Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 รักษาจิต (สมเด็จพระญาณสังวรฯ) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 28 ม.ค. 2006, 5:49 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

รักษาจิต

พระนิพนธ์
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก



"ผู้มีปัญญาพึงรักษาจิตที่เห็นได้ยากนัก ละเอียดมาก มักตกไปสู่อารมณ์ตามที่ชอบ เพราะว่าจิตที่รักษาคุ้มครองแล้วนำสุขมาให้"

พระพุทธภาษิตนี้ตรัสปรารภภิกษุรูปหนึ่งมีเรื่องเล่าไว้โดยสังเขปว่า บุตรเศรษฐีคนหนึ่งไปหาพระเถระรูปหนึ่งขอให้ท่านบอกวิธีพ้นจากทุกข์

ท่านก็สอนให้แบ่งทรัพย์ออกประกอบการงานบ้าง เลี้ยงครอบครัวบ้าง บริจาคทานการกุศลบ้าง ต่อมาไปถามท่านให้บอกวิธีที่ยิ่งกว่าทาน ท่านก็สอนให้ถือเอาสรณะ ๓ และศีล ๕ ถามท่านอีก ท่านก็บอกให้รักษาศีลที่สูงขึ้น

ถามท่านอีกท่านก็แนะให้บวช ครั้นบวชเป็นภิกษุแล้ว ก็ได้ รับการอบรมในพระธรรมวินัยว่าสิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ เธอจึงคิดว่าเป็นกรรมหนักเสียแล้ว ในที่นี้ไม่มีแม้แต่ที่จะเหยียดมือทำอะไรๆ ก็ไม่ได้ไปเสียทั้งนั้น เป็นคฤหัสถ์ดีกว่า

ความทราบถึงพระพุทธเจ้าจึงตรัสเรียกไปเฝ้า ตรัสว่าถ้าอาจจะรักษาเพียงสิ่งหนึ่ง ก็ไม่ต้องรักษาสิ่งอื่นนอกจากนั้น กราบทูลถาม จึงตรัสสอนให้รักษาจิตของตน ซึ่งอาจพ้นจากทุกข์ ได้ตรัสพระพุทธโอวาทในจิตวรรคข้อนี้

ภิกษุนั้นปฏิบัติตามก็หายความกลัดกลุ้มมีความสุขและได้บรรลุผลแห่งความปฏิบัติ

"จิตไปไกล เที่ยวไปผู้เดียว ไม่มีสรีระ มีคูหา (คือกายนี้) ผู้ที่จักสำรวมระวังได้จะพ้นจากเครื่องผูกแห่งมาร"

พระพุทธภาษิตในจิตวรรค ข้อนี้ตรัสปรารภภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง เรื่องย่อมีว่าเธอได้ผ้าแปดศอกมาผืนหนึ่ง จึงนำไปถวายพระเถระผู้เป็นลุง แต่ท่านไม่รับเพราะท่านมีพอแล้ว

เธอจึงเสียใจคิดจะสึก จึงคิดเรื่อยไปว่าสึกแล้วจะไปทำงานอะไร ก็คิดว่าจะขายผ้าผืนนั้นเป็นทุนซื้อแพะมาเลี้ยงขายลูกต่อๆ ไป จนมีทรัพย์ขึ้นแล้วก็แต่งงานมีภริยา ครั้นมีบุตรก็พากันขึ้นเกวียนมาหาหลวงลุงนี้แหละ

ภริยาอุ้มบุตร สามีคือตนเองขับเกวียน ขณะที่เดินทางไป เห็นว่าภริยาจะอุ้มต่อไปไม่ไหว จึงขออุ้มบุตรแทน แต่ภริยาไม่ยอม และก็อุ้มไม่ไหวจริงๆ เด็กก็หล่นลงไป

เธอจึงใช้ปฏักหวดหลังภริยาเข้าให้ ขณะนั้นเธอกำลังยืนพัดพระเถระผู้เป็นลุงอยู่ ก็ใช้พัดนั่นแหละตีพระเถระที่ศีรษะของท่านด้วยคิดว่าตีภริยา แล้วก็ได้สติรีบวิ่งหนี

พวกภิกษุก็ช่วยกันจับไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงถามแล้วก็ตรัสโอวาทเธอด้วยบทนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงลักษณะของจิตทั่วไปไว้ในพระโอวาทหลายครั้ง จะประมวลสักคราวหนึ่งดังนี้

๑ ดิ้นรน
๒ กวัดแกว่ง
๓ รักษายาก
๔ ห้ามยาก
๕ ข่มยาก
๖ เบา
๗ มักตกไปสู่อารมณ์ตามที่ปรารถนา
๘ เห็นยากมาก
๙ ละเอียดนัก
๑๐ ไปไกล
๑๑ เที่ยวไปผู้เดียว
๑๒ ไม่มีสรีระ
๑๓ มีคูหา (คือกายนี้) เป็นที่อาศัย

และตรัสสอนให้ปฏิบัติเกี่ยวแก่จิตในพระโอวาทต่างๆ พอประมวลเข้าได้ส่วนหนึ่งดังนี้ ให้ทำจิตให้ตรงเหมือนช่างศร ทำศรให้ตรงเพื่อละบ่วงแห่งมาร


ให้ฝึกจิตเพราะจิตที่ฝึกแล้วนำสุขมาให้ ให้รักษาคุ้มครองจิตเพราะจิตที่รักษาคุ้มครองแล้วนำสุขมาให้ ให้สำรวมจิต เพื่อพ้นจากเครื่องผูกแห่งมารว่าถึงลักษณะแห่งจิตทั้ง ๑๓ อย่างนั้น เป็นลักษณะแห่งจิตสามัญทั่วไปของทุกๆ คน

จึงเป็นลักษณะที่ทุกคนจะมองเห็นได้ที่จิตของตนเอง ว่าจิตของตนเป็นสิ่งที่ดิ้นรนกวัดแกว่งเป็นต้นมากเพียงไร จะกล่าวขยายความเพียงบางข้อ คือไปไกล ได้แก่รับอารมณ์คือคิดไปถึงเรื่องต่างๆ ที่มีอยู่แม้ไกลแสนไกล

เที่ยวไปผู้เดียว คือคิดไปแต่ผู้เดียว ไม่มีร่วมไปกับจิตของใคร ไม่มีสรีระ คือไม่มีรูปกายไม่ใช่วัตถุ ไม่ใช่ธาตุ ดินน้ำไฟลมอากาศ มีคูหาที่เป็นที่อาศัย คืออาศัยอยู่ในกายที่ประกอบขึ้นด้วยธาตุต่างๆ ดังกล่าวนั้น

(ตามแบบเก่าว่าอาศัยอยู่ที่หทัยรูปคือเนื้อหัวใจ แต่ในปัจจุบันน่าจะว่าอาศัยอยู่ที่มันสมองในกระโหลกศีรษะ ซึ่งดูก็มีรูปเป็นคูหาชอบกลอยู่)

วิธีปฏิบัติรวมเข้าก็คือรักษาฝึกคุ้มครองด้วยความสำรวมระวัง นี้ก็คือการทำให้ตรงด้วยว่าจิตนี้มีกิเลสและอารมณ์ต่างๆ พอกพูนอยู่มาก นี้แหละที่เรียกว่า "บ่วงแห่งมาร" บ้าง "เครื่องผูกแห่งมาร" บ้าง

เพราะเป็นเครื่องคล้องเครื่องผูกจิตไว้ให้ติดอยู่ จิตจึงดิ้นรนกวัดแกว่งเป็นต้น เรียกได้ว่าไม่ตรงคือคดเต็มไปด้วยพยศร้าย สติและปัญญาเท่านั้นที่เป็นเครื่องรักษาฝึกคุ้มครองหรือสำรวมจิตให้พ้นจากมารหรือให้ดำเนินไปตรงต่อความดีได้



มีต่อ >>>>>
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 28 ม.ค. 2006, 6:10 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

"ปัญญาย่อมไม่บริบูรณ์แก่ผู้ที่มีจิตไม่ตั้งมั่น ไม่รู้สัทธรรม มีความเลื่อมใสเลื่อนลอย"

นี้เป็นพระพุทธภาษิตแปลจากจิตวรรคอีกบทหนึ่งที่ตรัสปรารภภิกษุรูปหนึ่งที่บวชๆ สึกๆ ถึง ๗ ครั้ง แสดงว่ามีจิตใจไม่แน่นอน อันที่จริงจิตใจสามัญชนย่อมเปลี่ยนแปรไปอยู่เสมอ

ใครก็ตามที่ประพฤติไปตามอำนาจจิตเช่นนี้ย่อมเดือดร้อน ทั้งไม่ได้ปัญญาที่สมบูรณ์ แต่คนเรามักประพฤติไปตามอำนาจจิต หรือกล่าวโดยตรงว่าอำนาจของกิเลสในจิต เช่นความปรารถนาต้องการ

จิตที่ไม่ตั้งมั่นก็เพราะเหตุนี้แหละ ความปรารถนาต้องการของคนเรามีในสิ่งทั้งหลายไม่มีที่สิ้นสุด ท่านจึงว่า "แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี"

จิตจึงซัดส่ายไปในสิ่งนั้นบ้าง สิ่งนี้บ้างร้อยแปดอย่าง

เมื่อได้สิ่งหนึ่งมาตามปรารถนา แล้วจะต้องปรารถนาสิ่งอื่นต่อไปอีกนี้เป็นลักษณะของจิตที่เรียกว่าไม่ตั้งมั่น และอาการที่จิตซัดส่ายไปนั้น ก็ไม่เลือกว่าผิดถูกดีชั่ว สุดแต่ความปรารถนาต้องการจะบงการให้เป็นไป ในเวลาเช่นนี้

สัทธรรม คือธรรมของคดี หรือธรรมที่ดีงาม ไม่มีโอกาสเข้าถึงจิต หรือจิตไม่อาจเข้าถึงธรรม เพราะมีเครื่องกั้นคือกิเลสและอารมณ์ (เรื่องผูกใจ) ดังกล่าวกางกั้นไว้

กิริยาที่จิตเข้าถึงธรรมจึงหมายความว่าจิตรู้ด้วยความรู้ที่ปราศจากโมหะ แต่ตราบใดที่จิตซัดส่ายไปดังกล่าว ก็ยากที่จะรู้ธรรมได้

ธรรมคือสัจจะอันได้แก่ความจริงของจิตเข้าไม่ถึงสิ่งที่เข้าถึง ล้วนแต่เป็นกิเลสและอารมณ์หรือความปรารถนาต้องการ และสิ่งที่ปรารถนาต้องการเท่านั้น

อาจได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า แต่ก็ฟังด้วยความง่วงเหงาหาวนอน ด้วยความไม่สนใจ ไม่รับพิจารณา บางทีก็จำได้ว่าข้อธรรมเหล่านั้นว่าอย่างไร แต่ก็เป็นเพียงสัญญาความจำหมายอย่างนกแก้วนกขุนทอง

จำคำพูดของมนุษย์ได้ ทั้งพูดได้บางคำ ธรรมจึงไม่ซึมเข้าไปสู่จิตใจ บางทีกลับเป็นผู้ชังธรรมเกลียดธรรม เห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ แท้ที่จริง เพราะธรรมมีกระแสทวนกันกับกระแสตัณหา

ดังจะพึงเห็นได้ว่าตัณหาดำเนินไปกระแสหนึ่งเช่น อยากได้นั่น อยากได้นี่ อย่าคิดถึงผิดถูก อย่าคิดถึงแก่เจ็บตาย อย่าพูดถึงเรื่องศีลธรรม ส่วนธรรมดำเนินไปอีกกระแสหนึ่งที่ตรงกันข้ามฉะนั้น จึงชอบกันถูกกันไม่ได้อยู่เอง

ถึงจะถือพระศาสนาหรือธรรม ก็นับถือสักแต่ว่า จะเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ก็เป็นความเลื่อมใสที่เลื่อนลอยไม่มั่นคง ปัญญาจึงบริบูรณ์ไม่ได้อยู่เอง เพราะโมหะยังปิดบังอยู่หนาแน่นมากยังมืดอยู่มาก

แสงสว่างแบบฟ้าแลบในคืนเดือนมืดสนิทนั้น ไม่อาจให้มองเห็นอะไรได้มาก

"ภัยย่อมไม่มีแก่ผู้ที่จิตไม่เปียกชุ่ม มีใจไม่กระทบกระทั่ง ละบุญบาปเสียได้ ตื่นอยู่" นี้เป็นพระพุทธภาษิตในวรรคอีกบทหนึ่งทีแสดงลักษณะของจิตของบุคคลผู้บรรลุถึงความบริสุทธิ์โดยสิ้นเชิงแล้วว่า ย่อมเป็นเช่นนี้

ซึ่งสูงเกินภาวะแห่งจิตของสามัญชน เพราะจิตของสามัญชนยังเป็นจิตที่เปียกชุ่ม คือเปียกชุ่มด้วยราคะ ความติดความยินดีพอใจในรูปเสียงเป็นต้น

ดังจะพึงรู้ใจของตนเองได้ว่า เมื่อได้เห็นรูป ได้ยินเสียงที่น่ารักใคร่พอใจ จิตใจจะเกิดความชุ่มชื้น ครึกครื้นยินดีพอใจ เทียบกับวัตถุที่เปียกชุ่มด้วยน้ำ

อันราคะนี้ฝังจิตใจคนอยู่อย่างลึกซึ้ง ยากที่จะแห้งเหือดหายไปจากจิตใจถึงแม้จะมีอายุมากที่เรียกว่าแก่แล้ว แต่จิตใจก็มักจะยังชุ่มอยู่ไม่ยอมเหี่ยวแห้งหรือแก่ไปตามกายบางทีก็กลับชุ่มมากขึ้นเหมือนเป็นการทดแทน ความแห้งเหี่ยวของร่างกายจึงมักจะพูดกันว่าร่างกายแก่แต่ใจไม่แก่

ข้อนี้สมกับภาวะของกายและจิตที่แตกต่างกัน ร่างกายประกอบด้วยธาตุที่เป็นวัตถุ ต้องมีเก่าแก่ชำรุดทรุดโทรมจนถึงต้องแตกสลาย แต่จิตท่านว่าไม่มีสรีระหรือมิใช่สรีระคือมิใช่ร่างกาย

ฉะนั้นที่กล่าวกันว่าจิตใจไม่แก่ก็ดูมีเหตุผลอยู่ และเมื่อมีราคะก็ต้องมีโทสะเป็นคู่กัน จึงเป็นจิตที่ยังมีความกระทบกระทั่ง คือยังโกรธ จะพึงรู้ใจของตนเองได้อีกเช่นเดียวกัน

เมื่อมีเรื่องที่ไม่น่าพอใจมากระทบกระทั่ง จิตก็โกรธ เรียกว่าถูกกระทบกระทั่ง ฉะนั้นจึงรวมกล่าวได้ว่า จิตสามัญทั่วไปย่อมมีความรักความชัง หรือความยินดียินร้าย หรือความพอใจไม่พอใจเป็นคู่กัน อยู่ในอารมณ์คือเรื่องทั้งหลาย

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงยังต้องพลอยมีบุญมีบาป คือความบริสุทธิ์ ความเศร้าหมองทางจิตใจ ความดีความชั่วทางกรรมคือการงานที่ทำอันเนื่องไปจากจิตใจ และความสุขความทุกข์อันเป็นผลของความดีความชั่ว ซึ่งจิตใจก็ต้องเสวยอีกนั่นแหละ

ความบริสุทธิ์ความดี และความสุขดังกล่าวจัดว่าเป็นพวกบุญ ส่วนความเศร้าหมอง ความชั่วและความทุกข์ จัดเป็นพวกบาป ตรวจดูใจตนเองก็จะเห็นได้ว่า บางคราวก็มีจิตใจบริสุทธิ์ มีความดี มีความสุข

แต่บางคราวก็มีจิตใจเศร้าหมองมีความชั่ว มีความทุกข์ สับเปลี่ยนกันไปมาไม่ยุติแน่นอน เพราะจิตมีความยึดถือว่าเป็นจริงเป็นจังในอารมณ์คือเรื่องที่ประสบพบผ่านทั้งหลาย

เมื่อยึดถือว่า น่ายินดี ก็ยินดีไปจริงๆ เมื่อยึดถือว่าน่ายินร้ายไปจริงๆ เช่นเดียวกัน เหมือนอย่างหลับฝันเห็นและยินดียินร้ายไปในนิมิตที่ฝันเห็นด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องจริง

ฝันเห็นสัตว์ร้ายก็เกิดความกลัวขึ้นจริงๆ ตื่นขึ้นมายังตัวสั่นอยู่ก็มี นี้แหละเป็นภัยคือความกลัวหรือสิ่งที่น่ากลัวย่อมเกิดตามมาดังนี้ ภาวะของจิตสามัญย่อมเป็นดังนี้ จนกว่าจะตื่นจากหลับ

คืออาสวะทั้งปวงรู้ว่าฝันไปก็จะหายยินดียินร้าย หายความต้องพลอยเป็นบุญบาปไปตามความยินดียินร้าย หายหลงยึดถือเอาเรื่องในฝันว่าเป็นเรื่องจริง เพราะตื่นขึ้นมาแล้ว จึงหายกลัวทุกอย่าง นี้แหละเป็นจิตที่บริสุทธิ์สมบูรณ์เต็มที่



>>>>> จบ >>>>>
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 28 ม.ค. 2006, 7:16 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ สาธุ สาธุ พระนิพนธ์ของสมเด็จพระญาณสังวรฯ
ทุกๆ เรื่อง เนื้อหาหลักธรรมล้วนงดงาม ไม่มีที่ติเลยล่ะค่ะ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
I am
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 30 ม.ค. 2006, 12:28 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ.. ครับ

 
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง