Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 พระองค์ที่ ๑๑ : สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 30 ส.ค. 2007, 8:29 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

“สมเด็จพระสังฆราชเจ้า”
พระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์


Image

พระประวัติและปฏิปทา
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
(หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน)
พุทธศักราช ๒๔๖๔-๒๔๘๐


วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร


เทียน หัวข้อ

• พระประวัติในเบื้องต้น
• ทรงบรรพชาและอุปสมบท
• ทรงเป็นกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย
• ทรงครองวัดราชบพิธ
• คำประกาศ
• การสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า
• ประกาศสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า
• คำเรียกตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชมี ๓ อย่าง
• การจัดพิมพ์พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ
• สำเนาจากราชกิจจานุเบกษา
• มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
(Mahamakuta Rajavidyalaya Foundation Under Royal Patronage)
• มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ ในปัจจุบัน
• งานนิพนธ์
• พระอวสานกาล
• ประวัติและความสำคัญของวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม



พระประวัติในเบื้องต้น

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
มีพระนามเดิมว่า “หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท” พระนามฉายาว่า “สิริวฑฺฒโน”
เป็นพระโอรสใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้นหนึ่ง กรมขุนเจริญผลพูลสวัสดิ์
กับ หม่อมปุ่น ชมพูนุท ณ อยุธยา ประสูติเมื่อวันศุกร์ เดือนอ้าย แรม ๗ ค่ำ
ปีมะแม จุลศักราช ๑๒๒๑ ตรงกับวันที่ ๑๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๐๒
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔

เมื่อยังทรงพระเยาว์ ได้ทรงศึกษาเล่าเรียนอักขรสมัย
ในสำนักเจ้าจอมมารดาสัมฤทธิ์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นย่า ในขั้นเริ่มต้นพอเขียนและอ่านได้

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
หลังจากพิธีโสกันต์ (โกนจุก) แล้วพระองค์ก็เสด็จเข้าไปประทับอยู่ในวัง
และได้เรียนภาษาอังกฤษกับฝรั่งเพื่อเตรียมตัวเสด็จออกไปศึกษาในต่างประเทศ
ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

Image
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
พระอุปัชฌาย์ในคราวทรงบรรพชา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖



พ.ศ. ๒๔๑๔ เมื่อพระชนมายุได้ ๑๒ พรรษา
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ตามเสด็จไปในเรือพระที่นั่งบางกอก คราวเสด็จประพาสอินเดีย
เรือพระที่นั่งแวะพักแรมที่เมืองสิงคโปร์ ให้อยู่เล่าเรียนในโรงเรียนแรพฟัล
พร้อมกับหม่อมเจ้าองค์อื่นๆ อีกราว ๒๐ องค์ที่เสด็จไปในคราวเดียวกัน
ทรงศึกษาอยู่ที่เมืองสิงคโปร์เป็นเวลา ๙ เดือน จึงเดินทางกลับกรุงเทพฯ

ขณะนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษสำหรับเจ้านายขึ้น
ในกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๕ แล้วจึงมีรับสั่งให้พระองค์เข้าเรียน
ในโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษนั้น โดยไม่ต้องกลับไปเรียนต่อที่สิงคโปร์อีก
จึงนับได้ว่า พระองค์มีความรู้ทางด้านภาษาอังกฤษ
ขนาดเขียนได้ อ่านได้ และพูดได้ เป็นบางคำ

Image
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร
(หม่อมเจ้ากระจ่าง ลดาวัลย์ อรุโณ)
พระกรรมวาจาจารย์ในคราวทรงบรรพชาและอุปสมบท


Image
สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) วัดโสมนัสวิหาร
พระอุปัชฌาย์ในคราวทรงอุปสมบท เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๒



ทรงบรรพชาและอุปสมบท

ก่อนครบกำหนดผนวชเป็นสามเณรตามพระราชประเพณี
ได้ทรงเล่าเรียนหนังสือขอมจากพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
ครั้นถึงปีระกา ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๑๖ เมื่อพระชนมายุได้ ๑๔ พรรษา
ทรงผนวชเป็นสามเณร ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
โดยมี สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
ขณะทรงดำรงพระยศกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์ เป็นพระอุปัชฌาย์
และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร
แต่ยังทรงเป็นหม่อมเจ้าพระราชาคณะ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

เมื่อทรงผนวชแล้วได้เสด็จไปประทับอยู่ที่วัดราชบพิธ
ทรงเล่าเรียนพระปริยัติธรรมต่อมา จนถึงพระชนมายุครบอุปสมบท
จึงทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
โดยมี สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) วัดโสมนัสวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์
และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร เป็นพระกรรมวาจาจารย์
เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๘ ปีเถาะ เอกศก จุลศักราช ๑๒๔๑
(พ.ศ. ๒๔๒๒) เวลาบ่าย ๒ โมง ๕๐ นาที มีพระนามฉายาว่า “สิริวฑฺฒโน”

เมื่อทรงอุปสมบทแล้วก็เสด็จประทับ ณ วัดราชบพิธ ตามเดิม
ได้ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรม ๒ ครั้ง ได้เป็นเปรียญ ๕ ประโยค

พ.ศ. ๒๔๓๐ เมื่อทรงอุปสมบทได้ ๘ พรรษา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ตั้งเป็นพระราชาคณะที่ พระสถาพรพิริยพรต


ทรงเป็นกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย

พ.ศ. ๒๔๓๖ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ขณะทรงดำรงพระยศ กรมหมื่น ได้ทรงพระดำริจัดตั้งสถาบันการศึกษาแบบใหม่
สำหรับภิกษุสามเณร ตลอดถึงจัดตั้งโรงเรียนสำหรับกุลบุตรขึ้น
เรียกว่า มหามกุฏราชวิทยาลัย
เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์เฉลิมพระนามาภิไธย
ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อจัดการศึกษาสำหรับ
ภิกษุสามเณรและกุลบุตรให้ทันสมัย และเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา

สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ขณะทรงดำรงพระสมณศักดิ์ที่ พระสถาพรพิริยพรต
ก็ทรงเป็นกรรมการพระองค์หนึ่งในกรรมการชุดแรกของมหามกุฏราชวิทยาลัย
นับว่าทรงเป็นผู้ร่วมบุกเบิกกิจการของมหามกุฏราชวิทยาลัยมาแต่เริ่มต้น
และได้ทรงเริ่มมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการของมหามกุฏราชวิทยาลัย
ให้เจริญก้าวหน้ามาจนตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์

พ.ศ. ๒๔๓๘ ทรงได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่เสมอชั้นเทพ ในราชทินนามเดิม

พ.ศ. ๒๔๔๒ ทรงได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมปาโมกข์

Image
อาคารมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (หลังเก่า)


ประวัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ปฏิบัติภารกิจด้านการผลิตบัณฑิต
งานวิจัย งานบริการวิชาการแก่ชุมชน
และงานทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ตามพันธกิจของมหาวิทยาลัย
โดยเมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตั้งวิทยาลัยขึ้น
ในบริเวณวัดบวรนิเวศวิหารพระราชทานนามว่า “มหามกุฏราชวิทยาลัย”

โดยมีพระราชประสงค์เพื่อเป็นที่ศึกษาเล่าเรียนของพระภิกษุสามเณร
ทรงอุทิศพระราชทรัพย์บำรุงประจำปีและก่อสร้างสถานศึกษาวิทยาลัยแห่งนี้ขึ้น

ครั้นเมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๓๙
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมาเปิดมหามกุฏราชวิทยาลัย
พระองค์ทรงรับมหามกุฏราชวิทยาลัยอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์
และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์บำรุงประจำปี
อาศัยพระราชประสงค์ดังกล่าวแล้วนั้น
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
จึงทรงตั้งวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจการของมหามกุฏราชวิทยาลัยขึ้น ๓ ประการ คือ

๑. เพื่อเป็นสถานศึกษาของพระภิกษุสามเณร
๒. เพื่อเป็นสถานศึกษาวิทยาการอันเป็นของชาติภูมิและของต่างประเทศ
๓. เพื่อเป็นสถานที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา

เมื่อกิจการของมหามกุฏราชวิทยาลัยได้เปิดดำเนินการแล้ว
ปรากฏว่าพระวัตถุประสงค์เหล่านั้นได้รับผลเป็นที่น่าพอใจตลอดมา
เพื่อจะให้พระวัตถุประสงค์เหล่านั้นได้ผลดียิ่งขึ้น

ดังนั้น ในวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
ในฐานะที่ทรงเป็นนายกกรรมการ มหามกุฏราชวิทยาลัยพร้อมด้วยพระเถระนุเถระ
จึงได้ทรงประกาศตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูงในรูปมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาขึ้น
โดยอาศัยนามว่า สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย โดยมีจุดมุ่งหมายดังนี้

๑. เพื่อให้เป็นสถานศึกษาพระปริยัติธรรม
๒. เพื่อให้เป็นสถานศึกษาวิทยาการอันเป็นของชาติภูมิและต่างประเทศ
๓. เพื่อให้เป็นสถานเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งในและนอกประเทศ
๔. เพื่อให้ภิกษุสามเณรมีความรู้และความสามารถในการบำเพ็ญประโยชน์แก่ประชาชน
๕. เพื่อให้ภิกษุสามเณรมีความรู้ และความสามารถในการค้นคว้า
โต้ตอบ หรืออภิปรายธรรมได้อย่างกว้างขวางแก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ
๖. เพื่อให้ภิกษุสามเณรได้เป็นกำลังสำคัญในการจรรโลงพระพุทธศาสนา
และเป็นศาสนทายาทที่เหมาะแก่กาลสมัย
๗. เพื่อความเจริญก้าวหน้า และคงอยู่ตลอดกาลนานของพระพุทธศาสนา

ทั้งนี้ ภายใต้การบริหารของคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า
“กรรมการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย”
สถาบันการศึกษาแห่งนี้ ได้เริ่มเปิดให้การอบรมศึกษาแก่ภิกษุสามเณร
ตั้งแต่วันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๙ จนถึงปัจจุบัน

เหตุผลที่ทำให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ
ทรงพระดำริจัดตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ นั้น
ปรากฏในรายงานประจำปีของมหามกุฏราชวิทยาลัย ว่า

พระเถรานุเถระทั้งหลาย มีความประสงค์ในการจัดตั้งวิทยาลัย
เป็นที่ฝึกสอนพระปริยัติธรรมแลอักขร
สมัยของภิกษุสามเณรแลศิษย์วัดนั้น
ด้วยเห็นว่าธรรมเนียมในประเทศนี้
วัดทั้งหลายเป็นโรงเรียนที่ศึกษาวิชาความรู้ของราษฎรพลเมือง
ตั้งต้นแต่เรียนอักขระฝึกกิริยามารยาท
ตลอดจนถึงเรียนพระปริยัติธรรม

บรรดาราษฎรมีบุตรหลานก็นำเข้ามาฝากเป็นศิษย์วัด
ให้เรียนวิชาความรู้ จนถึงเติบใหญ่อุปสมบทเป็นภิกษุ
บางพวกก็ได้อยู่ไปจนเป็นคณาจารย์ปกครองกันต่อๆ ไป
บางพวกอยู่สมควรแก่ศรัทธาแล้ว
ก็ลาสิกขาสึกไปประกอบการหาเลี้ยงชีพของตนในทางฆราวาส
มีธรรมเนียมเป็นพื้นเมืองมาดังนี้

วิธีการปกครองของวัดนั้น ไม่ได้จัดเป็นชั้นตามสถานที่ว่า
สถานที่นั้นสอนชั้นสูง สถานที่นั้นสอนชั้นต่ำ
ดูท่วงทีเหมือนในวัดหนึ่งจะมีทั้งชั้นสูงชั้นต่ำ

คือราษฎรนำบุตรหลานเข้ามาฝากภิกษุสามเณร
ให้เรียนอักขระแลฝึกกริยามารยาทเป็นต้น
การฝึกสอนชั้นนี้จัดว่าเป็นชั้นต่ำ การฝึกสอนภิกษุสามเณรให้เล่าเรียนมคธภาษาก็ดี
ให้เล่าเรียนพระปริยัติธรรมก็ดี การศึกษาชั้นนี้จัดว่าเป็นชั้นสูง
แต่การหาดำเนินไปโดยเรียบร้อยดังวิธีที่จัดไม่
เพราะข้อขัดขวางดังต่อไปนี้

ราษฎรผู้จะนำบุตรหลานมาฝากต่อภิกษุสามเณร
ในวัดนั้นๆ ก็ฝากในสำนักที่ตนรู้จักคุ้นเคย
ภิกษุสามเณรผู้เป็นอาจารย์นั้น บางรูปก็มีความรู้มาก บางรูปก็มีความรู้น้อย
ทั้งไม่มีหลักสูตรแห่งการเล่าเรียนว่าถึงไหนจัดเป็นใช้ได้
ความรู้ของศิษย์จึงไม่เสมอกัน
ตั้งแต่กรมศึกษาธิการจัดหลักสูตรสำหรับสอนความรู้ขึ้นแล้ว

การเล่าเรียนจึงมีกำหนด
แต่เพราะความรู้ของภิกษุสามเณรผู้เป็นอาจารย์ไม่เสมอกัน
ทั้งความนิยมของเด็กผู้เล่าเรียนก็ดี ของผู้ใหญ่ของเด็กก็ดี
เป็นแต่เพียงอ่านได้เขียนได้เท่านั้นก็พอประสงค์
ความรู้ของนักเรียนที่ออกจากวัดจึงยังจัดว่าถึงกำหนดแท้ไม่ได้

ส่วนการเล่าเรียนมคธภาษานั้นแต่เดิมไม่บังคับ แล้วแต่ใครสมัครจะเรียน
ในทุกวันนี้ความนิยมในการเล่าเรียนมคธภาษาน้อยลง
ด้วยผู้ที่มาบวชเป็นภิกษุสามเณรจะหาผู้ที่มีศรัทธาแท้เป็นอันยาก
ทั้งพื้นเดิมก็เป็นคนขัดสน
ต้องการแต่ความรู้ที่จะให้ผลเป็นเครื่องเลี้ยงชีพได้โดยประจักษ์ตา
ไม่ต้องการความรู้ที่เป็นอาภรณ์ของบุรุษ หรือความรู้ที่เป็นเครื่องเจริญผล
โดยเพิ่มสติปัญญาสามารถ แลวิธีฝึกสอนเด็กก็เป็นการเนิ่นช้า

หากจะมีผู้อุตสาหะเรียนบ้าง จะหาอาจารย์ผู้บอกให้รู้จริงเห็นจริงก็ได้ยาก
ทั้งผู้เรียนจะชำนาญในภาษาของตนมาก่อนก็ได้โดยยาก
หลักสูตรก็มากชั้น แลการสอบความรู้ก็ห่าง

ต่อล่วงหลายปีจึงสอบครั้งหนึ่ง ด้วยอาศัยเหตุเหล่านี้
จึงมีอาจารย์สอนให้รู้จริงเห็นจริงได้น้อยตัว
เรียนไม่ทันรู้ละทิ้งไปเสียก็มี บางทีเรียนรู้พอจะสอบความรู้ได้
อยู่ไม่ถึงกาลสอบก็มี เข้าสอบจนเป็นบาเรียนแล้วก็มี
แต่จะหาผู้สอบได้จนจบหลักสูตรได้น้อยถึงนับตัวถ้วน
เพราะหลักสูตรที่ตั้งไว้มากเกิน เมื่อความเล่าเรียนเสื่อมทรามไป

ผู้เป็นบาเรียนเพียง ๔ ประโยค ๕ ประโยค
ก็กว้างขวางมีผู้นับหน้าถือตาแสวงหาลาภผลเลี้ยงตัว พอตั้งตัวได้แล้ว
ก็ไม่คิดที่จะเป็นนักเรียนต่อไป บางรูปก็รับตำแหน่งพระราชาคณะปกครองหมู่คณะเสีย
ในระหว่างยังไม่ทันได้แปลจบหลักสูตร
อาศัยเหตุนี้ การเรียนมคธภาษาจึงไม่เจริญทันเวลาที่เป็นอยู่บัดนี้

ส่วนการเรียนพระปริยัติธรรมนั้นเป็น ๒ ชั้น คือชั้นต่ำ ๑ ชั้นสูง ๑
การให้โอวาทสั่งสอน แลให้ศึกษาในตำรับภาษาไทยจัดเป็นชั้นต่ำ
สำหรับภิกษุสามเณรบวชใหม่ ตลอดไปจนถึงผู้ไม่ได้เรียนมคธภาษา

การอ่านการทรงภาษาบาลีไตรปิฎกจัดเป็นชั้นสูง สำหรับผู้รู้ภาษามคธ
การฝึกสอนชั้นต่ำไม่เจริญได้
เพราะผู้ที่เข้ามาบวชไม่ชำนาญในภาษาของตนทั่วทุกคน
ฟังคำสอนก็จำไม่ได้ อ่านหนังสือก็ไม่ค่อยเข้าใจ แลการฝึกสอนชั้นสูงไม่เจริญได้

โดยเหตุที่หลักสูตรสำหรับมคธภาษาเป็นอย่างหนึ่ง
พระปริยัติธรรมที่จำเป็นจะต้องรู้เป็นอย่างหนึ่ง
ผู้เล่าเรียนๆ มคธภาษาสอบความรู้ได้แล้ว
ยังต้องวกมาดูบาลีไตรปิฎกอีกเป็นสองซ้ำอยู่
จะหาผู้สมัครเรียนแต่ภาษามคธก็ได้โดยยากแล้ว
จะหาผู้รู้ภาษามคธแล้วศึกษาพระปริยัติธรรมต่อไป
ก็ต้องได้โดยยากเป็นธรรมดา

ถ้าจะคิดบำรุงวิทยาความรู้ให้สมควรกับประเพณี
ที่เป็นมาแต่เดิมแลให้เจริญทันเวลา
จำเป็นที่จะต้องคิดจัดการแก้ไขตามสมควรแก่เวลา

ในการศึกษาของศิษย์วัด จะต้องจัดให้เด็กมีที่เรียนได้ตลอดหลักสูตรของ
กรมศึกษาธิการทั่วทุกคน แลจะต้องฝึกฝนให้ประพฤติกิริยามารยาทให้เรียบร้อย

การเรียนมคธภาษาจะต้องจัดหลักสูตรให้น้อยชั้นลง
แต่ย่นความรู้ให้จุลงในชั้นนั้นๆ ให้เป็นคลองเดียวกัน
กับการเรียนพระปริยัติธรรมชั้นสูงด้วย
ต้องบังคับบรรดาภิกษุสามเณรที่มีอายุควรแก่การเล่าเรียน
ให้เล่าเรียนถ้วนทั่วทุกรูป คิดแก้ไขวิธีสอนให้เรียนง่ายขึ้นให้รู้ได้จริง
ให้จบหลักสูตรได้ก่อนที่นักเรียนจะเป็นคนกว้างขวางจนตั้งตัวได้
จะต้องจัดการสอบความรู้ทุกปี
เปลี่ยนแปลงวิธีสอบให้เป็นไปโดยสะดวก
มีใช้เขียนแทนแปลด้วยปากเป็นต้น

การฝึกสอนพระปริยัติธรรมทั้งสองชั้น
เมื่อการฝึกสอนภาษาไทยแลมคธภาษาเจริญแล้ว ก็คงเจริญตามกัน
เมื่อสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ทรงพระราชศรัทธาโปรดเกล้าฯ
ให้ตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัยขึ้นไว้เป็นที่เล่าเรียนของพระสงฆ์ในคณะธรรมยุติกนิกาย
พระเถรานุเถระทั้งหลายได้ช่องอันดี จึงได้จัดการเปลี่ยนแปลง
วิธีเล่าเรียนในคณะตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ร.ศ. ๑๑๒ จนถึงบัดนี้


Image

Image

Image
“กรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย ชุดแรก พ.ศ. ๒๔๓๖”
ทรงฉายร่วมกับพระเถระ เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๐ (ร.ศ. ๑๑๖)


ดอกไม้ ดอกไม้ ดอกไม้ >>> แถวหน้า จากซ้าย :
• พระธรรมปาโมกข์ (ถม วราสโย)
วัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร

เมื่อครั้งยังเป็นที่ พระราชกวี

• หม่อมเจ้าพระศรีสุคตคัตยานุวัตร
(หม่อมเจ้าพร้อม ลดาวัลย์ ธมฺมรโต)
วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร


• สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
(พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ มนุสฺสนาโค)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
วัดบวรนิเวศวิหาร (วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร)

เมื่อครั้งยังทรงเป็นที่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส
ทรงเป็นนายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย ชุดแรก

• สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
(หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร

เมื่อครั้งยังทรงเป็นที่ หม่อมเจ้าพระสถาพรพิริยพรต
[เสมอพระราชาคณะชั้นเทพ]

• พระสาสนโสภณ (อ่อน อหึสโก)
วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร

เมื่อครั้งยังเป็นที่ พระธรรมไตรโลกาจารย์

ดอกไม้ ดอกไม้ ดอกไม้ >>> แถวที่ ๒ จากซ้าย :
• พระราชเมธี (ท้วม กณฺณวโร)
วัดพิชยญาติการาม วรวิหาร

เมื่อครั้งยังเป็นที่ พระครูปลัดอุทิจยานุสาสน์

• พระธรรมราชานุวัตร (ต่าย วารโณ)
[เสมอพระราชาคณะชั้นธรรมพิเศษ]*
วัดเสนาสนาราม ราชวรวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา
เมื่อครั้งยังเป็นที่ พระธรรมราชานุวัตร
[พระราชาคณะผู้ใหญ่]**

• พระสมุทรมุนี (เนตร สงฺกนฺโต)
วัดเครือวัลย์ วรวิหาร


• พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)
วัดบรมนิวาส ราชวรวิหาร

เมื่อครั้งยังเป็นที่ พระครูวิจิตรธรรมภาณี

ดอกไม้ ดอกไม้ ดอกไม้ >>> แถวที่ ๓ จากซ้าย :
• พระราชมุนี (ชม สุสมาจาโร)
วัดบวรนิเวศวิหาร (วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร)

เมื่อครั้งยังเป็นที่ พระครูปลัดจุลานุนายก

• พระธรรมราชานุวัตร (แสง พุทฺธทตฺโต)
วัดนิเวศธรรมประวัติ ราชวรวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา

เมื่อครั้งยังเป็นที่ พระอมราภิรักขิต

• สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
(หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
วัดบวรนิเวศวิหาร (วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร)

เมื่อครั้งยังทรงเป็นที่ พระสุคุณคณาภรณ์
[พระราชาคณะชั้นสามัญ]


------------------

หมายเหตุ :
* พ.ศ. ๒๔๔๑ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เสมอเจ้าคณะอรัญวาสี (เสมอพระราชาคณะชั้นธรรมพิเศษ) ในราชทินนามเดิมที่ พระธรรมราชานุวัตร (ราชกิจจานุเบกษา, ตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม ๑๕, ตอน ๓๔, ๒๐ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๑๗, หน้า ๓๕๒) http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2441/034/351.PDF

** พ.ศ. ๒๔๒๘ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ พระธรรมราชานุวัตร (ราชกิจจานุเบกษา, สำเนาสัญญาบัตรพระสงฆ์, เล่ม ๓, ตอน ๔๓, ๒๘ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๐๔, หน้า ๓๖๐) http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2429/043/360_1.PDF

ดอกไม้ ดอกไม้ >>> เพิ่มเติม : พระสมุทรมุนี (เนตร สงฺกนฺโต) ธุดงค์ไปพุทธคยา

...ฉัน (สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ไปพุทธคยาครั้งนั้น (เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ ภายหลังสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปมฤคทายวัน ณ สารนาถ ได้ ๑๙ ปี) นึกคาดไปว่าจะได้เกียรติเป็นไทยคนแรกที่ได้ไปสืบพระศาสนาถึงที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระโพธิญาณ เหมือนเช่นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปสืบศาสนาถึงมฤคทายวัน ที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศตั้งพระพุทธศาสนา แต่เมื่อไปถึงวัดพุทธคยาพอเข้าประตูวิหาร เห็นผ้ากราบพระปักตรางานหลวงในเมืองไทยผูกห้อยอยู่ผืนหนึ่งก็สิ้นกระหยิ่มใจ ด้วยมีพระภิกษุไทยองค์ใดองค์หนึ่งได้ไปถึงเสียก่อนแล้ว พิจารณาดูหนังสือไทยที่เขียนไว้กับผ้ากราบ บอกชื่อว่า “พระสังกันตเนตรได้มาบูชา” ฉันก็รู้จักตัว คือพระสมุห์เนตร วัดเครือวัลย์ฯ ภายหลังมาได้เป็นพระราชาคณะที่ พระสมุทรมุนี ซึ่งเป็นพระชอบเที่ยวธุดงค์มาแต่ยังหนุ่มจนขึ้นชื่อลือนาม แต่ฉันไม่ได้คาดว่าจะสามารถไปได้ถึงพุทธคยาในอินเดียในสมัยนั้น ก็ประหลาดใจ...

ดอกไม้ ข้อสังเกต : “พระสังกันตเนตร” มาจาก นามฉายา (สงฺกนฺโต, สังกันโต) + นามเดิม (เนตร)

สาธุ ที่มา : หนังสือ นิทานโบราณคดี พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
นิทานที่ ๗ เรื่องสืบพระศาสนาในอินเดีย

https://vajirayana.org/%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B8%84%E0%B8%94%E0%B8%B5/%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88-%E0%B9%97-%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B8%9A%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%A2

(มีต่อ ๑)
 


แก้ไขล่าสุดโดย กุหลาบสีชา เมื่อ 31 ส.ค. 2007, 11:57 am, ทั้งหมด 3 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 30 ส.ค. 2007, 8:43 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร


ทรงครองวัดราชบพิธ

พ.ศ. ๒๔๔๔ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร
(หม่อมเจ้ากระจ่าง ลดาวัลย์ อรุโณ) ที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์
เจ้าอาวาสองค์ปฐมวัดราชบพิธ
สิ้นพระชนม์
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงครองวัดราชบพิธสืบต่อมา
นับเป็นเจ้าอาวาสพระองค์ที่ ๒

วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ทรงได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ
เจ้าคณะรองในคณะกลาง ที่ พระพรหมมุนี
พร้อมทั้งได้รับสถาปนาพระอิสริยยศเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า

วันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ
เจ้าคณะใหญ่คณะกลาง ที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์
พร้อมทั้งได้รับสถาปนาพระอิสริยยศเป็น พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์

Image
เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็น
พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์



ประกาศเฉลิมพระนาม
พระวรวงษ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์
*


ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาล เปนอดีตภาค ๒๔๕๔ พรรษา
กาลปัตยุบันจันทรโคจร โสณสัมพัตสรกาฬปักษ์ อัฐมีดิถีรวิวาร สุริยคติกาล
รัตนโกสินทรศก ๑๒๙ มกราคมมาศ พาวีสติมสุรทิน โดยกาลนิยม

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ ฯลฯ
พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์ว่า
พระวรวงษ์เธอ พระองค์เจ้าพระสถาพรพิริยพรต
ได้ทรงผนวชในพระบวรพุทธศาสนามาล่วงแล้วได้หลายพรรษกาล
ประกอบด้วยพระวิริยภาพ แลทรงสติปัญญาสามารถ
ทรงชำนาญในพระปริยัติธรรม ได้ทรงเปนอาจารย์สั่งสอนบริษัท
ให้รอบรู้จนได้เปนเปรียญแล้วเป็นอันมาก
ทั้งได้ทรงปฏิบัติพระองค์เปนหลักฐานมั่นคงสมควรแก่ตำแหน่ง
น่าที่พระบรมวงศานุวงศ์แลบรรพชิตผู้ใหญ่
ทำให้เปนที่น่าเสื่อมใสแห่งบรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งคฤหัสถ์บรรพชิต
ทรงปกครองสมณบริษัทแลศิษย์ของพระองค์ด้วยน้ำพระไทยอันโอบอ้อมอารี
มีเมตตาเผื่อแผ่ทั่วถึงกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้ทรงสังเกตเห็นพระคุณสมบัติแน่ชัดแล้ว
จึงได้ทรงพระกรุณายกย่องให้ได้เลื่อนอิศริยศักดิ์ขึ้นเปนลำดับ
ดังปรากฏอยู่ในคำประกาศพระบรมราชโองการ
เมื่อทรงสถาปนาพระอิศริยยศเปนพระองค์เจ้าพระนั้นแล้ว

ส่วนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อทรงผนวชในพระบวรพุทธศาสนา
พระวรวงษ์เธอ พระองค์เจ้าพระสถาพรพิริยพรต
ได้ทรงเปนพระกรรมวาจาจารย์ แลได้ถวายโอวาทตามตำแหน่งอาจารย์ทุกประการ
ไม่เฉภาะแต่ในขณะเมื่อทรงพระผนวช
ถึงต่อมาก็ยังได้ทรงตามเปนธุระตามกาลอันควร
ทั้งได้ทรงเปนพระอุปัธยาจารย์ กุลบุตรที่ได้บรรพชาอุปสมบท
นับว่าพระองค์เปนสุนทรพรตอันประเสริฐ
พระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวชในพระพุทธศาสนา
แลดำรงคุณธรรมสม่ำเสมอเช่นนี้ ในเวลานี้มีน้อยพระองค์
จึงนับว่าทรงเปนอัจฉริยบุรุษพระองค์หนึ่ง
สมควรที่จะได้เพิ่มภูลพระอิศริยยศให้ปรากฏในราชตระกูล
แลในสมณศักดิ์ให้ใหญ่ยิ่งขึ้น

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนา
พระวรวงษ์เธอ พระองค์เจ้าพระสถาพรพิริยพรต
ขึ้นเปนพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามตามจาฤกในพระสุพรรณบัฏว่า

พระวรวงษ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ ขัติยพงศ์พรหมจารี
ประสาทนียคุณากร สถาพรพิริยพรต อังคีรสศาสนธำรง ราชวงศ์วิสุต
วชิราวุธมหาราชอภินิษกรมณาจารย์ สุขุมญาณวิบุล สุนทรอรรคปริยัติโกศล
โศภนศีลสมาจารวัตร มัชฌิมคณิศรมหาสังฆนายก
พุทธศาสนดิลกสถาวีรบพิตร สิงหนาม


ทรงศักดินา ๑๑๐๐๐ อย่างพระวรวงษ์เธอ พระองค์เจ้าต่างกรม
ตามพระราชกำหนดกฎหมาย ทรงสมณศักดิที่สมเด็จพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะใหญ่
บัญชาการคณะกลาง พระราชทานนิตยภัตรเปนยศบูชาราคาเดือนละ ๔๐ บาท

ขออาราธนาให้ทรงรับธุระพระพุทธศาสนา เปนภาระสั่งสอนช่วยระงับอธิกรณ์
แลอนุเคราะห์พระภิกษุสงฆ์สามเณรในพระอารามทั้งปวง
ซึ่งขึ้นในคณะโดยสมควรแก่พระกำลัง แลอิศริยยศซึ่งพระราชทานมานี้
จงทรงเจริญพระชนมายุ พรรณ ศุข พละ ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ
สรรพศิริสวัสดิพิพัฒมงคล จิรฐิติกาลในพระพุทธศาสนาเทอญฯ

เมื่อทรงกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เลื่อนพระอิศริยยศดังนี้แล้ว
จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ทรงตั้ง
เจ้ากรมเปนหมื่นชินวรสิริวัฒน์ ถือศักดิ์นา ๕๐๐ ปลัดกรมเปนพันพยาพัฎสรรพกิจ
ถือศักดินา ๓๐๐ สมุห์บาญชีเป็นพันลิขิตพลขันธ์ ถือศักดินา ๒๐๐
ให้ผู้ซึ่งได้รับตำแหน่งทั้ง ๓ นี้ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณต่อไป
ให้มีความสุขสวัสดิเจริญเทอญฯ

ฝ่ายสมณศักดิ์นั้น ให้ทรงมีถานานุศักดิ์ควรตั้งถานานุกรมได้ ๑๐ รูป คือ

พระครูปลัดสัมพิพัฒพรหมจรรยาจารย์ สรรพกิจวิธานโกศล
โสภณวัตรจรรยาภิรัต มัชฌิมคณิศรสถาวีรธุรธารี มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๓๒ บาท ๑
พระครูธรรมาธิการ มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๖ บาท ๑
พระครูวิจารณ์ธุรกิจ มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๖ บาท ๑
พระครูวินัยธร ๑
พระครูวินัยธรรม ๑
พระครูโฆษิตสุทธสร ๑
พระครูอมรสรนาท ๑
พระครูสังฆวิธาน ๑
พระครูสมุห์ ๑
พระครูใบฎีกา ๑ รวม ๑๐ รูป

ขอให้พระครูผู้ซึ่งได้รับตำแหน่งทั้งปวงนี้
มีความศุขศิริสวัสดิ์สถาพร ในพระพุทธศาสนาเทอญฯ


* หมายเหตุ : อักขรวิธีตามต้นฉบับ

(หมายเหตุ : ราชกิจจานุเบกษา
เล่ม ๒๗, ตอน ๐ง, ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓, หน้า ๒๖๒๓-๒๖๒๗)
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2453/D/2623.PDF

Image
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
(หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน)


(มีต่อ ๒)
 


แก้ไขล่าสุดโดย กุหลาบสีชา เมื่อ 31 ส.ค. 2007, 2:42 am, ทั้งหมด 2 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 30 ส.ค. 2007, 8:58 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
พัดยศสำหรับพระสมณศักดิ์ที่
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์



การสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า

เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๖๔ เวลา ๑๐.๓๕ นาฬิกานี้
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สิ้นพระชนม์
ครั้นถึงวันที่ ๒๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๖๔
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สถาปนาเลื่อนพระอิสริยยศ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์
ขึ้นเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ และทรงสถาปนาพระสมณศักดิ์ขึ้นเป็น
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สกลมหาสังฆปรินายก
นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ครั้นถึงวันที่ ๒๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๖๙
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สถาปนาเลื่อนพระอิสริยยศขึ้นเป็น กรมหลวง
คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
หรือเรียกอีกพระนามว่า สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์


ประกาศสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า

มีพระบรมราชโองการ ในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ
พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ประกาศทราบทั่วกัน

ด้วยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งสกลสังฆปรินายกปธานาธิบดีสงฆ์
สิ้นพระชนม์ล่วงลับไปเสียแล้ว ทรงพระราชดำริห์ว่า
พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จเจ้าคณะใหญ่หนกลาง
ทรงมีคุณูปการในทางพุทธสาสนกิจ สมควรจะดำรงตำแหน่ง
สนองพระองค์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สืบไปได้
จึงทรงพระกรุณาโปรดให้สถาปนา คำนำ พระนาม แลฐานันดรศักดิ์
ขึ้นเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
ดำรงตำแหน่งสกลสังฆปรินายก ปธานาธิบดีแห่งสงฆมณฑลทั่วพระราชอาณาจักรสืบไป

พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศไว้
ณ วันที่ ๒๐ สิงหาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ เป็นปีที่ ๑๒ ในรัชกาลปัจจุบัน


Image
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
(หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน)



คำเรียกตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชมี ๓ อย่าง

เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๖๔
ตรงกับวันเสาร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๙ ปีระกา ตรีศก จุลศักราช ๑๒๘๓
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเลื่อนพระอิสริยยศ
“พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์” ขึ้นเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ
และทรงสถาปนาพระสมณศักดิ์ขึ้นเป็น
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์
นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
กล่าวคือ เป็นสมเด็จสกลสังฆปริณายก หรือสมเด็จสกลมหาสังฆปริณายก
ประธานาธิบดีแห่งสงฆมณฑลทั่วพระราชอาณาจักร
โดยโปรดเกล้าฯ สถาปนาคำนำพระนามสำหรับเรียกตำแหน่งนี้ว่า
“สมเด็จพระสังฆราชเจ้า” ซึ่งปรากฏพระนามนี้ขึ้นเป็นครั้งแรกในคราวนี้


ครั้นถึงวันที่ ๒๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๖๙
ตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ปีขาล อัฐศก จุลศักราช ๑๒๘๘
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สถาปนาเลื่อนพระอิสริยยศขึ้นเป็น กรมหลวง
คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
หรือเรียกอีกพระนามว่า สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์


ฉะนั้น จึงได้มีคำนำพระนามสำหรับตำแหน่ง สมเด็จสกลสังฆปริณายก
หรือสมเด็จสกลมหาสังฆปริณายก เป็น อย่างเป็นธรรมเนียมสืบมา คือ

ดอกไม้ ดอกไม้ ๑. พระบรมวงศานุวงศ์ที่เป็นเจ้านายชั้นสูงผู้ทรงได้รับโปรดเกล้าฯ
สถาปนาเป็นสมเด็จสกลสังฆปริณายก หรือสมเด็จพระสังฆราช
มีคำนำพระนามว่า “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า” มีอยู่ ๓ พระองค์ คือ
(๑) สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
(พระองค์เจ้าวาสุกรี สุวณฺณรํสี)

สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
(๒) สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
(พระองค์เจ้าฤกษ์ ปญฺญาอคฺโค)

สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
(๓) สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
(พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ มนุสฺสนาโค)

สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


พระราชพิธีสถาปนา “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า” มีชื่อเรียกเป็นพิเศษว่า
“มหาสมณุตมาภิเษก” พระบรมวงศานุวงศ์ที่เป็นเจ้านายชั้นสูง
ผู้ทรงได้รับถวายมหาสมณุตมาภิเษกเท่าที่ปรากฏมาเป็นชั้น “พระองค์เจ้า” ขึ้นไป
สมเด็จพระมหาสมณเจ้าทรงพระยศสูงกว่าสมเด็จพระสังฆราชเจ้า
และสมเด็จพระสังฆราชทั่วไป ทรงเบญจปฎลเศวตฉัตร (ฉัตรขาว) ๕ ชั้น
เกิดมีขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
เมื่อทรงถวายมหาสมณุตมาภิเษกแด่
“สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส”

ฉะนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
จึงทรงเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ทรงได้รับถวายมหาสมณุตมาภิเษก
เป็นที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นครั้งแรกในประวัติการณ์ของคณะสงฆ์ไทย


สำหรับการสถาปนาเปลี่ยนคำนำพระนามเป็น “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า” นั้น
เกิดมีขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
เมื่อทรงพระราชดำริว่า ตำแหน่งสมเด็จพระมหาสังฆปริณายก
ประธานาธิบดีแห่งสังฆมณฑล ซึ่งมีสมณศักดิ์ว่า “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ” นั้น
มีพระนามอย่างสังเขปว่า “สมเด็จพระสังฆราช” เป็นประเพณีสืบมา
ส่วนพระบรมวงศานุวงศ์ที่เป็นเจ้านายชั้นสูงผู้ทรงได้รับถวายมหาสมณุตมาภิเษก
ดำรงสมณศักดิ์ในตำแหน่งสมเด็จพระมหาสังฆปริณายก หาได้เรียกว่าสมเด็จพระสังฆราชไม่
ย่อมเรียกพระนามไปตามพระอิสริยยศแห่งพระบรมราชวงศ์
ไม่ปรากฏพระเกียรติยศในทางสมณศักดิ์
จึงได้ทรงพระราชดำริพระนามสำหรับเรียกพระบรมวงศานุวงศ์ที่เป็นเจ้านายชั้นสูง
ผู้ทรงดำรงสมณศักดิ์ในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชขึ้นใหม่ว่า
“สมเด็จพระมหาสมณเจ้า” และได้โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเปลี่ยนคำนำพระนาม
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระมหาสมณะ
พระราชอุปัธยาจารย์ (พระอุปัชฌาย์) ในพระองค์เมื่อครั้งทรงผนวช
ซึ่งทรงดำรงสมณศักดิ์ในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชอยู่ในขณะนั้น
เป็น “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส”


และพร้อมกันนี้ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเปลี่ยนคำนำพระนาม
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
(ทรงได้รับถวายมหาสมณุตมาภิเษกในรัชกาลที่ ๔) และ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
(ทรงได้รับถวายมหาสมณุตมาภิเษกในรัชกาลที่ ๕)
ซึ่งทรงดำรงสมณศักดิ์ในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชในอดีต
เป็น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า เช่นเดียวกันในคราวนี้ด้วย
จึงได้เรียกพระนามกันว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สืบมาแต่บัดนั้น

ดอกไม้ ดอกไม้ ๒. พระบรมวงศานุวงศ์ผู้ทรงได้รับโปรดเกล้าฯ หรือ
พระมหาเถระที่มาจากสามัญชน มิได้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์
ผู้ได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จสกลสังฆปริณายก หรือสมเด็จพระสังฆราช
มีคำนำพระนามว่า “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า” มีอยู่ ๔ พระองค์ คือ
(๑) สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
(หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน)

สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
(๒) สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
(หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต)

สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
(๓) สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ (วาสน์ วาสโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
(๔) สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


สมเด็จพระสังฆราชเจ้าทรงพระยศสูงกว่าสมเด็จพระสังฆราชทั่วไป
พระองค์แรกทรงเศวตฉัตร (ฉัตรขาว) ลายทอง ๕ ชั้น เป็นการพิเศษ
แต่ ๓ พระองค์หลังทรงฉัตรตาดเหลืองหรือฉัตรตาดสีทอง ๕ ชั้น

สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ทรงได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนา
เป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้านั้น เท่าที่ปรากฏมาเป็นชั้น “หม่อมเจ้า” ลงมา
เกิดมีขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
โดยโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์
ในตำแหน่ง “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า” เป็นพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์


มีข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับคำนำพระนามสำหรับตำแหน่ง
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๓, ๑๘, ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวคือ
ทั้ง ๓ พระองค์มีคำนำพระนามสำหรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ถึง ๒ อย่าง ดังนี้


เทียน (ก) เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๘
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา
สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ (หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต)
เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุติกา (เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต)
ขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราช ในพระราชทินนามเดิม คือ
“สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก”
ทรงเศวตฉัตร (ฉัตรขาว) ๓ ชั้น
ดำรงตำแหน่งสกลสังฆปรินายก ปธานาธิบดีแห่งสงฆมณฑลทั่วราชอาณาจักร
นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ถึงปีพุทธศักราช ๒๔๙๓ เนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศสถาปนาเฉลิมพระนาม
สมเด็จพระสังฆราชให้เต็มพระเกียรติยศตามราชประเพณี
เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓

หลังเสด็จออกทรงพระผนวชเป็นพระภิกษุ และเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
โดยมี สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
(หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต)
ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ (พระอุปัชฌาย์)

ครั้นถึงวันที่ ๒๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระสมณศักดิ์และฐานันดรศักดิ์
พระราชอุปัธยาจารย์ (พระอุปัชฌาย์) ในพระองค์เมื่อครั้งทรงพระผนวช
ขึ้นเป็น “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์”
นับเป็น “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า” พระองค์ที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ทรงฉัตรตาดเหลืองหรือฉัตรตาดสีทอง ๕ ชั้น
เกือบ ๒ ปีถัดมา สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ พระองค์นั้นก็ได้ทรงสิ้นพระชนม์
เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๐๑


เทียน (ข) เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖๗ พรรษา
วันที่ ๒๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระเกียรติยศพระอัฐิ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสน์ วาสโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
พระราชอุปัธยาจารย์ (พระอุปัชฌาย์) ในพระองค์เมื่อครั้งทรงพระผนวช
ขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ
นับเป็น “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า” พระองค์ที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระเกียรติยศพระอัฐิ
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วัดบวรนิเวศวิหาร
พระราชกรรมวาจาจารย์ในพระองค์เมื่อครั้งทรงพระผนวช
ขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
นับเป็น “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า” พระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงาน
จัดฉัตรตาดเหลืองหรือฉัตรตาดสีทอง ๕ ชั้น
ถวายกางกั้นพระรูปบรรจุพระสรีรางคาร
ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดบวรนิเวศวิหาร
กับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แบ่งพระอัฐิบรรจุลงพระโกศทองคำ
เชิญมาประดิษฐานในหอพระนาก วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
เพื่อเป็นที่ทรงสักการบูชาและทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวาย
ในพระฐานะพระบุพการีทางธรรมสืบไป

ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์วงการคณะสงฆ์ไทย
ที่สถาปนาสมเด็จพระสังฆราชฐานันดรศักดิ์สามัญชน
มิได้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ ขึ้นเป็น “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวง”
อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เป็นการสถาปนา
สมเด็จพระสังฆราชในพระบรมโกศหรือที่สิ้นพระชนม์ไปแล้ว


เทียน (ค) ฉะนั้น สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
จึงมีคำนำพระนามสำหรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ถึง อย่าง คือ

๑. สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
๒. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์


สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
จึงมีคำนำพระนามสำหรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ถึง อย่าง คือ

๑. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
๒. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ


สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
จึงมีคำนำพระนามสำหรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ถึง อย่าง คือ

๑. สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชที่มาจากสามัญชน มิได้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์
เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ที่มีคำนำพระนามสำหรับตำแหน่งเป็นพิเศษ
ไม่ใช้คำนำพระนามว่า “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ”
เนื่องจากทรงเป็นพระมหาเถระผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระโดยเฉพาะ

๒. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร

ดอกไม้ ดอกไม้ ๓. พระมหาเถระที่มาจากสามัญชน มิได้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์
ผู้ได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จสกลสังฆปริณายก เรียกว่า “สมเด็จพระสังฆราช”
ซึ่งมีมาแต่โบราณจวบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ทรงเศวตฉัตร (ฉัตรขาว) ๓ ชั้น

สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ทรงได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า หรือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า นั้น
จะมีพระนามเฉพาะสำหรับแต่ละพระองค์ไป
เช่น กรมพระปรมานุชิตชิโนรส, กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ เป็นต้น

แต่สำหรับพระมหาเถระที่มาจากสามัญชน มิได้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์
ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชนั้น
มีคำนำพระนามสำหรับตำแหน่งเหมือนกันทุกพระองค์ตามราชประเพณี
ที่มีมาแต่ในสมัยกรุงธนบุรี คือ “สมเด็จพระอริยวงษญาณ”
ซึ่งต่อมาในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงแก้ไขคำนำพระนามเป็น “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ”
ดังที่ปรากฏสืบมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด ๑๓ พระองค์ คือ

(๑) สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

(๒) สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

(๓) สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

(๔) สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

(๕) สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

(๖) สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (นาค)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

(๗) สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

(๘) สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

(๙) สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

(๑๐) สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

(๑๑) สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

(๑๒) สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

(๑๓) สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อัมพร อมฺพโร)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


Image
ดอกไม้ ดอกไม้ แถวนั่ง องค์ที่ ๓ จากซ้าย : สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
(หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน) ทรงฉายพระรูปหมู่ร่วมกับพระมหาเถรานุเถระ
ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเลื่อนพระอิสริยยศ
“พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์” ขึ้นเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ
และทรงสถาปนาพระสมณศักดิ์ขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์
เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๖๔ นับเป็น “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า”
พระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และในประวัติศาสตร์ของคณะสงฆ์ไทย


Image
ดอกไม้ ดอกไม้ แถวหน้า องค์ที่ ๕ จากซ้าย : สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
(หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน) ทรงฉายพระรูปหมู่ร่วมกับพระมหาเถรานุเถระ
ในคราวที่มาประชุมสวดมนต์ถวายพระพร หน้าพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
ในอภิลักขิตกาลคล้ายวันประสูติพระชันษา ๗๑ ปี เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๓

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=43469

(มีต่อ ๓)
 


แก้ไขล่าสุดโดย กุหลาบสีชา เมื่อ 31 ส.ค. 2007, 2:23 am, ทั้งหมด 3 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 30 ส.ค. 2007, 9:11 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
พระไตรปิฎกฉบับสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๕ ปีพุทธศักราช ๒๔๓๖



การจัดพิมพ์พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ

พ.ศ. ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗
ทรงพระกรุณาโปรดกล้าฯ ให้มีการจัดสร้างพระไตรปิฎก
เพื่อถวายเป็นพระอนุสาวรีย์เชิดชูพระเกียรติยศ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการชำระและจัดพิมพ์ขึ้นใหม่
เรียกว่า “พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ”

ต้นฉบับสำหรับตรวจชำระ และจัดพิมพ์ขึ้นใหม่ครั้งนี้
ใช้พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๕ ซึ่งทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖
จำนวน ๓๙ เล่มเป็นพื้น พร้อมทั้งตรวจชำระเพิ่มคัมภีร์
ที่ยังมิได้จัดพิมพ์เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๕ ให้ครบบริบูรณ์ด้วย
รวบเป็นพระไตรปิฎกที่จัดพิมพ์ขึ้นใหม่ครั้งนี้ จำนวน ๔๕ เล่มจบบริบูรณ์

ในการตรวจชำระและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกครั้งนี้
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กราบทูล
อาราธนา สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
ทรงเป็นประธานในการตรวจชำระ
พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาราธนา
พระเถระผู้ชำนาญพระไตรปิฎกอีก ๘ รูป เป็นกรรมการตรวจชำระ
การตรวจชำระและจัดพิมพ์ระไตรปิฎกครั้งนี้
เริ่มดำเนินการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ พิมพ์เสร็จบริบูรณ์เมื่อ พ .ศ. ๒๔๗๓
นับเป็นพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ที่สมบูรณ์ฉบับแรก
ของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท


ในการตรวจชำระและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ ดังกล่าวนี้
สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ นอกจากจะทรงเป็นประธานในการตรวจชำระแล้ว
พระองค์ยังได้ทรงตรวจชำระคัมภีร์อังคุตรนิกาย แห่งพระสุตตันปิฎก
ตลอดพระคัมภีร์ด้วยพระองค์เอง รวมเป็นหนังสือ ๕ เล่มอีกด้วย
นับเป็นพระเกียรติคุณในทางพระปริยัติธรรมอีกประการหนึ่ง
ของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ พระองค์นั้น

อนึ่ง พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ ดังกล่าวนี้
เมื่อได้ตรวจชำระและจัดพิมพ์ขึ้นเรียบร้อยแล้ว
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานกรรมสิทธิ์ในหนังสือพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐนี้
แก่ “มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์”
ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา
เพียงแห่งเดียวในประเทศไทยในขณะนั้น
เพื่อประโยชน์แก่ความเจริญก้าวหน้าของการศึกษาทางพระพุทธศาสนา
เพื่อพระปริยัติธรรมสืบไป

Image
พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ ๔๕ เล่มของมหามกุฏราชวิทยาลัย


สำเนาจากราชกิจจานุเบกษา
เล่ม ๔๔ ตอนที่ ๓ วันที่ ๑๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๐

ประกาศพระราชทานกรรมสิทธิหนังสือพระไตรปิฏก
ฉบับสยามรัฏฐแก่มหามกุฏราชวิทยาลัย
*

มีพระบรมราชโองการ ในพระบาทสมเด็จพระปรมนทรมหาประชาธิปก
พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าว่า
พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ
ผู้จัดการพิมพ์พระไตรกิฎกฉบับพระสยามรัฎฐ
ได้ทำหนังสือขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้มหามกุฏราชวิทยาลัย
มีกรรมสิทธิในหนังสือพระไตรปิฏกที่กล่าวนามมาแล้ว

ทรงพระราชดำริเห็นว่า มหามกุฏราชวิทยาลัย
เปนสำนักการแห่งการศึกษาพระปริยัติธรรม
และเปนผู้รักษาพระบาลีมิให้วิปัลลาศ

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต
ให้มหามกุฏราชวิทยาลัยมีกรรมสิทธิในหนังสือพระไตรปิฎกฉบับพระสยามรัฏฐ
และได้สิทธิต่างๆ ตามพระราชบัญญัติกรรมสิทธิหนังสือจงทุกประการ

ประกาศมา ณ วันที่ ๑๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๐ เปนปีที่ ๓ ในรัชกาลปัตยุบัน


* หมายเหตุ : อักขรวิธีตามต้นฉบับ

Image
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
(หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน)



(มีต่อ ๔)
 


แก้ไขล่าสุดโดย กุหลาบสีชา เมื่อ 31 ส.ค. 2007, 3:07 am, ทั้งหมด 6 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 30 ส.ค. 2007, 9:30 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
(หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน)



มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
(Mahamakuta Rajavidyalaya Foundation
Under Royal Patronage)


มหามกุฏราชวิทยาลัย (Mahamakuta Rajavidyalaya)
ซึ่ง สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ทรงพระดำริจัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖
เพื่อเป็นสถานศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนานั้น
ได้ดำเนินการกิจการมาเป็นลำดับโดยต่อเนื่อง
โดยระยะแรก พระเถรานุเถระในคณะธรรมยุตผู้เป็นกรรมการ
ได้ผลัดเปลี่ยนกันเป็นนายกกรรมการระยะ ๑ ปี
การบริหารกิจการของมหามกุฏราชวิทยาลัยได้ดำเนินมาในลักษณะนี้
จนถึง พ.ศ. ๒๔๔๔ ได้มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของมหามกุฏฯ
การผลัดเปลี่ยนกันเป็นนายกกรรมการระหว่างการไม่เป็นการสะดวก
จึงตกเป็นหน้าที่ของเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
ต้องได้รับภาระเป็นนายกกรรมการโดยตำแหน่ง
ซึ่งได้ถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบมาจนปัจจุบัน

และหลังจากที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สิ้นพระชนม์แล้ว
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ในฐานะเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
ได้ทรงเป็นนายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัยสืบต่อมา
และได้ทรงดำริจัดตั้ง “มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์” ขึ้น
โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ นำดอกผลอัน เกิดจากทรัพย์สินของมหามกุฏฯ
มาช่วยอุดหนุนบำรุงการศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุ สามเณร
และส่งเสริม การเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

โดยเริ่มต้นด้วยทุนของมหามกุฏราชวิทยาลัยจำนวน ๕๖๙,๖๘๙.๙๗ บาท
ได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๖
โดยมี สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ทรงเป็นนายกกรรมการผู้จัดการ
เจ้าพระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษาธิบดี (ม.ล.มูล ดารากร)
อธิบดีกรมพระคลังข้างที่ เป็นผู้จัดการฝ่ายคฤหัสถ์
ประกอบด้วยกรรมการฝ่ายบรรพชิต ชุดแรก ๑๓ ท่าน

กล่าวได้ว่า มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ ได้รับการจัดตั้งขึ้น
หลังจากที่ได้จัดตั้ง มหามกุฏราชวิทยาลัย มาได้ ๔๐ ปี
นับเป็นพัฒนาการขั้นที่ ๒ ของ มหามกุฎราชวิทยาลัย
โดยมี สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
ทรงเป็นนายกกรรมการมูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย
ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นพระองค์แรก

Image
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
(หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน)



มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ ในปัจจุบัน

การจัดตั้ง มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ ขึ้นนั้น
นับว่าเป็นผลดีต่อการที่จะดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ของ
มหามกุฏราชวิทยาลัย ที่ได้วางไว้แต่เริ่มก่อตั้งเป็นอย่างมาก

ปัจจุบัน มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ ได้บำเพ็ญประโยชน์
แก่พระพุทธศาสนาอย่างกว้างขวาง ซึ่งอาจกล่าวได้โดยสรุปดังต่อไปนี้

๑. นำผลประโยชน์ไปช่วยวัดต่างๆ อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ทำให้วัดนั้นๆ มีทุนนอนที่มั่นคงและเกิดดอกผลที่แน่นอนตลอดไป

๒. ช่วยจัดหาตำราเรียนพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกบาลีและแผนกนักธรรม
ให้แก่พระภิกษุสามเณรตามวัดต่างๆ ที่ขาดแคลน

๓. การผลิตตำราทางพระพุทธศาสนา
นับว่าเป็นงานหลักอย่างหนึ่งของมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ

มาจนกระทั่งบัดนี้ เมื่อตั้ง มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ แล้ว
ก็ได้จัดให้มีแผนกตำราเพื่อเรียบเรียงและชำระตำรับตำราต่างๆ
ซึ่ง กิจการแผนกนี้ นับเป็นการดำเนินรอยตามพระยุคลบาทแห่ง
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ผู้ทรงริเริ่มไว้เป็นปฐมด้วยการทรงรจนาตำราทางพระพุทธศาสนาไว้เป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ยังได้แปลเป็นภาษาต่างประเทศเพื่อใช้เป็นคู่มือศึกษา
พระพุทธศาสนาของชาวต่างประเทศอีกด้วย เป็นการเผยแพร่เกียรติคุณ
ของพระสงฆ์ไทย ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวต่างประเทศ

๔. จัดสรรทุนจำนวนหนึ่งสำหรับบำรุงการศึกษาของสำนักเรียนต่างๆ ในคณะธรรมยุต
พร้อมทั้งช่วยจัดส่งพระภิกษุจากส่วนกลาง ออกไปเป็นครูช่วยสอนนักธรรมและบาลี
ในวัดตามจังหวัดต่างๆ ด้วยงบประมาณที่จัดสรรไว้สำหรับการนี้

๕. จัดสรรงบประมาณปีละเป็นจำนวนมากอุดหนุนสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย
อันเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของคณะสงฆ์แห่งหนึ่ง
ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

จึงกล่าวได้ว่า มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ
ได้ช่วยส่งเสริมการศึกษาของคณะสงฆ์
มาโดยตลอดทั้งทางตรงคือ ด้วยทุนทรัพย์ และทางอ้อม
คือ ช่วยผลิตตำราออกเผยแพร่และจำหน่ายในราคาถูก

๖. ส่งเสริมการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ
คือได้มีส่วนอย่างสำคัญในการอุดหนุนช่วยเหลือกิจการพระธรรมทูตไปต่างประเทศ
เช่น ช่วยอุดหนุนการเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศของพระธรรมทูต
ช่วยจัดหาวัตถุอุปกรณ์ที่จำเป็นแก่การเผยแพร่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ
เช่น ตำราและบริขารบริวารต่างๆ เป็นต้น
ช่วยอุปการะพระภิกษุสามเณรจากต่างประเทศ
ที่เข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทย
จนจบการศึกษาแล้วกลับไปช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศของตน
ช่วยจัดสร้างวัดไทยขึ้นในต่างประเทศ
เพื่อเป็นศูนย์เผยแพร่พระพุทธศาสนาในประเทศนั้นๆ
พร้อมจัดส่งพระภิกษุออกไปอยู่ประจำเพื่อช่วยสั่งสอน
เช่น วัดพุทธรังษี นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และวัดไทยในอินโดนีเซีย เป็นต้น

๗. ส่งเสริมการศึกษาวิชาการชั้นสูงของพระภิกษุในต่างประเทศ
โดยจัดทุนการศึกษาแก่พระภิกษุผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง
ที่ไปศึกษาต่อวิชาการชั้นสูงในสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ
เพื่อจะได้กลับมาช่วยพัฒนาการศึกษาระดับสูงของคณะสงฆ์ไทย
ตลอดถึงทำประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองต่อไป

๘. ดำเนินการจัดแปลและจัดพิมพ์หนังสือที่จำเป็นแก่การศึกษา
พระพุทธศาสนาเป็นภาษาต่างประเทศ เพื่อเผยแพร่แก่ชาวต่างประเทศ
พร้อมทั้งได้จัดให้มีแผนกจำหน่ายหนังสือพระพุทธศาสนาภาษาต่างประเทศ
ขึ้นเป็นพิเศษอีกแผนกหนึ่ง

มีการจัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือพระพุทธศาสนาภาษาต่างประเทศ
แก่ประชาชนทั่วไปในราคาถูก ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะช่วยให้
พุทธศาสนิกชนหรือผู้สนใจในพระพุทธศาสนาทั่วไป
ได้มีโอกาสศึกษาและรู้ความเป็นไปของพระพุทธศาสนาได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

Image

งานนิพนธ์

สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ทรงมีพระปรีชาสามารถในทางรจนา นับได้ว่า
ทรงเป็นปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญพระองค์หนึ่งในยุคกรุงรัตนโกสินทร์
พระองค์ได้ทรงพระนิพนธ์ตำรับตำรา และหนังสือสำคัญทางพระพุทธศาสนาไว้มาก
อาทิเช่น พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา หรือพจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย
มหานิบาตชาดก ต้นบัญญัติ สามเณรสิกขา
เป็นต้น
ซึ่งพระนิพนธ์เหล่านี้ยังได้ใช้เป็นคู่มือในการศึกษาภาษาบาลีและศึกษา
พระพุทธศาสนาของภิกษุสามเณรและบุคคลทั่วไปอย่างแพร่หลายอยู่จนบัดนี้

อีกทั้งยังทรงมีพระปรีชาสามารถด้านร้อยกรอง ดังจะเห็นได้จากพระนิพนธ์โคลงเรื่องรามเกียรติ์
ซึ่งจารึกอยู่บนพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ในพระบรมมหาราชวัง

Image
พระโกศพระศพสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
ประดิษฐาน ณ พระตำหนักอรุณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม



พระอวสานกาล

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
ทรงประชวรด้วยพระโรคเส้นพระโลหิตในกระเพาะพระบังคลเบาพิการ
ทำให้พระบังคลเบาเป็นโลหิต สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๐
เวลา ๑๐.๐๕ นาฬิกา ในรัชกาลที่ ๘ สิริรวมพระชนมายุได้ ๗๘ พรรษา
โดยทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เป็นเวลา ๑๖ ปี กับ ๕ วัน


(มีต่อ ๕)
 


แก้ไขล่าสุดโดย กุหลาบสีชา เมื่อ 30 ส.ค. 2007, 11:49 pm, ทั้งหมด 2 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 30 ส.ค. 2007, 10:36 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ดอกไม้ ประวัติและความสำคัญ “วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19364

ดอกไม้ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
เป็น ๑ ใน “กรรมการมหาเถรสมาคม” ในสมัยรัชกาลที่ ๗

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=50206

ดอกไม้ พระรูป “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=58661

⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱

สาธุ สาธุ สาธุ รวบรวมและเรียบเรียงเนื้อหามาจาก ::
(๑) หนังสือชุดพระเกียรติคุณ สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ :
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ (หม่อมเจ้าภุชงค์)
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, สุเชาวน์ พลอยชุม เรียบเรียง, มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๑.
(๒) หนังสือ ๑๙ สมเด็จพระสังฆราชกรุงรัตนโกสินทร์,
โกวิท ตั้งตรงจิตร เรียบเรียง, สวีริยาศาสน์ จัดพิมพ์, ๒๕๔๙.
(๓) หนังสือ “ดั่งทองชมพูนุท”
จัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์เนื่องในอภิลักขิตสมัย ๑๕๐ ปีนับแต่วันประสูติ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า,
๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๒ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
(๔) ประวัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
และประวัติมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

จากเว็บไซต์ http://www.mbu.ac.th/


เทียน ••• ประวัติตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชไทย
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=19521

เทียน ระยะเวลาการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (พระองค์ใหม่)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=49539

เทียน ประวัติ “คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=47044
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 14 ม.ค. 2013, 9:51 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ดอกไม้ กระทู้ในบอร์ดใหม่ ดอกไม้
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=20842
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง