Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 “อานาปานสติสูตร-มหาสติปัฏฐานสูตร” : พระครูเกษมธรรมทัต อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 13 ก.ย. 2005, 10:14 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

“อานาปานสติสูตร-มหาสติปัฏฐานสูตร”
พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํสี)
เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๔๓



นมตถุ รตนตตยสส ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ขอความผาสุกความเจริญในธรรมจงมีแก่ญาติสัมมาปฏิบัติธรรมทั้งหลาย

ต่อไปนี้จะได้ปรารภธรรมะตามหลักคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอให้ท่านทั้งหลายได้พึงตั้งใจสดับตรับฟังด้วยดี เจริญสติในการฟังธรรม ให้ตั้งใจทำกรรมฐานในการฟังธรรมไปในตัว คือมีสติระลึกรู้ตัวทั่วพร้อม ให้มีสติอยู่กับตัว ใจอยู่กับตัว ถ้าขาดสติจิตก็จะคิดล่องลอยไปข้างนอกตัวไปเรื่องราวต่างๆ ก็เป็นเหตุให้เกิดความฟุ้งซ่าน เกิดความเศร้าหมอง เกิดความหงุดหงิดได้ ฉะนั้นพยายามรู้สึกตัวไปเสมอๆ เรียกว่ามีสติระลึกรู้เข้ามาที่กายที่จิตใจของตนเอง

วันนี้จะได้แสดงธรรมะเกี่ยวกับเรื่องสติปัฏฐานอันเป็นข้อปฏิบัติแห่งความพ้นทุกข์ สำหรับในเรื่องสติปัฏฐานนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ มีทั้งในส่วนที่กล่าวเป็นการปฏิบัติโดยเจาะจงกับในส่วนที่เป็นการปฏิบัติกว้างขวางทั่วไป ที่ปฏิบัติโดยเจาะจงทรงแสดงไว้ในอานาปานสติสูตร คือการปฏิบัติเจาะจงเฉพาะการกำหนดดูลมหายใจเท่านั้น ถ้าเฉพาะลมหายใจแล้วก็เชื่อมสู่สติปัฏฐานทั้งสี่โดยการใช้ฐานลมหายใจเป็นหลัก เรียกว่าอานาปานสติสูตร มีสิบหกขั้นด้วยกัน

ก็จะแสดงไว้เพื่อบางท่านมีความถนัดในวิธีการอย่างนี้ ก็ใช้วิธีการปฏิบัติอย่างนี้ คือการเจริญเฉพาะอานาปานสติ การกำหนดลมหายใจเข้าออกเรื่อยไปจนกว่าจะเกิดสมาธิ เมื่อเกิดสมาธิก็จะทำให้จิตใจมีเวทนาที่ดีงาม คือมีสุขเวทนา มีโสมนัสเวทนาเกิดขึ้น เรียกว่าเกิดปีติ เกิดความสุข หลังจากนั้นจึงมากำหนดเวทนา กำหนดจิต กำหนดธรรม ทำสติปัฏฐานสี่ให้สมบูรณ์ เรียกว่าเป็นการปฏิบัติโดยเจาะจงเฉพาะลมหายใจเข้าออก เรียกว่าอานาปานสติสูตร ว่าด้วยเรื่องการดูเฉพาะลมหายใจ แล้วก็ครอบคลุมไปในสติปัฏฐานสี่

ส่วนอีกสูตรหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงมหาสติปัฏฐาน เรียกว่ามหาสติปัฏฐานสูตร มีคำว่ามหาสติปัฏฐาน ก็เป็นการปฏิบัติกระจายทั่วไปไม่เจาะจง มีข้อที่จะให้กำหนดมากมายขึ้นไป แล้วแต่ว่าจะถนัดกำหนดรู้อย่างไร หรือกำหนดหลายๆ อย่าง เช่น ในข้อกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็มีทั้งลมหายใจ มีทั้งอิริยาบถสี่ มีทั้งอิริยาบถย่อย มีอาการสามสิบสอง มีธาตุสี่ มีทรากศพเก้าชนิด เรียกว่ากำหนดรู้หลายๆ อย่าง

แต่สำหรับอานาปานสติสูตรนั้นแสดงเจาะจงกำหนดเฉพาะลมหายใจเท่านั้น จนกว่าจะเกิดสมาธิ ถ้าเรามาพิจารณาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้จะมีทั้งหมดสิบหกขั้นด้วยกัน สิบหกขั้นก็แบ่งเป็น กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน สี่ขั้น เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน สี่ขั้น จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน สี่ขั้น แล้วก็ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน สี่ขั้น สี่คูณสี่ก็เป็นสิบหกขั้น

(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 13 ก.ย. 2005, 10:24 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ใน กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน นั้น ในประการที่หนึ่งคือการเจริญสติกำหนดรู้ลมหายใจ “เมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว” อันนี้เป็นข้อที่หนึ่ง

ข้อที่สองก็คือว่า “เมื่อลมหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่าลมหายใจเข้าสั้น เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น” นี่คือข้อที่สอง

ข้อที่สามก็คือ “ศึกษาว่าจะรู้ทั่วกายทั้งหมด หายใจเข้า ศึกษาว่าจะรู้ทั่วกายทั้งหมด หายใจออก” ในข้อที่สามจะเห็นว่ามีคำว่าศึกษาเข้ามา ศึกษานี่ก็หมายถึงการฝึกหัด จะต้องมีการฝึกหัดทำให้เป็นอย่างนั้น รู้ทั่วกายทั้งหมด กายทั้งหมดก็หมายถึงว่ารู้ตลอดกองลมหายใจ ตั้งแต่เริ่มหายใจเข้า กำลังหายใจเข้า สุดลมหายใจเข้า เริ่มหายใจออก กำลังหายใจออก สูดลมหายใจออก เรียกว่ารู้ทั่วกายทั้งหมด หายใจเข้าหายใจออก หรือแม้แต่รู้ไปทั่วกายไม่เฉพาะแต่ลมหายใจ ขยายทั่วกายในสรีระทั่วกายทั้งหมดก็ชื่อว่ากำหนดรู้กายทั้งหมด

ในข้อที่สี่ทรงตรัสว่า “ศึกษาว่าจะผ่อนระงับกายสังขาร หายใจเข้า ศึกษาว่าจะผ่อนระงับกายสังขาร หายใจออก” คำว่ากายสังขารแปลว่า ปรุงแต่งกาย สิ่งที่ปรุงแต่งกายก็คือ ลมหายใจ ร่างกายชีวิตจะดำรงอยู่ได้ก็เพราะมีลมหายใจ และลมหายใจนั้นเรียกว่ากายสังขาร ทรงตรัสให้ศึกษาว่าจะผ่อนระงับกายสังขาร หายใจเข้า ก็คือว่าฝึกหัดในการดูลมหายใจนี่ ทำอย่างไรจะทำให้ลมหายใจมันนุ่มนวลละเอียดอ่อน ก็จะต้องมีการปรับผ่อน หายใจเข้าไป หายใจออกมา ฝึกหัดในการที่จะปรับผ่อนลมหายใจให้มันละเอียดอ่อน เรียกว่าระงับ คำว่าระงับไม่ได้หมายถึงไปกั้นลมหายใจไว้ทั้งหมด คือปรับผ่อน ผ่อนระงับ เช่น เราหายใจเข้าบางทีก็อาจจะค่อย ๆ ผ่อนหายใจออก คือทำลมให้มันเข้าออกนุ่มนวลนั่นแหละ ทำอย่างไรให้ลมหายใจมันออกนุ่มนวลสละสลวย สี่ข้อนี้จะอยู่ในข้อของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

นี่เรากำลังพูดถึงการปฏิบัติโดยเจาะจง คือทำเรื่องลมหายใจเท่านั้น เกิดสมาธิแล้วจึงเชื่อมไปสู่เวทนา จิต ธรรม ฉะนั้นใครที่ถนัดอย่างนี้ก็ทำอย่างนี้ได้ สามารถจะทำสติปัฏฐานสี่ให้สมบูรณ์ได้เช่นเดียวกัน แต่ว่าในข้อกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนี่ทำเฉพาะเรื่องลมหายใจเท่านั้น ไม่ทำอย่างอื่น ทำเฉพาะเรื่องลมหายใจสี่ข้อด้วยกัน ถ้าทำอย่างนี้แล้วก็ย่อมจะเกิดสมาธิ สามารถมีความสงบตั้งมั่นมีสมาธิ

เมื่อจิตมีสมาธิ จิตก็จะเกิดปีติเกิดความสุข ท่านถือว่ามีเวทนาที่ดี จิตใจสงบระงับจากนิวรณ์ ไม่ง่วงเหงาหาวนอน ไม่มีราคะ ไม่มีพยาบาท ไม่มีฟุ้งซ่านรำคาญใจ ไม่มีความสงสัย เพราะว่าจิตมีสมาธิ โดยเฉพาะสมาธิที่เข้าถึงฌาน ถ้าทำสี่ข้อเหล่านี้สามารถทำให้ถึงฌานได้ แต่นั่นหมายถึงว่าต้องเพ่งถึงขั้นมีนิมิต เพ่งลมหายใจไปเพ่งลมหายใจมา มีสมาธิมีนิมิตเกิดขึ้น แล้วก็ฝึกการเพ่งนิมิต อุคคหนิมิตที่ติดตาติดใจ

บางคนเห็นเป็นสายรุ้ง เป็นสายลม เป็นละอองไอน้ำ เป็นปุยนุ่น หรือเป็นเมฆหมอกที่มันผ่าน คือเรียกว่ามันมีสมมุติบัญญัติแปลเป็นภาพนิมิตขึ้นมา เพ่งนึกให้ใหญ่ให้เล็ก จนกระทั้งจิตเข้าไปดิ่งดับสู่อัปปนาสมาธิได้ฌาน ถ้าคนที่ทำได้อย่างนี้ก็จะระงับนิวรณ์ไปได้หมด นิวรณ์ห้าระงับไป แต่ถ้าหากว่าทำไม่ถึงระดับฌาน มีสมาธิมากตามสมควรก็สามารถจะทำให้จิตใจมีปีติมีความสุขได้เช่นเดียวกัน แต่ไม่มากนัก แล้วก็สามารถจะเชื่อมมาสู่เวทนาเลยก็ได้ ถ้ายังไม่ต้องให้ถึงฌาน

(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 13 ก.ย. 2005, 10:37 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ในข้อ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในอานาปานสติสูตร นี้ก็ทรงตรัสว่า ซึ่งถ้าจะนับแล้วก็คือข้อที่ห้า “ศึกษาว่าจะรู้ชัดปีติ หายใจเข้า ศึกษาว่าจะรู้ชัดปีติ หายใจออก” เพราะว่าตอนนี้มันมีปีติแล้ว เนื่องจากว่าทำข้อกายานุปัสสนาสติปัฏฐานถึงเกิดสมาธิแล้ว จิตมันเกิดปีติ เมื่อมีปีติก็มากำหนดรู้ปีติที่เกิดขึ้นในจิตใจ แต่ก็ยังสลับการดูลมหายใจอยู่

ในข้อที่หกหรือข้อที่สองของเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานทรงตรัสว่า “ศึกษาว่าจะรู้ชัดสุข หายใจเข้า ศึกษาว่าจะรู้ชัดสุข หายใจออก”

สุขก็คือเป็นความสบาย ความสบายในใจมีความปราณีตกว่าปีติ ปีตินั้นเป็นความอิ่มเอิบแต่สุขนี่เป็นความโปร่ง เป็นความสบายใจเย็นใจ อุปมาเหมือนกับคนที่เดินทางกันดารหิวน้ำกระหายน้ำ พอได้เห็นบ่อน้ำอยู่ข้างหน้า สระน้ำใสเย็นก็เกิดปีติขึ้นมา แต่เมื่อได้ลงไปแช่ในน้ำได้ดื่มได้อาบก็จะเกิดความสุข ฉะนั้นความสุขก็จะมีความโปร่งสบาย แต่ปีติเขาจะเรียกว่าเป็นความลิงโลดหรือว่าเป็นความบันเทิง มันเป็นความรู้สึกปราโมทย์ เป็นปีติอิ่มเอิบขึ้นในจิตใจ ฉะนั้นก็กำหนดรู้ทั้งปีติทั้งความสุข หายใจเข้าหายใจออก

ข้อที่เจ็ดทรงตรัสว่า “ศึกษาว่าจะรู้ชัดจิตตสังขาร หายใจเข้า ศึกษาว่าจะรู้ชัดจิตตสังขาร หายใจออก” คำว่าจิตตสังขารแปลว่าปรุงแต่งจิต สังขารนั่นแปลว่าปรุงแต่ง จิตตสังขารก็แปลว่าปรุงแต่งจิต อะไรเป็นตัวปรุงแต่งจิต สิ่งที่ปรุงแต่งจิตก็คือตัวสัญญา ที่เป็นตัวปรุงแต่ง เวทนาและสัญญา ตัวนี้ปรุงแต่งจิต สัญญาก็คือความจำ จำได้หมายรู้ บุคคลที่มีสัญญาไว้อย่างไรมันก็จะทำให้มีการปรุงแต่งจิตไปในทางนั้น แนวทางนั้นที่เคยมีประสบการณ์มา แล้วก็มีความจดจำไว้ในแง่มุมอย่างไรมันจะสามารถปรุงแต่งจิตให้เป็นอย่างนั้น อย่างยกตัวอย่างเช่นว่า คนที่มีความจำว่าได้ยินได้ฟังคนเขาเล่าถึงพวก...อย่างพวกที่ผู้ใหญ่เล่าว่าเวลามืดเวลาค่ำเวลาที่เปลี่ยวจะมีที่เรียกว่าผีสางอะไรเหล่านั้น

มันจำไว้ สัญญามันจำไว้ สัญญานี้ก็จะมาปรุงจิตให้เกิดความกลัว ฉะนั้นตัวสัญญามันจึงเป็นสังขารปรุงแต่งจิต มีแนวโน้ม แต่บางคนมีความจำในลักษณะที่ว่า อ๋อ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเรื่องจริงคนก็พูดกันไปอย่างนั้น สิ่งเหล่านั้นไม่มีความเป็นจริง มันจำไปอีกแง่หนึ่งก็ไม่กลัว หรือว่าบางคนมันจำงู งูเป็นสิ่งน่ากลัวน่าเกลียด พอมันไปเห็นงูหรือได้ฟังเรื่องงูก็จะปรุงแต่งจิตให้กลัว แต่อีกคนหนึ่งมันจำในแง่ว่างูนี้มันดี เห็นงูมันจะไปจับเล่น ฉะนั้นตัวสัญญาเป็นตัวปรุงแต่งจิต หรือเรื่องอื่น ๆ ก็เหมือนกัน แล้วแต่ใครจะมีความจดจำอารมณ์ในแง่มุมใด มันก็จะปรุงแต่ง เมื่อเกิดจิตตสังขารที่มันปรุงแต่งจิตขึ้นก็กำหนดรู้ รู้ชัดซึ่งจิตตสังขาร หายใจเข้า รู้ชัดซึ่งจิตตสังขาร หายใจออก ซึ่งคนที่กำลังปฏิบัติมันมีสมาธิ มันก็ปรุงแต่งจิตในทางที่ดีอยู่ จิตมีสมาธิจิตมีปีติจิตมีความสุข ก็กำหนดรู้สิ่งที่ปรุงแต่งเหล่านี้

ประการที่แปดศึกษาว่า “จะผ่อนระงับจิตตสังขาร หายใจเข้า ศึกษาว่าจะผ่อนระงับจิตตสังขารหายใจออก” อันนี้ก็จะต้องมีการผ่อนการปรุงแต่งนั้นให้อยู่ในระดับที่ปรกติขึ้น ไม่ให้มันขยายตัว จิตจะต้องเข้าไปสู่ความเป็นปรกติ ฉะนั้น เมื่อกำหนดรู้ก็เป็นการที่จะช่วยผ่อนระงับสิ่งเหล่านั้นที่ปรุงแต่งจิตอยู่ อันนี้ก็เรียกว่าอยู่ในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จะเห็นว่าไม่ได้เกี่ยวกับทุกขเวทนา เพราะว่ามันเป็นการทำโดยเจาะจง มุ่งมาทางลมหายใจจนเกิดสมาธิ จึงมากำหนดเวทนา ฉะนั้นเวทนาที่เกิดขึ้นจึงมีแต่เวทนาที่ดีงาม เป็นปีติเป็นความสุข แต่ก็ต้องระงับไม่ให้มันรุนแรง ไม่ให้เกิดปีติรุนแรงสุขรุนแรงจนกระทั้งมันก็ขาดความสมดุลของจิตไป

เมื่อบุคคลทำได้อย่างนี้ ต่อไปก็ขึ้น จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือว่าเป็นข้อที่เก้าทรงตรัสว่า “ศึกษาว่าจะรู้ชัดจิต หายใจเข้า ศึกษาว่าจะรู้ชัดจิต หายใจออก” ตอนนี้ก็เรียกว่ามากำหนดดูจิต จิตมันเป็นสภาพรู้อารมณ์ จิตจะมีลักษณะรับรู้อารมณ์อยู่

ประการที่สิบ “ศึกษาว่าจะยังจิตให้บันเทิง หายใจเข้า ศึกษาว่าจะยังจิตให้บันเทิง หายใจออก” เรียกว่าให้จิตมันบันเทิงให้มันร่าเริงขึ้น แต่เป็นการร่าเริงบันเทิงในทางธรรมอยู่ในสภาวะอยู่

ประการที่สิบเอ็ด “ศึกษาว่าจะตั้งจิตมั่น หายใจเข้าศึกษาว่าจะตั้งจิตมั่น หายใจออก” ก็เป็นการฝึกหัดฝึกจิตอยู่นั่นแหละ จิตใจให้มีความั่นคงตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ มีความมั่นคงเป็นขณะ

ประการที่สิบสอง “ศึกษาว่าจะเปิดจิต หายใจเข้า ศึกษาว่าจะเปิดจิต หายใจออก” อันนี้ก็จะเป็นลักษณะของการเข้าไปสู่การปล่อยการวาง

แล้วเมื่อทำได้อย่างนี้แล้วก็ขึ้นสู่ข้อ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือว่าเป็นข้อที่สิบสาม “ศึกษาว่าจะตามเห็นว่าไม่เที่ยง หายใจเข้า ศึกษาว่าจะตามเห็นว่าไม่เที่ยง หายใจออก” อันนี้มันเข้ามาพิจารณาถึงสภาวะ ดูความเปลี่ยนแปลงความไม่เที่ยงก็คือสังเกตความเปลี่ยนไปๆ ที่กำหนดจิตอยู่ก็ดี กำหนดเวทนาในจิต กำหนดปีติ กำหนดความสุข กำหนดจิตอยู่นี่ต้องสังเกตความเปลี่ยนแปลงของมัน

ข้อที่สิบสี่ “ศึกษาว่าจะตามเห็นความคลายกำหนัด หายใจเข้า ศึกษาว่าจะตามเห็นความคลายกำหนัด หายใจออก” จะเห็นอาการของจิตใจที่คลี่คลายออกจากความกำหนัดยินดีในอารมณ์

ประการที่สิบห้า “ศึกษาว่าจะตามเห็นความดับกิเลส หายใจเข้า ศึกษาว่าจะตามเห็นความดับกิเลส หายใจออก” เห็นสภาพของกิเลสที่มันดับไป

ประการที่สิบหก “ศึกษาว่าจะตามเห็นความสลัดคืนกิเลส หายใจเข้า ศึกษาว่าจะตามเห็นความสลัดคืนกิเลส หายใจออก” อันนี้ก็เรียกว่ารู้ไปจนกระทั่งสุดของการที่จิตได้สลัดกิเลส สิ้นกิเลสก็รู้ชัดอยู่ ก็จบสิบหกประการสิบหกข้อ

(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 13 ก.ย. 2005, 10:43 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

นี่คือการปฏิบัติตามแนวอานาปานสติสูตรที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฏกเช่นเดียวกัน ใครจะทำในลักษณะเช่นนี้ก็ได้ คือดูเรื่องลมหายใจอย่างเดียวจนกระทั้งเกิดสมาธิ คือสรุปแล้วนี่ดูเรื่องลมหายใจเท่านั้นจนกระทั้งเกิดสมาธิ

สมาธินั้นถ้าถึงขั้นได้ฌานได้ก็ยิ่งดี แต่ถ้าไม่ถึงฌาน มันเกิดปีติเกิดความสุขก็มากำหนดปีติ กำหนดความสุข ดูปีติดูความสุขดูจิตดูสภาวะที่จิตใจ แล้วก็พิจารณาความเปลี่ยนแปลงความปล่อยวาง ดูความเปลี่ยนแปลง ดูความเกิดดับ ดูสภาพบังคับบัญชาไม่ได้ จนกระทั่งสามารถละกิเลสได้ก็เห็นสภาพของการละกิเลส นี่จะเห็นว่าทำแบบเจาะจงคือเรื่องลมหายใจ

ที่นี้บางคนนั้นไม่ถนัดในการที่จะดูลมหายใจ พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงอีกสูตรหนึ่ง เรียกว่า มหาสติสูตรหรือว่ามหาสติปัฏฐาน อันนี้ก็จะเป็นการแสดงกำหนดกว้างขวางทั่วไป เรียกว่า มหาสติปัฏฐานสูตร มาในทีฆนิกายมหาวรรค ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสว่า “เอกายโน อยํ ภิกขเว มคโค สตตานํ วิสุทธิยา” เป็นต้น ว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นหนทางที่เป็นไปอันเอก คำว่า เอกายโน เป็นหนทางที่เป็นไปอันเอกคือเป็นไปของคนผู้เดียว

การปฏิบัติต้องเป็นเรื่องของคนผู้เดียว ทำด้วยตัวของตัวเองไม่มีใครที่จะมาทำแทนกันได้ ต้องทำด้วยตัวของตัวเอง แล้วก็เป็นทางเอกที่จะไปสู่ความหลุดพ้น “สตตานํ วิสุทธิยา” แปลว่า เพื่อความหมดจดวิเศษของสัตว์ทั้งหลาย หมดจดอย่างวิเศษก็คือจิตใจสะอาดบริสุทธิ์ “โสกปริเทวานํ สมติกกมาย” เพื่อความข้ามพ้นซึ่งความโศกและความร่ำไร ความโศก เศร้าโศกเสียใจ ร่ำไรก็คือบ่นเพ้อรำพัน เวลามีความทุกข์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ทุกข์ไปร้องไห้บ่นเพ้อรำพัน ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น ไม่น่าจะเป็นอย่างนี้ อย่างนี้เรียกว่าร่ำไรรำพัน “ทุกขโทมนสสานํ อตถํ คมาย” เพื่ออัสดงดับไปแห่งทุกข์คือโทมนัส ทุกข์ก็คือทุกข์กายไม่สบายกาย โทมนัสก็คือความเสียใจ

ถ้าปฏิบัติสติปัฏฐานก็จะข้ามพ้นสิ่งเหล่านี้ได้หรือว่าสิ่งเหล่านี้จะดับไป “ญายสส อธิคมาย” เพื่อบรรลุญายธรรม ปฏิบัติสติปัฏฐานนี่จะสามารถบรรลุญายธรรม คำว่า ญายธรรมก็แปลว่า มรรคที่เป็นโลกุตตระ ขณะที่เจริญวิปัสสนาจนถึงขั้นญาณที่เป็นฝ่ายโลกุตตระเกิดขึ้นมาเป็นมัคคญาณ โสดาปัตติมรรค สกทาคมิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค เรียกว่าบรรลุญายธรรม “นิพพานสส สจฉิกิริยาย” เพื่อทำนิพพานให้แจ้ง ก็คือสามารถจะเข้าไปประสบพบนิพพานได้ นิพพานได้ปรากฏขึ้นในจิตใจ “ยทิทํ จตตาโร สติปฏฐานา” หนทางนี้คือสติปัฏฐานสี่

อันนี้ก็เรียกว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเรียกภิกษุมา แล้วก็ทรงตรัสเรื่องนี้ก่อนจะสอนว่า สติปัฏฐานมีอะไรบ้าง ก็เรียกว่าโฆษณาก่อน บอกให้รู้ถึงว่าปฏิบัติอย่างนี้มันมีผลอย่างนี้เพื่อให้เกิดความสนใจ สรุปแล้วก็คือว่าปฏิบัติแล้วสามารถจะดับทุกข์ได้ แล้วจึงได้ทรงแสดงสติปัฏฐานสี่ มีอะไรบ้าง ก็คือ หนึ่ง กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็คือการพิจารณากายในกายอยู่เนืองๆ สอง เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็คือการพิจารณาเวทนาในเวทนาอยู่เนืองๆ สาม จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็คือพิจารณาจิตในจิตอยู่เนืองๆ ด้วยมีความเพียร ขณะที่พิจารณากายอยู่ก็ดี เวทนา...เรียกว่า กำจัดอภิชฌาและโทมนัสยินดียินร้าย ยินดีเป็นอภิชฌา ยินร้ายเป็นโทมนัส

ฉะนั้น ตัวการปฏิบัติก็คือตัวสติประกอบด้วยสัมปชัญญะ สติคืออะไร สติก็คือระลึกได้ ระลึก สัมปชัญญะก็คือการพิจารณารู้พร้อมหรือสังเกต ปัฏฐานคืออะไร ปัฏฐานก็คือที่ตั้ง สติปัฏฐานก็คือที่ตั้งของสติ หรือว่าสติเข้าไปตั้งที่ฐาน เรียกว่าสติปัฏฐาน สติสัมปชัญญะเป็นฝ่ายผู้รู้ ปัฏฐานก็เป็นสิ่งที่ถูกรู้ เป็นที่ตั้ง ฉะนั้นระลึกพิจารณากายก็เรียกว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ระลึกรู้เวทนาเรียกว่าเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ระลึกรู้จิตเรียกว่าจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ระลึกพิจารณาธรรมเรียกว่าธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 13 ก.ย. 2005, 10:55 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ทีนี้ในสติปัฏฐานนี้ ในข้อกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้มีหกหมวดด้วยกัน ก็คือ หนึ่ง หมวดอานาปานปัพพะ หมวดการกำหนดลมหายใจเข้าออก สอง อิริยาปถปัพพะ คือ อิริยาบถสี่ ได้แก่ ยืนเดินนั่งนอน สาม ก็คือสัมปชัญญปัพพะ ก็ได้แก่อิริยาบถย่อย อิริยาบถใหญ่ อิริยาบถย่อยต่าง ๆ เรียกว่าอิริยาบถทั้งหมด ทำความรู้สึกในอิริยาบถต่างๆ สี่ ปฏิกูลมนสิการปัพพะ ก็คืออาการสามสิบสอง พิจารณาอาการสามสิบสอง ก็คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก หัวใจ ตับ ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย เสลด เลือด เหล่านี้เป็นต้น แล้วก็ห้า ธาตุมนสิการปัพพะ ก็คือธาตุสี่ พิจารณาธาตุสี่ เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นไฟ เป็นลม หก นวสีวถิกาปัพพะ พิจารณาทรากศพเก้าชนิด ข้อที่หกนี่นับเก้าข้อจึงรวมเป็นสิบสี่ข้อ

เพราะฉะนั้นการปฏิบัติจึงไม่ใช่มีแต่ลมหายใจเท่านั้น จะพิจารณาอิริยาบถก็ได้ อิริยาบถใหญ่อิริยาบถย่อย หรือจะกำหนดอาการสามสิบสอง พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ให้เห็นเป็นของปฏิกูลก็ได้ พิจารณาธาตุสี่ก็ได้ พิจารณาทรากศพก็ได้ เรียกว่าอยู่ในข้อของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ตานี้ลองมาดูว่า มหาสติปัฏฐานนี้ทรงแสดงในข้อของอานาปานสติปัฏฐานไว้อย่างไร จะแตกต่างกันไหมในอานาปานสติสูตร พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงตรัสกับภิกษุว่า ให้ไปสู่ป่า ไปสู่โคนไม้ ไปสู่เรือนว่าง นั่งคู้บัลลังก์ก็คือนั่งขัดสมาธิ การปฏิบัตินี่เราต้องอาศัยที่สัปปายะ ต้องไปโคนไม้ ต้องไปเรือนว่าง เรือนว่างก็เป็นเรือนกรรมฐานนี้ เป็นที่สงบวิเวก หรือไปสู่ป่า การที่มาเข้ากรรมฐานนี่เราก็พยายามให้ทำให้ถูกตามแบบในสติปัฏฐาน ท่านทั้งหลายก็อาจจะคิดว่า เอ๊ ทำไมปล่อยให้อยู่วิเวก โดดเดี่ยวเปลี่ยวเอกาอยู่ นั่นแหละเราจะได้ดี ได้ใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งเหล่านี้ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัส ต้องไปสู่ป่า สู่โคนไม้ สู่เรือนว่าง นั่งคู้บัลลังก์ขัดสมาธิ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า แล้วมีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก อันนี้กำลังพูดเรื่องอานาปานสติหรืออานาปานปัพพะในข้อของกายาฯ คือกำหนดลมหายใจเข้าออก

ข้อที่หนึ่ง เมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกยาวก็ให้รู้ชัดว่าหายใจออกยาว นี้เป็นข้อที่หนึ่ง

ข้อที่สอง เมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น

มาข้อที่สาม ย่อมสำเหนียกว่าจะเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง หายใจเข้า เหมือนกันไหม คำว่าสำเหนียกหรือคำว่าศึกษาก็เป็นอย่างเดียวกันเหมือนกัน รู้ตลอดกองลมหายใจก็คือรู้ตั้งแต่เริ่มหายใจเข้า ท่ามกลาง ที่สุด เริ่มหายใจออก กำลังหายใจออก สุดลมหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่าจะเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง หายใจเข้า หายใจออก

ตานี้ข้อที่สี่ ย่อมสำเหนียกว่าจะระงับกายสังขาร หายใจเข้า ย่อมจะสำเหนียกว่าจะระงับกายสังขาร หายใจออก ก็เหมือนกัน ระงับกายสังขารคือระงับลมหายใจ หมายถึงการปรับผ่อนลมหายใจให้ดีให้ได้นุ่มนวล

ข้อที่ห้า ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง อันนี้ก็เรียกว่า ในอัตถกถาท่านก็ขยายความกายในกาย คำว่ากายในกายก็หมายถึงว่ากายอย่างใดอย่างหนึ่งในกายทั้งหลาย เช่น ลมหายใจก็ถือว่าเป็นกายในกาย อิริยาบถก็เป็นกายในกาย ธาตุสี่ก็เป็นกายในกาย อาการสามสิบสองก็เป็นกาย ในกาย คือกายนี่มันมีหลายอย่าง ที่แสดงมีสิบสี่ปัพพะสิบสี่อย่าง ดูลมหายใจก็ถือว่าเป็นกายในกาย กายในกายที่เป็นภายในก็คือในตัวเอง ที่เป็นภายนอกก็คือผู้อื่น อย่างผู้อื่นนี้ก็เรียกว่าดูแบบเปรียบเทียบกัน

ข้อที่หก ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดาคือความเกิดขึ้นในกายบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดาคือความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดาคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมไปในกายได้บ้าง อันนี้ก็เรียกว่าสังเกตความเปลี่ยนแปลง ความเสื่อมไปสิ้นไป

ข้อที่เจ็ด มีสติตั้งมั่นพิจารณาเห็นกายมีอยู่แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงสักแต่ว่าเป็นที่อาศัยระลึก เป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ด้วย ย่อมไม่ยึดถืออะไรๆ ในโลกด้วย อย่างนี้ก็เรียกว่ากำหนดรู้ถึงแม้แต่ตัวสติก็สักแต่ว่า คือกำหนดรู้เข้ามาพิจารณาให้เห็นว่ามันก็สักแต่ว่าเป็น ทำหน้าที่ระลึก สักแต่ว่าเป็นที่...กายก็ดีนี่ กายมีอยู่ก็สักแต่ว่าเป็นที่ระลึก อย่างเช่นลมหายใจนี่มันไม่ใช่สัตว์บุคคล เป็นสักแต่ว่าที่อาศัยระลึกเป็นที่รู้ เป็นผู้อันตัณหาคือความอยากทะยานอยาก ทิฏฐิความเห็นผิดไม่อาศัยด้วย ไม่ยึดถืออะไรๆ ในโลกด้วย อันนี้ก็เรียกว่าเป็นข้อของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในส่วนของอานาปานปัพพะ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้อย่างนี้

(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 13 ก.ย. 2005, 11:14 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตานี้ในอิริยาบถปัพพะบ้าง อิริยาบถปัพพะก็คือ การกำหนดอิริยาบถใหญ่ทั้งสี่ อิริยาบถใหญ่ทั้งสี่ก็คืออะไร ยืน เดิน นั่ง นอน ทรงตรัสว่า

ข้อที่หนึ่ง เมื่อเดินอยู่ก็รู้ชัดว่ากายเดิน

ข้อสอง เมื่อยืนอยู่ก็รู้ชัดว่ากายยืน

ข้อสาม เมื่อนั่งก็รู้ชัดว่ากายนั่ง

ข้อที่สี่ เมื่อนอนก็รู้ชัดว่ากายนอน เรียกว่าตั้งกายไว้แล้วอย่างใดๆ ก็รู้ชัดอาการของกายนั้นอย่างนั้นๆ ขณะที่ท่านทั้งหลายนั่งอยู่อย่างนี้ กายตั้งอยู่อย่างไร อาการของกายท่าทางของกายอยู่อย่างไร ก็รู้ชัดในอาการของกายอย่างนั้น หรือยืนหรือเดินหรือนอน นอนก็ต้องรู้อาการของกายที่นอน

ก็เหมือนกันข้อหก ข้อเจ็ด ข้อแปด ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายที่เป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายที่เป็นภายในภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดาคือความเกิดขึ้นในกายนี้บ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดาคือความเสื่อมไปของกายนี้บ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดาทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมไปในกายนี้บ้าง

หรือสติตั้งมั่นพิจารณาเห็นว่ากายมีอยู่เพียงสักแต่ว่าเป็นที่รู้ เพียงสักแต่ว่าเป็นที่อาศัยระลึก เป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ด้วย ย่อมไม่ยึดถืออะไรๆ ในโลกด้วย ตอนท้ายก็จะเหมือนกัน คือต้องพิจารณาเห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นความไม่ยั่งยืนว่ามันเป็นธรรมดาอย่างนั้น ไม่ยึดถือ ไม่ยึดมั่นในสิ่งเหล่านี้

ตานี้ในข้อสัมปชัญญปัพพะ ข้อสัมปชัญญปัพพะคือกายานุปัสสนาสติปัฏฐานข้อที่สาม

ข้อที่หนึ่งเป็นผู้รู้สึกตัวทั่วพร้อมในการก้าวไปข้างหน้า ถอยกลับมาข้างหลัง ในชีวิตประจำวันนี่บางครั้งก็ถอยกลับ เช่น เราเข้าห้องน้า ก้าวไปข้างหน้า ถอยกลับมาข้างหลัง ต้องทำความรู้สึกตัวในการก้าวไปข้างหน้า หรือในการถอยกลับมาข้างหลัง บางทีจะเข้านอนเปิดมุ้งจะเข้านอน เอ้า ถอยหลัง เดินหน้า พึงทำความรู้สึกตัวในการแลไปข้างหน้า ในการเหลียวไปข้างซ้าย เหลียวไปข้างขวา วันๆ หนึ่งนี่มีการเหลียวไหม มีการเล็งแลไหม ต้องทำความระลึกรู้อยู่ เวลามองอะไรนี่แทนที่จะใจลอยก็หัดทำความระลึกรู้สึกตัวในการเล็งแลหรือในการเหลียว หันคอไปข้างซ้ายข้างขวา ต้องใส่ใจทำความรู้สึกตัวด้วย

ข้อที่สามทรงตรัสว่า เป็นผู้รู้สึกตัวทั่วพร้อมในการคู้อวัยวะเข้า เหยียดอวัยวะออก อะไรล่ะคู้เข้าเหยียดออก ก็คือแขนและขานี่ ทำความรู้สึกตัวไว้คือรู้การเคลื่อนไหว ถ้ารู้ที่จะเป็นวิปัสสนาจริงๆ ก็คือรู้ความรู้สึก ถ้ายังรู้เป็นรูปร่างที่คู้ที่เหยียดก็ยังเป็นสติเหมือนกัน แต่ว่ายังเป็นเรื่องของสมาธิ

ข้อที่สี่เป็นผู้รู้สึกตัวทั่วพร้อมในการทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร จีวร อันนี้ท่านสอนพระ พระก็นุ่งห่มจีวร อุ้มบาตร ตะพายบาตร แม้แต่ผ้าสังฆาฏิ ทำความรู้สึกรู้เนื้อรู้ตัวในขณะนั้น ถ้าเป็นฆราวาสก็นุ่งห่มเสื้อผ้า ขณะสวมผ้าใส่เสื้อให้ทำความรู้สึกตัวอยู่

ประการที่ห้า เป็นผู้รู้สึกตัวทั่วพร้อมในการกิน ในการดื่ม ในการเคี้ยว ในการลิ้ม เวลาเคี้ยว เคี้ยวขากรรไกรเคลื่อนไหวไปเคลื่อนไหวมา ทำสติรู้ เวลาดื่มน้ำรู้สึกตัว เวลาลิ้มรสอาหารรู้สึก

ข้อหก เป็นผู้รู้สึกตัวทั่วพร้อมในการถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ไม่มีการยกเว้นการปฏิบัตินี่ทำทุกระยะ ขณะที่กำลังขับถ่ายอุจจาระปัสสาวะต้องทำความรู้สึก ดูความรู้สึกมันปวด มันเคลื่อน มันรู้สึกอาการเป็นอย่างไร ทำความรู้สึกในตัวเรา เราอาจจะได้บรรลุธรรมในขณะนั้นก็ได้ เห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นความเกิดดับ เห็นความไม่จีรังยั่งยืน หรืออาจจะเห็นความไม่สะอาด ความสกปรกของร่างกาย อ๋อ ร่างกายเรานี้ไม่สะอาด สลดสังเวช แล้วพิจารณาเข้าไปสู่สภาวะเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดดับ

ประการที่เจ็ด เป็นผู้รู้สึกตัวทั่วพร้อมในการเดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด นิ่ง หลับตื่นรู้ได้อย่างไร นั่งไปนั่งมาหลับสัปหงก จิตลงภวังค์ วู้บ...พอรู้สึกตัวก็สังเกตความหลับ สังเกตว่าขณะเมื่อกี่นี้หมดความรู้สึก ขณะนี้รู้สึกตัวต้องทันควัน สังเกตกันทันควัน จิตที่ลงภวังค์ไปนี่หมดความรู้สึก พอตื่นจากภวังค์ปุ๊ป ก็รู้ความลงภวังค์

จิตลงภวังค์ก็คือหลับ ลักษณะของจิตที่หมดความรู้สึกกับจิตที่ตื่นมันต่างกัน ถ้าคนที่รู้ตรงนี้บ่อยๆๆๆๆ จะเป็นคนที่ไม่หลับ ไม่สัปหงก แล้วก็จะทำลายความง่วง พูดนิ่ง เวลาพูดวาจาเคลื่อนไหวตั้งสติรู้ ปากที่ไหวๆ เคลื่อนไหว ใจที่ตรึก ปรุงแต่ง คำพูด นี่เรื่องของสัมปชัญญะ ในข้อท้ายๆ ก็เหมือนกันพิจารณาภายในกาย

ตานี้ในข้อปฏิกูลมนสิการปัพพะ ย่อมพิจารณากายนี้แล เบื้องบนตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นไป เบื้องต่ำตั้งแต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ คืออะไรบ้าง ส่วนบนก็มีผม ให้พิจารณาผมก็ไม่สะอาด มีเล็บ เล็บมือ เล็บเท้า มีฟัน คือพิจารณาเห็นความไม่สะอาดของมัน ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า อาหารเก่าก็คืออุจจาระ น้ำดี น้ำเสลด น้ำเหลือง น้ำเลือด น้ำเหงื่อ น้ำมันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก น้ำไขข้อ น้ำมูตร น้ำมูตรก็คือปัสสาวะ

สิ่งเหล่านี้คือส่วนประกอบของสังขารของร่างกาย ล้วนแล้วแต่เป็นของปฏิกูล เป็นของไม่สะอาด พิจารณาอย่างนี้แล้วจะทำให้สลด เกิดความสลดเกิดความสังเวชเกิดสมาธิได้ ลดละราคะความกำหนัดยินดีออกไป เมื่อจิตสงบแล้วก็จึงพิจารณาเข้าสู่สภาวะ พิจารณากายเข้าไปเห็นความเปลี่ยนแปลงเข้าไปเห็นความเกิดดับ ไปสู่สภาวะไปรู้ความรู้สึกไปรู้จิตรู้ใจ ดูความเปลี่ยนแปลงเกิดดับได้

ต่อไปปัพพะที่ห้า ธาตุมนสิการปัพพะ ย่อมพิจารณากายอันตั้งอยู่นี้แลโดยความเป็นธาตุว่ามีอยู่ในกายนี้ คือ มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ส่วนใดที่มันแค่นแข็งก็เป็นธาตุดิน ส่วนใดที่เอิบอาบเกาะกุมก็เป็นธาตุน้ำ ส่วนใดที่เป็นไออุ่นก็เป็นไฟ ส่วนใดที่พัดไปพัดมาก็เป็นลม

แล้วก็หมวดสุดท้ายก็คือ นวสีวถิกาปัพพะ นี่พิจารณาซากศพ ศพก็มีเก้าชนิด พิจารณาซากศพเก้าชนิดแล้วน้อมเข้ามาสู่กายนี้แล คือเวลาไปพิจารณาศพก็น้อมเข้ามาหากายของตัวเอง ว่าถึงร่างกายอันนี้ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนี้ไปได้ เวลาเราไปดูซากศพพิจารณาศพก็น้อมมาสู่กายตัวเอง กายของเราก็จะต้องเป็นอย่างนี้โดยธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนี้ไปได้ ศพเก้าชนิดที่ทรงแสดงไว้มีอะไรบ้าง

ข้อที่หนึ่ง ซากศพที่ตายแล้ววันหนึ่งหรือสองวันหรือสามวัน ขึ้นพอง มีสีเขียวน่าเกลียด สรีระมีน้ำเหลืองไหลน่าเกลียดอยู่ นี่ก็ไปเพ่งได้

ชนิดที่สอง ซากศพอันฝูงกาหรือฝูงแร้ง ฝูงนกตะกรุมหรือหมู่สัตว์ สุนัข สัตว์เล็กๆ ต่างๆ กัดกินอยู่ เราไปเห็นนี่มีซากศพที่มันถูกสัตว์กัดกิน น้อมเข้ามาหาร่างกายของตัวเองก็เป็นอย่างนี้

ประการที่สาม ซากศพเป็นร่างกระดูก ยังมีเนื้อและเลือดอันเอ็นรัดรึงอยู่ เป็นร่างกระดูกแล้วก็ยังมีเส้นเอ็นรัดรึงอยู่ มีเลือดติดอยู่

ซากศพที่สี่ เป็นร่างกระดูกเปื้อนด้วยเลือด แต่ว่าปราศจากเนื้อแล้ว ยังมีเอ็นรึงรัดอยู่

ซากศพที่หก เป็นท่อนกระดูกปราศจากเส้นเอ็นรึงรัดแล้ว กระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง ไม่มีเอ็นรึงรัดมันก็กระจัดกระจายอยู่

ข้อเจ็ด ซากศพเป็นท่อนกระดูกมีสีขาวเปรียบด้วยสังข์ กระดูกเป็นสีขาวๆ

แปด ซากศพเป็นท่อนกระดูกกองเรี่ยรายเกินหนึ่งปีไปแล้ว

แล้วก็สุดท้าย ซากศพเป็นท่อนกระดูกผุ ผุละเอียดแล้ว แม้ขณะนั้นก็สามารถจะพิจารณาเป็นกรรมฐานได้ นี่ก็จบในเรื่องของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

นี่แสดงในมหาสติปัฏฐานจะเห็นว่ามีข้อปฏิบัติหลายอย่าง ไม่ได้หมายว่าเราจะต้องไปทำทุกอย่าง ก็คือเราถนัดอย่างไหนทำอย่างไร ข้อไหนหมวดไหนก็ทำอันนั้น

(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 13 ก.ย. 2005, 11:23 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตานี้ในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานก็มีอยู่เก้าข้อด้วยกัน

หนึ่ง เมื่อเสวยสุขเวทนาก็รู้ชัดว่าบัดนี้เสวยสุขเวทนา ก็คือสบายกาย เวลาสบายกายกำหนดความสบาย

สอง เมื่อเสวยทุกขเวทนาก็รู้ชัดว่า บัดนี้เสวยทุกขเวทนา ก็คือไม่สบายกาย

ประการที่สาม เมื่อเสวยอุเบกขาเวทนาก็รู้ชัดว่าเสวยอุเบกเวทนา ก็คือเฉยๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์เรียกว่า อทุกขมสุขเวทนา

สี่ เมื่อเสวยสุขเวทนามีอามิสก็รู้ชัดว่าเสวยสุขเวทนามีอามิส คำว่าอามิสก็คือเจือด้วยกามคุณ ความสุขที่เจือด้วยกามคุณหมายถึงว่ามีรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสที่น่าใคร่น่าปรารถนาแล้วก็เกิดความสุข คือได้รับอารมณ์ที่ดีก็เกิดความสุขขึ้นมา อย่างนี้เรียกว่าความสุขที่เจือด้วยอามิส

หรือว่าข้อที่ห้า เมื่อเสวยสุขเวทนาไม่มีอามิสก็รู้ชัดว่าเสวยสุขเวทนาไม่มีอามิส ทำสมาธิไปจิตใจสงบเกิดความสุขขึ้น ความสุขชนิดนี้ไม่มีอามิสไม่ได้เกี่ยวกับเหยื่อล่อ

ประการที่หก เมื่อเสวยทุกขเวทนามีอามิสก็รู้ชัดว่าเสวยทุกขเวทนามีอามิส เวลาที่ไดัรับความทุกข์มันเกี่ยวกับอามิส คืออามิสมันเสื่อมไปนั่นแหละ กำลังเสวยอยู่ก็หาย ความที่ได้รับอารมณ์ดีๆ มันแปรเปลี่ยนไปก็เป็นทุกข์อีก

ข้อเจ็ด เมื่อเสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิสก็รู้ชัดว่าเสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิส นั่งไปปวดขาปวดหลังไม่สบายเป็นทุกข์

ข้อแปด เสวยอุเบกขาเวทนามีอามิสก็รู้ชัดว่าเสวยอุเบกขาเวทนามีอามิส เฉยๆ มีอามิส

แล้วก็ข้อที่เก้า เมื่อเสวยอุเบกขาเวทนาไม่มีอามิสก็รู้ชัดว่าเสวยอุเบกขาเวทนาไม่มีอามิส

อันนี้ก็เรื่องของเวทนา เราก็พิจารณาเวทนาในเวทนาบ้าง ที่เป็นภายในที่เป็นภายนอก ทั้งภายในทั้งภายนอก พิจารณาเห็นเป็นธรรมดา คือความเกิดขึ้นในเวทนาบ้าง ความเสื่อมไปในเวทนาบ้าง ทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมไปในเวทนาบ้าง มีสติตั้งมั่นพิจารณาเห็นว่าเวทนามีอยู่ก็สักแต่ว่าเวทนา สักแต่ว่าเป็นที่อาศัยรู้เป็นที่อาศัยระลึก ย่อมเป็นผู้ที่อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ด้วย ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรในโลกด้วย อย่างนั้นก็พิจารณาเข้าสู่ความเป็นธรรมดาของเวทนา สักแต่ว่าเป็นธรรมชาติอย่างนี้

ตานี่ในข้อที่สามจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงเรื่องจิตไว้ มีสิบหกข้อด้วยกัน

หนึ่ง จิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ ก็คือจิตที่มีความรักใคร่ในกามคุณ ก็ให้กำหนดรู้จิต เวลาจิตมันมีราคะขึ้นมาให้ดูกำหนดรู้จิตรู้ให้ชัดในอาการเหล่านั้น

สอง จิตไม่มีราคะก็รู้ว่าจิตไม่มีราคะ เวลาที่จิตมันคลายออกจากราคะก็รู้ รู้ลักษณะของจิตเหล่านั้นที่มันไม่มีราคะ

สาม จิตมีโทสะก็รู้ชัดว่าจิตมีโทสะ ก็คือความโกรธ เวลามันโกรธขึ้นมาก็กำหนดรู้ชัดลงไปในความโกรธ

สี่ จิตไม่มีโทสะก็รู้ชัดว่าจิตไม่มีโทสะ มันหายโกรธไปแล้วก็ดูรู้ว่าจิตนี้หายโกรธแล้ว

ห้า จิตมีโมหะก็รู้ชัดว่าจิตมีโมหะ ก็คือความหลง

หก จิตไม่มีโมหะก็รู้ชัดว่าจิตไม่มีโมหะ ขณะที่มีสติอยู่นี่จิตไม่หลงก็รู้

เจ็ด จิตหดหู่ก็รู้ชัดว่าจิตหดหู่ บางครั้งก็รู้สึกว่าจิตใจมันหดหู่ มันท้อถอยท้อแท้ก็ดูลงไปที่จิต

แปด จิตฟุ้งซ่านก็รู้ชัดว่าจิตมีความฟุ้งซ่าน ก็คือซัดส่ายกวัดแกว่งรับอารมณ์ไม่มั่น

เก้า จิตเป็นมหรคตก็รู้ชัดว่าจิตเป็นมหรคต คำว่าจิต เป็นมหรคตก็หมายถึงจิตที่เข้าถึงระดับฌาน ทำไปแล้วจิตเกิดมีสมาธิถึงขั้นได้ฌานก็รู้ชัดในจิตระดับนั้น

สิบ จิตไม่เป็นมหรคตก็รู้ชัดว่าจิตไม่เป็นมหรคต จิตของตัวเองขณะนี้ยังไม่ถึงระดับฌานก็รู้ลักษณะของจิตที่ยังไม่ถึงระดับฌาน

สิบเอ็ด จิตเป็นสอุตตระก็รู้ชัดว่าจิตเป็นสอุตตระ คำว่าสอุตตระก็หมายถึงว่าจิตที่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตที่เป็นกามวจรนี่มันยังมีจิตอื่นยิ่งกว่า คือจิตประเภทที่ได้ฌานนี่มันสูงกว่า จิตธรรมดาที่เป็นไปในรูปรส กลิ่น เสียงนี่ เหล่านี้มันยังเป็นจิตที่มีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือแม้แต่จิตที่เป็น รูปาวจรฌานระดับเป็นรูปฌานก็ยังมีจิตสูงกว่านั้นคือรูปฌาน อย่างนี้เป็นต้น

ประการที่สิบสอง จิตเป็นอนุตตระก็รู้ชัดว่าจิตเป็นอนุตตระ คือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า เข้าถึงอรูปฌานก็ถือว่า หรือแม้แต่โลกุตตระก็เป็นจิตที่สูงขึ้นไป

สิบสาม จิตตั้งมั่นก็รู้ชัดว่าจิตตั้งมั่น

สิบสี่ จิตไม่ตั้งมั่นก็รู้ชัดว่าจิตไม่ตั้งมั่น สังเกตจิตตัวเองบางครั้งมันตั้งมั่นบางครั้งมันไม่ตั้งมั่น

สิบห้า จิตเป็นวิมุตติก็รู้ชัดว่าจิตเป็นวิมุตติ คือหลุดพ้นแล้ว

และข้อสุดท้าย จิตยังไม่วิมุตติก็รู้ชัดว่าจิตยังไม่วิมุตติ

ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตเป็นภายในบ้างเป็นภายนอกบ้าง ทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาให้เห็นเป็นธรรมดา คือความเกิดขึ้นในจิตบ้าง ความเสื่อมไปในจิตบ้าง ดูความเปลี่ยนแปลงเกิดดับ สติตั้งมั่นพิจารณาให้เห็นอยู่ว่า จิตมีอยู่แต่เพียงสักแต่ว่าเป็นที่รู้ เพียงสักแต่ว่าเป็นที่อาศัยระลึก จิตนี้สักแต่ว่าเป็นธรรมชาติที่เป็นที่อาศัยระลึกอาศัยรู้ เป็นตัวรู้เหมือนกัน คือไม่เป็นสัตว์เป็นบุคคลนั่นเอง ย่อมเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ด้วย ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรๆ ในโลก


สาธุ http://www.mahaeyong.org/
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
toom
บัวผลิหน่อ
บัวผลิหน่อ


เข้าร่วม: 16 ก.พ. 2005
ตอบ: 9

ตอบตอบเมื่อ: 02 ต.ค.2005, 5:20 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พระครูเกษมธรรมทัต จะมาบรรยายเรื่องการปฏิบัติ ที่ องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์ หลังสวนเบญจศิริ ติดกับเอ็มโพเรี่ยมวันเสาร์ที่ 19 พ.ย. 2548 เดินทางสะดวกด้วยรถไฟฟ้าลงที่สถานีพร้อมพงษ์ พระอาจารย์จะบรรยายตอนบ่าย แต่จะมีพระอาจารย์ท่านอื่น บรรยายธรรมะตั้งแต่ตอนเช้า ซึ่งเป็นรายการที่ดีมากตลอดทั้งวัน ขอเชิญพุทธศาสนิกชนที่สนใจ ร่วมกันฟังการบรรยายค่ะ เป็นรายการที่มีคุณค่ามาก มีเลี้ยงอาหารกลางวันฟรีโดยผู้มีจิตศรัทธา

บุษกร
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 25 ก.พ.2013, 7:38 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง