Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ผลไม้ในสวนธรรม อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 10 พ.ย.2005, 9:41 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เอื้อเฟื้อข้อมูลโดย คุณธารน้ำใส


http://larndham.net/index.php?showtopic=12509&st=0









แนะนำหนังสือโดย Webmaster



 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 10 พ.ย.2005, 9:45 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พระพุทธภาษิต



การไม่ทำบาปทั้งสิ้น ๑

การยังกุศลให้ถึงพร้อม ๑

การทำจิตของตนให้ผ่องใส ๑

นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

15/69 มหาปทานสูตร



ธรรมดาไฟย่อมเกิดขึ้นที่ไม้สีไฟ อันบุคคลสีอยู่ ไฟเกิดขึ้นแต่ไม้ใด

ย่อมเผาไม้นั้นเองให้ไหม้ ความโกรธย่อมเกิดขึ้นแก่คนโง่เขลาเบาปัญญา ไม่รู้จริง เพราะความแข่งดี แม้เขาก็ถูกความโกรธนั้นแหละเผาลน

42/408-409 จุลลโพธิชาดก



 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 10 พ.ย.2005, 9:48 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สิ่งใดพร่อง สิ่งนั้นดัง สิ่งใดเต็ม สิ่งนั้นสงบ คนพาลเปรียบด้วยหม้อน้ำที่มีน้ำครึ่งหนึ่ง บัณฑิตเปรียบเหมือนห้วงน้ำที่เต็ม

39/631 นาลกสูตร



สัตว์ทั้งหลายประพฤติชอบในเวลาใด เวลานั้นย่อมชื่อว่าเป็น ฤกษ์ดี มงคลดี สว่างดี รุ่งดี ขณะดี ยามดี

31/477 สุปุพพัณหสูตร



ประโยชน์ได้ล่วงเลยคนโง่เขลา ผู้คอยฤกษ์อยู่ ประโยชน์เป็นฤกษ์ของประโยชน์ ดวงดาวจักทำอะไรได้

42/20-21 นักขิตตชาดก



ผู้ใดรีบด่วนในเวลาที่ควรช้า และช้าในเวลาที่รีบด่วนผู้นั้นเป็นพาล ย่อมประสบทุกข์

เพราะไม่จัดแจงโดยอุบายอันชอบประโยชน์ของผู้นั้นย่อมเสื่อมไป

41/447-448 สัมภูตเถรคาถา



ความดี คนดีทำได้ง่าย

ความดี คนชั่วทำยาก

ความชั่ว คนชั่วทำได้ง่าย

ความชั่ว พระอริยเจ้าทั้งหลายทำได้ยาก

38/213 อานันทสูตร



ภูเขาหินล้วนเป็นแท่งทึบ ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะลมฉันใด

บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะนินทาและสรรเสริญฉันนั้น

บัณฑิตทั้งหลายผู้อันสุขหรือทุกข์ถูกต้องแล้ว ย่อมไม่แสดงอาการสูง ๆ ต่ำ ๆ

38/33-44 คาถาธรรมบท



ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้แพ้ย่อมก่อทุกข์ ละความชนะและความแพ้เสียแล้ว จึงสงบระงับ นอนเป็นสุข

23/165 ปฐมสังคามวัตถุสูตร





เธอทั้งหลายจงลุกขึ้นเถิด จงนั่งเถิด เธอทั้งหลายจะได้ประโยชน์อะไรด้วยความหลับ เพราะความหลับจะเป็นประโยชน์อะไรแก่เธอทั้งหลายผู้เร่าร้อนเพราะโรค คือ กิเลส มีประการต่าง ๆ ถูกลูกศร คือ ราคะ เป็นต้น แทงแล้วย่อยยับอยู่

39/527-528 อุฏฐานสูตร





หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล

********************



วิปัสสนานี้มีผลอานิสงส์ใหญ่ยิ่งกว่าทาน ศีล พรหมวิหารภาวนา ย่อมทำให้ผู้เจริญนั้นมีสติไม่หลงเมื่อทำกาลกิริยา มีสุคติภพ คือมนุษย์และโลกสวรรค์เป็นไปในเบื้องหน้าหากยังไม่บรรลุผลทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ถ้าอุปนิสัยมรรคผลมี ก็ย่อมทำให้ผู้นั้นบรรลุมรรคผลทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานได้ในชาตินี้นั่นเทียว

อนึ่ง ยากนักที่จะได้เกิดมาเป็นมนษย์ เพราะต้องตั้งอยู่ในธรรมของมนุษย์คือ ศีล ๕ และกุศลกรรมบท ๑๐ จึงจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ชีวิตที่เป็นมานี้ก็ได้ด้วยยากยิ่งนักเพราะอันตรายชีวิตทั้งภายในภายนอกมีมากต่าง ๆ การที่ได้ฟังธรรมของสัตตบุรุษ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ก็ได้ด้วยยากยิ่งนัก เพราะกาลที่เปล่าว่างอยู่ ไม่มีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกยืดยาวนานนัก บางคาบบางสมัย จึงจะมีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกสักครั้งสักคราวหนึ่ง เหตุนั้น เราทั้งหลายพึงอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด อย่าให้เสียที่ที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนานี้เลย





หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

*******************



การบำรุงรักษาสิ่งใด ๆ ในโลก... การบำรุงรักษาตนคือใจเป็นเยื่ยม จุดที่เยี่ยมยอดของโลกคือใจ ควรบำรุงรักษาด้วยดี ได้ใจแล้วคือได้ธรรม เห็นใจแล้วคือเห็นธรรม รู้ใจแล้วคือรู้ธรรมทั้งมวล ถึงใจตน แล้วคือถึงพระนิพพาน

ใจนี้ คือ สมบัติอันล้ำค่า จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมองข้ามไป คนพลาดใจคือคนไม่สนใจปฏิบัติต่อดวงใจดวงวิเศษในร่างนี้ แม้จะเกิดสักร้อยชาติพันชาติ ก็คือผู้เกิดพลาดอยู่นั่นเอง



*******



ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ จะแยกกันไม่ได้ หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ต้องอิงอาศัยกันอยู่ฉันใดก็ดี ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ก็อาศัยกันอยู่อย่างนั้น สัทธรรมสามอย่างนี้ จะแยกกันไม่ได้เลย



*******



ไม่ว่าธรรมส่วนใด ถ้าสำคัญ “ตน” ว่าเสวย เป็นอันผิดทั้งนั้น



*******



ติดดี นี่แก้ยากกว่าติดชั่วเสียอีก



 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 10 พ.ย.2005, 9:52 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

*****************



คนเราทุกวันนี้เป็นทุกข์เพราะความคิด

*******

ถ้ามีเวลาสำหรับหายใจ ก็ต้องมีเวลาสำหรับภาวนา

*******

การฟังแต่ละครั้งนั้นควรให้ได้อรรถรสของปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ จึงจะเป็นสาระแก่นสาร

*******

การเริ่มต้นปฏิบัติวิปัสสนาภาวนานั้น จะเริ่มต้นโดยวิธีไหนก็ได้ เพราะผลมันเป็นอันเดียวกันอยู่แล้ว ที่ท่านสอนแนวปฏิบัติไว้หลายแนวนั้น เพราะจริตของคนไม่เหมือนกัน จึงต้องมีวัตถุ สี แสง และคำบริกรรม เช่น พุทโธ อรหัง เป็นต้น เพื่อหาจุดใดจุดหนึ่งให้จิตรวมอยู่ก่อน สงบแล้วคำบริกรรมนั้นก็หลุดหายไปเอง แล้วก็ถึงรอยเดียวกัน รสเดียวกัน คือ มีวิมุติเป็นแก่น มีปัญญาเป็นยิ่ง

*******

สิ่งอันประเสริฐมีอยู่เฉพาะหน้าแล้วไม่สนใจ กลับไปหวังไกลถึงสิ่งที่เป็นแต่เพียงการกล่าวถึง เป็นลักษณะของคนไม่เอาไหนเลย ก็ในเมื่อมรรคผลนิพพานในศาสนาสมณโคดมในปัจจุบันนี้ยังมีอยู่อย่างสมบูรณ์ กลับเหลวไหลไม่สนใจ เมื่อถึงศาสนาพระศรีอาริย์ก็ยิ่งเหลวไหลมากกว่านี้อีก

*******

การปฏิบัติให้ปฏิบัติเพื่อสำรวม เพื่อความละ เพื่อความคลายกำหนัดยินดี เพื่อความดับทุกข์ ไม่ใช่เพื่อเห็นสวรรค์ วิมาน หรือแม้พระนิพพาน ก็ไม่ต้องตั้งเป้าหมายเพื่อจะเห็นทั้งนั้น ให้ปฏิบัติไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องอยากเห็นอะไร เพราะนิพพานมันเป็นของว่าง ไม่มีตัวตนหาที่ตั้งไม่มี หาที่เปรียบไม่ได้ ปฏิบัติไปจึงจะรู้เอง

*******

ผู้ปฏิบัติที่แท้จริงนั้น ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงชาติหน้าชาติหลังหรือนรกสวรรค์อะไรก็ได้ ให้ตั้งใจปฏิบัติให้ตรงศีล สมาธิ ปัญญา อย่างแน่วแน่ก็พอ ถ้าสวรรค์มีจริงถึง ๑๖ ชั้นตามตำรา ผู้ปฏิบัติดีแล้วก็ย่อมได้เลื่อนฐานะของตนได้โดยลำดับ หรือถ้าสวรรค์นิพพานไม่มีเลย ผู้ปฏิบัติดีแล้วในขณะนี้ก็ย่อมไม่ไร้ประโยชน์ ย่อมอยู่เป็นสุข เป็นมนุษย์ชั้นเลิศ

*******

การไปหลายสำนักหลายอาจารย์ การปฏิบัติจะไม่ได้ผล เพราะการเดินหลายสำนักนี้ คล้ายกับการเริ่มต้นใหม่เรื่อย ๆ เราก็ไม่ได้หลักธรรมที่แน่นอน บางทีก็เกิดความลังเล งวยงง จิตก็ไม่มั่นคง การปฏิบัติก็เสื่อม ไม่เจริญคืบหน้าต่อไป

*******







หลวงปู่เทสก์ เทสฺรํสี

*******************



ตามกระแสพระธรรมเทศนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าทุกข์เป็นของไม่ควรละ แต่เป็นของควรต่อสู้ ความทะยานอยากได้สุขหรือไม่อยากให้มีทุกข์ต่างหากเป็นของที่ควรละ

ผู้ที่จะพ้นทุกข์ได้ในโลกนี้ ก็ล้วนแล้วแต่ยกทุกข์ขึ้นมาเป็นเหตุทั้งนั้น

*******

ผู้ที่ไม่เห็นคุณค่าของความเพียรแล้ว อาจคิดว่าความขยันหมั่นเพียรในภารกิจต่าง ๆ มันเป็นทุกข์ลำบากเหนื่อยยากมิใช่หรือ จริงดังนั้นคนตกน้ำไม่ยอมว่ายมีหวังตายโดยถ่ายเดียว จะรอดมาได้แต่เฉพาะคนที่ว่ายน้ำได้หมายพึ่งตนเองเท่านั้น

*******

ทุกข์กับความเพียรเท่านั้นที่มีค่ามากในโลกนี้ หากไม่มีทุกข์กับความเพียรเสียแล้ว ใคร ๆ ในโลกนี้ จะไม่ทำความดีเพื่อพ้นทุกข์ในโลกนี้และโลกหน้า ตลอดถึงพระนิพพาน

*******

สมาธินี้ถ้าสติอ่อน ไม่สามารถรักษาฐานะของตนไว้ได้ย่อพลัดเข้าไปสู่ภวังค์เป็น “ฌาน” ถ้ามีสติสัมปชัญญะแก่กล้าขึ้นเมื่อไรย่อมกลายเป็น “สมาธิ” ได้เมื่อนั้น

*******

เมื่ออยู่ใน “สมาธิ” นั้นเล่า ก็มิไช่ว่าจิตจะโง่เง่าซึมเซอะแต่มันมีความผ่องใส พิจารณาธรรมอันใด ก็ปรุโปร่งเบิกบาน “ฌาน” ต่างหาก ที่ทำให้จิตสงบแล้วซึมอยู่กับสุขเอกัคตาของฌาน ขออย่าได้เข้าใจว่า “ฌาน” กับ “สมาธิ” เป็นอันเดียวกัน

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ความโง่อันสงบจากนิวรณ์ทั้ง ๕ ยังดีกว่าความกล้าหลงเข้าไปในกามทั้งหลายเป็นไหน ๆ

*******

หลักอนัตตา ในทางพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยปัญญาอันชอบ พระองค์มิได้ตรัสว่า อนัตตาเป็นของไม่มีตนมีตัว เป็นของว่างเปล่า พระองค์ตรัสว่า ตนตัวคือร่างกายของคนเรา อันได้แก่ขันธ์ทั้ง ๕ นี้ มันมีอยู่แล้ว แต่จะหาสิ่งที่เป็นสาระในขันธ์ ๕ นั้นไม่มีดังนี้ต่างหาก…

เมื่อสรุปให้สั้น ๆ แล้ว … ผู้ที่ยังยึดอัตตาอยู่ พระองค์ก็สอนให้ประกอบภารกรรมเพื่อประโยชน์แก่อัตตาโดยทางที่ชอบที่ควรไปก่อน จนกว่าผู้นั้นจะเห็นแจ้งด้วยตนเองว่า สิ่งที่เราถือว่าเป็นอัตตาอยู่นั้น แท้จริงแล้วมิใช่อัตตา มันเป็นเพียงมายาหรือของไม่เที่ยง เป็นทุกข์… แล้วพระองค์จึงสอน “อนัตตา” ที่แท้จริง

*******

การเห็นความฟุ้งซ่านของจิตนั้น คือ “ปัญญาขั้นต้น”

*******

คนใดว่าตนดีคนนั้นยังไม่ดี ใครว่าตนวิเศษวิโสหรือฉลาดเฉียบแหลม คนนั้นคือ คนโง่

*******

พระพุทธศาสนานี้สอนมีจุดที่รวมได้ มีที่สุดหมดสิ้นสงสัยหมดเรื่อง ไม่เหมือนวิชาชีพอื่น เขาสอนไม่มีที่สิ้นสุด… จึงว่าพระพุทธศาสนาสอนถึงที่สุด แต่บุคคลผู้ทำตามนั้น ทำไม่ถึงที่สุด…

*******

แท้จริงความนึกคิดมิใช่ทุกข์ แต่การไปยึดความนึกคิดมาเป็นตน จึงเป็นทุกข์

*******

ผู้ใดทำใจให้ถึงความเป็นกลางได้ ผู้นั้นพ้นจากทุกข์ทั้งปวง

*****



 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 10 พ.ย.2005, 9:57 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

หลวงปู่ขาว อนาลโย

******************



ให้น้อมเข้ามาค้นคว้ากรรมฐาน ๕ นี้ เกศา ผม, โลมา ขน, นขา เล็บ, ทันตา ฟัน, ตโจ หนัง ตะจะปริยันโต มีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ ปูโรนานัปปการัสสะอสุจิโน เต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีประการต่าง ๆ นี้แหละ ลืมตาขึ้นมา ให้มันเห็น แล้วตั้งใจทำอยู่อย่างนั้น ไม่ใช่ทำวันเดียว เดือนหนึ่ง หรือปีหนึ่ง ทำเอาตาย เอาชีวิตเป็นแดน

*******

สนิมเกิดจากเหล็กย่อมกัดเหล็กฉันใด

ความชั่วเกิดขึ้นแล้วย่อมทำลายตัวเอง



*******

จงพยายามให้เรากินกาล อย่าให้กาลกินเรา

วันคืนล่วงไป ๆ อย่านิ่งนอนใจ ให้รีบเร่งทำความเพียร

*******

ธรรมมีอยู่แต่ขาดอุบายปัญญา

ก็นั่งโง่นอนโง่อยู่อย่างนั้น

*******

ธรรมแม้จะลึกซึ้งคัมภีรภาพเพียงไหน

ไม่เหลือวิสัยบัณฑิตผู้มีความเพียร









หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ

*********************



เวลากิเลสมันเกิดขึ้น เกิดขึ้นทางกาย เกิดขึ้นทางวาจา เกิดขึ้นทางใจ รู้ทันมันเดี๋ยวนี้มันก็ดับไปเดี๋ยวนี้แหละ

ตัวสติมันปกครองอยู่เสมอ ถ้ามีสติอยู่ทุกเมื่อ มันบ่ได้คุมมันหละ ครั้นเกิดขึ้น รู้ทันมันก็ดับ รู้ทันก็ดับ รู้ทันก็ดับ คิดผิดก็ดับ คิดถูกก็ดับ พอใจไม่พอใจก็ดับลงทันทีที่ตัวสติ

*******

จงภาวนาเอากายเป็นมรรค เอากายเป็นผล จงพากันละอุปาทานทั้งห้า อนิจจังทั้งห้า ทุกขังทั้งห้า อนัตตาทั้งห้า ละรูปธรรม นามธรรมนี้ วางได้มันก็เป็นธรรมนั่นแหละ วางไม่ได้มันก็ยึดเอารูปธรรมนามธรรมเป็นตัวเป็นตน มันก็เป็น ธรรมเมา อยู่นั่นเอง

*******

กามนี้มันหมุนรอบโลก มันเป็นเจ้าโลก กามกิเลสนี้แหละที่ทำให้เกิดสงครามต่อสู้กัน เกิดก็เพราะกาม รักก็เพราะกาม ชังก็เพราะกาม กามกิเลสอุปมาเหมือนแม่น้ำ ธารน้ำน้อยใหญ่ไม่มีประมาณไหลลงสู่ทะเลไม่มีเต็มฉันใดก็ดี

กามตัณหาที่ไม่พอดี ภวตัณหา วิภวตัณหา เป็นแหล่งก่อทุกข์ก่อความเดือดร้อนไม่มีที่สิ้นสุด









ท่านพ่อลี ธมฺมธโร

*****************



เมื่อมนุษย์เป็นคนไม่ดี แม้วัตถุเหล่านั้นจะเป็นของดีก็ตามมันจะกลับกลายเป็นโทษแก่ปวงชนได้เหมือนกัน ถ้ามนุษย์มีธรรมประจำใจ สิ่งทั้งหลายที่ให้โทษก็จะกลายเป็นประโยชน์

*******

ถ้าใครไม่จริงจังกับพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาก็ไม่จริงกับผู้นั้น และผู้นั้นก็รู้จักพระพุทธศาสนาที่แท้จริงไม่ได้…

เหตุนั้น ท่านจึงสอนให้ทำสิ่งใดด้วยการทำจริง ทานก็ทานให้จริง ศีลก็ศีลให้จริง ภาวนาก็ภาวนาให้จริง อย่าทำเล่น ๆ แล้วผลแห่งความจริงก็ย่อมจะเกิดจากการกระทำเหล่านี้ ไม่ต้องสงสัย

*******

ถ้าใจเราเป็นโทษเสียแล้ว จะไปทำบุญทำทานอะไรก็ไม่ได้ผล เหมือนกับเราขนปุ๋ยไปใส่ต้นไม้ที่ตายแล้ว

*******

พวกเราทั้งหลายไม่มีความสัตย์ความจริงต่อตัวเอง จึงมิได้ประสบสุขอันแท้จริงเหมือนอย่างพระพุทธองค์ เราบอกกับตัวเองว่า เราอย่างได้ความสุข แต่เราก็กระโดดเข้าใส่กองไฟร้อน ๆ เรารู้ว่าสิ่งนั้น ๆ เป็นยาพิษ แต่เราก็ดื่มมันเข้าไป นี่แหละเป็นการทรยศต่อตัวเอง

*******

ร่างกายนั้นเขาหนีเราไปทุกวัน ๆ แต่เราสิไม่เคยหนีเขา ไม่ยอมวางเขาเลยสักที เราติดเขาทุก ๆ อย่าง เหมือนเรากินข้าว เราก็ติดข้าว แต่ข้าวมันไม่เคยติดเรา เราไม่กินข้าว ข้าวก็ไม่ร้องไห้สักที มีแต่เราติดมันฝ่ายเดียว

*******

สุขโลกีย์ มันก็ดีแต่ใหม่ๆ สดๆ ร้อนๆ เท่านั้น เหมือนข้าวสุกที่เราตักใส่จานใหม่ ๆ ยังร้อนๆ ควันขึ้น ก็น่ารับประทาน แต่พอตักไว้นาน ๆ จนเย็นชืดก็กินไม่อร่อย ยิ่งทิ้งไว้จนแข็งเป็นข้าวเย็น ก็ยิ่งกลืนไม่ลง พอข้ามวันก็เหม็นบูด ต้องเททิ้ง กินไม่ได้เลย

*******

มนุษย์นั้นโง่ ชอบกลืนกินแต่อารมณ์เลว ๆ ใช่แต่เท่านั้น เรื่องที่ไม่มีความจริงก็ยังกลืนเข้าไปอีก ของดีก็ไม่อยากจะสนใจ ส่วนของไม่ดีอุตส่าห์ไปกระแด่ว ๆ เอาใจไปจดไปจำ เนื้อก็ไม่ได้กิน หนังก็ไม่ได้รองนั่ง เอากระดูมาแขวนคอ

*******

คนไม่มีธรรมะ ก็เหมือนกับคนที่ไม่มีบ้านอยู่ ต้องไปนั่งตากแดด ตากฝน และตากลม อยู่ทั้งกลางวันกลางคืน

*******

ทำให้มันรู้ว่า อ้อ…อ้อ… ขึ้นมาในตัว อย่ามัวไปรู้แต่ โอ้…โอ้… ตามเขาพูด

*******

สรุปแล้วความไม่ประมาทคือ ความไม่ตายใจ ไม่นอนใจ ไม่ไว้ใจในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น ส่วนใดที่เป็นความดีควรได้ควรถึง ให้มีความพยายามสร้างสรรค์ขึ้นให้มีในตน บุคคลผู้นั้นจึงชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท



 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 10 พ.ย.2005, 10:06 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

หลวงปู่ดู่ พฺรหมฺปญฺโญ

**************************



การปฏิบัติธรรมก็เหมือนการปลูกต้นไม้ ศีล คือ ดิน สมาธิ คือ ลำต้น ปัญญา คือ ดอกผล เราต้องการให้ต้นไม้เจริญงอกงาม ก็ต้องหมั่นรดน้ำพรวนดิน และต้องคอยระมัดระวังมิให้ตัวหนอนคือ โลภ โกรธ หลง มากัดกิน



*******



ถ้าเป็นโลกแล้ว จะมีแต่ส่งออกไปข้างนอกตลอดเวลา แต่ถ้าคิดสิ่งที่เป็นธรรมแล้ว ต้องวกกลับเข้ามาหาตัวเอง เพราะธรรมแท้ ๆ ย่อมเกิดในตัวของเรานี้ทั้งนั้น

“โลกเท่าแผ่นดิน ธรรมเท่าปลายเข็ม” เรื่องโลกมีแต่เรื่องยุ่งของคนอื่นทั้งนั้นไม่มีที่สิ้นสุด เราไปแก้ไขเขาไม่ได้ ส่วนเรื่องธรรมนั้นมีที่สุด มาจบที่ตัวเรา ให้มาไล่ดูตัวเองแก้ไขที่ตัวเราเอง... ตนของตนเตือนตนด้วยตนเอง



*******



ให้พยายามภาวนาไปเรื่อย ๆ ไม่ว่ายืน เดิน นั่ง นอน ทำได้ตลอดเวลาถ้าเราจะทำ ดีกว่านั่งร้องเพลง จะซักผ้า หุงข้าว ต้มแกง นั่งรถ ทำได้ทั้งนั้น เขาเรียกว่าพยายามเกลี่ยจิตใจให้เข้าที่ ถ้าจะรอเวลาปฏิบัติ (นั่งสมาธิ) ทีเดียวมันยาก เพราะจิตมันแตกมาตลอด



*******



ของดีอยู่ที่ตัวเรา ให้หมั่นดูจิต รักษาจิต



*******



รวยกับซวยมันอยู่ใกล้กันนะ จะเอารวยนะ จะหามายังไงก็ทุกข์ กลัวคนจะมาจี้มาปล้น หมดไปก็เป็นทุกข์อีก ไปคิดดูเถอะ มันไม่จบหรอก มีแต่เรื่องยุ่ง เอา “ดี” ดีกว่า



*******



ครูอาจารย์ดี ๆ มีอยู่มากมายก็จริง แต่สำคัญที่เราต้องปฏิบัติให้จริง สอนตัวเองให้มากนั่นแหละจึงจะดี



*******



การปฏิบัติถ้าอยากให้มันเป็นเร็ว ๆ มันก็ไม่เป็น หรือไม่อยากให้เป็นมันก็ประมาทเสีย เลยไม่เป็นอีกเหมือนกัน

อยากเป็นก็ไม่ว่า ไม่อยากเป็นก็ไม่ว่า ทำใจให้เป็นกลาง ๆ ตั้งใจให้แน่วแน่ในกรรมฐานที่ตั้งไว้ ภาวนาเรื่อยไป เหมือนกับเรากินข้าวไม่ต้องอยากให้มันอิ่ม ค่อย ๆ กินไปมันก็อิ่มเอง

ภาวนาก็เช่นกัน ไม่ต้องไปคาดหวังให้มันสงบ หน้าที่ของเราคือภาวนาไป ก็จะถึงของดีของวิเศษในตัว

แล้วเราจะรู้ชัดว่าอะไรเป็นอะไร ให้หมั่นทำเรื่อยไป



*******



คนดีนะ เขาไม่ตีใคร



*******



การปฏิบัติ ถ้าหยิบตำราโน้นนี้มาสงสัยถาม มักจะโต้งเถียงกันเปล่า โดยมากชอบเอาจากอาจารย์โน่นนี่ว่าอย่างนั้นอย่างนี้มา... การจะปฏิบัติให้รู้ธรรมเห็นธรรม ต้องทำจริง จะได้อยู่ที่ทำจริง เอาให้จริงให้รู้ ถ้าไปเรียนกับครูอาจารย์อื่นโดยยังไม่ทำให้จริงก็เหมือนดูถูกดูหมิ่นครูบาอาจารย์



*******



ศีล สมาธิ ปัญญา ก็เหมือนรสแกงส้ม

ศีล เปรียบได้กับรสเปรี้ยว ความเปรี้ยวทำหน้าที่กัดกร่อนความสกปรกออก ทำนองเดียวกัน ศีลจะช่วยขัดเกลาความอยากออกจาก กาย วาจา ใจ

สมาธิ เปรียบได้กับรสเค็ม เพราะรสเค็มจะช่วยรักษาอาหารต่างๆ ไม่ให้เน่าเสีย สมาธิก็เหมือนกัน สามารถรักษาจิตของเราให้ตั้งมั่นอยู่ในคุณงามความดีได้

ปัญญา เปรียบได้กับรสเผ็ด เพราะปัญญามีลักษณะคิด อ่านตริตรอง โลดแล่นไป เพื่อขจัดอวิชาความหลง



*******











หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร

**************************



...เวลาที่หมดไปสิ้นไป โดยไม่ได้ทำอะไรที่เป็นคุณประโยชน์แก่ตัวเองบ้างในชีวิตที่เกิดมาในโลก และได้พบพระพุทธศาสนานี้ ช่างเป็นชีวิตที่น่าเสียดายยิ่งนัก

เวลาแม้เพียงหนึ่งนาทีที่ผ่านไปนั้น แม้ว่าจะทุ่มเงินจำนวนมหาศาล ก็ไม่สามารถซื้อกลับคืนมาได้ ฉะนั้น สิ่งที่น่าเสียดายในโลกนี้ จะมีอะไรน่าเสียดายเท่ากับปล่อยวันเวลาผ่านเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ แม้ว่าจะเพียงแค่นาทีเดียว



*******



เราผู้เป็นสาวก สาวิกา ศรัทธาญาติโยม ภิกษุสงฆ์ สามเณร ก็อย่าได้มีความท้อถอย อย่าไปคิดว่าเราทำไม่ได้ เราบุญน้อย วาสนาน้อย ละกิเลสไม่ได้ อย่าไปคิดอย่างนั้น

อะไรก็ตาม ถ้าหากว่าเรามีความตั้งใจมั่น ไม่หวั่นไหวแล้วย่อมได้ย่อมถึง เป็นไปได้ทุกถ้าวนหน้า



*******



เรื่องการภาวนานั้น ไม่หมายเอาเพียงรูปร่างภายนอก... การนั่งแต่เพียงรูปร่างกายนั้นไม่ยุ่งยาก ข้อสำคัญอยู่ที่การทำจิตใจตั้งมั่นรู้อยู่ภายใน รวมอยู่ภายใน รู้ตามเป็นจริงของสิ่งต่าง ๆ มี อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นต้น จนไม่ยึดมั่นถือมั่นเสียได้



*******



การภาวนานั้น... ต้องรู้จักเลือกอุบายภาวนา พิจารณา อุบายที่ถูกจริต อาศัยความเพียรอย่างเดียวไม่ได้... กิเลสมันพลิกแพลงเก่งต้องตามให้ทัน คนรู้จักพิจารณาก็ได้บรรลุธรรมเร็ว



*******



การภาวนา เป็นเหมือนเครื่องค้นคว้าหาแก้วอันประเสริฐ คนเรามีแก้วอันประเสริฐอยู่ในตัว แต่เมื่อไม่อาศัยการภาวนาก็ไม่สามารถค้นพบแก้วนั้นได้ พระพุทธศาสนามีคุณค่าสูงก็ด้วยสอนวิธีภาวนาทำใจที่มีกิเลสอาสวะเศร้าหมองอยู่ ให้หมดจดจากสิ่งเศร้าหมองกลับผ่องใสขึ้น



*******



เป็นธรรมดาที่สังขารร่างกายของเรา จะต้องเดินไปสู่ความเสื่อมความสลาย แม้จะป้องกันแก้ไขอย่างไรก็เป็นแต่ยืดเวลาออกไปเท่านั้น ที่จะห้ามไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ตายเลยนั้นไม่ได้

ฉะนั้น จึงให้มุ่งเอาจิตเป็นสำคัญ คือบำรุงรักษาร่างกายพอประมาณ แต่บำรุงรักษาจิตให้มากๆ เป็นการหาสาระจากสิ่งที่ไม่เป็นแก่นสารนั้นๆ ให้มากที่สุดที่จะทำได้ คือให้เร่งรัดบำเพ็ญกุศลเต็มสติกำลัง ทั้งทาน ศีล ภาวนา แม้ร่างกายจะแก่ จะแตก จะตาย ก็ไม่วิตกกังวล เพราะสมบัติดี ๆ มีไว้ เตรียมไว้แล้ว ดังนี้ จะไปไหนก็ไม่ต้องกลัว



*******



“การภาวนา” เป็นเรื่องของการบำเพ็ญเพื่อความสุข ไม่ใช่เพื่อความทุกข์ แม้จะมีความยากลำบากบ้างก็อย่าท้อถอย ให้เห็นเป็นธรรมดาของการทำสิ่งมีค่าให้เกิดขึ้น



*******



“มรณกรรมฐาน” นี้เป็นยอดกรรมฐานก็ว่าได้ คนเราเมื่ออาศัยความประมาทมัวเมา ไม่ได้มองเห็นภัยอันตรายจะมาถึงตนคิดเอาเอง หมายเอาเองว่า เราคงไม่เป็นไรง่าย ๆ เราสบายดีอยู่ เรายังเด็กยังหนุ่มอยู่ ความตายคงไม่กล้ำกรายได้ง่าย อันนี้เป็นความประมาทมัวเมา



*******



กิเลสมันมีอุบายหลายอย่างที่มักจะเอาชนะคน ผู้จะปราบมันเสมอ แทนที่จะปราบมัน กลับถูกมันปราบเอา ฉะนั้น วันคืนล่วงไปอย่าให้ล่วงไปเปล่า ต้องประกอบความพากเพียรภาวนา อย่าเห็นแก่กินแก่นอนเป็นใหญ่ ให้มุ่งชำระกิเลสเป็นของจำเป็น เป็นหน้าที่สำคัญ



*******



ยิ่งเจริญ ยิ่งภาวนาเท่าใด จิตใจมันก็มีกำลัง เมื่อใจมีกำลัง มีความสามารถอาจหาญแล้ว สิ่งที่เราว่ายากก็ไม่มีอะไรยาก สิ่งที่เราคิดว่าเหลือวิสัยก็ไม่เหลือวิสัย อยู่ในวิสัยทุกคนจะทำได้ทั้งนั้น



*******



ภัยต่าง ๆ ที่เห็นกันนั้นอย่างมากเป็นเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง แล้วก็ผ่านไป แต่ส่วนภัยของกิเลสนั้น ตายแล้วยังไม่หมดภัย มันยังเป็นภัยข้ามภพข้ามชาติไปอีกไม่รู้สิ้นสุด ถ้าเราไม่หาอุบายวิธีกำจัดมันให้หมดสิ้นหรือเบาบางไป เราก็ต้องประสบภัยจากมันเรื่อยไป



*******



กาลเวลามันล่วงไปผ่านไป แต่มันก็ไม่ได้ล่วงไปเปล่า มันเอาอายุวัยของเราไปด้วย



*******



ถ้าเราชำระเอากิเลส โลภ โกรธ หลง ออกไปมากเท่าไร ก็เท่ากับความเป็นพุทธะ ธัมมะ สังฆะ ของเราเพิ่มขึ้นทุกที



*******



เมื่อสิ่งที่ไม่เที่ยงนั่นแหละ มาถึงบุคคลใด บุคคลนั้นจะต้องรู้เท่าทัน อย่าไปยึดเอาถือเอา เมื่อไปยึดสิ่งใด ถือสิ่งใด สิ่งนั้นไม่เป็นไปตามใจหวัง ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา ถ้าไม่ยึดเอาถือเอา เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีความไม่เที่ยงอย่างนี้ มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วดับไป เกิดขึ้นใหม่ ตั้งอยู่ ก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เป็นอยู่อย่างนี้ ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าคน สัตว์ วัตถุธาตุทั้งหลาย มีความไม่เที่ยงแท้แน่นอนอย่างนี้



*******



อุบายใดก็ตามเป็นอุบายยังจิตของตนให้สงบระงับได้ ก็ให้ถือเป็น “อุบายภาวนา” ได้ทั้งนั้น



*******



คนเราโดยมากมักถืออุปสรรคเป็นเครื่องบั่นทอนกำลังใจ เลยท้อแท้ที่จะแก้ไขปรับปรุงหรือดำเนินกิจการให้รุดหน้าต่อไป

ส่วนผู้ที่มีความเข็มแข็ง หรือจะทำจิตใจของตนให้เข้มแข็งต่อไป จะต้องถืออุปสรรคอันตรายต่าง ๆ เป็นสิ่งที่จะช่วยสร้างเสริมบารมีของตนให้เพิ่มขึ้น



*******



ชีวิตของเราเป็นของไม่ยั่งยืน เป็นของที่ต้องตายลงโดยแน่นอน เวลานี้อาจได้ยินข่าวมรณกรรมของผู้อื่น ของพระอื่น แต่อีกไม่นาน ข่าวนั้นจะต้องเป็นของเราบ้าง เพราะชีวิตทุกชีวิตจะต้องเป็นไปในลักษณะนี้ทั้งนั้น

...ฉะนั้น อย่าประมาทเรื่องความตาย ให้เร่งภาวนาทำจิตใจให้หxxxิเลส หมดทุกข์หมดร้อนให้ได้ก่อนความตายจะมาถึง



 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 10 พ.ย.2005, 10:13 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน

************************************



ใครจะหยาบละเอียดแค่ไหน นิสัยวาสนามีมาก มีน้อยเพียงไร จงยกตนให้เหนือกิเลสประเภทต่าง ๆ ด้วยความเพียร จะจัดว่าเป็นผู้มีวาสนาบารมีเต็มหัวใจด้วยกัน หากไม่มีความเพียรเป็นเครื่องแก้ อย่างไรก็นอนกอดวาสนาที่เต็มไปด้วยกิเลสตัวหยิ่ง ๆ อยู่นั่นแล บาง...ก็ฟาดมันลงไปให้แหลกละเอียด หนา...ก็ฟาดมันลงไปให้แหลกละเอียดเหมือนกันหมด จะสมนามว่าเป็นนักรบนักปฏิบัติเพื่อกำจัดสิ่งที่เป็นข้าศึกออกจากใจโดยแท้



*******



ถ้าจับจุดของความรู้ไม่ได้ ก็อย่าลืมคำบริกรรมภาวนา ไปที่ไหน อยู่ในท่าอิริยาบถใด คำบริกรรมให้ติดแน่นกับจิต ให้จิตเกาะอยู่กับคำบริกรรมภาวนานั้นเสมอเช่น พุทโธ ก็ตาม อัฐิ ก็ตาม เกสา โลมา นขา ทันตา ตะโจ บทใดก็ตาม ให้จิตติดอยู่กับบทนั้น ไม่ให้จิตไปทำงานอื่น

ถ้าปล่อยนี้เสีย จิตก็เถลไถลไปทำงานอื่นซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสไปเสีย ไม่ใช่เรื่องของธรรมที่เป็นความมุ่งหมายของเรา

บทธรรมที่เราตั้งขึ้นมานั้น เพื่อให้จิตเกาะอยู่กับคำบริกรรมบทนั้น ๆ ซึ่งเป็นเรื่องของธรรมที่เรากำหนดขึ้นเอง อาศัยธรรมบทต่างๆ เป็นเครื่องยึดเครื่องเกาะของจิต ขณะทำลงไปก็เป็นธรรม จิตใจก็สงบ นี่แล หลักการปฏิบัติที่จะทำให้จิตสงบเยือกเย็นได้โดยลำดับของนักภาวนาทั้งหลาย



*******



เรื่องสติปัญญาต้องขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ เราจะไปเอาเรื่องเก่าที่เคยเป็นมา มาปฏิบัติไม่ได้ เป็นเรื่องนิทาน หรือเป็นเรื่องปริยัติ เป็นตำรับตำราไปเสีย มันไม่ขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ หากว่าจะเป็นอุบายของสติปัญญาที่เคยเป็นมาแล้ว ก็ให้เกิดขึ้นมาโดยสด ๆ ร้อน ๆ อย่าให้เกิดด้วยการคาดหมาย



*******



การที่จะตั้งหลักตั้งฐานเบื้องต้นนี้ลำบากเหมือนกัน แม้ลำบากแค่ไหนก็อย่างถือเป็นอารมณ์ จะเป็นอุปสรรคเพื่อผลที่ตนต้องการจงถือความเพียรเพื่อความพ้นทุกข์นี้เป็นธรรมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะเพิ่มพูนให้มาก สติ ซึ่งเป็นธรรมสำคัญ จะต้องเพิ่มพูนให้มากเพื่อความเหนียวแน่นมั่นคง เพื่อความสืบต่อแห่งการระลึกรู้ตัวเสมอ



*******



จิตเป็นสิ่งลึกลับมากเพราะกิเลสพาให้ลึกลับ กิเลสมันเอาจิตเข้าไปหมกไปซ่อนไว้ในสถานที่ที่เราไม่อาจเอื้อมรู้ได้เห็นได้ ถูกกิเลสตัวจอมปลอมปิดบังไว้หมด ตัวมันออกหน้าออกตาหลอกลวงไว้ตลอดเวลาจึงไม่เห็นโทษของตน ไม่เห็นโทษของกิเลสที่พาให้เกิดให้ตาย



*******



ปัญญา...ในโอกาสที่ควรพิจารณาก็ควรพิจารณาแยกแยะทั้งภายนอกทั้งภายใน เทียบเคียงกัน มรรคนั้นเป็นได้ทั้งภายนอกทั้งภายใน ปัญญาเป็นได้ทั้งภายนอกภายใน ถ้าทำให้เป็นปัญญาที่เรียกว่า “มรรค”



*******



ทุกขสัจนี้เป็นเหมือนหินลับปัญญานะ ถ้าเราพิจารณาแบบพระพุทะเจ้าสอน แบบอริยสัจเป็นของจริง ๆ เรื่องทุกขเวทนานี้เป็นหินลับปัญญาให้คมกล้า ทุกขเวทนากล้าสาหัสเข้าไปเท่าไร สติปัญญายิ่งหมุนติ้วๆ ถอยไม่ได้



*******



เรียนไปทำไม เรียนไม่สังเกต เรียนไม่พิจารณา เรียนไม่นำมาเป็นคติเครื่องพร่ำสอนตน จะเกิดประโยชน์อะไรเพราะการเรียนการจดจำเปล่า ๆ นั้น



*******



การสั่งสอนอรรถสั่งสอนธรรม ที่พระพุทธเจ้าทรงสอน สอนตรงที่มันแบกมันหามนี่ ให้ปลดให้เปลื้องออกไปด้วยสติปัญญา ศรัทธา ความเพียร แล้จะได้โปร่งโล่งเบาสบาย อิสรเสรี คือ ใจที่หลุดพ้นจากกิเลสนี้เท่านั้น



*******



การคลี่คลาย การพิจารณาทางด้านปัญญา ก็เพื่อแก้สิ่งจอมปลอมทั้งหลาย ซึ่งปีนเกลียวกับธรรม คือ ความจริงล้วน ๆ ออกโดยลำดับ จิตจะเปิดเผยตัวเองขึ้นอย่างชัดเจน

ความยึดมั่นถือมั่นภายในร่างกาย เมื่อพิจารณาจนถึงขั้น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างซึ่งภายในใจแล้ว จะยึดถือไว้ไม่ได้ จะสลัดอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นภายในร่างกายนี้ออกโดยสิ้นเชิง รู้ประจักษ์กับจิต กาย เวทนา ก็สักแต่ว่าเกิดขึ้น ตั้งอยู่ตามธรรมชาติของมันเป็นความจริงแต่ละอย่างๆ กายก็ไม่ทราบความหมายของทุกขเวทนา หรือสุขเวทนา อุเบกขาเวทนา

เวทนานั้นจะเป็นสุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา ก็ไม่ทราบความหมายของตน และไม่ทราบความหมายของกายของใจ เป็นแต่ธรรมชาติที่ปรากฏขึ้นตามหลักความจริงของตน แล้วก็ดับไปตามธรรมชาติของมัน



*******



ถ้าจิตมีสติปัญญารอบตัวอยู่แล้ว จะพิจารณารู้แจ้ง เห็นความจริงในความจริงทั้งหลาย ทั้งส่วนเวทนาสาม แยกตัวออกโดยลำดับๆ ส่วนสัญญาสังขารไม่ต้องพูด มันก็เป็นอาการเหมือนกันนั่นแล เกิดขึ้นแล้วดับไป มันเป็นกองไตรลักษณ์ทั้งหมด คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และเบิกออก ๆ จิตถอยตัวเข้ามา การพิจารณาก็แคบเข้าไปๆ เพราะสิ่งไรที่พิจารณารู้แจ้งเห็นจริงแล้วมันปล่อยเอง



*******



...จิตเป็นเหมือนกัน สมาธิแน่นปึ๋งเหมือนหิน แต่มันไม่ใช้ปัญญานะสิ ถ้าใช้ปัญญามันก็ไปรวดเร็วกว่านั้น มันเพลินกิน เพลินนอนอยู่กับสมาธินั่นเสีย มันขี้เกียจ มันสบาย ไม่ยุ่งกับอะไร จิตอิ่มของมัน อิ่มตัวในขั้นสมาธินะ ไม่ใช่อิ่มตัวด้วยการหลุดพ้นโดยประการทั้งปวงแล้ว มันอิ่มตัวในสมาธิไม่ยุ่งกับอารมณ์อะไร รูปเสียงอะไร ๆ ไม่ยุ่ง สบายอยู่อย่างนั้นแบบหมูได้เขียง ไม่ได้คิดว่า เขียงคือที่รองสับยำหมูเลย



*******



ธรรมะ...ท่านสอนให้ดูตัวเอง ระวังตัวเอง จะได้เห็นความบกพร่องของตนเอง แล้วแก้ไขตัวเองไปเรื่อยๆ จนสมบูรณ์ได้



*******



กิเลสนี้อยู่ประจำตลอดเวลา และกล่อมสัตว์โลกได้อย่างสนิทปิดหูปิดตา ไม่สามารถที่จะทราบว่ามีนเป็นภัยได้เลย



**************











ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก

*************************



เขาภาวนาเพื่อให้ละ ไม่ใช่ภาวนาเพื่อให้เอา



*******



ก่อนที่จะพูดอะไร ให้ถามตัวเองว่า ที่จะพูดนี้จำเป็นหรือเปล่า ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าพูด นี่เป็นขั้นต้นของการอบรมใจ เพราะถ้าเราควบคุมปากตัวเองไมได้ เราจะควบคุมใจได้อย่างไร



*******



คนเราต้องบ้าภาวนา จึงจะภาวนาได้ดี เวลาภาวนาอย่าไปกลัวว่า ภาวนาแล้วจะเป็นนั่นเป็นนี่ เพราะเป็นของแก้กันได้ ให้กลัวอย่างเดียวว่า จะภาวนาไม่เป็น



*******



ให้ภาวนา อย่ามัวแต่ง่วงนอน นอนกันมาไม่รู้กี่ชาติแล้ว ไม่รู้จักอิ่มสักที มัวแต่เป็นผู้ประมาท ไม่รู้จักมนุษย์สมบัติเอาไว้ ระวังจะเหลือไม่เท่าเก่า



*******



อะไร ๆ ก็ขึ้นอยู่กับความสังเกตของเรา ถ้าความสังเกตของเรายังหยาบ ๆ เราจะได้แต่ของหยาบๆ การภาวนาของเราก็จะไม่มีทางเจริญก้าวหน้าไปได้



*******



พระธรรมถามว่า วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่... แล้วเราจะตอบท่านว่ายังไง



*******



ไปกี่วัดกี่วัด รวมแล้วก็วัดเดียวนั่นแหละคือ วัดตัวเรา



*******



คนเราเวลานั่งภาวนา กว่าใจจะสงบได้ก็ต้องใช้เวลานานแต่พอจะออกจากที่นั่งก็ทิ้งเลย อย่างนี้เรียกว่า เวลาขึ้นบ้านก็ขึ้นบันใด เวลาลงก็กระโดดลงหน้าต่าง



*******



เราเกิดมานับอสงไขยไม่ถ้วน ถ้าจะเอากระดูกที่เราเคยตายเกิดมากองไว้ ก็จะโตกว่าเขาพระสุเมรุ น้ำในแม่น้ำมหาสมุทรน้อยใหญ่ทั้งหลายนะ ก็ยังน้อยกว่าน้ำตาที่เคยหลั่งรินเพราะความทุกข์ทั้งหลายเสียอีก



*******



ผู้รู้แล้วจะไม่ทุกข์ ผู้ไม่รู้เท่านั้นเป็นทุกข์ ทุกข์มันก็มีอยู่กับทุกคน ไม่มีใครไม่มีหรอก ตราบใดที่ยังมีขันธ์ ๕ อยู่ ทุกข์ก็ต้องมีแต่ถ้าเรารู้แล้ว เราจะอยู่อย่างสบาย



*******



ผู้มีปัญญา เมื่อเห็นเช่นนี้ ย่อมเกิดความสลดสังเวชในภพชาติ ไม่ยินดีในการเกิดมีจิตมุ่งตรงต่อนิพพานอย่างเดียว



*******



คนทั้งหลายเขาก็อยู่กับทุกข์ ๆ ๆ ทั้งนั้น แต่ไม่รู้จักทุกข์จึงพ้นจากทุกข์ไม่ได้



*******



มัวแต่ตัดรากถอนโคน ระวังลูกมันจะหล่นลงมางอกอีก



*******



ใจจะคิดจะปรุงอะไรก็ปรุงได้ แต่อย่าหลง



*******

การกำหนดทุกข์ ก็ต้องเอาให้ละเอียด ต้องเอาถึงขนาดแค่ลืมตาปุ๊บ รูปมากระทบก็รู้ว่าทุกข์แล้ว



*******



นิพพานนั้นเป็นเรื่องละเอียด ต้องใช้ปัญญาเอามากๆ ไม่ใช่ของจะถึงด้วยแรงอยาก ถ้าเป็นของที่จะถึงด้วยแรงอยาก พวกเราคงจะตรัสรู้กันหมดแล้วทั้งโลก



*******



เมื่อรู้แล้ว ก็ให้อยู่เหนือรู้



*******



อย่าทำแต่ถูกใจ ต้องทำให้ถึงใจ



*******

ผู้มีปัญญาย่อมใช้อะไรๆ ให้เป็นประโยชน์ได้ทั้งนั้น



*******



จิตเปรียบเหมือนพระราชา อารมณ์ทั้งหลายเปรียบเหมือนเสนา เราอย่าเป็นพระราชาที่หูเบา



*******



ปฏิบัติยังไม่เข้าขั้นแล้วอย่าไปเที่ยวสอนเขา มันมีโทษนะ ที่จริงไปถูกเขาเผยแพร่มากกว่า สอนไปสอนมากลายเป็นปฏิกูลน่ากิน อสุภะน่ากอด



*******



ของดีจริงไม่ต้องโฆษณา คนชอบขายความดีของตัวเอง ที่จริงขายความโง่ของตัวเองมากกว่า คมให้มีในฝัก ให้ถึงเวลาที่จะต้องใช้จริงๆ จึงคอยชักออกมา จะได้ไม่เสียคม



*******



มัวแต่นึกถึงวันเกิด ให้นึกถึงวันตายเสียบ้าง



*******



ต้องหมั่นมีสติ หมั่นพิจารณาร่างกายจนเป็นเป็นกระดูกจนร่วงลงไปกอง แล้วเผาให้เกลี้ยงไปเลย ถามตัวเองซิ มีตัวตนไหม อะไรทำให้ทุกข์ ทำให้เจ็บปวด มีตัวเราไหม ดูให้ถึงแก่นแท้ของธรรมชาติพิจารณาไปจนไม่มีอะไรของเราสักอย่าง



*******



มันไม่มีใครเจ็บ มันไม่มีใครตาย นั่นแหละ ตรงนั้นแหละ มันมีอยู่แล้วทุกคน เหมือนเราคว่ำมืออยู่ เราก็หงายมือเสีย แต่ผู้ที่มีปัญญาเท่านั้นที่จะทำได้ ถ้าโง่ก็ไม่เห็น ก็ไม่ได้ ไม่พ้นเกิด พ้นตาย



*******



การภาวนาของเราต้องมี ปีติ เป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ไม่อย่างนั้น ทำไป ๆ มันจะเxxx่ยวแห้ง



*******



สักวันหนึ่งความตายจะมาถึงเรา มาบีบบังคับให้เราปล่อยทุกสิ่งทุกอย่าง ฉะนั้น เราต้องหัดปล่อยวางล่วงหน้าให้มันเคย ไม่อย่างนั้น พอถึงเวลาไปจะลำบาก



*******



จิตเห็นจิตตามความเป็นจริง เขาก็วางของเขาเอง



*******



เมื่อคิดที่ พุทโธ แล้วไม่ต้องลังเลว่า จะนั่งไม่ได้ดี ถ้าตั้งใจจริงแล้วมันต้องได้ สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเป็นมารผจญ เขาเล่นละครอะไร ๆ เราก็ไปดู ไม่ใช่ว่าไปเล่นกับเขาด้วย



*******



อยู่บนที่สูงแล้ว ก็สามารถมองเห็นอะไร ๆ ได้หมด



*******



ถึงความเห็นของเราจะถูก แต่ถ้าเรายึดเข้าไว้มันก็ผิด



*******



เวลาเราทำงานอะไรอยู่ ถ้าเราสังเกตว่าใจเราเสีย ก็ให้หยุดทันที แล้วกลับมาดูใจของตนเอง เราต้องรักษาใจของเราไว้เป็นงานอันดับแรก



*******



คนอื่นเขาด่าเรา เขาก็ลืมไป แต่เราไปเก็บมาคิด เหมือนเขาคายเศษอาหารทิ้งไปแล้ว เราไปเก็บมากิน แล้วจะว่าใครโง่



*******



ธรรมะ เราอ่านมามากแล้ว ฟังมานานแล้ว เราก็ว่าเราเข้าใจ แต่มันถึงใจ ดีจริงหรือยัง



*******



การภาวนาต้องทิ้งเป็นขั้น ๆ เหมือนเขายิงจรวจในอวกาศพอพ้นจากโลกแล้ว กระสวยอวกาศก็ต้องทิ้งยานแม่ จึงจะไปถึงโลกพระจันทร์ได้



*******



คนเราถ้าทำดีแล้วติดดีก็ไปไม่รอด เมื่อใจยังมีติดภพชาติยังมีอยู่



*******



ทำดีให้มันถูกตัวดี อย่าให้มันดีแต่กิริยา



*******



การภาวนาก็คือการฝึกตาย เพื่อเราจะได้ตายเป็น



*******



ของจริงจึงอยู่กับเรา ถ้าเราทำจริง เราจะได้ของจริง ถ้าเราทำไม่จริง เราจะได้แต่ของปลอม



*******



 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 10 พ.ย.2005, 10:21 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

หลวงพ่อชา สุภทฺโท

************************



ใจจะสงบได้ ก็ด้วยความเห็นที่ถูก



*******



คนตายแล้วเดินได้ พูดได้ หายใจได้ ใครเคยเห็นไหม ใครเคยคิดไหม ตายทางจิต... ตายทางสติปัญญา



*******



ดูซิ... เราข้ามกันไปหมด พากันทำบุญ แต่ว่าไม่พากันละบาป ...ผ้าสกปรก ไม่ฟอก แต่อยากจะรับน้ำย้อมนะ



*******



...เราจึงไม่จำกัดรูปแบบการปฏิบัติ แต่มักสอนให้ภาวนา พุทโธ หรือ อานาปานสติ คือการกำหนดลมหายใจเข้าออก ทำไปพอสมควรแล้วจึงค่อยทำความรู้ความเห็นของเราให้ถูกต้องเรื่อยไป

ที่เรามาปฏิบัติ



ที่เรามาปฏิบัติกันอยู่ทุกวันนี้ ก็เพื่อให้เห็นจิตเดิม เราคิดว่าจิตเป็นสุขเป็นทุกข์ แต่ความจริงจิตไม่ได้สร้างสุขสร้างทุกข์ อารมณ์มาหลอกลวงต่างหาก มันจึงหลงอารมณ์ ฉะนั้น เราจึงต้องมาฝึกจิตใจให้ฉลาดขึ้น ให้รู้จักอารมณ์ ไม่ให้เป็นไปตามอารมณ์ จิตก็สงบเรื่องแค่นี้เอง ที่เราต้องมาทำกรรมฐานกันยุ่งยากทุกวันนี้



*******



สติ เป็นสภาวธรรมอันหนึ่งซึ่งให้ธรรมทั้งหาลายเกิดขึ้นโดยพร้อมเพรียง สติ ก็คือ ชีวิต ถ้าขาดสติเมื่อใดก็ตามเหมือนตาย



*******



การทำจิตใจของเราให้มีกำลัง กับการทำกายของเราให้มีกำลังมันต่างกัน การทำกายให้มีกำลังก็คือ การออกกำลังกาย บริหาร มีการประโดด การวิ่ง นี่คือการทำกายให้มีกำลัง

การทำจิตให้มีกำลังก็คือ ทำจิตให้สงบ ไม่ใช่ทำจิตให้คิดนั่นคิดนี่ไปต่าง ๆ ให้อยู่ในขอบเขตของมัน เพราะว่าจิตของเรานั้นไม่เคยได้สงบ ไม่เคยมีกำลัง มันจึงไม่มีกำลังทางด้านสมาธิภายใน



*******



การฝึกจิตไม่เหมือนฝึกสัตว์ จิตนี่เป็นการฝึกยากแท้ๆ แต่อย่าไปท้อถอยง่าย ๆ ถ้ามันคิดไปทั่วทิศก็กลั้นใจมันไว้ พอใจมันจะขาดมันก็คิดอะไรไม่ออก มันก็วิ่งกลับมาเอง ให้ทำไปเถอะ



*******



จิตของเรานี้ เมื่อไม่มีใครตามรักษา มันก็เหมือนคนคนหนึ่งที่ปราศจากพ่อแม่ที่ดูแล เป็นคนอนาถานั้นเป็นคนที่ขาดที่พึ่งก็เป็นทุกข์ จิตนี้ก็เหมือนกัน ถ้าขาดการอบรมบ่มนิสัย หรือทำความเห็นให้ถูกต้องแล้ว จิตนี้ก็ลำบากมาก



*******



ผู้ไปยึดอารมณ์จะเป็นทุกข์ เพราะอารมณ์มันไม่เที่ยง



*******



การทำความเพียรให้ทำอย่าหยุด อย่าปล่อยไปตามอารมณ์ให้ฝืนทำไป ถึงจะคร้านก็ให้ทำ จะขยันก็ให้ทำ จะนั่งก็ทำ จะเดินก็ทำ เมื่อจะนอนก็ให้กำหนดลมหายใจว่า “ข้าพเจ้าจะไม่เอาความสุขในการนอน” สอนจิตไว้อย่างนี้ พอรู้สึกตัวก็ลุกขึ้นมาทำความเพียรต่อไป...

เวลานอน ให้นอนตะแคงข้างขวา กำหนดอยู่ที่ลมหายใจ “พุทโธ พุทโธ” จนกว่าจะหลับ ครั้นตื่นก็เหมือนกับมี “พุทโธ” อยู่ไม่ขาดตอนเลย จึงจะเป็นความสงบเกิดขึ้นมา มันเป็นสติอยู่ตลอดเวลา



*******



สมเด็จพระบรมศาสดา ท่านตรัสสอนไว้แล้วทุกอย่างในเรื่องการประพฤติปฏิบัติ แต่พวกเราทั้งหลายยังไม่ได้ปฏิบัติกันหรือไม่ก็ปฏิบัติแต่ปากเท่านั้น

หลักของพระพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่การพูดกันเฉย ๆ หรือด้วยการเดา หรือการคิดเอาเอง หลักของพระพุทธศาสนาที่แท้จริงคือ การรู้เท่าทันความจริงตามความเป็นจริงนั่นเอง ถ้ารู้เท่าทันตามความเป็นจริงนี้แล้ว การสอนก็ไม่จำเป็น แต่ถ้าไม่รู้ถึงความเป็นจริงอันนี้ แม้จะฟังคำสอนเท่าใด ก็เหมือนกับไม่ได้ฟัง



*******



เวลาในชีวิตของเรามีไม่มากนัก ให้สอนตัวเอง ไม่ต้องไปพยายามสอนคนอื่น เดินไปเดินมาก็ให้สอนตัวเอง เอาชนะตัวเอง ไม่ต้องเอาชนะคนอื่น จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะไป จะมา ทุกอย่างจิตกำหนดอยู่เสมอ... ถ้าเราตามดูจิตเรา มันจะเห็นกิเลส มันจะเห็นจิตของเราสม่ำเสมอ สติจะติดต่อเป็นวงกลม ปฏิบัติเช่นี้เร็วเร็วมาก ปัญญามันจะเกิดขึ้น มันจะเห็นตามสภาวะมันเองทุกๆ อย่าง



*******



การนั่งสมาธิ นั่งให้ตัวตรง อย่างเงยหน้ามากไป อย่าก้มหน้าเกินไป เอาขนาดพอดี เหมือนพระพุทธรูปนั่นแหละ มันจึงสว่างไสวดี

ครั้นจะเปลี่ยนอิริยาบถ ก็ให้อดทนจนขีดสุดเสียก่อน ปวดก็ให้ปวดไป อย่างเพิ่งรีบเปลี่ยน อย่าคิดว่า “บ๊ะ ไม่ไหวแล้ว พักก่อนเถอะน่า” อดทนมันจนปวดถึงขนาดก่อน พอมนถึงขนาดนั้นแล้วก็ให้ทนต่อไปอีก ทนต่อไป ๆ จนมันไม่มีแก่ใจจะว่า “พุทโธ” เมื่อไม่ว่า “พุทโธ” ก็เอาตรงที่มันเจ็บนั่นแหละมาว่าแทน “อุ๊ย เจ็บ เจ็บแท้ ๆ หนอ” เอาเจ็บนั้นมาเป็นอารมณ์แทน “พุทโธ” ก็ได้ กำหนดให้ติดต่อกันไปเรื่อยๆ นั่งไปเรื่อย ดูซิว่าเมื่อปวดถึงที่สุดแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น

พระพุทธเจ้าว่ามันปวดเอง มันก็หายเอง ให้มันตายไปก็อย่าเลิก บางครั้งมันเหงื่อแตกเม็ดโป้ง ๆ เท่าเม็ดข้าวโพดไหลย้อยมาตามอก ถ้าครั้นทำจนมันได้ข้ามเวทนาอันหนึ่งแล้ว มันก็รู้เรื่องเท่านั้นแหละ ให้ค่อยทำไปเรื่อย ๆ อย่าเร่งรัดตัวเองเกินไป



*******



จิตนี้ ถ้าอารมณ์มาถูก มันก็กวัดแกว่งไปตามอารมณ์ ยิ่งมันไม่รู้เรื่องธรรมะแล้ว ก็ยิ่งปล่อยไปตามอารมณ์ของเจ้าของเรื่อยไป อารมณ์สุขก็ปล่อยตามไป อารมณ์ทุกข์ก็ปล่อยตามไป วุ่นวายไปเรื่อย ๆ จนชาวมนุษย์ทั้งหลายเกิดเป็นโรคประสาท เพราะไม่รู้เรื่อง ปล่อยไปตามอารมณ์ ไม่รู้จักรักษาจิตของเจ้าของ



*******



การปฏิบัติจริงๆ ต้องปฏิบัติเมื่อมีอารมณ์ มีสติตามรู้เท่าทันอารมณ์อยู่ตลอดเวลา ไม่เลือกเวลา สถานที่ หรือโอกาส ทุกอิริยาบถเป็นการปฏิบัติอยู่ทั้งนั้น



*******



ผู้ใดมีสติอยู่ทุกเวลา ผู้นั้นก็ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา



*******



หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต



ต้องเป็นผู้มีสัจจะ ตั้งฐานทัพไว้ให้ดี ตั้งมั่นด้วยความอดทน มานะ สัจจะ เพียรเพ่งเร่งภาวนา ขยันหมั่นเพียร ฝนทั่งให้เป็นเข็มต้องถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาเล็กน้อย ความเพรียรเป็นตบะเผากิเลส



*******



ศรัทธาเชื่อในเป้ากรรมฐานที่ตั้งไว้ เพียรประกอบกับกรรมฐานที่ตั้งไว้ สติระลึกไว้ในกรรมฐานที่ตั้งไว้ สมาธิตั้งมั่นในกรรมฐานที่ตั้งไว้ ปัญญารอบรู้ในกรรมฐานที่ตั้งไว้นั้น ผลรายรับก็ต้องปรากฏเอง ตามส่วนควรค่าที่ทำน้อยและมาก ให้ผลไม่ลำบาก ไม่นิยมกาลเวลา ไม่เหมือนต้นไม้ผลไม้ อันเป็นของนอก ขอให้สร้างเหตุดีพลีไว้ที่ดวงใจ





*******



กรรมฐานแต่ละอย่าง ๆ มีพระคุณอยู่ก็จริง ยาแก้โรคแต่ละอย่าง ๆ มีคุณอยู่ก็จริง ถ้าวางไม่ถูกกับโรค โรคก็หายยากด้วยข้อนี้ต้องขึ้นอยู่กับเจ้าตัวของใครของมัน จะสังเกตรู้เองส่วนตัว



*******



พระธรรมเป็นของลุ่มลึก แต่จะลึกสักเพียงใดก็ลึกลงที่ใจ จะตื้นก็ตื้นขึ้นที่ใจ ไม่ใช่ลึกตื้นอยู่ที่ดินฟ้าอากาศ ลม ไฟ น้ำ ภายนอก



*******



มุ่งดีในโลกีย์เป็นทางวนเวียน

มุ่งดีในทางโลกุตตระเป็นทางพ้นทุกข์



*******



ถ้ามุ่งแต่เป็นภาระน้อมออกนอก สอนผู้อื่นโดยถ่ายเดียวก็ขาดเมตตาตน เมื่อขาดเมตตาตนแล้ว จะเมตตาต่อท่านผู้อื่นอย่างไรได้ เพราะไม่มีทุน จะเอาทุนที่ไหนไปจ่าย ถ้ายืมไปจ่าย ดอกเบี้ยก็ท่วมทับถมมากขึ้นทวีหาไม่ทัน



*******



มองตัวเองให้มากจึงจะเป็นคนดีได้ มัวแต่มองท่านผู้อื่นแล้วไซร้ ก็กลายเป็นคนพาลไปไม่รู้ตัว เพราะนิสัยคนพาล ย่อมเพ่งโทษผู้อื่นเป็นวัตร โบราณท่านกล่าวว่า อุจจาของตน นั่งดมอยู่ก็พอดมได้ อุจจาระท่านผู้อื่นเล่า มากระทบจมูกเข้าก็เกิดเป็นพิษเป็นภัยขึ้น (โลกทั้งปวงย่อมเป็นแบบนี้เป็นส่วนมาก)



*******



ถ้าหากโลกทั้งปวงหนักไปทางสอนตนเองเป็นชั้นหนึ่ง และเป็นของจำเป็นมากกว่าสิ่งใดๆ แล้ว การโต้เพียงเกี่ยงงอนรังเกียจเบียดสีกัน ก็คงสงบไปในตัวเท่าที่ควร และพุทธศาสนาก็ยืนยันว่า “สอนตนดีแล้ว จึงสอนท่านผู้อื่น” จึงไม่เดือดร้อนในภายหลัง



*******



ถ้าเราท้อแท้ในการพิจารณาให้ติดต่อ การเห็นธรรมตามเป็นจริงก็ไม่ชัด เมื่อไม่ชัด ความปีติยินดี ความอิ่มใจก็ไม่มี ความอ่อนแอและขี้เกียจก็ได้ช่อง วิชาผัดวันประกันพรุ่งและหลีกเลี่ยง แก้ตัวก็สอบได้ชั้นเอก ติดนิสัยเสียเวลาไปวันละเล็กวันละน้อย บวกคูณทวีไปในตัว กลายเป็นหมันไปโดยมิรู้ตัว



*******



ผู้ที่ไม่มีสติลืม ๆ หลง ๆ เป็นเจ้าใหญ่นายโตของขันธสันดาน แล้วไม่พอใจกำหนดลมออกเข้า ความลืม ๆ หลงๆ นั่นเล่าก็ยิ่งบวกทวีคูณหนักเข้า



*******



การแก้ใจในด้านพระสติ พระปัญญา ถ้าสำคัญใจว่าเป็นตน ตนเป็นใจแล้ว ก็ไม่มีที่จะขุดรากกิเลสออกจากใจได้โดยง่าย



*******



พระนิพพานไม่ใช่ผู้รู้ เหนือผู้รู้ไปจนไม่มีที่หมาย



*******











หลวงพ่อพุทธทาส

*********************





พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาแห่งบรมธรรม สำเร็จได้ด้วยใบไม้กำมือเดียว ไม่ต้องเรียนจนจบพระไตรปิฎก หรือไม่ต้องเรียนกันมากมาย ชั่วใบไม้กำมือเดียวว่า ทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร ดับทุกข์อย่างไร นี่ก็...กำมือเดียว



*******



พระพุทธองค์ท่านมีการตรัสทั้งภาษาคนและภาษาธรรม ต้องฟังให้ดี เช่นตรัสโดยภาษาคนว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” แต่ตรัสโดยภาษาธรรมว่า “ตัวตนของตนนั้นไม่มี” ดังนี้ ถ้าฟังไม่ดีจะไม่รู้เรื่องและเห็นว่าเป็นคำพูดที่ขัดกัน ถ้ารู้จักฟังโดยหลักภาษาคนภาษาธรรมแล้วจะไม่ขัดกันเลย



*******



พระพุทธองค์ตรัสว่า “แต่ก่อนก็ดี บัดนี้ก็ดี เราบัญญัติแต่เรื่องทุกข์กับความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เท่านั้น”

ดังนั้น พวกเราอย่าต้องเสียเวลาในการศึกษาการถามการเถียงกันด้วยเรื่องอื่นที่มิใช่สองเรื่องนี้กันอีกเลย





*******



คนมีใจเดินต่ำ มนุษย์มีใจเดินสูง แล้วจะไม่ต่างกันยิ่งกว่าฟ้าและดินซึ่งหยุดอยู่เฉย ๆ ได้อย่างไร



*******



การมีธรรมะ แท้จริงก็คือสามารถดำรงตนอยู่เหนือปัญหาหรือความทุกข์ทั้งปวง ไม่เกี่ยวกับปริญญาบัตร ฯลฯ พิธีรีตอง หรือหลักปรัชญาชนิดฟิโลโซฟีใด ๆ



*******



จะมีสติสัมปชัญญะสมบุณณ์ที่สุดนั้น จะต้องมีวิธีฝึกไปในทางที่จะคอยเฝ้ากำหนดการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของ เวทนา สัญญา และวิตก



*******



ถ้าใครสามารถเอาความรู้เรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เข้ามากำกับอยู่กับชีวิตประจำวันแล้ว คนนั้นชื่อว่ามีเชื้อต้านทานโรคสูงสุด แล้วอารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส นั้นจะไม่เกิดเป็นพิษขึ้นมาได้เราจะมีอยู่ เป็นอยู่อย่างมีความเกษม



*******



อนาคตคือ ความฝัน ปัจจุบันคือภาพมายา อดีตคือ ปัญหาที่สะสมไว้ พระอรหันต์จึงอยู่เนหือความหมายของเวลา



*******



จิตที่คิดจะให้นั้นมันสูงกว่าจิตที่คิดจะเอา



*******



อย่าอยู่ด้วยความหวัง แต่อยู่ด้วยสติปัญญา สติปัญญารู้ว่าควรทำอะไรก็ทำ อย่าไปหวัง ทำให้มันถูกต้อง ผลมันมาเอง ไม่ต้องหวังให้มันกัดกินหัวใจ หวังเมื่อไหร่ก็กัดกินหัวใจเมื่อนั้น

อย่าอยู่ด้วยความหวัง แต่อยู่ด้วยความถูกต้องของการประพฤติการกระทำ



*******



เรื่องกรรมที่ถูกต้องแท้จริงในพระพุทธศาสนา คือ เรื่องกรรมไม่ดำไม่ขาว เป็นที่สิ้นสุดแห่งกรรมดำกรรมขาว คือเหนือดีเหนือชั่ว เหนือบุญเหนือบาป เหนือสุขเหนือทุกข์ เป็นไปเพื่อนิพพานส่วนเดียว เพียงแต่สอนว่าทำดี – ดี ทำชั่ว - ชั่ว นั้นยังมิใช่ ของพระพุทธเจ้าแท้ เพราะมีสอนกันอยู่ก่อนพุทธกาล แต่ก็ยังคงเรียกว่า กรรมวาที ได้เหมือนกัน เป็นเรื่องกรรมครึ่งเดียวไม่สมบูรณ์



*******



คนเรานั้น ทุกคนมีร่างกายซึ่งเรียกว่ารูป แล้วก็มีส่วนที่เป็นใจ แยกเป็น จิตส่วนหนึ่ง เป็นเจตสิกส่วนหนึ่ง เป็นจิต นั้นคือ ตัวที่เป็นประธานยืนโรงจนกว่าจะดับจิตในที่สุด

ทีนี้ เจตสิกก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นกับจิต ปรุงแต่งจิตให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ คือปรุงแต่งจิตดวงเดียวนั้น ให้มีลักษณะอาการเป็นสิบๆ อย่างหรือเป็นร้อยๆ อย่าง จะดีหรือชั่ว ไม่ดีไม่ชั่ว แล้วแต่เจตสิก



*******



การฝึกอานาปานสติ

อันดับแรกที่สุด ก็ฝึกที่ตัวลมหายใจ

อันดับถัดไป ก็ฝึกความรู้สึกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการฝึกลมหายใจนั้นอยู่ทุกลมหายใจ

อันดับถัดไป ก็ไปพิจารณาจิตของตัวเองอยู่ทุกลมหายใจ

อันดับถัดไป ก็พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นต้น ที่เกิดขึ้นอยู่กับลมหายใจ ที่เกิดขึ้นอยู่กับเวทนา ที่เกิดขึ้นกับจิต อยู่ทุกลมหายใจ

เพราะฉะนั้น อานาปานสตินี้ มันจึงสูงขึ้นไปเป็นลำดับ กระทั่งหายใจเป็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อยู่ทีเดียว กระทั่งมีความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดอยู่ทุกลมหายใจทีเดียว

กระทั่งจิตหลุดพ้น รู้สึกตัวว่าจิตหลุดพ้นทุกลมหายใจเข้าออกทีเดียว

ตลอดสายนี่แหละ เรียกว่า อานาปานสติภาวนา นับขึ้นไปเรื่อยตั้งแต่ลมหายใจ กระทั่งบรรลุมรรคผล



*******



เรียนชีวิตจากชีวิตดีกว่าเรียนจากพระไตรปิฎก ซึ่งบอกเพียงวิธีเรียนชีวิตได้อย่างไร และนำไปเรียนที่ตัวชีวิตเองเมื่อยังไม่ตาย ...นี้คือการเรียนความทุกข์จากความทุกข์ และพบความดับทุกข์ที่ตัวความทุกข์นั่นเอง



*******



จงตายให้มีศิลป์ที่สุด คือ ตายอย่างรู้สึกว่า ไม่มีใครตายมีแต่สิ่งปรุงแต่งเปลี่ยนไป



*******



ธรรมะมิใช่ตัวหนังสือหรือเสียงแห่งการแสดงธรรม แต่เป็นการกระทำหน้าที่ที่ถูกต้องของผู้ปฏิบัติแต่ละคนอยู่ทุกอิริยาบถ ทุกเวลา ทุกสถานที่ อย่างถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของตน และแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกัน จึงจะเป็นธรรมที่ถูกต้องตามหลักแห่งพระพุทธศาสนา อันจะนำมาซึ่งความสงบสุขได้จริง



*******



บัดนี้ ยิ่งเจริญคือ ยิ่งยุ่ง ยิ่งเจริญที่สุดคือ ยิ่งเกินความจำเป็น เพราะปราศจากสติปัญญาอันทำให้เรารู้จักเจริญอย่างถูกต้องพอเหมาะพอดีเป็น มัชฌิมาปฏิปทา จงรู้จักเจริญกันเสียใหม่ในด้านจิตวิญญาณที่อาจดับทุกข์ของตนได้เถิด



*******



หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ



เราเห็นธรรมะของจริง จิตใจของเราก็ต้องมีความจริงด้วย การปฏิบัติของเราก็ต้องมีความจริงด้วย



*******



แม้แต่ร่างกายนี้ก็ไม่เป็นของเราเลย พึ่งไม่ได้ แล้วเราจะไปหวังพึ่งทรัพย์พึ่งบุตรเอามาทำอะไร



*******



จิตกับธรรมต้องเป็นอันเดียวกัน เดี๋ยวนี้จิตกับกิเลสมันเป็นอันเดียวกัน ไม่ค่อยจะรับธรรมเข้ามา ธรรมยังรับไม่ค่อยจะได้ แต่กิเลสไม่ต้องทวง

เพราะเหตุนั้น เราพยายามถ่ายเท ให้หลงลืมเรื่องที่ไม่ตรงกับธรรม พยายามใกล้ชิดสนิทกับธรรมให้มาก





*******



งานกรรมฐานการภาวนานี้... เป็นงานชั้นละเอียด

เพราะฉะนั้น เครื่องมือก็ต้องละเอียด สติของเราก็จะต้องละเอียด ความรู้ความระลึกจะต้องรักษาละเอียดไปด้วย เราจะคะนองไม่ได้... อย่างปล่อยให้กิเลสคะนองกาย คะนองวาจา และคะนองใจ



*******



ถ้าเราฉลาด เราจะได้ความสงบในท่ามกลางที่วุ่นวายนี่แหละ



*******



อวิชชาที่จะดับ ก็ดับเพราะเรามารู้จริงอันนี้ เมื่อมันรู้จริงแล้วความไม่รู้จะอยู่ได้อย่างไร... ที่เคยหลงเข้าใจผิดแต่ก่อนว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นเราเป็นเขา พยายามตกแต่งให้มันสะอาด ให้มันน่าเพลิดเพลินยินดี

ถ้ามาดูจริง ๆ แล้วสิ่งที่เราเข้าใจมาแต่ก่อน ล้วนแต่เป็นความเข้าใจผิด ไม่เป็นความจริงโดยธรรม แต่เป็นความจริงสำหรับปุถุชนผู้ยังหนา



*******

การปฏิบัติไม่ควรให้ลุ่มๆ ดอนๆ สูงๆ ต่ำๆ เป็นคลื่น... คลื่นคืออะไร คือเราปฏิบัติไม่สม่ำเสมอ เวลาเคร่งภาวนาก็ข่มจิตข่มใจเคร่งเพื่อให้สงบ เวลาออกจากภาวนาก็ปล่อยจิตให้ฟุ้งไป ไม่ระวัง ไม่รักษา ไม่ค่อยจะรู้ตัว ไม่ค่อยจะกำหนดเข้ามา...

เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายพึงรู้ตัว ที่เราปฏิบัติสงบยากเพราะเรารักษาไม่ได้ จิตที่มันลุ่มๆ ดอนๆ เวลาเคร่งก็เคร่ง เหมือนกับจะเอาให้ได้พระนิพพานในวันนั้นเวลานั้น เวลาหย่อนก็หย่อน ปล่อยให้ความมัวเมาเกิดขึ้น อาสวะมันไม่หxxx็เพราะอันนี้เอง ความมัวเมาในอารมณ์ที่ตาเห็น หูได้ยิน... มาจากที่นี้แหละ



*******



เราทั้งหลายเมื่อปฏิบัติถูกต้องแล้ว บัณฑิตทั้งหลายมาคัดค้านไม่ได้ เพราะเราได้กำหนดตัวธรรมแท้ คือ อนิจจัง เราจะเห็นอยู่ในกายนี้ อริยสัจธรรมทั้ง ๔ จะได้เห็นอยู่ในกายนี้ ทุกขังจะได้เห็นอยู่ในที่นี้ ไม่ได้เห็นที่อื่น

ถ้าเรามาเจริญความเห็น (สัมมาทิฎฐิ) ในสิ่งเหล่านี้ให้มากๆ ผลจะปรากฏแก่เราเอง เมื่อผลบังเกิดขึ้นมาแล้ว ธรรมชาติก็รู้เองไม่ต้องบอกก็ได้... อย่าไปหลงคนนั้นพูดอย่างนั้น คนนี้พูดอย่างนี้

เราไม่ควรดูที่ไหน พยานหลักฐานคือกายของเรา เป็นอนิจจังแค่ไหนเราก็รู้ ไม่ได้โกหกใคร ทุกขังเป็นทุกข์ มีโรคภัยไข้เจ็บมากมาย เจ็บป่วยขนาดไหนเราก็รู้ ไม่ได้โกหกใคร มันเป็นความจริงอยู่ตลอดเวลา

การปฏิบัติรู้เห็นความจริงนี่แหละ เรียกว่า เห็นธรรม สภาวะแห่งความจริง เราจะได้รู้จริงเห็นจริง รู้แจ้งแทงตลอด จะได้พ้นทุกข์



*******











หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

***********************



ใครจะบริกรรมภาวนากรรมฐานบทไหนอย่างไร เมื่อสภาวะจิตสงบสู่ความเป็นสมาธิ ย่อมมีลักษณะเดียวกันหมด เพราะฉะนั้นเราอย่าเอาตำรามาคัดค้านกัน ให้เอาสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ... มาเปรียบเทียบกัน เราจึงจะลงเอยกันได้



*******



สมาธิอันใดที่ไม่สนใจเกี่ยวกับเรื่องชีวิตประจำวัน หนีไปอยู่ที่หนึ่งต่างหากของโลกแล้ว สมาธิอันนี้ ทำให้โลกเสื่อม และไม่เป็นไปเพื่อทางตรัสรู้มรรคผลนิพพานด้วย



*******



ความจริงโลกนะ เป็นอารมณ์ของจิต ในเมื่อจิตตัวนี้รู้ความจริงของโลกแล้ว มันจะปลีกตัวไปลอยเด่นอยู่เหนือโลก แล้วมันอาศัยโลกนั่นแหละเป็นบันไดเหยียบไปสู่จุดที่อยู่เหนือโลก



*******



ถ้านักปฏิบัติท่านใดปฏิบัติแล้วมัวแต่ไปนับขั้นสมาธิ ขั้นญาณ ขั้นฌาน สิ่งรู้สิ่งเห็นทั้งหลาย ก็ไปติดอยู่ที่ตรงนั้น

เพราะฉะนั้น จะเป็นความรู้ที่เรียกว่า ปัญญาในสมาธิ ก็ตามเป็น นิมิต ที่เกิดขึ้นก็ตาม ท่านให้กำหนดหมายเพียงแค่เป็นอารมณ์จิตเท่านั้น จะไปยึดเอาสิ่งนั้นเป็นของดีของวิเศษไม่ได้



*******



การบำเพ็ญสมาธิจิตเพื่อให้เกิดสมาธิ สติ ปัญญา มีหลักที่ควรยึดถือว่า “ทำจิตให้มีอารมณ์สิ่งรู้ สติให้มีสิ่งระลึก” จิตนึกรู้สิ่งใดให้มีสติสำทับเข้าไปที่ตรงนั้น



*******



ขอให้ถือคติว่า สมาธิหรือการปฏิบัติธรรมอันใด ถ้าหากมันเป็นไปเพื่อความอยากใหญ่ เป็นไปเพื่อพอกพูนกิเลส เป็นไปเพื่ออิทธิฤทธิ์...

พึงเข้าใจว่ามันเป็นมิจฉาสมาธิ ซึ่งออกนอกหลักพระพุทธศาสนา



*******



พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า ใครทำกรรมใดไว้จะได้รับผลขอกรรมนั้นแน่นอน หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไปทำพิธีตัดกรรมก็เป็นการลบล้างคำสอนของพระพุทธเจ้า



*******



การปฏิบัติตามแนวของพระพุทธเจ้าที่ถูกต้อง อยู่ที่การสร้างจิตของตัวเองให้มีพลังเข้มแข็ง มีสติสัมปชัญญะรู้รอบอยู่ที่ตัวเองสามารถยืนหยัดอยู่ในความเป็นอิสระได้ตลอดกาล ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยอะไร



*******



สอนสมาธิ ต้องสอนสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุด ความรู้เห็นอะไรที่เขาอวด ๆ กันนี่ อย่าไปสนใจเลย ให้มันรู้เห็นจิตของเรานี่ รู้กายของเรา



*******



ภาวนาให้จิตสงบได้รู้ธรรมเห็นธรรมได้ภายในบ้าน จะมีคุณค่าดียิ่งกว่านิมนต์พระไปสวดมนต์ตั้งหมื่น ๆ องค์



*******



สิ่งใดที่เรารู้เท่าทัน สิ่งนั้นไม่สามารถที่จะดึงใจของเราไปทรมานให้เกิดทุกข์ขึ้นได้



*******



อดีตเป็นสิ่งที่ล่วงไปแล้ว อนาคตก็เป็นสิ่งที่ยังไม่มาถึง ดังนั้นเรามาสนใจอยู่ในสิ่งที่เป็นปัจจุบันดีไหม



*******











พระอาจารย์บุญกู้ อนุวฑฺฒโน

**********************************



ขณะเรากำลังมีชีวิตอยู่นี้ ร่างกายกับจิตใจยังอยู่รวมกัน แต่สักวันหนึ่งมันจะพลัดพรากจากกันไป ร่างกายเป็นรูปคือ วัตถุธาตุ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ จึงต้องหาเลี้ยงเขาด้วยเงินทองอันเป็นโลกียทรัพย์มีปัจจัย ๔ เป็นต้น

จิตใจเป็นนาม คือ วิญญาณธาตุ กอปรด้วย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงต้องเลี้ยงเขาด้วยบุญกุศลอันเป็นอริยทรัพย์ มีทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น

ผู้ใดมุ่งเลี้ยงเฉพาะแต่ร่างกาย หรือบำรุงแต่จิตใจเพียงอย่างเดียวความเจริญของชีวิตย่อมขาดตกบกพร่องไป

หากผู้ใดเข้าใจเลี้ยงทั้งร่างกายและบำรุงจิตใจไปพร้อมกันความเจริญของชีวิตย่อมเพิ่มพูนยิ่งขึ้น ยังมีชีวิตอยู่ก็สบาย ตายไปก็ต้องเป็นสุข



*******



หลัก “๕ พอ” ...ข้อปฏิบัติประจำวันของตน ๆ

๑. ให้มีศีลธรรมพอดี

๒. ให้มีวิชาพออาศัย

๓. ให้มีปัจจัยพอใช้

๔. ให้มีอนามัยพออยู่

๕. ให้มีบุญกุศลพอเพียง



*******



การทำลายน้ำใจคนเป็นบาปเหลือหลาย

การให้กำลังใจคนเป็นบุญมหาศาล



*******



ไม่มีใครช่วยให้เราพ้นเกิดตายได้

จะต้องใช้วิชาพระ ละเกิดตายด้วยตนเอง



*******



มีพระเครื่องแขวนที่คอก็ดี

แต่ควรมีพระรัตนตรัยแขวนที่ใจไว้ด้วย



*******



อยู่ที่ไหน ไปที่ใด นั้นไม่แน่

ขอเพียงแค่ ทำแต่ดี มีจิตใส

อยู่ก็ดี ไปก็ดี ไม่มีภัย

จงตั้งใจ ไว้อย่างนี้ มีแต่คุณ



*******



การสังวรเป็นอาภรณ์ของสมณะ

สัมมาคารวะเป็นอาภรณ์ของคฤหัสถ์



*******



ปฏิสนธิ จุติ มิกำหนด

อย่ากำสรด ถึงคราว ก้าวออกหนอ

ดีไว้พอ ก่อให้ ไปสุคโต

อย่าไปโง่ ยึดมั่น การผันแปร



*******



แก่แต่หวาน ด้วยการ ไม่ประมาท

เจ็บป่วยอาจ บำราศง่าย เมื่อใจแข็ง

ตายเป็นตาย ไม่หวั่น มั่นบุญแรง

พรากจากแหล่ง แห่งใด ย่อมไปดี



*******



อันสังขาร ร่างกาย นั่นไม่เที่ยง

สุดบ่ายเบี่ยง บั้นปลาย ต้องตายหนอ

จงทำดี แต่วันนี้ อย่ารีรอ

รู้จักพอ ก่อสุข ทุกสถานเอย



*******













พระอาจารย์ชยสาโร

***********************



การพัฒนาชีวิตของเรา ต้องดำเนินทั้งภายนอกด้วย ทั้งภายในด้วย ถ้าหากว่าเรามัวพัฒนาแต่เรื่องภายนอกโดยไม่คำนึงหรือละเลยสิ่งภายใน การพัฒนานั้นจะขาดความสมดุล แล้วในที่สุดจะไม่ประสบความสำเร็จ



*******



เราพึ่งพระรัตนตรัยตลอดชีวิตได้โดยไม่ต้องสงสัย ที่พึ่งนอกจากนั้น เป็นที่พึ่งที่ทรยศ จะช่วยเราจริง ๆ ไม่ได้

แม้ว่าเราจะพึ่งมันได้เป็นบางครั้งบางคราว แต่ว่าถึงที่สุดแล้วมันก็จะหนีจากเรา มันจะพลัดพรากจากเราไป เพราะมันเป็น “สังขาร” หมด

เราจึงพยายามปฏิบัติเพื่อบรรลุสิ่งที่เรียกว่า “วิสังขาร” สิ่งที่อยู่เหนือความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย



*******



เพราะเรากลัวตัวเอง กลัวอยู่กับตัวเอง ก็ต้องเดินออกนอกอยู่ตลอดเวลา ซัดส่ายไปตามอารมณ์ภายนอกอยู่ตลอดเวลา เลยเป็นทาสของสิ่งภายนอกอยู่ร่ำไป สิ่งภายนอกขึ้นๆ ลงๆ เราก็ขึ้นๆ ลงๆ ตามความเคลื่อนไหวของสิ่งเหล่านั้น

จิตใจของเราก็ไหวกระเพื่อมอยู่ตลอดเวลา ไหวกระเพื่อมจนกระทั่งเราถือความวุ่นวายว่าเป็นความปกติ



*******



บางทีการเคลื่อนไหวและการกระทำการงานต่าง ๆ เป็นสิ่งที่สมควร แต่บางคราวการอยู่นิ่งและการงดเว้นจากการกระทำก็เหมาะสมกว่า



*******



ถึงแม้ว่าการปฏิบัติของเรานั้น ยังไม่ถึงขั้นที่ว่า “การปฏิบัติชอบ” ก็อย่างน้อยที่สุด ขอให้เรา “ชอบปฏิบัติ” เสียก่อน



*******



เมื่อยังไม่ได้ปฏิบัติ ธรรมะก็เป็นแค่ปรัชญาอันลึกซึ้งที่น่าสนใจ แต่ในโลกที่เป็นจริง พอกิเลสเกิดขึ้น เราก็ทนต่อกิเลสไม่ได้ มันฉุดลากไปเลย ความรู้ของเรามันหายไปไหนก็ไม่รู้



*******



การจะฆ่ากิเลสหรือนิวรณ์นั้นต้องเข้าใจคำว่า “ฆ่า” นั้นว่าหมายถึง การรู้เท่าทัน ฆ่าด้วยการรู้เท่าทัน



*******



การปฏิบัติทุกขั้นตอน อย่าไปปฏิบัติเพื่อจะเป็นเพื่อจะเอาเพราะจะเป็นการปฏิบัติที่เป็นการพายเรือในอ่าง ไม่เป็นการปฏิบัติที่จะข้ามไปฝั่งโน้น



*******



ถ้าจะฟังเทศน์แต่ความจริงล้วน ๆ พระจะต้องขึ้นธรรมาสน์พูดแต่คำว่า “เกิด-ดับ เกิด-ดับ เกิด-ดับ” คงไม่มีใครอยากฟัง ฟังไม่กี่ครั้งก็เบื่อ ผู้แสดงธรรมจึงต้องชูรสบ้าง หาอะไรมาประกอบการอธิบายเพื่อให้มันน่าฟัง แต่แท้จริงแล้วความรู้เกี่ยวกับโลกที่ลึกซึ้งที่สุดก็สักแต่ว่าความเข้าใจในเรื่อง การเกิด และ การดับ

นักปฏิบัติผู้สามารถรู้แจ้งในการเกิดและการดับของสังขารย่อมเบื่อหน่ายในการยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลาย และย่อมน้อมจิตไปเพื่อสิ่งที่อยู่เหนือการแตกสลาย



*******



เมื่อเราเห็นด้วยตนเองและเข้าใจเรื่องกิเลสแล้ว เราจะเห็นความทุกข์หลายๆ อย่างในชีวิตเรานี้ไม่จำเป็นเลย มันไม่ได้เกิดเพราะดวงไม่ดี หรือเพราะกรรมเก่า แต่เกิดเพราะความคิดผิดของเราต่างหาก



*******



เราต้องรู้ว่าเดี๋ยวนี้เราปฏิบัติเพื่ออะไร เราปฏิบัติเพื่ออยากเอาอยากเด่นไหม

หลวงพ่อชาท่านก็สอนเสมอว่า อย่าปฏิบัติเพื่อจะเอาอะไร อย่าปฏิบัติเพื่อจะได้อะไร อย่าเป็นพระพุทธเจ้า อย่าเป็นพระอรหันต์ อย่าเป็นพระอนาคามี อย่าเป็นพระสกิทาคามี อย่าเป็นพระโสดาบัน อย่าเป็นอะไรเลย เป็นแล้วมันเป็นทุกข์



*******



อย่าเป็นอะไรเลย สบาย ความสบายอยู่ตรงที่เราไม่ต้องเป็นอะไร เราไม่ต้องเอาอะไร ภาวนาจนไม่มีความรู้สึกว่าได้กำไรหรือขาดทุนจากการปฏิบัติ มีความรู้สึกราบรื่น สิ่งภายนอกขึ้นๆ ลงๆ แต่เราก็ไม่ขึ้นๆ ลงๆ ตาม เราอยู่ด้วยความวางเฉยของผู้รู้เท่าทัน อาการแห่งความสุขก็มีอยู่ แต่มันอยู่ข้างนอกมันไม่ได้เข้าไปถึงใจของเรา



*******



จิตไม่ใช่อารมณ์ อารมณ์ไม่ใช่จิต อันนี้เป็นหลักสำคัญมาก ท้องฟ้าไม่ใช่เครื่องบิน เครื่องบินไม่ใช่ท้องฟ้า ท้องฟ้าก็อยู่อย่างนั้นแหละ เมฆก็ผ่านไปผ่านมา เครื่องบินก็ผ่านไปผ่านมา เดี๋ยวฝนตก เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว อันนี้เป็นอากาศ แต่ว่าอากาศไม่ใช่ท้องฟ้า ท้องฟ้าไม่ใช่อากาศ



*******



จิตไม่ใช่อารมณ์ อารมณ์ไม่ใช่จิต เดี๋ยวดีใจ เดี๋ยวเสียใจ เดี๋ยวพอใจ เดี๋ยวไม่พอใจ อันนี้ก็เป็นอารมณ์ แต่อารมณ์ไม่ใช่ใจ ที่ว่าวันนี้ใจไม่ดี ใจไม่สบาย ความจริงไม่ใช่เรื่องของใจนี่ ใจมันนิ่ง ความยินดีและความยินร้าย ความพอใจและความไม่พอใจเป็นเรื่องของอารมณ์ต่างหาก ให้รู้จักแยกจิตออกจากอารมณ์ ยอมให้อารมณ์เป็นอารมณ์ ให้จิตเป็นจิต นี่เราจะมีความสบายอยู่ตรงนี้



*******



การภาวนาคือ การลดความโง่ของตัวเอง ผู้ที่หาว่าไม่มีเวลาภาวนา คือผู้ที่ถือว่าไม่มีเวลาลดความโง่ของตัวเอง



*******



ผู้ที่มีสติกำหนดรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง จะเป็นผู้ที่รู้สึกสดใสและเป็นผู้ไม่กระสับกระส่าย กระวนกระวายที่จะแสวงหาความสุขและความมั่นคงจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือจะเป็นความรักความเคารพจากคนอื่น

ทีนี้ เราไม่มีความรู้สึกว่าเราขาดอะไร ไม่ต้องการอะไรจากใครในโลก เราไม่มีความรู้สึกว่าเรามีอะไรเกิน จะมีแต่ความรู้สึกว่ามันพอดี ตรงนี้แหละจิตเป็นธรรม



*******



เราไม่ต้องไปแสวงหาความแปลก ๆ ใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ให้มารู้จัก มาตระหนักกับสิ่งที่มันมีอยู่แล้วตามธรรมดา ๆ นั่นแหละ ปัญญาไม่ได้เกิดจากสิ่งผิดปกติ แต่มันเกิดจากการรับรู้อย่างทะลุปรุโปร่งต่อสิ่งปกติ



*******











ท่านเว่ยหลาง

****************



...เมื่อสิ่งเหล่านี้ มีอยู่ในเราแล้ว เรื่องของมันก็คือ ทำให้เห็นแจ้งออกมา ไม่ใช่เที่ยววิ่งแสวงหา



*******



ก็การที่เพียงแต่พูดกันถึงอาหาร ย่อมไม่อาจบำบัดความหิวได้ฉันใด ในกรณีของบุคคลผู้เอ่ยถึงปรัชญาแต่ปาก ก็ไม่อาจขจัดความมืดบอดได้ฉันนั้น



*******



เราอาจพูดกันถึงเรื่อง สุญญตา (ความว่าง) เป็นเวลาตั้งแสนกัลป์ก็ได้ แต่ว่าลำพังการพูดอย่างเดียวไม่สามารถทำให้เราเห็นแจ่มแจ้งในจิตเดิมแท้ได้



*******



ในขณะที่คนที่ไร้ปัญญากำลังพากันท่องนามของอามิตาภะและอ้อนวอนขอให้ได้เกิดในแดนบริสุทธิ์อยู่นั้น คนฉลาดก็พากันชำระใจของเขาให้สะอาดแทน เพราะเหตุที่พระพุทธเจ้าไดตรัสไว้ว่า เมื่อใจบริสุทธิ์ แดนแห่งพระพุทธเจ้าก็บริสุทธิ์พร้อมกัน



*******



การเถียงกันย่อมหมายถึง ความดิ้นรนจะเป็นฝ่ายชนะ ย่อมเสริมกำลังให้แก่ความยึดมั่นถือมั่นว่า ตัวตน และย่อมจะผูกพันเราไว้กับความยึดถือ ด้วยความสำคัญว่าตัวตน ว่าสัตว์ ว่าชีวะ ว่าบุคคล



*******



ในการฝึกความนึกคิดของตัวเองปล่อยให้อดีตเป็นอดีต ถ้าเราเผลอให้ความคิดของเราที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต มาจัดติดต่อกันเป็นห่วงโซ่แล้ว ก็หมายถความว่าเราจับตัวเองใส่กรงขัง



*******



ผู้ที่สามารถรักษาจิตของตนไว้ไม่ให้ปั่นป่วนได้ ไม่ว่าจะอยู่ในท่ามกลางสิ่งแวดล้อมชนิดไหนหมด นั่นแหละ ชื่อว่าได้บรรลุถึงสมาธิ



*******



ไม่ว่าสถานการณ์อันใดจะเข้ามาแวดล้อมใจ ก็ไม่ถูกทำให้เปื้อนด้วยวัตถุกามารมณ์อันน่าขยะแขยงด้วยความทะเยอทะยานอยากและตัณหา นั่นแหละ คือคุณชาติอันประเสริญสุดของการได้มาเป็นคน



 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 12 พ.ย.2005, 11:01 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน





อนุโมทนาครับคุณลูกโป่ง



สำหรับท่านใดที่ต้องการเซฟ หรือดาวน์โหลดหนังสือเล่มนี้ไปอ่าน ดาวน์โหลดได้ที่นี่นะครับ

ฉบับ e-book
http://www.dhammajak.net/download/zip/nanadham.zip





 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
I am
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 14 พ.ย.2005, 2:29 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

โมทนาด้วยนะครับ ในธรรมทานของคุณลูกโป่ง สงสัยพิมพ์เมื่อยแย่เลย สาธุ ๆ ๆ ...

ขอ Download ด้วยนะครับ

 
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 18 ก.พ.2006, 11:20 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
อ่านฉบับเว็บไซต์ e-book ได้ที่นี่

http://www.dhammajak.net/book/nanadham/index.php


สาธุ ยิ้มเห็นฟัน
 

_________________
"อย่าลืมตัว อย่าลืมปัจจุบัน อย่าลืมปฏิบัติ"
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง