Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 เมื่อท่านตายแล้วท่านจะไปไหน (อาจารย์บุญมี เมธางกูร) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
kerpam
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 01 ก.พ. 2008
ตอบ: 14

ตอบตอบเมื่อ: 03 ก.พ.2008, 12:52 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

เมื่อท่านตายแล้วท่านจะไปไหน
โดย อาจารย์บุญมี เมธางกูร


พอเอ่ยถึงคำว่า “ความตาย” บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลายต่างก็มีความเข้าใจกันเป็นอย่างดีว่า หมายความถึงอะไร เพราะเคยรู้เคยเห็นคนและสัตว์เดรัจฉานที่ตายมาแล้วมากต่อมาก

ถ้าจะตั้งคำถามว่า “ความตายคืออะไร?” ผู้ตอบคำถามนี้ ก็จะตอบด้วยความลำบากใจเพราะจะหาคำตอบไม่ได้ง่ายนัก

แต่ถ้าจะถามว่า “เหตุใดจึงต้องตาย” ผู้ตอบคำถามดังกล่าวก็จะตอบได้ยากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเห็นแต่เหตุตื้นๆเผินๆ เช่นป่วยไข้ หรือเชื้อโรคมาทำลาย
ถ้าจะถามต่อไปว่า “ในขณะที่กำลังตายนั้น ร่างกายและจิตใจทำการงานอะไรบ้าง?” ผู้ตอบคำถามนี้ถ้ามิได้เคยศึกษาพระอภิธรรมให้เข้าใจดี ก็หมดปัญญาที่จะตอบคำถามอันเป็นปัญหาที่ลึกซึ้งดังกล่าวได้อย่างแน่นอน

แม้คำว่า.. “ ความตายคืออะไร? ” ..ซึ่งดูเสมือนว่า เป็นคำถามที่จะตอบได้ง่ายๆหรือ ถึงจะเป็นคำถามที่พอจะตอบกันได้ ก็เป็นการตอบตามสามัญสำนึกของบุคคลทั้งหลาย หาได้เป็นไปตามหลักวิชาปรมัตถ์อันเป็นความจริงแท้ไม่ ด้วยเหตุดังนี้ จึงมิได้ถูกต้องสมบูรณ์จริงๆ

สำหรับคำถามที่ว่า “เหตุใดจึงต้องตาย ?” ผู้ตอบคำถามนี้ ก็มักจะเอาเหตุที่ห่างไกลเกินไปมาอ้าง เช่นว่า เพราะต้องอาวุธ ของมีคม อวัยวะในส่วนสำคัญเสียหายหรือเลือดออกไม่หยุด กินอาหารไมได้ หรือเพราะว่าเชื้อโรคร้ายแรงมาทำให้ร่างกายทำงานต่อไปไม่ไหว

เมื่อฟังดูแล้วก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องตายซึ่งน่าจะถูกต้องดีแล้ว แต่ถ้าว่าตามหลักของสภาวธรรม ....คำตอบนี้ยังเป็นเหตุที่ห่างไกลต่อความจริงอยู่มาก เพราะตัวการที่ทำให้ต้องตายอย่างสำคัญ หรือเหตุใกล้ชิดติดกันของความตายนั้นยังมีอีกต่างหาก ซึ่งผู้ปรารถนาที่จะหาความรู้ในเรื่องนี้ให้เข้าใจจริงๆก็จะต้องศึกษา และจะต้องศึกษาจากพระอภิธรรมปิฎก ซึ่งมีคำอธิบายในเรื่องนี้อย่างละเอียดลออพิสดาร

ส่วนคำถามที่ว่า “ในขณะที่ตายนั้น มันมีการงานอะไรกันบ้าง ในขณะที่กำลังตายนั้น ผู้ตายมีความเจ็บปวดหรือหาไม่ มีความรู้สึกสำนึกตัวเพียงใด ”
คำอธิบายในเรื่องนี้ วิทยาการทางโลกโดยทั่วไปยังไม่มี นอกจากจะนึกค้นเดาเอา แล้วแต่ผู้ใดจะได้อบรมมาจากทางไหน ก็ตอบไปตามสายทางนั้น เช่นตอบว่าผู้ที่จะถึงแก่ความตายย่อมจะเจ็บปวดสาหัส จิตหรือวิญญาณซึ่งเป็นดวงๆ หรือเป็นควันออกจากร่างกายของคนตายแล้ว ก็จะไปสิงอยู่ในรูปที่ๆชีวิตอื่นต่อไป หรือมิฉะนั้นก็ว่า วิญญาณดับสูญไปเลย เกิดอีไม่ได้ เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังมีเรื่องที่ถกเถียงกันมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ถกเถียงกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่มีใครสามารถที่จะตัดสินชี้ขาดเอาเป็นยุติได้

..นั่นก็คือ.. เรื่องของความเชื่อในบุคคล ๒ ฝ่าย

คือฝ่ายหนึ่งมีความเห็นว่า คนเรานั้นถึงที่แล้วก็ต้องตายไม่มีใครจะมีชีวิตอยู่อีกต่อไปได้

อีกฝ่ายหนึ่งกลับมีความเห็นว่า ไม่มีขอบเขตของเวลาตาย ถึงที่แล้วต้องตายนั้น ไม่เป็นความจริง จะถึงที่หรือไม่ถึงที่ ถ้ามีเหตุมาทำให้ตายแล้วก็จะต้องตายอย่างแน่นอนทั้งนั้น

อย่าว่าแต่เรื่องตายแล้วไปเกิดได้อย่างไรเลย... แม้ความตายจะต้องเกิดขึ้นกับใครๆทุกคน ไม่ช้าก็เร็วก็จริง หรือแม้ความตายนั้นเราจะเห็นอยู่ต่อหน้า ...คือในความตายของคนหรือของสัตว์อยู่เสมอ

และแม้ว่าเราได้เผชิญหน้ากับความตายหลังจากได้เกิดมีชีวิตขึ้นมาแล้วจนนับชาติไม่ไหว แต่เราก็มิได้เข้าใจความตายเลยแม้แต่น้อย

ทำไมวิทยาการในโลกนี้ก็มีมากมาย ถึงจะลึกซึ้งประการใดนักปราชญ์ราชบันฑิตทั้งหลายผู้มีความสามารถก็ค้นคว้าขึ้นมาได้เป็นส่วนมาก แต่เรื่องของความตายที่อยู่ใกล้ๆแค่เอื้อม ค้นคว้าเท่าใดก็ได้ แต่คว้าน้ำเหลว ทั้งนี้ก็เพราะใช่วิสัยของปุถุชนผู้ซึ่งหนาไปด้วยกิเลส

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดงเรื่องของความตายไว้อย่างละเอียดลออพิสดารมาก ผู้ศึกษาจะต้องอดทนค่อยๆศึกษาไปตามลำดับแล้วจะหายสงสัยได้
ความตายคืออะไร.. เหตุใดจึงต้องตาย... ในขณะกำลังตายมีความเจ็บปวดบ้างหรือไม่มี...ความสำนึกรู้สึกตัวได้เพียงใด.... และถึงที่แล้วจึงต้องตายนั้นจริงหรือเปล่า?

เรื่องเหล่านี้จะต้องอาศัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น และโดยการศึกษาจากพระธรรมที่พระองค์ท่านตรัสรู้

เฉพาะอย่างยิ่งในพระอภิธรรมปิฎกท่านผู้ใดค่อยๆศึกษาไปจนมีความเข้าใจโดยมิได้ท้อถอยแล้ว ก็จะได้ความละเอียด ทั้งจะได้พบความเร้นลับพิสดารเป็นอย่างยิ่งในเรื่องต่างๆของชีวิต
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
kerpam
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 01 ก.พ. 2008
ตอบ: 14

ตอบตอบเมื่อ: 03 ก.พ.2008, 12:56 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ความตายคืออะไร ?

คำถามนี้ เป็นคำถามที่ให้คำตอบกันง่ายๆ โดยทั่วไปบุคคลทั้งหลายก็จะพากันตอบว่า.. ความตายคือการไม่หายใจ ความตายก็คือการดำเนินชีวิตให้เป็นไปตามปกติธรรมดาไม่ได้ทุกอย่าง

คำตอบเช่นนี้ก็มิได้ผิด แต่เป็นการถูกต้องผิวเผินเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง แต่ในสายตาของนักศึกษาเรื่องของชีวิตจากพระอภิธรรมปิฎกมีความเข้าใจดี..
แม้คำว่า “จุติ” ซึ่งแปลว่าดับหรือตาย ประชาชนส่วนใหญ่ ก็ยังเข้าใจผิดไป เพราะไปเข้าใจว่า จุติได้แก่การเกิด......

บางคนเอาไปตั้งชื่อร้านค้าขายของตนเองว่า “….จุติ” หรือเมื่อเห็นแสงที่เรียกกันว่าดาวตกจึงได้พากันพูดว่าเทวดาจุติ หมายความว่าเทวดาเกิดในท้องของมารดา อย่าได้ไปทักเข้า หาไม่แล้วจะเข้าไปเกิดในท้องสุนัข
ความตายก็ได้แก่ จุติหรือมรณะ
มีวจนัตถว่า..วจนํ จุติ
การเคลื่อนจากภพหนึ่ง (สู่ภพหนึ่ง) ชื่อว่า จุติ

มรณะ หรือ จุติ คือความตายนั้น จำแนกออกไปเป็น ๓ ประเภท คือ
๑. ขณิกมรณะ การดับไปของรูป- นามที่เกิดและดับไปอยู่ตลอดเวลา
๒. สมมติมรณะ คือการดับซึ่งได้แก่ความตายของคนหรือสัตว์ทั้งหลาย
๓. สมุจเฉทมรณะ ได้แก่การปรินิพพานของพระอรหันต์

ขณิกมรณะ ได้แก่การดับหรือการสลายตัวเปลี่ยนแปลงไปจนไม่เหมือนเดิมของบรรดารูปนามทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างกายหรือรูปอื่นใด จะเป็นจิตหรือวิญญาณ ซึ่งในวินาทีหนึ่งย่อมจะผันแปรเปลี่ยนแปลงไปมากมาย ไม่มีผู้ใดที่จะมาบังคับให้มันหยุดนิ่งได้

ขณิกมรณะนี้ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องชีวิตภายหลังความตายนัก ดังนั้นจึงของดไม่บรรยายในรายละเอียดต่อไป

สมุจเฉทมรณะ เป็นการสิ้นชีวิตของพระอรหันต์ผู้ซึ่งปราศจากกิเลสแล้ว ไม่มีการเกิดมีชีวิตขึ้นมาได้อีกต่อไป เพราะหมดอำนาจของเหตุปัจจัยที่จะมาส่งเสริม ดังนั้นจึงของดไม่บรรยายในรายละเอียดต่อไปด้วยเหมือนกัน
จะได้บรรยายเฉพาะสมมติมรณะซึ่งได้แก่ การดับหรือความตายของคนหรือสัตว์ทั้งหลายเท่านั้น
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
kerpam
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 01 ก.พ. 2008
ตอบ: 14

ตอบตอบเมื่อ: 03 ก.พ.2008, 12:57 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เมื่อท่านตายแล้วท่านจะไปไหน

เรื่องของความตายนี้ ถ้าจะว่าโดยปรมัตถธรรมอันเป็นความจริง จริงๆแล้ว“ความตาย” นั้นไม่มี คนเกิด คนตาย สัตว์เกิดหรือสัตว์ตายก็ไม่มีเหมือนกัน ทำไมถึงได้ว่าดังนั้น

เมื่อเราตัดต้นไม้มา นั่นก็คือเราตัด “รูป” คือต้นไม้นั้นแล้วมาทำเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เมื่อตัดออกแล้วก็สมมุติเรียกกันว่าต้นไม้ตาย รูปซึ่งเป็นต้นไม้นั้นก็มาเปลี่ยนแปลงเป็นโต๊ะเก้าอี้ไป..... เมื่อโต๊ะและเก้าอี้ซึ่งเป็นรูปผุพังลง โต๊ะเก้าอี้ก็หายไปจากสายตา มันก็กลายสภาพเป็นรูปไปอีกแบบหนึ่ง คือ “ดิน” แต่ดินเราก็เรียกว่าเป็น “รูป” เหมือนกัน ด้วยเหตุนี้เราจะพูดว่าโต๊ะเก้าอี้ตายก็ย่อมได้เหมือนกัน

ดังนั้นต้นไม้ก็คือ ..รูป โต๊ะเก้าอี้ก็คือ รูป... และดินก็คือ รูป
แต่รูปเหล่านี้มันไม่เหมือนกัน เราจึงสมมุติตั้งชื่อมันว่า.. ต้นไม้ โต๊ะเก้าอี้ และดิน เราตั้งชื่อมันเสียใหม่ เพื่อหวังว่าจะได้พูดกันให้รู้เรื่อง

เหมือนกับต้นไม้ตาย ความจริงต้นไม้มิได้ตาย เราจึงสมมุติให้เป็นที่เข้าใจกัน
เหมือนกับรถยนต์ตาย ความจริงรถยนต์มิได้ตาย แต่มันแล่นไปไม่ได้..เพราะเครื่องมันเสียเท่านั้นเอง เราก็สมมุติเพื่อจะให้รู้เรื่องว่า รถยนต์ตาย

ด้วยเหตุดังนี้เอง รูปคือร่างกายของสัตว์ทำการงานไปตามปกติมิได้แล้ว จิตใจหรือวิญญาณมิได้เกิดขึ้นมาได้แล้ว เราจึงได้สมมุติพูดกันว่า คนตายหรือสัตว์ตาย

แท้ที่จริง รูปคือร่างกายของคนหรือสัตว์ ที่เกิดดับเปลี่ยนแปลงไปมาในวินาทีหนึ่งตั้งมากมาย.. แม้จิตใจหรือวิญญาณของคนหรือสัตว์ก็เหมือนกัน ก็ย่อมจะเกิดดับเปลี่ยนแปลงไปมาในวินาทีหนึ่งนับไม่ไหว

ทั้งรูปและนามเกิดดับตลอดชั่วชีวิตหนึ่งนั้นนับคำนวณไม่ได้เลย.มีที่แปลกอยู่ตรงที่ว่า เมื่อชีวิตเกิดขึ้นมาใหม่ ในภพชาติใหม่นั้น มีรูปกายแปลกออกไป และจิตใจเมื่อไปได้สิ่งแวดล้อมใหม่เข้าแล้ว ก็อาจจะผิดไปบ้างนิดๆหน่อยๆ และค่อยๆผิดไปทีละน้อยๆ ตามแต่เหตุปัจจัยที่มาผันแปร

ถ้าจะว่าไปก็เปรียบเหมือนต้นไม้เมื่อก่อน แต่เดี๋ยวนี้มาเปลี่ยนเป็นโต๊ะเป็นเก้าอี้ไปเสียแล้ว.. และต่อมาก็เป็นดินไปอีก

แม้ผมจะได้อธิบายถึงปรมัตถธรรมว่า ไม่มีคนตาย ไม่มีสัตว์ตายก็จริง แต่ผมก็จำต้องอธิบายเรื่องความตายให้ท่านฟัง โดยเอาคำที่สมมุติกันว่าตายออกมาใช้ หาได้แล้วจะอธิบายได้อย่างไร

ขอให้ท่านทำความเข้าใจเอาไว้แต่เพียงว่าคนตาย หรือสัตว์ตายนั้น มิได้มีจริงๆ ทั้งรูปทั้งนามก็ย่อมจะผันแปรเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย เวลานี้มีรูปมีนามอยู่ที่นี่ เผลอไปอีกวินาทีหนึ่ง รูปนามนี้ก็อาจจะสืบต่อไปอยู่ในท้องของมารดา เป็นเพียงจุดเล็กๆจุดหนึ่งของมารดาอีกคนหนึ่งเสียก็ได้ แล้วต่อไปอีกไม่นานสักเท่าใดก็เป็นไปอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะได้เกิดเป็นเปรต อสุรกาย หรือเกิดเป็นเทวดา

ว่าโดยปรมัตถ์ คนหรือสัตว์คือทั้งรูปทั้งนาม ก็แตกดับไปแล้วก็เกิดทดแทนขึ้นมาใหม่อยู่ตลอดเวลาที่มีชีวิตอยู่ ..ซึ่งก็คือได้ตายไปอยู่ทุกวินาที
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
kerpam
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 01 ก.พ. 2008
ตอบ: 14

ตอบตอบเมื่อ: 03 ก.พ.2008, 1:00 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สมมติมรณะ

คือความตายของคนหรือสัตว์ทั้งหลาย คืออะไร?

ถ้าจะว่าโดยย่อแล้ว ความตายของคนหรือสัตว์ทั้งหลายก็ได้แก่ ความสิ้นสุดของรูปชีวิตและความสิ้นสุดของนามชีวิตในภพชาติหนึ่ง ..หรือจะพูดว่า ..ความตายก็คือจิต, เจตสิก และกรรมชรูปดับลงในภพชาติหนึ่ง (ในปัญจโวการภูมิ)

ประสาทตา ประสาทหู และหทัยวัตถุ เป็นต้น เป็นรูปที่เกิดมาด้วยอำนาจของกรรมแล้วมี “ชีวิตรูป” ควบคุมให้รูปเหล่านี้ดำเนินการไปได้ ชีวิตรูปมิได้เกิดขึ้นมาใหม่ในภพชาตินั้น ซึ่งก็คือหมดอำนาจลง ไม่สามารถควบคุมรูปเหล่านี้ได้อีกต่อไป

จิตกับเจตสิกเกิดขึ้นมาแต่ละครั้ง ก็ย่อมจะมี “ชีวิตนาม” ควบคุมให้จิต เจตสิก ดำเนินการงานไปได้ แต่เมื่อชีวิตนามดับลงเป็นครั้งสุดท้าย มิได้มีเกิดขึ้นมาอีกในชาตินั้นหมดเหตุ หมดปัจจัยที่จะสนับสนุนให้เกิดขึ้นมาได้ จิต เจตสิกจึงมิได้เกิดขึ้นมาอีกต่อไป การสืบต่อเฉพาะในชาตินั้นขาดสะบั้นลง เราจึงได้เรียกผู้นั้นว่า คนตาย หรือสัตว์ตาย

อย่างไรก็ดี ทั้งรูปและนามก็จะต้องสืบต่อไปอีกในภพชาติใหม่ตราบใดที่กิเลสตันหายังมิได้สูญหายไปจากจิตใจอย่างแน่นอน ... แต่กรรมชรูปที่มีชีวิตรูปควบคุม และนามคือจิต , เจตสิก ที่มีชีวิตนามควบคุมเอาไว้ให้ดำเนินการไปได้ เหตุใด เมื่อดับลงแล้วจึงมิได้เกิดขึ้นมาอีกตามปกติ ทำให้ความตายนั้นเกิดขึ้นมาเล่า ?
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
kerpam
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 01 ก.พ. 2008
ตอบ: 14

ตอบตอบเมื่อ: 03 ก.พ.2008, 1:02 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เหตุใดจึงต้องตาย ?

ตามความเข้าใจของบุคคลทั้งหลายมีความเห็นว่า คนที่ต้องตายลงไปนั้นก็ด้วยอาศัยเหตุต่างๆกัน ..เช่นถูกอาวุธมีคม เชื้อโรคร้ายมาเบียดเบียนทำลาย.... การย่อยอาหารเสียหายเรื้อรังจนร่างกายผ่ายผอมแล้วจึงได้ตายไป เหล่านี้เป็นต้น

บรรดาเหตุทั้งหลายที่เป็นตัวการนำให้บุคคลถึงแก่ความตายนั้น ก็เป็นการถูกต้องอยู่บ้าง แต่ยังเป็นเหตุที่ห่างไกล บางทีเป็นเหตุอันไม่สมควรเลย หรือไม่น่าจะเป็นไปได้เลย

แต่สำหรับในสภาวธรรมแล้วล้วงเข้าไปถึงสาเหตุที่ลึกซึ้งยิ่งกว่านี้มากนัก
คนที่คิดฆ่าตัวตายนั้น มิได้เกิดขึ้นมาได้ง่ายๆ บางคนมีความทุกข์มากอย่างเหลือเกิน ทั้งอดอยากยากจน ป่วยเจ็บเรื้อรัง ได้รับความทรมานอย่างแสนสาหัส หรือเป็นโรคเรื้อนจนน่าเกลียดน่ากลัว แล้วสังคมไม่ต้อนรับ จนไม่มีใครกล้าเข้าใกล้...... ถึงกระนั้นเขาก็ไม่ได้คิดฆ่าตนเอง

แต่บางคนมีเรื่องเพียงเล็กน้อยนิดเดียว เช่น ถูกพ่อแม่ดุ หรือเพราะสอบตก ก็ฆ่าตนเองเสียแล้ว เรื่องเพียงเท่านี้ไม่น่าจะเป็นสาเหตุทำให้คิดฆ่าตนเองเลย แล้วบางทีก็ฆ่าตนเองอย่างชนิดทรมานเสียด้วย เช่นใช้ของมีคมเฉือนตนเอง
แน่นอน ผู้ฆ่าตัวตายดังกล่าว เขาจะต้องมีเบื้องหลังอะไรที่เเอบแฝงซ่อนเร้นเอาไว้อยู่ในส่วนลึกของจิตใจเข้ามาสนับสนุนอยู่อย่างใกล้ชิด

แม้ตัวเจ้าของชีวิตเองก็ไม่รู้สึก ถ้าหากว่าไม่ได้ศึกษาหรือพิจารนาให้แยบเข้าไปในความมหัศจรรย์ของจิตใจ และอำนาจของกรรม นั่นก็คือ ตัวการที่มีอำนาจบันดาลใจ หรืออำนาจกระตุ้นใจให้แสดงออกซึ่งพฤติกรรมต่างๆ
บางคนโดนอาวุธ เช่นมีดหรือปืนจนเป็นแผลเหวอะหวะน่าเสียวไส้ เลือดก็ไหลโทรมร่างกาย ใครๆก็พากันพูดว่าจะต้องไม่รอดทั้งนั้น กลับไม่ตาย แต่บางคนแค่เป็นไข้เท่านั้นก็ถึงตายได้ ..แน่ละ อำนาจกรรมที่เรามองไม่เห็นตัว และคิดว่าไม่มีนั่นเอง เป็นตัวการใหญ่ที่สำคัญที่สุดที่แอบกระทำเอาอย่างเงียบๆ สำหรับ...ในเรื่องนี้ ผู้ศึกษาพระอภิธรรมโดยละเอียด ก็จะไม่มีความสงสัยเลย

บางคนอายุเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ความตายก็มาเยือนเสียแล้ว และที่ตายเสียก่อนที่จะเห็นเดือนตะวันก็มิใช่น้อย แต่บางคนกลับตรงกันข้าม เพราะมีอายุเข้าไปร่วมร้อย หรือร้อยกว่าขึ้นไป ทั้งร่างกายก็ยังแข็งแรงดีไม่ค่อยป่วยไข้
เมื่อความตายเกิดขึ้น ผู้อยู่หลังที่มิได้เข้าใจซึ้งถึงความจริง ก็อ้างว่าเพราะเหตุนั้น เพราะเหตุนี้ ซึ่งความจริงก็มิได้ผิด แต่บางทีก็ถูกน้อยเหลือเกิน เพราะเหตุที่ทำให้ต้องตาย ที่รู้เห็นได้ยากนั้นยังแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่อีก

สมมุติมรณะ คือ ความตายของสัตว์ทั้งหลาย ถ้าจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็อาจกล่าวได้ว่า ความตายก็คือ จิต เจตสิก และกรรมชรูปดับลง แล้วไม่เกิดขึ้นมาใหม่ในภพชาตินั้น (เว้นอสัญญสัตตา)

หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็ว่า... ความตายของสัตว์ทั้งหลาย (ในปัญจโวการภูมิ คือภูมิที่มีขันธ์ ๕ )นั้น หมดสิ้นอำนาจแห่งอนุบาลธรรม ๓ ประการ คือ
๑. ความหมดสิ้นไปแห่งกรรมชรูป
๒.ความหมดสิ้นไปแห่งอุสมาเตโชธาตุ
๓.ความหมดสิ้นไปแห่งภวังคจิต

๑.ความหมดสิ้นไปแห่งกรรมชรูป..ธรรมดาสัตว์ทั้งหลาย ย่อมมีรูปอันเกิดขึ้นมาจากอำนาจของกรรม ที่เรียกว่า กรรมชรูป อยู่ทั่งสรรพางค์กาย คือ ประสาทตา ประสาทหู ประสาทจมูก ประสาทลิ้น ประสาทกาย เพศหญิงหรือเพศชาย และหทยวัตถุ... อันเป็นที่ตั้งที่อาศัยของจิตใจ รูปทั้งหมดเหล่านี้เป็นรูปปรมาณู เกิดมาตั้งแต่ปฏิสนธิในครรภ์ของมารดา โดยอำนาจของกรรมที่ทำไว้ในอดีต ซึ่งมีอิทธิพลมาก สามารถเป็นตัวการปรุงแต่ง ผันแปรรูปที่ถ่ายทอดจากบิดามารดาให้เป็นรูปประสาท เช่นประสาทกายเป็นต้น

ตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิ และส่งเสริมปรุงแต่งเรื่อยมาจนเติบใหญ่ไปจนกว่าจะถึงแก่ความตาย รูปทั้งหลายดังกล่าวแล้วก็มีการสลายตัวไป และเกิดใหม่เพิ่มเติมชดเชยกันอยู่เรื่อยๆตลอดเวลาทุกๆวินาทีที่ผ่านไป โดยอำนาจของกรรมผลิตสร้างขึ้น ติดต่อกันอยู่เสมอไม่ขาดสายเหมือนน้ำที่ไหลอยู่ในลำธาร
ทุกครั้งที่กรรมชรูปสร้างรูปขึ้นมา ก็มีชีวิตรูปเกิดขึ้นร่วมด้วยทุกๆครั้งและทุกๆรูป ที่เรียกว่ากรรมชรูป

..แต่ครั้นถึงคราวที่ชีวิตจะสิ้นสุดลง เพราะหมดกำลังอำนาจของกรรมที่จะปกปักรักษารูป เฉพาะอย่างยิ่งหทยวัตถุ อันเป็นที่ตั้งที่อาศัยของจิตมิได้เกิดขึ้นมาแล้ว จิตก็จะดับและไม่เกิดขึ้นมาอีกสำหรับในภพนี้ บุคคลนั้นจึงถึงแก่ความตาย

ถ้าจะตั้งคำถามว่า เหตุใดกรรมชรูปที่เกิดขึ้นมาสืบต่อกันไปไม่ขาดสายนั้น เมื่อดับลงแล้ว.. ไฉนจึงมิได้เกิดขึ้นมาใหม่ตามที่เคยเป็นไป ทั้งนี้ก็เพราะว่า กรรมที่เป็นตัวปกปักรักษาให้ชีวิตดำรงคงอยู่นั้น หมดสิ้นอำนาจลง
เมื่อกรรมมิได้รักษาแล้ว รูปอันเกิดจากกรรมจึงมิได้ถูกผลิตสร้างขึ้นมา จิตเจตสิกจึงได้ดับลงไปพร้อมกัน เราจึงเรียกว่า “ตาย”

๒.ความหมดสิ้นไปแห่งอุสมาเตโชธาตุ ชีวิตทุกชีวิตที่ยังดำรงคงอยู่ได้ ก็ด้วยอาศัยอำนาจของอุสมาเตโช คือความร้อนที่ช่วยรักษาชีวิตเอาไว้ เมื่อการงานของชีวิตสะดุดหยุดลง อุสมาเตโชที่รักษาให้ชีวิตอยู่ได้ก็หมดกำลังอำนาจ ความตายจึงได้เกิดขึ้น

๓.ความหมดสิ้นไปแห่งภวังคจิต ภวังคจิตนั้นเป็นตัวการรักษาภพชาติเอาไว้ บัดนี้ ..ภวังคจิตดับลงไปโดยมิได้เกิดขึ้นเสียแล้ว ชีวิตของผู้นั้นก็ถึงที่สุดลง
การที่ชีวิตต้องถึงที่สุดลงนั้น ก็ด้วยอำนาจของกรรมเป็นประการสำคัญที่สุด ดังนั้นความตายเกิดขึ้นเพราะอำนาจของกรรมที่ปกปักรักษาให้ชีวิต ดำรงคงอยู่นั้นหมดสิ้นอำนาจลงแล้ว
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
kerpam
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 01 ก.พ. 2008
ตอบ: 14

ตอบตอบเมื่อ: 03 ก.พ.2008, 1:06 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ขณะตายมีความเจ็บปวดบ้างหรือไม่

ยังมีคนที่เข้าใจผิดอยู่ไม่น้อย ที่เข้าใจว่า ในเวลาตายคงจะเจ็บปวดแสนสาหัส ดังนั้น จึงมักจะพูดอยู่เสมอหรืออธิษฐานอยู่บ่อยๆว่า ขอให้กุศลผลบุญช่วยให้ตายสะดวกๆ อย่าต้องทรมานเลย

ในเรื่องนี้บางคนเชื่อเอาจริงๆ เพราะเคยเห็นคนใกล้จะตายร้องครวญครางและดิ้นรนกระวนกระวายกระสับกระส่ายอยู่เป็นเวลานานแล้วจึงได้ตาย
ในบางคนเท่านั้น ที่มีความเข้าใจว่า ความเจ็บปวดทรมานนั้นเกิดขึ้นเมื่อยังมิได้ตาย แต่ในขณะกำลังตายจะเจ็บปวดหรือไม่นั้นไม่ทราบ

การที่จะทำความเข้าใจในเรื่องนี้ ก็จะต้องทำความเข้าใจในเรื่อวิถีจิต... คือการทำงานของจิตว่าจิตใจมีการงานทำอย่างไร

แต่การทำงานของจิตนั้นมีมากมายด้วยกัน วิถีหรือการทำงานของจิตหลายประเภท ทำการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส รู้สึกถูกต้องทางกาย และมีความคิดนึกในเรื่องราวต่างๆ

วิถีหรือการทำงานของจิตบางประเภท ทำงานในเรื่องสมาธิจนกระทั่งได้ถึงฌาน เรียกว่า.. ปฐมฌาน.. ทุติยฌาน ตติยฌาน.. จตุตถฌาน.. ปัญจมฌาน.. ไปจนถึงอรูปฌานอีก ๔ ฌาน

วิถีหรือการทำงานของจิตบางประเภท.. ทำกำลังอำนาจของจิต ที่เรียกว่า “อภิญญาจิต” สามารถทำอิทธิฤทธิ์ได้ต่างๆ เช่น....การระลึกชาติได้เป็นต้น

วิถีหรือการทำงานของจิตบางประเภท ทำงานในเรื่องของการทำลายกิเลส ออกจากจิตใจได้โดยเด็ดขาด เรียกจิตประเภทนี้ว่า โลกุตรจิต คือมีนิพพานเป็นอารมณ์ เรียกว่า อริยมรรค อริยผล เป็นอริยบุคคล เริ่มตั้งแต่โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล ไปจนถึงอรหัตมรรค อรหัตผล

วิถีหรือการทำงานของจิตบางประเภท เช่นในขณะที่นอนหลับแล้วฝันไปในเรื่องราวต่างๆ ..มีฝันดีบ้าง... ฝันร้ายบ้าง ฝันแล้วก็เป็นจริงบ้าง... และไม่เป็นจริงบ้าง

วิถีหรือการทำงานของจิตในขณะตาย ...ในขณะเกิดในภพชาติใหม่.. และในขณะที่กำลังนอนหลับ

จุติ คือ ความตาย ปฏิสนธิ คือความเกิดในภพชาติใหม่ และภวังค์ คือการรักษาภพชาติ เช่นการนอนหลับ เป็นต้นนั้น <ถึงจะมีความแตกต่างกันอยู่ก็จริง.. แต่ก็เหมือนกันในบางประการ.... จำเป็นต้องทำความเข้าใจเรื่อง ทวาร เสียก่อน

ทวารก็ได้แก่ประตู ..ประตูก็ได้แก่.... ช่องทางเข้าออกของบุคคลทั้งหลาย เรามีประตูสำหรับเข้าไปทำงาน เช่น ประตูของกระทรวงทบวงกรม ไม่ใช่เข้าไปทำงานทางหน้าต่าง แต่ประตูก็มีหลายประตู บางคนก็เข้าประตูหนึ่ง และ บางคนก็เข้าอีกประตูหนึ่งเพื่อทำงาน

ถ้าไม่มีประตูเราก็เข้าไปทำงานไม่ได้ นอกจากบางคน ถึงจะเป็นส่วนน้อยก็ตาม ก็มีอยู่ที่ไม่ต้องเข้าประตูเลยก็ทำงานได้

ท่านทั้งหลายว่าผู้ใดเล่าที่ไม่ต้องเข้าประตูเลยก็ทำงานได้... ถ้าท่านคิดยังไม่ออกผมจะขอบอกให้ว่า..... ผู้ที่ไม่ต้องเข้าประตูเลยก็ทำงานได้ คนนั้นก็ได้แก่ ภารโรงนั่นเอง เพราะภารโรงอาศัยกินอยู่หลับนอนภายในกระทรวงนั้น ตื่นเช้าขึ้นมาก็เปิดประตูหน้าต่างและทำความสะอาดเลยทีเดียว

จิตใจของสัตว์ทั้งหลายก็เหมือนกัน มีจิตมากประเภททีเดียวที่ต้องทำงานทางทวารคือ ประตู.. แต่จิตที่ไม่ทำงานทางประตูก็มี แม้ว่าจะน้อยประเภทก็ตาม
จิตที่ต้องทำงานทางทวาร ในทางธรรมะ เรียกว่า ทวาริกจิต จิตที่ไม่ได้ทำงานทางทวาร ในทางธรรมะ เรียกว่า ทวารวิมุตจิต

จิตที่ทำงานทางทวาร บางทีก็ทำงานได้ทวารเดียวเรียกว่า.. เอกทวาริกจิต ก็มีทำงานได้หลายทวาร เรียกว่า ปัญจทวาริกจิตก็มี แล้วยังมีอื่นๆอีก ซึ่งเต็มไปด้วยตัวเลขควบคุมทั้งนั้น

แม้ทวารวิมุตจิตก็ดี บางประเภททำงานทางทวาร คือเป็นทวาริกจิต และบางประเภททำงานที่ไม่ต้องอาศัยทวารเลย.

ทวาริกจิต เป็นจิตที่ต้องทำงานทางทวารทั้ง ๖ คือ.. จักขุทวาร.. โสตทวาร ...ฆานทวาร... ชิวหาทวาร กายทวาร.. และมโนทวาร...

เพื่อทำงาน เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัสทางกาย และคิดนึก
ผู้ใดจะรู้อารมณ์ทั้ง ๖ นี้ โดยไม่มีทวารย่อมจะเป็นไปไม่ได้ เช่น เห็น ก็จะต้องอาศัยจักขุทวาร.. ได้ยินก็ต้องอาศัยโสตทวาร ได้กลิ่น ก็ต้องอาศัยฆานทวาร..... รู้รสก็ต้องอาศัยชิวหาทวาร... รู้ถูกต้องก็ต้องอาศัยกายทวาร ....รู้คิดนึกก็ต้องอาศัยมโนทวาร

๑. จักขุทวาร องค์ธรรมได้แก่ จักขุปสาท = ประสาทตา
๒. โสตทวาร องค์ธรรมได้แก่ โสตปสาท = ประสาทหู
๓. ฆานทวาร องค์ธรรมได้แก่ ฆานปสาท = ประสาทจมูก
๔. ชิวหาทวาร องค์ธรรมได้แก่ ชิวหาปสาท = ประสาทลิ้น
๕. กายทวาร องค์ธรรมได้แก่ กายปสาท = ประสาทกาย
๖. มโนทวาร องค์ธรรมได้แก่ ภวังคจิต ๑๙

รวมได้รูปทวาร ๕ และนามทวาร ๑ สำหรับภวังค์ก็ได้แก่ มโนทวาร เฉพาะทวารวิมุติจิต ซึ่งเป็นจิตที่ไม่ออกประตูทำงาน มี ๑๙ ประเภท คือ

อุเบกขาสันตีรณจิต ๒ (เป็นบาป ๑ เป็นบุญ ๑)
มหาวิบากจิต ๘
มหัคคตวิบากจิต ๙

จิตเหล่านี้ เป็นจิตที่เป็นผลของกรรมทั้งบาปและบุญที่ได้ทำเอาไว้
จิตที่เป็นวิบาก คือเป็นผลของกรรมเหล่านี้ กระทำงานพ้นจากการนับเป็นทวาร โดยมีหน้าที่การงาน ๓ อย่าง ทั้ง ๑๙ ประเภท... คือทำงานปฏิสนธิ.... ภวังค์ ....และจุติ

ปฏิสนธิได้แก่ทำหน้าที่เกิดในภพชาติใหม่
ภวังค์ซึ่งได้แก่องค์แห่งภพ รักษาภพชาติเอาไว้ เช่นในเวลานอนหลับ เป็นต้น

และจุติ คือ ดับหรือตายไปจากภพชาตินั้นๆ
จิตใดที่เป็นทวาริก ก็ย่อมจะแสดงออกซึ่งความรู้สึกต่างๆ เช่น เห็น ได้ยิน และคิดนึก ... จิตใดที่เป็นทวารวิมุติ พ้นจากการนับเป็นทวาร ย่อมจะไม่มีความรู้สึกนึกคิดอะไรทั้งสิ้น

ด้วยเหตุนี้อย่าว่าแต่ จุติ คือความตายเลย แม้ปฏิสนธิ กับภวังค์ ก็หาได้มีความรู้สึกนึกคิดมิได้

ท่านอาจจะสงสัยว่า เหตุใดจิตเกิดขึ้นมาทำงานแล้ว ไฉนมิได้มีความรู้สึกนึกคิดหรือรู้สึกสำนึกตัว

ผมก็จะถามท่านว่า ....
ในเวลานอนหลับสนิท จิตมิได้เกิดขึ้นมาหรือ ในเวลานอนหลับก็มิได้ตาย จิตก็เกิดขึ้นมาทำงาน แต่คนนอนหลับสนิท รู้สึกนึกคิด หรือรู้สึกสำนึกตัวบ้างหรือเปล่า

ปฏิสนธิ ภวังค์ และจุติ มิได้มีความรู้สึกสำนึกตัวดังนี้
จึงตอบคำถามได้ว่า ในขณะกำลังตายมิได้มีความเจ็บปวดแต่ประการใด เหมือนผู้ที่กำลังนอนหลับสนิทอยู่นั่นเอง

แต่อย่างไรก็ดี.. ในตอนก่อนที่จะถึงความตาย... ก็อาจจะมีความรู้สึกสำนึกตัว โดยมีความสุขความสบายอย่างเหลือแสน........ หรืออาจเกิดความทุกข์ทรมานประการใดก็ได้ ทั้งนี้ก็แล้วแต่อำนาจของกรรมที่ผู้นั้นได้กระทำมาเป็นสำคัญ

http://www.abhidhamonline.org/Ajan/BM/where.doc
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
chill
บัวพ้นดิน
บัวพ้นดิน


เข้าร่วม: 22 ก.พ. 2008
ตอบ: 85

ตอบตอบเมื่อ: 20 ส.ค. 2008, 7:50 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อนุโมทนานะคะ ยิ้มแก้มปริ
 

_________________
มีชีวิตอยู่เพื่อทำความดี..
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง