Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 คนเก่งและดีต้องมีความสุข : พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 15 ส.ค. 2004, 1:30 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

คนเก่งและดีต้องมีความสุข
โดย พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต)


วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
แขวงกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร



มีธรรมะของพระพุทธเจ้าอีกหมวดหนึ่ง เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเป็นนักบริหารที่เก่ง ดีและมีสุข ธรรมะที่ว่านั้น ได้แก่ พละหรือกำลังภายใน ๔ ประการ คือ

๑. ปัญญา คือ ความฉลาดรอบรู้
๒. วิริยะ คือ ความขยันขันแข็ง
๓. อนวัชชะ คือ การทำงานดีด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
๔. สังคหะ คือ การผูกใจคนด้วยมนุษยสัมพันธ์

ธรรมะ ๒ ข้อแรกทำให้เป็นคนเก่ง ความเก่งเกิดจากความฉลาดบวกกับความขยัน นักบริหารแบ่งคนออกเป็น ๔ ประเภทตามส่วนผสมของความฉลาดและความขยัน นั่นคือ

ประเภทที่ ๑ ทั้งฉลาดและขยัน
ประเภทที่ ๒ ฉลาดแต่เกียจคร้าน
ประเภทที่ ๓ โง่และขยัน
ประเภทที่ ๔ ทั้งโง่และเกียจคร้าน

คนที่ทำงานกับท่านมี ๔ ประเภท แต่ท่านจะโชคดีหรือโชคร้ายขึ้นอยู่กับว่า ท่านมีลูกน้องหรือเพื่อนร่วมงานประเภทไหนมากกว่ากัน พวกแรกฉลาดและขยันได้เกรด A ดีมาก ทำงานไปนานได้เลื่อนขึ้นเป็นผู้บริหาร เพราะเป็นคนฉลาด อ่านคนออก ตีแผนออกและสนองงานได้ถูกใจผู้ใหญ่ จึงเป็นลูกน้องเราไม่นานก็ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บริหาร

ส่วนคนที่เหลือเป็นลูกน้องเรานานๆ มักเป็น ๓ ประเภทที่เหลือ คือ พวกฉลาดแต่เกียจคร้าน พวกโง่และขยัน และพวกที่ทั้งโง่และเกียจคร้าน ขอถามสักนิดว่าถ้าท่านจะเลือกลูกน้องสักคน ท่านจะเลือกประเภทไหน ระหว่างคนฉลาดแต่เกียจคร้าน กับคนที่โง่และขยัน ….. ท่านผู้ว่าฯ เลือกคนฉลาดแต่เกียจคร้าน ท่านอื่นว่าอย่างไร ? หรือ จะเลือกตามท่านผู้ว่าฯ ที่ว่ามานี้เป็นการเลือกลูกน้อง

ทีนี้ถ้าให้เลือกคนมาเป็นสามีหรือภรรยา ท่านชอบประเภทไหน ระหว่างคนฉลาดแต่เกียจคร้าน กับ คนโง่และขยัน ส่วนใหญ่ในที่นี้ยกมือเลือกคนโง่และขยัน เพราะคนประเภทนี้ไม่เรื่องมากดีใช่ไหม ? ทำไมเวลาท่านเลือกลูกน้องจึงชอบพวกฉลาดแต่เกียจคร้าน ? ถ้าท่านมีลูกน้องครบทั้งสี่ประเภท คือ ฉลาดและขยัน ฉลาดแต่เกียจคร้าน โง่และขยัน โง่และเกียจคร้าน ท่านจะใช้คนแต่ละประเภททำงานอะไร สำหรับแต่ละคนมีวิธีใช้งานต่างกัน

กองทัพสมัยก่อนมีวิธีใช้ทหารทำงานคนละแบบ ทหารมีครบทั้ง ๔ ประเภท ทหารคนไหนฉลาดและขยัน กองทัพจะตั้งให้เป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้บัญชาการคุมกำลัง เพราะวางแผนเก่งและปลุกระดมเก่ง ทหารคนไหนฉลาดแต่เกียจคร้าน กองทัพจะตั้งให้ทำงานด้านวางแผนเป็นเสนาธิการ ถ้าเป็นคนทั่วไปก็ให้เป็นที่ปรึกษา ทหารคนไหนโง่แต่ขยันเป็นหัวหน้าใหญ่ไม่ได้ ประเดี๋ยววางแผนพลาดยิงพวกเดียวกันเพราะคำนวณพลาด กองทัพจะตั้งพวกนี้เป็นพวกคุมกำลังระดับล่าง เป็นหน่วยจรยุทธ์ หรือหน่วยทะลวงฟันเป็นพวกแรมโบ้ ทหารที่โง่และเกียจคร้าน กองทัพก็มีวิธีใช้ คือ ให้เป็นหน่วยลาดตระเวน มีกับระเบิดตรงไหน ส่งคนพวกนี้ล่วงหน้าไปก่อน

เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเป็นผู้นำระดับบริหารต้องเป็นคนประเภทแรก คือฉลาดและขยัน บางคนฉลาดและขยัน เก่ง แต่ก็ไม่ได้ขึ้นสูง เป็นบอนไซอยู่แค่นั้น ไปถามผู้ใหญ่ว่าทำไมคนนี้ไม่ได้ขึ้นทั้งที่เก่งและดี ผู้ใหญ่บอกว่าอะไรๆ เขาก็ดีนะท่าน แต่เสียอย่างเดียวคือ เลว เขาฉลาดโกง ขยันโกง อยู่ใกล้เงินไม่ได้ เสกหายหมด การเป็นผู้บริหารที่มีสมรรถภาพ นอกจากความฉลาดขยันแล้ว ต้องมีความซื่อสัตย์ด้วย ความซื่อสัตย์เรียกว่า อนวัชชะ ทำงานไม่มีที่ติ ไม่มีโทษ ประวัติดี

ธรรมะของพระพุทธเจ้าต้องไปด้วยกัน เหมือนกับยาเป็นชุดต้องทานทุกเม็ด ธรรมะ ๔ ข้อนี้จะขาดข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้ บางคนซื่อแต่โง่ เรียกว่า เซ่อ ซื่อบื้อโดนลูกน้องหลอกอยู่เรื่อย หัวหน้าจึงต้องซื่อและฉลาดด้วย บางคนฉลาดแต่เกียจคร้าน เรียกว่าขลาด ไม่ทำงานเพราะกลัวมีปัญหา บางคนขยัน แต่โง่เรียกว่าบ้าบิ่น คนที่เป็นวีรบุรุษจะฉลาด รู้ว่ามีปัญหา แต่ฉันก็จะขยันและก็ตั้งใจจริงด้วย วีรบุรุษมีน้ำใจต่อคนอื่นและวีรบุรุษจะมีธรรมครบ ๔ ข้อเลย

บางคนฉลาด ขยัน ซื่อสัตย์ แต่ไม่ได้เลื่อนตำแหน่ง คนก็ไม่ยกย่อง เป็นฮีโร่กับเขาไม่ได้ ทั้งที่เป็นคนตรง เป็นคนซื่อ แต่คนไม่ชอบไม่ยกย่อง เขาเป็นวีรบุรุษ ผู้ใหญ่ก็ไม่ยกย่อง ไปถามผู้ใหญ่ว่า คนนี้เขาก็ดีนี่ ทำไมไม่ยกย่อง หัวหน้าหรือผู้ใหญ่ก็บอกว่าเขาดี แต่สงสัยจะเป็นคนดีที่โลกไม่ต้องการ ไปอยู่ที่ไหนก็เป็นคนตรง ทะเลาะกับเขาไปทั่วหมด ผู้ทะเลาะสิบทิศ โหงวเฮ้งไม่ดี ดูหมอนี่ซิ คิ้วอย่างกับคิ้วราชสีห์ จมูกสิงโต นัยน์ตาเหยี่ยว เสียอย่างเดียวที่ปากสุนัข เพราะไม่มีสังคหวัตถุข้อ ๒ คือ ปิยวาจา

ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา สมานัตตา หมายถึง โอบอ้อมอารี วาจาไพเราะ สงเคราะห์ประชาชน วางตนพอดี คือ สังคหวัตถุ หรือมนุษยสัมพันธ์นั้นเอง คนเก่งและดีเข้ากับใครๆ ได้ มีมนุษยสัมพันธ์ทำงานดี นับว่าลดปัญหาไปครึ่งหนึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในชีวิต แต่คนที่เก่งและมีคนรักบางคนอาจจะเป็นคนที่มีปัญหา อาจเป็นคนที่ท้อถอยเพราะขาดธรรมไปข้อหนึ่ง คือ ขาดวิริยะ วิริยะมาจาก วีระ แปลว่ากล้า เจอปัญหาฉันก็จะบุก คนขาดวิริยะก็หมดกำลังใจแล้ว คนดีๆ อาจคิดฆ่าตัวตายเพราะขาดวิริยะ

คนที่สุขภาพจิตดีไม่กระทบกันง่าย เหมือนคนสุขภาพกายดีจะมีความอดทน นักมวยที่แข็งแรงโดนต่อยเข้าไปจะทนได้ ดังนั้นถ้าท่านมีธรรมะทั้ง ๔ ข้อ คือ ปัญญา วิริยะ อนวัชชะ และสังคหวัตถุ ก็จะทำให้ท่านมีสุขภาพจิตที่ดีนั่นเอง


(มีต่อ 1)
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 15 ส.ค. 2004, 1:46 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ลักษณะสุขภาพกายและสุขภาพใจ

สุขภาพกายที่ดีต้องมีความแข็งแรง ทนทาน และยืดหยุ่น ซึ่งตรงกับสุขภาพใจที่ดีที่ต้องมี มโนมยิทธิ ขันติ และมัตตัญญุตา , แข็งแรง (Strong) = สัจจะ ทมะ , ทนทาน (Persevere) = ขันติ , ยืดหยุ่น (Flexible) = จาคะ , คนที่มีสุขภาพกายดี คือ แข็งแรง นักกีฬาต้องแข็งแรง กล้ามเนื้อดี ยกของหนักได้ และมีความทนทาน ทำงานได้ทน ขึ้นตึกชั้นที่ ๙ ขณะลิฟท์เสียก็ยังไม่ต้องนั่งพักทุกชั้น แล้วก็ยืดหยุ่นกระดูกข้อต่อต่างๆ ดี ล้มก็ไม่หักง่าย

สุขภาพใจก็คล้ายๆ กัน ความแข็งแรงในคนที่มีกำลังใจเรียกว่า will power เป็นคนตั้งใจจริงเพราะมีสัจจะ เมื่อกำลังใจพัฒนามากขึ้นด้วย ทมะคือการฝึกฝนก็จะเกิดมโนมยิทธิ "มโนมัย" แปลว่า เกิดจากใจ "อิทธิ" แปลว่า ความสำเร็จ มโนมยิทธิ จึงหมายถึงความสำเร็จที่เกิดจากกำลังใจ มโนมยิทธิเป็นฤทธิ์อย่างหนึ่งที่ทำให้กระแสจิตกล้าแข็ง เราอาจใช้กระแสจิตสะกดคนได้ เช่น นักพูดไฮด์ปาร์ค เวลาปราศรัยจะสะกดคนเพราะมีมโนมยิทธิจูงใจคนได้ มโนมยิทธิขั้นต้นคือมี will power กระแสจิตแรงกล้า

หลวงวิจิตรวาทการเล่าว่า มุสโสลินีเป็นคนที่มีกระแสจิตแรงกล้า เขาจัดห้องทำงานเป็นห้องโถงโล่งๆ ตั้งโต๊ะทำงานของเขาไว้ตรงมุมสุดของห้อง คนที่มาหาจะเข้าประตูเดียวตรงหน้าเขาแล้วต้องเดินตรงมาหาเขา พอประตูเปิดเขาก็นั่งมองคนที่เดินมาหาเขา บางคนที่ประสงค์ร้ายต่อเขาจะมีพิรุธออกมา บางทีถึงกับเข่าอ่อนเลยเพราะสู้กระแสจิตมุสโสลินีไม่ไหว

กระแสจิตมี ๒ กระแส คือ กระแสแรงและกระแสอ่อน อย่างแรกคือกระแสแรง คนที่มีกระแสจิตแรงในทางลบทำให้คนกลัวเพราะมีสมาธิและโทสะแรงกล้า กระแสจิตเป็นเรื่องธรรมดา ท่านนั่งในรถและปิดกระจกรถให้หมดแล้ว มองคนเดินผ่านด้วยกระแสจิตที่ต่อเนื่องมีสมาธิในการมอง คนที่ไม่มีสมาธิกระแสจิตอ่อน ก็จะหันไปสนใจเรื่องอื่น แต่คนไหนมีสมาธิมองอย่างต่อเนื่องนานๆ คนถูกมองจะรู้ตัว บางทีท่านคงเคยรู้สึกว่ามีคนมองเราหรือสะกดรอยตามเรา อันนี้เป็นความจริงที่ศึกษากันในวิชา Parapsychology กระแสจิตแบบนี้เรียกว่า กระแสจิตแรงกล้า คือมีสมาธิบวกกับโทสะ หรือสมาธิบวกกับวิริยะ ถ้าเป็นแบบหลังจะดีกว่า

อีกกระแสหนึ่งเป็นกระแสที่ดีเหมือนกันคือ กระแสอ่อน เพราะแผ่เมตตา ตรงข้ามกับกระแสโกรธที่จะข่มคน เวลาเราโกรธแล้วมองเด็ก เด็กจะร้อง แต่เด็กก็แปลก ผู้ใหญ่คนไหนรักเขา เขารู้นะ เหมือนกระแสจิตถึงกัน เด็กจะชอบเขา เราไปหาหลวงพ่อที่คนไปกราบไหว้มากๆ คนนิยมไปหาท่านเพราะท่านมีเมตตาสูงจนเรารู้สึกได้ กระแสจิตที่ดีหมายถึงกระแสจิตที่สมาธิบวกกับเมตตา ถ้าสมาธิบวกกับโทสะจะเป็นอัตตาธิปไตย สำหรับธรรมาธิปไตยต้องหัดแผ่เมตตา ให้ความรักความปรารถนาดีแก่คนอื่น

ถ้าเรามีสมาธิบวกกับเมตตา เราจะได้กระแสจิตที่แข็ง คุมคนอยู่และคนรัก แต่ถ้าสมาธิบวกกับโทสะ ท่านแข็งแกร่ง แต่คนเกรงกลัว กระแสจิตเป็นเรื่องที่เวลาทำงานด้วยกันจะรู้กัน คนยอมลงกันนั้น บางทียอมตามเพราะความเกรงกลัวก็มี ยอมตามด้วยความรักก็มี ที่ยอมตามด้วยความรักเพราะกระแสจิตเรามีสมาธิบวกกับเมตตา นี่คือ กำลังใจที่เข้มแข็ง ดังภาษิตที่ว่า แข็งแรงแต่อย่าแข็งกระด้าง อ่อนโยนแต่อย่าอ่อนแอ

นอกจากจะเข้มแข็งแล้ว สุขภาพจิตที่ดีต้องทนทานและยืดหยุ่น ความทนทานมาจากขันติคือความอดทน ได้แก่ ทนลำบาก ทนตรากตรำ และทนเจ็บใจ แม้ลำบากเพียงไหนก็สู้ได้ ไม่ยอมแพ้ง่ายดาย ไม่ใช่คนเปราะบางที่แตกหักง่าย แต่บางคนเปราะบางมาก จึงแตกหักง่ายเพราะไม่ยืดหยุ่น บางคนตกเหมือนก้อนดินคือแตกไปเลย บางคนตกเหมือนลูกปิงปองที่กระดอนขึ้นมาอีก

ท่านลองดูรถยนต์ที่วิ่งได้ดี แม้จะตกหลุมตกร่องเพลาก็ไม่หัก เพราะมีตัวกันกระเทือนที่เรียกว่า โช้คอับ หรือ Shock absorber เราต้องติดโช้คอับให้กับใจของเรา เวลาปะทะกับเรื่องร้ายจะไม่แตกหัก เช่น ฝึกคิดในแง่ขำขัน ฝึกให้อภัย และใช้คำว่า "ไม่เป็นไร" บ่อยขึ้น นั่นคือปฏิบัติธรรมข้อจาคะคือสละสิ่งไม่ดีออกไปจากจิตใจ

สุขภาพใจที่แข็งแรง ทนทาน และยืดหยุ่น เป็นลักษณะของใจที่มีธรรมะ ๔ ประการ คือ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ คนขาดธรรมะเหล่านี้ สุขภาพใจไม่แข็งแรง ไม่ทนทานและไม่ยืดหยุ่น พอถูกเชื้อโรค คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลงรุกรานก็ทุกข์มาก เพราะเปราะบางต่อกิเลสความโลภมาก ทำให้เสียสุขภาพใจ พออยากได้แล้วไม่ได้ดังใจก็ผิดหวัง เกิดความคับข้องใจ ยมปิจฉํ น ลภติ ตมปิ ทุกข ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ปิเยหิ วิปปโยโค ทุกโข พลัดพรากจากของรักคนรักเป็นทุกข์ อปปิเยหิ สมปโยโค ทุกโข ประสบสิ่งที่เราไม่รักก็เป็นทุกข์ ความโกรธคือขัดเคืองใจเพราะไม่ได้ดังปรารถนา กลายเป็นความอาฆาตพยาบาท

จำพิฆาตเพื่อนรักให้ตักษัย
ผลประโยชน์ขัดกันต้องบรรลัย
ตายเสียได้ข้างหนึ่งจึงจะดี

บางคนโกรธมากๆ เอาปืนมายิงเพื่อนร่วมงานตายก็มี ความหลงคือเชื่อผิดเข้าใจผิด พอเข้าใจผิดมากก็เห็นผิดเพี้ยน จากความเป็นจริงที่เรียกว่า Out of Reality เช่น บางคนเคยมีเงินมากๆ พอถูกโกงไปก็สร้างภาพว่าตัวเองเป็นมหาเศรษฐี เคยไปบรรยายธรรมให้หมอและพยาบาล ที่โรงพยาบาลรักษาโรคจิตฟัง ปรากฏว่าก่อนจะเข้าห้องบรรยายก็นั่งรอความพร้อมอยู่ข้างนอก มีผู้ชายคนหนึ่งแต่งตัวโก้ถือแฟ้มเข้ามา พอมาเจอพระปั๊บแกหยุดปุ๊บ มองหน้าแล้วแกก็เปิดแฟ้ม แล้วแกก็มองหน้า ท่าทางคล้ายเป็นหมอที่นี่ เข้าใจว่าเราเป็นคนไข้ของเขาที่หนีไปบวช จึงถามเขาว่า "มีอะไรหรือโยม"

เขาบอกว่า "ของหายซิท่าน" ตอบแล้วมามองหน้าเรา คงนึกว่าเราขโมย

อาตมาถามต่อว่า "อะไรหายหรือโยม"

"มะพร้าวหาย"

"ลูกมะพร้าวหรือ ?"

"ไม่ใช่" เขาตอบเสียงขรึม

"หน่อมะพร้าวหายหรือ ?"

"ไม่ใช่ ต้นใหญ่ลูกเต็มต้นเลย ไม่รู้มือดีที่ไหนมันขโมยไป" เขาตอบ พร้อมกับบ่นพึมพำ


(มีต่อ 2)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 15 ส.ค. 2004, 2:05 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อาตมานึกในใจว่ามะพร้าวต้นใหญ่ขนาดนั้นใครจะขโมย กำลังคิดจะถามต่อ พอดีพยาบาลเดินผ่านมาคว้าแขนชายคนนั้นเข้าห้องคนไข้ จึงถึงบางอ้อว่าเราไปสัมภาษณ์คนไข้โรงพยาบาลเข้าแล้ว เราดูไม่ออกเลย แต่งตัวดี หน้าตาดี สักพักหนึ่งพยาบาลเดินออกมาขอโทษ ที่ปล่อยให้คนไข้ของโรงพยาบาลมารบกวนวิทยากร

และบอกว่า "เขาไม่มีพิษภัยหรอก เขาเคยมีสมบัติเยอะแล้วถูกโกงหมดตัว เลยเสียสติ โลภแล้วไม่ได้เลยผิดหวัง บัญชีของแกจดไว้หมด สมบัติเยอะ แล้วของแกหายทุกวัน วันนี้ยังดีนะท่านที่แค่มะพร้าวหาย เมื่อวานนี้แกบ่นว่า ถนนสุขุมวิท ของแกหายไปทั้งสายเลย"

คนเราเพี้ยนกันได้ เขาเคยมีแล้วหมดตัวจึงทำใจไม่ได้ เพราะใจไม่มีความแข็งแรง ทนทานและยืดหยุ่น พอถูกความโลภ ความโกรธและความหลงครอบงำท่วมท้น ก็มีอาการวิปริตจนเสียสุขภาพใจ คนเราเวลาเจอเรื่องกระเทือนใจแรงๆ บางทีเสียสติได้ ท่านเคยตามข่าวไหม หมู่บ้านกระทูนที่ซุงมันไหลตามน้ำลงมาท่วมทับ อ่านข่าวหลังจากนั้นไม่นาน คนที่รอดชีวิตกลุ่มหนึ่งฆ่าตัวตาย พวกเขาทุกข์มาก กลุ่มที่สองเสียสติ

ตึกถล่มที่รอยัลพลาซ่าโคราชแล้วเกิดอะไรขึ้น สุขภาพจิตของผู้ประสบภัยแย่มาก คงทำใจไม่ได้ คนเหล่านี้ทุกข์มากจนบางครั้งทนไม่ได้ สูญเสียหมด อาจคิดฆ่าตัวตายหนีความทุกข์ ทุกข์คือทนได้ยาก เมื่อเหลือทนสุดจะทน จึงอยากฆ่าตัวตายหนีทุกข์ ที่เราเรียกว่าคิดสั้น ที่ว่าคิดสั้นเพราะมีวิธีอื่นที่จะแก้ความทุกข์ของคุณอยู่แต่คุณไม่เลือก กลับเลือกเอาวิธีฆ่าตัวตาย ทำไมไม่เลือกวิธีอื่น คุณอยากจะประสบความสำเร็จในบางเรื่องถ้าวิธีนี้ล้มเหลว ยังมีวิธีอื่นที่ด้องทำอะไรต่างๆ ซึ่งอาจใช้ได้

ทีนี้คนบางคนทุกข์มากไม่รู้จะหาทางออกทางไหน อย่างเด็กนักเรียนชั้น ม.๑ ของโรงเรียนมีชื่อแห่งหนึ่ง ได้ผูกคอตายเมื่อ ๒ ปี ก่อน เราว่าเด็กคิดสั้นไหม เขามาจากสระบุรีและเคยสอบได้คะแนนดีมาจากจังหวัดของเขา พอมาเรียนที่โรงเรียนนี้แล้วคะแนนตกต่ำ เขาไม่เคยปรึกษาญาติที่พักด้วยกัน แล้ววันหนึ่งเขาก็ฆ่าตัวตาย เขาไม่เคยตกต่ำในการเรียน มีปัญหาแล้วทนไม่ได้ก็ฆ่าตัวตาย ใจเขาไม่ทนทานและไม่ยืดหยุ่น เข้าแดนเนรมิต

บางคนไม่คิดฆ่าตัวตาย แต่ใช้วิธีแก้ทุกข์ด้วยการเข้าแดนเนรมิต ถ้าบ้านพังก็เนรมิตขึ้นมาอีกจนโตอย่างกับวัง ลูกที่ว่าตายไปแล้วก็เนรมิตขึ้นมาอุ้ม คนอื่นมองไม่เห็น ฉันมองเห็นคนเดียว ใครก็ว่าบ้าไปแล้ว พวกนี้สร้างจินตนาการ ที่เรียกว่าคนบ้านั่นเอง เขา Out of Reality มองเพี้ยนไปจากความจริง บางคนเป็นอย่างนั้น พอถูกปลดออกจากตำแหน่ง แล้วยังเดินโฉบไปโฉบมาในที่ทำงาน บางคนเกษียณไปแล้ว รุ่งขึ้นยังมาที่ทำงานอีกเพราะทำใจไม่ได้ ท่านเตรียมทำใจไว้นะ ไม่ใช่พอเกษียณแล้ว ยังมาเดินแถวนี้แล้วบอกว่าเก้าอี้ของผมหายไปไหน

เราต้องยอมรับความจริง ที่พูดอย่างนี้เป็นธรรมะ ไม่เกี่ยวกับใคร ธรรมดาเป็นอย่างนั้น คนทำใจไม่ได้ก็เข้าแดนเนรมิต ถึงตอนนี้สรุปว่า บางคนพอทุกข์มากก็คิดฆ่าตัวตาย ถ้าไม่อยากฆ่าตัวตาย ก็บ้าหนีปัญหาด้วยการเข้าแดนเนรมิต ถ้าไม่อยากเข้าแดนเนรมิต ก็ควรใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยธรรมะ

สมัยพระพุทธเจ้า มีผู้หญิงคนหนึ่งที่เข้าแดนเนรมิตไปครึ่งตัว เธอชื่อ กีสาโคตมี เธอมีลูกอยู่คนหนึ่งกำลังน่ารักมากเลย ต่อมาลูกตาย เธออุ้ม ลูกไปหาหมอ เพราะยอมรับไม่ได้ว่าลูกตาย บอกว่าลูกดิฉันหลับ ช่วยปรุงยาให้ตื่นขึ้นมา หมอบอกว่าลูกตายแล้ว เธอก็รับไม่ได้ บอกว่าลูกตัวเองหลับเธอเข้าแดนเนรมิตด้วยขาข้างหนึ่ง เรื่องลูกนี่ทำใจไม่ได้ ไปหาหมอคนไหนเขาก็บอกว่าลูกตาย เพราะลูกขึ้นอืดแล้ว ผู้หญิงคนนั้นจึงน่าสมเพชในสายตาของคนทั่วไปในที่สุด ไปเจอหมอคนหนึ่ง

หมอคนนี้บอกว่า เธอจงไปหาหมอวิเศษคนหนึ่งที่สามารถรักษาลูกเธอให้หายได้ พวกเรารักษาไม่ได้หรอก เธอต้องไปหาพระพุทธเจ้าที่วัด พระองค์จะปลุกลูกเธอให้ตื่นขึ้นมา กีสาโคตมีดีใจมากอุ้มลูกที่ตายแล้วไปหาพระพุทธเจ้าที่วัด พอไปถึงวางแทบพระบาทพระพุทธเจ้า ทูลว่าขอให้พระองค์ช่วยปรุงยาปลุกให้ลูกของตนตื่นขึ้นมา

พระพุทธเจ้าดูด้วยสายตาก็รู้ว่าเด็กนี้ตายแล้ว แต่พระองค์ไม่ปฏิเสธทันที เพราะรู้ว่าคนเมื่อมีความทุกข์ เราอย่าไปตัดความหวังเขา คนที่ทุกข์มากๆ เหมือนคนจะจมน้ำ ฟางเส้นเดียวลอยมา เขาก็เกาะเป็นที่พึ่ง ถ้าคนไม่รู้จะพึ่งทางไหนมาปรับทุกข์กับเรา แม้เราช่วยอะไรไม่ได้ อย่างน้อยก็ควรให้ความเห็นใจ อย่าด่วนตัดรอนเขา ดีไม่ดีเขาไปฆ่าตัวตาย

บางทีจะมายืมเงินเรา บอกว่าผมจะล้มละลายแล้ว ขอยืมเงินหน่อย พอเราตัดรอนปั๊บ เขาฆ่าตัวตายเลย เราจะมีเงินให้หรือไม่ไม่สำคัญ ข้อสำคัญคือบอกให้เขาใจเย็น เราจะพยายามหาให้ พระพุทธเจ้าก็ทำอย่างนั้น หมออื่นบอกว่ารักษาไม่ได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่ายังมีหวัง กีสาโคตมีใจชื้นขึ้นมาทันที หมอกี่หมอปฏิเสธหมด แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่า

"ยังพอมีหวัง เราจะรักษาให้โดยปรุงยาขนานหนึ่ง แต่ตัวยายังไม่ครบ ต้องไปหาตัวยาอีกอย่างหนึ่ง คือเมล็ดผักกาด จะทำได้ไหม"

"จะซื้อเท่าไรก็ได้ กว้านซื้อให้หมดเท่าไรก็ได้" เธอตอบ

พระองค์ตรัสว่า "ไม่ต้องซื้อ จงไปขอมาจากบ้านที่ไม่เคยมีคนตายมาก่อนเลย"

เธอจึงมีความหวังรีบรับคำแล้ว ไปขอจากบ้านที่ไม่เคยมีญาติตาย หรือไม่มีใครตาย พอไปถึงบ้านแรกก็ถามว่า

"มีเมล็ดผักกาดไหม"

"มี จะเอาเท่าไร"

"แล้วขอถามหน่อย บ้านนี้เคนมีคนตายไหม"

"พูดอะไร ยังไว้ทุกข์อยู่เลย"

บ้านนี้มีคนตายเสียแล้ว ไปบ้านต่อไป ถึงบางบ้านลูกน่ารัก เหมือนลูกเธอเองเพิ่งตาย แม่กำลังร้องไห้ กีสาโคตมีนึกถึงลูกตัวเอง ร้องไห้ไปกับเขาแล้วปลอบเขาเสียอีก ไปหลายๆ บ้านเข้า เห็นความทุกข์ของคน ใจก็เริ่มฟื้นขึ้นมา คนเราถ้านึกว่าตัวเองทุกข์คนเดียว จะรู้สึกย่ำแย่ พอไปเห็นคนอื่นทุกข์เหมือนเรา สุขภาพจิตดีขึ้น ไม่เชื่อไปถามคนที่ฟัง จส. ๑๐๐ รายการวิทยุ จส. ๑๐๐ แก้ปัญหารถติดไม่ได้ แต่แก้ปัญหาสุขภาพจิตของคนได้ ผู้ใช้รถรู้ว่าเราไม่ได้ติดกลางถนนคนเดียว ถนนสายนั้นแย่ยิ่ง กว่าถนนที่เราอยู่นี้ ฟังวิทยุแล้วรู้สึกดีขึ้น


(มีต่อ 3)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 15 ส.ค. 2004, 3:53 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

มีเรื่องเล่ากันมาว่า สมัยเสือฝ้ายอาละวาดอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี และกาญจนบุรี เสือฝ้ายส่งบัตรเชิญงานวันเกิดไปให้พวกเถ้าแก่ทั้งหลาย มางานวันเกิดของเขา แต่ห้ามมีของขวัญ วันนี้จะเลี้ยงตอนแทน เขียนหมายเหตุไว้ท้ายบัตรเชิญอย่างนั้น ปรากฏว่าคนก็มามือเปล่ากันหมด พวกพ่อค้าทั้งหลายต้องสยบยอมมาเฟียท้องถิ่น

แต่เถ้าแก่คนหนึ่งอ่านหนังสือไม่ออก หิ้วกล้วยมาเครือหนึ่ง ยื่นให้เสือฝ้าย พอเสื้อฝ้ายเห็น เท่านั้นโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงเลย นี่ขัดคำสั่งเราได้อย่างไร บอกว่าอย่าเอา ของขวัญมา นี่เอามาหรือถือดีอย่างไร จึงสั่งลูกน้องจับเถ้าแก่ขึงพืด เอากล้วยครึ่งดิบครึ่งสุกผลหนึ่งยัดทวารหนักเถ้าแก่ เถ้าแก่ก็ร้องใหญ่เลย แต่ตอนหลังแกกลับหัวเราะก๊าก

เสือฝ้ายถามว่า "หัวเราะทำไม บ้าหรือไง"

แกบอกว่า "ที่หัวเราะเพราะคิดถึงเพื่อนที่เป็นเถ้าแก่ด้วยกัน”

"คิดว่าอย่างไร" เสือฝ้ายถาม

"คือว่าเพื่อนคนนั้น กำลังหิ้วทุเรียนมาฝากลื้อ" เถ้าแก่ตอบพลาง หัวเราะพลาง

นี่เรียกว่าพอนึกถึงเพื่อนร่วมทุกข์ สุขภาพจิตดีขึ้น กีสาโคตมีก็คล้ายกัน เธอรู้สึกดีขึ้นเมื่อเห็นว่าคนอื่นมีทุกข์ยิ่งกว่าตน เมื่อมองที่สูง เรายังต่ำ เมื่อมองที่ต่ำ เรายังสูง กีสาโคตมีกลับมาหาพระพุทธเจ้ามือเปล่า พระพุทธเจ้าถามว่า "ไหนละ เมล็ดผักกาด"

"หม่อมฉันหาไม่ได้"

"ทำไมจึงไม่ได้"

"เพราะทุกบ้านมีแต่คนตายทั้งนั้น"

"แล้วเธอคิดว่าอย่างไร"

"หม่อมฉันคิดว่าเป็นธรรมดาที่ทุกคนต้องตาย"

"แล้วลูกของเธอล่ะ"

"ลูกของหม่อมฉันก็ตายเหมือนกัน"

เธอปลงตัวเอง ปล่อยวาง ออกจากแดนเนรมิตโดยกุศโลบายที่พระพุทธเจ้าใช้ พระพุทธเจ้าเทศน์ต่อจนเธอเลื่อมใสและขอบวชเป็นภิกษุณีได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ภายหลังได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะว่า เลิศกว่าภิกษุณีอื่นด้านครองจีวรเศร้าหมอง กีสาโคตมีภิกษุณีรูปนี้น่าถือเอาเป็นตัวอย่าง เธอไม่บ้าและไม่ฆ่าตัวตายเพราะมีธรรมะประจำใจ

บางคนไม่ถึงกับเสียสติเข้าแดนเนรมิต แต่สุขภาพใจก็เสื่อมลงๆ เพราะความเครียด (stress) โรคเครียดมาจากความโลภบวกกับความกังวลและความไม่รู้ บางคนบอกว่า ความเครียดก็ดีเหมือนกัน เพราะทำให้เราขยัน คนบางคนบริหารงานบนฐานของความเครียด ถ้าไม่ถึงวันสุดท้ายหรือเส้นตาย (deadline) แล้วก็จะเฉื่อยชา ต้องมีเจ้านายหรือเหตุการณ์มาเร่งจึงจะเริ่มทำงาน ความเครียดเกิดเมื่อมีสัญญาณอันตรายเตือนว่า ถ้าทำงานไม่เสร็จเราจะลำบาก จึงเกิดความกลัวซึ่งทำให้เครียด เช่น

สามีภรรยาอยู่บ้านเดียวกันอย่างปกติสุข จนมาระยะหลังสามีมักกลับบ้านดึก บางคืนมีลิปสติกติดแก้มมาด้วย ภรรยาจะเครียดเพราะรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย ไม่มี security จึงระดมความคิด ระดมสมองเพื่อแก้ปัญหา คนเราพอรู้ว่ามีปัญหาจะระดมความคิดมาแก้ไขเป็นธรรมดา

แต่ที่เป็นปัญหาของคนก็อยู่ตรงที่เครียดแล้วยังไม่ยอมปล่อยวาง เหมือนกับเวลาที่รู้ว่าจะมีคนมาปล้นบ้าน เจ้าของบ้านสมัยก่อนเขาใช้ธนูป้องกันตน พอได้ยินเสียงแกร็กเขาก็ง้างธนู ง้างธนูทุกครั้งที่ได้ยินเสียงผิดปกติ บางทีง้างค้างเลย ยิงก็ไม่ได้ยิง ง้างธนูอยู่อย่างนั้น นอนก็ไม่หลับ ประสาทตื่นตัวตลอดเวลา งานก็ทำไม่เสร็จ

บางคนคิดมากจนควันขึ้น ศีรษะร้อน รากผมไหม้เลย เพื่อนถามว่านี่คุณอายุเท่าไรแล้ว พอตอบว่า "สี่สิบปี" เพื่อนอุทานว่า "งั้นหรือ นึกว่าจะเกษียณปีหน้า ทำไมโทรมเร็วอย่างนี้"

ธรรมะสร้างสุขภาพใจ คนมีสุขภาพใจดีจะรู้จักยืดหยุ่น คือ ปล่อยวางเมื่อถึงคราวควรปล่อยวาง หยุดเมื่อสมควรหยุด ดังที่หลวงพ่อชา วัดหนองป่าพง สอนว่า

ทุกข์มีเพราะยึด
ทุกข์ยืดเพราะอยาก
ทุกข์มากเพราะพลอย
ทุกข์น้อยเพราะหยุด
ทุกข์หลุดเพราะปล่อย


ถ้าปล่อยวางได้ก็จะไม่เสียสุขภาพใจ คนเราจะทำอย่างนั้นได้และมีสุขภาพใจดี เพราะมีกระบวนการพัฒนาสุขภาพใจตามลำดับดังต่อไปนี้

สติสัมปชัญญะ ----สังวร ----อวิปปฏิสาร ----ปราโมทย์ ----ปีติ ----ปัสสัทธิ ----สุข ----

การสร้างสุขภาพใจต้องเริ่มจาก ‘สติสัมปชัญญะ’ และสติสัมปชัญญะทำให้เกิด ‘สังวร’ คือสำรวมระวัง ทำอะไรไม่ผิดพลาด เมื่อทำอะไรไม่ผิดพลาดตามกำหนดเวลาก็จะมี ‘อวิปปฏิสาร’ คือไม่ ขุ่นมัว ไม่กังวล ไม่รู้สึกผิด หรือ guilty ไม่ตำหนิตัวเอง อวิปปฏิสารทำให้เกิดความ ‘ปราโมทย์’ คือ มีความบันเทิง ร่าเริง สนุกกับงานความบันเทิงจะทำให้เกิดปีติ อิ่มใจ ทำอะไรแล้วอิ่มใจ ภูมิใจ พอใจ ความอิ่มใจจะทำให้เกิด ‘ปัสสัทธิ’ แปลว่า สงบ คือไม่เครียดนั่นเอง สภาวะทั้งหมดที่ว่ามารวมกันเป็น ‘ความสุข’ หรือสุขภาพใจที่ดี


(มีต่อ 4)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 15 ส.ค. 2004, 4:00 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พื้นฐานของสุขภาพใจอยู่ที่สติสัมปชัญญะ ผู้มีสุขภาพใจดีแสดงว่ามีสติสัมปชัญญะมาก ส่วนผู้มีสุขภาพจิตไม่ดีเรียกว่าเสียสติ คนบ้า คือ คนเสียสติ เพราะสติสัมปชัญญะไม่มีเลย ใครมีสติสัมปชัญญะ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เต็มเป็นพระอรหันต์ เพราะพระอรหันต์ได้ชื่อว่า ผู้มีสติไพบูลย์ คือ มีสติ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ท่านไม่หลงสติเลย จึงทำอะไรไม่ผิดพลาด ไม่ต้องฝืนใจรักษาศีลเหมือนคนทั่วไป เพราะท่านมีศีลโดยธรรมชาติ เนื่องจากมีสติไพบูลย์

เมื่อจุดเริ่มต้นของสุขภาพใจอยู่ที่สติ เราก็ควรตระหนักว่า สติคืออะไร และพัฒนาได้อย่างไร สติ แปลว่า ความระลึกได้ และความรู้ทันปัจจุบัน สติที่เราใช้ในความหมายทั่วไปก็คือ ความระลึกได้ (recollection) อย่างคนที่มีสตินั้นจะจำและนึกถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เขาทำหรือเห็นมาแล้วได้ดี แต่คนที่เสียสติจะระลึกและต่อเรื่องไม่ถูก ในทางปฏิบัติ เราใช้คำว่าสติในอีกความหมายที่ว่ารู้ทันปัจจุบัน (mindfulness) ใจอยู่กับปัจจุบัน ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ไม่ว่าท่านทำอะไรก็ตาม คุมใจตัวเองให้อยู่กับปัจจุบันนั่นคือสติ เช่น

ท่านกำลังฟังบรรยายอยู่นี้ ถ้าฟังอย่างไม่มีสติ ใจจะลอยกลับไปอดีตบ้าง ไปเรื่องอื่นบ้าง ถ้ามีสติ ใจจะจดจ่ออยู่กับเรื่องเฉพาะหน้าในปัจจุบัน คือมองก็เห็น ฟังก็ได้ยิน คนที่มองแล้วไม่เห็น ฟังแล้วไม่ได้ยิน คือคนไม่มีสติ ใจไม่อยู่กับปัจจุบัน ปัจจุบันหมายถึง ขณะปัจจุบัน นาทีปัจจุบัน ถ้าจิตอยู่กับขณะปัจจุบันเฉพาะหน้ารับรู้อะไรๆ ที่เข้ามากระทบ ตอนนี้คือ ตากำลังมอง หูกำลังฟัง ไม่ว่าอะไรก็ตาม ให้รับรู้ทันทีเรียกว่าสติ และบางครั้งเราคิด เรื่องอะไรก็ตาม ก็ให้ใจอยู่กับเรื่องนั้น นั่นเรียกว่าสติ

แต่สตินั้นควรได้รับการฝึก ถ้าหากว่าเราไม่ได้ฝึกสติ สติจะพร่าซัดส่าย แม้ท่านจะอยู่กับปัจจุบันเหมือนกัน เมื่อท่านนั่งฟังบรรยาย เสียงที่ท่านได้ยินแต่ละครั้งเป็นสติ พอคนลุกออกไป ท่านหันไปดู นั่นก็เป็นสติ สติอย่างนี้เป็นสติฟุ้งซ่าน บางทีเป็นมิจฉาสติด้วยซ้ำไป สติที่ถูกต้องจะมีการกำหนดขอบเขตของปัจจุบัน เช่น ท่านกำลังทำงานเฉพาะหน้าอยู่ คือ อ่านรายงาน หนึ่งชิ้น สติช่วงนี้จะอยู่กับการอ่านรายงาน ใครจะมาเปิดทีวีรบกวน ท่านจะไม่ใส่ใจ ใครจะมาทำอะไร สติยังไม่ไปสนใจเขา แต่ยังอยู่กับงาน เราจะทำอย่างนั้นก็ต่อเมื่อได้ฝึกเจริญสติ

วิธีหนึ่งในการเจริญสติสำหรับชาวบ้านก็คือ ฝึกเรียกความคิด กลับมาอยู่กับตัวเรา ที่นี่ เดี๋ยวนี้ จิตเท่านั้นที่วิ่งกลับสู่อดีตหรือก้าวไปในอนาคตได้ กายทำอย่างนั้นไม่ได้ กายจึงเป็นปัจจุบันตลอดเวลา ถ้าเรารักษาใจให้อยู่กับกายตลอดเวลา เรียกว่า เจริญกายคตาสติ สติที่กำหนดกายเป็นขอบเขตการรับรู้เฉพาะหน้าเช่นนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกสมาธิ



>>>>> จบ >>>>>
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 17 ธ.ค.2004, 7:57 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ประวัติพระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต)

พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) มีนามเดิมว่า ประยูร มีฤกษ์ เป็นชาวจังหวัดสุพรรณบุรี เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๘ มีความรู้ความสามารถอย่างสูงในทางพุทธปรัชญา และทางพระพุทธศาสนา โดยเริ่มบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ ขณะที่อายุได้ ๑๑ ปี ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ท่านสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค และอุปสมบทในปีเดียวกันนั้น ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

หลังจากนั้นท่านได้ศึกษาเล่าเรียนและพัฒนาความรู้ทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง จนสามารถได้รับปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) สาขาปรัชญา จากมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ สอบได้ประกาศนียบัตรภาษาฝรั่งเศส (Diploma in French) จากมหาวิทยาลัยเดลี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ และสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาเอก (Ph. D.) สาขาปรัชญา จากมหาวิทยาลัยเดลี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘

พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เป็นผู้มีเกียรติคุณความสามารถทั้งทางด้านวิชาการ และทางด้านงานบริหารอย่างโดดเด่นท่านหนึ่งของสังคมไทย บทบาทสำคัญในทางวิชาการของท่านมีอยู่มากมาย ดังเช่น เป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นอาจารย์พิเศษสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ในมหาวิทยาลัยต่างๆ

เป็นประธานอำนวยการดำเนินการรายการธรรมะทางวิทยุเพื่อการศึกษา เป็นประธานคณะบรรณาธิการพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และเป็นประธานจัดการประชุมสุดยอดผู้นำชาวพุทธ เพื่อการเผยแพร่พระพุทธศาสนา แห่งโลก ครั้งที่ ๒ ณ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ ๙–๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๓


ประวัติการทำงาน :

-- พ.ศ. ๒๕๒๘ เป็นอาจารย์ประจำคณะพุทธศาสตร์
-- พ.ศ. ๒๕๒๙ - พ.ศ. ๒๕๓๒ เป็นผู้อำนวยการกองวิชาการ
-- พ.ศ. ๒๕๓๑ - พ.ศ. ๒๕๓๖ เป็นคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย
-- พ.ศ. ๒๕๓๓ - พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา
-- พ.ศ. ๒๕๓๕ - พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ
-- พ.ศ. ๒๕๔๕ - ปัจจุบัน เป็นอธิการบดี


สมณศักดิ์ :

-- พ.ศ. ๒๕๓๒ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระเมธีธรรมาภรณ์

-- พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชวรมุนี ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

-- พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพโสภณ วิมลปริยัติกิจ ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

-- พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมโกศาจารย์ สุนทรญาณดิลก สาธกธรรมวิจิตร ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี


ตำแหน่งทางคณะสงฆ์ :

-- เจ้าคณะภาค ๒ รับผิดชอบเขตปกครองคณะสงฆ์ ๓ จังหวัด คือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดอ่างทอง และจังหวัดสระบุรี

-- เจ้าอาวาสพระอารามหลวง วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร


ตำแหน่งทางวิชาการ :

-- พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้รับพระราชทานแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ สาขาวิชาปรัชญา ของ มจร.


ผลงานทางวิชาการ :

มีผลงานทางวิชาการ งานวิจัย เป็นที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้ง ผลงานวิชาการยังได้รับการอ้างอิงในวารสาร ตำรา รวมทั้งหนังสือที่เชื่อถือได้ในวงวิชาการ และมีการนำผลงานทางวิชาการ ไปใช้ประโยชน์จนเป็นที่ยอมรับในสาขาปรัชญา ผลงานวิชาการที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง อาทิ วิมุตติมรรค ปรัชญากรีกบ่อเกิดภูมิปัญญาตะวันตก A Buddhist Approach to Peace Buddhist Morality เป็นต้น

พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) ถือว่าเป็นศาสตราจารย์ สายวิชาการคนแรกของประเทศไทยที่มาจากคณะสงฆ์ ที่ผ่านมามีพระสงฆ์ที่ได้เป็นศาสตราจารย์ แต่เป็น ศาสตราจารย์พิเศษ คือ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เจ้าอาวาสวัดญาณเวสกวัน ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม


สถานที่ทำงาน :

สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ


ที่อยู่ปัจจุบัน :

วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร แขวงกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ ๑๐๖๐๐



............................................................

คัดลอกมาจาก ::
http://www.mcu.ac.th/site/rector.php
และหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ ๑๐ ก.พ. ๒๕๔๗
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
บัวหิมะ
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 26 มิ.ย. 2008
ตอบ: 1273

ตอบตอบเมื่อ: 31 ส.ค. 2008, 12:14 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เจริญในธรรมค่ะ ท่าน TU บัวหิมะรู้จักพระอยู่ไม่กี่องค์หรอกค่ะ ก็ได้อาศัยลานธรรมจักร นี่แหละ โมทนาสาธุนะคะ สาธุ
 

_________________
ชีวิตที่เหลือเพื่อธรรมะ
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ฌาณ
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 23 ก.ค. 2008
ตอบ: 1145
ที่อยู่ (จังหวัด): หิมพานต์

ตอบตอบเมื่อ: 25 ก.ย. 2008, 9:39 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ สาธุ
 

_________________
ผมจะพยายามให้ได้ดาวครบ 10 ดวงครับ
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง