Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ร้อยปีแห่งพุทธทาสภิกฺขุ (เสฐียรพงษ์ วรรณปก) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 03 ส.ค. 2006, 3:04 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ร้อยปีแห่งพุทธทาสภิกฺขุ
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก


ความจริงท่านพุทธทาสภิกฺขุ เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่มีพระราชทินนามล่าสุดที่ พระธรรมโกศาจารย์

แต่เนื่องจากท่านไม่นิยมใช้สมณศักดิ์ ใช้แต่นามสมมุติ (ความจริงนามอื่นก็สมมุติเหมือนกัน) ว่าพุทธทาสภิกขุและอีกนามคือ "สิริวยาส" (ส่วนมากใช้เขียนกวีนิพนธ์)

ยุคนั้นนิยมใช้นามแฝงกันมากเมื่อเกิดพุทธทาสขึ้นที่ไชยา ก็เกิด "สังฆทาส" ขึ้นที่วัดสามพระยา โดยที่นาม "ธรรมทาส" น้องชายท่านได้ใช้มาก่อนนั้นแล้ว สหธัมมิกร่วมสมัยของท่านใช้นามว่า "ปัญญานันทภิกฺขุ" มีชื่อเสียงในด้านแสดงปาฐกถาธรรม

ใช้ภาษาง่ายๆ ทันกับเหตุการณ์ เป็นที่ยกย่องชมเชยกันทั่วไป จากนั้น ก็เกิดสกุล "นันทะ" ตามมาอีกหลายนาม เช่น ธัมมานันทะ อมตานันทะ วิเวกนันทะ

เฉพาะท่านปัญญานันทะ ได้สร้างประวัติศาสตร์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาสมัยนั้น ควรจดจำก็คือท่านไปยืนปาฐกถาที่วัดร้างแห่งหนึ่งที่เชียงใหม่ แรกๆ ก็มีคนสี่ห้าหกคนมาฟัง จากนั้นเสียงลือว่าพระรูปหนึ่งเทศน์สนุกมาก คนจึงแห่กันมาฟังแน่นวัด ว่ากันว่าโรงหนังที่เชียงใหม่แทบจะปิดวิกทีเดียว ขนาดนั้น

ปีนี้จะครบหนึ่งร้อยปีแห่งชาตกาลของท่านพุทธทาส ข่าวว่าจะมีการพิมพ์ผลงานท่าเผยแพร่ มีนิทรรศการ มีอภิปรายถึงผลงานและอิทธิพลทางความคิด ที่ท่านพุทธทาสมีต่อคนรุ่นหลัง คงจะมีหลายหน่วยงานจัดงานเพื่อตอบแทนคุณูปการของหลวงพ่อพุทธทาส คอยติดตามเอาก็แล้วกัน

จากครอบครัวคหบดีที่ทำการค้าขายสมนามสกุล "พานิช" หนุ่มเงื่อม พานิช ได้รับการปลูกฝังทางธรรมจากมารดาผู้เคร่งศีลบำเพ็ญธรรม และคงจะเพราะวาสนาบารมี ที่ได้สั่งสมอบรมมาก่อนก็เป็นไปได้ ท่านได้สนใจในพระพุทธศาสนา จนกระทั่งตัดสินใจออกบวชศึกษาธรรม จบนักธรรมเอก เปรียญ 3 ประโยค จากวัดปทุมคงคา พระนคร

เมือมีความรู้ทางปริยัติธรรมพอเป็นฐานแห่งการปฏิบัติแล้ว พระมหาเงื่อม อินฺทปญฺโญ ก็เดินทางกลับไปไชยา แสวงหาสถานที่เหมาะอันเป็น "สัปปายะ" (เหมาะแก่การฝึกฝนอบรมจิต) ก็พบวัดร้างแห่งหนึ่งมีต้นไม้ขึ้นรก โดยเฉพาะต้นโมกและต้นพลา สงบสงัดเหมาะแก่งานทางจิตยิ่งนัก จึงขนานนามป่าแห่งนี้ว่า "โมกขพลาราม" แปลว่าสถานอันรื่นรมย์อันเป็นพลังแห่งการหลุดพ้น

ท่ากลางป่าเขาอันวิเวก พระมหาเงื่อม อินฺทปญฺโญ มีบริขารติดตัวเพียงบาตรใบหนึ่ง ผ้าสามผืนปิดประตูกุฏิค้นคว้าพระไตรปิฎกจนแตกฉาน ในขณะเดียวกัน ก็ปฏิบัติสมาธิวิปัสสนาขัดเกลาจิตตนเองอย่างขะมักเขม้น นำเอาทั้งปริยัติและปฏิบัติมาประสาน ปริยัติ เป็นพื้นฐานของปฏิบัติ และชี้แนวว่าควรทำอย่างไรทำแล้วได้ผลอะไร ปฏิบัติ เป็นเครื่องตรวจสอบ และยืนยันปริยัติว่าควรทำอย่างนั้นๆ เมื่อทำแล้วได้ผลจริงตามนั้นหรือไม่

เล่าขานกันว่า ท่านได้ทดลองปฏิบัติแบบต่างๆ ที่คิดว่าจะนำไปสู่การรู้เห็นอย่างแท้จริง วัตรปฏิบัติหลายอย่างที่ทดลองแล้วทิ้งไปด้วยตระหนักภายหลังว่ามิใช่แนวทางที่ถูกต้อง

ยังชีพด้วยอาหารบิณฑบาตตามมีตามได้ ท่านเล่าว่าเวลาเดินไปบิณฑบาต เด็กๆ ร้องบอกกันว่า "พระบ้ามาแล้ว" การอยู่ในป่ารูปเดียว ไม่สุงสิงกับใคร ตามวัตรปฏิบัติตามวิถีแห่งพระพุทธองค์ คนเขาถือกันว่าบ้าเสียแล้วหรือ แล้วพระที่ไม่บ้าเป็นอย่างไร

การฝึกปฏิบัติเข้ม พร้อมทั้งบันทึกการวิพากษ์วิจารณ์ตนเองอย่างตรงไปตรงมา ได้ถูกค้นพบโดยสานุศิษย์และนำมาพิมพ์เผยแพร่ในเวลาต่อมาเป็นหลักฐานยืนยันว่า พระพุทธบุตรรูปนี้ ได้พากเพียรฝึกฝนตนเข้มงวดอย่างไรกว่าจะกลายมาเป็น

พุทธทาสภิกฺขุ ผู้เพียบพร้อมด้วยความรู้อันลึกล้ำในพระพุทธศาสนา และวัตรปฏิบัติงดงามบริสุทธิ์เป็นที่เคารพนับถือของชาวพุทธทั้งหลาย

ผู้ฝึกตนได้แล้วเป็นผู้ประเสริฐในหมู่มนุษย์ ผู้ฝึกฝนตนได้แม้เทวดาก็ชม

พรหมก็สรรเสริญ ผู้ฝึกตนแล้วย่อมไม่ละเลยการฝึกฝนคนอื่น

พุทธทาสภิกฺขุ ได้ยกระดับจิตใจของตนแล้ว หันมามองสังคมรอบตัวท่าน เห็นมีแต่ความมืดมิดปิดบังไปทั่ว คนทั้งหลายยังหลงอยู่กับ "เปลือกกระพี้" แทนที่จะใส่ใจถึงแก่นแห่งชีวิต ท่านจึงได้อุทิศชีวิตทั้งชีวิตเพื่องานสั่งสอนธรรม ชี้ทางสว่างแก่ปวงชน

พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ ท่านทำงาน "แจกดวงตา" ให้คนนั้นเอง

ใครที่ย่างกรายเข้าไปสวนโมกข์ จะเห็นภาพ "คนแจกดวงตา" ยื่นดวงตาให้ บางคนยื่นมือมารับ หลายคนวิ่งหนี สะท้อนความจริงของสังคมว่า แม้ท่านจะทุ่มเททั้งชีวิตเผยแผ่ธรรมอันเป็นดุจดวงตา ให้มองเห็นอะไรดีอะไรชั่ว อะไรควรละ อะไรควรทำ ก็มีเพียงน้อยนิดที่ยินดีรับ ยังมีอีกจำนวนมากที่ยอมทนเป็นคนมืดบอดต่อไป

ท่านท้อใจ วางธุระหรือ? เปล่าเลย กลับทำงานหนักยิ่งขึ้น ไม่สนใจด้วยซ้ำว่าสุขภาพร่างกายจะทนต่อการตรากตรำได้หรือไม่ เพราะทั้งกายและจิตวิญญาณ ได้อุทิศแล้วเพื่อพระพุทธองค์ สมนามว่า พุทธทาส ทาสผู้รับใช้พระพุทธเจ้า

ตำรับตำรามากมายถูกผลิตออกมาจากมันสมองอันล้ำเลิศ เสนอแนะวิธีการศึกษาปฏิบัติธรรมอย่างถูกวิธี ปาฐกถาธรรมมากหลาย ให้ข้อคิดปลุกเร้าให้ความรื่นเริงอาจหาญในการสู้รบกับกิเลส ได้พรั่งพรูจากปากของศิษย์ตถาคตรูปนี้ ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ไม่ขาดสาย นับจำนวนเป็นร้อยเป็นพันเล่ม อาทิ พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ ตามรอยพระอรหันต์ ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ ชุดธรรมโฆษณ์ อานาปานสติ แก่นพุทธศาสน์ วิปัสสนาระบบลัดสั้น

ท่านเห็นว่าบรรดากิเลสทั้งหลาย ไม่มีอะไรร้ายเท่า อุปาทาน (ความยึดติด) จึงเริ่มระดมธรรมเน้นให้คนละความยึดมั่นถือมั่น หยิบพุทธวจนะจากพระไตรปิฎกมาเน้นย้ำ ว่า "สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น"

คิดคำที่กินใจ ฟังแล้วสะดุดหยุดคิด เช่น ตัวกู ของกู ทำทุกอย่างด้วยจิตว่าง ตายเสียก่อนตาย มันเป็นเช่นนั้นเอง

ล้วนแต่มุ่งเป้าไปที่การสอนให้ละการยึดมั่นถือมั่น กะเทาะเปลือกอัตตาจากใจทั้งนั้น

ท่านคิดวิธีสอนธรรมใหม่ๆ ขึ้น เพื่อให้เหมาะกับยุคสมัย เช่น การปาฐกถาธรรมแทนการเทศน์แบบโบราณ สร้างปริศนาธรรมแบบเซ็น เพื่อให้คนคิดค้นหาคำตอบ ด้วยตนเอง เสนอแนวคิดภาษาคน-ภาษาธรรม เพื่อช่วยให้เข้าใจธรรมหลายมิติ

ท่านพุทธทาสได้ตั้งปณิธานไว้ในชีวิต 3 ประการ คือ (1) ต้องการให้ทุกคนเข้าถึงธรรมะของศาสนาที่ตนนับถือ (2) ต้องการให้เข้าใจกันระหว่างศาสนา และ (3) ต้องการพรากจิตของคนให้ห่างจากวัตถุนิยม

แรงกายแรงใจแรงแห่งสติปัญญาได้ทุ่มเทลงไปตลอดชีวิต ในการทำงานเพื่อพระพุทธศาสนาและมนุษยชาติ มุ่งเป้าที่จะบรรลุปณิธานทั้งสามนั้น

เราไม่ทราบว่า จนบัดนี้ปณิธานของท่านใกล้สำเร็จสมบูรณ์หรือไม่ ขันธ์ห้าอันสมมุติว่า พุทธทาส ได้สลายไปก่อนแล้วตามธรรมชาติและธรรมดาของสังขาร สรรพสิ่งมัน "เป็นเช่นนั้นเอง"

เราหวังแต่เพียงว่า จะมีพุทธทาสที่สอง ที่สาม ที่สี่ ที่ร้อย หรือที่พันเกิดขึ้นเพื่อสืบทอดปณิธานอันสูงส่งนี้ต่อไปในอนาคต



............................................................

คัดลอกมาจาก :
หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน หน้า 6
คอลัมน์ รื่นร่มรมเยศ โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10228
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง