Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 เลือกคนผิดคิดจนวันตาย : มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 23 ธ.ค.2007, 11:47 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

เลือกคนผิดคิดจนวันตาย
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย


การหาเสียงของนักการเมืองเพื่อจุดมุ่งหมายคือ

ให้ชนะได้รับเลือกตั้งเข้ามาเพื่อจะได้มาบริหารประเทศ
นั่นคือจุดมุ่งหวังของนักการเมือง


แต่เมื่อนักการเมืองแต่ละพรรคต่างก็มุ่งหวังว่าจะได้รับชัยชนะ
บางเขตมีสิทธิ์เพียงสามคน แต่มีผู้สมัครถึงสี่สิบคน
การแข่งขันจึงเข้มข้นเป็นพิเศษ

เมื่อเริ่มต้นอาจหาเสียงตามกติกา
แต่เมื่อใกล้วันเวลาเลือกตั้งเข้ามา ต่างก็หวังว่าจะได้ชัยชนะ

วิธีการต่างๆ จึงถูกนำมาใช้
บางคนขุดรากเหง้าโคตรตระกูลขึ้นมาประจาน
เพื่อให้คู่แข่งเกิดความเสียหาย
ซ้ำร้ายบางคนก็แจกเงินเพื่อให้ประชาชนลงคะแนนให้
เมื่อพฤติกรรมของนักการเมืองเป็นอย่างนี้
จะให้ประชาชนมั่นใจได้อย่างไรว่า
นักการเมืองเหล่านี้จะเข้าไปบริหารบ้านเมืองด้วยความซื่อสัตย์ยุติธรรม


นักการเมืองประเภทไหนที่เราควรเลือก
ถ้าหากว่าตามอุดมคติก็ต้องมีครบทั้งสามคือ


“คนเก่ง คนดี คนมีความรู้”

หากได้ไม่ครบจะตัดอะไรออก
ประเด็นแรกน่าจะเป็น “คนมีความรู้”
เหลือไว้ระหว่าง “คนเก่งกับคนดี”

ระหว่างคนเก่งกับคนดีจะตัดใครออก
เป็นเรื่องที่ต้องใช้วิจารณญาณพอสมควร


การเลือกคนผิดอาจจะต้องทำให้เกิดความเสียใจไปนาน
เหมือนลูกสาวเศรษฐีเลือกรักคนผิด


เรื่องนี้เกิดขึ้นในมัยพุทธกาลปรากฏในอรรถกถาวีณาถูณชาดกความว่า

ครั้งหนึ่งพระศาสดาประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร
ได้เล่าเรื่องลูกสาวเศรษฐีคนหนึ่งว่า

“ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี
พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลเศรษฐีในตำบลหนึ่ง
ครั้นเจริญวัยแล้วมีครอบครัว เจริญด้วยบุตรธิดาทั้งหลาย
จึงได้ขอธิดาของเศรษฐีกรุงพาราณสีให้แก่บุตรของตน ได้กำหนดวันกันไว้แล้ว

ฝ่ายธิดาเศรษฐีเห็นเครื่องสักการะสัมมานะของโคอุสภราชที่เรือนของตน
จึงถามพี่เลี้ยงว่าสัตว์นี้ชื่ออะไร ได้ฟังว่าโคอุสภราช
ครั้นเห็นชายค่อมเดินอยู่ระหว่างถนน
จึงได้คิดว่าชายนี้คงเป็นบุรุษอุสภราช
จึงถือห่อของมีค่าหนีไปกับชายค่อมนั้น

ฝ่ายพระโพธิสัตว์คิดว่าจักนำธิดาเศรษฐีมาเรือน
จึงไปยังกรุงพาราณสีกับบริวารเป็นอันมาก เดินทางไปทางนั้นเหมือนกัน
ชายค่อมกับธิดาเศรษฐีเดินทางกันตลอดคืน
ชายค่อมซึ่งถูกความหนาวเบียดเบียนตลอดคืน
ได้เกิดโรคลมกำเริบขึ้นในร่างกาย
ในเวลาอรุณขึ้นเกิดทุกขเวทนาสาหัส
เขาจึงแวะลงจากทางทนทุกขเวทนานอนขดตัวงอ
มีธิดาเศรษฐีก็นั่งเฝ้าอยู่อย่างใกล้ชิด

พระโพธิสัตว์เห็นธิดาเศรษฐีนั่งอยู่ที่ใกล้เท้าชายค่อมจำได้จึงเข้าไปหา
เมื่อจะสนทนากับธิดาเศรษฐี ได้กล่าวคาถาแรกว่า

“เรื่องนี้เจ้าคิดคนเดียว บุรุษเตี้ยค่อมผู้โง่เขลานี้จะนำทางไปไม่ได้แน่
ดูก่อนเจ้าผู้เจริญ เจ้าไม่สมควรจะไปกับบุรุษเตี้ยค่อมผู้นี้เลย

ธิดาเศรษฐีฟังคำของพระโพธิสัตว์แล้วกล่าวตอบว่า

“ดิฉันเข้าใจว่าบุรุษค่อมเป็นผู้องอาจ
จึงได้รักใคร่กับบุรุษค่อมผู้นี้นอนตัวงออยู่
ดุจคันพิณที่มีสายขาดแล้วฉะนั้น”

ลูกชายเศรษฐีโพธิสัตว์ทราบว่า นางปลอมตัวหนีมา
จึงให้อาบน้ำตกแต่งตัวให้ขึ้นรถไปยังเรือนของตน
ลูกสาวเศรษฐีเลือกคนหลังค่อมเพราะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นผู้องอาจ
แต่ภายหลังกลับตัวได้เพราะได้เห็นธาตุแท้
และความจริงของคนหลังค่อมว่าไม่อาจจะเลี้ยงดูตนให้มีความสุขได้
จึงได้ไปกับลูกชายเศรษฐีที่มีชาติตระกูลเสมอกันและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข


นักการเมืองย่อมปรารถนาจะชนะการเลือกตั้ง
ดังนั้นวิธีการต่างๆ จึงต้องนำมาใช้อย่างเต็มที่เพื่อให้ถูกใจประชาชนมากที่สุด
บางคนมิได้คำนึงถึงอนาคตว่าตนเองจะทำได้ตามที่ได้รับปากไว้หรือไม่


การเลือกผู้แทนจึงต้องพิจารณาก่อนเลือก
อย่าให้เป็นเหมือนลูกสาวเศรษฐี
ที่คาดคะเนเอาเองว่าโคมีหนอกคือโคที่ดีคนมีหนอกก็ย่อมเป็นคนดี
ในที่สุดก็จะพบกับความผิดหวัง


ที่ใดไม่มีความสงบที่นั่นไม่เรียกว่าสภา

เมื่อนักการเมืองได้รับการเลือกตั้งแล้วก็ต้องเดินเข้าสภา
พระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงสภาไว้ใน
โขมทุสสสูตรที่ ๑๒ สังยุตนิกาย สคาถวรรค อุปาสกวรรค
(๑๕/๗๒๔/๒๒๔)
มีความตอนหนึ่งว่า

“สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่
ณ นิคมชื่อว่าโขมทุสสะของเจ้าศากยะ ในแคว้นสักกะ

เวลาเช้าวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้วทรงถือบาตรและจีวร
เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังโขมทุสสนิคม
ในขณะนั้น พวกพราหมณ์และคฤหบดีชาวโขมทุสสนิคมกำลังประชุมอยู่ในสภา

ด้วยกรณียกิจบางอย่างและฝนกำลังตกอยู่ประปราย
พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังสภานั้น
พราหมณ์และคฤหบดีชาวโขมทุสสนิคม
ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล จึงได้กล่าวขึ้นว่า

คนพวกไหนชื่อว่าสมณะโล้น และคนพวกไหนรู้จักธรรมของสภา

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะพราหมณ์และคฤหบดีชาวโขมทุสสนิค
ด้วยพระคาถาว่า

“ในที่ใดไม่มีคนสงบ ที่นั้นไม่ชื่อว่าสภา
คนเหล่าใดไม่กล่าวธรรม คนเหล่านั้นไม่ชื่อว่าคนสงบ
คนสงบละราคะโทสะ และโมหะแล้ว กล่าวธรรมอยู่”


เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว
พราหมณ์และคฤหบดีชาวโขมทุสสนิคม
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย
เหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิดบอกทางให้แก่คนหลงทาง
หรือส่องประทีปในที่มืด
ด้วยหวังว่าคนมีจักษุจักเห็นรูปฉะนั้น
พวกข้าพระองค์เหล่านี้ขอถึงท่านพระโคดมผู้เจริญ
กับพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ
ขอท่านพระโคดมทรงจำพวกข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัย
ว่าเป็นสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป


นั่นเป็นเหตุการณ์เมื่อครั้งพุทธกาล
หันมามองสภาของนักการเมืองไทยในปัจจุบัน
ท่านสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้ที่มาจากการปฏิวัติยังคงตั้งหน้าประชุมเพื่อออกกฎหมาย
บางวันรีบเร่งผ่านถึง ๒๐ ฉบับ อย่างนี้น่านับถือ

แต่ที่น่าสนใจคือกฎหมายเหล่านั้นมีสารประโยชน์เพื่อคนส่วนใหญ่หรือไม่
หรือว่ามุ่งเพื่อคนเพียงไม่กี่กลุ่ม ถ้าเป็นประเด็นหลังก็เป็นเรื่องที่น่าห่วง

เมื่อนักการเมืองที่ควรเลือกอยู่ในกรอบคือ “เก่ง ดี มีความรู้”
ก็ควรเลือกคนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนที่สุด


ถ้าหากจะเลือกโดยที่สุดแล้วน่าจะเหลือคุณสมบัติไว้ข้อสุดท้าย
คือ ควรเป็นคนดี ตามที่พุทธภาษิตใน
อานันทสูตร ขุททกนิกาย (ขุ.ธ. ๒๕/๑๒๔/๑๑๗)
และวินัยปิฎก จุลวรรคตอนหนึ่งว่า (วิ.จุ. ๗/๓๘๘/๑๓๐)
ว่า

“ความดี คนดีทำง่าย ความดีคนชั่วทำยาก
ความชั่วนั้นคนชั่วทำง่าย แต่อารยชนทำความชั่วได้ยาก”


ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเหล่าคนดี
ย่อมสรรเสริญความกลัวต่อบาป
ไม่สรรเสริญความกล้าในบาปเลย

การจะเลือกคนดีเข้าสภาที่ตามทัศนะของพระพุทธศาสนา
ว่าจะต้องมีความสงบและคนพูดความจริงที่ถูกต้องตามธรรมะนั้น
แม้จะมิใช่เรื่องง่าย แต่ก็เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้


นักการเมืองที่ใกล้ชิดกับประชาชนย่อมมีความผูกพัน
ประชาชนสามารถจะแยกแยะได้ว่าควรจะเลือกใครเป็นตัวแทน
เพราะถ้าเราตัดสินใจเลือกผิดอาจจะคิดจนตัวตายก็ได้
หรือไม่ก็อาจจะมีปฏิวัติร่างธรรมนูญใหม่ไม่รู้จบสักที

ขอให้การเลือกตั้งครั้งนี้ได้คนดี คนเก่งและคนมีความรู้
เข้าไปบริหารบ้านเมืองให้ผ่านพ้นวิกฤติเสียที


สาธุ สาธุ สาธุ

ที่มา : www.mbu.ac.th
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง