Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 จัดงานวิสาขบูชา อย่าอยู่แค่หน้าตา ต้องไปให้ถึงเนื้อตัว อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 10 มิ.ย.2005, 10:32 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

จัดงานวิสาขบูชา อย่าอยู่แค่หน้าตา ต้องไปให้ถึงเนื้อตัว
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก


ได้ยินข่าวว่าจะมีการจัดงานวิสาขบูชาระดับโลก รัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรี ก็เป็นผู้นำที่สนับสนุน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนาอย่างยิ่ง

แต่ทีนี้ก็มีข่าวว่าเกิดปัญหากันขึ้น เรื่องที่เป็นข่าวต่อเนื่องมาก็คือ มีองค์กรย่อยนั้นนี้ที่จะร่วมหรือไม่ร่วม ตอนหนึ่งก็ได้ยินว่าเอาละ เลิกแล้ว

ในที่นี้ เรื่องใครเลิก ใครไม่เลิก ใครร่วม ใครไม่ร่วม จะไม่พูดถึง แต่ที่น่าเป็นห่วง ก็คือ เรื่องจะผ่านไปโดยไม่มีความรู้ โดยเฉพาะไม่ชัดเจน อะไรที่ผ่านไปแบบคลุมเครือ ย่อมไม่ดี

ควรแสดงความคิดเห็นกัน บนฐานของความรู้

สังคมปัจจุบันนี้ เราพูดกันนักว่าอยากให้เป็นสังคมแห่งความรู้หรือเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ แต่ถ้าปล่อยกันไปอย่างนี้ ก็เป็นสังคมแห่งการไม่รู้จักเรียนรู้ ดังที่ปรากฏว่ามีแต่การแสดงความเห็น โดยไม่พยายามที่จะหาความรู้และเอาความรู้ที่จริงแท้ชัดเจนมาเผยแพร่ มีแต่การแสดงความเห็นไปตามความรู้สึก ก็เลยกลายเป็นเรื่องของความคิดเห็นที่ไม่เกิดจากความรู้และไม่ช่วยให้เกิดความรู้ ไม่สร้างสรรค์ปัญญา ว่ากันไปตามความชอบใจไม่ชอบใจ โดยเอากระแสต่างๆ มาเป็นตัวตัดสิน

จุดน่าเป็นห่วงก็ตรงนี้แหละ จึงต้องเน้นอีกที ไม่ว่าเรื่องจะไปอย่างไรก็ตาม ควรจะให้คนมีความรู้ชัดเจนที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ในที่นี้จะไม่วิจารณ์ตัวประเด็นใหญ่เรื่องการจัดงาน อาจจะต้องพาดพิงเพราะมันเกี่ยวกัน เพราะเรื่องมันเริ่มต้นมาอย่างนั้น แต่จะมุ่งไปที่ความรู้ คือพูดไว้ให้เกิดความรู้ โดยเราไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานการณ์นั้นเอง

เรื่องนี้ขอพูดไว้ก่อนเพราะว่า เท่าที่ได้ยิน มีสถาบันและองค์กรต่างๆ เกี่ยวข้อง มีทั้งมหาเถรสมาคม และมีองค์กรเช่นสันติอโศกเข้ามา และยังมีอื่นๆ อีก ซึ่งได้ยินว่าโน่นนี่อะไรต่างๆ แต่ที่เด่นก็คือสันติอโศก

ทีนี้ ที่จะพูดต่อไปนี้ ไม่ใช่หมายความว่าอาตมาพอใจชอบใจการบริหารกิจการพระศาสนาของมหาเถรสมาคม คือ เราก็เห็นกันอยู่ว่า เวลานี้การบริหารกิจการพระศาสนา โดยเฉพาะกิจการคณะสงฆ์อ่อนแอและถูกปล่อยปละละเลยมาก ควรจะมีการปรับปรุงอย่างจริงจัง อันนี้แยกเป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่ต้องรู้ไว้ก่อนว่า ที่พูดนี้ ไม่ใช่ว่าไปเห็นด้วย หรือชอบคณะสงฆ์ แล้วไปพูดเพราะว่าเข้าข้าง ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เราต้องการความรู้ และให้คิดให้พูดกันบนฐานของความรู้

เรื่องความสามัคคี

ทีนี้ก็มาดูว่า ที่จะให้องค์กรนั้นนี้มาร่วมจัดงานกับคณะสงฆ์นั้น เราจะมีหลักในการพิจารณาอย่างไร ไม่ใช่แค่พูดลอยๆ ว่า เรามาร่วมสามัคคีกัน อะไรต่างๆ อย่างนั้นอย่างนี้

เริ่มต้นที่พูดว่า "สามัคคี" นั้นก็เป็นคำที่ดี แต่ความสามัคคี มี 2 อย่าง

อย่างที่ 1 ใช้คำเบาๆ หน่อย เลี่ยงคำรุนแรง ขอใช้คำว่าความสามัคคีของคนขี้เมา คือ คนขี้เมาแกตั้งวงเหล้าขึ้น ใครมาก็กินด้วยกัน จะมาอย่างไรและกินเสร็จแล้วจะไปอย่างไร ก็แล้วแต่ ก็หมดเรื่องไป

อย่างที่ 2 ความสามัคคีของบัณฑิต คือ บัณฑิตนั้น เมื่อแก้ปัญหาเสร็จแล้ว ก็มาร่วมทำสังฆกรรมกัน แต่เมื่อเขายังไม่ได้ตกลงร่วมกันนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไปทำร้ายกัน

ในแบบของบัณฑิตนั้น เมื่อยังแก้ปัญหาไม่เสร็จ ก็ไม่ทำร้ายไปเบียดเบียนกัน ก็อยู่กันไปด้วยดีโดยสงบ แต่จะสามัคคีก็คือ แก้ปัญหาให้สำเร็จลง ยุติด้วยความรู้ความเข้าใจ แล้วอะไรๆ ก็ดำเนินไปได้ด้วยดี จึงจะมีความประสานสอดคล้องกลมกลืนกัน ที่เรียกว่าความสามัคคี

ถ้าพื้นฐานข้างในลึกลงไปยังขัดแย้งกันอยู่ คนหนึ่งมีของตัวไว้แล้วว่าจะเดินไปทางหนึ่ง อีกคนหนึ่งยึดอีกหลักหนึ่ง ก็จะเดินไปอีกทางหนึ่ง แล้วคุณจะบอกว่าสามัคคี แม้แต่จะออกเดินก็ยังไปไม่ได้แล้ว ใครคนหนึ่งจะมาบอกตกลงว่าสามัคคี ทั้งที่ยังไม่รู้เรื่องว่าคนไหนจะไปไหน จะไปอย่างไร แบบใด และจะไปเอาอะไร ได้แต่ตกลงว่าสามัคคี พอเริ่มเดิน ก็เริ่มยุ่งแล้ว ยิ่งเดินไปก็ยิ่งยุ่ง จนไปกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นสามัคคีแบบบัณฑิตก็ต้องแก้ปัญหาหลักที่ยึดต่างกันก่อน ให้มันลงตัว

แล้วก็ที่ท่านนายกฯ บอกว่า "นับถือพระพุทธเจ้าเหมือนกัน" ก็ต้องสามัคคีกัน อันนี้ก็เป็นคำที่สำคัญ คนก็จะเห็นว่า เออ...ก็จริงของท่านนี่นา...นับถือพระพุทธเจ้าเหมือนกัน ก็น่าจะสามัคคีร่วมกันจัดได้

แต่ที่จริง คำพูดนี้ต้องเปลี่ยน ต้องพูดใหม่ว่า "จะอ้างว่านับถือพระพุทธเจ้าเท่านั้น ไม่พอหรอก" เพราะว่า พวกที่บอกว่านับถือพระพุทธเจ้านี่ เราต้องดูด้วยว่าเขาปฏิบัติอย่างไร มีหลักการอย่างไร ยึดถืออย่างไร ดีไม่ดีจะยุ่งนะ

เดี๋ยวจะยกตัวอย่างในญี่ปุ่นและในอเมริกา แต่เอาแค่ในเมืองไทยก่อน ก็มีกลุ่มที่อ้างว่า ฉันก็นับถือพระพุทธเจ้าเหมือนกัน เช่น กลุ่มพุทธาวตาร คือ พวกหนึ่งที่มาจากอินเดีย เป็นพวกในศาสนาฮินดูที่เคยพยายามกลืนพระพุทธศาสนา เขาบอกว่าพระพุทธเจ้าเป็นนารายณ์อวตารลงมา พวกนี้ก็อ้างว่านับถือพระพุทธเจ้าเหมือนกัน แต่จริงๆ ตัวแท้เขาเป็นฮินดู

ในอินเดียครั้งอดีตนั้น ฮินดูคิดล้มพุทธศาสนา จะทำอย่างไรล่ะ พระพุทธศาสนาเจริญมาก ทำมาหลายอย่าง ทั้งรุนแรงแล้วก็ไม่สำเร็จ ไม่รู้จะทำอย่างไรดี ก็จะกลืนเสีย เลยใช้วิธีอ้างว่าพระพุทธเจ้าเป็นพระนารายณ์ เทพเจ้าใหญ่อวตารลงมา (พูดออกมาข้างนอกให้จำกันเป็นปางพุทธาวตารดูเข้าที แต่พวกเขาเองรู้กันว่าให้เป็นปางมายาโมหะ คือลงมาหลอกลวงพวกอสูรให้นับถือผิดๆ คือเขาให้ชาวพุทธนี่แหละเป็นพวกอสูร)

กลุ่มพุทธาวตารเข้ามาในเมืองไทยหลายปีแล้วนะ มีคนเคยเอาภาพที่เขาไปเผยแพร่มาให้ดู เขาพยายามเผยแพร่ลัทธิของเขา แล้วฮินดูก็จะเข้ามาได้ง่ายขึ้น นี่อ้างพระพุทธเจ้าเหมือนกัน แต่ขืนสามัคคี ก็ยุ่งเลย

อีกตัวอย่างหนึ่ง ถ้าเกิดมีกลุ่มนักบวชพวกหนึ่งบอกว่าเป็นพระพุทธศาสนาเหมือนกัน จะมาสามัคคี แต่เป็นกลุ่มนักบวชมีครอบครัว แล้วก็อ้างว่า ก็นับถือพระพุทธเจ้าเหมือนกัน อย่างนี้จะปล่อยเข้ามาง่ายๆ หรือ

เพราะฉะนั้น ที่ท่านว่านับถือพระพุทธเจ้าเหมือนกันก็ต้องสามัคคีกันนี่ คำพูดนี้ต้องพูดใหม่ คือพูดอย่างที่ว่า "จะอ้างว่านับถือพระพุทธเจ้าเหมือนกันเท่านั้น ไม่พอนะ" ต้องดูต่อไปว่า มีหลักการ มีการปฏิบัติ เชื่อถือ ยึดถืออะไรอย่างไร เพราะเรื่องศาสนาก็สำคัญตรงที่หลักการและการปฏิบัติที่เชื่อถือยึดถือนี่แหละ แล้วก็ตรงนี้เองละ ที่ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญหรือเสื่อม หรือเกือบสูญสิ้นได้เลย นี่แหละตัวสำคัญเลย

ยังอีกแง่หนึ่ง คือ ความสามัคคีก็เป็นเรื่องหนึ่ง การแสดงออกซึ่งความสามัคคีก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง สามัคคีมีอยู่ ไม่มีปัญหา แต่การแสดงออกซึ่งความสามัคคีนี่ ก็ต้องทำให้เหมาะด้วย อย่าเอามาปนเปสับสนกัน เขาก็สามัคคีกันอยู่ หรือเราสามัคคีกันจริง จิตใจปรารถนาดี ไม่ได้แตกแยกอะไรกัน แต่ในการแสดงออกซึ่งความสามัคคี ก็ต้องมีวิธีการที่จะแสดงความสามัคคีให้เหมาะสมในทางสังคม พ่อแม่สามัคคีกับลูก ครูอาจารย์สามัคคีกับเด็กลูกศิษย์ ก็ต้องจัดให้เหมาะ ไม่เช่นนั้นสังคมจะยุ่งหมด ยิ่งในระดับชาติ ก็ต้องทำให้เป็นตัวอย่าง ไม่เช่นนั้นในสังคมชุมชนระดับปลีกย่อยจะวุ่นวายสับสนหมด อันนี้เรื่องความสามัคคี

เรื่องเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

ทีนี้ อีกอย่างหนึ่ง มักจะอ้างเรื่องเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญนั้นเป็นกฎหมายแม่บทของประเทศ บางทีก็เขียนไว้เพียงให้หลักกว้างๆ จริงอยู่ เจตนารมณ์ก็มุ่งให้คนมีเสรีภาพ แต่เสรีภาพนั้นก็ต้องมีกฎหมายปลีกย่อยมาบอกอีกว่าในเรื่องใดแค่ไหนอย่างไร ไม่ใช่บอกทีเดียวจบแค่รัฐธรรมนูญ

จะเห็นว่า เสรีภาพในรัฐธรรมนูญอาจจะบอกกว้างๆ เช่นในเรื่องทางศาสนานี้ ก็จะว่า เมื่อไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน นี่เป็นสำนวนเก่าที่เขียนกันมาแต่ไหนแต่ไร หรือถ้าเป็นหลักทั่วไป ก็ทำนองว่า เมื่อไม่ละเมิดต่อผู้อื่น เมื่อรัฐธรรมนูญบอกไว้กว้างๆ ก็มีกฎหมายลูกมารับช่วงต่อ

อย่างเรื่องศาสนานิกายต่างๆ ก็ไม่ใช่หมายความว่า จะไปอ้างรัฐธรรมนูญว่าใครจะนับถืออย่างไร ก็เป็นนิกายอะไรก็ได้ อย่างในเมืองไทยก็มีกฎหมายบอกว่านิกายไหนเป็นที่ยอมรับโดยรัฐ อย่างเช่น แม้แต่ที่มีนิกายจีน นิกายญวน (จีนนิกาย อานัมนิกาย) ก็มีกฎหมาย ดูเหมือนจะในระดับกฎกระทรวงยอมรับ ไม่ใช่ว่าจะอ้างรัฐธรรมนูญ แล้วบอกว่าเป็นนิกายหนึ่งๆ ไม่ได้ ถ้าขืนอย่างนั้นแล้วจะยุ่งหมด

ก็เลยจะขอยกตัวอย่างสักหน่อย คือ ศาสนานี้เป็นเรื่องว่าด้วยความดีงาม และเป็นเรื่องใหญ่ แต่ถ้าจัดการไม่ดี ก็จะเป็นปัญหาที่ใหญ่มากด้วย

ขอยกตัวอย่างในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่นเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ตอนนี้ก็ 10 ปีพอดี คือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม ปี 1995 มีการปล่อยแก๊สพิษในสถานีรถไฟใต้ดิน ทำให้คนตายไปจำนวนหนึ่งแล้วบาดเจ็บหลายพัน สืบไปสืบมา ก็ได้ความว่ามาจากลัทธิศาสนาที่เรียกว่า "โอม-ชินริเกียว" (Aum Shinrikyo)

ลัทธินี้ก็อ้างว่ามาจากพุทธศาสนา รวมกับ เต๋า และโยคะ จะเห็นว่ามีคำว่า "โอม" ซึ่งเป็นคำที่มาจากศาสนาพราหมณ์

ขอให้ข้อมูลเป็นความรู้ปลีกย่อยนิดหน่อย คือ เวลาพวกพราหมณ์จะกล่าวอะไรที่สำคัญมากขึ้นมา เขาจะเริ่มต้นด้วยคำว่า "โอม" ซึ่งเขาถือเป็นคำศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่ง หรือศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในศาสนาพราหมณ์ เป็นคำที่รวมเอาเทพเจ้าที่เรียกว่า "ตรีมูรติ" คือพระพรหม พระนารายณ์ และพระอิศวร อันสูงสุดของศาสนาพราหมณ์ เข้าไว้ด้วยกันในคำเดียว หรือหมายถึงไตรเพท คัมภีร์ที่เป็นโองการของพระพรหม ซึ่งก็ยิ่งใหญ่ที่สุดในศาสนาพราหมณ์

ต่อมาพุทธศาสนาแบบมหายานเกิดขึ้น ก็อย่างที่ทราบกัน คือมีการไปรับเอาแนวคิดของพราหมณ์/ฮินดูเข้ามา คำว่า "โอม" ก็เข้ามาสู่พุทธศาสนา โดยที่พุทธศาสนามหายานก็มี "โอม" เป็นคำที่สำคัญมาก เช่นในประโยคว่า "โอม มณี ปัทเม-หู้ม"

(ชาวพุทธบางท่านเอาคำนี้มาปรับให้เข้ากับพุทธศาสนา โดยให้ "โอม" หมายถึงพระรัตนตรัย ด้วยการแยกศัพท์ให้ตรงตามของพราหมณ์ เป็นอ+อุ+ม=โอม แต่ทั้งนี้เปลี่ยนให้ อ=อรหํ อุ=อุตฺตมธมฺโม ม=มหาสงฺโฆ)

ตอนนี้มาที่ญี่ปุ่นก็แปลงต่อไปอีก โอม-ชินริเกียว (Aum Shinrikyo) ก็มีท่านโชโก อาซาฮารา (Shoko Asahara) เป็นหัวหน้าลัทธิ แต่ไปๆ มาๆ กลายเป็นว่า ลัทธิศาสนานี้ ซึ่งบอกว่านิยมความสงบ ให้นั่งสมาธิ ทำจิตภาวนา แต่มีเบื้องหลัง ในที่สุดก็คือเป็นผู้ก่อคดีปล่อยแก๊สพิษในสถานีรถไฟใต้ดิน ทำให้คนตายและเจ็บมากมาย

แต่ที่เป็นอย่างนี้ก็เป็นเรื่องที่มีอิทธิพลของศาสนาคริสต์เข้ามาด้วย เมื่อกี้บอกว่าเอาพุทธศาสนา โยคะ แล้วก็เต๋า มาผสมผสานกัน แต่ที่ว่ามีอิทธิพลของศาสนาคริสต์ ก็คือ ความเชื่อในคำทำนายเรื่องโลกาวินาศ คือในศาสนายิว-คริสต์มีคัมภีร์พวกหนึ่งเรียกว่า อะพอคคาลิปส์ (Apocalypse) ซึ่งพูดถึงคำทำนายที่ว่าจะเกิดภัยพิบัติใหญ่ถึงคราวโลกจะแตก (the end fo the world) และพระผู้เป็นเจ้าจะทรงช่วยคนดีผู้ที่ประพฤติธรรมให้รอด

ทีนี้พวกลัทธิภายหลังก็มาพัฒนาหรือเอาแนวคิดนี้มาใช้กัน เช่นบอกว่า ดูซิ โลกปัจจุบันมันวุ่นวายเลวร้ายเหลือเกิน คนประพฤติต่ำทราม มีแต่สงครามรบรากัน อันนี้จะทำให้พระผู้เป็นเจ้าพิโรธ เมื่อพิโรธแล้วก็จะทรงทำให้โลกพินาศ ลัทธิพวกนี้ก็บอกว่า อีกไม่ช้าโลกจะอวสาน พระผู้เป็นเจ้าท่านไม่เอาไว้แล้ว เพราะฉะนั้นเขาจึงมาช่วย ให้คนพวกเราที่เป็นกลุ่มเล็กๆ นี้รอด พวกเราต้องรีบปลีกตัวแยกออกไปเสียก่อน นี่เป็นทางรอด

อิทธิพลความเชื่อนี้ก็เข้ามาในลัทธิศาสนาอื่นด้วย อย่างที่ว่าเขาจะสันนิษฐานหรืออะไรก็แล้วแต่ โอม-ชินริเกียวนี้ก็ถึงกับว่าตัวเขากำหนดชะตาของโลกได้ รวมความเอาเป็นว่าลัทธินี้มีแนวคิดที่เป็นการผสมผสานลัทธิศาสนาต่างๆ

ทีนี้เมื่อโอม-ชินริเกียว ก่อเรื่องเป็นคดีใหญ่อย่างนี้ ก็ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นเกิดความตระหนักเห็นภัยว่า ศาสนาถ้าไม่ระวัง ก็เป็นเรื่องยุ่งเหมือนกัน เลยเป็นเหตุให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องออกกฎหมายมาควบคุมกิจกรรมลัทธิศาสนา

รู้จักสังคมที่ว่าพัฒนาแล้ว ให้ชัดขึ้นอีกหน่อย

ลองดูประเทศอเมริกาบ้าง คือน่าสังเกตว่า เรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาสูงสุด เพราะว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วเหล่านี้ จิตใจคนจะวุ่นวายมาก อย่าไปนึกว่าเรื่องแบบนี้จะมีเฉพาะในประเทศที่ด้อยพัฒนานะ เพียงแต่ว่าประเทศด้อยพัฒนาก็มีสิทธิ์ที่จะตามอย่างประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศพัฒนาแล้วนั่นแหละเป็นตัวนำในเรื่องปัญหาเหล่านี้ เขาจึงมีลัทธิพวกเหล่านี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ

ที่อเมริกานั้น เรื่องหนึ่งที่ครึกโครมมากก็คือ เมื่อปี 1978 ได้มีกรณีของเจ้าลัทธิคนหนึ่ง ซึ่งตอนแรกก็เป็นนักบวชในนิกายโปรแตสแตนต์ ท่านผู้นี้ชื่อ จิม โจนส์ (Jim Jones) เที่ยวสั่งสอนเก่ง ได้รับความนิยมมาก ก็ตั้งขบวนการของท่านขึ้น แล้วต่อมาได้พาลูกศิษย์ไปตั้งนิคมแห่งหนึ่งที่โจนส์ทาวน์ (Jonestown) ในประเทศ Guyana (ในทวีปอเมริกาใต้) ต่อมาก็มีพฤติกรรมที่ทำให้ประเทศอเมริกาสงสัย จึงมีคองเกรสส์แมนพาคณะไปจะสืบสาวราวเรื่องดู แล้วตัวเองกับนักข่าวโดนพวกเหล่านี้ยิงตายไป 4-5 คน

ต่อมาวันหนึ่ง จิม โจนส์ ที่เป็นเจ้าลัทธิ ได้ออกคำสั่งให้ลูกศิษย์สาวกฆ่าตัวตายโดยดื่มเครื่องดื่มที่ผสมไซยาไนด์ ดับชีพไป 913 คน รวมทั้งคนที่ตายโดยถูกยิง และตัวเองที่ยิงศีรษะตายด้วย เป็นคดีใหญ่ครึกโครมมาก นี่ก็เรื่องของลัทธิศาสนา

อีกตัวอย่างหนึ่ง ในปี 1993 ที่รัฐเทกซัส ก็มีกรณีของคุณเดวิด โกเรช (David Koresh) ที่เติบโตมาในศาสนาคริสต์นิกายเซเวนต์เดย์แอดเวนติสม์ แต่แล้วก็กลายเป็นหัวหน้าลัทธิใหม่ ตั้งตัวแหวกแนวออกไป เรียกว่า Branch Davidians ซึ่งในที่สุดเมื่อเขาพาสาวกมาชุมนุมที่เมืองเวโก ในรัฐเทกซัส (Waco, Texas) ก็เกิดมีเรื่องกับทางฝ่ายรัฐ โดยทางการเอาเจ้าหน้าที่มาล้อม และมีการยิงต่อสู้กัน เจ้าหน้าที่ล้อมอยู่ 51 วัน

ในที่สุด กลุ่มนี้เองก็ได้จุดไฟเผาที่ตึกนั้น พวกตัวเองรวมทั้งเจ้าลัทธิด้วยตายไป 74 คน เป็นอีกกรณีหนึ่งที่ครึกโครมมาก แล้วยังโยงใยมาถึงการระเบิดครั้งใหญ่ในรัฐ Oklahoma ซึ่งทำลายสถานที่ราชการ ทำให้ทรัพย์สินและชีวิตพินาศวอดวายเป็นอันมาก และสืบสวนกันว่ามาจากพวกนี้เอง คือสาวกที่ไม่ตายคราวนั้น มีความคั่งแค้น แล้วมาก่อการขึ้น

ตัวอย่างต่อมาคือ ในปี 1997 มีหัวหน้าลัทธิที่มีภูมิหลังความเชื่อในศาสนาคริสต์ เกี่ยวกับคำทำนายเรื่องโลกาวินาศที่ว่ามาแล้ว แกบอกว่าต่อไปนี้มนุษย์ทั้งหลายจะต้องพินาศย่อยยับ มีความทุกข์เดือดร้อนกันมาก พอดีถึงปี 1997 เป็นวาระที่ดาวหางชื่อเฮลบ๊อปป์ (Hale Bopp) จะผ่านมา หัวหน้าลัทธิมีชื่อว่า นายมาร์แชล แอปเปิลไวท์ (Marshall Applewhite) เรียกสั้นๆ ว่าท่านโบ และอีกคนหนึ่งเรียกว่าท่านปี๊ป ("Bo" and "Peep") สองคนนี้ก็บอกแก่เหล่าสาวกว่าดาวหางมา จะมีจานผีติดมาด้วย ให้พวกเราทิ้งร่างนี้เสีย แล้วขึ้นจานผีติดไปกับดาวหางนั้นแหละ เพื่อที่จะไปสู่ประตูสวรรค์ก็เลยเรียกลัทธินี้ว่า "Heaven" Gate" (ประตูสวรรค์)

พวกสาวกลัทธินี้ก็พากันรอ พอดาวหางมาก็ไปชุมนุมกัน แล้วก็พร้อมใจกันฆ่าตัวตาย รวมทั้งหมด 39 คน เพื่อจะไปกับดาวหางสู่ประตูสวรรค์ โดยเชื่อว่าพวกเขาจะพ้นจากภัยพิบัติที่มนุษย์เหล่าอื่นที่ไม่นับถืออย่างเขาจะต้องประสบ และพวกเขาจะมีความสุข

จะเห็นเป็นเรื่องน่าแปลก ที่ว่าความเชื่อแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาสูงสุด แล้วก็งมงายขัดแย้งถึงกับต้องฆ่าฟันสังหารกันในดินแดนที่บอกว่าเป็นตัวอย่างของการมีเสรีภาพทางศาสนา เพราะผู้คนในประเทศเหล่านี้มีสภาพจิตใจไม่ปกติ แล้วมันก็เป็นเรื่องของจิตวิทยามวลชนด้วยคือคนในสังคมแบบนี้ เมื่อจิตใจสับสนวุ่นวายมากนัก ก็อยากมีอะไรที่ง่ายๆ ที่ไม่ต้องคิดเหตุผลมาก

อย่างในสังคมปัจจุบัน คนสมัยนี้ปั่นป่วนวุ่นกับเรื่องเหตุผล ต้องคิดมากอยู่แล้ว (ลองมองดูด้วยถึงการที่พุทธศาสนาสอนแบบเป็นเหตุเป็นผลมาก) ก็เลยอยากเอาอะไรให้มันง่ายๆ ต่อมาก็เกิดมีลัทธิจำพวกที่เชื่อคำสั่งหัวหน้า หรือเชื่อบัญชาของเจ้าลัทธิ แบบชี้เป็นชี้ตายกันเลย

อันนี้เป็นจิตวิทยามวลชน ที่เขาวิเคราะห์ว่า คนพวกนี้ต้องการจะพ้นจากความรู้สึกเลื่อนลอย เคล้งคว้าง ไม่มั่นคงในสังคมปัจจุบัน พอเขาได้อันนี้ คือมีเจ้าลัทธิที่เขาต้องเชื่อเด็ดขาด ท่านสั่งอะไรมาก็ต้องทำไปอย่างนั้นเขาจะรู้สึกมั่นคง หนึ่ง ก็ง่ายๆ เชื่อไปเลย ทำไปเลย สอง ตั้งเป็นชุมชนขึ้นมา อย่างจิมโจนส์ที่ตั้งกลุ่มจนกระทั่งตั้งนิคมตั้งเมืองของตัวเอง

เมื่อมีกลุ่มพวกของตัวเองก็จะทำให้รู้สึกมีกำลังและมีความมั่นคงขึ้นเพราะในสังคมปัจจุบันคนที่มากมายนั้น แต่ละคนรู้สึกแปลกแยก โดดเดี่ยว ว้าเหว่ หงอยเหงา พอมีชุมชนพวกของตัวเองขึ้นมา รู้สึกว่าเรามีพวกเรามีแรงค้ำชูจากหมู่ที่มีความคิดความเห็นอย่างเดียวกันและมีวิถีชีวิตเหมือนกัน ก็รู้สึกอบอุ่น มั่นคงขึ้น สบายใจ มีความสุขไปด้านหนึ่ง

อันนี้ก็เป็นเรื่องของการวิเคราะห์ด้านจิตวิทยา แต่รวมความก็คือมันออกมาในเรื่องของลัทธิศาสนา เราจะต้องเข้าใจว่าเราจะต้องเตรียมรับมือกับลัทธิศาสนาต่างๆ ที่มากับสภาพของยุคสมัย ให้เกิดผลดีที่แท้ ทั้งแก่ชีวิตและสังคม

แล้วก็ต้องเข้าใจด้วยว่า ลัทธิและขบวนการต่างๆ ที่ยกมาเล่าเป็นตัวอย่างนี้ เป็นเพียงกรณีย่อย ประเภทเหตุการณ์ช่วงสั้น ที่เอามาเล่าก็เพื่อสะท้อนภาพชีวิตจิตใจและสังคม ของคนในถิ่นแดนที่ปัจจุบันถือกันว่าพัฒนาอย่างสูงยิ่งแล้ว พอให้เห็นว่าที่จริงที่แท้เขาเป็นอย่างไรกันแน่

แต่ถ้ามีเวลาพอ จะต้องเล่าเรื่องราวของลัทธินิกายหรือขบวนการทางศาสนาระดับใหญ่โต ที่ยืนยาว ซึ่งมีเรื่องยืดเยื้อ และลึกลับซับซ้อน มีอิทธิพลกว้างขวาง อย่างน้อยสัก 3 เรื่อง จะได้เข้าใจอะไรๆ ที่เรียกว่าศาสนาชัดเจนมากขึ้น แต่ตอนนี้ ตัดไว้แค่ที่เล่ามานั้นก่อน

ทั้งนี้ที่พูดมา ก็เพื่อให้เห็นว่า ในเรื่องลัทธิศาสนานั้น การที่จะบอกว่ามีเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่พอ ต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องราวและปัญหาของลัทธิศาสนาและจัดการให้ถูกด้วย อย่างน้อย กฎหมายแม่บท หรือรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้จบในตัวแค่นั้น แต่ยังต้องมีกฎหมายลูกรับช่วงต่อด้วย

(มีต่อ 1)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 10 มิ.ย.2005, 10:49 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สถานะของคณะสงฆ์ ตามกฎหมายและประเพณีของรัฐไทย

เอาละ ทีนี้ก็มาพูดเรื่องการจัดงาน

เอาอย่างนี้ก่อนว่า ต้องเข้าใจเรื่องของการจัดระบบระเบียบสังคมในประเทศไทยก่อน อย่างน้อยก็รู้ว่า เรามีประเพณีการปกครองที่เรียกว่า พุทธจักร และอาณาจักร

ทางด้านอาณาจักรนั้น ธรรมดาทุกประเทศก็มีการปกครอง เมื่อมีการปกครอง มีรัฐ ก็มีผู้ปกครอง อย่างในสมัยก่อนก็มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นผู้ปกครอง และในประเทศไทยเราถือว่าพุทธศาสนาเป็นหลักที่นับถือทั่วแผ่นดิน มีคุณมหาศาลแก่ประเทศชาติและประชาชน ทางรัฐก็ต้องการให้พระศาสนาเจริญมั่นคงเป็นปึกแผ่น และเรามีพระสงฆ์มากมายก็อยากให้ฝ่ายพุทธจักรมีการปกครองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จะได้ไม่ยุ่งไม่วุ่นวาย สงบเรียบร้อย แล้วก็ปฏิบัติศาสนกิจให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนได้เต็มที่

พระสงฆ์ทั้งหมดทั่วประเทศประมาณ 300,000 รูป ทำอย่างไรจะให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก็ต้องเริ่มด้วยมีการปกครองอันเดียวกัน ก็เลยตกลงทางพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่ ร.5 เป็นจุดเริ่มแรก ทรงให้พุทธจักรมีการปกครองอันเดียวกัน

ที่จริง กฎหมายคณะสงฆ์มีมาก่อนนั้นแล้ว ในรัชกาลที่ 1 ก็มี แต่ยังไม่ได้จัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ สมัยรัชกาลที่ 5 จึงมี พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ร.ศ.121 เรียกเต็มว่า พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 ตามพ.ร.บ. ฉบับนี้ ก็เกิดองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ ที่เรียกว่า มหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นคำของในหลวงรัชกาลที่ 5

ต้องเข้าใจว่า "มหาเถรสมาคม" เป็นคำเฉพาะ หมายถึงองค์กรปกครองนี้ ที่มีพระมหาเถระมาประชุมกัน มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน ไม่ใช่สมาคมในความหมายที่เกิดทีหลัง

คำว่าสมาคมที่เราใช้ในปัจจุบันเป็นคำที่เกิดทีหลัง ไม่ใช้ว่าท่านมีทีหลังท่านมีก่อนเรานานเยอะ และต่างกันคนละความหมาย มหาเถรสมาคมเกิดมาเพื่อให้คณะสงฆ์มีการปกครองรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ประเทศไทยเราได้ยอมรับระบบนี้โดยตลอดต่อเนื่องมา แม้จะได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นแบบประชาธิปไตย และรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยมีการออกพ.ร.บ.คณะสงฆ์ใหม่ เป็นพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2484 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2535 ที่เสริมฉบับ 2505 อีกที ก็เพียงแต่เปลี่ยนระบบการปกครองให้สอดคล้องกับฝ่ายบ้านเมืองที่เป็นระบบประชาธิปไตย หรือตามที่บ้านเมืองจะเห็นเหมาะเห็นควรว่าจะดี แต่ทั้งหมดนี้ก็อยู่ในหลักการเดียวกัน ที่จะให้การปกครองคณะสงฆ์รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ทางอาณาจักร ก็มีการปกครองที่มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุข และมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บริหาร ในคณะสงฆ์ทางพุทธจักร ก็มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประมุข และทรงบัญชาการคณะสงฆ์ เราต้องเข้าใจความจริงอันนี้ไว้ก่อน

ทีนี้ ในเมื่อเรายอมรับหลักอันนี้อยู่ ซึ่งก็เป็นกฎหมายของบ้านเมืองนั่นเอง ถ้าเราจะทำอะไร ก็ไม่ใช่แค่ว่าจะมาอ้างความสามัคคี ก็ต้องดูสถานะที่จะมาอยู่ในความสามัคคีนั้นด้วย ถ้าเราจะเอาอะไรใครมาร่วมจัดการจัดงาน ก็เหมือนกับต้องดูว่า เราให้เกียรติแก่คณะสงฆ์หรือเปล่า อันที่จริงคำว่าให้เกียรติก็ยังไม่ถูก ต้องบอกว่าถูกต้องตามกฎหมายไหม ถูกต้องตามหลักการไหม

ถ้าเรายอมรับให้มหาเถรสมาคมเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ ก็คือเป็นรัฐบาลของฝ่ายคณะสงฆ์ เมื่อเป็นรัฐบาลก็ต้องคุมหมด ทีนี้ถ้าบอกให้มหาเถรสมาคมจัดงานร่วมกับกลุ่มโน้นกลุ่มนี้ ก็เหมือนกับว่า เราจะให้รัฐบาลไทยจัดงานระดับชาติ โดยบอกว่าจะร่วมกับบริษัทนั้นบริษัทนี้ มันก็ไม่ค่อยเหมาะ แต่ความจริงบริษัทอะไรต่ออะไรก็ตาม ควรจะเข้ามาเป็นหน่วยงานที่ร่วมสนองงานที่รัฐบาลเขาวางแผนจัด ไม่ใช่มาเป็นองค์กรที่ร่วมจัดกับรัฐบาล

นี่ก็เหมือนกัน เขาเป็นผู้ปกครองคณะสงฆ์อยู่ เป็นรัฐบาลของพุทธจักร แล้วเราจะเอาองค์กรนั้นนี้มาคู่เคียง มองแบบธรรมดาง่ายๆ ก็คือไม่ให้เกียรติกัน แต่ที่จริงคือไม่ถูกต้องตามหลักการและตามกฎหมาย

แต่ที่แท้ ไม่ใช่แค่นี้เท่านั้น ยังมีแง่ที่ต้องมองต่อไปอีก ซึ่งเป็นเรื่องที่ยิ่งกว่านั้นอีก แต่จะเข้าใจได้หรือมองออก ก็ต้องรู้ความเป็นไปขององค์กรหรือกลุ่มอะไรๆ ที่เกี่ยวข้องนั้นๆ

มองสันติอโศกในแง่เป็นความรู้

ต้องย้อนกลับไปเรื่องสันติอโศกนิดหน่อยก่อน จึงจะเข้าใจเรื่องราวชัดขึ้น ภูมิหลังเรื่องสันติอโศกนั้นจะเข้าใจง่ายๆ ก็เอาตอนที่เรื่องปรากฏเด่นชัดออกมาในสังคม เท่าที่จำได้ ตอนนั้น พลตรี จำลอง สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคพลังธรรม ท่านโพธิรักษ์ก็ออกมาสนับสนุน ก็เกิดเป็นเรื่องราวทางสื่อมวลชน เช่นว่าพระมายุ่งกับการเมือง ก็เลยเป็นเรื่องที่เรียกว่ามีปัญหากับคณะสงฆ์ อันนี้เป็นภาษาง่ายๆ แต่จริงๆ แล้วเป็นการมีปัญหากับกฎหมายบ้านเมือง

ทีนี้ การที่เราไปพูดอย่างนั้นว่าท่านโพธิรักษ์มีปัญหากับคณะสงฆ์ ก็เหมือนกับว่าคณะสงฆ์เป็นกลุ่มหนึ่งที่แตกแยกกับโพธิรักษ์ หรือสันติอโศกนี้เป็นการพูดแบบภาษาชาวบ้าน แต่ในภาษาราชการใช้ไม่ได้ มันทำให้เข้าใจผิด เหมือนกับมีคนพวกหนึ่งตั้งตัวขึ้นมาแล้วบอกว่า เขาเป็นปฏิปักษ์กับท่านนายกฯ ทักษิณ ก็ไม่ถูก หรือมีโจรขโมยหรือผู้ก่อการอะไรคณะหนึ่งขึ้นมา ถ้าเขาบอกว่าเขากบฏต่อท่านทักษิณ มันก็ไม่ถูก มันเป็นเรื่องปัญหาต่อรัฐ หรือต่อกฎหมายบ้านเมือง ทีนี้เรื่องของสันติอโศก ก็เป็นกรณีปัญหาต่อระบบบริหารการคณะสังฆ์ ต่อพระศาสนาและกฎหมายบ้านเมือง

ตอนที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นนั้น ก็มีเรื่องวุ่นวาย คือทางสันติอโศกไม่ยอมรับการปกครองของคณะสงฆ์ ท่านโพธิรักษ์บอกว่า ท่านลาออกจากมหาเถรสมาคมแล้ว คำว่า "ลาออกจากมหาเถรสมาคม" ก็เป็นสำนวนชนิดหนึ่ง แต่ความหมายที่ซ้อนอยู่เบื้องหลังหรือตัวความหมายที่แท้ก็คือ ท่านไม่ยอมขึ้นต่อการปกครองของคณะสงฆ์

(มีต่อ 2)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 17 มิ.ย.2005, 2:07 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตอนนี้เรื่องก็กลายเป็นข้อถกเถียงกัน ประชาชนก็ไม่เข้าใจ หรือไม่ชัด หรือกระทั่งสับสนกัน ว่าพระจะลาออกจากมหาเถรสมาคมนี้ คืออะไรทำได้ไหม หรือจะได้อย่างไร ทีนี้ก็มีหนังสือพิมพ์บางฉบับลงข่าว

ตามข่าวนั้น คิดว่าจำไม่ผิด ท่านพลตรีจำลองพูดได้ความว่า มหาเถรสมาคมเป็นสมาคมหนึ่ง เมื่อเป็นสมาคม ก็ลาออกได้ซิ อาตมาได้อ่านดูก็นึกว่า เอ...ท่านจะพูดเล่นไหม แต่การพูดเล่นในสถานการณ์แบบนี้เห็นจะไม่เหมาะ คนกำลังสับสน กำลังเข้าใจผิด มันก็ยิ่งทำให้เขวกันใหญ่ คิดว่าจำไม่ผิด เป็นวาทะของพลตรีจำลอง เมื่อท่านพูดไป ก็ยิ่งพาสับสนใหญ่

ก็เลยเทียบให้ฟังว่า เหมือนกับรัฐบาลปกครองประเทศ มหาเถรสมาคมก็ปกครองคณะสงฆ์ เป็นรัฐบาลฝ่ายอาณาจักรกับรัฐบาลฝ่ายพุทธจักร ในฝ่ายของอาณาจักร หากมีชาวบ้านคนหนึ่งพูดว่า ฉันลาออกจากรัฐบาลไทยแล้วคุณจะมาปกครองฉันไม่ได้นะ อย่างปัจจุบัน ฉันไม่ชอบท่านนายกฯ ทักษิณฉันลาออกจากรัฐบาลไทยแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านนายกฯ ทักษิณ จะมาสั่งอะไรเกี่ยวกับฉันไม่ได้ อย่างนี้ได้ไหม มันก็ไม่ได้ นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเป็นพระอยู่ในประเทศไทย ก็อยู่ภายใต้กฎหมายไทย กฎหมายคณะสงฆ์ก็ปกครองทั่วประเทศ นี่ก็ปัญหาอันหนึ่ง

ทีนี้ปัญหาของท่านโพธิรักษ์ก็มีหลายเรื่อง เช่นเรื่องอวดอุตตริมนุสสธรรม และเรื่องของการบวชที่ว่าถูกต้องหรือเปล่า ไปจนกระทั่งว่าแต่งกายเลียนแบบหรือเปล่า ก็เป็นคดีความขึ้นศาล ศาลก็ไต่สวนว่ากันหลายปี ในที่สุดก็ตัดสินออกมาว่าทางสันติอโศกผิด แล้วใช้วิธีรอลงอาญา กี่ปีไม่ทราบ

ที่พูดมานี้ก็คือว่า เป็นเรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับกฎหมายบ้านเมืองด้วย ตอนนี้กฎหมายไม่ใช่เฉพาะฉบับเดียว ไม่ใช่เฉพาะกฎหมายคณะสงฆ์เท่านั้น แต่มีกฎหมายอื่นๆ ที่ศาลทางบ้านเมืองเอามาใช้ตัดสินไปแล้ว แต่ศาลบ้านเมืองก็ต้องตัดสินตามพ.ร.บ. คณะสงฆ์ด้วย เพราะกฎหมายคณะสงฆ์เป็นกฎหมายที่บ้านเมืองตราออกมา แต่รวมความก็คือได้ตัดสินไปแล้ว

อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องมองดูตามความเป็นจริง ว่าสถานะตามกฎหมายเป็นอะไรอย่างไร แล้วสถานะของสันติอโศกในทางกฎหมายก็มีเรื่องที่เป็นมาอย่างนี้

ถึงตอนนี้ก็จึงมีเรื่องซ้อนขึ้นมาอีกว่า ไม่ใช่แค่ว่าจะเอาหน่วยอะไรย่อยๆ ในเมืองไทย มาจัดงานร่วมกับมหาเถรสมาคมเท่านั้น แต่ถ้าเรื่องเป็นตามที่ว่านั้น มันอาจจะกลายเป็นเรื่องขององค์กรที่ผิดกฎหมายหรือเปล่า ซึ่งจะต้องไปว่ากันตามกฎหมาย และรัฐบาลนี่แหละจะต้องพิจารณาก่อน เพราะรัฐบาลเป็นผู้รักษากฎหมาย เป็นผู้ที่ปฏิบัติตามกฎหมาย แล้วก็ชอบพูดกันนักว่าเราจะเป็นนิติรัฐ จะให้เป็น rule of law ถ้าจะเอาอย่างนั้น ก็ต้องทำให้มั่นคงจริงจัง มิฉะนั้นจะมาอ้างกันได้อย่างไร เพราะเรื่องแบบนี้ไม่ใช่จะมาอ้างกันได้ง่ายๆ ต้องทำให้เป็นแบบอย่าง เป็นแบบแผน ต่อไปเบื้องหน้าประเทศไทยจะได้มีหลัก

นี่ก็เป็นปัญหาขึ้นมาว่าจะทำอย่างไร เท่ากับเป็นปัญหาซ้อนอีกชั้น

แล้วถ้าเป็นอย่างนั้น ลองนึกดูว่า ถ้าเราเป็นมหาเถรสมาคม เขาจะให้ทำงานกับกลุ่มที่ตัวรู้อยู่ว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมาย (แล้วก็บอกมานานแล้วว่าจะไม่ยอมเชื่อฟังตัวด้วย) ถ้าไปตกลงทำ ก็เท่ากับยอมรับฐานะทางกฎหมายของเขาหรือเปล่า แล้วตัวมหาเถรสมาคมเองจะมีความผิดไหม ถ้ามหาเถรสมาคมคิด ตรงนี้ก็จะเป็นประเด็นขึ้นมาอีก รวมแล้วก็คือทำให้เกิดเรื่องยุ่งๆ

ความรู้ที่ทำให้รู้ทัน

ก็จะเล่าเรื่องของ "สันติอโศก" ต่อไปอีกหน่อย ถ้าไม่ได้ทราบลักษณะวิธีของท่าน คนก็จะไม่เข้าใจว่ากรณีของท่านเป็นอย่างไร ยกตัวอย่างที่ท่านว่า ฉันลาออกจากมหาเถรสมาคมแล้ว ก็คือไม่ยอมขึ้นต่อการปกครองของมหาเถรสมาคม

ตัวอย่างต่อจากนี้ก็มีเรื่องอวดอุตตริมนุสสธรรม มีพระวินัยบอกไว้ว่า ภิกษุอวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่มีจริง ถ้าเจตนาอวด ก็เป็นปาราชิกขาดจากความเป็นพระภิกษุ แต่ถึงมีจริง ถ้าบอกแก่อนุปสัมบัน ก็เป็นอาบัติปาจิตตีย์ คือไม่พ้นผิด

ประเด็นที่หนึ่ง ว่ามีจริงหรือไม่มีจริง ก็ยกไปเรื่องหนึ่ง ไม่มีใครรู้ตัวท่าน เอาเป็นถือว่าอย่างนั้นก่อน

ประเด็นที่สอง ในแง่ที่ว่ามีจริง ก็มาดูลักษณะวิธีของท่านไว้เป็นความรู้ว่าท่านได้ทำอย่างนี้ ท่านก็อธิบายขึ้นมาเลย บอกว่า อ้อ..วินัยบอกว่าบอกอุตตริมนุสสธรรมแก่อนุปสัมบัน เป็นปาจิตตีย์ อ้าว..ก็พวกลูกศิษย์หรือพวกคนที่ท่านบอกอุตตริมนุสสธรรมแก่เขานั้น ไม่เป็นอนุปสัมบันหรอก เขาเป็นอุปสัมบัน ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น เพราะว่า อุปสัมบัน..คือใครก็คือ คนที่เข้าถึงธรรม ทีนี้คนที่ท่านไปบอกไปอวดนี่ เขาก็เข้าถึงธรรมทั้งนั้นแล้ว เพราะฉะนั้นเขาเป็นอุปสัมบัน เพราะฉะนั้นท่านไม่ผิด เพราะไม่ใช่บอกแก่อนุปสัมบัน

เรื่องอย่างนี้ต้องพูดกับพวกนักกฎหมาย จะเข้าใจได้ดี เป็นเรื่องความต่างของธรรมกับวินัยด้วย

ในวินัย เมื่อบัญญัติว่า ภิกษุบอกอุตตริมนุสสธรรมที่มีจริงแก่อนุปสัมบัน เป็นปาจิตตีย์ วินัยนั้นจะไม่ปล่อยทิ้งไว้ให้พระมาว่ากันเอง แต่จะให้คำจำกัดความไว้เสร็จว่า "อนุปสัมบันคือใคร บุคคลที่เหลือ นอกจากภิกษุหรือภิกษุณี ชื่อว่าอนุปสัมบัน" นี่คือลักษณะของวินัย ซึ่งก็เช่นเดียวกับกฎหมาย เขาต้องมีคำจำกัดความให้ชัด เพราะเป็นเรื่องของรูปแบบ และการปฏิบัติในทางสังคม เขาไม่ทิ้งไว้ให้เป็นช่องโหว่ที่จะหาทางตีความกันง่ายๆ

ลักษณะวิธีของท่านโพธิรักษ์นี้ ก็คือวิธีการที่สับสนระหว่างธรรมกับวินัย ยกตัวอย่างง่ายๆ หนูเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ถ้ามีคนๆ หนึ่งมา เขาแต่งครุยปริญญา แล้วเขียนในปริญญาบัตรเอาชื่อเขาใส่ ว่าสำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิต ตำรวจจับเขาในข้อหาว่าปลอมปริญญา ผิดกฎหมายแต่งตัวใส่ครุยปริญญา และก็มีปริญญาบัตร แล้วยังไปสมัครงานอีกด้วย อ้างตัวว่าเป็นบัณฑิต

คนนั้นก็อ้างว่า เอ้า...นี่นะ ความเป็นบัณฑิตอยู่ที่ความประพฤติดีและมีปัญญา ฉันศึกษาเล่าเรียนเยอะ ฉันมีความรู้มาก ลองทดสอบฉันดูก็ได้ ฉันเป็นบัณฑิตนะ อย่างนี้อ้างได้ไหม ก็อ้างไม่ได้ ใช่ไหม กฎหมายไม่ยอมรับ แต่ในทางคำสอนเป็นได้ เราสอนแก่บัณฑิตว่า อย่าไปติดอยู่แค่ใบปริญญา หรือแค่เสื้อครุยเท่านั้นนะ ความเป็นบัณฑิตที่แท้อยู่ที่คุณธรรม ความดีงามความประพฤติและสติปัญญา ต้องให้ได้อันนั้น จึงจะเป็นบัณฑิตจริงแท้ อันนี้พูดได้ใช่ไหม แต่มันไม่ใช่ข้อที่จะไปอ้างในการปฏิบัติทางสังคม นี่ก็เหมือนกัน หลักและความเป็นบัณฑิตในทางธรรมที่ว่านั้น ก็เอามาจากพระศาสนานั่นเอง

ทีนี้มาดูความเป็นพระภิกษุบ้าง แม้แต่ความเป็นพระภิกษุ ก็มีพุทธภาษิตอย่างในธรรมบทสอนไว้ว่า "อลงฺกโต เจปิ สมํ จเรยฺย" เป็นต้น บอกว่า ถึงแม้จะแต่งกายใช้อาภรณ์ แต่หากเป็นผู้สงบ ฝึกตนแล้ว ดำเนินชีวิตที่ดีงามประเสริฐ เว้นจากการเบียดเบียน ท่านผู้นั้นจะเรียกว่าเป็นพราหมณ์ก็ได้ เป็นภิกษุก็ได้ หรือเป็นสมณะก็ได้ นี่คือหลักการแห่งธรรม หมายความว่า ความเป็นภิกษุที่แท้ ไม่ได้ขึ้นกับการโกนผม นุ่งเหลืองห่มเหลือง แต่อยู่ที่สาระในตัวของผู้นั้น

แต่ทีนี้สมมติว่า ขณะที่พระกำลังนั่งเข้าพิธีบวชนาคกันอยู่ แล้วมีโยมคนหนึ่งเข้ามาขอนั่งด้วย บอกว่า พุทธภาษิตมีอยู่ว่า ถึงจะแต่งกายใช้อาภรณ์ แต่จิตใจสงบ ไม่เบียดเบียนใคร ก็เป็นภิกษุ นี่..ฉันก็เป็นภิกษุฉันก็ขอมีสิทธิ์นั่งด้วย อย่างนี้ได้ไหม ก็ไม่ได้ วินัยไม่ยอมให้ นี้คือความต่างระหว่างธรรมกับวินัย

ธรรมมุ่งที่สาระเนื้อแท้ ความเป็นบัณฑิตที่แท้ก็ดี ความเป็นพระภิกษุที่แท้ก็ดี อยู่ที่ธรรม คือคุณสมบัติในตัว แต่วินัยเป็นรูปแบบซึ่งมีขึ้นเพื่อจัดตั้งวางระบบ ที่จะฝึกหัดพัฒนาคนให้ก้าวขึ้นไปสู่ภาวะที่เป็นแก่นเป็นเนื้อแท้นั้นให้ได้ แต่วินัยจะต้องยึดถือรูปแบบที่เป็นจริงและปฏิบัติได้ทางสังคม เช่นเดียวกับกฎหมายซึ่งก็เหมือนกับวินัย เพราะฉะนั้นจะเอาหลักคติคำสอนไปอ้างกับกฎหมาย ก็อ้างไม่ได้ กฎหมายต้องตัดสินไปตามคำจำกัดความของกฎหมายที่เป็นรูปแบบ เช่นเดียวกับวินัย อันนี้เป็นตัวอย่าง ถ้าพูดกับนักกฎหมายซึ่งมีหลายท่านในรัฐบาล เขาเข้าใจ

ตามหลัก ธรรมวินัย นั้น ธรรมเป็นฐานและเป็นจุดหมายของวินัยหมายความว่า เราต้องการแก่นสารคือ ธรรม เช่น ความเป็นบัณฑิตที่แท้และความเป็นพระภิกษุที่แท้ เราก็จัดตั้งวางระบบวิธีและระเบียบการคือวินัยขึ้นมา เพื่อเป็นเงื่อนไขหรือเป็นเครื่องเกื้อกูลหนุนเสริมให้บุคคลได้รับการพัฒนาขึ้นสู่ความเป็นเช่นนั้น แต่ทั้งนี้ ระบบระเบียบการจัดตั้งจัดการทุกอย่างทุกประการก็ต้องเป็นไปตามหลักความเป็นจริงแห่งกฎเกณฑ์และความเป็นเหตุเป็นผล ที่เรียกสั้นๆ ว่า ธรรม จึงว่าวินัยต้องอยู่บนฐานแห่งธรรม หรือมีธรรมเป็นฐาน

เป็นอันว่า ในหลักธรรมวินัยนี้ ธรรมกับวินัยโยงกันอยู่และหนุนกัน เมื่อเราต้องการให้คนมีธรรมอย่างนี้ และเราจะจัดการกับสังคมมนุษย์ทั้งหมดที่มีคนมากมาย เราจะทำอย่างไร เราก็ทำระบบจัดตั้งขึ้น เช่นตั้งเป็นชุมชน แล้วก็วางระเบียบแบบแผน ให้คนได้รับสภาพแวดล้อมความสัมพันธ์และบรรยากาศ ที่จะมาเอื้ออำนวยช่วยชักนำเขาให้พัฒนาขึ้นมาสู่ธรรมนั้น เช่นเป็นระบบจัดตั้งที่เอื้อต่อการพัฒนาชีวิต ที่จะให้เขามีธรรมนั้น

ทีนี้ คนที่เข้าถึงธรรมแล้ว เขาก็มีคุณสมบัติที่ดีและมีความเข้าใจ เขาก็ไม่เอาหลักการแบบนี้มาอ้างเพื่อจะเลี่ยงวินัย ถูกไหม คนที่เป็นบัณฑิตแท้แล้ว ใครเขาจะมาแต่งเครื่องแบบ มาเขียนปริญญาบัตร เพื่อจะเอาไปอ้างหลอกคนล่ะ มันก็เป็นไปไม่ได้ ธรรมกับวินัยก็สอดคล้องกันเอง คนที่มีธรรมจริงกก็ไม่ใช้ข้ออ้างทางวินัยมาเพื่อจะหาประโยชน์ให้แก่ตัวเอง เป็นอันว่าไม่มีปัญหาขัดแย้ง แต่ปัญหาอยู่ที่คนซึ่งมีวิธีการในการยักเยื้องให้คนที่รู้ไม่ทันหลงใหล เอาละ นี้ก็พูดให้เข้าใจเรื่องที่เป็นมา

เพราะฉะนั้น ในการพิจารณาเรื่องนี้ ก็กลายเป็นว่าเราจะต้องรู้ความเป็นไป รู้สถานะ รู้กฎหมาย อะไรต่างๆ อย่างเพียงพอ

ลาออกจากมหาเถรสมาคม-ลาออกจากรัฐบาลไทย

ถ้าเทียบก็เหมือนกับว่า สมัยนี้ รัฐบาลของท่านนายกฯ ทักษิณปกครองประเทศอยู่ แล้วมีคนกลุ่มหนึ่งเข้ามา เขาบอกว่าเขาขอลาออกจากรัฐบาลไทย และเขาขอตั้งเมืองพิเศษของพวกเขาขึ้นมา เป็นเมืองอิสระ ท่านนายกฯ ทักษิณจะยอมไหม

แล้วทีนี้ ยิ่งถ้ามีการจัดงานแข่งกัน ท่านนายกฯ ทักษิณอาจจะแพ้ ไม่ว่าจะจัดเรื่องอะไรก็แล้วแต่...แพ้หมด เหมือนกับคณะสงฆ์ก็เช่นเดียวกัน

ลองคิดดูซิ ท่านนายกฯ ทักษิณเข้ามาปกครองประเทศ มีทั้งคนดีและคนชั่วเยอะแยะไปหมด มีคนติดยาเสพติด คนติดยาบ้า คนผีพนัน มีโจรผู้ร้าย คนขี้เกียจขี้คร้าน คนพิการ คนยากจนเข็ญใจ ท่านนายกฯ ทักษิณไม่มีสิทธิ์เลือกใช่ไหม เมื่อเข้ามาก็ต้องปกครองหมดทั้งประเทศ

ส่วนคนกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาขอตั้งเมืองพิเศษของเขาขึ้น เป็นเมืองอิสระนั้น เขาก็เลือกคัดเอาแต่คนดีมีสติปัญญาความสามารถ แล้วเขาก็พูดได้ซิว่าเมืองของฉันมีแต่คนดี เมืองของท่านทักษิณนี่แย่ มีแต่คนติดยาเสพติดเต็มไปด้วยอบายมุข มีการพนันมากมาย คนไร้คุณภาพเกลื่อนไปหมด ไม่ว่าจะทำอะไร เมืองอิสระนี้ก็เป็นต่อทุกอย่าง

นี่ก็เหมือนกัน ในคณะสงฆ์เวลานี้ก็เหมือนมีกลุ่มคนที่เป็นอิสระ ใช่ไหม และกลุ่มเสมือนอิสระนั้นเขาคัดเอามาแต่คนที่ตัวเขาตกลงเอาแล้ว ก็มีแต่คนตามมาตรฐานที่ตัวต้องการ ก็พูดได้สบายซิ ส่วนของคณะสงฆ์ต้องปกครองพระซึ่งมาจากไหนก็ไม่รู้พื้นเพ ทั่วประเทศ ก็แพ้กันนะซิ

เหมือนกันแหละกับการจัดงานวิสาขบูชานี่ ถ้ามองเป็นกลุ่มเป็นพวกแล้วมาจัดงานกัน มหาเถรสมาคม หรือคณะสงฆ์ ก็ต้องแพ้แน่นอน กลุ่มเสมือนอิสระนี้เป็นกลุ่มจัดตั้งของคนที่เขาเลือกสรรแล้ว ส่วนมหาเถรสมาคมแลดูใหญ่ก็จริง แต่ว่าเนื้อในไม่มีอะไร เอาแค่พอคนเจอพระธุดงค์อย่างว่า ที่เที่ยวให้หวยหาลาภลอบทำการที่ไม่สุจริต เขาก็เหมาว่านี่ไงพระธุดงค์ของมหาเถรสมาคม แค่นี้ก็จบแล้ว มันก็ไปกันไม่ได้

รัฐบาลเป็นอย่างไร คณะสงฆ์ก็อย่างนั้นแหละ แต่ของคณะสงฆ์ยิ่งแย่กว่ารัฐบาลของฝ่ายอาณาจักรอีกเยอะ เพราะอ่อนแอ เรื่อยเปื่อย เฉื่อยแฉะ ว่ากันนัวเนียอีเหละเขละขละ

แล้วหันกลับมาดูอีกที รัฐบาลท่านนายกฯ ทักษิณจะยอมไหม ให้มีเมืองพิเศษ ที่จัดตั้งขึ้นเป็นอิสระ มันไม่ได้ตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะฉะนั้น เรื่องจัดงานวิสาขบูชา ที่จะเอากลุ่มโน้นกลุ่มนี้เข้ามา ว่าให้สามัคคีจัดร่วมกันนั้น ดูแล้วมีเรื่องต้องพิจารณาหลายขั้น เป็นเรื่องของการบริหารกิจการบ้านเมือง เรื่องของรัฐศาสตร์ เรื่องของนิติศาสตร์ มาหมดเลย ไม่ใช่จะพูดกันง่ายๆ เฉยๆ

หน้าตา ให้คนอื่นทำถวาย แต่เนื้อตัว มหาเถรฯ ต้องทำเอง

อีกประเด็นปลีกย่อยที่แฝงอยู่ในนี้ ก็ขอแทรกว่า พูดถึงความคิดเห็นของอาตมา ในการจัดงานที่แท้นั้น คิดว่าความจริง เราไม่ควรเอาคณะสงฆ์มาเป็นผู้จัด ถ้ารัฐบาลอยากให้คณะสงฆ์เป็นใหญ่ ก็ให้เป็นไปตามหลักของกฎหมาย

เราอาจจะวางรูปงานในแง่ว่า คณะสงฆ์ท่านเป็นใหญ่ ท่านบริหารงานพระศาสนา เมื่อเราจัดงานใหญ่ ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะสงฆ์ แต่เราจะจัดให้ได้ผล ไม่ต้องให้ท่านลงมาจัดเอง เราก็เอาองค์กรหรือกิจการเอกชนที่ดีที่เก่ง มาเสนอคณะสงฆ์ ขออาสาให้องค์กรนี้จัดให้แก่คณะสงฆ์ได้ไหม หรือแม้แต่จัดในนามคณะสงฆ์ ก็น่าจะได้ผลดีกว่าให้คณะสงฆ์จัด

แม้แต่ถ้าทางสันติอโศกจะสามัคคีจริง ก็ต้องมาในรูปที่เสนอตัวต่อคณะสงฆ์ ไม่ใช่จะมาทำตัวคู่เคียงหรือมาร่วมจัด ก็มาเสนอตัวซิว่า ข้าพเจ้าสันติอโศก มีความปรารถนาดีต่อการพระศาสนาและประเทศชาติ ขออาสาจัดงานวิสาขบูชาให้ อย่างนี้จะถูกต้องกว่า

(มีต่อ 3)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 24 มิ.ย.2005, 9:36 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

รัฐบาลก็ต้องทำในรูปนี้ คือนำเอาสันติอโศกไปเสนอต่อคณะสงฆ์ ว่าจะอาสาช่วยจัดให้ แต่ทีนี้ปัญหาก็อาจจะมาในแง่ของกฎหมายที่มีเรื่องอะไรต่างๆ ว่าจะเป็นไปได้หรือเปล่า นั่นก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องแยกไปพิจารณา แต่โดยวิธีปฏิบัติมันน่าจะเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ยกขึ้นมาว่าคณะสงฆ์ร่วมจัดกับสันติอโศก อันนั้นมันไม่น่าจะเป็นไปได้

นั่นคือ กรณีนี้เรื่องได้เริ่มต้นมาผิด เมื่อเริ่มต้นผิดแล้ว ก็สับสนวุ่นวายไปหมด เพราะฉะนั้น เราต้องเตรียมใจรับว่าเรื่องที่เริ่มต้นมาผิดมันต้องมีปัญหาเกิดมาก ก็ต้องเริ่มต้นใหม่ให้ถูก

อย่างที่พูดเมื่อกี้ที่ว่า มีกลุ่มนั้นกลุ่มนี้มาสมานฉันท์กัน นั่นคือตั้งต้นมาผิด เหมือนกับไปตั้งกลุ่มเหล่านี้ให้มีสถานะเสมอมหาเถรสมาคม แทนที่จะว่า รัฐบาลเห็นว่าพวกคุณมีความสามารถก็เลยพาไปหามหาเถรสมาคมหรือแม้แต่ไปบอกมหาเถรสมาคมว่า เอ...จะเอาพวกนี้มาจัดถวายดีไหม

ถึงตอนนี้แล้ว วิธีแก้ไขก็คือ เริ่มต้นใหม่ ที่ว่าเริ่มต้นก็คือโดยรัฐบาลจะเป็นใครก็สุดแล้วแต่ แต่ควรจะเป็นท่านนายกฯ ในฐานะที่เป็นหลัก เป็นหัวหน้ารัฐบาลที่ดูแลรักษาการให้เป็นไปตามกฎหมายทั้งหลาย จะต้องหารือกับมหาเถระว่า งานนี้ ตกลงท่านเห็นว่าอยากจะให้เป็นอย่างไร

ถ้าพูดอย่างภาษาชาวบ้านก็คือต้องให้เกียรติท่าน แต่ที่จริงก็คือทำให้ถูกต้องตามหลักการ ที่เป็นเรื่องของตัวบทกฎหมาย ให้ได้รับความเห็นชอบแล้วก็จะทำให้เกิดความรู้สึกสอดคล้องกลมกลืนกันได้ ไม่เช่นนั้นก็จะขัดแย้งกันหมด อย่างที่ว่าแล้ว คือเทียบกับรัฐบาลท่านนายกฯ ทักษิณ บอกว่าท่านจะเอาไหมล่ะ ให้พวกองค์กรย่อยๆ มาทำงานระดับเดียวกับรัฐบาล

ในประเด็นเดียวกันนี้ มีข้อปลีกย่อยอีกนิดหน่อย แต่เป็นเรื่องสำคัญมาก คือ การจัดงานนี้ที่จริงเป็นเรื่องระยะสั้น แม้จะเป็นงานใหญ่ ก็เป็นเรื่องที่เน้นด้านหน้าตา

ที่จริงท่านนายกฯ ก็หวังดี คืออยากให้หน้าตาของพระพุทธศาสนาของไทยนี้ใหญ่ แต่ถ้าหน้าตาดี แต่เนื้อตัวเต็มที มันก็ไปไม่รอด เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้ดี ต้องดูที่เนื้อตัวด้วย และเนื้อตัวนี้แหละเป็นหลัก เป็นของจริง

เมื่อกี้บอกแล้วว่า ด้านการจัดงาน เราสามารถให้องค์กรหรือหน่วยย่อยจัดได้ หรือด้านหน้าตานี้ ให้ส่วนย่อยเขาจัดซะ ให้องค์กรย่อยมาอาสากับคณะสงฆ์ แต่ด้านเนื้อตัวเป็นเรื่องของคณะสงฆ์เอง และเป็นเรื่องระยะยาว

ถ้ารัฐบาลหวังดีต่อพระศาสนาและประเทศชาติ และจะเอาจริง ก็แยกเป็นสองส่วน หนึ่ง เนื้อหน้าตาก็ทำอย่างที่ว่า อาจจะเอาองค์กรอะไรมานำเสนออาสาจัด

สอง เนื้อตัวอย่าทิ้ง แต่ต้องเน้นที่สุดเลย บอกแล้วว่าเวลานี้ ที่จริงหลายเวลามานักแล้ว คณะสงฆ์อ่อนแอ ปล่อยปละละเลย เฉื่อยชา ต้องว่าท่าน ถึงเวลาที่ท่านต้องยอมรับฟัง เพราะแย่จริงๆ เสื่อมเหลือเกินแล้ว อะไรกัน ตั้งแต่ประชาชนชาวบ้านขึ้นไปจนแม้แต่รัฐบาลก็ยังไม่เข้าใจ เขายังไม่รู้สถานะของท่าน

มีอย่างหรือ ท่านเป็นผู้บริหารการพระศาสนา แล้วขณะนี้รัฐบาลและชาวบ้านไม่รู้เลย เขามองว่า มหาเถรสมาคมเป็นองค์กรหนึ่ง ที่อยู่แค่ระดับเดียวกับสันติอโศก ที่จะมาสมานฉันท์ หรือมาสามัคคีกัน นี่แสดงว่า สถานะของท่านมันแย่แล้ว แล้วทำไมจึงแย่อย่างนี้ ท่านต้องสำรวจตัวเองว่าเรานี้เป็นอย่างไร แสดงว่าเราประมาท ปล่อยปละละเลยกันมานาน ต้องรีบปรับปรุงตัวเองแล้ว

ดูสิ เหตุการณ์ต่างๆ ในพระศาสนามีแต่ยิ่งทำให้คนไม่เห็นความสำคัญของมหาเถรสมาคม ทั้งที่ท่านปกครองคณะสงฆ์อยู่ คนก็เห็นก็ได้ยินกันเรื่อย เช่น เดี๋ยวข่าวหนังสือพิมพ์ออกมาว่า พระธุดงค์ไปทำไม่ดีที่นั่นที่นี่ มีแต่ข่าวร้ายมาแล้วก็ผ่านไป แต่มันไม่ผ่านไปเปล่า มันปรุงแต่งเป็นภาพร้ายของพระและภาพลบของพระศาสนาที่ฝังอยู่ในความคิดจิตใจของประชาชน ทำให้ภาพดีงามเก่าๆ ที่สะสมกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษโบราณค่อยๆ เลือนรางลงไป และท่ามกลางข่าวเหล่านั้น คนก็ไม่เคยเห็นว่าคณะสงฆ์จะช่วยแก้ไขอะไร หรือมีหน้าที่การงานอะไร

ที่จริง มหาเถรสมาคมจะทำง่ายๆ ก็ได้ ออกประกาศชี้แจงบ้าง ออกใบบอกแจ้งขอความร่วมมือไปยังสื่อมวลชนบ้าง ขอให้สื่อมวลชนช่วยแจ้งแก่ประชาชนว่า พวกที่มาธุดงค์ลักษณะแบบนี้ มีพฤติกรรมอย่างนี้ ผิดหลักพระศาสนา อย่าไปเชื่อถือ หรือให้แนวที่ชาวบ้านจะสังเกตว่าเป็นพระจริงหรือพระปลอม คนก็จะได้มีหลัก และสื่อมวลชนก็จะได้เห็นความสำคัญว่า คณะสงฆ์ไม่ได้ปล่อยปละละเลย ท่านไม่ได้ยอมรับว่าพฤติการณ์อย่างนั้นๆ ถูกต้อง และเขาก็จะมีหลักที่อ้าง มันก็จะดีขึ้น

แต่นี่ไม่เอาทั้งนั้น กี่รายๆ เดี๋ยวข่าวพระธุดงค์ทำเรื่องน่าอับอาย พระที่โน่นมั่วสุมเล่นการพนัน พระที่นั่นค้ายาเสพติด พระจริงพระปลอมไม่รู้ ท่านก็ปล่อยเรื่อยไป วัดในชนบทไม่มีกำลังทำศาสนกิจที่จะให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนสมตามพระพุทธโอวาท ท่านก็ไม่ขวนขวายอะไรนี่งานเนื้อตัวทั้งนั้น ท่านจะต้องคิดแก้ไขจัดทำตลอดทุกกาลทั้งวันคืน

ในที่สุด เรื่องของคณะสงฆ์ก็มาสัมพันธ์กับรัฐบาล ถ้าท่านนายกฯทักษิณมีความหวังดีต่อพระศาสนาและสังคมประเทศชาติในด้านเนื้อตัวจริงๆ ก็เอาตรงนี้เลย ยกเรื่องขึ้นมากระตุ้นคณะสงฆ์ เรียกร้องให้มีการปรับปรุงกิจการบริหารให้ได้ผล เพราะว่าถึงเราจะแต่งหน้าแต่งตาดี แต่เนื้อตัวพิกลพิการเป็นโรคเรื้อน ก็ไปไม่รอด

เป็นอันว่า เนื้อตัวนี่ต้องเอาที่คณะสงฆ์ หน้าตานั้นไม่สำคัญเท่าไร งานหน้าตาท่านนายกฯ ยังออกโรง แล้วงานเนื้อตัวทำไมไม่ออกโรง งานเนื้อตัวเรื่องใหญ่ งานเนื้อตัวสำคัญกว่า ท่านจะเงียบได้อย่างไร

เอาง่ายๆ อย่างโบราณราชประเพณี ในหลวงทรงมีพระราชปุจฉาไปยังคณะสงฆ์เป็นระยะๆ บางครั้งทรงเห็นการพระศาสนาด้านนั้นด้านนี้อ่อนแอเสื่อมโทรม ในหลวงบางพระองค์ก็ทรงมีพระราชปุจฉาไป เช่นเคยมีพระองค์หนึ่ง ทรงเห็นว่าการศึกษาของคณะสงฆ์ย่อหย่อน ก็ทรงมีพระราชปุจฉาไปยังสมเด็จพระสังฆราชว่า เอ...รู้สึกว่า เวลานี้ไม่ค่อยมีพระเถรเปรียญ คล้ายๆ ว่าพระองค์มีพระราชศรัทธา ก็ไม่สมพระราชศรัทธา

ปรากฏว่าคณะสงฆ์ตื่นตัวใหญ่เลย สมเด็จพระสังฆราชทรงประชุมพระมหาเถระ มีมติให้ส่งเสริมจัดการศึกษาให้พระเณรเล่าเรียนกันให้มากจะได้เป็นการฉลองพระราชศรัทธา

ท่านนายกฯ ทักษิณอาจจะอนุวัตรตามพระราชประเพณีนี้ก็ได้ ท่านอาจจะถามไปยังคณะสงฆ์ในจุดต่างๆ ที่เห็นว่าย่อหย่อนอ่อนแอ ว่า เอ...เวลานี้น่าเป็นห่วงงานพระศาสนาในด้านนั้นๆ ดูเหมือนจะเป็นอย่างนี้ๆอ่อนแออย่างนี้ ตั้งคำถามแบบนี้มีข้อสังเกตไปให้ท่านเลยว่า เสียอย่างไรอ่อนแออย่างไร

นั่นคือ ท่านนายกฯ ทักษิณต้องเอาที่เนื้อตัว ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่พระศาสนาและประชาชนจริงๆ และคนเขาก็จะได้ไม่ว่าท่านจะเอาแต่หน้าตา

เนื้อตัวที่ทุกหน่วยช่วยทำได้

ต่ออีกนิด ที่จริงนั้น แม้แต่ในเรื่องการจัดงาน ที่ว่าเป็นด้านหน้าตานั้น ถ้ามองให้ดี ก็มีส่วนที่เป็นเรื่องเนื้อตัวอยู่ด้วย ซึ่งล้วนแต่สำคัญและน่าจะถือโอกาสจัดการเสียด้วย พร้อมกับการปรับปรุงการบริหารคณะสงฆ์

1. อย่างที่ว่าแล้ว การตั้งเมืองอิสระในประเทศนี้ โดยไม่ขึ้นต่อรัฐบาลไทยนั้น ทางรัฐย่อมไม่อาจยอมได้ แต่รัฐน่าจะพิจารณาหรือไม่ว่า ทางด้านพุทธจักร เมืองไทยกลับปล่อยปละละเลยให้มีกลุ่มเสมือนอิสระ ที่อยู่กันมาแบบเรื่อยๆ เปื่อยๆ รัฐน่าจะคิดกันให้จริงจังไหมว่า สภาพอย่างนั้นมีผลร้ายผลดีอย่างไร เป็นปัญหาแบบค้างคาหรือคาราคาซัง ที่แสดงถึงความไม่เรียบร้อยอ่อนแอของรัฐเองด้วยหรือไม่ ควรดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ค้างคาให้จบสิ้นลงไปด้วยดีกันเสียทีหรือไม่

2. ที่บอกว่าจะจัดงานร่วมกันให้เป็นการสามัคคีนั้น จุดแท้จริงที่จะให้เกิดสามัคคี ก็อย่างที่บอกแล้วว่าไม่ใช่อยู่ที่การมาร่วมกันจัดงาน แต่กระนั้นโอกาสแห่งการสร้างสามัคคีก็อยู่ในตอนนี้เองนี่แหละ คือ กลุ่มหรือองค์กรหรือหน่วยย่อยที่เข้ามาเกี่ยวข้องนั้น เช่น สันติอโศกเป็นต้น ลองมาคิดมุ่งเพื่อประโยชน์สุขของพหูชนกันจริงๆ และสละทิฏฐิมานะเป็นต้น ตรวจพิจารณาความเป็นไปเป็นมา ถ้ามีอะไรผิดพลาดก็หาทางแก้ไขปรับปรุงให้ส่วนรวมประสานเข้ากันได้ ก็จะเกิดเป็นความสามัคคีที่แท้จริง ซึ่งไม่ใช่เป็นการมาสามัคคีจัดงานร่วมกัน แต่ที่แท้กลายเป็นสามัคคีที่จะจัดงานแข่งกัน อันเห็นได้ชัดว่าไม่มีใจที่จะสามัคคีกันจริง

ท้ายนี้ก็ย้ำอีกที คือ ต้องเข้าใจก่อนว่า ที่พูดนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่พอใจอะไรใครๆ เช่นอย่างในสันติอโศก แต่เป็นการพูดตามหลักการ และเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องให้คนเกิดความรู้เข้าใจเรื่องราวตามที่มันเป็น

ความจริง สันติอโศกนี้ ก็ดีต่อกันมา คือรู้จักชาวสันติอโศกมาประมาณ 20-30 ปี ตั้งแต่สมัยที่อยู่ในกรุงเทพฯ ชาวสันติอโศกที่เป็นระดับแกนๆ ก็ไปที่กุฏิบ่อย ไปช่วยงานบ้าง ไปสนทนาอะไรต่างๆ บ้าง แต่ทางนั้นเขาไม่พอใจคณะสงฆ์ เขาก็ติเตียนคณะสงฆ์และสภาพการพระศาสนาทั่วไปมากมาย อาตมาก็ไม่ว่าอะไร เพราะที่เขาว่านั้นเป็นจริงก็มาก

แต่เราก็ติงว่า คุณอย่าไปติว่าอย่างเดียว บางอย่างก็ต้องเห็นใจบ้างเหมือนอย่างพวกพระที่ประพฤติเลว ในด้านหนึ่งเราต้องเห็นใจว่า มันมีเหตุปัจจัยทางสังคมที่ทำให้คนเหล่านั้นเป็นอย่างนั้น เราจะไปด่าว่าติเตียนอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองในแง่เห็นใจบ้าง เห็นใจแต่ไม่ใช่ตามใจ เพื่อจะได้เข้าใจตามความเป็นจริง ทั้งด้านบวก ด้านลบ ไม่เช่นนั้นเราก็จะไปมองด้านลบอย่างเดียว เมื่อรู้ว่าเป็นอย่างนี้ ด้านหนึ่งเห็นใจเขา และพร้อมกันนั้นก็ต้องหาทางแก้ไข ไม่อยากให้เพ่งไปแต่ด้านลบ จะอย่างไรก็แล้วแต่ ขอให้คิดมุ่งประโยชน์ส่วนรวมจริงๆ

ทางธรรมกายก็เหมือนกัน ในทางส่วนตัวก็เป็นมาดี แม้แต่ในแง่หลักการ ที่เป็นเรื่องของประโยชน์ส่วนรวม เกี่ยวกับประชาชน เกี่ยวกับพระศาสนาก็ไม่ได้ว่าอะไร เราก็ว่าไปตามหลักเท่านั้น คือชี้แจงว่าอะไรเป็นหลักการ ตามหลักฐานว่าอย่างไร หากเป็นความเห็น คุณก็บอกว่าเป็นความเห็นของคุณ อย่าบอกว่าเป็นหลักการ เมื่อไม่มีปัญหาในเรื่องส่วนตัว ก็ทำให้เราพูดได้เต็มที่

จะเป็นสันติอโศกก็ตาม ธรรมกายก็ตาม ท่านพลตรีจำลองก็ตาม ทุกหน่วยทุกองค์กร ขอให้มาทำการต่างๆ ด้วยความมีใจมุ่งหวังเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติประชาชนจริงๆ แล้วก็ว่ากันตรงไปตรงมา พูดกันตรงๆ โดยมีความจริงใจต่อกัน

เมื่อเราหวังดีต่อส่วนรวม มุ่งเพื่อประโยชน์ของสังคมประเทศชาติ ก็ว่ากันไปเลย อะไรที่เป็นคุณความดีของท่าน หรือท่านทำที่เป็นความดี ก็อนุโมทนา อะไรผิดอะไรถูก ก็ว่าไปตามหลักตามธรรม

เมื่อมาถึงงานระดับประเทศชาติ เรื่องของสังคม เรื่องของพระศาสนาส่วนรวม มักเกิดความเสี่ยง เพราะจะมีเรื่องการฉวยโอกาสและการใช้วิธีการทางการเมืองเข้ามา เพราะฉะนั้นจะต้องหลีกเลี่ยง ต้องมีสติระวังไว้ว่าเราจะไม่ยอมฉวยโอกาส เราจะไม่ใช้วิธีการทางการเมือง เราจะใช้ความจริงใจมุ่งต่อประโยชน์ที่แท้จริงของประเทศชาติ แล้วก็ว่ากันตรงไปตรงมา

ชอบแสดงความเห็น แต่ไม่หาความรู้

ในสังคมไทยเวลานี้ ผู้คนนอกจากชอบแสดงความคิดเห็น แต่ไม่ชอบหาความรู้แล้ว แทนที่จะพยายามทำความคิดเห็นและการปฏิบัติของตนให้เป็นไปตามธรรม ก็ถนัดแต่เอาธรรมมาว่าไปตามความคิดเห็น

แล้วไปๆ มาๆ ก็เขว คือ กล้าแสดงความคิดเห็น แต่หวาดเกรงความรู้ มุ่งแต่จะเอาอกเอาใจกัน จนกลัวความจริง แยกไม่ออกระหว่างความรู้กับความรู้สึก แยกไม่ได้ระหว่างสถานการณ์แห่งเมตตาธรรมกับสถานการณ์แห่งอุเบกขาธรรม หรือประสานไม่ได้ระหว่างเมตตาธรรมกับความถูกตรงตามธรรม หรือไม่ก็ชอบอ้างเอาเมตตาพรางตัวเป็นเปลือกหุ้มบังเนื้อแท้ที่เป็นเพียงโมหาคติและภยาคติ เลยได้แค่การประนีประนอมกล้อมแกล้ม โดยมองไม่เห็นภัยพิบัติอย่างยั่งยืนที่รออยู่ข้างหน้า



สาธุ สาธุ สาธุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 22 พ.ค.2012, 2:07 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

เทียน รวมกระทู้ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับ “วันวิสาขบูชา”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=45505
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง