Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 พระโสดาบัน (พุทฺธวิริโย ภิกฺขุ) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
RARM
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 28 ก.ค. 2007
ตอบ: 417

ตอบตอบเมื่อ: 08 ก.พ.2008, 5:20 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พระโสดาบัน
ในสมัยพุทธกาลพระอริยสาวกที่มีมากที่สุดก็คือ พระโสดาบัน พระโสดาบันในสมัยนั้นมีมากกว่าผู้ถึงไตรสรณาคมน์เสียอีก สำหรับชาวบ้านผู้ครองเรือน การบรรลุโสดาบันถือได้ว่าเป็นเป้าหมายของชีวิตเป็นความปลอดภัยของชีวิต เพราะผู้บรรลุโสดาบันเป็นผู้ปิดประตูแห่งอบายภูมิได้แล้ว เป็นผู้ที่เกิดอีกอย่างมากไม่เกินเจ็ดชาติ
แต่ในสมัยปัจจุบัน การบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก บางคนบอกว่าเป็นสิ่งที่อยู่ไกลเกินฝัน แม้เพียงแค่การรักษาศีล ๕ ก็ยังทำไม่ค่อยได้ ดังนั้น เลยไม่ค่อยมีใครเพียรพยายามเพื่อบรรลุธรรมเป็นโสดาบัน
สาเหตุอีกประการหนึ่งก็คือ ไม่ค่อยมีใครรู้ว่าพระโสดาบันคือใคร บางคนเข้าใจผิดคิดว่าพระโสดาบันต้องเป็นภิกษุเท่านั้น ชาวบ้านเป็นพระโสดาบันไม่ได้ ซึ่งเป็นการเข้าใจผิดอย่างยิ่ง
จากเหตุผลดังกล่าว จึงได้เขียนเรื่องพระโสดาบันขึ้น ด้วยเหตุผล ๔ ประการ คือ
๑.เพื่อให้มนุษย์ผู้มีกิเลสน้อย มีกำลังใจวิริยะอุตสาหะในการปฏิบัติธรรม
๒.เพื่อแก้ความเข้าใจผิดของมนุษย์บางคนที่บอกว่า การบรรลุธรรมเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก
๓.เพื่อเป็นคู่มือในการปฏิบัติธรรมของบุคคลทั่วไป
๔.เพื่อความเจริญงอกงาม ตั้งมั่น ไพบูลย์ของพระสัทธรรม


พระโสดาบันคือใคร?
พระโสดาบันคือบุคคลพิเศษ มีลักษณะที่พอจะประมวลได้ดังนี้
๑.พระโสดาบัน คือบุคคลผู้เข้าถึงกระแสธรรมแล้ว (กระแสแห่งพระ-นิพพาน)
๒.เป็นผู้ที่จะตรัสรู้ในกาลข้างหน้าอย่างแน่นอน
๓.เป็นอริยบุคคล คือเป็นบุคคลผู้ประเสริฐในโลก (ใจประเสริฐ)
๔.เป็นบุคคลที่ประกอบด้วยลักษณะสังฆคุณ ๙ ประการ
๕.เป็นผู้ที่พ้นจากนรก เปรต อสุรกาย และสัตว์ดิรัจฉานได้อย่างเด็ดขาด
๖.เป็นผู้มีราคะ โทสะ และโมหะเบาบาง จนไม่อาจนำไปสู่อบายภูมิได้

ปฏิบัติอย่างไรจึงจะเป็นพระโสดาบัน?
ผู้ที่ใครจะบรรลุเป็นพระโสดาบัน จะต้องปฏิบัติตามหลัก
๔ ประการนี้ ซึ่งเรียกว่า “โสตาปัตติยังคะ” แปลว่า องค์คุณของการบรรลุโสดาบัน ๔ ประการ หากไม่ประพฤติตามหลักธรรม ๔ ข้อนี้ จะไม่บรรลุธรรมได้เลย ธรรมทั้ง ๔ ข้อนี้ก็คือ

๑. สัปปุริสสังเสวะ คือ การคบสัตบุรุษ
๒. สัทธัมมัสสวนะ คือ การฟังพระสัทธรรม
๓. โยนิโสมนสิการ คือ การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย
๔. ธัมมานุธัมมปฏิบัตติ คือ การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม




คุณสมบัติของพระโสดาบัน
พระโสดาบันทุกท่านเป็นผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๔ ประการดังนี้ คือ
๑.เป็นผู้ที่ประกอบด้วยความเลื่อมใสอย่างแน่นแฟ้นในพระพุทธเจ้าว่า “แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นนายสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเป็นผู้ตื่นแล้วเบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม”
๒.เป็นผู้ที่ประกอบด้วยความเลื่อมใสอย่างแน่นแฟ้นในพระสัทธรรมว่า “พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว อันผู้ได้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน”
๓.เป็นผู้ที่ประกอบด้วยความเลื่อมใสอย่างแน่นแฟ้นในพระสงฆ์ว่า “พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติตรงแล้ว ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติชอบคือคู่บุรุษ ๔ บุรุษ บุคคล ๘ นั่นคือ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ควรรับของบูชา เป็นผู้ควรรับของต้อนรับ เป็นผู้ควรรับของทำบุญ เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นบุญเขตของชาวโลก ไม่มีเขตอื่นยิ่งกว่า”
๔.เป็นผู้ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้ารักใคร่ (อริยกันตศีล) อันไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท อันวิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาและทิฏฐิไม่ลูบคลำ เป็นไปเพื่อสมาธิ




พระโสดาบัน ๓ ประเภท
พระโสดาบันมี ๓ จำพวก คือ
๑.เอกพีชี คือ พระโสดาบันผู้ที่จะเกิดอีกเพียงครั้งเดียวก็จะบรรลุนิพพาน
๒.โกลังโกละ คือ พระโสดาบันผู้ที่จะเกิดอีก ๒-๖ ชาติก็จะบรรลุนิพพาน
๓.สัตตักขัตตุปรมะ คือ พระโสดาบันผู้ที่จะเกิดอีกอย่างมากไม่เกิน ๗ ชาติ

พระโสดาบันต้องละอะไรได้บ้าง?
พระโสดาบันต้องเป็นผู้ละสังโยชน์ (เครื่องผูก) ๓ ประการ ได้อย่างเด็ด-ขาด คือ
๑.ละสักกายทิฏฐิ คือ ละความเห็นเป็นเหตุให้เห็นแก่ตัวได้อย่างเด็ดขาด
๒.ละวิจิกิจฉา คือ ละความลังเลสงสัยในกุศลธรรมได้อย่างเด็ดขาด
๓.ละสีลัพพตปรามาส คือ ละความเชื่อถือศักดิ์สิทธิ์ ด้วยเข้าใจว่ามีได้ด้วยอำนาจศีลและพรตได้อย่างเด็ดขาด
๑) สักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นอันเป็นเหตุให้คนเห็นแก่ตัว
อ.วศิน อินทสระ ได้อธิบายความหมายของสักกายทิฏฐิไว้ในหนังสือ “ธรรมปฏิสันถาร หน้า ๔๑ ไว้ว่า
“สักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นว่ากายนี้เป็นของตนหรือเป็นตัวตนของเรา ซึ่งเป็นความเห็นที่ผิด จริงๆ แล้วกายของเรานี้หรือของใครก็ตาม เป็นกระบวนการตามธรรมชาติ เกิดขึ้นเพราะการรวมตัวของธาติคือ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ (ช่องว่าง – space) และวิญญาณรวมเป็นธาตุ ๖ เมื่อธาตุ ๖ รวมกันก็สมมติว่าเป็นคน อันที่จริงคนเป็นเพียงสิ่งสมมติอย่างหนึ่ง จริงๆ แล้วไม่มี แต่คนทั้งหลายมักไปยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวตน นอกจากยึดถือกายของตนแล้ว ยังไปยึดกายของผู้อื่นว่าเป็นของตนอีก
ผู้ละสักกายทิฏฐิได้แล้ว ย่อมเห็นกายเป็นเพียงประมวลแห่งธาตุ ๔ หรือ ธาตุ ๖ ดังกล่าวแล้ว เมื่อเห็นชัดเจนอยู่ในใจอย่างนี้ ใครทำร้ายร่างกายก็ไม่ทำร้ายตอบ พระโสดาบันจึงรักษาศีลข้อปาณาติบาตได้อย่างบริสุทธิ์”

๒) วิจิกิจฉา คือ ความเคลือบแคลงสงสัยในกุศลกรรม
อ.วศิน อินทสระ ได้อธิบายวิจิกิจฉาไว้ในหนังสือ “ธรรมปฏิสันถาร หน้า ๔๒” ไว้ว่า
“วิจิกิจฉา คือความลังเลสงสัยในคุณของพระรัตนตรัย สงสัยในทางให้ถึงนิพพาน สงสัยในเรื่องชาติก่อน ชาติหน้า นรก สวรรค์ ซึ่งคนโดยทั่วไปสงสัยกันมาก โดยที่สุดเรื่องทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ก็ยังมีคนสงสัยอยู่ความสงสัยอย่างนี้ไม่มีแก่พระโสดาบัน”
ความลังเลสงสัยมีหลายประการ แต่ความลังเลสงสัยที่จัดว่าเป็นนิวรณ์ ซึ่งเป็นธรรมที่ขัดขวางต่อการบรรลุธรรม คือความสงสัยในกุศลธรรมเท่านั้น ความสงสัยในเรื่องอื่น ไม่จัดว่าเป็นวิจิกิจฉานิวรณ์ (ความสงสัยที่สกัดกั้นคุณความดี)
๓) สีลัพพตปรามาส คือ ความเชื่อถือศักดิ์สิทธิ์ว่ามีได้ด้วยศีลและพรต
อ.วศิน อินทสระ ได้อธิบายสีลัพพตปรามาสไว้ในหนังสือ “ธรรมปฏิสันถาร หน้า ๔๒” ไว้ว่า
“สีลัพพตปรามาส คือการลูบคลำศีลและวัตร ได้แก่ การเข้าไปเกี่ยวข้องศีลและวัตรในทางที่ผิด ขอให้คิดอย่างนี้ก่อน การรักษาศีลก็เพื่อคามบริสุทธิ์แห่ง กาย วาจา นี่คือจุดมุ่งหมาย แต่การรักษาศีลเพื่อให้ได้ ลาภ ยศ สรรเสริญ อย่างนี้ผิดจุดมุ่งหมายเป็นศีลปรามาส
การประพฤติวัตรต่างๆ เช่น การไม่กินอาหารเวลาหลังเที่ยงไปแล้ว (ยามวิกาล) การไม่ประดับประดาตกแต่งร่างกายด้วยของหอม เป็นต้น ก็เพื่อขัดเกลากิเลสให้เบาบาง แต่ถ้าประพฤติวัตรเพื่อให้ได้ ลาภ ยศ ชื่อเสียง หรือเพื่อให้เกิดความขลัง เป็นต้น อย่างนี้ผิดจุดมุ่งหมาย เป็นวัตรปรามาส รวม ๒ อ่าง เป็นสีลัพพตปรามาส”
รู้ได้อย่างไรว่าใครคือโสดาบัน
เนื่องจากพระโสดาบัน มีลักษณะภายนอกเหมือนบุคคลธรรมดาทั่วไป มีเพียงใจของท่านเท่านั้นที่ประเสริฐกว่าคนอื่นๆ ดังนั้น การจะรู้ว่าใครเป็นโสดาบัน โดยดูจากลักษณะภายนอกจึงไม่อาจทราบได้ เพราะโสดาบันบางคนก็เป็นพ่อบ้าน-แม่บ้าน บางคนก็เป็นคนใช้ (นางชุชชุตรา) บางคนก็เป็นโรคเรื้อน (นายสุปปะพุทธกุฏฐิ) เป็นต้น แต่ถึงอย่างนั้นพระโสดาบันก็มีลักษณะทางใจที่พอจะให้เรากำหนดรู้ได้ ดังนี้

๑.-เป็นผู้ละความเห็นแก่ตัว ความสงสัยในกุศลธรรมและความเชื่อถือหรือความยึดถือในศีลและวัตรปฏิบัติที่งมงายได้อย่างเด็ดขาด
๒.-เป็นผู้ประกอบด้วยความศรัทธาอันไม่หวั่นไหว (อจลา สทฺธา) และความเลื่อมใสอย่างแน่นแฟ้น (อเวจฺจปฺสาโท) ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าชอบใจ ๘ ประการ
๓.-เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ แม้ตัวตายก็ไม่ยอมละเลิกสิกขาบท (ศีล) ที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติแล้วตลอดชีวิต ดังที่พระองค์ตรัสไว้ใน “ปหาราสูตร” ว่า (๒๓/๑๗๔)
“ดูก่อนปหาราท มหาสมุทรเต็มเปี่ยมอยู่เสมอ ไม่เคยล้นฝั่ง ฉันใด สาวกทั้งหลายของเราก็ฉันนั้น ย่อมไม่ล่วงสิขาบท (ศีล) ที่เราบัญญัติขึ้นแล้ว แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต”
๔.-เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ในทุก ๆ ชาติ ที่ยังเกิดอยู่ ดังที่กล่าวไว้ในคัมภีร์
สุมังคลวิลาสินี ๑ หน้า ๒๗๔ ว่า
“แม้ในระหว่างที่ยังเกิดอยู่ทุกๆ ชาติ พระอริยสาวกย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ย่อมไม่ดื่มสุรา แม้เพราะเหตุแห่งชีวิตเลย”
๕.-เป็นผู้ที่ประกอบด้วยคุณสมบัติของอุบาสก ๑๐ ประการ คือ (ข้อนี้หมายเอาเฉพาะอุบาสก-อุบาสิกาที่เป็นโสดาบันเท่านั้น ไม่รวมถึงภิกษุ – สามเณรโสดาบัน)
๑) เป็นผู้ร่วมสุขและทุกข์เสมอด้วยภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย
๒) เป็นผู้รักษาความประพฤติทางกาย และทางวาจาได้เรียบร้อยดี
๓) เป็นผู้ถือธรรม (ความถูกต้อง) เป็นใหญ่เท่านั้น
๔) เป็นผู้ยินดีทำบุญทำทานตามกำลัง
๕) เป็นผู้ที่พยายามศึกษาเรียนรู้คำสั่งสอนของพระศาสดายิ่งขึ้น
๖) เป็นคนที่มีความเห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
๗) เป็นผู้ไม่เชื่อข่าวลือ คือเป็นผู้เชื่อกรรมไม่เชื่อมงคล เช่น ไม่เชื่อว่าการลอดท้องช้างจะทำให้มีโชคมีลาภ ดังที่เขาเล่าลือกัน แต่เชื่อว่าโชคลาภย่อมมีได้ด้วยความขยันหมั่นเพียรเท่านั้น ดังคำสุภาษิตว่า “แสวงหาลาภจากงาน ดีกว่าบนบานบวงทรวง”
๘) แม้จะสิ้นชีวิตก็จะไม่นับถือศาสนาอื่นอีกนอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๙) เป็นผู้ชอบความสามัคคี ยินดีให้บุคคลมีความสามัคคีกัน และทำแต่สิ่งที่จะสมานสามัคคีกัน
๑๐) เป็นผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ และไม่เอาพระศาสนาไปหลอกใครหากิน

ทำบุญอย่างไรถึงจะเป็นพระโสดาบัน
การทำบุญนั้นแบ่งเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ
๑.วัฏฏคามินีกุศล คือ การทำบุญให้ทาน รักษาศีล หรือเจริญภาวนา เพื่อต้องการโภคะสมบัติ คือ ปรารถนาให้ตนร่ำรวยเป็นเศรษฐี มหา-เศรษฐี เป็นคนมียศถาบรรดาศักดิ์ เป็นเทวดา หรือเกิดเป็นพระพรหม เป็นต้น
๒.วิวัฏฏคามินีกุศล คือ การทำบุญให้ทาน รักษาศีล หรือเจริญภาวนาเพื่อต้องการหลุดพ้นไปจากโลก เพื่อต้องการดับกิเลสโดยตรง
การทำกุศลด้วยแนวความคิดในประเภทที่ ๒ นี้เท่านั้น จึงจะทำให้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันโดยเร็วพลัน

อานิสงส์ของการบรรลุโสดาบัน
พระโสดาบันเป็นผู้ได้รับสิทธิพิเศษเหรือกว่าผู้อื่น ๓ ประการ คือ
๑.เป็นผู้เหลือทุกข์แค่เล็กน้อย ดังที่ปรากฏในนขสิขสูตร (๑๖/๑๔๗) ว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบัณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงเอาปลายพระนขา(เล็บ)ช้อนฝุ่นขึ้นมาเล็กน้อย แล้วตรัสกะพระภิกษุทั้งหลายว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน? ฝุ่นประมาณน้อยนี้ที่เราเอาปลายเล็บช้อนขึ้นกับแผ่นดินใหญ่นี้ อย่างไหนจะมากกว่ากันหนอ”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แผ่นดินใหญ่นี้แหละมากกว่า ฝุ่นที่ปลายเล็บนี้มีประมาณน้อย เมื่อเทียบกับแผ่นดินใหญ่แล้ว ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๐๐ ไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑,๐๐๐ ไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๐๐,๐๐๐
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลายฉันนั้นแหละเหมือนกัน ความทุกข์ที่หมดสิ้นไปของบุคคลผู้เป็นพระอริยสาวก ผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ผู้ตรัสรู้แล้ว มีมากกว่าส่วนที่เหลือมีประมาณน้อย เมื่อเทียบเข้ากับกองทุกข์ที่หมดสิ้นไปอันมีในก่อน ไม่เข้าถึงเสี้ยวที่ ๑๐๐ ไม่เข้าถึงเสี้ยวที่ ๑,๐๐๐ ไม่เข้าถึงเสี้ยวที่ ๑๐๐,๐๐๐
ดูกรภิกษุทั้งหลาย การตรัสรู้ธรรมให้สำเร็จประโยชน์ใหญ่อย่างนี้แล การได้ธรรมจักษุให้สำเร็จประโยชน์ใหญ่อย่างนี้”
๒.เป็นผู้ปิดประตูอบายได้แล้ว (ปิหิตาปายทฺวาโร) จะไม่ไปเกิดในสถานที่อันต่ำช้าอีกต่อไป ดังที่พระโสดาบันทุกท่านจะมีญาณเป็นเครื่องรู้ตัวว่า “เราเป็นผู้มีนรกกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน เปรตวิสัย อบาย ทุคติ วินิบาต สิ้นแล้ว, เราเป็นพระโสดาบันมีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงแท้ มีอันจะตรัสรู้ในภายหน้า”
๓.เป็นผู้ประเสริฐกว่าใครๆ ในโลก ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า
โสดาบันปัตติผล ประเสริฐกว่า กว่าการเป็นพระราชาแต่ผู้เดียวในแผ่นดิน กว่าการไปสู่สวรรค์และกว่าความเป็นใหญ่ในโลกทั้งปวง
พึงอนุเคราะห์กันด้วยโสตาปัตติยังคะเถิด
ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ไม่เคยฟังธรรม เมื่อจะอนุเคราะห์กัน มักจะมอบของขวัญที่มีค่ามากให้แก่กัน เช่น บ้าน ที่ดิน ทรัพย์สินเงินทอง หรือยศถาบรรดาศักดิ์ ฯลฯ เป็นต้น นั่นเป็นการอนุเคราะห์ที่ไม่ประเสริฐเลย
การอนุเคราะห์ที่ประเสริฐ คือการแนะนำพร่ำสอน ให้ตั้งมั่นอยู่ในโสตาปัตติยังคะ ๔ ประการเท่านั้น ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า
(มิตตามัจจสูตร ๑๙/๓๖๔)
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชนทั้งหลายที่พวกเธอจะพึงอนุเคราะห์ก็ดี ชนทั้งหลายที่พอจะรับฟังคำสั่งสอนได้ก็ดี ไม่ว่าจะเป็นมิตร เป็นผู้ร่วมงาน เป็นญาติ หรือเป็นสายโลหิต, พวกเธอชักชวนแนะนำพร่ำสอน ให้เขาเหล่านั้น ตั้งอยู่ในองค์คุณแห่งพระโสดาบัน ๔ ประการเถิด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหาภูตรูป ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ พึงมีความแปรเป็นอย่างอื่นไปได้ ส่วนอริยสาวกที่ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่พึงมีความแปรปรวนเป็นอย่างอื่นได้เลย การที่พระอริยสาวกผู้ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว จักบังเกิดในนรก กำเนิดสัตว์เดรัจฉาน หรือเปรตวิสัย ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้”

พุทฺธวิริโย ภิกฺขุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 09 ก.พ.2008, 3:39 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ...สาธุ...สาธุเจ้าค่ะ สาธุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง