Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ประโยชน์ของวิปัสสนา โดย..หลวงพ่อสัทธรรมรังสี ประเทศสหภาพพม่ อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
อรุญ
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 11 ก.ย. 2005, 6:17 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

คลิ๊กไปที่......http://www.sati99.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=41558&Ntype=1
 
อรุญ
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 11 ก.ย. 2005, 6:21 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน



62636263.jpg




ประโยชน์ของวิปัสสนา ๕ ประการ



ขอเจริญสุขท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย วันนี้อาตมาจะได้แสดงพระธรรมเทศนา ซึ่งเกี่ยวกับประโยชน์ของการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ๕ ประการ พร้อมกับวิธีอบรมอินทรีย์ให้แก่กล้าประการแรก การเจริญวิปัสสนากรรมฐานนี้ โดยสรุปแล้วมีประโยชน์ ๕ ประการด้วยกัน ประการแรกคือ ทำให้นักปฏิบัติมีจิตใจผ่องใส ประโยชน์ของการเจริญวิปัสสนากรรมฐานประการที่สอง คือทำให้นักปฏิบัติ มีจิตที่มั่นคง หนักแน่นมากขึ้นกว่าเดิม ประโยชน์ของการเจริญวิปัสสนากรรมฐานประการที่สาม คือทำให้นักปฏิบัติเกิดปัญญา เกิดความเฉลียวฉลาดมากขึ้นกว่าเดิม ประโยชน์ของการเจริญวิปัสสนากรรมฐานประการที่สี่ คือทำให้โรคเก่าซึ่งไม่สามารถรักษาได้ จะอันตรธานไปได้จากการเจริญกรรมฐานนี้ ประโยชน์ของการเจริญวิปัสสนากรรมฐานประการที่ห้า คือทำให้นักปฏิบัติสามารถบรรลุถึง ความพ้นทุกข์คือ มรรค ผล นิพพาน ในพระพุทธศาสนาได้ ประโยชน์ของการเจริญวิปัสสนากรรมฐานประการแรก คือทำให้จิตของนักปฏิบัติผ่องใส ทั้งนี้เพราะในขณะที่นักปฏิบัติ มีสติที่ตามรู้ปัจจุบันอารมณ์อยู่ กำหนดว่าพองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ หรือกำหนดว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนา เป็นต้น ในขณะนั้นจิตของนักปฏิบัตินั้น จะประกอบด้วยกุศลเพราะสติเป็นกุศลธรรม ในขณะที่สติที่เป็นกุศลธรรมเกิดขึ้น อกุศลธรรมคือความโลภ ความโกรธ ความหลง ความเย่อหยิ่ง ความถือตัว ความทนงตน เป็นต้น ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ขณะนั้น กิเลสธรรมเหล่านี้เป็นสภาวะธรรมทางจิต ที่ทำให้จิตของเรามัวหมอง แต่ในขณะที่มีสติตามรู้ปัจจุบันอารมณ์อยู่ กิเลสดังกล่าวก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ เปรียบเหมือนกับในขณะที่มีแสงสว่างเกิดขึ้น ความมืดย่อมจะอันตรธานไป ส่วนในขณะที่มีความมืดเกิดขึ้น ความสว่างก็ย่อมจะอันตรธานไปเช่นเดียวกัน เวลาที่มีสติตามรู้ปัจจุบันอารมณ์อยู่ ขณะนั้นเปรียบเหมือนกับขณะที่มีแสงสว่างเกิดขึ้นมา อกุศลซึ่งทำให้จิตของเรามัวหมอง จะเกิดขึ้นไม่ได้ในขณะนั้น เพราะฉะนั้น นักปฏิบัติจะสามารถประสบผลของการเจริญวิปัสสนากรรมฐานประการแรก คือทำให้จิตผ่องใส เพราะเมื่อไม่มีอกุศลที่ทำให้จิตมัวหมอง จิตก็จะผ่องใสเบิกบาน

ท่านสาธุชนทั้งหลายจิตของเรานั้น รับอารมณ์เพียงอารมณ์เดียวในขณะเดียว เราไม่สามารถคิดเรื่องสองอย่างในขณะเดียวกันได้ เวลาที่นักปฏิบัติได้ตามรู้ปัจจุบันอยู่ เป็นต้นว่า กำหนดว่าพองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ ขณะนั้นจิตของนักปฏิบัติได้รับรู้อารมณ์ คืออาการเคลื่อนไหวของท้อง อาการตั้งตรงของร่างกายส่วนบน หรืออาการถูก เมื่อเป็นเช่นนั้นจิตของนักปฏิบัติ ก็จัดว่าประกอบด้วยกุศลธรรม กิเลสต่างๆ คือความโลภ ความปรารถนา ความอยากได้ ความต้องการในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่ตนผูกพันอยู่ จะไม่เกิดขึ้นในขณะนั้น รวมทั้งความโกรธ ความไม่ต้องการ การไม่ปรารถนาอารมณ์ที่ตนเอง ไม่พึงพอใจอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะในขณะนั้นจิตของนักปฏิบัติ รับรู้สักแต่ว่ามีอาการเคลื่อนไหว สักแต่ว่ามีอาการตั้งตรงของร่างกาย หรือสักแต่ว่ามีอาการถูก การที่จิตของนักปฏิบัติได้มีสติตามรู้ปัจจุบันอารมณ์ จนกระทั่งไม่สามารถเกิดความโลภ ความต้องการในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่เกิดความโกรธ ความไม่ต้องการอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งในขณะนั้น จัดว่าเป็นการกำจัดกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ โดยชั่วขณะ เมื่อเป็นเช่นนั้นจะทำให้จิตของนักปฏิบัติ เกิดความผ่องใสเกิดความสบายใจ แม้กระทั่งหลังจากที่ปฏิบัติไปแล้ว แม้กระทั่งยังไม่ตามรู้ปัจจุบันอารมณ์อยู่ก็ตาม ก็จะสามารถรับรู้ถึงความผ่องใส ความเบิกบานใจแห่งจิตของตนได้

ประโยชน์ของการเจริญวิปัสสนากรรมฐานประการที่สองคือ ทำให้จิตของนักปฏิบัติเกิดความมั่นคงยิ่งกว่าเดิม หมายความว่า ในขณะที่ก่อนจะปฏิบัติ ขณะที่เราทั้งหลายขาดสติที่ตามรู้ปัจจุบันอารมณ์อยู่ บางขณะได้เกิดความโลภ ความปรารถนา ความต้องการครอบงำจิตใจของตนเอง เมื่อไม่ได้มาตามที่ต้องการก็เกิดความไม่พึงพอใจ ถ้าได้สิ่งที่ตนต้องการมาก็เกิดความหลงใหลในสิ่งนั้น แม้กระทั่งเวลาที่ประสบกับอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ก็เกิดความโกรธความไม่พึงพอใจ บุคคลที่ถูกความโลภ ถูกความโกรธครอบงำจิตใจของตน จัดว่าเป็นบุคคลที่มีจิตใจไม่มั่นคง เพราะในขณะนั้นจิตของเขาได้ซัดส่าย หวั่นไหวอยู่กับอารมณ์ที่น่าปรารถนา หรือไม่น่าปรารถนาเหล่านั้น ส่วนในขณะนี้ท่านสาธุชนทั้งหลาย ได้เจริญวิปัสสนากรรมฐานอยู่ โดยมีสติที่รู้เท่าทันปัจจุบันอารมณ์ เมื่อเป็นเช่นนั้น ความโลภความปรารถนาอารมณ์ที่ต้องการ หรือความโกรธความไม่ปรารถนาอารมณ์ที่ต้องการ ก็จะไม่เกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้นท่านสาธุชนทั้งหลาย จัดว่าเป็นบุคคลที่มีจิตใจมั่นคงขึ้นกว่าเดิม เมื่อกระทบกระทั่งกับอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา หรือเมื่อประสบกับอารมณ์ที่ปรารถนาก็จะไม่เกิดความโลภ หรือไม่เกิดความโกรธ โดยประกอบด้วยความต้องการ หรือไม่ต้องการอารมณ์เหล่านั้น ประโยชน์ข้อที่สองจึงเป็นประโยชน์ที่ท่านทั้งหลาย สามารถได้รับจากการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนี้ คือทำให้จิตของเรามั่นคงไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรมมากขึ้น

นักปฏิบัติที่เจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนกระทั่งถึงวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ และบรรลุถึงสังขารุเบกขาญาณ นักปฏิบัติที่บรรลุถึงวิปัสสนาญาณขั้นสังขารุเบกขาญาณนี้ จะไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะพบกับอารมณ์ที่ตนปรารถนาก็ตาม หรือกระทบกับอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาก็ตาม ก็จะมีจิตใจมั่นคงไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์เหล่านั้น คือไม่มีความปรารถนาต่ออารมณ์ที่ต้องการ หรือไม่มีความไม่พึงพอใจ ไม่มีความโกรธต่ออารมณ์ที่ตนไม่ต้องการ นอกจากนั้น แม้กระทั่งอารมณ์ที่น่าหวาดกลัว น่าสะดุ้งอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อนักปฏิบัติได้ประสบกับอารมณ์นั้น ก็จะไม่เกิดความกลัวไม่เกิดความสะดุ้งแต่อย่างใด

ประโยชน์ของการเจริญวิปัสสนากรรมฐานประการที่สามคือ ทำให้เกิดปัญญาความเฉลียวฉลาดความเข้าใจในหลักธรรมมากขึ้น หมายความว่าก่อนที่นักปฏิบัติจะได้มาเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อได้อ่านหนังสือธรรมะอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะหนังสือที่เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม ก็จะยังไม่เข้าใจ ขาดความกระจ่างในหลักวิชาการ ซึ่งเกี่ยวกับธรรมะในพระพุทธศาสนา แต่หลังจากที่ท่านทั้งหลาย ได้มาเจริญวิปัสสนากรรมฐานประมาณ ๑๐ วัน หรือ ๑ เดือน เมื่อกลับไปบ้านแล้วได้อ่านหนังสือธรรมะ ท่านทั้งหลายจะพบว่าตนเองนั้นมีความเข้าใจ ในหลักธรรมะของพระพุทธศาสนามากขึ้นกว่าเดิม เวลาที่ได้อ่านธรรมะขั้นสูงซึ่งเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม จะสามารถเกิดความกระจ่างเกิดความเข้าใจมากขึ้น กว่าตอนที่ยังไม่ได้มาปฏิบัติธรรม ซึ่งการที่นักปฏิบัติสามารถเกิดความเข้าใจเกิดความกระจ่าง ในการอ่านหนังสือก็เกิดจากผลของการปฏิบัติธรรม ซึ่งจัดว่าเป็นประโยชน์อย่างหนึ่งของการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

ประโยชน์ของการเจริญวิปัสสนากรรมฐานประการที่สี่คือ ทำให้นักปฏิบัติสามารถหายจากโรคประจำตัวที่เคยเป็นอยู่ได้ หมายความว่า ในขณะที่เราได้มาเจริญวิปัสสนากรรมฐาน มีสติรู้เท่าทันปัจจุบันอารมณ์ มีสมาธิมากขึ้นแล้ว สติที่ประกอบด้วยสมาธินี้ จะเป็นสภาวะธรรมที่ซักฟอกจิตใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์จากกิเลส และเมื่อจิตมีความผ่องใสบริสุทธิ์จากกิเลส รูปธรรมซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับจิต ก็จะเป็นรูปธรรมที่สะอาดผ่องใส ได้รับการซักฟอกอยู่เสมอ เมื่อเป็นเช่นนั้นโรคประจำตัวต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นมา และเกิดและมาปรากฏในขณะที่นั่งกรรมฐานอยู่ เมื่อนักปฏิบัติได้พยายามปฏิบัติจนกระทั่งบรรลุถึงอุทยัพพยญาณแล้ว โรคต่างๆ เหล่านั้นมักจะหายไป นักปฏิบัติบางท่านมีโรคประจำตัวคือโรคปวดต้นคอ บางท่านมีโรคประจำตัวคือโรคปวดที่ไหล่ บางท่านก็เป็นโรคปวดที่หลัง บางท่านก็เป็นโรคปวดเอว บางท่านเป็นโรคลมที่ปวดท้องอยู่เสมอ แต่เมื่อนักปฏิบัติเหล่านั้นได้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนกระทั่งบรรลุถึงอุทยัพพยญาณแล้ว โรคดังกล่าวจะอันตรธานไปด้วยอำนาจสมาธิของนักปฏิบัตินั่นเอง นอกจากนั้น ถ้าหมั่นพยายามปฏิบัติจนกระทั่งบรรลุถึงสังขารุเบกขาญาณ ขณะนั้นโรคประจำตัวที่แม้กระทั่งหมอยังรักษาไม่ได้ เป็นต้นว่าโรคมะเร็ง ก็สามารถหายได้เช่นเดียวกัน เพราะขณะนั้นสมาธิของนักปฏิบัติมีเป็นจำนวนมาก จึงสามารถทำให้โรคดังกล่าวอันตรธานไปได้ ด้วยอำนาจของสมาธินั้น จากประสบการณ์ของอาตมาแล้ว ถ้าโรคประจำตัวดังกล่าว ซึ่งไม่รุนแรงมากนักจนเกินไป เมื่อนักปฏิบัติบรรลุถึงสังขารุเบกขาญาณ จะรู้สึกว่าโรคประจำตัวนั้นได้แสดงอาการออกมา มีอาการปวด อาการเจ็บ อาการชา และจิตของนักปฏิบัติจะสามารถกำหนดรู้เท่าทันอาการซึ่งเกิดขึ้นได้ และจะรู้สึกว่าจิตของเรานั้น ได้ไปแนบสนิทอยู่กับอาการปวดอาการชา ซึ่งเกิดขึ้นในสถานที่ที่มีโรคประจำตัว และหลังจากนั้นไม่นาน เมื่อปฏิบัติได้สักระยะหนึ่ง และมีสมาธิมากขึ้นแล้ว มีนักปฏิบัติหลายท่านที่สามารถหายจากโรคประจำตัวเหล่านั้นได้ จากการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนี้ นักปฏิบัติที่บรรลุถึงสังขารุเบกขาญาณแล้ว มีบารมีแก่กล้าเพียงพอที่จะบรรลุถึงอริยมรรคได้ ก็จะเกิดอนุโลมญาณเกิดโคตรภูญาณต่อมา และหลังจากนั้นก็จะบรรลุถึงโสดาปัตติมรรคโสดาปัตติผล ขณะนั้นจิตของนักปฏิบัติจะรับรู้พระนิพพาน ซึ่งเป็นสภาพดับสังขารธรรมคือรูปธรรมกับนามธรรมเป็นอารมณ์ จัดว่านักปฏิบัติได้สามารถบรรลุถึงพระนิพพาน ซึ่งเป็นประโยชน์ประการสุดท้าย อันเป็นประโยชน์ที่สำคัญที่สุดของการปฏิบัติธรรม เมื่อได้บรรลุโสดาปัตติมรรค เป็นพระโสดาบันในพระพุทธศาสนาแล้ว จัดว่าเป็นบุคคลผู้ปิดประตูอบายได้ หมายถึงจะไม่ตกไปในอบายภูมิทั้ง ๔ คือไม่ตกนรก ไม่เกิดเป็นเปรต ไม่เกิดเป็นอสูรกาย และจะไม่กลับไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน นักปฏิบัติที่บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ย่อมปราศจากความลังเลสงสัยในเรื่องนี้ คือมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ด้วยตนเองว่า เมื่อเราได้เสียชีวิตแล้วเราจะไม่ตกนรกแน่นอน เราจะไม่เกิดเป็นเปรตแน่นอน เราจะไม่เกิดเป็นอสูรกายแน่นอน หรือเราจะไม่ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานแน่นอน แต่สำหรับบุคคลอื่นผู้ที่ยังไม่บรรลุเป็นพระโสดาบันนั้นอาจจะไปเกิดได้ แต่พระโสดาบันย่อมจะสามารถรับรู้ด้วยตนเองว่า เราจะไม่ไปเกิดในสถานที่เหล่านั้นอย่างแน่นอน ซึ่งความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งซึ่งเกิดขึ้นกับพระโสดาบันนี้ เป็นผลของการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั่นเอง พระโสดาบันนั้นหลังจากที่ได้เสียชีวิตแล้ว ย่อมจะทราบว่าตนเองจะไปเกิดในภพภูมิที่ดีกว่าปัจจุบัน หมายความว่า แม้กระทั่งไปเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้งหนึ่งก็ตาม ก็จะไปเกิดในตระกูลที่สูงกว่าภพปัจจุบัน ไปเกิดอยู่ในตระกูลที่มีทรัพย์สินมากกว่าตระกูลที่เกิดในปัจจุบัน และจะเป็นบุคคลที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เป็นบุคคลที่มีความเชื่อมั่น มีความตั้งมั่นในพระพุทธศาสนามากกว่าบุคคลอื่น หรือในขณะที่ไปเกิดเป็นเทวดา ก็จะเป็นเทพบุตรหรือเทพธิดาที่มีอานุภาพ มียศ มีบริวาร มากกว่าเทพบุตรตนอื่น นี่ก็เป็นอานิสงส์ของการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน สำหรับบุคคลที่บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว พระโสดาบันนั้นแม้ในบางขณะอาจจะเกิดความประมาท ความลุ่มหลงมัวเมาอยู่ในภพอยู่บ้าง แต่ท่านก็จะไม่เกิดเกินกว่า ๗ ชาติ เพราะภพชาติของพระโสดาบันมีภพชาติเพียง ๗ ชาติเท่านั้น ในขณะที่ยังท่องเที่ยวเกิดในกามภูมิ เมื่อท่านได้ปฏิสนธิถือกำเนิดจนครบ ๗ ชาติแล้ว ก็จะบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ และบรรลุถึงพระนิพพานโดยไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

อาตมาได้อธิบายประโยชน์การเจริญวิปัสสนากรรมฐานทั้ง ๕ ประการเหล่านี้แล้ว บัดนี้จะได้อธิบายความวิธีการอบรมอินทรีย์ให้แก่กล้า ๙ ประการ ประการแรกต่อมา ซึ่งวิธีอบรมอินทรีย์ให้แก่กล้าเหล่านี้ จัดว่าเป็นแนวทางปฏิบัติที่สำคัญ ที่นักปฏิบัติควรจะมีความเข้าใจอันจะเป็นประโยชน์ ในการกำหนดอารมณ์กรรมฐานของตน นักปฏิบัติที่เจริญวิปัสสนากรรมฐานอยู่ ผู้ที่ยังไม่ประสบความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม ก็ประสงค์จะประสบความก้าวหน้า ส่วนบุคคลผู้ประสบความก้าวหน้าแล้ว ก็ประสงค์จะบรรลุถึงคุณธรรมพิเศษยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะฉะนั้น พระอรรถกถาจารย์จึงแสดงแนวทาง การอบรมอินทรีย์ให้แก่กล้า ๙ ประการด้วยกัน ในบรรดาวิธีอบรมอินทรีย์ให้แก่กล้า ๙ ประการเหล่านั้น วิธีอบรมอินทรีย์ประการแรกคือ อุปฺปนฺนุปฺปนฺนานํ สงฺขารานํ ขยเมว ปสฺสติ นักปฏิบัติย่อมเข้าใจว่า สังขารธรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นมีความดับไปเป็นธรรมดา ท่านสาธุชนทั้งหลาย สิ่งที่เราทั้งหลายมีความสำคัญผิดว่าเป็นตัวตน บุคคล เรา เขา อันที่จริงแล้วประกอบด้วย ส่วนประกอบ ๒ อย่าง คือ รูปธรรมกับนามธรรม รูปธรรมหมายถึง เป็นสภาวะธรรมที่แปรปรวนปรากฏอย่างชัดเจน เมื่อประสบกับความร้อนความหนาว เป็นต้น ส่วนนามธรรมนั้นหมายถึง เป็นสภาวะธรรมที่สามารถรับรู้อารมณ์ได้ รูปธรรมกับนามธรรมทั้งสองอย่างเหล่านี้ เป็นสภาวะธรรมทางกายกับสภาวะธรรมทางจิต ซึ่งเกิดขึ้นกับสิ่งที่มีชีวิตทุกอย่าง ไม่ว่าจะเกิดกับคนก็ตาม หรือเกิดกับสัตว์เดรัจฉานก็ตาม ทั้งสองอย่างเหล่านี้มีลักษณะที่เกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดา เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมคือร่างกายของเราก็ตาม หรือนามธรรมคือจิตของเราก็ตาม เกิดขึ้นแล้วก็มีสภาพที่แปรปรวนดับไป เมื่อนักปฏิบัติได้มีความเข้าใจในหลักการเช่นนี้ ก็จะมีความตั้งใจแน่วแน่ในการปฏิบัติธรรม เพื่อบรรลุถึงมรรค ผล นิพพาน เพื่อให้เกิดปัญญาที่รู้แจ้งถึงความดับไปของสังขารธรรม คือรูปธรรมกับนามธรรมเหล่านั้น เพราะฉะนั้นความเข้าใจว่าสังขารธรรม คือรูปธรรมกับนามธรรมที่เกิดขึ้นทุกอย่าง มีสภาพดับไปเป็นธรรมดา จึงจัดว่าเป็นวิธีอบรมอินทรีย์ประการหนึ่ง เนื่องจากเป็นความเข้าใจขั้นพื้นฐานที่นักปฏิบัติจะต้องเข้าใจก่อน หลังจากนั้นจึงจะเกิดความพยายามในการอบรมจิตของตนเอง ให้เกิดปัญญาที่หยั่งรู้ความดับไปของรูปธรรมกับนามธรรมเหล่านั้น จากประสบการณ์ของตน

ในขณะที่ตามรู้ปัจจุบันอารมณ์อยู่ เช่นตามรู้อาการพอง อาการยุบอยู่นั้น พึงทำความเข้าใจว่าอาการพอง กับอาการยุบเหล่านี้ มีสภาพที่ดับไปเป็นธรรมดา หมายถึงขณะที่มีอาการพองอยู่ อาการพองได้เกิดขึ้นจากระยะหนึ่งๆ เคลื่อนไหวไปสู่ระยะหนึ่งๆ หลังจากนั้นอาการพองได้หยุดลง การที่อาการพองได้หยุดลง หมายถึงเป็นความดับไปของอาการพองอย่างแท้จริง และหลังจากนั้นเมื่ออาการพองดับลงแล้ว จึงเกิดอาการยุบต่อมา และอาการยุบก็มีระยะขั้นต่างๆ ของอาการยุบซึ่งค่อยๆ ยุบจากระยะหนึ่งๆ ไปสู่ระยะหนึ่งๆ เมื่ออาการยุบสิ้นสุดลงแล้ว จึงเกิดอาการพองต่อมา ในอาการพองนั้นไม่มีอาการยุบเกิดขึ้นเลย ในอาการยุบก็ไม่มีอาการพองเกิดขึ้นเลย ขณะที่อาการพองเกิดขึ้นอาการยุบจะไม่เกิดขึ้น และขณะที่มีอาการยุบเกิดขึ้นอาการพองก็จะยังไม่เกิดขึ้น เมื่ออาการพองดับลงแล้วอาการยุบจึงเกิดขึ้นได้ ถ้าอาการพองยังไม่ดับลงอาการยุบจะเกิดขึ้นไม่ได้ และเมื่ออาการยุบดับลงอาการพองจึงเกิดขึ้นได้ ถ้าอาการยุบยังไม่ดับลงอาการพองจะเกิดขึ้นไม่ได้ ความเข้าใจว่าสังขารธรรม คือรูปธรรมกับนามธรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้น เป็นสภาพดับไป มีสภาพดับไปเป็นธรรมดา เป็นความเข้าใจขั้นพื้นฐานในการปฏิบัติธรรม แต่นักปฏิบัติไม่พึงน้อมจิตไปในการกำหนดว่าเกิดดับ หรือเกิดหนอ ดับหนอ แต่พึงทำความเข้าใจว่าสภาวะธรรมเหล่านี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็มีสภาพที่ดับไปเป็นธรรมดา เมื่อนักปฏิบัติได้เกิดความเข้าใจว่า สังขารธรรมหรือรูปธรรมกับนามธรรม ที่เกิดขึ้นทุกอย่างมีสภาพดับไปเป็นธรรมดา เวลาที่ตามรู้อารมณ์กรรมฐานอยู่ ก็จะพยายามตามรู้ถึงเบื้องต้นและที่สุดของอารมณ์กรรมฐานนั้นๆ แล้วจะทำให้ประสบความก้าวหน้าในการปฏิบัติได้อย่างรวดเร็ว อาทิเช่น เวลาที่ตามรู้อาการพองยุบอยู่ ขณะที่กำหนดว่า พอง...หนอ จะรับรู้ถึงเบื้องต้นของอาการพอง และทราบว่าอาการพองนั้นได้สิ้นสุดลงขณะกำหนดว่าหนอ ตอนนั้นนักปฏิบัติทราบว่า เวลาที่กำหนดว่าว่าหนอ อาการพองได้สิ้นสุดลงแล้ว และหลังจากนั้น ได้เกิดอาการยุบขึ้นมา กำหนดว่ายุบ... และเมื่ออาการยุบได้สิ้นสุดลง กำหนดว่าหนอ เวลาที่นักปฏิบัติได้สามารถรับรู้ถึงที่สุดของอาการยุบ ก็จัดว่าได้รับรู้ถึงที่สุดของรูปธรรม คืออาการยุบที่เคลื่อนไหวนั้นนั่นเอง เพราะฉะนั้นนักปฏิบัติที่มีความเข้าใจว่า สังขารธรรมมีสภาพดับไปเป็นธรรมดา ก็จะทำให้น้อมจิตไปเพื่อการรับรู้ถึง เบื้องต้นและที่สุดของอารมณ์กรรมฐาน และจะสามารถประสบความก้าวหน้าในการปฏิบัติได้อย่างรวดเร็ว เวลาที่เจริญวิปัสสนากรรมฐานอยู่ สมาธิของนักปฏิบัติจะมีความแตกต่างกันในแต่ละขณะ บางขณะก็มีสมาธิมาก สามารถกำหนดรู้อารมณ์กรรมฐานได้ชัดเจน บางขณะก็มีสมาธิน้อยไม่สามารถกำหนดรู้อารมณ์กรรม-ฐานอย่างชัดเจนได้ เป็นต้นว่า ขณะที่นักปฏิบัติได้สามารถรับรู้ถึง เบื้องต้นและที่สุดของอารมณ์กรรมฐาน คืออาการพองหรืออาการยุบได้ จัดว่าได้รับรู้ถึงความเกิดดับของอาการเหล่านี้ เพราะอาการที่เริ่มพองออกมา เป็นอาการที่เริ่มเกิดขึ้นและอาการสิ้นสุดของอาการพองนั้น จัดว่าเป็นความดับของอาการพองในระยะหนึ่ง และเมื่อเกิดอาการยุบขึ้นนักปฏิบัติกำหนดว่ายุบ จะสามารถรับรู้เบื้องต้นของอาการยุบ และเมื่ออาการยุบสิ้นสุดลงสามารถกำหนดว่าหนอได้ แสดงว่าได้รับรู้ถึงที่สุดหรือความดับไปของอาการยุบนั้น อย่างไรก็ตาม ในบางขณะที่สมาธิมีน้อย มีความฟุ้งซ่านมาก ไม่สามารถตามรู้เท่าทันความฟุ้งซ่านได้ หรือเกิดความง่วงโงกครอบงำ ก็จะไม่สามารถรับรู้ถึงเบื้องต้นและที่สุด ของอาการพองกับอาการยุบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สุดของอาการยุบนี้ บางขณะอาจจะกำหนดไม่ได้ คือนักปฏิบัติบางท่านเวลากำหนดว่าพองกำหนดได้ แต่ถึงหนอกำหนดไม่ได้ เพราะรู้สึกว่ามีอาการยุบเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เร็วกว่าที่จิตของเราจะรับรู้ที่สุดของอาการพองได้ บางท่านก็อาจกล่าวว่าเวลาที่มีอาการยุบสิ้นสุดลง ก็มีอาการพองทันทีรวดเร็วเกินกว่าที่จะกำหนดว่าหนอ ในขณะที่กำหนดว่ายุบหนอได้ ซึ่งอาการนี้เป็นอาการที่นักปฏิบัติมีสมาธิไม่มากพอสมควร ไม่สามารถรับรู้ถึงเบื้องต้นและที่สุดของอาการนี้ได้ อย่างไรก็ตามในตอนนั้นอาจจะเกิดความเข้าใจว่า สภาวะธรรมนี้เป็นสภาพที่เกิดขึ้นและดับไปจริงหรือไม่ อาจเกิดความสงสัยว่าที่สุดของอาการพอง หรือที่สุดของอาการยุบไม่มี คิดว่าอาการพองและอาการยุบนี้เป็นระยะเดียวกัน เพราะไม่สามารถรับรู้ถึงที่สุดของอาการทั้งสองเหล่านั้นได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ขอให้นักปฏิบัติไม่พึงประกอบด้วยความสงสัยลังเลใจดังกล่าว พึงน้อมจิตไปในการทำความเข้าใจว่า สังขารธรรมทุกอย่างเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปเป็นธรรมดา เมื่อมีอาการพองเกิดขึ้น ที่สุดของอาการพองจะต้องมีอย่างแน่นอน หรือเมื่อมีอาการยุบเกิดขึ้น ที่สุดของอาการยุบย่อมมีอย่างแน่นอน ขอให้น้อมจิตไปเพื่อรับรู้เบื้องต้นและที่สุด หรือความเกิดขึ้นและความดับไปของอารมณ์กรรมฐาน และหลังจากนั้น นักปฏิบัติก็จะบรรลุถึงความก้าวหน้าแห่งการปฏิบัติได้ โดยประกอบด้วยแนวทางแห่งการอบรมอินทรีย์ประการแรกนี้

นักปฏิบัติที่ได้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนกระทั่งบรรลุถึงวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๕ คือ ภังคญาณ หมายถึงเป็นปัญญาที่หยั่งรู้ความดับไปของอารมณ์กรรมฐาน คือรูปธรรมหรือนามธรรม ที่กำลังกำหนดรู้อยู่ ขณะนั้นจะรับรู้ว่า อารมณ์กรรมฐานที่กำลังกำหนดรู้อยู่นั้นได้ดับไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นอาการพองยุบก็ตาม อาการเคลื่อนไหวของเท้าก็ตาม หรือแม้กระทั่งจิตที่กำหนดรู้ก็ตาม นักปฏิบัติจะสามารถรับรู้ถึงความดับไปอย่างรวดเร็ว ของอารมณ์กรรมฐานที่กำหนดรู้อยู่ได้ และในขณะนั้นนั่นเองก็จะเกิดความเข้าใจ จากประสบการณ์ของตนเองอย่างถ่องแท้ว่า สังขารธรรมทุกอย่างนั้นมีสภาพดับไปเป็นธรรมดา

ส่วนใหญ่นักปฏิบัติที่เกิดวิปัสสนาญาณ ที่สามารถหยั่งรู้สภาวะธรรมในขั้นต่างๆ นั้น น่าจะเกิดปัญญาที่รู้แจ้งสภาวะธรรมทางกายหรือรูปธรรม มากกว่าที่จะรู้แจ้งสภาวะธรรมทางจิตหรือนามธรรม นักปฏิบัติที่บรรลุถึงภังคญาณ ที่ยังไม่แก่กล้ามากนักจะรับรู้ว่าอารมณ์กรรมฐาน คือรูปธรรมที่กำหนดรู้อยู่ได้ดับลงอย่างรวดเร็ว เช่นรู้สึกว่าอาการพองยุบนั้นเป็นสภาวะที่ดับอย่างรวดเร็ว รู้สึกว่าอาการเคลื่อนไหวของท้อง ได้หมุนเป็นเกลียวเหมือนกับสว่าน หรืออาจจะรู้สึกว่าร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดได้หายไป ซึ่งความรู้สึกนี้ จัดว่าเป็นการบรรลุถึงภังคญาณ ที่รับรู้ความดับไปของอารมณ์กรรมฐาน แต่เมื่อภังคญาณนั้นมีความแก่กล้ามากขึ้นแล้ว นักปฏิบัติก็จะสามารถรู้แจ้งถึงความดับไปของจิต ที่กำหนดรู้อารมณ์กรรมฐานได้ คือรู้แจ้งถึงความดับไปของจิตที่ตามรู้อาการพองหรืออาการยุบ รู้แจ้งความดับไปของจิตที่ตามรู้อาการเคลื่อนไหวของเท้าอยู่

นักปฏิบัติที่ได้เกิดปัญญารู้แจ้งถึงความดับไปของอารมณ์กรรมฐาน ไม่ว่าจะเป็นความดับไปของอาการพองก็ตาม ความดับไปของอาการยุบก็ตาม ความดับไปของอาการเคลื่อนไหวของเท้าก็ตาม หรือความดับไปแห่งอาการเคลื่อนไหวของจิตก็ตาม ก็จะเกิดความเข้าใจว่าสภาวะธรรมทางกาย กับสภาวะธรรมทางจิตที่เราเคยเห็นผิด เคยสำคัญผิดว่าเป็นบุคคล ตัวเรา ของเรา เป็นบุรุษ เป็นสตรีนั้น อันที่จริงแล้ว ไม่มีเรา ไม่มีของเรา ไม่มีบุรุษ ไม่มีสตรี มีเพียงสภาวะธรรมทางกายกับสภาวะธรรมทางจิต ที่ดับไปอย่างรวดเร็วเท่านั้น ความเข้าใจนี้เป็นการรู้แจ้งอนิจจัง คือเข้าใจว่าสังขารธรรมเหล่านี้เป็นของไม่เที่ยง มีสภาพแปรปรวนอยู่เสมอ เมื่อได้เกิดปัญญาที่รู้แจ้งไตรลักษณ์ ประการแรกคือ อนิจจัง ความเป็นของไม่เที่ยงแล้ว ก็จะเกิดความเข้าใจถึงไตรลักษณ์ประการที่สองคือ ทุกขัง หมายความว่าเข้าใจว่า รูปธรรมกับนามธรรมหรือสังขารธรรมเหล่านี้ ไม่ใช่สิ่งที่ถาวร เป็นความทุกข์ที่แท้จริง เพราะว่าได้ถูกความเกิดดับบีบคั้นอยู่เสมอ สิ่งที่เป็นสุขที่ถาวรหมายถึงจะต้องเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ตลอดกาล จึงจะเป็นสุขที่ถาวร แต่รูปธรรมกับนามธรรมนี้ไม่ดำรงอยู่ตลอดกาล เกิดขึ้นและดับไปอยู่เสมอจึงจัดว่าเป็นทุกข์ และจะเกิดความเข้าใจไตรลักษณ์ประการที่สาม คือ อนัตตา เข้าใจว่ารูปธรรมกับนามธรรมเหล่านี้ เป็นสิ่งที่เราบังคับบัญชาไม่ได้ แม้เราจะต้องการไม่ให้เกิดดับ ให้เป็นไปในอำนาจของตน ก็ไม่สามารถจะบังคับบัญชาให้อยู่ในอำนาจได้ เพราะฉะนั้น นักปฏิบัติที่ได้รู้แจ้งถึงความดับของรูปธรรมกับนามธรรม ในขณะที่บรรลุถึงภังคญาณ จัดว่าได้เกิดปัญญาที่หยั่งรู้ไตรลักษณ์ ๓ ประการ คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความเป็นอนัตตา และหลังจากนั้นก็จะเกิดวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ ต่อมา จนกระทั่งบรรลุถึงมรรค ผล นิพพาน ต่อมาได้ ในการที่นักปฏิบัติได้เกิดปัญญาที่รู้แจ้งไตรลักษณ์ ๓ ประการ คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความเป็นอนัตตาเหล่านั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดที่นักปฏิบัติจะเกิดปัญญารู้โดยตรง คือ อนิจจัง ความไม่เที่ยง เพราะนักปฏิบัติจะเกิดปัญญาที่รู้แจ้งถึงความเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ความเกิดขึ้นดับไป หรือความดับไปของรูปธรรมกับนามธรรม ซึ่งนับเข้าในไตรลักษณ์ประการแรกคือ อนิจจัง ความไม่เที่ยง บุคคลที่เกิดปัญญารู้แจ้งความไม่เที่ยง นับว่าเป็นบุคคลที่รู้แจ้งถึงความทุกข์ และความเป็นอนัตตาความไม่ใช่ตัวตน โดยอ้อมอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นพระอรรถกถาจารย์จึงได้แสดง วิธีอบรมอินทรีย์ให้แก่กล้าประการแรก คือกล่าวว่า นักปฏิบัติพึงมีความเข้าใจว่า สังขารธรรมทุกอย่างมีสภาพดับไปเป็นธรรมดา เพื่อที่จะน้อมจิตไปในความเข้าใจว่า สังขารธรรมที่เกิดทุกอย่างเป็นของไม่เที่ยงนั่นเอง

ผู้ที่เจริญวิปัสสนากรรมฐานจนกระทั่งสามารถบรรลุถึงภังคญาณ ที่รู้แจ้งความดับไปของอารมณ์กรรมฐานได้ ขณะนั้นจัดว่าเป็นพลววิปัสสนาคือ เป็นวิปัสสนาที่มีกำลัง วิปัสสนาญาณ ๔ ขั้นแรกนั้น เป็นวิปัสสนาที่ไม่มีกำลัง ยังมีกำลังอ่อนอยู่ ส่วนวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๕ คือ ภังคญาณ เป็นวิปัสสนาญาณที่มีกำลัง ถือว่าจัดเข้าในวิปัสสนาญาณขั้นแก่กล้า นักปฏิบัติที่บรรลุถึงญาณขั้นนี้ ก็จะเกิดความมุมานะ เกิดความตั้งใจอย่างแน่วแน่ มากกว่าก่อนที่จะบรรลุถึงญาณขั้นนี้ และเมื่อเป็นเช่นนั้น ก็จะเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้จากประสบการณ์ของตนอีก ในเรื่องของไตรลักษณ์ ๓ ประการ เพราะเข้าใจว่า อารมณ์กรรมฐานที่กำหนดอยู่นี้เป็นของไม่เที่ยง เพราะได้รับรู้ถึงความดับไป เข้าใจว่าเป็นของเป็นทุกข์ เพราะไม่ใช่สุขที่ถาวร มีความเกิดดับอยู่เสมอ และเข้าใจว่าเป็นอนัตตา เป็นสิ่งที่ยังบังคับบัญชาไม่ได้ หลังจากนั้นจะเกิดกำลังใจในการปฏิบัติเป็นอย่างมาก และจะตั้งใจในการปฏิบัติสืบต่อไปมากขึ้นกว่าเดิม

ในวันนี้อาตมาภาพเห็นว่าสมควรแก่เวลาแล้ว ขอให้ท่านสาธุชนทั้งหลาย ประกอบด้วยความเข้าใจในประโยชน์ ของการเจริญวิปัสสนากรรมฐานทั้ง ๕ ประการ และเข้าใจวิธีอบรมอินทรีย์ให้แก่กล้าประการแรก คือ ความเข้าใจว่าสังขารธรรมที่เกิดขึ้นทุกอย่างมีสภาพดับไปเป็นธรรมดา หมั่นเจริญวิปัสสนากรรมฐาน รวมทั้งสามารถบรรลุถึงความหลุดพ้น คือ พระนิพพาน ตามสมควรแก่บารมีของตนด้วยเทอญ ขอเจริญพรฯ



 
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 11 ก.ย. 2005, 3:19 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ทำลิ๊งค์ให้ใหม่นะค่ะ


http://www.sati99.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=41558&Ntype=1



 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง