Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 แสงส่องใจ ตุลาคม ๒๕๓๖ (สมเด็จพระญาณสังวรฯ) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 03 ก.ค.2007, 8:29 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ประทานแสงส่องใจ

วันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๖ เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกทรงพระเจริญพระชนมายุครบ ๘๐ พรรษาเป็นมหามงคลแก่จิตใจ เป็นที่ปีติโสมนัสยิ่งใหญ่พ้นประมาณ เหตุทรงพระคุณมหาศาลพ้นพรรณนา

เมื่อมาถึงอุดมพิเศษสมัย ศิษยานุศิษย์น้อยใหญ่และผู้เลื่อมใสศรัทธาในปฏิปทาอันสงบงามของเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชท่าน จึงพร้อมกันรวมใจประกาศความกตัญญูกตเวที จัดพิมพ์หนังสือ “แสงส่องใจ” ทุกอันดับ ที่ทรงแจกแล้วในวันที่ ๓ ตุลาคม ทุกปี และที่ทรงแจกในปีพระชนมายุ ๘๐ นี้ รวมหนังสือ ๑๑ อันดับ เพื่อขอประทานน้อมถวายเป็นส่วนเพิ่มพูนพระกุศลบุญราศีที่ทรงสั่งสมมาด้วยดีทุกพระชาติ

พระกุศลมากหลาย ภายใต้อานุภาพคุณพระรัตนตรัยย่อมสามารถเสริมส่งให้ส่งถึงความยิ่งความสว่างไสวในธรรม ทรงเป็นพระประมุขนำความเจริญรุ่งเรืองร่มเย็นยืนนานให้มีให้เป็นไปในพุทธเขตแห่งสยามรัฐสีมามณฑลนี้ ภายใต้บุญญาบารมีสูงส่งแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สองพระผู้ทรงพระชาติทรงพระคุณอันประเสริฐ
 

_________________
ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 03 ก.ค.2007, 8:30 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

แสงส่องใจ

O พุทธภาษิตบทหนึ่งกล่าวไว้แปลความว่า “ความได้เป็นมนุษย์เป็นการยาก” คือยากนักที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์ ปกติสิ่งใดที่ได้ยากท่านถือว่าเป็นของมีค่าควรรักษาอย่างยิ่ง

การได้เป็นมนุษย์เปรียบดังได้เพชรน้ำงามเม็ดใหญ่หาค่ามิได้ไว้ในมือ ย่อมต้องรักษาแตกต่างกับได้เศษกระเบื้องไม่มีราคา การรักษาค่าของความเป็นมนุษย์คือการรักษาคุณสมบัติของมนุษย์ไว้ให้สมบูรณ์งดงามที่สุด ไม่ใช่เพียงรักษาชีวิตไว้ให้อยู่ยืนยาวปราศจากโรคภัยไข้เจ็บเท่านั้น

O คุณค่าของมนุษย์หรือคนที่สำคัญที่สุด คือ ความไม่เป็นสัตว์ ไม่ใช่สัตว์ แตกต่างกับสัตว์ ความแตกต่างที่เห็นได้ง่ายคือสัตว์ไม่รู้จักเหตุผล นั่นก็คือสัตว์ไม่มีปัญญาของมนุษย์ ไม่รู้จักถูก ไม่รู้จักผิด ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี

มนุษย์ต้องรู้ถูกรู้ผิด รู้ผิดชอบชั่วดี สัตว์ไม่มีเมตตากรุณา มนุษย์ต้องมีเมตตากรุณา เพราะมนุษย์มีปัญญารู้ว่าเมตตากรุณาเป็นความดี สัตว์ไม่รู้ว่าการเบียดเบียนเป็นอย่างไร แต่มนุษย์รู้ว่าการเบียดเบียนไม่ดีมนุษย์จึงควรไม่เบียดเบียน สัตว์แม้จะมีกตัญญูกตเวทีแต่ก็เป็นเพียงในระดับสัตว์ อย่างสัตว์ คือในระดับที่สติปัญญาของสัตว์จะรู้จะทำได้

มนุษย์มีปัญญารู้ว่าผู้ใดทำคุณแก่ตน มนุษย์มีปัญญาเข้าใจว่าความกตัญญูกตเวทีเป็นคุณธรรมที่ดี ดังนั้นมนุษย์จึงควรต้องอบรมกตัญญูกตเวทิตาธรรมให้มาก มนุษย์ต้องไม่ทำลายคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ด้วย การไม่กตัญญู ด้วยความอกตัญญู ไม่ตอบแทนพระคุณที่ท่านทำแล้วแก่ตน ทั้งยังอกตัญญูคือปฏิบัติตอบด้วยร้าย

O เป็นเพชรที่แตกร้าวย่อมไม่เหลือราคาของเพชร ย่อมเป็นเหมือนกระเบื้องกะลา หาราคาไม่ได้ฉันใด เป็นมนุษย์ที่ไม่รักษาค่าความเป็นมนุษย์ไว้ปล่อยให้เสื่อมสลายไปก็ย่อมเป็นเหมือนเศษกระเบื้องกลาฉันนั้น จะหาความภาคภูมิใจได้อย่างไร พึงคำนึงถึงความจริงนี้ด้วยดี

O พุทธภาษิตบทหนึ่งกล่าวไว้แปลความว่า “พึงทำกิจแก่ผู้ช่วยทำกิจ” การจะสามารถปฏิบัติได้ ก่อนต้องสามารถดูออกดูรู้ดูให้เห็นถูกต้องว่าผู้ใดเป็นผู้ช่วยทำกิจของตน และที่สำคัญคือจะต้องรับรู้ให้จริงใจจริงจัง ในความมีคุณมีประโยชน์ของผู้นั้นต่อตนให้ชัดแจ้ง

จะกล่าวว่าให้มีกตัญญูรู้คุณท่านผู้มีคุณก็ถูก คือต้องรู้พระคุณท่านเสียก่อนแล้ว “พึงทำกิจแก่ผู้ช่วยทำกิจ” ความหมายโดยตรงคือพึงตอบแทนพระคุณท่านผู้ทำคุณแล้วแก่ตน หรือพึงตอบแทนน้ำใจท่านผู้มีน้ำใจแก่ตนเป็นการแสดงกตัญญูกตเวทีธรรมต่อผู้ทำคุณแล้ว

พุทธภาษิตบทนี้จึงมุ่งสอนให้เป็นผู้มีกตัญญูกตเวทิตาธรรม คือมุ่งสอนให้เป็นคนดีนั่นเอง เพราะความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี

O อันพุทธภาษิตนั้นเป็นคำของท่านผู้มุ่งดี เป็นสุภาษิตคือคำที่ดี ผู้มีปัญญาจึงตั้งใจทำตามคำของผู้มุ่งดีหวังดี มีพุทธภาษิตเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยว่า “ควรทำตามคำของผู้เอ็นดู” คือควรทำตามถ้อยคำแนะนำตักเตือนหรือคำบอกเล่าของผู้เอ็นดูเมตตาปรารถนาดีต่อตน

ไม่ใช่ทำตามถ้อยคำของผู้ที่ตนเอ็นดูกับผู้ที่เอ็นดูตนมีความหมายไม่เหมือนกัน คนโดยส่วนมากพอใจจะทำตามถ้อยคำของผู้ที่ตนเอ็นดู คือ รักใคร่ชอบใจใครก็พอใจจะทำตามถ้อยคำหรือความปรารถนาต้องการของผู้นั้น ไม่คำนึงถึงความควรไม่ควร

อันความปรารถนาต้องการของผู้เอ็นดูเราจะเป็นความมุ่งดีปรารถนาดีหวังให้ความดีเกิดแก่เรา ท่านจึงสอนว่า “ควรทำตามถ้อยคำของผู้เอ็นดู” ท่านไม่สอนให้ทำตามถ้อยคำของผู้ที่ตนเอ็นดู

O เป็นความจริงแท้ที่ควรกล่าวได้ พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้เอ็นดูสัตว์โลกทั้งปวง พระพุทธพจน์ทั้งนั้นจึงไม่เป็นความปรารถนาไม่ดีไม่ชอบต่อผู้ใดเป็นความปรารถนาดีปรารถนาไม่ดีไม่ชอบต่อผู้ใด

เป็นความปรารถนาดีปรารถนาชอบทั้งหมด ต่อสัตว์โลกทั้งปวง เป็นคำที่ทุกคนควรทำตามผู้เอ็นดูที่มีความดีน้อยมีปัญญาน้อย ย่อมให้คำแนะนำไปถึงความดีน้อยความมีปัญญาน้อย ผู้เอ็นดูที่มีความดีมากปัญญามากย่อมให้คำแนะนำไปถึงความดีมากปัญญามาก

พระพุทธเจ้าทรงมีความดีสูงสุดมีพระปัญญาสูงสุดหาที่เปรียบได้ ย่อมประทานคำแนะนำไปถึงความดีที่สูงสุด ความมีปัญญาที่สูงสุด ผู้มีปัญญาจึงพึงทำตามที่ทรงสอน และการจะรู้ได้ว่าทรงแนะนำไว้อย่างไร ก็ต้องศึกษาพระธรรมคำสอนที่โปรดประทานไว้ด้วยทรงเอ็นดูสรรพสัตว์เสมอกัน ไม่ทรงเลือกที่รักมักที่ชัง

O ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบปฏิบัติถูกแม้เพียงคนเดียวย่อมเป็นคุณประโยชน์แก่หมู่คณะผู้เกี่ยวข้องเป็นอันมาก ในทางตรงกันข้าม ผู้ปฏิบัติไม่ดีปฏิบัติไม่ชอบปฏิบัติไม่ถูกแม้เพียงคนเดียว ย่อมเป็นโทษเป็นภัยแก่หมู่คณะผู้เกี่ยวข้องเป็นอันมาก

แม้มีความหวังดีเอ็นดูต่อตนเอง ต่อครอบครัว ต่อหมู่คณะต่อผู้เกี่ยวข้องทั้งส่วนตนหรือมิใช่ส่วนตน ก็พึงตั้งใจศึกษาพระพุทธศาสนา หรือแม้เพียงพระพุทธภาษิตให้เข้าใจถูกต้องถ่องแท้ แล้วพยายามปฏิบัติตาม

O พุทธภาษิตบทหนึ่งกล่าวไว้แปลความว่า “ความหมดจดจากกิเลสทั้งปวงเป็นความดับจากทุกข์ทั้งหลาย” กิเลสทั้งปวงคือความโลภทั้งปวง ความโกรธทั้งปวง ความหลงทั้งปวง ทุกข์ทั้งหลายคือทุกข์ทุกประการ

ถ้าจะกล่าวเป็นเหตุเป็นผล ต้องกล่าวว่ากิเลสเป็นเหตุ ทุกข์เป็นผลคือความโลภความโกรธ ความหลง เป็นเหตุ ความทุกข์เป็นผล ผู้มีกิเลศคือมีความโลภ ความโกรธ ความหลงต้องมีความทุกข์ ความหลงต้องมีความทุกข์ ผู้มีกิเลสคือมี ความโลภ ความโกรธ ความหลงมาก ก็มีความทุกข์มาก

มีกิเลสคือมีความโลภ ความโกรธ ความหลงน้อย ก็มีความทุกข์น้อย ผู้หมดจดแล้วจากกิเลสทั้งปวงคือไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลงเลย จักไม่มีทุกข์เลย คือ มีความดับจากทุกข์ทั้งหลาย

O ที่พากันเป็นทุกข์ตลอดเวลา มากน้อยหนักเบาต่างๆ กัน เพราะพากันปล่อยปละเลยให้กิเลสห้อมล้อมปกคลุมจิตใจอยู่ตลอดเวลา ใจไกลกิเลสเพียงไรก็มีความสุขเพียงนั้น มีความเบิกบานแจ่มใสนั้น กิเลสก็เหมือนเครื่องพรางตาทั้งหลายย่อมทำให้ไม่แจ่มใส ทำให้มืดมัว กิเลสปกคลุมใจหนาแน่นมากก็ทำให้ใจมืดมัวมาก

ดังที่ท่านเปรียบกิเลสเช่นเมฆบนท้องฟ้า จิตเช่นดวงอาทิตย์ ดวงอาทิตย์มีความสว่างเจิดจ้าอยู่ในตัว เมฆเคลื่อนข้าบดบังก็จะทำให้ความสว่างไม่ปรากฏ จิตที่กิเลสเข้าปกคลุมก็จะเศร้าหมอง ทั้งที่จิตมีความบริสุทธิ์ผ่องใสอยู่ในตัวเต็มที่

ดังที่ท่านกล่าวว่าจิตที่แท้นั้นมีความประภัสสร ดังนั้นการทำจิตให้ผ่องใส จึงอยู่ที่การพยายามไม่นำจิตเข้าไปอยู่ในแวดวงของกิเลสพยายามนำจิตออกให้ไกลกิเลสให้มากที่สุด พยายามให้สม่ำเสมอ แม้จิตจะถอยไกลบ้างใกล้บ้าง

กับกิเลสก็จะมีเวลาหนึ่งที่จะไกลได้โดยไม่กลับถอยเข้าไปใกล้กิเลสอีก กิเลสจะไม่อาจปกคลุมจิตให้เศร้าหมองได้อีก ความผ่องใสประภัสสรอันเป็นธรรมชาติแท้ของจิตจะไม่ถูกบดบัง จะปรากฏรุ่งเรืองงดงาม พร้อมด้วยความสิ้นร้อนสิ้นเศร้าหมอง

O กิเลสคือความโลภ ความโกรธ ความหลงเป็นความเศร้าหมอง มีความร้อนอยู่ในตัวเต็มที่ เปรียบได้ดังถ่านไฟก้อนใหญ่ที่ลุกโพลนร้อนแรงเต็มที่ มีเปลวแห่งความร้อนแรงรอบด้าน ผู้ใดไม่หลบหลีกให้ห่างไกลพ้นไปจริงแล้ว ผู้นั้นย่อมได้ต้องกระทบความร้อนแรงนั้น

เข้าใกล้เพียงใดก็จะกระทบร้อนเพียงนั้น ใกล้จนชิดก็จะเช่นเดียวกับเห็นถ่านไฟสีแดงงดงามแล้วยื่นมือเข้าไปจับต้องสัมผัส ย่อมต้องถึงกับพองไหม้ถลอกปอกเปิกได้เลือดได้น้ำเหลือง แม้ถอยห่างออกได้บ้าง เปลวความร้อนแห่งไฟแรงที่จะกระทบก็จะลดน้อยตามระยะที่ถอยห่างนั้น

O พระพุทธเจ้า ก่อนแต่จะทรงห่างไกลพ้นถ่านไฟร้อนแรงแห่งความโลภความโกรธความหลงก็ต้องประสบความร้อนแรงอันเป็นเหตุแห่งความทุกข์แท้ด้วยพระองค์เองต่างๆ นานา เป็นเวลาหลายกัปหลายกัลป์

ต่อเมื่อทรงหนีไกลได้พ้นจากความโลภความโกรธความหลงอย่างสิ้นเชิงแน่นอนแล้วจึงไม่ทรงต้องประสบความร้อนแรงอันเป็นเครื่องแผดเผาให้เป็นทุกข์อีกเลย ทรงพบความเย็นสนิทความเป็นบรมสุข ทรงมีความเย็นสนิทในพระองค์พระอรหันต์สาวกทั้งปวงก็เช่นกัน

O เมื่อเป็นผู้พ้นความร้อนเพียงไร ก็ย่อมมีความเย็นเพียงนั้น แม้พ้นความร้อนสิ้นเชิงก็ย่อมมีความเย็นสนิท มีความเย็นทั่ว มีความเย็นรอบเปรียบได้ดั่งน้ำแข็งก้อนใหญ่ที่มีไอแห่งความเย็นเฉียบกระจายรอบ

ผู้เข้าใกล้ย่อมได้สัมผัสละอองแห่งความเย็นนั้นเป็นความรื่นรมย์อย่างยิ่งผู้นับถือพระพุทธศาสนาจริงเป็นผู้อยู่ใกล้พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์สาวกทั้งหลายผู้เย็นสนิทแล้วยิ่งกว่าแต่ความเย็นที่เพียงได้รับจากผู้อื่นย่อมไม่เสมอเหมือนความเย็นที่เกิดขึ้นจริงในตนเอง

ดังนั้นพระพุทธเจ้าผู้ทรงพระมหากรุณาคุณจึงทรงแสดงทางไปสู่ความเย็นในตัวเอง อันจักเป็นความเย็นจริงปราศจากสิ่งปลอมปนเป็นความทุกข์ความร้อน และจักเป็นความเย็นที่ยั่งยืนนิรันดร

พระพุทธเจ้าทรงสอนให้รักษาใจให้ไกลกิเลส ไม่เชื่อพระพุทธเจ้าแล้วจะควรเชื่อใครยิ่งกว่า

O กิเลสคือความโลภความโกรธความหลงมีอยู่เต็มโลก ทุกเวลานาที ทุกยุคทุกสมัย เพราะกิเลสเป็นสิ่งทีฆ่าไม่ตายทำลายไม่ได้ แม้กิเลสเป็นสิ่งที่ฆ่าตายทำลายได้ พระพุทธเจ้าผู้ทรงยิ่งทุกอย่างและทรงยิ่งด้วยพระกรุณาคุณย่อมจะทรงฆ่าทรงทำลายกิเลสให้หมดสิ้นแล้ว

กิเลสย่อมจะไม่พ้นพระองค์และอยู่หลงเหลือทำความร้อนความเศร้าหมองให้แก่โลกทุกวันนี้ แสงแห่งปัญญาเป็นอำนาจวิเศษที่จะเป็นประดุจปราการห้อมล้อมรักษาใจไว้ให้ไกลจากกิเลสได้ ไกลจากความร้อนของกิเลสได้ตั้งแต่เล็กน้อย จนถึงใหญ่ยิ่ง คือ สิ้นเชิง

กิเลสจะมีอยู่ท่วมท้นโลกเพียงไหน ก็จะเข้าใกล้ใจที่วางไว้ถูกที่ถูทางไม่ได้ เปรียบเช่นจะวางอาหารในที่เต็มไปด้วยมด ก็ย่อมทำได้ ด้วยการเลือกวางในที่มีน้ำหล่อล้อมไว้มดเข้าไม่ถึง จะห้อมล้อมอยู่ได้ก็แต่นอกเขตน้ำ อาหารหาเสียหายไม่

ใจนี้ก็เปรียบได้เช่นเดียวกัน การรู้จักใช้ปัญญาเป็นอุบายวิธีวางใจให้ถูกที่ในท่ามกลางกิเลสมากมายจึงสำคัญนัก วางใจไว้ถูกที่แล้วความโลภก็ตามความโกรธก็ตามความหลงก็ตามจะเข้าไม่ถึงใจสัมผัสไม่ได้


(มีต่อ ๑)
 

_________________
ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 03 ก.ค.2007, 8:31 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

O อาหารบางอย่างมดไม่ขึ้น วางไว้ไม่มีน้ำหล่อมดก็ไม่ขึ้น นั่นไม่หมายความว่าไม่มีมดในบริเวณนั้น มดนั้นมีอยู่ทุกแห่ง เพียงแต่ว่าจะปรากฏตัวออกมาให้เห็นมากน้อยเพียงไรหรือไม่เท่านั้นอาหารบางอย่างมดไม่ขึ้น

เหตุผลมีว่าอาหารบางอย่างมีกลิ่น ส่งกลิ่นออกไปนำมด มดไม่ได้เข้ามาเองมดเขามาขึ้นอาหารเพราะถูกกลิ่นอาหารนั่นเองนำเข้ามา เมื่อเปรียบกิเลสเหมือนมด เปรียบใจเหมือนอาหาร

ก็พึงพิจารณาให้เหตุด้วยว่ามดไม่ขึ้นอาหารที่ไม่ส่งกลิ่นออกไปชักนำฉันใด กิเลสก็ไม่ได้ห้อมล้อมปกคลุมใจ ที่ไม่ส่งออกไปชักนำฉันนั้น


O ความคิดปรุงแต่งเมื่อเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายได้สัมผัส คือการส่งใจออกไปชักนำกิเลสเข้ามาห้อมล้อมใจ เหมือนอาหารที่ปรุงแต่งด้วยกลิ่นของความหวานออกไปชักนำมดมารุมขึ้นอาหาร

O หยุดความคิดปรุงแต่งเมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายได้สัมผัสกิเลสแม้มีอยู่เต็มโลกก็ไม่เข้ามาห้อมล้อมใจ ใจย่อมผ่องใสสว่าง ห่างไกลความร้อนความมืดของกิเลส

O ปกติเจ้าของใจจะประมาทอยู่เสมอ ไม่นึกถึงกิเลส ไม่นึกถึง ความโลภ ความโกรธ ความหลง ว่ามีอยู่จริงและมีเต็มไปทุกที่ทุกเวลา หาว่างเว้นเจ้าของใจที่เป็นปุถุชนประมาทเช่นนี้ด้วยกันทั้งนั้น

แต่เมื่อได้มารับพระหากรุณาจากพระพุทธเจ้าผู้ทรงพระปัญญาคุณ แม้เป็นปุถุชนยังไม่สิ้นกิเลส ก็พึงตั้งใจให้จงดี รับพระมหากรุณาให้ได้ดังที่ทรงสอนไว้ให้ไกลกิเลส ให้ไกลความแผดเผาร้อนแรงแห่งกิเลส

เมื่อใดรู้สึกถึงความผิดปกติแห่งใจ เป็นความร้อน เป็นความกระวนกระวายกระสับกระส่ายหรือวุ่นวายฟุ้งไปไม่สงบเป็นปกติ เมื่อนั้นให้รู้ว่าได้วางใจลงไปผิดที่แล้ว เช่นเดียวกับวางอาหารผิดที่ ไม่มีเครื่องป้องกัน ไม่มีน้ำหล่อกันมด เจ้าของอาหารจักย้ายที่อาหารเมื่อเห็นมดมาขึ้นฉันใด เจ้าของใจก็พึงย้ายที่วางใจคือเปลี่ยนความคิดเมื่อเห็นอารมณ์ที่ไม่เป็นปกติฉันนั้น

O การย้ายที่วางอาหารหนีมดทำได้ด้วยการหยิบยกเคลื่อนย้ายอาหารไปจากที่เดิม หรือหาเครื่องมากันหาน้ำมาหล่อ การย้ายที่วางใจหนีกิเลสก็ทำได้ด้วยการยกใจจากอารมณ์หนึ่งที่เศร้าหมองด้วยกิเลสโลภโกรธหลง ไปสู่อารมณ์ใหม่ที่ไกลออกไปจากความเศร้าหมองของกิเลสคือไกลจากโลภโกรธหลงนั่นเอง

O วิธีหนึ่งอันเป็นวิธีเปลี่ยนที่วางใจให้เปลี่ยนอารมณ์เศร้าหมองด้วยกิเลส สงบความร้อนรนกระวนกระวายฟุ้งซ่าน คือวิธียกคำใดคำหนึ่งที่จะไม่นำใจไปสู่อารมณ์เศร้าหมองขึ้นภาวนา เช่น พุทโธภาวนาพุทโธ พุทโธ เช่นนี้ เป็นการยกใจย้ายที่ให้ไกลกิเลสได้ แม้เพียงชั่วระยะที่ตั้งใจภาวนาอยู่แต่แม้ทำบ่อยๆ ทำเสมอก็เป็นการทำใจให้คุ้นเคยกับความเป็นปกติ ความสงบ คือความสุขที่แท้นั่นเอง

O อันความคุ้นเคยนี้สำคัญเป็นอันมาก เมื่อคุ้นเคยกับความสงบ ความไม่สงบเกิดขึ้นเมื่อไรจะรู้ได้เมื่อนั้น ไม่เนิ่นช้า และเมื่อรู้แล้วย่อมไม่ปรารถนาความไม่สงบ ย่อมปรารถนาจะได้ความสงบคืนมา

ย่อมปฏิบัติตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดงทางปฏิบัติประทานไว้ เป็นทางที่ถูก ที่ตรงที่ให้ผลแน่นอนตามควรแก่ความปฏิบัติ และเมื่อความสงบแห่งจิต แห่งใจมีมากเพียงไร ปัญญาย่อมยิ่งขึ้นเพียงนั้นและปัญญานี้ที่จะเปลี่ยนความเป็นปกติหรือความสงบแห่งใจเพียงชั่วระยะเพียงชั่วครั้งคราวให้เป็นความปกติความสงบตลอดกาล ความผิดปกติหรือความไม่สงบจะไม่กลับเกิดอีกเลย

O ปัญญายิ่งของคนทั้งหลายนั้นเกิดแต่พระปัญญาของพระพุทธเจ้าโดยแท้ ทรงแสดงพระปัญญาไว้ให้สามารถหยิบยกขึ้นพิจารณาตาม โดยอาศัยปัญญาของตนเองเป็นกำลังสำคัญ พระปัญญาของพระพุทธเจ้าเป็นจริงอยู่แล้วเหมือนวัตถุที่มีจริงอยู่

ปัญญาของตนเองที่จะพิจารณาตามพระปัญญาของพระพุทธองค์ เหมือนดวงตา ปัญญาของผู้ใดมีเพียงพอจะเห็นตามรู้ตามพระปัญญาของพระพุทธเจ้าได้ ก็ย่อมจะรู้จะเห็นได้เช่นเดียวกับพระปัญญา ดวงตาของผู้ใดไม่มืดบอด หรือไม่ฝ้ามัวพอจะเห็นวัตถุได้ ก็ย่อมจะเห็นวัตถุที่มีจริงได้เป็นธรรมดา

O ควรวางใจไว้ให้ถูกที่ ให้ไกลกิเลส ให้มีความเป็นปกติ มีความสงบ ย้ายที่วางใจทันทีเมื่อเห็นความไม่ปกติในอารมณ์ ไม่ว่าด้วยความโลภหรือความโกรธหรือความหลง ไม่รับไว้ทั้งสิ้น ให้ใจคุ้นเคยอยู่แต่กับความสงบ ความเป็นปกติ อันจะนำให้ปัญญามีกำลัง มีความสว่าง

O เมื่อปัญญามีพลัง มีความสว่าง หยิบยกพระปัญญาของพระพุทธเจ้าขึ้นส่องทางไปสู่ความไกลกิเลส ก็จะสามารถทำได้สัมฤทธิ์ผล

O พุทธสุภาษิตบทหนึ่งกล่าวไว้แปลความว่า “พระอรหันต์ทั้งหลายอยู่ในที่ใด คือ บ้านก็ตามป่าก็ตาม ที่ลุ่มก็ตาม ที่ดอนก็ตาม ที่นั่นย่อมเป็นภูมิ น่ารื่นรมย์”

พระอรหันต์ทั้งหลายท่านเป็นผู้อยู่ไกล กิเลส ไกลความโลภามโกรธความหลง พุทธภาษิตจึงมุ่งแสดงว่าความไกลกิเลสหรือความไม่มีกิเลสปกคลุมใจ เป็นความน่ารื่นรมย์ ราคะหรือโลภะ โทสะ โมหะ หรือความโลภโกรธหลงเป็นกิเลส เป็นความเศร้าหมอง อยู่ชิดใกล้จิตใจผู้ใดย่อมยังให้จิตใจ ผู้นั้นเศร้าหมองไม่ผ่องใส

ดังนี้เป็นไปเช่นเหตุผลธรรมดา สุคนธชาติของหอม ที่มีความหอมอยู่ในตัว เมื่อมีอยู่ชิดใกล้ผู้ใด ย่อมยังให้ผู้นั้นให้มีความหอมแห่งกลิ่นสุคนธชาตินั้นด้วย ในทางตรงกันข้าม ของเน่าเหม็น ที่มีความเหม็นเน่าอยู่ในตัวเมื่อมีเกลือกใกล้ผู้ใดอยู่ ย่อมยังผู้นั้นให้มีความเหม็นเน่าแห่งกลิ่นเน่าเหม็นนั้นด้วย

ยิ่งกว่านั้น ผู้มีความหอมแห่งกลิ่นสุคนธชาติ แม้เข้าชิดใกล้ผู้ใดหมู่คณะใดย่อมยังผู้นั้นหมู่คณะนั้นให้ได้รับความหอมแห่งกลิ่นสุคนธชาตินั้นด้วย ผู้มีความเหม็นเน่าแห่งกลิ่นเน่าเหม็น แม้เข้าชิดใกล้ผู้ใดหมู่คณะใด ย่อมยังผู้นั้นหมู่คณะนั้นให้ได้รับความเหม็นเน่าแห่งกลิ่นเน่าเหม็นนั้นด้วย

O พระพุทธเจ้าทรงแสดงมงคลประการหนึ่ง คือ ความไม่คบพาล ความคบบัณฑิต กิเลสโลภโกรธหลง คือ พาลที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไม่ให้คบ ความไกลกิเลสโลภโกรธหลง คือ บัณฑิตที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้คบ เพื่อความเป็นมงคล เพื่อความรื่นรมย์ของตน และเพื่อยังผู้อื่นให้รื่นรมย์ มากน้อยเพียงไรขึ้นอยู่กับความใกล้ไกลกิเลสเพียงไหน

O ส่วนมากความทุกข์ที่เกิดจากอำนาจของกิเลสถูกปิดบังเสียด้วยความหลง คือความหลงเห็นทุกข์เป็นสุข ความหลงทำให้ส่วนมากพากันไม่เห็นโทษของกิเลส พากันปล่อยตัวให้ตกอยู่ในความทุกข์เพิ่มพูนความทุกข์ให้ยิ่งขึ้น ด้วยการเพิ่มพูนกิเลสห่อหุ้มใจให้ยิ่งขึ้น ความทุกข์ความร้อนอันเป็นผลของกิเลสจึงเพิ่มมากขึ้นทุกที จนมีเสียงบ่นทุกหนทุกแห่งว่าโลกนี้มีแต่ความวุ่นวายเดือดร้อนเพราะเต็มไปด้วยคนร้าย

O แม้โลกจะมีความวุ่นวายเดือดร้อนมากมายเพราะเต็มไปด้วยคนร้าย แต่นั่นเป็นความทุกข์ ความร้อนภายนอกที่จะเป็นความทุกข์ความร้อนภายในใจด้วยสำหรับผู้ยังไม่หมดจดจากกิเลสทั้งปวง แต่จะเป็นเพียงความทุกข์ความร้อนภายนอกเท่านั้น

สำหรับผู้หมดจดแล้วจากกิเลสทั้งปวงคือเป็นความทุกข์ความร้อนที่ท่านผู้หมดจดแล้วจากกิเลส ท่านรู้ท่านเห็นว่ามีอยู่เท่านั้น ท่านจะเมตตาแก้ไขจัดแจงให้เรียบร้อยด้วยอาการภายนอกมิได้ทอดทิ้ง แต่ก็มิได้เข้าถึงจิตใจท่านมิได้ทำให้จิตใจของท่านเป็นทุกข์เดือดร้อนไปด้วย

ท่านรู้ท่านเห็นความวุ่นวายความร้อนภายนอก แต่ภายในของท่านคือ ความสงบความเย็นความเป็นปกติ นี่คือที่กล่าวว่า เป็นความดับจากทุกข์ทั้งหลาย

O แม้ไม่ปรารถนาจะเป็นทุกข์เพราะความวุ่นวายรอบกาย ก็พึงพยายามให้เต็มสติปัญญาความสามารถ ไม่ปล่อยใจเข้าไปอยู่ในวงล้อมของกิเลสแทนที่จะไปเสียเวลาเสียกำลังความคิดไปตั้งหน้าจัดการกับกิเลสผู้อื่น

ก็ให้ตั้งหน้าจัดการกับใจของตนเอง ไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับกิเลสทำได้เพียงไรก็จะเหมือนสามารถแก้ไขคนอื่นทั้งหลายให้กลายเป็นคนดีได้ทั้งโลก เพราะใจเราจะไม่เร่าร้อนเพราะผู้ใดเลย จะเหมือนคนทั้งโลกไม่ได้ก่อกรรมทำร้ายให้เราต้องกระทบกระเทือนใจเลย

O พุทธภาษิตบทหนึ่งกล่าวไว้แปลความว่า “โลกอันจิตย่อมนำไป” โลกเล็กๆ ก็คือตัวเราของทุกคน จิตทีนำโลกเล็กๆ ไปก็คือจิตของตัวเราทุกคน

จิตของผู้ใดก็นำโลกคือตัวของผู้นั้นไป ไปไหนก็ได้ไปดี ไปชั่ว ไปสุขไปทุกข์ ไปสูงไปต่ำ ทุกคนและทุกโลกเล็กๆ สามารถไปได้ทั้งนั้นถ้าจิตนำไป จิตดีก็นำไปดี จิตชั่วก็นำไปชั่ว จิตสุขก็นำไปสุข จิตทุกข์ก็นำไปทุกข์ จิตสูงก็นำไปสูง จิตต่ำก็นำไปต่ำ

จึงมีพุทธภาษิตกล่าวไว้แปลความว่า “เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติเป็นอันหวัง เมื่อจิตไม่เศร้าหมองแล้วสุคติเป็นอันหวังได้”

“การฝึกจิตเป็นความดี จิตที่ฝึกแล้วนำสุขมาให้ จิตที่คุ้มครองแล้วนำสุขมาให้จงตามรักษาจิตของตน พึงรักษาจิตของตนเหมือนคนประคองบาตรเต็มด้วยน้ำมัน ผู้มีปัญญาพึงรักษาจิต”
เป็นต้น

O ถ้าทำใจให้ผ่องใสเป็นสุขสงบได้ ปัญญาย่อมเกิดได้ในใจนั้น ย่อมยังให้รู้ได้ว่าควรคิดควรพูดควรทำอย่างไร เพื่อความเจริญรุ่งเรืองความร่มเย็นเป็นสุขของบ้านเรือนตนของบ้านเมืองตน เลยไกลไปถึงเพื่อโลกที่ตนอาศัยอยู่นี้สงบของจิตใจแต่ละคนนั้นแหละเป็นความสำคัญ ความรู้การควรไม่ควรจะเกิดได้ ปัญญาจะมากมี ความยากจะไม่ปรากฏ

O พุทธภาษิตบทหนึ่งกล่าวไว้แปลความว่า “ร่างกายของสัตว์ย่อยยับได้ แต่ชื่อและสกุลไม่ย่อยยับ” ความดำรงอยู่ของชื่อและสกุลมีเป็นสองนัยคือดำรงอยู่ดีและดำรงอยู่ชั่ว ทั้งนี้แล้วแต่กรรมที่แต่ละคนได้ประกอบกระทำไว้ในขณะดำรงชีวิตอยู่

ในขณะที่ร่างกายยังไม่ย่อยยับ ถ้าประกอบกรรมดียิ่งกว่ากรรมไม่ดี ความดำรงอยู่ของชื่อและสกุล ย่อมเป็นการดำรงอยู่อย่างดี เป็นที่ยกย่องกล่าวถึงอย่างคารวะของคนทั้งหลาย ถ้าประกอบกรรมไม่ดียิ่งกว่ากรรมดี ความดำรงอยู่ของชื่อและสกุลย่อมเป็นการดำรงอยู่อย่างไม่ดีเป็นที่นินทากล่าวถึงอย่างรังเกียจของคนทั้งหลาย

O ถึงตัวจะตาย ร่างกายจะเปื่อยเน่าสลายหมดสิ้นไป แต่ความดีความชั่วที่ทำไว้จักรักษาชื่อและสกุลของทุกคนไว้ตลอดกาล แต่ต่างกันคนละแบบคนละนัย พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระสรีระย่อยยับไปนานนับเป็นสองพันกว่าปีแต่พระนามพระโคตรยังดำรงอยู่ทุกวันนี้อย่างดีเยี่ยม

เป็นที่เคารพยกย่องกราบไหว้บูชาของผู้มีสัมมาทิฐิ สัมมาปัญญาทั่วหน้า พระเทวทัตจบสิ้นชีวิตไปเป็นสองพันกว่าปีเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า ร่างกายย่อยยับไปแล้ว พร้อมกับการจบสิ้นชีวิต แต่ชื่อเสียงยังดำรงอยู่เป็นที่รู้จักกล่าวขานถึงทั่วไปในปัจจุบัน แต่อย่างเป็นที่รังเกียจของคนทั้งหลาย ไม่ยกเว้นคนดีคนชั่ว


(มีต่อ ๒)
 

_________________
ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 03 ก.ค.2007, 8:32 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

O คนเมื่อกี่ร้อยกี่พันปีมาแล้วที่เราไม่เคยรู้จักหน้าค่าตาเลย ยังมีชื่อมีสกุลให้เรารู้จัก ให้เราชื่นชมยกย่อง และให้เรารังเกียจดูหมิ่นดูแคลน ในทุกวันนี้ได้นี้คือเครื่องรับรองพุทธภาษิตที่แปลความว่า “ร่างกายของสัตว์ย่อยยับได้ แต่ชื่อสกุลย่อยยับ”

O เราทุกคนต่างก็เป็นหนึ่งในสัตว์ที่ชื่อและสกุลจะไม่ย่อยยับ แต่ร่างกายต้องย่อยยับแน่ จึงควรทำสถิติพิจารณาว่าต้องการให้ชื่อแลสกุลของตนดำรงอยู่ในสภาพเช่นไร ให้คนในภายหน้ามีความรู้สึกต่อชื่อและสกุลของเราอย่างไร ชื่นชมยกย่องสรรเสริญหรือรังเกียจเหยียดหยาม

เมื่อรู้ความต้องการของตนแล้วก็ต้องดำเนินไปในทางที่ถูก ที่จะให้เกิดผลดังที่ปรารถนาต้องการ แม้ดำเนินไปไม่ถูกทางที่ถูก ที่จะให้เกิดผลดังที่ปรารถนาต้องการ แม้ดำเนินไปไม่ถูกทางก็จะไม่เกิดผลดังประสงค์ ประสงค์ให้คนทั้งหลายชื่นชมยกย่องสรรเสริญก็จะไม่สำเร็จ ผลทั้งหลายหาได้เกิดจากความปรารถนาต้องการที่ไม่พร้อมด้วยการ กระทำอันเป็นเหตุที่ตรงกับผลอันตนต้องการ

O ต้องการผลเช่นใดต้องประกอบกระทำเหตุให้ตรงกับผลที่ต้องการ ไม่เช่นนั้นจะไม่เป็นไปดังต้องการ ผู้หิวกระหายต้องการของที่รสหวาน แต่ไปดื่มน้ำเกลือแทนน้ำหวานย่อมไม่ได้รสหวานที่ต้องการแต่จักได้รสเค็มที่ไม่ต้องการ

ความไม่สมปรารถนาเกิดจากการประกอบเหตุที่ไม่ตรงกับผลที่ปรารถนา เหตุและผลต้องตรงกันเสมอ ไม่มียกเว้นแม้กรณีเดียวที่เหตุและผลจะไม่ตรงกัน พึงทำความเข้าใจให้ดีในสัจจะคือความจริงแท้นี้

O เหตุที่จะให้เกิดผลตรงต้องเป็นเหตุที่แท้จริง คือ เป็นเหตุที่ได้ทำแล้วจริง ใช่เป็นเหตุที่กล่าวอ้างว่าทำ เช่น ทำเหตุไม่ดีแต่กล่าวอ้างว่าทำเหตุดี โดยเข้าใจผิด หลงผิดหรือเชื่อผิดอย่างใดก็ตาม เรียกว่าไม่เป็นเหตุที่ทำแล้วจริง

ดังนั้นผลจึงต้องไม่เป็นไปตรงตามเหตุที่กล่าวอ้าง แต่จักเป็นไปตามเหตุที่ทำแล้วจริง ซึ่งแม้จะอาจไม่ถูกกล่าวถึงเลย อันเหตุที่ทำนั้นไม่จำเป็นต้องปรากฏแก่ความรู้เห็นหรือประจักษ์ตาผู้ใด ความสำคัญของการทำเหตุอยู่ที่ว่าต้องทำได้จริง แม้ไม่มีผู้รู้เห็นเลย ก็จักเป็นเหตุที่แท้จริง ที่ให้ผลจริงตรงตามเหตุ

O พุทธภาษิตหรือธัมมะทั้งปวงที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงสอนมีความหมายหลายระดับ ตั้งแต่ระดับต้นมีคุณในระดับนั้น ถึงระดับลึกซึ้ง เป็นคุณอย่างยิ่งยังให้ถึงความพ้นทุกข์ได้เป็นลำดับ ตั้งแต่ทุกข์น้อยทุกข์ใหญ่ จนถึงความพ้นทุกข์ได้สิ้นเชิงจริง

สำคัญที่ผู้มีบุญได้สดับรับฟังแล้ว จะต้องใคร่ครวญพิจารณาอย่างประณีตรอบคอบ ประกอบด้วยศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา อันเป็นกำลัง ๕ ผู้มีธรรมอันเป็นกำลังทั้ง ๕ ประการนี้ย่อมสามารถเข้าถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

ซึ่งมีคุณลักษณะ ๓ ประการคือ ทรงสอนเพื่อให้มีผู้รู้ยิ่งเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ควรเห็นจริงได้และทรงสอนเป็นอัศจรรย์ คือ ผู้ปฏิบัติตามย่อมได้ประโยชน์ควรแก่ความปฏิบัติ

O ศรัทธา คือ ความเชื่อ ความเลื่อมใส ในธรรมเป็นกำลัง ๕ ประการศรัทธาคือความเชื่อมั่นในพระพุทธเจ้าว่าทรงตรัสรู้ คือทรงรู้แจ้งจริงในทุกสิ่ง ทรงรู้แจ้งโลก ไม่มีผิดแม้แต่น้อยในสิ่งที่ทรงตรัสรู้สิ่งใดที่รับสั่ง สิ่งใดที่ทรงแสดงสอน สิ่งทั้งปวงนั้นล้วนเป็นสัจจะ ล้วนเป็นความจริง ล้วนเป็นความถูกต้อง

O วิริยะ คือ ความเพียร ความบากบั่น ในธรรมกำลัง ๕ ประการ วิริยะคือ ความบากบั่นพากเพียรพยายามศึกษา ใคร่ครวญตรึกตรองทำความเข้าใจปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงสอนให้ได้ผลสำเร็จ

O สติ คือ ความระลึกได้ถึงสิ่งที่ทำคำที่พูดแล้วแม้นานในธรรมเป็นกำลัง ๕ ประการ สติ คือ ความระลึกได้ถึงที่พระพุทธเจ้าจรัสสอนไว้ และความระลึกได้ถึงสิ่งที่ทำคำที่พูดของตนและของผู้อื่นทั้งนั้นที่เคยได้พูดได้ทำได้ยินได้ฟังได้รับรู้ อันเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อประกอบความคิดของตนให้เกิดเป็นปัญญาหนึ่งในธรรมเป็นกำลัง ๕ ประการ

O ผู้ขยันอาจแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ ประเภทขยันแล้วก่อให้เกิดความสำเร็จ ความเจริญ
และประเภทขยันแล้วก่อให้เกิดความล้มเหลว ความเสื่อม ผู้ขยันจึงต้องมีสติ สติเป็นตัวสำคัญ ท่านเปรียบสติ เป็นหางเสือที่จะควบคุมเรือชีวิตให้ดำเนินไปอย่างสวัสดี แม้จะมีมรสุมชีวิตหนักบ้างเบาบ้างผ่านเข้ามาตามแรงแห่งกรรมของตน

O ผู้มีสติคือผู้มีความระลึกได้ถึงเหตุถึงผลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ประสบพบผ่าน เกี่ยวกับเรื่องที่ได้ยินได้ฟังได้รู้ได้เห็น เกี่ยวกับสิ่งที่ทำคำที่พูดแล้วแม้นานในอดีต มีสติรำลึกได้ถึงผลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่กำลังประสบพบผ่าน เกี่ยวกับเรื่องราวที่กำลังได้ยินได้ฟังได้รู้ได้เห็น เกี่ยวกับสิ่งที่กำลังทำคำกำลังพูดในปัจจุบัน

มีสติระลึกถึงเหตุถึงผลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่จะต้องประสบพบผ่าน เกี่ยวกับเรื่องที่จะต้องได้ยิน ได้ฟัง ได้เห็น เกี่ยวกับสิ่งที่จะต้องทำคำที่จะต้องพูดในอนาคต สติเป็นความระลึกได้ทั้งสามกาล

O ความมีสติระลึกได้ในเหตุในผลในเรื่องทั้งปวงที่เกิดขึ้นที่ประสบพบผ่าน และที่พูดที่ทำด้วยตนเองทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ย่อมเป็นเหตุให้รอบคอบใคร่ครวญก่อนที่จะพูดจะฟังจะทำการทั้งปวงเพราะสติความระลึกได้ย่อมทำให้ระลึกได้ว่าการพูดการทำสิ่งใดเป็นคุณหรือเป็นโทษอย่างไร

ไม่ว่าจะเป็นการพูดการทำของตนเอง หรือการพูดการทำของผู้อื่นใดที่ตนประสบพบผ่านก็ตาม ความมีสติระลึกได้จะทำให้เว้นการพูดการทำสิ่งที่เป็นโทษจะพูดจะทำสิ่งที่เป็นคุณ เป็นการไม่ทำให้ความไม่ดีเกิดช้ำรอย เป็นการทำให้ความดีเกิดเนืองๆ

O ความมีสติระลึกได้จะทำให้เว้นการพูดการทำสิ่งที่เป็นโทษไม่เป็นประโยชน์ จะพูดจะทำแต่สิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ สติความระลึกได้มีคุณนัก เปรียบเป็นได้ทั้งหางเสือเรือคอยบังคับเรือชีวิตให้สวัสดี และเป็นได้ทั้งครูอบรมสั่งสอนให้รู้จักผิดชอบชั่วดี รู้จักพาลรู้จักบัณฑิต คือรู้จักคนชั่วคนดี

O สติความระลึกได้จักยังสัปปุริสธรรม ธรรมของคนดีให้มีบริบูรณ์ทั้งความรู้จักเหตุ ความรู้จักผล ความรู้จักตน ความรู้จักประมาณ ความรู้จักกาล ความรู้จักประชุมชน ความรู้จักบุคคล

O ความมีสติระลึกอยู่ในเหตุในผลทุกกาลเวลา ทั้งเหตุทั้งผลในอดีต ในปัจจุบัน และในอนาคต
คือ ความมีสัปปุริสธรรม ธรรมของคนดีจักเป็นเหตุให้มีงานการสะอาดเพราะผู้มีสตินั้นก่อนจะทำการใดจักใคร่ครวญด้วยดี เว้นการเป็นโทษ ทำแต่การเป็นคุณ และมีสติเตือนตนอยู่เสมอให้สำรวมทั้งกายวาจาใจในความดีงามความสงบเสงี่ยมและถูกต้อง จึงอาจกล่าวได้ว่าความมีสติจะทำให้เป็นผู้อยู่ในธรรมไม่อยู่ในความประมาทอันเป็นทางแห่งความตาย

O สมาธิคือความตั้งจิตมั่น ในธรรมเป็นกำลัง ๕ ประการ สมาธิคือความสำรวมใจมั่นคง
ในศรัทธาในวิริยะ ในสติ คือมีใจเชื่อมั่นคงจริงในพระพุทธเจ้าผู้ทรงตรัสรู้จริงแล้ว

มีใจตั้งมั่นจริงที่จะพากเพียรศึกษาปฏิบัติพระธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้า มีใจมั่นแน่วแน่สำรวมสติรู้สึกตัวอยู่เสมอในการคิดในการพูดในการทำ รวมทั้งในการดูในการฟังเพื่อสามารถระลึกได้ทุกเวลาถึงสิ่งที่ทำคำที่พูดแล้วแม้นานทั้งของตนทั้งของผู้อื่น พร้อมระลึกได้ถึงเหตุถึงผลของการคิดการพูดการทำนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งระลึกได้ทุกเวลาที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ อันจักนำมาซึ่งปัญญายิ่ง

O ปัญญาคือความรอบรู้ ความฉลาดเกิดแต่เรียนและคิดในธรรมเป็นกำลัง ๕ ประการปัญญาคือความคิดใคร่ครวญข้อคำธัมมะที่พระพุทธองค์ทรงสอนเป็นการใช้ปัญญาพิจารณาพระปัญญาของพระพุทธเจ้าเพื่อให้เกิดปัญญาเป็นความรู้ความเข้าใจจริงของตน มิใช่เป็นพระปัญญาของพระพุทธเจ้าที่ตนจดจำไว้

O ธัมมะหรือความรู้ที่ได้ยินได้ฟังได้รู้มาแต่ผู้อื่น เป็นความรู้จริงหรือเป็นปัญญาของผู้อื่น เช่น
ของครูอาจารย์ที่ศึกษาปฏิบัติจนได้ความรู้จริงเป็นปัญญาของตน แล้วจึงนำมาสอน ผู้ใดเพียงรับฟังมาและจดจำไว้ซึ่งความรู้จริงของผู้อื่น แต่มิได้รู้จริงด้วยในเรื่องใด ผู้นั้นยังไม่มีปัญญาในเรื่องนั้น

O พุทธภาษิตบทหนึ่งกล่าวไว้แปลความว่า “ภูเขาหินแท่งทึบไม่สั่นสะเทือนเพราะลมฉันใด บัณฑิตย่อมไม่หวั่นไหวในนินทาและสรรเสริญฉันนั้น”

พระพุทธองค์ทรงบัณฑิตดังภูเขาหินทึบเหตุด้วยบัณฑิตไม่หวั่นไหวเพราะนินทาและสรรเสริญ นั่นคือทรงแสดงว่าบัณฑิตมีลักษณะของภูเขา คือมีความหนักแน่นความแข็งแกร่งความผนึกติดกับพื้นฐานใหญ่มั่นคงคือความดีความมีสติปัญญา

บัณฑิตในพระพุทธศาสนาหมายถึงคนดีมีปัญญา ผู้เป็นคนดีมีปัญญาเพียงพอย่อมรู้ธรรม ย่อมเชื่อมั่นในกรรมย่อมไม่หวั่นไหว เมื่อมีผู้เจรจาเหยียบย่ำเพื่อให้ต่ำลง หรือมีผู้เจรจาส่งเสริมเพื่อให้สูงขึ้น ย่อมรู้ว่ากรรมคือการกระทำความประพฤติปฏิบัติของตนเองเท่านั้น ที่จะเหยียบย่ำตนให้ต่ำลงได้ หรือส่งเสริมตนให้สูงขึ้น

ผู้ใดอื่นหาทำได้ไม่นินทาก็สรรเสริญก็ตาม ไม่อาจทำได้ ทั้งเพื่อให้ตนต่ำลงหรือสูงขึ้น สำหรับบัณฑิตนินทาและสรรเสริญจึงย่อมทำให้เกิดเมตตาในผู้นินทา และกตัญญูรู้น้ำใจผู้สรรเสริญเพียงเท่านั้น มิได้ทำให้หวั่นไหวแต่อย่างใด

O จิตใดที่เป็นจิตของบัณฑิต คือผู้มีปัญญาในธรรม ผู้ได้ศึกษาธรรม ได้ปฏิบัติธรรม ได้รับผลแห่งธรรมปฏิบัติมีสมบัติที่เป็นธรรม คือธรรมสมบัติ จิตนั้นมีคุณลักษณะเปรียบได้ดั่งภูเขาหินแท่งทึบ ไม่หวั่นไหวในโลกธรรมอันผู้อยู่ในโลกจะต้องพบเป็นธรรมดา

เพราะเป็นสิ่งมีประจำโลกทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว คือทั้งลาภความเสื่อมลาภ ยศความเสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ ผู้มีใจเป็นบัณฑิตเพียบพร้อมด้วยคุณลักษณะแห่งบัณฑิต แม้ต้องเผชิญโลกธรรมทั้ง ๘ นี้อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ว่าฝ่ายดีหรือฝ่ายชั่วย่อมมีใจตั้งมั่นไม่หวั่นไหว

O อันความหวั่นไหวแห่งจิตนั้นเกิดขึ้นไม่ได้ไม่เฉพาะเพียงเมื่อประสบโลกธรรมฝ่ายชั่ว การประสบโลกธรรมฝ่ายดีก็ทำให้จิตหวั่นไหวได้

ความหวั่นไหวแห่งจิตหมายถึงความที่จิตกระเพื่อมผิดจากปกติกระเพื่อมด้วยความเสียใจหรือกระเพื่อมด้วยความดีใจ เป็นความหวั่นไหวแห่งจิตทั้งสิ้น และความผิดปกติแห่งจิตนั้นแม้จะเป็นไปในทางรื่นเริงยินดี ผู้มีปัญญาในธรรมก็ไม่ถือเป็นสิ่งที่พึงปรารถนา ผู้เสียสติหัวเราะผู้เสียสติร้องไห้ ก็คือผู้เสียสตินั่นเอง


(มีต่อ ๓)
 

_________________
ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก

แก้ไขล่าสุดโดย I am เมื่อ 03 ก.ค.2007, 8:52 am, ทั้งหมด 4 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 03 ก.ค.2007, 8:33 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

O ความดีใจเพราะได้ประสบโลกธรรมฝ่ายดี หรือความเสียใจเพราะได้ประสบโลกธรรมชั่ว บัณฑิต ผู้มีปัญญาย่อมไม่เห็นว่าเป็นความปกติแห่งจิต ย่อมเห็นเป็นความผิดปกติแห่งจิตทั้งสิ้น บัณฑิตผู้มีปัญญาย่อมมีจิตสงบตั้งมั่นอยู่ในความปกติเสมอ ดั่งภูเขาหินแท่งทึบตั้งอยู่มั่นคงเป็นปกติ ไม่สั่นสะเทือนแม้ในความกระทบกระแทกรุนแรงไม่ว่างเว้นแห่ลมพายุใหญ่

O ความสงบตั้งมั่นเป็นปกติแห่งจิต มิได้เกิดจากอะไรอื่น แต่เกิดจากปัญญาซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด ปัญญาที่หยั่งรู้ความจริงโดยแท้เป็นเหตุให้จิตตั้งมั่นไม่หวั่นไหว การอบรมปัญญาคือ การใช้ปัญญาให้อย่างยิ่งเสมอ จึงเป็นความจำเป็นสำหรับผู้ต้องการความสงบตั้งมั่นแห่งจิต

O การอบรมปัญญาก็เช่นเดียวกันกับการเลี้ยงดูต้นไม้เล็กต้นไม้ใหญ่ที่ปลูกอยู่แล้ว มีอยู่แล้ว ให้เจริญเติบโต ต้นหมากรากไม้ต้องการปุ๋ยต้องการน้ำ ปัญญาต้องการสัญญาความจำได้หมายรู้ ต้องการสติ ความระลึกได้ถึงสิ่งที่ทำคำที่พูดของตนและของคนทั้งหลายที่ได้พูดได้ทำได้ยินได้ฟังมาแล้วแม้นานได้และต้องการความสม่ำเสมอ

สัญญา ความจำต้องเป็นความจำสิ่งที่เป็นปัญญาและเป็นเหตุแห่งปัญญาเช่นจำคำสอนในพระพุทธศาสนา อันเป็นสิ่งที่เป็นพระปัญญาในพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงสอนล้วนแต่ความดีงามความเป็นปัญญาที่จะนำไปสู่ความสุขสงบบริสุทธิ์แห่งจิตใจ

O สัญญาคือ ความจำเป็นอนัตตา คือไม่เป็นไปตามความปรารถนาต้องการ ปรารถนาให้จำไว้ก็ไม่จำปรารถนาให้ลืมก็ไม่ลืม ปรารถนาไม่ให้จำก็จำ ปรารถนาไม่ให้ลืมก็ไม่ลืม และความจำที่เป็นสัญญาก็เป็นความจำตรงไปตรงมาทั้งสิ้นทั้งเรื่อง ไม่ประกอบด้วยความรู้เหตุรู้ผล ดังนั้นสัญญาจึงต้องประกอบพร้อมด้วยสติ เพราะสติเป็นความระลึกได้ที่ประกอบพร้อมด้วยเหตุและผล สติไม่ได้เป็นความจำแบบสัญญา

O ความจำคือสัญญานั้น แม้จะตั้งใจรักษาไว้ก็อาจรักษาไว้ไม่ได้ ต้องลืม แต่สติความระลึกได้
นั้นเมื่อตั้งสติไว้ รู้เรื่องพร้อมกับรู้เหตุรู้ผล ก็จะมีสติอยู่ได้เหตุการณ์ทั้งหลายที่ประสบพบผ่านแม้นาน เมื่อมีสติระลึกได้ ก็จะระลึกได้พร้อมทั้งเหตุทั้งผลทั้งปวงสัญญา

ความจำกับสติความระลึกได้มีความแตกต่างกันที่สำคัญอย่างยิ่ง ในเรื่องเดียวกันสัญญาอาจเป็นคุณ แต่ก็อาจเป็นโทษ ส่วนสติเป็นแต่คุณไม่เป็นโทษความพยายามมีสติระลึกรู้จึงเป็นความถูกต้องและเป็นไปได้ยิ่งกว่าพยายามจดจำด้วยสัญญา

O ความจำที่เป็นสัญญานั้นมีผิดเพราะมีลืม และมีโทษเพราะไม่ประกอบพร้อมด้วยเหตุผล ความรู้ถูกรู้ผิด โทษของสัญญาคือความไม่สงบแห่งจิตแตกต่างจากความไม่ลืมมีสติระลึกได้ ซึ่งประกอบพร้อมด้วยเหตุผลความรู้ถูกรู้ผิดอันเป็นปัญญา และปัญญานั้นไม่มีโทษ มีแต่คุณ มีแต่นำไปสู่ความสงบแห่งทุกข์ความสงบแห่งจิต และจิตยิ่งสงบเพียงใด ยิ่งตั้งมั่นเพียงนั้น ปัญญายิ่งสว่างรุ่งโรจน์มีพลังเพียงนั้น

O คุณที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งของปัญญาคือความเข้าใจในโลกธรรม ความเข้าใจในชีวิต ว่าเมื่อเกิดอยู่ในโลกก็ต้องพบโลกธรรมทั้ง ๘ และโลกธรรมนั้นก็เช่นเดียวกับสิ่งทั้งปวงธรรมทั้งปวงย่อมเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดาสรรเสริญและนินทาก็เป็นโลกธรรม

ย่อมต้องพบด้วยกันทุกคนพระพุทธเจ้ายังทรงพบ และย่อมเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดาเช่นกัน บัณฑิตคือผู้มีปัญญาเมื่อประสบนินทาและสรเสริญจึงมีจิตตั้งมั่นไม่หวั่นไหว

O ในขอบเขตแคบๆ สรรเสริญนินทาหมายถึง เพียงที่เกี่ยวกับตนเอง แต่กว้างออกไปสรรเสริญนินทาหมายถึงที่เกี่ยวกับผู้อื่นทั้งปวงที่ตนไปได้ยินได้ฟังได้รู้ได้เห็นด้วย ไม่ว่านินทาสรรเสริญจะเกี่ยวกับใครบัณฑิตได้รู้ได้เห็นได้ยินได้ฟังย่อมไม่หวั่นไหวจิตตั้งมั่นเป็นปกติอยุ่

อันความหวั่นไหวของจิตไม่เพียงเป็นโทษแก่จิต ทำให้จิตไม่ตั้งอยู่ในความสุขสงบเท่านั้น แต่ยังเป็นโทษส่งออกปรากฏเป็นการกระทำทางกายทางวาจาอีกด้วย เพราะใจที่หวั่นไหวด้วยนินทาสรรเสริญย่อมทำให้คิดให้พูดให้ทำไปตามอำนาจความหวั่นไหว ปรากฏเป็นความลืมตัว ความก้าวร้าวแข็งกระด้าง ความโศกเศร้า ขาดสติ ความอ่อนแอ ความขาดเหตุผล ความเชื่อง่ายหูเบา เป็นต้น อันลักษณะเช่นนี้ปรากฏในผู้ใดผู้นั้นย่อมไม่เป็นที่สรรเสริญโดยควร

O บัณฑิตผู้มีปัญญาเข้าใจในเรื่องของโลกธรรมรู้คุณของจิตที่ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรม รู้โทษของจิตที่หวั่นไหวด้วยด้วยโลกธรรม จึงอบรมสติอบรมปัญญาตามรักษาจิตทุกเวลา ให้ทัน ให้พ้น ให้ไกล จากความหวั่นไหวด้วยโลกธรรมทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว ตั้งมั่นเป็นสุขสงบอยู่

O ทางไปสู่ความเป็นบัณฑิตในพระพุทธศาสนานั้นมีอยู่แล้ว คือทางที่พระพุทธเจ้าเสด็จผ่านไปแล้วและทรงพระกรุณาแสดงไว้ในพระธรรมคำสอนทั้งปวง ยากง่ายสูงต่ำตามอัธยาศัย

หัวใจพระพุทธศาสนา ๓ ประการ ที่โปรดประทานเป็นหลักประกาศพระพุทธศาสนาแก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ในวันมาฆบูชานั้น เพียงพอสำหรับความเป็นบัณฑิตในพระพุทธศาสนา การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม แลการชำระจิตให้ผ่องใส เป็นทางปฏิบัติในพระพุทธศาสนา

O บัณฑิตหมายถึงผู้มีปัญญา ผู้เป็นปราชญ์ บัณฑิตในพระพุทธศาสนา หรือในทางธรรม มิได้มี ความหมายตรงกับคำว่าบัณฑิตที่ใช้ในทางโลก ที่หมายถึงผู้สำเร็จการศึกษาจากสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา

ขณะที่บัณฑิตทางโลกหมายถึงผู้มีความรู้ในวิชาการทางโลก มีวิชาการเป็นสมบัติของตน บัณฑิตหมายถึงผู้ความรู้ในทางธรรมและปฏิบัติธรรม มีธรรมเป็นสมบัติของตนมิใช่สักแต่เพียงรู้ธรรมด้วยการศึกษาจดจำข้อธรรมทั้งหลายไว้ขึ้นใจได้เท่านั้น พูดได้สอนได้เท่านั้น แต่ต้องปฏิบัติธรรมด้วยให้มีธรรมเป็นสมบัติของตน

O การรักษาธรรม แม้จะรอบรู้กว้างขวางเพียงไรท่องจำขึ้นใจได้มากน้อยเพียงไหน ถ้าไม่ปฏิบัติธรรมให้เกิดขึ้นในตน ธรรมนั้นก็ยังหาใช่สมบัติของตนไม่ เช่นเดียวกับความรู้วิชาการทางโลกผู้ที่อ่านหนังสือมากมายโดยไม่เข้าใจเรื่องราว ที่เปรียบว่าอ่านเหมือนนกแก้วนกขุนทองหัดพูด ความรู้หรือวิชาการในหนังสือที่อ่านนั้นก็หาใช่สมบัติของผู้อ่านนั้นไม่

O อันสมบัติของบัณฑิต ทั้งทางโลกและทางธรรมเป็นสมบัติของผู้ใดแล้วก็จะเป็นของผู้นั้นตลอดไปไม่อาจมีผู้ช่วงชิงไปได้ ผู้ใดมีความรู้ความเข้าใจใช้ประโยชน์ได้จริงในวิชาการทางโลกแล้ว วิชาการนั้นก็จะเป็นสมบัติของผู้นั้นตลอดไป

ผู้ใดมีความรู้ความเข้าใจความปฏิบัติได้จริงทางธรรม ธรรมนั้นก็จะเป็นสมบัติของผู้นั้นตลอดไป ไม่มีผู้อื่นใดจะมาทำให้หมดสิ้นไปได้ ผู้เป็นเจ้าของเองก็ไม่อาจทำให้หมดไปได้แม้จะมีเวลาลืมเลือนไปบ้าง แต่การทบทวนก็จะทำให้กลับฟื้นคืนจำได้จนกระทั่งข้ามภพข้ามชาติแล้วความรู้อันเป็นสมบัติของผู้ใดก็ยังเป็นสมบัติของผู้นั้นอยู่

พึงรู้ได้เชื่อได้จากความรู้ความสามารถและจิตใจของผู้คนทั้งหลายในชาตินี้ภพนี้ ทีมีแตกต่างกันอยู่ ธรรมข้อเดียวกัน วิชาการเดียวกัน เริ่มศึกษาพร้อมกันคนหนึ่งเข้าใจได้ง่าย เข้าใจได้เร็ว และเข้าใจได้ถูกต้อง ชัดเจน ปฏิบัติได้ มีจิตใจสงบเย็นเป็นสุข แต่อีกคนหนึ่งเข้าใจได้ยาก เข้าใจได้ช้า ปฏิบัติได้ช้า หรือปฏิบัติไม่ได้ เข้าใจไม่ได้เลย มีจิตใจเร่าร้อน นี้เป็นเพราะเหตุใด

ก็เพราะในสองคนนั้น คนหนึ่งมีวิชาธัมมะเป็นสมบัติอยู่แล้ว ด้วยการศึกษาเรียนรู้ เข้าใจและปฏิบัติมาแล้ว อาจจะในอดีตที่ใกล้หรือไกลก็ตาม เมื่อมาได้รับการทบทวนใหม่ในวิชานั้น ในธัมมะนั้นความรู้ความเข้าใจที่ได้ศึกษาอบรมมีเป็นสมบัติอยู่ก่อนแล้ว ที่ถูกกาลเวลาทับปิดไว้ ก็จะถูกเปิดออกปรากฏขึ้นแจ่มชัดเป็นลำดับ

O แม้จะมีความรู้มีธรรมที่ปฏิบัติศึกษามาก่อนแล้วในอดีตกาล แต่ถ้าไม่ได้รับการรื้อฟื้น ทบทวนทำใหม่เลยในปัจจุบันชาติ ความรู้ความสามารถที่อบรมมาในกาลก่อนก็จะถูกกาลเวลาปิดไว้เฉกเช่นมีสมบัติแม้มากมายแต่ปกปิดไว้ สมบัตินั้นก็ย่อมไม่ปรากฏมีก็เหมือนไม่มี

ต้องเพิกเครื่องปิดบังนั้นออกเพื่อจะรวมสมบัติใหม่เข้าไว้ด้วย เพิกเครื่องปกปิดออกสมบัติเก่าจึงจะปรากฏ สมบัติใหม่จึงได้รวมเข้าเป็นส่วนเพิ่มพูนสมบัติเก่านั้น วิทยาการทั้งหลายและธรรมปฏิบัติก็เช่นกัน ไม่มีผู้ใดล่วงรู้สมบัติธรรมอันเป็นสมบัติเดิมของตนที่สะสมไว้ว่ามีมากน้อยเพียงใด เพราะกาลเวลาปกปิดไว้

ต้องศึกษาปฏิบัติในปัจจุบันจึงจะเป็นการเปิดสมบัติเก่าให้เห็นได้ เพื่อรวมสมบัติใหม่เข้าไว้ด้วยกันให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว แม้เป็นสมบัติของบัณฑิตคือเป็นธรรมสมบัติ ก็จะปรากฏความเป็นบัณฑิตในธรรมที่อาจไม่ประจักษ์แก่ผู้อื่นทั่วไป แต่ย่อมประจักษ์แก่ใจตนเองแน่นอน

O หัวใจพระพุทธศาสนา ๓ ประการที่โปรดประทานไว้เป็นหลักประกาศพระพุทธศาสนา คือ การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม การชำระจิตให้ผ่องใส และธรรมหมวดอื่นที่ทรงสอน เช่น ศีลสมาธิ ปัญญา หรือทาน ศีล ภาวนา ล้วนแสดงให้เห็นประจักษ์แจ้ง ว่าพระพุทธเจ้าทรงมีพระมหากรุณาและพระปัญญาใหญ่ยิ่งจริงแท้ และทรงแสดงไว้แจ้งชัดในพระพุทธศาสนา

ทุกคนมีการกระทำคำพูดเป็นเครื่องแสดงออกของจิตใจ ใจเป็นเช่นไรการกระทำคำพูดจะเป็นเช่นนั้น พระพุทธศาสนาเป็นการกระทำของพระพุทธเจ้า จึงเป็นเครื่องแสดงพระพุทธหฤทัยอย่างชัดเจน เป็นเครื่องรับรองพระพุทธประวัติว่าเป็นจริงดังแสดงเรื่องราวไว้ต่างๆที่ล้วนทรงยิ่งด้วยพระคุณ ทั้งพระปัญญาคุณ พระกรุณาคุณ พระวิสุทธิคุณ

O ในพระประวัติของพระพุทธเจ้ามีกล่าวแสดงไว้ ว่าเหตุเพราะได้ทอดพระเนตร เห็นความทุกข์ของคนแก่ คนเจ็บ คนตาย จึงทรงมีพระมหากรุณาปรารถนาจะช่วยมิให้มีผู้ต้องได้รับความทุกข์เช่นนั้นต่อไป

จึงทรงตัดพระหฤทัยสละความสูงส่งความสมบูรณ์บริบูรณ์ทุกประการที่ทรงเสวยอยู่เสด็จออกทรงเผชิญความทุกข์ยากนานาประการเพื่อแสวงหาทางที่จะทรงสามารถนำไปสู่ความพ้นทุกข์ของสัตว์โลกทั้งปวงพระพุทธศาสนามีจุดเริ่มเกิดที่ตรงนี้ ตรงที่ทรงมีพระมหากรุณาอย่างบริสุทธิ์แท้จริงต่อสัตว์โลก ไม่มีความกรุณาของผู้ใดเปรียบได้ ผู้นับถือพระพุทธศาสนาจึงควรดำเนินตามพระพุทธองค์

O พระพุทธศาสนามีพระมหากรุณาของพระพุทธเจ้าเป็นจุดเริ่มต้น มีพระมหากรุณาสืบเนื่องโดยตลอดมิได้ว่างเว้น แม้จนกระทั่งวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพก็ปรากฏพระมหากรุณาที่ประทับลึกซึ้งน้ำใจยากที่ผู้ใดจะสามารถพรรณนาได้ถูกต้อง

ทรงรับประเคนสุกรมัททวะอาหารที่นายจุนทะถวายแล้วรับสั่งให้นำส่วนที่เหลือไปฝังเสียทั้งหมดมิให้ถวายพระรูปอื่นต่อไป เสวยอาหารของนายจุนทะแล้วต่อมาทรงลงพระโลหิต ก่อนที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ทรงมีพระมหากรุณาห่วงใยจิตใจของนายจุนทะ ว่าจะต้องเศร้าเสียใจยิ่งนัก

เมื่อทราบว่าพระพุทธองค์เสวยอาหารของนายจุนทะแล้วเสด็จดับขันธปรินิพพานและผู้คนทั้งหลายเมื่อล่วงรู้ก็จะกล่าวโทษนายจุนทะ ด้วยพระมหากรุณาล้นพ้นทรงมีพระพุทธดำรัสให้พระอานนทเถระไปปลอบนายจุนทะไม่ให้เสียใจ แต่ให้โสมนัสด้วยรับสั่งว่าผู้ที่ถวายอาหารมื้อสุดท้ายได้บุญเสมอกับผู้ถวายอาหารก่อนแต่จะทรงตรัสรู้

กล่าวได้ว่าแม้พระชนม์ชีพก็สิ้นสุดลงด้วยพระมหากรุณาอย่างบริสุทธิ์แท้จริง มีความกรุณาของผู้ใดจะเปรียบได้ไม่มีเลย ผู้นับถือพระพุทธศาสนาจึงควรอย่างยิ่งที่จะดำเนินตามรอยพระพุทธบาท


(มีต่อ ๔)
 

_________________
ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก

แก้ไขล่าสุดโดย I am เมื่อ 03 ก.ค.2007, 8:58 am, ทั้งหมด 2 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 03 ก.ค.2007, 8:36 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

O ยกพระบารมีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไว้ เมืองไทยร่มเย็นเป็นสุขเพราะเป็นเมืองพระพุทธศาสนา คนเย็นอยู่ที่ใด ที่นั่นร่มเย็น ศาสนาเย็นอยู่บ้านเมืองใด บ้านเมืองนั้นร่มเย็น พระพุทธศาสนาเย็นนักเพราะพระพุทธเจ้าทรงเย็นยิ่ง

พระอรหันต์สาวกทั้งปวงก็เย็น พุทธศาสนิกแม้ศึกษาปฏิบัติพระพุทธศาสนาจริงย่อมมีโอกาสเป็นผู้เย็นด้วยกันทั้งนั้น เย็นด้วยไกลกิเลสอันร้อน เย็นด้วยความดี ถึงวันนั้นเมื่อใดย่อมได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิตผู้มั่นคงในความดีของตน ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะนินทาและสรรเสริญ ย่อมสามารถยังความเย็นให้เกิดขึ้นได้ในทุกที่ที่เข้าไปสู่มากน้อยตามความเย็นแห่งตน

O พุทธภาษิตบทหนึ่งกล่าวไว้แปลความว่า

“พึงกล่าวถ้อยคำอันไม่เป็นเหตุให้ใครๆ ขัดใจ ไม่หยาบคายเป็นเครื่องให้รู้ความได้ และเป็นคำจริง เราเรียกผู้นั้นว่าเป็นพราหมณ์”

นี้แสดงถึงพระกรุณาคุณอย่างยิ่งประการหนึ่ง พระกรุณาที่หยั่งลงในสรรพสัตว์ทุกถ้วนหน้า ทรงปรารถนาที่จะถนอมรักษาทุกจิตใจ ไม่ให้ขัดเคืองขุ่นข้องบอบช้ำแม้เพียงด้วยวาจา อันวาจานั้นสามารถยังให้เกิดได้ทั้งความรู้สึกที่ดีและทั้งความรู้สึกที่ไม่ดี

ความเบิกบานแช่มชื่นแจ่มใสเป็นสุขอย่างยิ่งก็เกิดได้เพราะวาจา
ความสลดหดหู่เร่าร้อนรุนแรงเป็นทุกข์แสนสาหัสก็เกิดได้เพราะวาจา
วาจาจึงมีความสำคัญยิ่ง


ด้วยพระมหากรุณาพระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงพระพุทธประสงค์เกี่ยวกับวาจาในธรรมทั้งปวง ให้เป็นที่ปรากฏแก่โลก ว่าพึงสังวรระวังวาจาเช่นเดียวกับกายและใจ พึงปฏิบัติธรรมพร้อมทั้งกายวาจาและใจ เป็นต้นในมงคลสูตรได้ทรงแสดงไว้ว่า

“วาจาอันชนกล่าวดีแล้ว ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด”

O ทาน คือการให้สิ่งที่สมควรแก่ผู้ที่สมควรให้ แก่ผู้ที่สมควรรับ ความสมควรเป็นความสำคัญอย่างยิ่งประการหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าทรงสอนให้เป็นผู้ให้ ย่อมมิทรงหมายให้ ให้โดยไม่พิจารณาความสมควร แต่ย่อมทรงหมายถึงความสมควรให้สิ่งที่สมควรแก่ผู้ที่สมควรแก่สิ่งนั้น ส่วนผู้รับไม่ปฏิเสธที่จะรับ ไม่ดูหมิ่นละเลยคุณค่าและประโยชน์ของสิ่งที่จะได้รับนั้น เห็นค่าของสิ่งที่จะได้รับนั้น

รับแล้วจะเป็นคุณประโยชน์ แม้การดุว่าตำหนิติเตียนผู้ที่สมควรได้รับการดุว่าตำหนิติเตียน เพื่อเป็นการช่วยเหลืออบรมบ่มนิสัยให้เป็นคนดีพระพุทธเจ้าก็ทรงถือว่าเป็นทาน เป็นธรรม เป็นธรรมทาน ที่ทรงกล่าวว่ายิ่งกว่าทานทั้งปวง

O ธรรมทานอันเป็นการดุว่าติเตียนสั่งสอนด้วยหวังให้กลับตัวกลับใจจากความไม่ถูกต้องมาสู่ความถูกต้อง จากความไม่ดีงามมาสู่ความดีงาม นี้จะเป็นธรรมทานที่บริสุทธิ์ได้จริง

จะต้องเริ่มด้วยมีอภัยทานคือผู้จะให้ธรรมทานดุว่าตำหนิติเตียนสั่งสอนด้วยหวังดี หวังให้เปลี่ยนจากร้ายกลายเป็นดี เปลี่ยนจากผิดเป็นถูก จะต้องให้อภัยในความร้ายความไม่ถูกที่ตนพบเห็นให้ได้ก่อน ธรรมทานเช่นนี้จึงต้องมีอภัยทานเป็นส่วนปรกอบอย่างสำคัญ

ผู้จะให้ธรรมทานเช่นนี้ต้องสะอาดจากความโกรธแค้นขุ่นเคืองใจอันเกิดจากได้รู้ได้เห็นการกระทำคำพูดที่ไม่ดีงามไม่ถูกต้องเป็นที่กระทบกระเทือนใจ ทานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้จึงมีความหมายลึกซึ้งและกว้างขวางอย่างยิ่ง

O การบำเพ็ญกุศลนั้นน่าจะถือได้ว่า เป็นการให้พรตัวผู้ทำกุศลเองประการหนึ่ง นอกจากพรที่ได้รับจากผู้อื่นที่มีผู้อื่นให้ พรทั้งสองประการนี้ผู้รับจะได้รับเพียงเท่าไรหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการทำใจเป็นสำคัญที่สุด

พรคือความดี การให้พรก็เช่นเดียวกับการรับวัตถุสิ่งของ จะต้องมีเครื่องรับ การรับวัตถุต้องมีเครื่องรับเป็นวัตถุ เช่น มือ ภาชนะอื่นๆ ไม่เช่นนั้นจะรับวัตถุใดไม่ได้ แม้มีผู้ส่งให้ ผู้รับไม่มีเครื่องรับไม่ยื่นมือรับของก็หายหกตกหล่นหมดสิ้น จะรับไว้เป็นสมบัติของตนไม่ได้

การรับพรก็เช่นกัน แต่เมื่อพรมิใช่วัตถุ จะเตรียมเครื่องรับจะเตรียมวัตถุเช่นมือหรือภาชนะอื่นๆ ย่อมรับไม่ได้ พรเป็นเรื่องของจิตใจ คือ ผู้ให้ตั้งใจปรารถนาให้เป็นพร โดยเปล่งเป็นวาจาบ้างหรือเพียงนึกในใจบ้าง การจะสามารถเป็นผู้รับพรอันเป็นเรื่องของจิตใจได้จะต้องเตรียมเครื่องรับที่เกี่ยวกับจิตใจเช่นกัน และก็มีเพียงอย่างเดียวคือใจไม่มีอะไรอื่นจะทำให้สามารถรับพรได้นอกจากใจเท่านั้น

O ใจเท่านั้นที่สามารถรับพรได้ ทั้งพรที่ตนเองให้ตนเอง และพรที่ผู้อื่นให้ นั่นก็คือต้องทำใจให้พร้อมที่จะรับพรได้ มีใจอยู่ เหมือนมีมืออยู่ เมื่อมีผู้ส่งของให้ก็ต้องยื่นมือออกไปรับไปถือจึงจะได้ของนั้นมา ไม่ยื่นมือออกรับออกถือก็รับไม่ได้ก็ไม่ได้มา และแม้เป็นของที่ดีที่สะอาด มือที่รับไว้เป็นมือที่สะอาด ของดีที่สะอาดก็จะไม่แปดเปื้อนความสกปรกที่มือ จะเป็นของดีของสะอาดควรแก่ประโยชน์จริง

O การรับพรต้องน้อมใจออกรับ คือใจต้องยินดีที่จะรับ และต้องเป็นใจที่สะอาดไม่เช่นนั้นจะรับพรไม่ได้พรที่ตนเองพยายามให้แก่ตนเองก็รับไม่ได้ พรที่ขอจากผู้อื่นก็รับไม่ได้

O เพื่อให้สามารถรับพรอันเกิดจากการบำเพ็ญกุศลด้วยตนเองได้ ผู้ทำกุศลต้องมีจิตใจผ่องใสเตรียมรับ ขณะกำลังรับ และเมื่อรับไว้แล้วและด้วยใจที่ผ่องใสนั้นพึงพิจารณาที่มีผู้ให้ ให้เข้าใจกระจ่างชัดจริงว่า พรนั้นเป็นผลของเหตุใด

เพราะธรรมดาเมื่อให้พร พรนั้นก็เป็นการแสดงชัดแจ้งเพียงส่วนผล ส่วนเหตุเร้นอยู่เบื้องหลัง เมื่อให้พรสั้นๆ เพียงผลแม้มิได้แสดงเหตุ แต่ก็เท่ากับให้พรที่รวมทั้งเหตุแห่งผลนั้นด้วย เช่นเมื่อมีผู้ให้พรว่าขอให้มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ ผู้จะสามารถรับพรนั้นได้จะต้องมีจิตใจผ่องใส

พิจารณาให้เห็นตลอดสาย ให้เข้าใจ ว่าพรที่แท้จริงที่สมบูรณ์คือขอให้ รักษาตัว รักษาใจให้ดี อย่าให้เศร้าหมอง จะได้มีอายุยืน มีผิวพรรณงาม มีความสุข มีกำลังแข็งแรง พรนี้มีทั้งส่วนเหตุที่เร้นอยู่ไม่แสดงแจ้งชัด คือขอให้รักษาตัวรักษาใจให้ดีอย่าให้เศร้าหมอง

ส่วนผลของพรนี้ที่แสดงชัด คือขอให้มี อาย วรรณะ สุข พละ ผู้จะรับพรที่มีผู้ให้แล้วได้จึงต้องทำใจให้ผ่องใส พิจารณาให้เห็นส่วนเหตุของพรนั้น และปฏิบัติให้ได้ในส่วนเหตุจึงจะได้รับส่วนผลเป็นการรับพรสมบูรณ์จริง

O เรื่องของพรนั้น ผู้รับมีความสำคัญยิ่งกว่าผู้ให้ ผู้ให้จะสมบูรณ์ด้วยคุณธรรมความดีประเสริฐเพียงไรแม้ให้พร คือให้ส่วนผลแห่งพรแล้ว ผู้รับมีใจที่รับไม่ได้คือใจไม่พร้อม ไม่ผ่องใส ไม่น้อมรับ พรอันประเสริฐเพียงไร จะคงเป็นสมบัติของผู้ให้เท่านั้น ไม่อาจเป็นสมบัติของผู้รับ

ในทางตรงกันข้าม แม้ผู้ให้จะด้อยคุณธรรมความดี มีเพียงวาจาเปล่งออกมาแสดงส่วนผลของพร ผู้รับมีใจที่รับได้คือใจพร้อมผ่องใสน้อมรับ ใคร่ครวญพิจารณาด้วยดีในพรนั้นจนเห็นส่วนเหตุของพร และปฏิบัติส่วนเหตุนั้น ก็ย่อมได้รับส่วนผลของพรคือความดีงามไปเป็นสมบัติของผู้รับได้ แม้สมบัตินั้นผู้ให้พรหามีไม่

O พุทธภาษิตบทหนึ่งกล่าวแปลความว่า

“ศีลเท่านั้นเป็นเลิศในโลกนี้ ส่วนผู้มีปัญญาเป็นผู้สูงสุด
ความชนะในหมู่มนุษย์และเทวดาย่อมมีเพราะศีลและปัญญา”


หมายถึงบรรดาคุณทั้งปวงในโลก ศีลเป็นคุณวิเศษสุด
แต่มิได้กล่าวว่าผู้มีปัญญาเป็นผู้สูงสุด
จึงเปรียบศีลเป็นรากฐานที่มั่นคงและแข็งแรงที่สุด
ปัญญาเป็นสิ่งที่ก่อตั้งขึ้นบนฐานคือศีล
ศีลเป็นฐานที่เลิศของปัญญา
ไม่มีฐานอื่นของปัญญาที่เลิศกว่าศีล
ขณะเดียวกันก็ไม่มีอะไรอื่นที่ก่อตั้งขึ้นบนฐานคือศีล
ที่สูงยิ่งกว่าปัญญา ปัญญาเป็นยอดสูงสุดที่เกิดแต่ฐานคือศีล

O ของทุกอย่างต้องมีฐานจึงจะมียอดตั้งอยู่ได้ ฐานมั่นคงแน่นหนาและมีความสูงเพียงไรก็จะส่งยอดให้สูงส่งมั่นคงได้เพียงนั้น การก่อสร้างที่สำคัญทั้งหลายต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งแก่รากฐาน อาคารมากชั้นเพียงไรฐานก็ยิ่งต้องมั่นคงแข็งแรงเพียงนั้น นี้เป็นความสำคัญจริง

ฐานมั่นคงแข็งแรงเพียงพอสำหรับอาคาร ๓ ชั้นไปสร้างเป็น ๕ ชั้น ๗ ชั้น ย่อมเป็นไปด้วยดีไม่ได้ ข่าวการพังทลายของอาคารที่นั่นที่นี่ระหว่างการก่อสร้างบ้างเมื่อการก่อสร้างสำเร็จแล้วบ้าง ล้วนมีเหตุมาแต่ความไม่มั่นคงแข็งแรงเพียงพอของฐานทั้งสิ้น

O ศีลเป็นฐาน ปัญญาเป็นยอด ผู้มีศีลคือผู้มีฐานที่จะรองรับสิ่งดีงามทั้งหลายทั้งปวงได้ และในบรรดาสิ่งดีงามทั้งหลายทั้งปวงนั้นมีปัญญาเป็นสิ่งสูงสุด

O สิ่งดีงามทั้งหลายทั้งปวงมีศีลเป็นฐาน เกิดแต่ศีล เป็นศีลต้น ๕ ศีลแม้เพียงศีล ๕ ย่อมเป็นฐานให้เว้นจากการเบียดเบียนทำลายชีวิต เว้นจากการเบียดเบียนทำลายชีวิต เว้นจาการเบียดเบียนถือเอาทรัพย์สิ่งของของผู้อื่น เว้นจากการประพฤติผิดประเวณี เว้นจาการเจรจาให้เกิดความเข้าใจผิดจากความจริง เว้นจากเหตุแห่งความมัวเมาคือสุราเมรัยเครื่องดองของเมาทั้งหลาย สิ่งที่ศีลทำให้เว้นได้ทั้งปวงล้วนเป็นความไม่ดีไม่งาม การเว้นสิ่งที่ไม่ดีไม่งามก็คือความดีงาม

O อันความดีงามด้วยการรักษาศีล ๕ มีความดีงามระดับหนึ่ง ซึ่งแม้จะเป็นเหตุให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขได้เป็นอันมาก ทั้งแก่ตนเองและผู้เกี่ยวข้อง แต่จุดมุ่งหมายที่สูงสุดแท้จริงของพระพุทธศาสนามียิ่งกว่านั้นเป็นอีกระดับหนึ่ง เป็นจุดมุ่งหมายที่มีคุณระดับสูงสุด ไม่มีคุณอื่นเสมอเหมือน จุดมุ่งหมายนั่นคือปัญญาผู้มีปัญญาเป็นผู้อาจบรรลุสูงสุดในพระพุทธศาสนา

O ปัญญาเกิดแต่ศีล มีศีลเป็นฐาน ปัญญาสูงสุดในบรรดาสิ่งดีงามทั้งหลายทั้งปวง ที่เกิดจากศีล ที่มีศีลเป็นฐาน ผู้มีปัญญาสูงสุดจึงเป็นผู้สูงสุด

O ความหมายของปัญญาคือ ความฉลาดเกิดแต่เรียนและคิด ปัญญาในทางโลกก็เกิดแต่เรียนและคิดปัญญาในทางธรรมก็เกิดแต่เรียนและคิด ปัญญาในทางโลกก็เรียนความรู้ทางโลก เรียนและคิด ปัญญาในทางธรรมก็เรียนความรู้ทางธรรม เรียนและคิด

ความสำคัญของปัญญาจึงอยู่ที่สองอย่าง คือเรียนด้วยและคิดด้วย เรียนอย่างเดียวโดยไม่คิดก็ไม่เป็นปัญญา คิดโดยไม่เรียนก่อนก็ไม่เป็นปัญญา การเรียนและคิดต้องประกอบกันอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการเรียนทางโลก หรือการเรียนทางธรรมก็ตามและต้องปฏิบัติให้ได้ด้วยจึงจะเป็นปัญญาที่สูงสุด

O ปัญญาที่เกิดจากศีล ศีลเป็นฐาน เป็นปัญญาทางโลกก็ได้ เป็นปัญญาทางธรรมก็ได้ แล้วแต่จะเรียนความรู้ทางใด ศีลเป็นฐานที่แท้จริงของคุณความดีทั้งปวง ปัญญาทั้งทางโลกและทางธรรมเป็นคุณความดีทั้งสองจึงเกิดแต่ศีล คือเกิดแต่ศีลทั้งปัญญาทางโลกและปัญญาทางธรรม

O การศึกษาทางโลกเพื่อให้รู้ให้เกิดปัญญาทางโลก เช่น นักเรียน นักศึกษา ก็จะต้องมีใจที่ไม่วุ่นไม่ฟุ้งไปในเรื่องต่างๆ ใจจะต้องจดจ่ออยู่ในเรื่องที่ต้องการเรียนรู้ ขณะใดใจไม่วุ่นไม่ฟุ้งไป สงบอยู่ จดจ่ออยู่กับการศึกษาเล่าเรียนให้รู้ให้เข้าใจ ขณะนั้นไม่ว่าจะตั้งใจรักษาหรือไม่ก็ตาม จะรู้หรือไม่รู้ก็ตามว่าตนมีศีล ขณะนั้นก็เป็นผู้มีศีลอยู่

เพราะขณะที่ใจจดจ่อมุ่งในการศึกษาเล่าเรียนเช่นนั้นย่อมไม่คิดฟุ้งไปวุ่นไปที่จะละเมิดศีลแม้ข้อใดข้อหนึ่ง เมื่อใจไม่มีความคิดที่จะละเมิดศีล ก็ย่อมไม่ทำความละเมิดศีล จึงย่อมเป็นความมีศีล เป็นความมีศีล เป็นความมีศีลโดยเจ้าตัวมิได้ตั้งใจจะรักษาศีล เป็นความมีศีลโดยเจ้าตัวไม่รู้ เพราะไม่คิดจะรู้

O ความไม่ละเมิดศีลโดยไม่ตั้งใจรักษาศีล จึงไม่รู้ตัวว่าเป็นผู้มีศีล แต่แม้เช่นนี้ก็เป็นความมีศีล คือ เมื่อละเมิดหรือไม่สละทิ้งไป ก็ย่อมมีอยู่เป็นธรรมดา เพียงแต่เป็นศีลที่ไม่สมบูรณ์พร้อม ขาดความตั้งใจอันเป็นความสำคัญ แต่อนุโลมให้เป็นศีลได้ เมื่อประกอบพร้อมด้วยความไม่ละเมิดครบทั้ง ๕ ข้อ ของศีล ๕ เป็นต้น

การจะเป็นผู้ถือศีลนั้นมิใช่ว่าจะแยกถือข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อความตามพอใจ แต่ไม่ครบทุกข้อ มีเว้นข้อนั้นข้อนี้ การละเว้นศีลเป็นบางข้อ รักษาเป็นบางข้อ ไม่เป็นการรักษาศีล ไม่เป็นผู้มีศีล ผู้ตั้งใจรักษาศีลต้องตั้งใจรักษาทุกข้อ ตั้งใจรักษาศีลทุกข้อ และปฏิบัติรักษาให้ได้ดังที่ตั้งใจทุกข้อ จึงจะเป็นผู้มีศีล สะอาด ไม่ด่างพร้อย ขาดวิ่น

ถ้าตั้งใจรักษาศีลทุกข้อ เมื่อตั้งใจเป็นความตั้งใจจริง แต่ปฏิบัติได้บ้างไม่ได้บ้าง เพราะไม่สังวรระวังให้รอบคอบ ก็เป็นผู้มีศีลไม่บริบูรณ์ เป็นเพียงผู้มีศีลด่างพร้อย ทะลุ ขาดวิ่น

O ศีลเป็นเลิศ ผู้ใดรักษาศีลได้สมบูรณ์บริบูรณ์ไม่ด่างพร้อย ไม่ขาด ไม่ทะลุ ผู้นั้นเป็นผู้มีคุณอันเลิศ ใจที่มีศีลไม่ด่างพร้อยเป็นใจที่มั่นคงไม่ฟุ้งไปด้วยอำนาจของกิเลสราคะหรือโลภะ โทสะหรือโมหะคือโลภโกรธหลง ขึงเป็นใจที่สงบเป็นสมาธิได้ง่าย

O ผู้ใดมีสมาธิความรวมแห่งจิต ความตั้งหมั่นแห่งจิต ผู้นั้นจะสามารถตรึกตรองให้เกิดความเข้าใจได้อย่างแจ่มชัดในเรื่องทั้งปวง เป็นเหตุผล เป็นปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นปัญญาที่พาให้พ้นทุกข์ ตั้งแต่พ้นทุกข์เล็กน้อย จนถึงทุกข์ใหญ่ยิ่ง จนถึงความพ้นทุกข์อย่างชิ่งเชิง

ทุกชีวิตเมื่ออุบัติขึ้นแล้ว ไม่ว่าคน ไม่ว่าสัตว์ จะต้องพบความทุกข์มากน้อยหนักเบาต่างๆ กัน ปัญญาเท่านั้นที่จะทำให้สามารถเปลื้องความทุกข์ สลัดความทุกข์ได้ มิให้ความทุกข์ทับถมจิตใจ จนมิให้ความทุกข์สัมผัสจิตใจได้แม้แต่น้อยเป็นความพ้นทุกข์ไกลทุกข์อย่างสิ้นเชิง เหล่านี้ปัญญาทำได้ทั้งสิ้น ปัญญามีระดับก็จะจัดการกับความทุกข์ได้ในระดับนั้น

O ความทุกข์อันมีอันมีต้นเหตุมาจากความเกิดเป็นต้นสายนี้ นอกจากปัญญาไม่มีอำนาจใดนะนำให้สลัดออกพ้นจิตใจได้ และนอกจากทุกข์ก็ไม่มีอะไรอื่นยิ่งกว่าทุกคนไม่ปรารถนาให้เกิดแก่ตน

ทุกข์เป็นสิ่งไม่พึงปรารถนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ทุกชีวิตไม่ปรารถนาความทุกข์ เมื่อเป็นดังนี้ ปัญญาจึงเป็นสิ่งสูงสุดโดยแท้เพราะปัญญาเป็นสิ่งเดียวที่จะยังให้เป็นไปได้ดังความปรารถนา สามารถปลดเปลื้องทุกข์ จนถึงสลัดทุกข์ให้หลุดได้อย่างหมดจดสิ้นเชิง

O ทุกข์เป็นที่ไม่พึงปรารถนาสูงสุด ปัญญาเท่านั้นจะทำให้บรรลุความปรารถนาสูงสุด ปัญญาเท่านั้นจะทำให้บรรลุความปรารถนาสูงสุดนั้นได้ ปัญญาจึงเป็นสิ่งสูงสุด ผู้มีปัญญาจึงเป็นผู้สูงสุด และศีลเท่านั้นที่เป็นรากแห่งปัญญา

ต้องตามพระพุทธภาษิตมีความว่า “ศีลเท่านั้นเป็นเลิศในโลกนี้ ส่วนผู้มีปัญญาเป็นผู้สูงสุด” เมื่อสิ่งที่เอาชนะได้ยากที่สุดคือทุกข์ ปัญญาอันเป็นยอดของฐานคือศีลบริสุทธิ์มั่นคง ยังสามารถชนะได้ พระพุทธภาษิตจึงกล่าวด้วยว่า

“ความชนะในหมู่มนุษย์และเทวดาย่อมมีเพราะศีลและปัญญา”

O ผู้ไม่มีศีล หรือผู้มีศีลบกพร่องด่างพร้อยเพียงไรปัญญาย่อมไม่มี ปัญญาย่อมอ่อน ปัญญาย่อมน้อยเพียงนั้น เมื่อศีลทำให้ใจสงบได้จากกิเลสโลภโกรธหลง ความสงบแห่งจิตหรือสมาธิย่อมเกิด

ศีลดำรงอยู่หนักแน่นยืนนานอยู่ตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับจิตใจเพียงไร สมาธิย่อมยืนนานอยู่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับจิตใจเพียงนั้น ผู้ไม่ปรารถนาความทุกข์ จึงพึงตั้งใจสำรวมสังวรระวังให้เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์ ศึกษาธรรมให้รู้ธรรม และคิดใคร่ครวญปฏิบัติธรรมที่ได้ศึกษารู้นั้นให้เกิดเป็นปัญญาพาให้พ้นทุกข์เป็นลำดับ จนถึงพ้นทุกข์สิ้นเชิง

๓ ตุลาคม ๒๕๓๖


>>>>> จบ >>>>>

สาธุ สาธุ สาธุ

เจริญธรรมครับ...
 

_________________
ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง