Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ใต้ร่มโพธิญาณ พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ค.2006, 2:11 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

19. หนองป่าพง

ยามบ่ายของวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2497 หลวงพ่อกับคณะเดินทางมาถึงดงป่าพง ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านก่อไปทางทิศตะวันตกประมาณ 3 กิโลเมตร คืนแรกคณะพระธุดงค์ได้พักที่ริมหนองน้ำชายป่า

ดงป่าพงในสมัยนั้น มีสภาพเป็นป่าทึบรกร้าง ชุกชุมด้วยไข้ป่า ในอดีตป่าพงเป็นดงใหญ่ มีแหล่งน้ำอันอุดมสมบูรณ์ เป็นที่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ชาวบ้านเรียกดงดิบนี้ว่าหนองป่าพง เพราะใจกลางป่ามีหนองน้ำใหญ่ที่มีกอพงขึ้นอยู่หนาแน่น

ต่อมาบริเวณผืนป่าส่วนใหญ่ถูกทำลายหมดไป ยังคงเหลือเพียงส่วนที่เป็นบริเวณวัดในปัจจุบันเท่านั้น สาเหตุที่ป่าส่วนนี้ไม่ถูกบุกรุกถากถาง เพราะชาวบ้านเชื่อถือกันว่า มีอำนาจลึกลับแฝงเร้นอยู่ในดงนั้น เพราะปรากฏอยู่เสมอว่า คนที่เข้าไปทำไร่ตัดไม้หรือล่าสัตว์ เมื่อกลับออกมามักมีอันต้องล้มตายไปทุกรายโดยที่หาสาเหตุไม่ได้ ชาวบ้านจึงพากันเกรงกลัวภัยมืดนั้น ไม่มีใครกล้าเข้าไปทำลาย หรืออาศัยทำกินในป่านี้เลย ดงป่าพงจึงดำรงความเป็นป่าอยู่อย่างสมบูรณ์

วันถัดมา ผู้ใหญ่ลาพี่ชายหลวงพ่อ มานิมนต์ให้เข้าไปสำรวจหาที่พักในป่าใหญ่ ญาติโยมพาหลวงพ่อเดินบุกป่าฝ่าหนามเข้าไปอย่างยากลำบาก กระทั่งถึงดงมะม่วงใหญ่ (อยู่ด้านทิศใต้ของโบสถ์ในปัจจุบัน) หลวงพ่อเดินสำรวจดูรอบๆ บริเวณนั้น แล้วบอกให้ชาวบ้านช่วยปรับที่บนจอมปลวกเก่าๆ ใช้เป็นที่พัก ส่วนพระเณรและผู้ติดตามก็กางกลดอยู่รายรอบ

คืนต่อมา ผู้ใหญ่ลาได้พากำนันและชาวบ้านกลุ่มหนึ่งมาพบหลวงพ่อ เพื่อปรึกษาหารือเรื่องสถานที่ หลังจากสนทนากันสักครู่หนึ่ง หลวงพ่อได้ถามกำนันและญาติโยมว่า

"ที่นี่สมควรเป็นที่พักสงฆ์ไหม ?"

"สมควรมากครับ" ทุกคนตอบอย่างยินดี

หลายวันต่อมา ชาวบ้านก่อและบ้านกลางก็มาร่วมแรงร่วมใจกันสร้างกุฏิหลังเล็กๆ ให้สี่หลัง ใช้หญ้าคามุงเป็นหลังคา กั้นฝาด้วยใบชาด ปูพื้นด้วยฟากไม้ไผ่ และขุดบ่อน้ำให้หนึ่งบ่อ

หลังจากมีกุฏิพอกันแดดกันฝนได้บ้างแล้ว หลวงพ่อก็พาหมู่คณะมุ่งบำเพ็ญภาวนาอย่างพากเพียร แม้ขณะนั้นจะลำบากยากไร้ปัจจัยเครื่องอาศัยแทบทุกอย่าง แต่ก็ไม่ทำให้พระเณรย่อท้อหรือหวั่นไหวเลย หลวงพ่อเล่าถึงความเป็นอยู่ในครั้งนั้นให้ฟังว่า "ครั้งแรกก็อยู่ด้วยกันสี่รูป ได้รับความทุกข์ยากลำบากสารพัดอย่าง แต่การประพฤติปฏิบัติเข้มข้นมาก การอดทนนี่ยกให้เป็นที่หนึ่ง ฉันข้าวเปล่าๆ ก็ไม่มีใครบ่น เงียบ ไม่มีใครพูด"

หลวงพ่อให้ข้อคิดเรื่องการฉันข้าวเปล่าๆ แก่ศิษย์ว่า "ชาวบ้านบางถิ่นให้ข้าวเหนียวก้อนเล็กๆ แก่สุนัขกินในวันหนึ่งๆ เท่านั้น แต่มันก็อยู่ได้ ตื่นเร็วว่องไวไม่เกียจคร้าน ผิดกับสุนัขที่กินดีจะนอนขี้เกียจทั้งวัน

พระกรรมฐานก็เช่นเดียวกัน ถ้าอยู่ในถิ่นกันดารอาหารขาดแคลนบ้าง จะเป็นผู้ขยันภาวนาไม่เห็นแก่หลับนอน แต่ทางตรงกันข้าม หากมีความเป็นอยู่ที่สุขสบายจนเกินไป คิดอยากได้อะไรก็ได้ดังปรารถนา มักจะติดสุข เห็นแก่กินแก่นอน ถูกนิวรณ์ครอบงำ ละทิ้งการภาวนา"
หลวงพ่อจึงผูกคติธรรมขึ้น ซึ่งถือเป็นหลักสำคัญของการดำเนินชีวิตในป่าพงว่า

"กินน้อย พูดน้อย นอนน้อย คือ นักปฏิบัติ
กินมาก พูดมาก นอนมาก คือ คนโง่"
 


แก้ไขล่าสุดโดย สาวิกาน้อย เมื่อ 30 ก.ค.2006, 8:58 pm, ทั้งหมด 5 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ค.2006, 2:26 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

20. สุนัขก็อยู่ด้วยไม่ได้

หลังจากหลวงพ่อและคณะพำนักอยู่ที่ดงป่าพงได้เดือนกว่า แม่พิมพ์มารดาของหลวงพ่อ ซึ่งมาอุปัฏฐากช่วยเหลืองานวัด พร้อมกับฝึกหัดภาวนาอยู่เป็นประจำ ได้เกิดศรัทธาในปฏิปทาของพระลูกชาย และเลื่อมใสในคำสอนทางพุทธศาสนามาก จึงชักชวนญาติมิตรอีกสามคนมาบวชชีที่ป่าพง และได้ร่วมทุกข์ยากลำบากกับพระในรุ่นบุกเบิกนั้นด้วย

วัดหนองป่าพงในสมัยนั้น ผู้คนเข้าวัดน้อยมากเพราะอยู่ในถิ่นกันดาร ไม่มีใครรู้จัก รวมทั้ง ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ และไม่สนใจความเป็นอยู่ของพระป่า หลวงพ่อกับคณะจึงต้องเผชิญกับปัญหารอบข้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นับตั้งแต่เรื่องอาหารขบฉัน ซึ่งหลวงพ่อฟื้นความหลังให้ฟังว่า...

"สมัยนั้นแม้สุนัขก็อยู่ด้วยไม่ได้ ไม่ใช่มันถูกเตะถูกตีหรอก มันไม่มีอะไรจะกิน เพราะอาหารของพระ ก็แทบจะไม่พอจะฉันอยู่แล้ว เมื่อพระฉันเสร็จก็เดินกลับกุฏิกันหมด สุนัขวิ่งตามไปพระท่านก็ขึ้นกุฏิปิดประตูเงียบ สุนัขมันก็กลัว ไม่รู้จะอยู่กับใคร มันจึงอยู่ไม่ได้ แต่คนอยู่ได้ คิดแล้วก็สลดสังเวชเหมือนกัน"

บางวันไปบิณฑบาตได้กล้วยมาสามลูก หลวงพ่อจะหั่นกล้วยเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วแบ่งกันฉันอย่างทั่วถึง โดยไม่ทิ้งแม้แต่เปลือก หากมีน้ำพริกมาด้วยวันนั้นถือว่าโชคดี แม่ชีจะเก็บผักกำโตๆ มาถวาย แล้วแบ่งน้ำพริกกันคนละนิดฉันกับผักนั้น ด้วยความรู้สึกที่ดีกว่าทุกวัน

ผ้าไตรจีวรขัดสนมาก ต้องเก็บเอาเศษผ้าที่ทิ้งแล้วมาใช้ สิ่งของเครื่องอาศัยต่างๆ เช่น สบู่ ผงซักฟอก รองเท้า เทียนไข ไม้ขีดไฟ ไม่มีเลย ยามค่ำคืนอาศัยแสงเดือนแสงดาวที่ส่องลอดใบไม้ ลงมาแทนแสงโคมไฟส่องทางเดินจงกรม บางครั้งพระเณรเหยียบงูบ่อยๆ แต่ไม่ปรากฏว่ามีใครเคยถูกงูกัด

หลวงพ่อเล่าว่า "คืนข้างแรมมืดตึ๊ดตื๋อ เวลาจะลงจากกุฏิก็พนมมือยกขึ้นเหนือหัว สาธุ ด้วยอำนาจแห่งคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สัพเพ สัตตา สุขิตา โหนตุ ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงเป็นสุขๆ ทุกตัวตนเถิด อย่าเข้ามาใกล้นะ เวลากลางคืนมันมืดอย่างนี้ มองไม่เห็นอะไร ไม่มีไฟส่อง เดี๋ยวเหยียบเอาจริงๆ นะ"

มีพระรูปหนึ่งมีธุระลงจากกุฏิไปศาลาในตอนกลางคืน พอเดินไปได้ไม่ไกล ชนเอาต้นงิ้วหนามหน้าช้ำหมด แต่ไม่มีใครปริปากบ่นถึงความทุกข์ยากนั้น

ในสมัยนั้น ป่าพงมีไข้มาลาเรียชุกชุมมาก พระเณรรวมทั้งแม่ชีป่วยเป็นไข้มาลาเรียกันแทบทุกรูป ยารักษาที่มีและดีที่สุดในยามนั้นคือ น้ำบอระเพ็ดต้ม แม้ไข้ขึ้นสูงจนตัวสั่น ไม่มีใครยอมไปหาหมอ ต่างใช้ความอดทนต่อสู้กับภัยนั้นเรื่อยมา

หลวงพ่อมักพูดให้กำลังใจแก่พระเณรว่า "อดทนเอานะ พระกรรมฐานไม่ต้องกลัว ถ้าตายผมจะเผาให้ ถ้าผมตายก็ให้เพื่อนเผาผมด้วยนะ อย่าเอาไว้เลยมันทุกข์"

ครั้งหนึ่ง พระป่วยเป็นไข้มาลาเรียอย่างหนัก พอตกกลางคืนนอนหนาวจับสั่น อาการหนักขึ้นเรื่อย จึงรำพึงกับตัวเองว่า "เราคงต้องตายวันนี้แน่ !" เมื่อคิดวกไปวนมาหลายรอบ คิดได้ว่าถ้าเราอยู่ที่กุฏินี่คงจะตายอยู่คนเดียว ไม่มีใครรู้ ออกไปหาเพื่อนดีกว่า คิดได้ดังนั้นแล้วก็วิ่งออกไปทั้งที่ไฟส่องทางไม่มี

พระรูปนั้นวิ่งไปบนไม้แห้ง ชนกิ่งไม้หักไปตลอดทาง เกิดเสียงดังผิดปกติ หลวงพ่อจึงออกมาดู แล้วถามว่า

"ใครเป็นอะไร ?"

"ผมเองครับ... ผมป่วยหนัก เลยจะออกมาหาเพื่อน"

"เออ... ถูกแล้ว... คนป่วยต้องมาหาหมอ จะให้หมอไปหาคนป่วยจะถูกหรือ ?"

จากนั้นก็ช่วยกันพยาบาลพระรูปนั้นตามมีตามได้ ถึงกระนั้นก็ไม่ปรากฏว่า พระเณรวัดหนองป่าพงป่วยเป็นไข้มาลาเรียตายสักที

อยู่ต่อมา หลวงพ่อป่วยเป็นมาลาเรียหนักมาก ท่านออกมานอนบนแคร่ใต้ร่มไม้หน้ากุฏิ อาการไข้สูงขึ้นเรื่อยๆ จนเนื้อตัวเขียวคล้ำ พระเณรไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะหลวงพ่อไม่ให้เอ่ยถึงโรงพยาบาลและหมอ จึงพากันฝนยาสมุนไพรให้ท่านฉันแล้วนั่งเฝ้าอยู่อย่างนั้น

สักพักหนึ่งอาการไข้ขึ้นถึงที่สุด หลวงพ่อลุกขึ้นนั่งโยกไปโยกมา แล้วคว้าขันน้ำยาสมุนไพรที่ตั้งไว้ข้างตัว ยกขึ้นเทราดศีรษะท่านเอง หลวงพ่อเที่ยงนั่งอยู่ข้างๆ จับไว้ไม่ทัน เนื้อตัวหลวงพ่อเปียกปอนไปหมด จากนั้นท่านก็นั่งสมาธินิ่งเงียบไป

หลายวันต่อมา อาการของหลวงพ่อดีขึ้น แต่โรคร้ายกลับหันไปเล่นงานลูกศิษย์แทน ไม่เว้นว่าพระเณร หรือแม่ชี ป่วยหนักกันแทบทุกคน

ครั้งหนึ่ง หลวงพ่อจันทร์ อินฺทวิโร (พระครูบรรพตวรกิต เจ้าอาวาสวัดบึงเขาหลวง สาขาที่ 2 ของวัดหนองป่าพง) ซึ่งเป็นศิษย์รุ่นแรกๆ ได้อยู่ร่วมเคียงข้างหลวงพ่อมาโดยตลอด จนวันหนึ่งหลวงพ่อจันทร์ป่วยเป็นไข้มาลาเรียนอนซมอยู่หลายวัน หลวงพ่อเห็นป่วยนานผิดสังเกต จึงไปเยี่ยมดูอาการที่กุฏิ เพื่อพูดคุยให้กำลังใจ แล้วได้ถามว่า... "ท่านจันทร์ต้องการอะไรไหม ? ถ้าเป็นของที่พอหาได้ ผมจะหามาให้"

หลวงพ่อจันทร์ตอบทันทีว่า

"กระผมอยากฉันต้มไก่ใส่หัวข่าครับ"

"มันก็บ่มีแล้ว...ว...ว" หลวงพ่อลากเสียง

ต่อมาหลวงพ่อจันทร์ออกไปอยู่วัดสาขาแล้ว เมื่อมีโอกาสมาเยี่ยมหลวงพ่อที่วัดป่าพง ถ้าวันไหนได้นั่งฉันอาหารร่วมกัน แล้วมีชาวบ้านนำต้มไก่มาถวาย หลวงพ่อมักจะพูดสัพยอกหลวงพ่อจันทร์ว่า

"เออ... วันนี้ผมขอต้มไก่ถวายท่านอาจารย์จันทร์ด้วยนะ... ผมเป็นหนี้ท่านตั้งแต่สมัยท่านป่วยเป็นไข้มาลาเรียคราวนั้น ยังไม่ได้ใช้หนี้ท่านเลย..." พูดแล้วหลวงพ่อก็หัวเราะไปด้วย ทำเอาหลวงพ่อจันทร์และพระเณรในโรงฉันอมยิ้มไปตามๆ กัน
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ค.2006, 2:52 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

21. ครู

กิตติศัพท์ของพระธุดงค์กรรมฐานในดงป่าพงเริ่มถูกกล่าวขวัญในหมู่ชนทั่วไป ทำให้มีผู้มาฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงพ่อมากขึ้นตามลำดับ หลวงพ่อได้ถือหลักการ

"สอนคนด้วยการทำให้ดู... ทำเหมือนพูด... พูดเหมือนทำ"

ท่านจะเป็นผู้นำในการประพฤติข้อวัตรต่างๆ เพื่อให้ศิษย์ได้เห็นเป็นแบบอย่าง
ข้อวัตรปฏิบัติของวัดหนองป่าพงยุคนั้น เริ่มต้นวันใหม่เวลาสามนาฬิกา ระฆังจะถูกตีดังก้องกังวาน ปลุกพระและสามเณรให้รีบลุก แล้วนำบริขารมาไว้ที่ศาลา พร้อมกับไปรับเอาบาตรและกาน้ำของครูบาอาจารย์มาจัดเตรียมไว้ให้เรียบร้อย

เมื่อทุกคนเข้าสู่ศาลา มักพบหลวงพ่อนั่งสมาธิอยู่ก่อนเสมอ ช่วงเช้ามืดพระเณรส่วนใหญ่จะถูกความง่วงครอบงำ แต่หลวงพ่อจะนั่งตัวตรงสงบนิ่ง ไม่เคยโยกเยกให้ศิษย์ได้เห็น เมื่อรู้ว่าใครนั่งสัปหงกท่านจะเตือนด้วยเสียงอันดังๆ แล้วบอกอุบายแก้ไขให้

กิจวัตรต่างๆ เช่น ตีสามทำวัตรเช้า บ่ายสามโมงทำความสะอาดสถานที่ หกโมงเย็นทำวัตรเย็น ฟังหลวงพ่ออ่านหนังสือบุพสิกขาฯ อบรมเรื่องพระวินัย และการประพฤติปฏิบัติ วันพระงดนอน นั่งสมาธิเดินจงกรมตลอดทั้งคืน กิจวัตรเหล่านี้หากใครขาดถึงสามครั้ง จะถูกลงโทษด้วยวิธีต่างๆ เช่น ให้กราบสงฆ์ในที่ประชุมทุกรูปเพื่อสารภาพผิด...

หลวงพ่อเข้มงวดต่อตนเองและศิษย์มาก ท่านนำพระเณรปฏิบัติอย่างจริงจัง ให้หลีกเลี่ยงการคลุกคลี มีธุระจำเป็นจริงๆ จึงพูดกัน ขณะพูดต้องมีสติใช้เสียงเบาที่สุด เมื่อเข้าใจกันแล้วหยุดเงียบ การทำกิจวัตรร่วมกันจึงมีแต่เสียงที่เกิดจากการทำงานเท่านั้น การทำกิจวัตรทุกอย่าง พอระฆังดังขึ้น หลวงพ่อไปถึงที่ทำกิจก่อนเสมอ ท่านทำงานทุกอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่กับลูกศิษย์ เริ่มจากตักน้ำในบ่อขึ้นมาใช้ กวาดลานวัด ทำความสะอาด ศาลาโรงฉัน เสร็จจากกิจส่วนรวมก็กลับไปเดินจงกรมที่กุฏิ ท่านเดินทั้งกลางวันกลางคืน จนทางจงกรมลึกลงไปคล้ายร่องน้ำ

เมื่อถึงวันพระ หลวงพ่อจะนั่งสมาธิตลอดคืน หากมีใครแอบหลบไปนอน รุ่งขึ้นต้องถูกอบรมไม่ยอมให้กลับกุฏิ ถึงเวลาทำกิจอย่างอื่นให้ทำต่อไปโดยไม่ต้องพักผ่อน หากวันไหนมีเสียงตักน้ำหรือสับแก่นขนุนต้มน้ำซักผ้าผิดเวลา ตกเย็นมาหลวงพ่อจะเทศน์อบรมจนดึกดื่น บางทีถึงตีสามฟังเทศน์จบทำวัตรเช้าต่อเลย

พระเณรจึงต้องคอยสกิดเตือนกันตลอดเวลา เพราะต่างขยาดเทศน์กัณฑ์ใหญ่ ใครจะทำอะไร มีกิจจำเป็นขนาดไหน ก่อนลงมือทำต้องกราบเรียนหลวงพ่อก่อน จะทำไปโดยพละการไม่ได้ หากรู้ว่าใครทำอะไรผิด ท่านไม่ยอมปล่อยให้ข้ามวันข้ามคืน ต้องเรียกตัวมาตักเตือน หรือไม่ก็อบรมเป็นส่วนรวม ดังนั้น ทุกคนจึงต้องสำรวมระวังเพราะกลัวว่าจะต้องทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนด้วย

แม้แต่การเดินเข้ามาในที่ประชุม การวางย่ามวางบริขารต้องทำให้เบาที่สุด ใครเผลอสติทำเสียงดัง เป็นถูกดุ เพราะเสียงจะไปรบกวนคนอื่น เสียมารยาทนักปฏิบัติ หลวงพ่อจะย้ำเตือนพระเณรอยู่เสมอว่า "อย่าให้ผู้อื่นต้องคอยมาบังคับในการทำความดี"

การประพฤติปฏิบัติในสมัยนั้นดำเนินไปอย่างราบรื่น และอยู่ร่วมกันด้วยความเห็นอกเห็นใจ เมื่อมีสิ่งใดจะมากหรือน้อยก็แบ่งปันกันอย่างทั่วถึง หลวงพ่อให้คติเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

"ภิกษุสามเณรเรา ถ้าใครมีความเห็นแก่ตัว คิดจะเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นละก้อ ผมว่า... เรานี่มันโง่ มันเลวกว่าชาวบ้านเขานัก พวกโยมเขาหาเงินทองมาด้วยความยากลำบาก ด้วยหยาดเหงื่อแรงงานของเขาเอง แต่เขายังเสียสละทรัพย์ซื้ออาหารและเครื่องใช้ไม้สอยมาถวายพระได้ พระเรานี่ได้มาโดยไม่ต้องออกแรงอะไร เมื่อได้มาแล้วไม่อยากจะแบ่งปันพื่อน เก็บไว้ใช้ไว้กินคนเดียว ผมว่ามันน่าอายโยมเขานะ"

ดังนั้น สิ่งของเครื่องใช้ทุกอย่าง เมื่อได้มาจะถูกรวมไว้ในเรือนคลังสงฆ์ โดยหลวงพ่อเป็นผู้แจกเอง และของทุกชิ้นที่รับไปจะต้องถูกใช้จนหมดสภาพจริงๆ จึงจะมาขอใหม่ได้

ส่วนเรื่องอาหาร เมื่อบิณฑบาตกลับมาให้นำอาหารทุกอย่างมารวมกัน แล้วปั้นข้าวเนียวเป็นก้อนขนาดพออิ่มเก็บไว้ในบาตร ที่เหลือนอกนั้นส่งไปโรงครัว เพื่อให้แม่ชีพิจารณาก่อนว่าควรแก่พระหรือไม่ แล้วจึงจัดใส่สำรับส่งคืนถวายพระ

การแจกอาหาร เริ่มแจกจากพระเถระลงไปตามลำดับ จนถึงสามเณรและปะขาว เหลือนอกนั้นจึงเป็นของแม่ชี ดังนั้นอาหารบางอย่างจึงแบ่งได้ไม่ทั่วถึง มีพระพรรษาน้อยรูปหนึ่งเวลาฉันจะนั่งอยู่ท้ายแถว ไม่ค่อยได้อาหารมากนัก วันหนึ่งกลับจากบิณฑบาตจึงใช้ข้าวเหนียวหุ้มไข่ต้มจนมิดแล้วซ่อนไว้ในบาตร

วันนั้น ก่อนแจกอาหารพระเณรทุกรูปแปลกใจ ที่เห็นหลวงพ่อลงจากอาสนะ แล้วเดินตรวจบาตรทุกใบไปเรื่อยๆ พอมาถึงบาตรของพระรูปนั้น ท่านหยุดเพราะเห็นก้อนข้าวปริออก มีไข่ขาวๆ ซ่อนอยู่ข้างใน หลวงพ่อจึงถามขึ้น... "ก้อนข้าว ใครฟักไข่ ! ?"

พระเณรในโรงฉันหันไปมองยังจุดเดียวกัน พระรูปนั้นนั่งตัวสั่น หน้าซีดด้วยความกลัวและละอาย นับแต่นั้นมาก็เข็ดขยาดหลาบจำไม่ทำอีก

หลวงพ่อมีอุบายแยบคายสอนศิษย์ บางคนพูดเรียบๆ ให้ฟังธรรมะเข้าไม่ถึงใจ ต้องทำให้กลัวหรือละอายเสียก่อนจึงได้ผล บางทีท่านก็เร่งเร้าให้กล้า คือกล้าแกร่งในการทำดี เพียรประพฤติปฏิบัติ เพื่อถอดถอนกิเลสออกจากใจ บางครั้งสอนให้กลัว... คือกลัวการกระทำความชั่วที่ผิดศีลผิดธรรม และที่เน้นมากซึ่งท่านกล่าวอยู่เสมอคือ "การปล่อยวาง"

พระรูปหนึ่งซาบซึ้งคำสอนเรื่องปล่อยวางมาก จึงพยายามวางเฉยต่อทุกสิ่งทุกอย่าง แม้ลมพัดหลังคากุฏิตกไปข้างหนึ่ง ท่านก็เฉย ฝนรั่วแดดส่องท่านก็ขยับหนีไปทางนั้นที ทางนี้ที ท่านคิดในใจว่า หลังคารั่วเป็นเรื่องภายนอก จะรั่วก็รั่วไป... ปล่อยวางไม่ใส่ใจ เรื่องของเราคือการทำจิตใจ ให้สงบและว่างเท่านั้น

ตามปกติหลวงพ่อจะเดินตรวจกุฏิทุกหลังเป็นประจำ เพื่อสอดส่องการกระทำของศิษย์ พระเณรมักทิ้งร่องรอยความประพฤติไว้ที่กุฏิเสมอ เช่น ดูได้จากทางจงกรม ความสะอาดของกุฏิ ทางเข้าออก การตากผ้า การรักษาบริขาร การปิดเปิดประตูหน้าต่าง และจำนวนสิ่งของเครื่องใช้ ฯลฯ

บ่ายวันหนึ่ง หลวงพ่อเดินไปพบหลังคากุฏิตกลงมา จึงถามว่า "เอ... นี่กุฏิใคร ?"

"กุฏิผมเองครับ" พระรูปที่กำลังฝึกปล่อยวาง กราบเรียน

"หลังคาตกลงมากองอยู่นี่ ทำไมไม่ซ่อมแซมมันล่ะ ?"

"ก็หลวงพ่อสอนให้ปล่อยวางไม่ใช่หรือครับ ผมก็เลยไม่สนใจมัน"

พระรูปนั้นตอบ แล้วนึกสงสัยจึงเรียนถามท่านอีกว่า

"ผมไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวางถึงขนาดนี้ ยังไม่ถูกหรือครับ ?"

"การปล่อยวางไม่ใช่เป็นอย่างนี้ ที่ท่านทำอย่างนี้เรียกว่าปล่อยทิ้ง เป็นลักษณะของคนไม่รู้เรื่อง ฝนตกหลังคารั่ว ต้องขยับไปทางโน้น แดดออกขยับมาทางนี้ ทำไมต้องขยับหนีล่ะ ทำไมไม่ปล่อย ไม่วางอยู่ตรงนั้น"

ในการสอนศิษย์นั้นหลวงพ่อทุ่มเทอย่างจริงใจ ด้วยหวังให้ศิษย์เข้าถึงความเป็นสมณะที่แท้จริง ท่านจึงพยายามฝึกฝนพระเณรในหลายรูปแบบทั้งดุด่า ปลอบประโลม และบางครั้งก็เคี่ยวเข็นแบบเอาเป็นเอาตาย ดังคำพูดของท่านที่ว่า

"ไม่ดีก็ให้มันตาย ไม่ตายก็ให้มันดี"

แต่ท่านไม่เพียงแต่สอนด้วยวาจาเท่านั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่แนะนำพร่ำสอนออกไป หลวงพ่อจะปฏิบัติให้ปรากฏเป็นแบบอย่างทุกคราวไป

สำหรับการรับกุลบุตรเข้าร่วมสำนัก หลวงพ่อได้วางระเบียบไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อทดสอบศรัทธาก่อน เบื้องแรกต้องบวชปะขาวถือศีลแปด เรียนรู้และฝึกหัดข้อวัตรปฏิบัติก่อนหนึ่งปี จากนั้นก็บวชเป็นสามเณรอีกหนึ่งปีแล้วจึงได้บวชพระ ทั้งนี้เพื่อกลั่นกรองเอาเฉพาะผู้ตั้งใจมาปฏิบัติจริงๆ สานุศิษย์ที่ผ่านการฝึกสอนจากหลวงพ่อ จึงล้วนแต่มีความมั่นคงในข้อวัตรปฏิบัติ และได้กลายเป็นขุมกำลังที่สืบสานเจตนารมณ์ของหลวงพ่อในปัจจุบัน
 


แก้ไขล่าสุดโดย สาวิกาน้อย เมื่อ 30 ก.ค.2006, 8:58 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ค.2006, 3:21 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

22. พ่อหนู

การที่หลวงพ่อมาพำนักในป่าพงนั้น สร้างความยินดีให้แก่หมู่ญาติพี่น้องและชาวบ้านที่เลื่อมใสศรัทธามาก แต่ขณะเดียวกันก็มีกระแสต่อต้านจากชาวบ้านบางส่วนเหมือนกัน จึงมีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นเสมอ

วันหนึ่ง ชาวบ้านบางคนไปพูดใส่ร้ายหลวงพ่อว่า "เป็นพระหวงน้ำ" ไม่ยอมให้ชาวบ้านเอาถังลงตักน้ำในบ่อ พอดีเรื่องนี้รู้ไปถึงพ่อหนู ผู้นิยมประคารมกับพระ และเคยมาฟังธรรมจากหลวงพ่อหลายครั้ง แต่ก็ยังคิดและพูดโต้แย้งอยู่เสมอ

วันนั้น เมื่อมีคนมาพูดเรื่องหลวงพ่อหวงน้ำให้ฟัง พ่อหนูโกรธมากจึงกล่าวกับเพื่อน "พระอะไร ? แค่น้ำในบ่อก็หวง ถึงขนาดไม่ยอมให้ตัก ทีข้าวชาวบ้านล่ะ ทำไมมาบิณฑบาตเอาของเขาไปทุกวัน... ยังงี้ไม่ได้ๆ ทำไม่ดีอย่างนี้จะต้องไปถามดู ถ้าเป็นความจริงจะนิมนต์ให้หนีไปอยู่ที่อื่น" ว่าแล้วก็ผลุนผลัน เดินตรงไปวัดหนองป่าพง พอมาถึงวัดก็เข้าไปหาหลวงพ่อ แล้วคาดคั้นเอาความจริง หลวงพ่อจึงอธิบายให้ฟัง

"ที่ไม่ให้ตักน้ำในบ่อก็เพราะว่าชาวบ้านชอบเอาถังที่ขังกบ ขังปลามาตักน้ำ ทำให้น้ำสกปรก ถ้าใช้ถังสะอาดๆ ก็จะไม่ว่าอะไร จึงต้องเขียนป้ายติดไว้ว่า บ่อน้ำนี้สำหรับพระ ห้ามโยมใช้ แต่อาตมาก็ได้ตักน้ำใส่โอ่งไว้ให้ชาวบ้านได้ดื่มได้ใช้แยกไว้ต่างหากด้วย ไม่ใช่จะห้ามกันอย่างเดียว"

พ่อหนูรู้ความจริงเช่นนั้น ก็คลายความไม่พอใจลงบ้าง แต่ก็ยังไม่เคารพศรัทธาในตัวหลวงพ่อนัก หลังจากสนทนากันไปหลายเรื่อง หลวงพ่อได้บอกพ่อหนูว่า "มีอะไรก็ให้พูดอย่างเปิดอก ไม่ต้องเกรงใจ จะได้รู้เรื่องกันสักที"

"ถ้าผมพูดอย่างเปิดอก เกรงว่าหลวงพ่อจะโกรธผม เพราะคำพูดของผมมันไม่เหมือนคนอื่นเขา" พ่อหนูออกตัว

"พูดมาตามสบายเถอะ อาตมาไม่โกรธหรอก"

เมื่อหลวงพ่อเปิดทางให้ พ่อหนูซึ่งรอโอกาสนี้มานานแล้ว จึงนึกในใจว่า... เมื่อท่านรับรองเช่นนี้ หากเราพูดแรงๆ ไป ถ้าท่านโกรธเราจะต่อว่าให้สาสมเลยว่า พระกรรมฐานอะไรช่างไม่มีความอดทนเสียเลย แล้วพ่อหนูก็เริ่มระบายความเห็นออกมา...


"หลวงพ่อเคยพูดว่าผมเป็นคนหลงผิด แต่ผมว่าหลวงพ่อนั่นแหละหลงผิดมากกว่า เพราะศาสนาทุกศาสนาไม่มีจริง เป็นเรื่องที่คนแต่งขึ้น สมมุติขึ้น เพื่อให้คนอื่นหลงเชื่อตาม และของทุกสิ่ง ทุกอย่างในโลกนี้ก็มีแต่ของสมมุติทั้งนั้น เช่น ควาย นี่เราก็สมมุติชื่อให้มัน ถ้าเราจะเรียกมันว่าหมูก็ได้ ควายก็ไม่ว่าอะไร... คน สัตว์ สิ่งของทุกอย่างก็สมมุติเอาทั้งนั้น แม้แต่ศาสนาก็เป็นเรื่องสมมุติเหมือนกัน ทำไมหลวงพ่อจะต้องกลัวบาปกรรม จนต้องหนีเข้าป่าเข้าดง ไปทรมานร่างกายให้ลำบากเปล่าๆ

ผมไม่เชื่อเลยว่า บาปบุญมีจริงๆ เป็นเรื่องหลอกเด็กมากกว่า กลับไปอยู่วัดตามบ้านตามเมืองเหมือนพระอื่นๆ เสียเถอะ หรือทางที่ดีก็ควรสึกออกมาซะ จะได้รับความสุขและรู้รสกาม ดีกว่าอยู่อย่างทรมานตัวเองอย่างนี้ ไม่เห็นมีประโยชน์อะไร"


พ่อหนูสรุปแนวความคิดของตน แล้วถามหลวงพ่อ

"ผมคิดของผมอย่างนี้... หลวงพ่อล่ะ มีความเห็นอย่างไร ?"

หลังจากปล่อยให้พ่อหนูพูดจนสมใจแล้ว หลวงพ่อซึ่งนั่งนิ่งรับฟังอยู่นาน จึงกล่าวขึ้น

"คนที่คิดอย่างโยมนี้ พระพุทธเจ้าท่านทิ้ง โปรดไม่ได้หรอก เหมือนบัวใต้ตม... ถ้าโยมหนูไม่เชื่อว่าบาปมีจริง ทำไมไม่ทดลองไปลักไปปล้น หรือไปฆ่าเขาดูเล่า จะได้รู้ว่าเป็นอย่างไร"

"อ้าว... ! จะให้ผมไปฆ่าเขาได้อย่างไร เดี๋ยวญาติพี่น้องเขาก็ตามล่าผม หรือไม่ก็ติดคุกนะซิ"

"นั่นแหละผลของบาปรู้ไหม"

พ่อหนูชักลังเลเมื่อเจอเหตุผลอย่างนี้ แต่ยังกล่าวแบบไว้เชิงว่า...

"บางทีบาปอาจจะมีจริงก็ได้ แต่บุญล่ะ... หลวงพ่อมาอยู่ป่าทรมานตัวเองอย่างนี้ ไม่เห็นว่าจะเป็นบุญตรงไหนเลย ?"

"โยมหนูจะคิดอย่างนั้นก็ได้ แต่อาตมาจะเปรียบเทียบให้ฟัง ที่อาตมาประพฤติตามพระธรรมวินัยอยู่เช่นนี้ ถ้าบาปไม่มี บุญไม่มี... ก็เสมอทุน แต่ถ้าบาปมี บุญมี อาตมาจะได้กำไร... คนหนึ่งเสมอตัวหรืออาจได้กำไร กับคนที่มีแต่ทางขาดทุน ใครจะดีกว่ากัน"

พ่อหนูเริ่มคล้อยตามบ้าง จึงเผยความนึกคิดแท้จริงของตนเองออกมา...

"ไอ้เรื่องบาปเรื่องบุญนี้ ผมคิดจนปวดศีรษะมานานแล้ว จะเชื่อก็ยังไม่แน่ใจ ไปถามพระรูปไหน ก็พูดให้ผมเข้าใจไม่ได้ แต่ที่หลวงพ่ออ้างเหตุผลมานี่ ผมก็พอจะรับได้บ้าง แต่ถ้าบาปบุญไม่มีจริง หลวงพ่อจะให้ผมทำอย่างไร ?"

"ทำยังไงก็ได้" หลวงพ่อตอบ

"ถ้าบาปไม่มีจริง ผมตายไป ผมจะมาไล่เตะท่านนะ ?"

"ได้ ! แต่ข้อสำคัญ โยมหนูต้องละบาป แล้วมาบำเพ็ญบุญจริงๆ จึงจะรู้ได้ว่าบาปบุญมีจริงหรือไม่ ?"

"ถ้าอย่างนั้นหลวงพ่อเทศน์โปรดผมด้วย... ผมจะได้รู้จักวิธีทำบุญ"

"คนเห็นผิดอย่างโยมนี้ โปรดไม่ได้หรอก เสียเวลาเปล่าๆ"

เมื่อถูกหลวงพ่อเหน็บเอาเช่นนี้ พ่อหนูผู้มากด้วยปฏิภาณและโวหาร จึงย้อนกลับไปว่า

"คนในโลกนี้ ใครมีปัญญาและวิชาความรู้เลิศกว่าเขาทั้งหมด...

พระพุทธเจ้าใช่ไหม... ถ้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้เลิศจริง... หลวงพ่อก็เป็นศิษย์พระพุทธเจ้า... ส่วนผมเป็นศิษย์พระยามาร เมื่อเทศน์โปรดผมไม่ได้ ก็โง่กว่าพระยามารซี่"

"ถ้าโยมต้องการเช่นนี้จริงๆ ก็ขอให้ตั้งใจฟัง จะให้ธรรมะไปคิดพิจารณา แล้วทดลองปฏิบัติตามดู จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม แต่ให้ทำดูก่อน

เรื่องศาสนาที่พระสงฆ์เคยสอนมา โยมไม่เชื่อใช่ไหม ?"

"ใช่... ผมไม่อยากเชื่อใครเลย นอกจากตัวเอง"

"ถ้าไม่เชื่อคนอื่นแล้ว ก็ไม่ต้องเชื่อตนเองด้วย" หลวงพ่อยกข้อเปรียบเทียบ

"โยมเป็นช่างไม้ ใช่ไหม..? เคยตัดไม้ผิดหรือเปล่า ?"

"เคยครับ"

"เรื่องอื่นๆ ก็เหมือนกัน โยมเคยคิดถูก ทำถูก หรือว่าคิดผิด มาใช่ไหม ?"

"ใช่... ทำถูกก็มี ทำผิดก็เคย" พ่อหนูยอมรับ

"ถ้าอย่างนั้น ตัวเราเองก็ยังเชื่อไม่ได้ เพราะมันพาทำผิด พูดผิด คิดผิดได้เหมือนกัน..."

พ่อหนูรู้สึกพอใจต่อเหตุผลของหลวงพ่อบ้าง จึงขอคำแนะนำว่า "ผมควรจะประพฤติตน อย่างไรดี ?"

"อย่าเป็นคนคิดสงสัยมาก และอย่าพูดมากด้วย" หลวงพ่อตอบสั้นๆ

หลังจากนั้นพ่อหนูจะไปอยู่ที่ไหน คำพูดของหลวงพ่อติดหู ติดใจ ตามไปทุกหนทุกแห่ง ทั้งที่พยายามไม่ให้ใจคิด แต่ก็ยังคิด เมื่อคิดๆ ไป ก็ยิ่งเห็นจริงตามคำสอนของหลวงพ่อ และของพระพุทธเจ้ามากขึ้นทุกที พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้อย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น ไม่มีทางคัดค้านได้เลย

ต่อมาพ่อหนูจึงคลายพยศ ลดมานะ ละทิฐิ ทิ้งนิสัยหัวรั้นหัวแข็ง เข้ามาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อ และของพระพุทธเจ้ามากขึ้น แล้วรักษาศีลห้าอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งฝึกปฏิบัติภาวนา จนกลายเป็นพ่อหนูคนใหม่ที่มีอัธยาศัยดี ช่วยกิจการงานวัดอย่างแข็งขันด้วยความจริงใจตลอดมา

นอกจากปัญหาของพ่อหนูแล้ว ก็มีเหตุการณ์ไม่ดีหลายอย่างที่หลวงพ่อต้องใช้ความอดทนและปัญญา รวมทั้งใช้สันติวิธีเข้าแก้ปัญหา

ชาวบ้านบางกลุ่มโลภจัด พยายามจะบุกรุกเข้าครอบครองป่าพงเป็นที่ทำกิน แต่เมื่อมีพระพำนักอยู่ ก็ทำอะไรได้ไม่สะดวก จึงวางแผนขับไล่โดยจะใช้ผู้หญิงเป็นเครื่องมือ ชาวบ้านบางคนรู้ข่าว จึงมากราบเรียนหลวงพ่อ

"หลวงพ่อ อย่าให้พระไปบิณฑบาตบ้านนั้นองค์เดียวนะ มีคนเขาจะให้สาวๆ มาดักกอด แล้วให้ร้องว่าถูกพระข่มขืน"

หลวงพ่อบอกกับโยมคนนั้นอย่างอารมณ์ดีว่า

"เออ... ให้ผู้หญิงกอดสักทีก็ดีเหมือนกัน" ท่านได้ไปบิณฑบาตที่บ้านนั้นแทนพระรูปที่ไปประจำ แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เรื่องราวค่อยๆ เงียบหายไป

บางวันมีคนขี้เกียจมักง่าย เมื่อเห็นผักผลไม้ในวัดเกิดอยากได้ แต่ไม่อยากปลูกเอง ตอนแรกๆ ทำทีเข้ามาขอ แต่หลายครั้งชักอายจึงใช้วิธีแอบมาขโมย หลวงพ่อใช้อุบายจับตัวขโมยมาได้แล้วอบรมสั่งสอน "คราวหลังอย่าทำเช่นนี้อีกนะ มะละกอนี้เอาไปกินก็ได้แค่วันสองวันแค่นั้นแหละ ถ้าเรา ขยันปลูกเอาเองจะได้กินตลอดไป ต้องพยายามทำมาหากินด้วยความสุจริต จะได้ไม่เดือดร้อนและจะได้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกหลานด้วย"

ต่อมาชาวบ้านแอบเอาสุนัขและแมวมาปล่อยในวัด พอรู้ตัวเจ้าของ หลวงพ่อเชิญเขามาที่วัด แล้วชี้แจงเหตุผลให้ฟัง...

"ที่วัดของเรามีกระรอก กระแต มีไก่ป่า และสัตว์หลายอย่าง อาตมาอยากสงวนเอาไว้เพื่อลูกหลานเขาจะได้ดูได้เห็นบ้าง ถ้าไม่ทำอย่างนั้นมันก็จะสูญพันธุ์ไป แล้วจะเหลืออะไรไว้ให้พวกเขา พวกหมาพวกแมวที่โยมเอามาทิ้งที่นี่ หากปล่อยไว้มันก็จะกัดกินสัตว์ป่าตายหมด ขอให้พวกเราเอามันกลับคืนไปซะ แล้วมาช่วยกันรักษาสัตว์ป่าเอาไว้"

ส่วนทางด้านฝ่ายพระสงฆ์สำนักอื่น ในสมัยนั้นยังมีความเข้าใจผิดต่อพระที่ดงป่าพงด้วยเหมือนกัน ถึงขนาดบอกให้ชาวบ้านเอาขี้วัวแห้งกับเถาวัลย์ใส่บาตรให้หลวงพ่อ แต่ท่านไม่โต้ตอบโดยยึดหลักว่า "เขาเกลียด ให้ทำดีตอบแทนเขา" พอถึงฤดูเข้าพรรษา หลวงพ่อก็พาพระเณรไปกราบคารวะ หรือหากมีสิ่งของเครื่องใช้ก็นำไปถวายแก่พระเหล่านั้นด้วย ต่อมาเหตุร้ายต่างๆ นั้นได้คลี่คลายไปในทางที่ดี...
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ค.2006, 5:06 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

23. ร่มเงาวัดหนองป่าพง

นับวันร่มเงาวัดหนองป่าพงยิ่งแผ่กว้างออกไป สาธุชนทั้งใกล้และไกลต่างหลั่งไหลมาตามกิติศัพท์แห่งศีลสัตย์ของพระป่า เมื่อมาพบเห็นการประพฤติปฏิบัติยิ่งเกิดศรัทธา ชาวบ้านบางกลุ่มจึงขอนิมนต์หลวงพ่อไปพิจารณาตั้งวัดป่าในถิ่นตนบ้าง

ต่อมาวัดสาขาจึงกำเนิดขึ้นในจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดอื่นๆ หลายแห่ง หลวงพ่อได้จัดส่งหลวงพ่อเที่ยง โชติธมฺโม หลวงพ่อจันทร์ อินฺทวีโร และศิษย์อาวุโสออกไปเป็นประธานสงฆ์ ในสาขาต่างๆ ตามลำดับ

สำหรับที่วัดหนองป่าพง พระเณรมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปี พ.ศ. 2500 หลวงพ่อจึงกำหนดกติกาสงฆ์ขึ้นเพื่อใช้เป็นรากฐานของข้อวัตรปฏิบัติในวัดหนองป่าพงและสาขา ซึ่งถือว่ากติกานี้คือตัวแทนส่วนหนึ่งของหลวงพ่อในปัจจุบัน...

กติกาสงฆ์จะช่วยควบคุมความประพฤติของพระเณร ให้อยู่ในขอบเขตของพระธรรมวินัย เพื่อง่ายต่อการเข้าสู่ความบริสุทธิในสมณเพศ เช่น การห้ามรับเงินทองและห้ามผู้อื่นเก็บไว้เพื่อตน ห้ามซื้อขายแลกเปลี่ยน ไม่ขอของจากคนมิใช่ญาติ มิใช่ปวารณา หากได้รับวัตถุทานให้เก็บไว้เป็น ของกลาง และห้ามบอกและเรียนดิรัจฉานวิชา บอกเลข ทำน้ำมนต์ หมอยา หมอดู ทำวัตถุมงคล... ฯลฯ เป็นต้น

ในยุคนั้น หลวงพ่อยังคงนำศิษย์ประพฤติปฏิบัติอย่างแข็งขันสม่ำเสมอ... พอห้าโมงเย็นประตูวัดจะถูกปิดทันที ไม่ให้ใครเข้าออก ป่าทั้งป่าเงียบสงัด แม้จะมีพระเณรร่วมร้อยรูป แต่ไม่มีเสียงพูดคุย หกโมงเย็นทุกคนต้องนั่งสมาธิพร้อมกันที่ศาลา จะลุกขึ้นไปไหนไม่ได้จนกว่าจะถึงเวลาเลิก

บางครั้งหลวงพ่อจะพาสวนทางกิเลส เช่น ฤดูร้อน ให้ปิดประตูหน้าต่างศาลาแล้วนั่งสมาธิ อากาศจะร้อนอบอ้าว จนเหงื่อไหลโทรมกายก็ไม่อนุญาตให้ลุกจากที่ แต่หากเป็นฤดูหนาวให้เปิดประตูหน้าต่างให้โล่ง นั่งสมาธิอยู่ในความหนาวเย็นอย่างนั้น

ท่านพาทำเช่นนี้เพราะต้องการให้ศิษย์มีความอดทน ไม่อ้างหนาวร้อน หรืออ้างเวลา แล้วหลีกเลี่ยงการภาวนา รวมทั้งเป็นการขัดขืนกิเลส ไม่ให้ทำตามความอยากของตนเอง ถึงฤดูแล้งใบไม้และพื้นดินแห้งเหมาะแก่การอยู่โคนไม้ บางปีหลวงพ่อจะพาพระเณรออกเดินธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ แต่บางครั้งก็ธุดงค์กันในวัด ให้กางกลด นั่งสมาธิ เดินจงกรมอยู่ตามร่มไม้ ไม่ต้องขึ้นกุฏิ...

หลวงพ่อเข้มงวดกวดขันต่อตนเองและศิษย์ตลอดมา จนกระทั่งในช่วงหลังๆ ท่านมีอายุมากขึ้น และต้องต้อนรับญาติโยมเกือบตลอดทั้งวัน พระเณรจึงร่วมประชุมตกลงกัน ยกข้อวัตรให้หลวงพ่อ คือขอร้องให้ท่านไม่ต้องทำกิจวัตรบางอย่าง เช่น ตักน้ำ กวาดลานวัดกับลูกศิษย์ลูกหา แต่หลวงพ่อก็ไม่วางธุระเสียทั้งหมด ท่านยังคงดูแลศิษย์อย่างใกล้ชิดเสมอมา

ต่อมา หลวงพ่อได้ฝึกหัดให้ศิษย์รู้จักการปกครองกันเองในระบบสงฆ์ โดยแบ่งหน้าที่รับผิดชอบของท่านแก่ศิษย์อาวุโสเป็นผู้นำหมู่คณะ ประพฤติข้อวัตรต่างๆ โดยท่านคอยควบคุมดูแลอีกชั้นหนึ่ง

การประพฤติปฏิบัติของพระกรรมฐานในป่าพงในยุคนั้น ดำเนินไปอย่างสงบและมั่นคง แม้หลวงพ่อจะไม่ได้ร่วมปฏิบัติในกิจวัตรทุกอย่างเช่นเดิม แต่สานุศิษย์อาวุโสซึ่งถอดแบบมาจากหลวงพ่อ ก็สามารถนำหมู่คณะปฏิบัติได้อย่างเรียบร้อย
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ค.2006, 5:35 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

24. ศิษย์ชาวต่างประเทศ

ปี พ.ศ. 2510 ท่านอาจารย์สุเมโธ (ศิษย์ชาวต่างประเทศรูปแรก) ได้ยินกิติศัพท์ความเคร่งครัดในข้อวัตรปฏิบัติของหลวงพ่อ จึงกราบลาพระอุปัชฌาย์ของท่านที่จังหวัดหนองคาย เดินทางมาฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงพ่อ ท่านได้เมตตารับไว้ แต่ตั้งเงื่อนไขว่า...

"ท่านจะมาอยู่กับผมก็ได้ แต่มีข้อแม้ว่าผมจะไม่หาอะไรมาบำรุงท่านให้ได้ตามอยาก ท่านต้องทำตามระเบียบข้อวัตรเหมือนที่พระเณรไทยเขาทำ"


ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ป่าพง ท่านอาจารย์สุเมโธได้รับการฝึกฝนเคี่ยวเข็ญด้วยอุบายต่างๆ จากหลวงพ่อ ท่านอาจารย์สุเมโธเล่าให้ฟังว่า

Image

"บางครั้งหลวงพ่อจะดุหรือตักเตือนผมในที่สาธารณะ ทำให้ผมอายมาก บางครั้งท่านเล่าให้โยมทั้งศาลาฟังเรื่องที่ผมทำไม่สวย ไม่งาม เช่น การฉันข้าวด้วยมือเปล่าแต่เปิบไม่เป็น ขยุ้มอาหารขึ้นมาเต็มกำมือแล้วโปะใส่ปาก ใส่จมูกเลอะเทอะไปทั้งหน้า พระเณรและโยมหัวเราะกันลั่นศาลา ผมนั้นทั้งโกรธทั้งอาย แต่ก็ทนได้ และพิจารณาว่านี่เป็นความกรุณาของหลวงพ่อที่ช่วยเปิดเผยความเย่อหยิ่งของผม ซึ่งมันเป็นจุดบอดที่เรามักจะมองไม่เห็น และยังเป็นอุบายที่ท่านจะทดสอบอารมณ์เราว่า มีพื้นฐานที่จะรองรับธรรมะได้มากน้อยแค่ไหน..."

"ทุกเช้าเวลาหลวงพ่อกลับจากบิณฑบาต จะมีพระเณรหลายองค์ไปรอล้างเท้าท่าน ระยะแรกๆ ที่ผมไปอยู่วัดป่าพง เห็นกิจวัตรนี้ทีไร ก็นึกค่อนขอดพระเณรเหล่านั้นอยู่ในใจ แต่พออยู่นานเข้าผมก็เป็นไปด้วย เช้าวันหนึ่งก่อนที่ผมจะรู้ตัวว่าเป็นอะไร ผมก็ปราดเข้าไปอยู่หน้าพระเณรองค์อื่นเสียแล้ว ขณะก้มลงล้างเท้าถวายท่าน ผมได้ยินเสียงนุ่มๆ กลั้วเสียงหัวเราะของหลวงพ่อว่า "สุเมโธ ยอมแล้วเหรอ..."

"เช้าวันหนึ่ง ผมกำลังกวาดใบไม้ที่ลานวัด อารมณ์ไม่ดี รู้สึกหงุดหงิดขัดเคือง และรู้สึกว่าตั้งแต่มาอยู่ที่วัดป่าพงเจอแต่ทุกข์ พอดีหลวงพ่อเดินตรงมายังผม ท่านยิ้มให้พร้อมกับพูดว่า 'วัดป่าพงทุกข์มาก !' แล้วท่านก็เดินกลับไป ผมสงสัยว่าทำไมหลวงพ่อพูดอย่างนี้ กลับไปกุฏิพิจารณาได้สติว่า ทุกข์ไม่ได้เกิดจากวัดป่าพง แต่เกิดจากจิตใจเราเอง..."


ต่อมาปี พ.ศ. 2513 ได้มีชาวอเมริกันอีกสองคนเข้ามาบวชที่วัดหนองป่าพง แต่อยู่ได้ราวหนึ่งปีทั้งคู่ก็ลาสิกขาไป คนหนึ่งเป็นนักเขียนได้จดบันทึกคำสอนของหลวงพ่อ แล้วนำไปพิมพ์เผยแพร่ ทำให้ชื่อเสียงของหลวงพ่อเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวต่างประเทศยิ่งขึ้น ส่วนอีกคนเป็นนักจิตวิทยา ชอบวิพากษ์ครูบาอาจารย์ต่างๆ เว้นไว้แต่หลวงพ่อองค์เดียวที่เขาเคารพเทิดทูนมาก หลังลาสิกขาบท เมื่อได้พบชาวต่างประเทศที่กำลังแสวงหาครูอาจารย์ เขามักแนะนำให้มาพบกับหลวงพ่อ ทำให้พระฝรั่งในวัดหนองป่าพงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ผู้คนที่มาวัดหนองป่าพง ต่างทึ่งที่เห็นพระฝรั่งปฏิบัติกรรมฐานเคร่งครัดอยู่เคียงข้างกับพระไทย จึงเกิดความสงสัยว่า หลวงพ่อสอนชาวต่างประเทศได้อย่างไร ในเมื่อท่านไม่คุ้นเคยกับภาษาอังกฤษ และลูกศิษย์ฝรั่งเองก็ไม่คุ้นเคยภาษาไทย หลวงพ่อชี้แจงว่า "ที่บ้านโยมมีสัตว์เลี้ยงหรือเปล่า อย่างหมา แมว หรือวัวควาย อย่างนี้เวลาฝึกหัดมัน โยมต้องรู้ภาษาของมันด้วยไหม ?..."

"ถึงแม้มีลูกศิษย์เมืองนอกมาอยู่ด้วยมากๆ อย่างนี้ ก็ไม่ได้เทศน์ให้เขาฟังมากนัก พาเขาทำเอาเลย ทำดีได้ดี ถ้าทำไม่ดีก็ได้ของไม่ดี พาเขาทำดู เมื่อเขาทำจริงๆ ก็เลยได้ดี เขาก็เลยเชื่อ..."


ครั้งหนึ่งเมื่อถูกถามปัญหาเช่นนี้ ท่านตอบแบบขำๆ ว่า "ไม่ยากหรอก ดึงไปดึงมาเหมือนควาย เดี๋ยวมันก็เป็นเท่านั้นแหละ"


Image

ศิษย์ชาวออสเตรเลี่ยนรูปหนึ่งเล่าถึงบทเรียนอันดุเดือดว่า

"วันหนึ่งผมมีเรื่องขัดใจกับพระรูปหนึ่ง รู้สึกโกรธ หงุดหงิดอยู่ทั้งวัน รุ่งเช้าไปบิณฑบาต ก็เดินคิดไปตลอดทาง ขากลับเดินเข้าวัดพอดีสวนทางกับหลวงพ่อ ท่านยิ้มและทักผมว่า 'กู๊ด มอร์นิ่ง' ซึ่งทำให้อารมณ์ของผมเปลี่ยนทันที จากความหงุดหงิดกลายเป็นปลื้มทันที

...ถึงเวลาสวดมนต์ทำวัตรเย็น หลวงพ่อให้ผมเข้าไปอุปัฏฐาก ถวายการนวดที่กุฏิของท่าน ผมรู้สึกตื่นเต้นดีใจมากกับโอกาสที่หาได้ยากเช่นนั้น เพราะเราเป็นพระใหม่ แต่ขณะที่กำลังถวายการนวดอยู่อย่างตั้งใจ หลวงพ่อก็ถีบเปรี้ยงเข้าที่ยอดอกที่กำลังพองโตของผมจนล้มก้นกระแทกพื้น ท่านดุใหญ่เลยว่า 'จิตไม่มั่นคง พอไม่ได้ดังใจก็หงุดหงิดขัดเคือง เมื่อได้ตามปรารถนาก็ฟูฟ่อง' ผมฟังท่านดุไปหลายๆ อย่างแล้ว ก็ไม่โกรธและไม่เสียใจ รู้สึกซาบซึ้งในพระคุณของท่านที่ช่วยชี้กิเลสของเรา ไม่เช่นนั้นเราคงเป็นคนหลงอารมณ์ไปอีกนาน..."


นอกจากจริยาวัตรอันงดงามของหลวงพ่อแล้ว บรรยากาศของวัดหนองป่าพง และกิริยามารยาทของพระเณร ยังเป็นแรงดลใจให้ผู้มาพบเห็นเกิดความศรัทธาอย่างยิ่ง ดังท่านอาจารย์ชาวต่างชาติรูปหนึ่งเล่าว่า

"พอผ่านเข้าประตูวัดหนองป่าพงเป็นครั้งแรก ก็เกิดความประหลาดใจ และความประทับใจก็เกิดขึ้น เมื่อเห็นบริเวณสถานที่ แม้จะเป็นป่ามีต้นไม้หนาแน่น แต่ทางเดินก็ดูสะอาดไม่มีอะไรเกะกะสายตา

...จากนั้นก็ไปเห็นกุฏิศาลาสะอาดเรียบร้อยที่สุด รู้สึกว่าวัดหนองป่าพงนี่ระเบียบวินัยดีมากจริงๆ พอตกตอนเย็นเห็นพระเณรออกมาทำกิจ ท่านเรียบร้อยดี มีกิริยาสำรวมไม่ตื่นเต้นอะไรเลย ผมเคยไปวัดอื่น พอพระเณรเห็นพวกฝรั่งก็ปรี่เข้าหา เข้ามาพูดภาษาอังกฤษ ถามรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ทำเหมือนกับว่าพวกฝรั่งมีอะไรดีอย่างนั้น

...แต่ที่วัดหนองป่าพง บรรดาพระสงฆ์ ญาติโยม ผ้าขาว แม่ชี ไม่เห็นมีใครสนใจกับฝรั่งอย่างผม ท่านนั่งก็สำรวม เดินก็สำรวม มีกิจอะไรต้องทำก็ทำไป ถามก็เงยหน้ามาพูดด้วย ไม่มีอาการตื่นเต้นอะไรเลย มีความรู้สึกว่า ท่านเหล่านี้ต้องมีของดีแน่ เกิดศรัทธาขึ้นมาก..."

ปีพ.ศ. 2518 จำนวนศิษย์ชาวต่างประเทศในวัดหนองป่าพงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลวงพ่อจึงตั้งวัดป่านานาชาติขึ้นที่ป่าช้าบ้านบุ่งหวาย ซึ่งอยู่ห่างจากวัดหนองป่าพงราว 7 - 8 กิโลเมตร เพื่อปูพื้นฐานให้พระชาวต่างชาติได้รู้จักปกครองกันเอง โดยมอบให้ท่านอาจารย์สุเมโธดูแล

ประธานสงฆ์วัดป่านานาชาติในสมัยแรก ประสบปัญหาในการปกครองหมู่คณะมาก เพราะคนฝรั่งมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงและกล้าแสดงออก จึงสร้างปัญหาให้ประธานสงฆ์ต้องเป็นทุกข์เสมอ เมื่อเรื่องถึงหลวงพ่อ ท่านจะแนะนำให้ทั้งสองฝ่ายละวางทิฐิมานะ ให้ปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น สำหรับประธานสงฆ์ หลวงพ่อจะแนะนำวิธีปกครองให้ว่า "ถ้าลูกศิษย์ของเรามีเรื่องขัดแย้งกัน ก็ให้พิจารณาให้ดี อย่าตัดสินว่าผู้มาใหม่ไม่ดี อย่าไปว่าคนนั้นดี คนนี้ไม่ดี ต้องใช้เวลาดูไปนานๆ ก่อน ดูอุปนิสัยของเขาไปนานๆ อย่าไปคิดว่าดีหรือไม่ดีเลยทันที เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่แน่นอน ต้องใช้เวลาดูไปก่อน..."

ศิษย์ชาวต่างประเทศต่างเคารพปัญญาบารมีของหลวงพ่อเป็นอย่างยิ่ง ท่านเต็มไปด้วยเมตตาธรรม และอารมณ์ขันเบิกบานแจ่มใสอยู่เป็นนิจ มีความสามารถพิเศษในการสื่อสาร และแก้ปัญหาแก่ศิษย์ได้อย่างดีเยี่ยม ชาวต่างประเทศจึงเกิดศรัทธาเข้ามาศึกษาและปฏิบัติธรรมที่วัดหนองป่าพงและวัดป่านานาชาติ เป็นจำนวนเพิ่มขึ้นตามลำดับ
 


แก้ไขล่าสุดโดย สาวิกาน้อย เมื่อ 30 ก.ค.2006, 9:11 pm, ทั้งหมด 2 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ค.2006, 5:58 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

25. จาริกสู่ตะวันตกครั้งที่ 1

ปี พ.ศ. 2519 ท่านอาจารย์สุเมโธเดินทางไปเยี่ยมบ้านเกิดที่อเมริกา ขากลับได้แวะพักที่พุทธวิหารธรรมประทีป กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ขณะพักอยู่ที่พุทธวิหารแห่งนั้น สมาชิกมูลนิธิกิจการสงฆ์แห่งอังกฤษ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้จัดตั้งพุทธวิหารได้เกิดศรัทธาเลื่อมใสในปฏิปทาของท่านอาจารย์สุเมโธ จึงนิมนต์ให้ท่านพำนักอยู่เพื่อเป็นผู้นำในการประพฤติปฏิบัติ ท่านอาจารย์สุเมโธไม่ได้ตอบรับคำ แต่ได้ชี้แจงว่าจะนำเรื่องนี้ไปกราบเรียนหลวงพ่อชา ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์เสียก่อน

หลังจากนั้นไม่นาน ประธานมูลนิธิฯ คือนายยอร์ช ชาร์ป ก็ได้เดินทางมาเมืองไทยเพื่อนิมนต์หลวงพ่อไปเผยแผ่พุทธธรรม และพิจารณาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งสำนักสาขาในประเทศอังกฤษ หลวงพ่อไม่ได้รับนิมนต์ทันที แต่อนุญาตให้ประธานมูลนิธิฯ พำนักอยู่ที่วัดหนองป่าพง ระยะหนึ่ง โดยให้ปฏิบัติตนเหมือนคนวัด คือ พักที่ศาลา กินข้าวในกะละมังวันละมื้อ และทำกิจวัตรเช่นเดียวกับคนอื่นๆ เพื่อให้ทำความเข้าใจในความเป็นอยู่ของพระป่า รวมทั้งเพื่อทดสอบดูความอดทนและความจริงใจกันก่อน เมื่อพิจารณาเห็นว่ามีเจตนามุ่งมั่นจริง หลวงพ่อจึงรับนิมนต์จากประธานมูลนิธิฯ นั้น

5 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 หลวงพ่อได้เดินทางไปเผยแผ่พุทธธรรมที่ประเทศอังกฤษ โดยมีท่านอาจารย์สุเมโธ เป็นผู้ติดตาม หลวงพ่อได้เขียนบันทึกประจำวัน กล่าวถึงความรู้สึกส่วนตัวและเล่าถึงภาระกิจรวมทั้งเหตุการณ์ต่างๆ ในระยะสองเดือนกว่าที่ต่างประเทศ ไว้ในสมุดบันทึกด้วยลายมือของท่าน ดังได้คัดมาบางตอนว่า

จินตนาการที่เกิดขึ้นใหม่ ในการเดินทางจากเมืองไทยสู่กรุงลอนดอน ความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ทั้งหลายก็เหมือนกับแสงของพระจันทร์ พระอาทิตย์ เมื่อถูกเมฆหมอกเข้าครอบงำ ก็เป็นอย่างหนึ่ง เมื่อปราศจากเมฆหมอกก็เป็นอย่างหนึ่ง

เป็นเหตุให้คิดต่อไปว่า การเรียนธรรม การรู้ธรรม การเห็นธรรม การปฏิบัติธรรม การเป็นธรรมเหล่านี้นั้น เป็นคนละส่วน ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน และทำให้จินตนาการต่อไปอีกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า เมื่อเรายังไม่รู้ประเพณี คำพูด การกระทำของเขา ทุกอย่างเราไม่ควรถือตัวในที่นั้น

และคิดต่อไปอีกขณะเมื่ออยู่บนกลีบเมฆนั้นว่า ชาติตระกูล ความรู้คุณธรรมเป็นอย่างไร ก็เป็นที่แปลกมาก เพราะเรื่องนี้ดูเหมือนเราได้ประสบมาก่อนแล้ว ตอนที่เราได้ถวายชีวิตในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์... ว่าเราได้มาเมืองนอกนี่... นี้คือเมืองนอกใน (วัฏฏะ) ไม่ใช่เมืองนอก นอกการเห็น เมืองนอกในพระพุทธเจ้าไม่สรรเสริญ พระพุทธเจ้าสรรเสริญคนผู้เห็นเมืองนอกนอก

ความคิดของเรา มันคิดบวกคิดลบกันอย่างนี้เรื่อยไปจนถึงกรุงลอนดอน และก็ได้ปรับกาย วาจา ใจ ให้เข้ากับเขาได้เป็นอย่างดี ไม่มีอะไร

สิ่งที่แปลกนั้นก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ส่วนใจนั้นปกติอยู่ตามเดิม เพราะได้เตรียมมานานแล้ว ต่างแต่ไม่แปลก แปลกแต่ไม่ต่าง คิดต่อไปว่าประชาชนในยุโรปนี้ เขาได้ถึงจุดอิ่มของวัตถุทั้งหลายแล้ว แต่ยังไม่รู้จักพอเพราะขาดจากธรรม เปรียบได้เหมือนผลไม้พันธุ์ดี เกิดอยู่ในสวนที่มีดินดี แต่ขาดคนดูแลรักษา จึงทำให้ผลไม้ทั้งหลายเหล่านั้นไร้คุณค่าเท่าที่ควรจะได้ เหมือนมนุษย์ไร้คุณค่าจากการเกิดมาเป็นมนุษย์ฉะนั้น

6 พฤษภาคม 2520 บินต่อถึงเมืองการาจี ปากีสถาน บินผ่านอิตาลีถึงลอนดอน นายยอร์ช ชาร์ปและนางฟรีดา วินท์ ได้เอารถมารับที่สนามบินฮีทโลว์

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการเดินทางในวันที่ 6 ในขณะที่บินอยู่เครื่องบินได้เกิดเหตุยางระเบิด 1 เส้นบนอากาศ พนักงานการบินจึงได้ประกาศให้ผู้โดยสารเตรียมตัวรัดเข็มขัด มีฟันปลอมก็ต้องถอดออก แม้กระทั่งแว่นตาหรือรองเท้า เครื่องบริขารทุกอย่างต้องเตรียมพร้อมหมด ผู้โดยสารทุกคนเมื่อเก็บบริขารทุกอย่างเสร็จเร็ว ต่างคนต่างก็เงียบคิดว่าเป็นครั้งสุดท้ายของพวกเราทุกคนเสียแล้ว

ขณะนั้นเราก็ให้คิดว่า เป็นครั้งแรกที่เราได้เดินทางมาเมืองนอกเพื่อสร้างประโยชน์แก่พระศาสนา จะเป็นบุญอย่างนี้เทียวหรือ เมื่อระลึกได้เช่นนี้แล้ว ก็ตั้งสัตย์อธิษฐานมอบชีวิตให้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วก็กำหนดจิตรวมลงไว้ในสถานที่ควรอันหนึ่ง แล้วได้รับความสงบเยือกเย็นดูคล้ายกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น พักที่ตรงนั้น จนกระทั่งเครื่องบินได้ลดระดับลงมาถึงแผ่นดินด้วยความปลอดภัย ฝ่ายคนโดยสารต่างก็ปรบมือด้วยความดีใจ คงคิดว่าเราปลอดภัยแล้ว

สิ่งที่แปลกก็คือ ขณะเมื่อเครื่องบินเกิดอุบัติเหตุ ต่างคนก็ร้องเรียกว่า..."หลวงพ่อช่วยปกป้องพวกเราด้วย" แต่เมื่อพ้นอันตรายแล้วเดินลงจากเครื่องบิน เห็นประณมมือไหว้พระเพียงคนเดียวเท่านั้น นอกนั้นไหว้แอร์โฮสเตสทั้งหมดในที่นั้น... นี่เป็นสิ่งที่แปลก

15 พฤษภาคม 2520 วันนี้ประมาณ 7 โมงเช้า เราได้นั่งอยู่ในที่สงบเงียบจึงได้เกิดความรู้ในการภาวนาหลายอย่าง เราจึงได้หยิบเอาสมุดปากกาขึ้นมาบันทึกไว้ภายในวิหารธรรมประทีป ด้วยความเงียบสงบ ธรรมะที่เกิดขึ้นนี้เราเรียกว่า "มโนธรรม" เพราะเกิดขึ้นด้วยการปรากฏในส่วนลึกของใจว่า การที่มาบวชเจริญรอยตามพระพุทธองค์นั้น เรายังไม่ได้ทำอะไรๆ ได้เต็มที่ เพราะยังบกพร่องอยู่หลายประการอันเกี่ยวแก่พุทธศาสนาคือ หนึ่งสถานที่ สองบุคคล สามกาลเวลา

เราจึงได้คิดไปอีกว่าเมื่อสร้างประโยชน์ตนได้เป็นที่พอใจแล้ว ให้สร้างประโยชน์บุคคลอื่น จึงจะได้ชื่อว่ากระทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง ดังนั้นจึงมีความเห็นว่า กรุงลอนดอนนี้แห่งหนึ่งจัดเรียกได้ว่าเป็นปฏิรูปเทศ คือประเทศอันสมควรในการที่จะประกาศพระศาสนา จึงได้จัดให้ศิษย์ฝรั่งอยู่ประจำเพื่อดำเนินงานพระศาสนาต่อไป

วิธีสอนธรรมนั้นให้เป็นไปในทำนองที่ว่า ทำน้อยได้มาก ทำมากได้น้อย ให้เห็นว่าความเย็นอยู่ในความร้อน ความร้อนอยู่ในความเย็น ความผิดอยู่ในความถูก ความถูกอยู่ในความผิด ความสุขอยู่ในที่ความทุกข์ ความทุกข์อยู่ที่ความสุข ความน้อยอยู่ที่ความใหญ่ ความใหญ่อยู่ที่ความน้อย สกปรกอยู่ที่สะอาด สะอาดอยู่ที่สกปรก อย่างนี้เสมอไป นี้เรียกว่า สัจธรรม หรือสัจศาสตร์

17 พฤษภาคม 2520 วันนี้เป็นวันแรกที่ได้ออกบิณฑบาตในกรุงลอนดอน พร้อมด้วยพระ สุเมโธ อเมริกัน พระเขมธมฺโม อังกฤษ และสามเณรชินทตฺโต ซึ่งเป็นสัญชาติฝรั่งเศส พระโพธิญาณเถร เป็นหัวหน้า

การออกบิณฑบาตวันแรกได้ข้าวพออิ่ม ผลแอบเปิ้ล 2 ใบ กล้วยหอม 1 ใบ ส้ม 1 ใบ แตงกวา 1 ลูก แครร็อต 2 หัว ขนม 2 ก้อน ดีใจซึ่งได้อาหารวันนี้ เพราะเข้าใจว่าเป็นอาหารของพระพ่อ คือ เป็นมูล (มรดก) ของพระพุทธเจ้านั่นเอง และเป็นอาหารที่บิณฑบาตได้ เมืองนี้ยังไม่เคยมีพระบิณฑบาตเลย เพราะเขามีความอายกันเป็นส่วนมาก แต่ตรงกันข้ามกับเรา คำว่าอายนี้เราเห็นว่าอายต่อบาป อายต่อความผิดเท่านั้น ซึ่งเป็นความหมายของพระองค์ นี้เป็นความเห็นของเรา จะถูกหรือผิดขออภัยจากนักปราชญ์ทั้งหลายด้วย

23 พฤษภาคม 2520 ตอนเย็นวันนั้นเองได้ถูกถามปัญหาและตอบคำถามพวกเขาเป็น ปัจจุบันหลายอย่าง แต่เราก็ไม่จนในการตอบปัญหานั้นตามเคย มีผู้หญิงฝรั่งคนหนึ่งได้ถามปัญหาว่า คนตายแล้วไปอยู่ที่ไหนและความรู้ (วิญญาณ) นั้นไปอยู่อย่างไร

เราได้ตอบว่า ปัญหานี้พระพุทธเจ้าไม่ทรงให้ตอบ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เหตุ กระนั้นก็จะขออนุญาตตอบปัญหานี้ฉลองศรัทธาสักหน่อย

ในขณะนั้นเรานั่งอยู่บนธรรมาสน์ มีเทียนจุดไว้ 2 เล่ม เราจึงถามว่าโยมมองเห็นเทียนนี้ไหม เขาก็ว่าเห็น เราจึงว่านี่แหละโยมเมื่อมีไส้อยู่ก็มีไฟอยู่ฉันนั้น จากนั้นก็ได้หยิบเทียนเล่มหนึ่งขึ้นมา แล้วก็เป่าให้ดับด้วยปาก แล้วถามเขาว่า เปลวของไฟนี้หายไปในทิศไหน เขาตอบว่าไม่รู้ รู้แต่ว่าเปลวไฟดับไปเท่านั้น

แล้วเราก็ถามเขาว่า แก้ปัญหาอย่างนี้พอใจไหม เขาก็บอกว่า ยังไม่พอใจในคำตอบนี้ เราก็ตอบเขาไปอีกว่า ถ้าอย่างนั้นเราก็ไม่พอใจในคำถามของโยมเหมือนกัน เขาทำตาถลึงขึ้น สบัดหน้าแล้วก็หมดเวลาพอดี

หลวงพ่อเขียนสรุปตอนท้ายในสมุดบันทึกว่า...

เราเป็นพระอยู่แต่ในป่ามานมนานนึกว่าไปเมืองนอกจะมีความตื่นเต้นก็เปล่า เพราะพระพุทธเจ้าตามควบคุมเราอยู่ทุกอิริยาบถ มิหนำซ้ำยังให้เกิดปัญหาขึ้นอีกด้วย เหมือนบัวในน้ำไม่ยอมให้น้ำท่วมฉันนั้น พิจารณาตรงกันข้ามเรื่อยไป

และได้เที่ยวไปดูในมหาวิทยาลัยต่างๆ แล้ว จึงคิดว่ามนุษย์ศาสตร์ทั้งหลาย มันคงเห็นชัดเจนว่า มีแต่ศาสตร์ที่ไม่คมทั้งนั้น ไม่สามารถจะตัดทุกข์ได้ มีแต่ก่อให้เกิดทุกข์ ศาสตร์ทั้งหลายเหล่านั้นเราเห็นว่า ถ้าไม่มาขึ้นต่อพุทธศาสตร์แล้วมันจะไปไม่รอดทั้งนั้น

ความรู้สึกในเหตุการณ์ที่ได้ไปเมืองนอกในคราวนี้ก็น่าขบขันเหมือนกัน เพราะเราเห็นว่า อยู่เมืองไทยมาก็นานแล้ว คล้ายๆ กับเป็นพญาลิงให้คนหยอกเล่นมาหลายปีแล้ว ลองไปเป็นอาจารย์กบในเมืองนอกดูสักเวลาหนึ่งจะเป็นอย่างไร เพราะภาษาของเขา เราไม่รู้ ก็ต้องเป็นอาจารย์กบอย่างแน่นอน แล้วก็เป็นไปตามความคิดอย่างนั้น

กบมันไม่รู้ภาษามนุษย์ แต่พอมันร้องขึ้นมาแล้ว คนชอบไปหามันจังเลย... เลยกลายเป็นคนใบ้สอนคนบ้าอีกเสียแล้ว ก็ดีเหมือนกับปริญญาของพระพุทธเจ้านั้นไม่ต้องไปสอบกับเขาหรอก...

ฉะนั้น พระใบ้เลยเป็นเหตุให้ได้ตั้งสาขาสองแห่งคือ กรุงลอนดอน และฝรั่งเศส เพื่อให้คนบ้าศึกษา ก็ขบขันดีเหมือนกัน

15 กรกฎาคม 2520 เดินทางกลับจากกรุงลอนดอน
 


แก้ไขล่าสุดโดย สาวิกาน้อย เมื่อ 30 ก.ค.2006, 9:13 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ค.2006, 8:26 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

26. จาริกสู่ตะวันตกครั้งที่ 2

ในครั้งแรกของการไปเผยแผ่พุทธธรรมยังต่างประเทศ ชาวอังกฤษบางคนเรียนถามหลวงพ่อว่า "ชีวิตของพระเป็นอย่างไร?... ทำไมชาวบ้านถึงได้เลี้ยงดูโดยที่พระไม่ได้ทำอะไร ?"

หลวงพ่อตอบแบบอุปมาว่า... "...ถึงบอกให้ก็ไม่รู้หรอก มันเหมือนกับนกที่อยากรู้เรื่องของปลาในน้ำ ถึงปลาบอกความจริงว่าอยู่ในน้ำเป็นอย่างไร นกก็ไม่มีทางจะรู้ได้ ตราบใดที่นกยังไม่เป็นปลา" พวกเขาเหล่านั้นพอใจในคำตอบของหลวงพ่อมาก

หลังจากกลับสู่เมืองไทยแล้ว ในปี พ.ศ. 2520 หลวงพ่อจึงได้รับหนังสือจาก บี.บี.ซี. แห่งประเทศอังกฤษ ติดต่อขอเข้าถ่ายทำภาพยนต์เกี่ยวกับพุทธศาสนาที่วัดหนองป่าพง ตอนท้ายของหนังสือติดต่อฉบับนั้นมีข้อความอยู่ประโยคหนึ่งซึ่งเขาเน้นว่า "หวังว่าท่านอาจารย์คงจะเป็นปลาที่เห็นประโยชน์ (เกื้อกูล) แก่นก"

ในต้นเดือนตุลาคมปี พ.ศ. 2520 ชาวต่างประเทศได้เข้ามาถ่ายทำภาพยนต์สารคดีเกี่ยวกับชีวิต ข้อวัตรปฏิบัติ และกิจวัตรประจำวันของพระกรรมฐานที่วัดหนองป่าพง หลังจากนั้นไม่นานหนังสารคดีเรื่องนี้ก็ได้แพร่หลายสู่สายตาของคนค่อนโลก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 ทางมูลนิธิกิจการสงฆ์แห่งอังกฤษได้ติดต่อนิมนต์หลวงพ่อ ให้จาริกไปเผยแพร่ธรรมะที่ประเทศอังกฤษอีกครั้ง หลวงพ่อกับพระอาจารย์ปภากโร จึงได้เดินทางสู่ประเทศอังกฤษ ในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2522

การไปอังกฤษครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากชาวต่างประเทศมากขึ้นกว่าครั้งแรกหลายเท่า และหลวงพ่อยังได้ไปดูสถานที่ซึ่งมีคนถวายเพื่อจัดตั้งเป็นสำนักสาขาถาวร สถานที่แห่งใหม่เป็นป่าธรรมชาติของเมืองหนาว อยู่ใกล้ทะเลสาบ มีคฤหาสน์โบราณอยู่หลังหนึ่ง ต่อมาพระชาวตะวันตกศิษย์ของหลวงพ่อได้ย้ายจากแฮมป์สเตท กลางกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นที่พักแห่งแรก ไปอยู่สำนักใหม่ที่หมู่บ้านชิตเฮิร์ต เมืองปีเตอร์ฟิลด์ มณฑลซัสเซกซ์ตะวันตก ปัจจุบันนี้มีชื่อว่า วัดป่าจิตตวิเวก

หลวงพ่อพักอยู่ที่ซัสเซกซ์ระยะหนึ่ง แล้วเดินทางสู่สหรัฐอเมริกากับพระอาจารย์ปภากโร ได้ไปพักที่สำนักกรรมฐานของนายแจ๊ค คอร์นฟิลด์ (อดีตพระสุญฺโญ) ซึ่งเป็นศิษย์เคยบวชอยู่ที่วัดหนองป่าพง ระยะเวลาเก้าวันที่หลวงพ่อพักอยู่ที่สำนักนั้น ได้อบรมกรรมฐานแก่ชาวอเมริกัน ซึ่งได้รับความสนใจจากพวกเขาเหล่านั้นมาก

หลวงพ่อเล่าถึงประสบการณ์ครั้งหนึ่ง ในอเมริกาให้ญาติโยมฟังว่า...

"อาตมาเคยไปสหรัฐ เขาให้ไปพูดในบ้านชาวคริสต์ ก็พูดตามภาษาเรานั่นแหละ เมื่อพูดจบลง คริสต์แก่ๆ คนหนึ่งถามว่า...

ท่าน... ศาสนาพุทธอยู่เมืองไทย แต่ทำไมขโมยเยอะ ?

ใช่... จริง.. ยอมรับร้อยเปอร์เซนต์เลย.. แต่ว่าขโมยเหล่านั้นไม่ใช่ศาสนา มันเป็นคน คนเป็นขโมย ไม่ใช่ศาสนาเป็นขโมย... คนที่สอนศาสนาก็ไม่ให้ทำอย่างนั้น... ศาสนาก็ไม่ให้ทำอย่างนั้น แต่คนทำ.. ไม่ใช่ศาสนาทำ.. เขาตบมือให้เหมือนกัน

อาตมาจึงถามบ้างว่า สหรัฐมีขโมยหรือเปล่า ? เขาไม่อยากตอบเหมือนกัน เพราะขโมยก็เยอะเหมือนกัน"


หลวงพ่อได้แนะนำหลักการปฏิบัติ และสนทนาตอบปัญหาธรรมแก่ผู้สนใจในสถานที่หลายแห่งในอเมริกา ซึ่งเป็นที่ยอมรับและซาบซึ้งแก่ชาวต่างประเทศเป็นอย่างยิ่ง หลังจากพำนักอยู่ที่อเมริการะยะหนึ่ง หลวงพ่อได้เดินทางย้อนกลับมาอังกฤษ ได้อยู่ดูแลการเคลื่อนย้ายสำนักจากที่เก่าคือ วิหารแฮมป์สเตท ไปยังสำนักใหม่ที่มณฑลซัสเซกซ์ตะวันตก

หลวงพ่อใช้เวลาในการไปเผยแผ่ธรรมะครั้งนี้สองเดือน แล้วได้กลับสู่ประเทศไทยเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2522

การเดินทางไปประกาศสัจธรรมในต่างประเทศของหลวงพ่อทั้งสองครั้งนั้น ทำให้หลักธรรมปฏิบัติของพุทธศาสนา ได้เผยแผ่ออกไปอย่างกว้างไกล ยังผลให้มีสำนักปฏิบัติธรรมที่มีลักษณะคล้ายวัดป่าในเมืองไทยเกิดขึ้นหลายแห่งในซีกโลกตะวันตก เป็นสถานที่ฝึกหัดปฏิบัติ และให้หลักการดำเนินชีวิตที่ดีงามแก่ผู้คนในถิ่นนั้น

ปัจจุบันมีสำนักสาขาของวัดหนองป่าพงในต่างประเทศกว่าสิบแห่ง ตั้งอยู่ในประเทศต่างๆ เช่น อังกฤษ สวิสเซอร์แลนด์ อิตาลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา เพื่อสืบเจตนารมณ์ของหลวงพ่อ ดังที่ท่านเขียนไว้ในสมุดบันทึกตอนจาริกสู่ต่างประเทศว่า "ต้องยอมเสียสละทุกอย่างให้แก่พระศาสนา เพื่อประชาชนเป็นจำนวนมาก ในเวลานี้ดอกบัวกำลังจะบานในทิศตะวันตกอยู่แล้ว..."
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ค.2006, 8:40 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

27. อาพาธ

ปี พ.ศ. 2520 หลวงพ่อมีอาการผิดปกติทางร่างกายเกิดขึ้น เริ่มจากรู้สึกว่าร่างกายโงนเงน การทรงตัวไม่ค่อยดี ต้องใช้ไม้เท้าช่วยค้ำยันเวลาเดิน และมีอาการปวดเมื่อยบริเวณต้นคอ

นับตั้งแต่นั้นมา ความผิดปกติทางร่างกายมีมาตลอดและทรุดลงเรื่อยๆ แต่หลวงพ่อยังคงทำหน้าที่ของครูอาจารย์อย่างไม่บกพร่อง พยายามอบรมสั่งสอนศิษย์อยู่ทุกโอกาส เมื่อมีเวลาว่างก็ออกไปเยี่ยมเยียนพระเณรตามสาขาทั้งใกล้ไกล ตลอดจนต้อนรับญาติโยมที่มานมัสการ โดยไม่เห็นแก่ความสุขสบายส่วนตัว

ครั้งหนึ่ง ขณะอบรมพระเณรอยู่ในโบสถ์ หลวงพ่อกล่าวถึงความรู้สึกของท่านว่า "ทุกวันนี้ผมอยู่ได้เพราะความเบิกบาน ถึงจะเจ็บป่วยไข้ จิตใจก็มีแต่ความเบิกบานตลอดเวลา"

บางครั้งหลวงพ่อมีอาการทรุดหนัก แต่เมื่อลูกศิษย์ลูกหามาเยี่ยม ท่านจะนั่งพูดคุยด้วยหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ลูกศิษย์ต่างวิตกเรื่องการอาพาธของหลวงพ่อ แต่ท่านกลับเป็นห่วงการประพฤติปฏิบัติของศิษย์มากกว่า

หลวงพ่อปรารภถึงสังขารร่างกายของท่านว่า ตอนที่ท่านกำลังปฏิบัติอยู่ตามป่าเขานั้น ได้ทรมานร่างกายตนเองมาก ทุ่มเทชีวิตจิตใจปฏิบัติอย่างหักโหม แต่ร่างกายก็ทนทานมาก ไม่แตกดับเสียตั้งแต่ตอนนั้น เมื่อมันทนสู้อยู่ได้ถึงทุกวันนี้ นับว่าดีมากแล้ว

กลางเดือนตุลาคม พ.ศ. 2524 อาการอาพาธของหลวงพ่อทรุดลงมาก ศิษย์จึงกราบนิมนต์ไปรักษาตัวที่ โรงพยาบาลสำโรง สมุทรปราการ ขณะนั้นหลวงพ่อยังพอเดินเองได้แต่ต้องพยุงบ้าง ผลการตรวจของแพทย์พบว่า ช่องภายในสมองมีขนาดโตผิดกว่าปกติ เป็นโรคน้ำไขสันหลังสมองคั่ง คณะแพทย์ได้ผ่าตัดรักษา หลังผ่าตัดอาการทรงตัวดีขึ้นบ้าง แต่ความจำไม่ค่อยดี

เมื่อกลับมาถึงวัดหนองป่าพง อาการทรงตัวกลับแย่ลงอีก แขนขาข้างซ้ายยกไม่ค่อยถนัด บางครั้งมีอาการอ่อนเพลีย พูดไม่มีเสียง เดินไม่ไหว ต้องนั่งรถเข็น อาการต่างๆ เป็นมากขึ้น ฉันอาหารได้น้อยลง

ต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2525 ศิษย์จึงต้องนิมนต์ท่านเข้ารับการรักษาที่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โปรดเกล้าฯ รับหลวงพ่อไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ผลการตรวจแพทย์ได้วินิจฉัยอาการป่วยของหลวงพ่อว่า มีสาเหตุจากเนื้อสมองเสื่อม จากเส้นเลือดอุดตัน และเนื้อสมองตายเป็นหย่อมๆ รวมทั้งเป็นเบาหวาน

ผลการรักษาระยะแรกอาการดีขึ้นบ้าง นั่งได้นานๆ และลุกเดินได้บ้าง แต่พอประมาณเดือนธันวาคมของปีนั้น เกิดอาการชักกระตุก แขนข้างซ้ายไม่มีแรง จากนั้นอาการทั่วไปไม่ดีขึ้นเลย ท่านพระอาจารย์เลี่ยม ฐิตธมฺโม (รักษาการเจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง) จึงตัดสินใจนิมนต์หลวงพ่อกลับวัดหนองป่าพง หลังจากได้พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นานประมาณ 5 เดือน

เมื่อกลับถึงวัดหนองป่าพง ได้เข้าพักในกุฏิพยาบาล ซึ่งสร้างขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ และคณะศิษย์ได้ร่วมสมทบโดยเสด็จพระราชกุศล

พระอาจารย์เลี่ยม จัดพระเณรผลัดเปลี่ยนเวรกันอุปัฏฐากหลวงพ่อ และทางโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี ได้จัดแพทย์และบุรุษพยาบาลมาร่วมรักษาพยาบาลโดยตลอด

แม้หลวงพ่อจะอาพาธหนัก แต่บรรยากาศของวัดหนองป่าพงคงสงบและมั่นคง วัตรปฏิบัติของพระเณรดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีคณะพระเถระร่วมกันปกครองหมู่คณะแทนหลวงพ่อ และทุกๆ ปีจะมีการประชุมใหญ่ในวันที่ 17 มิถุนายน (วันคล้ายวันเกิดของหลวงพ่อ) พระสงฆ์จากทุกสำนักสาขาทั้งในและต่างประเทศ จะเดินทางมาร่วมปฏิบัติบูชารำลึกถึงคุณของหลวงพ่อ รวมทั้งร่วมประชุมกันในวันนั้น

หลวงพ่อได้อยู่เป็นมิ่งขวัญแก่ศิษย์เรื่อยมา แม้สังขารร่างกายจะไม่อำนวยต่อการทำหน้าที่ของครูอาจารย์ แต่คุณธรรมของท่านยังแผ่ความร่มเย็นอยู่ในใจศิษย์ ยังผลให้พระสงฆ์เกิดความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจปฏิบัติบูชา และร่วมกันรักษาข้อวัตรปฏิบัติของหลวงพ่อไว้อย่างมั่นคง จำนวนสาขาและพระสงฆ์ทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้นตามลำดับ

พระมหาเถระผู้ทรงคุณธรรมรูปหนึ่งทางปักษ์ใต้ ได้กล่าวกับคณะศิษย์วัดหนองป่าพงที่ไปเยี่ยมคารวะท่านว่า "ท่านอาจารย์ชานอนป่วย ให้ลูกศิษย์ได้บุญ"

อาการของหลวงพ่อทรุดและเสื่อมลงเรื่อยๆ ตามลักษณะธรรมดาของสังขารร่างกาย ที่ตั้งอยู่บนความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และความไม่ใช่ตัวตน ครูอาจารย์บางท่านกล่าวว่า แม้หลวงพ่ออาพาธหนักจนพูดไม่ได้ แต่ท่านยังแสดงธรรมอบรมศิษย์อยู่เสมอ หลวงพ่อใช้ร่างกายที่เสื่อมโทรมด้วยความชราและโรคภัยนี้ สาธิตให้ศิษย์ได้เห็นภัยในวัฏสงสาร และเห็นความเสื่อมสิ้นไปของสังขารร่างกายว่า เรามีความแก่ ความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่มีใครจะล่วงพ้นสิ่งเหล่านี้ไปได้

หลังปีใหม่ พ.ศ. 2535 ไปไม่กี่วัน หลวงพ่อเกิดอาการหอบและอ่อนเพลียมาก จึงต้องเข้าโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี อีกครั้ง แพทย์วินิจฉัยว่ามีน้ำท่วมปอด หัวใจวายจาก เส้นเลือดอุดตัน ร่วมกับภาวะไตวายเฉียบพลัน แพทย์ถวายการรักษาเต็มที่ แต่อาการไม่ดีขึ้น

คืนวันที่ 15 มกราคม หลังจากทราบว่าอาการของหลวงพ่อครั้งนี้สุดวิสัยจะเยียวยารักษาได้ คณะสงฆ์ร่วมกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และคณะแพทย์พยาบาล จึงนิมนต์หลวงพ่อกลับวัดหนองป่าพง...
 


แก้ไขล่าสุดโดย สาวิกาน้อย เมื่อ 30 ก.ค.2006, 9:16 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ค.2006, 8:47 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

28. เช้ามืดของวันครู

สี่ทุ่มกว่าของคืนวันที่ 15 มกราคม 2535 หลวงพ่อกลับถึงกุฏิพยาบาลในวัดหนองป่าพง... แสงไฟในห้องหลวงพ่อสว่างขึ้น หลังจากถูกปิดสนิทไว้หลายวัน เพราะหลวงพ่อเข้าโรงพยาบาล เมื่อมองผ่านหน้าต่างกระจกใสเข้าไปในห้อง พบร่างหลวงพ่อนอนสงบนิ่งอยู่บนเตียง

หมู่บรรพชิตที่พึ่งพิงร่มเงาวัดหนองป่าพง ยืนเรียงรายรอบๆ กุฏิ ดวงตาทุกคู่จ้องมองยังร่างบูรพาจารย์ ด้วยความรู้สึกอาลัยอาวรณ์ เพราะต่างตระหนักดีว่าราตรีนี้จะมีการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน...

ลมหนาวต้นปีใหม่ พัดโชยแผ่วผ่านบานประตูสู่ห้องพยาบาล อากาศยามดึกทวีความเยือกเย็นยิ่งขึ้น พระอุปัฏฐากคลี่ผ้าห่มคลุมร่างให้หลวงพ่อ และยังคงทำหน้าที่ของตนอยู่อย่างสงบ... เสียงเครื่องตรวจคลื่นหัวใจไฟฟ้า แสดงค่าความถี่การเต้นของหัวใจหลวงพ่อที่ช้าลงทุกขณะ

ภิกษุหลายรูปนั่งสมาธิที่ระเบียงกุฏิ ต่างน้อมเอาเหตุการณ์สำคัญเฉพาะหน้ามาเป็นมรณสติ สรรพสิ่งทั้งมวลล้วนตกอยู่ภายใต้กฎแห่งความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่ามนุษย์ผู้ยากดีมีจน หรือเดรัจฉานผู้อาภัพอับเฉา กระทั่งภูผาป่าไม้ ต่างสิ้นสุดลงตรงจุดเสื่อมสลายทั้งสิ้น

ดึกสงัดของคืนนั้น หลวงพ่อยังคงนอนหายใจระรวย ใบหน้าและแววตาปราศจากร่องรอยของความทุกข์ทรมาน หรือห่วงใยในชีวิตสังขาร ลมหนาวยามดึกพัดกรรโชกหนักขึ้น ต้นไม้โยกไหวตามแรงลมอย่างมีชีวิตชีวา แต่ทว่าลมอุ่นจากภายในกายหลวงพ่อกำลังอ่อนแรงลงทุกขณะ ดังคำปรารภเกี่ยวกับกายสังขารของท่าน ที่กล่าวไว้ที่วัดถ้ำแสงเพชร ว่า

Image

"...ต่อไปนี้จะไม่ได้เห็น ลมมันก็จะหมด เสียงมันก็จะหมด มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของสังขาร... เรียกว่า ขัยยะวัยยัง คือความสิ้นไปเสื่อมไปของสังขาร... เสื่อมไปดังก้อนน้ำแข็งที่ละลายเป็นน้ำ... เราเกิดมาก็เก็บเอาความเจ็บ ความแก่ ความตาย มาพร้อมกัน..."

เช้ามืดของวันครู... ลมหนาวสงบนิ่ง แมกไม้ไม่ไหวติง สรรพสิ่งในป่าพงพลันเงียบงัน... หลวงพ่อได้ละสังขารไปด้วยอาการสงบ จบการเดินทางอันยาวนานในวัฏสงสารลงอย่างงดงาม (หลวงพ่อมรณภาพเวลา 05.20 น. ของวันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2535 สิริอายุรวม 74 ปี)"

หลวงพ่อจากไปแต่เพียงร่างกายเท่านั้น ส่วนคำสอนและข้อวัตรปฏิบัติของท่าน มิได้สูญหายไปไหน ยังคงเป็นร่มเงาแห่งโพธิญาณที่แผ่ปกคลุมให้ความร่มเย็นแก่สานุศิษย์ต่อไปอีกกาลนาน




>>>>> จบ >>>>>

สาธุ สาธุ สาธุ


คัดลอกมาจาก ::
1. http://guideubon.com/
2. http://www.isangate.com/dhamma/prawat.htm
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 31 ก.ค.2006, 3:31 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

โมทนาครับ คุณสาวิกาน้อย ที่นำสิ่งดีๆ มาแบ่งปันกัน สาธุ.. สาธุ
 
.............
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 31 ก.ค.2006, 4:26 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ สาธุ สาธุ
 
thanya sukjaem
บัวผลิหน่อ
บัวผลิหน่อ


เข้าร่วม: 03 พ.ย. 2007
ตอบ: 4
ที่อยู่ (จังหวัด): chachoengsao

ตอบตอบเมื่อ: 09 ม.ค. 2008, 6:04 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ขออนุโมทนากับผู้ที่นำเสนอชีวประวัติของหลวงพ่อชา
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง