Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 การเจริญสมาธิด้วยการกำหนดรู้และละอารมณ์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 11 ก.ค.2004, 8:51 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

สมาธิ
เรื่องการเจริญสมาธิด้วยการกำหนดรู้และละอารมณ์
โดย พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)

ประกายธรรม รวบรวมและเรียบเรียง
ธรรมสภาจัดพิมพ์เผยแพร่ พุทธศักราช ๒๕๔๐



คำนำ

หนังสือการทำสมาธิเรื่องการเจริญสมาธิด้วยการกำหนดรู้และละอารมณ์ ของท่านเจ้าคุณพระราชวุฒาจารย์ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล เล่มนี้ เป็นการรวบรวมบทธรรมเทศนาเรื่องสมาธิและวิธีฝึกสมาธิจากหนังสือ ประวัติ ปฏิปทา และคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ซึ่งรองศาสตราจารย์ ดร.ปฐม นิคมานนท์ ได้เรียบเรียงขึ้นจากบันทึกและความทรงจำของพระโพธินันทมุนี (สมศักดิ์ ปญฺฑิโต)

ธรรมสภาขอกราบขอบพระคุณและระลึกถึงในคุณูปการของท่านเป็นอย่างยิ่ง ที่ช่วยให้คำสอนอันทรงคุณค่าทางด้านจิตใจของหลวงปู่ดูลย์ ได้มีโอกาสเผยแพร่สู่สาธุชนผู้ใฝ่ใจในธรรมปฏิบัติตามแนวทางของท่าน ซึ่งเป็นสัมมาปฏิบัติตามแนวทางขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์พระศาสดาแห่งพระพุทธศาสนาผู้ทรงเป็นแสงสว่างแห่งโลก

“สมาธิ” เป็นเรื่องของการฝึกอบรมจิตในขั้นลึกซึ้ง เป็นเรื่องละเอียดปราณีต ทั้งในแง่ที่เป็นเรื่องของจิตอันเป็นของละเอียด และในแง่การปฏิบัติที่มีรายละเอียดกว้างขวางซับซ้อน

ลักษณะของจิตที่เป็นสมาธินั้น มีองค์ประกอบสำคัญ ๓ ประการ คือ มีความบริสุทธิ์ ๑ มีความตั้งมั่น ๑ และมีความว่องไวควรแก่การงาน ๑ จิตที่มีองค์ประกอบเช่นนี้เหมาะแก่การเอาไปใช้ได้ดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพิจารณาสภาวธรรม ให้เกิดความรู้แจ้งตามความเป็นจริง จนหลุดพ้นจากกิเลสและทุกข์ทั้งปวง อันเป็นจุดหมายสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา และสมาธิก็ยังมีคุณประโยชน์อย่างอื่นอีกมากมาย ซึ่งเป็นผลขั้นต้นในชีวิตประจำวัน อันได้แก่

๑) เป็นเครื่องเสริมประสิทธิภาพในการทำงาน การเล่าเรียนและการทำกิจทุกอย่าง
๒) ช่วยให้จิตใจผ่อนคลายจากความเครียดและความกลัดกลุ้มวิตกกังวลต่างๆ
๓) ช่วยพัฒนาสุขภาพจิตและบุคลิกภาพ ให้เป็นผู้ที่มีความมั่นคงทางอารมณ์ และมีภูมิคุ้มกันโรคทางจิต
๔) ช่วยเสริมสุขภาพกายและใช้แก้โรค เหล่านี้เป็นต้น

เมื่อสมาธิมีคุณประโยชน์นานัปการดังกล่าวแล้ว จึงเป็นเรื่องที่ทรงคุณค่าควรแก่การศึกษาปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง

อนึ่ง ในการฝึกอบรมเจริญสมาธินั้น มีวิธีการและรายละเอียดมากมาย ซึ่งผู้สนใจพึงศึกษาและเลือกปฏิบัติให้สอดคล้องกับอุปนิสัยของตน ก็จักประสบผลสำเร็จได้สมดังประสงค์ทุกประการ


ด้วยความสุจริตและหวังดี
ธรรมสภาปรารถนาให้โลกพบความสงบสุข
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา

แก้ไขล่าสุดโดย TU เมื่อ 02 ส.ค. 2006, 12:58 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 11 ก.ค.2004, 8:58 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สารบัญ

คำนำ
บทนำ
๑. จิตคือพุทธะ
๒. แนวทางการทำสมาธิภาวนา
๓. ปริยัติ-ปฏิบัติ
๔. ศีล สมาธิ ปัญญา แต่ละระดับ
๕. สมาธิอันใด ปัญญาอันนั้น
๖. วิธีเจริญสมาธิภาวนา
๗. อธิบายหลักธรรมสำคัญเกี่ยวกับสมาธิ
๘. สมาธิภาวนากับนิมิต
๙. วิปัสสนูปกิเลส
๑๐. เรื่องจิต เรื่องอิทธิฤทธิ์
๑๑. บันทึกธรรมเทศนาเกี่ยวกับสมาธิ
๑๒. ประสบการณ์ภาวนา

บทธรรมสมาธิจากพระไตรปิฎก
๑. คุณของอานาปานสติ
๒. วิธีเจริญอานาปานสติที่มีผลมาก
๓. ฌาน
๔. ผู้ได้ฌาน
๕. แสดงญาณความรู้ อันสำเร็จมาแต่การเจริญสมาธิ
๖. มหาสติปัฏฐานสูตร
 


แก้ไขล่าสุดโดย TU เมื่อ 02 ส.ค. 2006, 12:57 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 11 ก.ค.2004, 9:06 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

บทนำ
รู้ตัวอยู่เสมอ


พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวว่า สติมีประโยชน์ในที่ทั้งปวง”

ในมุฏฐัสสติสูตร กล่าวถึงประโยชน์ของสติไว้ว่า ทำให้คนหลับอย่างเป็นสุข ตื่นอยู่ก็เป็นสุข ไม่ฝันลามก เทวดารักษา น้ำอสุจิไม่เคลื่อน

อีกแห่งหนึ่ง พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “ภิกษุผู้มีสติคุ้มครองตนแล้วย่อมอยู่เย็นเป็นสุข”

พูดง่ายๆ ว่า มีสติเพียงอย่างเดียว สบายไปแปดอย่างว่างั้นเถอะ

พระสงฆ์องค์เจ้าโดยทั่วไปต่างเจริญสติกันทั้งนั้น อย่างหลวงปู่ดูลย์ อตุโลท่านก็เป็นพระมหาเถระอีกรูปหนึ่ง ที่ฝึกตนด้วยสติและสอนให้ผู้อื่นใช้สติ

ในการใช้ชีวิตประจำวันของคนเรา หลวงปู่ดูลย์บอกให้เอาสติกำกับ ให้เป็นอยู่ด้วยสติ ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถไหน ให้รู้ตัวอยู่เสมอ รู้อยู่เฉยๆ ไม่ต้องไปจำแนกแยกแยะว่าอะไรเป็นอะไร นั่นเป็นนั่น นี่เป็นนี่ การฝึกครั้งแรกค่อนข้างยากหน่อย ท่านบอกว่าเมื่อรักษาได้สักครู่ จิตจะคิดแส่ไปในอารมณ์ต่างๆ โดยไม่มีทางรู้ทันก่อน ซึ่งเป็นธรรมดาของผู้ฝึกใหม่ ต่อเมื่อจิตแล่นไปคิดในอารมณ์นั้นๆ จนอิ่มแล้ว ก็จะรู้สึกตัวขึ้นมาเอง

เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปเคร่งเครียดอะไรมาก ขอให้รู้ตัวเอาไว้

ภายหลังจิตท่องเที่ยวไปในอารมณ์ต่างๆ แล้ว เมื่อรู้สึกตัวทั่วพร้อม ให้พิจารณาเปรียบเทียบสภาวะของตน ในระหว่างที่จิตเที่ยวไปกับในระหว่างที่จิตมีความรู้ตัว ว่ามันแตกต่างกันอย่างไร

รู้ไว้ทำไม ?

ก็เพื่อเป็นอุบายสอนใจตนให้รู้จักจดจำ

ขณะที่จิตเที่ยวไปจุ้นจ้านอยู่ที่นั่นที่นี่ จิตจะไร้พลังประสบกับความกระวนกระวาย เหน็ดเหนื่อย เป็นทุกข์พอสมควร ขณะนั้นเราไม่รู้ตัว แต่ขณะที่จิตหยุดอยู่ เพราะมีสติวิ่งมานั้น จิตจะสงบ รู้ตัว เยือกเย็น สุขสบาย

ลองเปรียบเทียบขณะจิตทั้งสองเวลานั้น ก็จะรู้โทษของการแส่ไปตามอารมณ์กับคุณของการรู้ตัว แล้วจะเกิดความรู้สึกว่าอยากจะอยู่กับจิตชนิดไหน

แน่นอนที่สุด ใครๆ ก็อยากจะอยู่กับจิตที่มีสติ

ทุกครั้งที่จิตวิ่งไปข้างนอก ให้พยายามรู้ตัว แล้วค่อยๆ ดึงกลับมา ค่อยๆ รักษาจิตให้อยู่ในสภาวะรู้อยู่กับที่ต่อไป เผลอออกไปดึงกลับมา อย่างนี้เรื่อยไป เมื่อถึงจุดอิ่มตัว ก็จะกลับรู้ตัวทั่วพร้อมอย่างเดิมอีก

หลวงปู่ดูลย์กล่าวว่า

เมื่อรู้ตัวแล้ว ก็พิจารณาและรักษาจิตต่อไป ด้วยอุบายอย่างนี้ไม่นานนักก็จะสามารถคุมจิตได้ และบรรลุธรรมในที่สุด โดยไม่ต้องไปปรึกษาหารือใคร

ข้อห้าม ในเวลาจิตฟุ้งเต็มที่อย่าทำ เพราะไม่มีประโยชน์ และยังทำให้บั่นทอนพลังความเพียร ไม่มีกำลังใจในการเจริญจิตครั้งต่อๆ ไป

ในกรณีที่ไม่สามารถทำเช่นนี้ได้ ให้ลองนึกคำว่า “พุทโธ” หรือคำอะไรก็ได้ที่ไม่เป็นเหตุเย้ายวน หรือเป็นเหตุขัดเคืองใจ นึกไปเรื่อยๆ แล้วสังเกตว่า คำที่นึกนั้นชัดที่สุดที่ตรงไหน ที่ตรงนั้นแหละคือฐานของจิต

หลวงปู่ดูลย์ได้ให้ทางแก้ไว้ด้วยโดยใช้ “พุทโธ” จะเป็นคำอื่นก็ได้ แต่คำ “พุทโธ” ดีที่สุด

ฐานแห่งจิตจะอยู่ไม่คงที่ เปลี่ยนที่อยู่ไปเรื่อย แต่ว่าอยู่ในกายแน่นอน ไม่ต้องไปหานอกกาย

ท่านบอกว่าฐานแห่งจิตที่นึก “พุทโธ” ปรากฏชัดที่สุด ย่อมไม่มีอยู่ภายนอกกายแน่นอน ต้องอยู่ภายในกายแน่

แต่เมื่อพิจารณาดูให้ดีแล้ว จะเห็นว่าฐานนี้จะว่าอยู่ที่ส่วนไหนของร่างกายก็ไม่ถูก ดังนั้นจะว่าอยู่ภายนอกก็ไม่ใช่ จะว่าอยู่ภายในก็ไม่เชิง เมื่อเป็นเช่นนี้แสดงว่าได้กำหนดถูกฐานแห่งจิตแล้ว

เมื่อกำหนดถูก และ “พุทโธ” ปรากฏในมโนนึกชัดเจนดี ก็ให้กำหนดนึกไปเรื่อยๆ อย่าให้ขาดสายได้ ถ้าขาดสายเมื่อใด จิตก็จะแล่นไปสู่อารมณ์ทันที

เมื่อเสวยอารมณ์อิ่มแล้ว จึงจะรู้สึกตัวเอง ก็ค่อยๆ นึกพุทโธต่อไป ด้วยอุบายวิธีในทำนองเดียวกับที่กล่าวไว้เบื้องต้น ในที่สุดก็จะค่อยๆ ควบคุมจิตให้อยู่ในอำนาจได้เอง

เมื่อคุมจิตให้มีอารมณ์เป็นหนึ่งได้ ให้ใช้สติจดจ่ออยู่ที่ฐานเดิมนั่นแหละ

ต่อไปก็ดูว่า มีอารมณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง อะไรเกิดขึ้นก็ช่าง ให้ละทิ้งให้หมด โดยละทิ้งทีละอย่าง อะไรเกิดก่อน ให้ละก่อน อะไรเกิดหลัง ให้ละทีหลัง แล้วเอาสติมาดูจิตต่อไป

กำหนดรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้น และละอารมณ์นั้นๆ ให้หมด
กำหนดรู้และละไปเท่านั้น
นี่เป็นวิถีแห่งสมาธิของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล



(มีต่อ ๑)
 


แก้ไขล่าสุดโดย TU เมื่อ 02 ส.ค. 2006, 12:56 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 11 ก.ค.2004, 9:16 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน


จิตคือพุทธะ


ในหมู่ผู้ปฏิบัติธรรมสายพระกัมมัฏฐาน ทั้งพระภิกษุและฆราวาส ให้การยอมรับว่า “หลวงปู่ดูลย์ อตุโล นับเป็นพระองค์ที่มีความรู้ลึกซึ้งในเรื่องของจิตมาก จนกระทั่งได้รับสมญาว่าเป็นบิดาแห่งการภาวนาจิต”

ประจักษ์พยานแห่งสมญานามดังกล่าวจะเห็นได้จาก คำเทศน์ คำสอน และความสนใจของหลวงปู่ อยู่ในเรื่อง “จิต” เพียงอย่างเดียว เรื่องอื่นนอกจากนั้นหาได้อยู่ในความสนใจของหลวงปู่ไม่

ด้วยความลึกซึ้งในเรื่องจิต จึงทำให้หลวงปู่ประกาศหลักธรรม โดยใช้คำว่า “จิต คือ พุทธะ” โดยเน้นสาระเหล่านี้ เช่น

“พระพุทธเจ้าทั้งปวง และสัตว์โลกทั้งนั้น ไม่ได้เป็นอะไรเลย นอกจากเป็นเพียงจิตหนึ่ง นอกจากจิตหนึ่งนี้แล้ว ไม่มีอะไรตั้งอยู่เลย”

“จิตหนึ่ง ซึ่งปราศจากการตั้งต้นนี้ เป็นสิ่งที่มิได้เกิดขึ้น และไม่อาจถูกทำลายได้เลย”


จิตหนึ่งเท่านั้นที่เป็นพระพุทธะ ดังคำตรัสที่ว่า

“ผู้ใดเห็นจิต ผู้นั้นเห็นเรา
ผู้ใดเห็นปฏิจฺจสมุปฺบาท ผู้นั้นเห็นธรรม
ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต”


ในการสอนของหลวงปู่ ท่านจะเตือนสติสานุศิษย์เสมอๆ ว่า

“อย่าส่งจิตออกนอก”

หลวงปู่ยังสอนแนวทางปฏิบัติ อีกว่า “จงทำญาณให้เห็นจิต เมื่อเห็นจิตได้ ก็จะสามารถแยกรูป ถอดด้วยวิชชามรรคจิต เพื่อที่จะแยกรูปกับกายให้อยู่คนละส่วน และจะเข้าใจพฤติของจิตได้ในลำดับต่อไป”

คำสอนเกี่ยวกับเรื่องจิตของหลวงปู่ ที่มีการบันทึกไว้ในที่อื่นๆ อีก ก็มีเช่น :-

“หลักธรรมที่แท้จริง คือ จิต จิตของเราทุกคนนั่นแหละ คือหลักธรรมสูงสุดในจิตใจเรา นอกจากนั้นแล้ว ไม่มีหลักธรรมใดๆ เลย

จิตนี้แหละ คือ หลักธรรม ซึ่งนอกไปจากนั้นแล้วก็ ไม่ใช่จิต แต่จิตนั้นโดยตัวมันเองก็ไม่ใช่จิต

ขอให้เลิกละการคิดและการอธิบายเสียให้หมดสิ้น เมื่อนั้นเราอาจกล่าวได้ว่า คลองแห่งคำพูดได้ถูกตัดทอนไปแล้ว พิษของจิตก็ได้ถูกถอนขึ้นจนหมดสิ้น

จิตในจิตก็จะเหลือแต่ความบริสุทธิ์ซึ่งมีอยู่ประจำแล้วทุกคน”

ด้วยเหตุนี้ การสอนของหลวงปู่จึงไม่เน้นที่การพูด การคิดหรือการเทศนาสั่งสอน แต่ท่านจะเน้นที่การภาวนา และให้ดูลงที่จิตใจของตนเอง อย่าไปดูสิ่งอื่น เช่น อย่าไปสนใจดูสวรรค์ ดูนรก หรือสิ่งอื่นใด แต่ให้ดูที่จิตของตนเอง ให้ดูไปภายในตนเอง

“อย่าส่งจิตออกนอก”
จึงเป็นคำที่หลวงปู่เตือนลูกศิษย์อยู่เสมอ


(มีต่อ ๒)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 11 ก.ค.2004, 9:21 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน


แนวทางการทำสมาธิภาวนา


สำหรับศิษยานุศิษย์ที่เป็นภิกษุสามเณร และปรารถนาจะเจริญงอกงามอยู่ในบวรพุทธศาสนานั้น หลวงปู่จะ ชี้แนะแนวทางดำเนินปฏิปทาไว้ ๒ แนวทาง ซึ่งท่านให้ความเห็นว่า ผู้ที่จะเป็นศาสนทายาทนั้น ควรทำการศึกษาทั้งสองด้าน คือ ทั้งปริยัติและปฏิบัติ

ดังนั้น หลวงปู่จึงแนะนำว่า ผู้ที่อายุยังน้อยและมีแวว มีความสามารถในการศึกษาเล่าเรียนก็ให้เล่าเรียนพระปริยัติธรรมไปก่อน ในเวลาที่ว่างจากการศึกษา ก็ให้ฝึกฝนปฏิบัติสมาธิภาวนาไปด้วย เพราะจิตใจที่สงบ มีสมาธิ ย่อมอำนวยผลดีแก่การเล่าเรียน

เมื่อมีผู้สามารถที่จะศึกษาเล่าเรียนต่อไปในชั้นสูงๆ ได้ หลวงปู่ก็จะจัดส่งให้ไปเรียนต่อในสำนักต่างๆ ที่กรุงเทพฯ หรือที่อื่นที่เจริญด้วยการศึกษาด้านปริยัติธรรม

ศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่จึงมีมากมายหลายรูปที่ศึกษาพระปริยัติธรรมจบชั้นสูงๆ ถึงเปรียญ ๘ เปรียญ ๙ ประโยค หรือจบระดับปริญญาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ จนกระทั่งไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ เช่น อินเดีย ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา

สำหรับอีกแนวทางหนึ่งนั้น สำหรับผู้ที่มีอายุมากแล้วก็ดี ผู้ที่รู้สึกว่ามันสมองไม่อำนวยต่อการศึกษาก็ดี ผู้ที่สนใจในธุดงค์กัมมัฏฐานก็ดี หลวงปู่ก็แนะนำให้ศึกษาพระธรรมวินัยให้พอเข้าใจ ให้พอคุ้มครองรักษาตัวเองให้สมควรแก่สมณสารูป แล้วจึงมุ่งปฏิบัติกัมมัฏฐานต่อไปให้จริงจัง

ก็แลสำหรับผู้ที่เลือกแนวทางที่สองนั้น หลวงปู่ยังได้ชี้แนะ ไว้อีก ๒ วิธี

คือ ผู้ที่ใฝ่ในธุดงค์กัมมัฏฐานตามแบบฉบับของพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต หลวงปู่ก็จะแนะนำและส่งให้ไปอยู่รับการศึกษาอบรมกับครูบาอาจารย์จังหวัดสกลนคร อุดรธานี และหนองคาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สำนักวัดป่าอุดมสมพร และสำนักถ้ำขามของท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร หลวงปู่ได้ฝากฝังไปอยู่มากที่สุด และมาในระยะหลังมีฝากไปที่สำนักวัดป่าบ้านตาด ของท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน บ้าง

เป็นที่สังเกตว่า ไม่มีลูกศิษย์ลูกหาที่สนใจใฝ่ในกิจธุดงค์คนใดที่ หลวงปู่จะแนะนำให้ไปเอง หรือเที่ยวเสาะแสวงหาเอาเอง หรือเดินทางไปสำนักนั้นๆ เอง

ในเรื่องนี้ท่านเจ้าคุณพระโพธินันทมุนียืนยันว่า หลวงปู่เคยใช้ให้ท่านเจ้าคุณเองเป็นผู้นำพระไปฝากไว้ที่สำนักท่านพระอาจารย์ฝั้น หลายเที่ยวหลายชุดด้วยกัน ศิษย์ที่ได้รับการฝึกอบรมจากสำนัก ท่านอาจารย์ฝั้นนั้นก็ได้กลับมาบำเพ็ญประโยชน์แก่การพระศาสนา ด้านวิปัสสนาธุระที่จังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์หลายท่านด้วยกัน จนกระทั่งมีไปเผยแพร่พระศาสนาในด้านนี้ถึงสหรัฐอเมริกาก็หลายรูป ในปัจจุบันนี้ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะผลการสังเกตเห็นแววและส่งเสริมสนับสนุนของหลวงปู่นั่นเอง

ส่วนอีกวิธีหนึ่งนั้น หลวงปู่ชี้แนะไว้สำหรับผู้ที่สนใจจะปฏิบัติทางด้าน สมาธิวิปัสสนาเพียงอย่างเดียว ไม่สนใจในธุดงค์กัมมัฏฐาน อาจเป็นด้วยไม่ชอบการนุ่งห่มแบบนั้น หรือมีสุขภาพไม่เหมาะแก่การฉันอาหาร มื้อเดียว หรือเพราะเหตุผลอื่นใดก็ตาม

หลวงปู่จะไม่แนะนำให้ไปที่ไหน แต่ให้อยู่กับที่ที่ตนยินดีชอบใจในจังหวัดสุรินทร์หรือบุรีรัมย์ อาจเป็นที่วัดบูรพารามหรือวัดไหน ก็ได้ที่รู้สึกว่าอยู่สบาย

หลวงปู่ถือว่า การปฏิบัติธรรมอย่างนี้ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่ไหนในเมื่อกายยาว ๑ วา หนา ๑ คืบ นี้แล เป็นตัวธรรม เป็นตัวโลก เป็นที่เกิดแห่งธรรม เป็นที่ดับแห่งธรรม เป็นที่ที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้อาศัยบัญญัติไว้ซึ่งธรรมทั้งปวง แม้ใครใคร่จะปฏิบัติธรรมก็ต้อง ปฏิบัติที่กายและใจเรานี้ หาได้ไปปฏิบัติที่อื่นไม่

ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องหอบสังขารไปที่ไหน ถ้าตั้งใจจริงแล้ว นั่งอยู่ที่ไหน ธรรมะก็เกิดที่ตรงนั้น นอนอยู่ที่ไหน ยืนอยู่ที่ไหน เดินอยู่ที่ไหน ธรรมะก็เกิดที่ตรงนั้นนั่นแล


ยิ่งกว่านั้นหลวงปู่อธิบายว่า ยิ่งผู้ใดสามารถปฏิบัติภาวนา ในท่ามกลางความวุ่นวายของบ้านเมืองที่มีแต่ความอึกทึกครึกโครม หรือแม้แต่กระทั่งในขณะที่รอบๆ ตัวมีแต่ความเอะอะวุ่นวาย ก็สามารถกำหนดจิตตั้งสมาธิได้ สมาธิที่ผู้นั้นทำให้เกิดได้ จึงเป็นสมาธิที่เข้มแข็งและมั่นคงกว่าธรรมดา ด้วยเหตุที่สามารถต่อสู้เอาชนะสภาวะที่ไม่เป็นสัปปายะ คือ ไม่อำนวยนั่นเอง เพราะว่าสถานที่ที่เปลี่ยววิเวกนั้นย่อมเป็นสัปปายะ อำนวยให้เกิดความสงบอยู่แล้ว จิตใจย่อมจะหยั่งลงสู่สมาธิได้ง่ายเป็นธรรมดา

หลวงปู่ยังเคยบอกด้วยว่า การเดินจงกรมจนกระทั่งจิตหยั่งลงสู่ความสงบนั้น จะเกิดสมาธิที่แข็งแกร่งกว่าสมาธิที่สำเร็จ จากการนั่งหรือนอน หรือแม้แต่การเข้าป่ายิ่งนัก

ด้วยเหตุนี้จะสังเกตว่า ในแถบจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ จะมีนักปฏิบัติหลายท่านชอบไปนั่งทำสมาธิใกล้ๆ วงพิณพาทย์ หรือใกล้ๆ ที่ที่มีเสียงอึกทึกครึกโครมต่างๆ ยิ่งดังเอะอะน่าเวียนหัวเท่าไหร่ก็ยิ่งชอบ

อย่างไรก็ตามแม้ว่าการทำสมาธินั้น ตามความเป็นจริงแล้วย่อมไม่เลือกสถานที่ปฏิบัติก็ตาม แต่สำหรับผู้ที่มีจิตเบา วอกแวกง่าย หรือผู้ที่ต้องการ “เครื่องทุ่นแรง” จำเป็นต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่อำนวยความสงบ พึงแสวงหาสถานที่ วิเวกหรือออกธุดงค์กัมมัฏฐานแสวงหาที่สงัดที่เปลี่ยว เช่น ถ้ำ เขา ป่าดงหรือป่าช้าที่น่าสพึงกลัว จะได้เป็นเครื่องสงบจิต ไม่ให้ฟุ้งซ่าน และตกอยู่ภายใต้การควบคุมของสติได้โดยง่าย ก็จะทำให้การบำเพ็ญสมาธิภาวนาสำเร็จได้สะดวกยิ่งขึ้น


(มีต่อ ๓)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 11 ก.ค.2004, 9:27 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน


ปริยัติ-ปฏิบัติ


ในหมู่ผู้สนใจศึกษาศาสนาจะมีข้อโต้แย้งกันเสมอระหว่าง การศึกษาจากตำรา คือศึกษาด้านปริยัติ กับอีกฝ่ายหนึ่งเน้นการปฏิบัติและไม่เน้นการศึกษาจากตำรา ว่าแนวทางใดจะให้ผลดีกว่ากัน

สำหรับหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ท่านเสนอแนะให้ดำเนินสายกลาง นั่นคือถ้าเน้นเพียงด้านใดด้านหนึ่ง แล้วละเลยอีกด้านหนึ่ง ก็เป็นการสุดโต่งไป

หลวงปู่ท่านแนะนำลูกศิษย์ลูกหาที่มุ่งปฏิบัติธรรมว่า ให้อ่านตำรับตำราส่วนที่เป็นพระวินัยให้เข้าใจ เพื่อที่จะปฏิบัติไม่ผิด แต่ในส่วนของพระธรรมนั้นให้ตั้งใจปฏิบัติเอา

จากคำแนะนำนี้แสดงว่าหลวงปู่ถือเรื่อง การปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระวินัยเป็นเรื่องสำคัญ และจะต้องมาก่อน ศึกษาให้เข้าใจ และปฏิบัติตนให้ถูก แล้วเรื่องคุณธรรมและปัญญาสามารถสร้างเสริมขึ้นได้ถ้าตั้งใจ

ยกตัวอย่างในกรณีของ หลวงตาแนน

หลวงตาแนนไม่เคยเรียนหนังสือ ท่านมาบวชพระเมื่อวัยเลย กลางคนไปแล้ว ท่านเป็นพระที่มีความตั้งใจดี ว่าง่ายสอนง่าย ขยัน ปฏิบัติกิจวัตรไม่ขาดตกบกพร่อง เห็นพระรูปอื่นเขาออกไปธุดงค์ก็อยากไปด้วย จึงไปขออนุญาตหลวงปู่

เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว หลวงตาแนนก็ให้บังเกิดความวิตกกังวล ปรับทุกข์ขึ้นว่า “กระผมไม่รู้หนังสือ ไม่รู้ภาษาพูดเขา จะปฏิบัติกับเขาได้อย่างไร”

หลวงปู่จึงแนะนำด้วยเมตตาว่า

“การปฏิบัติไม่ได้เกี่ยวกับอักขระ พยัญชนะ หรือคำพูดอะไรหรอก ที่รู้ว่าตนไม่รู้ก็ดีแล้ว สำหรับวิธีปฏิบัตินั้น ในส่วนวินัยให้พยายาม ดูแบบเขา ดูแบบอย่างครูบาอาจารย์ผู้นำ อย่าทำให้ผิดแผกจากท่าน ในส่วนธรรมะนั้นให้ดูที่จิตของตัวเอง ปฏิบัติที่จิต เมื่อเข้าใจจิตแล้วอย่างอื่นก็เข้าใจได้เอง”

เนื่องจากหลวงปู่ได้อบรมสั่งสอนลูกศิษย์ผู้ปฏิบัติมามากต่อมาก ท่านจึงให้ข้อสังเกตในการปฏิบัติธรรมระหว่างผู้ที่เรียนน้อยกับผู้ที่เรียนมากมาก่อนว่า

“ผู้ที่ยังไม่รู้หัวข้อธรรมอะไรเลย เมื่อปฏิบัติอย่างจริงจังมักจะได้ผลเร็ว เมื่อเขาปฏิบัติจนเข้าใจจิต หมดสงสัยเรื่องจิตแล้ว หันมาศึกษาตริตรองข้อธรรมในภายหลัง ก็จะรู้แจ้งแทงตลอดแตกฉานน่าอัศจรรย์”

“ส่วนผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนมาก่อน แล้วจึงหันมาปฏิบัติต่อภายหลัง จิตจะสงบเป็นสมาธิยากกว่าเพราะชอบใช้วิตกวิจารมาก เมื่อจิตวิตกวิจารมาก วิจิกิจฉาก็มาก จึงยากที่จะประสบผลสำเร็จ”

อย่างไรก็ตามข้อสังเกตดังกล่าว หลวงปู่ย้ำว่า “แต่ทั้งนี้ก็ไม่เสมอไปทีเดียว” แล้วท่านให้ข้อแนะนำต่อไปอีกว่า

“ผู้ที่ศึกษาทางปริยัติจนแตกฉานมาก่อนแล้ว เมื่อหันมามุ่งปฏิบัติอย่างจริงจัง จนถึงขั้นอธิจิต อธิปัญญาแล้ว ผลสำเร็จก็จะยิ่งวิเศษขึ้นไปอีก เพราะเป็นการเดินตามแนวทางปริยัติ ปฏิบัติ ย่อมแตกฉาน ทั้งอรรถะและพยัญชนะ ฉลาดในการชี้แจงแสดงธรรม”

หลวงปู่ได้ยกตัวอย่างพระเถระทั้งในอดีตและปัจจุบันเพื่อสนับสนุน ความคิดดังกล่าว ก็มีท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์) แห่งวัดบวรนิวาส กรุงเทพฯ และท่านอาจารย์พระมหาบัว ณานสมฺปนฺโน แห่งสำนักวัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี เป็นต้น

ทั้งสององค์นี้ “ได้ทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ อาจหาญชาญฉลาดในการแสดงธรรม เป็นประโยชน์ใหญ่หลวงแก่พระศาสนาเป็นอย่างยิ่ง”

โดยสรุป หลวงปู่สนับสนุนทั้งตำรา คือ ปริยัติและปฏิบัติต้องไปด้วยกัน และท่านย้ำว่า

“ผู้ใดหลงใหลในตำราและอาจารย์ ผู้นั้นไม่อาจพ้นทุกข์ได้ แต่ผู้ที่จะ พ้นทุกข์ได้ ต้องอาศัยตำราและอาจารย์เหมือนกัน”

ที่ผ่านมาได้กล่าวถึงการสอนของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ว่า ท่านไม่ทิ้งทั้งปริยัติและปฏิบัติ ต้องมีประกอบกัน

ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างการสอนของหลวงปู่จากประสบการณ์ของหลวงพ่อเพิ่ม กิตฺติวฒฺโน (พระมงคลวัฒนคุณ) แห่งวัดถ้ำไตรรัตน์ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ขอยกข้อความมาดังนี้
การศึกษาความรู้กับหลวงปู่ดูลย์เมื่อครั้งที่ท่าน (หลวงพ่อเพิ่ม) ยังเป็นสามเณรน้อย ได้รับการชี้แนะอบรมพร่ำสอนจากหลวงปู่ดูลย์อย่างใกล้ชิด โดยท่านจะเน้นให้ศิษย์ของท่านมีความสำนึกตรึกอยู่ในจิตเสมอถึงสภาวะความเป็นอยู่ในปัจจุบันว่า

บัดนี้เราได้บวชกายบวชใจเข้ามาอยู่ในบวรพุทธศาสนา เป็นสมณะที่ชาวบ้านทั้งหลายให้ความเคารพบูชา ทั้งยังอุปัฏฐากอุปถัมภ์ค้ำจุนด้วยปัจจัยสี่ ควรที่จะกระทำตนให้สมกับที่เขาเคารพบูชา ถือประพฤติปฏิบัติตามศีลธรรมตามพระวินัยอย่างเคร่งครัด ไม่ฝ่าฝืนทั้งที่ลับและที่แจ้ง

พระเณรที่มาบวชกับท่าน หลวงปู่จึงให้ศึกษาทั้งในด้านปริยัติและปฏิบัติควบคู่กันไป

ด้านปริยัติ ท่านให้เรียนนักธรรม บาลี ไวยากรณ์ ให้เรียนรู้ถึงเรื่องศีลธรรม พระวินัย เพื่อจะได้จดจำนำไปประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง ไม่ออกนอกลู่นอกทางที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ ซึ่งจะทำให้สามารถดำรงตนอยู่ได้อย่างเหมาะสมเยี่ยงผู้ถือบวช ที่ชาวบ้านเขาศรัทธากราบไหว้บูชา

ด้านปฏิบัติ ท่านเน้นหนักเป็นพิเศษให้พระเณรทุกรูปทุกองค์ปฏิบัติกัมมัฏฐาน เพราะการปฏิบัติพระธรรมกัมมัฏฐานนี้ จะเป็นการฝึกกายฝึกจิตให้ผู้ศึกษาธรรม ได้รู้ได้เห็นของจริงโดยสภาพที่เป็นจริง อันเกิดจากการรู้การเห็นของตนเอง ไม่ใช่เกิดจากการอ่านจดจำจากตำรับตำรา ซึ่งเป็นการรู้ด้วย สัญญาแห่งการจำได้หมายรู้ คือรู้แต่ยังไม่เห็น ยังไม่แจ้ง แทงตลอดอย่างแท้จริง

ข้อธรรมกัมมัฏฐานที่หลวงปู่ดูลย์ ท่านให้พิจารณาอยู่เป็นเนืองนิตย์ก็คือ หัวข้อกัมมัฏฐานที่ว่า สพฺเพ สงฺขารา สพฺพสญฺญา อนตฺตา

การพิจารณาตามหัวข้อธรรมกัมมัฏฐานดังกล่าวนี้ หากได้พิจารณาทบทวนอย่างสม่ำเสมอแล้ว ในเวลาต่อมาก็จะ รู้แจ้งสว่างไสว เข้าใจได้ชัดว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวง เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ หาความจีรังยั่งยืนไม่ได้ มีการเกิดดับ - เกิดดับอยู่ตลอดเวลา

เมื่อพิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว จะทำให้เลิกละจากการยึดถือตัวตนบุคคลเราท่าน เพราะได้รู้ได้เห็นของจริงแล้วว่า สังขารที่เรารักหวงแหนนั้น ไม่ช้าไม่นานมันก็ต้องเสื่อมสูญดับไปตามสภาวะของมัน ไม่อาจที่จะฝ่าฝืนได้

เมื่อสังขารดับได้แล้ว ความเป็นตัวเป็นตนก็จะไม่มี เพราะไม่ได้เข้าไปเพื่อปรุงแต่ง ครั้นเมื่อความปรุงแต่งขาดหายไป ความทุกข์จะเกิดได้อย่างไร


(มีต่อ ๔)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 11 ก.ค.2004, 9:44 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน


ศีล สมาธิ ปัญญา แต่ละระดับ


คำสอนของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล อีกประการหนึ่งที่ท่านแนะนำพร่ำสอน ต่อผู้มาขอแนวทางการปฏิบัติจากท่าน ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา จะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ดี ท่านจะให้ปฏิบัติโดยแนวทางแห่ง ศีล สมาธิ ปัญญา เหมือนกันหมด

หลวงพ่อเพิ่มท่านได้เล่าว่า สมัยที่ท่านยังเป็นสามเณร และอยู่กับหลวงปู่ดูลย์ ที่วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ มีคนเคยมาถามหลวงปู่ถึงคำสั่งสอนดังกล่าวของท่านว่า

“สอนเด็ก ก็สอน ศีล สมาธิ ปัญญา
สอนหนุ่มสาว ก็สอน ศีล สมาธิ ปัญญา
สอนผู้เฒ่าผู้แก่ ก็สอน ศีล สมาธิ ปัญญา
สอนพระเณร ก็สอน ศีล สมาธิ ปัญญา”


“ศีล สมาธิ ปัญญา ในระดับต่างๆ กันนั้น เหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร ?”

ขณะที่มีผู้ถามนั้น ตอนนั้นหลวงปู่ดูลย์กำลังปะชุนเย็บจีวรอยู่ เมื่อท่านฟังคำถามนั้นจบลง ท่านก็ยกเข็มให้ดู แล้วกล่าวว่า

“คุณลองดูว่าเข็มนี้แหลมไหม ?”

ผู้ถามก็ตอบว่า “แหลมขอรับหลวงปู่”

หลวงปู่อธิบายว่า :-

“ความแหลมคมของสติปัญญาในระดับเด็ก ระดับผู้ใหญ่ ก็มี ความแหลมคมไปคนละอย่าง แต่ในระดับความแหลมคมของสติปัญญาพระอรหันต์นั้น อยู่เหนือความแหลมคมทั้งหลายทั้งปวง

ความแหลมคมของเข็มนั้นเกิดจากคนเราทำขึ้น แต่สติปัญญาที่เกิดจากพระพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลายนั้นเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา ระดับโลกุตรธรรม ที่ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือน มีความมั่นคงไม่แปรเปลี่ยนอีกแล้ว

สำหรับสติปัญญาระดับปุถุชนก็เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา เช่นกัน แต่เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา ที่จะต้องระมัดระวัง เพราะยังอยู่ในขั้นโลกียธรรม ยังคงมีความเปลี่ยนแปลงผันแปรได้เสมอ”

คำตอบของหลวงปู่ดูลย์ดังกล่าวนั้น ชี้ให้เห็นถึงไหวพริบและปฏิภาณในการอธิบายข้อธรรมที่ลุ่มลึกได้อย่างฉับไว โดยสามารถยกสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เราคิดไม่ถึงมาเป็นตัวอย่างประกอบ ชี้ให้เห็นปัญหาที่ไต่ถามได้อย่างแจ่มแจ้ง ซึ่งนับว่าเป็นการอธิบายข้อธรรมที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง


(มีต่อ ๕)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 11 ก.ค.2004, 9:58 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน


สมาธิอันใด ปัญญาอันนั้น


มีเรื่องเล่าสมัยที่หลวงปู่เดินทางกลับจากอุบลฯ มาสุรินทร์ เพื่อโปรดญาติโยมในครั้งแรก ท่านมาในรูปแบบของพระธุดงค์กัมมัฏฐาน และพำนักโปรดญาติโยมอยู่ที่สำนักป่าบ้านหนองเสม็ด ตำบลเฉนียง อำเภอเมืองสุรินทร์

ในช่วงนั้นได้มีชายหัวนักเลงอันธพาลผู้หนึ่งมีความโหดร้ายระดับเสือ เป็นที่กลัวเกรงแก่ประชาชนในละแวกนั้น กลุ่มของชายผู้นี้ท่องเที่ยวหากินแถบชายแดนไทยและกัมพูชา

เมื่อได้ยินข่าวเล่าลือเกี่ยวกับพระธุดงค์มาพำนักที่บ้านเสม็ด เขามั่นใจว่าพระจะต้องเป็นผู้มีวิชาด้านคาถาอาคมอันล้ำเลิศอย่างแน่นอน จึงมีความประสงค์จะได้วัตถุมงคลเครื่องรางของขลังประเภทอยู่ยงคงกระพัน ยิงไม่ออกฟันไม่เข้า

ดังนั้นจึงพาลูกสมุนตัวกลั่น ๔ คน มีอาวุธครบครันแอบเข้าไปหาหลวงปู่อย่างเงียบๆ ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ ๒ ทุ่ม แถวหมู่บ้านป่าถือว่าดึกพอสมควรแล้ว ชาวบ้านที่มาฟังธรรม และมาบำเพ็ญสมาธิภาวนาพากันกลับหมดแล้ว

กลุ่มนักเลงแสดงตนให้ประจักษ์ กล่าวอ้อนวอนหลวงปู่ว่า พวกตนรักการดำเนินชีวิตท่ามกลางคมหอกคมดาบ และได้ก่อศัตรูไม่น้อย ที่มาครั้งนี้ก็เพราะมีความเลื่อมใสศรัทธา มีเจตนาจะมาขอวิชาคาถาอาคมไว้ป้องกันตัวให้พ้นจากอันตราย

ขอพระคุณท่านได้โปรดมีจิตเมตตา เห็นแก่ความลำบากยากเข็ญของพวกกระผมที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรค หลบศัตรูมั่งร้ายหมายขวัญ ได้โปรดถ่ายทอดวิชาอาคมให้พวกกระผมเถิด

หลวงปู่กล่าวกับชายกลุ่มนั้นว่า “ข้อนี้ไม่ยาก แต่ว่าผู้ที่จะรับวิชาอาคมของเราได้นั้น จะต้องมีการปรับพื้นฐานจิตใจให้แข็งแกร่ง เสียก่อน มิฉะนั้นจะรองรับอาถรรพ์ไว้ไม่อยู่ วิชาก็จะย้อนเข้าตัวเกิดวิบัติภัยร้ายแรงได้”

ว่าดังนั้นแล้ว หลวงปู่ก็แสดงพื้นฐานของวิชาอาคมของท่านว่า “คาถาทุกคาถา หรือวิชาอาคมที่ประสงค์จะเรียนนั้น จะต้องอาศัยพื้นฐานคือ พลังจิต จิตจะมีพลังได้ก็ต้องมีสมาธิ สมาธินั้นจะเกิดขึ้นได้ก็แต่จากการนั่งภาวนาทำใจให้สงบ วิชาที่จะ ร่ำเรียนไปจึงจะบังเกิดผลศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีพิบัติภัยตามมา”

ฝ่ายนักเลงเหล่านั้น เมื่อเห็นอากัปกิริยาอันสงบเย็นมั่นคง มิได้รู้สึกสะทกสะท้านต่อพวกเขา ประกอบกับปฏิปทาอันงดงามของท่าน ก็เกิดความเย็นกาย เย็นใจ เลื่อมใสนับถือ อีกอย่างก็มีความอยากได้วิชาอาคมดังกล่าว จึงยินดีปฏิบัติตาม

หลวงปู่ได้แนะนำให้นั่งสมาธิภาวนา แล้วบริกรรมภาวนาในใจว่า พุทโธ พุทโธ ชั่วเวลาประมาณ ๑๐ - ๒๐ นาทีเท่านั้น จอมนักเลงก็รู้สึกสงบเย็น ยังปีติให้บังเกิดซาบซ่านขึ้นอย่างแรง เป็นปีติชนิดโลดโผน เกิดอาการสะดุ้งสุดตัว ขนลุกขนชัน และร้องไห้

เห็นปรากฏชัดในสิ่งที่ตนเคยกระทำมา เห็นวัวควายกำลังถูกฆ่า เห็นคนที่มีอาการทุรนทุรายเนื่องจากถูกทำร้าย เห็นความชั่วช้าเลวทรามต่างๆ ของตน ทำให้รู้สึกสังเวชสลดใจอย่างยิ่ง

หลวงปู่ก็ปลอบโยนให้การแนะนำว่า “ให้ตั้งสมาธิภาวนาต่อไปอีก ทำต่อไป ในไม่ช้าก็จะพ้นจากภาวะนั้นอย่างแน่นอน”

นักเลงเหล่านั้นพากันนั่งสมาธิภาวนาอยู่กับหลวงปู่ไปจนตลอดคืน ครั้นรุ่งเช้า อานุภาพแห่งศีลและสมาธิที่ได้รับการอบรมฝึกฝนมาตลอดทั้งคืนก็ยังปัญญาให้เกิดแก่นักเลงเหล่านั้น

จิตใจของพวกเขารู้สึกอิ่มเอิบด้วยธรรม เปี่ยมไปด้วยศรัทธา บังเกิดความเลื่อมใส จึงเปลี่ยนใจไปจากการอยากได้วิชาอาคมขลัง ตลอดจนกลับใจเลิกพฤติกรรมอันทำความเดือดร้อนทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่นจนหมดสิ้น ปฏิญาณตนเป็นคำตายกับหลวงปู่ว่า จะไม่ทำกรรมชั่วทุจริตอีกแล้ว

เมื่อพิจารณาเหตุการณ์ในครั้งนี้ จะเห็นว่าในขณะที่พวกเขาทั้ง ๕ อยู่ต่อหน้าหลวงปู่ พวกเขามิได้กระทำกรรมชั่วอันใดลงไป ส่วนกรรมชั่วที่เขาเคยกระทำมาแล้วก็หยุดไว้ชั่วขณะ แฝงซ่อนเร้นหลบ อยู่ในขันธสันดานของเขา

ในตอนนั้นพวกเขาก็มีเพียงความรู้สึกโลภ ด้วยการอยากได้คาถา อาคมจากหลวงปู่ แต่ความโลภช่วงนั้นได้สร้างความศรัทธาให้เกิด ทำให้ตั้งใจปฏิบัติตามคำสอน

ในขณะจิตที่ตั้งใจ ความชั่วทั้งหลายก็หยุดพักไว้ ศีลก็มีความสมบูรณ์ พอที่จะเป็นบาทฐานของสมาธิภาวนาได้ เมื่อรักษาได้อย่างนั้นไม่ขาดสาย จิตย่อมตั้งมั่นอยู่ด้วยดี เรียกว่า มีสมาธิจิตที่ไม่กำเริบแปรปรวน เรียกว่าจิตมีศีล และอาการตั้งมั่นอยู่ด้วยดีเรียกว่ามีสมาธิ ย่อมมีความคล่องแคล่วแก่การงาน ควรแก่การพิจารณาปัญหาต่างๆได้เป็นอย่างดี เรียกว่า สติปัญญา

ความรู้สึกและอารมณ์ดังกล่าว ตรงตามคำสอนของพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต ที่ว่า “ศีลอันใด สมาธิอันนั้น สมาธิใด ปัญญาอันนั้น”


(มีต่อ ๖)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 11 ก.ค.2004, 10:06 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน


วิธีเจริญสมาธิภาวนา


วิธีเจริญสมาธิภาวนาตามแนวการสอนของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล มีดังต่อไปนี้

๑. เริ่มต้นด้วยอิริยาบถที่สบาย ยืน เดิน นั่ง นอน ได้ตามสะดวก

ทำความรู้ตัวเต็มที่ และ รู้อยู่กับที่ โดยไม่ต้องรู้อะไร คือ รู้ตัว หรือรู้ “ตัว” อย่างเดียว

รักษาจิตเช่นนี้ไว้เรื่อยๆ ให้ “รู้อยู่เฉยๆ” ไม่ต้องไปจำแนกแยกแยะ อย่าบังคับ อย่าพยายาม อย่าปล่อยล่องลอยตามยถากรรม

เมื่อรักษาได้สักครู่ จิตจะคิดแส่ไปในอารมณ์ต่างๆ โดยไม่มีทางรู้ทันก่อน เป็นธรรมดาสำหรับผู้ฝึกใหม่ ต่อเมื่อจิตแล่นไป คิดไปในอารมณ์นั้นๆ จนอิ่มแล้ว ก็จะรู้สึกตัวขึ้นมาเอง เมื่อรู้สึกตัวแล้วให้พิจารณาเปรียบเทียบสภาวะของตนเอง ระหว่างที่มีความรู้อยู่กับที่ และระหว่างที่จิตคิดไปในอารมณ์ ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร เพื่อเป็นอุบายสอนจิตให้จดจำ

จากนั้นค่อยๆ รักษาจิตให้อยู่ในสภาวะรู้อยู่กับที่ต่อไป ครั้นพลั้งเผลอรักษาไม่ดีพอ จิตก็จะแล่นไปเสวยอารมณ์ข้างนอกอีกจนอิ่มแล้ว ก็จะกลับรู้ตัว รู้ตัวแล้วก็พิจารณาและรักษาจิตต่อไป

ด้วยอุบายอย่างนี้ ไม่นานนัก ก็จะสามารถควบคุมจิตได้และบรรลุสมาธิในที่สุด และจะเป็นผู้ฉลาดใน “พฤติแห่งจิต” โดยไม่ต้องไปปรึกษาหารือใคร

ข้อห้าม ในเวลาจิตฟุ้งเต็มที่ อย่าทำ เพราะไม่มีประโยชน์และยังทำให้บั่นทอนพลังความเพียร ไม่มีกำลังใจในการ เจริญจิตครั้งต่อๆ ไป

ในกรณีที่ไม่สามารทำเช่นนี้ได้ ให้ลองนึกคำว่า “พุทโธ” หรือคำอะไรก็ได้ที่ไม่เป็นเหตุเย้ายวน หรือเป็นเหตุขัดเคืองใจ นึกไปเรื่อยๆ แล้วสังเกตดูว่า คำที่นึกนั้น ชัดที่สุดที่ตรงไหน ที่ตรงนั้นแหละคือฐานแห่งจิต

พึงสังเกตว่า ฐานนี้ไม่อยู่คงที่ตลอดกาล บางวันอยู่ที่หนึ่ง บางวันอยู่อีกที่หนึ่ง

ฐานแห่งจิตที่คำนึงพุทโธปรากฏชัดที่สุดนี้ ย่อมไม่อยู่ภายนอกกายแน่นอน ต้องอยู่ภายในกายแน่ แต่เมื่อพิจารณาดูให้ดีแล้ว จะเห็นว่าฐานนี้จะว่าอยู่ที่ส่วนไหนของร่างกายก็ไม่ถูก ดังนั้น จะว่าอยู่ภายนอกก็ไม่ใช่ จะว่าอยู่ภายในก็ไม่เชิง เมื่อเป็นเช่นนี้ แสดงว่าได้กำหนดถูกฐานแห่งจิตแล้ว

เมื่อกำหนดถูก และพุทโธปรากฏในมโนนึกชัดเจนดี ก็ให้กำหนดนึกไปเรื่อย อย่าให้ขาดสายได้

ถ้าขาดสายเมื่อใด จิตก็จะแล่นไปสู่อารมณ์ทันที

เมื่อเสวยอารมณ์อิ่มแล้ว จึงจะรู้สึกตัวเอง ก็ค่อยๆ นึกพุทโธต่อไป ด้วยอุบายวิธีในทำนองเดียวกับที่กล่าวไว้เบื้องต้น ในที่สุดก็จะค่อยๆ ควบคุมจิตให้อยู่ในอำนาจได้เอง

ข้อควรจำ ในการกำหนดจิตนั้น ต้องมีเจตจำนงแน่วแน่ในอันที่จะเจริญจิตให้อยู่ในสภาวะที่ต้องการ

เจตจำนงนี้ คือ ตัว “ศีล”

การบริกรรม “พุทโธ” เปล่าๆ โดยไร้เจตจำนงไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย กลับเป็นเครื่องบั่นทอนความเพียร ทำลายกำลังใจในการเจริญจิตในคราวต่อๆ ไป

แต่ถ้าเจตจำนงมั่นคง การเจริญจิตจะปรากฏผลทุกครั้ง ไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน

ดังนั้น ในการนึก พุทโธ การเพ่งเล็งสอดส่องถึงความชัดเจนและความไม่ขาดสายของพุทโธจะต้องเป็นไปด้วยความไม่ลดละ

เจตจำนงที่มีอยู่อย่างไม่ลดละนี้ หลวงปู่เคยเปรียบไว้ว่ามีลักษณาการประหนึ่งบุรุษผู้หนึ่งจดจ้องสายตาอยู่ที่คมดาบที่ข้าศึกเงื้อขึ้นสุดแขน พร้อมที่จะฟันลงมา บุรุษผู้นั้นจดจ้องคอยทีอยู่ว่าถ้าคมดาบนั้นฟาดฟันลงมา ตนจะหลบหนีประการใดจึงจะพ้นอันตราย

เจตจำนงต้องแน่วแน่เห็นปานนี้ จึงจะยังสมาธิให้บังเกิดได้ ไม่เช่นนั้นอย่าทำให้เสียเวลาและบั่นทอนความศรัทธาของตนเองเลย

เมื่อจิตค่อยๆ หยั่งลงสู่ความสงบทีละน้อยๆ อาการที่จิตแล่นไปสู่อารมณ์ภายนอก ก็ค่อยๆ ลดความรุนแรงลง ถึงไปก็ไปประเดี๋ยวประด๋าวก็รู้สึกตัวได้เร็ว ถึงตอนนี้คำบริกรรมพุทโธ ก็จะขาดไปเอง เพราะคำบริกรรมนั้นเป็นอารมณ์หยาบ เมื่อจิตล่วงพ้นอารมณ์หยาบและคำบริกรรมขาดไปแล้ว ไม่ต้องย้อนถอยมาบริกรรมอีก เพียงรักษาจิตไว้ในฐานที่กำหนดเดิมไปเรื่อยๆ และสังเกตดูความรู้สึก และ “พฤติแห่งจิต” ที่ฐานนั้นๆ

บริกรรมเพื่อรวมจิตให้เป็นหนึ่ง สังเกตดูว่า ใครเป็นผู้บริกรรมพุทโธ

๒. ดูจิตเมื่ออารมณ์สงบแล้ว ให้สติจดจ่ออยู่ที่ฐานเดิมเช่นนั้น เมื่อมีอารมณ์อะไรเกิดขึ้น ก็ให้ละอารมณ์นั้นทิ้งไป มาดูที่จิตต่อไปอีก ไม่ต้องกังวลใจ พยายามประคับประคองรักษาให้จิตอยู่ในฐานที่ตั้งเสมอๆ สติคอยกำหนดควบคุมอยู่อย่างเงียบๆ (รู้อยู่) ไม่ต้องวิจารณ์กิริยาจิตใดๆ ที่เกิดขึ้น เพียงกำหนดรู้แล้วละไปเท่านั้น เป็นไปเช่นนี้เรื่อยๆ ก็จะค่อยๆ เข้าใจกิริยาหรือพฤติแห่งจิตได้เอง (จิตปรุงกิเลส หรือกิเลสปรุงจิต)

ทำความเข้าใจในอารมณ์ความนึกคิด สังเกตอารมณ์ทั้งสามคือ ราคะ โทสะ โมหะ

๓. อย่าส่งจิตออกนอก กำหนดรู้อยู่ในอารมณ์เดียวเท่านั้น อย่าให้ซัดส่ายไปในอารมณ์ภายนอก เมื่อจิตเผลอคิดไป ก็ให้ตั้งสติระลึกถึงฐานกำหนดเดิม รักษาสัมปชัญญะให้สมบูรณ์อยู่เสมอ (รูปนิมิต ให้ยกไว้ ส่วนนามนิมิตทั้งหลายอย่าได้ใส่ใจกับมัน)

ระวังจิตไม่ให้คิดถึงเรื่องภายนอก สังเกตการหวั่นไหวของจิตตามอารมณ์ที่รับมาทางอายตนะ ๖

๔. จงทำญาณให้เห็นจิต เหมือนดั่งตาเห็นรูป เมื่อเราสังเกตกิริยาจิตไปเรื่อยๆ จนเข้าใจถึงเหตุปัจจัยของอารมณ์ความนึกคิดต่างๆ ได้แล้ว จิตก็จะค่อยๆ รู้เท่าทันการเกิดของอารมณ์ต่างๆ อารมณ์ความนึกคิดต่างๆ ก็จะค่อยๆ ดับไปเรื่อยๆ จนจิตว่างจากอารมณ์ แล้วจิตก็จะเป็นอิสระ อยู่ต่างหากจากเวทนาของรูปกาย อยู่ที่ฐานกำหนดเดิมนั่นเอง การเห็นนี้เป็นการเห็นด้วยปัญญาจักษุ

คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ ต่อเมื่อหยุดคิดจึงรู้ แต่ต้องอาศัยคิด

๕. แยกรูปถอด ด้วยวิชชา มรรคจิต เมื่อสามารถเข้าใจได้ว่า จิต กับ กาย อยู่คนละส่วนได้แล้ว ให้ดูที่จิตต่อไปว่า ยังมีอะไรหลงเหลืออยู่ที่ฐานที่กำหนด (จิต) อีกหรือไม่ พยายามใช้สติ สังเกตดูที่จิต ทำความสงบอยู่ในจิตไปเรื่อยๆ จนสามารถเข้าใจ พฤติแห่งจิต ได้อย่างละเอียดละออตามขั้นตอน เข้าใจในความเป็นเหตุเป็นผลกันว่าเกิดจากความคิดนั่นเอง และความคิดมันออกไปจากจิตนี่เอง ไปหาปรุงหาแต่งหาก่อหาเกิดไม่มีที่สิ้นสุด มันเป็นมายาหลอกลวงให้คนหลง แล้วจิตก็จะเพิกถอนสิ่งที่มีอยู่ในจิตไปเรื่อยๆ จนหมด หมายถึงเจริญจิตจนสามารถเพิกรูปปรมาณูวิญญาณที่เล็กที่สุดภายในจิตได้

คำว่า แยกรูปถอด นั้น หมายความถึง แยกรูปวิญญาณ นั่นเอง

๖. เหตุต้องละ ผลต้องละ เมื่อเจริญจิตจนปราศจากความคิดปรุงแต่งได้แล้ว (ว่าง) ก็ไม่ต้องอิงอาศัยกับกฎเกณฑ์แห่งความเป็นเหตุเป็นผลใดๆ ทั้งสิ้น จิตก็จะอยู่เหนือภาวะแห่งคลองความคิดนึกต่างๆ อยู่เป็นอิสระ ปราศจากสิ่งใดๆ ครอบงำอำพรางทั้งสิ้น

เรียกว่า “สมุจเฉทธรรมทั้งปวง”

๗. ใช้หนี้ก็หมด พ้นเหตุเกิด เมื่อเพิกรูปปรมาณูที่เล็กที่สุดเสียได้ กรรมชั่วที่ประทับ บรรจุ บันทึกถ่ายภาพ ติดอยู่กับรูปปรมาณูนั้นก็หมดโอกาสที่จะให้ผลต่อไปในเบื้องหน้า การเพิ่มหนี้ก็เป็นอันสะดุดหยุดลง เหตุปัจจัยภายนอกภายในที่มากระทบ ก็เป็นสักแต่ว่ามากระทบ ไม่มีผลสืบเนื่องต่อไป หนี้กรรมชั่วที่ได้ทำไว้ตั้งแต่ชาติแรก ก็เป็นอันได้รับการชดใช้หมดสิ้น หมดเรื่องหมดราวหมดพันธะผูกพันที่จะต้องเกิดมาใช้หนี้กรรมกันอีก เพราะ กรรมชั่วอันเป็นเหตุให้ต้องเกิดอีกไม่อาจให้ผลต่อไปได้ เรียกว่า “พ้นเหตุเกิด”

๘. ผู้ที่ตรัสรู้แล้ว เขาไม่พูดหรอกว่า เขารู้อะไร

เมื่อธรรมทั้งหลายได้ถูกถ่ายทอดไปแล้ว สิ่งที่เรียกว่าธรรม จะเป็นธรรมไปได้อย่างไร สิ่งที่ว่าไม่มีธรรมนั่นแหละ มันเป็นธรรมของมันในตัว (ผู้รู้น่ะจริง แต่สิ่งที่ถูกรู้ทั้งหลายนั้นไม่จริง)

เมื่อจิตว่างจาก “พฤติ” ต่างๆ แล้ว จิตก็จะถึง ความว่างที่แท้จริง ไม่มีอะไรให้สังเกตได้อีกต่อไป จึงทราบได้ว่าแท้ที่จริงแล้ว จิตนั้นไม่มีรูปร่าง มันรวมอยู่กับความว่าง ในความว่างนั้น ไม่มีขอบเขต ไม่มีประมาณ ซึมซาบอยู่ในสิ่งทุกๆ สิ่ง และจิตกับผู้รู้เป็นสิ่งเดียวกัน

เมื่อจิตกับผู้รู้เป็นสิ่งสิ่งเดียวกัน และเป็นความว่าง ก็ย่อมไม่มีอะไรที่จะให้อะไรหรือให้ใครรู้ถึง ไม่มีความเป็นอะไรจะไปรู้สภาวะของอะไร ไม่มีสภาวะของใครจะไปรู้ความมีความเป็นของอะไร


เมื่อเจริญจิตจนเข้าถึงสภาวะเดิมแท้ของมันได้ดังนี้แล้ว “จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง” จิตก็จะอยู่เหนือสภาวะสมมติบัญญัติทั้งปวง เหนือความมีความเป็นทั้งปวง มันอยู่เหนือคำพูด และพ้นไปจากการกล่าวอ้างใดๆ ทั้งสิ้น เป็นธรรมชาติอันบริสุทธิ์และสว่าง รวมกันเข้ากับความว่างอันบริสุทธิ์และสว่างของจักรวาลเดิม เข้าเป็นหนึ่งเรียกว่า “นิพพาน”

โดยปกติ คำสอนธรรมะของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล นั้นเป็นแบบ “ปริศนาธรรม” มิใช่เป็นการบรรยายธรรม ฉะนั้นคำสอนของท่านจึงสั้น จำกัดในความหมายของธรรม เพื่อไม่ให้เฝือหรือฟุ่มเฟือยมากนัก เพราะจะทำให้สับสน เมื่อผู้ใดเป็นผู้ปฏิบัติธรรม เขาย่อมเข้าใจได้เองว่า กิริยาอาการของจิตที่เกิดขึ้นนั้น มีมากมายหลายอย่าง ยากที่จะอธิบายให้ได้หมด ด้วยเหตุนั้น หลวงปู่ท่านจึงใช้คำว่า “พฤติของจิต” แทนกิริยาทั้งหลายเหล่านั้น

คำว่า “ดูจิต อย่าส่งจิตออกนอก ทำญาณให้เห็นจิต” เหล่านี้ย่อมมีความหมายครอบคลุมไปทั้งหมดตลอดองค์ภาวนา แต่เพื่ออธิบายให้เป็นขั้นตอน จึงจัดเรียงให้ดูง่าย เข้าใจง่ายเท่านั้น หาได้จัดเรียงไปตามลำดับกระแสการเจริญจิตแต่อย่างใดไม่

ท่านผู้มีจิตศรัทธาในทางปฏิบัติ เมื่อเจริญจิตภาวนาตามคำสอนแล้ว ตามธรรมดาการปฏิบัติในแนวนี้ ผู้ปฏิบัติจะค่อยๆ มีความรู้ความเข้าใจได้ด้วยตนเองเป็นลำดับๆ ไป เพราะมีการใส่ใจสังเกตและกำหนดรู้ “พฤติแห่งจิต” อยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าหากเกิดปัญหาในระหว่างการ ปฏิบัติ ควรรีบเข้าหาครูบาอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาธุระโดยเร็ว หากประมาทแล้วอาจผิดพลาดเป็นปัญหาตามมาภายหลังเพราะคำว่า “มรรคปฏิปทา” นั้น จะต้องอยู่ใน “มรรคจิต” เท่านั้น มิใช่มรรคภายนอกต่างๆ นานาเลย

การเจริญจิตเข้าสู่ที่สุดแห่งทุกข์นั้น จะต้องถึงพร้อมด้วยวิสุทธิศีล วิสุทธิมรรค พร้อมทั้ง ๓ ทวาร คือ กาย วาจา ใจ จึงจะยังกิจให้ลุล่วงถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้



อเหตุกจิต ๓ ประการ

๑. ปัญจทวารวัชนจิต คือ กิริยาจิตที่แฝงอยู่ตามอายตนะหรือ ทวารทั้ง ๕ มีดังนี้

ตา ไปกระทบกับรูป เกิด จักษุวิญญาณ คือ การเห็น จะห้าม ไม่ให้ตาเห็นรูปไม่ได้

หู ไปกระทบกับเสียง เกิด โสตวิญญาณ คือ การได้ยิน จะห้าม ไม่ให้หูได้ยินเสียงไม่ได้

จมูก ไปกระทบกับกลิ่น เกิด ฆานวิญญาณ คือ การได้กลิ่น จะห้ามไม่ให้จมูกรับกลิ่นไม่ได้

ลิ้น ไปกระทบกับรส เกิด ชิวหาวิญญาณ คือ การได้รส จะห้าม ไม่ให้ลิ้นรับรู้รสไม่ได้

กาย ไปกระทบกับโผฏฐัพพะ เกิด กายวิญญาณ คือ กายสัมผัส จะห้ามไม่ให้กายรับสัมผัสไม่ได้

วิญญาณทั้ง ๕ อย่างนี้ เป็นกิริยาแฝงอยู่ในกายตามทวาร ทำหน้าที่รับรู้สิ่งต่างๆ ที่มากระทบ เป็นสภาวะแห่งธรรมชาติของมันเป็นอยู่เช่นนั้น

ก็แต่ว่า เมื่อจิตอาศัยทวารทั้ง ๕ เพื่อเชื่อมต่อรับรู้เหตุการณ์ภายนอกที่เข้ามากระทบ แล้วส่งไปยังสำนักงานจิตกลางเพื่อรับรู้ เราจะห้ามมิให้เกิด มี เป็น เช่นนั้น ย่อมกระทำไม่ได้

การป้องกันทุกข์ที่จะเกิดจากทวารทั้ง ๕ นั้น เราจะต้องสำรวมอินทรีย์ ทั้ง ๕ ไม่เพลิดเพลินในอายตนะเหล่านั้น หากจำเป็นต้องอาศัยอายตนะทั้ง ๕ นั้น ประกอบการงานทางกาย ก็ควรจะกำหนดจิตให้ตั้งอยู่ในจิต เช่นเมื่อเห็นก็สักแต่ว่าเห็น ไม่คิดปรุง ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน ไม่คิดปรุง ดังนี้เป็นต้น

(ไม่คิดปรุงหมายความว่า ไม่ให้จิตเอนเอียงไปในความเห็นดีชั่ว)

๒. มโนทวารวัชนจิต คือ กิริยาจิตที่แฝงอยู่ที่มโนทวาร มีหน้าที่ผลิตความคิดนึกต่างๆ นานา คอยรับเหตุการณ์ภายในภายนอกที่มากระทบ จะดีหรือชั่วก็สะสมเอาไว้ จะห้ามจิตไม่ให้คิดในทุกๆ กรณีย่อมไม่ได้

ก็แต่ว่าเมื่อจิตคิดปรุงไปในเรื่องราวใดๆ ถึงวัตถุ สิ่งของ บุคคลอย่างไร ก็ให้กำหนดรู้ว่าจิตคิดถึงเรื่องเหล่านั้น ก็สักแต่ว่าความคิด ไม่ใช่ สัตว์บุคคล เราเขา ไม่ยึดถือวิจารณ์ความคิดเหล่านั้น

ทำความเห็นให้เป็นปกติ ไม่ยึดถือความเห็นใดๆ ทั้งสิ้น จิตย่อมไม่ไหลตามกระแสอารมณ์เหล่านั้น ไม่เป็นทุกข์

๓. หสิตุปบาท คือ กิริยาที่จิตยิ้มเอง โดยปราศจากเจตนาที่จะยิ้ม หมายความว่าไม่อยากยิ้มมันก็ยิ้มของมันเอง กิริยาจิตอันนี้มีเฉพาะ เหล่าพระอริยเจ้าเท่านั้น ในสามัญชนไม่มี

สำหรับ อเหตุกจิต ข้อ (๑) และ (๒) มีเท่ากันในพระอริยเจ้าและในสามัญชน นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เมื่อตั้งใจปฏิบัติตนออกจากกองทุกข์ ควรพิจารณา อเหตุกจิตนี้ให้เข้าใจด้วย เพื่อความไม่ผิดพลาดในการ บำเพ็ญปฏิบัติธรรม

อเหตุกจิตนี้ นักปฏิบัติทั้งหลายควรทำความเข้าใจให้ได้ เพราะถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว เราจะพยายามบังคับสังขารไปหมด ซึ่งเป็นอันตรายต่อการปฏิบัติธรรมมาก เพราะความไม่เข้าใจในอเหตุกจิต ข้อ (๑) และ (๒) นี้เอง

อเหตุกจิต ข้อ (๓) เป็นกิริยาจิตที่ยิ้มเอง โดยปราศจากเจตนาที่จะยิ้ม เกิดในจิตของเหล่าพระอริยเจ้าเท่านั้น ในสามัญชนไม่มี เพราะกิริยาจิตนี้ เป็นผลของการเจริญจิตจนอยู่เหนือมายาสังขารได้แล้ว จิตไม่ต้องติดข้อง ในโลกมายา เพราะความรู้เท่าทันเหตุปัจจัยแห่งการปรุงแต่งได้แล้ว เป็นอิสระด้วยตัวมันเอง


(มีต่อ ๗)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 11 ก.ค.2004, 10:17 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน


อธิบายหลักธรรมสำคัญเกี่ยวกับสมาธิ


เมื่อสังขารขันธ์ดับได้แล้ว ความเป็นตัวตนจักมีไม่ได้ เพราะไม่ได้ เข้าไปเพื่อปรุงแต่ง เมื่อความปรุงแต่งขาดไป ความทุกข์จะเกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อความเป็นตัวตนไม่มี ความทุกข์จะเกิดขึ้นแก่ใคร

สรุปใจความ “อริยสัจแห่งจิต” ได้ว่า

จิตที่ส่งออกนอกเพื่อรับสนองอารมณ์ทั้งสิ้น เป็นสมุทัย
ผลของจิตที่ส่งออกนอกนั้น เป็นทุกข์
จิตเห็นจิต เป็นมรรค
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต เป็นนิโรธ

อธิบายเปรียบเทียบ


อันการปฏิบัติธรรมนั้น ได้แก่ การปฏิบัติสมถะและวิปัสสนากัมมัฏฐาน การปฏิบัตินั้นก็มุ่งความหลุดพ้นเพียงอย่างเดียว กล่าวโดยสรุป จิต คือ พุทโธ จิต คือ ธรรม เป็นสภาวะพิเศษที่ไม่มีการไปการมา เป็นความบริสุทธิ์ล้วนๆ โดยไม่ต้องมีตัวผู้บริสุทธิ์หรือผู้รู้ว่าบริสุทธิ์ อยู่เหนือความดีและความชั่วทั้งปวง ไม่อาจจัดเข้าลักษณะว่าเป็นรูป หรือเป็นนามได้ เมื่อได้เข้าถึงสภาวะอย่างนี้แล้ว อาการต่างๆ ของจิตที่เป็นไป หรือจะเรียกว่ากิริยาจิตก็ได้ ทั้งในภาคสมถะและวิปัสสนา เช่น แสงสีต่างๆ เป็นต้น ท่านย่อมต้องถือว่า เป็นของภายนอก เป็น สิ่งแปลกปลอมปรุงแต่ง ไม่ควรใส่ใจยึดถือเป็นสาระแก่นสารแม้แต่ “ฌานสมาบัติ” ก็ย่อมเป็นของประจำโลกเท่านั้น ไม่ใช่หนทางวิเศษ ในกรณีนี้แต่อย่างใดเลย จะเห็นได้จากการบำเพ็ญเพียรของพระบรมศาสดา พระองค์ทรงละเสียซึ่งธรรมลักษณะเหล่านี้โดยสิ้นเชิง กล่าวคือ เมื่อพระองค์ออกจากจตุตถฌานและเวทนาขาดสิ้น สภาวะจิตถึงการดับ รอบตัวเองแล้ว ภวังคจิตขาดไปแล้ว ไม่สืบต่ออีกเลย เป็นอันสิ้นสุด สังสารวัฏ ณ ขณะนั้น นั่นเอง เรียกว่า “นิพพาน” คือ การดับสนิทแห่งสภาวธรรมทั้งปวง

ดังนั้น ไม่ว่าแสงสี ฌานสมาบัติใดๆ หรือแม้แต่ภวังคจิตเอง ก็ไม่น่าที่จะไปกำหนดรู้เพื่อการยึดถืออะไร เพราะเป็นของเกิดๆ ดับๆ เป็นของปรุงแต่งขึ้น เป็นของประจำโลก ก็แลจิตที่กล่าวถึงนี้ แท้จริงก็มีการเกิดๆ ดับๆ อยู่ร่ำไปเป็นธรรมดา จึงกล่าวได้ว่า แม้แต่ตัวจิตเองก็ไม่คงทนถาวรอะไร ถึงซึ่งการดับรอบโดยสิ้นเชิงได้เช่นเดียวกัน เมื่อกล่าวกันให้เป็นอุดมธรรมปรมัตถธรรมจริงๆแล้ว แม้แต่ พุทโธ ธรรมโม สังโฆ ก็ยังเป็นสมมติบัญญัติอยู่ดีนั่นเอง พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า พระองค์ได้ทำลายเรือน คืออาณาจักรของตัณหาเสียแล้ว ตัณหาไม่อาจมาสร้างเหย้าเรือนให้เป็นภพเป็นชาติได้อีกเลย ทรงเพิกเสียซึ่งภพชาติสิ้นแล้ว แม้แต่ตัวจิตเองก็คงสภาพเดิม คือ ฐีติจิต ฐีติธรรมอันเป็นธรรมดา

ด้วยเหตุนี้เอง ภิกษุทั้งหลายจึงพึงสังวรอย่างยิ่งยวด ไม่พึงปรับอาบัติ หรือโทษต่างๆแก่พระอรหันต์เลย ก็อย่าว่าแต่ความผิดบาปเลย แม้กระทั่งความดี พระอรหันต์ท่านก็ยังละเสียได้อย่างเด็ดขาด ท่านอยู่เหนือความดีความชั่วทั้งหลายแล้วโดยสิ้นเชิง อย่าได้ยึดถือพระสูตรบางเรื่องที่ว่ามีการปรับโทษพระอรหันต์ เช่น ความผิดที่ไม่ร่วมสมาคม หรือสังฆกรรมกับหมู่สงฆ์ ดังนี้เป็นอันขาด เมื่อจักปฏิบัติแล้วก็ไม่ควรไปวุ่นวายกับชาดกนิทานแปลกปลอมนนั่น มุ่งพิจารณาจิตอย่างเดียว ไม่ว่าพบเห็นหรือได้ยินได้ฟังสิ่งใดอย่างไร ให้ย้อนเข้ามาในจิตให้ได้ จนสามารถรู้จิตเห็นจิต เข้าถึงสภาวะแห่งความรู้แจ้งแทงตลอดในธรรม ถึงความดับรอบแห่งจิตในขั้นสุดท้าย การพ้นสมมติบัญญัตินั้นย่อมหมายรวมถึงธรรมด้วย เช่น อายตนะทั้งหลายซึ่งเป็นมายา หรือแม้แต่ตัวจิตเองก็ตามย่อมเป็นของบัญญัติขึ้นมา ไม่ว่าจะพูดกันถึงอะไรครั้งใดก็ไม่มีพ้นสมมติบัญญัติไปได้ การหยุด คิดหยุดนึก ก็คือ หยุดพูด หยุดเคลื่อนไหว หยุดกิริยาแห่งจิต หมายถึง การหยุดสังสารวัฏนั่นเอง เพราะไม่ว่าเราจะกำหนดจิต คิดถึงสิ่งใดๆ สิ่งนั้นๆ ก็ยังเป็นสิ่งภายนอกอยู่ดี เป็นของปรุงแต่งขึ้นมาในโลก การกำหนดรู้ ก็ย่อมจะมีสิ่งที่ถูกกำหนดรู้เป็นธรรมดา จะเป็นรูปก็ตาม เป็นนามก็ตาม เมื่อสิ่งนั้นถูกกำหนดรู้ได้ ก็ย่อมจะมีสภาวะ เมื่อมีสภาวะก็ย่อมมีอันเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เพราะเป็นของปรุงแต่งจากเหตุปัจจัยทั้งสิ้น

ฉะนั้น สภาวะแห่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์จึงเป็นของยากที่จะแสดงเป็น คำพูดออกมาได้ จำใจต้องเรียกเป็นสภาวะ เพื่อให้รู้ให้เข้าใจกัน แท้จริงสภาวะแห่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์นั้น มีแต่ความสงบวางเฉย พร้อมกับรู้ชัดเลยทีเดียวว่า

สรรพสิ่งทั้งหลายเสมอกันสิ้น ไม่ว่าสัตว์ บุคคล เราเขา หรือแม้แต่ พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสังฆเจ้า พระโพธิสัตว์ สามัญชน และสัตว์โลกทั้งหลายก็มีสภาพพอันเดียวกันเสมอกันโดยประการทั้งปวง

แต่เพราะเหตุแห่งการยึดถือสิ่งที่แตกต่างกัน คือผิดไปจากสัจธรรมแท้เท่านั้นเอง ความประพฤติปฏิบัติและจริยธรรมจึงแลดูผิดแผกแตกต่างกันไปต่างๆ นานา

การที่บุคคลใดสามารถปฏิบัติเข้าถึงสภาวะที่จะตัดสินได้ว่าสิ่งแวดล้อม หรือสิ่งภายนอกกับตัวของเรานี้ แท้จริงเป็นของสิ่งเดียวกันโดยแท้สภาวะนี้แล เรียกว่า “ธรรม”


จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า สภาวะความเป็นจริงหรือที่เรียกว่า “สัจธรรม” นั้น มีอยู่ตลอดกาล หากไม่ท้อถอย หรือละความเพียรเสียก่อน ย่อมมี โอกาสเข้าถึงสัจธรรมได้อย่างแน่นอน อนึ่ง เรื่องพิธีกรรมหรือบุญกิริยาวัตถุต่างๆ ทั้งหลาย ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ยังให้เกิดกุศลได้อยู่ หากแต่ว่าสำหรับนักปฏิบัติแล้ว อาจถือได้ว่า เป็นไปเพื่อกุศลนิดหน่อยเท่านั้นเอง


(มีต่อ ๘)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 11 ก.ค.2004, 10:50 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน


สมาธิภาวนากับนิมิต


หลวงพ่อเพิ่มได้เล่าถึงประสบการณ์ในการปฏิบัติกัมมัฏฐานสมัยเริ่มต้นเมื่อครั้งยังเป็นสามเณรว่า ตอนที่ฝึกกัมมัฏฐานใหม่ๆ นั้น ท่านยังไม่ประสีประสาอะไรเลย หลวงปู่ดูลย์ได้แนะนำถึงวิธีการทำสมาธิว่า ควรนั่งอย่างไร ยืน เดิน นอน ควรทำอย่างไร

ในชั้นต้นหลวงปู่ให้เริ่มที่การนั่ง เมื่อนั่งเข้าที่เข้าทางแล้วก็ให้หลับตา ภาวนา “พุทโธ” ไว้ อย่าส่งใจไปคิดถึงสิ่งอื่น ให้นึกถึงแต่ พุทโธ-พุทโธ เพียงอย่างเดียว ก็จดจำนำไปปฏิบัติตามที่หลวงปู่สอน

ปกติของใจเป็นสิ่งที่ไม่หยุดนิ่ง มักจะคิดฟุ้งซ่านไปโน่นไปนี่เสมอ ในระยะ เริ่มต้นคนที่ไม่เคยฝึกมาก่อน อยู่ๆ จะมาบังคับให้มันหยุดนิ่ง คิดอยู่แต่ พุทโธประการเดียวเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก

สามเณรเพิ่มก็เช่นเดียวกัน เมื่อภาวนาไปตามที่หลวงปู่สอนได้ระยะหนึ่งก็ เกิดความสงสัยขึ้น จึงถามหลวงปู่ว่า “เมื่อหลับตาภาวนาแต่พุทโธแล้ว จะเห็นอะไรครับหลวงปู่”

หลวงปู่บอก “อย่าได้สงสัย อย่าได้ถามเลย ให้เร่งรีบภาวนาไปเถิด ให้ภาวนา พุทโธไปเรื่อยๆ แล้วมันจะรู้เองเห็นเองแหละ”

มีอยู่คราวหนึ่งขณะที่สามเณรเพิ่มภาวนาไปได้ระยะหนึ่ง จิตเริ่มสงบ ก็ปรากฏร่างพญางูยักษ์ดำมะเมื่อมขึ้นมาอยู่ตรงหน้า มันจ้องมองท่านด้วยความประสงค์ร้าย แผ่แม่เบี้ยส่งเสียงขู่ฟ่อ-ฟ่อ อยู่ไปมา

สามเณรเพิ่มซึ่งเพิ่งฝึกหัดภาวนาใหม่ๆ เกิดความหวาดกลัวผวาลืมตาขึ้น ก็ไม่เห็นพญางูยักษ์ จึงรู้ได้ทันทีว่าสิ่งที่ท่านเห็นนั้นเป็นการเห็นด้วยสมาธิจิตที่เรียกว่า นิมิต นั่นเอง จึงได้หลับตาลงภาวนาต่อ พอหลับตาลงเท่านั้น ก็พลันเห็นงูยักษ์แผ่แม่เบี้ยส่งเสียงขู่ทำท่าจะฉกอีก แม้จะหวาดกลัวน้อยลงกว่าครั้งแรก แต่ก็กลัวมากพอที่จะต้องลืมตาขึ้นอีก

เมื่อนำเรื่องนี้ไปถามหลวงปู่ ได้รับคำอธิบายว่า

“อย่าส่งใจไปดูไปรู้ในสิ่งอื่น การภาวนาท่านให้ดูใจของตนเองหรอก ท่านไม่ให้ดูสิ่งอื่น”

“การบำเพ็ญกัมมัฏฐานนี้ ไม่ว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะเกิดขึ้น ไปรู้ไปเห็นอะไร เราอย่าไปดู ให้ดูแต่ใจ ให้ใจอยู่ที่พุทโธ เมื่อกำลังภาวนาอยู่ หากมีความกลัวเกิดขึ้น ก็อย่าไปคิดในสิ่งที่น่ากลัวนั้น อย่าไปดูมัน ดูแต่ใจของเราเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แล้วความกลัวมันจะหายไปเอง”


หลวงปู่ได้ชี้แจงต่อไปว่า สิ่งที่เราไปรู้ไปเห็นนั้น บางทีก็จริง บางทีก็ไม่จริง เหมือนกับว่า คนที่ภาวนาแล้วไปรู้ไปเห็นสิ่งต่างๆ เข้า การที่เขาเห็นนั้นเขาเห็นจริง แต่สิ่งที่เห็นนั้นมันไม่จริง เหมือนอย่างที่เรา ดูหนัง เห็นภาพในจอหนัง ก็เห็นภาพในจอจริงๆ แต่สิ่งที่เห็นนั้นไม่จริง เพราะความจริงนั้นภาพมันไปจากฟิล์มต่างหาก

ฉะนั้น ผู้ภาวนาต้องดูที่ใจอย่างเดียว สิ่งอื่นนอกจากนั้นจะหายไปเอง ให้ใจมันอยู่ที่ใจนั้นแหละ อย่าไปส่งออกนอก

ใจนี้มันไม่ได้อยู่จำเพาะที่ว่า จะต้องอยู่ตรงนั้นตรงนี้ คำว่า “ใจอยู่กับใจ” นี้คือ คิดตรงไหนใจก็อยู่ตรงนั้นแหละ ความคิดนึกก็คือตัวจิตตัวใจ

หากจะเปรียบไปก็เหมือนเช่นรูปกับฟิล์ม จะว่ารูปเป็นฟิล์มก็ได้ จะว่าฟิล์มเป็นรูปก็ได้ ใจอยู่กับใจ จึงเปรียบเหมือนรูปกับฟิล์มนั่นแหละ

แต่โดยหลักปฏิบัติแล้ว ใจก็เป็นอย่างหนึ่ง สติก็เป็นอย่างหนึ่ง แต่ที่จริงแล้วมันก็เป็นสิ่งเดียวกัน เหมือนหนึ่งว่าไฟกับกระแสไฟ ความสว่างกับไฟก็อันหนึ่งอันเดียวกันนั่นแหละ แต่เรามาพูดให้เป็นคนละอย่าง

ใจอยู่กับใจ จึงหมายถึง ให้มีสติอยู่กำกับมันเอง ให้อยู่กับสติ

แต่สติสำหรับปุถุชน หรือสติสำหรับผู้เริ่มปฏิบัติ เป็นสติที่ยังไม่มั่นคง มันจึงมีลักษณะขาดช่วงเป็นตอนๆ ถ้าเราปฏิบัติจนสติมันต่อกันได้เร็วจนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ให้เป็นแสงสว่างอย่างเดียวกัน

อย่างเช่น สัญญาณออด ซึ่งที่จริงมันไม่ได้มีเสียงยาวติดต่อกันเลย แต่เสียงออด-ออด-ออด ถี่มาก จนความถี่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เราจึงได้ยินเสียงออดนั้นยาว

ในการปฏิบัติที่ว่า ปฏิบัติจิต ปฏิบัติใจ โดยให้ใจอยู่กับใจนี้ก็คือ ให้มีสติกำกับใจ ให้เป็นสติถาวร ไม่ใช่เป็นสติคล้ายๆ หลอดไฟที่จวนจะขาด เดี๋ยวก็สว่างวาบ เดี๋ยวก็ดับ เดี๋ยวก็สว่าง แต่ให้มันสว่างต่อกันไปตลอดเวลา

เมื่อสติมันติดต่อกันไปอย่างนี้แล้ว ใจมันก็มีสติควบคุมอยู่ตลอด เวลาเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “อยู่กับตัวรู้ตลอดเวลา”

ตัวรู้ก็คือ สติ นั่นเอง

หรือจะเรียกว่า “พุทโธ” ก็ได้ พุทโธที่ว่า รู้ ตื่น เบิกบาน ก็คือ ตัวสตินั่นแหละ

เมื่อมีสติ ความรู้สึกนึกคิดอะไรต่างๆ มันก็จะเป็นไปได้โดยอัตโนมัติของมันเอง เวลาดีใจก็จะไม่ดีใจจนเกินไป สามารถพิจารณารู้ได้ โดยทันทีว่า สิ่งนี้คืออะไรเกิดขึ้น และเวลาเสียใจมันก็ไม่เสียใจจนเกินไป เพราะว่าสติมันรู้อยู่แล้ว

คำชมก็เป็นคำชนิดหนึ่ง คำติก็เป็นคำชนิดหนึ่ง เมื่อจับสิ่งเหล่านี้ มาถ่วงกันแล้วจะเห็นว่ามันไม่แตกต่างกันจนเกินไป มันเป็นเพียงภาษาคำพูดเท่านั้นเอง ใจมันก็ไม่รับ

เมื่อใจมันไม่รับ ก็รู้ว่าใจมันไม่มีความกังวล ความวิตกกังวลใน เรื่องต่างๆ ก็ไม่มี ความกระเพื่อมของจิตก็ไม่มี ก็เหลือแต่ความรู้อยู่ในใจ

สามเณรเพิ่มจดจำคำแนะนำสั่งสอนจากหลวงปู่ไปปฏิบัติต่อ ปรากฏว่าสิ่งที่น่าสะพึงกลัวไม่ทำให้ท่านหวาดหวั่นใจอีกเลย

ทำให้ท่านสามารถโน้มน้าวใจสู่ความสงบ ค้นพบปัญญาที่จะนำสู่ความสุขสงบในสมาธิธรรมตั้งแต่บัดนั้นมา


(มีต่อ ๙)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 17 ส.ค. 2004, 12:34 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน


วิปัสสนูปกิเลส


ในการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนั้น ในบางครั้งก็มีอุปสรรคขัดข้องต่างๆ รวมทั้งเกิดการหลงผิดบ้างก็มี ซึ่งหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ก็ได้ให้ความช่วยเหลือแนะนำและช่วยแก้ไขแก่ลูกศิษย์ลูกหาได้ทันท่วงที ดังตัวอย่างที่ยกมานี้

มีอยู่ครั้งหนึ่งเกิดปัญหาเกี่ยวกับ “วิปัสสนูปกิเลส” ซึ่งหลวงปู่เคยอธิบายเรื่องนี้ว่า เมื่อได้ทำสมาธิจนสมาธิเกิดขึ้น และได้รับความสุขอันเกิดแต่ความสงบพอสมควรแล้ว จิตก็ค่อยๆ หยั่งลงสู่สมาธิส่วนลึก นักปฏิบัติบางคนจะพบอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่ง เรียกว่า วิปัสสนูปกิเลส ซึ่งมี ๑๖ อย่าง มี “โอภาส” คือ แสงสว่าง และ “อธิโมกข์” คือ ความน้อมใจเชื่อ เป็นต้น

พลังแห่งโอภาสนั้นสามารถนำจิตไปสู่สภาวะต่างๆได้อย่างน่าพิศวง เช่น จิตอยากรู้อยากเห็นอะไรก็ได้เห็นได้รู้ในสิ่งนั้น แม้แต่กระทั่งได้กราบได้สนทนากับพระพุทธเจ้าก็มี

เจ้าวิปัสสนูปกิเลสนี้มีอิทธิพลและอำนาจ จะทำให้เกิดความน้อมใจเชื่ออย่างรุนแรง โดยไม่รู้เท่าทันว่าเป็นการสำคัญผิด ซึ่งเป็นการสำคัญผิดอย่างสนิทสนมแนบเนียน และเกิดความภูมิใจในตัวเองอยู่เงียบๆ บางคน ถึงกับสำคัญตนว่าเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งด้วยซ้ำ บางรายสำคัญผิด อย่างมีจิตกำเริบยโสโอหังถึงขนาดที่เรียกว่าเป็นบ้าวิกลจริตก็มี

อย่างไรก็ตาม วิปัสสนูปกิเลสไม่ได้เป็นการวิกลจริต แม้บางครั้งจะมีอาการคล้ายคลึงคนบ้าก็ตาม แต่คงเป็นเพียงสติวิกล อันเนื่องจากการที่จิตตั้งมั่นอยู่กับอารมณ์ภายนอก แล้วสติตามควบคุมไม่ทัน ไม่ได้สัด ไม่ได้ส่วนกันเท่านั้น ถ้าสติตั้งไว้ได้สัดส่วนกัน จิตก็จะสงบเป็นสมาธิลึกลงไปอีก โดยยังคงมีสิ่งอันเป็นภายนอกเป็นอารมณ์อยู่นั่นเอง

เช่นเดียวกับการฝึกสมาธิของพวกฤาษีชีไพรที่ใช้วิธีเพ่งกสิณ เพื่อให้เกิดสมาธิ ในขณะแห่งสมาธิเช่นนี้ เราเรียกอารมณ์นั้นว่า ปฏิภาคนิมิต และเมื่อเพิกอารมณ์นั้นออกโดยการย้อนกลับไปสู่ “ผู้เห็นนิมิต” นั้น นั่นคือย้อนสู่ต้นตอคือ จิต นั่นเอง จิตก็จะบรรลุถึงสมาธิขั้นอัปปนาสมาธิ อันเป็นสมาธิจิตขั้นสูงสุดได้ทันที

ในทางปฏิบัติที่มั่นคงและปลอดภัยนั้น หลวงปู่ดูลย์ท่านแนะนำว่า “การปฏิบัติแบบจิตเห็นจิต เป็นแนวทางปฏิบัติที่ลัดสั้น และบรรลุเป้าหมายได้ฉับพลัน ก้าวล่วงภยันตรายได้สิ้นเชิง ทันทีที่กำหนดจิตใจได้ถูกต้อง แม้เพียงเริ่มต้น ผู้ปฏิบัติก็จะเกิดความรู้ความเข้าใจได้ด้วยตนเองเป็นลำดับๆ ไป โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยครูบาอาจารย์อีก”

ในประวัติของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล พอจะเห็นตัวอย่างของวิปัสสนูปกิเลส ๒ ตัวอย่าง คือกรณีของท่านหลวงตาพวง และกรณีของท่านพระอาจารย์เสร็จ จะขอยกกรณีของหลวงตาพวงมาเล่าเพื่อประดับความรู้ต่อไป

ศิษย์ของหลวงปู่ชื่อ “หลวงตาพวง” ได้มาบวชตอนวัยชรา นับเป็นผู้บุกเบิก สำนักปฏิบัติธรรมบนเขาพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์

หลวงตาพวงได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจให้แก่การประพฤติปฏิบัติ เพราะท่านสำนึก ตนว่ามาบวชเมื่อแก่ มีเวลาแห่งชีวิตเหลือน้อย จึงเร่งความเพียรตลอดวัน ตลอดคืน

พอเริ่มได้ผล เกิดความสงบ ก็เผชิญกับวิปัสสนูปกิเลสอย่างร้ายแรง เกิดความสำคัญผิดเชื่อมั่นอย่างสนิทว่าตนเองได้บรรลุอรหัตผล เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง เป็นผู้สำเร็จผู้เปี่ยมด้วยบุญญาธิการ ได้เล็งญาณ (คิดเอง) ไปจนทั่วสากลโลก เห็นว่าไม่มีใครรู้หรือเข้าถึงธรรมเสมอด้วยตน ดังนั้น หลวงตาพวงจึงได้เดินทางด้วยเท้าเปล่ามาจากเขาพนมรุ้ง เดินทางข้ามจังหวัดมาไม่ต่ำกว่า ๘๐ กิโลเมตร มาจนถึงวัดบูรพาราม หวังจะแสดงธรรมให้หลวงปู่ฟัง

หลวงตาพวงมาถึงวัดบูรพาราม เวลา ๖ ทุ่มกว่า กุฏิทุกหลังปิดประตูหน้าต่าง หมดแล้ว พระเณรจำวัดกันหมด หลวงปู่ก็เข้าห้องไปแล้ว ท่านก็มาร้องเรียก หลวงปู่ด้วยเสียงอันดัง

ตอนนั้นท่านเจ้าคุณพระโพธินันทมุนียังเป็นสามเณรอยู่ ได้ยินเสียงเรียกดังลั่นว่า “หลวงพ่อ หลวงพ่อ หลวงพ่อดูลย์.....” ก็จำได้ว่าเป็นเสียงของหลวงตาพวง จึงลุกไปเปิดประตูรับ

สังเกตดูอากัปกิริยาก็ไม่เห็นมีอะไรผิดแปลก เพียงแต่รู้สึกแปลกใจว่า ตาม ธรรมดาท่านหลวงตาพวงมีความเคารพอ่อนน้อมต่อหลวงปู่ พูดเสียงเบา ไม่บังอาจระบุชื่อของท่าน แต่คืนนี้ค่อนข้างจะพูดเสียงดังและระบุชื่อด้วยว่า

“หลวงตาดูลย์ ออกมาเดี๋ยวนี้ พระอรหันต์มาแล้ว”

ครั้นเมื่อหลวงปู่ออกมาแล้ว ตามธรรมดาหลวงตาพวงจะต้องกราบหลวงปู่ แต่คราวนี้ไม่กราบ แถมยังต่อว่าเสียอีก “อ้าว ! ไม่เห็นกราบท่านผู้สำเร็จมาแล้ว ไม่เห็นกราบ”

เข้าใจว่าหลวงปู่ท่านคงทราบโดยตลอดในทันทีนั้นว่าอะไรเป็นอะไร ท่านจึงนั่งเฉย ไม่พูดอะไรแม้แต่คำเดียว ปล่อยให้หลวงตาพวงพูดไปเรื่อยๆ

หลวงตาพวงสำทับว่า “รู้ไหมว่าเดี๋ยวนี้ผู้สำเร็จอุบัติขึ้นแล้ว ที่มานี่ก็ด้วย เมตตา ต้องการจะมาโปรด ต้องการจะมาชี้แจงแสดงธรรมปฏิบัติให้เข้าใจ”

หลวงปู่ยังคงวางเฉย ปล่อยให้ท่านพูดไปเป็นชั่วโมงทีเดียว สำหรับพวกเรา พระเณรที่ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ ก็พากันตกอกตกใจกันใหญ่ ด้วยไม่รู้ว่ามันเป็นอะไรกันแน่

ครั้นปล่อยให้หลวงตาพวงพูดนานพอสมควรแล้ว หลวงปู่ก็ซักถามเป็นเชิง คล้อยตามเอาใจว่า “ที่ว่าอย่างนั้นๆ เป็นอย่างไร และหมายความว่าอย่างไร” หลวงตาพวงก็ตอบตะกุกตะกัก ผิดๆ ถูกๆ แต่ก็อุตส่าห์ตอบ

เมื่อหลวงปู่เห็นว่าอาการรุนแรงมากเช่นนั้น จึงสั่งว่า “เออ เณรพาหลวงตาไปพักผ่อนที่โบสถ์ ไปโน่น ที่พระอุโบสถ”

ท่านเณร (เจ้าคุณพระโพธินันทมุนี) ก็พาหลวงตาไปที่โบสถ์ ไปเรียกพระ องค์นั้นองค์นี้ที่ท่านรู้จักให้ลุกขึ้นมาฟังเทศน์ฟังธรรม รบกวนพระเณรตลอดทั้งคืน

หลวงปู่พยายามแก้ไขหลวงตาพวงด้วยอุบายวิธีต่างๆ หลอกล่อให้หลวงตา นั่งสมาธิ ให้นั่งสงบแล้วย้อนจิตมาดูที่ต้นตอ มิให้จิตแล่นไปข้างหน้า จนกระทั่ง สองวันก็แล้ว สามวันก็แล้วไม่สำเร็จ

หลวงปู่จึงใช้อีกวิธีหนึ่ง ซึ่งคงเป็นวิธีของท่านเอง ด้วยการพูดแรงให้โกรธ หลายครั้งก็ไม่ได้ผล ผ่านมาอีกหลายวันก็ยังสงบลงไม่ได้ หลวงปู่เลยพูดให้โกรธด้วยการด่าว่า “เออ ! สัตว์นรก สัตว์นรก ไปเดี๋ยวนี้ ออกจากกุฏิเดี๋ยวนี้”

ทำให้หลวงตาพวงโกรธอย่างแรง ลุกพรวดพราดขึ้นไปหยิบเอาบาตร จีวร และกลดของท่านลงจากกุฏิ มุ่งหน้าไปวัดป่าโยธาประสิทธิ์ซึ่งอยู่ห่างจาก วัดบูรพารามไปทางใต้ประมาณ ๓ - ๔ กิโลเมตร ซึ่งขณะนั้นท่านเจ้าคุณพระราชสุทธาจารย์ (โชติ คุณสมฺปนฺโน) ยังพำนักอยู่ที่นั่น

ที่เข้าใจว่าหลวงตาพวงโกรธนั้น เพราะเห็นท่านมือไม้สั่น หยิบของผิดๆ ถูกๆ คว้าเอาไต้ (สำหรับจุดไฟ) ดุ้นหนึ่ง นึกว่าเป็นกลด และยังเปล่งวาจาออกมา อย่างน่าขำว่า “เออ ! กูจะไปเดี๋ยวนี้ หลวงตาดูลย์ไม่ใช่แม่กู” เสร็จแล้วก็คว้า เอาบาตร จีวร และหยิบเอาไต้ดุ้นยาวขึ้นแบกไว้บนบ่า คงนึกว่าเป็นคันกลด ของท่าน แถมคว้าเอาไม้กวาดไปด้ามหนึ่งด้วย ไม่รู้เอาไปทำไม

ครั้นหลวงตาพวงไปถึงวัดป่า ทันทีที่ย่างเท้าเข้าสู่บริเวณวัดป่านี่เอง อาการของจิตที่น้อมไปติดมั่นอยู่กับอารมณ์ภายนอก โดยปราศจากการควบคุมของ สติที่ได้สัดส่วนกันก็แตกทำลายลง เพราะถูกกระแทกด้วยอานุภาพแห่งความ โกรธ อันเป็นอารมณ์ที่รุนแรงกว่า ยังสติสัมปชัญญะให้บังเกิดขึ้น ระลึกย้อนกลับ ได้ว่า ตนเองได้ทำอะไรลงไปบ้าง ผิดถูกอย่างไร สำคัญตนผิดอย่างไร และได้ พูดวาจาไม่สมควรอย่างไรออกมาบ้าง

เมื่อหลวงตาพวงได้สติสำนึกแล้ว ก็ได้เข้าพบท่านเจ้าคุณพระราชสุทธาจารย์ และเล่าเรื่องต่างๆ ให้ท่านทราบ ท่านเจ้าคุณฯ ก็ได้ช่วยแนะนำและเตือนสติ เพิ่มเติมอีก ทำให้หลวงตาพวงได้สติคืนมาอย่างสมบูรณ์ และบังเกิดความ ละอายใจเป็นอย่างยิ่ง

หลังจากได้พักผ่อนเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ก็ย้อนกลับมาขอขมาหลวงปู่ กราบเรียนว่าท่านจำคำพูดและการกระทำทุกอย่างได้หมด และรู้สึกละอายใจมากที่ตนทำอย่างนั้น

หลวงปู่ได้แนะทางปฏิบัติให้ และบอกว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ว่าถึงประโยชน์ ก็มีประโยชน์เหมือนกัน มีส่วนดีอยู่เหมือนกัน คือจะได้เป็นบรรทัดฐาน เป็นเครื่องนำสติมิให้ตกสู่ภาวะนี้อีก เป็นแนวทางตรงที่จะได้นำมาประกอบ การปฏิบัติให้ดำเนินไปอย่างมั่นคงในแนวทางตรงต่อไป”


(มีต่อ ๑๐)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 02 ส.ค. 2006, 5:20 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๑๐
เรื่องจิต เรื่องอิทธิฤทธิ์


เรื่องต่อไปนี้ท่านเจ้าคุณพระโพธินันทมุนี ได้เล่าให้ฟังเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๓๘ เป็นการถอดคำพูดจากการบันทึกเทป ดังนี้

ถ้าพูดไปแล้วนะอาจารย์ (หมายถึง อ.ปฐม - อ.ภัทรา นิคมานนท์) เรื่องของจิตหรืออิทธิฤทธิ์นี้ อาตมาก็ไม่อยากจะใช้คำว่าอิทธิฤทธิ์ เพราะหลวงปู่ท่านไม่นิยม และก็ไม่ทำ ไม่แสร้งทำ ไม่อะไรด้วยทั้งนั้น ก็เลยไม่อยากใช้คำว่าเรื่องจิตเรื่องอิทธิฤทธิ์ แต่จิตนี้หลวงปู่ท่านก็พูดว่า “จิต”

แต่ถ้าพูดเกี่ยวกับหลวงปู่ ก็มีเรื่องแปลกๆ หรือเรื่องที่น่าอัศจรรย์เหมือนกัน ในขณะที่เราอยู่กับท่าน ท่านก็ไม่ได้ปฏิเสธ ท่านก็ไม่ได้ยกย่อง ท่านก็ไม่ได้พูด เพื่ออะไรมากมายในเรื่องเหล่านี้ แม้แต่เรื่องไสยศาสตร์ ก็พูดกันว่า ชาวสุรินทร์ เห็นมีไสยศาสตร์กันมาก สามารถใช้คาถาอาคมอะไรต่างๆ เหล่านี้ แม้มีคนถามท่าน ท่านก็ไม่ค่อยอธิบาย ท่านก็บอกเพียงว่า ท่านเองก็ไม่เคยเห็นเหมือนกันอะไรทำนองนั้น

สำหรับเรื่อง “จิต” นั้นท่านพูด คือท่านพูดเรื่องจิต ท่านไม่ค่อยใช้คำว่า อิทธิฤทธิ์อะไรหรอก จะใช้ว่า “พลัง” โดยมากท่านจะพูดว่า “พลังจิต” นั้น มีอยู่ พลังจิตจะมีได้ก็เกิดจากข้อเดียว คือ พลังสมาธิ

ถ้าผู้ใดสร้างสมาธิจิตไม่ได้ ท่านว่าพลังจิตนั้นเกิดขึ้นไม่ได้ ถึงเกิดขึ้นก็เป็นพลังจิตที่เป็นมิจฉาหรือไม่มั่นคง เช่นว่าคนบางคนเขาใช้พลังจิตในทางที่ผิด หรือนำไปใช้ในทางรักษาความเจ็บไข้ได้ป่วย ก็อาจจะมีส่วนของพลังจิตเหมือนกัน

พลังจิตที่เกิดจากสมาธิที่ถูกต้องนั้นคือ เมื่อมีสมาธิเกิดขึ้นแล้วก็อาศัยพลังแห่งจิต เพราะสมาธินั้นเกิดจากจิตรวม คือ จิตมันละอารมณ์ต่างๆ เมื่อมันไปแบกเอาอารมณ์ต่างๆ ไว้มาก จิตมันก็ไม่มีกำลัง ไม่มีพลังอะไร ต่อเมื่อจิตสามารถตัด อารมณ์ต่างๆได้ ก็เกิดสมาธิ ก็ใช้คำว่า “จิตเดียว” ที่ปราศจากอารมณ์มากเกินไป จิตก็จะเกิดมีพลังขึ้นมา

ถ้ามีพลังแล้ว (ตามที่หลวงปู่เคยอธิบาย) ระหว่างที่จิตเราเกิดมีพลังสมาธินี่แหละ บุคคลจะเอาไปใช้ทางไหนก็ได้ผลในทางนั้น แต่เมื่อใช้ในทางที่เสียหายมันก็ทำให้ เสียหายได้ หรือใช้ไปในทางที่ให้ประโยชน์ให้เกิดพลังปัญญาก็ได้

หมายความว่า อย่างที่ถูกในหลักวิชาการเรียนทางศาสนาว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ที่ว่าศีลทำให้เกิดการอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา ฉะนั้น พลังจิตที่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงหลังจากเกิดสมาธินั้น หมายถึงว่า จิตนั้นจะยกสภาวธรรมขึ้นมาไตร่ตรอง ให้เกิดวิปัสสนาญาณเกิดปัญญา แล้วปัญญานั้นก็จะแจ่มแจ้ง ดีกว่าจิตที่ไม่เกิดสมาธิ หรือจิตที่ไม่มีสมาธิ

ฉะนั้น หลวงปู่จะใช้ว่าพลังจิตนั้นสามารถยกระดับภาวะหรือป้องกันความทุกข์ยาก อันเนื่องจากการที่จิตส่งออกไปเพื่อรับอารมณ์ต่างๆได้

มีคนชอบถามหลวงปู่เกี่ยวกับเรื่องอิทธิฤทธิ์บ้าง หรือจิตที่มีฤทธิ์มีพลังอย่างหนึ่งอย่างใดบ้างนั้นก็เคยมี แต่เนื่องจากว่าหลวงปู่ท่านไม่สนใจในเรื่องสิ่งมหัศจรรย์ หรือสิ่งอัศจรรย์ในอิทธิฤทธิ์ต่างๆเหล่านี้ ท่านจึงไม่นิยมพูดให้ใครฟัง

แต่หลวงปู่ก็ยอมรับว่าจิตนั้นย่อมเป็นจิตที่มีพลัง เมื่อจิตมีพลังแล้วมันก็จะเป็น คุณประโยชน์ได้หลายอย่าง แต่ท่านก็จะขึ้นต้นว่า จิตจะมีพลังได้นั้นก็ต้องเมื่อ ได้สมาธิ เมื่อทำสมาธิได้หรือเกิดสมาธิ จิตมีอารมณ์เดียว จิตจึงจะมีพลัง เมื่อจิตมีพลังแล้วจะหันไปใช้ทางไหนก็ย่อมได้ แม้หันไปทางที่ผิดทางพระพุทธ ศาสนาก็ย่อมจะได้ อย่างเช่นฤาษีชีไพร หรืออะไรๆ นั้น ล้วนแต่เป็นสมาธิซึ่งนับว่าเป็นมิจฉาสมาธิได้

ส่วน “สัมมาสมาธิ” นั้น หมายถึงจิตที่เป็นสมาธิตามลำดับตั้งแต่ขั้นต้นคือ ขณิกะสมาธิ จนกระทั่งเข้าสู่อัปปนาสมาธิ อะไรในกระแสนี้ แล้วจิตนั้นก็จะเป็นพลังส่องทางไปให้เกิดปัญญา

ในทางตรงข้าม ถ้าอาศัยพลังจิตไปในเรื่องอื่น เรื่องอิทธิฤทธิ์อะไรนั้นไม่ถูกต้อง หรือไม่ถูกพุทธประสงค์ทั้งหมด

แต่ถ้าใช้พลังจิตนั้นเพื่อเป็นเหตุให้ปัญญาผุดขึ้น เพื่อจะตัดกิเลสตัณหาและ ความชั่วร้ายต่างๆ เพื่อยกระดับจิตของเราให้พ้นทุกข์ จึงจะเป็นพลังจิตที่เป็นสัมมาทิฏฐิ และเป็นทางที่ถูกต้อง หลวงปู่มักจะอธิบายในแนวทางนี้

ส่วนในทางที่ว่าเอาพลังจิตไปแสดงอิทธิฤทธิ์อย่างนั้นอย่างนี้แล้ว รู้สึกว่าหลวงปู่จะไม่ค่อยกล่าวถึง หลวงปู่จะระมัดระวังที่สุดในเรื่องการปฏิบัติ ให้เป็นไปในทางที่ดีที่ถูกต้อง


(มีต่อ ๑๑)
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 02 ส.ค. 2006, 5:52 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๑๑
บันทึกธรรมเทศนาเกี่ยวกับสมาธิ


ธรรมเทศนาหรือโอวาทของหลวงปู่ดูลย์นั้น เป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่ง ทั้งนี้เนื่องจากท่านไม่เคยเทศน์เป็นกัณฑ์ๆ หรือแสดงเป็นเรื่องยาวๆ เพียงแต่เมื่อสอนภาวนา หรือกล่าวตักเดือนลูกศิษย์ หรือตอบคำถามตลอดถึงสนทนากับพระเณรอื่นๆ หลวงปู่ก็จะกล่าวอย่างสั้น ด้วยความระมัดระวัง ยกข้อธรรมะมากล่าวอย่างย่อๆ เท่านั้นเอง นอกจากนี้ท่านไม่เคยแสดงในพิธีการงานใดๆ อีกเลยฯ

กล่าวกันว่าหลวงปู่มีปกติเป็นผู้ไม่พูดหรือพูดน้อยที่สุดแต่มีปฏิภาณไหวพริบเร็วฉับไวมาก และไม่มีผิดพลาดพูดสั้นย่อ แต่อมความหมายไว้อย่างสมบูรณ์ คำพูดของท่านแต่ละปรโยคมีความหมายและเนื้อหาจบลงดดยสิ้นเชิงเหมือนหนึ่งสะกดจิตผู้ฟังหรือผู้ถาม ให้ฉุกคิดอยู่เป็นเวลานาน แล้วก็ต้องใช้ความตริตรองด้วยปัญญาอย่างลึกซึ้งฯ

บันทึกธรรมเทศนาเกี่ยวกับสมาธินี้ ได้รวบรวมและเรียบเรียงมาจากพระธรรมเทศนาที่พระโพธินันทมุนี (อดีตพระครูนันทปัญญาภรณ์) ผุ้เคยไอยู่กับหลวงปู่ดูลย์มาเป็นเวลานานตลอดอายุขัยของท่าน เขียนบันทึกขึ้นจากประสบการณ์ได้อย่างชวนอ่านและเข้าใจง่าย นับว่าเป็นคุณูปการอย่างยิ่งต่อสาธุชนผู้สนใจใฝ่ทราบธรรมปฏิบัติตามปฏิปทาของหลวงปู่ ธรรมสภาขอนมัสการกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้ด้วย



ประสบการณ์ภาวนาของหลวงปู่

วันหนึ่งหลวงปู่ดูลย์นั่งภาวนาอยู่ ตั้งแต่หัวค่ำจนดึกมากแล้วนั้น จิตก็ค่อยๆ หยั่งลงสู่ความสงบ และให้บังเกิดนิมิตแปลกกว่าผู้อื่นขึ้นมา

คือ เห็นพระพุทธรูปปรากฏขึ้นที่ตัวท่านที่ตัวท่านประหนึ่งว่าตัวท่านเองเป็นพระพุทธรูปองค์หนึ่ง

ท่านพยายามพิจารณาดูนิมิตนั้นต่อไปอีก แม้ว่าขณะที่ออกจากที่บำเพ็ญสมาธิภาวนาแล้ว และขณะออกเดินสู่ละแวกบ้านของชาวบ้านป่าเพื่อบิณฑบาต ก็เห็นปรากฏอยู่เช่นนั้น

ต่อมา

ก่อนที่รูปนิมิตนั้นหายไป ขณะเดินกลับมาจากบิณฑบาต ท่านได้พิจารณาดูตนเอง ก็ได้ปรากฏเห็นชัดเจนว่าเป็นโครงกระดูกทุกส่วนสัด

วันหนึ่ง เกิดความรู้สึกไม่อยากฉันอาหาร จึงอาศัยความเอิบอิ่มาของสมาธิจิตกระทำความเพียรต่อไป

เช่น เดินจงกรมบ้าง นั่งสมาธิบ้าง จนตลอดวันตลอดคืนและแล้วในขณะนั้นเอง...

แสงแห่งพระธรรมก็บังเกิดปรากฏแก่จิตของท่านอย่างแจ่มแจ้ง จนกระทั่งท่านสามารถแยกจิตกับกิเลสออกจากกันได้

รู้ชัดว่า อะไรคือจิต อะไรคือกิเลส

จิตปรุงกิเลส หรือกิเลสปรุงจิต

และเข้าใจสภาพของจิตที่แท้จริงได้ จนรู้ว่ากิเลสส่วนไหนละได้แล้ว ส่วนไหนยังละไม่ได้

ต่อมาภายหลังหลวงปู่ไดให้คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า

“จิตปรุงกิเลส คือการที่จิตบังคับให้กาย วาจา ใจ กระทำสิ่งภายนอก ให้มี ให้เป็น ให้ดี ให้เลว ให้เกิดวิบากได้ แล้วยึดติดอยู่ว่า นั่นเป็นตน ของเรา ของเขา

กิเลสปรุงจิต คือการที่สิ่งภายนอกเข้ามาทำให้จิตเป็นไปตามอำนาจของมัน แล้วยึดว่ามีตัวมีตนอยู่ สำคัญผิดจากความเป็นจริงอยู่ร่ำไป”



หลักธรรมที่แท้จริงคือจิต

หลักธรรมที่แท้จริงคือจิต จิตของเราทุกคนนั่นแหละคือลักธรรมสูงสุดที่อยู่ในจิตใจเรา นอกจากนั้นแล้วมันไม่มีหลักธรรมใดๆ เลย

จิตนี้แหละคือหลักธรรม ซึ่งนอกไปจากนั้นแล้วก็ไม่ใช่จิต แต่จิตนั้นโดยตัวมันเองก็ไม่ใช่จิต

ขอให้เลกละการคิดและการอธิบายเสียให้หมดสิ้นเมื่อนั้นเราอาจกล่าวได้ว่า คลองแห่งคำพูดได้ถูกตัดขาดไปแล้ว

พิษของจิตก็ได้ถูกถอนขึ้นจนหมดสิ้น

จิตในจิตก็จะเหลือแต่ความบริสุทธิ์ ซึ่งมีอยู่ประจำแล้วในทุกคน

เช่นนี้แล้ว บทบาทและความหมายของจิตตลอดจน จิตเดิมแท้ก็คือความไม่มี เป็นความว่างอย่างสิ้นเชิง

เมื่อเป็นความว่าง เป็นความไม่มีประโยชน์อะไรที่จะเติมให้เต็ม

เนื่องเพราะทุกอย่างล้วนเต็มเปี่ยมอยู่แล้วในความว่างในความไม่มี



นักปฏิบัติลังเลใจ

ปัจจุบันนี้ ศาสนิกชนผู้สนใจในการปฏิบัติฝ่ายวิปัสสนามีความงวยงงสงสัยอย่างยิ่งในแนวทางปฏิบัติ โดยเฉพาะผู้เริ่มต้นสนใจ เนื่องจากคณาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาแนะแนวปฏิบัติไม่ตรงกัน ยิ่งกว่านั้นแทนที่จะอธิบายให้เขาเข้าใจโดยความเป็นธรรม ก็กลับทำเหมือนไม่อยากจะยอมรับคณาจารย์อื่น สำนักอื่น ว่าเป็นการถูกต้อง หรือถึงขั้นดูหมิ่นสำนักอื่นไปแล้วก็เคยมีไม่น้อย

ดังนั้น เมื่อมีผู้สงสัยทำนองนี้มาก และเรียนถามหลวงปู่อยู่บ่อยๆ จึงได้ยินหลวงปู้อธิบายให้ฟังอยู่เสมอว่า

“การเริ่มต้นปฏิบัติวิปัสสนาภาวนานั้น จะเริ่มต้นโดยวิธีไหนก็ได้ เพราะผลมันเป็นอันเดียวกันอยู่แล้ว ที่ท่านสอนแนวปฏิบัติไว้หลายแนวนั้น เพราะจริตของคนไม่เหมือนกัน จึงต้องมีวัตถุ สี แสง และคำสำหรับบริกรรม เช่น พุทโธ อรหัง เป็นต้น เพื่อหาจุดใดจุดหนึ่งให้จิตรวมอยู่ก่อน เมื่อจิตรวม สงบ แล้วคำบริกรรมนั้นก็หลุดหายไปเอง แล้วก็ถึงรอยเดียวกัน รสเดียวกัน คือมีวัตถุเป็นแก่นมีปัญญาเป็นยิ่ง”



ตื่นอาจารย์

นักปฏิบัติธรรมสมัยนี้มีสงประเภท ประเภทหนึ่งเมื่อได้รับข้อปฏิบัติ หรือข้อแนะนำจากอาจารย์ พอเข้าใจแนวทางแล้ว ก็ตั้งใจเพียรพยายามปฏิบัติไปจนสุดความสามารถ อีกประเภทหนึ่ง ทั้งที่มีอาจารย์แนะนำดีแล้ว ได้ข้อปฏิบัติถูกต้องดีแล้ว แต่ก็ไม่ตั้งใจทำอย่างจริงจัง มีความเพียรต่ำ ขณะเดียวกันก็ชอบเที่ยวแสวงหาอาจารย์ไปในสำนักต่าง ๆ ได้ยินว่าสำนักไนดีก็ไปทุกแห่ง ซึ่งลักษณะนี้มีอยู่อย่างมากฯ

หลวงปู่เคยแนะนำลูกศิษย์ว่า

“การไปหลายสำนัก หลายอาจารย์ การปฏิบัติจะไม่ได้ผล เพราะการเดินหลายสำนักนี้ คล้ายกับการเริ่มต้นปฏิบัติใหม่ไปเรื่อย เราก็ไม่ได้หลักธรรมที่แน่นอน บางทีก็เกิดความลังเล งวยงง จิตก็ไม่มั่นคง การปฏิบัติก็เสื่อมไม่เจริญคืบหน้าต่อไป”



จับกับวาง

นักศึกษาธรรมะ หรือนักปฏิบัติธรรมะ มีสองประเภทประเภทหนึ่ง ศึกษาปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความพ้นทุกข์อย่างแท้จริง ประเภทสง ศึกษาปฏิบัติเพื่อจะอวดภูมิกันถกเถียงกันไปวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น ใครจำตำราหรืออ้างครูบาอาจารย์ได้มาก ก็ถือว่าตนเป็นคนสำคัญ บาททีเข้าหาหลวงปู่ แทนที่จะภามธรรมะข้อปฏิบัติจากท่าน ก็กลับพ่นความรุ้ความจำของตนให้ท่านฟังอย่างวิจิตรพิสดารก็เคยมีไม่น้อยฯ

แต่สำหรับหลวงปู่นั้นทนฟังได้เสมอ เมื่อเขาจบลงแล้วยังช่วยต่อให้หน่อยหนึ่งว่า

“ผู้ใดหลงใหลในคำราและอาจารย์ ผู้นั้นไม่อาจพ้นทุกข์ได้ แต่ผู้ที่จะพ้นทุกข์ได้ต้องอาศัยตำราและอาจารย์เหมือนกัน”



ทำจิตให้สงบได้ยาก

การปฏิบัติภาวนาสมาธินั้น จะให้ได้ผลเร็วช้าเท่าเทียมกันเป็นไปไม่ได้ บางคนได้ผลเร็ว บางคนก็ช้าหรือยังไม่ได้ผลลิ้มรสแห่งความสงบเลยก็มี แต่ก็ไม่ควรท้อถอยก็ชื่อว่าเป็นผู้ได้ประกบความเพียรทางใจ ย่อมเป็นบุญเป็นกุศลขั้นสูงตอจากการบริจารทาน รักษาศิล เคยมีลูกศิษย์เป็นจำนวนมากเรียนถามหลวงปู่ว่า อุตส่าห์พยายามภาวนาสมาธินานมาแล้ว แต่จิตไม่เคยสงบเลย แส่ออกไปข้างนอกอยู่เรื่อย มีวิธีอื่นใดบ้างที่พอจะปฏิบัติได้ฯ

หลวงปู่เคยแนะนำวิธีอีกอย่างหนึ่งว่า

“ถึงจิตไม่สงบก็ไม่ควรให้มันออกไปไกล ใช้สติระลึกไปแต่ในกายนี้ ดูให้เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อสุภสัญญาหาสาระแก่นสารไม่ได้ เมื่อจิตมองเห็นชัดแล้ว จิตก็เกิดความสลดสังเวช เกินนิพพิทา ความหน่าย คลายกำหนัดย่อมตัดอุปทานขันธ์ได้เช่นเดียวกัน”



อุบายคลายความยึด

เมื่อกระผมทำความสงบให้เกิดขึ้นแล้ว ก็พยายามรักษาจิตให้ดำรงอยู่ในความสงบนั้นด้วยดี แต่ครั้นกระทบกระทั่งกับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง จิตก็มักจะสูญเสียสถานะที่พยายามธำรงไว้นั้นร่ำไป

หลวงปู่ว่า

“ถ้าเช่นนั้น แสดงว่าสมาธิของตนเองยังไม่แข็งแกร่งเพียงพอ ถ้าเป็นอารมณ์แรงกล้าเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอารมณ์ที่เป็นจุดอ่อนของเราแล้ว ต้องแก้ด้วยวิปัสสนาวิธีจงเริ่มต้นด้วยการพิจารณาสภาวธรรมที่หยาบที่สุด คือกายแยกให้ละเอียด พิจารณาให้แจ่มแจ้ง ขยับถึงพิจารณานามธรรม อะไรก็ได้ทีละคู่ ที่เราเคยแยกพิจารณามาก็มีความดำความขาว ความมือความสว่าง เป็นต้น”



ความหลังยังฝังใจ

ครั้งหนึ่งหลวงปู่ไปพักผ่อนที่วัดโยธาประสิทธิ์ พระเณรจำนวนมากมากราบนมัสการหลวงปู่ ฟังโอวาทาของหลวงปู่แล้ว หลวงตาพลอย ผู้บวชเมื่อแก่ แต่สำรวมดี ได้ปรารภถึงตนเองว่า กระผมบวชมาก็นานพอสมควรแล้ว ยังไม่อาจตัดห่วงอาลัยในอดีตได้ แม้จะตั้งใจอย่างไรก็เผลอจนได้ ขอทราบอุบายวิธีอย่างอื่นเพื่อปฏิบัติตามแนวนี้ต่อไปด้วยครับกระผมฯ

หลวงปู่ว่า

“อย่าให้จิตแล่นไปสู่อารมณ์ภายนอก ถ้าเผลอ เมื่อรู้ตัวให้รีบดึงกลับมา อย่างปล่อยให้มันรู้อารมณีหรือชั่ว สุขหรือทุกข์ ไม่คล้อยตาม และไม่หักหาญ”



หยุด ต้องหยุดให้เป็น

นักปฏิบัติกราบเรียนหลวงปู่ว่า กระผมพยายามหยุดคิดหยุดนึกให้ได้ตามที่หลวงปู่เคยสอน แต่ไม่เป็นผลสำเร็จสักที ซ้ำยังเกิดความอึดอัดแน่นใจ สมองมึนงง แต่กระผมก็ยังศรัทธาว่าที่หลวงปู่สอนไว้ย่อมไม่ผิดพลาดแน่ ขอทราบอุบายวิธีต่อไปด้วย

หลวงปู่บอกว่า

“ก็แสดงถึงความผิดพลาดอยู่แล้ว เพราะบอกให้หยุดคิดหยุดนึก ก็กลับไปคิดที่จะหยุดคิดเสียอีกเล่า แล้วอาการหยุดจะอุบัติขึ้นได้อย่างไร จงกำจัดอวิชชาแห่งกรหยุดคิดหยุดนึกเสียให้สิ้น เลิกล้มความคิดที่จะหยุดคิดเสียก็สิ้นเรื่อง”



หยุดเพื่อรู้

เมื่อเดือนมีนาคม 2507 มีพระสงฆ์หลายรูป ทั้งฝ่ายปริยัติและฝ่ายปฏิบัติ ได้เข้ากราบหลวงปู่เพื่อรับโอวาทและรับฟังการแนะแนวทางธรรมะที่จะพากันออกเผยแพร่ธรรมทูตครั้งแรก หลวงปู่แนะวิธีอธิบายธรรมะขั้นปรมัตถ์ทั้งเพื่อสอนผู้อื่นและเพื่อปฏิบัติตนเอง ให้เข้าถึงสัจจธรรมนั้นด้วย ลงท้ายหลวงปู่ได้กล่าวปรัชญาธรรมไว้ให้คิดด้วยว่า

“คิดเท่าไรๆ ก็ไม่รู้
ต่อเมื่อหยุดคิดได้จึงรู้
แต่ต้องอาศัยความคิดนั่นแหละจึงรู้”



ละอย่างหนึ่ง คิดอีกอย่างหนึ่ง

ลูกศิษย์ฝ่ายคฤหัสถ์ผู้ปฏิบัติธรรมคนหนึ่ง เข้านมัสการหลวงปู่ รายงานผลการปฏิบัติให้ลวงปู่ฟังด้วยความภาคภูมิใจว่า ปลื้มใจอย่างยิ่งที่ได้พลหลวงปู่วันนี้ด้วยกระผมปฏิบัติตามที่หลวงปู่เคยแนะนำก็ได้ผลไปตามลำดับคือ เมื่อลงมือนั่งภาวนาก็เริ่มละสัญญาอารมณ์ภายนอกหมด จิตก็หมดความวุ่น จิตรวม จิตสงบ จิตดิ่งสู่สมาธิ หมดอารมณ์อื่น เหลือแต่ความสุข สุขอย่างยิ่ง เย็นสบาย แม้จะให้อยู่ตรงนี้นานเท่าไรก็ได้

หลวงปู่ยิ้มแล้วพูด

“เออ ก็ดีแล้วที่ได้ผล พูดถึงความสุขในสมาธิมันก็สุขจริง ๆ จะเอาอะไรมาเปรียบไม่ได้ แต่ถ้าติดอยู่แค่นั้น มันก็ได้แค่นั้นแหละ ยังไม่เกิดปัญญาอริยมรรคที่จะตัดภพ ชาติตัณหา อุปาทานได้ ให้ละสุขนั้นเสียก่อน แล้วพิจารณาขันธ์ห้าให้แจ่มแจ้งต่อไป”



รู้จากการเรียนกับรู้จากการปฏิบัติ

ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ ที่กระผมจำจากตำราและฟังครูสอนนั้น จะตรงกับเนื้อหาตามที่หลวงปู่เข้าใจหรือ

หลวงปู่อธิบายว่า

“ศีล คือ ปกติจิตที่อยู่ปราศจากโทษ เป็นจิตที่มีเกราะกำบังป้องกันการกระทำชั่วทุกอย่าง สมาธิ ผลสืบเนื่องมาจากการรักษาศีล คือจิตที่มีความมั่นคง มีความสงบเป็นพลังที่จะส่งต่อไปอีก ปัญญา ผู้รู้ คือจิตที่ว่าง เบาสบายรู้แจ้งแทงตลอดตามความเป็นจริง วิมุติ คือละความสบาย เหลือแต่ความไม่มี ไม่เป็น ไม่มีความคิดเหลืออยู่เลย”



เดินทางลัด

หลังจากที่หลวงปู่หายจากอาพาธ นายแพทย์และนางพยาบาลจำนวนหนึ่งเข้าไปกราบนมัสการหลวงปู่ แสดงความดีใจที่หลวงปู่หายจากาพาธครั้งนี้ พร้อมทั้งกล่าวปิยวาจาว่า “หลวงปู่มีสุขภาพอนามัยแข็งแรงดี หน้าตาสดใสเหมือนับไม่ได้ผ่านการอาพาธมา คงจะเป็นผลจากที่หลวงปู่มีภาวนาสมาธิจิตดี พวกกระผมมีเวลาน้อย หาโอกาสเพียรภาวนาสมาธิได้ยาก มีวิธีใดบ้างที่จะปฏิบัติให้ง่ายๆ หรือโดยย่อที่สุด

หลวงปู่ตอบว่า

“มีเวลาเมื่อไร ให้ปฏิบัติเมื่อนั้น การฝึกจิต การพิจารณาจิต เป็นวิธีลัดที่สุด”



คนละเรื่อง

แม้จะมีคนเป็นกลุ่ม อยากฟังความคิดเห็นของหลวงปู่เรื่องเวียนว่ายตายเกิด ยกบุคคลมาอ้างว่า ท่านผู้นั้นผู้นี้สามารถระลึกชาติย้อนหลังได้หลายชาติว่า ตนเคยเกิดเป็นอะไรบ้าง และใครเคยเป็นแม่เป็นญาติกันบ้าง

หลวงปู่ว่า

“เราไม่เคยสนใจเรื่องอย่างนี้ แค่อุปจารสมาธิก็เป็นได้แล้ว ทุกอย่างมันออกไปจากจิตทั้งหมด อยากรู้อยากเห็นอะไร จิตมันบันดาลให้รู้ให้เห็นได้ทั้งนั้น และรู้ได้เร็วเสียด้วย หากพอใจเพียงแค่นี้ ผลดีที่ได้ก็คือ ทำให้กลัวการเวียนว่ายตายเกิดในภพที่ตกต่ำ แล้วก็ตั้งจิตทำดี บริจาคทาน รักษาศิล แล้วก็ไม่เบียดเบียนกัน พากันกระหยิ่มยิ้มย่องในผลบุญของตน ส่วนการที่จะขจัดกิเลสเพื่อทำลายอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เข้าถึงความพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงนั้น อีกอย่างหนึ่งต่างหาก”



อยากได้ของดี

ยังมีสุภาพสตรีท่านหนึ่ง ถือโอกาสพิเศษกราบหลวงปู่ว่า ดิฉันขอของดีจากหลวงปู่ด้วยเถอะเจ้าค่ะ

หลวงปู่จึงเจริญพรว่า “ของดีก็ต้องภาวนาเอาจึงจะได้เมื่อภาวนาแล้ว ใจก็สงบ กายวาจาก็สงบ แล้วกายก็ดีวาจาใจก็ดี เราก็อยู่ดีมีสุขเท่านั้นเอง”

“ดิฉันมีภาระมาก ไม่มีเวลาจะสั่งภาวนา งานราชการเดี๋ยวนี้รัดตัวมากเหลือเกิน มีเวลาที่ไหนมาภาวนาได้คะ”

หลวงปู่จึงต้องอธิบายให้ฟังว่า

“ถ้ามีเวลาสำหรับหายใจ ก็ต้องมีเวลาสำหรับภาวนา”



เห็นจริงไม่จริง

แม่ชีพราหมณ์ได้สนทนาเชิงรายงานผลการปฏิบัติวิปัสสนาต่อหลวงปู่ว่า

“ดิฉันนั่งแล้วเห็นองค์พระพุทธรูปอยู่ในหัวใจ”

“ดิฉันเห็นสวรรค์ เห็นวิมารงดงามอย่างยิ่ง”

หลวงปู่ตอบว่า

“สิ่งที่ปรากฏเห็นทั้งหมดนั้นยังเป็นของภายนอกทั้งสิ้นจะนำเอามาเป็นสาระที่พึ่งอะไรยังไม่ได้หรอก”

เคยมีผู้ปฏิบัติบางรายถามว่า

นรก สวรรค์ วิมาน เทวดา ตลอดจนองค์พุทธรูปที่ปรากฏขึ้นในนิมิตนั้นเป็นจริงมากน้อยเพียงใด”

หลวงปู่ตอบว่า

“ที่เห็นนั้น เขาเห็นจริง แต่สิ่งที่ถูกเห็น ไม่จริง”

แล้วหลวงปู่ได้แนะวิธีละนิมิตต่อไปว่า

“เออ นิมิตบางอย่างมันก็สนุกดี น่าเพลิดเพลินอยู่หรอก แต่ถ้าติดอยู่แค่นั้นมันก็เสียเวลาเปล่า วิธีละได้ง่ายๆ ก็คือ อย่าไปดูสิ่งที่ถูเห็นเหล่านั้น ให้ดูผู้เห็น แล้วสิ่งที่ไม่อย่างเห็นนั้นก็จะหายไปเอง”



เหนือคำพูด

อุบาสกคนหนึ่งถามหลวงปู่ดูลย์ว่า

“กระผมเชื่อว่า แม้ในปัจจุบันพระผู้ปฏิบัติถึงขั้นได้บรรลุมรรคผลนิพพานก็คงมีอยู่ไม่น้อย เหตุใดท่านเหล่านั้นจึงไม่แสดงตนให้ปรากฏเพื่อให้ผู้สนใจปฏิบัติทราบว่าท่านได้บรรลุถึงคุณธรรมนั้น ๆ แล้ว เขาจะได้มีกำลังใจและมีความหวังเพื่อเป็นพลังเร่งความเพียรในทางปฏิบัติให้เต็มที่”

หลวงปู่ดูลย์ตอบสั้นๆ ว่า

“ผู้ที่เขาตรัสรู้แล้ว เขาไม่พูดว่าเขารู้แล้วซึ่งอะไรเพราะสิ่งนั้นมันอยู่เหนือคำพูดทั้งหมด”

พระครูนันทปัญญาภรณ์ กราบเรียนถามว่า

“พระอาจารย์ขอรับ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า องค์ไหนปฏิบัติธรรมเป็นอย่างไรในหมู่พระสงฆ์สาวก”

คำตอบจากหลวงปู่ คือ

“ที่ปฏิบัติปฏิปทาอันเดียวกันย่อมจะรู้กัน ย่อมจะเข้าใจกันได้ ในเมื่อสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในเมื่อได้อยู่ร่วมกันหรือแม้ไม่ได้อยู่ร่วมกันแค่ได้ทราบข่าวคราวของถ้อยคำ หรือข้อธรรมที่ผู้นั้นๆ แสดงออกมา เพราะข้อธรรมที่ท่านผู้นั้นแสดงออกมาจะชี้ชัดถึงภูมิธรรมของท่านว่าอยู่ในระดับใด”



มีสติทุกลมหายใจ

อุบาสกผู้หนึ่ง ได้สมันการถามหลวงปู่ว่า

“พวกกระผมถกเพียงกัน ไม่ตกลง บางคนบอกว่าก่อนที่จะนั่งสมาธิภาวนา ต้องกล่าวคำแสดงตนถึงพระรัตนตรัยก่อน แล้วก็รับศีล จึงจะทำสมาธิให้บังเกิดได้

บางคนบอกว่า ไม่ต้อง สะดวกสบายตอนไหนก็นั่งกำหนดจิตได้เสมอ

ขอฟังคำแนะนำจากหลวงปู่ครับ

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล กล่าวตอบ ดังนี้

“เราเคยบอกแล้วว่า ตราบใดที่มีลมหายใจก็ทำได้ และควรจะทำทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง
นอน ต้องให้จิตอยู่ในจิตมีสตกำกับอยู่เสมอ

ในการที่จะนั่งสมาธินั้นจะเริ่มต้นยังไงก็ตามแต่จะพอใจใครจะแสดงตนถึงพระรัตนตรัย สมาทานศีลก่อนก็ทำไป”


หลวงปู่กล่าวต่อไปว่า

“ถึงอย่างไรมันก็เป็นเพียงแว่นตาดำที่คนตาบอดสวมใส่ไม่ได้ช่วยให้มองเห็นอะไร เพียงแต่ช่วยให้คนอื่นดูดีขึ้นบ้างเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็ไม่รู้ไม่เห็นว่าจะดูดีขึ้นอย่างไร”



รู้ที่จิต

มีครั้งหนึ่ง หลวงปู่ดูลย์ได้กล่าวถึงการตาย การเกิดใหม่ ชาติหน้า ชาติหลัง นรกและสวรรค์ ได้อย่างน่าพิจารณา

“ผู้ปฏิบัติแท้จริงนั้นไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงชาติหน้าชาติลังหรตือนรกสวรรค์อะไรก็ได้

ให้ตั้งใจปฏิบัติให้ตรง ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างแน่วแน่ก็พอ ถ้าสวรรค์มีจริงถึง 16 ชั้นตามตำรา ผู้ปฏิบัติดีแล้วก็ย่อมได้เลื่อนฐานะของตนเองโดยลำดับ หรือถ้าดีแล้วก็ย่อมได้เลื่อนฐานะของตนเองโดยลำดับ หรือถ้าสวรรค์นิพพานไม่มีเลย ผู้ปฏิบัติดีแล้วในขณะนี้ก็ย่อมไม่ไร้ประโยชน์ ย่อมอยู่เป็นสุขเป็นมนุษย์ชั้นเลิศ”

หลวงปู่ได้สรุปว่า

“การฟังจากคนอื่น การค้นคว้าจากตำรานั้นไม่อาจแก้ข้อสงสัยได้ ต้องเพียรปฏิบัติ ทำวิปัสสนาญาณให้แจ้งความสงสัยก็หมดไปเองโดยสิ้นเชิง

พระธรรมทั้ง 84,000 พระธรรมขันธ์นั้น ออกไปจากจิตของพระพุทธเจ้าทั้งหมด ทุกสิ่งทุกอย่างออกจากจิตอยากรู้อะไรได้ที่จิต”



(มีต่อ ๑๒)
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 02 ส.ค. 2006, 12:43 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๑๒
ประสบการณ์ภาวนา


คุณสันตินันท์ ได้กล่าวถึงตนเองที่อาศัยคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ ช่วยในการปฏิบัติธรรมจนเกิดผลน่าพอใจ อ่านแล้วชื่นใจครับ (จากหนังสือโลกทิพย์)

เขาเล่าถึงตนเองอย่างถ่อมตนว่า

“ผมลังเลใจอยู่นานที่จะเล่าถึงการปฏิบัติธรรมของตนเอง เพราะมันเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งถ้าใครตั้งใจปฏิบัติก็ทำกันได้

แต่ด้วยความเคารพในคำสั่งของครูบาอาจารย์รูปหนึ่ง คือหลวงพ่อพุธ ฐานิโย แห่งวัดป่าสาลวัน ที่ท่านสั่งให้เขียนเรื่องนี้ออกเผยแพร่ ผมจึงต้องปฏิบัติตาม โดยเขียนเรื่องนี้ให้ท่านอ่าน

ผมเป็นคนวาสนาน้อย ไม่เคยรู้เรื่องพระธุดงค์กรรมฐานอย่างจริงจังมาก่อน จนกระทั่งแทบจะละทิ้งพุทธศาสนาไปแล้ว เพราะเกิดตื่นเต้นกับลัทธิวัตถุนิยม

แต่แล้ววันหนึ่ง ผมได้พบข้อธรรมสั้นๆ บทหนึ่งของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล แห่งวัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ มีสาระสำคัญว่า

“จิตส่งออกนอกคือสมุทัย มีผลเป็นทุกข์ จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค มีผลเป็นนิโรธ”

ผมเกิดความซาบซึ้งจับจิตจับใจ และเห็นจริงตามว่าถ้าจิตไม่ออกไปรับความทุกข์แล้ว ใครกันล่ะที่จะเป็นผู้ทุกข์ จิตใจผมมันยอมรับนับถือหลวงปู่ดูลย์เป็นครูบาอาจารย์ตั้งแต่นั้น

ต่อมาในต้นปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ผมก็มีโอกาสดั้นด้นไปนมัสการหลวงปู่ดูลย์ ที่จังหวัดสุรินทร์

เมื่อไปถึงหน้ากุฏิท่านแล้ว เกิดความรู้สึกกลัวเกรงเป็นที่สุดเพราะท่านเป็นพระเถระผู้ใหญ่ และผมไม่เคยพบปะพูดจากับพระมาก่อนด้วย

ขณะที่รีรออยู่นั้น หลวงปู่ดูลย์เดินออกมาจากกุฏิของท่านมามองดู ผมจึงรวมความกล้าเข้าไปกราบเรียนท่านว่า

“ผมอยากภาวนา”

ท่านแสดงธรรมทันทีว่า การภาวนานั้นไม่ยาก แต่มันยากสำหรับผู้ไม่ภาวนา

ขั้นแรกให้ภาวนา “พุทโธ” จนจิตวูบลงไป แล้วตามดูจิตผู้รู้ไป จะรู้ธรรมคืออริยสัจ ๔ เอง (หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนศิษย์แต่ละคนด้วยวิธีแตกต่างกัน นับว่าท่านมีอนุสาสนีปาฏิหาริย์อย่างสูง)

หลังจากนั้น ผมได้น้อมเอาคำสอนของท่านมาปฏิบัติโดยภาวนาพุทโธ จนได้น้อมเอาคำสอนของท่านมาปฏิบัติโดยภาวนาพุทโธ จนจิตสงบ แล้วพยายามสังเกตจิตใจของตนเอง

ค่อยๆ แยกจิตผู้รู้ออกจากความรู้หรือสิ่งรู้ของจิต เช่นความคิด ความจำ และอารมณ์ตลอดจนกิเลสต่างๆ จนสามารถรู้ได้ว่าขณะนี้เกิดกิเลสขึ้นกับจิตหรือไม่

ถ้าเกิดและรู้ทัน กิเลสมันก็ดับไปเอง เหลือแต่จิตผู้รู้ซึ่งความรู้ความคิดนึกปรุงแต่งต่างๆ ไปอย่างเป็นอิสระจากกัน

ต่อมาภายหลังผมได้หาหนังสือธรรมะมาอ่าน จึงรู้ว่าในทางปริยัติจัดเป็นการเจริญวิปัสสนาญาณแล้ว เป็นการจำแนกรูปนามขันธ์ ๕ ออกจากกัน

แต่ในขณะที่ปฏิบัตินั้น จิตไม่ได้กังวลสนใจว่าเป็นญาณอะไรขั้นใด

ปฏิบัติอยู่ ๓ เดือน จึงไปรายงานผลกับหลวงปู่ดูลย์ว่า

“ผมหาจิตเจอแล้ว จะต้องปฏิบัติอย่างไรต่อไป”

คราวนี้ ปรากฏว่าท่านแสดงธรรมอันลึกซึ้งมากมาย เกี่ยวกับการถอดถอนทำลายอุปาทานในขันธ์ทั้ง ๕

ท่านสอนถึงกำเนิดและการทำงานของจิตวิญญาณจนถึงการเจริญอริยมรรค จนมีญาณเห็นจิตเหมือนมีตาเห็นรูป

ท่านสอนว่า เมื่อเราดูจิต คือตามรู้จิตเรื่อยๆ ไปนั้น สิ่งปรุงแต่งจะดับไปตามลำดับ จนถึงความว่าง

แต่ในความว่างนั้นยังไม่ว่างจริง มันมีสิ่งละเอียดเหลืออยู่คือวิญญาณ

ให้ตามรู้จิตเรื่อยๆ ไป ความยึดในวิญญาณจะถูกทำลายออกไป แล้วจิตจริงแท้หรือพุทธะ (หลวงปู่เทสก์เรียกว่าใจ) จึงปรากฏออกมา


คำสอนครั้งนี้ลึกซึ้งกว้างขวางเหมือนฝนตกทั่วฟ้า แต่ภูมิปัญญาผมจำกัด จึงรองน้ำฝนไว้ได้ถ้วยเดียว คือ ได้เรียนถามท่านว่า

“ที่หลวงปู่สอนมาทั้งหมดนี้ หากผมจะปฏิบัติด้วยการดูจิตเรื่อยๆ ไปจะพอไหม”

หลวงปู่ดูลย์ตอบว่า “การปฏิบัติก็มีอยู่เท่านั้นแหละ แม้จะพิจารณากาย หรือกำหนดนิมิตหมายใดๆ ก็เพื่อให้ถึงจิตใจตนเองเท่านั้น

นอกจากจิตแล้วไม่มีสิ่งใดอีก พระธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ก็รวมลงที่จิตตัวเดียวนี้เอง”


หลังจากนั้นผมก็เพียรดูจิตเรื่อยๆ มามีสติเมื่อใด ดูเมื่อนั้น ขาดสติแล้วก็กลับกันไป นึกขึ้นได้ก็ดูใหม่ เวลาทำงานก็ทำไป พอได้สติเกิดความเปลี่ยนแปลงในตัวเองอย่างไม่น่าจะเป็นไปได้

วันหนึ่งของอีก ๔ เดือนต่อมา ขณะนั้นเป็นเวลาเย็นมีพายุฝนอย่างหนัก ผมเปียกฝนทั้งตัว และได้ไปหลบฝนอยู่ในกุกฏิพระหลังหนึ่ง

ขณะนั้นได้นึกห่วงร่างกายว่า ร่างกายเราไม่แข็งแรงคราวนี้ไม่สบายแน่

สักครู่ก็ตัดใจว่า ถ้าจะป่วยมันก็ต้องป่วย นี่กายยังไม่ทันป่วยใจกลับป่วยเสียก่อนแล้ว ด้วยความกังวล พอรู้ตัวว่าจิตมีกังวล ผมก็ดูจิตต่อไป เพราะเคยฝึกดูจิตาจนเป็นนิสัยแล้ว

ขณะนั้นนั่งลืมตาอยู่แท้ๆ แต่ประสาทสัมผัสดับหายไปหมด โลกทั้งโลก เสียงฝน เสียงพายุหายไปหมด เหลือแต่สติที่ละเอียดอ่อนประคองรู้ตัวอยู่

มันมีสิ่งละเอียดๆ ผ่านมาสู่ความรับรู้ของจิตเป็นระยะๆ แต่ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร เพราะจิตไม่มีความสำคัญมั่นหมายใดๆ

ต่อมาจิตมีอาการไหวดับวูบหนึ่ง ส่งที่ผ่านมาให้รู้ดับไปหมดแล้ว ทำให้รู้ชัดเหมือนตาเห็นว่าความว่างที่เหลืออยู่นั้น ถูกแหวกพรวดออกไปอีกทีหนึ่ง กลายเป็นความว่างที่บริสุทธิ์หมดจดอย่างแท้จริง

ในความว่างนั้น จิตซึ่งเป็นอิสระแล้วได้อุทานขึ้นว่า

“เอ๊ะ ! จิตไม่ใช่เรานี่”

จากนั้นจิตได้มีอาการปิติยินดี ยิ้มแย้มแจ่มใสขึ้นพร้อมๆ กับเกิดแสงสว่างโพลงขึ้นรอบทิศทาง จากนั้นจิตาจึงรวมสงบลงอีกครั้งหนึ่งแล้วถอนออกจากสมาธิ

เมื่อความรับรู้ต่างๆ กลับมาสู่ตัวแล้ว ถึงกับอุทานว่า

“อ้อ ! ธรรมะเป็นอย่างนี้เอง”

เมื่อผมได้ไปกราบหลวงปู่ดูลย์ และเล่าเรื่องนี้ให้ท่านทราบ พอเล่าว่าสติละเอียดเหมือนเคลิ้มๆ ไป ท่านอธิบายว่าจิตผ่านฌานทั้ง ๘

ผมได้แย้งท่านตามประสาคนโง่ว่า ผมไม่ได้หัดเข้าฌาน และไม่ได้ตั้งใจเข้าฌาน

หลวงปู่ดูลย์อธิบายว่า ถ้าตั้งใจก็ไม่ใช่ฌาน และขณะจิตผ่านฌานอย่างรวดเร็วนั้น จิตจิไม่มานั่งนับว่าผ่านฌานอะไรอยู่

การที่ดูจิตนั้นจะได้ฌานโดยอัตโนมัติ (หลวงปู่ไม่ชอบสอนเรื่องฌาน เพราะเห็นเป็นของธรรมดาที่จะต้องผ่านไปเอง หากสอนเรื่องนี้ ศิษย์จะมัวสนใจฌาน ทำให้เสียเวลาปฏิบัติ)

พอผมเล่าว่าจิตอุทานได้เอง หลวงปู่ดูลย์ก็บอกว่าอาการจิตต่างๆ ที่ผมยังเล่าไม่ถึงออกมาตรงกับที่ผมผ่านมาทุกอย่าง

และท่านสรุปว่า จิตยิ้มแล้ว พึ่งตนเองได้แล้ว ต่อไปนี้ไม่จำเป็นจ้องมาหาท่านอีก

แล้วท่านแสองธรรมเรื่อง จิตเหนือเหตุ หรือ อเหตุกจิต ให้ฟัง มีใจความว่า

อเหตุกจิต มี ๓ ประการ คือ

๑. ปัญจทวารวัชนจิต ได้แก่ ความรับรู้ทางตา หู จมธก ลิ้น และกาย
๒. มโนทวารวัชนจิต ได้แก่ ความรับรู้ทางใจ
๓. หสิตกหุปบาท เป็นโลกุตรจิต เป็นจิตสูงสุด เกิดขึ้นเพียง ๓ - ๔ ครั้ง ก็ถึงที่สุดแห่งกทหุกข์

หลังจากนั้นผมก็ปฏิบัติด้วยการดูจิตเรื่อยมา และเห็นว่าเวลามีการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย จะมีคลื่นวิ่งเข้าสู่ใจหรือบางครั้งก็มีธรรมารมณ์เป็นคลื่นเข้ามาสู่ใจ

หากขณะนั้นขาดสติ จิตจะส่งกระแสไปยึดอารมณ์นั้น

หากตอนนั้นจิตยังไม่ละเอียดพอ ผมเข้าใจว่าจิตวิ่งไปยึดอารมณ์แล้วขยับๆ ตัวเสวยอารมณ์อยู่ จึงไปเรียนให้หลวงปู่ดูลย์ทราบ

ท่านกลับตอบว่า “จิตไม่มีการไป ไม่มีการมา”

ผมได้มาดูจิตต่ออีกสักครึ่งปีต่อมา

วันหนึ่งจิตผ่านเข้าสู่อัปปนาสมาธิ และเดินวิปัสสนาคือมีสิ่งรู้ผ่านมาสู่จิต แต่จิตไม่มีความคิดสำคัญมั่นหมายใดๆ

จากนั้นเกิดอาการว่าแยกขึ้นาาแบบเดียวกับจิตยิ้มคราวแรก

คราวนี้จิตพูดขึ้นเบาๆ ว่า “จิตไม่ใช่เรา”

แต่ต่อจากนั้นแทนที่จิตจะยิ้ม จิตกลับพลิกไปสู่ภูมิาของสมถะ ปรากฏนิมิตเป็นเหมือนดวงอาทิตย์โผล่พรวดออกมาจากสิ่งห่อหุ้ม แต่โผล่ไม่หมดดวง

เป็นสิ่งแสดงให้รู้ว่ายังไม่ถึงที่สุดของการปฏิบัติ

ปรากฏการณ์นี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า การดำเนินของจิตในขั้นวิปัสสนานั้น หากสติอ่อนลง จิตจะวกกลับมาสู่สมถะ และวิปัสสนูปกิเลสจะแทรกเข้ามาตรงนี้ ถ้าไม่กำหนดรู้ให้ชัดเจนว่า วิปัสสนาพลิกกลับเป็นสมถะไปแล้ว

นักปฏิบัติจึงต้องระวังให้มาก โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่เคยพบกับจิตยิ้ม (สำนวนของหลวงปู่ดูลย์) หรือใจ (สำนวนของหลวงปู่เทสก์) หรือจิตรวมใหญ่ (สำนวนท่านอาจารย์สิงห์)

เมื่อผมนำเรื่องนี้ไปรายงานหลวงปู่ดูลย์ ท่านก็ว่า “ดีแล้วให้ดูจิตต่อไป”

ผมก็ทำเรื่อยๆ มา ส่วนมากเป็นการดูจิตในชีวิตประจำวัน ไม่ค่อยได้นั่งสมาธิแบบเป็นพิธีการ

ต่อมาอีก ๑ เดือน วันหนึ่ง ขณะนั่งสนทนาธรรมกับน้องชาย จิตเกิดรวมวูบลงไป มีการแยกความว่าง ซึ่งมีขันธ์ละเอียด (วิญญาณขันธ์) ออกอีกทีหนึ่ง

แล้วจิตก็หัวเราะออกมาเอง (ร่างกายไม่ได้หัวเราะ) โดยปราศจากอารมณ์ เกิดการหัวเราะกิเลสว่ามันผูกมัดมานาน ต่อๆ ไปจิตจะเป็นอิสระยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ

เหตุการณ์นี้ทำให้ได้ความรู้ชัดว่า ทำไมในครั้งพุทธกาลจึงมีผู้รู้ธรรมะขณะฟังธรรมเกิดขึ้นได้

ผมนำเรื่องนี้ไปรายงาน หลวงปู่ดูลย์ คราวนี้ท่านไม่ได้สอนอะไรอีก เพียงแต่ให้กำลังใจว่าให้พยายามให้จบเสียแต่ในชาตินี้ หลังจากนั้นไม่นานท่านก็มรณภาพ

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์อีกรูปหนึ่งเคยบอกให้ผมเขียนเรื่องการาปฏิบัติของตนเองออกเผยแพร่ เพราะอาจจะมีผู้ที่จริตคล้ายๆ กันได้ประโยชน์บ้าง

และเพื่อระลึกถึงหลวงปู่ดูลย์ ผู้มากด้วยอนุสาสนีปาฏิหาริย์ รวมทั้งหวังว่าอาจจะเป็นประโยชน์บ้างเล็กน้อยสำหรับท่านที่กำลังแสวงหาหนทางปฏิบัติอยู่


(มีต่อ ๑๓)
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 02 ส.ค. 2006, 12:54 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

บทธรรมสมาธิ
จากพระไตรปิฎก


คุณของอานาปานสติ


พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวันเมื่อเวลาลี ได้ตรัสคุณของอานาปานสติแก่ภิกษุทั้งหลายไว้ดังนี้

“ภิกษุทั้งหลาย ! แม้สมาธิในอานาปานสตินี้แล อันภิกษุอบรมทำให้มากแล้วย่อมเป็นคุณ สงบ ประณีต เยือกเย็นอยู่เป็นสุข และยังบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วๆ ให้อันตรธานสงบไปโดยฉับพลัน ฉะนั้น

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็อานาปานสติสมาธิ อันภิกษุอบรมอย่างไร ทำให้มากอย่างไร จึงเป็นคุณ สงบ ประณีตเยือกเย็น อยู่เป็นสุข และยังบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วๆ ให้อันตรธานสงบไปโดยฉับพลัน

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ตามอยู่ ณ โคนไม้ก็ตาม อยู่ในสถานที่สงัดก็ตาม นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรงดำรงสกติบ่ายหน้าสู่กรรมฐาน

ภิกษุนั้นย่อมมีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้สึกว่าหายใจเข้ายาว หรือเมื่อหายใจออกยาว ก็รู้สึกว่าหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้สึกว่าหายใจเข้าสั้น หรือเมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้สึกว่าหายใจออกสั้น

ย่อมสำเหนียกว่าเราจักรู้แจ้งซึ่งกองลมทั้งปวง หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่าเราจักรู้แจ้งซึ่งกองลมทั้งปวง หายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้าย่อมสำเหนียกว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่าเราจักรู้แจ้งซึ่งปิติ หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่าเราจักรู้แจ้งซึ่งปิติ หายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่าเราจักรู้แจ้งซึ่งสุข หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่าเราจักรู้แจ้งซึ่งสุข หายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจเข้าย่อมสำเหนียกว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่าเราจักรู้แจ้งซึ่งจิต หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่าเราจักรู้แจ้งซึ่งจิต หายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่าเราจักยังจิตให้บันเทิง หายใจเข้าย่อมสำเหนียกว่าเราจักยังจิตให้บันเทิง หายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่าเราจักตั้งจิตไว้มั่น หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่าเราจักตั้งจิตไว้มั่น หายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่าเราจักปล่อยจิต หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่าเราจักปล่อยจิต หายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นธรรมอันไม่เที่ยง หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่าเราจักพิจารณาเห็นธรรมอันไม่เที่ยง หายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่าเราจักพิจารณาเห็นวิราคะ หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่าเราจักพิจารณาเห็นวิราคะ หายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่าเราจักพิจารณาเห็นนิโรธ หายใจเข้าย่อมสำหนียกว่าเราจักพิจารณาเห็นนิโรธ หายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่าเราจักพิจารณาเห็นปฏินิสสัคคะหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่าเราจักพิจารณาเห็นปฏินิสสัคคะหายใจออก

ภิกษุทั้งหลาย ! อานาปานสติสมาธิ อันภิกษุอบรมแล้วอย่างนี้แล ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล จึงเป็นคุณ สงบประณีต เยือกเย็น อยู่เป็นสุข และยังบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วๆ ให้อันตรธานสงบไปได้โดยแบพลัน”

ตติยปราราชิกกัณฑ์ วินัย (๑/๓๔๑)


(มีต่อ ๑๔)
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา

แก้ไขล่าสุดโดย TU เมื่อ 02 ส.ค. 2006, 2:08 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 02 ส.ค. 2006, 1:27 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน


วิธีเจริญอานาปานสติที่มีผลมาก


สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในพระวิหารบุพพาราม พระนครสาวัตถี พร้อมด้วยพระสาวก ผู้เป็นเถระที่มีชื่อเสียงเด่นหลายรูปด้วยกัน เช่นท่าพระสารีบุตรท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสป ท่านพระมหากัจจายนะ ท่านพระมหาโกฏธิตะ ท่านพระมหากัปปินะ ท่านพระมหาจุนทะ ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระเรวตะ ท่านพระอานนท์ และพระสาวกผู้เป็นเถระมีชื่อเสียงเด่นอีกหลายองค์

วันหนึ่ง พระเถระทั้งหลายพากันพร่ำสอนพวกพระภิกษุอยู่คือ พระเถระบางพวกโอวาทพร่ำสอนภิกษุ ๑๐ รูปบ้าง บางพวกโอวาทพร่ำสอน ๒๐ รูปบ้าง บางพวกโอวาทพร่ำสอน ๓๐ รูปบ้าง บางพวกโอวาทพร่ำสอน ๔๐ รูปบ้าง

ฝ่ายภิกษุนวกะเหล่านั้น ฟังเถระพร่ำสอนอยู่ ก็รู้ชัดธรรมวิเศษอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าที่ตนรู้มาก่อน

อยู่ต่อมาอีกวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้ามีภิกษุสงฆ์ห้อมล้อมประทับนั่งกลางแจ้ง ในราตรีมีพระจันทร์เต็มดวงวันนั้นเป็นวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ ทั้งเป็นวันปวารณาด้วย

ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเหลียวดูหมู่ภิกษุซึ่งนั่งเงียบอยู่โดยลำพัง จึงตรัสบอกภิกษาทั้งหลายว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ! เรายินดี ยินดีจริงๆ ในปฏิปทานี้เพราะฉะนั้นแล พวกเธอจงบำเพ็ญความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ตนยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ตนยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ตนไม่ทำให้แจ้ง ให้ยิ่งๆ ขึ้นไปเถิด เราจักรออยู่ในพระนครสาวัตถีนี้ จนถึงวันครบ ๔ เดือนแห่งฤดูฝน เป็นที่บานแห่งดอกโกมุท (คือวันเพ็ญเดือนสิบสอง)”

พวกภิกษุชาวชนบททราบข่าวว่พระผู้มีพระภาคเจ้าจักรออยู่ในพระนครสาวัตถีนั้น จนถึงวันครบ ๔ เดือนแห่งฤดูฝน เป็นที่บานแห่งดอกโกมุท จึงพากันหลั่งไหลมายังพระนครสาวัตถี เพื่อเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า

ฝ่ายพระเถระเหล่านั้น รับคำพร่ำสอนภิกษุนวกะเพิ่มจำนวนมากขึ้น

ภิกษุนวกะเหล่านั้น รับคำพร่ำสอนภิกษุผู้เถระอยู่ย่อมรู้ชัดธรรมวิเศษอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าที่ตนรู้มาก่อน

พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีภิกษุสงฆ์ห้อมล้อมประทับนั่งกลางแจ้งในราตรีมีพระจันทร์เต็มดวง เป็นวันครบ ๔ เดือนแห่งฤดูฝนเป็นที่บานแห่งดอกโกมุท วันนี้เป็นวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเหลียวดูหมู่ภิกษุ ซึ่งนั่งเงียบอยู่โดยลำพัง จึงตรัสบอกภิกษุทั้งหลายว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ! บริษัทนี้ไม่คุยกัน บริษัทนี้เงียบเสียงคุย ดำรงอยู่ในสารธรรมอันบริสุทธิ์ ภิกษุสงฆ์นี้ บริษัทนี้เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทที่ควรแก่การคำนับ ควรแก่การต้อนรับ ควรแก่ทักษิณาทาน ควรแก่การกระทำอัญชลีเป็นเนื้อนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ภิกษุสงฆ์นี้บริษัทนี้เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทที่เขาถวายของน้อย มีผลมาก และถวายของมาก มีผลมากยิ่งขึ้น ภิกษุสงฆ์นี้บริษัทนี้เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัท ที่ชาวโลกยากที่จะได้พบเห็นภิกษุสงฆ์นี้บริษัทนี้เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทอันสมควร ที่แม้คนผู้เอาเสบียงคล้องบ่าเดินทางไปชมกันเป็นโยชน์ๆ”

ภิกษุทั้งหลาย ! ในหมู่ภิกษุนี้ ย่อมมีภิกษุผู้เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ สิ้นสัญโญชน์ในภพแล้วพ้นวิเศษแล้ว เพราะรู้ชอบ แม้ภิกษุเช่นนี้ก็มีอยู่

ภิกษุทั้งหลาย ! ในหมู่ภิกษุนี้ ย่อมมีภิกษุผู้เป็นโอปปาติกะ เพราะสิ้นสัญโญชน์ส่วนเบื้องต่ำทั้ง ๕ จะได้ปรินิพพานในโลกนั้นๆ มีอันไม่กลับมาจากโลกนั้นอีกเป็นธรรมดา แม้ภิกษุเช่นนี้ก็มีอยู่

ภิกษุทั้งหลาย ! ในหมู่ภิกษุนี้ ย่อมมีภิกษุผู้เป็นพระสกทาคามี เพราะสิ้นสัญโญชน์ ๓ อย่าง และเพราะทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบาง มายังโลกนี้อีกครั้งเดียวเท่านั้น ก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ภิกษุเช่นนี้ก็มีอยู่

ภิกษุทั้งหลาย ! ในหมู่ภิกษุนี้ ย่อมมีภิกษุผู้เป็นพระโสดาบัน เพราะสิ้นสัญโญชน์ ๓ อย่าง มีอันไม่ตกอบายเป็นธรรมดาเที่ยงแท้ แน่ที่จะได้ตรัสรู้ในเบื้องหน้า แม้ภิกษุเช่นนี้ก็มีอยู่

ภิกษุทั้งหลาย ! ในหมู่ภิกษุนี้ ย่อมมีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรเจริญสติปัฏฐาน ๔ แม้ภิกษุเช่นนี้ก็มีอยู่

ภิกษุทั้งหลาย ! ในหมู่ภิกษุนี้ ย่อมมีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรเจริญสัมมัปปธาน ๔ แม้ภิกษุเช่นนี้ก็มีอยู่

ภิกษุทั้งหลาย ! ในหมู่ภิกษุนี้ ย่อมมีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรเจริญอิทธิบาท ๔ แม้ภิกษุเช่นนี้ก็มีอยู่

ภิกษุทั้งหลาย ! ในหมู่ภิกษุนี้ ย่อมมีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรเจริญอินทรีย์ ๕ แม้ภิกษุเช่นนี้ก็มีอยู่

ภิกษุทั้งหลาย ! ในหมู่ภิกษุนี้ ย่อมมีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรเจริญพละ ๕ แม้ภิกษุเช่นนี้ก็มีอยู่

ภิกษุทั้งหลาย ! ในหมู่ภิกษุนี้ ย่อมมีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรเจริญโพชฌงค์ ๗ แม้ภิกษุเช่นนี้ก็มีอยู่

ภิกษุทั้งหลาย ! ในหมู่ภิกษุนี้ ย่อมมีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรเจริญมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นอริยะ แม้ภิกษุเช่นนี้ก็มีอยู่

ภิกษุทั้งหลาย ! ในหมู่ภิกษุนี้ ย่อมมีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรเจริญเมตตาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ก็มีอยู่

ภิกษุทั้งหลาย ! ในหมู่ภิกษุนี้ ย่อมมีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรเจริญกรุณาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ก็มีอยู่

ภิกษุทั้งหลาย ! ในหมู่ภิกษุนี้ ย่อมมีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรเจริญมุทิตาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ก็มีอยู่

ภิกษุทั้งหลาย ! ในหมู่ภิกษุนี้ ย่อมมีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรเจริญอุเบกขาอยู่ แม้ภิกษาเช่นนี้ก็มีอยู่

ภิกษุทั้งหลาย ! ในหมู่ภิกษุนี้ ย่อมมีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรเจริญอสุภสัญญาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ก็มีอยู่

ภิกษุทั้งหลาย ! ในหมู่ภิกษุนี้ ย่อมมีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรเจริญอนิจสัญญาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ก็มีอยู่

ภิกษุทั้งหลาย ! ในหมู่ภิกษุนี้ ย่อมมีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรเจริญอานาปานสติอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ก็มีอยู่



เจริญอานาปานสติแล้วธรรมทั้ง ๔ จะบริบูรณ์

ภิกษุทั้งหลาย ! อานาปานสติที่ภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้ ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้ว ทำให้มากแล้วย่อมบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้ ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้


วิธีเจริญอานาปานสติที่มีผลานิสงส์มาก

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็อานาปานสติที่ภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี นั่งขัดสมาธิตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า เธอย่อมมีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก

เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว หรือเมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น หรือเมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น

สำเหนียกอยู่ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กงลมทั้งปวงหายใจเข้า ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กงลมทั้งปวง หายใจออก

สำเหนียกอยู่ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้าว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจออก

สำเหนียกอยู่ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดปีติ หายใจเข้าว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจออก

สำเหนียกอยู่ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจเข้าว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจออก

สำเหนียกอยู่ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจเข้า ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจออก

สำเหนียกอยู่ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจเข้า ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจออก

สำเหนียกอยู่ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจเข้าว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจออก

สำเหนียกอยู่ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจเข้า ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจออก

สำเหนียกอยู่ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจเข้า ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจออก

สำเหนียกอยู่ว่าเราจักมุ่งทำจิตให้หลุดพ้น หายใจเข้าว่าเราจักมุ่งทำจิตให้หลุดพ้น หายใจออก

สำเหนียกอยู่ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจเข้า ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจออก

สำเหนียกอยู่ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจเข้า ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจออก

สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจเข้า ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจออก

สำเหนียกอยู่ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจเข้า ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจออก

ภิกษุทั้งหลาย ! อานาปานสติที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก



เจริญอานาปานสติอย่างไร
สติปัฏฐาน ๔ จึงจะบริบูรณ์


ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้สมบูรณ์ได้

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใดภิกษุหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว หรือเมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น หรือเมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น สำเหนียกอยู่ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก สำเหนียกอยู่ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า ว่าเราจักกระงับกายสังขาร หายใจออก

ภิกษุทั้งหลาย ! ในสมัยนั้นภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่

ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวลมหายใจเข้า ลมหายใจออกนี้ว่าเป็นกายชนิดใดชนิดหนึ่งในพวกกายทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแล ในสมัยนั้นภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นหายในกายมีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใดภิกษุสำเหนียกอยู่ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจเข้า ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติหายใจออก สำเหนียกอยู่ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจเข้า ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจออก สำเหนียกอยู่ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจเข้า ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจออก สำเหนียกอยู่ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจเข้า ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจออก

ภิกษุทั้งหลาย ! ในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่

ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวการใส่ใจลมหายใจเข้าลมหายใจออกเป็นอย่างดีนี้ว่า เป็นเวทนาชนิดใดชนิดหนึ่งในวกเวทนาทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ในสมัยนั้นภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร มีสัมปชัญญะมีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใดภิกษุสำเหนียกอยู่ว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจเข้า ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจเข้า ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจออก สำเหนียกอยู่ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจเข้า ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจอก สำเหนียกอยู่ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจเข้า ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจออกสำเหนียกอยู่ว่าเราจักมุ่งทำจิตให้หลุดพ้น หายใจเข้า ว่าเราจักมุ่งทำจิตให้หลุดพ้น หายใจออก

ภิกษุทั้งหลาย ! ในสมัยนั้นภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่

ภิกษุทั้งหลาย ! เราไม่กล่าวอานาปานสติแก่ภิกษุผู้หลงลืม ไม่มีสัมปชัญญะ เพราะฉะนั้นและ ในสมัยนั้นภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร มีสัมปชัญญะมีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใดภิกษุสำเหนียกอยู่ว่า เราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจเข้า ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจออก สำเหนียกอยู่ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจเข้าว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจออกสำเหนียกอยู่ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดังกิเลส หายใจเข้า ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดังกิเลส หายใจออก สำเหนียกอยู่ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจเข้า ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจเข้า ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจออก

ภิกษุทั้งหลาย ! ในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรม มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ เธอเห็นการละอภิชฌาและโทมนัสด้วยปัญญาแล้ว ย่อมเป็นผู้วางเฉยได้ดี เพราะฉะนั้นและ ในสมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรม มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโท่มนัสในโลกเสียได้อยู่

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้วอย่างนี้ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ชื่อว่าบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้



เจริญสติปัฏฐาน ๔ อย่างไร
โพชฌงค์ ๗ จึงจะบริบูรณ์


ภิกษุทั้งหลาย! ก็ภิกษาที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้ว ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายมีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ในสมัยนั้น เธอผู้มีสติตั้งมั่น ย่อมเป็นผู้มีสติไม่หลงลืม

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษาผู้มีสติตั้งมั่น ย่อมเป็นผู้มีสติไม่หลงลืม ในสมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุเริ่มบำเพ็ญแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์อยู่ สติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เธอเมื่อเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรองถึงความพิจารณาธรรมนั้นได้ด้วยปัญญา

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุเป็นผู้มีสติตั่งมั่น ย่อมเป็นผู้มีสติไม่หลงลืม ในสมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุเริ่มลำเพ็ญแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์อยู่ สติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เธอเมื่อเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรองถึงความพิจารณาธรรมนั้นได้ด้วยปัญญา

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง พิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญาอยู่ในสมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุเริ่มบำเพ็ญแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ยู่ธรรมวิาจยโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เธอเมื่อค้นคว้า ไตร่ตรอง พิจารณาธรรมด้วยปัญญาอยู่ ย่อมเป็นอันบำเพ็ญเพียรไม่ย่อหย่อน

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุค้นคว้า ไตรตรองพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา เริ่มบำเพ็ญาความเพียรไม่ย่อหย่อนอยู่ ในสมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุเริ่มลำเพ็ญแล้ว สมัยนั้นภิกษาชื่อว่าย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์อยู่ วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเจริญบริบูรณ์ ปีติปราศจากอามิสย่มเกิขึ้นแก่ภิกษุผู้เริ่มบำเพ็ญความเพียรแล้ว

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ปีติปราศจากอามิสเกิดขึ้นแก่ภิกษุเริ่มบำเพ็ญความเพียรแล้ว ในสมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุเริ่มบำเพ็ญแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์อยู่ ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเจริญบริบูรณ์ภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ย่อมมีทั้งกายทั้งจิตสงบระงับ

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ทั้งกายทั้งจิตของภิกษุผู้มีใจเกิดปีติระงับได้ ในสมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์อยู่ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมเจริญบริบูรณ์ภิกษุผู้มีกายระงับแล้วมีความสุข ย่อมมีจิตตั้งมั่น

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด จิตของภิกษุผู้มีกายระงับแล้วมีความสุขย่อมตั้งมั่น ในสมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุเริ่มบำเพ็ญแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์อยู่ สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมเจริญบริบูรณ์ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้วางเฉยจิตตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี ในสมัยนั้นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุเริ่มบำเพ็ญแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์อยู่ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมเจริญบริบูรณ์

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ในสมัยนั้น เธอผู้มีสติตั้งมั่นย่อมเป็นผู้มีสติไม่หลงลืม

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตมีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ในสมัยนั้น เธอผู้มีสติตั้งมั่น ย่อมเป็นผู้มีสติไม่หลงลืม

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ในสมัยนั้น เธอผู้มีสติตั้งมั่น ย่อมเป็นผู้มีสติไม่หลงลืม

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุผู้มีสติตั้งมั่น ย่อมเป็นผู้มีสติไม่หลงลืม ในสมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุเริ่มบำเพ็ญ สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์อยู่ สติสัมโพชฌงค์ย่อมเจริญบริบูรณ์ เธอเมื่อเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง พิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง พิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ในสมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุเริ่มบำเพ็ญแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์อยู่สมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ยอ่มเจริญบริบูรณ์ เมื่อเธอค้นคว้า ไตร่ตรอง พิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญาอยู่ ย่อมเป็นอันเริ่มบำเพ็ญความเพียรไม่ย่อหย่อน

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุค้นคว้า ไตร่ตรองพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา เริ่มบำเพ็ญความเพียรไม่ย่อหย่อน ในสนมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุเริ่มบำเพ็ญแล้ว สมัยนั้ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์อยู่ วิริยสัมโพชฌงค์าของภิกษุย่อมเจริญบริบูรณ์ ปีติปราศจากอามิส ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรแล้ว

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ปีติปราศจากอามิสเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้เริ่มบำเพ็ญความเพียรแล้ว ในสมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุเริ่มบำเพ็ญแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์อยู่ ปีติสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมเจริญบริบูรณ์ ภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ย่อมมีทั้งกายทั้งจิตสงบระงับ

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ทั้งกายทั้งจิตของภิกษุผู้มีใจเกิดปีติระงับได้ ในสมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุเริ่มบำเพ็ญแล้ว สมัยนั้นภิกษุว่าย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์อยู่
ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมเจริญบริบูรณ์ ภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมมีจิตตั้งมั่น

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด จิตของภิกษุผู้มีกายระงับแล้วมีความสุขย่อมตั้งมั่น ในสมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุเริ่มบำเพ็ญแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์อยู่ สมาธิสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมเจริญบริบูรณ์ ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้วางจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนี้ให้เฉยได้เป็นอย่างดี

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นให้เฉยได้อย่างดี ในสมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุเริ่มบำเพ็ญแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์อยู่ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมเจริญบริบูรณ์

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้วอย่างนี้ ทั้งทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ชื่อว่า บำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้



เจริญโพชฌงค์ ๗ อย่างไร
วิชชาและวิมุตติจึงจะบริบูรณ์


ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้ว ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงจะบำเพ็ญวิชชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อาศัยวิเวก อาศํยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปล่อยวาง ย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์... ย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์... ย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์... ย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์..ย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์... ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศํยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโระ อันน้อมไปเพื่อความปล่อยวาง

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้วอย่างนี้ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ชื่อว่าบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล

อานาปานสติสูตรที่ ๘ (๑๔/๑๔๔ - ๑๕๒)


(มีต่อ ๑๕)
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา

แก้ไขล่าสุดโดย TU เมื่อ 02 ส.ค. 2006, 2:09 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 02 ส.ค. 2006, 1:34 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน


ฌาน


สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรอยู่ ที่พระวิหารเชตวันอารามที่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวาย ใกล้พระนครสาวัตถี วันหนึ่งเวลาเช้า ท่านพระสารีบุตร เข้าไปบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี กลับจากบิณฑบาตฉันภัตตาหารแล้วเข้าไปยังป่าอันธวันเพื่อพักผ่อน ถึงป่าอันธวันแล้ว นั่งพักกลางวัน ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง

ออกจากที่พักผ่อนในเวลาเย็นแล้วเข้าไปยังพระวิหารเชตวัน พระอานนท์เห็นพระสารีบุตราจึงกล่าวถามว่า

“อาวุโสสารีบุตร !” อินทรีย์ของท่านผ่องใสนัก สีหน้าของท่านหมดจดผ่องใส วันนี้ ท่านพระสารีบุตรอยู่ด้วยวิหารธรรมอะไร ?”

พระสารีบุตรตอบว่า

“อาวุโส เราจะบอกให้ฟัง เราสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ อาวุโส เราไม่ได้คิดว่า เราเข้าปฐมฌานอยู่ หรือว่าเข้าปฐมฌานแล้ว หรือว่าออกจากปฐมฌานแล้ว”

แท้จริง พระสารีบุตรถอนทิฏฐิคืออหังการ ตัณหาคือมมังการ และอนุสัยคือมานะออกได้นานแล้ว ฉะนั้น ท่านพระสารีบุตรจึงไม่คิดอย่างนี้ว่า เราเข้าปฐมฌานอยู่หรือว่าเข้าปฐมฌานแล้ว หรือว่าออกจากปฐมฌานแล้ว

วิเวกสูตรที่ ๑ (๑๗/๓๓๒)


(มีต่อ ๑๖)
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา

แก้ไขล่าสุดโดย TU เมื่อ 02 ส.ค. 2006, 2:10 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 02 ส.ค. 2006, 2:06 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน


ผู้ได้ฌาน


ผู้ได้ฌานที่ฉลาดในการตั้งจิตมั่น
และฉลาดในการเข้าสมาธินับเป็นผู้เลิศ


ภิกษุทั้งหลาย ! ผู้ได้ฌาน ๔ จำพวกนี้ ๔ จำพวก เป็นไฉน

คือ ผู้ได้ฌานบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ แต่ไม่ฉลาดในการเข้าสมาธิ ๑

บางคนฉลาดในการเข้าในสมาธิ แต่ไม่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ ๑

บางคนฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ และฉลาดในการเข้าในสมาธิ ๑

ใน ๔ จำพวกนั้น ผู้ได้ฌานที่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ และฉลาดในการเข้าในสมาธิ นับว่าเป็นผู้เลิศประเสริฐที่สุด เป็นประธานสูงสุดและดีกว่าผู้ได้ฌานทั้ง ๔ จำพวก

เปรียบเหมือนนมสดเกิดจากแม่โค นมส้มเกิดจากนมสด เนยข้นจากนมส้ม เนยใสเกิดจากเนยข้น หัวเนยใส ในจำนวนนั้น หัวเนยใสเขากล่าวว่าเป็นเลิศฉันใด

ผู้ได้ฌานที่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ และฉลาดในการเข้าในสมาธิก็นับว่าเป็นผู้เลิศ ประเสริฐที่สุด เป็นประธานสูงสุดและดีกว่าผู้ได้ฌานทั้ง ๔ จำพวกนั้น ฉันนั้นเหมือนกัน

สมาธิสมาปัตติสูตรที่ ๑ (๑๗/๖๖๒)



ผู้ได้ฌานที่ฉลาดในการตั้งจิตมั่น
และฉลาดในการตั้งอยู่ในสมาธินับเป็นผู้เลิศ


ภิกษุทั้งหลาย ! ผู้ได้ฌาน ๔ จำพวกนี้ ๔ จำพวกเป็นไฉน

คือ ผู้ได้ฌานบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ แต่ไม่ฉลาดในการตั้งอยู่ในสมาธิ ๑

บางคนฉลาดในการตั้งอยู่ในสมาธิ แต่ไม่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ ๑

บางคนไม่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ และไม่ฉลาดในการตั้งอยู่ในสมาธิ ๑

บางคนฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ และฉลาดในการตั้งอยู่ในสมาธิ ๑

ใน ๔ จำพวกนั้น ผู้ได้ฌานที่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ และฉลาดในการตั้งอยู่ในสมาธิ นับว่าเป็นผู้เลิศประเสริฐที่สุด เป็นประธานสูงสุดและดีกว่าผู้ได้ฌานทั้ง ๔ จำพวกนั้น

เปรียบเหมือนนมสดเกิดจากแม่โค นมส้มเกิดจากนมสด เนยข้นเกิดจากนมส้ม เนยใสเกิดจากเนยข้น หัวเนยใสเกิดจากเนยใส ในจำนวนนั้นหัวเนยใสเขากล่าวว่าเป็นเลิศ ฉันใด

ผู้ได้ฌานที่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ และฉลาดในการตั้งอยู่ในสมาธิก็นับว่าเป็นผู้เลิศ ประเสริฐที่สุด เป็นประธานสูงสุดและดีกว่าผู้ได้ฌานทั้ง ๔ จำพวกนั้น ฉันนั้นเหมือนกัน

ฐิติสูตรที่ ๒ (๑๗/๖๖๓)



ผู้ได้ฌานที่ฉลาดในการตั้งจิตมั่น
และฉลาดในการออกจากสมาธินับเป็นผู้เลิศ


ภิกษุทั้งหลาย ! ผู้ได้ฌาน ๔ จำพวกนี้ ๔ จำพวกเป็นไฉน

คือ ผู้ได้ฌานบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ แต่ไม่ฉลาดในการออกจากสมาธิ ๑

บางคนฉลาดในการออกสมาธิ แต่ไม่ฉลาดในการตั้งจิตในสมาธิ ๑

บางคนไม่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ และไม่ฉลาดในการออกจากสมาธิ ๑

บางคนฉลาดในการตั้งมั่นในสมาธิ และฉลาดในการออกจากสมาธิ ๑

ใน ๔ จำพวกนั้น ผู้ได้ฌานที่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ และฉลาดในการออกจากสมาธิ นับว่าเป็นผู้เลิศประเสริฐที่สุด เป็นประธานสูงสุด และดีกว่าผู้ได้ฌานทั้ง ๔ จำพวกนั้น ฯลฯ

วุฏฐานสูตรที่ ๓ (๑๗/๖๖๔)



ผู้ฉลาดในการตั้งจิตมั่น
และฉลาดในอารมณ์ในสมาธินับเป็นผู้เลิศ


ภิกษุทั้งหลาย ! ผู้ได้ฌาน ๔ จำพวกนี้ ๔ จำพวกเป็นไฉน

คือผู้ได้ฌานบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ แต่ไม่ฉลาดในอารมณ์ในสมาธิ ๑

บางคนฉลาดในอารมณ์ในสมาธิ แต่ไม่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ ๑

บางคนไม่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ และไม่ฉลาดในอารมณ์ในสมาธิ ๑

บางคนฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ และฉลาดในอารมณ์ในสมาธิ ๑

ใน ๔ จำพวกนั้น ผู้ได้ฌานที่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ และฉลาดในอารมณ์ในสมาธิ นับว่าเป็นผู้เลิศประเสริฐที่สุด เป็นประธานสูงสุดและดีกว่าผู้ได้ฌานทั้ง ๔ จำพวกนั้น ฯลฯ

อารัมมณสูตรที่ ๕ (๑๗/๖๖๖)



ผู้ฉลาดในการตั้งจิตมั่น
และฉลาดในโคจรในสมาธินับเป็นผู้เลิศ


ภิกษุทั้งหลาย ! ผู้ได้ฌาน ๔ จำพวกนี้ ๔ จำพวกเป็นไฉน

คือ ผู้ได้ฌานบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ แต่ไม่ฉลาดในโคจรในสมาธิ ๑

บางคนไม่ฉลาดในโคจรในสมาธิ แต่ไม่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ ๑

บางคนไม่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ และไม่ฉลาดในโคจรในสมาธิ ๑

บางคนฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ และฉลาดในโคจรในสมาธิ ๑

ใน ๔ จำพวกนั้น ผู้ได้ฌานฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ และฉลาดในโคจรในสมาธิ นับว่าเป็นผู้เลิศประเสริฐที่สุด เป็นประธานสูงสุดและดีกว่าผู้ได้ฌานทั้ง ๔ จำพวกนั้น

โคจรสูตรที่ ๖ (๑๗/๖๖๗)



ผู้ฉลาดในการตั้งจิตมั่นและฉลาดในการ
น้อมจิตไปในสมาธินับเป็นผู้เลิศ


ภิกษุทั้งหลาย ! ผู้ได้ฌาน ๔ จำพวกนี้ ๔ จำพวกเป็นไฉน

คือ ผู้ได้ฌานบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ แต่ไม่ฉลาดในการน้อมจิตไปในสมาธิ ๑

บางคนฉลาดในการน้อมจิตไปในสมาธิ แต่ไม่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ ๑

บางคนไม่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ และไม่ฉลาดในการน้อมจิตไปในสมาธิ ๑

บางคนฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ และฉลาดในการน้อมจิตไปในสมาธิ ๑

ใน ๔ จำพวกนั้น ผู้ได้ฌานที่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ และฉลาดในการน้อมจิตไปในสมาธิ นับว่าเป็นผู้เลิศประเสริฐที่สุด เป็นประธานสูงสุดและดีกว่าผู้ได้ฌาน ๔ จำพวกนั้น

อภินิหารสูตรที่ ๗ (๑๗/๖๖๘)



ผู้ฉลาดในการตั้งจิตมั่น
และกระทำความเคารพในสมาธินับเป็นผู้เลิศ


ภิกษุทั้งหลาย ! ผู้ได้ฌาน ๔ จำพวกนี้ ๔ จำพวกเป็นไฉน

คือ ผู้ได้ฌานบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ แต่ไม่กระทำความเคารพในสมาธิ ๑

บางคนกระทำความเคารพในสมาธิ แต่ไม่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ ๑

บางคนไม่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ และไม่กระทำความเคารพในสมาธิ ๑

บางคนฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ และกระทำความเคารพในสมาธิ ๑

ใน ๔ จำพวกนั้น ผู้ได้ฌานที่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ และกระทำความเคารพในสมาธิ นับว่าเป็นผู้เลิศประเสริฐที่สุด เป็นประธานสูงสุดและดีกว่าผู้ได้ฌานทั้ง ๔ จำพวกนั้น

สักกัจจการีสูตรที่ ๘ (๑๗/๖๖๙)



ผู้ฉลาดในการตั้งจิตมั่นและทำความเพียรเป็นไป
ติดต่อในสมาธินับเป็นผู้เลิศ


ภิกษุทั้งหลาย ! ผู้ได้ฌาน ๔ จำพวกนี้ ๔ จำพวกเป็นไฉน

คือ ผู้ได้ฌานบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ แต่ไม่กระทำความเพียรเป็นไปติดต่อในสมาธิ ๑

บางคนกระทำความเพียรเป็นไปติดต่อในสมาธิ แต่ไม่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ ๑

บางคนไม่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ และไม่กระทำความเพียรเป็นไปติดต่อในสมาธิ ๑

บางคนฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ และกระทำความเพียรเป็นไปติดต่อในสมาธิ ๑

ใน ๔ จำพวกนั้นผู้ได้ฌานที่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ และกระทำความเพียรเป็นไปติดต่อในสมาธิ นับว่าเป็นผู้เลิศ ประเสริฐที่สุด เป็นประธานสูงสุดและดีกว่าผู้ได้ฌานทั้ง ๔ จำพวกนั้น

สัปปยาการีสูตรที่ ๙ (๑๗/๖๗๐)



ผู้ฉลาดในการเขาสมาธิและฉลาดในการ
ตั้งอยู่ในสมาธิเป็นต้นนับเป็นผู้เลิศ


ภิกษุทั้งหลาย ! ผู้ได้ฌาน ๔ จำพวกนี้ ๔ จำพวกเป็นไฉน

คือผู้ได้ฌานบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฉลาดในการเข้าสมาธิแต่ไม่ฉลาดในการตั้งอยู่ในสมาธิ ๑

บางคนฉลาดในการตั้งอยู่ในสมาธิ แต่ไม่ฉลาดในการเข้าสมาธิ ๑

บางคนไม่ฉลาดในการเข้าสมาธิ และไม่ฉลาดในการตั้งอยู่ในสมาธิ ๑

บางคนฉลาดในการเข้าสมาธิ และฉลาดในการตั้งอยู่ในสมาธิ ๑

ใน ๔ จำพวกนั้น ผู้ได้ฌานที่ฉลาดในการเข้าสมาธิและฉลาดในการตั้งอยู่ในสมาธิ นับว่าเป็นเลิศ ประเสริฐที่สุด เป็นประธานสูงสุดและดีกว่าผู้ได้ฌานทั้ง ๔ จำพวกนั้น

สมาปัตติมูลกฐิติสูตรที่ ๑๑ (๑๗/๖๗๒)



ผู้ฉลาดในการเข้าสมาธิและฉลาดในการ
ออกจากสมาธิเป็นต้นนับเป็นผู้เลิศ


ภิกษุทั้งหลาย ! ผู้ได้ฌาน ๔ จำพวกนี้ ๔ จำพวกเป็นไฉน

คือ ผู้ได้ฌานบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฉลาดในการเข้าสมาธิ แต่ไม่ฉลาดในการออกจากสมาธิ ๑

บางคนฉลาดในการออกจากสมาธิ แต่ไม่ฉลาดในการเข้าสมาธิ ๑

บางคนไม่ฉลาดในการเข้าสมาธิ และไม่ฉลาดในการออกสมาธิ ๑

บางคนฉลาดในการเข้าสมาธิ และฉลาดในการออกจากสมาธิ ๑

ใน ๔ จำพวกนั้น ผู้ได้ฌานที่ฉลาดในการเข้าสมาธิและฉลาดในการออกสมาธิ นับว่าเป็นผู้เลิศประเสริฐที่สุดเป็นประธานสูงสุดและดีกว่าผู้ได้ฌานทั้ง ๔ จำพวกนั้น

สมาปัตติมูลกวุฏฐสูตรที่ ๑๒ (๑๗/๖๗๓)


(มีต่อ ๑๗)
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 02 ส.ค. 2006, 2:26 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน


แสดงญานความรู้
อันสำเร็จมาแต่การเจริญสมาธิ



ปัญญาในการสำรวมแล้วตั้งไว้ด้วยดี ชื่อว่าวมาภาวนามยญาณอย่างไร

สมาธิ ๑ คือ เอกัคคตาจิต

สมาธิ ๒ คือ โลกิยสมาธิ ๑ โลกุตรสมาธิ ๑

สมาธิ ๓ คือ สมาธิมีวิตกและวิจาร ๑ สมาธิไม่มีวิตกมีแต่วิจาร ๒ สมาธิไม่มีวิตกไม่มีวิจาร ๑

สมาธิ ๔ คือ สมาธิมีส่วนเสื่อม ๑ สมาธิเป็นส่วนตั้งอยู่ ๑ สมาธิเป็นส่วนวิเศษ ๑ สมาธิเป็นส่วนชำแรกกิเลส ๑

สมาธิ ๕ คือ สมาธิมีปีติแผ่ไป ๑ สมาธิมีสุขแผ่ไป ๑ สมาธิมีจิตแผ่ไป ๑ สมาธิมีแสงสว่างแผ่ไป ๑ สมาธิมีการพิจารณาเป็นนิมิต ๑

สมาธิ ๖ คือ สมาธิคือเอกัคคตาจิตมิได้ฟุ้งซ่านด้วยสามารถพุทธานุสสติ ๑ ธรรมานุสสติ ๑ สังฆานุสสติ ๑ สีลานุสสติ ๑ จาคานุสสติ ๑ เทวตานุสสติ ๑

สมาธิ ๗ คือ ความเป็นผู้ฉลาดในสมาธิ ๑ ความเป็นผู้ฉลาดในการเข้าสมาธิ ๑ ความเป็นผู้ฉลาดในการตั้งสมาธิ ๑ ความเป็นผู้ฉลาดในการออกจากสมาธิ ๑ ความเป็นผู้ฉลาดในความงามแห่งสมาธิ ๑ ความเป็นผู้ฉลาดในโคจรแห่งสมาธิ ๑ ความเป็นผู้ฉลาดในการน้อมไปแห่งสมาธิ ๑

สมาธิ ๘ คือ สมาธิคือเอกัคคตาจิตมิได้ฟุ้งซ่านด้วยสามารถปฐวีกสิณ ๑ อาโปกสิณ ๑ เตโชกสิณ ๑ วาโยกสิณ ๑ นีลกสิณ ๑ ปีตกสิณ ๑ โลหิตกสิณ ๑ โอทาตกสิณ ๑

สมาธิ ๙ คือ รูปาวจรสมาธิส่วนเลว ๑ ส่วนปานกลาง ๑ ส่วนประณีต ๑ อรูปาวจรส่วนเลว ๑ ส่วนปานกลาง ๑ ส่วนประณีต ๑ สุยยตสมาธิ ๑ อนิมิตตสมาธิ ๑ อัปปณิหิตสมาธิ ๑

สมาธิ ๑๐ คือ สมาธิคือเอกัคตาจิตมิได้ฟุ้งซ่านด้วยสามารถอุทธุมาตกสัญญา ๑ วินีสกสัญญา ๑ วิปุพพกสัญญา ๑ วิฉิททกสัญญา ๑ วิกขายิตกสัญญา ๑ วิกขิตตกสัญญา ๑ หตวิกชขายิตกสัญญา ๑ โลหิตกสัญญา ๑ ปุฬุวกสัญญา ๑ อัฏฐิกสัญญา ๑ สมาธิเหล่านี้รวมเป็น ๑๐

อีกอย่างหนึ่ง สภาพในความเป็นสมาธิแห่งสมาธิ ๒๕ ประการ คือ สมาธิเพราะอรรถว่าอันสิทธินทรีย์เป็นต้นกำหนดถือเอา ๑ เพราะอรรถว่าอินทรีย์เป้นบริวารแห่งกันและกัน ๑ เพราะอรรถว่าสัทธินทรีย์เป็นต้นบริบูรณ์ ๑ เพราะอรรถว่ามีอารมณ์เป็นอันเดียว ๑ เพราะอรรถว่าไม่ฟุ้งซ่าน ๑ เพราะอรรถว่าไม่แส่ไป ๑ เพราะอรรถว่าไม่ขุ่นมัว ๑ เพราะอรรถว่าไม่หวั่นไหว ๑ เพราะอรรถว่าหลุดพ้นจากกิเลส ๑ เพราะความที่จิตตั้งอยู่ด้วยสามารถความตั้งมั่นในความเป็นจิตมีอารมณ์เดียว ๑ เพราะอรรถว่าแสวงหาความสงบ ๑ เพราะอรรถว่าไม่แสวงหาธรรมอันเป็นข้าศึกแก่ความสงบ ๑ เพราะแสวงหาความสงบแล้ว ๑ เพราะไม่แสวงหาธรรมอันเป็นข้าศึกแก่ความสงบแล้ว ๑ เพราะอรรถว่ายึดมั่นความสงบ ๑ เพราะอรรถว่าไม่ยึดมั่นธรรมอันเป็นข้าศึกแก่ความสงบ ๑ เพราะยึดมั่นความสงบแล้ว ๑ เพราะไม่ยึดมั่นธรรมอันเป็นข้าศึกแก่ความสงบแล้ว ๑ เพราะอรรถว่าปฏิบัติสงบ ๑ เพราะอรรถว่าไม่ปฏิบัติไม่สงบ ๑ เพราะอรรถว่าเพ่งความสงบ ๑ เพราะอรรถว่าเผาธรรมอันเป็นข้าศึกแก่ความสงบ ๑ เพราะเพ่งความสงบแล้ว ๑ เพราะเผาธรรมอันเป็นข้าศึกแก่ความสงบแล้ว ๑ เพราะอรรถว่าเป็นธรรมสงบเป็นภาพเกื้อกูลและนำสุขมาให้ ๑ สภาพในความเป็นสมาธิแห่งสมาธิเหล่านี้รวมเป็น ๒๕

ชื่อว่าญาณ เพราะอรรถรู้ว่าธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญาเพราะอรรถว่ารู้ชัด เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในการสำรวมแล้วตั้งไว้ดี ชื่อว่าสมาธิภาวนามยญาณ


(มีต่อ ๑๘)
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง