Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 การฝึกสติปัฏฐาน ๔ ดูจิตแล้วรู้อารมณ์อะไรบ้าง อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
poivang
บัวตูม
บัวตูม


เข้าร่วม: 18 มิ.ย. 2005
ตอบ: 224

ตอบตอบเมื่อ: 07 ก.ค.2005, 4:39 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

การฝึกสติปัฏฐาน ๔ ดูจิตแล้วรู้อารมณ์อะไรบ้าง
เขียนโดย...อุบาสกนิรนาม


๑. รู้กาย เมื่อมีสัมผัสทางกาย เช่น รู้ลมหายใจเข้า ออก รู้ทางกายว่ามีอากาศเย็นมากระทบกาย เกิดอาการหนาวสะท้านขึ้น หรือเมื่อเดินกลางแดดร้อนจัด กายอิดโรยมีเหงื่อไคลสกปรกชุ่มอยู่ หรือเมื่อเดินเคลื่อนไหวไปมา ผู้ที่มีจิตผู้รู้จะเห็นกายสักแต่ว่าเป็นกลุ่มของธาตุมารวมกัน และเคลื่อนไหวไปมาได้เหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่ง ไม่เห็นว่ากายส่วนใดจะเรียกตัวเองว่ากายเลย กายกับจิตมันแยกชัดเป็นคนละส่วนกันที่เดียว ผู้ปฏิบัติจะเห็นกายเป็นไตรลักษณ์ชัดเจนมาก

๒. รู้เวทนา บางครั้งในขณะที่รู้จิตผู้รู้ เราจะรู้เวทนาทางกายบ้าง ทางจิตบ้าง แล้วแต่ตัวใดจะเด่นชัดในขณะนั้น เช่น ในขณะเดินอยู่เกิดเมื่อยขารุนแรง ถ้าเรามีจิตผู้รู้ เราจะเห็นได้ชัดเลยว่าความเมื่อยไม่ใช่ขาที่เป็นวัตถุธาตุ แต่เป็นอีกสิ่งหนึ่งแฝงอยู่ในวัตถุธาตุ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นขา หรืออย่างนั่งอยู่ ร้อนๆ มีลมเย็นพัดมา รู้สึกสบาย ความสบายนั้นเป็นความรู้สึกอีกตัวหนึ่งที่แทรกเข้ามา โดยที่กายไม่ได้สบายไปด้วย หรืออย่างเราปวดฟัน ถ้าเรามีจิตผู้รู้ จะเห็นชัดว่าความปวดไม่ใช่ฟันและไม่ใช่จิตด้วย แต่เป็นอีกสิ่งหนึ่ง (อีกขันธ์หนึ่ง) และความปวดนั้นเปลี่ยนระดับตลอด ไม่ได้ปวดเท่ากันตลอดเวลา อันเป็นการแสดงความเป็นไตรลักษณ์ของเวทนาขันธ์ให้ปรากฎ

ในส่วนของเวทนาจิต ก็เห็นได้ชัดมาก เช่นเวลาปวดฟันมีเวทนาทางกายแล้ว บางครั้งจิตก็ปรุงแต่งเวทนาทางจิตขึ้นมาด้วย คือเกิดความรู้สึกเป็นทุกข์ใจขึ้นมา หรือในเวลารับประทานอาหารที่ชอบใจ แม้รสยังไม่ทันสัมผัสลิ้น ความสุขทางใจก็เกิดขึ้นก่อนแล้ว อย่างนี้ก็มี

๓. รู้จิต จิตตานุปัสสนานั้น ไม่ใช่การเห็นจิตผู้รู้หรือจิตที่แท้จริง แต่เป็นการเห็นจิตสังขาร (ความคิดนึก ปรุงแต่ง) ที่กำลังปรากฏ เช่นเห็นชัดว่า ขณะนั้นจิตมีความโกรธเกิดขึ้น มีความหลงฟุ้งซ่านเกิดขึ้น ความผ่องใสเบิกบานเกิดขึ้น ฯลฯ แล้วจะเห็นอีกว่าความปรุงแต่งทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วดับไป มันไม่ใช่จิต มันแค่อารมณ์ที่ถูกรู้ ทั้งนี้การรู้จิต (สังขาร) ในขณะที่รู้ตัวหรือรู้จิตผู้รู้อยู่นั้น จะเห็นจิตสังขารเป็นไตรลักษณ์อย่างชัดเจนมาก

๔. รู้ธรรม ถ้ารู้จิตผู้รู้อยู่นั้น หากสภาวธรรมอันใดปรากฎขึ้น จะเห็นสภาวธรรมนั้นตามที่มันเป็นจริง เช่นขณะที่รู้ตัวอยู่ จิตคิดถึงคนรัก แล้วจิตทยานออกไปเกาะความคิดนั้น คลุกคลีกับความคิดนั้น ผู้ปฏิบัติจะเห็นชัดว่า จิตเกิดความยึดว่าจิตเป็นตัวตนของตนขึ้นมา เพราะความที่จิตไปยึดอารมณ์นั้นเอง ความเป็นตัวตน ความเป็นกลุ่มก้อน ความหนัก ได้เกิดขึ้นแทนความไม่มีอะไรในตอนแรก และถ้ารู้ทันว่าจิตส่งออกไปนำความทุกข์มาให้ จิตจะปล่อยอารมณ์นั้น กลับมาอยู่กับรู้

ความเป็นกลุ่มก้อน ความหนัก ความแน่น หรือทุกข์ก็จะสลายตัวไปเอง อันนี้คือการเห็นอริยสัจสี่นั่นเอง คือเห็นว่าถ้ามีตัณหา คือความทยานอยากไปตามอารมณ์ ความเป็นตัวตนและทุกข์จะเกิดขึ้น ถ้าไม่อยากทุกข์ก็ไม่เกิด

การรู้สภาวธรรมในขณะที่รู้ตัวหรือรู้จิตผู้รู้นั้น จะเห็นว่าจิตเป็นไตรลักษณ์ชัดเจนทีเดียว เช่น เห็นว่าเป็นของบังคับบัญชาไม่ได้ มันส่งออกไปยึดอารมณ์มันก็ไปเอง ถ้ามันรู้ว่ายึดแล้วทุกข์ มันก็ไม่ไปเอง เราจะบังคับว่าจงอย่าไปไม่ได้เลย

ตัวอย่างการพิจารณาหรือการดูจิต

๑. นาย จ. กำลังซักผ้าอยู่ ขณะนั้นสัญญาคือความจำภาพสาวคนรักผุดขึ้นมา จิตของเขาปรุงแต่งราคะคือความใคร่ผูกพันขึ้นมา ทั้งที่ไม่ได้เห็นสาวคนรักจริงๆ วิธีดูจิตนั้นไม่ได้หมายความว่า นาย จ. หันมาดูสติว่ามือกำลังขยี้ผ้าอยู่ แต่นาย จ. จะต้องมองเห็นกิเลสที่เกิดขึ้นในใจของตนเอง เมื่อเห็นกิเลสแล้ว ก็ไม่ใช่เกลียดหรืออยากดับกิเลส แต่การเห็นกิเลสด้วยจิตที่เป็นกลาง กิเลสมันจะดับไปเอง เมื่อกิเลสดับไป นาย จ. จะต้องรู้ว่ากิเลสดับไปเป็นต้น

๒. กรณีเดียวกับตัวอย่างแรก ถ้านาย จ. เกิดราคะเพราะคิดถึงคนรัก บางครั้งกำลังกิเลสที่แรงมากๆ แม้นาย จ. จะรู้ว่ากิเลสเกิดขึ้น แต่ราคะนั้นอาจจะไม่ดับไป มิหนำซ้ำจิตของนาย จ. ยังเคลื่อนออกจากฐานผู้รู้ไปเกาะกับภาพคนรัก หรือหลงเข้าไปในความคิดเกี่ยวกับคนรัก ถึงขั้นนี้ก็ให้นาย จ. รู้ว่า จิตเคลื่อนออกไปรวมกับอารมณ์แล้ว ไม่ต้องทำอะไร แต่รู้เฉยๆเท่านั้น

๓. เมื่อจิตของนาย จ. มีราคะ หรือจิตของนาย จ. เคลื่อนเข้าไปรวมกับอารมณ์ นาย จ. อาจจะสงสัยว่า เอ.....เราควรต้องพิจารณาอสุภกรรมฐานช่วยจิตหรือไม่ เพื่อให้พ้นอำนาจดึงดูดของราคะ เรื่องอย่างนี้ในกรณีที่ผู้ปฏิบัติพิจารณาทางกาย อาจจะใช้การพิจารณาอสุภกรรมฐานมาเป็นเครื่องแก้กิเลสก็ได้ แต่นักดูจิตจะไม่ใช้ความคิดเข้าไปช่วยจิต เขาจะทำแค่รู้ทันสภาพจิตของตนอยู่ตลอดเวลาเท่านั้น เพราะจริงๆแล้ว จิตจะเปลี่ยนสภาพอยู่ตลอดเวลา ถ้าตั้งใจสังเกตดู เช่น กำลังราคะจะแรงขึ้นบ้าง อ่อนลงบ้าง ความคิดเกี่ยวกับคนรักจะปรากฎขึ้นบ้าง และดับไปบ้าง การเคลื่อนของจิตก็อาจจะเคลื่อนถลำเข้าไปในอารมณ์บ้าง แล้วถอยออกมาอยู่กับรู้บ้าง มันแสดงไตรลักษณ์อยู่ตลอดเวลา

๔. เมื่อนาย จ. รู้ทันจิตไปเรื่อยๆ ไปโดยไม่ใช้ความคิดเข้าไปช่วยจิต นาย จ. ซึ่งเป็นปัญญาชนเคยชินกับการแก้ปัญหาด้วยการคิด อาจเกิดความลังเลสงสัยขึ้นมาว่า เอ....ถ้าเราเฝ้ารู้จิตไปเฉยๆ เราจะเกิดปัญญาได้อย่างไร เราจะกลายเป็นคนโง่สมองฝ่อหรือเปล่า ก็ให้นาย จ. รู้ว่าความลังเลสงสัยเกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องคิดหาคำตอบ แค่เห็นว่าความสงสัยเกิดขึ้นก็พอ ที่สุดมันจะดับไปเองเหมือนอารมณ์ตัวอื่นๆ นั่นแหละ

แท้จริงการที่จิตเป็นกลางรู้อารมณ์นั้น จิตเห็นไตรลักษณ์อยู่ตลอดเวลา และจะเห็นอริยสัจสี่ไปในตัวด้วยนั้น เป็นปัญญาขั้นสุดยอดอยู่แล้ว ที่จะปลดเปลื้องจิตจากความทุกข์ ทั้งนี้ปัญญาอันเกิดจากการใช้ความคิด (จินตมยปัญญา) ซึ่งเป็นวิธีการเรียนรู้เก่าๆ ที่มีปัญญาชนอย่างนาย จ. เคยชินไม่สามารถนำผู้ปฏิบัติออกจากทุกข์ได้ แต่ปัญญาที่เกิดจากการภาวนา (ภาวนามยปัญญา) คือการเจริญสติสัมปชัญญะนั้น นำผู้ปฏิบัติอออกจากทุกข์ได้ และมันเป็นปัญญาคนละชนิดกัน

๕. เมื่อนาย จ. ซักผ้าไปนานๆแขนของนาย จ. ก็ปวด มือก็ล้า นาย จ. รับรู้ทุกขเวทนาทางกายที่เกิดขึ้น แล้วสังเกตเห็นว่า ความจริงร่างกายของนาย จ. ไม่ได้ปวดเมื่อยเลย เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่แฝงอยู่ในร่างกาย จิตผู้รู้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง มันสงบสบายอยู่ได้ ในขณะที่ทุกข์ทางกายเกิดขึ้น อันนี้ก็เป็นการเห็นความจริงเกี่ยวกับขันธ์ที่แยกออกจากกันเป็นส่วนๆ ไม่เห็นมีส่วนใดเลยที่เรียกว่า นาย จ. นี่ก็เป็นสภาพอีกอันหนึ่งที่ผู้ดูจิตจะเห็นได้ไม่ยาก

การที่เราเฝ้ารู้จิตผู้รู้ไปเรื่อยๆ อย่างสบายๆ นั้น เราสามารถรู้อารมณ์ทุกชนิดที่ผ่านเข้ามาให้จิตรู้ แล้วแต่ว่าในขณะนั้นอารมณ์ตัวไหนจะแรงและเด่นชัดที่สุด ดังนั้นเราสามารถเจริญสติปัฏฐานได้ทั้ง๔ประเภท ได้แก่

- กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๔
- เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๔
- จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๔
- ธรรมมานุปัสนาสติปัฏฐาน ๔

ในทางตรงกันข้ามถ้าแยกจิตผู้รู้กับอารมณ์ที่ถูกรู้ออกจากกันไม่ได้ จะไม่สามารถเจริญสติปัฏฐานทุกประเภทได้เช่นกัน

ส่วนสมถะนั้นเป็นฐานของวิปัสสนา ถ้าขาดสมถะที่ถูกต้อง จิตจะตกเป็นทาสอารมณ์ ถ้ามีสมถะที่ถูก จิตจะมีสัมปชัญญะ รู้ตัว ไม่เป็นทาสของอารมณ์ จึงเห็นความเกิด ดับ ของอารมณ์ชัดเจนตามความจริงได้
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
สรว
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 09 ก.ค.2005, 1:10 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เรียนคุณ poivang

บทความนี้ไม่ได้เป็นของหลวงปู่ดูลย์นะครับ

ผู้ที่เขียนบทความนี้เป็นลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์

เขียนโดยใช้นามปากกาขณะนั้นว่า อุบาสกนิรนาม

ซึ่งปัจจุบันท่านได้ออกบวชแล้วครับ
 
poivang
บัวตูม
บัวตูม


เข้าร่วม: 18 มิ.ย. 2005
ตอบ: 224

ตอบตอบเมื่อ: 11 ก.ค.2005, 1:31 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ต้องขอโทษด้วยค่ะ ไม่ทราบจริงๆค่ะว่าเป็นธรรมคำสอนของท่านอุบาสกนิรนาม เข้าใจว่าเป็นธรรมเทศนาของหลวงปู่ดูลย์ ต้องกราบขออภัยด้วยค่ะท่านอุบาสกนิรนาม ขอบคุณค่ะคุณ สรว
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง