Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 อิทธิบาท ๔ (สมเด็จพระญาณสังวรฯ) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 28 ก.ย. 2005, 8:05 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

อิทธิบาท ๔

สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก



บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย ได้ทรงเป็นพระภควาที่เราแปลทับศัพท์มาเป็นไทยว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งมีความหมายประการหนึ่งว่าผู้จำแนกแจกธรรมสั่งสอนประชาชน ดังที่ได้ทรงจำแนกธรรมะออกเป็นหมวดธรรมต่างๆ และที่ตรัสรวมเข้าเป็นหมวดโพธิปักขิยธรรม ซึ่งกำลังแสดงอยู่นี้ ได้แสดงมาแล้วในหมวดที่ ๑ คือสติปัฏฐาน ๔ หมวดที่ ๒ คือ สัมมัปปธาน ๔ วันนี้จะแสดงหมวดที่ ๓ คือ อิทธิบาท ๔

คำว่า อิทธิบาท นั้น อิทธิเราแปลกันเป็นไทยอย่างหนึ่งว่าฤทธิ์ ดังที่มีแสดงไว้ในพุทธศาสนาเช่น อภิญญา ๖ วิชชา ๘ ซึ่งมีข้อ อิทธิวิธิ การแสดงฤทธิ์ได้ ดั่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงยกย่องพระโมคคัลลานะเป็นเอตทัคคะ คือเป็นพระสาวกผู้เลิศในทางมีฤทธิ์มาก


๏ ทางแห่งความสำเร็จ

อีกอย่างหนึ่งคำว่า อิทธิ แปลว่าความสำเร็จ ความสำเร็จแห่งการปฏิบัติ ขั้นหนึ่งๆ ก็เป็นอิทธิอย่างหนึ่ง จนถึงเป็นความสำเร็จอย่างสูง คือสำเร็จความรู้ธรรมเห็นธรรม อันเป็นภูมิอริยชน จนถึงความตรัสรู้อันเป็นความรู้สูงสุดในพุทธศาสนา ก็เป็นอิทธิคือความสำเร็จ คำว่า บาท นั้นแปลตามศัพท์ว่า เหตุที่ให้บรรลุถึง เหตุที่ให้ถึง อันได้แก่ปฏิปทาคือทางปฏิบัติ หรือมรรคคือทาง บาท แห่งอิทธิ ก็คือเหตุที่ให้บรรลุถึงความสำเร็จ หรือบรรลุถึงฤทธิ์ ทางปฏิบัติมรรคาคือทางแห่งฤทธิ์ หรือแห่งความสำเร็จ

พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงอิทธิบาทไว้ ๔ ประการ คืออิทธิบาทอันประกอบด้วย ความประกอบความเพียรด้วยสมาธิ ที่มีฉันทะคือความพอใจยังให้บังเกิดขึ้น ข้อ ๑ อิทธิบาทอันประกอบด้วย ความประกอบความเพียรด้วยสมาธิ ที่มีวิริยะคือความเพียรยังให้บังเกิดขึ้น ข้อ ๑ อิทธิบาทอันประกอบด้วย ความประกอบความเพียรด้วยสมาธิ ที่มีจิตตะคือความเอาใจใส่ยังให้บังเกิดขึ้น ข้อ ๑ อิทธิบาทอันประกอบด้วย ความประกอบความเพียรด้วยสมาธิ ที่มีวิมังสาคือความใคร่ครวญไตร่ตรองยังให้บังเกิดขึ้น ข้อ ๑ เป็นอิทธิบาท ๔ ประการ

เพราะฉะนั้น อิทธิบาททั้ง ๔ ที่มาพูดย่อๆ ว่า ได้แก่ ฉันทะ ความพอใจ วิริยะ ความเพียร จิตตะ ความเอาใจใส่ วิมังสา ความไตร่ตรองพิจารณา จึงเป็นการกล่าวอย่างย่อๆ


๏ ปธานะสังขาระ

แต่เมื่อกล่าวตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เอง ก็เป็นไปดั่งที่ได้ยกมาแสดงในเบื้องต้นนั้น คืออิทธิบาทนั้นมิใช่มีความสั้นๆ เพียง ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา แต่ว่าจะเป็นอิทธิบาทได้ต้องประกอบด้วย ความประกอบความเพียร มาจากคำบาลีว่า ปธานะสังขาระ หรือ ปธานสังขาร

คำว่า ปธานะ ก็คือสัมมัปปธาน ๔ อันเป็นหมวดที่ ๒ นั้น สังขาระ คือสังขาร ก็ได้แก่สังขารคือความปรุงแต่ง ในที่นี้ใช้แปลว่าความประกอบ เพราะความประกอบนั้นก็คือปรุงแต่งนั้นเอง อย่างเช่น ประกอบไม้ให้เป็นโต๊ะเป็นเก้าอี้ เป็นบ้านเป็นเรือน ก็คือเอาของหลายๆ อย่างมาประกอบกันเข้า ก็มีความหมายตรงกับคำว่าความปรุงแต่ง ซึ่งมีความหมายว่าต้องมีหลายอย่างมาประกอบกันเข้า อย่างปรุงอาหารก็ต้องมีของหลายอย่าง มาต้มมาแกงปรุงเป็นอาหารขึ้น เพราะฉะนั้น คำว่าความประกอบหรือความปรุงแต่ง จึงมีความหมายเป็นอันเดียวกัน และออกมาจากคำเดียวกันว่า สังขาร หรือ สังขาระ ความปรุงแต่งหรือความประกอบ ปธานสังขาร ก็คือประกอบความเพียร อันได้แก่สัมมัปปธาน ๔ ที่แสดงแล้ว

เพราะฉะนั้น คำว่าอิทธิบาทนั้นจึงรวมสัมมัปปธาน ๔ เข้ามาด้วย แต่ว่ามีขยายความออกไปว่า ความประกอบปธานะคือความเพียรนั้น ประกอบด้วยสมาธิที่มี ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ยังให้บังเกิดขึ้น ก็คือธรรมะทั้ง ๔ ข้อนี้ อันได้แก่ฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสา ยังให้เกิดสมาธิขึ้น คือความตั้งใจมั่น ไม่กลับกลอกคลอนแคลน

สมาธิคือความตั้งใจมั่นนี้ที่ธรรมะทั้ง ๔ ข้อนั้นให้บังเกิดขึ้น ก็ทำให้เกิดความประกอบความเพียร อันเป็นสัมมัปธานทั้ง ๔ ข้อนั้น เพราะฉะนั้นฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสา จึงเป็นอธิปไตยคือเป็นใหญ่ อันจะนำให้เกิดสมาธิความตั้งใจมั่นเพื่อประกอบความเพียร อันเป็นสัมมัปปธานทั้ง๔ นั้น เมื่อเป็นดั่งนี้ จึงจะเป็นปฏิปทาความปฏิบัติหรือทางปฏิบัติ เป็นมรรคคือมรรคา คือทางแห่งอิทธิความสำเร็จ หรือแห่งฤทธิ์ทั้งหลาย


๏ อิทธิบาทเป็นเหตุให้สัมมัปปธานสำเร็จได้

ในหมวดสัมมัปปธาน ๔ นั้นก็ได้มีเริ่มตรัสท้าวมาถึงอิทธิบาททั้ง ๔ นี้ด้วยแล้ว คือดังที่ตรัสไว้ว่า ยังฉันทะคือความพอใจให้เกิดขึ้น พยายามเริ่มความเพียร ประคองจิตตั้งความเพียรขึ้นมา ในการระวังบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น ในการละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ในการยังกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ในการรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว และปฏิบัติเพิ่มเติมให้บริบูรณ์

เพราะฉะนั้น ครั้นตรัสสัมมัปปธาน ๔ และมีท้าวมาถึงอิทธิบาท อันเป็นอุปการธรรมในการปฏิบัติสัมมัปปธานทั้ง ๔ นั้นด้วยแล้ว จึงมาตรัสถึงหมวดอิทธิบาท ๔ นี้ และก็ได้ตรัสว่าประกอบด้วย ความประกอบปธานะทั้ง ๔ นั้น ที่ตรัสว่า ปธานะสังขาระ ความประกอบความเพียร ด้วยสมาธิที่มีฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสาให้บังเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น เมื่อแสดงความให้เนื่องกันแล้วจึงกล่าวได้ว่า อิทธิบาทดังที่ตรัสไว้นี้เองเป็นเหตุให้ประกอบปธานะ คือสัมมัปปธานทั้ง ๔ นั้นสำเร็จขึ้นได้ และความต้องการของอิทธิบาทในที่นี้ก็คือว่า เป็นเหตุให้ประกอบความเพียร อันเป็นสัมมัปปธานทั้ง ๔ นั้นได้สำเร็จ

โดยอาศัยฉันทะสมาธิ วิริยะสมาธิ จิตตะสมาธิ วิมังสาสมาธิ คือสมาธิที่มีฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสายังให้บังเกิดขึ้น


๏ สมาธิในสัมมัปปธาน

และเมื่อกล่าวจำเพาะสมาธิก็กล่าวได้ว่า ในการประกอบความเพียรอันเป็นสัมมัปปธานทั้ง ๔ นั้น จะต้องมีสมาธิ คือความตั้งใจมั่นเพื่อที่จะประกอบความเพียร เพื่อประกอบความเพียรอันเป็นสัมมัปธานทั้ง ๔ ข้อนั้น ถ้าขาดสมาธิเสียแล้วความประกอบความเพียรอันเป็นสัมมัปปธาน ๔ นั้นก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะว่าจิตใจนี้ไม่ตั้งเพื่อที่จะทำให้สัมมัปปธานทั้ง ๔ นี้บังเกิดขึ้น คือจิตนี้ไม่ตั้งมั่นในอันที่จะระมัดระวัง อันเรียกว่า สังวรปธาน ในอันที่จะละ อันเรียกว่า ปหานปธาน ในอันที่จะปฏิบัติให้มีให้เป็นขึ้น อันเรียกว่า ภาวนาปธาน ในอันที่จะรักษากุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นไว้ไม่ให้เสื่อม และให้เพิ่มเติมให้สมบูรณ์ จึงต้องมีสมาธิคือความตั้งจิตมั่นในอันที่จะประกอบความเพียร สมาธิในที่นี้จึงมีความหมายว่าความตั้งจิตมั่นที่จะประกอบความเพียรทั้ง ๔ ข้อนั้น ไม่เปลี่ยนจิตเป็นอย่างอื่น

เพราะฉะนั้น จึงไม่หมายถึงการที่มานั่งปฏิบัติ ภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างที่เรียกว่าทำสมาธิกันทั่วๆ ไป แต่หมายเอาถึงความที่ตั้งจิตมั่นในอันที่จะประกอบความเพียร เมื่อมีความตั้งจิตมั่นดั่งนี้แล้ว การประกอบความเพียรอันเป็นสัมมัปปธานทั้ง ๔ ซึ่งตรัสเรียกในหมวดอิทธิบาทนี้ว่า ปธานสังขาร ปรุงแต่งความเพียร หรือประกอบความเพียร จึงจะบังเกิดขึ้นได้ แต่ว่าสมาธินั้นก็จำต้องอาศัยความมีฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสาทั้ง ๔ ข้อนี้ มาทำให้บังเกิดเป็นสมาธิขึ้น ถ้าขาดทั้ง ๔ ข้อนี้ สมาธิคือความตั้งจิตมั่นในอันที่จะประกอบความเพียรก็ไม่บังเกิด


๏ ความเนื่องกันของธรรมปฏิบัติ

เพราะฉะนั้น ธรรมะทั้ง ๔ ข้อนี้จึงมีความสำคัญ อันจะเป็นอุปการะแก่ความประกอบความเพียรทั้ง ๔ หากว่าจะกล่าวให้เนื่องกันมาจากสติปัฏฐาน ก็กล่าวได้ว่า สติปัฏฐานทั้ง ๔ นั้นเป็นข้อธรรมที่เป็นที่ตั้งของความปฏิบัติตั้งสติ เป็นหลักในการปฏิบัติธรรมทางจิต หรือว่าจิตภาวนา เป็นข้อปฏิบัติทางจิตภาวนาที่เป็นตัวหลัก หลักสำคัญ แต่ว่าจะต้องอาศัยอุปการะธรรมคือสัมมัปปธาน ๔ มาเป็นเครื่องอุปการะ ให้การปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้บังเกิดขึ้น เป็นไป และก้าวหน้า จนกระทั่งสำเร็จเป็นสติปัฏฐานทั้ง ๔ ขึ้นได้

และสัมมัปปธานทั้ง ๔ นี้เล่า ก็ต้องมีอิทธิบาททั้ง ๔ นี้เป็นอุปการะ ถ้าขาดสัมมัปปธาน ๔ สติปัฏฐานก็มีไม่ได้ จึงต้องมีสัมมัปปธาน ๔ ช่วย ถ้าขาดอิทธิบาททั้ง ๔ สัมมัปปธานทั้ง ๔ ก็มีไม่ได้ จะต้องมีอิทธิบาท ๔ ช่วย คือจะต้องมีฉันทะคือความพอใจในความประกอบความเพียร รักที่จะประกอบความเพียร ไม่เกลียดความประกอบความเพียร ไม่รังเกียจความประกอบความเพียร ไม่เฉยๆ ต่อความประกอบความเพียร ต้องมีความพอใจความรักที่จะประกอบความเพียร ข้อ ๑

ต้องมีวิริยะคือความเพียร คือความกล้าที่จะประกอบความเพียร วิริยะนั้นแปลว่าความกล้า และวิริยะคือความกล้านี้ก็ตรงกันข้ามกับความไม่กล้า คือความย่อหย่อน อันหมายถึงความเกียจคร้าน จะต้องมีความไม่เกียจคร้าน ความขยันลุกขึ้นประกอบความเพียร ก็คือมีจิตใจที่กล้าที่แข็ง ในอันที่จะประกอบกระทำความเพียรนั้นเอง ข้อ ๑

ต้องมีจิตตะคือมีจิต จิตที่ตั้งคือเอาใจใส่ดูแล จิตใจไม่ทอดทิ้งแต่จิตใจตั้งดูแล ถ้าขาดจิตใจตั้งดูแล จิตใจทอดทิ้งแล้ว ก็เกิดความประกอบความเพียรขึ้นไม่ได้ หรือเกิดขึ้นได้ก็ย่อหย่อน เพราะเมื่อไม่มีจิตเข้าประกอบก็เป็นไปไม่ได้ ต้องมีจิตเข้าประกอบ จิตต้องตั้งมั่น แน่วแน่ และดูแล ข้อ ๑

ต้องมีวิมังสาคือจิตที่ตั้งมั่นนั้นจะต้องดูแล ก็คือต้องมีวิมังสาคือความใคร่ครวญพิจารณา ให้รู้จักทางและมิใช่ทาง ให้รู้จักการปฏิบัติที่ตั้งขึ้นได้ หรือไม่ตั้งขึ้นได้ ที่ก้าวหน้าหรือถอยหลัง ด้วยเหตุอะไร จะต้องรู้ ในการปฏิบัติประกอบความเพียรของตน โดยเหตุโดยผล โดยถูกทางโดยผิดทาง อะไรที่เป็นเหตุให้ย่อหย่อนเป็นเหตุให้ผิดทาง ก็ต้องรู้ อะไรที่เป็นเหตุให้ความประกอบความเพียรตั้งอยู่และก้าวหน้า เมื่อถูกทางก็ให้รู้ เพื่อว่าความประกอบความเพียรนั้นจะได้ดำเนินขึ้นได้ และเป็นไปโดยถูกต้องไม่ผิดทาง


๏ ผลหลายอย่างในการปฏิบัติ

เพราะฉะนั้นทั้ง ๔ ข้อนี้สำคัญทั้งนั้น เพราะในการประกอบความเพียรนั้น จะต้องประสบกับผลที่บังเกิดขึ้นหลายอย่าง เป็นผลของกิเลสอันปฏิปักษ์ต่อสัมมัปปธาน คือความประกอบความเพียรที่ชอบก็มี เป็นผลของตัวความเพียรก็มี ซึ่งให้ผลปรากฏเป็นสุขก็มี เป็นทุกข์ก็มี และบังเกิดความประสบการณ์ในการปฏิบัติ ซึ่งมีเป็นขั้นตอน อาจจะเห็นนั่นเห็นนี่ในภายนอกก็มี จะต้องมีวิมังสาคือความใคร่ครวญพิจารณา ว่าสิ่งที่รู้ที่เห็นในระหว่างปฏิบัตินั้น บางอย่างก็เป็นอุปกิเลส คือเป็นเครื่องเศร้าหมองของปฏิปทาที่ปฏิบัติไปสู่ความตรัสรู้

ถ้าหากว่าขาดปัญญาที่รู้จักก็ไปสำคัญตนว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ บางทีก็ไปเกิดความกลัวเมื่อไปพบนิมิตที่น่ากลัว บางทีก็เกิดความเข้าใจผิดในเมื่อได้ประสบกับปีติสุขต่างๆ ที่บังเกิดขึ้น

ดังที่มีเล่าถึงว่าท่านที่ปฏิบัติธรรมในป่าบางท่าน เมื่อท่านปฏิบัติไปได้รับความรู้และความสุข จิตใจปลอดโปร่งสะอาด ถึงกับร้องขึ้นว่าเราสำเร็จแล้วดังนี้ก็มี และต่อมาเมื่อถึงวันรุ่งขึ้นจึงรู้สึกว่ายังไม่สำเร็จ เพราะในขณะที่จิตบริสุทธิ์สะอาดนั้นรู้สึกเหมือนไม่มีกิเลส แต่เมื่อพ้นจากการปฏิบัตินั้นแล้ว จิตกลับสู่ภาวะปรกติรับอารมณ์ทั้งหลาย จึงรู้ว่ายังมียินดียินร้าย ยังไม่สำเร็จ อย่างนี้ก็มี จึงต้องมีวิมังสาความใคร่ครวญพิจารณานี้ อันเป็นข้อสำคัญ และเมื่อมีทั้ง ๔ ข้อนี้แล้ว ก็ทำให้ได้สมาธิคือความตั้งใจมั่น ในอันที่จะประกอบความเพียร ความประกอบความเพียรจึงบังเกิดขึ้นได้

ดั่งนี้แหละจึงกล่าวได้ว่าเป็นอิทธิบาท ซึ่งมีฉันทะเป็นใหญ่เรียกว่าฉันทาธิบดี มีวิริยะเป็นใหญ่เรียกว่ามีวิริยาธิบดี มีจิตตะเป็นใหญ่เรียกว่ามีจิตตาธิบดี มีวิมังสาเป็นใหญ่เรียกวิมังสาธิบดี ก็จะนำให้ได้สมาธิในการประกอบความเพียร แล้วก็ทำให้ประกอบความเพียร ซึ่งเป็นสัมมัปปธานะ นำให้การปฏิบัติในสติปัฏฐานนั้นสำเร็จอิทธิ คือความสำเร็จในการปฏิบัติดังกล่าว ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป



.......................................................

คัดลอกมาจาก
เทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ
http://www.mahayana.in.th/tsavok/tsavok.html
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง