Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 พระมหากัปปินเถระ (พระอาจารย์สุโข กตปุญโญ) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 19 มิ.ย.2006, 7:12 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

๏ พระมหากัปปินะร่วมโปรด
นางเปรตผู้เป็นอดีตมารดาพระสารีบุตร


วันหนึ่ง ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระอนุรุทธะ และท่านพระมหากัปปินะ ได้อยู่ในราวป่าแห่งหนึ่ง ไม่ไกลจากกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ณ กรุงพาราณสี มีพราหมณ์คนหนึ่ง เป็นคนมั่งคั่งมีทรัพย์มากมีโภคะมาก เป็นดุจบ่อน้ำที่ดื่มบริโภคของสมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทางไกล วณิพก และยาจก ได้ให้สิ่งของมีข้าว น้ำ ผ้า และที่นอนเป็นต้น ตามเวลาและตามความเหมาะสมแก่คนผู้มาถึงแล้ว ในเวลาก่อนอาหารได้อังคาสภิกษุทั้งหลายด้วยข้าวและน้ำเป็นต้น โดยความเคารพ

วันหนึ่งเมื่อพราหมณ์นั้นจะไปธุระยังถิ่นอื่น จึงกล่าวกับภริยาว่า “นางผู้เจริญ เธอจงทำทานตามวิธีที่เราเคยทำ อย่าทำให้ทานนั้นเสื่อมเสีย จงหมั่นดำรงไว้โดยความเคารพ”

ภริยารับคำแล้ว พอสามีหลีกไปเท่านั้น ก็เลิกวิธีที่พราหมณ์นั้นเคยกระทำเพื่อภิกษุทั้งหลายเป็นอันดับแรก เมื่อคนเดินทางเข้าไปเพื่ออยู่อาศัย ก็แสดงศาลาที่เก่าที่ทอดทิ้งไว้หลังเรือน ด้วยคำว่า “พวกท่านจงอยู่ที่ศาลานี้”

และเมื่อคนเดินทางมาในที่นั้นเพื่อต้องการข้าวและน้ำเป็นต้น ก็กล่าวว่า “จงกินคูถ ดื่มมูตร ดื่มโลหิต กินมันสมองของมารดาท่าน” แล้วได้ระบุชื่อของสิ่งที่ไม่สะอาด น่าเกลียด แล้วก็ถ่มน้ำลาย

สมัยต่อมา เมื่อนางสิ้นชีวิตแล้ว ด้วยผลกรรมที่กระทำไว้ก็ได้ไปบังเกิดเป็นเปรต เสวยทุกข์อันเหมาะสมแก่วจีทุจริตของตน นางเปรตนั้นเมื่อหวนระลึกถึงความสัมพันธ์กันในชาติก่อนๆ มีความประสงค์จะมายังสำนักของท่านพระสารีบุตร เมื่อมาถึงประตูวิหาร เทวดาผู้สิงอยู่ที่ประตูวิหารของท่านพระสารีบุตรได้ห้ามนางเข้าวิหาร ด้วยความที่นางเปรตนั้นได้เคยเป็นมารดาของพระเถระในชาติที่ ๕ นับจากปัจจุบันชาตินี้ เพราะฉะนั้นนางจึงกล่าวว่า “ดิฉันเป็นมารดาของพระผู้เป็นเจ้าสารีบุตรเถระในชาติที่ ๕ นับจากปัจจุบันชาตินี้ ขอท่านจงให้ดิฉันเข้าประตูวิหารเพื่อเยี่ยมพระเถระด้วยเถิด”

เทวดาได้ฟังดังนั้นจึงอนุญาตให้นางเข้าไป ครั้นเข้าไปแล้วนางได้ยืนอยู่ ณ ที่สุดที่จงกรม แล้วแสดงตนแก่พระเถระ ครั้นพระเถระได้เห็นนางเปรตนั้น จึงถามด้วยใจอันเมตตากรุณาว่า “ท่านเป็นผู้เปลือยกาย มีรูปร่างน่าเกลียดซูบผอม มีตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น ดูก่อนนางผู้ซูบผอม มีแต่ซี่โครง ท่านเป็นใครหรือ จึงมายืนอยู่ในที่นี้”

นางเปรตจึงได้กราบเรียนว่า “ดิฉันเป็นมารดาของท่านในชาติที่ ๕ นับจากปัจจุบันชาตินี้ ดิฉันเข้าถึงเปรตวิสัย เสวยทุกข์ซึ่งเต็มไปด้วยความหิว และความกระหาย
เมื่อถูกความหิวครอบงำ ต้องกินน้ำลาย น้ำมูก เสมหะ ที่เขาถ่มทิ้ง กินมันเหลวของซากศพที่เขาเผาที่เชิงตะกอน กินโลหิตของพวกหญิงที่คลอดบุตร และโลหิตของพวกบุรุษที่ถูกตัดมือ เท้า และศีรษะ กินเนื้อ เอ็น และข้อมือข้อเท้าเป็นต้น ของชายหญิง กินหนองและเลือดของปศุสัตว์และมนุษย์ทั้งหลาย ไม่มีที่เร้น ไม่มีที่อยู่ อาศัยนอนบนเตียงของคนตายที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ลูกเอ๋ย ขอลูกจงให้ทานแล้วอุทิศส่วนบุญแก่แม่บ้าง ไฉนหนอแม่จึงจะพ้นจากการกินหนองและเลือด”

ท่านพระสารีบุตรเถระได้สดับดังนั้นแล้ว ในวันที่สองจึงได้เชิญพระเถระ ๓ รูป มีท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระอนุรุทธะ และท่านพระมหากัปปินะ มา ท่านพระสารีบุตรเถระพร้อมด้วยพระเถระทั้ง ๓ รูป เที่ยวไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ได้ไปถึงพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าพิมพิสาร ครั้นพระราชาเห็นพระเถระทั้ง ๔ รูปแล้ว จึงกราบเรียนถามถึงเหตุแห่งการมา ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงได้ทูลเรื่องดังกล่าวนั้นแก่พระราชา

พระราชาจึงรับสั่งให้เรียกอำมาตย์แล้วทรงพระบัญชาว่า “ท่านจงสร้างกุฎี ๔ หลังในที่นี้อันสมบูรณ์ด้วยร่มเงาและน้ำอันวิจิตร ไม่ไกลจากตัวเมือง เมื่อกุฎีสร้างสำเร็จแล้ว ให้ตระเตรียม พลีกรรม (คือการสละเพื่อช่วยหรือบูชา มี ๕ อย่าง คือ (๑) ญาติพลี สงเคราะห์ญาติ (๒) อติถิพลี สงเคราะห์แขก (๓) ปุพพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย (๔) ราชพลี ถวายเป็นของหลวง เช่น เสียภาษีอากร (๕) เทวตาพลี ทำบุญอุทิศให้เทวดา) ทั้งหมด ให้เข้าไปตั้งข้าว น้ำ และผ้าเป็นต้น และเครื่องบริขารทุกอย่างที่สมควรแก่ภิกษุสงฆ์ที่มาจากทิศทั้ง ๔ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน แล้วถวายสิ่งทั้งหมดนั้นแด่พระสารีบุตรเถระ”

ลำดับนั้น พระสารีบุตรเถระได้ถวายสิ่งทั้งหมดเหล่านั้นแด่ภิกษุสงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง ๔ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เพื่ออุทิศแก่นางเปรต นางเปรตนั้นได้กระทำอนุโมทนาส่วนบุญนั้นแล้ว ได้ไปบังเกิดในเทวโลก เป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยสิ่งที่น่าปรารถนาทุกอย่าง

ในวันต่อมา นางเปรตได้เข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานะ ไหว้แล้วยืนอยู่ พระเถระสอบถามนางเปรต นางเปรตนั้นจึงได้แจ้งเหตุที่ตนเข้าถึงความเป็นเปรต และเหตุที่ตนเข้าถึงความเป็นเทวดาแก่ท่านพระมหาโมคคัลลานะ

ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระได้กราบทูลเรื่องนี้แด่พระผู้มีพระภาค ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงนำเอาเรื่องนี้เป็นเหตุในการแสดงธรรมแก่พุทธบริษัทผู้เข้าถึงพร้อมแล้ว พระธรรมเทศนานั้นได้มีประโยชน์แก่มหาชนเป็นอันมาก



........................................................

ติดตามตอนต่อไป >> ๑๘
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 19 มิ.ย.2006, 7:16 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ พระพุทธองค์ทรงแสดง
พระมหากัปปินะเป็นตัวอย่าง


สมัยนั้น ในพระนครสาวัตถี พระมหากัปปินะนั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรงดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นพระมหากัปปินะนั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรงดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ครั้นแล้วได้ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเห็นความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายของภิกษุนั้นหรือไม่หนอ ?”

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเวลาใดที่ข้าพระองค์ทั้งหลายเห็นท่านพระเถระนั่งอยู่ในท่ามกลางสงฆ์ หรือนั่งในที่ลับเพียงรูปเดียว ในเวลานั้นข้าพระองค์ทั้งหลายมิได้เห็นความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายของท่านพระเถระนั้นเลย พระพุทธเจ้าข้า”

เพราะเหตุนี้พระพุทธองค์จึงทรงตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายก็ดี ความหวั่นไหวหรือความกวัดแกว่งแห่งจิตก็ดี ย่อมไม่มี เพราะได้เจริญได้กระทำให้มากซึ่งอานาปานสติสมาธิ


ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่ออานาปานสติสมาธิ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายก็ดี ความหวั่นไหวหรือความกวัดแกว่งแห่งจิตก็ดี ย่อมไม่มี ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ที่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรงดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า ..................... (ไปจนจบ ๑๖ ขั้น) ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจเข้า”



........................................................

ติดตามตอนต่อไป >> ๑๙
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 19 มิ.ย.2006, 7:20 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญพระมหากัปปินะ

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นท่านพระมหากัปปินะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ

พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระมหากัปปินะผู้มาแต่ไกล ครั้นแล้วได้ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเห็นภิกษุที่กำลังมานั้นหรือไม่ เป็นผู้ขาวโปร่ง จมูกโด่ง”

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “เห็น พระพุทธเจ้าข้า”

ลำดับนั้น พระพุทธองค์จึงทรงตรัสสรรเสริญชมเชยท่านพระมหากัปปินะว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นแลเป็นผู้มีความสง่างาม มีความสามารถ มีฤทธิ์มาก และมีอานุภาพมาก แต่เธอไม่ได้สมาบัติที่เธอไม่เคยเข้าง่ายนัก เธอกระทำให้แจ้งแล้วซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งของตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ จนกระทั่งเธอสามารถรู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีกต่อไปดังนี้ ก็เธอได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลายในโลก”

ครั้นพระผู้มีพระภาคตรัสพระภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส คำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง ต่อไปว่า
ในชุมนุมชนที่ยังรังเกียจกันด้วยโคตร
(วงศ์สกุลหรือเผ่าพันธุ์) กษัตริย์เป็นผู้ประเสริฐ

ในเทวดาและมนุษย์
ผู้ที่สมบูรณ์ด้วยวิชาและจรณะเป็นผู้ประเสริฐ

พระอาทิตย์ย่อมแผดแสงในเวลากลางวัน
พระจันทร์ย่อมส่องสว่างในเวลากลางคืน
กษัตริย์ผู้ทรงผูกสอดเครื่องรบย่อมมีสง่า
พราหมณ์ผู้เพ่งฌานย่อมรุ่งเรือง

ส่วนพระพุทธเจ้าย่อมรุ่งโรจน์ด้วยเดชานุภาพ
ตลอดเวลากลางวันและเวลากลางคืนทั้งหมด ดังนี้


ต่อมาได้มีการนำคำประพันธ์ประเภทร้อยกรองนั้น มาแปลงเป็นบทสวดชื่อว่า “พุทธมงคลคาถา” ดังต่อไปนี้

พุทฺธมงฺคลคาถา
(สรภัญญะ)


ทิวา ต|ปติ อา|ทิจฺโจ พระอาทิตย์แผดแสงในกลางวัน
รตฺ|ติมาภา|ติ จนฺทิมา พระจันทร์สว่างในกลางคืน
สนฺ|นทฺโธ ขตฺ|ติโย ตปติ กษัตริย์ทรงเครื่องรบย่อมงามสง่า
ฌายี ต|ปติ พฺราหฺ|มโณ พราหมณ์ผู้เพ่งฌานย่อมรุ่งเรือง
อถ สพฺ|พมโห|รตฺตึ ส่วนพระพุทธเจ้าไพโรจน์ด้วยพระเดช
พุทฺโธ ต|ปติ เต|ชสา ฯ ตลอดกลางวันและกลางคืน
เอเต|น สจฺ|จวชฺเชน ด้วยการกล่าวความสัตย์นี้
สุวตฺ|ถิ โห|ตุ สพฺ|พทา ขอความสวัสดีจงมีทุกเมื่อ




........................................................

ติดตามตอนต่อไป >> ๒๐
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 19 มิ.ย.2006, 7:31 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ พระพุทธองค์และพระอรหันต์ ๔ ทิศ
ทรมานพกพรหม


สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหาร อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นมีพรหมองค์หนึ่งชื่อ “พกพรหม” เกิดทิฏฐิคือความเห็นผิดว่า สมณะหรือพราหมณ์ที่จะมาจากพรหมโลกนี้ได้ไม่มีเลย

ในสมัยว่างจากพระพุทธเจ้า พกพรหมผู้นี้เกิดเป็นมนุษย์คฤหบดีผู้มีทรัพย์มั่งคั่งสมบูรณ์ แต่กลับเห็นโทษแห่งฆราวาสวิสัยการครองเรือนนี้ มีแต่โทษทุกข์ระกำใจ ไหนจะต้องตาย ไหนจะต้องเจ็บ ไหนจะต้องแก่ จึงตัดใจแน่วแน่ออกบวชเป็นฤาษี กระทำกสิณบริกรรมและทำสมาบัติให้เกิด ไม่เสื่อมจากฌาน เมื่อสิ้นชีวิตแล้วได้ไปบังเกิดในพรหมโลกชั้นสูงคือ ชั้นเวหัปผลา ในภูมิจตุตถฌาน มีอายุ ๕๐๐ มหากัป ท่านดำรงอยู่ในพรหมโลกชั้นเวหัปผลาตลอดอายุขัย ช่วงเวลาที่เกิดภายหลังฌานแห่งตนถอยหลัง จึงได้ไปบังเกิดในพรหมโลกชั้นสุภกิณหา ในภูมิตติยฌาน มีอายุ ๖๔ มหากัป เสวยสุขอยู่จนสิ้นอายุขัย กำลังฌานแห่งตนถอยหลังลงมาอีก จึงต้องไปบังเกิดในพรหมโลกชั้นอาภัสสรา ในภูมิทุติยฌาน มีอายุ ๘ มหากัป และเมื่อสิ้นอายุขัย กำลังฌานแห่งตนถอยหลังลงมาอีก ฉะนั้น จึงได้ไปบังเกิดในพรหมโลกชั้นมหาพรหมา ในภูมิปฐมฌาน มีอายุ ๑ มหากัป

พกพรหมนั้นรู้กรรมที่ตนได้กระทำไว้ และรู้ถึงสถานที่ที่ตนเกิดในครั้งแรก แต่เมื่อกาลล่วงไปๆ ด้วยเพราะเหตุที่ตนท่องเที่ยวเวียนว่ายเสวยสุขอยู่ในพรหมโลกชั้นต่างๆ เป็นเวลานานหนักหนา จึงได้ลืมกรรมที่ตนได้กระทำ และสถานที่ที่ตนเกิดในครั้งแรกเสียจนหมดสิ้น เลยทำให้เกิดสัสสตทิฏฐิ (ความเห็นว่าเที่ยง คือ ความเห็นว่าอัตตาและโลกเป็นสิ่งเที่ยงแท้ ยั่งยืนคงอยู่ตลอดไป เช่น เห็นว่าคนและสัตว์ตายไปแล้ว ร่างกายเท่านั้นทรุดโทรมไป ส่วนดวงชีพหรือเจตภูตหรือมนัสเป็นธรรมชาติไม่สูญ ย่อมถือปฏิสนธิในกำเนิดอื่นสืบไป เป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างหนึ่งตรงข้ามกับอุจเฉททิฏฐิ (ข้อ ๑ ในทิฏฐิ ๒) ) คือเกิดความเห็นผิดว่า พรหมสถานนี้เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง แข็งแรง มีความไม่เคลื่อนเป็นธรรมดา พรหมสถานนี้แล ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ ก็แต่ว่าสถานที่ออกไปจากทุกข์อย่างอื่นที่ดียิ่งกว่าพรหมสถานนี้ไม่มี

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความปริวิตกแห่งจิตของพกพรหมนั้นด้วยพระทัยของพระองค์แล้ว ได้ทรงหายพระองค์ไปจากพระเชตวันมหาวิหารมาปรากฏในพรหมโลก ทรงประทับนั่งขัดสมาธิในเวหาสเบื้องบนของพรหมนั้น ทรงเข้าเตโชธาตุกสิณ

ฝ่ายท่านพระมหาโมคคัลลานะมีความคิดว่า “บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ” ครั้นท่านพระเถระได้เห็นด้วยจักษุทิพย์ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทับนั่งขัดสมาธิในเวหาสเบื้องบนของพรหมนั้น ทรงเข้าเตโชธาตุกสิณอยู่ ท่านพระเถระจึงได้หายตัวไปปรากฏในพรหมโลก ณ เบื้องทิศบูรพา นั่งขัดสมาธิในเวหาสเบื้องบนของพรหมนั้น แต่ต่ำกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า เข้าเตโชธาตุกสิณ

โดยทำนองเดียวกัน ท่านพระมหากัสสปะได้หายตัวไปปรากฏในพรหมโลก ณ เบื้องทิศใต้ นั่งขัดสมาธิในเวหาสเบื้องบนของพรหมนั้น แต่ต่ำกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า เข้าเตโชธาตุกสิณ

ท่านพระมหากัปปินะได้หายตัวไปปรากฏในพรหมโลก ณ เบื้องทิศตะวันตก นั่งขัดสมาธิในเวหาสเบื้องบนของพรหมนั้น แต่ต่ำกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า เข้าเตโชธาตุกสิณ

ท่านพระอนุรุทธะได้หายตัวไปปรากฏในพรหมโลก ณ เบื้องทิศเหนือ นั่งขัดสมาธิในเวหาสเบื้องบนของพรหมนั้น แต่ต่ำกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า เข้าเตโชธาตุกสิณ

ลำดับนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กล่าวกับพกพรหม ด้วยพระคาถาว่า

“ดูก่อนพรหม แม้วันนี้ท่านก็ยังมีความเห็นผิดอยู่เหมือนเมื่อก่อน
ท่านยังจะเห็นอยู่หรือว่า บนพรหมโลกมีแสงสว่างพวยพุ่งออกได้เอง”


พกพรหมกล่าวว่า

“พระคุณเจ้าผู้นิรทุกข์ ข้าพเจ้าไม่ได้เห็นผิดเหมือนเมื่อก่อน
ที่ว่าข้าพเจ้าเห็นแสงสว่างพวยพุ่งไปเองในพรหมโลก
ไฉนในวันนี้ ข้าพเจ้าจะพึงกล่าวว่า ‘เราเป็นผู้เที่ยงเป็นผู้ยั่งยืน’ ดังนี้เล่า”


เพราะเหตุนี้พระพุทธองค์จึงได้ทรงทรมานพกพรหมนั้นให้สลดใจ แล้วทรงตรัสเล่าถึงประวัติแห่งกรรมวิบากและสถานที่ที่พกพรหมเกิดในครั้งแรก ก่อนที่จะได้มาบังเกิดในพรหมโลกนี้ ท่ามกลางพรหมสันนิบาตนั้น เพื่อให้ละคลายจากมิจฉาทิฏฐิ ไม่ปรากฏมีความเห็นผิดนอกรีตนอกรอยอีกต่อไป ในที่สุดพกพรหมก็ได้บังเกิดความเลื่อมใส และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งพระพุทธองค์เป็นอันมาก ครั้นเห็นควรแก่กาลแล้วจึงชวนพรหมบริษัททั้งปวงส่งเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ากลับมายังมนุษย์โลก ลำดับนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงหายพระองค์ไปจากพรหมโลกนั้น มาปรากฏ ณ พระเชตวันมหาวิหาร โดยรวดเร็ว เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น

พกพรหมได้เรียก พรหมปาริสัชชะ พรหมพวกรับใช้องค์หนึ่งมาสั่งว่า ท่านจงเข้าไปกราบเรียนถามท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า “ข้าแต่ท่านพระเถระ สาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น องค์อื่นๆ ที่มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากเหมือนกับท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสปะ ท่านพระมหากัปปินะ และท่านพระอนุรุทธะ ยังมีอยู่อีกหรือไม่”
เมื่อพรหมปาริสัชชะนั้นเข้าไปกราบเรียนถามพระมหาโมคคัลลานะตามที่ได้รับคำสั่ง ท่านพระเถระจึงได้กล่าวกับพรหมปาริสัชชะว่า

“พระสาวกของพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระอรหันตขีณาสพ
ได้วิชชา ๓ บรรลุอิทธิญาณ ฉลาดในเจโตปริยาญาณ ยังมีอยู่เป็นอันมาก”


ลำดับนั้นแล พรหมปาริสัชชะนั้นจึงได้กล่าวกับพกพรหมตามที่ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้บอก เมื่อพกพรหมได้ทราบความเช่นนั้นแล้ว ก็มีใจปีติยินดีชื่นชมพระภาษิตของท่านพระเถระนั้นเป็นอันมาก



........................................................

ติดตามตอนต่อไป >> ๒๑
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 19 มิ.ย.2006, 7:33 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ ธรรมวาทะของพระมหากัปปินเถระ

พระมหากัปปินเถระได้กล่าว “ธรรมวาทะ” เพื่อเป็นข้อคิดคติธรรม อันจะได้นำเอาไปประพฤติปฏิบัติตามกุศลฉันทะของแต่ละบุคคล มีความว่า “มีปัญญาแม้ไม่มีทรัพย์ยังพออยู่ได้ ขาดปัญญาแม้มีทรัพย์ก็อยู่ไม่ได้ ปัญญาเป็นตัวชี้ขาดศาสตร์ที่เรียนมา ปัญญาทำให้เจริญไปด้วยเกียรติและความสรรเสริญ ผู้มีปัญญาย่อมได้รับความสุขแม้ในสิ่งที่คนอื่นเขาทุกข์กัน”



........................................................

ติดตามตอนต่อไป >> ๒๒
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 19 มิ.ย.2006, 7:48 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ พระมหากัปปินเถระปรินิพพาน

พระมหากัปปินเถระ นอกจากจะเป็นกำลังสำคัญในการช่วยพระบรมศาสดาประกาศพระพุทธศาสนาให้แพร่หลายแล้ว ท่านยังเป็นกำลังสำคัญในการช่วยรักษาพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ และช่วยรักษาพระธรรมวินัยให้เจริญมั่นคงด้วยการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรง และปฏิบัติเหมาะสมตลอดอายุขัยของท่าน

ไม่มีรายละเอียดว่าท่านปรินิพพานอย่างไร ทราบเพียงว่าท่านพระมหากัปปินเถระดำรงอายุสังขารโดยสมควรแก่กาลเวลาแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน



........................................................

ติดตามตอนต่อไป >> ๒๓
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 19 มิ.ย.2006, 7:51 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

๏ นิทานธรรม : พระมหากัปปินะ

ตอนที่ ๑ : อดีตชาติที่ ๑

ในกาลหนึ่ง ณ กรุงพาราณสี
ครั้งนั้นมีพระปัจเจกพุทธเจ้า
อยู่ร่วมกันพันรูปมากมิเบา
ส่งตัวแทนไปเฝ้าพระราชา

เพราะฤดูฝนนั้นใกล้จะถึง
พระท่านจึงดั้นด้นเพื่อค้นหา
สถานที่แอบฝนยามหล่นมา
จึงได้พากันเดินทางเข้าเมืองกรุง

บังเอิญว่าพระราชาทรงไม่ว่าง
เพราะต้องวางแผนการณ์งานวันพรุ่ง
คือมงคลแรกนาขวัญอันจรุง
ภาระยุ่งพระองค์ผลัดอีกสามวัน

พระปัจเจกพุทธเจ้าจึงคิดว่า
จะไปหาอนุเคราะห์ที่อื่นนั่น
คิดแล้วจึงหลบหลีกปลีกไปพลัน
ระหว่างทางนั้นได้พบสบสตรี

นางคือภรรยาหัวหน้า (ช่าง) หูก
บ้านสร้างปลูกอยู่ในพาราณสี
เมื่อทราบความนางใคร่ไป่ยินดี
วันพรุ่งนี้นิมนต์ไปยังบ้านตน

เรามีกันพันรูปนะแม่หญิง
โปรดอย่ากริ่งเกรงใดให้สับสน
ข้าพเจ้ามีกันเป็นพันคน
อย่ากังวลโปรดรับอาราธนา

เมื่อพระท่านขานถ้อยร้อยคำรับ
นางก็กลับบ้านไปใจหรรษา
ป่าวประกาศเรื่องตนรับปากมา
เพื่อนอาสาจัดที่นั่งทั้งอาหาร

ตรงกลางบ้านนางสร้างปะรำใหญ่
สร้างเอาไว้เพื่อเป็นเช่นสถาน
พระปัจเจกฯ จำพรรษายามถึงกาล
ถวายทานร่วมกันนั่นสิ่งดี

ออกพรรษานางชวนเพื่อนทั้งหลาย
ร่วมถวายจีวรเพื่อพรศรี
อนุโมทนาแล้วพระก็จรลี
ผลบุญนี้นำเกิด ณ ดาวดึงส์ ๚




........................................................

ติดตามตอนต่อไป >> ๒๔
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 19 มิ.ย.2006, 7:56 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตอนที่ ๒ : อดีตชาติที่ ๒.....สร้างเสนาสนะ

มาสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า
ชนกลุ่มเก่าได้เกิดอีกครั้งหนึ่ง
พิสุทธิ์ทานทำไว้คงไล้รึง
อีกดวงจิตติดตรึงซึ่งความดี

พวกเพื่อนเกิดในกุฎุมพีบริวาร
เกิดพร้อมกัน ณ สถานพาราณสี
หัวหน้าช่างหูกเป็นบุตรคนมั่งมี
ภรรยาเกิดในกุฏุมพีใหญ่เหมือนกัน

เมื่อถึงวัยได้แต่งงานคู่กาลก่อน
ผลแห่งกรรมนำย้อนดั่งพรสรรค์
จึ่งพรั่งพร้อมเพียบสุขทุกวารวัน
คราหนึ่งนั้นวัดประกาศให้ไปฟังธรรม

เมื่อพวกเขาไปถึงลานวัดนั้น
ในฉับพลันฝนเทเห่กระหน่ำ
พวกมีญาติเป็นพระไม่ตรากตรำ
แต่กุฎุมพีช้ำระกำใจ

เขาทั้งพันต้องฝืนยืนตากฝน
หัวหน้าล้นละอายขายหน้าไซร้
จึงกล่าวกับบริวารถึงปัจจัย
ร่วมเรี่ยไรสร้างเสนาสนะกัน

บริวารฟังแล้วยินดีด้วย
จึงได้ช่วยบริจาคทรัพย์ลงขัน
หัวหน้าเองออกไปให้หนึ่งพัน
ลูกน้องนั้นออกคนละห้าร้อย

ผู้หญิงคนละสองร้อยห้าสิบ
รวบรวมหยิบมอบให้ช่างเพื่อใช้สอย
สร้างปราสาทพันหลังเรือนยอดน้อย
แม้กว้างหน่อยถือเป็นที่ (ประทับ) พระศาสดา

เพราะสิ่งสร้างเสริมก่อต่อจนใหญ่
ทรัพย์จึงไม่พอเพียงเยี่ยงคิดหนา
ต้องเติมทรัพย์ครึ่งจากเดิมเพิ่มออกมา
ทุกถ้วนหน้าเบิกบานสำราญใจ ๚




........................................................

ติดตามตอนต่อไป >> ๒๕
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 19 มิ.ย.2006, 7:58 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
ดอกอโนชา (ดอกอังกาบ) สีขาว


ตอนที่ ๓ : อดีตชาติที่ ๒.....ดอกอังกาบ

แล้วพร้อมกันถวายมหาทาน
ณ วิหารสถานสร้างสำเร็จไซร้
ถวายจีวรแก่สงฆ์ทุกรูปไป
พระพุทธเจ้าได้เป็นประมุขทั้งเจ็ดวัน

ส่วนภรรยาหัวหน้ากุฏุมพี
นางนั้นมีดวงจิตคิดสร้างสรรค์
ถือผอบบรรจุดอกอังกาบนั้น
พร้อมผ้าสีเดียวกันถวายพระศาสดา

เมื่อไปถึงนางบูชาดอกอังกาบ
แล้วหมอบกราบบาทมูลทูลปรารถนา
เกิดชาติใดขอสรีระคล้ายดอกอโนชา
ทั้งนามหนาข้าพเจ้าขอเป็นเช่นดอกนั้น

พระพุทธองค์ทรงอนุโมทนา
ดำรัสว่าจงสำเร็จสมมาดมั่น
ยามพวกเขาตายไปเกิดเทวโลกพลัน
เสพสุขสันต์ตลอดหนึ่งพุทธันดร ๚




........................................................

ติดตามตอนต่อไป >> ๒๖
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 19 มิ.ย.2006, 8:02 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตอนที่ ๔ : คำทำนาย

ในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า
ผองชนเข้าฟังธรรมคำสั่งสอน
ณ วิหารหังสวดีนคร
บุรุษหนึ่งซึ้งซ้อนซ่อนยินดี

บุรุษท่านนั้นคือผู้พิพากษา
กอปรกิจจาในพระนครนี่
ฟังธรรมแล้วให้เกิดความปีตี
แหละท่านมีความคิดพิสิฐนัย

เพราะระหว่างกำลังฟังพระธรรมนั้น
สายตาพลันเหลือบเห็นสงฆ์หนึ่งไซร้
มีตำแหน่งเหนือพระรูปอื่นใด
ฐานะนั้นท่านได้จากพระศาสดา

คืออยู่ในเอตทัคคะตำแหน่ง
ที่เลิศแห่งให้โอวาทภิกษุหนา
เมื่อยินแล้วให้เกิดความศรัทธา
จึงนิมนต์พระมาฉันที่บ้านตน

เมื่อพระพุทธองค์ทรงแล้วเสวยอาหาร
ผู้พิพากษาหมอบคลานประสานสน
ถึงตำแหน่งแฝงเฝ้าเคล้ากมล
พระองค์กล่นเกริ่นกล่าวราวทำนาย

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสว่า
ดูมหาอำมาตย์แกล้วกล้าการณ์ทั้งหลาย
หมอบอยู่แทบเท้าเราเหมือนเดียวดาย
แต่สหายเขามีมากหลากบริวาร

มีวรรณะนัยน์ตาหน้าผ่องใส
มีความปลาบปลื้มใจในสถาน
มียศใหญ่ในกิจราชการ
จะพบพานเสวยสุขทุกภพไป

ด้วยการบริจาคบิณฑบาตนี้
พร้อมทั้งมีความปรารถนาพิสมัย
เขาจะสบพบทุกสิ่งที่ตั้งใจ
ทั้งแสนกัปนับไว้ตลอดกาล

แต่ในกัปซึ่งมีพระศาสดา
พระนามว่า “โคดม” ทรงสถาน
มหาอำมาตย์นี้ได้เป็นธรรมบริวาร
ละสงสารทุกข์ได้ในกัปนี้

เมื่อเขาเป็นสาวกของพระศาสดา
จะชื่อว่า “กัปปินะ” เลิศวิถี
ได้ตำแหน่งสมปรารถนาพายินดี
จะสุขีจวบถึงซึ่ง “นิพพาน” ๚




........................................................

ติดตามตอนต่อไป >> ๒๗
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 19 มิ.ย.2006, 8:04 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตอนที่ ๕ : กำเนิดพระเจ้ามหากัปปินะ

กลุ่มหัวหน้าช่างหูกแลลูกน้อง
คงเที่ยวท่องล่องในวัฏสงสาร
เกิดครั้งใดฝักใฝ่ในบุญทาน
เพื่อนร่วมสานภรรยาช่วยเสริมเติมความดี

ครั้นมาถึงซึ่งสมัย “พระโคดม”
บุญสั่งสมส่งให้ใสราศี
เกิดมาร่วมกันอีกในชาตินี้
ทุกชีวีมีความสุขไร้ทุกข์ใจ

หัวหน้าช่างเกิดแห่งตระกูลราช
ลูกน้องเกิดแก่อำมาตย์สกุลไซร้
ภรรยาเกิดแห่งราชตระกูลต่างเมืองไป
เพื่อนเกิดในสกุลอำมาตย์มิคลาดกัน

พระนางเคยอธิฐานครั้งกาลก่อน
บัดนี้พรย้อนหาพาสุขสันต์
สีผิวดั่งดอกอังกาบฉาบผ่องพรรณ
ด้วยเหตุนั้นได้พระนาม “อโนชา”

ครั้นถึงวัยได้ขึ้นบัลลังก์ราชย์
มีอำมาตย์บริพารเก่าเฝ้ารักษา
“พระเจ้ามหากัปปินะ” นามราชา
กาลต่อมาชนทั้งหมดสมรสกัน ๚




........................................................

ติดตามตอนต่อไป >> ๒๘
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 19 มิ.ย.2006, 8:07 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตอนที่ ๖ : พระเจ้ามหากัปปินะ.....ออกผนวช ๑

พระราชาทรงฝักใฝ่ในบุญทาน
เสมือนกาลในอดีตมิผิดผัน
พระองค์ส่งอำมาตย์ออกทุกวัน
เพื่อสืบสรรพสิ่งใหม่ในโลกา

ในวันหนึ่งพระองค์ทรงม้า “สุปัตตะ”
เป็นพาหนะโปรดมากจากทั้งห้า
ส่วนที่เหลือให้อำมาตย์นั้นขี่มา
พบพ่อค้าห้าร้อยคนสนพระทัย

เพราะพวกเขาแลร่างไร้แววผ่อง
ทั้งหน้าตาแลหมองมิส่องใส
พระดำริคงมาจากแดนไกล
ทรงสั่งให้อำมาตย์นำพวกเขามา

แล้วพระองค์ทรงถามถึงความใหม่
พวกพ่อค้าตอบไปไม่มีหนา
จะมีก็สาวัตถีนครา
สิ่งใหม่อุบัติมาคือพระรัตนตรัย

เมื่อพระองค์ทรงสดับกับความนั้น
พระองค์พลันนั่งนิ่งมิติงไหว
เกิดปีติโสมนัสรัดพระทัย
พระองค์ให้รางวัลงามตามข่าวดี

พระองค์ทรงแลมองเหล่าอำมาตย์
ทรงตรัสมาดปรารถนาพาผ่องศรี
จะเดินทางออกนอกราชธานี
มุ่งไปที่สำนักของพระศาสดา

แล้วพระองค์ทรงจารึกพระอักษร
ก่อนทรงจรจากไปไม่คืนหา
ส่งสาสน์ถึงพระราชเทวีอโนชา
ใจความว่า “เสวยราชแทนพระองค์”

เหล่าอำมาตย์เมื่อเห็นเป็นเช่นนั้น
เขียนสารพลันผันความตามประสงค์
ฝากพ่อค้าถึงภรรยาก่อนเดินดง
แล้วขึ้นม้าตามองค์ราชาไป ๚




........................................................

ติดตามตอนต่อไป >> ๒๙
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 19 มิ.ย.2006, 8:10 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตอนที่ ๗ : พระเจ้ามหากัปปินะ.....ออกผนวช ๒

เส้นทางเดินลำบากแลกันดาร
เพราะต้องผ่านภูผาแลป่าใหญ่
อีกทั้งมีแม่น้ำ (สามสาย) กั้นขวางไว้
จะข้ามได้ต้องอาศัยเรือหรือแพ

พาหนะเหล่านั้นคงยากหา
พระองค์ทรงดำริว่าล่าช้าแน่
หากต้องรอพาหนะจะพ่ายแพ้
ต่อเกิดแก่เจ็บตายวายชีวา

จึงทรงตั้งพระสัตยาธิษฐาน
ขอดวงแก้วสามประการผ่านรักษา
ขอผิวน้ำแกร่งดุจพสุธา
ขอทัพม้าพาข้ามอย่างปลอดภัย

ครั้นทรงสิ้นพระสัตยาธิษฐาน
ทรงประสานอารมณ์มั่นคงไซร้
ระลึกถึง .....พระพุทธคุณ..... หนุนนำชัย
เสด็จข้ามแม่น้ำ (สายแรก) ได้ดั่งปรารถนา

เมื่อมาถึงซึ่งแม่น้ำสายที่สอง
พระองค์ทรงตรึกตรองมองเวหา
รำลึกถึง .....พระธรรมคุณ..... เกื้อหนุนพา
แล้วทรงม้าเสด็จข้ามแม่น้ำไป

สายที่สามสมความตามที่นึก
ทรงระลึกถึง .....พระสังฆคุณ..... ไซร้
ทั้งสามสายพากันข้ามอย่างปลอดภัย
ด้วยพระรัตนตรัยใคร่คุ้มครองผองคนดี ๚




........................................................

ติดตามตอนต่อไป >> ๓๐
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 19 มิ.ย.2006, 8:13 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตอนที่ ๘ : เอหิภิกขุอุปสัมปทา

กล่าวถึงเมืองเรืองนามเขตคามนั่น
คือวิหารเชตวันสาวัตถี
ร้อยยี่สิบโยชน์ห่างจากฝั่งนที
ซึ่งเป็นที่ประทับของพระศาสดา

ทุกเช้ามืดพระองค์ทรงพระจริยวัตร
ทรงตรวจดูเวไนยสัตว์ในโลกหล้า
หากสัตว์ใดเข้าข่ายพระญาณมา
พระพุทธองค์ทรงเมตตาพาพบชัย

ราตรีนั้นพระเจ้ากัปปินะพร้อมบริวาร
เข้าข้องข่ายพระญาณพระองค์ไซร้
พระพุทธองค์ทรงรู้แจ้งแห่งเวไนย
ว่าจักได้บรรลุถึงซึ่ง.....อรหันต์

พระดำริควรออกไปต้อนรับ
เมื่อเสด็จถึงจึ่งประทับ ณ ไพรสัณฑ์
ใต้ต้นนิโครธใกล้ฝั่งแม่น้ำนั้น
ทรงแผ่พระรัศมีวิลาวัณย์อันอำไพ

ครั้นพระราชาเสด็จมาถึงยังที่
ทอดพระเนตรเห็นรัศมีสว่างไสว
ทรงดำริว่าแสงนี้มิใช่ใคร
แน่นอนไซร้คือแสงแห่ง.....พระศาสดา

จึ่งเสด็จลงจากหลังม้านั่น
เหล่าอำมาตย์ทั้งพันทำตามหนา
จากนั้นเดินตามหลังพระราชา
เข้าเฝ้าองค์พระศาสดาตามต้องการ

เมื่อพระราชาถวายบังคมแล้ว
ทรงประทับนั่งแถวหน้าสถาน
ซึ่งเป็นที่อันควรพร้อมบริวาร
พระพุทธเจ้าโปรดประทานพระวาจา

พระพุทธองค์ทรงตรัสตามวาระ
ด้วยธรรมะ.....อนุปุพพิกถา.....
คือไล่ลำดับจากขั้นต่ำเรื่อยขึ้นมา
เพราะปัญญาแต่ละคนไม่เหมือนกัน

ครั้นพระองค์ทรงจบพระเทศนา
พระราชาและอำมาตย์เกษมสันต์
บรรลุถึงซึ่งพระโสดาบัน
พร้อมกันนั้นทูลขอบวชในทันที

.....เอหิภิกขุอุปสัมปทา.....
พระศาสดาทรงพระญาณสานวิถี
ทรงทราบว่าบาตรจีวรในที่นี้
ได้มาจากกรรมดีที่ทำไว้

ดั่งนั้นแล้วทรงเหยียดพระหัตถ์ขวา
ทรงตรัสว่ามาเถิดเป็นภิกษุไซร้
จงประพฤติพรหมจรรย์ทุกวันไป
เพื่อจักได้สิ้นสุดแห่ง.....เวทนา

บริขารแปดพึงได้แก่ภิกษุนั้น
หากเปรียบกันคล้ายเถระหลายพรรษา
ภิกษุเหล่านั้นเหาะสู่ท้องนภา
กลับลงมาถวายบังคมพระพุทธองค์ ๚




........................................................

ติดตามตอนต่อไป >> ๓๑
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 19 มิ.ย.2006, 8:17 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตอนที่ ๙ : พระนางอโนชาเทวีเสด็จออกผนวช

กล่าวย้อนถึงพระนางอโนชา
ครั้นรับสาสน์จากพ่อค้าพาพิศวง
จึ่งตรัสความถามเหตุเจตน์จำนง
พระประสงค์องค์ราชันย์นั้นอย่างไร

พ่อค้าทูลเล่าเรื่องราวทั้งหมด
พระราชินีทรงลดละสงสัย
ทรงปีติปลาบปลื้มเปี่ยมฤทัย
ทรงประทานรางวัลใหญ่ให้พ่อค้า

แล้วตรัสแก่ภรรยาเหล่าอำมาตย์
พระองค์ทรงมุ่งมาดปรารถนา
จะออกบวชอุทิศถวายพระศาสดา
ดุจดั่งพระราชาทรงพาเดิน

ภรรยาเหล่านั้นครั้นฟังแล้ว
ให้ผ่องแผ้วพากันสรรเสริญ
ทั้งทูลขอพระนางร่วมดำเนิน
เพื่อมุ่งสู่ความเจริญจวบนิพพาน

เมื่อเดินทางถึงแม่น้ำสายแรกนี้
พระราชินีทรงตั้งสัตย์อธิษฐาน
ยึด “พระพุทธ” คือบรมครูอาจารย์
ดลบันดาลข้ามแม่น้ำอย่างปลอดภัย

แม้แม่น้ำสายที่สองแลที่สาม
พระองค์ก็ทรงข้ามมาได้ไซร้
สายที่สองยึด “พระธรรม” นำข้ามไป
สายที่สามข้ามได้โดย (ยึด) “พระสงฆ์”

เพราะว่าการระลึกถึง “พระรัตนตรัย”
หวังสิ่งใดมักประสบสมประสงค์
แต่ก็มีอุปสรรคให้พะวง
พระพุทธองค์ทรงบันดาลให้.....ไม่เห็นกัน

เหตุและผลที่ทรงบันดาลฤทธิ์
เพื่อปกปิดอันตรายหลายเสกสรร
ที่ปวงชนสร้างขึ้นมาเองนั้น
เป็นเครื่องกั้นการกระทำนำความดี

ครั้นพระนางเสด็จมาถึงแล้ว
พระพักตร์แผ้วผ่องใสไร้หมองศรี
ทรงกราบทูลถามถึงพระสวามี
พระพุทธองค์ตรัสว่า “ที่นี่” ได้พบกัน

แล้วทรงแสดง.....อนุปุพพิกถา.....
เหล่าบรรดาภิกษุถึง.....พระอรหันต์
กลุ่มพระราชินีบรรลุ.....โสดาบัน
ณ กาลนั้นพระพุทธองค์ทรงคลายมนต์

พระราชาทรงเห็นพระมเหสี
หญิงเหล่านั้นเห็นสามีไม่สับสน
ครองผ้าเหลืองเป็นสงฆ์แล้วทุกคน
หมด กังวลพ้นทุกข์เป็นสุขใจ

เมื่อพระนางทรงเห็นเหตุเช่นนั้น
จึ่งพร้อมกันกับบริวารกรานกราบไหว้
แหละทูลขอบวชตามพระวินัย
เพื่อสะสมบ่มไว้ในกรรมดี

พระพุทธองค์ทรงคำนึงรำพึงหา
พระอุบลวรรณา (เถรี).....กรุงสาวัตถี
ท่านบวชอยู่สำนักภิกษุณี
แหละท่านมี.....เจโตปริยญาณ

จึ่งรับรู้พระดำริพระพุทธเจ้า
จึ่งได้เหาะเข้าเฝ้า ณ สถาน
พระพุทธองค์ทรงตรัสสิ่งต้องการ
ทรงประทานการบวชแก่พระเถรี

ทรงตรัสบอกกับเหล่าอุบาสิกา
ไปเถิดหนาไปสู่สาวัตถี
บรรพชาในสำนักภิกษุณี
พระอุบลวรรณาเถรีจะพาไป

ระยะทางหนึ่งร้อยยี่สิบโยชน์
ก็ถึงที่ที่ทรงโปรดประทานให้
ประพฤติพรตพรหมจรรย์ทุกวันไป
วันหนึ่งได้สำเร็จเป็น .....พระอรหันต์.....๚ ๛




........................................................

ติดตามตอนต่อไป >> ๓๒
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 19 มิ.ย.2006, 8:21 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตอนที่ ๑๐ : ผู้เป็นเลิศในทางการให้โอวาทแก่ภิกษุ

ขอกล่าวย้อนไปยังพระวิหาร (เชตวัน)
คือสถานที่สงบสงัดนั่น
พระมหากัปปินะพักอยู่ที่นั้น
บรรลุเป็นพระอรหันต์ (องค์หนึ่ง) ในโลกา

เพราะเหตุนั้นท่านเกิดความทุกข์จิต
มีความคิดเรื่องอุโบสถเคยรักษา
อีกทั้งกิจสังฆกรรมเคยทำมา
ท่านคิดว่าควรมิควรทำต่อไป

บัดดลนั้นพระพุทธเจ้าทรงรู้วาระจิต
ว่าความคิดนั้นหนาพาหวั่นไหว
พระพุทธองค์ทรงมีความห่วงใย
ทรงแสดง (พุทธานุภาพ) ออกไปในทันที

แลเสมือนปรากฏองค์อยู่ตรงหน้า
ของพระมหา-กัปปินะผู้ผ่องศรี
แล้วพระองค์ทรงพุทธพจนี
พระกัปปินะเห็นแจ้งดีมีสุขใจ

พระพุทธพจน์นั้นมีใจความว่า
หากพวกเธอมิบูชาอุโบสถไซร้
อีกสังฆกรรมเลิกทำกันต่อไป
ก็จะไม่มีผู้ใดไหนทำเลย ๚

ในครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ทรงทอดพระเนตรเห็น
พระกัปปินะนั่งเด่นหน้าวางเฉย
กายตั้งตรงทรงสติไว้อย่างเคย
ทรงกล่าวเอ่ยถามความในทันใด

“ดูก่อนเหล่าภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย”
เธอเห็นกายของกัปปินะไหม
พระเถระรูปนั้นนั่งอย่างไร
มีการไหวเอนเอียงหรือตั้งตรง

ภิกษุว่ามิเคยเห็นความเอนไหว
ของพระเถระรูปนี้ไซร้ในหมู่สงฆ์
แม้ท่านอยู่เพียงลำพังยังดำรง
กายตั้งตรงคงอยู่ตลอดเวลา

พระพุทธองค์ทรงตรัสว่าดีแล้วหนอ
ความไหวต่อกายและใจไม่มีหนา
แก่ผู้ที่ดับกิเลสด้วยปัญญา
คือเจริญ “อานาปานสติ” อย่างมั่นคง

พระกัปปินะยินแล้ว (จึง) ประกาศว่า
การเจริญอานาปานสติมิมีหลง
เป็นคำสอนของพระศาสดามาโดยตรง
จิตดำรงคงสติมิแกว่งไกว

หากผู้ใดเจริญอานาฯ สมบูรณ์ดี
ทำตามที่พระองค์ทรงวางให้
จิตจะผ่องดุจจันทร์ผันอำไพ
โลกนี้ไซร้ (ก็) ใสสุกทุกทิศา ๚

พระมหากัปปินะมิว่าอยู่แห่งใด
ท่านจักได้เปล่งเสียงอุทานหา
“สุขจริงหนอ สุขจริงหนอ” ตลอดเวลา
ภิกษุพากันหวั่นวิตกใจ

เพราะคิดว่า (พระเถระ) นึกถึงสมบัติเก่า
จึงพากันเข้าเฝ้ากราบทูลไซร้
แม้พระองค์ทรงรู้แจ้งเหตุเป็นไป
แต่ยังรับสั่งให้เรียกพระเถระมา

พระองค์ทรงตรัสถามถึงสาเหตุ
พระกัปปินะตอบเจตน์แห่งกังขา
ท่านเอิบอิ่มปริ่มสุขด้วยธรรมา
ใช่มหา-สมบัติที่เคยมี

พระพุทธองค์จึงตรัสแก่ภิกษุว่า
สุขจากธรรมนำมาพาผ่องศรี
พระกัปปินะเป็นผู้ประพฤติดี
เป็นผู้ที่ปรารภถึง “อมตมหานิพพาน”

แล้วพระองค์ทรงตรัสถามพระกัปปินะ
เธอผู้ละกิเลสทุกสถาน
เคยบ้างไหมแสดงธรรมบางประการ
สั่งสอนศิษย์พ้นมารปราศจากภัย

พระเถระกราบทูล “ไม่เคยพระเจ้าข้า”
พระพุทธองค์ทรงตรัสว่าอย่ากระนั้นไซร้
นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
เธอจงได้สอนภิกษุทั้งหลายนี้

พระกัปปินะน้อมรับพุทธฎีกา
กาลต่อมายกธรรมแสดงแจงวิถี
เพียงครั้งเดียวศิษย์ทั้งหลายเข้าใจดี
จึงเกิดมี “พระอรหันต์” เพิ่มขึ้นมา

พระกัปปินะใช่สอนเพียงภิกษุนั่น
ภิกษุณีเช่นกันท่านสอนหนา
เป็นธรรมะเกี่ยวเนื่องเรื่องปัญญา
เป็นทรัพย์ที่มีค่ากว่าเงินทอง ๚




........................................................

ติดตามตอนต่อไป >> ๓๓
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 19 มิ.ย.2006, 8:24 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตอนที่ ๑๑ : พระธรรมเทศนา-พระเถระปรินิพพาน

.....ผู้มีปัญญา.....

หากผู้ใดเห็นกิจมีประโยชน์
แล้วรีบโลดแล่นทำนำสนอง
ก่อนศัตรูแลอมิตรคิดครอบครอง
ชนยกย่องว่าเป็นผู้ “มีปัญญา”

บุคคลใดสิ้นทรัพย์ได้รับทุกข์
จะพบสุขสักครั้งมิได้หนา
บุคคลนั้นถือเป็นผู้ “ไร้ปัญญา”
ขาดพินิจคิดพาตนให้พ้นภัย

ตรงกันข้ามกับผู้ที่มีปัญญา
แม้สิ้นทรัพย์กลับหาความสุขได้
เพราะปัญญาพาดำเนินเดินต่อไป
ชีวิตไม่อับจนพ้นทรมาน

.....“ความไม่เที่ยง” สอนภิกษุณี.....

ความไม่เที่ยงเลี่ยงไม่ได้ในโลกนี้
ก็คือมีความเกิดดับจับสถาน
ไม่มีใครไป่ดำรงยงอยู่นาน
ยามถึงกาลก็ต้องตายวายชีวัน

ชีวิตที่มีประโยชน์ต่อใครใคร
ก็จักไร้คุณค่าแก่คนตายนั่น
การร้องไห้ถึงคนที่ตายแล้วนั้น
เป็นการบั่น-ทอน (ความ) คิดแลจิตใจ

การร้องไห้ไร้ประโยชน์แลคุณค่า
อันดวงตาก็จักเสียไม่สดใส
อีกร่างกายก็ถอยลดกำลังไป
ผิวพรรณไซร้ก็จะเสื่อมมิน่ามอง

สมณะพราหมณ์ก็จักไม่สรรเสริญ
ความเจริญจักไร้ผลสนสนอง
ศัตรูย่อมยินดีด้วยคอยครอง
มิตรพลอยหมองทุกข์ใจไปด้วยกัน

ภิกษุณีเหล่านั้นครั้นฟังแล้ว
ก็เพริศแพร้วสุขใจไร้โศกศัลย์
ปฏิบัติในกิจถูกต้องพลัน
ประโยชน์นั้นก็บังเกิดแก่ภิกษุณี

พระบรมศาสดาจึงได้ทรงยกย่อง
พระกัปปินะผู้ใสส่องผ่องราศี
เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายนี้
ในด้านที่ “สั่งสอนแลอบรม”

พระมหากัปปินะเถระละสังขาร
เพราะถึงกาลอายุขัยได้สุขสม
ท่านดับขันธ์เข้าสู่แดนเหนือชั้นพรหม
ณ บรมศานติสุข ....คือนิพพาน...๚ ๛



------------ จบบริบูรณ์ ------------

สาธุ สาธุ สาธุ
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 19 มิ.ย.2006, 8:27 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

คำอธิบายเพิ่มเติม

เอตทัคคะ เป็นตำแหน่งทางพระพุทธศาสนาที่พระบรมศาสดาได้ประทานแต่งตั้งให้พุทธบริษัท คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ผู้มีความรู้ความสามารถเป็นเลิศเด่นกว่าท่านอื่นๆ ในด้านนั้นๆ และแต่ละตำแหน่งพระบรมศาสดาประทานแต่งตั้งเพียงรูปเดียว ท่านเดียวเท่านั้น

เอตทัคคะในพระพุทธศาสนา
-- หมวดภิกษุ มีทั้งหมด ๔๑ ท่าน
-- หมวดภิกษุณี มีทั้งหมด ๑๓ ท่าน
-- หมวดอุบาสก มีทั้งหมด ๑๐ ท่าน
-- หมวดอุบาสิกา มีทั้งหมด ๑๐ ท่าน

การที่พระบรมศาสดาทรงยกย่องพุทธบริษัททั้ง ๔ ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะนั้น พระพุทธองค์ทรงใช้หลักเกณฑ์และเหตุผล ๔ ประการ คือ

(๑) โดยเหตุเกิดเรื่อง คือ ได้รับการยกย่องตามเรื่องที่เกิดขึ้น (อตฺถุปฺปตฺติโต) ได้แสดงความสามารถออกมาให้ปรากฏโดยสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

(๒) โดยการมาก่อน คือ ได้รับการยกย่องตามที่ได้สะสมบุญมาในอดีตชาติ (อาคมนฺโต) ได้สร้างบุญสะสมในด้านนั้นมาตั้งแต่อดีตชาติ พร้อมทั้งตั้งจิตปรารถนาเพื่อบรรลุตำแหน่งเอตทัคคะนั้นด้วย

(๓) โดยเป็นผู้ช่ำชองชำนาญ คือ ได้รับการยกย่องตามความเชี่ยวชาญ (จิณฺณวสิโต) มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องเป็นพิเศษสมตามที่ตั้งจิตปรารถนามา

(๔) โดยเป็นผู้ยิ่งด้วยคุณ คือ ได้รับยกย่องตามที่มีความสามารถเหนือผู้อื่น (คุณาติเรกโต) มีความสามารถในเรื่องที่ทำให้ได้รับตำแหน่งเอตทัคคะเหนือกว่าผู้อื่นที่มีความสามารถอย่างเดียวกัน
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 19 มิ.ย.2006, 8:29 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

บรรณานุกรม

(๑) หนังสือ อสีติมหาสาวก
ผศ.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ, พิมพ์ครั้งที่ ๑ พ.ศ.๒๕๔๘

(๒) หนังสือ ชีวประวัติพุทธสาวก (อสีติมหาสาวก) เล่ม ๓
อ.จำเนียร ทรงฤกษ์, พิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๘

(๓) หนังสือ อสีติมหาเถระสาวก ๘๐ พระอรหันต์
ธรรมสภาและสถาบันบันลือธรรม, พิมพ์ครั้งที่ ๑ พ.ศ.๒๕๔๘

(๔) หนังสือ เอตทัคคะในพระพุทธศาสนา
พระครูกัลยาณสิทธิวัฒน์ (สมาน พรหมอยู่/กัลยาณธัมโม)
พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๔๔

(๕) หนังสือ พุทธสาวก พุทธสาวิกา
ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก, พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๔๘

(๖) หนังสือ ธรรมบท ทางแห่งความดี เล่ม ๒
อ.วศิน อินทสระ, พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ.๒๕๔๗

(๗) หนังสือ อนุพุทธประวัติ ๘๐ องค์
คณาจารย์โรงพิมพ์เลี่ยงเชียง, พิมพ์ครั้งที่ ๑ พ.ศ.๒๕๓๕

(๘) พระไตรปิฎกเล่ม ๔ ข้อ ๑๕๓
พระไตรปิฎกเล่ม ๑๒ ข้อ ๕๕๑-๕๕๖
พระไตรปิฎกเล่ม ๑๕ ข้อ ๕๗๓-๕๘๕
พระไตรปิฎกเล่ม ๑๖ ข้อ ๗๒๒-๗๔๔
พระไตรปิฎกเล่ม ๑๙ ข้อ ๑๓๒๑-๑๓๒๖
พระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ ข้อ ๙๙ , ๓๗๒
พระไตรปิฎกเล่ม ๓๓ ข้อ ๑๒๓
อรรถกถาแปลเล่ม ๕๒ หน้า ๓๔๘
อรรถกถาแปลเล่ม ๗๒ หน้า ๒๓๐

(๙) หนังสือ พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), พิมพ์ครั้งที่ ๑๐ พ.ศ.๒๕๔๖

(๑๐) นิทานธรรม : พระมหากัปปินะ
ประพันธ์โดย ผู้ใช้นามปากกา sweet lemon
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
ด.ญ. นภาพร แก่นแก้ว
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 28 ก.ค.2006, 8:20 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ สาธุ สาธุ
 
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง