Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 จากพระพุทธเจ้าถึงพระเจ้าอโศกมหาราช (เสฐียรพงษ์ วรรณปก) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.พ.2006, 9:44 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

รูปแบบการปกครองที่ถูกลอดเลียนหรือเอาเยี่ยงอย่างก็คือการนำเอาหลักพระศาสนามาปรับประยุกต์ใช้ในการปกครอง นำเอาจักรวัตติวัตร ที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้มาใช้ในการปกครอง จนเป็นที่มาของระบบ จักรวรติน ที่เอ่ยถึงเขียนถึงโดยนักวิชาการในยุคหลังนั้นแล

แต่ขอโทษ ฝรั่งเขาเขียนเป็นอักษรโรมันว่า Cakravartin พี่ไทยที่ไม่รู้ภาษาไปถอดว่า จักรวาทิน ก็เลยสอนกันเป็นคุ้งเป็นแควว่าระบบ จักรวาทิน เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เชยดีเหมือนกัน

พูดถึงตรงนี้ นึกถึงท่านอาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์เบรกนักวิชาการประเภท อิมพอร์ตจากต่างประเทศ ท่านผู้นั้นบรรยายว่าคัมภีร์ เวดัส (Vedas) ว่าอย่างนั้นอย่างนี้ อาจารย์คึกฤทธิ์ขัดขึ้นว่าเขาเรียก คัมภีร์พระเวท เพียงชื่อคัมภีร์ก็เรียกไม่ถูก

จากการถูกขนานนามว่า จัณฑาโศก (อโศกผู้ดุร้าย) มาเป็นธรรมาโศก (อโศกผู้ทรงธรรม) แสดงให้เห็นถึงผลแห่งการพัฒนาตนเริ่มจากสำนึกถึงในความผิดพลาดของตน แล้วหันเข้าสู่แนวทางแห่งการไม่เบียดเบียน และการเกื้อกูลแก่พสกนิกรและชาวโลกทั้งมวล ตามหลักพระพุทธศาสนา แนวทางนี้ก็ได้รับการเอาเป็นแบบอย่างโดยกษัตรานุกษัตริย์ในยุคต่อมา

ในด้านรัฐประศาสโนบาย พระเจ้าอโศกทรงถือหลัก "ธรรมวิชัย" มุ่งเอาชนะจิตใจประชาชนโดยธรรม หรือเรียกอีกอย่างว่า "ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม" นั้นแล

ทรงส่งเสริมกิจการสาธารณูปการ ประชาสงเคราะห์สวัสดิการสังคม และทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมอย่างกว้างขวางทำให้ชมพูทวีปในสมัยของพระองค์เป็นบ่อเกิดแห่งอารยธรรมแผ่ไพศาลทั่วไป

ธรรมลิปิ หรือ ลายสือธรรม ที่พระเจ้าอโศกรับสั่งให้จารึกและประดิษฐานไว้ตามสถานที่ต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักร (ดังได้นำมาลงให้อ่านแล้วนั้น) แสดงถึงพระราชประสงค์ของพระองค์ที่มีต่อประชาชนบ้าง หลักธรรมที่ทรงเห็นว่าเหมาะสมจะแนะนำให้ประชาชนและข้าราชการนำไปปฏิบัติบ้าง พระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติให้เป็นตัวอย่างแล้วบ้าง โดยสรุป อาจวางเป็นหัวข้อได้ดังนี้

1. ด้านการปกครองประเทศ


(๑) การปกครองแบบบิดากับบุตร โดยทรงอยู่ในฐานะ "พ่อประชาชนเป็น "ลูก" ของพระองค์ มีความรักความเมตตาและความยุติธรรมเป็นพื้นฐานสำคัญ ข้าราชการที่คอยดูแลต่างพระเนตรพระกรรณเปรียบเสมือนพี่เลี้ยงของประชาชน

(๒) ถือประโยชน์สุดของประชาชนเป็นหลัก เน้นความยุติธรรมไม่ลำเอียง ถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิด ข้าราชการต้องเป็นผู้ "บำบัดทุกข์บำรุงสุข" แท้จริง ดำเนินการให้เกิดความถูกต้อง ยุติธรรม ทั่วไป

(๓) การจัดให้มีเจ้าหน้าที่สอนธรรมแก่ประชาชน คอยดูแลแนะนำประชาชนในทางความพระพฤติ และการดำรงชีวิตอย่างทั่วถึงและวางระบบราชการคุมคุมกันเป็นชั้นๆ

(๔) การจัดบริการสาธารณประโยชน์ และสังคมสงเคราะห์ เช่น บ่อน้ำ ที่พักคนเดินทาง ปลูกสวน สงวนป่า ตั้งโอสถศาลา โรงพยาบาลสำหรับคนและสัตว์

2. ด้านการปฏิบัติธรรม

(๑) เน้นทาง การบริจาคแบ่งปัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้วยทรัพย์สินและสิ่งของ แต่ทรงย้ำธรรมทานค่อนข้างมาก เพราะทรงเห็นว่าการให้ความรู้ความเข้าใจในทางด้านความพระพฤติ และการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

(๒) การคุ้มครองสัตว์ งดเว้นจากการเบียดเบียนสัตว์ โดยเฉพาะให้เลิกการฆ่าสัตว์บูชายัญอย่างเด็ดขาด (พระองค์เองก็ทรงงดการเสวยเนื้อสัตว์ โดยค่อยๆ ลดการฆ่าสัตว์เป็นอาหารลงตามลำดับจนไม่มีการฆ่า และไม่มีการเสวยเนื้อสัตว์ต่อไป)

(๓) ให้ระงับการสนุกสนานบันเทิงมัวเมา แหล่งมั่วสุม รื่นเริงหันมาใฝ่ในกิจกรรมทางการปฏิบัติธรรมและเจริญปัญญา (พระองค์ทรงทำเป็นตัวอย่างเช่นกัน คือทรงงดการล่าสัตว์ เปลี่ยนมาเป็น "ธรรมยาตรา" จาริกแสวงบุญ ไปยังปูชนียสถานต่างๆ คือ สถานที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ ทรงแสดงปฐมเทศนา เสด็จดับขันธปรินิพพานทรงเยี่ยมเยียนราษฎรตามชนบทต่างๆ และแนะนำให้พวกเขาปฏิบัติธรรมแทนการประกอบพิธีกรรมมงคลต่างๆ)

(๔) เน้นการปฏิบัติธรรมทางสังคม คือให้ทำหน้าที่ตนมีต่อสังคมอย่างถูกต้องดีงาม เช่นเป็นบุตรธิดาให้เคารพเชื่อฟังบิดามารดาเป็นศิษย์ให้เคารพเชื่อฟังครูอาจารย์ เป็นนายจ้างให้เอาใจใส่ดูแลทาสและกรรมกรเป็นต้น

(๕) เน้นเสรีภาพในการนับถือศาสนา และความสามัคคีปรองดองเอื้อเฟื้อนับถือกันระหว่างศาสนาต่างๆ ตรัสสอนว่า ให้ศาสนิกของศาสนาปฏิบัติตามหลักธรรมของศาสนาของตนอย่างเคร่งครัด ในขณะเดียวกันมิให้ดูถูกดูหมิ่นหรือเบียดเบียนศาสนาอื่น

เฉพาะข้อสุดท้ายนี้สำคัญมาก ถ้านักสอนศาสนาทั้งหลาย ทั้งพุทธคริสต์ อิสลาม ที่อยู่ในเมืองไทยตระหนัก และปฏิบัติตามแบบอย่างพระเจ้าอโศกก็จะดีไม่น้อย

การยกย่องลัทธิศาสนาของตนแล้วไปดูหมิ่น หรือให้ร้ายป้ายสีลัทธิศาสนาอื่น ถ้าพูดตามสำนวนพระเจ้าอโศกก็ว่า เป็นความไม่ดี (หรือความเลว) สองต่อ

คือหนึ่ง-เลวที่ไปว่าคนอื่น และสอง-เลวที่ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสอนศาสนาของตน

ยิ่งคนในศาสนาเดียวกัน ยกบาลีฉอดๆ ว่า "อนูปวาโท ไม่ว่าร้ายกัน นี้คือคำสอนของพระพุทธเจ้าเสร็จแล้วก็ด่าคนอื่นที่ไม่เห็นด้วยกับตนเลวชาติไปหมด

ได้ยินแล้วอยากเตะวิทยุฉิบหาย แต่กลัวมันพังว่ะ


(มีต่อ 21)
 


แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 27 ก.ค.2006, 2:25 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.พ.2006, 9:50 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ข้อสังเกตเกี่ยวกับจารึกอโศก
โดย ศาสตราจารย์ ดร.อมร รักษาสัตย์ ราชบัณฑิต


ตั้งแต่เริ่มเรียนวิชารัฐศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีอาจารย์ฝรั่งและไทยมาบรรยายวิชาทฤษฎีการเมืองแล้วผู้เขียนรู้สึกว่าเราก็ได้แต่เรียนจากนักคิดฝรั่งตะวันตกโดยไม่ได้เรียนรู้จากนักคิดชาวเอเชียเลย เมื่อไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยอินเดียนา สหรัฐอเมริการะหว่างปี พ.ศ. 2498-2503 ก็ได้เรียนวิชาชุด ทฤษฎีการเมืองและประวัติการต่อสู้เพื่อเสรีภาพเพิ่มอีกหลายวิชาความรู้สึกเช่นนั้นก็ยังมีอยู่โดยเฉพาะเมื่ออาจารย์บางท่านนำแนวปรัชญาทางคริสตศาสนามาเน้นเป็นพิเศษ จึงได้พยายามนำหลักทางพุทธไปใช้ตอบอาจารย์บ้างแต่ก็ไม่จุใจ ต่อมาเมื่อไปเป็นอาจารย์ผู้เยือนของศูนย์ตะวันออกตะวันตกที่มหาวิทยาลัยฮาวายในปี 2505-06 ก็ได้มีโอกาสได้ศึกษาปรัชญาตะวันออกจากหนังสือ Sourcer of Indian Tradition และ The Edicts of Asoka เพิ่มขึ้นบ้างก็ติดปัญหาภาษาอังกฤษ ซึ่งพยายามถ่ายทอดศัพท์ทางพุทธจากภาษาปรากฤต ซึ่งดัดแปลงมาจากภาษาบาลี ความเป็นคนไทยที่ไม่ค่อยมีความรู้ภาษาบาลีและอังกฤษโดยเฉพาะศัพท์ทางศาสนาและปรัชญา จึงทำให้เข้าใจเรื่องเหล่านี้ได้ยากหลายเท่า

ดังนั้นเมื่อมีโอกาสได้อ่านบทความชุด "รื่นร่มรมเยศ" ของท่านเสฐียรพงษ์ วรรณปก ซึ่งนำจารึกอโศกของท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก หลายตอนจึงรู้สึกชื่นชมยินดีมากที่จะได้อ่านเรื่องยากเก่าแก่โบราณในสำนวนปัจจุบันเป็นภาษาไทยที่ถูกต้องตามหลักศาสนาพุทธจึงขออาสากับท่านเสฐียรพงษ์ว่า ถ้าท่านจะรวบรวมพิมพ์เป็นเล่มเมื่อใดก็ยินดีจะเขียนบทแนะนำ (Introduction) ให้ โดยจะมองจากมุมมองทางรัฐศาสตร์การบริหารและการนำมาปรับใช้ในยุคปัจจุบัน

อย่างไรก็ดีจะเข้าสู่เนื้อหาทางรัฐศาสตร์ ก็จะขอสรุปเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของพระเจ้าอโศกมหาราช และสรุปคำจารึกจากแหล่งต่างๆ โดยพยายามจะตรวจสอบกับศักราชต่างๆ เพื่อให้เห็นว่าพระองค์มีพระชนมายุ กี่พรรษาทรงครองราชย์มาแล้วกี่ปีใน พ.ศ.ใด ทรงประกาศพระบรมราชโองการในเรื่องใด เพราะจะได้เห็นพัฒนาการของแนวคิดของพระองค์ท่านด้วย

๑. พระราชประวัติพระเจ้าอโศกมหาราชสังเขป

พระเจ้าอโศกมหาราชเป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าจันทรคุปต์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์เมารยะ ซึ่งเข้าครอบครองแคว้นมคธ ที่มีนครปาฏลีบุตรเป็นเมืองหลวงหลังสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชบุกรุกอินเดีย

พระราชประวัติและภารกิจโดยย่อมีดังนี้

๑) พ.ศ. ๑๘๔ ประสูติ และต่อมาเมื่อพระชนมายุพรรษาได้ไปครองแคว้นอวันที ที่กรุงอุชเชนี

๒) พ.ศ. ๒๑๔ พระเจ้าพินทุสารพระราชบิดาสวรรคต,เจ้าชายอโศกยกกองทัพมาทำสงครามชิงราชสมบัติกับพระเชษฐาอยู่ ๔ ปี

๓) พ.ศ. ๒๑๘ พระชนม์ ๓๔ พรรษา ปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ โดยได้สังหารพระญาติวงศ์ไปกว่า ๑๐๐ องค์

๔) พ.ศ. ๒๑๘-๒๒๔ ทรงแผ่พระราชอาณาจักรออกไปกว้างขวางโดยทำพิธีอัศวเมธ ปล่อยเม้าอุปการออกไปทุกทิศนุทิศ เมืองใดไม่ยอมอ่อนน้อมก็ยกทัพไปปราบปราม เป็นช่วงเวลาที่ประชาชนเห็นว่าทรงโหดร้ายเป็นอันธพาล ถึงกับเรียกว่า "จัณฑาโศก" (อโศกผู้ดุร้าย)

๕) พ.ศ. ๒๒๔ ทรงเห็นปฏิปทาของพวกอาชีวกะที่ทรงอุปถัมภ์อยู่ไม่น่าเลื่อมใสทรงเลื่อมใสพระธรรมเทศนาของสามเณรนิโครธ (พระหลานอา โอรสพระเชษฐา) เมื่อพระชนม์ ๔๐ พรรษา จนประกาศเป็นพุทธมามกะ

๖) พ.ศ. ๒๒๖ (ปีที่ ๘ พระชนม์ ๔๒) ทำสงครามกับแคว้นกลิงคะ แม้จะประสบชัยชนะก็เสียพระทัยที่ผู้คนล้มตายหลายแสนคน สมณพราหมณ์ สาธุชน ก็พลอยถูกฆ่าไปด้วย จึงประกาศยุติการแผ่พระราชอำนาจด้วยการทำสงครามและเริ่มทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา แผ่พระเดชานุภาพแบบธรรมวิชัย

๗) พ.ศ. ๒๓๑ (ปีที่ ๑๒ ในรัชกาล พระชนม์ ๔๖) เริ่มโปรดให้ทำจารึกประกาศพระบรมราชโองการลงบนแผ่นศิลาและหลักศิลและนำไปประดิษฐานทั่วราชอาณาจักรอันกว้างใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

๘) พ.ศ. ๒๓๕ (ปี่ที่ ๑๗ พระชนม์ ๕๑) ทรงสร้างวัดได้ครบ ๘๔,๐๐๐ วัด ทรงอุปถัมภ์การทำสังคายนาครั้งที่ ๓ โดยมีพระโมคัลลีบุตรติสสะเถระเป็นประธาน และจัดส่งสมณทูตไปประกาศศาสนาที่ชำระบริสุทธิ์แล้ว ๙ สายรวมทั้งพระราชโอรส-ธิดา พระราชปนัดดา พระองค์เองก็ทรงออกท่องไปในพระราชอาณาจักรเรียกว่า "ธรรมยาตรา" เพื่อทำบุญและเผยแพร่นับเป็นจุดที่ประชาชนเคารพเลื่อมใสขานพระนามว่า พระธรรมาโศกราช และปิยทัสสี

๙) พ.ศ. ๒๕๕ (ปีที่ ๓๗ พระชนม์ ๗๑) เสด็จสวรรคต

๑๐) ราว พ.ศ. ๓๐๕ สิ้นราชวงศ์เมารยะ เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชสวรรคตราว ๕๐ ปี


(มีต่อ 22)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 27 ก.ค.2006, 2:25 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.พ.2006, 9:53 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๒. ประเภทของจารึกและการลำดับเรื่อง

จารึกอโศกฉบับที่พระธรรมปิฎกนำมาแปลนี้ ไม่ทราบว่าได้ใช้จากต้นฉบับใด

ฉบับภาษาอังกฤษที่ผู้เขีนมีอยู่เป็นฉบับที่แปลและเรียบเรียงโดย N.A.Nikam and Richard McKeon, The Edicts of Asoka, (University of Chicago Press, ๑๙๕๙, xxxii+๖๙ pp.) ประกอบด้วยคำกล่าวนำที่อธิบายถึงความเป็นมาของพระบรมราชโองการ (Edicts) เหล่านี้ และบทแนะนำอีก 22 หน้า จึงมีตัวพระบรมราชโองการเพียง ๔๗ หน้าไล่เลี่ยกับภาษาไทยที่พระธรรมปิฎกแปลเพื่อความสะดวกขอเรียกฉบับภาษาอังกฤษของท่านนิคมและแมคคีออนว่า "โองการอโศก" ส่วนฉบับแปลเรียกว่า "จารึกอโศก"

คำกล่าวนำ (Foreword) และบทแนะนำ (Introduction) ได้ช่วยทำให้เห็นความเป็นมาและสาระของโองการอโศกได้ง่ายขึ้น คือ อธิยายว่าโองการเหล่านี้มี ๖ รูปแบบ คือ (๑) โองการที่จารึกบนแผ่นหิน (Rock Edicts) มี ๑๖ แผ่น (๒) ที่จารึกบนแผ่นหินเล็ก (Minor Rock Edicts) ๓ แผ่น (๓) โองการที่จารึกบนหลักศิลา (Pillar Edicts) ๘ หลัก, (๔) โองการจารึกบนหลักศิลาน้อย (Minor Pillar Edicts) ๓ หลัก. (๕) จารึกบนหลักศิลา (Pillar Inscriptions) ๒ หลัก และ (๖) จารึกบนผนังถ้ำ (Cave Inscriptions) ๑ ถ้ำ การเรียกชื่อโองการเช่นนี้ดูจะเป็นการเรียนที่เป็นมาตรฐานในภารตะศึกษาการอ้างอิงนี้ได้นำมาใช้ในหนังสือ Sources of Indian Tradition Complied by W.T. de Bary, et al. (New York : Columbia University Press, ๑๙๕๘) ที่อ้างถึงโองการพระเจ้าอโศกไว้ถึง ๑๔ หลักในหน้า ๑๔๕-๑๕๓ ก็ใช้ชื่อและลำดับอย่างเดียวกัน

แต่ในหนังสือก็มิได้พิมพ์โองการเหล่านี้ตามลำดับประเภทจารึก (Inscription) ข้างต้นหรือปีที่จารึกแต่ได้นำโองการจากหลักหรือแผ่นศิลาบทต่างๆ มาจัดเป็นบทตามลำดับของเรื่องหรือเนื้อหา คือ บทที่ ๑ ว่าด้วยการประกาศพระบรมราชโองการตามสถานการณ์ บท ๒ ว่าด้วยโอกาสและวัตถุประสงค์ของโองการ (สงครามกับแคว้นกลิงคะ,การเปลี่ยนพระทัย,ธรรมวิชัย) บท ๓ ว่าด้วยวัตถุประสงค์ของการสั่งสอนธรรมะ,บท ๔ ว่าด้วยวิธีสั่งสอนธรรมะ, บท ๕ สภาวธรรม, บท ๖ การปฏิบัติธรรม (ก) โดยทั่วไป (ข) โดยเฉพาะ จึงนับว่าแตกต่างจากการเรียงลำดับในเล่มของท่านพระธรรมปิฎกโดยสิ้นเชิงเช่นหนังสือนี้นำมาจารึกลำดับ ๑๐.๑๔ (รองสุดท้าย) ของฉบับพระธรรมปิฎกมาเป็นบทแรก ส่วนจารึกผนังถ้ำซึ่งเป็นเรื่องแรกในฉบับแปลของพระธรรมปิฎกกลับไปเป็นบทสุดท้ายของหนังสือโองการอโศก

ถ้าจะให้สะดวกแก่ผู้อ่านที่ต้องการศึกษาว่าจารึกของพระเจ้าอโศกมีเรื่องอะไรบ้างการจัดหมวดหมู่แบบที่พิมพ์ในหนังสือโองการอโศกดูจะสะดวกและเข้าใจได้ง่ายกว่า อย่างไรก็ดีบทแนะนำหนังสือนี้ก็จะยึดตามการจัดลำดับเรื่องดังที่ปรากฏในชุด "รื่นร่มรมเยศ" เป็นหลัก

๓. สรุปสาระของพระบรมราชโองการ

ตามลำดับการจารึกในหนังสือจารึกอโศก ฉบับแปลของพระธรรมปิฎก เพื่อให้เห็นภาพรวมในการอ่านตัวโองการในหนังสือนี้ ผู้แนะนำจะพยายามระบุว่าโองการแต่ละเรื่องได้ประกาศในปีที่เท่าใดแห่งรัชกาลมีพระชนมายุกี่พรรษา เทียบเป็นปีพุทธศักราชเท่าใด เพื่อจะได้ทราบว่าจารึกเรื่องนั้นๆ อยู่ในช่วงของรัชสมัย เพราะไม่ได้เรียงลำดับปีหรือลำดับเรื่องอย่างในหนังสือโองการอโศกดังที่กล่าวมาแล้ว

ลำดับเรื่องในจารึกอโศก

๑) จารึกถ้ำแห่งเขาบาราบาร์ (ปีที่ ๑๙ พระชนม์ ๕๓ พ.ศ. ๒๓๗) กล่าวถึงการถวายถ้ำให้พวกอาชีวกะอาศัยในฤดูฝนหลายถ้ำเมื่อเสวยราชย์ได้ ๑๒ ปี และถวายอีกถ้ำหนึ่งแก่บรรพชิต (พุทธศาสนา) เมื่อปีที่ ๑๙ หลังที่ทรงประกาศเป็นพุทธมามกะแล้ว

๒) จารึกหลักศิลานิคลิวะ (ปีที่ ๒๐ พระชนม์ ๕๔ พ.ศ. ๒๓๘) กล่าวถึงการขยายพระสถูปพระพุทธเจ้า กนกมุนี เมื่อทรงครองราชย์ได้ ๑๔ ปี ครั้งถึงปีนี้ได้เสด็จมาบูชา และสร้างศิลาจารึกนี้

๓) จารึกหลักสิลาที่ลุมพินี (ปีเดียวกันกับข้อ ๒) กล่าวถึง การเสด็จมาบูชาพินีวัน สถานที่ประสูติพระพุทธเจ้า และให้หมู่บ้านนี้ปลอดภาษี (เพื่อให้ชาวบ้านนี้คอยดูแลสถานที่)

๔) จารึกหลักศิลาแห่งพระราชเทวี (อัลลาหะมัด) (ไม่ระบุปี) เป็นการประกาศให้อำมาตย์ทั้งหลายทราบว่าสิ่งที่พระราชเทวีพระราชทานให้แก่ประชาชนไปนั้นถูกต้องแล้ว

๕) ศิลาจารึกแห่งไพรัต (ไม่รุบะปี) เป็นการประกาศว่าพระองค์เลื่อมใสในพระรัตนตรัยและมีธรรมบรรยาย ๗ เรื่องที่ภิกษุ ภิกษุณีพึงสดับพิจารณาและเผยแพร่ต่อไป ๖) ศิลาจารึกฉบับน้อย จารึกฉบับเหนือ (ปีที่ ๑๐ พระชนม์ ๔๔ พ.ศ. ๒๒๘) ทรงปรารภว่าหลังจากพากเพียรปฏิบัติธรรมมาสามปีครึ่งทำให้ทวยเทพสนิทสนมกลมเกลียวกับมนุษย์มากขึ้น ประชาชนทั่วไปทั้งชนชั้นสูงชั้นต่ำจึงควรพากเพียรปฏิบัติธรรมเพื่อจะได้เกิดประโยชน์มากขึ้น

๗) ศิลาจารึกฉบับน้อย จารึกฉบับใต้ ตอนที่ ๑ ข้อความคล้ายกับฉบับเหนือ ตอนที่ ๒ ประกาศให้ประชาชนปฏิบัติธรรม ๓ ข้อ และให้ข้าราชการทั้งหลายช่วยสั่งสอนประชาชนหมู่เหล่าต่างๆ ด้วย

๘) จารึกหลักศิลา ๗ ฉบับ เป็นจารึกบนเสาหิน (Pillar Edicts) มี ๗ ฉบับทำขึ้นในปี ๒๖ (พระชนม์ ๖0 พ.ศ. ๒๔๔)

๘.๑ ฉบับที่ ๑ ว่าด้วยธรรมะที่จะทำให้สำเร็จประโยชน์ ๕ ข้อ และวิธีปฏิบัติราชการ ๔ ข้อ

๘.๒ ฉบับที่ 2 ว่าด้วยธรรมะที่ดีงาม ๖ ข้อ


(มีต่อ 23)
 


แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 27 ก.ค.2006, 2:30 pm, ทั้งหมด 4 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.พ.2006, 9:55 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๘.๓ ฉบับที่ ๓ ว่าด้วยกรรมชั่วที่ชักนำไปสู่การทำบาป ๕ อย่าง

๘.๔ ฉบับที่ ๔ ว่าด้วยการมอบหมายงานแก่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ผู้น้อย การมอบอำนาจในการจับกุมและลงโทษ การให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ถูกตัดสินประหารชีวิตให้ทบทวนการตัดสินและให้โอกาสทำทานรักษาอุโบสถศีล

๘.๕ ฉบับที่ ๕ ประกาศให้สัตว์ปลอดภัยจากการถูกฆ่า ห้ามการตีทะเบียนโค ม้า และการตอนสัตว์ในวันสำคัญทางศาสนา การมีป่าสงวน

๘.๖ ฉบับที่ ๖ แถลงว่าเริ่มจารึกธรรมโองการเมื่อเสวยราชย์ได้ ๑๒ ปี (พระชนม์ ๔๖ พ.ศ. ๒๓๐) และทรงมีวัตรปฏิบัติ ๕ ประการ จนถึงปีที่ทำจารึกนี้ คือ เสวยราชย์ได้ ๒๖ ปี

๘.๗ ฉบับที่ ๗ (พบที่เดลฮี-โทปราแห่งเดียว) ทรงปรารถว่าทำไฉนประชาชนจะเจริญก้าวหน้าด้วยการเจริญทางธรรม แล้วทรงเห็นว่าควรจัดให้มีการประกาศธรรม อบรมสั่งสอนธรรม และให้ข้าราชการทั้งหลายไปอบรมสั่งสอนธรรม และกล่าวถึงการทำนุบำรุงบ้านเมืองด้วยการปลูกต้นไม้ใบไม้ผลขุดบ่อน้ำ สร้างที่พักคนเดินทางและอ่างเก็บน้ำให้ข้าราชการอนุเคราะห์บรรพชิตทุกศาสนา, ระบุธรรมที่ควรปฏิบัติ ๖ ข้อ, ให้ทำจารึกต่างๆ เป็นจำนวนมาก และให้ลูกหลานของพระองค์เชื่อฟังความที่จารึกไว้

ทรงหวังว่าจารึกเหล่านั้นจัดดำรงอยู่ตลอดไป

๙) ศิลาจารึกพิเศษแห่งกลิงคะ มี ๒ ฉบับ (ไม่ปรากฏปีที่จารึก)

๙.๑ ฉบับที่ ๑ เป็นโองการสั่งแก่ตุลาการว่าประชาชนทุกคนเป็นลูกของพระองค์ จึงประสงค์ให้มีความสุขในโลกนี้และโลกหน้า,ผู้ถูกจองจำอาจปราศจากมูลเหตุตุลาการจึงต้องวางตัวเป็นกลาง ไม่บกพร่อง ๗ ประการ ตุลาการพึงตักเตือนซึ่งกันและกัน และทรงส่งมหาอำมาตย์ออกไปตรวจราชการทุก ๕ ปี

๙.๒ ฉบับที่ ๒ มีข้อความทำนองเดียวกันแต่คลุมถึงประชาชนตามเขตแดนข้างเคียงด้วย

๑๐) จารึกศิลา ๑๔ ฉบับ เป็นการจารึกบนแผ่นหินบนหินตามภูเขา (Rock Edicts)

๑๐.๑ ฉบับที่ ๑ (ไม่ปรากฏที่จารึก) เป็นโองการสั่งสอนไม่ให้ฆ่าสัตว์ เพื่อบูชายัญ,ไม่พึงจัดงานชุมนุมเพื่อความรื่นเริง และแจ้งว่าโรคครัวหลงก็ฆ่าสัตว์น้อยลงต่อไปจะไม่ฆ่าอีกเลย

๑๐.๒ ฉบับที่ ๒ แถลงว่าทั่วแว่นแคว้นและดินแดนข้างเคียงให้สร้างโรงพยาบาลสำหรับคนและสัตว์ และให้หาสมุนไพรมาปลูก และให้ขุดบ่อน้ำไว้ให้คนและสัตว์

๑๐.๓ ฉบับที่ ๓ จารึกในปีที่ ๑๓ (พระชนม์ ๔๖ พ.ศ. ๒๓๐) เป็นโองการสั่งให้เจ้าหน้าที่ยุกตะ รัชชูกะ และประเทศิกะ ออกตรวจราชการทุก ๕ ปี และให้สั่งสอนธรรม ๔ ข้อด้วย

๑๐.๔ ฉบับที่ ๔ จารึกปีที่ ๑๒ ย้ำไม่ให้ฆ่าสัตว์ไม่เบียดเบียนสัตว์ ให้ปฏิบัติชอบต่อหมู่ญาติและสมณพราหมณ์ ให้พระราชโอรส นัดดา ปนัดดา ส่งเสริมการปฏิบัติธรรม

๑๐.๕ ฉบับที่ ๕ ทรงย้ำหน้าที่ของธรรมมหาอำมาตย์ที่ทรงแต่งตั้งไว้ตั้งแต่ปีที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๓๑) ให้ดูแลศาสนิกชนของทุกศาสนาทุกแว่นแคว้น และช่วยผ่อนผันคนที่ถูกจองจำโดยคำนึงถึงความผูกพันในครอบครัว ผู้ถูกบีบคั้นหรือมีอายุมากและดูแลผู้ประพฤติธรรม

๑๐.๖ ฉบับที่ ๖ ทรงปรารถว่า ข้าราชการยังไม่มีความแข็งขันในปฏิบัติราชการ จึงสั่งผู้มีหน้าที่รายงานให้สามารถรายงานถึงพระองค์ได้ทุกเวลา โดยเฉพาะเรื่องที่มีข้อโต้แย้งถกเถียงกัน

๑๐.๗ ฉบับที่ ๗ ทรงขอให้ศาสนิกชนของทุกลัทธิศาสนาอยู่รวมกันด้วยดีแม้จะมีบางคนปฏิบัติย่อหย่อนบริจาคทานมากน้อยไปบ้าง

๑๐.๘ ฉบับที่ ๘ ทรงประกาศว่าตั้งแต่ปี ๑๐ (พระชนม์ ๔๔ พ.ศ. ๒๒๘) ได้เสด็จไปพุทธคยาสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าแล้วก็ได้ทรงทำธรรมยาตราไปเยี่ยมเยียนและถวายทานแก่สมณพราหมณ์ ผู้เฒ่าสูงอายุและราษฎรและสั่งสอนธรรมาตลอดแทนการเสด็จประพาสแบบวิหารยาตรา เพื่อแสวงหาความสำราญ

๑๐.๙ ฉบับที่ ๙ ทรงปรารถว่า การที่ประชาชนประกอบพิธีมงคลต่างๆ เป็นสิ่งไร้สาระควรเปลี่ยนมาเป็นพิธีธรรมมงคล ๔ ประการ จะเกิดผลดีกว่าส่วนการให้ทาน แม้เป็นสิ่งที่ดี แต่การให้ธรรมทานหรือธรรมานุเคราะห์ยิ่งดีกว่า เพราะทำสวรรค์ให้สำเร็จได้

๑๐.๑๐ ฉบับที่ ๑๐ ทรงขอให้ประชาชนตั้งใจฟังคำสั่งสอนธรรมของพระองค์และประพฤติตาม เพื่อประโยชน์สุขเกิดทุกข์ภัยน้อย

๑๐.๑๑ ฉบับที่ ๑๑ ให้จารึกว่า ไม่มีทานใดเสมอด้วยธรรมทาน,การแจกจ่ายธรรม (ธรรมสังวิภาค), และความสัมพันธ์กันโดยธรรม (ธรรมสัมพันธ์)

๑๐.๑๒ ฉบับที่ ๑๒ แจ้งว่าทรงนับถือศาสนิกชนของลัทธิศาสนาทั้งปวง แต่การให้ทานหรือการบูชาใดๆ ก็สู้ความเจริญงอกงามแห่งสารธรรมให้ลัทธิศาสนาทั้งปวงไม่ได้ การจะนำความเจริญแห่งสารธรรมมีหลายวิธี เช่น การสำรวมระวังวาจา (อย่ายกตนข่มท่าน) การสังสรรค์ปรองดองกัน รับฟังและยินดีรับฟังธรรมของกันและกัน เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมสารธรรมจึงทรงตั้งธรรมมหาอำมาตย์,สตรีอัธยักษ์มหาอำมาตย์,เจ้าหน้าที่วรชภูมิก (ท้องที่เกษตร) และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ให้ทำหน้าที่นี้


(มีต่อ 24)
 


แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 27 ก.ค.2006, 2:31 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.พ.2006, 10:02 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๑๐.๑๓ ทรงปรารถว่าเมื่อปีที่ ๘ (พระชนม์ ๔๒ พ.ศ. ๒๒๖) เมื่อทำสงครามกับแคว้นกลิงคะนั้นมีประชาชนถูกฆ่าแสนคน ถูกจับเป็นเชลยแสนห้าหมื่นคนอีกหลายเท่าล้มหายตายจากเป็นที่สลดพระทัยยิ่งนักนับเป็นกรรมอันหนัก แต่ที่หนักกว่าคือ การที่สมณะพราหมณ์ผู้ประพฤติธรรม ก็ต้องพินาศลงด้วย จึงทรงยอมรับที่จะอดทนและอภัยโทษแต่ผู้ที่จะทำผิดต่อพระองค์, ทรงปรารถนาให้สัตว์ทั้งปวงปลอดภัย ทรงเห็นว่าธรรมวิชัย เป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดทรงสั่งสอนลูกหลานไม่ให้แสวงหาชัยชนะเพิ่มขึ้นอีก และพอใจในการให้อภัย และการลงโทษอาญาแต่น้อย

๑๐.๑๔ ฉบับที่ ๑๔ อธิบายถึงการจารึกว่ามีขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้างมีรายละเอียดมากบ้างน้อยบ้างบางที่ก็มีข้อความซ้ำบ้าง ตามความเหมาะสมเพราะราชอาณาจักรกว้างขวางมาก

๑๑) จารึกหลักศิลาเบ็ดเตล็ด ประกาศว่าพระองค์ได้ทำให้สงฆ์มีความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว ถ้าผู้ใดทำให้สงฆ์แตกแยกกันต้องถูกบังคับให้นุ่งขาวห่มขาวและขับไล่ให้ไปอยู่ที่อื่น

๔. วิเคราะห์จารึกพระบรมราชโองการของพระเจ้าอโศกมหาราช

เมื่อได้ศึกษาจารึกอโศก ครบทุกจารึกแล้วก็จะเห็นว่า การจารึกบนแผ่นศิลาหลัก ๑๔ ฉบับ จารึกบนหลักศิลาหลัก ๗ ฉบับและจารึกในลักษณะอื่นนั้น มิได้เรียงตามเหตุการณ์ในรัชกาลหรือตามหัวข้อเรื่อง เพราะเป็นการจารึกตามสมควรแต่กาลเทศะตลอดรัชสมัยและจารึกเรื่องเดียวกันไว้หลายๆ แห่ง (มีหลักเดียวที่พบแห่งเดียว) เรื่องที่จารึกก็มีสั้นบ้างยาวบ้าง ในจารึกยาวๆ ก็มักมีหลายเรื่องที่ไม่สัมพันธ์กันนัก

จารึกทั้งหมดนี้อาจแยกเป็นเรื่องต่างๆ ได้ดังนี้

๑) เรื่องเกี่ยวกับการจารึก เช่น ในข้อ ๘.๖,๑๐.๑๔

๒) เรื่องเกี่ยวกับพระราชจริยวัตรการทำบุญทำงาน, การเปลี่ยนพระทัยมาบำรุงศาสนาในข้อ ๑,๒,๓,๔,๘.๖,๙,๑๐.๘,๑๐.๑๓

๓) เรื่องเกี่ยวกับการจัดการบริหาร,การแต่งตั้งข้าราชการการให้คุณให้โทษ เช่น ข้อ ๘.๔,๙,๑๐.๓,๑๐.๕,๑๐.๖,๑๐.๑๒,๑๑

๔) เรื่องเกี่ยวกับการทำนุบำรุงศาสนาและบ้านเมือง เช่น ข้อ ๕,๘๗,๑๐.๒

๕) เรื่องเกี่ยวกับธรรมะที่ทรงแนะนำสั่งสอนให้ประชาชนปฏิบัติ เช่น ข้อ ๕, ๖, ๗, ๘.๑, ๘.๒, ๘.๓, ๘.๗, ๑๐.๙, ๑๐.๑๐

๖) เรื่องเกี่ยวกับความเมตตาต่อสัตว์ เช่น ข้อ ๘.๕, ๑๐.๑, ๑๐.๒, ๑๐.๔

๗) เรื่องเสรีภาพและความเสมอภาคในการนับถือศาสนา เช่น ข้อ ๘.๙, ๑๐.๗, ๑๐.๑๒

๘) เรื่องเกี่ยวกับความเมตตาต่อผู้ต้องโทษ และการลงโทษผู้ทำให้สงฆ์แตกความสามัคคี เช่น ข้อ ๘.๔, ๙.๑, ๑๑

เมื่อวิเคราะห์ด้วยวิธีจำแนกหมวดหมู่เรื่องแล้วจะเห็นได้ชัดเจนว่าจารึกส่วนมากเป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมะที่ทรงแนะนำสั่งสอนแก่ประชาชนและพระจริยวัตรเพื่อบำรุงพระศาสนา และการแต่งตั้งข้าราชการมอบงานให้ข้าราชการไปตรวจราชการและสั่งสอนธรรมะตามลำดับ

มีข้อสังเกตที่สะดุดใจมากที่สุดเกี่ยวกับสั่งสอนธรรมะและการเลือกข้อธรรมะให้ประชาชนปฏิบัติ คือ หัวข้อธรรมะทั้งหมดนั้นไม่ตรงกับหมวดหมู่ธรรมะ และชื่อหัวข้อธรรมะ ดังที่จำแนกไว้ในพระไตรปิฏกเลย ทั้งที่ทรงเป็นพระพุทธมามกะ มาตั้งแต่พ.ศ. ๒๒๔ (พระชนม์ ๔๐ พรรษา) เริ่มประกาศจารึกใน พ.ศ. ๒๓๑ และ ทรงอุปถัมภ์การทำสังคายนาครั้งที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕ (พระชนม์ ๕๑ พรรษา) รวมช่างที่ทรงให้จารึก คือ ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๑ ถึง พ.ศ. ๒๕๕ เมื่อเสด็จสวรรคตก็เป็นช่วงที่ทรงสดับและศึกษาพระธรรมวินัยไว้มากแล้วจึงแปลกใจว่าทำไมไม่ทรงใช้หมวดหมู่ธรรมที่จำแนกไว้แล้วในพระไตรปิฏกและอาจจะทรงนำมาใช้ได้โดยสะดวกเลย เช่น ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ๔, อิทธิบาท ๔, ทิศหก, อปริหานิยธรรม ๗, อบายมุข ๖, ศีล ๕, ศีล ๘, แม้พระจริยวัตรก็มิได้ดำเนินตามราชธรรม ๑๐, จักรวรรดิวัตร ๑๒, พรหมวิหาร ๔ ทั้งน่าสงสัยว่าทำไมพระภิกษุสงฆ์ที่ทรงเคารพนับถือก็มิได้ช่วยแนะนำเลย เพราะการจารแกะสลักศิลาเพื่อจารึกโองการนั้นแต่ละแผ่นก็ต้องใช้เวลานานและทรงสร้างไว้มากมาย

นอกจากนี้จารึกเหล่านี้ไม่มีหลักใดบ่งชี้การจัดการปกครองคณะสงฆ์หรือการแบ่งงานฝ่ายพุทธจักรและอาณาจักร ไม่มีการมอบหมายว่า พระภิกษุสงฆ์สำนักใดจะสั่งสอนธรรมส่วนใดที่ไหน แม้แต่การส่งสมณทูตออกไปเผยแพร่ธรรมะ ๙ สาย ก็มิได้จารึกไว้ บอกแต่เพียงว่าขอให้ลูกหลานของพระองค์หมั่นปฏิบัติธรรม หมั่นสั่งสอนอบรมคนและไม่แผ่อำนาจโดยใช้กำลังทหาร

๕. วิเคราะห์การปกครองของพระเจ้าอโศกมหาราช

จารึกโองการพระเจ้าอโศกไม่มีแผ่นใดระบุถึงวิธีการปกครองของพระองค์ในระดับราชสำนักไม่บอกว่าทรงแบ่งงานเป็นกระทรวง-กรมอย่างไร นอกจากจะสันนิษฐานว่าคงเป็นแบบจตุสดมภ์และจตุรงคเสนา (ม้า, รถ, คช, พล) มีการกล่าวถึง คณะมนตรี แต่ไม่ระบุตำแหน่งงาน, ไม่กล่าวถึงการกำหนดชั้นข้าราชการ แต่อาจใช้ระบบอัศวศักดิ์ (เกียรติศักดิ์ตามจำนวนม้าสำหรับเสนาทหาร), ไม่กล่าวถึงระบบตอบแทนข้าราชบริพารและระบบกฎหมายระบบศาลและราชทัณฑ์ แต่จารึกกล่าวถึงการลดหย่อนผ่อนโทษการอภัยโทษ การลงโทษแก่ผู้ทำสังฆเภท (ตามข้อที่ ๑๑), การระบุตำแหน่งข้าราชการหลายตำแหน่งดังข้อ ๑๐.๓, ๑๐.๑๒ ไม่เพียงพอที่จะให้เห็นภาพการจัดการปกครองส่วนกลางและส่วนภูมิภาคได้ แต่มีการระบุการปกครองในบางแคว้นที่มีพระบรมวงศ์ไปปกครองคล้ายเมืองลูกหลวงหลานหลวงของไทย


(มีต่อ 25)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 27 ก.ค.2006, 2:32 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.พ.2006, 10:07 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ถ้าจะตั้งชื่อระบอบการปกครองของพระเจ้าอโศกมหาราชว่าเป็นแบบ "ธรรมาธิปไตย" ก็คงไม่ถนัดนัก เพราะไม่ได้ใช้ธรรมะเป็นหลักกฎหมายและการจัดระบบการบริหารและการลงโทษผู้ฝ่าฝืน, คงจะเรียกได้แต่เพียงว่าพระองค์เป็น "พระมหาธรรมราชา" ในความหมายที่ว่าพระองค์ดำรงอยู่ในธรรม เช่น ทรงพยายามไม่เสวยเนื้อสัตว์ ทรงอดทนและให้อภัยแก่ผู้กระทำต่อพระองค์และทรงสั่งสอนธรรมะ และกวดขันให้ข้าราชบริพาร พระญาติวงศ์ ประพฤติธรรมสั่งสอนธรรม

อนึ่งไม่ปรากฏจากจารึกเหล่านี้ว่าทรงปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบสามัคคีธรรม ดังปรากฏในสมัยพุทธกาลหลายแคว้น เช่น แคว้นวัชชีของกษัตริย์ลิจฉวีและศากยะ เพราะไม่ได้กล่าวถึงการมีสภาและการตัดสินใจร่วมกัน ทั้งไม่ได้กล่าวถึงอปริหานิยธรรมเลย กลับปรากฏว่าทรงเป็นพระราชาที่ปกครองโดยเด็ดขาด จึงทรงใช้ระบอบประชาธิปไตยเต็มที่แต่เอนไปทางด้านปิตาธิปไตย (แบบบิดา-บุตร) และไม่ทรงนับพระองค์เป็นเทพเจ้า อย่างฟาโรห์ไอยคุปต์ หรือกษัตริย์เขมร, กษัตริย์ญี่ปุ่น หรือสมมติเทวราชอย่างไทย ทรงให้จารึกพระนามว่า "ปิยทัสสี" ซึ่งอาจจะแปลได้ว่าเป็นผู้ที่เห็นแล้วเป็นที่รักหรือมีทัศน์ที่รักประชาชน และอธิบายว่าทรง "เป็นที่รักแห่งทวยเทพ" ซึ่งเป็นการกล่าวตามหลักทางพุทธว่า เมื่อบุคคลเพียรปฏิบัติธรรมอย่างดีดังที่กล่าวถึงในข้อ ๖,๗ แล้วเทพยดาก็จะมาคุ้มครองรักษา

ในที่สุดก็อาจจะกล่าวได้ว่าพระเจ้าอโศกมหาราชามิได้สถาปนาลัทธิธรรมาธิปไตยทั้งในทางแนวปรัชญาและการกำหนดนโยบาย จึงปรากฏว่าระบบธรรมราชาของพระองค์ไม่ยั่งยืนนัก เพราะราชวงศ์ของพระองค์ซึ่งมีอำนาจครอบครองอาณาจักรเกือบทั้งหมดของคาบสมุทรอินเดียนั้นต้องสูญอำนาจไปหลังจากที่พระองค์สวรรคตเพียง ๕๐ ปี

เป็นไปได้ไหมว่าการปกครองโดยธรรมราชาทำให้ประเทศอ่อนแอไม่ตรงกับดำริของท่านพลาโต ว่าระบอบกษัตริย์ นักปราชญ์ (Philosopher King) ดีที่สุดและปรากฏหลายครั้งในประวัติศาสตร์ไทยว่ากษัตริย์ที่ทรงเคร่งครัดทางธรรมมักไม่ยั่งยืนดังกรณีพระเจ้าลิไท พระมหาจักรพรรดิ์ พระเจ้าอุทุมพร เป็นต้น

เป็นไปได้ไหมว่า พลเมืองมีคุณภาพไม่เท่าเทียมกัน เพราะส่วนมากยังประกอบอกุศลกรรมเป็นอาจิณ มีความโลภโกรธหลง กลัวครอบงำ ฉะนั้นถ้าไม่ใช้อำนาจของรัฐอย่างเต็มที่ก็ไม่สามารถรักษาความสงบภายในและการรุกรานจากภายนอกได้ ส่วนข้าราชบริพารอาจมีเพียงส่วนน้อยที่ตั้งใจปฏิบัติราชการตามพระประสงค์ส่วนมากอาจจะแสวงหาความสุขอำนาจวาสนา บารมี พระเจ้าอโศกคงจะทำให้ข้าราชการทุกคนเป็นคนดีไม่ได้ตรงกับพระราชปรารภของพระเจ้าอยู่หัวของเรา

หรือทุกอย่างต้องเป็นไปตามหลักไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือ ประเทศอาจมีผู้ปกครองที่ดีเป็นธรรมราชาประชาชนมีความสุขได้ แต่ระบอบจะไม่มั่นคงตลอดกาล

๖. การประยุกต์การปกครองโดยใช้ธรรมนำหน้าในโลกยุคปัจจุบัน

โลกยุคปัจจุบันอาจสรุปภาพรวมได้ว่ามีปรากฏการณ์ ๔ ประการคือ


๑) มีความเจริญทางวิทยาศาสตร์และวิทยาการทางวัตถุมาก

๒) ระบอบการปกครองที่สังคมมนุษย์วิวัฒน์มา ๔-๕ พันปีก็มาได้บทสรุปว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นระบบที่ดีที่สุดเมื่อมีการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและมีการตรวจสอบถ่วงดุลกันภายในองค์กรปกครองต่างๆ

๓) ความเจริญทางวัตถุทำให้รายได้บุคคลแตกต่างกันมากขึ้น ประชาชนจำนวนมากมีเวลามากขึ้นและใช้เวลาเหล่านั้นในทางแสวงหาความสนุกรื่นเริง ปล่อยให้นักวิชาการทำงานหนักเพื่อคิดและผลิตสินค้าและบริการมาอำนวยความสุขแก่ประชาชนข้างมาก

๔) รัฐบาลระบอบประชาธิปไตยมีอำนาจในการตัดสินใจเลือกดำเนินนโยบายแบบต่างๆ มากขึ้น และส่วนมากก็จะดำเนินนโยบายตามใจเอาอกเอาใจ ประชาชนให้นิยมรัฐบาลของพรรคของตน จึงเลือกสรรคุณค่านิยมที่ประชาชนพอใจ

การเลือกสรรนำนโยบายที่จะทำให้ประชาชนนิยมนี้มีลักษณะ ๒ อย่าง คือ (๑) เกิดความนิยมมากในระยะสั้นแต่เกิดผลร้ายในระยะยาว, และ (๒) เกิดความนิยมน้อยหรือผ่านกลางแต่เกิดผลดีในระยะยาวถือได้ว่าเป็นรัฐบาลที่มีความรับผิดชอบสูงแต่อาจอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ได้ไม่นานการเลือกแนวนโยบายในรูปแบบแรกนี้ เคยมีตัวอย่างมามากมายเช่น พยายามลดหรือไม่เก็บภาษีตั้งแต่สมัยโรมัน, ผลสุดท้ายต้องลดบริการ, นโยบายทำโครงการสวัสดิการที่ทำให้เกิดรายจ่ายมาก ผลที่มาสุดท้ายหนี้สินเพิ่มพูนดังกรณีรัฐบาลสมัยนายพลฮวน และนางอีวา เปรองแห่งอาเจนตินา, การเปิดทางใช้ชนชั้นสูงมั่วอบายมุขที่เจ้าอาณานิคมใช้กับเจ้านายของชาติเมืองขึ้น ซึ่งผลสุดท้ายก็ต้องถูกทำลายอย่างกษัตริย์ฟารุคแห่งอียิตป์, จักรพรรดิเบาได๋ของเวียดนาม, และราชาต่างๆ ของอินเดีย

เจ้าทฤษฎีรัฐศาสตร์หลายท่านชี้ให้เห็นว่ารัฐเป็นหน่วยศีลธรรม (state is a moral entity) รัฐบาลที่ดีจะต้องส่งเสริมคุณธรรมในสังคม ขณะนี้ประเทศไทยพลเมืองจำนวนมากก็สนับสนุนการปฏิรูปการเมือง การปฏิรูปการบริหารราชการ การปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปการศาสนา และการปฏิรูปสวัสดิการ แต่ก็ยังไม่มีนโยบายปฏิรูปศีลธรรมวัฒนธรรม ซึ่งต้องทำโดยนโยบายลดละเลิกอบายมุขซึ่งขยายถึงการเล่นการพนัน (รวมการเล่นหุ้น) การไม่ติดสิ่งเสพติดและการไม่สร้างหนี้สินให้แก่ประชาชน เพราะ "ความเป็นหนี้เป็นทุกข์ในโลก แต่ควรส่งเสริมความเพียรความประหยัดความมีวินัย ตามหลักที่ว่า "บุคคลจักล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร" ทั้งพึงตระหนักถึงคำเตือนของพระมหาธีรราชเจ้าที่ว่า "เมืองใดไร้ธรรมอำไพ เมืองนั้นบรรลัยแน่นอน" ใครไม่ต้องการให้บ้านเมืองบรรลัย ก็อย่าใช้นโยบายส่งเสริมอบายมุข


(มีต่อ 26)
 


แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 27 ก.ค.2006, 2:32 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 17 ก.พ.2006, 9:56 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

การปกครองโดยธรรมนำของพระเจ้าอโศกมหาราช หรือระบอบ "ธรรมราชา" ได้เกิดประโยชน์แก่ชาวโลกโดยเฉพาะชาวเอเชียเป็นอเนกอนันต์ เพราะถ้าไม่มีพระองค์ศาสนาพุทธก็ไม่แผ่ขยายมาตลอดทวีป พระเจ้าอนุรุธมหาราชแห่งพม่า และกษัตริย์วงศ์ศรีวิชัยก็คงไม่มีฐานธรรมวิชัยในยุคต่อมา ประเทศพม่า ไทย ลังกา เขมร ลาว ก็คงไม่เป็นแดนพุทธสายหินแบบเถรวาทอยู่ในทุกวันนี้

พระคุณมหาศาลจึงทำให้พระองค์มีพระเกียรติคุณไพศาลยั่งยืนกว่าราชวงศ์ของพระองค์แต่ก็ไม่ได้ทำให้ประเทศภารตะ (อินเดีย) สูญสลายไปแต่ประการใด จารึกโองการอโศกก็ยังเป็นสิ่งที่คนอินเดียและนักปราชญ์ทั่วโลกศึกษาด้วยความชื่นชม ตราธรรมจักรก็ยังปักอยู่กลางชัยธวัชของอินเดีย เหมือนกับที่ปักอยู่ในแดนพุทธทั่วโลก

นักรัฐศาสตร์และนักการเมืองที่สุจริตทั้งกายวาจาใจก็ควรจะศึกษาจารึกเหล่านี้เพื่อมิให้บ้านเมืองบรรลัย

เพราะธรรมวิชัยเป็นชัยชนะของสัจธรรมที่ยั่งยืนแน่แท้เป็นอกาลิโก

๘. ชะตากรรมพระเจ้าอโศกในปลายรัชกาล

ได้นำข้อสังเกตเกี่ยวกับศิลาจารึกพระเจ้าอโศก ของ ดร.อมร รักษาสัตย์ ราชบัณฑิต มาลงไว้จนจบ หวังว่าท่านผู้ศึกษาประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาคงได้ข้อคิดเพิ่มเติมจากมุมมองของนักรัฐศาสตร์พอสมควรนะครับ คราวนี้ก็มาต่อเรื่องราวพระเจ้าอโศกอีกผมขอเล่าปะติดปะต่อตามประสาคอลัมนิสต์ก็แล้วกัน อันที่จริงข้อมูลต่างๆ ที่ผมเขียนมาและจะเขียนต่อไป ท่านผู้อ่านส่วนมากก็คงรู้กันอยู่แล้ว

เมื่อรู้ว่าเขารู้แล้ว เขียนทำไม ? อ้าว ก็เขาเกณฑ์ให้ผมเขียนนี่ครับ ไม่เขียนก็อดได้ค่าขนมสิ

สังเกตไหมครับ ศิลาจารึกของพระเจ้าอโศก ไม่มีพูดถึงการทำสังคายนาครั้งที่ ๓ และการส่งคณะธรรมทูตไปเผยแพร่พระพุทธศาสนายังต่างแดน พูดถึงเพียงว่า พระองค์ทรง "เข้าถึงพระสงฆ์" ถ้อยคำกำกวมนี้ นักประวัติศาสตร์ก็ "แกะ" ออกมาว่า พระเจ้าอโศกทรงอุปสมบทเป็นภิกษุชั่วคราว ขณะครองราชย์ และการที่พระราชามหากษัตริย์ใด อุปสมบทขณะที่ยังครองราชย์อยู่ แสดงว่า พระราชามหากษัตริย์นั้นทรงมีกฤษฏาภินิหารมาก เป็นที่เกรงขามของแว่นแคว้นน้อยใหญ่ และข้าราชบริพารในพระราชอาณาจักร

ขนาดออกไปบวช ยังไม่มีเมืองใดกล้ายกทัพมารุกราน หรือไม่มีใครกล้าหือลุกขึ้นมาปฏิวัติรัฐประหาร มีอำนาจมากขนาดไหนคิดดูเอาก็แล้วกัน แน่ะ นักประวัติศาสตร์ก็จินตนาการไปไกล ไม่แพ้กวีนะครับ

การที่พระเจ้าอโศกไม่ได้พูดถึงการทำสังคายนาครั้งที่ ๓ ทั้งๆ ที่เป็นเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ ควรบันทึกไว้เป็นอย่างยิ่ง (ถ้าเกิดขึ้นจริง) ทำให้นักวิชาการบางท่านไม่เชื่อว่า มีการทำสังคายนาจริง ถึงจะมีบันทึกการทำสังคายนาในคัมภีร์พระพุทธศาสนาดังเช่น สมันตปาสาทิกา (อรรถกถาพระวินัยปิฏก) ก็เพียงคัมภีร์ของฝ่ายเถรวาทหรือหินยานเท่านั้น คัมภีร์ฝ่ายมหายานไม่พูดถึงเลย

นี้แสดงว่าการทำสังคายนาของฝ่ายเถรวาท อาจไม่มีจริง หรือมี ก็ไม่เกี่ยวกับพระเจ้าอโศกแต่อย่างใด ฝ่ายเถรวาทเพียงเอาพระเจ้าอโศกไปเกี่ยวข้อง เพราะต้องการแสดงว่านิกายเถรวาทเป็นนิกายที่ได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากผู้ปกครองประเทศเท่านั้นก็เป็นได้

ตรงนี้ก็มีข้อโต้แย้งได้ว่า การทำสังคายนาอาจมีขึ้นจริงพระเจ้าอโศกได้ถวายความอุปถัมภ์จริง ดังหลักฐานในสมันตปาสาทิกาแต่ที่ไม่ปรากฏในศิลาจารึกหลักใดๆ อาจเป็นเพราะว่าจารึกหลักที่กล่าวถึงการสังคายนาหายไป ยังค้นไม่พบก็ได้

และการทำสังคายนาครั้งที่สาม ไม่มีปรากฏในคัมภีร์นิกายอื่นก็เพราะนิกายอื่นจากเถรวาท เขาไม่ให้ความสำคัญอยู่แล้ว คุณจะทำสังคายนาก็ทำไปฉันไม่เกี่ยวฉันทำเมื่อใดฉันจะบันทึกเรื่องราวของฉันเองก็เป็นธรรมดาที่เข้าใจกันได้ครับ

เถรวาทเองยังไม่บันทึกการทำสังคายนาของฝ่ายสรวาสติวาทินเมื่อครั้งสมัยพระเจ้ากนิษกมหาราชเลย ทั้งๆ ที่สรวาสติวาทิน ก็เป็นแขนงหนึ่งของหินยานเสียด้วยซ้ำไป

นักวิชาการคนดังคนหนึ่งชื่อ โอลเดนเบอร์ก เชื่อสนิทใจว่าไม่มีการทำสังคายนาครั้งที่ ๓ และไม่มีการส่งคณะธรรมทูตไปประกาศพระพุทธศาสนายังต่างแดน โอเดนแบร์ก ไม่เชื่อว่าการเผยแพร่พระพุทธศาสนาจะเป็น "สูตรสำเร็จ" ในทำนองยกไปจากอินเดียปุ๊บ ไปตั้งในต่างประเทศปั๊บ แล้วก็เจริญรุ่งเรืองสืบมา อะไรอย่างนั้นน่าจะเป็นการค่อยเป็นค่อยไป โดยการถ่ายโอนทางวัฒนธรรมผ่านพ่อค้าวาณิช พระสงฆ์องค์เจ้าเดินทางติดต่อไปมาระหว่างประเทศทั้งสองมากกว่าจะยกคณะไปเผยแพร่เจริญพรึบพับทันตามเห็น

จะว่าไป ความเห็นอย่างนี้ก็ท้าทายพอสมควร เพราะเจ้าของทฤษฎีไม่เชื่อหลักฐานข้อมูลเท่าที่มี แต่กลับสมมติฐานขึ้นมาใหม่ โดยไม่มีหลักฐานรองรับ เพียงแต่

"คิดว่า" น่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เท่านั้นเอง ฟังได้ก็ฟัง ฟังไม่ได้ก็ไม่ต้องฟังครับ

ผมเองก็ฟัง สนุกดี ทำให้มุมมองเรากว้างขึ้น เรื่องก่อนเกิดนี่ครับ ไม่มีใครรู้ว่ามันเป็นอย่างไร ถ้าเราจะปฏิเสธหลักฐานในคัมภีร์เกี่ยวกับการส่งคณะธรรมทูตไปเผยแพร่พระพุทธศาสนายังต่างแดนสมัยพระเจ้าอโศก ก็อาจต้องปฏิเสธอีกหลายเรื่องในทำนองนี้ เพราะฉะนั้นในส่วนตัวของผมก็เชื่อท่านไว้ก่อน ส่วนข้อคิดเห็นอย่างอื่น รับฟังไว้ด้วยก็ไม่เสียหายอะไร มิใช่หรือครับ

ในเมืองไทยเรา เราก็เชื่อกันว่า พระพุทธศาสนามาสู่เมืองไทยเราตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศก เมืองแรกที่พระพุทธศาสนามาประดิษฐานก็คือ สุวรรณภูมิ เชื่อกันอีกนั้นแหละว่าคือภูมิภาคแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาอันมีเมืองนครปฐมในปัจจุบันเป็นศูนย์กลาง

ไม่อย่างนั้น ไม่ขนานนามเมืองร้างเมืองนี้ว่า นครปฐม (เมืองแรกที่พระพุทธศาสนาเข้ามา) ดอกครับ

คณะที่เข้ามาคงเป็นคณะใหญ่พอสมควร อันมีพระโสณะ กับพระอุตตระ เป็นหัวหน้า พระจะต้องมา ๕ รูปเป็นอย่างน้อย เพื่อประกอบพิธีอุปสมบท (อุปสมบทในประเทศปัจจันตชนบท ทรงอนุญาตให้ลดจำนวนจาก ๑๐ รูป เหลือ ๕ รูป ตามคำขอของพระมหากัจจายนะ)

แน่นอนคณะภิกษุณีก็คงมาด้วย เพื่อทำพิธีอุปสมบทสตรีที่อยากบวชในพระพุทธศาสนา


(มีต่อ 27)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 27 ก.ค.2006, 2:33 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 17 ก.พ.2006, 10:01 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ใครที่พูดว่า ภิกษุณีไม่เคยมีในเมืองไทย พูดผิด พูดใหม่ได้นะครับ ในคัมภีร์สมันตปาสทิกา นั้นแล กล่าวว่า เมื่อครั้งคณะพระโสณะและอุตตระมาถึง ประชาชนในสุวรรณภูมิถูกยักษ์ทั้งหลายคุกคามจับเด็กที่เกิดใหม่กินเป็นจำนวนมาก พระเถระทั้งสองได้ขับไล่พวกยักษ์หนีไป

ประชาชนทีแรกนึกว่าคณะพระเถระเป็นพวกยักษ์เหมือนกันพากันกล่าว แต่พอคณะพระเถระกล่าวว่า พวกท่านมิใช่ยักษ์ และช่วยไล่ยักษ์ทั้งหลายหนีไป จึงเลื่อมใส รับไตรสรณคมน์และนับถือพระพุทธศาสนา แทนลัทธิผีสางที่พวกตนนับถือมาแต่เดิม
คัมภีร์อรรถกถา กล่าวว่า กุลบุตร ๓,๕๐๐ คนออกบวชเป็นภิกษุ และกุลธิดา ๑,๕๐๐ คนออกบวชเป็นภิกษุณี แสดงว่ามีคณะภิกษุณีมาด้วย เพราะการจะบวชเป็นภิกษุณี จะต้องบวชจากภิกษุณีสงฆ์แล้วบวชซ้ำจากภิกษุสงฆ์อีกที

ตามข้อมูลนี้แสดงว่า ภิกษุณีสงฆ์มีมาแล้วในประวัติศาสตร์ไทยยกเว้นแต่ว่า จะไม่ยอมรับว่ามีการส่งคณะพระโสณะและพระอุตตระมาเมืองไทย หรือไม่ยอมรับว่า สุวรรณภูมิ คือดินแดนที่ตั้งประเทศไทยในปัจจุบัน

พระราชโอรสของพระเจ้าอโศก พระนามว่ากุนาละ ที่ถูกส่งไปครองเมืองอุชเชนี แคว้นอวันตี ต้องเสียพระเนตรทั้งสองข้างพระเจ้าอโศกจึงทรงมอบราชสมบัติให้พระเจ้าหลานนามสัมปทิ สืบแทนในช่วงสุดท้ายพระชนม์ชีพ ว่ากันว่าพระเจ้าอโศกอยู่ในสภาพน่าสงสารมาก พระเจ้าสัมปทิ ทรงเห็นว่าพระเจ้าปู่ขนทรัพย์สินไปบำรุงพระพุทธศาสนาจนเงินคงคลังร่อยหรอลงตามลำดับ จึงทรงรังเกียจพระพุทธศาสนาไปด้วย ไม่ทรงอนุญาตให้พระเจ้าปู่ทำบุญทำกุศลอีกต่อไป ว่ากันอีกนั้นแหละ พระเจ้าอโศก อดีตจอมราชันย์ผู้ยิ่งใหญ่เหลือสมบัติชิ้นสุดท้ายคือ มะม่วงที่วางอยู่ข้างพระที่ จึงรับสั่งให้อำมาตย์นำไปถวายพระ พร้อมคำกล่าวว่า "นี้เป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายที่ข้าฯ มี ขอน้อมถวายแก่พระภิกษุผู้ทรงศีล" แล้วก็สิ้นพระชนม์

สัมปทิ ตั้งตนเป็นศัตรูต่อพระพุทธศาสนา พระสงฆ์องคเจ้าถูกกดดัน และเบียดเบียนรังแก ก็พากันหนีไปที่อื่น พระพุทธศาสนาโดยรวมก็เสื่อมโทรมลง พระทศรถผู้สืบราชบัลลังก์หลังจากสัมปทิก็เลิกสนับสนุนพระพุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์ที่เสื่อมโทรมมานานก็ฟื้นฟูขึ้นอีก ด้วยน้ำมือปุษยมิตร

ปุษยมิตรได้ล้มราชวงศ์เมารยะ สถาปนาราชวงศ์ศุงคะขึ้นทำนุบำรุงศาสนาพราหมณ์แทนศาสนาพุทธ

ในช่วงนี้ พวกกรีกลูกหลานพระเจ้าอลิกสุนทร หรือ อเลกซานเดอร์มหาราช คิดว่าราชวงศ์ใหม่คงอ่อนแอ จึงยกทัพเข้าตีชมพูทวีปแม่ทัพนามเดเมตรีอุส นำพลเข้ายึดแคว้นปัญจาป ไล่มาตามลุ่มแม่น้ำสินธู มุ่งตรงมายังลุ่มแม่น้ำคงคา หมายโจมตีเมืองปาตลีบุตรให้ราบคาบแต่บังเอิญเกิดขบถขึ้นข้างหลัง เดเมตรีอุสจึงยกทัพกลับ ก่อนกลับได้ตั้งแม่ทัพนามว่า เมนานเดอร์ คุมแผ่นดินอินเดียที่ตีได้ต่อไป

๙. พระยามิลินท์-พระนาคเสน

ต้นกำเนิดคัมภีร์มิลินทปัญหา

เมนานเพดอร์นี้แล ที่คัมภีร์ชาวพุทธเรียกว่า มิลินท์ ใช่แล้วครับพระยามิลินท์ผู้โต้วาทะอันลือเลื่องกับพระเถระนามว่านาคเสน ดังที่บันทึกไว้ในคัมภีร์มิลินทปัญหานั้นแล

พระยามิลินท์ ยึดเอาเมืองสาคละ (หรือสากล) ใกล้ๆ กับตักสิลา เป็นนครหลวงแห่งอาณาจักรกรีก ขยายอาณาเขตมาถึงเมืองมถุรา

เรื่องราวของพระยามิลินท์ คงมิใช่เรื่องเล่าที่แต่งขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติคุณพระเถระชาวพุทธและพระพุทธศาสนาเพียงอย่างเดียวเพราะมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่า พระยามิลินท์มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ดังต่อไปนี้

๑. คัมภีร์มิลินทปัญหา แต่งโดยพระปิฎกจุฬาภัย

๒. จากเรื่องของนักประวัติศาสตร์กรีกเช่น สตราโบพลูตาร์ช จัสติน

๓. เหรียญพระยามิลินท์ จารึกอักษรมีข้อความว่า Basjleus Soteros Menandros ถูกค้นพบในที่หลายแห่งบริเวณลุ่มแม่น้ำกาบูลและแม่น้ำสินธ์ และบริเวณภาคตะวันตกของแคว้นอุตตรประเทศรวมทั้งหมดมี ๒๒ แห่งด้วยกัน


แหล่งข้อมูลที่สำคัญที่พอจะรู้รายละเอียด ก็คือ มิลินทปัญหาแต่งโดยพระเถระนามว่าปิฎกจุฬาภัย กล่าวว่า พระยามิลินท์ (Menander หรือ Menandro0s เกิดที่เมืองกาลลิ ในเกาะอลสัณณะ ได้มีเมืองอเลกซานเดรีย (Alexandria) หรือ กันทหาร (kandahar) ในปัจจุบันมีเมืองหลวงชื่อ สาคละ (Sagala) เมืองเดียวกับเมือง Sangal ที่นักประวัติกรีกชื่อ Arian พูดถึง เมืองนี้อยู่ในบริเวณเมือง ไสอัลโกต (Salkot) ในมณฑลปัญจาป อาณาจักรของพระยามิลินท์ประกอบด้วยมณฑลเปษวาร์ (Peshwar) ซึ่งอยู่ลุ่มแม่น้ำกาบูลตอนบนมณฑลปัญจาบมณฑลสินธ์ มณฑลกาเรียวาร์ (Kathiawar) และมณฑลอุตตรประเทศตะวันตก

พระยามิลินท์เป็นนักปรัชญาและนักการศาสนา ที่มีความรอบรู้เชี่ยวชาญ มีวาทะคารมคมคาย ยากที่ใครจะหักล้างได้ มักจะไปซักถามพระสงฆ์องค์เจ้าเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ อยู่เสมอ เมื่อไม่ได้รับคำตอบที่พึงพอใจ ก็เข้าใจว่าไม่มีใครมีความรู้ทัดเทียมตน อันเป็นกิเลสปกติของผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย

ความจริงพระสงฆ์องค์เจ้าที่ท่านเป็นนักปฏิบัติบรรลุมรรคผลพิพพานก็มี แต่ส่วนมากท่านเหล่านั้น มักไม่มีความรู้เรื่องหลักวิชาและไม่มีวาทศิลป์โต้เถียงกับพระยามิลินท์ หรือไม่ก็ขี้เกียจเถียงกับนักวิชาการประเภท "ชาล้นถ้วย" ก็เลี่ยงๆ ไปเสีย ยิ่งทำให้พระยามิลินท์ผยองยิ่งขึ้น ดังคำพูด "ปรามาส" ไปทั่วว่า

"ชมพูทวีปนี้ว่างเปล่าจริงหนอ ชมพูทวีปนี้มีข่าวลืออันไร้สาระจริงหนอ แท้ที่จริงไม่มีสมณะ พราหมณ์ เจ้าคณะ หรืออาจารย์หรือแม้แต่ผู้ปฏิญญาว่าเป็นอรหันต์สัมมาสัมพุทธแม้แต่คนเดียว ที่จะสามารถโต้ตอบกับเรา บรรเทาความสงสัยของเราได้"


(มีต่อ 28)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 27 ก.ค.2006, 2:34 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 20 ก.พ.2006, 7:54 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ขณะนั้นมีพระเถระรูปหนึ่งนามว่า นาคเสน เป็นผู้มีความรู้พระไตรปิฎกเชี่ยวชาญ เมื่อพระยามิลินท์ทราบข่าว จึงเดินทางไปหาท่านเพื่อจะสนทนาธรรมด้วย ขณะนั้น พระนาคเสนพำนักอยู่ที่วัดอสังเขยยะ (อสงไขย) ในเมืองสาคละ พระยามิลินท์ได้นิมนต์ท่านไปฉันภัตตาหารในวัง เพื่อจะได้สนทนาธรรมกัน

พระเถระตั้งเงื่อนไขว่า ถ้าสนทนากันแบบบัณฑิต (คือใช้เหตุใช้ผล ไม่ใช้อารมณ์และทิฐิมานะ) ท่านยินดีสนทนาด้วย พระยามิลินท์ก็รับคำ แล้วการสนทนาแบบบัณฑิตก็เริ่มขึ้น ตั้งแต่ประลองปฏิภาณกัน จนกระทั่งถึงปัญหานามธรรมอันลึกซึ้ง เช่น การตายเกิด อนัตตานิพพาน

การตอบปัญหาของพระนาคเสน ส่วนมากท่านใช้อุปมาอุปไมยและวิธีอนุมาน ให้เห็นชัดๆ ดังหนึ่งจับมาวางไว้ให้เห็นจะจะ ทำให้พระยามิลินท์หายสงสัยและยอมจำนน

ยกตัวอย่างเช่นถามว่า สมมติว่านาย ก.ทำกรรมชั่วไว้ในชาตินี้ ตายไปเกิดเป็นนาย ข. ในชาติหน้า นาย ข. เองไม่รู้อิโหน่อิเหน่ด้วยทำไมต้องมารับผลกรรมที่นาย ก.ก่อไว้ อย่างนี้ก็ไม่ยุติธรรมสิ

พระนาคเสนตอบว่า "ถึงอย่างไรนาย ข. ก็ต้องรับผิดชอบต่อกรรมที่ นาย ก. ทำไว้"

ถามว่า "นาย ก. กับนาย ข. เป็นคนเดียวกันหรือ"

ตอบว่า "ไม่ใช่"

ถามว่า "เป็นคนละคนหรือ"

ตอบว่า "ไม่ใช่"

ถามว่า "ถ้าอย่างนั้น เป็นอย่างไรเล่า"

ตอบว่า "ว่าเป็นคนเดียวก็ไม่ใช่ จะว่าเป็นคนละคนก็ไม่ใช่" (นะ จะ โส นะ จะ อัญโญ)

เมื่อพระยามิลินท์ขอคำอธิบาย พระนาคเสนก็อธิบายว่า นายก. กับ นาย ข. จะว่าเป็นคนเดียวกันโดยสิ้นเชิง หรือคนละคนโดยสิ้นเชิงไม่ได้ หากเป็นผลของการ "สืบเนื่อง" (สันตติ=continuity)

พระนาคเสนกล่าวว่า สมมติว่านายคนหนึ่งขโมยมะม่วงที่เจ้าของเขาปลูกไว้ไปกิน นายคนนั้นถูกเจ้าของเขาจับฟ้องศาล หาว่าขโมยมะม่วงเขา นายคนนั้นเถียงว่า เขาเอามะม่วงไปจริง แต่มิได้ขโมยมะม่วงดังที่โจทก์กล่าวหา เจ้าของกล่าวว่า ไม่ได้ขโมยได้ยังไงมะม่วงต้นนี้เขาปลูกมากับมือจนออกดอกออกผล นายคนนั้นเถียงว่ามะม่วงที่โจทก์ปลูกนั้นผลหนึ่ง แต่ที่เขาเอาไปมันเป็นอีกผลหนึ่งไม่ใช่ผลที่ปลูกไว้สักหน่อย คำโต้เถียงของนายหัวขโมยนั้นฟังขึ้นไหม (หันไปถามพระยามิลินท์)

พระยามิลินท์ตอบว่า "ฟังไม่ขึ้น เพราะผลมะม่วงที่เขาขโมยไป ก็สืบเนื่องมาจากผลที่เจ้าของเขาปลูกไว้นั้นแล"

พระนาคเสนจึงว่า "เช่นเดียวกันนั้นแหละ นาย ข. ก็สืบเนื่องมาจากนาย ก. จึงไม่สามารถจะเลี่ยงความรับผิดชอบต่อผลกรรมที่นาย ก. กระทำไว้"

อุปมาอุปไมยให้ฟังดังนี้ก็ทำให้พระยามิลินท์เข้าใจ

อีกปัญหาหนึ่งว่า "พระพุทธเจ้ามีพระองค์จริงหรือไม่"

พระนาคเสนตอบว่า "มีจริง"

ถามว่า "ท่านเกิดทันหรือ"

ตอบว่า "เกิดไม่ทัน"

ถามว่า "เมื่อท่านเกิดไม่ทัน ท่านรู้ได้อย่างไรว่าพระพุทธเจ้ามีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์"

ถึงตรงนี้พระนาคเสน ก็ย้อนถามพระยามิลินท์ว่า "ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ของพระองค์มีจริงหรือไม่"

พระยามิลินท์ก็ตอบว่ามีจริง ถึงเกิดไม่ทันก็รู้ว่ามีจริงโดยการอนุมาน คือ เมื่อมีพระยามิลินท์ ก็ต้องมีพระราชบิดา พระราชอัยยกาสืบสาวไปตามลำดับ ก็ถึงปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จริง

พระนาคเสนก็ตอบว่า เช่นเดียวกันนั้นแล เมื่อมีตัวท่าน (นาคเสน) ก็มีอุปชฌาย์ อุปัชฌาย์ของอุปัชฌาย์ ไล่ไปๆ ก็ถึงพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็น "ต้นวงศ์" จนได้ เพราะการอนุมานอย่างนี้แล จึงกล้ายืนยันว่ามีพระพุทธเจ้าพระองค์จริง

การโต้ตอบอย่างหลักแหลมและทันกันเช่นนี้ ทำให้ผู้ซักถามคือพระยามิลนท์หายข้อข้องใจ และเข้าใจหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาลึกซึ้งยิ่งขึ้น ในที่สุดก็ศิโรราบ ประกาศตนเป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนา ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง ตลอดรัชกาลของพระองค์

บางกระแสก็ว่า พระยามิลินท์ได้ออกผนวชในบั้นปลายแห่งชีวิต จนสำเร็จพระอรหันต์ (ว่ากันอย่างนั้น)

พระยามิลินท์มีพระชนมายุอยู่ในช่วงใด ถกเถียงกันมากตำราเถรวาทว่า พระยามิลินท์ประสูติในปีพ.ศ. ๕๐๐

ดร.สมิธ มีความเห็นว่า พระยามิลินท์มีพระชนมายุอยู่ในราวประมาณ พ.ศ. ๕๐๐ กว่า

ดร.เอส.ซี. เรย์ เชาธุลี กล่าวว่าพระยามิลินท์มีพระชนมายุอยู่ในราว พ.ศ. ๕๐๐ กว่า

ดร.เอดเวร์ด คอนซ์ ว่า ประมาณ พ.ศ. ๓๐๐ กว่า

สังเกตไหมครับ ประมาณกันกว้างๆ เลยทีเดียว ไม่ ๓๐๐ ปีกว่า ก็ ๕๐๐ ปีกว่า

แม้เรื่องที่เข้าใจตรงกันยังเขียนไม่เหมือนกันเลย อย่างเช่นปีนี้ไทยนับพุทธศักราชที่ 2546 ลังกา พม่าเขากลับนับเป็น พ.ศ. ๒๕๔๗ มากกว่าไทย ๑ ปี ไทยเรานับ พ.ศ. ๑ ก็ต่อเมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานครบรอบ ๑ ปี แต่ พม่า ลังกา เริ่มนับหนึ่งในวันที่ปรินิพพานนั้นแล พอผ่านไป ๑ ปี ก็นับเป็นพ.ศ. ๒

อย่างนี้พอจะเรียกว่าเป็น "คนละเรื่องเดียวกัน" ได้ไหมครับ



....................... เอวัง .......................

สาธุ สาธุ สาธุ
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
แบร์
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 02 ก.ย. 2006, 11:48 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ
 
ชัยพร พอกพูล
บัวพ้นดิน
บัวพ้นดิน


เข้าร่วม: 24 พ.ค. 2006
ตอบ: 73
ที่อยู่ (จังหวัด): กรุงเทพฯ

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.ค.2007, 8:13 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ไม่รู้ว่าช้าไปหรือเปล่าที่ถามคำถามนี้ คือว่า หนังสือ "บางแง่มุมของพระพุทธเจ้า" นั้นหาซื้อได้ที่ไหนบ้างครับ ที่ไหนน่าจะยังมีเหลือบ้างครับ ผมดูๆ ถามๆ เอาตามร้านก็ว่าไม่มีบ้าง หมดแล้วบ้างน่ะครับ รบกวนด้วยครับ
 

_________________
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Email
ใบโพธิ์
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2007
ตอบ: 307

ตอบตอบเมื่อ: 26 เม.ย.2008, 9:23 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ สาธุ สาธุ
 

_________________
ทำความดีทุกๆ วัน
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
บัวหิมะ
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 26 มิ.ย. 2008
ตอบ: 1273

ตอบตอบเมื่อ: 10 ส.ค. 2008, 1:18 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สู้ สู้ สาธุ อนุโมทนาบุญ จ้า

ไม่สงสัยเลยว่า ทำไมท่านถึงเป็น admin สาธุ สาธุ สาธุ
 

_________________
ชีวิตที่เหลือเพื่อธรรมะ
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง