Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ร้อนกายไม่ร้อนใจ (หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
๛ Nirvana ๛
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 09 เม.ย. 2006
ตอบ: 403

ตอบตอบเมื่อ: 23 เม.ย.2006, 11:13 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ร้อนกายไม่ร้อนใจ
โดย หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
วันอาทิตย์ที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๒๐



ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย

ณ บัดนี้ถึงเวลาของการแสดงปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการอันสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟัง ตามสมควรแก่เวลา

อากาศตอนนี้ญาติโยมก็บ่นว่าร้อนๆ ไปตามๆ กัน ซึ่งความจริงมันก็ร้อนนั่นแหละ เหงื่อไหลไคลย้อยตลอดวัน แต่ว่าความร้อนนี่มันก็ไม่เที่ยง คือไม่เท่าใดก็หมดร้อน แล้วก็ถึงหน้าฝนต่อไป เพราะอันนี้มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ ของดินฟ้าอากาศ เราจะไปเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เราก็ต้องทนอยู่กันไปตามเรื่องตามราว จนกว่าจะหมดเรื่องนั้นไป การที่จะอยู่ได้ตามปกตินั้น จะต้องหมุนจิตใจของเรา ให้เข้ากับสิ่งที่เกิดอยู่เป็นอยู่ คือให้พอใจแค่นั้นเอง ถ้าพอใจแล้วมันก็ไม่มีอะไร ถ้าไม่พอใจแล้วก็เกิดความเดือดร้อน

เคยพบพระองค์หนึ่งนั่งอยู่ในห้อง เหงื่อท่วมตัว อาตมาก็ไปถามว่าไม่ร้อนหรือ ท่านก็บอกว่ามันเรื่องธรรมดา ท่านตอบว่าอย่างนั้น แล้วท่านนั่งทำงานไปตามปกติ ไม่รู้สึกว่ากระวนกระวาย จิตใจมันเป็นปกติ เหงื่อมันออกมาเป็นเรื่องของร่างกาย แต่ว่าใจนั้นไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง นั่งทำงานได้ปกติตลอดเวลา อันนี้แสดงว่าท่านผู้นั้น รู้จักหมุนจิตใจต้อนรับสถานการณ์นั้น แล้วก็ไม่เป็นทุกข์เพราะเรื่องนั้น คนเราจะอยู่ที่ใดก็ตาม เราควรจะอยู่ให้เบาใจสบายใจ อย่าอยู่ให้มีความทุกข์ความหนักใจ เพราะเมื่อมีความหนักใจขึ้นเมื่อใดแล้ว เราก็ไม่สบายทั้งกายทั้งใจ ถ้าเราไม่มีความหนักใจ แม้ว่าร่างกายเราจะหนัก เพราะการเปลี่ยนแปลง แต่ตัวเราก็ไม่มีความทุกข์มีความเดือดร้อน เพราะเรื่องอย่างนั้น อันนี้แหละเป็นเรื่องสำคัญ

คราวหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าถูกพระเทวทัตทุ่มหินลงมา แต่ว่าหินนั้นไม่ถูกพระองค์ เพราะไปชนต้นไม้ สะเก็ดนิดหนึ่งมากระทบถูกพระชงฆ์ คือหน้าแข็งของพระพุทธเจ้า เลือดไหลออกมาทีเดียว เลือดไหลซิบๆ ออกมา หมอโกมารภัจจ์ก็ทำยาไปปะแผลให้ ยาที่ปะนั้นเป็นยาร้อน ก็คล้ายๆ กับทิงเจอร์ที่เราใช้กัน แต่ว่าในสมัยนั้นไม่มีทิง แต่ว่าใช้ใบไม้ประเภทหนึ่ง เอามาพอกไว้แล้ว หมอก็กลับบ้าน หมอก็นอนไม่หลับตลอดคืน มีความเป็นห่วง เพราะนึกในใจว่า ยาที่พอกนั้นเป็นยาที่ร้อน พระผู้มีพระภาคคงจะไม่ได้บรรทม เพราะความร้อนของยาที่ผิวหนัง ตื่นแต่เช้ามืดมาเฝ้าดูพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วก็ถามไปด้วยอาการร้อนรนกระวนกระวายใจว่า เมื่อคืนนี้พระองค์บรรทมหลับเป็นปกติหรือเปล่า

พระผู้มีพระภาคกลับตอบว่า เราบรรทมหลับเป็นปกติ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น หมอก็บอกว่าข้าพระองค์นอนไม่หลับเมื่อคืนนี้ เพราะมีความกังวลที่ยาปะแผลของพระองค์ว่ามันร้อน พระผู้มีพระภาคกลับตรัสตอบแก่หมอนั้นว่า ความร้อนทั้งหลายเราได้ดับมันหมดแล้ว ที่ใต้ต้นโพธิ์ที่ตรัสรู้ เวลานี้ความร้อนเหล่นนั้นไม่มี ท่านจึงไม่ต้องเป็นห่วง ไม่ต้องมีความทุกข์ในเรื่องเกี่ยวกับความร้อนต่อไป อันนี้เป็นเครื่องแสดงถึงด้านความสงบเย็นของจิตใจ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ว่าพระองค์ไม่มีความร้อน มีแต่ความสงบเย็น ความร้อนนั้นได้ดับไป ตั้งแต่วันตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ที่ใต้ต้นโพธิ์ที่พุทธคยา แล้วต่อจากนั้นก็ไม่มีความร้อนอะไร จะนั่งอยู่ในที่ร้อนก็ไม่ร้อน จะนั่งอยู่ในที่เย็นก็ไม่เย็น จะอยู่ในที่ใดก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นในจิตใจของท่าน

อันนี้เป็นเรื่องพิเศษ ที่จะเกิดมีเฉพาะบุคคลที่มีจิตหลุดพ้นแล้ว จากกิเลสทั้งปวง หรือพ้นแล้วจากการยึดมั่นถือมั่น ในเรื่องตัวเรื่องตนที่เราเรียกในภาษาธรรมะว่า "อัตตวาทุปาทาน" อัตตวาทุปาทาน ก็คือการยึดมั่นถือมั่นในตัวฉันในของของฉัน ถ้ายังมีความยึดมั่นอยู่ตราบใด ความทุกข์ก็ยังมีอยู่ ความร้อนก็ยังมีอยู่ อะไรๆ ที่มันเกิดขึ้นตามธรรมชาติ มันก็มีอยู่กับผู้นั้น แต่ว่าถ้าถอนความยึดมั่นถือมั่นได้เมื่อใด สิ่งเหล่านั้นมันก็ไม่มี มันมีของมันอยู่ตามธรรมชาติไม่ใช่ว่าไม่มี แต่ว่าจิตไม่ได้เป็นทุกข์เพราะเรื่องนั้น เช่น ว่าความร้อนทางกายก็มีอยู่ เจ็บปวดมันก็มีอยู่ แต่ว่าจิตไม่ปวดในเรื่องนั้นไม่ได้เจ็บไปกับเรื่องนั้น ดูอาการมันเฉยๆ ไม่มีปฏิกิริยาเกิดขึ้นในใจ อันนี้เป็นเรื่องของจิตใจล้วนๆ

มีบางคนเคยถามว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจ ๔ แล้ว คือรู้เรื่องความทุกข์ เหตุของความดับทุกข์ได้ รู้เรื่องอาการดับทุกข์และวิธีการดับทุกข์ได้ พระองค์ก็พ้นจากความแก่ ความเจ็บ ความตาย แล้วเขาก็ถามว่าก็ยังแก่อยู่นี่ พระพุทธเจ้าก็ทรงชราอยู่แล้ว ก็ยังเจ็บด้วยโรค แล้วก็ยังตายเหมือนกัน ถ้าเขาถามในรูปอย่างนั้น อันการที่ถามมาในรูปอย่างนั้นๆ ก็ยังแสดงว่าไม่เข้าใจความหมายของเรื่องที่ว่า ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ไม่ใข่อย่างนั้น ร่างกายมันเป็นเรื่องของสังขาร เมื่อเกิดมันก็ต้องแก่เป็นธรรมดา ต้องมีความเจ็บไข้โรคภัยเกิดขึ้นเป็นธรรมดา แล้วก็ต้องตาย คือหมดลมหายใจนี้เป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่ว่าไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายนั้น ก็เพราะว่าจิตไม่ได้ยึดถือ ในตัวตนว่าเป็นของตน ไม่มีตนจะให้แก่ ไม่มีตนจะให้เจ็บ ไม่มีตนจะให้ตาย จึงเรียกว่าจิตของพระอรหันต์นั้น ไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย เพราะไม่ได้เข้าไปยึดถือไวันั่นเอง

แต่ว่าคนเราที่เป็นปุถุชน คนธรรมดานี้มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย อยู่ทุกวันเวลา เพราะว่าจิตเรายังยึดถือในตัวตนอยู่ ยังมีตัวฉัน ยังมีของฉัน เมื่อมีตัว มีของตัว มันก็ต้องมีความเปลี่ยนไปตามสภาพ เราก็เป็นทุกข์ เช่น ผิวหนังย่นยู่ก็เป็นทุกข์ ตามืดก็เป็นทุกข์ หูตึงก็เป็นทุกข์ ปวดเอว ปวดหลังก็เป็นทุกข์ กินไม่ได้ก็เป็นทุกข์ กินได้มากเกินไปก็เป็นทุกข์เหมือนกัน นี่มันเป็นเรื่องของคนธรรมดา ที่จิตใจยังติดพันอยู่ในวัตถุ ยังยึดถือว่าวัตถุเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขา ก็ต้องเกิดความเป็นอย่างนั้น แต่ว่าจิตของพระอริยเจ้านั้น ท่านไม่มีเหมือนเรา จิตท่านแตกต่างจากเรา เพราะท่านปฏิเสธหมดแล้ว ไม่มีอะไรเป็นของท่าน อะไรๆ มันเกิดขึ้นท่านก็เฉยๆ คล้ายๆ กับเรื่องอย่างนี้ เหมือนกับว่ามีอะไรของใครเขาหาย เราไม่ได้เป็นทุกข์กับเขา

เช่นว่าคนๆ หนึ่ง มีของหายไป เรารู้เราก็เฉยๆ ที่เฉยๆ ก็เพราะว่าของนั้นมันมิใช่ของเรา บ้านคนอื่นถูกไฟไหม้อยู่ห่างไกลจากบ้านเรา เราก็ไม่ได้เป็นทุกข์ ไม่ได้เดือดร้อนใจ เพราะบ้านเขาถูกไฟไหม้ ที่ไม่ได้เป็นทุกข์ ก็เพราะว่าเราไม่ได้นึกว่าเป็นบ้านของเรานั่นเอง แต่ถ้าว่าบ้านของเราถูกไฟไหม้ เราก็ร้อนอกร้อนใจมีความทุกข์ ความเดือดร้อน ความทุกข์ความเดือดร้อนตัวนี้ เกิดขึ้นเพราะจิตเข้าไปยึดถือว่าเป็นบ้านของฉัน เงินทองของฉัน อะไรๆ ของฉันเข้า พอเอาคำว่าของฉันเข้าไปใส่ไว้ ไม่ว่าในเรื่องอะไร ความทุกข์มันก็เกิดขึ้นทันที เพราะเรื่องเข้าไปยึดถือในสิ่งนั้น อันนี้แหละเป็นเรื่องที่มีอยู่ในจิตใจของมนุษย์ทุกคน ที่เราพอมองเห็นได้ คือมองเห็นได้ว่าถ้าเมื่อใดใจเราปล่อยวางเสียได้ เราก็สบายใจ แต่เมื่อใดเราเข้าไปยึดถือมันไว้ เราก็มีความทุกข์ มีความเดือดร้อนใจ ความทุกข์เกิดจากความยึดถือ ไม่ใช่เกิดจากอะไร

เพราะฉะนั้นในคำสวดมนต์แปล ที่เราสวดเมื่อตะกี้นี้เราสวดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านี้สอนเราทั้งหลายว่าอย่างนี้ รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง อันนี้เป็นคำสอนของพระองค์ แล้วก็สอนให้เข้าใจว่า รูปเป็นทุกข์ ไม่ว่ารูปเฉยๆ เป็นทุกข์ รูปูปาทานักขัน ทุกขา เวทนูปาทานักขันธา ทุกขา มีคำหนึ่งใส่เข้าไปด้วย เวลาไม่เที่ยงนี่พูดว่า รูปไม่เที่ยงเฉยๆ เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง

แต่พอถึงเรื่องความทุกข์นี่ มีอุปาทานเข้าไปเกี่ยวข้องทันที รูปูปาทานักขันธา ทุกขา รูปที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นนะเป็นตัวทุกข์ เวทนาที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นนี่ตัวทุกข์ สังขารที่เราเข้าไปยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวทุกข์ วิญญาณที่เราเข้าไปยึดมั่นถือมั่น เป็นตัวทุกข์ ความยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละ เป็นตัวเหตุให้เกิดเป็นทุกข์ขึ้นมา ถ้าอยู่ตามธรรมดาของมัน มันก็เป็นทุกข์ตามธรรมชาติ แต่ไม่เป็นทุกข์แก่จิตใจเรา แต่ถ้าเราเข้าไปยึดถือรูปอันใดเข้าเป็นของตัว เวทนาเป็นของตัว สัญญาเป็นของตัว สังขารเป็นของตัว วิญญาณเป็นของตัวขึ้นมา เมื่อนั้นเราก็ตั้งฐานแห่งความทุกข์ขึ้นแล้ว และเมื่อสิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงไป เราก็มัความทุกข์เพราะสิ่งนั้น ทุกข์นั้นเกิดจากอุปาทาน คือการยัดมั่นถือมั่นในเรื่องนั้นๆ ความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องใด ก็ย่อมเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ในเรื่องนั้นขึ้นมาทันที ไม่ว่าของนั้นจะเล็ก จะขนาดกลาง ขนาดใหญ่ จะเป็นอะไรก็ตาม พอจิตเราเข้าไปยึดปั๊บเข้าเท่านั้นแหละ ความทุกข์ก็เกิดทันที

อันนี้สังเกตได้ง่าย ขอให้เราสังเกต คือการศึกษาธรรมะนะ เรารู้หลักทางหนังสือแล้ว ต่อไปก็ต้องเอามาค้นคว้าจากพฤติการณ์ของเราเอง จากความคิด จากการกระทำของเรา แล้วคอยสังเกตว่า เวลาที่เกิดทุกข์นี่ มันทุกข์เพราะอะไร เวลาทุกข์ที่หายไปนี่ หายไปเพราะอะไร เราต้องคอยกำหนด คอยสังเกตไว้ เพื่อจะค้นหาสมุฏฐานของความทุกข์ที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของเรา ว่าเวลาเป็นทุกข์นี่ เราคิดอะไรมาก่อน มีอะไรเกิดขึ้นในใจของเรา เราจึงได้เกิดความทุกข์ในเรื่องอย่างนั้นขึ้น ให้พยายามสังเกตจิตใจของเราเอง ภายหลังจากมีความทุกข์แล้วนี่ ถ้าหากว่าเราสังเกตเราจะพบว่า สิ่งที่ทำให้เราเกิดความทุกข์นั้น ก็คือการยึดถือนั่นเอง เราจึงเรียกว่าอุปาทาน ตามภาษาธรรมะ พอมีอุปาทานขึ้นมาเมื่อใด ใจมันก็ไปติดอยู่กับสิ่งนั้น ไปยึดอยู่กับสิ่งนั้น พอสิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงไป ไม่เหมือนใจ ไม่สนใจ เราก็มีความทุกข์ขึ้นมาทันที อันนี้เป็นเครื่องชี้อยู่ในตัวแล้วว่า เราเป็นทุกข์เพราะมีความยึดมั่นถือมั่น ถ้าจะไม่ให้เกิดทุกข์ก็ต้องผ่อนคลายความยึดมั่นถือมั่น ออกไปจกกใจของเราเสียบ้าง

การที่จะผ่อนคลายความยึดมั่นถือมั่นออกจากใจนั้น ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าคนเรา ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งแก่ชรา เราได้รับคำสอนแต่เรื่องให้ยึดถือทั้งนั้น ให้ยึดมั่นในเรื่องนั้นเรื่องนี้ ด้วยประการต่างๆ เด็กๆ ตัวน้อยได้รับคำสอนคำเตือน ให้ยึดถือในเรื่องของตนอยู่ตลอดเวลา เราให้อะไรแก่เด็ก เราก็บอกทันทีว่า อันนี้ของหนูนะ ตุ๊กตาของหนูนะ เสื้อผ้าของหนู ขนมของหนู พ่อแม่ของหนู อะไรๆ ก็เป็นของเราทั้งนั้นแหละ สอนให้เด็กมีนั่นมีนี่ ยึดถือไว้ เพราะไม่เคยสอนในแง่ความจริง หรือในแง่ที่ตรงกันข้ามให้เด็กเข้าใจ เพราะว่าพ่อแม่ก็ต้องการให้ยึดเหมือนกัน เราก็สอนให้ยึดถือไว้อย่างนั้น จะเห็นว่าเด็กมีเรื่องยึดมั่นถือมั่นในของเล็กๆ น้อยๆ ว่า มีตุ๊กตา มีรถน้อยๆ มีช้างมีม้าอะไรน้อยๆ ที่เขาเล่น เขาจะหวงแหนนักหนา ยึดถือเอาเป็นนักหนาทีเดียว ใครมาแตะต้องไม่ได้ ถ้าใครมาเอาของนั้นไป เราจะเห็นได้ว่าเขาร้องไห้ทันที ร้องไห้ดังขึ้นมาเสียด้วย ถ้าเมื่อใดเอาของนั้นมาคืนให้ เขาก็จะหยุดร้องไห้ ทำไมเด็กจึงร้องไห้เมื่อเราแย่งเอาตุ๊กตาเขาไป ก็เพราะเขานึกว่าตุ๊กตาของฉัน อย่าเอาของฉันไป เอาของฉันคืนมา มันร้องเป็นภาษาอย่างนั้นแหละ แต่ว่ามันไม่พูดออกมาเป็นภาษา และถ้าตีความหมายมันก็ได้อย่างนั้น

ทีนี้ผู้ใหญ่เห็นว่าเด็กร้อง ก็เอาไปคืนให้เขา พอได้คืนมาก็เอามาจับมันไว้ แล้วก็คลายจากความทุกข์ความเดือดร้อน เราจะเห็นเด็กบางคน ถ้าได้ตุ๊กตาตัวสวยๆ งามๆ จะต้องกกกอดอยู่ตลอดเวลา ไปไหนก็ต้องพาไปด้วย กินข้าว ก็ต้องเอาไปวางไว้ข้างๆ ไปเล่นก็ต้องเอาไปไว้ข้างๆ เวลานอนก็ต้องเอาตุ๊กตาไปนอนด้วยแล้วก็นอนกอดไว้ใกล้ตัวนะ ต้องคลำไว้กลัววตุ๊กตาจะวิ่งหนี

นีคื่อความยึดนั่นเอง มีไว้ตั้งแต่ตัวน้อยๆ ยึดติดในตุ๊กตาตัวนั้น ถ้าเราลองสมมติว่า เอาตุ๊กตาตัวนั้นไปเสีย เด็กนั้นจะนอนไม่หลับเอาเลยทีเดียว จะเที่ยวไขว่หา ร้องไห้ร้องห่ม ไม่ได้ตุ๊กตามา ถ้าเอามาให้แล้วเขาจะหยุดร้อง แล้วเขาจะนอนหลับเป็นปกติ พอตื่นขึ้นเขาจะต้องจับตุ๊กตานั้นก่อนละ จับเอามาหิ้วไปนั่นไปนี่ เรียกว่าจับไว้ไม่วางก่อนละ นี่เป็นปกติในรูปอย่างนี้ เป็นเรื่องของเด็กๆ เด็กๆ ติดของเล่น ติดอะไรก่อนแล้วก็ติดของกินของใช้ ประเภทอื่นต่อไป แล้วเมื่อเติบโตก็ติดของอื่นต่อไปอีก คือเราสอนให้เขายึดมั่นถือมั่น

เช่นว่าเรื่องชาติ เรื่องประเทศนี้ก็เหมือนกัน เราสอนให้มีความยึดมั่นถือมั่นกันทั้งโลกนั่นแหละ เพราะว่าทุกชาติ ต้องสอนให้เด็กรักชาติ ให้เด็กรักประเทศของตัว รักอะไรๆ เป็นของตัว ก็เลยเพาะนิสัยความรักชาติเกิดขึ้น การสอนให้รักชาติรักประเทศอะไรอย่างนั้น ความจริงถ้าพูดในแง่ธรรมแล้ว ก็เรียกว่า สอนให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง ไม่ใช่เรื่องอะไร ทีนี้บางทีมันสอนแรงเกินไป สอนแรงไปก็เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน พวกชาตินิยมหัวรุนแรงนี่ มักจะรุนแรงในเรื่องต่างๆ ความรุนแรงในเรื่องชาติ ศาสนา ในเรื่องภาษา ในเรื่องขนบธรรมเนียม ประเพณี ในเรื่องอะไรต่างๆ นั้น ย่อมเกิดปัญหาทั้งนั้น ขอให้เราสังเกตดูเถอะ ประวัติศาสตร์ก็บอกอยู่ในตัวแล้ว ว่าคนที่รบราฆ่าฟันกันนี้ มันเรื่องอะไรกัน ก็เรื่องอย่างนี้แหละคือต้องปลุกใจในชาติ ให้ยึดมั่นในชาติ ยึดมั่นในประเทศ ในอะไรของตัวนี่ พวกคอมมิวนิสต์ก็สอนให้ยึดมั่นในคอมมิวนิสต์ จนกระทั่งว่าตัวตายไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ยอมตายด้วยลัทธินั้น นั่นก็คือสอนให้ยึดมั่นถือมั่น เป็นอุปาทานชนิดหนึ่งเหมือนกัน

แต่ว่าพวกคอมมิวนิสต์ชอบติเตียนศาสนา หาว่าศาสนาเป็นยาเสพติดให้โทษ ไอ้ความจริง ตัวนั่นแหละเป็นลัทธิที่ให้โทษรุนแรง ให้โทษรุนแรงที่สุดด้วย เพราะว่าอาจจะกระทำชั่วแมื่อใดก็ได้ เพราะในลัทธินั่นไม่มีศีลธรรม ไม่มีบาปไม่มีบุญ ไม่สอนให้นับถือพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ แต่ว่าสอนให้บูชาลัทธินี้ หรือบูชา คนต้นคิด หัวหน้าในลัทธินี้เป็นชีวิตจิตใจ เรื่องพ่อ เรื่องแม่ เป็นเรื่องเล็ก ไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไร

ได้ทราบว่า ลูกชายของนายทหารคนหนึ่งหายไป พ่อแม่ก็เป็นห่วงมีความทุกข์มีความเดือดร้อนใจ แล้วพอวันหนึ่งมันก็ส่งจดหมายถึงพ่อ บอกว่าไม่ต้องเป็นห่วง เวลานี้ผมอยู่สบายดี เมื่อใดผมกลับมาเมืองไทยแล้ว คนแรกที่ผมจะจับก็คือพ่อนั่นเอง เพราะว่าพ่อเป็นศักดินาตัวใหญ่ ผมจะต้องจับก่อน นี่มันเป็นถึงขนาดนั้น แสดงว่าเมาแล้ว ไอ้เจ้าคนนี้เมาแล้ว มีอุปาทานแรง เรียกว่า ทิฎฐุปาทาน ในพระพุทธศาสนาเรียกว่า "ทิฎฐุปาทาน" ก็เรียกว่ายึดมั่นในทฤษฎี ในความคิดในความเห็น แล้วก็รุนแรงจนขนาดว่า จับพ่อฆ่าได้ทีเดียว พวกก็ชมเชยว่าไอ้นี่นักอุดมการแท้ เป็นผู้เห็นแก่สวนรวมแท้จริง เขาไม่ส่งเสริมศีลธรรม แต่ส่งเสริมสิ่งเดียวที่เขาต้องการ นั่นแหละคือยาเสพติดตัวใหญ่

แต่ว่าคนที่เมานั่นมักจะว่าคนอื่นเมาเสมอ เหมือนกับคนโรคจิตที่อยู่ที่ปากคลองสาน ที่ศรีธัญญา โรงพยาบาลตรงนี่ เราเข้าไปเถอะถ้ามันก็ว่าบ้าอีกแล้ว มันหาว่าบ้ากันทั้งนั้นแหละ แม้หมอมันก็ว่าบ้า พอหมอเดินมามันว่าไอ้บ้ามาอีกแล้ว มาฉีดยากูอีกแล้ว เอายามาให้กูกินอีกแล้วละ มันเรียกหมอนางพยาบาลว่าไอ้บ้า อีบ้าทั้งนั้นเองตัวเขาเองนั่นเป็นคนไม่บ้า แล้วมันมาดูคนอื่นว่าบ้าทั้งนั้นน่ะ คนไข้นี่ก็ดีเหมือนกันล่ะ คนไข้นาย ก. พอเห็นนาย ข. ก็ว่า คนบ้าอย่าไปยุ่งกับมัน นาย ข. ก็ว่านาย ก. มันบ้าอย่าไปยุ่งกับมัน

เพราะฉะนั้น คนไข้ในโรงพยาบาลโรคจิตนี่มันอยู่กันได้ ไม่ทะเลาะกันหรอก ทำไมมันถึงไม่ทะเลาะกัน เพราะว่าต่างคนต่างก็หาว่าบ้า มันจึงไม่เข้าใกล้กัน มันบอกว่าอย่าไปเข้าใกล้มันไอ้บ้านั้นนะ ต่างคนต่างหันหน้าเข้าฝา อาตมาไปดูแล้วโรงยาวๆ ยาวกว่านี้ แล้วทุกคนหันหน้าเข้าฝาทั้งนั้น พึมพำอยู่คนเดียวไม่ยุ่งกับใคร อันนี้ถามหมอว่าทำไมไม่ยุ่งกันกับใคร อันนี้ถามหมอว่าทำไมไม่ยุ่งกัน หมอบอกว่า อ้าว ต่างคนต่างก็หาว่ากัน แล้วเลยมันไม่เข้าใกล้กัน มันก็ดีอย่างนั้นแหละ แปลว่าคนบ้าด้วยกันก็หาว่าคนบ้าๆ หมอมาก็บ้านางพยาบาลก็บ้าใครๆ ก็บ้าทั้งนั้น มันเป็นอย่างนี้

เรื่องเป็นคอมมิวนิสต์นี่ก็เหมือนกันแหละ มันเห็นว่าคนที่ไม่เป็นคอมมิวนิสต์มันไม่ได้เรื่อง เป็นพวกเสพติด พวกเมาศาสนา แต่ตัวเองนั่นเมางอมแงม ไม่รู้เรื่อง แล้วมันไม่ว่าอย่างนั้นนี่มันก็แปลก มนุษย์เรามันมีเรื่องแปลกอยู่อย่างนี้ มีอยู่ในโลกทั่วๆ ไป เพราะว่าเขาพูดเขาสอนมากในเรื่องนั้น ย้ำตลอดเวลา ย้ำให้เกิดความเมาในเรื่องนั้นยึดมั่นในเรื่องนั้น จนกระทั่งว่าไม่เปลี่ยนแปลง จนกระทั่งตาย อันนี้เป็นตัวอย่าง

ทีนี้ถ้าสมมติว่า ตัวเราจะสอนให้ตรงกันข้ามจะได้หรือไม่ คือไม่สอนให้ยึดถืออย่างนั้น แต่ว่าเราสอนอีกแง่หนึ่งคือ หมายความว่าสอนให้ประพฤติธรรม สอนให้รู้จักหน้าที่ว่าเรานี้เกิดมาเพื่ออะไรๆ เราอยู่เพื่ออะไร สิ่งที่เราควรประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันมันคืออะไร ให้เขาเห็นความสำคัญของหน้าที่ ของการปฎิบัติหน้าที่ ของความเสียสละอะไรเป็นตัวอย่าง ถ้าเราฝึกไปในรูปอย่างนั้น เด็กของเราจะมีปัญหาขึ้นกว่าปกติ แล้วมีความเข้าใจอะไรถูกต้องตามความเป็นจริง เขาจะทำอะไรก็ทำด้วยปัญญา ด้วยเหตุด้วยผล จะไม่ได้ทำด้วยความบ้าคลั่ง ยึดมั่นถือมั่นเหมือนพวกชาตินิยม พวกบ้าคลั่งเหมือนกัน พวกฮิตเลอร์ก็เรียกว่าบ้าคลั่งเหมือนกัน คลั่งชาตินิยม คือว่าคนพวกเยอรมันนีเป็นพวกอารยัน เป็นพวกที่เจริญ แล้วก็รังเกียจพวกยิวเป็นที่สุด ทำลายยิวจับยิวไปฆ่าเป็พันๆ คนทีเดียว ตายทีเดียวเอาไปฆ่ารวมกัน ไอ้พวกไม่ตายเหลืออยู่ก็ไม่รู้จักว่าใครเป็นผู้สั่งฆ่า พวกยิวก็โกรธมากเหมือนกันต้องจับคนฆ่ามาให้ได้ ที่ชื่อนายไฮมารนั่นตัวสังหารใหญ่ หนีไปเท่าไรๆ ยิวก็จับตัวมาได้ขึ้นศาลในอิสราเอล

นี่ก็คือเรื่องเมาทั้งนั้น เมาชาติรุนแรง แล้วก็ทำการฆ่าคนอื่น ลืมนึกถึงอะไรไปหมด นึกไม่ถึงใจเขาใจเรา ไม่มีอะไรอยู่ในนั้น มีแต่ความโกรธความเกลียด ความพยาบาท เพราะอาศัยความยึดถือในเรื่องชาติรุนแรงนั่นเอง เป็นเหตุให้เกิดวุ่นวาย แต่ถ้าเราพูดให้เขาเข้าใจ ว่าสิ่งทีเราควรทำลายนั้น ไม่ควรจะเก็บเอามาไว้ในใจ สอนเด็กตั้งแต่เบื้องต้น ว่าควรจะทำลายความชั่ว ความชั่ว มีลักษณะอย่างไร เช่นความโลภอยากได้ของคนอื่น เป็นความชั่ว ความโกรธนี่ก็เป็นความชั่ว ความเกลียดก็เป็นความชั่ว ความโกรธนี่ก็เป็นความชั่ว ความริษยานี่ก็เป็นความชั่ว ความถือเนื้อถือตน ดูหมิ่นผู้อื่นอะไรต่างๆ เป็นความชั่วก็เรียกว่า อุปกิเลสมี ๑๖ อย่าง

ที่ท่านแสดงไว้ในหนังสือมี ๑๖ อย่าง เอามาพูดให้เด็กเข้าใจ ว่าสิ่งที่เราควรทำลายนั้น ไม่ใช่คน ไม่ใช่สิ่งนั้นสิ่งนี้ สิ่งที่เราควรทำลายก็คือความชั่วนั่นเอง ตัวความชั่วเป็นสิ่งที่ควรทำลาย ไม่ควรจะเก็บเอามาไว้ในใจ สอนเด็กตั้งแต่เบื้องต้น ว่าควรจะทำลายความชั่ว ความชั่วมีลักษณ์อย่างไร เช่นความโลภ อยากได้ของคนอื่นเป็นความชั่ว ความริษยนี่ก็เป็นความชั่ว ความถือเนื้อถือตนอะไรดูหมิ่นผู้อื่นอะไรต่างๆ เป็นความชั่วเรียกว่า "อุปกิเลส" มี ๑๖ อย่าง ที่ท่านแสดงไว้ในหนังสือมี ๑๖ อย่าง เอามาพูดให้เด็กเข้าใจว่าสิ่งนี้ไม่ดีทั้งนั้น ให้เขารังเกียจสิ่งนี้ ให้เบื่อหน่ายต่อสิ่งนี้ ให้ทำลายสิ่งนี้ แล้วถ้าหากว่าสิ่งนี้มีอยู่ในตัวใคร แทนที่เราจะทำลายตัวบุคคลนั้น เหมือนกับว่าเสือร้าย มันอยู่ในป่า เรารู้ว่าเสือมันร้าย มันกัดคนทำคนให้ตาย เราโกรธเสือแล้ว เราไปเผาป่าเพื่อให้เสือตายอย่างนี้มันไม่ถูกต้อง เสือตัวเดียวอยู่ในป่า จุดไฟไปเผาป่าหมดเลย ป่าเตียนโล่งไปเสือตายเหมือนกันแต่ว่าเสือตายแล้ว ป่าราบไปเสียด้วยอย่างนี้ก็ไม่ถูก

พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนให้เราทำอย่างนั้น ให้ทำเฉพาะเรื่องเฉพาะสิ่งไม่ใช่ทำอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าตัดป่าจะทำป่าลายไม่ได้ ต้องตัดต้นไม้ท่านว่าอย่างนั้น ตัดต้นไม้ไม่ใช่ตัดป่าคือตันไม้ ต้นใด้มันเป็นพิษเป็นโทษแก่คน เราตัดต้นไม้ต้นนั้นเราไม่ทำลายป่า เหมือนกับเถาหมามุ่ยเมื่อใครเดินเข้าไปใกล้มันก็คันทั้งนั้น ขยิกเข้าไปตามกันละแล้วเราจะไปโกรธว่าป่านี้มีหมามุ่ย ตัดโคนมันก็ตายแล้ว เมื่อมันตายแล้วมันก็ไม่มีอะไรที่จะให้ใครคันต่อไป ป่านั้นก็ยังอยู่ไม่ถูกทำลาย

ชีวิตมนุษย์นี่ก็เหมือนกัน เราควรที่จะดูว่าอะไรที่มันไม่ดี ไม่ดี ไม่ทำลายคนนั้น แต่ว่าเราควรจะหาวิธีให้เขาคืนคลายจากสิ่งนั้นด้วยการสอนด้วยการอบรม หรือด้วยการกระทำอะไรก็ตามเถอะให้เขาได้หยุดได้ยั้งสิ่งนั้น อย่างนี้เรียกว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้อง ไม่ต้องฆ่าต้องแกงกัน ไม่ต้องทำลายคนให้เกิดความเสียหาย แล้วเรื่องสำคัญที่สุดที่จะต้องทำลายก่อนก็คือสิ่งที่มันเกิดอยู่ในตัวเรานั่นแหละ เราจะต้องรู้จักตัวเราเองว่าเราจะต้องมีอะไร สิ่งที่มีอยู่นั้นเป็นพิษเป็นภัยหรือไม่เป็นทุกข์เป็นโทษแก่เรา หรือไม่ถ้าเห็นว่ามันเป็นภัยเป็นทุกข์โทษแก่เราแล้ว เราก็ควรทำลายสิ่งนั้น ทำลายเพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่ผู้ที่เราเห็นว่า เขามีสิ่งนั้นอย่างนี้ก็เป็นตัวอย่างอยู่ในตัว

เช่นว่าเราจะสอนคนอื่นไม่ให้โลภให้เห็เป็นตัวอย่าง ไม่โกรธใหห้ป็นตัวอย่าง ไม่หลงให้เป็นตัวอย่าง ไม่เห็นแก่ตัวแก่ได้ให้เป็นตัวอย่าง อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นการสอนอยู่ในตัวที่ถูกต้อง การอบรมบ่มนิสัยคนก็ควรจะไปในรูปนั้น คือให้รู้จักหน้าที่ เพื่อหน้าที่ตลอดเวลา ความเห็นแก่ตัวก็จะลดน้อยลงไป แล้วก็จะอยู่กัน ด้วยความสงบตามสมควรแก่ฐานะ เรื่องอย่างนี้จะดีกว่า ดีกว่าสอนให้มีความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องนั้น

สมมติว่าเราพาเด็กๆ ไปเที่ยวที่อยุธยาแล้วเราก็เล่าประวัติศาสตร์ให้เด็กฟัง แล้วก็ยังแถมท้ายว่าไอ้พวกพม่านี่มันร้ายนักหนามันมาทำร้ายพวกเราอย่างนั้นอย่างนี้ มี่เขาเรียกว่าเพาะเชื้อ เพะาะเชื้แห่วความโกรธ ความพยาบาทให้เกิดขึ้นแก่ในใจของเด็ก เด็กรู้จากเราว่าคนพม่านี้ทำให้เราเสียหายโกรธเคือง บางคนอ่านประวัติศาสตร์แล้วลืมตัวเอาหนังสือขว้างไปเลย เมื่อขว้างไปแล้วนึกไปได้ว่าอ่าวไปขว้างหนังสือไปเสียแล้ว นึกว่าหนังสือนั่นเป็นพม่าเลยขว้างมันเสียเลยอย่างนี้มันก้ไม่ถูกเรื่อง ไม่ครจะสอนในรูปอย่างนั้น แต่เราควรจะสอนเด็กให้เข้าใจความจริงเหล่านี้ ที่มันต้องผุพังเสียหายนี่มันไม่ใช่เรื่องอะไร เรื่องของกิเลสมันตั้งอยู่ในใจคนเรื่องของความโลภ เรื่องของความโกรธ เรื่องของความหลง ๓ อย่างนี้แหละเป็นตัวการใหญ่เกิดขึ้นในจิตใจคนแล้ว คนนั้นก็พ่ายแพ้แก่กิเลส กิเลสบังคับให้ยกทัพมาเผ่าเมืองไทย ต้นตอที่เราควรโกรธเราควรเกลียดนั่น ไม่ใช่คนแต่เราควรจะโกรธเจ้าความโลภ เกลียดเจ้าความโลภ เกลียดรความโกรธ โกรธความหลง แล้วเมื่อโกรธเกลียดมันแล้วจะทำอย่างไร อย่าให้มันเกิดขึ้นในใจของเรา อย่าให้ตัวโกรธเกิดขึ้นในใจของเรา อย่าให้ต้วเกลียดเกิดขึ้นในใจของเรา อย่าให้ตัวโกรธเกิดขึ้นในใจของเรา

แต่ว่าเราจะต้องฆ่ามันด้วยการทำตรงการทำตรงกันข้าม การทำที่ตรงกันข้ามก็คือแผ่เมตตาด้วย ปรารถนาความสุขความเจริญแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย เราเองเป็นผู้มีใจเมตตาด้วย อย่างนี้มันไม่ต้องตอบแทนกันด้วยฟันต่อฟัน ตาต่อตา หรือว่าเลือดต่อเลือดอย่างนั้นมันไม่ถูกต้อง แต่ว่าใช้วิธีการ ชนะความดี ชนะความชั่วด้วยความดี ชนะความโกระธ ด้วยความไม่โกรธ ชนะความตระหนี่ด้วยการให้ เป็นการชนะที่ถูกต้อง แต่ไม่มีใครจะสอนกันด้วยอย่างนี้ หรือว่าแนะนำกันด้วยในรูปอย่างนี้ทำไมจึงไม่พูดในเรื่องอย่างนั้น กลัวว่าตัวจะเป็นคนไม่สู้คนไปกลัวว่าจะไม่ป้องกันชาติประเทศไป อันนี้ก็เข้าใจผิดเหมือนกัน

ความจริงคนที่ประพฤติธรรมะนั้นแหละ มีธรรมะเป็นพื้นฐานอย่างมั่นคงนั่นแหละ จะช่วยตัวได้ ช่วยชาติได้ช่วยประเทศได้ เวลานี้โลกทั้งโลกมันอยู่ในสภาพอย่างไร เราลองพิจารณาศึกษากันให้ดีแล้ว เราจะพบความจริงว่าโลกทั้งโลกนี้ เป็นเมืองขึ้นทั้งนั้นไม่มีใครเป็นอสระ ไม่มีใครมีเสรี ไม่มีชนชาติใดที่เรียกว่า อยู่อย่างอิสรเสรีโดยธรรมะ อืสรเสรีคือแบบการบ้านการเมืองอะไรไปตามเรื่อง แต่ว่าไม่เป็นอิสรเสรีโดยธรรม จิตใจไม่อิสรเสรี เพราะว่าคนเหล่านั้นละทิ้งสิ่งดีสิ่งงามไป ไม่เอาใจใส่อยู่ในสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ

คนอเมริกันนี่เขาพิมพ์บัตรแล้ว เขาเขียนไว้ในธนบัตรว่า "วีทรัสอินก๊อด" (we triust god) หมายความว่าเราไว้ใจในพระผู้เป็นเจ้าก็เขียนไว้หรูๆ หราๆ นั่นเองละว่าไว้ใจในพระผู้เป็นเจ้า แต่ว่าไว้ใจแน่หรือในพระผู้เป็นเจ้านะ ยังไม่ถึงขั้นที่เรียกว่า ไว้ใจในพระผู้เป็นเจ้า ยังไม่เอาพระผู้เป็นเจ้ามาเป็นดวงประทีป นำทางชีวิตอ่ย่างแท้จริง จึงยังตกอยู่ในสภาพวัตถุนิยม แล้วก้ยัวเหลวไหลกันอยู่ยังยุ่งกันอยู่ แมประชาชนก็ยังหลงผิดคิดทำอะไรแปลกๆ แผลงๆ ที่ปรากฎเป็นข่าวว่า หญิงสาวที่เขาไปเปลือยกายที่ชายหาดมากๆ แล้วตำรวจไปจับ พวกนั้นประท้วงด้วยการแก้ใหม่ ที่ใหม่ต่อไป แล้วถือว่านี่เป็นสิทธิมนุษยชน แต่เรียกว่าสิทธิของมนุษย์ที่ทำได้จะนุ่งก็ได้ไม่นุ่งก็ได้ ตำรวจอย่ามายุ่งกับพวกฉันเลยอย่างนี้เป็นตัวอย่าง

นั่นเขาเรียกว่าไม่ได้ไว้ใจในพระผู้เป็นเจ้าแล้ว แต่ไปไว้ใจในกิเลสแล้วนี่ ควรจะพิมพ์เสียใหม่ว่าอย่าไปไว้ใจในในำรผู้เป็นเจ้า ควรจะว่าเราไว้ใจกิเลสทั้งหลาย ทีนี้มันยุ่งแหละ ถ้าไว้ใจในกิเลสมันยุ่ง ทำไมจะต้องเปลือยกายเปลือยกายทำไม ถ้าคิดถึงธรรมะจำเป็นจะต้องเปลือยกายเพราะว่ามนุษย์เรานี่เมื่อเด็กมันเปลือยกาย โตขึ้นมันก็ต้องนุ่งผ้าตบแต่งร่างกาย กันร้อนกันหนาวกันเหลือบกันยุง กันสิ่งที่น่าละอาย ไม่ควรจะเปิดเผย นี่มันเป็นเรื่องของมนุษย์ธรรมดาแต่ว่าถ้ารู้ไม่รู้จักความละอาย จิตใจมันจะเป็น มนุษย์อยู่ได้หรือ ถ้าหากว่าคิดสักเล็กน้อยว่าเอ๊ะนี่เราทำเพื่อความเป็นมนุษย์ หรือว่าเราทำเพื่ออะไร เราทำเพื่อเอาจใจพระหรือว่า เราทำเพื่อเอาใจผีกันแน่ ถ้าคิดให้ละเอียดก็จะเห็นได้ว่ามันไม่ได้ความแล้วพวกเรานี่ มันจะชวนกันบ้าทั้งเมืองแล้ว ก็จะคลายลงไป แต่ก็ไม่อย่างนั้น ไม่มีความคิดในรูปอย่างนั้น ทำไปตามเรื่องของเขา ก็แสดงว่าไม่ไว้ใจในพระผู้เป็นเจ้าไม่เอาธรรมะมาใช้ จึงเกิดเรื่องวุ่นวายกันเป็นทาสของกิเลสกันไปตามๆ กัน

ถ้าสมมติว่าจะพูดจะอะไรกันนะต้องมีเรื่องเห็นแก่ตัวแฝงอยู่ข้างหลังเสมอ แม้ว่าสัญญาอะไรกันก็ต้องเอารัดเอาเปรียบกันนิดๆ หน่อยๆ ที่ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ถ้าฉันเอาเปรียบแกได้ฉันจะต้องเอาละ ฉันไม่ยอมเป็นอันขาด นี่มันนเป็นเสียอย่างนี้ละ ชาติใหญ่ก็อย่างนั้น ชาติเล็กนะไม่ต้องสงสัยละเป็นเบี้ยล่างชาติใหญ่เป็นธรรมดา ไอ้ชาติใหญ่มันเอารัดเอาเปรียบตลอดเวลาอันนี้เขาเรียกว่าธรรมดาโลก ปลาใหญ่มันก็ต้องกันปลาเล็กละ ปลาเล็กจะได้กินปลาใหญ่ เมื่อปลาใหญ่ตายนั้นแหละ ถ้าปลาใหญ่ยังไม่ตายก็ยังไม่ตอดหรอก แต่ถ้าตายเข้าวันไหน ปลาเล็กก็ว่ากูต้องกินแกบ้างละ คราวนี้เลยมันก็กินกันใหญ่มันก็เป็นอย่างนี้

นี่มันไม่ใช่วิสัยของโลกที่มีธรรมะ แต่มันเป็นวิสัยของวัตถุของจิตใจ ที่ยังมิได้อบรมไม่ได้ฝึกฝนด้วยคุณธรรม จึงเป็นกันอย่างในรูปอย่างนั้น แต่ถ้าเป็นจิตใจที่ได้อบรมบ่มนิสัยในทางธรรมะ ไม่ว่าจะเป็นผู้นับถือทางศาสนาใด เราอย่าไปรังเกียจกันเลย ในเรื่องของศาสนาว่าคนนั้นเป็นพุทธ คนนั้นเป็นคริสต์คนนั้นเป็นอิสลาม คนนั้นเป็นฮินดู ก้อย่าไปถือเลย

อาตมาเคยพูดในที่ๆ เขาอภิปรายกันหลายศาสนาเขาชอบอย่างนี้ โดยมากพี่น้องชาวอิสลามเขาชอบให้อภิปรายหลายศาสนา แต่เพียงเปลือกนอก คือการแต่งกายการโพกหัว การนุ่งผ้า การใส่เสื้อในรูปนั้นรูปนี้ หรือว่าการทำพิธีไหว้แบบนั่น แบบนี้ อะไรต่างๆ นั้น ไม่ใช่เนื้ออแท้อะไรหรอก เป็นแต่เพียงเปลือกนอกทั้งนั้น แต่ว่ามนุษย์ในโลกเรานี้ชอบติดเปลือกไว้ก่อนถ้าถึงเนื้อมันน้อย คล้ายมดแดงแฝงพวงมะม่วงงอม มันเที่ยวไต่อยู่นั้นแหละไต่รอบนอก ไต่ไปไต่มาไม่ไได้แอ้มสักหน่อย พอมะม่วงก็คนก็สอยเยาไปกินเสีย มดแดงก็มองชะเง้อต่อไป ไอ้ลูกไหนที่จะสุกกูจะไปไต่มันต่อไปมันเป็นอยู่อย่างนั้น

คนนับถือศาสนาก็คล้ายๆ กันเที่ยวไต่อยู่ตามขอบคัมภีบ้าง ตามโบสถ์ ตามพระพุทธรูปบ้าง อะไรอย่างนี้ อะไรเที่ยวไต่อยู่นั่นแหละ เที่ยวอ้อมโบสถ์บ้างไม่เข้าไปในโบสถ์ ไปเจอพระพุทธรูปก็ติดแต่พระพุทธรูปอยู่นั่นแหละ ไม่ได้เปิดเข้าไปถึงเนื้อในของพระรูปสักที นี่เขาเรียกว่าติดเปลือก ถ้าติดเปลือกอยู่อย่างนี้ทะเลาะกันตาย เปลือกมันไม่เหมือนกันนี้ ทะเลาะกันใหญ่ สมมติว่าเราได้มะพร้าวกันมาคนละผล ไอ้คนหนึ่งได้ผลเล็ก คนหนึ่งได้ผลใหญ่ คนหนึ่งได้มะพร้าวแก่ คนหนึ่งได้มะพร้าวห้าว ก็เถียงกันอยู่นั่นแหละว่าของกูสีเขียว ว่าของกูสีน้ำตาลของข้ามันใหญ่โว้ย ของข้ามันเล็ก ไม่ปลอกเปลือกออก แล้วก็ไม่คั้นเอาน้ำกะทิไปกินเป็นแต่เพียงน้ำกะทิ ก็ยังมีเปลือกอยู่นั่นแหละ เพราะมันยังมีน้ำเจือปนอยู่ ต่อเมื่อใดเราไปเคี่ยวน้ำกะทินั้น ได้น้ำมันมะพร้าวล้วนๆ เคี่ยวร้อยครั้งได้น้ำมันมะพร้าวแท้ว่าอย่างนั้นเถอะ เขาจึงพูดว่าม้ำมันที่เคี่ยวร้อยครั้งนี้คือเคี่ยวๆๆๆ จนกระทั้งเหลือน้ำมันจริงๆ เรียกว่าน้ำมันแท้ ถ้าเอาไปใช้เป็นประโยชน์ต่อไป โดยมากไม่ถึงของแท้หรอก มักจะได้ของปลอมทุกที เวลานี้มันเป็นอย่างนั้นแหละ

คนถือศาสนาทั้งหลาย มักถือศาสนาแต่เพียงชื่อดแต่ไม่พยายามเข้าถึงธรรมะอันเป็นเนื้อแท้ของศาสนา ถ้าถึงธรรมะแล้วก็ไม่มีอะไร ไม่ต้องเถียงกัน ไม่ต้องทะเลาะกัน ไม่ตัอบแบ่งกันว่า ฉันเป็นคริสต์ นั่นเป็นพุทธ นั่เป็นอิสลาม แต่เรามารู้เข้าใจ ในใจจเราบอกว่าเขานั้นเป็นผู้ประพฤติธรรม ผู้ประพฤติธรรมแล้วก็เหมือนกัน จะเอาธรรมะจากคัมภีร์ไหนก็ตามเถอะ มันก็เท่ากันเช่นเป็นคนซื่อสัตย์ มันก็ซื่อสัตย์เท่ากัน เป็นคนไม่ซื่อมันก็ไม่ซื่อเท่ากันแหละ คนไม่โลภมันก็เหมือนกัน เอาคัมภีร์ไหนมาก็ได้แล้วเราประพฤติตามหลักธรรมนั้นก็ใช่ได้ ถ้าไม่มีการสอนให้เข้ากันเรื่องอย่างนี้มีแต่สอนให้ยึดมั่นถือมั่น ถือเขาถือเราแล้วบางทียังกีดกัน กันเสียอีกน่ะ ไม่ได้ฟังคำสอนศาสนาอื่นอะไรอย่างนี้แหละ

คือนั้นมีคนหนึ่งพูดดี เป็นอิสลามว่า เออ...วิทยุเปิดเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุงมาฟังกันได้พวกเราล่ะ พระเทศน์ไม่ฟังฮื่อ...พระเทศน์นี่มีนดีกว่าเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุง ท่านสอนไม่ให้เพาะกิเลส ไม่ให้เพาะความชั่ว ไม่ฟังพอได้ยินเสียงพระพูดก็ปิดวิทยุเสียเลย แต่พอเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุงมา เปิดก้องบ้านไปเลย นี่มันอะไรกันมี่ แกพูดจาเข้าทีนะไอ้คนนั้นน่ะ นี่จิตใจมันพอเป็นธรรมบ้างคือพอให้คนรู้บ้างว่า อะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ หรือว่าไม่ใช่เสียงใในคัมภีร์โกระอ่านเขาไม่ฟัง คือเขาถือว่าเสียงไม่ใช่เสียงในคัมภีร์ พอเราอ่านเขาไม่ฟัง จะฟังแต่เสียงเฉพาะคัมภีร์นั้น อีกอันหนึ่งเขาว่ากับชาวบ้าน แม้จะเป็นคนขี้เมายังไหว้ได้แต่พอแต่งต้วเป็นพระมาแล้วก็ไหว้ไม่ได้ พระกับชาวบ้านอันไหนดีกว่ากัน พระแกดีกว่าชาวบ้าน ประพฤติตามพระวินัยครบถ้วนก็ยังดีกว่าชาวบ้านทั้งหลาย แต่เราพอเจอชาวบ้านยกมือไหว้ เจอกำนันก็ไหว้ เจอผู้กองก็ไหว้แม้เมาก็ไหว้ แต่เจอพระกลับไม่ไหว้ เรื่องอะไรเขาว่าอย่างนั้น เออฟังแล้วมันจะเข้าทีสักหน่อย แสดงให้เห็นว่ามันควรจะเช้ากันระหว่างต่างศาสนา ต่างชาติ ต่างผิวต่างวรรณะ ไม่ควรจะถือกัน คนเรามันโง่ที่มาถือกันอย่างนั้น เช่นการถือผิวในอัฟริกาใต้นั้น โง่ทั้งนั้นมีเรียนปรืญญาสูงๆ แต่ว่ายังโง่ นี่มันโง่เพราะอะไร โง่เพราะความยึดมั่นต้วเดียว อุปาทานว่าฉันผิวขาวนั่นแหละลองเปืดหนังออกดูซิ แล้วเอาเลือดคนผิวขาวกับคนผิวดำมาดูกันซิ มันเลือดสีเดียวกันไม่ใช่อายเลือดแขกดำมันสีดำเมื่อไร ก็แดงนั่นแหละ เลือดผิวขาวก็ไม่ใช่เลือดขาว ถ้าเลือกขาวมันก็ไปป่าช้า มันเป็นโรคเร็งในเส้นเลือดแล้วมันอยู่ไม่ได้ มันแดงทั้งนั้นละ แต่ว่าไม่ได้นึกไปอย่างนั้น มาเถียงกันอยู่ได้

มันคล้ายๆ กับว่าคนมาเป็นตะเกียงดวงหนึ่ง สมัยก่อนนี้ตามโรงพักเขาแขวนตะเกียงไว้ แล้วตะเกียงนั้นมีแก้วหลายสี สีเขียว สีเหลือง สีขาว สีม่วง สีแดงละเขาติดไว้ที่คนมาดูตะเกียง คนหนึ่งมาดูด้านไฟสีเขียวไปบอกว่าตะเกียวสีเขียว ไฟสีเขียว เฮ้ยไฟสีขาว ไอ้นั่นบอกว่าไฟสีแดง อ้ายนั่นบอกไฟสีม่วง เถียงกันอยู่นั่นแหละสามสี่คนนั่งเถียงกันอยู่ จะชกปากกันอยู่แล้ว ว่ามัรไฟสีนั่นสีนี้ แล้วก็มีคนฉลาดอยู่คนหนึ่งบอกว่าอย่าเถียงกันเลย ฉันจะไปเอาตะเกียงมาดูกันดีกว่า เอาตะเกียงมาแล้วเอาแก้วออกหมดแล้วก็ดูว่าไฟมันสีอะไร อ้อไฟมันสีเดียวกัน ดูทางช่องนี้ซิอ้อเหมือนกัน ดูช่องนั้นบ้างช่องนี้บ้างซิมันก็เหมือนกันดูช่องโน้นมันก็เหมือนกัน ดูทุกช่องไฟมันเหมือนกัน เพราะไม่มีแก้วเข้ามาใส่มันก็เป็นอะไร เหมือนกับเราใส่แว่นตาแว่นตาสีชา มองอะไรก็เป็นชาไปหมดละ แว่นตาสีเขียวมองอะไรก็เป็นสีเขียวไปหมด เราใส่แว่นตาสีแดง เอ้อโลกมันจะแดงเถือกไปหมด อันนี้ไม่ใช่ความจริงอย่างนั้น นั่นมันเป็นเพียงมายาที่เราไม่รู้จักกับเรื่องที่แท้จริง เพราะอย่างนี้แหละมนุษย์มันถึงยุ่งกันหนักหนา

ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านสอนเราอย่างไร ท่านสอนเราให้เพิกสิ่งที่เป็นมายาออกไป ให้ถอนเปลือกทั้งหลายออกไป ให้ถอนเปลือกทั้งหลายออกไปแล้วเอาแต่เนื้อแท้กัน เนื้อแท้ของคนนั้นนะมันอยู่ที่อะไร ก็อยที่จิตนั่นเอง จิตที่จะรู้สึกนึกคิดในเรื่อยอะไรๆ ต่างๆ ญาติโยมเคยอ่านหนังสือสูตรเวยหล่างหรือเปล่า ถ้าอ่านสูตร เวยหล่างจะพบคำสำคัญหนึ่ง คือขณะที่เด็กน้อยเวยหล่างไปหาอาจารย์ อาจารย์ก็ถามว่า เธอมาจากไหน บอกว่ามาจากทางใต้ บอกว่าคนเมืองใต้ คนป่าคนเยิงจะมาทำไม อาจารย์เล่นงานเอาแล้ว ว่าคนว่าคนเยิงมาจากบ้านป่าเมืองดอย จะมาศึกษาธรรมะ คนป่าคนเยิงจะมาเรียนภาษาธรรมะกับเขาด้วยหรือ อาจารย์พูดสัพยอกอย่างนั้น ไม่ได้ว่าอะไรนักหนา เจ้าเวยหล่างเด็กน้อยตอบว่าอย่างไร บอกว่าแม้จะเป็นคนป่าคนเยิง จิตที่จะรู้ธรรมะก็มีเหมือนกัน อาจารย์บอกว่าตอบเข้าทีดีนี่ ว่าอย่างนั้น เธอตอบเข้าทีดี ไป๊...หุงข้าว ตำข้าวผ่าฟืนดีกว่า ก็ส่งเข้าครัวเสียเลย ไปตำข้าว ไปผ่าฟืน ไปอะไรไปตามเรื่อง ตามฐานะของเด็ก

แต่ว่าคำตอบของเด็กที่ว่าจิตที่มันจะรู้ธรรมะมันมี ไอ้จิตที่จะรู้ธรรมะนะ ไม่ใช่เป็นหญิงนะ แล้วก็ไม่เป็นชายนะ ไม่ใช่เป็นแขก ไม่เป็นผิวดำ ไม่เป็นผิวขาว ไม่เป็นศาสนิกในศาสนานั้นศาสนานี้ แต่มันเป็นจิตล้วนๆ เป็นจิตที่จะเข้าถึงความสงบ ถึงความสะอาด ความสว่าง มันเป็นธรรมะที่จะเข้าถึงความสงบ ถึงความสะอาด ความสว่างมันเป็นธรรมที่จะเข้าถึงเข้าถึงได้มันไม่มีอะไร ทีนี้เราไปเข้าไม่ถึงจุดนั้นหัน ไปติดอยู่ข้างนอกเลยไม่เข้าถึงเนื้อแท้ ถ้าทุกคนที่นับถือศาสนาพยายามเข้าถึงตัวแท้ตัวจริงแล้ว เรื่องทะเลาะกันก็ไม่มี เราสามารถจะเข้ากันได้ เราฟังอะไรมันเป็นธรรมะทั้งนั้นแหละ จะไปฟังพระฝรั่งเทศน์มันก็เป็นธรรม ไปฟังฮินดูเทศน์ก็เป็นธรรม ไปฟังพวกอิสลามพูดเป็นธรรมกก็เป็นธรรม มันธรรมทั้งนั้นมันไม่มีอะไรที่จะไปทะเลาะกัน

คนที่ทะเลาะกันนั้นเป็นคนที่ไม่มีธรรมะขณะทะเลาะไม่มีธรรมะ เราเถียงกันนี่ไม่มีธรรมะอะไร มันมีแต่ความโกรธ มีแต่ความเกลียด มีแต่ความถือตัวถือตน สำคัญตนผิดอย่างนั้น สำคัญอย่างนี้ เถียงกันจนหน้าแดง มันไม่มีธรรมเวลานั้น สามีภรรยานี้อยู่ในบ้านมีธรรมะทั้งสองฝ่ายไม่ทะเลาะกันเลย ไม่มีเถียงกัน ไม่มีอะไรถ้าฝ่ายหนึ่งดังขึ้นมาฝ่ายนั้นก็เงียบเสีย เพราะฝ่ายหนึ่งรู้ว่านั่นมันไม่เป็นธรรม เมื่อความไม่เป็นธรรม เมื่อความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นแก่ฝ่ายหนึ่ง แล้วเราจะไปเพิ่มความไม่เป็นธรรมมเกิดขึ้นอีกทำไม เราเงียบเสียดีกว่า ไอ้คนที่ไม่เป็นธรรมมานึกขึ้นได้ว่ากูนี่เลอะอยู่คนเดียวก็ละอาย พอละอายก็หยุดเรื่องมันก็สงบเท่านั้นเอง

แต่ที่มันไม่สงบก็เพราะว่า แข่งกันสร้างความไม่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นในใจ เราไม่ทำไม่แข่งกันสร้างในความเป็นธรรม แต่ไปสร้างในความไม่เป็นธรรมให้เกิดขึ้น เลยทะเลาะกัน แล้วพอทะเลาะกันแล้วต่างคนก็ต่างคนก็ว่ากูไม่ยอม กูไม่ยอม ไอ้คำว่ากูไม่ยอมนั่นคืออะไร นั่นแหละตัวอธรรมแท้ๆ แหละที่เข้ามาครองร่างเราอยู่ เราไม่เป็นไทยแล้ว เราไม่เป็นมนุษย์ ไม่เป็นพุทธบริษัทแล้ว แต่ว่าเป็นอะะไร เป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ความไม่เป็นธรรมเข้ามาครองร่าง มาบังคับขับไส เคี่ยวเข็ญเย็นค่ำร่ำไปแล้ว ตามวิสัยเชิงเช่นผู้เป็นนายไปแล้วทีนี้ นี่แหละมันไปกันใหญ่ละ ต่างคนต่างก็เพาะเชื้อแห่งความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น ตีกันทะเลาะกันยิงกันตายทั้งสองฝ่าย แต่ผลที่สุดก็ปิดฉากกันเท่านั้นเอง นี่คือตัวอย่างที่เห็นกันง่าย

เพราะฉะนั้นในสังคมปัจจุบันนี้ เราทั้งหลายจึงควรจะได้นึกไว้ในใจว่า ตัวเราแท้คือธรรมะ ธรรมะนั้นคือความสงบ คือความสะอาด คือความสว่างที่อยู่ในตัวเรา แต่บางครั้งความสว่างหายไป มีความมืดเข้ามาแทน บางครั้งความสงบหายไป มีความวุ่นวายความทุกข์เข้ามาแทน ความสะอาดหายไป มีความสกปรกเร่าร้อนเข้ามาแทน เราจึงต้องคอยสังเกตดูจิตของเรา เวลาใดมันมืดต้องขจัดความมืดออกไป จุดตะเกียงส่องเข้าไป ตะเกียงนั้นคือนึกถึงธรรมะ เรานึกถึงพระพุทธเจ้า นึกถึงพระธรรม นึกถึงพระสงฆ์ พอนึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ใจมันก็สว่างขึ้นมา รู้สึกตัวว่ามแหมเผลอไปหน่อย แล้วเราก็กลับใจมาอยู่ในที่สว่างต่อไป พอรู้สึกว่าเราอยู่ในที่สกปรก เราก็ต้องรู้ว่าไอ้นี่ไม่ใช่กูแล้วไม่ใช่ตัวเดิมแล้ว แต่เป็นสิ่งที่แทรกแซงเข้ามา แทรกซึมเข้ามาอยู่ในใจของเรา เราต้องเอาเจ้านี่ออก การจะเอาออกนั้นก็ต้องเพ่งลงไป เพ่งว่าสิ่งนี้คืออะไร กิเลสมันไม่ทนต่อความเพ่ง พอเราเพ่งมันละลายไปเลยแหละ ไอ้เจ้าตัวปัญญาที่เราเอามาเพ่ง ทำให้กิเลสละลายหายไป ก็เหลือแต่ความสะอาดเป็นตัวเดิม ถ้าวุ่นวายขึ้นมา เราก็รู้ว่าไอ้ตัวนี้มาอีกแล้ว มาทีไรแล้วทำให้ยุ่งทุกที เพราะมันทำความเดือดร้อน เราก็เอาปัญญาเข้าไปเพ่ง พอเอาปัญญาเข้าไปเพ่งเจ้าความวุ่นวายมันสงบลง เราก็เป็นตัวเองต่อไป

อันนี้ต้องหมั่นคอยสังเกตควบคุมตัวเองไว้ตลอดเวลา การควบคุมตัวเองนั้นก็ควบคุมด้วยสติของเรานั่นเอง ต้องหัดทำตนให้เป็นคนมีสติสมบูรณ์ มีสติก็หมายความว่าให้รู้ตัว ให้รู้สึกตัวว่าเรากำลังคิดทำอะไร กำลังพูดอะไรให้รู้สึกตัวว่ากำลังคิดอะไร กำลังพูดอะไร เรากำลังจะทำอะไร เรากำลังจะไปที่ใด ไปหาใคร แล้วก็ตั้งปัญหาถามต่อไปว่า ไอ้สิ่งที่เราจะทำนั้นมันคืออะไร มันเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลล่ะ มันเป็นบุญหรือเป็นบาป เป็นเหตุให้เกิดสุขเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ อะไรขึ้นมาต้องตรวจ ต้องตรวจ ต้องสอบต้องวิจัยค้นคว้าด้วยตัวของเราเอง โดยอาศัยปัญญาที่ได้รับไปจากการอ่านการฟังนี่แหละ

การอ่านการฟังนี่ เรียกว่าเป็นปัญญาขั้นพื้นฐาน สำหรับเอาไปไว้เป็นแว่น ส่องดูสิ่งทั้งหลายที่มันจะเกิดขึ้นในใจของเรา ถ้าเห็นว่ามันดีส่งเสริมทำต่อไป แต่ถ้าเห็นว่าไม่ได้ความว่าไอ้นี่มาทีไรกูยุ่งทุกที เราก็บอกว่าหยุดไม่เอา บอกให้หยุดเสียอย่าทำอย่างนั้นต่อไป หมั่นทำบ่อยๆ อะไรๆ มันก็จะดีขึ้น จิตใจก็สงบขึ้นสบายขึ้นตามสมควรแก่ฐานะ ขอให้ญาติโยมได้เข้าใจไว้อย่างนี้

นี่คือธรรมะสำหรับแก้ร้อน เอาไปใช้ แต่ว่าร่างกายมันก็ยังร้อนอยู่นั่นแหละเหงื่อก็ยังโทรม ญาติโยมนั่งตรงนั้นไม่ร้อนเท่าไรมีพัดลม อาตมายืนตรงนี้รู้สึกว่าร้อนเหลือเกิน ถ้าหากว่าไม่เคยเทศน์ก็จะเทศน์ไม่ไหวร้อนเต็มที แต่ว่าเพราะเคยมันก็เทศน์ได้ เรื่องร้อนมันก็ไปได้เท่านั้นเอง วันนี้พูดมาก็สมควรแก่เวลา.



คัดลอกมาจาก :
http://www.panya.iirt.net/
 

_________________
ขอความสวัสดีจงมีแด่ท่าน
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวตำแหน่ง AIMMSN Messenger
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 28 เม.ย.2006, 10:12 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ขอบคุณค่ะ...คุณจักรพนธ์
สำหรับสิ่งดีดีที่นำมาแบ่งปันกัน

ธรรมะสวัสดีค่ะ

ขำ ยิ้มแก้มปริ แลบลิ้น
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 28 เม.ย.2006, 8:31 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ สาธุ สาธุ

สาธุด้วยคนครับ กาแฟ
 

_________________
"อย่าลืมตัว อย่าลืมปัจจุบัน อย่าลืมปฏิบัติ"
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
chill
บัวพ้นดิน
บัวพ้นดิน


เข้าร่วม: 22 ก.พ. 2008
ตอบ: 85

ตอบตอบเมื่อ: 13 ส.ค. 2008, 9:05 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อนุโมทนานะคะ สาธุ
 

_________________
มีชีวิตอยู่เพื่อทำความดี..
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง