Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 วัดปัญญานันทาราม (เสฐียรพงษ์ วรรณปก) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 05 มิ.ย.2008, 7:16 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

วัดปัญญานันทาราม
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก


ชื่อของวัดเกี่ยวพันกับนามฉายาของหลวงพ่อ พระพรหมมังคลาจารย์ (หลวงพ่อปั่น ปทุมุตฺตโร) นามท่านเป็นที่รับรู้ทั่วไปในหมู่พุทธศาสนิกชนคือ “หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ” ซึ่งเป็นชื่อที่ท่านใช้จนติดหูติดตาชาวไทยทั่วไป

ไม่ว่าท่านจะเจริญด้วยสมณศักดิ์สูงขึ้นระดับไหน ท่านก็ยังคงเป็นปัญญานันทภิกขุตลอด มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า หลวงพ่อไม่เคยถ่ายรูปติดกับพัดยศ ดังเป็นที่นิยมกัน ว่าไปทำไมมี พัดยศที่ท่านได้รับพระราชทาน เก็บไว้ที่วัดมหาธาตุตั้งแต่วันรับพระราชทานเสียด้วยซ้ำ ทั้งนี้ แสดงถึงความไม่ยึดติดใน “ยศช้างขุนนางพระ” แท้จริง

หลวงพ่อเป็นพระนักพูด นักแสดงธรรม ที่ขึ้นชื่อลือชามาหลายทศวรรษ สมัยผมเป็นสามเณรน้อย คลั่งไคล้ใหลหลงการแสดงธรรมของท่านมาก ติดตามไปฟังปาฐกถาธรรมของท่านแทบทุกแห่งในพระนคร เท่าที่มีเวลา โดยเฉพาะที่วัดมหาธาตุฯ ซึ่งมักจะนิมนต์ท่านมาแสดงธรรมเป็นประจำ ปาฐกถาสำคัญๆ เช่น การแสดงหลักสันโดษไม่ขัดกับการพัฒนา เป็นการแก้ข้อกล่าวด้วยมิจฉาทิฐิของผู้รับใช้นักการเมืองเผด็จการเป็นที่ฮือฮามาก ด้วยอดีตมหากิมเหลียง ศิษย์วัดมหาธาตุ จับพลัดจับผลูได้เป็นกุนซือรับใช้เผด็จการ ต้องการเอาใจนักเผด็จการผู้ล้มล้างระบอบประชาธิปไตยด้วยการปฏิวัติ

คุณหลวงพลอยเห็นดีเห็นงามด้วยนั้นไม่มีใครว่าอะไร แต่ท่านอาจหาญถึงขั้นแสดงปาฐกถาท่ามกลางสาธุชนว่า “พระพุทธเจ้ายังทรงยกย่องการปฏิวัติชนิดเด็ดขาด ที่ไม่มีใครต่อต้านได้” ว่าแล้วคุณหลวงก็เลียด้วยลิ้นสากของท่าน ด้วยการยกพระบาลีใน ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรว่า “ธมฺมจกฺกํ ปวตฺติตํ อปฺปฏิวตฺติยํ = พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมจักร เป็นการปฏิวัติที่ไม่มีใครคัดค้าน” หลวงพ่อปัญญานันทะกล่าวด้วยเสียงเครียดว่า “ปฏิวัติของพระพุทธเจ้านั้น หมายถึง การแสดงหลักอริยสัจสี่อันเป็นสัจธรรมสูงสุด ชี้แนวทางดับทุกข์แก่สัตว์โลก มิใช่การลากรถถังออกมายึดอำนาจรัฐ มันคนละเรื่องกัน...”

ตอนหนึ่งของปาฐกถา คุณหลวงยกธรรมะของพระพุทธเจ้ามีมากมาย บางข้อบางเรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อการพัฒนาตนและประเทศชาติส่วนรวม ก็ขอร้องให้พระสงฆ์อย่านำเอามาสอนประชาชนเลย ธรรมะข้อนั้นคือ สันโดษ เพราะสันโดษสอนให้คนงอมืองอเท้า ไม่สร้างสรรค์ความเจริญแก่ตนและสังคม

ไม่รู้ว่าคุณหลวงแกไม่เข้าใจ หรือแกล้งไม่เข้าใจที่บังอาจพูดออกมาเช่นนี้ แต่ก็เท่ากับกระตุกวงการผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนาให้สะเทือนได้ไม่น้อย ราวกับโดนสึนามิย่อยๆ ก็มิปาน

ได้ผลครับ พระคุณเจ้า และผู้รู้ในพระพุทธศาสนาต่างออกมาชี้แจงแถลงไขเป็นการใหญ่ ว่าสันโดษแท้ที่จริงคือ ความขยันหมั่นเพียร สร้างสรรค์คุณความดีและความเจริญทั้งแก่ตนและสังคม หาใช่ความขี้เกียจไม่เอาไหน ดังเข้าใจไม่

จำได้ว่าหลวงพ่อปัญญานันทะ อยู่แถวหน้า ใช้วาทะอันแหลมคมตอบโต้ความเข้าใจผิด หรือแกล้งเข้าใจผิด เพื่อวัตถุประสงค์ที่แอบแฝงนี้ ผมชอบวาทะของท่าน แสบๆ คันๆ ดี ท่านพูดเรื่อยๆ แบบตลกหน้าตาย แต่ฟังแล้วเจ็บลึก

เมื่อครั้งท่านได้รับนิมนต์ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ยุโรปและอเมริกา ท่านต้องใส่เสื้อขนสัตว์ไว้ข้างในแล้วห่มจีวรทับ สวมถุงเท้า ใส่รองเท้าแตะรัดส้น (sandle) กลับมาเมืองไทย ถูกญาติโยมถามเอาเรื่องว่า “หลวงพ่อไม่รักษาวินัยหรือ”

“เจริญพร พระมีหน้าที่รักษาวินัยอยู่แล้ว” ตอบตามสไตล์

“แล้วทำไมท่านแต่งตัวอย่างนี้”

“เจริญพร นั่นมันเมืองหนาว แม้แต่แพะแกะในเมืองหนาว มันยังมีขนยาวป้องกันหนาว นี่อามา (อาตมา) เป็นคนนะ ไม่ใช่แพะแกะ” เล่นเอาท่านผู้นั้นหน้าเสียไปเลย

เล่าเรื่องหลวงพ่อปัญญานันทะเสียยืดยาว เพื่อดึงเข้ามาสู่ วัดปัญญานันทาราม เมืองปทุมธานี เมื่อครั้งยังเป็นทุ่งนา มีหญ้าและต้นไม้ขึ้นหนา ผู้มีจิตศรัทธาถวายที่ให้หลวงพ่อ หลวงพ่อดำริจะทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทายกทายิกลูกศิษย์ลูกหาค้านว่า จะทูลเชิญพระองค์ท่านเสด็จฯ มาทรงดูที่ว่างเปล่านี้หรือ ไม่มีเหตุผลที่จะทูลเชิญพระองค์ท่านเสด็จฯ มาได้

หลวงพ่อตอบว่า “ที่ว่างนี้จะเป็นวัดปัญญานันทาราม ทูลเชิญเสด็จฯ มาทรงวางศิลาฤกษ์สร้างโบสถ์ สมควรไหมเล่า”

เหล่าศิษยานุศิษย์ก็ยกมือสาธุการ สาธุๆ ถ้าเช่นนั้นสมควรยิ่งนักแล้ว

และแล้วต่อมาไม่กี่ปี ก็เกิดมีวัดปัญญานันทารามขึ้น มีแปลนสร้างที่เหมาะสมเป็นสัดส่วน มุ่งเน้นสร้างวัดอย่างประหยัด และใช้ประโยชน์มากที่สุด ทุกพื้นที่ ทุกสิ่งปลูกสร้าง ล้วนตั้งวางอย่างเหมาะสมและมีเป้าหมาย

เป็นสื่อนำทางชาวพุทธทุกเพศทุกวัยให้ก้าวเดินไปสู่จุดหมายปลายทางคือ การลดละ และดับทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง ใครจะดับได้มากได้น้อย ได้เร็วได้ช้า ก็แล้วแต่วาสนาของแต่ละคน

ศาลาอเนกประสงค์ ซึ่งใช้เป็นที่อบรมบำเพ็ญบุญ มุมหนึ่งยกพื้นสูงขึ้น สำหรับพระทำสังฆกรรม สร้างด้วยศิลปะสมัยใหม่ คำนึงถึงการใช้ประโยชน์มากกว่าความหรูหรา

ทุกมุมมีความหมายทางธรรมะที่ผู้ใฝ่รู้มาเพ่งพินิจเพื่อเกิดความเข้าใจ ถ้าไม่สามารถเข้าใจ หรือเข้าใจไม่ลึกซึ้ง ก็มีผู้อธิบายเสริมเพื่อความกระจ่าง

นี่กระมังครับ ความหมายของ “วัด” (ซึ่งบางท่านว่าเพี้ยนมาจาก “วัตร”) การกำกับพฤติกรรมของตน หรือแม้แต่การวัดดีวัดชั่ว ตามแนวของผู้ฝึกฝนอบรมตนให้งอกงามในคุณธรรม

นี่กระมังคือความหมายของ “วัดหรืออาราม” (สถานที่มาถึงแล้วเกิดความรื่นรมย์ในธรรม) ที่เราควรจะสร้างขึ้นให้มาก เพื่อให้ทันความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งสลับซับซ้อนกว่าสังคมโบราณกาล หาไม่พระศาสนาก็จะเป็นอะไรที่ไร้ความหมายกับคนสมัยใหม่อีกต่อไป

จำได้ว่าวันนั้นคณะเรา อนุกรรมาธิการพระพุทธศาสนาแห่งรัฐสภา จำนวนห้าหกท่าน ไปเยี่ยมชมกิจกรรมของวัดปัญญานันทาราม ซึ่งมี พระครูสีลวัฒนาภิรม (พระมหาสง่า ณ ระนอง เปรียญ 7 ประโยค) เป็นเจ้าอาวาส และเป็นอนุกรรมาธิการรูปหนึ่ง ต้อนรับและนำชม วันนั้นครูสองสามโรงเรียน พากันมาอธิบายวิธีการอบรมเด็กตามแนว “ห้าดี” ของท่าน ว่าจากแนวคิดนี้ได้พัฒนาเป็นกิจการการสอน ฝึกฝนอบรมอย่างใดบ้าง มีการวัดประเมินผลอย่างไร มีการติดตามผลอย่างไรหรือไม่ นับว่าน่าสนใจยิ่ง

ผมสนใจต้นไม้ต้นหนึ่งหน้าศาลาการเปรียญ ถามไถ่ได้ความว่า ต้นประดู่ลาย ทำให้นึกถึงพระสูตรสั้นๆ ที่ทรงแสดงท่ามกลางป่าประดู่ลายขึ้นมาทันที พระพุทธองค์ทรงหยิบใบประดู่ลายขึ้นมาตรัสถามว่า ใบไม้ในกำมือตถาคตกับบนต้นไม้อย่างไหนมากกว่ากัน พระสาวกตอบว่า ในพระหัตถ์ของพระองค์มีนิดเดียว บนต้นไม้ในป่ามากมายนัก

“เช่นเดียวกัน สิ่งที่เราตถาคตรู้มีมากมายดุจใบไม้ในป่า แต่ที่เรารู้แล้วเอามาสอนมีนิดเดียวดุจใบไม้ในกำมือเรา”

คม ชัด ลึก ยิ่งกว่าหนังสือพิมพ์อีกครับ

สิ่งที่ทรงสอนนิดเดียวนั้นคือ ทุกข์กับการดับทุกข์

เคยอ่านหนังสือของพุทธทาสเล่มหนึ่งชื่อ “ธรรมะกำมือเดียว” ที่แท้ท่านก็เอาแนวคิดมาจากเหตุการณ์นี้นั่นเอง เห็นต้นไม้ก็อาจเห็นธรรมได้ถ้าคิดเป็น

อีกสถานที่หนึ่งเป็น ศาลากลางน้ำ ถามท่านว่าศาลาอะไร ท่านตอบว่าศาลกรรมฐาน วันนั้นพระประมาณสามสิบรูปกำลังเดินจงกรมอยู่ ก็ไม่อยากรบกวนเวลาพระท่าน แต่ท่านพระครูสีลวัฒนาภิรม ก็คะยั้นคะยอว่า “มาอาจารย์ ไปดูใกล้ๆ”

ผมมองเข้าไป ปรากฏพระพุทธรูปสวยงามมาก เด่นสง่าอยู่ตรงหน้าเหล่าพระที่เดินจงกรมอยู่นั้น ครั้นเข้าไปดูใกล้กลับมิใช่พระปฏิมาที่สร้างกันทั่วไป หากเป็นช่องว่างที่ฉลุทะลุกำแพง แสงสว่างที่ส่องเข้ามาทำให้มองเป็นพระพุทธรูปสวยงาม โอ นี่คือพระพุทธรูปที่มิใช่พุทธรูป พระพุทธรูปตัวตนที่มิมีตัวตน เป็นแนวคิดที่ฉลาดมหัศจรรย์อย่างยิ่ง ไม่ต้องเสียเงินเสียทองปั้นหรือหล่อพระแพงๆ ไม่ต้องมีโต๊ะหมู่บูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน เพียงนั่งจ้องกำแพงก็ปรากฏพระพุทธเจ้าอยู่ตรงหน้า ได้เกิดพุทธานุสติเต็มที่สมบูรณ์แล้ว สาธุ

พระครูสีลวัฒนาภิรม ท่านเล่าว่าโรงเรียนต่างๆ ที่ผ่านการอบรมวิธีสอนจากวัดนี้ จะได้รับมอบระฆังเป็นสัญลักษณ์การเผยแผ่ธรรม แรกๆ ก็ทำให้แต่เมื่อมีมากรายก็ไม่มีปัญญาทำ ผมก็เลยรับปากท่านว่า ผมรับอาสาบอกบุญเพื่อนฝูงญาติมิตร ผู้มีศรัทธาช่วยกันสร้างถวาย ท่านก็อนุโมทนา รับปากท่านแล้วก็ลืม นึกได้วันนี้จึงเขียนบอกบุญแฟนๆ ช่วยบริจาคสร้างระฆังเพื่อแจกยังโรงเรียนต่างๆ

ผมเป็นสื่อกลางให้เท่านั้นครับ กรุณาอย่าส่งเงินมาที่ผม ให้ติดต่อทางวัดโดยตรง

ที่ วัดปัญญานันทาราม ต.คลองหก อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120 โทร. 0-2904-6101-2, โทรสาร 0-2904-6065 www.watpanya.org, email : watpanya@hotmail.com

ผมเป็นอะไรมาเยอะแล้ว ขาดอย่างหนึ่งที่อยากเป็นคือ นักร้อง เสียงไม่ให้จึงเป็นไม่ได้ ตั้งใจจะทำบุญถวายระฆังกับหลวงพ่อสง่า เพื่ออานิสงส์ในชาติหน้าโน่นแหละครับ


หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน หน้า 6
คอลัมน์ รื่นร่มรมเยศ โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10718
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง