Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 สมาธิภาวนา (หลวงพ่อชา สุภัทโท) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 09 ก.ค.2004, 7:19 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

สมาธิภาวนา
หลวงพ่อชา สุภัทโท

วัดหนองป่าพง
ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี


ผู้แสวงบุญทั้งหลาย ที่มารวมกันแล้ว เพื่อจะได้ฟังธรรมะต่อไปให้ฟังธรรมะอยู่ในความสงบ การฟังธรรมะในความสงบนั้น คือทำจิตให้เป็นหนึ่ง หูเรารับฟัง สัมผัสถูกต้อง แล้วก็ปล่อยไปอย่างนี้ เรียกว่า ทำจิตให้สงบ

การฟังธรรมะนี้ก็เป็นประโยชน์มาก ส่วนหนึ่งเกี่ยวแก่การปฏิบัติธรรมะ ดังนั้นการฟังธรรมะ ท่านจึงให้ตั้งกายตั้งใจให้เป็นสมาธิ ในครั้งพุทธกาลนั้น ฟังธรรมะให้เป็นสมาธิเพื่อรู้ธรรมะ สาวกบางองค์ได้ตรัสรู้ธรรมะในอาสนะที่นั่งนั้นก็มีอยู่มาก

สถานที่นี้เป็นที่สมควรที่จะทำกรรมฐานมาก อาตมามาพักอยู่ที่นี่คืนสองคืนมาแล้ว รู้ว่าสถานที่นี้เป็นที่สำคัญมาก สถานที่ข้างนอกสงบแล้ว ยังแต่สถานที่ข้างในคือจิตใจของเราเท่านั้น ดังนั้นพวกเรา ทั้งหลายที่มานี้ ขอให้ตั้งใจทุกคน ถึงแม้ว่ามันจะสงบบ้างไม่สงบบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา

ทำไมเราจึงได้มารวมทำความสงบอยู่ที่นี่ เพราะจิตใจของเรายังไม่รู้สิ่งที่ควรรู้ คือยังไม่รู้ตาม ความเป็นจริงว่าอะไรมันเป็นอะไร อะไรมันผิด อะไรมันถูก อะไรมันทำความทุกข์ให้เรา อะไรมันทำความสงสัยให้เราอยู่ เราจึงมาทำความสงบกันก่อน เหตุที่เราต้องมาทำความสงบระงับในที่นี้ เพราะว่า จิตใจไม่สบาย จิตใจไม่สงบ จิตใจไม่ระงับ วุ่นวาย สงสัย จึงนัดมา ณ ที่นี่ เพราะฉะนั้นวันนี้ตั้งใจฟังธรรมะ

การฟังธรรมะของอาตมานั้นอยากให้ตั้งใจฟังให้ดี อาตมาชอบพูดแรงหน่อยชอบพูดรุนแรงหน่อย เพราะนิสัยเป็นอย่างนี้ แต่จะพูดรุนแรงอย่างไรก็ตามเถอะ อาตมาก็ยังมีความเมตตาอยู่ตลอดกาลตลอดเวลาอยู่นั่นเอง การพูดบางสิ่งบางอย่างนั้นขออภัยด้วยทุกๆ คน เพราะว่าประเพณีเมืองไทยกับชาวตะวันตกนี้มันไม่คล้ายกัน มันคนละอย่าง บางทีมันอาจทำให้ไม่ค่อยสบายใจก็ได้ พูดรุนแรงหน่อยก็ดีนะ มันตื่นเต้น ไม่งั้นมันหลับเฉย ไม่รู้ว่าอะไรมันนอนใจอยู่อย่างนั้น มันนิ่งเฉยอยู่ไม่ลุกขึ้นมาฟังธรรม

การปฏิบัตินี้ก็มีหลายอย่าง แต่มันก็มีอย่างเดียว เช่นว่าการปลูกต้นไม้ที่ได้รับผลนั้น บางทีก็ได้กินเร็วๆ คือเอาทาบกิ่งมันเลย อันนี้เรียกว่ามันไม่ทนทาน อีกอย่างหนึ่ง เอาเมล็ดมันมาเพาะปลูกจากเมล็ดมันเลย อันนี้มีความแน่นหนาถาวรดีมาก ตามความจริงเป็นอย่างนี้เป็นธรรมดาทุกคน

ตัวอาตมาเองก็เป็นอย่างนี้ เมื่อไม่รู้จักว่าอะไรเป็นอะไรนั้น ก็ไปนั่งทำกรรมฐานลำบากมาก จนร้องไห้ตั้งหลายเวลาหลายครั้งเหมือนกัน บางอย่างมันคิดสูงไป บางอย่างมันคิดต่ำไป ไม่ถึงความพอดีของมัน เพราะว่าการปฏิบัติที่สงบนี้ ไม่สูง แล้วก็ไม่ต่ำ คือความพอดี แล้วก็มาเห็นญาติโยมทั้งหลายที่นี้ มันยุ่งมาก คือต่างคนต่างฝึกมา ต่างคนต่างมีครูบาอาจารย์เหลือเกินแล้ว ก็มารวมทำนี่ เกิดความสงสัยมาก อย่างอาจารย์นั้นต้องทำอย่างนั้น อาจารย์นี้ต้องทำอย่างนี้ ครูนั่นต้องทำอย่างนั้น มานั่งเถียงกันเลยวุ่น ไม่รู้จักว่าจะเอาอันไหน ไม่รู้จักเนื้อจักตัว มันเลยวุ่น มันหลายเกินไป มากเกินไป ไม่รู้ว่าจะเอาอะไร ให้มันเป็นที่หนึ่งได้ สงสัยตลอดมา

ฉะนั้น พวกเราอย่าคิดให้มันมาก ถ้าจะคิดให้มันรู้จักอย่างนี้ไม่รู้หรอก ต้องทำจิตเราให้สงบเสียก่อน ที่มันรู้ไม่ต้องคิด ความรู้สึกมันจะเกิดมาในที่นี่เอง มันจึงเป็นปัญญา คิดนั้นไม่ใช่ปัญญา ไม่ใช่ตัวปัญญา มันติดเรื่อยไปไม่รู้เรื่อง ยิ่งคิดยิ่งวุ่นวาย

ฉะนั้น มาถึงที่นี่ก็ต้องพยายามอย่าให้คิด อยู่ในบ้านเราเคยคิดมากๆ แล้วไม่ใช่เหรอ มันกวนใจ ให้รู้อย่างนั้น คิดมากๆ ไปน้ำตามันไหลออกด้วย ละเมอหลงติดไปน่ะ ไม่ใช่ความจริง ไม่ใช่ปัญญา พระพุทธองค์ท่านมีปัญญามาก ท่านจึงหยุดคิด อย่างนี้เรามาฝึกก็เพื่อให้มันหยุดคิด นั่งให้สงบ ให้มีความสงบ ถ้าคิดปัญญาไม่เกิด ธรรมะไม่เกิด เกิดแต่สังขารปรุงแต่งไปเรื่อยๆ ถ้าสงบแล้วไม่ต้องคิด แล้วปัญญาจะเกิดขึ้นตรงนั้น เมื่อเราคิดอยู่ปัญญาไม่เกิด เมื่อเรามีความสงบแล้ว ความรู้สึกจะเกิดขึ้นมาในความสงบนั้น มีพร้อมกันทั้งความคิด มีพร้อมกันทั้งปัญญา เป็นคู่กันเลย ถ้าจิตใจเราไม่สงบ ปัญญาไม่มี มีแต่จะคิดอย่างเดียวเท่านั้น มันถึงยุ่ง

การนั่งสงบจิตนี่ ไม่ต้องคิดอะไรมากมาย บัดนี้เราจะต้องทำจิตอันนี้อย่างเดียว ไม่ปล่อยจิตของเราให้มันพุ่งไปข้างขวาข้างซ้าย ข้างหน้า ข้างหลัง ข้างบน ข้างล่าง จะทำอะไร จะทำอันนี้ จะทำจิตคืออานาปานสตินี่ กำหนดจากศีรษะลงไปหาปลายเท้า กำหนดปลายเท้าขึ้นมาศีรษะ กำหนดจากศีรษะลงไป ดูด้วยปัญญาของเราอันนี้ เพื่อให้เป็นเหตุ ให้รู้จักร่างกายของเราก่อน แล้วก็นั่งกำหนดว่า บัดนี้ ธุระก็เดินต่อ หน้าที่ของเรานั้นก็คือให้ดูลมหายใจเข้าออก อย่าไปบังคับให้มันสั้น หรือบังคับให้มันยาว ปล่อยตามสบาย ไม่ให้กดดันมัน ให้มีความปล่อยวาง อยู่ในช่วงลมหายใจเข้าออกเสมออย่างนี้

การกระทำนี้ให้เข้าใจว่า เป็นการกระทำด้วยการปล่อยวาง แต่มีความรู้สึกอยู่ ให้มีความรู้สึกอยู่ ในการปล่อยวาง ลมหายใจเข้าออกสบาย ไม่ให้กดดัน ปล่อยตามธรรมชาติ ให้มันสบาย ให้คิดว่าธุระหน้าที่อย่างอื่นของเราไม่มี ความคิดที่ว่าการนั่งอย่างนี้มันจะเป็นอะไร แล้วมันจะเห็นอะไรอย่างนี้จะเกิดขึ้นมา ก็ให้หยุด หยุดไม่เอา มันจะเป็นอะไร จะรู้อะไร มันจะเห็นอะไรไหม แม้ความคิดเช่นนี้มันจะเกิดขึ้นมาในเวลานั้นก็ตามที

เมื่อเรานั่งอยู่นั่น ไม่ต้องรับรู้อารมณ์ เมื่ออารมณ์ที่มากระทบกระทั่งเมื่อไร รู้สึกในจิตของเรา แล้วปล่อยมันไป มันจะดีจะชั่วก็ช่างมัน ในเวลานั้นไม่ใช่ธุระหน้าที่ของเราจะไปจัดแจงในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ปล่อยมันออกไปเสียก่อน แล้วกำหนดลม เอาคืนมาให้มีความรู้สึกแต่ลมอย่างเดียว เข้าออก แล้วให้มันสบาย อย่าให้มันทุกข์เพราะมันสั้น ทุกข์เพราะมันยาว อย่าให้มันทุกข์ ดูลมหายใจ อย่าให้มีความกดดัน คืออย่ายึดมั่น รู้แล้วให้ปล่อยตามสภาวะของมันอย่างนั้นให้ถึงความสงบ ต่อไปจิตมันก็จะวางลมหายใจ มันก็จะเบา เบาไป ผลที่สุดลมหายใจมันจะน้อยไปน้อยไป จนกระทั่งปรากฏว่ามันไม่มีลม ในเวลานั้นจิตมันก็จะเบา กายมันก็จะเบา การเหน็ดเหนื่อยเลิกหมดแล้ว มีเหลือความรู้อันเดียวอยู่อย่างนั้น นั่นเรียกว่าจิตมันเปลี่ยนไปหาความสงบ แล้วนี่พูดถึงการกระทำในเวลาเรานั่งสมาธิอย่างเดียว

ถ้าหากว่าจิตใจมันวุ่นวายมากก็ตั้งสติขึ้นสูดลมเข้าไปให้มันมากจนไม่มีที่ เก็บ แล้วก็ปล่อยมันหมด จนกว่าที่มันไม่มีในนี้แล้วก็หายใจเข้ามาอีก สูดมันให้เต็มแล้วก็ปล่อยไปสามครั้งตั้งจิตใหม่ มีความสงบขึ้น ถ้ามีอารมณ์วุ่นวายอีก ก็ทำอย่างนี้อีกทุกครั้ง จะเดินจงกรมก็ตาม จะนั่งสมาธิก็ตาม ถ้าเดินจงกรมมันวุ่นวายมากก็หยุดนิ่ง กำหนดให้ลงในที่สงบ ตั้งใหม่ให้รู้ จิตจึงจะเกาะ แล้วไปนั่งสมาธิก็เหมือนกันอย่างนั้น เดินจงกรมก็เหมือนกันอย่างนั้น มันต่างกันแต่อิริยาบถนั่งกับอิริยาบทเดินเท่านั้น

บางทีความสงสัยก็มีบ้าง ต้องให้มีสติ มีผู้รู้ ที่มันวุ่นวายเป็นอย่างๆ ก็ติดตามอยู่เสมอ อาการนี้เรียกว่ามีสติ สติตามดูจิต จิตเป็นผู้รู้ อาการที่ตามดูจิตของเรานั้นอยู่ในลักษณะอันใดก็ให้เรารู้อย่างนั้น อย่าเผลอไป

อันนี้เป็นเรื่องสติกับจิตควบคุม พอถึงกันแล้วก็จะมีความรู้สึกอย่างหนึ่ง ถ้าจิตมันพอที่จะสงบแล้ว จิตที่มันถูกคุมขังอยู่ในที่สงบเหมือนกับเรามีไก่ตัวหนึ่งที่ใส่ไว้ในกรง นั้น ไก่ที่อยู่ในกรงนั้นมันไม่ออกไปจากกรง แต่ว่ามันเดินไปเดินมาได้ในกรงนั้น อาการที่มันเดินไปเดินมานี่ไม่เป็นอะไร เพราะมันเดินไปเดินมาได้ในกรงนั้น ความรู้สึกของจิตที่เรามีสติสงบอยู่นั้น มีความรู้สึกในที่สงบนั้น ไม่ใช่เรื่องที่มันให้เราวุ่นวาย คือเมื่อมันคิด มันรู้สึก ให้มันรู้สึกอยู่ด้วยความสงบ ไม่เป็นอะไร

บางคนเมื่อมีความรู้สึกขึ้นมา ก็ไม่ให้มันมีความรู้สึกอะไร อย่างนี้ผิดไป ไม่ได้มีความรู้สึกอยู่ในที่สงบ รู้สึกอยู่ด้วยความสงบ รู้สึกอยู่ก็ไม่รำคาญ นี่สงบ อยู่อย่างนี้ไม่เป็นไร ตัวที่มันสำคัญก็คือตัวที่มันออกจากกรงไป เช่นว่า เรามีลมหายใจเข้าออกอยู่อย่างนี้ ลืมไป ลมหายใจไปเที่ยวในบ้าน ไปเที่ยวในตลาด ไปเที่ยวโน้น สารพัดอย่าง บางที ครึ่งชั่วโมงถึงมา อ้าวอะไรตายไม่รู้เรื่อง นี่ตัวสำคัญ ระวังให้ดี ตัวนี้สำคัญ มันออกจากกรงไปแล้วนี่ มันออกจากความสงบแล้วนี่

ต้องระวัง ต้องให้มีสติมารู้ ต้องพยายามดึงมันมา ที่ว่าดึงมันมานี่ก็คือไม่ใช่ดึงหรอก มันไม่ไปที่ไหนหรอก คือเปลี่ยนความรู้สึกเท่านั้นเอง ให้มันอยู่ที่นี่ มันก็มีอยู่ที่นี่ มีสติที่นี่เมื่อไหร่ก็มีอยู่ที่นี่ แต่สมมุติว่าดึงมันมา มันไม่ได้ไปที่ไหนหรอก มันเปลี่ยนแปลงอยู่ที่จิตเรานี้ ที่สังเกตว่ามันไปโน่นไปนี่ ความเป็นจริงมันไม่ได้ไป มันเปลี่ยนแปลงอยู่ตรงนี้ มันมีสติพรึบเข้ามาแล้ว มันก็มาทันที มันไม่มาจากอะไร มันรู้สึกอยู่ที่นี่เอง ให้เข้าใจอย่างนั้น

อันนี้เรื่องจิต จิตเราที่อยู่มีอะไรเป็นเครื่องหมายไหม คือมีความรู้บริบูรณ์ ติดต่อกันไม่ได้ขาด รู้ตลอดเวลานั้นเรียกว่าจิตของเราอยู่ตรงนี้ ถ้าเราไม่รู้ลมอะไร มันไปที่ไหนนั่นเรียกว่าขาด ถ้าหากว่ารู้เมื่อไหร่ มีลมก็มีจิต มีลม มีความรู้สึกสม่ำเสมอนี้ ตัวเดียวอันนั้นน่ะอยู่กับเราแล้ว อันนี้พูดถึงอาการจิต มันจะต้องเป็นอย่างนี้

มันจะต้องมีสติ มีสัมปชัญญะ สติคือระลึกได้ สัมปชัญญะคือรู้ตัวอยู่ เดี๋ยวนี้รู้ตัวกับอะไร กับลม อยู่อย่างนี้ ทำมีสติ มีสัมปชัญญะปรากฏ ที่มันแบ่งกันอยู่อย่างนี้ ถ้าหากว่าเรารู้ตัวอยู่ มันก็จะเป็นคล้ายๆ กับคนที่ยกไม้ ยกวัตถุที่มันหนักๆ อยู่สองคน มันหนักจนจะทนไม่ไหวอย่างนี้จะมีคนที่มีเมตตา คือปัญญามองเห็น ปัญญาก็วิ่งเข้ามาช่วย นี่อย่างนี้มีสติ มีสัมปชัญญะรู้อยู่แล้วก็ปัญญาเกิดขึ้นมาตรงนี้ ช่วยกันมีสติ มีสัมปชัญญะ มีปัญญามาช่วยกันอย่างนี้

เมื่อมีปัญญาเข้ามาช่วย มันจะรู้จักอารมณ์ เช่น มานั่ง อาการจิตมันมีสติ มีสัมปชัญญะ แล้วก็มีปัญญา อารมณ์ผ่านเข้ามา มันเกิดความรู้สึกคิดถึงเพื่อน “ไม่ใช่” “ช่างมัน” “หยุด” “เลิก” “พรุ่งนี้เราจะไปโรงเรียน” “อือ เลิก ไม่เอา” ตอนนี้ก็คิดถึงคนอื่น “เอ้อ ไม่ใช่” “เออ ไม่เอา” “ไม่เอาอะไรทั้งสิ้น” ปล่อยมันทั้งนั้น “ไม่เอา อย่ามายุ่งเลย” “ไม่แน่นอน ของไม่แน่นอน” ทำสมาธิอยู่ มันจะเป็นอย่างนั้น “ไม่แน่” “ไม่แน่” ทำสมาธิอยู่มันจะรู้อย่างนี้ ให้เลิกคิด เลิกพูด เลิกสงสัย เลิกหมด อย่าเอามากวนในเวลานั้น ถ้ามันเลิกหมดแล้วมันจะเหลือแต่เพียงสติสัมปชัญญะกับปัญญาล้วนๆ ถ้าหากว่ามันอ่อนเมื่อไร มันก็เกิดความสงสัยขึ้นมา เลิกๆ ๆ ให้เหลือแต่เพียงสติสัมปชัญญะเท่านั้น พยายามให้มีสติที่สุด อย่างนี้ ทำอย่างนี้เรื่อยๆ ไปจนตลอดเวลานั่นแหละ แล้วจะได้เห็นตัวสติ เห็นสัมปชัญญะ แล้วก็เห็นปัญญา แล้วก็เห็นตัวสมาธิ เห็นครบไปหมดทุกอย่าง

เมื่อเราเพ่งเข้าไปตรงนั้น สติเราก็จะเห็นได้ สัมปชัญญะเราก็จะเห็นได้ สมาธิเราก็จะเห็นได้ ปัญญาก็จะเห็นได้ครบในที่นั่นเลย มีอารมณ์จรมาข้างนอก เราจะชอบใจก็ตามเถอะว่า “เออ ไม่แน่” ไม่ชอบใจก็ “อือ ไม่แน่” มันเป็นนิวรณ์ทั้งนั้น สิ่งทั้งหลายให้กวาดให้มันเตียนหมดให้เหลือแต่สติ คือ ความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้สึกตัว สมาธิความตั้งใจมั่น ปัญญารอบรู้ ให้เข้าใจอย่างนี้ อันนี้พูดถึงการกระทำ แล้วจบแค่นี้ก่อนนะ

ทีนี้จะพูดถึง เครื่องอุปกรณ์ทั้งหลายที่จะช่วยการปฏิบัติสมาธิภาวนา เราจะต้องเป็นผู้มีจิตใจเผื่อแผ่ โอบอ้อมอารีที่เรียกว่าเมตตาธรรม ให้เป็นผู้มีเมตตาเป็นคุณธรรม เช่นว่าเรากำจัดตัวโลภะหรือ ตัวเห็นแก่ตัวออก ทางพระท่านว่าการให้ทาน การให้คือทาน คนเราถ้าเห็นแก่ตัวแล้วไม่สบาย เห็นแก่ตัวแล้วไม่ค่อยสบาย แต่คนชอบจะเห็นแก่ตัวหลาย แต่ไม่รู้สึกเจ้าของ (ไม่รู้สึกตัว)

จะรู้ได้ในเวลาไหน รู้ว่าในเวลาเราหิวอาหาร ถ้าเราได้แอปเปิ้ลมาลูกหนึ่งขนาดนี้ เราจะแบ่งคนอื่น จะแบ่งให้เพื่อนคิดแล้วคิดอีก อยากจะให้เพื่อนก็อยากจะให้ แต่ว่าอยากจะเอาลูกเล็กๆ ให้ จะเอาลูกใหญ่ให้ก็แหมเสียดายเหลือเกิน คิดยากนักหนา เอาไป เอาไปเอาลูกนี้ไป เราก็ให้ลูกเล็ก ให้แอปเปิ้ล ลูกน้อยๆ ไป แต่เอาลูกใหญ่ไว้ นี่ความเห็นแก่ตัว ชนิดนี้อันหนึ่ง แต่คนไม่ค่อยจะเห็น เคยมีไหม เคยเป็นไหม การให้ทานนี่การทรมานจิตนะ มันอยากให้เขาลูกเล็กๆ อุตส่าห์บังคับเอาลูกใหญ่ให้เพื่อน พอให้แล้วเออสบายนะ

นี่การทรมานจิตอย่างนี้ ต้องบังคับจิตให้มันรู้จักให้ ให้มันรู้จักละ ไม่ให้มันเห็นแก่ตัว เมื่อเราให้คนอื่นเสียแล้ว มันก็สบายหรอก ถ้าเรายังไม่ให้นี่ จะให้ลูกไหนหนอ มันลำบากมากเหลือเกิน กล้าตัดสินใจว่าให้ลูกใหญ่นี่หนา เสียใจนิดหน่อยนะ แต่พอตกลงใจให้เขาแล้ว มันก็แล้วไป นี่เรียกว่าทรมานจิตในทางที่ถูก มันเป็นอย่างนี้

ถ้าเราทำให้ได้อย่างนี้เรียกว่าเราชนะตัวเอง ถ้าเราทำไม่ได้อย่างนี้ เรียกว่าเราแพ้ตัวเอง เห็นแก่ตัวเรื่อยไป ก่อนนี้เรามีความเห็นแก่ตัว อันนี้ก็เป็นกิเลสอันหนึ่งเหมือนกัน ต้องขจัดออก ทางพระเรียกว่าการให้ทาน การให้ความสุขแก่คนอื่น อันนี้เป็นเหตุช่วยให้ชำระความสกปรกในใจของเราได้ และต้องให้เป็นคนมีจิตใจอย่างนี้ ให้พิจารณาอย่างนั้น อันนี้ประการหนึ่งที่ควรทำไว้ในใจของเรา

บางคนอาจจะเห็นว่าอย่างนี้ก็เบียดเบียนตัวเอง นี่ไม่ใช่เบียดเบียนตัว แต่เป็นการเบียดเบียนกิเลสตัณหาต่างหากล่ะ ถ้าในตัวมันมีกิเลสขึ้นมา ให้กิเลสมันหายไป

กิเลสนี่เหมือนแมว ถ้าให้กินตามใจ มันก็ยิ่งมาเรื่อยๆ แต่มีวันหนึ่งมันข่วนนะ ถ้าเราไม่ให้อาหารมัน ไม่ต้องให้อาหารมัน มันจะมาร้องแงวๆ อยู่เหมือนกันแหละ กิเลสไม่มากวนเรา เราก็จะได้สอบใจ ต่อไปทำให้กิเลสกลัวเรา อย่าทำให้เรากลัวกิเลส ให้กิเลสกลัวเรา นี่พูดให้เห็นในธรรมในปัจจุบัน ในใจของเราอย่างนี้

ธรรมะของพระพุทธเจ้าของเราอยู่ที่ไหน อยู่ที่ความรู้ความเห็นในใจของเราอย่างนี้ รู้ได้ทุกคน เห็นได้ทุกคน ไม่ใช่อยู่ในตำรา ไม่ต้องไปเรียนให้มันมาก พิจารณาเดี๋ยวนี้ก็เห็นที่อาตมาพูด ก็เห็นได้ทุกคนเพราะมันอยู่ในใจทุกคน แต่ก่อนนี้เราต้องการเลี้ยงกิเลสไว้ ให้รู้จักกิเลส อย่าให้มันมากวนเรา อันนี้ เป็นอันหนึ่งที่ยังไม่บังเกิด ให้ทำให้เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็ทำให้มากขึ้น ทีนี้ข้อปฏิบัติต่อไปคือการรักษาศีล ศีลนี้จะดูแลธรรมะเจริญขึ้นเหมือนพ่อแม่กับลูก การรักษาศีลคือการเว้นการเบียดเบียน และทำการเกื้อกูลช่วยเหลือ อย่างต่ำนี้ให้มี ๕ ข้อคือ

ข้อ ๑ ให้เมตตาสัตว์และมนุษย์ทั้งหมด ไม่ให้ทำร้ายเบียดเบียน ตลอดถึงการฆ่า

ข้อ ๒ ให้มีความสุจริต อย่าไปข้ามสิทธิ์ของกันและกัน พูดง่ายๆ ก็คือไม่ให้ขโมยของกันนั่นเอง

ข้อ ๓ ให้รู้จักประมาณในกามบริโภค อยู่ในฆราวาสวิสัยก็ต้องมีครอบครัว มีพ่อบ้านแม่บ้าน แต่ถ้ารู้จัประมาณก็ปฏิบัติธรรมะได้ ให้รู้จักพ่อบ้านของเรา รู้จักแม่บ้านของเราเท่านั้น ให้รู้จักประมาณ อย่าทำเกินประมาณ ให้มีขอบเขต แต่โดยมากคนจะไม่มีขอบเขตเสียด้วยนะ บางทีมีพ่อบ้านคนเดียวก็ไม่พอ มีสองคนบ้าง บางทีมีแม่บ้านคนเดียวก็ไม่พอ ต้องมีสามด้วยอย่างนี้ก็มี อาตมาว่าคนเดียวก็กินไม่หมดแล้ว จะมีไปสองคนสามคนนี่ มันเรื่องสกปรกทั้งนั้นนี่ อย่างนี้ต้องพยายามชำระ พยายามฝึกใจ ให้มันรู้จักประมาณ ความรู้จักประมาณนี้ มันบริสุทธิ์ดี ที่ไม่รู้จักประมาณนี่ มันไม่มีขอบเขต ถึงได้อาหารเอร็ดอร่อยอย่างนี้ อย่าไปนึกถึงความเอร็ดอร่อยมันมาก ให้รู้จักท้องของเรา ให้รู้จักประมาณ ถ้าเรากินมากก็ลำบากเหมือนกัน ให้รู้จักประมาณความรู้จักประมาณนี่ดีที่สุด ให้มีแม่บ้านคนเดียวก็พอแล้ว มีพ่อบ้านคนเดียวก็พอแล้ว มีสองมีสามเกินขอบเขตแล้ววุ่นวาย

ข้อ ๔ คือความซื่อสัตย์ นี้ก็เป็นเครื่องกำกับกิเลสเราเหมือนกัน เป็นคนตรงมีสัจจะ เป็นคนซื่อสัตย์

ข้อ ๕ เป็นคนที่ไม่ดื่มสุราน้ำเมา อย่างนี้ก็ให้รู้จักประมาณ ให้เลิกเสียก็ดี คนเราเมามัวก็มากแล้ว เมาลูกเมาหลาน เมาทรัพย์สมบัติหลายอย่าง มันก็พอแล้ว ยิ่งเอาเหล้ามากินเข้าไปอีก มันก็มืดเท่านั้นแหละ อันนี้บริษัททั้งหลายไม่รู้ ดูตัวเราเอง ถ้าหากว่ามันมาก ใครมีมากก็พยายามค่อยๆ ปัดเป่ามัน ออกไป ปัดเป่ามันออกไปให้หมด

ต้องขอโทษด้วยนะ พูดด้วยความปรารถนาดีนะ อยากจะให้ดี อยากจะให้รู้จัก เราต้องรู้จักว่าอะไรเป็นอะไรที่เรามาทุกวันนี้ อะไรมันกดดันอยู่เพราะอะไร การกระทำเหล่านั้นจึงกดดันเรา ทำดีมันก็ได้ดี ทำชั่วมันก็ได้ชั่ว อันนี้เป็นเหตุ อันนี้ขอฝากไว้นะ ขอโทษด้วยนะ ไม่อยากจะพูดหรอกแต่พระพุทธเจ้าบอกให้พูด ทั้งหมดที่พูดมานี้เป็นเครื่องอุปกรณ์อันหนึ่ง ให้เราปฏิบัติกันดูนะ

ทีนี้เมื่อมีศีลบริสุทธิ์ดีแล้ว มีความรักกัน ซื่อสัตย์ ก็จะมีความสุข ความเดือดร้อนไม่มีนะ เมื่อความเดือดร้อนไม่มีแล้ว เพราะไม่เคยเบียดเบียนซึ่งกันและกัน อย่างนี้ก็มีความสุข นี่คืออยู่ในเมืองสวรรค์ แล้วสบาย กินก็สบาย นอนก็สบาย มีความสุข สุขเกิดจากศีล เมื่อมีการกระทำอย่างนี้ก็เป็นเหตุให้อันนี้เกิดขึ้นมา ละความชั่วเช่นนี้เป็นกฎอันหนึ่ง เพื่อความดีนี้เกิดขึ้นมา นี่ถ้าเรามีศีลอย่างนี้ ความชั่วหนีไป ความสุขเกิดขึ้นมา นี่ละเกิดเพราะการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ

ทีนี้ยังไม่จบแค่นี้นา คนเราถ้ามีความสุขแล้ว ชอบเผลอเหมือนกันนา ชอบเผลอ ไม่อยากไปที่ไหน ชอบติดสุขอยู่ที่นั่นแล้วไม่อยากไปที่ไหนหรอก ชอบสุข มันเป็นสวรรค์ ถ้าพูดตามบุคคลาธิษฐาน เป็นเมืองสวรรค์ ผู้ชายก็เป็นเทวบุตร ผู้หญิงก็เป็นเทวดา สบายไม่รู้เนื้อรู้ตัว อันนี้ให้ทำความพิจารณาอีกทีหนึ่ง อย่าหลงมัน ให้พิจารณาอีก ให้พิจารณาโทษของความสุขอีกว่า ความสุขนั้นก็จะละเลิกจากเรา นี่เป็นของไม่แน่เหมือนกัน เมื่อความสุขเลิกจากเรา ความทุกข์เกิดขึ้นมา เราก็ร้องไห้อีกแหละ นางนั่นเทวดาร้องไห้แล้วซิ เทวบุตรยังร้องไห้เป็นทุกข์แล้ว ท่านให้พิจารณาโทษของมัน แต่ในเวลาที่มันสุขนี้ ไม่รู้จักมันประการหนึ่งละ ความสงบเที่ยงแท้แน่นอน มีความสุข นี่มันเปิด ทำให้เราไม่เห็นทุกข์หรอก

ทีนี้ความสุขนี้ก็ยังไม่ใช่ความสงบเที่ยงแท้แน่นอนเหมือนกัน เป็นกิเลสอันหนึ่ง เป็นกิเลสอย่างละเอียดที่คนทั้งหลายชอบกัน ทุกคนชอบมีความสุข ที่เป็นสุขก็เพราะเราไปชอบมันเองน่ะ เมื่อหากเวลา ที่ไม่ชอบนี่ มันจะทุกข์เกิดขึ้นมา อันนี้ให้พิจารณาทับมันขึ้นไปอีกทีหนึ่งว่า สุขนี้มันก็ไม่แน่เหมือนกัน ให้เห็นโทษของความสุข เมื่อมันเปลี่ยนขึ้นมาแล้วมันมีทุกข์เกิดขึ้น นี่คือของไม่แน่เหมือนกัน อย่าไป หมายมั่นมัน อันนี้เรียกว่า อาทีนวกถา คือให้พิจารณาความสุขอีกทีหนึ่ง อย่าปล่อยเฉยอย่างนั้น ให้เห็นเช่นนี้ ให้เห็นความสุขนั้นว่า เป็นเรื่องไม่แน่นอน เมื่อเห็นเป็นของไม่แน่นอนเช่นนั้น เราก็ต้องไม่เข้าไป จับอย่างเต็มที่ เราไม่ยึดอย่างเต็มที่ มันก็ยึดมาโดยปล่อยวาง ไม่ใช่ยึดไม่วาง ให้เห็นความสุขอย่างนี้ มีสุขก็พิจารณาสุขให้ดี แล้วเห็นโทษของความสุขนี้ อันนี้เป็นคุณสมบัติของผู้ประพฤติปฏิบัติดี

ทีนี้เมื่อมองเห็นว่าอันนั้นก็เป็นทุกข์ อันนี้ก็เป็นทุกข์ จิตใจมันก็เห็นเนกขัมมกถาแล้ว จิตใจมันก็ต้องออก เบื่อแล้ว เบื่อแล้วว่ารูปก็เป็นอย่างนั้น เสียงก็เป็นอย่างนั้น กลิ่นก็เป็นอย่างนั้น รสก็เป็นอย่างนั้น ความรักก็เป็นอย่างนั้น ความเกลียดก็เป็นอย่างนั้น เบื่อไม่อยากจะยึดมั่นต่อไป ไม่อยากจะยึดมั่นถือมั่นแล้ว ออกจากอุปาทานนั้นมายืนอยู่ตรงนี้ให้สบาย มองดูเฉยๆ ไม่ต้องไปยึดมั่นถือมั่น นั่นก็คือความสงบของการปฏิบัติ

ฉะนั้น วันนี้ก็ให้โยมทั้งหลายรู้จักพิจารณา และก็ให้อภัยด้วยนะ วันนี้พูดมากเสียด้วย พูดมากก็เพราะว่ารักโดยธรรมะ

อยากจะถามถึงการปฏิบัติของญาติโยม เราทั้งหลายซึ่งได้ทำกรรมฐานมานี้ว่า เราแน่ใจแล้วหรือยัง เพราะว่าอาจารย์ที่สอนกรรมฐานทุกวันนี้มีมาก มีทั้งพระสงฆ์ด้วย มีทั้งฆราวาสหลายคนเป็นอาจารย์กรรมฐาน ดังนั้นกลัวญาติโยมจะลังเลสงสัยในการกระทำนี้ จึงได้ไต่ถามอย่างนั้น เรื่องของพุทธศาสนา คำสอนของพระพุทธศาสนาที่เราปฏิบัตินี้ ไม่มีอะไรอื่นจะยิ่งไปกว่านี้อีกแล้ว ถ้าเราเข้าใจให้ชัดเจนจะทำจิตใจเราให้สงบได้เป็นมั่นคง

การทำจิตให้สงบเรียกว่าการทำสมาธิ หรือเรียกว่าการทำกรรมฐาน จิตของเรานี้มันเป็นสิ่งที่กลับกลอกมาก ดูที่เราทำกันมา เห็นไหมล่ะ บางวันนั่งสมาธิพักเดียวก็สงบแล้ว บางวันนั่งยังไงมันก็ไม่สงบ มันดิ้นออกมาอยู่จนได้ บางวันก็สบาย บางวันมันก็ไม่สบายมันแสดงอาการขึ้นมาให้เราเห็นอย่างนี้ ให้เข้าใจว่ามรรคมีองค์ ๘ ประการนั้น มันรวมอยู่ที่ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ได้รวมอยู่ที่อื่น เมื่อเรารวมเข้ามาแล้ว มันมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา เช่น เราทำกรรมฐานปัจจุบันนี้ก็คือ เราทำมรรคให้เกิดขึ้นนั่นเอง ไม่ใช่อื่นไกลหรอก

วิธีการนั่ง ท่านให้หลับตา ไม่ให้มองเห็นสิ่งต่างๆ เพราะว่าท่านจะให้รู้จิตของเรานั่นเอง ให้มองดูจิตของเราน่ะ ถ้าหากว่าเราหลับตาเข้าไปมันจะกลับเข้ามาข้างใน มันจะมีความรู้หลายๆ อย่างเกิดขึ้นมาในที่นั่น นี้ก็เป็นวิธีอันหนึ่งที่จะเป็นวิธีที่ให้เกิดสมาธิ

เมื่อเรานั่งหลับตา ให้ยกความรู้ขึ้นไว้เฉพาะที่ลมหายใจ เอาลมหายใจเป็นประธานเรียกว่าน้อม ความรู้สึกตามลมหายใจไว้ เราจึงจะรู้ว่าสติมันจะมารวมอยู่ตรงนี้ ความรู้มันจะมารวมอยู่ตรงนี้ เมื่อมรรคนี้มันสามัคคีกันเมื่อไรเราจะมองเห็นได้ว่า ลมเราเป็นอย่างนี้ ความรู้สึกเราเป็นอย่างนี้ จิตเราเป็นอย่างนี้ อารมณ์เราเป็นอย่างนี้ แล้วจึงจะรู้จักที่รวมของสมาธิ ที่รวมแห่งมรรคสามัคคีในที่แห่งเดียวกัน

เมื่อเราทำสมาธิ กำหนดจิตกับลม นึกในใจว่า ที่นี่เรานั่งอยู่คนเดียว รอบๆ ข้างเรานี่ไม่มีใคร ไม่มีอะไรทั้งนั้น ทำความรู้สึกอย่างนี้ เรานั่งอยู่คนเดียว ให้กำหนดอย่างนี้ จนกว่าจิตของเรามันวางข้างนอกหมด รู้ลมออกอย่างเดียวเท่านั้นมันวางข้างนอก อย่ามีความนึกว่าคนนี้นั่งอยู่ตรงโน้น คนโน้นนั่งอยู่ตรงนี้ อะไรให้วุ่นวาย อย่าให้มันเข้ามา เราเหวี่ยงมันออกเสียดีกว่า ไม่มีใครอยู่ที่นี่ มีแต่เราคนเดียวนั่งอยู่ตรงนี้ จนกว่าทำสัญญาอย่างนี้ให้หมดไป จนกว่าจะไม่มีความสงสัยในรอบๆ ข้างเรานี้ แล้วก็กำหนดลมเข้าออกอย่างเดียว ปล่อยลมให้เป็นธรรมชาติ ปล่อยลมหายใจออกและเข้าให้เป็นธรรมชาติ อย่าไปบังคับลมให้มันยาว อย่าบังคับลมให้มันแรง ปล่อยสภาพมันให้มันพอดี แล้วนั่งดูลมหายใจนี่เข้าออก

เมื่อมันปล่อยอารมณ์ข้างนอก เสียงรถยนต์ก็ไม่รำคาญ เสียงอะไรก็ไม่รำคาญ ไม่รำคาญสักอย่างหนึ่งข้างนอก จะเป็นรูปเป็นเสียงไม่รำคาญทั้งนั้นแหละ เพราะว่ามันไม่รับ แล้วมันมารวมอยู่ที่ลมหายใจเรานี้

ถ้าจิตของเราวุ่นวาย สิ่งต่างๆ มันไม่ยอมรวมเข้ามา ก็ต้องสูดลมเข้าให้มากที่สุด จนกว่าไม่มีที่เก็บ แล้วปล่อยลมออกให้มากที่สุด จนกว่ามันจะหมดในท้องเราสักสามครั้ง ก็ตั้งอยู่ในความรู้ใหม่ เราตั้งขึ้นใหม่พักหนึ่ง มันก็สงบไปเป็นธรรมดาของมัน สงบไปอีกสักพักหนึ่ง มันก็ไม่สงบอีก ก็มีวุ่นวายติดมา เมื่อมันเป็นเช่นนั้นขึ้นมาอีก ก็กำหนดจิตเราให้ตั้งมั่น แล้วก็สูดลมเข้าให้มากที่สุด ปล่อยลมออกไปให้หมดในท้องเรา แล้วก็สูดลมเข้ามาให้มากที่สุด พักหนึ่งแล้วก็ตั้งใหม่อีก กำหนดลม นั่นต่อไปอีก แล้วก็กลับมาตั้งสติกับลมหายใจออกเข้า ทำความรู้สึกต่อไปอีกอย่างนี้

ในเมื่อเป็นเช่นนี้หลายครั้งจะได้ชำนาญ มันจะวางข้างนอก มันจะไม่มีอะไร อารมณ์ข้างนอกก็จะส่งเข้ามาไม่ถึง เมื่อส่งเข้ามาไม่ถึงแล้วก็จะเห็นจิตของเรา จิตคือความรู้สึกอย่างหนึ่ง แล้วก็ลมหนึ่ง แล้วก็อารมณ์หนึ่ง อยู่ที่ปลายจมูกเรานี้ สติตั้งมั่นดูลมเข้าออกสบายต่อไปอีก ถ้าจิตสงบ ลมที่มันหยาบแล้ว มันจะน้อยเข้าน้อยเข้าไปทุกที มันน้อยเข้าไป อารมณ์มันละเอียด อารมณ์ละเอียด มันจะน้อยเข้าไปๆ ร่างกายเราก็เบา จิตเรามันก็เบาขึ้น มันก็วางอารมณ์ข้างนอก ดูข้างในต่อไป

ต่อนั้นไปความรู้ข้างนอกมันจะรวมเข้ามาข้างใน เมื่อรวมเข้าข้างในแล้ว ให้ความรู้สึกอยู่ในที่มันรวม เมื่อเราหายใจนั้นมันจะเห็นลมชัด เห็นลมออกลมเข้าชัดเจนแล้วมันจะมีสติชัด จะเห็นอารมณ์ชัดขึ้นทุกอย่าง ในตรงนั้นมันจะเห็นศีล เห็นสมาธิ เห็นปัญญา โดยอาการมันรวมกันอยู่นี่เรียกว่า มรรคสามัคคี เมื่อความสามัคคีเกิดขึ้นมาแล้ว มันก็ไม่มีอาการที่วุ่นวายในจิตใจของเรา มันก็รวมลงเป็นหนึ่ง เรียกว่าสมาธิ เมื่อเรามองในที่อันเดียวคือลมหายใจเข้าออกนั้น มันจึงมีความรู้สึกเห็นชัดเพราะว่าเรามีสติอยู่เสมอ จะเห็นลมชัด เห็นลมชัดมันมีสติขึ้นมาแล้ว มีความรู้สึกชัดขึ้นมาหลายอย่าง เห็นจิตอยู่ในที่นั่น รวมเป็นอันเดียวกัน มีความรู้สึกเข้าข้างใน ไม่ส่งออกไปข้างนอก อยู่ข้างในบ้านรวมเป็นก้อนหนึ่งสบาย ความรู้สึกนั้นว่างจากข้างนอก บางทีมันก็มีความรู้สึกอยู่กับลมหายใจนานไป ดูลมหายใจเข้าไปอีก จนกว่าที่มันละเอียดเข้าไปอีก แล้วความรู้สึกนั้นจะหมดไป หมดไปจากลมหายใจก็ได้ อื้อ ลมหายใจนี่ หมดไปก็ได้ มีความรู้สึกอันหนึ่งขึ้นมา ลมหายใจมันจะหายไป คือมันละเอียดจนเกินไปน่ะ

บางทีนั่งอยู่เฉยๆ ลมไม่มี ที่จริงมันมีอยู่แต่เหมือนว่ามันไม่มี เพราะอะไรเพราะว่าจิตตัวนี้มันละเอียดมากที่สุด มันมีความรู้เฉพาะของมัน มีเหลือความรู้อันเดียว ถึงลมหายใจไปแล้ว ความรู้ที่ว่าลมมันหายไปก็ตั้งอยู่ ทีนี้จะเอาอะไรเป็นอารมณ์ต่อไปอีก ก็เอาความรู้นี่แหละเป็นอารมณ์ต่อไปอีก อารมณ์ ที่ว่า ลมไม่มี ลมไม่มี อยู่อย่างนี้เสมอ นี่เรียกว่ามีความรู้อันหนึ่งตั้งขึ้นมาอีก

ในจุดนี้บางคนอาจมีความสงสัยขึ้นมาก็ได้ เพราะตรงนี้มันจะเกิดนิมิตขึ้นมาก็ได้ เสียงก็มีได้ รูป ก็มีได้ มันมีทุกอย่างได้ สิ่งที่เราคาดไม่ถึง มันเกิดขึ้นมาได้ ตรงนี้ เมื่อหากว่านิมิตเกิดขึ้นมาตรงนี้ (นิมิต นี้บางคนมันก็มี บางคนก็ไม่มี) ก็ให้เรารู้ตามเป็นจริง อย่าสงสัย อย่าตกใจ

ทีนี้ท่านจงตั้งใจให้ดี ตั้งสติให้มาก บางคนก็เห็นว่าลมหายใจไม่มีแล้วตกใจ ตกใจเพราะ ธรรมดาลมมันมีอยู่ เมื่อเรามาพบว่าลมไม่มี แล้วก็ตกใจว่าลมไม่มี กลัวว่าเราจะตายก็ได้ ตรงนี้ก็ให้ตั้งความรู้สึกขึ้นมา อันนี้มันเป็นอย่างนี้ของมัน เราจะดูอะไร ดูลมไม่มีนั่นอีก ต่อไปเป็นความรู้ นี้ท่านจัดว่าเป็นสมาธิอันแน่แน่วที่สุดของสมาธิ มีอารมณ์เดียวแน่นอนไม่หวั่นไหว เมื่อสมาธิถึงจุดนี้ จะมีความแตกต่างสารพัดอย่างที่จะรู้ในจิตของเรา ร่างกายนี้บางทีมันเบาที่สุด เมื่อมันเบาที่สุด บางทีก็ไม่มีร่างกาย คล้ายๆ นั่งอยู่กลางอากาศอย่างนี้ เบาทั้งหมด ลองนึกดูที่ไหนไม่มีแล้ว อยู่กลางอากาศอย่างนี้ ถึงแม้ บางทีเรานั่งอยู่นี่ก็เปล่าทั้งนั้น ว่าง อันนี้มันเป็นของแปลก

อันนี้ก็ให้เข้าใจว่า ไม่เป็นอะไร เราทำความรู้สึกอย่างนั้นไว้ให้มั่นคง เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นหนึ่ง เพราะว่าไม่มีอารมณ์อะไรเข้ามาเสียดแทง อยู่นานเท่าไรก็ได้ไม่มีรู้สึกเวทนาเจ็บปวดอะไรอยู่อย่างนั้น

การทำสมาธิมาถึงที่นี่ เราจะออกจากสมาธิก็ได้ ไม่ออกก็ได้ ออกจากสมาธินี่ก็เรียกว่า ออกสบาย ออกอย่างสบาย ไม่ออกเพราะขี้เกียจ ไม่ออกเพราะว่าเหน็ดเหนื่อย ออกเพราะว่าสมควรแล้วก็ออกมา ถอยออกมา

อย่างนี้ก็อยู่สบาย ออกมาสบาย ไม่มีอะไร นี้เรียกว่าสมาธิ จิตใจมันจะสบายถ้าเรามีสมาธิอย่างนี้ อย่างนั่งวันนี้ มาเข้าสมาธิกันอยู่สัก ๓๐ นาที หรือชั่วโมงหนึ่ง จิตใจของเราจะเยือกเย็นไปตั้งหลายวัน เมื่อจิตเยือกเย็นหลายวันนั้น จิตเราจะสะอาด เห็นอะไรจะรับพิจารณาทั้งนั้น อันนี้มันเป็นเบื้องแรกของมัน นี้เรียกว่า ผลที่เกิดจากสมาธิ

สมาธินี้มีหน้าที่ทำให้สงบ สมาธินี้ก็มีหน้าที่อย่างหนึ่ง ศีลก็มีหน้าที่อย่างหนึ่ง ปัญญาก็มีหน้าที่อย่างหนึ่ง อาการที่เรากำหนดในที่นั้น มันจะเป็นวงกลมอย่างนี้ตามที่ปรากฏในใจของเรา มันจะมีศีลอยู่ตรงนี้ มีสมาธิอยู่ตรงนี้ จะมีปัญญาอยู่ตรงนี้ เมื่อจิตเราสงบแล้ว มันก็จะมีการสำรวมเข้าด้วยปัญญา ด้วยกำลังสมาธิ เมื่อสำรวมเข้าละเอียดเข้า มันจะเป็นกำลัง มันจะไปทำกำลังช่วยศีลให้บริสุทธิ์ขึ้นมามากๆ เมื่อศีลบริสุทธิ์ขึ้นมามากแล้ว มันก็ช่วยสมาธิให้เกิดขึ้นได้มาก ดีขึ้นมาก เมื่อสมาธิเกิดแล้วจะช่วยปัญญา มันจะช่วยกันอย่างนี้ เป็นปัจจัยไวพจน์ซึ่งกันและกันต่อไปเป็นวงรอบอย่างนี้ จนกว่าว่ามรรคคือ ศีล สมาธิ ปัญญา นี่รวมเป็นตัวเดียวกันแล้วน่ะ ทำงานสม่ำเสมอกัน จะต้องรักษากำลังอย่างนี้ อันนี้เป็นกำลัง ที่จะให้เกิดวิปัสสนา คือปัญญา ตอนนี้ปัญญามันเกิดขึ้นมาแล้ว ถึงแม้ว่ามันจะสงบหรือไม่สงบก็จะมีกำลังแล้ว เออมันไม่สงบก็อย่าไปยึดมั่นถือมั่นเลย ใจเรามันจะเบา จะได้อารมณ์ที่ดีก็สบายใจ อารมณ์ ที่ไม่ชอบใจก็สบายใจ มีความสงบอยู่อย่างนั้น

อีกอันหนึ่งที่สำคัญคือ เมื่อเราหยุดทำกรรมฐานแล้ว เมื่อเราเลิกทำกรรมฐานแล้ว จิตที่ไม่ฉลาด ก็จะเลิกไปเลย ไม่มีความรู้สึกนึกคิด ในการทำงานของเราความเป็นจริงนั้น เมื่อเราจะออกจากสมาธิ เราก็รู้จักว่าเราออก ออกมาแล้ววางเป็นปกติไว้ ให้มีความรู้สึก มีสติติดต่อกันเสมอ ไม่ใช่ว่าเรา จะทำความสงบเฉพาะเวลานั่งสมาธิ เพราะว่าสมาธิคือ ความตั้งใจมั่น เราเดินอยู่เราก็ทำใจเราให้มั่น ให้มีอารมณ์มั่นเสมอ มีสติสัมปชัญญะอยู่ต่อไปเสมอ ออกจากที่นั่งแล้ว หูเราได้ยินเสียง ตาเห็นรูป ที่เราเดินไป นั่งรถไปก็ตามเถอะให้รู้สึกมีอะไรที่มันชอบใจหรือไม่ชอบใจ เกิดขึ้นมาเป็นอารมณ์ ก็มีความรู้สึกว่า อันนี้มันไม่แน่ อันนี้มันไม่เที่ยง ตลอดเวลาอย่างนั้น จิตใจจะสงบปกติ

เมื่อจิตสงบเช่นนี้แล้ว เราจะต้องเอาจิตอันนี้พิจารณาอารมณ์ เช่นว่า รูปร่างกายทั้งหมดนี้ก็ต้องพิจารณา พิจารณาเมื่อไรก็ได้ เรานั่งสมาธิก็ได้ เราอยู่บ้านก็ได้ เราทำงานอยู่ก็ได้ อะไรๆ เราก็ทำได้ เรานั่งพิจารณาอยู่เสมอ แม้เห็นต้นไม้ เห็นใบไม้ที่มันร่วงมาอย่างนี้ เราเดินไปจะเห็นใบไม้มันร่วงลงมาอย่างนี้ อันนี้มันไม่แน่เหมือนกัน ใบไม้เหมือนกับเรานั่นแหละ เมื่อมันแก่มาแล้วมันก็ร่วงไป เราก็เหมือนกันอย่างนั้น คนโน้นก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน นี่เรียกว่ายกขึ้นสู่วิปัสสนา จะมีการพิจารณาอยู่อย่างนี้เรื่อยไป ทั้งการยืน การเดิน การนั่ง การนอน มีสติติดต่อกันเรื่อย สม่ำเสมอ นี่เรียกว่า การฝึกกรรมฐานที่ถูกต้อง เราต้องสะกดรอยติดตามอยู่เสมอ

เราทำกันอยู่บัดนี้ วันนี้หนึ่งทุ่มมาทำสมาธิกันอย่างนี้ นั่งได้ชั่วโมงหนึ่งแล้วก็หยุดกัน ใจก็เลยหยุด แล้วก็ไม่พิจารณาอะไรเลย อย่างนี้ไม่ได้ การหยุดการกระทำนี้ หยุดแต่พิธีกรรมเฉยๆ แต่ความรู้ สึกติดต่อกันเสมอไปเรื่อยนะ

อาตมาเคยให้ความเห็นบ่อยว่า ถ้าทำไม่ติดต่อกันเหมือนหยดน้ำ เราทำไม่ติดต่อกันก็เหมือนหยดน้ำเพราะว่าเรามีสติไม่สม่ำเสมอกัน การกระทำนั้นไม่ใช่อย่างอื่นทำ จิตทำไม่ใช่ร่างกายทำ จิตเป็นผู้ทำ จิตเป็นผู้ปฏิบัติ ถ้าเราเข้าใจอย่างนั้น ไม่ต้องไปนั่งสมาธิ จิตเราก็รู้สมาธิ จิตเป็นคนทำการปฏิบัตินั้นให้เราเห็นในจิตของเราเช่นนั้น

เมื่อเห็นเช่นนั้นก็จะทำความรู้ในจิตของเราไว้สม่ำเสมอ เมื่อเราจะยืนก็ตาม จะเดิน จะนั่ง จะนอนก็ตาม ให้ความรู้สึกเรามันมีอยู่อย่างนั้น เหมือนน้ำที่มันเป็นหยดๆ อย่างนี้มันไม่ติดต่อกัน ถ้าเราทำสติให้มันติดต่อกันเช่นนั้น มีความรู้สึกอยู่อย่างนั้นมันจะเป็นสายน้ำตลอดเวลา มีสติอยู่ทุกเมื่อ รู้อารมณ์สม่ำเสมออยู่ทุกเมื่อ ความผิดเกิดขึ้นมาก็รู้ทุกเมื่อ ถูกเกิดขึ้นมาก็รู้ทุกเมื่อ ความสงบเกิดขึ้นมาก็รู้อยู่ทุกเมื่อ วุ่นวายเกิดทุกอย่างก็รู้ เรียกว่ามีสติอยู่ สังวรอยู่ สำรวมอยู่สม่ำเสมออย่างนี้ จะอยู่ที่ไหนก็เป็นอยู่อย่างนั้น ถ้าทำจิตอย่างนี้ การทำภาวนานั่นจะเร็วมาก ดีมาก เกิดเร็ว

อย่าเข้าใจผิด เดี๋ยวนี้มีไปทำวิปัสสนากรรมฐานกันเข้า ๓ วันก็มี ๗ วันก็มี ปฏิบัติแบบไม่ต้องพูดกัน ไม่ต้องพูดกัน ๑๐ วันก็มี ๑๕ วันก็มี แล้วก็ออกมานะ เมื่อเราออกมาแล้วก็นึกว่า เราได้ไปทำวิปัสสนาแล้ว ดีแล้ว ออกมาก็ไปเต้นรำทำเพลงกันสนุกสนาน ทำอย่างนี้มันจะได้อะไรเล่า มันก็ไม่มีอะไรเหลือแล้ว ไปทำความชั่วต่างๆ ทำจิตให้เรากระทบกระเทือนเสียหายหมด แล้วปีหน้ามาอีก ไปทำกรรมฐานอีก ๗ วัน ๑๕ วัน เดือนหนึ่ง พอเสร็จก็ออกไปอีกแล้ว ไปเต้นรำอีกแล้ว ไปร้องเพลงอีกแล้ว ไปกินเหล้าอีกแล้ว อย่างนี้ไม่ใช่การปฏิบัติ ไม่เป็นปฏิปทาคือทางดำเนิน

ฉะนั้น เราต้องพยายามละ ให้เห็นทันโทษของมัน เห็นโทษในการดื่มสุรา เห็นโทษในการเข้าบาร์ เห็นโทษในการทำทุกสิ่งทุกอย่างกันจนออกหน้า มันจึงจะถอนตัวออกมาได้ความสงบ มันถึงจะมีให้เห็นโทษของมัน ความสงบจึงจะมีได้ อันนี้เรียกว่าเราทำที่ถูกต้อง ที่เราทำ ๗ วัน เข้าไป ๓ วัน ไม่ต้อง พูดอะไรกันนั้น ไม่พูด ๗ วันแต่มาพูดอีกตั้ง ๗ เดือน มาร้องกันอีกตั้ง ๗ เดือน แต่ไม่พูด ๗ วันเท่านั้น มันจะคุ้มกันยังไงเล่า

นี่ขอให้ทายกทายิกาเราทั้งหลาย ท่านผู้รู้ทั้งหลาย ให้เข้าใจอย่างนี้ พยายามทำให้มันติดต่อกัน เห็นโทษในสิ่งนั้น ให้มันติดต่อกันเสมอเรื่อยไปเท่านั้นแหละ กิเลสมันก็จะหมดได้ แต่ถ้าอย่างที่ ๗ วัน ไม่พูดเลย หรือไม่เล่นกันเลย แต่อีก ๔-๕ เดือนเล่น เล่นทั้งนั้นน่ะ ไม่สังวรสำรวม มันก็หมดกันเท่านั้นแหละ ไม่มีเหลืออะไรหรอก ขนาดเราหาเงินนะ หาเงินวันนี้ได้ ๓ ปอนด์ แต่มาซื้อกันหมด ๕ ปอนด์ วันนี้มันจะมีเงินที่ไหน มันก็หมดเท่านั้น อันนี้ก็เหมือนกันอย่างนั้น

อันนี้เตือนน่ะ ขอโทษด้วยนะๆ ต้องพูดไปอย่างนั้น ที่ผิดนี้ต้องเห็นให้ชัดเจน มันจึงจะเลิกได้ ที่เราทำกันนี้เรียกว่า มาทำเพื่อจะไม่ให้ทำผิดอีกต่อไป ทำความผิดเป็นอย่างไร ทำความผิดมันเดือดร้อน มันไม่ดี มันไม่สงบอยู่อย่างนั้น ก็ต้องเป็นอย่างนั้น ถ้าหากว่าทำ ๗ วันไม่พูดกัน แต่ไปเล่นกันเดือนสอง เดือน แม้แต่ปฏิบัติเคร่งครัดถึง ๗ วันมันจะคุ้มอะไร ก็ทำไปงั้นแหละกรรมฐาน หลายแห่งเลยเป็นอย่างนี้ เราจะต้องมีชีวิตของเราให้สงบระงับติดต่อกันไปเรื่อยๆ อย่างนั้น

การทำกรรมฐานต้องกำหนดต่อกันไปเรื่อย เหมือนปลูกต้นไม้ ถ้าเราเอาต้นไม้มาปลูกลงตรงนี้ ๓ วัน แล้วถอนออกไปปลูกตรงนั้นอีก ปลูกตรงนั้นได้อีก ๓ วันถอนไปปลูกต้นโน้นอีก ตายเลย ไม่ได้กินหรอก ต้นไม้ก็ตาย กรรมฐานก็หมดเหมือนกันอย่างนั้น เข้าใจด้วยนะ มันเป็นอย่างนั้น ไปพิจารณานะ กลับไปนี่เอาต้นไม้ไปปลูกก็ได้ ปลูกตรงนี้ได้ ๓ วัน ถอนไปปลูกตรงนั้นได้ ๓ วัน ถอนอีกอยู่อย่างนั้นน่ะ ไม่ได้กินหรอก ตายหมด ไม่มีเหลือแล้ว กรรมฐานก็เหมือนกัน ไปนั่งกรรมฐาน ๗ วัน ออกมา เล่นตั้ง ๗ เดือน ปล่อยจิตไปทำสกปรกหมด แล้วก็อีก ๗ วันก็มาทำกรรมฐานอีก ไม่พูด เฉย แล้วก็เลิกอีก เหมือนกับต้นไม้แหละ ตายหมดไม่มีเหลือเลยกรรมฐานไม่เกิดแล้ว ต้นไม้ก็ไม่เกิด กรรมฐานก็เหมือนกันอาตมาว่าทำอย่างนี้ไม่ได้ผลหรอก

ลองดูก็ได้ กลับไปนี้เอาต้นไม้ไปปลูกก็ได้ ปลูกตรงนี้ ๓ วัน วันที่ ๔ ก็ไปถอนอีกไปปลูกตรงนั้น อาตมาเห็นว่าตาย ลองดูก็ได้นะ เข้าใจไหมล่ะ

อาตมาไม่ค่อยอยากจะมาเทศน์ เทศน์มันอดพูดว่าไม่ได้ มันสงสารโยม โยมทำผิดอยู่แล้วก็ไม่บอกไม่ได้ ใจมันสงสารคน แต่ไปบอกโยมบางคน บางทีคนมันก็ไม่ค่อยสบายใจ คิดว่าไปว่าเขา ความเป็นจริงไม่ได้ว่าหรอก ที่ไหนมันผิดก็ช่วยให้รู้จัก บางคนคิดว่าหลวงพ่อว่าเราแล้ว ว่าเราแล้ว นี่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น อาตมานั้นนานๆ ถึงมาเทศน์เสียทีหนึ่งนะ เทศน์ทุกวันๆ โยมจะเดือดร้อนนะ ไม่ใช่โยมเดือดร้อน กิเลสมันเดือดร้อนเท่านั้นแหละ วันนี้พูดเท่านี้ล่ะนะ



สาธุ พระธรรมเทศนาอบรมชาวต่างประเทศ
ที่วิหารแฮมสเตด ประเทศอังกฤษ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๒๒


• รวมคำสอน “หลวงพ่อชา สุภัทโท”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=38519

• ประวัติและปฏิปทา “หลวงพ่อชา สุภัทโท”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=39086

• “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า” กับ “หลวงปู่ชา สุภทฺโท”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=58059
 

_________________
"อย่าลืมตัว อย่าลืมปัจจุบัน อย่าลืมปฏิบัติ"
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
เด็กบ้านยางสีสุราช
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 05 มิ.ย. 2004
ตอบ: 305

ตอบตอบเมื่อ: 09 ก.ค.2004, 10:44 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ สาธุ สาธุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
new
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 532

ตอบตอบเมื่อ: 10 ก.ค.2004, 11:58 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
สิทธิรัตน์
บัวผลิหน่อ
บัวผลิหน่อ


เข้าร่วม: 19 ก.ย. 2004
ตอบ: 1

ตอบตอบเมื่อ: 19 ก.ย. 2004, 2:17 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ สาธุ สาธุ น้อมรับและระลึกถึง
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
โกศล
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 23 ธ.ค.2004, 11:33 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ สาธุ สาธุ สาธุ
 
uthen
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 03 มี.ค.2005, 3:17 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ยิ้ม สาธุ
 
เณร
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 10 มี.ค.2005, 10:35 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

หลวงปู่ชานี่แหละ อรหันต์องค์จริง ไม่เคยคุยโอ้อวดเหมือนอรหันต์บางองค์ว่า ตัดกิเลสหมดแล้ว เหลือแต่หมากที่เคี้ยวอยู่ในปากยังติดหมากอยู่ เลิกไม่ได้ ตอนนี้กำลังด่าสมเด็จเกี่ยวและนายวิษณุ เครืองาม อยู่ ได้ทูลเกล้าฯ ให้ปลดสมเด็จเกี่ยวออกจากสมเด็จพระพุฒาจารย์ ท่านอาจารย์ปัญญา บอกว่าเกิดจากความริษยาของอรหันต์ท่านนั้น ระวังจะตกนรกนะอรหันต์ อวดอุตริฯ มากกว่า การที่สมเด็จเกี่ยวไม่ตอบโต้เลย เป็นการกระทำที่ถูกต้องแล้ว หากสมเด็จเกี่ยวไม่ติดยึดโดยลาออกจากสมณศักดิ์เอง สาธุชนจะแซ่ซ้องว่าสมเด็จเกี่ยวนี่ละ อริยบุคคลองค์จริง
 
อโหสิกรรม
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 21 มี.ค.2005, 3:19 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อืมม กรุณาอย่าหลบหลู่ท่านหลวงตามหาบัวเลยครับ ลองพิจารณาสิ่งที่ท่านพูดให้ดี องค์ท่านเป็นธรรมทั้งองค์ สิ่งที่ออกจากปากท่านก็เป็นธรรม เมื่อปุถุชนคนใกล้ตัวท่าน มาบอกท่านว่า คนคนนั้นทำอย่างนั้นเป็นสีดำ สีขาว ท่านก็พูดธรรมตามสมมติโลกภายนอกที่ท่านได้รับรู้มา

เรื่องภายในจิตท่านสามโลกธาตุท่านแตกฉานหมด แต่เรื่องโลกสกปรกภายนอกจริงเท็จอย่างไรท่านต้องอาศัยรับรู้จากคนรอบตัวท่านเอง
 
ชีพ
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 20 เม.ย.2005, 6:38 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ถูกต้องแล้วครับจะพลอยไห้ตัวท่านที่ตแนองค์หลวงตาต้องมีบาปติดตัวไปปล่าวๆ ระวังจะทำอะไรไม่ขึ้นนะครับ แม้ตัวผมเองเป็นคนไม่นับถือไครง่ายๆ แต่ก็ยอมสิโรราชในธรรมทั้งองค์ของหลวงตาท่านเลย ผมขอไห้ท่านขอขมากรรมเถิด ความที่รู้ไม่จิงอาจจะเป็นจิงเพราะคุณไม่รู้
 
Supachat
บัวผลิหน่อ
บัวผลิหน่อ


เข้าร่วม: 03 พ.ค. 2005
ตอบ: 2

ตอบตอบเมื่อ: 03 พ.ค.2005, 8:12 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ สาธุ สาธุ สาธุ สาธุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เด็กบ้านนาป่าเขา
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 22 พ.ค.2005, 3:19 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ท่านทั้งหลายครับ คำว่าสมาธิ ผู้ที่ไม่ฝึกจะไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร
ถึงผมจะเป็นเเด็กบ้านนาป่าเขาแต่ก็เคยฝึกนะครับ
ถึงได้รู้ว่า ธรรม เป็นทางหลุดจากกรรมทั้งหลาย
กับคำสามคำที่ว่า ศลี สมาธิ ปัญญา ศึกษาให้เข้าใจให้ ให้แตกฉาน
เส้นทางที่สูงสุดของเส้นทางนี้ คือ สำเร็ดมรรคผล

ส่านบางท่านที่ว่าตัวเองรู้ หรือข้าใหญ่ ข้ารู้ กับคำที่ว่า ท่านที่รู้ธรรมท่านก็รู้ในธรรมอันนั้นท่านก็เทื่ยวไปในธรรมอันนั้น แต่หากท่านไม่สำรวมในธรรมก็ไม่ใด้ว่าเป็นผู้อยู่ในธรรม วัตถุทุกสิ่งอย่างในโลกนี้เป็นของคู่โลกนี้เท่านั้นหากแต่เป็นของเราเสียไม่ท่านที่เอาหลักธรรมเป็นเครื่องหาเงินให้กันตัวเองก็มีมากมาย
 
ฆราวาส
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 23 พ.ค.2005, 1:43 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เมื่อศีลของเรายังมีไม่ครบ ก็อย่าได้กล่าวตู่ผู้ทรงศีล
 
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง