Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 “พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร” หรือ “หลวงพ่อทองคำ” อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
webmaster
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 04 มิ.ย. 2004
ตอบ: 769

ตอบตอบเมื่อ: 18 ก.ค.2008, 10:34 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ดอกไม้ ดอกไม้ ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร
หรือ “หลวงพ่อทองคำ” พระประธานในพระมหามณฑป
วัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร


“พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร” หรือ “หลวงพ่อทองคำ”
เป็นพระพุทธรูปทองคำที่ได้รับการบันทึกไว้ในกินเนสส์บุ๊ก พ.ศ.๒๕๓๔
(THE GUINNESS BOOK OF WORLD RECORDS 1991)
ว่าเป็น “พระพุทธรูปทองคำแท้ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก”
และเป็น “ปูชนียวัตถุที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก”
คือมีมูลค่าสูงกว่า ๒๑ ล้านปอนด์ แต่คุณค่าแห่งพลังศรัทธา
ในจิตใจของพุทธศาสนิกชนนั้น มูลค่าใดๆ ก็มิอาจจะเทียบเทียมได้


ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ พระมหามณฑป “พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร”
วัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร
เลขที่ ๖๖๑ ถนนเจริญกรุง
แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร
เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย (ปางชนะมาร, ปางสะดุ้งมาร) ศิลปะสุโขทัย
ในพระอิริยาบถนั่งสมาธิราบ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา
พระหัตถ์ขวาวางเหนือพระชานุ (เข่า) ปลายพระหัตถ์ชี้ลงพื้นธรณี
ขนาดหน้าตักกว้าง ๖ ศอก ๕ นิ้ว หรือมากกว่า ๒.๕๐ เมตร


ความสูงจากพระเกตุมาลาถึงฐานทับเกษตร (ฐานที่รองรับพระพุทธรูป)
๗ ศอก ๑ คืบ ๙ นิ้ว หรือประมาณ ๓.๐๔ เมตร ๑๐ ฟุต
มีน้ำหนักประมาณ ๕.๕ ตัน หรือ ๕,๕๐๐ กิโลกรัม


นักประวัติศาสตร์ชี้ว่า เป็น “พระพุทธรูปทอง” ในวิหารวัดมหาธาตุ กรุงสุโขทัย
ที่อ้างถึงในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
บรรทัดที่ ๒๓-๒๗ มีข้อความปรากฏดังนี้


“กลางเมืองสุโขทัย มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารส มีพระพุทธรูป
มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม มีพิหารอันใหญ่ มีพิหารอันราม”


ข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ในสมัยสุโขทัยมีการก่อสร้างพระวิหาร
พระพุทธรูปปูนปั้น โลหะ และทองคำ ทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลาง
ดังปรากฏเป็นหลักฐานประติมากรรมสมัยสุโขทัยที่ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

จึงสันนิษฐานได้ว่า
หลวงพ่อทองคำน่าจะถือกำเนิดในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
ก่อนปี พ.ศ.๑๘๒๖ อันเป็นพุทธศักราชที่ทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทย
หากนับเนื่องมาจนถึงปัจจุบันปี พ.ศ.๒๕๕๐


ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
ทรงมีพระบรมราชโองการให้อัญเชิญพระพุทธรูปตามวัดร้างต่างๆ
ที่สุโขทัยมาประดิษฐานไว้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์
รวมจำนวนได้ ๑,๒๔๘ องค์ รวมทั้ง “หลวงพ่อทองคำ” ด้วย
ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในสภาพพอกปูนปั้นหุ้มทั้งองค์ ดูเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นธรรมดา

ต่อมาปี พ.ศ.๒๓๔๔ ได้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธาน
ในวัดพระยาไกร หรือวัดโชตินาราม อันเป็นวัดที่
พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน ไกรฤกษ์) สร้างถวายเป็นพระอารามหลวง
ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ.๒๔๗๕


Image

Image

ต่อมา วัดพระยาไกรชำรุดทรุดโทรม บริษัท อีสต์เอเซียติก ได้มาขอเช่า
จัดสร้างโรงเลื่อยไม้ขนาดใหญ่ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ชำรุดทรุดโทรม
ของวัดออกจนเหลือแต่พระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่

ขณะนั้น วัดสามจีน หรือที่ต่อมาเป็น วัดไตรมิตรวิทยาราม แห่งนี้
กำลังบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ และเห็นว่าจะทิ้งพระพุทธรูปไว้เช่นนั้น
ไม่เหมาะสม จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๘

เล่ากันว่าอาจจะด้วยปาฏิหาริย์ที่หลวงพ่อทองคำท่านคงจะเลือกประดิษฐานอยู่ที่นี่
เพราะมีหลายครั้งที่วัดวาอารามในต่างจังหวัดได้ทำการขอพระพุทธรูป
จากวัดต่างๆ ในส่วนกลางมาหลายครั้ง และองค์หลวงพ่อทองคำก็ได้ถูกยกให้
ทางวัดต่างๆ หลายครั้งเช่นกัน แต่ก็ไม่มีวัดไหนอัญเชิญไปสักที
บางวัดตัดสินใจรับที่จะอัญเชิญไปแล้ว แต่ในที่สุดก็ติดปัญหาต่างๆ จนมิได้อัญเชิญไป

การก่อสร้างใช้เวลาถึง ๒๐ ปี จึงแล้วเสร็จในวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๘
ทางวัดได้ประกอบพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปปูนปั้นองค์นี้ขึ้นไปประดิษฐาน
บนพระวิหาร ที่สร้างขึ้นใหม่ ขณะทำการโยกย้ายอัญเชิญองค์พระซึ่งมีน้ำหนักมาก
ก็เกิดอุบัติเหตุ เชือกลวดสะลิงที่ยกองค์พระลอยขึ้นจากพื้นเกิดขาด
องค์พระตกกระแทกพื้น ขณะนั้นเป็นช่วงค่ำและฝนตกหนัก การอัญเชิญหยุดชะงักลง

ตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น พระวิสุทธาธิบดี (ไสว ฐิตวีโร) เจ้าอาวาสในขณะนั้น
เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็น พระวีรธรรมมุนี ได้มาตรวจตราดูองค์พระ
สังเกตเห็นปูนตรงพระอุระแตกเป็นรูกว้าง มองเห็นเนื้อทองคำจับตา
เมื่อกะเทาะปูนและลอกรักที่หุ้มออก พบว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำทั้งองค์
ที่มีพระพุทธลักษณะงดงามสุกปลั่งขนาดใหญ่มหึมาเช่นที่เห็นในปัจจุบัน
และยังพบกุญแจกล ซ่อนอยู่บริเวณฐานทับเกษตร ที่สามารถใช้ไขถอด
หรือแยกองค์พระออกได้เป็น ๙ ส่วนด้วยกัน อันเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย
ที่ทำไว้เพื่อให้สะดวกในการเคลื่อนย้ายได้เมื่อยามจำเป็น
และยังมีทองคำเนื้อเดียวกันบางส่วนสำรองไว้ที่ใต้ฐานองค์พระ
เพื่อไว้สำหรับเชื่อมต่อเมื่อประกอบให้เป็นเนื้อเดียวกัน
นับเป็นความรอบคอบของบรรพบุรุษผู้สร้างเป็นอย่างยิ่ง

ทางวัดจึงได้ถอดหรือแยกองค์พระออกเป็นสี่ส่วน แล้วอัญเชิญขึ้นไป
ประดิษฐานบนพระวิหาร แรกๆ เรียกว่า พระสุโขทัยไตรมิตร
ต่อมา พ.ศ.๒๕๓๕ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระพุทธรูปทองคำองค์นี้ว่า
“พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร” ตามลักษณะของพระพุทธรูป
เพื่อเป็นสรรพสิริสวัสดิ์พิพัฒน์มงคลสืบไป
แต่ประชาชนทั่วไปนิยมเรียกพระองค์นี้ว่า “หลวงพ่อทองคำ” มาจนปัจจุบัน

พ.ศ. ๒๕๔๙ วัดไตรมิตรวิทยารามเห็นว่าวิหารหลังเก่าของหลวงพ่อทองคำ
ซึ่งสร้างมาแต่ พ.ศ.๒๔๙๘ อยู่ในสภาพทรุดโทรมและคับแคบ
ไม่สะดวกแก่การรับนักท่องเที่ยวหลายชาติหลายศาสนาที่มาสักการะ
และเป็นโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ทรงครองสิริราชครบ ๖๐ ปี และเจริญพระชนมายุ ๘๐ พรรษาในปี พ.ศ.๒๕๕๐
จึงได้จัดโครงการสร้างพระมหามณฑปหลังใหญ่ขึ้นใหม่
เพื่อเป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร” หรือ “หลวงพ่อทองคำ”
มีนามว่า พระมหามณฑป “พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร”

โดยมีประชาคมนักธุรกิจเขตสัมพันธวงศ์ ชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนร่วมสมทบทุน
มีงบประมาณการก่อสร้าง ๑,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลตั้งงบประมาณสนับสนุน ๒๕๐ ล้านบาท
เริ่มลงมือก่อสร้างมาตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๔๙
เป็นอาคารหินอ่อนทรงไทย ๓ ชั้น ปิดทองในส่วนที่เป็นลวดลาย
และเนื่องจากมีพื้นที่ก่อสร้างแคบ จึงเป็นอาคารทรงสูง
ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับศาสนสถานอื่นๆ ภายในวัด
ชั้นบนสุดของพระมหามณฑปเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อทองคำ
อีก ๒ ชั้นเป็น “พิพิธภัณฑ์ชุมชน” บอกเล่าความเป็นมาของย่านเยาวราช

หลวงพ่อทองคำ ความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ
เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่แถวเยาวราชมาอย่างยาวนาน
นอกจากนี้ ยังเป็นเอกลักษณ์อันยิ่งใหญ่เคียงคู่ชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนอีกด้วย

หลวงพ่อทองคำ มีพระพุทธลักษณะงดงามยิ่งนัก
สมดังที่ได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นรูปแบบของศิลปกรรมสุโขทัยยุครุ่งเรือง
ที่ได้รับการยอมรับว่ามีความวิจิตรอ่อนช้อยกว่าสกุลช่างยุคใด
ขนาดและน้ำหนักทองคำขององค์หลวงพ่อสะท้อนความสามารถ
อันฉลาดลุ่มลึกของฝีมือช่าง ทั้งด้านการออกแบบ ศิลปกรรม การปั้นหล่อ


เป็นหนึ่งในมรดกทางอารยธรรมล้ำค่ายิ่งของพระพุทธศาสนาคู่ผืนแผ่นดินไทย


Image

Image

Image
พระมหามณฑป “พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร”
วัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร
ที่ประดิษฐาน “พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร”
หรือ “หลวงพ่อทองคำ” ในปัจจุบัน


Image
พระวิสุทธาธิบดี (ไสว ฐิตวีโร)
อดีตเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร

---------

สาธุ รวบรวมและเรียบเรียงมาจาก ::
(๑) หนังสือประวัติพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร
รวบรวมโดย พระครูโสภณสุทธิวัฒน์
(๒) หนังสือไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด
กองบรรณาธิการข่าวสด สำนักพิมพ์มติชน


สาธุ ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ :: คุณย้ง yong

ดอกไม้ ดอกไม้ พระพุทธทศพลญาณ หรือ “หลวงพ่อโต วัดสามจีน”
พระประธานในพระอุโบสถ วัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=47984

ดอกไม้ ดอกไม้ พระวิสุทธาธิบดี (ไสว ฐิตวีโร) วัดไตรมิตรวิทยาราม
๑ ใน “คณะสังฆมนตรี” ยุคสมเด็จฯ จวน อุฏฐายี เป็นสังฆนายก
(คณะสังฆมนตรีชุดสุดท้ายในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทย)

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=49524
 

_________________
ธรรมจักรดอทเน็ต

แก้ไขล่าสุดโดย webmaster เมื่อ 14 มิ.ย.2014, 5:19 pm, ทั้งหมด 3 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ฌาณ
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 23 ก.ค. 2008
ตอบ: 1145
ที่อยู่ (จังหวัด): หิมพานต์

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.ย. 2008, 6:22 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ สาธุ สาธุ
 

_________________
ผมจะพยายามให้ได้ดาวครบ 10 ดวงครับ
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง