Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 พระปัจเจกพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ไม่สอนผู้ใดเลย อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
โยคี19
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 15 เม.ย. 2008
ตอบ: 29
ที่อยู่ (จังหวัด): กรุงเทพฯ

ตอบตอบเมื่อ: 08 พ.ค.2008, 7:28 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

การที่ข้าพเจ้าได้นำเรื่องนี้มาโพสต์นั้นก็เพื่อต้องการให้คนทั่วไปได้เข้าใจ มีความศรัทธาและมีความเคารพในองค์พระปัจเจกพระพุทธเจ้ามากยิ่งขึ้น

พระปัจเจกพุทธเจ้าท่านคือใคร ?

การที่พระอรหัตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จมาอุบัติตรัสรู้ขึ้นมาสักองค์หนึ่ง เป็นสิ่งที่ยากเหลือคณา เพราะกว่าที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะบำเพ็ญบารมีครบ ๓๐ ทัศ ให้เต็มบริบูรณ์นั้นอย่างน้อยที่สุดจะต้องใช้เวลานานถึง ๔ อสงไขยกำไรแสนกัป แล้วในเวลาที่ว่างเว้นพระศาสนา ซึ่งบางครั้งยาวถึง ๑ อสงไขย สัตว์โลกที่ต้องเวียนว่ายายเกิดใจวัฏสงสาร ต้องมืดมนอลธกาลขาดที่พึ่ง ต้องอยู่ในอบายภูมิจำนวนมาก

การอุบัติขึ้น ของพระปัจเจกพุทธเจ้า ในระหว่างที่ว่างเว้นพระพุทธศาสนา หรือที่เรียกว่าพุทธันดรนั้น นับว่าเป็นโชคมหาศาลของผู้ที่เกิดในยุคนั้น เพราะพระปัจเจกพุทธเจ้าย่อมมาสงเคราะห์สัตว์โลก ให้ตั้งอยู่ในทาน ในศีล เมื่ละร่างกายไปแล้ว ย่อมสู่สุคติภูมิ มีสวรรค์เป็นต้น ให้บุคคลที่ตกยากแต่มีศรัทธาเต็มเปี่ยมได้เป็นมหาเศรษฐี ด้วยการออกจากนิโรธสมาบัติแล้วมาสงเคราะห์บิณฑบาต

พระปัจเจกพุทธเจ้า จึงเป็นเอกควรแก่การได้รับ "ไทยทาน" ที่เขานำมาถวาย หรือจะเรียกว่า "อัครทักขิไณยบุคคล" ในยุคพุทธันดรอย่างแท้จริง เพราะยุคนั้นไม่มีใครเปรียบเสมอ สมดังที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่า...

" ในโลกทั้งปวงเว้นจากเราเสียแล้ว ไม่มีใครเสมอกับพระปัจเจกพุทธเจ้าได้เลย "


พระปัจเจกพุทธเจ้ามี ๓ ประเภท

สำหรับความปรารถนาของพระปัจเจกโพธิสัตว์ทั้งหลาย แม้ถึงจะมีบารมีเป็นปัญญาธิกะ ก็ยังต้องปรารถนาการเพิ่มพูนโพธิสมภารตลอดเวลา ๒ อสงไขยแสนกัป ไม่อาจต่ำกว่านี้

พระปัจเจกพุทธเจ้ามี ๓ ประเภท คือ

๑. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าปัญญาธิกะ : บำเพ็ญบารมี ๒ อสงไขยแสนกัป

๒. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าศรัทธาธิกะ : บำเพ็ญบารมี ๒ อสงไขยแสนกัป และเกินแสนกัปไปเล็กน้อย

๓. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าวิริยาธิกะ : บำเพ็ญบารมี ๒ อสงไขยแสนกัป และเกินแสนกัปไปมากแต่ไม่ถึง ๓ อสงไขย


ผู้ปรารถนาความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า จำเป็นต้องปรารถนาสมบัติ ๕ ประการ เพื่อเกิดอภินิหารของพระปัจเจกพุทธเจ้ามี ๕ ประการ คือ

๑. ความเป็นมนุษย์

๒. ความถึงพร้อมด้วยเพศชาย

๓. การได้เห็นท่านผู้ปราศจากอาสวะ คือ พระอรหันต์ทั้งหลาย อาทิ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า, พระปัจเจกพุทธเจา, หรือพระอรหันตสาวก ท่านใดท่านหนึ่ง

๔. การกระทำอันยิ่งใหญ หรือ อธิการ

๕. ความเป็นผู้มีฉันทะ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย บำเพ็ญบารมีทั้งหลายตลอดกาลตามประเภทแล้ว ด้วยความปรารถนานี้ และด้วยอภินิหารนี้ อย่างนี้แล้วเมื่อจะเกิดในโลก ย่อมเกิดในสกุลกษัตริย์ หรือ สกุลพราหมณ์

พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมเกิดในสกุลกษัตริย์ สกุลพราหมณ์ หรือ สกุลคหบดี สกุลใดสกุลหนึ่ง

ส่วนพระอัครสาวก ย่อมเกิดขึ้นเฉพาะในสกุลกษัตริย์ และสกุลพราหณ์เท่านั้น เหมือนอย่างพระพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ไม่เกิดขึ้นในวัฏกัป คือ กัปเสื่อม ย่อมเกิดขึ้นในวิวัฏฏกัป คือ กัปเจริญ แม้พระปัจเจกพุทธเจ้าก็เหมือนกัน

พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย จะไม่เกิดขึ้นในกาลที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้น
ข้อกำหนด และ ปกิณณกะ : พระปัจเจกพุทธเจ้า


๑) พระปัจเจกพุทธลักษณะ :

... ในพระบาลีและอรรถกถาไม่ได้แสดงพระปัจเจกพุทธลักษณะไว้ชัดเจนว่า พระปัจเจกพุทธเจ้ามีลักษณะอย่างไร ในอรรถกถาได้กล่าวไว้ว่าพราหมณ์ยุคนั้นมีคัมภีร์มหาปริสลักษณะว่า บุคคลผู้นี้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอัครสาวก พระพุทธบิดา พระพุทะมารดา แต่ก็ไม่ได้กล่าวว่าลักษณะเช่นไรเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า... ในอรรถกถาปัจเจกพุทธาปทาน และชาดกแสดงเพียงลักษณะของเพศบรรพชิตว่า ...

... "มีพระเกศาและพระมัสสุยาว ๒ องคุลี ครองผ้าสองชั้นที่ย้อมแล้ว คาดรัดประคตเช่นสายฟ้า มีจีวรเฉวียงบ่ามีสีดังแผ่นครั่ง ห่มเฉวียงบ่าไว้ข้างหนึ่ง มีผ้าบังสกุล จีวรสีเมฆพาดอยู่เบื้องขาว มีบาตรดินสีเหมือนแมลงภู่คล้องอยู่ที่บ่าเบื้องซ้าย" ...

... และถ้าหากท่านบรรลุปัจเจกโพธิญาณใน เพศคฤหัสถ์ : เมื่อท่านทรงบริขาร ๘ แล้วแลดูเหมือนพระเถระ ๑๐๐ พรรษา หรือ ๖๐ พรรษา

๒) พระรัศมีของพระปัจเจกพุทธเจ้า :

... พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นก็มีรัศมีเหมือนกัน ในอรรถกถาปัจเจกพุทธาปทานท่านแสดงไว้ว่า

" พระปัจเจกพุทธเจ้า มีรัศมีสุกสกาวแห่งทองสีแดงและทองชมพูนุท"

... ส่วนอรรถกถาประวัติของพระโสณโกฬิวิสะแสดงไว้ว่า

" พระรัศมีที่สรีระของพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นเช่นกับสีของ ผ้ากัมพลแดง"

๓) อายุ และ ระยะเวลาบำเพ็ญเพียร ของ พระปัจเจกพุทธเจ้า :

อายุของพระปัจเจกโพธิสัตว์ที่บรรลุโพธิญาณ มิได้กำหนดชัดเจน แต่ตามที่ปรากฏในอรรถกถา ท่านได้แสดงไว้น้อยที่สุด ๑๖ พรรษา มากที่สุดมิได้แสดงไว้
ระยะเวลาการบำเพ็ญเพียรของพระปัจเจกโพธิสัตว์ ที่ปรากฏในอรรถกถาท่านแสดงไว้นานที่สุด ๗ พรรษา และมีพระปัจเจกโพธิสัตว์ อยู่หลายองค์ที่ท่านบรรลุปัจเจกโพธิญาณใน เพศคฤหัสถ์ โดยมิได้ออกบำเพ็ญเพียรเหมือนอย่างพระสัพพัญญูโพธิสัตว์

๔) เหตุแห่งการบรรลุปัจเจกโพธิญาณ :

พระปัจเจกโพธิสัตว์แต่ละองค์ได้ความสังเวชไม่เหมือนกัน แล้วบรรลุปัจเจกโพธิญาณ ในคัมภีร์อปทาน และขัคควิสาณสูตรได้กล่าวถึงเหตุแห่งการบรรลุปัจเจกโพธิญาณของพระปัจเจกพุทธเจ้า ๔๑ พระองค์ไว้เป็นพิเศษ จะขอยกตัวอย่างมาแสดงสัก ๒ เรื่องตามลำดับ ดังนี้

ธรรมที่บรรลุ : ๑. พระปัจเจกพุทธเจ้าในปัจฉิมภพ (พระชาติสุดท้าย) ก็ไม่มีใครๆ เป็นอาจารย์เช่นเดียวกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒. พระปัจเจกพุทธเจ้าท่านแทงตลอดในอริยสัจ ๔ ด้วยอัตตุกกังสิกญาณ คือ ญาณที่รู้เฉพาะตนเอง แต่มิได้บรรลุพระสัพพัญญุญาณ และ ทศพลญาณเหมือนสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๕) พระปัจเจกพุทธเจ้ายังมีวาสนาอยู่ :

วาสนา : คือ "การทำด้วยอำนาจความเคยชิน" เช่น การกล่าวว่า "จงมาซิคนถ่อย"... "จงไปซิคนถ่อย"... แม้ท่านละกิเลสได้แล้ว แต่ยังมีวาสนาอยู่

... ในอรรถกถา คำว่า "วาสนา" นี้ ท่านกล่าวว่า คือ อธิมุตติ ปานประหนึ่งสักว่าความสามารถ อันกิเลสที่เธออบรมมาตลอดกาลหาเบื้องต้นมิได้ ติดอยู่ อันเป็นเหตุแห่งความประพฤติ เหมือนความประพฤติของคนผู้ยังละกิเลสไม่ได้ในสันดาน แม้ของท่านผู้เว้นกิเลสได้แล้ว

... ก็ว่าด้วยการละกิเลสเครื่องกางกั้นไญยธรรมด้วยความสมบูรณ์แห่งอภินิหาร เหตุแห่งความประพฤตินี้นั้น ไม่มีในสันดานของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ละกิเลสได้แล้ว แต่ ยังมีในสันดานของพระสาวก และ พระปัจเจกพุทธเจ้าที่ยังละกิเลสอย่างนั้นไม่ได้ เพราะพระตถาคตเท่านั้นทรงเห็น อนาวรญาณ (ญาณไม่มีเครื่องกั้น)

๖) อริยาบถที่บรรลุ :

พระปัจเจกโพธิสัตว์ทั้งหลายบรรลุโพธิญาณในอริยาบถต่างๆ กัน ยืนก็มี นั่งก็มี นอนก็มี มีแม้แต่นั่งประทับบนคอช้างแล้วบรรลุพระปัจเจกโพธิญาณ

๗) สถานที่สถิตของพระปัจเจกพุทธเจ้า :

โดยปกติแล้วเมื่อพระปัจเจกโพธิสัตว์บรรลุปัจเจกโพธิญาณแล้ว พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายก็จะไปประทับอยู่ที่ภูเขา คันธมาทน์ แต่ใน อิสิคิลิสูตร พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ พระองค์ บุตรของนางปทุมวดีอาศัยอยู่ในถ้าของภูเขาอิสิคิลิ ต่อมาพระราชาสร้าง บรรณศาลา ในพระราชอุทยานถวาย เพื่อเป็นการอนุเคราะห์ท่านก็อยู่ในที่นั้นจนตราบปรินิพพาน

ส่วนภูเขา คันธมาทน์ ที่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายประทับอยู่ประจำนั้น อยู่เลยภูเขา ๗ ลูก ณ ภูเขา คันธมาทน์ มีเงื้อมเขาชื่อ นันทกะมูลกะ เป็นสถานที่อยู่ของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่เงื้อมเขานันทกะมูลกะแห่งภูเขาคันธมาทน์นี้มีถ้ำอยู่ ๓ ถ้ำ คือ

๑. มณีคูหา (ถ้ำแก้วมณี) ๒. สุวรรณคูหา (ถ้ำทองคำ) ๓. ชตคูหา (ถ้ำเงิน)

บรรดาถ้ำทั้ง ๓ นั้น ที่ประตูคูหา มีต้นไม้ชื่อ "มัญชูสกะ" เป็น ต้นไม้สวรรค์ สูง ๑ โยชน์ กว้าง ๑ โยชน์ ต้นไม้นั้นจะเผล็ดดอกบานสะพรั่งทั่วไปในน้ำ และบนบกเป็นพิเศษ ในวันที่พระปัจเจกพุทธเจ้ามาถึง ข้างหน้าต้นไม้นั้นมีศาลาประชุมอยู่หลังหนึ่ง ชื่อว่า "รัตนมาฬกะ" เป็นศาลาประชุมใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยแก้วมณีทั้งหลัง ที่นี่เป็นที่ประชุมสันนิบาตแห่งพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ภายในบริเวณศาลานี้มีลมพิเศษพัดประจำอยู่ ๖ ชนิด คือ

๑. สัมมัชนกวาต : มีหน้าที่สำหรับพัดกวาดปัดหยากเยื่อทิ้ง

๒. สมกรณวาต : มีหน้าที่พัดทรายแก้วที่บริเวณให้ราบเรียบสม่ำเสมอ

๓. สิญจนวาต : มีหน้าที่พัดพาเอาละอองน้ำในสระอโนดาด มาประพรหมบริเวณศาลาให้ชุ่มฉ่ำเย็น

๔. สุคันธกรณวาต : มีหน้าที่พัดเอากลื่นหอมของต้นไม้ที่มีกลิ่นหอมทั้งหมด มาจากภุเขาหิมวันต์

๕. โอจินกวาต : มีหน้าที่พัดดอกไม้ทั้งหลายมาโปรยลง

๖. สันถรกวาต : มีหน้าที่ปูลาดในที่ทั้งปวง

ในวันที่พระปัจเจกพุทธเจ้าอุบัติขึ้น และวันอุโบสถ พระปัจเจกพุทธเจ้าจะมานั่งประชุมกันในที่นี้ อาสนะทั้งหหลายจะปูลาดไว้เรียบร้อยเป็นประจำ นี่เป็นปกติในที่นี้

เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้มาใหม่ ได้เสด็จไปในที่นั้นแล้ว ประทับนั่ง ณ อาสนะที่ปูลาดไว้แล้ว ถ้าในเวลานั้นมีพระปัจเจกพุทธเจ้าอื่นๆ อยู่ พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นก็จะประชุมกันในทันทีแล้วต่างก็นั่งบนอาสนะที่ลาดไว้แล้ว

และครั้นนั่งแล้ว จะพากันเข้าสมาบัติหน่อยหนึ่ง แล้วจึงออกจากสมาบัติ แต่นั้นเพื่อที่จะให้พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งปวงอนุโมทนา พระสังฆเถระจะถามกรรมฐานกะพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้มาใหม่อย่างนี้ว่า "ท่านบรรลุอย่างไร?" พระปัจเจกพุทธเจ้าที่มาใหม่นั้น ก็จะกล่าวอุทานคาถาและพยากรณ์คาถาของตน
ตัวอย่าง อุทานคาถา และพยากรณ์คาถา :

พระปัจเจกโพธิสัตว์กุมาร ๕๐๐ องค์ บุตรของพระนางปทุมวดีได้เล่นในสระบัวในอุทยาน นั่งดอกบังคนละดอก เห็นความสิ้นและความเสื่อม ทำปัจเจกโพธิญาณให้เกิดขึ้น ได้พยากรณ์คาถาของท่านว่า...

" ดอกบัว กอบัว เกิดขึ้นในสระ บานแล้วถูกหมู่แมลงภู่เคล้าคลึง ก็เข้าถึงความร่วงโรย บุคคลรู้แจ้งข้อนี้แล้ว พึงเป็นผู้เที่ยวไปเหมือนนอแรด "

๘) การทำพระอุโบสถ :

ธรรมดาแล้วพระปัจเจกพุทธเจ้าทำอุโบสถที่ศาลาโรงแก้ว รัตนมาฬกะ ณ ภูเขาคันธมาทน์ ในอรรถกถาบางแห่งกล่าวว่าแม้ที่ป่าอิสิตนทายวันก็ทำอุโบโสถ

๙) การสงเคราะห์โลก :

... พระสารีบุตรท่านกล่าวในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค ว่า โลกัตถจริยา (การประพฤติเป็นประโยชน์ต่อชาวโลก) เป็นจริยาส่วนเฉพาะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เฉพาะในพระปัจเจกพุทธเจ้าบางส่วน และเฉพาะในพระสาวกทั้งหลายบางส่วน...

... จริงอย่างนั้น การสงเคราะห์ต่อชาวโลกของพระปัจเจกพุทธเจ้าปรากฏในที่หลายแห่ง เช่นว่าเมื่อท่านออกจากนิโรธมาบัติแล้วย่อมตรวจดูศรัทธา แล้วจึงไปสงเคราะห์ ธรรมดาผู้ที่ถวายทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าซึ่งออกจากนิโรธสมาบัติ ย่อมส่งผลเป็นเศรษฐี หรือเสนาบดีภายในวันนั้น แล้วยังให้คนถวายเกิดความโสมนัส โดยการเหาะไปภูเขาคันธมาทน์ ทั้งที่ยังแลเห็นอีกด้วย

... ในอรรถกถาปัจเจกพุทธาปทานได้พรรณาว่า "พระปัจเจกพุทธเจ้าจึงเป็นใหญ่ คือ เป็นประธานเป็นเจ้าของ เพราะรับอาหารประมาณน้อย ของเหล่าทายกมากมายแล้วให้ได้บบรรลุถึงสวรรค์ และนิพพาน"

จากข้อความในพระไตรปิฎกกล่าวว่า พระปัจเจกพระพุทธเจ้าเมื่อท่านได้ตรัสรู้ด้วยตนเองแล้วนั้นท่านไม่ได้สอนผู้ใด เนื่องจากคำแปลที่ เราอ่านจากพระไตรปิฎกนั้นแปลมาจากภาษาบาลีซึ่งบางคำเป็นการแปลตรงตัว ซึ่งพระอริยเจ้าทั้งหลายหรือผู้ที่เข้าใจธรรมะด้วยปัญญาญาณ เมื่อได้อ่านแล้วย่อมเข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้ง

ประเด็นที่ 1 ที่บอกว่าไม่ได้สอนเพราะไม่มีใครให้สอน ไม่ได้หมายความว่าจะไม่สอนอะไรใครเลย (ที่ไม่สอนคือไม่สอนเกี่ยวกับเรื่องมรรคผล นิพพาน เรื่องอริยสัจ เพราะเป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง คนที่เกิดในสมัยนั้นไม่มีบารมีพอที่จะสามารถบรรลุธรรมได้ คือไม่มีภูมิธรรมสูงพอที่จะฟังท่านเข้าใจ แต่ท่านจะสอนเกี่ยวกับการทำทาน การถือศีล การทำความดีทั่วๆไปที่คนในยุคนั้นพอจะทำได้ ) และอีกความความหมายหนึ่งคือ ไม่สามารถสอนได้เหมือนกันพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แต่บางคนเข้าใจเอาเองและตีความหมายผิดไปว่าที่ไม่สอนเพราะท่านไม่สามารถสอนได้ และบางคนอาจเข้าใจว่าไม่ได้สอนอะไรใครเลยก็มี ซึ่งความจริงไม่ใช่อย่างนั้นอย่าลืมว่า พระปัจเจกพระพุทธเจ้าท่านมีบารมีมากกว่าอรหันต์สาวก และสามารถบรรลุธรรมได้โดยไม่ต้องมีผู้ใดสอน ลองพิจารณาดูว่า เมื่อตรัสรู้ได้เองนั้นก็หมายความว่า ท่านรู้ทุกข์ รู้เหตุแห่งทุกข์ รู้หนทางแห่งการดับทุกข์ รู้ผลแห่งการดับทุกข์ ในเมื่อท่านรู้ด้วยตนเองอย่างนี้แล้วทำไมท่านจะสอนคนอื่นไม่ได้ ( เปรียบเหมือนคนที่บวก ลบ คูณ หารได้แล้ว ก็สามารถสอนคนที่ไม่รู้ให้รู้ได้ด้วยวิธีการที่ตัวเองรู้ได้ เป็นต้น ) ขนาดพระอรหันต์สาวกในสมัยพุทธกาลหรือในปัจจุบันยังสามารถ สอนฆราวาส สอนพระภิกษุลูกศิษย์ให้บรรลุธรรมได้เลย( เช่น พระอัสสชิ กล่าวธรรมะเพียงสั้นๆให้พระสารีบุตรได้ฟัง ทำให้บรรลุเป็นพระโสดาบัน หลังจากได้ฟังธรรม) ทำไมพระปัจเจกพระพุทธเจ้าซึ่งมีบารมีมากกว่าจะทำไม่ได้

ประเด็นที่ 2 ในพระไตรปิฎกยังกล่าวถึงคุณของพระปัจเจกพระพุทธเจ้าไว้หลายแห่งด้วยกัน เช่น

ทรงสงเคราะห์ พระโพธิสัตว์

... พระทรีมุขปัจเจกพุทธเจ้า : ได้ให้โอวาทพระพรหมทัตชักชวนให้ทรงผนวช โดยตรัสถึงโทษของกาม คุณของบรรพชา แสดงถึงทุกข์ทั้งที่มีการก้าวลงสู่ครรภ์เป็นมูลฐาน ทั้งที่มีการบริหารครรภ์เป็นมูลฐาน ทั้งที่มีการออกจากครรภ์เป็นมูลฐาน...

... พระปัจเจกพุทธเจ้า ๔ องค์ : เมื่อพระโพธิสัตว์ทูลถามถึงอารมณ์ที่พระปัจเจกพุทธเจ้าทรงเห็นแล้วจึงประพฤติภิกขาจาริยวัตร พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นได้ตรัสบอกเรื่องราวการออกบวชของตนแก่พระโพธิสัตว์ ภายหลังพระโพธิสัตว์ได้ออกบวชเป็นฤาษี...

... พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นคนยากจน : ได้ถวายขนมกุมมาส ๔ ก้อนแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๔ องค์ ท่านเสวยทันที ทรงทำอนุโมทนา แล้วได้ทรงเหาะไปสู่เงื้อมเขา นันทมูลกะ...พระโพธิสัตว์ประคองอัญชลี แล้วเอาปิติที่ไปในพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ แล้วรำลึกถึงพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นตลอดอายุจนถึงแก่กรรม แล้วไปเกิดเป็นพระราชา

... พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งอยู่ที่ภูเขาคันธมาทน์ : ได้พิจารณาเห็นสังขพราหมณ์จะเดินทางไปหาทรัพย์เพื่อจะให้ทาน จักมีอันตรายในสมุทร ถ้าสังขพราหมณ์เห็นท่านแล้วจักถวาย ร่ม และรองเท้าแก่ท่าน เมื่อเรือแตกกลางมหาสมุทร สังขพราหมณ์ได้ที่พึ่งด้วยอานิสงส์ที่ถวายรองเท้า

พระปัจเจกพุทธเจ้านั้น จึงได้อนุเคราะห์สังขพราหมณ์ ได้เหาะมา ณ ที่ใกล้สังขพราหมณ์ เดินเหยียบทรายร้อนเช่นกับถ่านเพลิง เพราะลมแรงแดดกล้า ตรงมายังสังขพราหมณ์

สังขพราหมณ์ได้นมัสการพระปัจเจกพุทธเจ้า เข้าไปที่โคนต้นไม้ แล้วพูนทรายขึ้น แล้วเอาผ้าห่มปูลาด นมัสการพระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วล้างเท้าด้วยน้ำที่อบกรองใสสะอาด ทาเท้าด้วยน้ำมันหอม แล้วสวมเท้าพระปัจเจกพุทธเจ้า ถวายร่มและรองเท้าด้วยวาจา

พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นเพื่อจะอนุเคราะห์สังขพราหมณ์จึงรับร่มและรองเท้า และเพื่อให้ความเลื่อมใสเจริญยิ่งขึ้น จึงเหาะไปภูเขาคันธมาทน์ให้สังขพราหมณ์เห็น...

... พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง : ทราบความที่ดาบลพระโพธิสัตว์มีมานะ เพราะอาศัยชาติของตน ไม่สามารถจะยังฌานให้เกิดขึ้นได้ จึงไปข่มมานะดาบส โดยไปนั่งเหนือกระดานหินของดาบส

ดาบสขุ่นใจเพราะความมีมานะ ปรี่เข้าไปหาท่านดบมือตวาดท่าน พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวกะท่านว่า :

" พ่อคนดี เหตุไฉนพ่อจึงมีมานะ อาตมาบรรลุพระปัจเจกพุทธญาณแล้วนะใน กัปนี้เอง พ่อจักเป็นสัพพัญูญูพุทธเจ้า พ่อเป็นหน่อเนื้อพระพุทธเจ้านะ พ่อบำเพ็ญบารมีมาแล้ว รอเวลาเพียงเท่านี้ ข้างหน้าผ่านไปจักเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พ่อดำรงในความเป็นพระพุทธเจ้า จักมีชื่อว่า "สิทธัตถะ"

บอกนามตระกูลโคตรและอัครสาวกเป็นต้นแล้ว ได้ประทานโอวาทว่า :

" พ่อยังจะมัวเอาแต่มานะ เป็นคนหยาบคาย เพื่ออะไรเล่า นี้ไม่สมควรแก่พ่อเลย "

ดาบสนั้นแม้พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวอย่างนี้แล้ว ก็ยังไม่ไหว้ท่านอยู่นั่นเอง...มิหนำซ้ำไม่ถามเสียด้วยว่า ข้าจักเป็นพระพุทธเจ้าเมื่อไร

พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวว่า :

" เธอไม่รู้ความใหญ่หลวงแห่งชาติ และความใหญ่โตแห่งคุณของเรา หากเธอสามารถ ก็จงเที่ยวไปในอากาศเหมือนเรา " แล้วเหาะไปในอากาศ โปรยฝุ่นที่เท้าตนลงไปใน มณฑลชฏา ของดาบสนั้น ไปสู่หิมพานต์ตอนเหนือดังเดิม

พอท่านไปแล้วดาบสนั้นจึงสลดใจ สมาทานอุโบสถขข่มมานะ เจริญกสิณ ยังอภิญญาและสมาบัติ ๘ ให้เกิดขึ้น เมื่อหมดอายุขัยจึงได้ไปบังเกิดยังพรหมโลกแล


ประเด็นที่ 3 พระปัจเจกพระพุทธเจ้าท่านมักจะเข้านิโรธสมาบัติ เมื่อออกจากนิโรธสมาบัติแล้วท่านจะดูด้วยญาณว่าใครที่ท่านสามารถโปรดได้บ้าง หรือใครมีศรัทธาใส่บาตรท่านบ้าง ท่านก็จะไปยังที่นั้นในทันที ในพระไตรปิฎกก็มีกล่าวไว้ว่าผู้ที่ได้ทำบุญ หรือใส่บาตรกับพระที่ออกจากนิโรธสมาบัติจะได้รับผลบุญมหาศาลภายใน 7 วัน คือถ้าเป็นยาจก คนยากจนจะเป็นมหาเศรษฐีในทันที หรือผู้ที่ขัดสนติดข้องในเรื่องอะไรจะได้รับผลมีความสุขในทันที ) ซึ่งผลบุญที่ได้ไม่ได้มีเพียงชาติเดียวแต่ยังให้ผลข้ามชาติด้วย ซึ่งเป็นผลอันเนื่องมาจากนิโรธสมาบัติ

เคยมีผู้สงสัยเกี่ยวกับพระปัจเจกพระพุทธเจ้าแล้วได้ถามหลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง จึงได้นำมาให้ได้อ่านกันดังนี้

ผู้ถาม >> หลวงพ่อครับ พระปัจเจกพุทธเจ้า ท่านต้องบำเพ็ญบารมีนานไหมครับ จึงจะตรัสรู้ได้....?

หลวงพ่อ >> พระปัจเจกพระพุทธเจ้า ท่านบำเพ็ญบารมีเท่ากับพระอัครสาวก คือ 2 อสงไขยกับแสนกัป
ผู้ถาม >> ท่านตรัสรู้เองใช่ไหมครับ.....?

หลวงพ่อ >> ใช้ ลงคำว่า พุทธเจ้า ต้องตรัสรู้เอง คือไม่ต้องรับคำสอนจากคนอื่น

ผู้ถาม >> มีเฉพาะตอนที่มีพระพุทธเจ้าใช่ไหมครับ....?

หลวงพ่อ >> เจ๊ง...พระปัจเจกพระพุทธเจ้าจะมีขึ้นก็ต่อเมื่อวางจากพระพุทธเจ้า ไม่ใช้มีพร้อมพระพุทธเจ้า อย่างศาสนานี้สิ้นไป ในช่วงว่างก่อนจะถึงพระศรีอาริย์ ในช่วงนี้มีพระปัจเจกพระพุทธเจ้า สมัยพระปัจเจกพระพุทธเจ้าเวลานี้ก็ไม่มีสาวก ก็มีพระปัจเจกพระพุทธเจ้า ทั้งหมด เพราะปัจเจกพุทธเจ้าไม่ได้บรรลุเพียงองค์เดียวอย่างพระพุทธเจ้า ก็มีได้เป็นหมื่นเป็นแสน แต่พระพุทธเจ้าจะต้องมีองค์เดียว มีซ้อนไม่ได้

ผู้ถาม >> แล้วทำไมพระปัจเจกพระพุทธเจ้าเมื่อท่านตรัสรู้แล้วจึงไม่สอนเหมือนกับพระพุทธเจ้าครับ....?

หลวงพ่อ >> เกิดทันรึ...รู้เหรอว่าท่านไม่สอน เคยพบหรือเปล่า....?

ผู้ถาม >> ?....?....?

หลวงพ่อ >> ท่านสอน จะว่าไม่สอนเลยนั้นไม่ใช่ แต่ว่าไม่สอนถึงอริยสัจ ถ้าไปศึกษากับท่าน ท่านก็สอนแค่อภิญญาโลกีย์ ส่วนที่ตัดเข้าถึงมรรคผลนั้นเป็นเรื่องของบุคคลนั้นเอง ปัจเจก เขาแปลว่า รู้เฉพาะตน ความจริง คำว่า "เฉพาะ" ก็มีเฉพาะส่วนที่เป็นอริยสัจเท่านั้นเองนะ

ผู้ถาม >> ถ้าอย่างนั้นพระปัจเจกพระพุทธเจ้าก็รู้หมดทุกอย่างใช่ไหมครับ....?

หลวงพ่อ >> รู้หมด....พระสัมมาสัมพุทธเจ้าซิ รู้ไม่หมด

ผู้ถาม >> อ้าว...ทำไมยังงั้นล่ะครับ

หลวงพ่อ >> ถ้าถามปัญหาพระพุทธเจ้า ท่านรู้ทุกอย่าง รู้ไม่หมดสักที พระปัจเจกพระพุทธเจ้าถามไปถามมา...หมด นี่เขา เรียกว่า รู้หมด

ผู้ถาม >> อ๋อ...แหมศัพท์ภาษาไทยนี่ไม่รู้เรื่อง อยู่ห่างวัดเป็นอย่างนี้

หลวงพ่อ >> เป็นอันว่าพระปัจเจกพระพุทธเจ้าท่านสอนเรื่องสวรรค์ เรื่องพรหม แต่เรื่องนิพพานท่านไม่สอนใคร เพราะไม่ใช้หน้าที่ของท่าน

ฉะนั้นพระถ้าเข้าถึงจุดหมายปลายทาง ท่านจะรู้หน้าที่ของท่าน อย่างพระที่ยังไม่เป็นอรหันต์ เป็นหมอดู เป็นหมอรักษาโรค เราใช้ได้ทุกอย่าง ท่านจะทำให้ทุกอย่าง พอถึงอรหันต์ปั๊บ ท่านรู้เลยว่าท่านเกิดมานี่เพื่อทำกิจอะไร.....อย่างอื่นที่ไม่ใช่ของท่าน ท่านจะไม่ทำ จะงดหมด ท่านทำเฉพาะกิจ พระปัจเจกพุทธเจ้าก็เหมือนกัน ท่านสอนเรื่องสวรรค์ เรื่องพรหม แต่เรื่องนิพพานท่านไม่สอน

1. จากหนังสือหลวงพ่อตอบปัญญาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม 4

2. ประเภทของพระปัจเจกพระพุทธเจ้า
http://www.watthummuangna.com

สุดท้ายหวังว่าผู้อ่านคงจะได้รับความรู้ความเข้าใจ และมีความศรัทธา มีความเคารพในองค์พระปัจเจกพระพุทธเจ้ามากยิ่งขึ้น

ขอขอบคุณทุกท่านที่ได้เข้ามาอ่าน..............................................ขออนุโมทนา
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 08 พ.ค.2008, 10:07 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ สาธุ สาธุ

สาธุๆๆ ที่ได้นำความรู้มาฝากกันครับ
 

_________________
"อย่าลืมตัว อย่าลืมปัจจุบัน อย่าลืมปฏิบัติ"
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
ตามรอย
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 16 เม.ย. 2008
ตอบ: 109
ที่อยู่ (จังหวัด): เชียงใหม่

ตอบตอบเมื่อ: 14 พ.ค.2008, 12:34 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ขอบพระคุณครับ
 

_________________
อย่าประมาทลืมตน
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ใบโพธิ์
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2007
ตอบ: 307

ตอบตอบเมื่อ: 16 พ.ค.2008, 8:13 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ สาธุ สาธุ
 

_________________
ทำความดีทุกๆ วัน
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
บัวหิมะ
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 26 มิ.ย. 2008
ตอบ: 1273

ตอบตอบเมื่อ: 12 ส.ค. 2008, 4:22 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ อนุโมทนาบุญ สำหรับความรู้นี้ สาธุ
 

_________________
ชีวิตที่เหลือเพื่อธรรมะ
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ ไม่สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง