Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 เมตตา-กรุณา (ท.เลียงพิบูลย์) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 03 เม.ย.2006, 7:55 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

เมตตา - กรุณา
โดย ท.เลียงพิบูลย์

จากหนังสือกฎแห่งกรรม
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เล่ม ๒



หลังจากท่านทนายความได้เล่าเรื่อง "ความดี” แล้ว อดีตข้าราชการผู้ใหญ่ท่านก็ได้กรุณาเล่าเรื่อง "เมตตา-กรุณา" ให้เราฟังต่อไปนี้

ชนบทที่ไม่ห่างไกลจากพระนครมากนัก สำหรับสมัยปัจจุบันที่มีการคมนาคมสะดวก มีทางหลวงตัดผ่าน หมดความหมายที่จะใช้คำว่าไปมาลำบาก เพราะมีถนนตัดเข้าหมู่บ้าน รถยนต์วิ่งถึงทุกแห่ง หากจะย้อนหลังไปเมื่อสมัย ๔๐ ปี ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เมื่อครั้งที่เมืองไทยเรามีชื่อว่าประเทศสยาม ยวดยานในพระนครที่มีแต่รถลาก รถเจ๊ก กับรถม้าเป็นส่วนมาก การไปมาหาสู่ทางไกลๆ ในครั้งนั้นยังไม่สะดวกเหมือนปัจจุบันนี้ ระยะที่ปัจจุบันเดินทางโดยรถยนต์เพียงหนึ่งหรือสองชั่วโมง แต่สมัยก่อนต้องเสียเวลาเป็นวันๆ เพราะภูมิประเทศมีแต่ป่าทุ่งนา หรือท้องทุ่งนาหญ้าอันกว้างใหญ่ไพศาล บ้านช่องผู้คนไม่ค่อยจะมี

การเดินทางนั้นนอกจากจะไปทางรถไฟแล้ว ก็ไปได้ทางน้ำโดยอาศัยเรือเป็นพาหนะ เมื่อรถเรือไปไม่ถึงก็ต้องเดิน ดังนั้นที่ใกล้จึงดูไกล การไปมาหาสู่เยี่ยมเยียนติดต่อกันจึงเป็นไปด้วยความลำบาก ทำให้ชาวบ้านแต่ละท้องที่ แต่ละตำบล มีสำเนียงการพูดแปร่งแผกกันออกไป เพียงแต่ชานเมืองหลวงแค่ตำบลมักกะสันเท่านั้น ก็นับว่าเป็นชนบทที่ไกลเมืองหลวง สำเนียงที่พูดก็แปร่งผิดกับสำเนียงในกรุง ส่วนพวกชาวบ้านตามชนบทเหล่านั้น จะเดินทางเข้ามาในพระนครคราวใดก็เป็นเรื่องใหญ่ ราวกับว่าอยู่คนละเมือง ผู้ใหญ่จะมาพระนครสักครั้ง ก็มักจะถามลูกหลานว่า

"เฮ้ย ! ข้าจะไปบางกอก พวกเอ็งจะเอาอะไรบ้างวะ"

เพราะทางชนบทยังไม่เจริญร้านค้าไม่ค่อยมี การเข้ากรุงก็ยังตั้งสั่งเสียลูกหลานให้คอยดูแลบ้านช่องให้ดี เพื่อว่ากลับไม่ทันก็จะต้องค้างที่บางกอก เหตุการณ์แต่ละสมัยตลอดจนจิตใจของคนจึงไม่เหมือนกัน เพราะสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ ดังที่ท่านอดีตข้าราชการได้ทราบมาจากผู้ที่ประสบเหตุการณ์ในสมัยนั้นผู้หนึ่ง เรื่องนี้เกิดขึ้นในชนบทที่ห่างไกลจากพระนคร ระยะเดินทางในเวลาวันเดียวไม่ถึง

บ่ายวันหนึ่ง ที่โรงนาหรือบ้านชาวนาสร้างขึ้นหยาบๆ อยู่โดดเดี่ยว บนโคกที่ถมดินไว้สูง กลางทุ่งนาหลังคามุงด้วยจากฝาบ้านกั้นด้วยไม้ไผ่ขัดแตะ พื้นบ้านเป็นดินถูกปรับเป็นผืนเดียวเรียบ มีแคร่ไม้ไผ่สำหรับนอนและนั่งเล่นอยู่ติดฝาข้างหนึ่ง ประตูโรงนาก็เป็นไม้ไผ่ขัดแตะและช่องหน้าต่างก็ทำแผงไม้ไผ่ เวลาเปิดที่ใช้ไม้ค้ำเพื่อให้แสงสว่างและลมผ่านเข้ามาได้

ที่บ้านเป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัวหนึ่ง มีพ่อแม่และลูกหญิง ๒ คน คนโตอายุ ๘ ขวบ ไว้ผมจุก คนเล็กอายุ ๓ ขวบ บ่ายวันหนึ่ง เด็กผู้พี่กำลังไกวเปลร้องเพลงเห่กล่อมน้องให้หลับอยู่ในโรงนา เป็นเวลาที่ข้างนอกแดดกำลังร้อนจัด เพราะเพิ่งจะเลยเที่ยงวันไม่นานนัก พ่อกับแม่ของเด็กหญิงไม่อยู่บ้าน ทิ้งให้ลูกสาวคนโตเลี้ยงน้องอยู่เฝ้าบ้าน เด็กหญิงผู้พี่เมื่อป้อนข้าวน้องแล้ว ก็เอาใส่เปลเห่กล่อมให้หลับ เพื่อตัวเองจะได้กินข้าว

บ้านหลังนี้ตั้งอยู่โดดเดี่ยวไม่มีเพื่อนบ้านใกล้เคียง ในโรงนาหรือบ้านนี้นอกจากเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับครอบครัวชาวนาทั่วๆ ไปแล้ว ก็ไม่มีอะไรแสดงถึงความฟุ่มเฟือย ในสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับการครองชีพและชีวิตประจำวัน เป็นครอบครัวชาวนาที่ไม่มีสมบัติที่มีราคาอยู่ในบ้าน แต่สิ่งที่แปลกก็คือ มีใบฎีกาชวนเชิญให้ไปทำบุญร่วมการกุศลของวัดต่างๆ หลายใบติดไว้ที่บานประตูไม้ไผ่สานเป็นแถว

สมัยนั้นฎีกาบอกบุญเป็นแผ่นเล็กๆ บรรจุข้อความสามสี่บรรทัด ไม่มีซองสำหรับบริจาคชวนเชิญ ให้ไปที่วัดเท่านั้น ไม่มี่ชื่อกรรมการหรือชื่อบุคคลเหมือนปัจจุบัน เป็นฎีกาแผ่กุศลมายังทายกทายิกาลอยๆ อีกสิ่งหนึ่งที่สะดุดตาก็คือ บนหัวนอนมีหิ้งมีรูปพระพุทธรูปใส่กรอบไว้เคารพบูชา มีกระถางธูปเทียนและแจกันปักดอกไม้ แสดงว่าครอบครัวนี้แม้จะขัดสนจนยาก แต่ก็มีความเคารพนับถือพระพุทธศาสนาเป็นพึ่ง

ขณะที่เด็กหญิงกำลังส่งเสียงแจ้วๆ เห่กล่อมน้องด้วยเพลงของชาวบ้านทั่วๆ ไปทันใดนั้นก็มีชายสูงอายุผู้หนึ่ง แต่งกายผิดแปลกไปจากชาวบ้านทั่วๆ ไปในแถบนั้น นุ่งผ้าโจงกระเบนใส่เสื้อนอก ใส่รองเท้า แต่ไม่ใส่หมวก ไม่มีลูกกระดุมเสื้อ เหงื่อชุ่มตัว ท่าทางอิดโรยเดินโซเซเข้ามาในโรงนา เด็กหญิงมองดูอย่างตกใจ

แต่เมื่อเห็นชายสูงอายุทำท่าเซจะล้ม คล้ายกับมีสิ่งดลใจตามสัญชาตญาณเกิดความสงสาร ทำให้เด็กหญิงทิ้งสายเชือกเปลที่กำลังไกวน้องอยู่ วิ่งเข้าไปช่วยพยุง แม้ตัวจะเล็กแต่จิตใจสูงจึงทำให้ชายสูงอายุได้เกาะบ่าเด็กหญิงไว้ทัน ก่อนที่จะล้มลง เด็กหญิงค่อยๆ พยุงไปที่แคร่ไม้ไผ่ ผู้เฒ่านั่งลงหอบด้วยความเหน็ดเหนื่อย เด็กหญิงจ้องดูด้วยความสงสัย แต่ไม่พูดไม่ถามอะไรทั้งสิ้น เพราะเห็นว่าท่านผู้เฒ่ายังเหนื่อยอ่อนอิดโรยอยู่มาก และกำลังหายใจหอบ

คำแรกที่ออกมาจากปากผู้เฒ่าซึ่งเด็กหญิงได้ยินก็คือ "น้ำ ขอน้ำกินหน่อย หิวน้ำเต็มทน คอแห้งเหลือเกิน" เด็กหญิงได้ยินเช่นนั้นก็ไม่รอช้า รีบจัดแจงไปหยิบขันทองเหลือง ตรงไปจ้วงขันลงในตุ่มน้ำฝนเพียงครึ่งขัน แต่ไม่ลืมรูดปลายใบจากที่มุงหลังคาตอนชายคาบ้านซึ่งเก่าและกรอบใส่ลงไปในขันน้ำด้วย แล้วก็ส่งให้ ผู้เฒ่าเมื่อเห็นเช่นนั้นก็ไม่พอใจที่เด็กหญิงโรยใบจากลงไปลอยอยู่ในขัน ทั้งน้ำก็มีสีเหลืองคล้ายใบชาจีนอยู่ แล้วถ้าเป็นเวลาปกติก็คงดื่มไม่ลง แต่ด้วยความหิวกระหายเป็นกำลัง และไม่มีทางเลือก ท่านจึงเป่าใบจากให้ลอยห่างออกไป แล้วค่อยๆ ดื่มอย่างไม่ค่อยทันใจ

เมื่อดื่มน้ำพอแก้กระหายแล้ว พักอยู่สักครู่หนึ่งพอหายเหนื่อย ท่านจึงเงยหน้าขึ้นมองดูเด็กหญิง แล้วพูดขึ้นว่า "ฉันได้กินน้ำเข้าไปค่อยมีแรงขึ้นหน่อย แต่เออ ! ทำไมน้ำจึงมีสีเหลืองเหมือนใส่ชาแต่จืดสนิทดี แล้วทำไมแม่หนูจึงต้องดึงใบจากโรยลงไปด้วยล่ะ ทำให้ฉันเกือบจะโกรธ เพราะกำลังคอแห้งกระหายน้ำจะขาดใจอยู่แล้ว นึกว่าจะดื่มให้สมอยาก แต่ก็คิดว่าแม่หนูคงมีเหตุผลจึงได้ทำเช่นนั้น น้ำของแม่หนูขันนี้มีค่ามาก ทำให้ฉันชุ่มชื่นมีกำลังขึ้นเป็นกอง ถ้าไม่ได้กินคงจะขาดใจตาย ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยหิวน้ำมากเหมือนคราวนี้เลย ไหนแม่หนูลองเล่าให้ฉันฟังว่า ทำไมจึงเอาเศษใบจากมุงหลังคาใส่ลงไปในน้ำ"

เด็กหญิงได้ยินเช่นนั้นก็บอกว่า "น้ำนี้เป็นน้ำฝน เหลืองก็เพราะหลังคาจากจ้ะตา และพ่อของหนูเคยสั่งสอนไว้ว่า บ้านเราอยู่กลางท้องไร่ท้องนาไกลจากหมู่บ้าน ถ้าพ่อแม่ไม่อยู่มีใครมาขอน้ำกิน ถ้าเห็นเขาคอแห้งหิวมากก็ให้ตักน้ำฝนในตุ่มแล้วรูดใบจากชายคาใส่ลงไป เขาจะค่อยๆ ดื่ม ถ้าไม่ใส่ใบจากลงไปเขาก็จะรีบดื่มๆ แทบไม่ยอมหายใจเพราะความอยาก แล้วก็อาจเกิดโทษขึ้น เพราะจะทำให้สำลักน้ำหรือจุกตาย พ่อบอกไว้อย่างนี้หนูก็ต้องทำตาม หนูเห็นตาเหนื่อย และอยากน้ำมาก คิดว่าตารู้แล้วคงไม่โกรธหนูนะจ๊ะตา"

ท่านผู้เฒ่ามองดูเด็กหญิงตัวเล็กๆ ด้วยความเอ็นดู และสงสาร แล้วน้ำตาไหล พลางพูดว่า

"โอ้ ! ฉันไม่โกรธแม่หนูหรอก แม่หนูทำถูกแล้ว เพราะถ้าไม่ทำเช่นนั้นฉันอาจสำลักน้ำจุกตายก็ได้ แต่ฉันยังไม่ได้กินข้าวเลย หิวข้าวจนแสบท้องแล้ว ได้กินน้ำก็ค่อยยังชั่วหน่อย ตลอดวันนี้ฉันยังไม่ได้กินข้าว แม่หนูมีข้าวเย็นเหลือบ้างไหม ขอให้ฉันกินแก้หิวบ้าง เกิดมาฉันไม่เคยนึกว่าจะต้องมาขอข้าว ขอน้ำใครกิน"


(มีต่อ ๑)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 26 ก.ค.2006, 8:54 pm, ทั้งหมด 2 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 03 เม.ย.2006, 8:00 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เด็กหญิงมองดูผู้เฒ่าอย่างน่าสงสาร และเห็นใจ แล้วพูดว่า "โถ ตาคงหิวมากนะจ๊ะ หิวจนไม่มีแรงเดิน หนูก็เพิ่งป้อนให้น้องกินก่อนลงเปลนอน แต่ไม่เป็นไรยังมีข้าวเย็นเหลืออยู่บ้างกับไข่เค็มอีกซีกหนึ่ง หนูจะไปเอามาให้"

เสียงท่านผู้เฒ่าพูดว่า "จริงแม่หนู ฉันหิวแล้วก็ไม่มีแรง แม่หนูเป็นเด็กดีจริงๆ"

เด็กหญิงแกว่งเปลให้แรงขึ้น แล้วก็รีบคดข้าวจนหมดหม้อ ได้มาครึ่งจานพร้อมทั้งไข่เค็มครึ่งซีกมาส่งให้ท่านผู้เฒ่า แล้วก็นั่งดูชายสูงอายุกินอย่างเอร็ดอร่อยเพราะกำลังหิว แต่เมื่อท่านผู้เฒ่ากินข้าวหมดจานแล้วก็นึกขึ้นได้ จึงถามเด็กหญิงว่า

"ข้าวที่ฉันกินนี่ มันเป็นข้าวสำหรับของแม่หนูกินกลางวันไม่ใช่หรือ แม่หนูยังไม่ได้กินข้าวใช่ไหม นี่ฉันมาแย่งข้าวของแม่หนูมากินเสียหมดแล้ว"

ท่านผู้เฒ่าพูดอย่างตำหนิตัวเอง แต่เด็กหญิงหัวเราะ แล้วพูดว่า "หนูไม่หิวหรอกจ๊ะตา หนูเห็นตาหิว และตาก็กินได้หนูก็ดีใจมาก ส่วนน้องอิ่มแล้วจ้ะตา เขาว่าคนแก่หิวมากๆ แล้วจะเป็นลม หนูเป็นเด็กไม่เป็นอะไร"

เสียงท่านผู้เฒ่าบ่นพึมพำอยู่ในลำคอว่า "แม่หนู แม่หนู ช่างน่ารัก เด็กท้องนาแท้ๆ ช่างใจดีจริงๆ"

เด็กหญิงถามขึ้นว่า "ตายังคงไม่อิ่มใช่ไหมจ๊ะตา หนูจะหุงข้าวต้มให้กินอีก"

ท่านผู้เฒ่าตอบว่า "ดีเหมือนกัน เพราะแม่หนูยังไม่ได้กินข้าว"

เด็กหญิงหัวเราะ แล้วพูดว่า "หนูไม่หิวจ้ะตา เดี๋ยวหนูจะไปต้มข้าวต้ม แล้วปิ้งปลาเค็มให้นะจ้ะตา"

พูดแล้วหนูน้อยก็แกว่งเปลให้แรงขึ้นเพื่อไม่ให้น้องตื่น พอเห็นน้องพลิกตัวก็รีบร้องเพลงกล่อมให้หลับต่อไป แล้วจึงรีบเข้าไปในครัว ติดไฟ ซาวข้าว ตั้งหม้อด้วยความชำนาญตามที่พ่อแม่ได้เคยสั่งสอนไว้ แต่ก็ไม่ลืมวิ่งมาไกวเปลเมื่อจวนจะหยุด แกทำงานสลับกันไปด้วยความว่องไว พอข้าวต้มสุก แกก็ยกหม้อข้าวลง แล้วเอาไม้ตับปลามาหนีบปลาเค็ม ปิ้งกลับไปกลับมาบนเตาจนสุก ไม่ช้าก็ตักข้าวต้มและมีปลาเค็มใส่จานมาตั้งให้ผู้เฒ่า ซึ่งนั่งมองดูเด็กหญิงอยู่ด้วยความนิยม

ข้าวสุกครึ่งจานและไข่เค็มครึ่งซีกนั้น ยังไม่ทำให้ท่านผู้เฒ่าหายหิวได้ เมื่อเห็นเด็กหญิงยกข้าวต้มร้อนๆ ออกมาก็ไม่รอช้า ค่อยๆ ตักข้าวต้มซึ่งปรุงโดยฝีมือของเด็กหญิงบ้านนาจนๆ คนหนึ่ง พอคลายความร้อนลงแล้ว ก็ตักใส่ปากอย่างเอร็ดอร่อย พลางเรียกเด็กหญิงให้มากินร่วมกันและได้สนิทสนมกันรวดเร็ว ในความรู้สึกของท่านผู้เฒ่า มันเป็นอาหารที่วิเศษ มีรสอันโอชา ท่านรับประทานได้มากกว่าธรรมดา แล้วจึงพูดว่า

"แหม ! ข้าวต้มของหนูนี่อร่อยจริงๆ ฉันไม่เคยกินข้าวมากอย่างนี้เลย คนที่บ้านฉันต้มก็ไม่เคยอร่อยอย่างนี้ ทั้งปลาปิ้งก็หอมไม่เค็มมาก มันช่างดีแท้ๆ"

เด็กหญิงถูกชมเข้าก็อายม้วนไปมา พูดอะไรไม่ถูกตามความรู้สึกของเด็ก ซึ่งไม่เคยมีใครชมมาก่อนเลยในชีวิต แต่แล้วท่านผู้เฒ่าก็ถามขึ้นว่า "นี่พ่อแม่ของหนูไปไหนล่ะ จึงทิ้งแม่หนูไว้เพียงสองคน พี่น้องอยู่กลางทุ่งอย่างนี้"

เด็กหญิงตอบว่า "พ่อของหนูไปอำเภอ แม่ไปตัดฟืนในป่าสะแก กว่าจะกลับถึงบ้านก็เย็นๆ แล้วทำไมตาจึงมาที่นี่ล่ะจ๊ะ"

ผู้เฒ่ายิ้ม ตอบว่า "ฉันหลงทางมาจ้ะแม่หนู ฉันต้องเดินมากลางแดด ลำบากเหลือเกิน ไม่เคยเดินไกลๆ มาก่อน แถวนี้ไม่มีบ้านเลย พบบ้านแม่หนูเป็นบ้านแรก จึงแวะเข้ามาขอน้ำกิน และขอนั่งพักอาศัยพอให้มีแรงหน่อยก็จะไป ฉันอ่อนใจเต็มทีเดินแทบไม่ไหวอยู่แล้ว ถ้าหากไม่พบบ้านแม่หนูต้องเดินไกลกว่านี้ ฉันคงหมดแรงหมดกำลังลงนอนกลางดินแน่"

เมื่อเด็กหญิงได้ฟังก็รู้สึกสงสาร ที่ผู้เฒ่าต้องบุกกลางทุ่งนา มาได้รับความเหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลียมาก จึงพูดว่า "ตาจะพักผ่อนหลับนอนก็ได้ หนูจะไปเอาหมอนหนุนหัวมาให้"

ว่าแล้วเด็กน้อยก็วิ่งเข้าไปค้นหาหมอนของพ่อแม่มาได้ใบหนึ่ง ซึ่งไม่ค่อยสะอาดนัก ผู้เฒ่าพึมพำขอบใจ แล้วก็เอนตัวลงนอนบนแคร่ด้วยความอ่อนเพลียไม่ช้าก็หลับ เด็กหญิงนั่งมองดูผู้เฒ่า และนึกอะไรไปตามภาษาเด็กๆ พอน้องตื่นเด็กหญิงก็รีบอุ้มลงจากเปล รีบออกจากโรงนา กลัวว่าเสียงร้องไห้ของน้องจะรบกวนผู้เฒ่า

ครั้งถึงเวลาเย็น แม่กลับจากป่าสะแก ลูกสาวก็อุ้มน้องเข้าสะเอวยืนคอยรับหน้าแม่อยู่นอกบ้าน พอเห็นหน้าแม่ก็รายงานว่า

"แม่จ๋า วันนี้มีคนแก่เดินหลงทางมาถึงบ้านเราจ้ะแม่ แกหิวน้ำมาก หนูเลยตักน้ำให้กิน แล้วแกก็หิวข้าวด้วย หนูให้ข้าวกลางวันของหนูให้กินแต่ยังไม่อิ่ม หนูก็เลยต้มข้าวให้กินแกบอกว่าอร่อยจ้ะ พอกินข้าวแล้วแกก็อ่อนใจเลยนอนหลับอยู่ที่แคร่ แม่จ๊ะหนูสงสารแกม้ากมาก แล้วยังเดินหลงทางมาไกลอีก หนูจึงรีบออกมาคอยบอกแม่ ประเดี๋ยวแม่จะทำให้ตื่นเพราะแม่ไม่รู้"

แม่ยืนถือมีดตัดฟืนฟังลูกสาวรายงานจนจบ จึงพูดว่า "เออ ดีแล้วอีหนู คนแก่คนเฒ่าจงนับถือเหมือนปู่ย่าตายาย เมื่อหลงทางมาก็ให้แกพักพิง เท่าที่เราจะให้ได้ ก็เป็นบุญเหมือนกันนะลูก แต่เราก็ยากจนไม่ใช่มั่งมีอะไรนัก เอาเถิดลูกกลับเข้าไปในบ้านเถิด ประเดี๋ยวจะได้หุงข้าว พอพ่อเขากลับมาจากอำเภอคงจะมีอะไรติดไม้ติดมือมาบ้าง ก็จะได้เลี้ยงดูกันตามมีตามเกิด ว่าแล้วแม่หนูก็ย่องเข้าไปในบ้าน จัดแจงหุงอาหาร เพื่อแขกผู้เฒ่าเป็นพิเศษ ส่วนผู้เฒ่านอนหลับ พอดีตื่นรู้สึกตัวได้ยินเสียงสองแม่ลูกพูดกันอยู่นอกบ้านก็นึกในใจว่า บ้านนานี่แม้จะยากจนแต่ก็จิตใจดีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ พยายามจะลุกขึ้นแต่เมื่อยจนลุกไม่ไหว แล้วก็หลับไปอีก

พอเย็นมาก ชายผู้เป็นพ่อของเด็กหญิงก็กลับมาถึงบ้าน เด็กหญิงก็คอยไปดักบอกผู้เป็นพ่ออยู่นอกบ้านเช่นกัน ชายผู้พ่อก็มิได้ว่าอะไร นอกจากจะบอกกับลูกสาวว่า "เออ ! อีจุก เอ็งทำไปเช่นนั้นก็ดีแล้วลูก ได้บุญนะ ช่วยคนแก่คนเฒ่าหลงทางเช่นนี้ ถ้าเราเกิดชาติหน้าคงไม่ยากจน เอ็งทำอย่างนี้พ่อก็ดีใจ"

แล้วพ่อก็ย่องเข้าไปในบ้าน นำของที่ซื้อจากอำเภอมอบให้ภรรยาจัดการหุงต้มตามใจชอบ เพื่อจะได้รับรองแขกผู้เฒ่าตามสภาพของชาวนาเท่าที่จะมีได้ การพูดกันก็ซุบซิบระหว่างพ่อแม่ลูกไม่ให้เสียงดังเป็นที่รบกวนการนอนของชายผู้เฒ่า

ในไม่ช้าหญิงผู้เป็นแม่ก็ปรุงจัดอาหารเสร็จเรียบร้อย และจัดใส่ถ้วยชามดีที่สุดเท่าที่มีอยู่ และจัดใส่สำรับเท่าที่จะทำได้ คอยเวลาให้ผู้เฒ่าตื่นจะได้รับประทานอาหาร คอยแล้วคอยอีกก็ยังไม่มีทีท่าว่าผู้เฒ่าจะตื่น ผู้เป็นแม่เกรงว่าอาหารจะเย็นเสียหมด จึงกระซิบลูกสาวให้ค่อยๆ กระซิบปลุกผู้เฒ่า เพื่อจะได้รับประทานอาหาร ลูกสาวจึงค่อยๆ ไปเขย่าขาผู้เฒ่า พลางพูดว่า

"ตาจ๋า ลุกขึ้นมากินข้าวเถิดจ้ะ ประเดี๋ยวจะเย็นหมดลุกขึ้นเถิดจ้ะตา เวลาเย็นมากแล้ว"

แม้เด็กหญิงจะพยายามปลุกเท่าไหร่ ผู้เฒ่าก็ยังไม่รู้สึก ทำให้ชายผู้เป็นพ่อของเด็กรู้สึกร้อนใจมาก จึงตรงเข้าไปจับตัวดู เห็นตัวผู้เฒ่าร้อนจัดก็ตกใจ หันไปบอกภรรยาด้วยเสียงกระซิบว่า "ถ้าจะเป็นไข้เสียแล้ว ทำยังไงดีล่ะ"

ภรรยาก็ตกใจตอบว่า "ยาเขียวใหญ่ในบ้านเราก็มี ลองให้แกกินซิพี่"


(มีต่อ ๒)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 26 ก.ค.2006, 8:57 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 03 เม.ย.2006, 8:06 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

และในไม่ช้าทั้งผัวเมียและบุตรสาวก็กุลีกุจอละลายยาเขียวใหญ่ ซึ่งเป็นยาประจำบ้านในสมัยนั้น พยายามจะให้ท่านผู้เฒ่าดื่มเมื่อตื่นมา ความอ่อนเพลียทำให้ผู้เฒ่านอนอย่างสลบไสล แต่เมื่อถูกปลุกนานเข้าก็ได้สติลุกขึ้นมา ก็รู้สึกแปลกใจ ถามขึ้นว่า "นี่ฉันอยู่ที่ไหน ใครเป็นคนพาฉันมา"

สองคนผัวเมียมองดูตากัน แล้วหันไปมองดูลูกสาวคนโต คล้ายจะถามว่า นี่จะทำอย่างไรดีล่ะ ลูกสาวรู้ความหมายดี จึงเข้าไปพูดว่า "ตาหลงทางมาเมื่อตอนบ่าย ตาจำได้ไหมจ้ะ หนูยังตักน้ำให้ตากิน แล้วรูดใบจากจากชายคาลงไปในขันน้ำ แล้วให้ข้าวเย็นตากินยังไม่อิ่ม ยังต้มข้าวให้ตากินอีกไงจ๊ะ ตาจำได้หรือยัง ?"

ผู้เฒ่านั่งมองหน้าเด็กหญิงนิ่งคิดอยู่ครู่หนึ่ง จึงพูดว่า

"เออ ถ้าจะจริง ฉันจำไม่ได้ ฉันมาเรือเมลล์ แล้วก็มาลงเรือจ้างเข้าคลองซอย ฉันจะไปบ้านนายกองนาเป็นกำนัน แต่คนเรือมันพามาผิดทาง มันพาไปห่างไกลบ้านคน มันก็จอด อ้ายคนแจวหัวมันหยิบมีดดาบขึ้นมาลับกับหิน ฉันก็ใจไม่ดีไม่รู้ว่ามันจะทำอะไร มันคงจะทุจริต เพราะมันจอดเรือเฉยอยู่ในที่เปลี่ยวไม่มีบ้านช่องคนเห็นแต่ทุ่งนาสุดลูกหูลูกตา ฉันถามมันว่า

"ทำไมจึงไม่ไป จอดเรืออยู่ทำไม"


มันนั่งลับมีดเฉยทำทองไม่รู้ร้อน ส่วนไอ้เด็กแจวท้ายมันนั่งสูบบุหรี่ใบจากเฉยอยู่ ไม่พูดไม่จา ทีแรกฉันรู้สึกฉิวและโกรธ แต่นึกว่าไม่ควรประมาท คิดดูแล้วว่าจะทำอะไรมันไม่ได้ มีแต่จะเสียท่ามัน เพราะฉันแก่แล้วอาวุธก็ไม่มีติดตัว จะขัดใจมันก็จะถูกทำร้าย ควรรักษาตัวรอดดีกว่า จึงพูดดีกับมันว่า

"แกจะเอาอะไรบอกมาฉันมีก็จะให้ จะได้ออกเรือไปเสียที"

อ้ายคนลับมีดมันไม่พูดอะไร ทำหูทวนลมตั้งหน้าตั้งตาลับมีด แล้วก็เอามาลูบดูว่ามันคมหรือยัง อ้ายคนท้ายมันพูดว่า "เขาต้องการเงินครับ ถ้ามีเงินก็ไปเร็ว"

ฉันฟังมันแล้วมาคิดดูว่า ถ้าเราขัดขืนไม่ยอมให้มันก็เห็นจะเจ็บตัว จึงถามว่า "เอาเท่าไหร่" มันบอกว่าเอาเท่าที่ท่านมีอยู่ในตัว ฉันหยิบเงินออกมาให้มันแล้วบอกว่า มีอยู่สิบตำลึง มันตาลุกเพราะคงไม่นึกว่าฉันจะพกเงินบาทมามาก แต่ความโลภ มันถามอีก "ยังมีอะไรอีกไหม"

ฉันบอกว่า "เงินมีอยู่เท่านี้แหละ ไม่มีอีกแล้ว"

มันขู่ว่า "อย่าโกหกนะ ถ้าผมค้นได้ท่านจะเจ็บตัว เอามาให้เสียดีๆ"

ฉันจึงบอกว่า "ฉันแก่แล้ว ฉันพูดปดไม่เป็น ฉันยังมีนาฬิกาเรือนทองพร้อมสายอีกเรือนหนึ่งเท่านั้น ราคาหลายชั่ง เออ ! แล้วก็กระดุมนากอีก ๕ เม็ด เท่าที่เห็นนี่แหล่ะ"

ที่สุดมันก็เอาไปหมด หมวกไหมสับปะรด ๑ ใบ ไม้เท้าหัวเลี่ยมนาก ๑ อัน แล้วมันก็เอาเงินคืนมาให้ฉัน ๒ บาท พร้อมทั้งหมากห่อในผ้าแดงหนึ่งห่อ แล้วมันก็ไล่ฉันขึ้นฝั่ง บอกให้เดินไป เพราะถ้าส่งถึงบ้านกำนันมันกลัวถูกจับ ฉันจึงต้องเดินตั้งแต่เช้าจนบ่ายผ่านทุ่งนามา เมื่อเห็นหลังคาบ้านไกลลิบๆ อยู่ข้างหน้า ฉันก็แข็งใจเดินมาพบแม่หนู เรื่องมันก็มีเท่านี้แหล่ะ"

เมื่อได้ยินผู้เฒ่าเล่าเรื่องนี้ ต่างก็มีความสงสาร แล้วสองคนผัวเมียก็แนะนำว่า ควรจะไปบอกกำนันผู้ใหญ่บ้านหรือกรรมการอำเภอ เพื่อจะได้ติดตามคนใจชั่วทั้งสองคนต่อไป แต่ท่านผู้เฒ่านั้นไม่อยากจะให้เรื่องราวอื้อฉาวใหญ่โต จึงไม่ยอมไปแจ้งความตามที่สองผัวเมียแนะให้ และยังขอให้สองผัวเมียช่วยปิดเป็นความลับ อย่าได้บอกให้ใครรู้เป็นอันขาด สองผัวเมียก็รับคำ

ท่านผู้เฒ่าต้องพักอยู่ที่บ้านนากลางทุ่งโดดเดี่ยวหลังนั้นต่อไป เพราะยังเป็นไข้เมื่อยขบไปทั่วสรรพางค์กาย เด็กหญิงก็ยินดีรับใช้ช่วยบีบนวด ตามแต่กำลังจะทำได้ด้วยความเต็มใจ การพักอยู่ที่นั่นทำให้ผู้เฒ่ามองเห็นชีวิตของชาวนาครอบครัวนี้ว่า ถึงจะยากจนทางทรัพย์สิน ส่วนจิตใจนั้นมีทั้งความรู้สึกสงสารและเห็นอกเห็นใจ ทำให้ผู้เฒ่าเมตตารักใคร่เด็กหญิงทั้งสอง และพ่อแม่ของแม่หนูยิ่งขึ้น

เมื่อพักอยู่จนอาการไข้ดีขึ้น และอ่อนเพลียหาย ร่างกายเข้าสู่สภาพปกติ ระหว่างที่พักอยู่ที่บ้านนาท่านก็ได้อาศัยเด็กหญิงเป็นผู้เอาใจใส่ดูแลก่อนที่จะจากบ้านนา ทำให้ผู้เฒ่ามีความอาลัยรักใคร่เอ็นดูเด็กหญิงยิ่งนัก เด็กหญิงทั้งสองก็มีความอาลัยรักใคร่ในตัวท่านไม่น้อย ก่อนจะเดินทางกลับท่านผู้เฒ่าได้ขอร้องให้ชายผู้เป็นสามีช่วยไปส่งถึงอำเภอ แล้วก็จะกลับเอง

ท่านได้แสดงความขอบใจ และมีความเป็นห่วงเด็กหญิงตัวน้อยๆ ที่ได้เอาใจใส่อย่างดี นับว่าทำบุญคุณไว้แก่ท่านมาก ท่านจึงเรียกเด็กหญิงทั้งสองคนซึ่งยังไม่มีชื่อจริง มีแต่ชื่อเล่น คนโตนั้นไว้จุก พ่อแม่จึงเรียกว่า “อีจุก” และน้องสาวซึ่งพ่อแม่เรียกว่า “อีแดง” เข้ามา และได้บอกกับสองผัวเมียว่า ท่านอยากจะตั้งชื่อให้เด็กทั้งสองเสียใหม่ ซึ่งทั้งสองผัวเมียก็ไม่ขัดข้อง

ฉะนั้น ท่านผู้เฒ่าจึงตั้งชื่อให้เด็กคนโตว่า "เมตตา" ส่วนน้องเล็กท่านได้ตั้งชื่อว่า "กรุณา" ตั้งชื่อให้แล้วก็ให้ศีลให้พร เพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุขเป็นสิริมงคล ต่อจากนั้นท่านผู้เฒ่าก็ได้บอกลาแม่ของเด็กและเด็กทั้งสองเพื่อเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ทั้งสองสามีภรรยามีความอาลัยท่านมาก

แต่ก็ไม่ทราบว่าท่านคือใคร อยู่ที่ไหน เพียงแต่ท่านบอกว่า เมื่อกลับถึงบ้านแล้วจะส่งข่าวมาให้ทราบ เมื่อท่านเดินออกจากบ้าน เด็กหญิงผู้พี่ก็วิ่งมากอดขาร้องไห้ด้วยความอาลัยตามความรู้สึกของเด็กๆ ทำให้ท่านผู้เฒ่าต้องน้ำตาร่วง และพยายามปลอบโยนว่าจะหาเวลามาเยี่ยมภายหลัง

หลังจากผู้เฒ่าได้เดินทางกลับไปแล้ว รู้สึกว่าเด็กหญิง "เมตตา" ซึ่งท่านผู้เฒ่าตั้งชื่อให้เป็นอนุสรณ์มีความเงียบเหงาลงไปมาก แต่แล้วต่อมาไม่นานนัก พวกพนักงานอำเภอและที่ดิน พร้อมด้วยกำนันผู้ใหญ่บ้านก็มาหาที่บ้านกลางนา บอกให้ไปรับโอนที่นา ๒๐๐ ไร่ ในนามของเด็กหญิงเมตตาและเด็กหญิงกรุณา เรื่องนี้ทำให้สองสามีภรรยาตกตะลึง เพราะไม่นึกฝันว่าจะได้รับลาภก้อนใหญ่เช่นนี้มาก่อน

ความจริงที่นาในสมัยนั้นราคาไม่แพง แต่สำหรับคนจนไม่เคยมีที่นาเป็นของตนเองย่อมมีค่า แต่ก็ยังสงสัยจะผิดตัว จึงถามคณะกรรมการอำเภอให้แน่นอนใจ แต่ก็ได้รับการยืนยันหลักฐานต่างๆ เช่นชื่อของเด็กหญิงทั้งสองก็ตรงกับชื่อเมตตากับกรุณา ซึ่งท่านผู้เฒ่าเป็นผู้ตั้งให้และชื่อพ่อแม่ถูกต้อง จนทำให้สองคนผัวเมียตื่นเต้น ทำอะไรไม่ถูกตลอดวัน เพราะอยู่ๆ ก็ได้นาถึง ๒๐๐ ไร่ ทั้งไม่รู้จักผู้ให้ว่าเป็นใครอยู่ที่ไหน แต่ก็คิดว่าคงไม่มีใครอื่น นอกจากท่านผู้เฒ่าที่มาพักอาศัยบ้านนาเมื่อคราวหลงทาง

ชีวิตของชาวนาผู้ยากจน บัดนี้ฐานะพอจะลืมตาอ้าปากกับเขาได้บ้าง แม้จะไม่รวยก็พอมีอันจะกินคนหนึ่งในแถบนั้น ไม่มีอะไรเป็นของเที่ยงแท้แน่นอน ต่อจากนั้นมาสิ่งไม่นึกไม่ฝันก็เกิดขึ้นอีก คือ เด็กหญิงเมตตา และกรุณา ได้รับมรดกตึกแถวซึ่งปลูกอยู่ในกรุงและเงินสดอีกจำนวนไม่น้อย เหตุก็เพราะท่านเจ้าคุณผู้เฒ่าที่เคยหลงทางมาพักที่บ้านนาได้ถึงแก่อสัญกรรมลง ก็ได้ทำพินัยกรรมมอบแบ่งมรดกให้เด็กหญิงทั้งสอง

หลังจากนั้นต่อมาครอบครัวนี้จึงได้โยกย้ายภูมิลำเนาเข้ามาอยู่ในพระนคร ประกอบการค้าในตึกแถวที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบุตรสาวต่อมา ทั้งนี้ก็เป็นเพราะเด็กหญิงชาวนาจนๆ ผู้ใจบุญและได้ให้น้ำท่านเจ้าคุณผู้เฒ่าในยามยาก เป็นคุณงามความดีของเด็กหญิงที่ยังไม่เดียงสา ทำไปด้วยมีจิตใจเมตตาสงสาร ไม่ได้นึกว่าจะเกิดผลตอบแทนอย่างมากมายเช่นนี้

นี่เป็นผลของกรรมดีที่เด็กหญิงชาวนาได้ประกอบขึ้น จึงทำให้พ่อแม่พลอยได้รับความสุขไปด้วยเพราะมีลูกที่ดี ครอบครัวนี้จึงได้เจริญรุ่งเรือง ความเมตตา ความกรุณาปรานี สงสารถ้ามีด้วยความบริสุทธิ์แล้ว ย่อมจะเกิดผลดีตามสนองอยู่เสมอ นี่ก็พอจะให้ได้รู้ว่า ความดียังไม่สูญสิ้นไปจากโลกนี้ นับแต่เด็กหญิงเมตตาและเด็กหญิงกรุณาสองพี่น้องได้รับทรัพย์สินของท่านเจ้าคุณผู้เฒ่าแล้ว

วันเดือนปีได้ผ่านไป จนเด็กหญิงทั้งสองเติบใหญ่จนได้รับตำแหน่งคุณยาย คุณย่า คุณทวด แต่หญิงทั้งสองยังไม่เคยลืมชีวิตเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก นึกถึงชายชราเจ้าคุณผู้เฒ่าผู้มาขอน้ำขอข้าวแล้วเป็นผู้ตอบแทนบุญคุณสูง แต่ด้วยความกตัญญูกตเวที หญิงทั้งสองพี่น้องจึงได้ทำบุญทำทานเลี้ยงพระสวดมนต์ ถวายสังฆทานอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ท่านเจ้าคุณผู้เฒ่าที่ล่วงลับไปแล้วทุกปีเป็นประจำไม่เคยขาด ไม่เคยเว้น วันนั้นคือตรงกับวันถึงแก่อสัญกรรมของเจ้าคุณผู้มีพระคุณอันสูงยิ่ง แสดงถึงน้ำใจอันน่าชมเชยและนับถือ



....................... เอวัง .......................
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 26 ก.ค.2006, 8:59 pm, ทั้งหมด 2 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 03 เม.ย.2006, 8:08 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อันความเมตตาปรานีนี้ก่อเกิด
กุศลเลิศรับกรรมดีที่ทำไว้
เช่นเด็กน้อยผู้นี้มีน้ำใจ
ช่วยเหลือให้คนชราได้พักพิง
ป้อนข้าวน้ำรอดชีวีหนีภัยมา
ไม่เลือกว่าจนรวยช่วยทุกสิ่ง
ทำความดีเป็นนิสัยจากใจจริง
ผลใหญ่ยิ่งได้ทรัพย์สินตอบแทนคุณ

ท.เลียงพิบูลย์
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง