Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 สอนคนขี้บ่น (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 24 ก.ค.2006, 10:57 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

สอนคนขี้บ่น
โดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก


วัดป่าสุนันทวนาราม
บ้านท่าเตียน ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี



คำนำ

ในตอนแรกของหนังสือเล่มนี้ท่านพระอาจารย์ตั้งใจสอนคนขี้บ่นโดยเฉพาะ เพื่อให้เห็นโทษของการบ่น ให้เห็นว่า การบ่น การนินทา นั้นเป็นความผิด เป็นความชั่วที่จะนำทุกข์โทษมาสู่ตัวเราแน่นอน ส่วนในตอนที่สองนั้นท่านพระอาจารย์สอนเรื่อง ความคิด ท่านบอกว่า ผู้ปฏิบัติธรรมต้อง คิดถูก ไม่ คิดชั่ว แต่ในกรณีที่ความคิดกำลังรุนแรง ก็ต้องค่อยๆ ผ่อนปรนจะฝืนทีเดียวก็ไม่ได้ ท่านอธิบายวิธีผ่อน วิธีปฏิบัติให้เราได้พิจารณาศึกษา

คำว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ฟังแล้วใครๆ ก็คิดว่าเราเข้าใจแล้ว เรารู้แล้ว แต่จริงๆ แล้ว เราอาจจะยัง รู้ ไม่ทะลุก็ได้ เราทุกคนจะคิดว่า เราทำดีแล้ว และพวกเราส่วนมากจะคิดว่า เราไม่ได้ทำชั่ว เลย แต่เราก็ยัง ทุกข์อยู่ บางคนก็รู้ว่าตัวเอง ทุกข์ แต่หลายๆ คนก็ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าเรา ทุกข์เพราะเราไม่เคยสังเกต เราไม่เคย กำหนดรู้ ทุกข์

เราคิดว่า การที่เราไม่ได้ฆ่าสัตว์ ไม่ได้ลักขโมย ฯลฯ นั้นคือ เราไม่ได้ทำชั่วแล้ว เราคิดว่าเราทำดีแล้วเพราะเราไม่ได้คดโกง ไม่ฉ้อราษฎร์บังหลวง ไม่คอรัปชั่น เราตั้งใจทำงานอย่างดี เราขยันขันแข็ง เอาใจใส่ในการงาน... แต่เราก็ยังทุกข์ ยังวุ่นวายใจ ยังเครียด ยังกังวล และที่สำคัญเราทำให้คนที่อยู่รอบๆ ตัวเรา ทุกข์ เครียด กังวล ไปด้วย เพราะเรายังไม่เข้าใจคำว่า ทำชั่ว ทำดี คิดถูก คิดผิด ตามธรรม

ฉะนั้น หวังว่าคำสอนของท่านพระอาจารย์ในหนังสือเล่มนี้ และเล่มอื่นๆ จะเปิดทัศนคติของพวกเราให้กว้างขวางขึ้น ให้เข้าใจความหมายของคำว่า ชั่ว ดี ผิด ถูก ได้กว้างขวางขึ้น และสามารถนำไปใช้พิจารณาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เกิดความสงบและความสุขได้มากขึ้นๆ ทั้งแก่ตัวเองและผู้ที่อยู่ใกล้ชิด


มูลนิธิมายา โคตมี
มิถุนายน 2546
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 24 ก.ค.2006, 11:07 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สอนคนขี้บ่น
พระธรรมเทศนา ณ วัดป่าสุนันทวนาราม
วันที่ 18 กันยายน 2535


ดอกไม้ ......................................................... ดอกไม้


อย่าประมาท

ที่เราปฏิบัติทุกวันนี้ เราต้องตั้งใจปฏิบัติ อย่าประมาท
ความประมาทช่วยไม่ได้
ผู้ปฏิบัติธรรม ถ้าอยู่ด้วยความประมาท
ก็เท่ากับไม่ได้ปฏิบัตินั่นแหละ

ความรู้สึกของเรา ใจของเราก็บอกว่า เราพยายามปฏิบัติ
แต่สิ่งต่างๆ ที่รู้สึกว่าเป็นอุปสรรคก็มีมาก
ใจหนึ่งก็อยากปฏิบัติ แต่อุปสรรคก็มี


อย่ามองข้ามตัวเอง..... อย่าขี้โกง

ผู้ปฏิบัติธรรมต้องซื่อสัตย์สุจริตต่อตนเอง
ถ้าเรามีศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
มีศรัทธาในการปฏิบัติธรรม เราต้องซื่อสัตย์สุจริต
อย่าไปถือทิฏฐิมานะ ถือตัวถือตน
สิ่งใดที่ไม่ถูกใจ เราก็ว่าเขาไม่ดี เรามองข้ามตัวเอง

มองแต่คนอื่น อันนี้..... เรียกว่าเราไม่ซื่อสัตย์สุจริต
เรายัง ขี้โกง ทุจริต
จิตใจไม่บริสุทธิ์ ไม่บริสุทธิ์พอที่จะปฏิบัติธรรมได้
ใจหนึ่งก็อยากรวย รวยด้วยธรรมะ อยากสงบ
อยากบริสุทธิ์ อันนี้ก็มีอยู่ คือความอยาก
ความปรารถนาที่จะทำความดีของเราก็มีอยู่
แต่อีกใจหนึ่งก็ ขี้โกง ทุจริต ชอบคอรัปชั่น


“ละความชั่ว บำเพ็ญความดี ชำระจิตใจให้สะอาด”

ในการปฏิบัติ เราก็ไม่ค่อยปฏิบัติตัวเอง
ท่านให้
“ละความชั่ว บำเพ็ญความดี ชำระจิตใจให้สะอาด”
แต่พอเรามาปฏิบัติ เราก็จะเอาแต่ “ดี”
ปฏิบัติเดี๋ยวนี้ เราก็ต้องการ “ดี” เดี๋ยวนี้
สิ่งที่เราต้องการ อะไรๆ ก็แล้วแต่ เราก็ต้องการ “เอาเดี๋ยวนี้แหละ”
เราก็ข้ามเรื่องการ “ละความชั่ว” ไปเสีย

เราก็เลยเหมือนคนมักได้
พอตั้งใจปฏิบัติ ก็จะเอาแต่ของดีเดี๋ยวนี้
เราไม่ได้นึกถึง “เรื่องการละความชั่ว” หรือ “ทำความสะอาด”
เราไม่ได้นึกถึงว่า ของสกปรกที่มีเกินควร เราต้องชำระออกจากกาย
ออกจากวาจา ออกจากใจของตัวเองเสียก่อน คือการละความชั่ว

เราต้องสำรวจดูว่ามีอะไรที่ไม่น่าดู ไม่สะอาด
ทางกาย ทางวาจา ทางจิตใจของเรา มีบ้างหรือเปล่า
ที่ทำไปแล้วตัวเองก็ไม่สบายใจ คนอื่นเห็นแล้วเขาก็ไม่ชอบ
เรามีปิยวาจารึเปล่า ฯลฯ

อันนี้เราไม่ค่อยจะได้พิจารณา ไม่ได้ระลึกถึง
นั่งสมาธิเดินจงกรมปุ๊บ ก็จะเอาสมาธิเดี๋ยวนี้
มาวัดปุ๊บ ตั้งใจปฏิบัติ นั่งสมาธิ เดินจงกรม หาของดี เดี๋ยวนี้
อันนี้ก็ผิดหลักพุทธศาสนา
เราต้องนึก ต้องพิจารณาให้ดี


(มีต่อ 1)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 24 ก.ค.2006, 11:15 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ต้องละความชั่วก่อน

ถ้าเราต้องการพ้นทุกข์ ต้องการความสงบ ต้องการความบริสุทธิ์
ก็มีขั้นตอน คือ ต้องละความชั่วก่อน
เพราะฉะนั้นเราต้องเฝ้าสังเกตตัวเอง
การกระทำก็ดี การพูดจาก็ดี ความคิดก็ดี
เราพยายามศึกษาดู ตั้งใจดู

ธรรมดาเราไม่ค่อยชอบดู เพราะเราไม่ซื่อสัตย์ เราทุจริต
เราไม่กล้า ไม่กล้ามองจุดอ่อน จุดบกพร่องของตัวเอง
การละความชั่วของตัวเองนี่เหนื่อยนะ แล้วเราก็ขี้เกียจด้วย

ปกติใจเราก็นึกแต่ “ให้เขาละความชั่ว”
คนอื่นที่ทำให้เราไม่ถูกใจ เราก็อยากให้เขาเปลี่ยน
เราไม่คิดจะเปลี่ยนตัวเอง เรามองข้ามตัวเองเสมอ

อะไรไม่ถูกใจก็วิ่งไปชนแล้ว
จิตใจของเราก็มักจะเป็นอย่างนั้น

จริงหรือไม่จริงก็ดูใจตัวเอง
ตาเห็นอะไร หูได้ยินอะไร ไม่ถูกใจแล้วเป็นอย่างไร
เห็นอะไร ได้ยินอะไร ไม่ถูกใจก็เกิดกิเลสออกจากภายในจิตใจ
ออกเป็นลักษณะ โกรธ โมโห จิตใจก็วิ่งไปชน อยากให้เขาแก้

ปกติเรามักขะสร้างปัญหา ทำเรื่องเล็กๆ ให้เป็นเรื่องใหญ่
อะไรนิดหน่อย เราก็เกิดอารมณ์ แล้วกิเลสก็ปรุงแต่งไป
ยิ่งพูดกับเพื่อนๆ ในเรื่องที่เราไม่พอใจ
ใครทำอะไรให้เราไม่พอใจ เราก็พูดไปเรื่อยๆ ปัญหาก็ใหญ่ขึ้นๆ
จนอยู่ด้วยกันไม่ได้ เห็นคนอื่นเป็นคนชั่วหมด

ความจริงก็ไม่มีอะไรมากมาย
เราก็มองเห็นแต่เขาเป็นคนชั่ว คนไม่ดี คนบ้า เป็นโรคประสาท
ใจเราก็นึกอยู่อย่างนั้น เพราะไม่ถูกใจ ไม่ชอบใจ
จิตก็ปรุงแต่ง สร้างขึ้นมา แต่ความจริงไม่ใช่เขาเป็นคนชั่ว
ไม่ใช่เขาไม่ดี ไม่ใช่เขาเป็นโรคประสาท

ใจเรานี่ต่างหาก
ความจริงมันก็เหมือนกับเรานินทาตัวเอง ว่าตัวเองว่า
เป็นโรคประสาท เป็นคนชั่ว เป็นคนไม่ดี เป็นบ้า
มีแต่ด่าตัวเองทั้งนั้น


คนมีโทสะ อยู่ที่ไหนก็เป็นอย่างนั้น
จัดห้องแอร์ดีๆ ปรับอากาศดีๆ อาหารการกินดี ห้องน้ำดี
ทุกสิ่งทุกอย่างสบายดี แต่คนที่มีโทสะก็ยังโกรธได้
เพราะยกเอาของเก่าๆ ขึ้นมานึก..... คิด แล้วก็โกรธอยู่อย่างนั้น
ไม่ใช่เพราะเราเจอคนไม่ดีหรอก

ถึงแม้ว่าเราไม่เจอใคร อยู่ดี กินดี ไม่มีอะไร
แต่ก็นึกอดีตขึ้นมา เอาอดีตขึ้นมาทะเลาะกันได้
นี่เป็นธรรมชาติของกิเลส
ถึงแม้ว่าจะอยู่ในอวกาศ คนโกรธก็โกรธอยู่อย่างนั้น
ฉะนั้นที่เราคิดว่า เราทุกข์อย่างนี้เพราะเขาเป็นอย่างนั้น
อันนี้ไม่จริง


นินทาผู้อื่นเท่ากับนินทาตัวเอง

เราต้องพยายามพิจารณาให้เห็นจริงๆ ว่า
การที่เรานึกนินทาผู้อื่นนั้น เท่ากับเรานินทาตัวเอง
เราต้องสร้างความรู้สึกถึงขนาดนั้น
จิตจึงจะสงบได้


ไม่กล้าคิดผิด คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว
เกิดหิริโอตตัปปะ ละอายบาป อายที่จะคิดชั่ว อายที่จะทำชั่ว
โอตตัปปะ คือ กลัว
กลัวว่าสิ่งที่เราคิดไปด้วยโทสะ จะทำให้เราเศร้าหมองทันที
และจะกลับมาหาเราและให้โทษแก่ตัวเราด้วย
อันนี้ก็เป็นความจริงนะ

ถ้าเราสนใจธรรมะจริงๆ มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา
มีศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
เชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้า มีมรรค มีศีล สมาธิ ปัญญา
เชื่อทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
เชื่อว่าเมื่อเราบำเพ็ญ ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วก็จะพ้นทุกข์ได้
ถ้าเราเชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้าจริงๆ

เราก็ต้องพิจารณาดูตัวเอง
ดูว่า เราเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ไม่คอรัปชั่น ไม่โกง รึเปล่า
สิ่งใดเป็นหน้าที่ของตัวเองก็ไม่ขี้เกียจขี้คร้านทำ
แม้จะเหน็ดเหนื่อยขนาดไหน หรือเจ็บเพียงใด ก็พยายามทำ
ความรู้สึกว่าเราเจ็บๆ ๆ ความน้อยใจ เสียใจ เจ็บใจ อะไรๆ ก็มี

แต่ถ้าเราพร้อมที่จะทำลายความชั่วของตัวเอง
เราก็ต้องตั้งใจ..... แล้วก็มีโอกาสที่จะก้าวหน้าได้
ถ้าเราเอาแต่ขี้โกง มักได้
มองข้ามตัวเอง จับผิดคนอื่น แล้วก็บ่นอีก
ก็ไม่มีวันสงบได้ ไม่มีวันพ้นทุกข์ได้
เราก็เสียเวลาอยู่อย่างนั้น


(มีต่อ 2)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 24 ก.ค.2006, 11:21 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ใครๆ ก็ว่ากล่าวตักเตือนได้

มีแต่ความอยาก อยาก “ธรรมะ” แต่ปฏิบัติไม่ถูก
เพราะอะไร ก็เพราะเราไม่ซื่อสัตย์สุจริตต่อตัวเอง
โกหกตัวเองอยู่อย่างนั้น
เพราะฉะนั้นเราต้องสังเกต
เช่นมีบุรุษคนใดคนหนึ่ง ว่ากล่าวตักเตือนเรา
ให้เราสังเกตดูใจของตัวเอง
ปกติจิตใจเราก็จะวิ่งชนเขานั่นแหละ
เราพยายามแก้ตัว ป้องกันตัวเอง
เราไม่ผิด เรารับฟังไม่ได้ จิตก็นึกปรุงไป

ถ้าตามหลักแล้ว
ผู้ปฏิบัติธรรมต้องปวารณาตัวเองกับทุกๆ คนว่า
ถ้ามีอะไรๆ ก็ว่ากล่าวตักเตือนได้

ถ้าเรามีจิตใจอย่างนี้ ก็มีโอกาสที่จะก้าวหน้าได้
แต่ถ้าใครพูดผิดใจนิดหน่อย อารมณ์ขึ้น
อย่างนี้เราปิดทางก้าวหน้า

ถ้าเราสนใจปฏิบัติธรรมจริงๆ ต้องเปิดโอกาสให้ทุกคน
ใครจะคิดอะไรกับตัวเรา ให้ว่ากล่าวตักเตือนได้


เราต้องรับฟังด้วยใจปกติ

ที่จริงแล้ว ใครพูดอะไร จะผิดจะถูกก็ไม่สำคัญ
เราไม่ต้องวิจารณ์ว่าเขาพูดผิด หรือถูก
เขาพูดผิด หรือถูกก็ไม่สำคัญ
สำคัญที่ว่าเราต้องรับฟังได้ ด้วยใจปกติ และใจดี

แล้วก็น้อมเข้ามาพิจารณาดูว่า สิ่งที่เขาพูดไปนั้นจริงหรือไม่
ธรรมดาก็จริง ไม่มากก็น้อย ส่วนมากก็เป็นอย่างนั้น
ใครจะว่าเรา ตำหนิเรา ส่วนมากก็เป็นจริง
ถึงแม้ว่าบางครั้งอาจจะไม่มาก


เราไม่ต้องคิดแก้ตัว

ฉะนั้น เราก็ไม่ต้องปฏิเสธ ไม่ต้องคิดแก้ตัว
ใจเราก็ชอบปฏิเสธ ชอบแก้ตัว
ใครจะพูดอะไร ว่ากล่าวตักเตือนเรา
ปัญญาปลอมๆ ของเราก็วิ่งเข้าชนแล้ว
ปัญญาหรือกิเลสก็ไม่ทราบ ปัญญาทางโลกนะ
ทางธรรมะเรียกว่ากิเลส ทางโลกเรียกว่าปัญญา
ความฉลาดของเราก็วิ่งออกไปแก้ตัว
“ฉันไม่ได้เป็นอย่างนั้น เขาพูดไม่จริง”
นี่ก็ไม่ใช่ลักษณะของคนซื่อสัตย์สุจริต ไม่ใช่ลักษณะของคนดี


(มีต่อ 3)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 24 ก.ค.2006, 11:28 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

คนดีต้องรับฟังได้

ใครจะพูดสรรเสริญเรา นินทาเรา หรือว่ากล่าวตักเตือนเรา
เราต้องฟังได้ จึงจะเป็นคนดี เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต
อันนี้เราต้องพิจารณาดูว่า เรามีลักษณะอย่างนี้หรือไม่

การปฏิบัติในเบื้องต้น เราก็ต้องพัฒนาตัวเอง
ถ้าเรามีลักษณะอย่างนี้ เราก็ต้องแก้ ถ้าไม่แก้ เราก็ปิดทาง
“ความอยาก” ก็เพิ่มขึ้นๆ
ก้าว ก็ก้าวไม่ได้ มีแต่หยุดอยู่และถอย
มีแต่ “ความอยาก” อยากได้ธรรมะ อยากสงบ
แต่การปฏิบัติก็ไม่ก้าวหน้า

ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

นี่ก็เป็นการปฏิบัติเบื้องต้น ที่เราต้องเข้าใจ
ถ้าเราเข้าใจธรรมะข้อนี้ ใจเราก็เข้าสู่ความสงบ
ถ้าเรารู้สึกอย่างนี้จริงๆ ใจเราก็ต้องสงบ..... เพราะอะไร
เราสังเกตดูจิตใจตัวเองนะ เราคิดอะไรอยู่บ้าง
เราก็คิดนินทาคนโน้น บ่นว่าคนนี้
คนนั้นเป็นคนโง่ คนนี้เป็นอะไรๆ ที่เราก็นึกบ่น นึกว่าอยู่ในใจ
อันนี้เป็นมโนกรรม..... มโนกรรม กายกรรม วจีกรรม

กรรม คือ การกระทำ
การกระทำทางกาย เป็นกายกรรม
การกระทำทางวาจา เป็นวจีกรรม
การกระทำทางใจ ก็เป็นมโนกรรม คือ คิด คิด คิด

ถ้าเราเข้าใจว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ใจเราก็สงบ
ใจที่บ่น นินทา คนนี้ คนนั้นก็หมดไป


ถ้ามีใครสักคนหนึ่งทำอะไรไม่ถูกใจเรา
เราก็นิมิตคนนั้นขึ้นมานินทาอยู่อย่างนั้น
นึกนินทานึกบ่นอยู่อย่างนั้น ซึ่งก็เท่ากับนินทาตัวเอง

สิ่งใดที่เราคิดชั่วไปเราก็ต้องรับหมด เราได้ชั่วแน่นอน
ถ้าเรารู้ธรรมะจุดนี้ แล้วก็เกิดหิริ โอตตัปปะ
ละอาย..... ละอายการคิดชั่ว นินทาคนนี้ บ่นว่าคนนั้น
กลัว เพราะรู้ว่าสิ่งใดที่เรานึกไป ว่าไป ก็ต้องกลับมาหาเราทั้งนั้น
ถ้าเรารู้อย่างนี้แล้ว เราก็ต้องระวังตัว
ระวังทั้ง กาย วาจา จิต
ไม่ให้กระทบคนอื่น ไม่ทำให้คนอื่นเป็นทุกข์

แม้แต่เราจะไม่ถูกใจก็ตาม
เราก็มุ่งแต่คิดดี พูดดี ทำดี อยู่อย่างนั้น
ไม่ถูกใจขนาดไหนก็คิดดีได้
เพราะเรารู้ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว


ไม่ใช่เขาทำถูกใจเราจึงจะคิดดีกับเขา ไม่ใช่นะ
แม้แต่เราไม่ชอบเขา ไม่ถูกใจ ไม่ชอบ ความรู้สึกลึกๆ ก็น่าโกรธ น่าโมโห
แต่ถ้าเราค่อยๆ ปฏิบัติ จนค่อยๆ เข้าใจว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”
ปัญญามันจะบอกว่า “คิดชั่วไม่ได้”

ถ้าเป็นอย่างนี้ จิตของเราก็ต้องสงบแล้ว
ความฟุ้งซ่าน วุ่นวายใจ ก็ค่อยๆ หมดไปๆ


(มีต่อ 4)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 24 ก.ค.2006, 11:36 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ธรรมะยังไม่ถึงใจ

ถ้าเราชอบบ่นอยู่อย่างนั้น ก็แสดงว่าธรรมะยังไม่ถึงใจ
“ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ที่เราได้ยินได้ฟังตั้งแต่เล็กๆ
ตั้งแต่คุณยาย คุณแม่สอนเรา
อันนี้ก็อยู่ในสมอง ถึงสมอง แต่ยังไม่ถึงใจ
สมองกับใจก็อยู่ใกล้ๆ กัน จะพูดว่าอยู่ติดกันก็ได้
แต่..... ไม่ถึงใจ
กิเลส..... ความรู้สึก อัตตาตัวตน..... กั้นไว้
กั้นธรรมะไม่ให้ถึงใจ ใจเราจึงวุ่นวายอยู่อย่างนี้
เห็นอะไร ได้ยินเสียงอะไร ไม่ถูกใจ ก็อารมณ์ขึ้น

ถ้าเราเข้าใจหลักความจริงที่ว่า
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว หรือ หลักอริยสัจ 4 ก็ดี
เมื่ออะไรจะมากระทบก็ตาม กิเลสเกิดขึ้นอย่างไรก็ตาม
จิตก็ไม่ฟุ้งซ่าน จิตก็ไม่คิดอาฆาตพยาบาท ไม่นึกปองร้ายเขา
เพราะถ้าเรานึกปองร้ายเขา ความชั่วนั้น ก็ต้องกลับมาหาเรา
เราต้องมองเห็นจุดนี้ด้วยปัญญา
ถ้ามองไม่เห็น ก็หาความสงบไม่ได้

เพราะอยู่ที่ไหนเราก็มีแต่ความไม่ถูกใจ
ใจเรามัน ก็โง่อยู่อย่างนั้น
เหตุการณ์เกิดในอดีต เราก็นึกขึ้นมา ยกขึ้นมา จำขึ้นมา
นึกอย่างนั้นอย่างนี้ นึกพยาบาทอาฆาตอยู่อย่างนั้น สติปัญญาไม่ทัน


ถ้าเราเกิดประสบการณ์ทุกข์ โกรธ ไม่พอใจ
ให้รีบยกขึ้นมาพิจารณา..... ใครผิด ใครถูก
แต่จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่ดูว่า ใครผิด ใครถูก
ให้ดูตัวเรา ให้เห็นว่าตัวเราผิด ผิด ผิดนั่นแหละ
ความยินร้าย ไม่พอใจ โกรธ..... ฯลฯ..... มันผิด


ถ้าเรานึกได้อย่างนี้ ก็เห็นชัด
คำพูด ความคิดที่เรานึกไปนั้นก็เหมือนกับนินทาตัวเองนี่แหละ
ถ้าเราคิดด่าเขา เราก็ด่าตัวเอง
ใครทำอะไรไม่สวยจริงๆ ด้วย เราก็บ่นไป นินทาไป
คำพูดเหล่านั้นก็กลับมาหาเราหมด เพราะเป็นกฎตายตัวอยู่แล้ว
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

เรื่องกรรมนี่น่ากลัว
มีโยมผู้หญิงคนหนึ่งที่อาจารย์รู้จัก เขาเป็นทุกข์ เขาอยู่บ้านที่ต่างจังหวัด
สามีไปทำงานที่กรุงเทพฯ มีเมียน้อย เขาก็เป็นทุกข์เป็นธรรมดา
เขาทะเลาะกับสามี ว่าสามี วันหนึ่งก็พูดรุนแรงกับสามีว่า
“ฉันอยากจะตัดแขนของเมียน้อย” พูดตอนเช้า
พอตอนเย็นเกิดอุบัติเหตุรถคว่ำแขนตัวเองขาด
นี่ก็เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น

อันนี้เราก็ต้องพยายามศึกษาจนเข้าใจว่า
เราต้องพยายามทำความดี ละความชั่ว
ตรวจตราว่า เรายังคิดชั่วไหม พูดชั่วไหม ทำชั่วไหม
พยายามละ เพราะทำชั่วได้ชั่วแน่นอน

ทีนี้เรา ก็ต้องพยายามหัด “คิดดี พูดดี ทำดี” กับเขา
หัดทำอะไรตรงกันข้ามกับความรู้สึก คือตัณหา ฝืนความรู้สึกให้ได้
เขาทำอะไรให้เราไม่ถูกใจ การแสดงออก
ทั้งทางกาย วาจา จิต ของตนเองตามนิสัยเก่าก็มี
แต่ถ้าเชื่อพระพุทธเจ้าเราก็ต้อง “ดัด”..... จริต ฝืนทำดู

คือการทวนกระแส ทวนกิเลส ทวนตัณหา
หัดคิดดี พูดดี ทำดี ดูซิเป็นอย่างไร เปรียบเทียบดู
เราต้องมีจิตใจกล้าหาญที่จะทดลองอย่างนี้
อันนี้เราก็ต้องกล้าหาญ ต้องทดลอง
ถ้าเราไม่ทดลอง ปัจจุบันอยู่อย่างไร อนาคตก็จะอยู่อย่างนั้น


(มีต่อ 5)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 24 ก.ค.2006, 11:42 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ภาระมาก !

ถ้าเราไม่ตั้งใจปฏิบัติ
เราก็อ้างเหตุผลต่างๆ อ้างภาระ อ้างสิ่งภายนอก
ว่าเป็นเหตุที่ทำให้เราปฏิบัติไม่ได้จริงจัง..... ความจริงไม่ใช่
ใครจะอยู่ในสังคม รับผิดชอบมากขนาดไหนก็ตาม
ประชุมนี่ ประชุมนั่น ประสานนี่ ประสานนั่น
อันนี้ก็ไม่ใช่เหตุที่เราจะปฏิบัติจริงจังไม่ได้

อย่างนี้แหละ เรียกว่า เราขี้โกง ไม่ซื่อสัตย์สุจริต
คอรัปชั่น ใจไม่ดี ใจชั่วนี่แหละ
สิ่งใดที่เราไม่ได้ทำ
เราก็ไม่ยอมรับว่า เราไม่ได้ตั้งใจทำ
โยนให้คนอื่นรับผิดชอบ

ที่จริงแล้วไม่ว่าภาระจะมากขนาดไหน
เราก็พูดอยู่ ทำอยู่ คิดอยู่ ตลอดวัน
การปฏิบัติเบื้องแรกที่เราต้องทำคือ อบรมปัญญา คิดให้ถูก
ครูบาอาจารย์ของเราก็สอนว่า “ภาวนา คือ คิดให้ถูก”
เมื่อเราถูกอารมณ์กระทบ เรามีเวลาสัก 5 นาที 10 นาที ที่จะคิดไหม
คิดผิดเป็นอย่างไร คิดถูกเป็นอย่างไร
ความคิด ก็ไม่ขึ้นกับอิริยาบถอะไรทั้งนั้น อยู่ที่ไหนก็คิดได้
ปกติพอกระทบอารมณ์ เราก็แสดงอาการโมโห ว่าไป
แต่ถ้าเรา ปุ๊บ ตั้งสติขึ้นมา

ถ้ามีเวลาสัก 5 นาที 10 นาที ก็คิดแก้ คิดสอนตัวเอง
ผิดอย่างไรก็ระลึกได้ ตรวจตัวเองดูว่า
คิดผิดอย่างไร พูดผิดอย่างไร ทำผิดอย่างไร
ถ้าเราสุจริต เราก็กล้า กล้ามองเห็นความจริงได้
ก็ไม่มีอะไร ไม่ต้องใช้เวลามาก เพราะอะไร
เพราะเห็นว่าผิด พูดผิด ทำผิด คิดผิด

ถ้าเรามีจิตใจซื่อสัตย์ ก็รู้จัก ก็สอนใจตัวเอง เราผิดอย่างนี้ๆ
ถ้าต่อไปเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ เราต้องทำอย่างนี้ พูดอย่างนี้ คิดอย่างนี้
อย่างน้อยแค่นี้เราก็ตั้งสติได้
อันนี้ไม่ต้องใช้เวลา เพราะไม่เกี่ยวกับอิริยาบถอะไรทั้งนั้น
นี่แหละการปฏิบัติธรรม
พยายามสร้างปัญญา ให้คิดดี คิดถูก นั่นแหละ
ถ้าเราตั้งใจปฏิบัติ ก็ทำอย่างนี้
คอยตามดูว่า เราทำอะไรอยู่ พูดอะไรอยู่ คิดอะไรอยู่

เมื่อเกิดอารมณ์ ก็สอนตัวเองไปเรื่อยๆ
หลักง่ายๆ คือ ไม่แน่
เกิดอารมณ์ปุ๊บ ไม่พอใจปุ๊บก็ “ไม่แน่”
คิดนินทาเขาก็ “ไม่แน่”
แล้วก็สอนว่า อย่าเชื่อ ความคิดที่เกิดจากอารมณ์กิเลส
เกิดความรู้สึกนึกคิดก็ “ไม่แน่ ไม่แน่”
ถ้าเกิดอารมณ์ก็เอา “ทุกข์เพราะคิดผิด” มาตั้งไว้ข้างหน้า


ดูถูกดูหมิ่นเขาใช้ไม่ได้

เราก็ต้องเปรียบเทียบ
ธรรมะเป็นอย่างนี้ ความรู้สึกของใจจริงๆ เป็นอย่างไร
“ทุกข์เพราะคิดผิด” เราจึงทุกข์ เราจึงไม่พอใจ
ไม่ใช่ว่าเขาเป็นอะไรๆ
ถ้าเรามองดูตัวเอง การปฏิบัติก็ง่ายขึ้น การปฏิบัติก็ไม่ยุ่งยาก
เพียงแต่ตรวจดูกาย วาจา จิต
ถ้าเกิดความรู้สึกไม่พอใจ ก็มีแต่ปล่อยวาง

ความคิด คิด คิด..... ก็ไม่แน่
เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน..... ปล่อยวาง
ความรู้สึก เป็นทุกข์ ไม่พอใจ ก็ปล่อยไป
ไม่ต้องคิดปรุงแต่งไป
อย่าคิดปองร้าย อาฆาต พยาบาท..... อันนี้ใช้ไม่ได้

ดูหมิ่นดูถูกเขาใช้ไม่ได้
ความรู้สึกสักแต่ว่าความรู้สึก
ความคิดสักแต่ว่าความคิด
อันนี้เป็นตัวปัญญา


ความรู้สึก ความคิด ไม่พอใจ นี้ออกมาจากโทสะของเรา
ออกมาจากกิเลส ราคะ โทสะ โมหะ ของเรา
กิเลสเป็นพลังใหญ่ ทำให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจ
คิดปองร้าย ดูหมิ่น ดูถูกเขา
ความรู้สึก ความคิดเกิดขึ้นมา พยายามสับ สับ สับ
เอาดาบ คือปัญญามาสับ สับ สับ..... ตัด..... ปล่อย
การปฏิบัติก็ง่าย


(มีต่อ 6)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 24 ก.ค.2006, 11:52 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เทวดาก็ช่วยไม่ได้

เราคิดแค่นี้ก็ยังคิดไม่ได้ จะทำอย่างไร
อุตส่าห์ปฏิบัติมา 30 ปี 40 ปี
เมื่อเกิดอารมณ์ คิดแค่นี้ก็คิดไม่ได้
จะให้ใครช่วย ให้เทวดาช่วยหรือ
เทวดาก็ช่วยไม่ได้หรอก เพราะไม่มีช่องว่างที่จะให้เทวดาช่วย
เพราะเต็มไปด้วยมาร ตั้งแต่ขันธมาร กิเลสมาร
เทวบุตรมาร อภิสังขารมาร มัจจุราชมาร เต็มอยู่อย่างนั้น
เทวดาเข้าไปช่วยไม่ได้
เราต้องช่วยตัวเอง ต้องยอมรับความจริง
ต้องเชื่อธรรมะ น้อมเข้าไปหาธรรมะ ไม่ใช่คิด “ธรรมะ”



“คิดดี พูดดี ทำดี มีความสุข”

การปฏิบัติของเรานั้น
เรามักจะคิด เรียกร้องธรรมะให้มาช่วยเรา
ที่ถูกแล้ว เราต้องช่วยเหลือตัวเอง
ต้องหมั่นพิจารณา..... โยนิโสมนสิการ
เราต้องน้อมเข้าไปหาธรรมะ
เอากาย วาจา จิต ไปละความชั่ว ทำความดี
พยายามชำระจิตใจให้สะอาด

ต้องพยายามใช้ปัญญามาพิจารณาดู คือโยนิโสมนสิการ
พยายามคิด พิจารณาดูอยู่อย่างนั้น
ทุกข์เกิดขึ้นเมื่อไร เราก็คิดผิด
เมื่อกระทบอารมณ์ เราก็ต้องรีบคิดดี พูดดี ทำดี
“คิดดี พูดดี ทำดี มีความสุข”

ธรรมะข้อนี้ใครก็รู้จัก เราก็ได้ยินมาตั้งแต่เล็กๆ แต่ยังไม่ถึงใจ
ใจเราก็ยังคิดสกปรกอยู่
กระทบนิดเดียวก็คิดสารพัด
เห็นอะไร ได้ยินอะไร ก็เกิดน้อยใจ เสียใจ ไม่พอใจ ครุ่นคิดสารพัด
พยาบาท ปองร้าย สู้กัน ชนกันอยู่อย่างนั้น
ถ้าเราเข้าใจธรรมะนิดหน่อย

เอา คิดดี พูดดี ทำดี มีความสุข ตั้งไว้ที่หัวใจ
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ตั้งขึ้นมา
ทุกข์เพราะคิดผิด
อย่าเชื่อความรู้สึกนึกคิด
อะไรก็ไม่แน่ ไม่แน่ ไม่แน่


ถ้าเรามีสติระลึกได้ เอาธรรมะเหล่านี้มากรองอยู่อย่างนั้น
การปฏิบัติก็ง่ายมาก
ถ้าเรายึดธรรมเหล่านี้มาเป็นหลักในการปฏิบัติ..... ก็ไม่มีอะไร
เห็นอะไร ได้ฟังอะไร อะไรกระทบอารมณ์ ใจก็สงบ
เราอาจจะเกิดความรู้สึกไม่พอใจ หรือทุกข์อาจจะเกิดขึ้นก็ได้

แต่จิตไม่ฟุ้งซ่าน จิตสงบได้ ทำใจสงบได้
แม้ยังรู้สึกเป็นทุกข์ เพราะเรายังมีกิเลส
บางครั้งเมื่อรู้สึกน้อยใจ เรารีบจับความรู้สึกที่หน้าอก
ความรู้สึกทางกายเกิด ใจก็ไม่พุ่งออกไปชนกับเขา
ไม่ดูถูก ดูหมิ่นใคร ไม่ต้องคิดอะไร


จับความรู้สึกทางกายนี่แหละ ที่หน้าอก
ความรู้สึกเป็นทุกข์ เราก็ต้องรู้จักว่า กิเลสกำลังเกิด
แล้วก็พิจารณาดูว่าไม่แน่ ความรู้สึกสักแต่ว่าความรู้สึก
เลยเป็นเรื่องเล็ก ไม่เป็นเรื่องใหญ่โต เพราะเราไม่ปรุงแต่ง
ถ้าเราทำได้อย่างนี้ เราก็ปฏิบัติถูก


ใจดี ใจดี

ฉะนั้นเราต้องพยายามทำใจดี หัดทำใจดี คิดดี พูดดี ทำดี
ทำใจดีได้ ก็เป็นคนดี ถ้าเราเป็นคนดี เราก็มีความสุข
ใครๆ ก็คิดดี พูดดี ทำดี กับเรา


เมื่อเราเป็นคนดี คิดดี พูดดี ทำดี ใจดีแล้ว
รอบด้านของเราใครๆ ก็คิดดีกับเรา พูดดีกับเรา ทำดีกับเรา
ถ้าเรารอให้คนอื่นๆ เขาเป็นคนดี ใจดี เราไม่มีวันเจอความสุขได้
เราต้องทำก่อน
ถึงแม้ว่าเขาคิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำไม่ดี กับเราก็ตาม
ถ้าเรายังคิดดี พูดดี ทำดีอยู่ เราก็มีความสุขอยู่เหมือนเดิม

อันนี้ฝากไว้พิจารณา
ถ้าเรามีศรัทธาในธรรมะจริงๆ เราก็ต้องพิจารณาจริงๆ
อย่าทำเล่นๆ
ทำเล่นๆ ก็เป็นอย่างนี้..... ไม่เข้าถึงใจ

เพราะธรรมะเป็นของจริง
เราต้องทำจริง พิจารณาจริงๆ
คิดจริง พูดจริง ทำจริง แล้วเราก็จะเจอของจริง


แต่เราก็ไม่ต้องเหนื่อยหรอก
คิดจริงๆ ก็สบายๆ
เหนื่อยแล้วก็นั่งพิงสบายๆ ไม่ต้องทำอะไรมาก
คิดจริงๆ คิดให้ถูก คิดตามหลักธรรม
นั่นคือโยนิโสมนสิการ............................................... เอวัง


(มีต่อ 7)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 24 ก.ค.2006, 12:08 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อย่าเป็นทาสของความคิด
เทศนาที่วัดป่าสุนันทวนาราม
วันที่ 29 สิงหาคม 2537


ดอกไม้ ......................................................... ดอกไม้


ให้จิตอยู่กับปัจจุบัน

ที่พวกเรามาบำเพ็ญสมาธิ ภาวนา ทำจิตใจให้สงบ
ก็เพื่อศึกษาปัจจุบันธรรม ให้จิตอยู่กับปัจจุบัน
ปัจจุบันคือเดี๋ยวนี้
ปกติจิตใจของเรามักจะคิดอยู่กับอดีต หรืออนาคตเป็นส่วนใหญ่
เราไม่ค่อยรู้จักว่าปัจจุบันคืออะไร
ในการศึกษาธรรมะ ปัจจุบันธรรม สำคัญมาก
เพราะอดีตก็ผ่านไปแล้ว อนาคตก็ยังมาไม่ถึง

พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนว่า
อดีตผ่านไปแล้ว อย่าไปยึด อย่าไปคิด
เรามักครุ่นคิดอยู่ในอดีตที่ผ่านไปแล้ว คิดแล้วก็แค้นใจ เสียใจ น้อยใจ
หรือไม่จิตก็คิดห่วงกังวลถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึง คิดแล้วก็ทุกข์

อันนี้พระพุทธเจ้าว่าไม่มีประโยชน์
ถ้าศึกษาปัจจุบันธรรม เราก็เข้าใจทั้งอดีตและอนาคต
เพราะอดีตเป็นเหตุ ปัจจุบันเป็นผล
ปัจจุบันเป็นเหตุ อนาคตเป็นผล
ฉะนั้น ปัจจุบันจึงเป็นที่รวมของเหตุและผล
ปัจจุบันนี่แหละเป็นเหตุ


เหตุ ก็มีเหตุดี กับเหตุไม่ดี เราเลือกทำอะไรก็ได้
ทำดีก็ได้ ทำชั่วก็ได้ เราก็เลือกเอา
ถ้าเราไม่ได้ปฏิบัติ ไม่ได้ศึกษาธรรมะ เราก็ทำตามอำเภอใจ
ทำตามความเคยชิน หรือว่าทำตามกิเลส ตัณหา

การกระทำก็มีทั้ง ทางกาย วาจา จิต
การกระทำเรียกว่า “กรรม”
มี 3 อย่างคือ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม
สิ่งที่เราทำไป เรียกว่า “ทำ” นี่แหละคือการกระทำ
การกระทำก็ทำตามความคิด คิดดีก็ได้ คิดชั่วก็ได้
พูดดีก็ได้ พูดชั่วก็ได้ ทำดีก็ได้ ทำชั่วก็ได้


จิตอยู่กับปัจจุบันนั้นเป็นอย่างไร

การปฏิบัติธรรม คือการทำใจให้สงบ นั่งสมาธิ เดินจงกรม
ไม่ให้คิดถึงอดีต ไม่ให้คิดถึงอนาคต
ปัจจุบันนี้ กายนั่งอย่างไร นั่งอยู่ เดินอยู่ ยืนอยู่ นอนอยู่ ก็รู้
นี่เป็นปัจจุบัน ถ้าเราสามารถกำหนดรู้การ ยืน เดิน นั่ง นอน
รู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
รู้กายมีเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นต้น

นี่ก็เป็นปัจจุบัน..... เป็นการทำเหตุดีในปัจจุบัน
เราสามารถกำหนดรู้ได้ เพราะกายก็มีอยู่เดี๋ยวนี้
เราปฏิบัติเช่นนี้ ก็เพื่อให้อยู่กับปัจจุบัน
พยายามไม่ให้คิดไปอดีต อนาคต

ถ้าเราสังเกตดูก็จะเห็นว่า
จิตที่ไม่สงบคือจิตที่ไม่อยู่กับปัจจุบัน คิดไปอดีต คิดไปอนาคต
ยิ่งคิดมาก คิดไปๆ ก็เรื่องเก่าๆ ทั้งนั้น
ถ้าเรายังคิดไปอดีต คิดไปอนาคต เราก็ยังไม่เข้าใจธรรมะ

จิตไม่สงบ เพราะจิตไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน
เมื่อจิตไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน ก็ไม่สามารถเข้าใจธรรมะได้
มีแต่ปรุงแต่งอดีตที่ผ่านไปแล้ว
ปรุงแต่งไปอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ทำอะไรก็ไม่ได้
การศึกษาธรรมะคือ การศึกษาปัจจุบันธรรม
เราต้องพยายามสร้างศรัทธา คือ ศรัทธาในการทำใจให้สงบ
ทำใจให้อยู่กับปัจจุบัน


แล้วก็คิด “ธรรมะ” อยู่อย่างนั้น

บางทีเราก็ปฏิบัติกันมาเป็นปีๆ หลายๆ ปีก็ตาม เราก็ครุ่นคิดอยู่อย่างนั้น
คิดๆๆ คิดอดีต คิดอนาคต แม้แต่ “ธรรมะ” ก็มีแต่คิด
องค์นี้สอนอย่างไร หนังสือธรรมะสอนอย่างไร แล้วก็คิด
ก็คิด “ธรรมะ” อยู่อย่างนั้น
ธรรมะในหนังสือบ้าง ธรรมะที่ได้ยินได้ฟังบ้าง
ของเก่าๆ เอามาคิด คิด คิด

การพิจารณาธรรมะ ก็ไม่ใช่อย่างนั้น
เราต้องพยายามทำจิตทำใจให้สงบ
ถ้าสามารถกำหนดรู้ปัจจุบันได้ ก็สงบ ไม่ต้องคิดอะไร
ถ้าเรากำหนดดูปัจจุบัน แล้วเราก็จะรู้จัก
เช่นมีใครนินทาเรา ว่าเรา ด่าเรา ดูหมิ่น ดูถูกเรา
ไม่ให้เกียรติเรา หรือทำอะไรๆ ที่ไม่ถูกใจเรา
ถ้าเรากำหนดรู้เท่าทัน เรียกว่า มีสติ มีปัญญา จิตก็สงบได้

จิตที่จะออกไปเป็นปฏิกิริยาก็มีอยู่ อยู่ที่เราเคยอย่างไร
เมื่อมีคนนินทา เราเคยรู้สึกอย่างไร คิดอย่างไร จิตมันก็ปรุงไป
บางคนอาจจะคิดอาฆาตพยาบาท คิดปองร้าย คิดจะทำลายเขา
คิดอยากจะฆ่าเขา บางคนอาจจะคิดน้อยใจ บางทีก็คิดทำลายตัวเอง
พอน้อยใจก็คิดจะฆ่าตัวตายก็มี บางทีก็คิดจะหนีก็มี
เมื่อเราถูกนินทาปกติเราเคยคิดอย่างไร
ปัจจุบันก็จะมีความรู้สึกไปในทางนั้น

ทีนี้เมื่อเรารู้ว่าปัจจุบันเป็นเหตุ อนาคตเป็นผล
เราก็ต้องทำเหตุให้ดี ทำให้ถูก


เมื่อถูกนินทา ถูกว่า เราเกิดความรู้สึกอย่างไร
ให้เราตามรู้ ยกเอาศีล สมาธิ ปัญญา ขึ้นมา
ตั้งสติ ตั้งศีลขึ้นมา ไม่ให้เกิดยินดี ยินร้าย
ศีล คือไม่ยินดี ไม่ยินร้าย


ขณะที่ถูกนินทาก็ไม่ให้เกิดยินร้าย
บางทีก็เกิดตัณหา อยากจะปองร้ายเขา อันเป็นบาปมีโทษ
ถ้าใจเป็นศีล ก็ตั้งเจตนาระงับอันนี้
ต้องมีหิริโอตตัปปะ..... ไม่ยินดี ยินร้าย

เขานินทา เขาพูดอะไร เขาทำอะไรให้เราไม่ถูกใจ
ก็ดูว่า เรารู้สึกอายไหม กลัวไหม
ถ้ารู้สึกละอาย กลัว มีหิริ โอตตัปปะ
สติปัญญาก็จะรีบดับรีบระงับความไม่พอใจเสีย
จิตก็ทำงาน เพื่อระงับอารมณ์ยินร้ายที่จะเกิดขึ้น
อันนี้แสดงว่าใจเป็นศีลแล้ว มีหิริ โอตตัปปะแล้ว

แต่ถ้าจิตคิดเป็นวิภวตัณหา คิดปรุงแต่งไปด้วยตัณหา
พูดง่ายๆ ก็คือ เกิดอารมณ์ยินร้าย
เช่นนี้แสดงว่า ใจไม่เป็นศีล ไม่มีหิริ โอตตัปปะ
ปกติใจเรามักจะคิดว่า “เขาไม่มีหิริ โอตตัปปะ”
ถ้าคิดอย่างนี้จิตมันก็ปรุงไป คิดไปสารพัดอย่าง
ของเก่าๆ ข้อมูลที่มีอยู่ รวบรวมเอามาหมด
แล้วก็ปรุงไปแต่งไป ยิ่งคิดก็ยิ่งเกิดอาฆาตพยาบาท
หรือบางทีก็อาฆาตพยาบาทตัวเอง คิดน้อยใจ เสียใจ

.....แล้วแต่ใจนะ.....


(มีต่อ 8)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 24 ก.ค.2006, 12:16 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ดูหมิ่นเขา ตำหนิเขา นินทาเขา

บางคนก็คิดออกไปข้างนอก คิดดูหมิ่นเขา ตำหนิเขา
นินทาเขาสารพัดอย่าง
จิตบางคนก็เกิดน้อยใจ ในที่สุดก็อยากหนี
บางครั้งก็อยากหนีจากชีวิต คิดจะฆ่าตัวตาย
อันนี้ให้เราสังเกตว่าจิตไปทางไหน
ถ้าคิดอย่างนี้ เรียกว่า ไม่มีหิริ โอตตัปปะ จิตก็ปรุงแต่งไป

ถ้าเราเข้าใจแล้วว่าอะไรถูก ก็ไม่ต้องคิดอะไรมากมาย
ถ้ามีความรู้สึกยินร้ายก็ต้องมีความรู้สึกละอาย กลัว
มีหิริ โอตตัปปะ แล้วนิ่งเฉย

ไม่คิดว่า เขาไม่ดี เขาไม่น่า เขา..... เขา..... เขา..... ไม่ให้คิด
มีเขา ก็ต้องมีเรา
ถ้าเอา “เขา” มาคิดปรุงไป “เรา” ก็เกิด
มีเรามีเขา


ถึงเขาจะไม่ดีอย่างไรก็ตาม มีเขาก็มีเรา
อันนี้ไม่ใช่ทางพุทธศาสนา

การปฏิบัติทางพุทธศาสนาก็เพื่อไม่ให้มีตัวตน
ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เป็นอนัตตา
การปฏิบัติก็เพื่อทำลายความรู้สึกว่ามีตัวตน


อันนี้สำคัญ เราต้องรู้จัก พยายามพิจารณา มองเห็นให้ชัด
พยายามให้มีสติที่หัวใจ
เมื่อเกิดอารมณ์ก็ต้องรีบระงับ รีบระงับ
พยายามสร้างเหตุดี

ถ้าเราสามารถมี หิริ โอตตัปปะ มีสติ มีศีลตรงนี้ได้
เรียกว่า มีเหตุดี ต่อไปในอนาคต ผลก็ดี จิตไม่หวั่นไหว
ใครจะนินทา สรรเสริญ จิตก็เป็นปกติ
ใครจะนินทา ใครจะพูดอย่างไร ถ้ารักษาใจให้สงบได้ เรียกว่าเป็น ปกติ

ศีล คือปกติ คือสงบนี่แหละ
เราสามารถทำใจให้สงบ เป็นปกติ ไม่ให้ปรุง เรา-เขา
เรียกว่าใจเป็นปกติ ใจเป็นศีล

ถ้ากระทบอารมณ์แล้วคิดมาก ก็ผิดปกติมาก ฟุ้งซ่านไม่สงบ
ถ้าเราเข้าหลักธรรมปฏิบัติ เมื่อเกิดอารมณ์ขึ้น
ก็รีบตั้งเจตนาให้ถูกต้องได้
เพื่อไปทางมัชฌิมาปฏิปทา คือ กลางๆ สงบ เฉยๆ คือตั้งสติได้
อย่างนี้เรียกว่า เราเข้าใจในข้อวัตรปฏิบัติ

ฉะนั้น เมื่อกระทบอารมณ์ เราก็ไม่ต้องคิดอดีต
ไม่ต้องคิดถึงอนาคต ปฏิบัติที่ปัจจุบัน

เมื่อกระทบอารมณ์ต่างๆ เราก็รู้อยู่ว่า
จิตจะเกิด ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ อย่างไร
เราต้องมีข้อวัตรปฏิบัติ
อริยมรรคมีองค์ 8 คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ตั้งขึ้นมา
เรียกว่า เป็นการสร้างเหตุที่ดีในปัจจุบัน
เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นมากที่เราจะต้องทำใจให้สงบ

ต้องทุ่มเทสติปัญญาของเราทั้งหมด ต้องศึกษา
เพราะเรากระทบอารมณ์อยู่ทุกวินาที
เราต้องพยายามให้มีสติสัมปชัญญะ มีปัญญา
พยายามศึกษาอารมณ์อยู่อย่างนี้
ตั้งทิศตั้งเจนาให้มันถูกต้อง
ถ้าตั้งทิศผิด มันก็ฟุ้งซ่าน คิดไปเรื่อยๆ


ศีลดี จิตก็ไม่รุนแรง ไม่ฟุ้งซ่าน

ทีนี้ อาการที่จิตมีศีลดีเป็นอย่างไร จิตเป็นอย่างไร
ศีลดี จิตก็ไม่รุนแรง สงบ
เมื่อกระทบอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา จิตก็ทุกข์อยู่ แต่จิตไม่ฟุ้งซ่าน
เราอยู่ในโลกนี้ ก็ต้องกระทบอารมณ์ไม่น่าปรารถนา เสื่อมลาภ
เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ เป็นธรรมดา
เมื่อกระทบอารมณ์เหล่านี้ จิตใจก็มีลักษณะเศร้าๆ หนักๆ
เป็นทุกข์ ไม่สบายใจ แต่ว่า จิตไม่ฟุ้งซ่าน คือ ไม่คิดนั่นแหละ

เช่น ถ้าหนาวมากเราก็ไม่พอใจ แต่เราก็ไม่ต้องคิดอะไร
เพราะเป็นธรรมชาติ อากาศหนาวมากไม่ทำให้ฟุ้งซ่าน
ร้อนมาก เราก็ไม่ชอบ ต้องทำใจสงบ
ใครจะนินทาบ้าง หรือเห็นอะไร ได้ยินอะไรที่ไม่ถูกใจ
จิตก็ไม่ต้องคิดอะไร
มันก็ธรรมดา..... ธรรมดา แล้วก็ทำใจให้สงบ


(มีต่อ 9)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 24 ก.ค.2006, 12:28 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สักแต่ว่าเวทนา สักแต่ว่าคิด

แม้จะเกิดอารมณ์ที่ไม่สบายใจ ก็พยายามพิจารณาว่า
ความรู้สึกเวทนานี้ ก็ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน
ทุกขเวทนาทางใจก็ดี ทุกขเวทนาทางกายก็ดี
ก็พิจารณาเวทนาว่า สักแต่ว่าเวทนา เป็นเรื่องธรรมดา
พยายามมองเห็นชัดด้วยสติว่า เวทนาไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน
เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สักแต่ว่าความรู้สึก


แม้จะมีทุกขเวทนาทั้งใจทั้งกายก็ตาม
ก็สักแต่ว่าเวทนา ไม่ต้องคิดอะไร
สักแต่ว่ากาย สักแต่ว่าความรู้สึก สักแต่ว่าจิต

แม้แต่คิดไม่ดีก็ตาม ก็กำหนดว่า สักแต่ว่าคิดชั่ว อกุศลธรรม
ธรรมะก็มีกุศลธรรม อกุศลธรรม อพยากตธรรม
ความคิดไปทางดี ความคิดไปทางชั่ว ความคิดทางกลางๆ

แม้แต่จิตคิดอยู่ เราก็พยายามกำหนดว่า “สักแต่ว่าคิด”
ไม่ให้มีความหมาย ไม่ให้มีตัวตนในความคิด
คือไม่ให้ยึดมั่น ถือมั่น นั่นแหละ
บางทีก็ห้ามไม่ได้ ก็ธรรมดา
คิดดีบ้าง คิดชั่วบ้าง บางทีก็ห้ามไม่ได้ดอก
ก็กำหนด “สักแต่ว่าคิด” แล้วก็ดับไป ไม่ยึดมั่นถือมั่น
ถ้ามีสติปัญญา ก็รีบกำหนด..... กำหนดปุ๊บก็ดับ

มีสติมีสัมปชัญญะ เฝ้าดูความคิด ตามดูความคิด
ความคิดเกิดขึ้นมา ปัญญาเกิดพร้อมกัน ความคิดก็ดับ
คิดนิดหน่อยนี่แหละ คิดไม่ดีปุ๊บก็ดับ คิดดีก็ดับ
เกิด ดับ เกิด ดับ ความคิดก็เกิด ดับ เกิด ดับ
ไม่ใช่เกิดแล้วก็ยืดยาว
พอเกิดแล้วก็คิดชั่ว คิดยาว ปรุงแต่งไปเรื่อยๆ ทั้งทางดี ทั้งทางชั่ว
ถ้าเรามีปัญญาดี พอความคิดเกิดขึ้น ให้พิจารณาเห็นว่า

ไม่มีอะไร ไม่ให้มีตัวตน
ถ้าสติปัญญาไว ก็กำหนดเร็ว ไม่ให้เกิดความคิดเลยก็ได้

เราสามารถระงับไว้ก่อน ไม่ให้เกิดเป็นความคิดได้
นี่ถ้าเรามีปัญญา


จ้องดูความคิด..... เหมือนแมวจ้องจับหนู

บางครั้งก็ศึกษาจิตที่คิดก็ได้
บางทีก็กำหนดเฉพาะหน้า พร้อมกับหายใจเข้า หายใจออกก็ได้
บางทีเราก็หยุดไม่หายใจ ปุ๊บ หยุดหายใจ
แล้วก็ดูความคิด ดูว่า ความคิดเกิดขึ้นจากที่ไหน

แล้วก็ค่อยๆ หายใจเป็นปกติ
เมื่อกลั้นหายใจนานๆ ความคิดก็มักจะหายไป
พอเหนื่อยก็ปล่อย หายใจเข้า หายใจออกตามธรรมดา ปกติ
แล้วก็จ้องดูความคิด จ้องดูความคิด
เหมือนสปริงนี่แหละ ดูว่าความคิดสปริงออกมาจากไหน

หายใจเข้า หายใจออก กำหนดดูลมหายใจ
แล้วก็จ้องดูความคิด
จ้องดูเหมือนกับแมวจ้องจับหนู
ถ้าเราสังเกตแมว เวลาแมวจ้องจับหนู มันจะจ้องนิ่ง จ้องอยู่อย่างนั้น
เราก็จ้องดูจิต..... จ้องอยู่อย่างนั้น
ถ้าเราจ้องจริงๆ ความคิดก็หยุด..... สังเกตดูนะ
ยิ่งมีสติ ยิ่งตั้งใจจ้อง ความคิดก็หยุดจริงๆ


บ้าๆ บอๆ เชื่อไม่ได้

การปฏิบัติ เฝ้าดูความคิดก็ดีเหมือนกัน
การดูความคิด บางทีก็เกิดความรู้หลายอย่าง
จ้องดูความคิดเป็นหลายๆ ชั่วโมง
ยืน เดิน นั่ง ยืน เดิน นั่ง ก็จ้องดูแต่ความคิด ก็จะเกิดปัญญา
เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นแหละ

เราก็จะเข้าใจว่า ความคิดนี่น่ากลัว
คิดสารพัดอย่าง คิดดี คิดชั่ว คิดอดีต คิดอนาคต คิดนี่ คิดโน่น
เราก็จะเห็นว่า ความคิดนี่บ้าๆ บอๆ จริงๆ
ความคิดของตัวเองนี่ ยิ่งศึกษาก็ยิ่งเชื่อไม่ได้
ความคิดของตัวเองนี่เชื่อไม่ได้จริงๆ

ถ้าเราศึกษาจริงๆ ก็เกิดความรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ
ความรู้สึกก็เหมือนกัน ถ้าใจเราสงบแล้วศึกษาความรู้สึก
ก็จะเกิดความรู้สึกว่า เชื่อไม่ได้
ความรู้สึกก็เชื่อไม่ได้
ความคิดของตัวเองก็เชื่อไม่ได้

เรียกว่า ปัญญา หรือ ธรรมะ เกิดขึ้น
ผลคือ ปล่อยวาง นั่นแหละ


(มีต่อ 10)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 24 ก.ค.2006, 12:35 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

หลงใหลในความคิดของตัวเอง

คนที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรม ไม่เข้าใจธรรมะ ไม่เข้าใจตัวเอง
ก็มักจะ หลง หลงในความรู้สึก หลงใหลในความคิดของตัวเอง
มีแต่อารมณ์ยินดี ยินร้าย จิตไม่สงบ
ฟุ้งซ่านไป ทุกข์ไป ปรุงไป อยู่อย่างนั้น เลยเป็นทุกข์มาก
เรียกว่าคนนั้นนั่นแหละจะเป็นคนคิดมาก มีอารมณ์มาก
ไม่เข้าใจตัวเอง ไม่เข้าใจธรรมะ ความสงบก็ไม่ค่อยมี
เพราะพอเชื่อตามความรู้สึกของตนเอง มันก็ปรุงไปเรื่อยๆ

ธรรมะ คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง ไม่แน่นอน
ความคิด ความรู้สึกของตัวเอง ก็ไม่แน่นอน อันนี้เราก็ไม่เห็น
เรามีแต่ถือทิฏฐิมานะ เอาแต่ใจตัวเอง
เราสังเกตดูก็ได้ ความรู้สึกเป็นอย่างไร

ยกตัวอย่างอาหารก็ได้
อาหารที่อร่อย บางทีก็มีโทษ ที่ไม่มีประโยชน์ก็มีมาก
อาหารที่ไม่อร่อย แต่มีประโยชน์มากก็มีอยู่ แต่ถ้าเราติดอาหาร
แล้วก็กินแต่ของอร่อยๆ ติดรสอร่อยก็เกิดโทษมาก
ประเทศที่เจริญบางทีก็มีโรค เจ็บไข้ป่วยมากขึ้น เพราะเลือกแต่
อาหารที่อร่อยๆ แล้วก็กินไปเรื่อยๆ กินไปเรื่อยๆ ก็ทำให้เกิดโทษ
ทุกวันนี้มนุษย์ก็เห็นอันนี้ ก็พยายามเลือกอาหาร สิ่งที่ไม่อร่อยก็กิน
สิ่งที่อร่อยชอบมาก บางทีก็งดเสีย พยายามรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

ความรู้สึกนี่ก็เหมือนกัน ปกติเราก็หลงอยู่อย่างนั้น
หลงคิดว่า สิ่งที่ถูกใจมันดี สิ่งที่ไม่ถูกใจก็ไม่ดี
ถูกใจก็ดี ไม่ถูกใจก็ไม่ดี

นี่ก็เหมือนคนติดในอาหาร หลงอาหาร
ชอบอะไรก็กินไปเรื่อยๆ จนเกิดโทษ สุขภาพไม่ดี

อารมณ์ที่เรารับทางตา หู ลิ้น จมูก กาย ใจ
จะถูกใจ หรือไม่ถูกใจ ก็ต้องตั้งสติ
ถ้าเราปฏิบัติธรรม ก็ต้องใช้ปัญญา
อะไรผิดเราก็สามารถพิจารณาได้..... เหมือนอาหาร
คำพูดต่างๆ สิ่งที่เห็นต่างๆ เรารีบระงับความรู้สึก
ทำใจสงบแล้วจึงคิด ก็จะคิดดีๆ ได้

การฝืนความรู้สึกของตัวเอง ต่อสู้กับความรู้สึกของตัวเอง
นั่นแหละคือการปฏิบัติธรรม



ตัณหา

ความรู้สึก ทำให้เกิดตัณหา
เมื่อเราสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
รับอารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์
เข้ามาทางอายตนะ 6
เกิดความรู้สึก ถูกใจ ไม่ถูกใจ ชอบ ไม่ชอบ
สุขเวทนา ทุกขเวทนา มันก็เกิดตัณหา

ตัณหานี่แหละ พระพุทธเจ้าก็ให้ระวัง
เพราะตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์

ให้ละอันนี้ ละเหตุ ละตัณหา
เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติธรรม ต้องติดตามความรู้สึกตลอด
แล้วก็ไม่ให้ยึดมั่น ถือมั่น

ความรู้สึกเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
เอาสติสัมปชัญญะมาระวัง
ถ้าไม่ยึด..... ก็จะ ดับๆ ๆ ๆ ๆ ไม่มีโอกาสที่กิเลสจะตั้งอยู่ได้
หรือว่า เมื่อเกิดความรู้สึกรุนแรงแล้ว
เราก็ต้องมีความพอใจที่จะต่อสู้ความรู้สึกอันนี้

ความรู้สึกไปทางราคะก็มี
ความรู้สึกไปทางโทสะก็มี
ความรู้สึกไปทางโมหะก็มี

เราก็ใช้ปัญญามาพิจารณาดู
การปฏิบัติธรรมก็เพื่อต่อสู้ความรู้สึกอันนี้ เพื่อระงับอันนี้


อุปาทาน-เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน

เมื่อจิตมีอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่น
เพื่อจะถอนอุปาทาน ต้องพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เพราะฉะนั้นแม้จะเกิดตัณหาก็ตาม เราก็ต้องสังเกตดู
ปกติพอเริ่มเกิดตัณหา เราก็สร้างนิมิตขึ้นมาว่า
“สิ่งนี้” “คนนี้” “อันนี้” แล้วก็เกิด “เรา”
ความคิดก็ปรุงขึ้นมา..... ฉันต้องการอันนี้ ฉันไม่ชอบคนนี้
“ฉัน” ก็เกิด เกิด “ฉัน” เกิด “เรา” ขึ้นมา
ตัณหาก็เกิด เกิดความคิดฟุ้งซ่าน เกิดอุปาทาน

ถ้าเราพอมีสติปัญญาบ้าง ถึงแม้จะเกิดความรู้สึกขนาดไหน
ถ้ากำหนดรู้เท่าทันได้ว่า “สักแต่ว่าความรู้สึก”
สักแต่ว่า “ความรู้สึก” จิตก็ไม่ต้องคิด ก็ไม่ฟุ้งซ่าน
นี่เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

พยายามพิจารณาเวทนา
ถอนความพอใจ ความไม่พอใจ ออกเสีย
พิจารณาให้เห็นว่า เวทนาคือความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ พอใจหรือไม่พอใจ
ก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
อย่างนี้ก็เรียกว่า คิดถูก ใช้ได้
นี่ก็เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน


(มีต่อ 11)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 24 ก.ค.2006, 12:45 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

คิดผิด คิดถูก

เราต้องพยายามพิจารณาให้รู้ว่า
คิดอย่างไรเรียกว่า “คิดผิด” คิดอย่างไรเรียกว่า “คิดถูก”

ถ้ามีเรา มีเขา มีสิ่งนี้ สิ่งนั้น เรียกว่าคิดผิด
คิดแล้วจิตไม่สงบก็เรียกว่า คิดผิด
คิดไปตามกิเลสตัณหา เรียกว่า คิดผิด


ปกติจิตก็คิดไปเรื่อยๆ
เมื่อระงับการปรุงแต่งของจิตไม่ได้ ก็ทุกข์
คิดผิด คือ จิตที่คิดมาก มี “เขา” มี “เรา”
เป็นความคิดต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ
คิดตามอำเภอใจ ตามกิเลสตัณหา เช่นนี้ เรียกว่า คิดผิด

ถ้าเรา ตั้งเจตนา คิดที่จะทวนกระแส

คือ ระงับตัณหา เรียกว่า คิดถูก
แม้จะทุกข์อยู่ก็ตาม ทุกข์มากก็ตาม ก็อย่าสนับสนุน
เพื่อจะระงับทุกข์ ระวังอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น
มีหิริ โอตตัปปะ ละอาย กลัว
ไม่คิดไปตามกิเลสตัณหา ทวนกระแสต่อสู้อยู่อย่างนี้
ระงับตัณหา อุปาทาน ระงับความยินร้าย

อันนี้เราก็หมั่นสังเกต
ให้เราปฏิบัติตรงนี้ ปฏิบัติให้ถูก
จิตก็สงบ ไม่ค่อยคิดอะไร ทำใจสงบอย่างเดียว
เห็นอะไร ได้ยินอะไร ที่ไม่ถูกใจ จิตก็ไม่ปรุง
เราสามารถทำใจสงบได้ เพราะไม่ต้องคิดอะไร
อดทน ขัดเกลาความรู้สึก เรียบง่าย



ลมหายใจออก-ลมหายใจเข้า

ครูบาอาจารย์ก็ปฏิบัติอยู่กับลมหายใจทั้งวัน
ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ก็อยู่กับลมหายใจออก ลมหายใจเข้า
ออก-เข้า ออก-เข้า อยู่อย่างนั้น


ถึงแม้เราจะเห็นหลายอย่าง ได้ยินเสียงหลายอย่าง
เรา ก็สามารถอยู่กับลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ในอิริยาบถทั้ง 4 ได้
ช่วงที่ไปบิณฑบาต หรือทำงาน ทำครัวหรือทำอะไรก็ตาม
ถ้าจิตอยู่กับลมหายใจได้ แสดงว่าความรู้สึกก็ไม่รุนแรง

เห็นอะไร ได้ยินอะไร บริกรรมภาวนาได้ อยู่กับลมหายใจได้
เราอยู่กับลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ก็ดูลมออก ลมเข้า อยู่อย่างนั้น
หรือว่าอารมณ์กรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งที่เราเลือกมา
ถ้าจิตสามารถอยู่กับอารมณ์นั้นได้อย่างต่อเนื่องกัน แสดงว่า

เราก็เห็นอยู่ ได้ยินอยู่ มีประสบการณ์อะไรๆ อยู่
แต่ จิตก็สงบเป็นปกติได้ เรียกว่าอยู่ในศีลได้
จิตเป็นปกติ ความรู้สึกไม่รุนแรง
แม้แต่เราเห็นอะไรสวย หรือน่าเกลียด
หรือได้ยินเสียงไพเราะ หรือไม่ไพเราะก็ตาม
เกิดความรู้สึกนิดหน่อย ก็ไม่ต้องใส่ใจ
เราก็อยู่กับอารมณ์กรรมฐาน

คือลมหายใจออก ลมหายใจเข้าของตนได้
เรียกว่า จิตอยู่ จิตก็ใช้ได้
ถ้าเราทำได้อย่างนี้ จิตก็เชื่องแล้ว จิตเป็นศีล
พร้อมที่จะเจริญสมาธิ ปัญญาได้ จิตเริ่มเข้ามรรค
เริ่มปฏิบัติถูกแล้ว จิตก็ใช้งานได้
อันนี้ เราก็ต้องตั้งเป้าหมายไว้ เป้าหมายแรกก็จุดนี้
ตั้งแต่นี้ไปก็ค่อยๆ เจริญสมาธิ วิปัสสนา
ก็ทำงานละเอียดขึ้นประณีตขึ้น

เหมือนกับไปโรงเรียน เข้าเรียนประถม 1 แล้วขึ้นประถม 2, 3
และมัธยมต้น ปลาย ต่อไป
อันนี้เราก็ต้องพิจารณา..... โยนิโสมนสิการ
ปฏิบัติให้มันถูก


เป็นนายของตัวเอง อย่าเป็นทาสของความคิด

อย่าไปหลงในความคิดต่างๆ
ความคิดที่เต็มไปด้วยตัณหา อุปาทาน
อย่าเป็นทาสของความคิดของตัวเอง
ถ้าใจไม่สงบ คิดไปตามอำเภอใจตลอด
เราก็เป็นทาสของความคิด

เมื่อทำใจสงบ เมื่อคิดถูกได้ เราก็เป็นนายของตัวเองได้
ถ้าเป็นทาส..... ทาสก็ต้องทุกข์..... เป็นธรรมดา
ถ้าเราเป็นนายของตัวเอง มีศีล และมีจิตสงบเป็นปกติแล้ว
เราก็สามารถใช้ความคิดมาสร้างประโยชน์ได้ต่อไป

จิตของเราสามารถสร้างประโยชน์ได้
การปฏิบัติ เจริญสมถะ วิปัสสนา ของเราก็ก้าวหน้า
ถ้าเราต้องการความสุข ต้องการให้เกิดประโยชน์ในชีวิต
ก็ต้องปฏิบัติเช่นนั้นจน จิตสงบ
สงบเป็นธรรมดานี่แหละ


(มีต่อ 12)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 24 ก.ค.2006, 3:01 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เมื่อความรู้สึกรุนแรงจริงๆ

ถ้าเราใช้หลักคิดถูกดับทุกข์ได้ หมายถึง ไม่ให้คิดชั่ว
การคิดบ่น คิดบาป เป็นความคิดชั่ว
เราพยายามไม่ให้คิด..... ก็ถูกต้องอยู่
แต่ถ้ากรณีที่เกิดความคิดรุนแรง มีอารมณ์รุนแรงแล้ว
เราหยุดไม่ได้ ก็ต้องปล่อยไปก่อน

ไม่ต้องพยายามให้หยุดคิดทันที
ถ้าตั้งใจจะไม่ให้คิด ก็จะยิ่งเครียดหนัก
ถ้าเป็นเช่นนี้ เราเพียงแต่มองเห็นว่า “นี่เป็นอารมณ์ เป็นกิเลส”
แล้วก็..... ปล่อย..... ปล่อยให้คิดตามสบายๆ
แต่เราก็ไม่สนับสนุนนะ
เราค่อยๆ ติดตามเฝ้าดู


คล้ายกับว่าโจรเข้ามาในบ้าน เรารู้อยู่แล้วว่าเป็นโจร
แต่กำลังของเราน้อย สู้เขาไม่ได้
เราต้องค่อยๆ แอบ..... สะกดรอยตามไป
พอถึงที่เหมาะๆ มีคนมากๆ มีตำรวจมากๆ
ก็รีบตะโกนให้เขาช่วยจับ และเราก็เข้าไปในหมู่เพื่อนที่เราปลอดภัย
เราเองไม่ต้องทำอะไร ให้เขาจัดการกับโจรเอง
เราเองก็เข้าไปในหมู่เพื่อนที่เป็นมิตร

การจัดการกับอารมณ์ที่รุนแรง ก็คล้ายกัน
เราแอบตามดูความคิดด้วยใจที่เป็นกลางๆ และสุขุม
ไม่ให้ยินดียินร้าย
รู้อยู่ เห็นอยู่ ว่าคิดอะไร รู้สึกอย่างไร
ให้มีความรู้สึกลึกๆ ในใจว่า มันเป็นอารมณ์ เป็นกิเลส
เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
คล้ายๆ แอบดูนั่นแหละ
ค่อยๆ กำหนดรู้อารมณ์กรรมฐาน เช่น ลมหายใจ
ค่อยๆ จับ ลมหายใจ ให้แน่นขึ้นๆ โดยธรรมชาติ
เมื่อเกิดสติที่จะกำหนดรู้ลมหายใจเมื่อไร
ความไม่สงบมันก็หายไปเอง
ในที่สุดก็ถึงความสงบได้


ถ้าต่อสู้กับตัวเองก็ง่ายนิดเดียว

การต่อสู้กับตัวเองนี้สำคัญมาก
ต้องพยายามพิจารณาจนถึงใจจริงๆ
จนเกิดศรัทธาที่จะต่อสู้ เพื่อเอาชนะตัวเองให้ได้
สังเกตดูก็ได้ จิตของเราทุกวันนี้ต่อสู้กับอะไร
เราต่อสู้กับคนอื่นทั้งนั้น ต่อสู้กับคนนี้คนนั้น
เราก็แบก คนนี้ไม่ดี คนโน้นไม่ดี คิดไปเรื่อยๆ
ต่อสู้กับคนอื่น..... ต้องคิดนี่ คิดโน่น
หาหลักฐาน หาข้อมูลต่างๆ เขาผิดอย่างไร เขาไม่ดีอย่างไร
รวบรวมบันทึกไว้ เขียนไว้เป็นแถว ทำอยู่อย่างนั้น

ถ้าต่อสู้กับตัวเอง ก็ง่ายนิดเดียว ไม่ต้องคิดอะไร
พอเกิดความรู้สึกก็นิ่งเฉยเสีย ง่ายๆ
ทำได้แค่นี้เรียกได้ว่า “เอาชนะใจตัวเองได้”


อันนี้เราก็ต้องพยายามพิจารณา จนเข้าใจ จนเกิดศรัทธา
ศรัทธาในปัจจุบันธรรม
ปัจจุบันธรรมเท่านั้นที่จะให้เกิดประโยชน์ได้

ถ้าเรามัวแต่อยู่กับอดีต อนาคต ชีวิตของเราก็เป็นหมัน ไม่เกิดประโยชน์

ถ้าเราอยู่กับปัจจุบันได้ ก็หาความสุขได้
ความสุขก็ต้องอาศัยปัจจุบันธรรม


เราปล่อยวางอดีตก่อน แล้วก็ปล่อยวางอนาคต
แล้วในที่สุดก็ปล่อยวางปัจจุบันด้วย
เมื่อนั้นการเจริญสติปัฏฐาน 4 ก็สมบูรณ์

ถ้าเราคิดไปอดีต หรือคิดไปอนาคต ปัจจุบันก็ไม่ปรากฏ
ปัจจุบันไม่ปรากฏก็ไม่รู้ปัจจุบัน
เพื่อที่จะเห็นปัจจุบัน ก็ต้องปล่อยวางอดีต ปล่อยวางอนาคต
แล้วในที่สุดปัจจุบันก็ต้องปล่อย
ในที่สุดก็ปล่อยวางทั้ง อดีต อนาคต และปัจจุบัน
คือไม่ยึดมั่น ถือมั่นใน กาย เวทนา จิต ธรรม
จิตก็อิสระ สงบ

ฝากไว้พิจารณา โยนิโสมนสิการ
พยายามพิจารณา แล้วก็ปฏิบัติให้มันถูก.................. เอวัง


(มีต่อ 13)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 24 ก.ค.2006, 3:08 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ตะเกียงวิเศษ กับ การกำหนดลมหายใจ

ดอกไม้ ......................................................... ดอกไม้

กาลครั้งหนึ่งมีชายหนุ่มคนหนึ่งขุดพบตะเกียงเก่าแก่อันหนึ่งในขณะที่เขากำลังทำสวนอยู่ พอเขาเอามือถูตะเกียง ก็ปรากฏว่ามีควันออกมาจากตะเกียง แล้วกลายเป็นยักษ์ตัวใหญ่ ยักษ์ตนนั้นพูดกับชายหนุ่มว่า “ขอบใจที่ได้ช่วยให้ฉันเป็นอิสระ ฉันจะตอบแทนท่านโดยรับใช้ท่าน ท่านจะใช้อะไรฉันก็ได้ แต่มีข้อแม้ว่า เมื่อไรที่ท่านหยุดใช้ฉัน ฉันก็จะกินท่าน”

ชายหนุ่มก็ตกลงเพราะเขาเห็นว่าการมีคนรับใช้เป็นเรื่องที่ดี และเขาก็มั่นใจว่า เขาจะใช้ยักษ์ตนนี้ให้ยุ่งอยู่ตลอดเวลาได้ ดังนั้นเขาจึงตอบตกลง ยักษ์นั้นจึงถามว่า “นายต้องการให้ฉันรับใช้เรื่องใดบ้าง แต่อย่าลืมนะถ้านายหยุดใช้ฉันเมื่อใด ฉันก็จะกินนาย”

ชายหนุ่มคนนั้นตอบว่า “ฉันต้องการวังหลังหนึ่งเพื่อฉันจะได้เข้าไปอยู่”

Image

ทันใดนั้นยักษ์ก็เนรมิตวังหลังหนึ่งได้ ชายหนุ่มตกใจเพราะเขานึกว่า ยักษ์คงใช้เวลาสักปีกว่าจะสร้างวังเสร็จ ทีนี้เขาต้องคิดอย่างรวดเร็วว่าจะขอให้ยักษ์ทำอะไรต่อไปดี เขาบอกยักษ์ให้ “สร้างถนนกว้างๆ ไปถึงหน้าวัง” ทันใดนั้นถนนก็ปรากฏอยู่ต่อสายตาเขา “ฉันต้องการสวนล้อมรอบวัง” เขาสั่งต่อไป

ทันทีความต้องการของเขาก็ปรากฏต่อหน้าเขา “ฉันต้องการ.........” เขาก็ขอไปเรื่อยๆ แต่เขาเริ่มต้นวิตกว่าอีกไม่ช้าเขาก็จะขอจนหมดแล้ว และอีกอย่างเขาคงเข้าไปอยู่ในวังอย่างผาสุกไม่ได้ เพราะเขาต้องคอยมานั่งสั่งยักษ์ให้ทำงานตลอดเวลา

Image

ในที่สุดเขาก็คิดหาทางออกได้ เขาขอให้ยักษ์สร้างเสาต้นหนึ่งให้สูงสุด ซึ่งยักษ์ก็เนรมิตให้ทันทีทันใด เขาขอให้ยักษ์ปีนเสาต้นนี้ช้าๆ ไปถึงยอดแล้วให้ปีนลงมาช้าๆ เช่นกัน พอถึงพื้นก็ให้ปีนขึ้นไปบนยอดใหม่อีกครั้ง แล้วให้ปีนขึ้นปีนลงเช่นนี้ตลอดเวลาไม่ให้หยุดเลย

ยักษ์ตนนั้นก็เลยต้องปีนขึ้นปีนลงตลอดเวลาตามคำสั่งของนาย

ชายหนุ่มจึงเริ่มหายใจได้ทั่วท้อง ขณะนี้เขาปลอดภัยแล้ว ชายหนุ่มมีเวลาที่จะเข้าไปอยู่ในวังอย่างมีความสุขตั้งแต่นั้นมา

ยักษ์ตนนี้เปรียบเสมือนความคิดและจิตใจของเรา ถ้าเรารู้จักใช้ความคิดของเราและควบคุมความคิดของเราให้ดี เราจะได้รับผลดีจากความคิดของเรา

ถ้าเราต้องการจะทำอะไรให้ดี ให้ถูกต้อง เราต้องควบคุมจิตใจของเราให้สงบเหมือนกับชายหนุ่มในนิทานที่สามารถควบคุมยักษ์ตนนั้นได้ และสามารถทำให้ความต้องการของเขาลุล่วงสำเร็จได้

Image

ถ้าเราควบคุมความคิดของเราไม่ได้ มันจะสร้างปัญหาให้กับเรา
เราจะเริ่มต้นนั่งคิดว่าจะไปซื้ออะไร จะไปกินอะไรดี หรือจะไปเที่ยว
ไหนดี ฯลฯ ความต้องการจะครอบคลุมจิตใจของเรา ครอบคลุม
อารมณ์ของเรา เราจะหวั่นไหวต่อความโลภ ความโกรธและความอิจฉา
เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นถ้าเราไม่รู้จักควบคุมความคิดของเรา
เช่นเดียวกับยักษ์ตนนั้นที่ข่มขู่ชายหนุ่มตลอดเวลา

เราต้องควบคุมความคิดของเราตลอดเวลา
ชายหนุ่มคนนี้ใช้ให้ยักษ์ปีนขึ้นลงที่เสาสูงต้นนั้น
เราก็สามารถใช้ลมหายใจเข้าออกของเราซึ่งอยู่กับ
เราตลอดเวลานั้นเป็นเสาสูงแทน


Image

*** นิทานเรื่องตะเกียงวิเศษนี้ คัดมาจากหนังสือวิทยาศาสตร์ของการฝึกจิตของ
ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา และได้รับอนุญาตจากท่านผู้เป็นเจ้าของหนังสือเรียบร้อยแล้ว


(มีต่อ 14)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 24 ก.ค.2006, 3:13 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

นอนกำหนดลมหายใจ

เราสามารถเริ่มต้น หัดกำหนดลมหายใจเข้าออกได้
ในขณะที่ล้มตัวลงนอน
นอนหงายสบายๆ วางแขนลงข้างลำตัว
ฝ่ามือหงายขึ้นห่างจากกายพอสมควร ประมาณ 1-2 คืบ
นอนเหยียดสบายๆ เหมือนคนตายที่ไม่รับรู้อะไรแล้ว
จากนั้นให้สำรวจร่างกายทั้งหมด โดยเริ่มจากปลายเท้าขึ้นมา
ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วน ไม่ให้มีกล้ามเนื้อส่วนใดเกร็งอยู่เลย
จนกระทั่งมีความรู้สึกว่าตัวเบาเหมือนสำลี


ทำใจว่างๆ ไม่ต้องคิดเรื่องยุ่งยากวุ่นวายใดๆ ทั้งสิ้น
เวลาหายใจออก-เข้า ให้กำหนดความรู้สึกเหมือนกับว่า
หายใจออกทางเท้า-หายใจเข้าจากทางเท้า
เมื่อหายใจออกให้กวาดเอาความรู้สึกที่ไม่ดี ความเครียด ความกังวล
ความรู้สึกเจ็บป่วน ไม่สบายทั้งกายและทางใจ ออกจากร่างกายให้หมด
โดยหายใจให้ไกลออกไปจากเท้าหลายเมตรก็ได้

เมื่อหายใจเข้า ตั้งสติไว้ที่เท้า ให้ความรู้สึกสะอาด บริสุทธิ์ ผ่านเข้ามา
ทางร่างกาย จนถึงใบหน้าและจมูก
หายใจออกสบายๆ หายใจเข้าสบายๆ
หาจุดสบายๆ เป็นธรรมชาติ นั้นแหละดีและถูกต้อง
หายใจสบายๆ กายก็สบายๆ ใจก็สบายๆ

Image

ยืนกำหนดลมหายใจ

เวลายืนกำหนดเหมือนกัน
หายใจเข้าลึกๆ หน่อยๆ
หายใจออกสบายๆ ปล่อยลมลงไปทางเท้า กระจายไปบนพื้น
หายใจเข้านึกถึงเท้าก่อน ตั้งสติที่เท้าก่อน
หายใจเข้าลึกๆ หน่อย ยืดตัวนิดๆ หายใจออกสบายๆ ทางเท้า
หายใจออกเข้ายาวๆ สัก 3-4 ครั้ง
หลังจากนั้น ก็ปล่อยลมหายใจ สบายๆ พอดีๆ
หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย
แต่นึกถึงเท้าทุกครั้ง คล้ายกับว่าหายใจจากทางเท้า

Image

เดินกำหนดลมหายใจ

เดินก็กำหนดเหมือนกัน
เดินเร็ว เดินธรรมดา เดินช้าๆ หยุดเดิน
มีสติ มีความรู้สึกตัวในการเดิน
ในการเคลื่อนไหว ของเท้า ของขา ของร่างกาย
รับรู้ รับทราบหมดโดยธรรมชาติสบายๆ
แต่ศูนย์กลางของการกำหนดให้อยู่ที่ลมหายใจ
เรามีหน้าที่กำหนดรู้ลมหายใจออก-เข้า ทุกครั้ง
กำหนดเขาๆ เพียงรับรู้ รับทราบ ลมหายใจเท่านั้น

Image

นั่งกำหนดลมหายใจ

นั่งก็กำหนดเหมือนกัน
หายใจเข้าลึกๆ ยืดตัวหน่อยๆ หายใจออก สบายๆ 3-4 ครั้ง
หลังจากนั้นก็หายใจสบายๆ เป็นธรรมชาติๆ
ไม่ต้องทำนานๆ ก็ได้
ครั้งละ 3 นาที 5 นาที 10..... 30 นาที
แล้วแต่โอกาสและความพอใจ
ไม่ต้องทำนาน แต่ทำบ่อยๆ วันละหลายสิบครั้ง
ทำเหมือนล้างมือ ทำบ่อยๆ ล้างบ่อยๆ


มือเปื้อนเราก็เช็ดมือ เปิดน้ำล้างมือ เรื่อยๆ
กำหนดรู้ลมหายใจออก-เข้า เหมือนล้างมือ
เช็ดใจ ชำระใจ ล้างใจ นั่นแหละ
โดยเฉพาะเมื่อกระทบอารมณ์
ความรู้สึกไม่ดี น้อยใจ เสียใจ หงุดหงิดใจ เป็นต้น

หยุดทำ หยุดพูด หยุดคิดก่อน..... หันมากำหนดลมหายใจ
หายใจเข้าลึกๆ หน่อยๆ หายใจออกยาวๆ สบายๆ
3-4 นาที หรือจนกว่าจะเกิดความรู้สึกเบา สบาย
เป็นการเช็ดใจ ชำระใจ ล้างใจให้สะอาด นั่นแหละ


(มีต่อ 15)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 24 ก.ค.2006, 3:15 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ธรรมะหลังปกหนังสือ

ถ้าเราพร้อมที่จะทำลายความชั่วของตัวเอง
เราก็ต้องตั้งใจ... แล้วก็มีโอกาสที่จะก้าวหน้าได้
ถ้าเราเอาแต่ขี้โกง มักได้
มองข้ามตัวเอง จับผิดคนอื่น แล้วก็บ่นอีก
ก็ไม่มีวันสงบได้ ไม่มีวันพ้นทุกข์ได้
เราก็เสียเวลาอยู่อย่างนั้น
มีแต่ความอยากอยู่อย่างนั้น
มีแต่ความอยาก อยากธรรมะ แต่ปฏิบัติไม่ถูก
ความอยากก็เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น
ก้าว ก็ก้าวไม่ได้ มีแต่หยุดอยู่และถอย
ถ้าเราเข้าใจว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ใจเราก็สงบ
ใจที่บ่น นินทา คนนี้ คนนั้นก็หมดไป



>>>>> จบ >>>>>
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 23 เม.ย.2010, 5:33 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ประวัติและปฏิปทาพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=20086

รวมคำสอนพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
http://www.dhammajak.net/book-mitsuoe/2.html
http://www.dhammajak.net/dhamma/dhamma18.php

วัดป่าสุนันทวนาราม-มูลนิธิมายา โคตมี และแผนที่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=20076

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง