Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ทุกชีวิต มีเวลาอันจำกัด (สมเด็จพระญาณสังวรฯ) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 29 ม.ค. 2007, 8:16 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ทุกชีวิตมีเวลาอันจำกัด

พระนิพนธ์
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


พ ร ะ ร า ช นิ พ น ธ์ เ พื่ อ ค ว า ม ส วั ส ดี แ ห่ ง ชี วิ ต
แ ล ะ พ ร ะ ค ติ ธ ร ร ม เ พื่ อ เ ป็ น แ ส ง ส่ อ ง ใ จ



พระคติธรรม

หน้าที่ของคนเราที่จะพึงปฏิบัติต่อชีวิตร่างกาย คือ การบริหารรักษาร่างกายให้ปราศจากโรค ให้มีสมรรถภาพ และประกอบประโยชน์เพื่อให้เป็นชีวิตดี ชีวิตที่อุดม ไม่ให้เป็นชีวิตชั่ว ชีวิตเปล่าประโยชน์ และในขณะเดียวกัน ก็ให้กำหนดรู้คติธรรมดาของชีวิต เพื่อความไม่ประมาท

พระพุทธเจ้าตรัสห้ามมิให้ทำลายชีวิตร่างกาย ถ้าจะเกิดความอยาก ความโกรธ ความเกลียด ในอันที่จะทำลายชีวิตร่างกายก็ให้ทำลายความอยาก ทำลายความโกรธ ทำลายความเกลียดนั้นแหละเสีย

อีกอย่างหนึ่ง ธรรมคือคุณงามความดี ตรงกันข้ามกับอธรรม คือ ความชั่ว ซึ่งโดยมากก็รู้กันอยู่ ฉะนั้น เมื่อเคารพในความรู้หมายความว่า เมื่อรู้ว่าไม่ดี ก็ตั้งใจเว้นไว้ เมื่อรู้ว่าดี ก็ตั้งใจทำ ดังนี้เรียกว่า เคารพในธรรมที่รู้โดยตรง ซึ่งทำคนให้เป็นคน กล่าวคือเป็นมนุษย์โดยธรรม

สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก



ทุกชีวิตมีความตายเป็นเบื้องหน้า

O ทุกชีวิตมีความตายเป็นเบื้องหน้า

มีพระพุทธศาสนาสุภาษิตว่า “ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งคนพาล ทั้งบัณฑิต ล้วนไปสู่อำนาจแห่งความตาย ล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้า” แทบทุกคน เคยได้รับรู้ความหมายของข้อความน้ำอยู่ตลอดมาแล้ว แทบทุกคนเคยพูดออกจากปากตนเองมาแล้วนับครั้งไม่ได้ แม้จะไม่ตรงเป็นคำคำ แต่ก็มีความหมายตรงกัน

O ไม่มีสักคนเดียว ที่จะหนีความตายพ้น

ทุกคนมีความรู้แก่ใจ ว่าทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย ไม่มีสักคนเดียวที่จะหนีความตายพ้น แล้วทุกคนมีความได้เปรียบอยู่ประการหนึ่ง ที่มีความรู้นี้ติดตัวติดใจอยู่ แต่แทบทุกคนก็มีความเสียเปรียบอยู่ประการหนึ่ง ที่ไม่เห็นค่า ไม่เห็นประโยชน์ของความรู้นี้ จึงมิได้ใส่ใจเท่าที่ควร ปล่อยปละละเลย รู้จึงเหมือนไม่รู้ สิ่งที่เป็นคุณประโยชน์จึงเหมือนเป็นสิ่งที่ไม่มีค่า

O ความรู้ว่าตัวตาย เป็นคุณประโยชนิ์ยิ่งใหญ่

ความรู้ว่าทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย เป็นสิ่งเป็นคุณประโยชน์ยิ่งใหญ่ แม้ใส่ใจในความรู้นี้ให้เท่าที่ควร ก็จะสามารถนำให้เกิดคุณเกิดประโยชน์แก่ตนเองได้มหาศาล ยากจะหาประโยชน์ใดอาจเปรียบได้

O ปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา สอนให้หัดตายก่อนถึงเวลาตายจริง

ปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาทั้งหลาย สอนให้หัดตายก่อนถึงเวลาตายจริง ท่านสอนให้หัดตายไว้เสมอ อย่างน้อยก็ควรวันละครั้ง ครั้งละ 5 นาที 10 นาที เป็นอย่างน้อย การหัดตายนั้นบางผู้บางพวกน่าจะเริ่มหัดคิดถึงสภาพเมื่อตนกำลังจะถูกประหัตประหารให้ถึงตาย คิดให้ลึกซึ้งถึงความกลัวตายของตนในขณะนั้น แล้วก็คิดจนถึงเมื่อต้องถูกประหัตประหารถึงตายจนได้ แม้จะกลัวแสนกลัว แม้จะพยายามกระเสือกระสนช่วยตนเองให้รอดพ้นอย่างไร ก็หารอดพ้นไม่ต้องตายด้วยความทรมานทั้งกายทั้งใจ

O การหัดตาย มีคุณเป็นพิเศษแก่จิตใจอย่างยิ่ง

การหัดตาย ด้วยเริ่มตั้งแต่ความกลัวตายอย่างทารุณโหดร้ายเช่นนี้ มีคุณเป็นพิเศษแก่จิตใจ จะสามารถอบรมบ่มนิสัยที่แม้เหี้ยมโหดอำมหิต ปราศจากเมตตากรุณาต่อชีวิตร่างกายผู้อื่น สัตว์อื่นให้เปลี่ยนแปลงได้ ความคิดที่จะประหัตประหารเขา เพื่อผลได้ของตนก็จะเกิดได้ยาก หรือจะเกิดไม่ได้เลย

การพยายามหัดตายให้รู้สึกหวาดกลัวการถูกประหัตประหารผลาญชีวิตตนนั้น เมื่อทำไว้เสมอ ก็จะเกิดผลเป็นความเข้าใจถึงความรู้สึกของผู้อื่นที่จะต้องหวั่นกลัว เช่นเดียวกัน ความเมตตาปรานีชีวิตผู้อื่น สัตว์อื่น ก็จะเกิดได้แม้จะไม่เคยเกิดมาก่อน ซึ่งก็เป็นการเมตตาปรานีชีวิตตนเองพร้อมกันไปด้วยอย่างแน่นอน

O กรรม.....ให้ผลเหมือนเยาพิษร้าย และสัตย์ซื่อยิ่งนัก

ผู้ประหัตประหารเขา แม้จะได้สิ่งที่มุ่งได้ แต่ผลที่แท้จริงอันจะเกิดจากกรรม คือ การประหัตประหารที่ได้ประกอบกระทำลงไปนั้น จะเป็นทุกข์โทษแก่ผู้กระทำ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กรรมนั้นให้ผลสัตย์ซื่อยิ่งนัก เหมือนผลของยาพิษร้าย กรรมนั้นเมื่อทำแล้ว ก็เหมือนดื่มยาพิษร้ายแรงเข้าไป จักไม่เกิดผลแก่ชีวิตและร่างกายไม่มี ถ้าเป็นกรรมดี ก็จักให้ผลดี ถ้าเป็นกรรมชั่ว ก็จักให้ผลชั่ว

O พุทธศาสนิกชนถึงมีปัญญาเชื่อเรื่องกรรมให้ถูกต้อง

เราเป็นพุทธศาสนิกชนนับถือพระพุทธศาสนา พึงมีปัญญาเชื่อให้จริงจังถูกต้องในเรื่องกรรม และการให้ผลของกรรม จักเป็นสิริมงคล เป็นความสวัสดีแก่ตนเอง

ยุคสมัยนี้น่าจะง่ายพอสมควร สำหรับจะนึกให้กลัวการถูกประหัตประหารถึงชีวิต เพราะเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นแก่ใครต่อใครไม่ว่างเว้น อาจจะเกิดแก่เราเองวินาทีใดวินาทีหนึ่งก็ได้ หัดคิดไว้ก่อนจึงเป็นการเตรียมพร้อมที่ไม่ปราศจากเหตุผล แต่เป็นความไม่ประมาท

O ทุกชีวิต.....จะถูกมฤตยูรุกรานเมื่อไร ไม่มีใครรู้ได้

ความตายเกิดขึ้นได้แก่ทุกคน ทุกแห่ง ทุกเวลา พุทธศาสนสุภาษิตกล่าวว่า เมื่อสัตว์จะตาย ไม่มีผู้ป้องกัน จะอยู่ในอากาศ อยู่กลางสมุทร เข้าไปสู่หลืบเขา ก็ไม่พ้นจากมฤตยูได้ ประเทศคือ ดินแดนที่มฤตยูจะไม่รุกรานผู้อยู่.....ไม่มี

เราจะถูกมฤตยูรุกรานเมื่อไร ที่ไหน.....เราไม่รู้ หายใจออกครั้งนี้แล้ว อาจจะไม่หายใจเข้าอีก เมื่อถึงเวลาจะต้องตายไม่มี ผู้ใดผัดเพี้ยนได้ ไม่มีผู้ใดจะช่วยได้ เพราะเมื่อสัตว์จะตายไม่มีผู้ป้องกัน และความผัดเพี้ยงกับมฤตยูอันมีกองทัพใหญ่นั้นไม่ได้เลย

O ทุกย่างก้าวของทุกคน นำไปถึงมือมฤตยูได้

ทุกย่างก้าวของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่แห่งหนตำบลใด นำไปถึงมือมฤตยูได้ ผู้ร้ายก็เคยตกอยู่ในมือมฤตยู ทั้งที่ถึงใส่เงินแสนเงินล้านที่ไปปล้นจี้เขามายังอยู่ในมือ ไม่ทันได้ใช้ ไม่ทันได้เก็บเข้าบัญชีสะสมเพื่อความสมปรารถนาของตน

นักการเมืองไม่ว่าเล็กไม่ว่าใหญ่ ก็เคยตกอยู่ในมืองมฤตยู ในขณะกำลังเหนื่อยกายเหนื่อยใจ ใช้หัวคิดทุ่มเทเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายสูงสุดของตน

ผู้ที่กำลังยิ้มแย้มแจ่มใสมีความสุขกับครอบครัว เคี้ยวข้าวอยู่ในปากแท้ๆ ก็เคยตกอยู่ในมือมฤตยูโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว ผู้เหินฟ้าอยู่บนเครื่องบินใหญ่โตมโหฬารราวกับตึก ก็เคยอยู่ในมือมฤตยูโดยไม่คาดคิด

ผู้โดยสารเรือเดินสมุทรใหญ่ ก็เคยตกอยู่ในมือมฤตยูพร้อมกันมากมายหลายร้อยชีวิต
นักไต่เขาผู้สามารถ ก็เคยหายสาบสูญในขณะกำลังไต่เขา โดยตกเข้าไปอยู่ในมือมฤตยู



ปราชญ์กล่าวว่าชีวิตนี้น้อยนัก

O ชีวิตในชาติปัจจุบันนี้น้อยนัก สั้นนัก

พุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่งกล่าวว่า
อัปฺปกญฺจิทํ ชีวิตมาหุธีรา = ปราชญ์กล่าวว่าชีวิตนี้น้อยนัก

ทุกชีวิต ไม่ว่าคนไม่ว่าสัตว์ มิได้มีเพียงเฉพาะชีวิตนี้ คือมิได้มีเพียงชีวิตในชาตินี้ชาติเดียว แต่ทุกชีวิตมีทั้งชีวิตในชาติอดีต ชีวิตในชาติปัจจุบัน และชีวิตในชาติอนาคต
“ชีวิตนี้น้อยนัก” หมายถึงชีวิตในชาติปัจจุบันน้อยนัก สั้นนัก

ชีวิตคืออายุ ชีวิตในปัจจุบันชาติของแต่ละคนอย่างยืนนานก็เกินร้อยปีได้ไม่เท่าไหร่ ซึ่งก็ดูราวเป็นอายุที่ไม่ยืนมากนัก แม้ไม่นำไปเปรียบเทียบกับชีวิตที่ต้องผ่านมาแล้วในอดีตที่นับชาติไม่ถ้วนนับปีไม่ได้ และชีวิตที่จะต้องเวียนวนเกิดตายต่อไปอีกในอนาคตที่จะนับชาติไม่ถ้วน นับปีไม่ได้อีกเช่นกัน

ที่ปราชญ์ท่านว่า “ชีวิตนี้น้อยนัก” นั้น ท่านมุ่งให้เปรียบเทียบกับชีวิตนี้กับชีวิตในอดีตที่นับชาติไม่ถ้วน และชีวิตในอนาคตที่จะนับชาติไม่ถ้วนอีกเช่นกัน สำหรับผู้ไม่ยิ่งด้วยปัญญา ไม่สามารถพาตนพ้นทุกข์สิ้นเชิงได้

O ทุกชีวิตล้วนผ่านกรรมดีกรรมชั่วมามากมาย

ทุกชีวิตก่อนแต่จะได้มาเป็นคนเป็นสัตว์อยู่ในปัจจุบันชาติต่างเป็นอะไรต่ออะไรมาแล้วมากมาย แยกออกไม่ได้ว่ามีกรรมดีกรรมชั่วอะไรบ้าง ทำกรรมใดก่อน ทำกรรมใดหลัง

ทั้งกรรมดีกรรมชั่วที่ทำไว้ในชาติอดีตทั้งหลาย ย่อมมากมายเกินกว่าที่ได้มากระทำในชาตินี้ชีวิตนี้อย่างประมาณไม่ได้ และกรรมดีกรรมชั่วทั้งหลายเหล่านั้นย่อมให้ผลตรงตามเหตุทุกประการ

แม้ว่าผลจะไม่อาจเกิดขึ้นพร้อมกันทุกสิ่งทุกอย่าง และไม่อาจเรียงลำดับตามเหตุที่ได้กระทำแล้วก็ตาม แต่ผลทั้งหลายย่อมเกิดแน่ แม้เหตุได้กระทำแล้ว

O ผู้ใดทำเหตุ ย่อมได้รับผลตรงตามเหตุแน่นอน

เมื่อมีเหตุย่อมมีผล เมื่อทำเหตุย่อมได้รับผล และผลย่อมตรงตามเหตุเสมอ ผู้ใดทำผู้นั้นจักเป็นผู้รับผล เที่ยงแท้แน่นอน

เมื่อใดกำลังมีความสุข ไม่ว่าผู้กำลังมีความสุขนั้นจะเป็นเราหรือเขา เมื่อนั้นพึงรู้ความจริง ว่าเหตุดีที่ได้ทำไว้แน่กำลังให้ผล ผู้ทำเหตุดีนั้นกำลังเสวยผลแห่งเหตุนั้นอยู่ แม้ปุถุชนจะไม่สามารถหยั่งรู้ให้เห็นแจ้งได้ ว่าทำเหตุดีหรือกรรมดีใดไว้

แต่ก็พึงรู้พึงมั่นใจ ว่าเหตุแห่งความสุขที่กำลังได้เสวยอยู่เป็นเหตุดีแน่ เห็นกรรมดีแน่ ผลดีเกิดแต่เหตุดีเท่านั้น ผลดีไม่มีเกิดแต่เหตุไม่ดีได้เลย

เมื่อใดที่กำลังมีความทุกข์ความเดือดร้อน ไม่ว่าผู้กำลังมีความทุกข์ความเดือดร้อนนั้นจะเป็นเราหรือเป็นเขา เมื่อนั้นพึงรู้ความจริง ว่าเหตุไม่ดีที่ได้ทำไว้แน่กำลังให้ผล ผู้ทำเหตุไม่ดีนั้นกำลังเสวยผลแห่งเหตุนั้นอยู่ แม้ปุถุชนจะไม่สามารถหยั่งรู้ให้เห็นแจ้งได้ ว่าทำเหตุไม่ดีหรือกรรมไม่ดีใดไว้

แต่ก็พึงรู้พึงมั่นใจว่าเหตุแห่งความทุกข์ความเดือดร้อนที่กำลังได้เสวยอยู่ เป็นเหตุไม่ดีแน่ เป็นกรรมไม่ดีแน่ ผลไม่ดีเกิดเกิดแต่เหตุไม่ดีเท่านั้น ผลไม่ดีไม่มีเกิดแต่เหตุดีได้เลย

O ทำดีต้องได้ดีเสมอ ไม่มีข้อยกเว้นด้วยเหตุผลใดทั้งสิ้น

เมื่อใดมีความคิดว่า เราทำดีไม่ได้ดี หรือเขาทำดีไม่ได้ดี ก็พึงรู้ว่าเมื่อนั้นกำลังหลงคิดผิดไปจากความจริง กำลังเข้าใจผิดจากความจริง ทำดีต้องได้ดีเสมอ ไม่มียกเว้นด้วยเหตุผลใดทั้งสิ้น

เมื่อใดมีความคิดว่า เราทำไม่ดีแต่กลับได้ดี หรือเขาทำไม่ดีแต่กลับได้ดี ก็พึงรู้ว่าเมื่อนั้นกำลังหลงคิดผิดจากความจริง กำลังเข้าใจผิดจากความจริง ทำไม่ดีต้องได้ไม่ดีเสมอ ไม่มียกเว้นด้วยเหตุผลใดทั้งสิ้น

ชีวิตในชาตินี้ชาติเดียวย่อมน้อยนัก เมื่อเปรียบเทียบกับชีวิตในอดีตชาติ ซึ่งนับชาติหาถ้วนไม่ ดังนั้น กรรมคือการกระทำ ที่ทำในชีวิตนี้ชาตินี้ชาติเดียวจึงน้อยนัก เมื่อเปรียบเทียบกับกรรมหรือการกระทำที่ทำไว้แล้วในอดีตชาติ อันนับจำนวนชาติไม่ถ้วน

O ความซับซ้อนของกรรม

การเขียนหนังสือด้วยปากกาหรือดินสอลงบนกระดาษแผ่นเดียวนั้น เขียนลงครั้งแรกก็ย่อมอ่านออกง่าย อ่านเข้าใจได้ง่าย แต่ยิ่งเขียนทับเขียนซ้ำลงไปบนกระดาษแผ่นเดียวกันนั้น ตัวหนังสือย่อมจะทับกันยิ่งขึ้นทุกที การอ่านก็จะยิ่งอ่านยากขึ้นทุกทีจนถึงอ่านไม่ออกเลย ไม่เห็นเลยว่าเป็นตัวหนังสือ จะเห็นแต่รอยหมึกหรือรอยดินสอทับกันไปทับกันมาเป็นสีสันเท่านั้น

ให้เพียงรู้เท่านั้นว่าได้มีการเขียนอะไรลงบนกระดาษแผ่นนั้น หาอ่านรู้เรื่องไม่และหาอาจรู้ได้ได้ ว่าเขียนอะไรก่อนเขียนอะไรหลัง นี้ฉันใด การทำกรรมหรือการทำดีทำชั่วก็ฉันนั้น ต่างได้ทำกันมานับภพนับชาติไม่ถ้วน ทับถมกันมายิ่งกว่าตัวหนังสือที่อ่านไม่ออก หารู้ไม่ว่าได้เขียนอะไรก่อนเขียนอะไรหลัง

ทำกรรมแบบใดไว้ก็ไม่รู้ ไม่เห็น แยกไม่ออกว่าทำกรรมใดก่อนทำกรรมใดหลัง ทำดีอะไรไว้บ้าง ทำไม่ดีอะไรไว้บ้าง มากน้อยหนักเบากว่ากันอย่างไร มาถึงชาตินี้ไม่รู้ด้วยกันทั้งสิ้น เป็นความซับซ้อนของกรรมที่แยกไม่ออก เช่นเดียวกับความซับซ้อนของตัวหนังสือที่เขียนทับกันไปทับกันมา

O ผลแห่งกรรมเป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงการกระทำ

ความซับซ้อนของกรรมแตกต่างกับความซับซ้อนของตัวหนังสือ ตรงที่ตัวหนังสือเขียนทับกันมาก ๆ ย่อมไม่มีทางรู้ว่าเขียนเรื่องดีหรือเรื่องไม่ดีอย่างไร แต่กรรมนั้น แม้ทำซับซ้อนมากเพียงไร ก็มีทางรู้ว่าทำกรรมดีไว้มากน้อยเพียงไร หรือกรรมไม่ดีไว้มากน้อยเพียงไร โดยมีผลที่ปรากฏขึ้นของกรรมนั้นเองเป็นเครื่องช่วยแสดงให้เห็น

ชีวิตหรือชาตินี้ของทุกคนมีชาติกำเนิดไม่เหมือนกัน เป็นคนไทยก็มี จีนก็มี แขกก็มี ฝรั่งก็มี มีชาติตระกูลไม่เสมอกัน ตระกูลสูงก็มี ตระกูลต่ำก็มี มีสติปัญญาไม่ทัดเทียมกัน ฉลาดหลักแหลมก็มี โง่เขลาเบาปัญญาก็มี มีฐานะต่างระดับกัน ร่ำรวยก็มี ยากจนก็มี ความแตกต่างห่างกันนานาประการ

เหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องชี้ให้ผู้เชื่อในกรรมและผลของกรรมเห็นความมีภพชาติในอดีตของแต่ละชีวิตในชาติปัจจุบัน เกิดมาต่างกันในชาตินี้เพราะทำกรรมไว้ต่างกันในชาติอดีต

O อำนาจที่ยิ่งใหญ่ของกรรม นำให้เกิดความแตกต่างของชีวิต

ความแตกต่างของชีวิตที่สำคัญที่สุด ที่แสดงให้เห็นอำนาจที่ใหญ่ยิ่งที่สุดของกรรมคือความได้ภพชาติของพรหมเทพ ความได้ภพชาติของมนุษย์ กับความได้ภพชาติของสัตว์ เทวดาอาจมาเป็นมนุษย์ได้ เป็นสัตว์ได้ มนุษย์อาจไปเปิดเทวดาได้ เป็นสัตว์ได้ และสัตว์ก็อาจไปเป็นเทวดาได้ เป็นมนุษย์ได้

ด้วยอำนาจที่ยิ่งใหญ่ของกรรมอันนำให้เกิด นี้เป็นความจริงที่แม้จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ความจริงนี้ก็ย่อมเป็นความจริงเสมอไป ไม่มีอะไรจะเปลี่ยนแปลงให้ผิดไปจากความจริงได้ เชื่อหรือไม่เชื่อก็ควรกลัวอย่างหนึ่ง คือกลัวการไม่ได้กลับมาเกิดเป็นคน ไม่ได้ไปเกิดเป็นเทวดา

เทวดามาถือภพชาติเป็นมนุษย์เป็นที่ยอมเชื่อถือกันมากกว่าเทวดาจะไปเป็นอะไรอื่น จึงมีคำบอกเล่าหรือสันนิษฐานกันอยู่เสมอ ว่าผู้นั้นผู้นี้เป็นเทวดามาเกิด

O กรรม....ทำให้เทวดามาเกิดเป็นมนุษย์ได้

ทั้งนี้ก็โดยสันนิษฐานจากความปราณีตงดงามสูงส่งของผู้นั้นผู้นี้ บางรายก็มีพร้อมทุกประการ ทั้งชาติ ตระกูลที่สูง ฐานะที่ดี ผิวพรรณวรรณะที่งาม กิริยาวาจามารยาทที่สุภาพอ่อนโยนไพเราะ เรียบร้อย เฉลียวฉลาด

บางผู้แม้ไม่พร้อมทุกประการดังกล่าว ก็ยังได้รับคำพรรณนาว่าเป็นเทวดา นางฟ้ามาเกิด เพราะผิวพรรณ มารยาทงดงาม อ่อนโยน นุ่มนวล นี้ก็คือการยอมรับอยู่ลึกๆ ในใจของคนส่วนมากว่าเทวดามาเกิดเป็นมนุษย์ได้

เทวดามาเกิดป็นมนุษย์มีตัวอย่างสำคัญยิ่งที่พึงกล่าวถึงได้เป็นที่ยอมรับทั่วไป โดยเฉพาะในหมู่พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย นั่นคือ สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าจากสวรรค์ชั้นดุสิตเสด็จลงโลกมนุษย์ ประสูติเป็นพระสิทธัตถะราชกุมาร พระราชโอรสพระเจ้าสุทโธทนากับพระนางสิริมหามายา

เรื่องหนึ่งในพระพุทธศาสนาที่รู้จักกันกว้างขวาง คือ เรื่องของเทพธิดาเมขลา เทพธิดาองค์นี้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้พิทักษ์รักษามหาสมุทร มีหน้าที่คอยคุ้มครองช่วยเหลือมนุษย์ผู้ถือไตรสรณาคมน์ มีศีลสมบูรณ์ ปฏิบัติชอบต่อมารดาบิดา พราหมณ์โพธิสัตว์เดินทางไปเรือแตกกลางมหาสมุทร พยายามว่ายเข้าฝั่งอยู่ถึง ๗ วัน

เทพธิดาเมขลาจึงแลเห็น ได้ไปแสดงตนต่อพระมหาสัตว์ทันที รับรองจะให้ทุกอย่างที่พระมหาสัตว์ปรารถนา และได้เนรมิตสิ่งที่พระมหาสัตว์ขอทุกอย่าง คือเรือทิพย์และแก้วแหวนเงินทอง พระมหาสัตว์พ้นจากมหาสมุทร ได้บำเพ็ญทานรักษาศีลจนตลอดชีวิต ครั้นสิ้นชีวิตแล้วได้ไปบังเกิดในเมืองสวรรค์

พระมหาสัตว์ครั้งนั้นต่อมาคือพระพุทธเจ้า เทพธิดาเมขลาต่อมาคือ พระอุบลวัณณาเถรี และผู้ดูแลช่วยเหลือพระมหาสัตว์ต่อมาคือพระอานนท์ นี้คือเทวดาถือภพชาติเป็นมนุษย์ได้ อย่างน้อยก็ตามความเชื่อถือ จึงมีการเล่าเรื่องเทพธิดาเมขลาดังกล่าว

O มนุษย์เกิดเป็นเทวดาได้ เพราะกรรมที่กระทำ

เทวดามาเกิดเป็นมนุษย์ได้ และมนุษย์ก็เกิดเป็นเทวดาได้ ดังที่สมเด็จพระบรมศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันได้ทรงนำเรื่องในอดีตมาสาธกว่า เมื่อทรงเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์หัวหน้าพ่อค้าเกวียน

ได้ทรงซื้อสินค้าในนครพาราณสีบรรทุกเกวียนนำพ่อค้าจำนวนมากเดินทางไปในทางกันดาร เมื่อพบบ่อน้ำก็พากันขุดเพื่อให้มีน้ำดื่ม ได้พบรัตนะมากมายในบ่อนั้น พระโพธิสัตว์ทรงเตือนว่า ความโลภเป็นเหตุแห่งความพินาศ แต่ไม่มีผู้เชื่อฟัง พวกพ่อค้ายังขุดบ่อต่อไปไม่หยุด หวังจะได้รัตนะมากขึ้น

บ่อนั้นเป็นบ่อที่อยู่ของพญานาค เมื่อถูกทำลาย พญานาคก็โกรธใช้ลมจมูกเป่าพิษถูกพ่อค้าเสียชีวิตหมดทุกคน เหลือแต่พระโพธิสัตว์ที่มิได้ร่วมการขุดบ่อด้วย จึงได้รัตนะมากมายถึง ๗ เล่มเกวียน ท่านนำออกเป็นทาน และได้สมาทานศีล รักษาอุโบสถจนสิ้นชีวิต ได้ไปเกิดในสวรรค์ เป็นมนุษย์ผู้หนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นเทวดาได้

มนุษย์มีบุญกุศลและความดีพร้อมทั้งกายวาจาใจมากเพียงไร ก็จะเกิดเป็นเทวดาได้เพียงนั้น คือสามารถขึ้นไปอยู่บนสวรรค์ชั้นสูงได้เมื่อละโลกนี้แล้ว

O กรรมทำให้มนุษย์เกิดเป็นสัตว์ได้

มนุษย์เกิดเป็นเทวดาได้ และเกิดเป็นสัตว์ก็ได้ ในสมัยพุทธกาลชายผู้หนึ่งโกรธแค้นรำคาญสุนัขตัวหนึ่งที่ติดตามอยู่ตลอดเวลา พระพุทธเจ้าทรงทราบก็ได้ตรัสแสดงให้รู้ว่า บิดาที่สิ้นไปแล้วนั้นมาเกิดเป็นสุนัข และได้ทรงให้พิสูจน์ โดยบอกให้สุนัขนำไปหาที่ซ่อนทรัพย์ ซึ่งไม่มีผู้ใดรู้นอกจากผู้เป็นบิดาของชายผู้นั้น และสุนัขก็พาไปขุดพบสมบัติที่ฝังไว้ก่อนสิ้นชีวิตได

O อานุภาพของการให้ความเคารพในพระธรรม
ก็นำสัตว์ให้มาเกิดเป็นเทวดาและมนุษย์ได้


สัตว์ไปเกิดเป็นเทวดาได้คงจะมีเป็นอันมาก มีเรื่องต่างๆ ในพระพุทธศาสนาที่เล่ากันสืบมา คือในสมัยพุทธกาล มีสัตว์ได้ยินเสียงพระท่านสวดมนต์ก็ตั้งใจฟังโดยเคารพ ตายไปก็ได้ไปบังเกิดเป็นเทพในสวรรค์ ด้วยอานุภาพของการให้ความเคารพในพระธรรมของพระพุทธเจ้า

สัตว์มาเกิดเป็นมนุษย์ได้ นี้ต้องเป็นที่เชื่อถืออยู่ลึกๆ ในจิตสำนึก จึงแม้เมื่อพบมนุษย์บางคนบางพวกก็ได้มีการแสดงความรู้สึกจริงใจออกมาต่างๆ กัน เช่น ลิงมาเกิดแท้ๆ สัตว์นรกมาเกิดแน่ๆ ทั้งนี้ก็เห็นจากหน้าตาท่าทางบ้าง กิริยามารยาท นิสัยใจคอความประพฤติบ้าง

ซึ่งโดยมากผู้ที่พบเห็นด้วยกันก็จะมีความรู้สึกตรงกันดังกล่าว เป็นความรู้สึกที่เกิดจากความเชื่อนั่นเอง ว่าสัตว์มาเกิดเป็นมนุษย์ได้ หรือมนุษย์เกิดมาจากสัตว์ได้

(มีต่อ ๑)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 29 ม.ค. 2007, 8:17 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ทางแห่งความตาย

O ความประมาทปัญญา เป็นทางแห่งความตาย

ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย นี้เป็นพุทธศาสนสุภาษิต และความประมาททั้งหลายรวมลงในความประมาทปัญญา ปัญญาคือเหตุผล ผู้ไม่เห็นความสำคัญของเหตุผล ประมาทเหตุผล จึงไม่ใช้เหตุผล ความไม่ใช้เหตุผลนี้แหละ คือความประมาทปัญญา ผู้ประมาทปัญญา หรือผู้ไม่ใช้เหตุผล คือผู้เดินอยู่บนทางแห่งความตาย

O ความประมาท : ทางแห่งความตาย

ความตายนั้น มีทั้งตายด้วยสิ้นชีวิต และตายด้วยสิ้นชื่อเสียง เกียรติยศ ทั้งสองอย่างนี้เกิดได้แก่ผู้ประมาทปัญญา

O ความประมาททางกาย

ความประมาทในการกระทำ ที่เรียกว่าประมาททางกาย เช่น ความประมาทเกี่ยวกับอาวุธร้าย มีปืนและระเบิด เป็นต้น ไม่คำนึงถึงเหตุผลว่าอาวุธเช่นนั้นมีโทษร้ายแรง ความประมาทเช่นนี้ที่ทำให้เกิดความตายด้วยสิ้นชีวิตแล้วเป็นจำนวนมาก นี้คือความประมาทเป็นทางแห่งความตายประการหนึ่ง

O ความประมาททางวาจา

ความประมาทในการพูด คือ พูดโดยไม่ระวังถ้อยคำ เรียกว่าประมาททางวาจา ไม่คำนึงให้รอบคอบว่าจะเกิดผลอย่างไรในการพูด พูดไปตามอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความโกรธ ความประมาทเช่นนี้ทำให้เกิดความตายด้วยสิ้นชีวิตแล้วเป็นอันมาก ด้วยสิ้นชื่อเสียงเกียรติยศก็เป็นอันมาก นี้คือความประมาทเป็นทางแห่งความตายประการหนึ่ง

O ความประมาททางใจ

ความประมาทในความคิด คือ คิดฟุ้งซ่านไปโดยไม่ระมัดระวัง เรียกว่าประมาททางใจ การฆ่าตัวตายก็เกิดจากความประมาทนี้ ความเสียสติก็เกิดจากความประมาทนี้ ความทำลายผู้อื่นก็เกิดจากความประมาทนี้ นี้คือความประมาทเป็นทางแห่งความตายประการหนึ่ง

O ความตายด้วยสิ้นชีวิต

ความตายด้วยสิ้นชีวิต แม้จะเกิดจากความประมาท ก็ยังดีกว่าความตายด้วยสิ้นชื่อเสียงเกียรติยศ ที่เรียกกันว่าตายทั้งเป็น

O ความตายทั้งเป็น

ความตายด้วยสิ้นชื่อเสียงเกียรติยศ เกิดจากความประมาทปัญญาในเรื่องต่าง ๆ เป็นความประมาททางกาย ทางวาจา ทางใจ ไม่อบรมปัญญาในเรื่องความโลภ ความโกรธ ความหลง

O ผลที่เกิดจากความประมาทปัญญา

ผลที่เกิดจากความประมาทปัญญา คือ ความตาย ไม่ว่าจะตายด้วยสิ้นชีวิต หรือตายด้วยสิ้นชื่อเสียง เกียรติยศ เป็นความไม่ดีทั้งสิ้น ความประมาทปัญญา หรือความประมาท จะให้ผลดีไม่มีเลย จึงไม่ควรประมาทปัญญา

ความไม่ประมาทปัญญา คือ ความเห็นความสำคัญของปัญญา ทั้งปัญญาตนและปัญญาผู้อื่น จะเห็นความสำคัญแต่ปัญญาตนไม่เห็นความสำคัญปัญญาผู้อื่นด้วย ก็ไม่ได้

O ประมาทปัญญาตนและผู้อื่น ให้ผลเหมือนกัน

ความไม่เห็นความสำคัญปัญญาตนมีโทษอย่างไร ความไม่เห็นความสำคัญปัญญาผู้อื่นก็มีโทษอย่างนั้น ผู้ไม่ประมาทปัญญา จึงหมายถึงผู้ไม่ประมาททั้งปัญญาตนและปัญญาผู้อื่น

ประมาทปัญญาตนเป็นหนทางแห่งความตาย ประมาทปัญญาผู้อื่นก็เป็นทางแห่งความตาย ผู้พ่ายแพ้แก่ผู้อื่น ต้องเสื่อมเสียสูญสิ้นเป็นอันมาก ต้องเศร้าโศกเสียใจถึงเสียสติก็มี ก็เพราะประมาทปัญญาผู้อื่น

O ผู้ไม่อบรมปัญญาตนเท่านั้น จะเป็นผู้ที่ประมาทปัญญาผู้อื่น

ความประมาทปัญญาผู้อื่น ก็คือความประมาทปัญญาตนนั่นเอง ผู้ไม่อบรมปัญญาตนเท่านั้น ที่จะประมาทปัญญาผู้อื่น ผู้อบรมปัญญาตน จะไม่ประมาทปัญญาผู้อื่นเลย

นั่นก็คือผู้เห็นความสำคัญของปัญญาตน จะแลเห็นความสำคัญของปัญญาผู้อื่นด้วย ประมาทปัญญาผู้อื่น คือ เห็นผู้อื่นไม่มีปัญญา ไม่สามารถ เห็นตนเองมีปัญญามีความสามารถยิ่งกว่าผู้อื่น

จะคิดจะพูดจะทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับผู้อื่น จึงไม่รอบคอบ ไม่ใช้ปัญญาให้เต็มที่ เป็นการประมาทปัญญา เป็นการเดินอยู่บนทางแห่งความตายได้ทั้งสองอย่าง คือ ทั้งอย่างสิ้นชีวิต และอย่างสิ้นชื่อเสียงเกียรติยศ

O การดำรงชีวิตจะสวัสดีเพียงไร สำคัญอยู่ที่.....
การประมาทปัญญตนและผู้อื่นมากน้อยเพียงไร


ความประมาทปัญญา หมายถึง ทั้งความประมาทปัญญาตน ความประมาทปัญญาผู้อื่น และความประมาทปัญญาที่เป็นกลาง มิใช่ปัญญาตนหรือปัญญาผู้ใด

ความประมาทปัญญาที่เป็นกลาง คือ ความไม่เชื่อว่าปัญญาเป็นความสำคัญ ปัญญาเป็นความจำเป็นสำหรับประคับประคองชีวิตให้สวัสดี ทั้งที่ปัญญาเป็นสิ่งควรอบรมให้มีเป็นอันมากในตน ก็ไม่เห็นค่าของปัญญา

ไม่พยายามทำปัญญาให้เป็นปัญญาตน เปรียบเช่นเห็นสิ่งมีค่าเป็นสิ่งไม่มีค่า ก็ไม่พยายามแสวงหาไว้เป็นสมบัติตน เรียกว่าประมาทสิ่งนั้น ผู้ประมาทปัญญา ย่อมไม่อบรมปัญญา

การดำรงชีวิตจะสวัสดีเพียงไร สำคัญที่ประมาทปัญญาตน และปัญญาผู้อื่นมากน้อยเพียงไร ประมาทปัญญาตนและปัญญาผู้อื่นมาก ชีวิตจะสวัสดีน้อย ประมาทปัญญาตนและปัญญาผู้อื่นน้อย ชีวิตจะสวัสดีมาก

O ผู้ไม่ประมาทปัญญา ย่อมไม่พบกับความตายด้วยสิ้นชื่อเสียงเกียรติยศ

ผู้ไม่ประมาทปัญญา แม้จะต้องพบความตายด้วยความสิ้นชีวิตอันเป็นธรรมที่ไม่มีผู้หลีกเลี่ยงพ้น แต่ก็ย่อมไม่พบความตายด้วยสิ้นชื่อเสียงเกียรติยศ ประมาทปัญญาผู้อื่น คือ ไม่รอบคอบในการคิดพูดทำเกี่ยวกับผู้อื่น

ด้วยเห็นว่าไม่จำเป็นต้องรอบคอบระมัดระวัง อยากคิด อยากพูด อยากทำ เกี่ยวกับผู้อื่นอย่างไร ก็คิด ก็พูด ก็ทำ มีความไว้วางใจเป็นเหตุสำคัญบ้าง มีความระแวงสงสัยเป็นเหตุสำคัญบ้าง ผลที่ตามมาจากความประมาทปัญญา อาจเป็นความตายด้วยสิ้นชีวิต หรือตายด้วยสิ้นชื่อเสียงเกียรติยศ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสอง

O ปล่อยใจจากสิ่งทั้งหลาย ก่อนถูกความตายบังคับ

ปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา คือ ผู้มีปัญญา สอนให้เร่งอบรมมรณสติ นึกถึงความตาย หัดตายก่อนตายจริง จุดมุ่งหมายสำคัญของการหัดตายก็คือ เพื่อให้ปล่อยใจจากสิ่งทั้งหลาย ก่อนที่จะถูกความตายบังคับให้ปล่อย

กิเลสเครื่องเศร้าหมอง ตัณหาความดิ้นรนและทะยานอย่าง อุปทาทานความยึดมั่นถือมั่นทั้งหลายทั้งปวง หัดใจให้ปล่อยเสียพร้อมกับหัดตาย สิ่งอันเป็นเหตุให้โลภ ให้โกรธ ให้หลง ให้เกิดตัณหา อุปาทาน หัดละเสีย ปล่อยเสียพร้อมกับหัดตาย ซึ่งจะมาถึงเราทุกคนเข้าจริงได้ทุกวินาที

O กิเลสทั้งหลาย ล้วนเป็นโทษแก่ผู้ตาย

อ้างความโลภ ความโกรธ ความหลง ตัณหา อุปาทานนั้น บางครั้งบางคราวก็ทำให้ผู้ยังมีชีวิตอยู่ทั้งหลาย ได้รับวัตถุตอบสนองสมปรารถนา เช่น ผู้มีความโลภอย่างได้ข้าวของทรัพย์สินเงินทองของเขาผู้อื่น บางครั้งบางคราวก็อาจขอเขา โกงเขา ลักขโมยเขา ได้สิ่งที่โลภอยากเป็นของตนสมปรารถนา

หรือผู้มีความโกรธ อยากว่าร้ายเขา อยากทำร้ายร่างกายเขา บางครั้งบางคราวก็อาจทำให้สำเร็จสมใจ แต่ถ้าตกอยู่ในมือมฤตยูแล้ว เป็นคนตายแล้ว แม้ยังมีความโลภ ความโกรธ ความหลง ตัณหา อุปาทาน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับจิตใจ จะไม่สามารถใช้กิเลสกองใดกองหนึ่ง ให้ผลสนองความปรารถนาต้องการได้เลย

ผู้มีความโลภที่ตายแล้วไม่อาจลักขโมยของของเขาได้ หรือผู้มีความโกรธที่ตายแล้ว ก็ไม่อาจว่าร้ายเขาทำร้ายเขาได้

กล่าวได้ว่า แม้ใจของผู้ตายจะยังมีความโลภ ความโกรธ ความหลง ตัณหา อุปาทาน อยู่มากมายเพียงไร ก็จะไม่สามารถก่อให้เกิดผลดีอันเป็นคุณแก่ตน หรือแก่ผู้ใดได้เลย มีแต่ผลร้ายเป็นโทษสถานเดียวจริง กิเลสเป็นคุณแก่ผู้ตายไม่ได้ แต่เป็นโทษแก่ผู้ตายได้

O ผู้ละโลกนี้ไปในขณะที่จิตเศร้าหมอง ทุคติสำหรับผู้นั้น เป็นอันหวังได้

เมื่อลมหายใจออกจากร่างไม่กลับเข้าอีกแล้ว สิ่งที่เป็นนามแลไม่เห็นด้วยสายตาเช่นเดียวกับลมหายใจคือจิต ก็จะออกจากร่างโดยคงสภาพเดิม คือ พร้อมด้วยกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง ที่มีขณะจิตยังอยู่ในร่าง คือยังเป็นจิตของคนเป็น คนยังไม่ตาย พระพุทธองค์ทรงกล่าวไว้ว่า “ผู้ละโลกนี้ไปในขณะที่จิตเศร้าหมอง ทุคติเป็นอันหวังได้”

O จิตที่มีกิเลสมาก.....ย่อมเศร้าหมองมาก

กิเลสทั้งปวงเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต จิตที่มีกิเลสเป็นจิตที่เศร้าหมอง มีกิเลสมาก....จิตก็เศร้าหมองมาก กิเลสน้อย.....จิตก็เศร้าหมองน้อย

จิตที่มีกิเลสเศร้าหมอง เมื่อละร่างไปสู่ภพภูมิใด ก็จะคงกิเลสนั้นอยู่ คงความเศร้าหมองนั้นไว้ ภพภูมิที่ไปจึงเป็นทุคติ คติที่ชั่ว คติที่ไม่ดี มากน้อยหนักเบาตามกิเลสความเศร้าหมองของจิต

O จิตที่เศร้าหมองด้วยกิเลส เป็นจิตที่ไม่บริสุทธิ์

คำว่า “จิตเศร้าหมอง” มิได้หมายถึง จิตที่หดหู่อยู่ด้วยความเศร้าโศกเสียใจเท่านั้น
“จิตเศร้าหมอง” หมายถึง จิตที่ไม่บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว คือ เศร้าหมองอยู่ด้วยกิเลส
จิตมีกิเลสมากก็เศร้าหมองมาก จิตมีกิเลสน้อยก็เศร้าหมองน้อย

O กิเลสกองหลง เป็นเหตุแห่งราคะ โลภะ และโทสะ

อันกิเลสกองหลงหรือโมหะนั้น เป็นกองใหญ่ กองสำคัญ เป็นเหตุแห่งราคะหรือโลภะและโทสะ ความหลงหรือโมหะคือ ความรู้สึกที่ไม่ถูก ความรู้สึกที่ไม่ชอบ ความรู้สึกที่ไม่ควร คนมีโมหะคือคนหลง ผู้มีความรู้สึกไม่ถูก ไม่ชอบ ไม่ควรทั้ง คือ คนมีโมหะ คือ คนหลง เช่น หลงตน หลงคน หลงอำนาจ เป็นต้น

O ผู้มีโมหะมาก คือมีความหลงมาก
มีความรู้สึกที่ไม่ถูก ไม่ชอบ ไม่ควร ในตน คน อำนาจ


คนหลงตนเป็นคนมีโมหะ มีความรู้สึกที่ไม่ถูกไม่ชอบ ไม่ควร ในตนเอง คนหลงตนจะมีความรู้สึกว่าตนเป็นผู้มีความดี ความสามารถ ความพิเศษเหนือใครทั้งหลายเกินความจริง เป็นความรู้สึกในตนที่ไม่ถูกไม่ชอบไม่ควร

เมื่อมีความรู้สึกอันเป็นโมหะความหลง ราคะหรือโลภะและ โทสะก็จะเกิดตามมาได้โดยไม่ยาก เมื่อหลงตนว่าดีวิเศษเหนือคนทั้งหลาย ความโลภให้ได้มาซึ่งสิ้นอันสมควรแก่ความดีความวิเศษของตน ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ความโกรธด้วยไม่ต้องการให้ความดีความวิเศษนั้น ถูกเปรียบหรือถูกลบล้างย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

ผู้หลงคนจะมีความรู้สึกว่าคนนั้นคนนี้ที่ตนหลง มีความสำคัญ มีความดีวิเศษเหนือคนอื่น เกิดความมุ่งหวังเกี่ยวกับความสำคัญความดีความวิเศษของคนนั้นคนนี้ ความมุ่งหวังนั้นเป็นโลภะ และเมื่อมีความหวังก็ย่อมมีได้ทั้งความสมหวังและความผิดหวังเป็นธรรมดา ความผิดหวังนั้นเป็นโทสะ

ผู้หลงอำนาจเป็นผู้มีโมหะ มีความรู้สึกที่ไม่ถูกไม่ชอบไม่ควรในอำนาจที่ตนมี ผู้หลงอำนาจจะมีความรู้สึกว่าอำนาจที่ตนมีอยู่นั้นยิ่งใหญ่ เหนืออำนาจทั้งหลายเกินความจริง เป็นความรู้สึกที่ไม่ถูก ไม่ชอบ ไม่ควร

ผู้หลงอำนาจของตนว่ายิ่งใหญ่เหนืออำนาจทั้งหลาย ย่อมเกิดความเห่อเหิมทะเยอทะยานในการใช้อำนาจนั้น ให้เกิดผลเสริมอำนาจของตนให้ยิ่งขึ้น ความรู้สึกนี้จัดเป็นโลภะ และแม้ไม่เป็นไปดังความเหิมเห่อทะเยอทะยาน ความผิดหวังนั้นจักเป็นโทสะ

O บุคคลผู้มีโมหะมาก หลงตนมาก จัดเป็นพวกมีกิเลสมาก มีจิตเศร้าหมองมาก

ผู้มีโมหะมาก คือ มีความหลงมาก มีความรู้สึกที่ไม่ถูกไม่ชอบ ไม่ควรในตนในคน ในอำนาจ ย่อมปฎิบัติผิดได้มาก ก่อทุกข์โทษภัยให้เกิดได้มาก ทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น ทั้งแก่ส่วนน้อย และแก่ส่วนใหญ่ รวมถึงแก่ประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

บุคคลผู้มีโมหะมาก หลงตนมาก จัดเป็นพวกมีกิเลสมาก จิตเศร้าหมองมาก จะเป็นผู้ขาดความอ่อนน้อม แม้แต่ต่อผู้ควรอย่างยิ่งที่จะได้รับความอ่อนน้อม บุคคลเหล่านี้เมื่อละโลกนี้ไปขณะที่ยังไม่ได้ละกิเลส คือ โมหะให้น้อย จิตย่อมเศร้าหมอง ย่อมไปสู่ทุคติ

O ผลของกรรมที่เที่ยงแท้ หลังความตาย

ทุคติของผู้หลงตนจนไม่มีความอ่อนน้อมต่อผู้ควรได้รับความอ่อนน้อยอย่างยิ่ง คือ จะเกิดในตระกูลต่ำ ตรงกันข้ามกับผู้รู้จักอ่อนน้อมต่อผู้ควรได้ความอ่อนน้อม ที่จะไปสู่สุคติ คือ จะเกิดในตระกูลสูง เป็นเรื่องกรรมและการให้ผลของกรรมที่เที่ยงแท้ ผู้ใดทำกรรมใดไว้ จักได้รับผลของกรรมนั้น ทำดีจักได้ดี ทำชั่วจักได้ชั่ว ทำเช่นใดจักได้เช่นนั้น

การไม่อ่อนน้อมต่อผู้ควรได้รับการอ่อนน้อม เป็นกรรมไม่ดี การเกิดในตระกูลต่ำเป็นผลของกรรมไม่ดี เป็นผลที่ตรงตามเหตุแท้จริง ผู้ที่เกิดในตระกูลต่ำ ปกติย่อมไม่ได้รับความอ่อนน้อมจากคนทั้งหลาย ส่วนผู้ที่เกิดในตระกูลสูง ย่อมได้รับความอ่อนน้อมที่ผู้เกิดในตระกูลสูงมีปกติได้รับ นั้นเป็นผลที่เกิดจากเหตุอันเป็นกรรมดี คือ ความอ่อนน้อม

(มีต่อ ๒)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 29 ม.ค. 2007, 8:18 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ทุกชีวิตมีเวลาอันจำกัด

O อานุภาพแห่งพระพุทธศาสนา

เราต่างเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา.....เพราะพระพุทธศาสนาจริงๆ
ดีได้เพียงนี้ ไม่ดีน้อยกว่านี้.....เพราะพระพุทธศาสนา
ร้ายเพียงเท่านี้ ไม่ร้อยไปกว่านี้.....เพราะพระพุทธศาสนา เราจะไม่เป็นเช่นนี้

พุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่ง กล่าวไว้มีความว่า
“ถ้ารู้ว่าตนเป็นที่รัก ก็ควรรักษาตนนั้นให้ดี”

เป็นการเตือนด้วยถ้อยคำอันไพเราะยิ่งนัก ควรนักที่จะได้รับความสนใจอย่างยิ่ง ถ้ารู้ว่าตนเป็นที่รัก ควรรักษาตนนั้นให้ดี ขอให้ทบทวนคำเตือนนี้ให้เสมอ จะรู้สึกว่าเป็นคำเตือนที่สุภาพอ่อนโยน ไพเราะลึกซึ้ง เปี่ยมด้วยเมตตา

เมื่อทบทวนคำเตือนนี้แล้ว ก็น่าจะนึกเลยไปให้ได้ความเข้าใจว่าท่านผู้กล่าวคำเตือนได้เช่นนี้ ต้องมีจิตใจสูงส่ง มีเมตตาปรารถนาดีอย่างที่สุดต่อเราทุกคน

จึงควรเทิดทูนความเมตตาของท่าน ให้ความสนใจและปฏิบัติให้เป็นไปตามคำของท่าน เพื่อเป็นการแสดงกตัญญูกตเวทีตอบแทนพระคุณ และน้ำใจงดงามที่ท่านมีต่อเราทั้งหลาย และท่านผู้นั้น คือ พระพุทธเจ้า

O ความจริงที่ควรระลึกถึงอย่างสม่ำเสมอ

เรารักตัวเรา คนอื่นก็รักตัวเขา เราไม่อยากให้ใครทำเช่นไรกับเรา คนอื่นก็ไม่อยากให้เราทำเช่นนั้นกับเขา เราอยากให้คนอื่นทำดีกับเราอย่างไร คนอื่นก็อยากให้เราทำดีกับเขาอย่างนั้น ขอให้พยายามคิดถึงความจริงนี้ให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะมีสตินึกได้ จะเป็นคุณแก่ตนเองอย่างยิ่ง การคิดพูดทำทั้งหมดจะเป็นไปอย่างดีที่สุด ไม่เป็นการทำร้ายผู้อื่น ไม่เป็นการเบียดเบียนผู้อื่น

O เพราะรักตนอย่างยิ่งนั่นเอง
จึงเป็นผู้ประพฤติ ปฏิบัติดี เพื่อให้ตนเป็นคนดี


การสามารถรักษาจิตใจ รักษาวาจา รักษาการกระทำ ให้เป็นไปเพื่อไม่ก่อทุกข์โทษภัยแก่ผู้อื่น ไม่เรียกว่าเป็นการทำเพื่อผู้อื่น ไม่เรียกว่าเป็นการถือว่าผู้อื่นเป็นที่รักของตน แต่เป็นการทำเพื่อตนเอง เป็นการถือว่าตนเป็นที่รักของตนอย่างยิ่ง ไม่มีความรักอื่นเสมอด้วยความรักตน

ผู้ที่สามารถรักษากาย วาจา ใจ ตนให้ดีได้นั้นก็คือ “ผู้ที่รักตนอย่างยิ่ง” นั่นเอง เพราะรักตนอย่างยิ่งจึงประพฤติดีปฏิบัติดีเพื่อให้ตนเป็นคนดี ผู้ที่ถือเอาการได้มาด้วยวิธีต่างๆ ไม่เลือกสุจริต ทุจริต ไม่ใช่คนรักตนเอง ผู้ที่มีกิริยาวาจาหยาบคายก้าวร้าว ทิ่มแทงหลอกลวง ไม่ใช่คนรักตนเอง

ไม่ใช่คนที่จะทำให้ตนเองสวัสดีได้ ตรงกันข้ามที่ทำเช่นนั้นเป็นการไม่รักตนเอง แม้คนจะคิดว่าการที่ทำเพราะไม่รักผู้อื่นก็ตาม แต่ความจริงแท้เป็นการไม่รักตน เป็นการทำให้ตนต่ำทราม

เมื่อจะคิดชั่วพูดชั่วทำชั่วเมื่อใด ขอให้นึกถึงตนเอง นึกว่าตนเป็นที่รักของตน จึงไม่ควรทำลายตนเหมือนตนเป็นที่รังเกียจเกลียดชังอย่างยิ่ง จนถึงต้องทำลายเสีย การคิดชั่วพูดชั่วทำชั่ว เป็นการทำลายตนอย่างแน่แท้

O ความดีความชั่วเป็นปัจจัยสำคัญให้สังคมวุ่นวาย

สังคมแห่งมนุษยชาติบางคราวสงบเย็น บางคราวเดือนร้อนวุ่นวาย ก็เพราะมีความดีความชั่วเป็นปัจจัยสำคัญ พระพุทธศาสนาจึงมุ่งแนะนำสั่งสอนให้ประกอบความดี ละเว้นความชั่ว และอบรมจิตใจให้ผ่องแผ้ว ซึ่งจะผลักดันให้ทำความดี ส่วนจิตใจชั่วทรามย่อมนำให้สร้างความชั่วเสียหายยังแก่ตนเอง ทั้งแก่ผู้อื่น

O ทุกชีวิตมีเวลาอันจำกัด จงอย่าช้ารีบเร่งทำความดี

ทุกชีวิตมีเวลาจำกัด อย่างมากไม่เกิดร้อยปีก็จะต้องละร่างนี้ ละโลกนี้ไป อย่าผัดวันประกันพรุ่งที่จะทำความดี เพราะถ้าสายเกินไปเมื่อไร ก็ตนเองนั่นแหละจะต้องได้เสวยผลของการไม่กระทำกรรมดี ไม่มีผู้ใดอื่นจะรับผลของความดีความชั่วที่ตนเองทำไว้ เจ้าตัวเองเท่านั้น จักเป็นผู้รับผลของความดี ความชั่วที่ตนทำ

O อย่ายอมให้ความชั่วมีอำนาจแบ่งเวลาในการทำดี

ความดีก็ตาม ความชั่วก็ตาม เป็นสิ่งที่ทำได้ทุกเวลา แต่จะทำสองอย่างพร้อมกันไม่ได้ ต้องทำทีละอย่าง จึงต้องตัดสินใจเลือกว่าจะทำอย่างไหน จะทำความดีหรือจะทำความชั่ว อย่างมีใจอ่อนแอโลเลเพราะจะทำให้พ่ายแพ้ต่ออำนาจของความชั่ว ยอมให้ความชั่วมีอำนาจแย่งเวลาที่ควรทำความดีไปเสีย ซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง จะเป็นการแสวงหาทุกข์โทษภัยใส่ตัว อย่างไม่น่าทำ

O ตนนั่นแหละ เป็นผู้นำพาชีวิตของตน

พุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่ง กล่าวไว้แปลความว่า “ตนเทียวเป็นคติของตน” คือ ตนนั้นแหละ จักเป็นผู้พาตนเองไป ไปดีไปชั่ว ไปสว่างไปมืด ไปอย่างไรก็ได้ทั้งนั้นแล้วแต่ตนจะพาตนเองไป ที่มักกล่าวกันว่าคนนั้นพาคนนี้ไปดีไม่ดีนั้น ไม่ถูกต้องตามความจริง

ไม่มีผู้ใดจะพาใครไปไหนได้ นอกจากเจ้าตัวเองจะเป็นผู้พาตัวเองไป ผู้อื่นเป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น แม้ตัวเองไม่พาตัวเองไปดีแล้ว ก็ไม่มีผู้ใดอื่นจะสามรถพาไปดีได้อย่างแน่นอน หรือแม้ตัวเองไม่พาตัวเองไปชั่วแล้ว ก็ไม่มีผู้ใดอื่นจะสามารถพาไปชั่วไปอย่างแน่นอน เช่น มีผู้มาชวนให้ทำบุญ แม้ตัวเองไม่ทำตาม ก็จะไม่ได้ทำบุญ

ไม่ว่าในเรื่องใดทั้งนั้น ถ้าตัวเองไม่เห็นดีเห็นงามตามไปด้วยแล้ว ไม่ทำตามแล้ว ก็จะไม่มีผู้ใดมานำได้ ตนเองเท่านั้น จักนำตนเองไปได้ทุกที่ทุกทาง ทั้งที่ดีทั้งที่ชั่ว ตนเองจึงสำคัญนัก ตนจึงเป็นคติของตนจริง

O ทุกชีวิต ล้วนปรารถนาไปสู่ที่ดีที่สว่าง

ทุกคนควรตั้งปัญหาถามตนเอง ว่าชอบจะพาตนเองไปสู่ที่ดีหรือไปสู่ที่ชั่ว ไปสู่ที่สว่างหรือไปสู่ที่มืด คำตอบน่าจะตรงกันทั้งหมด ว่าทุกคนชอบจะพาตนไปสู่ที่ดีที่สว่าง ไม่ใช่ไปสู่ที่ชั่ว ไปสู่ที่มืด

เมื่อรู้คำตอบปัญหาเช่นนี้ ก็ต้องรู้ต่อไปว่า ผู้นำ คือ ตนเองนั้น จะต้องรู้ทางไปสู่ที่ดีที่สว่างให้ถนัดชัดแจ้งถูกต้อง ไม่เช่นนั้ก็จะพาตนไปไม่ถูกต้องดังปรารถนา นั่นก็คือ ต้องรู้ว่าทำอย่างไร จึงจะไปสู่ที่ดีที่สว่าง ไม่หลงไปสู่ที่ชั่วที่มืด

เราเป็นพุทธศาสนิก มีโอกาสดีอย่างยิ่ง มีโอกาสดีกว่าผู้อื่น พระพุทธศาสนาแสดงทางดีทางสว่างไว้ชัดแจ้งละเอียดลออ ดีน้อยดีมาก สว่างน้อยสว่างมาก มีแสดงไว้แจ้งชัดในพระพุทธศาสนา

พระพุทธเจ้าผู้ทรงตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นแจ้งทุกสิ่งทุกอย่างได้ทรงมีพระมหากรุณาแสดงไว้ เพื่อพุทธศาสนิกได้ดำเนินรอยพระพุทธบาทได้ถูกต้อง ได้ไปถึงที่ดีที่สว่างโดยไม่ต้องคลำทางด้วยตนเองให้ลำบาก สำคัญที่ว่าพุทธศาสนิกจะต้องศึกษาพระธรรมคำที่พระพุทธองค์ทรงสอนและต้องปฏิบัติตาม

O ผู้ปรารถนาความดี ความสว่างแห่งชีวิต
พึงดำเนินชีวิตตามพระธรรมคำสั่งสอน


พระพุทธองค์ทรงตามประทีปไว้แล้ว ให้เราเห็นทางดำเนินไปสู่ที่ดีที่พ้นทุกข์ เราจงอย่าปิดตาจงลืมตาดูแสงประทีปนั้น ให้เห็นทางสว่างด้วยแสงแห่งพระมหากรุณา แล้วพากันน้อมรับพระมหากรุณานั้นดำเนินไปตามทางที่สว่าง จักไม่พบอันตรายที่ย่อมแอบแฝงอยู่ในความมืด

ความสำคัญจึงมิได้อยู่ที่แสงประทีป ซึ่งพระพุทธองค์ทรงจุดประทานไว้ด้วยพระมหากรุณาเท่านั้น แต่ต้องอยู่ที่ตนเองของทุกคนด้วย ถ้าพากันปิดตาไม่แลให้เห็นแสงประทีป ก็อาจจะเดินไปสู่ที่มืดที่ชั่ว ที่มีอันตรายร้อยแปดประการได้

แต่ถ้ากาพันลืมตาขึ้น ดูให้เห็นทางอันสว่างไสว แล้วเดินไปตามทางนั้น ก็ย่อมจะเดินไปสู่ที่สว่าง ไปสู่ที่ดี พ้นภยันตรายมากมีทั้งหลาย

O พึงอบรมตนให้เป็นคติ คือทางที่ดีของตน

ไม่มีผู้ใดปรารถนาจะมีหนทางชีวิตที่มืด มีแต่ปรารถนาหนทางชีวิตที่สว่าง ดังนั้นต้องอบรมตนให้รู้จักทาง ทางมืดก็ให้รู้ ทางสว่างก็ให้รู้ ทางไปสู่ที่มืดก็รู้ ทางไปสู่ที่สว่างก็รู้ รู้ทางแล้วยังไม่พอ ต้องศึกษาวิธีเดินทางให้ดีด้วย

เดินทางสว่างนั้นท่านเดินกันอย่างไรต้องศึกษาให้ดี เดินอย่างไรจะเป็นการเดินทางมืด และต้องรู้ว่าขึ้นชื่อว่าทางมืดต้องมีอันตรายแอบแฝงอยู่อย่างไม่ต้องสงสัย ไม่พึงเดินไปอย่างส่งเดช อบรมใจให้ดีให้ตาสว่าง จะได้เดินถูกทาง สามารถนำไปดีได้ ทำตนให้เป็นคติคือทางที่ดีของตนได้

O ทุกชีวิต ล้วนตกเป็นเครื่องมือของกรรม

ความรังเกียจหรือความนิยมยกย่องคนที่ชั่วและคนดี ได้รับเป็นผลแห่งกรรมของตน ไม่ใช่เป็นอะไรอื่น ความรังเกียจที่คนชั่วได้รับ เป็นผลแห่งกรรมชั่ว ความนิยมยกย่องที่คนดีได้รับ เป็นผลแห่งกรรมดี คนทั้งหลายรวมทั้งตัวเราทุกคน เป็นเครื่องมือของกรรมที่จะเป็นเหตุให้ผลของกรรมชั่วและผลของกรรมดีปรากฎชัดเจนขึ้นเท่านั้น

ผู้มีปัญญาไม่นิยมคำว่า ชั่วช่างชีดีช่างสงฆ์ เพราะเป็นความไม่ถูกต้อง ความเสื่อมทั้งหลายเกิดจากความนิยมนี้ได้มากมาย

O ผู้ยินดีในความถูกต้อง พึงอบรมตนให้มีสัมมาทิฐิ

แม้ทำความเข้าใจที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นในจิตใจตนได้แล้ว การปฏิบัติที่ถูกต้องก็ย่อมจะต้องตามมาอย่างแน่นอน เพราะใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทุกสิ่งสำเร็จด้วยใจ คือ ทุกสิ่งเป็นไปตามอำนาจความเห็นถูกเห็นผิดของใจ

การอบรมความเห็นให้ถูก ให้เป็นสัมมาทิฐิ.....ความเห็นชอบ
ไม่ให้เป็นมิจฉาทิฐิ.....ความเห็นผิด จึงเป็นความสำคัญที่สุดของผู้ยินดีในความถูกต้อง

ใจของเราทุกคนนี้สำคัญนัก สติก็สำคัญนัก ปัญญาก็สำคัญนัก เมตตากรุณาก็สำคัญนัก ทั้งหมดนี้ไม่ควรแยกจากกัน มีใจก็ต้องให้มีสติ ต้องให้มีปัญญา ต้องให้มีกรุณา ประคับประคองกันไปให้เสมอ อย่าให้มีสิ่งอื่นนอกจากสติปัญญาและเมตตากรุณาเข้ากำกับใจ

สติและปัญญาพร้อมเมตตากรุณานั้น เมื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับใจ จะทำให้ใจมีสัมมาทิฐิ.....ความเห็นชอบได้ ตรงกันข้าม แม้ใจขาดสติปัญญา และเมตตากรุณา ก็จะทำให้มีมิจฉาทิฐิ.....ความเห็นผิดได้ง่าย

O สติปัญญา เมตตากรุณา สำคัญยิ่งแก่ทุกชีวิต

สติ ปัญญา และเมตตา กรุณา เป็นความสำคัญอย่างยิ่งของทุกคน เป็นสิ่งช่วยให้คนเป็นคนอย่างสมบูรณ์ขึ้น งามพร้อมขึ้นจึงพึงเพิ่มพูนทั้งสติ ปัญญา และเมตตา กรุณา ซึ่งสามารถอบรมได้พร้อมกัน ให้เกิดผลเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้

ก่อนจะพูดจะทำอะไร พึงมีสติรู้ว่าแม้พูดแม้ทำลงไป จะเกิดผลอะไรตามมา เป็นความเสียหายแก่ผู้ใดหรือไม่ ต้องใช้ปัญญาในตอนนี้ให้พอเหมาะพอควร พร้อมทั้งใช้เมตตากรุณาให้ถูกต้อง เว้นการพูดการทำที่จะเป็นเหตุแห่งความกระทบกระเทือนใจผู้ฟังโดยไม่จำเป็น

พระพุทธเจ้าทรงยิ่งด้วยพระมหากรุณา ทรงตั้งพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาเพื่อจิตใจ ผู้เป็นพุทธศาสนิกพึงคำนึงถึงความจริงนี้ให้อย่างยิ่ง จะคิด จะพูด จะทำอะไร มีสตินึกถึงจิตใจผู้เกี่ยวข้อทั้งหลาย อย่าให้ได้รับความชอกช้ำโดยไม่จำเป็น

O ที่พึ่งของชีวิต อันไม่มีที่พึ่งใดเปรียบได้

พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาเพื่อจิตใจโดยแท้ เป็นศาสนาที่ทะนุถนอมจิตใจเป็นอย่างยิ่ง มุ่งพิทักษ์รักษาจิตใจเป็นอย่างยิ่ง มุ่งพิทักษ์รักษาจิตใจให้ห่างไกลจากความเศร้าหมองทั้งปวง อันจักเกิดแต่ความโลภ ความโกรธ ความหลง

ศึกษาพระพุทธศาสนาให้รู้จริง ก็จะเห็นพระพุทธเจ้าว่า ทรงมีพระหฤทัยละเอียดอ่อนและสูงส่งเหนือผู้อื่นทั้งปวง ความอ่อนโยนประณีตแห่งพระหฤทัย ทำให้ทรงเอื้ออาทรถึงจิตใจสัตว์โลกทั้งหลาย ทรงแสดงความทะนุถนอมห่วงใยสัตว์น้อยใหญ่ไว้แจ้งชัด

สารพัดที่ทรงตรัสรู้อันจักเป็นวิธีป้องกันจิตใจของสัตว์โลก สมเด็จพระบรมศาสดาทรงพระมหากรุณาพร่ำชี้แจงแสดงสอนตลอดพระชนม์ชีพที่บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว เช่นนี้แล้วไม่ควรหรือที่พุทธศาสนิกทุกถ้วนหน้า จะตั้งใจสนองพระมหากรุณาเต็มสติปัญญาความสามารถปฏิบัติตามที่ทรงสอน

เอื้ออาทรต่อเพื่อนร่วมทุกข์ทั้งหลาย ด้วยการแนะนำบอกเล่าให้รู้จัก ให้เข้าใจว่า สมเด็จพระพุทธศาสดานี้ทรงยิ่งด้วยพระมหากรุณาจึงทรงอบรมพระปัญญา จนถึงสามารถทรงยังให้เกิดพระพุทธศาสนาขึ้นได้ เป็นที่พึ่งยิ่งใหญ่ของสัตว์โลกทั้งหลายได้จนถึงทุกวันนี้ ไม่มีที่พึ่งอื่นใดเปรียบได้

O ทุกชีวิตมีเวลาอันจำกัด
พึงรำลึกในพระคุณและน้ำใจของพระพุทธองค์


ทุกคนที่เคยประสบความขัดข้องในชีวิต ปรารถนาจะได้รับความช่วยเหลืออย่างที่สุด เมื่อมีผู้ใดมาให้ความช่วยเหลือแก้ไขความขัดข้องนั้นให้คลี่คลาย.....ช่วยให้ร้ายกลายเป็นดี แม้มีจิตใจที่กตัญญูรู้คุณ ผู้ได้รับความช่วยเหลือด้วยเมตตา ให้ผ่านพ้นความมืดมัวขัดข้อง ย่อมสำนึกในพระคุณและน้ำใจ

ย่อมไม่ละเลยที่จะตอบแทน พระมหากรุณาของพระพุทธเจ้ายิ่งใหญ่เหนือความกรุณาทั้งหลายที่ทุกคนเคยได้รับมาในชีวิต แม้ไม่พิจารณาให้ประณีตก็ย่อมไม่เข้าใจ แต่แม้พิจารณาให้ประณีตด้วยดี ย่อมไม่อาจที่จะละเลยพระคุณได้ ย่อมจับใจในพระคุณพ้นพรรณนา

(มีต่อ ๓)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 29 ม.ค. 2007, 8:19 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พุทธวิธีเพื่อการหัดตาย

O พุทธวิธีเพื่อการหัดตาย

การหัดตายที่ปราชญ์ในพระพุทธศาสนาท่านแนะนำ คือ การหัดอบรมความคิด สมมติว่าตนเองในขณะนั้นปราศจากชีวิตแล้วตายแล้ว เช่นเดียวกับผู้ที่ตายแล้วจริงทั้งหลาย

O ฝึกอบรมความคิดว่าเมื่อปราศจากชีวิตแล้ว
สภาพร่างกายของตนที่เคยเคลื่อนไหว จักทอดนิ่ง


คิดให้เห็นชัดว่าเมื่อตายแล้ว ตนจะมีสภาพอย่างไร ร่างที่เคยเคลื่อนไหวได้ก็จะทอดนิ่ง อย่าว่าแต่เพียงจะลุกขึ้นไปเก็บรวบรวมเงินทองข้าวของที่อุตส่าห์สะสมไว้เพื่อนำไปด้วย จะเขยิบไปพ้นแดดพ้นมดสักนิ้วสักคืบก็ทำไม่ได้

เมื่อมีผู้มายกไปนำไป ยังที่ซึ่งเขากำหนดกันว่าเหมาะว่าควร ก็ไม่อาจขัดขืนโต้แย้งได้ แม้บ้านอันเป็นที่รักที่หวงแหน เขาก็จะไม่ให้อยู่.....จะยกไปวัด

เคยนอนฟูกบนเตียงในห้องกว้าง ประตูหน้าต่างเปิดโปร่ง เขาก็จะจับลงไปในโลงศพแคบทึบ ไม่มีประตู ไม่มีหน้าต่าง ตีตาปูปิดสนิทแน่น ไม่ให้มีแม้แต่ช่องลมและอากาศ จะร้องก็ไม่ดัง จะประท้วงหรืออ้นวอนก็ไม่สำเร็จ ไม่มีใครสนใจ

O ถูกทอดทิ้งอ้างว้างตามลำพัง หลังปราศจากชีวิต

สามี ภริยา มารดา บิดา บุตร ธิดา ญาติสนิทมิตรทั้งหลาย ที่เคยรักห่วงใยกันนักหนา ก็ไม่มีใครมาอยู่ด้วยแม้สักคน อย่าว่าแต่จะเข้าไปนั่งไปนอนในโลงศพด้วยเลย แม้แต่จะนั่งเฝ้านอนเฝ้าอยู่ข้างโลงทั้งวันทั้งคืน ก็ยังไม่มีใครยอม

บ้านเรือนใครก็จะพากันกลับคืนหมด ทิ้งไว้แต่ลำพังในวัดที่อ้างว้าง มีศาลาตั้งศพ มีเมรุเผาศพ มีเชิงตะกอน มีศพที่เผาเป็นเถ้าถ่ายแล้วบ้าง ยังไม่ได้เผาบ้างมากมายหลายศพ

O ทรัพย์สมบัติที่สะสมไว้ ในขณะที่มีชีวิต
สิ้นสุดลงแล้วพร้อมกับลมหายใจและชีวิตที่สิ้นสุด


ทีนี้เมื่อยังไม่ตาย เราเคยกลัว เคยรังเกียจ แต่เมื่อตายเราก็หนีไม่พ้น เรามีอะไรหรือในขณะนั้น เราไม่มีอะไรเลย มือเปล่าเกลี้ยงเกลาไปทั้งเนื้อทั้งตัว เงินสักบาททองสักเท่าหนวดกุ้งก็ไม่มีติด มีแต่ตัวแท้ๆ

เขาไม่ได้แต่งเครื่องเพชรเครื่องทองมีค่าหรือมอบกระเป๋าใส่เงินใส่ทองให้เลย อย่างดีก็มีเพียงเสื้อผ้าที่เขาเลือกสวมใส่แต่งศพให้ไปเท่านั้น ซึ่งไม่กี่วันก็จะชุ่มน้ำเหลืองที่ไหลจากตัว มีใครเล่าจะมาเปลี่ยนชุดใหม่ๆ ให้ ทั้งๆ ที่สะสมไว้มากมายหลายสิบชุด ล้วนเป็นชอบอกชอบใจว่าสวยว่างาม

โอกาสที่จะได้ใช้เงินใช้เสื้อผ้าอาภรณ์ เครื่องเพชรเครื่องทองเหล่านั้นสิ้นสุดลงแล้ว.....พร้อมกับลมหายใจ พร้อมทั้งชีวิตที่สิ้นสุดนั้นเอง ไม่คุ้มกันเลยกับความเหนื่อยยากแสวงหามา สะสมโดยไม่ถูกไม่ชอบด้วยประการทั้งปวง ที่เป็นบาป เป็นอกุศล เป็นการเบียดเบียนก่อทุกข์ภัยให้ผู้อื่น

O มองให้เห็นสภาพร่างกายที่ตายแล้ว

หัดมองให้เห็นร่างกายของตนเอง ที่ตายแล้วอืดอยู่ในโลง เริ่มปริแตก มีน้ำเหลือง น้ำหนองไหลออกจากขุมขน เส้นผมเปียกแฉะด้วยเลือดด้วยหนอง ลิ้นที่เคยอยู่ในปากเรียบร้อยก็หลุดออกมาจุก นัยน์ตาถลนเหลือกลาน

รูปร่างหน้าตาของตนเองขณะนั้น อย่าว่าแต่จะให้ใครอื่นจำได้เลย แม้ตัวเองก็จำไม่ได้ อย่าว่าแต่จะให้ใครอื่นไม่รังเกียจ สะดุ้งกลัวเลย แม้แต่ตัวเองก็ยากจะห้ามความรู้สึกนั้น

ผิวพรรณที่อุตสาหะพยายามถนอมรักษาให้งดงามเจริญตา เจริญใจ ใส่หยูกใส่ยา เครื่องอบเครื่องลูบไล้ เครื่องประทินอันมีกลิ่นมีคุณค่าราคาแพงทั้งหลาย มีลักษณะตรงกันข้ามกับความปรารถนาอย่างสิ้นเชิง เมื่อความตายมาถึง

O ทรัพย์สมบัติสักนิด เมื่อตายไปก็นำไปไม่ได้

เมื่อความตายมาถึง ไม่มีผู้ใดจะสามารถถนอมรักษาทะนุบำรุงรักษาร่างกายของเขาไว้ได้ แม้สมบัติพัสถานที่แสวงหาไว้ระหว่างมีชีวิตจนเต็มสติปัญญาความสามารถ แม้ด้วยเล่ห์กล เพื่อใช้ทะนุถนอมรักษาเชิดชูบำรุงตัวของเรา ก็ติดร่างไปไม่ได้เลย

O แม้ร่างกายของเรา ก็ต้องทิ้งไว้ในโลก

เป็นจริงดังพุทธศาสนสุภาษิตว่า.....ทรัพย์สักนิดก็ติดตามคนตายไปไม่ได้ ให้ความสุข ความสมบูรณ์ ความสะดวกสบาย ความปกป้องคุ้มกันร่างของคนตายไม่ได้ ต้องปล่อยให้ร่างนั้นผุพัง เน่าเปื่อยคืนสู่สภาพเดิม เป็นดิน น้ำ ไฟ ลม ประจำโลกต่อไป ต้องตามพุทธศาสนสุภาษิตว่า “สัตว์ทั้งปวงทิ้งร่างไว้ในโลก”

O ความเชื่อในชีวิตหลังความตาย

ผู้มีความเข้าใจว่า ตายแล้วจะไปเกิดเป็นอะไร สุขทุกข์อย่างไร เราไม่รับรู้ด้วยแล้ว จึงไม่มีความหมาย นี่เป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง เป็นโมหะสำคัญ ก็ที่เราเกิดเป็นนั่นเป็นนี่กันในชาตินี้ ทำไมเราจึงรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ ทั้งๆ ที่เราไม่รู้ว่าเกี่ยวข้องกับชาติก่อนอย่างไร

พุทธศาสนิชนส่วนใหญ่ เชื่อว่ามีชาติในอดีตและชาติในอนาคต เชื่อว่าก่อนที่จะมาเกิดในชาตินี้ ได้เคยเกิดในชาติอื่นมาแล้ว และก็จะต้องเกิดในชาติหน้าต่อไป ไม่รู้กี่ชาติต่อกี่ชาติ ถ้ายังทำกิเลสให้สิ้นไปไม่ได้

อย่าพลอยเป็นไปกับคนเป็นอันมาก ที่มีโมหะหลงเข้าใจผิดอย่างยิ่งว่า จบสิ้นความเป็นคนในชาตินี้แล้ว ก็ไม่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับชาติอื่นต่อไป เพราะฉะนั้นความสำคัญจึงอยู่ที่ควรแสวงหาความสุขสมบูรณ์ให้ตนเองให้เต็มที่ในชาตินี้

ผู้ใดมีโมหะหลงผิดเช่นนี้ จะสามารถทำความผิดร้ายได้ทุกอย่าง เพื่อประโยชน์ตน ทรยศคดโกง เบียดเบียนทำร้ายแม้กระทั่งถึงชีวิตเขาก็ทำได้ เป็นการสร้างกรรมที่จะให้ผลแก่ตนเองแน่นอน คนจะต้องเสวยผล เสวยทุกขเวทนา ทั้งในโลกนี้และเมื่อละโลกนี้ไปแล้วตามกรรมของตน ต้องตามพุทธภาษิตว่า “กรรมของตนเอง ย่อมนำไปสู่ทุคติ”

O ชีวิตในชาติข้างหน้ายาวนาน ไม่อาจประมาณได้

ปราชญ์กล่าวว่า ชีวิตนี้น้อยนัก ก็คือ ชีวิตในชาตินี้น้อยนัก ชีวิตในชาติหน้ายาวนานไม่อาจประมาณได้ ชีวิตในภพข้างหน้าจะสิ้นสุดเมื่อไร ขึ้นอยู่กับความหมดจดจากกิเลสอย่างสิ้นเชิงเท่านั้น เปรียบชีวิตข้างหน้ากับชีวิตนี้แล้ว ชีวิตจึงน้อยนัก

O แม้รักตนจริง ควรรักไปถึงชีวิตข้างหน้าด้วย

แม้รักตนจริง ก็ควรรักให้ตลอดไปถึงชีวิตข้างหน้าด้วย ไม่ใช่จะคิดเพียงสั้นๆ รักแต่ชีวิตนี้เท่านั้น หาความสมบูรณ์พูนสุขในชีวิตนี้ ภายในขอบเขตที่ชอบที่ถูกทำนองคลองธรรมเถิด ผลแห่งกรรมทั้งในชาตินี้และชาติหน้าต่อๆ ไปที่จะต้องเสวยแน่ จะได้ไม่เป็นผลร้าย ไม่เป็นผลของบาปกรรม ที่ให้ความทุกข์ มิได้ให้ความสุข

O เมื่อชีวิตดับสลาย.....ทุกสิ่งที่เคยครอง
ก็ต้องสูญสลายพลัดพราก


ชีวิตใคร..........ใครก็รัก
ชีวิตเรา...........เราก็รัก ชีวิตเขา........เขาก็รัก
ความตาย........เรากลัว ความตาย.....เขาก็กลัว
ของของใคร.....ใครหวง ของของเรา.....เราหวง
ของของเขา......เขาก็หวง

จะลักจะโกงจะฆ่าทำร้ายใครสักคน ขอให้นึกกลับกันเสีย ให้เห็นเขาเป็นเรา เราเป็นเขา คือ เขาเป็นผู้ที่จะลักจะโกงจะฆ่าจะทำร้ายเรา เราเป็นเขาผู้ที่จะถูกลักถูกโกงถูกฆ่าถูกทำร้าย ลองนึกเช่นนี้ให้เห็นชัดเจน แล้วดูความรู้สึกของเรา จะเห็นว่าที่เต็มไปด้วยโมหะนั้น จะเปลี่ยนเป็นเมตตากรุณา

ข่าวผู้พยายามป้องกันสมบัติของตนจนเสียชีวิตนั้น น่าสลดสังเวชยิ่งนัก หรือข่าวแม้ผู้กำลังจะสิ้นชีวิตแล้ว แต่ก็ยังพยายามกระเสือกกระสนรักษาสมบัติมีค่าของตนที่ติดตัวอยู่ ก็น่าสงสารที่สุด พบข่าวเหล่านี้เมื่อไร ขอให้นึกถึงใจคนเหล่านั้น อย่าคิดทำร้าย อย่าคิดเบียดเบียนกันเลย

O ทุกชีวิตต้องตาย.....และจะตายในเวลาไม่นาน

ชีวิตของมนุษย์นี้ จะยืนนานเกิน ๑๐๐ ปี ก็ไม่มาก ทั้งยังเหลืออยู่ไม่ถึง ๑๐๐ ปี อีกด้วย คนไม่ได้อายุยืนเพราะทรัพย์ จะทำทุกวิถีทางแม้ที่ชั่วช้าโหดร้ายเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์ทำไมเล่า ในเมื่อชีวิตดับสลายแล้ว ทุกสิ่งที่ชีวิตเคยครอง ก็ต้องสูญสลายพลัดพรากจากไป ทรัพย์สมบัติติดตามคนตายไปไม่ได้

แต่เหตุแห่งการแสวงหาทรัพย์โดยมิชอบ ซึ่งเป็นกรรมไม่ดี ติดตามคนตายไปได้ ให้ผลเป็นความทุกข์ความเดือนร้อนแก่คนที่ตายไปแล้วได้ ทรัพย์จึงไม่ใช่สิ่งที่พึงแสวงหา โดยไม่คำนึงให้รอบคอบถึงความถูก ความผิด ความควร ความไม่ควร

O ความโลภไม่มีขอบเขตนั้น เป็นทุกข์หนักนัก

ทรัพย์ที่แสวงหาด้วยความโลภเป็นใหญ่ ได้ทำลายชีวิตและทำลายชื่อเสียงเกียรติยศของใครต่อใครมาแล้วอย่างประมาณมิได้ ปรากฏให้เห็นอยู่ในชีวิตนี้ ความโลภโดยไม่มีขอบเขตนั้นเป็นทุกข์หนักนัก ทั้งโลภในทรัพย์ ในยศ ในชื่อ ล้วนเป็นทุกข์หนักนักทั้งสิ้น ตนเองก็เป็นทุกข์ ทั้งยังแผ่ความทุกข์ไปถึงผู้อื่นอีกด้วย จึงเป็นกรรมไม่ดี

O ผู้มีปัญญา มีความฉลาด มีสัมมาทิฐิ
จักมุ่งเพียรละกิเลสก่อนความตายมาถึง


ถ้าทุกข์ร้อนเพราะความอยากได้ไม่สิ้นสุดในลาภ ในยศ ในชื่อ จะดับทุกข์ร้อนนั้นได้ด้วยการทำกิเลสให้หมดจด ชีวิตในภพชาติข้างหน้าอันยาวนานนักหนา จะเป็นชีวิตดีมีสุขเพียงไร ขึ้นอยู่กับกรรมที่ทำไว้แล้วทั้งในอดีตชาติและในชาตินี้เป็นสำคัญ

จะฉลาดนักถ้าจะไม่ลืมความจริงนี้ จะฉลาดที่สุดถ้าจะไม่คำนึงถึงแต่ความสุขเฉพาะในชีวิตนี้ หรือชีวิตหน้า แต่จะมุ่งคำนึงว่าจะพึงปฏิบัติอย่างไรให้เต็มสติปัญญาความสามารถ เพื่อไม่ต้องมีภพชาติข้างหน้าอีกต่อไป

เพราะความเกิดเป็นความทุกข์แท้ ผู้ฉลาดมีสัมมาทิฐิความเห็นชอบ จักมุ่งมั่นเพียรอบรมสติปัญญาให้สามารถทำลายกิเลสคือราคะ หรือโลภะ โทสะ และโมหะ ให้หมดจด เพื่อพาตนให้พ้นได้จากความเกิดอันเป็นทุกข์

(มีต่อ ๔)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 29 ม.ค. 2007, 8:20 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ผู้ประพฤติดี ย่อมฝึกตน

O บัณฑิต คือคนดี คนที่มีปัญญา คนที่ไม่ใช่พาล

บัณฑิต ตามพจนานุกรม แปลว่า ผู้มีปัญญา นักปราชญ์ แต่ความหมายแท้จริงที่ท่านใช้กัน บัณฑิตหมายถึงคนดี คนที่ไม่ใช่พาล และเมื่อพิจารณากันแล้ว คนดีหรือผู้มีปัญญาก็เป็นคนเดียวกันนั่นเอง คนมีปัญญาจะเป็นคนไม่ดีไปไม่ได้ ถ้าเป็นคนไม่ดีก็เพราะไม่มีปัญญา

O บัณฑิตย่อมรู้ถูก รู้จริง ว่าความดีคืออะไร ความชั่วคืออะไร

“บัณฑิตย่อมฝึกตน” หมายความว่า คนดีหรือคนมีปัญญา ย่อมฝึกตน คือ อบรมตนให้เป็นคนดี ในทางหนึ่งคนเรามีสองพวก คือ พวกผู้ฝึกตนและพวกผู้ไม่ฝึกตน

พวกผู้ฝึกตน คือ ผู้ที่พยายามศึกษาให้รู้ว่า ความดีเป็นอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะเป็นผู้มีความดี จึงจะเป็นคนดี บัณฑิตไม่ประมาทว่าตนมีความดีเพียงพอแล้ว บัณฑิตไม่หลงคิดว่าความไม่ดีเป็นความดี แล้วก็ทำความไม่ดีอย่างไม่สะดุ้งสะเทือน

แต่บัณฑิตย่อมรู้ถูก รู้จริง ว่าความดีคืออะไร ความชั่วคืออะไร แล้วก็ไม่ประมาท ตั้งใจทำความดี ตั้งใจหลีกเลี่ยงความไม่ดีเต็มสติปัญญาความสามารถ

O การเพ่งโทษตนเอง เป็นการฝึกตนที่ได้ผลจริง

บัณฑิตไม่มีความเพ่งโทษผู้อื่น บัณฑิตจะเพ่งโทษตนเอง การเพ่งโทษตนเองนั้นเป็นการฝึกตนเองอย่างหนึ่งที่จักเกิดผลจริง การเพ่งโทษผู้อื่นเป็นวิสัยของผู้ไม่ใช่บัณฑิต ผู้ที่เพ่งแต่โทษผู้อื่น ไม่เพ่งโทษตนเอง ย่อมไม่เห็นโทษของตนเอง ย่อมไม่เห็นความบกพร่องที่จะต้องแก้ไขให้ดีขึ้น ย่อมไม่รู้ว่ามีโทษเพียงไรในแง่ใด

ไม่มีโอกาสจะแก้ไขตนเอง แต่จะมุ่งไปแก้ผู้อื่น ซึ่งจะไม่เป็นประโยชน์แก่ตนอย่างใด ผู้อื่นนั้นไม่ใช่ว่าจะยอมให้แก้ เพราะถ้าเป็นผู้อื่นที่เป็นบัณฑิต ก็ย่อมแก้ตนเองอยู่แล้ว ฝึกตนเองอยู่แล้ว ส่วนผู้ที่ไม่เป็นบัณฑิตก็ย่อมไม่สนใจที่จะแก้ตนเองฝึกตนเองอยู่แล้ว

ผู้อื่นจะไปแก้จึงเป็นไปได้ยาก ทุกคนจะดีหรือชั่ว.....สำคัญที่ตนเอง ตนเองมีความดีพอจะยอมรับความไม่ถูกต้องไม่ดีงามของตน ย่อมยินดีฝึกตน ย่อมยินดีแก้ไขตน ย่อมมีโอกาสเป็นคนดียิ่งขึ้น

O ผู้คุ้นเคยกับความดี ทำดีได้โดยง่าย

การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ได้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่เสมอ ย่อมมีความชำนาญในสิ่งนั้น มีความคุ้นเคยกับการทำสิ่งนั้น ย่อมทำได้ดี ประพฤติดีเสมอ ก็จะเป็นผู้คุ้นเคยกับความดี คุ้นเคยกับการทำดี จะไม่เกี่ยวข้องกับความไม่ดี ไม่คุ้นเคยกับความไม่ดี ผู้ที่ประพฤติดีลุ่มๆ ดอนๆ คือ บางทีก็ทำดี บางทีก็ทำไม่ดี เช่นนี้ก็จะเป็นคนดีไม่สม่ำเสมอ

ถ้าทำดีมากครั้งกว่า ทำไม่ดีน้องครั้งกว่า ก็จักเป็นคนที่มีโอกาสดีมากกว่าที่ไม่ดี คือ คุ้นเคยกับความดีมากกว่าคุ้นเคยกับความไม่ดี เหมือนผู้ที่ติดต่อไปมาหาสู่กับบ้านใดมาก ก็รู้จักคุ้นเคยกับบ้านนั้น และผู้คนในบ้านนั้นมาก ติดต่อไปมาหาสู่บ้านใดน้อย ก็จักคุ้นเคยกับบ้านนั้นและผู้คนในบ้านนั้นน้อย

O ผู้ที่มีเหตุผล ก็คือผู้มีปัญญา

ผู้ที่อบรมสมาธิ ทำใจให้สงบมาก ก็เท่ากับฝึกใจให้คุ้นเคยกับความสงบมาก มีความสงบมาก ผู้ที่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่าน วุ่นวาย ไปกับเรื่องกับอารมณ์ต่างๆ มาก ก็เท่ากับฝึกใจให้วุ่นวายฟุ้งซ่านมาก เพราะคุ้นเคยกับความวุ่นวายฟุ้งซ่านมาก ความสงบก็มีน้อย ผู้ที่อบรมปัญญามาก พยายามฝึกให้เกิดเหตุผลมาก ก็จะคุ้นเคยกับการใช้เหตุผล ไม่ขาดเหตุผล

ผู้ที่มีเหตุผลก็คือผู้ที่มีปัญญา ผู้ที่ขาดเหตุผลก็คือผู้ที่ขาดปัญญา เหตุผลหรือปัญญาก็ฝึกได้ เป็นไปตรงตามพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “บัณฑิตย่อมฝึกตน” และที่ว่า “ผู้ประพฤติดีย่อมฝึกตน”

ทุกคนควรพิจารณาดูใจตนเอง ให้เห็นความปรารถนาต้องการที่แท้จริง ว่าต้องการอย่างไร ต้องการเป็นคนฉลาด มีปัญญา มีเหตุผล ก็ต้องพระพฤติ คือ พูดทำแต่สิ่งที่เป็นไปตามเหตุผล ถูกต้องด้วยเหตุผล

ต้องการเป็นคนดีก็ต้องประพฤติดีให้พร้อมทั้งกายวาจาใจให้สม่ำเสมอ การคิดดีพูดดีทำดีเพียงครั้งคราว หาอาจทำตนให้เป็นคนดีได้ไม่ หาอาจเป็นการประพฤติดีที่เป็นการฝึกตนไม่

O ผู้วางเฉย เป็นผู้ไม่มีกิเลสเครื่องฟูขึ้น

ผู้วางเฉย มีอุเบกขา ไม่ยินดียินร้าย เป็นผู้พอ.....พอใจในสภาของตน ไม่ดิ้นรนเพื่อให้ตนสูงขึ้นด้วยประการทั้งปวง ไม่เห่อเหิม ว่าตนสูงแล้ว เมื่อความไม่ยินดียินร้ายมีอยู่ ท่านจึงกล่าวว่า ผู้วางเฉยดังกล่าว เป็นผู้ไม่มีกิเลสเครื่องฟูขึ้น

ความพอใจในสภาพของตนเป็นความสำคัญอย่างยิ่ง ความพอใจนั้นเรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือความพอ ผู้ที่มีความพอแล้ว ย่อมมีความพอใจในภาวะและฐานะของตน จนกระทั่งไม่เห็นความสำคัญที่ต้องนำตนไปเปรียบกับผู้อื่น

ผู้อื่นจะสูงจะต่ำจะดีจะไม่ดีอย่างไร ผู้ที่มีความพอแล้วย่อมไม่นำตนไปเปรียบ ย่อมไม่เกิดความรู้สึกเห่อเหิมว่าคนอื่นต่ำกว่า ตนสูงกว่า ไม่ดิ้นรนทะเยอทะยานที่จะยกฐานะของตนให้สูงขึ้น เพราะเห็นว่าผู้อื่นสูงกว่า ตนต่ำกว่า

O ผู้วางเฉยเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ

ผู้ที่ดูถูกผู้อื่นก็ตาม ผู้ที่ตื่นเต้นในความใหญ่โตของผู้อื่นก็ตามล้วนเป็นผู้ไม่อยู่ในความหมายของคำว่า “ผู้วางเฉย” แต่เป็นผู้ขาดสติ เพราะผู้วางเฉยเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ ผู้วางเฉยเป็นผู้ไม่ดูถูกผู้อื่น เพราะไม่เห็นว่าผู้อื่นต่ำต้อยกว่าตน ไม่เห็นว่าตนสูงกว่าผู้อื่น

ผู้วางเฉยมีสติทุกเมื่อ ย่อมไม่ตื่นเต้นในความใหญ่โตของผู้อื่น เพราะไม่เห็นว่าผู้อื่นสูงกว่าตน ไม่เห็นว่าตนต่ำกว่าผู้อื่น

ความสำคัญตนว่าเสมอเขานั้น มีได้เป็นสองนัย คือสำคัญตนว่าเสมอกับผู้ที่ต่ำต้อย เมื่อมีความสำคัญตนนี้เกิดขึ้น ก็ต้องมีความน้อยเนื้อต่ำใจ มีความแฟบลงของใจ เพราะย่อมสำคัญตนเลยไปถึงว่าตนต่ำกว่าผู้มีภาวะฐานะสูง นี้เป็นนัยหนึ่งของความสำคัญตนว่าเสมอเขา

ความสำคัญตนว่าเสมอเขาอีกนัยหนึ่ง คือ สำคัญตนว่าเสมอกับผู้ที่สูงด้วยภาวะและฐานะ เมื่อความสำคัญตนเช่นนี้เกิดขึ้น ก็ต้องมีความลำพองใจยกตนข่มท่าน มีความฟูขึ้นของจิตใจ เพราะย่อมสำคัญตนเลยไปถึงว่า ตนสูงกว่าผู้ที่มีภาวะฐานะต่ำต้อย

ความไม่วางเฉย ไม่มีสติทุกเมื่อ เป็นเหตุให้เกิดกิเลสเครื่องฟูขึ้นและแฟบลงของจิตใจ เพราะความไม่วางเฉยเป็นทางให้เกิดความสำคัญตนสามประการคือ

สำคัญตนว่าเสมอกับเขา
ดีกว่าเขา
ต่ำกว่าเขา

ความสำคัญตนทั้งสามประการมีแต่โทษสถานเดียว ไม่มีคุณอย่างใด จึงควรอบรมความวางเฉยให้มาก พยายามตัดความรู้สึกสำคัญตนดังกล่าวให้สิ้น จะได้รับความสงบสุขยิ่งนัก

(มีต่อ ๕)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 29 ม.ค. 2007, 8:21 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์

O หนีไกลกิเลสได้ด้วยปัญญา เมื่อนั้นเป็นชัยชนะ

ชัยชนะทางใจนั้น ทุกคนมีอยู่เสมอ ในเรื่องนั้นบ้าง ในเรื่องนี้บ้าง เป็นชัยชนะเล็กๆ น้อยๆ และชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ต่างๆ กัน

เมื่อใดความโลภเข้าใกล้ แม้สามารถหนีไกลความโลภได้ด้วยปัญญา คือ
ด้วยเหตุผล.....เมื่อนั้นเป็นชัยชนะ

เมื่อใดความโกรธเข้าใกล้ แม้สามารถหนีไกลความโกรธได้ด้วยปัญญา คือ
ด้วยเหตุผล.....เมื่อนั้นเป็นชัยชนะ

เมื่อใดความหลงเจ้าใกล้ แม้สามารถหนีไกลความหลงได้ด้วยปัญญา คือ
ด้วยเหตุผล.....เมื่อนั้นเป็นชัยชนะ

O ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์

หนีไกลความโลภ หนีไกลความโกรธ หนีไกลความหลง ได้เพียงในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ด้วยปัญญา คือ ด้วยเหตุผล ก็เป็นชัยชนะเล็กๆ น้อยๆ แต่แม้หนีไกลความโกรธ หนีไกลความโลภ หนีไกลความหลง ที่ยิ่งใหญ่ได้ด้วยปัญญา คือ ด้วยเหตุผล ก็เป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่

ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ สามารถไกลกิเลสทั้งความโลภ ทั้งความโกรธ ทั้งความหลง ทั้งน้อยทั้งใหญ่ ได้สิ้นเชิง ได้แน่นอนเด็ดขาด ด้วยปัญญาคือด้วยเหตุผล กิเลสจักไม่กลับเข้าใกล้ให้เกิดความเศร้าหมองจิตใจได้อีกต่อไป ทำได้เมื่อไร เมื่อนั้นเป็นชัยชนะที่ใหญ่ยิ่งจริง ไม่มีชัยชนะใดเสมอเหมือน

O ผู้ต้องการชัยชนะ พึงอบรมปัญญาให้ยิ่ง

เมื่อวาระสุดท้ายของทุกคนมาถึง เมื่อไม่อาจสามารถเป็นผู้มีชัยชนะทางกายได้ แต่ก็สามารถมีชัยชนะทางใจได้ แม้เชื่อฟังและปฏิบัติตามที่สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนไว้ อบรมสติให้ยิ่ง อบรมปัญญาให้ยิ่ง ตั้งแต่บัดนี้ ตั้งแต่วาระสุดท้ายยังมิได้มาถึง

O ผู้มีปัญญา แม้ในความทุกข์ก็หาความสุขได้

สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีพระพุทธานุศาสนีว่า “ปัญญาเป็นเครื่องวินิจฉัยสิ่งที่ฟังแล้ว ปัญญาเป็นเครื่องเพิ่มพูนเกียรติคุณและชื่อเสียง คนผู้ประกอบด้วยปัญญาในโลกนี้ แม้ในความทุกข์ก็หาความสุขได้”

O ปัญญาในธรรมเกิดจากจิตที่บริสุทธิ์สะอาด

ปัญญา หรือสัมมาปัญญา มีคุณสถานเดียว เพราะเมื่อใช้คำว่าปัญญา ย่อมหมายถึงปัญญาในธรรม ซึ่งจะเกิดได้ก็ต่อเมื่ออาศัยจิตบริสุทธิ์ จิตบริสุทธิ์สะอาดระดับใด ปัญญาจะรู้ชัดจริงในระดับนั้น จิตเศร้าหมองขุ่นมัว.....ปัญญาก็จะเป็นเช่นนั้นด้วย คือ เมื่อจิตเศร้าหมอง ปัญญาก็จะหมอง คือ ไม่ใสสว่าง

O เหตุแห่งความมีชัยชนะอันยิ่งใหญ่

จิตที่มีความสงบ มีความบริสุทธิ์ก็ด้วยมีศีลเป็นที่รองรับ หรือเป็นพื้น ท่านจึงเปรียบศีลเป็นเช่นแผ่นดิน อันเป็นที่ดำรงอยู่ของสรรพสัตว์ในโลก และของสิ่งทั้งปวง แม้ปราศจากศีลเป็นแผ่นดินรองรับ กุศลธรรมก็ตั้งขึ้นไม่ได้ ตั้งอยู่ไม่ได้ ต้องมีศีลเป็นแผ่นดินรองรับ กุศลธรรมทั้งหลายจึงจะตั้งขึ้นได้

นอกจากศีล ความบริสุทธิ์ของจิตต้องมีสมาธิเป็นส่วนสำคัญ เพราะสมาธิจักทำให้จิตบริสุทธิ์จากนิวรณ์ทั้งหลาย ความบริสุทธิ์จากนิวรณ์นั้นเป็นบาทของปัญญา เปรียบกับทางร่างกาย สมาธิเป็นส่วนเท้า อันเป็นที่ตั้งของลำตัวและศีรษะ ฉะนั้นจึงต้องมีสมาธิเป็นเท้าหน้า เป็นที่รองรับลำตัว คือปัญญา เพื่อวิมุตติคือความหลุดพ้น อันเปรียบเป็นเช่นศีรษะ

ศีล สมาธิ ปัญญา ทั้งสามนี้เป็นส่วนเหตุ ซึ่งมีวิมุตติ.....ความหลุดพ้นจากกิเลสเป็นส่วนผล จึงต้องอาศัยกัน เหมือนดั่งแผ่นดิน เป็นเท้า เป็นลำตัว เป็นศีรษะ การปฏิบัติจึงต้องปฏิบัติให้มีศีลด้วย มีสมาธิด้วย มีปัญญาด้วยประกอบกัน

O กิเลสหนาแน่นเพียงไร ตาปัญญามืดมิดเพียงนั้น

ตาปัญญาก็เหมือนตาธรรมดา คือ ตาธรรมดานั้น แม้ไม่มีหมอกมัวม่านฝ้ามาบังกั้น จึงจะแลเห็นสิ่งที่มีอยู่รอบตัวได้ถนัดชัดเจน เช่นตาไม่เป็นต้อก็จะแลเห็นได้ชัดเจนดี แต่ถ้าตาเป็นต้อก็จะแลเห็นพร่ามัวจนถึงมืดมิดในที่สุด ตาปัญญาก็ทำนองเดียวกัน ต้อของตาธรรมดีคือกิเลสของตาปัญญา

แม้มีกิเลสปิดบังอยู่ ตาปัญญาก็หาอาจเห็นสัจธรรมได้ถนัดชัดเจนไม่ กิเลสหนาแน่นมากเพียงไร ตาปัญญาก็ยิ่งมืดมิดแลไม่เห็นสัจธรรมเพียงนั้น แม้กิเลสจะเป็นสิ่งที่ฆ่าไม่ตายทำลายไม่ได้ มีอยู่เต็มโลกทุกหนทุกแห่ง ทุกเวลานาที

เหมือนโรคตาต้องที่มีอยู่ในโลก ที่เกิดแก่ใครๆ ทั้งหลายเป็นอันมาก ถ้ารักษาตาไว้ให้ดี ไม่ให้โรคต้องเกิดแก่ตาก็จักเป็นผู้มีตาดี ตาสว่าง เห็นผู้คนสิ่งของถนนหนทางได้ชัดเจน เช่นนี้ฉันใด ถ้ารักษาใจไว้ให้ดี ไม่ให้กิเลสเข้าใกล้ครอบคลุมบดบังจิต ตาปัญญาก็จะสว่างแลเห็นได้ลึกซึ้ง กว้างไกล ชัดเจน ถูกต้องฉะนั้น

O เมื่อใดเห็นสัจธรรม เมื่อนั้นถึงวิมุตติ....ได้เป็นสุข

จิตมีสมาธิ คือ มีความสงบเพียงไร ย่อมมีสติเพียงนั้น สติย่อมสามารถกั้นกระแสแห่งกิเลสไม่ให้เข้าใกล้จิตได้เพียงนั้น เห็นสัจธรรมเพียงนั้น เมื่อใดเห็นสัจธรรมอันเป็นความรู้จริง รู้ถูก รู้พร้อม เมื่อนั้นก็ย่อมวางความยึดถือ ถึงวิมุตติ.....หลุดพ้น ได้เป็นสุข

การฟังพระธรรมคำสอน ของ สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ท่านสอนมิให้ฟังเพื่อจดจำเท่านั้น แต่สอนให้ฟังเพื่อขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาด เพื่อให้เป็นที่เที่ยวไปของใจอย่างสบาย เพื่อให้บังเกิดความหน่ายความสิ้นติดใจยินดี เพื่อดับตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก เพื่อความรู้พร้อม เพื่อความรู้ยิ่ง

เพื่อที่จะหนีไกลกิเลสให้อย่างยิ่ง ท่านจึงสอนให้ปฏิบัติไปพร้อมกับการอ่านหรือการฟังธรรม ให้เกิดปัญญา คือแก้ไขจิตใจตนไปให้เกิดผล พร้อมกับการฟังหรือการอ่านทีเดียว มิใช่พยายามจดจำไว้เท่านั้น

O ผู้ปรารถนาชัยชนะ พึงเป็นผู้ไม่ประมาท

มีพุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า “ไม่ควรสมคบด้วยความประมาท” นั่นก็คือไม่ควรประมาท เพราะความประมาทเป็นเหตุแห่งความตาย หรือความประมาทเป็นทางแห่งความตาย คำเต็มสมบูรณ์ของความประมาท คือ ความประมาทปัญญา ซึ่งหมายความว่าไม่เห็นความสำคัญของปัญญา หรือไม่เห็นความสำคัญของเหตุผลนั่นเอง

เหตุผล คือ ปัญญา เป็นเหตุให้พ้นทุกข์ได้ ตั้งแต่พ้นทุกข์น้อย พ้นทุกข์ใหญ่ จนถึงพ้นทุกข์สิ้นเชิง ซึ่งสมเด็จพระบรมศาสดาได้ทรงถึงแล้ว เหตุด้วยทรงถึงพร้อมด้วยพระปัญญาคุณ ทั้งทรงยังพระอรหันตสาวกทั้งหลายผู้มีปัญญาให้ได้ ให้ถึงตามสมเด็จพระพุทธองค์ด้วย

ผู้มีปัญญามากหลายที่กำลังดำเนินตามทางที่ทรงชี้แสดงไว้เพื่อไปสู่ความพ้นทุกข์ ต่างก็ได้พบความพ้นทุกข์มากน้อยเป็นลำดับ ตามกำลังแห่งสติปัญญาของตน

O ผู้ไม่ประมาททางปัญญา เป็นผู้มีความเห็นชอบ

สัมมาทิฐิ.....ความเห็นชอบ อันเป็นองค์สำคัญของมรรคมีองค์ ๘ ทางไปสู่ความพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิง เกิดได้ด้วยปัญญา ประมาทปัญญาก็พ้นทุกข์ไม่ได้ เพราะเมื่อประมาทปัญญา ไม่ใช้ปัญญา

สัมมาทิฐิ.....ความเห็นชอบจะไม่มี เมื่อไม่มีความเห็นชอบ สิ่งที่ตามมาตลอดสายย่อมเป็นสิ่งไม่ชอบ สิ่งใดเป็นสิ่งไม่ชอบ สิ้นนั้นจะเป็นเหตุให้เกิดผลดีผลชอบไม่ได้ แต่จะให้เกิดผลร้ายเป็นโทษเป็นทุกข์ ดังนั้นทุกข์โทษทั้งปวงจึงเกิดแต่เหตุสำคัญเหตุเดียว คือความไม่ใช้ปัญญา หรือความประมาทปัญญานั่นเอง

ความไม่ใช้ปัญญา กับความประมาทปัญญา เกี่ยวเนื่องเช่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ด้วยเหตุผลดังนี้ คือเมื่อประมาทปัญญาไม่เห็นความสำคัญของปัญญา ย่อมไม่ใช้ปัญญา ไม่อบรมปัญญา ปัญญาย่อมน้อย ปัญญาย่อมไม่เจริญ

O ความไม่ประมาทปัญญา

ความไม่ประมาทปัญญา ต้องเป็นความไม่ประมาทพร้อมทั้งกาย วาจา ใจ คือไม่ประมาทในการคิด ไม่ประมาทในการพูด ไม่ประมาทในการดู ไม่ประมาทในการฟัง และไม่ประมาทในการทำ

O ความไม่ประมาทความคิด เป็นต้นสายของความไม่ประมาททั้งปวง

ในบรรดาความไม่ประมาททั้งหลาย ความไม่ประมาทความคิดเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เป็นต้นสายของความไม่ประมาททั้งปวง ความคิดเป็นเรื่องของใจ และใจนั้นท่านก็แสดงไว้แจ้งชัดว่าเป็นใหญ่ เป็นประธาน ทุกสิ่งสำเร็จด้วยใจ การพูด การดู การฟัง การทำ เป็นไปตามที่ใจคิดทั้งนั้น

ความคิดให้เกิดความเห็นชอบ คือ ความคิดด้วยอาศัยเหตุผล อาศัยปัญญา ให้ตรงให้ถูกตามจริง ความจริงเป็นอย่างไร ต้องอาศัยปัญญา ต้องไม่ประมาทปัญญา คิดให้เห็นตามความจริงนั้น ไม่คิดให้เห็นผิดจากความจริง

O ความคิดเห็นชอบ...ปัญญาก็เห็นชอบ

ความคิดให้เห็นชอบในเรื่องทั่วไปทั้งหลาย ก็คิดให้เห็นผิดเป็นผิด
ไม่คิดให้เห็นผิดเป็นชอบ

คิดให้เห็นชอบเป็นชอบ ไม่คิดให้เห็นชอบเป็นผิด
คิดให้เห็นถูกเป็นถูก ไม่คิดให้เห็นถูกเป็นผิด
คิดให้เห็นคุณเป็นคุณ ไม่คิดให้เห็นคุณเป็นโทษ
คิดให้เป็นโทษเป็นโทษ ไม่คิดให้เห็นโทษเป็นคุณ

คิดให้เห็นเหตุแห่งคุณเป็นเหตุแห่งคุณ ไม่คิดให้เห็นเหตุแห่งคุณเป็นเหตุแห่งโทษ
คิดให้เป็นบาปเป็นบาป ไม่คิดให้เห็นบาปเป็นบุญ
คิดให้เห็นบุญเป็นบุญ ไม่คิดให้เห็นบุญเป็นบาป
คิดให้เห็นดีเป็นดี ไม่คิดให้เห็นดีเป็นชั่ว

คิดให้เห็นชั่วเป็นชั่ว ไม่คิดให้เห็นชั่วเป็นดี
คิดให้เห็นบัณฑิตเป็นบัณฑิต ไม่คิดให้เห็นบัณฑิตเป็นพาล
คิดให้เห็นพาลเป็นพาล ไม่คิดให้เห็นพาลเป็นบัณฑิต
คิดให้เห็นมิตรเป็นมิตร ไม่คิดให้เห็นมิตรเป็นศัตรู

คิดให้เห็นศัตรูเป็นศัตรู ไม่คิดให้เห็นศัตรูเป็นมิตร
ดังนี้เป็นต้น คือ “ปัญญาเห็นชอบ”

O ผู้มีปัญญา ไม่ลำเอียงตามอำนาจของกิเลส

พุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่งกล่าวว่า “คนฉลาดกล่าวว่าปัญญาประเสริฐ เหมือนพระจันทร์ประเสริฐกว่าดาวทั้งหลาย แม้ศีลสิริและธรรมของสัตบุรุษ ย่อมไปตามผู้มีปัญญา”

ผู้มีปัญญา คือ ผู้มีเหตุผล รู้ถูก รู้ผิด รู้ดีรู้ชั่ว รู้ควรรู้ไม่ควร รู้อย่างถูกตรงจริง มิใช่อย่างประมาณไปตามอำนาจของอคติ คือ โลภ โกรธ หลง แม้ประกอบด้วยอคติ ความลำเอียงเพราะโลภ เพราะโกรธ เพราะหลง เพราะกลัว ย่อมไม่เป็นไปอย่างถูกแท้

O พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาของปัญญา

พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาของปัญญาโดยแท้ สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นยอดของผู้มีปัญญา ซึ่งมีสัจจะรับรองปรากฏอยู่ ทรงสามารถใช้พระปัญญาตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง เสด็จสู่ความพ้นทุกข์พิเศษ คือ พ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงได้ ไม่ทรงกลับพบทุกข์ใดอีก

เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นยอดของผู้มีพระปัญญาเช่นนี้ ศาสนาของพระพุทธองค์จึงเป็นศาสนาที่สมบูรณ์ด้วยคำสอนที่เป็นปัญญายิ่ง ไม่อาจหาเปรียบได้ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน อันจะก้าวสู่อนาคตด้วยเป็นลำดับ

O พระธรรมคำสอน เป็นไปเพื่อเสริมส่งปัญญา

พระธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา มิใช่เป็นคำสอนที่เป็นไปเพื่อความขลังความศักดิ์สิทธิ์ มิใช่เพื่อการสวดอ้อนวอน ขอประทานพระเมตตาจากพระพุทธองค์ หรือจากพระอริยสาวก หรือจากพรหมเทพน้อยใหญ่

พระธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาเป็นไปเพื่ออบรมเสริมส่งปัญญาทั้งสิ้น ปัญญาสูงสุดที่สมเด็จพระบรมศาสดาทรงมุ่งประทานในการแสดงธรรม คือ ปัญญา เพื่อความพ้นทุข์ เป็นลำดับ ตั้งแต่พ้นทุกข์เล็กน้อย ถึงพ้นทุกข์ใหญ่ยิ่ง จนถึงพ้นทุกข์สิ้นเชิง

ความเข้าใจคำสอนคือธรรมะของพระพุทธเจ้าจึงสำคัญนักได้ความเข้าใจเพียงไรก็จะสามารถปฏิบัติได้เพียงนั้น จะได้รับความสงบสุขอันเป็นผลของการปฏิบัติเพียงนั้น ความเข้าใจและปฏิบัติพระธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาจึงสำคัญยิ่งนัก

O ความเมตตา สามารถชนะความทุกข์ทั้งปวง

พระพุทธศาสนาเกิดแต่พระปัญญาสูงสุด ของสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระปัญญาก็เริ่มแต่พระเมตตาเป็นเหตุที่แท้จริง ทรงมุ่งมั่นอบรมพระปัญญาจนรุ่งเรืองเต็มที่ก็ด้วยทรงมีพระพุทธปรารถนาจะช่วยทุกข์ของสัตว์โลกเท่านั้น มิใช่ทรงมุ่งมั่นเพื่ออะไรอื่น เมตตาจึงสำคัญที่สุด

ทุกคนมีความแตกต่างไม่เสมอกันด้วยปัญญา และถ้าพิจารณาให้ประณีตจริงแล้วน่าจะเห็นได้ว่า เป็นเช่นนั้นเพราะเหตุใด คือ ย่อมจะเห็นได้พอสมควรว่า ผู้มีเมตตามาก มีความเย็นมาก มีความสงบมาก ผู้นั้นจะมีปัญญาปรากฏให้เห็นในเรื่องทั้งหลายมากกว่าผู้อื่น จึงควรคิดได้ว่าเมตตาเป็นเหตุสำคัญ อย่างยิ่งที่จะนำไปสู่ความมีปัญญาได้

สมเด็จพระบรมศาสดา ทรงพระเมตตาคนทั้งโลก สัตว์ทั้งโลก จึงทรงดำเนินถึงจุดหมายสูงส่งเรืองด้วยพระปัญญา สามารถชนะความทุกข์ทั้งปวงได้ ไม่ต้องทรงพบความทุกข์อีกต่อไป แม้ที่เพียงเล็กน้อยเพียงใด และทรงสมพระหฤทัยช่วยสัตว์โลกน้อยใหญ่อีกประมาณมิได้ ให้ห่างไกลทุกข์มากน้อยตามการปฏิบัติ

(มีต่อ ๖)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 29 ม.ค. 2007, 8:21 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ความดีเปรียบประดุจแสงสว่าง

O กิเลสมีมากเพียงใด ทุกข์มีมากเพียงนั้น

ความทุกข์จะต้องมีอยู่ ตราบที่กิเลสทั้งสามกองคือ โลภ โกรธ หลง ยังมีอยู่ กิเลสมีมากเพียงใด ทุกข์มีมากเพียงนั้น เมื่อใดกิเลสสามกองหมดไปจากจิตใจอย่างสิ้นเชิงแล้วนั่นแหละ ความทุกข์จึงจะหมดไปจากจิตใจอย่างสิ้นเชิงได้

จึงควรพยายามทำกิเลสให้หมดสิ้นให้จงได้ มีมานะพากเพียรใช้สติใช้ปัญญาให้รอบคอบเต็มความสามารถให้ทุกเวลานาทีที่ทำได้ แล้วจะเป็นผู้ชนะได้มีความสุขอย่างยิ่ง

O ความทุกข์ทั้งสิ้น เกิดจากกิเลสในใจเป็นสำคัญ

เราทุกคนต้องการเป็นสุข ต้องการพ้นทุกข์ แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อความเป็นสุข เพื่อความสิ้นทุกข์ แล้วผลจะเกิดได้อย่างไร ความคิดเร่าร้อนต่างๆ อันเป็นเหตุให้เป็นทุกข์กันอยู่ในทุกวันนี้ ล้วนเกิดจากกิเลสในใจเป็นเหตุสำคัญทั้งสิ้น

กิเลสนั่นแหละเป็นเครื่องบัญชาให้ความคิดเป็นไปในทางก่อทุกข์ทุกประการ ถ้าไม่มีกิเลสพาให้เป็นไปแล้ว ความคิดจะไม่เป็นไปในทางก่อทุกข์เลย ความคิดจะเป็นไปเพื่อความสงบสุขของตนเอง ของส่วนรวม ตลอดจนถึงของชาติ ของโลก

O ทำความเชื่อมั่นว่ากิเลสทำให้เกิดทุกข์จริง
จักสามารถแก้ปัญหาทุกข์ที่เกิดขึ้นทั้งปวงได้


ความสำคัญที่สุดอยู่ที่ว่า ต้องพยายามทำความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นเสียก่อน ว่ากิเลสทำให้เกิดทุกข์จริง คือ กิเลสนี้แหละทำให้คิดไปในทางเป็นทุกข์ต่างๆ เมื่อยังกำจัดกิเลสไม่ได้จริงๆ ก็ต้องฝืนใจหยุดความคิดอันเต็มไปด้วยกิเลสเร่าร้อนเสียก่อน

การหยุดความคิดที่เป็นโทษ เป็นความร้อนนั้น ทำได้ง่ายกว่า ตัดรากถอนโคนกิเลส ฉะนั้น ในขั้นแรกก่อนที่จะสามารถทำกิเลสให้สิ้นไปได้ ก็ให้ฝืนใจไม่คิดไปในทางเป็นทุกข์เป็นโทษให้ได้เป็นครั้งคราวก่อนก็ยังดี

O หยุดความคิดที่เกิดด้วยอำนาจของกิเลส

อย่าเข้าข้างตัวเองผิดๆ ดูตัวเองให้เข้าใจ เมื่อโลภเกิดขึ้นให้รู้ว่ากำลังคิดโลภแล้ว และหยุดความคิดนั้นเสีย เมื่อโกรธเกิดขึ้นให้รู้ว่ากำลังคิดโกรธแล้ว และหยุดความคิดนั้นเสีย เมื่อหลงให้รู้ว่ากำลังคิดหลงแล้ว และหยุดความคิดนั้นเสีย

หัดหยุดความคิดที่เป็นกิเลสเสียก่อนตั้งแต่บัดนี้เถิด จะเป็นการเริ่มฐานต่อต้านกำราบปราบทุกข์ให้สิ้นไป ที่จะให้ผลแท้แน่นอน

ความคิดของคนทุกคนแยกออกได้เป็นสอง อย่างหนึ่งคือความคิดที่เกิดด้วยอำนาจของกิเลสมีโลภ โกรธ หลง อีกอย่างหนึ่งคือ ความคิดที่พ้นจากอำนาจของความโลภ โกรธ หลง ความคิดอย่างแรกเป็นเหตุให้ทุกข์ให้ร้อน ความคิดอย่างหลังไม่เป็นเหตุให้ทุกข์ให้ร้อน

O นับถือผู้สั่งสอนความถูกต้องดีงามเป็นครู

จะถือผู้ใดสิ่งใดเป็นครูได้ ก็ต้องเมื่อผู้นั้นสอนความถูกต้องดีงามให้เท่านั้น ต้องไม่ถือผู้ที่สอนความไม่ถูกไม่งามเป็นครูโดยเด็ดขาด และที่ว่าต้องไม่ถือเป็นครูหมายความว่าต้องไม่ปฏิบัติตาม ที่ว่าให้ถือเป็นครูก็คือให้ปฏิบัติตาม ทุกคนมีหน้าที่เป็นศิษย์ หน้าที่ของศิษย์ก็คือปฏิบัติตามครูอย่างให้ความเคารพ

กล่าวได้ว่าให้เคารพและปฏิบัติตามคนดีแบบอย่างที่ดี รำลึกถึงคนดีและแบบอย่างที่ดีไว้เสมอ อย่างมีกตัญญูกตเวทีคือ รู้พระคุณท่านและตอบแทนพระคุณท่าน การตอบแทนก็คือทำตนเองให้ได้เหมือนครู นั่นเป็นการถูกต้องสมควรที่สุด จะได้รับความสุขสวัสดีตลอดไป

O ความดีหรือบุญกุศลเปรียบเหมือนแสงไฟ

ความดีหรือบุญกุศล เปรียบเหมือนแสงไฟ ผู้ที่ทำบุญทำกุศลอยู่สม่ำเสมอเพียงพอ แม้จะเหมือนไม่ได้รับผลของความดี และบางครั้งก็เหมือนทำดีไม่ได้ดี ทำดีได้ชั่วเสียด้วยซ้ำ เช่นนี้ก็เหมือนจุดไฟในท่ามกลางแสงสว่างยามกลางวัน ย่อมไม่ได้ประโยชน์จากแสงสว่างนั้น

แต่ถ้าตกต่ำมีความมืดมาบดบัง แสงสว่างนั้นย่อมปรากฏขจัดความมืดให้สิ้นไป สามารถแลเห็นอะไรๆ ได้ เห็นอันตรายที่อาจมีอยู่ได้ จึงย่อมสามารถหลีกพ้นอันตรายเสียได้ ส่วนผู้ไม่มีแสงสว่างอยู่กับตน เช่นไม่มีเทียนจุดอยู่ เมื่อถึงยามกลางคืนมีความมืดมิด ย่อมไม่อาจขจัดความมืดได้ ไม่อาจเห็นอันตรายได้ ไม่อาจหลีกพ้นอันตรายได้

O ผู้มีแสงสว่างอยู่กับตัว สามารถดำรงตนอยู่ได้ด้วยความดีที่ทำอยู่

ผู้ทำความดีเหมือนผู้มีแสงสว่างอยู่กับตัว ไปถึงที่มืดคือที่คับขัน ย่อมสามารถดำรงตนอยู่ได้ด้วยดีพอสมควรกับความดีที่ทำอยู่ ตรงกันข้ามกับผู้ไม่ได้ทำความดี ซึ่งเหมือนกับผู้ไม่มีแสงสว่างอยู่กับตัว ขณะยังอยู่ในที่สว่างอยู่ในความสว่าง ก็ไม่ได้รับความเดือนร้อน

แต่เมื่อใดตกไปอยู่ในที่มืดคือที่คับขัน ย่อมไม่สามารถดำรงตนอยู่ได้อย่างสวัสดี ภัยอันตรายมาถึงก็ไม่รู้ไม่เห็น ไม่อาจหลีกพ้น คนทำดีไว้เสมอกับคนไม่ทำดี แตกต่างกันเช่นนี้ประการหนึ่ง

O การทำความดี ต้องทำให้ยิ่งขึ้นอยู่เสมอ

การทำดีต้องไม่มีพอ ต้องทำให้ยิ่งขึ้นอยู่เสมอ เพราะไม่มีใครอาจประมาณได้ว่าเมื่อใดจะตกไปในที่มืดมิดขนาดไหน ต้องการแสงสว่างจัดเพียงใด ถ้าไม่ตกเข้าไปในที่มืดมิดมากมายนัก มีแสงสว่างมากไว้ก่อน ก็ไม่ขาดทุน ไม่เสียหาย

แต่ถ้าตกเข้าไปในที่มืดมิดมากมาย แสงสว่างน้อย ก็จะไม่เพียงพอจะเห็นอะไรๆ ได้ถนัดชัดเจน การมีแสงสว่างมากจะช่วยให้รอดพ้นจากการสะดุดหกล้มลงเหวลงคู หรือตกเป็นเหยื่อของสัตว์ร้ายจนถึงตายถึงเป็น

O อานุภาพของความดี หรือบุญกุศล

อานุภาพของความดีหรือบุญกุศลนั้น เป็นอัศจรรย์จริง เชื่อไว้ดีกว่าไม่เชื่อ และเมื่อเชื่อแล้วก็ให้พากันแสวงหาอานุภาพของความดีหรือของบุญกุศลให้เห็นความอัศจรรย์ด้วยตนเองเถิด

O นำกิเลสออกจากใจหมดสิ้นเชิง
ใจก็บริสุทธ์สิ้นเชิง เป็นสภาพที่แท้จริงของใจ


ที่จริงนั้นใจบริสุทธิ์ผ่องใส กิเลสเข้าจับทำให้สกปรกไปตามกิเลส ปล่อยให้กิเลสจับมากเพียงไรใจก็สกปรกมากขึ้นเพียงนั้น

นำกิเลสออกเสียบ้าง.......ใจก็จะลดความสกปรกลงบ้าง
นำกิเลสออกมาก............ใจก็ลดความสกปรกลงมาก
นำกิเลสออกหมดสิ้นเชิง...ใจก็บริสุทธิ์สิ้นเชิง เป็นสภาพที่แท้จริง มีความผ่องใส

เมื่อใจกับความสกปรกหรือกิเลสเป็นคนละอย่าง ไม่ใช่อย่างเดียว อันเดียวกัน ทุกคนจึงสามารถจะแยกใจของตนให้พ้นจากกิเลสได้ คือสามารถจะนำกิเลสออกจากใจได้

O การทำใจให้เป็นสุข ต้องทำด้วยตัวเอง

การทำใจให้เป็นสุขผ่องใสนั้น ไม่มีใครจะทำให้ใครได้ เจ้าตัวต้องทำของตัวเอง วิธีทำก็คือ เมื่อเกิดโลภ โกรธ หลง ขึ้นเมื่อใด ให้พยายามมีสติรู้ให้เร็วที่สุด และใช้ปัญญายับยั้งเสียให้ทันท่วงที อย่าปล่อยให้ช้า เพราะจะเหมือนไฟไหม้บ้าน ยิ่งดับช้าก็ยิ่งดับยาก และเสียหายมากโดยไม่จำเป็น

O พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
ชี้ชัดได้ว่า สิ่งใดคือดี สิ่งใดคือชั่ว อย่างถูกต้อง


ถ้าไม่รู้จริงๆ ว่า อะไรคือดี อะไรคือชั่ว ก็ศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วเชื่อตามที่ทรงสอน ก็จะรู้ว่าอะไรคือดี อะไรคือชั่ว ที่จริงแล้วทุกคนรู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว แต่ไม่พยายามรับรู้ความจริงนั้นว่า เป็นความจริงสำหรับตนเองด้วย มักจะให้เป็นความจริงสำหรับผู้อื่นเท่านั้น

ดังที่ปรากฎอยู่เสมอ ผู้ที่ว่าคนนั้นไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ และตัวเองก็เป็นเช่นนั้นด้วย โดยตัวเองก็หาได้ตำหนิตัวเองเช่นที่ตำหนิผู้อื่นไม่ ถ้าจะให้ดีจริงๆ ถูกต้องสมควรจริงๆ แล้ว ก็ต้องเชื่อพระพุทธเจ้า ท่านทรงสอนให้เตือนตน แก้ไขตน ก่อนจะเตือนผู้อื่นแก้ไขผู้อื่น

(มีต่อ ๗)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 29 ม.ค. 2007, 8:22 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ผู้เป็นที่รักของมนุษย์และเทวดา

O ผู้มีขันติ เป็นที่รักของมนุษย์และเทวดา

“ผู้มีขันติ นับว่ามีเมตตา มีลาภ มียศ และมีสุขเสมอ ผู้มีขันติเป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดานและมนุษย์ทั้งหลาย” นี้เป็นพุทธศาสนสุภาษิต

ขันติ คือ ความอดทนเป็นต้น อดทนต่อหนาวร้อนหิวกระหาย อดทนต่อถ้อยคำแรงร้าย และอดทนต่อทุกขเวทนาต่างๆ ไม่แสดงอาการผิดไปจากปกติ เมื่อพบความหนาวร้อนหิวกระหาย เมื่อได้ยินถ้อยคำแรงร้าย และเมื่อเกิดทุกขเวทนาต่างๆ

O ความอดทน.......เกิดได้ด้วยความเมตตาเป็นสำคัญ

ผู้มีขันติ นับได้ว่าเป็นผู้มีเมตตา เพราะความอดทนจะทำให้ไม่ปฏิบัติตอบโต้ความรุนแรงที่ได้รับ คือจะไม่ทำร้ายแม้ผู้ที่ให้ร้าย จะอดทนได้ สงบอยู่ได้อย่างปกติ ความอดทนได้เช่นนี้มีเหตุสำคัญประการหนึ่ง คือ ความเมตตา

ความเมตตาจะทำให้ไม่คิดร้าย ไม่พูดร้าย ไม่ทำร้ายผู้ใดทั้งนั้น แม้ว่าผู้นั้นจะคิดร้าย พูดร้าย ทำร้ายตนสักเพียงใด เมตตาจะทำให้มุ่งรักษาผู้อื่น รักษาจิตใจผู้อื่นไม่ให้ต้องกระทบกระเทือนเพราะการคิด การพูด การทำของตน

ความมุ่งรักษาจิตใจผู้อื่นเช่นนั้น เป็นเหตุให้พยายามระงับกาย วาจา ใจ ของตนให้สงบอยู่ ไม่แสดงความรุนแรงผิดปกติให้ปรากฏออกกระทบผู้อื่น นี้คือขันติ.....ความอดทน ที่เกิดได้ด้ำวยอำนาจของเมตตาเป็นสำคัญ

O ผู้มีขันติ.......ความอดทน สงบอยู่ได้ด้วยอำนาจขันติ

ผู้มีขันติ.......ความอดทนนั้น ไม่ใช่ผู้ไม่รู้ร้อนไม่รู้หนาว ไม่ใช่ผู้ไม่รู้หิวกระหาย ไม่ใช่ผู้ไม่รู้คำหนักคำเบา ไม่ใช่ผู้ไม่รู้สุขไม่รู้ทุกข์ ผู้มีขันติก็เช่นเดียวกับใครทั้งหลาย ที่มีสติสัมปชัญญะดีอยู่ คือ เป็นผู้รู้ร้อนรู้หนาว เป็นผู้รู้หิวกระหาย เป็นผู้รู้คำหนักคำเบา เป็นผู้รู้สุขรู้ทุกข์

แต่ผู้มีขันติแตกต่างจากผู้ไม่มีขันติตรงที่ผู้ไม่มีขันตินั้น เมื่อพบร้อนพบหนาวมากไปน้อยไป ก็กระสับกระส่าย กระวนกระวาย แสดงออกถึงความเร่าร้อนไม่รู้อดไม่รู้ทนของจิตใจ

ส่วนผู้มีขันติ เมื่อพบร้อนพบหนาวมากไปน้อยไป ก็จะสงบใจอดทน ไม่แสดงออกให้ปรากฏทางกาย ทางวาจา หรือเมื่อหิวกระหาย ผู้ไม่มีขันติก็จะวุ่นวาย กระสับกระส่ายแสวงหา ส่วนผู้มีขันติจะสงบกายวาจา หิวก็เหมือนไม่หิว กระหายก็เหมือนไม่กระหาย ไม่ปรากฏให้ใครอื่นรู้ได้จากกิริยาอาการภายนอก

คำหนักเบาก็เช่นกัน ผู้ไม่มีขันติเมื่อกระทบถ้อยคำถึงตน ที่หนักหนารุนแรงก็จะเกรี้ยวกราด เร่าร้อน ให้ปรากฏทางกาย ทางวาจา

ส่วนผู้มีขันติจะสงบอยู่ได้ด้วยอำนาจของขันติ ได้ยินก็เหมือนไม่ได้ยิน คำหนักก็จะเหมือนคำเบา เสียงติฉินก็จะเหมือนเสียงลมแว่วผ่าน ไม่อาจทำให้ปรากฏเป็นการกระทำคำพูดที่รุนแรงเป็นปฏิกิริยาตอบโต้

O ขันติ.....เป็นเหตุแห่งลาภยศ และมีสุขอยู่เสมอ

ผู้มีขันติไม่หวั่นไหววุ่นวายกับความเร่าร้อน ความหนาว ความหิวกระหาย ไม่เร่าร้อนโกรธเคืองขุ่นแค้นกับถ้อยคำแรงร้าย ไม่คร่ำครวญหวนไห้ ไม่ทุกข์ระทมกับความทุกขเวทนา ที่มาประสบพบเข้า

เมื่อเป็นเช่นนี้ การดำรงชีวิตอยู่ในโลกของผู้มีขันติ ย่อมไม่สะดุดหยุดยั้งเพราะความหนาว ความร้อน เพราะความหิวกระหาย เพราะวาจาแรงร้าย หรือเพราะทุกขเวทนาต่างๆ

งานการย่อมดำเนินไปได้เป็นปกติ หนาวก็ปกติ ร้อนก็ปกติ หิวก็ปกติ กระหายก็ปกติ ถูกตำหนิติฉินนินทาว่าร้ายก็เป็นปกติ เกิดทุกขเวทนาก็เป็นปกติ

งานการที่ดำเนินไปเป็นปกติตลอดเวลา ไม่เลือกหน้าหนาวหน้าร้อย ไม่เลือกเวลาอิ่มเวลาหิว ไม่เลือกเวลากระหายหรือไม่กระหาย ไม่ว่าทุกขเวทนาจะกำลังรุมล้อมหรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมมีลาภ มียศ และมีสุขเสมอเป็นธรรมดา

O เมตตา.....เป็นเหตุให้เกิดขันติ คือความอดทน

ผู้มีขันติเป็นผู้มีเมตตา อีกนัยหนึ่งก็คือ เมตตาเป็นเหตุให้เกิดขันติ คือ ความอดทน เมื่อต้องการจะเป็นผู้มีขันติ ต้องนำเมตตามาใช้ คือต้องคิดด้วยเมตตาเป็นประการแรก แล้วจึงพูดทำด้วยเมตตาตามต่อมา

เมื่อได้รู้ ได้เห็น ได้ยิน ได้สัมผัส ได้กระทบเรื่องใด สิ่งใด ผู้คนใด ที่รุนแรงหยาบกระด้าง ไม่ประณีตงดงาม แก่ตาแก่หู เป็นต้นของตน แม้ใจหวั่นไหว ไม่ว่ามากหรือน้อย

เมื่อสติเกิดรู้ตัว เห็นความหวั่นไหว ความเร่าร้อนแห่งจิตของตน อันเกิดแต่ความโกรธก็ตาม ความคับแค้นใจ ความน้อยใจก็ตาม ความเศร้าเสียใจทุกข์โทมนัสใจก็ตาม ผู้ไม่มีขันติจะคิด จะพูด จะทำ เพื่อระบายความกดดังในใจออก ให้รุนแรงสาสมกับความกระทบกระเทือนที่ได้รับรู้รับเห็น

แต่ผู้มีขันติพอสมควร จะระงับความกดดันให้อยู่แต่ภายในใจไม่ให้ระเบิดออกเป็นการกระทำ คำพูด ไม่ให้รู้ไม่ให้เห็น ไม่ให้ประจักษ์ ไม่ให้กระทบกระเทือนผู้เป็นเหตุให้มีเสียงมีเรื่องเกี่ยวกับตน มาถึงตน

O ขันติที่แท้ เป็นความเบาสบายแก่ใจและกาย

ใจเป็นใหญ่ ใจมีความสำคัญแก่ทุกชีวิตอย่างยิ่ง การปล่อยให้ใจมีเรื่องเร่าร้อนเข้าเผาลน ย่อมมีผลร้ายแก่ชีวิต ขันติที่แท้จริง เป็นขันติที่แท้จริง เป็นขันติที่ให้ความเบาสบายแก่ใจ เบาสบายแก่กาย

เบาสบายแก่ใจ คือ ใจเบิกบาน ปลอดโปร่ง ไม่บอบช้ำเศร้าหมอง ด้วยความเสียใจ น้อยใจ เจ็บใจ อันเกิดแต่ความไม่สมหวัง ไม่มีอาฆาตพยาบาท อันเกิดแต่ความโกรธแค้นขุ่นเคืองอย่างรุนแรง เบาสบายกาย คือ จะปฏิบัติหน้าที่การงาน เข้าสังคม สมาคม ได้อย่างสบายใจ มั่นใจ ไม่สะทกสะท้าน ให้ความเย็นแก่ผู้พบเห็นข้องเกี่ยวใกล้ชิด

เมตตาเป็นเหตุให้เกิดขันติได้ คือ เมื่อได้ยิน ได้ฟัง ได้รู้ ได้เห็น อะไรที่ทำให้กระทบกระเทือนความสงบเย็นของใจ ให้คิดถึงผู้ก่อให้เกิดเรื่องเกิดเสียงเหล่านั้นอย่างถูกต้อง

ความสำคัญอยู่ที่ความคิดนั้น ถ้าคิดให้ดี คิดให้ถูกต้อง ก็จะให้เกิดผลดีแก่จิตใจ ถ้าคิดไม่ดี ไม่ถูกต้อง ก็จะเกิดผลไม่ดีแก่จิตใจตนเอง เมื่อใดพบเห็นหรือได้ยิน ได้ฟัง เรื่องใดสิ่งใด แล้วรู้สึกว่าผลไม่ดี คือ ความเดือนร้อนกำลังเกิดแก่จิตใจตน เมื่อนั้นให้รู้ว่า ตนกำลังคิดไม่ดี คิดไม่ถูกต้อง

แม้จะอดทนไม่พูดไม่ทำอะไรกระทบตา กระทบหู กระทบใจผู้อื่น แต่เมื่อใจเร่าร้อนอยู่ นั่นเป็นเพียงขันติที่ไม่ถูกแท้ พึงแก้ที่ใจ ให้ขันติดที่ถูกแท้เกิดขึ้นให้ได้ คือ แก้ที่ใจให้สงบเย็นได้เมื่อใด เมื่อนั้นมีขันติที่ถูกแท้แล้ว

O คิดให้ดี คิดให้ถูกต้องดับทุกข์ร้อนในใจได้จริง

คิดให้ดี คิดให้ถูกต้อง จักเกิดเมตตา อันจักเป็นเหตุให้มีขันติที่ถูกแท้ ดับทุกข์ดับร้อนในจิตใจได้จริง ไม่เพียงแต่อดทนบังคับกาย วาจา ไม่ให้แสดงออกเท่านั้น แต่ใจเร่าร้อนอยู่

O เมตตา.....เหตุแห่งขันติที่ถูกแท้

จะเกิดขึ้นดับทุกข์ดับร้อนในจิตใจได้จริง ก็ต้องคิดให้ถูกต้อง ถึงผู้เป็นเหตุแห่งเสียงทั้งหลาย เรื่องทั้งหลาย อันนำให้เกิดความเร่าร้อนขุ่นมัว คือ ต้องคิดให้ตระหนักชัดแก่จิตใจว่า ใจของผู้เป็นเหตุอยู่ในระดับเดียวกับเสียงกับเรื่องที่เขาก่อขึ้น

เสียงและเรื่องที่หยาบที่รุนแรงเลวร้ายจะเกิดก็แต่ใจที่หยาบรุนแรงเลวร้าย และใจเช่นนั้นที่ก่อให้เกิดเสียงเกิดเรื่องเช่นนั้น ย่อมทำให้เจ้าของใจนั้นหาความสุขสงบไม่ได้ ใจเช่นนั้นจึงควรได้รับความเมตตาจากผู้มีเมตตาทั้งหลาย ไม่ใช่ควรได้รับความโกรธแค้นขุ่นเคือง

O อุบายรักษาใจไม่ให้หวั่นไหว เร่าร้อน

แม้ปรารถนาจะรักษาใจไม่ให้หวั่นไหว เร่าร้อน เมื่อได้ยินได้ฟัง ได้รู้ ได้เห็น เรื่องที่ไม่ประณีตแก่หู หรือแก่ตา แก่ใจ ต้องคุมสติ คุมความคิด เตือนตนให้ตระหนักในความจริงว่า ตนกำลังไม่เมตตา พึงย้ำเตือนตนให้ตระหนักแม้เพียงสั้นๆ แต่ต้องจริงใจว่า “เราเมตตาไม่พอ เราเมตตาไม่พอ”

เมื่อใจร้อนด้วยความขัดใจ น้อยใจ เสียใจ หรือโกรธแค้น ขุ่นเคือง ให้ย้ำเตือนตนเองว่ากำลังขาดเมตตา เมตตาไม่พอ จึงเร่าร้อน เพราะโกรธผู้ที่พูดที่ทำเรื่องไม่เจริญหูเจริญใจให้เกิดแก่ตน หรือแก่ผู้เป็นที่รักแห่งตน ถ้าเมตตาพอ.....จะเห็นความน่าเมตตาของผู้เป็นเหตุให้เกิดเรื่องเสียงร้ายแรงทั้งหลาย

O อบรมเมตตาให้ยิ่ง แล้วขันติจะตามมา

เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก คือ ค้ำจุนทุกคน ผู้มีเมตตา คือ ผู้ค้ำจุนทั้งตัวเองและผู้อื่น ค้ำจุนตัวเองประการสำคัญ คือ ทำความสงบสบายใจให้เกิดแก่ตนเอง

ไม่มีความสบายใด จะเสมอด้วยความสบายใจ และความสบายใจจะไม่เกิดแต่เหตุใด เสมอด้วยเหตุ คือ เมตตา การอบรมเมตตาจึงสำคัญ จึงจำเป็น

“เมตตา” นั้น เมื่ออบรมเสมอ จะเพิ่มพูนไพศาล แผ่ไปได้ถึงสรรพสัตว์ทั้งหลาย มนุษย์ทั้งปวง และกระทั่งถึงพรหมเทพ ท่านจึงแสดงไว้ว่า “ผู้มีขันติ เป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย” เพราะผู้มีขันติคือผู้มีเมตตา อบรมเมตตาให้ยิ่ง แล้วขันติจะตามมา เป็นผลของเมตตา

O สติ : ตัวสำคัญในการอบรมเมตตา

การอบรมเมตตาเพื่อให้เกิดขันติ มีสติเป็นตัวสำคัญ เมื่อใจจะหวั่นไหวด้วยความไม่ชอบใจ ด้วยความโกรธ พึงมีสติระลึกรู้ให้ทัน ปรามตัวเองให้ทัน ด้วยบอกแก่ตัวเองอย่างจริงใจว่า มีเมตตาไม่พอ

ถ้าเมตตาพอก็จะเมตตาผู้ที่ทำให้ใจเกิดความหวั่นไหว จะเข้าใจที่เขาพูดเขาทำเช่นนั้น อันไม่ถูก ไม่ชอบ ว่าเพราะจิตใจเขาอยู่ในระดับนั้น อันจะฉุดลากเขาให้ลำบากสถานเดียว ควรเมตตาเขานัก

O ไม่มีอำนาจร้ายแรงใด ทานอำนาจแห่งเมตตาได้

ทุกคนจะต้องประสบพบสิ่งไม่ต้องหู ไม่ต้องตา ไม่ต้องใจมากมายในแต่ละวัน พึงเตือนตนเองให้จริงใจว่า เมตตาของตนยังไม่พอ ต้องอบรมเมตตาให้มากยิ่งขึ้น หยุดโกรธแค้นขุ่นเคือง น้อยใจเสียใจร้อนใจ เพราะเสียงเพราะเรื่องที่กระทบได้เมื่อใด เมื่อนั้นจึงแสดงว่ามีเมตตาพอสมควร พอจะช่วยตนเองและช่วยผู้อื่นให้ร่มเย็นเป็นสุขได้

เมื่อนั้นทุกคนจะรู้สึกด้วยตนเองว่า เมตตาค้ำจุนโลกจริง เมตตาช่วยตนก่อนจริง เมตตาใหญ่ยิ่งจริง ช้างนาฬาคิรีที่กำลังบ้าคลั่งเมามัน ยังพ่ายแพ้แก่พระเมตตาของสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีอำนาจร้ายแรงใดจะทานอำนาจแห่งเมตตาได้

นี้เป็นสัจจะคือ ความจริงที่จะเป็นจริงเสมอไป ไม่มีเปลี่ยนแปลง พลังร้ายภายนอกยิ่งแรง ยิ่งต้องใช้พลังเมตตาที่แรง เมื่อใด พลังเมตตาแรงพอก็จะสยบพลังร้ายได้สิ้น

O เมตตา เป็นบาทของศีล

เมตตาเป็นบาทของศีล เพราะเมตตาจะทำให้ไม่เบียดเบียนทำความเดือดร้อนให้เกิด ความไม่เบียดเบียนคือศีล ผู้มีศีลเป็นผู้ไม่เบียดเบียนให้เกิดความเดือนร้อน ทั้งมากน้อยหนักเบา

การเว้นจากการทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง
เป็นการไม่เบียดเบียน เป็นเมตตา และเป็นศีล

การเว้นจากการถือเอาของที่เจ้าของไม่ยินดีอนุญาตให้
เป็นการไม่เบียดเบียน เป็นเมตตา และเป็นศีล

การเว้นจากประพฤติผิดประเวณีในบุตร ภริยา สามีผู้อื่น
เป็นการไม่เบียดเบียน เป็นเมตตา และเป็นศีล

การเว้นจากพูดให้เกิดความเข้าใจผิดจากความจริง
เป็นการไม่เบียดเบียน เป็นเมตตา และเป็นศีล

การเว้นจากสิ่งทำให้มีนเมา
เป็นการไม่เบียดเบียน เป็นเมตตา และเป็นศีล

O ผู้มีเมตตา ย่อมเป็นผู้มีศีล

เมตตากับศีลเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเสมอ ยากจะแยกจากันได้ ผู้มีศีลก็คือผู้มีเมตตา ผู้มีเมตตาย่อมเป็นผู้มีศีล ผู้ไม่มีศีลคือผู้ไม่มีเมตตา เพราะศีลคือความไม่เบียดเบียนด้วยประการทั้งปวง ไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและไม่เบียดเบียนทั้งผู้อื่น

ความไม่มีศีล.....เป็นความเบียดเบียนให้เกิดความทุกข์ ความเดือนร้อน ทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น ซึ่งแม้เป็นผู้มีเมตตาจะไม่อาจละเมิดศีลข้อที่ ๑ คือ เว้นจากการทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงรวมทั้งไม่อาจทำความทุกข์ทรมานให้เกิดแก่สัตว์

ผู้มีเมตตาจะไม่อาจละเมิดศีลข้อที่ ๒ คือ เว้นจากการถือเอาข้าวของที่เจ้าของไม่ยินดีอนุญาตให้ ของที่เจ้าของให้อย่างจำใจอย่างไม่ยินดี ผู้มีเมตตาก็จะต้องเว้น จะไม่ละเมิดศีลข้อนี้ เพราะการละเมิดนี้จะเป็นการก่อทุกข์ให้เกิดแก่ผู้เป็นเจ้าของ

ผู้มีเมตตาจะไม่อาจละเมิดศีลข้อที่ ๓ คือ เว้นจากการประพฤติผิดประเวณีในบุตรภริยาสามีผู้อื่น อันเป็นการก่อทุกข์

ผู้มีเมตตาจะไม่อาจละเมิดศีลข้อที่ ๔ คือ เว้นจากพูดให้เกิดความเข้าใจผิดจากความจริง อันจักก่อให้เกิดความเสียหาย ความเป็นทุกข์เดือนร้อนได้

ผู้มีเมตตาจะไม่อาจละเมิดศีลข้อที่ ๕ คือ เว้นจากสิ่งทำให้มีนเมา อันจักเป็นการก่อให้เกิดความเดือนร้อนวุ่นวายได้ต่างๆ

O การไม่เมตตาผู้อื่น เป็นการไม่เมตตาตนด้วย

ศีลเกิดแต่เมตตา เมตตาเกิดกับศีล ทั้งสองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ศีลของผู้ใดบกพร่อง เมตตาของผู้นั้นก็บกพร่องด้วย บกพร่องทั้งเมตตาตนเอง และบกพร่องทั้งเมตตาผู้อื่น อันเมตตาตนเองกับเมตตาผู้อื่น เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แยกจากกันไม่ได้

การไม่เมตตาผู้อื่นก็เป็นการไม่เมตตาตนไปพร้อมกัน พึงคิดถึงสัจจะประการหนึ่งที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ คือ “ทำดีจักได้ดี ทำชั่วจักได้ชั่ว ผู้ใดทำกรรมใดไว้ จักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น”

เมื่อเบียดเบียนเขา เราเองนั่นก็จะต้องได้รับผลนั้น เมื่อไม่เมตตาเขา เราเองนั่นก็จะต้องได้รับผลนั้น “เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก” มีพระพุทธศาสนสุภาษิตแสดงไว้เช่นนี้ เมื่อเมตตาเป็นเหตุให้มีศีล ศีลเกิดแต่เมตตา เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก ก็คือศีลเป็นเครื่องค้ำจุนโลกเข่นกัน

โลกมิได้หมายถึงเพียงดาวดวงหนึ่งดังเป็นที่เข้าใจกันอยู่ แต่โลกหมายถึงตนเอง หมายถึงเขาอื่นทั้งหลายทั้งปวง ผู้มีเมตตา หรือผู้มีศีลจึงเป็นผู้ค้ำจุนตนเอง และค้ำจุนผู้อื่นทั้งหลาย

O โทสะ.....เปรียบดั่งไฟ ร้อนทั้งกายและใจ

โทสะ คือ ความโกรธเปรียบได้ดังไฟ เพราะเมื่อความโกรธเกิดขึ้นเมื่อไร ความร้อนจะเกิดขึ้นพร้อมกันทันที ไม่ร้อนเพียงที่ใจ แต่ยังร้อนถึงกายได้ด้วย มากน้อยตามแรงแห่งโทสะ แต่ทั้ง ๆ ที่พากันกลัวไฟไหม้ ก็ไม่พากันกลัวโทสะ

ทั้งที่ความจริงนั้น โทสะนั้นไหม้แรงกว่าไฟทั้งหลายเป็นอันมาก โทสะอาจจุดไฟทั้งหลายให้ลุกโพลงได้ เมื่อความโกรธเกิดถึงจุดหนึ่ง ก็เป็นเหตุให้จุดไฟเผาผลาญอาคารบ้านเรือน ให้พินาศหมดสิ้นไปได้ พร้อมกับชีวิตผู้คนได้ด้วย

มีปรากฏให้รู้ให้เห็นอยู่เสมอ เพียงแต่ไม่พากันคิดให้เข้าใจ ว่านั่น คือ โทษของโทสะที่รุนแรง น่าสะพรึงกลัวยิ่งกว่าพระเพลิงหลายร้อยหลายพันเท่า

O เมตตาดั่งน้ำ ดับไฟร้อนแห่งโทสะให้มอดลง

เมตตาเปรียบได้ดั่งน้ำจริงๆ น้ำดับไฟได้ฉันใด เมตตาก็ดับโทสะหรือความโกรธได้ฉันนั้น เปรียบโทสะดังไฟ เพราะไฟร้อน และโทสะก็ร้อน เปรียบเมตตาดังน้ำ เพราะน้ำเย็น และเมตตาก็เย็น

ความร้อนและความเย็นทั้งสองนี้ จะปรากฏได้ในจิตใจ รู้ได้ด้วยตนเอง รู้สึกร้อนที่ใจเป็นประจำ ก็พึงรู้ว่าตนถูกโทสะครอบคลุมมาก.....มากกว่าเมตตา รู้สึกเย็นอยู่ที่ใจเป็นปกติ ก็พึงรู้ว่าตนมีเมตตาห้อมล้อมอยู่มากกว่าโทสะ

O หนีพ้นไฟร้อนแห่งโทสะ ได้ด้วยสติ

ทุกคนชอบเย็น ทุกคนไม่ชอบร้อน แต่ไม่ทุกคนที่รู้จริงว่า ความเย็นเกิดแต่เมตตาจริง ๆ และความร้อนก็เกิดแต่โทสะจริงๆ จะให้รู้ได้ด้วยตนเองตามความเป็นจริง เพื่อสามารถหนีพ้น ความร้อนได้มีความเย็น ก็ต้องใช้สติ

เมื่อความโกรธ คือ โทสะเกิด ให้รู้ตัวว่ากำลังโกรธแล้ว ขณะเดียวกันก็ให้สังเกตว่า จิตใจหน้าตาเนื้อตัวร้อนผิดปกติหรือไม่ จะรู้สึกชัดว่าจิตใจเนื้อตัวหน้าตาเวลาโกรธ.....ร้อนผิดปกติ

นั่นคือเครื่องยืนยันว่า โทสะให้ความร้อน และเป็นความร้อนที่ไม่มีประโยชน์ ไฟยังดีกว่าโทสะ เพราะไฟให้คุณคือใช้ทำประโยชน์ได้ โทสะมีแต่ให้โทษ พึงระลึกถึงความจริงนี้ไว้ จะเป็นคุณต่อไป

O “เมตตาไม่พอ เมตตาไม่พอ” คาถาป้องกันโทสะ

มีเป็นอันมากที่รู้ความเป็นผู้มักโกรธของตน รู้โทษนั้น เมื่อปรารถนาจะหนีให้พ้นโทษของความโกรธก็พึงรับความจริงว่า เมตตาเท่านั้นที่จะดับความโกรธได้ เมตตาเท่านั้นที่จะป้องกันมิให้ความโกรธรุนแรงได้

บางทีจึงใช้วิธีที่ง่าย คือใช้คำภาวนาเมื่อความโกรธเกิดขึ้น เช่นท่อง พุทโธ พุทโธ แต่แม้จะให้เป็นปัญญา ป้องกันความโกรธให้ไกลออกไปเป็นลำดับ ให้เมตตามากขึ้นเป็นลำดับ ก็ต้องเปลี่ยนคำภาวนาอันเป็นสมาธิ ให้มาเป็นคำภาวนาอันเป็นปัญญา คือด้วยการบอกตัวเอง หรือเตือนตัวเองนั่นแหละว่า “เมตตาไม่พอ เมตตาไม่พอ”

ความสำคัญในการภาวนาว่า “เมตตาไม่พอ” อยู่ที่ต้องทำใจให้ยอมรับความบกพร่องของใจตน ว่าเมตตาไม่พอจริงๆ นั่นแหละ จึงจะเป็นการค่อยผลักดันโทสะที่มีอยู่เต็มโลก ให้ห่างไกลใจตนได้สำเร็จเป็นลำดับไป

“เมตตาไม่พอ เมตตาไม่พอ” นี้เป็นความจริง ที่ทุกคนตำหนิตนได้ ไม่ใช่ไปตำหนิผู้อื่น แม้ใช้ “เมตตาไม่พอ” กับผู้อื่นแทนที่จะเป็นคุณ ก็จะกลับเป็นโทษอย่างแน่นอน พึงสำนึกในความจริงนี้ให้เสมอ

O ผู้เป็นที่รักของพรหม เทพ มนุษย์ และสัตว์

ผู้มีเมตตา เป็นที่รักทั้งของพรหม เทพ มนุษย์ สัตว์ พระเมตตา ของสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นได้ชัดกว่าเมตตาของใครทั้งหลายว่า ทำให้ทรงเป็นที่รักทั้งของพรหม เทพ มนุษย์ สัตว์

ผู้มีสัมมาทิฐิ มีสัมมาปัญญา ย่อมไม่ปฏิเสธที่ท่านแสดงไว้ว่า สมเด็จพระบรมศาสดาประทับที่ใด ที่นั้นพรหมเทพจะแวดล้อมเสด็จสู่ที่ใดท่านกล่าวว่า พรหมเทพที่ล่วงรู้ก่อน จะบอกกล่าวกัน ชักชวนกันลงไปเฝ้า ถ้าไม่ด้วยพระเมตตามหาศาลแล้ว อะไรอื่นจะมีพลังอำนาจเสมอได้

(มีต่อ ๘)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 29 ม.ค. 2007, 8:24 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

การให้ธรรมะ ชนะการให้ทั้งปวง

O การให้ธรรมะ ชนะการให้ทั้งปวง

พุทธศาสนาสุภาษิตบทหนึ่ง ซึ่งเป็นที่คุ้นหูคุ้นใจคนจำนวนมาก
คือบทที่ว่า..... “สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ”
แปลความว่า “การให้ธรรม ย่อมชนะการให้ทั้งปวง”

เพราะพุทธศาสนิกชนจำนวนไม่น้อย มีศรัทธาเชื่อให้คุณแห่งการให้ธรรมเป็นทาน จึงแม้สามารถก็จะพากันพิมพ์หนังสือธรรมะแจกเป็นธรรมทาน ซึ่งเชื่อว่าเหนือการให้ทั้งปวง ซึ่งจักเป็นบุญเป็นกุศล ยิ่งกว่าบุญกุศลที่เกิดจากการให้ทานอื่นทั้งปวง

นี้เป็นการถูก เป็นการดี เพราะการเผยแพร่ธรรมของ พระพุทธเจ้าเป็นความความดีอย่างยิ่ง ยิ่งผู้ได้รับนำไปปฏิบัติก็จะยิ่งเป็นการดีที่สุด เพราะการปฏิบัติธรรม ทรงธรรม ตั้งอยู่ในธรรม เป็นการนำให้ถึงความสวัสดีอย่างแท้จริง และไม่เพียงเป็นความสวัสดีเฉพาะตนเองเท่านั้น ยังสามารถแผ่ความสวัสดีให้กว้างไกลไปถึงผู้เกี่ยวข้องได้มากมาย

กล่าวได้ว่า ผู้มีธรรมเพียงคนเดียว ย่อมยังความเย็น ความสุข ให้เกิดได้เป็นอันมาก ตรงกันข้ามกับผู้ไม่มีธรรม.....แม้เพียงคนเดียว ก็ย่อมยังความร้อนความทุกข์ให้เกิดได้เป็นอันมาก

O การให้ธรรมที่แท้จริง
หมายถึงการทำตนเองของทุกคนให้มีธรรม


พิจารณาจากความจริง ที่ว่าผู้มีธรรมเป็นผู้ให้ความเย็น ความสุขแก้ผู้อื่นได้ เช่นเดียวกันกับที่ให้ความเย็นความสุขแก่ตนเอง อาจเห็นได้ว่า การให้ธรรมไม่หมายถึงเพียงการพิมพ์หนังสือธรรมแจก หรือการอบรมสั่งสอนด้วยวาจา ให้รู้ให้เห็นธรรมเท่านั้น

แต่การให้ธรรมที่แท้จริง ย่อมหมายถึงการทำตนเองของทุกคนให้มีธรรม ให้ธรรมในตนปรากฏแก่คนทั้งหลายโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องมีการแสดงออกเป็นการสั่งสอนด้วยวาจา หรือเช่นด้วยการแสดงธรรมแบบพระธรรมเทศนาของพระ

การสั่งสอนธรรมหรือให้ธรรมด้วยความประพฤติปฏิบัติธรรมด้วยตนเองนั้น มีความสำคัญเหนือกว่าการแจกหนังสือธรรมเป็นอันมากด้วยซ้ำ เพราะการประพฤติปฏิบัติธรรมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ จนธรรมนั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายกับใจ นั่นแหละเป็นการแสดงธรรมให้ปรากฏแก่ผู้รู้ผู้เห็นทั้งหลายทั้งปวง และจะต้องได้ผลมากกว่าการให้ธรรมที่เป็นข้อเขียนในหน้าหนังสือ

O ความสูงต่ำ ห่างไกลของธรรมที่ดีและชั่วนั้นมีมากมายยิ่งนัก

อันคำว่าธรรมนั้น ที่แท้จริงมีความหมายเป็นสองอย่าง คือทั้งที่ดีและที่ชั่ว หนังสือธรรมมิได้แสดงแต่ธรรมที่ดี แต่แสดงธรรมที่ชั่วด้วย เพียงแต่แสดงธรรมที่ดีว่าให้ประพฤติปฏิบัติ แสดงธรรมที่ชั่วว่าไม่ควรประพฤติปฏิบัติ และผู้ประพฤติธรรมหรือผู้มีธรรมนั้นก็คือ ผู้ประพฤติธรรมที่ดี ไม่ประพฤติธรรมที่ชั่ว

ผู้ประพฤติธรรมที่ดีเรียกได้ว่าเป็นสัตบุรุษ ผู้ประพฤติธรรมที่ชั่ว เรียกว่าได้เป็นอสัตบุรุษ ความสูงต่ำห่างไกลของธรรมที่ดีและที่ชั่วนั้นมากมายนัก

มีพุทธสุภาษิตกว่าไว้ว่า “ฟ้ากับดินไกลกัน และฝั่งทะเลก็ไกลกัน แต่นักปราชญ์กล่าวว่า ธรรมของสัตบุรุษกับของอสัตบุรุษไกลกันยิ่งกว่านั้น”

O การทำตนที่ชั่ว ให้เป็นตนที่ดีได้ เป็นกุศลที่สูงที่สุด

ผู้ให้ธรรมทั้งด้วยการให้หนังสือธรรม และทั้งการปฏิบัติด้วยตนเองให้ปรากฏเป็นแบบอย่างที่ดีงาม เป็นแบบอย่างของสัตบุรุษ กล่าวว่าเป็นผู้ให้เหนือการให้ทั้งปวง เพราะการพยายามช่วยให้คนเป็นผู้มีธรรมของสัตบุรุษ ละธรรมของอสัตบุรุษนั้น ก็เท่ากับพยายามช่วยให้คนบนดินคือต่ำเตี้ยได้เข้าใกล้ฟ้าคือสูงส่ง หรือช่วยให้คนชั่วเป็นคนดีนั่นเอง

การช่วยให้คนชั่วเป็นคนดีนั้น ผู้ใดทำได้จักได้กุศลสูงยิ่ง การช่วยตนเองที่ประพฤติไม่ดีให้เป็นประพฤติดีนั้น ก็เป็นการช่วยคนชั่วให้เป็นคนดีเช่นกัน และจะเป็นกุศลที่สูงที่สุดเสียด้วยซ้ำ เพราะนอกจากตนเองจะช่วยตนเองแล้ว คนอื่นยากจักช่วยได้

นี่หมายความว่า อย่างน้อยตนเองต้องยอมรับฟังการแนะนำช่วยเหลือของผู้อื่น ยอมปฏิบัติตามผู้อื่นที่ปฏิบัติเป็นแบบอย่างที่ดีให้ปรากฏอยู่ คือทำตนเองให้เป็นผู้ประพฤติธรรมของสัตบุรุษ ละการประพฤติปฏิบัติธรรมของอสัตบุรุษให้หมดสิ้น

O พึงอบรมปัญญา เพื่อเป็นแสงสว่างขับไล่โมหะ

ผู้มาบริหารจิตทั้งนั้น พึงดูจิตตนเองให้เห็นชัดเจนว่า มีความปรารถนาต้องการจะก่อทุกข์โทษภัยให้แก่ตนเองหรือไม่

ถ้าไม่มีความปรารถนานั้น ก็ถึงรู้ว่าจำเป็นต้องอบรมปัญญาเพื่อให้ปัญญาเป็นแสงสว่างขับไล่ความมืดมิดของโมหะ ให้บรรเทาเบาบางถึงหมดสิ้นไป ปัญญาจะช่วยให้เห็นถูกเห็นผิดตามความเป็นจริง และเมื่อเห็นตรงตามความเป็นจริงแล้ว การปฏิบัติย่อมไม่เป็นเหตุแห่งทุกข์โทษภัยของตนเองและของผู้ใดทั้งสิ้น

ทุกข์โทษภัยย่อมไม่มีแก่ตน อาจมีปัญหาว่าแม้ตนเองไม่ก่อทุกข์โทษภัยแก่ตนเองด้วยกระทำที่ไม่ถูกไม่ชอบทั้งหลาย แต่เมื่อยังมีผู้อื่นอีกเป็นอันมากที่ก่อทุกข์โทษภัยอยู่ แล้วเราจะพ้นจากทุกข์โทษภัยนั้นได้อย่างไร

ปัญหานี้แม้พิจารณาเพียงผิวเผิน ก็น่าจะเป็นปัญหาที่ต้องยอมจำนน คือต้องรับว่าถูกต้อง แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกซึ้ง อย่าประกอบด้วยปัญญาแท้จริง ย่อมจะได้รับคำตอบแก้ปัญหาให้ตนไปได้อย่างสิ้นเชิง

เพราะผู้มีความเห็นชอบ ปราศจากโมหะ ย่อมเห็นได้ว่าไม่มีทุกข์โทษภัยใดจะเกิดแก่ตน ถ้าตนสามารถวางความคิดไว้ได้ชอบ เพราะความทุกข์ทั้งปวงเกิดจากความคิด

O ผู้มุ่งปฏิบัติธรรม ต้องรู้จักพิจารณาเลือกเฟ้นธรรม

ผู้มุ่งมาบริหารจิต มุ่งปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นจากกิเลส ต้องพิจารณาใจตนในขณะอ่านหนังสือหรือฟัง เรียกว่าเป็นการเลือกเฟ้นธรรม ธรรมใดกระทบใจว่า ตรงกับที่ตนเป็นอยู่ พึงปฏิบัติน้อมนำธรรมนั้นเข้าสู่ใจตน

เพื่อแก้ไขให้เรียบร้อย ที่ท่านกล่าวว่า “เห็นบัณฑิตใด ผู้มีปกติชี้ความผิดให้ ดุจผู้บอกขุมทรัพย์ให้ ซึ่งมีปกติกล่าวกำราบ มีปัญญา พึงคบบัณฑิตเช่นนั้น เมื่อคบท่านเช่นนั้น ย่อมประเสริฐ ไม่เลวเลย”

“บัณฑิต” นั้นคือ “คนดีผู้มีธรรม หรือผู้รู้ธรรมปฏิบัติธรรมที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนนั่นเอง” การกล่าวธรรมของบัณฑิต คือ การกล่าวตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ และบัณฑิตนั้นมีพุทธภาษิตกล่าวไว้ด้วยว่า.....

“บุรุษจะเป็นบัณฑิตในที่ทั้งปวงก็หาไม่ แม้สตรีมีปัญญาเฉียบแหลมในที่นั้น ๆ ก็เป็นบัณฑิตได้เหมือนกัน”

O สามารถหนีไกลจากกิเลสได้มากเพียงไร
ก็สามารถแลเห็นพระพุทธเจ้าได้ใกล้ชิดเพียงนั้น


คนดีมีปัญญา คือคนมีกิเลสบางเบา โลภน้อย โกรธน้อย หลงน้อย กิเลสนั้นมีมากเพียงไร ก็ทำให้เหลือน้อยได้ ทำให้หมดจดอย่างสิ้นเชิงก็ได้ สำคัญที่ผู้มีกิเลสต้องมีปัญญา แม้พอสมควรที่จะทำให้เชื่อว่า กิเลสเป็นโทษอย่างยิ่ง ควรหนีให้ไกล สามารถหนีไกลกิเลสได้มากเพียงไร ก็สามารถเป็นคนดี เป็นบัณฑิตได้เพียงนั้น ทั้งยังจะสามารถแลเห็นพระพุทธเจ้าได้ใกล้ชิดเพียงนั้นด้วย



>>>> จบ >>>>

สาธุ สาธุ สาธุ

....เจริญธรรมครับทุกท่าน....
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
siamgirl
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 02 มี.ค. 2008
ตอบ: 10

ตอบตอบเมื่อ: 24 มี.ค.2008, 7:04 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง