Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 วันอาสาฬหบูชา-วันเข้าพรรษา (เสฐียรพงษ์ วรรณปก) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 06 ส.ค. 2007, 2:11 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

วันอาสาฬหบูชา-วันเข้าพรรษา
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก


เลยวันอาสาฬหบูชามาแล้ว แต่อยู่ในระหว่างพระเข้าพรรษา จึงขอพูดถึงวันทั้งสองนี้ เพื่อความสุขใจส่วนตัว

อาสาฬหบูชา (อ่าน “อาสานหะบูชา”) คือ การบูชาในวันที่พระจันทร์เสวยฤกษ์อาสาฬหะหรือวันเพ็ญเดือน 8 (ถ้าปีไหนมีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปเป็นเดือนแปดหลัง)

วันอาสาฬหบูชา นี้เป็น “น้องใหม่” ในจำนวนวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาทั้งสาม เพิ่งประกาศใช้ในรัชกาลปัจจุบัน เมื่อ พ.ศ.2501 วันที่เก่าแก่ที่สุดคือ วันวิสาขบูชา มีมาตั้งแต่สมัยไหนก็ไม่รู้ สันนิษฐานกันว่าตั้งแต่พระพุทธศาสนาเข้ามายังเมืองไทยโน่นแหละ สมัยสุโขทัยก็มีพูดถึงการเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชา มาขาดตอนเอาในสมัยอยุธยาตอนปลาย และต้นรัตนโกสินทร์ มาฟื้นฟูใหม่เมื่อรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เหตุการณ์ที่ทำให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญ คือ

1. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ แสดงธรรมครั้งแรก มีชื่อว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร”

2. เป็นวันที่พระอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม แล้วทูลขอบวชด้วยวิธี “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” (พระพุทธเจ้าทรงบวชให้เอง) เกิดพระอริยสงฆ์องค์แรกในโลก

3. เป็นวันที่พระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก (ก่อนหน้านี้มีเพียงพระพุทธและพระธรรมเท่านั้น)

4. วันนั้นเป็นวันที่พระจันทร์เสวยอาสาฬหฤกษ์ (คือ วันเพ็ญเดือน 8)

รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งคือ วันแรม 1 ค่ำเดือน 8 เป็น วันเข้าพรรษา พระสงฆ์จะต้องอธิษฐานจิตว่าอยู่ประจำในที่ใดที่หนึ่งตลอดเวลา 3 เดือน โดยไม่ไปแรมคืนที่ไหน (ยกเว้นกรณีจำเป็น ไปได้และต้องกลับมาภายใน 7 วัน)

Image

วันเข้าพรรษากำหนดไว้ 2 ระยะ หรือพูดอีกนัยหนึ่ง วันเข้าพรรษามี 2 ช่วง คือ

1. วันเข้าพรรษาแรก (ปุริมพรรษา) ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8
2. วันเข้าพรรษาหลัง (ปัจฉิมพรรษา) ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 9

สถานที่สำหรับจำพรรษานั้น พระพุทธเจ้าทรงกำหนดไว้ว่า จะต้องเป็นสถานที่ที่เหมาะสม มิใช่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ได้ตามชอบใจ สถานที่จะต้องเป็น

1. เสนาสนะที่มุงบังมิดชิด
2. เสนาสนะที่มีบานประตูปิด-เปิดได้
3. ไม่ใช่ในร่ม (เช่น กลดพระธุดงค์) ตุ่มน้ำ โพรงไม้
4. เป็นสถานที่เดียวตลอด 3 เดือน ไม่ใช่หลายสถานที่

การอธิษฐานเข้าพรรษา ทำเป็นพิธีตามที่ทรงอนุญาตไว้ให้เป็นแบบปฏิบัติ คือ เมื่อเลือกสถานที่ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามพระวินัยบัญญัติแล้ว ก็ตั้งจิตอธิษฐานว่า “อิมัสมิง อาวาเส อิมัง เตมาสัง วัสสัง อุเปมิ ข้าพเจ้าเข้าจำพรรษาในอาวาสนี้ ตลอด 3 เดือน”

“ขณะจำพรรษาอยู่นั้น จะไปค้างคืนที่ไหนไม่ได้จริงหรือไม่” นี้คือคำถามที่คนห่างวัดถามกัน บางท่านเข้าใจว่า เวลาเข้าพรรษา พระจะต้องอยู่เฉพาะในกุฏิเท่านั้น เสมือน “กบจำศีล” ไม่ไปไหน ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด

ความจริงในระหว่างพรรษา พระจะไปไหนก็ได้ จะไปค้างที่อื่นก็ได้ แต่จะต้องกลับมาทัน “รับอรุณ” คือ กลับมายังที่อยู่ก่อนเวลาอรุณขึ้น

เช่น พระ ก. จำพรรษาอยู่วัดโคกขี้แร้ง มีความจำเป็นบางอย่าง จะไปพักแรมอยู่ที่วัดโคกขี้กาจนถึงเวลาประมาณตีห้า แล้วรีบกลับมาที่วัดโคกขี้แร้งก่อนอรุณขึ้น อย่างนี้ได้ครับ

หรือถ้ามีความจำเป็นจริงๆ จะต้องไปค้างแรมที่อื่นหลายวัน พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ไปได้ แต่ไม่เกิน 7 วัน การไปด้วยกรณีที่จำเป็นนี้เรียกว่า “สัตตาหกรณียะ” (ไปทำกิจที่จำเป็นตลอด 7 วัน)

กิจที่จำเป็นที่ว่านี้มี 4 ประการ คือ

1. เพื่อนสหธัมมิก (เพื่อนพระด้วยกัน) หรือบิดามารดาป่วย ไปเพื่อพยาบาล

2. เพื่อนสหธัมมิกกระสัน (คือ อยากลาสิกขา) ไปเพื่อระงับมิให้สึก ชี้แจงให้กลับใจ มีอุตสาหะประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป

3. ไปกิจการของสงฆ์ เช่น ไปหาอุปกรณ์มาซ่อมแซมกุฏิวิหารที่ชำรุด

4. ทายกนิมนต์ไปเทศนาสั่งสอน หรือไปบำเพ็ญกุศล

เมื่อพระภิกษุจำพรรษาครบ 3 เดือนแล้ว ย่อมได้ “อานิสงส์” ตามพระวินัย (คือ ได้รับยกเว้นไม่ต้องรักษาวินัยบางข้อ) 5 ประการ คือ

1. จาริกไปที่อื่นได้โดยไม่ต้องบอกลาเพื่อนสหธัมมิกด้วยกัน ข้อนี้เป็นข้อยกเว้นพิเศษ เพราะตามปกติพระภิกษุจะไปที่อื่น จะต้องบอกลาเพื่อนพระด้วยกัน ถ้าไปไหนไม่ได้บอกลาใครไม่ได้ ปรับอาบัติ (มีความผิดตามพระวินัย)

2. จาริกไปที่อื่นได้โดยไม่ต้องนำผ้าไตรไปครบชุด มีพระวินัยบัญญัติข้อหนึ่งว่า พระภิกษุจะต้องนำผ้าไตรไปครบชุด หาไม่จะถูกปรับอาบัติ

3. ฉันอาหารเป็นหมู่คณะและฉันพร่ำเพรื่อ (ในเวลา) ได้ ซึ่งตามปกติห้ามทำอย่างนี้

4. เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้ตามต้องการ คือ พระภิกษุสามารถเก็บผ้าจีวรนอกจากผ้าไตรได้

5. มีส่วนได้ “อดิเรกลาภ” (ลาภพิเศษ) ที่เกิดขึ้นในวัดนั้น

อานิสงส์เหล่านี้ พระภิกษุที่อยู่จำพรรษาแล้ว มีสิทธิได้รับตั้งแต่วันแรกที่ออกพรรษาเป็นเวลา 1 เดือน และถ้าได้รับกฐินแล้ว ยืดเวลาไปอีก 4 เดือน

Image

ในเทศกาลเข้าพรรษา นอกจากจะมีการทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารและไทยธรรม ดอกไม้พุ่ม ผ้าจำนำพรรษาแล้ว ก่อนวันเข้าพรรษายังมีการถวายเทียนพรรษาอีกด้วย บางแห่งก็ทำกันเอิกเกริกมโหฬาร อย่างเช่นในจังหวัดอุบลราชธานี มีประเพณีแห่เทียนพรรษากันยิ่งใหญ่และงดงามที่สุดทุกปี ปัจจุบันประเพณีแห่เทียนของจังหวัดอุบลราชธานีได้พัฒนาไปมาก มีต้นเทียนประเภทแกะสลัก และประเภทติดพิมพ์ ประกวดประขันกัน จัดรูปขบวนแห่ที่งดงามแปลกตา ดูเหมือนว่าพัฒนาถึงขั้นประกวดนางงามต้นเทียน หรืออะไรทำนองนั้นด้วย นับว่าสมสมัยดี (สมสมัยหรือเสื่อมสมัยก็ไม่รู้สิครับ)

ข้อคิดที่อยากฝากก็คือ การเข้าพรรษานี้ ไม่ได้มีมาตั้งแต่ต้น สมัยแรกๆ พระสงฆ์ท่านยังไม่ได้จำพรรษากัน ต่างก็สัญจรไปยังท้องที่ต่างๆ เพื่อเผยแพร่พระศาสนา สาเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้มีการจำพรรษา เนื่องมาจากชาวบ้านพากันติเตียนพระสงฆ์ว่า ในขณะที่พ่อค้าและนักบวชลัทธิอื่นพากันหยุดพักในฤดูฝน พระสมณะศากยบุตร (สาวกของพระพุทธเจ้า) กลับท่องเที่ยวไปยังที่ต่างๆ ตามอำเภอใจ เหยียบย่ำติณชาติและข้าวกล้าชาวบ้านให้เสียหาย ดูไม่เหมาะสมสำหรับสมณะเลย

พระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่อง จึงทรงวางระเบียบให้เหล่าสาวกของพระองค์อยู่จำพรรษา ณ ที่ใดที่หนึ่งเป็นเวลา 3 เดือนในฤดูฝน ดังกล่าวมาข้างต้น

ถึงเทศกาลพรรษา มีธรรมเนียมอย่างหนึ่งสำหรับชาวบ้านที่เป็น “ปีศาจสุรา” ท่านเหล่านี้จะนัดกันหยุดดื่มสุราเมรัยตลอดเวลา 3 เดือน บางท่านยืมคำพระมาใช้เลยก็มี

“ไม่ดื่มบ้างหรือครับ” เสียงใครคนหนึ่งถามเพื่อนอีกคน

“ไม่ครับ ผมเข้าพรรษา” คนถูกถามตอบอย่างสงบ

จะเห็นได้ว่า พิธีเข้าพรรษาของพระ ฆราวาสก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ ซึ่งเป็นเรื่องดี น่าสรรเสริญ และจะดีกว่านี้ ถ้าดื่มในฤดูเข้าพรรษา 3 เดือน แต่หยุดดื่ม 9 เดือน นอกเทศกาลพรรษา คุณว่าไหม


หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน หน้า 6
คอลัมน์ รื่นร่มรมเยศ โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
วันที่ 05 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10739
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ฌาณ
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 23 ก.ค. 2008
ตอบ: 1145
ที่อยู่ (จังหวัด): หิมพานต์

ตอบตอบเมื่อ: 18 ก.ย. 2008, 9:48 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ
 

_________________
ผมจะพยายามให้ได้ดาวครบ 10 ดวงครับ
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง