Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ลัทธิมิจฉาทิฏฐิทั้ง ๖ อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
santisuk
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 13 เม.ย. 2007
ตอบ: 22
ที่อยู่ (จังหวัด): LAMPANG

ตอบตอบเมื่อ: 02 มิ.ย.2007, 10:57 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน



floorcrunch100x100.jpg


ลัทธิมิจฉาทิฏฐิทั้ง ๖

.....๑. ลัทธิ อกิริยทิฏฐิ ของ ปูรณกัสสป
.....๒. ลัทธิ อเหตุกทิฏฐิ ของ มักขลิโคศาล
.....๓. ลัทธิ นัตถิกทิฏฐิ ของ อชิตเกษกัมพล
.....๔. ลัทธิ นิคัณฐทิฏฐิ ของ นิคัณฐนาฏบุตร
.....๕. ลัทธิ อุจเฉททิฏฐิ ของ สญชัยเวลัฏฐบุตร
......๖. ลัทธิ สัสสตทิฏฐิ ของ ปกุธกัจจายนะ

*****

......อกิริยทิฏิฐิ ของ ปูรณกัสสป

*****

......อกิริยะ แปลว่า ไม่มีผล ลัทธินี้สอนว่า การกระทำใด ๆ ถ้าไม่มีผลตอบแทนทางวัตถุ การกระทำนั้นๆ ก็ไม่มีผล ดังที่ลูกศิษย์ของปูรณกัสสป ถือปฏิบัติกันว่า "ทำชั่ว ถ้าไม่ถูกจับ ไม่ติดคุก ก็ไม่ได้ชั่ว" "ทำดี ถ้าไม่ได้ชื่อเสียง ไม่ได้เงินได้ทอง ก็ไม่ได้ดี" จึงถือภาษิตว่า "ทำชั่ว ไม่ได้ชั่ว ทำดีไม่ได้ดี" หรือว่า "ทำชั่ว ถ้าร่ำรวย ได้ดี" "ทำดี ถ้ายากจน ได้ขั่ว" จึงถือภาษิตว่า "ทำชั่วได้ชั่วมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป" เพราะ ลัทธินี้สอนฝักใฝ่ในเรื่อง กรรม ทำให้ปฏิบัติผิด จึงเรียก มิจฉาทิฏฐิ

*****

......ส่วนพุทธศาสนานั้น เป็น กิริยทิฏฐิ สอนว่า กรรมนี้ต้องมีผล ทำกรรมใด ย่อมได้กรรมนั้น

......กรรม คือ การกระทำมี ๓ ทาง คือ กายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรม ในกรรมทั้ง ๓ มี มโนกรรม เป็นหัวหน้า

......มโนกรรม คือ เจตนา ซึ่งเป็นตัวกรรมที่แท้จริง ดังพุทธภาษิตที่ทรงตรัสว่า "เจตนาหัง ภิกขเว กัมมัง วทามี" แปลว่า "ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า เจตนา คือ กรรม"

......เจตนา คือ ความคิด หรือ ความตั้งใจก่อน ที่จะสั่ง กาย วาจา ออกไป เจตนาชั่ว คือ คิดชั่ว หรือ ตั้งใจทำชั่ว เป็นกรรมชั่วทันที เป็นทุกข์ทันที เจตนาดี คือ คิดดี หรือ ตั้งใจทำดี เป็นกรรมดีทันที เป็นสุขทันที ผลของกรรม จะรุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อได้กระทำลงไปทางกาย วาจา

*****

......กรรม จึงให้ผลทันที ไม่ว่ามีคนเห็น หรือ ไม่เห็น ได้รับวัตถุเงินทอง หรือ ไม่ได้รับ ดังที่กล่าวมา ผีเห็น เทวดาเห็น หรือ มียมพบาลคอยจดไว้ในแผ่นหนังหมา และ แผ่นทองคำ ผี, เทวดา, ยมพบาล ก็คือ จิตใจของคนเรา ที่คอยบันทึกกรรมชั่ว กรรมดีไว้นั่นเอง ท่านพุทธทาสภิกขุ ตัดคำว่า ได้ ออกไป เป็นทำชั่ว - ชั่ว ทำดี - ดี เป็น อกาลิโก ไม่ต้องรอกาลเวลา

*****

......การกระทำทางกายวาจา ถ้าไม่เกิดจาก เจตนา หาเป็นกรรมไม่ เช่น พลั้งปากพูดคำหยาบ หรือ เดินไปเหยียบมดตาย ตรงกันข้าม ถ้ามี เจตนา ประทุษร้าย แม้ไม่แสดงออกไปทางกายวาจา ก็จัดเป็นกรรม เช่น คิดจะด่าเขา คิดจะฆ่าเขา การกระทำทางกาย เหมือนกัน แต่กรรม คือ เจตนาอาจต่างกัน เช่น การกระทำของหมอ เบอร์นาด ผ่าเปลี่ยนหัวใจคนไข้ แต่คนไข้เกิดตาย การกระทำของ หมอเบอร์นาร์ด เป็นบุญเป็นกุศล และ ไม่ผิดทางโลก เพราะ เขาเจตนาดี จะช่วยรักษาคนป่วย เป็นโรคหัวใจ แต่ช่วยไม่สำเร็จ ส่วนการกระทำของ ซีอุย เป็นบาป เป็นอกุศล และ ผิดทางโลก เพราะ เจตนาชั่ว มุ่งฆ่า คน ควักหัวใจกิน

*****

......ศาลตัดสินลงโทษความผิดของจำเลย ดูที่ เจตนา เป็นสำคัญ เพราะ การกระทำส่อถึงเจตนา หรือ เรียกกันว่า กรรมชรูป แปลว่า รูป หมายถึง การกระทำทางกาย วาจา ย่อมมาจากเจตนา คือ กรรม

......วัตถุ ไม่ใช่สิ่งตัดสินกรรม เช่น ความร่ำรวยทรัพย์สินเงินทอง อาจมีได้ทั้งการทำกรรมชั่ว และ กระทำกรรมดี สิ่งที่ตัดสินกรรม คือ เจตนา คนทำกรรมชั่ว แม้ร่ำรวย จิตใจต้องมีทุกข์ ส่วนคนทำกรรมดี ร่ำรวย จิตใจ ย่อมมีสุข ผู้กระทำกรรมชั่ว ย่อมบั่นทอนบารมี คือ ปัญญาทึบ และ อายุสั้น เพราะ สมาธิไม่ดี มีกรรมชั่ว เป็นนิวรณ์คอยรบกวน วิตกกังวลกินไม่ได้นอนไม่หลับ เป็นโรคประสาท มีโรคภัยมาก ส่วนผู้ทำกรรมดี ย่อมสร้างสมบารมี คือ มีปัญญาดี และ อายุยืน มีสมาธิดี กินได้นอนหลับ เพราะ สบายใจ ผลของกรรมนั้น ถ้าเรื่องของจิตใจให้ผลทันที ส่วนเรื่อง ทางวัตถุ ต้องรอเวลา แต่ความสุข ความทุกข์ นั้นอยู่ที่จิตใจ เป็นสำคัญ ดังที่กล่าวกันว่า "ลำบากกายไม่ว่า ขอให้สบายใจก็แล้วกัน หรือว่า ทุกข์กายอยู่ได้ ทุกข์ใจอยู่ยาก"

*****

......กรรม คือ เจตนา ก็คือ เจตสิก (กิเลส) ที่เกิดขึ้นปรุงแต่งจิตนั่นเอง โดยมี อวิชชา เป็นเจตสิกเหตุทำให้เกิด สังขาร เป็นเจตสิกผล คือ ปุญญาภิสังขาร คือ จงใจทำดี, อปุญญาภิสังขาร คือ จงใจทำชั่ว และ อเนญชาภิสังขาร คือ ทำโดยไม่จงใจ (ประมาท เลินเล่อ

......ตราบเท่าที่ยังมีเหตุ คือ อวิชชา ก็ยังต้องเวียนว่ายของสังขารเจตสิกทั้ง ๓ หรือ เวียนว่ายอขงกิเลส เวียนว่ายของกรรม และ สังขารเจตสิก หรือ กิเลส หรือ กรรมนี้เอง คือ สิ่งจำแนกสัตว์ใรทางพุทธศาสนา ดังจะได้กล่าวต่อไป

*****

......เมื่อหมดเหตุ คือ หมดอวิชชา (มีวิชชา) จึงพ้นเวียนว่ายของ เจตสิกสังขาร ๓, พ้นเวียนว่ายของกิเลส, พ้นเวียนว่ายของกรรม เป็นวิสังขาร แปลว่า จิตไม่ถูกปรุง คือ นิพพาน เป็นพระอรหันต์ คือ บุคคลที่มีสติรู้ทันทุกครั้งที่จิตกระทบอารมณ์ จึงเรียกพระอรหันต์ว่า ผู้บริสุทธิ์ หรือ ผู้ที่ไม่มีกิเลสเกิดอีกต่อไป

*****

......อยู่เย็นเป็นสุข
......สันติสุข
ดอกไม้
 

_________________
DHAMMA IS MY LIFE
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
suntisuk
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 03 มิ.ย.2007, 10:35 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

.....อเหตุกทิฏฐิ ของ มักขลิโคศาล

*****

.....อเหตุกะ แปลว่า ไม่มีเหตุ ลัทธินี้สอนว่า สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นเองลอยๆ โดยไม่มีเหตุ ดังที่ ลูกศิษย์มักขลิโคศาลกล่าวกันว่า "คนเรา ย่อมแล้วแต่ดวง แล้วแต่โชค แล้วแต่ชะตา หรือ แล้วแต่เคราะห์" ลัทธินี้รวมไปถึงรู้เหตุผลแต่แก้ไม่ได้ เช่น เหตุชาติก่อน หรือ พรหมลิขิต ลูกศิษย์มักขลิโคศาล จึงแก้ปัญหาใดๆ ไม่ได้

*****

.....ส่วนพุทธศาสนา คำสอนของพระพุทธเจ้านั้น เป็น เหตุกทิฏฐิ ถือว่า สิ่งทั้งหลายเกิดแต่เหตุ ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นลอยๆ โดยไม่มีเหตุ หัวใจพระพุทธศาสนา คือ คาถาพระอัสสชิ มีว่า

.....เยธัมมา เหตุปัปภวา ธรรมทั้งหลายย่อมเกิดแต่เหตุ
.....เตสัง เหตุง ตถาคโต พระตถาคตย่อมชี้เหตุแห่งธรรมะเหล่านั้น
.....เตสัญจ โย นิโรโธ แสดงความดับไปของธรรมเหล่านั้น เพราะ สิ้นเหตุ
.....เอวัง วาที มหาสมโณ พระมหาสมณะ มีปกติตรัสอย่างนี้

*****

.....ลูกศิษย์มักขลิโคศาลกล่าวว่า คนเราย่อมขึ้นอยู่กับดวง คนดวงดี มันดีเองไม่ต้องทำอะไร คนดวงไม่ดี ทำให้ตายก็ไม่ได้ดี

.....ลูกศิษย์พระพุทธเจ้ากล่าวว่า คนเราย่อมขึ้นอยู่กับกรรม คือ การกระทำของตนเอง หวังได้ดีมีสุข ต้องทำกรรมดี ถ้าทำกรรมชั่วต้องมีทุกข์ การทำกรรมดีเป็นฤกษ์ดีอยู่ในตัว ทำได้ตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง ส่วนการทำกรรมชั่ว หาฤกษ์ดีไม่ได้เลย

*****

.....ถ้าลูกศิษย์มักขลิโคศาล ถูกนิมนต์ไปในงานใดๆ จะใช้ดินสอพองเจิมตึก เจิมรถ เจิมเครื่องบิน ถือเคล็ดลางว่า จะทำให้กิจการเจริญดี ขับรถ ขับเครื่องบิน จะปลอดภัย เพราะ ได้เจิมด้วยดินสอพองแล้ว

.....ถ้าลูกศิษย์พระพุทธเจ้าถูกนิมนต์ไปในงานใดๆ ท่านจะใช้ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า เริ่มที่จิตใจตน เพื่อให้เป็นคนมีปัญญารู้เหตุรู้ผล ว่าถ้าทำกรรมชั่ว เช่น โกงกินกัน กิจการนั้นย่อมเสื่อม ล้มละลาย ตั้งอยู่ไม่ได้ แต่ถ้าทำ กรรมดี เช่น มีความขยันซื่อสัตย์สุจริต กิจการนั้นย่อมเจริญ ขับรถ ถ้าคนขับไม่ประมาท รักษากฏจราจร อุบัติเหตุย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ และ การที่เชื่อว่ารถถูกเจิมแล้ว ยิ่งทำให้คนขับ ขับด้วยความประมาทยิ่งขึ้น

*****

.....คนมีกิเลส คือ คนเคราะห์ร้ายทุกคน ไม่เฉพาะคนเกิดปีมะ อาจฆ่าตัวตาย หรือ ฆ่าคนอื่นได้ ไม่ใช่ฆ่ากัน เพราะ ชาติก่อนเคยฆ่ากันมา ถ้าเป็นเช่นนั้นวันแรกที่พบหน้ากัน ก็ต้องฆ่ากันทันที ทำไมจึงแต่งงานเป็นสามีภรรยา มีบุตรธิดาตั้งหลายคน แล้วจึงมาฆ่ากัน เหตุก็เพราะ เกิดกิเลสฝ่ายชั่วขึ้นมาภายหลัง อาจเพราะความหึงหวงที่ฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายใดไปมีแฟนใหม่

.....ลัทธิของมักขลิโคศาล สะเดาะเคราะห์ โดยใช้น้ำมนต์รดศรีษะ แต่ทางพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าสอนให้รู้ว่า กิเลสเกิดขึ้นได้อย่างไร และ จะดับมันได้อย่างไร ชาวพุทธจึงต้องศึกษาอริยสัจจ์ ๔ และ ปฏิบัติตามมรรคมีองค์แปด จึงจะทำให้กิเลสหมดไป จึงจะหมดเคราะห์

*****

.....อริยสัจจ์สี่นั้น มีเหตุผลเป็นคู่ๆ ทุกข์เป็นผล สมุทัย เป็นเหตุ นิโรธ เป็นผล มรรค เป็นเหตุ ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ไม่ต้องเชื่อแม้พระองค์เป็นผู้ตรัส หมายถึง ว่าให้เชื่อเหตุเชื่อผล ไม่ว่าผู้ใดเป็นคนกล่าว

.....เหตุและผล อาจเชื่อมโยงเป็นลำดับลูกโซ่ การที่จะแก้ได้ ต้องไล่ไปให้พบเหตุแรกแล้วแก้ที่เหตุนั้น เช่น น้ำเน่า อากาศเน่า แผ่นดินเน่า (แห้งแล้ง เป็นทะเลทราย เพราะ คนตัดต้นไม้หมด ทำให้ไม่มีฝนตก) ก็เพราะ สังคมเน่า สังคมเน่า ก็เพราะ คนเน่า คนเน่า ก็เพราะ จิตเน่า จิตเน่า ก็เพราะ มีกิเลส จิตมีกิเลส ก็เพราะ จิตเห็นผิดเป็นชอบ หลงใหลวัตถุ เห็นผิดว่า มีตัวตน ก็เพราะได้รับคำสอนผิด คือ สอนในทางสุดโต่งสองทาง ที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม คือ กามสุขัลลิกานุโยค สอนว่า ความสุขอยู่ที่วัตถุ อันเป็นความสุขไม่เที่ยง ไม่อิ่ม ทำให้เกิดการยื้อแย่งเบียดเบียนกัน เกิดสงคราม ทำให้ต้องทำลายธรรมชาติ และ เกิดสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ และ สินสุดโต่ง อีกทาง คือ อัตตกิลมถานุโยค สอนว่าด้วตนมีจริง ทำให้มีอุปาทาน มีทุกข์ เห็นแก่ตัว ฆ่าตัวตาย หรือ ทรมานตน

*****

.....ถ้าสอนทางสายกลาง ที่เป็นสัมมาทิฏฐิของพระพุทธเจ้า คือ สอนให้ใช้วัตถุ เพื่อบำบัดเวทนา เพื่อความดำรงอยู่ของกาย ใช้อัตตาเป็นคำสมมติเรียกขานกัน เพื่อประโยชน์ทางโลก โดยไม่ยึดถือว่า เป็นตัวตนจริง ตามคำเรียกขาน จิตที่เห็นถูกเช่นนี้ ก็จะไม่มีกิเลส ไม่มีทุกข์ ก็จะพบกับความสุขที่แท้จริง คือ นิพพาน ดังที่พระบรมศาสดา ซึ่งก่อนนี้เคยสมบูรณ์ทางวัตถุกาม ยึดถือว่า มีตัวตนมาก่อน แต่ก็ยังมีทุกข์ แต่ท่านมาพบกับความสุขที่แท้จริง เมื่อจิตถึง นิพพาน (สิ้นกิเลส) กินดี อยู่ดี แต่ยังมีมิจฉาทิฏฐิ ก็ยังมีทุกข์ ต่อเมื่อ กินพอดี อยู่พอดี แต่มีสัมมาทิฏฐิ จึงจะเป็นสุข นี้คือคติของชาวพุทธ

.....ถ้าสอนทางสายกลาง ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า จิตก็จะดีจะบริสุทธิ์ จิตดีทำให้คนดี คนดีทำให้สังคมดี สังคมดีทำให้วัตถุดี เพราะมีเหตุมีผล ชาวพุทธจึงแก้ปัญหาต่างๆ ได้

*****

............อยู่เย็นเป็นสุข
......สันติสุข ดอกไม้
 
suntisuk
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 05 มิ.ย.2007, 10:41 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

นัตถิกทิฏฐิ ของ อชิตเกษกัมพล

นัตถิกะ แปลว่า ปฏิเสธ ลัทธินี้ปฏิเสธบาป ปฏิเสธบุญ เพราะ เห็นคนเป็นเพียงวัตถุแดียว อชิตเกษกัมพล ยกตัวอย่างว่า ฝนตกรดต้นไม้ ฝนก็ไม่ได้บุญ ไฟไหม้ป่า ไฟก็ไม่ได้บาป, คนโง่เป็นฝ่ายบริจาค คนฉลาดเป็นฝ่ายรับ, การฆ่ากันไม่บาป เพราะ เป็นการเอาธาตุหนึ่ง ไปแทรกอีกธาตุหนึ่ง

ส่วนพระพุทธศาสนานั้น มีบาปมีบุญ เพราะ คนเป็น ๆ ไม่ได้มีแต่ร่างกายฝ่ายรูปธรรมอย่างเดียว แต่ยังมีจิตใจฝ่ายนามธรรมด้วย จึงเป็นบาปบุญทันที ที่คิดชั่วหรือคิดดี และ จะเพิ่มมากขึ้น เมื่อได้กระทำลงไปทางกายทางวาจา (ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในลัทธิ อกิริยทิฏฐิ)

ฝนตกรดต้นไม้ ฝนไม่ได้บุญ ไฟไหม้ป่า ไฟไม่ได้บาป เพราะ ฝนและไฟ เป็นเพียงวัตถุอย่างเดียว ผู้บริจาคทานไม่ใช่คนโง่ และ ผู้รับไม่ใช่คนฉลาด เอาเปรียบคนได้ เพราะ การบริจาคทาน เป็นการทำดี จิตเป็นผู้ให้ ผู้รับ เป็นบุญเป็นกุศล เป็นสุขใจ และ วัตถุที่ให้ก็ช่วยบำบัดเวทนาแก่ผู้รับ

การทำบุญ ต่างกับการค้าขาย การทำบุญ คือ การทำจิตให้เป็นสุข โดยการช่วยเหลือ ผู้อื่น ให้พ้นทุกข์ เป็นการขจัดกิเลส ความโลภ, ความตระหนี่, ความเห็นแก่ตัว, ให้เบาบางลง จะเป็นอานิสงส์ หรือ บารมี ให้ถึงบุญสูงสุด คือ นิพพาน ในที่สุด ส่วนการค้าขาย คือ การเสียเงิน หรือ วัตถุไปแล้ว หวังเงิน หรือ วัตถุนั้นกลับคืนมา บางทีหวังกลับคืนมาให้มากกว่าที่ให้ไป ถ้ารู้ว่า ไม่ได้คืนก็จะหยุดทำ เป็นการเพิ่มกิเลส, เพิ่มความโลภ, เพิ่มความตระหนี่, เพิ่มความเห็นแก่ตัวให้มากขึ้น การทำเช่นนี้ ยิ่งทำยิ่งห่างนิพพาน

ลัทธิ นัตถิกทิฏฐิ จึงเป็น มิจฉาทิฏฐิ

......อยู่เย็นเป็นสุข
......สันติสุข
 
suntisuk
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 06 มิ.ย.2007, 9:28 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

นิคัณฐทิฏฐิ ของ นิคัณฐนาฏบุตร

นิคัณฐะ แปลว่า ไม่ผูกพัน ลัทธินี้ สอนไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับวัตถุ กับลูกเมีย กับการงาน กับสังคม กับประเทศชาติ เพราะ การยุ่งเกี่ยว ทำให้ผูกพัน ทำให้เกิดกิเลส ทำให้เป็นทุกข์ ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นกิเลส ไม่เป็นทุกข์ จึงต้องสละทิ้ง ไม่ยุ่งเกี่ยว ไม่ผูกพัน กับสิ่งเหล่านั้น ลัทธินี้สอนให้ทิ้งโลก จึงเป็นมิจฉาทิฏฐิ มีการเข้าใจผิดกันมากกว่า ลัทธินี้เป็นพุทธ พุทธศาสนาจึงถูกมองในแง่ร้ายว่า สอนให้ทิ้งลูก ทิ้งเมีย ทิ้งสังคม ทิ้งประเทศชาติ ทำให้บ้านเมืองไม่พัฒนา เจ้าลัทธิ คือ ณิคัณฐนาฏบุตร หรือ พระมหาวีร ไม่นุ่งผ้า เป็นพวกฑิฆัมพร คือ นุ่งลมห่มฟ้า เพราะ ถือว่า การนุ่งผ้าเป็นกิเลส และ ในบั้นปลายชีวิต ก็อดอาหารตาย เพื่อทำจิตให้บริสุทธิ์โดยสิ้นเชิง เพื่อว่า เมื่อจิตบริสุทธิ์แล้ว ตายแล้วก็จะพ้นเวียนว่าย คือ ไม่กลับมาเกิดอีก

พุทธศาสนา คำสอนของพระพุทธเจ้านั้น เป็น สัมมาทิฏฐิ ทรงสอนทางสายกลาง คือ ให้อยู่เหนือโลก จะอยู่เหนือโลกได้ ต้องมีปัญญา เมื่อมีปัญญา ก็จะไม่เกิดกิเลส ดังพุทธภาษิต ยืนยันคำสอนของพระองค์ว่า

"เยเต สุตตันตา ตถาคตภาสิตา คัมภีรัตถา โลกุตตรา สุญญตัปปฏิสังยุตตา" แปลว่า "สูตร คือ คำสอนทั้งหลายเหล่าใด ที่เป็นคำกล่าวของตถาคต เป็นเรื่องลึก มีความหมายลึกซึ้ง ต้องเป็นโลกุตตรธรรม อันเนื่องด้วยสุญญตา"

โลกุตตรธรรม แปลว่า ธรรมอันทำให้อยู่เหนือโลก (โลกุตตระ มาจากคำว่า โลกกับอุตตระ อุตตระ แปลว่า เหนือ)

สุญญตา แปลว่า ความว่าง คือ จิตว่างจากกิเลส คือ นิพพานนั้นเอง
ส่วน โลกียธรรม ธรรมอันไม่ทำให้เหนือโลก ไม่ทำให้จิตว่างจากกิเลส ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธองค์ มีสอนกันก่อนที่พระองค์ตรัสรู้ ดังพุทธภาษิตอีกตอนหนึ่งมีว่า...

"เยเต สุตตันตา กวิกตา กาเวยยา จิตตักขรา จิตตัพพยัญชนา พาหิรา สาวกภาสิตวา" แปลว่า สูตร คือ คำสอนทั้งหลายเหล่าใด ที่กวีร้อยกรองขึ้น เป็นกาพย์ เป็นกลอน มีตัวหนังสือสละสลวย พยํญชนะสละสลวย เป็นเรื่องนอกแนว คือ ไม่พาดพิงด้วยสุญญตา เป็นคำกล่าวของสาวก

โลกในทางพุทธศาสนา ได้แก่ สิ่งที่จิตไปกระทบรับรู้ คือ วัตถุทั้งหลายที่สรุปลงเป็นอารมณ์ ๕ มายืนให้จิตรู้ ตรงกับทวารรับรู้เป็นคู่ๆ และ ขันธ์ห้า ถ้าจิตนั้นมีอวิชชา เมื่อกระทบอารมณ์ และ ขันธ์ห้า ก็จะเกิดกิเลสตัณหามากขึ้นกับจิต ตราบใดที่ยังมีอวิชชา ก็ยังเกิดยังเวียนว่ายเป็นโลกียะ จิตมีอวิชชากระทบอารมณ์ ทำให้เกิดกามุปาทาน กามุปาทาน ทำให้เกิดกามตัณหา, จิตมีอวิชชา กระทบขันธ์ห้า ทำให้เกิด อัตตวาทุปาทาน อัตตวาทุปาทาน ทำให้เกิดภวตัณหา และ วิภวตัณหา ตัณหาได้แก่ ความอยาก คือ กิเลส อยากเป็นทุกข์ ดิ้นรนจนสมอยาก เข้าใจผิดว่าเป็นสุข

แท้จริง พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ในโลกียะนั้น มีแต่ทุกข์เท่านั้น เกิดขึ้น และ ทุกข์เท่านั้นดับไป เหมือนคันแล้วเกา หาเป็นสุขไม่ ต่อเมื่อหมดเหตุ คือ หมดอวิชชา จึงหมดตัณหา หมดกิเลส หมดความอยาก จึงจะเป็นสุขจริง คือ นิพพาน เหมือนหายขาด ไม่มีโรคคันที่จะต้องเกาอีกต่อไป เป็นโลกุตตระ จิตมีวิชชา กระทบอารมณ์และขันธ์ห้า ไม่เกิดอุปาทาน เมื่อไม่มีอุปาทาน ก็ไม่มีตัณหา คือ สุญญตา หรือ นิพพาน พ้นเวียนว่าย เป็นผู้อยู่เหนือโลก เรียกว่า อริยบุคคล ซึ่งมีชีวิตอยู่ดัง คำกลอนของท่านพุทธทาสภิกขุว่า

ยามจะได้ ได้ให้เป็น ไม่เป็นทุกข์ ยามจะเป็น เป็นให้ถูก ตามวิถี
ยามจะตาย ตายให้เป็น เห็นสุดดี ชีวิตนี้ มีแต่สุข ไร้ทุกข์เอย ฯ

นิคัณฐนาฏบุตรเข้าใจว่า ถ้ามีวัตถุมาก ก็มีกิเลสมาก มีทุกข์มาก ถ้ามีวัตถุน้อย ก็มีกิเลสน้อย มีทุกข์น้อย ถ้าไม่มีอะไรเลย ก็ไม่มีกิเลสไม่มีทุกข์ จึงมีการปฏิบัติในทางสุดโต่ง ที่ทรมานตนอยู่ ๒ ประการ คือ

๑. สละละทิ้งวัตถุ เพื่อไม่เพิ่มพูนกิเลสอีกต่อไป
๒. บำเพ็ญตบะ คือ ทรมานตน เช่น อดอาหาร ย่างตัวบนกองไฟ เพื่อทำให้กิเลสที่มีอยู่เหือดหายไป

ส่วนคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ เห็นว่า กิเลสจะมีหรือไม่มีนั้น ไม่ขึ้นอยู่กับวัตถุ แต่ขึ้นอยู่กับโง่หรือฉลาด เมื่อใช้วัตถุนั้นคนโง่ไม่นุ่งผ้า อาจมีกิเลสมาก คนฉลาดแม้นุ่งผ้า ก็อาจไม่มีกิเลสเลย คนโง่ไม่มีวัตถุเลย อาจทุกข์มาก คนฉลาดแม้มีวัตถุมาก อาจไม่ทุกข์เลย

คำสอนของพระพุทธเจ้าใน "ปฏิจจสมุปบาท" อธิบายว่า ปรกติคนเรา ไม่ได้มีกิเลสอยู่ก่อน หรือ เพียงจิตกระทบอารมณ์ ๒ อย่าง ก็ยังไม่เกิดกิเลส แต่กิเลสจะเกิดตรงผัสสะ คือ จิตกระทบอารมณ์แล้ว มีอวิชชาร่วมด้วย เหมือนไฟปรกติก็ไม่ได้มีอยู่ แต่จะเกิดตรงหัวไม้ขีด กระทบข้างกลัก โดยมี ๓ สิ่ง คือ เชื้อเพลิง อ็อกซิเยน อุณหภูมิ ถึงจุดติดไฟพร้อมกัน แต่ผัสสะ คือ จิตกระทบอารมณ์ จะไม่เกิดกิเลส ถ้ามีอวิชชาร่วมด้วย เหมือนไฟจะไม่เกิด ถ้าหัวไม้ขีดกระทบข้างกลัก แต่มีอุณหภูมิไม่ถึงจุดติดไฟ เช่น ขีดเบาๆ

การทำให้อวิชชาหมดไป เรียกว่า การ ละสังโยชน์ แปลว่า การละเครื่องร้อยรัดให้ติดอยู่กับโลก (โลกียะ) เสีย เพื่ออยู่เหนือโลก (โลกุตตระ) กระทำไปเป็นขั้นๆ และ การละอวิชชา หรือ สังโยชน์นี้แหละ คือ การบวชเป็นพระแท้ (อริยสงฆ์) ถึงนิพพานได้ดังจุดหมายที่ตั้งไว้ ในวันแรกที่อุปสมบท บวชเช่นนี้ไม่สึก และ บวชได้ทุกเพศทุกวัย

ผัสสะด้วยอวิชชา ๑๐๐% (วิชชา ๐%) เกิดกิเลส ๑๐๐% เรียก ปุถุชน (ยังไม่เรียก พระ , ยังไม่บรรลุ นิพพาน)

ผัสสะด้วยอวิชชา ๗๐% (วิชชา ๓๐%) เกิดกิเลส ๗๐% เรียก พระโสดาบัน (เป็นพระขั้นต้น , บรรลุ "สอุปาทิเสสนิพพาน")

ผัสสะด้วยอวิชชา ๕๐% (วิชชา ๕๐%) เกิดกิเลส ๕๐% เรียก พระสกิทาคามี (เป็นพระชั้น ๒ , บรรลุ "สอุปาทิเสสนิพพาน")

ผัสสะด้วยอวิชชา ๓๐% (วิชชา ๗๐%) เกิดกิเลส ๓๐% เรียก พระอนาคามี (เป็นพระชั้น ๓ , บรรลุ "สอุปาทิเสสนิพพาน")

ผัสสะด้วยอวิชชา ๐% (วิชชา ๑๐๐%) ไม่เกิดกิเลส เรียก พระอรหันต์ (เป็นพระชั้น ๔ , บรรลุ "อนุปาทิเสสนิพพาน")

คำว่า "ออกจากกาม" หมายความว่า ออกจากความลุ่มหลงวัตถุ อันเป็นเหตุให้เกิดกิเลส เกิดทุกข์ เพราะ "กาม" ก็เช่น "อัตตา" ปรกติมิได้มีอยู่ แต่เพราะจิตนั้นมีอวิชชา จึงไปสำคัญผิด เกิดเป็นกามุปาทาน , เช่น รูปสวย รสอร่อย จึงทำให้เกิดกามตัณหา อยากแต่งตัว เพราะสวย เพราะทันสมัย อยากกิน เพราะ อร่อย การปฏิบัติ เพื่อมุ่งเสพความสวย ความหล่อ โดยสิ่งนั้นต้องซื้อหามาด้วยราคาแพง หรือ บริโภคแล้วเป็นโทษ ต่อร่างกายนี้ เรียกว่า "เสพกาม" พระพุทธเจ้าเห็นโทษของกาม และ การเสพกาม จึงสอนให้ละเสีย

การอยู่เหนือโลก จึงเป็นทางสายกลาง ยังอยู่กับโลก ใช้และบริโภควัตถุ แต่มีสติปัญญารู้ทัน จึงไม่หลงโลก เป็น กามสุขัลลิกานุโยค และ ไม่ทิ้งโลกเป็น อัตตกิลมถานุโยค อุปมาเหมือนปลาฉลาดกินเหยื่อ โดยไม่ติดเบ็ด หรือ คนฉลาดกินปลาโดยไม่ติดก้าง

......อยู่เย็นเป็นสุข
......สันติสุข
ดอกไม้
 
suntisuk
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 09 มิ.ย.2007, 3:00 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

........อุจเฉททิฏฐิ ของ สญชัยเวลัฏฐบุตร

........อุจเฉทะ แปลว่า สุญ สญชัย สอนว่า "ทุกข์มีเพราะมีเรา เรามีเพราะมีชีวิต ถ้าไม่มีชีวิต ก็ไม่มีเรา เมื่อเราไม่มี ทุกข์ก็ไม่มี" ผู้เป็นลูกศิษย์ของสญชัยฯ จึงดับทุกข์โดยการฆ่าตัวตาย คือ ทำลายชีวิตให้สิ้นไป เพราะ ตายแล้ว ความทุกข์ก็สูญไป นี้คือ ความหมายของคำว่า "อุจเฉททิฏฐิ" ซึ่งแปลว่า ตายแล้ว (ความทุกข์) ความทุกข์ก็สุญ ลัทธินี้จึงเป็น มิจฉาทิฏฐิ เห็นผิด ทำให้ปฏิบัติผิด

........ส่วนพุทธศาสนาคำสอน ของ พระพุทธเจ้า นั้นเป็น สัมมาทิฏฐิ พระพุทธเจ้าสอนว่า "ทุกข์ เพราะมีเรา เรามีเพราะอุปาทาน ถ้าไม่มีอุปาทาน ก็ไม่มีเรา เมื่อเราไม่มี ทุกข์ก็ไม่มี" ผู้เป็นลูกศิษย์ ของพระพุทธเจ้า จึงดับทุกข์โดยดับอุปาทาน ดับอุปาทาน โดย ทำวิปัสสนา

........วิปัสสนา คือ การยกขันธ์ ๕ ขึ้นพิจารณา ให้เห็น รูป, วิญญาณ, สัญญา, เวทนา, สังขาร เป็น อนัตตา (ไม่เป็น อัตตา คือ ไม่เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา) ก็จะเห็นเป็น สุทธิธัมมา ปวัตตันติ เป็นธรรมชาติล้วนๆ ไหลไป ไม่ใช่ คนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย แต่ประการใด เมื่อเห็นถูก ก็จะเป็น สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ ธรรมทั้งหลาย ไม่ควรยึดมั่น ยึดถือ (อุปาทาน) ว่า เป็นตัวตน แต่ประการใด

........บุคคลทั้งหลาย เมื่อยังไม่ได้พึ่งธรรมของ พระพุทธเจ้า คือ โลกุตตรธรรม ย่อมเป็นปุถุชน ติดในลัทธิอุจเฉททิฏฐิ ของสญชัย ฯ มาก่อน คือ เห็นผิดว่า คนเป็นๆ มีชีวิต ต้องเป็นทุกข์ คนตาย สิ้นชีวิตเท่านั้น จึงจะหมดทุกข์ เช่น ที่บ่นกันพึมพำๆ ในวันรดน้ำศพเพื่อนๆ

........การที่จะหลุดจากปุถุชน จากลัทธิอุจเฉททิฏฐิ ของ สญชัย ฯ มาเป็นอริยบุคคล มี สัมมาทิฏฐิ ของพระพุทธเจ้า จะต้องรู้กุญแจดอกสำคัญ คือ ภาษาคน - ภาษาธรรม ภาษาคน เป็นภาษาของ คนทั่วไป ภาษาของลัทธินอกพุทธศาสนา หมาย ทางด้านร่างกาย ด้านวัตถุ เป็นสำคัญ

........ภาษาธรรม เป็นภาษาของพระพุทธเจ้า หมายทางด้านจิตใจ เป็นสำคัญ นี้คือความลึกซึ้งใน โลกุตตรธรรม คำสอนของพระพุทธเจ้าที่เรียก คัมภีรา คัมภีรัตถา การเป็นพุทธบริษัทที่แท้จริง เป็นกันที่รู้ภาษาคน ภาษาธรรม การรู้ภาษาธรรม เรียกว่า มี ธรรมจักษุ แปลว่า มีดวงตาเห็นธรรม เรียกเป็นบุคคลว่า พระโสดาบัน แปลว่า ผู้เข้าถึงกระแสนิพพาน

........เพราะสรุปแล้ว พระพุทธศาสนา สอนเรื่องตาย เรื่องเกิดเท่านั้น โดยสอนว่า ถ้าตายแล้ว ยังเกิดอีก ก็ยังเวียนว่ายอยู่ ยังเป็นทุกข์ ถ้าตายแล้ว ไม่เกิดอีก ก็พ้นเวียนว่าย พ้นทุกข์ (ถึงนิพพาน) ถ้ารู้ภาษาคน คือ เกิดตายชีวิต ก็ย่อมไม่มีใครปรารถนาจะถึงนิพพาน แต่ถ้ารู้ภาษาธรรม คือ เกิดตาย อุปาทาน ใครๆ ก็ปรารถนาจะถึงนิพพานเร็วๆ

........อุปาทาน คือ จิตมีอวิชชา ย่อมรู้ผิด เปรียบ จิตเป็นตา, อวิชชาเป็นแว่นดำ เมื่อสวมแว่นดำ ย่อมเห็นผิด ท้องฟ้าโปร่งใส เห็นเป็นมืดฟ้ามัวฝนไป เมื่อจิตมีอวิชชา ย่อมเห็นผิด ขันธ์ ๕ เป็น อนัตตา กลับเห็นเป็นอัตตาไป อัตตา คือ ตัวเรา เมื่อมี ตัวเรา ก็ต้องมีเราเกิด เราแก่ เราตาย จึงเกิดทุกข์แก่บุคคลที่เห็นผิด

........ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า สังขิตเตน ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ขันธ์ห้าที่มีอุปาทาน เป็นทุกข์ วิชชาเปรียบแว่นชาว เมื่อจิตมีวิชชา ย่อมเห็นถูก คือ เห็นขันธ์ห้า เป็นอนัตตา เห็นถูกตามความเป็นจริง ก็ย่อมหมดอุปาทาน หมดตัวเรา หมดทุกข์ เห็นเป็น ธรรมชาติ ล้วนๆ ไหลไป (สุทธิ ธัมมา ปวัตตันติ)

........เป็นธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมดาของมัน ไม่มีคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย แต่ประการใด ดังที่พระพุทธเจ้าสอนว่า ถ้าขันธ์ห้า ไม่มีอุปาทาน ก็ไม่เป็นทุกข์ เป็นบริสุทธิขันธ์ เรียกเป็นบุคคลว่า พระอรหันต์ เป็นบุคคลที่มีชีวิตอยู่ โดยไม่เป็นทุกข์

........พุทธศาสนาคำสอน ของ พระพุทธเจา จึงเป็น คำสอนที่ประเสริฐ คือ สอนให้คนเป็นๆ มีชีวิตอยู่โดยไม่เป็นทุกข์

.....อยู่เย็นเป็นสุข
......สันติสุข ดอกไม้
 
suntisuk
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 14 มิ.ย.2007, 9:14 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

*** สัสสตทิฏฐิ ***ของ ปกุธกัจจายนะ

*** สัสสตะ แปลว่า เที่ยง ลัทธินี้สอนว่า จิตหรือวิญญาณ เป็นตัวตนที่เที่ยง คำสอนเช่นนี้ จัดเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างยิ่ง เป็นปฏิปักษ์ต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ที่สอนให้เห็นตามความเป็นจริง เพื่อหมดอุปาทาน หมดทุกข์ ว่าจิตหรือวิญญาณ ไม่เที่ยง ไม่เป็นตัวตน
*** การสอนว่า จิต หรือ วิญญาณ เป็นตัวตนที่เที่ยง จัดเป็น โลหิตตุปบาท ยังพระพุทธเจ้าให้ห้อเลือด เป็นอันันตริยกรรม กั้นมรรคผลนิพพาน การประทุษร้ายธรรม ก็คือ การประทุษร้ายพระพุทธเจ้า เพราะ พระพุทธเจ้า คือ ธรรมะ
*** ดังที่ทรงตรัสไว้ว่า " โย ธัมมัง ปัสสติ โส มัง ปัสสติ " ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ไม่ว่าเกิดยุคใดสมัยใด เนื้อหนังเน่าเปื่อย ไม่ใช่พระองค์ทรงตรัสบอกกับพระวักกลิ เช่นนี้ และ ทรงตรัสกับพระอานนท์ ที่ขอให้ตั้งผู้ใดเป็นพระพุทธเจ้าแทน
*** เมื่อพระองค์ดับขันธปรินิพพานไปแล้วว่า พระองค์ไม่ตั้งผู้ใดเป็นพระพุทธเจ้าแทน แต่ทรงแต่งตั้งให้ พระธรรมและพระวินัย ที่ตรัสไว้ดีแล้วเป็นตัวแทน ผู้ใดฟังธรรมผู้นั้นฟังพระองค์ ผู้ใดปฏิบัติธรรม ผู้นั้นปฏิบัติพระองค์ ผู้ใดเข้าถึงธรรม ผู้นั้นเข้าถึงพระองค์ และ ธรรมที่ว่านี้ ก็คือ สัจจธรรม กล่าวคือ อนัตตา
*** เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเห็นแล้ว ทำให้หมดอุปาทาน หมดทุกข์ สำเร็จเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และ ที่พระองค์ทรงกล่าวสอนสาวก และ พุทธบริษัททั้งหลาย มากที่สุด (พหุลานุศาสนี) เพื่อจะได้หมดอุปาทาน หมดทุกข์ เช่น พระองค์ ดังนั้น การหักล้างคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงเป็น โลหิตตุปบาท คือ ไม่มีโอกาสถึงนิพพานได้
*** ดังในครั้งพุทธกาล ภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อ สาติ เกวัฏฏบุตร ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ไปเที่ยวสอนประชาชนว่า วิญญาณเป็นตัวตนที่เที่ยง ตายแล้วออกจากร่างเก่าไปเกิดในร่างใหม่ ทั้ง ๆ ที่พระพุทธองค์ ทรงพร่ำสอน พร่ำชี้ให้เห็นว่า แม้คนเป็น ๆ ที่แบ่งเป็นขันธ์ ๕ ล้วนเป็นอนัตตาหาอัตตามิได้
*** เหตุไฉน จึงกล่าวว่า ตายแล้วยังมีอัตตาเล่า พระพุทธองค์ ทรงเรียก ภิกษุสาติ ฯ มาอบรมตักเตือนว่า " เป็นโมฆะบุรุษ " คือ ฟังธรรมเสียเวลาเปล่า เพราะไม่เข้าใจธรรมนั้น "มีทิฏฐิลามก" คือ เห็นผิด "ขุดตนแล้วมาตู่พระองค์" คือ เห็นผิด สอนผิด เพราะ ฟังผิดเอง
*** แต่กลับมาตู่ว่า พระองค์เป็นคนสอน, "จะประสพบาปมิใช่บุญมากด้วย" หมายถึงว่า ไปสอนให้เขาเห็นผิดว่า มีตัวตน ทำให้หมดอุปาทาน หมดทุกข์ไม่ได้ เป็นบาปยิ่ง, "จะประสบแต่ทุกข์ตลอดกาลนาน" หมายถึงว่า ภิกษุ สาติ จะต้องมีทุกข์ตลอดไป ตราบที่ยังมีอุปาทาน เห็นผิดว่ามีตัวตนอยู่ บุคคลเช่น ภิกษุสาติ เกวัฏฏบุตร มีมากในปัจจุบัน
*** จาก "ลัทธินอกพุทธศาสนา" โดย "ไสว แก้วสมอ"
.....อยู่เย็นเป็นสุข
......สันติสุข
ดอกไม้
 
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง