านเกิดจากสันตุฏฐี ความสันโดษของท่าน ท่านนิสัยไม่เป็นคนเกียจคร้าน ขยันตามสมณกิจวิสัย หวังประโยชน์ใหญ่ในศาสนาฯ”

“ท่านอาจารย์มั่นเป็นผู้ที่สะอาด ไตรจีวรและเครื่องอุปโภคของท่าน ไม่ให้มีกลิ่นเลย ถูย้อมบ่อยๆ”

“ท่านบวชในสำนักพระอรหันต์ ๓ องค์ แต่เมื่อชาติก่อนๆ โน้น”

“ท่านไม่ใคร่พยากรณ์ใครๆ เหมือนแต่ก่อน ท่านพูดแต่ปัจจุบันอย่างเดียว นิสัยท่านชอบเก็บเอาเครื่องบริขารของเก่าไว้ใช้ เพราะมันภาวนาดี เช่นจีวรเก่า เป็นต้นฯ”

“ท่านไม่ติดอามิส ติดบุคคล ติดลาภ ยศ สรรเสริญ ท่านถือธรรมะเป็นใหญ่ ไปตามธรรมะ อยู่ตามธรรมะฯ”

“ท่านพูดธรรมะไม่เกรงใจใคร ท่านกล้าหาญท่านรับรองความรู้ของท่าน ฉะนั้นท่านจึงพูดถึงพริกถึงขิง ตรงอริยสัจ พูดดังด้วย พูดมีปาฏิหาริย์ด้วย เป็นวาจาที่บุคคลจะให้สิ้นทุกข์ได้จริงๆ เป็นวาจาที่สมถะวิปัสสนาพอ ไม่บกพร่องกำหนดรู้ตามในขณะกาย วาจา จิตวิกาลตรงกับไตรทวารสามัคคีเป็นวาจาที่เด็ดเดี่ยวขลังดีเข้มแข็งดี เป็นอาชาไนยล้วนวาจาไม่มีโลกธรรมติด เป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ พระเณรอยู่ในอาวาสท่านได้สติมาก เพราะบารมีของท่านเสื่อม ถ้าขืนประมาทท่านเกิดวิบัติฯ”

“ท่านอาจารย์มั่น เทวดาและอมนุษย์ไปนมัสการท่าน เท่าไรพันหรือหมื่นท่านกำหนดได้”

“ท่านรักษาระวังเทวดามนุษย์ประมาทท่าน เช่นเยี่ยงท่านก็มีระเบียบ แม้กิจเล็กๆ น้อยๆ เป็นระเบียบหมดฯ”

“ท่านอาจารย์ท่านพูดโน้น คำนี้อยู่เสมอเพื่อจะให้สานุศิษย์หลง เพื่อละอุปาทานถือในสิ่งนั้นๆ ท่านทำสิ่งที่บุคคลไม่ดำริไว้ สิ่งใดดำริไว้ท่านไม่ทำ นี้ส่อให้เห็นท่านไม่ทำตามตัณหาของบุคคลที่ดำริไว้ฯ”

“จิตของท่านอาจารย์มั่นผ่าอันตรายลงไปตั้งอยู่ด้วยอมตธรรม บริบูรณ์ด้วยมหาสติ มหาปัญญา มีไตรทวารรู้รอบ มิได้กระทำความชั่วในที่ลับและที่แจ้ง และมีญาณแจ่มแจ้ง รู้ทั้งเหตุผลพร้อมกัน เพราะฉะนั้นแสวงธรรมมีน้ำหนักมาก พ้นวิสัยคนที่จะรู้ตามเห็นตาม เว้นแต่บุคคลบริบูรณ์ด้วยศีลและสมาธิมาแล้ว อาจที่ฟังเทศน์ท่านเข้าใจแจ่มแจ้งดีและบุคคลนั้นทำปัญญาสืบสมาธิต่อ”

“จิตท่านอาจารย์มั่นตื่นเต้นอยู่ด้วยความรู้ ไม่หยุดนิ่งได้ มีสติรอบเสมอ ไม่เผลอทั้งกายและวาจา เป็นผู้มีอริยธรรมฝังมั่นอยู่ในสันดานไม่หวั่นไหว ตอนนี้ไม่มีใครที่จะค้านธรรมเทศนาของท่านได้ เพราะวาจาเป็นอาชาไนย และมีไหวพริบแก้ปฤษณาธรรมกายได้ฯ”

“ธาตุของท่านอาจารย์เป็นธาตุนักรู้เป็นชาติที่ตื่นเต้นในทางธรรมะเป็นผู้ที่รู้ยิ่งเห็นจริงในอริยสัจธรรม ท่านดัดแปลงนิสัยให้เป็นบรรพชิต ไม่ให้มีนิสัยหินเพศติดสันดาน ท่านประพฤติตนของท่านให้เทวดาและมนุษย์เคารพ และท่านไม่ประมาทในข้อวัตรน้อยใหญ่ฯ”

“ท่านไม่ให้จิตของท่านนอนนิ่งอยู่อารมณ์อันเดียว ท่านกระตุกจิต จิตของท่าน ค้นคว้าหาเหตุหาผลของธรรมะอยู่เสมอ ท่านหัดสติให้รอบรู้ ในอารมณ์และสังขารทั้งปวงฯ”

“ท่านว่าท่านอาจารย์เสาร์หนักอยู่ในสมาธิและพรหมวิหารธรรม และท่านขาดการตรวจกายสังขารฯ”

“นิสัยท่านอาจารย์เสาร์ อนุโลมตามนิสัยบุคคลเสียโดยมาก และท่านรู้รับว่าดีอยู่เสมอ ดีเฉพาะกิเลสของผู้ศึกษา แต่ไม่ดีธรรมะ ที่จะให้สิ้นทุกข์ เฉพาะตัวของท่านอาจารย์มั่น หัดฝืนธรรมดา เพื่อดัดแปลงนิสัย ไม่อนุโลมไปตามกิเลส”

อีกวันหนึ่ง ท่านบันทึกถึงท่านพระอาจารย์มั่นอย่างอัศจรรย์ใจในอัจฉริยภาพของท่านต่อไปว่า

“ท่านอาจารย์มั่นท่านเก่งทางวิปัสสนา ท่านเทศน์ให้บริษัทฟัง สัญญา มานะเขาลด เจตสิก เขาไม่เกาะ เมื่อไม่เกาะเช่นนั้น ยิ่งทำความรู้เท่าเฉพาะในจิต ตรวจตราในดวงจิตขณะที่นั่งฟัง ต่อนั้นจะเห็นอานิสงส์ทีเดียว ไม่ทำเช่นนั้นหาอานิสงส์การฟังธรรมมิได้ ถ้าประมาทแล้ว จะเกิดวิบัติเพราะคามานะทิฐิของตน วินิจฉัยธรรมมิได้”

“ท่านเทศน์อ้างอิงตำราและแก้ไขตำราดุจของจริงทีเดียว เพราะท่านบริบูรณ์วิปัสสนาและสมถะพอ และท่านยกบาลีเป็นตัวเหตุผลแจ่มแจ้ง”

“ท่านอาจารย์มั่นอุบายจิตของท่านพอทุกอย่างไม่บกพร่อง คือพอทั้งสมถะ พอทั้งวิปัสสนาทุกอย่าง เพราะฉะนั้นท่านเทศนาจิตของผู้ฟังหดและสงบ และกลัวอำนาจ เพราะนิสัยคนอื่นไม่มีปัญญาที่จะชอนเข็มโต้ถามได้ ตรงกับคำว่าพอทั้งปัญญา พอทั้งสติ ทุกอย่างเป็นอาชาไนยล้วน รวบรัดจิตเจตสิกของคนอื่นๆ มิอาจจะโต้แย้งได้”

“ท่านว่า แต่ก่อนท่านเป็นคน โกง คน ซน คน มานะกล้า แต่ท่านมีธุดงค์ข้อวัตรทุกอย่างเป็นยอด ทำความรู้เท่าทันกิเลสเหล่านั้น เดี๋ยวนี้นิสัย ก่อนนั้นกลายเป็นธรรมล้วน เช่น โกงสติ ซนสติ มานะสติ เป็นคุณสมบัติสำหรับตัวของท่าน”

“ความรู้ความฉลาดของท่านไปตามธรรมคืออริยสัจ ใช้ไหวพริบทุกอย่างตรงตามอริยสัจ ตรงกับคำว่าใช้ธรรมเป็นอำนาจ คณาจารย์บางองค์ถืออริยสัจก็จริง แต่มีโกงนอกอริยสัจ เป็นอำนาจบ้างแฝง แฝงอริยสัจ ตรงกับคำที่ว่าใช้อำนาจเป็นธรรมแฝงกับความจริง”

“ท่านอาจารย์เป็นนักปราชญ์แปดเหลี่ยมคม คมยิ่งนัก ธรรมชาติจิตของท่านที่บริสุทธิ์นั้นกลิ้งไปได้ทุกอย่างและไม่ติดในสิ่งนั้นด้วย ดุจน้ำอยู่ในใบบัว กลิ้งไปไม่ติดกับสิ่งอื่นๆ เพราะฉะนั้นจิตของท่านถึงผลที่สุดแล้ว มิอาจจะกระทำความชั่วในที่ลับและที่แจ้ง เพราะสติกับปัญญารัดจิตบริสุทธิ์ให้มั่นคง ใช้ไหวพริบเป็นอาชาไนยอยู่เนืองนิตย์”


(มีต่อ ๘)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 17 ม.ค. 2007, 2:20 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ พรรษา ๑๗-๑๙ พ.ศ. ๒๔๘๔-๒๔๘๖ ในรัศมีบารมีพ่อแม่ครูจารย์
พ.ศ. ๒๔๘๔ จำพรรษา ณ บ้านห้วยหีบ อ.ศรีสุวรรณ จ.สกลนคร
พ.ศ. ๒๔๘๕-๒๔๘๖ จำพรรษา ณ บ้านอุ่นโคก
และชายป่าใกล้สำนักวัดป่าบ้านนามน


หลวงปู่เล่าว่า ในระหว่างเวลาจากออกพรรษาปี ๒๔๘๓ มาจนถึงระยะก่อนจะเข้าพรรษาปี ๒๔๘๔ ท่านได้เวียนเข้าออกอยู่ใกล้ชิดท่านพระอาจารย์มั่นเพื่อรับฟังการอบรม นับแต่จากท่านพระอาจารย์เสาร์มาแต่เมื่อปีที่จำพรรษาอยู่ด้วยท่านที่วัดป่าสุทธาวาสแล้ว จิตของท่านก็ต้องพึ่งตนเองมาโดยตลอด อยู่คนเดียวการภาวนาติดขัดอะไร ก็ต้องปล้ำผีลุก ปลุกผีนั่ง แก้ไขไปเอง ไม่รู้ผิดไม่รู้ถูก ได้แต่คาดเดาเอาจริงอยู่ พยายามจะใช้ไตรลักษณ์เข้ากำกับ แต่ก็ยังดูเลือนลางไม่หนักแน่น เด่นชัดเพียรทำ เพียรแก้ แต่ก็ดูคล้ายกับลิงติดตัง ยุ่งอีนังตังนุง เชือกที่ควรจะผ่อนคลายกลับรัดตัวแน่นเข้า การได้วิชา “ม้างกาย” ซึ่งท่านฝึกหัดทำอย่างคล่องแคล่วเป็นปฏิภาคนิมิต กำหนดแยกส่วนกายได้ทุกระยะ ก็เป็นเพียงหนักไปทางด้านสมถะ เป็นเอกทางสมถะเท่านั้น

ท่านทราบดีว่า ท่านควรต้องอยู่ไม่ห่างครูบาอาจารย์ เพื่อรับอุบายธรรมจากท่าน จิตของท่านคล้ายกับผู้ที่ตกอยู่ทะเลทราย กระหายน้ำมาช้านาน ได้พบบ่อน้ำวิเศษ ก็เข้าดื่มกินโสรจทรงอมฤตธรรมอย่างเต็มที่

พรรษาปี ๒๔๘๔ ท่านพระอาจารย์มั่นจำพรรษาอยู่ที่โนนนิเวศน์ อุดรธานี เป็นพรรษาที่สอง หลวงปู่คิดว่า ท่านรับอุบายธรรมมาระยะหนึ่งแล้ว ควรจะลองมา “ฝึกเดี่ยว” เองบ้าง ประกอบกับท่านได้ยินข่าวว่า ในปีพรรษาหน้านี้ ศรัทธาญาติโยมทางสกลนครหมายมั่นปั้นมือกันมากว่าจะกราบเท้าอ้อนวอนท่านพระอาจารย์มั่น นิมนต์ให้ท่านไปโปรดทางจังหวัดสกลนคร ถิ่นซึ่งท่านเคยอยู่มาก่อนบ้าง ศรัทธาญาติโยมเหล่านั้นล้วนเป็นลูกศิษย์เก่าแก่ของท่าน และท่านเคยเมตตามากด้วย จึงเชื่อว่าออกพรรษาปี ๒๔๘๔ นี้ ท่านพระอาจารย์มั่นคงจะเมตตารับอาราธนานิมนต์ศรัทธาทางสกลนคร หลวงปู่จึงคิดมุ่งจะไปหาที่จำพรรษารออยู่ที่สกลนครก่อน

ปกติหลวงปู่อาจจะเป็นผู้อยู่ไปคล่อง หรือกล่าวตามคำของปุถุชนก็ต้องว่าเป็นคนใจร้อน ถ้าคิดจะไป ก็แต่งของใส่บาตร แบกกลด สะพายย่ามไปเลย ไปทันทีไม่รีรอ-รอใคร อยู่ง่าย ไปเร็ว เป็นคติของท่าน เมื่อจากถ้ำโพนงาม มาอุดรฯ ท่านใช้เวลาเพียงวันเดียว แต่ขากลับ จากอุดรฯ ไปสกลนคร นี้ ท่านธุดงค์ไปเรื่อยๆ แบบตามสบาย ระยะนั้นกำลังเป็นเวลาระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เมืองไทยเพิ่งผ่านสงครามอินโดจีนมาหมาดๆ สงครามโลกยังไม่แผ่ขยายมาถึงเมืองไทย แต่ก็อยู่ในระยะคุกรุ่นเต็มที่ เพราะหลังจากวันเข้าพรรษาไปเพียง ๔-๕ เดือน กองทัพญี่ปุ่นก็บุกเข้ามาในประเทศไทย ทำให้บ้านเมืองของเราเข้าสู่ภาวะสงครามติดต่อไปอีกเกือบ ๔ ปีเต็ม

ถนนจากอุดรธานีไปสกลนครมีแล้ว แต่ยังเป็นทางซึ่งมิได้ลาดยางดีเช่นทุกวันนี้ รถยนต์ก็มิได้วิ่งไปมาไม่ขาดสายดังปัจจุบัน ท่านไม่ได้คิดพึ่งรถยนต์ แต่อาศัยยานพาหนะของตนคือขา เดินธุดงค์รอนแรมเลี่ยงทางถนน มาตามทางทิวเขาภูพานอย่างไม่รีบร้อน ค่ำในนาก็พักในนา ค่ำในสวนก็พักในสวน ค่ำในป่าก็พักในป่า ค่ำบนเขาก็พักบนเขา ระหว่างเดินทางภาวนาไปด้วยในตัว การเดินทางจึงเป็นการเดินจงกรมกำหนดให้สติอยู่กับจิต จะก้าวเดินเร็วหรือจะย่างเท้าช้า ก็เป็นไปตามวิถีของจิตที่กำลังภาวนาเป็นไป หลายต่อหลายครั้งที่ท่านหวนคำนึงถึงโอวาทที่ได้รับมาระหว่างไปกราบท่านพระอาจารย์มั่นที่โนนนิเวศน์และหนองน้ำเค็ม โดยเฉพาะตอนที่เทศนาของท่านจะกวาดเอาตัวท่านแล้วไปด้วยแรงพายุกล้า

ท่านว่า ท่านพระอาจารย์มั่นคงรู้ว่า ท่านมีมานะกล้า ถือดี ติดดี เวลาเทศน์ท่านจึงแฉลบมาว่า

“ท่านอาจารย์บุญเอาตัวรอดได้ แต่ลูกศิษย์ไม่ได้สักคน และไม่ได้นิสัยด้วย”

ท่านว่า พลางชำเลืองมองมาทางหลวงปู่ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นลูกศิษย์ท่านอาจารย์บุญอยู่องค์เดียวในที่นั้น นัยน์ตาท่านอาจารย์คมปลาบราวกับแสงเพชร แล้วท่านก็ว่าต่อไป

“แก้ติดดีนี้แก้ยาก เพราะความไม่ดีนั้นแก้ง่าย เพราะเห็นว่าไม่ดีอยู่แล้ว ผู้ที่ติดดีต้องพยายามแก้หลายอย่าง เพราะมันเป็นชั้นปัญญาที่เกิดขึ้นภายใน มีพร้อมทั้งเหตุผลจนทำให้เชื่อจนได้ วิปัสสนาไปสู่อริยสัจอยู่แล้ว แต่ดำเนินไม่มีความรู้รอบพอก็เลยเป็นวิปัสสนูไป ท่านอาจารย์มั่นห้ามไม่ให้ติดฌานและญาณ”

ดูราวกับท่านจงใจจะว่าเราโดยเฉพาะ...!

“ท่านแนะนำอย่าหลงฌาน ผู้จะพ้นทุกข์จริงแล้วไม่หลง ญาณ คือความรู้วิเศษที่เกิดขึ้นจากสมาธิสงบระลึกชาติหนหลังได้ ๑ ญาณเหตุการณ์อดีต ๑ ญาณรู้จักอนาคต ๑ รู้จักความนึกคิดของคนอื่นเป็นต้น เป็นวิชาที่อัศจรรย์ทั้งนั้น เมื่อติดอยู่ สิ่งเหล่านี้ทำให้ล่าช้า เข้าสู่อริยสัจธรรม ฌานเหล่านี้เป็นอุปกรณ์วิเศษ แต่สมัยนั้นเทวทัตติดกลับเสื่อมได้ เกิดทิฐิมานะแข่งขันสู้พระพุทธเจ้า ท่านอาจารย์มั่นว่าฌานเหล่านี้มันน่าคิดจริง วิเศษได้ทางโลกีย์ ฉะนั้น ท่านฤๅษีทั้งหลายติดฌานอันนี้ ท่านอาจารย์หนูใหญ่ติดฌานอันนี้เอง เสื่อมแล้วก็สึกกันเท่านั้น”

“ท่านเห็นความรู้นั้นว่าธาตุจริง ฌานร้จริง มันจริงทางวิปัสสนู แต่ทำความรู้นั้นให้ยิ่งจึงเป็นวิปัสสนา เครื่องเย็นใจ ท่านอาจารย์มั่นสอนศิษย์ในทางอย่าหลงฌาน อย่าหลงญาณ โยคาวจรเจ้าติดในตอนนี้มาก ติดพรหมโลก อ่อนทางวิปัสสนา”

ท่านเดินไปครุ่นคำนึงไป เมื่อสมัยเกือบห้าสิบปีก่อน หมู่บ้านยังอยู่ห่างกัน ไม่แออัดด้วยผู้คนและบ้านเรือนเช่นสมัยปัจจุบัน ป่ายังคงเป็นป่า เขายังคงเป็นเขา

...ป่ายังคงเป็นป่า...ต้นไม้ขึ้นเบียดเสียด สูงชะเงื้อม แผ่กิ่งก้านสาขา กิ่งหนาใบดกเขียวครึ้มระก่ายกัน เดินอยู่ตามทางในป่าแทบจะไม่เห็นแสงเดือนแสงตะวัน ไม้ตะเคียน ไม้มะค่า ไม้ประดู่ ไม้โป่งเปือยหรือตะแบก อินทนิน ยูง ยาง แต่ละต้นมีลำต้นใหญ่ขนาดคนสองสามคนจึงจะโอบรอบ

...เขายังคงเป็นเขา...ภูเขายังเป็นสีเขียวขจีด้วยคลื่นแมกไม้น้อยใหญ่ ไม่ล้านเลี่ยนเป็นภูเขาหัวโล้นสีน้ำตาลลูกแล้วลูกเล่า อย่างน่าสลดใจดังในทุกวันนี้

...ท่อธารละหานห้วย...ยังมีน้ำใสไหลเย็นแทบตลอดปี น้ำห้วยน้ำซับมีให้ได้พบเห็น ได้อาศัยอาบกินเป็นระยะๆ ไม่เคยอด แตกต่างกับสภาพโขดหินที่แตกระแหงแห้งน้ำเช่นปัจจุบัน

...สัตว์ป่าก็อุดมสมบูรณ์ เสือ ช้าง กวาง เม่น หมี ลิง บ่าง ค่าง ชะนี นกยูง ก็ยังมีให้ประสบพบเห็นบ่อยๆ ในราวป่า อย่างน้อยไม่ต้องพานพบประสบตัวให้กลัวเกรงอย่างเสือ อย่างช้าง แต่ก็ได้ยินเสียงกระหึ่มคำรามของเสือ เสียงหักกิ่งไม้ของพญาคชสารดังแหวกความวิเวกมาให้ได้ยินไม่เว้นวาง

เดินไปตามทางซึ่งยังมีร่องรอยของพรานป่า แต่บางครั้งก็หลงทิศ ต้องหยุดกำหนดจิตตั้งทิศทางที่จะดำเนินต่อไป แล้วก็อดที่ระลึกถึงความรู้ความเห็นของครูบาอาจารย์ต่อไปมิได้ ด้วยความซาบซึ้งเหลือจะกล่าว

“ความรู้ของท่านที่มั่นคงอยู่นั้นสุดวิสัยของสัตว์ที่จะรู้ตามเห็นตามเพราะฝ่าอันตรายลงไปหลายชั้นหลายเชิง จึงเห็นธรรมของท่านลึกลับสุขุมคัมภีรภาพ จึงเห็นคุณธรรมของท่านเกิดขึ้นในเฉพาะหน้า ถ้าจิตฟูตามกิเลส ไม่เห็นคุณธรรมของท่านเลยเพราะอยู่คนละโลกเสียแล้ว จะเห็นหน้าท่านได้อย่างไร”

“คนอื่นจะฟังเทศน์ท่านเข้าใจนั้น เมื่อจิตหดแล้ว รีบทำความรู้ความเห็นจิตของตัว อย่านอนใจความวุ่นความวายในจิตของตัวได้แล้วทวนกระแสของจิตเข้าไป ตั้งใจฟังเรื่อยๆ ก็จะเห็นอานิสงส์ดูดดื่มธรรมรสนั้นทีเดียว เต็มทีอย่างเดียวมันยุ่งนำหัวใจของตน กรรมของตน ไม่เปิดออกจะรับธรรมได้อย่างไร”

“สติของท่านจับจิตอยู่เสมอ ท่านทำการงานอะไรลงไปไม่ผิด”

“ท่านไม่ส่งจิตออกนอก เกรงจะเป็นมิจฉาทิฐิ ท่านพิจารณาแต่กายกับจิต แสบตาตกตำ เพราะท่านสำรวม ท่านทำสัญญาและสติดล่องแคล่วชำนิชำนาญมาก ความรู้ความเห็นของท่านหนักแน่นมาก ไม่มีที่จะชอนเข็มฉะนั้นท่านพูดธรรมได้ไม่มีใครชอนเข็มคัดค้านได้เลย (นี้เป็นอัศจรรย์อันใหญ่หลวง) เรียกว่าท่านมีนิทัศบุญาณภายในแจ่มแจ้ง ท่านพิจารณาดูโลกไม่มีผู้หญิงผู้ชาย เพราะกรรมเป็นสภาพธรรมอันเดียว ไม่มีนอกไม่มีใน ไม่มีไป ไม่มีมา โลกเป็นอยู่เช่นนั้น ส่วนรู้เห็นธรรมก็รู้เห็นอยู่เช่นนั้น”

หลวงปู่คุยให้ฟังว่า ท่านเพลินคิด เพลินนึก ตรึกถึงธรรมะที่ได้รับถ่ายทอดมาทุกคืนวัน จิตทรงเป็นสมาธิ นับเป็นสังฆานุสติได้เป็นอย่างดี เดินวิเวกมาถึงสกลนครได้อย่างไม่ทันรู้ตัว

ปี ๒๔๘๔ นั้นท่านได้จำพรรษาที่บ้านห้วยหีบ อำเภอศรีสุวรรณ จังหวัดสกลนคร และก็จริงดังคาด ออกพรรษาแล้ว คณะศรัทธาทางสกลนครก็พร้อมกันจัดรถไปอาราธนานิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่นให้มาโปรดพวกคณะญาติโยมทางนั้น ปลายปี ๒๔๘๔ ท่านพระอาจารย์มั่นไปพักที่วัดป่าสุทธาวาสชั่วระยะหนึ่ง มีพระเณรมากราบนมัสการและฟังโอวาทท่านมิได้ขาด จากนั้นท่านก็ออกเดินทางไปพักที่สำนักป่าบ้านนามนซึ่งเป็นสถานที่ซึ่งมีป่าไม้ร่มรื่นดี เหมาะแก่การบำเพ็ญธรรม ท่านพักบ้านนามนเทศนาอบรมพระเณรและญาติโยมผู้ศรัทธามาฝึกสมาธิภาวนาตามควร แล้วก็มาพักและจำพรรษาปี ๒๔๘๕ ที่บ้านโคก ซึ่งที่อยู่ไกลออกไปจากบ้านนามนไม่กี่กิโลเมตร

ออกพรรษาปี ๒๔๘๕ ท่านย้อนกลับไปพักที่บ้านนามนอีก และจำพรรษาปี ๒๔๘๖ ณ ที่บ้านนามน หากทว่าระหว่างที่อยู่บ้านนามนนี้ ท่านได้ออกไปวิเวกตามหมู่บ้านต่างๆ ในบริเวณใกล้เคียง เช่น บ้านห้วยหีบ บ้านห้วยแคนในป่าบ้านนาสีนวน เป็นอาทิ มีทั้งพระเณรติดตามไปอยู่กับท่านตามจำนวนพอดีกับเสนาสนะหรือมิฉะนั้นก็อาศัยรุกขมูลร่มไม้เป็นเสนาสนะได้ ทุกวันพระธรรมสวนะจะมีพระเณรและประชาชนติดตามเข้าไปฟังโอวาทของท่านเสมอมิได้ขาด

หลวงปู่เป็นผู้หนึ่งที่ไม่ยอมพลาดโอกาสอันวิเศษนี้ ท่านมิได้จำพรรษาอยู่ด้วย และก็คงหาที่จำพรรษาในบริเวณใกล้เดียงอันอยู่ในรัศมีที่แวดวงบารมีของพ่อแม่ครูจารย์จะแผ่ไปคุ้มครองเป็นมงคลแก่เศียรเกล้าได้

ปี ๒๔๘๕ ท่านจำพรรษาที่บ้านอุ่นโคก ปี ๒๔๘๖ จำพรรษา ณ กระต๊อบเล็กๆ ที่ชายป่าใกล้กับที่พักสงฆ์ ณ บ้านนามน บางเวลาท่านพระอาจารย์มั่นออกวิเวกไปตามหมู่บ้านอนๆ ท่านก็ได้โอกาสขอไปพักอาศัยบารมีพักฟังเทศน์ฟังธรรมด้วย

ในภายหลัง ปี ๒๕๒๕ ท่านรำพึงไว้ ณ ถ้ำเจ้าผู้ข้า รำลึกถึงความเพียรพยายามที่ท่านบำเพ็ญมาในหนหลังว่า

๔ สิงหาคม ๒๕๒๕ ถ้ำผู้ข้า

“เมื่อคราวเราอยู่กะท่านอาจารย์มั่น ห้วยหีบ จ.สกลนคร นั้น เราทรมานตนอย่างขนาดใหญ่มีประการต่างๆ กำลังม้างกาย ประกอบจิตเด็ดเดี่ยว กล้าตาย ส่งเข้าภายใน มารตัวสำคัญ คล้ายมันปัดออก แต่เราสละตายเข้าไป เกิดระเบิดใหญ่ภายในนั้น ข้อ ๑ ถือธรรมะนิสัยท่านอาจารย์มั่น จึงชนะได้”

คราวท่านอาจารย์มั่นไปจุดศพ (เผาศพ - ผู้เขียน) ท่านอาจารย์เสาร์ ณ จังหวัดอุบลราชธานี นั้น เราเดินจงกรมระลึกถึงท่านเป็นที่หนึ่ง พร้อมทั้งอิทธิบาท ๔ ไม่ละซึ่งความเพียร

“๑/๑๑/๘๔ (ตรงกับ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๘๔ - ผู้เขียน) การภาวนาอยู่กับท่าน เห็นปาฏิหาริย์ของท่านหลายอย่างหลายประการ ทำให้ผู้น้อยไม่นอนใจ เร่งทำความเพียรเสมอ จิตไม่ส่งไป ณ ที่อื่น จิตดูดดื่มธรรมมาก ความประมาทมีน้อยจะไม่ให้ลูกศิษย์ได้นิสัยและได้ดีอย่างไรได้ ย่อมได้ดีทุกรูป ผู้ใหญ่มักพูดบ่อยๆ ผู้น้อยมีสติเพราะระวังตัว ท่านปกติทรมานผู้ที่ตั้งใจปฏิบัติจริงๆ ไปท่าย่อแก สกล ท่านไม่อยากไปเพราะไม่มีคนปฏิบัติตาม มีแต่ท่านอยู่ที่ไหนก็ทนได้ ท่านเพ่งประโยชน์เสียก่อนจึงไปและมีคนอาราธนานิมนต์ด้วย”

หลวงปู่บันทึกไว้อีกในปี ๒๔๘๔ นั้นว่า

๏ ลัทธิของท่านอาจารย์มั่น ๑๐.๑.๘๔

“เสียงดังเป็นเสียงของบุรุษ เสียงเป็นรัศมีอำนาจเลี้ยงจิตมากฉลาดใช้ไหวพริบทางจิต ไม่เชื่อนิมิต ท่านเชื่อธรรมะที่เกิดปัจจุบันปัญญาบริบูรณ์ไม่บกพร่อง กาย วาจา จิตเข้มแข็งมาก พิจารณาธรรมะถึงแก่นเป็นผู้บริบูรณ์ทางปริยัติและปฏิบัติ กายวาจาใจเป็นอาชาไนยเสมอจิตไม่มีการหดหู่จิตชื่นตื่นเต้นอยู่ด้วยสติ”

“สานุศิษย์ที่อยู่ด้วยมีการปฏิบัติ คือ จิตไม่ออกรับเหตุภายนอก จิตเยือกเย็น ขนหัวลุก จิตกลัวเกรงท่านมาก ดุจท่านเห็นจิตของเราอยู่เสมอ จิตของเราพิจารณาค้นเหตุผลอยู่เสมอไม่นอนใจ ฉะนั้น สานุศิษย์จึงมีสติเร็ว รู้เร็ว เห็นธรรมะเร็ว ผู้มีวาสนาน้อยไม่ติดตามท่านเพราะข้อวัตรของท่านเข้มแข็ง น้ำใจเด็ดเดี่ยวกะเพชร ท่านพูดมีธรรมะภายในภายนอกเป็นที่อ้างอิง สานุศิษย์เข้าหาท่านร้อน ทำให้จิตผู้น้อยค้นคว้าหาเหตุผล เมื่อออกมาแล้วจิตจึงเห็นอานิสงส์ เมื่ออยู่กะท่านไปแล้วยิ่งเห็นอัศจรรย์ใหญ่ ท่านเป็นคนเกรงใจคน ท่านเป็นคนใหม่ในตระกูลทั้งหลาย ไม่ติดอามิสและติดตระกูล เป็นคนชอบสันโดษ ไม่ยุ่งกังวลทุกอย่าง อุบายธรรมะแยบคายมาก อามิสได้ด้วยการเป็นเอง กินอร่อยดุจแมลงภู่ชมเกสร มีความรู้เท่าทันเหตุผล มีญาณความรู้ทุกเส้นขน เป็นคนราคะกับโทสะจริต ท่านได้พูดทำลงไปแล้วไม่มีใครคัดค้าน สติปัญญาแน่นหนามากหาที่จะซอนเข็มมิได้ (เป็นนักรู้นักปฏิบัติ) พูดไม่เกรงใจคน พูดถูกธรรมะก็เป็นอันที่แล้วกัน มีจิตน้อมไปเพื่อปฏิบัติให้สิ้นทุกข์ทีเดียว ไม่พูดตลกคะนอง”

“แรงทางสมาธิและปัญญา แรงทางสติหนาแน่นมากเพราะท่านค้นกายจิตพอ เพราะฉะนั้นสติของท่านจึงไม่เผลอ”

ภัยสงครามครั้งที่สองถามมาถึงประเทศไทยด้วย ตั้งแต่วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะขาดแคลนเครื่องอุปโภค บริโภค ภายหลังเริ่มมีการถูกทิ้งระเบิดระหว่างอยู่บ้านอุ่นโคก พ.ศ. ๒๔๘๕ ท่านบันทึกไว้ถึงความเป็นห่วงทางบ้าน อาจจะหวาดเกรงภัยสงคราม จิตจะไม่มีที่พึ่ง

อยู่บ้านอุ่นโคก เดือน ๕-๖ พ.ศ. ๒๔๘๕

“จิตได้วิเวกบังเกิดความกลัวต่อสู้ทางอากาศ พิจารณากายปฏิภาค นิมิตแยบคายมาก คิดถึงคุณของท่านอาจารย์ใหญ่มาก แต่วิตกทางบ้านเรื่อยๆ นิมิตความฝันก็เป็นมงคล พึ่งธรรมไม่พึ่งยาเหมือนแต่ก่อน ท่องปาฏิโมกข์ก็สะดวก ร่างกายก็ให้โอกาสไม่เจ็บป่วย สัญญาในอดีตเกิดมาก แต่พิจารณาถึงหลักของธรรมแล้วหาย อยู่วิเวกคนเดียวมีความสุขมาก จิตพึ่งธรรมะไม่พึ่งคนอื่น”

“เฉพาะตัวของเราเมื่ออยู่ในสำนักของท่านแล้ว ให้สำคัญว่า เราเป็นสามเณรเพื่อถอนทิฐิมานะ แข่งดีกับท่าน พิจารณาแล้วสะดวก เข้าอุปัฏฐากท่าน แหม่ลืมอารมณ์บ่วงมานาน พึ่งมาตั้งจิตได้ อนิจจาเอย ประมาทมามากมายฯ”

“พิจารณากายให้มากเป็นอุคคหนิมิต พิจารณาอุคคหนิมิตให้มากเป็นปฏิภาคนิมิต พิจารณาปฎิภาคให้มาก จิตรวมเป็นอริยสัจ เห็นแจ้งพร้อมด้วยญาณสัมปยุต เกิดขึ้นมาเรียกว่า อุฎฐาคามินีวิปัสสนา ทำในที่นี้ให้ชำนาญแล้ว เห็นพร้อมด้วยการรวมใหญ่ มีญาณสัมปยุตทวนกระแสแก้อนุสัยสมมติเป็นวิมุติฯ”

“อุบายของวิปัสสนาที่จะถ่ายถอนกิเลส ธรรมชาติของสวยของงามต้องมาแต่ของที่ไม่ดี ดุจดอกประทุมชาติเกิด ณ ที่เปลือกตม ธรรมวิเศษต้องพิจารณาออกจากกายอันเปื่อยเน่า”

“การพิจารณากาย ต้องให้ก้าวเข้าไป ถอยออกมาเป็นอนุโลมปฏิโลมจนให้ชำนาญต่อไป จิตเป็นเองจิตย่อมจะรวมใหญ่ จึงเห็นความเป็นอันเดียวกันหมดทั้งโลก เป็นธาตุทั้งสิ้น นิสิตจะปรากฏขึ้นพร้อมกันว่าโลก โลกราบดุจหน้ากลอง เพราะมีสภาพเป็นอันเดียว”

“อริยสัจเป็นที่แก้สมมติในจิต”

๏ พรรษาที่ ๒๐-๒๕ พ.ศ. ๒๔๘๗-๒๔๙๒
ดุจนายทวารบาลแห่งบ้านหนองผือ

พ.ศ. ๒๔๘๗-๒๔๘๘ จำพรรษา ณ
บ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
พ.ศ. ๒๔๘๙-๒๔๙๐ จำพรรษา ณ บ้านอุ่นดง จ.สกลนคร
พ.ศ. ๒๔๙๑ จำพรรษา ณ บ้านโคกมะนาว จ.สกลนคร
พ.ศ. ๒๔๙๒ จำพรรษา ณ บ้านห้วยบุ่น ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร


ในปี ๒๔๘๗ นั้นท่านพระอาจารย์มั่นจำพรรษาอยู่ที่บ้านโคก ซึ่งไม่ใช่สำนักเดิมที่เคยจำมาแล้ว เป็นสำนักใหม่ที่พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ สร้างถวายในปีเดียวกันนี้ ขณะนั้นหลวงปู่หลุยจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านโคกนัก ระยะนั้นท่านกำลังมีความคิดว่าควรจะให้ชาวบ้านหนองผือได้มีโอกาสได้บุญกุศลอย่างมหาศาล โดยการอาราธนานิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ ให้มาจำพรรษาโปรดพวกเขาบ้าง ที่บ้านหนองผือนาในนี้บ้าง

ความจริงในระยะเวลานั้น ครูบาอาจารย์หลายองค์ก็มีความปรารถนาอยากให้ท่านพระอาจารย์มั่นมาจำพรรษาที่สำนักสงฆ์หรือวัดที่ท่านกำลังปฏิบัติอยู่ ระหว่างที่ท่านพระอาจารย์มั่นจำพรรษาอยู่ที่สำนักป่าบ้านโคกก็ดี บ้านนามนก็ดี หรือย้อนกลับมาที่บ้านโคก แต่ว่าเป็นคนละแห่งกับบ้านโคกที่ท่านพักจำพรรษาเมื่อปี ๒๔๘๕ หลายต่อหลายองค์ก็คิดว่าควรจะหาทางอาราธนานิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่นให้ไปโปรดญาติโยมที่สำนักสงฆ์ หรือวัดป่าที่ท่านเคยคุ้นเคยกับญาติโยมเหล่านั้น

ขณะนั้นหลวงปู่หลุยได้มาที่บ้านหนองผืออีกครั้งหนึ่ง นอกจากการที่ท่านจะได้ไปฟังธรรมจากครูบาอาจารย์แล้ว ท่านก็ยังได้สอนอบรมพวกชาวบ้านในเขตหนองผือ ในเรื่องการฟังธรรมอีกครั้งหนึ่งด้วย ตามแบบฉบับที่ท่านเคยได้สอนไว้แต่ครั้งแรกที่ท่านมาพักจำพรรษาแต่ในปี ๒๔๗๘ ก่อนโน้น ก็เป็นเวลาเกือบ ๙ ปีที่แล้ว

ในระยะนี้เผอิญเป็นระยะที่กำลังสงคราม พ.ศ. ๒๔๘๗ เป็นเวลาที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ยุโรปกำลังเริ่มจะแตกหัก ส่วนทางมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นก็กำลังรบรุกอย่างหนัก สภาพการขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคมีอย่างมากที่สุด เสื้อผ้าแพรพรรณอาศัยของนอกไม่ได้ต้องใช้การทออยู่ภายใน ระหว่างนั้นการขาดแคลนเรื่องผ้าเครื่องนุ่งห่มต่างๆ รวมทั้งพระเณรก็ขาดแคลนสบง จีวร จนกระทั่งว่าวัดที่ท่านพระอาจารย์มั่นจำพรรษาอยู่ที่บ้านนามนนั้น ออกพรรษาแล้วก็ไม่มีผ้าจะเปลี่ยนผ้าสบงจีวร

เมื่อหลวงปู่ท่านมาอยู่บ้านหนองผือ ครั้งที่ ๒ มาอยู่จำพรรษา ออกพรรษาแล้วท่านก็พาชาวบ้านที่ท่านฝึกไว้ตั้งแต่เมื่อตอนต้นปีนี้ ทอผ้าว่าทออย่างไร ออกพรรษาแล้วก็พาเขาไปถวายผ้า แล้วพร้อมกับแนะให้เขาอาราธนานิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่นให้ขึ้นมาพักอยู่ที่บ้านหนองผือ แสดงความเคารพนอบน้อม

ท่านพระอาจารย์มั่นก็มองดูเห็นว่าชาวบ้านหนองผือนี้มีความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแท้จริง การเข้าใกล้ครูบาอาจารย์ก็มีความนอบน้อม แสดงความคารวะ เจรจาความใด แสดงว่ามีศีลมีธรรม มีความเคารพ ตั้งใจจะปฏิบัติภาวนา ท่านพระอาจารย์มั่นก็บังเกิดความเมตตา สุดท้ายท่านก็ยอมรับว่าจะมาอยู่จำพรรษาหน้าให้

เมื่อออกจากบ้านนามนแล้ว ท่านมาพักอยู่ที่บ้านห้วยหีบ โดยพักอยู่ที่บ้านห้วยหีบ ๓ เดือนเศษ ระหว่างที่อยู่บ้านห้วยหีบนี้หลวงปู่หลุยก็ได้ไปพักอยู่ด้วยท่าน เรื่องนี้ท่านได้เล่าไว้ในภายหลัง โดยบันทึกไว้ระหว่างที่ท่านอยู่ถ้ำเจ้าผู้ข้าเมื่อปี ๒๕๒๕ ว่า

“เมื่อคราวเราอยู่กะท่านอาจารย์มั่น ห้วยหีบ สกลนครนั้น เราทรมานตนอย่างขนานใหญ่ มีประการต่างๆ กำลังม้างกาย ประกอบจิตเด็ดเดี่ยว กล้าตาย ส่งเข้าภายใน มารตัวสำคัญ คล้ายมันตัดออก แต่เราสละตายเข้าไป เกิดระเบิดใหญ่ภายในนั้น ถือธรรมนิสัยท่านอาจารย์มั่นจึงชนะได้”

เมื่อได้ยินข่าวว่าท่านพระอาจารย์มั่นรับอาราธนานิมนต์แล้วว่าจะมา เพียงแต่ท่านออกท่องเที่ยวธุดงค์มาเรื่อยๆ แต่หลวงปู่ก็ทราบดีว่า ปกติท่านพระอาจารย์มั่นไม่ชอบเบียดเบียนพระเณรในวัดใด ท่านจะปล่อยให้อยู่ตามสบายๆ หากพบว่าเมื่อท่านมาแล้วจะทำให้พระเณรลำบากต้องจากที่ไป ท่านก็จะผ่านเลยไป หาความสะดวกสบายที่วิเวกสถานที่อื่นแห่งอื่นต่อไป

หลวงปู่ทราบนิสัยของครูบาอาจารย์ดี ท่านจึงรีบกลับมาเตรียมจัดเสนาสนะที่บ้านหนองผือ ทางชาวบ้านเรียกว่าเป็น “วิทยายุทธของเพิ่น” เพราะว่าท่านรู้ว่า “หลวงปู่มั่นซิบ่ไปเบียดเบียนพระเณรในวัดใด๋ ปล่อยให้อยู่ตามสบายๆ หลวงปู่เพิ่นจึงขึ้นมาก่อน เพิ่นมาสะสาง” ปรากฏว่าขณะนั้นมีหลวงตาองค์หนึ่งอยู่ที่บ้านหนองผือ อยากอยู่กับหลวงปู่มั่น ถือว่าอยู่ก่อนหลวงปู่มั่น ก็ไม่ยอมไป ถือโอกาสจะครอบครองวัดนั้นอยู่ หลวงปู่ขึ้นมา

“เพิ่นไล่หลวงตานี้หนีไปก่อน เพื่อปล่อยให้เป็นวัดร้าง บ่ให้ไผอยู่ ตัวเพิ่นเองก็หนีไปอยู่ที่บ้านห้วยบ่นบ้าง ทางบ้านนาเหล่าบ้าง บ่อยู่ขัดขวางทางท่านอาจารย์”

ซึ่งเป็นคำพูดของหลวงตาบู่เล่าให้ฟัง และเล่าถึงการมาวัดหนองผือของท่านพระอาจารย์มั่นว่า

“เพิ่นซิย่างมาทางอุ่นดง ทางอุ่นโคก ทางหนองสะไน ทางที่เพิ่นเคยอยู่ หลวงปู่มั่นเพิ่นเดินทางมานอนที่บ้านห้วยหีบ บ้านหนองน้ำใส กุดน้ำใส คืนหนึ่ง เสร็จแล้วหลวงปู่ก็มาถึง คืนที่ ๒ ก็มาถึงหนองผือแล้ว”

หลวงตาบู่เล่าต่อไปว่า เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นเข้ามาพักอยู่เรียบร้อยแล้ว หลวงปู่หลุยก็ทำท่าทางไม่รู้ไม่ชี้ ค่อยๆ ออกมาจากบ้านห้วยบุ่น แล้วก็มากราบนมัสการหลวงปู่มั่นในตอนบ่ายของวันรุ่งขึ้น ทำเหมือนว่าท่านไม่รู้เรื่องรู้ราวที่พวกราษฎรบ้านหนองผือไปอาราธนานิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่นมา

ท่านว่าความจริงหลวงปู่มั่นก็พอรู้ๆ อยู่ แต่ท่านก็ทำเฉยเสียเหมือนท่านไม่รู้เรื่องอะไร ในการที่หลวงปู่หลุยได้ตระเตรียมสถานที่แบบนี้ ทั้งๆ ที่วัดป่าบ้านหนองผือนี้ท่านจำพรรษามาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๗ อยู่ตลอดมา แต่ท่านก็ทำเป็นกลับออกไปหลบอยู่ที่ข้างนอก บ้านหนองผือกลายเป็นสถานที่ร้าง เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นท่านอาจารย์ของท่านได้มาเห็นท่านก็พอใจ เพราะเป็นวัดร้างจริงๆ ไม่มีใครอยู่ ณ ที่นั้น แต่ก็ดูปัดกวาคอย่างเรียบร้อย พวกชาวบ้านก็พากันมากราบพร้อมกันเป็นการแสดงความยินดีที่ได้มีครูบาอาจารย์องค์สำคัญเมตตากรุณาพวกเขาเดินทางมาถึง

หลวงปู่หลุยทำให้ทุกคนเข้าใจว่า ชาวบ้านคิดเอง ทำเอง มีจิตเลื่อมใสเอง การทุกอย่างดูช่างแนบเนียน ไม่ให้ใครเข้าใจได้ ทำให้ทุกคนรู้สึกเมตตาสงสารชาวบ้านอย่างยิ่ง เมื่อคณะเข้ามาพักอยู่เรียบร้อยแล้ว หลวงปู่หลุยจึงค่อยเข้ามากราบ อันที่จริงหลวงปู่เป็นคนที่มีนิสัยชอบอยู่องค์เดียว ท่านไปช่วยสร้างวัดใดแล้วเมื่อเวลาท่านกลับมา มีพระเณรอยู่ อย่างเช่นที่วัดหนองผือ ที่ท่านเข้ามาในระยะแรกท่านก็ไม่เข้ามาอยู่ในวัด ท่านกลับไปนอนนอกวัด ตามกระต๊อบนาบ้าง ตามโคนไม้รุกขมูลบ้าง หรือไปนอนตามป่าบ้าง ท่านไม่เข้าไปอยู่ในวัด เพื่อให้พระเณรที่อยู่ในวัดนั้นเกรงใจ อันนี้เป็นนิสัยของท่าน ถ้ามีผู้อยู่ในวัดแล้ว ท่านจะไม่เข้าไปในเขตวัดเลยทั้งๆ ที่เป็นวัดที่ท่านได้จัดสร้างขึ้นมาแท้ๆ

หลวงตาบู่ผู้เล่าเรื่องนี้ เมื่อสมัยหลวงปู่มาอยู่บ้านหนองผือแต่สมัยแรกปี ๒๔๗๘ ยังเป็นเด็กหนุ่มอยู่ ต่อมาในสมัยหลัง พ.ศ. ๒๔๘๗-๒๔๘๘ ก็เป็นกำลังศรัทธาอันเข้มแข็ง แต่ปัจจุบันนี้ก็กำลังบวชเป็นภิกษุอยู่ ได้เล่าต่อไปว่า

เรื่องหลวงปู่มั่นที่จะกลับมานั้น หลวงปู่หลุยท่านได้วางแผนประชุมพวกชาวบ้านซึ่งรวมทั้งหลวงตาบู่ขณะนั้นให้เข้าใจด้วย มีการอบรมชาวบ้านให้เข้าใจเรื่องศีล เรื่องธรรม เรื่องข้อวัตรปฏิบัติ เรื่องการทำบุญสุนทานรักษาศีล ภาวนาเป็นอย่างดี เป็นการเตรียมตัว ไม่ได้เตรียมสถานที่ เสนาสนะไว้เท่านั้น แม้แต่เตรียมบุคคล เตรียมผู้ที่จะทำข้อวัตรอุปัฏฐากท่านอาจารย์ด้วย เป็นการที่ทำให้ท่านพระอาจารย์มั่นพอใจและมีเมตตาชาวบ้านหนองผือเป็นพิเศษ ถึงได้อยู่จำพรรษาอยู่ ณ ที่นั้นเป็นเวลานานติดต่อกันถึง ๕ พรรษา ตั้งแต่ปี ๒๔๘๘-๒๔๙๒ จนกระทั่งท่านเข้าสู่นิพพานที่วัดป่าสุทธาวาสในภายหลัง

หลวงตาบู่ยืนยันว่า เมื่อก่อนนั้นก็ไม่มีใครรู้ประวัติวัดหนองผือนี้เลยว่าเป็นมาอย่างไร ถ้าไม่ใช่หลวงปู่หลุยเป็นผู้ริเริ่มจัดสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ แล้วได้มีอุบายวิธีนิมนต์หลวงปู่มั่นมาจำพรรษา ก็คงไม่มีชื่อที่จะติดอยู่ในประวัติศาสตร์ชีวิตพระกัมมัฏฐานเช่นทุกวันนี้

หลวงตาบู่ได้เล่าถึงการอบรมสั่งสอนของหลวงปู่หลุยต่อไปอีกว่า

“การสอนของเพิ่น สอนตั้งแต่พ่อถึงลูก ถึงหลานถึงเหลน เป็นที่จับใจ สอนก็สอนแบบง่ายๆ รู้สึกว่าเพิ่นซิเป็นที่สนิทสนมที่สุดของชาวบ้าน ชาวบ้านก็ซิคุ้นเคยกับเพิ่นที่สุด เรียกว่าคุ้นเคยแบบพูดได้ทุกประโยค แบบพ่อแม่พูดกับลูก แบบพ่อแม่อบรมสั่งสอนลูกนั่นแหละ”

ชาวบ้านหนองผือกับหลวงปู่จึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ท่านเมื่อจำพรรษาที่บ้านหนองผือกับหลวงปู่มั่นในปี ๒๔๘๘ แล้ว ระยะต่อมาท่านก็แยกไปจำพรรษาอยู่ที่อื่น หรือระหว่างพรรษาหนึ่งกับอีกพรรษาหนึ่งท่านก็หลบไปอยู่ที่อื่นเช่นกันเช่นปี ๒๔๘๙, ๒๔๙๐ ท่านไปอยู่อุ่นดง ๒๔๙๑ จำพรรษาที่บ้านโคกมะนาว ซึ่งในพรรษานี้มีท่านพระอาจารย์สิงห์ทองจำพรรษาอยู่ด้วย ๒๔๙๒ อันเป็นปีที่ท่านพระอาจารย์มั่นมรณภาพ ท่านจำพรรษาที่บ้านห้วยบุ่น

สำหรับปี ๒๔๘๘ ที่ท่านอยู่จำพรรษากับท่านพระอาจารย์มั่น ณ บ้านหนองผือ ได้มีพระอื่นที่จำพรรษาด้วยอีก คือท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ท่านพระอาจารย์มนู ท่านครูบาอ่อนสา ท่านครูบาเนตร กันตสีโล ท่านพระอาจารย์วัน อุตฺตโม และเณรดวง ผ้าขาวเถิง

ในระหว่างฤดูแล้งออกพรรษาแล้ว ท่านจะอยู่บ้านนาเหล่าบ้าง วนเวียนอยู่แถวบ้านอุ่นดง บ้านอุ่นโคก ไปอยู่ทางนี้หลวงตาบู่ว่า รู้สึกว่า ๓ ปี อยู่ทางตะวันตกของบ้านหนองผือ ๒ ปี มาอยู่ทางตะวันออก ๓ ปี ถือวัดป่าบ้านหนองผือเป็นจุดศูนย์กลาง โดยรอบวัดสำคัญที่ท่านพระอาจารย์มั่นอยู่ เพราะท่านพระอาจารย์มั่นไม่ชอบให้พระเณรอยู่ในวัดเดียวมากเกินไป อีกทั้งระยะหลังท่านก็เริ่มมีอายุมากแล้วการจะปล่อยให้พระเล็กเณรน้อยที่ไม่ได้ผ่านการอบรมบ่มนิสัยเข้าไปใกล้ชิดท่าน ก็จะเป็นภาระอันหนักแก่ท่าน บรรดาพระเถระผู้ใหญ่ จึงต้องเป็นคล้ายนายทวารบาลช่วยดูแลอบรมกันเป็นลำดับๆ ชั้นก่อน ต่อเมื่อเห็นองค์ใดมีนิสัยพอจะมี “ประกายแวววาว” ก็จะส่งต่อไปให้ได้รับการอบรมขั้นสูงต่อไป

หลวงปู่กล่าวอย่างถ่อมองค์เสมอว่า “เวลาอยู่กับท่านอาจารย์มั่นท่านเป็นประดุจเขียงเช็ดเท้าของท่านอาจารย์ เหมือนผืนหนังที่ก่อนจะถูกฟอกให้อ่อนนุ่ม จะต้องผ่านกรรมวิธี ถูกทั้งทุบทั้งตีอย่างหนัก จนกว่าจิตที่กำเริบฟุ้งซ่านจะอ่อนยวบสยบลง” สำนวนท่านเรียกว่า จิต “กำเหริบ”

ท่านเล่าว่า เมื่อตอนที่มาอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น ระยะนั้นท่านก็เพิ่งผ่านพ้นสนามทดลองมาใหม่ๆ จิตกำลังมีกำลังกล้า ได้ฝึกปรือด้านการม้างกายมา ทำปฏิภาคนิมิตขยายใหญ่ขึ้น ทำให้เล็กลง เป็นอนุโลมปฏิโลมอย่างคล่องแคล่ว กำหนดรู้จิตคนก็รู้ได้มาก

ดังนั้น วันหนึ่งอดไม่ได้ไปแอบม้างกายท่านพระอาจารย์มั่น เห็นแสงแห่งจิตของท่าน กำหนดแยกส่วนออกเป็นชิ้นๆ ส่วน เพราะหลวงปู่ถือตำราอยู่ว่า หากกำหนดม้างกายใครแล้วก็จะรู้จักคนนั้น ทรมานจิตคนนั้นให้อ่อนลงได้ ท่านเคยปฏิบัติกับบุคคลอื่นตลอด วันนั้นอวดกล้าลองดีไปลองวิชาเอกกับครูบาอาจารย์ ถูกท่านอาจารย์เอ็ดกลับมาเสียงดังสนั่นลั่นศาลา แต่วันหลังก็ยังไม่เข็ด ก็ยังแอบดูอีก แอบคิด ท่านเรียกว่า เหมือนบ้าๆ ขึ้นมาเอง อยากจะดูนักว่าจิตพระอรหันต์เป็นอย่างไร และเช่นเดียวกับครั้งก่อน ถูกเอ็ดเปรี้ยงลงมาเช่นเดียวกัน

ความจริงต่อมาในบันทึกท่านได้กล่าวอย่างชัดว่า

“การดูบุคคลใด คนไหนมีบุญ มีวาสนา มีนิสัยอย่างไร จะเห็นแสงแห่งจิตได้ชัด”

นี่ก็เช่นเดียวกัน วันหนึ่งในระหว่างเรียนภาวนา กำลังพูดถึงการปฏิบัติภาวนากับศิษย์ มีศิษย์คนหนึ่งมีนิสัยออกโลดโผนปรารภถึงเรื่องนี้ วันนั้นท่านก็เผลอคุยให้ฟังว่า ท่านเองเคยแอบดูจิตท่านพระอาจารย์มั่น โดยท่านใช้วิธีหลายวิธี บางครั้งดูในเวลาสงบเงียบอยู่ ก็เห็นจิตสว่างไสวเป็นธรรมดา ท่านอยากจะคิดว่าพระอรหันต์นั้นมีจิตเป็นอย่างไร จะมีอารมณ์ราบเรียบอยู่เช่นนั้นตลอดไปหรือไม่ ท่านก็ลองใช้วิธีพูดเพื่อจะทำให้ถูกท่านอาจารย์ใหญ่ดุ แล้วก็แอบดูจิตของท่านพระอาจารย์มั่น ท่านบอกว่าเป็นแสงแดงจ้าสว่าง สว่างแต่ออกข้างแดง

ความซนของท่านนั้นก็เป็นที่ประจักษ์แก่ท่านอาจารย์อยู่ ถึงถูกทั้งดุทั้งว่าต่างๆ ท่านเองเคยเขียนไว้ว่า

“ครั้งหนึ่งที่ภาวนาแล้ว ท่านอาจารย์ใหญ่จะยกโทษเรา แต่เมื่อเห็นรัศมีกายของเรา ก็เลยหยุดอยู่” ท่านกล่าวว่า “นี้นี้ก็เป็นข้ออัศจรรย์อย่างหนึ่ง”

Image
พระอาจารย์วัน อุตตโม

Image
พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ


ข้อที่ท่านบันทึกไว้เรื่องรัศมีกายนี้ ทำให้คิดขึ้นได้ถึงเรื่องรัศมีกายของหลวงปู่ที่เราเคยพบมา ลูกศิษย์ได้เคยถ่ายรูปท่านในปี ๒๕๒๐ การถ่ายรูปครั้งนั้น เป็นการถ่ายในอิริยาบถต่างๆ ท่านมาเยี่ยมบ้านลูกศิษย์คนหนึ่ง เผอิญศิษย์ที่มีนิสัยในการถ่ายรูปได้ถือกล้องมาด้วย ก็ขออนุญาตถ่ายรูปท่าน เธอได้ถ่ายรูปหลวงปู่ทั้งม้วน จำนวน ๓๖ รูป เมื่อล้างออกมาแล้ว มีอยู่รูปหนึ่งได้มีรัศมีวงกลมเรียงไปทางขวา ด้านขวาบนเศียรของท่าน รูปนี้ท่านเจ้าของบ้านได้นำไปกราบเรียนให้ครูบาอาจารย์ดูหลายองค์ เช่น หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ หลวงปู่ขาว อนาลโย ท่านพระอาจารย์วัน อุตตโม ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ต่างกล่าวว่าเป็นรัศมีของท่าน อีกองค์หนึ่งกล่าวว่าเป็นรังสีของท่าน รังสีนี้เป็นวงกลมสีขาว เข้าใจว่าเวียนอยู่รอบเศียรท่าน เมื่อมาพบบันทึกที่ท่านกล่าวว่า ท่านพระอาจารย์มั่นได้มองเห็นรัศมีกายของท่าน ก็ไม่ค่อยได้ดุอีกต่อไป หรือต่อหน้าคนอื่นท่านก็ยังดุบ้าง แต่ด้วยความเมตตาอยู่ตลอด

อีกเรื่องหนึ่งที่หลวงปู่เคยเล่าก็คือว่า ท่านถูกลองทดลองจิตจากหลวงปู่มั่นอยู่เสมอ บางครั้งถูกดุเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่ที่จริงท่านก็ทราบว่าเป็นอุบาย ที่หลวงปู่หลุยที่จะแกล้งพูดเพื่อให้ถูกดุ และเพื่อให้ทุกคนได้ฟังเทศน์เสมอกัน บางครั้งท่านไล่ถึงกับบอกว่า “ไอ้ผีบ้าไปให้พ้น ออกไป ออกไป” หลวงปู่ก็เก็บข้าวเก็บของหอบผ้าแล้วเข้ามากราบลา มาถึงแล้วท่านอาจารย์มั่นถามว่า “มาทำไม ใครบอกให้ไป เรื่องอะไรกัน” ท่านพูดเสร็จก็อมยิ้ม หลวงปู่ก็ต้องเก็บของกลับอยู่ต่อไป ท่านบอกว่าโดนอย่างนี้ ๒-๓ ครั้ง ครั้งแรกไม่เข้าใจ แต่ตอนต่อไปก็ทราบว่า ท่านต้องการจะทดลองจิตของศิษย์ ว่าเมื่อการที่ถูกดุถูกว่านั้น ศิษย์ที่เข้ามาหมอบกราบบอกว่า

“ขอมอบกายถวายชีวิตต่อท่านอาจารย์ ตามแต่ท่านจะเมตตาสั่งสอนทกอย่าง กระผมยอมทุกประการ”

แต่เมื่อถูกดุถูกว่าถูกไล่ จิตของศิษย์นั้นมีแข็งกระด้าง โต้แย้งท่านอวดดีต่อท่านหรือไม่ประการใด แต่ถ้าศิษย์ยอมสยบ จิตหดเข้าสู่ภายในแนบสนิทเวลาที่ถูกดุนั้นจะกลับเป็นธรรมที่วิเศษที่สุด กลับทำให้จิตรวม จิตอ่อน จิตนอบน้อม จิตควรแก่การงาน เป็นอุบายวิธีของท่านพระอาจารย์มั่นที่ใช้อยู่เสมอกับศิษย์ และหลวงปู่ก็เป็นองค์ที่ถูกทดลอง ดังที่ท่านกล่าวว่า “เป็นประดุจ เขียงเช็ดเท้า ที่ถูกเหยียบย่ำอยู่ตลอดเวลา”

ในระหว่างที่ท่านเริ่มมาสร้างวัดป่าบ้านหนองผือ ท่านก็ไม่ได้ทำเสนาสนะเป็นกุฏิ วิหารใหญ่โตอะไรนัก เพียงแต่ปลูกกระท่อมมุงหญ้าอยู่เท่านั้น อยู่ถึงเกือบ ๒ ปี แล้วมาอยู่ปีหลังก็มาซ่อมแซมเพื่อว่าครูบาอาจารย์เข้ามาอยู่ได้โดยสะดวก ปี ๒๔๘๗ นั้นท่านเริ่มเตรียมจัดทำกุฏิที่หลวงปู่มั่นอยู่ โดยจะขออนุญาตหลวงปู่มั่นอยู่ปีหนึ่ง ท่านไม่ได้เป็นคนขอโดยตรง แต่อธิบายให้ชาวบ้านมาขออนุญาต กราบเรียนว่า ขอสร้างกุฏิหลังหนึ่งเป็นหลังสุดท้าย พวกชาวบ้านก็เตรียมของมาพร้อม ขอก็ขอไป แต่หลวงปู่มั่นก็ไม่อนุญาต หลวงปู่มั่นไม่อนุญาตให้สร้าง ก็มากราบเรียนหลวงปู่หลุยว่าจะทำประการใด ท่านก็บอกว่า ให้รอไปก่อน แต่ปฏิบัติตัวให้เป็นคนดี ให้หลวงปู่มั่นเพิ่นเห็นใจ ให้แอบกระซิบสอนไว้ เวลาใส่บาตรก็ให้ขอ ลงมาชงน้ำร้อนถวายก็ให้ขอ ให้อ้างเหตุผลว่า “ขอสร้างกุฏิ ด้วยถือว่าเพิ่นชราภาพแล้ว ขอให้เพิ่นพักบ้าง ที่ต้องอยู่รุกขมูลร่มไม้ ชาวบ้านแสนจะสงสาร”

พวกชาวบ้านได้ฟังก็เชื่อฟัง ครั้นหลวงปู่มั่นเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านก็คุกเข่าอ้อนวอนขอสร้างกุฏิถวาย เอาน้ำร้อนเอาของไปถวายก็อ้อนวอนขออีก บางคนขอแล้วน้ำจิตน้ำใจนั้นโน้มน้อมลงไปจริงๆ ถึงกับน้ำตาคลอ อ้างว่าสงสารพ่อแม่ครูจารย์นัก ที่ต้องอยู่รุกขมูลร่มไม้ ไม่ได้อยู่ด้วยความสะดวกสบาย ใคร่จะขออนุญาตสร้างกุฏิถวาย ถึงองค์ท่านไม่เห็นแก่องค์เอง แต่ก็โปรดให้เห็นแก่พวกขะน้อยจะได้บุญได้กุศลบ้าง ชาตินี้พวกขะน้อยมีวาสนา ท่านมาโปรดอย่างใกล้ชิดเช่นนี้ ท่านผู้ที่มีคุณธรรมวิเศษได้มาถึงปานฉะนี้แล้ว ยังไม่ให้โอกาสได้ทำบุญเลยกระนั้นหรือ ขอท่านได้โปรดกรุณาเมตตาแก่พวกขะน้อยทั้งหลายด้วย ขอไปน้ำตาก็คลอไป แถมบางคนถึงกับร่วงพรูลง สุดท้ายหลวงปู่มั่นก็คงจะทนสงสารเมตตาไม่ไหว เห็นว่าดื้อขออยู่ตลอดเวลาจึงอนุญาตให้สร้างกุฏินี่ได้มา

สภาพของเสนาสนะยุคบ้านหนองผือ ผู้ที่ไม่ทราบความหลังก็จะเล่าแต่เพียงสั้นๆ ว่า อย่างในหนังสือเล่มหนึ่ง กล่าวว่า “ที่ทำก็พออยู่ได้เท่านั้น อย่างลงก็ปูกระดาน ปูกระดานก็ไม่ไสกบฝาก็เหมือนกัน สมัยนั้นมีปูกระดาน มุงกระดาน ๔ หลังเท่านั้น กับศาลาอุโบสถอีก ๑ หลัง กว้างประมาณ ๖ เมตร ยาวประมาณ ๘ เมตร เป็นศาลาเก่าโบราณที่เขาปลูกไว้ก่อนหลวงปู่มั่นไปอยู่ ส่วนศาลาฉันที่ปูฟากได้กล่าวแล้ว หลังอื่นๆ ที่พระเณรอยู่นั้นปูฟากมัดด้วยเครือเถาวัลย์ และมัดด้วยตอก ท่านได้ฝาแถบตอง ใบตองก่อและใบหูกวางทั้งนั้น ประตูทำเป็นฝาแถบตองเป็นหูผลักไปมา หน้าต่างทำเป็นฝาแถบตอง เสี้ยมไม้ไผ่เป็นง่ามค้ำเอาในเวลาเปิด เชือกระเบียงตากผ้าก็ฟั่นเอาฝ้ายเป็น ๓ เกลียว เพราะฝ้ายไม่หด ส่วนเครื่องมุงกุฏิก็หญ้าคาเป็นส่วนมาก”

ในหนังสือได้เขียนไว้เช่นนั้น แต่จะมีใครที่ทราบหรือไม่ว่า ศาลาเก่าโบราณที่เขาปลูกไว้ก่อนหลวงปู่มั่นไปอยู่ก็ดี หรือกุฏิต่างๆ นั้นก็ดี ได้เกิดขึ้นด้วยจากความคิดความนึกจากที่หลวงปู่หลุยได้ดำเนินการไว้

พวกผู้เฒ่าผู้แก่ที่หมู่บ้านหนองผือนาใน เล่าบอกว่า กระดานท่านก็ไม่ให้ไสกบ ท่านสอนเอาไว้ เพราะถ้าทำดีนักหลวงปู่มั่นก็จะไม่ยอมอยู่ ต้องมีสภาพดิบๆ เหมือนป่า เพราะพ่อแม่ครูบาอาจารย์หลวงปู่มั่นนั้นรักความวิเวกแห่งป่าอย่างยิ่ง ท่านเคยพร่ำสอนฝึกศิษย์อยู่เสมอว่า “สมเด็จพระพุทธองค์นั้น ท่านประสูติในป่า ตรัสรู้ในป่า ประทานปฐมเทศนาก็ในป่า ปรินิพพานก็ในป่า ป่าเป็นคุณแก่พระกัมมัฏฐาน เป็นที่น่าเคารพบูชาของพระกัมมัฏฐาน ธรรมทั้งหลายที่พระธุดงค์จะได้มานั้น ทั้งหมดนั้นจะมาจากความสงัดวิเวกทั้งนั้น ในป่านั้นอุดมไปด้วยเทพที่จะมาอนุโมทนาสาธุการ เมื่อพระได้ปฏิบัติบำเพ็ญความเพียรอย่างดี ทั้งชื่นใจ ทั้งอนุโมทนายินดีปรีดาด้วย เมื่อพระได้บำเพ็ญความเพียรและแผ่เมตตาให้ไปโดยรอบไม่มีประมาณ ไม่แต่มนุษย์ เทพ เทวดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ แม้แต่สัตว์น้อยใหญ่ ทวิบาท จตุบาทโดยรอบก็ได้รับกระแสแห่งความเยือกเย็นของการแผ่เมตตาบารมีของพระตลอดกาล การจัดสร้างสิ่งใดที่หรูหรา มากมาย ถือว่าเป็นของรกรงรัง ไม่ควรจะเป็น” สิ่งเหล่านี้หลวงปู่หลุยได้แอบอบรมชาวบ้านให้เข้าใจอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุดังนั้น ท่านพระอาจารย์มั่นจึงพักภาวนาอยู่ที่บ้านหนองผือนานกว่าที่อื่น ด้วยถือเป็นที่สัปปายะ ทั้งทางเสนาสนะ อากาศ อาหาร และบุคคล

หลวงปู่ได้บันทึกธรรมของท่านพระอาจารย์มั่น ณ ที่บ้านหนองผือนี้ไว้มากมาย ซึ่งได้แยกนำไปลงพิมพ์ในภาคอาจาริยธรรมเรียบร้อยแล้ว ท่านมีความเคารพอาจารย์ของท่านเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะกล่าวสิ่งใด เทศน์ตอนใด แม้ในระยะหลังนี้เกือบจะทุกคำพูดที่ท่านจะต้องยกอ้าง ท่านอาจารย์มั่นบอกว่า หรือหนังสือมุตโตทัยบอกว่า ท่านจะอ้างธรรมของครูบาอาจารย์มาเป็นประดุจคำไหว้ครูก่อนเสมอ เสร็จแล้วในตอนจบบางครั้งก็หลุดมาว่า ความจริงก็เป็นเช่นนั้น...!

Image
ท่านเจ้าคุณพระอริยเวที (เขียน ฐิตสีโล)

Image
ท่านพระอาจารย์มหาทองสุก สุจิตโต


อันที่จริงธรรมบางประการที่ท่านปฏิบัติตามมาแล้ว ประสบผลสำเร็จแล้ว ท่านอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นธรรมที่ท่านพบ บางท่านอาจจะไม่เคยต้องมาอ้างว่าเป็นคำของครูบาอาจารย์ที่สั่งสอนมา เพราะเมื่อปฏิบัติไปประสบความเยือกเย็นเห็นด้วยจิต เช่นเดียวกับอาจารย์ การเทศนาสั่งสอนก็มักจะข้ามเลยไป ไม่ได้เอ่ยอ้างถึงแต่หลวงปู่มิใช่เช่นนั้น หลวงปู่จะยกว่าเป็นคำที่ “ท่านอาจารย์มั่นว่า” เกือบจะตลอดฟังเผินๆ เหมือนว่าท่านไม่ได้มีความรู้อะไรด้วยตนเอง แต่อ้างท่านอาจารย์มั่นตลอด แต่ก็อย่างที่กล่าวแล้วหลายครั้ง ที่ท่านก็เผลอตบท้ายตอนหลังว่า “แต่ความจริงก็เป็นเช่นนั้น” หมายความว่า ท่านได้ปฏิบัติแล้ว...ได้ประสบผลแล้ว...พบแล้ว แต่ด้วยความเคารพสูงสุดต่อท่านอาจารย์ เหมือนกับว่าจะยกมือขึ้นประนมกราบไหว้บูรพาจารย์ของท่านก่อน ถึงจะให้คำเทศนาอบรมของท่านต่อไป

หลวงปู่ได้เคยยกเรื่องความน่าเคารพอย่างยิ่งของท่านพระอาจารย์มั่นอาจารย์ของท่านมากล่าวว่า “ท่านเป็นคนที่ถ่อมองค์ และมีอุบายวิธีอบรมศิษย์ของท่านอยู่เสมอ” บางครั้งท่านจะดุ บางครั้งท่านจะปลอบ บางครั้งท่านจะเปรย หรือบางครั้งท่านอาจจะยกยอ แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ประทับใจหลวงปู่มากนั้น ท่านเล่าว่า

ดูเหมือนจะเป็นในปีประมาณ ๒๔๙๐ ซึ่งท่านไม่ได้จำพรรษาอยู่ ณ วัดป่าหนองผือด้วย แต่ท่านอยู่ที่วัดบ้านอุ่นดง พอถึงฤดูแล้งท่านก็ได้เข้าไปกราบฟังเทศน์อยู่เสมอ วันนั้นเป็นวันโอกาสเหมาะสม ที่บังเอิญมีพระผู้ใหญ่ที่เป็นพระเถระมาจากจังหวัดต่างๆ หลายทิศหลายทาง เข้าไปศึกษาหารือธรรมะกับหลวงปู่มั่นพร้อมกันในวันเดียว โดยมิได้นัดหมายกันมาก่อนเลย...มี ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ องค์อุปัชฌาย์ของท่านมาจากอุดรฯ ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม มาจากนครราชสีมา ท่านเจ้าคุณพระอริยเวที (เขียน ฐิตสีโล) มาจากกาฬสินธุ์ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ท่านพระอาจารย์มหาทองสุก สุจิตโต และท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ

บางท่านก็มาจากพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล อย่างเช่นมาจากอุดรฯ นครราชสีมา กาฬสินธุ์ แต่หลายองค์ก็มาพักอยู่ที่วัดซึ่งไม่ห่างไกลจากวัดบ้านหนองผือนัก เช่น หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ อยู่วัดป่าหนองโคก อำเภอพรรณานิคม ท่านพระอาจารย์มหาทองสุก สุจิตโต อยู่วัดป่าสุทธาวาส หลวงปู่ฝั้น อาจาโร อยู่วัดธาตุนาเวง วัดป่าภูธรพิทักษ์ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ อยู่วัดดอยธรรมเจดีย์ ซึ่งขณะนั้นยังไม่ตั้งชื่อวัด แต่มาตั้งใหม่เปรียบเสมือนท่านแต่ละองค์ได้พักอยู่ตามวัดที่อยู่โดยรอบวัดป่าบ้านหนองผือ ต่างองค์ต่างทำหน้าที่ดุจนายทวารบาลที่รักษาพระราชาซึ่งอยู่กลางพระนคร ต่างองค์ต่างมาเยี่ยมมากราบท่านพระอาจารย์มั่นโดยมิได้นัดหมายกันเช่นนั้น ทำให้ได้ระลึกถึงวันมาฆบูชาที่วันนั้นพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ มากราบสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันเพ็ญเดือน ๓ โดยมิได้นัดหมายกันเช่นกัน

ในวันนั้น เมื่อพระผู้ใหญ่มาเยี่ยมกันหลายองค์เช่นนั้น ถึงเวลาท่านก็ให้มีการตีระฆังลงไปรวมกันที่ศาลา จุดตะเกียงเจ้าพายุดวงใหญ่ ทุกองค์ต่างก็ก้มลงกราบท่านพระอาจารย์มั่นพร้อมกัน ทุกองค์ต่างก็นั่งสงบเสงี่ยมพับเพียบโดยมิได้กล่าวอันใด คอยสดับฟังคำของครูบาอาจารย์อยู่อย่างสงบสงัด

หลวงปู่เล่าว่า วันนั้นท่านจำได้ไม่ลืม แต่ทำให้รำลึกอยู่ตลอดว่า นี่เองคือวิธีของ “ปราชญ์” ท่านเล่าว่า หลวงปู่มั่นได้กล่าวอารัมภกถาขึ้นในทำนองนี้ว่า

“เออ...วันนี้เป็นการสมควรแล้วที่ผมจะได้ศึกษากับพวกท่าน จะผิดถูกประการใดอยากให้พวกท่านปรารภได้ เตือนได้ ไม่ต้องเกรงใจเพราะผมได้ศึกษาน้อย เรียนน้อย...”

หลวงปู่เล่าว่า ท่านได้ยินคำเช่นนั้น ท่านรู้สึกน้ำตาแทบจะปริ่มออกมา...ไหลเลื่อนออกมาจากขอบตา ทั้งซาบซึ้งและตื้นตันใจเป็นที่สุด ดูหรือท่านเป็นครูบาอาจารย์ เคยขู่เข็ญ กำราบ คำราม ดัดนิสัยศิษย์มาต่างๆ ศิษย์ทุกคนสยบยอมรับแทบบารมีท่าน แทบเท้าท่าน เคารพทั้งถือเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นครูบาอาจารย์ ท่านสั่งให้ไปตายก็ตายได้ ท่านจะฆ่าก็ยอมทุกอย่าง ท่านตีก็ไม่หลบ ท่านทบก็ไม่หนี แต่แทนที่ท่านจะเริ่มต้นว่า วันนี้จะสอนเช่นนั้น...เช่นนั้น เราได้เห็นเป็นอย่างนั้น...อย่างนั้น ท่านกลับกล่าวอย่างแสนที่จะสงบเยือกเย็นเป็นทำนองยกย่องศิษย์ ในขณะเดียวกันก็แสนจะถ่อมองค์ว่า ท่านนั้นได้ ศึกษาน้อย เรียนน้อย ขอให้ท่านได้ศึกษากับพวกศิษย์บ้าง ขอว่าถ้าผิดถูกประการใค ขอให้พวกท่านปรารภได้ไม่ต้องเกรงใจ

นี่แหละปราชญ์แท้...! เป็นความที่หลวงปู่หลุยยกนำมาให้ลูกศิษย์ได้ฟังเสมอ ท่านเล่าต่อไปว่า วันนั้นธรรมก็แสนจะวิจิตรบรรจงมาก ซาบซึ้งมาก แต่สิ่งที่ประทับใจมากที่สุดติดมาจนกระทั่งถึงทุกวันนั้นคือ การพูดอย่างอ่อนน้อมถ่อมองค์ของท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งท่านไม่เคยลืมเลย

แต่เดิมคิดว่าจะได้มีการเขียนเล่าถึงสภาพวัดป่าบ้านหนองผือ และชีวิตความเป็นอยู่ของพระธุดงคกัมมัฏฐานในสมัยนั้น ที่ได้อยู่ใกล้ท่านพระอาจารย์มั่น อยู่ด้วยความเคารพ ด้วยความซาบซึ้ง และสงบเสงี่ยมสำรวมกายเป็นอย่างดี แต่ได้มาระลึกว่า จะไม่มีใครสามารถบรรยายถึงภาพสิ่งเหล่านี้ได้ดียิ่งกว่าการที่จะไปอ่านหนังสือประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ เขียนโดยท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ซึ่งเป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าวิเศษที่สุด ไม่มีหนังสือใดที่สามารถจะกล่าวได้ดีไปกว่านั้นถึงสภาพสิ่งเหล่านั้น จึงใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านได้ไปอ่านความในช่วงนั้นจะเข้าใจและซาบซึ้งได้ดียิ่งขึ้น


(มีต่อ ๙)
 


แก้ไขล่าสุดโดย สาวิกาน้อย เมื่อ 17 ม.ค. 2007, 2:30 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 17 ม.ค. 2007, 2:28 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ พรรษาที่ ๑๖ พ.ศ. ๒๔๘๓ เกิดอัศจรรย์ในดวงจิต
จำพรรษา ณ โพนสว่าง ต.นาอ้อ อ.กุดบาก จ.สกลนคร


หลวงปู่พักปฏิบัติธรรม ทำความเพียรอยู่ ณ บ้านหนองบง ต่อไปจนถึงวันขึ้นปีใหม่ เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๓

จากหนองบง ท่านต่อไป ไร่ม่วง ไป หนองผักก้าม แล้วกลับมาถ้ำผาปู่ แต่ต้นเดือนกรกฎาคม อยู่จนถึงวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๘ ก็ออกจากถ้ำผาปู่ ไปถึงบ้านโพนสว่าง นาอ้อ ในวันรุ่งขึ้น วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ เตรียมปวารณาเข้าพรรษา ปี ๒๔๘๓ ที่บ้านโพนสว่าง สกลนคร ทันที

แสดงว่า ท่านเดินทางเปลี่ยนสถานที่รวดเร็วมาก

“วันแรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๕ พ.ศ. ๘๓ (วันที่ ๑๔ เมษายน ๒๔๘๓-ผู้เขียน) นาพ่อสว่างไร่ม่วง สถานที่อากาศดี อาหารดี แต่ไม่สงบด้วยคนและสัตว์ ลักษณะจิตกลางคืนดี เพ่งดูนิสัยและนิมิตดี ตั้งแต่หัวค่ำไป กลางวันจิตไม่อยู่ ทำให้หงุดหงิด ไม่สบาย ใคร่อยากหนีไปอยู่แห่งอื่น แต่กลางคืนจิตอยู่ และธรรมที่เกิดในจิตสุขุมมาก คณะอุบาสกอุบาสิกาดี เด็กก็ดี บางกลางวันทำจิตก็ดี”

“พักหนองผักก้าม ๑๙/๒/๘๓ (๑๙ พฤษภาคม ๒๔๘๓-ผู้เขียน) เจริญภาวนาดีทั้งกลางคืนกลางวัน ดีกว่าบ้านม่วงมาก เงียบสงัดดี อากาศดี เสนาสนะดี อาหารพอ ภาวนาได้ดีเหมือนกะอยู่หนองบง เกิดความรู้อย่างสุขุม เสนาสนะห่างกันดีกว่าทุกแห่ง กุฏิกว้างขวางปรุโปร่งดี น้ำดี มิได้ฝันร้าย ผู้อื่นไม่พลุกพล่าน สัตว์ก็ไม่พลุกพล่าน สัญญาไม่มาก ไม่อยากหนีไปที่ไหน แม้แต่จะออกเดินไปเปลี่ยนอิริยาบถ”

ความจริงระหว่างอยู่หนองผักก้ามนี้ ท่านเคยคิดจะจำพรรษาที่นี้ เพราะเห็นว่าเงียบสงัดดี อากาศดี เสนาสนะดี การภาวนาก็ดีเช่นที่หนองบง ซึ่งท่านพอใจมาก หากเห็นว่าที่นั่นอากาศชื้นมาก อยู่ได้แต่ฤดูแล้ง เมื่อมาพบที่สัปปายะ อากาศดีที่หนองผักก้าม ท่านจึงตั้งใจจะจำพรรษา แต่สุดท้ายท่านก็คงต้องเปลี่ยนความคิด อ่านที่ท่านบันทึกไว้ในตอนต่อไปแล้ว อดน้ำตาคลอไม่ได้ ด้วยรู้สึกสงสารท่านสุดหัวใจ โดยเฉพาะตอนสุดท้ายที่ท่านว่า “พอจำพรรษาได้ก็จำ ถ้าไม่พอก็ต้องออกเดิน”

“๒๖/๒/๘๓ (๒๖ พฤษภาคม ๒๔๘๓-ผู้เขียน) ภาวนาดีทั้งกลางวันกลางคืน โรคร้ายก็ให้โอกาสดี จิตไม่ง้อคน จะมีอุปัฎฐากหรือไม่นั้นไม่น้อยใจ ตั้งใจอยู่แต่ภาวนาอย่างเดียว ไม่หวังทรมานคน พอจำพรรษาก็จำ ถ้าไม่พอต้องออกเดิน”

....แล้วท่านก็ “ต้องออกเดิน” จริงๆ ท่านย้อนกลับไปถ้ำผาปู่อีก

“มาถึงเดือน ๘ ขึ้น ๑ ค่ำ พ.ศ. ๘๓ (ตรงกับวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๓) ณ ถ้ำผาปู่ กิเลสเกิดอย่างเต็มที่ การก่อสร้างเกิดเต็มที่ แต่คติตามทันรู้ว่านักบวชสมัยนี้มารมาก โดยอยู่ได้จะมีปัญญาใหญ่ ถ้าอยู่ไม่ได้เสียหายใหญ่ เพราะโลกอยู่กับธรรมชนกัน (สมัยราคะ โทสะ โมหะ จัด) ใครอยู่ได้เป็นปราชญ์เยี่ยมฯ”

“นักปราชญ์จะอยู่ได้ต้องรักษาความสงบ รีบเร่งทำความดี เพียรให้ยิ่ง พอประทังตัวอยู่ได้ หากไม่ทำความเพียรเสียหายใหญ่โต เพราะนักบวชก็เสื่อม อุบาสิกาอุบาสกก็เสื่อม ต้องปฏิบัติตามมักน้อยจริงๆ จึงปฏิบัติศาสนาได้ จนอภิชน ลาภก็เสื่อม คนนับถือก็เสื่อม จึงเห็นได้ว่า เสื่อมพร้อมกัน เจริญพร้อมกัน ดุจสัตว์ตายในสงครามหมด สัตว์อ้อนวอนขอเกิด ต่อไปศาสนาจะเป็นอย่างไรทราบไม่ได้ฯ ราคะแรงกว่าทุกอย่างฯ”

“ผู้ปฏิบัติเห็นประโยชน์ในศาสนาน้อย”

“จิตภาวนาอยู่ แม้คิดถึงคนใดคนนั้นย่อมป่วย แม้จะเป็นพระภิกษุหรือคฤหัสถ์ก็เหมือนกัน ถ้าไม่ป่วยก็ส่งเมตตาจิตถึงกัน เช่น ท่านอาจารย์มั่นมาอุดรฯ จิตเราอยากไปอุดรฯ ก่อนที่ไม่ได้ยินข่าวมา ส่วนป่วยนั้นเมื่อเราจำพรรษาอยู่อำเภอพล คิดถึงท่านอาจารย์สิงห์ มาหาท่านก็ป่วยจริงๆ”

“๗/๔/๘๓ (๗ กรกฎาคม ๒๔๘๓-ผู้เขียน) อยู่ถ้ำผาปู่ ในคราวนี้กิเลสเกิดมาก โทสะไม่คอยเกิด แต่การก่อสร้างนั้นเกิดมาก จิตไม่มีหิริโอตตัปปะ เหตุมากอยู่ที่อื่น ไม่ค่อยเกิดร้ายแรงเหมือนอย่างนี้ ถึงเกิดก็ไม่นานกู่เดียวเห็น แต่จิตแนบเนียนดี สุขุมดี เห็นเหตุเห็นผล จิตติดอันใดย่อมอยู่ ณ ที่นั้นนาน”

“๑๐/๔/๘๓ (๑๐ กรกฎาคม ๒๔๘๓-ผู้เขียน) ผาปู่ นาอ้อ กิเลสรบกวนทุกคืน ใคร่จะออกเดินเมืองอื่นทุกคืน วางอารมณ์ยังไม่ได้ เหตุอดีตอนาคตนั้นมาก พิจารณาธรรมในปัจจุบันยังไม่ได้ จิตลงไปไม่ได้ทำให้อาพาธ ถอนจิตพิจารณาตามอารมณ์พอประทังตัวได้ จิตพุ่งตัดสินธรรมวินัยไม่ได้ พิจารณากรรมนั้นมาก โรคภัยเกิดขึ้นตามจิตวิบัติ แต่จิตยังมั่นอยู่ในที่วิเวก ไม่ชอบระคนด้วยหมู่ สำคัญว่าชีวิตจะไม่ยืน นอนยาก เข้าอนาปานุสติจึงนอนหลับ วิสัยจิตไม่วิ่งไปตามสัญญา จิตสันโดษในสมณบริขาร ชอบเป็นพ่อค้า เพ่งสมบัติบ้าง น้ำจิตยังกลัวตาย ปาฏิหาริย์ของท่านอาจารย์มั่นสำคัญมากยิ่งกว่าท่านอาจารย์สิงห์ ท่านอาจารย์เสาร์ชอบศึกษาจิตยิ่งกว่าเทศน์หรือทรมานคน พิจารณาศาสนาตกต่ำมาก ดีแต่พิจารณาอวัยวะร่างกายทะลปรุโปร่ง มิได้เป็นก้อนเหมือนเดิม จิตเชื่อมั่นในตอนนี้มากเพราะทำให้ละอุปาทาน จิตคฤหัสถ์เกิดขึ้นมากนั้นเป็นคราวๆ สงบเป็นคราว ๆ สงสัยในพระวินัยเป็นบางประการ แต่ทำจิตแก้ได้ ”

“พิจารณาดุจเราถอดชากผี ลอยใกล้ฝั่งแล้วกระโดดขึ้นฝั่ง อานิสงส์อัพยากฤตนี้ดีมาก พิจารณาธรรมให้เกิดจากนิสัย ละเจตนา ละตั้งใจ พิจารณาความเป็นเอง เพราะกรรมเป็นอัพยากฤต ให้รู้เอง เห็นเองตามจริตและนิสัย”

“มาอยู่ถ้ำเหตุผลยิ่งเกิดกว่าที่อื่น ใกล้ต่ออันตรายมาก ไม่ค้นอนุสัยแล้ว แต่อนุสัยจะฟุ้งขึ้นมาให้ปรากฏแล้วก็อ่านดูตามเรื่องนั้น อย่าเชื่อจิต ให้เชื่อธรรมะคือความเป็นเอง คือความเกิด ความดับของสังขาร จิตจึงไม่ร้อน กระสับกระส่าย จึงแลเห็นปกติของจิต ก็ได้ชื่อว่าเห็นธรรม”

“ถ้ำผาปู่ ขึ้น ๑๐-๑๑ เดือน ๘ พ.ศ. ๘๓ (ตรงกับวันที่ ๑๔-๑๕ กรกฎาคม ๒๔๘๓-ผู้เขียน) จิตยินดีรับพิจารณาอารมณ์ต่างๆ ไม่อยากทวนกระแสเข้าจิตเดิม เพราะมันร้อน พิจารณาไตรลักษณ์ไม่ใคร่ได้ กิเลสกำเริบ ต่างแต่พิจารณาธรรมะสุขุม ละลงเป็นชั้นๆ เยือกเย็นและพิจารณานิสัยของตนหวังเพื่อความสัปปายะของจริตจิตใจ ไม่ข่มจิตและไม่กด ให้พิจารณาความเป็นเองของนิสัยของจิต และพิจารณาบุญวาสนาของตน (ให้จิตเข้าเอง ให้เห็นเอง ให้ออกเอง หนักหรือเบา แข็งหรืออ่อน เมื่อจิตเบื่อในการออกแล้วเข้าเอง) รู้สึกว่าใจคอก็กว้างขวาง รู้นอกมากกว่าใน ใกล้ต่ออันตรายมาก รู้สึกว่าโรคไม่ค่อยกำเริบ รู้ช้า ไปช้าพิสดาร ต่างแต่ความรู้สึกน้อย สติน้อย ปัญญาน้อย แต่มีความสบายกาย สบายใจมาก เพราะไม่ขัดกับนิสัย กิเลสแรงมากกว่าอยู่ที่อื่น จิตไม่รู้เท่าทันเหตุ จิตรู้เท่าทันนิมิตที่แสดงออกมา ไม่เผลอเหมือนเมื่อก่อน ไม่เชื่อนิมิต มีสติระวังเสมอ อานิสงส์ที่ทรมานตัวอยู่ในถ้ำจะขยายไปได้นาน เพราะตั้งใจภาวนาอย่างเต็มที่ ไม่อ้างกาลอ้างเวลา จิตมัธยัสถ์แต่การภาวนา”

“ถ้ำผาปู่ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๘ พ.ศ. ๘๓ (๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๓-ผู้เขียน) การภาวนา ถ้ำผาปู่ จิตดูดดื่มมากถึงจะวิบัติเท่าไรไม่เสีย เพราะไม่ได้คลุกด้วยอารมณ์ต่างๆ เมื่อวิบัติแล้วก็เห็นความเจริญ เมื่อเห็นความเจริญแล้วก็เห็นความวิบัติ อยู่ในถ้ำเดือนหนึ่งนิสัยเปลี่ยนแปลงมาก จิตไม่เบื่อในถ้ำ จึงเรียกว่าจิตดื่มธรรมะเสมอ มีอานิสงส์หลายอย่างหลายประการ สถานที่เที่ยววิเวกมาก จิตเปลี่ยนอารมณ์เสมอ จิตไม่เศร้าหมอง เกิดความรู้ต่างๆ นิมิตฝันเป็นมงคลดีกว่าทุกแห่งเท่ากับหนองบง”

ณ ที่ถ้ำผาปู่ ระยะนี้เองที่ท่านถึงกับอุทานว่า

“เราคิดถึงคนใด คนนั้นคิดถึงเรา คนนั้นป่วย หรือคนนั้นมาหาเรา หรือคนนั้นมาใกล้ที่เราอยู่ อย่างคิดถึงท่านอาจารย์ เป็นต้น ท่านก็ป่วยจริง”

ท่านเริ่มได้ข่าว ท่านพระอาจารย์มั่นกลับมาจากเชียงใหม่แล้ว และบัดนี้กำลังจะมาที่อุดรฯ ทำให้ท่านรำพึงไว้ในสมุดบันทึกต่อไปในวันนั้นว่า

“อยากไปอุดรฯ แต่ก่อนท่านอาจารย์มั่นมา”

แต่เดิมท่านคิดจะอยู่จำพรรษาที่ถ้ำผาปู่ซ้ำอีกปีหนึ่ง อย่างไรก็ดี ท่านกลับคิดได้ว่า หากท่านพระอาจารย์มั่นมา การอยู่จำพรรษาที่ถ้ำผาปู่จะทำให้ท่านไม่มีโอกาสไปฟังธรรมได้ เพราะสมัยนั้นการคมนาคมระหว่างเลยและอุดรฯ ยังลำบากอยู่มาก เป็นการยากยิ่งที่จะไปฟังธรรมแล้วกลับวัดในวันเดียว หากท่านหาที่จำพรรษาอยู่ทางอุดรฯ หรือสกลนคร ยังจะมีโอกาสมากกว่า

ข่าวยังไม่แน่นอนว่า ท่านพระอาจารย์มั่นจะจำพรรษาอยู่ที่อุดรฯ หรือสกลนคร หลวงปู่จึงคิดจะไปดักรอที่สกลนคร เพราะขณะนั้นในใจท่านเริ่มคิดถึงถ้ำโพนงาม ที่ท่านได้วิชาม้างกาย ทำปฏิภาคนิมิตได้คล่องแคล่ว ณ ที่นั้น รวมทั้งได้มีประสบการณ์ด้านผ่านการพบสัตว์เสือ งู มาแล้วที่ถ้ำโพนงามด้วย ท่านระลึกถึงรสชาติดวามซาบซึ้งดูดดื่มในธรรมที่ได้รับระหว่างทำความเพียรอยู่ที่นั่น จึงใคร่จะกลับไปอีกครั้งหนึ่ง หากโชคดีท่านพระอาจารย์มั่นไปจำพรรษาอยู่ที่สกลนคร ซึ่งก็คงใกล้ถ้ำโพนงามมากเข้าไปอีก ก็จะเป็นโชค ๒ ชั้น สำหรับหลวงปู่เลยทีเดียว

คิดสระตะได้ลงตัวเช่นนั้น จากที่ยังคงอยู่ที่ถ้ำผาปู่ในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๘ รุ่งขึ้น วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ พ.ศ. ๒๔๘๓ อันตรงกับวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ หลวงปู่ก็เดินทางไปสกลนคร และจดลงในสมุดบันทึกของท่านว่า

“วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ พ.ศ. ๘๓ จำพรรษาโพนสว่าง นาอ้อ ภาวนากลางคืนดี กลางวันไม่สู้ดี เพราะกลางคืนสงัด กลางวันไม่สงัด”

ความจริง โพนสว่าง นาอ้อ ที่ท่านจำพรรษาครั้งนี้นั้น เป็นสถานที่บริเวณเดียวกับถ้ำโพนงาม ซึ่งบางครั้งท่านก็เรียกโพนเชียงหวาง บางทีก็เรียกหนองสะไน ทั้งนี้เพราะ ถ้ำโพนงามนี้อยู่ในระหว่างบ้านโพนงาม บ้านโพนสว่าง หรือบางทีก็เรียก โพนเชียงหวาง บ้านนาอ้อ และบ้านหนองสะไน การโคจรบิณฑบาต ท่านอาจไปทางหมู่บ้านใดก็ได้ ผู้ฟังจึงต้องระวังไม่ให้เข้าใจผิดสับสนกัน คิดว่าเป็นสถานที่ใหม่อีกแห่งหนึ่ง

สำหรับถ้ำโพนงาม หรือโพนสว่างนี้ หลวงปู่ได้บันทึกไว้ในปลายปี ๒๔๘๑ ณ ถ้ำผาบิ้ง ถึงการภาวนาในถ้ำต่างๆ ที่ท่านเคยพักปฏิบัติธรรมมาแล้ว ว่า

“จิตเกิดความรู้แปลกๆ ถ้ำโพนงามที่ ๑ ถ้ำผาบิ้งที่ ๒ ถ้ำผาปู่ ที่ ๓”

และความจริง เมื่อกล่าวถึงจำพรรษาที่ “ถ้ำโพนงาม” ก็มิได้หมายความว่าจะอยู่แต่ถ้ำยาวถ้ำนั้นถ้ำเดียว ท่านอาจจะไปภาวนาในถ้ำเล็กถ้ำน้อยในเขตบริเวณเทือกเขาภูพานที่ใกล้เคียงกับถ้ำใหญ่นั้นก็ได้ เหตุการณ์ใดที่ประสบระหว่างระยะเวลานั้นก็ถือว่าเกิด ณ ถ้ำโพนงาม ทั้งสิ้น

กลับจากเลยครั้งนั้นท่านรู้สึกว่า ใจเบา กายเบากว่าที่เคยเป็นมา อาจเป็นได้ว่าท่านได้กลับไปอบรมสั่งสอน “แม่กวย” โยมมารดาของท่านให้มีสรณะที่พึ่งทางใจอย่างมั่นคง ไม่คลอนแคลนแล้ว แม้แต่เดิมเมื่อธุดงค์จากมาครั้งแรกว่า ตัดขาดจากชีวิตทางโลกสิ้นเชิงแล้ว แต่ลึกๆ ลงไปในใจ บางครั้งความระลึกถึงโยมมารดายังมีอยู่ ไม่ทราบว่า จะอยู่ดีมีไข้หรือไม่ “แม่กวย” เข้าวัดถือศีล ๕ โดยเฉพาะวันอุโบสถถือศีลหลวง-ศีลใหญ่ คือศีล ๘ แต่การปกครองบ้านเรือนที่มีทรัพย์ศฤงคาร บริวารหญิงชายอาจจะดุว่า ศีลด่างพร้อย ศีลขาด ศีลทะลุ ใครจะช่วยตักเตือนสั่งสอนอบรมให้มีหลักฐานทางใจอย่างมั่นคง โดยเฉพาะการภาวนา ซึ่งคงยังล้มลุกคลุกคลานอยู่ หน้าที่ของเราผู้เป็นบุตรยังมิได้ตอบแทนบุพการีให้ถึงใจเลย

เหตุนี้ การกลับไปจำพรรษาใกล้บ้านครั้งนี้ จึงทำให้ท่านหายห่วงได้อย่างปลอดโปร่งใจ นอกจากการอบรมทางจิตใจ ซึ่งท่านอบรมตลอดไปถึงญาติพี่น้องคนในบ้านแล้ว ทางด้านทรัพย์สมบัติของนอกกาย ท่านก็ได้บอกสลัดตัดเปลื้องอย่างเด็ดขาดซ้ำอีกครั้ง จริงอยู่ เมื่อออกบวชท่านก็ได้และสิทธิในทรัพย์มรดกแล้ว แต่เจ้าแม่นางกวยก็ยังมีความหวังอยู่ว่า พระลูกชายอาจจะสึกมาครองชีวิตฆราวาสอีกก็ได้ท่านจึงพยายามจะรักษาสมบัติส่วนที่คิดว่าควรเป็นของบุตรชายคนโตไว้อีก โดยเฉพาะพวกเครื่องประดับที่เป็นทอง อันเป็นสมบัติของโยมบิดาของท่าน เป็นของตระกูลเจ้าเมืองแก่นท้าวตกทอดมา ก็ควรจะเป็นของหลวงปู่และน้องชาย ซึ่งเป็นเชื้อสายโดยตรง

ท่านได้กล่าวปฏิญาณให้โยมมารดาเข้าใจซ้ำว่า ทรัพย์ศฤงคารประเภทเรื่องสวนไร่นา ตลาด โรงหนัง ที่ดิน บรรดามีของมารดานั้น ท่านขอสละสิทธิ์ทุกประการ เฉพาะเครื่องประดับที่เป็นทอง อย่างสร้อยตัว สร้อยสังวาลใดๆ นั้น แม้โยมพี่...เจ้าแม่นางบวย จะมิใช่บุตรสาวของโยมพ่อ แต่โยมพี่ก็ได้ดูแลเลี้ยงดูน้องมาเสมือนดั่งเป็นพี่น้องบิดามารดาเดียวกัน และโยมพี่มีลูกสาวคนเดียว สมบัติส่วนนี้หากโยมมารดายังยืนยันถือว่าควรเป็นของท่าน ท่านก็ขอสละยกให้โยมพี่ เพื่อเป็นมรดกให้ทายาทของสกุลผู้เป็นหญิง

ท่านเล่าว่า การเป็นผู้ปราศจากบ้าน ปราศจากสมบัติ ทำให้ใจเป็นสุข ไม่ห่วงหาอาลัย หรือกังวลสิ่งใด แม้จะบอกแล้วว่าสละบ้าน และสมบัติ แต่มารดาพี่น้องยังไม่แน่ใจ ห่วงหากังวลถึง จิตของบุคคลเหล่านั้นก็คงมาเกาะเกี่ยวกับท่าน ทำให้ท่านรู้สึกอยู่บ้าง เมื่อทำความเข้าใจให้ชัดเจนได้ สิ่งที่ทำให้ค้างคาจิตก็หลุดผลัวะไป กายเบา ใจเบา อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ระหว่างพรรษานี้ ท่านได้เกิดอัศจรรย์ในดวงจิต ทำให้เชื่อในบุญในบาป เชื่อในธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เชื่อในอำนาจของพุทโธอย่างสุดจิตสุดใจเลย

ท่านเล่าว่า วันนั้นท่านย้ายที่ภาวนาไปอยู่ที่ถ้ำเล็กๆ แห่งหนึ่ง ที่อยู่ต่อไปจากถ้ำยาวที่เคยเป็นที่พัก ใกล้กันนั้นเป็นซอกเล็กๆ ซึ่งอาจจะเดินขึ้นหลังเขาขึ้นไปหาถ้ำใหญ่ข้างบนได้ ความจริงบริเวณนี้เป็นเขตใหม่ซึ่งท่านไม่ได้เดินเล่นมาสำรวจเท่าใดนัก เมื่อมาอยู่จำพรรษาครั้งปี ๒๔๗๖ และ ๒๔๗๗ ก็มิได้เดินเลยมาทางถ้ำซีกด้านบ้านนาอ้อเท่าใดนัก อยู่แต่ซีกด้านบ้านโพนงามมากกว่า ถ้ำทางด้านบ้านโพนสว่างนี้จึงออกจะเป็นที่ “ใหม่” ของท่านอยู่มาก

ท่านหารอยแตกบนเพดานถ้ำ ตอกไม้ลิ่มเพื่อแขวนกลดได้ แต่ก็คิดว่าจะไม่ปลดมุ้งลง คงรวบชายมุ้งแขวนห้อยอยู่

เพียงเริ่มลดตัวลงนั่ง ยังไม่ทันวางเท้า วางมือ ก็ได้ยินเสียง อ่าว...อือ...อ่าว...อือ แว่วมา แรกๆ ก็ยังเฉยอยู่ ชั่วอึดใจหนึ่งจิตก็เริ่มรับรู้เสียงนั้นว่าเป็นเสียงของอะไร เมื่อมันเริ่มดังใกล้เข้ามา ท่านเคยได้ยินเสียงครางอย่างนี้มามากที่บ้านหนองวัวซอและที่ถ้ำโพนงามนี้ แต่ก็เป็นเสียงร้องแต่ไกลๆ นี่ฟังดูราวกับว่า มันจะตรงเข้ามาหาฉะนั้น

ใช่ไหม...เสียงเสือ ?

ขณะที่จิตเริ่มรับว่าใช่ เสียงที่ใกล้เข้ามาก็กลับเพิ่มเป็น ๒ เสียง...ไอ้ตัวเล็กก็ร้อง ไอ้ตัวใหญ่ก็ร้อง...! ใกล้เข้ามาทุกที แล้วก็เห็นมันมายืนเยื้องย่างอยู่ปากถ้ำ ทั้งตัวใหญ่และตัวเล็ก ! คงจะเป็นแม่ลูกกัน.... ตัวแม่หรอกที่มองมายังท่านอย่างสนใจ แต่เจ้าตัวเล็กดูจะไม่รู้เดียงสาอะไร คลอเคลียอยู่ข้างแม่ของมัน เหมือนทารกน้อยที่คอยแต่จะเกาะแขนขามารดาอยู่ท่าเดียว

กลิ่นสาบของมันโชยมาอ่อนๆ นัยน์ตาของตัวแม่มองดูท่านอย่างระแวงปนหยั่งเชิง ท่านรับว่าขวัญเสียมาก...จิตมันแว่บรู้ขึ้นทันทีว่า ท่านผิดเองที่มาเลือกถ้ำเล็กที่เป็นทางเสือผ่านขึ้นถ้ำของมัน ตรงซอกหินนั้นคงเป็นบันไคอย่างดีที่จะขึ้นไปบนถ้ำชั้นบน

มันจะตรงมาหาเรา หรือมันจะเดินไปที่โขดหินซอกนั้น ? ซึ่งเราก็แย่จริงๆ มาแขวนกลคอยู่ข้างทางซอกหินอันเป็นทางเสือผ่านได้

มันจะมาคาบเราไปกินไหม ? เนื้อเราคงจะมีรสโอชะ เป็นอาหารให้มันและลูกเป็นอย่างดี

ท่านเล่าว่า ท่านนึกถึงคุณพระพุทธเจ้าทันที เหงื่อออกราวกับน้ำ รู้ชัดคราวนี้เลยว่า ความกลัวตายเป็นอย่างไร มันขยับตัวเดิน

คิดที่พระพุทธเจ้าท่านเคยเทศน์สอนไว้ว่า ความกลัวมาถึงแล้ว ขนพองสยองเกล้ามาถึงแล้ว พึงระลึกถึงตถาคต ความกลัวจะปราศจากการไป

มันตรงมา ตัวแม่นำหน้า ลูกตามมา

นัยน์ตาตัวแม่ใสแจ๋ว มองตรงมาราวกับพญางูสะกดเหยื่อ มันเริ่มเดินใกล้เข้ามา

ท่านเล่าว่าเหงื่อออก ไคค้าวก็ออก เหงื่อกาฬออกด้วยความกลัวอย่างบอกไม่ถูก

ท่านเร่งภาวนาอย่างถี่ยิบ ภาวนาหนัก และรู้สึกว่าพร้อมกับที่เสือ ๒ ตัวแม่ลูก ย่างเท้าใกล้เข้ามานั้น จิตก็รวมลงสู่สมาธิอย่างรวดเร็ว และถึงฐานของอัปปนาสมาธิ หายเงียบไปทั้งคนและเสือ ๒ ตัวนั้น ราวกับมีทหารมาอารักขาตัวท่าน เป็นชั้นๆ ชั้นๆ ชั้นๆ ทีเดียว ท่านว่าเห็นปาฏิหาริย์ เห็นอัศจรรย์ในดวงจิต เกิดความมั่นคงทางศาสนาตลอดมา เห็นคุณของพุทโธ เห็นอัศจรรย์ของพุทโธอย่างซาบซึ้งถึงใจเป็นที่สุด

ท่านว่า ถ้าไม่เห็นอานิสงส์ในคราวนั้นจะบวชตลอดชีวิต อยู่ตลอดมาถึงขณะนี้ได้อย่างไร ต้องเห็นปาฏิหาริย์ ต้องเห็นอัศจรรย์เสียก่อน จึงจะตั้งตัวได้

คืนวันนั้นจิตรวมแนบสนิท แต่เวลาหัวค่ำจนกระทั่งสายวันรุ่งขึ้น เห็นตะวันขึ้นสูงในท้องฟ้าแล้ว ไม่ทราบว่าเสือแม่ลูกจากไปแต่เมื่อไร ท่านมีความอิ่มเอิบใจ เวลาคงผ่านพ้นเวลาบิณฑบาตมานานแล้ว แต่ก็ไม่ได้รู้สึกหิวโหยแต่อย่างใด ท่านจึงเดินขึ้นซอกเขาขึ้นไปสำรวจเขาด้านบน ปรากฏว่าก่อนจะถึงถ้ำใหญ่ชั้นบน มีซอกถ้ำเป็นเพิงผา คงเป็นทำเลที่นางเสือแม่ลูกใช้เป็นที่พำนัก...! ด้วยเห็นรอยหญ้าที่มันคาบมาเป็นที่รองนอนให้ลูกของมันคงหลงเหลืออยู่

ที่ถ้ำโพนงามด้านบ้านโพนสว่างนี้ มีพวกรุกขเทพมากเหมือนกัน


(มีต่อ ๑๐)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 17 ม.ค. 2007, 4:37 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ ได้โสรจสรงอมฤตธรรม

วันปวารณาออกพรรษาอันเป็นวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ นั้น ในปี ๒๔๘๓ นี้ ตรงกับวันที่ ๑๗ ตุลาคม ถึงแม้ท่านจะยังอาลัยถ้ำโพนงามอยู่มาก ด้วยสถานที่ทุกแห่งในบริเวณถิ่นนั้น ดูจะเป็นที่เอื้ออำนวยต่อการบำเพ็ญเพียรภาวนาของท่านอย่างเหลือล้น จะเป็นเงื้อมหินตรงไหน ก้อนใด ใต้ร่มรุกขมูลต้นไม้ต้นไหน ถิ่นถ้ำน้อยใหญ่แห่งใด นั่งลงภาวนา จิตจะรวม “แจบจม” ดีอยู่ทุกแห่ง

ปกตินักปฏิบัติจะสังเกตกันว่า ที่ใดภาวนาแล้ว จิตรวมง่าย ไม่มีถีนมิทธะ ไม่ซบเซาง่วงเหงา มีสติตื่นอยู่ พิจารณาธรรมเพลิดเพลินอยู่ ที่นั้นจะเป็นแท่นหินแท่นนั้น...เงื้อมหินเพิงผาจุดนั้น...ใต้โคนไม้ต้นนั้น นักปฏิบัติผู้นั้นจะสังเกตได้ และพยายามไปนั่งภาวนาอยู่ ณ สถานที่นั้นเป็นอาจิณ ถือเป็นที่สัปปายะแก่การภาวนา สำหรับที่ถ้ำโพนงามนี้ ท่านว่า ทุกแห่ง ทุกจุด เป็นที่สัปปายะ เข้าจิตง่ายทัดเทียมกันเกือบจะทุกแห่ง ฉะนั้น จึงออกพรรษาแล้ว ท่านก็ควรจะรั้งรออยู่ต่อไป มิหนำซ้ำ ชาวบ้านโดยรอบ เช่นที่บ้านโพนงาม บ้านโพนเชียงหวาง บ้านหนองสะไน บ้านนาอ้อ...ต่างล้วนมีศรัทธาต่อท่าน พากันอุปัฏฐากด้วยความเคารพนอบน้อม ควรแก่การอยู่เมตตาโปรดพวกเขาต่อไปอีกนานเท่านาน

แต่เหตุผลสำคัญที่ทำให้ท่านรีบแบกกลดลงเขามาทันที ละอาวาสอันสัปปายะ อากาศอันสัปปายะ บุคคลอันสัปปายะ มาโดยพลันอย่างไม่อาลัยไยดี ท่านเล่าว่า เปรียบเสมือนบุคคลซึ่งถูกจำกัดออยู่ในท้องที่กันดารน้ำ เพียงได้แต่อาศัยน้ำโคลน น้ำตม น้ำตามแอ่งรอยเท้าเสือ ช้าง กรองดื่มพอแก้กระหายไปเพียงวันๆ หลุดจากข้อจำกัด (ออกพรรษา) ได้ยินข่าวว่า ณ บ้านนั้น ป่านั้น มีบ่อน้ำทิพย์ น้ำอมฤตอันใสสะอาดรออยู่ จะไม่โลดแล่นไปสู่ที่นั้นอย่างไรได้ เพื่อดื่มกิน โสรจสรง น้ำทิพย์น้ำอมฤตนั้นให้สมกับที่กระหายรอคอยมาช้านาน

บุคคลผู้นั้นฉันใด ท่านก็ฉันนั้น

ท่านได้ข่าวว่า ท่านพระอาจารย์มั่นจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าโนนนิเวศน์ อุดรธานี...!

ก่อนหน้านั้นท่านพระอาจารย์มั่นได้ออกธุดงค์ไปทางจังหวัดภาคเหนือมีเชียงใหม่ เพียงราย เป็นอาทิ ท่านจากหมู่ศิษย์ไปแต่ปี ๒๔๗๕ ไปตามลำพังองค์เดียวไม่ให้มีผู้ติดตามเลย บรรดาศิษย์พยายามตามหาท่าน จนได้พบ และได้ปฏิบัติธรรมกับท่านบ้าง เช่น ท่านพระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี ท่านพระอาจารย์ขาว อนาลโย ท่านพระอาจารย์แหวน สุจิณโณ ท่านพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ท่านพระอาจารย์ชอบ ฐานสโม แต่ละท่านต่างซอกซอนตามไปด้วยความลำบาก และเมื่อได้พบ ได้อยู่ปฏิบัติด้วย ต่างก็ได้รับอุบายธรรมจากท่านพระอาจารย์มั่นอย่างคุ้มค่า ท่านเที่ยววิเวกอยู่ทางภาคเหนือเกือบสิบปี นอกจากบรรดาท่านที่ธุดงค์ติดตามไปแล้ว หมู่ศิษย์ที่เหลือทางภาคอีสานต่างรู้สึกอ้างว้าง ว้าเหว่ยิ่งนัก ด้วยขาดครูบาอาจารย์จะสั่งสอนอบรม ต่างรอคอยท่านพระอาจารย์มั่นจะกลับมาโปรด เหมือนข้าวในฤดูแล้งน้ำ รอคอยน้ำฝนจากฟากฟ้าจะโปรยปรายลงมา

หลวงปู่นั้น พยายามมาจำพรรษารออยู่ที่ถ้ำโพนงาม ด้วยคิดว่า ท่านพระอาจารย์มั่นจะมาจำพรรษาแถบสกลนคร แต่เมื่อคาดผิด ท่านก็ต้องอยู่ต่อไปซึ่งแม้จะผิดหวังเรื่องนี้บ้าง แต่ท่านก็กลับได้ธรรมะดี “อยู่ตัวเลย” อย่างที่ท่านว่า อย่างไรก็ดี เมื่อออกพรรษา ไม่มีจำกัดเรื่องอาวาสที่พักแล้ว ท่านก็รีบผุดไปกราบท่านพระอาจารย์มั่นที่โนนนิเวศน์ทันที

“ยั้งไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ ทีเดียวละ” ท่านเล่า

ที่วัดป่าโนนนิเวศน์ มีพระเณรเข้ามาฟังธรรมของท่านพระอาจารย์มั่นอย่างเนืองแน่น ท่านทราบว่า ท่านพระอาจารย์มั่นจะแสดงธรรมทุก ๕-๖ วันโดยเฉพาะวันธรรมสวนะ ธรรมที่ท่านแสดงจะละเอียดลออวิจิตรบรรจงมาก หลวงปู่ได้บันทึกธรรมของท่านที่ได้สดับรับฟังไว้มากมาย ตามความนึกคิดที่ระลึกได้หลังจากจบโอวาทคำสั่งสอนแล้ว ธรรมที่บันทึกไว้ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นห้วงสั้นๆ คล้ายเป็นหัวข้อธรรมที่บันทึกไว้ด้วยความประทับใจ ทั้งเพื่อกันลืม และเพื่อเป็นข้ออรรถธรรมที่จะนึกขยายสอนตนในภายหลัง ที่จะมียืดยาวต่อเนื่องกัน เป็นประหนึ่งเทศนาบ้างก็จดไว้เฉพาะเรื่องๆ เช่น เรื่องศีล เรื่องการภาวนาทำจิตเหล่านี้เป็นต้น

ท่านบันทึกไว้ หลายแห่ง หลายตอน บางแห่งได้มีวันที่หรือสถานที่กำกับ จากสมุดบันทึกหลายเล่มที่ลอกคัด จึงพออนุมานวันเดือนปี และสถานที่ซึ่งท่านเข้าไปฟังเทศน์ได้

เนื่องจากท่านมิได้บันทึกต่อเนื่องกันในเล่มเดียวกัน ท่านบันทึกลงไปในสมุดตามแต่จะหยิบฉวยได้ เพราะธรรมะที่เกิดขึ้น ระลึกขึ้นได้ นั้นไม่รอเวลา ถ้ามัวเสียเวลาหาสมุดเล่มที่ต้องการ ธรรมะนั้นก็อาจจะลืมเลือนไปแล้ว หรือกระแสธารแห่งธรรมสะดุดหยุดลงได้ เป็นเหตุให้พลาดโอกาสที่จะบันทึกธรรมนั้นๆ ไปอย่างน่าเสียดายที่สุด

จากสมุดบันทึกหลายเล่มเหล่านั้น แสดงถึงวันที่ฟังธรรมโอวาทในช่วงนี้ไว้ดังนี้

๑๙-๗-๘๓ (ตรงกับ ๑๙ ตุลาคม-ผู้เขียน) คงเป็นวันแรกที่ฟังโอวาทที่โนนนิเวศน์ อุดรธานี หลังจากวันออกพรรษาที่ถ้ำโพนงาม สกลนคร วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๔๘๓ เพียง ๒ วัน การเดินทางลงจากเขา ข้ามจังหวัด และทางคมนาคมสมัยนั้นยากลำบาก ไม่มีถนนลาดยางเช่นสมัยนี้ ต้องนับว่า ท่านใจร้อน กระหายต่อการฟังธรรมจากพ่อแม่ครูจารย์เพียงไร

๒๘-๗-๘๓ (๒๘ ตุลาคม ๒๔๘๓)

๒๙-๗-๘๓ (๒๙ ตุลาคม ๒๔๘๓)

วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ พ.ศ. ๘๓ (ตรงกับ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๘๓-ผู้เขียน)

วันแรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๒ พ.ศ. ๘๓ (ตรงกับ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๔๘๓-ผู้เขียน)

๑๕ ค่ำดับ เดือน ๑๒ พ.ศ. ๘๓ (ตรงกับ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๔๘๓-ผู้เขียน)

วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๘๓

ธรรมะที่แสดงตามวันเดือนข้างต้น นั้น หลวงปู่บันทึกไว้ชัดเจนว่าเป็นธรรมะที่แสดงที่โนนนิเวศน์ ต่อมาเพียง ๒ วัน ท่านก็บันทึกเป็นสถานที่ใหม่ ณ หนองน้ำเค็ม อุดร ซึ่งแสดงว่า ท่านพระอาจารย์มั่นได้ไปพักวิเวกที่หนองน้ำเค็ม อันเป็นหมู่บ้านที่อยู่ไม่ไกลจากวัดป่าโนนนิเวศน์นัก และหลวงปู่ก็ติดตามไปฟังธรรม

หนองน้ำเค็ม อุดร ขึ้น ๓ ค่ำ เดือนอ้าย พ.ศ. ๘๓ (ตรงกับ ๒ ธันวาคม ๒๔๘๓-ผู้เขียน)

หนองน้ำเค็ม ๑๐-๙-๘๓ (ตรงกับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๓-ผู้เขียน)

วันอุโบสถ ต้นเดือนอ้าย พ.ศ. ๘๓ (ตรงกับ ๑๔ ธันวาคม ๒๔๘๓ ปี ๒๔๘๓ มีเพียง ๙ เดือน นับจาก ๑ เมษายน ถึง ๓๑ ธันวาคม ขึ้นปีใหม่ ๑ มกราคม เริ่มจากปี ๒๔๘๔ เป็นปีแรก-ผู้เขียน)

๕-๑-๘๔ (ตรงกับวันที่ ๕ มกราคม ๒๔๘๔)

๑๐-๑- ๘๔ (ตรงกับวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๔๘๔)

โรงเรียนบ้านเชียงยืน ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๓ พ.ศ. ๘๔ (ตรงกับวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔-ผู้เขียน) ฯลฯ

สำหรับธรรมะและโอวาทของท่านพระอาจารย์มั่นที่ท่านบันทึกไว้นั้นมีมากมาย ซึ่งได้แยกรวบรวมไว้ใน ภาคอาจาริยธรรม โดยต่างหากแล้ว ในที่นี้จึงจะไม่ขอนำมากล่าวซ้ำ นอกจากจะขอนำมาสาธกแสดงตัวอย่างการบันทึกธรรมในวันหนึ่ง ของหลวงปู่เท่านั้น

อนึ่ง เนื่องจากระหว่างบันทึกธรรม ซึ่งท่านคงจะฟังด้วยความซาบซึ้งและอัศจรรย์ใจในรสพระธรรมที่หลั่งไหลออกมา ความซาบซึ้งอัศจรรย์ใจของท่านคงจะรู้สึกต่อเนื่องไปถึงองค์ท่านผู้แสดงธรรมะนั้นด้วย วิสัยของปราชญ์ หลวงปู่ก็อดมิได้จะตรึกนึกวิจารณ์วิจัยท่านอาจารย์ของท่านไปด้วย

แต่แน่ละ ต้องด้วยความซาบซึ้ง อัศจรรย์ใจเป็นที่ยิ่ง และต้องด้วยความเคารพรักเทิดทูนอย่างสูงสุด

เป็นสำนวนอันบริสุทธิ์ใจ...ตรงไปตรงมา


๏ โวหารของท่านอาจารยมั่น
พ.ศ. ๘๓ หลุย โนนนิเวศน์


๒๘-๗-๘๓ (ตรงกับวันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓-ผู้เขียน)

- ปัญญากับสติให้รู้เท่าทันกัน

- พิจารณากายจิต ความไม่เที่ยงของสังขารเป็นธรรมะส่อให้เห็นเรื่อยๆ ทำความรู้ในนั้น เห็นในนั้น

- ในโลกนี้เป็นธาตุทั้งนั้นให้รู้เท่าทันกับธาตุ อย่าหลงตามธาตุ

- มหาสติเรียนกายจิตให้มากๆ

- ให้เห็นจริง ธรรมะจริง สมมติ อย่าหลงรูป เสียง กลิ่น รส ของอันนี้เต็มโลกอยู่เช่นนั้น

- ให้เห็นปัจจุบันธรรม อย่าส่งจิตอนาคตและอดีต

- ธาตุ ๘๔,๐๐๐ ธาตุออกมาจากจิตหมด

- นิโรธเป็นของดับเพราะรู้เท่าแล้ว จิตไม่เกิดยินดียินร้าย ดับไปเช่นนี้ ชื่อว่านิโรธ

- แสดงฌานเป็นที่พักชั่วคราวแล้วเจริญจิตต่อๆ ไป

- ให้เอากายวาจาใจนี้ยกขึ้นพิจารณา อย่าเพิ่ม อย่าเอาออก ให้เห็นเป็นปรกติ

- มรรค ๘ นั้น สมาธิมรรคเป็นองค์ ๑ นอกนั้นเป็นปริยาย

- ให้รู้ธรรมะและอาการของธรรมถึงชั้นละเอียดแล้วก็จะรู้เองเห็นเอง

- แสดงตนดูถูกท่านว่าท่านเป็นคนโกรธ เพราะผู้ฟังไม่เห็นตามความเป็นจริง เพราะยุ่งแต่จิตของตัวเท่านั้น

- เกิดตายเกิดแล้วตาย ชมแต่หนังของเก่า ไม่หันไปหาที่จะพ้นทุกข์

- ทำจิตให้เสมอ อย่าขึ้นอย่าลง อย่าไปอย่ามา ให้รู้เฉพาะปรกติของจิต

- แสดงฐานของธรรมะเป็นบ่อเกิดอริยสัจของจริง

- เกิดความรู้อย่างวิเศษแล้วย่อมหาอานิสงส์ประมาณไม่ได้

- อัตตาหิ ฯลฯ เป็นของลึกลับเหลือที่สุด

- ถ้าส่งจิตรู้เห็นนอกกายเป็นมิจฉาทิฐิ ให้รู้เห็นอยู่ในกายกับจิตนั้นเป็นสัมมาทิฐิ

- นักปฏิบัติใจต้องเด็ดเดี่ยวกล้าหาญที่สุดจึงจะรู้ธรรมเห็นธรรม

- ให้รู้ธาตุเห็นธาตุ จิตจึงไม่ติดทางราคะ

- คนเราจะดีจะชั่วต้องเกิดวิบิตเสียก่อน

- ท่านบอกว่าท่านเป็นคนราคะโทสะจริต แรงทางราคะ ทางโทสะ กัดติดดังควาย นิสัยใจคอเด็ดเดี่ยวมาก

- แสดงแก้ตำราพราหมณ์ดีนัก หนังสือล้วนๆ ไม่มีบาลีอ้าง

- นิสัยของท่านอาจารย์มั่นเป็นคนใจคอเด็ดเดี่ยวดี มุ่งต่อมรรคผลจริง โวหารโปราณ ข้อวัตรหมดจดดี เป็นคนไม่มีอคติ พูดธรรมะถึงอริยสัจถึงพริกถึงขิงดี ไม่อนุโลมตามบุคคล เป็นคนที่ใคร่ต่อความสันโดษดี ข้อวัตรเรียบร้อยหมดจดดี เป็นอาชาไนยดี รู้จริตของคนอื่นดี ท่านไม่พูดไปแล้ว ท่านไม่ถือ ธรรมของท่าน ท่านสงเคราะห์เข้าปัจจุบันดี เป็นคนไม่เห็นแก่หน้าบุคคล โลกไม่เอียงไปทางกาม และทางโทสะ โมหะ ไปตามความรู้ความเห็นที่เกิดจากปฏิปทาของท่าน อ้างอิงของจริงเสมอ เป็นคนที่วางเฉยได้ ไม่ส่งจิตออกนอกกาย ท่านบริบูรณ์ทั้งมหาสติ มหาปัญญา ไม่เพ่งลาภยศ สรรเสริญ อาชีพ บริสุทธิ์ด้วยสมาธิ ปัญญา ข้ามศีลไปเสียแล้ว จิตของท่านปรกติดี ไม่ลำเอียงไปด้วยคติ กาย วาจา ใจ เป็นอาชาไนย พระอริยเจ้าเป็นผู้เลิศเป็นผู้วิเศษหาประมาณมิได้ ท่านอาจารย์มั่นเป็นผู้ขวนขวายน้อย เป็นผู้ที่เลี้ยงง่าย สันโดษ ชอบสงัด เป็นผู้ทรมานตนเสมอ เป็นผู้ที่ไม่ละกาล จิตของท่านใหม่อยู่ในธรรมเสมอไม่เบื่อ ไม่ติดตระกูล ไม่ติดที่อยู่ ไม่ติดลาภและยศ อ้างธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าว่าเป็นของจริงและของเที่ยง นิสัยท่านอาจารย์มั่น ถูกกับนิสัยเราเสียโดยมาก

- ท่านแสดงไม่อ้างสวรรค์ นิพพาน ไม่อ้างทุคติ อ้างความเป็นไปทางปัจจุบันอย่างเดียว เพราะชั่วดีก็ปัจจุบันที่ยังเป็นชาติมนุษย์

- ความรู้ของพระพุทธเจ้าเป็นอนันตนัย มากมายยิ่งกว่า ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เป็นอุบายที่จะทรมานสัตว์ พ้นวิสัยของสาวกที่จะรู้ตามเห็นตามได้ สาวกกำหนดรู้แต่เพียง ๘๔,๐๐๐ เท่านี้ก็เป็นอัศจรรย์

- ท่านกำชับว่าอย่าให้จิตเพ่งนอก ให้รู้ในตัวเห็นในตัว เมื่อรู้ในตัวแล้วรู้ทั่วไป เพราะตัวเป็นต้นเหตุ

- ปฏิภาคนั้นอาศัยผู้ที่มีวาสนาจึงจะบังเกิดขึ้นได้ อุคหนิมิตนั้นเป็นของที่ไม่ถาวร พิจารณาให้ชำนาญแล้ว เป็นปฏิภาคนิมิต ชำนาญทางปฏิภาคแล้วทวนเข้ามาเป็นตน ปฏิภาคนั้นเป็นส่วนวิปัสสนา

- ให้แก้ปัจจุบัน เมื่อแก้ปัจจุบันได้แล้ว ภพ ๓ นั้นหลุดหมดไม่ต้องส่งอดีต อนาคต ให้ลบอารมณ์ภายนอกให้หมด จึงจะเข้าอารมณ์ภายในได้ เพ่งนอกเป็นตัวสมุทัย เป็นทุกข์ และเป็นตัวมิจฉาทิฏฐิ เพ่งในเป็นตัวสัมมาทิฐิ เพ่งในตัวเป็นสัมมาทิฐิ

- เล่นนิมิตก็ดี ยินดียินร้ายก็ดี เรียกว่าคุ้มเงาตน เชื่อนิมิตเป็นบ้า

นั่นเป็นตัวอย่างที่หลวงปู่บันทึกข้อธรรมไว้ไนวันหนึ่ง ที่โนนนิเวศน์ โดยรวมทั้งการวิจารณ์ลักษณะนิสัยของครูบาอาจารย์ของท่านด้วย ซึ่งเป็นการ “ม้างกาย” ของท่านอย่างหนึ่ง

สำหรับลักษณะอุปนิสัยของท่านพระอาจารย์มั่นนั้น หลวงปู่ได้บันทึกต่อมาอีกหลายครั้งด้วยความชื่นชมและศรัทธายิ่ง

“ท่านภาวนาสถานที่เป็นมงคล มีเทวดามานมัสการ ตั้งหมื่น ท่านรู้ได้ด้วยภาวนาขั้นละเอียดฯ อมนุษย์ท่านก็รู้ได้”

“ท่านอาจารย์มั่น ท่านเป็นคนเด็ดเดี่ยวสละชีวิตถึงตาย สลบไป ๓ คราว และท่านต้องการคนใจเด็ดเป็นสานุศิษย์ฯ”

“ท่านทำตัวของท่านใหม่อยู่ในตระกลทั้งหลาย ไม่ทำตัวของท่านให้คุ้นเคยในตระกูลเลย การไปมาของท่าน ไปโดยสะดวก มาโดยสะดวกไม่ขัดข้องในตระกูล”

“เป็นคนมักน้อยชอบใช้บริขารของเก่าๆ ถึงได้ใหม่บริจาคทานให้คนอื่น ข้อวัตรหมดจดดี สติตั้งอยู่ในสติปัฏฐานเสมอ เป็นผู้ไม่ละกาล วาจาพูดก็ดี เทศน์ก็ดีไม่อิงอามิสลาภ สรรเสริญวาจาตรงตามอริยสัจ ตามความรู้ความเห็น อ้างอริยสัจเป็นหลักฐานเสมอ กาย วาจา ใจเป็นอาชาไนยล้วน”

“ท่านประพฤติตนเป็นคนขวนขวายน้อยอามิส หมดจดในข้อวัตรและหมดจดในธรรมะ พ้นวิสัยเทวดาและมนุษย์ที่จะติเตียนได้ ไม่เป็นข้อล่อแหลมในศาสนา ท่านได้วัตถุสิ่งใดมา ท่านสละทันที สงเคราะห์หมู่พรหมจรรย์ฯ”

“สิ่งของอันใดท่านอยู่ที่ไหน เขาถวาย ท่านก็เอาไว้ให้พระเณรใช้ ณ ที่นั้น ท่านไม่ได้เอาไปด้วยฯ”

“มีคนไปหาท่านอาจารย์มั่น ท่านไม่ดูคน ท่านดูจิตของท่านเสียก่อนจึงแสดงออกไปต้อนรับแขกผู้มาถึงถิ่น อนึ่ง ท่านหันข้างและหันหลังใส่แขก ท่านพิจารณาจิตของท่านก่อน แล้วพิจารณานิสัยของผู้อื่น นี้เป็นข้อลี้ลับมาก ต่อนั้นถ้าจะเอาจริงจังต้องประชันต่อหน้ากันจึงเห็นความจริงฯ”

“จิตของท่านผ่าอันตรายลงไปถึงฐานของธรรมะนี้มีราคามาก บ่งความเห็นว่าเป็นอาชาไนยโดยแท้”

“ปฏิบัติธรรมท่านพูดทรมานใครแล้วย่อมได้ดีทุกๆ คน ถ้าหมิ่นประมาทแล้วย่อมเกิดวิบัติใหญ่โต”

“ท่านมีนิสัยปลอบโยนเพื่อคัดเลือกคนดีหรือไม่ดี ในขณะท่านพูดเช่นนั้น ท่านหันกลับเอาความจริง เพราะกลัวศิษย์จะเพลิน”

“นิสัยท่านเป็นคนใจเดียว ไม่เห็นแก่หน้าบุคคล ในเวลาถึงคราวเด็ดเดี่ยวต่อธรรมะวินัยจริงๆ ฯ”

“บุคคลใจเด็ดจึงอยู่กับท่านได้ เพราะนิสัยของท่านเป็นเช่นนั้น เป็นคนทำจริงเอาจริงฯ”

“ท่านเป็นคนไม่อวดรู้ แต่ธรรมะของท่านบอกเหตุผลไปต่างหาก นี้เป็นข้อพึงวินิจฉัย”

“หาบุคคลที่จะดูจริตของท่านรู้ได้ยาก เพราะท่านเป็นคนนิสัยลึกลับ จะรู้นิสัยได้ต่อเมื่อบุคคลที่มีภูมิจิตส่วนเดียวฯ”

“ท่านผู้มีอำนาจในทางธรรมะ ทำอะไรได้ไม่ครั่นคร้าม ชี้เด็ดขาดลงไป ไม่มีใครคัดค้าน นี่เป็นอัศจรรย์มากฯ”

“ท่านถือข้างใน ปฏิปทาความรู้ความเห็นของท่านเกิดจากสันตุฏฐี ความสันโดษของท่าน ท่านนิสัยไม่เป็นคนเกียจคร้าน ขยันตามสมณกิจวิสัย หวังประโยชน์ใหญ่ในศาสนาฯ”

“ท่านอาจารย์มั่นเป็นผู้ที่สะอาด ไตรจีวรและเครื่องอุปโภคของท่าน ไม่ให้มีกลิ่นเลย ถูย้อมบ่อยๆ”

“ท่านบวชในสำนักพระอรหันต์ ๓ องค์ แต่เมื่อชาติก่อนๆ โน้น”

“ท่านไม่ใคร่พยากรณ์ใครๆ เหมือนแต่ก่อน ท่านพูดแต่ปัจจุบันอย่างเดียว นิสัยท่านชอบเก็บเอาเครื่องบริขารของเก่าไว้ใช้ เพราะมันภาวนาดี เช่นจีวรเก่า เป็นต้นฯ”

“ท่านไม่ติดอามิส ติดบุคคล ติดลาภ ยศ สรรเสริญ ท่านถือธรรมะเป็นใหญ่ ไปตามธรรมะ อยู่ตามธรรมะฯ”

“ท่านพูดธรรมะไม่เกรงใจใคร ท่านกล้าหาญท่านรับรองความรู้ของท่าน ฉะนั้นท่านจึงพูดถึงพริกถึงขิง ตรงอริยสัจ พูดดังด้วย พูดมีปาฏิหาริย์ด้วย เป็นวาจาที่บุคคลจะให้สิ้นทุกข์ได้จริงๆ เป็นวาจาที่สมถะวิปัสสนาพอ ไม่บกพร่องกำหนดรู้ตามในขณะกาย วาจา จิตวิกาลตรงกับไตรทวารสามัคคีเป็นวาจาที่เด็ดเดี่ยวขลังดีเข้มแข็งดี เป็นอาชาไนยล้วนวาจาไม่มีโลกธรรมติด เป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ พระเณรอยู่ในอาวาสท่านได้สติมาก เพราะบารมีของท่านเสื่อม ถ้าขืนประมาทท่านเกิดวิบัติฯ”

“ท่านอาจารย์มั่น เทวดาและอมนุษย์ไปนมัสการท่าน เท่าไรพันหรือหมื่นท่านกำหนดได้”

“ท่านรักษาระวังเทวดามนุษย์ประมาทท่าน เช่นเยี่ยงท่านก็มีระเบียบ แม้กิจเล็กๆ น้อยๆ เป็นระเบียบหมดฯ”

“ท่านอาจารย์ท่านพูดโน้น คำนี้อยู่เสมอเพื่อจะให้สานุศิษย์หลง เพื่อละอุปาทานถือในสิ่งนั้นๆ ท่านทำสิ่งที่บุคคลไม่ดำริไว้ สิ่งใดดำริไว้ท่านไม่ทำ นี้ส่อให้เห็นท่านไม่ทำตามตัณหาของบุคคลที่ดำริไว้ฯ”

“จิตของท่านอาจารย์มั่นผ่าอันตรายลงไปตั้งอยู่ด้วยอมตธรรม บริบูรณ์ด้วยมหาสติ มหาปัญญา มีไตรทวารรู้รอบ มิได้กระทำความชั่วในที่ลับและที่แจ้ง และมีญาณแจ่มแจ้ง รู้ทั้งเหตุผลพร้อมกัน เพราะฉะนั้นแสวงธรรมมีน้ำหนักมาก พ้นวิสัยคนที่จะรู้ตามเห็นตาม เว้นแต่บุคคลบริบูรณ์ด้วยศีลและสมาธิมาแล้ว อาจที่ฟังเทศน์ท่านเข้าใจแจ่มแจ้งดีและบุคคลนั้นทำปัญญาสืบสมาธิต่อ”

“จิตท่านอาจารย์มั่นตื่นเต้นอยู่ด้วยความรู้ ไม่หยุดนิ่งได้ มีสติรอบเสมอ ไม่เผลอทั้งกายและวาจา เป็นผู้มีอริยธรรมฝังมั่นอยู่ในสันดานไม่หวั่นไหว ตอนนี้ไม่มีใครที่จะค้านธรรมเทศนาของท่านได้ เพราะวาจาเป็นอาชาไนย และมีไหวพริบแก้ปฤษณาธรรมกายได้ฯ”

“ธาตุของท่านอาจารย์เป็นธาตุนักรู้เป็นชาติที่ตื่นเต้นในทางธรรมะเป็นผู้ที่รู้ยิ่งเห็นจริงในอริยสัจธรรม ท่านดัดแปลงนิสัยให้เป็นบรรพชิต ไม่ให้มีนิสัยหินเพศติดสันดาน ท่านประพฤติตนของท่านให้เทวดาและมนุษย์เคารพ และท่านไม่ประมาทในข้อวัตรน้อยใหญ่ฯ”

“ท่านไม่ให้จิตของท่านนอนนิ่งอยู่อารมณ์อันเดียว ท่านกระตุกจิต จิตของท่าน ค้นคว้าหาเหตุหาผลของธรรมะอยู่เสมอ ท่านหัดสติให้รอบรู้ ในอารมณ์และสังขารทั้งปวงฯ”

“ท่านว่าท่านอาจารย์เสาร์หนักอยู่ในสมาธิและพรหมวิหารธรรม และท่านขาดการตรวจกายสังขารฯ”

“นิสัยท่านอาจารย์เสาร์ อนุโลมตามนิสัยบุคคลเสียโดยมาก และท่านรู้รับว่าดีอยู่เสมอ ดีเฉพาะกิเลสของผู้ศึกษา แต่ไม่ดีธรรมะ ที่จะให้สิ้นทุกข์ เฉพาะตัวของท่านอาจารย์มั่น หัดฝืนธรรมดา เพื่อดัดแปลงนิสัย ไม่อนุโลมไปตามกิเลส”

อีกวันหนึ่ง ท่านบันทึกถึงท่านพระอาจารย์มั่นอย่างอัศจรรย์ใจในอัจฉริยภาพของท่านต่อไปว่า

“ท่านอาจารย์มั่นท่านเก่งทางวิปัสสนา ท่านเทศน์ให้บริษัทฟัง สัญญา มานะเขาลด เจตสิก เขาไม่เกาะ เมื่อไม่เกาะเช่นนั้น ยิ่งทำความรู้เท่าเฉพาะในจิต ตรวจตราในดวงจิตขณะที่นั่งฟัง ต่อนั้นจะเห็นอานิสงส์ทีเดียว ไม่ทำเช่นนั้นหาอานิสงส์การฟังธรรมมิได้ ถ้าประมาทแล้ว จะเกิดวิบัติเพราะคามานะทิฐิของตน วินิจฉัยธรรมมิได้”

“ท่านเทศน์อ้างอิงตำราและแก้ไขตำราดุจของจริงทีเดียว เพราะท่านบริบูรณ์วิปัสสนาและสมถะพอ และท่านยกบาลีเป็นตัวเหตุผลแจ่มแจ้ง”

“ท่านอาจารย์มั่นอุบายจิตของท่านพอทุกอย่างไม่บกพร่อง คือพอทั้งสมถะ พอทั้งวิปัสสนาทุกอย่าง เพราะฉะนั้น ท่านเทศนาจิตของผู้ฟังหดและสงบ และกลัวอำนาจ เพราะนิสัยคนอื่นไม่มีปัญญาที่จะชอนเข็มโต้ถามได้ ตรงกับคำว่าพอทั้งปัญญา พอทั้งสติ ทุกอย่างเป็นอาชาไนยล้วน รวบรัดจิตเจตสิกของคนอื่นๆ มิอาจจะโต้แย้งได้”

“ท่านว่า แต่ก่อนท่านเป็นคน โกง คน ซน คน มานะกล้า แต่ท่านมีธุดงค์ข้อวัตรทุกอย่างเป็นยอด ทำความรู้เท่าทันกิเลสเหล่านั้น เดี๋ยวนี้นิสัย ก่อนนั้นกลายเป็นธรรมล้วน เช่น โกงสติ ซนสติ มานะสติ เป็นคุณสมบัติสำหรับตัวของท่าน”

“ความรู้ความฉลาดของท่านไปตามธรรมคืออริยสัจ ใช้ไหวพริบทุกอย่าง ตรงตามอริยสัจ ตรงกับคำว่าใช้ธรรมเป็นอำนาจ คณาจารย์บางองค์ถืออริยสัจก็จริง แต่มีโกงนอกอริยสัจ เป็นอำนาจบ้างแฝง แฝงอริยสัจ ตรงกับคำที่ว่า ใช้อำนาจเป็นธรรมแฝงกับความจริง”

“ท่านอาจารย์เป็นนักปราชญ์แปดเหลี่ยมคม คมยิ่งนัก ธรรมชาติจิตของท่านที่บริสุทธิ์นั้นกลิ้งไปได้ทุกอย่างและไม่ติดในสิ่งนั้นด้วย ดุจน้ำอยู่ในใบบัว กลิ้งไปไม่ติดกับสิ่งอื่นๆ เพราะฉะนั้นจิตของท่านถึงผลที่สุดแล้ว มิอาจจะกระทำความชั่วในที่ลับและที่แจ้ง เพราะสติกับปัญญารัดจิตบริสุทธิ์ให้มั่นคง ใช้ไหวพริบเป็นอาชาไนยอยู่เนืองนิตย์”


(มีต่อ ๑๑)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 17 ม.ค. 2007, 4:49 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ พรรษา ๑๗-๑๙ พ.ศ. ๒๔๘๔-๒๔๘๖
ในรัศมีบารมีพ่อแม่ครูจารย์
พ.ศ. ๒๔๘๔ จำพรรษา ณ บ้านห้วยหีบ อ.ศรีสุวรรณ จ.สกลนคร
พ.ศ. ๒๔๘๕-๒๔๘๖ จำพรรษา ณ บ้านอุ่นโคก
และชายป่าใกล้สำนักวัดป่าบ้านนามน


หลวงปู่เล่าว่า ในระหว่างเวลาจากออกพรรษา ปี ๒๔๘๓ มาจนถึงระยะก่อนจะเข้าพรรษา ปี ๒๔๘๔ ท่านได้เวียนเข้าออกอยู่ใกล้ชิดท่านพระอาจารย์มั่นเพื่อรับฟังการอบรม นับแต่จากท่านพระอาจารย์เสาร์มาแต่เมื่อปีที่จำพรรษาอยู่ด้วยท่าน ที่วัดป่าสุทธาวาสแล้ว จิตของท่านก็ต้องพึ่งตนเองมาโดยตลอด อยู่คนเดียว การภาวนาติดขัดอะไร ก็ต้องปล้ำผีลุก ปลุกผีนั่ง แก้ไขไปเอง ไม่รู้ผิดไม่รู้ถูก ได้แต่คาดเดาเอาจริงอยู่ พยายามจะใช้ไตรลักษณ์เข้ากำกับ แต่ก็ยังดูเลือนลางไม่หนักแน่น เด่นชัดเพียรทำ เพียรแก้ แต่ก็ดูคล้ายกับลิงติดตัง ยุ่งอีนังตังนุง เชือกที่ควรจะผ่อนคลายกลับรัดตัวแน่นเข้า การได้วิชา “ม้างกาย” ซึ่งท่านฝึกหัดทำอย่างคล่องแคล่ว เป็นปฏิภาคนิมิต กำหนดแยกส่วนกายได้ทุกระยะ ก็เป็นเพียงหนักไปทางด้านสมถะ เป็นเอกทางสมถะเท่านั้น

ท่านทราบดีว่า ท่านควรต้องอยู่ไม่ห่างครูบาอาจารย์ เพื่อรับอุบายธรรมจากท่าน จิตของท่านคล้ายกับผู้ที่ตกอยู่ทะเลทราย กระหายน้ำมาช้านาน ได้พบบ่อน้ำวิเศษ ก็เข้าดื่มกินโสรจทรงอมฤตธรรมอย่างเต็มที่

พรรษาปี ๒๔๘๔ ท่านพระอาจารย์มั่นจำพรรษาอยู่ที่โนนนิเวศน์ อุดรธานีเป็นพรรษาที่สอง หลวงปู่คิดว่า ท่านรับอุบายธรรมมาระยะหนึ่งแล้ว ควรจะลองมา “ฝึกเดี่ยว” เองบ้าง ประกอบกับท่านได้ยินข่าวว่า ในปีพรรษาหน้านี้ ศรัทธาญาติโยมทางสกลนครหมายมั่นปั้นมือกันมากว่าจะกราบเท้าอ้อนวอนท่านพระอาจารย์มั่น นิมนต์ให้ท่านไปโปรดทางจังหวัดสกลนคร ถิ่นซึ่งท่านเคยอยู่มาก่อนบ้าง ศรัทธาญาติโยมเหล่านั้นล้วนเป็นลูกศิษย์เก่าแก่ของท่าน และท่านเคยเมตตามากด้วย จึงเชื่อว่า ออกพรรษาปี ๒๔๘๔ นี้ ท่านพระอาจารย์มั่นคงจะเมตตารับอาราธนานิมนต์ศรัทธาทางสกลนคร หลวงปู่จึงคิดมุ่งจะไปหาที่จำพรรษารออยู่ที่สกลนครก่อน

ปกติหลวงปู่อาจจะเป็นผู้อยู่ไปคล่อง หรือกล่าวตามคำของปุถุชนก็ต้องว่าเป็นคนใจร้อน ถ้าคิดจะไป ก็แต่งของใส่บาตร แบกกลด สะพายย่ามไปเลย ไปทันทีไม่รีรอ-รอใคร อยู่ง่าย ไปเร็ว เป็นคติของท่าน เมื่อจากถ้ำโพนงาม มาอุดร ท่านใช้เวลาเพียงวันเดียว แต่ขากลับ จากอุดรไปสกลนคร นี้ ท่านธุดงค์ไปเรื่อยๆ แบบตามสบาย ระยะนั้นกำลังเป็นเวลาระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เมืองไทยเพิ่งผ่านสงครามอินโดจีนมาหมาดๆ สงครามโลกยังไม่แผ่ขยายมาถึงเมืองไทย แต่ก็อยู่ในระยะคุกรุ่นเต็มที่ เพราะหลังจากวันเข้าพรรษาไปเพียง ๔-๕ เดือน กองทัพญี่ปุ่นก็บุกเข้ามาในประเทศไทย ทำให้บ้านเมืองของเราเข้าสู่ภาวะสงครามติดต่อไปอีกเกือบ ๔ ปีเต็ม

ถนนจากอุดรธานีไปสกลนครมีแล้ว แต่ยังเป็นทางซึ่งมิได้ลาดยางดีเช่นทุกวันนี้ รถยนต์ก็มิได้วิ่งไปมาไม่ขาดสายดังปัจจุบัน ท่านไม่ได้คิดพึ่งรถยนต์ แต่อาศัยยานพาหนะของตน คือขา เดินธุดงค์รอนแรมเลี่ยงทางถนน มาตามทางทิวเขาภูพานอย่างไม่รีบร้อน ค่ำในนาก็พักในนา ค่ำในสวนก็พักในสวน ค่ำในป่าก็พักในป่า ค่ำบนเขาก็พักบนเขา ระหว่างเดินทางภาวนาไปด้วยในตัว การเดินทางจึงเป็นการเดินจงกรมกำหนดให้สติอยู่กับจิต จะก้าวเดินเร็วหรือจะย่างเท้าช้า ก็เป็นไปตามวิถีของจิตที่กำลังภาวนาเป็นไป หลายต่อหลายครั้งที่ท่านหวนคำนึงถึงโอวาทที่ได้รับมาระหว่างไปกราบท่านพระอาจารย์มั่นที่โนนนิเวศน์และหนองน้ำเค็ม โดยเฉพาะตอนที่เทศนาของท่านจะกวาดเอาตัวท่านแล้วไปด้วยแรงพายุกล้า

ท่านว่า ท่านพระอาจารย์มั่นคงรู้ว่า ท่านมีมานะกล้า ถือดี ติดดี เวลาเทศน์ท่านจึงแฉลบมาว่า

“ท่านอาจารย์บุญเอาตัวรอดได้ แต่ลูกศิษย์ไม่ได้สักคน และไม่ได้นิสัยด้วย”

ท่านว่า พลางชำเลืองมองมาทางหลวงปู่ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นลูกศิษย์ท่านอาจารย์บุญอยู่องค์เดียวในที่นั้น นัยน์ตาท่านพระอาจารย์คมปลาบราวกับแสงเพชร แล้วท่านก็ว่าต่อไป

“แก้ติดดีนี้แก้ยาก เพราะความไม่ดีนั้นแก้ง่าย เพราะเห็นว่าไม่ดีอยู่แล้ว ผู้ที่ติดดีต้องพยายามแก้หลายอย่าง เพราะมันเป็นชั้นปัญญาที่เกิดขึ้นภายใน มีพร้อมทั้งเหตุผลจนทำให้เชื่อจนได้ วิปัสสนาไปสู่อริยสัจอยู่แล้ว แต่ดำเนินไม่มีความรู้รอบพอก็เลยเป็นวิปัสสนูไป ท่านอาจารย์มั่นห้ามไม่ให้ติดฌานและญาณ”

ดูราวกับท่านจงใจจะว่าเราโดยเฉพาะ...!

“ท่านแนะนำอย่าหลงฌาน ผู้จะพ้นทุกข์จริงแล้วไม่หลง ญาณ คือความรู้วิเศษที่เกิดขึ้นจากสมาธิสงบระลึกชาติหนหลังได้ ๑ ญาณเหตุการณ์อดีต ๑ ญาณรู้จักอนาคต ๑ รู้จักความนึกคิดของคนอื่นเป็นต้น เป็นวิชาที่อัศจรรย์ทั้งนั้น เมื่อติดอยู่ สิ่งเหล่านี้ทำให้ล่าช้า เข้าสู่อริยสัจธรรม ฌานเหล่านี้เป็นอุปกรณ์วิเศษ แต่สมัยนั้นเทวทัตติดกลับเสื่อมได้ เกิดทิฐิมานะแข่งขันสู้พุทธเจ้า ท่านอาจารย์มั่นว่าฌานเหล่านี้มันน่าคิดจริง วิเศษได้ทางโลกีย์ ฉะนั้น ท่านฤๅษีทั้งหลายติดฌานอันนี้ ท่านอาจารย์หนูใหญ่ติดฌานอันนี้เอง เสื่อมแล้วก็สึกกันเท่านั้น”

“ท่านเห็นความรู้นั้นว่าธาตุจริง ฌานร้จริง มันจริงทางวิปัสสนู แต่ทำความรู้นั้นให้ยิ่ง จึงเป็นวิปัสสนา เครื่องเย็นใจ ท่านอาจารย์มั่นสอนศิษย์ในทางอย่าหลงฌาน อย่าหลงญาณ โยคาวจรเจ้าติดในตอนนี้มาก ติดพรหมโลก อ่อนทางวิปัสสนา”

ท่านเดินไป ครุ่นคำนึงไป เมื่อสมัยเกือบห้าสิบปีก่อน หมู่บ้านยังอยู่ห่างกัน ไม่แออัดด้วยผู้คนและบ้านเรือนเช่นสมัยปัจจุบัน ป่ายังคงเป็นป่า เขายังคงเป็นเขา

...ป่ายังคงเป็นป่า...ต้นไม้ขึ้นเบียดเสียด สูงชะเงื้อม แผ่กิ่งก้านสาขา กิ่งหนาใบดกเขียวครึ้มระก่ายกัน เดินอยู่ตามทางในป่าแทบจะไม่เห็นแสงเดือนแสงตะวัน ไม้ตะเคียน ไม้มะค่า ไม้ประดู่ ไม้โป่งเปือยหรือตะแบก อินทนิน ยูง ยาง แต่ละต้นมีลำต้นใหญ่ขนาดคนสองสามคนจึงจะโอบรอบ

....เขายังคงเป็นเขา...ภูเขายังเป็นสีเขียวขจีด้วยคลื่นแมกไม้น้อยใหญ่ ไม่ล้านเลี่ยนเป็นภูเขาหัวโล้นสีน้ำตาลลูกแล้วลูกเล่า อย่างน่าสลดใจดังในทุกวันนี้

....ท่อธารละหานห้วย...ยังมีน้ำใสไหลเย็นแทบตลอดปี น้ำห้วยน้ำซับมีให้ได้พบเห็น ได้อาศัยอาบกินเป็นระยะๆ ไม่เคยอด แตกต่างกับสภาพโขดหินที่แตกระแหงแห้งน้ำเช่นปัจจุบัน

....สัตว์ป่าก็อุดมสมบูรณ์ เสือ ช้าง กวาง เม่น หมี ลิง บ่าง ค่าง ชะนี นกยูง ก็ยังมีให้ประสบพบเห็นบ่อยๆ ในราวป่า อย่างน้อยไม่ต้องพานพบประสบตัวให้กลัวเกรง อย่างเสือ อย่างช้าง แต่ก็ได้ยินเสียงกระหึ่มคำรามของเสือ เสียงหักกิ่งไม้ของพญาคชสาร ดังแหวกความวิเวกมาให้ได้ยินไม่เว้นวาง

เดินไปตามทางซึ่งยังมีร่องรอยของพรานป่า แต่บางครั้งก็หลงทิศ ต้องหยุดกำหนดจิตตั้งทิศทางที่จะดำเนินต่อไป

แล้วก็อดที่ระลึกถึงความรู้ความเห็นของครูบาอาจารย์ต่อไปมิได้ ด้วยความซาบซึ้งเหลือจะกล่าว

“ความรู้ของท่านที่มั่นคงอยู่นั้นสุดวิสัยของสัตว์ที่จะรู้ตามเห็นตามเพราะฝ่าอันตรายลงไปหลายชั้นหลายเชิง จึงเห็นธรรมของท่านลึกลับสุขุมคัมภีรภาพ จึงเห็นคุณธรรมของท่านเกิดขึ้นในเฉพาะหน้า ถ้าจิตฟูตามกิเลส ไม่เห็นคุณธรรมของท่านเลย เพราะอยู่คนละโลกเสียแล้ว จะเห็นหน้าท่านได้อย่างไร”

“คนอื่นจะฟังเทศน์ท่านเข้าใจนั้น เมื่อจิตหดแล้ว รีบทำความรู้ความเห็นจิตของตัว อย่านอนใจความวุ่นความวายในจิตของตัวได้แล้วทวนกระแสของจิตเข้าไป ตั้งใจฟังเรื่อยๆ ก็จะเห็นอานิสงส์ดูดดื่มธรรมรสนั้นทีเดียว เต็มทีอย่างเดียวมันยุ่งนำหัวใจของตน กรรมของตน ไม่เปิดออกจะรับธรรมได้อย่างไร”

“สติของท่านจับจิตอยู่เสมอ ท่านทำการงานอะไรลงไปไม่ผิด”

“ท่านไม่ส่งจิตออกนอก เกรงจะเป็นมิจฉาทิฐิ ท่านพิจารณาแต่กายกับจิต แสบตาตกตำ เพราะท่านสำรวม ท่านทำสัญญาและสติดล่องแคล่วชำนิชำนาญมาก ความรู้ความเห็นของท่านหนักแน่นมาก ไม่มีที่จะชอนเข็มฉะนั้นท่านพูดธรรมได้ไม่มีใครชอนเข็มคัดค้านได้เลย (นี้เป็นอัศจรรย์อันใหญ่หลวง) เรียกว่าท่านมีนิทัศบุญาณภายในแจ่มแจ้ง ท่านพิจารณาดูโลกไม่มีผู้หญิงผู้ชาย เพราะกรรมเป็นสภาพธรรมอันเดียว ไม่มีนอกไม่มีใน ไม่มีไป ไม่มีมา โลกเป็นอยู่เช่นนั้น ส่วนรู้เห็นธรรมก็รู้เห็นอยู่เช่นนั้น”

หลวงปู่คุยให้ฟังว่า ท่านเพลินคิด เพลินนึก ตรึกถึงธรรมะที่ได้รับถ่ายทอดมาทุกคืนวัน จิตทรงเป็นสมาธิ นับเป็นสังฆานุสติได้เป็นอย่างดี เดินวิเวกมาถึงสกลนครได้อย่างไม่ทันรู้ตัว

ปี ๒๔๘๔ นั้นท่านได้จำพรรษาที่บ้านห้วยหีบ อ.ศรีสุวรรณ จ.สกลนคร และก็จริงดังคาด ออกพรรษาแล้ว คณะศรัทธาทางสกลนครก็พร้อมกันจัดรถไปอาราธนานิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่นให้มาโปรดพวกคณะญาติโยมทางนั้น ปลายปี ๒๔๘๔ ท่านพระอาจารย์มั่นไปพักที่วัดป่าสุทธาวาสชั่วระยะหนึ่ง มีพระเณรมากราบนมัสการและฟังโอวาทท่านมิได้ขาด จากนั้นท่านก็ออกเดินทางไปพักที่สำนักป่าบ้านนามนซึ่งเป็นสถานที่ซึ่งมีป่าไม้ร่มรื่นดี เหมาะแก่การบำเพ็ญธรรม ท่านพักบ้านนามนเทศนาอบรมพระเณรและญาติโยมผู้ศรัทธามาฝึกสมาธิภาวนาตามควร แล้วก็มาพักและจำพรรษาปี ๒๔๘๕ ที่บ้านโคก ซึ่งที่อยู่ไกลออกไปจากบ้านนามนไม่กี่กิโลเมตร

ออกพรรษา ปี ๒๔๘๕ ท่านย้อนกลับไปพักที่บ้านนามนอีก และจำพรรษาปี ๒๔๘๖ ณ ที่บ้านนามน หากทว่าระหว่างที่อยู่บ้านนามนนี้ ท่านได้ออกไปวิเวกตามหมู่บ้านต่างๆ ในบริเวณใกล้เคียง เช่น บ้านห้วยหีบ บ้านห้วยแคนในป่าบ้านนาสีนวน เป็นอาทิ มีทั้งพระเณรติดตามไปอยู่กับท่านตามจำนวนพอดีกับเสนาสนะหรือมิฉะนั้นก็อาศัยรุกขมูลร่มไม้เป็นเสนาสนะได้ ทุกวันพระธรรมสวนะ จะมีพระเณรและประชาชนติดตามเข้าไปฟังโอวาทของท่านเสมอมิได้ขาด

หลวงปู่เป็นผู้หนึ่งที่ไม่ยอมพลาดโอกาสอันวิเศษนี้ ท่านมิได้จำพรรษาอยู่ด้วย และก็คงหาที่จำพรรษาในบริเวณใกล้เดียงอันอยู่ในรัศมีที่แวดวงบารมีของพ่อแม่ครูจารย์จะแผ่ไปคุ้มครองเป็นมงคลแก่เศียรเกล้าได้

ปี ๒๔๘๕ ท่านจำพรรษาที่ บ้านอุ่นโคก ปี ๒๔๘๖ จำพรรษา ณ กระต๊อบเล็กๆ ที่ชายป่าใกล้กับที่พักสงฆ์ ณ บ้านนามน

บางเวลาท่านพระอาจารย์มั่นออกวิเวกไปตามหมู่บ้านอนๆ ท่านก็ได้โอกาสขอไปพักอาศัยบารมีพักฟังเทศน์ฟังธรรมด้วย

ในภายหลัง ปี ๒๕๒๕ ท่านรำพึงไว้ ณ ถ้ำเจ้าผู้ข้า รำลึกถึงความเพียรพยายาม ที่ท่านบำเพ็ญมาในหนหลังว่า

๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕ ถ้ำผู้ข้า

“เมื่อคราวเราอยู่กะท่านอาจารย์มั่น ห้วยหีบ จ.สกลนคร นั้น เราทรมานตนอย่างขนาดใหญ่มีประการต่างๆ กำลังม้างกาย ประกอบจิตเด็ดเดี่ยว กล้าตาย ส่งเข้าภายใน มารตัวสำคัญ คล้ายมันปัดออก แต่เราสละตายเข้าไป เกิดระเบิดใหญ่ภายในนั้น ข้อ ๑ ถือธรรมะนิสัยท่านอาจารย์มั่น จึงชนะได้”

คราวท่านอาจารย์มั่นไปจุดศพ (เผาศพ-ผู้เขียน) ท่านอาจารย์เสาร์ ณ จังหวัดอุบลราชธานี นั้น เราเดินจงกรมระลึกถึงท่านเป็นที่หนึ่ง พร้อมทั้งอิทธิบาท ๔ ไม่ละซึ่งความเพียร

“๑/๑๑/๘๔ (ตรงกับ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๘๔-ผู้เขียน) การภาวนาอยู่กับท่าน เห็นปาฏิหาริย์ของท่านหลายอย่างหลายประการ ทำให้ผู้น้อยไม่นอนใจ เร่งทำความเพียรเสมอ จิตไม่ส่งไป ณ ที่อื่น จิตดูดดื่มธรรมมาก ความประมาทมีน้อยจะไม่ให้ลูกศิษย์ได้นิสัยและได้ดีอย่างไรได้ ย่อมได้ดีทุกรูป ผู้ใหญ่มักพูดบ่อยๆ ผู้น้อยมีสติเพราะระวังตัว ท่านปกติทรมานผู้ที่ตั้งใจปฏิบัติจริงๆ ไปท่าย่อแก สกล ท่านไม่อยากไปเพราะไม่มีคนปฏิบัติตาม มีแต่ท่านอยู่ที่ไหนก็ทนได้ ท่านเพ่งประโยชน์เสียก่อนจึงไปและมีคนอาราธนานิมนต์ด้วย”

หลวงปู่บันทึกไว้อีกในปี ๒๔๘๔ นั้นว่า


๏ ลัทธิของท่านอาจารย์มั่น ๑๐.๑.๘๔

“เสียงดังเป็นเสียงของบุรุษ เสียงเป็นรัศมีอำนาจเลี้ยงจิตมากฉลาดใช้ไหวพริบทางจิต ไม่เชื่อนิมิต ท่านเชื่อธรรมะที่เกิดปัจจุบันปัญญาบริบูรณ์ไม่บกพร่อง กายวาจา จิตเข้มแข็งมาก พิจารณาธรรมะถึงแก่นเป็นผู้บริบูรณ์ทางปริยัติและปฏิบัติ กายวาจาใจเป็นอาชาไนยเสมอจิตไม่มีการหดหู่จิตชื่นตื่นเต้นอยู่ด้วยสติ”

“สานุศิษย์ที่อยู่ด้วยมีการปฏิบัติ คือ

จิตไม่ออกรับเหตุภายนอก จิตเยือกเย็น ขนหัวลุก จิตกลัวเกรงท่านมาก ดุจท่านเห็นจิตของเราอยู่เสมอ จิตของเราพิจารณาค้นเหตุผลอยู่เสมอไม่นอนใจ ฉะนั้นสานุศิษย์จึงมีสติเร็ว รู้เร็ว เห็นธรรมะเร็วผู้มีวาสนาน้อยไม่ติดตามท่านเพราะข้อวัตรของท่านเข้มแข็ง น้ำใจเด็ดเดี่ยวกะเพชร ท่านพูดมีธรรมะภายในภายนอกเป็นที่อ้างอิง สานุศิษย์เข้าหาท่านร้อน ทำให้จิตผู้น้อยค้นคว้าหาเหตุผล เมื่อออกมาแล้วจิตจึงเห็นอานิสงส์เมื่ออยู่กะท่านไปแล้วยิ่งเห็นอัศจรรย์ใหญ่ ท่านเป็นคนเกรงใจคน ท่านเป็นคนใหม่ในตระกูลทั้งหลาย ไม่ติดอามิส และติดตระกูล เป็นคนชอบสันโดษ ไม่ยุ่งกังวลทกอย่าง อบายธรรมะแยบคายมาก อามิสได้ด้วยการเป็นเอง กินอร่อยดุจแมลงภู่ชมเกสร มีความรู้เท่าทันเหตุผล มีญาณความรู้ทุกเส้นขน เป็นคนราคะกับโทสะจริต ท่านได้พูดทำลงไปแล้วไม่มีใครคัดค้าน สติปัญญาแน่นหนามากหาที่จะซอนเข็มมิได้ (เป็นนักรู้นักปฏิบัติ) พูดไม่เกรงใจคน พูดถูกธรรมะก็เป็นอันที่แล้วกัน มิจิตน้อมไปเพื่อปฏิบัติให้สิ้นทุกข์ทีเดียว ไม่พูดตลกคะนอง”

“แรงทางสมาธิและปัญญา แรงทางสติหนาแน่นมาก เพราะท่านค้นกายจิตพอ เพราะฉะนั้นสติของท่านจึงไม่เผลอ”

ภัยสงครามครั้งที่สองถามมาถึงประเทศไทยด้วย ตั้งแต่วันที่ ๘.ธันวาคม ๒๔๘๔ บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะขาดแคลนเครื่องอุปโภค บริโภค ภายหลังเริ่มมีการถูกทิ้งระเบิดระหว่างอยู่บ้านอุ่นโคก พ.ศ. ๒๔๘๕ ท่านบันทึกไว้ถึงความเป็นห่วงทางบ้าน อาจจะหวาดเกรงภัยสงคราม จิตจะไม่มีที่พึ่ง

อยู่บ้านอุ่นโคก เดือน ๕-๖ พ.ศ. ๘๕

“จิตได้วิเวกบังเกิดความกลัวต่อสู้ทางอากาศ พิจารณากายปฏิภาค นิมิตแยบคายมาก คิดถึงคุณของท่านอาจารย์ใหญ่มาก แต่วิตกทางบ้านเรื่อยๆ นิมิตความฝันก็เป็นมงคล พึ่งธรรมไม่พึ่งยาเหมือนแต่ก่อน ท่องปาฏิโมกข์ก็สะดวก ร่างกายก็ให้โอกาสไม่เจ็บป่วย สัญญาในอดีตเกิดมาก แต่พิจารณาถึงหลักของธรรมแล้วหาย อยู่วิเวกคนเดียวมีความสุขมาก จิตพึ่งธรรมะไม่พึ่งคนอื่น”

“เฉพาะตัวของเราเมื่ออยู่ในสำนักของท่านแล้ว ให้ สำคัญว่า เราเป็นสามเณรเพื่อถอนทิฐิมานะ แข่งดีกับท่าน พิจารณาแล้วสะดวก เข้าอุปัฏฐากท่าน แหม่ลืมอารมณ์บ่วงมานาน พึ่งมาตั้งจิตได้ อนิจจาเอย ประมาทมามากมายฯ”

“พิจารณากายให้มากเป็นอุคคหนิมิต พิจารณาอุคคหนิมิตให้มากเป็นปฏิภาคนิมิต พิจารณาปฎิภาคให้มาก จิตรวมเป็นอริยสัจ เห็นแจ้งพร้อมด้วยญาณสัมปยุต เกิดขึ้นมาเรียกว่า อุฎฐาคามินีวิปัสสนา ทำในที่นี้ให้ชำนาญแล้ว เห็นพร้อมด้วยการรวมใหญ่ มีญาณสัมปยุตทวนกระแสแก้อนุสัยสมมติเป็นวิมุติฯ”

“อุบายของวิปัสสนาที่จะถ่ายถอนกิเลส ธรรมชาติของสวยของงามต้องมาแต่ของที่ไม่ดี ดุจดอกประทุมชาติเกิด ณ ที่เปลือกตม ธรรมวิเศษต้องพิจารณาออกจากกายอันเปื่อยเน่า”

“การพิจารณากาย ต้องให้ก้าวเข้าไป ถอยออกมาเป็นอนุโลมปฏิโลมจนให้ชำนาญต่อไป จิตเป็นเองจิตย่อมจะรวมใหญ่ จึงเห็นความเป็นอันเดียวกันหมดทั้งโลก เป็นธาตุทั้งสิ้น นิสิตจะปรากฏขึ้นพร้อมกันว่าโลก โลกราบดุจหน้ากลอง เพราะมีสภาพเป็นอันเดียว”

“อริยสัจเป็นที่แก้สมมติในจิต”


(มีต่อ ๑๒)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 17 ม.ค. 2007, 4:58 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ พรรษาที่ ๒๐-๒๕ พ.ศ. ๒๔๘๗-๒๔๙๒
ดุจนายทวารบาลแห่งบ้านหนองผือ

พ.ศ. ๒๔๘๗-๒๔๘๘
จำพรรษา ณ บ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
พ.ศ. ๒๔๘๙-๒๔๙๐ จำพรรษา ณ บ้านอุ่นดง จ.สกลนคร
พ.ศ. ๒๔๙๑ จำพรรษา ณ บ้านโคกมะนาว จ.สกลนคร
พ.ศ. ๒๔๙๒ จำพรรษา ณ บ้านห้วยบุ่น ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร


ในปี ๒๔๘๗ นั้นท่านพระอาจารย์มั่นจำพรรษาอยู่ที่บ้านโคก ซึ่งไม่ใช่สำนักเดิมที่เคยจำมาแล้ว เป็นสำนักใหม่ที่พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ สร้างถวาย ในปีเดียวกันนี้ ขณะนั้นหลวงปู่หลุยจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือ ต.นาใน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านโคกนัก ระยะนั้นท่านกำลังมีความคิดว่าควรจะให้ชาวบ้านหนองผือได้มีโอกาสได้บุญกุศลอย่างมหาศาล โดยการอาราธนานิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ ให้มาจำพรรษาโปรดพวกเขาบ้าง ที่บ้านหนองผือ นาใน นี้บ้าง

ความจริงในระยะเวลานั้น ครูบาอาจารย์หลายองค์ก็มีความปรารถนาอยากให้ท่านพระอาจารย์มั่นมาจำพรรษาที่สำนักสงฆ์หรือวัดที่ท่านกำลังปฏิบัติอยู่ ระหว่างที่ท่านพระอาจารย์มั่นจำพรรษาอยู่ที่สำนักป่าบ้านโคกก็ดี บ้านนามนก็ดี หรือย้อนกลับมาที่บ้านโคก แต่ว่าเป็นคนละแห่งกับบ้านโคกที่ท่านพักจำพรรษาเมื่อปี ๒๔๘๕ หลายต่อหลายองค์ก็คิดว่าควรจะหาทางอาราธนานิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่นให้ไปโปรดญาติโยมที่สำนักสงฆ์ หรือวัดป่าที่ท่านเคยคุ้นเคยกับญาติโยมเหล่านั้น

ขณะนั้นหลวงปู่หลุยได้มาที่บ้านหนองผืออีกครั้งหนึ่ง นอกจากการที่ท่านจะได้ไปฟังธรรมจากครูบาอาจารย์แล้ว ท่านก็ยังได้สอนอบรมพวกชาวบ้านในเขตหนองผือ ในเรื่องการฟังธรรมอีกครั้งหนึ่งด้วย ตามแบบฉบับที่ท่านเคยได้สอนไว้แต่ครั้งแรกที่ท่านมาพักจำพรรษาแต่ในปี ๒๔๗๘ ก่อนโน้น ก็เป็นเวลาเกือบ ๙ ปีที่แล้ว

ในระยะนี้เผอิญเป็นระยะที่กำลังสงคราม พ.ศ. ๒๔๘๗ เป็นเวลาที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ยุโรปกำลังเริ่มจะแตกหัก ส่วนทางมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นก็กำลังรบรุกอย่างหนัก สภาพการขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคมีอย่างมากที่สุด เสื้อผ้าแพรพรรณอาศัยของนอกไม่ได้ต้องใช้การทออยู่ภายใน ระหว่างนั้นการขาดแคลนเรื่องผ้าเครื่องนุ่งห่มต่างๆ รวมทั้งพระเณรก็ขาดแคลนสบง จีวร จนกระทั่งว่าวัดที่ท่านพระอาจารย์มั่นจำพรรษาอยู่ที่บ้านนามนนั้น ออกพรรษาแล้วก็ไม่มีผ้าจะเปลี่ยนผ้าสบงจีวร

เมื่อหลวงปู่ท่านมาอยู่บ้านหนองผือ ครั้งที่ ๒ มาอยู่จำพรรษา ออกพรรษาแล้วท่านก็พาชาวบ้านที่ท่านฝึกไว้ตั้งแต่เมื่อตอนต้นปีนี้ ทอผ้าว่าทออย่างไร ออกพรรษาแล้วก็พาเขาไปถวายผ้า แล้วพร้อมกับแนะให้เขาอาราธนานิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่นให้ขึ้นมาพักอยู่ที่บ้านหนองผือ แสดงความเคารพนอบน้อม

ท่านพระอาจารย์มั่นก็มองดูเห็นว่าชาวบ้านหนองผือนี้มีความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแท้จริง การเข้าใกล้ครูบาอาจารย์ก็มีความนอบน้อม แสดงความคารวะ เจรจาความใด แสดงว่ามีศีลมีธรรม มีความเคารพ ตั้งใจจะปฏิบัติภาวนา ท่านพระอาจารย์มั่นก็บังเกิดความเมตตา สุดท้ายท่านก็ยอมรับว่าจะมาอยู่จำพรรษาหน้าให้

เมื่อออกจากบ้านนามนแล้ว ท่านมาพักอยู่ที่บ้านห้วยหีบ โดยพักอยู่ที่บ้านห้วยหีบ ๓ เดือนเศษ ระหว่างที่อยู่บ้านห้วยหีบนี้หลวงปู่หลุยก็ได้ไปพักอยู่ด้วยท่าน เรื่องนี้ท่านได้เล่าไว้ในภายหลัง โดยบันทึกไว้ระหว่างที่ท่านอยู่ถ้ำเจ้าผู้ข้าเมื่อปี ๒๕๒๕ ว่า

“เมื่อคราวเราอยู่กะท่านอาจารย์มั่น ห้วยหีบ สกลนคร นั้น เราทรมานตนอย่างขนานใหญ่ มีประการต่างๆ กำลังม้างกาย ประกอบจิตเด็ดเดี่ยว กล้าตาย ส่งเข้าภายใน มารตัวสำคัญ คล้ายมันตัดออก แต่เราสละตายเข้าไป เกิดระเบิดใหญ่ภายในนั้น ถือธรรมนิสัยท่านอาจารย์มั่นจึงชนะได้”

เมื่อได้ยินข่าวว่าท่านพระอาจารย์มั่นรับอาราธนานิมนต์แล้วว่าจะมา เพียงแต่ท่านออกท่องเที่ยวธุดงค์มาเรื่อยๆ แต่หลวงปู่ก็ทราบดีว่า ปกติท่านพระอาจารย์มั่นไม่ชอบเบียดเบียนพระเณรในวัดใด ท่านจะปล่อยให้อยู่ตามสบายๆ หากพบว่า เมื่อท่านมาแล้วจะทำให้พระเณรลำบากต้องจากที่ไป ท่านก็จะผ่านเลยไป หาความสะดวกสบายที่วิเวกสถานที่อื่นแห่งอื่นต่อไป

หลวงปู่ทราบนิสัยของครูบาอาจารย์ดี ท่านจึงรีบกลับมาเตรียมจัดเสนาสนะที่บ้านหนองผือ ทางชาวบ้านเรียกว่าเป็น “วิทยายุทธของเพิ่น” เพราะว่าท่านรู้ว่า “หลวงปู่มั่นซิบ่ไปเบียดเบียนพระเณรในวัดใด๋ ปล่อยให้อยู่ตามสบายๆ หลวงปู่เพิ่นจึงขึ้นมาก่อน เพิ่นมาสะสาง” ปรากฏว่า ขณะนั้นมีหลวงตาองค์หนึ่งอยู่ที่บ้านหนองผือ อยากอยู่กับหลวงปู่มั่น ถือว่าอยู่ก่อนหลวงปู่มั่น ก็ไม่ยอมไป ถือโอกาสจะครอบครองวัดนั้นอยู่ หลวงปู่ขึ้นมา

“เพิ่นไล่หลวงตานี้หนีไปก่อน เพื่อปล่อยให้เป็นวัดร้าง บ่ให้ไผอยู่ ตัวเพิ่นเองก็หนีไปอยู่ที่บ้านห้วยบ่นบ้าง ทางบ้านนาเหล่าบ้าง บ่อยู่ขัดขวางทางท่านอาจารย์”

ซึ่งเป็นคำพูดของหลวงตาบู่เล่าให้ฟัง และเล่าถึงการมาวัดหนองผือของท่านพระอาจารย์มั่นว่า

“เพิ่นซิย่างมาทางอุ่นดง ทางอุ่นโคก ทางหนองสะไน ทางที่เพิ่นเคยอยู่ หลวงปู่มั่นเพิ่นเดินทางมานอนที่บ้านห้วยหีบ บ้านหนองน้ำใส กุดน้ำใส คืนหนึ่ง เสร็จแล้วหลวงปู่ก็มาถึง คืนที่ ๒ ก็มาถึงหนองผือแล้ว”

หลวงตาบู่เล่าต่อไปว่า เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นเข้ามาพักอยู่เรียบร้อยแล้ว หลวงปู่หลุยก็ทำท่าทางไม่รู้ไม่ชี้ ค่อยๆ ออกมาจากบ้านห้วยบุ่น แล้วก็มากราบนมัสการหลวงปู่มั่นในตอนบ่ายของวันรุ่งขึ้น ทำเหมือนว่าท่านไม่รู้เรื่องรู้ราวที่พวกราษฎรบ้านหนองผือไปอาราธนานิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่นมา

ท่านว่า ความจริงหลวงปู่มั่นก็พอรู้ๆ อยู่ แต่ท่านก็ทำเฉยเสียเหมือนท่านไม่รู้เรื่องอะไร ในการที่หลวงปู่หลุยได้ตระเตรียมสถานที่แบบนี้ ทั้งๆ ที่วัดป่าบ้านหนองผือนี้ท่านจำพรรษามาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๗ อยู่ตลอดมา แต่ท่านก็ทำเป็นกลับออกไปหลบอยู่ที่ข้างนอก บ้านหนองผือกลายเป็นสถานที่ร้าง เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นท่านอาจารย์ของท่านได้มาเห็นท่านก็พอใจ เพราะเป็นวัดร้างจริงๆ ไม่มีใครอยู่ ณ ที่นั้น แต่ก็ดูปัดกวาคอย่างเรียบร้อย พวกชาวบ้านก็พากันมากราบพร้อมกันเป็นการแสดงความยินดีที่ได้มีครูบาอาจารย์องค์สำคัญเมตตากรุณาพวกเขาเดินทางมาถึง

หลวงปู่หลุยทำให้ทุกคนเข้าใจว่าชาวบ้านคิดเอง ทำเอง มีจิตเลื่อมใสเอง การทุกอย่างดูช่างแนบเนียน ไม่ให้ใครเข้าใจได้ ทำให้ทุกคนรู้สึกเมตตาสงสารชาวบ้านอย่างยิ่ง เมื่อคณะเข้ามาพักอยู่เรียบร้อยแล้ว หลวงปู่หลุยจึงค่อยเข้ามากราบ

อันที่จริงหลวงปู่เป็นคนที่มีนิสัยชอบอยู่องค์เดียว ท่านไปช่วยสร้างวัดใดแล้วเมื่อเวลาท่านกลับมา มีพระเณรอยู่ อย่างเช่นที่วัดหนองผือ ที่ท่านเข้ามาในระยะแรกท่านก็ไม่เข้ามาอยู่ในวัด ท่านกลับไปนอนนอกวัด ตามกระต๊อบนาบ้าง ตามโคนไม้รุกขมูลบ้าง หรือไปนอนตามป่า ท่านไม่เข้าไปอยู่ในวัด เพื่อให้พระเณรที่อยู่ในวัดนั้นเกรงใจ อันนี้เป็นนิสัยของท่าน ถ้ามีผู้อยู่ในวัดแล้ว ท่านจะไม่เข้าไปในเขตวัดเลยทั้งๆ ที่เป็นวัดที่ท่านได้จัดสร้างขึ้นมาแท้ๆ

หลวงตาบู่ผู้เล่าเรื่องนี้ เมื่อสมัยหลวงปู่มาอยู่บ้านหนองผือแต่สมัยแรกปี ๒๔๗๘ ยังเป็นเด็กหนุ่มอยู่ ต่อมาในสมัยหลัง พ.ศ. ๒๔๘๗-๒๔๘๘ ก็เป็นกำลังศรัทธาอันเข้มแข็ง แต่ปัจจุบันนี้ก็กำลังบวชเป็นภิกษุอยู่ ได้เล่าต่อไปว่า

เรื่องหลวงปู่มั่นที่จะกลับมานั้น หลวงปู่หลุยท่านได้วางแผนประชุมพวกชาวบ้านซึ่งรวมทั้งหลวงตาบู่ขณะนั้นให้เข้าใจด้วย มีการอบรมชาวบ้านให้เข้าใจเรื่องศีล เรื่องธรรม เรื่องข้อวัตรปฏิบัติ เรื่องการทำบุญสุนทานรักษาศีล ภาวนาเป็นอย่างดี เป็นการเตรียมตัว ไม่ได้เตรียมสถานที่ เสนาสนะไว้เท่านั้น แม้แต่เตรียมบุคคล เตรียมผู้ที่จะทำข้อวัตรอุปัฏฐากท่านอาจารย์ด้วย เป็นการที่ทำให้ท่านพระอาจารย์มั่นพอใจและมีเมตตาชาวบ้านหนองผือเป็นพิเศษ ถึงได้อยู่จำพรรษาอยู่ ณ ที่นั้นเป็นเวลานานติดต่อกันถึง ๕ พรรษา ตั้งแต่ปี ๒๔๘๘-๒๔๙๒ จนกระทั่งท่านเข้าสู่นิพพาน ที่วัดป่าสุทธาวาส ในภายหลัง

หลวงตาบู่ยืนยันว่า เมื่อก่อนนั้นก็ไม่มีใครรู้ประวัติวัดหนองผือนี้เลยว่าเป็นมาอย่างไร ถ้าไม่ใช่หลวงปู่หลุยเป็นผู้ริเริ่มจัดสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ แล้วได้มีอุบายวิธีนิมนต์หลวงปู่มั่นมาจำพรรษา ก็คงไม่มีชื่อที่จะติดอยู่ในประวัติศาสตร์ชีวิตพระกัมมัฏฐานเช่นทุกวันนี้

หลวงตาบู่ได้เล่าถึงการอบรมสั่งสอนของหลวงปู่หลุยต่อไปอีกว่า

“การสอนของเพิ่น สอนตั้งแต่พ่อถึงลูก ถึงหลานถึงเหลน เป็นที่จับใจ สอนก็สอนแบบง่ายๆ รู้สึกว่าเพิ่นซิเป็นที่สนิทสนมที่สุดของชาวบ้าน ชาวบ้านก็ซิคุ้นเคยกับเพิ่นที่สุด เรียกว่าคุ้นเคยแบบพูดได้ทุกประโยค แบบพ่อแม่พูดกับลูก แบบพ่อแม่อบรมสั่งสอนลูกนั่นแหละ”

ชาวบ้านหนองผือกับหลวงปู่ จึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ท่านเมื่อจำพรรษาที่บ้านหนองผือกับหลวงปู่มั่นในปี ๒๔๘๘ แล้ว ระยะต่อมาท่านก็แยกไปจำพรรษาอยู่ที่อื่น หรือระหว่างพรรษาหนึ่งกับอีกพรรษาหนึ่งท่านก็หลบไปอยู่ที่อื่นเช่นกันเช่นปี ๒๔๘๙, ๒๔๙๐ ท่านไปอยู่อุ่นดง ๒๔๙๑ จำพรรษาที่บ้านโคกมะนาว ซึ่งในพรรษานี้มีท่านพระอาจารย์สิงห์ทองจำพรรษาอยู่ด้วย ๒๔๙๒ อันเป็นปีที่ท่านพระอาจารย์มั่นมรณภาพ ท่านจำพรรษาที่บ้านห้วยบุ่น

สำหรับปี ๒๔๘๘ ที่ท่านอยู่จำพรรษากับท่านพระอาจารย์มั่น ณ บ้านหนองผือ ได้มีพระอื่นที่จำพรรษาด้วยอีก คือท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ท่านอาจารย์มนู ท่านครูบาอ่อนสา ท่านครูบาเนตร กันตสีโล ท่านอาจารย์วัน อุตฺตโม และเณรดวง ผ้าขาวเถิง

ในระหว่างฤดูแล้งออกพรรษาแล้ว ท่านจะอยู่บ้านนาเหล่าบ้าง วนเวียนอยู่แถวบ้านอุ่นดง บ้านอุ่นโคก ไปอยู่ทางนี้หลวงตาบู่ว่า รู้สึกว่า ๓ ปี อยู่ทางตะวันตกของบ้านหนองผือ ๒ ปี มาอยู่ทางตะวันออก ๓ ปี ถือวัดป่าบ้านหนองผือเป็นจุดศูนย์กลาง โดยรอบวัดสำคัญที่ท่านพระอาจารย์มั่นอยู่ เพราะท่านพระอาจารย์มั่นไม่ชอบให้พระเณรอยู่ในวัดเดียวมากเกินไป อีกทั้งระยะหลังท่านก็เริ่มมีอายุมากแล้วการจะปล่อยให้พระเล็กเณรน้อยที่ไม่ได้ผ่านการอบรมบ่มนิสัยเข้าไปใกล้ชิดท่านก็จะเป็นภาระอันหนักแก่ท่าน บรรดาพระเถระผู้ใหญ่จึงต้องเป็นคล้ายนายทวารบาลช่วยดูแลอบรมกันเป็นลำดับๆ ชั้นก่อน ต่อเมื่อเห็นองค์ใดมีนิสัยพอจะมี “ประกายแวววาว” ก็จะส่งต่อไป ให้ได้รับการอบรมขั้นสูงต่อไป

หลวงปู่กล่าวอย่างถ่อมองค์เสมอว่า “เวลาอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นท่านเป็นประดุจเขียงเช็ดเท้าของท่านอาจารย์ เหมือนผืนหนังที่ก่อนจะถูกฟอกให้อ่อนนุ่ม จะต้องผ่านกรรมวิธี ถูกทั้งทุบทั้งตีอย่างหนัก จนกว่าจิตที่กำเริบฟุ้งซ่านจะอ่อนยวบสยบลง” สำนวนท่านเรียกว่า จิต “กำเหริบ”

ท่านเล่าว่า เมื่อตอนที่มาอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น ระยะนั้นท่านก็เพิ่งผ่านพ้นสนามทดลองมาใหม่ๆ จิตกำลังมีกำลังกล้า ได้ฝึกปรือด้านการม้างกายมา ทำปฏิภาคนิมิต ขยายใหญ่ขึ้น ทำให้เล็กลง เป็นอนุโลมปฏิโลมอย่างคล่องแคล่ว กำหนดรู้จิตคนก็รู้ได้มาก

ดังนั้น วันหนึ่งอดไม่ได้ไปแอบม้างกายท่านพระอาจารย์มั่น เห็นแสงแห่งจิตของท่าน กำหนดแยกส่วนออกเป็นชิ้นๆ ส่วน เพราะหลวงปู่ถือตำราอยู่ว่า หากกำหนดม้างกายใครแล้วก็จะรู้จักคนนั้น ทรมานจิตคนนั้นให้อ่อนลงได้ ท่านเคยปฏิบัติกับบุคคลอื่นตลอด วันนั้นอวดกล้าลองดีไปลองวิชาเอกกับครูบาอาจารย์ ถูกท่านอาจารย์เอ็ดกลับมาเสียงดังสนั่นลั่นศาลา แต่วันหลังก็ยังไม่เข็ด ก็ยังแอบดูอีก แอบคิด ท่านเรียกว่า เหมือนบ้าๆ ขึ้นมาเอง อยากจะดูนักว่าจิตพระอรหันต์เป็นอย่างไร และเช่นเดียวกับครั้งก่อน ถูกเอ็ดเปรี้ยงลงมาเช่นเดียวกัน

ความจริง ต่อมาในบันทึกท่านได้กล่าวอย่างชัดว่า

“การดูบุคคลใด คนไหนมีบุญ มีวาสนา มีนิสัยอย่างไร จะเห็นแสงแห่งจิตได้ชัด”

นี่ก็เช่นเดียวกัน วันหนึ่งในระหว่างเรียนภาวนา กำลังพูดถึงการปฏิบัติภาวนากับศิษย์ มีศิษย์คนหนึ่งมีนิสัยออกโลดโผนปรารภถึงเรื่องนี้ วันนั้นท่านก็เผลอคุยให้ฟังว่า ท่านเองเคยแอบดูจิตท่านพระอาจารย์มั่น โดยท่านใช้วิธีหลายวิธี บางครั้งดูในเวลาสงบเงียบอยู่ ก็เห็นจิตสว่างไสว เป็นธรรมดา ท่านอยากจะคิดว่าพระอรหันต์นั้นมีจิตเป็นอย่างไร จะมีอารมณ์ราบเรียบอยู่เช่นนั้นตลอดไปหรือไม่ ท่านก็ลองใช้วิธีพูดเพื่อจะทำให้ถูกท่านอาจารย์ใหญ่ดุ แล้วก็แอบดูจิตของท่านพระอาจารย์มั่น ท่านบอกว่า เป็นแสงแดงจ้าสว่าง สว่างแต่ออกข้างแดง

ความซนของท่านนั้นก็เป็นที่ประจักษ์แก่ท่านอาจารย์อยู่ ถึงถูกทั้งดุทั้งว่าต่างๆ ท่านเองเคยเขียนไว้ว่า

“ครั้งหนึ่งที่ภาวนาแล้ว ท่านอาจารย์ใหญ่จะยกโทษเรา แต่เมื่อเห็นรัศมีกายของเรา ก็เลยหยุดอยู่” ท่านกล่าวว่า “นี้นี้ก็เป็นข้ออัศจรรย์อย่างหนึ่ง”

ข้อที่ท่านบันทึกไว้เรื่องรัศมีกายนี้ ทำให้คิดขึ้นได้ถึงเรื่องรัศมีกายของหลวงปู่ที่เราเคยพบมา ลูกศิษย์ได้เคยถ่ายรูปท่านในปี ๒๕๒๐ การถ่ายรูปครั้งนั้น เป็นการถ่ายในอิริยาบถต่างๆ ท่านมาเยี่ยมบ้านลูกศิษย์คนหนึ่ง เผอิญศิษย์ที่มีนิสัยในการถ่ายรูปได้ถือกล้องมาด้วย ก็ขออนุญาตถ่ายรูปท่าน เธอได้ถ่ายรูปหลวงปู่ทั้งม้วน จำนวน ๓๖ รูป เมื่อล้างออกมาแล้ว มีอยู่รูปหนึ่งได้มีรัศมีวงกลมเรียงไปทางขวา ด้านขวาบนเศียรของท่าน รูปนี้ท่านเจ้าของบ้านได้นำไปกราบเรียนให้ครูบาอาจารย์ดูหลายองค์ เช่น หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ หลวงปู่ขาว อนาลโย ท่านพระอาจารย์วัน อุตตโม ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ต่างกล่าวว่า เป็นรัศมีของท่าน อีกองค์หนึ่งกล่าวว่า เป็นรังสีของท่าน รังสีนี้เป็นวงกลมสีขาว เข้าใจว่าเวียนอยู่รอบเศียรท่าน เมื่อมาพบบันทึกที่ท่านกล่าวว่า ท่านพระอาจารย์มั่นได้มองเห็นรัศมีกายของท่าน ก็ไม่ค่อยได้ดุอีกต่อไป หรือต่อหน้าคนอื่นท่านก็ยังดุบ้าง แต่ด้วยความเมตตาอยู่ตลอด

อีกเรื่องหนึ่งที่หลวงปู่เคยเล่าก็คือว่า ท่านถูกลองทดลองจิตจากหลวงปู่มั่นอยู่เสมอ บางครั้งถูกดุเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่ที่จริงท่านก็ทราบว่าเป็นอุบาย ที่หลวงปู่หลุยที่จะแกล้งพูดเพื่อให้ถูกดุ และเพื่อให้ทุกคนได้ฟังเทศน์เสมอกัน บางครั้งท่านไล่ถึงกับบอกว่า “ไอ้ผีบ้าไปให้พ้น ออกไป ออกไป” หลวงปู่ก็เก็บข้าวเก็บของหอบผ้าแล้วเข้ามากราบลา มาถึงแล้วท่านอาจารย์มั่นถามว่า “มาทำไม ใครบอกให้ไป เรื่องอะไรกัน” ท่านพูดเสร็จก็อมยิ้ม หลวงปู่ก็ต้องเก็บของกลับอยู่ต่อไป ท่านบอกว่าโดนอย่างนี้ ๒-๓ ครั้ง ครั้งแรกไม่เข้าใจ แต่ตอนต่อไปก็ทราบว่า ท่านต้องการจะทดลองจิตของศิษย์ ว่าเมื่อการที่ถูกดุถูกว่านั้น ศิษย์ที่เข้ามาหมอบกราบบอกว่า

“ขอมอบกายถวายชีวิตต่อท่านอาจารย์ ตามแต่ท่านจะเมตตาสั่งสอนทกอย่าง กระผมยอมทุกประการ”

แต่เมื่อถูกดุถูกว่าถูกไล่ จิตของศิษย์นั้นมีแข็งกระด้าง โต้แย้งท่านอวดดีต่อท่านหรือไม่ประการใด แต่ถ้าศิษย์ยอมสยบ จิตหดเข้าสู่ภายในแนบสนิทเวลาที่ถูกดุนั้นจะกลับเป็นธรรมที่วิเศษที่สุด กลับทำให้จิตรวม จิตอ่อน จิตนอบน้อม จิตควรแก่การงาน เป็นอุบายวิธีของท่านพระอาจารย์มั่นที่ใช้อยู่เสมอกับศิษย์ และหลวงปู่ก็เป็นองค์ที่ถูกทดลอง ดังที่ท่านกล่าวว่า “เป็นประดุจ เขียงเช็ดเท้า ที่ถูกเหยียบย่ำอยู่ตลอดเวลา”

ในระหว่างที่ท่านเริ่มมาสร้างวัดป่าบ้านหนองผือ ท่านก็ไม่ได้ทำเสนาสนะเป็นกุฏิ วิหารใหญ่โตอะไรนัก เพียงแต่ปลูกกระท่อมมุงหญ้าอยู่เท่านั้น อยู่ถึงเกือบ ๒ ปี แล้วมาอยู่ปีหลังก็มาซ่อมแซมเพื่อว่าครูบาอาจารย์เข้ามาอยู่ได้โดยสะดวก ปี ๒๔๘๗ นั้น ท่านเริ่มเตรียมจัดทำกุฏิที่หลวงปู่มั่นอยู่ โดยจะขออนุญาตหลวงปู่มั่นอยู่ปีหนึ่ง ท่านไม่ได้เป็นคนขอโดยตรง แต่อธิบายให้ชาวบ้านมาขออนุญาต กราบเรียนว่า ขอสร้างกุฏิหลังหนึ่งเป็นหลังสุดท้าย พวกชาวบ้านก็เตรียมของมาพร้อม ขอก็ขอไป แต่หลวงปู่มั่นก็ไม่อนุญาต หลวงปู่มั่นไม่อนุญาตให้สร้าง ก็มากราบเรียนหลวงปู่หลุยว่าจะทำประการใด ท่านก็บอกว่า ให้รอไปก่อน แต่ปฏิบัติตัวให้เป็นคนดี ให้หลวงปู่มั่นเพิ่นเห็นใจ ให้แอบกระซิบสอนไว้ เวลาใส่บาตรก็ให้ขอ ลงมาชงน้ำร้อนถวายก็ให้ขอ ให้อ้างเหตุผลว่า “ขอสร้างกุฎิ ด้วยถือว่าเพิ่นชราภาพแล้ว ขอให้เพิ่นพักบ้าง ที่ต้องอยู่รุกขมูลร่มไม้ ชาวบ้านแสนจะสงสาร”

พวกชาวบ้านได้ฟังก็เชื่อฟัง ครั้นหลวงปู่มั่นเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านก็คุกเข่าอ้อนวอนขอสร้างกุฏิถวาย เอาน้ำร้อนเอาของไปถวายก็อ้อนวอนขออีก บางคนขอแล้วน้ำจิตน้ำใจนั้นโน้มน้อมลงไปจริงๆ ถึงกับน้ำตาคลอ อ้างว่าสงสารพ่อแม่ครูจารย์นัก ที่ต้องอยู่รุกขมูลร่มไม้ ไม่ได้อยู่ด้วยความสะดวกสบาย ใคร่จะขออนุญาตสร้างกุฏิถวาย ถึงองค์ท่านไม่เห็นแก่องค์เอง แต่ก็โปรดให้เห็นแก่พวกขะน้อยจะได้บุญได้กุศลบ้าง ชาตินี้พวกขะน้อยมีวาสนา ท่านมาโปรดอย่างใกล้ชิดเช่นนี้ ท่านผู้ที่มีคุณธรรมวิเศษได้มาถึงปานฉะนี้แล้ว ยังไม่ให้โอกาสได้ทำบุญเลยกระนั้นหรือ ขอท่านได้โปรดกรุณาเมตตาแก่พวกขะน้อยทั้งหลายด้วย ขอไปน้ำตาก็คลอไป แถมบางคนถึงกับร่วงพรูลง สุดท้ายหลวงปู่มั่นก็คงจะทนสงสารเมตตาไม่ไหว เห็นว่าดื้อขออยู่ตลอดเวลา จึงอนุญาตให้สร้างกุฏินี่ได้มา

สภาพของเสนาสนะยุคบ้านหนองผือ ผู้ที่ไม่ทราบความหลัง ก็จะเล่าแต่เพียงสั้นๆ ว่า อย่างในหนังสือเล่มหนึ่ง กล่าวว่า

“ที่ทำก็พออยู่ได้เท่านั้น อย่างลงก็ปูกระดาน ปูกระดานก็ไม่ไสกบฝาก็เหมือนกัน สมัยนั้นมีปูกระดาน มุงกระดาน ๔ หลังเท่านั้น กับศาลาอุโบสถอีก ๑ หลัง กว้างประมาณ ๖ เมตร ยาวประมาณ ๘ เมตร เป็นศาลาเก่าโบราณที่เขาปลูกไว้ก่อนหลวงปู่มั่นไปอยู่ ส่วนศาลาฉันที่ปูฟากได้กล่าวแล้ว หลังอื่นๆ ที่พระเณรอยู่นั้นปูฟากมัดด้วยเครือเถาวัลย์ และมัดด้วยตอก ท่านได้ฝาแถบตอง ใบตองก่อและใบหูกวางทั้งนั้น ประตูทำเป็นฝาแถบตองเป็นหูผลักไปมา หน้าต่างทำเป็นฝาแถบตอง เสี้ยมไม้ไผ่เป็นง่ามค้ำเอาในเวลาเปิด เชือกระเบียงตากผ้าก็ฟั่นเอาฝ้ายเป็น ๓ เกลียว เพราะฝ้ายไม่หด ส่วนเครื่องมุงกุฏิก็หญ้าคาเป็นส่วนมาก”

ในหนังสือได้เขียนไว้เช่นนั้น แต่จะมีใครที่ทราบหรือไม่ว่า ศาลาเก่าโบราณที่เขาปลูกไว้ก่อนหลวงปู่มั่นไปอยู่ก็ดี หรือกุฏิต่างๆ นั้นก็ดี ได้เกิดขึ้นด้วยจากความคิดความนึกจากที่หลวงปู่หลุยได้ดำเนินการไว้

พวกผู้เฒ่าผู้แก่ที่หมู่บ้านหนองผือ นาใน เล่าบอกว่า กระดานท่านก็ไม่ให้ไสกบ ท่านสอนเอาไว้ เพราะถ้าทำดีนักหลวงปู่มั่นก็จะไม่ยอมอยู่ ต้องมีสภาพดิบๆ เหมือนป่า เพราะพ่อแม่ครูบาอาจารย์หลวงปู่มั่นนั้นรักความวิเวกแห่งป่าอย่างยิ่ง ท่านเคยพร่ำสอนฝึกศิษย์อยู่เสมอว่า “สมเด็จพระพุทธองค์นั้น ท่านประสูติในป่า ตรัสรู้ในป่า ประทานปฐมเทศนาก็ในป่า ปรินิพพานก็ในป่า ป่าเป็นคุณแก่พระกัมมัฏฐาน เป็นที่น่าเคารพบูชาของพระกัมมัฏฐาน ธรรมทั้งหลายที่พระธุดงค์จะได้มานั้น ทั้งหมดนั้นจะมาจากความสงัดวิเวกทั้งนั้น ในป่านั้นอุดมไปด้วยเทพที่จะมาอนุโมทนาสาธุการ เมื่อพระได้ปฏิบัติบำเพ็ญความเพียรอย่างดี ทั้งชื่นใจ ทั้งอนุโมทนายินดีปรีดาด้วย เมื่อพระได้บำเพ็ญความเพียรและแผ่เมตตาให้ไปโดยรอบไม่มีประมาณ ไม่แต่มนุษย์ เทพ เทวดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ แม้แต่สัตว์น้อยใหญ่ ทวิบาท จตุบาทโดยรอบก็ได้รับกระแสแห่งความเยือกเย็นของการแผ่เมตตาบารมีของพระตลอดกาล การจัดสร้างสิ่งใดที่หรูหรา มากมาย ถือว่าเป็นของรกรงรัง ไม่ควรจะเป็น” สิ่งเหล่านี้หลวงปู่หลุยได้แอบอบรมชาวบ้านให้เข้าใจอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุดังนั้น ท่านพระอาจารย์มั่นจึงพักภาวนาอยู่ที่บ้านหนองผือนานกว่าที่อื่น ด้วยถือเป็นที่สัปปายะ ทั้งทางเสนาสนะ อากาศ อาหาร และบุคคล

หลวงปู่ได้บันทึกธรรมของท่านพระอาจารย์มั่น ณ ที่บ้านหนองผือนี้ไว้มากมาย ซึ่งได้แยกนำไปลงพิมพ์ใน ภาคอาจาริยธรรม เรียบร้อยแล้ว ท่านมีความเคารพอาจารย์ของท่านเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะกล่าวสิ่งใด เทศน์ตอนใด แม้ในระยะหลังนี้เกือบจะทุกคำพูดที่ท่านจะต้องยกอ้าง ท่านอาจารย์มั่นบอกว่า หรือ หนังสือมุตโตทัยบอกว่า ท่านจะอ้างธรรมของครูบาอาจารย์มาเป็นประดุจคำไหว้ครูก่อนเสมอ เสร็จแล้วในตอนจบบางครั้งก็หลุดมาว่า ความจริงก็เป็นเช่นนั้น...!

อันที่จริงธรรมบางประการที่ท่านปฏิบัติตามมาแล้ว ประสบผลสำเร็จแล้ว ท่านอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นธรรมที่ท่านพบ บางท่านอาจจะไม่เคยต้องมาอ้างว่าเป็นคำของครูบาอาจารย์ที่สั่งสอนมา เพราะเมื่อปฏิบัติไปประสบความเยือกเย็นเห็นด้วยจิต เช่นเดียวกับอาจารย์ การเทศนาสั่งสอนก็มักจะข้ามเลยไป ไม่ได้เอ่ยอ้างถึงแต่หลวงปู่มิใช่เช่นนั้น หลวงปู่จะยกว่าเป็นคำที่ “ท่านอาจารย์มั่นว่า” เกือบจะตลอดฟังเผินๆ เหมือนว่าท่านไม่ได้มีความรู้อะไรด้วยตนเอง แต่อ้างท่านอาจารย์มั่นตลอด แต่ก็อย่างที่กล่าวแล้วหลายครั้ง ที่ท่านก็เผลอตบท้ายตอนหลังว่า “แต่ความจริงก็เป็นเช่นนั้น” หมายความว่า ท่านได้ปฏิบัติแล้ว...ได้ประสบผลแล้ว...พบแล้ว แต่ด้วยความเคารพสูงสุดต่อท่านอาจารย์ เหมือนกับว่าจะยกมือขึ้นประนมกราบไหว้บูรพาจารย์ของท่านก่อน ถึงจะให้คำเทศนาอบรมของท่านต่อไป

หลวงปู่ได้เคยยกเรื่องความน่าเคารพอย่างยิ่งของท่านพระอาจารย์มั่นอาจารย์ของท่านมากล่าวว่า “ท่านเป็นคนที่ถ่อมองค์ และมีอุบายวิธีอบรมศิษย์ของท่านอยู่เสมอ” บางครั้งท่านจะดุ บางครั้งท่านจะปลอบ บางครั้งท่านจะเปรย หรือบางครั้งท่านอาจจะยกยอ แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ประทับใจหลวงปู่มากนั้น ท่านเล่าว่า

ดูเหมือนจะเป็นในปีประมาณ ๒๔๙๐ ซึ่งท่านไม่ได้จำพรรษาอยู่ ณ วัดป่าหนองผือด้วย แต่ท่านอยู่ที่วัดบ้านอุ่นดง พอถึงฤดูแล้งท่านก็ได้เข้าไปกราบฟังเทศน์อยู่เสมอ วันนั้นเป็นวันโอกาสเหมาะสม ที่บังเอิญมีพระผู้ใหญ่ที่เป็นพระเถระมาจากจังหวัดต่าง ๆหลายทิศหลายทาง เข้าไปศึกษาหารือธรรมะกับหลวงปู่มั่นพร้อมกันในวันเดียว โดยมิได้นัดหมายกันมาก่อนเลย...มีท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ องค์อุปัชฌาย์ของท่านมาจากอุดร ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม มาจากนครราชสีมา ท่านเจ้าคุณอริยเวที (เขียน) มาจากกาฬสินธุ์ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ท่านพระอาจารย์มหาทองสุข สุจิตโต และท่านอาจารย์กงมา จิรปุญโญ

บางท่านก็มาจากพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล อย่างเช่น มาจากอุดร นครราชสีมา กาฬสินธุ์ แต่หลายองค์ก็มาพักอยู่ที่วัดซึ่งไม่ห่างไกลจากวัดบ้านหนองผือนัก เช่น หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ อยู่ที่วัดป่าหนองโคก อ.พรรณานิคม พระมหาทองสุข สุจิตโต อยู่วัดป่าสุทธาวาสหลวงปู่ฝั้น อาจาโร อยู่วัดธาตุนาเวง วัดป่าภูธรพิทักษ์ อ.เมือง จ.สกลนคร ท่านอาจารย์กงมา จิรปุญโญ อยู่วัดดอยธรรมเจดีย์ ซึ่งขณะนั้นยังไม่ตั้งชื่อวัด แต่มาตั้งใหม่เปรียบเสมือนท่านแต่ละองค์ได้พักอยู่ตามวัดที่อยู่โดยรอบวัดป่าบ้านหนองผือ ต่างองค์ต่างทำหน้าที่ดุจนายทวารบาลที่รักษาพระราชาซึ่งอยู่กลางพระนคร ต่างองค์ต่างมาเยี่ยมมากราบท่านพระอาจารย์มั่นโดยมิได้นัดหมายกันเช่นนั้น ทำให้ได้ระลึกถึงวันมาฆบูชาที่วันนั้นพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ มากราบสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันเพ็ญเดือน ๓ โดยมิได้นัดหมายกันเช่นกัน

ในวันนั้น เมื่อพระผู้ใหญ่มาเยี่ยมกันหลายองค์เช่นนั้น ถึงเวลาท่านก็ให้มีการตีระฆังลงไปรวมกันที่ศาลา จุดตะเกียงเจ้าพายุดวงใหญ่ ทุกองค์ต่างก็ก้มลงกราบท่านพระอาจารย์มั่นพร้อมกัน ทุกองค์ต่างก็นั่งสงบเสงี่ยมพับเพียบโดยมิได้กล่าวอันใด คอยสดับฟังคำของครูบาอาจารย์อยู่อย่างสงบสงัด

หลวงปู่เล่าว่า วันนั้นท่านจำได้ไม่ลืม แต่ทำให้รำลึกอยู่ตลอดว่า นี่เองคือวิธีของ “ปราชญ์” ท่านเล่าว่า หลวงปู่มั่นได้กล่าวอารัมภกถาขึ้นในทำนองนี้ว่า

“เออ....วันนี้เป็นการสมควรแล้วที่ผมจะได้ศึกษากับพวกท่าน จะผิดถูกประการใด อยากให้พวกท่านปรารภได้ เตือนได้ ไม่ต้องเกรงใจเพราะผมได้ศึกษาน้อย เรียนน้อย...”

หลวงปู่เล่าว่า ท่านได้ยินคำเช่นนั้น ท่านรู้สึกน้ำตาแทบจะปริ่มออกมา...ไหลเลื่อนออกมาจากขอบตา ทั้งซาบซึ้งและตื้นตันใจเป็นที่สุด ดูหรือท่านเป็นครูบาอาจารย์ เคยขู่เข็ญ กำราบ คำราม ดัดนิสัยศิษย์มาต่างๆ ศิษย์ทุกคนสยบยอมรับแทบบารมีท่าน แทบเท้าท่าน เคารพทั้งถือเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นครูอาจารย์ ท่านสั่งให้ไปตายก็ตายได้ ท่านจะฆ่าก็ยอมทุกอย่าง ท่าน ตีก็ไม่หลบ ท่าน ทบก็ไม่หนี แต่แทนที่ท่านจะเริ่มต้นว่า วันนี้จะสอนเช่นนั้น...เช่นนั้น เราได้เห็นเป็นอย่างนั้น...อย่างนั้น ท่านกลับกล่าวอย่างแสนที่จะสงบเยือกเย็นเป็นทำนองยกย่องศิษย์ ในขณะเดียวกันก็แสนจะถ่อมองค์ว่า ท่านนั้นได้ ศึกษาน้อย เรียนน้อย ขอให้ท่านได้ศึกษากับพวกศิษย์บ้าง ขอว่าถ้าผิดถูกประการใค ขอให้พวกท่านปรารภได้ไม่ต้องเกรงใจ

นี่แหละปราชญ์แท้...! เป็นความที่หลวงปู่หลุยยกนำมาให้ลูกศิษย์ได้ฟังเสมอ ท่านเล่าต่อไปว่า วันนั้นธรรมก็แสนจะวิจิตรบรรจงมาก ซาบซึ้งมาก แต่สิ่งที่ประทับใจมากที่สุด ติดมาจนกระทั่งถึงทุกวันนั้นคือ การพูดอย่างอ่อนน้อมถ่อมองค์ของท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งท่านไม่เคยลืมเลย

แต่เดิมคิดว่าจะได้มีการเขียนเล่าถึงสภาพวัดป่าบ้านหนองผือ และชีวิตความเป็นอยู่ของพระธุดงคกัมมัฏฐานในสมัยนั้น ที่ได้อยู่ใกล้ท่านพระอาจารย์มั่น อยู่ด้วยความเคารพ ด้วยความซาบซึ้ง และสงบเสงี่ยมสำรวมกายเป็นอย่างดี แต่ได้มาระลึกว่า จะไม่มีใครสามารถบรรยายถึงภาพสิ่งเหล่านี้ได้ดียิ่งกว่าการที่จะไปอ่านหนังสือ ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ เขียนโดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ซึ่งเป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าวิเศษที่สุด ไม่มีหนังสือใดที่สามารถจะกล่าวได้ดีไปกว่านั้น ถึงสภาพสิ่งเหล่านั้น จึงใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านได้ไปอ่านความในช่วงนั้นจะเข้าใจและซาบซึ้งได้ดียิ่งขึ้น


(มีต่อ ๑๓)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 17 ม.ค. 2007, 5:09 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
หลวงปู่ขาว อนาลโย-หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร


๏ พรรษาที่ ๒๖-๓๑ พ.ศ. ๒๔๙๓-๒๔๙๘
แล้วก็ออกธุดงค์เรื่อยไป

พ.ศ. ๒๔๙๓ จำพรรษา ณ วัดศรีพนมมาศ อ.เขียงคาน จ.เลย
พ.ศ. ๒๔๙๔ จำพรรษา ณ ถ้ำพระ นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
พ.ศ. ๒๔๙๕ จำพรรษา ณ เขาสวนกวาง กิ่ง อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น
พ.ศ. ๒๔๙๖ จำพรรษา ณ วัดดอนเลยหลง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.เลย
พ.ศ. ๒๔๙๗ จำพรรษา ณ บ้านไร่ม่วง (วัดป่าอัมพวัน) ท่าแพ อ.เมือง จ.เลย
พ.ศ. ๒๔๙๘ จำพรรษา ณ สวนพ่อหนูจันทร์ บ้านฟากเลย จ.เลย


หลังจากที่ประทีปแก้วของพระกัมมัฏฐาน ที่โชติช่วงอยู่ที่บริเวณทางภาคอีสาน โดยเฉพาะที่วัดป่าบ้านหนองผือ เป็นเวลาช้านานกว่า ๕ พรรษา ได้ดับลงที่วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร ในวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้มีการถวายเพลิงท่านในต้นปี ๒๔๙๓ หลวงปู่ได้ช่วยจัดงานศพเป็นการสนองคุณพ่อแม่ครูบาอาจารย์เป็นครั้งสุดท้าย เสร็จแล้วท่านก็ออกธุดงค์เรื่อยๆ ไปอย่างที่ท่านเคยบอกว่า อาชีพคือ ออกธุดงค์เรื่อยไป

ท่านเล่าว่า ระหว่างนั้นรู้สึกว่าจะมีสภาพเหมือนบ้านแตกสาแหรกขาด ทุกคนซบเซา จิตใจหดหู่ พูดจากันแทบจะไม่ได้ เหมือนคล้ายกับว่าไม่รู้จะทำสิ่งใดต่อไป ต่างองค์ก็ต่างแยกกัน พระหนุ่ม เณรน้อย ได้อาศัยร่มบารมีของพระเถระผู้ใหญ่ ผู้เป็นเสมือนพี่ชายใหญ่ ซึ่งบางท่านบางองค์ก็ไปกับหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี บางองค์ก็ไปอยู่กับหลวงปู่ขาว อนาลโย บางองค์ก็ไปอยู่กับท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ลูกเล็กลูกหล้าก็ย่อมต้องการพี่ชายใหญ่ที่จะโอบอุ้ม ให้ความเมตตาดูแลฝึกปรือต่อไป

หลวงปู่นั้น ท่านยังพึ่งตัวเองไม่ได้ ท่านก็แยกองค์จากหมู่เพื่อน เดินทางรอนแรมวิเวกต่อไป รำพึงถึงความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร ได้เคยหวังพึ่งอาศัยพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ได้อยู่ในร่มเงา ใต้รัศมีบารมีท่านหลายปี และถึงเวลาแล้วที่จะต้องแยกตัวออกมาเหมือนลูกนกทีปีกกล้าขาแข็งแล้ว จะอยู่กับแม่อาศัยไออุ่นแม่ปกปักรักษาต่อไปย่อมไม่ได้ จะต้องบินออกไปสู่โลกกว้างตามลำพัง

ระยะเวลาตั้งแต่พรรษาที่ ๒๖-๓๑ แต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๓-๒๔๙๘ อาจจะถือได้ว่า เป็นเวลาที่ท่านออกธุดงค์เรื่อยไปตลอด ปีแรกท่านไปที่ อ.เชียงคาน จ.เลย จำพรรษาที่วัดศรีพนมมาศ อ.เชียงคาน ซึ่งเป็นวัดที่ท่านเคยได้ช่วยเหลือดูแลในการงานบุญบ่อยครั้ง ด้วยเป็นถิ่นที่หลวงปู่ได้เคยมาอยู่ทำงานตั้งแต่สมัยเป็นเด็กหนุ่ม ฝั่งตรงข้ามเป็นฝั่งลาว ชาวบ้านยังมีความศรัทธาอยู่มาก ท่านก็ได้อบรมให้เป็นอย่างดี

พ.ศ. ๒๔๙๔ ท่านเที่ยวธุดงค์มุ่งผ่านจากเลยมาอุดรฯ ไปสกลนคร กลับไปจำพรรษาที่ถ้ำพระ นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของถ้ำโพนงาม ซึ่งเคยจำพรรษาเมื่อปี ๒๔๗๖-๒๔๗๗ และปี พ.ศ. ๒๔๘๓ บริเวณถ้ำนั้นกว้างยาวไปไกล อยู่ในเขตเทือกเขาภูพาน อาจจะเดินทางจากด้านหนึ่งไปทะลุอีกด้านหนึ่ง แล้วไปออกอีกหมู่บ้านหนึ่งได้ ลึกลับซับซ้อนต่อกัน ในช่วงบริเวณตอนที่จำพรรษาในปีนี้ มีพระพุทธรูปตั้งเรียงรายอยู่มาก จึงได้ชื่อว่า “ถ้ำพระ” ในครั้งนี้ท่านไม่ได้ผจญเสือโดยเผชิญหน้าอย่างที่เคยได้พบกันในปี ๒๔๘๓ ในครั้งนั้น แต่ท่านก็เล่าว่า ยังมีเสืออยู่มากเช่นกัน

ที่ซึ่งหลวงปู่ไปนั่งภาวนานั้นเป็นหลืบหิน มีพระพุทธรูปปางสมาธิ ขนาดเท่าตัวคนตั้งอยู่ เวลาเช้าท่านออกไปบิณฑบาต ท่านได้เอาผ้าจีวรคลุมบ่าพระพุทธรูปไว้ พอท่านกลับจากบิณฑบาต ปรากฏว่าเสือเข้ามาตบพระพุทธรูป เศียรหัก จีวรขาดเลย ในกาลต่อๆ มา ท่านมักจะเล่าอย่างมีอารมณ์ขันว่า ใครว่าเสือมันไม่กินพระ ไม่ทำอะไรพระ แต่ขนาดพระพุทธรูปที่นั่งห่มจีวรอยู่ เสือยังมาตบเสียพระพุทธรูปคอหัก จะว่าเสือไม่กินพระได้อย่างไร

จากนั้นอีกปีหนึ่ง ท่านก็วกกลับไปจำพรรษาที่เขาสวนกวาง กิ่งอำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น ด้วยความพบปะใกล้ชิดกับท่านเจ้าคุณอริยคุณาธารแห่งเขาสวนกวาง ซึ่งเดิมท่านเคยเป็นเจ้าคณะจังหวัด ได้พบพูดคุยกับท่านระหว่างงานถวายเพลิงศพท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ ท่านก็ได้ชวนหลวงปู่ให้มาจำพรรษาที่เขาสวนกวางบ้าง คราวนี้ได้สบโอกาส ท่านจึงได้เดินทางเลยมาจำพรรษาที่ ๒๘ ที่เขาสวนกวาง

ท่านเล่าว่า พระอริยคุณาธาร เป็นพระที่มีอัธยาศัยมาก ท่านพูดคุยในสิ่งที่ลึกลับมากมาย แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้เดินตรงสู่อริยสัจ ๔ โดยเร็ว ไม่ได้ใช้ไตรลักษณ์เข้าช่วย ความรู้ทางด้านอภิญญาที่ท่านได้มาเก่า เช่น การรู้วาระจิตก็ดี ญาณต่างๆ ก็ดี ในภายหลังจึงเสื่อมอย่างน่าเสียดาย ถึงกับต้องสึก ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนนั้นท่านเป็นพระเถระผู้ใหญ่องค์หนึ่ง

สิ้นปี ๒๔๙๕ ท่านก็กลับไปที่จังหวัดเลย ได้จำพรรษาที่วัดดอนเลยหลง ในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ อยู่ในเมือง จ.เลย ซึ่งนับว่าได้ใกล้กับบ้านเกิดท่าน ความจริงเจ้าแม่นางกวย โยมมารดาของท่านได้ถึงแก่กรรม ตั้งแต่ปี ๒๔๘๘ เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน อายุรวม ๗๐ ปี ระหว่างนั้นเป็นระยะเวลาเข้าพรรษา ท่านได้ทราบข่าวภายหลังเตรียมจะไปเยี่ยมศพมารดา แต่หลวงปู่มั่นได้ห้ามไว้ บอกว่าไม่จำเป็น ให้บำเพ็ญภาวนาแผ่เมตตาไปถึงมารดาก็ได้ เพราะเดินทางไปแล้วก็ใช่ว่าจะช่วยให้มารดาคืนชีวิตมาได้เพราะขณะนั้นโยมมารดาถึงแก่กรรมแล้ว ไม่มีทางที่จะช่วยเหลืออะไรได้ การทำความเพียรอุทิศส่วนกุศลให้นั้นจะเป็นประโยชน์มากกว่า

ท่านกลับไปครั้งนี้จึงเท่ากับว่าไปเยี่ยมบ้าน เสร็จจากนั้นท่านก็วิเวกไปตามที่ต่างๆ เช่น บ้านหนองบง บ้านกกกอก ถ้ำผาปู่ ถ้ำมโหฬาร ซึ่งเป็นถิ่นเก่าที่ท่านเคยอยู่ ระยะนี้เริ่มจะเป็นวัดขึ้นแล้ว ท่านพอใจในการพักภาวนา ท่านได้ไปอยู่ที่บ้านไร่ม่วง ท่าแพ อ.เมือง จ.เลย จำพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๙๗ วัดนี้ต่อมาหลวงปู่ซามา อจุตฺโต มาจัดตั้งขึ้นเป็นวัด ชื่อ วัดป่าอัมพวัน ท่านเป็นพระที่ควรเคารพอีกองค์หนึ่งของจังหวัดเลย เป็นรุ่นน้องของหลวงปู่ ได้ธุดงค์ไปกับหลวงปู่ในเขตจังหวัดเลยหลายต่อหลายครั้ง ปัจจุบันนี้น่าเสียดายที่ท่านมรณภาพแล้ว

ปี ๒๔๙๘ ท่านมาจำพรรษาที่สวนแห่งหนึ่งชื่อว่า สวนพ่อหนูจันทร์ บ้านฟากเลย จ.เลย ที่นี่ท่านมีบันทึกไว้ว่า

“ได้จำพรรษาที่สวนพ่อหนูจันทร์ ฝันว่าได้นวดขาท่านพระอาจารย์เสาร์ รู้สึกเป็นบุญกุศลมากได้เห็นพระเถระผู้ใหญ่”

ท่านไม่ได้อยู่ที่ไหนนาน นอกจากเวลาเข้าพรรษา ออกพรรษาแล้วก็เดินทางไปตามที่ต่างๆ กลดและมุ้งกลด ย่าม บาตร เป็นอาวุธประจำตัวของท่าน ท่านเล่าว่า ระยะนั้นก็เดินด้วยเท้าตลอด ไม่มีแม้แต่รองเท้า แต่ก็ดีที่ว่า ทุกย่างทุกก้าวที่ลงสัมผัสพื้นดินจะกระทบดินหรือกรวดหิน ทำให้มีสติรู้ทุกอิริยาบถ ไม่เหมือนพระธุดงคกัมมัฏฐานสมัยหลัง ที่นิยมใส่รองเท้า เท้าแตะดินไม่ได้ จะเจ็บจะพอง แต่สัมผัสถึงแผ่นดินนั้น พระธุดงคกัมมัฏฐานสมัยเก่า ท่านธุดงค์ภาวนา พิจารณาธรรม อย่างละเอียดลึกซึ้งสุขุมยิ่งนัก


(มีต่อ ๑๔)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 17 ม.ค. 2007, 5:22 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ พรรษาที่ ๓๒ พ.ศ. ๒๔๙๙ อยู่บ้านกกกอก
และผจญพญานาค ที่ภูบักบิด
จำพรรษา ณ บ้านกกกอก ต.หนองงิ้ว อ.วังสะพุง จ.เลย


สถานที่ซึ่งหลวงปู่จำพรรษาในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ นั้น อยู่ที่เชิงภูหลวงเป็นป่าเขาอันสงัดวิเวก มีต้นไม้ใหญ่ แผ่ร่มเงากิ่งก้านประสานกันแทบไม่เห็นแสงตะวันเป็นป่าสูง สุดหนาทึบ ที่เป็นคล้ายบันไดขั้นแรกที่จะนำขึ้นไปสู่ยอดภูซึ่งสูงราวกับจะชูยอดไม้ขึ้นไประแผ่นฟ้า ต้นไม้แต่ละต้น ใหญ่ขนาด (สำนวนของท่าน หมายความว่าใหญ่มาก) เอามือ “กอดไม่หุ้ม” (สำนวนของท่านอีกเช่นกัน แปลว่าโอบไม่รอบ) ดูมืดครึ้มอยู่เรื่อย

มี น้ำซำ...หรือ น้ำซับ อยู่ใกล้บริเวณที่เป็นที่ทำความเพียร เรียกกันว่าเป็น ซำเงิน ซำทอง...หรือ น้ำซับเงิน น้ำซับทอง...น้ำไม่มีแห้ง ไหลออกมาตลอดปี บริเวณน้ำซำนี้ ชาวบ้านถือกันว่า เป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ เทพยดาอารักษ์รักษา ตัดต้นไม้ไม่ได้จะมีโทษ มีลักษณะคล้าย น้ำซำ ที่ หนองบง ที่เคยกล่าวมาแล้ว ในบทที่ว่าด้วยหนองบง ในปีจำพรรษาที่ ๑๕ พ.ศ. ๒๔๘๒ เหตุนั้น บริเวณใกล้น้ำซำ ซึ่งมีน้ำซึมซับมาหล่อเลี้ยงต้นไม้ให้เขียวขจีอยู่ตลอดแล้ว ผู้คนยังเกรงกลัว ไม่กล้าตัดฟันไม้อีก จึงยิ่งทำให้สภาพป่าบริเวณนั้นร่มครึ้ม อากาศเยือกเย็นตลอดคืนตลอดวัน

ท่านว่า ไม่ว่าจะไปภาวนาใต้ต้นไม้ต้นใด จิตจะ “แจบจม” ดีเสมอ

เคยมีพระกัมมัฏฐานมาทำความเพียรและบรรลุธรรม ณ ที่บ้านกกกอกมาก่อนแล้ว ชื่อ หลวงปู่เอีย ชาวบ้านนับถือกันมาก ว่าท่านได้หูทิพย์ด้วย ใครอยู่ที่ไหนในบ้าน ในช่อง จะพูดอะไรไว้ ไปถึงท่าน ไปกราบท่าน ท่านจะเอ่ยทักถึงข้อความที่พูดจากันนั้นได้เสมอ ทำให้ชาวบ้านทั้งรักทั้งกลัวท่านมาก ท่านอ่านหนังสือไม่ออก แต่กล้าในทางความเพียรมาก ท่านภาวนาไป...ภาวนาไป วันหนึ่ง ตัวหนังสือก็ผุดออกมา

ท่านว่า มันเหมือนฉายหนังในจอ เป็นแถวเป็นแนวไป และรู้ขึ้นมาเองว่านั่นคือ พระปาฏิโมกข์ ท่านบอกว่า พระธรรมสอนท่านให้อ่าน ให้ท่อง และรู้ความหมายของตัวบาลีเหล่านั้นหมด ท่านหัดท่องพระปาฏิโมกข์ทางภาวนา รวมทั้งบทสวดมนต์ต่างๆ ในเจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน ก็สวดได้คล่องแคล่ว ให้พระเณรอื่นถือหนังสือปาฏิโมกข์ หนังสือเจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน คอยสอบท่านเวลาที่ท่านท่อง ไม่มีผิดเลยสักคำเดียว

ท่านสวดมนต์ได้ อ่านหนังสือได้ โดยเรียนจากสมาธิภาวนานั้น หากสำหรับการเขียนนั้น ท่านยังทำไม่ได้...ด้วยบอกว่า ไม่คิดจะเรียนเขียนด้วยเลย แค่การอ่านได้ สวดมนต์ได้ ท่านก็คิดว่า เพียงพอสำหรับนักปฏิบัติกัมมัฏฐานซึ่งพูดกันด้วยใจแล้ว

ว่ากันว่า “ของเก่า” หลวงปู่เอียท่านมีอยู่ เป็น ปุพฺเพ กตปุญฺญตา ได้ทำบุญมาแล้วด้วยดี แต่ปุเรชาติ ความรู้ทางหนังสือทั้งหลายจึงผุดขึ้นมาทางการภาวนาอย่างน่าอัศจรรย์ใจ คล้ายกับเรื่องของ หลวงปู่หล้า ผู้เป็นคนมาจากเวียงจันทน์ ท่านมาเรียนภาวนากับหลวงปู่เสาร์ ไม่มีความรู้ทางภาษาไทยเลย อ่านไม่ได้ เขียนไม่ได้ แต่สุดท้ายท่านก็สามารถเรียนหนังสือ ก็ได้ทางสมาธิภาวนา เช่นเดียวกับหลวงปู่เอียนี้

การภาวนานั้นมีผลอันน่าอัศจรรย์แก่ผู้ที่ตั้งใจทำจริงเสมอ ถ้าทำอย่างแน่วแน่ทำอย่างมั่นคง ทำอย่างมอบกายถวายชีวิต ก็มักจะประสบผลอย่างคาดไม่ถึงเสมอ

ปัจจุบันนี้ บ้านกกกอกได้จัดตั้งเป็นวัดแล้วเชื่อว่า วัดปริตตบรรพต

หลวงปูไปภาวนาที่ใต้ต้นไม้ใหญ่ใกล้น้ำซำ ได้ความสงบเยือกเย็น “สิ่งไม่เคยรู้ก็ได้รู้ สิ่งไม่เคยเห็นก็ได้เห็น” สำนวนของท่านเรียกว่า “เทพอุ้ม” บริเวณต้นไม้ใหญ่กิ่งหนาใบดกนั้น มีรุกขเทพอาศัยอยู่มาก มีฤทธิ์เดชเดชานุภาพมีรัศมีกายมากน้อยแตกต่างกันตามบารมีที่สร้างสมอบรมมา ท่านเคยอธิบายว่าต้นไม้ไหญ่ ลำต้นเท่ากัน จะมีเทพไม่เท่ากัน แต่หากต้นที่มีกิ่งก้านแผ่ขยายออกไปกว้างไกลนั้น จะมีรุกขเทพอาศัยอยู่มากกว่าต้นที่สูงชลูดตรงขึ้นไปถ่ายเดียว

ก็เฉกเช่นบุคคลธรรมดานี้เอง บางคนมีตำแหน่งการงานใหญ่โต แต่ไม่มีเพื่อนพ้องบริวาร บางคนมีตำแหน่งเท่าเทียมกัน แต่มีเพื่อนพ้องบริวารห้อมล้อมดั่งดาวล้อมเดือน วาสนาบารมีไม่เหมือนกันฉันใด ในกรณีต้นไม้ใหญ่ก็ฉันนั้น

การภาวนานั้น ถ้าเลือกที่ได้ ควรเลือกที่ซึ่งอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ ต้นหนา กิ่งก้านดก เทพที่อยู่ตามยอดพฤกษาทุกกิ่งก้านสาขาจะช่วยอนุโมทนา “อุ้มจิต” เราให้เข้าสู่ความสงบโดยง่าย

แต่ก็อย่ามัว “รับต้อน” แขก เพลิดเพลินไป (รับต้อน...ต้อนรับสำนวนท่าน) เพียงแผ่เมตตาให้เขาก็พอแล้ว มัวตามตื่นเต้นกับนิสิตในภาวนา (ซึ่งอาจจะทั้งที่เห็นได้ด้วยตาเนื้อ อันเป็นผลเนื่องมาจากสมาธิด้วย) จะเป็นบ้าไปเสียเปล่า

เห็นเขา เห็นวิมานของเขา นั่นก็ตัวเขา วิมานของเขา ซึ่งล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เทวดาก็เสื่อมสลายได้ เคลื่อนที่จากภพภูมิได้ ไม่เที่ยงเหมือนกัน

ได้กลิ่นดอกไม้หอม เวลานั่งภาวนา หรือเดินจงกรม จะเป็นนิมิตให้กลิ่นที่เทพถือพานดอกไม้มาอนุโมทนาบูชาการทำความเพียรของเรา หรือไม่ก็ช่าง กลิ่นหอม มีได้ ก็ดับได้ ของใดเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป

ดูแต่จิตของเรา ให้จิตเป็นกลางๆ เป็นอัพยากฤต เอาไตรลักษณ์เข้าฟอกจิต

เขียนเพลินไปตามธรรมะที่หลวงปู่หลุยท่านเคยสอน ขออนุญาตนำกลับเข้าเรื่องต่อไป

ท่านพอใจในความเป็นสัปปายะของที่บ้านกกกอกมาก จึงตกลงอธิษฐานพรรษาที่ ๓๒ ที่บ้านกกกอกนี้ ความจริงเมื่อพูดถึง “สัปปายะ” หรือความสบายแห่งการภาวนา นั้น ควรจะบริบูรณ์ด้วยความสบาย ๔ ประการ คือ สถานที่สัปปายะ อากาศสัปปายะ บุคคลสัปปายะ และอาหารสัปปายะ

สถานที่สัปปายะ หมายถึง สถานที่ซึ่งชวนให้ดูดดื่มในการภาวนา ไม่เบื่อหน่ายในการปรารภความเพียร

อากาศสัปปายะ หมายถึง อากาศดี อากาศโปร่ง อากาศไม่หนัก ไม่กดทับจิต

บุคคลสัปปายะ หมายถึง ผู้อุปัฏฐากดูแล รู้สิ่งที่ควรประเคน รู้กาลที่ควรประเคน เช่นไม่พรวดพราดเข้าไปในเวลาที่ท่านกำลังสงบจิตอยู่ในสมาธิ รู้เวลาที่เมื่อท่านต้องการทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ ไม่บิณฑบาต ก็ไม่ต้องวุ่นวายเซ้าซี้อ้อนวอนท่าน บุคคลนั้นรวมทั้งท่านที่เราไม่อาจเห็นได้ด้วยตามนุษย์ธรรมดาด้วย

อาหารสัปปายะ หมายถึง อาหารที่ถูกจริตกับธาตุขันธ์ของท่าน ไม่ทำให้ท่านป่วยเจ็บ เป็นไข้ พอสบายแก่ธาตุขันธ์ ไม่หนักเกินไป ไม่เบาเกินไป พอเป็นไปให้สะดวกแก่การภาวนา

โดยมากสถานที่ทำความเพียรนั้น หลวงปู่ท่านพิจารณาเพียงสัปปายะ ๓ ข้อแรกเท่านั้น ส่วนข้อ อาหาร นั้น ท่านจะแทบไม่สนใจเลย เป็นการบิณฑบาตตามมีตามได้โดยแท้ เช่น ได้พริก ได้เกลือ ก็ฉันกับพริกกับเกลือ ได้ข้าวเปล่าๆ ก็ฉันข้าวเปล่าๆ ท่านว่า พระพุทธเจ้าก็สอน ท่านอาจารย์มั่นก็สั่ง พลิกกับเกลือก็ดี ข้าวเปล่าๆ ก็ดี สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ได้มาจากการบิณฑบาต ถือเป็นอติเรกลาภทั้งสิ้น

เป็นลาภที่พระธุดงค์ควรมีความสันโดษ พอใจแล้ว เพราะความจนเป็นทรัพย์ของบรรพชิต

การภาวนาในพรรษานั้นเป็นเช่นไร เห็นจะไม่ต้องกล่าวมาก เพราะท่านว่า “นั่งได้ทุกที่ เดินจงกรมได้ทุกแห่ง เป็นภาวนาไปหมด ภาวนาได้ทะลุทั้งตัว ภาวนาลมหายใจทุกเส้นขน”

ท่านย่อมพอใจ สถานที่...อากาศ...และบุคคล...ทั้งเห็นด้วยตาก็ดี ไม่เห็นด้วยตาก็ดี...ที่เป็นสัปปายะนี้ ในเวลาอีก ๘ ปีต่อมา ท่านก็ได้เวียนกลับมาจำพรรษา ณ ที่บ้านกกกอกนี้อีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ พรรษาที่ ๔๐ และเป็นวาระที่ทำให้ท่านต้องระลึกถึงบุญคุณของสถานที่นี้เป็นที่สุด


๏ ผจญพญานาคที่ภูบักบิด

ภูบักบิด เป็นภูเขาเล็กๆ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดเลยไม่มากนัก ตั้งอยู่แห่งละฟากฝั่งแม่น้ำเลยกับตัวเมือง ที่เชิงเขามีวัดเล็กๆ อยู่วัดหนึ่ง ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดภูบักบิด ปัจจุบันนี้มีชื่อว่า วัดประชานิมิต สถานที่ซึ่งหลวงปู่ขึ้นไปประกอบความเพียรนั้นเป็นถ้ำอยู่บนยอดภู ซึ่งจะต้องเดินขึ้นไปจากเชิงเขาอีกประมาณเกือบ ๓ กิโลเมตร ทาง ๓ กิโลเมตรนี้หากเป็นพื้นที่ราบ ก็ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด แต่นี่เป็นทางขึ้นเขา ประกอบด้วยโขดหินตะปุ่มตะป่ำแหลมคม ต้องบุกป่าบุกเขา แหวกเถาวัลย์กอไม้ พงหนาม พงหวายไป ก็เป็นทางที่ลำบากพอดู ที่โคจรบิณฑบาตอยู่ที่หมู่บ้านเชิงเขา อันหมายความว่า ท่านจะต้องสะพายบาตรลงจากเขาอยู่ทุกวัน เพื่อมาบิณฑบาตอาหารมาขบฉัน โดยที่น้ำบนยอดภูนั้นไม่มี ต้องใส่กระติก ใส่กาขึ้นไป ท่านจึงมักจะฉันที่เชิงเขา เพื่อตัดปัญหาที่จะต้องเป็นภาระหาน้ำมาล้างบาตร และเมื่อวันใดการภาวนาดีจิตรวมดี แจบจมดี (สำนวนของท่าน เคยเรียนถาม ท่านว่า จิตรวมนิ่งสนิทถึงอัปปนาสมาธิ) ถอนออกมาพิจารณาธรรม หมุนตัวเป็นเกลียวต่อเนื่องกัน เช่นนี้ท่านก็จะงดการบิณฑบาตไปเลย ซึ่งอาจจะเป็นคราวละสองวัน สามวัน หรือแม้แต่เจ็ดวันก็เคยมี ท่านกล่าวว่า อาหารทางกายไม่มีความหมายเท่าอาหารทางจิต

เมื่อกล่าวว่า ท่านไม่ลงเขามาสองวัน สามวัน หรือเจ็ดวัน นั้น ก็หมายความว่าไม่เพียงแต่ท่านจะไม่ฉันอาหารติดต่อกันเป็นเวลาสองวันสามวันหรือเจ็ดวันเท่านั้นหากในกรณีของที่ภูบักบิดซึ่งเป็นที่กันดารน้ำอย่างฉกาจฉกรรจ์ หลวงปู่จะต้องแบกกาใส่น้ำขึ้นไปเองทุกวัน จึงหมายความว่า ท่านจะต้องอดน้ำต่อไปด้วย ตลอดเวลาสองวัน หรือสามวัน หรือเจ็ดวันนั้น

การบำเพ็ญเพียร ณ ที่ภูบักบิด นั้นเป็นที่เลื่องลือกันว่า ในวันหนึ่งๆ ท่านใช้น้ำเพียงกาเดียว กล่าวคือ ท่านสามารถใช้น้ำกาเดียวนั้นพอทั้งฉัน ทั้งชำระกายทั้งล้างหน้า ล้างมือ ล้างเท้าได้

แต่ความจริงนั้นร้ายยิ่งกว่านั้น กล่าวคือ หากเป็นเวลาทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ น้ำกาเดียวนั้นก็จะต้องถนอมใช้ให้เพียงพอไป จนกว่าจะลงมาบิณฑบาตซึ่งอาจมิใช่เพียงวันเดียว แต่อาจเป็นเวลาสองวันสามวันหรือเจ็ดวันดังกล่าว เคยกราบเรียนถามท่าน ท่านอธิบายว่า ท่านฉันน้ำเพียงจิบเล็กน้อย หรือเมื่อจะต้องอยู่หลายวันก็เพียงแตะปลายลิ้นให้รู้สึกถึงความชุ่มฉ่ำเท่านั้น น้ำใช้ล้างหน้าล้างมือแล้วก็เก็บไว้ใช้สำหรับสรงหรือล้างเท้าต่อไป การสรงการล้างเท้า ก็เพียงใช้ผ้าชุบน้ำค่อยๆ เช็ดตัวเช็ดเท้าเอา

ความจริงเรื่องอาหารและน้ำดื่มนี้ ผู้เคยผ่านการบำเพ็ญภาวนาได้ผลดีย่อมทราบดีว่า ระหว่างเวลาจิตทรงอยู่ในสมาธิ ร่างกายจะแทบไม่รู้สึกถึงความหิวโหยแต่ประการใด จิตจะเอิบอิ่ม ไม่หิวอาหาร ไม่กระหายน้ำ ไม่ง่วงเหงาหาวนอน จิต “ตื่น” รับสัมผัสธรรมที่มากระทบตลอดเวลา การทรงอยู่ในสมาธิหรือฌาน นั้นมิได้หมายความว่าจะต้องนั่งหลับตา ขัดสมาธิ เป็นฤๅษีบำเพ็ญตบะอยู่ตลอดไป แต่อาจจะยืนเดิน พูด สนทนา อยู่ในอิริยาบถปกติของบุคคลธรรมดาก็ได้

ถ้ำที่หลวงปู่ไปทำความพากความเพียรอย่างเต็มที่นั้นปากถ้ำแคบอยู่สักหน่อย แต่ภายในกว้างขวาง สวยงาม ผนังถ้ำเป็นรู เป็นซอกมากมาย

เล่ากันว่า แต่ก่อนภายในถ้ำกว้างขวางเวิ้งว้างกว่านั้นด้วยมีเขตของพวก “บังบด” หรือ พวกภุมมเทวดา ดูแลรักษาอยู่ด้วย มีสมบัติภายในถ้ำมากมายมหาศาลเป็นสมบัติของ “เทวดา” ผู้มีศีลธรรม มีจิตบริสุทธิ์ ได้ปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นทรัพย์สมบัติของส่วนกลาง ให้มนุษย์นำมากราบไหว้บูชาหรือมีสิทธินำไปใช้สอยได้

ส่วนที่ให้นำมากราบไหว้บูชา คือ พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปเงิน นาก ขนาดต่างๆ กัน อันแสดงถึงความเลื่อมใสศรัทธาอย่างสูงสุดของคนในสมัยโบราณจึงได้จัดสร้างพระพุทธรูปด้วยวัสดุมีค่าไว้สักการบูชา ส่วนที่ให้นำไปใช้สอยก็เป็นพวกสร้อยสนิมพิมพาภรณ์ แก้วแหวนเงินทอง เช่น สร้อยตัว สร้อยคอ สร้อยสังวาล กำไลแขน กำไลข้อมือ เข็มขัดทอง นาก สิ่งเหล่านี้กองทิ้งอยู่บนแท่นหินภายในถ้ำอย่างระเกะระกะ

เป็นที่อนุญาตกันว่า เมื่อเข้าไปในเขตถ้ำอันเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วยเป็นเขตของเทวดาแล้ว ทุกคนจะสามารถนำพระพุทธรูป หรือเครื่องประดับเหล่านั้นติดตัวออกมาได้ ๑ กำมือเต็มๆ จะเป็นสร้อยตัว สร้อยคอ เข็มขัด จี้ สร้อยปะวะหล่ำ กำไลอย่างใดก็ตาม สิ่งเดียวหรือหลายสิ่ง อนุญาตให้นำออกมาได้คนละ ๑ กำมือ เมื่อนำมาใช้เสร็จธุระแล้ว ก็ให้นำกลับขึ้นไปคืนยังสถานที่เดิมที่ตนไปขอยืมมา

ไม่ทราบว่าจะเป็นเพราะเหตุใด ?

เพื่อเป็นการแสดงความเคารพสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ จึงต้องให้แสดงความบริสุทธิ์กายเช่นนั้น หรือเพราะเกรงว่า จะหยิบฉวยเกินเลย ซุกซ่อนใส่กระเป๋าเสื้อ กางเกง หรือเหน็บเข็มขัดคาดผ้ามาด้วยก็ไม่ทราบ แต่ข้อกำหนดกฎเกณฑ์นั้นมีอยู่ว่า ผู้ที่จะสามารถเข้าไปในเขตถ้ำตอนที่มีสมบัติเทวดารักษาไว้นั้นจะต้องเข้าไปแต่ตัวเปล่า กล่าวคือ ต้องเปลื้องเสื้อผ้าออกหมด ไม่ให้มีเครื่องนุ่งห่มชิ้นใดติดกายอยู่เลยแม้แต่ชิ้นเดียว ข้อกำหนดกฎเกณฑ์นี้ใช้ทั่วถึงกัน...ไม่ว่าหญิงหรือชาย...ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ทุกคนที่ปรารถนาจะขอยืมเครื่องประดับของใช้ของเทวดามาประดับกาย หรือเชิญพระพุทธรูปมาในงานบุณย์ ก็จะต้องปฏิบัติตามนี้ มิฉะนั้นแล้ว เมื่อเข้าไปภายในถ้ำจะมองไม่เห็นทรัพย์สมบัติมีค่าเหล่านั้นเลยสักชิ้นเดียว จะเห็นเป็นผนังถ้ำแลโล่งไปหมด

ดังนั้น ในสมัยโบราณ ถึงเวลาตรุษสงกรานต์ วันสารท วันทำการมงคล มีการแต่งงาน โกนจุก ทำบุญบ้าน ชาวบ้านก็จะพากันขึ้นเขาไปขอยืมสิ่งของเครื่องประดับมาใช้ ผู้คนสมัยนั้นต่างมีศีลธรรมอันดี เห็นว่าของเหล่านี้ไม่ใช่ของของตน ไม่ใช่ของแห่งตน เป็นสมบัติของกลาง ยืมมาใช้สอยสมประสงค์ของตนแล้วก็นำไปคืนโดยดี จวบจนภายหลัง เริ่มมีผู้โลภโมห์โทสัน ชักจะไม่ค่อยยอมส่งคืน ยึดถือเก็บไว้กับบ้านตนเรือนตน ทึกทักเป็นของของตน เท่ากับเป็นการผิดศีลข้ออทินนาทานถือเอาของที่เขาไม่ให้มาเป็นของตน สมบัติในถ้ำก็เริ่มลดน้อยลง เครื่องสนิมพิมพาภรณ์ที่เป็นทองคำสุกปลั่ง ก็เริ่มหมองลง ดำคล้ำลง คล้ายเป็นทองเหลือง เป็นที่สังเกตของผู้คนในระยะหลัง

ที่ร้ายแรงที่สุด คือ ได้มีเณรน้อยคนหนึ่งตามหลังเข้าไปในถ้ำด้วย เห็น “แม่ออก” หรือหญิงชาวบ้านเดินอยู่ข้างหน้า ก็ไป “บิด” ก้นแม่ออก (บิดคือหยิกแบบบิดด้วย-ผู้เขียน) เป็นการหยอกเอิน ผิดทั้งศีล ที่ไปจับต้องตัวผู้หญิง และไม่สำรวมกิริยา ผิดทั้งการไม่เคารพ ดูหมิ่นสถานที่ ทำให้ปากถ้ำบริเวณมีสมบัตินั้นถล่มลงปิดทางเข้าหมด ว่ากันว่า เณรผู้ทำความผิดศีลวิบัตินั้นรอดชีวิต ตกไปในรูพญานาคไปโผล่ที่กุดป่องได้ การรอดชีวิตนั้นเพียงเพื่อมาบอกเล่าทำให้ได้ทราบสาเหตุของการที่ถ้ำถล่มทลายได้ เพราะกลายเป็นคนเสียจริตเลอะเลือน ได้แต่พร่ำเพ้อถึงกรรมไม่ดีของตน และสุดท้ายก็ตายไป

จึงเรียกชื่อภูเขานี้ว่า “ภูบักบิด” ด้วยประการฉะนี้

หลวงปู่เล่าว่า สมัยเมื่อท่านเป็นเด็ก ขึ้นภูไปที่ถ้ำนี้ ยังทันได้เห็นฆ้องเภรีโบราณขนาดค่อนข้างเชื่องตั้งเรียงรายอยู่ และพระพุทธรูปทองคำก็ยังหลงเหลืออยู่บ้างแต่เป็นพระพุทธรูปองค์เล็กๆ มีแผ่นเงินหรือแผ่นทองแผ่หุ้มองค์ ไม่เป็นทองคำทั้งองค์อย่างที่กล่าวกัน พระพุทธรูปเล็กๆ เหล่านี้ตั้งอยู่บนแท่นหินในหลืบถ้ำ ขณะนั้นราคาทอง ราคาเงินก็ไม่สูงเท่าไร จึงไม่มีผู้ใดสนใจ มีพระพุทธรูปปั้นดินเผาบรรจุอยู่ในไหเต็มหลายต่อหลายใบ สิ่งเหล่านี้ภายหลังเมื่อท่านกลับไปทำความเพียร คงเหลือแต่พระดินในไหเท่านั้น ชาวบ้านยังยืนยันกันว่า ความศักดิ์สิทธิ์ที่ถ้ำในภูบักบิดนี้ยังมีอยู่มีพญานาคอาศัยอยู่ในถ้ำ โพรงของพญานาคนั้น หากเอามะพร้าวทิ้งลงไปจะไปโผล่ที่กุดป่องเลยทีเดียว

หลวงปู่เล่าว่า แต่แรกท่านมิได้เชื่อถือเรื่องพญานาค ที่ขึ้นไปทำความเพียรก็เพื่อเปลี่ยนสถานที่ ด้วยปี ๒๔๙๙ นี้ท่านจำพรรษาอยู่ที่บ้านกกกอก เป็นพื้นที่เชิงเขาออกพรรษาแล้ว จึงเปลี่ยนขึ้นภูบ้าง และเห็นว่า บนยอดภูนั้นป่าเขายังบริบูรณ์อยู่มากและประวัติของภูบักบิดแต่สมัยโบราณก็ดูขลังดี...! (สำนวนของท่าน...ขลังดี...ท่านใช้อยู่บ่อยๆ) คงมีเทพมากเช่นเดียวกัน ท่านไปถึงภูบักบิดนี้ในเดือนอ้าย ตรงกับเดือนธันวาคม หมายความว่า ออกพรรษาเพียงเดือนเศษก็ไปเลย

เมื่อขึ้นไปภาวนา เพียงคืนแรก ก็เห็นมือใหญ่ดำ ยื่นออกมาจากถ้ำเป็นมือที่ใหญ่โตเกินขนาดที่จะเป็นมือมนุษย์ ขนยาวรุงรัง ไม่เห็นอวัยวะส่วนอื่นนอกจากมือที่ชูร่อนเหมือนจะขอบุญกุศล หลับตาก็เห็น ลืมตาก็เห็น กำหนดจิตถามได้ความว่า เป็นเปรตมาขอส่วนบุญ ท่านจึงได้ตั้งจิตแผ่เมตตาให้

สำหรับเรื่องพญานาคนั้น ผลสุดท้ายท่านก็ต้องยอมรับว่า มีสิ่งลึกลับนี้อยู่จริง ท่านเล่าว่า พญานาคที่ภูบักบิดนั้น เดิมเป็นมิจฉาทิฏฐิ ระหว่างที่ท่านภาวนาก็มาลองดี เอาส่วนหางพันรอบกายท่านหลายรอบ แล้วรัดแน่น

“หนักอึ่กซึ่ก...อึ่กซึ่ก” อึดอัดมาก ทันทีที่รู้สึกตั้งสติไม่ทัน ทำให้ตกใจ ท่านว่า “เกือบเสียทีเขา” แม้ท่านจะเป็นพระเถระแล้ว พรรษากว่าสามสิบ แต่ประสบการณ์ด้านพญานาคเคยมีอยู่ แต่การที่มาพันรัดตัวนี้เพิ่งจะพบ จึงอดสะดุ้งไม่ได้ แต่แล้วเมื่อตั้งสติได้ ก็กำหนดจิต “เอาพุทโธ...พุทโธ เป่าเข้าไป...เป่าเข้าไป ที่มันรัดแน่นก็คลายวับๆ เลย คลายเร็ว...เร็วเลย”

เป็นบางท่าน บางองค์ อาจจะแบกกลดหนีเลยก็ได้ แต่หลวงปู่ก็คงอยู่ทำความเพียรต่อไปอย่างไม่ลดละ แผ่เมตตาให้พญานาคผู้นั้น จนภายหลังจิตของเขาอ่อนน้อมยอมลงต่อท่าน กลายเป็นเพื่อนเป็นมิตรกัน

จากปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ท่านได้กลับไปภูบักบิดอีกหลายครั้ง โดยในภายหลังท่านถือเป็นสถานที่ซึ่งท่านจะพาพระเล็กเณรน้อยไปเร่งความเพียร โดยมีพญานาคเพื่อนคู่มิตรของท่านเป็นผู้ช่วยทรมานทดสอบความมั่นคงของจิตใจ

เคยกราบเรียนถามว่า การทดสอบของพญานาคทำอย่างไร ท่านก็หัวเราะ เฉยเสีย คาดว่า พญานาคนั้นย่อมมีฤทธิ์ในการแปลงกาย หรือเนรมิตสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้รวดเร็วมาก คงจะเป็นการทำให้ผู้ภาวนาเกรงกลัว จิตจะไม่กล้าส่งนอก แนบแน่นอยู่กับพุทโธ จนรวมลงเป็นสมาธิโดยเร็ว

การภาวนาที่ภูบักบิดนี้ แรกๆ ท่านบันทึกไว้ว่า “สถานที่เป็นมงคลดี เทพมาก จิตแจบจมดี แทบไม่อยากจะจากไปที่อื่นเลย ลืมมืด ลืมแจ้ง” ท่านยังกลับไปหลายครั้งดังกล่าว แต่ภายหลังท่านบ่นว่า มันจืดไปแล้ว เข้าใจว่า ความเคยชินต่อภูบักบิด ทำให้ความรู้จักตนเต้น “ใหม่” ต่อสถานที่อันเป็นปกติวิสัยที่พระธุดงค์แสวงหานั้น...คลายลง ท่านจึงบ่นว่า “จืด” ไป

ภายในถ้ำ ปัจจุบันมีพระพุทธรูปประธาน ที่ท่านพระครูอดิสัยคุณาธารสร้างขึ้นไว้แต่ปี ๒๕๑๕ หนึ่งองค์ ภายหลังในปี ๒๕๒๙ นี้เอง หลวงปู่ได้มอบพระประธานองค์ใหญ่ไปประดิษฐานไว้อีก ๑ องค์ คู่กับพระพุทธรูปองค์เดิม แล้วรวบรวมพระพุทธรูปโบราณองค์เล็กองค์น้อยที่ยังหลงเหลืออยู่ในถ้ำบรรจุเข้าไว้ในองค์พระพุทธรูปองค์ใหญ่ด้วย ท่านได้มอบเงินไปให้จำนวนหนึ่ง ๔,๐๐๐ บาทสมทบกับที่ญาติโยมคนอื่นๆ บริจาคอีก ๑๔,๐๐๐ บาท ให้จัดสร้างแท่นพระสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป หาจ้างช่างรับเหมาไม่มีคนยินยอม เพราะต้องขนอิฐ ปูน ทราย และน้ำขึ้นไปทำ ต้องเดินทางขึ้นเขาไปลำบากอีกประมาณ ๓ กิโลเมตร ผู้รับคำสั่งจากท่านให้จัดทำ ไม่ทราบจะทำประการใด จึงอธิษฐานถึงหลวงปู่ ขอให้งานลุล่วงไปด้วยดี พระพุทธรูปตั้งอยู่กับพื้นถ้ำไม่เหมาะสม เธอเลยว่า ประหลาดใจที่จู่ๆ ก็มีผู้มาอนุเคราะห์ จัดหารถฟอร์วีล และลูกน้องมาช่วยขนอิฐ ปูน ทราย บุกเขาขึ้นไปส่งได้ ส่วนน้ำไม่ต้องขนขึ้นไป เพราะบังเอิญ (ไม่ทราบว่า บังเอิญหรือไม่ ?) ฝนตกหนัก ทำให้ได้รองน้ำใส่แท็งก์น้ำและตุ่ม ทำให้ก่อสร้างแท่นพระพุทธรูปได้สำเร็จและสามารถอัญเชิญพระพุทธรูปของหลวงปู่ขึ้นประดิษฐานบนแท่นได้

ชาวจังหวัดเลยเล่าให้ฟังถึงโบสถ์วัดประชานิมิต ที่ก่อสร้างขึ้นมา ณ ที่เชิงภูบักบิดนั้น ในปี ๒๕๒๐ ที่พระคุณเจ้าหลวงปู่ศรีจันทร์เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ เช้าวันงาน รอบบริเวณภายนอกวัดฝนตกหนัก แต่ในบริเวณงานไม่มีฝนเลยครั้นเมื่อถึงเวลาพิธี ก็มีละอองน้ำโปรยปรายทั่วบริเวณ เหมือนพญานาคมาพ่นน้ำเป็นฟองฝอยอวยชัยให้พรแสดงสาธุการ ฉะนั้น ผู้ที่มาร่วมงานต่างเห็นเป็นอัศจรรย์กันทุกคน

ความจริง ชื่อภูนี้ เวลาชาวจังหวัดเลยเรียกกันว่า ภูบอบิด บ้าง ภูบ่อบิด บ้างแต่ในบันทึกของหลวงปู่ ท่านเรียก ภูบักบิด ทุกครั้ง ผู้เขียนนำความเรียนปรึกษาพระเถระผู้ใหญ่ ท่านว่า ควรเขียนตามชื่อที่หลวงปู่ใช้ เพราะท่านย่อมพิจารณาและ “ทราบ” เรื่องอันอยู่เหนือกว่าที่บุคคลธรรมดาจะเข้าใจ และความจริง ชื่อ “ภูบักบิด” ของท่านก็สอดคล้องกับประวัติของถ้ำด้วย กล่าวคือ ภูที่มีเจ้าหนุ่ม (เณร) ผู้ไป “บิด” หยิกสาว

หลายปีต่อมา ท่านกลับมาบันทึกถึงภูบักบิดอีก โดยเฉพาะเกี่ยวกับการภาวนา ระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ อันเป็นครั้งที่ท่านได้ไปพบพญานาคมารัดกาย

ที่แห่งหนึ่ง ท่านกล่าวสรุปถึงการภาวนาที่เกือบเสียของท่านทั้งหมด ดังนี้

“ภูเก้า ๐๑ ภาวนาเกือบเสีย

ถ้ำผาบิ้ง ๐๒ เกือบเสีย

๐๓ ถ้ำผาพร้าว ฝั่งซ้าย (อยู่ทางนครเวียงจันทน์-ผู้เขียน) เกือบเสีย บุญวาสนาแก้ทัน เพราะอยู่คนเดียวเสียด้วย นี้เถระผู้ใหญ่ (ท่านมีพรรษาถึง ๓๖ พรรษาแล้ว ในปี ๒๕๐๓-ผู้เขียน) ยังมีนิมิตหลอกได้

ภูบักบิด เกือบเสียเหมือนกัน พ.ศ. ๙๙

ถ้ำโพนงาม พ.ศ. ๗๗ เกือบเสียเหมือนกัน ระยะผลร้ายที่สุด เกือบสึก เกือบบ้า เกือบเสียชีวิต สกลนคร”

ที่ถ้ำโพนงาม พ.ศ. ๗๗ ที่ท่านว่า “เกือบเสียเหมือนกัน ฯลฯ” นั้นต่อมา ท่านก็เขียนว่า “การทำความเพียรอยู่ถ้ำโพนงาม ปี ๗๗ นั้น เด่นมาก หากเราได้ฟังเทศน์ท่านอาจารย์มั่น เราอาจได้สำเร็จอรหันต์”

“เกือบเสีย” ของท่าน...!

ดังนั้น ที่ภูบักบิดนี้เช่นกัน ท่านว่า “เกือบเสีย” แต่กรุณาฟังที่ท่านบันทึกไว้ ณ อีกแห่งหนึ่งว่า

“ถ้ำภูบักบิด เป็นสถานที่ทำความเพียร ไม่เบื่อ จิตไม่คุ้นเคยในสถาน เกรงกลัวในสถานเสมอ นำมาซึ่งความเจริญ นิมิตไม่ร้าย เมตตาจิตเสมอภาค ไม่มีอคติ แผ่เมตตาจิตเยือกเย็นดี ถ้ำนี้ปรุโปร่งทั่ว ธันวาคม พ.ศ. ๙๙ เดือนอ้าย พ.ศ. ๙๙ ถ้ำนี้ได้พิจารณาตาย ตายที่สงัดดีเป็นหนทางพระอริยเจ้าตายคนเดียว ตายด้วยกิเลส คือตายด้วยหมู่ไม่ดี”

“ถ้ำนี้พิจารณาธรรมะแจ่มใส พิจารณาแห่งเดียวรู้ทั่ว ภาวนาได้ทะลุทั้งตัว ภาวนาลมหายใจทุกเส้นขน เทพ อมนุษย์ นาค ในที่นี้ชอบเอาใจมาก แผ่เมตตาจิตนั้นชอบนัก มีเมตตาเสมอภาคต่อบุคคลทั้งปวงจิตสูงมีอำนาจมาก ความรู้เลื่อนจากฐานะเดิมสู่ที่สูงมาก ประหวัดถึงกึ่งพุทธกาลเสมอ มีปาฏิหาริย์ดีกว่าถ้ำอื่นๆ จิตอุ้มหนุน เอื้อเรื่อยๆ อยู่ถ้ำนี้ไปนานๆ จะมีความรู้ใหญ่โต จิตประหวัดคิดถึงกามไม่มี เหมือนที่ถ้ำผาปู่ นิมิตความฝันเป็นมงคล”

เราคงจะเข้าใจคำว่า “เกือบเสีย” ของท่านได้แล้ว


(มีต่อ ๑๕)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 17 ม.ค. 2007, 5:30 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ พรรษาที่ ๓๓-๓๕ จำพรรษาร่วมกับกัลยาณมิตร
พ.ศ. ๒๕๐๐ ณ วัดป่าแก้ว บ้านชุมพล อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร
พ.ต. ๒๕๐๑-๒๕๐๒ ณ ถ้ำกลองเพล อ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี


จากวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ ที่หลวงปู่ได้ญัตติเป็นธรรมยุต ณ วัดโพธิสมภรณ์ ได้เป็นนาคขวาของเจ้าคุณธรรมเจดีย์ ผู้เป็นองค์อุปัชฌายะ โดยมีพระคุณเจ้าหลวงปู่ขาว อนาลโย เป็นนาคซ้าย ท่านทั้งสององค์ผู้เป็นคู่นาคขวาและซ้ายของกันและกัน ก็เป็นกัลยาณมิตรเอื้อเฟื้อต่อกันตลอดมา ด้วยต่างมีใจตรงกัน หวังจะปฏิบัติธรรมเพื่อความเกษมหลุดพ้นจากโอฆสงสารเช่นเดียวกัน นับแต่ ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ซึ่งท่านและหลวงปู่ขาว ได้จำพรรษาร่วมกัน ณ วัดป่าบ้านหนองวัวซอ ซึ่งมีหลวงปู่ชอบ ฐานสโม จำพรรษาอยู่ร่วมด้วยแล้ว ท่านต่างก็แยกย้ายกันไปแสวงหา ภูเขา เงื้อมถ้ำ โคนไม้ ตามป่าเปลี่ยว เขาสูง เพื่อทรมานกิเลส ต่างถิ่นต่างสถานที่กันไป ตามนิสัยความพอใจของแต่ละองค์

บางโอกาส บางสถานที่ ท่านอาจจะโคจรมาพบกันบ้าง แต่เมื่อต่างองค์ต่างพอใจในความวิเวก สันโดษ อยู่คนเดียว ไปคนเดียว เป็นปกตินิสัย การจะมาจำพรรษาด้วยกันอีกจึงเป็นการยาก กระทั่งเวลาผ่านไปถึง ๒๗ ปี คู่นาคขวาซ้ายจึงมาปวารณาเข้าพรรษาด้วยกันอีกครั้งหนึ่ง

ท่านท่องเที่ยววิเวกจำพรรษาอยู่ทาง อุดร ขอนแก่น นครราชสีมา และใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ตามถ้ำเขาในเขตจังหวัดเลยอันเป็นจังหวัดบ้านเกิด พร้อมทั้งติดตามไปอยู่จำพรรษาใกล้กับครูบาอาจารย์ในสกลนคร ในขณะที่หลวงปู่ขาวจากอุดร สกลนคร นครพนม ขึ้นไปแสวงหาความวิเวกในจังหวัดภาคเหนือ จนได้ธรรมอันเป็นที่ยอดปรารถนาแล้ว ท่านก็กลับมาภาคอีสาน ได้พบกับหลวงปู่หลุยบ้าง ในระหว่างเวลาที่ท่านเข้ามากราบเยี่ยมฟังธรรมหลวงปู่มั่น แล้วท่านก็จะเที่ยวธุดงค์ต่อไปทางจังหวัดอุดร หนองคาย ระยะเวลาที่เส้นทางโคจรมาประสานกันจึงค่อนข้างสั้น

ระยะนั้น ญาติโยมแถบอำเภอสว่างแดนดิน ได้นิมนต์ให้หลวงปู่ขาวมาเป็นประธานให้ที่พึ่งทางใจแก่พวกเขา ที่วัดป่าแก้ว บ้านชุมพล ต.ค้อใต้ ท่านอยู่โปรดพวกเขาบ้าง แต่สถานที่นั้นไม่มีภูมิประเทศ ลักษณะถ้ำ ลักษณะขุนเขาที่ท่านพึงใจได้โอกาสหลวงปู่ขาวท่านก็จะหลีกเร้นไปวิเวก และบางครั้งก็อยู่ต่อไปจนเข้าพรรษาอย่างเช่นที่ดงหม้อทอง อำเภอวานรนิวาส สกลนคร ใน พ.ศ. ๒๔๙๗ หรือที่ ถ้ำแก้ว ตาดปอ บ้านทุ่งทรายจก ภูวัว หนองคาย ใน พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็นต้น

ออกพรรษา ปี ๒๔๙๙ ชาวบ้านแถบบ้านค้อใต้ ก็มาอาราธนาอ้อนวอนให้หลวงปู่ขาวกลับมาอยู่ ณ วัดป่าแก้วอีก ท่านรับนิมนต์ และปี ๒๕๐๐ นี้เป็นปีสุดท้ายที่ท่านจำพรรษาอยู่โปรดชาวบ้านชุมพลและบ้านค้อใต้ เพราะต่อมาท่านก็เที่ยวธุดงคกรรมฐาน ได้ไปพบสถานที่สำคัญแห่งหนึ่ง ณ อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี เป็นป่ารกชัฏ บริบูรณ์ด้วยพลาญหิน ละหานห้วย เงื้อมเขาและเถื่อนถ้ำต้นไม้สูงใหญ่ขึ้นเบียดเสียดกัน เหมาะแก่อัธยาศัยในการอยู่บำเพ็ญภาวนา หลวงปู่ขาวจึงพักอยู่ ณ บริเวณสถานที่นั้น และต่อมาก็ได้จัดตั้งขึ้นเป็นวัด มีนามว่า วัดถ้ำกลองเพล ซึ่งเป็นที่ซึ่งท่านอยู่บำเพ็ญสมณธรรมตลอดมาจนวาระสุดท้ายของชีวิตของท่านในเดือนพฤษภาคม ๒๕๒๖

หลวงปู่หลุยเที่ยววิเวกมาจากทางจังหวัดเลย มาพบหลวงปู่ขาวที่วัดป่าแก้ว ก่อนจะเข้าพรรษา ปี ๒๕๐๐ เล็กน้อย เมื่อเพื่อนสหธรรมิกชวนให้อยู่จำพรรษาด้วยกันแม้สภาพของวัดป่าแก้วจะอยู่ในพื้นที่ราบ ไม่ใช่ถ้ำ ไม่ใช่เขาอย่างแถบจังหวัดเลยหรือสกลนครที่ท่านพึงใจ แต่เพื่อนสหธรรมิกที่จะอยู่ร่วมด้วย เป็นผู้ที่มีอัธยาศัยต้องกันมีคุณธรรมที่ท่านยกย่อง ท่านก็ตกลงจำพรรษาอยู่ด้วย

ท่านกล่าวว่า สถานที่นี้ออกจะเป็นที่ซึ่ง “ลวงตา” อยู่ กล่าวคือ เดิมคิดว่าคงจะไม่มีอะไรเลย แต่เมื่อพอใจจะได้อยู่กับกัลยาณมิตร ได้มีเวลาธรรมสากัจฉากันบ้างซึ่งก็คงเป็น “สัปปายะ” อันเพียงพอแล้วที่ท่านต้องการ อย่างไรก็ดี ท่านได้พบด้วยความประหลาดใจว่า นอกจากบุคคลสัปปายะแล้ว แม้สถานที่ก็สัปปายะ และอากาศก็สัปปายะด้วย

ท่านและหลวงปู่ขาวถูกอัธยาศัยกันมาก ท่านเล่าว่า นอกเหนือจากเวลาที่ญาติโยมมาหา ซึ่งเป็นเวลาที่ท่านช่วยหลวงปู่ขาวรับแขกแล้ว ท่านก็ต่างองค์ต่างเข้าที่ภาวนา หรือเดินจงกรมกัน อยู่คนละแห่ง คนละแดนของวัด วันๆ หนึ่งแทบไม่ได้พบหน้ากัน พูดคุยกัน นอกจากเวลาเตรียมตัวไปบิณฑบาต หรือฉันน้ำร้อน

ท่านยอมรับว่า นิสัยของท่านทั้งสองต่างคล้ายกัน คือ ชอบเปลี่ยนที่ทำความเพียร เช่น เวลาเช้า นั่งภาวนาอยู่ ณ ใต้ร่มไม้แห่งหนึ่ง เวลาบ่าย ไปทำความเพียรอีกแห่งหนึ่ง ตกค่ำ เปลี่ยนที่ต่อไปอีก เปลี่ยนทิศ เปลี่ยนสถานที่ แม้แต่เส้นทางจงกรมก็ตาม ท่านก็ยังจัดทำไว้หลายสาย สายหนึ่งสำหรับบริเวณนี้ อีกสายหนึ่งสำหรับบริเวณตอนโน้น บริเวณวัดนั้นกว้างขวางมาก ด้วยยังเป็นป่าเป็นแนวไพรอยู่ ผู้ภาวนาจึงสามารถเที่ยวเลือกหาแบ่งปักปันเขตภาวนากันตามอัธยาศัย แดนนี้ สุดชายป่านี้ เป็นขององค์นี้ แดนโน้น สุดชายป่าโน้น เป็นขององค์นั้น

ก้อ...สมมติกันน่ะแหละ ว่าเป็นแดนของใคร...ท่านเล่าขันๆ

แต่บางเวลา เปลี่ยนทิศทาง ไปซ้าย ไปขวา ไปใกล้ ไปไกล...ภาวนาเพลินไป ออกจากที่ภาวนา ปรากฏว่ามาทับแดนกัน อยู่ห่างกันเพียงกอไม้กลุ่มเดียวก็เคยมี...!

ท่านต้องอัธยาศัยกันมาก ทั้งๆ ที่ท่านต่างชอบสันโดษไปองค์เดียวแต่สำหรับกับหลวงปู่ขาว ดูจะเป็นกรณียกเว้น เมื่อหลวงปู่ขาวไปพบถ้ำกลองเพล ท่านจึงชวนหลวงปู่หลุยให้ไปจำพรรษาอยู่ด้วยกันอีก

ในปีพรรษา ๒๕๐๑ และ ๒๕๐๒ หลวงปู่หลุยจึงอยู่ร่วมกับหลวงปู่ขาวต่อไป รวมเป็นเวลาที่ท่านจำพรรษาอยู่ด้วยกันถึง ๓ ปีติดต่อกัน ซึ่งท่านกล่าวว่า ท่านมิได้เคยจำพรรษาอยู่ด้วยใครนานเช่นนี้มาก่อนเลย

ยิ่งถ้ำกลองเพลมีอาณาบริเวณกว้างขวาง เป็นป่ารกชัฏ บริบูรณ์ด้วยพลาญหิน ละหานห้วย เงื้อมเขาและเถื่อนถ้ำดังกล่าวแล้ว การที่หลวงปู่ทั้งสององค์จะแยกกันหลีกเร้นไปหาที่สงัดวิเวกจึงแทบไม่มีโอกาสที่จะมา “ทับแดน” กันได้เลย

อยู่องค์ละเงื้อมหิน องค์ละถ้ำ ไม่ต้องพูดคุยกัน

ในภายหลัง ได้มาพบบันทึกของหลวงปู่หลุย ท่านกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

“พระเถระไปเยี่ยมกัน ท่านใช้ฌานของจิต ไม่ต้องพูดกันอย่างคนธรรมดา รู้สุข รู้ทุกข์ รู้ทันที ผิดกับคนสามัญต้องถามสุขทุกข์กันเสียจึงรู้ได้”

คงจะพอเข้าใจแล้ว ทำไมท่านไม่จำเป็นต้องพูดคุยกัน...!!

เฉพาะในถ้ำกลองเพล ซึ่งเป็นถ้ำใหญ่กว้างขวาง เพดานถ้ำสูง มีอากาศโปร่ง โล่ง สบาย ลมพัดถ่ายเทได้ ปากถ้ำก็กว้าง คนเข้าไปอยู่ในบริเวณถ้ำได้เป็นจำนวนเรือนพัน กล่าวกันว่า ภายในถ้ำนั้นเคยมีกลองเพลใหญ่ประจำอยู่ลูกหนึ่ง ขนาดใหญ่มหึมา ไม่ทราบสร้างกันมาแต่กาลใด สมัยใด คงจะเป็นเวลานับด้วยร้อยๆ ปีผ่านมาแล้วบ้างก็ว่า เกิดขึ้นเองพร้อมกับถ้ำ บ้างก็ว่า เป็นกลองเทพเนรมิตขึ้นสำหรับผู้มีบุญ กลองเพลนั้นอยู่คู่กับถ้ำมาช้านาน สุดท้ายก็เสื่อมสลายลงเป็นดินตามกฎแห่งอนิจจังที่ว่า มีเกิด ย่อมมีดับ มีอุบัติ ย่อมมีเสื่อมสลายทำลายลง พวกที่เคยเข้าไปล่าสัตว์อาศัยเข้าไปพักเหนื่อยหรือหุงหาอาหาร เล่าว่า เคยเห็นเศษไม้ของกลองยักษ์นั้นที่กระจัดกระจายอยู่ในหลืบถ้ำ เอามาเป็นฟืนหุงต้มอาหารได้

ที่สำคัญก็คือ ภายในถ้ำนั้นมีพระพุทธรูปขนาดต่าง ๆ มากมาย ประดิษฐานไว้ตามหลังเขา และในถ้ำ ส่วนที่กล่าวกันว่า เป็นพระพุทธรูปทอง หรือพระพุทธรูปเงินแท้นั้น ได้ถูกคนในสมัยหลังยึดถือเอาไปเป็นสมบัติส่วนตัวกันหมดแล้ว

โดยที่ปี ๒๕๐๑ เป็นปีแรกที่หลวงปู่ขาวท่านมาเริ่มตั้งวัดถ้ำกลองเพลดังนั้น หลวงปู่หลุยจึงเท่ากับมาร่วมอยู่ในยุค “บุกเบิกแรกตั้ง” ด้วย ท่านมิได้มีนิสัยในทางก่อสร้าง แต่ท่านก็คงช่วยเพื่อนสหธรรมิกของท่านในการเทศนาอบรม โดยเฉพาะเชิญชวนพุทธบริษัทให้มาร่วมทำนุบำรุงวัดถ้ำกลองเพลด้วย

ได้พบข้อความในสมุดบันทึกของท่านหลายแห่ง ซึ่งท่านให้ชื่อไว้ว่า “โฆษณาเชยชมถ้ำกลองเพลโดยเอกเทศ” ขอเลือกนำมาลงพิมพ์ไว้เป็นอนุสรณ์ในที่นี้สำนวนหนึ่ง ดังนี้

“ถ้ำกลองเพลเป็นสถานที่ประชุมของพุทธบริษัท มีทั้งภิกษุสงฆ์สามเณร มีทั้งศิษย์วัด มีทั้งแม่ขาว นางชี และมี ท่านอาจารย์ขาว ผู้เป็นเถระผู้ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาเป็นเจ้าอาวาส ประกอบทั้งมีคุณวุฒิทางธรรมวินัยที่ได้อบรม และฉายความรู้มาจากเถระผู้ใหญ่ กล่าวคือ ท่านอาจารย์มั่น โลกนิยมกันว่า เป็นคณาจารย์ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานที่สำคัญของภาคอีสาน”

“แม้ท่านอาจารย์ขาวองค์นี้ เป็นที่นับถือของพระเถรานุเถระผู้ใหญ่มานาน ทั้งท่านได้มีโอกาสมาจำพรรษา ณ ถ้ำกลองเพล ที่ถ้ำกลองเพลนี้ก็ได้ทราบว่า พระภิกษุสามเณร แม่ขาว นางชี มาจากต่างถิ่น ต่างจังหวัดเช่น อุบล อุดร ขอนแก่น เลย หนองบัวลำภู สกลนคร พร้อมฉันทะมาจำพรรษา ณ ถ้ำกลองเพลนี้ปีละมากๆ หากว่าเช่นนั้นเป็นสายชะนวนให้พุทธบริษัทดำเนินการก่อสร้างวัดถ้ำกลองเพล”

“ถ้ำกลองเพลนี้ เนื้อที่ของวัดกว้างขวาง ประมาณ.....ไร่ ภูเขาถ้ำกลองเพลเป็นธรรมชาติภูเขามาตั้งแต่ปฐมกัป มีเรือกเกณฑ์ภูมิลำเนาดี มีน้ำอุปโภค บริโภค มีถ้ำใหญ่ มีพุทธรูปปฏิมากรเป็นพยานน่าชื่นใจ น่าบูชา และมีเหลี่ยมหินที่เล็กๆ หลายแห่ง ซอกเขาต่างๆ เป็นที่ซ่อนใจ ซ่อนตัวในเวลากลางวันได้ สถานที่ขึ้นไปหาถ้ำบิ้งขึ้นแต่ถ้ำหารไป มีสูงๆ ต่ำๆ และมีกุฎีปลูกขึ้นไปโดยลำดับสวยงาม ส่วนผาบิ้งนั้นมีดานหินที่สะอาด เดินภาวนาเปลี่ยนอิริยาบถได้ตามสบาย ทั้งมีก้อนหินสูงๆ ต่ำๆ สะอาด เจริญใจ ทั้งมีลำคลองน้ำเล็กๆ ที่มีน้ำใช้ ฤดูฝนใสสะอาด บริโภค อุปโภคได้เป็นอย่างดี ถ้ำกลองเพลนี้ประกอบไปด้วยป่าใหญ่ที่เกิดจากธรรมชาติ เป็นเทือกดงแนวป่าเปลี่ยว สดชื่น ป่าไม้นั้นล้วนอยู่ในบริเวณถ้ำกลองเพลทั้งนั้น”

“ถ้ำกลองเพลนี้ หนทางเข้าวัด ติดกับทางรถยนต์ระหว่างอุดรไปหนองบัวลำภู ทางแยกรถยนต์เข้ามาทางวัด ๕ กิโลเมตร สะดวกไม่ขัดข้องด้วยประการใดๆ ถ้ำกลองเพลเป็นสถานที่ห่างไกลจากบ้าน เป็นสถานที่เจริญสมณธรรม เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มาแต่โบราณกาลนานหนักหนา เป็นสถานที่มงคลดุจเทพรักษาถิ่นนี้มาก เป็นสถานที่ดึงดูดน้ำใจพวกเราพุทธบริษัทให้มาดูสภาพของถ้ำกลองเพลเรื่อยๆ เป็นสถานที่มีชื่อเสียงเด่นไปต่างจังหวัดอื่น เป็นสถานที่ร่วมใจของชาวเมือง มีข้าราชการ พ่อค้าพาณิชย์ และชาวไร่ชาวนา พากันมานมัสการพระพุทธรูปปฏิมากร เจดียสถาน แม้ในฤดูกาลปีใหม่ ท่านศาสนิกชนทั้งหลายพากันมาสระสรงพระพุทธรูป เพื่อขอฟ้าขอฝน และขออยู่อายุวรรณะ สุขะ พละ สำหรับปีใหม่”

“ถ้ำกลองเพล มีทั้งต้นกล้วย ต้นขนุน ต้นมะละกอ เป็นพิเศษหมากไม้บริโภคที่เกิดจากธรรมชาติไม่แสลงโรค ครั้นพากันบริโภคแล้วบังเกิดความสุข หากว่าเป็นเช่นนี้ พวกเราพุทธศาสนิกชนควรปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมสาธารณวัตถุ เพื่ออุทิศบูชาไว้ในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีอานิสงส์อย่างใหญ่ไพศาล”

“ถ้ำกลองเพลนี้ มีท่านอาจารย์ขาวเป็นเจ้าอาวาส ท่านเป็นคณาจารย์ฝ่ายวิปัสสนา ทั้งมีพระภิกษุสามเณรเป็นจำนวนมาก มีทั้งฤดูแล้ง ฤดูฝนมิได้ขาด ท่านโยคาวจรเจ้าทั้งหลายผู้ที่แสวงหาวิโมกขธรรมย่อมไปๆ มาๆ อยู่อย่างนั้นมิได้ขาดสาย ท่านเหล่านั้นมาพักพาอาศัย พึงร่มพึ่งเย็นที่คณะอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายท่านพากันก่อสร้างไว้ดังนี้ แม้เสนาสนะไม่เพียงพอก็อยู่ ท่านเหล่านั้นพากันอยู่ในรุกขมูล ต้นไม้บ้าง อยู่ในถ้ำบ้างอยู่ง่ามภูเขาบ้าง แล้วแต่ความผาสุกของท่านเหล่านั้น”

“ถ้ำกลองเพล ต่ออนาคตข้างหน้าจะเป็นวัดสำนักใหญ่ เป็นสถานที่เป็นมงคลอย่างยิ่งในอนาคตข้างหน้า หากว่าเป็นเช่นนี้ การก่อสร้างใดๆ จะเป็นกุฎีก็ดี หรือจะเป็นสรณวัตถุสิ่งอื่นๆ ก็ดี ล้วนแต่เป็นสถานที่เสนาสนะต้อนรับพระโยคาวจรเจ้าทั้งหลายที่มาแต่จตุรทิศทั้ง ๔ ซึ่งมีอานิสงส์อย่างไพศาล”

“นำมาซึ่งความชื่นใจของท่านศาสนิกชนพุทธบริษัทต่อหลายฟ้าหลายปี จะเป็นสำนักใหญ่รุ่งเรืองด้วยผ้ากาสาวพัสตร์อันเป็นธงชัยของพระอรหันต์ ท่านผู้มาพบเห็น ก็พากันใคร่อยากจะก่อสร้างเป็นอนุสาวรีย์ไว้ในศาสนาทั้งนั้น เพื่อสืบบุญลูก บุญหลาน บุญเหลนต่อไป อนุชนเหล่านั้น ก็จะได้พากันระลึกได้ว่า ปู่ของเรา ย่าของเรา ชวดของเรา บิดามารดาของเรา ท่านเหล่านั้นได้พากันก่อสร้างไว้แล้ว อนุชนเหล่านั้นจะได้พากันก่อสร้างสืบต่ออนาคต ดังนี้”


(มีต่อ ๑๖)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 18 ม.ค. 2007, 9:10 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ พรรษาที่ ๓๖ พ.ศ. ๒๕๐๓ ในถ้ำเขตจังหวัดเลย
จำพรรษา ณ ถ้ำมโหฬาร ต.หนองหิน อ.ภูกระดึง


พอออกพรรษา ปี ๒๕๐๒ แล้ว หลวงปู่ก็แยกจากกัลยาณมิตรของท่านออกจากวัดถ้ำกลองเพล ท่องเที่ยววิเวกมุ่งกลับไปทางจังหวัดเลย ซึ่งขณะนั้นยังสมบูรณ์ด้วยป่าด้วยเขา มองเห็นภูเขาลูกแล้วลูกเล่า ต่อเนื่องเนืองนันต์กันไปเป็นสีเขียวอ่อนแก่สลับซับซ้อนกัน

แม้บริเวณแถวถ้ำกลองเพลเอง ก็ยังเป็นป่าดงพงทึบอยู่ มีเสือมีช้างเข้ามาเยี่ยมกรายในบริเวณวัดอยู่เสมอ ฉะนั้นเมื่อพ้นเขตที่วัด ก็ไม่ต้องสงสัยว่า ต่อไปจากนั้นบริเวณป่าเขาลำเนาไพร ก็จะยังคงสภาพ “ป่าดงพงทึบ” จริงๆ เพียงใด ต้นไม้แต่ละต้นใหญ่มาก สำนวนท่านเรียกว่า “กอดไม่หุ้ม” หมายความว่า ใหญ่จนคนโอบไม่รอบ สัตว์ป่ายังคงอุดมสมบูรณ์ บ้านเรือนผู้คนห่างกัน เล่าว่า จากอุดรไปเลยนั้น เป็นภูเขามาก ที่เห็นเป็นถนนลาดยางคดเคี้ยวไปตามไหล่เขานั้น เพิ่งจะมาทำกันในสมัยหลังๆ นี้ดอก การเดินทางสมัยหลังๆ นั้นจึงกลายเป็นของสะดวกง่ายดาย พระธุดงคกัมมัฏฐานสมัยหลังจึงอาศัยความเจริญก้าวหน้าของการคมนาคม เดินทางไปมาอย่างสะดวกสบาย

หลวงปู่เคยเทศนาไว้ในภายหลัง วิจารณ์กัมมัฏฐานสมัยใหม่ไว้ว่า

“ทกวันนี้ กัมมัฏฐานขุนนาง ! เป็นยังไงขุนนาง ? หรูหรามากเหลือเกิน ขุนนางหมายความว่ายังไง เดินธุดงค์ขึ้นรถแล้ว นั่น....เดินธุดงค์ขึ้นเรือบินแล้ว...นั่น....แต่ก่อนน่ะ ไม่ได้ทีเดียว...แบกกลดขึ้นภูเขา ลงภูเขา แหมเหนื่อยยากเหลือเกินนะ แต่ก่อนนะ อาหารการกินก็ไม่บริบูรณ์เหมือนทุกวันนี้นะ กินพริกกินเกลือไป แล้วมื้อแล้ววันไป หิวมาก...หิวมากเทียวเวลาเย็นนะ...นั่น”

“เดี๋ยวนี้อะไร ป้อนอาหารใหญ่โต หรูหรามาก เลี้ยงกิเลสนะ มันจะมีความรู้ความฉลาดอะไรได้นะ แล้วขึ้นเรือบินด้วย แล้วขึ้นรถขึ้นราด้วย...!”

“กัมมัฏฐานขุนนาง ทุกวันนี้น่ะ “ลาภเกิดก่อนธรรม” ลาภมันเกิดก่อนนะ เมื่อเกิดก่อนซะแล้ว มันยกจิตไม่ขึ้นทีเดียว ลาภมันเกิดขึ้นก่อนมัน ถ่วงหัวทุบหาง มันยกจิตไม่ขึ้น มันติดลาภติดยศอยู่”

นับเป็นภัยอย่างยิ่งต่อผู้ที่ยังไม่ถึงมรรคถึงผล เพราะลาภสักการะย่อมฆ่าบรรพชิต หัวก็ถูกถ่วง หางก็ถูกทุบ...ก็ได้แต่แบนเละตาย...มีแต่ตายลูกเดียวเท่านั้น

ท่านเล่าถึงสภาพป่าเขาแถบจังหวัดอุดร ต่อเนื่องไปจังหวัดเลย ในสมัยที่ท่านยังเดินธุดงค์ไปมาอย่างโชกโชน อย่างละเอียด แม้ขณะในปี ๒๕๐๑-๐๒-๐๓-๐๔ ก็ยังคงสภาพป่าอยู่ เดินไปนานๆ จึงจะพบบ้านผู้บ้านคนสักครั้ง ล้วนขุดดินทำไร่กันตัวเป็นเกลียว สัตว์ป่าก็ยังมากมาย บางแห่งชาวบ้านเห็นหน้าพระก็ปรับทุกข์ กลางวันแท้ๆ ไปเกี่ยวหญ้ากันห้าหกคน อยู่ใกล้ๆ กันด้วย แต่ต่างคนต่างก็หมกมุ่นอยู่กับงานเฉพาะหน้า ได้ยินเสียงเพื่อนร้องคำเดียว เหลียวไป เสือมันตะปบไปแล้ว มันคาบร่างตีใส่ดินตูมเดียว เพื่อนก็เงียบเสียง ทุกคนเห็นอยู่กับตา ตะลึงงันกันไปหมด ไม่ทราบจะทำอย่างไร เพื่อนเงียบเสียง ตัวอ่อนนิ่งไปแล้ว จ้าวป่ามันยังชำเลืองดู แล้วก็เยื้องย่างเดินฉากไป โดยมีร่างเลือดโทรมของเพื่อนติดอยู่ในปาก

น่าสยดสยอง น่าสลดสังเวชอย่างยิ่ง สัตว์เล็กย่อมพ่ายสัตว์ใหญ่ สัตว์อ่อนแอยอมแพ้แก่สัตว์แข็งแรง ชีวิตช่างไม่มีคุณค่า หาที่พึ่งมิได้เลย พึ่งได้แต่พระธรรมอย่างเดียว ท่านจึงได้แต่เทศน์ปลอบใจเขา อบรมสั่งสอนให้เขาพากันยึดถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะที่พึ่ง รู้จักรักษาศีล ศีลเป็นธรรมเครื่องค้ำจุนโลก โดยเฉพาะการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ชีวิตย่อมเป็นที่รักที่หวังของทุกคน ไม่มีใครอยากเจ็บอยากตาย สัตว์ก็เช่นกันเขาก็มีชีวิตเหมือนกับเรามนุษย์ เวลานี้เขามาเกิดเป็นสัตว์ตามกรรมที่กระทำมา ต่างมีความคิด ความนึก เจ็บร้อน อ่อน หิว กลัวตายเช่นมนุษย์เหมือนกัน เพียงแต่พูดออกมาเป็นภาษามนุษย์ไม่ได้เท่านั้น การมาอยู่ในป่าเปลี่ยวท่ามกลางสัตว์ร้ายเช่นนั้นยิ่งต้องพยายามรักษาศีลข้อไม่ฆ่าสัตว์นี้ให้มาก ให้ยิ่ง ให้มีใจเมตตากรุณาต่อสัตว์ ผลของความเมตตาต่อสัตว์นั้น จะเป็นเครื่องคุ้มครองตนเองและครอบครัวให้แคล้วคลาดจากภยันตรายจากสัตว์เช่นกัน

เมื่อเราเมตตาเขา เขา...พวกเขา...ย่อมเมตตาเรา เสือและเพื่อนผู้นั้นคงเป็นคู่กรรมเวรกันมา ทำไมอยู่กันหลายคน มันจึงเจาะจงคาบเอาไปแต่คนนั้นคนเดียว ขอให้ปลงใจเสียเถิด ปัจจุบันก็ให้ทำแต่กรรมดี อย่าก่อเวรต่อไป

ท่านเล่าว่า ขณะที่สั่งสอนเขานั้น ภาพเหตุการณ์เมื่อท่านเองได้ผจญกับเสือที่ถ้ำโพนงามก็กลับมาเป็นภาพอนุสรณ์ให้ได้รำลึกถึงอีก ทำให้สงสารพวกชาวบ้านเหล่านั้น ยิ่งนัก

หลวงปู่ธุดงค์ตัดมุ่งตรงไปทางริมแม่น้ำโขง ท่านเคยอยู่เชียงคานในสมัยยังหนุ่มก่อนบวชหลายปี จึงกลับไปเยี่ยมผู้คนทางนั้นด้วย และเลยข้ามฝั่ง ไปฝั่งลาวไปเมืองแก่นท้าว

กลางเดือนมีนาคม ๒๕๐๓ ท่านบันทึกไว้ว่า

“อยู่ปากเหือง ข้างแรม ๓ ค่ำเดือน ๔ พ.ศ. ๐๓ (วันอังคารที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๓-ผู้เขียน) เทวดานิมิตนิมนต์ไปแผ่เมตตาจนนกเขาขันกลางคืน ภาวนาดี แจบจม แม่ครูอ้วนอุปัฎฐาก น้ำโขงไม่เป็นสัปปายะ”

ที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ท่านไปภาวนาที่ถ้ำผาพร้าว ซึ่งท่านว่า ภาวนาดีมาก อีกหลายปีต่อมา ท่านบันทึกเกี่ยวกับการอยู่ถ้ำผาพร้าวในปี ๒๕๐๓ ไว้อีกว่า

“ถ้ำผาพร้าว ฝั่งซ้าย เกือบเสีย บุญวาสนาแก้ทัน เพราะอยู่คนเดียวเสียด้วย” ท่านรำพึงต่อไปว่า “นี้พระเถระผู้ใหญ่ยังมีนิมิตหลอกได้”

ดังได้เคยกล่าวมาแล้วว่า คำว่า “เกือบเสีย” ของหลวงปู่นั้นมีความหมายเฉพาะองค์ท่าน ใครมาเห็นบันทึกของท่านกล่าวถึงสถานที่บำเพ็ญความเพียรที่ใดว่าเป็นที่ “เกือบเสีย” หรือ “เป็นบ้า” แล้วเข้าใจตามภาษาของเราเองก็จะผิดถนัด

“เกือบเสีย” หรือ “เป็นบ้า” ของท่าน คือ การภาวนาจนจิตลงถึงอัปปนาสมาธิ เมื่อถอนออกมาเกิดมีนิมิตรู้เห็นเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นวิสัยของท่านผู้เคยมี นิสัยวาสนาทางอภิญญามาก่อน.มิได้พยายามปล่อยวางนิมิต คงเพลิดเพลินไปตามนิมิตและความรู้เห็นนั้น

ถ้าปล่อยไป ก็จะ “เสีย” หรือ “เป็นบ้า” ไปเลย

จึงต้องมีการ “แก้บ้า” หรือ แก้ไม่ให้เสีย โดยใช้ไตรลักษณ์เข้าพิจารณาให้เห็นเป็น ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา ตามสำนวนของท่านว่า “ล้างเช็ด” หรือ “ฟอก” จิตให้บริสุทธิ์

การภาวนาที่ “เกือบเสีย” หรือ “แก้บ้า” ได้แล้ว หมายความว่า จิตจะเด่นดวง เป็นจิตที่มีปาฏิหาริย์แกล้วกล้ามาก

ยกตัวอย่าง ที่ท่านเคยวิจารณ์การภาวนาที่ถ้ำโพนงามไว้ว่า “ถ้ำโพนงาม พ.ศ. ๗๗ เกือบเสียเหมือนกัน ระยะผลร้ายที่สุด เกือบสึก เกือบบ้า เกือบเสียชีวิต”

และในขณะเดียวกัน ท่านก็กล่าวไว้อีกเช่นกันถึงการเจริญภาวนา ณ ที่ถ้ำโพนงาม นั้นในช่วงระยะเวลาเดียวกันว่า “ความเพียรอยู่ถ้ำโพนงามนั้นเด่นมาก เอาลัทธิท่านอาจารย์สิงห์และท่านมหาปิ่น (ท่านเพิ่งกลับมาจากการไปจำพรรษาอยู่กับท่านอาจารย์สิงห์ ณ ที่วัดป่าบ้านเหล่างา ปี ๒๔๗๔ และกับท่านอาจารย์พระมหาปิ่น ณ วัดป่าศรัทธารวม ปี ๒๔๗๕-ผู้เขียน) หากเราได้ฟังเทศน์ท่านอาจารย์มั่น เราอาจได้สำเร็จอรหันต์”

“เกือบเสีย” ของท่าน...! ยังเด่นดวง จนท่านอุทานว่า หากได้ฟังเทศนาท่านอาจารย์ ท่านอาจได้สำเร็จอรหันต์...!

ท่านเคยเล่าให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังว่า ทางฝั่งประเทศลาวยังมีป่าดงพงไพร เหมาะเป็นที่วิเวกเจริญสมณธรรมอีกมาก เพราะบ้านเมืองยังไม่ถูกความเจริญเข้ารุกไล่อย่างรวดเร็วเช่นทางประเทศไทย ที่สงบสงัด เถื่อนถ้ำ เงื้อมเขาสูง ยังโดดเดี่ยวปกคลุมด้วยไพรพฤกษาเขียวครึ้ม และสมัยนั้นการเดินทางข้ามไปมาระหว่างไทยและลาวก็ง่ายดาย ไม่มีพิธีการเข้มงวดกวดขันดังในสมัยที่ลาวเปลี่ยนการปกครองมาเป็นสาธารณรัฐแล้ว พระธุดงคกัมมัฏฐานที่เคยไปแสวงหาความสงบวิเวกยังถิ่นโน้นจึงต้องลดละไป เป็นที่น่าเสียดายมาก

ระหว่างอยู่ทางฝั่งลาว ก็พักตามเถียงนาบ้าง วัดร้างบ้าง บางทีก็มีผู้นิมนต์ให้ไปโปรดตามบ้านช่องห้องหอของศรัทธาญาติโยม ซึ่งมักจะเคยคุ้นต่อการข้ามมากราบครูบาอาจารย์พระกัมมัฏฐานสายนี้อยู่แล้ว การเดินทางไปเที่ยวกัมมัฏฐานของหลวงปู่นี้ เท่าที่เรียนถามพระเณรที่เคยได้มีโอกาสไปกับท่าน เล่าว่า ท่านมักจะไปผู้เดียวตลอด มาจนระยะหลัง พ.ศ. ๒๕๐๐ ล่วงแล้วนั้นท่านจึงมีเณรติดตามบ้างเป็นบางครั้ง

ที่ใดท่านได้อยู่องค์เดียว ท่านก็อยู่นานหน่อย ถ้ามีหมู่พวกอยู่ด้วยท่านก็จะไม่อยู่นาน ท่านมักเคลื่อนที่ทุกสามวันห้าวัน หากการภาวนาดีก็จะอยู่ถึงเจ็ดวันแปดวัน หมู่พวกมาอยู่ด้วย ท่านก็ปล่อยให้หมู่พวกอยู่ แล้วท่านจะหลีกหนีไปเอง

พอถึงต้นเดือนพฤษภาคม ท่านก็กลับมาจากแถบริมฝั่งแม่น้ำโขง มาในเขตอำเภอภูกระดึง มุ่งมาถ้ำมโหฬาร

“ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ พ.ศ. ๐๓ (ตรงกับวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๓-ผู้เขียน) กลับมาอยู่ถ้ำมโหฬาร วิเวกดี นำมาซึ่งความสุขใหญ่ มีโอกาสภาวนาชำระจิตอย่างเดียวดีกว่าถ้ำผาปู่ ถ้ำผาพร้าว ไม่ขัดข้องด้วยสิ่งอันใด แต่อาพาธบางประการ เบื่อผักหวาน หมู่เพื่อนช่วยเหลือทุกอย่าง”

ได้ความว่า ระยะนั้นเณรเก็บผักหวานมาต้มถวายทุกวันๆ และโปรดอย่าลืมว่า ระยะนั้นท่านทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ อาหารนั้นก็มักจะเป็นปลาร้าละลายน้ำต้มกับผักใบไม้ที่พอหาได้ใกล้ถ้ำ

“แรม ๒ ค่ำ เดือน ๖ พ.ศ. ๐๓ (วันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๓-ผู้เขียน) ภาวนาและตายลงไป เชื่อนิมิตอิงอริยสัจ ๔ บังคับจิตอยู่เสมอ ตั้งสติให้ระวังอยู่อาการนั้น เพื่อความชำนิชำนาญของสติ เมื่อรู้เท่าอันนี้แล้วเป็นแก่นสารของจิตแก่นสารของอริยสัจ จิตจะปกติ ตั้งเที่ยงอยู่ในโลกุตระ บรรดานิมิตเข้าหลอกไม่ได้ สติกับหลักอริยสัจอิงกันอยู่โดยดี”

ในปี ๒๕๐๓ นี้ ท่านก็ตกลงจำพรรษา ณ ถ้ำมโหฬาร ส่วนปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ท่านจำพรรษา ณ ถ้ำแก้งยาว ซึ่งอยู่ ณ บ้านโคกแฝก ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย


(มีต่อ ๑๗)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 18 ม.ค. 2007, 9:15 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ พรรษาที่ ๓๗ พ.ศ. ๒๕๐๔ พบงูใหญ่มาอยู่ใต้แคร่
จำพรรษา ณ ถ้ำแก้งยาว บ้านโคกแฝก ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย


พ.ศ. ๒๕๐๔ หลวงปู่จำพรรษา ณ ถ้ำแก้งยาว บ้านโคกแฝก ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง เป็นการกลับมาจำพรรษาที่จังหวัดเลยเป็นปีที่สอง

ในปีนี้ท่านได้มีโอกาสเข้าไปในกรุงเทพฯ ซึ่งคงจะเป็นครั้งแรกของท่านในชีวิตสมณเพศ ท่านเล่าว่า เคยเข้ามาครั้งหนึ่ง มากับพวกบาทหลวงสมัยยังเป็นคริสต์ เป็นเด็กหนุ่ม เขาพาไปที่โบสถ์สามเสน ได้ไปสวดมนต์แล้วก็ถูกพากลับ ไม่ทันเห็นหนอะไร คำนวณจากประวัติ ขณะเมื่อท่านยังเป็นคริสต์ คงอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี คงจะเป็นราว พ.ศ. ๒๔๖๓ หรือก่อนนั้น มากรุงเทพฯ ครั้งนี้...คงจะมีผู้นำท่านไปชมเมือง ท่านบันทึกสรุปถึงสถานที่ซึ่งได้ไป โดยย่อดังนี้

“พ.ศ. ๐๔ วัดพระแก้ว โรงพยาบาลสงฆ์ วัดนรนาถ วัดมหานิกายพระพุทธูรูปทองคำ (วัดไตรมิตรวิทยาราม-ผู้เขียน) วัดมงคล สะพานพระพุทธยอดฟ้า พระเจ้าตากสินทรงม้า บางแค ผ่านโรงทหาร กระทรวงกลาโหม สถานที่เลี้ยงสัตว์แต่เข้าไม่ถึง วัดสัมพันธวงศ์ ภูเขาทองในพระนคร น้ำพุ วัดอโศการาม สมุทรปราการ นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เขาวัง พระพุทธรูปใหญ่นอนวัดสนามพราหมณ์ สถานที่พิพิธภัณฑ์ ไปกรุงเทพฯ ๑ คืน ๕-๖ เขาพระงาม ลพบุรี ถ้ำสิงห์โต โคราช เขาวงพระจันทร์”

ภูมิสถานของถ้ำแก้งยาวที่หลวงปู่ไปจำพรรษานั้นอยู่สูงขึ้นไปบนภูเขาในบริเวณเขตวัดป่าถ้ำแก้งยาว ซึ่งในสมุดบันทึกได้มีลายมือของท่านพรรณนากล่าวขวัญถึงวัดป่าถ้ำแก้งยาว ดังนี้

“วัดป่าถ้ำแก้งยาว มีภูเขาลูกหนึ่งต่างหาก มีถ้ำเล็กติดต่อกับชายทุ่งนา ประกอบด้วยอากาศที่พัดเข้ามาในวัดได้สะดวก บริบูรณ์ด้วยน้ำอุปโภค บริโภค มีทั้งฤดูแล้ง ฤดูฝน ฤดูหนาว มีลำคลองรอบวัด มีไม้ไผ่ตามลำคลองเขียวชอุ่ม เยือกเย็นดี ไม่พลุกพล่านแก่คนสัญจรไปมา ถ้ำแก้งยาวนี้มหาชนนิยมถือกันมาแต่โบราณาจารย์ ถึงฤดูปีเทศกาลปีใหม่ คณะญาติโยมพากันไปนมัสการขอพระ ขอฟ้าขอฝน และบวงสรวงเพื่ออายุ วรรณะ สุขะ พละ สำหรับปีใหม่ด้วย วัดถ้ำแก้งยาวเป็นวัดที่สวยงาม เป็นวัดที่มั่นคง เป็นวัดที่ถาวร วัดที่นับถือกันมาตั้งแต่โบราณาจารย์ เป็นที่มหาชนนิยมกันมาก เป็นวัดที่วิเวกของพระโยคาวจรเจ้าทั้งหลายมาพักเจริญสมณธรรม”

“ฉะนั้น ควรที่คณะอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย พึงสนใจ พึงตริตรอง พึงพิจารณา ช่วยกันทะนุบำรุงการก่อสร้าง เป็นอนุสาวรีย์ เพื่อยุวชนกุลบุตรชั้นลูกๆ หลานๆ เหลนๆ ของพวกเราสืบอายุพุทธศาสนา รับรัชทายาทสืบมรดกมาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกันทั้งนั้น”

พรรณนาโวหารของหลวงปู่ ทำให้พวกเราออกนึกอายใจ และยิ่งคิดว่าท่านมีพื้นความรู้เพียงแค่ชั้นประถมปีที่ ๓ ในปี ๒๕๐๔ นี้ ท่านเพิ่งจะได้เขามากรุงเทพฯ เพียงครั้งแรก (โดยไม่นับครั้งที่ท่านมาสมัยเป็นเด็กหนุ่มชาวคริสต์ !) ก็ควรนับเป็นโวหารอันทันสมัยยิ่ง

เผอิญได้พบที่ท่านบันทึกไว้อีกตอนหนึ่ง เป็นการพรรณนาพระคุณของหลวงปู่คำดี ปภาโส (พระครูญาณทัสสี) และเรื่องของถ้ำผาปู่ จึงใคร่ขออัญเชิญนำมาลงด้วย เป็นคู่เคียงกัน แสดงถ้อยคำสำนวนที่ท่านเขียนไว้ใน พ.ศ. ๒๕๐๔ เช่นเดียวกัน

“พระครูคำดี ญาณทัสสี พ.ศ. ๐๔”

“ขอท่านศาสนิกชนทั้งหลายกรุณาทราบไว้ว่า ท่านพระครูญาณทัสสี (คำดี) เป็นพระเถระผู้ใหญ่ทางฝ่ายวิปัสสนาธุระ มีพรรษาไล่เลี่ยกับอาตมากับท่านอาจารย์ชอบ นับตั้งแต่ญัตติธรรมยุตมา ได้เคยไปฝึกปรือวิปัสสนาธุระกับท่านอาจารย์สิงห์ ท่านอาจารย์มหาปิ่น ที่จังหวัดขอนแก่น ด้วยกันกับอาตมา ท่านอาจารย์ชอบฉายความรู้มาจากอาจารย์เดียวกัน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓–๒๔๗๔-๒๔๗๕ นั้นๆ

“นิสัยท่านพระครูญาณชอบอยู่ในที่วิเวก ชอบเจริญสมณธรรมในถ้ำภูเขา ชอบปกครองพุทธบริษัท เพื่อนสหธรรมิก พระภิกษุสามเณร ตลอดแม่ขาวนางชีและคณะอุบาสกอุบาสิกา ฉะนั้นท่านจึงมีลูกศิษย์ลูกหานั้นมาก นิสัยสุขุม ฉะนั้นบริษัทจึงชอบนัก แม้ท่านพระครูญาณทัสสีท่านเคลื่อนไปสู่จังหวัดไหน อำเภอไหนตำบลไหน ท่านทำอัตถประโยชน์มาก เห็นได้ว่าท่านพระครูญาณทัสสีอยู่จังหวัดขอนแก่น วัดวา ฝีไม้ลายมือของท่านก่อสร้างมีจำนวนมาก บรรดาข้าราชการพ่อค้าพาณิชย์ ตลอดชาวไร่ชาวนานิยมท่านมาก เพราะฉะนั้นการก่อสร้างของท่านจึงสำเร็จเพราะกำลังกาย กำลังวาจา กำลังทรัพย์เพียงพอทุกอย่าง ไม่บกพร่อง แม้ท่านพระครูญาณทัสสีจะดำเนินงานการใหญ่ๆ สำเร็จได้เป็นอย่างดี ดูได้ที่จังหวัดขอนแก่นมีวัดป่าคำมะยาง ๑ วัด วัดศรีภาพ ๑ วัด เป็นวัดที่ทุ่มเทเงินทองก่อสร้าง มีจำนวนมากๆ สำเร็จได้เป็นอย่างดี”

“อนึ่ง ท่านได้เคลื่อนพาลูกศิษย์ลูกหามาอยู่ถ้ำผาปู่ ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย ของพวกเรา ดูได้ที่การก่อสร้าง ถ้ำผาปู่ ๑ วัด วัดหนองหมากผาง ๑ วัด เป็นวัดที่กว้างขวางใหญ่โต ท่านพระครูญาณทัสสีเพิ่งมาอยู่ไม่นานเท่าไรปี เวลานี้วัดถ้ำผาปู่ วัดหนองผาง กำลังก้าวหน้าเรื่อยๆ มีคณะอุบาสกอุบาสิกาต่างจังหวัดมาเยี่ยมท่านเรื่อยๆ และมีพระภิกษุสามเณรมาจากต่างจังหวัดอื่นๆ มาเยี่ยม ศึกษาธรรมวินัยด้วยท่านเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น สังฆรัตนะจึงตกเข้ามาในท้องที่จังหวัดเลยมาก มีวัดป่าหนองหมากผางและถ้ำผาปู่เป็นอาทิ”

“ท่านพระครูญาณทัสสีเป็นเจ้าอาวาสวัดถ้ำผาปู่ก็จริง ปีไหนมีโอกาสดีๆ ท่านก็ไปอำเภอเชียงคานบ้าง ไปอำเภอวังสะพุงบ้าง แผ่อริยธรรม ให้โอวาทแก่พระภิกษุสามเณร ตลอดคณะอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ส่วน อ.ท่าลี่ อ.ด่านซ้ายนั้น ท่านไม่มีโอกาสไป ด้วยหนทางไกล ไม่สะดวกในการเดินทาง ก็มีอันเตวาสิกสานุศิษย์ของท่านไปเที่ยววิเวกเพื่อทำอัตถประโยชน์ ปรมัตถประโยชน์ ต่อคณะอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายในถิ่นตำบลอำเภอนั้นด้วย ได้รับความอบรมศึกษาธรรมวินัยเป็นอย่างดี ฉะนั้นก็แลเห็นได้ว่า ท่านพระครูญาณทัสสีทำอัตถประโยชน์ ปรมัตถประโยชน์ให้จังหวัดเลยเป็นอันมาก ดุจท่านอยู่จังหวัดขอนแก่นบ้านเกิดเมืองนอนของท่าน”

ภูเขาที่ถ้ำแก้งยาวนั้นแม้จะไม่สูงเท่าไร และอยู่ใกล้ทุ่งนา แต่ก็มีความสงบสงัดดี หลวงปู่สรรเสริญถึงคุณของถ้ำแก้งยาวมาก ท่านว่าเทพมาก มีพระปัจเจกพุทธเจ้าเสด็จมาอนุโมทนาการทำความเพียรของท่านด้วย

ลักษณะถ้ำไม่ใหญ่ ทำแคร่เล็กๆ พอนั่งภาวนา กางมุ้งกลดได้ วันดีคืนดีก็เห็นงูตัวใหญ่มาขดอยู่ใต้แคร่ภาวนา ท่านว่า ไม่เห็นตอนที่เขาเลื้อยเข้ามา เพราะถ้าเห็นก็คงจะตกใจบ้าง ออกไปเดินเล่นข้างนอก ชมป่าชมดง เป็นการเปลี่ยนอิริยาบถ และความจริงเป็นนิสัยของท่าน ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ว่าท่านมักจะชอบเปลี่ยนที่ภาวนาเดินไป เห็นหินก้อนนั้นเหมาะ ใต้ต้นไม้ใหญ่นี่ท่าจะดี ท่านก็เพียงแวะลงนั่ง ใช้ผ้าอาบปัดๆ ให้หินก้อนนั้น พื้นตอนนั้นสะอาด เรียบบ้าง ก็จึงนั่งทำความเพียรได้แล้วหรือเข้าป่า เห็นต้นไม้หักโค่น ต้นยาวใหญ่ ทอดอยู่เหนือพื้นดิน ก็อาศัยขอนไม้นั้นเป็นทางจงกรม ให้มีสติระวังตัวตลอดเวลา มิฉะนั้นก็คงจะต้องตกลงมาจากขอนไม้นั้นได้

กลับมาถ้ำ จึงมองเห็นงูใหญ่ตัวนั้น เขาขดตัวนอนเฉยอยู่ใต้แคร่ มิได้ชูคอร่าขึ้นในท่าฉก หากเอาหัวซุกลงไปในวงขนดหาง ท่านพยายามคิดว่า ได้มาตั้งแคร่กีดขวางรูถ้ำซึ่งเป็นทางเข้าออกของเขาหรือไม่ มองดูก็เห็นว่า ตรงที่ท่านตั้งแคร่นั้นผนังถ้ำเรียบราบอยู่ มีทางคิดได้อยู่อย่างเดียว คือ งูเห็นว่า ใต้แคร่เป็นที่สงบเย็นดีก็เลยมานอนพักผ่อนเล่นเท่านั้น ท่านจึงออกไป ทำกิจส่วนองค์ เดินจงกรมพักใหญ่จึงกลับเข้ามาในตอนเย็น คิดว่าอาคันตุกะผู้ไม่ได้รับเชิญคงจะจากไปเรียบร้อยแล้ว

ผิดคาด เจ้างูใหญ่ตัวนั้นก็ยังคงยึดที่สบายตามเดิม ท่านชักรู้สึกคุ้น จึงเขยิบเข้าไปดูใกล้ๆ เห็นนัยน์ตามันมองท่านจ้องนิ่งอยู่แล้ว นัยน์ตาทั้งสองคู่ประสานกัน คู่หนึ่ง มองอย่างสงสัย ดูท่าที อีกคู่หนึ่ง เต็มไปด้วยความการุญ แผ่กระแสแห่งเมตตาธรรมตรงเข้าไปให้แก่ฝ่ายหนึ่งอย่างเต็มเปี่ยม

ท่านว่า เขาขดอยู่ใต้แคร่นั้น สามวัน สามคืน ไม่ไปไหนเลย ไม่เห็นออกไปหาอาหาร หรือไปเที่ยวที่ไหน ทำตัวราวกับเป็นทหารองครักษ์มาทำหน้าที่พิทักษ์ให้ความปลอดภัยพระราชาเช่นนั้น ท่านก็เลยกางมุ้งกลดบนแคร่ตามปกติ ตนเช้า ตี ๓ ลุกขึ้นข้างหน้า สวดมนต์ ภาวนาแผ่เมตตาไปโดยไม่มีประมาณ โดยเฉพาะเจ้าตัวใต้แคร่นั้นอยู่ใกล้ที่สุด ก็คงจะได้รับกระแสเมตตาธรรมของท่านมากที่สุดเช่นกัน

ท่านเคยผ่านการถูกพญานาครัดมาแล้ว ที่ภูบักบิด ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ฉะนั้น การที่เพียงเห็นงูใหญ่มาอยู่ใต้แคร่จึงดูเป็นของเล็กน้อยเทียบกันไม่ได้ ประกอบทั้งเขาก็มิได้แสดงเป็นศัตรูคู่อาฆาตแต่ประการใด ท่าทางดูสนิทสนมคุ้นเคยเป็นมิตร แถมยังดูน่าสงสารด้วยซ้ำ ที่ชาตินี้เขาต้องมาถือกำเนิดในชาติอันต่ำต้อยเป็นสัตว์เดรัจฉาน ท่านทำกิจวัตรประจำวันต่อไปโดยปกติ คิดว่า ต่างคนต่างอยู่ ต่างใช้ชีวิตตามเพศตามชาติของตน ไม่ขัดเคือง ขัดขวางกัน มีแต่เมตตาต่อกัน

เวลาผ่านไป สามวัน สามคืน งูนั้นจึงจากไป เวลาออกไป ท่านไม่เห็น เห็นแต่ทางราบเป็นทางยาวลงไปจากถ้ำ ลงไปถึงชายทุ่ง ขณะนั้นนาข้าวกำลังขึ้นเขียวขจีท่านว่า เวลาเห็นเขาขดตัวอยู่ใต้แคร่ มองไม่รู้สึกว่าตัวใหญ่มากเท่าไร แต่เมื่อเห็นนาข้าวที่ราบเป็นทางยาวนั้น คะเนว่า ตัวงูคงมหึมาน่ากลัว เพราะข้าวที่เขาปักดำห่างกันเป็นแถวเป็นกอนั้น ถูกงูทับเป็นทางราบถึง ๓ แถว หรือ ๓ กอ มองเห็นทางที่ราบโล่งเป็นช่องแนวไปในทุ่งนานั้นลิบลิ่วไปไกลสุดสายตาทีเดียว

ฟังท่านเล่า แล้วก็อดกราบเรียนถามไม่ได้ว่า ชะรอยคงจะเป็นพญานาคมากกว่า แต่การมาขดอยู่ใต้แคร่นั้น คงจะต้องเนรมิตกายให้เป็นงูธรรมดา เพื่อมิให้ผู้พบเห็นหวาดกลัว เพราะความจริงท่านมีเณรไปอุปัฏฐากด้วย หากเห็นร่างแท้จริงของนาค เณรจะตกอกตกใจได้ ครั้นเมื่อเขาจะลาจากไป ก็ฝากรอยจริงๆ ไว้ไห้เห็นในทุ่งนา ท่านไม่ตอบคำถามนี้โดยตรง แต่เล่าไปว่า เวลาพญานาคออกมา จะมีเสียงร้องดัง อี้...อึ่ด...อึ่ดๆ ยาวๆ

ได้ยินกันทั่วไหม

ท่านตอบว่า ได้ยินกันหลายคน แต่บางคนที่ได้ยิน อาจจะไม่ทราบว่าเป็นเสียงพญานาคก็ได้


(มีต่อ ๑๘)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง