Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ธรรมปฏิบัติ แบบพองหนอยุบหนอ โดย อาจารย์พระมหาทองมั่น สุทฺธจิ อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
นิวัฒน์
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 26 ก.ย. 2005, 6:12 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน



ธรรมบรรยายเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา

โดย

ท่านอาจารย์ พระมหาทองมั่น สุทฺธจิตฺโต

วันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘

ณ วัดภัททันตะอาสภาราม ตําบลหนองไผ่แก้ว อําเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี

……..…..................................................................

ขอโอกาสท่านเจ้าอาวาส พระเถรานุเถระ ขอความสุขในการปฏิบัติธรรมจงมีแด่ญาติโยมสาธุชนผู้เข้ามาสู่การปฏิบัติธรรม ณ สํานักแห่งนี้ทุกๆท่าน ต่อไปเป็นการฟังธรรม

อาตมาได้รับมอบหมายจากท่านเจ้าอาวาสให้เป็นองค์บรรยายธรรมในวันนี้ รู้สึกดีใจที่ญาติโยมทั้งหลายมากันมาก ค่อนข้างที่จะมากเป็นประวัติการณ์ ไปสอนที่อื่นก็ไม่เคยมากเท่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรามีพระคุณเจ้าซึ่งถือว่าจะเป็นตัวแทนตัวเผยแพร่ในคราวต่อไป ท่านเปรียบพระคุณเจ้าเหมือนข้าวเปลือก ที่จะไปหว่านไปปลูกตรงไหนก็สามารถนําไปปลูกได้ คือนําไปเผยแพร่นั่นเอง ฉะนั้น สํานักนี้วัดนี้ถือว่าเป็นที่ให้กําเนิดแก่พระวิปัสสนาจารย์และผู้ที่สนใจในการปฏิบัติธรรม วันนี้ญาติโยมทั้งหลายได้ทําบุญทํากุศลครบทั้ง๓ อย่าง คือ การให้ทาน รักษาศีล และการเจริญภาวนา บุญเป็นชื่อของความสุข ฉะนั้น สิ่งที่บ่งบอกในบัดนี้คือใบหน้าของญาติโยมทั้งหลาย ส่วนใหญ่เป็นใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นความสุข ฉะนั้น ใครได้บุญมากหรือบุญน้อยก็ให้ดูหน้าตัวเอง ถ้าหน้ายิ้มมากก็ได้บุญมาก แต่หากไม่ยิ้มเลยก็แสดงว่าได้บุญน้อยไป คําว่าบุญในที่นี้เป็นเรื่องของความสุข ไม่เหมือนความสุขทางโลก แต่เป็นความสุขอันเกิดจากความสงบ เป็นความสุขที่เกิดจากความปราศจากกิเลส อันนี้ถือว่าเป็นบุญ

ในเบื้องต้นก็ขออนุโมทนาบุญกับทุกๆ ท่าน ทั้งพระคุณเจ้าและญาติโยม วันนี้เราทําบุญกันเต็มที่ ทั้งการให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา อยู่ที่บ้านเรามักจะทำได้เพียงให้ทาน ที่จะรักษาศีลก็มีค่อนข้างน้อย ภาวนานั้นไม่ต้องพูดถึง ฉะนั้น อยากจะขอเน้นว่าประสบการณ์จากตรงนี้ พยายามนําไปคิดนําไปพิจารณา นําไปนึกกันบ่อยๆ ท่านเรียกว่าอนุสสติ ถ้าเคยให้ทานก็เป็นจาคานุสสติ เคยรักษาศีลก็เป็นศีลานุสสติ และเคยนั่งสมาธิก็เป็นการเจริญภาวนา(ภาวนานุสสติ?) พึงนึกถึงบ่อยๆ ถ้านานๆจึงนึกถึงทีมันจะจําไม่ได้หรอก ทว่าคนเรานี้แปลก แปลกที่มักชอบจําอะไรที่ไม่ดี เขาด่าเขาว่าเราตั้งนานแล้วก็ยังจํา สองสามปีแล้วก็ยังไม่ลืม แต่ว่าความดีที่ทํา เช่น เดือนที่แล้วไปทอดกฐินทอดผ้าป่า ไปรักษาศีลที่ไหนบ้าง เรามักไม่ค่อยจะนึกจะคิดกัน ฉะนั้น ที่เรามาทำตรงนี้เป็นสิ่งที่ดีที่เรามีประสบการณ์ เรามาฟังเทศน์ มาเวียนเทียน มาใส่บาตร และนั่งสมาธิ พึงนึกถึงให้บ่อยๆ ท่านสอนว่าก่อนจะนอนให้นึกถึงความดีที่เราทํา นึกบ่อยๆ จะเป็นประโยชน์กับตอนที่เราจะตาย เพราะว่าตอนที่เราจะตายเราจะนึกถึงขึ้นมาได้ทันที จะนึกถึงความดีได้ก่อนความชั่ว มิฉะนั้นความชั่วจะมาตีเราไปหมด เราจะนึกถึงแต่ความชั่ว ว่าคนนี้ด่าเรา คนนั้นผิดใจเรา พอเราตายจะไปตกนรกเพราะคิดไม่ดี ฉะนั้น ต้องคิดในสิ่งที่ดีอยู่เป็นประจํา



อริยทรัพย์ที่นำติดตัวไปได้

จึงขอฝากไว้ว่า ที่ท่านมาปฏิบัติตรงนี้เป็นประสบการณ์ที่ดี เป็นบุญของทุกๆ ท่าน เรียกว่าเป็นอริยทรัพย์ เป็นทรัพย์ที่นําติดตัวเราไปได้ ทรัพย์สมบัติที่โยมหามาตั้งนานแล้ว บ้านก็ดี รถก็ดี สามีก็ดี ภรรยาก็ดี ไม่ใช่อริยทรัพย์ เอาติดตัวไปไม่ได้หรอก เป็นเพียงสมบัติในโลกนี้ เป็นสมบัติที่ผลัดกันชม หมดแล้วก็ทิ้งไว้ตรงนี้ ไม่มีใครเอาไปด้วยได้สักคน โยมลองดูคนที่ตายแล้ว เวลาเราไปรดน้ำศพ มือของเขา กําอะไรไปไม่ได้เลย แบอยู่ทุกๆ คน เด็กที่เกิดใหม่ มือจะกํา แต่ตอนตายก็ต้องคลายออก ดังนั้น กับทุกๆสิ่งในโลกนี้เราต้องฉลาด ฉลาดว่าอะไรติดตัวเราไปได้ อะไรเป็นของที่เราใช้ชั่วคราว และพึงเอาสิ่งนั้นมาเป็นประโยชน์ให้เราได้ดําเนินชีวิตในทางที่ถูกต้อง ตอนนี้ก็ฝากไว้ในเบื้องต้น

ธรรมสวนามัย

การฟังธรรมเป็นบุญอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา เรียกว่าธรรมสวนามัย-บุญที่สําเร็จได้ด้วยการฟังธรรม ถ้าจะถามว่า หากโยมไปฟังที่บ้าน เช่น ฟังจากเทปหรือฟังจากอะไรก็ตาม จะได้บุญอย่างนี้หรือเปล่า ก็ได้บุญเหมือนกันหมด ฉะนั้น เวลาฟังธรรม ต้องตั้งใจฟังและตั้งใจจํา สิ่งที่สําคัญก็คือตั้งใจนําไปปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ทุกท่านที่มาเทศน์ จะเน้นเรื่องการปฏิบัติ ธรรมะของพระพุทธเจ้ามิได้มีไว้ฟังเฉยๆ ฟังแล้วต้องนําไปปฏิบัติ ถ้าฟังเฉยๆก็เหมือนดั่งคําที่ว่า “ธรรมใดๆก็ไร้ค่าถ้าเราไม่นําไปปฏิบัติ” เช่น บอกให้รักษาศีลก็ไม่รับ บอกให้ทำทานก็ไม่ทำทาน บอกว่าอย่าไปโกรธมากก็ยังทำ แบบนี้ก็ไม่ได้อะไรเลย ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในตัวของเรา ฉะนั้น พึงนําธรรมะไปปฏิบัติทุกๆ ข้อ แล้วแต่โอกาสที่เราสามารถจะทําได้

โอกาสที่หาได้ยาก

ญาติโยมทั้งหลาย การที่เราจะเข้าสํานักฯมาเพื่อปฏิบัติธรรมเช่นนี้เป็นสิ่งที่หาได้ยาก หามิได้ง่ายๆ ท่านว่าคนมีบุญเท่านั้นที่จะเข้ามาตรงนี้ได้ หลวงพ่อจรัญท่านพูดไว้ชัดเจนว่า ถ้าไม่มีบุญแล้วต่อให้หิ้วกระเป๋ามาก็ไม่ถึงสํานัก ต้องคนที่มีบุญเท่านั้นจึงจะเข้าถึงสํานักได้ ตอนที่อาตมาไปปฏิบัติธรรม ฟังโยคีส่งอารมณ์กับหลวงพ่อ มีอยู่ประโยคหนึ่งที่โยคีมักถามบ่อยๆเวลาเข้าปฏิบัติธรรมว่า “หลวงพ่อ โยมจะปฏิบัติธรรมได้หรือเปล่า โยมมีบุญไหมที่จะปฏิบัติธรรมตรงนี้ได้” หลวงพ่อตอบว่า “เข้ามาวัดได้ก็ปฏิบัติได้ ต่อจากนั้นก็เป็นความเพียรของเราเอง” ฉะนั้น ขอให้ทั้งพระคุณเจ้าและญาติโยมทั้งหลายที่มาอยู่ตรงนี้มั่นใจได้ว่า เรานั้นมีบุญแล้วที่มาสู่ตรงนี้ได้

คําว่า “มีบุญ”ตรงนี้ พระพุทธศาสนายังแยกออกไปอีกว่า เรามีบุญเพราะเราได้ “สิ่งที่หาได้ยากทั้ง ๔ประการ” คือ

๑) เราได้เกิดในกาลสมัยที่มีพระพุทธศาสนา มีคําสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า นับว่าหาได้ยาก พุทธศาสนามิได้เกิดในทุกยุคทุกสมัย ในบางกาลสมัยก็ไม่มีพระพุทธศาสนา เป็นช่วงที่ว่างจากพระพุทธศาสนา ถ้าเราไปเกิดในช่วงนั้นก็จะไม่รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด ไม่รู้ว่าอะไรเป็นบุญ อะไรเป็นบาป การที่เราจะเดินทางได้ถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ฉะนั้น เราทั้งหลาย ณ ที่นี้มีสิ่งที่หาได้ยาก คือ ได้เกิดในยุคที่มีองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า-คือคําสั่งสอนของพระพุทธองค์นั่นเอง

๒) เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ถือว่าเป็นสิ่งที่ประเสริฐ เป็นสิ่งที่หาได้ยาก ระหว่างผู้ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ กับผู้ที่เกิดเป็นสัตว์เดรฉานก็ดี เป็นเปรต อสุรกายก็ดี เป็นสัตว์นรกก็ดี เทียบกันไม่ได้เลย ท่านว่าผู้ที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์มีน้อยมาก แต่ส่วนมากไปเกิดเป็นสัตว์เดรฉาน ดูแค่มดเป็นตัวอย่าง มดหรือแมลงต่างๆในศาลานี้มีมากกว่าคนในวัดอีก โอกาสที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์จึงหายาก และที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบพวกเรานี้ก็ยิ่งยากกว่า ฉะนั้น สิ่งที่หายากนี้ เฉพาะผู้มีบุญเท่านั้นจึงจะได้ คือได้เกิดมาเป็นมนุษย์

๓) การได้เกิดมานับถือพระพุทธศาสนาหรือพบพระพุทธศาสนา เป็นสิ่งที่หาได้ยากอีกประการหนึ่ง นับว่าเป็นบุญอย่างหนึ่งของเรา ถ้าเราไม่ได้มาเกิดในประเทศไทย แต่ไปเกิดในประเทศอื่นที่ไม่มีพระพุทธศาสนา โอกาสที่เราจะได้ศึกษา จะได้ปฏิบัติ จะได้ทําบุญทํากุศลก็ทําได้ยาก แต่พวกเราทั้งหลายนี้ได้มาเกิดในประเทศที่มีพระพุทธศาสนา ก็นับเป็นบุญอีกประการหนึ่งของเรา

๔) การที่ได้มีโอกาสมาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนี้ เป็นสิ่งที่หาได้ยากอีกประการหนึ่ง บางคนนับถือศาสนาพุทธก็จริง เป็นพุทธศาสนิกชนก็จริง ได้แต่ให้ทาน-รักษาศีล ไม่ค่อยจะได้เจริญภาวนา ค่อนข้างจะหายากที่สุด ที่จะเจริญสมถกรรมฐานก็อาจจะพอง่ายอยู่บ้าง แต่ที่จะได้เจริญวิปัสสนากรรมฐานแล้วยิ่งยากขึ้นไปอีก วิปัสสนากรรมฐานเป็นสิ่งที่หาได้ยาก เป็นสิ่งที่ลําบาก

ฉะนั้น ทั้ง ๔ ประการนี้ เรามีอยู่ในตัวของเราทุกๆ คน ถือว่าพวกเราเป็นผู้มีบุญ สนับสนุนคํากล่าวที่ว่า เมื่อเราได้เข้ามาปฏิบัติธรรมแล้ว หรือเมื่อเราได้เข้ามาถึงวัดแล้ว ก็ถือว่าพวกเราเป็น“ผู้มีบุญ” ต่อไปก็จะอยู่ตรงที่ว่า ขอให้เรามีความเพียร มีความพยายามที่จะปฏิบัติธรรมยิ่งๆขึ้น ทุกอย่างต้องได้จากความเพียรความพยายามของเราเท่านั้น ในเบื้องต้นนี้อาตมาขอให้กําลังใจ ขอให้ญาติโยมทั้งหลายตลอดจนถึงโยคาวจรที่จะเข้าปฏิบัติธรรม จงมั่นใจว่า เราสามารถที่จะศึกษา สามารถที่จะปฏิบัติธรรมให้ก้าวหน้าได้

การปฏิบัติธรรม

การปฏิบัติธรรมนั้นแบ่งเป็นหลายระดับ ในกลุ่มของพวกเรานี้ กลุ่มหนึ่งจะปฏิบัติเป็นเวลาสามเดือน อีกกลุ่มหนึ่งจะต้องกลับไปทําหน้าที่ของตนเอง เป็นพ่อบ้าน เป็นแม่บ้าน เป็นเจ้าหน้าที่ หรือทํางานอะไรก็แล้วแต่ ฉะนั้น การบรรยายธรรมในวันนี้คงต้องพูดทั้งสองส่วน

ผู้ที่จะอยู่ปฏิบัติธรรมต่อไปในภายหน้า ท่านอาจารย์ท่านเจ้าอาวาสได้พูดแล้วว่าการเข้าพรรษามีความสําคัญอย่างไร เป็นกาลสมัยที่เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม ฉะนั้น ผู้ที่เข้าปฏิบัติธรรมแล้ว หรืออยู่มาก่อนแล้วจะทําตัวเหมือนเดิมคงไม่ได้ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงที่แปลกไปกว่าเก่า คือ มีความเพียรพยายาม มีความใส่ใจในการกําหนดให้มากขึ้น สิ่งที่ครูบาอาจารย์ท่านว่าเป็นสิ่งที่ขัดขวางการปฏิบัติธรรม ทําให้การปฏิบัติของเราไม่ก้าวหน้า พึงละสิ่งนั้น ธรรมะข้อใดที่ท่านอาจารย์ว่าเป็นธรรมที่ส่งเสริมการปฏิบัติให้ก้าวหน้า พึงทําสิ่งนั้นให้มาก พัฒนาสิ่งนั้นให้มากยิ่งขึ้น

๑) ศีลต้องบริสุทธิ์

ผู้ที่จะเข้าการปฏิบัติธรรมทุกท่านพึงเน้นในเรื่องของศีล พระคุณเจ้าก็มากหน่อย ๒๒๗ข้อ สามเณร๑๐ ข้อน้อยลงมาหน่อย ญาติโยมก็เพียง ๘ ข้อ ๘ข้อนี้พอที่จะนึกได้ว่า วันนี้เราผิดศีลอะไรบ้าง อะไรที่ไม่ผิดศีลบ้าง ศีล ๑๐ ก็ยังพอนึกง่าย ๒๒๗ข้อนั้นนึกค่อนข้างยาก แต่พระคุณเจ้าก็ต้องพยายามมีความเพียร ยึดเอาตัวหลักๆ ไว้ก่อน ตั้งแต่ปาราชิกไล่ลงมา ถ้าเราดูบ่อยๆ นึกถึงบ่อยๆ เรียกว่า ศีลานุสสติ-ระลึกถึงศีลของตัวเอง ถ้านึกถึงศีลบ่อยๆแล้ว ศีลของเราจะบริสุทธิ์ผุดผ่อง เวลามานั่งสมาธิก็ดี เดินจงกรมก็ดี จะเป็นสมาธิได้ง่าย ท่านว่าศีลเป็นเบื้องต้นของการปฏิบัติ ผู้ใดที่ไม่ค่อยสนใจเรื่องศีล ขณะที่นั่งสมาธิจะไม่สงบ จะฟุ้งซ่าน พึงกลับไปดูที่ศีลใหม่ เพราะศีลเป็นเบื้องต้น ศีลทําให้เกิดสมาธิ สมาธิทําให้เกิดปัญญา เมื่อขาดจักรตัวแรกแล้ว จักรตัวที่สองหรือที่สามก็เกิดได้ยากหรือแทบจะไม่มีเลย ฉะนั้น ในเบื้องต้นขอให้ทุกท่านที่จะเข้าปฏิบัติธรรมและอยู่ต่อไปมาดูศีลของตนเอง ถ้าศีลของญาติโยมบกพร่องก็ให้มาสมาทานใหม่ สำหรับพระคุณเจ้าก็ต้องแสดงอาบัติ ฉะนั้น สําหรับพระคุณเจ้า ทุกๆวันเราจะมีการแสดงอาบัติ ซึ่งก็คือการชําระศีล เพราะมีถึง ๒๒๗ ข้อ มีข้อเล็กๆน้อยๆที่อาจมองไม่ทั่วถึง จึงต้องป้องกันไว้ก่อน คือต้องแสดงอาบัติเพื่อชําระศีล การปฏิบัติจะได้คล่อง พึงสังเกตดูว่า เมื่อใดที่เรานึกถึงศีลแล้ว ศีลของเราบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่ว่าจะนั่งสมาธิ จะเดินจงกรม เราจะทำได้ไว แต่หากศีลไม่บริสุทธิ์ผุดผ่อง จะนั่งสมาธิอย่างไร จะเดินจงกรมอย่างไร ก็ไปไม่ไหว อุปมาเหมือนผ้าที่ยังไม่สะอาดพอ จะย้อมเป็นสีอะไรก็ย้อมไม่ค่อยติด ฉะนั้น ศีลจึงเป็นเบื้องต้นที่สำคัญมาก พยายามรักษา พยายามตั้งใจที่จะงดเว้น

๒) วางของเก่า

เมื่อมีศีลแล้ว หลักของการปฏิบัติประการแรก คือ พึงเตรียมตัวก่อน โยคีผู้เข้าปฏิบัติธรรมไม่ว่าจะเป็นโยคีเก่าหรือใหม่ โดยเฉพาะโยคีเก่าจากที่อื่นแล้วมาใหม่ที่นี่ มักจะมีความรู้เก่าๆติดมาด้วย ซึ่งอาจจะไม่เหมือนการปฏิบัติสติปัฏฐาน๔ (แบบพองหนอ-ยุบหนอ) หรือ แม้จะเป็นแบบพอง-ยุบก็จริง แต่ก็มีหลายแขนงเหลือเกิน อาจารย์ท่านหนึ่งก็สอนไปทางหนึ่ง อีกท่านหนึ่งก็สอนไปอีกทางหนึ่ง แต่เมื่อมาที่นี่แล้ว ท่านอาจารย์จะแจกหนังสือคู่มือให้ ขอให้ไปดูหลักให้ดี ถ้าไม่ตรงกับของเก่าที่เราเคยฝึกมา เช่น อาจจะเดินจงกรมไม่เหมือนกัน กําหนดไม่เหมือนกัน ของเก่ากําหนดเพียงสามครั้ง ของที่นี่กําหนดจนกว่าอาการนั้นจะหายไป เป็นต้น ให้วางของเก่าไว้ก่อน อย่าไปเสียดาย บางคนเสียดายเพราะปฏิบัติมาตั้งหลายปีแล้ว อยากจะรักษาไว้

ตรงนี้ อาจารย์ท่านเทศน์ไว้น่าฟัง ท่านอุปมาให้ฟังว่า มีชาย ๒ คน ไปหาเพชรด้วยกัน ได้ยินว่าเพชรอยู่บนภูเขา ก็เดินทางไปหาเพชร เดินทางไปถึงภูเขาลูกหนึ่งก็ไปเจอก้อนหิน ทั้งสองคนต่างก็ไม่มีความรู้ว่าเพชรเป็นอย่างไร จึงต่างคนต่างเก็บก้อนหินใส่ตะกร้าไว้ พอเก็บเสร็จเรียบร้อยก็เดินทางต่อไป พอไปถึงภูเขาอีกลูกหนึ่งก็ไปเจอเงิน ชายคนแรกก็บอกว่าเราแบกหินมาตั้งนาน เสียดาย เงินใหม่นี่ไม่เอาดีกว่า เก็บหินของเก่าไว้แหละดีแล้ว แต่ชายคนที่สองบอกว่า เอาเงินของใหม่ดีกว่า จึงทิ้งก้อนหินแล้วเก็บเงินใส่ตะกร้าไปแทน เดินต่อไปอีก ทั้งสองก็ไปเจอทอง ชายคนแรกก็คิดยังเหมือนเดิมว่า เราสู้อุตส่าห์แบกหินมาตั้งนานแล้ว จะทิ้งไปก็เสียดาย ทองใหม่นี่อย่าเก็บเลย ส่วนชายคนที่สองฉลาดกว่า เทเงินทิ้งแล้วเก็บทองใส่ตะกร้าไปแทน ออกเดินต่อไปอีกหน่อย ทั้งสองคนก็ไปเจอเพชร ชายคนแรกก็ยังคงคิดเหมือนเดิม เพราะอุตส่าห์แบกหินมาตั้งนานแล้ว หxxxำลังไปก็มาก จะทิ้งไปเพื่อเก็บเพชรก็นึกเสียดาย ก็เลยได้ก้อนหินไป แต่ชายอีกคนหนึ่งกลับเททองทิ้งแล้วเก็บเอาเพชรไปใส่ตะกร้าไป เมื่อกลับไปถึงบ้าน ทั้งสองคนนี้ก็จะมีสภาพที่ผิดกัน โง่หรือไม่โง่ก็ไม่ได้บอกไว้ เป็นเพียงเรื่องอุปมา อาจารย์ท่านให้คิดเอาเอง

บางคนปฏิบัติมานานแล้ว ปฏิบัติแบบ“พุทโธ”มาตั้งสิบกว่าปีแล้ว ทิ้งไม่ได้เลย ถ้าทิ้งไม่ได้ก็จะเหมือนกับชายคนแรก แต่ถ้าทิ้งได้แล้วก็จะเหมือนกับชายคนที่สอง ฉะนั้น การปฏิบัติธรรมในสายของเรานี้จะมีวิธีให้โยมที่ติด“พุทโธ” โดยจะสอนให้กําหนด “นั่งหนอ...ถูกหนอ” ไปก่อน อาจารย์ท่านไม่ให้กําหนด “พุทโธ” หรอก เพราะใกล้กับลมหายใจ บางครั้งท้องกับลมหายใจมันเนื่องถึงกัน ฉะนั้น อาจารย์ท่านจะให้กําหนด “นั่งหนอ...ถูกหนอ...ถูกหนอ” ไปก่อน ซึ่งไม่เกี่ยวกับลมหายใจ ฉะนั้น ของเก่าให้เราวางไว้ก่อน

๓) ตั้งใจศึกษาของใหม่

พึงตั้งใจศึกษาของใหม่จากหนังสือหลักที่ท่านอาจารย์ให้ โดยศึกษาทําความเข้าใจวิธีการว่า นั่งสมาธินั้นนั่งอย่างไร ใช้คําบริกรรมอย่างไร อาจารย์ท่านสอนให้นั่ง ให้เดิน ให้กําหนดเมื่อมีอารมณ์แทรกเข้ามาอย่างไร จากนั้นก็ไปส่งอารมณ์ ที่อาตมาพบค่อนข้างบ่อยก็คือ บางครั้งญาติโยมทั้งหลายมักคิดว่าสํานักไหนก็คงจะกําหนดเหมือนกัน จึงกําหนดผิดตั้งแต่เริ่มเดินจงกรมเป็นต้นไป จนกระทั่งผ่านไปสองสามวันแล้วจึงมาส่งอารมณ์ กว่าจะรู้ว่าตนเองปฏิบัติผิดก็ผ่านไปนานแล้ว นับว่าน่าเสียดาย ข้อนี้จึงสําคัญมากเหมือนกัน จึงพึงศึกษาวิธีปฏิบัติให้ถูกต้อง ฝึกปฏิบัติให้ถูกต้อง

๔) วางใจ อย่าคาดหวัง

พึงวางใจในการปฏิบัติ อย่าคาดหวังว่าจะได้อะไรเลย บางคนหวังว่าจะได้ความสงบ หวังว่าจะได้ตรงนั้นตรงนี้ ท่านสอนว่า ความคาดหวังก็ก่อให้ฟุ้งซ่าน ตรงกันข้ามกับผู้ที่มาปฏิบัติโดยไม่คาดหวังว่าจะได้อะไร เพียงแต่ต้องการมาฝึกกับจิตของตนเองให้เกิดสติ ให้เกิดสมาธิ ให้เกิดปัญญา เมื่อตั้งใจแบบนี้แล้วฝึกไปเรื่อยๆ ปฏิบัติไปเรื่อยๆ ระหว่างที่ฝึกก็ไม่ได้คิดว่าตนก้าวหน้าไปได้ขนาดไหนแล้ว ก็จะไปได้เร็ว

อีกประเภทหนึ่งคือ โยคีเก่าที่เคยปฏิบัติที่อื่นๆมาแล้ว บางทีอาจารย์ท่านอาจจะบอกว่า ได้ญาณนั้นญาณนี้แล้ว พอมาตรงนี้ก็จะมาต่อญาณอีก ครูบาอาจารย์ท่านว่า จะมาต่อญาณนั้นทำไม่ได้ เพราะญาณนั้นไม่คงที่ ญาณก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน บางแห่งก็บอกว่าได้ญาณสิบหกแล้ว จะมาต่ออีก มันไม่ไหว มันมากเกินไป ฉะนั้น การมาปฏิบัติธรรมนี้ มิใช่การมาต่อของเก่า แต่เป็นการมาเพิ่ม มาทบทวน มาปฏิบัติเพื่อให้เกิดปัญญายิ่งๆขึ้นไป การที่เราคิดไม่ถูก วางใจไม่ถูกนี้ จะทําให้เราไม่ก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้น ผู้ที่ปฏิบัติมาตั้งนานแล้ว บางคนก็มีแต่ความอยาก เมื่ออยากแล้วย่อมจะไม่ได้สมอยาก นานเข้าๆ ก็พาลไปคิดว่าตนเองคงไม่มีบุญวาสนาแล้ว บุญน้อย กลับบ้านดีกว่า เลยเก็บกระเป๋ากลับบ้าน นั่นก็คือการตัดหนทางของตนเอง ฉะนั้น พึงวางใจให้เป็น อย่าไปอยากได้นั่นอยากได้นี้ ตั้งใจปฏิบัติไปเรื่อยๆ สะสมไปเรื่อยๆ ก็จะมีความก้าวหน้า

๕) ตัดปลิโพธกังวล

เมื่อวางใจเป็นแล้ว ต่อไปก็พึงตัดปลิโพธกังวล-ความกังวลใจ เมื่อมาที่นี้แล้วพึงทําตัวเหมือนคนโสด ไม่มีบุตร ไม่มีกังวล ไม่มีอะไรทั้งสิ้น ถึงจะมีก็พึงเก็บไว้ชั่วคราวก่อน สมมุติว่าเราจะอยู่ปฏิบัติ ๗ วัน ก็พึงทิ้งให้หมดใน ๗ วันนี้ สิ่งนั้นก็ไม่ใช่ของเรา สิ่งนี้ก็ไม่ใช่ของเรา อุปมาเหมือนยามที่เราตาย เมื่อเราตายแล้ว ผู้อื่นก็ไม่สามารถจะดูหรือจะช่วยเหลืออะไรเราได้ ฉะนั้น เมื่อมาปฏิบัติที่นี่ก็พึงตัดออกให้หมด บางครั้งเราตัดไม่ได้ ยังค้างไว้อยู่ ยิ่งถ้าพกโทรศัพท์มาด้วย เวลาเทศน์ก็ดี เวลาสวดมนต์ก็ดี อาตมามักได้ยินบ่อยๆ โยมจึงไม่ก้าวหน้าในทางปฏิบัติ ฉะนั้น ความกังวลต่างๆ จะเป็นเรื่องสามีก็ดี ภรรยาก็ดี บ้านก็ดี เราได้มอบให้คนอื่นไปแล้ว แต่ถ้าตัดใจไม่ได้จริงๆ หากคิดก็ให้กําหนดว่า “คิดหนอๆ....กังวลหนอๆ....เป็นห่วงหนอๆ” อย่าปล่อยให้คิดตามไปเรื่อยเปื่อยว่า เขาคงเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ กินข้าวแล้วหรือยัง แมวตัวนั้นหมาตัวนั้นจะอยู่อย่างไร เคยมีโยคีหลายท่านมาปฏิบัติธรรมไม่ได้ อาตมาถามว่ามีลูกหรือเปล่า ก็ตอบว่าไม่ได้ห่วงลูก ไม่ได้ห่วงสามี แต่ห่วงแมวห่วงสุนัข ก็มีกรรมไปอีกแบบหนึ่ง ยังไม่ได้ปฏิบัติเต็มที่

ฉะนั้น ความปลิโพธกังวลต้องตัดออกชั่วคราว พึงนึกว่าเรามาชั่วคราวเท่านั้น พระคุณเจ้าก็นาน ๓ เดือน ญาติโยมก็ ๓ วัน ๑๕วันบ้าง อันนี้ก็ต้องตัดปลิโพธกังวล ปลิโพธกังวลนั้นมีอยู่หลายอย่าง ที่อยู่ก็ดี ญาติพี่น้องก็ดี แม้แต่พระคุณเจ้าก็อาจมีญาติโยม ถ้าไปคุยกับญาติโยมบ่อยๆ โทรไปบ่อยๆ มันจะไม่ได้อะไรหรอก ญาติโยมก็จะมองอีกมุมหนึ่งว่า พระรูปนั้นไปปฏิบัติแล้วทำไมจึงโทรมาบ่อยๆ ยิ่งถ้าโยมมีความรู้มากปฏิบัติมากก็จะสงสัยว่า เขาห้ามคุยมิใช่หรือ อันนี้จึงเป็นสิ่งสําคัญ พึงตัดความปลิโพธกังวลออกไป

แม้แต่ความเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องตัดเช่นกัน พึงอย่าไปกังวลถึงมัน เพราะเราได้ถวายร่างกายนี้แก่พระพุทธเจ้าแล้ว ถ้าจะตายก็ให้ตายไป ที่วัดนี้มีพระหลายสิบรูป จะสวดให้เผาให้โยมไม่ต้องกลัว ไม่มีใครตายในองค์กรรมฐาน ขณะที่นั่งกรรมฐานหรอก มีแต่ไปตายที่อื่น ฉะนั้น พึงตัดความกังวลใจ

๖) เปลี่ยนบุคลิก

เมื่อเข้าสู่การปฏิบัติธรรม พึงเปลี่ยนบุคลิกของการปฏิบัติธรรม หรือบุคลิกของบุคคล จากการที่ทําอะไรเร็วๆ มาทําอะไรช้าๆ หลักเบื้องต้นคือ

พึงเก็บสายตา เช่น ขณะที่เดินไปไหนมาไหน พึงทอดสายตาไปข้างหน้าประมาณ ๔ ศอก พึงอย่าจ้องมองอะไรตรงๆ อย่าเหลียวซ้ายแลขวา เก็บสายตานี้เก็บยาก ตอนนี้อาตมาเห็นมีเพียงไม่กี่คนที่เก็บสายตา ฉะนั้น เข้าพรรษานี้ขอให้ลองเก็บสายตาประมาณ ๔ ศอก การเก็บสายตานี้สําคัญมาก เมื่อตาเห็นก็จะปรุงแต่งทันที ชอบใจหรือไม่ชอบใจ หรืออะไรอื่นๆต่อไป ปรุงแต่งตอนนั้นยังไม่พอ เมื่อมานั่งสมาธิมันก็ยังตามมาปรุงแต่งอีก ฉะนั้น ท่านจึงให้เก็บสายตา

พึงเก็บวาจา คือ งดการพูดคุยโดยเด็ดขาด จะพูดคุยได้กับบุคคล ๒ ท่านเท่านั้น คือพระวิปัสสนาจารย์ และเจ้าหน้าที่ พึงงดพูดคุยกับโยคีด้วยกันโดยเด็ดขาด เพราะนอกจากเราจะเสียสมาธิ โยคีที่เราพูดด้วยก็จะเสียสมาธิ และคนที่อยู่ข้างๆใกล้ๆเราก็จะเสียสมาธิเช่นเดียวกัน ฉะนั้น การงดพูดคุยจึงเป็นสิ่งที่จําเป็นมาก ถ้างดไม่ได้ การปฏิบัติธรรมก็ยากที่จะเจริญก้าวหน้า บางครั้ง มีโยคีที่อยู่นานๆแล้วมาส่งอารมณ์ ญาณไม่ค่อยก้าวหน้า สภาวะธรรมไม่ค่อยมี ก็เพราะไปรั่วตรงการพูดคุยหมด อาตมาบรรยายตรงนี้ก็เพื่อเป็นกระจกเงาให้โยมได้ส่องมองดูตัวเองว่าเป็นอย่างไร พระคุณเจ้าก็เช่นกัน ถ้ายังไม่เป็นตามนี้ ก็พึงไปปรับปรุงแก้ไข

การพูดโทรศัพท์ก็เป็นการพูดคุยเหมือนกัน เป็นที่น่าอนุโมทนา ท่านอาจารย์ว่าจะเก็บโทรศัพท์หมดเลย ถ้าญาติโยมคนใดไม่ไว้ใจตัวเองจะเอาไปฝากที่สํานักงานก็ได้ อาตมาไปสอนกรรมฐานที่ไหนก็จะไล่เก็บโทรศัพท์ทุกที ที่ยุวพุทธฯก็เหมือนกัน ถ้าไม่เก็บอาจารย์ผู้สอนก็เหนื่อย บางทีโยคีกําลังมีสภาวะดีๆอยู่ วันถัดมาทําไมจึงฟุ้งซ่านมาก พอถามว่ามีโทรศัพท์ไหม “มีเจ้าค่ะ” ถามว่าคุยไหม “คุยเจ้าค่ะ” นี่คือเหตุที่ทำให้อารมณ์ของโยคีเปลี่ยนทันที กําหนดไปดีๆ พอไปคุยมา ทางบ้านเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ สมาธิไปหมดเลย ฉะนั้น เรามีโทรศัพท์กลางที่สํานักงาน ฝากเบอร์ให้ที่บ้านไว้แล้วสั่งไว้เลยว่า ถ้าไม่ใช่เรื่องเป็นเรื่องตายขออย่าให้โทรมา แล้วก็ปิดโทรศัพท์มือถือของตนเสีย จึงจะได้ผล พระคุณเจ้าที่จะปฏิบัติอยู่ ๓ เดือนก็ยิ่งจะไม่ค่อยได้อะไรใหญ่ถ้ายังพูดคุยโทรศัพท์อยู่

พึงปฏิบัติช้าๆ การปฏิบัติธรรมจะเร็วไม่ได้ ท่านพระมหากัจจยานะได้กล่าวถึงลักษณะของโยคีไว้ ๔ ประการ คงจะต้องนํามากล่าว เพื่อให้ญาติโยมได้เห็นว่าตัวเราเป็นโยคีหรือเปล่า

ลักษณะของโยคี ๔ ประการ

๑. เป็นคนตาดีก็เหมือนคนตาบอด เวลาที่คนตาบอดเดินไปไหนมาไหน จะไม่มอง จะก้มหน้า ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมทุกท่านต้องเหมือนคนตาบอด ข้างๆ เขามีอะไรก็พึงอย่าได้ใส่ใจ

๒. เป็นคนหูดีก็ทําเหมือนเป็นคนหูหนวก เมื่อได้ยินเสียงอะไรก็กำหนดว่า “ได้ยินหนอๆ” หมาเห่าก็ “ได้ยินหนอๆ” คนพูดก็ “ได้ยินหนอๆ” ก็จะเหมือนกับคนหูหนวก ไม่ใส่ใจ แต่ถ้ามีคนพูดอะไรก็จะคอยเงี่ยหูฟังก็จะไม่ใช่โยคี

๓. เป็นคนมีกําลังดีก็เหมือนกับคนไม่มีกําลัง ถึงเราจะแข็งแรง ลุกขึ้นวิ่งไปได้ จะเดินไปก็เดินไปเร็วๆ ได้ แต่เมื่อเข้าปฏิบัติธรรมแล้ว ต้องทําช้าๆเหมือนคนไม่มีกําลัง ช้าเพื่อจะกําหนดอาการได้ทัน ถ้าถามว่าทุกวันนี้เรารู้ตัวไหม ก็คงตอบได้ว่ารู้ตัวแต่รู้สึกไม่ชัด ถ้าถามว่ากําหนดได้ไหม ก็คงตอบได้ว่ากําหนดได้แต่ไม่ชัดเจน การทำอะไรช้าๆจึงสําคัญมาก บางคนบอกว่า “แค่นี้ก็พอแล้ว ยกไปจับ ยกไปอ้า ใส่” แบบนี้เร็วเกินไป แม้จะเติม “หนอ” ลงไปอีกคำหนึ่ง “หนอ”ครั้งเดียวก็ยังเร็วเกินไป เราจะกําหนดได้ไม่ทัน เราต้องทำทุกอิริยาบถให้ช้าๆ มีบางคนกลัวว่า การฝึกทำอะไรช้าๆแบบนี้ เมื่อออกจากกรรมฐานแล้วจะยังติดช้าต่อไปอีก ไม่เป็นอย่างนั้นหรอก ไม่ต้องกลัว เรามาตรงนี้ต้องฝึกให้ช้า ช้าเพื่อจะไปทําให้เร็วที่บ้าน สติของเราจะได้ไว สติจะได้ทันสิ่งต่างๆ

การช้าก็คือช้าเหมือนคนป่วย คนไม่สบายมากๆ อุปมาเหมือนกับคนผ่าตัดไส้ติ่งใหม่ๆ เวลาจะลุกก็ค่อยๆ ลุก เวลาจะพลิกตัวก็ค่อยๆพลิก เวลาจะยืดตัวก็ค่อยๆยืด นี่คือลักษณะของโยคีประการหนึ่ง คือถึงจะมีกําลังอย่างไรก็พึงทําช้าๆ ไม่ทําเร็ว เพื่อประโยชน์ของการกําหนด ฉะนั้น ท่านใดที่ยังกําหนดแล้วไม่มีหนอ หรือมีแค่หนอเดียวก็ยังใช้ไม่ได้ ขอให้ไปฝึกปฏิบัติ วันแรกยังให้หนึ่ง“หนอ”อยู่ “ยกหนอ...ตักหนอ...ไปหนอ” วันที่สองท่านอาจารย์ให้เพิ่มอีก“หนอ”หนึ่ง วันที่สามก็สาม“หนอ” วันที่สี่ก็สี่“หนอ” วันที่ห้าก็ห้า“หนอ” แล้วเป็นหก“หนอ” เจ็ด“หนอ” แปด“หนอ” เก้า“หนอ” สิบ“หนอ” กําหนดไปอย่างนั้นเรื่อยๆ ก็จะกําหนดได้ละเอียดขึ้น เมื่อเราสังเกตไปรายละเอียดก็จะต่างกัน ตอนที่กำหนดได้“หนอ”เดียวแทบจะไม่รู้สึกถึงอาการ สิบ“หนอ”ขึ้นไปแล้วจะเริ่มรู้สึกถึงอาการตึง-อาการหย่อนของแขนได้ดีขึ้น ถึงตอนนั้นความรู้สึกถึงรูปร่างสัณฐานของมือจะหายไป เหลือแต่อารมณ์ของปรมัตถ์ เราจะเริ่มรู้สึกถึงอาการตึง-อาการหย่อน ส่วนความรู้สึกเป็นตัวตนจะไม่มี ก็จะเข้าสู่วิปัสสนากรรมฐานได้ ฉะนั้น ต้องใช้ความเพียรความพยายาม ช้านี้ดีที่สุด ให้วางใจ แล้วก็ให้ทําใจอย่างหนึ่งว่า เราไม่มีอะไรต้องรีบในการที่มาปฏิบัติธรรมนี้ ส่วนใหญ่จะอ้างอยู่เป็นประจําว่า “โยมเป็นคนรีบ โยมทํางานที่บ้านโยมต้องไว” อาตมาก็มักจะตอบว่า “ที่นี่ไม่มีอะไรต้องรีบนะ อารมณ์ที่โยมจะกําหนดก็อยู่ที่ตัวโยม สติที่จะกําหนดก็อยู่ที่ตัวโยม ไม่ได้อยู่ที่อื่นเลยแล้วจะรีบไปไหน” เมื่อฟังอย่างนี้โยคีก็จนด้วยปัญญาไม่รู้จะเถียงอย่างไร ก็รับไปกําหนดต่อก็จะได้ขึ้นมา

๔. เป็นคนมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ก็ทําเหมือนคนไม่มีปัญญา หมายความว่า อย่าไปคิดอย่าไปวิเคราะห์พิจารณาสภาวะธรรมตรงนี้ตรงนั้น เช่น “เอ๊ะ...อาการพองยุบมันหายไป คงจะหายไปเพราะอย่างนั้น เพราะอย่างนี้.... เอ๊ะ...ทําไมเราเดินแล้วมันฟุ้ง คงจะเป็นเพราะอย่างนั้น เพราะอย่างนี้...เท้าเรามันเบา...คงเป็นเพราะอย่างนั้น เพราะอย่างนี้” เหล่านี้ก็เป็นการวิเคราะห์วิจารณ์ เป็นคนมีปัญญาดีเกินไป ฉะนั้น ต้องทําเหมือนคนไม่มีปัญญา ทําเหมือนคนปกติทั่วไป ไม่ต้องทําตัวเป็นคนเฉลียวฉลาด รู้ก็สักแต่ว่ารู้ บางทีความรู้เกิดขึ้นมา ก็กำหนดว่า“รู้หนอๆ”แล้วไม่ต้องนําไปคิดพิจารณาต่อ สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น เป็นปัจจุบันอาการ เห็นแล้วก็ดับไป ไปแล้วก็เกิดขึ้นใหม่อีก

นี่ก็คือลักษณะ ๔ ประการของโยคี โยคาวจรก็ดี ญาติโยมทั้งหลายก็ดี พึงมองดูตนเองว่าเรามีลักษณะของโยคีครบถ้วนแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่ครบก็ปรับปรุงตนเอง ลักษณะใดที่ยังไม่ครบก็แก้ไขเพิ่มเติมเข้าไป เมื่อครบแล้วเราก็จะสามารถปฏิบัติธรรมตรงนี้ได้ก้าวหน้า

๗) กำหนดให้ได้ปัจจุบัน

พึงกําหนดให้ได้ปัจจุบัน ปัจจุบันก็คือขณะที่กําลังเกิดขึ้น ท่านเรียกว่าปัจจุบันขณะ ขณะที่อาการนั้นๆกําลังเกิดขึ้น อดีตใช้ไม่ได้ อนาคตก็ยังใช้ไม่ได้ เพราะยังมาไม่ถึง ต้องกำหนดอาการที่กําลังเกิดขึ้น ขณะที่ท้องกําลังพอง กําหนดว่า“พองหนอ” ขณะที่ท้องกําลังยุบ กําหนดว่า“ยุบหนอ” ขณะที่ก้าวขา ยกขา เคลื่อนขา ยกไป ก้าวย่าง แล้วก็“หนอ” หรือว่าจะกําหนด“ยกหนอ...ย่างหนอ...เหยียบหนอ” ให้คําบริกรรมกับอาการตรงกันพอดี ถ้าตรงกันก็ถือว่าได้ปัจจุบันไปขั้นหนึ่งแล้ว แต่ถ้าไม่ตรงกัน เช่น ขวาเป็นซ้าย ซ้ายเป็นขวา ยกเป็นย่าง ก็ต้องแก้ไข แม้แต่มือยกขึ้น ก็“ยกหนอๆ...ไปหนอๆ...จับหนอๆ” ล้วนต้องอาศัยการกําหนดให้ได้ปัจจุบัน มีคําๆหนึ่งที่ควรจะจดจําไว้ คือ กําหนดและรู้อาการ ไม่ใช่กําหนดท่องเฉยๆ คํากําหนดก็คือคําบริกรรม “ยก”ก็คือยก คําว่า“ยก”คือคําบริกรรม แต่ต้องส่งจิตเข้าไปรู้อาการยก คืออาการเคลื่อนไหวของเท้าที่ยกขึ้นมา...หรือเคลื่อนไปข้างหน้า...หรือเหยียบลงไปข้างล่าง เหล่านี้คืออาการ การเดินจงกรม เท้าที่สัมผัสกับพื้นเป็นอาการที่ชัดเจนที่สุด ถ้ายังไม่รู้สึกถึงอาการที่เท้าว่าเหยียบอย่างไร รู้สึกอย่างไร ให้ไปสังเกตดู อันนี้คือกําหนดและรู้อาการ

๘) ไม่เลือกอารมณ์ที่จะกำหนด และกำหนดให้ต่อเนื่อง

อารมณ์ใดชัดเจน ก็พึงกําหนดรู้อารมณ์นั้น ไม่พึงเลือกอารมณ์ว่าจะต้องเป็นอารมณ์ตรงนั้น ตรงนี้ หากพอง-ยุบไม่มี ก็ไปกําหนดรู้“นั่งหนอ...ถูกหนอ...นั่งหนอ...ถูกหนอ” หรือกำหนดรู้อารมณ์ใดที่เกิดขึ้นชัดเจน อย่าเลือกว่าจะต้องเป็นพอง-ยุบเสมอไป หรือต้องเป็นอารมณ์ที่เราชอบเท่านั้น การเลือกกำหนดแต่อารมณ์ที่เราชอบเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง อารมณ์ใดชัดเจนก็พึงกําหนดรู้อารมณ์นั้น

ประการต่อไปก็คือความต่อเนื่อง จากขณะหนึ่งไปสู่อีกขณะหนึ่ง จากเดินไปสู่นั่ง จากนั่งไปสู่อริยาบถย่อย จากอริยาบถย่อยก็ไปสู่อารมณ์อื่นๆต่อไป พึงกำหนดให้ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ เป็นเส้นด้าย ทั้งหมดนี้เป็นส่วนสําคัญของการปฏิบัติ นอกจากจะได้อารมณ์เป็นปัจจุบันแล้ว ต้องได้ความต่อเนื่องด้วยความต่อเนื่องนี้จะทําให้สติและสมาธิของเรามีกําลังที่จะปฏิบัติ

ฉะนั้น หลักปฏิบัติที่กล่าวมาเบื้องต้นนี้เป็นหลักโดยส่วนธรรม ฉะนั้น โยมทั้งหลายที่จะปฏิบัติต่อไปพึงสํารวจตรวจดูตนเองว่า เรากําหนดได้ดีมากน้อยเพียงใด และแก้ไขให้ถูกต้อง



การนั่งสมาธิ

การนั่งปฏิบัติส่วนใหญ่จะนั่งตามแบบที่เราเคยชิน หนังสือจะกล่าวถึงการนั่งอยู่ ๓ แบบ แต่ที่ใช้มากก็คือ การนั่งเรียงขา และการนั่งทับขา จะนั่งเรียงขาหรือนั่งทับขาก็ตาม ควรระวังอย่าให้ลำตัวงอขณะที่นั่ง พยายามนั่งตัวตรง ศีรษะตรง แต่ไม่เกร็ง ถ้าผู้ใดนั่งตัวตรงแล้ว แต่ยังรู้สึกเกร็งอยู่ ก็ยังไม่ถูกต้อง ขอให้สังเกตดู ถ้ารู้สึกว่าลำตัวงอลงมาก็ให้ยืดตัวขึ้น เพราะอาการลำตัวงอลงจะมีอยู่ตลอดเวลา ถ้าลำตัวงอแล้วผลที่จะเกิดก็คือ พอง-ยุบจะไม่ชัดเจน พอง-ยุบจะจมเข้าไป เพราะขณะที่ลำตัวงอ ท้องจะจมหายเข้าไป จากนั้นอาการง่วงก็จะตามมา ถ้าโยคีคนไหนนั่งแล้วง่วง ลองสังเกตดูว่าเรานั่งตัวงอหรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้น การนั่งตัวงอยังจะทําให้วิริยะกับสมาธิไม่เสมอกัน ก่อให้เกิดอาการอยู่ ๒ อย่าง คือ ไม่ง่วงก็ฟุ้ง จึงต้องแก้ไขปรับปรุงตรงนี้

อาการก่อนที่จะนั่งลงก็เป็นอริยาบถย่อยที่สําคัญมาก การคลายมือก่อนที่เราจะนั่ง การคลายตัวลง แล้วค่อยๆ ย่อ “ย่อหนอๆ” นั่งลงเสร็จเรียบร้อยแล้ว เคลื่อนมือมาไว้บนตักช้าๆ อริยาบถย่อยในเรื่องข้อต่อ จากเดินไปหานั่ง จากนั่งไปหาเดิน จากเดินไปกําหนดอริยาบถย่อย เช่น เข้าห้องน้ำก็ดี เท่าที่อาตมาสังเกตดู เวลาที่โยคีจะลุก ก็มักไม่ได้กําหนด“ลุกหนอ” แต่ลุกพรวดพลาดไปเลย เวลาเดินไปห้องน้ำก็ยังเดินเป็นปกติ ไม่ได้กําหนดว่า“ขวาย่างหนอ...ซ้ายย่างหนอ” เหล่านี้ล้วนแต่เป็นการขาดการกําหนดทั้งนั้นเลย เรียกว่ากําหนดแล้วขาดตอน หรืออาจารย์บางท่านเรียกว่าอารมณ์รั่ว ฉะนั้น ลองไปสังเกตดูว่าเรากําหนดอารมณ์ปะติดปะต่อดีไหม

การปฏิบัติธรรมที่ไม่ต่อเนื่อง ไม่ติดต่อ ท่านอุปมาว่าเหมือนคนต้มน้ำ พอน้ำใกล้จะเดือดก็ไปยกลงวางทิ้งไว้ แล้วไปทําอย่างอื่น พอมีโอกาสดีก็กลับมาต้มใหม่ น้ำก็ไม่มีวันสุกฉันใด การที่เราปฏิบัติแล้วไม่ได้กําหนดให้ต่อเนื่องตั้งแต่ตื่นนอนไปจนกระทั่งถึงเข้านอนก็เช่นกัน จะไม่มีความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมเลย ไม่ว่าจะอยู่นานเท่าใด ท่านเปรียบอีกว่า อุปมาเหมือนกับท่อน้ำ น้ำจะแรงขนาดไหนก็ตาม ถ้าท่อรั่วท่อซึมเสียแล้ว กําลังของน้ำก็ตกไป ฉันใดก็ฉันนั้น ถึงโยมจะพยายามเดินจงกรมพยายามนั่งสมาธิก็แล้วแต่ แต่เมื่อถึงอิริยาบถย่อย สมาธิก็จะรั่วหมด กลับมาทําใหม่ก็จะเท่ากับนับหนึ่งใหม่ เริ่มต้นใหม่ ความเหนื่อยตรงนี้ให้มองดูให้ดี ถ้ามองเห็นภาพก็จะเหมือนบุคคลผู้หนึ่งกําลังตักน้ำใส่ตุ่มที่รั่ว ถ้าเราไม่กําหนดอริยาบถย่อยก็จะเหมือนกับบุคคลผู้นั้น จะเหนื่อยอยู่ตลอดเวลา พอน้ำเต็มตุ่มเราก็พักได้ครู่เดียว น้ำก็รั่วหายไปอีก การที่เราจะกําหนดให้ต่อเนื่องได้นั้น จะต้องกําหนดอริยาบถย่อยให้ต่อเนี่อง ให้ติดต่อกัน ตั้งแต่ตื่นนอนไปจนถึงเข้านอน ไม่มีการขาดจาก“หนอ” อริยาบถอาจจะเปลี่ยนได้ แต่ว่า“หนอ”เปลี่ยนไม่ได้ ไม่ให้ขาดการกําหนด สติของเรานี้ควรที่จะให้ต่อเนื่องเป็นเส้นด้าย เป็นลูกโซ่ ฉะนั้น หากจะปฏิบัติธรรมให้ได้ผล การกำหนดอริยาบถย่อยเป็นส่วนสําคัญที่สุด เพราะช่วยให้มีความต่อเนื่อง ถ้าไม่ต่อเนื่องก็ไม่มีกําลัง ถ้าถามว่าการกำหนดอย่างอื่น นอกจากเดินจงกรม-นั่งสมาธิ เป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า คำตอบคือเป็นทั้งนั้น กินข้าวก็เป็น เข้าห้องน้ำก็เป็น กําหนดแล้วเป็นสติปัฏฐานทั้งหมด จึงต้องฝึกในการกําหนดให้มาก

กำหนดเวทนา

ตอนนี้เวลาผ่านมาพอสมควรแล้ว เวทนาก็คงจะเกิดแล้ว เวทนานี้เป็นอารมณ์ที่ดีที่สุดในกรรมฐาน แต่เวลาส่งอารมณ์โยคีทั้งหลายจะบ่นให้ฟังอยู่เสมอว่า “วันนี้ปฏิบัติไม่ดี” “เป็นยังไงหรือโยม” “ปวดไปหมดเลย” วันไหนที่ไม่มีเวทนาโยคีมักจะคิดว่าวันนั้นดี แต่ที่จริงแล้ว เวทนา-ความเจ็บปวด-เมื่อย-ชา-เป็นอารมณ์ที่ดีที่สุด ทั้งนี้เพราะ

๑) เป็นอารมณ์ที่ชัดเจน ขณะที่มีเวทนาไม่พึงขยับตัว สังเกตดูว่าหากไม่ขยับตัว จะรู้ว่าจิตไม่ไปไหนเลย คิดถึงบ้านก็ไม่มี คิดถึงตรงนั้นตรงนี้ก็ไม่มี จิตจะอยู่ที่อาการปวด ทําให้จิตมีสมาธิ ก่อนหน้าที่เราจะปวดนั้นจิตจะคิดไปสารพัด “พองหนอ...ยุบหนอ”แล้วก็คิดถึงบ้าน “พองหนอ...ยุบหนอ”แล้วก็คิดถึงพ่อ ถึงแม่ ถึงสามี ถึงภรรยา ถึงอะไรก็แล้วแต่ แต่ตอนที่ปวดมากๆ จะไม่คิดถึงอะไรอื่นทั้งสิ้น เวทนาจึงเป็นอารมณ์ที่ชัดเจนที่สุด

๒) เมื่อเกิดเวทนา นิวรณ์จะสงบ นิวรณ์คือสิ่งที่มากั้นไม่ให้เราบรรลุความดี กามฉันทนิวรณ์ก็ดี พยาบาทนิวรณ์-โกรธคนโน้นคนนี้ก็ดี ถีนมิทธะนิวรณ์-ง่วงหงาวหาวนอนก็ดี อุทธัจจกุกกุจจะ-ฟุ้งซ่านก็ดี หรือว่าวิจิกิจฉา-สงสัยก็ดี จะไม่มีเลย ท่านถือว่าถ้าปวดมากๆ จิตจะบริสุทธิ์ที่สุด สามารถกั้นไม่ให้นิวรณ์เกิดขึ้นได้ อันนี้เป็นส่วนที่ดี

๓) เป็นขุมกำลังให้เกิดกําลังสมาธิ เพราะสมาธิก็คือจิตที่ตั้งมั่น เวลา“ปวดหนอๆ” จิตจะไปตั้งมั่นตรงที่ปวด เมื่อเรากําหนด “ปวดหนอๆ” สมาธิจะเพิ่มขึ้นๆ แต่ถ้าเรากําหนดอารมณ์อื่น เช่น “พองหนอ...ยุบหนอ...พองหนอ...ยุบหนอ” สักครู่จิตก็จะรั่วไปอีก การที่รั่วไปก็จะทําให้เสียสมาธิ สมาธิจะลดลงมา แต่ขณะที่กำหนดว่า “ปวดหนอๆ” จิตจะไม่ไปไหนนะ บางคนพยายามจะดึงไปดู“พองหนอ...ยุบหนอ” บางคนกําหนด“คิดหนอๆ” หรือดึงไปกําหนดอารมณ์ข้างนอก จิตก็ไม่ยอมไป ถ้าไปก็ไปเพียงครึ่งเดียว ท่านอุปมาว่าเหมือนแมว การจะดึงแมวออกจากเสื่อทำได้ยากฉันใด การดึงจิตออกไปจากเวทนาก็ยากฉันนั้น มันก็เกาะแนบสนิทอยู่ที่ตรงนั้น

ฉะนั้น เมื่อเราพบของดีแล้ว ครูบาอาจารย์ท่านจึงมักแนะนําเป็นประจําว่า ครูใหญ่มาสอนแล้วต้องตั้งใจเรียน เมื่อครูใหญ่มาสอนแล้ว อย่าหนี อย่าพลิก อย่าเปลี่ยน โดยปกติจะเป็นครูเล็กๆ มาสอน เช่น “พองหนอ...ยุบหนอ” ก็อาจไม่ค่อยสนใจเท่าใดนัก แต่ถ้าครูใหญ่มาสอนแล้วต้องตั้งใจ เพราะนานๆ จึงจะมาสักทีหนึ่ง ถ้าเขาไปแล้ว จะไม่มาอีกเลย มีโยคีหลายท่านพอเวทนาหายแล้วกลับร้องหา หาอย่างไรก็หาไม่เจอ ก็จะบ่นว่าเบื่อเหลือเกิน มีแต่พองกับยุบ ไม่เห็นมีอะไรเลย ตอนที่มีปวดก็บอกว่าเบื่อปวด เมื่อปวดหายแล้วก็เบื่ออีก ฉะนั้น จิตของคนเราไม่แน่ไม่นอน มีโยมท่านหนึ่ง เวลาที่อาการปวดหายไปแล้ว จะต้องพยายามหาใหม่ บางครั้งต้องนั่งขัดสมาธิเพชรบ้าง นั่งทับขาตนเองบ้าง คือเพื่อให้อารมณ์ชัดเจน ฉะนั้น เมื่อของดีปรากฏแล้วอย่าไปพลิกอย่าไปเปลี่ยน

เราจะกําหนดอย่างไรเมื่อเกิดเวทนา ประการแรก ต้องตั้งจิตก่อน แต่อย่าไปตั้งจิตว่าจะกําหนดให้ปวดหาย ต้องถอนจิตตรงนี้ออกให้ได้ก่อน ตอนส่งอารมณ์โยมส่วนใหญ่มักจะบอกว่าต้องกําหนดให้หาย ตั้งนานแล้วปวดก็ไม่หายไม่จาง นั่นก็เพราะ จิตมีความต้องการจะให้ปวดหายไป ประการที่สอง อย่ากําหนดด้วยจิตที่มีโทสะ จิตที่ไม่ชอบเวทนา พอเวทนามาก็นึกในใจ “มันมาอีกแล้ว มันมาอีกแล้ว” คือความไม่ชอบนั่นเอง พึงวางจิตให้เป็นเฉยๆ ถ้าจิตรู้สึกอยากให้หายก็ดี ไม่ชอบก็ดี พึงกําหนดรู้จิตตัวนั้น “ไม่ชอบหนอๆ... อยากหายหนอๆ” กําหนดให้จิตเป็นปกติ ต้องกําหนดด้วยจิตที่เป็นกลาง วางจิตเป็นอุเบกขา เหมือนกับว่าเป็นคนอื่นเจ็บ ไม่ใช่เราเจ็บ

ปวดตรงไหนก็ให้กําหนดตรงนั้น ถ้าปวดหลายจุด หลังก็ปวด ขาก็ปวด ตรงไหนชัดกว่าให้กําหนดตรงนั้น แต่ถ้าเสมอกันก็กำหนดตรงไหนก็ได้ การกําหนดก็เพื่อจะรู้อาการ ว่ามันเจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้ แล้วรู้ว่าอาการปวดเป็นอย่างไร ให้สังเกตด้วยว่าเคลื่อนขึ้น-เคลื่อนลง มาก-น้อยเท่าไร ถ้าเรากําหนดอย่างนี้แล้วก็จะกําหนดได้นาน บางครั้งกําหนด“ปวดหนอๆ” ก็จะปวดมากขึ้น บางครั้ง“ปวดหนอๆ”ปวดกลับเบาลง ถ้าเบาลงก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าปวดมากขึ้นๆจนเกินกว่าจะทนไหวแล้ว พอบอกว่า“ปวดหนอ”ทีไร ความปวดจะวาบแรงขึ้นมาทีนึง พอ“ปวดหนอ”อีกที ความปวดก็จะแรงขึ้นมาอีก ท่านว่าตอนนั้นให้ทิ้งคําบริกรรม ไม่ต้องบริกรรมว่า“ปวดหนอๆ” แต่ยังต้องดูอาการอยู่ ดูอาการแต่ไม่ต้องบริกรรม เพราะรู้ว่าปวดอยู่แล้ว มันชัดอยู่แล้วว่าปวด พอดูไปบางครั้งอาการปวดจะลดลง ลดความกระวนกระวายลง เราก็อยู่ได้นานขึ้น แต่ถ้าดูแล้วก็ยังปวดมากอีกจนจะทนไม่ไหว จิตจะเริ่มดิ้นรน จิตจะกระวนกระวาย จิตที่อยากจะพลิกอยากจะเปลี่ยนก็เริ่มมาแรงขึ้นๆ ถึงตรงนั้นท่านให้เลิกดูที่ปวด แต่ให้ไปดูจิตที่กระวนกระวายกระสับกระส่าย จิตที่อยากจะพลิกอยากจะเปลี่ยน แล้วก็ไปกําหนดตามอาการเลย รู้สึกอย่างไรก็กําหนดอย่างนั้น รู้สึกเป็นทุกข์ ก็กำหนดว่า“เป็นทุกข์หนอๆ” รู้สึกกระวนกระวายก็“กระวนกระวายหนอๆ” บางคนก็ว่า “จะตายแล้วหนอๆ” ที่จริงมันไม่ตายหรอก ไม่เคยมีใครตายในเวทนา แต่จิตมันคิด พอเลยตายไปแล้ว มันก็จะซาจะเบาไป แต่ถ้ากําหนดจิตแล้วยังสู้ไม่ไหว ท่านว่าให้เราลุกขึ้นเดินจงกรม ไม่มีครูบาอาจารย์ท่านใดแนะนำว่า ให้พลิกไปพลิกมาแล้วนั่งต่อ ท่านว่าให้เราลุกขึ้นไปเดินจงกรม เพราะการพลิกไปพลิกมาจะทําให้เราติดอยู่ในความสุข อะไรนิดอะไรหน่อยก็พลิกแล้ว ก็จะทําให้เราติดความสุข ถ้าเราพอแล้ว ไม่ไหวแล้ว ก็ลุกเดินจงกรม เอาสมาธิจากการเดินจงกรมมาช่วยการนั่งใหม่ ก็จะทําให้เรานั่งได้นานขึ้น

กำหนดความคิด

บางคนกําหนดความคิดไม่ค่อยเป็น จึงมักได้ยินอยู่เป็นประจําว่า “มันคิดมากแล้วกําหนดไม่ได้” กําหนดไม่ได้นั้นไม่มีหรอก มีแต่ไม่กําหนด ถ้ากําหนดแล้วมันจะกำหนดได้ทุกความคิด คิดขึ้นมาเมื่อใดก็กําหนดว่า “คิดหนอ...คิดหนอๆ” ท่องไปเรื่อยๆ รู้อาการไปเรื่อยๆ กำหนดความคิดนี้เป็นจิตตานุสสติปัฏฐาน เป็นกรรมฐานชนิดหนึ่งในสติปัฏฐานทั้งสี่ ฉะนั้น ที่พูดว่าปฏิบัติไม่ได้เพราะความคิดมันเยอะ ก็ไม่ถูกต้อง ให้ทําความเข้าใจใหม่ว่า ความคิดก็เป็นอารมณ์กรรมฐาน อย่าไปต่อต้าน คิดเมื่อไรก็กําหนดเมื่อนั้น การกําหนดความคิดนั้น พึงกําหนดที่อาการคิด ไม่ใช่กําหนดเรื่องราวที่คิด อย่ากําหนดใบหน้าบุคคลที่เราคิด ต้องฝึกกําหนดให้เป็นด้วย ถ้ากําหนดไม่ถูกต้องความคิดจะยิ่งกระจาย คิดถึงใครก็จะยิ่งมุ่งไปที่คนนั้น ก็จะยิ่งกระจายไปใหญ่ ให้ตัดใบหน้าของบุคคลนั้นออกไป แต่ให้มากําหนดที่อาการซึ่งกำลังคิดอยู่ “คิดหนอๆ” จนกระทั่งสามารถบอกได้ว่า กําหนด“คิดหนอ”กี่ครั้งแล้วความคิดจึงเบาไป บางครั้งความคิดก็หายไป แต่บางครั้งก็มากขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อมีความคิดแล้วเรากําหนด ก็ถือว่าเราเจริญสติปัฏฐานแล้วเช่นกัน การกำหนดความคิดเป็นสิ่งสําคัญ ฉะนั้น ญาติโยมทั้งหลายจะมีความคิดกันมาก ภายใต้ความคิดนั้นก็จะมีกิเลสแฝงอยู่ คิดแล้วฟุ้งเพราะอยากได้ ฟุ้งเพราะไม่ชอบใจ ฟุ้งเพราะโกรธ ก็พึงกำหนดว่า “คิดหนอๆ...อยากได้หนอๆ” “คิดหนอๆ... ชอบหนอๆ” “คิดหนอๆ... ไม่พอใจหนอๆ... หงุดหงิดหนอๆ” เป็นต้น

กำหนดการนอน

อีกอริยาบถหนึ่งที่สําคัญก็คือ การนอน ถ้าอยู่ธรรมดาครูบาอาจารย์ก็จะไม่ใส่ใจ นอนแทบไม่กําหนด พอนอนก็นอนไปเลย ตั้งแต่เริ่มก็“เอนหนอๆ” ศีรษะถูกหมอนก็“ถูกหนอๆ” ยกมือมาไว้บนอกก็“ยกหนอๆ” เสร็จแล้วก็กําหนด“พองหนอ...ยุบหนอ”จนกระทั่งหลับไป การกําหนดเวลานอนเป็นสิ่งที่ดีที่สุด โยมที่อยู่ไม่นานก็สามารถไปปฏิบัติต่อที่บ้านได้ โยคีหลายท่านมักบอกว่าไม่มีเวลาปฏิบัติ อาจารย์ก็จะถามว่า “เวลาโยมนอน โยมหลับเลยหรือเปล่า” “ไม่หลับหรอกอาจารย์ กลิ้งไปกลิ้งมา...กว่าจะหลับได้ก็หลายนาที” ก็จะบอกว่า “ช่วงนั้นละ ให้ใช้กรรมฐานนี่ละ พองหนอ...ยุบหนอ จนกระทั่งหลับไป ถ้าโยมหลับไปตรงนั้นได้ก็จะหลับสบาย หลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข แล้วก็ไม่ฝันร้าย คือหลับด้วยสตินั่นเอง” ฉะนั้น ขอให้โยคีทุกท่านไปฝึก อย่าคิดว่าการนอนหลับนั้นไม่มีอะไร แล้วก็ปล่อยจิตปล่อยใจเตลิดไป บางทีเราก็เผลอไปคิดถึงบ้าน พึงใช้เวลาตอนนอนนั้นมาเข้ากรรมฐาน “คิดถึงบ้านหนอ” คิดถึงนั่นคิดถึงนี้ บางทีก็เกิดโทสะ บางทีก็เกิดโมหะ นั่นก็คือผู้ที่ปฏิบัติไม่ถูก เพราะฉะนั้น พึงกำหนดไปด้วย หลับเมื่อไหร่เป็นจบเมื่อนั้น ถ้ายังไม่หลับก็เรียกว่ายังไม่จบ เวลานอนพึงกําหนดว่า “นอนหนอๆ” หรือ “พองหนอ...ยุบหนอ” กําหนดมากๆ ถ้านอนไม่หลับก็แผ่เมตตาไปว่า “ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข อย่ามีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย” ไม่นานก็หลับ นี่ก็จะเป็นเครื่องคุ้มครองให้เราปฏิบัติธรรมได้ดีขึ้น

กำหนดอิริยาบถย่อย

การรับประทานอาหารก็ดี การเดินไปไหนมาไหนก็ดี เข้าห้องน้ำก็ดี อาบน้ำก็ดี เป็นอริยาบถย่อยที่ดีที่เราควรจะกําหนด ทุกๆอิริยาบถจะเป็นตัวเชื่อม เป็นตัวช่วยให้เราปฏิบัติได้ดี ฉะนั้น การกําหนดพยายามใส่“หนอ”ให้มากๆ ขึ้นจึงเป็นสิ่งที่ดี

อีกสิ่งหนึ่งก็คือ การกําหนดต้นจิต ต้นจิตมี ๒ อย่าง อย่างหนึ่งก็คือ“อยาก” “อยากลุกหนอๆ” บางครั้งก็กําหนดเพื่อให้รู้อาการของจิตว่าอยากจะลุก อีกอย่างหนึ่งคือการเจริญสติ ก่อนที่เราจะลุก จะเดิน จะนั่ง จะหยิบ จะจับอะไร ที่แนะนําให้โยคีทําตรงนี้ก็เพื่อจะช่วยให้ทําต่อเนื่องกันไป ท่านเรียกว่า“เรียกสติ”ขึ้นมาก่อน ให้สติเราตั้งขึ้นมาก่อนว่า เรากําลังจะลุก “อยากลุกหนอ” แล้วก็“ลุกหนอๆ” จะนั่งก็“อยากนั่งหนอ” แล้วก็“นั่งหนอๆ” จะหยิบจะจับอะไรก็“อยากหยิบหนอ” แล้วก็“ยกหนอๆ...ไปหนอๆ...จับหนอๆ” ก็จะทําให้การกําหนดต่อเนื่อง แต่ตรงกันข้าม ถ้าเราไม่ใส่ตัวอยากตรงนี้ พอจะลุกก็ลุกเลย พอจะหยิบอะไรก็หยิบเลย พอรู้ตัวก็หยิบไปแล้ว พอลุกก็ลุกเดินไปตั้งไกลแล้ว อาตมาเคยถามโยคีว่า “ตอนตื่นมารู้ตัวตอนไหน” โยคีตอบว่า “รู้ตัวตอนอยู่ในห้องน้ำ” ไม่ได้รู้ตั้งแต่“ลืมตาหนอ...เห็นหนอ...กระพริบหนอ...อยากลุกหนอ” ฉะนั้น ต้นจิตหรือสติตัวนี้ต้องฝึกไว้ ก็จะเป็นประโยชน์สําหรับการปฏิบัติธรรม ผู้ที่จะปฏิบัติธรรมก็ขอให้ใส่ใจในเรื่องต่างๆ ตามที่กล่าวแล้วนี้ แล้วการปฏิบัติธรรมของเราก็จะมีความก้าวหน้า

การส่งอารมณ์

การส่งอารมณ์ คือ การมาพบกับครูบาอาจารย์ มาสอบถาม มาเล่าประสบการณ์ให้ฟัง ว่า เดินจงกรมเป็นอย่างไร นั่งสมาธิเป็นอย่างไร มาเช็คดูว่าเดินถูกทางไหม ถ้าเดินผิดครูบาอาจารย์ท่านก็จะแก้ไขให้ ถ้าเดินถูกท่านก็จะให้บทเรียนต่อๆไป ฉะนั้น อย่าเกียจคร้านในการที่จะเข้าหาครูบาอาจารย์ ของเรานี้ก็มีท่านอาจารย์ท่านเจ้าอาวาส มีแม่ชีสองรูป ที่จะช่วยกันเป็นผู้ชี้ทางให้กับพวกเรา ฉะนั้น ถนัดตรงไหนก็ต้องเข้าไปส่งอารมณ์ตามวันเวลาที่กล่าวแล้ว

ตั้งใจสร้างบารมีในเทศกาลเข้าพรรษา

สําหรับญาติโยมที่ต้องกลับบ้าน คงจะไม่พูดไม่ได้ว่า วันเข้าพรรษาตรงนี้เราได้อธิษฐานจิตอย่างไรบ้าง ที่ตั้งใจจะปฏิบัติธรรมต่อที่บ้าน นอกพรรษาปีหนึ่งมาครั้งหนึ่ง สามเดือนมาครั้งหนึ่ง เจ็ดเดือนมาครั้งหนึ่งไม่เป็นไร ในพรรษานี้ถ้าใครจะตั้งใจทําความดีให้ยิ่งๆขึ้นไป ก็อยากจะแนะนําว่า เมื่ออยู่ที่บ้านก็ต้องสํารวจดูเวลาของเราก่อนว่า เรามีเวลามากน้อยเพียงใด ถ้าไม่มีเวลาเลย วันจันทร์ถึงวันศุกร์ทําแต่งาน เวลาปฏิบัติธรรมก็ไม่ค่อยมี อาตมาก็ขอบิณฑบาตแนะนําว่า ตอนนอน นอนเสร็จแล้วให้ทําทุกวัน “พองหนอ..ยุบหนอ” ได้แค่ไหนก็แล้วแต่ ได้นาทีสองนาทีก็แล้วแต่ ขอให้ทําทุกวัน อย่าไปคิดว่าตรงนี้น้อย ท่านว่าน้ำหยดลงตุ่มทีละหยด ตุ่มยังเต็มได้ ถ้าเราทําทีละ“หนอ”ๆ ทุกๆ วัน ก็จะสร้างบารมีตรงนี้ได้ และจะทําให้เราอยากจะปฏิบัติธรรมมากยิ่งขึ้นๆ ครั้นพอมีเวลามากอีกหน่อย วันเสาร์-วันอาทิตย์ขอสักวันได้ไหม จะเป็นวันเสาร์ก็ได้ วันอาทิตย์ก็ได้ สามเดือนนี้เอาสักวันหนึ่ง ถ้าที่บ้านสะดวกก็ปฏิบัติที่บ้าน ถ้าที่บ้านไม่สะดวก เช้าวันเสาร์ก็มาปฏิบัติที่วัดนี้ เย็นวันอาทิตย์ค่อยกลับบ้าน เดือนหนึ่งได้สี่ครั้งก็จะปฏิบัติได้มาก แต่ถ้าหากปฏิบัติที่บ้านได้ก็ลองปฏิบัติดู เพียงแค่วันเสาร์-อาทิตย์ไม่ต้องมาก เดินจงกรมหนึ่งชั่วโมง นั่งสมาธิหนึ่งชั่วโมง อย่างนี้ก็ดีแล้ว ตั้งใจไว้เลย

ถ้าเราตั้งใจทํามาก มาอยู่ที่วัดนี้ได้อะไรหลายๆอย่าง ได้พบกับครูบาอาจารย์ ได้อยู่กับสถานที่ที่มีเพื่อนโยคีปฏิบัติธรรมด้วยกัน เราก็จะมีกําลังใจมากขึ้น ถ้าอยู่คนเดียวที่บ้านมันค่อนข้างจะยากอยู่ ทีวีก็มี ของกินก็มี ต้องตั้งใจถึงจะทําได้ ดังนั้น อาตมาขอแนะนําว่าให้หาเวลาวันเสาร์หรือวันอาทิตย์วันใดวันหนึ่งในการที่จะปฎิบัติธรรม ต่อไปถ้าเรามีโอกาสสามเดือนครั้งหนึ่ง ได้มาปฏิบัติ ๗ วันก็ยังดี แต่ก็ต้องดูหน้าที่การงาน บางคนมีเวลาว่างก็จริง แต่คนทํางานให้เราไม่มี เพื่อนทํางานมีแค่ ๕ คน เราออกไปคนหนึ่ง ก็จะไม่มีคนทํางานแทน อันนี้ก็ยากเหมือนกัน ฉะนั้น ให้เลือกดูว่าเราจะทําอย่างไร จะปฏิบัติอย่างไร

ในพรรษานี้การรักษาศีลก็ดี การทําทานก็ดี การเจริญภาวนาก็ดี คงเป็นสิ่งที่เราต้องทําให้เป็นพิเศษ อยากจะแนะนําว่า ควรจะได้ทําทาน ใส่บาตรก็ดี หรือทําบุญอย่างอื่นก็ดี อาทิตย์ละครั้งก็น่าจะดี ทําวันไหนถึงจะดี เลือกทําวันเกิดของตนเองนั่นละ จะเกิดวันศุกร์ เสาร์ หรือ อาทิตย์ ก็เลือกทําวันนั้น โดยตั้งใจทําเป็นพิเศษ ใส่บาตรพระสักรูปหนึ่งก็คงไม่ยาก มีมาม่าสักห่อหนึ่ง พบพระที่ไหนก็ใส่ตรงนั้น หรือจะเตรียมอาหารอะไรไว้ก็ได้ หรือเลือกซื้อที่ขายตามข้างทาง ถ้าใครทําเองได้ก็ยิ่งดี ผู้ที่อายุมากแล้วก็พึงตั้งใจทําให้มากๆ ได้เท่าไรก็ยิ่งดีเท่านั้น ฉะนั้น วันเกิดของเราตั้งใจไว้เลยว่า วันนี้เราควรจะให้ทานเป็นพิเศษ

การรักษาศีลก็เช่นกัน วันอื่นๆที่จริงเราก็ตั้งใจรักษาศีลกันอยู่แล้ว ในเทศกาลเข้าพรรษานั้น ตื่นนอนมาล้างหน้า อาบน้ำเรียบร้อย พึงตั้งจิตก่อนที่จะไปทํางานที่จะงดเว้นจากการทําไม่ดี ถือศีล ๕ ประการ คือ ข้าพเจ้าจะงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ข้าพเจ้าจะงดเว้นจากการลักทรัพย์ ข้าพเจ้าจะงดเว้นจากการผิดลูกเมียคนอื่น ข้าพเจ้าจะงดเว้นจากการพูดเท็จ ข้าพเจ้าจะงดเว้นจากการดื่มสุราเมรัย เสร็จแล้วเราก็ไปทํางาน ตั้งใจทําให้สม่ำเสมอ ถ้าทําพลาดไปพลั้งไปก็ถือว่าขาด แต่ข้อที่เรายังไม่พลาดยังไม่พลั้งก็ยังอยู่ ตรงนั้นก็ถือว่าเป็นบุญ ส่วนข้อที่เราทําไม่ได้ ทำผิดไปตรงนั้นก็เป็นบาป เมื่อนำบาปกับบุญมาชั่งกันแล้ว ก็ยังมีพอที่จะไปได้ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วศีล ๕ ข้อนั้น เราจะผิดค่อนข้างน้อย ถ้าเราไม่สมาทานไม่ตั้งใจแล้ว ถือเป็นศีลไหม มันไม่เป็นศีล เพราะศีลเกิดจากความตั้งใจงดเว้น ตั้งใจบ่อยๆ ก็ยิ่งดี บางครั้งนั่งรถนั่งเรือไปก็ตั้งใจที่จะงดเว้น แบบนี้เป็นการตั้งใจด้วยตัวเอง ว่าเราจะงดเว้นอะไรบ้าง ก็คือการรักษาศีล

การเจริญภาวนาก็เช่นกัน เราควรจะหาโอกาสทำ เช่น บางทีเราก็กําหนดอริยาบถย่อย จะเดินไปไหนก็กำหนด “ซ้าย...ขวา...ซ้าย...ขวา” จะทําอะไรก็ให้มีสติอยู่กับตัวนั้น อันนี้ก็เป็นการเจริญภาวนาไปในตัว

ฉะนั้น การให้ทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา เราควรจะทําให้มากยิ่งๆขึ้นในช่วงของการเข้าพรรษา เสร็จแล้วก็มาดูอีกอย่างหนึ่ง คือ ดูสิ่งที่ไม่ดีในตัวเรา หลวงพ่อชาท่านพูดอยู่เสมอว่า คนเรานั้นมุ่งแต่ทําบุญ แต่ไม่มุ่งเอาความไม่ดีในตัวเองออก ก็คือการไม่มุ่งรักษาศีล ฉะนั้น ความไม่ดีในใจเราก็ดี ในกายเราก็ดี กาย-วาจา-ใจของเรามีอะไรบ้างที่ไม่ดี เพราะฉะนั้น เราทุกๆคนควรจะรู้จักตัวเองให้ดี ถ้าเรายังมองตัวเองไม่ออก ก็ลองถามเพื่อนข้างๆ ดูว่า เรามีความไม่ดีอะไรบ้าง ทางกายของเรา ทางวาจาของเรา ถ้าไม่ดีเราก็พึงละเสีย

ในเทศกาลเข้าพรรษา ๑) เราจะต้องละชั่ว ๒) ทําความดีให้มากยิ่งๆ ขึ้น ละชั่ว คือ ให้ละความไม่ดีในตัวเรา คนดื่มเหล้าก็งดดื่มเหล้า คนสูบบุหรี่ก็งดสูบบุหรี่ คนที่ชอบนินทาคนอื่นก็งดนินทาคนอื่น คนที่ชอบโกรธชอบโมโห ก็งดโกรธงดโมโห อันนี้ก็จะเป็นบุญสําหรับเรา ฉะนั้น ในเทศกาลเข้าพรรษาเราก็ต้องพยายามปรับปรุงตนเอง สําหรับคนที่จะออกไปอยู่ข้างนอก เราจะทําอะไรเป็นพิเศษแล้วก็ตั้งใจทํา ก็จะเป็นบุญเป็นกุศลกับเรา อันนี้ก็เป็นส่วนที่ผู้ที่ออกไปควรจะคิดและพิจารณา แล้วก็ทําให้ต่อเนื่อง ทําให้ติดต่อ บุญก็จะเกิดแก่เรา

อย่าประมาท

พึงอย่าประมาท ส่วนใหญ่เรามักจะคิดกันไปว่า ชีวิตเรานี้ยังอยู่อีกนาน ยังไม่ต้องรีบทําบุญหรอก จริงๆ แล้วชีวิตนี้เป็นของน้อย เป็นของไม่มากเลย ชีวิตนี้นิดเดียวไม่นานก็หมด ท่านอุปมาชีวิตไว้น่าฟังมาก ว่าชีวิตของเรานี้เหมือนกับหยาดน้ำค้าง ที่ตกลงบนใบหญ้าตอนเช้าๆ พอตะวันขึ้น มันก็หายไปแล้ว แวบเดียว อยู่ไม่นาน ชีวิตของเราก็เหมือนกัน ไม่ถึงร้อยปีก็ตายหมดแล้ว บางทีก็ไม่ถึงด้วยซ้ำไป อีกประการหนึ่งชีวิตของเรานี้เหมือนต่อมน้ำ เวลาฝนตกลองสังเกตดู ฝนตกหนักๆ จะมีฟองน้ำขึ้นมา เขาเรียกว่าต่อมน้ำ ต่อมน้ำที่เกิดขึ้นมานี้ครู่เดียวมันก็แตกแล้ว มันตั้งอยู่ไม่นาน ชีวิตของเราก็เหมือนกัน

ต่อไปชีวิตของเราก็เหมือนชิ้นเนื้อที่ย่างไฟ ชิ้นเนื้อที่ย่างไฟนี้ไม่มีหรอกที่จะดิบไปๆ มีแต่จะไหม้ไปๆเรื่อย ชีวิตของเราก็เหมือนกันมีแต่จะสิ้นไปดับไปเสมอ มีแต่จะเสื่อมไปไม่มีการถอยหลัง อุปมาอีกอย่างหนึ่ง ชีวิตของเราเหมือนน้ำที่ไหลลงมาจากภูเขา ไม่มีทางเลยที่น้ำจะไหลย้อนกลับขึ้นไปข้างบน ชีวิตมีแต่จะไหลไปสู่ความตายเพียงอย่างเดียว ท่านอุปมาอีกว่า ชีวิตของเราเหมือนก้อนเขระในปากของบุรุษที่มีกําลัง สามารถที่จะถ่มลงไปโดยไม่ยาก เป็นการยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าเราสามารถตายได้ทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นวัยหนุ่ม วัยแก่ บางคนตายตั้งแต่อยู่ในท้อง บางคนเกิดมาแค่ปีสองปีก็ตาย บางคนเพียงเดือนสองเดือนก็ตาย มันไม่แน่นอน เราก็ไม่รู้ว่าได้ชีวิตมาเท่าใด ฉะนั้น อย่าไปคิดว่าวันนั้นค่อยทําวันนี้ค่อยทํา อย่าประมาท พึงทําไปพร้อมๆกัน เรียกว่าประโยชน์ตน ประโยชน์ที่เราจะต้องใช้ แล้วเราก็ทํางานไปด้วยทําความดีไปด้วย ได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท

ขึ้นชื่อว่าผู้ไม่ประมาทแล้วเราจะไม่เดือดเนื้อร้อนใจ ความเดือดเนื้อร้อนใจของบุคคลมี ๒ ประการ ประการแรกคือเดือดเนื้อร้อนใจว่า ความดีอะไรที่เราควรทํา เราก็กลับไม่ทํา มัวแต่ไปทําอะไรก็ไม่รู้ (ประการที่ ๒?) แต่ความไม่ดีที่ไม่ควรทํา เราก็กลับทําไปตั้งมากมาย เมื่อถึงเวลาจะตายคนเราก็จะนึกถึงตรงนี้ แล้วจะกระสับกระส่าย เรียกว่าเป็นความเดือดเนื้อร้อนใจ ฉะนั้น อย่าปล่อยให้ความเดือดเนื้อร้อนใจเกิดขึ้นในใจ เราต้องเตรียมตัวให้พร้อม เวลาที่เราจะตาย เราจะไม่เสียดายชีวิต คือ ตายแบบไม่กลัวตาย

บัณฑิตท่านให้หลักไว้ว่า

๑) พึงทําบุญเป็นนิจ คนที่กลัวตายนั้น เป็นเพราะไม่มั่นใจว่าตายไปแล้วจะไปสู่ที่ดีหรือไม่ดี ส่วนใหญ่ก็คิดว่าจะไม่ดีมากกว่า เพราะว่ายังไม่ได้ทําบุญเต็มที่ ตรงกันข้ามกับคนที่ทําบุญมาเต็มที่ ทําบุญมามากๆ ก็พร้อมที่จะตาย เหมือนกับคนที่มีเงินมาเต็มกระเป๋า จะตายเมื่อใด จะไปเมื่อใดก็พร้อม ฉะนั้น การทําบุญเป็นนิจ ก็คือการทําบุญ ให้ทาน-รักษาศีล-และเจริญภาวนานั้นทําได้ทุกเมื่อ ไม่ใช่ว่ามาที่วัดแล้วจึงจะทําได้ อยู่ที่บ้านเราก็ทําได้ หนึ่งทําบุญเป็นนิจ

๒) คิดถึงความตายบ่อยๆ พระพุทธเจ้าทรงถามพระภิกษุว่า “พวกเธอคิดถึงความตายวันละกี่ครั้ง” หลายรูปก็ตอบว่า “คิดถึงวันละครั้ง...สองครั้ง....คิดถึงตอนกินข้าว...” แต่รูปสุดท้ายตอบว่า “คิดถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก หายใจไม่เข้าก็ตาย หายใจไม่ออกก็ตาย” ฉะนั้น การนึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออกนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะจะทําให้เราไม่ประมาท ไม่มัวเมาในความสุขความเจริญทั้งหลายที่เกิดขึ้นมา ฉะนั้น การนึกถึงความตายก็เป็นข้อหนึ่งในการเตรียม พอเราจะตาย แต่คนอื่นตายก่อน เราก็จะรู้แล้วว่าทุกคนต้องตายเหมือนกันหมด ตรงนี้ความเศร้าโศกเสียใจของเราก็จะน้อยลง

๓) วิจัยสมบัติ ก็คือจัดแจงแบ่งปัน แบ่งปันไม่ได้ก็คือเอาไว้กึ่งๆ กลางๆ เดี๋ยวมันจะไม่เลี้ยงเราอีก เขียนไว้เป็นพินัยกรรมย่อๆ ทรัพย์นาตรงนี้ให้ใคร เงินในธนาคารให้ใคร ถ้าถึงเวลาตายเราจะไม่กังวล ไม่เช่นนั้นเราจะกังวลและเป็นภาระแก่ลูกแก่หลาน คือจะไปแย่งกันตอนที่เราตายไปแล้ว เห็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์เนืองๆ ฉะนั้น การวิจัยสมบัตินี้ครูบาอาจารย์จะแนะนำไว้เลยว่า เขียนบอกไว้ แล้วเราจะได้ไม่ต้องเป็นห่วงว่า อันนี้ก็ไม่ได้บอกไว้ อันนี้ก็ไม่ได้เขียนไว้ว่าให้ใคร พอตายก็จะแย่งกันหมด การจัดแจงแบ่งปันนั้นไม่ควรจะแบ่งให้หมดนะ ต้องเก็บไว้ส่วนหนึ่ง เพราะลูกสมัยนี้ก็พึ่งพาไม่ค่อยจะได้ โยมต้องพึ่งตัวเอง ฉะนั้น อย่าให้หมด ให้หมดแล้วจะลําบาก

๔) ชําระหนี้ หนี้สินที่เรามีอยู่ ถ้ามีหนี้อยู่ก็ควรจะจัดการให้เรียบร้อย หนี้ท่านแยกออกไว้เป็น ๔ประการ

๑) หนี้ชีวิต เรามีพ่อมีแม่ ท่านเลี้ยงเรามา เราก็เลี้ยงท่านตอบ เลี้ยงทางกายคือให้ข้าวปลาอาหารให้เสื้อผ้าให้ปัจจัย เลี้ยงทางใจก็คือประพฤติตนเป็นคนดี สอบถามพ่อแม่ โทรไปหาโทรไปคุย นี่คือเลี้ยงทางใจ ช่วยทําธุระของท่าน ดํารงวงศ์สกุล ประพฤติตนให้เป็นคนดี และข้อสุดท้าย ถ้าท่านตายไปแล้วต้องทําบุญอุทิศส่วนกุศลให้ บางทีพ่อตายไปตั้งนานแล้ว ยังไม่เคยใส่บาตร ยังไม่เคยทําสังฆทานเลย ถ้าเป็นคนก็คงจะรอนานมาก หรือว่าบางทีปีหนึ่งทําครั้งหนึ่งก็คงจะยากอยู่ มันยังไม่สมบูรณ์ ฉะนั้น ทําทุกวันตายของพ่อก็จะดี พยายามหาเหตุต่างๆนี้เพื่อจะสร้างกุศลให้กับตนเอง พ่อ แม่ วันอาทิตย์-วันจันทร์ไม่ได้ ก็เอาเป็นวันคี่ เดือนแต่ละเดือน ทําบุญให้ทาน-รักษาศีล-เจริญภาวนา อันนี้ก็ถือว่าเป็นการทดแทน ถ้าพ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ ก็ควรนําท่านเข้ามาสู่วัดสู่วา ถ้าท่านไม่มีศรัธทา ทําให้ท่านมีศรัทธา ถ้าท่านไม่มีจาคะเสียสละ ก็ทําให้ท่านมีจาคะเสียสละ ถ้าท่านไม่มีศีลก็ทําให้ท่านมีศีล เพราะการทําตรงนี้ถือว่าเป็นการตอบแทนที่สูงที่สุด คือ ไม่เฉพาะแต่โลกนี้เท่านั้นที่ท่านจะมีความสุข ท่านตายไปแล้ว การให้ทาน-รักษาศีล-เจริญภาวนาจะเป็นเครื่องช่วยอุดหนุนให้พ่อแม่ของเราไปดี เราไม่ต้องส่งเสริมอะไรมาก เพราะท่านทําของท่านเอง ฉะนั้น เมื่อท่านมีชีวิตอยู่ เวลามีการทําบุญที่ไหน ผ้าป่าหรือถวายสังฆทาน เอาท่านไปด้วย ชวนท่านไปด้วย ท่านจะได้บุญกับเรา ถ้าท่านไปไม่ได้ก็เอาซองให้ท่าน ให้ท่านได้ยก ให้ท่านได้อนุโมทนา ให้ท่านได้มีส่วนร่วม ต่อไปเมื่อท่านเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะพูดได้เต็มปากว่า “แม่...ให้นึกถึงบุญตรงนั้นที่เราทํานะ” “พ่อ...ให้นึกถึงบุญตรงนั้นที่เราทํานะ” เราพูดได้ ไม่เช่นนั้นพ่อแม่เรานึกถึงบุญอะไรไม่ออก ไม่มีสําเภาไม่มีอะไรติดตัวที่จะข้ามวัฏฏสงสารนี้ไปได้ ฉะนั้น หนี้ชีวิตจึงเป็นส่วนที่สําคัญ

๒) หนี้บุญคุณ คนเราเกิดมาอยู่คนเดียวไม่ได้ เรามีเพื่อนมีพี่มีน้อง มีครูบาอาจารย์ที่สนับสนุนอยู่ ตรงก็เป็นหนี้บุญคุณที่ควรจะทดแทนด้วย

๓) หนี้ทรัพย์สินเงินทอง เป็นหนี้ใครก็ควรจะชดใช้ ชดใช้ไม่หxxx็ควรจะจดไว้ให้ลูกให้หลาน ไม่เช่นนั้น เมื่อเราตายไปแล้วเราจะต้องใช้หนี้ด้วย ฉะนั้น จดไว้จะได้ไม่กังวล มิฉะนั้นพอเราตายจะเป็นกังวลว่าไม่ได้บอกลูกบอกหลานไว้ จดไว้ว่าไปยืมเงินใครมา ไปกู้หนี้ยืมสินใครมา สมัยนี้เขาบอกว่าเป็นหนี้กันทั่วหน้า ฉะนั้ น ท่านบอกว่าต้องจดไว้ ชําระได้ก็ต้องชําระ ชําระไม่ได้ก็จดไว้ให้ลูกให้หลานช่วยดูแล

๔) หนี้เวรหนี้กรรม อย่าไปมีเวรมีกรรมกับใคร มิฉะนั้นเราจะตายด้วยจิตที่ไม่สงบ ถ้าใครล่วงเกินเรา ก็ควรให้อภัย แต่ถ้าเราล่วงเกินใครไว้ ก็ไปขออภัยเสีย อย่าถือโทษโกรธเคือง ก่อนเราจะมาปฏิบัติธรรม ถ้ามีใครที่ไม่พูดกัน มองหน้ากันไม่ได้ ก็ควรให้อภัยเสีย อภัยทานเป็นทานที่สูงสุด ไปพูด ไปคุย ไปดีกันเสีย คนเราโกรธกันไม่ดีหรอก เห็นหน้าก็ไม่มีความสุข พอได้ยินชื่อก็ไม่มีความสุขแล้ว ความโกรธเป็นความทุกข์อย่างยิ่ง โกรธเขาคนอื่นสบายแต่ในใจเรานั้นร้อน ฉะนั้น การจะชําระความโกรธได้ก็ต้องใช้ความเมตตาเป็นเครื่องแก้ คําว่าเมตตาเป็นเครื่องแก้ความโกรธ คนที่จะอยู่ได้อย่างมีความสุขจะต้องมีเมตตาเป็นเครื่องเกื้อหนุน จึงขอแนะนําให้กับผู้ที่ออกไปข้างนอกว่า พึงเจริญเมตตาอยู่เป็นประจําจะเป็นสิ่งที่ดี

การเจริญเมตตา

อานิสงส์ของการเจริญเมตตามีเป็นหมวดๆ หมวดแรกก็คือ หลับเป็นสุข - ตื่นเป็นสุข - ไม่ฝันร้าย เหล่านี้เป็นอานิสงส์ที่ได้กับตัวเอง เรามักเข้าใจว่าการแผ่เมตตาเป็นการให้คนอื่นได้ แต่ที่จริงแล้วได้กับตนเองก่อน เมื่อตนเองมีแล้วจึงจะแผ่ให้กับคนอื่นได้ หมวดที่สอง ทําให้มนุษย์รัก - อมนุษย์รัก - เทวดารักษา มนุษย์ก็คือคนด้วยกันก็จะรัก อมนุษย์คือผู้ไม่ใช่คนก็จะรัก และเทวดาก็จะตามรักษาเราไปตลอดด้วย หมวดต่อไป ท่านว่า จะไม่ตายด้วยยาพิษ - ไม่ตายด้วยศาสตราวุธ - ไม่ตายด้วยสิ่งที่ไม่ดีต่างๆ ก็เป็นอานิสงส์ประการหนึ่ง หมวดต่อไป ใบหน้าของผู้ที่แผ่เมตตาจะผ่องใส ไม่ต้องใช้เครื่องสําอางอะไร สังเกตดูผู้ที่มีเมตตา ผู้ที่อายุมากก็ดี ครูบาอาจารย์ก็ดี ไม่ต้องใช้แป้ง แต่หน้าท่านจะนวล สีหน้าท่านจะมีเมตตา หมวดต่อไป จิตจะเป็นสมาธิได้ไว

การแผ่เมตตาจะมี ๒ อย่าง คือ แผ่ต่อหน้าและแผ่ลับหลัง แผ่ลับหลัง เช่น การแผ่เมตตาที่ท่านอาจารย์นําว่า “สัพเพ สัตตา... สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงอยู่เป็นสุข” นี้เป็นแผ่ลับหลัง ที่เราไม่เห็น ส่วนแผ่ต่อหน้าก็คือ เมื่อเห็นใคร ให้นึกถึงแต่สิ่งดีๆ นึกง่ายๆ ก็คือ “ขอให้คุณมีความสุข...อย่ามีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย” การนึกอย่างนี้มิใช่ท่องไปเฉยๆ แต่ต้องน้อมจิตให้เกิดความปรารถนาดีด้วย แต่ในขณะปฏิบัติธรรมนี้ห้ามทํา เพราะจะเสียวิปัสสนา ให้ไปทําที่บ้านนะ พบหน้าพ่อแม่ก็แผ่ให้ก่อน “ขอให้คุณแม่มีความสุข...อย่ามีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย” เห็นหน้าพ่อ เห็นหน้าเพื่อน ก็ให้นึกอย่างนี้ ที่ทํางานหรือที่ไหนก็แล้วแต่ ทําอยู่สักประมาณหนึ่งสัปดาห์ แล้วสังเกตดูจิตของตน จิตของเราจะอ่อนลง จากคนที่เคยโกรธเคยโมโหง่ายก็จะเบาลง จากคนที่ไม่ค่อยจะให้อภัยใคร ก็จะให้อภัยได้มากขึ้น ถ้าทํานานไปๆ ก็จะได้อานิสงส์ดังกล่าวแล้ว นี้จึงเป็นส่วนที่ดี เป็นการแก้โทสะ ตัวอย่างที่เห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์ บางคนมีโทสะร้าย วูบเดียวแค่นั้นเอง ก็ฆ่าคนได้ตั้งมากมาย มีรายหนึ่งเป็นตํารวจที่จังหวัดเชียงใหม่ ไปโบกรถแล้วคนเขาด่า ก็เลยโกรธชักปืนออกมายิง ตายไปสองสามคนชั่ววูบเดียว นี่คือโทสะนั่นเอง

พระพุทธองค์ตรัสว่า โทสะนี้มีต้นหวานแต่มีปลายขม คําว่า“ต้นหวาน” คือ เมื่อเรามีโมโห ถ้าได้ด่าได้ทุบได้ตีแล้วสบายใจ คือมีความสุข มันหวาน จากนั้นมี“ปลายขม” คือ โดนจับ โดนอาฆาตพยายาท ดังนั้น การจะละจากความโกรธได้ ต้องนึกถึงโทษของความโกรธว่ามีอะไรบ้าง นึกถึงว่าความโกรธทําให้เราเป็นทุกข์ คนอื่นนั้นไม่เป็นอะไรหรอก แต่ตัวของตัวเองนั้นจะเป็นทุกข์ ฉะนั้น ต้องใช้สติ ที่เราเจริญสตินั้น สติเป็นตัวแรก “โกรธหนอๆ” ที่จริงแล้ว มันมาจากไม่ชอบก่อน และ มันมาจากการได้ยิน หรือมาจากการได้เห็นทางตาก่อน โยมจึงต้องกลับไปฝึกกําหนด “ได้ยินหนอๆ” “เห็นหนอๆ” ถ้าไม่ฝึกกําหนด มันก็เข้ามาก็อยู่ในใจแล้ว พอไม่ชอบใจ แต่มีสติกําหนดได้ ก็กําหนด“ไม่ชอบหนอๆ...ไม่พอใจหนอๆ” ถ้ากําหนดทันจนดับก็ดับไป แต่ถ้าไม่ดับก็จะกระจายออกไปใหญ่อีก แต่ถ้าเจริญสติแล้วจะไม่กลาย แต่จะหยุดอยู่เพียงแค่นั้น จะเป็นเพียงสักแต่ว่าได้ยิน “ได้ยินหนอๆ” “เห็นหนอๆ” ถ้าไม่ชอบ รู้แต่ว่า“ไม่ชอบหนอๆ” แต่ทําให้เป็นกายกรรม ไปตีเขาไปด่าเขาค่อนข้างที่จะน้อย ฉะนั้น การที่พวกเราเจริญสติจึงเป็นด่านป้องกันเลย เรียกว่าเป็นสิ่งยับยั้งให้จิตของเราไม่ถลําไปสู่ความชั่ว คอยดึงไว้

ฝึกสติให้ต่อเนื่อง

ฉะนั้น สติจึงเป็นส่วนสําคัญ เมื่อเรากลับไป ต้องไปปฏิบัติต่อ ไป“หนอ”ต่อที่บ้าน จะเดินก็“ขวา...ซ้ายๆ” จะทําอะไรก็มีสติอยู่กับตรงนั้น แม้จะกําหนดบริกรรมไม่ทันก็ให้มีสติรู้ ถ้าบริกรรมทันก็ควรที่จะบริกรรม อันนี้ก็เป็นสิ่งที่จําเป็น แต่ถ้าโยมเรียนไปปฏิบัติธรรมไปแล้วก็เอาทิ้งไว้ กลับไปก็ไม่ได้ทําต่อ แม้แต่อริยาบถย่อยก็ไม่ทํา พอวันดีคืนดีมาอีกทีหนึ่งก็เหมือนมาเริ่มต้นใหม่ เราจะรู้สึกว่าไม่มีความก้าวหน้าเลย นึกไปนึกมาว่าวิธีนี้คงจะไม่ถูกกับเรา จริตเราคงไม่ถูกกับอย่างนี้ ที่จริงแล้ว ต้องไป“หนอ”ต่อที่บ้านเท่าที่จะ“หนอ”ต่อได้ ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า ระลึกได้ตอนไหนให้กําหนดตอนนั้น ยืนอยู่ตอนไหนก็กําหนดตอนนั้น “ยืนหนอๆ” การระลึกก็คือการเจริญสติ ระลึกได้ก็คือเรากําลังยืนอยู่นะ เรากําลังเดินอยู่นะ เรากําลังกินข้าวอยู่นะ เป็นการระลึกแบบหยาบๆในชีวิตประจําวัน อาจไม่ต้องละเอียดเหมือนกับอยู่ที่นี่ พอเราทําบ่อยๆ สติของเราก็จะค่อยๆเจริญขึ้นๆ มีเวลามาปฏิบัติธรรมจะไปได้ไวมาก อาจไม่ต้องมานับหนึ่งแล้ว นับถึงสามแล้ว พอเข้ามาวันแรกก็กําหนดได้เลย ไม่เช่นนั้นพอมาวันแรกก็ต้องกําหนดหนึ่งสองสาม ก็ไม่ค่อยมีสภาวธรรม ก็ง่วง ก็ฟุ้ง แล้วก็กําหนดอะไรไม่ค่อยจะได้ พอครบสามวันก็กลับแล้ว พอครบเจ็ดวันกําลังจะดีก็กลับ อันนี้ก็เป็นอย่างนี้ วนไปวนมา อยู่อย่างนี้

ฉะนั้น ถ้าเราทําต่อเนื่องจะเห็นผล ขอฝากไว้ว่า ญาติโยมที่กลับบ้านไปคราวนี้ อย่าไปทิ้งการกําหนด ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เมื่อกําหนดแล้วเราจะได้ประโยชน์ทั้งสามอย่าง คือ หนึ่งประโยชน์ในชาตินี้ก็คือ มีสติมีสมาธิ เป็นเครื่องป้องกันคุ้มครองจิตของเรา สองประโยชน์ในชาติหน้า ตรงที่เราทํา“หนอๆ” นี้เป็นภาวนามัย เป็นบุญที่สําเร็จได้ด้วยการเจริญภาวนา ถ้าตายไปก็เอาบุญตรงนี้ไปทานได้ไปฉันได้ เอาไปเป็นที่พึ่งได้ และก็ประโยชน์อย่างสูงสุดก็คือ ถ้าตั้งใจปฏิบัติไปกิเลสจะน้อยลง กิเลสขาดไป อาจได้เป็นอริยบุคคลชั้นใดชั้นหนึ่ง ตรงนี้ไม่ต้องไปคิดว่าชั้นไหนแล้ว แต่ให้ทําไปจนกิเลสของตนเองน้อยลง โลภะน้อยลง โทสะน้อยลง โมหะน้อยลง ความยึดมั่นถือมั่น-สักกายทิฏฐิที่เราพยายามขูดพยายามเกากันให้มันหมดไป มันก็จะรู้ได้ด้วยตัวของตัวเอง ไม่ต้องถามอาจารย์ว่าได้ญาณไหนแล้ว เพราะอาจารย์ก็ไม่รู้ แต่ญาติโยมจะรู้ได้ด้วยตัวของตัวเอง ว่ากิเลสของเราออกไปขนาดไหน เหมือนกับที่ท่านอุปมาว่า เหมือนกับช่างไม้หรือคนตัดไม้ที่จับด้ามมีดอยู่ทุกวันๆ จับด้ามมีดแล้วก็ฟันไม้อยู่ทุกวันๆ วันแรกๆไม่รู้หรอก พอจับครบสักเจ็ดวันแล้วไปดูด้ามมีดจะมีรอยมืออยู่ แต่บอกไม่ได้ว่าวันนี้รอยมือนั้นลึกเข้าไปในด้ามไม้กี่เซ็นต์ บอกไม่ได้ฉันใด การที่เรากําหนด“หนอ..หนอ”นี้ไม่รู้ว่ากิเลสมันหมดไปขนาดไหน ขณะที่เรากําหนดอยู่นี้จิตของเราจะบริสุทธิ์ จะป้องกันไม่ให้กิเลสเข้ามา นอกจากจะป้องกันไม่ให้กิเลสเข้าแล้ว กิเลสที่อยู่ข้างในก็จะแห้งไป กิเลสใหม่ก็ไม่สามารถจะเพิ่มเติมได้ เรียกว่าไม่มีการส่งเสบียง กิเลสที่อยู่ข้างในก็จะหมดไป หายไปในที่สุด

ก็ขอฝากไว้สําหรับผู้ที่จะออกไป ว่าให้ปฏิบัติ ส่วนความไม่ดีอะไรในตัวเราให้เอาออกไป ความดีที่เราทําแล้วหรือว่ายังทําไม่เต็มที่ ก็ให้พยายามทําในช่วงของเทศกาลเข้าพรรษานี้ และถ้ามีโอกาส วันเสาร์ หรือวันอาทิตย์ ก็มาต่อที่นี่ ไม่ต้องรอวันพระ เพราะบางทีตั้งใจว่ารอวันพระ วันพระก็ไม่ตรงอีก เสาร์-อาทิตย์ก็มาปฏิบัติธรรมได้ ถ้าตั้งใจว่าจะปฏิบัติความดี ฉะนั้น ความตั้งใจต้องมีความอดทน ต้องมีอธิษฐานบารมีด้วย ก็คือ ตั้งใจที่จะทํา ถ้าเราตั้งใจแล้วไม่มีอะไรหรอกที่จะเหนือความสามารถของเราไปได้ ฉะนั้น ก็ขอฝากธรรมบรรยายในวันนี้ให้กับญาติโยมทั้งหลาย ตลอดไปจนถึงพระคุณเจ้า ผู้ที่จะอยู่ต่อไปจนถึงสามเดือน ก็ขอให้ตั้งใจปฏิบัติและทบทวนว่ายังมีสิ่งใดที่ยังขาดตกบกพร่อง ผู้ที่จะออกไปใช้ชีวิตข้างนอกก็ขอให้พยายามดํารงตนให้อยู่ในศีลธรรม ทําความดีให้มากยิ่งๆ ขึ้น

ในที่สุดแห่งการบรรยายธรรมนี้ ขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เจ้าอาวาสที่ให้โอกาสมาบรรยายธรรมให้เป็นธรรมทาน วันนี้รู้สึกได้บุญมาก คือ ให้ความรู้ และความรู้ตรงนี้จะเป็นประโยชน์มาก ถ้าญาติโยมทั้งหลายนําไปปฏิบัติ แล้วก็จะได้บุญยิ่งๆขึ้นไป ในที่สุดนี้ ขออ้างคุณพระศรีรัตนตรัย บุญกุศลที่ญาติโยมทั้งหลายตลอดจนพระคุณเจ้าที่ได้สั่งสมมา จงเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ทุกๆท่านมีอินทรีย์แก่กล้า มีศรัทธา วิริยะ สติและปัญญาในการปฏิบัติธรรม ให้มีความก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไป คิดและปรารถนาสิ่งใดที่ชอบ ประกอบด้วยธรรมแล้ว ก็ขอให้ความปรารถนานั้นสมดังที่ต้องการ ทุกประการ เทอญ

...........................................................



 
สุชิน
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 26 ก.ย. 2005, 6:51 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน



21722172.jpg


รูปพระอาจารย์มหาทองมั่น สุทฺธจิตฺโต ผู้บรรยายธรรม ครับ
 
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง