Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ปฏิปัตติปุจฉาวิสัชนา อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 03 พ.ค.2008, 3:32 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

หนังสือธรรมะทรงคุณค่า
ป ฏิ ปั ต ติ ปุ จ ฉ า วิ สั ช น า

เจ้าพระคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) : ถาม

Image
พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) วัดโพธิสมภรณ์ อ.เมือง จ.อุดรธานี


ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถร : ตอบ

Image
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถร วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร


พิมพ์ครั้งที่ ๑ : พฤษภาคม ๒๕๔๐
สำนักพิมพ์ : โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์
จำนวนหน้า : ๖๒ หน้า
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 03 พ.ค.2008, 3:44 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ปฏิปัตติปุจฉาวิสัชนา
เจ้าพระคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) : ถาม
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถร : ตอบ


• ถาม

ผู้ปฏิบัติศาสนาโดยมากปฏิบัติอยู่แค่ไหน?

• ตอบ

ปฏิบัติอยู่ภูมิกามาพจรกุศลโดยมาก

• ถาม

ทำไมจึงปฏิบัติอยู่เพียงนั้น?

• ตอบ

อัธยาศัยของคนโดยมากยังกำหนัดอยู่ในกาม
เห็นว่ากามารมณ์ที่ดีเป็นสุข ส่วนที่ไม่ดีเห็นว่าเป็นทุกข์
จึงได้ปฏิบัติในบุญกิริยาวัตถุ

มีการฟังธรรม ให้ทาน รักษาศีล เป็นต้น
หรือภาวนาบ้างเล็กน้อย
เพราะความมุ่งเพื่อจะได้สวรรคสมบัติ มนุษยสมบัติ เป็นต้น
ก็คงเป็นภูมิกามาพจรกุศลอยู่นั่นเอง

เบื้องหน้าแต่กายแตกไปแล้ว ย่อมถึงสุคติบ้าง ไม่ถึงบ้าง
แล้วแต่วิบากจะซัดไป เพราะไม่ใช่นิยตบุคคล
คือยังไม่ปิดอบายเพราะยังไม่ได้บรรลุโสดาปัตติผล

• ถาม

ก็ท่านผู้ปฏิบัติที่ดีกว่านี้ไม่มีหรือ?

• ถาม

มี แต่ว่ามีน้อย

• ถาม

น้อยเพราะเหตุอะไร?

• ตอบ

น้อยเพราะกามทั้งหลายเท่ากับเลือดในอกของสัตว์
ยากที่จะละความยินดีในกามได้

เพราะการปฏิบัติธรรมละเอียด
ต้องอาศัยกายวิเวก จิตตวิเวก
จึงจะเป็นไปเพื่ออุปธิวิเวก
เพราะเหตุนี้แลจึงทำได้ด้วยยาก แต่ไม่เหลือวิสัย
ต้องเป็นผู้เห็นทุกข์จริงๆ จึงจะปฏิบัติได้


• ถาม

ถ้าปฏิบัติเพียงภูมิกามาพจรกุศล ดูไม่แปลกอะไร
เพราะเกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นภูมิกามาพจรกุศลอยู่แล้ว
ส่วนการปฏิบัติจะให้ดีกว่าเก่าก็ต้องเลื่อนชั้นเป็นภูมิรูปาวจร
หรือรูปาวจรแลโลกอุดร จะได้แปลกจากเก่า?

• ตอบ

ถูกแล้ว ถ้าคิดดูคนนอกพุทธกาล
ท่านก็ได้บรรลุฌาณขั้นสูงๆ ก็มี
คนในพุทธกาล ท่านก็ได้บรรลุมรรคและผล
มีพระโสดาบัน แลพระอรหันต์
โดยมากนี่ เราก็ไม่ได้บรรลุฌาณเป็นอันสู้คนนอกพุทธกาลไม่ได้
แลไม่ได้บรรลุมรรคแลผลเป็นอันสู้คนในพุทธกาลไม่ได้

• ถาม

เมื่อเป็นเช่นนี้จักทำอย่างไร?

• ตอบ

ต้องทำในใจให้เป็นตามพระพุทธภาษิตที่ว่า

มตฺตาสุขปริจฺจาคา ปสฺเส เจ วิผปุลํ สุขํ

ถ้าว่าบุคคลเห็นสุขอันไพบูลย์
เพราะบริจาคซึ่งสุขมีประมาณน้อยเสียไซร้


จเช มตฺตาสุขํ ธีโร สมฺปสฺสํ วิปุลํ สุขํ

บุคคลผู้มีปัญญาเครื่องทรงไว้
เมื่อเล็งเห็นซึ่งสุขอันไพบูลย์พึงละเสียซึ่งสุขมีประมาณน้อย


(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 03 พ.ค.2008, 3:52 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

• ถาม

สุขมีประมาณน้อยได้แก่สุขชนิดใด?

• ตอบ

ได้แก่สุขซึ่งเกิดแต่ความยินดีในกามที่เรียกว่า อามิสสุข
นี่แหละสุขมีประมาณน้อย

• ถาม

ก็สุขอันไพบูลย์ได้แก่สุขชนิดไหน?

• ตอบ

ได้แก่ ฌาน วิปัสสนา มรรค ผล นิพพาน
ที่เรียกว่านิรามิสสุขไม่เจือด้วยกาม นี่แหละสุขอันไพบูลย์

• ถาม

จะปฏิบัติให้ถึงสุขอันไพบูลย์จะดำเนินทางไหนดี?

• ตอบ

ก็ต้องดำเนินทาง องค์มรรค ๘

• ถาม

องค์มรรค ๘ ใครๆ ก็รู้ ทำไมจึงเดินกันไม่ใคร่ถูก?

• ตอบ

เพราะองค์มรรค ทั้ง ๘ ไม่มีใครเคยเดิน จึงเดินไม่ใคร่ถูก
พอถูกก็เป็นพระอริยะเจ้า

• ถาม

ที่เดินไม่ถูกเพราะเหตุอะไร?

• ตอบ

เพราะชอบเดินทางเก่าซึ่งเป็นทางชำนาญ

• ถาม

ทางเก่านั้นคืออะไร?

• ตอบ

ได้แก่ กามสุขัลลิกานุโยคแลอัตตกิลมถานุโยค

• ถาม

กามสุขัลลิกานุโยค นั้นคืออะไร?

• ตอบ

ความทำตนให้เป็นผู้หมกมุ่นติดอยู่ในกามสุขนี้แล ชื่อว่ากามสุขัลลิกานุโยค

• ถาม

อัตตกิลมถานุโยคได้แก่ทางไหน?

• ตอบ

ได้แก่ผู้ปฏิบัติผิด แม้ประพฤติเคร่งครัดทำตนให้ลำบากสักเพียงไร
ก็ไม่สำเร็จประโยชน์ซึ่งมรรค ผล นิพพาน
นี่แหละเรียกว่าอัตตกิลมถานุโยค

• ถาม

ถ้าเช่นนั้นทางทั้ง ๒ นี้
เห็นจะมีคนเดินมากกว่ามัชฌิมาปฏิปทาหลายร้อยเท่า?

• ตอบ

แน่ทีเดียว พระพุทธเจ้าแรกตรัสรู้
จึงได้ทรงแสดงก่อนธรรมอย่างอื่นๆที่มาแล้วใน ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
เพื่อให้สาวกเข้าใจ จะได้ไม่ดำเนินในทางทั้ง ๒ ดำเนินในทางมัชฌิมาปฏิปทา

(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 12 พ.ค.2008, 11:54 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

• ถาม

องค์มรรค ๘ ทำไมจึงยก สัมมาทิฏฐิ
ซึ่งเป็นกองปัญญาขึ้นแสดงก่อน
ส่วนการปฏิบัติของผู้ดำเนินทางมรรค
ต้องทำศีลไปก่อน แล้วจึงทำสมาธิแลปัญญา ซึ่งเรียกว่าสิขาทั้ง ๓?

• ตอบ

ตามความเห็นของข้าพเจ้าว่าจะเป็น ๒ ตอน
ตอนแรกส่วนโลกียกุศลต้องทำ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นลำดับไป
ปัญญาที่เกิดขึ้นยังไม่เห็นอริยสัจทั้ง ๔ สังโยชน์ ๓ ยังละไม่ได้
ขีดของใจเพียงนี้เป็นโลกีย์
ตอนที่เห็นอริสัจแล้วละสังโยชน์ ๓ ได้ตอนนี้เป็นโลกุตตร

• ถาม

ศีล จะเอาศีลชั้นไหน?

• ตอบ

ศีลมีหายอย่าง ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗
แต่ในที่นี้ประสงค์ศีลที่เรียกว่า
สมฺมาวาจา สมฺมากมฺมนฺโต สมฺมาอาชีโว แต่ต้องทำให้บริบูรณ์

• ถาม

สมฺมาวาจา คืออะไร?

• ตอบ

มุสาวาทาเวรมณี เว้นจากการพูดเท็จ
ปิสุณายวาจาย เวรมณี เว้นจากการพูดส่อเสียด ให้เขาแตกร้าวกัน
ผรุสาย วาจาย เวรมณี เว้นจากพูดคำหยาบ
สมฺผปฺปลาปา เวรมณี เว้นจากการพูดโปรยประโยชน์

• ถาม

สมฺมากมฺมนฺโต การงานชอบนั้นมีกี่อย่าง?

• ตอบ

มี ๓ อย่าง คือ ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากการฆ่าสัตว์
อทินฺนาทานา เวรมณี เว้นจากการลักทรัพย์
อพรหมฺจริยา เวรมณี เว้นจากอสัทธรรมไม่ใช่พรหมจรรย์

• ถาม

สมฺมากมฺมนฺโต ในที่อื่นๆ โดยมากเว้น อพฺรหฺม
ส่วนใน มหาสติปัฏฐาน ทำไมจึงเว้นกาเมสุมิจฉาจาร?

• ตอบ

ความเห็นของข้าพเจ้าที่ทรงแสดงอพฺรหฺม
เห็นจะเป็นด้วยรับสั่งกับพระภิกษุ
เพราะว่าภิกษุเป็น พรหมจารีบุคคลทั้งนั้น

ส่วนใน มหาสติปัฏฐาน ๔ ก็รับสั่งแก่ภิกษุเหมือนกัน
แต่ว่าเวลานั้นพระองค์เสด็จประทับอยู่ในหมู่ชนชาวกุรุ
พวกชาวบ้านเห็นจะฟังอยู่มาก
ท่านจึงสอนให้เว้นกามมิจฉาจาร เพราะชาวบ้านมักเป็นคนมีคู่

• ถาม

สมฺมาอาชีโว เลี้ยงชีวิตชอบ เว้นจากมิจฉาชีพ นั้นเป็นอย่างไร?

• ตอบ

บางแห่งท่านก็อธิบายไว้ว่า ขายสุรายาพิษศาสตราวุธ
หรือขายสัตว์มีชีวิตต้องเอาไปฆ่าเป็นต้น เหล่านี้แหละเป็นมิจฉาชีพ

• ถาม

ถ้าคนที่ไม่ได้ขายของเหล่านี้ ก็เป็น สมฺมาอาชีโว อย่างนั้นหรือ?

• ตอบ

ยังเป็นไม่ได้ เพราะวิธีโกงของคนยังมีหลายอย่างนัก
เช่น ค้าขายโดยไม่ซื่อ มีการโกงตาชั่ง ตาเต็ง
หรือเอารัดเอาเปรียบอย่างใดอย่างหนึ่ง
ในเวลาที่ผู้ซื้อเผลอ หรือ เขาไว้ใจ

รวมความว่าอัธยาศัยของคนที่ไม่ซื่อคิดเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น
เห็นแต่จะได้สุดแต่จะมีโอกาส
จะเป็นเงินหรือของก็ดี

ถึงแม้จะไม่ชอบธรรม สุดแต่จะได้ เป็นเอาทั้งนั้น
สมฺมาอาชีโว จะต้องเว้นทุกอย่าง
เพราะเป็นสิ่งที่คดค้อม ได้มาโดยไม่ชอบธรรม

(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 13 พ.ค.2008, 12:04 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

• ถาม

สมฺมาวายาโม ความเพียรชอบนั้นคือเพียรอย่างไร?

• ตอบ

สังวรปธาน เพียรระวังอกุศลวิตก ๓ที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น
ปหานปธาน เพียร ละอกุศลวิตก ๓ ที่เกิดขึ้นแล้วให้หายไป
ภาวนาปธาน เพียรเจริญกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลที่เกิดแล้วไว้ให้สมบูรณ์

• ถาม

สมฺมาสติ ระลึกชอบนั้นระลึกอย่างไร?

• ตอบ

ระลึกอยู่ในสติปัฏฐาน ๔ คือ กายานุปสฺสสนา ระลึกถึงกาย
เวทนานุปสฺสนา ระลึกถึงเวทนา
จิตตานุปสฺสนา ระลึกถึงจิต
ธมฺมานุปสฺสนา ระลึกถึงธรรม

• ถาม

สมฺมาสมาธิ ความตั้งใจไว้ชอบ คือตั้งใจไว้อย่างไร จึงจะเป็น สมฺมาสมาธิ?

• ตอบ

คือตั้งไว้ในองค์ฌานทั้ง ๔
ที่เรียกว่า ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน
เหล่านี้แหละ เป็น สมฺมาสมาธิ

• ถาม

สมฺมาสงฺกปฺโป ความดำริชอบนั้นดำริอย่างไร?

• ตอบ

เนกฺขมฺมสงฺกปฺโป ดำริออกจากกาม
อพฺยาปาทสงฺกปฺโป ดำริไม่พยาบาท
อวิหิสาสงฺกปฺโป ดำริในความไม่เบียดเบียน

• ถาม

สมฺมาวายาโม ก็ละอกุศลวิตก ๓ แล้ว
สมฺมา สงฺกปฺโป ทำไมต้องดำริอีกเล่า?

• ตอบ

ต่างกันเพราะ สมฺมาวายาโม นั้น เป็นแต่เปลี่ยนอารมณ์
เช่น จิตที่ฟุ้งซ่าน หรือเป็นอกุศลก็เลิกนึกถึงเรื่องเก่าเสีย
มามีสติระลึกอยู่ในอารมณ์ที่เป็นกุศล
จึงสงเคราะห์เข้าในกองสมาธิ

ส่วน สมฺมาสงฺกปฺโป มีปัญญาพิจารณาเห็นโทษของกาม
เห็นอานิสงส์ของเนกขัมม
จึงได้คิดออกจากกามด้วยอาการที่เห็นโทษ

หรือเห็นโทษของพยาบาทวิหิงสา
เห็นอานิสงส์ของเมตตากรุณา จึงได้คิดพยาบาทวิหิงสา
การเห็นโทษแลเห็นอานิสงส์เช่นนี้แหละ
จึงผิดกับ สมฺมาวายาโม จึงสงเคราะห์เข้าไว้ในกองปัญญา

• ถาม

สมฺมาทิฏฐิ ความเห็นขอบนั้น คือเห็นอย่างไร?

• ตอบ

คือเห็น ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ที่เรียกว่า อริยสัจ ๔
ความเห็นขอบอย่างนี้แหละชื่อว่า สมฺมาทิฏฐิ

• ถาม

อริยสัจ นั้น มีกิจจะต้องทำอะไรบ้าง?

• ตอบ

ตามแบบที่มีมาในธรรมจักร
มีกิจ ๓ อย่างใน ๔ อริยสัจ รวมเป็น ๑๒
คือ สัจญาณ รู้ว่าทุกข์
กิจญาณ รู้ว่าจะต้องกำหนด
กตญาณ รู้ว่ากำหนดเสร็จแล้ว

แลรู้ว่าทุกขสมุทัยจะต้องละ แลได้ละเสร็จแล้ว
และรู้ว่า ทุกขนิโรธ จะต้องทำให้แจ้ง
แลก็ได้ทำให้แจ้งเสร็จแล้ว
แลรู้ว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา จะต้องเจริญ แลได้เจริญเสร็จแล้ว
นี่แหละเรียกว่ากิจใน อริยสัจทั้ง ๔

(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 31 ก.ค.2008, 10:44 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

• ถาม

ทุกข์นั้นได้แก่สิ่งอะไร ?

• ตอบ

ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ ธาตุ ๖
นามรูปเหล่านี้เป็นประเภททุกขสัจ

• ถาม

ทุกข์มีหลายอย่างนักจะกำหนดอย่างไรถูก ?

• ตอบ

กำหนดอย่างเดียวก็ได้ จะเป็น ขันธ์ ๕ หรือ อายตนะ ๖
หรือ ธาตุ ๖ นามรูปอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้
ไม่ใช่ว่าจะต้องกำหนดทีละหลายอย่าง

แต่ว่าผู้ปฏิบัติควรจะรู้ไว้เพราะธรรมทั้งหลายเหล่านี้
เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา.


• ถาม

การที่จะเห็นอริยสัจก็ต้องทำวิปัสสนาด้วยหรือ ?

• ตอบ

ไม่เจริญวิปัสสนา ปัญญาจะเกิดได้อย่างไร
เมื่อปัญญาไม่มีจะเห็นอริยสัจทั้ง ๔ อย่างไรได้
แต่ที่เจริญวิปัสสนากันอยู่
ผู้ที่อินทรีย์อ่อนยังไม่เห็นอริยสัจทั้ง ๔ เลย


• ถาม

ขันธ์ ๕ ใครๆ ก็ไม่รู้จึงกำหนดทุกข์ไม่ถูก ?

• ตอบ

รู้แต่ชื่อ ไม่รู้อาการขันธ์ตามความเป็นจริงเพราะฉะนั้นขันธ์ ๕
เกิดขึ้นก็ไม่รู้ว่าเกิด ขันธ์ ๕ ดับไปก็ไม่รู้ว่าดับ
แลขันธ์มีอาการสิ้นไปเสื่อมไปตามความเป็นจริงอย่างไรก็ไม่ทราบทั้งนั้น

จึงเป็นผู้หลงประกอบด้วยวิปลาศ
คือไม่เที่ยงก็เห้นว่าเที่ยง เป็นทุกข์ก็เห็นว่าเป็นสุข
เป็นอนัตตาก็เห็นว่าเป็นอัตตาตัวตน
เป็นอสุภไม่งามก็เห็นว่าเป็นสุภะงาม

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงสั่งสอนสาวก
ที่มาแล้วในมหาสติปัฏฐานสูตรให้รู้จักขันธ์ ๕
แลอายตนะ ๖ ตามความเป็นจริงจะได้กำหนดถูก.

• ถาม

ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้น
มีลักษณะอย่างไร เมื่อเวลาเกิดขึ้นแลดับไปจะได้รู้ ?

• ตอบ

รูปคือธาตุดิน ๑๙ น้ำ ๑๒ ลม ๖ ไฟ ๔ ชื่อว่า มหาภูตรูป
เป็นรูปใหญ่แลอุปาทายรูป ๒๔ เป็นรูปที่ละเอียด
ซึ่งอาศัยอยู่ในมหาภูตรูป ๔ เหล่านี้ชื่อว่ารูป
แต่จะแจงให้ละเอียดก็มากมาย
เมื่ออยากทราบให้ละเอียด ก็จงไปดูเอาในแบบเถิด.

• ถาม

ก็เวทนานั้นได้แก่สิ่งอะไร ?

• ตอบ

ความเสวยอารมณ์ ซึ่งเกิดประจำอยู่ในรูปนี้แหละ
คือบางคราวก็เสวยอารมณ์เป็นสุข
บางคราวก็เสวยอารมณ์เป็นทุกข์
บางคราวก็ไม่ทุกข์ ไม่สุข
นี่แหละเรียกว่า เวทนา ๓
ถ้าเติมโสมนัสโทมนัส ก็เป็นเวทนา ๕.

• ถาม

โสมนัสโทมนัสเวทนา ดูเป็นชื่อของกิเลสทำไมจึงเป็นขันธ์ ?

• ตอบ

เวทนามี ๒ อย่าง คือ กายิกะเวทนาๆ ซึ่งเกิดทางกาย ๑
เจตสิกเวทนา ๆ ซึ่งเกิดทางใจ ๑
สุขเวทนาเสวยอารมณ์เป็นสุข ๑
ทุกขเวทนาเสวยอารมณ์เป็นทุกข์ ๒


อย่างนี้เกิดทางกาย โสมนัสโทมนัส อทุกขมสุขเวทนา ๓
อย่างนี้เกิดทางใจ ไม่ใช่กิเลส
คือ เช่นกับบางคราวอยู่ดีๆ ก็มีความสบายใจ
โดยไม่ได้อาศัยความรักความชอบก็มี
หรือบางคราวไม่อาศัยโทสะหรือปฏิฆะ ไม่สบายใจขึ้นเอง

เช่นคนเป็นโรคหัวใจหรือโรคเส้นประสาทก็มี
อย่างนี้เป็นขันธ์แท้ต้องกำหนดรู้ว่าเป็นทุกข์
เมื่อเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งปรากฎขึ้น
นั่นแหละเป็นความเกิดขึ้นแห่งเวทนา
เมื่อเวทนาเหล่านั้นดับหายไป เป็นความดับไปแห่งเวทนา
นี่แหละเป็นขันธ์แท้ เป็นประเภททุกขสัจ.

• ถาม

เวทนานั้นอาศัยอะไรจึงเกิดขึ้น ?

• ตอบ

อาศัยอายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ วิญญาณ ๖
กระทบกันเข้า ชื่อว่าผัสสะ เป็นที่เกิดแห่งเวทนา.

• ถาม

อายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ วิญญาน ๖ ผัสสะ ๖
เวทนาที่เกิดแต่ผัสสะ ๖ ก็ไม่ใช่กิเลส
เป็นประเภททุกข์ทั้งนั้นไม่ใช่หรือ ?

• ตอบ

ถูกแล้ว.

• ถาม

แต่ทำไมคนเราเมื่อเวลาตาเห็นรูป
หูได้ยินเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรส
หรือถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้รับอารมณ์ด้วยใจ
ก็ย่อมได้เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ใช่หรือ

ก็อายตนะแลผัสสะเวทนาก็ไม่ใช่กิเลส
แต่ทำไมคนเราจึงเกิดกิเลสและความอยากขึ้นได้เล่า ?

• ตอบ

เพราะไม่รู้ว่าเป็นขันธ์แลอายตนะ แลผัสสเวทนา
สำคัญว่าเป็นผู้เป็นคนเป็นจริงเป็นจัง
จึงได้เกิดกิเลสละความอยาก

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงไว้ในฉักกะสูตร
ว่าบุคคลเมื่อสุขเวทนาเกิดขึ้นก็ปล่อยให้ปฏิฆานุสัยตามนอน
อทุกขมสุขเวทนาเกิดขึ้น ก็ปล่อยให้อวิชชานุสัยตามนอน

การทำที่สุดแห่งทุกข์ในชาตินี้ ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้เป็นได้
ถ้าบุคคลเมื่อเวทนาทั้ง ๓ เกิดขึ้น
ก็ไม่ปล่อยให้อนุสัยทั้ง ๓ ตามนอน
การทำที่สุดแห่งทุกข์ในชาตินี้มีฐานะที่มีได้เป็นได้
นี่ก็เท่ากับตรัสไว้เป็นคำตายตัวอยู่แล้ว.

(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 31 ก.ค.2008, 11:01 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

• ถาม

จะปฏิบัติอย่างไรจึงจะไม่ให้อนุสัยทั้ง ๓ ตามนอน ?

• ตอบ

ก็ต้องมีสติทำความรู้สึกตัวไว้
แลมีสัมปชัญญะความรู้รอบคอบในอายตนะ
แลผัสสเวทนาตามความเป็นจริงอย่างไร
อนุสัยทั้ง ๓ จึงจะไม่ตามนอน

สมด้วยพระพุทธภาษิตใน โสฬสปัญหาที่ ๑
ตรัส ตอบอชิตะมานพว่า

สติ เตสํ นิวารณํ

สติเป็นดุจ ทำนบเครื่องปิดกระแสเหล่านั้น

ปญฺญา เยเตปิถิยฺยเร

กระแสเหล่านั้นอันผู้ปฏิบัติจะละเสียได้ด้วยปัญญา


แต่ในที่นั้นท่านประสงค์ละตัณหา
แต่อนุสัยกับตัณหาก็เป็นกิเลสประเภทเดียวกัน.

• ถาม

เวทนาเป็นขันธ์แท้เป็นทุกขสัจไม่ใช่กิเลสแต่ในปฏิจจสมุปทาน
ทำไมจึงมีเวทนาปจฺจยาตัณหา เพราะเหตุอะไร ?

• ตอบ

เพราะไม่รู้จักเวทนาตามความเป็นจริง
เมื่อเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น
เวทนาที่เป็นสุขก็ชอบเพลิดเพลินอยากได้
หรือให้คงอยู่ไม่ให้หายไปเสียเวทนาที่เป็นทุกข์ไม่ดีมีมา
ก็ไม่ชอบประกอบด้วยปฏิฆะยากผลักไสไล่ขับให้หายไปเสีย

หรืออทุกขมสุขเวทนาที่มีมาก็ไม่รู้.
อวิชชานุสัยจึงตามนอน

สมด้วย พระพุทธภาษิตใน โสฬสปัญหาที่ ๑๓
ที่อุทยะมานพ ทูลถามว่า

กถํ สตสฺส จรโตวิญญาณํ อุปรุชฺฌติ

เมื่อบุคคลประพฤติมีสติอย่างไร ปฏิสนธิ วิญญาณจึงจะดับ


ตรัสตอบว่า.

อชฺฌตฺตญฺจ พหิทฺธา จ เวทนํ นาพินนฺทโต

เมื่อบุคคลไม่เพลิดเพลินยิ่ง
ซึ่งเวทนาทั้งภายในแลภายนอก

อวํ สตสฺส จรโต วิญญาณํ อุปรุชฺฌติ

ประพฤติมีสติอยู่อย่างนี้ ปฏิสนธิวิญญาณจึงจะดับ.


• ถาม

เวทนาอย่างไรชื่อว่าเวทนาภายนอก
เวทนาอย่างไรชื่อว่าเวทนาภายใน ?

• ตอบ

เวทนาที่เกิดขึ้นแต่จัดขุสัมผัส โสตะสัมผัส
ฆานะสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส

๕ อย่างนี้ชื่อว่าเวทนาที่เป็นภายนอก
เวทนาที่เกิดในฌาน เช่น ปีติหรือสุข เป็นต้น
ชื่อว่าเวทนาภายในเกิดแต่มะโนสัมผัส.

• ถาม

ปีติแลสุขก็เป็นเวทนาด้วยหรือ ?

• ตอบ

ปีติแลสุขนั้นเกิดขึ้นเพราะความสงบ
อาศัยความเพียรของผู้ปฏิบัติ

นคิริมานนทสูตร อานาปานสติ หมวดที่ ๕ กับที่ ๖

ท่านสงเคราะห์เข้าในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เพราะฉะนั้น ปีติแลสุขจึงจัดเป็นเวทนาภายในได้.

• ถาม

ที่เรียกว่า นิรามิสเวทนา เสวยเวทนาไม่มีอามิส
คือไม่เจือกามคุณ เห็นจะเป็นเวทนาที่เกิดขึ้นจากจิตที่สงบนี้เอง

แต่ถ้าเช่นนั้นความยินดีใน รูป, เสียง, กลิ่น, รส โผฏฐัพพะ
ที่เรียกว่า กามคุณ ๕ เวทนาที่เกิดคราวนั้น
ก็เป็นอามิสเวทนา ถูกไหม ?

• ตอบ

ถูกแล้ว.

• ถาม

ส่วนเวทนาข้าพเจ้าเข้าใจดีแล้ว
แต่ส่วนปัญญาขันธ์ ความจำรูป จำเสียง จำกลิ่น
จำรส จำโผฏฐัพพะจะธัมมารมณ์ ๖ อย่างนี้ มีลักษณะอย่างไร

เมื่อรูปสัญญาความจำรูปเดิมเกิดขึ้นนั้น
มีอาการเช่นไรแลเวลาความจำรูปดับไป มีอาการเช่นไร
ข้าพเจ้าอยากทราบเพื่อจะได้กำหนดถูก ?

• ตอบ

คือเราได้เห็นรูปคน หรือรูปร่างอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วมากขึ้น
รูปคนหรือรูปของเหล่านั้นมาปรากฏขึ้นในใจ
เหมือนอย่างได้เห็นจริงๆ นี่เรียกว่า ความจำรูป.

• ถาม

ยังไม่เข้าใจดี ขอให้ชี้ตัวอย่างให้บ้างอีกสักหน่อย ?

• ตอบ

เช่นกับเมื่อเช้านี้เราได้พบคนรู้จักกันหรือได้พูดกัน
ครั้นคนนั้นไปจากเราแล้ว
เมื่อเรานึกถึงคนนั้นรูปร่างคนนั้นก็ปรากฏชัดเจน
เหมือนเวลาที่พบกันหรือได้เห็นของสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้

เมื่อเวลานึกขึ้นก็เห็นสิ่งนั้นชัดเจน
เหมือนอย่างเวลาที่เห็นรวมเป็นรูป ๒ อย่าง
คือ อุปาทินนกรูป รูปที่มีวิญญาณ เช่น รูปคนหรือรูปสัตว์
อุนุปาทินนกรูป รูปที่ไม่มีวิญญาณครอง
ได้แก่สิ่งของต่างๆ หรือต้นไม้ดินหินกรวด.

(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 10 ส.ค. 2008, 8:23 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

• ถาม

ถ้าเช่นนั้นคนเป็นก็เป็นรูปวิญญาณ
คนตายก็เป็นรูปที่ไม่มีวิญญาณ อย่างนั้นหรอ ?

• ตอบ

ถูกแล้ว น่าสลดใจ ชาติเดียวก็เป็นได้ ๒ อย่าง

• ถาม

ถ้าเช่นนั้นสัญญาก็เป็นเรื่องของอดีตทั้งนั้นไม่ใช่ปัจจุบัน ?

• ตอบ

อารมณ์นั้นเป็นอดีต แต่เมื่อความจำปรากฏขึ้นในใจ
เป็นสัญญาณปัจจุบันนี่แหละเรียกว่าสัญญาณขันธ์.

• ถาม

ถ้าไม่รู้จักสัญญา
เวลาที่ความจำรูปคนมาปรากฏขึ้นในใจ
ก็ไม่รู้ว่าสัญญาของตัว
สำคัญกว่าเป็นคนจริงๆ
หรือความจำรูปที่ไม่มีวิญญาณมาปรากฏขึ้นในใจ ก็ไม่รู้ว่าสัญญา

สำคัญว่าเป็นสิ่งเป็นของจริงๆ เมื่อเป็นเช่นนี้จะมีโทษอย่างไรบ้าง
ขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจ ?

• ตอบ

มีโทษมาก เช่นนึกถึงคนรัก
รูปร่างของคนที่รักก็มาปรากฏกับใจ
กามวิตกที่ยังไม่เกิด
ก็จะเกิดขึ้นที่เกิดขึ้นแล้วก็จะงอกงาม

หรือนึกถึงคนที่โกรธกัน
รูปร่างของคนที่โกรธกันนั้นก็มาปรากฏชัดเจนเหมือนได้เห็นจริงๆ
พยาบาทวิตกที่ยังไม่เกิดก็จะเกิดขึ้น

ที่เกิดขึ้นแล้วก็จะงอกงาม หรือนึกถึงสิ่งของที่สวยๆ งามๆ รู
ปร่างสิ่งของเหล่านั้นก็มาปรากฏในใจ เกิดความชอบใจบ้าง
แหละอยากบ้าง เพราะไม่รู้ว่าสัญญาขันธ์ของตัวเอง
สัญญานั้นว่าสิ่งทั้งปวงเป็นจริงเป็นจังไปหมด ที่แท้ก็เหลวทั้งนั้น.

• ถาม

ก็ความเกิดขึ้นแห่งสัญญามีลักษณะอย่างไร ?

• ตอบ

เมื่อเกิดความจำรูปอย่างใดอย่างหนึ่งมาปรากฏในใจ
เป็นความเกิดขึ้นแห่งความจำรูป
มื่อความจำรูปเหล่านั้น
ดับหายไปจากใจเป็นความดับไปแห่งความจำรูป.

• ถาม

ความจำเสียงนั้น มีลักษณะอย่างไร ?

• ตอบ

เช่นเวลาเราฟังเทศน์
เมื่อพระเทศน์จบแล้วเรานึกขึ้นจำได้ว่าท่านแสดงว่าอย่างนั้นๆ
หรือมีคนมาพูดเล่าเรื่องอะไรๆ ให้เราฟัง
เมื่อเขาพูดเสร็จแล้ว เรานึกขึ้นจำถ้อยคำนั้นได้
นี่เป็นลักษณะของความจำเสียงเมื่อความจำเสียงปรากฏขึ้นในใจ
เป็นความเกิดแห่งความจำเสียง
เมื่อความจำเสียงเหล่านั้นดับหายไปจากใจ
เป็นความดับไปแห่งสัททสัญญา.

• ถาม

คันธสัญญาความจำกลิ่นมีลักษณะอย่างไร ?

• ตอบ

เช่นกับเราเคยได้กลิ่นหอมของดอกไม้
หรือน้ำอบหรือกลิ่นเหม็นอย่างใดอย่างใดอย่างหนึ่งไว้
เมื่อนึกขึ้นก็จำกลิ่นหอมกลิ่นเหม็นนั้นได้
นี่เป็นความเกิดขึ้นแห่งความจำกลิ่น

เมื่อความจำกลิ่นเหล่านั้นหายไปจากใจ
เป็นความดับไปแห่งคันธสัญญา.

• ถาม

รสสัญญาความจำรสมีลักษณะอย่างไร ?

• ตอบ

ความจำรสนั้น เมื่อเรารับประทานอาหารมีรส
เปรี้ยว หวาน จืด เค็ม หรือขมเป็นต้น
เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้ว
นึกขึ้นก็จำรสเหล่านั้นได้อย่างนั้เรียกว่า ความจำรส
เมื่อความจำรสเหล่านั้นดับหายไปจากใจ
เป็นความดับไปแห่งรสสัญญา.

• ถาม

โผฏฐัพพะสัญญานั้นมีลักษณะอย่างไร ?

• ตอบ

ความจำเครื่องกระทบทางกาย
เช่นเราเดินไปเหยียบหนาม ถูกหนามยอก
หรือถูกต้องเย็นร้อนอ่อนแข็งอย่างใดอย่างหนึ่ง
เมื่อนึกขึ้นจำความถูกต้องกระทบทางกายเหล่านั้นได้
ชื่อว่าโผฏฐัพพะสัญญา.

• ถาม

เช่นเมื่อกลางวันนี้เราเดินไปถูกแดดร้อนจัดครั้นกลับมาถึงบ้าน
นึกถึงที่ไปถูกแดดมานั้น
ก็จัดได้ว่าวันนั้นเราไปถูกแดดร้อนอย่างนี้
เป็นโผฏฐัพพะสัญญาถูกไหม ?

• ตอบ

ถูกแล้ว สิ่งใดสิ่งหนึ่งมากระทบถูกต้องทางกาย
เมื่อเรานึกคิดถึงอารมณ์เหล่านั้น,
จำได้เป็นโผฏฐัพพะสัญญาทั้งนั้น
เมื่อความจำโผฏฐัพพะสัญญาเกิดขึ้นในใจ
มีความเกิดขึ้นแห่งโผฏฐัพพะสัญญา
เมื่อความจำเหล่านั้นดับหายไปจากใจ
เป็นความดับไปแห่งโผฏฐัพพะสัญญา.

• ถาม

ธัมมสัญญามีลักษณะอย่างไร ?

• ตอบ

ธัมมสัญญาความจำธัมมารมณ์นั้นละเอียดยิ่งกว่าสัญญา ๕
ที่ได้อธิบายมาแล้ว.

(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 10 ส.ค. 2008, 8:36 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

• ถาม

ธัมมารมณ์ นั้นได้แก่สิ่งอะไร ?

• ตอบ

เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์
๓ อย่างนี้ ชื่อว่า ธัมมารมณ์

เช่นเราได้เสวยเวทนาที่เป็นสุขหรือที่เป็นทุกข์ไว้
แลเวทนาเหล่านั้นดับไปแล้วนึกขึ้นจำได้อย่างนี้
ชื่อว่าความจำเวทนา

หรือเราเคยท่องบ่นอะไรๆ จะจำได้มากก็ตามหรือจำได้น้อยก็ตาม
เมื่อความจำเหล่านั้นดับไป
พอนึกขึ้นถึงความจำเก่าก็มาเป็นสัญญาปัจจุบันขึ้น
อย่างนี้เรียกว่าความจำสัญญา

หรือเราคิดนึกเรื่องอะไรๆ ขึ้นเองด้วยใจ
เมื่อความคิดเหล่านั้นดับไป
พอเรานึกถึงเรื่องที่เคยคิดเอาไว้นั้น ก็จำเรื่องนั้นได้
นี่เรียกว่าความจำสังขารขันธ์

ความจำเรื่องราวของเวทนา สัญญา สังขารเหล่านี้แหละ
ชื่อว่าธัมมสัญญาความจำธัมมารมณ์
เมื่อความจำธัมมารมณ์มาปรากฏขึ้นในใจ
เป็นความเกิดขึ้นแห่งธัมมสัญญา
เมื่อความจำธัมมารมณ์เหล่านั้นดับหายไปจากใจ
เป็นความดับไปแห่งธัมมสัญญา.

• ถาม

แหมช่างซับซ้อนกันจริง ๆ จะสังเกตอย่างไรถูก ?

• ตอบ

ถ้ายังไม่รู้จักอาการขันธ์ ก็สังเกตไม่ถูก
ถ้ารู้จักแล้ว ก็สังเกตได้ง่าย

เหมือนคนที่รู้จักตัวแลรู้จักชื่อกันถึงจะพบหรือเห็นกันมากๆ
คนก็รู้จักได้ทุกๆ คน
ถ้าคนที่ไม่เคยรู้จักตัวหรือรู้จักชื่อกันมา
แต่คนเดียวก็ไม่รู้จักว่าผู้นั้นคือใคร

สมด้วยพระพุทธภาษิตใน คุหัฏฐกสูตรหน้า ๓๙๕ ที่ว่า

สญฺญํ ปริญฺญา วิตเรยฺย โอฆํ
สาธุชนมากำหนดรอบรู้สัญญาแล้วจะพึงข้ามโอฆะได้.


• ถาม

สังขารขันธ์ คืออะไร ?

• ตอบ

สังขารขันธ์คือความคิดความนึก.

• ถาม

สังขารขันธ์เป็นทุกขสัจหรือเป็นสมุทัย ?

• ตอบ

เป็นทุกขสัจ ไม่ใช่สมุทัย.

• ถาม

ก็สังขารขันธ์ตามแบบ อภิธัมมสังคหะ

ท่านแจกไว้ว่า มีบาปธรรม ๑๔ โสภณเจตสิก ๒๕
อัญญสมนา ๑๓ รวมเป็นเจตสิก ๕๒ ดวงนั้น
ดูมีทั้งบุญทั้งบาป และไม่ใช่บุญไม่ใช่บาปปนกัน


• ถาม

ทำไมจึงเป็นทุกขสัจอย่างเดียว ข้าพเจ้ายังฉงนนัก ?

• ตอบ

อัญญสมนา ๑๓ ยกเวทนาสัญญาออกเสีย ๒ ขันธ์
เหลืออยู่ ๑๑ นี่แหละเป็นสังขารขันธ์แท้จะต้องกำหนดรู้ว่าเป็นทุกข์

ส่วนบาปธรรม ๑๔ นั้นเป็นสมุทัยอาศัยสังขารขันธ์เกิดขึ้น
เป็นส่วนปหาตัพพธรรมจะต้องละ

ส่วนโสภณเจตสิก ๒๕ นั้น เป็นภาเวตัพพธรรมจะต้องเจริญ
เพราะฉะนั้นบาปธรรม ๑๔ กับโสภณเจตสิก ๒๕ ไม่ใช่สังขารแท้
เป็นแต่อาศัยสังขารขันธ์เกิดขึ้น

จึงมีหน้าที่จะต้องดูแลต้องเจริญความคิดความนึกอะไรๆ
ที่มาปรากฏขึ้นในใจ
เป็นความเกิดขึ้นแห่งสังขารขันธ์
ความคิดความนึกเหล่านั้นดับหายไปจากใจ
ก็เป็นความดับไปแห่งสังขารขันธ์.

• ถาม

วิญญาณขันธ์ ที่รู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
๖ อย่างนี้ มีลักษณะอย่างไรและเวลาเกิดขึ้นแลดับไปมีอาการอย่างไร ?

• ตอบ

คือ ตา ๑ รูป ๑ กระทบกันเข้า เกิดความรู้ทางตา
เช่นกับเราได้เห็นคนหรือสิ่งของอะไรๆ
ก็รู้ได้คนนั้นคนนี้ หรือสิ่งนั้นสิ่งนี้ ชื่อว่าจักขุวิญญาณ

เมื่อรูปมาปรากฏกับตา
เกิดความรู้ทางตาเป็นความเกิดขึ้นแห่งจักขุวิญญาณ
เมื่อความรู้ทางตาดับหายไปเป็นความดับไปแห่งจักขุวิญญาณ

หรือความรู้ทางหู รู้กลิ่นทางจมูก รู้รสทางลิ้น
รู้โผฏฐัพพะทางกายมาปรากฏขึ้น
ก็เป็นความเกิดขึ้นแห่งโสตวิญญาณ ฆาน วิญญาณ ชิวหา
วิญญาณ กายวิญญาณ

เมื่อความรู้ทางหู จมูก ลิ้น กาย หายไป
ก็เป็นความดับไปแห่งโสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ
ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ

เมื่อใจกับธัมมารมณ์มากระทบกันเข้า
เกิดความรู้ทางใจเรียกว่ามโนวิญญาณ.

• ถาม

ใจนั้นได้แก่สิ่งอะไร ?

• ตอบ

ใจนั้นเป็นเครื่องรับธัมมารมณ์ให้เกิดความรู้ทางใจ
เหมือนอย่างตาเป็นเครื่องรับรูปให้เกิดความรู้ทางตา.

• ถาม

รู้เวทนา รู้สัญญา รู้สังขารนั้น รู้อย่างไร ?

• ตอบ

รู้เวทนา นั้น เช่น สุขเวทนาเป็นปัจจุบันเกิดขึ้น
ก็รู้ว่าเป็นสุข หรือทุกขเวทนาเกิดขึ้น
ก็รู้ว่าเป็นทุกข์อย่างนี้แลรู้เวทนา

หรือสัญญาใดมาปรากฏขึ้นในใจ
จะเป็นความจำรูปหรือความจำเสียงก็ดี
ก็รู้สัญญานั้นอย่างนี้เรียกว่า รู้สัญญา

หรือความคิดเรื่องอะไรๆ ขึ้น ก็รู้ไปในเรื่องนั้นอย่างนี้
รู้สังขารความรู้ เวทนา สัญญา สังขาร ๓ อย่างนี้
ต้องรู้ทางใจเรียกว่า มโนวิญญาณ.


(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 06 ก.ย. 2008, 4:06 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

• ถาม

มโนวิญญาณความรู้ทางใจก็เหมือนกันกับธรรมสัญญา
ความจำธัมมารมณ์อย่างนั้นหรือ

เพราะนี่ก็รู้ว่าเวทนา สัญญา สังขาร นั่นก็จำเวทนา สัญญาสังขาร ?

• ตอบ

ต่างกัน เพราะสัญญานั้นจำอารมณ์ที่ล่วงแล้วแต่ตัวสัญญาเอง
เป็นสัญญาปัจจุบัน
ส่วนมโนวิญญาณนั้นรู้เวทนา สญญา สังขารที่เป็นอารมณ์ปัจจุบัน
เมื่อความรู้เวทนา สัญญา สังขาร ดับ หายไปจากใจ
เป็นความดับไปแห่งมโนวิญญาณ.

• ถาม

เช่นผงเข้าตา รู้ว่าเคืองตา เป็นรู้ทางตาใช่ไหม ?

• ตอบ

ไม่ใช่ เพราะรู้ทางตานั้น
หมายถึงรูปที่มากระทบกับตาเกิดความรู้ขึ้น

ส่วนผงเข้าตานั้นเป็นกายสัมผัส ต้องเรียกว่ารู้ โผฏฐัพพะ
เพราะตานั้นเป็นกายผงนั้นเป็นโผฏฐัพพะ
เกิดความรู้ขึ้น ชื่อว่ารู้ทางกาย

ถ้าผงเข้าตาคนอื่น เขาวานเราไปดู
เมื่อเราได้เห็นผงเกิดความรู้ขึ้น ชื่อว่ารู้ทางตา.

• ถาม

สาธุ ข้าพเจ้าเข้าใจได้ความในเรื่องนี้ชัดเจนดีแล้ว
แต่ขันธ์ ๕ นั้นยังไม่ได้ความว่า
จะเกิดขึ้นทีละอย่างสองอย่าง
หรือว่าต้องเกิดพร้อมกันทั้ง ๕ ขันธ์.

• ตอบ

ต้องเกิดขึ้นพร้อมกันนั้นทั้ง ๕ ขันธ์.

• ถาม

ขันธ์ ๕ ที่เกิดพร้อมกันนั้น มีลักษณะอย่างไร ?
และความดับไปมีอาการอย่างไร ?
ขอให้ชี้ตัวอย่างให้ขาวสักหน่อย.

• ตอบ

เช่นเวลาเรานึกถึงรูปคนหรือรูปสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่ง
อาการที่นึกขึ้นนั้นเป็นลักษณะของสังขารขันธ์
รูปร่างหรือสิ่งของเหล่านั้นมาปรากฏขึ้นในใจ
นี่เป็นลักษณะของรูปสัญญา

ความรู้ที่เกิดขึ้นในเวลานั้นนี่เป็นลักษณะของมโนวิญญาณ
สุขหรือทุกข์หรืออุเบกขาที่เกิดขึ้นในคราวนั้น
นี่เป็นลักษณะของเวทนามหาภูตรูป

อย่างนี้เรียกว่าความเกิดขึ้นแห่งขันธ์พร้อมกันทั้ง ๕
เมื่ออาการ ๕ อย่างเหล่านั้นดับไปเป็นความดับไปแห่งขันธ์ทั้ง๕.

• ถาม

ส่วนนามทั้ง ๔ เกิดขึ้นและดับไปพอจะเห็นด้วย
แต่ที่ว่ารูปดับไปนั้นยังไม่เข้าใจ ?

• ตอบ

ส่วนรูปนั้นมีความแปรปรวนอยู่เสมอเช่นของเก่าเสื่อมไป
ของใหม่เกิดแทนแต่ทว่าไม่เห็นเองเพราะรูปสันตติ
รูปที่ติดต่อเนื่องกันบังเสีย จึงแลไม่เห็น
แต่ก็ลองนึกดูถึงรูปตั้งแต่เกิดมาจนถึงวันนี้เปลี่ยนไปแล้วสักเท่าไร
ถ้ารูปไม่ดับก็คงไม่มีเวลาแก่แลเวลาตาย.

• ถาม

ถ้าเราจะสังเกตขันธ์ ๕ ว่าเวลาเกิดขึ้นแลดับไปนั้น
จะสังเกตอย่างไรจึงจะเห็นได้
แลที่ว่าขันธ์สิ้นไปเสื่อมไปนั้นมีลักษณะอย่างไร
เพราะว่าเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
แล้วก็เกิดขึ้นได้อีกดูเป็นของคงที่ไม่เห็นมีความเสื่อม ?

(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 06 ก.ย. 2008, 4:12 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

•ตอบ

พูดกับคนที่ไม่เคยเห็นความจริงนั้น ช่างน่าขันเสียเหลือเกิน

วิธีสังเกตขันธ์ ๕ นั้น
ก็ต้องศึกษาให้รู้จักอาการขันธ์ตามความเป็นจริง
แล้วก็มีสติสงบความคิดอื่นเสียหมดแล้ว
จนเป็นอารมณ์อันเดียวที่เรียกว่าสมาธิ
ในเวลานั้นความคิดอะไรๆ ไม่มีแล้ว


ส่วนรูปนั้นหมายลมหายใจ
ส่วนเวทนาก็มีแต่ปีติหรือสุข
ส่วนสัญญาก็เป็นธรรมสัญญาอย่างเดียว
ส่วนสังขารเวลานั้นเป็นสติกับสมาธิ หรือวิตกวิจารณ์อยู่
ส่วนวิญญาณก็เป็นแต่ความรู้อยู่ในเรื่องที่สงบนั้น

ในเวลานั้นขันธ์ ๕ เข้าไปรวมอยู่เป็นอารมณ์เดียว
ในเวลานั้นต้องสังเกตอารมณ์ปัจจุบัน
ที่ปรากฏอยู่เป็นความเกิดขึ้นแห่งขันธ์
พออารมณ์ปัจจุบันนั้นดับไปเป็นความดับไปแห่งนามขันธ์

ส่วนรูปนั้นเช่นลมหายใจออกมาแล้ว
พอหายใจกลับเข้าไปลมหายใจออกนั้นก็ดับไปแล้ว
ครั้นกลับมาหายใจออกอีกลมหายใจเข้าก็ดับไปแล้ว
นี่แหละเป็นความดับไปแห่งขันธ์ทั้ง ๕
แล้วปรากฏขึ้นมากอีก ก็เป็นความเกิดขึ้น

ทุกๆ อารมณ์แลขันธ์ ๕ ที่เกิดขึ้นดับไป ไม่ใช่ดับไปเปล่าๆ
รูปชีวิตินทรีย์ความเป็นอยู่ของนามขันธ์ทั้ง ๕
เมื่ออารมณ์ดับไปครั้งหนึ่ง
ชีวิตแลอายุของขันธ์ทั้ง ๕ ก็สิ้นไปหมดไปทุกๆ อารมณ์.


• ถาม

วิธีสังเกตอาการขันธ์ที่สิ้นไปเสื่อมไปนั้นหมายเอาหรือคิดเอา ?

• ตอบ

หมายเอาก็เป็นสัญญา คิดเอาก็เป็นเจตนา
เพราะฉะนั้นไม่ใช่หมายไม่ใช่คิด
ต้องเข้าไปเห็นความจริงที่ปรากฏเฉพาะหน้า
จึงจะเป็นปัญญาได้.

• ถาม

ถ้าเช่นนั้นจะดูความสิ้นไปเสื่อมไปของขันธ์ทั้ง ๕
มิต้องตั้งพิธีทำใจให้เป็นสมาธิทุกคราวไปหรือ ?

• ตอบ

ถ้ายังไม่เคยเห็นความจริงก็ต้องตั้งพิธีเช่นนี้ร่ำไป
ถ้าเคยเห็นความจริงเสียแล้วก็ไม่ต้องตั้งพิธี
ทำใจให้เป็นสมาธิทุกคราวก็ได้

แต่พอมีสติขึ้น
ความจริงก็ปรากฏเพราะเคยเห็นแลรู้จักความจริงเสียแล้ว
เมื่อมีสติรู้ตัวขึ้นมาเวลาใด
ก็เป็นสมถวิปัสสนากำกับกันไปทุกคราว.


• ถาม

ที่ว่าชีวิตแลอายุของขันธ์สิ้นไปเสื่อมไปนั้น
คือ สิ้นไปเสื่อมไปอย่างไร ?

• ตอบ

เช่นเราจะมีลมหายใจอยู่ได้สัก ๑๐๐ หนก็จะตาย
ถ้าหายใจเสียหนหนึ่งแล้ว ก็คงเหลืออีก ๙๙ หน
หรือเราจะคิดจะนึกอะไรได้สัก ๑๐๐ หน
เมื่อคิดนึกเสียหนหนึ่งแล้ว คงเหลืออีก ๙๙ หน

ถ้าเป็นอายุยืนก็หายใจอยู่ได้มากหน
หรือคิดนึกอะไรๆ อยู่ได้มากหน
ถ้าเป็นคนอายุสั้น ก็มีลมหายใจและคิดนึกอะไรๆ อยุ่ได้น้อยหน
ที่สุดก็หมดลงวันหนึ่ง เพราะจะต้องตายเป็นธรรมดา.

• ถาม

ถ้าเราจะหมายจะคิดอยู่ในเรื่องความจริงของขันธ์อย่างนี้
จะเป็นปัญญาไหม ?

• ตอบ

ถ้าคิดเอาหมายเอา ก็เป็นสมถะ ที่เรียกว่า มรณัสสติ
เพราะปัญญานั้น ไม่ใช่เรื่องหมายหรือเรื่องคิด
เป็นเรื่องของความเห็นอารมณ์ปัจจุบันที่ปรากฏเฉพาะหน้า
ราวกับตาเห็นรูปจึงจะเป็นปัญญา.

(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 06 ก.ย. 2008, 4:24 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

• ถาม

เมื่อจิตสงบแล้ว ก็คอยสังเกตดูเอาอาการขันธ์ที่เป็นอารมณ์ปัจจุบัน
เพื่อจะให้เห็นความจริง นั้นเป็นเจตนาใช่ไหม ?

• ตอบ

เวลานั้นเป็นเจตนาจริงอยู่ แต่ความจริงก็ยังไม่ปรากฏ
เวลาที่ความจริงปรากฏขึ้นนั้นพ้นเจตนาทีเดียว
ไม่มีเจตนาเลย เป็นความเห็นที่เกิดขึ้นเป็นพิเศษต่อจากจิตที่สงบแล้ว.

• ถาม

จิตคู่กับเจตสิก ใจคู่กับธัมมารมณ์
มโนธาตุคู่กับธรรมธาตุ ๓ คู่นี้เหมือนกันหรือต่างกัน ?

• ตอบ

เหมือนกัน เพราะว่าจิต กับมโนธาตุ กับใจนั้น อย่างเดียวกัน
ส่วนใจนั้นเป็นภาษาไทย ภาษาบาลี ท่านเรียกว่า มโน
เจตสิกนั้นก็ได้แก่เวทนา สัญญา สังขาร
ธัมมารมณ์นั้นก็ คือ เวทนา สัญญา สังขาร
ธรรมธาตุ นั้นก็ คือ เวทนา สัญญา สังขาร .

• ถาม

ใจนั้นทำไมจึงไม่ค่อยปรากฏ
เวลาที่สังเกตดูก็เห็นแต่เหล่าธัมมารมณ์
คือ เวทนาบ้าง สัญญาบ้าง สังขารบ้าง มโนวิญญาณ ความรู้ทางใจบ้าง
เพราะเหตุใดจึงไม่ปรากฏเหมือนเหล่าธัมมารมณ์ กับมโนวิญญาณ ?

• ตอบ

ใจนั้นเป็นของละเอียด เห็นได้ยาก
เพราะพวกเจตสิกธรรมที่เป็นเหล่าธัมมารมณ์มากระทบเข้า
ก็เกิดมโนวิญญาณ ถูกผสมเป็นมโนสัมผัสเลยทีเดียว
จึงแลไม่เห็นมโนธาตุได้.

• ถาม

อุเบกขาในจตุตถฌาน เป็นอทุกขมสุขเวทนาใช่หรือไม่ ?

• ตอบ

ไม่ใช่ อทุกขมสุขเวทนานั้นเป็นเจตสิกธรรม
ส่วนอุเบกขาในจตุตถฌานนั้นเป็นจิต.

• ถาม

สังโยชน์ ๑๐ นั่น คือ
สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพัตตปรามาส กามราคะ
พยาบาท รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา
ที่แบ่งเป็นสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ เบื้องบน ๕ นั้น
ก็ส่วนสักกายทิฏฐิ ที่ท่านแจกไว้
ตามแบบขันธ์ละ ๔ รวม ๕ ขันธ์เป็น ๒๐

ที่ว่า ย่อมเห็นรูปโดยความเป็นตัวตนบ้าง
ย่อมเห็นตัวตนว่ามีรูปบ้าง
ย่อมเห็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

โดยความเป็นตัวตนบ้าง
ย่อมเห็นตัวตนว่ามีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณบ้าง
ย่อมเห็น เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณในตัวตนบ้าง
ย่อมเห็นตัวตนในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณบ้าง

ถ้าฟังดูท่านที่ละสักกายทิฏฐิได้แล้ว ดูไม่เป็นตัวเป็นตน
แต่ทำไมพระโสดาบันก็ละสักกายทิฏฐิได้แล้ว
สังโยชน์ยังอยู่อีกถึง ๗ ข้าพเจ้าฉงนนัก?

• ตอบ

สักกายทิฏฐิ ที่ท่านแปลไว้ตามแบบ
ใครๆฟังก็ไม่ใคร่เข้าใจ
เพราะท่านแต่ก่อน ท่านพูดภาษามคธกัน
ท่านเข้าใจได้ความกันดี

ส่วนเราเป็นไทยถึงแปลแล้วก็จะไม่เข้าของท่าน
จึงลงความเห็นว่าไม่เป็นตัวเป็นตนเสีย ดูออกจะแรงมากไป

ควรจะนึกถึงพระโกณฑัญญะ
ในธัมมจักรท่านได้เป็นโสดาบันก่อนคนอื่นท่านได้ความเห็นว่า

ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺ ตํ นิโรธธมมํ

สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นล้วนมีความดับเป็นธรรมดา


แลพระสารีบุตรพบพระอัสสชิ ได้ฟังอริยสัจย่อว่า.

เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตํ ตถาคโต เตสญฺจ
โย นิโรโธ จ เอวํวาที มหาสมโณ

“ธรรมเหล่าใดเกิดแต่ธาตุ
พระตถาคตเจ้าทรงแสดงเหตุของธรรมเหล่านั้น
และความดับของธรรมเหล่านั้น
พระมหาสมณะมีปรกติกล่าวอย่างนี้”


ท่านก็ได้ดวงตาเห็นธรรม ละสักกายทิฏฐิได้.

(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 06 ก.ย. 2008, 4:37 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

• ถาม

ถ้าเช่นนั้นท่านก็เห็นความจริงของปัญจขันธ์ถ่ายความเห็นผิด
คือ ทิฏฐิวิปลาสเสียได้

ส่วนสีลัพพัดกับวิจิกิจฉา ๒ อย่างนั้น ทำไมจึงหมดไปด้วย ?

• ตอบ

สักกายทิฏฐินั้น เป็นเรื่องของความเห็นผิด

ถึงสีลัพพัตก็เกี่ยวกับความเห็นว่า
สิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกจะได้ดีให้ชั่วได้
วิจิกิจฉานั้นเมื่อผู้ที่ยังไม่เคยเห็นความจริง
ก็ต้องสงสัยเป็นธรรมดา

เพราะฉะนั้นท่านที่ได้ดวงตาเห็นธรรม
คือ เห็นความจริงของสังขารทั้งปวง


ส่วนสีลัพพัตน้น เพราะความเห็นของท่านตรงแล้วจึงเป็นอจลสัทธา
ไม่เห็นไปว่าสิ่งอื่น นอกจากกรรมที่เป็นกุศลแลอกุศล
จะให้ดีให้ชั่วได้จึงเป็นอันละสีลัพพัตอยู่เอง


เพราะสังโยชน์ ๓ เป็นกิเลสประเภทเดียวกัน.

• ถาม

ถ้าตอบสังโยชน์ ๓ อย่างนี้แล้ว
มิขัดกันกับสักกายทิฏฐิตามแบบที่ว่า ไม่เป็นตัวเป็นตนหรือ ?

• ตอบ

คำที่ว่าไม่เป็นตัวเป็นตนนั้น เป็นเรื่องที่เข้าใจเอาเองต่างหาก
เช่น กับพระโกณฑัญญะเมื่อฟังธรรมจักร
ท่านก็ละสักกายทิฏฐิได้แล้ว
ทำไมจึงต้องฟังอนัตตลักขณะสูตรอีกเล่า
นี่ก็ส่อให้เห็นได้ว่าท่านผู้ที่ละสักกายทิฏฐิได้นั้น
คงไม่ใช่เห็นว่าไม่เป็นตัวเป็นตน.

• ถาม

ถ้าเช่นนั้นที่ว่าอนัตตา ก็คือเห็นว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอย่างนั้นหรือ ?

• ตอบ

อนัตตาในอนัตตลักขณะสูตร
ที่พระพุทธเจ้าทรงซักพระปัญจวัคคีย์
มีเนื้อความว่าขันธ์ ๕ ไม่เป็นไปในอำนาจ
สิ่งที่ไม่เป็นไปในอำนาจบังคับไม่ได้จึงชื่อว่าเป็นอนัตตา

ถ้าขันธ์ ๕ เป็นอัตตาแล้วก็คงจะบังคับได้
เพราะฉะนั้นเราจึงควรเอาความว่าขันธ์ ๕ ที่ไม่อยู่ในอำนาจ
จึงเป็นอนัตตา เพราะเหตุที่บังคับไม่ได้
ถ้าขันธ์ ๕ เป็นอัตตาตัวตนก็คงจะบังคับได้.

• ถาม

ถ้าเช่นนั้นเห็นอย่างไรเล่าจึงเป็นสักกายทิฏฐิ ?

• ตอบ

ตามความเห็นของข้าพเจ้าว่า ไม่รู้จักขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง เ
ห็นปัญจขันธ์ว่าตน และเที่ยงสุขเป็นตัวตนแก่นสาร
และเลยเห็นไปว่าเป็นสุภะความงามด้วย ที่เรียกว่าทิฏฐิวิปลาส
นี่แหละเป็นสักกายทิฏฐิเพราะฉะนั้นจึงเป็นคู่ปรับกัน

ยงฺกิญจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ

ซึ่งเป็นความเห็นถูกความเห็นชอบจึงถ่ายความเห็นผิดเหล่านั้นได้.

• ถาม

ถ้าเช่นนั้น ท่านที่ละสักกายทิฏฐิได้แล้ว อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา
จะเป็นอัธยาศัยได้ไหม ?

• ตอบ

ถ้าฟังดูตามแบบท่านเห็น

ยงฺกิญจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ ชัดเจน

อนิจฺจํ คงเป็นอัธยาศัย
ส่วนทุกขํกับอนตฺตา ถึงจะเห็นก็ไม่เป็นอัธยาศัย

เข้าใจว่าถ้าเห็น ปัญจขันธ์ เป็นทุกข์มากเข้า
กามราคะพยาบาท ก็คงน้อย

ถ้าเห็นปัญจขันธ์เป็นอนัตตามากเข้า
กามราคะพยาบาท ก็คงหมด

ถ้าเห็นว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ชัดเจนเข้า
สังโยชน์เบื้องบน ก็คงหมด

นี่เป็นส่วนความเข้าใจ
แต่ตามแบบท่านก็ไม่ได้อธิบายไว้.


• ถาม

ที่ว่าพระสกิทาคามี ทำกามราคพยาบาทให้น้อยนั้น ดุมัวไม่ชัดเจน
เพราะไม่ทราบว่าน้อยแค่ไหนไม่แตกหักเหมือนพระโสดาบัน
พระอนาคามีแลพระอรหันต์ ?

(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.ย. 2008, 8:55 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

• ตอบ

แตกหักหรือไม่แตกหักก็ใครจะไปรู้ของท่านเพราะว่าเป็นของเฉพาะตัว.

• ถาม

ถ้าจะสันนิษฐานไปตามแนวพระปริยัติก็จะชี้ตัวอย่างให้เข้าใจบ้างหรือไม่ ?

• ตอบ

การสันนิษฐานนั้นเป็นของไม่แน่ ไม่เหมือนอย่างได้รู้เองเห็นเอง.

• ถาม

แน่หรือไม่แน่ก็เอาเถิด ข้าพเจ้าอยากฟัง ?

• ตอบ

ถ้าเช่นนั้นข้าพเจ้าเห็นว่าท่านที่ได้เป็นโสดาบันเสร็จแล้ว
มีอัธยาศัยใจคอซึ่งต่างกับปุถุชน
ท่านได้ละกามราคะพยาบาทส่วนหยาบถึงล่วงทุจริต
ซึ่งเป็นฝ่ายอนาคามีได้ คงเหลือแต่อย่างกลาง อย่างละเอียดอีก ๒ ส่วน

ภายหลังท่านเจริญสมถวิปัสสนามากขึ้น
ก็ละกามราคะปฏิฆะสังโยชน์อย่างกลางได้อีกส่วน ๑
ข้าพเจ้าเห็นว่านี่แหละเป็นมรรคที่ ๒

ต่อมาท่านประพฤติปฏิบัติละเอียดเข้า
ก็ละกามราคะ พยาบาท
ที่เป็นอย่างละเอียดได้ขาด ชื่อว่าพระอนาคามี.

• ถาม

กามราคะ พยาบาทอย่างหยาบ
ถึงกับล่วงทุจริตหมายทุจริตอย่างไหน ?

• ตอบ

หมายเอาอกุศลกรรมบถ ๑๐ ว่าเป็นทุจริตอย่างหยาบ.

• ถาม

ถ้าเช่นนั้นพระโสดาบันท่านก็ละอกุศลกรรมบถ ๑๐ ได้ เป็นสมุจเฉทหรือ ?

• ตอบ

ตามความเห็นของข้าพเจ้า เห็นว่า กายทุจริต ๓
คือ ปาณา อทินนา กาเมสุมิจฉาจาร

มโนทุจริต ๓
อภิชฺฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ
นี้ละขาดได้เป็นสมุจเฉท


ส่วนวจีกรรมที่ ๔ คือมุสาวาทก็ละได้ขาด
ส่วนวจีกรรมอีก ๓ ตัว คือ ปิสุณาวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปละ
ได้แต่ส่วนหยาบที่ปุถุชนกล่าวอยู่
แต่ส่วนละเอียดยังละไม่ได้ต้องอาศัยสังวรความระวังไว้.

(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.ย. 2008, 8:59 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

• ถาม

ที่ต้องสำรวมวจีกรรม ๓ เพราะเหตุอะไร
ทำไมจึงไม่ขาดอย่างมุสาวาท ?

• ตอบ

เป็นด้วยกามราคะกับปฏิฆะสังโยชน์ทั้งยังละไม่ได้.

• ถาม

วจีกรรม ๓ มาเกี่ยวอะไรกับสังโยชน์ทั้ง ๒ ด้วยเล่า ?

• ตอบ

บางคาบบางสมัย เป็นต้นว่ามีเรื่องที่จำเป็นเกิดขึ้น
ในคนรักของท่านกับคนอีกคนหนึ่ง
ซึ่งเขาทำความไม่ดีอย่างใดอย่างหนึ่ง
จำเป็นที่จะต้องพูด

ครั้นพูดไปแล้วเป็นเหตุให้เขาห่างจากคนนั้น จึงต้องระวัง

ส่วนปิสุณาวาจา
บางคราวความโกรธเกิดขึ้นที่สุดจะพูดออกไป
ด้วยกำลังใจที่โกรธว่าพ่อมหาจำเริญ แม่มหาจำเริญ
ที่เรียกว่าประชดท่าน
ก็สงเคราะห์เข้าในผรุสวาจา
เพราะเหตุนั้นจึงต้องสำรวม

ส่วนสัมผัปปลาป นั้นดิรัจฉานกถาต่างๆ มีมาก
ถ้าสมัยที่เผลอสติมีคนมาพูดก็อาจจะพลอยพูดไปด้วยได้
เพราะเหตุนั้นจึงต้องสำรวม.

• ถาม

อ้อพระโสดาบันยังมีเวลาเผลอสติอยู่หรือ ?

• ตอบ

ทำไมท่านจะไม่เผลอ
สังโยชน์ยังอยู่อีกถึง ๗
ท่านไม่ใช่พระอรหันต์จะได้บริบูรณ์ด้วยสติ.

• ถาม

กามราคะ พยาบาท อย่างกลางหมายความเอาแค่ไหน
เมื่อเกิดขึ้นได้รู้ ?

• ตอบ

ความรักและความโกรธที่ปรากฏขึ้น
มีเวลาสั้นหายเร็วไม่ถึงกับล่วงทุจริต
นี่แหละเป็นอย่างกลาง.

• ถาม

ก็กามราคะ พยาบาท อย่างละเอียดนั้นหมายเอาแค่ไหน
แลเรียกว่าพยาบาทดูหยาบมาก เพราะเป็นชื่อของอกุศล ?

(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.ย. 2008, 9:01 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

• ตอบ

บางแห่งท่านก็เรียกว่าปฏิฆะสังโยชน์ก็มี
แต่ความเห็นของข้าพเจ้าว่า ไม่ควรเรียกพยาบาท
ควรเรียกปฏิฆะสังโยชน์ดูเหมาะดี.

• ถาม

ก็ปฏิฆะกับกามราคะที่อย่างละเอียดนั้นจะได้แก่อาการของจิตเช่นใด ?

• ตอบ

ความกำหนัดที่อย่างละเอียด
พอปรากฏขึ้นไม่ทันคิดออกไปก็หายทันที
ส่วนปฏิฆะนั้น เช่นคนที่สาเหตุโกรธกัมมาแต่ก่อน
ครั้นนานมาคนโกรธนั้นก็หายไปแล้ว
และไม่ได้นึกถึงเสียเลย

ครั้นไปถึงที่ประชุมแห่งใดแห่งหนึ่ง
ไปพบคนนั้นเข้ามีอาการสะดุดใจ
ไม่สนิทสนมหรือเก้อเขิน
ผิดกับคนธรรมดาซึ่งไม่เคยมีสาเหตุกัน

ข้าพเจ้าเห็นว่าอาการเหล่านี้เป็นอย่างละเอียด
ควรจะเรียกปฏิฆะสังโยชน์ได้
แต่ตามแบบท่านไม่ได้อธิบายไว้.

• ถาม

สังโยชน์ทั้ง ๒ นี้ เห็นจะเกิดจากคนโดยตรง
ไม่ใช่เกิดจากสิ่งของทรัพย์สมบัติอื่น ๆ ?

• ตอบ

ถูกแล้ว เช่นวิสาขะอุบาสกเป็นพระอนาคามีได้ยินว่า
หลีกจากนางธัมมทินนา
ไม่ได้หลีกจากสิ่งของทรัพย์สมบัติอื่น ๆ
ส่วนความโกรธหรือปฏิฆะที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องของคนทั้งนั้น
ถึงแม้จะเป็นเรื่องสิ่งของก็เกี่ยวข้องกับคน
ตกลงโกรธคนนั่นเอง.

• ถาม

ส่วนสังโยชน์เบื้องต่ำนั้น ก็ได้รับความอธิบายมามากแล้ว
แต่ส่วนสังโยชน์เบื้องบน ๕ ตามแบบที่อธิบายไว้ว่า รูปราคะ
คือ ยินดีในรูปฌาน อรูปราคะ ยินดีในอรูปฌาน
ถ้าเช่นนั้นคนที่ไม่ได้บรรลุฌานสมาบัติ ๘ สังโยชน์ทั้ง ๒
ก็ไม่มีโอกาสจะเกิดได้

เมื่อเป็นเช่นนี้สังโยชน์ ๒ ไม่มีหรือ ?

• ตอบ

มี ไม่เกิดในฌาน ก็ไปเกิดในเรื่องอื่น.

(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.ย. 2008, 9:07 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

• ถาม

เกิดในเรื่องไหนบ้าง ขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจ ?

• ตอบ

ความยินดีในรูปขันธ์
หรือความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้นชื่อว่า รูปราคะ

ความยินดีในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
หรือยินดีในสมถวิปัสสนา
หรือยินดีในส่วนมรรคผล ที่ได้บรรลุเสขคุณแล้ว
เหล่านี้ก็เป็น อรูปราคะ ได้.


• ถาม

ก็ความยินดีในกาม ๕ พระอนาคามีละได้แล้วไม่ใช่หรือ
ทำไมจึงมาเกี่ยวกับสังโยชน์เบื้องบนอีกเล่า ?

• ตอบ

กามมี ๒ ชั้น ไม่ใช่ชั้นเดียว

ที่พระอนาคามีละนั้น เป็นส่วนความกำหนัดในเมถุน
ซึ่งเป็นคู่กับพยาบาท

ส่วนความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ที่ไม่ได้เกี่ยวกับเมถุน จึงเป็นสังโยชน์เบื้องบน คือ รูปราคะ

ส่วนความยินดีในนามขันธ์ทั้ง ๔
หรือ สมถวิปัสสนาหรือมรรคผลชั้นต้นๆ เหล่านี้ ชื่อว่า อรูปราคะ
ซึ่งตรงกับความยินดีในธัมมารมณ์


เพราะฉะนั้นพระอรหันต์ทั้งหลายเบื่อหน่ายในรูปขันธ์
หรือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
เป็นภายนอกจึงได้สิ้นไปแห่งรูป ราคะสังโยชน์
และท่านเบื่อในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
และสมถหรือวิปัสสนาที่อาศัยขันธ์
เกิดขึ้นเมื่อท่านสิ้นความยินดีในนามขันธ์แล้ว

แม้ธรรมทั้งหลายอาศัยขันธ์เกิดขึ้นท่านก็ไม่ยินดี
ได้ชื่อว่าละความยินดียินร้ายในนามรูปหมดแล้ว
ท่านจึงเป็นผู้พ้นแล้วจากความยินดียินร้ายในอารมณ์ ๖
จึงถึงพร้อมด้วยคุณ คือ ฉะลังคุเบกขา.


• ถาม

แปลกมากยังไม่เคยได้ยินใครอธิบายอย่างนี้
ส่วนมานะสังโยชน์นั้น มีอาการอย่างไร ?

• ตอบ

มานะสังโยชน์นั้นมีอาการให้วัด
เช่นกับนึกถึงตัวของตัว ก็รู้สึกว่าเป็นเรา

ส่วนคนอื่นก็เห็นว่าเป็นเขา แลเห็นว่าเราเสมอกับเขา
หรือเราสูงกว่าเขาหรือเราต่ำกว่าเขา

อาการที่วัดชนิดนี้แหละเป็นมานะสังโยชน์
ซึ่งเป็นคู่ปรับกับอนัตตา

หรือ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา.

(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 11 ต.ค.2008, 12:51 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

• ถาม

ก็อุทธัจจสังโยชน์นั้นมีลักษณะอย่างไร
เช่นพระอนาคามีละสังโยชน์เบื้องต่ำได้หมดแล้ว
ส่วนอุทธัจจสังโยชน์จะฟุ้งไปทางไหน ?

• ตอบ

ตามแบบท่านอธิบายไว้ว่าฟุ้งไปในธรรม
เพราะท่านยังไม่เสร็จกิจจึงได้ฝักใฝ่อยู่ในธรรม.

• ถาม

อวิชชาสังโยชน์นั้นไม่รู้อะไร ?

• ตอบ

ตามแบบท่านอธิบายไว้ว่า

ไม่รู้ขันธ์ที่เป็นอดีต ๑ อนาคต ๑ ปัจจุบัน ๑
อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาท ๑
ความไม่รู้ในที่ ๘ อย่างนี้แหละชื่อว่า อวิชชา.


• ถาม

พระเสขบุคคลท่านก็รู้อริยสัจ ๔ ด้วยกัน ทั้งนั้น
ทำไม่อวิชชาสังโยชน์จึงยังอยู่ ?

• ตอบ

อวิชชามีหลายชั้น เพราะฉะนั้นวิชชาก็หลายชั้น
ส่วนพระเสขบุคคล มรรคแลผลชั้นใดที่ท่านได้บรรลุแล้ว
ท่านก็รู้เป็นวิชชาขึ้น ชั้นใดยังไม่รู้ ก็ยังเป็นอวิชชาอยู่
เพราะฉะนั้นจึงหมดในขั้นที่สุด คือ พระอรหันต์.


• ถาม

พระเสขบุคคลท่านเห็นอริยสัจ แต่ละตัณหาไม่ได้
มิไม่ได้ทำกิจในอริยสัจหรือ ?

• ตอบ

ท่านก็ทำทุกชั้นนั้นแหละ แต่ก็ทำตามกำลัง.

• ถาม

ที่ว่าทำตามชั้นนั้นทำอย่างไร ?

• ตอบ

เช่น พระโสดาบัน ได้เห็นปัญจขันธ์ เกิดขึ้นดับไป
ก็ชื่อว่าได้กำหนดรู้ทุกข์ และได้ละ สังโยชน์ ๓
หรือ ทุจริตส่วนหยาบๆ ก็เป็นอันละสมุทัย
ความที่สังโยชน์ ๓ สิ้นไปเป็นส่วนนิโรธตามชั้นของท่าน

ส่วนมรรคท่านก็ได้เจริญมีกำลังพอละ สังโยชน์ ๓ ได้
แลท่านปิดอบายได้ชื่อว่าทำภพคือทุคติให้หมดไป
ที่ตามแบบเรียกว่า ขีณนิรโย มีนรกสิ้นแล้ว

ส่วนพระสกิทาคามี ก็ได้กำหนดทุกข์ คือ ปัญจขันธ์
แล้วแลละกามราคะ พยาบาทอย่างกลางได้ชื่อว่าละสมุทัย
ข้อที่กามราคะ พยาบาทอย่างกลางหมดไป
จึงเป็นนิโรธของท่าน

ส่วนมรรคนั้นก็เจริญมาได้เพียงละกามราคะพยาบาท
อย่างกลางนี้แหละจึงได้ทำภพชาติให้น้อยลง

ส่วน พระอนาคามี ทุกข์ได้กำหนดแล้ว
ละกามราคะพยาบาท
ส่วนละเอียดหมดได้ชื่อว่าละสมุทัย
กามราคะพยาบาทอย่างละเอียดที่หมดไปจึงเป็นนิโรธของท่าน

ส่วนมรรคนั้นก็ได้เจริญมาเพียงละสังโยชน์ ๕ ได้หมด
แลได้สิ้นภพ คือ กามธาตุ.

(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 11 ต.ค.2008, 1:00 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

• ถาม

ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เป็นโลกีย์กับโลกุตตรนั้น ต่างกันอย่างไร ?

• ตอบ

ศีล สมาธิ ปัญญา ของผู้ปฏิบัติ
อยู่ในภูมิกามาพจร รูปาพจร อรูปาพจร
นี่แหละเป็นโลกีย์ที่เรียกว่า วัฏฏคามีกุศล
เป็นกุศลที่วนอยู่ในโลก

ส่วนศีล สมาธิ ปัญญา
ของท่านผู้ปฏิบัติตั้งแต่โสดาบันไปแล้ว
เรียกว่า วิวัฏฏคามีกุศล
เป็นเครื่องข้ามขึ้นจากโลก
นี่แหละเป็นโลกุตตร.


• ถาม

ท่านที่บรรลุฌานถึงอรูปสมาบัติแล้ว ก็ยังเป็นโลกีย์อยู่
ถ้าเช่นนั้นเราจะปฏิบัติให้เป็นโลกุตตรก็เห็นจะเหลือวิสัย ?

• ตอบ

ไม่เหลือวิสัย พระพุทธเจ้าท่านจึงทรงแสงธรรมสั่งสอน
ถ้าเหลือวิสัยพระองค์ก็คงไม่ทรงแสดง.

• ถาม

ถ้าเราไม่ได้บรรลุฌานชั้นสูง ๆ
จะเจริญปัญญาเพื่อให้ถึงซึ่งมรรคแลผลจะได้ไหม ?

• ตอบ

ได้เพราะวิธีที่เจริญปัญญาก็ต้องอาศัยสมาธิจริงอยู่
แต่ไม่ต้องถึงกับฌาน อาศัยสงบจิตที่พ้นนิวรณ์
ก็พอเป็นบาทของวิปัสสนาได้.

• ถาม

ความสงัดจากกามจากอกุศลที่ผู้บรรลุฌานโลกีย์
กับความสงัดจากกาม
จากอกุศลของพระอนาคามีต่างกันอย่างไร ?


• ตอบ

ต่างกันมาก ตรงกันข้ามที่เดียว.

• ถาม

ทำไมจึงได้ต่างกันถึงกับตรงกันข้ามทีเดียว ?

• ตอบ

ฌานที่เป็นโลกีย์ ต้องอาศัยความเพียร
มีสติคอยระวังละอกุศล
แลความเจริญกุศลให้เกิดขึ้นมีฌานเป็นต้น

และยังต้องทำกิจที่คอยรักษาฌานนั้นไว้ไม่ให้เสื่อม
ถึงแม้จะเป็นอรูปฌานที่ว่าไม่เสื่อมในชาตินี้
ชาติหน้าต่อๆไปก็อาจจะเสื่อมได้
เพราะเป็น กุปปธรรม.


(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 11 ต.ค.2008, 1:07 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

• ถาม

ถ้าเช่นนั้น ส่วนความสงัดจากกามอกุศลของ อนาคามี
ท่านไม่มีเวลาเสื่อมหรือ ?

• ตอบ

พระอนาคามี ท่านละ กามราคะสังโยชน์
กับ ปฏิฆะสังโยชน์ได้ขาด

เพราะฉะนั้นความสงัดจากกามจากอกุศลของท่าน
เป็นอัธยาศัย ที่เป็นเองอยู่เสมอ
โดยไม่ต้องอาศัยความเพียรเหมือนอย่างฌานที่เป็นโลกีย์
ส่วนวิจิกิจฉาสังโยชน์นั้นหมดมาตั้งแต่เป็นโสดาบันแล้ว

เพราะฉะนั้นอุทธัจจนิวรณ์ที่ฟุ้งไปหากามและพยาบาทก็ไม่มี
ถึงถีนะมิทธนิวรณ์ก็ไม่มี

เพราะเหตุนั้นความสงัดจากกามจากอกุศลของท่านจึงไม่เสื่อม
เพราะเป็นเองไม่ใช่ทำเอาเหมือนอย่างฌานโลกีย์.


• ถาม

ถ้าเช่นนั้นผู้ที่ได้บรรลุพระอนาคามี
ความสงัดจากกามจากอกุศล
ที่เป็นเองมิไม่มีหรือ ?

• ตอบ

ถ้านึกถึง พระสกิทาคามี
ที่ว่าทำสังโยชน์ทั้งสองให้น้อยเบาบาง
น่าจะมีความสงัดจากกามจากอกุศล
ที่เป็นเองอยู่บ้างแต่ก็คงจะอ่อน.

• ถาม

ที่ว่าพระอนาคามีท่านเป็นสมาชิกบริปูริการีบริบูรณ์ด้วยสมาธิ
เห็นจะเป็นอย่างนี้เอง ?

• ตอบ

ไม่ใช่เป็นสมาธิ
เพราะว่าสมาธินั้นเป็นมรรคต้องอาศัยเจตนา
เป็นส่วน ภาเวตัพพธรรม

ส่วนของพระอนาคามีท่านเป็นเอง
ไม่มีเจตนาเป็น สัจฉิกาตัพพธรรม
เพราะฉะนั้นจึงได้ต่างกันกับฌานที่เป็นโลกีย์.

• ถาม

นิวรณ์แลสังโยชน์นั้น
ข้าพเจ้าทำไมจึงไม่รู้จักอาการ คงรู้จักนิวรณ์แลสังโยชน์ ?

• ตอบ

ตามแบบในมหาสติปัฏฐานพระพุทธเจ้าสอนสาวก
ให้รู้จักนิวรณ์แลสังโยชน์
พระสาวกของท่านตั้งใจกำหนดสังเกต
ก็ละนิวรณ์แลสังโยชน์ได้หมดจดเป็นพระอรหันต์โดยมาก


ส่วนท่านที่เป็นอินทรีย์อ่อน
ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็เป็นพระเสขบุคคล

ส่วนเราไม่ตั้งใจไม่สังเกตเป็น
แต่จำว่านิวรณ์หรือสังโยชน์
แล้วก็ตั้งกองพูดแลคิดไป
จึงไม่พบตัวจริงของนิวรณ์และสังโยชน์

เมื่อมีอาการของนิวรณ์แลสังโยชน์อย่างไรก็ไม่รู้จัก
แล้วจะละอย่างไรได้.

(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง