Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 เชียงใหม่ อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 11 ก.พ.2008, 1:56 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
อุโบสถวัดสันติธรรม จ.เชียงใหม่
............................................................................



วัดสันติธรรม นครเชียงใหม่
เลขที่ 13 ถ.หัสดิเสวี ต.ช้างเผือก
อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50300
โทรศัพท์ 053-221-792, 087-193-3169,
086-187-3942, 081-602-7500


พระครูวิมลธรรมรัต (หลวงพ่อมหาศรีนวล วิมโล) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน

พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร)
และพระนพีสีพิศาลคุณ (พระมหาทองอินทร์ กุสลจิตฺโต) อดีตเจ้าอาวาส


วัดสันติธรรม เป็นวัดปฏิบัติสายหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร และพระมหาทองอินทร์ กุสลจิตฺโต

• ประวัติวัดสันติธรรม •

พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูสันติวรญาณ ได้ธุดงค์ไปในหลายจังหวัด อาทิเช่น วัดป่าสระคงคา อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์, สำนักสงฆ์หมู่บ้านแม่ดอย (ต่อมาได้พัฒนาเป็นวัดชื่อว่า วัดป่าอาจารย์มั่น) อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ (ณ ที่วัดแห่งนี้หลวงปู่สิมได้พบ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต และได้รับคำแนะนำเพิ่มเติมจากหลวงปู่มั่น จนการปฏิบัติธรรมของหลวงปู่ก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก)

เมื่อแยกจากหลวงปู่มั่นแล้ว หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ได้เดินธุดงค์ไปทางอำเภอสันกำแพง เข้าพักที่วัดโรงธรรมสามัคคี นานถึง ๕ ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ซึ่งขณะนั้นยังเป็นสำนักชั่วคราว ที่วัดโรงธรรมสามัคคีแห่งนี้เคยเป็นสถานที่ที่ครูอาจารย์หลายท่านเคยใช้พักจำพรรษา อาทิ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต, หลวงปู่ชอบ ฐานสโม, หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ, พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน และหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม เป็นต้น หลังจากนั้นย้ายไปจำพรรษาที่ถ้ำผาผัวะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บ้านเมืองอยู่ในสภาพหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในระหว่างนั้นหลวงปู่ได้รับรู้ความคับจิตคับใจของบรรดาชาวบ้านทั้งหลาย หลวงปู่ได้ปลุกปลอบใจของชาวบ้านที่กำลังสิ้นหวังให้กลับมีชีวิตชีวาขึ้น ด้วยการหยั่งพระสัทธรรมลงสู่จิตของพวกเขา

ในระหว่างออกพรรษา หลวงปู่สิมได้จาริกธุดงค์ไปบำเพ็ญเพียร ณ สถานที่วิเวกหลายแห่งในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ศิษย์อาวุโสชาวเชียงใหม่ท่านหนึ่งคือ เจ้าชื่น สิโรรส (วัย ๙๖ ปี) โดยในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ เจ้าชื่น สิโรรส ได้อพยพครอบครัวหลบภัยสงครามไปอยู่ที่ถ้ำผาผัวะ ขณะที่หลวงปู่ธุดงค์ไปจำพรรษาที่ถ้ำผาผัวะนี้ ท่านเปรียบเสมือนที่พึ่งอันสูงสุดที่มีความหมายมากสำหรับคนที่อยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาดเนื่องจากสงคราม

ครั้นปลายปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาใกล้จะยุติ เจ้าชื่น สิโรรส ซึ่งอพยพจากถ้ำผาผัวะกลับคืนตัวเมืองเชียงใหม่ ได้กราบอาราธนาหลวงปู่สิมให้ย้ายเข้ามาพำนักจำพรรษาที่ตึกของแม่เลี้ยงดอกจันทร์ กีรติปาล (คิวริเปอร์) ซึ่งตึกนั้นอยู่ติดกับถนนสุเทพ ตรงกันข้ามกับถนนไปสนามบินเมืองเชียงใหม่ (ปัจจุบันคือที่ตั้งของศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ยังเป็นตึกที่ว่างไม่มีใครอยู่ นอกจากคนที่อยู่เฝ้าคอยดูแลรักษา เนื่องจากแม่เลี้ยงดอกจันทร์ และลูกหลานได้อพยพหนีภัยสงครามไปอยู่ที่อื่น

และ ณ ที่แห่งนี้เอง หลวงปู่สิมได้พบกับลูกศิษย์คนแรกที่ท่านอุปสมบทให้ ในระยะที่มาจำพรรษาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ คือ พระนพีสีพิศาลคุณ (พระมหาทองอินทร์ กุสลจิตฺโต) ซึ่งต่อมาก็ได้เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๒ ของ “วัดสันติธรรม” ซึ่งได้ทำการก่อสร้างวัดขึ้นในภายหลัง

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เมื่อสงครามสงบโดยสิ้นเชิง มีข่าวว่าเจ้าของบ้านคือ แม่เลี้ยงดอกจันทร์ และลูกหลานที่อพยพหลบภัยสงครามไปจะกลับคืนถิ่นฐานเดิม หลวงปู่สิมจึงปรารภเรื่องการสร้างวัด คำปรารภในครั้งนั้นเป็นแรงบันดาลใจให้คุณแม่นิ่มนวล สุภาวงศ์ เกิดศรัทธาขึ้นมาอย่างแรงกล้าที่จะสร้างวัดถวายหลวงปู่ ด้วยพลังศรัทธานั้นเอง “วัดสันติธรรม” จึงได้ถือกำเนิดขึ้นมาโดยอาศัยกำลังศรัทธาของสานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนทั่วไป

Image
พระสันติเจดีย์ วัดสันติธรรม
............................................................................



ท่านพระครูสันติวรญาณ (หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร) พร้อมกับหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ, หลวงปู่หลอด ปโมทิโต, สามเณรทองอินทร์ แก้วตา (พระมหาทองอินทร์ กุสลจิตฺโต) พร้อมด้วยอุบาสกซึ่งเป็นโยมบิดาของหลวงปู่เหรียญด้วย ได้ไปพักอาศัยอยู่ ณ ตึกดังกล่าวนี้ ขณะนั้นพระสงฆ์ที่มีความรู้ความสามารถในการแสดงธรรมโดยปฏิภาณโวหารมีน้อย การแสดงธรรมของหลวงปู่สิมจึงได้รับความสนใจจากพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป ผู้ที่ได้สดับพระธรรมเทศนาจากหลวงปู่แล้ว มักนำไปกล่าวสรรเสริญและชวนคนอื่นไปฟังอีกด้วย

ก่อนที่หลวงปู่สิม และคณะจะจาริกไปในที่ต่างๆ หลวงปู่พำนักอยู่ที่วัดโรงธรรมสามัคคี อำเภอสันกำแพง ขณะนั้นยังเป็นสำนักชั่วคราว มีศาลาฟังธรรมตั้งอยู่ในสวน จึงเรียกว่าวัดโรงธรรม โยมแสง ชินวิตร เป็นผู้มีปสาทศรัทธาในรสพระธรรมเทศนาของท่านอาจารย์ คุณนิ่มนวล สุภาวงศ์ (นางสาวนิ่มคิ้ม แซ่เฮ้ง) เป็นผู้หนึ่งที่ถูกชักชวนให้ไปฟังเทศน์แต่ไม่ยอมไป คุณนิ่มนวลเล่าความรู้สึกให้ฟังว่า สาเหตุที่ไม่ยอมไปฟังเทศน์ เพราะไม่คุ้นเคยต่อขนบธรรมเนียม มีความกระดากใจ เห็นคนไปวัดจะต้องถือพานดอกไม้ไปด้วย จะทำตามเขาก็ทำได้ไม่สนิท กลัวจะไปทำผิดๆ ถูกๆ เพราะไม่เคยทำมาก่อน ตั้งแต่เด็กมาก็เคยไปแต่โรงเรียน แม้จะเคยไปวัด ก็ไม่ได้สังเกตว่าเขาทำอะไรบ้าง เรื่องทำนองนี้คงจะมีคนอื่นๆ อีกมาก ที่มีความรู้สึกเหมือนๆ กัน คุณนิ่มนวล สุภาวงศ์ เล่าให้ฟังต่อไปอีกว่า เมื่อแม่แสง ชินวัตร พรรณนาถึงรสพระธรรมเทศนาของหลวงปู่สิมว่าเทศน์ได้ไพเราะฟังเข้าใจง่าย นึกอยากจะไปฟัง แต่ยังไม่เชื่อโดยสนิทใจ เท่าที่เคยฟังพระเทศน์มาไม่เคยรู้เรื่อง เพื่อความมั่นใจจึงจ้างให้น้อยหมู ลูกจ้างของเตี่ยให้ไปฟังแทน ต่อมาเจ๊หมา และพ่อน้อยเงิน พรหมโย ก็ไปฟังและนำมาเล่าว่า หลวงปู่สิมเทศน์ดี จึงนึกอยากไปฟังบ้าง

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๙ หลวงปู่สิมและคณะได้มาจำพรรษาอยู่ที่ตึกแม่เลี้ยงดอกจันทร์ บ้านหลิ่งห้า อำเภอเมือง เชียงใหม่ แม่แสง ชินวัตร ได้มาชวนให้ไปฟังเทศน์อีก จึงตกลงไปฟัง จำไม่ได้ว่าหลวงปู่สิมเทศน์เรื่องอะไร จำได้แต่เพียงว่าท่านเทศน์ดี รู้สึกจับใจ ตั้งแต่วันนั้นมาจึงได้ไปฟังเทศน์บ่อยๆ

พระนพีสีพิศาลคุณ (พระมหาทองอินทร์ กุสลจิตฺโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดสันติธรรม ก็ได้ทำการอุปสมบทในสมัยนั้น ณ วัดเจดีย์หลวง โดยมีเจ้าแม่กาบคำ ณ เชียงใหม่ เป็นผู้อุปการะในการอุปสมบท เป็นศิษย์องค์แรกของหลวงปู่สิม ที่ได้รับการอุปสมบทในระยะที่มาจำพรรษาอยู่ในเมือง

หลวงปู่สิมอยู่จำพรรษาที่ตึกของแม่เลี้ยงดอกจันทร์ได้ ๒ พรรษา คือปี พ.ศ. ๒๔๘๙-๒๔๙๐ แม่เลี้ยงดอกจันทร์และลูกหลานจะต้องการใช้บ้าน คือจะกลับมาอยู่ หลวงปู่และคณะศิษยานุศิษย์จึงจำเป็นจะต้องหาที่อยู่ใหม่ วันหนึ่ง หลวงปู่สิมปรารภในระหว่างเทศน์ว่า “นกมันยังทำรังอยู่ได้ คณะศรัทธาจะสร้างวัดอยู่สักวัดหนึ่งไม่ได้หรือ ?”

คุณนิ่มนวล บอกว่า เมื่อได้ฟังคำพูดของหลวงปู่สิมประโยคนั้นแล้ว ทำให้คิด กลับมาบ้านแล้วก็ยังเก็บมาคิด ยิ่งคิดก็ยิ่งเพิ่มแรงศรัทธา อยากจะได้ที่สร้างวัด รุ่งขึ้นรับประทานอาหารเช้าแล้ว บังเอิญมีผู้นำเงินค่าแหวนมาให้จำนวน ๑,๐๐๐ บาท จึงตกลงใจว่าจะบริจาคเงินจำนวนนี้เป็นค่าที่ดินสร้างวัด ขณะนั้น คิดอยากจะพบกับพ่อน้อยเงิน พรหมโย และบังเอิญพ่อน้อยเงินก็มาหา จึงเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้พ่อน้อยเงินฟัง พ่อน้อยเงินเห็นดีเห็นชอบด้วยทุกอย่าง พร้อมรับอาสาว่า จะพยายามหาที่ให้ได้ เจ๊หมาเมื่อทราบเรื่องการหาที่ดินจะสร้างวัด ก็ได้แสดงความจำนงบริจาคทรัพย์ร่วมอีก ๑,๐๐๐ บาท ในวันต่อมา พ่อน้อยเงิน และนายฮั้งยิ้น (สามีเจ๊หมา) จึงพากันไปหาซื้อที่ดิน ชั่วเวลาไม่กี่วันก็ไปได้ที่ดินของคุณพระอาสาสงคราม เมื่อคุณพระท่านทราบว่าอยากจะได้ที่ดินสร้างวัดท่านก็ยินดีขายให้ในราคาถูก

เนื้อที่ที่ตกลงซื้อขายกันครั้งแรกเป็นที่ ๕ ไร่ คิดราคาไร่ละ ๙๐๐ บาท ต่อมาได้ขอซื้อเพิ่มเติมอีก ๓ ไร่ ๓ งาน คิดเป็นราคาทั้งหมด ๗,๕๖๘ บาท รายนามผู้มีจิตศรัทธาซื้อที่ดินมีดังนี้
(๑) นางสาวนิ่มคิ้ม แซ่เฮ้ง บริจาค ๑,๙๗๐ บาท
(๒) นายฮั้งยิ้น แม่หมา และบุตรธิดา บริจาค ๑,๙๗๐ บาท
(๓) นางสาวทองหล่อ ขาวประไพ บริจาค ๑,๐๐๐ บาท
(๔) เจ้าผัวผัด ณ เชียงใหม่ บริจาค ๑,๐๐๐ บาท

บริจาคครั้งที่ ๒ มีดังนี้
(๑) นายฮั้งยิ้น แม่หมา บริจาค ๓๒๘ บาท
(๒) นางสาวนิ่มคิ้ม แซ่เฮ้ง บริจาค ๑,๐๐๐ บาท
(๓) แม่บุญทอง ตุงคมณี บริจาค ๒๐๐ บาท
(๔) แม่แก้วลูน สุวรรณยืน บริจาค ๑๐๐ บาท

คุณพระอาสาสงคราม นอกจากท่านจะยินดีขายที่ดินให้แล้ว ท่านยังให้การสนับสนุนช่วยเหลือทั้งกำลังกาย กำลังทรัพย์ ท่านบริจาคทรัพย์สร้างกุฏิ บ่อน้ำ และส้วม ตลอดจนตั้งแต่การแผ้วถาง และทำการก่อสร้าง คุณพระท่านช่วยดูแลเอาใจอย่างใกล้ชิด ส่วนผู้มีส่วนริเริ่มและร่วมมือร่วมใจในการแผ้วถางและก่อสร้าง คือ คุณนิ่มนวล สุภาวงศ์, พ่อน้อยเงิน พรหมใย, นายฮั้นยิ้น-นางหมา และลูก ผู้ที่เป็นช่างออกแบบสร้างกุฏิ และคอยดูแลเอาใจใส่ คือ นายเล่งไฮ้

ท่านผู้ใจบุญบริจาคทรัพย์ช่วยเป็นค่าแรงงาน คือ
• แม่แสง ชินวัตร บริจาค ๑,๐๐๐ บาท
• โยมชื่น สิโรรส บริจาค ๕๕๐ บาท

Image
รูปหล่อหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ภายในอุโบสถ
............................................................................



ในการแผ้วถางดำเนินการครั้งแรก สังเกตเห็นได้ว่า เนื้อที่บริเวณที่จะสร้างกุฏิ มีอิฐ มีกระเบื้อง มีแนวกำแพง และมีเนินโบสถ์หรือวิหาร พอจะหยั่งสันนิษฐานได้ว่าที่แห่งนั้นเคยเป็นวัดมาก่อน แต่ไม่อาจสืบประวัติได้ว่าเป็นวัดอะไร เมื่อทำการก่อสร้างกุฏิพอเป็นที่อยู่อาศัยของพระภิกษุสามเณรได้แล้ว คณะศรัทธาจึงได้อาราธนาหลวงปู่สิม (ขณะนั้นท่านพักอยู่วัดโรงธรรมสามัคคี อำเภอสันกำแพง) และพระภิกษุสงฆ์สามเณรที่เป็นศิษย์ของท่านมาอยู่ ได้ทำพิธีเปิดป้ายเป็นการชั่วคราวขึ้น เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๒ ให้ชื่อว่า “วัดสันติธรรม นครเชียงใหม่”

ในวันเปิดป้าย ผู้ใหญ่ที่ได้รับอาราธนาและเชิญให้มาร่วมงาน คือ ฝ่ายสงฆ์มี (๑) ท่านพระครูพิศาลขันติคุณ (เจ้าคุณเทพสารเวที) วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่ ฝ่ายฆราวาสมี (๑) พลตรีหลวงกัมปนาทแสนยากร ข้าหลวงภาค (๒) ขุนไตรกิตติยานุกูล ข้าหลวงประจำจังหวัดเชียงใหม่ (๓) ข้าหลวงยุติธรรม (๔) นายจรัส มหาวัจน์ ศึกษาภาค (๕) ร.ต.อ. สุจินต์ หิรัญรักษ์ ศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ (๖) นายวิชาญ บรรณโสภิษฐ์ (๗) นายเฉลิม ยูปานนท์ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ มีพุทธศาสนิกชนไปร่วมงานประมาณ ๒๐๐ คน พรรษาแรกนี้ มีพระภิกษุสามเณรจำพรรษาคือ พระภิกษุ ๑๑ รูป สามเณร ๙ รูป

พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้ทำหนังสือยื่นขอสร้างวัดต่อทางการ โดยนางสาวนิ่มคิ้ม แซ่เฮ้ง (คุณนิ่มนวล สุภาวงศ์) เป็นตัวแทนลงนามในหนังสือ ขณะนั้นทางการคณะสงฆ์ได้มีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. คณะสงฆ์หลายอย่าง โดยเฉพาะ พ.ร.บ. อันว่าด้วยการสร้างวัด ขณะนั้นเป็นเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อในการปฏิบัติงานของคณะสงฆ์ การยื่นหนังสือขอสร้างวัดจึงพบกับปัญหาหลายแง่หลายกระทง กว่าจะได้รับอนุญาตให้สร้างวัดได้ ต้องใช้เวลาถึง ๓ ปี คือ ได้รับอนุญาตให้สร้างวัดได้เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ใช้นามว่า วัดสันติธรรม ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกคือ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร

พ.ศ. ๒๔๙๕ หลวงปู่สิม ในฐานะเจ้าอาวาสได้พิจารณาเห็นว่าการดำเนินการสร้างวัดก็ได้ลุล่วงผ่านพ้นมาโดยลำดับ เสนาสนะที่อยู่อาศัยของพระภิกษุสามเณรก็มีพอสมควร ศาลาโรงธรรมก็มีพอได้อาศัย แต่วัดยังขาดพระอุโบสถ ที่สำหรับทำสังฆกรรมของสงฆ์ นับว่าขาดถาวรวัตถุอันเป็นหลักของวัด จึงดำริที่จะสร้างพระอุโบสถ แต่ก็หนักใจเรื่องทุนทรัพย์ที่จะนำมาใช้จ่ายดำเนินการก่อสร้าง ถึงจะหนักใจอย่างไรก็ต้องเริ่มดำเนินการเพราะเป็นเรื่องจำเป็น ในขั้นต้นหลวงปู่ได้เริ่มดำเนินการปักเขตที่สร้างพระอุโบสถ โดยอาศัยแนวซากอุโบสถเก่าซึ่งยังปรากฏให้เห็นเนินดินอยู่ ทั้งนี้โดยมีความประสงค์ว่า เมื่อปักเขตตั้งเป็นรูปร่างไว้แล้ว ผู้มีปาสารทะศรัทธาได้รู้เห็นก็จะได้บริจาคทรัพย์ช่วยกันก่อสร้าง วิธีหาทุนทรัพย์ดำเนินการก่อสร้างหลวงปู่ใช้วิธีค่อยคิดค่อยทำไปตามกำลังทรัพย์ เมื่อมีผู้บริจาคทรัพย์ถวายก็ทำการก่อสร้าง เมื่อหมดทุนทรัพย์ก็หยุดไว้ก่อน ไม่เคยออกใบฎีกาบอกบุญเรี่ยไร ไม่เคยทำตระกรุดผ้ายันต์ ไม่เคยสร้างพระทำเครื่องรางของขลัง

การก่อสร้างพระอุโบสถได้ดำเนินมาโดยลำดับ จนถึง พ.ศ.๒๕๐๐ จึงได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ส่วนกว้าง ๔๐ เมตร ส่วนยาว ๘๐ เมตร กล่าวกันว่า การก่อสร้างพระอุโบสถได้หยุดชะงักลงในระหว่างปี พ.ศ.๒๕๐๕-๒๕๐๖ สาเหตุเนื่องจากท่านเจ้าคุณพระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร) แห่งวัดอโศการาม ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ได้ถึงแก่มรณภาพลง วัดอโศการามจึงขาดพระเถระผู้ใหญ่ที่จะให้การอบรมสั่งสอนทายกทายิกาในทางภาวนากัมมัฏฐาน ทายกทายิกาจึงพากันนิมนต์หลวงปู่สิมไปช่วยอบรมสั่งสอน หลวงปู่เลยอยู่จำพรรษาที่นั้น

Image
รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งพระมหาทองอินทร์ กุสลจิตฺโต ภายในอุโบสถ
............................................................................



แม้ว่าหลวงปู่สิมจะไปพำนักจำพรรษา ณ วัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ ไม่ได้อยู่ก่อสร้างพระอุโบสถวัดสันติธรรม แต่เรื่องพระอุโบสถวัดสันติธรรมก็ติดตามหลวงปู่ไปด้วย ทายก-ทายิกาวัดอโศการามเมื่อได้ทราบว่า หลวงปู่มีงานสร้างพระอุโบสถที่เชียงใหม่ ต่างก็บอกกล่าวชักชวนเล่าเรื่องบอกบุญเรี่ยไรช่วยกันบริจาคทรัพย์สมทบทุนสร้างพระอุโบสถ ได้เป็นจำนวนเงินทั้งหมดประมาณสามแสนบาท นับเป็นปัจจัยที่ได้มาเพราะแรงศรัทธาเลื่อมใสที่สาธุชนมีต่อหลวงปู่สิม หรืออาจจะกล่าวว่าเป็นผลงานที่เกิดจากรสพระธรรมเทศนาที่หลวงปู่อบรมสั่งสอนพวกญาติโยมก็ได้ ผู้ที่เป็นกำลังช่วยเหลือในการชักชวนการบริจาคทรัพย์ที่ควรกล่าวชื่อเพื่อแสดงมุทิตาจิต คือ โยมกิมหงษ์

เนื่องจากหลวงปู่สิมต้องรับภาระในการอบรมสั่งสอนทายกทายิกา ที่วัดอโศการาม ต้องไปมาระหว่างกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ บ่อยๆ ทำให้ห่วงหน้าพะวงหลัง ไม่สะดวกที่จะปฏิบัติงานทั้งสองฝ่าย ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ หลวงปู่สิมจึงมีหนังสือให้พระมหาทองอินทร์ กุสลจิตฺโต ซึ่งเป็นศิษย์ของท่าน ให้มาอยู่จำพรรษาที่วัดสันติธรรม เพื่อดูแลควบคุมการก่อสร้างแทน ขณะนั้นพระมหาทองอินทร์ อยู่จำพรรษาที่วัดถ้ำผาจลุย จังหวัดเชียงราย

ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ หลวงปู่สิมเป็นโรคไตอย่างแรง ต้องหยุดพักรักษาตัว ไม่ทำการอบรมสั่งสอนและได้ทำหนังสือขอลาออกจากการเป็นเจ้าอาวาสวัดสันติธรรม ออกไปพักรักษาตัวอยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส บ้านคำสะอาด ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร บ้านเกิดของท่าน ทางการคณะสงฆ์จึงแต่งตั้งพระมหาทองอินทร์ กุสลจิตฺโต ให้รักษาการเจ้าอาวาสแทนในปีนั้น และท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสในปี พ.ศ. ๒๕๑๐

ในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ พระมหาทองอินทร์ ได้รับช่วงการดำเนินการก่อสร้างต่อ ผู้มีจิตศรัทธาได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือหาทุน ที่จะเว้นกล่าวอนุโมทนาเสียไม่ได้ ณ ที่นี้คือ คุณสุนทร จันทรวงษ์, คุณกระดิ่ง โอวาทสาร, คุณพงศักดิ์ ฐิตะปุระ และคุณชูศักดิ์ กุศลวงษ์ ท่านที่ออกนามมานี้นอกจากขวนขวายชักชวนญาติมิตรผู้ใจบุญให้ช่วยบริจาคทรัพย์สมทบทุนแล้ว ยังได้สละทรัพย์ส่วนตัวเป็นค่าพิมพ์หนังสือ “เที่ยวกรรมฐาน” ของท่านอาจารย์บุญนาค โฆโส แจกจ่ายแก่สาธุชนเป็นบรรณาการแก่ผู้บริจาคเงินเพื่อสมทบทุนสร้างพระอุโบสถอีกโสตหนึ่งด้วย อนึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๑๒-๒๕๑๓ ได้อาศัยกำลังความคิด กำลังทรัพย์ และกำลังคน จากนายช่างสมเกียรติ ทรงเกียรติกุล เป็นอย่างมาก จึงขอจารึกชื่อไว้ ณ ที่นี้ด้วย

เป็นอันสรุปได้ว่า การก่อสร้างพระอุโบสถ วัดสันติธรรม ที่ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๙๕ ได้สำเร็จบริบูรณ์ลงในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ รวมเป็นเวลา ๑๘ ปี สำเร็จด้วยกำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังใจของหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร พร้อมทั้งแรงสนับสนุนของคณะศิษยานุศิษย์และศรัทธาญาติโยมวัดสันติธรรม โดยเฉพาะอุบาสิกาผู้มีแรงศรัทธาอันแก่กล้า ได้ทำการยืนหยัดต่อสู้ด้วยกำลังกาย กำลังใจ กำลังทรัพย์ ตั้งแต่เริ่มสร้างวัดเป็นต้นมา จนกระทั่งสร้างอุโบสถสำเร็จ โดยมิได้ปลีกตนเองออกห่างแม้แต่ระยะใดระยะหนึ่ง ได้มีส่วนรับรู้ร่วมงานมาโดยสม่ำเสมออุบาสิกาผู้นี้คือ คุณนิ่มนวล สุภาวงศ์ จึงของอนุโมทนาสาธุการจารึกชื่อนี้ไว้กับประวัติวัดสันติธรรมนี้ชั่วกัลปาวสาน

พระอุโบสถวัดสันติธรรมหลังนี้ กว้าง ๑๔ เมตร ยาว ๒๘ เมตร สูงจากพื้นดิน ๓๐ เมตร สิ้นทุนทรัพย์ในการก่อสร้างทั้งหมดเป็นจำนวนเงิน ๗๘๒,๙๑๐.๑๐ บาท (เจ็ดแสนแปดหมื่นสองพันเก้าร้อยสิบบาทสิบสตางค์) อันเป็นก้าวแรกของการก่อตั้งวัดสันติธรรม นับจากนั้นเป็นต้นมาต่อเนื่องยาวนานถึง ณ ปัจจุบันนี้

Image
พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร)

Image
พระนพีสีพิศาลคุณ (พระมหาทองอินทร์ กุสลจิตฺโต)

Image
พระครูวิมลธรรมรัต (หลวงพ่อมหาศรีนวล วิมโล)


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=21573

อาถรรพ์สมณศักดิ์ “พระนพีสีพิศาลคุณ”
ราชทินนามคณะสงฆ์ธรรมยุตเชียงใหม่

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=46163

ประมวลภาพ “พระนพีสีพิศาลคุณ (ทองอินทร์ กุสลจิตฺโต)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=60837

เว็บไซต์วัดสันติธรรม
http://www.santidham.com/

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
webmaster
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 04 มิ.ย. 2004
ตอบ: 769

ตอบตอบเมื่อ: 29 ก.พ.2008, 4:05 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
ด้านหน้าพระอุโบสถ วัดพระพุทธบาทสี่รอย
............................................................................



วัดพระพุทธบาทสี่รอย
ต.สะลวง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ 50330
โทรศัพท์ 053-228-569,
089-261-6906, 089-854-2820


พระครูพุทธบทเจติยารักษ์ (ครูบาพรชัย ปิยวัณโณ) เจ้าอาวาส

วัดพระพุทธบาทสี่รอย เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ สัปปายะ สงบเงียบ สงบเย็น ร่มรื่น เป็นธรรมชาติ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการไปปฏิบัติธรรม เจริญจิตภาวนา วัดนี้อยู่กลางหุบเขาป่าลึกสูงชัน จากตัวอำเภอแม่ริมจนถึงวัดพระพุทธบาทสี่รอย มีระยะทาง 50 กิโลเมตร ถือเป็นวัดที่มีปูชนียสถานสำคัญทางประวัติศาสตร์

พระพุทธบาทสี่รอย สถานที่ประทับรอยพระพุทธบาทพระพุทธเจ้าสี่พระองค์ คือ พระกกุสันโธสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโกนาคมโณสัมมาสัมพุทธเจ้า พระกัสโปสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระโคตโมสัมมาสัมพุทธเจ้า ลงบนมหาศิลาเปรต ซึ่งมหาศิลาเปรตกำลังรอพระศรีอริยเมตไตรยมาตรัสรู้ และจะได้หมดกรรมเกิดเป็นเทวดาฟังธรรมจากพระศรีอริยเมตไตรยต่อไป สถานที่แห่งนี้มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างยิ่ง เป็นที่ปฏิบัติอธิษฐานจิตของหลายๆ ท่าน เช่น ครูบาศรีวิชัย พระนางเจ้าดารารัศมี (พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5) พ่อแม่ครูบาอาจารย์สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เป็นต้น

Image
ครูบาพรชัย ปิยวัณโณ
............................................................................



ครูบาพรชัย ปิยวัณโณ เจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทสี่รอย
เล่าประสบการณ์ที่วัดพระพุทธบาทสี่รอย


ครูบาพรชัย ได้ธุดงค์มาพักที่วัดร้างสันป่าตึง วัดพระเจ้าตนหลวง ต.สันป่ายาง เชิงเขาพระพุทธบาทสี่รอย เมื่อปี พ.ศ.2530 เมื่อครั้งยังเป็นสามเณร อยู่ที่นี่ประมาณ 2 เดือน ได้นั่งสมาธิเห็นนิมิตเป็นปราสาทหลังใหญ่สวยงามมากอยู่บนภูเขาสูง และได้เดินขึ้นบันไดไปยังปราสาท และเห็นรอยพระพุทธบาทอยู่ในปราสาท

พอรุ่งขึ้นเมื่อออกบิณฑบาตและฉันเสร็จ ได้มีโยมมาเล่าเรื่องพระพุทธบาทสี่รอยให้ฟังว่า มีพระพุทธบาทสี่รอยอยู่บนภูเขา ห่างจากที่พักไปประมาณ 22 กิโลเมตร โดยได้เล่าต่อไปว่า พระพุทธบาทสี่รอยมีความศักดิ์สิทธิ์ มีถ้ำอยู่ตรงพื้นพระพุทธบาทสี่รอย พระเณรที่มากินอยู่ประจำมักจะอยู่ไม่ค่อยได้ นอกจากนี้ชาวบ้านที่อยู่บริเวณพระพุทธบาทสี่รอย มีความรู้สึกเหมือนมีความผูกพันเหมือนตายแล้วเกิดใหม่ เหมือนกับเคยอยู่ที่นี่มาก่อนและเมื่อได้เห็นรอยพระพุทธบาทสี่รอย ก็เหมือนกับที่เห็นในนิมิต เมื่อจะเดินทางกลับไปยังที่พักวัดร้าง ญาติโยมที่อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านพระพุทธบาทสี่รอย ซึ่งขณะนั้นยังเป็นวัดร้าง จึงได้กลับลงไปยังวัดร้างเชิงเขาเพื่อลาญาติโยมในบริเวณนั้น แต่ญาติโยมทั้งหลายก็ไม่ยอมให้ขึ้นมาอยู่ที่พระพุทธบาทสี่รอย ด้วยเหตุผลว่า พระเณรอยู่ประจำกันไม่ค่อยได้ เนื่องจากเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และมีสิ่งอัศจรรย์ ดังนั้น พอตกกลางคืนประมาณตีสอง จึงได้หวนขึ้นมาพระพุทธบาทสี่รอย และมาอยู่ประจำในช่วงเป็นสามเณรได้ 1 พรรษาเพียงองค์เดียว และต่อมาบวชเป็นพระอยู่องค์เดียวได้ 8 พรรษา จนพรรษาที่ 9 มีพระมาจำพรรษาอยู่ 11 รูป

Image
รูปปั้นพญานาคขดตัวเฝ้าอยู่ด้านข้างทางขึ้น
พระวิหารครอบรอยพระพุทธบาทสี่รอย

............................................................................



เมื่อก่อนมีถ้ำตรงพื้นนี้แล้วก็มีทรัพย์สมบัติอะไรอยู่ตรงนี้ ในยุคพระศรีอริยเมตไตรย จึงเปิดทรัพย์สมบัติให้คนได้มา (ว่ากันว่าใต้ฐานของพระพุทธบาทมีทรัพย์สมบัติของคนโบราณฝังไว้ พอยุคของพระศรีอริยเมตไตรยจึงจะเปิดออกมาได้) แล้วก็แต่ก่อนคล้ายๆ เขาเล่ามันเฮี้ยนหน่อยพระชีขึ้นมาอยู่บ่ได้ โดนผีหลอก โดนอะไรบ้าง อยู่ไม่ได้ที่นี้ เราเดินธุดงค์มา มาอยู่ข้างล่างมาอยู่วัดร้างตรงที่สันป่าตึง พอดีโยมเขาเล่าให้ฟัง ข้างบนนี่บ่มีพระอยู่ พระองค์ไหนมาอยู่ก็อยู่บ่ได้ บางทีนั่งสมาธิอยู่ดีๆ ก็โดนตบกระหม่อมอะไรก็มี อยู่บ่ได้ผีหลอก ญาติโยมชาวบ้านมาอยู่แถวนี้ก็อยู่ไม่ได้ต้องหนี ไม่ก็ตาย

พอเรามา โอ๋ ! (นึก) อยากไปอยู่ที่เฮี้ยนๆ จิตมันจะได้รวม ถ้าอยู่ที่ไม่กลัว ภาวนามันขี้เกียจ ถ้าอยู่ที่กลัวๆ มันขยันหน่อย

Image
รูปปั้นพญานาคสี่เศียรเฝ้าอยู่เชิงบันไดทางขึ้น
พระวิหารครอบรอยพระพุทธบาทสี่รอย

............................................................................



ตอนมาครั้งแรกๆ มีกุฏิเก่าๆ ข้างหลังนั่นน่ะ ตอนนั้นไม่รู้จักใคร พอตอนเช้าบิณฑบาต ชาวบ้านใส่บาตร ก็ถามว่าเป็นไงตอนกลางคืนผีหลอกไหมเมื่อคืนนี้ เราก็สงสัยว่าทำไมชาวบ้านมาถามแบบนี้ ก็ได้ตอบไปว่า เปล่า ! ผีหลอกหรอก แต่แผ่นดินมันไหว แล้วที่บ้านแผ่นดินไหวบ่ เขาว่ บ่ไหว แผ่นดินไหวประมาณ 4 ทุ่ม แล้วมันไหวแค่กุฏิที่เราอยู่ มันไหวแบบนอนบ่ได้ ก็เลยตักน้ำมาตั้งไว้ ก็ไม่ไหวก็เลยอยู่นั่นน่ะ อยู่ไปอีก 2-3 คืน ตอนเรานอนเหมือนกับคนมาจับเท้าเรายกขึ้น แล้วปล่อยลงกระแทกอย่างแรง แต่นั้นก็ทำสมาธิแผ่เมตตา

มีตอนหนึ่งเดินมานั่งสมาธิตรงหน้าพระพุทธบาท ตอนนั้นยังไม่ได้บูรณะเน้อ ก็มีเสียงที่พระบาท เสียงมันนี่คล้ายๆ เสียงกัดไม้จากพระพุทธรูปยืนนี่ เสียงกัดไม้แรงๆ ก๊ก พอกลับจากนี่ปุ๊บ ก็ไปอยู่ตรงหน้าของพระบาท เราก็นั่งสมาธิหน่อย มันมีเสียงอะไรก็เลยไม่สนใจนะ ไม่สนใจมันก็กัดดังขึ้นไปอีก ดังขึ้นอีก โอ๊ย ! จะทำอย่างไรตอนนั้นเพิ่งทำภาวนาใหม่ๆ ทำได้ปีสองปี ก็เลยนั่งสมาธิ ข้างหนึ่งก็จับไฟฉายพอเสียงดัง ปุ๊บ ปุ๊บ ลืมตาเปิดไฟฉายเสียงมันก็หายไป ฉายไฟดูก็ไม่เห็นอะไร

ตอนหลังพอมาเจองู งูเยอะเลย เลื้อยไปมาแถวพระบาท ภาวนาบ่ค่อยสงบ พอขึ้นมาสวดมนต์ สวดไปสวดไปเดี๋ยวงูตกลงมาจากเพดานลงมาตรงหน้า เราก็สวดไป สวดไปมันก็เลื้อยหายไป ตอนนั้นจิตมันกลัวงู ต่อมาสวดมนต์แล้วนั่งสมาธิ ก่อนจะนั่งสมาธิก็สำรวจรอบๆ รอยพระบาทก่อน ครั้งแรกดูงูก็ไม่เห็น ตอนนั่งสมาธินั่งไปได้นาน พอเสร็จจากสมาธิจะกลับไปพักผ่อน เราก็ลุกขึ้นยกผ้าปู โอ้ย ! งูอยู่พื้นอาสนะที่เรานั่ง พอมาอีกวัน เราก็สำรวจดูไม่มี พอนั่งสมาธิไป จิตมันก็ไปอยู่ที่งูน่ะ เอ๊ะ ! มันบ่มาหนอ พอออกจากสมาธิ ลืมตาก็เห็นมันอยู่ตรงหน้า ก็เลยว่าเป็นเทวดารักษาที่นี่

Image
หอเทวดา ณ วัดพระพุทธบาทสี่รอย
............................................................................



เทวดารักษารอยพระบาทที่เป็นตัวตนบ่มี มันมีในวิหารหลังนี้ในวิหารหลังเก่านี่ ที่นี้นั่งสมาธิแล้วเราก็กลับไปโน่น แล้วตอนกลางคืนตกดึกๆ นั่งสมาธิอยู่ก็เห็นคล้ายๆ คนนุ่งขาว ห่มขาว ผมยาว เป็นผ้าขาวน่ะ โน่นอยู่ในวิหาร เป็นผู้ชายนะ มันเน่า มันเละหมด อยู่ในวิหาร ที่นี้มันก็ค่อยๆ โอ๊ย ! ทำไงดี อิติปิโสนี่ไม่ออกเลย ทีแรกอิติปิโสนี่ไม่ได้ พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ นี่บ่ได้ ก็เลย สัพเพสัตตา เหลือแค่ สัพเพสัตตา สัพเพสัตตา จับน้ำน่ะ เตรียมน้ำมาหยาด พอหยาดมันก็ออก ทีแรกมันคล้ายๆ มาสู้กับเราน่ะ ว่าเราจะไปสู้ คล้ายๆ จะมาไล่เรา มาอะไรเรา

พอตอนเช้ามีชาวบ้านเข้ามาถาม เขาจะมาถามบ่อย เพราะส่วนมากพระที่มาอยู่เจออะไรดีๆ แล้วจะหนีไป ที่นี้เขาถามว่าวันนั้นเป็นยังไงบ้าง ก็เลยบอกเขาว่า เอ๊ะ ! ตอนกลางคืนมันมีผ้าขาวอยู่ในวิหารหลังนี้ แล้วที่นี้มันลอยไปเน่าเหม็นอยู่ในวิหารหลังนี้ ชาวบ้านเขาเลยบอกว่า โอ๊ย ! แต่ก่อนประมาณสัก 40 ปี นี่มีผ้าขาวมาปฏิบัติอยู่นี่คนหนึ่ง ปฏิบัติอยู่นี่ เป็นคนแก่ แล้วก็ปฏิบัติอยู่ในวิหารแล้วตาย ชาวบ้านเขามาเจอ ก็เน่าแล้วเออ ! มันก็เป็นปู่ที่นี่ คนนี้ล่ะตอนกลางคืนน่ะเฝ้าโบสถ์

Image
อนุสาวรีย์พระรูปของครูบาศรีวิชัย
ประดิษฐานอยู่ด้านซ้ายมือบริเวณทางขึ้นพระวิหารฯ

............................................................................



เคยมีพระมาอยู่มาจำพรรษา ชาวบ้านมาบวชเป็นพระที่อยู่ข้างล่างตีนเขาท่านมาบวชจำพรรษา แล้วท่านปวดท้อง ท่านอยู่ไม่ได้ ก็เลยลงไปข้างล่าง ไปโรงพยาบาล แล้วก็เสียชีวิต ไปเสียข้างล่างโน้นแล้วก็อันนี้มาเจออยู่พักหนึ่ง หลังจากผ้าขาวนั่น ตานี้ท่านก็มา ท่านมาขอให้ช่วยสรงน้ำให้ ท่านจะนั่งอยู่ตรงหน้าวิหารหลังเก่า แล้วก็มาขอให้สรงน้ำให้ท่าน ท่านมีโอ่งน้ำ แล้วท่านจะนุ่งแต่ผ้าอาบน้ำฝน ท่านนั่งยองๆ ขอให้เราตักน้ำรดให้ท่าน เราตักน้ำอาบให้ท่าน อาบให้ท่านอันนี้ไม่เป็นไร เวลาท่านนุ่งผ้า ท่านก็เดินกลับไป เราก็ถามชาวบ้านว่า เคยมีพระอยู่นี่บ่ แล้วก็มีปานดำตรงข้าม ชาวบ้านบอกมี แล้วก็เป็นญาติกับชาวบ้านที่อยู่ข้างบน เขาบวชๆ แล้วให้อยู่เฝ้าที่นี่บวชไม่นานก็ลงไปแล้วตาย นี่คนหนึ่ง

แล้วก็อีกคนหนึ่งนั้นอยู่ทางด้านหน้าโน่น ทำกระต๊อบเล็กๆ อันนั้นตายแบบท้องกลม เรานั่งสมาธิอยู่ที่กุฏิก็ขึ้นไปบนบ้าน เราเดินไปหน้าโน่น ขึ้นบนบ้าน บ้านหลังเล็กๆ ได้เห็นผู้หญิง ได้ยินเสียงผู้หญิงมันร้อง ร้องเจ็บร้องปวด ขึ้นไปเห็นผู้หญิงมันปวดท้อง มันกำลังจะเกิดลูก หน้ามันลายน่ะมีตุ้ม มีอะไรน้อ สมัยนั้นน่ะ โอ๊ย ! คิดไปใจไม่ดี มันจะเกิดลูก พอขึ้นไปก็ไม่รู้จะทำยังไง พอมันเบ่ง มันเบ่งไม่ออกมันก็ตาย ดิ้นตาย ก็เลยบอกเขามีบ๊อ แม่ยิง (หมายถึงผู้หญิง) ที่ท้อง...ตั้งแต่มาอยู่ที่นี่มีบ๊อ... ชาวบ้านเขาก็บอกว่า แต่ก่อนมาทำตูบเล็กๆ อยู่ (กระต๊อบ) แล้วพอท้องก็ตายท้องกลม ก็คนนี้พอพ้นไปล่ะ

Image
ภายในวิหารเล็กของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี
อยู่ด้านข้างบริเวณทางขึ้นพระวิหารฯ

............................................................................



จากผ้าขาวเราแผ่เมตตาไปล่ะ เราแผ่เมตตาให้แล้วก็หลวงพ่อเราแผ่เมตตาให้แล้วก็ไปล่ะ แล้วตายท้องกลม เราแผ่เมตตาไปแล้วก็ไปล่ะ แล้วก็อยู่ตรงนี้ ตรงนี้ก็แผ่เมตตาไปล่ะ ตรงนี้ตาย 2,000 ศพ แต่พวกนี้ไปล่ะ แล้วก็เหลืออยู่อันเดียว แผ่เมตตาให้ไม่ได้ที่เฝ้ารอยพระบาทตอนนี้ยังเฝ้าอยู่ เป็นคล้ายๆ กึ่งยักษ์กิ่งเทวดา โอ๊ย ! นิมิตแสงสว่างขึ้นตรงนี้ ทีแรกไม่สนใจ นึกว่าใครเอาไฟฉายส่องตรงหน้าเรา เอ๊ะ ! บ่ใช่ แต่ส่วนมากจะขึ้นข้างๆ มากกว่า แต่บางทีก็มีโยมเห็นบางครั้งก็เป็นรูปดวงไฟใหญ่ๆ ลอยขึ้นพระบาท แต่ไม่รู้นะ ถ้ามีพิธีอะไรใหญ่ๆ นะ เราทำพิธิใหญ่ๆ มาไหว้สวดพร้อมกันเยอะ อย่างงานประจำปีใหม่ งานสรงน้ำนี่เรามาไหว้มาสวดตอนกลางคืนน่ะ จะเห็นเป็นรูปสีเขียว สีอะไรที่ลอยขึ้นมา ก็ชี้ๆ ให้เขาดู พองานสรงน้ำประจำปี วันเพ็ญเดือน 4 ก็เสียสละแต่ก่อนมาอยู่ใหม่ๆ ก็สละแบบยอมถวายชีวิตล่ะ ขอให้พระพุทธบาทสี่รอยนี้ได้เปิดให้คนได้รู้จักลือชาปรากฏให้คนมากราบไหว้ก็ดี บ่หวังเอายศเอาหยังอะไรสักอย่างเอาลาภสักการะสักหยั่ง ก็เสียสละไปได้แบบนี้ เราทุ่มเททั้งกำลังกาย กำลังใจ เปิดไปก็ดีหมด แต่ก่อนนี้ พอออกแรง ต้องถาง ถางคนเดียวหมด ต้องถางหญ้า ฟันหญ้า ส่วนมากจะมานั่งสมาธิตอนกลางคืน พอมาถึงจุดนี้ก็ดีน่ะ อยากให้เป็นวัดพระพุทธศาสนา

ให้พอควร ให้สะดวกก็พอล่ะ หมู เป็ด ไก่ บ่ต้องกิน ต่อไปนี้ไหว้พระสวดมนต์ ไหว้พระบาท ถือศีล ก็สบายละ ช่วงที่ถวายวันนั้น ก็มีลม มีพายุพัดที่พระบาท โอ้ย ! แรงพวกนี้มันหมดไปล่ะ เหลือแต่ที่สูงสูงน่ะเฝ้าพระบาท พวกนั้นหมดไปล่ะ

ที่มา : หนังสือพระพุทธบาทสี่รอย จัดพิมพ์โดย บ.ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)

Image
ครูบาพรชัย ปิยวัณโณ ในพระอุโบสถวัดพระพุทธบาทสี่รอย พ.ศ.2551


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ตำนานพระพุทธบาทสี่รอย (ฉบับล้านนา)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19820

เพ็ญเดือน ๓-ต๋ามหน้าบุญเต๊อะ ณ วัดพระพุทธบาทสี่รอย
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=15028

ประวัติและปฏิปทาครูบาพรชัย ปิยวัณโณ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=44847

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
 

_________________
ธรรมจักรดอทเน็ต
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
webmaster
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 04 มิ.ย. 2004
ตอบ: 769

ตอบตอบเมื่อ: 21 มิ.ย.2008, 1:10 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
วัดสวนดอก ประตูด้านทิศตะวันออก
............................................................................



วัดสวนดอก (วัดบุปผาราม)
เลขที่ 139 หมู่ 3 ถ.สุเทพ เชิงดอยสุเทพ
บ้านห้วยทราย ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
โทรศัพท์ 053-278-304


พระอมรเวที (พระมหาวรรณ เขมจารี)
อดีตเจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงใหม่ และอดีตเจ้าอาวาสวัดสวนดอก


วัดสวนดอก เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เป็นวัดที่เก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ห่างจากประตูสวนดอกไปทางทิศตะวันตก 1 กิโลเมตร อยู่ฝั่งตรงข้ามกับคณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายในบริเวณวัดเป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ และตั้งอยู่ใกล้ๆ กับโรงพยาบาลประสาทและโรงพยาบาลมหาราช รอบๆ วัดก็จะเป็นชุมชนสวนดอก วัดสวนดอกได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478

นอกจาก วัดสวนดอกจะเป็นวัดสำคัญคู่เมืองเชียงใหม่ ที่มีสถาปัตยกรรมที่สวยงามดึงดูดให้นักท่องเที่ยวและผู้คนจากต่างถิ่นเข้ามาเยี่ยมชมกราบไหว้แล้ว วัดแห่งนี้ยังเป็นศูนย์กลางในการแผยแผ่พระพุทธศาสนาที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่อีกด้วย

วัดสวนดอก เชียงใหม่
วัดสวนดอก เป็นวัดมีพระวิหารหลวงที่ใหญ่โต และเป็นวิหารที่ค่อนข้างจะแปลกคือ ไม่มีฝาผนัง ไม่มีหน้าต่าง วิหารจึงดูโล่งๆ มีเพียงลูกกรงเหล็กดัดเอาไว้ป้องกันพวกมิจฉาชีพเท่านั้น วัดมีบริเวณที่กว้างขวางมาก มีเนื้อที่ประมาณ 35 ไร่ เดิมที่นี่เป็นสวนดอกไม้ของ พระเจ้ากือนา กษัตริย์องค์ที่ 8 ในราชวงศ์เม็งราย ซึ่งปกครองอาณาจักรล้านนาในสมัยนั้น เมื่อปี พ.ศ. 1914 พระเจ้ากือนาทรงโปรดให้สร้างวัดสวนดอกขึ้นให้เป็นวัดอารามหลวง หรือเป็นวัดเอกของเมืองเชียงใหม่ มีชื่อว่า “วัดบุปผาราม” ที่แปลว่าวัดดอกไม้ และได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากเมืองสุโขทัย มาประดิษฐาน ณ พระเจดีย์ทรงศรีลังกา (ทรงระฆังคว่ำ) ในสมัยที่พระเจ้ากือนาปกครองเมืองเชียงใหม่ วัดสวนดอกมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอันมาก แต่หลังจากสิ้นราชวงศ์เม็งราย (องค์ที่ 17) และเมืองเชียงใหม่ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า บ้านเมืองก็เกิดจลาจลรบราฆ่าฟันวุ่นวาย ทำให้วัดสวนดอกขาดการทำนุบำรุงจึงกลายเป็นวัดร้าง

Image
อนุสาวรีย์บรรจุอัฐิของตระกูล ณ เชียงใหม่ ตั้งแต่ยุคแรกจนถึงปัจจุบัน
............................................................................



วัดประจำตระกูล ณ เชียงใหม่
ครั้นเมื่อถึงปี พ.ศ. 2450 ในยุคของพระยากาวีละปกครองเชียงใหม่ พระนางดารารัศมี พระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นเจ้านายในราชตระกูล ณ เชียงใหม่ เห็นทำเลที่วัดสวนดอกกว้างขวาง จึงย้ายเอากู่ (เจดีย์บรรจุอัฐิ) ของเจ้านายในตระกูล ณ เชียงใหม่ จากที่เคยอยู่ใต้ต้นสนร้างริมแม่น้ำปิง จึงได้นำมารวบรวมไว้ที่นี่ และวัดสวนดอกก็กลายเป็นที่เก็บอัฐิของเจ้านายในราชวงศ์เชียงใหม่สืบมา โดยราชสกุลรุ่นต่อๆ มาก็ได้อุปถัมภ์ค้ำชูวัดนี้มาโดยตลอด จึงถือว่าวัดสวนดอกเป็นวัดประจำตระกูล ณ เชียงใหม่ เป็นต้นมา

พ.ศ. 2475 พระครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาได้ทำการบูรณะวัดนี้ขึ้นและได้บูรณะวิหารหลวงหลังปัจจุบันด้วย และหลังจากที่พระครูบาศรีวิชัยมรณภาพในปี พ.ศ. 2481 ก็ได้สร้างอนุสาวรีย์เก็บอัฐิไว้ที่วัดนี้ด้วยเช่นกัน

หากมาที่วัดสวนดอก ก็ควรเข้าไปนมัสการ พระเจ้าเก้าตื้อ ด้วย ซึ่งเป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญและเป็นที่เคารพสักการะของชาวเชียงใหม่ พระเจ้าเก้าตื้อเป็นพระเก่าแก่ที่สร้างในสมัย พระเมืองแก้ว กษัตริย์องค์ที่ 13 ของราชวงศ์เม็งราย เมื่อปี พ.ศ. 2047 พระเจ้าเก้าตื้อเป็นพระพุทธรูปหล่อที่ใหญ่มาก หน้าตักกว้าง 8 ศอก ครั้งแรกที่สร้างก็เพื่อจะนำไปประดิษฐานให้เป็นพระประธานที่วัดพระสิงห์ แต่หลังจากหล่อเสร็จแล้วปรากฏว่ามีน้ำหนักมาก เคลื่อนย้ายไม่สะดวก จึงโปรดให้ประดิษฐานไว้ที่วัดสวนดอกแห่งนี้ (พระเมืองแก้ว หรือที่เรียกในตำนานว่า พระเจ้าดิลกปนัดดาธิราช หรือพระเจ้าศิริธรรมจักรพรรดิราช กษัตริย์แห่งเมืองเชียงใหม่ ซึ่งครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2038-2068)

Image
ทัศนียภาพวัดสวนดอก
............................................................................



คำว่าเก้าตื้อนี้มีความหมาย
เก้าตื้อ หมายถึงทองหนัก 9 ตื้อ คำว่า “ตื้อ” เป็นหน่วยน้ำหนักทองที่เรียกในสมัยนั้น ตื้อเป็นภาษาพื้นเมืองเหนือ 1 ตื้อ เท่ากับพันชั่ง หรือทองคำ 1,000 กิโลกรัม ดังนั้น 9 ตื้อก็เป็นนำหนักทอง 9,000 กิโลกรัม หรือ 9 ตัน ซึ่งก็คงหายากที่จะมีพระพุทธรูปเนื้อทองหนักขนาดนี้ พระเจ้าเก้าตื้อในอดีตถือว่าเป็นเป็นพระพุทธรูปที่งดงามที่สุดของล้านนา แม้ปัจจุบันก็ยังเป็นที่ยอมรับว่าเป็นพระพุทธรูปหล่อที่ใหญ่โตและงดงามที่สุด พระเจ้าเก้าตื้อชาวล้านนาร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นศูนย์รวมจิตใจ ศูนย์รวมศรัทธาที่แสดงถึงความเป็นปึกแผ่นของบ้านเมืองในสมัยนั้น

หลวงปู่บุญมา อนิญชโต อายุ 81 ปี เป็นพระที่บวชที่วัดนี้มานานถึง 27 พรรษา (เมื่อปี พ.ศ. 2548) และเป็นพระอาวุโสที่รู้เรื่องราวของวัดนี้เป็นอย่างดี ท่านบอกว่าพระเจ้าเก้าตื้อที่เห็นนี้ หนัก 9 ตื้อ คือ 1 ตื้อนั้นจะเท่ากับ 1,200 กิโลกรัม (ตัวเลขต่างกับข้างต้น) ถ้า 9 ตื้อก็เท่ากับหนัก 108,000 กิโลกรัม และความหมายอีกอย่างเกี่ยวกับพระเจ้าเก้าตื้อ ก็คือเป็นการหล่อด้วยทองสำริดแบ่งเป็นท่อนๆ ได้ 9 ท่อน แล้วนำมาประกอบกัน โดยหล่อจากที่อื่นแต่นำมาต่อเชื่อมเป็นองค์พระที่วัดนี้ เหตุที่ไม่สามารถหล่อได้ครั้งเดียวก็เนื่องจากเป็นพระโลหะที่ใหญ่มาก จึงต้องหล่อทีละส่วนแล้วนำมาต่อกัน ลักษณะเดียวกับการสร้างพระประธานปางลีลากลางแจ้งที่พุทธมณฑล และในวันขึ้น 8 ค่ำ ของทุกเดือน จะมีการเฉลิมฉลองพระเจ้าเก้าตื้อ ซึ่งวันนั้นจะมีพิธีทำบุญตักบาตร และมีชาวบ้านมาร่วมทำบุญเป็นจำนวนมาก

Image
พระเจ้าเก้าตื้อได้ลอกทองเก่าออกและปิดทองใหม่ เป็นทองวิทยาศาสตร์
แวววาวกว่าเดิม แต่ชาวบ้านไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้

............................................................................



ความจริงของพระเจ้าเก้าตื้อที่ไม่ได้ปรากฏในที่สาธารณะ
หลวงปู่บุญมา อนิญชโต ท่านเล่าว่าพระเจ้าเก้าตื้อที่เห็นนี้ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่แทนของเก่า โดยมีคณะศรัทธาญาติโยมซึ่งมีหัวเรือใหญ่เป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ มีตำแหน่งเป็นรองศาสตราจารย์ ร่วมกับผู้มีฐานะร่ำรวย ได้ไปปรึกษาหารือกับท่านเจ้าอาวาส เพื่อจะทำการลอกทองคำที่หุ้มพระเจ้าเก้าตื้อออก และปิดใหม่ให้ดูสวยงามขึ้น ซึ่งในขณะนั้นเห็นว่าทองเก่าได้หลุดลอกออกบางส่วน และการปิดทองใหม่ก็ได้ให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการ โดยใช้ทองชนิดพิเศษเรียกว่าทองวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะทำให้องค์พระมีสีทองสุกใสแวววาว การบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งนี้ ชาวบ้านที่ศรัทธาวัดต่างไม่เห็นด้วยที่ต้องลอกทองเก่าซึ่งเป็นทองบริสุทธิ์ออก และปิดทองใหม่ซึ่งเป็นทองผสม ไม่ได้เป็นทองคำบริสุทธิ์เหมือนแต่แรก

แต่ชาวบ้านใกล้เคียง คนเฒ่าคนแก่ และพระในวัดที่เป็นคนท้องถิ่น ไม่สามารถทัดทานความตั้งใจนั้นได้ จึงต้องปล่อยให้บูรณะจนแล้วเสร็จ ท่ามกลางความเสียดายของชาวบ้าน ซึ่งการบูรณะครั้งนี้กระทำเมื่อปลายปี พ.ศ. 2539 และมาเสร็จเมื่อต้นปี พ.ศ. 2540 แต่หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดเหตุกับอาจารย์มหาวิทยาลัยผู้นี้หลายเรื่อง เช่น มีญาติเสียชีวิตอย่างกระทันหัน และเจ้าตัวประสบเคราะห์กรรมต่างๆ นานา จนต้องลาออกจากหน่วยงานและได้มาบวชชีที่วัดนี้เพื่อเป็นการขอขมา (ปัจจุบันได้สึกแล้ว) จะเป็นอาถรรพ์ด้วยเหตุจากการลอกทองพระเจ้าเก้าตื้อหรือไม่คงเป็นเรื่องที่พิสูจน์ยาก แต่จากคำร่ำลือของชาวบ้านวัดสวนดอกและชาวเชียงใหม่ที่ทราบเรื่องนี้ ต่างกล่าวว่าเป็นเพราะการลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำและเป็นการฝืนมติของชุมชน

Image
วัดสวนดอกมีโรงเรียนพระปริยัติธรรม เลิกเรียนประมาณสี่โมงเย็น
............................................................................



จากคำบอกเล่าของหลวงปู่พอจะจับประเด็นได้ว่า วัดสำคัญๆ ของเชียงใหม่เมื่อจะมีการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ก็จะมีการพิจารณาตามขั้นตอนของคณะสงฆ์ ที่ไม่ต่างจากการแต่งตั้งในทางโลก ดูยศ ดูตำแหน่ง แล้วก็แต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส ทำให้ขาดความรู้สึกผูกพันกับวัดนั้นมาก่อน เหมือนเป็นพระจากที่อื่นที่มาอยู่ใหม่ เมื่อมาเป็นเจ้าอาวาสก็พยายามสร้างผลงานให้เป็นที่ปรากฏ การสร้างถาวรวัตถุ การระดมทุนรับบริจาค ก็ถือเป็นผลงานที่สามารถพิสูจน์ให้เห็นได้

การที่ลอกทองคำเก่าดั่งเดิมของพระเจ้าเก้าตื้อออกและปิดทองใหม่นี้ เป็นการฝืนความรู้สึกของชาวบ้านที่มีความผูกพันและหวงแหนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเองนับถือ และสิ่งนี้ยังเป็นเรื่องที่ค้างคาใจชาวบ้านและชาวเชียงใหม่มาจนถึงทุกวันนี้ จากการที่ได้สนทนากับหลวงปู่ทำให้สิ่งที่สงสัยในใจนั้นกระจ่างขึ้น เพราะก่อนหน้าที่จะมาพูดคุยกับหลวงปู่ มีคนบอกว่าพระเจ้าเก้าตื้อนั้นเป็นพระเก่าแก่มาก แต่เมื่อมาเห็นแล้วก็รู้สึกว่าเป็นพระใหม่เหมือนวัดทั่วๆ ไป เพียงแต่มีการจัดฉากและเปิดไฟให้ดูสวยงาม ปิดบังร่องรอยของอดีตจนหมดสิ้น การที่หลวงพ่อปู่กวักมือเรียกอยู่หลายครั้งในตอนแรกนั้น ก็พอจะเข้าใจว่าท่านคงต้องการเล่าความจริงให้ฟัง เล่าแทนชาวบ้านที่รักและหวงแหนพระพุทธรูปที่ตนเคารพนับถือมาหลายชั่วอายุคน

Image
วิหารหลวงที่ใหญ่ใหญ่ที่สุดในเชียงใหม่ เป็นวิหารแบบเปิดโล่งไม่มีผนัง
ขนาด 24x27 เมตร สร้างโดยครูบาศรีวิชัยและเจ้าแก้วนวรัฐ เมื่อปี 2474-75

............................................................................



วันที่หลวงปู่ตื่นเต้น
ครั้งหนึ่งเมื่อไม่กี่ปีมานี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จมาที่วัดแห่งนี้ และวันนั้นหลวงปู่ท่านไม่ได้ออกไปอยู่ต้อนรับ ก็อาจไม่ใช่พระผู้ใหญ่ที่มีสมณศักดิ์สูง จึงอยู่แต่ที่กุฏินี้ และวันนั้นก็ได้สร้างความประหลาดใจให้กับหลวงปู่เป็นอย่างมาก เพราะมีเจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชวังเดินมาบอกท่านว่า ”เดี๋ยวพระเทพฯ ท่านจะเสด็จมาที่นี่”

ซึ่งก็ทำเอาหลวงปู่เตรียมตัวแทบไม่ทัน เพราะเป็นการเสด็จโดยที่ไม่ได้อยู่ในหมายกำหนดการแต่อย่างใด แต่เจ้าหน้าที่ผู้นั้นก็บอกว่าไม่ต้องเตรียมตัวอะไร ทำตัวแบบปกติและไม่ต้องใช้คำราชาศัพท์ อีกไม่ถึง 5 นาที สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ท่านก็เสด็จมา และสนทนากับหลวงปู่ยังหน้ากุฏิแห่งนี้ ซึ่งภาพวันนั้นก็สร้างความแปลกใจให้กับหลายๆ คน เป็นเรื่องที่ไม่มีใครรู้มาก่อน ทุกวันนี้หลวงปู่ก็ยังแปลกใจไม่หาย หรือว่ามีใครเล่าเรื่องหลวงปู่ให้ท่านฟังก่อนที่จะเสด็จมาที่วัดนี้ ฟังหลวงปู่เล่าก็พลอยแปลกใจไปด้วย แต่ลึกๆ แล้วก็น่าจะมีนัยสำคัญบางอย่างที่หลายคนมิอาจล่วงรู้ได้

ขอขอบคุณรูปภาพและเนื้อหาบางส่วนจาก :
http://www.photoontour.com/

Image
พระอมรเวที (พระมหาวรรณ เขมจารี) อดีตเจ้าอาวาส
[ปัจจุบันท่านมรณภาพแล้ว เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2551]



* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่คำแสน อินฺทจกฺโก” วัดสวนดอก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=43925

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
 

_________________
ธรรมจักรดอทเน็ต
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
webmaster
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 04 มิ.ย. 2004
ตอบ: 769

ตอบตอบเมื่อ: 10 ธ.ค.2011, 11:51 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ธุดงคสถานล้านนา
(วัดสาขาของวัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี)
ต.หนองหาร อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ 50290
โทรศัพท์ 053-353-174-6


พระอาจารย์อนุชา อัคคะจิตโต ประธานสงฆ์

ลักษณะการให้บริการ : ฟรี

ระยะเวลาการฝึกอบรม : ปฏิบัติธรรมวันอาทิตย์ 9.00 น.-12.00 น.
กำหนดศูนย์แบบหลวงพ่อวัดปากน้ำ

เวลาเปิดให้บริการ : 6.00 น.-21.00 น. ทุกวัน เฉพาะผู้ที่รักการปฏิบัติธรรม

ธุดงคสถานล้านนา ตั้งอยู่หลังมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่
 

_________________
ธรรมจักรดอทเน็ต
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
webmaster
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 04 มิ.ย. 2004
ตอบ: 769

ตอบตอบเมื่อ: 10 ธ.ค.2011, 11:52 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สำนักปฏิบัติธรรมอารามประทานพร
หมู่ 7 อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ 50360


พระมหาอินตา สีลสังวโร ประธานสงฆ์
 

_________________
ธรรมจักรดอทเน็ต
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
webmaster
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 04 มิ.ย. 2004
ตอบ: 769

ตอบตอบเมื่อ: 31 ม.ค. 2013, 8:56 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
องค์ขวาสุด : พระครูวิจารณ์ศุภวัตร (พระอาจารย์บัณฑิต เตชปญฺโญ)
............................................................................



วัดแม่ใจใต้ (วัดป่าดอยธรรมประทีป)
[วัดสาขาลำดับที่ 70 ของวัดหนองป่าพง]
เลขที่ 356 หมู่ 18 บ้านศรีดอนชัย
ต.เวียง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ 50110
โทรศัพท์ 081-288-8688, 086-914-9078

E-Mail :
watmaejaitaiwijantham@hotmail.co.th

พระครูวิจารณ์ศุภวัตร (พระอาจารย์บัณฑิต เตชปญฺโญ) เจ้าอาวาส

วัดแม่ใจใต้ (วัดป่าดอยธรรมประทีป) เป็นวัดปฏิบัติสายหลวงพ่อชา สุภัทโท

ข้อวัตรปฎิบัติ
เวลา 03.00 น. สัญญาณระฆังทำวัตรเช้า และนั่งสมาธิภาวนา
เวลา 06.00 น. ออกบิณฑบาต
เวลา 09.00 น. พิจารณาฉันภัตตาหารเช้า
เวลา 14.00 น. ทำความสะอาดโรงธรรม และบริเวณวัด
เวลา 18.00 น. สัญญาณระฆังทำวัตรเย็นและนั่งสมาธิภาวนา

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

เว็บไซต์วัดแม่ใจใต้ (วัดป่าดอยธรรมประทีป)
http://www.watmaejaitaiwijantham.com/

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
 

_________________
ธรรมจักรดอทเน็ต
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง