Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 บทเรียนของชีวิต (ท.เลียงพิบูลย์) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 07 มิ.ย.2006, 7:57 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

บทเรียนของชีวิต
โดย ท.เลียงพิบูลย์

จากหนังสือกฎแห่งกรรม
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เล่ม ๕



เรื่องที่จะนำมาเสนอต่อไปนี้ เป็นประสบการณ์ที่ข้าพเจ้าเห็นว่าควรอย่างยิ่งที่จะนำมาเผยแพร่ หากจะเป็นการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อเพิ่มพูนมนุษยธรรมให้ความเมตตาปราณีซึ่งกันและกัน จากสาระของเรื่องนี้แล้วแม้เพียงส่วนน้อย ก็จะเป็นที่ยินดีแก่ข้าพเจ้าอย่างที่สุด หากถ้อยคำสำนวนของข้าพเจ้าจะขาดความสละสลวย ไม่เป็นที่สนใจของท่านก็ขออภัยด้วย และขอเรียนด้วยความจริงใจว่า ข้าพเจ้ามิได้มีความประสงค์ที่จะอวดโฆษณาความดีด้วยเรื่องของตนเลย

วันนั้นเป็นวันที่จำได้อย่างแม่นยำว่า ข้าพเจ้ากับเพื่อนๆ จะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นทางเครื่องบิน ๑๓.๐๐ น. เผอิญบริษัทการบินที่เราจะโดยสารไป แจ้งเลื่อนกำหนดเวลาเครื่องบินออกจากสนามเป็นเวลาเที่ยงคืนในวันเดียวกัน ข้าพเจ้าจึงมีเวลาว่างเหลืออยู่โดยไม่มีอะไรจะทำ เพราะไม่ได้กะรูปการงานไว้

ขณะนั้นกลับถึงบ้านก็เวลาบ่ายมากแล้ว หลังจากข้าพเจ้ากลับจากสนามบินเมื่อทราบการเลื่อนเวลา รู้สึกว่าอยากรับประทานก๋วยเตี๋ยวอิสลามขึ้นมา พอจะออกไปจากบ้านก็มีเพื่อนผู้หนึ่งมาหา เขาไม่ทราบว่าข้าพเจ้ากำลังจะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากข้าพเจ้ามิได้บอกเพราะไม่ค่อยได้พบกัน จึงชวนไปหาก๋วยเตี๋ยวอิสลามมารับประทานกัน ณ ที่สวนสาธารณแห่งหนึ่ง

ขณะที่เรากำลังรับประทานกันอยู่นั้น มีเด็กชายคนหนึ่งอายุประมาณ ๗-๘ ขวบ แต่งกายมอซอเดินเข้ามาหาข้าพเจ้า ยกมือไหว้แล้วอ้อนวอนขอเงินว่า จะเอาเงินไปซื้อยารักษาโรคให้พ่อที่กำลังป่วยอยู่ ได้ฟังน้ำเสียงของเด็กแล้วข้าพเจ้ารู้สึกสนใจพร้อมกับเกิดความเอ็นดูขึ้นมา เพราะเห็นรูปร่างลักษณะหน้าตาประพิมประพายคล้ายกับบุตรของข้าพเจ้า เมื่อยังเยาว์มีอายุคราวเดียวกัน ข้าพเจ้าจึงถามว่า

“พ่อของหนูป่วยเป็นโรคอะไร ? จึงเที่ยวมาเดินขอเงินซื้อยา”

เด็กนั้นมีใบหน้าเศร้าหมองจะร้องไห้ ตอบข้าพเจ้าว่า “พ่อผมป่วยมาหลายวันแล้วครับ เงินก็ไม่มีจะซื้อยารักษาโรค เพราะพ่อผมป่วยถีบรถสามล้อไม่ไหว”

เพื่อนของข้าพเจ้าวางชามตัดบทว่า “อย่าเชื่อมัน ขอเงินแบบนี้ เคยพบบ่อยๆ ลูกไม้ที่จะขอสตางค์จากเราเท่านั้น ถ้าเรามีศรัทธาก็ให้ ไม่ศรัทธาก็ไล่มันไปเสีย รำคาญจริงๆ คนกำลังจะกินก็เข้ามาเซ้าซี้อยู่ได้”

ข้าพเจ้าไม่เอาใจใส่ต่อคำพูดของเพื่อน เพราะมีใจเอ็นดูเด็กเป็นทุนอยู่แล้ว จึงถามต่อไปอีกว่า “ที่หนูพูดมานี้เป็นความจริงหรือเปล่า”

“เป็นความจริง ผมไม่กล้าโกหกท่านครับ” เด็กตอบ

ข้าพเจ้าจึงหันไปถามแม่ค้าก๋วยเตี๋ยวอิสลามเพื่อความแน่ใจว่า เคยพบเด็กคนนี้มาเที่ยวของสตางค์แถวนี้บ่อยไหม แม่ค้าพินิจดูใบหน้าเด็ก ครู่หนึ่งก็บอกว่า ยังไม่เคยเห็น ถ้าเป็นเด็กแถวนี้ก็ต้องรู้จักทุกคน ข้าพเจ้ารู้สึกสนใจและเกิดความเชื่อขึ้นมา จึงไล่เลียงต่อไปว่า “หนูพาฉันไปดูอาการป่วยของพ่อหนูได้ไหม”

เด็กน้อยรีบรับคำตกลงทันที ข้าพเจ้าจึงหันไปชวนเพื่อนที่ไปด้วยกันว่า พอรับประทานเสร็จแล้วอยากจะให้เป็นเพื่อนกันตามเด็กไปดูว่า พ่อของเด็กป่วยมากจริงอย่างที่แกเล่าหรือไม่ ถ้าเป็นจริงก็เป็นโอกาสที่เราจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์กำลังทุกข์ยาก

เพื่อนผู้นั้นขอตัวว่าติดธุระไม่สามารถจะร่วมทางไปด้วยได้ ดังนั้น เมื่อชำระเงินค่าก๋วยเตี๋ยวแล้วเขาก็รีบลาไปทันที ส่วนข้าพเจ้านั้นตกลงใจไว้แล้วว่า อยากจะพบพ่อของเด็กที่ว่ามีอาการป่วยให้ประจักษ์ พอจะออกเดินก็นึกขึ้นมาได้ว่าเด็กนั้นยังอาจไม่ได้รับอาหาร จึงหยุดแล้วถามแกว่า “หนูกินอะไรมาแล้วหรือยัง ถ้ายังก็สั่งได้ ฉันจะออกสตางค์ให้”

“ผมไม่เป็นไรครับ แต่ผมอยากได้ก๋วยเตี๋ยวไปฝากพ่อสักห่อหนึ่ง” เด็กน้อยตอบ

ข้าพเจ้าเพ่งดูเด็กน้อยด้วยความรู้สึกสงสารและเอ็นดูทวีขึ้น เด็กนี้เปี่ยมไปด้วยกตัญญูสูง ในยามหิวโหยแม้ตัวเองจะมีโอกาสได้กินก่อน ก็ยังมีจิตคิดห่วงพ่อ แทนที่จะคิดถึงตนเองก่อน ในสายตาของข้าพเจ้าเห็นว่าเด็กก็มีความหิวไม่น้อย จึงร้องสั่งให้แม่ค้าทำก๋วยเตี๋ยวแห้งให้สองห่อ แต่เด็กแย้งขึ้นทันทีว่า “ขอให้พ่อผมห่อเดียวก็พอครับ”

“เอาเถอะๆ ฉันให้หนูห่อหนึ่ง แล้วฝากให้พ่อหนูห่อหนึ่ง หนูก็หิวไม่ใช่หรือ”

เด็กตอบอย่างเหนียมว่า “ใช่ครับ ผมคิดแต่ว่าอยากจะให้พ่อได้กินก่อน เพราะพ่อไม่สบายและหิวมาก”

ได้ฟังคำพูดของเด็ก ๗-๘ ขวบคนนี้แล้ว ทำให้ข้าพเจ้าสะท้อนใจและแน่ใจยิ่งขึ้นว่าคงจะไม่พูดเท็จอย่างที่เพื่อนข้าพเจ้าเข้าใจ จึงปลอบใจเด็กว่า “ไม่เป็นไรหรอกหนู สั่งให้เขาทำสองห่อแล้ว เอาไปกินคนละห่อเถิด”

ข้าพเจ้าจอดรถที่ปากซอยแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถจะนำรถเข้าไปได้ เด็กพาเดินผ่านสถานที่แห่งหนึ่ง ชี้มือพลางบอกว่า “ก่อนนี้พ่อผมเอารถสามล้อมาฝากที่นี่ครับ ต้องเสียค่าฝากรถรายเดือน”

โรงรับฝากรถแห่งนี้มีรูปลักษณะคล้ายโรงนาใหญ่ ฝาโรงใช้ไม้ระแนงตีเป็นลูกกรงเปล่า เห็นในโรงนั้นมีรถสามล้อจอดอยู่หลายคัน คันหนึ่งมีลังไม้รองใต้เพลาแต่ไม่มีล้อ คงจะถอดออกแล้วยกขึ้นเพื่อซ่อมแซม เห็นชายมีอายุคนหนึ่งกำลังใช้ค้อนตอกอะไรง่วนอยู่ในโรงนั้น พอแกเหลือบเห็นเด็กแต่ไม่ทันเห็นข้าพเจ้าเดินผ่านเข้าไป ก็ร้องถามเด็กว่า

“ไอ้หนู พ่อมึงเป็นอย่างไรบ้าง ค่อยยังชั่วแล้วหรือยัง”

“ยังนอนซมอยู่จ้ะน้า วันนี้นอนไม่พูดจาตลอดวัน” เด็กร้องตอบไป

ชายผู้นั้นรำพันออกมาอย่างเห็นใจ “เออ แย่จริง ไอ้หนู พ่อเอ็งมาเจ็บไข้อย่างนี้หากินก็ไม่ได้ เงินทองก็ไม่มี แย่จริงๆ”


(มีต่อ ๑)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 26 ก.ค.2006, 3:43 pm, ทั้งหมด 2 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 07 มิ.ย.2006, 8:08 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พอเห็นข้าพเจ้าเดินตามเด็กมาก็ชะงักคำพูด แล้วเราก็มาถึงซอยเล็กแห่งหนึ่งที่สามล้อเข้าไม่ได้ มีบ้านหลังคาจากปลูกเป็นหย่อมๆ ไม่เป็นระเบียบ ลักษณะเป็นที่อยู่ของกรรมกรผู้หาเช้ากินค่ำ เด็กนำข้าพเจ้าเดินตรงไปที่บ้านหลังหนึ่ง ทางเข้าบ้านมีแต่พงหญ้า มีทางเดินเฉพาะตัว เคราะห์ดีที่เวลานั้นเป็นฤดูแล้งจึงพอเดินได้สะดวก หากเป็นฤดูฝนผู้คนในละแวกนั้นต้องลุยโคลนเข้าบ้านกันเป็นแน่ ข้าพเจ้าเดินตามเด็กเข้าไปในบ้านหลังหนึ่ง หรือจะเรียกให้สมรูปบ้าน ก็ต้องเรียกกระต๊อบหรือกระท่อม

พอเปิดประตูกระท่อมอันง่อนแง่นออก ก็เห็นเตาไฟชำรุดตั้งอยู่ใกล้ๆ ข้างฝากระท่อม มียางนอกและยางในรถจักรยานเก่าๆ ที่ชำรุดอย่างละสองเส้นแขวนอยู่ บนพื้นใกล้ฝากระท่อมมีลังไม้ฉำฉา ๒-๓ ใบ เป็นที่วางถ้วยชามและสิ่งของจิปาถะ ถัดจากครัวออกไปก็เป็นพื้นไม้มีเสื่อเก่าๆ ปูอยู่ผืนหนึ่ง

บนเสื่อนั้นเองมีร่างของชายผอมบางผู้หนึ่งนอนอยู่ จะหลับหรือไม่ก็ไม่ทราบได้ เห็นนอนนิ่งอยู่ไม่มีอาการไหวติง แม้เราเข้าไปจนใกล้ชิดก็ยังไม่รู้สึกตัว

“พ่อผมครับ แกเป็นไข้นอนอยู่อย่างนี้มาหลายวันแล้ว” เสียงลูกชายพูดเชิงแนะนำให้ข้าพเจ้าทราบ

ข้าพเจ้าพยักหน้ารับโดยไม่กล่าวสิ่งใด รู้สึกว่าสภาพของชายที่นอนป่วยและบรรยากาศของกระท่อมอันน่าสังเวชนั้น ทำให้ข้าพเจ้าสลดใจยิ่ง จึงกระซิบถามเด็กว่า “ทำไมหนูจึงไม่ให้ใครนำพ่อไปรักษาที่โรงพยาบาล”

เด็กน้อยตอบว่า “พ่อไม่ยอมไปครับ พ่อบอกว่าพ่อเป็นห่วงผม”

ข้าพเจ้าได้ถามว่าอยู่ด้วยกันกี่คน ก็ทราบว่าเด็กอยู่กับพ่อเพียง ๒ คนเท่านั้น ส่วนแม่นั้นไปเป็นลูกจ้าง เพื่อนำเงินมาจุนเจือลูกและผัวที่กำลังป่วยอยู่ในขณะนั้น อารมณ์ของข้าพเจ้าเต็มไปด้วยความเวทนาสองพ่อลูก กาลเวลาก็ไม่อำนวยข้าพเจ้าพอที่จะอยู่ช่วยเหลือ เพราะอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้ข้าพเจ้าต้องออกเดินทางไปต่างประเทศแล้ว คิดอยู่สักครู่หนึ่งก็ตกลงใจว่า จะต้องจัดให้แพทย์รักษาบำบัดอาการป่วยให้ชายผู้นี้ก่อนอื่น แล้วกำชับเด็กนั้นว่า

“นี่หนู หนูต้องรีบไปหาหมอที่ตำบลและชื่อร้านตามที่ฉันเขียนไว้นะ หนูต้องรีบไปให้ได้ ฉันจะเขียนให้เดี๋ยวนี้”

ข้าพเจ้าล้วงเอาสมุดจากกระเป๋าเสื้อติดตัวมา แล้วเขียนลงหลังนามบัตรเป็นจดหมายถึงนายแพทย์ผู้หนึ่ง เป็นเพื่อนสนิทคุ้นเคยกันมาก มีใจความว่าขอให้หมอรีบจัดการมาช่วยรักษาคนเจ็บให้ด้วย มีสิ่งใดที่จะช่วยเหลือได้ขอให้ช่วยทุกอย่างทุกประการ เพราะข้าพเจ้าต้องออกเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นในคืนวันนั้น ค่าใช้จ่ายเป็นเงินจำนวนเท่าใด ข้าพเจ้าจะจัดการชำระให้เมื่อกลับมาถึงเมืองไทยภายหลัง เขียนเสร็จแล้วก็มอบให้เด็ก และไม่ลืมที่จะย้ำทบทวนชื่อหมอและตำบลที่อยู่ของหมอให้เด็กนั้นจำไว้จนเข้าใจดี พร้อมกับมอบเงินจำนวนหนึ่งให้เด็ก แล้วบอกว่า

“หนูอย่าให้พ่อกินก๋วยเตี๋ยวเลย ต้มข้าวต้มให้กินดีกว่าจะได้ไม่แสลงไข้”

เด็กน้อยยกมือไหว้รับเงินจากข้าพเจ้าแล้วถามว่า “ท่านครับ หมอที่ผมจะไปหาคนนั้นเขาจะรับรักษาให้พ่อผมหรือครับ ผมและพ่อไม่มีเงินค่ายารักษาให้ ผมกลัวว่าเขาจะไม่รักษาให้”

ข้าพเจ้ายืนยันรับรองว่า “หนูอย่ากลัวเลย หมอคนนี้เป็นหมอที่ดี เห็นใจคนจน ไม่ว่าจะเป็นคนมั่งมีหรือคนจนหมอรักษาให้เหมือนกันหมด ยิ่งไปกว่านั้นฉันก็เป็นเพื่อนสนิทของเขา ค่ายาค่ารักษาเท่าไหร่ ฉันรับออกเงินให้ทั้งหมด ฉันรับรองว่าหมอคนนี้ดีจริงๆ หนูต้องไปให้พบกับตัวหมอให้ได้นะ”

เด็กก็พยักหน้ารับคำข้าพเจ้า “ครับผม ผมจะไป”

คนป่วยก็ยังคงนอนนิ่งอยู่ เด็กจะคิดอย่างไรไม่ทราบ เดินตรงเข้าไปทำท่าจะปลุกให้ตื่น ข้าพเจ้ารีบยึดตัวเด็กห้ามไว้ไม่ให้ปลุก กระซิบบอกว่า คนป่วยกำลังนอนหลับอยู่ไม่ควรปลุกไห้ตื่นขึ้นมา จะเป็นการทรมานคนป่วยโดยไม่จำเป็น ข้าพเจ้ายืนเพ่งพิจารณาดูสภาพความคับแค้นของคนประเภทที่หาเช้ากินค่ำในยามเคราะห์ร้าย ที่ต้องป่วยล้มหมอนนอนเสื่ออย่างที่กำลังอยู่ตรงหน้าขณะนี้

ข้าพเจ้าไม่ค่อยจะได้มีโอกาสได้เห็นสภาพของจริงเช่นนี้มาก่อนเลย เมื่อประสบเข้าเช่นนี้ก็รู้สึกเต็มตื้นด้วยความเวทนาคิดคำนึงว่า ในยามเช่นนี้ถ้าเราช่วยเหลือเขาเท่าที่จะช่วยได้จะเป็นบุญกุศลยิ่งใหญ่กว่าการบำเพ็ญทานในยามปกติมากทวีคูณทีเดียว ผลานิสงค์จะทำให้เราเกิดปิติปสาทะภาคภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในยามวิบากเช่นนี้ ก่อนที่จะกลับข้าพเจ้าไม่ลืมกำชับเด็กนั้น ถึงเรื่องต้มข้าวต้มให้พ่อรับประทานกับไปหาหมอ และปลอบว่า

“เสียใจที่ฉันจำเป็นต้องเดินทางคืนนี้ ฉันจะกลับมาอีกในเวลาไม่นานหรอก เมื่อกลับมาแล้วฉันจะมาเยี่ยม หนูไม่ต้องกลัว ถ้าหมอมารักษาแล้วทุกอย่างก็จะเรียบร้อย”

ดวงตาอันไม่เดียงสาของเด็กน้อยมีน้ำตาคลอสะเทือนใจข้าพเจ้า ทำให้รำพึงไปว่า “หนูเอ๋ย ทำไมเจ้าจึงมีรูปร่างเหมือนลูกของฉันเมื่อเล็กๆ อย่างนี้หนอ”

ต่อจากนั้นข้าพเจ้าก็เดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ในคืนวันนั้นข้าพเจ้านอนใจว่า ป่านนี้เด็กคนนั้นต้องนำจดหมายของข้าพเจ้าไปให้นายแพทย์ และพ่อของเด็กคงได้รับความช่วยเหลือเป็นที่เรียบร้อยสมดังที่ข้าพเจ้าปรารถนาแล้ว จวบจนกระทั่งวันหนึ่งหลังจากที่ข้าพเจ้ากลับจากญี่ปุ่นถึงเมืองไทยแล้ว ได้โทรศัพท์ไปถามข่าวคราวจากนายแพทย์ผู้นั้นว่า เมื่อวันที่ข้าพเจ้าเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ได้ให้เด็กถือนามบัตรจดหมายของข้าพเจ้าหนึ่งฉบับส่งถึงหมอ ขอให้ช่วยรักษาคนป่วยหนึ่งคนนั้น เดี๋ยวนี้คนป่วยนั้นมีอาการเป็นอย่างไรบ้าง

เสียงของหมอในโทรศัพท์นั้นรู้สึกว่าอึกๆ อักๆ ชอบกล แล้วตอบมาว่า ไม่ทราบไม่เคยได้รับนามบัตรหรือจดหมายอะไรจากข้าพเจ้าตามที่ว่านั้นเลย ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกแปลกใจมาก จะซักถามหมออย่างไรหมอคงไม่ทราบเรื่อง เพราะไม่ได้รับจดหมาย ข้าพเจ้าเลยต้องนิ่งไม่ได้พูดอะไรต่อไปอีกเลย


(มีต่อ ๒)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 26 ก.ค.2006, 3:46 pm, ทั้งหมด 2 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 07 มิ.ย.2006, 8:21 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เย็นวันนั้น พอข้าพเจ้าว่างงานแล้วก็รีบไปยังบ้านของเด็กน้อย บุตรของคนขับรถสามล้อที่ป่วยทันที ข้าพเจ้ารู้สึกงงงันไปหมด เมื่อไปถึงที่บ้านหรือกระท่อมหลังนั้น ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปหมด ผู้ที่อยู่ในบ้านก็เป็นบุคคลที่ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นหรือรู้จักในคราวก่อนเลย

ที่ข้าพเจ้าเห็นว่าเปลี่ยนแปลงไปนั้นคือ ก่อนนี้บ้านของเด็กไม่มีตุ่มน้ำ แต่เดี๋ยวนี้มีตุ่มใหญ่ตั้งอยู่สองใบ สีตุ่มยังใหม่อยู่ ถัดมาก็มีชามอ่างใบใหญ่ใส่น้ำเต็ม มีหญิงวัย ๔๐ ปีกำลังจับเด็กอายุประมาณ ๑ ขวบอาบน้ำในอ่างใหญ่ใบนั้น ทุกอย่างได้เปลี่ยนแปลงผิดแปลกไปเช่นนี้ ทำให้ข้าพเจ้าเกิดความไม่แน่ใจว่าความทรงจำของข้าพเจ้าลวงหรือเปล่า หรือเข้าบ้านผิดเสียกระมัง แต่ข้าพเจ้าแน่ใจว่าเข้าไม่ผิดซอยแน่ เพราะที่ปากซอยยังมีโรงรับฝากรถสามล้อปรากฎอยู่

อดใจไม่ไหวจึงเอ่ยถามหญิงที่กำลังอาบน้ำเด็กว่า ชายที่นอนป่วยอยู่ในบ้านหลังนั้นเมื่อเดือนก่อน เดี๋ยวนี้ไปอยู่ที่ไหน หญิงผู้นั้นแสดงความสนเท่ห์ กลับย้อนถามข้าพเจ้าว่า “คุณเป็นญาติกับแกหรือเปล่าค่ะ”

ข้าพเจ้าบอกแกว่าไม่ใช่ แกจึงเล่าให้ฟังต่อไปว่า คนอยู่เดิมที่ป่วยนั้นถึงแก่กรรมไปแล้ว แกเพิ่งจะย้ายมาอยู่ใหม่ ข้าพเจ้าจึงซักต่อไปถึงเด็กบุตรของผู้ตาย ก็ได้ทราบว่ามีญาติมารับเอาตัวไปเลี้ยง จะไปอยู่ไหนก็ไม่ทราบได้


ข้าพเจ้าก็รับทราบด้วยความเศร้าสลดใจ ขณะที่กำลังเดินออกจากที่นั้น ก็พอดีสวนทางกับชายคนที่เคยทักกับเด็กน้อยเมื่อตอนที่ข้าพเจ้ามาด้วย แกจำข้าพเจ้าได้พอจะออกปากถาม แกก็ชิงถามก่อนว่า “คุณใช่ไหมครับที่มากับเจ้าหนูน้อยเย็นวันนั้น แล้วให้เงินกับจดหมายไปรับหมอ”

ข้าพเจ้ารับว่าใช่ แกก็เลยเล่าให้ฟังต่อไปว่า เจ้าหนูน้อยตั้งใจจะไปรับหมอในวันรุ่งขึ้น กำลังจะต้มข้าวให้กิน แต่พ่อของเด็กก็มีอาการหนัก สิ้นใจถึงแก่กรรมคืนวันนั้น ไม่ทันได้รับการรักษาเยียวยาเลย ศพของผู้ตายก็จัดการทำไปตามมีตามเกิด ภรรยาผู้ตายก็นำเด็กผู้เป็นบุตรไปฝากให้อยู่กับญาติไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน ส่วนตัวเองไปเป็นลูกจ้างรับใช้อยู่แถวบางกะปิ เมื่อทราบเหตุการณ์ผันแปรไปอย่างนั้น ก็ลาชายผู้นั้นกลับ ในใจครุ่นคิดเป็นห่วงเด็กกับอนาคต แต่ก็คลายใจเมื่อคิดได้ว่าเด็กนั้นก็มีญาติอุปการะอยู่แล้ว คงจะไม่ลำบากอย่างใด


เวลาผ่านไปประมาณ ๓ เดือน วันหนึ่งข้าพเจ้าขับรถไปธุระที่บ้านเพื่อนผู้หนึ่ง กำลังจะหมุนพวงมาลัยรถเลี้ยวซ้ายที่ทางแยกถนนสายหนึ่ง มีรถเก๋งคันใหญ่หนึ่งคันวิ่งมาด้วยความเร็วสูง วิ่งแฉลบเข้าชนท้ายรถจักรยานสามล้อคันหนึ่ง ที่กำลังโก่งตัวถีบอยู่ข้างถนนเต็มแรง คนที่กำลังขับขี่รถสามล้ออยู่ไม่ทันรู้ตัว ถูกชนกระแทกกระเด็นตัวลอยจากรถ ไปฟาดกับพื้นถนนแล้วม้วนตัวลงนอนแน่นิ่งอยู่กับที่ ขณะนั้นไม่เห็นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรอยู่ ณ ที่เกิดเหตุเลย

ข้าพเจ้าจึงชะลอรถแล่นเพื่อดูเหตุการณ์อยู่ห่างๆ คนที่ขับรถชนสามล้อผู้นั้นยังมีมรรยาทและศีลธรรมอยู่ เขาจอดรถไว้ข้างทาง แล้วก็รีบมาประคองอุ้มสามล้อที่เคราะห์ร้ายขึ้นให้นั่ง ทรงตัวให้ตรงแต่ก็ไม่เป็นผล คอของชายผู้ขับขี่สามล้อนั้นพับไปพับมาเหมือนกับว่าหมุนได้รอบ แล้วพับนิ่งอยู่ที่หน้าอก เข้าใจว่ากระดูกก้านคอต้องหัก

ข้าพเจ้าไม่ได้หยุดรถ ค่อยๆ ชะลอแล่นดูจนเห็นผู้คนหลั่งไหลมาจากสารทิศต่างๆ พากันมุงล้อมแน่นจนไม่เห็นตัวคนเจ็บ สักครู่ก็ผ่านไปพบเห็นตำรวจจราจรผู้หนึ่ง จึงแจ้งให้ทราบว่าเกิดเหตุรถชนคนที่ทางแยก ขอให้รีบไปสอบสวนเหตุการณ์ ตำรวจผู้นั้นก็ไม่รอช้ารีบปั่นจักรยานประจำตัวไปที่เกิดเหตุทันที

ภาพอันน่าสยดสยองที่อุบัติต่อหน้าต่อตาอย่างใกล้ชิดนั้น ทำให้เกิดความสลดสังเวชใจมาก แต่ข้าพเจ้ามุ่งหมายที่จะไปบ้านเพื่อนของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิม จึงขับรถมุ่งหน้าต่อไปจนถึงแล้วจอดรถไว้ข้างทาง ทางเดินที่จะเข้าไปบ้านเพื่อนเป็นซอยเล็กๆ กว้างขนาดพอรถสามล้อแล่นได้คันเดียว ในซอนนั้นมีบ้านของผู้ขับขี่สามล้ออยู่หลายหลัง ขณะนั้นมีคนกำลังทำความสะอาดสามล้ออยู่หลายคัน เด็กๆ ก็ทำหน้าที่หิ้วกระป๋องน้ำบ้าง บางคนก็ถอดวงล้อออกซ่อม ถอดยางนอกปะยางในบ้าง คะเนดูแล้วกะว่าต้องมีรถสามล้อประมาณหกเจ็ดคันเป็นอย่างน้อย

เมื่อผ่านพ้นบ้านของชาวสามล้อ อีกสักครู่หนึ่งก็ถึงบ้านเพื่อนของข้าพเจ้า เคาะประตูเรียกสักอึดใจ ก็มีคนมาเปิดประตูให้ พอไต่ถามถึงเพื่อนก็ได้รับทราบว่า ไม่อยู่บ้าน ไปธุระที่จังหวัดใกล้เคียง ประมาณว่าจะกลับราวเย็นวันนั้นแน่ ข้าพเจ้าก็ลากลับพร้อมกับสั่งไว้ว่าจะมาหาอีกในเช้าของวันรุ่งขึ้น ขอให้เขาอยู่รอพบข้าพเจ้าให้ได้ เพราะมีธุระจำเป็น

รุ่งเช้าข้าพเจ้าก็ไปหาเพื่อนผู้นั้นตามที่สั่งนัดไว้ เช้าวันนั้นบรรยากาศของหมู่บ้านแถบที่ก่อนจะถึงบ้านเพื่อนของข้าพเจ้า ทำให้รู้สึกฉงนแปลกใจมาก เมื่อวานนี้ผ่านมาเห็นแต่ละคนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ล้วนแล้วแต่มีอากัปกิริยาร่าเริง พูดจาเสียงเอะอะครึกโครม ไฉนวันนี้มีแต่เสียงคร่ำครวญเสียงร้องไห้รำพันต่างๆ นานา เหมือนกับมีใครที่ประสบกับความตายไปแล้วฉะนั้น เสียงเหล่านั้นทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกสลดหดหู่ใจยิ่ง วานนี้แท้ๆ ข้าพเจ้ายังได้ยินเสียงหัวเราะต่อกระซิบของบุคคลเหล่านั้น ไม่มีท่าทีว่าจะเกิดเหตุมีคนเจ็บป่วยล้มตายอย่างไรเลย เหตุกระทันหันเช่นนี้ข้าพเจ้าเข้าใจว่า น่าจะมีผู้หนึ่งผู้ใดต้องสิ้นชีวิตลงอย่างปัจจุบันทันด่วนเป็นแน่

เมื่อข้าพเจ้าได้พบกับเพื่อน พูดตกลงกันด้วยธุรกิจเสร็จสิ้นแล้ว ก็ถือโอกาสถามเพื่อนว่า ทำไมคนข้างบ้านนั้นจึงมีอาการทุกข์โศกกันอย่างที่เห็นเช่นนั้น เพื่อนตอบว่า “เมื่อวานนี้ตอนเย็น พอผมกลับจากจังหวัดนครปฐมถึงบ้านก็เป็นเวลาพลบแล้ว ทราบว่ามีตำรวจมาเที่ยวสอบถามหาบ้านของคนขับขี่สามล้อผู้หนึ่งซึ่งอยู่ใกล้เคียง เมื่อพบแล้วก็แจ้งให้ทราบว่าคนขับรถสามล้อถูกรถชนถึงแก่ความตายเสียแล้ว เพราะศรีษะฟาดกับพื้นถนนจนกระดูกคอหักตายคาที่ ตำรวจแจ้งว่าได้นำเอาศพไปไว้ที่โรงพยาบาลกลาง (เวลานั้นยังไม่มีโรงพยาบาลตำรวจ) บรรดาลูกเมียและเพื่อนฝูงพอทราบข่าวก็พากันไปเยี่ยมศพ ต่างพากันเศร้าสลดร้องห่มร้องไห้กันตั้งแต่เมื่อคืน”

“คนตายเป็นคนที่น่าสงสารมาก”

เพื่อนข้าพเจ้าเล่าต่อ “เป็นคนขี่สามล้อที่มีมารยาทดี พูดจาเรียบร้อย เป็นคนรักครอบครัว ผจญงานหนักเพื่อการต่อสู้กับการดำรงชีวิตอยู่ของตนและครอบครัวอย่างน่านับถือ แกมีบุตรชายหญิง ๔ คน คนเล็กกำลังกินนมซ้ำกำลังเป็นไข้อยู่ด้วย นอกจากบุตรภรรยาก็ยังมีมารดาตาบอดทั้งสองข้างอีกคนหนึ่ง แกต้องสิ้นชีวิตเสียอย่างนี้ก็เหมือนเรือที่ขาดใบขาดหางเสือ และอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้สังเวชหนักก็คือ เมื่อตายแล้วเจ้าหน้าที่ตรวจค้นดูภายในรถว่าจะยังคงมีสิ่งใดเหลืออยู่บ้าง คุณทราบไหมว่าตำรวจพบอะไร ใต้เบาะรถมียาน้ำแดงแก้ไข้เด็ก อยู่หนึ่งขวดเข้าใจว่าคงจะรีบเอามาให้ลูกรับประทานเพื่อแก้ไข้”


(มีต่อ ๓)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 26 ก.ค.2006, 3:47 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 07 มิ.ย.2006, 8:34 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ข้าพเจ้าซักต่อไปว่า ศพคนตายนั้นเขาจะจัดการกันไปอย่างไร เพื่อนก็บอกว่าสำหรับตัวเขาเองตั้งใจว่า จะเรี่ยไรชาวบ้านออกเงินคนละเล็กละน้อยตามสติกำลังเอาไปทำศพ เพราะผู้ถึงแก่กรรมนี้แม้จะเป็นเพียงกรรมกรสามล้อก็จริง แต่มีชาวบ้านรักใคร่มากเพราะเป็นคนดี เมื่อฌาปนกิจเรียบร้อยแล้ว มีเหลืออีกเท่าใดก็จะมอบให้แก่ลูกเมียของผู้ตายต่อไป ข้าพเจ้าได้ทราบเช่นนั้นก็ถือโอกาสมอบเงินจำนวนหนึ่งสมทบช่วยเหลือ ด้วยความเวทนาสงสารในชะตากรรมของครอบครัวผู้เคราะห์ร้ายนั้น

แล้วถามอีกว่า “ทางฝ่ายผู้ที่ขับรถชนคนตายนั้นล่ะเขาว่าอย่างไร ขับรถชนคนตายทั้งคน”

เขาตอบว่า “ยังไม่มีใครทราบเลยว่าจะเป็นกันอย่างไรต่อไป เรื่องก็อยู่ในระหว่างสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ”

“สามล้อคันนี้ถูกชนที่ตรงสี่แยก..... นั้นใช่ไหม” ข้าพเจ้าถามอย่างนึกสังหรณ์ใจขึ้นมา

เพื่อนข้าพเจ้าตอบว่าดูเหมือนจะใช่

ข้าพเจ้าจึงเล่าให้ฟังว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้เห็นเหตุการณ์อย่างใกล้ชิดกว่าใคร เพราะฉะนั้น ถ้าหากฝ่ายผู้เสียหายต้องการประจักษ์พยาน ข้าพเจ้าก็ยินดีที่จะให้การตามความสัตย์จริงเพื่อมนุษยธรรม วันนั้นจะดูเป็นวันที่ไร้ความสดชื่น จะมองไปทางไหนก็มีแต่ความเหี่ยวแห้งหดหู่ใจ เห็นจะเป็นเพราะข้าพเจ้าแต่ผู้เดียวที่เห็นอุบัติเหตุอย่างใกล้ชิด ได้เห็นและทราบเบื้องหลังอันแร้นแค้นของครอบครัวผู้เคราะห์ร้าย อีกหลายชีวิตที่ผูกพันอยู่กับแรงงานของสามล้อผู้นี้จะต้องประสบกับความเปล่าเปลี่ยวหมดหวังและหมดที่พึ่งพา ลูกที่จะต้องมีอาหารมีการศึกษา แม่มีตามืดบอดและชราภาพ

เหตุการณ์เหล่านั้นรบกวนความรู้สึกของข้าพเจ้าอย่างหนัก และนำมาซึ่งความสลดใจ ชั่วเพียงระยะไม่กี่เดือนที่แล้วมาข้าพเจ้าต้องเผชิญกับเรื่องของคนอาภัพและโชคร้ายถึง ๒ ครั้งอย่างใกล้ชิด ไม่สามารถที่จะหักห้ามความรู้สึกอันสะเทือนใจและสงสารผู้เคราห์ร้ายนั้นได้ จนกระทั่งรำลึกได้ว่า ความทุกข์และความไม่เที่ยงธรรมนั้นเป็นภาวะของโลก เป็นมูลเหตุที่ก่อให้เกิดวิบัติและวิปโยค สุดแต่วิถีแห่งชะตากรรมของแต่ละชีวิต ไม่มีผู้ใดสามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นได้

หลังจากเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นไม่สู้นานนัก ข้าพเจ้าขับรถไปตามถนนหลวงด้วยความเร็วพอควรคือไม่เร็วเกินไป เพราะข้าพเจ้าไม่ชอบขับรถเร็ว ตามทางข้างซ้ายห่างจากข้าพเจ้าประมาณ ๒-๓ ชั่วคันรถยนต์ ถ้ามีรถจักรยานสามล้อคันหนึ่งวิ่งนำอยู่ข้างหน้ารถของข้าพเจ้า ขณะนั้นคนขับรถสามล้อแกเห็น คนจีนชราคนหนึ่งกับชายรุ่นหนุ่มอีกคนหนึ่ง ยกมือเรียกรถสามล้ออยู่ทางด้านขวามือของแก การกระทำไวกว่าความคิดที่จะดูด้านหลังให้เรียบร้อยก่อน แกก็เลี้ยวปร๊าดออกไปด้วยความที่อยากจะได้เงินค่าโดยสาร ไม่คิดถึงอันตรายที่มาข้างหลัง

รถสามล้อตัดหน้ารถข้าพเจ้าอย่างกระชั้นชิด ข้าพเจ้าเหยียบเบรคห้ามล้ออย่างสุดแรงโดยเร็วที่สุด ล้อรถยนต์หยุดนิ่งลากไปทั่วบริเวณนั้น ทำให้ผู้คนที่กำลังสัญจรไปมาสองฟากถนนพากันมองมาที่รถของข้าพเจ้าเป็นจุดเดียว รถยนต์เฉียดท้ายสามล้อไปได้อย่างหวุดหวิด คนขับรถสามล้อคันนั้นตกใจมากหันหน้ามามองหน้าข้าพเจ้าด้วยสีหน้าอันซีดเซียวด้วยความรู้สึกกลัวและสำนึกได้ว่า ได้ทำผิดประมาทเลินเล่อ

ในส่วนข้าพเจ้านั้น หากโดยปกติธรรมดาแล้วจะถึงหัวเสีย ตะโกนหรือตะคอกคำพูดอันรุนแรงไม่สุภาพออกไปได้ เพราะความประมาทของเขาแท้ๆ จะทำให้ข้าพเจ้าเป็นฆาตกรบนท้องถนนหลวง และอาจจะต้องเศร้าสลดใจไปชั่วชีวิตก็ได้ หรืออย่างดีก็เพียงต้องพยายามอดกลั้นโทสะไว้ในใจเท่านั้น แต่ในคราวนี้มีแต่ความเมตตาสงสาร ไม่มีความโกรธแค้นเกิดขึ้น ไม่ได้กล่าวถ้อยคำใดให้เป็นที่กระเทือนใจชายที่ขับสามล้อนั้น ข้าพเจ้ายิ้มกับเขาด้วยความบริสุทธิ์ใจ ด้วยไมตรีจิตอันขาวสะอาด คิดสงสารว่าแกเป็นคนจน ปรารถนาที่จะได้เงินไปใช้จ่ายเพียงเพื่อเลี้ยงชีวิตตนเองและครอบครัว

ฉะนั้น การยิ้มของข้าพเจ้าจึงเป็นเครื่องปลอบประโลมให้แกคลายความวิตกกังวล ที่สุดแกก็มีใบหน้าสดชื่นและยิ้มออกมาได้ ภายในดวงตาคู่นั้นมีแววประหลาดล้ำ ซึ่งผ่านออกมาจากส่วนลึกของหัวใจที่กำลังเปี่ยมล้นไปด้วยความรู้คุณและปิติ ท่านคงไม่ทราบหรอกว่า ข้าพเจ้ามีความสุขใจอย่างยิ่งในครั้งนี้ ข้าพเจ้าเป็นสุขเพราะชนะใจตัวเองไม่ให้โกรธ ทั้งนี้ด้วยเมตตาจิตอันเกิดจากการสงสารแก่คนขับรถสามล้อ และครอบครัวทั้งสองรายที่พบมาก่อน

รายแรกไม่สามารถช่วยให้คนขับรถสามล้อ ที่ประสบความป่วยไข้พ้นความตายได้ และรายที่ ๒ ได้พบเห็นแก่ตาตนเองอย่างใกล้ชิด กรณีที่คนขับรถสามล้อคอหักตายเพราะถูกรถยนต์ชน ประกอบได้รู้เห็นเบื้องหลังต่างๆ อย่างละเอียดอยู่ในความทรงจำ จึงเป็นเหตุให้ข้าพเจ้ามองเห็นคนขับรถสามล้อทุกคน เป็นผู้ที่ควรเวทนาสงสารเป็นทุนอยู่ในใจ และเห็นใจในความยากจน เพราะถ้าเขามั่งมี เขาก็คงไม่ปรารถนายึดอาชีพอันแสนจะเหน็ดเหนื่อยอย่างนี้เป็นแน่


จริงอยู่แม้คนขับรถสามล้อบางคนที่ฐานะดี หรือบางคนก็มีนิสัยไม่สู้ดี แต่ส่วนมากก็เป็นคนสุภาพ มานะบากบั่น ตั้งหน้าหาเลี้ยงตนและครอบครัวโดยสุจริต ข้าพเจ้าก็พึ่งทราบครั้งนี้เองว่า ข้าพเจ้าได้รับบทเรียนที่มีค่ายิ่งในชีวิตคือ “ความสงสารและการให้อภัย” ความสงสารนั้นเป็นเครื่องประหารความโกรธ ความสงสารเกิดขึ้น ณ ที่ใด ความโกรธย่อมสูญสิ้นไป สิ่งนี้มีคุณค่าแก่ชีวิตของข้าพเจ้าอย่างยิ่ง เพราะขณะที่ขับรถในท้องถนนมีแต่ความสบายใจ ไม่มีความหงุดหงิดขุ่นมัวเหมือนเมื่อก่อน

โดยข้าพเจ้าได้พยายามนำเอาความรู้สึกดังกล่าวที่มีแก่คนขับสามล้อนั้น มาใช้กับคนขับรถยนต์ทั่วไป ส่วนมากได้แก่คนขับแท็กซี่แซงซ้ายแซงขวาตัดหน้า และก็มีแท็กซี่ที่สุภาพเรียบร้อยตั้งหน้าหากินโดยสุจริต ไม่ยอมแซงและมีความซื่อสัตย์ต่อผู้โดยสาร แม้ว่าผู้โดยสารจะลืมของมีค่าไว้ในรถก็อุตสาห์นำไปคืนถึงบ้าน หรือไม่ทราบบ้านก็นำไปประกาศหาเจ้าของ รถแท็กซี่บางคันขับผิดกฎจราจร ข้าพเจ้าคิดว่าเขาคงหาเงินแข่งกับเวลาเพื่อไปเลี้ยงครอบครัว ข้าพเจ้าก็แก้ไขความรู้ในทางดีตกไปแล้ว เพราะใจข้าพเจ้ามีแต่ความสงสารให้แก่บุคคลเหล่านั้น

ส่วนความผิดต่อข้อบังคับการจราจร เป็นหน้าที่ของตำรวจจะจัดการเพื่อความปลอดภัย การให้ความสงสารและให้อภัยเป็นเรื่องของข้าพเจ้าโดยเฉพาะ สำหรับรถส่วนบุคคลบางคันก็ขับผาดโผนแบบเดียวกับรถยนต์แท็กซี่ ข้าพเจ้าก็ให้ความเห็นใจว่า อาจมีธุระสำคัญ รีบร้อนให้ทันรถไฟ หรืออาจมีคนป่วยหนักกำลังรอความช่วยเหลือ สิ่งเหล่านี้อาจเป็นไปได้ เมื่อนึกถึงอย่างนี้ก็สบายใจและยิ้มออกมาได้ การยิ้มย่อมเป็นความสุขด้วยกันทุกฝ่าย การขุ่นมัวในจิตก็หายไปจนหมดสิ้น



...................... เอวัง ......................
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 26 ก.ค.2006, 3:48 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
.....
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 07 มิ.ย.2006, 8:39 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ความสงสารประหารความโกรธ เมตตาธรรมนำโลกพ้นภัย
 
นายธัชชัย อมรปิติโชติ
บัวผลิหน่อ
บัวผลิหน่อ


เข้าร่วม: 30 มี.ค. 2007
ตอบ: 2
ที่อยู่ (จังหวัด): เพชรบูรณ์

ตอบตอบเมื่อ: 06 พ.ค.2007, 9:38 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ชีวิตคนนั้นเลือกเกิดไม่ได้ หลายครั้งรู้สึกสลดใจกับหลายชีวิต
 

_________________
อย่าประมาทในการใช้ชีวิต
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวหมายเลข ICQ
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง