Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 หน้าที่ของชีวิต (ท่านพุทธทาสภิกขุ) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 12 มี.ค.2005, 1:38 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

หน้าที่ของชีวิต
ธรรมกถาหน้าเชิงตะกอนโดย
พระธรรมโกศาจารย์ (ท่านพุทธทาสภิกขุ)
สวนโมกชพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี



ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย

บัดนี้เป็นโอกาสแห่งการศึกษาฉากสุดท้ายสำหรับสิ่งที่มีชีวิต คือบัดนี้ได้มีการแสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่า ชีวิตนี้จะจบลงอย่างไร ปรากฏการณ์อันนี้ ควรจะได้รับความสนใจศึกษาให้เป็นประโยชน์ จึงควรถือว่าเป็นโอกาสสุดท้ายของการศึกษาจากสิ่งที่มีชีวิต


หน้าที่ของสังขาร

ความตายเป็นหน้าที่ของสังขาร สังขารคือสิ่งปรุงแต่งจากเหตุจากปัจจัย เมื่อเหตุปัจจัยบางส่วนหยุดปรุงแต่ง มันก็มีความตายบางส่วน ปรากฏออกมาสำหรับสังขารส่วนนั้น จึงถือว่าการตายเป็นหน้าที่ของสังขาร หรือสังขารที่หน้าที่ที่จะต้องตายดังนั้นจึงไม่ควรมีความประหลาดใจอะไรในส่วนนี้


หน้าที่ของชีวิต

ส่วนการทำประโยชน์ให้ดีที่สุดเป็นหน้าที่ของคนที่มีชีวิตอยู่ คนที่มีชีวิตอยู่จะต้องบำเพ็ญหน้าที่ของตนสืบต่อไป ในความหมายที่ว่า จะให้ชีวิตนี้มีประโยชน์ที่สุดส่วนตัวก็ได้รับประโยชน์ ส่วนสังคมในวงแคบ เช่น บ้านเมือง ประเทศชาติก็ได้รับประโยชน์ ในวงกว้างที่สุด โลกก็ควรจะได้รับประโยชน์ แต่ดูจะเป็นคำกล่าวที่ยามที่จะปฏิบัติได้ แต่ก็ควรระลึกนึกไว้ ถ้าคนในโลกคิดกันอย่างนี้แล้ว โลกก็จะเป็นโลกที่น่าอยู่ น่าอาศัยยิ่งกว่านี้


ความปรารถนาของผู้ล่วงลับไปแล้ว

ถ้าเราจะมานึกกันดูว่า ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วนี่ จะขอร้องอะไรแก่เรา เข้าใจว่าเขาจะต้องขอร้องว่า ขอให้ผู้ที่มีชีวิตอยู่นี้ พยายามทำความเป็นมนุษย์ของตนให้เต็ม คือเป็นมนุษย์โดยแท้จริงและเต็มเปี่ยม

มนุษย์ที่เต็มเปี่ยมแห่งความเป็นมนุษย์ ก็หมายความว่า เป็นมนุษย์ที่ไม่มีปัญหา มีความเยือกเย็น ทั้งในแง่ของวัตถุในแง่ของร่างกาย และในแง่ของจิตใจและมีการสงเคราะห์เพื่อนมนุษย์ โดยแผนการหรือทรัพย์สินที่ตั้งไว้ กำหนดไว้แต่งตั้งไว้เพื่อการนั้นโดยเฉพาะ ถ้าเห็นแต่ประโยชน์ของตน ไม่มองเห็นประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์แล้ว ไม่เรียกว่าเป็นมนุษย์ที่เต็มไปได้เลย


มนุษย์ที่เต็มแห่งความเป็นมนุษย์

อีกอย่างหนึ่ง อยากจะพูดว่ามนุษย์ที่เต็มไปด้วยความเป็นมนุษย์นั้น ดูไม่จำเป็นที่ใครจะต้องบำเพ็ญกุศลอุทิศให้ ในความเป็นมนุษย์ที่เต็มนั้น มันมีความดีความงาม ความถูกต้องครบถ้วนอยู่ทุกอย่าง เป็นเหตุเป็นปัจจัยอันบริบูรณ์ ที่จะให้เขาได้รับประโยชน์สุขอย่างแท้จริงทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ไม่ใช่พูดอย่างโอหัง แต่พูดอย่างมีเหตุผลหรือตามความเป็นจริง ที่จะพูดว่ามนุษย์ที่เต็มแห่งความเป็นมนุษย์ดูไม่จำเป็นที่ใครจะต้องบำเพ็ญกุศลอุทิศให้

เดี๋ยวนี้เขามัวแต่หลงในประเพณี ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กันเสียเรื่อย จนดูคล้ายๆ กับว่าคงจะหอบหรือหาบเอาไปด้วยไม่ไหว แต่แล้วก็ดูจะยังไม่สำเร็จประโยชน์อะไร เพราะว่าไม่มีคุณธรรมแห่งความเป็นมนุษย์แล้ว ทำอย่างไรเสียมันก็ไปสู่สุคติไม่ได้ นี่เราจึงถือว่ามนุษย์ที่เต็ม ไม่ต้องมีใครทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ก็ได้ ไม่ใช่เป็นการท้าทาย แต่มันเป็นความจริง ที่ไม่ใคร่จะมีใครมอง


หลักการเป็นมนุษย์ที่เต็ม

ที่นี้จะพูดกันสักหน่อยว่า การเป็นมนุษย์ที่เต็มนั้น จะต้องทำอย่างไรบ้างขอร้องให้พิจารณากันให้ดีๆ ว่า มนุษย์ที่เต็มแห่งความเป็นมนุษย์นั้น เขาจะตั้งต้นไปตั้งแต่ความเป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา เป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ เป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อน เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ เป็นศาสนิกชนที่ดีของศาสนา ครบทั้ง 5 ประการนี้แล้ว เขาก็เป็นมนุษย์ที่เต็ม


เป็นบุตรที่ดี

ดังนั้นทุกคนควรจะสำรวจดูตัวเองว่า เดี๋ยวนี้เป็นบุตรที่ดีของบิดามารดาหรือเปล่า แม้จะอายุมากแต่หัวหงอกแล้ว มันก็ยังมีความเป็นบุตรของบิดามารดาคนใดคนหนึ่งอยู่นั่นเอง แม้จะล่วงลับไปแล้ว ได้ทำตนให้เป็นบุตรที่ดีของบิดามารดาหรือเปล่า ได้ทำให้บิดามารดาชื่นอกชื่นใจ ตลอดเวลาที่มีชีวิตอยู่หรือเปล่า ถ้ายังมันก็ได้คะแนนศูนย์ในข้อนี้


เป็นศิษย์ที่ดี

ทีนี้เป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์นั้น ก็หมายความว่าครูบาอาจารย์นำไปได้ตามต้องการหรือเปล่า ไปสู่ความดีความงาม ความถูกต้องยิ่งๆ ขึ้นไปนั้น ครูบาอาจารย์ นำไปได้หรือเปล่า ถ้าปรากฏว่านำไปไม่ได้ ก็ไม่เป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์


เป็นเพื่อนที่ดี

ทีนี้เป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อนนั้น ได้ช่วยเหลือกันอย่างเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือเปล่า ถ้าไม่ได้ช่วยเหลือเพื่อนกันอย่างขนาดนั้น ก็ยังไม่เรียกว่าเพื่อนที่ดีของเพื่อน


เป็นพลเมืองที่ดี

เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติหรือเปล่า ข้อนี้ก็พูดกันมากแล้ว แต่อยากจะขอย้ำสักหน่อยว่า ถ้าชาติตาย เราตายด้วย แต่ถ้าเราตาย ชาติไม่จำเป็นต้องตาย เราให้ชาติอยู่อย่างมั่นคง สำหรับเป็นที่ตั้งแห่งเพื่อนมนุษย์ทุกคน


เป็นศาสนิกที่ดี

ทีนี้เป็นศาสนิกที่ดีของศาสนหรือเปล่า คิดดูเถิดว่า ได้ใช้เวลากี่เปอร์เซ็นต์ของเวลาที่มีอยู่ สนใจเรื่องของพระศาสนา ใช้เวลากี่เปอร์เซ็นต์ในเรื่องของการทำมาหากิน เรื่องสรวลเสเฮฮา เรื่องความสุขสนุกสนาน

ถ้าพูดกันจริงๆ แล้ว ดูจะไม่ถึง 0.5 เปอร์เซ็นต์หรือบางที 0.05 เปอร์เซ็นต์ เข้าไปอีก ที่สนใจในเรื่องราวของพระศาสนา นอกนั้นเกิน 99 เปอร์เซ็นต์ สนใจเรื่องส่วนตัว ทำงานให้กิเลส ไม่ได้ทำงานให้แก่พระศาสนา ซึ่งเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ถ้าอย่างนี้ก็ไม่ชื่อว่าเป็นศาสนิกที่ดีของศาสนา

จึงขอทบทวนอีกครั้งหนึ่งว่า การที่จะเป็นมนุษย์ที่เต็มนั้น ต้องเป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา คือทำให้บิดามารดาชื่นอกชื่นใจเพราะบุตรคนนี้อยู่ตลอดเวลา เป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์นั้น ก็คือครูบาอาจารย์นำไปได้ตามประสงค์ ศิษย์คนนี้ประสบความสำเร็จสูงสุดของความเป็นมนุษย์

เป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อนนั้น ได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในลักษณะเป็นเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นพลเมืองที่ดีของชาติ หมายความว่าเห็นแก่ชาติยิ่งกว่าเห็นแก่ตัวเอง หรือเห็นแก่พรรคพวกของตัวเอง คนเรามักจะเห็นแก่ตัวเองหรือพรรคพวกของตัวเอง มากกว่าเห็นแก่ชาติ เห็นแก่ศาสนานั้นหมายความว่า เห็นแก่เพื่อนมนุษย์หรือโลกเป็นส่วนรวม เพราะว่าศาสนานั้นมีอยู่สำหรับคนทั้งโลกรอดได้


คำขอร้องครั้งสุดท้าย

ในที่สุดนี้ขอให้เป็นเสมือนหนึ่งว่า ท่านผู้ล่วงลับไปแล้วนั้น ได้กล่าวแก่เราทุกคนอย่างนี้ ได้แสดงความหวังในลักษณะเป็นคำขอร้องก็ได้ ว่าอย่างนี้ ว่าให้เพื่อนทุกคนมิตรสหายผู้รักใคร่หวังดีทุกคน จงรีบทำความเป็นมนุษย์ของตนให้เต็มเถิด ก็ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบกับพุทธศาสนา

คำกล่าวนี้พอสมควรแก่เวลาแล้ว ขอแสดงความหวังว่า ท่านทั้งหลายจะได้นำไปพินิจพิจารณา เสมือนหนึ่งคำร้องของผู้เป็นที่รักที่ได้ล่วงลับไปแล้ว มีสรีระทิ้งไว้เฉพาะหน้าเป็นอนุสรณ์ทางวัตถุครั้งสุดท้าย ทุกคนจึงควรทำให้ท่านผู้ล่วงลับไปแล้วได้รับความพอใจ ถ้ามีความรู้สึกได้โดยทางใดทางหนึ่งแล้ว ก็จะได้รับความพอใจจะดีกว่าบำเพ็ญกุศลกันอย่างลมๆ แล้งๆ ตามขนบธรรมเนียมประเพณี แล้วมิได้ประพฤติกระทำให้สมตามความประสงค์แท้จริงของผู้ล่วงลับไปแล้วเลย

โอกาสนี้ก็สมควรแก่การที่จะได้บำเพ็ญการฌาปนกิจตามหน้าที่ต่อไป



........................................................

บทความธรรมะจาก
http://www.tungsong.com/
 

_________________
"อย่าลืมตัว อย่าลืมปัจจุบัน อย่าลืมปฏิบัติ"
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง