Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 นิวรณ์ข้อพยาบาท (สมเด็จพระญาณสังวรฯ) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 09 พ.ย.2005, 9:48 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

นิวรณ์ข้อพยาบาท

สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก



บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

อันตรายแห่งการปฏิบัติสมาธิก็คือนิวรณ์ ที่แปลว่ากิเลสเป็นเครื่องกั้นจิตไว้ ทำไม่ให้ได้สมาธิ ไม่ให้ได้ปัญญา และนิวรณ์ข้อที่ ๑ คือกามฉันท์ความพอใจรักใคร่ในกามได้แสดงแล้ว ในวันนี้จะแสดงข้อที่ ๒ คือพยาบาท

คำว่าพยาบาทนั้นในที่นี้มีความหมายถึง ทั้งปฏิฆะความกระทบกระทั่งใจ ความขัดใจ โกธะความโกรธ โทสะความประทุษร้ายใจ และพยาบาทคือความปองร้ายความมุ่งร้ายหมายล้างผลาญ คือหมายรวมถึงกิเลสกองโทสะทั้งหมด

แต่ว่าชื่อของกิเลสกองโทสะดังที่กล่าวมานี้มีลักษณะที่ต่างกัน ตั้งแต่อย่างอ่อน จนถึงอย่างหยาบช้ากล้าแข็ง ที่เป็นอย่างอ่อนเป็นเบื้องต้น ก็ได้แก่ปฏิฆะคือความกระทบกระทั่งใจ ความขัดใจ อันเนื่องมาจากความประสบกับอนิษฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาทั้งหลาย เช่นว่า ทราบว่าคนนั้นคนนี้นินทาว่าร้าย ได้ยินคนนั้นคนนี้ด่าว่า ได้ถูกคนนั้นคนนี้ประหัตประหาร ประทุษร้ายร่างกาย ได้ถูกคนนั้นคนนี้เอาชนะ ได้ถูกคนนั้นคนนี้ลักขโมยสิ่งของ ดั่งนี้เป็นต้น


๏ โทสะแปลว่าประทุษร้าย

อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาเหล่านี้ก็มากระทบใจเป็นปฏิฆะขึ้น และปฏิฆะนี้เองเมื่อแรงขึ้นก็เป็นโกธะความโกรธ ความขัดเคือง และโกธะความโกรธความขัดเคืองนี้เมื่อแรงขึ้นก็เป็นโทสะ ซึ่งบังเกิดขึ้นภายในจิต ก็ทำจิตให้เร่าร้อน

โทสะจึงแปลว่าประทุษร้าย ก็คือประทุษร้ายจิตนี้เอง จิตของตน ให้รุ่มร้อน เป็นการประทุษร้ายภายในคือจิตใจของตนเองก่อน และเมื่อแรงขึ้นอีกก็เป็นพยาบาทคือความปองร้ายมุ่งร้ายหมายล้างผลาญ อันกระทำให้ เขาด่าก็ด่าตอบ เขาประทุษร้ายก็ประทุษร้ายตอบ เขาเอาชนะก็เอาชนะตอบและพยาบาทนี้ก็เป็นเหตุให้ประทุษร้ายผู้อื่น ที่มาเป็นเหตุทำให้เกิดความขัดเคืองโกรธแค้น อย่างเบา อย่างปานกลาง หรืออย่างแรง ก็สุดแต่กำลังของพยาบาทที่บังเกิดขึ้น

ถ้าจะเทียบกับกองไฟ ก็เทียบได้ว่า อันปฏิฆะทีแรกคือความกระทบกระทั่งนั้น ก็เทียบได้กับอันไม้ขีด หยิบเอามาขีดข้างกล่องไม้ขีด ก็เกิดไฟขึ้นที่ปลายก้านไม้ขีด เป็นไฟนิดเดียว และเมื่อเอาไฟก้านไม้ขีดที่ติดไฟนิดเดียวนี้มาต่อเข้ากับเชื้อไฟ ไฟก็จะติดเชื้อไฟ เช่นถ่านหรือฟืนสำหรับหุงต้ม และไฟที่ติดเชื้อแล้วนี้ จะเป็นกองเล็กหรือกองโต ก็สุด แต่ว่าเชื้อที่มาติดเข้ากับไฟ

ถ้าเป็นไฟในเตาสำหรับหุงหาอาหาร ก็เป็นไฟที่อยู่ในขอบเขตอันจำกัด เป็นประโยชน์สำหรับใช้สอย แต่เมื่อไฟนั้นได้เชื้อเช่นน้ำมัน และไม้ที่เป็นบ้านเป็นเรือนจนถึงติดลุกไหม้ บ้านไหม้เรือนให้เป็นไฟกองโต เป็นไฟไหม้บ้านไหม้เรือนดังที่ปรากฏ

ดั่งนี้ก็เป็นขั้นที่แรงขึ้นมาโดยลำดับ จากปฏิฆะก็มาเป็นโกธะโกรธ จากโกธะก็มาเป็นโทสะ จากโทสะก็มาเป็นพยาบาท ไหม้เชื้อ ก็คือประทุษร้ายเชื้อไฟนั้นเองให้ไหม้ น้อยหรือมาก ก็สุดแต่กำลังของพยาบาทที่น้อยหรือมาก

เทียบกันได้กับบุคคล หรือหมู่ชน ก็อาจเทียบได้ อย่างเช่นทีแรก ก็กระทบกระทั่งกันเป็นปฏิฆะ แรงขึ้นก็เป็นโกธะคือโกรธกัน แรงขึ้นก็เป็นโทสะประทุษร้ายใจของตัวเองของแต่ละคนที่โกรธกัน แล้วก็มาเป็นพยาบาท ถึงกับทำร้ายกัน มุ่งปองร้ายกัน ก็ทำให้เกิดกรรมคือการกระทำ คือการกระทำที่ทำร้ายกัน ระหว่างคนสองคน ระหว่างคนสองหมู่ ตั้งแต่หมู่เล็กจนถึงหมู่ใหญ่ จนถึงเป็นสงครามขึ้นมา เป็นระหว่างชาติหรือหลายชาติ นี้ก็เนื่องมาจากกิเลสกองโทสะดั่งที่กล่าวมาแล้วทั้งนั้น

ลำพังพยาบาทนั้น เป็นความมุ่งร้ายปองร้ายในจิตใจ อันเป็นเหตุก่อเจตนาคือความจงใจประกอบกรรม คือการงานที่กระทำ ทางกายทางวาจาทางจิตใจ เป็นการประทุษร้ายกัน ทำร้ายกัน ล้างผลาญกัน เพราะฉะนั้น กิเลสกองโทสะนี้จึงเป็นกิเลสตัวทำลายดังเช่นตัวอย่างที่กล่าวมา ลำพังกิเลสกองโทสะเกิดขึ้นในจิตใจของบุคคลก่อน และเป็นเหตุก่อกรรมคือการงานที่กระทำเบียดเบียนทำลายล้างกันดังกล่าว และเมื่อจิตใจมีกิเลสกองโทสะอยู่ ก็เป็นอันตรายของสมาธิ เป็นเหตุให้ทำสมาธิไม่ได้


๏ อาหารของโทสะ

พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้ว่า อันร่างกายนี้ต้องอาศัยอาหาร ร่างกายจึงเป็นไปได้ จึงดำรงได้ กิเลสกองพยาบาทหรือกองโทสะดังกล่าวก็เช่นเดียวกัน ต้องอาศัยอาหาร เมื่อได้อาหารพยาบาทที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็เติบโตมากขึ้น

อันอาหารของพยาบาท หรือของกิเลสกองโทสะ ก็ได้แก่

๑. ปฏิฆะนิมิต นิมิตคือจิตกำหนดหมายในปฏิฆะคือความกระทบกระทั่ง และ
๒. การกระทำให้มากด้วยอโยนิโสมนสิการ คือการกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย


ข้อที่ ๑ ปฏิฆะนิมิตนั้น ก็ได้แก่จิตนี้เองกำหนดหมาย จดจำ รำลึกถึง อยู่ที่ปฏิฆะคือการกระทบกระทั่งที่ตนได้รับ ดังเมื่อเขาด่ามา ก็มีตัวเราออกรับการด่าของเขาตัวเราก็ไปกระทบกับการด่าของเขา ก็บังเกิดเป็นการกระทบกระทั่งกันขึ้น


๏ ปฏิฆะนิมิต

แต่ถ้าเขาด่ามา ถ้าไม่มีตัวเราออกรับ การกระทบกระทั่งก็ไม่มี การด่าของเขาก็เป็นลมๆ แล้งๆ คือเป็นลมปากที่ผ่านมากระทบหูแล้วก็ผ่านไปเท่านั้นไม่ข้องติด แต่เพราะมีตัวเราออกรับ รับว่าเขาด่าเรา จึงเกิดสังโญชน์คือความผูกใจ ผูกใจอยู่ในคำด่านั้น ก็เป็นปฏิฆะนิมิต คือจิตใจก็กำหนดอยู่ ระลึกถึงอยู่ถึงการกระทบกระทั่งนั้น ดั่งนี้คือปฏิฆะนิมิต และเมื่อมีปฏิฆะนิมิตดั่งนี้ จิตใจก็คิดปรุงหรือปรุงคิด ส่งเสริมความกระทบกระทั่งนั้น จึงกลายเป็นความโกรธ กลายเป็นโทสะ กลายเป็นพยาบาทขึ้นโดยลำดับ เพราะจิตนี้เองคิดปรุงหรือปรุงคิดไปในทางส่งเสริม

เหมือนอย่างเมื่อขีดไม้ขีด ติดไฟขึ้นมาที่ปลายก้านไม้ขีด แทนที่จะให้ไม้ขีดดับลงแค่นั้น ก็เอาก้านไม้ขีดไปจ่อเชื้อเข้า เกิดไฟลุกขึ้นมากองโต แล้วก็คอยเติมเชื้อให้แก่กองไฟนั้น เมื่อเติมเชื้อให้มากไฟก็กองโตมาก และเมื่อไฟได้เชื้อก็คงติดเป็นไฟ เป็นกองไฟอยู่ตลอดเวลาที่ยังมีเชื้อ

ฉะนั้นตราบใดที่จิตใจนี้คิดปรุงหรือปรุงคิดไปในทางโกรธ ไม่คิดปรุงหรือปรุงคิดไปในทางดับ ดั่งนี้แหละเรียกว่ากระทำให้มากด้วยอโยนิโสมนสิการ คือด้วยการกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย ทั้งปฏิฆะนิมิต และทั้งการกระทำให้มากโดยอโยนิโสมนสิการ

การกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายดังกล่าวนี้ เป็นอาหารของกิเลสกองโทสะ หรือกองพยาบาทอันทำให้กิเลสกองนี้ที่ยังไม่เกิด ก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็เติบโตมากขึ้น

เพราะฉะนั้น ในทางปฏิบัติจึงต้องไม่ให้อาหารแก่กิเลสกองนี้ กล่าวคือ ไม่ทำปฏิฆะนิมิตความกำหนดหมายผูกความกระทบกระทั่งไว้ในใจ โดยที่หัดดับใจ คือดับโทสะเสีย ดับกระทบกระทั่งเสีย หรือว่าหัดที่จะไม่เอาตัวออกรับ การหัดดับกระทบกระทั่งเสีย ก็เช่นเมื่อติดก้านไม้ขีดขึ้นมาแล้ว ก็ให้ไฟดับอยู่แค่ก้านไม้ขีดเท่านั้น ไม่เอาไปจ่อเชื้อให้ไฟกองโตขึ้น

หัดปฏิบัติในขั้นนี้อาจจะดับได้ง่าย เพราะการกระทบกระทั่งทีแรกนั้น ยังไม่ทันก่อกิเลสกองโทสะนี้ให้ใหญ่โตเป็นความกระทบกระทั่งทีแรกเท่านั้น ก็ให้ดับไปแค่นั้น เหมือนอย่างก้านไม้ขีดที่จุดเป็นไฟขึ้นมา แล้วก็ให้ดับเพียงแค่ก้านไม้ขีด ก็ไฟนิดเดียวเท่านั้น หัดดับก็ไม่ยากในเมื่อตั้งใจจะดับ

อีกประการหนึ่งก็คือว่าหัดที่จะไม่เอาตัวออกรับ ที่เรียกว่าไม่ร่วมบริโภคอาหารด้วย ดังเช่นพระพุทธเจ้าที่ได้ทรงถูกพราหมณ์ผู้หนึ่งว่ากล่าวค่อนแคะต่างๆ ว่าทรงออกบวชเป็นการทำลายตระกูลดั่งนี้เป็นต้น พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสกับพราหมณ์ผู้นั้นว่า เมื่อแขกมาหาพราหมณ์ผู้นั้นต้อนรับอย่างไร พราหมณ์นั้นก็กราบทูลว่า ก็ต้อนรับด้วยน้ำด้วยข้าวเป็นต้น พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามว่า ถ้าแขกที่มานั้นเขาไม่บริโภคข้าวบริโภคน้ำ ที่พราหมณ์นั้นจัดต้อนรับ ข้าวน้ำนั้นตกเป็นของใคร พราหมณ์ก็ตอบว่า ก็ตกเป็นของพราหมณ์นั้นนั่นเอง ก็ตกแก่เจ้าของบ้าน พระพุทธองค์จึงตรัสว่าถ้อยคำที่ท่านว่าต่างๆ นั้นเราก็ไม่รับ ไม่บริโภคร่วมด้วยเช่นเดียวกัน โดยนัยนี้ก็หมายความว่าเมื่อพระองค์ไม่ทรงรับ ถ้อยคำที่พราหมณ์ว่ากล่าวค่อนแคะต่างๆ ก็ตกเป็นของผู้พูดเอง ก็ตกเป็นของผู้ที่ว่ากล่าวค่อนแคะนั้นเอง ดั่งนี้

เพราะฉะนั้น การหัดที่จะไม่เอาตัวเองออกรับดั่งนี้ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง สำหรับการที่จะทำปฏิฆะนิมิตนี้ไม่ให้บังเกิดขึ้น หรือการที่จะดับปฏิฆะนิมิตที่แม้บังเกิดขึ้นเล็กน้อย


๏ การพิจารณาโดยแยบคาย

อีกประการหนึ่งก็หัดกระทำให้มากโดยโยนิโสมนสิการ คือการพิจารณาโดยแยบคาย คือการหัดคิดดับโกรธ ไม่คิดส่งเสริมโกรธ แต่คิดดับโกรธ คือพิจารณาว่า ความโกรธก็คือกิเลสกองโทสะหรือพยาบาทนี้ทั้งหมดนั้น เป็นโทษอย่างนั้นๆ เช่นก่อให้เกิดความวู่วาม เร่าร้อน ไม่ผาสุข เป็นเหตุก่อกรรมคือการงานที่กระทำทางกายทางวาจาทางใจเป็นอกุศลต่างๆ ล้วนแต่มีโทษ ไม่มีคุณ

ส่วนความดับโกรธนั้นเรียกว่าเป็นการที่ดับไฟตั้งแต่ต้น ไม่ลุกลามใหญ่โต ไหม้ตัวเองและไหม้ผู้อื่นให้เดือดร้อน เพราะฉะนั้น ดับโกรธเสียจึงดีกว่า และมีคุณ ทำให้เกิดความผาสุขสบาย ไม่ก่อกรรมเบียดเบียนทำลายล้างซึ่งกันและกัน เป็นการหัดคิดพิจารณานี้เองที่จิตใจ สร้างสติความระลึกได้ความสำนึกตัว สร้างปัญญาให้แก่จิตใจ เมื่อจิตใจได้สติได้ปัญญา ก็ย่อมจะดับโทสะได้ และการใช้ความคิดวิตกตรึกตรองไปก็จะเป็นไปในทางดับโทสะดับพยาบาท ไม่เป็นไปในทางก่อให้ลุกลาม

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติดั่งนี้จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ให้อาหารแก่กิเลสกองนี้ กิเลสกองนี้ที่ยังไม่เกิดก็จะไม่เกิด ที่เกิดขึ้นแล้วก็จะดับไป และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็สามารถที่จะปฏิบัติในสมาธิได้ ทำจิตให้เป็นสมาธิได้ ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป


๏ มานะ ความสำคัญตน

และก็จะอธิบายเพิ่มเติมว่า อันมานะคือความสำคัญตน ตั้งต้นแต่อัสมิมานะ ความสำคัญว่าเรามีเราเป็น หรือว่าเป็นเรา หรือเป็นของเรา เป็นตัวเรา เป็นของๆ เรา ย่อมเป็นที่ตั้งแห่งปฏิฆะคือการกระทบกระทั่ง เพราะมานะคือความสำคัญหมายนี้เมื่อสำคัญหมายว่าเป็นตัวเราขึ้นแล้ว ก็ย่อมมีตัวเขา และย่อมจะมีการเทียบเคียงกัน

ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงถึงมานะ คือความสำคัญหมายที่เทียบเคียงตัวเราตัวเขา ไว้ว่า

เป็นผู้เลิศกว่าเขา มีความสำคัญหมายว่าเป็นผู้เลิศกว่าเขาบ้าง มีความสำคัญหมายว่าเป็นผู้เสมอเขาบ้าง มีความสำคัญหมายว่าเป็นผู้เลวกว่าเขาบ้าง

เป็นผู้เสมอเขา มีความสำคัญหมายว่าเป็นผู้เลิศกว่าเขาบ้าง มีความสำคัญหมายว่าเป็นผู้เสมอเขาบ้าง มีความสำคัญหมายว่าเป็นผู้เลวกว่าเขาบ้าง

เป็นผู้เลวกว่าเขา มีความสำคัญหมายว่าเป็นผู้เลิศกว่าเขาบ้าง มีความสำคัญหมายว่าเป็นผู้เสมอเขาบ้าง มีความสำคัญหมายว่าเป็นผู้เลวกว่าเขาบ้าง

เมื่อมีมานะคือความสำคัญหมายเทียบเคียงระหว่างตัวเรากับตัวเขาดั่งนี้แล้ว ก็ทำให้เกิดความหมายมั่นต่อไป คือความหมายมั่นว่า เราจะทำอย่างไรแก่เขา หรือว่าเขาจะทำอะไรแก่เรา มีความสำคัญหมายว่าเราทำอะไร เขาทำอะไร จึงทำให้เกิดการแยกพรรคแยกพวก เป็นพวกเราพวกเขา และถ้าเพียงเท่านี้ก็เป็นเหตุให้แยกพวกเราพวกเขา แต่ถ้าแรงกว่านี้ เมื่อมีการกระทบกระทั่งกันขึ้นเป็นปฏิฆะ ก็สืบต่อให้เป็นโทสะ ให้เป็นพยาบาทปองร้ายหมายล้างผลาญซึ่งกันและกัน จึงเป็นเหตุให้มีการปฏิบัติการต่อกัน สุดแต่อำนาจของปฏิฆะโทสะพยาบาทที่บังเกิดขึ้น ดั่งนี้ ล้วนรวมอยู่ในข้อว่ากระทำให้มาก ด้วยการกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายทั้งนั้น เพราะเป็นการคิดปรุงหรือปรุงคิดให้บังเกิดการกระทบกระทั่งกันขึ้นดังที่กล่าว

เพราะฉะนั้น ต้องลดความคิดสำคัญหมายในตัวเราตัวเขา ลดความหมายมั่นในกันและกัน จึงจะทำให้เกิดความปรองดองสามัคคีกัน อันนี้ก็สืบมาจากการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย คือคิดปรุงหรือปรุงคิด ในทางลดความหมายมั่นในกันและกัน และจะลดความหมายมั่นได้ ก็ต้องลดมานะคือความสำคัญหมายที่เป็นการเทียบเคียง ดังที่กล่าวมาแล้วและจะลดการเทียบเคียงดังที่กล่าวมาแล้วได้ ก็ต้องควบคุมอัสมิมานะที่เป็นตัวเดิม

คือความสำคัญหมายว่าเรามีเราเป็น อันเป็นความสำคัญหมายที่สร้างตัวเราขึ้นมา คอยควบคุมตัวเราด้วยสติ ด้วยปัญญา ตริตรองในทางลดละการส่งเสริมตัวเราของเราให้ใหญ่โต และเทียบเคียงตัวเขาของเขา อันตัวเรานี้ ต้องมีสติต้องปัญญาควบคุมให้ดี จึงจะเป็นไปในทางที่ดี อันเป็นการลดละตัวเราของเรา ไม่เอาตัวเราของเราออกไปรับเรื่อง ราวทั้งหลายในโลก ที่มีอยู่เป็นอันมาก ทั้งที่เป็นส่วนอิฏฐารมณ์อารมณ์ที่น่าปรารถนา ทั้งที่เป็นอนิฏฐารมณ์อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา


๏ ข้อพิจารณาโดยแยบคาย

และพิจารณาโดยแยบคายว่า อันเรื่องราวทั้งหลายในโลกเป็นอันมากดังที่กล่าวนั้น ล้วนเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง ต้องมีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้ว ก็ย่อมดับไป เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่สิ่งที่จะเอาตัวเราของเราออกไปรับเรื่องทั้งหลายในโลกดังที่กล่าวนั้น แต่เก็บตัวเราของเราไว้ในภายใน ทำตัวเราของเราให้สงบ ทั้งนี้ต้องอาศัยการทำไว้ในใจโดยแยบคาย อาศัยสติปัญญานั้นเอง

และอีกประการหนึ่ง คุณธรรมสำหรับเป็นเครื่องป้องกัน และเป็นเครื่องดับปฏิฆะโทสะพยาบาท ก็ได้แก่เมตตาคือความที่มีจิตรักใคร่ปรารถนาให้เป็นสุข ดังที่เราสวดกันอยู่ว่า

สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง อเวรา โหนตุ จงเป็นผู้ไม่มีเวรเถิด
อัพยา ปัชฌา โหนตุ จงเป็นผู้ไม่เบียดเบียนกันเถิด
อนีฆา โหนตุ จงเป็นผู้ไม่มีทุกข์กายทุกข์ใจเถิด
สุขี อัตตานัง ปริหรันตุ จงเป็นผู้มีสุขรักษาตนเถิด ดั่งนี้

คิดแผ่เมตตาดังที่กล่าวนี้ โดยเจาะจง และโดยไม่เจาะจงคือทั่วไป

แผ่โดยเจาะจงนั้นเรียกว่า โอทิศะพรรณา แผ่เมตตาจิตไปโดยเจาะจง เช่นที่ได้มีแสดงเป็นแนวปฏิบัติไว้ว่า แผ่เมตตาจิตไปว่า

สัพพา อิตถิโย สตรีทั้งปวง สัพเพ ปุริสา บุรุษทั้งปวง
สัพเพ อริยา อริยะบุคคลทั้งปวง สัพเพ อนริยา ผู้ที่ไม่ใช่พระอริยะทั้งปวง
สัพเพ เทวา เทพทั้งปวง สัพเพ มนุสสา มนุษย์ทั้งปวง
สัพเพ วินิปาติกา สัตว์ที่บังเกิดในภพชาติที่ตกต่ำ อันเป็นอบายภูมิทั้งปวง
สุขิตา โหนตุ จงเป็นผู้มีสุขเถิด

กับแผ่ไปโดยไม่เจาะจงอันเรียกว่า อโนทิศะพรรณา การแผ่ไปโดยไม่เจาะจงว่า

สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง สัพเพ ปาณา สัตว์มีปราณคือมีชีวิตทั้งปวง
สัพเพ ภูตา ภูตะคือสัตว์ที่เป็นแล้วทั้งปวง สัพเพ ปุคคลา บุคคลทั้งปวง
สัพเพ อัตตภาวะ ปริยาปันนา สัตว์ที่นับเนื่องในอัตตภาพทั้งปวง
สุขิตา โหนตุ จงเป็นผู้มีสุขเถิด

และการแผ่จิตไปด้วยเมตตาดั่งนี้ ท่านก็สอนให้คิดแผ่ไปในทิศทั้ง ๑๐ คือให้คิดแผ่จิตไปด้วยเมตตา ทั้งโดยเจาะจง ทั้งโดยไม่เจาะจง ดังกล่าว ในทิศตะวันออก ในทิศตะวันตก ในทิศเหนือ ในทิศใต้ ในทิศตะวันออกเฉียงใต้ ในทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ในทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็น ๘ ทิศ และในทิศเบื้องบน ในทิศเบื้องล่าง โดยคิดแผ่ไปว่า โดยคิดแผ่ไปทุกๆ ทิศ ทีละทิศว่า

สัพพา อิตถิโย สตรีทั้งปวง สัพเพ ปุริสา บุรุษทั้งปวง เป็นต้น โดยเจาะจง และโดยไม่เจาะจงว่า

สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเป็นต้น
สุขิตา โหนตุ จงเป็นผู้มีสุขเถิด

ดั่งนี้ ชื่อว่าแผ่ไปทั้ง ๑๐ ทิศ

การฝึกหัดปฏิบัติแผ่เมตตาจิตไปทั้ง ๑๐ ทิศดั่งนี้ ย่อมเป็นเครื่องปลูกเมตตาภาวนา

การอบรมเมตตาให้บังเกิดขึ้นในจิตใจ และเมื่อจิตใจเป็นจิตใจที่มีเมตตาแล้ว ก็ย่อมจะป้องกันไม่ให้เกิดปฏิฆะ เกิดโทสะพยาบาทได้ง่าย และหากว่าเกิดปฏิฆะเกิดโทสะพยาบาทขึ้นแล้ว เมื่อแผ่เมตตาออกไปก็จะดับได้ง่าย การปฏิบัติดั่งนี้ ชื่อว่าเป็นการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย อันเป็นข้อปฏิบัติที่ทุกคนควรฝึกหัดปฏิบัติแผ่เมตตาดัง กล่าวนี้ให้มีเป็นประจำทุกวันย่อมจะทำให้จิตใจของตนปลอดโปร่ง ไม่มีเวร ไม่มีภัย

อนึ่ง แม้พรหมวิหารอีก ๓ ข้อ ก็ควรหัดคิดแผ่ออกไปเช่นเดียวกัน คือข้อกรุณา ก็หัดคิดแผ่ออกไปว่า ขอให้สตรีทั้งปวงบุรุษทั้งปวงเป็นต้น หรือขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเป็นต้น ทุกขา ปมุติ ชันตุ จงพ้นจากทุกข์เถิด นี้เป็นการแผ่กรุณา และกรุณานี้เองย่อมเป็นเครื่องดับวิหิงสา คือความคิดเบียดเบียนใครให้เป็นทุกข์ต่างๆ และก็ควรหัดคิดแผ่มุทิตาความพลอยยินดี ในเมื่อผู้อื่นได้ดีมีสุข ด้วยหัดคิดแผ่ว่า

สัพพา อิตถิโย สตรีทั้งปวง สัพเพ ปุริสา บุรุษทั้งปวง เป็นต้น
หรือ สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งปวงเป็นต้น
มาลัพพะ สัมปัตติโต วิรัติชันตุ จงเป็นผู้อย่าไปปราศจากสมบัติที่ได้แล้วเถิด

เป็นการแผ่มุทิตา และด้วยอำนาจมุทิตานี้ก็เป็นเครื่องดับอิสสาความริษยา อรติความไม่ยินดีด้วย


๏ การแผ่อุเบกขา

และก็ควรหัดแผ่อุเบกขาอีกข้อหนึ่ง คือความวางใจมัธยัสถ์เป็นกลาง ด้วยการพิจารณาปลงลงไปในกรรม และผลของกรรม ด้วยคิดว่า

สัพพา อิตถิโย สตรีทั้งปวง สัพเพ ปุริสา บุรุษทั้งปวง เป็นต้น
หรือ สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งปวงเป็นต้น กัมมัสสกา เป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ ตน
กรรมทายาทา เป็นทายาทคือเป็นผู้รับผลของกรรม กรรมโยนี เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด
กรรมพันธู เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ กรรมะปฏิสรณา เป็นผู้มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย

ยังกัมมัง กริสสันติ จักกระทำกรรมใดไว้ กัลยาณัง วา ปาปกัง วา ดีหรือชั่ว
ตัสสะ ทายาทา ปวิสสันติ ก็จะต้องเป็นทายาทรับผลของกรรมนั้น

นี้เป็นการแผ่อุเบกขา และด้วยการแผ่อุเบกขาไปนี้ อุเบกขาก็เป็นเครื่องดับราคะความติดใจยินดี ปฏิฆะความกระทบกระทั่งยินร้าย ในจิตใจได้ ทำจิตใจให้มัธยัสถ์เป็นกลาง ด้วยการพิจารณาปลงลงในกรรม ดั่งนี้

เพราะฉะนั้นทั้ง ๔ ข้อนี้ เรียกว่าพรหมวิหารธรรม ธรรมะเป็นเครื่องอยู่ของพรหม ซึ่งโดยตรงเป็นเทพผู้ใหญ่ ซึ่งท่านแสดงว่า เพราะอำนาจของการเจริญคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ จนจิตใจได้อัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น จึงนำให้บังเกิดในพรหมโลก แต่เมื่อแสดงเทียบลงมาถึงมนุษย์ ก็หมายถึงมนุษย์ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ มีจิตใจอันสงบดีงาม ซึ่งมีความหมายว่า มนุษย์ผู้ใหญ่ดังกล่าวนี้ ไม่เลือกว่าจะเป็นสตรีบุรุษ ไม่เลือกว่าจะเป็นผู้มีอายุเท่าไหร่ จะมีอายุน้อยเป็นเด็ก หรือมีอายุมากที่เรียกว่าเป็นผู้ใหญ่ก็ตาม เมื่อจิตใจประกอบด้วยพรหมวิหารธรรมดั่งนี้แล้ว ก็ชื่อว่าเป็นพรหมได้ คือเป็นผู้ใหญ่ซึ่งมีจิตใจเป็นพรหม มีจิตใจที่สงบและงดงาม

เพราะฉะนั้น พรหมวิหารแต่ละข้อล้วนเป็นเครื่องดับรำงับกิเลสได้ทั้งนั้น เมตตาก็เป็นเครื่องดับพยาบาท กรุณาก็เป็นเครื่องดับวิหิงสา มุทิตาก็เป็นเครื่องดับอิสสาคือความริษยา อรติความไม่ยินดีด้วย และอุเบกขาก็เป็นเครื่องดับราคะความยินดี ปฏิฆะความยินร้าย หรือความติดใจชอบใจ ความไม่ชอบใจ อันทำจิตใจให้ลำเอียงไป เช่น ฉันทาคติบ้าง โทสาคติบ้าง เป็นต้น แต่เมื่อมีอุเบกขาแล้ว จิตใจจะไม่เป็นอคติ คือไม่ลำเอียงไปเพราะชอบหรือเพราะชังเป็นต้น จะมัธยัสถ์เป็นกลาง ด้วยมุ่งพิจารณาถึงกรรมเป็นใหญ่ ทำกรรมดีได้รับผลดี ทำกรรมชั่วได้รับผลชั่ว ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและทำความสงบสืบต่อไป



.......................................................

คัดลอกมาจาก
เทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ
http://www.mahayana.in.th/tsavok/tsavok.html
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 09 พ.ย.2005, 1:16 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ สาธุ สาธุ ดีๆ ครับ คัดลอกนำมาเผยแผ่จะได้กระจายหลักธรรมให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
poivang
บัวตูม
บัวตูม


เข้าร่วม: 18 มิ.ย. 2005
ตอบ: 224

ตอบตอบเมื่อ: 13 พ.ย.2005, 8:52 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ขอบคุณค่ะคุณลูกโป่งและขออนุโมทนากับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในบทธรรมนี้ทุกๆ ท่านค่ะ

สมเด็จพระญาณสังวรฯ ท่านสอนธรรมะได้ดีมากๆ เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนในสังคมอย่างใกล้ตัวมากๆ ซึ่งคนส่วนใหญ่เราๆ ก็จะเป็นกันอยู่ ถ้าไม่รู้จักที่จะปฏิบัติแก้ไขตนให้ดีขึ้น ก็ยังเกิดปฏิฆะง่ายจนโกรธเป็นโทษะและลามไปจนถึงพยาบาท สาธุ สาธุ สาธุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง