Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 คุณธรรมที่ได้ในวันเข้าพรรษา มีอะไรบ้าง ? อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
หญิงหญิง
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 02 ส.ค. 2004, 1:45 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

คุณธรรมที่ได้ในวันเข้าพรรษา มีอะไรบ้างค่ะ

จะเอาไปทำรายงานนะคะ ใครรู้ช่วยตอบหน่อยนะ ขอบคุณมากค่ะ สาธุ
 
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 02 ส.ค. 2004, 3:51 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

วันเข้าพรรษา
โดย พระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมโม ป.ธ.๙)
เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชปริยัติบดี
วัดสามพระยาวรวิหาร กรุงเทพมหานคร


ประเพณีการเข้าพรรษาในทางพระพุทธศาสนาที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตแก่พระสงฆ์นั้น มีประวัติความเป็นมาโดยสังเขปว่า

ประเพณีของคนอินเดียในสมัยโบราณ เมื่อถึงฤดูฝน ฝนตกชุก น้ำมักจะท่วม เป็นอุปสรรคสำหรับชนผู้สัญจรไปมาในระหว่างเมือง เช่น พวกพ่อค้าก็พากันหยุดกิจในฤดูฝนนี้ เพราะไม่สะดวกในการเดินทาง พวกนักบวชภายนอกพระพุทธศาสนา ก็พากันหยุดพัก ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดฤดูฝนนี้

เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระองค์ทรงจาริกไปในบ้าน นิคม ชนบท ราชธานี น้อยใหญ่เพื่อประกาศพระศาสนา ในกาลเริ่มต้นภิกษุยังมีน้อย เมื่อถึงฤดูฝนพระองค์พร้อมด้วยภิกษุทั้งหลาย

ทรงหยุดพัก ณ เมืองใดเมืองหนึ่งตลอดฤดูฝน เมื่อฤดูฝนผ่านพ้นไปแล้ว จึงได้เสด็จจาริกประกาศพระศาสนาต่อไป นี้จัดเป็นพุทธจริยาวัตร และพระองค์ยังมิได้บัญญัติให้พระสงฆ์อยู่จำพรรษา ความติฉินนินทาอันใดก็มิได้เกิดมี

ครั้นจำเนียรกาลผ่านมากุลบุตรทั้งหลายผู้ทีได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระองค์และเกิดศรัทธาเลื่อมใส ได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบทมากขึ้น ภิกษุก็มีปริมาณมากขึ้นโดยลำดับ

สมัยหนึ่ง พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่กรุงราชคฤห์ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ (ภิกษุ ๖ รูป) เมื่อถึงฤดูฝนแล้ว ก็มิได้หยุดพัก ยังเทียวสัญจรไปมาในบ้าน นิคม ชนบท และราชธานีน้อยใหญ่ เหยียบข้าวกล้าระบัดเขียวให้เกิดความเสียหาย ทำให้สัว์ตัวเล็กน้อยตาย เพราะการไม่รู้จักกาลเทศะของท่านเหล่านั้น ประชาชนจึงพากันติเตียนว่า “ไฉนเล่า พระสมณศากยบุตรจึงเที่ยวไปมาอยู่ทุกฤดูกาล เหยียบข้าวกล้าและติณชาติให้ได้รับความเสียหาย ทำให้สัตว์เล็กน้อยตาย ? พวกเดียรถีย์และปริพพาชกเสียอีกยังพากันหยุดพักในฤดูฝน ถึงนกยังรู้จักทำรังที่กำบังฝนของตน”

พระพุทธองค์ได้ทรงสดับคำนั้นแล้ว จึงทรงบัญญัติเป็นธรรมเนียมให้พระสงฆ์อยู่จำพรรษาตลอด ๓ เดือน ในฤดูฝน ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ไปจนถึงกลางเดือน ๑๑ ห้ามมิให้เที่ยวสัญจรไปมา ต้องอยู่ประจำที่

วันเข้าพรรษาที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตไว้มีอยู่ ๒ วัน คือ

๑. ปุริมิกาวัสสูปนายิกา คือ วันเข้าพรรษาแรก
ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ไปจนถึงวันเพ็ญกลางเดือน ๑๑

๒. ปัจฉิมมิกาวัสสูปนายิกา คือ วันเข้าพรรษาหลัง
ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ ไปจนถึงวันเพ็ญกลางเดือน ๑๒

ภิกษุเข้าพรรษาแล้ว หากมีกิจธุระจำเป็นอันชอบด้วยพระวินัย พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตให้ไปได้ แต่จะต้องกลับมา ยังสถานที่เดิมภายใน ๗ วัน พรรษาไม่ขาด ที่เรียกว่า “สัตตาหกรณียะ”

เหตุที่ทรงอนุญาตให้ไปได้ด้วยสัตตาหกรณียะนั้นมี ๔ อย่างดังต่อไปนี้

๑. สหธรรมิกหรือมารดาบิดาเจ็บไข้ รู้เข้าไปเพื่อรักษาพยาบาล

๒. สหธรรมิกกระสันจะสึก รู้เข้าไปเพื่อห้ามปราม

๓. มีกิจสงฆ์เกิดขึ้น เช่น วิหารชำรุดลงในเวลานั้น ไปเพื่อหาเครื่องทัพพสัมภาะมาปฏิสังขรณ์

๔. ทายกต้องการบำเพ็ญบุญกุศลส่งคนมานิมนต์ ไปเพื่อบำรุงศรัทธาของเขาได้ แม้ธุระอื่นนอกจากนี้ที่เป็นกิจจลักษณะอนุโลมเข้าในข้อนี้ด้วย

ในเวลาจำพรรษาเมื่อมีอันตรายเกิดขึ้นจะอยู่ต่อไปไม่ได้ และไปเสียจากที่นั้น พรรษาขาด แต่ท่านไม่ปรับอาบัติ (ไม่เป็นอาบัติ) มีดังนี้ คือ

๑. ถูกสัตว์ร้าย โจร หรือปีศาจเบียดเบียน

๒. เสนาสนะถูกไฟไหม้ หรือน้ำท่วม

๓. ภัยเช่นนั้นเกิดขึ้นแก่โคจรคาม ลำบากด้วยบิณฑบาต, ในข้อนี้ชาวบ้านอพยพจะตามเขาไปก็ควร

๔. ขัดสนด้วยอาหาร โดยปกติไม่ได้อาหารหรือเภสัชอันสบาย ไม่ได้อุปัฏฐากอันสมควร (ข้อนี้หากพอทนได้ก็ควรอยู่ต่อไป)

๕. มีหญิงมาเกลี้ยกล่อม หรือมีญาติมารบกวนล่อด้วยทรัพย์

๖. สงฆ์ในอาวาสอื่นจวนจะแตกกันหรือแตกกันแล้ว ไปเพื่อจะห้ามหรือเพื่อสมานสามัคคีได้อยู่ (ในข้อนี้ ถ้ากลับมาทัน ควรไปด้วยสัตตาหกรณียะ)

พระพุทธองค์ทรงอนุญาตการอยู่จำพรรษาในสถานที่บางแห่ง แก่ภิกษุบางรูปผู้มีความประสงค์ จะอยู่จำพรรษาในสถานที่ต่างๆ กัน สถานที่เหล่านั้น คือ

๑. ในคอกสัตว์ (อยู่ในสถานที่ของคนเลี้ยงโค)
๒. เมื่อคอกสัตว์ย้ายไป ทรอนุญาตให้ย้ายตามไปได้
๓. ในหมู่เกวียน
๔. ในเรือ

พระพุทธองค์ทรงห้ามมิให้อยู่จำพรรษาในสถานที่อันไม่สมควร สถานที่เหล่านั้น คือ

๑. ในโพรงไม้
๒. บนกิ่งหรือคาคบไม้
๓. ในที่กลางแจ้ง
๔. ในที่ไม่มีเสนาสนะ คือไม่มีที่นอนที่นั่ง
๕. ในโลงผี
๖. ในกลด
๗. ในตุ่ม

ข้อห้ามที่พระพุทธองค์ทรงห้ามไว้อีกอย่างหนึ่ง คือ

๑. ห้ามมิให้ตั้งกติกาอันไม่สมควร เช่น การมิให้มีการบวชกันภายในพรรษา
๒. ห้ามรับปากว่าจะอยู่พรรษาในที่ใดแล้ว ไม่จำพรรษาในที่นั้น

อนึ่ง วันเข้าพรรษานี้ ถือกันว่าเป็นกรณียพิเศษสำหรับภิกษุสงฆ์ เมื่อใกล้วันเข้าพรรษาควรปัดกวาด เสนาสนะสำหรับจะอยู่จำพรรษาให้ดี ในวันเข้าพรรษา พึงประชุมกันในโรงอุโบสถไหว้พระสวดมนต์ ขอขมาต่อกันและกัน หลังจากนั้นก็ประกอบพิธีอธิษฐานพรรษา ภิกษุควรอธิษฐานใจของตนเองคือตั้งใจเอาไว้ว่า ตลอดฤดูกาลเข้าพรรษานี้ ตนเองจะไม่ไปไหน ด้วยการเปล่งวาจาว่า

“อิมสฺมึ อาวาเส อิมัง เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ แปลว่า ข้าพเจ้าจะอยู่จำพรรษาในอาวาสนี้ตลอด ๓ เดือน”

หลังจากเสร็จพิธีเข้าพรรษาแล้ว ก็นำดอกไม้ธูปเทียนไปนมัสการบูชาปูชนียวัตถุที่สำคัญในวัดนั้น ในวันต่อมาก็นำดอกไม้ ธูปเทียนไปขอขมาพระอุปัชฌาย์อาจารย์และพระเถระผู้ที่ตนเองเคารพนับถือ

อานิสงส์แห่งการจำพรรษา

เมื่อพระภิกษุอยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนได้ปวารณาแล้ว ย่อมจะได้รับอานิสงส์แห่งการจำพรรษา ๕ อย่าง ตลอด ๑ เดือนนับแต่วันออกพรรษาเป็นต้นไป คือ

๑. เที่ยวจาริกไปโดยไม่ต้องบอกลา ตามสิกขาบทที่ ๖ แห่งอเจลกวรรค ปาจิตตีย์กัณฑ์
๒. เที่ยวจาริกไปโดยไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ
๓. ฉันคณะโภชน์และปรัมปรโภชน์ได้
๔. เก็บอติเรกจีวรได้ตามปรารถนา
๕. จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้นเป็นของพวกเธอ

และยังได้โอกาสเพื่อที่จะกราลกฐิน และได้รับอานิสงส์พรรษาทั้ง ๕ ขึ้นนั้นเพิ่มออกไปอีก ๔ เดือน ในฤดูเหมันต์ หรือฤดูหนาว คือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ไปจนถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ อีกด้วย

สำหรับคฤหัสถ์ ควรปฏิบัติเป็นกรณีพิเศษเช่นเดียวกัน ควรอธิษฐานใจตนเอง เพื่องดเว้นจากสิ่งที่เป็นอกุศลทั้งปวง สิ่งใดที่จะเป็นทางนำไปสู่หนทางแห่งความเสื่อมก็ควรจะงดเว้นเสีย แล้วตั้งใจสมาทานในการบำเพ็ญกุศลให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ด้วยการสมาทานรักษาอุโบสถตลอด ๓ เดือน ตามการเข้าพรรษาของพระสงฆ์

การปฏิบัติของคฤหัสถ์เช่นนี้ เรียกว่า “คฤหัสถ์เข้าพรรษา” จะเป็นมหากุศลอย่างยิ่ง การบำเพ็ญกุศลนั้น ถ้าจะทำติดต่อกันไปโดยตลอด ไม่เลือกเฉพาะกาลแล้ว ย่อมจะเป็นศิริมงคลแก่ตนเองมากยิ่งนักแลฯ


Image
พระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมโม ป.ธ.๙)


เทียน รวมกระทู้ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับ “วันอาสาฬหบูชา”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=45499

เทียน รวมกระทู้ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับ “วันเข้าพรรษา”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=45498
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
ying
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 02 ส.ค. 2004, 7:32 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ขอบคุณมากๆๆ ค่ะ
 
๛ สายลม ๛
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 02 ส.ค. 2004, 7:37 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

1. ความสำคัญ การเข้าพรรษา คือ การที่พระภิกษุตั้งใจว่าจะอยู่ประจำ ณ วัดใด วัดหนึ่ง ตลอดเวลา 3 เดือน ในฤดูฝน ไม่ไปค้างคืนที่อื่นในระหว่างนั้น ทั้งนี้ตามประวัติกล่าวว่า ในสมัยพุทธกาลพระภิกษุมิได้หยุดสัญจรแม้ในฤดูฝน ชาวบ้านตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่นๆ จนเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน คือ เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือนแปดหลัง และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11

2. การปฏิบัติตน ในวันนี้หรือก่อนวันนี้หนึ่งวัน พุทธศาสนิกชนมักจะจัดเครื่องสักการะเซ่น ดอกไม้ ธูปเทียน

เครื่องใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น มาถวายพระภิกษุ สามเณร ที่ตนเคารพนับถือ ที่สำคัญคือ มีประเพณีหล่อเทียนขนาดใหญ่เพื่อให้จุดบูชาพระประธานในโบสถ์อยู่ได้ตลอด 3 เดือน มีการประกวดเทียนพรรษา โดยจัดเป็นขบวนแห่ทั้งทางบกและทางน้ำ

แม้การเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของภิกษุ แต่พุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ ทำบุญรักษาศีลและชำระจิตใจให้ผ่องใส ก่อนวันเข้าพรรษาชาวบ้านก็จะไปช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิวิหารและอื่นๆ พอถึง

วันเข้าพรรษาก็จะไปร่วมทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรมและรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้น

อบายมุขต่างๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น อนึ่ง บิดามารดามักจะจัดพิธีอุปสมบทให้บุตรหลาน ของตนโดยถือกันว่าการเข้าบวชเรียนและอยู่จำพรรษาในระหว่างนี้จะได้รับอานิสงส์อย่างสูง

...........................

แนะนำว่า...ลองเอาการปฏิบัติตนในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาไปขยายความ เช่นการงดเว้นสิ่งไม่ดี ผิดศีลธรรมทั้งหลาย อย่างการรักษาศีลเป็นต้น คือเอาศีล 5 ไปขยายความ แล้วนำมาเชื่อมโยงกับช่วงเทศกาลเข้าพรรษา คิดว่าตรงนี้ก็จะได้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกเยอะ นะครับ


การรักษาศีล
http://www.dhammajak.net/book/sila/sila01.php
 
ying
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 02 ส.ค. 2004, 7:52 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ขอบคุณมากอีกครั้งค่ะ น่ารักทุกคนเลย
 
๛ สายลม ๛
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 02 ส.ค. 2004, 7:59 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ชาวพุทธส่วนหนึ่งปวารณาตนในการรักษาศีล 5 หรือศีล 8 อย่างเคร่งครัด ซึ่งพุทธศาสนาสอนไว้ว่าชีวิตที่สมบูรณ์นั้นต้องประกอบด้วยประโยชน์สุขระดับต่าง อันเป็นจุดมุ่งหมายของชีวิต

ประโยชน์สุขอันดับที่ 1 คือ ประโยชน์ปัจจุบันด้านรูปธรรม คือเห็นได้กับตาคือการมีสุขภาพดี มีอาชีพเป็นหลักฐานมีทรัพย์สินเงินทอง เป็นที่ยอมรับในสังคม มีครอบครัว บริวารดี เป็นประโยชน์สุขส่วนตน

ประโยชน์สุขอันดับที่ 2 ด้านนามธรรม คือ คุณธรรม ความดีงามมั่นในในคุณค่าของชีวิต การได้บำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือเกื้อกูลแก่เพื่อนมนุษย์ มีศรัทธาในความดีงามเป็นหลักของจิตใจมีปัญญา ทำให้รู้จักปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายได้ถูกต้อง แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เป็นความสุขที่ต่อเนื่องกัน สุขของตนกับสุขของคนอื่น สุขของบุคคลกับสุขของสังคมที่ประสานส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกัน ทำให้ทั้งสังคมสุขไปด้วยกันไม่เบียดเบียน ไม่แย่งซึ่งกัน เป็นความสุขที่ประสานกัน

การพัฒนาที่ยั่งยืนจะสำเร็จได้ต้องทำให้คนมีความสุขแบบประสานกัน ชีวิตสมบูรณ์ ความสุขก็สมบูรณ์ สังคมสมบูรณ์ ประโยชน์สุขของเรา เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น ประโยชน์สุขระดับที่ 3 ด้านนามธรรมขึ้นโลกกุตระ ที่อยู่เหนือกระแสของโลกธรรมคือ ความเป็นผู้มีจิตใจเป็นอิสระ รู้โลกและชีวิตตามความเป็นจริง ปล่อยให้ความทุกข์ที่มีอยู่ในธรรมชาติคงเป็นความทุกข์ของธรรมชาติ ไม่เข้ามากระทบกระทั่งบีบคั้นจิตใจของเรา เป็นผู้มีสุขอยู่กับตนเองได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นช่วงออกพรรษาหรือเข้าพรรษา ขอให้ชาวพุทธปฏิบัติตนให้ถึงประโยชน์สุขทั้ง 3 ระดับ ได้ตลอดไป

...........................

เกี่ยวกับการฝึกสมาธิ
http://www.dhammajak.net/samati/

...........................
 
๛ สายลม ๛
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 02 ส.ค. 2004, 8:42 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อานิสงส์ของศีล อันจัดได้ว่าเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่งที่สำคัญมาก มนุษย์ต้องมีพื้นฐานคุณธรรม คือศีลเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะพัฒนาไปสู่คุณธรรมสูงๆ ต่อไป

...........................

ศีลคืออะไร

ศีล แปลว่า ปกติ เป็นวินัยทางธรรมเบื้องต้นของคนเป็นเครื่องจำแนกคนออกจากสัตว์

ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องมีลักษณะปกติของมันเอง เช่น ปกติของม้าต้องยืน ไม่มีการนอน ถ้าม้านอนก็เป็นการผิดปกติแสดงว่าม้าป่วย ฤดูฝนตามปกติจะต้องมีผน ถ้าฤดูฝนกลับแล้ง ฝนไม่ตกแสดงว่าผิดปกติ

อะไรคือปกติของคน ?

๑. ปกติของคนจะต้องไม่ฆ่า ถ้าวันไหนมีการฆ่า วันนั้นก็ผิดปกติของคนแต่ไปเข้าข่ายปกติของสัตว์ เช่น เสือ หมี ปลา ฯลฯ ซึ่งฆ่ากันเป็นปกติเพื่อรักษาปกติของคนไว้ ศีลข้อที่ ๑ จึงเกิดขึ้นมาว่า คนจะต้องไม่ฆ่า

๒. ปกติของสัตว์เวลากินอาหารมันจะแย่งกัน ขโมยกัน ถึงเวลาอาหารทีไรสุนันเป็นต้องกัดกันทุกที แต่คนไม่เป็นอย่างนั้น เพื่อรักษาปกติของคนไว้ ศีลข้อที่ ๒ จึงเกิดขึ้นว่า คนจะต้องไม่ลัก ไม่คอร์รัปชั่น ไม่ยักยอก คดโกง

๓. ปกติของสัตว์ ไม่รู้จักหักห้ามใจให้พอใจเฉพาะคู่ของตน ในฤดูผสมพันธุ์สัตว์จึงมีการต่อสู้แย่งชิงตัวเมีย บางครั้งถึงกับต่อสู้กันจนตายไปข้างหนึ่งก็มี แต่ปกติของคนแล้วจะไม่แย่งคู่ครองของใคร พอใจเฉพาะคู่ครองของตนเท่านั้นเพื่อรักษาปกติของคนไว้ ศีลข้อที่ ๓ จึงเกิดขึ้นว่า คนจะต้องไม่ประพฤติล่วงในกาม

๔. ปกติของสัตว์ไม่มีความจริงใจต่อใคร พร้อมที่จะทำอันตรายได้ทุกเมื่อ แต่ปกติของคนนั้น เราพูดกันตรงไปตรงมา มีความจริงใจต่อกันถ้าใครโกหกหลอกลวงก็ผิดปกติไป เพื่อรักษาปกติของคนไว้ ศีลข้อที่ ๔ จึงเกิดขึ้นว่าคนจะต้องไม่พูดเท็จ

๕. ปกติแล้วสัตว์มีกำลังร่างกายแข็งแรงมากกว่าคน แต่สัตว์ไม่มีสติควบคุมการใช้กำลังของตนให้ถูกต้อง ดังนั้นจึงไม่สามารถเปลี่ยนกำลังกาย ให้เป็นกำลังความดีได้ มีแต่ความป่างเถื่อนตามอารมณ์ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย แม้มีกำลังกายมาก แต่ไม่เคยออกแรงไปหาอาหารมาเลี้ยง พ่อ แม่ ของมัน แต่อย่างใด

ส่วนคนแม้มีกำลังกายน้อยกว่าสัตว์ แต่อาศัยสติอันมั่นคงช่วยเปลี่ยนกำลังกายน้อยๆ นั้น ให้เกิดเป็นกำลังความดี เช่น มีกตัญญูกตเวที เมื่อโตขึ้นก็เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ได้

สติเป็นของเหนียวแน่นคงทน แม้อดอาหารทั้งววันสติก็ยังดี ทำงานทั้งเดือนไม่ได้พักสติก็ยังดี นอนป่วยบนเตียงทั้งปีสติก็ยังดี แต่สติกลับเปื่อยยุ่ย ทันทีถ้าไปเสพสุรายาเมาเข้า สุราเพียงครึ่งแก้วอาจทำผู้อื่นให้สติฟั่นเฟือนถึงกับลืมตัวลงมือทำร้ายผู้มีพรคุณได้ หมดความสามารถในการเปลี่ยนกำลังกายให้เป็นกำลังความดี ดังนั้นผู้ที่เสพสุราหรือของมึนเมา จึงมีสภาพผิดปกติคือ มีสถาพใกล้สัตว์เข้าไปทุกขณะ

เพื่อรักษาปกติของคนไว้ ศีลข้อที่ ๕ จึงเกิดขึ้นว่า คนจะต้องไม่เสพของมึนเมาให้โทษ

ศีลทั้ง ๕ ข้อ คือ

๑. ไม่ฆ่า
๒. ไม่ลัก
๓. ไม่ล่วงในกาม
๔. ไม่หลอกลวง
๕. ไม่เสพของมึนเมาให้โทษ

จึงเกิดขึ้นมาโดยสามัญสำนึกและเกิดขึ้นพร้อมกับโลกเพื่อรักษาความปกติสุขของโลกไว้

ศีล ๕ มีมาก่อนพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับเข้ามาไว้ในพระพุทธศาสนาและชี้แจงถึงความจำเป็นของการมีศีลให้ทราบ ดังนั้นศีลจึงไม่ใช่ข้อห้ามตามที่คนจำนวนมากเข้าใจ นอกจากนี้ศีลยังใช้เป็นเครื่องวัดความเป็นคนได้อีกด้วย

วันใดเรามีศีลครบ ๕ ข้อ แสดงว่าวันนั้นเรามีความเป็นคนบริบูรณ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

ถ้ามีศีลเหลือ ๔ ข้อ ความเป็นคนก็เหลือ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ใกล้สัตว์เข้าไป ๒๐ เปอร์เซ็นต์

ถ้ามีศีลเหลือ ๓ ข้อ ความเป็นคนก็เหลือ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ใกล้สัตว์เข้าไป ๔๐ เปอร์เซ็นต์

ถ้ามีศีลเหลือ ๒ ข้อ ความเป็นคนก็เหลือ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ใกล้สัตว์เข้าไป ๖๐ เปอร์เซ็นต์

ถ้าศีลเหลือ ๑ ข้อ ความเป็นคนก็เหลือ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ใกล้สัตว์เข้าไป ๘๐ เปอร์เซ็นต์

ถ้าศีลทุกข้อขาดหมด ก็หมดความเป็นคน หมดความสงบ หมดความสุขถึงยังมีชีวิตอยู่ก็เหมือนคนตายแล้ว ความดีใดๆ ไม่อาจงอกเงยขึ้นมาได้อีก มีชีวิตอยู่เพียงเพื่อจะทำความเดือดร้อนให้แก่ ตนเองและผู้อื่นเท่านั้น คนชนิดนี้คือ คนประมาทแท้ๆ

วิธีรักษาศีลตลอดชีพ

เพื่อรักษาความเป็นคนของตนไว้ให้ดี ชาวพุทธจึงจำเป็นต้องรักษาศีลยิ่งชีวิต การจะรักษาศีลให้ได้เช่นนั้น ต้องอาศัยปัญญาเข้าช่วย จึงจะรักษาไว้ได้โดยง่ายก่อนอื่นให้พิจารณาว่า

- ศีล แปลว่า ปกติ

- คนผิดศีล คือ คนผิดปกติ

- แต่ปัจจุบันนี้คนซึ่งผิดศีลจนเป็นปกตินิสัย มีจำนวนมากขึ้นทุกทีกระทั่งหลายคนเห็นคนมีศีลกลายเป็นคนผิดปกติไป เมื่อความเห็นวิบัติไปเช่นนี้ ประเทศชาติบ้านเมืองที่เคยร่มเย็นตลอด จึงต้องพลอยวิบัติ มีการฆ่ากัน โกงกัน ผิดลูกผิดเมีย ฯลฯ จนประชาชนนอนตาไม่หลับ สะดุ้งหวาดระแวงกันไปทั้งเมือง เราจะให้ผู้ใดมาดับทุกข์ความวิบัติครั้งนี้ ?

เราชาวพุทธแต่ละคนนี้แหละคือผู้ดับ เราจะดับทุกข์ด้วยการถือศีล ถึงคนอื่นไม่ช่วยถือเราก็จะถือเพียงลำพัง ถ้าเปรียบประเทศไทยเหมือนหม้อน้ำใหญ่ประชากรมากกว่า ๖๐ ล้านคน ที่กระทบกระทั้งกันเพราะขาดศีล ถ้าตัวเรามีศีลเมื่อใดก็เหมือนกับดึงตนเองออกจากกองฟืนไป ๑ ดุ้น แม้น้ำในหม้อจะยังเดือดพลานอยู่ แต่ก็ไม่ใช่เพราะเรา เมื่อแต่ละคนต่างดึงตนเองออกจากกองทุกข์โดยไม่เกี่ยวงอนกันดังนี้ ในไม่ช้าไฟทุกข์ย่อมดับมอดลงเองประเทศชาติก็จะคือสู่สภาพปกติสุขได้

เพื่อเป็นการย้ำความคิดที่จะถือศีลให้มั่นคงตลอดชีพ จำต้องหาวิธีการที่เหมาะสม ซึ่งมีอยู่วิธีหนึ่งคือ วิธีปลุกพระ ทุกๆ เช้าก่อนออกจากบ้านให้เอาพระเครื่องที่แขวนคออยู่ ใส่ในมือพนมหรือพนมมืออยู่หน้าที่บูชาพระแล้วตั้งใจล่าวคำสมทานรักษาศีล 5 ดังอย่างนี้

ปาณาติปาตา เวระมณี ข้า ฯ จะไม่ฆ่า
อะทินนาทานา เวระมณี ข้า ฯ จะไม่ลัก
กาเมสุมิจฉาจารา เวระมณี ข้า ฯ จะไม่ล่วงในกาม
มุสาวาทา เวระมณี ข้า ฯ จะไม่หลอกลวง
สุราเมระยะ มัชชปมาทัฏฐานา เวระมณี ข้า ฯ จะไม่เสพของมึนเมา

ทางการแพทย์โรคที่เกิดขึ้นมี ๒ ประเภท

๑. โรคประจำสังขาร เช่น โรคชรา โรคจากเชื้อโรคที่ระบาดเป้นครั้งคราว

๒. โรคจากการแส่หาด้วยความประมาท เช่น

ขาดศีลข้อ ๕ ทำให้เกิดพิษสุราเรื้อรัง ดับแข็ง ทะเลาะวิวาท

ขาดศีลข้อ ๔ ทำให้เกิดโรคความจำเสื่อม ผู้ที่โกหกมากๆ เข้าลงท้าย แม้กระทั่งตัวเองก็หลงลืมว่าเรื่องที่ตนพูดขึ้นนั้นเป็นเรื่องจริงหรือโกหก

ขาดศีลข้อ ๓ ทำให้เกิดกามโรคได้ง่าย

ขาดศีลข้อ ๒ ทำให้เกิดโรคจิด เช่น โรคหวาดผวา

ขาดศีลข้อ ๑ ทำให้อายุสั้น เช่น บุคคลประเภทเจ้าพ่อทั้งหลายฆ่าคนมามาก ลงท้ายก็โดนเขาฆ่าเอาบ้าง “ผู้ฆ่าย่อมได้รรับการฆ่าตอบ ผู้ทรมานย่อมได้รับการทรมานตอบ”

(พุทธพจน์)

ดังนั้นหากเรารักษาศีล ๕ ได้ ก็เหมือนได้ฉีดวัคซีนป้องกันสารพัดโรคไว้แล้ว

ในวันพระหรือทุก ๗ วัน ควรถือศีล ๘ ซึ่งมีข้อเพิ่มจากศีล ๕ ดังนี้

ศีลข้อ ๓ เปลี่ยนจากประพฤติผิดในกามเป็น เว้นจากการเสพกาม

ศีลข้อ ๖ เว้นจากการกินอาหารยามวิกาล คือ ตั้งแต่เที่ยงถึงเช้าวันรุ่งขึ้น

ศีลข้อ ๗ เว้นจากการตกแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับ และของหอม และเว้นจาก การดูการละเล่น

ศีลข้อ ๘ เว้นจากการนอนบนที่นอนอันนุ่มและสูงใหญ่

ศีลข้อ ๖-๘ จะควบคุมความรู้สึกทางเพศไม่ให้เกิดขึ้นเกินส่วนและนี่คือ

๑. เป็นการคุมกำเนิดโดยธรรมชาติ

๒. เป็นการลดช่องว่างระหว่างชนชั้น ไม่มีการแข่งขันประดับประดาร่างกาย เป็นอยู่อย่างไม่ฟุ่มเฟ้อ

๓. เป็นการทำให้จิตใจสงบเบื้องต้น แล้วสามารถเข้าถึงธรรมะชั้นสูงต่อไป

อานิสงส์ของศีล

๑. ทำให้สามารใช้สอยทรัพย์ได้เต็มอิ่ม โดยไม่ต้องหวาดระแวงว่าจะมีใครมาทวงคืน
๒. ทำให้เกียรติคุณฟุ้งขจรไปว่าเป็นคนเชื่อถือได้ มีอนาคตดี
๓. ทำให้แกล้วกล้าอาจหาญในท่ามกลางประชุมชน
๔. ทำให้เป็นคนไม่หลงลืมสติ มีจังหวะชีวิตดี
๕. เมื่อยังไม่บรรลุนิพพาน ตายแล้วก็ไปเกิดในสวรรค์

อานิสงส์การมีวินัย

วินัยทางโลกและทางธรรมรวมกันแล้วทำให้เกิดประโยชน์คือ

๑. วินัยนำไปดี หมายความว่า ทำให้ผู้รักษาวินัยดีขึ้น ยกฐานะผู้มีวินัย ให้สูงขึ้น เช่น

เด็กกลางถนน เข้าโรงเรียนมีวินัย กลายเป็น นักเรียน
เด็กชาวบ้า บวชแล้วถือศีล ๑๐ กลายเป็น สามเณร
สามเณร บวชแล้วถือศีล ๒๒๗ กลายเป็น พระภิกษุ

วินัยเป็นข้อบังคับใจเราก็จริงแต่เป็นข้อบังคับเพื่อให้เราไปถึงที่หมายของชีวิตตามความประสงค์ของเราเอง

๒. วินัยนำไปแจ้ง คำว่า แปลว่า สว่าง หรือเปิดเผยไม่คลุมๆ เครือๆ วินัยนำไปแจ้งคือเปิดเผยธาตุแท้ของคนได้ ว่าไว้ใจได้แค่ไหน โดยดูว่าเป็นคนมีวินัยหรือไม่

๓. วินัยนำไปต่าง เราดูความแตกต่างของคนด้วยวินัย ยกตัวอย่างคนที่ซ่องสุมสมัครพรรคพวกและอาวุธไว้สู้รบกับคนอื่น ถ้ามีวินัยเราเรียกว่า กองทหารเป็นมิ่งขวัญของบ้านเมือง ถ้าไม่มีวินัยเราเรียกว่า กองโจร เป็นเสี้ยนหนามของแผ่นดิน คนที่พกอาวุธเดินปนอยู่ในที่ชุมชนอย่างองอาจ ถ้ามีวินัยเราเรียกว่า ตำรวจ เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ถ้าไม่มีวินัยเราเรียกว่า นักเลงอันธพาธเป็นผู้พิฆาตสันติสุข คนที่เที่ยวภิกขาจารพึ่งคนอื่นเลี้ยงชีวิตถ้ามีวินัยรักษาศีล ๒๒๗ เราเรียกว่าพระภิกษุ เป็นบุญของผู้ให้ทาน ถ้าไม่มีวินัย เราเรียกว่า ขอทาน เป็นกรรมของผู้ถูกขอ

เราต้องการก้าวไปสู่ความดีความก้าวหน้า เราต้องการความบริสุทธิ์กระจ่างแจ้ง เราต้องการยกฐานะให้สูงขึ้น เพราะฉะนั้นเราจึงจำเป็นต้องรักษวินัย

"ผู้มีวินัยดี หมายถึง ผู้ที่รักษาวินัยทั้งทางโลกและทางธรรมอย่างถูกต้องและเคร่งครัด"

...........................

"ก่อนจะแต่งตัวให้สวยงาม เราจำต้องอาบน้ำชำระล้างสิ่งสกปรกโสโครกออกก่อนฉันใด ก่อนจะปรับปรุงใจให้สะอาดบริสุทธิ์มีคุณธรรมสูงขึ้นเราก็จำต้องงดเว้นจากบาปทั้งปวงก่อนฉันนั้น"

บาปคืออะไร ?

สิ่งของที่เสีย เรามีชื่อเรียกต่างๆ กันไป เช่น บ้านเสียเราเรียกบ้านชำรุด อาหารเสียเราเรียก อาหารบูด ฯลฯ คำจำพวกที่ว่า บูด ชำรุด แตกหัก ผุพัง เน่า ขาด ขึ้นรา ฯลฯ ถ้าพูดรวมๆ เรียกว่า เสีย หมายความว่า มันไม่ดี

อาการเสียของจิตก็เหมือนกัน เราเรียกแยกได้หลายอย่าง เช่น จิตเศร้าหมอง จิตเหลวไหล ใจร้าย ใจดำ ใจขุ่นมัว ฯลฯ แล้วแต่จะบอกอาการทางไหน คำว่า เศร้าหมอง เหลวไหล ต่ำทราม ร้ายกาจ เป็นคำบอกว่าจิตเสีย ซึ่งความเสียของจิตนี้ทางศาสนาท่านใช้คำสั้นๆ ว่า “บาป” คำว่าบาป จึงหมายถึงความเสียของจิตนั่นเอง คือการที่ใจมีคุณภาพต่ำลง ไม่ว่าจะเสียในแง่ไหนก็เรียกว่าบาปทั้งสิ้น

กำเนิดบาป

การกำเนิดของบาป ในทัศนะของศาสนาอื่น เช่น คริสต์ อิสลาม ฮินดู ต่างกับของศาสนาพุทธอย่างมาก เช่น แนวคิดในศาสนาคริสต์ก็ดี อิสลามก็ดี สอนว่าบาปจะเกิดเมื่อผิดคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า เช่น พระผู้เป็นเจ้าสั่งให้นึกถึงพระองค์อยู่เป็นประจำ ถ้าลืมนึกไปก็เป็นบาป หรือพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาคริสต์สั่งให้ไม่ให้เอ่ยนามพระองค์โดยไม่จำเป็น ถ้าใครเอ่ยนามพระเจ้าพร่ำเพรื่อก็เป็นบาป

ยิ่งไปกว่านั้นตามความเชื่อของเขา บาปยังมีการตกทอดไปถึงลูกหลานได้อีกด้วย เช่น ในศาสนาคริสต์ เขาถือว่า ทุกคนเกิดมามีบาปติดตัวมาด้วยทั้งนั้น เพราะเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนสืบเชื้อสายมาจากคนบาปคืออาดัมกับอีวา ซึ่งขัดคำสั่งพระเจ้าแอบไปกินแอปเปิ้ลในสวนเอเดน ถูกพระเจ้าปรับโทษเอาเป็นบาป ลูกหลานทั่วโลกจึงมีบาปติดต่อมาด้วย โดยนัยนี้ศาสนาคริสต์เชื่อว่าบาปตกทอดถึงกันได้โดยสายเลือด

สำหรับพระพุทธศาสนาเนื่องจาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงฝึกสมาธิมาอย่างดีเยี่ยมไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน เป็นผลให้พระองค์ทรงเห็นและรู้จักธรรมชาติของกิเลสอันเป็นต้นเหตุแห่งบาปทั้งหลายได้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง และสามารถกำจัดกิเลสเหล่านั้นออกไปได้โดยสิ้นเชิงและเด็ดขาดพระองค์ได้ตรัสสรุปเรื่องการกำเนิดของบาปไว้อย่างชัดเจนว่า “นตฺถิ ปาปํ อกุนฺนโต” “บาปย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่ทำบาป” อตฺตนาว กตํ ปาปํ อตฺตนา สงฺกิลิสฺสติ” “ใครทำบาป คนนั้นก็บาปเอง” “อตฺตนา อกตํ ปาปํ อตฺตนาววิสุชฺฌติ” “ใครไม่ทำบาป คนนั้นก็บริสุทธิ์” พระพุทธวจนะนี้เป็นเครื่องยืนยันการค้นพบของพระองค์ว่าบาปเป็นเรื่องเฉพาะตัว ไม่ใช่สิ่งติดต่อกันได้ ใครทำบาปคนนั้นก็ได้บาป ใครไม่ทำบาปก็รอดตัวไป พ่อทำบาปก็เรื่องของพ่อ ลูกทำบาปก็เรื่องของลูก คนละคนกันเปรียบเหมือนพ่อกินข้าวพ่อก็อิ่ม ลูกไม่ได้กินลูกก็หิว หรือลูกกินข้าวลูกก็อิ่ม พ่อไม่ได้กินพ่อก็หิว ไม่ใช่พ่อกินข้าวอยู่ที่บ้านลูกอยู่บนยอดเขาแล้วจะอิ่มไปด้วย เพราะเป็นเรื่องเฉพาะตัว ใครทำใครได็

ดังนั้นตามความเห็นของพุทธศาสนา บาปจึงเกิดที่ตัวคนทำเองคือเกิดที่ใจของคนทำ ใครไปทำชั่วเข้าบาปก็กัดกร่อนใจของคนนั้นให้เสียคุณภาพ เศร้าหมอง ขุ่นมัวไป ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานไป ไม่เกี่ยวกับคนอื่น

วิธีล้างบาป

เมื่อทัศนะในเรื่องกำเนิดบาปต่างกันดังกล่าว วิธีล้างบาประหว่างศาสนาที่มีพระเจ้า กับของพระพุทธศานาจึงห่างกันราวฟ้ากับดิน ศาสนาที่เชื่อพระเจ้า เชื่อผู้สร้าง ผู้ศักดิ์สิทธิ์ สอนว่า พระเจ้าทรงไว้ซึ่งสิทธิ์ขาดที่จะยกเลิกบาปให้ใครๆ ได้ โดยการไถ่บาป ขออย่างเดียวให้ผู้นั้นภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าก็แล้วกัน

แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงรู้แจ้งโลกหาใครเสมอเหมือนมิได้ตรัสสอนว่า สุทฺธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ “ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ เป็นเรื่องเฉพาะตัว” นาญฺโญ อญฺญํ วิโสธเย “ใครจะไถ่บาป ทำให้คนอื่นบริสุทธิ์ไม่ได้” พระพุทธวจนะทั้งหมดนี้ ปฏิเสธทัศนะที่ว่า บาปของคนหนึ่งจะตกทอดไปยังอีกคนหนึ่งได้และปฏิเสธลัทธิที่ว่า บาปที่คนหนึ่งทำแล้วจะมีผู้หนึ่งผู้ใดมาไถ่ถอนให้ได้

วิธีการล้างบาปในพุทธศาสนาสามารถทำได้อย่างมีเหตุผลดังนี้

สมมุติว่าเรามีเกลืออยู่ช้อนหนึ่ง ใส่ลงไปในน้ำ ๑ แก้ว เมื่อคนให้ละลาย แล้วลองชิมดู ผลเป็นอย่างไร

“ก็เค็ม”

ถ้าเอาน้ำแก้วนี้ใส่ลงในถังน้ำแล้วเติมน้ำให้เต็ม ชิมดูเป็นอย่างไร

“ก็แค่กร่อยๆ “

ถ้าเอาน้ำในถังนี้ ใส่ลงในแท้งค์น้ำฝนใบใหญ่ ชิมดูเป็นอย่างไร

“ก็จืดสนิท”

“เกลือหายไปไหนหรือเปล่า”

“เปล่า ยังอยู่ครบถ้วนตามเดิม”

“แล้วทำไมไม่เค็ม”

“ก็เพราะน้ำ มันมีปริมาณมาก เจือจางจนกระทั่งเกลือหมดฤทธิ์ เราจึงไม่รู้สึกถึงความเค็ม พระท่านเรียก อัพโพหาริก แปลว่า มีเหมือนไม่มี คือเกลือนั้นยังมีอยู่แต่ว่าหมดฤทธิ์เสียแล้ว ถือได้ว่าไม่มี”

เช่นกัน วิธีล้างบาปในพุทธศาสนาก็คือ การตั้งใจทำความดีสั่งสมบุญให้มากเข้าไว้ ให้บุญกุศลนั้นมาเจือจางบาปลงไป การทำบุญอุปมาเสมือนเติมน้ำ ทำบาปอุปมาเสมือนเติมเกลือ เมื่อเราทำบาป บาปนั้นก็ติดตัวเราไป ไม่มีใครไถ่แทนได้ แต่เราจะต้องหมั่นสร้างบุญกุศลให้มาก เพื่อมาเจือจางบาปให้หมดฤทธิ์ลงไปให้ได้

งดเว้นจากบาปหมายความว่าอย่างไร

งด หมายถึง สิ่งใดที่เคยทำแล้วหยุดเสีย เลิกเสีย

เว้น หมายถึง สิ่งใดที่ไม่เคยทำ ก็ไม่ยอมทำเลย

งดเว้นจากบาป จึงหมายความว่า การกระทำใดก็ตามทั้ง กาย วาจา ใจ ที่เป็นความชั่ว ความร้ายกาจ ทำให้ใจเศร้าหมอง ถ้าเราเคยทำอยู่ก็จะงดเสีย ที่ยังไม่เคยทำก็จะเว้นไม่ยอมทำโดยเด็ดขาด

สิ่งที่ทำแล้วเป็นบาป

คือ อกุศลกรรมบถ ๑๐ ได้แก่

๑. ฆ่าสัตว์ เช่น ฆ่าคน ยิงนกตกปลา รวมถึงทรมานสัตว์
๒. ลักทรัพย์ เช่น ลักขโมย ปล้น ฉ้อโกง หลอกลวง คอรัปชั่น
๓. ประพฤติผิดในกาม เช่น เป็นชู้ ฉุดคร่า อนาจาร
๔. พูดเท็จ เช่น พูดโกหก พูดเสริมความ ทำหลักฐานเท็จ
๕. พูดส่อเสียด เช่น พูดยุยงให้เขาแตกกัน ใส่ร้ายป้ายสี
๖. พูดคำหยาบ เช่น ด่า ประชด แช่งชักหักกระดูก ว่ากระทบ
๗. พูดเพ้อเจ้อ เช่น พูดพล่าม พูดเหลวไหล พูดโอ้อวด
๘. คิดโลภมาก เช่น อยากได้ในทางทุจริต เพ่งเล็งทรัพย์คนอื่น
๙. คิดพยาบาท เช่น คิดอาฆาต คิดแก้แค้น คิดปองร้าย
๑๐. คิดเห็นผิด เช่น เห็นว่าบุญบาปไม่มี เห็นว่าบิดามารดาไม่มีพระคุณ เห็นว่าตายแล้วสูญ เห็นว่ากฎแห่งกรรมไม่มี

วิธีงดเว้นจากบาปให้สำเร็จ

คนเราประกอบขึ้นด้วยกายและใจ โดยใจจะเป็นผู้คอยควบคุมกายให้ทำหรือไม่ให้ทำสิ่งต่างๆ ตามที่ใจต้องการ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า

“ทุกอย่างมีใจเป็นใหญ่ สำเร็จได้ด้วยใจ ถ้าใครมีใจชั่วเสียแล้ว การพูดการกระทำของเขาก็ย่อมชั่วตามไปด้วย เพราะการพูดชั่วทำชั่วนั้น ความทุกข์ก็ย่อมตามสนองเขา เหมือนวงล้อเกวียนที่หมุนเวียนตามบดขยี้รอยเท้าโคที่ลากมันไป

แต่ถ้ามีใจบริสุทธิ์ การพูด การกระทำ ก็ย่อมบริสุทธิ์ตามไปด้วย เพราะการพูด การกระทำที่บริสุทธิ์ดีงามนั้น ความสุขก็ย่อมตามสนองเขา เหมือนเงาที่ไม่พรากไปจากร่างฉะนั้น”

ดังนั้นผู้ที่ปรารถนาหาความสุข ความก้าวหน้าทั้งหลาย จึงต้องฝึกใจตนเองให้งดเว้นบาป ซึ่งทำได้โดย ต้องฝึกให้ใจมีหิริโอตตัปปะเสียก่อน

หิริโอตตัปปะคืออะไร

หิริ คือ ความละอายบาป เป็นความรู้สึกรังเกียจ ไม่อยากทำบาป เห็นบาปเป็นของสกปรกจะทำให้ใจของเราเศร้าหมอง จึงไม่ยอมทำบาป

โอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวบาป เป็นความรู้สึกกลัว กลัวว่าเมื่อทำไปแล้ว บาปจะส่งผลเป็นความทุกข์ทรมานแก่เรา จึงไม่ยอมทำบาป

สมมุติว่าเราเห็นเหล็กชิ้นหนึ่งเปื้อนอุจจาระอยู่เรามีความรู้สึกรังเกียจไม่อยากจับต้องเกรงว่าอุจจาระจะมาเปื้อนมือเรา ความรู้สึกนี้เปรียบได้กับ หิริคือความละอายต่อบาป

สมมุติว่า เราเห็นเหล็กท่อนหนึ่งเผาไฟอยู่จนร้อนแดง เรามีความรู้สึกกลัว ไม่กล้าจับต้อง เพราะเกรงว่าความร้อนจะลวกเผาไหม้มือเรา ความรู้สึกนี้เปรียบได้กับโอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวต่อผลของบาป “สัตบุรุษ ผู้สงบระงับ ประกอบด้วยหิริโอตตัปปะ ตั้งมั่นอยู่ในธรรมขาว ท่านเรียกว่าผู้มีธรรมของเทวดาในโลก”

(พุทธสุภาษิต)

เหตุที่ทำให้เกิดหิริ

๑. คำนึงถึงความเป็นคน หรือชาติตระกูล “เรานี่มีบุญอุตส่าห์ได้เกิดเป็นคนแล้ว ทำไมจึงจะมาฆ่าสัตว์ ทำไมต้องมาขโมยเขากินนั่นมันเรื่องของสัตว์เดียรัจฉาน ทำไมต้องมาแย่งผัวแย่งเมียเขา ไม่ใช่หมู หมา กา ไก่ ในฤดูผสมพันธุ์นี่ เรานี้มันชาติคน เป็นมนุษย์สูงกว่าสัตว์ทั้งหลายอยู่แล้ว” พอคำนึงถึงชาติตระกูล หิริก็เกิดขึ้น

๒. คำนึงถึงอายุ “โธ่เอ๋ย เราก็แก่ป่านนี้แล้ว จะมานั่งเกี้ยวเด็กสาวๆ คราวลูกคราวหลานอยู่ได้อย่างไร โธ่เอ๋ยเราก็แก่ป่านนี้แล้วจะมาขโมยของเด็กรุ่นลูก รุ่นหลานได้อย่างไร” พอคำนึงถึงวัย หิริก็เกิดขึ้น

๓. คำนึงถึงความดีที่เคยทำ “เราก็เคยมีความองอาจกล้าหาญทำความดีมาก็มากแล้ว ทำไมจะต้องมาทำความชั่วเสียตอนนี้ล่ะ ไม่เอาละ ไม่ยอมทำความชั่วละ” พอคำนึงถึงความดีเก่าก่อน หิริก็เกิดขึ้น

๔. คำนึงถึงความเป็นพหูสูต “ดูซิ เราก็มีความรู้ขนาดนี้แล้ว รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ รู้สารพัดจะรู้แล้วจะมาทำความชั่วได้อย่างไร” พอคำนึงถึงความเป็นพหูสูต หิริก็เกิดขึ้น

๕. คำนึงถึงพระศาสดา “เราเองก็ลูกพระพุทธเจ้า พระองค์สู้ทนเหนื่อยยาก ตรัสรู้ธรรมแล้วทรงสั่งสอนอบรมพวกเราต่อๆ กันมา เราจะละเลยคำสอนของพระองค์ ไปทำชั่วได้อย่างไร” พอคำนึงถึงพระศาสดา หิริก็เกิดขึ้น

๖. คำนึงถึงครูอาจารย์ สถานศึกษา “ ฮึ เราก็ศิษย์มีครูเหมือนกัน ครูอาจารย์สู้อบรมสั่งสอนมา ชื่อเสียงสถาบันของเราก็โด่งดังเป็นที่ยกย่องสรรเสริญ แล้วเราจะมาทำชั่วได้อย่างไร” พอคำนึงถึงครูอาจารย์ สำนักเรียน หิริก็เกิดขึ้น

เหตุที่ทำให้เกิดโอตตัปปะ

๑. กลัวคนอื่นติ “นี่ถ้าเราขืนไปขโมยของเขาเข้า คนอื่นรู้คงเอาไปพูดกันทั่ว ชื่อเสียงที่เราอุตส่าห์สร้างมาอย่างดี คงพังพินาศหมดคราวนี้เอง “เมื่อกลัวว่าคนอื่นเขาจะติเอา โอตตัปปะก็เกิดขึ้น จึงไม่ยอมทำบาป”

๒. กลัวการลงโทษ “อย่าดีกว่า ขืนไปฆ่าเขาเข้า บาปกรรมตามทันตำรวจจับได้ มีหวังติดคุกตลอดชีวิตแน่” เมื่อกลัวว่าบาปจะส่งผลให้ถูกลงโทษ โอตตัปปะก็เกิดขึ้น จึงไม่ยอมทำบาป

๓. กลัวการเกิดในทุคติ “ไม่เอาละ ขืนไปขโมยของเขา อีกหน่อยต้องไปเกิดเป็นสัตว์นรก สัตว์เดียรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย ไม่ทำดีกว่า" เมื่อกลัวว่าจะต้องไปเกิดในทุคติ โอตตัปปะก็เกิดขึ้นจึงไม่ยอมทำบาป

ข้อเตือนใจ

การทำชั่ว เหมือนการเดินตามกระแสน้ำ เดินไปได้ง่าย ทุกๆ คนพร้อมที่จะ กระทำสิ่งต่างๆ ไปตามกระแสกิเลสอยู่แล้ว ถ้าไม่ควบคุมให้ดี ยอม ตกเป็นทาสของกิเลส กระทำสิ่งต่างๆ ตามอำนาจของความอยากก็จะประสบทุกข์ในบั้นปลาย

การทำดี เหมือนการเดินทวนกระแสน้ำ เดินลำบากต้องใช้ความอดทน ใช้ความมานะพยายามต้องระมัดระวังไม่ให้ลื่นล้ม การทำความดีเป็นการทวนกระแสกิเลสในตัว ไม่ทำสิ่งต่างๆ ตามอำเภอใจ คำนึงถึงความถูกความดีเป็นที่ตั้งไม่ยอมเป็นทาสของความอยากเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ต้องใช้ความสุขุมรอบคอบ ใช้ความมานะพยายามสูง แต่จะประสบสุขในบั้นปลาย

การทำกลางๆ เหมือนยืนอยู่เฉยๆ กลางกระแสน้ำ ไม่ช้าก็ถูกกระแสน้ำพัดพาไปได้ คนที่คิดว่า

“ฉันอยู่ของฉันอย่างนี้ก็ดีแล้ว ไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ใคร แต่ความดีฉันก็ไม่สนใจที่จะทำ” เข้าทำนองบุญก็ไม่ทำ กรรมก็ไม่สร้าง วัดก็ไม่เข้า เหล้าก็ไม่กิน เขาย่อมจะมีโอกาสเผลอไปทำความชั่วได้ในไม่ช้า เพราะใจของคนเราพร้อมที่จะไหลเลื่อนลงไป ในที่ต่ำตามอำนาจกิเลสอยู่แล้ว ผู้ที่คิดอย่างนี้ จึงเป็นคนประมาทอย่างยิ่ง

ดังนั้นเราชาวพุทธทั้งหลาย นอกจากจะต้องพยายามงดเว้นบาปเพื่อป้องกันใจของเราไม่ให้ไหลเลื่อนไปทางต่ำแล้ว จะต้องหมั่นยกใจของเราให้สูงอยู่เสมอ ด้วยการขวนขวายสร้างสมบุญกุศลอยู่เป็นนิจ

อานิสงส์การงดเว้นบาป

๑. ทำให้เป็นคนไม่มีเวร ไม่มีภัย
๒. ทำให้เกิดมหากุศลตามมา
๓. ทำให้โรคภัยไข้เจ็บไม่เบียดเบียน
๔. ทำให้เป็นผู้ไม่ประมาท
๕. ทำให้เกิดศรัทธาในพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น
๖. ทำให้จิตใจผ่องใส พร้อมที่จะรองรับคุณธรรมขั้นสูงต่อไป

...........................

สำรวมจากการดื่มน้ำเมาหมายถึงอะไร

น้ำเมา โดยทั่วไปหมายถึงเหล้า แต่ในที่นี้หมายถึง ของมึนเมาให้โทษทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นน้ำหรือแห้ง รวมทั่งสิ่งเสพย์ติดทุกชนิด

ดื่ม ในที่นี้หมายถึงการทำให้ซึมซาบเข้าไปในร่างกาย ไม่ว่าจะโดยวิธี ดื่ม ดม อัด นัตถุ์ สูบ ฉีด ก็ตาม

สำรวม หมายถึง ระมัดระวังในนัยหนึ่ง และเว้นขาดในอีกนัยหนึ่ง

เหตุที่ใช้คำว่าสำรวม

พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประเภทมีเหตุผล บางศาสนาเห็นโทษของเหล้า เห็นโทษของแอลกอฮอล์ เพราะฉะนั้นนอกจากห้ามดื่มแล้วเอามาทาแผลก็ไม่ได้ คนตายแล้วเอาแอลกอฮอล์มาเช็ดล้างศพก็ไม่ได้เพราะเป็นของบาป

แต่ในพระพุทธศาสนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ห้ามเหมารวมหมดอย่างนั้น เพราะ ทรงมองเห็นว่าเหล้าหรือสิ่งเสพย์ติดแม้จะมีโทษมหันต์ แต่ในบางกรณีก็อาจนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ เช่น ใช้ฉีดระงับความเจ็บปวด หรือยาบางอย่างต้องอาศัยเหล้าสกัดเอาตัวยาออกมาเพื่อใช้รักษาโรค คือเอาเหล้าเพียงเล็กน้อยมาเป็นกระสายยา ไม่มีรสไม่มีกลิ่นเหล้าคงอยู่ อย่างนี้ในพระพุทธศาสนาไม่ได้ห้าม แต่บางคนที่อยากจะดื่มเหล้าแล้วหาข้ออ้างนำเหล้ามาทั้งขวด เอายาใส่ไปนิดหน่อยอย่างนั้นเป็นการเอายามากระสายเหล้า ใช้ไม่ได้

โดยสรุปสำรวมจากการดื่มน้ำเมา จึงหมายถึง การระมัดระวังเมื่อใช้สิ่งเสพย์ติดทั้งหลายในการรักษาโรค และเว้นขาดจากการเสพสิ่งเสพย์ติดให้โทษทุกชนิดไม่ว่าโดยวิธีใดก็ตาม

โทษของการดื่มน้ำเมา

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรุปโทษของการดื่มสุราไว้ ๖ ประการคือ

๑. ทำให้เสียทรัพย์ เพราะไหนจะต้องซื้อเหล้ามาดื่มเอง ไหนจะต้องเลี้ยงเพื่อน งานการก็ไม่ได้ทำ ดังนั้น แม้เป็นมหาเศรษฐี ถ้าติดเหล้า ก็อาจจะล่มจมได้

๒. ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท เพราะกินเหล้าแล้วขาดสติไม่สามารถควบคุมตนเองได้ จะเห็นได้ว่าในวงเหล้ามักจะมีเรื่องชกต่อย ตีรันฟันแทงอยู่เสมอ เพื่อนรักกัน พอเหล้าเข้าปากประเดี๋ยวเดียวก็ฆ่ากันเสียแล้ว

๓. ทำให้เกิดโรคหลายอย่าง ทั้งโรคตับแข็ง โรคกระเพาะ โรคหัวใจ โรคเส้นโลหิตในสมองแตก โรคทางระบบประสาท ฯลฯ

๔. ทำให้เสียชื่อเสียง เพราะไปทำสิ่งที่ไม่ดีเข้า ใครรู้ว่าเป็นคนขี้เมาก็จะดูถูกเหยียดหยาม ไม่มีใครไว้วางใจ

๕. ทำให้แสดงอุจาดขาดความละอาย พอเมาแล้วอะไรที่ไม่กล้าทำก็ทำได้ จะนอนอยู่กลางถนน จะเอะอะโวยวาย จะถอดเสื้อผ้าในที่สาธารณะทำได้ทั้งนั้น

๖. ทำให้สติปัญญาเสื่อมถอย พอเมาแล้ว จะคิดอะไรก็คิดไม่ออก อ่านหนังสือก็ไม่ถูก พูดจาวกวน พอดื่มหนักๆ เข้าอีกหน่อยก็กลายเป็นคนหลงลืม ปัญญาเสื่อม

“เหล้าจึงผลาญทุกสิ่งทุกอย่าง ผลาญทรัพย์ ผลาญไมตรี ผลาญสุขภาพ ผลาญเกียรติยศ ผลาญศักดิ์ศรี ผลาญสติปัญญา”

การดื่มเหล้านั้น ทำให้เกิดความสุขได้บ้างสำหรับคนที่ติด แต่เป็นความสุขหลอกๆ บนความทุกข์ เหล้าทำให้เพลินเพลิน แต่เป็นการเพลิดเพลินในเรื่องเศร้า

การดื่มน้ำเมามอมตัวเองวันแล้ววันเล่า จึงเป็นการบั่นทอนทุกสิ่งทุกอย่างของตนเองแม้ที่สุดความสุขทางใจ ที่คนเมาเห็นว่าตนได้จากการเสพสิ่งเสพย์ติดนั้น ก็เป็นความสุขจอมปลอม

โทษข้ามภพข้ามชาติของการดื่มสุรา

เหล้าไม่ได้มีโทษเฉพาะชาตินี้เท่านั้น แต่ยังมีโทษติดตัวผู้ดื่มไปข้ามภพข้ามชาติมากมายหลายประการ ตัวอย่างเช่น

๑. ทำให้เกิดเป็นคนใบ้ พวกนี้ตายในขณะเมาเหล้า คนที่เมาเหล้ากำลังได้ที่ ลิ้นจุกปากกันทั้งนั้น พูดไม่รู้เรื่อง ได้แต่ส่งเสียง “แบะๆ” พอตายแล้วก็ตกนรก จากนั้นกลับมาเกิดใหม่ กรรมยังติดตามมา เลยเป็นใบ้

๒. ทำให้เกิดเป็นคนบ้า พวกนี้ภพในอดีตดื่มเหล้ามามาก เวลาเมาก็มีประสาทหลอน เวรนั้นติดตัวมา ในภพชาตินี้เกิดมาก็เป็นบ้า อยู่ดีๆ ก็ได้ยินเสียงคนมากระซิบบ้างเห็นภาพหลอนว่าคนนั้นคนนี้จะมาฆ่าบ้าง

๓. ทำให้เกิดเป็นคนปัญญาอ่อน พวกที่ดื่มเหล้าจัดๆ ตอนเมาก็คิดอะไรไม่ออกอยู่แล้ว ด้วยเวรสุรานี้ก็ส่งผลให้เกิดเป็นคนปัญญาอ่อน

๔. ทำให้เกิดเป็นสัตว์เลื้อยคลาน ไม่ว่าจะเป็นตะกวด งู เฮี้ย มาจากพวกขี้เมาทั้งนั้น พวกนี้ซ้อมคลานมาตั้งแต่ตอนเป็นคนพอตายเข้าได้คลานสมใจนึก

วิธีเลิกเหล้าให้ได้เด็ดขาด

๑. ตรองให้เห็นโทษ ว่าสุรามีโทษมหันต์ดังได้กล่าวมาแล้ว

๒. ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะเลิกโดยเด็ดขาด ให้สัจจะกับผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ หรือกับพระ

๓. สิ่งใดที่จะเป็นสื่อให้คิดถึงเหล้า เช่น ภาพโฆษณา เหล้วตัวอย่างขนไปทิ้งให้หมด ถือเป็นของเสนียด นำอัปรีย์จัญไรมาให้บ้าน

๔. นึกถึงศักดิ์ศรีตัวเองให้มากว่า เราเป็นชาวพุทธ เป็นลูกพระพุทธเจ้า เป็นศิษย์มีครู เป็นคนมีเกียรติยศ เป็นทายาทมีตระกูล นึกถึงศักดิ์ศรีตัวเองอย่างนี้แล้วจะได้เลิกเหล้าได้

๕. เพื่อนขี้เหล้าขี้ยาทั้งหลาย เลิกคบให้หมด ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวเขาก็มาชวนเราไปดื่มเหล้าอีก ข้อนี้สำคัญที่สุด ตราบใดยังเลิกคบเพื่อนขี้เหล้าไม่ได้ จะไม่มีทางเลิกเหล้าได้เลย

อานิสงส์การสำรวมจากการดื่มน้ำเมา

๑. ทำให้เป็นคนมีสติดี
๒. ทำให้ไม่ลุ่มหลง ไม่มัวเมา
๓. ทำให้ไม่มีความรำคาญ ไม่มีใครริษยา
๔. ทำให้รู้กิจการทั้งในอดีต ปัจจุบัน อนาคตได้รวดเร็ว
๕. ทำให้ไม่เป็นบ้า ไม่เป็นใบ้ ไม่เป็นคนปัญญาอ่อน
๖. ทำให้มีแต่ความสุข มีแต่คนนับถือยำเกรง
๗. ทำให้มีชื่อเสียง เป็นที่รักใคร่ของคนทั่วไป
๘. ทำให้มีความกตัญญูกตเวที
๙. ทำให้ไม่พูดโกหก ไม่พูดส่อเสียด
๑๐. ทำให้ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ
๑๑. ทำให้มีหิริโอตตัปปะ
๑๒. ทำให้มีความเห็นถูก มีปัญญามาก
๑๓. ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานโดยง่าย

มงคลชีวิต
http://www1.freehostingguru.com/thaigenx/mongkhol/

...........................

ที่จริงแล้วคุณธรรมในช่วงเทศกาลเข้าพรรษานั้นไม่ได้มีแค่การรักษาศีลอย่างเดียว อย่างอื่นก็มี เช่น การให้ทาน การปฏิบัติธรรม เพื่อให้จิตใจหมดจดจากสิ่งเศร้าหมอง คุณธรรมเหล่านี้ต้องนำมาประพฤติปฏิบัติกันในช่วงเข้าพรรษานี้ มากน้อยนั้นก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละคนไป บางคนอาจจะมีเวลากับการปฏิบัติธรรมมาก ก็สามารถหาสถานที่ปฏิบัติอันเหมาะแก่การปฏิบัติทางจิตใจ ก็ไปอาศัยสถานที่นั้นปฏิบัติธรรม บางคนไม่สามารถทำได้อย่างนั้น ก็สามารถหาเวลาว่างจากหน้าที่การงาน หรือก่อนนอนสวดมนต์ไหว้พระ นั่งสมาธิ แผ่เมตตา และส่วนกุศล

...........................

ถือว่าค้นหาข้อมูล และนำมาโพสไว้ให้คนอื่นๆ ได้อ่านด้วย ได้อานิสงส์สองต่อ งัยละครับ สาธุ
 
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 20 มิ.ย.2007, 11:32 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

เทียน รวมกระทู้ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับ “วันอาสาฬหบูชา”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=45499

เทียน รวมกระทู้ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับ “วันเข้าพรรษา”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=45498
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
tamma
บัวผลิหน่อ
บัวผลิหน่อ


เข้าร่วม: 30 มิ.ย. 2008
ตอบ: 3

ตอบตอบเมื่อ: 30 มิ.ย.2008, 2:15 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ยิ้มเห็นฟัน ยิ้มเห็นฟัน
 


แก้ไขล่าสุดโดย tamma เมื่อ 30 มิ.ย.2008, 2:20 am, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
tamma
บัวผลิหน่อ
บัวผลิหน่อ


เข้าร่วม: 30 มิ.ย. 2008
ตอบ: 3

ตอบตอบเมื่อ: 30 มิ.ย.2008, 2:18 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา
วันสารทไทย วันออกพรรษา วันเทโวโรหนะ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง