Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 คือหัตถาครองพิภพจบสากล : การเลี้ยงลูก (ชยสาโรภิกขุ) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 09 ส.ค. 2007, 1:19 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

การเลี้ยงลูก
โดย พระอาจารย์ชยสาโรภิกขุ

ขอนมัสการหลวงพ่อ และแสดงความเคารพต่อพระเถระ พระอนุเถระทุกรูป
ขอแสดงความเคารพต่อเพื่อนสหธรรมิกทุกๆ คน ขอเจริญพรญาติโยมทุกๆ คน

วันนี้มีโอกาสมาแสดงธรรมและให้ข้อคิดเกี่ยวกับ “การเลี้ยงลูก”
ซึ่งความจริงเป็นโอกาสที่เหมาะสำหรับอาตมาเอง
เพราะเพิ่งมาถึงวัดอมราวดีเมื่อวานนี้เหมือนกัน
ก่อนนั้นกลับไปอยู่ที่บ้านประมาณอาทิตย์หนึ่ง
เมื่อวานนี้ระหว่างที่นั่งรถกลับมาวัดอมราวดีนั้น
อาตมานั่งคุยกับโยมแม่ถึงเรื่องสมัยก่อนเมื่ออาตมายังเป็นเด็กอยู่
โยมแม่บอกว่าถ้าแม่มีโอกาสที่จะมีชีวิตใหม่ หรือที่จะดำเนินชีวิตเสียใหม่
คิดว่าจะไม่เปลี่ยนลูกเลย ลูกสามคนเป็นที่พอใจของแม่มาก
แต่ถ้าจะเปลี่ยนคงจะเปลี่ยนตัวเองเสียมากกว่า
โดยเฉพาะรู้สึกว่าเมื่อก่อนแม่จุกจิกจู้จี้กับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ มากเกินไป
เพราะตอนนั้นแม่ประมาท ไม่ได้คิดว่าอีกไม่กี่ปี
ลูกจะต้องจากไปลูกคนที่สองจะต้องไปอยู่เมืองไทย ๑๒ ปี
เห็นหน้ากันแค่สองสามครั้ง เมื่อก่อนนั้นไม่ค่อยได้คิดเรื่องอนาคต
หมกมุ่นและกังวลแต่ความบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ
เช่นเรื่องว่าลูกแต่งตัวอย่างไร ผมของลูกยาวเกินไป
ลูกแต่งตัวเกะกะไม่เรียบร้อย
เรื่องเล็กก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ เราเลยเสียเวลากับอารมณ์ที่เศร้าหมอง

แล้วต่อมานานๆ จึงได้พบกันครั้งหนึ่ง ก็รู้สึกเสียดายว่า
สมัยก่อนเราไม่ได้ใช้เวลาให้ดีกว่านั้นอาตมาก็นั่งชมแม่ว่าเป็นผู้ที่คิดเป็น
คือคิดไม่เข้าข้างตัวเอง ไม่โทษสิ่งภายนอก
แต่โทษความประมาทของตัวเองแต่ว่าความคิดของแม่อย่างนี้ไม่ถึงกับเป็นปัญญา
เพราะปัญญาคือความรู้เท่าทัน และความรู้ของโยมแม่ในครั้งนี้ไม่ทันเหตุการณ์

อาตมาเองก็รู้สึกว่าสมัยยังอยู่ที่บ้านเราดื้อรั้นในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ
สร้างความทุกข์ให้กับพ่อแม่ เพราะไม่ยอมละทิฏฐิความคิดเห็นของตัวเอง
ส่วนมากความรู้ของมนุษย์เรามักจะเป็นในลักษณะนี้
คือว่าผิดพลาดแล้วจึงค่อยสำนึกตัว ในทางพระพุทธศาสนา
เราต้องการความรู้เท่าทันอยู่ในปัจจุบัน ไม่ปล่อยให้สายเกินแก้

การเลี้ยงลูกเป็นสิ่งสำคัญ
แต่ว่า ก่อนที่เราจะเลี้ยงลูกได้ เราต้องรู้จักเลี้ยงตัวเอง
ถ้าเราเลี้ยงตัวเองไม่ได้ เราจะเลี้ยงลูกไม่ได้เหมือนกัน

ความรู้สึกต่อลูกเป็นความรู้สึกที่พิเศษ
อาทิตย์ที่แล้วอาตมานั่งดูทีวีกับน้องชายและลูกสองคนของเขา (หลานของอาตมา)
ทางทีวีออกข่าวว่าคนบังคลาเทศเสียชีวิตเกือบสองสามแสนคน
เราก็นั่งดูทีวีเฉยๆ พอดีหลานตัวเล็กๆ ไปชนกับเก้าอี้ร้องไห้
อาตมาตกใจสงสารหลานมาก
แต่ว่าดูทีวีเห็นภาพคนเสียชีวิตเป็นแสนกลับรู้สึกเฉยๆ
อาตมาเลยได้ความคิดและความรู้สึกกับคนในครอบครัวว่า
คนตายเป็นแสนก็ไม่เจ็บใจไม่สงสารเท่าคนที่เรารักร้องไห้ด้วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ

ความรักหรือความรู้สึกอันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องพัฒนาเหมือนกัน
ความรักเป็นสมุทัยก็ได้หรือเป็นมรรค เป็นทางไปสู่ความดับทุกข์ก็ได้
นั่นก็แล้วแต่สติปัญญาของเรา
การที่พระพุทธองค์ให้พระภิกษุสามเณรประพฤติพรหมจรรย์
ไม่ต้องการให้พระมีครอบครัวก็เพราะว่าความรักมักจะเป็นอุปสรรคต่อเมตตา

ถ้าเรารักอย่างโง่ ! รักโดยไม่มีสติปัญญากำกับอยู่
ความรักนั้นมักจะทำให้เราแบ่งแยก
มักจะทำให้เรามองคนที่เป็นศัตรูต่อคนที่เรารักว่าเป็นศัตรูของเรา
คนอื่นมาชมหรือมาช่วยคนที่เรารักเราก็ชอบเขา
แต่ถ้าคนอื่นมาติเตียนคนที่เรารักเราก็เกลียดเขา
ชีวิตกลายเป็นชีวิตแห่งความรักและความเกลียดเพราะผู้ที่เรารัก
แล้วความรักที่เข้มข้นที่เรามีต่อลูกของเรา
โดยเฉพาะมักจะเป็นความรักที่ตาบอด

เรารู้อยู่ว่าไม่วันใดวันหนึ่ง เราต้องตายจากเขา
เราไม่ตายจากเขาเขาก็ต้องตายจากเรา
เราก็รู้อยู่แต่ว่าเราไม่ชอบคิดอย่างนั้น
เพราะกลัวว่าถ้าเราคิดอย่างนั้นบ่อยๆ เราจะหดหู่ใจ เราจะไม่สบายใจ
เราเลือกชีวิตที่เพลิดเพลินกับความรักที่ไม่ยอมรับความจริงแห่งความไม่เที่ยง
ความรักอย่างนี้ไม่มีวันที่จะเลื่อนชั้นเป็นเมตตาได้

“เมตตา” คือความรักที่ยอมรับความจริง
ฉะนั้นในการเลี้ยงลูก คำแนะนำข้อแรกที่จะขอฝากไว้นั้นคือ
“อย่าประมาท” อย่าลืมความตายอย่าลืมว่าตัวเองต้องตาย
อย่าลืมว่าลูกต้องตายและลูกอาจจะตายก่อนเราก็ได้
ชีวิตเป็นของไม่แน่นอน ลูกที่ตายในท้องแม่ก็มี
คลอดออกมาจากท้องมารดาแล้วตายก็มีที่อยู่หนึ่งปีก็มี
สองปีก็มี ห้าปีก็มี ยี่สิบปีก็มี เรื่องชีวิตเราไม่มีมาตรฐาน

การที่เราคิดว่าลูกของเราควรจะอยู่ถึงอายุ ๗๐ หรือ ๘๐ อย่างนี้
เป็นความคิดที่ไม่ฉลาดถ้าเราเห็นว่า
ชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน
ชีวิตของเราก็ไม่แน่นอน ชีวิตของเขาก็ไม่แน่นอน
จะเห็นว่าแต่ละวันแต่ละนาทีมีความหมายและมีค่าด้วย
เมื่อเราเห็นค่าของเวลาเมื่อเราเห็นว่าเวลาเป็นสิ่งที่เราจับไว้ไม่ได้
เป็นสิ่งที่เราบังคับให้นิ่งไม่ได้ เวลาเป็นสิ่งที่แปรปรวน
เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
เราจะมีความคิดที่จะให้และความคิดที่จะใช้เวลานั้นเพื่อสร้างประโยชน์
และสร้างความสุขทั้งแก่ตัวเองด้วยและแก่คนอื่น
คือคู่ครองและลูกหลานของเราด้วย
เราจะเห็นว่าเราไม่มีเวลาที่จะไปโกรธเขาแล้ว
เราไม่มีเวลาที่จะไปอิจฉาใครแล้ว
เราไม่มีเวลาสำหรับอารมณ์ที่เบียดเบียนตัวเอง และเบียดเบียนผู้อื่นเราจะเห็น

หน้าที่ของเรา คือการสร้างความสุข
และการสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์อันแท้จริงต่อชีวิตของเรา
และทุกๆคนที่อยู่รอบข้างเราด้วย
และเราต้องคอยปรับความรู้สึกต่อคนอื่นให้มันเป็นธรรม
ให้มันสอดคล้องกับหลักธรรมให้มากที่สุดที่เราจะทำได้
เมตตานั้นไม่ต้องการสิ่งตอบแทน


ถ้าเรายังต้องการสิ่งตอบแทนมันก็ยังไม่เป็นเมตตา
คือมันยังเป็นความรักที่เป็นสมุทัย
เราก็ต้องพยายามพัฒนาความรักการเลี้ยงตัวเอง
ถ้าเราแยกออกไปแล้วก็อาจจะสรุปได้ว่า
เป็นเรื่องของการละ และเรื่องการบำเพ็ญ
เราละสิ่งที่ควรละ บำเพ็ญสิ่งที่ควรบำเพ็ญ

สิ่งที่ไม่ดีไม่งามที่ยังไม่เกิดขึ้นในจิตใจของเรา
เราก็ป้องกันไม่ให้มันเกิด ที่เกิดขึ้นแล้วก็พยายามละพยายามขจัดให้ได้
สิ่งที่ดีงามที่ยังไม่เกิดก็พยายามสร้างให้มีขึ้น
สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็บำรุง พยายามทำให้มาก เจริญให้มาก ให้ถึงพร้อม
นี่ก็เป็นความเพียรในเรื่องของตัวเอง ในเรื่องการสัมพันธ์กับคนอื่น
สิ่งที่สำคัญคือเราต้องเป็นตัวอย่างที่ดี

ทุกวันนี้รู้สึกว่าชาวพุทธเรามีน้อย
แต่ “ชาวพูด” มีมาก เราพูดมากไป แต่ทำน้อยไป

ต้องการให้ลูกเคารพเราแต่เราไม่ทำสิ่งที่น่าเคารพ
ไม่พูดสิ่งที่น่าเคารพ ต้องการความเคารพแต่ไม่ต้องการเป็นที่เคารพ
แล้วมีแต่บ่นว่าทุกวันนี้ลูกไม่รู้จักบุญคุณของพ่อแม่เลย
บุญคุณของพ่อแม่เป็นสิ่งที่เราจะตอบแทนได้ยากมาก


แต่ในที่นี้พ่อแม่ต้องเป็นพ่อแม่ที่ควรแก่ชื่อและตำแหน่งว่าพ่อแม่

ถ้าเราไม่ทำหน้าที่เป็นพ่อที่ถูกต้อง เราก็ไม่เป็นพ่อ
เราไม่ทำหน้าที่ของแม่ เราก็ไม่เป็นแม่
ถ้าเราไม่เป็นแม่ด้วยการกระทำ ไม่เป็นพ่อด้วยการกระทำ
แล้วเราจะไปเรียกร้องความกตัญญูกตเวทีจากลูกได้อย่างไร


อันนี้ก็เป็นข้อคิดเหมือนกัน

เราเป็นอะไร เราก็เป็นด้วยการกระทำ
เราเป็นชาวพุทธก็เหมือนกัน
เราไม่ใช่ชาวพุทธเพราะบัญชี
เราไม่ใช่ชาวพุทธเพราะอ้างชื่อว่าเป็นชาวพุทธ
เราไม่ใช่ชาวพุทธโดยสายเลือด


(มีต่อ ๑)
 


แก้ไขล่าสุดโดย กุหลาบสีชา เมื่อ 09 ส.ค. 2007, 2:53 am, ทั้งหมด 4 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 09 ส.ค. 2007, 1:30 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ทุกวันนี้มีหลายคนบอกว่าฉันเป็นชาวพุทธโดยสายเลือด
อาตมาเคยยกตัวอย่างโดยสมมติว่า
เราอยากเป็นหมอแล้วเราไปเสนอตัวที่โรงพยาบาล
เขาถามว่าจบมาจากไหนจบมาจากศิริราชหรือจบมาจากจุฬาฯ
เราบอกว่าไม่ได้จบมาจากไหน
แล้วคุณเป็นหมอยังไง เป็นหมอด้วยสายเลือด
พ่อเป็นหมอ แม่เป็นหมอ ฉันเป็นหมอเพราะพ่อแม่ฉันเป็นหมอ
อันนี้เราคงจะทำงานกับเขาไม่ได้ เขาไม่เอาหรอกอย่างนี้

คือเราเป็นอะไร เราก็เป็นด้วยการกระทำ
เราเป็นชาวพุทธด้วยการกระทำ
มีความพากเพียรพยายามด้วยความจริงใจที่จะแสวงหาความจริง
ที่จะปล่อยวาง สิ่งที่ไร้แก่นสารสาระในชีวิต
ที่จะละสิ่งที่ท่านแนะนำให้เราละและบำเพ็ญสิ่งที่ท่านสอนให้เราบำเพ็ญ
อย่างนี้เรียกว่าเป็นชาวพุทธ ไม่ใช่ว่าเราจะไม่มีกิเลส ก็มีเหมือนกัน
ก็ธรรมดาแต่เราไม่หมกมุ่นในกิเลสของตัวเอง
เราต้องพยายามกำหนดรู้กิเลสว่าเป็นกิเลส
และต้องพยายามฝืนพยายามอดทนต่อกิเลส

ในชีวิตของชาวพุทธต้องพร้อมด้วยการให้ทาน
ด้วยการรักษาศีล และด้วยการภาวนา
ทีนี้เรื่องการภาวนาเป็นเรื่องที่สำคัญ คือเรามักจะมีความอยาก
มักจะมีความต้องการ ความวิตกกังวล ความหวาดกลัวหลายๆ อย่าง
ที่เราไม่ยอมรับที่มันคุกรุ่นอยู่ในใจ
แต่ว่ามันมักจะออกในการกระทำและการพูดของเราโดยที่เราไม่รู้สึกตัว
ในทางพระพุทธศาสนาเรามีการสอนเรื่องทางสายกลาง

ทางสายกลางก็อยู่ที่การกระทำ การพูด การคิด
ที่เป็นไปเพื่อการหลุดพ้นจากความบีบคั้นของกิเลส
แต่ทางที่เราเรียกว่าสุดโต่ง ก็มีทางแห่งการหมกมุ่นกับทางแห่งการเก็บกด
เรามีอารมณ์อะไรเกิดขึ้นมาเก็บกดก็สุดโต่งหมกมุ่นก็สุดโต่ง
ทางสายกลางก็รับรู้ รับรู้แล้วอดทน อดทน
จนกระทั่งสิ่งนั้นหมดฤทธิ์ แล้วก็เปลี่ยนแปลง แล้วก็ดับไป

ทีนี้ถ้าเรายังปล่อยวางไม่เป็นหรือไม่มีการฝึกอบรมในการปล่อยวาง
ก็ยากที่เราจะอยู่ในทางสายกลางได้
คือ จิตจะเอียงไปทางเก็บกด หรือเอียงไปทางหมกมุ่น

ถ้าเราเก็บกดหรือหมกมุ่นแล้ว
จะไม่สามารถที่จะเห็นอารมณ์ของเราตามความเป็นจริง

ฉะนั้นพระพุทธองค์จึงแนะนำให้เราฝึกจิตให้มีความสงบ
ความสงบที่เราต้องการนี้ไม่ใช่ความสงบซื่อๆ
แต่เป็นความสงบที่ประกอบด้วยปัญญา ความสงบที่ควรแก่การงาน
งานที่นี้ คือ การพิจารณาการสอดส่องดูแลอารมณ์ของตัวเองเพื่อจะได้เห็น
เพื่อจะได้สัมผัสความจริงที่ว่าอารมณ์ไม่ใช่จิต
จิตไม่ใช่อารมณ์ เมื่อเราเห็นอารมณ์ตามความเป็นจริงแล้ว
เราจะได้ปล่อยวาง เราจะมีความรู้สึกหน่าย
หน่ายในความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ว่าเป็นเราเป็นของเรา

แต่ถ้าจิตยังไม่สงบ เราไม่มีการฝึกจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว
ที่เรียกว่าสมถะกรรมฐาน จิตจะไม่มีความเข้มแข็งพอที่จะปล่อยวางอารมณ์ได้
พอที่จะเห็นอารมณ์ตามความเป็นจริงได้

อานิสงส์ของการฝึกสมาธิในลักษณะนี้เราจะเห็นได้ชัดในการเลี้ยงลูกด้วย
เพราะว่าคนที่ยังไม่รู้จักตัวเอง ยังไม่เห็นตัวเอง
มักจะใช้ลูกเพื่อตอบสนองความต้องการที่อยู่ใต้สำนึกของตัวเอง
เช่น เรากลัวตาย แล้วก็ต้องการให้ลูกเหมือนที่เราเรียกว่าสืบตระกูล
ทีนี้ส่วนมากที่เราอยากมีลูกสืบตระกูล
ก็เพื่อเอาชนะความตาย อันนี้ก็ไม่เป็นไร

แต่ที่จะมีปัญหาคือว่าถ้าเราเคยมีความผิดหวังในชีวิต
แล้วเรามีสิ่งที่เราอยากได้ แต่เราไม่ได้
บางทีเราจะมองลูกว่าลูกเป็นตัวแทนของเรา
เราจะให้ลูกทำในสิ่งที่เรามุ่งหวังในลักษณะอย่างนี้
จะเห็นว่าเราไม่มีความเคารพในความเป็นมนุษย์ของลูก
แต่เราเห็นลูกเป็นสมบัติของตน
การเห็นลูกเป็นสมบัติของเรานั้นเป็นบาป
เราต้องเคารพในความเป็นมนุษย์ของลูก
ลูกก็เป็นคน ลูกก็เป็นมนุษย์
แต่เป็นมนุษย์ที่ช่วยตัวเองยังไม่ค่อยได้


เราต้องเป็นพระพรหมของลูก
เราก็ต้องเป็นพ่อแม่ของลูก
และเราต้องเป็นเพื่อนของลูกด้วย
เราต้องเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง
แต่ที่สำคัญต้องเป็นกัลยาณมิตร


คือเราต้องพยายามปลูกฝังศรัทธา
ศีล จาคะ ปัญญาในจิตใจของลูก
และเราต้องมีปัญญาในการเลี้ยงลูกด้วย


บางคนก็มองการเลี้ยงลูกเหมือนกับการลงทุน
เหมือนกับคนบางคนทำบุญด้วยหวังว่าจะได้นั่นจะได้นี่
อย่างที่เขาเรียกว่าเป็นการทำบุญค้ากำไร

ทีนี้การเลี้ยงลูกค้ากำไรก็เหมือนกันคือว่าเราเลี้ยงเขาก่อน
เวลาแก่เขาก็จะเลี้ยงเราแทนอันนี้เขาเรียกว่าเป็นกิเลสและเป็นบาป
แต่ขอให้เข้าใจว่าคำว่าการที่เรียกว่าบาปไม่ใช่เป็นการด่า
หรือการประณามแต่เป็นการชี้ให้เห็นว่าถ้าเรามีความคิดอย่างนี้แล้ว
ความรู้สึกของเราต่อลูกจะไม่บริสุทธิ์ จะมีกิเลส
จะมีความอยากได้แอบแฝงอยู่ในความรักนั้น
จะไม่เป็นความรักที่ประกอบด้วยธรรมที่เราเรียกว่าเมตตา

เราต้องมีความหวังดีต่อลูก
แต่ต้องพยายามงดเว้นจากความหวังดีจากลูก
หวังดีต่อแต่อย่าหวังดีจาก
อันนี้ก็เป็นข้อคิดอีกข้อหนึ่งนะ

“หวังดีต่อ” แต่ “อย่าหวังดีจาก”
เราเลี้ยงเขาเพราะเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะต้องเลี้ยง
และเราจะต้องเลี้ยงให้ดีที่สุด

เพราะว่าการทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดคือการปฏิบัติธรรม
ในฐานะที่เราเป็นฆราวาส
เราก็เอาสิ่งที่เป็นหน้าที่ของเราเป็นที่ปฏิบัติธรรม
ไม่ใช่ว่าเราจะเลี้ยงลูกให้โตก่อนแล้วจึงค่อยปฏิบัติธรรม


เราจะทำนั่นทำนี่ก่อนเราจึงค่อยปฏิบัติธรรมพรุ่งนี้เราจะปฏิบัติธรรม
วันนี้ยังไม่ไหว ยังยุ่งอยู่ ยุ่งอยู่กับลูกยุ่งอยู่กับงาน ยุ่งกับนั่น ยุ่งกับนี่
คือสิ่งที่จะมายุ่งกับเรานี่ไม่มีวันจบ ไม่มีวันสิ้นสุดหรอก
ถ้าไม่เป็นลูก ก็เป็นหลานเป็นนั่นเป็นนี่อยู่ตลอดเวลาเลย

คือการที่จะรอให้สิ่งที่มายุ่งสงบลงก่อนจึงจะปฏิบัติธรรม
[ก็เหมือนกับว่าเราจะรอให้ทะเลหมดคลื่นก่อน
เราจึงปฏิบัติธรรม มันไม่หมดหรอก


ความสงบ คือ ความพร้อมที่จะปฏิบัติ
ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งภายนอก
แต่ขึ้นอยู่กับศรัทธาภายในจิตในใจของเรา
นี่แหละ คือ “การปฏิบัติธรรม”

(มีต่อ ๒)
 


แก้ไขล่าสุดโดย กุหลาบสีชา เมื่อ 09 ส.ค. 2007, 2:55 am, ทั้งหมด 5 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 09 ส.ค. 2007, 1:44 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

การเลี้ยงลูก คือ การปฏิบัติธรรม
และการเลี้ยงลูกกับการเลี้ยงตัวเองต้องควบคู่กันไป
เหมือนกับประโยชน์ท่านประโยชน์ตน
ประโยชน์ตนประโยชน์ท่านนี้อันเดียวกัน
เราสร้างประโยชน์ตนให้ถูกต้อง
ก็เป็นการสร้างประโยชน์ท่านในขณะเดียวกัน


การเลี้ยงลูก ก็คือ การเลี้ยงตัวเอง
การเลี้ยงตัวเองก็เป็นการเลี้ยงลูกในการเลี้ยงลูก
การช่วยเหลือลูกต้องประกอบด้วยปัญญาเหมือนกัน
ในขั้นพื้นฐานต้องมีขอบเขต
คือ ศีลทุกวันนี้โดยเฉพาะในเมืองไทยมีคนทุจริตมาก
ที่อ้างว่าไม่ได้ทำเพื่อตัวเองแต่ทำเพื่อลูก
อ้างความรักลูกเป็นเหตุให้ทำบาปความรักลูกอย่างนี้ไม่ถูกต้อง

เรารักลูกและความช่วยเหลือที่เราจะให้แก่ลูกต้องอยู่ในขอบเขตแห่งศีลธรรม
แล้วเราไม่ควรจะช่วยจนเกินไป
ถ้าเราเปรียบเทียบสังคมไทยกับสังคมตะวันตกรู้สึกว่าสังคมไทยนี่อบอุ่นกว่ามาก
แต่บางทีมันอบอุ่นจนกระทั่งลูกหายใจไม่ออกเลย
ลูกไม่มีความคิดริเริ่ม ไม่มีความคิดที่จะช่วยตัวเอง อาศัยแต่พ่อแม่
บางทีเด็กเมืองไทยบางรายอายุ ๒๐-๓๐ ก็เหมือนกับเด็กฝรั่ง ๑๕-๑๖ ปี
อย่างนี้เป็นข้อบกพร่องของพ่อแม่ด้วย

โดยเฉพาะในเรื่องลูกชายรู้สึกว่าลูกชายเสียเปรียบผู้หญิงในเมืองไทย
เพราะว่าลูกชายมักจะทำอะไรตามใจ พ่อแม่เอาใจลูกชายมากเกินไป
จนกระทั่งไม่มีความอดทนขันติ เป็นเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง
เพราะฉะนั้นพ่อแม่ด้วยความรักที่ขาดปัญญา
ทำลายหรือบั่นทอนขันติของลูกชายหรือของลูก
ลูกเลยไม่มีโอกาสที่จะได้สร้างเครื่องเผากิเลส
อย่างนี้ก็เลยเสียเปรียบทางธรรม

ลูกสาวค่อยยังชั่วหน่อยผู้หญิงต้องมีความอดทนโดยธรรมชาติ
พ่อแม่ก็ไม่ค่อยเอาใจใส่เท่าผู้ชาย

อาตมาสังเกตที่วัดป่านานาชาติ
ถ้าผู้ชายมาจากกรุงเทพฯ อยู่ไม่ค่อยได้นอนกับพื้น
ทำอะไรๆ ไม่เหมือนที่บ้าน ไม่มีใครซักผ้าให้ไม่มีใครรับใช้ อยู่ไม่ได้
ผู้หญิงสบาย อันนี้อยู่ที่การเลี้ยงลูกเหมือนกัน

เราต้องสงสารผู้ชาย ทุกวันนี้ผู้ชายเสียเปรียบท่านต้องรู้จักความพอดี
และต้องมีปัญญาเห็นว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา
ทุกๆเรื่องต้องมีปัญญากำกับอยู่

ในการเลี้ยงลูกนี่ก็ต้องสร้างปัญญา
ปัญญามันจะเกิดมาจากไหน
เราก็มีอยู่ทุกคน ปัญญาเรามีอยู่ทุกคน
แต่โดยปกติปัญญาดั้งเดิมของเราถูกความคิดปรุงแต่ง
หรือถูกอารมณ์ที่ผิวเผินทับถมไว้

ถ้าเราฝึกสมาธิเป็นประจำ จนกระทั่งจิตใจเราถึงความสงบ
ปัญญาที่มีอยู่แล้วโดยธรรมชาติจะผุดขึ้นมาเหมือนกับเรามีอาจารย์อยู่ในใจ
เหมือนกับเรามีพี่เลี้ยงอยู่ในใจปัญญาไม่รู้มาจากไหน
มันมีอยู่ของมัน แต่ปกติเราฝังมันอยู่ในดิน
เพราะเรามัวแต่สนใจเรื่องโลกภายนอก
เรื่องอดีตเรื่องอนาคต เรื่องนั่นเรื่องนี่

แต่เมื่อปัญญาเกิดขึ้นในลักษณะนี้เราจะมีความรู้สึกต่อสิ่งที่เหมาะสม
เหมือนกับลูกบางทีเราต้องปลอบใจ บางทีต้องให้กำลังใจ
บางทีก็ต้องว่าเขา บางทีอาจจะต้องตีเขาก็ได้
แต่สิ่งที่เหมาะสมนี้จะหาได้จากที่ไหน
อ่านตำราอ่านหนังสือไม่พบหรอก มันต้องรู้อยู่ในใจ
เวลาควรพูดก็มี เวลาไม่ควรพูดก็มี
เวลาควรห้ามก็มี เวลาควรอนุญาตก็มี
ใครจะมาบอกเรา ไม่มีใครหรอกนอกจากสติปัญญาที่มีอยู่ในใจ
อันนี้ตัวที่พึ่ง เป็นที่พึ่งอันแท้จริงและเป็นสิ่งที่เราต้องสร้างขึ้นมาเอง

บางทีเราอยากจะคุมลูก ไม่อยากให้ลูกมีความทุกข์
ไม่อยากให้ลูกผิดพลาด แต่บางทีต้องยอมรับ
ต้องยอมให้ลูกผิดพลาดต้องยอมให้ลูกเป็นทุกข์
ให้ลูกเห็นเอง เมื่อให้เขาเห็นเองแล้วเขาก็จะเลิกเอง


เมื่อก่อนอาตมาเคยทะเลาะกับโยมพ่อมากเรื่องนี้
ถึงโยมพ่อจะห้ามไม่ให้ทำเราก็ไม่ยอม
พ่อก็ไม่พอใจพ่อก็น้อยใจว่าลูกไม่เชื่อฟังพ่อ
พ่อก็เคยผ่านเรื่องนี้มาแล้วเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี
พ่อจึงไม่อยากให้ลูกไปยุ่งกับสิ่งนี้เชื่อพ่อเถอะ
อาตมาก็เคยบอกว่าลูกเชื่อพ่อ แต่ว่าถ้าลูกยังไม่สัมผัสเอง
ลูกจะต้องมีความสงสัยอยู่ในใจ ไม่วันใดวันหนึ่งลูกก็จะต้องลอง
เพราะว่าเราจะหมดความสงสัยด้วยคำพูดของคนอื่นไม่ได้
แม้ว่าจะเป็นคำพูดของพ่อก็จะขอลอง
เราจะควบคุมลูกจะป้องกันลูกทุกอย่างไม่ได้และลูกจะไม่ฉลาดด้วย
บางทีต้องปล่อยให้ลูกเห็นเองรู้เองบ้าง

และเราควรจะมองลูกว่าเป็นตัวแทนของสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ที่เราแผ่เมตตาขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงมีความสุขความเจริญ
เราอยากจะช่วยสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ถ้าเราช่วยไม่ได้เพราะเราอยู่บ้าน หรือเราอยู่ที่ทำงาน
มีคนรอบข้างก็ไม่กี่คน เราจะช่วยสรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงได้อย่างไร
เราก็ช่วยสรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่เรารู้จัก


แต่มีหลายคนที่บ่นว่าฉันแผ่เมตตาได้ดี แผ่เมตตาให้ทุกคน
เว้นแต่คนที่อยู่ในบ้าน คนที่อยู่ใกล้ชิดรู้สึกว่าแผ่เมตตายาก
ทำไมมันเป็นอย่างนี้ เพราะคนนี้แหละที่มากระทบกระแทก
คนนี้ที่มาทำสิ่งที่เราไม่ชอบทำสิ่งที่ขัดใจเรา
ข้อนี้แหละสำคัญที่สุดคือเราต้องพยายามแผ่ให้คนนี้

และแทนที่จะมองลูกเป็นสมบัติของเรา ลูกของฉัน
เราเห็นลูกเป็นตัวแทนของสรรพสัตว์ทั้งหลายที่มาอยู่กับเราชั่วคราว
ไม่รู้จะมาอยู่กับเรากี่ปีหรือกี่วัน หรือกี่ชั่วโมง
แต่เราจะช่วยเขาด้วยจิตที่บริสุทธิ์
แล้วการที่เราจะได้รับอะไรตอบแทนนั้น ถือว่าเป็นผลพลอยได้


เราสอนให้เขามีความกตัญญูกตเวที
ต่อพ่อแม่รู้จักบุญคุณของผู้มีอุปการะคุณ
แต่ว่าการที่เราจะบังคับให้เขาเป็นคนดี บังคับให้เขาเป็นตามนั้นไม่ได้
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่บังคับไม่ได้
แต่เราจะแนะนำหลักเท่าที่เราสามารถจะแนะนำเขา
ตามที่สติปัญญาของเราจะอำนวย
แต่เรื่องผลที่ออกมานั้นไม่ได้อยู่ในวิสัยของเราที่จะบังคับเอา


ก็เหมือนกับการนั่งสมาธิภาวนาเหมือนกัน
อย่างที่หลวงพ่อชาท่านเคยสอนอยู่บ่อยๆ ว่า
หน้าที่ของเราอยู่ที่เหตุ เราปลูกต้นไม้หน้าที่ก็อยู่ที่การขุดดิน การปลูก
การพรวนดิน การรดน้ำเหล่านี้เป็นหน้าที่ของเรา
แต่ผลที่ออกมานั้นเรื่องธรรมชาติเรื่องลูกก็เป็นธรรมชาติเหมือนกัน

ในการทำหน้าที่ ความรักอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีปัญญาประกอบด้วย
ค่อยพิจารณาว่าเราควรจะพูดอย่างไร เราควรจะทำอย่างไร
เพื่อจะสร้างลูกให้เป็นคนดี
ไม่ใช่ว่าจะให้ลูกทำแต่ในสิ่งที่เราอยากให้เขาทำ
หรือว่าจะให้ทำทุกสิ่งทุกอย่างตามใจเรา
แต่เราจะให้เครื่องมือแก่เขา เครื่องมือในการสร้างชีวิตของเขาเอง
แล้วเราเองจะเป็นตัวอย่างที่ดี
แต่เราจะไม่มีความยึดมั่นถือมั่นว่าเขาต้องเป็นอย่างนั้น เขาไม่ควรทำอย่างนี้
เราต้องมีการยอมรับความเป็นมนุษย์ของเขา

ถ้าเราเอาลูกของเราไปเปรียบเทียบกับคนอื่น เป็นสุขหรือทุกข์ก็เป็นทุกข์
อันนี้ก็เห็นทุกข์ตามความเป็นจริง แล้วเราก็ปล่อยวาง

การมีลูกนี้ช่วยในการปฏิบัติธรรมได้ดี
เพราะว่าจุดสำคัญในการปฏิบัติธรรม คือการละความเห็นแก่ตัว
เรามีลูกเรามีแต่ให้อย่างเดียว ตอนลูกยังเป็นทารกอยู่
ผัวเมียของเราร่วมสุขร่วมทุกข์ แต่เด็กน้อยนั้นไม่เคยร่วมทุกข์
ร่วมสุขบ้างแต่เวลาเราเป็นทุกข์เราจะเอาลูกเป็นที่พึ่งไม่ได้
เราจะเอาอะไรจากลูกไม่ได้ นอกจากให้
จะทำให้เราได้ความสุขจากการให้


ทีนี้ลูกร้องไห้ตี ๑ ตี ๒ หลายวันเราก็นอนไม่หลับนี่ก็เป็นการให้
แต่เราทำด้วยความพอใจ ทำเพราะเห็นเป็นหน้าที่

ในการปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน เราต้องเลี้ยงตัวเองไม่ว่าจะยากลำบาก
และเราก็ต้องทำบ่อยๆ ทำทุกวัน ไม่มากก็น้อย ทำด้วยความสม่ำเสมอ
ทำเป็นหน้าที่เหมือนกับเราเลี้ยงลูก เลี้ยงลูกนี้ไม่ใช่ว่าวันนี้ขี้เกียจ
วันนี้ไม่มีเวลาวันนี้ไม่เลี้ยงหรอก อันนี้ทำไม่ได้

การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกันต้องทำทุกวัน
แม้ว่าเรายังไม่อยู่ขั้นที่เรียกว่าปฏิบัติชอบเราชอบปฏิบัติไปก่อน
เราก็ต้องพยายามใช้ความรู้สึกต่อการปฏิบัติเหมือนความรู้สึกของแม่ต่อลูก
ที่ว่าหน้าที่เป็นสิ่งที่ควรทำ เป็นสิ่งที่มนุษย์ควรทำ

ทุกวันนี้ประเทศไทยของเรากำลังเจริญแต่เจริญด้วยวัตถุ
แต่เราเห็นความเจริญ เจริญด้วยวัตถุถึงพรุ่งนี้อีกในแง่หนึ่ง
จะมองว่าเป็นการกำเริบของสิ่งที่ไม่งาม
โดยเฉพาะความเห็นแก่ตัวมากขึ้นๆ

ฉะนั้นพวกเราต้องเป็นตัวแทนศาสนา
ทั้งศาสนาในสมัยปัจจุบัน ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของเราโดยตรง
และศาสนาในอนาคตที่เราจะช่วยได้
โดยเราจะอนุเคราะห์ได้ด้วยการสั่งสอนลูกหลานของเราให้ตั้งอยู่ในธรรม

เรื่องของธรรมะก็เหมือนกัน เราจะบังคับเขาไม่ได้
แต่ถ้าเราเป็นตัวอย่างที่ดีให้เขาเห็นความสงบของเรา
ถ้าเขาเห็นความสุขของเราที่อาศัยการปฏิบัติธรรมแล้ว เขาต้องสนใจ
ทำไมจะไม่สนใจ ถ้าเรามิได้ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเองอย่างนี้

ทุกวันนี้เขาไม่รับ เขาบอกว่าฉันไม่สนใจหรอกพ่อแม่ของฉันเป็นชาวพุทธ
แต่หน้าบูดเบี้ยวอยู่ทั้งวันทั้งคืนเขาจึงไม่สนใจ
แต่ถ้า เขาเห็นว่าเราได้รับความสุข
เราได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติธรรม เขาสนใจเองโดยธรรมชาติ
โดยที่เราไม่ต้องแนะนำ เราไม่ต้องบังคับ


ฉะนั้นในการเลี้ยงลูกที่ว่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติธรรมของเรา
แทนที่จะเห็นการปฏิบัติธรรมเป็นสิ่งที่เราทำเพื่อตัวเอง
ให้เห็นว่าเป็นการปฏิบัติบูชา การให้ทานการรักษาศีล การภาวนา
เราทำเพื่อศาสนา ทำเพื่ออนุเคราะห์ทำเพื่อส่งเสริมพระพุทธศาสนา
ทำด้วยความกตัญญูกตเวทีต่อพระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ให้การปฏิบัติธรรมเป็นการให้ฝึกให้ทุกสิ่งทุกอย่าง
ต้องอยู่ในลักษณะอยู่ในขอบข่ายของการให้
ยิ่งให้ก็ยิ่งมีความสุข ยิ่งมีความสุขก็ยิ่งมีโอกาส
ยิ่งมีความมั่นคงที่จะให้ความสุขแก่คนอื่นถ้าตัวเองยังไม่มีความสุข
เราก็ให้ความสุขแก่คนอื่นไม่ได้

ในวันนี้อาตมาก็ให้ข้อคิดหลายข้อ ล้วนเป็นข้อยากๆ วกไปเวียนมา
แต่ถ้าว่างๆ นำมาพิจารณาก็คงเป็นประโยชน์แก่ญาติโยม
คงจะพอสมควรแก่เวลา เกรงใจคนที่ฟังภาษาไทยไม่ออก

สาธุ สาธุ สาธุ

ที่มา : “การเลี้ยงลูก” ในความฉลาดไร้พรมแดน
โดย ชยสาโรภิกขุ, หน้า ๔๗-๖๗
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 10 ส.ค. 2007, 10:05 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ สาธุ สาธุค่ะ...คุณกุหลาบสีชา

พ่อแม่ คือ พระอรหันต์ของลูก
ไม่มีท่านทั้งสอง...ก็ไม่มีเรา...ในวันนี้
อยากให้ลูกๆ ช่วยดูแลท่านทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ
และช่วยพาท่านมาพบ มาปฏิบัติ มาเข้าสู่พระพุทธศาสนา
เพื่อตอบแทนคุณท่านและให้ท่านพบที่พึ่งอย่างแท้จริง

ธรรมใดๆก็ไร้ค่า...ถ้าไม่ทำ

ธรรมะสวัสดีค่ะ

ดอกไม้ ดอกไม้ ดอกไม้
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง