Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 นิวรณ์ข้อถีนมิทธะ (สมเด็จพระญาณสังวรฯ) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 21 ต.ค.2005, 10:24 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

นิวรณ์ข้อถีนมิทธะ

สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก



บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

อันตรายของสมาธินั้นก็คือนิวรณ์ ซึ่งได้แก่กิเลสในใจ เครื่องเศร้าหมองในใจ ซึ่งเป็นเครื่องกั้น ไม่ให้จิตได้สมาธิ และปัญญา เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติเพื่อดับนิวรณ์ที่บังเกิดขึ้นในใจให้ได้ จิตจึงจะได้สมาธิ ฉะนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องรู้จักนิวรณ์ โดยตรงก็คือรู้จักนิวรณ์ที่บังเกิดขึ้นในจิตของตนในปัจจุบัน หรือในขณะปฏิบัติ และเมื่อพบว่าจิตของตนนั้นกำลังมีนิวรณ์ข้อใดข้อหนึ่งครอบงำอยู่ ก็ต้องมาปฏิบัติดับนิวรณ์ข้อนั้นเสียก่อน


๏ การปฏิบัติดับนิวรณ์

และในการปฏิบัติเพื่อดับนิวรณ์นั้นก็ควรที่จะรู้จัก อาหาร ของนิวรณ์ และรู้จัก อนาหาร คือการปฏิบัติที่ไม่ใช่เป็นอาหารของนิวรณ์ อันทำนิวรณ์ที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น ดับนิวรณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ด้วยการพิจารณาที่ใจของตนเอง ให้รู้จักอาหารของนิวรณ์ที่ใจของตนเอง และให้รู้จักธรรมะที่ไม่เป็นอาหารของนิวรณ์ อันเรียกว่าอนาหารที่ใจของตนเองเช่นเดียวกัน

จะได้อธิบายในนิวรณ์ข้อที่ ๓ อันได้แก่ถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม อันความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มนี้ ผู้ปฏิบัติสมาธิย่อมจะได้เคยประสบ หรือว่าในขณะที่ฟังเทศน์ฟังธรรม ก็มักจะมีความง่วง เคลิบเคลิ้ม เพราะจิตนี้ที่เป็นจิตสามัญ เป็นกามาพจรคือหยั่งลงในกาม โดยปรกติก็ย่อมจะเกิดกามฉันท์ คือความพอใจรักใคร่ในกาม จิตปรุงไปในความพอใจในกาม หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นพยาบาท ความหงุดหงิดขัดเคืองโกรธแค้นต่างๆ หรือไม่เช่นนั้นจิตก็ฟุ้งซ่าน คิดเรื่องโน้นบ้างคิดเรื่องนี้บ้าง หรือว่าคิดสงสัยเคลือบแคลงไปต่างๆ


๏ อาหารของความง่วง

ถ้าหากว่าสงบจากความฟุ้งซ่าน ความง่วงก็มักจะมา เช่นในขณะที่รวมใจเข้ามาฟังเทศน์หรือธรรม ฟังธรรมะบรรยาย จิตก็สงบจากความฟุ้งซ่านต่างๆ แต่ความง่วงมักจะเข้ามา เป็นความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ในขณะที่จิตสงบมักจะเป็นดั่งนั้น และความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงอาหารของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ใช้คำว่า อาหาร ก็โดยเทียบกับอาหารของร่างกาย ร่างกายดำรงอยู่ได้ก็ด้วยอาศัยอาหารฉันใด นิวรณ์ข้อความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มนี้บังเกิดขึ้นตั้งอยู่ ก็เพราะมีอาหาร คืออาการของจิตที่เป็นเหตุให้เกิดความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม อันได้แก่ความไม่ยินดี อันหมายความว่าไม่เกิดความยินดีพอใจในกิจที่ทำ เช่นในขณะที่ฟังเทศน์หรือฟังธรรม ตั้งใจฟัง จิตก็สงบจากเรื่องอื่น แต่ว่าไม่มีความยินดีพอใจในธรรมที่ฟัง

บางทีก็เฉยๆ สักแต่ว่าฟัง ขาดความยินดีพอใจ ก็เกิดความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มได้ ความเกียจคร้านขาดความเพียร ก็ทำให้เกิดความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มได้ เพราะว่า ถ้าไม่มีความเพียรคือมีจิตใจที่กล้าในอันที่จะฟังก็ดี จะทำอันใดอันหนึ่งก็ดี เกิดความเกียจคร้านเบื่อหน่าย ก็เป็นเหตุให้เกิดความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มได้ ความบิดกาย อันหมายถึงอาการที่ยังติดใจอยู่ในความเคลิบเคลิ้ม เช่น ถึงกำหนดเวลาที่จะตื่นนอน เมื่อตื่นขึ้นมาก็บิดกายไปบิดกายมา ทำนองว่าอยากจะนอนต่อ ไม่ลุกขึ้นมาทำสมาธิ หรือประกอบการงาน อาการที่แชเชือนดั่งนี้ ก็เป็นอาหารของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม คือเป็นเหตุให้เกิดความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม

ความเมาอาหาร คือเมื่อบริโภคอาหารอิ่ม ก็มักจะเกิดความง่วง ถ้าง่วงก็นอน ก็เป็นอันว่ากินแล้วนอน เพราะฉะนั้น หากไม่ปฏิบัติลุกขึ้นเดิน หรือนั่ง หรือทำอะไรที่ควรจะทำ นั่งซึมอยู่เพราะเมาอาหาร ก็จะทำให้นอน ความเมาอาหาร จึงเป็นอาหารของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม

อีกข้อหนึ่ง คือความที่มีจิตใจย่อหย่อน ความที่มีจิตใจย่อหย่อนนี้ ทำให้รู้สึกท้อแท้อ่อนแอ ไม่เกิดความขมีขมันลุกขึ้นประกอบการงาน เพราะฉะนั้น ถ้าปล่อยให้ใจอ่อนแอท้อแท้ ก็ย่อมเป็นเหตุที่เป็นอาหาร ของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม


๏ ความไม่พิจารณาโดยแยบคาย

กับอีกประการหนึ่งก็คือว่า การกระทำให้มาก ด้วยการที่ไม่ทำไว้ในใจโดยแยบคาย คือใจไม่คิดพิจารณาโดยแยบคาย ปล่อยให้ใจเป็นไปตามอาหาร ที่เป็นเหตุของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มเหล่านี้ ดังเช่น เมื่อไม่มีความยินดีในกิจที่ควรทำ เช่นในการฟังธรรม หรือการฟังธรรมบรรยาย เมื่อนั่งฟังอยู่ ก็ปล่อยใจให้ไม่ยินดีพอใจ ไม่คิดพิจารณาดูให้รู้จักใจว่า ใจกำลังเป็นอย่างนี้ และความไม่ยินดีพอใจนั้นเป็นโทษ ไม่ใช่เป็นคุณ จึงต้องพิจารณาให้ใจเกิดความยินดีขึ้น แต่ก็ไม่พิจารณาดั่งนี้ แต่ปล่อยใจให้คิดไม่ยินดีไป ไม่พอใจไปตามเรื่องของใจที่เป็นอย่างนั้น

ในความเกียจคร้านก็เช่นเดียวกัน ไม่จับดูใจว่าเกียจคร้าน และความเกียจคร้านมีโทษอย่างนี้ๆ ส่วนความพากเพียรมีคุณอย่างนี้ๆ ควรจะคิดปลุกใจให้เกิดความพากเพียรขึ้น แต่ก็ไม่พิจารณาดั่งนั้น ปล่อยใจให้คิดเกียจคร้านไป ตามเรื่องของใจที่เกียจคร้าน ในข้อบิดกายก็เช่นเดียวกัน นอนบิดกายไปบิดกายมา พลิกกายไปพลิกกายมา หรือว่านั่งพิงบิดกายไปบิดกายมา ด้วยความแชเชือน สลึมสลือ เคลิบเคลิ้ม ถ้าหากว่าคิดพิจารณาเห็นโทษ และก็รีบละความแชเชือนดังกล่าวนี้เสีย รีบละความสลึมสลือดังกล่าวนี้เสีย ก็จะแก้ได้ แต่ว่าไม่พิจารณาแก้ดั่งนั้น ปล่อยใจให้สลึมสลือไปตามเรื่องของใจที่เป็นอย่างนั้น

ในข้อเมาอาหารก็เช่นเดียวกัน ไม่พิจารณาเห็นโทษของความเมาอาหาร และกำจัดความเมาด้วยวิธีปฏิบัติต่างๆ แต่ปล่อยใจให้เมาสลึมสลือเคลิบเคลิ้มไป และแม้ในข้อใจท้อแท้ ท้อถอย อ่อนแอ ก็เช่นเดียวกัน ไม่คิดปลุกใจให้หายท้อแท้ท้อถอย แต่ปล่อยใจให้ท้อถอยท้อแท้ไปตามใจที่เป็นอย่างนั้น อย่างนี้เรียกว่ากระทำให้มากโดยไม่แยบคาย

เพราะฉะนั้น เหตุทั้งปวงดังที่กล่าวมานี้ คือมีข้อไม่ยินดีพอใจเป็นต้น และข้อกระทำให้มาก ด้วยความที่ทำใจไว้โดยไม่แยบคาย คือไม่พิจารณาจับเหตุจับผลตามเป็นจริง ให้เกิดปัญญารู้คุณรู้โทษ เป็นอาหารคือเป็นเหตุของข้อความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มนี้

เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมจึงควรรู้จักอาหารของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม เมื่อความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มเกิดขึ้น ก็ให้พิจารณาว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุอะไร ก็จะจับเหตุได้ว่าเพราะมีอาหารของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มดังกล่าวนั้น จึงต้องปฏิบัติแก้ ที่จะไม่ให้อาหารแก่ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ด้วยการที่ทำความยินดีพอใจให้บังเกิดขึ้นในกิจที่พึงทำทั้งหลาย เช่นในการฟังธรรม หรือการฟังธรรมบรรยายเช่นในบัดนี้ แก้ความเกียจคร้านที่บังเกิดขึ้น ให้เกิดความขยันหมั่นเพียร แก้ความแชเชือนนอนบิดกายไปมา หรือนั่งบิดกายไปมา ขมีขมันลุกขึ้นประกอบการงาน และแก้โดยวิธีที่ทำให้หายเมาอาหาร เช่นลุกขึ้นเดิน หรือนั่งทำงานต่างๆ และต้องแก้ใจที่ท้อถอยท้อแท้ ให้กลับขมีขมัน

อาศัยการกระทำให้มากด้วยการพิจารณาโดยแยบคาย จับเหตุจับผล รู้คุณรู้โทษ ของอาหารของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม และการที่แก้อาหารของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ให้รู้ว่าปล่อยใจให้ง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ด้วยความไม่ยินดีเป็นต้น เป็นโทษ แต่การที่มาปฏิบัติแก้ให้ความไม่ยินดีเป็นความยินดีเป็นต้น เป็นคุณ อันจะทำให้ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็ให้ดับไป ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป



มีต่อ >>>>> อนาหารของถีนมิทธะ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 21 ต.ค.2005, 10:26 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อนาหารของถีนมิทธะ

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงเรื่องนิวรณ์ข้อกามฉันท์ความพอใจรักใคร่ในกาม ข้อพยาบาทความโกรธแค้นขัดเคืองมุ่งร้าย มาถึงข้อถีนมิทธะความง่วงงุงนเคลิบเคลิ้ม ซึ่งได้อธิบายถึงอาหารของข้อนี้มาแล้ว วันนี้จะได้แสดงในข้อนี้ต่อไปถึงเรื่องอนาหาร คือสิ่งที่มิใช่อาหารของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ที่พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงเอาไว้ว่า คือ ธาตุ หรือธาตุทั้ง ๓ อันได้แก่ อารัมภธาตุ ธาตุความทรงไว้ คือริเริ่ม นิกกมธาตุ ธาตุความทรงไว้ คือดำเนินไป ปรักกมธาตุ ธาตุความทรงไว้ คือความก้าวหน้าไปจนกระทั่งประสบความสำเร็จ


๏ ธาตุของความเพียร

ธาตุคือความทรงไว้ทั้ง ๓ นี้ เป็นธาตุของความเพียร ซึ่งมีลักษณะตรงกันข้ามกับถีนมิทธะ ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม เพราะถีนมิทธะนั้นมีลักษณะปรากฏเป็นความไม่ยินดี ความเกียจคร้าน ความบิดกายด้วยความเกียจคร้าน ความเมาภัตตาหาร และความที่มีใจย่อหย่อน เพราะฉะนั้น ใจที่มีความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม จึงเป็นใจที่ย่อหย่อน ไม่มีเรี่ยวแรงที่จะกระทำกิจที่พึงกระทำ ตกเข้าในลักษณะความเกียจคร้าน


๏ อารัมภธาตุ

ฉะนั้น จึงต้องแก้ด้วยธาตุทั้ง ๓ ของความเพียรนี้ คือต้องมีความเริ่มต้นขึ้นทันทีโดยที่ไม่ผลัดเวลา หรือไม่ผัดวันประกันพรุ่ง เช่นว่างานที่ควรทำในวันนี้ ก็ผลัดไปพรุ่งนี้มะรืนนี้ ดั่งนี้เป็นต้น หรือว่างานที่ควรทำเดี๋ยวนี้ ก็ผลัดไปว่าอีกสักครู่หนึ่ง ดั่งนี้เป็นต้น ต้องมีความริเริ่มขึ้น จับกระทำให้ทันกาลทันเวลาตามที่ควรทำทันที นี้เป็นอารัมภธาตุ ธาตุคือความจับเริ่มต้นขึ้น


๏ นิกกมธาตุ ปรักกมธาตุ

และเมื่อจับเริ่มต้นขึ้นแล้ว ก็ไม่ปล่อยไว้เพียงเริ่มต้นเท่านั้น คือว่าหยุดเสียอีก แต่ว่าจับกระทำต่อไป ไม่หยุด ก็เป็น นิกกมธาตุ ธาตุคือความดำเนินไป ดำเนินไปดั่งนี้ งานก็ก้าวหน้า ความเพียรก็ก้าวหน้า ก็ให้ก้าวหน้าเรื่อยไป เรียกว่าไม่หยุดไม่ถอยหลัง แต่ดำเนินให้ก้าวไปเบื้องหน้าเรื่อยไป จนกระทั่งบรรลุถึงความสำเร็จ ก็เป็น ปรักกมธาตุ ธาตุคือความก้าวหน้า จับทำให้ก้าวหน้าเรื่อยไปจนสำเร็จ

เพราะฉะนั้น ธาตุทั้ง ๓ นี้จึงไม่เป็นอาหาร เรียกว่าเป็น อนาหาร ของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม เมื่อปฏิบัติดั่งนี้ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มไม่ได้อาหาร ที่บังเกิดขึ้นก็จะหายไป ที่ยังไม่บังเกิดก็จะไม่เกิดขึ้น


๏ อนาหารข้อที่ ๒ โยนิโสมนสิการ

และอนาหารการปฏิบัติที่ไม่ใช่เป็นอาหารของข้อนี้ คือข้อความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มนี้ที่เป็นข้อที่ ๒ ก็คือการกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการ การกระทำไว้โดยแยบคายในข้อนั้น คือในข้อที่ปฏิบัติในธาตุทั้ง ๓ นั้น อันหมายความว่าจะต้องใช้สติใช้ปัญญาพิจารณาจับเหตุจับผล ให้รู้จักว่าความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มนั้น เป็นตัวเหตุของผล คือความเสื่อมต่างๆ ความไม่สำเร็จต่างๆ

แต่ว่าการที่มาปฏิบัติทำให้หายไปได้ และป้องกันไม่ให้บังเกิดขึ้นอีกนั้น เป็นตัวเหตุที่อำนวยให้เกิดคุณประโยชน์ อันเป็นการทำให้จับการงานได้ และให้ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ก็สุดแต่จะพิจารณาและปฏิบัติ ในทางแก้ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มให้หายไป และป้องกันไม่ให้บังเกิดขึ้น ด้วยวิธีจับเหตุจับผลดั่งเช่นที่กล่าวมา จนจิตใจนี้รับฟังเหตุผล ก็จะทำให้จับปฏิบัติ

อุทาหรณ์ตัวอย่างในการกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการ การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ก็ดั่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนพระโมคคัลลานะ ที่เมื่อท่านได้เข้ามาอุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้ว ท่านจับทำความเพียร นั่งโงกง่วงอยู่ด้วยความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปทรงโปรด ด้วยทรงแสดงข้อแนะนำวิธีละความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มแก่ท่าน โดยใจความที่ท่านแสดงไว้ว่า ได้ตรัสสอนท่านว่า

ทำใจในสัญญาคือข้อกำหนดหมายข้อใด ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มบังเกิดขึ้น ก็ให้ตั้งใจทำสัญญาข้อกำหนดหมายนั้นให้มาก ถ้าหากว่าเมื่อทำแล้วยังไม่หายโงกง่วง ก็ให้พิจารณาตรึกตรองถึงธรรมะที่ได้ฟังแล้วได้เรียนแล้วให้มาก

ถ้าหากว่ายังไม่หายโงกง่วงก็ให้สาธยาย คือสวดบทธรรมะที่ฟังแล้วที่เรียนแล้วโดยพิสดาร ถ้ายังไม่หายก็ให้ยอนหูทั้งสองข้าง เอาฝ่ามือลูบที่ตัวที่กาย ถ้ายังไม่หายโงกง่วงก็ให้ยืนขึ้น เอาน้ำลูบตา เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนหน้าดูดาวนักขัตฤกษ์ ถ้ายังไม่หายโงกง่วง ก็ให้ทำอาโลกะสัญญา ความสำคัญหมายว่าแสงสว่าง ทำใจให้มีแสงสว่างเหมือนกลางวัน ให้เหมือนกันทั้งกลางวันและกลางคืน ใจก็จะเปิดเผย ปราศจากเครื่องรึงรัด และจิตใจก็จะมีแสงสว่าง ถ้ายังไม่หายโงกง่วงอีก ก็ให้อธิษฐานจงกรม คือตั้งใจทำการเดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ ไม่ส่งจิตไปในภายนอก แต่ถ้ายังไม่หายโงกง่วงอีก ก็ให้สำเร็จสีหไสยา คือนอนตะแคงเบื้องขวา ทำสติสัมปชัญญะในอันตื่นลุกขึ้น เมื่อตื่นแล้วก็รีบลุกขึ้น ไม่ประกอบความสุขในการนอน ไม่ประกอบความสุขในการเอนข้างหรือเอนหลัง ไม่ประกอบความสุขในการเคลิ้มหลับ

ซึ่งพระบรมศาสดาได้ตรัสสอนท่านดั่งนี้ และก็ได้ตรัสประทานพระโอวาทในทางปฏิบัติอย่างอื่นอีก ท่านปฏิบัติตามก็ประสบความสำเร็จ คือแก้ง่วงได้ ประกอบความเพียรได้ ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันที่ ๗ จากวันที่ท่านเข้ามาบวชในสำนักพระพุทธเจ้า


๏ ข้อปฏิบัติให้เกิดความเพียร

นี้ก็เป็นวิธีปฏิบัติให้เกิดความเพียรขึ้นนั้นเอง โดยอาศัยกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการ คือการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย จับเหตุจับผล หาทางที่จะปฏิบัติ เพื่อรำงับความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มให้ได้ และเมื่อระงับได้แล้ว ก็จะจับความเพียรได้ จะมี อารัมภธาตุ ธาตุคือความเริ่มจับปฏิบัติทำความเพียร นิกกมธาตุ ธาตุคือความดำเนินไปของความเพียร ไม่ให้หยุดชะงัก ปรักกมธาตุ ธาตุคือทำความเพียรให้ก้าวหน้า ไม่ให้ถอยหลัง ไม่ให้หยุด ให้ก้าวหน้าเรื่อยไป จนประสบความสำเร็จ

ฉะนั้น ทุกข้อที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้เหล่านี้ จึงเป็นข้อที่ผู้มุ่งความสำเร็จในการกระทำความเพียรของตนพึงปฏิบัติ ก็จะละความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มได้ สามารถปฏิบัติจับกระทำความเพียรได้ตลอดไป ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป



มีต่อ >>>>> กรรมฐานป้องกันถีนมิทธะ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 21 ต.ค.2005, 10:29 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

กรรมฐานป้องกันถีนมิทธะ

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็พึงตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงข้อถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ซึ่งเป็นนิวรณ์ข้อที่ ๓ ได้แสดงอาหารของถีนมิทธะ และอนาหารสิ่งที่ไม่ใช่อาหารของถีนมิทธะ ก็คือข้อปฏิบัติเพื่อกำจัดถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม และได้แสดงข้อปฏิบัติมาแล้ว แต่ยังมีอีกข้อหนึ่ง ที่พระอาจารย์ได้แสดงไว้ว่าเป็นข้อปฏิบัติ หรือจะว่าเป็นกรรมฐานก็ได้ เป็นเครื่องละถีนมิทธะที่บังเกิดขึ้น ทั้งป้องกันถีนมิทธะที่ยังไม่เกิดมิให้เกิด ก็คือ พุทธานุสสติ ความระลึกถึงพระพุทธเจ้า ข้อนี้ก็หมายถึงความระลึกถึงพระพุทธเจ้าโดยพระคุณ หรือจะกล่าวว่าระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าก็ได้


๏ นวหรคุณ

อันพระคุณของพระพุทธเจ้านั้นไม่มีประมาณ ดังบทที่แสดงว่า อัปปมาโณ พุทโธ พระพุทธเจ้าไม่มีประมาณ คือมีคุณไม่มีประมาณ และการที่ได้มีบทพระพุทธคุณ ดังที่เราทั้งหลายได้สวดกัน ก็เป็นบทพระพุทธคุณที่เป็นกิติศัพท์ คือเสียงที่กล่าวสรรเสริญพระเกียรติ์ของพระพุทธเจ้า ดังพระคุณ ๙ ประการที่เราสวดกัน อันเรียกว่า นวรหคุณ หรือ นวหรคุณ ว่า อิติปิโส ภควา อรหังสัมมา สัมพุทโธ เป็นต้น จะน้อมระลึกถึงพระคุณทั้ง ๙ นี้ในข้อใดข้อหนึ่ง หรือโดยลำดับทีละข้อก็ได้

หรือว่าจะระลึกถึงโดยสรุป ดั่งที่พระอาจารย์ได้แสดงว่า พระคุณโดยสรุปนั้น พระวิสุทธิคุณ คุณคือความบริสุทธิ์จริง พระกรุณาคุณ คุณคือพระกรุณาจริง ดังบทสวดต่อทำวัตรเช้าว่า พุทโธ สุสุทโธ กรุณา มหัณณโว พุทโธ พระผู้ตรัสรู้แล้ว ก็แสดงถึงพระปัญญาคุณ พระองค์ตรัสรู้อะไร เราทั้งหลายก็ทราบได้ จากปฐมเทศนาของพระองค์เป็นต้น ที่ตรัสถึงความตรัสรู้ของพระองค์ ว่าพระองค์ได้ตรัสรู้อริยสัจจ์ทั้ง ๔ อันได้แก่ ทุกข์ ทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ทุกขนิโรธความดับทุกข์ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ หรือว่ามรรคมีองค์ ๘

พระองค์ได้ตรัสรู้ ด้วยพระญาณที่ตรัสรู้ โดยเป็น สัจจญาณ คือตรัสรู้ว่า นี้ทุกข์จริง นี้สมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์จริง นี้นิโรธดับทุกข์จริง นี้มรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์จริง พระองค์ตรัสรู้โดยเป็น กิจจญาณ ญาณคือความหยั่งรู้ในกิจที่พึงทำในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ ว่ากิจที่พึงทำ คือพึงปฏิบัติในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ ก็คือ ทุกข์ควรกำหนดรู้ คือควรกำหนดรู้หรือให้รู้รอบคอบว่าเป็นทุกข์ สมุทัยควรละ นิโรธควรกระทำให้แจ่มแจ้งขึ้นในใจ และมรรคมีองค์ ๘ ก็ควรปฏิบัติทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น

พระองค์ได้ตรัสรู้โดยเป็น กตญาณ คือความหยั่งรู้ว่าได้กระทำเสร็จแล้วในกิจที่พึงทำเหล่านั้น คือทุกข์ได้ทรงกำหนดรู้แล้ว สมุทัยทรงละได้แล้ว นิโรธทรงกระทำให้แจ้งได้แล้ว มรรคทรงปฏิบัติได้บริบูรณ์แล้ว ดั่งนี้

ญาณทัสสนะความรู้ความเห็นดังกล่าวนี้ หากยังไม่บริสุทธิ์บริบูรณ์แก่พระองค์ พระองค์ก็ยังไม่ปฏิญญาว่าได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว แต่เมื่อญาณทัสสนะความรู้ความเห็นดังกล่าวในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ สมบูรณ์แล้ว จึงได้ทรงปฏิญญาว่าพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ดั่งนี้


๏ การระลึกในพระพุทธคุณ

ในการระลึกไปในพระพุทธคุณดังที่กล่าวมานี้ ก็ต้องอาศัยความจำ คือต้องจำให้ได้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแล้ว ว่าทรงอธิบายทุกข์ไว้ว่าอย่างไร ทรงอธิบาย สมุทัย นิโรธ และมรรคไว้ว่าอย่างไร ก็ระลึกไปตามนั้น และระลึกไปให้เข้าใจ โดยที่ตรัสถึงความตรัสรู้ของพระองค์ ว่าประกอบด้วยสัจจญาณ รู้ว่าจริง กิจจญาณ รู้กิจที่พึงปฏิบัติกระทำ และ กตญาณ รู้ว่าได้กระทำกิจนั้นแล้วเสร็จ ดั่งนี้ จึงทรงปฏิญญาพระองค์ว่าได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า ดั่งนี้ นี้เป็นการระลึกไปในพระปัญญาคุณ คุณของพระพุทธเจ้า

ระลึกไปในพระวิสุทธิคุณ พระคุณคือความบริสุทธิ์นั้น ก็คือระลึกว่า เพราะพระองค์ได้ตรัสรู้อริยสัจจ์ทั้ง ๔ ด้วยปัญญาอันชอบ ประกอบด้วยสมาธิอันชอบ และศีลอันชอบ หรือว่าประกอบด้วยมรรคมีองค์ ๘ จึงทรงสิ้นอาสวะกิเลส กิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งหมด และเมื่อสิ้นอาสวะกิเลส ก็สิ้นกิเลสอื่นๆ ทุกข้อ ทุกบท ทุกอย่าง ที่บังเกิดสืบเนื่องมาจากอาสวะกิเลสนั้นเอง

เพราะฉะนั้น จิตของพระองค์จึงทรงพ้นแล้วจากอาสวะทั้ง ๓ คือ กามาสวะ อาสวะคือกาม ภวาสวะ อาสวะคือภพ อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา ทรงทราบว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่พึงกระทำได้กระทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นที่จะพึงกระทำ ยิ่งหรือนอกไปกว่านี้

เพราะฉะนั้น เมื่อทรงสิ้นกิเลสและกองทุกข์ทั้งสิ้น พระองค์จึงบรรลุถึงความบริสุทธิ์กาย บริสุทธิ์วาจา บริสุทธิ์ใจสิ้นเชิง เพราะเหตุว่า กายวาจาใจของพระองค์ปราศจากบาปอกุศลทุจริตทุกอย่าง เพราะเหตุว่าสิ้นอาสวะกิเลสทั้งปวงแล้ว จึงเป็นกายวาจาใจที่บริสุทธิ์สิ้นเชิง การระลึกถึงพระวิสุทธิคุณดั่งนี้ ก็ต้องอาศัยความกำหนดจดจำ คำอธิบายของพระพุทธเจ้าเอง และของพระอาจารย์ และมีความเข้าใจ เพ่งพินิจพิจารณาให้เข้าใจชัดในพระวิสุทธิคุณ


๏ ข้อว่ากรุณามหัณณโว

อีกข้อหนึ่งก็คือพระกรุณาคุณ คุณคือพระกรุณาจริง ดังบทสวดที่ว่า กรุณา มหัณณโว มีกรุณาดังห้วงมหรรณพ คือห้วงทะเลหลวง อันหมายถึงว่ามีพระกรุณาที่แผ่ไปไพศาล ยิ่งใหญ่ กว้างขวาง มาก เพราะด้วยทรงมีพระมหากรุณาในสัตว์โลกทั้งหลาย ที่ยังต้องตกอยู่ในกองทุกข์ หรือหากจะเปรียบอาสวะกิเลสว่าเป็นห้วงน้ำใหญ่ อันเรียกว่าอรรณพ หรือเรียกว่า โอฆะ สัตว์โลกทั้งสิ้นก็ยังเหมือนอย่างตกอยู่ในห้วงน้ำใหญ่ คือห้วงน้ำคือกิเลส แหวกว่ายอยู่ในห้วงน้ำใหญ่ ที่จมลงไปก็มี ที่กำลังแหวกว่ายอยู่ก็มี เพราะฉะนั้น จึงมีพระกรุณามุ่งที่จะช่วยให้สัตว์ทั้งหลายพ้นจากทุกข์ดังกล่าว และความบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้านั้นหาได้ยาก นานๆ พระพุทธเจ้าจึงทรงอุบัติขึ้นในโลกครั้งหนึ่ง

และเมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่ทรงอุบัติขึ้น ก็ไม่มีศาสดาองค์ไหนจะปฏิบัติสิ้นอาสวะกิเลส พ้นจากทุกข์ทั้งปวง เป็นต้นว่า พ้นจากชาติทุกข์ ชราทุกข์ มรณะทุกข์ สำหรับสัตว์โลกที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่นั้น ก็มีอยู่ทั่วไป ในอบายภูมิเป็นต้นว่า สัตว์เดรัจฉาน นรก เปรต อสุรกาย ก็มีทั่วไป หนีขึ้นมาเป็นมนุษย์ก็มีทั่วไปเป็นอันมาก และสูงขึ้นเป็นสวรรค์ ตลอดจนถึงเป็นพรหม ก็มีอยู่เป็นอันมาก ทุกกาลสมัย


๏ ทางปฏิบัติเพื่อชั้นภูมิต่างๆ

พิจารณาดูแล้วก็กล่าวได้ว่า ศาสดาทั้งปวง เว้นจากพระพุทธเจ้าแล้ว ก็สอนทางปฏิบัติเพื่อให้ไปได้แค่สวรรค์ หรือว่าแค่เป็นพรหมเป็นเทพ ไม่มีที่จะสอนให้ดับทุกข์ดับกิเลส เป็นผู้สิ้นอาสวะได้ พระพุทธะที่ปฏิบัติดับกิเลสและกองทุกข์ได้ ก็มีแต่พระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระปัจเจกพุทธเจ้าเท่านั้น

เพราะฉะนั้น พระองค์เมื่อทรงพิจารณาดูสัตว์โลกที่เกิดอยู่ในภูมิภพต่างๆ ก็ทรงแจ้งประจักษ์ว่าทุกภูมิภพนั้น ก็ล้วนต้องมีแก่เจ็บตาย แม้จะเป็นพรหมเป็นเทพ ก็มีอุปบัติคือบังเกิดขึ้น และจุติคือเคลื่อนไป ล้วนชื่อว่ายังไม่พ้นจากเกิดดับ ยังไม่พ้นจากเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้น จึงทรงมีพระกรุณาแผ่ไปในสรรพสัตว์ทุกถ้วนหน้า จึงได้เสด็จทรงเทศนาสั่งสอนโปรดเวไนยนิกร คือหมู่ชนที่จะพึงแนะนำได้ ให้รู้เห็นธรรมตามภูมิตามชั้น ให้ได้ศรัทธาความเชื่อ ให้ได้วิริยะความเพียร ให้ได้สติความระลึกได้ ให้ได้สมาธิความตั้งใจมั่น ให้ได้ปัญญาความรู้เข้าถึงธรรม อันเป็นพละหรือเป็นอินทรีย์ตามภูมิตามชั้น นำให้เวไนยนิกรได้ประสบประโยชน์สุขปัจจุบันบ้าง ประโยชน์สุขภายหน้าบ้าง ประโยชน์สุขอย่างยอดบ้าง ตามภูมิชั้นของการปฏิบัติ นี้ก็คือพระกรุณาคุณของพระองค์


๏ ประโยชน์สุข ๓ ประการ

พระพุทธศาสนาบังเกิดขึ้นตั้งอยู่มาจนบัดนี้ ก็ด้วยพระกรุณาคุณของพระพุทธเจ้า และก็ประกอบด้วยพระปัญญาคุณ และพระวิสุทธิคุณรวมกัน เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายจึงชื่อว่าได้รับประโยชน์สุข ปัจจุบันบ้าง ภายหน้าบ้าง หรืออย่างสูงก็เป็นประโยชน์อย่างยอด เนื่องมาจากพระคุณทั้ง ๓ ของพระพุทธเจ้านี้เอง

เพราะฉะนั้น เมื่อระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าดั่งนี้แล้ว เมื่อพระคุณมาปรากฏชัดแก่ใจตนเอง และได้ประจักษ์ว่าพระคุณของพระองค์ได้เนื่องมาถึงตน คือเนื่องมาถึงเราเองทุกๆ คน เราเองได้รับสุขประโยชน์ ก็ชื่อว่าได้รับพระคุณของพระพุทธเจ้ามาโปรดนั้นเอง ก็จะทำให้เกิดศรัทธาความเชื่อ ปสาทะความเลื่อมใส ทำจิตใจให้สว่างให้แจ่มใส และน้อมนำให้เกิดอุตสาหะพยายาม ในอันที่จะตั้งใจฟัง ตั้งใจเรียน ธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้แล้ว ตั้งใจปฏิบัติตามที่ฟัง ตามที่เรียนรู้ เพื่อให้ได้ผลเป็นความเข้าใจ เป็นความรู้แจ้งแทงตลอด เป็นเครื่องดับรำงับกิเลสในตนเองไปโดยลำดับ ตั้งแต่ดับกิเลสอย่างหยาบด้วยศีล ดับกิเลสอย่างกลางด้วยสมาธิ และดับกิเลสอย่างละเอียดด้วยปัญญา ก็ชื่อว่าได้ทำตนให้เป็น เนยยะ คือเป็นบุคคลที่พระพุทธเจ้าโปรดได้ พระพุทธเจ้าแนะนำได้

แม้ว่าพระองค์จะได้เสด็จดับขันธปรินิพพานนานมาแล้ว แต่ก็ได้ทรงตั้งพระธรรมที่ได้ทรงแสดงแล้ว พระวินัยที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว เป็นศาสดาแทนพระองค์ ก็คือพระพุทธศาสนานั้นเอง เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายจึงชื่อว่ายังมีพระศาสดาของตนตั้งอยู่ดำรงอยู่ ยังไม่สิ้นพระศาสดาของตน ทั้งพระองค์ก็ยังได้ตรัสไว้อีกว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม ดั่งนี้ เป็นการประกาศว่าเมื่อเห็นธรรมเมื่อใด คือเมื่อปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญาเมื่อใด ก็อาจจะทำให้ได้ธรรมจักขุดวงตาเห็นธรรมเมื่อนั้น

และเมื่อเห็นธรรม อันเป็นสัจจะธรรม ธรรมะที่เป็นสัจจะความจริงขึ้นแล้ว ก็เป็นอันว่าได้เห็นพระองค์ คือพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดา และเห็นว่าท่านผู้ที่ได้ตรัสรู้และแสดงธรรมนี้ไว้นั้น เป็นพุทโธจริง ตรัสรู้จริง ดั่งนี้

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงยังคงประทับอยู่ทุกกาลสมัย ตลอดเวลาที่พระพุทธศาสนายังดำรงอยู่ และยังมีผู้ปฏิบัติให้เห็นธรรมได้ ก็จะเห็นพระพุทธเจ้าได้ แม้ว่าจะไม่มีพระพุทธศาสนาที่สอนกัน แต่สัจจะคือความจริง ก็ย่อมดำรงอยู่ย่อมตั้งอยู่ ไม่ดับหายไปไหน เมื่อมีผู้ปฏิบัติค้นคว้าจับทางที่ถูกต้องบังเกิดขึ้นเมื่อใด ก็ย่อมจะได้ตรัสรู้เมื่อนั้น และท่านนั้น ซึ่งเป็นผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองก็เป็นพระพุทธเจ้า

เพราะฉะนั้น เมื่อเราทั้งหลายระลึกถึงพระพุทธคุณ ก็ย่อมจะทำให้เกิดศรัทธาปสาทะความเชื่อความเลื่อมใส จิตใจสว่างแจ่มใส บังเกิดอุตสาหะพยายามในอันที่จะปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญายิ่งขึ้น ก็จะทำให้ทั้งถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม และนิวรณ์ข้ออื่นสงบระงับไปตาม ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป



.......................................................

คัดลอกมาจาก
เทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ
http://www.mahayana.in.th/tsavok/tsavok.html
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง