Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 สัมภารบารมี : ท่านเขมานันทะ (อาจารย์โกวิท เอนกชัย) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 13 พ.ค.2008, 10:22 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
[จิตรกรรมไทย-ล้านนาแนวพุทธศิลป์ “พุทธศรัทธา พุทธชาดก” :
สร้างสรรค์โดยคุณเนติ พิเคราะห์ ศิลปศาสตรบัณฑิตจากคณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่]



สั ม ภ า ร บ า ร มี
ท่านเขมานันทะ (อาจารย์โกวิท เอนกชัย)

สัมภารบารมี ความเชื่อประการหนึ่งที่เคยแน่นแฟ้น
และหนักแน่นประการหนึ่งในสังคมไทย

แต่ทุกวันนี้กลับเลือนราง
ไปพร้อมกับความผันแปรทางจริยธรรม
ศาสนธรรม การเมือง หรือแม้แต่เศรษฐกิจ

คือความเชื่อเรื่อง “สัมภารบารมี”
หรือการสั่งสมบารมีเพื่อพระโพธิญาณ

สัมภารบารมี

เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับการเวียนว่ายตายเกิด
ซึ่งอาจถือเป็นเรื่องเหลวไหลสำหรับคนสมัยใหม่
ที่มักเน้นหนักเรื่องเหตุผลนิยม

ความจริงความเชื่อเรื่องสัมภารบารมีนี้สำคัญมาก

เนื่องจากเป็นแนวคิดที่สะท้อนความผูกพันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์
มนุษย์กับสัตว์ มนุษย์กับต้นไม้
ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องมองในมิติที่ลุ่มลึก
ในลักษณะข้ามภพข้ามชาติจึงจะหนักแน่นและแน่นแฟ้น
มิใช่เป็นการมองเพียงช่วงชีวิตที่ปรากฏและตาย


สัมภารบารมี หมายถึง การสั่งสมบารมีเพื่อเข้าถึงฝั่ง
จากฝั่งของภพชาติไปสู่ฝั่งของพระนิพพาน


ความเชื่อนี้ได้ถูกถ่ายทอดมาควบคู่กับทุกชีวิต
แม้องค์พระมหากษัตริย์ก็ดี
หรือผู้นำที่บารมีใหญ่ บารมีกว้าง
หรือแม้แต่ยาจกขอทานในอดีต ล้วนได้รับอิทธิพลจากความเชื่อนี้

หลักฐานที่เป็นพยานความเชื่อเรื่องสัมภารบารมี
ในประเทศอินโดนีเซียคือ “โบราณสถาน โบโรบุโด”

“สมภระ” หรือ “ภารา”
คำๆ นี้เปรียบได้กับ คำว่า “โบโร”
โบโรบุโด จึงหมายถึง “ภาระภูธระ” หรือภูเขาแห่งการสั่งสมบารมี
อันเป็นสัญลักษณ์แห่งการสั่งสมบารมีเพื่อเข้าถึงพระโพธิญาณ


Image
[บุโรบุโด หรือบุโรพุทโธ ในประเทศอินโดนีเซีย
สัญลักษณ์แห่งการสั่งสมบารมีเพื่อเข้าถึงพระโพธิญาณ]



การใช้คำว่า “ภูธร“ ซึ่งหมายถึง “แผ่นดิน”
แฝงนัยอุปมาว่าสัตว์ ต้นไม้ทุกชนิด
ต้องอาศัยแผ่นดินนี้เจริญงอกงาม
ถ้าไม่มีแผ่นดินก็ไม่มีสิ่งใดเหลือรอดได้
สิ่งนี้มีความสำคัญเพราะทำให้เกิดการวางทีท่าต่อสรรพสิ่งอย่างดียิ่ง

รูปพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์
ซึ่งมีพระพุทธรูปประทับที่หน้าผากเป็นสัญลักษณ์ของเมตตาแ ละปัญญา

แต่มีรูปพระโพธิสัตว์อีกพระองค์หนึ่ง
ซึ่งที่หน้าผากไม่ใช่พระพุทธรูป แต่เป็นพระสถูป
พระโพธิสัตว์องค์นี้คือพระเมตไตรย
ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ในอนาคต
และสถูปนี้เองที่เป็นสัญลักษณ์ของสัมภารบารมี

ความลางเลือนในความเชื่อเรื่องนี้
ทำให้ความเอื้ออาทรในมิติที่ลุ่มลึกเหือดหายไป
การฆ่าการทำลายจึงเกิดได้ง่ายขึ้น
เพราะมนุษย์คิดว่าดีชั่วไม่มี ชาติหน้าไม่มี

หากโกรธกันก็จัดการ
วิกฤติการณ์ทุกทางจึงเกิดจากการสูญสิ้นรากฐาน
และความเชื่อมั่นในการสั่งสมบารมีเพื่อเข้าถึงฝั่ง

หากลองพิจารณาถึงคุณค่าด้านต่างๆที่สัมพันธ์กับเรื่องนี้
เช่น ผมเชื่อว่าทรัพย์สินมีทั้งที่มีวิญญาณครองและไร้วิญญาณครอง
เช่น เงินทอง ลูกเมีย ช้างม้า ถือเป็นทรัพย์
ทรัพย์แปลว่า สิ่งชื่นชูใจ

โดยความเชื่อเดิมนั้น
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นด้วยอำนาจการสั่งสมบารมี
ทำให้ได้เมียดี ได้ลูกดี
ดังนั้นถ้าผมจะหย่าเมีย ผมต้องคิดหนัก เพราะเคยรักกันมา
เคยอธิษฐานบารมีร่วมกันมาหลายแสนชาติ
จะมาทิ้งกันง่ายๆ ได้อย่างไร

ความเชื่อที่แฝงอยู่ในส่วนลึกนี้ เรียกว่า “สัมภารบารมี”
ซึ่งจะเป็นกลไกป้องกันระงับความรุนแรงได้อย่างดีเยี่ยม


หรือถ้าผมไปเด็ดหัวจิ้งหรีด ก็เท่ากับผมทำลายบารมีของเขา
และทั้งบารมีในตัวของผมเองก็จะลดลงไปด้วย
เพราะทำบาปและทำร้ายสัตว์ผู้น่าสงสสาร
ซึ่งกำลังสั่งสมบารมีเพื่อขึ้นมาเป็นมนุษย์ เพื่อเข้าถึงพระโพธิญาณ

เช่นเดียวกันคุณค่าด้านอื่น
ไม่ว่าจะเป็นการให้ทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา
ปะกอบอยู่ในความเชื่อเรื่องนี้ทั้งสิ้น


Image
[วัดบุโรพุทโธ ประเทศอินโดนีเซีย-ภาพจาก National Geographic]


(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 13 พ.ค.2008, 10:27 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
[ภาพวาดลายเส้น : พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร]


ดังนั้น ทัศนะเรื่อง สัมภารบารมี จะทำให้เรามีเมตตาต่อผู้อื่น

วัวควายนั้นแม้เราพึ่งแรงงานเขา
แต่อีกแง่หนึ่งเขาเป็นเพื่อนร่วมทุกข์กับเรา
เป็น “เพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมด ทั้งสิ้น”
เพื่อนทุกข์นี้ หมายรวมถึง เพื่อนในสุข เพื่อนในทุกข์

ในการสั่งสมบารมีร่วมกันทั้งหมด
วัวควายเราใช้งาน แต่ความจริงเราต้องดูแลเขาอย่างดี
ไก่เราเลี้ยงดูเขาเพื่อกินก็จริง
แต่ไม่ใช่เพื่อทำอุดจาดอนาจารกับชีวิตเหล่านี้ อันนี้สำคัญ

ปัจจุบันคุณค่าเหล่านี้เปลี่ยนไป
โรงงานเลี้ยงไก้ไว้ฆ่าเป็นพันๆ
ทำกับเขาราวกับเป็นสิ่งไม่มีชีวิต
หรือไม่มีคุณค่าความหมายใดใด
ทั้งๆที่ความหมายแท้จริงนั้น
เพราะเขาเราอยู่ ชีวิตเจือจานกันอยู่อย่างนี้

เช่นเดียวกับชาวอินเดียแดงกับวัวไบสัน
ชาวอินเดียแดงจะฆ่าวัวเท่าที่จำเป็น
หลังจากนั้น จะบวงสรวงส่งวิญญาณ
เขาต้องฆ่าเพื่อให้ชีวิตอยู่รอด
เขาเลือกที่จะฆ่าเพื่อเอาหนังมาทำผ้าห่ม
เสร็จแล้วจึงเซ่นสรวงส่งวิญญาณ
เพื่อขอบคุณที่ได้ยืดชีวิตชนเผ่าของเขา

ทุกวันนี้ระบบอุตสาหกรรมได้เข้าไปทำลายมนุษยธรรม
และกลายเป็นเนื้อหาสาระของการพัฒนาของทุกชุมชนในโลก
และกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนามนุษยธรรม

เครื่องจักรที่พัฒนาจนมีประสิทธิภาพรวมถึงเทคโนโลยีอันทันสมัย
ได้ลดคุณค่าความหมาย และศักดิ์ศรีของมนุษย์ลง
ทุกวันนี้เราใช้งบประมาณเพื่อคุ้มครองสิ่งเหล่านี้
มากกว่าที่ใช้คุ้มครองชีวิตตนเสียอีก

อุปสรรคอีกประการหนึ่งคือ
คนส่วนใหญ่มักยึดถือสถาบันของตนเอง
จนทำให้มนุษยธรรมไม่เติบโต
เมื่อมนุษยธรรมเติบโต สถาบันจะมีความหมายน้อยลง


คำว่าชาติจะมีความหมายน้อยลง
เดิมเราเป็นมนุษย์มาก่อนที่จะถูกพรากมาเป็นพลเมือง
แม้ขณะนี้เราก็ยังเป็นมนุษย์อยู่
แต่เราถูกตีตราถูกพรากมาเป็นพลเมือง

หากมองให้ลึกไปถึงรากฐาน
มนุษย์กับการสั่งสมบารมีเป็นเรื่องเดียวกัน
เพราะมนุษย์เป็นผู้ที่จะก้าวไปสู่
การสั่งสมสัมภารบารมีตามหลักพุทธศาสนา
สัตว์ทั้งหลายจึงต้องพัฒนาตนเอง
สั่งสมบารมีจนกระทั่งได้บารมีขั้นสุดท้ายคือความเป็นมนุษย์


จากนั้นต้องเสริมมนุษยธรรมให้เต็มเปี่ยม
เพื่อเข้าถึง พระโพธิญาณ
นี่คือหลักการที่ชาวพุทธคลอนแคลนไม่ได้

หลักการนี้ต้องเด่นชัดอยู่ในชีวิตของเรา
ไม่ใช่เด่นชัดเฉพาะในตำรา
ต้องเด่นชัดทั้งในขนบประเพณี ในชีวิตประจำวัน ในมโนสำนึก


แต่ละครั้งของความคิด ทุกครั้งที่เสพเสวยอารมณ์
เช่น เมื่อใครด่าเรา คนโบราณมักสอนว่า “อดทนเข้าไว้นะ”
ความอดทนนี้คือการสั่งสมบารมีประการหนึ่ง คือ ขันติบารมี


Image
[จันทกุมารชาดก (หนึ่งในทศชาติชาดก) : ผู้บำเพ็ญขันติบารมีอย่างยิ่งยวด]


ผมเชื่อว่าชาวบ้านไทยเป็นผลิตผลของคติความเชื่อนี้อย่างดีเยี่ยม
น่าเสียดายที่ผู้นำฉ้อฉลได้เปลี่ยนแปลง
และครอบงำนำสิ่งอื่นเข้ามาแทนที่ โดยไม่ทันรู้ตัว

แต่หากเราไปคุยกับชาวบ้าน
อุ๊ยแถวภาคเหนือเขายังมั่นคง
ถ้าถามว่าเขาเกิดมาเพื่ออะไร
เขาจะตอบว่าเกิดมาเพื่อสั่งสมบารมี
และที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ก็เพราะบารมี

ดังนั้น การได้ร่างและอัตภาพความเป็นมนุษย์
ก็เพื่อจะทำบารมีให้เต็มเปี่ยม คำตอบนี้ชัดเจนมาก



(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 13 พ.ค.2008, 10:35 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
[ภาพวาดลายเส้น : พระศรีอาริยเมตไตรยโพธิสัตว์ ผู้จะเสด็จลงมาตรัสรู้เป็น
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ต่อไป]



จิตรกรรมไทยก็เป็นผลเนื่องมาจากทฤษฎีการสั่งสมบารมี
ทำให้เวลาวาดรูปเสือ เสือจะหน้าตาบ้องแบ๊ว ไม่น่ากลัวเลย
เพราะผู้วาดมองโลกนี้ด้วยสายตาที่เป็นแนวคิดเชิงบวก (Positive thinking)
และมีความรู้สึกเป็นมิตร (Friendly)
นี่อาจจะเป็นลักษณะของคนตะวันออก
โดยเฉพาะคนไทยที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญยิ่ง

ภายใต้การชี้นำของพระพุทธองค์
ชาวตะวันออกมีความเชื่อว่า

เราเกิดมาเพื่อสั่งสมบารมี เพื่อให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์

ชาวพุทธไม่สงสัยในประเด็นนี้ นับตั้งแต่กษัตริย์ถึงขอทาน


และหากกษัตริย์ทรงเป็นกวีอยู่ด้วย
ก็มักจะทรงนิพนธ์คำสอนของพระพุทธเจ้า
ตั้งแต่ พระยาลิไท เป็นต้นมา

แม้วรรณคดีการบทัพจับศึกของ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ก็แฝงอยู่ด้วยเรื่องอธิษฐานบารมี
ดังเห็นได้จากหลังการศึกสงคราม
กษัตริย์ส่วนใหญ่มากสร้างสถูป
อันเป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อเรื่องสัมภารบารมี


Image
[สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส]


นอกจากนี้คนไทยยังมีความผูกพันกับชาดก
ซึ่งเป็นวรรณกรรมชั้นสูงที่เป็นสักขีพยานแห่งการสั่งสมบารมี
แต่น่าเสียดายที่ตกมาถึงรุ่นนี้กลับสื่อกันได้ยาก

แม้จะเป็นเรื่องงดงามยิ่งตามทัศนะของผม
และสะท้อนไม่เพียงชีวิตของพระพุทธเจ้า
ที่สั่งสมบารมีมาหลายภพหลายชาติ
โดยสั่งสมสัมภารบารมีเพื่อทำตนเองให้ถึงพระโพธิญาณ
และขนถ่ายสรรรพสัตว์

แต่ยังมีคุณค่าสัมพันธ์กับเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย
เช่น ชาดกเรื่อง ปลาบู่ทอง
มีคุณค่าสูงต่อสภาพแวดล้อม
เพราะมุ่งสอนให้คนรู้สึกสำนึกว่า
สิ่งต่างๆล้วนเป็นญาติพี่น้องของเรา ตั้งแต่ต้นไม้เล็ก ต้นไม่ใหญ่
สรรพสัตว์เขาร่วมชีวิตอยู่กับเราโดยไม่ได้คิดแบ่งแยก

อาจกล่าวได้ว่า
บารมีเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเกี่ยวเนื่องกับความเร้นลับของธรรมชาติ
ดังคำพูดที่ว่า

“บุญไม่พา วาสนาไม่ส่ง บารมีไม่ถึง ไปพระนิพพานไม่ได้”

แสดงว่าผู้คนมีความเชื่อมั่นในเรื่องบารมี
ซึ่งมีการสั่งสมอย่างแปลกประหลาด
จนทำให้เจ้าชายสิทธัตถะกลายเป็นพระพุทธองค์

ความจริงพระองค์ท่านก็คือ
มนุษย์ปุถุชนที่สั่งสมบารมีมาหลายภพหลายชาติ
จนกระทั่งมาถึงที่สุดใต้ต้นโพธิ


Image
[ภาพจิตรกรรมพุทธศิลป์ : พระพุทธเจ้าพิชิตมาร]


คำว่าที่ถึงที่สุดนี้ หมายถึง
ถูกพญามาร ทดสอบครั้งสุดท้าย (The Last Temptation)


คัมภีร์ลลิตวิสตระ ได้กล่าวว่า
ทวยเทพเทวดาทูลเชิญท่าจากสวรรค์
ซึ่งความจริงท่านเตรียมที่จะตรัสรู้ในชั้นดุสิต
แต่ทวยเทพเห็นว่าถ้าพระองค์จะตรัสรู้ในชั้นดุสิตเสีย
สัตว์โลกจะไร้ที่พึ่ง
จะทูลอาราธนาให้ลงมาอีกภพหนึ่ง

เพราะฉะนั้นการลงมาจึงไม่ได้มีความหมายอื่นใด
นอกจากเป็นการมาเพื่อให้พญามารทดสอบนั่นเอง
เป็นการทดสอบครั้งสุดท้าย
เมื่อทดสอบผ่านก็เข้าสู่การเป็นพระพุทธเจ้าโดยสมบูรณ์
อันยังประโยชน์มหาศาลมาสู่มวลมนุษย์


การตรัสรู้ของท่านเป็นการตรัสรู้ที่เป็นอภิสมัย
หมายความว่าโลกทั้งโลกได้ดำเนินมาถึงยุคหนึ่ง
ที่มีมนุษย์ที่สมบูรณ์คนหนึ่งเกิดขึ้น

อภิสมัยหมายถึงว่าด้วยอำนาจของการตรัสรู้นี้
พระองค์ท่านจึงเปี่ยมบารมี
สามารถขนถ่ายสรรพสัตว์ไปสู่พระนิพพานได้


ต่างจากบรรดาพระสาวกทั้งหลาย และพระปัจเจกโพธิ (ปัจเจกพุทธะ)
ที่เพียงแต่ตรัสรู้ได้ แต่ไม่มีปัญญาบารมีพอ
ที่จะช่วยปลดปล่อยสรรพสัตว์ทั้งหลายได้

เรื่องนี้มีนัยยะลุ่มลึกมาก และค่อนข้างเป็น mystic
คือค่อนข้างเนื่องกับศาสตร์แห่งความเร้นลับ



(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 13 พ.ค.2008, 10:42 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
[ภาพจิตรกรรม “Buddha”
: สร้างสรรค์โดยศิลปินชาวเม็กซิกัน Octavio Ocampo]



ความเชื่อนี้มีบทบาทสูงมากในชุมชน
ชุมชนที่อยู่โดยปราศจากความเชื่อ
ย่อมกลายเป็นชุมชนที่กลายเป็นอนาธิปัตย์ (Anarchy)
อยู่กันอย่างหวาดระแวง

ดังนั้น ความเชื่อจึงเป็นหลักสำคัญ
ความเชื่อนั่นเองที่กลายรูปเป็นความหวัง
และความเชื่อนั่นเองที่กลายรูปเป็นสมาธิ
ความมั่นคงแน่วแน่และคลี่คลายกลายเป็นปัญญาในที่สุด

บารมีทั้ง ๑๐ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่ทำให้เกิดพระพุทธเจ้า
ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า บารมี ๑๐ ทัศ
เป็นความเชื่อที่อิทธิพลต่อชุมชนไทยดั้งเดิม


ดังนั้นการสั่งสมสัมภารบารมีเป็นเรื่องใหญ่
เป็นสายสัมพันธ์โยงใยชาวพุทธเราจากอดีต
สู่ปัจจุบันและไปสู่อนาคต


ความสัมพันธ์ของสัตว์ สิ่งมีชีวิต รวมทั้งของสิ่งที่ไม่มีชีวิต
เป็นการแสดงความสัมพันธ์ที่ยาวนาน
และเป็นไปในทิศทางเดียวคือ
เพื่อบรรลุพระโพธิญาณ

เครื่องมืออันหนึ่งที่จะนำเราเดินทางไปสู่พระโพธิญาณ
คือ สติสมปฤดีของตนเอง


การฆ่าสัตว์ การลักของผู้อื่น การพูดเท็จ
การทำร้ายกัน การช่วงชิงของรักของผู้อื่น
เป็นอุปสรรคสำคัญอย่างยิ่ง

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ศีลเพื่อความเรียบร้อยของสังคมเท่านั้น
แต่จะทำลายความเป็นมนุษย์ลงทีละน้อยจนถดถอย
จนไม่มีอะไรเหลือ
กลายเป็นเพียงซากของสิ่งมีชีวิต
ซึ่งมีชีวิตอยู่ชนิดที่เรียกว่าไร้หัวใจ

ทิศทางการพัฒนาภายใต้การนำของเทคโนโลยี
ทำให้ชุมชนที่มีชีวิตไร้หัวใจเข้าทุกที
มนุษย์กลายเป็นกลไกบางสิ่งที่ไม่มีอารมณ์เข้าทุกที

ดังบทกวีที่ว่า

“ทำไม่ฉันต้องฆ่าคนที่ฉันไม่ได้โกรธ
ทำไมฉันต้องปกป้องคนที่ฉันไม่ได้รักด้วย”


บทกวีนี้ใช้ต่อต้านสงครามเวียดนาม
เนื่องจากทหารหนุ่มชาวอเมริกันชาวเวียดนามโดยไม่ได้มีอารมณ์
ชีวิตจึงคล้ายๆ กับเครื่องจักชนิดหนึ่งเข้าทุกที

และยิ่งลัทธิบริโภคนิยมซึ่งสนับสนุนเรื่องแนวคิดเรื่องตัวใครตัวมัน
จะทำให้มนุษย์จ้องทำลายล้างกันและกัน
และจะทำลายบารมีของมนุษย์หมดสิ้นเองในที่สุด


สาธุ สาธุ สาธุ

(ที่มา : “สัมภารบารมี” ใน อันเนื่องกับทางไท : ว่าด้วยอารยธรรมตะวันออก-ตะวันตก ศาสนศิลป์วรรณา ข้อพินิจในศิลปวิทรรศนา”, โดย เขมานันทะ, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๓๘, หน้า ๑๔๑-๑๔๖)

สาธุ สาธุ สาธุ

หมายเหตุ : บทความเรื่องนี้ คุณนุชรี ศรีสิโรจน์ เป็นผู้เก็บความจากการสนทนาธรรม
กับท่านโกวิท เขมานันทะ ณ บ้านพักเขตมีนบุรี เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๗)


ดอกไม้ รวมคำสอน “ท่านเขมานันทะ (อาจารย์โกวิท เอนกชัย)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=44291
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
poivang
บัวตูม
บัวตูม


เข้าร่วม: 18 มิ.ย. 2005
ตอบ: 224

ตอบตอบเมื่อ: 16 พ.ค.2008, 3:30 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อนุโมทนาค่ะ สาธุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง