Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 บันทึกดูจิตตอน หัดรู้...หัดดู อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สรว
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 01 มี.ค.2006, 8:36 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

บันทึกดูจิตตอน หัดรู้...หัดดู

คำนำ
หลักการหัดปฏิบัติภาวนาตามแนวดูจิตตอน หัดรู้...หัดดู ที่ได้บันทึกเอาไว้นี้
เป็นส่วนหนึ่งของการหัด ดูจิต ตามที่ครูบาอาจารย์ได้เมตตาอบรมสั่งสอนไว้
แม้ว่าในบันทึกนี้จะไม่ได้พูดถึงคำว่า ดูจิต ในฐานะคำสำคัญก็ตาม
แต่ที่บันทึกไว้ก็เก็บเกี่ยวเอามาจากประสบการณ์จากการหัด ดูจิต
ตามที่หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ได้แนะนำสั่งสอนไว้
และจากที่ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับคนที่หัด ดูจิต ด้วยกันมา
ซึ่งคุยไปคุยมาก็ไม่พ้นข้อสงสัยหรือคำถามเดิม ๆ ที่มีอยู่ไม่กี่ข้อ
จึงได้บันทึกเรื่องราวของการหัด ดูจิต และคำถามที่น่าสนใจเอาไว้
ด้วยเผื่อว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่จะมาหัดใหม่ได้บ้าง
หรืออย่างน้อยก็พอจะใช้เป็นเพื่อนยามที่ห่างไกลครูบาอาจารย์ได้

บันทึกดูจิตฉบับ หัดรู้...หัดดู ได้พยายามบันทึกเอาไว้ด้วยถ้อยคำที่
ผู้บันทึกเองเห็นว่า คนทั่วไปน่าจะอ่านแล้วเข้าใจได้ง่าย
แต่เนื่องจากผู้บันทึกเองก็ยัง ดูจิต ไปไม่ถึงเท่าที่ครูบาอาจารย์ท่านไปถึงแล้ว
จึงต้องวิงวอนให้หาฉบับของครูบาอาจารย์มาอ่านกันด้วย
เพราะเกรงว่าบันทึกฉบับนี้จะพาเข้ารกเข้าพง แทนที่จะพาให้พบทางพ้นทุกข์กัน

อย่าลังเลกันเลยนะที่จะหันมาหัดรู้หัดดูกันอย่างจริงจัง
เพราะนี่คือหนทางหนึ่งที่เรียบง่าย ร่มรื่นและเหมาะกับทุกคน
และยังสามารถหัดไปได้พร้อม ๆ กับการใช้ชีวิตประจำวัน
หัดแล้วก็จะรู้สึกได้ถึงการมีชีวิตอย่างเป็นทุกข์น้อยลง
และสามารถหัดไปจนถึงที่สุดตามหลักของพุทธะคือ
พ้นไปจากกองทุกข์ทั้งปวงได้อย่างชนิดที่ไม่ต้องทุกข์กันอีกเลย

สุรวัฒน์ เสรีวิวัฒนา
กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙

เริ่มต้นอย่างไร?

ก่อนอื่นต้องเริ่มด้วยการพาตัวเองเข้าหาพุทธะด้วยการหัดปฏิบัติภาวนากันก่อน
แต่สำหรับหลายคนก็ไม่ง่ายหรอกนะที่จะพาตัวเองให้มาหัดปฏิบัติภาวนาได้
มีส่วนน้อยนักที่จะสนใจในขั้นของการหัดปฏิบัติภาวนากันจริง ๆ
ส่วนมากละก็ พอชวนให้มาหัดปฏิบัติภาวนาก็จะมีข้ออ้างต่าง ๆ นา ๆ

บางคนพอถูกชวนก็บอกว่า
ฉันยังมีกิเลสเต็มล้นหัวใจอยู่เลย จะให้ไปวัดไปปฏิบัติธรรมได้ยังไง
รอให้ฉันหมดกิเลสก่อนค่อยไปก็แล้วกัน...

โถ ... ก็เห็นผิดแบบนี้แหละกิเลสมันถึงได้ล้นหัวจิตหัวใจอยู่
หลักของพุทธะ นั้นเป็นหลักที่ทำให้คนเราลด ละ หยุด หลุด พ้น ไปจากกิเลส
ยิ่งรู้ตัวว่ามีกิเลสล้นพ้นหัวใจ ก็ต้องรีบหันมาใส่ใจที่จะฝึกหัดตามหลักของพุทธะกัน
ไม่อย่างนั้นในหัวจิตหัวใจก็จะมีแต่กิเลสท่วมท้นล้นเอ่อไปตลาดกาล

บางคนก็บอกว่า
เข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรม นั่งสมาธิ-วิปัสสนา
มันเป็นเรื่องของคนแก่เขา ตอนนี้ยังหนุ่มยังสาวอยู่ยังไม่ถึงเวลา...
โถ โถ โถ...อยากจะบอกทุกคนที่หลงคิดไปแบบนี้ว่า
พอถึงเวลาที่พ้นวัยหนุ่มวัยสาวนั้น ก็เป็นวัยแก่ที่รอรอวันตายกันแล้ว
ตอนนั้นนะสามวันดี สี่วันไข้ จะเอาเรี่ยวแรงที่ไหนมาหัดปฏิบัติภาวนากัน
จะฟังเทศน์รึ หูก็ไม่ค่อยจะได้ยิน จะอ่านธรรมะรึ ตาก็มองไม่ค่อยเห็น
แถมบางคนก็ตายซะก่อนจะแก่อีก และที่เห็นมามีน้อยคนนัก
ที่จะไปเริ่มหัดกันได้ตอน 60 ปีล่วงแล้ว
คิดซะใหม่เถอะนะว่า พุทธะ หรือธรรมะตามหลักของพุทธะนั้น
เป็นเรื่องของคนทุกเพศทุกวัย ยิ่งเริ่มได้เร็วเท่าไหร่
ก็ยิ่งทำให้เรามีชีวิตอย่างไม่เป็นทุกข์ได้เร็วขึ้นเท่านั้น
โดยเฉพาะวัยหนุ่มวัยสาวนี่แหละเป็นวัยที่จะอ่านจะฟัง
จะฝึกตามหลักพุทธะได้ไม่ยาก เพราะร่างกายยังแข็งแรงอยู่
การคิดแต่รอให้ถึงเวลา (โดยเฉพาะตอนแก่) เป็นการประมาทยิ่งนัก
เพราะร้อยละเฉียดร้อย ตายเน่าเข้าโลงซะก่อนที่จะรู้ว่า
ชีวิตที่ไม่เป็นทุกข์นั้นมีอยู่ หากตายไปโดยไม่รู้ก็เท่ากับตายเปล่า
ถึงจะไปเกิดใหม่ส่วนมากก็ไปเกิดเป็นหมู หมา กา ไก่ กันซะเยอะ
พอถึงตอนนั้นก็ทำอะไรไม่ได้แล้วนอกจากจะรำพึงว่า
โอ...สายเสียแล้วเรา กว่าจะได้เกิดเป็นมนุษย์
กว่าได้พบพุทธศาสนานั้น มันยากปานงมเข็มในมหาสมุทรทีเดียว
ไม่น่าปล่อยให้โอกาสทองหลุดลอยไปเพราะความประมาทเลย

ที่เจอบ่อยที่สุดก็เห็นจะเป็น...
ฉันไม่ว่างเลย ไม่มีเวลาเลย ไหนจะงาน ไหนจะลูก ไหนจะต้องดูแลครอบครัว
สารพัดอยู่ที่ฉันหมดเลย แล้วจะเอาเวลาที่ไหนเข้าวัดเข้าวากัน...

ขอบอกว่า มันมีวิธีหัดได้แม้จะหาเวลาเข้าวัดเข้าวาไม่ค่อยจะได้
ขอเพียงให้ตั้งใจจริงเท่านั้นแหละ ถ้าตั้งใจจริง ที่บ่น ๆ ไว้มีทางออกแน่นอน
แต่ถ้าไม่ตั้งใจจริง ที่บ่น ๆ ไว้ก็คือข้อแก้ตัวเท่านั้นเอง

มีอีกแบบ พอมีคนชวนไปหัดภาวนา ปฏิบัติธรรม ก็รีบตอบเลยว่า
ฉันไม่ต้องไปหรอก เพราะฉันไม่เห็นจะมีความทุกข์เลย ทุกวันนี้ก็สุขสบายดี
เธอนั่นแหละเห็นไปวัดแล้วยังมีความสุขสู้ฉันไม่ได้เลย...

เฮ้อ...คนเรานี่มีความคิดผิดหลงผิดได้อย่างแยบยลจริง ๆ
คนที่คิดแบบนี้ คงเข้าใจว่าคนที่ต้องไปหัดปฏิบัติภาวนาต้องเป็นคนที่มีความทุกข์
หรือไม่ก็มองว่า พวกที่ไปหัดปฏิบัติภาวนาต้องเป็นพวกคนอกหัก
ธุรกิจล้มเหลว มีปัญหาครอบครัว ฯลฯ
คนที่มีความสุขอยู่ มีความสำเร็จอยู่ ไม่ต้องไปหรอก
ใครคิดแบบนี้ คงเป็นเพราะไม่เข้าใจความจริงของโลก ไม่เข้าใจความจริงของชีวิต
ไม่เข้าใจว่า คนเราไม่มีใครเลยที่จะมีแต่ความสุขตลอดไป
ไม่เข้าใจว่า วันนี้มีความสุข วันข้างหน้าก็ต้องเจอกับความทุกข์
ไม่เข้าใจว่า วันนี้มีลาภ ยศ สรรเสริญ วันข้างหน้าลาภ ยศ สรรเสริญนั้น ก็ต้องเสื่อมไป
ไม่เข้าใจว่า ความสุขที่ตัวเองได้รับอยู่ มันไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง
มันเป็นเพียงแค่หลุมพรางที่จะทำให้คนเราต้องตกลงไปสู่ความทุกข์อีกนานแสนนาน
ไม่เข้าใจว่า ช่วงเวลาที่สุขนั้นมันสั้นนักเมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่ทุกข์
การไม่เข้าใจนี้จึงทำให้ตัวเองละเลยที่จะฝึกหัดจิตใจให้มีสติสัมปชัญญะ
เพื่อเอาไว้เป็นเครื่องคุ้มครองจิตยามที่ต้องเจอะเจอกับความทุกข์

เท่าที่เห็นมา คนที่กำลังอยู่ในช่วงเวลาที่มีความสุขนั้น
มักจะสามารถฝึกหัดปฏิบัติภาวนาได้ง่ายกว่าคนที่กำลังทุกข์ซะอีก
เพราะเป็นช่วงที่จิตใจปลอดโปร่งไม่มีเรื่องต้องหนักอกรกใจ
จึงเหมาะกับการเริ่มต้นฝึกหัดปฏิบัติภาวนา ดังนั้นจึงเป็นที่น่าเสียดาย
หากคนซึ่งกำลังมีจิตใจปลอดโปร่งกลับละเลยที่จะฝึกหัดปฏิบัติภาวนากัน

แต่ก็แปลกอีกอย่างคือ
ถ้าเอาคนที่มีกำลังความสุขกับคนที่กำลังทุกข์หนักมาเริ่มหัดภาวนาพร้อมกัน
คนที่กำลังมีความสุขมักจะหัดได้ดีกว่าในช่วงแรก ๆ
แต่มักจะยืนระยะการมีความเพียรไม่ค่อยได้ ทำ ๆ ไปก็เลยเลิกไปซะส่วนมาก
ที่เลิกไปก็คงเพราะมัวแต่เพลิดเพลินกับความสุขที่กำลังได้รับ
โดยไม่รู้ว่าอีกไม่นานตัวเองก็ต้องเจอเรื่องทุกข์อย่างแน่นอน
เมื่อเลิกหัดปฏิบัติภาวนาไป พอเจอทุกข์เข้าจริง ๆ ก็เลยต้องทุกข์จนบางคนถึงกับเป็นบ้าไป
และบางคนถึงกับลงมือทำกรรมใหญ่ ด้วยการทำลายชีวิตตัวเองก็มี
ไม่เหมือนคนที่กำลังทุกข์หนัก แม้จะเริ่มแบบล้มลุกคลุกคลาน
แต่ด้วยความที่เจอะเจอทุกข์หนักมาก่อน จึงทำให้มีความเพียรที่ต่อเนื่อง
ด้วยเพราะเขาเห็นแล้วว่า แม้เขาจะคลายทุกข์ลงได้หรือกลับมามีความสุขได้
แต่ไม่ช้าไม่นานเขาก็ต้องกลับไปทุกข์อีก จึงต้องขยันหัดปฏิบัติภาวนา
เพื่อต่อไปจะได้ไม่ต้องเป็นทุกข์อีก แล้วเขาก็จะพบว่า ความขยันหัดปฏิบัติภาวนานั้น
ทำให้จิตใจเขารู้สึกทุกข์น้อยกว่าที่ควรจะเป็นเมื่อต้องเจอทุกข์ครั้งใหม่
เมื่อฝึกไปเรื่อย ๆ จิตใจก็จะรู้สึกทุกข์น้อยลงเรื่อย ๆ เรื่องที่เคยทุกข์มากก็จะทุกข์น้อยลง
ส่วนคนที่ไม่ฝึกนั้น จะไม่มีทางรู้สึกเลยว่าทุกข์น้อย
ดีไม่ดีจะทุกข์มากขึ้นเพราะเรื่องเดิม ๆ นั่นแหละ


ระวังจะเข้าใจผิด

จะยังไงก็ต้องขออนุโมทนากับผู้ที่ผ่านด่านความคิดผิด ๆ
ที่คอยขวางกั้นไม่ให้ตัวเองเข้ามาหัดปฏิบัติภาวนามาได้แล้ว
แต่แม้ว่าจะผ่านด่านที่ขวางกั้นไม่ให้หันมาสนใจหัดปฏิบัติภาวนาได้แล้วก็ตาม
พอมาหัดปฏิบัติภาวนาเข้าจริง ๆ
ส่วนมากก็ยังเข้าใจหลักของพุทธะคลาดเคลื่อนอยู่อีกไม่น้อยทีเดียว
และด้วยความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนหรือผิด ๆ นี้เอง ที่ทำให้การหัดปฏิบัติภาวนา
ต้องออกนอกลู่นอกทางไปบ้าง แต่ถ้าหนักหน่อยก็ถึงกับหลงเข้ารกเข้าพงไปเลย
ตัวอย่างความเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือหลงเข้าใจผิดกันก็เช่น

หลงเข้าใจผิดไปว่าเครื่องรางของขลังจะทำให้พ้นทุกข์ได้
พอใครไปสะกิดบอกว่า นั่นไม่ใช่หลักของพุทธะหรอกนะ ก็อาจมีคนตอบว่า
ถ้ายังไม่ผ่านตรงนี้ก็ไม่มีทางเป็นพุทธะ เป็นพระอรหันต์ได้หรอก
ฟังแล้วก็ต้องขอถอนใจสักเฮือก เฮ้อ...
แต่เขาก็บอกไม่ผิดเหมือนกันนะที่ว่า ต้องผ่านเรื่องนี้ก่อน
ที่ผิดก็อยู่ตรงที่ตีความประโยคว่า "ถ้ายังไม่ผ่านตรงนี้" ผิดไปต่างหาก
การผ่านตรงนี้นั้น ไม่ได้หมายถึงว่า เราต้องเป็นเกจิด้านเครื่องรางของขลังหรอก
แค่ผ่านไปโดยไม่ต้องสนใจเหมือนเดินผ่านไปโดยไม่แวะเล่นเท่านั้นเอง
การมัวแต่คิดจะเป็นเกจิเครื่องรางของขลังต่างหาก ที่ทำให้เราไม่ถึงทางไปเป็นพุทธะได้
เรื่องเครื่องรางของขลังนี้ บางคนเกิดหลงไปเพราะเห็นครูบาอาจารย์
ที่เป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็ยังมีการทำหรือไปเข้าพิธีปลุกเสก
ก็เลยคิดว่าท่านเองก็ต้องเก่งเรื่องแบบนี้มาก่อนที่จะเป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว พระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบส่วนมากหรือเกือบทั้งหมดก็ว่าได้
ท่านไม่ได้เก่งเรื่องเครื่องรางของขลังมาก่อน
หากแต่เมื่อท่านปฏิบัติภาวนาเจริญศีล สมาธิ ปัญญา ตามหลักพุทธะแล้ว
ท่านเกิดมีความสามารถที่เกินกว่าคนทั่วไปจะมีได้
ซึ่งท่านก็จะบอกอยู่เสมอว่า สิ่งเหล่านี้มันเป็นของเล่น เป็นของแถมเท่านั้น
และที่ท่านทำอยู่บ้างก็เพราะท่านมีความเห็นว่า
มีคนส่วนน้อยที่จะชวนให้มาหัดปฏิบัติภาวนากันอย่างถูกต้องได้
ในเมื่อยังชวนไม่ได้ ก็ให้เขามาสนใจเรื่องแบบนี้ดีกว่าไปหลงการพนัน ติดเหล้าติดยา
และบางครั้งท่านก็ไม่ประสงค์จะทำลายศรัทธาญาติโยมที่มานิมนต์
ด้วยเห็นว่าวันข้างหน้ายังพอที่จะชวนให้เขาหันมาสู่หลักพุทธะที่ถูกต้องได้
แต่ถ้าปฏิเสธไปเลย เขาก็อาจเกิดอกุศลจิตและต้องหลงไปอีกนาน
แต่เชื่อเถอะว่า ครูบาอาจารย์ท่านใดที่เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจริงแล้ว
ท่านไม่สอนให้คนหัดเล่นเครื่องรางของขลังเพื่อความพ้นทุกข์อย่างแน่นอน

การหลงเครื่องรางของขลัง จะว่าไปแล้วก็คงมีจำนวนน้อยกว่า
หลงเข้าใจผิดไปว่า แค่ทำบุญให้ทานแล้วจะทำให้พ้นทุกข์ได้
พอได้โอกาสทำบุญก็เอาแต่ยกมือท่วมหัวหลับตาขอกันว่า
เจ้าพระคุณ ด้วยผลบุญที่ลูกได้ทำนี้ ขอให้ลูกได้พบพระนิพพานด้วยเถิด
ซึ่งจริง ๆ แล้วหลักของพุทธะนั้น เราจะพบนิพพานกันไม่ได้ด้วยการขอแบบนี้หรอก
ต้องลงมือหัดปฏิบัติภาวนาอย่างถูกต้องเท่านั้นจึงจะพบพระนิพพานได้
พระพุทธเจ้าเองก็ทรงตรัสสอนในทำนองว่า ท่านเองเป็นแต่เพียงผู้ชี้ทางให้เท่านั้น
ใครประสงค์จะพบเห็นพระนิพพานก็ต้องหัดปฏิบัติภาวนา เจริญปัญญากันเอาเอง

เรื่องทำบุญให้ทานนี่ คนเข้าใจผิดกันเยอะมาก
จนมีคนบางกลุ่มที่เอาเรื่องบุญมาเป็นเหยื่อล่อ
ให้คนสละทรัพย์สินเงินทองเพื่อแลกกับบุญต่าง ๆ นา ๆ
เรื่องนี้หากใครพูดมากไปก็เจ็บตัวคนพูดเปล่า ๆ
เอาเป็นว่า จะขอบอกให้ทราบว่า การทำบุญให้ทานนั้น
เป็นข้อปฏิบัติหนึ่งตามหลัก ทาน ศีล ภาวนา แต่ต้องเข้าใจว่า
ลำพังของทาน (ทำบุญให้ทาน) นั้น ไม่อาจทำให้เราเข้าถึงพุทธะได้
ทานนั้นเป็นอุบายเบื้องต้นที่จะช่วยให้เรามีจิตใจที่งดงาม
และช่วยให้จิตใจมีความสุขมีความสบาย หรือเป็นกุศลจิตนั่นเอง
ตัวกุศลจิตเองก็ยังไม่ใช่สิ่งที่เป็นเป้าหมายสูงสุดตามหลักของพุทธะ
เพราะเป้าหมายสูงสุดจะอยู่ที่ ความพ้นไปจากกองทุกข์ทั้งปวง
ซึ่งความพ้นทุกข์ก็ไม่ใช่จะพ้นได้ด้วยการที่จิตเราเป็นกุศลจิตเพราะการทำบุญให้ทาน
การทำบุญให้ทานตามหลักของพุทธะนั้น เพียงเพื่อให้เกิดกุศลจิตตามโอกาส
และเมื่อเกิดกุศลจิตแล้วก็จะช่วยให้การปฏิบัติ
ตามข้อ ศีล และภาวนา เป็นไปได้โดยสะดวก หลักพุทธะในข้อ ทาน จริง ๆ แล้วมีเท่านี้เอง
ส่วนที่มากไปกว่านี้ เช่น คนทำบุญให้ทานมาก
ต่อไปภายหน้าก็จะเป็นคนสมบูรณ์ด้วยทรัพย์นั้น เปรียบเหมือนผลพลอยได้เท่านั้น
แต่ต้องเข้าใจนะว่า หลักของพุทธะ ไม่ได้ปฏิเสธว่าผลพลอยได้ไม่มี
แต่ไม่ได้ให้ปฏิบัติข้อ ทาน เพื่อผลพลอยได้ ต้องปฏิบัติเพื่อให้
เป็นปัจจัยเกื้อหนุนต่อการปฏิบัติ ศีล ภาวนา เพื่อการเกิดปัญญาเท่านั้น

เมื่อผ่านด่านความหลงผิดเรื่องทานมาได้
ก็ยังมีข้อหลงผิดได้อีกทั้งในเรื่องของ ศีล และภาวนา
พูดถึงความหลงผิดในเรื่องของศีลก่อนก็แล้วกัน
ความหลงผิดในเรื่องของศีลนั้น จะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนกว่าเรื่องของทาน
และที่เป็นกันมากคือ หลงเข้าผิดไปว่า แค่เพียงรักษาศีลแล้วก็จะพ้นทุกข์ได้
ซึ่งจริง ๆ แล้วลำพังแค่การรักษาศีลนั้น ไม่อาจทำให้พ้นทุกข์ได้เลย
ต่อให้จะคิดค้นข้อศีลให้วิจิตรงดงามสักเพียงใด
ก็จะพ้นทุกข์ด้วยเพียงแค่รักษาศีลนั้นไม่ได้
หรือแม้จะรักษาศีลจนยอมตายที่จะไม่ล่วงละเมิดศีล ก็พ้นทุกข์ไม่ได้ด้วยเพียงแค่รักษาศีล
หรือจะทั้งทำบุญให้ทานและรักษาศีลร่วมกัน ก็พ้นทุกข์ไปไม่ได้เช่นกัน
ที่ไม่ได้เพราะทั้งทานและศีลตามหลักพุทธะแล้ว
เป็นเพียงข้อปฏิบัติที่ช่วยให้จิตเป็นกุศลจิตได้เนือง ๆ
และเป็นเครื่องส่งเสริมให้การปฏิบัติในข้อ ภาวนา เป็นไปได้โดยสะดวกเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การรักษาศีลนี้ จะมีผลพลอยได้ที่ดีมาก ๆ คือ
เมื่อเรารักษาศีลอยู่เนือง ๆ แล้ว ชีวิตที่เคยวุ่นวายเคยเดือดร้อนเพราะ
การกระทำที่ไม่ดีไม่งามของเรา ก็จะลดน้อยจนเป็นที่อัศจรรย์ทีเดียว
ด้วยเพราะการรักษาศีล จะทำให้เรามีความสำรวมระวังการแสดงออก
สำรวมระวังการกระทำทั้งทางกายและวาจา
การแสดงออกทางกายและวาจาก็จะมีแต่ที่ดี ๆ หรือที่เราเรียกว่า เป็นกรรมดี
เมื่อเราได้ทำได้แสดงออกในสิ่งที่ดี ๆ อยู่เนือง ๆ หรือได้ทำกรรมดีอยู่เนือง ๆ
การทำดีของเราก็ย่อมส่งผลให้เราได้รับความสุข มีความสบายทั้งทางกายและทางใจ
ใครเห็นก็ชมชอบเมตตาเอ็นดู ทำให้หน้าที่การงานมีความสำเร็จราบรื่น ฯลฯ
จริง ไม่จริงก็ลองดูได้ด้วยตัวเองนะ
แต่ต้องไม่ลืมและต้องเข้าใจว่า ผลพลอยได้เหล่านี้ไม่ใช่หลักของพุทธะ
หลักของพุทธะนั้น ให้รักษาศีลเพื่อเป็นเหตุปัจจัยเกื้อหนุนต่อการปฏิบัติข้อ ภาวนา ต่อไป

เมื่อถึงตอนหัดปฏิบัติภาวนา ก็ยังมีเรื่องให้หลงผิดได้อีก
ถ้าเปรียบความหลงผิดในขั้นของการหัดปฏิบัติภาวนานี้เป็นเหมือนหลุมพรางละก็
หลุมพรางในช่วงนี้จะถูกพรางเอาไว้ก็อย่างแนบเนียนมาก
แถมยังเป็นหลุมลึกมากด้วย ถ้าใครหลงตกลงไปแล้วละก็ ยากจะกลับขึ้นมาได้
กว่าจะช่วยให้กลับขึ้นมาสู่ทางที่ถูกต้องได้ ก็ทำเอาครูบาอาจารย์
และกัลยาณมิตรต้องเหน็ดเหนื่อยกันไม่น้อย
เรื่องที่มักจะหลงผิดกันมากคือ
หลงเข้าใจผิดไปว่า การภาวนาคือการทำสมาธิ
หลงเข้าใจผิดไปว่า การทำสมาธิต้องทำจนถึงขั้นฌานก่อน แล้วจึงจะเจริญปัญญาได้
หลงเข้าใจผิดไปว่า ทำสมาธิแล้วจะเกิดปัญญาขึ้นเอง
หลงเข้าใจผิดไปว่า เพียงแค่ทำสมาธิก็จะทำให้พ้นทุกข์ได้

ส่วนมากคนที่หลงเข้าใจผิดไปก็เพราะ ไปเริ่มต้นหัดปฏิบัติภาวนา
โดยขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง ขาดความเห็นชอบ
และด้วยเพราะในยุคนี้ไปที่ไหน ๆ ก็มักสอนให้ทำสมาธิกันทั้งนั้น
พูดถึงเรื่องการสอนทำสมาธิแล้ว มีเรื่องที่พบเห็นกันบ่อยคือ
แต่ละที่ที่สอนทำสมาธิก็จะมีรูปแบบวิธีที่แตกต่างกันไป
ทำเอาคนที่เริ่มหัดใหม่ ๆ พากันงุนงงว่า
เอ...ตกลงต้องทำยังไงกันแน่ แล้วทำแบบไหนจึงจะถูกกันแน่
ส่วนคนที่หัดกันมานานก็มักกล่าวหากันว่าของคนนั้นไม่ถูก ของคนนี้ไม่ถูก
อีกฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าของเขานี่แหละถูกของคนอื่นไม่ถูก
พูดไปพูดมาเลยพาลทะเลาะกันเพราะความเห็นไม่ตรงกันซะนี่


มาดูเรื่องหลงผิดเรื่องแรกก่อน คือ
หลงเข้าใจผิดไปว่า การภาวนาคือการทำสมาธิ
ที่เข้าใจผิดกันก็เพราะ การภาวนานั้นมีอยู่ ๒ อย่างคือ
สมถภาวนา กับ วิปัสสนาภาวนา
หรือจะเรียกว่าสมถกรรมฐาน กับ วิปัสสนากรรมฐาน ก็ได้
หรือจะเรียกว่าสมาธิภาวนา กับ วิปัสสนาภาวนา ก็ได้
การปฏิบัติสมาธิหรือสมถะนั้น ตามหลักพุทธะแล้ว
มีจุดประสงค์เพื่อให้จิตมีความตั้งมั่นอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างต่อเนื่อง
จนจิตเองมีความพร้อมที่จะทำการปฏิบัติวิปัสสนาต่อไปได้
หรือจะพูดว่า การทำสมาธิหรือสมถะนั้น วัตถุประสงค์ก็เพื่อ
ให้จิตที่เหนื่อยล้าจากการปฏิบัติวิปัสสนาได้พักผ่อน
เมื่อจิตได้พักผ่อนในสมาธิแล้ว จิตก็จะมีกำลังที่จะออกไปปฏิบัติวิปัสสนาต่อไปใหม่
นี่คือหลักของพุทธะที่ว่าดัวยการทำสมาธิหรือทำสมถะ
ดังนั้น การภาวนาจึงไม่ใช่แค่การทำสมาธิหรือทำสมถะเท่านั้น
แต่ต้องทำวิปัสสนาควบคู่กันไป และต้องทำวิปัสสนากันเป็นหลักด้วย
เพราะโดยหลักของพุทธะแล้ว การพ้นทุกข์นั้นจะพ้นได้ก็ต่อเมื่อ
จิตเกิดปัญญาที่จะทำลายต้นตอคือ ความไม่รู้ตามจริง (อวิชชา) ลงได้อย่างสิ้นเชิง
และปัญญาที่เกิดขึ้นนั้น จะต้องเป็นปัญญาที่เกิดจากการรู้
และเข้าใจตามจริงของกายและจิต เนื่องมาจากการทำวิปัสสนาภาวนา
ที่อาศัย ทาน ศีล สมาธิ เป็นปัจจัยเกื้อกูลกันอยู่

ดังนั้นถ้าจะหัดปฏิบัติภาวนา ก็ขอให้หัด วิปัสสนาภาวนา กันเป็นหลัก
ส่วน ทาน นั้นก็ให้ทำไปตามโอกาส ทำไปตามกำลัง
ทำแล้วไม่ทำให้เดือดร้อนตัวเอง ไม่เดือดร้อนคนอื่น
ศีล ก็ให้รักษาอยู่เสมอ (สำหรับชาวเมืองอย่างเรา ๆ แค่ศีล 5 ก็พอแล้ว)
สมาธิ ก็ให้ทำตามสมควร จะวันละ 5 นาที 10 นาที หรือ สักชั่วโมงก็ได้
เพื่อให้จิตได้มีโอกาสพักผ่อนและมีกำลัง
ถ้าทำสมาธิไม่ได้จะสวดมนต์ไหว้พระแทน หรือจะเดินจงกรมเอาก็ได้เช่นกัน


ส่วนที่บอกว่า การทำสมาธิต้องทำจนถึงขั้นฌานก่อน แล้วจึงจะเจริญปัญญาได้นั้น
ก็เป็นการหลงเข้าใจผิด ๆ ไปเช่นกัน

เรื่องการได้ฌานนี่ ถ้าใครเคยอ่านพุทธประวัติมาบ้างต้องนึกออกว่า
หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะ เริ่มออกแสวงหาทางพ้นทุกข์นั้น
พระองค์ได้เรียนรู้การทำฌานจนเชี่ยวชาญ และเรียนจากพระอาจารย์ถึง ๒ ท่าน
แต่สุดท้ายพระองค์เกิดเข้าใจขึ้นว่า นั่นไม่ใช่หนทางที่พระองค์ทรงแสวงหา
เพราะการทำเช่นนั้นได้ก็ยังไม่ทำให้พระองค์ทรงพ้นไปจากกองทุกข์ได้
และต่อมาพระองค์ก็พ้นจากกองทุกข์ทั้งหมดได้ด้วยการเจริญปัญญา
และนำหนทางนี้มาประกาศให้คนทั้งหลายได้ฝึกหัดปฏิบัติภาวนากัน
โดยพระองค์ได้ชี้แนะถึงข้อ ปัญญา เป็นข้อปฏิบัติในลำดับที่สำคัญที่สุด

เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงพ้นจากกองทุกข์ได้เองแล้ว
พระองค์ก็มีพระประสงค์จะเดินทางไปสอนให้พระอาจารย์ผู้ที่
ได้สอนให้พระองค์ทำฌานมาก่อน ด้วยเพราะท่านมีความพร้อมที่จะเจริญปัญญาได้
แต่น่าเสียดายยิ่งนักที่พระอาจารย์ทั้งสองท่านได้สิ้นชีวิตลงไปก่อนแล้ว
ต่อมาเมื่อพระองค์ได้แสดงวิธีหัดปฏิบัติภาวนาให้คนฟัง ก็มีคนมากมายที่เกิดปัญญา
ได้ดวงตาเห็นธรรมกันตามสมควรแห่งปัญญา
ไม่มีปรากฏเลยว่ามีการบันทึกเรื่องราวไว้ในทำนองว่า
ผู้ที่จะเจริญปัญญาได้ต้องเป็นผู้สำเร็จในฌานก่อนเท่านั้น

จริงอยู่ว่า ในหลักของ มรรค ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติเพื่อพ้นไปจากกองทุกข์
ได้มีมรรคข้อ จิตตั้งมั่นชอบ (สัมมาสมาธิ) ที่มีกล่าวถึงเรื่อง ฌาน เอาไว้ด้วย
แต่ต้องเข้าใจว่าในมรรคข้อ จิตตั้งมั่นชอบ นี้ หมายถึง อริยมรรค
(ญาณอันให้สำเร็จความเป็นพระอริยะ) ซึ่งจะเกิดขึ้น
ด้วยมรรคจิตที่ทรงฌานตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไปเท่านั้น
ส่วนมรรคที่เป็นทางดำเนิน หรือในขั้นของการปฏิบัติ
ที่เรียกว่า บุพภาคมรรค นั้น สัมมาสมาธิหมายถึง
ความสงบในระดับ ขณิกสมาธิ ก็พอแล้ว เพราะจิตสามารถตั้งมั่น
และเป็นกลางในการรู้อารมณ์ตามความเป็นจริงได้แล้ว
ซึ่งเมื่อเจริญสติเจริญปัญญาไปจนอินทรีย์แก่รอบแล้ว
จิตจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิได้เองโดยอัตโนมัติแล้วเกิดอริยมรรคขึ้น

จากเหตุผลที่ยกมาให้เห็นนี้ ก็คงจะบ่งบอกได้แล้วว่า
ความเข้าใจว่า ต้องทำสมาธิจนถึงขั้นฌานให้ได้ก่อน แล้วจึงจะเจริญปัญญาได้นั้น
เป็นการเหมารวมด้วยความเข้าใจผิด เพราะในการหัดปฏิบัติภาวนานั้น
บางคนต้องใช้สมาธินำปัญญา บางคนต้องใช้ปัญญานำสมาธิ
แตกต่างกันไปตามจริตนิสัยของแต่ละบุคคลคือ
ผู้ที่มีจริตไปในทางรักสวยรักงาม (ตัณหาจริต)
ควรจะทำสมาธิก่อนจนจิตตั้งมั่น แล้วจึงหัดรู้หัดดูกายต่อไป
ส่วนผู้ที่มีจริตไปในทางคิดมาก (ทิฏฐิจริต) ควรหัดรู้หัดดูจิตไปได้เลย
แล้วจิตจะรวมเป็นอัปปนาสมาธิในภายหลัง

แล้วก็ไม่ใช่ว่าเราจะหัดทำฌานกันได้ง่าย ๆ
ส่วนมากก็ต้องใช้เวลาหัดกันนานมาก บางคนหัดไม่สำเร็จเลยก็มี
โดยเฉพาะคนที่หัดรู้หัดดูจิตเป็นหลักแล้ว การหัดทำฌานก่อนจึงเป็นการเสียเวลาโดยไม่จำเป็น
สู้เอาเวลามาหัดหัดรู้หัดดูจิตซะจะได้ประโยชน์มากกว่า
และหากใครคิดว่าต้องสำเร็จฌานก่อนแล้วจึงจะเจริญปัญญาได้
ก็ควรเปลี่ยนความคิดความเข้าใจเสียใหม่
แล้วเริ่มต้นฝึกหัดปฏิบัติภาวนาด้วยการหัดรู้หัดดูจิตกันเป็นหลัก
ส่วนเรื่องฌานนั้น จะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ช่างเถอะ
ถ้าไม่เกิดก็ไม่ต้องทุ่มเทฝึก เพราะเดี๋ยวจะตายซะก่อนที่มีโอกาสได้เจริญปัญญา
แค่ฝึกสมาธิไปเพื่อเป็นที่พักผ่อนยามเหนื่อยล้าจากการเจริญปัญญาก็พอแล้ว
ถ้ามีวาสนาก็จะได้ฌานเป็นของแถมเองแหละ

ในเมื่อผู้ที่สามารถทำฌานได้ตามวิธีการฝึกสมาธิที่เราคุ้นเคยกัน
ก็ยังไม่อาจเกิดปัญญาขึ้นได้ แล้วอย่างนี้เราก็ไม่น่าที่จะ
หลงเข้าใจผิดไปว่า ทำสมาธิแล้วจะเกิดปัญญาขึ้นเอง
หรือไม่น่าที่จะ หลงเข้าใจผิดไปว่า เพียงแค่ทำสมาธิก็จะทำให้พ้นทุกข์ได้
ด้วยเหตุผลง่าย ๆ เลยคือ ถ้าทำสมาธิแล้วเกิดปัญญาขึ้นได้เอง
หรือแค่ทำสมาธิแล้วสามารถพ้นทุกข์ได้ ละก็
เชื่อเถอะว่าเจ้าชายสิทธัตถะจะไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้าแน่
ก็อย่างที่บอกว่า สมัยนั้นมีคนทำสมาธิ ทำฌานกันได้มากมาย
และทำได้กันก่อนที่เจ้าชายสิทธัตถะจะออกแสวงหาทางพ้นทุกข์ซะอีก
ถ้าแค่ทำสมาธิแล้วเกิดปัญญาขึ้นได้ หรือแค่ทำสมาธิแล้วพ้นจากกองทุกข์ได้
เขาเหล่านั้นก็จะพ้นจากกองทุกข์ไปก่อนแล้ว และก็ต้องมีการสอนให้พ้นจากกองทุกข์
ด้วยการทำสมาธิ ทำฌาน กันอย่างแพร่หลายมาก่อนแล้ว
ไม่ต้องรอให้เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าหรอก

พูดไปพูดมา ก็ต้องย้ำอีกครั้งว่า
ที่พูดมานี้ ไม่ได้บอกว่า ห้ามทำสมาธิ ห้ามทำฌาน หรอกนะ
หากใครพอใจเพียงแค่สมาธิ แค่ฌาน และประสงค์จะทำกันแค่นั้น
ก็ทำไปตามที่ประสงค์เถิด เพราะการทำแบบนี้ก็เป็นการทำในสิ่งที่เป็นกุศลเหมือนกัน
แต่สำหรับคนทำมาหากินหรือเป็นชาวเมืองที่ไม่มีเวลาไปหัดทำสมาธิทำฌานกัน
และประสงค์จะพ้นไปจากกองทุกข์กันจริง ๆ ละก็
ขอให้มาหัดเจริญปัญญาด้วยการหัดรู้หัดดูจิตเป็นสำคัญเถิด

เราจะเจริญปัญญากันได้อย่างไร?

พูดมาซะยืดยาว เข้าเรื่องซะทีดีกว่า
เรื่องที่จะพูดถึงจริง ๆ ก็คือ เราจะเจริญปัญญากันได้อย่างไร?
ก่อนอื่นต้องขอให้เข้าใจก่อนว่า โดยหลักของพุทธะแล้ว
การจะพ้นไปจากกองทุกข์ได้ ก็ด้วยการปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘
ซึ่งในการเจริญมรรคมีองค์ ๘ นี้ มีมรรคอยู่ข้อหนึ่งที่เป็นการเจริญปัญญาโดยตรง
มรรคข้อนั้นก็คือ ระลึกชอบ (สัมมาสติ) ซึ่งก็คือการเจริญสติปัฏฐาน ๔
หรือที่เราได้ยินจนคุ้นหูว่า เจริญสติ นั่นเอง
การเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้เป็นข้อปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสแสดงไว้ว่า
เป็นทางเอกที่จะนำไปสู่ความพ้นจากกองทุกข์ได้
และโดยหลักของพุทธะแล้ว สิ่งที่จะทำให้พ้นไปจากทุกข์ได้ก็คือ ปัญญา
ดังนั้นหากประสงค์ที่จะทำให้ปัญญาเกิดขึ้น หรือที่พูดกันว่า เจริญปัญญา
ก็ย่อมทำได้ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน 4 หรือด้วยการเจริญสติ (สัมมาสติ) นี่เอง
แต่อย่างไรก็ตาม หากเราจะหัดเจริญสติกันอย่างเดียวก็จะไม่เกิดปัญญาได้
เพราะปัญญาจะเกิดได้ก็ต้องอาศัยองค์มรรคอีก ๗ ร่วมด้วย
ซึ่งเมื่อดูรายละเอียดขององค์มรรคทั้ง ๘ แล้วก็จะพบว่า
การปฏิบัติตามองค์มรรคทั้ง ๘ นั้นก็คือการปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง
สำหรับในที่นี้จะขอพูดเฉพาะเรื่องของการหัดปฏิบัติภาวนา
เพื่อการเจริญปัญญาโดยใช้แนวทาง หัดรู้หัดดูกายและจิต
แต่จะเน้นลงที่การหัดรู้หัดดูจิต หรือที่พูดกันย่อ ๆ ว่า ดูจิต



ลักษณะของการรู้การดูเพื่อให้เกิดปัญญา

ก่อนจะหัดรู้หัดดูกัน ก็ควรต้องทำความเข้าใจว่า
ลักษณะอาการของจิตที่เป็นไปเพื่อการเจริญปัญญานั้น เป็นอย่างไร

ลักษณะอาการของจิตที่เป็นไปเพื่อการเจริญปัญญานั้น จะมีลักษณะสำคัญอยู่ที่
จิตจะทำหน้าที่รู้สิ่งต่าง ๆ แบบเป็นผู้รู้ผู้ดู หรือแค่รู้แค่ดูอยู่เท่านั้น
จิตจะเพียงรู้สึกว่ามีบางอย่างเกิดขึ้น แล้วก็รับรู้ถึงการมีอยู่-ดับไปของสิ่งนั้น ๆ เท่านั้น
ซึ่งลักษณะอาการของจิตแบบนี้ ก็ไม่ใช่อาการที่แปลกประหลาดอะไรเลย
จริง ๆ แล้วนี่คืออาการของจิตที่เป็นปรกติธรรมดาที่สุด
แต่ด้วยเพราะเราไม่เคยรู้มาก่อนว่า อาการรับรู้สิ่งต่าง ๆ แบบนี้นั้น
มันคือลักษณะของจิตที่ต้องใช้เป็นเครื่องมือหัดปฏิบัติภาวนา
พอเราคิดที่จะลงมือหัดปฏิบัติภาวนากันจริง ๆ ความคิดต่าง ๆ
ก็จะเกิดขึ้นมาบดบังอาการของจิตแบบนี้ไปซะจนเราเองมองไม่เห็น
แล้วเราก็เที่ยวดิ้นรนแสวงหาอุบายต่าง ๆ นา ๆ ด้วยหลงไปว่า
การทำแบบนั้นแบบโน้นจะทำให้จิตเกิดปัญญา
กว่าที่ครูบาอาจารย์ซึ่งท่านพ้นทุกข์ไปก่อนแล้วจะช่วยชี้แนะ
จนเรากลับมาสู่การรับรู้สิ่งต่าง ๆ ด้วยจิตที่เป็นปรกติที่สุดได้
ก็เล่นเอาเราเองต้องเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้ากันจนแทบจะเฉาตายกันไปเลย

หากเราตั้งใจจะหัดปฏิบัติภาวนาเพื่อให้เกิดปัญญากันจริง ๆ ละก็
ขอให้ระลึกนึกถึงไว้เสมอ ๆ เลยว่า การเจริญปัญญา ไม่มีอะไรต้องทำมากไปกว่า
หัดรู้ หัดดู สิ่งต่าง ๆ ที่เรารู้สึกได้ด้วยจิตที่รับรู้ตามปกติธรรมดา
หัดรู้ หัดดู แบบเป็นเพียงผู้รู้ผู้ดูอยู่ หรือเพียงแค่รู้แค่ดูเท่านั้น
กายจะเป็นอย่างไรก็ หัดรู้หัดดูว่ากายเป็นอย่างนั้น
จิตจะเป็นอย่างไรก็ หัดรู้หัดดูว่าจิตเป็นอย่างนั้น
รู้แล้วดูแล้วว่าเป็นสิ่งที่ดี ก็ไม่ต้องหวงแหนไม่ต้องรักษาเอาไว้
รู้แล้วดูแล้วว่าเป็นสิ่งไม่ดี ก็ไม่ต้องผลักไสไม่ต้องทำลายลงไป
หัดรู้ หัดดู แบบที่เราเป็นผู้รู้ผู้ดู ที่ไม่ต้องลงไปจัดการอะไรกับสิ่งที่ถูกรู้ถูกดูอยู่เลย

การหัดรู้ หัดดู ที่ถูกนั้น
จิตจะต้องมีลักษณะเป็นเพียงผู้รู้ผู้ดูอยู่ หรือเพียงแค่รู้แค่ดู ได้โดยตัวเอง
คือไม่ได้เกิดจากการที่เราไปบังคับหรือไปควบคุม
แต่จะเป็นไปโดยอัตโนมัติเมื่อจิตไปรับรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง
เปรียบเหมือนกับเราที่นั่งเหม่อ พอมีคนมาสะกิดเรียก
เราก็เหมือนตื่นจากฝัน โดยที่ไม่มีการตั้งใจตื่นเลยแม้แต่น้อย
จิตเองก็เช่นกัน เมื่อผ่านการหัดรู้ หัดดู มาตามสมควร
เมื่อมีสิ่งใดที่จิตสนใจจะไปรับรู้เข้า จิตก็จะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้รู้ผู้ดูอยู่เท่านั้น
แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะหัดกันแค่วันสองวันก็เป็นกันทุกคนนะ
บางคนต้องหัดกันเป็นปี ๆ หรือหลายปีทีเดียว
บางคนก็สามารถหัดได้ไม่ยาก หัดเพียงไม่กี่วัน ไม่กี่เดือนก็เริ่มจะเป็นแล้ว
ขอเพียงให้เรามีความเพียร ไม่ท้อถอย และหมั่นตรวจสอบทำความเข้าใจอยู่เสมอ ๆ
ไม่นานเราก็จะสามารถรับรู้สิ่งต่าง ๆ ได้เพียงเป็นผู้รู้ผู้ดูหรือเพียงแค่รู้แค่ดู เป็นแน่


หัดรู้หัดดูอะไรจึงจะเกิดปัญญา

แล้วเราจะหัดรู้หัดดูอะไรได้บ้าง?
สิ่งที่เราจะหัดรู้หัดดูนั้นมีอยู่ 2 อย่างคือ หัดรู้หัดดูกาย กับหัดรู้หัดดูจิต

แล้วเราควรหัดรู้หัดดูกายหรือจิตดีละ?
อันนี้บอกได้เลยว่า ไม่ต้องเลือกหรอกว่าจะหัดรู้อะไรดี
เอาเป็นว่าขณะใดที่เรามีความรู้สึกชัดอยู่ที่ร่างกาย ขณะนั้นก็ให้หัดรู้หัดดูกายไป
ขณะใดที่เรามีความรู้สึกชัดอยู่ที่สิ่งปรากฏในใจ ขณะนั้นก็ให้หัดรู้หัดดูจิตไป

อย่าลืมนะว่า การหัดรู้หัดดูนี้ จะต้องเป็นการหัดรู้และหัดดูสิ่งต่าง ๆ
แบบเป็นเพียงผู้รู้ผู้ดู หรือเพียงแค่รู้แค่ดูเท่านั้น หรือจะพูดว่าแบบนักสังเกตการณ์ก็ได้
จะใช้วิธีแบบที่เราใช้กับการทำงานทางโลกไม่ได้นะ
ถ้าเป็นงานทางโลกนั้น เราต้องลงไปคลุกคลีกับงาน ต้องคิด ต้องลงมือทำ
แต่การหัดปฏิบัติภาวนาเพื่อให้เกิดปัญญาและพ้นไปจากทุกข์
ต้องใช้วิธี เพียงแค่รู้แค่ดูไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเราเห็นความจริงที่ถูกบดบังอยู่
เพราะความจริงที่ถูกบดบังเอาไว้นั้น จะถูกบดบังเอาไว้อย่างแยบยล
ซึ่งจะเห็นได้ก็ด้วยใช้วิธีของการรู้การดูแบบเป็นเพียงผู้รู้ผู้ดู หรือแบบแค่รู้แค่ดูเท่านั้น
จะไปคิดห้ามไม่ให้กายไม่ให้จิตเราเอง เป็นแบบนั้นแบบนี้ ก็ไม่ได้
เปรียบเหมือนเราจะไปห้ามฝนไม่ให้ตก ไปห้ามแดดไม่ให้ออกไม่ได้นั่นเอง
แค่เรานั่งดูไปเรื่อย ๆ เราก็จะเห็นได้เองว่า กายเป็นอย่างไร จิตเป็นอย่างไร
จะเห็นเองเลยว่า อ้อ... กายนี้ไม่เที่ยง จิตนี้ไม่เที่ยง
คงทนอยู่ไม่ได้ นึกให้เป็นอย่างที่ต้องการไม่ได้

ตัวอย่างหัดรู้หัดดู

อย่างที่บอกไปแล้วว่า สิ่งที่ต้องหัดรู้หัดดูนั้นคือ กายเราเอง จิตเราเอง
(ในที่นี้จะเน้นไปที่การหัดรู้หัดดูจิตเป็นสำคัญ)
ซึ่งการหัดรู้หัดดู ยังไงซะก็คงต้องเกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อมตัวเราอยู่เสมอ
อย่างเช่นฝนตก แดดออก ที่ตัวเราต้องเจอะเจออยู่ทุกวัน
การหัดรู้หัดดู จะไม่ใช่การหัดรู้หัดดูฝนตกแดดออก
แต่ให้หัดรู้หัดดูจิตที่มีอาการต่าง ๆ เมื่อเจอฝนตกแดดออก

มาทดลองหัดรู้หัดดูจิตตอนฝนตกแดดออกกันสักหน่อยดีกว่า
จะได้เข้าใจมากขึ้นว่า หัดไปแล้วควรเป็นอย่างไร ควรเห็นอะไรบ้าง

ใครเห็นบ้างว่า...ตอนที่แดดออกนี่มีแสงสว่าง ถ้าไปโดนเข้าก็จะร้อน
หรือเห็นว่า ฝนจะตกได้ต้องมีเมฆฝน ฝนถูกเราเราก็จะเปียก...
ถ้าเห็นแบบนี้ก็ยังไม่ใช่การหัดรู้หัดดูที่พูดถึงกันอยู่หรอกนะ

เอ้า... ใครเห็นแดดออกแล้วเกิดสงสัยบ้างว่า เอ แสงแดดนี่มันเกิดขึ้นได้ยังไง
พอสงสัยแล้วก็คิดค้นหรือพยายามหาคำตอบ
ใครเป็นแบบนี้ก็ยังไม่ไม่ใช่การหัดรู้หัดดูเช่นกัน
เพราะการพยายามค้นหาความรู้ความเข้าใจไม่ว่าจะด้วยการถาม
การอ่าน การฟัง หรือการครุ่นคิดเอานั้น ไม่ใช่กลไกที่จะช่วยให้เกิดปัญญา
การทำแบบนี้อย่างมากก็ได้เพียงความรู้มากบ้างน้อยบ้าง
แต่ความรู้นั้นมันไม่ใช่ตัวปัญญาที่เป็นจุดมุ่งหมายของการหัดปฏิบัติภาวนา
ในการหัดรู้หัดดูนี้ ถ้าเราเห็นอะไรแล้วเกิดความสงสัยขึ้น
มีวิธีหัดรู้หัดดูได้ ๒ วิธีคือ ให้หัดรู้หัดดูรู้จิตที่กำลังสงสัย
หรือให้หัดรู้หัดดูว่าเผลอ ลืมตัวไปกับความคิดสงสัยก็ได้

ทีนี้ใครเห็นว่า... วันนี้แดดออกดีจังเลย แต่พอตกบ่ายฝนก็ตกลงซะนี่
ฝนตกแดดออกนี่ ไม่มีความคงที่ เอาแน่นอนไม่ได้เลย...
อืม... เห็นแบบนี้เริ่มเข้าทาง เพราะเริ่มเห็นว่า ฝนตกแดดออกเป็นของไม่แน่นอน
แต่การเห็นแบบนี้ยังเป็นการเห็นเพียงสิ่งแวดล้อมภายนอก
ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดปัญญาขึ้นได้ ถ้าจะให้เกิดปัญญา
ก็ต้องหัดรู้หัดดูเข้ามาที่ภายในจิตใจเราเองด้วย

การหัดรู้หัดดูเข้ามาที่ภายในจิตใจเราเองนี่แหละ
ที่เป็นการหัดรู้หัดดูในความหมายของการหัดปฏิบัติภาวนา
เช่น วันนี้ต้องซักผ้า ซักเสร็จใหม่ ๆ แดดจ้าเลย แล้วจู่ ๆ ก็มีฝนทำท่าจะตกซะนี่
พอเห็นว่าฝนทำท่าจะตก ก็เกิดความรู้สึก
โอ้ย... แย่แล้ว ผ้ายังไม่แห้งเลย ฝนจะตกลงมาทำไมเนี่ย รอให้ผ้าแห้งก่อนก็ไม่ได้
แล้วก็หงุดหงิดอยู่เป็นนานสองนาน ถ้าแบบนี้ก็จะเข้าทางเป็นทุกข์ทันที
ถ้าจะให้เข้าทางของปัญญาเพื่อการพ้นทุกข์ ต้องเป็นแบบนี้คือ
พอซักผ้าเสร็จเห็นแดดจ้าแล้วเกิดรู้สึกดีใจ พอรู้สึกดีใจก็รู้ว่าจิตมีความดีใจ
จู่ ๆ เห็นฝนจะตก เกิดหงุดหงิด ก็รู้ว่าจิตมีความหงุดหงิด
นี่ การหัดรู้หัดดูต้องหัดแบบนี้คือ หัดรู้หัดดูมาที่จิตใจเราเอง

เมื่อรู้ว่าจิตมีความดีใจ หรือเมื่อรู้ว่าจิตมีความหงุดหงิดแล้วต้องทำยังไงต่อ?
อ๋อ... ไม่ต้องทำอะไรหรอก ก็แค่รู้แค่ดูจิตไปเรื่อย ๆ การหัดปฏิบัติภาวนามีเท่านี้เอง
ตรงนี้เป็นหลักการที่สำคัญมากในการหัดรู้หัดดู
เพราะไม่ว่าเราจะหัดรู้หัดดูอะไรก็ตาม จะเป็นกายก็ดี จะเป็นจิตก็ดี
พอรู้ว่ากายเป็นอย่างนั้น พอรู้ว่าจิตเป็นอย่างนั้น ก็เพียงแค่รู้แค่ดูไป
ถ้ารู้ว่ากาย รู้ว่าจิต เป็นกายที่ดี เป็นจิตที่ดี ก็ไม่ต้องคอยรักษาเอาไว้
ถ้ารู้ว่ากาย รู้ว่าจิต เป็นกายที่ไม่ดี เป็นจิตที่ไม่ดี ก็ไม่ต้องหาทางแก้ไขทำลายลงไป
ปล่อยให้กายและจิตดำเนินไปตามเหตุปัจจัยของมันเอง
ส่วนเรามีหน้าที่เพียงแค่รู้แค่ดูกาย หรือเพียงแค่รู้แค่ดูจิตไปเท่านั้น
เมื่อเราแค่รู้แค่ดูไปเรื่อย ๆ ก็จะเริ่มเห็นความจริงของกายและจิต
จะเริ่มเห็นเองว่า กายและจิตจะดีหรือไม่ดี เมื่อมีเหตุปัจจัยพร้อมมันก็เกิด
เกิดขึ้นแล้วไม่ช้าก็เร็วมันก็จะเสื่อมสภาพและดับสลายไปตามเหตุปัจจัย
เราไม่อาจที่จะไปนึกสั่งนึกอยากให้เป็นตามที่ใจเราต้องการได้
การเห็นความจริงของกายและจิตแบบนี้
ก็คือการเห็นไตรลักษณ์ ที่เราได้ยินกันอยู่เสมอ ๆ นั่นเอง
การเห็นไตรลักษณ์ของกายและจิตจะเห็นได้ ๓ ด้านคือ
เห็นอนิจจัง (เห็นความไม่เที่ยง)
เห็นทุกขัง (เห็นความคงทนอยู่ไม่ได้)
เห็นอนัตตา (เห็นความไม่ใช่ตัวตน - นึกอยากให้เป็นไปตามที่เราต้องการไม่ได้)
การเห็นกายและจิตแบบนี้แหละที่เป็นเป้าหมายหลักของการหัดรู้หัดดู

ดังนั้นขอให้จำให้ขึ้นใจว่า
เราไม่ได้หัดรู้หัดดูเพื่อจะเข้าใจเรื่องราวความเป็นไปของสิ่งต่าง ๆ
แต่เราหัดรู้หัดดูเพื่อจะให้เห็นกายและจิตมีลักษณะอนิจจังบ้าง ทุกขังบ้าง อนัตตาบ้าง


รักสุข-เกลียดทุกข์กับการหัดรู้หัดดู

เอาเข้าจริง ๆ ทุกคนที่หัดรู้ หัดดู ก็จะพูดตรงกันว่า
ทำไมหัดยากจังเลย ไม่เห็นว่าจิตจะยอมแค่รู้แค่ดูซะที
พอเห็นความสุขก็หลงใหลเพลิดเพลินยินดีอยู่กับความสุข หวงแหนความสุข
พอเห็นความทุกข์ก็ไม่ชอบไม่อยากเห็นแล้วก็หาทางกำจัดมันซะ
ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะคนเราล้วนแต่ มีความรักสุข-เกลียดทุกข์ กันทั้งนั้น
เมื่อเจอความสุขก็หลงยินดีติดใจในความสุขและจะทำให้ตัวเองมีความสุขนาน ๆ
เมื่อเจอความทุกข์ก็หลงรังเกียจและจะทำให้ตัวเองหายทุกข์เร็ว ๆ

มีคนบอกว่าที่หันมาหัดรู้หัดดูกันอยู่นี่ ก็เพราะเรารักสุข-เกลียดทุกข์นะซิ
มาหัดปฏิบัติภาวนาเพื่อจะไม่ให้เป็นทุกข์ หรืออยากจะไม่เป็นทุกข์นั่นเอง
ก็จริงอยู่นะ ที่ความเกลียดทุกข์นี่แหละมันทำให้เราหันมาหัดปฏิบัติภาวนา
แต่เราต้องฉลาดกว่าความเกลียดทุกข์ด้วยการ
ยอมให้ความเกลียดทุกข์มันจูงเราให้เข้ามาหัดปฏิบัติภาวนาก่อน
พอเข้ามาหัดปฏิบัติภาวนาแล้ว เราต้องหัดแบบ
ต่อไปนี้เมื่อเกิดมีความทุกข์ เราต้องเพียรหัดรู้หัดดูความทุกข์แบบแค่รู้แค่ดูเท่านั้น
การแค่รู้แค่ดูความทุกข์โดยไม่พยายามจัดการอะไรกับความทุกข์ไปแบบนี้
แล้ววันหนึ่งปัญญาก็จะเกิด แล้วก็ปลดปล่อยเราออกจากความเกลียดทุกข์ได้


ตอนเริ่มหัดนี้ต้องจงใจที่จะรู้จะดูหรือเปล่า?

มีหลายคนจะถามอยู่เรื่อยว่า
ถ้าไม่จงใจที่จะรู้จะดู จิตก็จะไม่สนใจหัดรู้หัดดูเอาซะเลย
แต่พอจงใจรู้จงใจดู การรู้การดูนั้นก็เหมือนไม่เป็นปกติธรรมชาติ
อย่างนี้ต้องจงใจรู้จงใจดูก่อนหรือเปล่า?

สำหรับตอนเริ่มหัดใหม่ ๆ และยังรู้ยังดูไม่เป็นธรรมชาติ
ก็ย่อมต้องอาศัยความจงใจช่วยกันก่อน
อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องมองให้ออกว่า นั่นยังมีความจงใจที่จะรู้จะดูอยู่
แล้วก็เพียรที่จะสังเกตอาการที่จิตไปรู้สิ่งต่าง ๆ ไปพร้อมกันด้วย
จะได้รู้สึกถึงความแตกต่างในระหว่างการรู้การดูแต่ละครั้ง
และจะได้ประจักษ์ด้วยตัวเองว่า ระหว่างการจงใจรู้จงใจดูและการรู้การดูที่ไม่จงใจนั้น
มีความแตกต่างกันอย่างไร หากสังเกตเห็นความแตกต่างได้
ก็จะเห็นว่า การรู้การดูที่ไม่จงใจไปรู้ไปดูนั้น
จิตใจจะมีความนุ่มนวล โปร่งโล่ง เบาสบายมากกว่า
หรือบางครั้งจะรู้สึกได้ถึงความร่าเริงเบิกบานของจิตเอง
และบางครั้งที่จิตไปรับรู้สิ่งต่าง ๆ ด้วยความจงใจหรือพยายามให้รู้แบบแค่รู้แค่ดู
จิตก็จะไม่เบาสบายหรือจะแน่น ๆ ไม่โปร่งโล่งเบาสบาย
หากเรารู้สึกถึงความแตกต่างได้ละก็ จิตเองจะพอใจกับการรู้การดูโดยไม่จงใจมากกว่า
แล้วก็จะมีพัฒนาการไป เป็นการรู้แบบแค่รู้แค่ดูโดยปราศจากการจงใจได้บ่อยขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้จิตจะพัฒนาไปได้แล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่า
การจงใจรู้จงใจดูจะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะในบางครั้ง
เราก็จะหลงลืมแล้วกลับไปจงใจรู้จงใจดูได้อีก
ด้วยเพราะจิตเองย่อมมีลักษณะของความไม่แน่นอนหรือไม่เที่ยงอยู่เสมอ
ประกอบกับจิตเองก็ยังถูกอำนาจของความหลงหรือโมหะครอบงำได้อยู่
ดังนั้นแม้ว่าวันนี้เราอาจแค่รู้แค่ดูได้โดยไม่จงใจแล้วก็ตาม แต่อีกไม่นาน
จิตก็จะไม่อาจแค่รู้แค่ดูอยู่ได้ จนเกิดการจงใจที่จะแค่รู้แค่ดูขึ้นอีกจนได้
ถ้าใครเจอกรณีแบบนี้ ก็ไม่ต้องตกใจหรอกนะ
เพราะนี่คือลักษณะปกติที่แท้จริงของจิต และเพียงแค่เราระลึกขึ้นได้ว่า
นี่คือเรื่องปกติธรรมดาของจิตที่ย่อมมีความไม่เที่ยงไม่แน่นอน
จิตก็จะเกิดความรู้สึกตัวขึ้นได้และหยุดการจงใจรู้จงใจดูลงได้

หัดรู้หัดดูแล้วทำไมจุก แน่น หนัก ตึงไปหมด?

คนที่เริ่มหัดรู้หัดดูใหม่ ๆ มักจะเกิดข้อผิดพลาดอีกอย่างหนึ่งคือ
ตอนที่ยังไม่อาจรู้ได้แบบไม่จงใจ และยังจำต้องอาศัยการจงใจอยู่บ้างนั้น
ส่วนมากก็มักจะระลึกไม่ได้ว่า เรายังมีการจงใจอยู่
พอระลึกไม่ว่าตัวเองยังมีความจงใจรู้จงใจดูอยู่
ก็เลยทำให้เกิดอาการจ้องดู หรือเพ่งดู จนเกิดความเครียดขึ้นทั้งกายและจิต
ก็เลยกลายเป็นที่มาของคำถามที่ถามกันบ่อยว่า
หัดรู้หัดดูแล้วทำไมจุก แน่น หนัก ตึงไปหมด?
บางคนก็จุกแน่นอยู่ที่กลางอก บางคนก็จุกแน่นอยู่ที่หัวหรือที่คอก็มี
การจ้องดูจนเกิดอาการจุกแน่นแบบนี้ครูบาอาจารย์ท่านจะเรียกว่า เพ่ง
นอกจากนี้สาเหตุของการเพ่งก็อาจเป็นเพราะ
เราอยากปฏิบัติภาวนาให้ได้ผลเร็ว ๆ หรือไม่ก็เพราะหลงคิดไปว่า
การเพ่งจ้องดูแบบนั้นจะทำให้เกิดปัญญาได้
แล้วก็มีไม่น้อยเลยที่เกิดการเพ่งจ้องไปเพราะ
ต้องการทำให้หายฟุ้ง หายง่วง หายโกรธ ฯลฯ
บางคนก็เพ่งจ้องเพราะต้องการให้จิตมันอยู่นิ่ง ๆ
การเพ่งจ้องดูเอาแบบนี้ก็เท่ากับเป็นการทำจิตใจ
ให้เป็นไปตามที่เราคิดอยากให้เป็น ซึ่งผิดหลักการหัดรู้หัดดูไปแล้ว

หากใครที่หัดรู้หัดดูแล้วเกิดอาการจุก แน่น หนัก ตึง ละก็
ขอให้ทราบได้เลยว่า ทำผิดแล้ว เพ่งไปแล้ว
ปัญหาเรื่องการเพ่งนี้ ครูบาอาจารย์จะพูดอยู่เสมอ ๆ ว่า
ใครที่ติดเพ่งแล้วจะแก้ยาก ดังนั้นคนที่หัดใหม่ ๆ จึงต้องคอยสังเกตให้ดี ๆ นะ
ถ้ารู้สึกว่าทำแล้วเกิดจุก แน่น หนัก ตึง ก็ให้รีบหยุดทำแบบที่ทำอยู่ทันที
ส่วนคนที่ติดเพ่งไปแล้ว ก็อย่าเพิ่งท้อแท้ก็แล้วกัน เพราะติดได้ก็หลุดออกมาได้
มีบางคนที่เคยติดแล้วก็หลุดออกมาได้เร็ว ด้วยการสังเกตว่า
ตัวเองทำอะไรแล้วเกิดจุกแน่น พอรู้ว่าทำอะไรแล้วเกิดจุกแน่น
ก็แค่เลิกทำเท่านั้นก็หลุดออกมาอาการเพ่งได้
แต่บางคนก็บ่นว่า ไม่ได้คิดจะทำอะไรเลยจิตมันทำของมันเอง
จะเลิกทำก็ไม่ได้เพราะอยู่ ๆ มันก็ทำจนจุกแน่นไปหมด ไม่รู้จะเลิกเพ่งยังไง
ส่วนบางคนแค่คิดจะหัดปฏิบัติภาวนาก็เกิดการเพ่งขึ้นทันทีเลย

ไม่เป็นไร ก็อย่างที่บอก ติดได้ก็หลุดออกมาได้ และมีทางออกอีกทางหนึ่งคือ
ถ้าเรารู้สึกหรือระลึกขึ้นได้ว่า การทำอะไรแล้วเกิดจุกแน่นหรือเกิดการเพ่งนั้นเป็น
เป็นการทำที่ผิด หากเราระลึกได้บ่อย ๆ ว่าเราทำผิดไปอีกแล้ว
ไม่นานหรอกจิตมันก็จะค่อย ๆ เริ่มเห็นว่า เราทำอะไรผิดไปจึงเกิดเพ่งขึ้น
พอเห็นว่าทำอะไรแล้วผิด เดี๋ยวก็จะเลิกทำไปเอง เปรียบเหมือนเราทำงาน
ที่พอรู้ว่าตัวเองทำงานผิด ก็จะจำไว้ว่าทำแบบนั้นมันผิด
เมื่อต้องทำงานที่เคยทำผิดมาแล้ว ก็จะรู้ทันทีเลยว่า
ทำแบบไหนผิดแล้วก็จะไม่ทำแบบผิด ๆ อีก
แต่ถ้าใครดูไม่ออกว่าตัวเองทำผิดไปแล้ว ก็ต้องใช้วิธีคอยรู้คอยดู
จริง ๆ แล้วน่าจะพูดว่า ให้ทนดูความจุกแน่นหรือความทุกข์ที่เกิดขึ้นไปก็ได้
แต่วิธีนี้จะลำบากหน่อย เพราะอาจต้องทนดูกันอยู่นานทีเดียว ต้องทนดูไปจนกว่า
จิตจะเข็ดขยาดกับความทุกข์ที่เกิดจากการเพ่ง เมื่อวันใดที่จิตมันเข็ดขยาดขึ้นมา
พอเริ่มเพ่ง จิตก็จะระลึกขึ้นได้ทันที แล้วก็จะหยุดการเพ่งลงได้เอง


หัดรู้สึกตัว
หัดรู้สึกว่า...เมื่อกี้เผลอไป


เรื่องการจะรู้จะดูแบบไม่จงใจ หรือไม่เพ่งนี่ อาจจะยากไปหน่อยสำหรับหลายคน
เพราะส่วนมากเราจะเคยชินกับการจงใจทำโน่นทำนี่แล้วได้ผลตามที่คาดหวัง
ดังนั้นพอบอกให้หัดรู้หัดดูแบบไม่ต้องจงใจ ก็เลยขัด ๆ กับที่เคยชิน
จนบางคนถึงกับบอกว่า เป็นไปไม่ได้หรอกที่จะให้แค่รู้แค่ดูโดยไม่จงใจเลย
แต่จริง ๆ แล้วเราสามารถแค่รู้แค่ดูได้โดยไม่จงใจจริง ๆ
เหมือนกับตอนที่เราเหม่อ ๆ อยู่ แล้วจู่ ๆ ก็มีคนมาสะกิดเรียก
พอถูกสะกิดเรียกเราก็จะกลับมารู้สึกตัวทันทีโดยอัตโนมัติ
ในแวบหนึ่งที่เรากลับมารู้สึกตัวนั่นแหละคือ การรู้อย่างไม่จงใจ
ในตอนนั้นจิตจะรู้ขึ้นมาเองเลยว่า มีคนมาสะกิดเรียก
และในแวบเดียวกันนั่นเอง จิตก็จะรู้สึกได้ว่า เมื่อกี้เผลอ (เหม่อ) ไป
ตรงนี้เองที่เราสามารถนำมาใช้ในการหัดรู้ หัดดู ได้เป็นอย่างดี
นั่นคือ หัดรู้สึกว่า เมื่อกี้เผลอไป ซึ่งบางครั้งก็มักจะพูดกันว่า หัดรู้สึกตัว
การรู้สึกขึ้นได้ว่า เมื่อกี้เผลอไป หรือรู้สึกตัวนี้
จะเป็นการรู้ขึ้นแบบฉับพลันและไร้การจงใจหลังจากที่มีการเผลอลืมตัวไปในแต่ละครั้ง
และทันทีที่รู้สึกตัวขึ้น อารมณ์ที่ปรากฏทางใจซึ่งทำให้เราเผลอลืมตัวไป
ก็จะดับลงอย่างรวดเร็ว แล้วจิตก็จะรู้สึกถึงความว่างที่เกิดขึ้นเพราะอารมณ์เก่าดับไป
แต่ถ้าสิ่งที่ทำให้เผลอลืมตัวไปเป็นอารมณ์ทางกาย เช่น
เกิดมีความปวดเมื่อยหรือเกิดไม่สบายขึ้น แล้วทำให้เราเผลอลืมตัวไป
ทันทีที่เกิดรู้สึกขึ้นว่า เมื่อกี้เผลอไป หรือเกิดรู้สึกตัวขึ้น
ความปวดเมื่อยจะไม่ดับลงไปทันที แต่จิตจะรับรู้ความปวดเมื่อยนั้นแบบแค่รู้แค่ดู
หรือแบบเป็นผู้รู้ผู้ดูได้จนกว่าจะเผลอไปอีกครั้ง


หัดรู้สึกตัว-หัดรู้สึกว่าเมื่อกี้เผลอไปกันในชีวิตประจำ

การหัดรู้สึกว่า เมื่อกี้เผลอไป หรือหัดรู้สึกตัว นี้
จะสามารถหัดกันได้แม้ในขณะใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ
หรือหัดกันได้ในทุก ๆ อิริยาบถ ทุก ๆ กิจกรรมที่ต้องทำกันตั้งแต่ตื่นจนหลับกันเลยทีเดียว
เพราะในชีวิตประจำวันนั้น เราจะเผลอลืมตัวไปกับสิ่งต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว
และนอกจากที่เราจะเผลอลืมตัวกันตอนที่เราเหม่อแล้ว
เราก็ยังเผลอลืมตัวไปในขณะทำโน่นทำนี่ตลอดเวลา
เอาง่าย ๆ ก็อย่างเช่น ตอนที่เรากำลังรับโทรศัพท์
นึกออกไหมว่าตอนนั้น ความรู้สึกของเราเองเป็นอย่างไร
คงนึกออกนะว่า ตอนนั้นจิตใจเราจะมุ่งไปสนใจแต่เรื่องที่กำลังพูดกำลังคุยอยู่เท่านั้น
จนทำให้ความรู้สึกรับรู้ของเราทั้งหมด ถูกจำกัดอยู่แต่ในวงของเรื่องราวนั้น ๆ
จนไม่รู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกายเลย ไม่รู้สึกเลยว่ากำลังยืนหรือนั่งพูดโทรศัพท์อยู่
ไม่รู้สึกเลยว่ากำลังถือโทรศัพท์ด้วยมือข้างซ้ายหรือข้างขวา
อาการแบบนี้แหละที่เรียกว่า เผลอไป ลืมตัว หรือไม่รู้สึกตัว นั่นเอง

ลองนึกดูกันนะว่า
ในแต่ละวันนอกจากตอนที่กำลังพูดโทรศัพท์แล้ว เราเผลอ ลืมตัว อีกตอนไหนบ้าง ?
ขณะกำลังดูทีวี ดูหนัง ฟังเพลง เผลอหรือลืมตัวไปหรือเปล่า?
ขณะกำลังอ่านหนังสืออยู่นี่ก็เผลอหรือลืมตัวไปใช่ไหม?
ขณะกำลังคิดถึงแฟน คิดถึงลูก คิดถึงเพื่อนละ เผลอหรือลืมตัวไปใช่ไหม?
ขณะกำลังคร่ำเครียดกับงานก็เผลอหรือลืมตัวไปใช่ไหม?
ลองหัดสังเกตกันดูนะว่า
ในแต่ละวันเราเผลอหรือลืมตัวไปขณะทำโน่นทำนี้จริงไหม
รับรองเลยว่า ต้องสังเกตได้จริง ๆ ว่า เราเผลอหรือลืมตัวไปไม่มากก็น้อยแน่นอน
และส่วนมากเราก็จะเผลอหรือลืมตัวกันมากกว่าที่จะรู้สึกตัวอีกด้วย

เอาละ เมื่อรู้จักอาการเผลอหรือลืมตัวกันบ้างแล้ว ต่อไปก็
ลองหัดรู้สึกว่า เมื่อกี้เผลอไป เมื่อกี้ลืมตัวไป
โดยให้เกิดความรู้สึกขึ้นเองนะว่า เผลอไปหรือลืมตัวไปอีกแล้ว
หัดให้ได้ทุกวันก็แล้วกัน บางวันหัดได้บ่อย หรือบางวันจะหัดได้ไม่บ่อย ก็ไม่เป็นไร
เพราะไม่มีทางที่เราจะรู้สึกว่าเผลอไปหรือลืมตัวไปได้บ่อย ๆ ทุกวันหรอก
ขอเพียงอย่าลืมหัดก็แล้วกัน และขณะกำลังหัดรู้หัดดู หัดรู้สึกว่า
เมื่อกี้เผลอไป เมื่อกี้ลืมตัวไป ก็ควรต้องหมั่นทบทวนหลักการในการหัดกันด้วยนะ
หลักการที่ว่าคือ ให้แค่รู้แค่ดูเท่านั้น อย่าพยายามทำอะไรที่มากไปกว่าแค่รู้แค่ดู


จะทำยังไงให้รู้สึกว่าเผลอไปได้เร็วขึ้น?

คนที่หัดปฏิบัติภาวนาด้วยการหัดรู้หัดดูว่า เมื่อกี้เผลอไป มักชอบถามกันว่า
จะทำยังไงได้บ้างให้รู้ว่าเผลอได้เร็วขึ้น ตอนนี้ยังเผลอนานมาก?
ถ้าจะตอบกันแบบตรงไปตรงมาที่สุดละก็ ต้องตอบว่า
มีวิธีเดียวที่ทำให้รู้ว่าเผลอได้เร็วขึ้นคือ ต้องเพียรหัดรู้หัดดูไปให้ต่อเนื่องสม่ำเสมอ
การจงใจทำอะไรขึ้นมาเพื่อให้รู้ว่าเผลอไปได้เร็วขึ้นนั้น
ล้วนแต่เป็นการทำไปเพราะถูกความอยากบงการให้ทำ
ทำไปก็ไม่เกิดการรู้การดูที่ถูกต้องหรอก
ต้องเพียรหัดให้ต่อเนื่องสม่ำเสมอจนกว่าจิตจะสามารถรู้ว่าเผลอไปได้เร็วขึ้นเอง

มีบางคนหัดไปได้สักระยะหนึ่งก็จะรู้ว่าเผลอได้บ่อยมาก
แล้วจู่ ๆ ก็กลายเป็นเผลอนานมากกว่าจะรู้ขึ้นได้สักครั้งว่า เมื่อกี้เผลอไป
พอเจอแบบนี้เข้าเลยเหมือนเดินสะดุดหกล้มแล้วลุกไม่ไหวเลย
บางคนล้มแล้วลุกขึ้นไม่ได้ไปตั้งสองสามเดือน เพราะ
แทนที่จะหัดรู้หัดดูต่อไปตามที่เคยหัดอยู่
ก็เริ่มดิ้นรนหาทางที่จะทำให้รู้ว่าเผลอไปให้ได้บ่อยเหมือนเดิม
ซึ่งยิ่งดิ้นก็มีแต่ยิ่งแย่ลง แต่ถ้าเราเกิดระลึกขึ้นได้ว่า
จิตมันเป็นแบบนี้เองแหละ บางช่วงก็รู้ได้ดี (รู้ว่าเผลอได้บ่อย)
บางช่วงก็จะรู้ได้ไม่ดี (นาน ๆ กว่าจะรู้ว่าเผลอ)
วันนี้จะเผลอนานก็ไม่เป็นไร หัดรู้หัดดูต่อไปเดี๋ยวก็รู้ได้บ่อยขึ้นเอง
ถ้าระลึกขึ้นได้แบบนี้และหยุดดิ้นรนทำโน่นทำนี่
จิตก็กลับมารู้สึกว่าเผลอไปได้บ่อยเองอีกครั้ง
เพราะฉะนั้นต้องระวังกันไว้ด้วยนะ ไม่งั้นเราจะหลงไปดิ้นรนทำโน่นทำนี้
ด้วยความอยากที่จะรักษาการรู้ว่าเผลอไปเอาไว้ให้ได้บ่อยเท่าเดิม
ความอยากนี้เองแหละที่ทำให้เราต้องสะดุดหกล้มแล้วลุกขึ้นมาไม่ได้



เข้าใจผิดกันว่า ต้องไม่เผลอ หรือหัดแล้วต้องรู้สึกตัวให้ได้นาน ๆ

คนที่หัดรู้หัดดูด้วยการรู้สึกว่าเผลอไป หรือหัดรู้สึกตัวนี้
มักจะ เข้าใจผิดกันว่า ต้องไม่เผลอ หรือหัดแล้วต้องรู้สึกตัวให้ได้นาน ๆ
ก็เลยพยายามรักษาจิตไว้ไม่ให้เผลอ หรือพยายามทำให้รู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา
คนที่พยายามไม่ให้เผลอ หรือพยายามให้รู้สึกตัวอยู่นาน ๆ
จะเข้าใจผิดไปว่า ตัวเองกำลังรู้สึกตัวอยู่ ทั้ง ๆ ที่กำลังเผลอไป
กำลังลืมตัวไปกับการพยายามรักษาจิตไม่ให้เผลอ
หรือกำลังเผลอลืมตัวไปกับการทำตัวเองให้รู้สึกตัวอยู่

บางคนก็จะพยายามจ้องมองจิตตัวเอง ไม่ยอมให้เผลอลืมตัวไป
บางคนก็ทำเป็นเดินไปเดินมาเพื่อไม่ให้เผลอไป ไม่ให้ลืมตัวไป
หรือใครจะทำอะไรก็ตามแต่ ถ้ามีการทำด้วยความต้องการที่จะไม่ให้เผลอไป
หรือทำแล้วจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ละก็
ขอให้เข้าใจไว้เลยว่า นั่นไม่ใช่การหัดรู้หัดดูเพื่อให้เกิดปัญญาหรอก
แม้ว่าทำแล้วจะรู้สึกว่าดีนะ หรือทำแล้วรู้อะไรก็รู้ได้ชัดเจนดี
ก็ยังไม่ถูกหลักของการหัดรู้หัดดู เพราะจริง ๆ แล้วการทำแบบนั้น
มันไม่ใช่อาการแค่รู้แค่ดูรู้ตามปกติธรรมดาของจิตเลย
เนื่องจากจิตจะถูกความอยากหรือความคาดหวังบางอย่างครอบงำอยู่
ก่อนลงมือทำก็คาดหวังไว้ก่อนว่า จะทำให้จิตใจเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
พอลงมือทำก็พยายามทำให้เป็นไปตามที่คาดหวังไว้
ซึ่งถ้าไม่สังเกตให้ดี ๆ ก็จะหลงไปว่านั่นคืออาการแค่รู้แค่ดูเลยทีเดียว

จริง ๆ แล้วความรู้สึกตัวที่เกิดขึ้นนั้น
จะเกิดขึ้นเพียงชั่วเวลาสั้น ๆ หรือแวบเดียวเท่านั้น
เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะดับไปเป็นเผลอลืมตัวครั้งใหม่
เป็นไปไม่เลยที่คนทั่วไปหรือคนที่ยังต้องหัดปฏิบัติภาวนาจะไม่มีการเผลอไปเลย
ดังนั้นจึงขอให้ล้มเลิกความคิดที่จะทำให้ไม่เผลอไปได้เลย
ต้องใช้วิธี เผลอแล้วก็ให้รู้สึกว่าเมื่อกี้เผลอไป
ซึ่งถ้าใครรู้สึกได้บ่อย ๆ ว่า เมื่อกี้เผลอไป ก็เท่ากับหัดรู้หัดดูได้บ่อยนั่นเอง
และครูบาอาจารย์เองก็จะบอกเตือนอยู่เสมอว่า ยิ่งรู้สึกว่าเผลอบ่อยก็ยิ่งดี


ขณะสวดมนต์ เดินจงกรม ยกมือเป็นจังหวะ จะหัดรู้หัดดูอย่างไร

ปกติแล้ว การหัดปฏิบัติภาวนาที่เราคุ้นเคยกันทุกวันนี้
จะมีรูปแบบหลากหลาย หรือมีกิริยาท่าทางแตกต่างกันไป
ตามแต่ครูบาอาจารย์แต่ละท่านจะนำมาใช้เป็นเครื่องมือให้เราหัดกัน
ที่คุ้นเคยกันมากก็เห็นจะเป็น สวดมนต์ เดินจงกรม และยกมือเป็นจังหวะ
ดังนั้น หากใครจะใช้การสวดมนต์ เดินจงกรม ยกมือทำจังหวะ ฯลฯ
มาเป็นเครื่องมือในการหัดรู้หัดดูก็ได้ แต่ต้องจับหลักให้ได้ว่าต้องทำอย่างไร

การจะใช้การสวดมนต์ เดินจงกรม ยกมือทำจังหวะ มาเป็นเครื่องมือหัดรู้หัดดู
ก็อย่าทำแบบคาดหวังหรืออย่าทำด้วยความอยากให้จิตใจต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้นะ
ถึงเวลาที่จะสวดมนต์ เดินจงกรม ยกมือทำจังหวะ ตามที่ตั้งใจไว้
ก็ขอให้ทำไปตามปกติธรรมดา ทำไปโดยไม่ต้องคาดหวังเลยว่า
ทำแล้วจิตต้องสงบ ทำแล้วต้องไม่คิดฟุ้งซ่าน
ไม่ต้องคาดหวังเลยว่า ทำแล้วต้องไม่เผลอ ต้องไม่ลืมตัว
แต่ทำแล้วจิตใจจะเป็นอย่างไร ก็ให้รู้ว่าจิตเป็นอย่างนั้น
ถ้าจิตจะฟุ้งซ่าน ก็แค่รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน รู้แล้วก็จบไม่ต้องแก้ไข
ไม่ต้องหาทางทำให้หายฟุ้ง ถ้าไม่หายก็ให้แค่รู้ต่อไปว่ายังไม่หายฟุ้ง
หรือถ้าทำแล้วเกิดปวดเมื่อย ก็แค่รู้ว่ามีความปวดเมื่อย
ไม่ต้องกดข่มความปวดเมื่อย ไม่ต้องสั่งให้จิตเลิกรู้ความปวดเมื่อย
ไม่ต้องคิดอุบายใด ๆ ขึ้นมากลบเกลื่อนความปวดเมื่อย
แค่รู้แค่ดูความปวดเมื่อยไปเท่านั้นก็พอแล้ว
หากรู้สึกทนความปวดเมื่อยไม่ได้ก็ให้รู้ว่าทนไมได้
รู้แล้วจะขยับร่างกายเพื่อบรรเทาความปวดเมื่อยก็ขยับได้
ขยับแล้วก็แค่รู้ว่าเราขยับร่างกายก็พอแล้ว
หรือหากหายปวดเมื่อยแล้วเกิดหงุดหงิดขึ้น ก็แค่รู้ว่าจิตมีความหงุดหงิด
หรือหากหายปวดเมื่อยแล้วเกิดความยินดีขึ้น ก็แค่รู้ว่าจิตมีความยินดี

นี่...ครูบาอาจารย์ท่านสวดมนต์ เดินจงกรม ทำจังหวะ ท่านทำแบบนี้ต่างหาก
ท่านจึงได้เกิดปัญญาและพ้นไปจากกองทุกข์ได้ ที่ท่านพ้นไปได้ก็เพราะ
ท่านไม่ได้คาดหวังว่าทำแล้วต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
แต่ท่านทำแล้ว กายจะเป็นอย่างไร ท่านก็แค่รู้แค่ดูรู้ว่ากายเป็นอย่างนั้น
จิตจะเป็นอย่างไร ท่านก็แค่รู้แค่ดูรู้ว่าจิตเป็นอย่างนั้น
และท่านทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ จนท่านเห็นแจ่มแจ้งจริง ๆ ว่า
กายนี้ จิตนี้ มีความเกิดขึ้น-เสื่อมไปเป็นธรรมดา
กายนี้ จิตนี้ มีความไม่เที่ยง คงทนอยู่ไม่ได้
กายนี้ จิตนี้ ไม่ใช่ตนตนเราเขาที่จะนึกสั่งให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ได้
และในที่สุดท่านก็เกิดปัญญาจนพ้นไปจากกองทุกข์ได้ตามลำดับ

ความสงสัยเรื่องการเกิดปัญญา

สงสัยอีกแล้วเหรอ... ตอนนี้ยังไม่ต้องไปคิดถึงหรอกว่า
หัดไปแล้วปัญญาจะเกิดได้ยังไง จะเกิดตอนไหน จะเกิดเมื่อไหร่?
สงสัยก็หัดรู้หัดดูจิตที่สงสัยไปนั่นแหละ จะหัดรู้หัดดูไปตรง ๆ ที่จิตมีความสงสัยก็ได้
หรือจะหัดรู้หัดดูว่า เผลอไปลืมตัวไปกับความคิดสงสัยก็ได้
ตอนนี้ก็จำ ๆ ไว้ก่อนว่า การหัดรู้หัดดูแบบนี้แหละ ที่จะเป็นเหตุให้ปัญญาเกิดขึ้นได้
ส่วนปัญญาจะเกิดขึ้นอย่างไร จะเกิดตอนไหน จะเกิดเมื่อไหร่ ก็ช่างมันเถอะ
หัดรู้หัดดูให้ถูกต้องและต่อเนื่องสม่ำเสมอเอาไว้ก็แล้วกัน เมื่อหัดได้แล้ว
ปัญญามันเกิดของมันเองแหละ อย่างเรา ๆ ไม่มีใครรู้หรอกว่าปัญญามันจะเกิดเมื่อไหร่
การมัวหาคำตอบด้วยความสงสัยใคร่รู้นั้น จะเป็นการเสียเวลาเปล่า ๆ

หัดรู้หัดดูความโกรธ

อีกคำถามหนึ่งที่ถามกันบ่อยเหมือนกันคือ
ทำไมเห็นว่าจิตมีความโกรธแล้ว ความโกรธมันยังไม่หาย?
จริง ๆ แล้วถ้าจะตอบว่าเพราะอย่างนั้นเพราะอย่างนี้ ก็พอจะตอบได้อยู่
แต่ไม่ตอบดีกว่า เพราะตอบไปก็ไม่ช่วยให้การหัดรู้หัดดูทำได้ดีขึ้น
เอาเป็นว่า ถ้าเห็นว่าจิตมีความโกรธแล้ว ความโกรธไม่ดับก็ไม่เป็นไร
ให้หัดรู้หัดดูว่าจิตมีความโกรธต่อไปเรื่อย ๆ จะดีกว่า
ถ้าจะสนใจก็มาสนใจถึง เหตุที่ทำให้เกิดคำถามจะดีกว่า
เหตุที่หลายคนถามจะมีอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกคือ ถามเพราะความสงสัยใคร่รู้ของเรา
และอีกอย่างคือ ถามเพราะเกิดความไม่ชอบจิตที่มีความโกรธ
หรืออยากให้จิตไม่มีความโกรธ
ที่ให้สนใจเหตุตรงนี้ก็เพราะถ้าใครพอจะรู้สึกได้ถึงจิตที่มีความสงสัยใคร่รู้
หรือพอจะรู้สึกได้ถึงจิตที่มีความไม่ชอบ มีความอยาก ละก็
ให้หัดรู้หัดดูจิตที่มีความสงสัยใคร่รู้ หัดรู้หัดดูจิตที่มีความไม่ชอบ
หัดรู้หัดดูจิตมีความอยาก หรือจะหัดรู้หัดดูว่าเผลอ ลืมตัวไปกับความสงสัยก็ได้
เพราะถ้าหัดรู้หัดดูได้ ก็จะเห็นได้เองเลยว่า
จิตที่สงสัยใคร่รู้ จิตที่มีความไม่ชอบ จิตที่มีความอยาก หรือจิตที่เผลอไป
ก็มีความเกิดขึ้น เสื่อมดับไปโดยที่เราไม่ต้องไปทำอะไรเลย
ซึ่งเท่ากับเราจะได้เห็นความจริงว่า จิตมันเองก็เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา
อันเป็นเป้าหมายสำคัญของการหัดรู้หัดดูนั่นเอง

หัดรู้หัดดูไม่ใช่หัดแก้

ปัญหาในระหว่างการหัดอีกปัญหาหนึ่งคือ
พอหัดรู้หัดดูไป ก็จะเห็นจิตเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เยอะแยะมากมาย
โดยเฉพาะจะเริ่มเห็นว่า จิตเรามีแต่เรื่องไม่ดีซะเป็นส่วนใหญ่
ซึ่งโดยหลักของการหัดรู้หัดดูแล้ว ไม่ว่าเราจะรู้สึกว่าจิตไม่ดีอย่างไรก็ตาม
ก็ให้เราเพียงแค่รู้แค่ดูจิตที่ไม่ดีไปเท่านั้น
แต่ด้วยเพราะเราเองมักจะเป็นคนติดดี พอเห็นว่าจิตไม่ดี
ก็เลยหลงไปหาทางแก้ไขไม่ให้จิตเป็นแบบนั้น แทนที่จะแค่รู้แค่ดูไปเท่านั้น

ตัวอย่างเช่นเรื่อง เห็นจิตมีความโกรธที่พูดไปเมื่อกี้นี้
พอเกิดไปเห็นว่าจิตมีความโกรธ ก็รู้สึกว่าโกรธไม่ดีเลยนะ
ก็เลยกลายเป็นคอยจ้องดูจิตที่มีความโกรธไปโดยไม่รู้ตัว
จ้องดูเพราะอยากให้จิตหายโกรธ (ตอนนี้อยากหายโกรธแล้วแต่ไม่รู้)
แต่จิตที่มีความโกรธก็ยังไม่ยอมหายไปซะที
ทีนี้เลยยิ่งเสียท่าไปใหญ่เลย เพราะแทนที่จะแค่รู้แค่ดูว่าจิตมีความโกรธไปเรื่อย ๆ
ก็เริ่มไปขุดคุ้ยหาอุบายร้อยพันแปดมาทำให้จิตหายโกรธ
ซึ่งการใช้อุบายทำให้จิตหายโกรธนี้
มันไม่ใช่หลักของการหัดรู้หัดดูอย่างที่กำลังพูดกันอยู่นี่หรอกนะ
(แต่ก็ไม่ผิดหลักการหัดแบบอื่นที่ไม่ใช่หัดรู้หัดดูหรอก)

ปัญหาเรื่องความโกรธนี้ คนที่หัดรู้หัดดูจะเจอกันทุกคนมากบ้างน้อยบ้าง
ยิ่งถ้าเป็นมือใหม่เพิ่งเริ่มหัดรู้หัดดูละก็ พอเริ่มโกรธมาก ๆ เข้าก็ดูไม่เป็นแล้ว
ทำท่าทำทางจะมีเรื่องกันแล้ว หากใครเจอสถานการณ์แบบนี้ละก็ ขอบอกว่า
ถ้าหัดรู้หัดดูไม่ไหวแล้วก็ต้องหยุดไว้ก่อน แล้วไปหัดข่มจิตที่มีความโกรธแทนก็ได้
หรือถ้าหัดข่มแล้วยังข่มไม่อยู่ ยังจะมีเรื่องมีราวได้อีก ก็ให้รีบเดินหนีไปเลยก็ได้
แต่ต้องรู้ด้วยว่า ที่เราหยุดหัดรู้หัดดูแล้วหันไปข่มจิตที่กำลังโกรธหรือที่เดินหนีไปนั้น
ก็เพียงเพื่อไม่ให้เกิดเรื่อง ไม่ใช่วิธีการหัดปฏิบัติภาวนาเพื่อให้เกิดปัญญา
แต่ก็จำเป็นต้องใช้ในสถานการณ์แบบนั้น เมื่อข่มแล้วหรือเดินหนีแล้ว
ความโกรธเริ่มทุเลาเบาบางลงจนพอจะหัดรู้หัดดูได้ ก็ให้รีบกลับมาหัดรู้หัดดูกันใหม่
เท่านี้ก็เรียบร้อย ไม่เสียฟอร์มคนที่หัดปฏิบัติภาวนาแล้ว


คนที่หัดต้องทำตัวให้ขรึม ๆ ดูเรียบร้อยหรือเปล่า?

พูดถึงฟอร์มนักปฏิบัติภาวนาเมื่อสักครู่แล้ว มีคนถามเหมือนกันว่า
คนที่หัดปฏิบัติภาวนานี่ ต้องทำท่าทางให้ดูขรึม ๆ ดูเรียบร้อยหรือเปล่า?
เพราะคนส่วนมากมักจะคิดว่า นักปฏิบัติภาวนาต้องเป็นคนเรียบร้อย
กิริยามารยาทต้องงดงาม ใครมีท่าทางกระโดกกระเดก หัวเราะสนุกสนาน
หรือทำตัวร่าเริงเหมือนคนทั่วไป ก็มักถูกตำหนิว่า
นี่เหรอนักภาวนา ไปวัดแล้วยังเป็นแบบนี้อยู่อีกเหรอ
คนที่หัดปฏิบัติภาวนาส่วนหนึ่งก็เลยต้องแกล้งดัดจริตตัวเอง
บางคนที่เป็นคนเดินเหินหรือทำอะไรคล่องแคล่วว่องไว ก็แกล้งทำเป็นเดินให้ช้า ๆ
บางคนปกติเป็นคนร่าเริง ก็ต้องแกล้งทำขรึม ๆ ทำให้ดูเหมือนคนไร้ความรู้สึก
จริง ๆ แล้วจะขอบอกว่า ไม่ต้องไปสนใจคนเขาจะตำหนิหรอก
เราเป็นอย่างไรก็เป็นของเราอย่างนั้นแหละ ไม่ต้องแกล้งทำตัวให้ผิดธรรมชาติหรอก
เพราะการเกิดขึ้นของปัญญานั้น
ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเรามีกิริยามารยาทแบบที่คนเขาคาดหวังหรอก
แต่จะเกิดจากการที่เราหัดรู้หัดดูกายเราจิตเราที่มีความเป็นไปตามปกติต่างหาก
ในทางกลับกันซะอีก การที่เราต้องคอยแกล้งดัดจริตนั่นแหละ
ที่จะทำให้ร่างกายและจิตใจเราทำงานไม่เป็นปรกติ และปิดกั้นการเกิดขึ้นของปัญญา

อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่าคนที่หัดปฏิบัติภาวนา
จะสามารถปล่อยตัวตามสบายจนเกินไปนะ
หรือไม่ใช่ว่าอยากจะทำอะไรก็ทำได้ตามใจชอบเสมอไป
แต่ต้องมีความสำรวมระวังกาย-วาจากันบ้าง คือ
ต้องสำรวมระวังไม่ให้ล่วงละเมิดหรือทำผิดศีลที่ได้ตั้งใจรักษา
ซึ่งการตั้งใจรักษาศีลนี้ อย่างน้อยก็ต้องเป็นศีล 5 ส่วนใครจะตั้งใจมากกว่านี้
ก็แล้วแต่ความตั้งใจของแต่ละคน แต่ต้องพอเหมาะพอควรกับสภาพของตัวเองด้วย
ไม่ใช่ว่าเราตั้งใจจะรักษาศีล 8 แต่สภาพร่างกายหรือความเป็นอยู่ไม่เอื้ออำนวย
หากเป็นเช่นนี้โอกาสที่จะรักษาศีลได้ตามที่ตั้งใจไว้ก็จะน้อยลง
และหากเกิดต้องพลาดพลั้งทำผิดศีลอยู่บ่อย ๆ
แทนที่จะได้ประโยชน์จากการรักษาศีล คือช่วยให้สามารถหัดปฏิบัติภาวนาได้ราบรื่น
ก็ต้องกลับกลายเป็นว่า ตัวเองต้องมานั่งตำหนิตัวเอง
จนทำให้จิตใจเศร้าหมองและบั่นทอนการหัดปฏิบัติภาวนาไปซะ



ต้องอดอาหาร อดนอนด้วยหรือเปล่า?

บางคนจะสงสัยว่า
คนที่หัดปฏิบัติภาวนานี่ต้องอดอาหาร อดนอน ด้วยหรือเปล่า?
เพราะจากการอ่านประวัติครูบาอาจารย์ตอนที่ท่านเพียรปฏิบัติภาวนานั้น
ท่านมักจะอดอาหาร อดนอน กันครั้งละหลาย ๆ วัน
หรือครูบาอาจารย์บางท่านก็จะผ่อนอาหาร ฉันน้อย ๆ บ้าง นอนน้อย ๆ บ้าง
แล้วเราละต้องทำแบบท่านหรือเปล่า?

สำหรับคนที่หัดปฏิบัติภาวนาอย่างเรา ๆ เรื่องการกินอยู่หลับนอนนี้
ไม่ใช่ว่าเราจะต้องกินน้อย นอนน้อย หรือต้องอดอาหาร อดนอน เหมือนกันทุกคนนะ
การกินการนอนที่ดีที่สุดนั้นคือ กินแต่พอควร นอนแต่พอควร
ไม่กินมากไป ไม่กินน้อยไป ไม่นอนมากไป ไม่นอนน้อยไป
อันนี้แต่ละคนก็ต้องพิจารณาหรือทดลองด้วยตัวเองว่า
เรานั้นควรจะกินประมาณไหน ควรจะนอนประมาณไหน
ที่ทำให้จิตใจปลอดโปร่งและสามารถหัดปฏิบัติภาวนาได้ง่าย
จะไปเลียนแบบให้เหมือนครูบาอาจารย์บางท่านไม่ได้หรอกนะ
ครูบาอาจารย์บางท่าน ท่านอดอาหารครั้งละ 3 วัน 5 วัน 7 วัน
หรืออดนอนครั้งละตลอด 3 วัน 5 วัน 7 วัน ที่ท่านทำแบบนั้นเป็นเพราะ
ท่านทำแล้วจิตใจปลอดโปร่ง สามารถหัดปฏิบัติภาวนาได้ดี
ทำแล้วจิตท่านมีความตั้งมั่น และรับรู้สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างเป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่เนือง ๆ
แต่ถ้าเราทดลองทำแล้วร่างกายทนไม่ไหว จิตใจไม่ปลอดโปร่ง
ก็ต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนการกินการนอนให้พอเหมาะพอควร
หากขืนยังไปเลียนแบบตามครูบาอาจารย์แบบนั้น
แทนที่เราจะหัดปฏิบัติภาวนาได้ดี ก็จะกลายเป็นโดนกิเลสงาบไปกินซะหมด

หากใครทดลองแล้วพบว่า
การอดอาหาร อดนอน ช่วยให้หัดปฏิบัติภาวนาได้ดี ก็ให้อดไป
ส่วนใครพบว่า ตัวเองต้องวันละกิน 3 มื้อ นอนวันละ 6 - 8 ชั่วโมงแล้ว
จึงจะหัดปฏิบัติภาวนาได้ดี ไม่ง่วงซึม จิตใจตั้งมั่นได้ง่าย แค่รู้แค่ดูได้ง่าย
ก็ไม่ต้องอดอาหาร อดนอนหรอก ถ้าใครจะว่าตำหนิเราว่ากินมากนอนมาก
ก็เฉย ๆ ไว้ ไม่ต้องกังวลไม่ต้องรู้สึกว่าเราทำผิดไป หรือจะบอกเขาไปก็ได้ว่า
เรากินแบบนี้นอนแบบนี้แล้ว ทำให้หัดปฏิบัติภาวนาได้ดีกว่าอดอาหารอดนอน
ครูบาอาจารย์ก็บอกกันเสมอว่า การหัดปฏิบัติภาวนาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
เราจึงต้องฉลาดเลือกใช้รูปแบบที่เหมาะกับเรามากที่สุด
หากไปพยายามอดอาหารอดนอน ทั้ง ๆ ที่ทำแล้วง่วงซะจนปวดหัวไปหมด
ร่างกายอ่อนล้าไปหมด ถ้าเป็นแบบนี้ เดี๋ยวจะตายซะก่อนที่จะเกิดปัญญา

ความแตกต่างในความเหมือน

พูดเรื่องการกินแล้ว ไม่ทราบว่าพอจะรู้ไหมว่า
คนทั่วไปกับคนที่หัดปฏิบัติภาวนาเขากินเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร?
ที่ว่าเหมือนหรือต่างกัน ไม่ใช่ชนิดอาหาร หรือรสชาติของอาหารนะ
ไม่ใช่ว่าคนที่หัดปฏิบัติภาวนาต้องไม่กินเนื้อสัตว์ ต้องกิจเจ กินมังสวิรัติกันนะ
ส่วนมากก็จะกินไปตามปกติธรรมดาเหมือนคนทั่วไปนั่นแหละ
อ้อ... ถ้าเป็นชนิดอาหารก็มีต่างกันบ้าง เช่น
คนที่หัดปฏิบัติภาวนาเขาไม่กินเหล้ากัน แต่คนทั่วไปส่วนหนึ่งชอบกินเหล้า

ที่ถามว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไรนั้น ก็เช่น
คนทั่วไปกับคนที่หัดปฏิบัติภาวนาไปนั่งกินก๋วยเตี๋ยวด้วยกัน สั่งก๋วยเตี๋ยวเหมือน ๆ กัน
สองคนนี้กินก๋วยเตี๋ยวแล้วมีความรู้สึกเหมือนกันหรือต่างกันไหม?

ไม่ใช่ว่าคนทั่วไปกินแล้วรู้สึกว่าอร่อย แต่คนที่หัดปฏิบัติภาวนาไม่รู้สึกอร่อยหรอกนะ
ทั้งคนทั่วไปและคนที่หัดปฏิบัติภาวนานั้น ก็ย่อมรู้สึกอร่อยได้เหมือนกันนั่นแหละ
แต่พอรู้สึกถึงความอร่อย ถ้าเป็นคนทั่วไป จิตใจก็จะเพลิดเพลินแล้วก็กินแบบลืมเนื้อลืมตัว
ส่วนคนที่หัดปฏิบัติภาวนา พอรู้สึกว่าอร่อยหรือจิตมีความยินดีพอใจ
ก็จะหัดรู้หัดดูจิตที่มีความยินดีพอใจ กินไปก็หัดรู้หัดดูไป รู้ได้บ้างไม่ได้บ้างไปตามสมควร
ดังนั้น คนทั่วไปกับคนที่หัดปฏิบัติภาวนา จะมีความแตกต่างกันตรงที่
ไม่ว่าจะทำอะไร ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
คนทั่วไปก็จะปล่อยให้จิตใจหลงใหลเพลิดเพลินหรือถูกกิเลสครอบงำ
ทำให้ต้องวนเวียนเป็นทุกข์แล้วเป็นทุกข์อีกไปไม่มีที่สิ้นสุด
ส่วนคนที่หัดปฏิบัติภาวนา เมื่อกายเมื่อจิตเป็นอย่างไร
ก็จะหัดรู้หัดดูกาย หัดรู้หัดดูจิตที่เป็นอย่างนั้น
หัดรู้หัดดูแบบเป็นผู้รู้ผู้ดู หรือเพียงแค่รู้แค่ดูเท่านั้น
จนในที่สุดคนที่หัดปฏิบัติภาวนาก็จะเกิดปัญญา หลุดพ้นไปจากกองทุกข์ได้

จำหลักให้แม่น
พูดมาซะยืดยาวเลย ไม่รู้จะกลายเป็น น้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง หรือเปล่า
หากใครขี้เกียจจะอ่านให้มาก ก็ให้จำหลักเอาไว้ให้แม่นว่า
การหัดรู้หัดรู้ที่พูดมาทั้งหมด หรือการหัด ดูจิต นั้น จะมีหลักอยู่ว่า
ไม่ว่าจะเกิดปรากฏการณ์ใด ๆ ขึ้นกับเราเอง ก็ให้เพียงแค่รู้แค่ดูสิ่งนั้นไป
หรือแค่เพียงรู้สึกว่าเราเผลอลืมตัวไปกับสิ่งนั้นก็ได้

หลักการ ดูจิต นี้ บางครั้งครูบาอาจารย์จะใช้ถ้อยคำที่ต่างกันไป เช่น
ให้ระลึกรู้ถึงสภาวธรรมตามความเป็นจริง
ให้รู้สิ่งที่กำลังปรากฏด้วยจิตที่เป็นกลาง
ให้รู้สิ่งต่าง ๆ ด้วยความรู้สึกตัว
ให้รู้สิ่งต่าง ๆ ด้วยสติสัมปชัญญะ (สติ)
ใครฟังถ้อยคำไหนแล้วเข้าใจได้ ก็ให้จำถ้อยคำนั้นเอาไว้ให้แม่น
เมื่อหัดไปแล้วติดขัดประการใด ก็ให้นึกถึงหลักนี้เอาไว้
แล้วการหัดปฏิบัติภาวนาก็จะอยู่ในร่องในรอย ไม่ออกนอกลู่นอกทางไป

เอาละนะ ทีนี้ก็หัดรู้หัดดูไปให้เต็มกำลังเท่าที่จะหัดได้ แต่อย่ารีบเร่งเอาผล
แล้วก็ไม่ต้องดิ้นรนหาความรู้ให้เกินจำเป็น หรือมากไปกว่าความรู้เรื่อง
ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ (สมุทัย) ความพ้นไปจากทุกข์ (นิโรธ)
และข้อปฏิบัติเพื่อให้พ้นไปจากทุกข์ (มรรค)
เพราะความรู้ต่าง ๆ นั้นเป็นเพียงแผนที่บอกทางเท่านั้น
ไม่ใช่ตัวปัญญาที่จะทำให้พ้นไปจากกองทุกข์
ปัญญาที่จะทำให้พ้นไปจากกองทุกข์ได้จริงนั้น
ต้องเกิดจากการหัดรู้หัดดูอย่างถูกต้องและต่อเนื่องสม่ำเสมอ
แล้วก็จำให้แม่นด้วยว่า
หลักของพุทธะนั้นมีที่สุดอยู่ที่ ความพ้นไปจากกองทุกข์ทั้งปวง
จึงขอให้พวกเราพากันหัดปฏิบัติภาวนา เพื่อความพ้นไปจากกองทุกข์ทั้งปวง เท่านั้น.

สาธุ ขำ
 
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง