Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ความจำเป็นต้องมีการปฏิรูปศาสนา (พระไพศาล วิสาโล) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 22 ม.ค. 2006, 9:43 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ความจำเป็นต้องมีการปฏิรูปศาสนา
โดย พระไพศาล วิสาโล


ศาสนาที่แท้ย่อมช่วยให้เกิดความสุขสงบในจิตใจ แต่ในโลกที่เต็มไปด้วยสิ่งปรนเปรอทางวัตถุและความสนุกสนานบันเทิงที่ได้มาโดยฉับพลัน ความสุขสงบในจิตใจกลับเป็นสิ่งที่หาได้ยาก ผู้คนเป็นอันมากเชื่อว่าเงินตราและสิ่งเสพจะทำให้มีความสุข แต่แม้จะมีเงินมากเท่าไหร่ ก็หาได้มีความสุขเพิ่มขึ้นไม่ เคยมีการวิจัยในสหรัฐอเมริกาโดยสอบถามผู้คนว่าอะไรจะช่วยให้เขามีความสุขมากขึ้น

คำตอบก็คือมีเงินมากขึ้น แต่เมื่อมีเงินมากขึ้น ก็จะพบว่าชีวิตก็ไม่ได้มีความสุขมากขึ้นเลย อาจเป็นทุกข์กว่าเดิมด้วยซ้ำ ความทุกข์ท่ามกลางความมั่งคั่งนี้เอง ที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากขึ้นตระหนักว่าศาสนาอาจเป็นคำตอบได้ แต่ศาสนาเป็นอันมากก็ไม่สามารถ ให้ความสงบอย่างที่ต้องการได้ ส่วนหนึ่งเพราะไปติดยึดกับประเพณีและรูปแบบ ซึ่งเป็นเพียงเปลือกนอกของศาสนา จนละเลยบทบาทที่สำคัญกว่าอันได้แก่ การบำบัดความทุกข์ทางจิตวิญญาณ ยิ่งกว่านั้นสถาบันศาสนาจำนวนไม่น้อยก็กลับถูกอิทธิพลของลัทธิบริโภคนิยมครอบงำจนไม่เป็นที่ศรัทธานับถือของผู้คน

หากลัทธิบริโภคนิยมสามารถตอบสนองความต้องการทางจิตวิญญาณได้ ศาสนาก็ไม่มีความจำเป็น แต่ลัทธิบริโภคนิยมได้พิสูจน์ตนเองว่าไม่สามารถบำบัดทุกข์ของมนุษย์ได้อย่างแท้จริง ซ้ำกลับสร้างความทุกข์ให้เพิ่มพูนขึ้น ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ศาสนาจะก้าวเข้ามาเป็นทางเลือกให้แก่มนุษย์ในยุคโลกาภิวัตน์ ศาสนาใหญ่ๆ ของโลกในเวลานี้มีศักยภาพที่จะทำเช่นนั้นได้ แต่นั่นหมายความว่าศาสนาดั้งเดิมเหล่านี้จะต้องมีการปฏิรูปตนเองให้ปลอดพ้นจากการครอบงำของบริโภคนิยม และสามารถที่จะกลับไปหาแรงบันดาลใจทางด้านจิตวิญญาณที่ศาสดาทั้งหลายได้วางรากฐานไว้ แล้วนำกลับมาถ่ายทอดให้แก่มนุษย์ในยุคนี้ได้อย่างสมสมัยโดยไม่ติดกับอดีต

ขณะเดียวกันก็ควรเรียนรู้จากศาสนาใหม่ ซึ่งมีความยืดหยุ่นและฉับไวในการ ตอบสนองความต้องการของผู้คนได้มากกว่า อย่างไรก็ตาม ศาสนาใหม่นั้นมีแนวโน้มที่จะลงร่องเช่นเดียวกับศาสนาเก่า จนขาดชีวิตชีวาและขาดพลังในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเอง ดังนั้น จึงต้องพร้อมที่จะปฏิรูปตนเองอยู่เสมอด้วย

แม้ว่าบทบาททางด้านจิตวิญญาณของศาสนาจะเป็นสิ่งสำคัญในยุคโลกาภิวัตน์ แต่ก็ต้องไม่ละเลยความต้องการทางด้านวัตถุและสังคมของมนุษย์ บทบาททางจิตวิญญาณ ต้องไม่แยกจากบทบาทสงเคราะห์ทางด้านวัตถุและสังคม เพราะความผาสุกทางด้านจิตวิญญาณนั้นสัมพันธ์อย่างยิ่งกับความผาสุกทางวัตถุและสังคม ปรากฏการณ์ใน 3 ทศวรรษที่ผ่านมาได้ชี้ให้เห็นว่าการตอบสนองความต้องการทางวัตถุเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จของกลุ่มศาสนาเป็นอันมาก ไม่ว่าขบวนการเคร่งจารีต หรือขบวนการศาสนาใหม่ ความจริงศาสนาในอดีตได้มีบทบาททั้งด้านวัตถุ สังคม และจิตวิญญาณโดยไม่แยกจากกัน

การแยกบทบาททางด้านจิตวิญญาณให้แก่ศาสนาและบทบาททางวัตถุและสังคมให้แก่สถาบันทางโลก เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคหลังนี้เอง การกลับมาของศาสนาในปัจจุบันแยกไม่ออกจากการกลับมาของแนวทางแบบองค์รวมดังได้กล่าวมา ในทำนองเดียวกันอนาคตของศาสนาก็อยู่ที่ว่าจะให้ ความสำคัญแก่การตอบสนองความต้องการของมนุษย์อย่างเป็นองค์รวมได้มากน้อยเพียงใด

ทั้งหมดนี้เป็นภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับพุทธศาสนาด้วยเช่นกัน การแพร่สะพัดของลัทธิบริโภคนิยมในสังคมไทยปัจจุบันมิใช่อะไรอื่น หากเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความล้มเหลวของพุทธศาสนาในการตอบสนองความต้องการทางจิตใจของผู้คน แน่นอนว่าการคล้อยตามบริโภคนิยมอย่างที่วัดวาอารามไม่น้อยกำลังทำอยู่ในปัจจุบัน มิใช่ทางออกที่พึงประสงค์

ทางออกสำหรับพุทธศาสนาจักต้องเริ่มต้นจากการปฏิรูปสถาบันสงฆ์ ทั้งด้านการปกครองและการศึกษา เพื่อสนับสนุนให้พระสงฆ์เป็นผู้นำในทางจริยธรรมและสามารถชี้นำผู้คนให้เข้าถึงความสงบสุขภายในท่ามกลางความผันผวนไม่แน่นอนของกระแสโลกาภิวัตน์ ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้พระสงฆ์เป็นผู้นำทางสติปัญญาให้แก่ชุมชนในการแก้ไขปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ อนุรักษ์สภาพแวดล้อม และสร้างความสามัคคีกลมเกลียว บทบาทดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในการนำธรรมะกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน และช่วยฟื้นฟูศาสนาให้กลับมามีความสำคัญต่อสังคม

แต่นอกจากการปรับปรุงสถาบันสงฆ์แล้ว สิ่งที่ควรทำควบคู่กันก็คือการฟื้นฟูหลักธรรมทางด้านโลกุตรธรรม ซึ่งจะช่วยให้เกิดอิสรภาพและความสุขภายในอย่างแท้จริง ที่แล้วมาหลักธรรมดังกล่าวถูกละเลยไป จนผู้คนเข้าใจว่าพุทธศาสนาสอนแค่ "ทำดี ละชั่ว" เท่านั้น ทั้งๆ ที่การทำจิตให้บริสุทธิ์เป็นอีกด้านหนึ่งของพุทธศาสนาที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง นี่คือมิติทางจิตวิญญาณที่หายไปจากคำสอนกระแสหลักของพุทธศาสนาในปัจจุบัน

จนท่านพุทธทาสภิกขุต้องย้ำแล้วย้ำเล่าว่า "นิพพานที่นี่ เดี๋ยวนี้" เป็นสิ่งที่ทุกคนควรพยายามเข้าถึงให้ได้ ทั้งพระและฆราวาส เช่นเดียวกับการทำงานด้วย "จิตว่าง" แต่สภาวะดังกล่าวจะเข้าถึงได้มิใช่ด้วยการอ่านหรือการคิด หากด้วยการปฏิบัติ การฟื้นฟูสมาธิภาวนาให้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาและวัฒนธรรมไทย ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย จึงเป็นสิ่งที่ควรสนับสนุนกันอย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมให้ผู้คนมีสำนึกต่อส่วนรวม และช่วยกันสร้างสรรค์สังคมให้ดีงาม ก็เป็นบทบาทอีกด้านหนึ่งของพุทธศาสนาที่จะมองข้ามไปไม่ได้ ที่จริงนี่เป็นหลักการที่สำคัญของพุทธศาสนา แต่ถูกละเลยไปเช่นกัน จนผู้คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่าพุทธศาสนาเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่เกี่ยวกับสังคม เหมาะสำหรับผู้ต้องการหลีกเร้นจากสังคม ความคิดเช่นนี้ทำให้พุทธศาสนาถูกตีกรอบให้แคบลง และนับวันจะตกอยู่ในวงล้อมของบริโภคนิยม

ท่ามกลางความเสื่อมโทรมของสังคมและความทุกข์ยากของผู้คน การรื้อฟื้นหลักธรรมคำสอนเกี่ยวกับจริยธรรมทางสังคม เป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้พุทธศาสนาในเมืองไทยมีพลังในการสร้างสรรค์สังคม และบำบัดความทุกข์ของผู้คนทั้งในทางวัตถุและจิตใจ ดังที่ได้เคยมีบทบาทในอดีตมาแล้วโดยมีพระสงฆ์เป็นผู้นำ ต่อเมื่อพุทธศาสนาสามารถปฏิรูปตนเองจนสามารถตอบสนองความต้องการของผู้คนทั้งทางวัตถุ สังคม และจิตใจ พุทธศาสนาถึงจะเป็นคำตอบของผู้คนและมีอนาคตสดใสในยุคโลกาภิวัตน์



.............................................................................

คัดลอกมาจาก ::
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน หน้า 6
คอลัมน์ มองอย่างพุทธ
วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10179
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง